“สมัยตอนที่ เริ่มทำงาน กับ Mazda ใหม่ๆ เมื่อไหร่ที่ผมเห็นรถ Mazda วิ่งบนถนน
ผมจะดีใจและแทบชี้ชวนให้ดูว่า นี่ไง เห็นรถ Mazda อีกคันนึงแล้ว
ผมอยากจะเห็นรถ Mazda วิ่งบนถนนเมืองไทยเยอะๆซะที”

พี่ อุทัย เรืองศักดิ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Mazda Sales Thailand เคยพูดกับผมไว้
ในวันที่ผม ไปรับ Mazda 2 รุ่น Hatchback มาทำรีวิว ในช่วงปลายปีที่แล้ว

ผมยังจำได้ดี ยังไม่ลืม

และเชื่อว่า นับจากวันที่เราคุยกัน ครั้งนั้น
วันนี้ ประโยคดังกล่าว ก็เริ่มเป็นความจริง มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ

ลองคิดดูว่า นับจากเดือนมิถุนายน 1995 ที่ Mazda (ในยุค กิจกมลสุโกศล)
จู่ๆ เคยทำยอดขายได้เดือนนั้น 3,001 คัน หลังจากนั้น รถยี่ห้อนี้ ก็ไม่เคยทำยอดขาย
ได้ดีเกินไปกว่า เดือนละ ประมาณ 1,200 – 2,100 คัน ไม่เกินไปกว่านี้เลย

ยิ่งเป็นช่วงปี 1998 นอกจากจะเป็นช่วงที่คนไทยต้องทนทุกข์ทรมาน
กับ วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ยอดขายของ Mazda เคยตกต่ำถึงขีดสุด ในเดือน
มิถุนายน ปีนั้นเอง คือขายได้เพียงแค่ 114 คันทั่วประเทศ เท่านั้น!!!!!!
ทุกคน มองเห็นแล้วว่า หากเป็นคนไข้ ก็คงอยู่ในห้อง I.C.U มีสายระโยงระยาง
เต็มตัวไปหมด ยากจะฟื้น นับคืนรอดไปได้เลย

แต่หลังจากปี 2003 เป็นต้นมา ปริมาณ รถยนต์ Mazda บนถนนเมืองไทย
เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขยอดขาย เริ่มผ่านเข้าสู่หลัก เดือนละ
เกินกว่า 1,000 คัน ขึ้นไป จนถึงตอนนี้ กะเก็งกันคร่าวๆ รถที่แล่นบนถนน
ในกรุงเทพ 15 คัน จะมีสัก 1 คัน ที่เป็น รถ Mazda จะรุ่นไหน ปีไหน ก็ตามแต่
ซึ่งเป็นอานิสงค์ มาตั้งแต่การเปิดตัว Mazda 3 สู่ตลาดเมืองไทย ในเดือนพฤศจิกายน
2005 ที่ทำให้ประชากร รถยี่ห้อนี้ พุ่งพรวดพราดขึ้นมา อย่างต่อเนื่อง

แม้ว่ารถจะเปิดตัวมา 5 ปี และในตลาดโลก เขาก็เปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน
ไปเมื่อปีที่แล้ว และในเมืองไทย ยังจำเป็นต้องลากรถรุ่นเดิมขายอยู่ ไปอีกราวๆ
เกือบ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้การเตรียมตัวตั้งไลน์ประกอบ Mazda 3 รุ่นต่อไปในไทย
เสร็จสมบูรณ์ (ก็ญี่ปุ่น เพิ่งยอมเคาะให้โยกย้ายกลับมาประกอบเมืองไทย เมื่อ
ต้นเดือนธันวาคม 2009 ที่ผ่านมานี้เอง ดังนั้นคงต้องใจเย็นกันหน่อยละ) กระนั้น
ยอดขายของรถรุ่นนี้ ก็ยังป้วนเปี้ยนที่ระดับ 300-450 คัน/เดือน ต่อเนื่องมาตลอด
และนับตั้งแต่ต้นปี 2010 มานี้ ยอดขาย Mazda 3 อย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 1,498 คัน
(นับถึง 31 มีนาคม 2010) อันเป็นตัวเลขที่ทำได้เกินกว่า Honda Accord
Nissan Teana Mitsubushi Lancer ทุกรุ่น และ Chevrolet Optra ไปมากโข

และด้วยการเปิดตัว Mazda 2 Hatchback เมื่อ เดือนตุลาคม 2009 ที่ผ่านมา
ก็ยิ่งทำให้ผู้คน ที่ไม่เคยเหลียวแล Mazda มาก่อน เริ่มหันมาสนใจรถยี่ห้อนี้
อย่างจริงจังมากขึ้น จน Mazda เริ่ม เก็บกวาดยอดขายจากลูกค้าในกลุ่ม นักศึกษา
และผู้หญิง ที่เริ่มทำงานมาไม่นานนัก มากยิ่งไปกว่าเก่า
จนตอนนี้ Mazda 2 Hatchback มียอดขาย แซงหน้า Honda Jazz และ Toyota Yaris
ขึ้นมาเป็น ผู้นำในตลาดกลุ่ม B-Segment : Sub-Compact Hatchback เรียบร้อยแล้ว
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 53 ปีของ Mazda ในเมืองไทย เพราะในอดีต ที่ผ่านมา
Mazda ทำได้แค่ตามผู้นำต้อยๆ เท่านั้นเลย

ณ วันที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความ รีวิวนี้อยู่ สรุปตัวเลขของ รถยนต์ Mazda
ที่มีอยู่บนถนนเมืองไทย นับตั้งแต่ ปี 1994 อันเป็นปีที่ยังพอจะค้นเจอตัวเลข
ย้อนหลังกันได้อยู่ มาจนถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น 211,737 คัน !!!!

นี่ละ คือสิ่งที่บริษัทรถยนต์ค่ายอื่นๆ ต้องดูกันเอาไว้ รถขายได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ
จนทำให้มีการขยายตัว อย่างต่อเนื่อง มาจากความพยายามอย่างหนัก
ทั้งการพัฒนารถ ให้โดนใจลูกค้า การใส่ใจกับบริการหลังการขาย ทำราคาอะไหล่
ให้ดึงดูดใจ และความพยายาม เอาใจใส่กับทุกๆสิ่งที่ทำอยู่ ในทุกๆเรื่อง และทุกๆด้าน
ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งญี่ปุ่น ฝรั่ง ฟังคนไทย มากขึ้น คนไทยเองก็พยายามช่วยเหลือกันเข้าไป

เป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับค่ายอื่นๆ ที่อ่อนระโหยโรยแรงไป ดูเอาไว้เป็นตัวอย่าง
จากตำแหน่ง บ๊วยๆ ในตารางยอดขาย เริ่มพลิกกลับกลาย มาเป็นการก้าวกระโดด
เพื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง โมเมนตัมต่อไปของ Mazda นั้น บอกได้เลยว่า ไม่ธรรมดา
นี่แหละ คือสิ่งที่ผมอยากจะเห็น บรรดาบริษัทรถยนต์ มวยรองทั้งหลาย พยายาม
เร่งสปีดตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เหมือนอย่างที่ ทุกคน ทั้งที่ยังอยู่และร่วมทีม
กับ Mazda ไปจนถึงทุกดีลเลอร์ ทุกฟันเฟือง ไปจนถึง คนที่ลาออกไปแล้ว ได้ทำเอาไว้

แต่…ยังหรอก เกมมันยังไม่จบ
หลายคนคิดว่า เป็นธรรมดาละ สำหรับกระแสเห่อรถรุ่นใหม่ในตลาด
ผู้คนอาจจะยังอยากได้รถที่สดใหม่ แต่ ในระยะยาวละ ยอดขายจะยังพุ่งพรวด
อยู่ใน ระดับเดียวกันนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน…ไม่มีใครตอบได้

ที่แน่ๆ Mazda ไม่รอให้กระแสอันร้อนฉ่า มอดดับไป ดังนั้น คล้อยหลังการเปิดตัว
รุ่น Hatchback มาได้ ครบ 6 เดือนพอดี Mazda ก็ไม่ปล่อยให้เสียโอกาสขาดช่วงไปนาน
ส่ง ตัวถัง Sedan 4 ประตู ของ Mazda 2 ลงสนามต่อเนื่องทันที เมื่อช่วงกลางเดือน
มีนาคม 2010 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องกับช่วงฤดูของงาน Bangkok International Motor Show พอดีเป๊ะ

และเป้าหมายของพวกเขา ในคราวนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก จะโค่น Honda City
และเจ้าตลาดอย่าง Toyot Vios ไปจนถึงการดักคอ เพื่อนเก่าอย่าง Ford Fiesta ที่กำลัง
เตรียมพร้อมจะเข้ามาร่วมทำศึกในสมรภูมิ B-Segment : Sub-Compact Sedan นี้ด้วยคน
โดยแทบจะไม่มี Chevrolet Aveo อยู้่ในสายตาเลยแม้แต่น้อย!!

ทันทีที่มีการเปิดตัว Mazda ก็โหมกิจกรรม ช่วงหลังเปิดตัว เต็มรูปแบบ ตามเกาะติดต่อเนื่อง
ไม่แพ้ช่วงเปิดตัวรุ่น Hatchback เลย มีทั้งการนำกลุ่มสื่อมวลชน ลงไปร่วมทริปทดลองขับ
กันที่ภูเก็ต-กระบี่ ออกภาพยนตร์โฆษณาเรื่องใหม่ แต่ใช้พรีเซ็นเตอร์ คนเดิม นั่นคือ
น้องเป้ อารักษ์ แห่งวงเสลอ ของ Small Room (เราลืมวงนี้กันไปแล้วใช่ไหม? จำได้แต่
หน้าของน้องเป้ ก็บอกมาตรงๆ ซะดีๆ!!) และแน่นอน การออกบูธ ตามศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย
ของดีลเลอร์ต่างๆ ทั่วประเทศ แถมด้วยการเปิดตัวในงาน Bangkok Motor Show ฯลฯ

ผลที่ได้ ต้องถือว่า ประสบความสำเร็จใช้ได้เลยทีเดียว เพราะสิ่งที่ยากสุด ในการเจาะตลาด
รถยนต์เมืองไทย ในตอนนี้ คือ การสร้างแบรนด์ อย่างไร ที่จะฝ่ากำแพงภาพลักษณ์
อันแข็งแกร่งของทั้ง Toyota Honda Isuzu Mercedes-Benz และ BMW เข้าไปนั่งอยู่ในใจ
ของลูกค้าที่กำลังคิดตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคันให้ได้ อย่างน้อยๆ “ไม่ซื้อไม่ว่า ขอแค่ให้มาลองขับ”

คราวนี้ Mazda ตีโจทย์แตกดังโพละ! ไม่เพียงแค่ หลายๆครอบครัว เริ่มมี Mazda 2 เข้ามาอยู่ในตัวเลือก
เพื่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น บางบ้าน ที่ใช้ Toyota Vios อยู่ ก็ตัดสินใจซื้อ Mazda 2 Sedan เพิ่ม
เข้าไปอีกคันนึง (เช่นบ้านของ เพื่อนนักดนตรี ในวง Monotone Group ที่สนิทกับผมอยู่คนหนึ่ง
ตอนนี้ เขาเป็นเจ้าของ เจ้า 2 Sedan เรียบร้อยแล้ว จองในมอเตอร์โชว์ และกำลังรอรับรถตามฤกษ์อยู่)

ล่าสุด…หนุ่มน้อย ดารานายแบบนักแสดงผู้ลือลั่นสนั่นเมือง เมื่อช่วง ไม่กี่ปีก่อน
ที่เคยเป็นพรีเซ็นเตอร์รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง มาวันนี้ คนที่้บ้านเขา ก็ตัดสินใจ
ซื้อ Mazda 2 Sedan ไปเรียบร้อยแล้ว!!!!!!

ขอไม่เอ่ยชื่อดาราหนุ่มน้อยคนนั้น ก็แล้วกัน
แค่อยากจะบอกให้รู้ว่า คนทำงานในมาสด้า เขาแอบดีใจกันลึกๆ ในเรื่องนี้

ดีใจกันระดับ “ด๊อกเตอร์เลยทีเดียว!”

ได้ฟังมาดังนี้ คำถามก็ผุดขึ้นในหัวผม เป็นน้ำพุหน้าห้างสรรพสินค้า ทันที…
Mazda 2 Sedan มันมีดีอะไรขนาดนั้นเลยเหรอ? เพราะถ้ามองกันตามจริง
มันก็คือ Mazda 2 Hatchback นั่นแหละ แต่ต่อบั้นท้ายออกไปเป็น Sedan
แค่นั้นเองมิใช่เหรอ?

นี่แหละ คือที่มาของรีวิว ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ นั่นเองครับ!

คราวนี้ พี่อุทัย ก็ใจดีกับพวกเรามากกว่าปกติ ด้วยเหตุว่า รถทดลองขับ
ใน Fleet ที่ตัดมาใช้ทำกิจกรรมทั้งประเทศตอนนี้ มีมากถึงกว่า 50 คัน
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!! โอ้ย เยอะได้สะใจจริงๆ!!

ดังนั้น ผมจึงมีโอกาสได้ขลุกอยู่กับ Mazda 2 Sedan รุ่น Groove เกียร์ธรรมดา คันสีตะกั่ว
อันเป็นสีโปรโมท 3 วัน 2 คืน แถมด้วยรุ่น Maxx  เกียร์อัตโนมัติ สีขาว อีก 7 วัน 6 คืน
นั่นเท่ากับว่า ผมใช้ชีวิตอยู่กับรถรุ่นนี้ นานถึง 9 วัน 8 คืน เต็มๆ!!

สะใจยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

แต่ถ้าคุณคิดว่า รีวิวคราวนี้ จะยาว ก็ต้องขอบอกว่า คิดผิดแล้วละครับ
เพราะรายละเอียดการพัฒนาต่างๆ ของรถรุ่นี้ ถูกนำเสนอไปเรียบร้อยแล้ว
ใน Full Review : ทดลองขับ Mazda 2 Hatchback 5 ประตู
ซึ่งผมขอแนะนำให้คุณ เปิดอ่านควบคู่กันไปด้วย จะได้เข้าใจเรื่องราว
ความเป็นมา ของรถรุ่นนี้มากขึ้น

ฉะนั้น รีวิวที่คุณนั่งอ่านอยู่นี้ จะเน้นการพูดถึงรายละเอียดของรุ่น Sedan
ที่แตกต่างไปจากรุ่น Hatchback เป็นหลัก ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณๆ ที่อยากได้
รถรุ่นนี้ เริ่มมองเห็นชัดเจนขึ้นว่า ตัวถังแบบไหนกันแน่ ที่ตรงกับลักษณะ
กรใช้ชีวิตของคุณ

หรืออย่างน้อย ก็จะได้รู้ว่า Mazda 2 คือตัวเลือกที่คุณควรจะมองเอาไว้บ้าง…หรือเปล่า?

ในอดีต หากคุณยังจำความได้ และเราไม่นับรวม Mazda Carol 360 อันเป็น
รถยนต์ 4 ประตูในพิกัด Kei-Jidosha (หรือ K-Car ในยุค 1960-1970 ที่กำหนด
ให้เครื่องยนต์มีขนาดไม่เกิน 360 ซีซี เท่านั้น!!)

