ถ้าจะถามว่า ใน บรรดา รถยนต์ ทั้งหมด ที่นำมาทดลองขับ
รถยนต์ยี่ห้อไหน และรุ่นไหน ที่ผมมีโอกาส สัมผัส บ่อยที่สุด?

ถ้าเป็นช่วงปี 2007-2008 ผมก็จะตอบว่า Honda เพราะแต่ละรุ่นที่ทำตลาด
จะต้องมีเหตุและโอกาส ให้ผมได้ลองขับ เกินกว่า 2 คัน เสมอ บางรุ่น อย่าง Accord ใหม่
ปาเข้าไป 8 คัน และ Civic FD รุ่นปัจจุบัน ถ้านับรวมแล้ว จะเยอะมากถึง 10 คัน เลยทีเดียว!

แต่…ในปีนี้ วันนี้ มีรถรุ่นหนึ่ง ไต่สถิติ ขึ้นมาเทียบบ่าเทียบไหล่กับฮอนด้า ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวได้แล้ว…
 

 

ระหว่าง กำลังเขียน ย่อหน้าข้างล่าง ของบทความนี้
เพื่อเรียกแรงบันดาลใจ ในการเขียนท่อนบน ที่คุณกำลังอ่านอยู่ ณ บัดนาว

ผมลองนั่งนับนิ้ว ดูว่า ตั้งแต่ เปิดตัว ครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2004
มี มาสด้า 3 ผ่านมือผมมาแล้วทั้งหมดกี่คัน

คันแรก คือ รถรุ่น 1.6 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ขับจากเชียงราย ลงมาเชียงใหม่ ในทริปสื่อมวลชนตอนเปิดตัว
คันที่ 2 คือรถรุ่น 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ สีน้ำเงิน คันที่ยืมมาทำรีวิว เมื่อต้นปี 2005
คันที่ 3 และ 4 คือ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ของทั้ง 1.6 และ 2.0 ลิตร ซีดาน ที่เคยยืมมาทำรีวิวในเว็บไซต์เก่าแห่งนั้น

ถ้านับรวม รถของน้องเติ้ล The Coup Team ของเรา
(อันเป็นรถใหม่คันที่ 5 ในรอบ 2 ปีของนายคนนี้
ที่เจ้าตัวถึงขั้น ยอมขาย Fortuner ทิ้ง เพื่อซื้อรถคันนี้เลยทีเดียว)

และนับรวมกับ ทั้ง 4 คัน ข้างล่าง ที่คุณจะได้เห็นต่อไปนี้

เท่ากับว่า ผมได้ขับ มาสด้า 3 มาแล้วทั้งหมด 9 คัน…ต่างกรรมต่างวาระ

แม้จะไม่ถึงกับต้องยกนิ้วเท้าขึ้นมาช่วยนับ แบบเด็กอนุบาล
แต่ จำนวนนี้ ก็ถือว่า เยอะอยู่ และไม่นึกด้วยซ้ำว่า จะเยอะได้มากขนาดนี้
ไม่รู้ว่าจะเยอะกันไปไหน…

ถามว่าทำไมต้องทำรีวิวของรถรุ่นนี้กันอีกเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่เปิดตัวในบ้านเรา
เมื่อปลายปี 2004 ทั้งที่รถรุ่นนี้ในเมืองนอก เขาตกรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
และในเมืองไทย เหลือเวลาทำตลาดอีกเพียง 1 ปี ครึ่ง เท่านั้น

เหตุผล หนะ มี 3 ข้อ

ข้อแรก ก็เพราะว่า ทั้งที่ผู้คน ได้เห็นรูปโฉมคันจริง ของมาสด้า 3 เจเนอเรชันต่อไปกันแล้ว
ทว่า ยอดขาย ก็ยังสูงอยู่ เนื่องจาก ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อนั้น มีความจำเป็นต้องใช้รถในช่วงเวลา
1-2 เดือนนี้ กันเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน ลูกค้าตามหัวเมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัด ก็เริ่มเพิ่มขึ้น
และเชื่อว่า ตอนนี้ คงยังมีคนอยากจะหารีวิวรถรุ่นนี้อ่านกันบ้าง เลยคิดว่าต้องทำเวอร์ชันใหม่ให้อ่านกัน

ส่วนข้อที่สอง นั้น ด้วยเหตุที่ ผมเองก็รู้ดีว่า ครั้งก่อน ที่เคยเขียนรีวิว รถรุ่นนี้เอาไว้
ยังมีบางจุดบางประเด็น ที่ผมมองข้ามไป และเพิ่งได้มาพบเจอว่า บางสิ่งในรถรุ่นซีดาน
หาได้มีในรุ่นแฮตช์แบ็กไม่ หากเติมส่วนที่ขาดหายไป ในรีวิวครั้งก่อนๆ ให้เต็ม
ก็จะช่วยให้ ผู้กำลังตัดสินใจ ได้เห็นภาพมากขึ้น

และข้อที่สาม อันเป็นเหตุผลหลัก ก็คือ ในเมื่อ ผมไม่สามารถนำรีวิวเก่า
ที่เคยทำเอาไว้ใน เว็บไซต์แห่งเก่า มาโพสต์ลงในเว็บใหม่ของเราได้

ก็ไม่เป็นไรครับ ทำรีวิวขึ้นมาใหม่ก็ได้ ตราบใดที่ผมยังไม่ตาย ยังมีลมหายใจอยู่
ยังไม่ป่วยเป็นไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ 2009 ผมก็มีแรงฮึด ทำรีวิวขึ้นมาใหม่ให้อ่านได้เรื่อยๆ

เมื่อคิดได้ดังนี้ มือก็ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับพี่อุทัย พีอาร์ยิ้มหวานแฉ่ง ของมาสด้า
(แต่อย่าให้ยิ้มตอนกลางคืนเชียวนะ) เพื่อจะบอกว่า

“พี่ครับ ถึงเวลาที่ผมพร้อมจะทำรีวิว มาสด้า 3 ใหม่อีกรอบแล้วละครับ”

และมาสด้าเอง ก็ยินดี ที่เราจะทำรีวิวรถรุ่นนี้อีกครั้ง เช่นกัน

คราวนี้เลยส่งรถมาให้ลองขับ และบันทึกภาพใหม่ทั้งหมด “ครบทั้ง 4 รุ่น”

เรียกได้ว่า คราวนี้ ขับกันจนเบื่อรถรุ่นนี้ไปข้างนึงเลยทีเดียว
เพราะ ขับติดกัน 2 สัปดาห์เต็มๆ เปลี่ยนแค่รุ่นย่อย รวมทั้งสิ้น มากถึง 4 คันรวด!

แถมที่ ฮากว่านั้น  ในวันจันทร์ วันหนึ่ง มีกำหนด ต้องนำเจ้า 2.0 ลิตร 5 ประตู
ไปคืนที่สำนักงานใหญ่ของมาสด้า ณ ตึกเลครัชดา

ทันทีที่ตาลีตาเหลือก นำรถไปคืน ตอน บ่าย 4 โมง
เพื่อจะแลกเปลี่ยนเป็นรุ่น ซีดาน 1.6 ลิตร ไปถ่ายรูปต่อ
พี่อุทัย ส่งคีย์การ์ดของรถ คืน พร้อมกับรอยยิ้มแฉ่ง
(แฉ่งจริงๆ ไม่รู้จะเรียกยังไง เอาไว้ถ้ามีโอกาส จะถ่ายมาให้ชม)
แล้วบอกว่า เอาคันขาว กลับไปใช้ก่อนนะ
รถคัน 1.6 เข้าศูนย์บริการ ตรวจเช็คอยู่ ยังไม่เสร็จ…

เย้ยยยย แล้วตูจะออกจากบ้านมาทำอีหยังฟะ!
รู้อย่างนี้ ผมน่าจะโทรเช็คก่อนสักหน่อยจะดีกว่า
เลยกลายเป็นว่า เย็นวันนั้น ต้องขับรถกลับบ้านไป
แล้วกลับมาเปลี่ยนเป็นรถคันที่ตั้งใจ ในวันรุ่งขึ้น

เรียกได้ว่าขับจนเกือบจะกลายเป็นรถของตัวเองไปแล้ว
แถมยังต้องร้องเพลงของ etc ที่ว่า “…ผิดที่ฉันเอง ตัวของฉันเอง…”
ไปอีกรอบสองรอบ ตอนขับขึ้นทางด่วนกลับบ้าน

ไอ้จิมมี่เอ้ย ไม่น่าเลยนะเอ็ง…ธ่อ 

แต่ ในเมื่อ ผมเคยเขียนบทความทดลองขับของ มาสด้า 3 ไปแล้ว
และการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม หลังจากรีวิวในครั้งนั้น มีเพียงแค่
การปรับปรุงเรื่องอุปกรณ์ประจำรถ นิดๆหน่อยๆ ไม่ได้แตะต้องเครื่องยนต์
และระบบส่งกำลัง หรือระบบกันสะเทือน แต่อย่างใด

ดังนั้น รีวิว ของมาสด้า 3 ในครั้งนี้ จึงถือเป็น บทสรุป ที่จะปรับแก้ไข
และเติมเต็มรีวิวในครั้งก่อนๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ก่อนที่ จะถึงกำหนดตกรุ่นในไทย ราวๆ ปี 2011 ตาม กำหนดการคร่าวๆ ที่มันควรจะเป็น

