13 พฤษภาคม 2013  เวลา 1.30 น.
สถานที่ : McDonald’s ปั้มน้ำมัน Esso บางนา-ตราด กม. 6

รถสปอร์ตรูปร่างดุดัน คันสีเทาด้าน เลี้ยวซ้ายเข้ามาจอด อย่างช้าๆ สงบนิ่ง
ท่ามกลางสายตาของกลุ่มเด็กสาวแรกรุ่น แต่ดูเหมือนผ่านโลกมาโชกโชน  
ที่จับจ้องอย่างตื่นตาตื่นใจ

เด็กสาวคนนึง แต่งตัวประมาณ…ยู่ยี่ อลิสา อินทุสมิต ในโฆษณา Nescafe
Extra Shake เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ใส่กระโปรงสีแดง ผมยาวเหมือนสลวย
รองเท้าส้นไม่สูงนัก เหมือนมายืนโพสต์ท่า รออยู่หน้าร้าน…

ผมเปิดประตูรถลงไป ในสภาพ…เสื้อยืดดำ ชุด Uniform กางเกงยีนส์ขาสั้น
ราคาถูกจาก Tesco Lotus ลากรองเท้าแตะ ADDA สะพายกล้อง Canon

เธอยังคงยืนโพสต์ท่าแบบนั้น ในจังหวะที่ผมเดินเข้าไปในร้าน ร่างของเรา ต่าง
ต้องเฉียดกันในระยะไม่ไกลนัก เธอไม่หลบ และจิกสายตามองมาที่ผม…

“เอ่อ…กะเทยตุ๊ดเด็กเดี๋ยวนี้ ผมมึงยาวกันขนาดนี้ ใส่วิกมาป่าววะ?”

ผมนึกในใจ ในเสี้ยววินาที ก่อนจะละสายตาไม่สนใจ เดินเข้าร้านไป

นักเก็ตไก่ กำลังเข้าปากของผม….สายตาจับจ้องอยู่กับ Facebook บนหน้าจอ
โทรศัพท์มือถือ เธอคงคิดว่าผมไม่สนใจ แต่ความจริง ทุกความเคลื่อนไหว
อยู่ในการเฝ้าสังเกตของผมอยู่ตลอด….ตอนนี้ หล่อน กับเพื่อนๆ ก็คงคุยเมาท์
กันอยู่ข้างนอก รู้ได้ว่า Topic ไม่ได้เกี่ยวกับผม

แต่สักพัก ก็เดินเข้ามาในร้าน และนั่ง เยื้องกับผม ในตำแหน่ง 45 องศา ทางขวามือ
เมื่อมองจากสายตาของผมออกไป เธอนั่งไขว้ห้าง…สายตาทำเป็นมองไปทางอื่น
ผมเหลือบมองเธอแป๊บเดียว… และ…ผมก็ก้มลง

คว้านักเก็ตไก่เข้าปากต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น!

เจ้าหล่อน ลุกไปกับเพื่อน ไปที่เคาน์เตอร์สั่งอาหาร ผมไม่ได้สนใจอะไร แต่พอหล่อน
กำลังเดินออกไปทางประตูหน้าร้าน พร้อมกับเพื่อน ผมก็เหลือบหันไปดูนิดนึง หูก็เลย
ได้ยินประโยคนึง ซึ่งหลุดออกมาจาก หล่อนว่า

“มึงไม่ต้องมายุ่ง กูจองแล้วนะ”

หืม!? คงไม่ใช่ผมมั้งนะ….หวังว่า

กินเสร็จ ลุกเดินเอาขยะในถาดไปทิ้ง พรรคพวกเด็กสาวซึ่งเหมือนสังเกตอยู่ รีบสะกิด
ให้ แม่สาวกระโปรงแดงคนเดิม เดินเข้ามาในร้าน ในจังหวะสวนกับผมอีกรอบ คราวนี้
ถึงขั้น สะบัดกองเส้นผมยาวสลวยของเจ้าหล่อน พร้อมกันกับ เพื่อนสาวที่เดินตามมา
อีกคนหนึ่ง!

ผมมองด้วยหางตานิดๆ รู้แน่แก่ใจแล้วละ…โดนอ่อยซะแล้ว!

พอเดินออกไป เจอกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ อันที่จริง มีเด็กหน้าตาพอใช้ได้อยู่คนนึง แน่นอนครับ
ผมมองไปที่เด็กผู้ชาย และไม่มีเด็กผู้หญิง หรือกะเทยในกลุ่มพวกเขา อยู่ในสายตาแม้แต่น้อย!

คือ…ถ้าผมไม่ขับ Veloster คันสีเทาด้านนี่ เข้ามาจอด เด็กทั้งกลุ่มคงไม่มอง และคงไม่ทำอะไร
เพี้ยนๆ แบบเนี้ยกับผมแน่ๆ ผมได้แต่รีบขึ้นรถ แล้วพาเจ้าเทาด้านกลับมาบ้าน ด้วยความรู้สึก อึ้ง….

อึ้ง เพราะไม่เชื่อว่า ในที่สุด งานออกแบบของ เกาหลีใต้ จะทำให้คนทั่วไป คลั่งไคล้จนทำอะไร
แรงๆบ้าๆบอๆ ได้ขนาดนี้เลยทีเดียว!!

ต้องยอมรับกันตรงนี้เลยว่า วินาทีแรกที่ผม เห็นภาพถ่ายของรถคันนี้ บน Internet
ผมอึ้ง และไม่คิดเลยว่า ชาวเกาหลีใต้ จะอาจหาญ พลิกโฉมรถยนต์แนวสปอร์ต
ของพวกเขา จนฉีกกฎเกณฎ์การสร้างรถยนต์ในแบบเดิมๆที่เราคุ้นเคยกันไปได้
ราวกับฉีกตำราเรียนเล่มเก่า กลางสนามบาส วันสอบปลายภาค ช่วงฤดูใบไม้ร่วง!

เหมือนโดนใครสักคน เตะป๊าบ! เข้าที่เบ้าตาขวาอย่างจัง!

ฟังดูเหมือน Over แต่ผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ! มันกระชากสายตา เหวอ อึ้ง ทึ่ง
ไม่คิดว่า จะมีรถยนต์ทรงนี้ออกมาขายจริง คิดแค่ว่า มันน่าจะมีอยู่แต่ในภาพ
สเก็ตช์ หรือหนังสือการ์ตูน ฝั่งญี่ปุ่น มากกว่า

และยิ่งเมื่อพวกเขา ไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังส่งรุ่น GDi Turbo ออกมาพร้อมกับ
สีตัวถัง เทาดำด้าน แบบนี้ออกมา ยิ่งสร้างความฮือฮาหนักเข้าไปอีก ในฐานะ
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการพ่นสีแบบด้าน สำเร็จรูป
จากโรงงานในเกาหลีใต้ แถมมีสมรรถนะ ไม่แพ้รถสปอร์ตระดับเดียวกันคันไหนเลย

ราวกับพวกเขาจะบอกกับเราว่า Expect the unexpected หรือ “มั่นใจได้เลย
ว่ามันจะมาแบบเหนือทุกความคาดหมาย”

การเปิดตัว Veloster ทำให้ผมยอมรับเลยว่า Hyundai กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์
ที่น่าจับตามองยิ่งกว่าเก่า ในฐานะ ผู้นำในการออกแบบรถยนต์รูปทรงแปลกใหม่
พร้อมสมรรถนะที่ดีขึ้นทุกคืนวัน ให้วงการอุตสาหกรรมยานยนต์โลกตื่นตาตื่นใจกัน

แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปยังอดีตดูให้ดีๆ จะพบว่า รากฐานของความกล้าหาญ
ด้านงานออกแบบที่ Hyundai มีอยู่ทุกวันนี้ มันเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ
1970 ตอนที่พวกเขา กำลังเริ่มหัดทำรถยนต์ออกขายด้วยแบรนด์ของตัวเองแล้ว!

อันที่จริง ในอดีต Hyundai ก็เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการรถยนต์โลกมาแล้ว เมื่อครั้งที่
Hyundai Pony Coupe Concept รถยนต์ต้นแบบสัญชาติเกาหลีใต้คันแรกในโลกเผยโฉม
ในงาน Turin Motor Show ปี 1974 รถคันนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือของนักออกแบบระดับ
ตำนานอย่าง Giorgetto Giugiaro แห่งสำนักออกแบบ ITAL Design อันลือลั่น เส้นสาย
แนวสามเหลี่ยมทรงลิ่มทั้งคัน เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ Giugiaro นำไปใช้ในการ
สร้างสรรค์ รถยนต์ Coupe รุ่นดัง ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีจากภาพยนตร์เรื่องดัง อย่าง
Back to the Future นั่นคือ De Lorean DMC12 ประตูปีกนก นั่นเอง!
 
ตัวรถยาว 4,080 มิลลิเมตร กว้าง 1,560 มิลลิเมตร สูง 1,210 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,340
มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง อยู่ที่ 1,295 และ 1,275 มิลลิเมตร มี 4 ที่นั่ง วาง
เครื่องยนต์ 4 สูบ 1,238 ซีซี 82 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลัง

รถคันนี้ มีตำนานนิดหน่อย เล่าไว้ว่า ก่อนการเผยโฉมบนงาน Turin Motor Show
เพียงวันเดียว ผู้บริหารของ Hyundai Motor เข้ามาขอร้อง Giugiaro ให้เปลี่ยนชื่อ
รถยนต์ต้นแบบ เป็น Hyundai Pony Coupe Concept จากเดิมที่ใช้ชื่ออันพิลึกพิลั่น
ตามภาษาอิตาเลียนว่า Asso di Fiori เหมือนเช่นในเอกสาร Press Release ซึ่งจัด
เตรียมไว้แล้ว ได้ระบุไว้ ผลก็คือ Giugiaro เลือกที่จะใช้ชื่อของตนเองกับรถคันนี้ แต่ที่
แสบกว่านั้นคือ อีก 5 ปีต่อมา เขาได้เปิดตัวรถยนต์ต้นแบบอีกคัน อันเป็นผลงานของตน
ในชื่อ Asso di Fiori อีกเหมือนกัน จนสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น เข้าใจผิด คิดว่ามันเป็นแค่
เรื่องตลก….

แต่กว่าที่เราจะได้เห็น รถยนต์นั่ง 2 ประตู แบบแรกที่ Hyundai ผลิตออกจำหน่ายจริง
ต้องรอกันจนถึงปี 1989

Hyundai เริ่มต้นพัฒนารถยนต์ 2 ประตู คันแรกของตน ในช่วงปี 1984 โดยใช้พื้นตัวถัง
โครงสร้างวิศวกรรม และเครื่องยนต์กลไก ร่วมกับ Hyundai Pony Excel รุ่น X2 และ
อวดโฉมสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบชื่อ Hyundai Excel SLC
ในงาน Tokyo Motor Show เดือนตุลาคม 1989 ก่อนจะเปิดตัวในตลาดอเมริกาเหนือ
ในงาน Detroit Auto Show เดือนมกราคม 1989 แล้วค่อยเปิดตัวในเกาหลีใต้  เมื่อ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1990 โดยใช้ชื่อ S Coupe แต่ออกเสียงอ่านว่า “Scoop”

ตัวรถมีความยาว 4,215 มิลลิเมตร กว้าง 1,625 มิลลิเมตร สูง 1,330 มิลลิเมตร ระยะ
ฐานล้อ 2,383 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ Mitsubishi Motors แบบ 4 สูบ 8 วาล์ว
1.5 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์ 82 แรงม้า (PS) ตามปกติ ในยุคที่ 2 ค่ายนี้ เขายังจับมือกันอยู่

หลัง 1 พฤษภาคม 1991 ขุมพลังเดิม ถูกถอดออก แล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ Alpha
ที่ Hyundai พัฒนาขึ้นเอง บนพื้นฐานขุมพลัง Mitsubishi Motors เดิม มีทั้ง รหัส
G4DJ 4 สูบ 1,468 ซีซี 90 และ 97 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
13.5 และ 14.3 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาที รวมทั้ง รหัส G4EK บล็อก 4 สูบ OHC
1,495 ซีซี 102 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 14.5 กก.-ม. ที่ 4,000 
รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ

การปรับโฉม Minorchange เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1991 ถือเป็นรถรุ่นปี 1992
เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าใหม่ ให้โค้งมน ไฟหน้าแบบเรียว ร่วมยุคสมัย มากขึ้น

เครื่องยนต์เดิม ถูกถอดออก แล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ Alpha ที่ Hyundai พัฒนาขึ้นเอง
บนพื้นฐานขุมพลัง Mitsubishi Motors เดิม มีทั้ง รหัส G4DJ บล็อก 4 สูบ 1,468 ซีซี
90 และ 97 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 13.5 และ 14.3 กก.-ม.ที่ 3,000
รอบ/นาที รวมทั้ง รหัส G4EK บล็อก 4 สูบ 1,495 ซีซี 102 แรงม้า (PS) ที่ 5,500
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
และอัตโนมัติ 4 จังหวะ

ส่วนรุ่นแรงสุด ขุมพลัง G4EK 4 สูบ 1,495 ซีซี พ่วง Turbo จาก Garrett 129 แรงม้า
(PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.3 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา
5 จังหวะ ความเร็วสูงสุดถึง 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็คลอดออกมา แม้สมรรถนะจะยังไม่แรง
ยังไม่โดดเด่น แต่ต้องถือว่า เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขุมพลัง Turbo คันแรกๆ จากผู้ผลิต
ชาวเกาหลีใต้  ที่เหมาะกับผู้เริ่มคิดจะเล่นรถสปอร์ตราคาถูกๆ สักคัน

รุ่นนี้คือรุ่นแรกที่ถูกส่งมาขายในประเทศไทย เปิดตัวในช่วงปลายปี 1993 วางขุมพลัง 4 สูบ
1,495 ซีซี หัวฉีด MPI 92 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิด 13.4 กก.-ม.ที่
4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (Base และ LS) หรือ เกียร์อัตโนมัติ 4
จังหวะ (LS) และ รุ่น GT Turbo ขุมพลังเดียวกัน พ่วง Turbo ของ Garrett เข้าไป
115 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที
มี Catalytic Converter มาให้ครบทุกรุ่น ราคาขาย รุ่น LS เกียร์รรมดา 551,000 บาท
เกียร์อัตโนมัติ 589,000 บาท ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นพอสมควร ยังไม่มากมาย ถือว่า
เป็น รถยนต์ขนาดเล็ก ราคาประหยัด พร้อมขุมพลังเบนซิน Turbo ที่ทำตลาดในไทย เพียง
เพียง 1 ในไม่กี่รุ่น เท่านั้น

เวอร์ชันตลาดโลก รวมทั้งเวอร์ชันไทย ขายกันจนถึงสิ้นปี 1995 โรงงานในเกาหลีใต้
จึงยุติการผลิต เช่นเดียวกันกับการทำตลาดในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นก่อนเปิดตัวอย่าง
เป็นทางการนิดเดียว คือเดือน ธันวาคม 1989 จนถึง สิ้นปี 1995

เจเนเรชัน 2 รหัสรุ่น RD ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Hyundai Tiburon สำหรับการทำตลาดทั่วโลก
และในบางตลาดส่งออกจะใช้ชื่อ Hyundai Coupe เปิดตัวเมื่อ เดือนเมษายน 1996 แต่
ในเมืองไทย Tiburon ถูกเปิดตัวตามมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน  เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมใน
บ้านเราเพิ่มขึ้นจากเดิมพอสมควร ด้วยรูปทรงที่สวยดุจปลาฉลาม

เส้นสายถอดแบบมาจากรถยนต์ต้นแบบ HCD-I และ HCD-II จากทีมออกแบบ Hyundai
California Design Center ในสหรัฐอเมริกา ตัวถังยาว 4,340 มิลลิเมตร กว้างขึ้นกว่าเดิม
เป็น 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,313 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวขึ้นเป็น 2,475 มิลลิเมตร ขุมพลัง
อยู่ในพิกัด 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.8 ลิตร – 2.0 ลิตร มีให้เลือก 4 เครื่องยนต์