Mazda ยุค 1980 เป็นต้นมา เคยข้องแวะกับการทำตลาด รถยนต์ Sedan 4 ประตู
ที่มีขนาดตัวถังเล็กกว่า กลุ่ม C-Segment หรือตระกุล Familia / 323  เพียง 2 รุ่น

รุ่นแรกคือ Ford Festiva B (อ่านว่า เฟสติวา เบต้า) ตัวถัง Sedan ซึ่ง Mazda
สร้างและผลิตส่งให้ Ford บนพื้นฐานของ Ford Festiva รุ่นแรก ที่ “นิวเอร่า”
ผู้จำหน่าย Ford ในตอนนั้น สั่งรถจากโรงงาน KIA Motor ในเกาหลี เข้ามาขาย
รถรุ่นนี้ เป็นฝาแฝดร่วมกับ Mazda 121 รุ่นแรก ที่ไม่ได้ส่งเข้ามาขายในไทย  

อีกรุ่นหนึ่งนั่นก็คือ Autozam Revue (หรือที่ทำตลาด ทั่วโลก และเมืองไทย ในฐานะ
2nd Generation ของ Mazda 121) รถเก๋งหน้าสั้น ท้ายสั้น เครื่อง 1,300 ซีซี ที่ถูก
ขนานนามในหมู่เต๊นท์รถมือสองบ้านเราว่า “รถอาราเร่” แม้ว่า ตัวการ์ตูน ด็อกเตอร์ สลัม
กับหนูน้อยอาราเร่ จะไม่ได้ขับรถรุ่นนี้ ในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องดังของเด็กๆ ในยุค
ก่อนหน้านั้น เลยก็ตาม แต่ด้วยความน่ารักของตัวรถ เลยถูกเรียกแบบนั้นปากต่อปากไป
จนป่านนี้ ก็ไม่รู้ว่าเหตุใด Mazda จึงไม่สานต่อโครงการทำรถดีๆแบบนั้นมาขายอีก?

อาจเพราะ หมดจาก 2 รุ่นนี้ Mazda ก็อยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะทำรถยนต์ Sedan ขนาดเล็ก
ออกขายไปอีกนานหลายปี เนื่องจากการเข้าถือหุ้นใหญ่ของ Ford ในปี 1996 (ก่อนหน้านั้น
ถือหุ้นต่ำกว่า 25%  มาตั้งแต่ ธันวาคม 1979) ทำให้การกำหนดทิศทางและนโยบายต่างๆ
ทำได้ไม่สะดวกนัก Mazda Demio ที่คลอดออกมาครั้งแรกเมื่อ เดือนสิงหาคม 1996 จนถึง
รุ่นต่อมา ในปี 2003 ก็เลยยัง ไม่มีตัวถัง Sedan ซะที

แต่แล้ว เมื่อผลสำรวจวิจัยพบว่า ตลาดเมืองจีน กลายเป็นขุมทองแห่งใหม่ ที่เติบโตเร็วพรวดพราด
อาตี๋ อาหมวย ชาวจีน ยุคใหม่ มีการศึกษาดีขึ้น ทำงานดีขึ้น รายได้ดีขึ้น ก็เลยอยากออกรถใหม่
กันมากขึ้น บรรดารถใหม่ ขายได้เบ่งบานสะพรั่ง ราวกับดอกไม้ยามฤดูใบไม้ผลิ และยิ่งผลสำรวจ
ออกมาว่า พวกเขาอยากได้รถเก๋ง Sedan กันเยอะแยะ ทำให้ Mazda ไม่อาจทำ Demio หรือ Mazda 2
รุ่นปัจจุบัน ได้เพียงแค่ตัวถัง Hatchback 5 ประตู อย่างเดียวอีกต่อไป เพราะไหนๆ จะทำรถรุ่น Sedan
ทั้งที ก็ควรจะเอามาขายในภูมิภาค ASEAN ด้วยเลย โดยตั้งให้โรงงาน AAT Auto Alliance ในบ้านเรา
นี่แหละ เป็นฐานผลิตหลักที่สำคัญ ป้อนรถรุ่นนี้ ไปยังตลาดอื่นๆ ในละแวกบ้าน ย่านใกล้เคียงไปเลยดีกว่า

ดังนั้น คล้อยหลังการเปิดตัวรุ่น Hatchback 5 ประตู ในตลาดญี่ปุ่น ไปได้ไม่ทันเหงื่อแห้ง
Mazda ก็ เปิดตัว รุ่น Mazda 2 Sedan ในงาน Guangzhou Motor Show เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2007
และเริ่มผลิตจากโรงงาน Nanjing ของบริษัท Changan Ford Mazda Automobile Co., Ltd.
เพื่อทำตลาดครั้งแรก ในไตรมาสแรก ปี 2008 ผ่านทาง เครือข่ายจำหน่ายของ Changan Mazda Motor
ทำให้ จีน เป็นประเทศแรก ที่ได้ใช้รถรุ่นนี้ ในโฉมดั้งเดิม

ต่อมา เมื่อ Mazda มีแผนเตรียมการ ผลิต Mazda 2 ในเมืองไทย ทุกฝ่ายก็เลยประชุมกัน
ตอนแรก ญี่ปุ่นจะให้ขายรุ่นก่อนปรับโฉม แต่ ทางฝ่ายไทย ยืนยันไปว่า รถเปิดตัวในไทย
ล้าหลังจากตลาดโลกมาถึง 2 ปี ถ้าให้ใช้หน้าตาจากรุ่นก่อนปรับโฉม ลูกค้าคนไทยไม่ชอบแน่
และจะพาลไม่ซื้อชัวร์ๆ

นั่นจึงทำให้ ประเทศไทย ได้ใช้ Mazda 2 โฉม Minorchange ก่อนประเทศใดในโลก
แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นเองด้วยซ้ำ!

แล้วนอกจากเมืองไทย กับสหรัฐอเมริกา ทำไม ยังไม่มีการเปิดตัวรุ่น Minorchange ที่ไหนในโลกเลย?

เหตุผลก็เพราะ ตามแผนเดิม หลายๆประเทศ ละแวกบ้านเรา จะต้องเปลี่ยนการรับรถรุ่นนี้นำเข้ามาจากญี่ปุ่น
เป็นการนำเข้าจากเมืองไทยแทน ทว่า ช่วงเดือนธันวาคม 2009 – มกราคม 2010 ที่ผ่านมา โรงงาน AAT
มีการประท้วง “ประจำปี” (คือ พวกสหภาพแรงงานของทาง AAT เล่นประท้วง เรื่องค่าแรงและโบนัส
ที่ต้องเพิ่มขึ้นให้ทุกปี) ทำให้การผลิต ชะงักไปช่วงหนึ่ง แถมมียอดสั่งจองทะยอยมากันเรื่อยๆ จนทำให้
รถเริ่มค้างส่งเยอะขึ้น พอดีที่การประท้วงจบลง AAT ก็ต้องรีบเคลียร์ยอดจองเดิมให้หมดก่อน
ทุกวันนี้ เลยยังผลิตส่งให้ลูกค้าในเมืองไทย ยังเคลียร์ไม่หมด นับประสาอะไรที่ โรงงาน AAT ระยอง
จะมีปัญญาเดินเครื่อง เพื่อส่งออก ได้มากไปกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนักงานใหญ่ของ Mazda ที่ Hiroshima
เลยตัดสินใจ เลื่อนการเปิดตัว Mazda 2 Minorchrnage ประเทศอื่นๆ ออกไป เคลียร์ยอดจองของลูกค้าคนไทย
ให้จบก่อน แล้วค่อยว่ากันทีหลัง นั่นเอง

แล้วตัวถัง Sedan เนี่ย Mazda เขาตั้งใจจะขายให้ลูกค้ากลุ่มใด?
พี่ซู-สุรีย์ทิพย์ ละอองทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Mazda Sales (Thailand) บอกว่า

“ลูกค้า ของรุ่น Hatchback 5 ประตูนั้น ส่วนใหญ่จะเป็น นิสิต นักศึกษา ลูกค้าส่วนใหญ่
จะซื้อให้บุตรหลาน ขับขี่กัน ดังนั้น พวกเขาจึงซื้อรุ่น Spirit (รองท็อป) กับรุ่น Maxx (รุ่นท็อป)
กันมากที่สุด ไปดูโปรไฟล์ลูกค้าแต่ละคน ชื่อเจ้าของรถนี่ อายุมากๆ แต่ คนที่ใช้รถจริงๆ
จะเป็นวัยรุ่น บุตรหลาน ขับกันเป็นส่วนใหญ่

ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของรุ่น Sedan ที่วางไว้ จะแตกต่างจากรุ่น Hatchback 5 ประตู
คือจะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรือโตขึ้นกว่าเดิม แต่ยังเป็นคนหนุ่ม-สาว ที่มีไลฟ์สไตล์
การใช้ชีวิตที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และไม่ชอบตามใคร เป็นทั้งกลุ่มนิสิต-นักศึกษา
และผู้ที่มีชีวิตหน้าที่การงานที่มั่นคง เป็นผู้บริหารไฟแรง หรือผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ มีกิจการส่วนตัว”

เอ๊ะ..ฟังดู มันคลับคล้ายคลับคลากับข้าพเจ้านี่หว่า…..

Mazda 2 Sedan มีให้เลือก 4 ระดับการตกแต่ง คือ รุ่น Maxx เกียร์อัตโนมัติ (คันสีขาว)
หากมองจากภายนอก จะพบว่า แตกต่างจารุ่นปกติอยู่ที่ ล้ออัลลอย 16 นิ้ว x 6.5 J
ใส่ยาง Dunlop Sport ขนาด 195/45R16 มีไฟตัดหมอกหน้า สปอยเลอร์แบบลิ้น
ที่ฝากระโปรงหลัง

ส่วนรุ่น Spirit ใช้กระทะล้ออัลลอย 15 นิ้ว x 6.0J คนละลายกับคันสีขาว
ยางก็เป็นขนาด 185/55 R15 ไม่มีสปอยเลอร์หลัง ไม่มีไฟตัดหมอกคู่หน้า

ขณะที่รุ่น Groove อันเป็นรุ่นพื้นฐาน ถูกตัดอุปกรณ์ดังกล่าว ออกไปทั้งหมด เช่นกัน
ให้มาแค่ กระทะล้อเหล็ก ขนาเดียวกับรุ่น Spirit พร้อม ฝาครอบล้อ แบบ Full Wheel Cover
และใช้ยางขนาดเดียวกันกับรุ่น Spirit อย่างที่เห็นในคันสีตะกั่วเข้ม นี้

ด้วยโจทย์ ที่กำหนดให้ ทั้งตัวถัง Sedan และ Hatchback ต้องใช้ชิ้นส่วนร่วมกันให้ได้มากที่สุด
ดังนั้น ทีมออกแบบซึ่งนำโดย Akira Tamatani ผู้ซึ่งรับหน้าที่ดูแลงานออกแบบของ Mazda 2
ตัดสินใจ กำหนดให้ ชิ้นส่วนตัวถังครึ่งคันหน้า สามารถของทั้ง 2 ตัวถัง สามารถแลกเปลี่ยนใช้งาน
ร่วมกันได้ “ทั้งหมด” (แต่กลับไม่ใส่เปลือกกันชนหน้าของรุ่น Maxx 5 ประตู ลงในรุ่น Sedan งงจริงๆ)

แต่สิ่งที่ทำให้รุ่น Sedan ความแตกต่างจาก รุ่น Hatchback 5 ประตู อยู่ที่ชิ้นส่วนตัวถังตั้งแต่แผ่นหลังคา
ไปจนถึงครึ่งท่อนหลังของตัวรถ ด้านนอก ที่ใช้ร่วมกันแทบไม่ได้เลย ขณะที่ชิ้นส่วนในห้องโดยสาร
ใช้ร่วมกันได้เกือบทุกชิ้น ไปจนถึงชุดเบาะนั่งแบบพับได้ เท่านั้น

ในเมื่อจะต้องใช้ชิ้นส่วนตัวถังร่วมกับรุ่น Hatchback ทำให้งานออกแบบภายนอก ของ รุ่น Sedan
เป็นเพียงแค่การถอดบั้นท้ายเดิมของรุ่น Hatchback ออกไป แล้ว สร้างสรรค์เส้นสายให้ต่อเนื่องกัน
และมีความเป็น Sedan มากขึ้น จนทำให้เกิดข้อจำกัด ทั้งในด้านแนวเส้นตรงยาวแนวเฉียง
ที่ยาวต่อเนื่อง พาดผ่่านจาก เหนือซุ้มล้อคู่หน้า จรด ขอบด้านบนสุดของชุดไฟท้าย ซึ่งแนวเส้นนี้
จะหลอกตาผู้คนมากมาย ให้มองเหมือนว่า รถคันนี้ มีบั้นท้ายเป็น “ตูดเป็ด”  ทั้งที่ในความจริงแล้ว
หากพินิจให้ดี และไม่สนใจแนวเส้นด้านข้าง เส้นนี้ จะพบว่า เส้นสายของตัวรถ ถูกออกแบบมา
อย่างสมดุลที่สุดแล้ว เท่าที่ทีมออกแบบของ Akira Tamatani จะยอมลดราวาศอก กับข้อจำกัดต่างๆ
ที่บีบคั้นอยู่

ทั้งหมดนั้น ส่งผลให้ ความยาวตัวถังเพิ่มขึ้นจากระดับ 3,895-3,995 มิลลิเมตร ในรุ่น Hatchback
เป็น 4,244 มิลลิเมตร โดยคงความกว้างเอาไว้ที่ระดับ 1,695 มิลลิเมตร เหมือนคู่แข่ง ส่วนความสูง
หากเป็นรุ่น Groove จะสูง 1,483 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นรุ่น Spirit และ Maxx จะเตี้ยลงเหลือ 1,476 มิลลิเมตร
ขณะที่ระยะฐานล้อยังคงเท่ากับรุ่น Hatchback คือ 2,490 มิลลิเมตร อันที่จริง ขาดอีก 10 มิลลิเมตร ก็จะยาว
ในพิกัด 2,500 มิลลิเมตรแล้ว ก็ออกจะงงอยู่บ้างว่า Mazda จะเก็บอีก 10 มิลลิเมตรนั้นเอาไว้ทำไมกันหนอ
หรือว่าคำนวนมาแล้วว่า ความยาวฐานล้อเท่านี้ เหมาะสมแล้วสำหรับสมรรถนะการขับขี่ในภาพรวม??
เดี๋ยวก็คงได้รู้กัน

การเปิดประตูรถนั้น ในรุ่น Maxx อันเป็นรุ่นท็อป ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล
ระบบ Smart Keyless Entry เหมือนกับรุ่น Hatchback 5 ประตู แต่ถ้าสังเกตให้ดี
ที่ตัวรีโมท จะมีสวิชต์ ปลดล็อกฝากระโปรงหลัง เพิ่มมาให้เป็นพิเศษ
ซึ่งก็ชวนให้งงอยู่เล็กๆว่า อันที่จริง รุ่น Hatchback ก็ควรจะมีสวิชต์นี้
บนรีโมทคอนโทรลของตน เหมือนกัน แต่กลับไม่มีมาให้ เออ แปลกดีแหะ

ถ้าจะปลดล็อก หรือสั่งล็อกประตู ยังไงๆ ต้องกดปุ่มสีดำ บนมือจับเปิดประตู
ไม่สามารถ เดินมาปุ๊บ ดึงมือจับเปิดประตูขึ้นรถได้เลย เหมือน Vios และ Yaris
แต่อย่างใด (City กับ Jazz รุ่นท็อป เอง ก็ยังต้องกดสวิชต์ บนตัวกุญแจอยู่เลย
เช่นเดียวกันกับ Mazda)

เมื่อเปิดประตูยังไม่ต้องใช้กุญแจ การติดเครื่องยนต์ ก็สามารถบิดสวิชต์
ที่คอพวงมาลัยได้เลยเช่นเดียวกัน

แต่ในรุ่น มาตรฐาน ทั่วไป กุญแจที่ใช้ เป็นรีโมทคอนโทรล พร้อมกับปุ่มกดให้
กุญแจโผล่ออกมา เหมือน มีดพับ Swiss Army อยู่เหมือนกัน กุญแจรีโมทสหกรณ์
ที่ออกแบบมา “สวยเข้าท่า อย่างน่ากลัว” แบบนี้ มีให้คุณพบได้ตั้งแต่ รถสปอร์ต RX-8 รุ่นเดิม
ยัน รถกระบะ BT-50 กันนั่นแหละ! และในรุ่น Groove ของ Mazda 2 ทุกคัน จะไม่มีระบบ
Immobilizer มาให้