คงต้องย้อนอดีตกันสักเล็กน้อยว่า มาสด้า 3 หรือ ที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักในชื่อ แอ็กเซลา (Axela) นั้น
ใช้รหัสรุ่น BK เป็นรถยนต์รุ่นที่ 4 จากแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่มาสด้าเผยโฉมมาตั้งแต่ปี 2001
ต่อเนื่องจาก 6 / อาเทนซา  2 / เดมิโอ และ RX-8

มาสด้า 3 ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้รหัสโครงการ J48C โดยใช้พื้นตัวถังใหม่รหัส C-170 ซึ่งเป็น
พื้นตัวถังสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า กลุ่ม คอมแพกต์ ที่ฟอร์ด ร่วมกับ มาสด้า และวอลโว สร้างขึ้น
โดยฟอร์ด นำพื้นตัวถังนี้ไปใช้กับ รถรุ่น Focus รวมทั้ง มินิแวน รุ่น Focus C-Max ส่วนวอลโว
นำไปใช้กับรุ่น C30 S40 V50 ไม่เว้นแม้แต่รถคูเป้เปิดประทุน หลังคาแข็งพับได้รุ่น C70   

ถึงแม้ว่ามาสด้าจะคาดหวังให้ 3/ แอ็กเซลา เป็นหัวหอกหลักในยุทธศาสตร์บุกตลาดทั่วโลก
แต่เป้าหมายหลักที่แท้จริง คือการมุ่งเจาะตลาดรถยนต์คอมแพกต์ในยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มตลาด
ที่ถูกยึดครองโดย Volkswagen Golf , Ford Focus, Renault Megane, Opel/Vauxhall Astra
Fiat Bravo/Brava รวมทั้ง Toyota Corolla, Nissan Tiida,Mitsubishi Lancer,Honda Civic
Chevrolet Optra ฯลฯ

ดังนั้น ช่วงที่ มาสด้า 3 รุ่นนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ทีมวิศวกร จึงพุ่งเป้าไปที่การปรับปรุง
และสร้างรถ ให้มีสมรรถนะ ในภาพรวม ใกล้เคียงกับ  โฟล์กสวาเกน กอล์ฟ และ โอเปิล แอสตรา
ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แม้ว่า มาสด้าจะได้เปรียบผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นๆ เพราะมีภาพพจน์
ที่แข็งแกร่ง ในหมู่ชาวยุโรป ทั้งในด้านการยอมรับด้านคุณภาพการผลิต และสมรรถนะการขับขี่
ที่พวกเขาคิดว่า เหนือชั้นกว่ารถยนต์จากเชื้อชาติเอเซีย ด้วยกันอยู่แล้ว ก็ตาม

รูปลักษณ์ภายนอกเป็นผลงานของทีมงานที่นำโดย HIDEAKI SUZUKI ; CHIEF DESIGNER
ที่เคยดูแลงานออกแบบของ มาสด้า 121 (ออโตแซม รีวิว) และรถต้นแบบ RX-EVOLVE โดยรับ
อิทธิพลความคล้ายคลึงมาจากทั้ง 2/เดมิโอ 6/อาเทนซา รุ่นก่อน และอาร์เอ็กซ์-8 อย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นกรอบไฟหน้าทรงรียาว รวมชุดไฟหน้า และไฟเลี้ยวแบบกลมไว้ข้างในฝั่งละ 3 ดวง

 

ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกต คุณจะพบว่า รถทั้ง 4 รุ่น 4 คันนี้ มีชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้า หลายชิ้นที่ไม่เหมือนกัน
และที่หนักไปกว่านั้นคือ ทั้งรุ่น ซีดาน และแฮตช์แบ็กนั้น ต่างจะมีเปลือกกันชนหน้า รีไซเคิล พร้อม
กระจังหน้า และฝากระโปรงหน้า ที่ถูกออกแบบมาให้แตกต่างจากกันไปเลยในแต่ละรุ่น!

หากเป็นตัวถังซีดาน ฝากระโปรงหน้า จะมีขอบด้านล่าง ติดกับกระจังหน้า เป็นแบบเรียบ
ในรุ่น 2.0 ลิตร จะใช้กระจังหน้า ลายสปอร์ต 1 แถบคาดกลาง สีเดียวกับตัวถัง เปลือกกันชนหน้า
จะมีแถบคาดสีดำ สำหรับติดตั้งป้ายทะเบียน และมีไฟตัดหมอกมาให้ เป็นแบบเรียว

ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตร กระจังหน้าทรง 5 เหลี่ยม จะเป็นลายรังผึ้ง สีดำ โดยมีแถบโครเมียม
พร้อมสัญลักษณ์มาสด้าติดไว้ด้านบนสุด เปลือกกันชนหน้าจะมีงานออกแบบ บริเวณช่องรับอากาศ
ที่รังผึ้ง และช่องสำหรับใส่ไฟตัดหมอก คล้ายๆกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะรุ่น 2.0 ลิตร
จะมีสเกิร์ตชิ้นล่าง ยื่นออกมาเล็กน้อย ฝังในตัว ขณะที่รุ่น 1.6 ลิตรไม่มี
 

ทว่าในรุ่น แฮตช์แบ็ก 5 ประตู ฝากระโปรงหน้า จะมีขอบด้านล่าง โอบลงมาเพิ่มเติม รับกับกระจังหน้า
นั่นหมายความว่า ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าจะแตกต่างกัน รุ่น 2.0 ลิตร มีกระจังหน้าแบบ สปอร์ต แยก 2 ชิ้น บน-ล่าง
สีเดียวกับตัวถัง เปลือกกันชน พร้อมไฟตัดหมอกหน้า ออกแบบให้แตกต่างจากรุ่นซีดาน ชนิดต้องเพ่งมองกันหน่อย

แต่รุ่น 1.6 ลิตร นั้น กระจังหน้า จะคล้ายกับรุ่น 1.6 ลิตร ซีดาน เพียงแต่แถบด้านบน อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัญลักษณ์มาสด้า
จะเป็นสีเดียวกับตัวถัง อีกทั้งเปลือกกันชนหน้า จะมีแถบสีดำ เชื่อมต่อระหว่างช่องใส่ไฟตัดหมอกหน้า กับช่องรับอากาศสู่รังผึ้งหม้อน้ำ

ล้ออัลลอย ในรุ่น 2.0 ลิตร จะเป็นขนาด 17 นิ้ว ส่วนรุ่น 1.6 ลิตร จะยืนพื้นกับขนาด 16 นิ้ว ซึ่งสวยและเข้าท่ากว่ารุ่นแรกๆที่ออกมา

 

สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับคาแรกเตอร์ของแต่ละคันอยู่ที่บริเวณบั้นท้าย โดยรุ่นแฮตช์แบ็ก
ซึ่งมาสด้าชูโปรโมทเป็นรุ่นหลัก เน้นความโฉบเฉี่ยวด้วยเส้นตัวถัง J-LINE บริเวณเสาหลังคาด้านหลัง
ตัดกับชุดไฟท้ายและชุดฝากระโปรงท้าย ขณะที่รุ่นซีดาน จะมีเส้นตัวถังบริเวณเสาหลังคาคู่หลัง C-PILLAR
ถอดแบบมาจาก อาร์เอ็กซ์-8 และออกแบบให้ฝากระโปรงท้ายขึ้นรูปเป็นสปอยเลอร์หลังในตัว รับกับชุดไฟท้าย
และกันชนท้ายที่ออกแบบให้แตกต่างกัน ในแต่ละรุ่น ซึ่งทั้ง 2 ตัวถังใช้ชิ้นส่วนครึ่งคันหลังร่วมกันไม่ได้เลย

ทั้ง 2 ตัวถัง มีความยาวระหว่าง 4,485-4,540 มิลลิเมตร กว้าง 1,745 มิลลิเมตร สูง 1,465 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร

 

เมื่อเปิดประตูรถเข้ามาแล้ว จะพบว่าบรรยากาศของห้องโดยสาร ยังคงไม่แตกต่างไปจากรถรุ่นก่อนหน้านี้
ที่ผมเคยสัมผัสจนคุ้นมือคุ้นตากันมาแล้ว ทั้ง ตำแหน่งของที่วางแขนบนแผงประตูคู่หน้า ที่เหมาะสม
วัสดุที่เลือกใช้ ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรถรุ่นแรกๆ ช่วยให้ผมไม่หวาดหวั่นมากนัก เมื่อต้องกลับมา
ขับรถรุ่นนี้ หลังจากห่างหายกันไปถึง 2 ปี แผงประตูด้านข้าง มีช่องใส่หนังสือมาให้เป็นมาตรฐาน

 

สิ่งที่ ชวนให้สงสัยนิดหน่อย คือ เสียงปิดประตูของ มาสด้า 3

เรื่องมันเริ่มจาก น้องเติ้ล Dr.Slum สมาชิกในทีม The Coup ของ Headlightmag.com
สงสัยในเสียงปิดประตูของรถตัวเองขึ้นมาตะหงิดๆว่า มันช่างบาง ราวกับเหล็กกระทับกันโดยตรงเลย

พอส่งเข้าศูนย์บริการ ไซม์ ดาร์บี ที่เพชรเกษม ก็ได้รับการชี้แจงแบบแปลกๆว่า ทาง มาสด้า เซลส์ ไทยแลนด์
ได้ส่ง Service Bulletin มาให้กับทางศูนย์ฯ เพื่อให้ปรับตั้งกลอนประตู แก่ลูกค้า แต่ก็น่าแปลกว่า วันนั้น
ทางศูนย์ฯ ก็ยังมิได้ดำเนินการใดๆกับรถคันของน้องเติ้ลแต่อย่างใด