ทั้ง รุ่น G4GM 1,795 ซีซี 136 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 16.8 หรือ 17.1
กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที รหัส G4GF 1,975 ซีซี 145 , 149 , 150 และ 156 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 19.3, 19.5 และ 19.8 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ตามแต่ละ
ประเทศที่ส่งเข้าไปขาย

สำหรับตลาดเมืองไทย มีเครื่องยนต์ แบบเดียว คือ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,975 ซีซี
หัวฉีด ECFI Direct Ignition System 138 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด
18.4 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์รรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 4 จังหวะ

ส่วนรุ่นปรับโฉม ไฟหน้าคู่ เปิดตัวในเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1999 แต่ถูกสั่ง
นำเข้ามาในบ้านเรา ไม่มากนัก เพราะอยู่ในช่วงปลายอายุสัญณาทำตลาดของ บริษัท
United Auto Sales จำกัด ในเครือของ PNA พระนครยนตรการ ณ ขณะนั้น และเมื่อ
UAS ยุติบทบาทไป Hyundai ก็หายไปจากตลาดเมืองไทย นานจนถึงปี 2007 อันเป็น
ช่วงเวลาที่ รุ่นที่ 3 ออกจำหน่ายในตลาดโลกจนใกล้จะหมดอายุตลาดอยู่รอมร่อ

เจเนเรชันที่ 3 รหัสรุ่น GK เปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2001 แต่คราวนี้ ชื่อรุ่น
สำหรับทำตลาดในเกาหลีใต้ ถูกเปลี่ยนเป็น Hyundai Tuscani ขณะที่ตลาดส่งออกทั่วไป
ยังคงใช้ชื่อ Hyundai Tiburon และในตลาดยุโรปบางแห่ง จะใช้ชื่อ Hyundai Coupe กัน
ต่อเนื่องไป ด้วยเส้นสายตัวถังที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ Ford Cougar และ Ferrari Modena
ในตอนนั้น จึงมีเรื่องเล่าลือกันว่า Ferrari ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ Hyundai ในประเด็น
บั้นท้ายของรถที่แลดูคล้ายกับ รถสปอร์ตของตนมากเกินไป แต่ในที่สุด ศาลก็ตัดสินให้
Hyundai เป็นฝ่ายชนะคดี

ตัวรถมีความยาว 4,340 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,330 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,530 มิลลิเมตร รุ่นนี้ มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด ทั้งแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,599
ซีซี 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิด 14.6 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที มีเฉพาะ
เกียณ์ธรรมดา 5 จังหวะ ตามด้วยขนาด 1,975 ซีซี 143 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 19.0 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ
4 จังวะ และแรงสุดด้วยขุมพลัง V6 DOHC 24 วาล์ว  2,656 ซีซี 167 และ 175 แรงม้า (PS)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 25.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และ
อัตโนมัติ 4 จังหวะ

รุ่นปรับโฉม Minorchange รอบแรก ออกสู่ตลาด เดือนกันยายน 2004 ปรับแค่ไฟหน้ารมดำ
และเพิ่มรายละเอียดการตกแต่งให้ดุขึ้น ส่วนรุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้งที่ 2 ออกสู่
ตลาด เมื่อ เดือนตุลาคม 2006 และเป็นรุ่นปรับโฉมครั้งหลังสุดนี่แหละ ที่ถูกส่งเข้ามาขาย
ในเมืองไทย

เวอร์ชันไทย ถูกนำเข้ามาเปิดตัว พร้อมกับการกลับมาของ Hyundai โดยมี กลุ่ม Sojitsu
จับมือกับ Hyundai เกาหลีใต้ มาก่อตั้งเป็น Hyundai Motor Thailand เมื่อเดือนตุลาคม
2007 พร้อมับ Sonata รุ่นที่ 5 Santa Fe รุ่นที่ 2 และ รถตู้ Hyundai H-1 วางเครื่องยนต์
เพียงแบบเดียว บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,975 ซีซี หัวฉีด 143 แรงม้า (PS) ที่ 6,000
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.95 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และ
ขับเคลื่อนล้อหน้า เหมือนเช่นทุกรุ่นที่ผ่านมา ทำตลาดอยู่ในกลุ่มจำกัด มีเข้ามาเพียงน้อยนิด
ไม่กี่สิบคันเท่านั้น และเมื่อหมดสต็อกแล้ว ก็ไม่มีการนำเข้ามาอีก ในช่วงปี 2008 อันเป็นช่วง
เวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนสุดท้าย ก่อนที่โรงงานในเกาหลีใต้ จะยุติการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ในที่สุด

หลังจากนั้น Hyundai พยายาม โปรโมท รถสปอร์ต 2 ประตู Genesis (รายละเอียด
อ่านได้ ในบทความนี้ ของคุณ Pan Commander CHENG คลิกที่นี่) เสียจนทำให้
เราเข้าใจไปว่า Genesis Coupe น่าจะเป็นตัวตายตัวแทนของ Hyundai Coupe ไป
เรียบร้อยแล้ว

ทั้งที่ความจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่!

เพราะการยกเลิกรุ่น Tiburon / Coupe ไป ทำให้ Hyundai ไม่มีรถสปอร์ตราคาประหยัด
มาทำตลาดเอใจนักเลงรถวัยเยาว์เอาเสียเลย เป็นเช่นนี้ อยู่ 3 ปีเต็มๆ

แล้ว Hyundai มัวทำอะไรอยู่? ทำไมถึงไม่ส่งรถยนต์รุ่นใหม่ มาอุดช่องว่างทางการตลาด
ดังกล่าวนี้กันเสียทีละ?

คำตอบหนะหรือ? ก็เพราะ Hyundai กำลังเฝ้ามองหารถยนต์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการ
ของกลุมลูก้า Gen-Y อยู่หนะสิ!

Oh Suk-Geun รองประธานฝ่ายออกแบบของ Hyundai ในขณะนั้น กล่าวว่า “เราต้องการ
ทดลองทำบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไปอย่างแท้จริง เรารู้ดีว่า เราต้องการรถยนต์รุ่นใหม่
ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่ม Generation – Y หรือบรรดาลูกค้าวัยประมาณ 20 – 30 ปี ที่ซื้อ
รถยนต์แบบ Sport Coupe”

อีกจุดประสงค์สำคัญ ในการสร้างรถยนต์รุ่นนี้ ก็คือการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ Hyundai
ให้มีความทันสมัยและเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา (young and energetic) ในสายตาผู้บริโภคทั่วโลก

Hyundai Motor เปิดเผยแนวคิดจะสร้างรถสปอร์ตคันเล็กรุ่นนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการมอบหมาย
ให้ ทีมออกแบบของตน ณ Hyundai Design and Technical Center ที่เมือง Namyang
สร้าง รถยนต์ต้นแบบ Hyundai Veloster concept HND-3 ออกอวดโฉมสู่สายตาชาวโลก
เป็นครั้งแรก ณ งานแสดงรถยนต์ Seoul Mogtor Show เมื่อ วันที่ 7 เมษายน 2007 หรือ
เมื่อ 5 ปีก่อน!

พวกเขาเลือกใช้ชื่อ Veloster ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเป็นการนำคำว่า Velocity ซึ่งแปลว่า
“ความเร็ว” และคำว่า Roadster ซึ่งแปลว่า รถยนต์เปิดประทุนขนาดเล็ก มารวมเข้าไว้
ด้วยกัน สื่อถึงบุคลิกของรถสปอร์ตคันเล็กแบบ 2+2 ที่นั่ง มีหลังคากระจก Panoramic
Glass Roof  เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ของตัวรถให้ดูล้ำสมัย

รถยนต์ต้นแบบคันนี้ มีความยาว 4,100 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,450 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร สวมล้ออัลลอย ขนาดใหญ่ 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 245/35 R 20
วางเครื่องยนต์ต้นแบบ Theta บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2.0 ลิตร ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วย
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ

Hyundai ส่งรถยนต์ต้นแบบ คันนี้ ตระเวณจัดแสดงไปทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย
ในงาน Bangkok International Motor Show เดือนมีนาคม 2008 อีกด้วย

ครั้งแรกที่ผมเห็นรถยนต์ต้นแบบคันสีแดงนั้นบนแท่นหมุน คุณวิกรานต์ อมาตยกุล
ผู้บริหารของ Hyundai Motor Thailand (ในขณะนั้น) พาผมขึ้นไปดูรถคันนี้ใกล้ๆ
แม้จะรู้ว่าตัวรถดูล้ำสมัยมาก แต่ผมไม่คิดเลยว่า พวกเขาจะกล้าทำรถยนต์รุ่นนี้ออก
ขายจริง ในอีกหลายปีต่อมา…

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวอร์ชันต้นแบบออกสู่สายตาชาวโลกไปแล้ว ยังเหลือเวลาอีก
พอสมควร การปรับแก้งานออกแบบเพื่อให้โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่าง
แท้จริง จึงเริ่มขึ้น ในช่วงหลังจากนั้นไม่นานนัก

ทีมออกแบบของ Hyundai นำเอาแนวทางการออกแบบที่เรียกว่า Fluidic Design
ของตน มาตั้งเป็นโจทย์ แล้วพัฒนาต่อยอด โดยใช้แนวคิด Carving Ray เพื่อ
ทำให้เส้นสายภายนอก ดูโฉบเฉี่ยว ปราดเปรียว และดุดัน ราวกับถูกแกะสลัก
จากลำแสง

หลังทิ้งช่วงเวลาไปหลายปี เพื่อให้การพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ Hyundai ก็พร้อมเปิดตัว
เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Veloster เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2011
ในงาน NAIAS (North American International Auto Show) หรือ Detroit
Auto Show

จากนั้น จึงส่งไปเปิดผ้าคลุมในตลาดยุโรป ที่งาน Geneva Auto Salon เมื่อวันที่
1 มีนาคม 2011 หรือในอีก 2 เดือนถัดมา

สำหรับตลาดเมืองไทยแล้ว Hyundai Motor Thailand ตั้งใจจะนำ Veloster เข้ามา
ทำตลาดในบ้านเราตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดตัว ถึงขั้นนำมาอวดโฉมในงานแสดงรถยนต์ อย่าง
Bangkok International Motor Show เมื่อ เดือนมีนาคม 2012

แต่เนื่องจาก สายการผลิตสำหรับรุ่นพวงมาลัยขวาในช่วงนั้นยังไม่พร้อม เลยต้องรอกันไป
เรื่อยๆ กระทั่ง รุ่น GDi Turbo เปิดตัวตามออกมา ดังนั้น ไหนๆ ก็ไหนๆ รอกันมาได้ถึง
ขนาดนี้ Hyundai Motor Thailand ก็เลยเลือกที่จะรอให้ เวอร์ชันพวงมาลัยขวา
ของทั้ง 2 รุ่นเครื่องยนต์ เริ่มคลอดจากสายการผลิตของโรงงานในเมือง Ulsan กันให้
เรียบร้อยไปก่อนเลยดีกว่า

นั่นจึงทำให้การเปิดตัวในเมืองไทย ต้องล่าช้าไปกว่าเดิมที่ตั้งใจไว้ถึง 1 ปี คือเลื่อนจาก
ช่วงเดือนมีนาคม 2012 มาเปิตตัวกันได้ ใน วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2013 หรือช่วงต้นปี
ที่ผ่านมาหมาดๆ นี่เอง

และในเมื่อมากันทั้งที ต้องมาให้ครบทั้ง 2 ขุมพลัง นั่นคือ มีทั้ง รุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร
แบบมาตรฐาน และรุ่น 1.6 ลิตร GDi Turbo อย่างที่เห็นกันอยู่นี้

มิติตัวถังของรุ่นมาตรฐาน 1.6 MPI ยาว 4,220 มิลลิเมตร กว้าง 1,790 มิลลิเมตร
สูง 1,399 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,650 มิลลิเมตร แต่รุ่น Turbo นั้น ความยาว
จะเพิ่มขึ้นเป็น 4,250 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,805 มิลลิเมตร
นอกนั้น ส่วนสูง และระยะฐานล้อ เท่าเดิม ระยะห่างจากพื้นตัวถังจนถึงพื้นรถ หรือ
Ground Clearance 143 มิลลิเมตร น้ำหนักสุทธิ รุ่น 1.6 MPI 1,256 กิโลกรัม
ส่วนรุ่น Turbo จะเพิ่มเป็น 1,353 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก มาในลักษณะที่…ขอใช้คำว่า “กวนตีน” ดีกว่า มันมีมุมสวยของมัน 
เมื่อมองดูทั้งคันแล้ว ตัวรถก็ไม่ได้ดูสวยด้วยเส้นสาย แต่การเลือกใช้โทนสีให้เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็น สีเหลือง Sunflower (SYY) สีเขียว Green Apple (VE9) สีส้ม Vitamin C
(R9A) สีแดง Veloster (P9R) สีขาว White Crystal (PGU) สีน้ำเงิน Blue Ocean 
(UU9) สีเทา Sonic Silver (N9S) ในรุ่นมาตรฐาน ก็ช่วยทำให้เกิดความโดดเด่นขึ้นมาจาก
บรรดารถยนต์ทุกคัน บนถนนเมืองไทยจนหลายคนมองว่ามันสวย แต่บางคนก็เกลียดมันไปเลย

ไม่แปลกหรอกครับ เส้นสายที่ฉีกแนวทางการออกแบบรถยนต์ทั่วๆไป ชัดเจนขนาดนี้
นอกจากจะต้องใช้ความกล้าหาญของนักออกแบบ ในการรังสรรค์เส้นสายให้ออกมา
เป็นแบบนี้ ยังต้องอาศัยความกล้า ของทีมงาน ในการโน้มน้าวความคิดของผู้บริหาร
Hyundai ที่เกาหลีใต้ ให้ยอมรับและเปิดไฟเขียว อนุมัติให้รถคันนี้ เข้าสู่การผลิต
ออกขายจริงได้ และนั่น ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

การออกแบบเส้นสายตัวถัง คำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์ หรือ Aerodynamics มากกว่า
ที่หลายๆคนจะคาดคิด ฝากระโปรงหน้า เจาะรูระบายความร้อนจากห้องเครื่องยนต์ บน
ฝากระโปรงหน้า เป็นแบบ 2 แถบ ยาว มีเส้นขอบสันโค้งมน แบ่งระดับสูงต่ำ บนฝา
กระโปรงหน้าชัดเจน

กระจกมองข้าง ออกแบบให้ลู่ลม ช่วยลดเสียงรบกวนขณะใช้ความเร็วสูง เสาหลังคา
คู่หน้า A-Pillar ทาสีดำ เพื่อให้บานกระจกดูต่อเนื่องกันในลักษณะ Wrap Around

จุดเด่นของ Veloster ที่ทำให้เรานึกถึงรถยนต์รุ่นนี้ เด่นเด้งขึ้นมาในความจำกันได้ ก็คง
หนีไม่พ้น บานประตูในลักษณะ 2+1 ทั้งนี้ การติดตั้งพวงมาลัย จะมีผลต่อตำแหน่งของ
บานประตูด้วย หากคุณอยูในประเทศที่ใช้พวงมาลัยซ้าย บานประตู ฝั่งซ้าย จะเหลือ
แค่เพียงบานเดียว แต่ฝั่งขวาของรถ จะมี 2 ประตู

และในทางกลับกัน ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ขับรถด้วยพวงมาลัยฝั่งขวา เช่นในเมืองไทย
บานประตูฝั่งขวา จะมีแค่บานเดียว ส่วนฝั่งซ้าย จะมี 2 ประตู เหตุผล ก็ไม่ยากครับ ลอง
นึกถึงวันที่คุณจำเป็นต้องจอดรถริมฟุตบาธ ดู การที่ผู้โดยสาร ด้านหลัง ต้องลงจากรถ
ริมฟุตบาธ มันปลอดภัยจากรถที่แล่นมาจากทางด้านหลัง มากกว่ากันเยอะ จริงไหม?