ส่วนการติดเครื่องยนต์ ก็ใช้วิธีการดั้งเดิม เสียบกุญแจ แล้วบิดเข้าไปเลย

ทันทีที่เปิดประตูคู่หน้าออกมา เราจะพบความแตกต่างประการแรก ระหว่างตัวถัง
Sedan กับ Hatchback 5 ประตู นั่นคือ ในรุ่น ท้ายตัด Hatchback จะตกแต่งภายใน
ด้วยโทนสีดำ แต่ในรุ่น Sedan นั้น จะเปลี่ยนการตกแต่งภายในมาเป็นโทนสีเบจ

เมื่อภายในห้องโดยสาร เป็นสีเบจแล้ว ความอึดอัด จากขนาดห้องโดยสาร
ก็ลดทอนลงไปใช้ได้เลยทีเดียว พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารด้านหน้า
ยังคงมีความโปร่งในระดับกำลังดี ไม่น้อยเกินไป

การเข้าออกจากรถ ในตำแหน่งประตูคู่หน้า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทำได้อย่าง
สะดวกโยธิน ถ้าคุณมีสรีระร่าง ไม่ใหญ่โต เกินไปกว่าผู้การแพน Commander CHENG
ของเรา (140 กิโลกรัม)

แผงประตูด้านข้าง สำหรับผู้โดยสารคู่หน้า ยังคงมีช่องใส่ของ ที่สามารถใส่ขวดน้ำดื่ม
ขนาด 7-8 บาท ได้ ฝั่งละ 1 ขวด มีที่วางแขน ซึ่งแม้จะวางได้ถูกหลักสรีรศาสตร์
แต่ก็วางลงบนพลาสติกแข็งๆ ไม่ได้วางลงไปบนผ้ากำมะหยี่ อย่าง Honda City

ตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ ปรับระดับสูง-ต่ำได้ ด้วยก้านโยกข้างลำตัว
และเมื่อปรับลงสู่ระดับต่ำสุดแล้ว ถือได้ว่า Mazda 2 มีตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ
ที่ลงต่ำได้มากที่สุด ในบรรดา รถยนต์กลุ่ม Sub-Compact B-Segment ด้วยกัน
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะผู้ขับขี่จะได้สัมผัสกับความใกล้ชิดพื้นถนน
มากยิ่งขึ้น แม้จะต้องแลกกับการที่ต้องออกแรงยกตัว ลุกออกจากเบาะ
มากกว่ารถรุ่นอื่นๆนิดนึงก็ตาม ซึ่งก็แก้ไขไม่ยาก ก่อนจะลงจากรถ
ก็แค่ปรับเบาะให้สูงขึ้น แค่นั้นเลย

แต่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ปรับได้แค่เลื่อนขึ้นหน้า ถอยหลัง
และปรับเอนได้อย่างเดียว ก็ไม่ต่างกับคู่แข่งในตลาด

เบาะนั่งของรุ่น Maxx จะมี สีเบจ คลิบด้วยสีดำ และมีผ้าสำหรับหุ้มบริเวณด้านข้าง
และด้านหลัง ของชุดเบาะรองนั่ง พนักพิงหลัง กับพนักศีรษะ คล้ายกับเบาะรถอังกฤษ
ในยุคก่อนๆ

แต่ในรุ่น Groove จะเป็นเบาะผ้าสีเบจธรรมดา จืดๆ ซึ่งถ้าคุณทำน้ำเปื้อน ไม่มากนัก
ปล่อยทิ้งไว้ เดี๋ยวมันจะแห้งไปเอง แต่ถ้าถึงขั้นทำน้ำหกเลอะเทอะแล้วละก็ อาจถึงขั้น
ต้องซักเบาะ ทำความสะอาดกันขนานใหญ่เลยทีเดียว

พื้นที่เหนือศีรษะ ของผู้โดยสารด้านหน้าและผู้ขับขี่ ถือว่า ยังมีพื้นที่เหลือโล่ง
พอกันกับ คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน ทั้ง Vios City และ Aveo

ทุกรุ่นติดตั้ง เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ELR 3 จุด ปรับระดับสูง-ต่ำได้ หน้าตาคล้ายๆ กับที่พบได้ในรถยี่ห้ออื่น
มาพร้อมระบบ  Pretensioner & Load Limiter ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติมาให้ด้วย!

เมื่อเปิดประตูคู่หลังออกมา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ด้านหลังของพนักพิงเบาะคู่หน้า
ไม่มีการ ทำช่องใส่หนังสือมาให้ เหมือนอย่างที่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ เขาทำกัน ซึ่งผมเอง
ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นความจงใจในการลดต้นทุน หรือว่า ตั้งใจให้คนขับ รับความสนุก
จาการขับขี่ มากว่า การจอดแวะพักอ่านหนังสือยามรถติด? เพราะ ไม่ว่าจะซื้อรุ่นไหนก็ตาม
Mazda 2 Sedan และ Hatchback ก็จะไม่มีช่องใส่หนังสือด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า มาให้
เหมือนกันทั้งหมด และทุกรุ่น

การเข้าออกจากเบาะคู่หลังนั้น อาจต้องใช้ความรมัดระวังนิดนึง ในการก้มศีรษะ
เพราะอาจจะไปโขกกับขอบด้านบนของกรอบประตู ที่ออกแบบให้ลาดเทไปทางด้านหลังรถ
เพื่อเน้นความสวยงามให้สอดรับกันกับเส้นสายทั้งคัน จนอาจทำให้ การเข้าออกจากรถ ณ จุดนี้
ทำได้ไม่ดีเท่า City และ Vios

พื้นที่เบาะนั่งด้านหลังนั้น คือ ประเด็นที่หลายๆคน อยากรู้ว่า มันใหญ่โตขึ้นกว่า
ตัวถัง Hatchback หรือไม่ พอจะให้ ผู้โดยสารเข้าไปนั่ง เดินทางไกลๆ ได้หรืเปล่า?

คำตอบจากผมก็คือ เรียนด้วยความสัตย์จริง
หลังจาก เข้าไปนั่งบนเบาะหลังของ Mazda 2 Sedan แล้ว ผมก็ลุกเข้าไปนั่งใน
Honda City 2009 ของตัวเอง ที่จอดอยู่ ในบ้าน นั่นละ

ผมขอยืนยันว่า พื้นที่สำหรับผู้โดยสารด้านหลังแล้ว ประเด็นนี้ City ชนะเลิศ
ตามมาด้วย Toyota Vios และ Mazda 2 Sedan โดยมี Aveo รั้งท้าย

พูดโดยไม่มีอคติ แต่อย่างใดทั้งสิ้น ถ้าไม่เชื่อ คุณต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง!! 

ข้อเท็จจริงก็คือ เบาหน้าและหลัง นั้น ยกชุดมาจากรุ่น Hatchback ใส่โป๊ะเข้าไปได้พอดีเป๊ะ!!

พนักพิงหลัง ยังมิใช่ปัญหา มันช่วยซัพพอร์ตด้านหลังได้ในระดับหนึ่ง พนักศีรษะ
ใช้งานได้จริง และ กลับไม่มีผู้โดยสารด้านหลังคนใดบ่นกับผมในประเด็นนี้

แต่ เบาะรองนั่งนั้น มีขนาดสั้นไปหน่อย ก็เหมือนกับรุ่น Hatchback นั่นละครับ
แถม พื้นที่เหนือศีรษะด้านหลังนั้น มีน้อยไปหน่อย จะว่าไปแล้ว Mazda 2
ก็มีปัญหานี้ เหมือนกับ Honda City Toyota Vios และ Chevy Aveo เปี๊ยบเลย
ดังนั้น ประเด็นนี้ ถือว่า เสมอตัว เพราะคู่แข่งที่เหลือ ก็มีปัญหาแบบเดียวกันเป๊ะ

ส่วนพื้นที่วางขานั้น หัวเข่าไม่ถึงกับติดเบาะหน้า ตามมาตรฐานของรถซีดานขนาดเล็กยุคนี้
ทุกรุ่นติดตั้งเข็มขัดนิรภัย หลัง ELR 3 จุด 2 ตำแหน่ง ฝั่งซ้าย-ขวา และแบบ 2 จุด 1 ตำแหน่ง ตรงกลาง
และมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISOFIX มาให้ ที่ด้านล่างของพนักพิง ทั้ง 2 ฝั่ง จากโรงงาน

ทั้งหมดนี้ ต้นเหตุของปัญหาก็คือ ด้วยระยะฐานล้อ 2,490 มิลลิเมตร ทำให้
การจัดสรรพื้นที่ใช้สอย ในห้องโดยสาร ทำได้แค่เพียงเท่าที่พื้นที่จะเอื้ออำนวยให้

อีกทั้ง แนวทางในการออกแบบ Mazda 2 ใหม่รุ่นนี้ ก็มุ่งเน้นไปที่ความสนุก
ในการขับขี่ เป็นหลัก มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ความสบายของผู้โดยสารด้านหลัง
จึงกลายเป็นประเด็น ที่ทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น ให้ความสำคัญรองลงมา
และไม่น่าแปลกใจ ที่พื้นที่โดยสารด้านหลัง จะให้ความสบาย น้อยกว่าคู่แข่ง
ทั้ง City และ Vios อยู่สักหน่อย

แต่อย่างน้อย ตาแพน Commander CHENG ของเรา ก็สาธิตให้ดูแล้วว่า
แม้แต่คนตัวใหญ่ระดับ 140 กิโลกรัม อย่างที่เห็นนี้ ก็ยังสามารถเข้าไปนั่ง
บนเบาะหลังของ Mazda 2 Sedan ได้

เจ้าตัวบอกว่า ถ้าให้ทนนั่งไปถึงพัทยา ก็คิดว่าน่าจะไหว แต่ คำพูดนี้
แพน บอกกับผม ตอนที่รถยังไม่ได้เคลื่อนตัวออกจากจุดหยุดนิ่งแต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าให้เจ้าตัวลองนั่งไปแบบนั้นจริงๆ คาดว่า เมื่อถึง จุดแวะพัก ปตท
บนมอเตอร์เวย์ แพนคงจะขอลงจากรถ และเปลี่ยนมานั่งด้านหน้าแทน
เป็นแน่แท้ ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะหาทาง ขอโดยสารไปกับรถคันอื่นๆ แทน

ถ้าเป็นผม โดยส่วนตัว ผมคงจะทนนั่งไปถึงพัทยาได้ แต่ขนาดทริปทดลองขับ
ที่ทาง Mazda จัดให้สื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ ไปลองขับกันไกลถึงภูเก็ตและพังงา
ผมเองก็ยังไม่ยอมย้ายก้นไปนั่งบนเบาะหลังเลย เหตุผลก็คือ ผมไม่ชอบพื้นที่
เบาะหลังที่ออกจะคับแคบสักหน่อย มันเหมาะแค่ให้เด็กๆ โดยสารไปโรงเรียน
หรือไม่ก็เป็นผู้ใหญ่ ที่มีธุระขอติดรถไปด้วยในระยะทาง ข้ามฝั่งเมือง
แต่ถ้าให้ถึงกับนั่งข้ามจังหวัด รวดเดียว 3 ชั่วโมง เห็นทีผมอาจทนไม่ไหวนัก

กระนั้นก็เถอะ งานนี้ Mazda ก็ค่อนข้างใจป้ำ ที่ติดตั้ง พนักพิงเบาะหลังแบบแบ่งพับได้
ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเปิดทะลุไปยังห้องเก็บของด้านหลัง ครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่น
Groove เกียร์ธรรมดา อันเป็นรุ่นถูกสุด ไปจนถึง รุ่น Maxx อันเป็นรุ่นท็อป

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตจากรูปนี้ดีๆ คุณจะเห็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีในรุ่น Hatchback
แต่กลับมีโผล่มาให้เห็นในรุ่น Sedan ทั้ง 2 รุ่นที่เราเอามาทำรีวิว ทายสิ อะไรเอ่ย
ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก….

เฉลย…มันคือ “มือจับเหนือประตู สำหรับการห้อยโหนเหมือนลิงบาบูน” นั่นเอง!

เป็นเรื่องชวนให้สงสัยดีเหมือนกันว่าทำไม ในรุ่น Sedan มีมาให้ แต่รุ่น Hatchback
กลับตัดออกไปเสียดื้อๆ ทั้งที่ควรจะมีมาให้ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เหมือนๆกัน

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ ของ Mazda 2 Sedan ลึกมาก ไม่รู้ว่าจะลึกไปไหน
ลึกจนหายคนห่วงว่า ถ้ามีเด็กๆ เกิดเล่นซุกซน ไปซ่อนตัว อยู่ในห้องเก็บของ
จะรอดออกมาไหม? พื้นที่ความจุ 450 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน เลยทีเดียว

คำตอบก็คือ ถ้าลูกน้อยของคุณ เรียนอยู่ใน โรงเรียน นานาชาติ
หรือโรงเรียน ที่มีพื้นฐานการสอนภาษาอังกฤษ ดีเด่น อย่าง กรุงเทพคริสเตียน
เครืออัสสัมชัญ ฯลฯ และมีสติ ดีเพียงพอ ผมว่า ลุกคุณ ก็น่าจะอ่านคำว่า “OPEN”
ที่เรืองแสง อยู่ตรงแผงด้านในของฝากระโปรงหลัง ออก สอนให้เขากดปุ่มนี้ด้วย
นิ้วของเขาเอง เพื่อการจดจำด้วย จะดีมากครับ

แต่ถ้าลูกน้อยของคุณ เกิดยังเรียนอยู่ใน โรงเรียนวัดโคกอีหอย
โรงเรียนวัดสิ้นศรัทธาธรรม หรือโรงเรียนอะไรก็ตาม
ที่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษเอง ยังแปลตำราภาษาอังกฤษ ระดับอนุบาล ไม่ออกเลย
แต่ต้องจับพลัดจับผลูมาสอนลูกคุณ ฟุต ฟิต ฟอ ไฟ ผมว่า ทางที่ดี
รีบบอกเตือนหรือสอนลูกคุณในเรื่องการเอาตัวรอดจากฝากระโปรงหลัง
ของรถรุ่นนี้ เสียแต่เร็วไว ตั้งแต่วันรับรถมาได้ ยิ่งดีครับ เผื่อเอาไว้ก่อน

ไม่น่ากลัวเลย เพราะผมลองมาหมดแล้ว ตั้งแต่ การโดนขังอยู่ในนั้น
มองเห็นที่เปิดฝาท้าย สะท้อนแสง แล้วก็กดมันออกทางขวา
หรือ ถ้า ไม่ไหวจริง ให้เขาตะโกนร้องไห้ ดังๆ เพราะจากที่ทดลองมา
แค่เสียงเรียกธรรมดา คนที่อยู่ข้างนอกตัวรถ ในระยะใกล้ๆ ก็ได้ยินแล้วครับ

เมื่อยกแผงพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ก็จะพบยางอะไหล่สีเหลืองขนาดเดียวกับ
ในรุ่น Hatchback 5 ประตู นอนกลมๆ อยู่ในแอ่ง อย่างที่เห็น

พี่ซู สุรีย์ทิพย์ ละอองทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ของ Mazda บอกกับ
น้องตอย และน้องกล้วย ในคลิป The Coup Channel เอาไว้ว่า

“ห้องเก็บของด้านหลังใหญ่มาก ถ้าใส่ J!MMY น่าจะได้สัก ประมาณ 2 คน
แต่ถ้า J!MMY กินอิ่มมาแล้ว น่าจะได้ คนครึ่ง”

อืมมม นะ แซวกันเข้าไป…..

อยากบอกว่า ด้วยความอยากรู้ ว่ามันจะจริงหรือเปล่า ผมก็เลยทดลองมาแล้วแหละ….
และพี่ซู ก็ช่างกะประมาณพื้นที่ด้านหลังรถ ได้เก่งมาก จริง ตรงเผง พอดีเป๊ะ!!

แต่….อย่านึกว่า….ผมคนเดียวที่อยากลอง….
คราวนี้ ผู้การแพน Commander CHENG! น้ำหนักตัว 140 กิโลกรัม ของเรา
ก็อยากลองกับเขาด้วย!! ผลก็เลย ออกมาเป็นอย่างที่เห็น….

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

 V

………!!!!!!!