ตอนแรก ผมก็คิดว่า น้องเติ้ล คิดไปเองหรือเปล่า? ก็เลยลองปรึกษาเรื่องนี้กับพี่อุทัย พีอาร์ของมาสด้า นั่นละ

ทั้งผม และพี่อุทัย เลยทดลองเปิด และ ปิดประตู รถทั้งรุ่นปี 2005 – 2006 และรถรุ่นปี 2008
ซึ่งเป็น ล็อตที่ผลิตในเดือนตุลาคม โดยรถทั้ง 2 คันนี้ ก็จอดอยู่ติดกันบนตึกจอดรถ ณ เลตรัชดานั่นละ

เราพบว่า เสียงปิดประตู ไม่เหมือนกัน เสียงปิดประตูของรถรุ่นปี 2005-2006 ที่ฟังดูเหมือนว่าจะบาง
และฟังเหมือนไม่แน่นหนา แล้ว รถรุ่นปี 2008 นั้น ฟังแล้ว เสียงจะบางยิ่งกว่า! เสียงเหมือนเหมือนเหล็ก
กระทบกันราวกับไม่มียางขอบประตูใดๆขวางกั้น ฟังแล้วเหมือน เสียงปิดประตูของ รถ Toyota
ที่ประกอบในไทย ประมาณปี 1988

 

เรื่องที่น่าแปลกก็คือ เมื่อ พี่อุทัย ลองโทรเช็คกับทางผู้เกี่ยวข้องกับฝ่ายอะไหล่แล้ว
ได้รับการยืนยันว่า อะไหล่ชุดกลอน และยางขอบประตู ทั้งรุ่นปี 2008 และ 2009 ไม่ได้แตกต่างกัน

นั่นเลยยังคงเป็นคำถามที่ข้างคาใจว่า  ทำไมเสียงปิดประตู ของมาสด้า 3 ในแต่ละรุ่นปี มันช่างแตกต่างกันอย่างชัดเจน?

เสียงปิดประตู ที่บางซะขนาดนี้ คือสิ่งที่อยากจะฝากให้ทาง มาสด้า ประสานงานกับ โรงงาน ออโตอัลลายแอนซ์ ฟิลิปปินส์
ช่วยแก้ไข ในการประกอบรถ ในล็อตหลังๆ ต่อจากนี้ รวมทั้ง ปรับปรุงใน มาสด้า 3 เจเนอเรชันต่อไป รุ่นปี 2010 ด้วย  

แต่ถ้าคุณไม่สนใจเรื่องเสียงปิดประตูแล้ว การเก็บเสียง ขณะขับขี่ในเมือง ถือว่ายังทำได้ดีอยู่ พอกันกับรถรุ่นปีก่อนหน้านี้

 

ตำแหน่งเบาะคนขับของ มาสด้า 3 นั้น จัดวางไว้ในตำแหน่งที่ เตี้ยกำลังดี ไม่สูงจนเกินไป
การเข้าออกทำได้อย่างสะดวก และเหมาะแก่การขับรถในสไตล์สปอร์ต ที่ต้องการตำแหน่งเบาะ
ซึ่งเตี้ยกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆทั่วๆไป สักนิด

เบาะนั่งฝั่งคนขับ สามารถปรับระดับสูงต่ำ ได้ด้วยก้านโยกขึ้น โยกลง ด้านข้างลำตัว
แต่สำหรับฝั่งคนนั่ง ทำได้แค่เลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลัง และปรับเอนธรรมดา
ตามมาตรฐานของเบาะนั่งในรถยนต์ทั่วไป

หากเป็นรุ่น แฮตช์แบ็ก จะตกแต่งภายในด้วยโทนสีดำ สไตล์สปอร์ตเข้ม

 

แต่ในรุ่น ซีดาน จะตกแต่งด้วย สีเบจ
โดยในรุ่น 2.0 ลิตร จะหุ้มเบาะด้วยหนังสังเคราะห์

ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่า ปุ่มปลดล็อกเบรกมือ ไม่เป็นแบบโครเมียมเหมือนรุ่น 5 ประตู 2.0 ลิตร

 

ส่วนรุ่นซีดาน 1.6 ลิตร จะหุ้มเบาะนั่งด้วยผัา ในแบบเดียวกับที่หุึ้้มเบาะนั่งของรถยุโรป แต่อย่าคาดหวังความนุ่มมือเหมือนผ้าสักกะหลาด

 

 ส่วนรุ่นแฮตช์แบ็ก 5 ประตู 1.6 ลิตร ที่เห็นคันนี้ จะตกแต่งภายในห้องโดยสารด้วยสีดำ เช่นเดียวกับรุ่น 2.0 ลิตร

และยังคงให้เบาะหุ้มหนังสังเคราะห์เป็นมาตรฐาน

 

การเข้าออกจากประตูคู่หลังนั้น หากเป็นรุ่น แฮตช์แช็ก 5 ประตู
ต้องยกความดีให้ ขอบด้านบนของช่องทางเข้าด้านหลัง ที่มีแนวเกือบตรง
และลดโอกาสการเกิดปัญหาศีรษะ โขก ลงไปได้ บ้าง

 

ขณะที่ ทางเข้าของรุ่น ซีดาน นั้น แนวเส้นขอบด้านบนของช่องทางเข้า
จะลาดลงมามากกว่า และมีโอกาสก่อเกิดปัญหาศีรษะโขกได้บ้างเหมือนกัน

กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่น ซีดาน หรือ แฮตช์แบ็ก การก้าวขาเข้าไปนั่ง
หรือก้าวขาออกจากรถ ยังไม่ถึงกับสบายนัก

 เชื่อหรือไม่ถ้าจะบอกว่า ถ้าเป็น ฟอร์ด โฟกัส ผมยังก้าวเข้าไปนั่งได้ง่ายดายกว่าเลย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ตำแหน่งเบาะหลังนั้น ไม่ได้วางอยู่บนล้อคู่หลัง
อันเป็นผลมาจากความพยายามที่จะออกแบบรถ เพื่อเน้นจุดศูนย์ถ่วงต่ำ
เอาความสนุกจากการขับขี่หยิบยื่นให้ลูกค้าเป็นหลัก มาสด้าจึงดูเหมือนจะไม่คิด
ออกแบบระบบกันสะเทือนให้มีขนาดเล็ก หรือนำเอาระบบคานบิด มาใช้
อย่างที่บริษัทรถยนต์ทั่วๆไปทำกัน

ดังนั้น ช่องทางเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง จึงมีขนาดกำลังดี สำหรับคนตัวเล็ก
หรือเด็กน้อยตากลมๆ แต่ จะมีขนาดเล็กไปหน่อย สำหรับผู้ใหญ่ไซส์มาตรฐาน

กระจกหน้าต่างเลื่อนลงมาได้จนสุด เหมือนกันทั้ง ซีดาน และแฮตช์แบ็ก
นับเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ที่รถทั่วไปสมัยนี้ หาได้น้อยเต็มที

แผงประตูคู่หลัง มีช่องใส่ของมาให้เช่นเดียวกับด้านหน้า
ตำแหน่งการวางแขนบนแผงประตู ถือว่าทำได้ดี

เพดานด้านบนของทุกรุ่น บุด้วยสีโทนสว่าง จึงยังไม่ทำให้ภายในรถ
คันที่ตกแต่งภายในด้วยสีดำ ดูทึบจนเกินไปนัก

เบาะนั่งด้านหลังของ มาสด้า 3 ยังคงนั่งสบาย และ มีที่วางแขนทั้งที่แผงประตู
รวมทั้ง ที่วางแขนพับเก็บได้กลางเบาะหลัง มาให้ “ครบทุกรุ่นย่อย”
การวางแขนนั้น อย่างที่บอกไปแล้วว่า วางแขนได้กำลังดี นั่งไม่เมื่อยมากนัก
หากต้องเดินทางไกล เป็นเวลานานๆ แถมยังมีพื้นที่วางขาด้านหลังเหลือเพียงพอด้วย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่วางขา อยู่ในระดับกำลังดี เข่าไม่ติดพนักพิงเบาะน้านั้น
เป็นเพราะ ระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,640 มิลลิเมตร นั้น ซึ่งมองในมุมหนึ่ง
ต้องถือว่า เพียงพอแล้วสำหรับรถยนต์ระดับนี้ แม้ใจจริง จะอยากให้เพิ่มออกไปอีกนิด

อย่างไรก็ตาม เบาะรองนั่งนั้น ถ้ายาวได้อีกเพียงนิดเดียว จากปัจจุบัน
นั่นน่าจะช่วยรองรับต้นขาได้ดีกว่านี้อีกนิดนึง 

ส่วนเบาะผ้าในรุ่นซีดาน 1.6 ลิตร ยังคงเป็นลวดลายคล้ายของเดิม
เป็นผ้าแบบสาก ที่อาจยังไม่ถึงกับสากมาก เหมือนเบาะนั่งจากรถ
โตโยต้า ยาริส-วีออส นิสสัน ทีด้า ฟอร์ด โฟกัส หรือ เชฟโรเลต เอวิโอ,แค็พติวา ฯลฯ

แต่ก็ถือได้ว่า สากใกล้เคียงกันแล้ว นี่ผมแค่พิงพนักศีรษะเฉยๆ
เส้นผม ของผม ถูกดึงติดไปกับผ้าหุ้มเบาะ บริเวณพนักศีรษะ ไปแล้วหลายเส้นแหนะ!