หลายคนคงสงสัยว่า อ้าว แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่า มีชิ้นส่วนตัวถังด้านข้าง สำหรับ
ทำ Veloster ทั้งรุ่น 2 และ 4 ประตู เพียวๆ แยกรุ่นออกมา เป็น 2 ตัวถังได้เลยหนะสิ ถ้า
เช่นนั้น แล้วจะต้องทำตัวถัง 2+1 ประตู กันทำไม ให้มันเปลืองต้นทุนขึ้นด้วยละ? เพราะ
นี่กลายเป็นว่า ทำรถยนต์รุ่นเดียว ตัวถังเดียว แต่ต้องออกแบบตัวถัง รองรับไว้ เหมือนทำ
รถยนต์ 2 ตัวถังเลย?

เอ๋า! ก็ถ้าทำเช่นนั้น มันก็ไม่แปลก คุณผู้อ่าน ก็ไม่จดจำรถรุ่นนี้กันหนะสิครับ! หรือจะเถียง?

ประตูบานหลัง  ถูกออกแบบให้ มือจับประตูซ่อนเข้าไปในพลาสติกสีดำ ข้างกระจก
หน้าต่างฝั่งซ้าย สไตล์เดียวกับ Alfa Romeo 156 ที่หลายคนยังจดจำได้ดี สปอยเลอร์
ด้านหลัง พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED บนกระจกบังลมหลัง ออกแบบให้ช่วยลด
Turbulance ขณะที่รถกำลังแล่นผ่านอากาศไป ทั้งหมดนี้ ทำให้ ตัวรถทั้งคัน ลู่ลมด้วย
ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd. 0.32

วิธีการแบ่งแยกว่าเป็นรุ่น Turbo หรือไม่นั้น ใช้ชุดกระจังหน้า และสีตัวถัง เป็นตัวแบ่ง
หากเป็นรุ่น 1.6 MPI มาตรฐาน กระจังหน้า จะมีสีเดียวกับตัวถัง และประดับด้วยแถบ
โครเมียม แต่ถ้าเป็นรุ่น GDI Turbo กระจังหน้าจะเป็นแบบ ซี่นอน พ่นสีดำด้าน
รวมทั้งมี หลังคากระจก Sun Roof อย่างที่เห็นในรูปข้างบนทั้งหมดนี้

เปลือกกันชนหลัง และปลายท่อไอเสีย ก็สามารถแยกความแตกต่างของทั้ง 2 รุ่นได้
หากเป็นรุ่นมาตรฐาน คันสีเหลืองปลายท่อไอเสียจะเป็นสี่เหลี่ยม มาพร้อมทับทิม
สะท้อนแสงที่มุมกันชนทั้ง 2 ฝั่ง เป็นแบบสี่เหลี่ยมแนวตั้ง แต่ถ้าเป็นรุ่น GDi Turbo
จะเป็นปลายท่อแบบวงกลม แผงทับทิมหลังก็จะเป็นแบบวงกลม พร้อมไฟตัดหมอก
ด้านหลังติดตั้ง และชุดไฟท้าย LED มาให้จากโรงงาน

ปลายท่อไอเสีย ซึ่งติดตั้งในตำแหน่งแปลกมาก คือ อยู่ตรงกลาง ใต้ช่องใส่ป้ายทะเบียน
มักมีผลทำให้ กรอบป้ายทะเบียนร้อน ถ้าติดตั้งกรอบป้ายไม่ดี อาจถูกความร้อน หลอม
ละลายได้ ระวังเรื่องนี้กันนิดนึงนะครับ

สีตัวถัง ก็เป็นอีกประเด็นที่ช่วยให้คุณจำแนกรุ่น Turbo ออกจากรุ่น ธรรมดาได้ เพราะ
ถ้าเป็นสีเทาดำด้าน Petrol Black ที่เห็นอยู่นี้ จะมีเฉพาะในรุ่น GDI Turbo เท่านั้น

ที่สำคัญ รุ่น Turbo จะมีล้ออัลลอยลายพิเศษเฉพาะรุ่น เป็นล้อลายใบพัด แบบ 5 ก้าน
ประดับด้วยแถบโครเมียม ขนาด 18 นิ้ว x 7.5 J พร้อมยางขนาด 215/40 R18 ส่วนรุ่น
1.6 MPI จะใช้ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว x 7.0 J พร้อมยางขนาด 215/45 R17

การเข้า – ออกจากรถ ใช้ รีโมทกุญแจ Keyless-Go พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer แบบเดียวกัน
กับทั้ง Sonata Sport , Tucson และ  Elantra ใหม่ หน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ!

แค่พกกุญแตรีโมทเอาไว้ เดินเข้าใกล้รถ กดปุ่มสีดำเพื่อ ปลด หรือสั่งล็อกบานประตู การติดเครื่องยนต์จะ
ใช้วิธีกดปุ่ม Start ขนาดใหญ่ ที่บริเวณใต้แผงควบคุมกลาง มือจับประตูทั้ง 4 บานของทุกรุ่น เป็นแบบ
พลาสติก สีเดียวกับตัวรถ ทั้ง 2 รุ่น

การลุก เข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า ผมขอแนะนำให้คุณปรับตำแหน่งเบาะลงต่ำที่สุด เพื่อให้
สามารถลุกเข้า – ออก ได้โดยไม่เจอปัญหา ศีรษะชนกับขอบหลังคาด้านบน อย่างจัง เมื่อ
ปรับเบาะแล้ว การหย่อนก้นลงไปนั่ง จะไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ตอนลุกออกมา ขา
กางเกง หรือกระโปรง อาจเปื้อนคราบฝุ่นโคลน ที่มาเกาะอยู่บริเวณชายล่างได้เหมือนกัน

บานประตูเป็นแบบมีเสากรอบ ทั้ง 2 ฝั่ง แม้ว่า แบบ Frame-less จะดูดีกว่า แต่ถ้าหวังผล
ในด้านการเก็บเสียงลม ขณะขับขี่ด้วยแล้ว ประตูแบบ Frame Door ตามปกติ จะแก้ปัญหา
ประเด็นนี้ได้ดีกว่า เพราะมีพื้นที่พอสำหรับการติดตั้งยางขอบประตูเสริมเข้าไปอีกชั้น

แผงประตูด้านข้าง มีมือจับ หน้าตาคล้ายกับ มือจับประตูของ Volkswagen Scirocco ใหม่
อย่างชัดเจนราวกับจงใจ แต่ในการใช้งานจริง แม้จะสะดวกในการเอื้อมมือไปดึงประตูปิดเข้ามา
แต่ มันก็ทำให้ ตำแหน่งของสวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ต้องเลื่อนเข้ามาใกล้ตัวผู้ขับขี่ขึ้นอีก
เล็กน้อย ซึ่ง ไม่สะดวกในการใช้งานเท่าที่ควร เพราะต้องถอยร่นแขน หรืออาจถึงขั้นต้องเหลือบ
สายตาลงมามองหาสวิชต์กระจกหน้าต่างกันเลยทีเดียว ส่วนช่องวางของด้านล่างแผงประตู
คู่หน้า มีขนาดพอให้วางขวดน้ำ ขนาด 7 บาท และข้าวของเล็กๆได้อีกนิดหน่อย

เบาะนั่งของรุ่น Turbo จะหุ้มด้วยหนัง สีดำ เบาะคู่หน้าจะมีแถบด้านข้างสีขาว และลาย
ปักตัวอักษรว่า Turbo ตรงกลางพนักพิงเบาะ สวยงามดี แต่ดูเหมือนจะกลัวคนไม่รู้ว่า นี่คือ
รุ่น Turbo มีสวิชต์ ปรับตำแหน่งต่างๆ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เฉพาะฝั่งคนขับ

ส่วนเบาะนั่งของรุ่น 1.6 MPI จะหุ้มด้วยผ้าสีดำ Tricot แบบเดียวกับที่พบได้ในรถยนต์ซึ่ง
ขายในยุโรป มีการปักอักษรชื่อรุ่น Veloster ไว้ตรงกลางพนักพิงเบาะ ปรับระดับต่างๆได้
ด้วยกลไกแบบอัตโนมือ ต่างจากรุ่น Turbo  

ตำแหน่งเบาะนั่ง แม้จะติดตั้งมาค่อนข้างเตี้ยกว่ารถเก๋งทั่วไป แต่หากคุณปรับตำแหน่งเบาะ
ลงจนต่ำสุด จะพบว่า มันยังสูงกว่า ตำแหน่งเบาะต่ำสุดของ BMW 3-Series F30 อยู่นิดนึง
ต้องสังเกตกันชนิดว่า ลงจากรถแล้ว เปลี่ยนคันมานั่งเลย จึงจะค้นพบเรื่องนี้ และนั่นเท่ากับว่า
พื้นที่เหนือศีรษะ จะเหลือมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการปรับเบาะนั่งสูง – ต่ำ ของคุณ

เบาะนั่งคู่หน้านั้น รองรับสรีระได้ค่อนข้างดีในภาพรวม เบาะรองนั่งมีขนาดเหมาะสม
ไม่ยาวและไม่สั้นเกินไป รองรับต้นขาได้ในระดับพอกันกับรถยนต์ญี่ปุ่นทั่วไป ในรุ่น
Turbo เบาะนั่งฝั่งคนขับสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า 
แต่ถ้าจะปรับเอน ยังต้องใช้กลไกคันโยกด้านข้างตามเดิม เลยไม่เข้าใจว่า แล้วพี่
จะใส่เบาะปรับไฟฟ้ามาให้ทำไม ถ้าให้มาแบบไม่ครบแบบนี้?

Hyundai อธิบายว่า เหตุผลเนื่องจาก เบาะฝั่งคนขับ มันต้องมีการพับเข้า – ออก เพื่อ
ความสะดวกของผู้โดยสาร ขณะ ขึ้น – ลง จากเบาะหลังของรถ หากใช้เบาะไฟฟ้าเต็ม
รูปแบบกว่าจะพับพนักพิงหลังโน้มมาข้างหน้าได้ ก็จะเสียเวลาไปมาก โดยไม่จำเป็น 
เลยใส่ฟังก์ชัน เลื่อนปรับเบาะไฟฟ้า มาให้แค่ การเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และฟังก์ชัน
ของระบบดันหลังช่วงสะโพกมาให้แทน

อีกประการหนึ่งที่ Veloster น่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจาก Tucson ใหม่ คือพนักศีรษะ
เบาะคู่หน้า แอบดันกบาลอยู่บ้างเหมือนกัน แม้จะไม่มากเท่า Tucson ก็ตาม แถมซ้ำร้าย
ยังปรับตำแหน่งองศาการเอียง ไม่ได้เลยอีกแหนะ! ได้แค่ยกให้สูงขึ้น 3 ตำแหน่ง และ
ดันให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม นั่งขับไป ปวดต้นคออยู่พอสมควร ต้องหาทางปรับให้พนักพิงเบาะ
ตั้งตรงมากขึ้น หรือไม่ก็เอนลงไปกว่าเดิม จึงพอจะลดอาการเมื่อยต้นคอลงบ้าง

เรื่องน่าแปลกคือ เบาะฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย กลับมีพนักศีรษะที่ไม่ดันหัวมากเท่าฝั่ง
คนขับเลยไม่แน่ใจว่า จะเป็นปัญหาเฉพาะหัวกบาลของผมเองหรือเปล่า?

สรุปว่า ชุดเบาะหนะไม่ต้องไปทำอะไร แต่เปลี่ยนพนักศีรษะใหม่ ให้มันดันกบาล
น้อยลงกว่านี้อีกเพียงนิดเดียว จะได้ไหม?

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า มาพร้อมสัญญาณเตือนคาดเข็มขัดในฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
มีเรื่องให้ต้องตำหนิกันเลยว่า รถยนต์ราคาแพงขนาดนี้ ทำไมเข็มขัดนิรภัยทั้ง
2 ฝั่ง จึงปรับระดับ สูง – ต่ำไม่ได้??

เหลือเล็ดรอดมาถึงปีนี้ได้ยังไงกัน!

เฉพาะรุ่น GDi Turbo จะมี Heater อุ่นเบาะ 2 ระดับมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง สวิชต์ อยู่ใต้เครื่องปรับอากาศ

ประตูบานหลังฝั่งซ้าย มีขนาดเล็ก แทบไม่ต้องเดา คุณผู้อ่านก็คงรู้ได้ว่า คนตัวใหญ่
อย่างผม จะต้องใช้ความพยายามมากขนาดไหนในการมุดเข้าไปนั่ง และลากสังขาร
ดึงตัวออกมา จากเบาะแถวหลัง…

ครับ มันเป็นเช่นนั้น แต่ไม่เลวร้ายมากนัก ถ้าคุณมีสรีระร่างบอบบาง ผอมเพรียว อย่าง
คุณสุภาพสตรี หรือน้องใน The Coup Team เราบางคน ก็สามารถลุกเข้า – ออกได้
สบายๆ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดด้วยซ้ำ เพียงแต่ อาจต้องก้มหัวลงมากสักหน่อย ก่อน
จะผ่านเข้าไปนั่งได้  ไม่งั้น หัวโขกเสากรอบประตูด้านบนแน่นอน ถ้าหุ่นแบบผม
ก็ยังพอจะยัดเยียดแทรกตัวเข้าไปนั่งได้ อาจจะลุกออกมาลำบากกว่าปกติมาก แต่
ถ้าผอมเพรียวระดับ ตาแพน Commander CHENG 150 กิโลกรัม ของเรา บอกเลย
หลีกเลี่ยงสถานเดียว! ไม่งั้น ตอนออกจากรถ อาจได้เห็นภาพของ BaBa PaPa
กำลังพยายามคลานและเคลื่อนย่้อยไขมันทุกส่วนในร่างกาย “ไหลออกมาจาก
ประตูบานหลังรถ!”

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของบานประตูด้านหลัง เลื่อนลงได้ไม่สุดขอบล่าง ตามคาด
แต่พื้นที่วางแขนบนแผงประตูบานหลัง และผนังฝั่งขวาของตัวรถ วางแขนได้แต่ไม่ดี
เท่าที่ควร วางไม่สบายเลย แถมไม่มีมือจับบนเพดานหลังคา (หมายถึง มือจับ
“ศาสดา” ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อคนขับ ใช้ความเร็วสูงๆ)

ถ้าคุณ สามารถมุดเข้ามานั่งบนเบาะหลังได้ คุณจะพบว่า พื้นที่สำหรับการนั่งโดยสาร
ด้านหลัง มันไม่ได้แคบ เหมือนบานประตูทางเข้าเลย ตรงกันข้าม Legroom สำหรับ
ผู้โดยสารทั้งฝั่งซ้ายและขวา กลับมีเยอะ มากกว่า Ford Focus เสียด้วยซ้ำ! มีข้อแม้
แค่ว่า ต้องปรับเบาะนั่งคู่หน้าให้อยู่ในตำแหน่งที่คนขับ นั่งได้สะดวก ด้วย แค่นั้น

เบาะนั่งด้านหลัง ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสาร 2 คน เป็นหลัก เพราะตรงกลาง
ของเบาะรองนั่ง ถูกออกแบบให้เป็นช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง พร้อมถาดวางของจุกจิก
ฝังไว้ในตัวเบาะเลยถ้าเป็นรุ่นเบาะหนัง หากคุณทำน้ำหก ยังไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรุ่น
เบาะผ้า แล้วเกิดคุณทำน้ำดื่มหกขึ้นมา อาจต้องพึ่งพา Car Care จัดการให้แน่ๆ

แต่ถ้าคุณเผลอทำของตกในช่วงกลางคืนละก็ อาจต้องพึ่งพาไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ
ของคุณเท่านั้น เพราะ Hyundai ไม่ได้ติดตั้งไฟส่องสว่างตรงกลางเพดานมาให้เลย

เบาะรองนั่ง ถือว่าสั้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งของการ
เหวี่ยงขา เข้า -ออก แจากรถแล้ว จะพบว่า ความยาวของมัน พอดีแล้ว ยาวกว่านี้ ก็อาจ
ต้องปาดขอบเบาะนั่งฝั่งซ้ายมากกว่านี้ ส่วนพนักพิงหลังนั้น รองรับได้สบายกว่าที่คิด
ไว้นิดหน่อย แต่พนักศีรษะ แอบมีการดันต้นคอนิดนึง

คนตัวสูง 180 เซ็นติเมตร อย่าง ตาวัวน้อย Sirisak คุณผู้อ่านของเราจากสุรินทร์ ลอง
เข้าไปนั่งแล้วยังบอกว่าไม่มีปัญหา ต่อให้นั่งหลังตรงแต่เมื่อถ้าสูงเกินกว่านั้น อาจ
ต้องทำใจ หัวของคุณจะพ้นขอบหลังคาไป ในตอนกลางวัน ศีรษะของคุณ จะกลาย
สภาพเป็น กระทะทอดไข่ดาวก็เป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ Hyundai จึงติดแถบสีดำบริเวณ
ขอบด้านบนของกระจกบังลมหลังมาให้ ช่วยลดปัญหานี้ ขณะโดยสารในตอนกลางวัน

แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวกับ Chevrolet Volt และ Chevrolet Sonic Sedan ไม่มีผิด!