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะมีห้องเก็บของ Nissan Teana J32
ตัวล่าสุดเท่านั้น ที่แพนสามารถเข้าไปนอนเล่นแบบนี้ได้ แทบไม่ต้องนึกถึง
รถ Sedan เล็กๆคันอื่นเลย ตาแพนเข้าไปนอนไม่ได้หรอก

แต่เมื่อคุณๆ เห็นภาพนี้แล้ว
ผมคงไม่ต้องบรรยายอะไรเพิ่มเติมให้ยืดเยื้อเวิ่นเว้อ อีกแล้วนะครับ?

นี่ละ ถึงแม้อยากจะเรียกบั้นท้ายนี้ว่าเป็น “เป็ดน้อย” ขนาดไหน ที่สุดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนใจเรียกเป็น “เป็ดยักษ์” แทน!

แผงหน้าปัด ยังคงใช้พื้นฐานงานออกแบบเหมือนกันกับรุ่น Hatchback 5 ประตู
วางตำแหน่งทุกอุปกรณ์ให้เน้นการใช้งาน ที่ สะดวก ง่ายดาย ซึ่งในประเด็นนี้
ทีมออกแบบของ Mazda ทำการบ้านมาดีจริงๆ ตำแหน่งของ สวิชต์ทั้งหมด
จะอยู่ใกล้มือคนขับมาก สะดวกต่อการใช้นิ้ว ควบคุม ขณะขับขี่ และช่วยในการ
จดจำตำแหน่งปุ่มต่างๆ ของคนขับ

ใช้วัสดุดีขึ้นกว่ารถรุ่นก่อนปรับโฉม เวอร์ชันญี่ปุ่น นิดนึง ช่องแอร์ เป็นแบบวงกลม เหมือน
ช่องแอร์ รถเมล์ ปอ.ตามสมัยนิยม หมุนได้ 360 องศา พับช่องปิดทิ้งไป หรือเปิดขึ้นมาใหม่
เมื่อติดตั้งรวมเข้ากับแผงควบคุมแล้ว หน้าตาทั้งหมด ชวนให้นึกถึง Mickey Mouse ทุกที

ในช่วงขณะนึง ที่มองแผงหน้าปัดของ Mazda 2 แอบคิดเหมือนกันว่า เหมือน Doraemon
ตอนยังมีหู ไม่ได้โดนหนูแทะ แต่ก็แอบสงสัยอยู่เหมือนกันว่า Doraemon จะทำยังไง
ถ้าเจอ Mickey Mouse ตัวเป็นๆ พี่เค้าจะกล้าเข้าไปจับมือเช็คแฮนด์ หรือเปล่าหนอ?

เอ้า เพ้อเจ้อ พอละ ต่อๆๆๆ

พวงมาลัยของรุ่น Maxx จะเป็นรุ่นเดียวที่ หุ้มด้วยหนัง และมีสีเงิน ประดับตกแต่ง
มีสวิชต์ควบคุม ชุดเครื่องเสียง และหน้าจอมาตรวัด บนพวงมาลัยมาให้ด้วย

ขณะที่รุ่น Groove จะใช้แผงหน้าปัดแบบเดียวกันเป๊ะ ต่างกันที่พวงมาลัย
ไม่มีสวิชต์ควบคุมใดๆทั้งสิ้น และเป็นแบบยูรีเทนธรรมดา สีดำ ไม่มีการประดับ
ด้วยพลาสติกสีเงินแต่อย่างใด

แผงบังแดด มีกระจกพับเก็บได้ทั้ง 2 ฝั่ง ให้มาครบทุกรุ่น และเช่นเดียวกัน
ไม่มีไฟแต่งหน้ามาให้เลย สักรุ่นเดียว

มีข้อสังเกตนิดหน่อย เรื่องไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร หน้าตาของชุดสวิชต์
และไฟส่องสว่างดังกล่าว ทั้งในรุ่ Hatchback และ Sedan จะเหมือนกันเปี๊ยบ
แต่มีตำแหน่งติดตั้งแตกต่างกัน

โดยรุ่น Hatchback จะติดตั้งอยู่ระหว่าง แผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง ด้านหน้าของรถ
กลายเป็นไฟอ่านแผนที่ไปในตัว แต่เมื่อเปิดใช้งานตอนกลางคืน ภายในห้องโดยสาร
จะดูไม่สว่างมากพออย่างที่ควรจะเป็น

ทว่า พอเป็นรุ่น Sedan ไฟส่องสว่างในเก๋ง กลับย้ายมาติดตั้งอยู่ตรงกลางเพดานหลังคา
เหมือนรถยนต์ทั่วไปตามปกติ แม้จะให้แสงสว่างภายใน อย่างดีมาก แต่ ความสะดวก
ในการใช้งาน เพียงเพื่อแค่จะอ่านเอกสาร หรือข้อมูลบางอย่าง ในตอนกลางคืนนั้น
ไม่สะดวกเอาเสียเลย เพราะ ไม่มีไฟอ่านแผนที่ มาให้ ซึ่ง คู่แข่ง เขามีมาให้กันแล้ว

ชุดมาตรวัด ทุกรุ่น เป็นแบบ พื้นวงกลมสีขาว มีมาตรวัดรอบมาให้ครบทุกรุ่น โดยไม่ต้องร้องขอ
ในรุ่น Spirit และ Maxx ที่เห็นอยู่นี้ จะมีจอขนาดเล็ก ที่มุมขวา แสดงอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ทั้งแบบ เฉลี่ย และแบบ Real Time รวมทั้ง ข้อมูลการขับขี่ ใช้แสงสีส้มเข้ม แบบรถยุโรป เพื่อ
เน้นให้อ่านค่อนข้างจะง่าย ในเวลากลางคืน Trip Meter จับระยะทาง มีครบทั้ง Trip A และ B

การจะดูข้อมูล ให้กดปุ่ม INFO ที่ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย จะ Reset ค่าตัวเลขต่างๆ ก็แค่กด INFO
ค้างเอาไว้ มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ใกล้เคียงความจริง แต่ยังไม่ถึงกับตรงนัก
ทุกรุ่น สามารถปรับแสงสว่างของชดมาตรวัดได้ ที่ลูกบิดเล็กๆ ฝั่งซ้ายของหน้าจอมาตรวัด

ขณะที่แผงมาตรวัดของ รุ่น Groove นั้น มีความแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ จอมาตรวัด
บอกอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่างๆ สัญญาณไฟตัดหมอกหน้า และสัญญาณไฟของ
ระบบกุญแจ Immobilizer เท่านั้น ที่ถูกตัดออกไป นอกนั้น เหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้แต่
การไม่มี มาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็น….ซึ่ง ควรจะมีมาให้! ไม่ใช่สัญญาณไฟเตือน
แดงกับฟ้า เหมือนที่ชาวบ้านเขาทำ

Mazda 2 มีข้อดีในเรื่องหนึ่ง คือ ความเสมอภาค ซึ่งกันและกัน
เพราะไม่ว่าคุณจะซื้อรุ่นแพงสุด หรือ ถูกสุด ตัวถังแบบไหนก็ตาม
ข้าวของส่วนใหญ่ จะมีมาให้เหมือนๆกัน คล้ายๆกัน หรือว่าใช้ร่วมกัน
ได้ค่อนข้างเยอะอยู่

ตั้งแต่เครื่องปรับอากาศ ที่ต้องขอบอกเลยว่า เมื่อจอดรถกลางแดด มาหมาดๆ
การกระจายความเย็น ยังไปถึงผู้โดยสารแถวหลัง ไม่รวดเร็วเพียงพอ ทั้งที่
คนขับ นี่ แทบจะนั่งหนาวอยู่กลางขั้วโลกใต้แล้ว

สวิชต์เครื่องปรับอากาศนั้น ยังคงเป็นแบบ อัตโนมือ (บิดเอาเอง) หน้าตาของมัน
แม้จะเหมือน สวิชต์ มือบิดเครื่องซักผ้า แต่ทว่า ก็ยังเป็นเครื่องซักผ้าแบบ Electrolux
ไม่ใช่แบบ เครื่องซักผ้ารุ่น รักเมีย ตรานกยูง หรือดูเหมือนฝาปิดกระป๋องน้ำมันเครื่อง
อย่างสวิชต์แอร์ของ Honda City ที่บ้านผม

ชุดเครื่องเสียงที่มีมาให้ ในรุ่น Maxx เป็นแบบ เล่น CD/MP3 ได้ คราวละ 6 แผ่นรวด
พร้อมสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง จากบนพวงมาลัย ซึ่งมีมาให้ทั้งรุ่น Maxx และ รุ่น Spirit
ต่างกันแค่ เครื่องเสียงในรุ่น Spirit จะเล่น CD/MP3 ได้แค่แผ่นเดียว

ขณะ รุ่นล่างสุด Groove เกียร์ธรรมดา ก็ยังเป็นชุดเครื่องเสียง ที่มีคุณภาพเสียงแบบเดียวกัน
แต่เล่น CD/MP3 ได้เพียงแค่แผ่นเดียวเท่านั้น ไม่มีสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัยแต่อย่างใด
ทุกรุ่นมีลำโพงมาให้แค่ 4 ชิ้น แต่มีระบบเพิ่มระดับเสียงตามความเร็ว ALC (Auto Leveling Control)
มาให้ครบทุกรุ่น

แน่นอน คุณภาพเสียงที่ออกมา เหมือนกันเป๊ะ ตั้งแต่รุ่นถูกสุด ยันรุ่นแพงสุด

คุณภาพเสียง แม้ว่า ยังเป็นรอง Honda City และ Suzuki Swift ซึ่งผมมองว่าเป็น รถยนต์
2 รุ่นในกลุ่ม B-Segment ที่ให้เครื่องเสียงคุณภาพดีที่สุดในตลาด แต่ เสียงที่ออกมา
ถึงจะแห้ง แต่ก็ยังฟังได้กำลังดี ไม่ต้องปรับอะไรมากมาย นัก และในบางเพลงที่
ผมนำแผ่น CD จากญี่ปุ่น ไปเล่น ในรถนั้น หากเป็นดนตรี แนวอีเล็กโทรนิคส์ ละก็โอเค
ถึงกระนั้นก็เถอะ ถ้าเป็นดนตรี ที่ให้เสียงละเมียดละไม อย่าง เปียโน ก็ยังแห้งไปนิดนึง
ขาดชีวิตชีวา เหมือนขาดความชุ่มชื่นของเสียง (แทบอยากจะเอา โลชั่นที่อุดมไปด้วย
มอยส์เจอไรเซอร์ไปทาที่ลำโพง และสายสัญญาณ)

ลิ้นชักเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ทำออกมาเผื่อให้เป็นช่องใส่นิตยสารได้ด้วย
อันที่จริง แค่วาง ซองคู่มือผู้ใช้รถ และสมุดรับประกัน ก็แทบจะไม่ค่อยมีพื้นที่เหลือแล้ว
ถ้าจะใส่นิตยสาร ก็ใส่ได้แค่ 2 เล่ม ไม่ต้องคิดถึง พ็อกเก็ตบุ๊ต เพราะมันเล็กไป และคุณ
จะต้องล้วงมือเข้าไปหยิบ ซึ่ง ถ้าจะให้ง่ายกว่านั้น ก็เปิดฝาออกมาอย่างนี้เลยจะดีกว่า

เป็นความพยายามที่ดี แต่ ยังสามารถต่อยอด ออกแบบต่อไปให้ดีกว่านี้ได้อีกครับ

มองลงไปข้างลำตัว จะมีที่วางของ คั่นกลางระหว่าง เบาะคู่หน้า พร้อมช่องเสียบ AUX
สำหรับเครื่องเล่นเพลงต่างๆ โดยเแพาะ เครื่องเล่น iPod  และช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า
สำหรับชาร์จไฟ รวมทั้งช่องวางขวดน้ำขนาดเล็ก ถอดแบ่งพื้นที่ได้ ออกแบบเข้าชุดกัน
ติดตั้งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับชุดเบรกมือแบบมาตรฐาน ตั้งแต่รุ่น Groove ยัน
รุ่น Maxx ก็เป็นแบบเดียวันนี้ทั้งหมด ไม่แตกต่างกันเลยแต่อย่างใด

ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ ผมอยากขอเพิ่มที่วางแขน สักหน่อย ในรุ่นท็อปก็ยังดี เพราะคนขับรถสมัยนี้
ถ้ามีที่วางแขน สำหรับคนขับ เพื่อช่วยลดความเมื่อยแขนซ้ายสักนิดนึง ก็ยังดี

ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะซื้อรุ่นถูกสุด หรือแพงสุด คุณจะได้ ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ
ระบบป้องกันล้อล็อก ABS 4 เซ็นเซอร์ และระบบกระจายแรงเบรก EBD ไฟเบรกดวงที่ 3
คานกันชนหน้า คานเหล็กนิรภัยที่ประตูทั้ง  4 บาน ส่วนรุ่น Spirit กับ Maxx จะได้ถุงลมนิรภัย
ฝั่งผู้โดยสาร เพิ่มมาอีก 1 ใบ กุญแจระบบ mmobilizer และ สัญญาณกันขโมย จากโรงงาน

ประเด็นเรื่องทัศนวิสัยนั้น ถ้าเป็นในส่วนครึ่งคันหน้ารถ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไร
ไปจากรุ่น Hatchback 5 ประตู เท่าใดนัก ด้านหน้า ยังคงมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง
โล่งสบาย แม้ว่าจะปรับตำแหน่งเบาะ ให้ลงต่ำสุด อย่างที่เห็นอยู่นี้ก็ตาม

พอหันมามองฝั่งขวา เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar หากเป็นฝั่งขวา เสาจะดูบาง และ
พอเอาเข้าจริง ก็พอจะพบการบดบังอยู่บ้าง ในบางรูปแบบโค้ง ทางขวา เหมือนกัน
แต่พอรับได้ ประเด็นนี้ ดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของรถยุคใหม่ ที่มีเสาหลังคา
คู่หน้าเทลาดเอียงแบบนี้ไปเสียแล้ว

แต่ถ้าเป็นเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้ายนั้น ดูหนา และเหมือนจะมีโอกาส
บดบัง จังหวะการเลี้ยวกลับรถบ้างอยู่นิดๆ ในบางครั้ง ที่คุณเลี้ยวกลับรถ ไม่ทุกครั้ง
และเป็นเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง บางจังหวะ ขึ้นอยู่กับความกว้างของเกาะกลางถนน ณ จุดกลับรถ
เพราะปกติ มันก็ไม่ค่อยบังเท่าใดนัก

ที่แน่ๆ สิ่งที่อยากจะให้เปลี่ยน ก็เหมือนกับรุ่น Hatchback 5 ประตู นั่นคือ
ขอบล่าง ฝั่งนอก ของกระจกมองข้าง ทั้ง ซ้าย-ขวา โดนพื้นที่ด้านล่าง
ของตัวกรอบฝาครอบกระจกมองข้าง เองนั่นแหละ บดบังขอบล่าง มากไปนิดนึง
ถ้าปรับกระจกมองข้างให้มองเห็นขอบตัวถังรถเพียงนิดเดียวนั้น

ถ้าปรับตำแหน่ง กระจกมองข้าง เพื่อหวังให้เห็นรถที่ตามมา ได้ดีกว่านี้
เห็นทีจะยากหน่อย เพราะโดนบังจาก ด้านในของตัวกรอบฝาครอบนั่นเองละ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของบั้นท้ายในรุ่น Sedan ทำให้ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น
พอจะมองเห็นได้โปร่งกว่า รุ่น Hatchback เล็กน้อย แม้ว่าบั้นท้ายจะสูงโด่ง
จนชวนให้นุกถึง บั้นท้ายของ Toyota Corona Exsior หรือ Honda Civic รุ่นปี 1992
ก็ตามที บดบังจักรยานยนต์ ไปครึ่งคัน โดยประมาณ ไม่ได้บังถึงขนาดเต็มคัน เต็มจอ

ว่าแต่ลุงคนขับแท็กซี่หนะ..มองอาราย ไม่เคยเห็น Mazda 2 หรือไง?

********** รายละเอียดงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ดูเหมือนว่า ผมแทบไม่ต้องเขียนอะไรเพิ่มเติม ในประเด็นนี้เลย แถมยังแทบอยากจะ
copy บทความ รีวิว ของรุ่น Hatchback มาแปะใส่ให้คุณๆได้อ่าน เยี่ยงคนมักง่ายเสียด้วยซ้ำ

เหตุผลก็เพราะว่า เครื่องยนต์กลไก ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน และระบบเบรก
ของ Mazda 2 Sedan นั้น มันแทบไม่มีอะไรแตกต่างจาก ตัวถัง Hatchback เอาเสียเลย

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ สามารถยกมาสลับใส่ซึ่งกันและกันได้แทบจะทั้งดุ้น นั่นเอง!

เครื่องยนต์ที่อยู่ในตระกูล MZR เหมือนเช่นมาสด้ารุ่นอื่นๆในยุคนี้ เป็นรหัสรุ่น ZY
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชัก 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1

ชิ้นส่วนหลักๆ ทั้งฝาสูบ และเสื้อสูบ ท่อนล่าง ผลิตจากอะลูมีเนียมอัลลอย
เพื่อช่วยลดน้ำหนัก ลดเสียงและแรงสั่นสะเทือน ใช้ ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
พร้อมเซ็นเซอร์ ลิ้นปีกผีเสื้อแบบ 2 วงจร และใช้เซ็นเซอร์ที่ขาคันเร่งแบบ 2 วงจร

 ใช่โซ่ไทม์มิง แบบลดเสียง (Silent timing Chain) ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสายพานไทม์มิงอีก
 ใช้สายพานหมุนเครื่องยนต์แบบ Serpentine พร้อมตัวตั้งความตึงอัตโนมัติ ใช้พูเลย์เพลาข้อเหวี่ยง
 พร้อมแคมเปอร์ ลดแรงบิด ใช้แท่นเครื่องแบบ Pendulum ประเก็นฝาสูบเป็นแบบ 2 ชั้น

พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ ฝั่งวาล์วไอดี S-VT (Sequential Valve Timing)
ควบคุมการทำงาน ด้วยกล่องคอมพิวเตอร์ PCM (นึกถึงระบบ VVT-i ของ Toyota เอาไว้ครับ คล้ายกัน)

รวมทั้งยังมี ระบบมีลิ้นควบคุมการไหลเข้าของส่วนผสมอากาศกับน้ำมัน (ในท่อไอดี) 2 ลิ้น
ลิ้นแรกคือ ระบบ Variable Intake Air System อันเป็น เทคโนโลยี ลิ้นวาล์วติดตั้งอยู่กับท่อร่วมไอดี
ซึ่งอยู่ในรถเก๋ง Mazda หลายๆรุ่น ที่จำหน่ายในบ้านเราอยู่แล้ว  

และระบบ TSCV (Twin Swirl Control Valve) ติดตั้ง อยู่ใกล้กับปากท่อไอดี ทำงานในช่วงที่
เครื่องยนต์มีอุณหภูมิต่ำ เพิ่งติดเครื่องมาใหม่ๆ หรือเดินเบาอยู่กับที่ เมื่อระบบ S-VT
เพิ่มความเร็วในการไหลเข้าของส่วนผสมไอดี ระบบจะปิดวาล์วนี้ กั้นเอาไว้ส่วนหนึ่ง
เพื่อให้ปากช่องไอดีแคบลง ทำให้ส่วนผสมไอดีผสมกันได้ดีขึ้น และเมื่อไหลเข้าห้องเผาไหม้
ส่วนผสมไอดี จะเข้าไปหมุนวนในห้องเผาไหม้มากขึ้น ช่วยให้ส่วนผสมไอดี (อากาศ กับน้ำมัน)
คลุกเคล้ากันเองได้ดียิ่งขึ้น เมื่อส่วนผสมออกมาดีขึ้น การจุดระเบิด ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ก๊าซพิษ ที่จะเล็ดรอดออกมาหลังการเผาไหม้ ก็จะน้อยลง ตามไปด้วย  

อีกทั้งยังมีการปรับปรุงท่อทางเดินไอดี ให้มีขนาดกว้างขึ้นนิดหน่อย ผลลัพธ์ก็คือ
ช่วยเพิ่มอัตราเร่ง ในช่วงจาก 0-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้ดีขึ้นกว่ารถรุ่นก่อน

พละกำลังสูงสุด 103 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 135 นิวตันเมตร (13.75 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบ/นาที

ที่สำคัญ เครื่องยนต์ ZY มีการปรับแต่งให้สามารถ เติมน้ำมันเบนซิน แก็สโซฮอลล์
ได้ถึงระดับ E20 แล้ว อีกทั้งยังผ่านผ่านมาตรฐานไอเสีย ระดับ EURO-IV มาเรียบร้อย

ระบบส่งกำลัง มีให้เลือก 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ รุ่น F35M-R
ติดตั้ง คันเกียร์ ไว้ที่ด้านล่างสุดของแผงหน้าปัด ตำแหน่งคล้ายกับ รถมินิแวนบางรุ่น

เมื่อกลับมาเจอกับเกียร์ธรรมดาของ Mazda 2 อีกครั้ง หลังจาก ที่ได้ลองขับ Nissan March ใหม่
ยิ่งทำให้ผมประทับใจในเกียร์ลูกนี้มากยิ่งขึ้น

ข้อแรก ตำแหน่งเกียร์ ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ ผู้การแพน Commander CHENG ของเรา
ชมเปาะ เลยว่า ใกล้กับพวงมาลัยมาก และถ้าจะต้องขับรถแข่งกันจริงๆ ตำแหน่งเกียร์ที่ใกล้มือ
ใกล้พวงมาลัยขนาดนี้ ยิ่งจะทำให้การควบคุมรถ ทำได้อย่างสะดวก และฉับไวยิ่งขึ้น

ข้อต่อมา การเข้าเกียร์นั้น คือสิ่งที่น่าชื่นชมมากๆ ทั้งแรงที่ใช้ในการผลักคันเกียร์ สัมผัสของคันเกียร์
ขณะถูกโยกเปลี่ยนตำแหน่ง หรือเอาง่ายๆคือ Shift Quality นั้น ดีเยี่ยม! สัมผัสใกล้เคียงกับ
รถสปอร์ตชั้นดี คันเกียร์ เข้าง่าย และช่วงเข้าเกียร์ สั้น ไม่ยาวนัก ทุกอย่างกำลังดี เหมากระชับมือ

หน้าตาภายในชุดเกียร์ธรรมดา เป็นแบบนี้ 
มีกลไกป้องกันการเข้าเกียร์ถอยหลัง (Reverse Lock out Mechanism)

มีการปรับอัตราทดเกียร์ธรรมดา ให้เหมาะสมกับตัวรถ ดังนี้
เกียร์ 1                 3.416
เกียร์ 2                 1.842
เกียร์ 3                 1.290
เกียร์ 4                 0.972
เกียร์ 5                 0.775
เกียร์ R                 3.214
อัตราทดเฟืองท้าย    4.105

รุ่นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ จะใช้เกียร์รุ่น FN4A-EL
ซึ่งเป็นเกียร์ ที่ใช้อยู่ใน Mazda 3 รุ่น 1.6 ลิตร แต่เอาเข้าจริงแล้ว
Mazda บอกว่า ก็มีการปรับปรุงในรายละเอียดปลีกย่อย บางประการ

ซึ่งแม้จะมีรายละเอียดอยู่บ้าง แต่ถ้าเขียนเล่าให้อ่านกัน
เดี๋ยวคุณผู้อ่านที่ไม่ได้รู้เรื่องรถมากมาย จะงงแตก มากไปกว่านี้
ดังนั้น สรุปเป็นว่า สิ่งที่ควรจะรู้เอาไว้ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการ
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ว่า Mazda 2 เกียร์อัตโนมัติ รุ่นนี้
ต้องใช้ น้ำมันเกียร์อัตโนมัติแบบ ATF ปริมาณ 7 ลิตร
ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ “ทั้งระบบ”

เกียร์ลูกนี้ มีอัตราทดเกียร์ ดังนี้
เกียร์ 1                2.816
เกียร์ 2                1.553
เกียร์ 3                1.000
เกียร์ 4                0.695
เกียร์ R                2.279
อัตราทดเฟืองท้าย   4.147

เรายังคงจับเวลาหาอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุดกัในยามค่ำคืน ช่วงเวลาที่ปริมาณรถบนถนน
ค่อนข้างโล่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นช่วงเที่ยงคืนขึ้นไป เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน
มีผม เป็นคนขับ (น้ำหนัก 95 กิโลกรัม) และน้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา
(48 กิโลกรัม) เป็นผู้ช่วยจับเวลา

รุ่นเกียร์ธรรมดา เราเหยีบคันเร่ง เลี้ยงรอรอบ ค้างเอาไว้ที่ 4,000 รอบ/นาที
ผมเอง อาจจะสับเปลี่ยนเกียร์ ยังไม่ไวเท่า น้องเนย (The Coup Team ของเรา
ที่เคยเป็นผู้ขับ ในคราวที่แล้ว) ตัวเลขเลยออกมาเป็นอย่างที่จะได้เห็นกัน

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เราเหยียบคันเร่ง ออกตัว ในเกียร์ D ตามปกติ
และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด ทั้งหมด มีดังนี้

ถ้าเห็นว่าในตาราง มีตัวเลขแปลกๆ อย่าตกใจครับ อ่านต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็รู้เอง

สงสัยใช่ไหมครับว่า ทำไมตัวเลขของ 1.5 R 4AT หรือ รุ่น Maxx Sedan ถึง มีตัวเลข
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซ้ำซ้อน กัน 2 ครั้ง

ครั้งแรก ที่ผมทดลองจับเวลากับน้องกล้วยนั้น เราอยู่บนทางยกระดับ ซึ่งในวันนั้น
มีกระแสลมค่อนข้างพอสมควรกว่าปกตินิดนึง แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ด้อยกว่า
รุ่น 5 ประตู ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์ กับเกียร์ลูกเดียวกัน ก็ชวนให้ผมสงสัยตะหงิด

หลังจานั้น อีก 2 คืน น้อง นิค Lectter the Ripper ซึ่งเป็นคุณผู้อ่าน ที่ติดตามเรามาตลอด
และมีนิวาสถาน อยู่แถวๆ ศรีนครินทร์ เกิดอยากให้ผม ช่วยจับอัตราเร่ง รถ Mercedes-Benz
E230 W211 ปี 1996 เพื่อให้เจ้าตัวเอามาใช้เขียนทำ User’s VOICE รีวิวรถตัวเอง ให้ได้อ่านกัน
เร็ววันนี้

ผมเลย เกิดไอเดียว่า อยากให้นิค ช่วยจับเวลา โดยเราจะทดลองอัตราเร่งกันอีกครั้งบนพื้นราบ
นิค เอง หนักกว่า กล้วย พอสมควร พราะตัวก็สูงกว่า (มี 180 เซ็นติเมตร เห็นๆ) แต่ผมก็ลืมถาม
ว่านิค หนักเท่าไหร่ เพียงแต่คาดเอาไว้ว่า น่าจะราวๆ 60 ต้นๆ กิโลกรัม จำจากเท่าที่เคยถามเจ้าตัวไป
เมื่อนานมาแล้ว

ปรากฎว่า อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีขึ้นจริง ชัดเจน แต่ อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ทำยังไง๊ยังไง ก็ได้แค่ 14.5 วินาที โดยประมาณ มันเป็นอะไรของมันวะเนี่ย?? ทดลองได้สักพัก
นิคเริ่มสงสัย ในฐานะ ที่เจ้าตัว ก็มี Mazda 3 รุ่น 2.0 ลิตร 5 ประตู ว่า

“โดยปกติ ต่อให้เราเปิดแอร์ไว้ ตอนทดลองอัตราเร่ง ถ้าเราเหยียบคันเร่งเต็มเท้า คอมเพรสเซอร์ของแอร์
มันก็ควรจะตัดการทำงาน และมันควรมีแค่ สายลม จากพัดลม ส่งเข้ามาในห้องโดยสาร แต่นี่ Mazda 2
Sedan คันนี้ แอร์ยังเย็นเชี๊ยบบบ อยู่เลย ดังนั้น พี่จิม ปิดแอร์ลองดูไหมครับ?”

เอาวะ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ลองปิดแอร์ แล้วจับเวลาดูหน่อยแล้วกัน

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็เลยออกมาอย่างที่เห็นกัน ว่า ตัวเลข 13 วินาทีกลางๆค่อยปลาย โผล่มาให้เห็นจนได้
ผมเลยชักสงสัยว่า รถคันที่เราทดลองขับกันอยู่นี้ ดูเหมือนว่า คอมเพรสเซอร์แอร์ มันไม่ตัดการทำงาน
เลยหรืออย่างไรแหะ เราคิดว่า นี่น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะรถคันนี้มากกว่า ในเบื้องต้น

ก็เลยต้อง remark ตัวเลข และบันทึกเอาไว้ ในตารางเดียวกันนี้ ให้เห็นกันไปเลยครับ
และจะทำเฉพาะคันนี้เท่านั้น เพราะคันอื่นๆ ที่ผ่านมา การทดลองต่างๆ ก็เป็นปกติกันหมด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ดีขึ้น ก็ดีขึ้นประมาณ 1 วินาที ไม่มีขาดเกิน และแม้ตัวเลขจะต่างกัน
แต่บุคลิกการตอบสนอง ของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ของ Mazda 2 Sedan ไม่ได้แตกต่างอะไร
ไปาก รุ่น Hatchback เลย มันเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ ด้วยน้ำหนักตัว ที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย
เป็น 1,030 กิโลกรัม ในรุ่น Groove เกียร์ธรรมดา และ 1,066 ในรุ่น Maxx เกียร์อัตโนมัติ ก็เลยดูเหมือน
จะทำให้ตัวเลขอัตราเร่ง ทำได้ด้อยกว่ารุ่น 5 ประตู ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่ากัน นิดนึง

ในรุ่นเกียร์อัตโนมัตินั้น ช่วงออกตัว ถึงความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ดูเหมือนจะจี๊ดจ๊าดดี
แต่พอเข้าสู่ช่วงเกียร์ 2 แล้ว ใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าจะลากถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงตอนนี้
แม้ว่าเสียงเครื่องยนต์ จะแผดคำรามออกมาน่าฟังขนาดไหน แต่รถก็เนือยลงชัดเจน และความสนุก
ก็หมดลงลากจากนั้นเป็นต้นไป เพราะการจะไต่ความเร็วขึ้นไปยัง Top Speed ในช่วง เกียร์ 3 นั้น
ก็ใช้เวลานานเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ยิ่งพอตัดเข้าสู่เกียร์ 4 แล้ว อยากจะหลับเลยดีกว่า

ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดานั้น ก็ยังคงเป็นขวัญใจ ของผม แพน และกล้วย อยู่เช่นเดิม
อัตราเร่งที่ออกมา ยังคงน่าประทับใจ ทำได้ดี เพียงแต่ว่า ตัวเลขจะด้อยลงจาก
รุ่น Hatchback ราวๆ 0.5 วินาที ก็อย่าตกใจครับ ส่วนหนึ่ง น่าจะมีผลมาจาก
การสับเปลี่ยนเกียร์ของผมเองด้วย

น่าสังเกตว่า ความเร็ว สูงสุด ที่ทำได้ในรถรุ่น Sedan นั้น ทั้ง เกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ
จะสูงกว่า รุ่น Hatchback อยู่ 3 กิโลเมตร/ชั่วโมงพอดีทั้งคู่ โดยมิได้นัดหมายเลยแต่อย่างใด

ยืนยัน และคอนเฟิร์ม ให้เลยว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา ของ Mazda 2 ตัวถังไหนก็ตาม
น่าซื้อหามาใช้งานกันอย่างดี  ให้อัตราเร่งที่เหมาะสมกับความต้องการตามปกติ
แต่ถ้ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ  ผมยังยืนยันความเห็นเดิมว่า ทีมวิศวกร Mazda ควรกลับไป
ปรับปรุง พละกำลังเครื่องยนต์ และการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อน ให้ลดน้อยลง
ไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ ในรถรุ่นต่อไป ด้วยเถิด