ถ้าขับต่อไปอีกสักระยะ ผมคิดว่า ไม่แคล้วจะต้องรีบไปทำการปลูกผมที่สเวนซัน
แล้วส่งใบแจ้งหนี้ไปเคลมค่ารักษากับมาสด้าแหงๆ

แล้วเจ้าผ้าสากๆ ที่ว่าเนี่ย ผู้ผลิตพยายามจะเลือกใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันจะลดการเก็บฝุ่นได้
เพราะบ้านเมืองเรา ฝุ่นเยอะ แต่หารู้ไม่ว่า สุดท้าย มันก็จะเก็บฝุ่นหนักหนาพอๆกัน
เมื่อนานวันผ่านไป แล้วในเมื่อมันจะต้องเก็บฝุ่นไม่ต่างกันเท่าใดนัก ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ในบ้านเรา
ถึงไม่เลือกเอาผ้าเบาะแบบที่ใช้กับรถยนต์รุ่นเดียวกัน ในเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งนั่งสบายตัวกันมากกว่าเยอะ
มาใช้กับเมืองไทยเสียเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราวกันเล่าหนอ?

ทั้งที่ผ้าแบบเดียวกับที่ผมบอกอยู่นี้ ปัจจุบัน ก็มีใช้อยู่บ้างแล้วใน โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส รุ่นก่อน
และเชฟโรเลต ออพตร้า รุ่นก่อนปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์

อีกทั้งพื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับรุ่นซีดานนั้น ยังถือว่าน้อยไปหน่อย
ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจาก เส้นสายตัวถังภายนอก บีบบังคับ
ให้เพดานหลังคา ต้องโค้ง และลาดลงไปทางด้านหลังรถ อย่างที่เป็นอยู่

นั่นหมายความว่า
ถ้าอยากได้พื้นที่เหนือศีรษะด้านหลังเยอะกว่านี้ ชนิดที่ นั่งกันไม่อึดอัด
คงต้องเลือกรุ่น แฮตช์แบ็ก 5 ประตู ที่มีแนวหลังคา เดินต่อเนื่องไปจนจรดบั้นท้าย

และที่สำคัญ สิ่งที่รถยนต์ในประเทศไทยหลายๆรุ่น ยังไม่ได้มีมาให้
แต่มาสด้าติดตั้งมาให้ เป็นรายแรกๆ ในกลุ่มรถยนต์ระดับนี้

คือจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มีมาให้ 3 ตำแหน่ง พร้อมฝาปิดเรียบร้อย
สะดวกต่อพ่อแม่ที่จะติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในวัยต่างๆกันได้ดี

เบาะหลังของทุกรุ่น สามารถแบ่งพับได้ ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

สิ่งที่น่าสังเกตเล็กน้อยคือ เบาะหลังนั้น เพียงแค่กดปลดล็อกสลักลงมา  พนักพิงจะพับลงมา
และมีพื้นที่ต่อเนื่อง กับพื้นห้องเก็บของด้านหลัง มากกว่า เบาะหลังของฟอร์ด โฟกัส ซึ่งรายนั้น
ต้องยกเบาะรองนั่ง ขึ้น เพื่อให้พนักพิง แบนราบไปกับพื้น

 

 แต่เบาะหลังของ มาสด้า 3 ก็ใช่ว่าจะพับจนแบนราบไปกับพื้นได้ทั้งหมดนัก เมื่อดูจากภาพนี้
(ขนาดรุ่น 1.6 ลิตร ซีดาน ตัวล่างๆ ยังมีมาให้)

 

 และนี่คือเบาะหลังของรุ่น 1.6 ลิตร 5 ประตู

 ฝากระโปรงท้ายของรุ่น 5 ประตู เปิดได้สูง

 แต่ความกว้างของช่องทางเข้า มีขนาดเพียงเท่าที่เห็น ซึ่งดูเหมือนว่า ณ วันนั้น

 วิศวกรมาสด้า จะทำได้ดีที่สุด เพียงเท่านี้แล้ว

 รุ่นแฮตช์แบ็ก นั้น มีความพิเศษ อีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่อาจพบได้ในรุ่นซีดาน

 นั่นคือ แผงพลาสติปูพื้นห้องเก็บของ สามารถจะยกขึ้นมา วางซ้อนอย่างที่เห็น แบ่งเป็นชั้นวางพิเศษเพิ่มมา

 

 

 และสะดวกต่อการวางสิ่งของ ที่ เปรอะเปื้อนง่าย มีกลิ่นรุนแรงกว่าปกติ เ่ช่น ทุเรียน ของสด หรือ อาหารสุนัข

 ส่วนฝากระโปรงหลัง ของรุ่นซีดาน ช่องทางเข้า มีขนาดเล็กกว่ารถคู่แข่งหลายรุ่น และมีขนาดเล็กกว่ารถหลายรุ่น

 แต่โปรดสังเกตว่า มีช็อกอัพไฮโดรลิค มาช่วยค่ำยันให้ด้วย ทั้งที่รถยุโรปยี่ห้อดังสมัยนี้ ไม่ค่อยมีมาให้แล้ว

 แผงหน้าปัดของรุ่น 2.0 ลิตร 5 ประตู ตัวท็อป จะถูกตกแต่งในสไตล์สปอร์ตโฉบเฉี่ยว เอาใจวัยรุ่นเต็มที่

 ทั้งแผงคอนโซลกลาง แป้นสวิชต์บนพวงมาลัย และแผงประตูข้าง จะตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำ แบบ High Grossy ส่วนพวงมาลัยหุ้มด้วยหนัง

คุณผู้อ่านลองแยกความแตกต่างกันระหว่าง แผงหน้าปัดของรุ่น 2.0 ลิตร ซีดาน
ที่เห็นอยู่นี้ กับภาพของแผงหน้าปัดรุ่น 1.6 ลิตร ซีดาน ข้างล่างนี้ ดูครับ

ไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ลองตอบตัวคุณเองให้ได้ว่า แตกต่างกันที่จุดไหนบ้าง

ถ้าไม่ทราบ ผมคงจะบอกได้อย่างที่เห็นเลยว่า
มันแทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย

 และเช่นเดียวกัน ถ้าเทียบกับรุ่น 5 ประตูด้วยกันเอง

 รุ่น 1.6 ลิตร จะมีเพียงแค่ พวงมาลัยที่ไม่หุ้มหนัง แป้นสวิชต์บนพวงมาลัย กับแผงคอนโซลกลาง

ไม่ได้ตกแต่งด้วยพลาสติกแบบ High Grossy

 

การเปิดประตูรถนั้น หากเป็นรุ่น 1.6 ลิตร จะใช้ รีโมทคอนโทรล แบบเดียวกับรถกระบะ BT-50
การติดเครื่องยนต์ให้เอากุญแจเสียบในรูกุญแจสตาร์ทตามปกติ

 

แต่ในรุ่น 2.0 ลิตร จะใช้รีโมทคอนโทรลแบบ KeyCard แบบมีลูกกุญแจสำรองมาให้ในตัว
จะปลดหรือสั่งล็อก กดปุ่มสีดำ บนมือจับเปิดประตูนั่นละครับ

 

 ส่วนการติดเครื่องยนต์ ของรุ่น 2.0 ลิตร กดและบิดที่สวิชต์แบบมือบิดได้ในทันที มีไฟส่องที่มือบิดด้วย

 

แม้แต่ ชุดมาตรวัด ก็ยังมีงานออกแบบที่ต่างกันเล็กน้อย
ในรุ่น 2.0 ลิตร 5 ประตู พื้นด้านหลังจะเป็นสีดำ แต่จะเรืองแสงเป็นสีแสดในยามค่ำคืน
โดยพื้นหลังจะมีสีน้ำเงินระเรื่อๆ ปรากฎให้เห็น

แต่ในรุ่น 1.6 ลิตร ทั้งซีดาน และแฮตช์แบ็ก จะใช้ชุดมาตรวัดแบบมาตรฐานอย่างที่เห็น
เป็นพื้นสีขาว ตัวอักษรดำ ในตอนกลางวัน พอตกกลางคืนเมื่อเปิดไฟหน้า
จะเรืองแสงเป็นสีแสด และพื้นหลังจะเป็นสีน้ำเงินอย่างที่เห็น

 

 (รุ่น 2.0 ลิตร 5 ประตู)

 การปรับปรุงภายในนั้น มีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นั่นคือ แผงคอนโซลกลาง ชุดควบคุม เครื่องเสียงพร้อมเครื่องเล่น CD/MP3
เท่านั้น ที่แตกต่างกันอยู่นิดหน่อย บริเวณสวิชต์ควบคุม เครื่องปรับอากาศ
และปุ่มควบคุมแถวกลาง ที่ออกแบบให้ต่างจากรุ่นแรกๆ เล็กน้อย

(รุ่น 1.6 ลิตร 4 ประตู)

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบดิจิตอล ในทุกรุ่น เย็นสบายดี และค่อนข้างจะเย็นเร็วเหมือนกัน

ส่วนชุดเครื่องเสียงจากโรงงานนั้น แม้หน้าตาจะดูเหมือนๆกัน และเล่นซีดี 6 แผ่น ได้เกือบครบทุกรุ่น

คุณภาพเสียงที่ ผมเคยเขียนถึงนั้น ระบุว่า จัดอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวาย
เพื่อเปลี่ยนชุดเครื่องเสียงให้วุ่นวาย ให้ประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร
ต้องถูกกระทบกระเทือนไปแต่อย่างใด

แต่ หลังจากผ่านไป 2 ปี หลังจากที่มีชุดเครื่องเสียงผ่านหูมามากมาย
ในวันนี้ ผมใคร่จอขอเพิ่มคำว่า “คุณภาพเสียงดีสมกับเป็นของแถมติดรถ”

 

(รุ่น 1.6 ลิตร 5 ประตู) 

คือ แน่นอน มันมีคุณภาพเสียงดี ในระดับต้นๆ ของรถในกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้ดีเลิศเลออะไรนักหนา
ยิ่งถ้าคุณมีโอกาสลอง ฟัง เทียบกับ ชุดเครื่องเสียง ของ ฟอร์ด โฟกัส
และ นิสสัน ทีด้า มาแล้ว คุณคงพอจะเข้าใจได้ทันทีว่าสิ่งที่ผมพูดนั้น มันหมายถึงอะไร

เมื่อเทียบใน 3 คันนี้ มาสด้า 3 กับ ฟอร์ด โฟกัส ให้คุณภาพเสียงที่พอกัน
แต่ ทีด้า นั้น บี้แบน ห่วย และทำตัวสมกับเป็นวิทยุติดรถยนต์อย่างเดียวจริงๆ
คือ สมราคา แต่ ไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียงมาให้บนพวงมาลัย
เป็นรายแรกของรถกลุ่ม Compact ให้ครบทุกรุ่น เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก

 

ทุกรุ่นติดตั้งไฟส่องสว่างภายในรถมาในตำแหน่งเดียวกันนี้ทั้งหมด
มีไฟกลางเก๋ง 1 ชุด ไฟอ่านแผนที่ 2 ฝั่ง แยกชุดสวิชต์เปิด-ปิด ออกจากตัวไฟ
ใช้ทดแทนไฟสำหรับแต่งหน้า บนแผงบังแดด เพราะไม่มีมาให้

สิ่งเดียวที่ทำให้รุ่น 2.0 ลิตร 5 ประตู แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ คือ
มีซันรูฟมาให้ในรุ่นท็อปเท่านั้น

 

 ทุกรุ่นให้กล่องคอนโซลกลางแบบ 2 ชั้นวางกล่อง ซีดี ได้เยอะอยู่ และมีที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง

ฝาปิดด้านบน เป็นที่วางแขนในตัว ซึ่งก็ แค่พอวางได้ ขำขำ

 

คันโยกเปิดฝาถังน้ำมัน มีมาให้ทุกรุ่น แต่คันโยกเปิดฝากระโปรงหลังนั้น มีเฉพาะรุ่น ซีดาน เท่านั้น ไม่มีใน 5 ประตู

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่แถมมาให้นั้น
มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นมาตรฐานทุกรุ่น
ส่วนถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย
ติดตั้งมาเฉพาะรุ่น 2.0 ลิตร ทั้ง ซีดา่น และแฮตช์แบ็ก ที่มีซันรูฟกระจก

เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ 3 จุด 4 ตำแหน่ง คู่หน้า 2 (แบบ ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ) และคู่หลังอีก 2 ตำแหน่ง
และแบบ ELR 2 จุด 1 ตำแหน่ง ตรงกลางเบาะหลัง

มีสัญญาณกันขโมย พวงมาลัยยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
กระจกมองข้างแบบกันน้ำเกาะ ฯลฯ

และ รวมถึง กล่องเก็บของด้านหน้าขนาดใหญ่และลึกที่สุดในตลาด
อันเป็นผลมาจากการย้ายเครื่องปรับอากาศ ไปซ่อนไว้หลังคอนโซลกลาง

ทำให้มีพื้นที่กล่องเก็บของมากขึ้น ลึกมากพอจะใส่ศพพุดเดิ้ล ได้ 1 ตัวแน่ๆ

 

ทัศนวิสัยด้านหน้า ไม่มีปัญหาอะไร โปร่งตา และกำลังดี มองชัดเจน

 

ฝั่งขวา ขนาดของกระจกมองข้าง มีขนาดมาตรฐานของรถเก๋งญี่ปุ่นทั่วๆไป
ไม่เล็ก และไม่ใหญ่ ตำแหน่งของมัน ไม่หลอกตามากนัก

 

ฝั่งซ้าย ขนาดของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ไม่ค่อยมีปัญหาบดบังในเวลาที่จะเลี้ยวกลับรถ

 

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น รุ่นซีดาน เสาหลังคาด้านหลัง
ถือว่าเสาหลังคายังค่อนข้างจะกินพื้นที่เยอะเหมือนกัน
อาจมีการบดบังรถที่แล่นมาข้างหลังอยู่บ้าง แต่ยังพอจะมองเห็นได้

ขณะที่ทัศนวิสัยด้านหลัง ของรุ่น 5 ประตูนั้น เป็นไปตามคาด
การมีกระจกโอเปรา เพิ่มเข้ามาด้านหลัง ช่วยลดปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง
แต่ ยังถือว่ามีการบดบังอยู่พอสมควร โดยเฉพาะ หากเป็นจักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์

 

 **********รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ**********

เครื่องยนต์ของมาสด้า 3 รุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น ยังคงเป็นขุมพลังจากตระกูล MZR มีให้เลือก 2 ขนาด ตามเดิม

มีทั้งรหัส Z6Y บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว S-VT
(Sequential – Valve Timing) รวมทั้งระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS (Variable Induction System)

105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร (14.77 กก.-ม.) ที่ 4,000 รอบต่อนาที

 

 

แต่ในรุ่น 2.0 ลิตร นั้น
มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี
ที่ปรับปรุงใหม่ ให้มีครบ ทั้งสิ่งที่ผมเห็นด้วย และไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก

ทั้งการเพิ่มระบบแปรผันวาล์ว S-VT (Sequential – Valve Timing)
รวมทั้งระบบแปรผันท่อทางเดินไอดี VIS (Variable Induction System)
ให้กับขุมพลัง 2.0 ลิตร ซึ่งควรจะมีมาตั้งแต่รุ่นแรกแล้ว ไม่น่าจะต้องรอถึงรุ่นไมเนอร์เชนจ์

การถอดฝาครอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่โตเกินเหตุ แบบไม่ค่อยตั้งใจออกแบบนั่นทิ้งซะ
เน้นการปรับปรุงเพื่อลดเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์ และจากไดชาร์จ

รวมถึงการเปลี่ยนลิ้นปีกผีเสื้อจากแบบกลไก มาเป็นลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
Drive By Wire
ที่ผมเองก็ไม่ค่อยชอบนัก แต่ก็คงต้องทำใจยอมรับ
เพราะมันกลายเป็นเทคโนโลยี ประจำยุคสมัยของคนรุ่นเราไปเสียแล้ว

ทั้งหมดที่เขียนมาข้างต้น มาสด้าระบุว่า ช่วยเพิ่มพละกำลังขึ้นได้จาก
141แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.54 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที

เป็น
147 แรงม้า
(PS) ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุดยังคงเหมือนเดิม 18.54 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบต่อนาที

 

 

ระบบส่งกำลังนั้น ในรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์คราวนี้ ทั้ง 2 ขุมพลัง ติดตั้งมาให้แต่เพียง เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
พร้อมโหมดบวก/ลบ Active Matic ซึ่งก็ยังคงเป็นเกียร์ลูกเดิม ที่คุณควรจะดูแลรักษาให้ดีๆ และขับอย่างระมัดระวัง
ไม่เปลี่ยนเกียร์ บวกลบ ไปมา ในยามติดขัดอยู่บนท้องถนน กทม. นั่นละครับ เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเจอมาในรถทดสอบ
ทั้ง รุ่นเก่า อย่าง ซีดาน 2.0 ลิตร สีน้ำเงิน และ 2.0 ลิตร 5 ประตู สีดำ 2 คันก่อน ที่สภาพเริ่มจะโทรมแล้ว เพราะมาผ่านมาหลายมือนั้น
เกียร์พอจะเริ่มมีอาการกระตุก เมื่อรถแล่นไปได้ในระยะทางประมาณ 8,000 – 9,000 กิโลเมตร ด้วยซ้ำถ้าไม่ได้ดูแลรักษาดีๆ

แต่ในรถคันสีเทาเข้ม 1.6 ลิตร และสีดำ 2.0 ลิตร ซีดาน ที่เห็นอยู่นี้ การเปลี่ยนเกียร์ ไม่กระตุกแรง ตามที่คิดไว้
ดังนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ขึ้นอยู่กับ เทคนิคการขับขี่รถยนต์เกียร์อัตโนมัติให้ถูกต้อง ของแต่ละคน ว่าจะทำได้ดี
มากน้อยเพียงใด รวมไปถึงว่า รถคันนั้นๆ เจ้าของ พามันไปเข้าศูนย์บริการ ดูแลซ่อมบำรุงตามระยะทางที่กำหนด หรือไม่ อย่างไร
แต่ อย่างไรก็ตาม เกียร์รุ่นเดียวกันนี้ ในรถทดสอบทั้ง 4 คัน แม้จะปรากฎอาการกระตุกตอนเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ P R N D บ้างในบางคัน

ทว่า ขณะขับขี่ 3 ใน 4 คัน ก็ไม่มีอาการกระตุกอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ในทุกรูปแบบการขับขี่ที่ผมเจอมา

พอจะสรุปได้ว่า การเปลี่ยนเกียร์ ของแต่ละคันที่เจอมานั้น บางคัน ก็ราบรื่นดุจบินกับการบินไทย แต่บางคันก็กระตุกกระชาก
ราวกับนั่งอยู่บนรถเมล์สาย 8 ตอนดึกๆ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมการขับของเจ้าของรถ ว่าทะนุถนอมแค่ไหนมากกว่า

เกียร์รุ่นนี้ มีอัตราทดเกียร์ดังนี้

เกียร์ 1…………2.816
เกียร์ 2…………1.497
เกียร์ 3…………1.000
เกียร์ 4…………0.725
เกียร์ถอยหลัง….2.648

อัตราทดเฟืองท้าย รุ่น 1.6 ลิตร อยู่ที่ 4.416
อัตราทดเฟืองท้าย รุ่น 2.0 ลิตร อยู่ที่ 4.147 

สำหรับใครที่ยังอยากได้รถยนต์นั่ง เกียร์ธรรมดา ก็คงต้องมองข้ามมาสด้า 3 ไป เหตุผลก็เพราะว่า
มาสด้าได้ ยกเลิกการทำตลาดรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ของมาสด้า 3 ไมเนอร์เชนจ์ ไปแล้ว
เหลือแต่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อมโหมด บวกลบ เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่มาสด้าอ้างว่า
ในรุ่นก่อนนั้น ยอดขายน้อยมาก ดังนั้น ไม่คุ้มกับการสต็อกอะไหล่ ในระยะยาว
ที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น แถมยังต้องมีดอกเบี้ย และอื่นๆอีกมากมาย

อันที่จริงแล้ว มาสด้า ดูเหมือนจะปล่อยตลาดกลุ่มนี้ออกไป อย่างน่าเสียดาย
อย่างน้อยก็น่าจะมีทางเลือกเอาไว้ให้กับลูกค้าที่ในชีวิตนี้ไม่คิดจะขับรถเกียร์อัตโนมัติอยู่เลย
ซึ่งในเมืองไทย ยังมีลูกค้าทมี่คิดอย่างนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่วันนั้น เขายังไม่พร้อมจะซื้อมาสด้า 3
เนื่องจากว่า ราคาตั้งในช่วงก่อนหน้านี้ แพงเกินไป  แต่เรื่องแบบนี้ ที่มาสด้า เริ่มทำมาตั้งแต่ต้น
กลายเป็นแบบอย่างให้ผู้ผลิตรายอื่น นำไปใช้ในแง่กรณีศึกษา เพื่อตัดสินใจ ลงดาบเชือดรุ่นเกียร์ธรรมดา
ออกจากสายการผลิตของตน ตามไปด้วย ในรถยนต์รุ่นที่ขายกันอยู่ตอนนี้ และรวมไปถึงรถรุ่นที่ใกล้จะ
เปิดตัวในบ้านเรา จากช่วงนี้เป็นต้นไปอีกด้วย

เราได้ทำการทดลองหาอัตราเร่ง กันตามมาตรฐานดั้งเดิมของเรา ที่ใช้กันมาตลอด 5 ปี
โดยมีนายกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา รับหน้าที่จับเวลา น้ำหนักตัวอยู่ที่ 48 กิโลกรัม
ส่วนผม ในฐานะผู้ขับขี่ น้ำหนักตัวในตอนนั้น 90 กิโลกรัม เราขับกันโดยเปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
เปิดไฟหน้าให้ส่องสว่าง เพราะเราทดลองกันในยามค่ำคืน

และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งร่วมตลาด
ก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น…

 

ในรุ่น 2.0 ลิตรนั้น การตอบสนองที่ผมสัมผัสมาจากตัวรถนั้น แม้จะมีแรงม้าเพิ่มขึ้น 6 ตัว
แต่เอาเข้าจริงแล้ว รสสัมผัสที่รับรู้ได้นั้น มันแทบไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อได้เปรียบเทียบกับตัวเลขที่เคยทำไว้ ในรุ่น 2.0 ลิตร ทั้งเก่าและใหม่แล้ว
พบว่า อัตราเร่งของเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรใหม่ ด้อยกว่าเดิมนิดนึง
เหตุผลส่วนหนึ่งหากจะโทษการทำงานของคันเร่งไฟฟ้า ก็ไม่ถูกต้องนัก

เพราะ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ชอบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า เท่าใดนักก็ตาม
แต่ คันเร่งของมาสด้า 3 นั้น ยังให้การตอบสนองที่ สมเหตุสมผล มากกว่า คันเร่งของ ฮอนด้า ซีวิค 2.0 นิดนึง

นั่นเพราะว่า ถ้าต้องการเพิ่มความเร็วขึ้นอีกเพียงนิดเดียว เช่นจาก 100 ไปถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง
แต่ไม่ต้องรวดเร็วฉับไวนัก ผมแค่เพิ่มน้ำหนักเท้าขวา ลงบนคันเร่งเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

แต่ ถ้าผมจะทำแบบนี้กับ ซีวิค 2.0 แล้ว ต่อให้ผมเดินคันเร่งเพิ่มขึ้นด้วยน้ำหนักที่แผ่วเบาเพียงใด 
แต่ถ้าคันเร่งถูกกดลงไปจนถึงจังหวะที่ถูกเซ็ตไว้เมื่อใด ทอล์ค คอนเวอร์เตอร์ จะทำงานทันที
โดยไม่สนใจหน้าอินทร์ หน้าพรหม

อัตราเร่งในการขับขี่ใช้งานจริงผมว่าไม่ได้แตกต่างอะไรกับรุ่นเดิม
คือ ดีอยู่แล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าวิศวกรมาสด้ายังสามารถพัฒนาออกมาได้ดีกว่านี้อีก
ในการขับขี่จริง ถามว่าเพียงพอไหม ผมมองว่า เพียงพอ และ เหมาะกับคนที่ขับรถเร็วปานกลาง
ไม่ใช่คนที่ขับรถเร็วจัด
เสียงเครื่องยนต์ที่หลายคนบ่นว่าดัง มาวันนี้ หลังปรับปรุงแล้ว ถือว่าเบาลงไปในระดับหนึ่ง

แต่ที่แน่ๆ ผมชื่นชอบ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร มากกว่า 1.6 ลิตร แบบไม่มีข้อกังขาในใจ

เพราะสำหรับรุ่น 1.6 ลิตรนั้น ถ้าคุณหวังจะเห็นปาฎิหารย์เครื่องบล็อกเล็ก ที่ให้อัตราเร่ง
เทียบเท่า หรือพอกันกับเครื่องรุ่นใหญ่กว่า อย่างที่นิสสัน ทีด้าและเชฟโรเลต ออพตร้า เคยทำมาแล้วนั้น
หรือเอาแค่ เทียบเคียงได้กับ เครื่องยนต์ ของ มิตซูบิิ แลนเซอร์ 1.6 ลิตร ตัวปัจจุบันนั้น
งานนี้ผมเห็นทีจะต้องร้องเพลง ของคุณ กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี แล้วละว่า

“ปาฎิหารย์ ไม่ มี จริง”

เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ของ มาสด้า 3 นั้น ณ วันนี้ ผมถือว่า ถ้าเทียบตัวเลขอัตราเร่งของรถยนต์กลุ่มคอมแพกต์ทุกคันเคยทำมาแล้วนั้น
เครื่องยนต์ Z6Y 1.6 ลิตร ของมาสด้า 3 ถือเป็นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ที่ให้อัตราเร่ง จากออกตัว ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และช่วงเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง. ได้….

“อื ด อ า ด ยื ด ย า ด ที่ สุ ด ในบรรดารถยนต์กลุ่มคอมแพกต์ 1.6 – 2.0 ลิตร ที่มีขายอยู่ในตลาดเมืองไทยตอนนี้”

มันอืดขนาดไหน?
หากย้อนกลับไปดูจากตัวเลขจับเวลาที่เราทำได้ เมื่อเทียบกับรถยนต์ซีดานคันอื่นๆที่ผมเคยทำรีวิวมา
คุณจะพบว่า มาสด้า 3 เครื่อง 1.6 ลิตรนั้น อืดอาดพอกัน หรือมากกว่านิดหน่อยเมื่อเทียบกับ เชฟโรเลต เอวิโอ 1.4 ลิตร เลยด้วยซ้ำ!
เพราะอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง 2 คันนี้เขาทำได้พอๆกันเลย (เอวิโอ เฉลี่ย 4 ครั้งได้ 14.37 วินาที
มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ได้ 14.82 วินาที ) ส่วนอัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น
มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ทำได้ 12.37 วินาที โดยเฉลี่ย 4 ครั้ง ขณะที่ เอวิโอ ทำได้ 12.18 วินาที

ถ้าคุณต้องการจะเรียกพละกำลังของเครื่องยนต์ออกมา คงต้องเร่งให้เครื่องยนต์ทำงานไปถึงประมาณ 3,000 – 4,000 รอบ
ถึงจะช่วยให้การขับขี่ เร่งแซงรถคันอื่น เริ่มสนุกกับเขาขึ้นมาได้บ้าง แต่ถ้าจะต้องให้เหยียบคันเร่งจนจมมิดติดเหล็กรถ
และต้องรอให้รถค่อยๆเร่ง ด้วยอาการเหมือน พวกขี้เหล้าเพิ่งตื่นนอน ผมว่า ไม่ไหวแล้ว

ดังนั้น อย่าคาดหวังถึงสมรรถนะ ของรุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร มากมายนัก
ในด้านอัตราเร่ง ไปจนถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง…

ระบบกันสะเทือนหน้า แบบแม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ E-Type พร้อมเหล็กกันโคลง
ถูกปรับปรุงให้ นุ่มขึ้น และดูดซับแรงสะเทือนได้ดียิ่งขึ้นกว่ารุ่นเดิม
ขณะแล่นผ่านเนินลูกระนาด หรือทางขรุขระ จะสัมผัสได้เลยว่า นุ่มนวลขึ้น
ลดความกระด้างลงไปพอสมควร แต่ยังให้ความมั่นใจได้ดีเช่นเดิมในทุกโค้งที่ขับเข้าไป

ในโค้งรูปตัว S ทางลงทางด่วนพระราม 6 ผมยังสามารถพาเจ้า มาสด้า 3 ทั้งรุ่น 1.6 และ 2.0 ลิตร
เข้าโค้งไปได้ที่ความเร็วระดับ 75 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าได้ยางสมรรถนะสูงกว่านี้
ก็คงทำได้เพิ่มมากขึ้นจากนี้อีกนิดหน่อย

แต่ มาสด้า 3 เองก็มีบุคลิกที่คล้ายคลึงกับ ซาบ 9-3 นั่นคือ ถ้าเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงเกินไป ในบางลักษณะ
อาจเกิดอาการท้ายปัดเมื่อเข้าโค้งได้ แต่ก็ไม่ยากในการแก้ไขเพื่อให้ตัวรถกลับมาอยู่ในเส้นทางตามเดิม
แต่ตั้งข้อสังเกตอีกนิดว่า บั้นท้ายของรุ่น 5 ประตูนั้น มีโอกาสจะเหวี่ยงออกนอกโค้งง่ายกว่ารุ่น ซีดาน
หรือถ้าพูดกันง่ายๆเลยก็คือ การเข้าโค้งของรุ่นซีดาน จะดีกว่า แฮตช์แบ็กอยู่นิดนึง

พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน ในรุ่น 1.6 ลิตร เป็นแบบ เพาเวอร์ไฟฟ้า แปรผันตามความเร็วรอบเครื่องยนต์
ด้วยปั้มไฮโดรลิก มีวงเลี้ยวแคบ 5.2 เมตร น้ำหนักค่อนข้างหนัก แต่ยังไม่ถึงกับหนักสาหัสอย่างที่ เชฟโรเลต ออพตร้า เป็นอยู่

ส่วนรุ่น 2.0 ลิตรนั้น ใช้พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบ
Electro-Hydraulic Power-Assisted Steering (EHPAS) : Motor sensing
หรือถ้าให้เรียกง่ายๆก็คือ พวงมาลัย แบบเพาเวอร์ไฟฟ้า คล้ายๆ ซีวิค 2.0 ลิตร นั่นเอง

ผมเคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า พวงมาลัยของมาสด้า 3 รุ่น 2.0 เป็น พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า
ที่ตอบสนองได้ดีที่สุดคันหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาในช่วงระยะหลังๆ ทั้งจากการเซ็ตอัตราทดเฟือง
พวงมาลัยของมาสด้า ที่แทบไม่เหลือระยะฟรีของพวงมาลัยเท่าใดนัก ช่วยให้การคุมบังคับ
แม่นยำมาก คล่องตัว แต่ในช่วงความเร็วต่ำ จะหนืดพอสมควร แม้ว่าหนืดน้อยกว่า
เชฟโรเลต ออพตรา (ซึ่งถือว่าต้องออกแรงมากที่สุด
ในกลุ่ม เมื่อต้องหมุนพวงมาลัยในความเร็วต่ำ) อยู่เล็กน้อย

ถึงวันนี้ ความคิดเห็นของผมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และมันยังคงเป็นเหมือนเดิม

ต้องยอมรับกันเลยว่า ทีมวิศวกร มาสด้า นั้น ทำได้ดีมากๆ ในการปรับตั้งพวงมาลัยไฟฟ้า
ให้มีการตอบสนองที่ ใกล้เคียงกับพวงมาลัยแบบกลไก ของรุ่น 1.6 ได้

เพราะในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยของรุ่น 2.0 ลิตร จะเบากว่า รุ่น 1.6 แค่นิดหน่อยเท่านั้น
ไม่ได้แตกต่างกันแบบเบาโหวง แต่ ทั้งคู่ตอบสนองได้ดี และนิ่ง เมื่อใช้ความเร็วสูง
อย่างไรก็ตาม ระยะฟรีค่อนข้างน้อย ตามแบบรถสปอร์ต ถ้าหากคิดจะเปลี่ยนเลน
ก็ไม่ต้องหักพวงมาลัยมากมายนัก อันนี้ละที่ผมว่า เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้หลายๆคน
ซึ่งเคยทดลองขับ มาสด้า 3 แล้ว จะพากันติดใจในการควบคุมรถ ที่มีบุคลิกติดสปอร์ตหน่อยๆ

กระนั้น เสียงของมอเตอร์ขณะหมุนพวงมาลัย ยามที่รถจอดสงบนิ่ง ลองให้ใครสักคน หมุนพวงมาลัยรถ
ขณะกำลังติดเครื่องยนต์ มันดังมากกว่าทั้งฮอนด้า และโตโยต้า จนคิดว่า สมควรจะหาทางลดเสียง
ของมันลงบ้างจะดีกว่า ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ในรถรุ่นต่อไป ที่ใกล้จะเปิดตัวในบ้านเราเต็มที่
จะแก้ปัญหานี้ไปแล้วหรือยัง?

ระบบเบรก ยังคงให้ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS  และระบบกระจายแรงเบรก EBD
มาให้ครบครัน ทั้งรุ่น 1.6 ตามแต่ละรุ่นย่อยออกไป และรุ่น 2.0 ลิตร ที่มีมาครบทุกคัน การหน่วงความเร็วทำได้ดี
แต่แป้นเบรกจะต้องเพิ่มแรงเหยียบที่เท้าลงไปลึกอีกนิดหน่อยเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป
แต่ไม่ลึกมากจนมีลุ้นแต่อย่างใด ภาพรวมถือว่ายังคงทำได้ดีอยู่

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เราใช้วิธีการดั้งเดิม นั่นก็คือ เติมน้ำมันเต็มถัง จากปั้มน้ำมัน ย่านถนนพระราม 6 เซ็ตมาตรวัดระยะทาง Trip meter
เป็น 0 แล้ว ขับขึ้นทางด่วน ไปลงที่สุดปลายทางด่วนสายเชียงราก แถวๆ อยุธยา ด้วยความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน จากนั้น เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง ย้อนกลับมาลงที่พระราม 6
เพื่อกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มน้ำมันเดิม “และที่หัวจ่ายเดิม”

ในตอนนั้น เราใช้แต่น้ำมัน ค่าออกเทน 95 ในการทดลอง
โดยไม่สนใจกับแก้สโซฮอลล์ เลย ไม่ว่าจะมีค่าออกเทนเท่าไหร่
และจะไม่ทดลองให้ เพราะตามมาตรฐานของผม
ผมจับเติมแต่ 95 ทุกคันมาตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว
และขณะทดลองในตอนนั้น ยังไม่มี วีเพาเวอร์ เบนซิน ให้เติม

สักขีพยานในคราวนั้น คือ น้อง โจ๊ก เป็นน้องรอบข้าง ที่เป็นแฟนประจำบทความของผมคนหนึ่ง
ซึ่งที่บ้านก็เป็นเจ้าของ มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ลิตร มาร่วมนั่งเป็นผู้ช่วยผมไปตลอดทาง

และก็ได้เป็นผู้ช่วยจริงๆ เพราะการขับรถด้วยความเร็วคงที่ต่อเนื่องนานๆ
ก่อให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนได้อย่างง่ายดาย
เพราะฉะนั้น งานนี้ เลยต้องมีการช่วยประคับประคองคนขับไปบ้าง
ด้วยการบีบนวดที่ต้นคอไปตลอดทาง
แต่ยังไม่วาย ขนาดมือของน้องโจ๊ก ยังช่วยบีบนวดต้นคออยู่แท้ๆ
แต่รถก็เริ่มเป๋ เพราะตาผมเริ่มง่วง อันเนื่องมาจากการนอนน้อย
ในคืนก่อนหน้าวันทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 1.6 ลิตร

จนเจ้าตัวต้องร้องทัก ผมก็สะดุ้งตื่น และรถก็ยังคงเดินหน้าด้วยความเร็วเท่าเดิมต่อไป
โดยที่คราวนี้ ผมตื่นแล้ว ไม่ง่วงอีกเลย

โจ๊กคงเริ่มเข้าใจแล้วละ ว่าทำไมผู้ผลิตรถยนต์
ถึงพยายามพัฒนากล้องส่องพฤติกรรมทางใบหน้าของผู้ขับขี่
ผนวกไว้ในอุปกรณ์ป้องกัุนอุบัติเหตุที่กำลังพัฒนากันอยู่้ด้วย นั่นเอง

และต่อไปนี้ คือตัวเลขที่ได้มา และเปรียบเทียบกับคู่แข่ง

จะเห็นได้ว่า ถ้าเทียบกับรุ่นก่อน

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 2.0 ลิตร ด้อยลงจากเดิม
พอสมควร จาก 14.56 เหลือ 13.92 กิโลเมตร/ลิตร

ผมชักเริ่มไม่แน่ใจว่า จะมีความเกี่ยวข้องใดๆ ระหว่างการเปลี่ยนมาใช้ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ลดลง

กรณีนี้ ผมเคยเจอมาในโตโยต้า วีออส รุ่นใหม่ เมื่อ่เปรียบเทียบกับรุ่นเดิม
เพียงแต่วีออสนั้น มีปัจจัยในเรื่องขนาดตัวถังที่ยาวขึ้นนิดหน่อย
มาเกี่ยวข้อง เลยทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอาจลดลงไปบ้าง
เพราะตัวรถมีน้ำหนักมากขึ้น

แต่ในกรณีของมาสด้า 3 นั้น ผมเรียนตามตรงว่า ไม่แน่ใจในเรื่องนี้

ส่วนรุ่น 1.6 ลิตรนั้น จริงอยู่ว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
ของรถยนต์ในกลุ่มคอมแพกต์ เบนซิน 1,600 – 2,000 ซีซี นั้น
มักจะป้วนเปี้ยนแถวๆตั้งแต่ 11.5 – 16.5 กิโลเมตร/ลิตร
และมาสด้า 3 1.6 ลิตร ยังคงมีตัวเลขที่อยู่ระดับเดียวกันนี้

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตารางจะเห็นได้ว่า่

วิศวกรที่ฮิโรชิมา คงต้องพัฒนาเครื่องยนต์ขนาดเล็กเครื่องใหม่ ที่มีอัตราเร่งดีกว่านี้
และต้องตอบสนองการขับขี่ ดีกว่านี้ และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดียิ่งกว่านี้อีก

 

********** สรุป **********
***** ถ้าจะซื้อมาสด้า 3 ต้องรุ่น 2.0 ลิตร เท่านั้น*****

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ ผมจะชื่นชม และตำหนิ รถยนต์รุ่นเดียวกัน แต่ต่างขนาดเครื่องยนต์
ในรีวิวเดียวกัน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องน่าลำบากใจ แต่ผมกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะในภาพรวม
สำหรับผมแล้ว มาสด้า 3 ก็ยังคงเป็นรถยนต์คอมแพกต์ ที่ดีที่สุดในตลาด หากมองจากภาพรวม
ของรถทั้งคัน โดยไม่จำแนกเจาะจงลงไปยังจุดหนึ่งจุดใดโดยเฉพาะ

กระนั้น ไม่เสมอไปที่การปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ให้กับรถยนต์รุ่นใดนั้น
จะต้องมีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ได้จนหมดเกลี้ยง

ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ สมบูรณ์แบบไร้ที่ติไปทุกอย่างหรอกครับ

มาสด้า 3 คือรถยนต์ที่เป็นตัวอย่างอันดีถึงคำพูดข้างต้น

ไม่เถียง แถมจะยังยอมรับอย่างเต็มที่ว่า มาสด้า 3 ยังคงเหมาะสมกับคำว่า Japanesse BMW 3-Series (เวอร์ชันขับล้อหน้า…ถ้ามีจริง)
เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ บุคลิกการขับขี่ การตอบสนองของทั้งระบบบังคับเลี้ยว ระบบกันสะเทือน ไปจนถึงระบบเบรก
การเข้าโค้ง การทรงตัว ใกล้เคียงกับ ซีรีส์ 3 ซึ่งถือเป็นรถยนต์คอมแพกต์ระดับพรีเมียม ที่ขับดีที่สุดในตลาด มากที่สุด
ในบรรดารถยนต์คอมแพกต์จากฝั่งญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว

แต่ใช่ว่า รถยนต์คอมแพกต์รุ่นสำคัญ ที่ทำให้มาสด้า ฟื้นกลับมา จนมีอันจะกินได้อีกครั้งในวันนี้ ก็ยังคงมีปัญหาประจำรุ่น
เหมือนเช่นรถรุ่นอื่นๆ และปัญหาหนึ่งที่มาสด้าเอง ยังต้องทำการบ้านให้ดียิ่งกว่านี้ คือการปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์
ให้ดีกว่าทุกวันนี้ที่เป็นอยู่ แม้ว่ารุ่น 2.0 ลิตร นั้น ผมชื่นชอบการตอบสนองในอัตราเร่งแซง และความฉับไหวในการตอบสนองของ
ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกออกมาไม่ต่างจากรุ่นเดิมมากนัก ขับสบายเท้าขึ้น ทว่า อัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
กลับด้อยลงจากรุ่นเดิม ซึ่งใช้ลิ้นปีกผีเสื้อกลไกนิดหน่อย อีกทั้ง อัตราเร่ง ก็ยังทำได้เทียบเท่าเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ของทีด้า
และ 1.8 ลิตร ของซีวิค รวมทั้ง ด้อยกว่า คู่แข่งในระดับ 2.0 ลิตรด้วยกัน อย่าง ฮอนด้า ซีวิค 2.0 ลิตร ชัดเจน

และยิ่งน่าเสียดาย ที่รุ่น 1.6 ลิตรนั้น เจอเครื่องยนต์ ที่ให้สมรรถนะด้อยไปมาก จนกลายเป็นว่า
อืดอาดที่สุดในบรรดารถยนต์กลุ่มนี้เลยทีเดียว แถมยังกินน้ำมันกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน อีกทั้งยัง
มีค่าตัวแพงกว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน จะอ้างว่า อัดออพชันมาให้เต็มที่ ก็คงจะอ้างได้ไม่เต็มปากนัก
เพราะยิ่งเวลาผ่านไป แม้ราคาจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอุปกรณ์ประจำรถที่ติดตั้งมา ก็เริ่มลดลงทีละเล็กทีละน้อย
โดยเลือกเอาปอุปกรณ์ ที่สำรวจแล้วว่า ลูกค้าไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าใดนัก เป็นเป้าหมายแรกๆในการตัดออพชันออก

แต่สำหรับรุ่น 1.6 ลิตร นั้น ถ้ายังคิดจะซื้ออยู่ รุ่นท็อป ผมคงต้องขอแนะนำว่า รุ่น 1.6 ลิตรนั้น เหมาะกับคนที่อยากได้มาสด้า 3 จริงๆ
และไม่มีงบมากพอจะซื้อรุ่น 2.0 ลิตร เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้มาแทบจะเรียกได้ว่า พอกันกับรุ่น 2.0 ลิตร
แต่กระนั้น คุณต้องทำใจให้ได้ว่า อัตราเร่งจะอืดอาดกว่า และกินน้ำมันกว่าคู่แข่งในพิกัด 1.6 ลิตร ทั่วไปด้วยกัน

ถ้าคุณเป็นคนขับรถเรื่อยๆ ไม่ได้ต้องการรถที่ออกตัวจัดจ้านมากนัก แต่อยากได้รถที่มีช่วงล่างดีๆ การบังคับรถที่กระชับ
และคล่องแคล่วกว่ารถทั่วไปในระดับเดียวกัน อีกทั้งยอมรับได้กับอัตราเร่งที่ด้อยกว่าอย่างชัดเจนของรุ่น 1.6 ลิตร
มาสด้า 3 รุ่น 1.6 ลิตร ก็ไมได้เลวร้ายอะไรมากมายนัก

 

 

แล้วมาสด้า 3 จะเปลี่ยนโฉมใหม่เมื่อไหร่?
มาสด้า 3 รุ่นใหม่ เผยโฉมออกมาแล้วตั้งแต่ ปลายปี 2008 และเพิ่งเริ่มทำตลาดในญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม มานี้เอง
ดังนั้น กว่าจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา คงต้องรอกันจนถึง ปลายปี 2010 โดยในเบื้องต้น จะยังคงใช้ฐานการประกอบ
ณ โรงงาน Auto Alliance ที่ฟิลิปปินส์ ตามเคย

(อัพเดทล่าสุด 19 ธันวาคม 2009 มีการยืนยันแล้วว่า จะมีการตั้งไลน์ประกอบ มาสด้า 3 ใหม่ ในไทย และพร้อมออกสู่ตลาดในปี 2011!)

ถ้าเป็นเช่นนี้ ควรจะรอรุ่นใหม่หรือไม่?
หากคุณไม่รีบใช้รถ คิดจะเปลี่ยนรถคันเก่งของคุณในปีหน้า การรอคอยให้วันเวลาเดินเข้ามา
นั่นดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แน่นอน รถรุ่นใหม่ จะมีเทคโนโลยีหลายด้านที่ดีกว่ารถรุ่นปัจจุบัน…

แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้รถ ภายใน 1-2 เดือนนี้ ขอแนะนำว่า รอการปรับโฉมเพิ่มรุ่น กันอีกสักครั้ง
ซึ่งจะเกิดขึ้น ภายในช่วง ครึ่งหลังของปีนี้ แต่ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากอย่างที่คิดกัน เพราะจะยังไม่มี
การปรับปรุงเครื่องยนต์ หรือระบบส่งกำลัง ในช่วงสุดท้ายของอายุตลาด แต่อย่างใด ดังนั้น ตัวเลขสมรรถนะต่างๆ
จะไม่หนีไปจากที่คุณได้อ่านอยู่ในบทความนี้แล้ว

กระนั้น ดูทางเลือกรุ่นย่อยให้ดีๆ เพราะคุณจะพบว่า บางครั้ง การจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย
เพื่อแลกความสะดวกสบายในระยะยาว มันคุ้มค่ากว่ากัน แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามเถอะ
รุ่น 4 ประตู จะใมห้การตอบสนอง ขณะเข้าโค้ง ได้ดีกว่า แต่รุ่น 5 ประตู จะให้อุปกรณ์
ตกแต่ง ติดรถมา คุ้มราคากว่า

แต่ คนที่จะตอบได้ดีที่สุด ว่า รุ่นไหนมันจะเหมาะกับคุณ

ก็คือตัวคุณเอง นั่นไงครับ

—————————————///——————————————–

 

ขอขอบคุณ
คุณอุทัย เรืองศักดิ์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสด้า (เซลส์) ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ “ทั้ง 4 คัน”

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
1 กรกฎาคม 2009

แสดงความคิดเห็นต่อบทความนี้ คลิก ที่นี่