ถ้าคุณคิดว่า ทั้งหมดที่ผมเขียนมาเรื่องเบาะหลังนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ ผมขอแนะนำ
ว่า ลองดูภาพถายข้างล่างนี้ กันเอาเองเถอะ!

ภาพนี้ ผมนั่งอยู่บนเบาะหลัง นั่งชิดเบาะ แผ่นหลังแนบกับพนักพิง ไม่ได้นั่งแบบไหลๆ
เลื้อยๆ แต่อย่างใด จะเห็นได้ว่า ถ้าคุณปรับตำแหน่งเบาะหน้าอย่างเหมาะสม ผู้โดยสาร
ด้านหลัง จะมีพื้นที่วางขา เหลือ เยอะ ใช้ได้เลยทีเดียว หัวเข่าจะไม่ชนพนักพิงเบาะคู่หน้า
และการวางแขน ที่แผงประตู แม้จะอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่วางแขนค่อนข้างหมิ่นเหม่
ไม่ถึงกับสบายนัก แถมยังไม่มีมือจับยึดเหนี่ยว (ศาสดา) มาให้ มีแค่ขอเกี่ยวไม้แขวนเสื้อเท่านั้น

แต่ทั้ง 2 ภาพข้างบน ก็พิสูจน์ ได้ชัดเจนว่า การโดยสารบนเบาหลังของ Veloster ทำได้ดีกว่า
สิ่งที่คุณมองจากภายนอกตัวรถจริงๆ!

พนักพิงเบาะหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ ในแบบ 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ
ด้านหลัง ให้เพิ่มมากขึ้น เท่าที่พอจะเป็นไปได้ การพับเบาะ ใช้วิธี ดึงสลักล็อกบนบ่าของ
พนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง นอกจากนี้ ในรุ่น GDI Turbo ยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก
มาตรฐาน ISOFIX ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ที่ฐานของเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง แถมมาให้
เป็นพิเศษ ในฐานะของรถยนต์ สเป็กเดียวกับที่ส่งขายในยุโรป กะจะให้บุตรหลานสุดรัก
ซิ่งกันแต่เด็กเลยทีเดียว! (จริงๆแล้ว น่าจะแถมมาให้ในรุ่น 1.6 GDI ธรรมดาด้วยนะ)

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง มาในสไตล์รถยนต์ ท้ายลาด Liftback มากกว่าจะเป็นแบบ
ท้ายตัด Hatchback ชวนให้นึกถึง ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระของ Toyota Corolla Liftback
และ Coupe KE70 , TE71 หรือ Toyota Corona Liftbak 5 ประตู TT130 ช่วงปี 1979 
ถึง 1983 ไปจนถึง Mazda Familia NEO / Ford Laser TX3 ปี 1994 ถึง 1998

ขอบกันชน ค่อนข้างสูง ดังนั้น คุณอาจต้องออกแรง ยกสัมภาระเข้าไปใส่ด้านหลังรถ
กันอยู่สักหน่อย เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ

ฝาประตู เปิดได้ทั้งจาก สวิชต์ ที่ กุญแจ รีโมทคอนโทรล หรือ ดึงสัญลักษณ์ Hyundai
บนฝากระโปรงหลังขึ้นมา (เป็นมือจับเปิดไฟฟ้า ในตัว) มีช็อกอัพไฮโดรลิคค้ำยัน 2 ต้น
และมีมือจับสำหรับดึงฝาหลังปิดลงมา 1 ตำแหน่ง ฝั่งขวาของชุดกลอนไฟฟ้า

ทุกรุ่น มีแผงบังสัมภาระมาให้ สามารถยกถอดออกได้ หรือแขวนเกี่ยวไว้กับฝาประตูหลัง
ให้ยกขึ้นพร้อมกันทั้งชุดได้ในคราวเดียว

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีความจุ 320 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน แต่เมื่อพับ
เบาะหลังลงทั้ง 2 ฝั่ง ก็จะได้พื้นที่เพิ่มมาอีกนิดหน่อย เป็น 440 ลิตร VDA มีขนาด
ใหญ่พอตัว ถ้าคิดจะไปซื้อของเข้าบ้าน ณ Supermarket หรือแม้แต่แบกเครื่องบินเล็ก
บังคับวิทยุ ไปบินร่อนถลาลมกับเพื่อนฝูง

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลังขึ้นมา จะพบ ยางอะไหล่ ขนาดมาตรฐาน ไม่ใช่
แบบยางเส้นเล็กบาง มาพร้อมกระทะล้อเหล็กสีดำ และเครื่องมือประจำรถ

ภายในห้องโดยสาร ถูกออกแบบขึ้นตามแนวคิด “Extreme Motion” โดยได้แรงบันดาลใจ
จาก รถจักรยานยนต์ แบบ Big bike ให้ภาพลักษณ์ที่ สปอร์ต ร้อนแรง อิสระ และ เคลื่อนไหว
ตลอดเวลา แสดงถึง character ที่ให้ความสนุกและเพลิดเพลินในทุกขณะของการขับขี่

แผงหน้าปัดของ Veloster ออกแบบขึ้นในสไตล์เดียวกันกับ Hyundai รุ่นใหม่ๆ ในช่วง
ตั้งแต่ ปี 2008 ที่ผ่านมา คือใช้โทนสีฟ้าเรืองแสงในยามกลางคืน ต่างจากรถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ
ซึ่งมักใช้แสงสีเขียว ขาว หรือส้ม แผงควบคุมกลางมาในสไตล์ V-Shape ติดตั้งช่องแอร์
คู่กลาง ขนาบข้าง จอ Monitor สี

บริเวณแผงควบคุมกลาง มือจับทั้งที่บานประตูทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้ง รอบๆมือจับเพื่อเปิดประตู
มือจับตรงกลาง ฐานคันเกียร์ ใค้แผงควบคุมกลาง และพวงมาลัย ในรุ่น 1.6 MPi ประดับด้วย
Trim สีเงิน Silver Accent และดำ Glossy Black แต่รุ่น GDi Turbo ใช้ Trim สีเทาดำ

มองขึ้นไปบนเพดาน ทั้ง 2 รุ่น ให้แผงบังแดดซึ่งมีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาเลื่อนเปิด-ปิด
และไฟส่องแต่งหน้า แบบฝังบนเพดานหลังคา และมีสวิชต์ เปิด – ปิดในตัว ครบทั้ง 2 ฝั่ง
ส่วนไฟส่องสว่างในเก๋งนั้น ติดตั้งระหว่างแผงบังแดด เลือกกดเปิด – ปิด แยกอิสระ หรือ
จะให้เปิดสว่างพร้อมกันทีเดียวเลยก็ได้ มีช่องเก็บแว่นตากันแดด บุวัสดุนุ่มกันกระแทก

จากฝั่งขวา มองเข้ามาทางฝั่งซ้าย บนตำแหน่งเบาะคนขับ

มือจับเปิดประตู ทุกรุ่น ทั้ง 3 บาน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม พร้อมสวิชต์ล็อกประตู
สวิชต์ปรับและพับกระจกมองข้างไฟฟ้า มีมาให้ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งข้างมือเปิดประตูฝั่ง
คนขับ แผงประตูด้านข้าง รุ่น 1.6 MPI เป็น พลาสติกสีดำ ปกติ แต่รุ่น GDi Turbo
จะหุ้มหนังเฉพาะบริเวณพื้นที่วางแขน

กระจกหน้าต่าง เลื่อนเปิด – ปิด ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า พร้อมสวิชต์ Auto เลื่อนขึ้นสุด
ลงสุดได้แบบ One Touch เฉพาะฝั่งคนขับ มี สวิชต์ ล็อกกันการเลื่อนเปิดกระจก
หน้าต่าง และสวิชต์ระบบ Central Lock มาให้

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา ทุกรุ่นมีสวิชต์ ปรับความสว่างของชุดมาตรวัดมาให้ แต่เฉพาะ
รุ่น GDi Turbo ที่จะมีสวิชต์ ปรับระดับสูง – ต่ำ ของชุดไฟหน้าเพิ่มเข้ามา ส่วน
คันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า ติดตั้งที่ผนังซุ้มล้อหน้าขวา

จุดที่ทำให้ผม งุนงงมากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ตำแหน่งของก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว และ
ก้านสวิชต์ใบปัดน้ำฝน

หากเป็นรุ่น 1.6 MPI ตำแหน่งก้านสวิชต์ไฟหน้าและไฟเลี้ยว จะอยู่ฝั่งขวาของ
คอพวงมาลัย แต่ พอเป็นรุ่น Turbo เนื่องจาก อุปกรณ์ของตัวรถ ถูกติดตั้งในแบบ
รุ่นท็อปของ Euro Spec ดังนั้น ก้านสวิชต์ไฟ จึงย้ายไปอยู่ฝั่งที่คอพวงมาลัยด้าน
ซ้าย ส่วนก้านสวิชต์ ใบปัดน้ำฝน ก็จะย้ายมาอยู่ฝั่งขวาแทน!!

อะไรกันโว้ยยยย! งงงงงง!!!

พวงมาลัยเป็นแบบ สปอร์ต 3 ก้าน หน้าตาคล้ายๆพวงมาลัยของ Honda อยู่เหมือนกัน
หุ้มด้วยหนัง และปรับระดับได้ ทั้ง สูง – ต่ำ หรือระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ 4 ทิศทาง

ทั้ง 2 รุ่น มีสวิชต์ ควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ติดตั้งอยู่ที่ฝั่งซ้ายของก้านพวงมาลัย
รวมทั้งมีสวิชต์เลือกดูข้อมูล Trip Computer อยู่ที่ด้านล่างของก้านพวงมาลัยฝั่งขวา สามารถ
สั่ง Reset ตั้งค่าต่างๆ ได้จากปุ่ม Trip ช่วยลดการละสายตาจากถนนไม่ให้นานเกินไป

ในรุ่น Turbo จะพิเศษยิ่งขึ้น ด้วย Trim ตกแต่งพวงมาลัย จะเปลี่ยนเป็นสีเทาดำเข้มๆ
เพิ่มระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control และมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ หรือ
Paddle Shift มาให้ และสวิชต์ ระบบ สั่งการด้วยเสียง Voice Command!

ถ้าไม่บอก ไม่อ่านโบรชัวร์ ก็ไม่รู้เลยว่ามีระบบนี้ติดตั้งมาให้ด้วย! แถมใช้งานง่าย
สั่งอะไรก็ง่าย ไม่ปวดกบาล ในการเลือกสำเนียง เหมือนอย่างใน Ford Fiesta กับ
Ranger Wildtrak 3.2 ลิตร และ Focus ใหม่ ทั้งสิ้น!

นอกจากนี้ ทั้ง 2 รุ่น ยังติดตั้งแป้นคันเร่งและแป้นเบรก Aluminium แบบ Sport
มาให้จากโรงงานกันเสร็จสรรพ ไม่ต้องไปหาเปลี่ยนเอาเองข้างนอกให้วุ่นวาย
ติดตั้งปุ่มยางเพื่อกันลื่น คันเร่งเป็นแบบ Organ-Type ซึ่งส่วนใหญ่จะพบใน
รถยุโรปราคาแพง แต่เดี๋ยวนี้ Hyundai รุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่น ติดตั้งมาให้เป็น
อุปกรณ์มาตรฐาน

แม้ว่าทั้งคู่ จะใช้มาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบ หน้าตาเหมือนกัน แต่ถ้าสังเกตดีๆ
คุณจะพบว่า ชุดมาตรวัด ของทั้งคู่ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน

รุ่น GDI Turbo มาตรวัดจะเป็นแบบ Super Vision เรืองแสง มีหน้าจอ Multi 
Infomation Display แยกชิ้น 2 จอ ด้านบน จะแสดง มาตรวัดอุณหภูมิความร้อน
ของน้ำหล่อเย็น มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง รวมทั้ง มาตรวัดระยะทางที่แล่นมาตั้งแต่
เริ่มออกรถครั้งแรก Odometer

ส่วนจอด้านล่าง จะแสดงข้อมูล ทั้ง มาตรวัดระยะทางแบบปรับตั้งได้เอง Trip Meter A
และ B แสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบ เฉลี่ย และระยะทางที่น้ำมันในถัง
ยังแล่นได้ต่อไป รวมทั้งขึ้นสัญญาณแจ้งเตือนระบบต่างๆในตัวรถ เป็นข้อความ หรือ
รูปภาพ Graphic หรือปรับความสว่างของหน้าปัดได้ทั้งหมด

ส่วนมาตรวัดของรุ่น 1.6 MPI นั้น นอกจากฐานวงกลม ของเข็มวัดความเร็ว กับ
เข็มวัดรอบ จะเรืองแสงสีฟ้าในตอนกลางคืนเพิ่มขึ้นมาแล้ว จอแสดงข้อมูล ตรงกลาง
จะยาวต่อเนื่องกัน ไม่แบ่งเป็น 2 จอ และข้อมูลทั้งหมด จะถูกนำมาแสดงไว้รวมกัน
เพียงแต่ อาจไม่มีการแสดงสัญลักษณ์ หรือข้อความขึ้นเตือน แบบจอเล็กของรุ่น
GDi Turbo แถม Trip Meter A และ B รวมถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
หรือ ข้อมูลอื่นๆ ก็ถูกจับมาไว้ด้านล่างจอ MID นี้ด้วย

จากฝั่งซ้ายมือ มองเข้ามาตรงกลาง

ช่องเก็บของบนแผงหน้าปัดฝั่งผู้โดยสารมีขนาดพอกันกับที่คุณจะพบได้ในรถยนต์
ญี่ปุ่น อย่าง Toyota รุ่นสักราวๆ 4-5 ปีมานี้ แต่พิเศษกว่าเพราะมีไฟส่องสว่างขนาดเล็ก
มาให้ด้วย ความจุ พอจะใส่สมุดคู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ 3 ปี 100,000
กิโลเมตร และกรมธรรม์ประกันภัย ก็หมดพื้นที่ไป ครึ่งหนึ่งแล้ว

จุดเด่นของงานออกแบบภายใน Veloster อยู่ที่การย้ายตำแหน่งสวิชต์ติดเครื่องยนต์ แบบ
Push Start มาไว้ตรงกลาง ใต้เครื่องปรับอากาศ เรืองแสงด้วยสีฟ้า เป็น Gimmick ในการ
ออกแบบที่แตกต่างไปจากชาวบ้านชาวช่องเขาพอสมควร

เหนือขึ้นไป เป็น เครื่องปรับอากาศแบบ อัตโนมัติ ไม่แยกฝั่งซ้าย-ขวามาให้ เพราะ
สำหรับรถยนต์ระดับนี้ ไม่จำเป็นต้องแยกฝั่งแอร์ แต่อย่างใด สามารถปรับความเย็น
และความแรงพัดลมให้สอดคล้องกับระดับอุณหภูมิที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ เย็นเร็ว
แต่อาจมีกลิ่นสะสมได้ เหมือนรถยนต์ทั่วไป หมั่นเปิดรับอากาศภายนอกเข้ารถ
ก่อนกลับถึงบ้านสัก 1 – 2 กิโลเมตร พร้อมกับเร่งพัดลมแอร์ให้สุด ก็จะช่วยลด
กลิ่นอับจากแบ็คทีเรียได้ เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ติดตั้งมาให้ เหมือนกัน ทั้ง
2 รุ่น

ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 / WMA  แบบ 1 แผ่น
มีลำโพง 6 ชิ้น ประกอบด้วย midrange woofer ขนาด 6.5 นิ้ว 1 คู่ที่ประตูหน้า ลำโพง
Tweeter 1 คู่ ที่บริเวณมือจับประตูหน้า และ Full range woofer ขนาด 6.5 นิ้ว  1 คู่
ที่ด้านหลัง (ติดตั้งที่ประตูด้านซ้ายและคอนโซลด้านขวา)

มีช่องต่อ USB และ AUX พร้อมช่องเสียบจ่ายกระแสไฟ 12 V มาให้ ถึง 2 ตำแหน่ง
ติดตั้งรวมกันอยู่ อยูที่ช่องวางของ ใต้สวิชต์ Push Start

ส่วนหน้าจอ มอนิเตอร์ สี แบบ LCD Touch Scrren ขนาด 7 นิ้ว ถูกออกแบบและ
จัดวางตำแหน่ง Interface บนหน้าจอ ให้สามารถใช้งานได้คล่องแล่ว ไม่ Lag
ไม่อืดอาด ไม่ยืดยาด แสดงผลทั้งเครื่องปรับอากาศ ชุดเครื่องเสียง ซึ่งแสดงอักษร
ภาษาอังกฤษ เกาหลี และญี่ปุ่น ได้ แต่อ่านภาษาไทย ไม่ออก! อีกทั้งยังมีเกม
Blue Max อันเป็น เกมให้คะแนนสำหรับการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน โดย
ระบบจะให้และบันทึกคะแนนโดยอัตโนมัติตามลักษณะการขับขี่ มีการเก็บ
คะแนนสูงสุด ถือเป็นลูกเล่นที่ช่วยให้กลุ่มรักโลก ได้ขับสนุกในแบบของเขา

คุณภาพเสียง ถือว่า ทำได้ดี พอใช้ได้เลยทีเดียว แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีเด่นโดดเด้ง
ให้ประทับใจมากมายนัก

ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้ง กล่องเก็บของ ข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า มี 2 ชั้น
ฝาด้านบน เป็นพนักวางแขน ซึ่งก็วางได้แค่ข้อศอก ไม่สามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า
หรือถอยหลังได้เลย วางได้ไม่ถึงกับสบายนัก ฝาชั้นกลาง สำหรับใส่ปากกา หรือ
กระดาษทิชชูห่อเล็ก นามบัตร ฯลฯ ส่วนกล่องชั้นล่าง ใส่ CD ได้เยอะพอสมควร
และใส่กล้องถ่ายรูปได้แน่ๆ ถัดไปใกล้ๆกัน มีช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง พร้อม
ยางกันลื่น วางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้โดยไม่ดิ้นไปมา ติดตั้งอยู่ข้างก้านเบรกมือ

แต่ในรุ่น GDI-Turbo จะติดตั้ง Sunroof  เลื่อนเปิด-ปิด และยก Tilt ขั้น – ลง
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บนเพดานหลังคา ใกล้ช่องเก็บแว่นกันแดด เพิ่มมาให้เป็น
พิเศษ ไม่ต้องกังวลว่าจะร้อนเวลาขับขี่ตอนกลางวัน เพราะกระจกซันรูฟนั้น
เป็นแบบกรองแสงมาให้จากโรงงาน แถมยังมีแผงตาข่ายบังแดด เลื่อนปิด-
เปิดได้อีกชั้นหนึ่งมาให้ ดังนั้น เย็นสบายได้แน่ แม้ในวันที่อากาศร้อน

แต่ดูดีๆนะครับ เหล็กค้ำยันหลังคาด้านบนซันรูฟสีดำ เปลือยมาเลยนะครับ!

ทัศนวิสัยด้านหน้า อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ต่อให้ปรับเบาะนั่งลงต่ำสุด คุณจพะเห็นภาพ
ข้างหน้าชัดเจน และถ้ายกเบาะขึ้นอีกนิดนึง คุณก็จะยังเห็นฝากระโปรงหน้า พอจะ
ช่วยให้การกะระยะทำได้อยู่

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar กลับไม่ค่อยบดบัง รถที่แล่นสวนมาจากทางฝั่งขวามือ
บนทางโค้งขวา สวนกัน 2 เลน มากนัก กระจกมองข้าง ก็ยังให้มุมมองที่ดี ไม่มี
สิ่งใดผิดปกติทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ว่า กระจกมองข้างฝั่งขวา อาจหลอกตาได้บ้าง
สำหรับบางคนเท่านั้น

ส่วนเสาหลังคาคูหน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ก็ยังไม่ถึงกับบดบังรถที่แล่นสวนทางมา
ขณะกำลังเลี้ยวกลับ ไม่ว่าคุณจะกลับรถ บนถนนรูปแบบใด ทั้งแบบมีเกาะกลาง
หรือมีตอม่อรถไฟฟ้า บดบัง คุณจะไม่มีปัญหาในประเด็นนี้เท่าใดนัก กระจก
มองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังให้มุมมองรถที่แล่นตามมาขนาบข้างแบบปกติ ไม่มีอะไร
ด้อยไปกว่ารถยนต์อื่นเลย

แต่เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar นั้น เป็นจุดที่คุณควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะ
การออกแบบกระจกหน้าต่างด้านหลังในลักษณะที่เห็นในภาพ ก่อให้เกิดการ
บดบัง รถจักรยานยนต์ที่แล่นมาทางด้านข้างได้ดียิ่ง แม้จะมีกระจกบังลมหลัง
แบ่งเป็นแบบ 2 ชิ้น ช่วยให้เห็นรถที่แล่นตามมาจากด้านหลังอีกทางหนึ่งด้วย
แล้วก็ตาม ขอแนะนำให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ขณะเปลี่ยนเข้าสู่ถนน
แบบเลนคู่ขนาน เช่นบางนา-ตราด หรือวิภาวดีรังสิต

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังของ Veloster เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือก 2 ระดับความแรง ซึ่งถือว่า ไทยเรา
โชคดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในละแวกย่าน ASEAN ด้วยกัน เพราะจะเป็นเพียง
ประเทศเดียวเท่านั้น ที่มีเครื่องยนต์ Turbo ให้เลือก

เป็นขุมพลังรหัส C4FJ บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,591 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
77.0 x 85.4 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 มาพร้อมเทคโนโลยี ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง
ตรงสู่ห้องเผาไหม้ สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน GDI (Gasoline Direct Injection) พ่วง
ด้วยระบบอัดอากาศ แบบ Twin-Scroll TurboCharger และมี Intercooler พร้อมช่อง
รับอากาศด้านหน้ารถแบบ Air Guiding Duct System และระบบแปรผันวาล์ว D-CVVT

เทคโนโลยีที่อยู่ในขุมพลังตระกูล C4 นี้ มีตั้งแต่ การใช้ Aluminium หล่อเสื้อสูบ
ใช้โครงสร้างแบบ block กับ ladder frame ทำให้เครื่องยนต์เบา แต่มีความแข็ง
และสามารถลดเสียงและการสั่นสะเทือน

ติดตั้งสายพานหน้าเครื่องยนต์ แบบ Serpentine Belt System เพื่อลดเสียงจาก
เครื่องยนต์ เพิ่มความทนทานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดพื้นที่ในการออกแบบ
ให้เครื่องยนต์ เล็ก และเบากว่ารุ่นเดิม

Mechanical Lash Adjuster (MLA) ช่วยลดแรงเสียดทานภายในเครื่องยนต์ ช่วยให้
ประหยัดน้ำมันและเครื่องมีอายุใช้งานยาวขึ้น

Offset Crankshaft เพลาข้อเหวี่ยงแบบเยื้องศูนย์ ช่วยลดแรงเสียดทานในจังหวะที่ลูกสูบ
เคลื่อนที่ลงหลังจากการจุดระเบิด (Power stroke) เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และ
สร้างแรงบิดให้มากขึ้น

ระบบ D-CVVT (Dual-Continuous Variable Valve Timing) เป็นระบบแปรผัน 
หัวแคมชาฟต์ทั้ฝั่งวาล์วไอดีและไอเสีย สามารถปรับช่วงเวลาของการเปิด/ปิดวาล์ว ทั้ง 2 ฝั่ง
ตามสภาพโหลดและรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ให้ช้าหรือเร็วกว่าปกติ ช่วยเพิ่มสมรรถนะ
ของเครื่องยนต์ ลดอาการ pumping loss ในขณะที่เครื่องยนต์บรรจุไอดีและคายไอเสีย
และ เพิ่มประสิทธิภาพการหายใจโดยรวมของเครื่องยนต์

ระบบ GDI หรือ Gasoline Direct Injection คือระบบหัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม้
คล้ายคลึงกับระบบหัวฉีด Common-Rail ในเครื่องยนต์ Diesel โดยระบบจะสร้างแรงดันให้
เชื้อเพลิง ถูกฉีดเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง กล่องสมองกล Engine Management System
จะควบคุมปริมาณน้ำมัน และจังหวะการฉีดน้ำมัน อย่างแม่นยำให้ตรงตามภาระการทำงานของ
เครื่องยนต์  เพื่อช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมัน อีกทั้ง เนื่องจากการฉีดน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้
ตรงตำแหน่งใกล้หัวเทียน ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันเผาไหม้ดีที่สุด ตามหลักการแล้ว จึงทำให้เกิด
การเผาไหม้อย่างหมดจดมากที่สุด ใช้เชื้อเพลิงทุกหยดได้เต็มประสิทธิภาพ

ส่วน Turbo ที่ใช้นั้น เป็นแบบ Twin-Scrol ซึ่งแตกต่างจากเทอร์โบแบบ Single-Scroll ทั่วไป
มีช่องรับไอเสียจากเครื่องยนต์ 2 ช่อง แยกตามกระบอกสูบช่องละคู่ ควบคุมด้วย waste gate
ระบบ Twin-Scroll Turbo สามารถนำ ไอเสีย มาใช้ปั่น Turbine ได้มากกว่า เนื่องจากสามารถ
ลดการตีกันของไอเสียจากแต่ละกระบอกสูบ ทำให้แรงดันไอเสียมีความสม่ำเสมอ ทำให้ไอเสีย
เข้าสู่โข่ง Turbo เพื่อไปหมุนแกน Turbine ได้ดีขึ้น Hyundai เคลมว่า Turbocharger
แบบ Twin-Scroll มีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น 7-8% และช่วยให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น
จากเดิมอย่างน้อย 5%

พละกำลังสูงสุด 186 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 265 นิวตันเมตร
(27.0 กก.-ม.) ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,500 – 4,500 รอบ/นาที แรงบิดมากันต่อเนื่อง
เป็นแบบ Flat Torque เลยทีเดียว! ปล่อยมลพิษต่ำ ในระดับ Euro5

ถ้าอยากดูภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แสดงการทำงานของเครื่องยนต์ GDI Turbo
คลิกดูได้ ที่นี่

ส่วนรุ่น 1.6 MPI มาตรฐาน วางเครื่องยนต์รหัส C4FC บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,591 ซีซี ใช้พื้นฐานเครื่องยนต์ร่วมกันกับรุ่น Turbo ต่างกันตรงที่ กำลังอัดลดลงเหลือ
10.5 : 1 และไม่มีการติดตั้งระบบอัดอากาศใดๆ มาให้ทั้งสิ้น มีเพียงแค่ระบบหัวฉีด MPI
(Multi-Point Fuel Injection) เท่านั้น และระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟท์
D-CVVT เท่านั้น

กำลังสูงสุด 130 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 157 นิวตันเมตร
(15.99 กก.-ม.) ที่ 4,850 รอบ/นาที

ถ้าเทียบความแรงกับเครื่องยนต์ Turbo แล้ว ใช่ครับ ต่างกันเยอะมาก แต่ถ้าดูดีๆ
ทุกวันนี้ เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ในตลาดบ้านเรา ซึ่งมีพละกำลังระดับ 130 แรงม้า
และปล่อยมลพิษ ในระดับมาตรฐาน Euro 4 ด้วยแล้ว มีกันสักกี่รุ่นกี่ยี่ห้อกันเชียว?

ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ หลังพวงมาลัยแบบ
Paddle Shit และคันเกียร์แบบ บวก – ลบ Shitronic มาให้เหมือนกัน แต่ถูกปรับอัตรา
ทดเกียร์ มาให้แตกต่างกันไปตามภาระในการรองรับการถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์
ทั้ง 2 ระดับที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้

…………………………..1.6 GDI Turbo……….1.6 MPI
เกียร์ 1 ………………………..4.639………………..4.400
เกียร์ 2 ………………………..2.826………………..2.726
เกียร์ 3 ………………………..1.841………………..1.834
เกียร์ 4 ………………………..1.386………………..1,392
เกียร์ 5 ………………………..1.000………………..1.000
เกียร์ 6 ………………………..0.772………………..0.774
เกียร์ถอยหลัง………………….3.385………………..3.440
อัตราทดเฟืองท้าย……………..3.320………………..3.612

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองจับอัตราเร่ง กันในช่วงกลางคืน โดย
ยึดมาตรฐานเดิม คือ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และนั่ง 2 คน (ผู้ขับขี่ กับคนจับเวลา) และ
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา เมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้

การจับเวลาของเรานั้น ยังคงใช้โหมด เกียร์ D ธรรมดา เป็นมาตรฐาน ไม่ได้กดปุ่ม
โหมด ECO หรือ Sport อะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ตัวเลขที่ได้ จึงเป็นตัวเลขที่ตัวรถทำได้
เพียวๆ ไร้สิ่งเติมแต่งเจือปนใดๆ

ผลที่ออกมา แสดงให้เห็นว่า ขุมพลัง 1.6 GDi Turbo ทำผลงานออกมาได้ เหนือกว่า
เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เดิม ของ Hyundai Coupe แบบขาดลอย ทิ้งห่างกันชัดเจนมาก
ในทุกเกมจับเวลาของเรา

ยิ่งถ้าต้องเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ 4 สูบ Boxer 2.0 ลิตร D4-S ของ Toyota 86 และ
Subaru BRZ แล้ว ถ้าเป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ซึ่งถือว่าเป็นคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ
กันที่สุดแล้ว อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ 86 รุ่น 6AT ก็ยังช้ากว่า Veloster
1.6 GDi Turbo ถึง 0.9 วินาที (ทำได้แค่ 9.28 วินาที) และต่อให้เป็นเกมจับเวลาในช่วง
เร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Veloster 1.6 GDi Turbo ก็ยังทำเวลาเฉลี่ยออกมา
เร็วกว่า 86 เกียร์อัตโนมัติ (ทำได้ 6.45 วินาที) อยู่ 0.1 วินาที เท่านั้น

ไม่เพียงแค่นั้น รุ่น 1.6 GDi Turbo ยังทำตัวเลขแซงหน้า BMW Z4 23i sDrive ไป
อย่างสบายๆ (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.87 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ใน 6.52 วินาที) และยังแซง Mazda MX-5 RHT ไปอย่างขาดลอย (0-100
กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 10.14 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.38 วินาที)

ซึ่งก็แหงอยู่แล้วละครับ ทั้ง 86 Z4 และ MX-5 ที่เรานำมาทดลองขับ ไม่มีระบบ
อัดอากาศใดๆเข้ามาช่วยเหลือทั้งสิ้น แต่มองอีกมุมหนึ่ง ขนาดความจุกระบอกสูบ
ของ Hyundai ก็น้อยกว่าชาวบ้านเขาด้วย แสดงให้เห็นศักยภาพการทำเครื่องยนต์
ของ Hyundai ในแนวทาง Down Sizing ว่า พวกเขาทำได้ดีกว่าที่เราคิดไว้เยอะ!