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ถ้าเรานับกันจริงๆ Mazda 2 รุ่นเกียร์ธรรมดา ให้อัตราเร่ง
พอกับรุ่น 5 ประตู แต่ ก็เร็วกว่าคู่แข่งคันอื่นที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ พอนำรุ่นเกียร์อัตโนมัติ
มาจับคู่ักันเอง Mazda 2 ถึงขั้นที่ว่า ถ้าออกตัวพร้อมกัน ในเกียร์แรก Mazda 2 น่าจะมีหัวรถ
พุ่งนำออกไปกว่า Honda City กับ Toyota Vios แค่นิดเดียว ที่เหลือหลังจากนั้น คาดว่า
น่าจะโดนแซงทิ้งไปได้ในระดับหนึ่ง ยิ่ง้าต้องกดกันสุดมาตรวัดแล้ว ยังไงๆ งานนี้
ถ้าดูตามตัวเลขแล้ว City ก็จะชนะ Vios และ Mazda 2 Sedan แต่ก็ไม่ได้ขาดลอยนัก

ที่แน่ๆ อัตราเร่งของ Mazda 2 เกียร์อัตโนมัติ อืดกว่า City และ Vios อันนี้ชัดเจนนะครับ

นอกเหนือจากเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังแล้ว ระบบกันสะเทือน ของรุ่ Sedan
ก็ยังถูกยกมาจากรุ่น Hatchback ด้วยเช่นเดียวกัน ด้านหน้า ยังคงเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต
ที่ออกแบบให้ ปีกนกด้านหน้ามีบู๊ชยางปีกนกล่างขนาดใหญ่ แบบ Pancake เพิ่มความแข็งแรง
และมียางเบ้าช็อกอัพ แบบแยกชิ้น เพื่อเสริมการทำงานของระบบบังคับเลี้ยว ให้ดีขึ้น
และมีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมียางรองสปริงมาให้
 
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ ทอร์ชันบีม ตามธรรมดาของรูปแบบ
รถยนต์นั่งขนาดเล็ก Sub-Compact B-Segment โดยทั่วไป
แยกช็อกอัพ (แบบ Mono-Tube) และคอยล์สปริง ออกจากกัน
มีมุมแคมเบอร์ และมุมโท ที่เที่ยงตรง ทั้ง 2 ส่วนนี้ก็มีการปรับปรุง
เพื่อให้ช่วยลดน้ำหนักรวมของรถทั้งคันลงมาด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่เพียงแต่จะยกชุดมาทั้งดุ้น การปรับแต่งค่าระบบันสะเทือนของ Mazda 2 Sedan
ก็ยังมาในมุขเดียวกับรุ่น Hatchback เปี๊ยบ คือแบ่งออกเป็น 2 ระดับ
ทั้งแบบมาตรฐาน สำหรับรุ่น Groove และแบบสปอร์ต สำหรับรุ่น Spirit และ Maxx

ความแตกต่างก็คือ ช่วงล่าง รุ่น Spirit กับ Maxx มีความนิ่มมากขึ้น 10% (ทุกช่วงความเร็วลูกสูบ)
แต่ การยุบตัว กลับมีความแข็งมากขึ้น 10% (ที่ความเร็วลูกสูบต่ำ) อีกทั้ง ช่วงล่างด้านหลัง การยุบตัว
จะแข็งกว่า มากขึ้น 30% (ทุกช่วงความเร็วลูกสูบ) แถมเหล็กกันโคลง มีความแข็งมากขึ้น 59%
สรุปได้ว่า ในภาพรวม ช่วงล่างของรุ่น Spirit และ Maxx จะแข็งกว่า รุ่น Groove อยู่ 19%

(UPDATE! 23 กันยายน 2010 เวลา 11.25 น.
ผมเพิ่งทราบจากทาง Mazda Sales Thailand ว่า มีการพิมพ์แค็ตตาล็อก และเอกสารสำหรับสื่อมวลชน
ผิดไปจากความเป็นจริง และทาง Mazda เอง ก็มีการแก้ไขแค็ตตาล็อก และแจ้งกับทางดีลเลอร์ไปแล้ว
เมื่อ 2 เดือน หลังจากรถเปิดตัว ไปดังต่อไปนี้

“ช่วงล่าง ของรุ่น Spirit นั้น จะมี Setting ความแข็งหนืดของสปริง เหมือนกับรุ่น Groove นั่นหมายความว่า
จะแตกต่างจากรุ่น Maxx อันเป็นรุ่นท็อป อยู่ 19 เปอร์เซนต์ ตามเดิม ครับ”)

แต่ก็ใช่ว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเหมือนกันเป๊ะเสมอไป เพราะมีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย

เพราะแม้ว่า รุ่น Groove เกียร์ธรรมดา นั้น หนึบ แน่น เฟิร์ม แต่ควบคุมการกระเทือนบนลูกระนาด
ได้ดีกว่า ทั้ง City และ Vios ไม่เด้งมากนัก นุ่มกว่านิดนึงด้วยซ้ำ ความมั่นใจในการใช้ความเร็วสูง
ก็ยังคงมีอยู่ แต่รถจะเริ่มออกอาการบ้าง นิดๆ เมื่อถึงความเร็วระดับ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในรุ่น Sedan Groove นั้น ที่ความเร็ว เกินกว่า 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป
ความมั่นใจจะลดน้อยลงกว่ารุ่ Hatchback ไปนิดนึง ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก การมีบั้นท้าย
เพิ่มเข้ามา การไหลเวียนของอากาศ ที่บั้นท้ายของรถ ก็มีส่วนในเรื่องของการทรงตัว
ด้วยนิดหน่อย

ซึ่งเมื่อผมเอาไปอัดเต็มๆ บน มอเตอร์เวย์ ช่วงจากพระราม 9 ย้อนเข้าทางบางนา
เพื่อตรงกลับบ้าน บางลูกคลื่นถนน Mazda 2 Sedan Groove ก็ทำให้ผมเสียวไส้เล่นเล็กๆ
ได้เช่นกัน และอาการแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับ Honda City ที่ผมขับอยู่ ในความเร็วเท่ากันเลย

เช่นเดียวกันกับช่วงล่างแบบ สปอร์ต ในรุ่น Maxx ที่แม้ว่าจะปล่อยให้ทุกพื้นผิวถนน ส่งผ่านความรู้สึก
ไปยังผู้ขับขี่มากกว่ากันนิดนึง ท้ายรถดีดแรงกว่ากันนิดหน่อย  แต่ถ้าจะสาดโค้งเล่นแล้ว โอกาสที่รุ่น Sedan
จะมีอาการท้ายปัดเมื่อเข้าโค้ง ก็จะเพิ่มขึ้นกว่ารุ่น Hatchback นิดนึง เป็นธรรมดา

ถึงผู้การ CHENG อยากจะขอ ใช้ชีวิตอยู่กับช่วงล่าง รุ่น Groove แต่ผม กลับยินดีจะเลือกช่วงล่างรุ่น Maxx
เหมือนเดิม เพราะ ในรุ่น Sedan นั้น เมื่อขับใช้งานประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พบว่า ช่วงล่างประมาณนี้แหละ
ที่แข็งกำลังดี ไม่มากเกินไป ซับแรงสะเทือนได้ดี ตึงตังพอเหมาะ และใช้ความเร็วสูงได้อย่าง
ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนัก แต่ ถ้ามีกระแสลมมาปะทะ Mazda 2 Sedan ก็จะมีอาการวูบได้ ไม่ต่างจาก
รถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป เช่นเดียวกัน

แต่กับช่วงล่างในรุ่น Maxx นั้น การผ่านเข้าโค้งในจังหวะนั้น ผมว่าทำได้ดีกว่าชัดเจน
โดยเฉพาะ ในโค้งที่มีลักษณะกึ่งจะหักศอก ด้วยพวงมาลัยที่ไวใช้ได้ กับการโยนออกที่มีไม่มากนัก
และผมยินดีจะอยู่กับรถที่มีช่วงล่างในลักษณะนี้มากกว่าแม้ว่า ผู้เกิน CHENG จะชอบล่วงล่าง
ของรุ่น Groove เพราะมันเหมือน Peugeot 206 มากกว่าก็ตาม

ระบบห้ามล้อ ใน Mazda 2 Sedan ทุกรุ่น ก็ยกชุดมาจากรุ่น Hatchback อีกเช่นกัน
ด้านหน้าเป็นแบบ ดิสก์เบรก มีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลางจานเบรก
258.0 มิลลิเมตร หนา 23.0 มิลลิเมตร

ล้อหลังเป็นแบบ ดรัมเบรก เส้นผ่าศูนย์กลาง 200 มิลลิเมตร แบบ ฝักนำ ฝักตาม
(Leading – Trailing) เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกเบรกที่ล้อ 19.0 มิลลิเมตร
ฝักเบรกกว้าง 30.0 มิลลิเมตร ติดตั้งกลไกปรับระยะห่างฝักเบรกอัตโนมัติ

ใช้หม้อลมเบรกชนิด Vacuum servo พร้อมกลไกการช่วยเบรก มีขนาด 9 นิ้ว
(เส้นผ่านศูนย์กลาง 248 มม.หรือ 9.76นิ้ว) แป้นเบรกสามารถยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
เบรกมือเป็นแบบ สายเคเบิล เชื่อมกับดรัมเบรกหลัง ตามปกติ

ทุกรุ่นตั้งแต่ Groove ยัน Maxx ถูกสุดถึงแพงสุด จะติดตั้ง ระบบป้องกันล้อล็อก
ขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) แบบ 4 Sensor โดยใช้
เซ็นเซอร์ตรวจจับที่ล้อแบบ Semiconductor element และระบบกระจายแรงเบรก
EBD (Electronic Brake Force Distribution) เพื่อช่วยกระจายแรงดันน้ำมันเบรก
ไปให้แต่ละล้อที่เหมาะสม ตามน้ำหนักบรรทุก

ในรีวิวรุ่น 5 ประตู ผมเขียนเอาไว้ว่า “ประสิทธิภาพในการเบรก ขณะขับขี่ตามท้องถนน
ในกรุงเทพฯ นั้น ถือว่า ดีมาก น้ำหนักแป้นเบรก มาในสไตล์ รถยุโรป คือ นุ่มนวลกำลังดี
แป้นไม่แข้งทื่อ เหยีบบลงไปปุ๊บ เจอเลย อย่างเช่นที่ Honda City หรือ Jazz เป็นอยู่
แต่ระบบเบรกของ Mazda 2 เหยียบลงไปเท่าไหร่ ก็เบรกเพิ่มขึ้นตามเท้าสั่ง ตามนั้น
และถ้าเกิดภาวะต้องเหยียบเบรกกระทันหัน การหน่วงความเร็ว ทำได้อย่างดี มั่นใจได้แน่ๆ”

ขอเสริมเพิ่มเติมในประเด็นนี้อีกนิดเดียว นั่นคือ ผมได้มีโอกาสทดลอง เบรกอย่างฉับพลัน
จากความเร็วระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาจนถึงจุดหยุดนิ่ง แต่ไม่ได้เหยียบแบบเต็มเท้า  
และพบว่า การหน่วงความเร็วทำได้ทันใจดี สำหรับรถยนต์ในพิกัดเดียวกันนี้ หน้าทิ่ม
แต่ถ้าเบรกกระทันหันจริงๆ บั้นท้ายจะออกไปทางฝั่งซ้ายของรถ

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ แร็ค แอนด์ พีเนียน แต่หันมาใช้ระบบผ่อนแรง แบบควบคุมด้วย
มอเตอร์ไฟฟ้า EPAS ( Electronics Power Assist Steering) เหมือนรถเล็กทั่วๆไปในยุคนี้
โดยเชื่อมการทำงานเข้ากับ กล่องคอมพิวเตอร์ของเครื่องยนต์ PCM เข้าไปด้วย ยกชุดมาจาก
รุ่น Hatchback อีกนั่นแหละ

พอขับหลายๆวันเข้า ผมเริ่มค้นพบว่า อันที่จริง น้ำหนักที่เบา และรูปแบบการตอบสนอง
ของพวงมาลัยใน Mazda 2 ทั้ง 2 ตัวถัง นั้น ชวนให้นึกถึงการนำพวงมาลัยของ Honda Jazz
รุ่นแรก อันเบาหวิว แต่คล่องตัว มาเพื่อความหนืด และปรับเพิ่มความแม่นยำ มากขึ้นอีกพอสมควร
สิ่งที่ได้คือ ความสะดวก ฉับไว ในการบังคับหักหลบสิ่งกีดขวาง แบบที่ Nissan March จะทำได้
ไม่มีทางดีเท่า เพียงแต่ความหนืดนั้น ไม่ได้มากพอจนให้สัมผัสที่ใกล้เคียงรถยุโรป อย่างที่
Suzuki Swift เขาทำเอาไว้

ผมอยากได้ความหนืดที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกนิดนึง อย่าเยอะนัก แล้วทุกอย่าง จะลงตัว
จนแทบไม่ต้องไปแก้ไขอะไร เพราะโดยพื้นฐานแล้ว นี่คือพวงมาลัย ที่ใช้ระบบไฟฟ้า
ควบคุมระบบผ่อนแรง ที่เซ็ตมาดีในระดับต้นๆ ของตลาดเลยทีเดียว สมกับที่เป็น
ผลงานของทีมวิศวกร Mazda เขาเลยจริงๆ

ส่วนการเก็บเสียง ก็ยังคงไม่ได้แตกต่างไปจากรุ่น Hatchback มากนัก เสียงลมปะทะ
จะเริ่มดังเข้ามาเรื่อยๆ จนเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ถึงจะเริ่มดังขึ้นในอีกระดับหนึ่ง
และพอพ้นช่วง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ก็จะมีเสียงลมแหวกผ่านข้างตัวถัง ค่อนข้างดัง
แต่ยังไม่ถึงกับหนวกหูเหมือนรถสมัยก่อน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติของรถยนต์ Sub-Compact กันอยู่

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

การจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ของ Mazda 2 Sedan นั้น ค่อนข้างจะต้องทำการทดลองซ้ำ
ถี่ยิบที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา เรียกได้ว่า น้องเด็กปั้ม เห็นหน้า ผมกับเจ้ากล้วย แล้ว แทบจะเบือนหน้าหนี
กันเป็นทิวแถว เพราะเจอกันบ่อย ถี่ยิบ ชนิดที่ว่า วันเว้นวัน เพาะต้องทำตัวเลขซ้ำกันทั้ง 2 คัน

แรกเริ่มเดิมที เมื่อเรารับรถรุ่นเกียร์ธรรมดา ออกมาจากตึกเลครัชดา ทาง Mazda ก็ใจดีเติมน้ำมันให้เต็มถัง
และเราก็ไม่ได้รู้ว่า น้ำมันที่เติมหนะ เป็นน้ำมันประเภทไหน เพราะเผลอคิดไปว่า อาจจะเติมเบนซิน 95
มาให้เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเป็นการดี เพราะนอกจากตัวเลขจะออกมาเป็นไปตามความจริงมากที่สุดแล้ว
ก็ยังประหยัดงบในการทำรีวิวลงได้พอสมควร

ก็เลยขับไปเติมน้ำมันเบนซิน V-Power 95 ที่ปั้ม Shell ถนนพหลโยธิน ปากซอยอารีย์ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS
นั่นละ เติมอัดน้ำมันเข้าไป เขย่ารถกันเข้าไป จนน้ำมันออกมาถึงคอถังอย่างที่เห็น

จากนั้น Set 0 ที่ Trip Meter A แล้วเริ่มออกรถ เลี้ยวซ้าย ลัดเลาะมาตาม ซอยอารีย์ มาขึ้นทางด่วนที่ด้านพระราม 6
มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วน บนเส้นทางเดียวกัน
ใช้มาตรฐานเดิมของเราคือ ขับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน

ปลายทางของเราคือ ลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนพหลโยธิน ผ่านหน้า ช่อง 5 สนามเป้า
แล้วแล่นกลับมาเข้าปั้มน้ำมัน Shell ตามเดิม ที่ช่องจอดเดิม เติมน้ำมันเบนซิน V-Power 95 เหมือนเดิม

ปลายทางของเราคือ ลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนพหลโยธิน ผ่านหน้า ช่อง 5 สนามเป้า
แล้วแล่นกลับมาเข้าปั้มน้ำมัน Shell ตามเดิม ที่ช่องจอดเดิม เติมน้ำมันเบนซิน V-Power 95 เหมือนเดิม

และแน่นอนว่า ต้องเขย่ารถ เพื่ออัดน้ำมันเข้าถังให้ได้มากที่สุด ตามเดิม จากนี้เรามาดูตัวเลขกันครับ
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 92.0 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.25 ลิตร

ตัวเลขที่ออกมา 14.72 กิโลเมตร/ลิตร

เหย? ทำไมมันด้อยกว่าตัวเลขรุ่น 5 ประตูเกียร์ธรรมดา ถึงขนาดนี้?
พอต่อสายตรง ถึงคุณพี่อุทัย พีอาร์ของ Mazda ถึงได้กระจ่างว่า น้ำมันที่เติมมาเต็มถังอยู่ในรถหนะ
เป็น “แก็สโซฮอลล์ 95 ของ ปตท.”

