หลายคนอ่านหัวข้อหลายคนคงแปลกใจนะครับ ขอยืนยันว่ายังเป็นคอลัมน์ Spyshot ที่เน้นเจาะลึกรถใหม่ทั้งตั้งแต่เริ่มต้นโครงการคร่าว ๆ จนไปถึงรถที่จะมาจำหน่ายในไทยแม้ว่าเปิดตัวที่ต่างประเทศไปแล้ว แต่บางทีเรื่องที่เชื่อมโยงในสิ่งที่ผมกำลังจะเขียนมันก็ควรเข้าคอลัมน์นี้ด้วยเพราะยังไง ๆ ผมก็ต้องบอกความคืบหน้าของโครงการรถใหม่อยู่ดีในตอนท้าย ๆ

Mitsubishi Lancer รหัส GS41 ที่นักเล่นรถและชาวอินเตอร์เน็ตกล่าวขวัญว่า “แลนเซอร์หน้าฉลาม”  ด้วยความเฉียบคมของดีไซน์และรวมจุดเด่นของรถระดับพรีเมี่ยมในรายละเอียดปลีกย่อยก่อให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ในหมู่แฟนพันธุ์แท้และผู้ใช้รถอย่างมาก  ว่ากันว่าถ้าเปิดตัวเมื่อใดจะสามารถกอบกู้ภาพพจน์และยอดขาย Mitsubishi ได้แน่นอนเหมือนสมัย Lancer ที่เปิดตัวในปี 1992

แต่แล้วกาลเวลาที่เนิ่นนานนับจากการเปิดตัวในงานดีทรอยต์ออโตโชว์ มกราคม 2007 รวมเวลา 3 ปี คนไทยที่รอคอยพากันผิดหวังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลย์เซียหรือลาววางจำหน่าย Lancer ใหม่ก่อนบ้านเราเพราะนำเข้าเสียภาษีต่ำ ทำให้ลูกค้าเกิดอาการน้อยใจว่า ไฉนเลยประเทศไทยมีโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่ในอาเซียนแถมมีศักดิ์ศรีเป็นผู้ส่งออกลำดับต้น ๆ ทำไม Lancer ใหม่ถึงไม่มาประกอบในไทยเสียล่ะ

สาเหตุสำคัญที่ Lancer ใหม่นั้นตัดสินใจล่าช้าตัวการสำคัญตกอยู่ที่ Mitsubishi Motor Corp (MMC) ประเทศญี่ปุ่นไม่กล้าตัดสินใจลงทุนตั้งไลน์การประกอบรถรุ่นนี้ในบ้านเราเพราะบริษัทแม่มองว่าอาจไม่คุ้มทุนกลัวไม่ถึง 5,000-6,000 คันต่อปี ทั้งๆที่ Lancer รหัสตัวถัง JT หรือที่เรียกติดว่าปากว่า Cedia ทำยอดขายเปิดตัวครั้งแรกมากถึง 6,000-7,000 คัน จนผู้คนในวงการต่างฉงนสนเท่ห์อย่างยิ่งว่าทำไมต้องเพลย์เซฟกันขนาดนี้

หลายคนอาจจะสงสัยว่าบริษัทแม่น่าจะมีเงินถุงเงินถังเหมือนค่ายอื่น ๆ แต่ความจริงแล้ว (MMC) ไม่มีเงินมากพอที่จะพัฒนารถรุ่นใหม่หรือลงทุนตั้งโรงงานใหม่ในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะสถานะการเงินย่ำแย่มาตั้งแต่ช่วงปี 2000 แล้ว

กลไกหลักสำคัญคือความผิดพลาดทางการเงินและการสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้ใช้รถในญี่ปุ่นขณะที่คณะผู้บริหารไม่มีแกนนำหลักที่คอยช่วยแก้ไขปัญหาใด ๆ ทำให้ MMC ต้องระส่ำระส่ายแต่โชคดีอย่างหนึ่งคือยอดขาย Mitsubishi ไม่ได้ฝากฝังในตลาดสหรัฐอเมริกามากนักบริษัทจึงโดนผลกระทบบ้างไม่ถึงขั้นหนักหนาสาหัส

มิใช่เป็นการค้างสต๊อกของ Lancer โฉมปัจจุบันอย่างที่หลายคนเข้าใจ

กรรมหนักจึงตกอยู่ที่ฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทยที่ถูกลูกค้าต่อว่าต่อขานแบบฟรี ๆ ทั้ง ๆ ที่สาเหตุนั้นเกิดมาจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นไม่กล้าสุ่มเสี่ยงตั้งไลน์การผลิต ยิ่งยืดเยื้อยิ่งสร้างปัญหามากเพราะยุคนี้เป็นยุคการสื่อสาร Globalization หมดแล้ว ผู้บริโภครับรู้ข่าวสารได้ง่าย

หลายคนน่าจะยังโยงไปอีกว่าทำไม Nissan Navara ถึงออกขายในไทยช้ากว่าตลาดโลกนานถึง 3 ปีเพราะเหตุการณ์เดียวกันหรือเปล่า? ต้องตอบว่าไม่เหมือนกันเพราะเกิดจากการเล่นเกมการเมืองระหว่างสยามกลการที่ถือหุ้นโดยตระกูลพรประภา และนิสสันมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่นทำให้การเจรจาซื้อขายหุ้นนั้นนานมากและยืดเยื้อเสียจนสถานการณ์นิสสันประเทศไทยไม่ดีแล้ว ถือว่าเป็นรอยต่อที่ย่ำแย่ทีเดียวและก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ ภาระจึงตกอยู่ที่บริษัทแม่ต้องฟื้นฟูชื่อเสียงให้กลับมาดีดังเดิม

ถึง Lancer โฉมหน้าฉลามจะมาช้าแต่คนไทยได้ใช้ของดีเพราะนำชิ้นส่วน CKD ยกชุดจากญี่ปุ่นมาประกอบในบ้านเราล้วนๆ สาเหตุสำคัญคือการตัดสินใจที่ล่าช้าทำให้ส่งแบบพิมพ์เชียวให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่ทัน ดังนั้นคนไทยจะได้ใช้ Lancer ประกอบในประเทศชิ้นส่วนหลักจากญี่ปุ่นในปีแรก ปีถัดไปจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศไทยแทน

รายละเอียดเบื้องต้นยืนยันว่าใช้เครื่องบล็อกใหม่ล่าสุด 4B1 สี่สูบพร้อมวาล์วแปรผัน MIVEC ทั้ง 1.8 และ 2.0 ลิตร จำแนกรายละเอียดดังนี้
-1.8 ลิตร รหัส 4B10 แรงม้าสูงสุด 142 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 177 นิวตันเมตรที่ 4,250 รอบต่อนาที
-2.0 ลิตร รหัส 4B11 แรงม้าสูงสุด 155 แรงม้าที่ 198 นิวตันเมตรที่ 4,250 รอบต่อนาที

ส่วนใครที่รอบล๊อก 1.6 ตัวใหม่ต้องแสดงความเสียใจเพราะว่า Mitsubishi ไม่ได้พัฒนา  4B1 ความจุ 1.6 ลิตรออกมาเลย แต่คุณสามารถสัมผัสเครื่อง 1.6 ใน Lancer โฉมปัจจุบันที่จะผลิตควบคู่กับ Lancer GS41 หน้าฉลามเพราะต้องการเติมเต็มความต้องการรถราคา 6-7 แสนบาท ส่วนโฉม GS41 ราคาจะพอๆกับคู่แข่งหลักไม่ถูกและแพงมากไปกว่านี้

กำหนดการณ์เปิดตัวในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นจังหวะที่ไม่เลวนักเพราะคู่แข่งทั้ง Honda Civic,Mazda 3 โฉมใหม่กำหนดเปิดตัวราวปลายปี 2010 รวมถึง Chevrolet Cruze ที่เตรียมเปิดตัวไตรมาส 3 ปี 2010
ส่วนโฉม Minorchange คาดว่าจะมาไทยราวปี 2011 เพราะคาดว่าต่างประเทศจะเปิดตัวด้วยรุ่นปรับโฉมราวปลายปี 2010