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันตรงนี้ว่า ถ้าต้องเปรียบเทียบกับ Volkswagen Golf GTi
และ Scirocco สองพี่น้องชาวเยอรมัน (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.12 กับ 7.16 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 5.26 กับ 5.20 วินาที) รวมทั้ง Skoda Fabia RS ญาติ
จากสาธารณรัฐเชค (0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 7.46 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ใน 5.42 วินาที) แล้ว Veloster 1.6 GDi Turbo สู้ไม่ได้แน่ๆ แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลข
ต่างกัน ไม่น่าเกลียดเลย ถือว่า งานนี้ วิศวกร Hyundai ทำดีที่สุดแล้ว ผลงานออกมา ถือว่า
ยอดเยี่ยมไม่ธรรมดา สำหรับการเริ่มต้นทำรถสปอร์ตขนาดเล็ก อย่างจริงจังกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ในการขับขี่จริง รุ่น Turbo แน่นอนว่าให้อัตราเร่ง ที่ดีกว่ารุ่น 1.6 MPI ชัดเจนมากกกกก
ในช่วง ออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง อาการรอรอบ หรือ Turbo Lag มีไม่มากนัก ตัวรถพุ่ง
ทะยานออกไปอย่างต่อเนื่อง พุ่งไปไม่แพ้ MINI Cooper S Coupe กันเลย แม้กระทั่ง
เข้าสู่เกียร์ 4 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ความเร็วจะเพิ่มขึ้นช้าลงกว่าช่วงก่อนหน้านั้น ไม่ว่าคุณ
จะเปิดโหมดการขับขี่ เป็นแบบธรรมดา หรือ ECO ถ้าสมองกลรู้ว่าคุณตั้งใจเหยียบ
คันเร่งเต็มตีน ป้าก! เครื่องยนต์และเกียร์จะถูกสั่งการให้จัดอัตราเร่งแบบๆ ไม่ต้องถอน
ไม่ต้องผ่อน ถวายชีวิตให้คนขับกันเลยทีเดียว ไหลไปแบบลื่นๆ ช่วงตัดเปลี่ยนเกียร์
รอบไม่ตัดลงไปมากคันเร่งไฟฟ้า ทำงานได้ฉับไว ทันต่อความต้องการในเสี้ยววินาที
ยิ่งแรงบิดสูงสุด มาในช่วงกว้าง แบบ Flat Torque (ตั้งแต่ 1,500 – 4,500 รอบ/นาที )
ด้วยแล้ว ยิ่งช่วยสร้างความสนุกในการขับขี่อย่างมาก แรงบิดช่วงกลาง 3,500 – 3,800
รอบ/นาที หายห่วงกันเลยทีเดียว เป็นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร Turbo ที่แรงเท่ากับขุมพลัง
แบบ 2.5 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ!

เกียร์กับคันเร่ง ยังคงทำงานถวายชีวิต เหมือน Hyundai รุ่นอื่นๆ เหยียบปุ๊บมาปั๊บ
ไม่ต้องรอนาน ไม่ว่าจะอยู่ในโหมด D หรือ โหมด Sport คันเกียร์ บวกลบ ทำงานได้
ฉับไวดี ไม่ Lag ถือว่า ทันต่อความต้องการของคนขับได้ดี

แต่ตั้งข้อสังเกตว่า หากออกตัวจากไฟแดง แบบคลานๆ แล้วเดินคันเร่งไว้นิดๆ ประมาณ
15 – 20 % จากระยะเหยียบคันเร่งทั้งหมด อาจมีอาการกระชากอย่างรุนแรง ดัง “ตึง!” จน
ตัวรถจะกระตุกไปข้างหน้า ซึ่งน่าจะเกิดจากการทำงานของชุดเกียร์ เรื่องนี้ ผมอาจต้อง
แปะนิ้วโป้งกันไว้ก่อน เพราะต้องใช้เวลาไปค้นหาสาเหตุกันสักพักใหญ่

ขณะที่อัตราเร่งในรุ่น 1.6 MPI นั้น คุณต้องทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า จากจุดหยุดนิ่งจนถึง
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จริงอยู่ว่ามันไม่ได้เลวร้ายนัก ถ้าเทียบกับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก กลุ่ม
B-Segment Sub-Compact 1.5 ลิตร ทั่วไป เพราะตัวเลขที่ออกมา มันก็ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ
Vios City หรือ Jazz ทว่า เมื่อมานั่งคิดถึงประเภทของรถ ซึ่งทำตัวเป็น Sport จ๋าแหวกโลก
ขนาดนี้ ถือได้ว่า อืดเกินไปสำหรับรถที่จะเรียกตัวเองว่า “รถสปอร์ต” ยิ่งถ้ามาดูช่วงเร่งแซง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะยิ่งพบว่า มันอืดกว่ารถยนต์นั่งกลุ่ม C-Segment Compact
Class ทั่วไป อย่างมาก! จนแทบไม่อยากจะเชื่อตาตัวเองด้วยซ้ำ  

เหตุผลที่มันอืดขนาดนี้ ผมว่า ส่วนหนึ่งอยู่ที่การเซ็ตอัตราทดเกียร์ ถ้าสามารถลากให้เกียร์ 3
ไปตัดที่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ ตัวเลขจะออกมาดีกว่านี้ อย่างน้อยๆ 0.7 – 1 วินาที แน่ๆ
เพราะ เกียร์ 3 ถูกตัดเปลี่ยนขึ้นไปเป็นเกียร์ 4 ที่ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนรอบ
มันเหี่ยวลงไป และต้องไล่รอบเครื่องยนต์กันขึ้นมาใหม่

นั่นหมายความว่า รุ่น 1.6 MPi นั้น คุณจะสนุกกับมันได้ ในช่วงความเร็วประมาณไม่เกิน
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่ง ที่มีมาให้ในช่วงเกียร์ 1 2 และ 3 เหมาะกับการขับขี่และ
เร่งแซงในเมือง แต่ถ้าคุณต้องขับทางไกล และคิดจะแซงรถบรรทุกข้างหน้า ขอให้คิด
เผื่อระยะและช่วงเวลาในการแซงไว้ในระดับเดียวกับการขับ Toyota Yaris 1.5 ลิตร
ที่เพิ่งตกรุ่นไปในบ้านเรา ได้เลย!

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่มีมาให้ เพียงพอต่อการใช้งานในเมือง แต่ไม่ต้องคิดจะ
ไปไล่แซง หรือไล่กวดใครเขาเลยครับ แม้เรี่ยวแรงในช่วงต้น และปลาย จะมีพอ
ให้คุณเรียกใช้ได้ตามอัตภาพ แต่ในช่วงกลางนั้น กว่าจะไต่ขึ้นไปได้ ต้องใช้เวลา
เพิ่มขึ้น พอๆกับคุณกำลังขับ Toyota Yaris 1.5 ลิตร นั่นแหละ

ถ้าคุณคิดว่ามันเร็วแล้ว โอเค ผมยอมรับได้ครับ แต่ในเมื่อ อัตราเร่งแบบนี้ มาสิงสถิต
อยู่ในร่างของรถสปอร์ตทรงเฉี่ยวแบบนี้ ผมว่า อืดไปครับ

ความเร็วสูงสุดนั้น ในรุ่น Turbo ตัวเลขจากโรงงานระบุว่าอยู่ที่ 214 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ดังนั้น ถ้าเข็มมาตรวัดจะขึ้นไปอยู่ที่ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อรวมกับความเพี้ยนของ
มาตรวัดที่เกิดขึ้น (ณ ความเร็วบนมาตรวัดที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็ววัดจาก GPS
จะอยู่ที่ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ก็ถือว่า เป็นไปตามความคาดหมาย

ส่วนรุ่น 1.6 MPI ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า ได้ 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่น่าแปลกก็คือ
ตัวเลขบนมาตรวัดที่เราทำได้ ก็อยู่ที่ 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่นเดียวกัน

ผมยังขอยึดนโยบายย้ำเตือนคุณผู้อ่านกันเอาไว้ตรงนี้เช่นเคยว่า เราไม่ส่งเสริมหรือ
สนับสนุนให้คุณไปทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเอง เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย
พรบ.จราจรทางบก แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณเอง และเพื่อนร่วมทางได้
เราทำตัวเลขมาให้ดูเพื่อให้คุณและผู้ที่สนใจศึกษาในด้านวิศวกรรมยานยนต์ได้มีข้อมูล
ไว้เพื่อการเรียนรู้เท่านั้น อย่าไปลองทำกันเองโดยเด็ดขาด!

การเก็บเสียง ในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป จัดอยู่ในเกณฑ์ ไม่ดัง
และไม่เบา เหมือนเช่นรถยนต์ปกติทั่วไป แต่เมื่อพ้นจากช่วง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไป เสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถจะเล็ดรอดเข้ามาในห้องโดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จัดว่า ห้องโดยสาร ไม่ได้เงียบสงบ แต่ก็ถือว่า เงียบกว่ารถยนต์แนวสปอร์ตหลายๆคัน
ที่ผ่านมือผมมา

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมมอเตอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า MDPS (Motor
Driven Power Steering) อัตราทดเฟืองพวงมาลัย อยู่ที่ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.2 เมตร

ระบบ MDPS (Motor-Driven Power Steering) จะใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อขับมอเตอร์
ในการผ่อนแรงโดยตรง โดยไม่มีระบบไฮโดรลิก ช่วยเหลือ เหมือนระบบผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์
แบบเก่า จึงไม่มีการดึงกำลังจากเครื่องยนต์ ทำให้ ไม่กินแรงเครื่องยนต์ และเพิ่มความประหยัด
น้ำมันได้อีกเล็กน้อย นอกจากนี้ระบบ MDPS ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีน้ำมันไฮโดรลิก
ที่ต้องเปลี่ยนถ่ายและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้เจ้าของรถ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ พวงมาลัยของ Veloster ยังมีบุคลิกการหมุนในแบบของ
พวงมาลัยไฟฟ้ามาให้คุณได้สัมผัสกันอยู่ในระดับที่ ยังพอรับรู้ได้อยู่ดี

ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยตอบสนองได้เบากำลังดี ไม่ได้เบาหวิวแบบ Nissan Sylphy ,
Pulsar หรือ Toyota Corolla Altis แต่เบาในแบบที่คล้ายกับรถญี่ปุ่น ยุค 1990 แต่มี
ความหนืดมากกว่ากันนิดหน่อย แถมค่อนข้างไวกว่าเสียด้วย

แต่ในช่วงความเร็วสูง คุณจะพบว่า พวงมาลัยจะปรับความหนืดขึ้นมาให้ตามความเร็ว
ของรถที่เพิ่มขึ้น ระยะฟรี อยู่ในระดับกำลังดี และมี Self Centering Force หรือ แรง
หน่วงในการดึงพวงมาลัยกลับมาอยู่ในตำแหน่งตั้งตรงที่อยู่ในระดับพอดี ชัดเจน
และสร้างความหนักแน่นให้กับการบังคับควบคุมได้ดีกว่ารถเกาหลีใต้ยุคเก่าๆเยอะ

จัดว่าเป็นพวงมาลัยที่ ค่อนข้างไว ตอบสนองได้ดีมาก แต่ ยังไม่เฉียบคม เท่า Toyota 86
ถ้าคิดว่าจะเอาไปซิ่ง เอาไปลงแข่ง มันต้องการความแม่นยำฉับพลันมากกว่านี้ อีกพอสมควร

แต่ถ้าคิดและมองว่า มันต้องถูกปรับเซ็ตมาเพื่อรองรับการขับขี่ใช้งานในชีวิตประจำวัน
ของทั้งรุ่น 1.6 MPI และ 1.6 GDi Turbo ด้วยแล้ว ผมถือว่า นี่เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์
แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ที่เซ็ตมาใช้ได้ ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอในรถยนต์จากเกาหลีใต้
มันให้น้ำหนักและความหนืดกำลังดีเลยทีเดียว

แต่แน่นอนว่า มันยังดีไม่เท่ารถญี่ปุ่น….หรือยุโรป….

เพียงแค่ ทำอย่างไรก็ได้ ให้สัมผัสเนือยๆจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ขณะหมุน
ที่ยังหลงเหลือในขณะหักเลี้ยวหรือหมุนพวงมาลัยขึ้นมานิดๆ จางๆ ให้น้อยลง หรือ
หายไปเลยแบบ พวงมาลัยของ Subaru XV ที่หมุนได้เนียนจนเผลอลืมไปเลยว่าเป็น
พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า แค่นั้นพอ!

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อม โครงสร้าง Sub Frame
แบบ Cross Member มีจุดยึด 6 ตำแหน่ง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ CTBA (Couple
Torsion Beam Axle) หรือเรียกง่ายๆว่าเป็น คานบิดทอร์ชันบีม แบบเดียวกับทั้ง
Toyota Vios , Yaris , Honda City , Jazz ในบ้านเรานั่นแหละ พร้อมช็อกอัพ
แบบ Mono-Tube ทั้งหน้า – หลัง

แต่แน่นอนว่า การปรับเซ็ตต่างๆ จะไม่เหมือนกัน แถมทำได้ดีกว่ากันเป็นหนังคนละเรื่อง
จนผมพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ช่วงล่างของ Veloster ทั้ง 2 รุ่น ถูกเซ็ตมาต่างกัน
นิดหน่อย แต่ทั้งคู่มีบุคลิกของรถขับสนุก มาให้คุณได้ไม่แพ้กัน แค่มาในคนละสไตล์

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ใช้งานในเมือง ในทุกรอยต่อถนน หลุมบ่อ ฝาท่อ และเนิน
ลูกระนาด ที่รถยนต์ทั้ง 2 รุ่น 2 คัน ต้องขับผ่าน เหมือนกันเป๊ะ ช่วงล่างรุ่น 1.6 MPI
จะค่อนข้างแข็งกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่เล็กน้อย แต่ก็ยังจะนุ่มกว่า และซับแรงสะเทือนได้
ดีกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงล่างของรุ่น 1.6 GDi Turbo ซึ่งแข็งกระด้างมากกว่า
และสะเทือนกว่ากันชัดเจน จะเชื่อหรือไม่ว่า ในบางหลุมบ่อ ที่ล้อหน้า-หลัง ต้องหล่น
ลงไป แล้วกลับขึ้นมา ช่วงล่างของ 1.6 GDI Turbo จะอยู่ตรงกลางระหว่าง ช่วงล่าง
ของ Toyota 86 ซึ่งซับแรงสะเทือนได้ดีกว่าจนแอบ Smooth กันนิดนึงด้วยซ้ำ! แต่
ยังไม่แข็งกระด้างและสัมผัสได้ถึงความแน่นหนา เท่าช่วงล่างของ Mercedes-Benz
A250 Sport AMG และ MINI Cooper S ทุกตัวถัง

แต่พอเข้าสู่ย่านความเร็วเดินทาง บนถนนหรือระบบทางด่วนที่สามารถใช้ความเร็วได้
สูงขึ้น ตั้งแต่ 80 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไป บอกได้เลยว่า ช่วงล่างของทั้ง 2 รุ่น 
หนึบและแน่น กำลังดี ให้การทรงตัวที่ดีกว่าที่คิด และให้ความมั่นใจในการขับขี่ทางตรง
และทางโค้งยาวๆต่อเนื่อง ได้ดีจนน่าทึ่ง จะว่าไปแล้ว คุณสมบัติด้านการเซ็ตช่วงล่างให้
ดี และขับขี่มั่นใจได้แบบนี้ กลายเป็น บุคลิกของรถยนต์เกาหลีใต้ ยุคใหม่ไปแล้ว

ยิ่งในช่วงเข้าโค้งบนทางด่วน ไม่ว่าจะเป็น โค้งขวายาว เหนือทางต่างระดับมักกะสัน
มุ่งหน้าไปเข้าโค้งซ้ายหนักๆ เชื่อมเข้าสู่ทางด่วนขั้นที่ 1 ฝั่งตรงข้ามโรงแรมเมอเคียว
ยังทำความเร็วได้ 95 และ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนโค้งขวารูปเคียว ช่วงทางต่าง
ระดับ คลองเตย โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนท์ Veloster ทั้ง 2 รุ่น สามารถเข้าโค้ง
ดังกล่าวนี้ ได้ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ในช่วงความเร็วสูง หลังจาก 180 – 190 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว ความมั่นใจใน
การควบคุมรถ จะเริ่มลดน้อยลง เป็นธรรมดา และอาการด้านหน้าลอยยกตัวขึ้น จะเพิ่มขึ้น
เล็กน้อย ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงความเร็วสูงสุด แม้ว่าฝากระโปรงหน้า จะถูกออกแบบให้
ช่วยเพิมแรงกด หรือ down Force บริเวณด้านหน้ารถแล้ว แต่ผมมองว่า ถ้าสามารถ
เพิ่มแรงกดขึ้นอีกนิดหน่อย ก็จะช่วยเพิ่มความนิ่ง ในการขับขี่ช่วงความเร็วสูงแบบนี้ได้
แน่นอน แต่มันจำเป็นหรือเปล่า เพราะในชีวิตปกติทั่วไป คนที่จะขับรถเร็วเกินระดับ 180
กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป มันก็มีไม่เยอะเท่าไหร่นัก เว้นเสียแต่ชาวเยอรมัน เพราะพวกเขา
มีถนนสาย Autobahn ให้เค้นสมรรถนะกันได้สุดๆ ซึ่งนั่นก็ว่ากันอีกเรื่อง