เวรแล้วไง เอาอีกแล้ววววววว ปตท เอ้ยยยยย มันหายไปเลย 1 กิโลเมตร/ลิตรเชียวแหนะ!!
เมื่อรู้ความจริง ก็แอบเซ็งนิดหน่อย ว่างานนี้ คงจะต้องทำการทดลองใหม่อีกรอบแน่ๆ
ไม่เช่นนั้น คุณผู้อ่านจะครหาได้ว่า ทำไมตัวเลขมันต่างจากรุ่น 5 ประตู มากถึงขนาดนี้

พอรู้ดังนี้ ก็เลยต้องทนใช้น้ำมันเก่าให้หมด ขับอย่างไรก็ได้ ให้น้ำมัน พร่องหายไปจนต่ำกว่าครึ่งถังให้ได้
คืนนั้น เราก็เลยขับไปถ่ายทำคลิปวีดีโอ มาให้คุณๆได้ชมกัน ขับกลับบ้านที่บางนา แถมยังต้องพารถออกไปวิ่งเล่น
ไกลถึงวงแหวนบางนา ไปโผล่ พระราม 9 แล้วเลี้ยวกลับ มาที่บ้านอีกครั้ง ตอนบ่ายวันต่อมา เอารถไปล้าง ไปถ่ายรูป
แล้วก็มุ่งหน้าไปทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอีกครั้ง ที่ปั้มน้ำมัน Shell ถนนพหลโยธิน ปากซอยอารีย์
ตามเดิม เติมน้ำมัน เบนซิน V-Power 95 กลับเข้าไปตามเดิม ที่หัวจ่ายเดิม ในช่วงหัวค่ำ

และแน่นอน เขย่าถังให้น้ำมัน เอ่อล้นขึ้นมา ถึงคอถังอย่างที่เห็นนี้เช่นเดิม

จากนั้น Set 0 บน Trip Meter A อีกครั้ง แล้วขับออกจากปั้ม มุ่งหน้าลัดเลาะไปตามซอยอารีย์
ขึ้นทางด่วน พระราม 6 ขับกันยาวๆ ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ตามมาตรฐานเดิม
ไปเลี้ยวกลับที่ปลายสุดทางด่วน สายเชียงราก ที่อยุธยา และย้อนกลับมาลงที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เหมือนเช่นเคย

เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน กลับมาเติมน้ำมัน เบนซิน V-Power 95 ของ Shell
ที่ปั้มแห่งเดิม หัวจ่ายเดิม เด็กปั้มคนเดิม

และ เขย่ารถ เพื่อให้น้ำมันเอ่อล้นขึ้นมาถึงคอถัง อย่างที่เห็นเช่นเดียวกับทุกครั้ง
จากนี้ เรามาดูตัวเลขที่ได้กันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 92.7 กิโลเมตร (มันโผล่มาจากไหนอีก 700 เมตรหว่า วิ่งเส้นทางเดียวกัน เหมือนกันเป๊ะ!)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.90 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ของ Mazda 2 Sedan รุ่นเกียร์ธรรมดา อยู่ที่ 15.71 กิโลเมตร/ลิตร
งานนี้ ถือว่า น้อยกว่า รุ่น Hatchback 5 ประตู เกียร์ธรรมดา อยู่แค่ 0.1 ลิตร เท่านั้น ถือว่า
รุ่นเกียร์ธรรมดา ของ Mazda 2 เกียร์ธรรมดา ตัวถังไหนก็ตาม กินน้ำมันพอกัน เฉลี่ยที่ระดับ
15.7-15.8 กิโลเมตร/ลิตร นั่นเอง ตามมาตรฐาน วิ่ง 110 เปิดแอร์ นั่ง 2 คนของเรา

ชัดเจนดีเหมือนกันครับว่า สำหรับ Mazda 2 Sedan เกียร์ธรรมดาแล้ว น้ำมันเบนซิน 95
สิ้นเปลืองน้อยกว่า แก็สโซฮอลล์ 95 หากวัดกันแค่ตัวน้ำมัน และยังไม่เอาราคาขายปลีกมาเกี่ยวข้อง

นี่แหละ ครับ คือ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมยังยืนยันว่า ผมยังอยากให้มีน้ำมัน เบนซิน 95 แบบปกติ
ขายในประเทศไทยของเราต่อไป เพราะนอกเหนือจากรถยนต์บางประเภท เช่นรถรุ่นเก่าๆ หรือรถสมรรถนะสูงๆ
ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการเติมเอทานอล ลงไป ยังมีแล่นอยู่บนถนนเมืองไทยไม่น้อยเลยแล้ว
น้ำมันเบนซิน 95 ยังสามารถใช้ในการอ้างอิงข้อมูลกัน ในการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของเรา
ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นว่า น้ำมันประเภทใด ประหยัดกว่ากัน ก็ยังไม่มีข้อสรุปอย่างตายตัวนัก
เพราะ ในบางครั้ง อัตราสิ้นเปลืงเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการทดลองในรถรุ่นอื่นๆ เช่น TIIDA 1.6
แก็สโซฮอลล์ 95 ก็ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า เบนซิน 95 แค่เพียง 0.3 กิโลเมตร/ลิตร
หรืออย่างในการทดลองขับ Lancer EX โดยสมาชิกของ Headlightmag.com กันนั้น
ตัวเลขที่ได้ ก็อยู่แถวๆ 15.8 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งที่ พอเอาไปทดลองกันตามมาตรฐานของเรา
กลับทำตัวเลขได้แค่ 12.8 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งก็น่าแปลกใจอยู่ไม่ใช่เล่น 

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ นั้น ในวันรับรถ เรารีบมาทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ ปั้ม Shell
ปากซอยอารีย์ เหมือนกัน และคราวนี้ ทาง Mazda ก็เลยจัดรถคันที่มีน้ำมัน เหลือในถังน้อยที่สุด
มาให้เราเติมน้ำมันกันเอง

ปรากฎว่า เมื่อเราออกเดินทางกันปุ๊บ ฝนก็เทกระหน่ำงมาปั๊บ แถมยังเจอสภาพการจราจรติดขัด
บนทางด่วน เส้นที่เราใช้ทดลองอัตราสิ้นเปลืองฯกันอีก เพราะในวันนั้น ประชาชนจำนวนมาก
เปลี่ยนการเดินทาง มาใช้ทางด่วนสายเชียงรากเยอะมาก เนื่องจาก ถนนวิภาวดีรังสิต ถูกกลุ่มเสื้อแดง
ปิดการจราจรเอาเสียดื้อๆ และเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย จนเป็นข่าวใหญ่โตของบ้านเมืองในวันนั้น

เป็นอันว่า เราต้องตัดสินใจยกเลิกการทดลองในวันนั้น ไปอย่างน่าเสียดาย
เพราะ ยิ่งรถติดขัดมากเท่าใด ตัวเลขความสิ้นเปลืองจะเพิ่มมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ได้ จะเพี้ยนกระจุยกระจายไปจากความเป็นจริง ที่ควรเป็น มากขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งการใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในวันที่สภาพอากาศ แทบจะ
มองไม่เห็นทัศนวิสัยข้างหน้า ได้เกินไปกว่า ระยะ 500-600 เมตรนั้น
ค่อนข้างไม่ปลอดภัยอย่างรุนแรง

วันถัดๆมา เราจึงกลับไปที่ปั้ม Shell แห่งนี้อีกครั้ง และ เติมน้ำมัน เบนซิน V-Power 95 เต็มถัง
แถมยังเขย่ารถ เพื่อ อัดน้ำมันกรอกเข้าไปในถัง เพื่อไล่ฟองอากาศ ออกมา ให้น้ำมันเข้าไป
อยู่แทนที่ในถัง เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเติมน้ำมันที่หัวจ่ายเดิม เดียวกัน เป๊ะ

จากนั้น Set 0 ที่ Trip Meter A บนมาตรวัด แล้วเราก็เริ่มต้นออกเดินทางจากปั้มแห่งเดิมกันอีกครั้ง
ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนพระราม 6 แล้วขับกันยาวๆ ด้วยความเร็วระดับ
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป๊ะ เปิดแอร์ นั่งกัน 2 คน คือ ผม กับ เจ้ากล้วย BnN ตามเคย

เลี้ยวกลับรถที่ปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก ตรงอยุธยา แล้วขึ้นทางด่วนขับย้อนเส้นทาง
กลับมาตามเดิม แต่ ด้วยสภาพการจราจร ที่ค่อนข้างจะหนาแน่นกว่าปกติ ในช่วงเย็น
ทำให้เราตัดสินใจ ลดความเสี่ยงที่ตัวเลขจะผิดเพี้ยน จากการจราจรติดขัด จึงลงทางด่วน
กันที่ พระราม 6 เหมือนสมัยก่อน

แล้วเลี้ยวกลับ ลัดเลาะออกมาตามซอยอารีย์สัมพันธ์ ทะลุออกมา
ถึงถนนพหลโยธิน เรากลับมาถึงปั้ม Shell แห่งเดิม

เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน V-Power 95 ที่ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม และเขย่ารถ เพื่ออัดน้ำมันกรอกเข้าไปเหมือนเดิม

มาดูผลที่ได้กันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 90.8 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.03 กิโลเมตร/ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ของ Mazda 2 Sedan เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 15.03 กิโลเมตร/ลิตร
คราวก่อนๆ เรามักจะใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการคำนวนตัวเลขกัน วันนี้ จู่ๆ
เจ้ากล้วย BnN เกิดคิดอะไรไม่ทราบ ยกเอาเครื่องคิดเลข ที่บ้าน มาใช้ซะเลย
เห็นตัวเลขใหญ่เบ้อเร่อดี สะใจใช้การได้ 

เป็นอันว่า ตัวเลขการกินน้ำมัน ของ รถทั้ง 2 รุ่น 2 ตัวถัง ที่วางเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังเหมือนกัน
ทำตัวเลขออกมา เท่าๆกัน ไม่หนีแตกต่างไปจากกันเลย และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดทั้งหมดแล้ว
ชัดเจนว่า คราวนี้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Mazda 2 ทั้ง 2 ตัวถัง อยู่ในระดับ ค่อนข้างดีมาก
ลบความคิดที่ว่า Mazda เป็นรถกินน้ำมัน ออกไปได้ จนหมดเกลี้ยง แบบไม่มีข้อกังขาอีกต่อไป

แต่นั่นคือ การเดินทางไกละครับ ถ้าเป็นการขับขี่ใช้งานในเมือง เข็มน้ำมันอาจจะลดลงเร็วนิดนึง อย่าตกใจ

********** สรุป **********
บั้นท้าย “เป็ดยักษ์” แบบใหม่ แต่หัวใจเหมือนเดิม ทั้งคัน

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อแน่ ว่า อาจมีแฟนๆประจำสงสัย ดูเหมือนว่า รีวิว ตัวถัง Sedan 4 ประตู
จะไม่เข้มข้น หรือดุเดือด เท่ากับ รีวิว รุ่น Hatchback 5 ประตู

รับเงินโฆษณา เลยเขียนไม่ออก หรือเปล่า?

ยืนยันว่า ไม่หรอกครับ เรายังคงมาตรฐานเดิม เขียนกันตามตรง พูดกันตามจริง
ปณิธาน ในช่วงก่อตั้งเว็บ ยังเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปไหน

แต่ ในเมื่อ Mazda 2 Sedan นั้น ความแตกต่าง จากรุ่น Hatchback ก็มีเพียงแค่ บั้นท้าย
ดีไซน์เหมือนตูดเป็ด ที่เพิ่มห้องเก็บของ ขนาดใหญ่ยักษ์กว่าที่คิด ต่อยอดออกมาจาก
โครงสร้างรุ่น Hatchback 5 ประตู ซึ่งใช้เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือน
ระบบไฟฟ้า ระบบเบรก ไปจนถึงโครงสร้างพื้นตัวถัง และครึ่งคันหน้า เหมือนกัน “เป๊ะ”
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา รุ่นเกียร์ธรรมดา ก็น่าจับน่าซื้ออย่างมากมาย ขณะที่รุ่นเกียร์อัตโนมัติ
ก็จะอืดกว่าชัดเจนจริงๆ

แถมผลที่ได้จากการขับขี่ แม้จะมีแตกต่างกันบ้าง ในเรืองการตอบสนองของช่วงล่าง
ที่อาจจะเปิดโอกาสให้คนชอบปล่อยรถให้ท้ายปัดกวาดลานวัด ได้เล่นสนุกง่ายขึ้น
และมีบรรยากาศห้องโดยสารแปลกตาไปด้วยสีเบจ แต่สิ่งเหล่านั้น ก็ยังเป็นเพียง
เครื่องปรุงแต่ง  

ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องเขียนตำหนิแรงๆกันอีกครั้งไปเพื่ออะไร ในเมื่อ ทาง Mazda เอง
ก็รับทราบแล้ว ว่าจุดด้อย ที่จะต้องนำไปปรับปรุง ทั้งหลายนั้น มีอะไรบ้าง

เพราะจุดแข็งจุดด้อยประการใด ซึ่งผมเคยพบเจอ และเขียนบันทึกไว้
ในรีวิวของ Mazda 2 รุ่น Hatchback พอมาถึงตัวถัง Sedan ผมก็ยัง
อยากได้อยากขอ อย่างเดิมนั่นแหละ!

ไม่ว่าจะเป็นจุดด้อย ด้านเครื่องยนต์ ที่อยากจะขอให้ช่วยทำออกมา ให้มัน แรง เร้าใจ
กว่านี้อีกหน่อย ขอเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่ ที่สูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนน้อยกว่านี้
ขอพื้นที่โดยสารด้านหลัง ให้มีพื้นที่เหนือศีรษะ และวางเท้า มากกว่านี้ ขอเบาะรองนั่ง
ให้ยาวกว่านี้ ทั้งหมดนี้ อาจต้องทำให้ยืดระยะฐานล้อออกไปมากกว่านี้ เป็น ระดับ
2,500 มิลลิเมตร ก็ยังกำลังดี และขอเส้นตัวถังด้านข้าง ที่ไม่ทำให้ตัวรถในรุ่น Sedan
ดูเป็น เป็ดยักษ์ กันขนาดนี้

ขณะที่จุดดี ของรถ ก็มีตั้งแต่ ตำแหน่งคนขับ ที่ถูกสรีระมากที่สุด ลดโอกาสการปวดเมื่อย
พวงมาลัยและช่วงล่าง ให้ความมั่นใจในการขับขี่ได้ดี สมชื่อ Mazda (เพียงแต่ว่า
ควรเป็นรุ่น Spirit หรือไม่ก็ รุ่น Maxx นะ) คุณภาพการประกอบ และมาตรฐานของ
ชิ้นส่วนอะไหล่ ที่ใช้  ไปจนถึงรูปลักษณ์ที่น่าจะโดนใจคนรุ่นหนุ่มสาว มากกว่า
ผู้ใหญ่วัยกลางคน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มบั้นท้าย “เป็ดยักษ์” มาให้นั้น
มีผลต่อการทรงตัวของรถอยู่บ้างนิดหน่อย ในย่านความเร็วสูง
และในการเข้าโค้ง บางรูปแบบ เพราะ โอกาสที่บั้นท้ายจะปัดออก
มีอยู่พอสมควร ถ้าคุณเป็นนักซิ่งเท้าไฟ เจอโค้งเมื่อไหร่ สาดเข้าไปเลย
โดยไม่ได้ดูเข็มความเร็ว ว่า ความเร็วหน้าโค้ง มันเกินกว่าที่ควรจะเป็น
แล้วละก็ ระมัดระวังนิดนึงครับ

ฟังดูเหมือนน้อยนะ ไม่เยอะเท่าไหร่ ทั้งจุดด้อย และจุดดี
ก็ใช่ครับ เหลือสิ่งที่จะต้องปรับปรุงกันอีกไม่มากนัก เพื่อให้ Mazda 2 Sedan
รุ่นต่อๆไป ลงตัว และสมบูรณ์แบบ โดนใจลูกค้าชาวไทยกันเสียที

และในเมื่อ ทั้งหมดนี้ ทาง Mazda เขารับรู้แล้ว ก็เลยไม่จำเป็นที่เราจะต้อง
ตอกย้ำหัวตะปู กันให้หนักหนาไปกว่านี้

ไม่ต้องอื่นไกล ขนาดคนรอบตัวคุณ ดุด่าว่ากล่าวคุณ ซ้ำไปซ้ำมา
แบบย้ำหัวตะปู คุณยังไม่ชอบเลย จริงไหม?

ในเมื่อเขารู้ตัวแล้ว และทุกอย่างมันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เราได้แต่รอดูรถรุ่นต่อไปเท่านั้นครับ

มาถึงจุดนี้ บรรดาคำถาม ที่พบบ่อย หรือ FAQ ก็เริ่มผุดขึ้นมาในหัว หลายคนคงสงสัยว่า

แล้วนอกเหนือ จาก Mazda 2 คู่แข่งในพิกัดเดียวกันมีใครบ้าง?

Toyota Vios , Honda City , Chevrolet Aveo คือ 3 รุ่นเท่านั้นที่ควรจะนำมาเปรียบเทียบ

ถ้า ยังตัดสินใจไม่ถูก ว่าระหว่าง Toyota Vios, Honda City,
Chevrolet Aveo หรือ Mazda 2 Sedan จะเลือกคันไหนดี?

Toyota Vios คุณจะได้ความสดใหม่จากเวอร์ชัน Minorchange มีของเล่นมาให้คุณพอสมควร
แต่ นอกนั้น คุณอาจต้องทนกับเบาะนั่ง ซึ่งพร้อมก่ออาการปวดหลังให้คุณได้ อัตราเร่งที่ดี
กินน้ำมันพอกัน หรือด้อยกว่าเดิม นิดนึง ไม่เยอะนัก ช่วงล่าง ใช้การได้ดี ยังไม่มีอะไรเด่น
เบรก ทำงานได้ดี แต่พวงมาลัย ไฟฟ้า ยังตอบสนองไม่ถึงกับดีนักในย่านความเร็วสูง
ขายต่อง่าย ราคาดี มีคนซื้อต่อชัวร์ ศูนย์บริการ เริ่มมีคนบ่นน้อยลง ห่วงแต่ความทนทาน
ของชิ้นส่วน ในระยะยาวๆ และราคาอะไหล่ ที่เริ่มแพงขึ้นในบางรายการ แต่ซื้อไปขับ ยังไงก็ไม่เลวร้าย

Honda City นี่คือ Sub-Compact Sedan ที่ดีที่สุดในตลาด ให้ครบทั้งความสบายในห้องโดยสาร
ตำแหน่งนั่งขับ เบาะนั่งแล้วไม่ปวดหลังเท่าไหร่ แถมเบาะหลังยังปรับเอนได้ อีก 1 จังหวะ นอกเหนือจาก
การแบ่งพับได้ ที่กลายเป็นเรื่องปกติของทุกรุ่นในตลาดไปแล้ว เครื่องยนต์ แรงและประหยัดน้ำมันตามคาด
แต่น้ำหนักพวงมาลัยนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน (พวงมาลัยของ Mazda 2 จะแอบดีกว่ากันนิดนึง)
ระบบกันสะเทือน มาแนวนุ่มหนึบตามราคารถ อาจมีความตึงตัง ในช่วงความเร็วต่ำนิดนึง แต่พอไว้ใจได้
ในความเร็วสูง ถ้าไม่มีลมมาปะทะ เบรก หน่วงความเร็วปกติทำได้ดี แต่ถ้าขับแบบอัดๆ ผมชักไม่แน่ใจ
ทัศนวิสัยด้านหน้า อาจมีโดนบดบังเล็กน้อย แต่ทดสอบการชนผ่านมาตรฐานความปลอดภัย จาก
Australia NCAP มาแล้ว สิ่งที่น่าห่วง ไม่ใช่ตัวรถ แต่อยู่ที่คุณภาพการทำสีตัวถัง และการประกอบ
ของโรงงาน Honda รวมทั้ง ศูนย์บริการ ซึ่งหลังๆมานี้ สารภาพเลยว่า ขนาดผมเอง ยังไม่รู้ว่า
จะใช้บริการศูนย์ไหนดี ปัญหาถึงจะน้อยที่สุด?

Chevrolet Aveo รูปสวย ออกแบบ โอเค ไม่เลวร้าย แต่ภายใน ใช้วัสดุพลาสติกที่ดู Look Cheap 
กระนั้น Head room ด้านหลัง ก็ยังดีกว่า ทุกคันในตลาด เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร ห่วย แต่ 1.6 ลิตร
ก็ไม่ถึงกับต่างกันมากนัก เพราะยกเครื่อง Optra 1.6 มาวางเลยนั่นละ เกียร์ และช่วงล่าง
กับพวงมาลัย ด้อยที่สุดในตลาด แต่ไม่ได้ถึงกับด้อยต่างจากคู่แข่งมากมายไปไกลแต่อย่างใด
กระนั้น ถ้าจะซื้อ ต้องถามเลยว่า คิดดีแล้วเหรอ? ถ้าเจอศูนย์บริการดี ก็ดีใจหาย และควรรีบ
เกาะศูนย์นั้นไว้เลย อย่าปล่อยให้หลุดมือ อะไหล่ยังพอหาได้ในเซียงกงเกาหลี แต่จะเยอไหม
ไม่แน่ใจ เพราะในเกาหลีใต้เอง รถรุ่นนี้ ขายได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับเยอะนัก

ตกลงแล้ว ควรจะเลือกตัวถังไหนดี ระหว่าง Mazda 2 Sedan หรือ Hatchback

คำตอบมันอยู่ที่ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นอย่างไร
คาดว่า หลังจากมีรถคันนี้แล้ว มันน่าจะเป็นอย่างไร และรสนิยมในเรื่อง “บั้นท้าย”
ของคุณ เป็นอย่างไร…

– ถ้าคุณอยากได้ รถยนต์ ที่มีบั้นท้ายแบบ Sedan ก็ซื้อ Sedan
– ถ้าคุณอยากได้รถท้ายตัดแบบ Hatchback ก็ อย่าลังเลที่จะซื้อรุ่น Hatchback
– ถ้าคุณ ซื้อรถ ทดแทนคันเก่า ซึ่งเป็น Sedan คุณค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็น ครู
   มีคนนับหน้าถือตา แต่อยากให้คน มองคุณจนเหลียวหลังบ้าง ซื้อรุ่น Sedan
   รับประกันได้ว่า เด็กนักเรียนในปกครอง จะพากันกรี๊ดกร๊าด และคุณจะกลายเป็น
   ครูผู้โด่งดังประจำอำเภอไปโดยปริยาย ในฐานที่ กล้าซื้อรถยี่ห้อแปลกไปจาก Toyota
   และ Honda แต่ จะไปแคร์ทำไมละ? ในเมื่อคุณอยากได้ Mazda 2 นี่นา? จริงไหม?
– ถ้าคุณ เป็นนักศึกษา นักเรียน อยากได้รถไว้ขับใช้งาน และพอจะพาเพื่อน นั่งไปด้วยกัน
  อีกสัก ไม่เกิน 4 คนนั่งเบียดๆกัน จะเอา Sedan หรือ Hatchback ก็ได้ แล้วแต่คุณ
– ถ้าคุณ มีสัมภาระ ต้องแบกหามตามติดตัวคุณไปด้วย เช่น กล่องใส่กีตาร์ ซื้อ Sedan เถอะ
  บั้นท้ายของ Hatchback มันสั้นกุดมาก และใส่ของได้แค่นิดเดียวเท่านั้น ต้องพับเบาะกันอีกแหนะ
– ถ้าคุณ อยากได้ Mazda 2 แต่ไม่ชอบบั้นท้ายของ Sedan ก็ไปซื้อ Hatchback
– ถ้าคุณ ถ้าคุณอยากได้ Mazda 2 แต่ไม่ชอบบั้นท้ายของ Hatchback ก็ซื้อ Sedan
– ถ้าคุณอยากได้ห้องโดยสาร สีเบจ ก็ต้องเลือก Sedan
– ถ้าคุณอยากได้ห้องโดยสาร สีดำ  ก็ต้องมองรุ่น Hatchback
– ถ้าคุณอยากได้ ภายในสีดำ กับรุ่น Sedan หรือ อยากได้ ภายในสีเบจ กับรุ่น Hatchback
  เสียใจครับ เชื่อว่า Mazda คงไม่ผลิตให้คุณแน่ๆ ในเร็วๆนี้
– ถ้าคุณ อยากได้ รถที่มีห้องโดยสาร ดีที่สุดในกลุ่ม เครื่องแรง และประหยัดสุด โน่นครับ Honda City
– ถ้าคุณ อยากได้รถที่ ราคาขายต่อ ดีๆ ใช้่งานง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก วุ่นวาย มอง Toyota Vios
– ถ้าอยากได้รถที่ขับสนุก ขับดีๆ วิ่งทางไกล โอเค แต่เครื่องยนต์ เรี่ยวแรงในภาพรวม
  น้อยกว่าชาวบ้านเขา ทำใจยอมรับได้ ไป Mazda 2

และถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่า คุณจะเลือก Mazda 2 Sedan แน่ๆ จะเลือกรุ่นไหนดี?

มาดูราคากันก่อน

รุ่น Groove   5MT  เกียร์ธรรมดา   ราคา 535,000 บาท
รุ่น Groove   4AT  เกียร์อัตโนมัติ  ราคา 564,000 บาท
รุ่น Spirit S   4AT  เกียร์อัตโนมัติ  ราคา 615,000 บาท
รุ่น Maxx      4AT  เกียร์อัตโนมัติ  ราคา 675,000 บาท

สำหรับคนชอบเกียร์ธรรมดา มีทางเลือกให้คุณเพียงรุ่นเดียวคือ Groove 5MT ซึ่งคุณจะได้อุปกรณ์
อำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานแถมมาให้ ต้องยอมรับว่า Mazda ใจป้ำมาก ที่เลือกเอาใจลูกค้า
ซึ่งอยากได้รถเก๋ง เกียรธรรมดา ราคาไม่แพง ด้วยการติดตั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ และระบบ ABS
พร้อม EBD มาให้จากโรงงาน ซึ่งในราคาระดับนี้ แทบไม่ค่อยมีใครเขาเอาใจลูกค้ากันขนาดนี้

แต่ถ้าจะเล่นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ต้องขอแนะนำให้คุณเลือกดูอุปกรณ์ ที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ และจะได้ใช้แน่ๆ
เพราะความแตกต่างนั้น ไม่มากอย่างที่คิด รุ่น Groove อาจจะเหมาะกับคนที่ไม่อยากจ่ายแพงมากนัก
แต่ถ้าคำนวนดูอัตราดอกเบี้ย และค่างวดในแต่ะเดือนที่ต้องจ่ายแล้ว ถ้ามันต่างกันไม่มากอย่างที่คิดแล้ว
เล่นรุ่น Spirit ไปเลยน่าจะดีกว่า และสำหรับคนที่ มีงบเพียงพอจะเล่นรุ่น Spirit ก็ต้องถามตัวเองอีกว่า
ถ้าจะเล่นรุ่นท็อปไปเลย จ่ายเพิ่มในแต่ละเดือน มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มากนัก ก็กัดฟันเถอะครับ
รุ่น Maxx เอง ถือว่า ใช้การได้ดี ถ้าเทียบกับรุ่นท็อปของคู่แข่งในตลาดด้วยกันแล้ว

ทั้งหมดที่เขียนไปนั้น  สรุป กันให้ละเอียดขนาดนี้
ผมคิดว่า น่าจะกระจ่างกันไปพอสมควรแล้วนะครับ
สำหรับ Mazda 2 Sedan

แต่ ถ้าอยากจะรู้ว่า รถคันนี้ จะเหมาะกับคุณหรือไม่
มากน้อยขนาดไหน เพียงใด ก็อย่างที่เน้นย้ำไปเสมอนั่นละครับ
ว่าไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่า การเดินเข้าโชว์รูม ไปขอทดลองขับ  

ถ้าโชว์รูมไหน ไม่ปล่อยให้ลองขับ หรือให้ลอง อย่างมากสุด
แค่ วนๆ รอบๆในศูนย์ฯ ละก็ เดินออกมาได้เลยครับ
ใจเสาะ ห่วงรถ Demo แบบนั้น อย่าขายรถเลยดีกว่า

แต่ จะไปลองรถกับพนักงานขาย ก็อย่าลืม ใจเขาใจเราครับ
อย่าให้ถึงกับหักโหม กระแทกกระทั้น อย่าสวมวิญญาณ พี่เป้ อารักษ์
ขับรถ Demo แล้วมุดซิกแซก แถมสาดบั้นท้ายเหมือนในหนังโฆษณา
บีบเค้นราวกับบีบคั้น สมรรถนะออกมากันเกินเหตุ บนถนนหลวง
จนชวนให้หวาดเสียวกันเชียวละครับ ถ้าพลาดพลั้ง เกิดอะไรขึ้นมา
คุณเองนั่นละ จะซวย

รถบ้านนะครับ ไม่ใช่รถสปอร์ต หรือน้่ำผลไม้ ไม่ต้องไปเค้นกันขนาดนั้น
เพราะเค้นให้ตายยังไง Mazda 2 Sedan ก็มีเรี่ยวแรงให้คุณได้แค่เท่าที่มันจะมีให้
นั่นละคร้าบ

ท่องเอาไว้ครับ Mazda 2 Sedan นะครับ ไม่ใช่ MX-5 หรือ RX-7
แม้ว่าจะมี DNA ร่วมสายพันธ์ Zoom Zoom มาจากผู้ผลิตชาวเมือง 
Hiroshima เหมือนกันก็ตามเถอะ!

—————————————-///——————————————–

ขอขอบคุณ
คุณสุรีย์ทิพย์ ละอองทอง
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
และ คุณอุทัย เรืองศักดิ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และการประสานงานในทริปสื่อมวลชนทดลองขับที่กระบี่-ภูเก็ต

บทความที่ควรอ่านต่อเพิ่มเติม
 
Non-Exclusive First Impression : Mazda 2
Full Review : ทดลองขับ Mazda 2 Hatchback

Full Review : ทดลองขับ Honda Jazz 2nd Generation 2008-ปัจจุบัน
Full Review : ทดลองขับ Honda Jazz 1st Generation 2001-2007

Full Review : ทดลองขับ Toyota VIOS 2nd Generation 2007-ปัจจุบัน

Exclusive First Impression : Suzuki Swift
Full Review : ทดลองขับ Suzuki SWIFT

Full Review : ทดลองขับ Chevrolet Aveo 1.4 ลิตร


J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด คอมพิวเตอร์กราฟฟิค เป็นของ
บริษัท Mazda Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
6 พฤษภาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures
All of Computer Graphic pictures & illustration
is use by permission of Mazda Motor Corporation
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 6th,2010 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่