สรุปว่า ภาพรวมของช่วงล่างทั้ง 2 รุ่น เป็นช่วงล่างในแนว Sport คือ ค่อนข้างแข็งใน
ช่วงความเร็วต่ำ แต่หนักแน่นและมั่นใจได้ดีในการเข้าโค้ง หรือขณะใช้ความเร็วสูง
มันยังไม่ใช่ช่วงล่างที่พร้อมให้คุณพาไปลงสนามแข่งใดๆได้ทันที เพราะวิศวกร
ตั้งใจปรับแต่งให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้สบายกว่า ต่างกันแค่ รุ่น 1.6 GDi Turbo
ในช่วงความเร็วต่ำ จะแข็ง และสะเทือนกว่ารุ่น 1.6 MPi อยู่นิดหน่อย เท่านั้นเลย

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายอากาศ รุ่น 1.6 MPI จานเบรกคู่หน้า
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 280 มิลลิเมตร แต่รุ่น 1.6 GDi Turbo จานเบรกคู่หน้าจะมีขนาด
ใหญ่ขึ้นเป็น 300 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง ทั้ง 2 รุ่น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน
คือ 262 มิลลิเมตร

ทั้ง 2 รุ่น ติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution)
กับ ระบบเพิ่มแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้

แต่เฉพาะรุ่น GDI Turbo จะมีตัวช่วยพิเศษ เพิ่มเข้ามา นั่นคือกลุ่มระบบควบคุมเสถียรภาพแบบ
องค์รวม VSM (Vehicle Stability Management) ประกอบด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพขณะ
ออกตัวป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (Traction Controls Syatem) ระบบป้องกันการลื่นไถลขณะ
เข้าโค้ง ESP (Electronics Stability Program) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC
(Hill Start Assist Control)

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับแบบคลานๆ ในเมือง ไปตามสภาพการจราจรติดขัด ระบบเบรก
ทำงานได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร ชะลอรถให้หยุดลงอย่างไม่ยากเย็นนัก แป้นเบรกอาจมีระยะ
เหยียบ แบบกลางๆ ค่อนไปทางลึกนิดหน่อย

ส่วนในช่วงความเร็วสูงนั้น ระบบเบรก ทำงานได้ดีมาก หน่วงความเร็วได้ดีมาก และแถมยัง
เบรกให้นุ่มนวล ในระดับใช้ได้ ตอบสนองได้ดีกว่า Hyundai Sonata Sport อยู่นิดหน่อย

ด้านความปลอดภัย หลายคนอาจเป็นห่วงว่า การออกแบบ เสาหลังคาให้แตกต่างกันใน 2 ฝั่ง
ของตัวรถแบบนี้ จะมีผลต่อความปลอดภัยหรือไม่

Hyundai บอกว่า ไม่ต้องห่วงเลย เพราะพวกเขา เลือกใช้เหล็กชั้นดี เกรด Ultra High-Tensile
Steel จาก บริษัทเหล็กของตนเองอย่าง Hyundai Steel มาใช้ขึ้นรูปโครงสร้างตัวถัง ที่ได้รับ
การออกแบบเรื่องการกระจายแรงปะทะมาอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณโครงสร้างหลังคา
เสาหลังคากลาง B-Pillar ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งต้องติดตั้งเยื้องกัน ตามตำแหน่งบานประตู จนถึง เฟรมพื้นรถ

ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ ได้แก่ ไฟเบรกดวงที่ 3 กับพนักศีรษะ Active Headrest
มีมาให้ทั้ง 2 รุ่น จะดันตัวยกขึ้นรองรับศีรษะผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ในกรณีถูกชนท้าย
ถุงลมนิรภัย คู่หน้า มีมาให้ทั้ง 2 รุ่น แต่ในรุ่น GDi Turbo จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้างมาให้
อีก 2 ใบ รวมเป็น 4 ใบ จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ที่เบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง
มีมาให้เฉพาะรุ่น GDi Turbo เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ มีส่วนให้ Hyundai Veloster มีผลทดสอบการชน ของ EuroNCAP ออกมาในระดับ
5 ดาว ตั้งแต่รุ่นปี 2011 เป็นต้นมา โดยได้คะแนนปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้าถึง 96%
การปกป้องผู้โดยสารเด็ก 89% การช่วยลดอันตรายเมื่อปะทะกับคนเดินถนน 49% และระบบ
ช่วยเหลือ Safety Assist ต่างๆ อยู่ที่ 71%

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกอ่านต่อได้ที่นี่
http://www.euroncap.com/results/hyundai/veloster/2011/441.aspx

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

แม้ว่าจะเป็นรถยนต์ที่หลายคนไม่ได้สนใจเรื่องความประหยัดน้ำมันกันนัก แต่เชื่อว่าคงมี
บางคนบ้างละ ที่อยากรู้ว่า Veloster จะกินน้ำมันเท่าไหร่ และถือว่าประหยัดพอไหม หาก
คิดจะพามาใช้ชีวิตด้วยกันที่บ้าน

เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเพลิงเฉลี่ย ด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ เติมน้ำมันเบนซิน 95
ที่ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน เยื้องสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ สักขีพยาน
ยังคงเป็น น้องโจ๊ก V10ThLnD แห่ง The Coup Team เราอยู่เหมือนเคย

และในเมื่อรถยนต์รุ่นนี้ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อ ไม่ได้ซีเรียส กับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
มากเท่ากับรถยนต์ปรเะเภท ECO Car , B-Segment หรือรถกระบะ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมัน
เบนซิน 95 Techron เอาแค่หัวจ่ายตัดก็เพียงพอ

เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังความจุ 50 ลิตร เรียบร้อยแล้ว เราคาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์
เปิดแอร์ แล้วออกรถ มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ บนถนนพหลโยธิน จากนั้น เลี้ยวซ้ายเข้าซอ
อารีย์ ลัดเลาะ มาออกหลังโรงเรียนเรวดี เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 6 เพื่อไปขึ้นทางด่วน
พระราม 6 แล้วขับกันยาวๆ จนถึง ปลายทางด่วนสายเชียงราก แล้วเลี้ยวกลับ

เรายังคงรักษามาตรฐานการทดลองเดิมของเราเอาไว้ คือ วิ่ง 110 กิโลเมตร./ชั่วโมง เปิดแอร์
นั่ง 2 คน และเราใช้ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ซึ่งถือเป็น Hyundai
รุ่นแรก ที่ระบบนี้ ทำงานไม่งี่เง่า รักษารอบเครื่องยนต์ และความเร็วรอบ ให้คงที่และสัมพันธ์
ต่อกัน พอเวลาขึ้นทางชัน รถก็ไม่ได้เร่งเครื่องยนต์ เพื่อดึงกำลังลาก และฉุดรั้งมากนัก ดังนั้น
ข้อนี้ ถือเป็นข้อที่ Hyundai ปรับปรุงได้แล้วเสียที แต่ในรุ่น 1.6 MPI ไม่มีระบบ Cruise
Control มาให้ เราก็คงต้องใช้ระบบ Teen Control พยายามเลี้ยงคันเร่งให้นิ่งๆกันต่อไป

เมื่อถึงทางลงอนุเสาวรีย์ขัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย ลัดเลาะมาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับ
ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เติมน้ำมันเบนซิน
95 ตามเดิม หัวจ่ายเดิมเป๊ะ และแค่หัวจ่ายตัดเป๊ะ ก็เพียงพอ

เรามาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยกันดีกว่า

เริ่มจากรุ่น 1.6 GDI Turbo 6AT ก่อน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 93.0 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซินเติมกลับ 7.00 ลิตรพอดี
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.28 กิโลเมตร/ลิตร

ก็ถือว่า แอบกินน้ำมันอยู่เหมือนกันนะ ทำได้ดีกว่าแค่เพียง Mitsubishi Lancer EX เท่านั้น

ส่วนรุ่น 1.6 MPI 6AT นั้น
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 93.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซินเติมกลับ 6.13 ลิตรพอดี
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.23 กิโลเมตร/ลิตร

ถือวาประหยัดอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว สำหรับรถยนต์ในกลุ่มนี้

หากดูจากตารางเปรียบเทียบแล้ว แม้ว่าคุณจะเห็นพัฒนาการของเครื่องยนต์ กับระบบ
ส่งกำลังของ Hyundai ตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงวันนี้ ว่าพวกเขาก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมมาก
เพราะเครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง อัตราเร่ง ในรุ่น 1,600 ซีซี GDI ดีขึ้นกว่ารุ่นเครื่องยนต์
2,000 ซีซี เดิม

แต่ในการใช้งานจริง รุ่น 1.6 MPI ก็ยังให้ความประหยัดเพื่อการขับขี่ใช้งานในชีวิต
ประจำวัน ได้ดีพอกันกับ Toyota 86 เกียร์ธรรมดา และ Volkswagen Golf GTi Mk VI
กระนั้น พละกำลัง ก็ยังด้อยกว่ากันเยอะ

ขณะเดียวกัน รุ่น Turbo จะกินน้ำมันกว่าอย่างชัดเจน เข็มน้ำมันลดลงค่อนข้างเร็วนิดนึง
ถ้าคุณขับเร็วกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นประจำ แถบมาตรวัดน้ำมันในรุ่น Turbo หล่น
ลงไปถึงครึ่งถึง ทั้งที่ Trip Meter บอกว่า เพิ่งแล่นไปได้ 200 กิโลเมตร เท่านั้น แม้ว่าจะเกิน
มาตรฐาน ค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ในยุคสมัยนี้ ราวๆ 12 กิโลเมตร/ลิตร
แต่ Veloster Turbo ก็หาเรื่องให้คุณต้องเติมน้ำมันรถคันนี้อยู่เรื่อยๆ ได้เหมือนกัน ก็แน่ละ
อัตราเร่ง ซึ่งมารออยู่ปลายเท้าขวา มันช่างยั่วตา ล่อใจ เร้าความรู้สึก ให้เหยียบคันเร่งมิดได้
บ่อยกันกันเหลือเกิน

********** สรุป **********
ถ้าจะซื้อจริงๆ เล่นรุ่น Turbo ไปเลยเถอะ!

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมเห็นผู้คนจำนวนหนึ่ง มักตั้งคำถามอันสุดแสนโคตรจะ Classic
ว่า “ทำไมค่ายรถยนต์ ถึงไม่เอารถสปอร์ต สวยๆ ราคาถูก มาขายคนไทยบ้างซะที?” พอมี
บางบริษัท สั่งเข้ามาขาย ค่าตัวของมัน ก็แพงเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จะเอื้อมถึง

วันนี้ Hyundai เขาจัดมาให้คุณแล้ว แถมมาพร้อมความโดดเด่นชนิดที่ ต้องมองกันเหลียวหลัง
เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบภายนอก ซึ่ง ยากที่จะบอกได้ว่า มันสวยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ
ทุกคนที่ได้เห็นรถคันนี้ครั้งแรก น่าจะคิดเห็นตรงกันว่า มัน”แปลก” และยิ่งถ้าได้สีตัวถังแบบ
สดๆ เจ็บๆ แปร๋นๆ จะยิ่งเพิ่มความสวยแบบเปรี้ยวปรี๊ด ทะลุขึ้นมากลางใจอย่างประหลาด

ต้องยอมรับว่า นี่คือหนึ่งในรถยนต์ที่ Hyundai ทำออกมาได้ดีที่สุดรุ่นหนึ่ง เท่าที่พวกเขาเคย
สั่งเข้ามาขายในเมืองไทย (เราคงยังไม่นับ Genesis หรือ Equus/Centenial เพราะมันแพง
และยังไกลตัวจากคนไทยไปหน่อย) สมรรถนะจากเครื่องยนต์รุ่น 1.6 GDi Turbo นั้น แม้
ยังไม่อาจเทียบชั้นได้กับขุมพลัง TSI ใน Volkswagen Scirocco หรือ Golf GTi แต่ก็ท้าทาย
Toyota 86 ที่ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Boxer ได้อยู่เหมือนกัน พวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาได้
ลงตัวสำหรับรถยนต์ที่ต้องออกแบบให้มีทั้งบุคลิกสปอร์ต แต่ต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน
ได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น ช่วงล่าง มั่นใจได้ดีในช่วงความเร็วเดินทาง ไม่เกินไปกว่า
180 กิโลเมตร/ชั่วโมง และยังคงพาคนขับ เล่นกับโค้งได้อย่างสบายๆ สนุกพอตัว แถม
เรื่องเบรก ก็ยังทำได้ในระดับไม่เลวเลย

ที่สำคัญก็คือ สมรรถนะของรถนั้น เหมาะสมกับค่าตัวที่จ่ายออกไป ถือได้ว่า เป็นรถยนต์
แบบ Sport ที่มีค่าตัว ถูกที่สุดในตลาดเมืองไทยตอนนี้ ไปเรียบร้อยแล้ว แหงละสิ เพราะ
ค่ายอื่น เขาไม่คิดจะเอารถยนต์ประเภทนี้ มาขายบ้านเราในราคาที่ถูกกว่านี้ นี่หว่า

ถึงขั้นที่ผมเองยังเอ่ยปากกับตาแพน Commander CHENG ตอนที่เราทำคลิปลองขับ
กันเลยว่า “Hyundai รุ่นนี้ มันไม่ธรรมดาเลยนะ!”

แน่นอนละ ตัวรถมันอาจยังมีเรื่องให้ต้องปรับปรุงแก้ไขกันอยู่ มีอยู่ ไม่กี่ข้อ ดังนี้

– สมรรถนะของเครื่องยนต์ 1.6 MPi ธรรมดา ที่ยังอืดไปหน่อย เครื่องยนต์ลูกนี้ต้องการเกียร์
  ธรรมดา มาเชื่อมมากกว่าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติ
– เกียร์อัตโนมัติ ของรุ่น 1.6 MPi ยังต้องการอัตราทดช่วงเกียร์ 3 ที่ยาวกว่านี้อีกนิดหน่อย
– การตอบสนอง ของพวงมาลัยไฟฟ้า ที่จะต้องมีบุคลิกเป็นธรรมชาติมากกว่านี้
– การเพิ่มความแน่นหนาของโครงสร้างตัวถัง ให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ เพราะหลังจากผ่านทริป
  อันแสนสมบุกสมบัน ข้ามไปฝั่งกัมพูชา ดูเหมือนว่า ตัวรถจะแอบคลายตัว ลดความแน่นหนา
  ลงไปบ้างเล็กน้อย
– ทัศนวิสัยด้านหลัง ตีบตัน อันเกิดมาจากเส้นสายภายนอกของตัวรถ (อันนี้ต้องทำใจ)
– อาจต้องเพิ่มสปอยเลอร์ด้านหน้า ให้มีแรงกด ด้านหน้า หรือ Down Force เพิ่มกว่านี้อีก
  เล็กน้อย ในรุ่น 1.6 GDi Turbo เพื่อรองรับลูกค้าตีนโหด ที่ชอบขับรถเร็วๆ ข้อนี้ไม่ซีเรียส
  มากนัก แต่ถ้าทำได้ ก็ดี
– อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 1.6 GDi Turbo ควรจะทำได้ดีกว่านี้

แต่ทั้งหมดนั้น มันก็เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ทุกรุ่นทุกคัน ที่ย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสีย อยู่บ้าง
เป็นธรรมดา ไม่มีรถยนต์คันไหนในโลกนี้หรอก ที่สมบูรณ์แบบมาแต่กำเนิด ชนิดที่ว่า
ไร้ซึ่งข้อตำหนิควรปรับปรุงมาเลย มันก็ไม่มี

เอาละ ในเมื่อ Hyundai เขาจัดมาให้คุณแล้ว อย่างที่หลายๆคน เรียกร้องกันดีนัก

คำถามคือ มีเหตุผลใด ที่จะยังทำให้คุณถึงตัดสินใจ ไม่ซื้อรถคันนี้?

ถ้าจะบอกว่า เป็นเพราะ ชื่อชั้นของ Hyundai มันยังไม่อาจเทียบเคียงกับเจ้าตลาดได้
ผมว่า ก็มีส่วน จริงอยู่ว่า Hyundai พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องบริการหลังการขายมาได้
ค่อนข้างดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ทุกวันนี้ ในแต่ละปี ผมมักจะเจอเคสลูกค้า Hyundai
เข้ามาร้องเรียนกับผม แค่เพียง 1-2 ราย ต่อปี เท่านั้น! จัดว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกั
ทั้ง ปริมาณรถที่ขายออกไป และปริมาณเรืองร้องเรียนจากยี่ห้ออื่นๆที่ผมได้รับใน
แต่ละปี

กระนั้น ชื่อชั้นของแบรนด์ Hyundai ยังไม่เท่ ในสายตาของคนทั่วไป ต่อให้เทียบ
กับแบรนด์รองบ่อน อย่าง Chevrolet Ford Mazda หรือแม้แต่ Suzuki ทั้งหมด
4 แบรนด์ ที่เอ่ยมา ต่างมีบุคลิกเท่ๆ ในสไตล์ของตัวเองชัดเจน

เหรอ?….ขอโทษนะครับพี่ งานออกแบบตัวรถที่เด่นมาแต่ไกล กระแทกทุกสายตา
บนถนนขนาดนี้ พี่ยังบอกว่าไม่เท่อีกเหรอ?? แล้วต้อง เจ๋งแค่ไหน ถึงจะเท่? ให้
ถอดโลโก้ Hyundai แล้วแปะตรา Honda เลยเอาไหม?

ถ้าบอกว่า ไม่สวย ไม่ชอบงานออกแบบ…OK ครับ นานาจิตตัง

ถ้าจะบอกว่า ห่วงเรื่องศูนย์บริการ ยังไม่แพร่หลาย? ก็ขอให้ลองเข้าไปดูในรายชื่อ
ตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัดที่เว็บไซต์ของพวกเขาก่อน..ผมไม่ทำลิงค์ให้นะครับ
แค่คุณเลื่อนหน้าจอบทความรีวิวนี้ ไปด้านบนสุด แล้วคลิกแบนเนอร์ Hyundai
นั่นง่ายกว่ากันเยอะเลย!

และถ้าจะบอกว่า ราคาไม่เหมาะสม แพงเกินไป ผมคนหนึ่งละที่ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาหลัก
เพราะราคาขายปลีกหน้าโชว์รูมที่ตั้งมา แสดงให้เห็นเลยว่า Hyundai เอง ทำการบ้าน
กันมาอย่างหนักแล้ว ถึงได้มีค่าตัวออกมาดังนี้

1.6 MPI 6AT      1,299,000 บาท
1.6 GDi Turbo    1,739,000 บาท
เฉพาะรุ่น 1.6 GDi Turbo นั้น ถ้าต้องการสี เทาด้าน Petrol Grey เพิ่มอีกแค่ 10,000 บาท เท่านั้น

จริงอยู่ หลายคนอาจมองด้วยมุมของผู้บริโภคว่า

Q : อะไรกัน เครื่องยนต์ แค่ 1.6 ลิตร ทำไมแพงจัง ตั้ง 1.3 ล้านบาท?

A :  เอ๋า! คุณพี่ นี่มันรถนำเข้าจากเกาหลีใต้แท้ๆ นะครับ ภาษีนำเข้า ต้องจ่ายเต็มอัตรา แบบเดียวกัน
กับรถยนต์นำเข้าจากทั้งเยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีส่วนลด สิทธิพิเศษ
ทางภาษี เหมือนรถยนต์ ที่ผลิตจากประเทศใน ASEAN ด้วยกัน อย่าง Indonisia , Malaysia
หรือ Philipines ที่จะจ่ายภาษีนำเข้าแค่ 5% หรือรถประกอบในประเทศไทย สักหน่อย ถ้าทำ
แบบนั้น ป่านนี้ ราคาถูกกว่านี้เยอะไปนานแล้ว

Q : แล้วทำไมไม่ส่งมาประกอบขายในเมืองไทยกันละ?

A : แหม! ขนาดนำเข้าทั้งคัน ยอดขายยังมีอยู่แค่นี้เลย ถ้าเอาเข้ามาประกอบขาย ต้องลงทุนอีก
หลายร้อยล้านบาท ขายได้แค่เท่าเดิม หรือเพิ่มมาอีกแค่ 100 กว่าคัน/เดือน ก็ยังเจ๊งบ๊งอยู่ดี
ถ้าเป็นแบบนี้ มีหรือว่า บริษัทแม่จะยอมให้ Hyundai สั่งชิ้นส่วน CKD ของ รถยนต์รุ่นนี้
หรือรุ่นไหนๆ มาประกอบกันได้ง่ายๆ? อย่างคราวที่แล้ว Hyundai พยายามจะสั่ง Sonata
รุ่นเก่า มาประกอบขาย ก็ต้องไปจ้างโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ รายนั้นเขาก็ต้องเจียด
กำลังการผลิตรถยนต์ Mercedes-Benz มาประกอบให้ สุดท้าย ขนาดตั้งราคากันโดนใจ
แต่ก็ยังขายไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ชาวเกาหลีใต้ เขาก็เข็ดสิครับพี่ ลงทุนแล้ว ผลตอบกลับ
มันไม่คุ้มค่า เขาก็ไม่กล้ามาลงทุนง่ายๆหนะสิ!

Q : อ้าว? แล้วรุ่นนี้ ถ้ามาประกอบขายมันอาจจะรุ่งก็ได้ ไม่ลองก็ไม่รู้ ทำไมไม่ลองดูละ?

A : พี่ครับ พี่เคยได้ยินว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูล ก่อนการตัดสินใจลงทุน”
กันไหมครับ? เรากำลังพูดถึงก้อนเงินนับร้อยๆ ล้าน บาท หรืออาจมากกว่านั้นนะครับพี่
สั่งรถมาประกอบขายนะครับ ไม่ใช่ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง ถ้าพลาดขึ้นมา ขายไม่ออก
ขึ้นมา ผม (คน Hyundai) โดนด่า ตกงาน พี่จะอุปการะเลี้ยงดูผมและครอบครัวไหมครับพี่?

Q : งั้นจงขายไม่ดีแบบนี้ต่อไปละกัน…!
A : เง้อ! ซะงั้น!

เฮ้อ…ฟังคน 2 ฝ่าย ยืนอยู่คนละขั้ว เถียงกันแบบนี้ แล้ว เพลียตับห่านมากๆ แถมฝ่ายผู้บริโภค
ก็ยังไม่แน่ชัดเลยว่า ไอ้ที่ถามมาข้างบนหนะ ถามเพราะสนใจจะซื้อจริง หรือแค่ ถามไปเฉยๆ
พวกหลังนี่เยอะกว่าพวกแรกซะด้วยเนี่ยสิ!

แต่ปัญหาสำคัญหนะ มันอยู่ที่ว่า ราคาของ Veloster ต่อให้เหมาะสมยังไง ก็ยังมีรถยนต์อีกมาก
ในระดับราคา ตั้งแต่ 1.2 – 2 ล้านบาท อีกหลายคัน หลายประเภท รอให้ลูกค้ามาตัดสินใจร่วมด้วย
ต่างหาก!

ลองมานั่งดูกันเล่นๆดีกว่า ว่าเงิน 1.2 – 2 ล้านบาท คุณจะซื้ออะไรได้บ้า

กลุ่ม B-Segment Sub-compact
Skoda Fabia RS 1.4 TSI Turbo 180 แรงม้า ตัวแสบ โผล่เข้ามาอย่างน่าชื่นตาบาน

กลุ่ม C-Segment Compact Class
Chevrolet Cruze 2.0 Diesel Turbo VCDi หลงฝูงมาคันเดียว เพราะตั้งราคาแพงกว่าเพื่อน

กลุ่ม D-Segment Mid-size Class
แน่นอนว่า Toyota Camry / Camry HYBRID , Honda Accord , Nissan Teana , 
Skoda Superb และแม้แต่ Hyundai Sonata Sport เอง ก็เป็นทางเลือกที่อยู่ในระดับร
ราคากลุ่มนี้ (นี่ยังไม่นับ Mazda 6 และ Honda Accord HYBRID ซึ่งมีกำหนดจะเปิดตัวใน
เมืองไทย กลางปี 2014 อีกด้วยนะ!!)

กลุ่ม Compact SUV
มีทั้ง Honda CR-V , Chevrolet Captiva , Mazda CX-5 , Nissan X-Trail (ตัวใหม่
เปิดตัวในเมืองไทย ช่วงต้นปี 2014) รวมทั้ง Hyundai Tucson ก็อยู่ในตัวเลือกกลุ่มนี้้ด้วย

กลุ่ม SUV Base on Pickup (PPV)
Toyota Fortuer , Mitsubishi Pajero Sport , Isuzu MU-X , Chevrolet Trailblazer ,
และ Ford Everest ต่างก็ล้วนจอดนอนอ้าขา..เอ้ย แขน..รอต้อนรับทุกๆท่าน ที่โชว์รูม
ของแต่ละค่ายกันอยู่แล้ว

กลุ่ม Premium Compact
ไม่น่าเชื่อว่า กลุ่มผู้ผลิตชาวยุโรป ก็เริ่มจับตลาดล่าง เพิ่มทางเลือกให้กลุ่มลูกค้าที่อยากหรู
แต่งบน้อย กันมากขึ้น Volvo V40 2.0 Turbo 1.85 ล้านบาท มาจ่อคิวก่อนเพื่อน ตามด้วย
Mercedes-Benz A180 ซึ่งดูจะเหมาะกับลูกสาวเศรษฐี มากกว่าชายหนุ่มรักอิสระ แต่ก็มี
BMW 116i โผล่มาร่วมวงกับเขาด้วย และที่บ้าไปกว่านั้น BMW 316i เพิ่งโผล่เข้ามาด้วย
ค่าตัว 1.8 – 1.9 ล้านบาท แต่ได้ออพชัน ไม่หนีจาก 320i เท่าใดเลย!

เอาละ เมื่อเห็นรายชื่อรุ่นรถยนต์ต่างๆ เหล่านี้ กันจนครบแล้ว คุณก็คงสงสัยแล้วใช่ไหมว่า
ในเมื่อตัวเลือกมันมีมากมายดั่งฝูงลิงเช่นนี้ แล้วจะยังเหลือเหตุผลอะไรที่คุณยังจะต้องซื้อ
Veloster มาขับกันอีก?

บางคน ถึงขั้นเอื้อนเอ่ย วาจา อันแสนจะน่าร้ากกกกกก ออกมา (ได้ยังไงวะ) ว่า

“โอ้ย…อีสุวรรณมาลี ดูราคาแพงแบบนี้…กูไปซื้ออย่างอื่นมาขี่ก็ได้!”

ใครคิดแบบนี้…จงเปลี่ยนความคิดซะ! อย่างด่วน

ถ้าอ่านรายชื่อตัวเลือกข้างต้นทั้งหมดแล้ว ใครที่ยังพอฉุกคิดได้บ้าง ก็คงจะเริ่มตระหนัก
ได้ว่า รถยนต์ แต่ละรุ่น แต่ละประเภท ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อตอบสนอง ความต้องการ
และการใช้งานที่แตกต่างกันไป..”โดยสิ้นเชิง”

คุณจะเอา Camry/Accord / Teana ไปขนอิฐ หิน ปูน ทราย ก็ไม่ใช่เรื่อง หรือจะเอา
316i ไปลุยป่าฝาดง พรงไพร ขนอุปกรณ์การเรียนไปแจกผู้ยากไร้ นั่นก็ดูจะเป็นการใช้รถผิด
วัตถุประสงค์ฃอย่างแรง

ดังนั้น อย่าคิดนำ Veloster ไปเปรียบเทียบกับรถยนต์นั่งกลุ่มอื่นๆ ทั้งหลายแหล่โดยเด็ดขาด
เพราะ Hyundai ตั้งใจออกแบบรถยนต์รุ่นนี้มา เพื่อสร้างความบันเทิงในการขับขี่ แถมพก
ความแรงที่มีมาให้พอเร้าใจ ในราคาที่สมเหตุสมผล มากกว่าจะสร้างรถยนต์คันนี้ขึ้นมาเพื่อ
เอาใจ คนบ้าออพชัน และต้องการแต่ความคุ้มสุดๆ ทำตัวเป็นนักมองหาเครื่องหมายถูก
จำพวก โรลแบ็ก ตามห้าง Discount Store ทั่วๆไป ซึ่งมักเป็นคนที่ ลืมมองข้อเท็จจริง 
ว่าโลกนี้ มีทั้ง รถยนต์ราคาถูก แต่ออพชันก็น้อย และรถยนต์ที่อัดออพชันมาให้ท่วมคัน แต่
ราคาก็แพงกว่าความเป็นจริง อยู่ควบคู่กัน

แน่นอนว่า Veloster ไม่เหมาะแก่การเป็นรถยนต์คันแรกของบ้าน หรือครอบครัวใครเลย
มันควรเป็นรถยนต์คันที่ 2 หรือแม้กระทั่ง คันที่ 3 ของครอบครัว ที่อยากได้รถสปอร์ตแบบ
ขับสนุกๆ สักคัน ต่อให้คุณจะโสด แต่งงานแล้ว มีลูกน้อย หรือหย่าร้าง มันก็เป็นรถที่พา
คุณโลดแล่นไปบนเส้นทางเรียบๆ ได้ดี

แต่ขณะเดียวกัน Veloster เอง ก็มีความแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งมากพอจะสร้างรอยยิ้ม
ให้กับตาแพน Commander CHENG กับคนที่เท้าหนัก แต่ยังเกรงใจกระเป๋าตังค์ตัวเอง
หรือคู่ชีวิตอยู่

ทีนี้ ถ้าตัดสินใจแล้วว่า จะซื้อ Veloster คำถามก็คือจะเลือกรุ่น Turbo ไปเลยดีไหม?

แน่นอนครับ แรงกว่า ขับสนุกกว่า ก็ต้องเป็นรุ่น Turbo แบบไม่ต้องคิดมาก

แต่ถ้าสถานะทางการเงิน ทำให้คุณยังไม่มั่นใจนัก รุ่น 1.6 MPI จะให้คุณขับได้แค่สวยๆ
โฉบไปโฉบมา ชนิดที่ว่า คนขับ Volkswagen Golf GTi สีขาว ทะเบียน XX 72 ที่ผมเจอ
บนถนนวิภาวดีรังสิต ในวันที่เพิ่งรับรถมาลองขับ ยังถึงขั้น เบรกชะลอรถดูบั้นท้าย ของ
เจ้าเหลืองน้อย จนหัวทิ่ม ทั้งที่อยู่ในเลนข้างๆ ผม แต่ต้องทำใจกับอัตราเร่งแซงกันหน่อยนะ

Veloster ทุกรุ่น มันเหมาะสำหรับ คนที่มองหารถสปอร์ต สมรรถนะค่อนข้างดี ในราคาที่รับได้
เพื่อใช้งาน ในชีวิตประจำวัน และยังพอจะเอาไปอวดสาว ได้บ้าง

ถ้าสาวคนนั้น เขาชอบของแปลก เหมือนๆ คุณ!

—————————-///—————————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to
คุณสฤษฎร์พร สกลรักษ์ ,พี่แกะ,คาลอส  
และทีมงานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ , Marketing และ Product Planing
บริษัท Hyundai Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง

—————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นภาพวาด Sketch และภาพถ่ายรถรุ่นก่อนๆ ลิขสิทธิ์เป็นของ
Hyundai Motor Company ประเทศเกาหลีใต้
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
23 ตุลาคม 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 23rd,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE