ยังจำได้ดี ว่ามีคุณผู้อ่านท่านหนึ่ง ถามไถ่ไว้ตั้งนานแล้วว่า ผมจะมีโอกาส ทดลองขับ
หรือทำรีวิว Mercedes-Benz M-Class กับเขาบ้างหรือไม่ ตอนนั้น ได้แต่ตอบไปว่า
สักวันหนึ่ง ถ้ามีโอกาส คงจะได้ลอง…

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเรา ถ้าดวงจะได้เจอกับอะไร หรือเบื้องบน เขากำหนดมา
ให้เราได้เจอ หรือไม่เจอกับอะไร คอยดูเถอะ เดี๋ยวทุกสิ่ง ก็จะเป็นไปตามนั้นเอง

แล้วก็จริงๆ ซะด้วย โอกาสที่ว่า ก็เข้ามาทักทายผม จนได้ ในที่สุด
เพียงแต่…กว่าจะเข้ามาทักทาย เวลาก็เดินมาถึงช่วง เดือนพฤศจิกายน 2009

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังกันเอาไว้ เมื่อในรีวิว Mercedes-Benz SLK 200 Kompressor
เอาไว้ว่า ด้วยเหตุที่ ทาง ฝ่ายพีอาร์ ของ MBTh จู่ๆ โทรมาบอกเลื่อน C220CDI
ที่จองคิวไว้อย่างกระทันหัน และโดยไม่มีกำหนด ซึ่งทางผมก็ไม่ว่าอะไร
เพราะรู้ดีว่า บางที แต่ละบริษัท ก็อาจจะต้องมีเหตุให้จัดคิวรถต่างๆนาๆ
ดังนั้น ถ้าใครที่มีความจำเป็นมากกว่าผม ก็ควรจะให้พวกเขาไปก่อน
ก็เป็นแบบนี้กันมาเสมอ 

และ สงสัยอยู่ว่า อาจเป็นเพราะการที่ผมไม่ว่าอะไร ไม่โวยวายก่ายกอง เหมือนอย่างที่คนอื่นๆ
เขาชอบทำกันกระมัง…หรือเปล่าก็ไม่รู้… จู่ๆ Mercedes ก็พุ่งพรวดพราดมาหานะเธอถึง 2 คันรวด
คันแรก ก็คือ SLK 200 Kompressor เราจัดลงเว็บ Headlightmag.com ของเรา ไปเรียบร้อยแล้ว  

ส่วนอีกคันหนึ่งนั้น จังหวะเดียวกันที่ยังพูดคุยเลือกรถกันทางโทรศัพท์ ตัวเลือกอื่นที่
น่าสนใจไม่แพ้กันคือ S300…แต่…เพราะเดาได้ว่า น่าจะผ่านศึกหนักมาเยอะอยู่
ผมจึงยอมที่จะยังไม่เลือก S300 ในตอนนั้น แต่ เลือกจะขอจองคิว ML 280 CDI Sport เอาไว้ก่อน

แล้วผมก็คิดถูก เพราะเมื่อถึงวันรับรถจริงๆ ML280 CDI คันสีขาว ที่ผมเคยเล็งเอาไว้
ตั้งแต่ต้นปี 2009 ถูกปลดประจำการไปแล้ว และผู้ที่จะมารับหน้าที่แทน รถคันสีขาวนั้น
ก็คือ คันสีเงิน ที่จอดอยู่ตรงหน้าผม นี่เอง สภาพสดใหม่กิ๊กกว่าคันสีขาวเยอะแยะ

หลังคืนรถกับทาง Mercedes-Benz Thailand ไปแล้ว เวลาล่วงเลยไป ค่อนข้างนาน
สารพัดรถยนต์ รุ่นซึ่งอยู่ในแผน ต่างพากันทะยอย ตัดหน้า แซงคิว ML280 CDI
กันไปหลายต่อหลายคัน ด้วยเหตุผลจำเป็นมากมาย ตามแต่คนเขียนจะยกขึ้นมากล่าวอ้าง (แหะๆ)
บางครั้ง ตั้งใจจะปล่อยออกมาแล้ว แต่ก็มีเหตุการณ์วุ่นวาน มาขัด ทำให้ต้องเลื่อนออกมาอีกนิดหน่อย

จนถึงวันนี้ เห็นทีว่า ขืนปล่อยให้ลากยาวกันต่อไป ดูจะไม่ได้การแล้วละ
รีวิวนี้ จึงได้คลอดออกมาให้คุณๆ ได้อ่านกัน สมดังใจทุกฝ่ายกันเสียที

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ที่บทความชิ้นนี้ออกสู่สายตาคุณผู้อ่าน รถรุ่น ML280 CDI นั้น
น่าจะหมดสต็อกไปแล้ว และมีการนำรถรุ่นใหม่ รุ่น ML300 CDI BlueEFFICIENCY
เข้ามาทำตลาดแทน ด้วยราคา 5,990,000 บาท ในรุ่นมาตรฐาน และ 6,199,000 บาท
ในรุ่น Premium Edition เลยต้องขอแจ้งเอาไว้ ย้ำกันด้วยตัวหนาสีเข้มๆ เพื่อความเข้าใจ
ที่ตรงกัน

กระนั้น ด้วยเหตุที่ สเป็กของเครื่องยนต์ในด้านต่างๆ  ทั้งพละกำลัง แรงม้า แรงบิด
ไปจนถึง อัตราทดเกียร์ต่างๆ ก็ยังคงเหมือนเช่นรถรุ่นก่อนหน้านี้ ดังนั้น ตัวเลขที่
ML280 CDI คันนี้ ทำออกมาได้ ก็น่าจะพอช่วยให้คุณๆ พอมองเห็นภาพได้ว่า
ML300 CDI BlueEFFICIENCY จะน่าใช้เพียงพอ ให้จ่ายเงิน 5 ล้านบาทปลายๆ
ถึง 6 ล้านบาทต้นๆ เพื่อครอบครอง เป็นเจ้าของหรือไม่

แต่ก่อนอื่น ผมต้องทำตาม ธรรมเนียมปฏิบัติ เหมือนเช่นทุกรีวิวเคยเป็นมา
นั่นคือ พาคุณนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลา ศึกษาเรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิด
ของรถรุ่นนี้กันเป็นปฐมบท

ในอดีตกาลนานกว่า 30 ปีขึ้นไป Mercedes-Benz มีรถยนต์ตรวจการอเนกประสงค์ ซึ่งถือเป็น
ต้นแบบของรถยนต์ SUV ในปัจจุบัน อยู่เพียงรุ่นเดียว รถรุ่นนั้นชื่อว่า Gelande Wagen
มีรหัสรุ่นจำพวก 300GD หรืออะไรเทือกๆนี้ ซึ่งต่อมา ถูกจับเข้าระบบเรียกชื่อรุ่นแบบปัจจุบัน
ของ Mercedes-Benz นับตั้งแต่ปี 1993 ว่า G-Class

การเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะ
ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ Mercedes-Benz ตัดสินใจ ทำรถยนต์ SUV ที่สามารถใช้งานในเมือง
ได้อย่างสะดวกโยธิน ไม่แพ้การพาไปลุยป่าเขาลำเนาลำธารต่างๆ ออกมาแข่งขันกับชาวบ้าน
ชาวช่องเขาเสียที นั่นคือ จุดกำเนิดของ SUV ขนาดกลาง ยุคใหม่ รุ่นแรก จากค่ายตราดาวสามแฉก

และเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตที่กำลังจะเกิดขึ้น ในเดือนกันยายน 1993
Mercedes-Benz ตัดสินใจ ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของตนในสหรัฐอเมริกาขึ้น
ที่เมือง Tuscaloosa มลรัฐ Alabama เอาไว้เตรียมขึ้นสายการผลิต SUV รุ่นใหม่นี้โดยเฉพาะ

Gerhard Fritz : Project development manager ของโครงการ W163 และลูกทีมของเขา ตั้งใจจะสร้าง
รถรุ่นนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงแรกที่ยังเป็นภาพสเก็ตช์บน drawing board วางพื้นฐานให้
โครงสร้างพื้นฐานของตัวรถ เป็นแบบ Body On Frame (แบบรถกระบะ) สุดท้าย ก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น

หลังจากเปิดตัวในฐานะรถต้นแบบ AA Vision ในงานดีทรอยต์ออโตโชว์
เดือนมกราคม 1996 และ ในงานเจนีวา ออโตซาลอน 2 เดือนหลังจากนั้น
(มีนาคม 1996) M-Class รุ่นแรก รหัสรุ่น W163 เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกครั้งแรก
ณ งานเปิดตัวที่โรงงาน Alabama เมื่อ 21 พฤษภาคม 1997 จากนั้น จึงเริ่มทำตลาด
ในสหรัฐอเมริกา เดือนกันยายน 1997 แล้วจึงเริ่มส่งออกสู่ตลาดยุโรปในเดือน
มีนาคม 1998

รุ่นหลักสำหรับทำตลาดทั่วโลกคือ ML320 เครื่องยนต์ V6 218 แรงม้า (HP)
ขณะที่รุ่น ML 230 เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 150 แรงม้า (HP) จะมีเฉพาะในยุโรป
รุ่นท็อป จะใช้รหัส ML 430 เครื่องยนต์ 270 แรงม้า (HP) เปิดตัวตามมาในปี 1998 
ก่อนที่ เวอร์ชันแรงสุด ML 55 AMG 347 แรงม้า(HP)จะตามมาในปี 1999
ในปีเดียวกันนั้นเอง รุ่นดีเซล ML 270 CDI เครื่องยนต์ 5 สูบเรียง 163 แรงม้า (HP)
ก็คลอดออกมา และได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป

ปี 1999 Mercedes-Benz ตัดสินใจลงทุนเพิ่มอีก 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขยายโรงงาน
รองรัการเพิ่มกำลังผลิตของโรงงาน Tuscaloosa พร้อมกันนั้น ในปีเดียวกัน M-Class
รุ่นแรก ได้รับรางวัล “World Car Award” ตามด้วยอีกสารพัดรางวัล และนับตั้งแต่
เปิดตัว จนถึงสิ้นปี 1999 M-Class รุ่นแรก ขายไปได้ถึงกว่า 100,000 คัน พอเข้าสู่
เดือนสิงหาคม 2000 DaimlerChrysler ก็ลงทุนเพิ่มอีกถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้

หลังการปรับโฉม Facelift ในเดือน 2001 รถรุ่น ML 230 และ ML 430 ถูกถอดจากการผลิต
เพื่อแทนที่ด้วย ML 500 292 แรงม้า (HP) พร้อมกันนี้ ยังได้เพิ่มรุ่น ML 400 CDI รุ่นดีเซลตัวท็อป
วางเครื่องยนต์ V8 CDI 250 แรงม้า (HP) ทำตลาดต่อเนื่องจนถึง เดือนธันวาคม 2004

ส่วน คันที่เห็นอยู่ในรูปข้างบนนี้คือรุ่น Final Edition ออกสู่ตลาดโลกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2004

ยอดผลิต M-Class รุ่นแรก จากโรงงาน Tuscaloosa ตั้งแต่ปี 1999 จนถึง 2002 นั้น อยู่ที่
570,000 คัน ส่วน อีก 77,100 คันที่เหลือ สำหรับการทำตลาดในยุโรปนั้น เป็นผลงานจาก
โรงงาน Magna Steyr ในเมือง Graz ประเทศ Austria.

ตลอดอายุตลาดที่ผ่านมา นอกจากจะขายดิบขายดี เพราะออกสู่ตลาดในจังหวะที่
ตลาดรถยนต์ SUV ในสหรัฐอเมริกา กำลังเริ่มเบ่งบานบูมตูมตาม กันอย่างน่าตกใจ
จนผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ต่างพากันจับตามอง M-Class รวมทั้งคู่แข่งอย่าง BMW X5
Land Rover Discovery ฯลฯ แล้วก็พากันทำรถยนต์ลักษณะคล้ายๆ กัน ออกมาขาย
เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว

M-Class ยังมีส่วนร่วม ในฐานะ นักแสดงสมทบ ของภาพยนตร์ Hollywood
เรื่องดัง อย่าง Jurasic Park ภาค 2 อีกด้วย! และนั่น ยิ่งช่วยทำให้ภาพของ
M-Class ติดตราตรึงใจ ครอบครัวชาวอเมริกันกลุ่มเริ่มร่ำรวย มากขึ้นไปอีก
ผลก็คือ หนังเรื่องนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งกระแส ที่ช่วยเพิ่มยอดขายรถรุ่นนี้อย่างต่อเนื่อง 

เมื่อยอดขายของรถรุ่นแรก มันพุ่งสูงปรี๊ด ถึงระดับประมาณ 650,000 คัน ทั่วโลก
(นับตั้งแต่ เริ่มต้นคลอดจากสายการผลิตในปี 1997 จนถึงยุติการผลิตรถรุ่นแรก ในเดือน
ธันวาคม 2005) นั่นแสดงว่า Mercedes-Benz มาถูกทางแล้ว และเห็นว่า ตลาดกลุ่มนี้
ยังมีช่องทางขยายไปได้อีกพักใหญ่ และนั่นคือ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ผู้บริหารของ
DaimlerChrysler (ในสมัยที่ยังแต่งงานกันอยู่ และยังมิได้หย่าร้างกับ Chrysler จนต้อง
แยกตัวออกมาเป็น Damiler AG ฉายเดี่ยวจนถึงทุกวันนี้) เปิดไฟเขียว ให้มีการพัฒนา  
M-Class เจเนอเรชันต่อมาได้อย่างสะดวกโยธิน

M-Class ใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้รหัสรุ่น W164 โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นตัวถัง
จากเดิมซึ่งเป็นแบบ Body on Frame (นึกถึงรูปแบบโครงสร้างของรถกระบะในบ้านเราไว้ครับ)
ให้กลายมาเป็นแบบ Unibody  ซึ่งมีการฝังโครงสร้างเฟรมแชสซี เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับ
พื้นตัวถังไปเลย โครงสร้างพื้นตัวถังของ M-Class ใหม่ ยังถูกนำไปพัฒนาต่อเนื่อง
เพื่อใช้ใน Mercedes-Benz GL-Class รหัสรุ่น X164 อันเป็น Premium Mid-size SUV 7 ที่นั่ง
แต่มาในรูปลักษณ์เหลี่ยมสัน อนุรักษ์นิยม อีกด้วย

งานออกแบบ M-Class ใหม่เริ่มต้นหลังจากที่รถรุ่นแรก ออกสู่ตลาดไปได้ ประมาณ 3 ปี
ทีมออกแบบ พยายามจะคงรูปแบบแนวเส้นดั้งเดิมของตัวรถเอาไว้ ขณะเดียวกัน ก็พยายาม
เพิ่มขนาดตัวรถให้ดูกว้างขึ้น ยาวขึ้น เตี้ยลง และเสริมแนวเส้นต่างๆ เข้าไปรอบคันรถ
เน้นการออกแบบรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น เพื่อให้รถดูทะมัดทะแมงขึ้น และโดนใจ
ลูกค้าในสหรัฐอเมริกา อันเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของรถรุ่นนี้ เป็นสำคัญ

เมื่องานออกแบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งรูปลักษณ์ ภายนอกภายใน ไปจนถึงงานวิศวกรรมทั้งคัน
เพื่อให้แน่ใจในคุณภาพ และความทนทาน รวมทั้งพยายามค้นปัญหา ที่สามารถแก้ไขได้
ก่อนรถจะออกสู่ตลาด Mercedes-Benz จึงต้องทดสอบ M-Class ใหม่อย่างหนักหน่วง
ในสภาพภูมิอากาศต่างๆกัน ทั้งหนาวเย็นสุดขั้ว หรือร้อนจนสุดขีดคลั่ง บนทุกรูปแบบ
สภาพถนนจริง ในหลายๆประเทศทั่วโลก

และเมื่อถึงขั้นตอนเตรียมการผลิตจริง งานนี้ Mercedes-Benz ต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกกว่า
600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับปรุงสายการผลิตของ M-Class (และยังต้องรองรับการผลิต
รถรุ่น R-Class ไปด้วยในเวลาเดียวกัน) ณ โรงงาน Tuscaloosa มลรัฐ Alabama สหรัฐอเมริกา
โดยมุ่งเน้นในเรื่อง การปรับปรุง ด้านคุณภาพการผลิต เป็นสำคัญ

เจเนอเรชันที่ 2 ของ M-Class รหัสรุ่น W164 เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ
ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นครั้งแรก เมื่อ 8 ธันวาคม 2004 ก่อนที่รถรุ่นนี้ จะเปิดตัวครั้งแรก
ในโลก (World Premier) ที่งาน The North American International Auto Show 
หรือ NAIAS หรือ ดีทรอยต์ออโตโชว์ เมื่อ 9 มกราคม 2005

หลังจากเริ่มทำตลาดช่วงเดือนเมษายน 2005 ไปได้ราวๆ 2 เดือนเศษๆ Mercedes-Benz
ก็ประกาศเมื่อ 11 กรกฎาคม 2005 นั้นเองว่า มียอดสั่งจอง และปล่อยรถรวมกันแล้ว
ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนถึง ณ ขณะนั้น มากถึง 26,500 คัน! ถือเป็นตัวเลข
ที่สูงเป็นประวัติการณ์

และหลังการเปิดตัว Mercedes-Benz ก็ยังคงทะยอยส่งรุ่นย่อยใหม่ และรุ่นพิเศษ กระตุ้นตลาด
ต่อเนื่องกันเนืองๆ เริ่มจาก ML 63 AMG เผยภาพแรกออกมา เมื่อ 2 กันยายน 2005 ก่อนขึ้นแท่น
อวดโฉมอย่างเป็นทางการในงาน แฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 61 เมื่อ 12 กันยายน 2005
วางเครื่องยนต์ V8 DOHC 32 วาล์ว 6,208 ซีซี 510 แรม้า (PS) ที่ 6,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
64.2 กก.-ม.ที่ 5,200 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 7G Tronics ความเร็วสูงสุด ล็อกเอาไว้ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เว้นว่างไปพักใหญ่ 13 กรกฎาคม 2007 รุ่นพิเศษ Edition 10th ก็ออกสู่ตลาด ฉลองในโอกาสที่
M-Class มีอายุครบรอบ 10 ปีพอดี ติดตั้ง ไฟคู่หน้าแบบไบซีนอล (Bi-xenon) ในกรอบรมดำ
พร้อมระบบฉีดน้ำทำความสะอาดไฟหน้า ระบบปรับโคมไฟหน้ารถตามการเลี้ยวของพวงมาลัย
(ALS – Active Light System) และระบบส่องสว่างขณะเลี้ยวโค้ง (Cornering Light) / กระจังหน้า
สีไทเทเนียมประดับด้วยคิ้วโครเมี่ยม และสัญลักษณ์ EDITION 10 ที่ข้างตัวรถ แผงป้องกัน
ใต้กันชนหน้า – หลัง ผลิตจากสเตนเลสสีไทเทเนียม ล้ออัลลอยแบบสปอร์ต 5 ก้าน สีเทาไทเทเนียม
ขนาด 20″ (8.5J x 20 ET56) พร้อมยาง 265/45/ R20 ไฟท้ายรมดำสไตล์สปอร์ต พร้อมปลายท่อไอเสีย
สแตนเลส ทรงสี่เหลี่ยมแยกซ้าย – ขวาจำนวน 2 ท่อ กระจกกรองแสงสีฟ้ารอบคันรถ เพดานห้องโดยสาร
และด้านบนของคอนโซลตกแต่งด้วยโทนสีดำ ห้องโดยสารตกแต่งด้วยลายไม้ Anthracite Poplar
ประดับคิ้วโครเมียม แผงหน้าปัดดีไซน์สปอร์ต พร้อมชุดไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งหุ้มด้วย
หนังสีดำ แผงข้างประตูบุด้วยหนัง ARTICO / ที่พักเท้า แป้นเบรก และคันเร่งสปอร์ต สเตนเลสปัดเงา
พร้อมปุ่มยางกันลื่นสีดำ พรมรองพื้นพร้อมสัญลักษณ์ EDITION 10

13 มีนาคม 2008 รุ่นปรับโฉม Face Lift / Minorchange เปิดตัวในสหรัฐอเมริกา
(รวมทั้งเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ML 320 BlueTEC ML 420 CDI 4MATIC และ ML 63 AMG)

และล่าสุด รุ่นพิเศษ ML63 AMG 10th Anniversary และรุ่น Performance Studio สีดำทมึฬ
ออกสู่ตลาดเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008

นับตั้งแต่เปิดตัว จนถึงตอนนี้ Mercedes-Benz ผลิต M-Class ขึ้นที่โรงงาน Tuscaloosa
ในสหรัฐอเมริกา เพียงแห่งเดียว และทำยอดขายไปแล้วเกินกว่า 300,000 คัน ในกว่า
135 ประเทศ ทั่วโลก ถือว่า M-Class ประสบความสำเร็จค่อนข้างสวยงาม และกลายเป็น
รถอีกรุ่นหนึ่งที่ทำรายได้ให้กลุ่ม Damiler อย่างเป็นกอบเป็นกำ รองจาก E-Class C-Class
และ S-Class

ส่วนรุ่นที่คุณๆ เห็นกันอยู่นี้ เป็นรุ่น ML 280 CDI Sport New Generation ซึ่งออกสู่ตลาด
เมืองไทย ครั้งแรก เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009

ในระยะหลังๆมานี้ นับตั้งแต่ E-Class W211 เป็นต้นมา ถ้าเมื่อใดที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์
ใช้คำว่า New Generation ในการโฆษณา ประชาสัมันธ์ อะไรก็ตาม ขอให้เข้าใจตรงกันว่า
รถรุ่นนั้น มันคือรุ่นปรับโฉม Minorchange จากรุ่นแรก The Original ไปเรียบร้อย
และนั่นก็หมายความว่า ตอนนี้ รถรุ่นดังกล่าว ได้เดินทางมาถึงช่วงกลางอายุตลาดแล้ว
เช่นกัน

มิติตัวถังมีความยาว 4,781 มิลลิเมตร กว้าง 1,911 มิลลิเมตร สูง 1,774 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,915 มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่า ก็ปาเข้าไป 2,185 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว
ถ้ารวมน้ำหนักที่บรรทุกได้ทั้งหมด 645 กิโลกรัมเข้าไป ML 280 CDI จะมีน้ำหนักตัว
มากถึง 2,830 กิโลกรัม….

เมื่อเปรียบเทียบกับ รถรุ่นเดิม W163 แล้ว M-Class ใหม่ W164 จะยาวกว่าเดิม
150 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 71 มิลลิเมตร เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ
ยาวขึ้น 95 มิลลิเมตร สรุปว่า ตัวรถ “ป่องขึ้นแต่ดูลงตัวขึ้น ทะมัดทะแมงขึ้นกว่าเดิม”

ส่วนค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน ก็ลดลงจากรุ่นเดิม (Cd 0.40-0.42) เหลือ Cd 0.34-0.36

ความแตกต่างที่เปลี่ยนไปจาก W164 รุ่นเดิม มีทั้งการออกแบบกระจังหน้าใหม่ สีเงิน
ประดับด้วยโครเมียม ลายสปอร์ต อย่างกับถอดมาจากรถต้นแบบ เปลือกกันชนหน้า
รวมทั้งแผ่นปิดกันกระแทก ใต้เปลือกกันชนหน้า โครเมียม ก็ถูกออกแบบขึ้นใหม่
เช่นเดียวกับ ชุดไฟหน้า แบบ Bi-Xenon พร้อมระบบปรับโคมไฟหน้า ตามองศาการเลี้ยว
ของพวงมาลัย รวมทั้งไฟตัดหมอกหน้า ที่ทำงานร่วมกับระบบ เพิ่มแสงส่องสว่างขณะ
เข้าโค้ง หรือ Conering Light ซึ่งจะทำงานเมื่อหักพวงมาลัยไปทางใดทางนึ่ง ไฟตัดหมอก
ฝั่งที่คุณหักพวงมาลัย เลี้ยวตาม ก็จะติดสว่างขึ้นมา

ส่วนด้านหลัง มีการเปี่ยนชุดไฟท้าย เป็นแบบรมสำ ดูสปอร์ตขึ้น เปลือกกันชนหลัง
พร้อมแถบทับทิมสะท้อนแสง และแผ่นปิดใต้กันชนหลัง กันกระแทกเวลาขึ้นทางชัน
ดีไซน์ใหม่ ปลอกท่อไอเสียสแตนเลส ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง
ราวหลังคาอเนกประสงค์ มาให้เสร็จสรรพ สามารถต่อพ่วงกับรางในแบบอื่นๆ ที่จะ
เอาไว้ใช้แบกของ หรือจักรยาน ฯลฯ ได้อีกมากมาย รวมทั้งไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED
ติดตั้งอยู่ที่สปอยเลอร์เหนือฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง

นอกเหนือจากการปรับปรุงงานออกแบบภายนอก ให้ดูสปอร์ต ทะมัดทะแมงขึ้น
และแสดงถึงพลังอำนาจ ที่พร้อมจะท้าทายถูกรูปแบบถนนซึ่งรออยู่ข้างหน้าแล้ว
ภายในห้องโดยสารเอง ก็ยังมีการปรับปรุงให้สอดรับกับบุคลิกที่ดุดันขึ้นของตัวรถ
ในภาพรวมด้วยเช่นเดียวกัน

บานประตูคู่หน้า เปิดกางออก ทางเข้าเบาะนั่งคู่หน้า มีขนาดใหญ่โต
การเข้าออกนั้น สำหรับคนตัวสูง จะไม่มีปัญหาเลย แค่เพียงหย่อนก้นลงไป
บนเบาะ ก้มหัวลงเพียงนิด เข้าไปอยู่ใต้หลังคารถ เหวี่ยงขาจากพื้นขึ้นไป
วางไว้บนพื้นที่วางขาด้านหน้า แค่นี้ ทั้งร่าง ก็เข้าไปอยู่ในตัวรถเรียบร้อยแล้ว

แต่ สำหรับคนเอเซีย อย่างเราๆท่านๆ ที่ไม่ได้สูงโปร่งเหมือนฝรั่งทั้งหลาย
การขึ้นรถคันนี้ ก็เหมือนกับ BMW X5 ผู้เป็นคู่แข่งนั่นละ อาจต้องออกแรง
ยกตัวเอง เข้าไปนิดนึง แม้จะไม่ได้ถึงขั้นต้องปีนป่ายเป็นลิง เหมือนพวก
รถยนต์ Off-Road ทั่วๆไป แต่ก็ไม่ถึงกับสะดวกเสร็จ 5 ดาว เท่าใดนัก

อีกประการหนึ่งที่ผมมองว่า M-Class ใหม่ มีปัญหาเหมือนกันกับ คู่แข่งอย่าง
X5 เป๊ะเลย นั่นคือ ชายล่าง สีดำ ใต้ประตูทั้ง 4 บาน ที่ติดตั้งเป็นแนวยาว นั่นละครับ
ถ้าคุณพาเจ้า M-Class ของคุณ ไปลุยโคลน หรือทางฝุ่น แล้ววันนั้น เป็นวันที่คุณ
มีนัดทำธุระ ต้องใส่กางเกงสแล็ค รองเท้าหนัง ไปคุมงาน หรือไปตรวจการ
เปิดประตูรถเมื่อไหร่ เลี่ยงยังไง ก็เลี่ยงการเปรอะเปื้อน จากชายล่างสีดำ ได้ยากมาก
จนชวนให้สงสัยว่า ทำไม คู่รักคู่แค้น จากคนละฟากฝั่งเมือง ทั้งในเยอรมัน
และสหรัฐอเมริกา ถึงดันมาพบเจอปัญหาเดียวกัน ราวกับมิได้นัดหมายมาก่อน
เลยทั้งคู่!!??

เบาะนั่งทุกตำแหน่ง บุด้วยหนังแบบ ARTICO สลับกับผ้าสักกะหลาดสังเคราะห์ ALCANTARA
(ลิขสิทธิ์ของ DUPONT) ในบริเวณที่รองรับสรีระของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เบาะนั่งด้านหน้า เป็นแบบ
ปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ที่ย้ายตำแหน่งสวิชต์ ลงไปอยู่ที่ด้านข้างของเบาะรองนั่ง เหมือนรถยนต์ทั่วไป
แทนที่จะติดตั้งไว้ ณ แผงประตู เหมือน Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ พร้อมหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ
ทำงานร่วมกับ ระบบปรับระดับสูง-ต่ำ และระยะใกล้-ห่าง ของพวงมาลัย ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า และ กระจก
มองข้าง ปรับและพับเก็บ-กางออก ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า รวม 3 ตำแหน่ง พร้อมสวิชต์ปรับที่ดันหลัง หรือ
Lumbar Support ปรับได้ 4 ทิศทาง เป็นเช่นนี้ เหมือนกัน ทั้งเบาะคนขับ และฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย

เบาะนั่งคู่หน้า ค่อนข้างสบาย หากขับทางไกล อาจมีเมื่อยนิดๆ แต่ไม่ปวดหลัง ตำแหน่งนั่ง ถือว่า ลงตัว
การวางแขนที่แผงประตูด้านข้าง รวมทั้ง ฝาเปิดกล่องคอนโซลกลาง อันเป็นที่วางแขนบุหนัง ในตัว
ทำได้ดีมากๆ ประเสริฐจนไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอีก พื้นที่เหนือศีรษะ โล่ง โปร่งสบายตามรูปแบบ
ที่ SUV ทั่วไปทุกคัน พึงต้องเป็น

การเข้าออก และขึ้นลง เบาะผู้โดยสารด้านหลังนั้น เจอปัญหาเหมือนกับตอนเข้าออก
จากเบาะคู่หน้า นั่นคือ พลาสติกชายล่าง ใต้ขอบประตูรถลงไป อาจก่อความสกปรกให้กับ
กางเกง หรือกระโปรงได้โดยง่าย ส่วน พื้นที่วางขา แม้จะดูเหมือนมีน้อย และ ช่วงกรอบประตู
เบียดบังพื้นที่การเหวี่ยงขาขึ้นและลงจากรถไป เหมือนกับ SUV ทั่วๆไป แต่ก็ยังถือว่า
เป็นเรื่องปกติ ที่วางแขนบนแผงประตูหลัง (ซึ่งมีช่องใส่ของมาให้เหมือนแผงประตูคู่หน้า)
ใช้วางแขนได้จริง และสบายพอสมควร

เรื่องที่ต้องขอชมเชยกันตรงนี้เลย ก็คือ เบาะหลังของ M-Class ใหม่นั้น
นั่งสบายที่สุด ในบรรดา SUV หลายๆรุ่น ที่เคยผ่านมือของพวกเรามา
เบาะรองนั่ง นิ่มและแน่นกำลังดี ฟองน้ำไม่นิ่มย้วย ขณะที่พนักพิงหลัง
ก็ยังให้สัมผัสที่กำลังดี ไม่นุ่มไม่แข็งเกินไป ที่วางแขน แบบพับเก็บได้
ใช้งานได้จริง แต่ช่องวางแก้วที่ให้มา 2 ตำแหน่งนั้ เหมาะจะวางเครื่องดื่ม
แบบกระป๋องมากกว่า พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ออกแบบมาตามสมัยนิยม
เมื่อดึงขึ้นใช้งาน ก็ไม่มีปัญหาอะไรกับต้นคอ แต่ถ้าไม่ยกขึ้นมาใช้
ก็อาจก่อความรำคาญให้กับต้นคอได้ สรุปคือ นั่งหลังรถเมื่อไหร่
ยกขึ้นมาปรับระดับแล้วใช้งานซะเถอะ จะได้ใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์
ส่วนที่วางแขนบนแผงประตูข้าง ก็ใช้งานได้ดีจริง เหมือนแผงประตูคู่หน้า
ติดตั้ง เข็มขัดนิรภัยเบาะแถวหลังเป็นแบบ 3 จุด ELR พร้อมระบบ
Pretensioner & Load Limiter (ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
มาให้ครบทุกตำแหน่ง)

พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องห่วง ถ้าตัวไม่สูงจนเปรตต้องแหงนมองหน้า
รับประกันได้ว่า ยังไง ศีรษะคุณ ก็ไม่ติดเพดาน

ตำแหน่งวางขา ก็วางได้กำลังดี ไม่ถึงกับต้องชันเข่าขึ้นมา
ผมว่า แทบทุกตำแหน่งนั่ง ของ M-Class ใหม่ ให้ความสบาย
กับผู้โดยสารทุกคนได้อย่างแท้จริง และถือว่า ดีที่สุดในกลุ่ม
SUV ขนาดกลาง เลยทีเดียว

ถือเป็น SUV คันแรกและคันเดียว ที่ผมไม่มีเรื่องให้บ่นในทุกตำแหน่งเบาะนั่งเลย!!! 

นอกจากนี้ เบาะแถวหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ขั้นตอนการพับเบาะนั้น คุณต้องยก
เบาะรองนั่ง ขึ้นก่อน จากคันโยกที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในของเบาะรองนั่ง
ดึงออกมา ยกหงายขึ้น แล้วค่อย กดพนักศีรษะเก็บลงไปในตำแหน่งต่ำสุด
จากนั้น ดันปลดตัวล็อกที่พนักพิงหลัง พับชุดพนักพิงลงมา เพียงเท่านี้
ด้านหลังของพนักพิง จะแบนราบและยาวต่อเนื่องกับ พื้นที่วางสัมภาระ
ด้านหลัง ซึ่งบุด้วยผ้า และมีขอเกี่ยวยึดสัมภาระติดตั้งมาให้ ด้านหลัง
พนักพิงเสร็จสรรพ

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ใช้กลอนไฟฟ้า แบบเดียวกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ในยุคนี้ทั่วๆไป การออกแบบด้านข้าง รวมทั้ง ช็อคอัพ ค่ำยัน ทำออกมาได้เรียบร้อย
ในรถบางรุ่น จะมี ระบบปิดฝาประตูด้านหลัง ด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะดีดกลับทันที
ถ้ามีสิ่งกีดขวาง เช่น ปิดลงมาแล้วเกิดทับหัวเจ้าของรถพอดี มันก็จะดีดกลับขึ้นไป
ให้โดยเรียบร้อย แต่เจ้าของรถอาจเจ็บหัวนิดนึง เพราะแรงกดลงมา ก่อนที่ระบบ
จะพบสิ่งกีดขวางนั้น ค่อนข้างใช้เวลาเกิน 1 วินาที ไปนิดนึง

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระมีขนาดใหญ่โต โอ่โถงเอาการ วัดได้ปริมาตร 835 ลิตร
ตามมาตรฐาน VDA เยอรมัน ยิ่งเมื่อพับเบาะหลังลงด้วยแล้ว ความจุก็จะยิ่ง
เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ไปอยู่ที่ 2,050 ลิตร (VDA)  มีแผงม่านบังสัมภาระ
แบบม้วนพับเก็บได้ ติดตั้งมาให้ ซึ่งใช้งานได้ดี ตามมาตรฐานรถแวกอนจากยุโรป
ทั่วๆไป

ส่วนใต้พื้นห้องเก็บของ เมื่อยกขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ ซ่อนตัวเก็บไว้
พร้อมชุดเครื่องมือประจำรถ ขณะที่ มีสายรั้งพื้นห้องเก็บของที่ยกขึ้นมา
เกี่ยวเอาไว้กับยางขอบประตูด้านบนได้ ที่ผนังฝั่งซ้าย มีช่องเก็บเครื่องมือ
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เอาไว้ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และที่พื้นห้องเก็บสัมภาระ
มีขอเกี่ยวยืดรั้งข้าวของมาให้เรียบร้อย เสร็จสรรพ ทั้ง 4 มุม

ชุดแผงหน้าปัดในภาพรวม จัดวางตำแหน่ง อุปกรณ์ต่างๆ ออกแบบในสไตล์สปอร์ตติดหรู
แต่ดูผ่านๆ แบบเผินๆ แล้ว ชวนให้นึกถึง แผงหน้าปัดของ Chevrolet AVEO ขึ้นมานิดๆ….!

สิ่งที่ทำให้เหมือนหนะ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ช่องแอร์ กับรูปแบบของ การเดินแนวเส้นสัน
ตรงแผงคอนโซลกลาง เกือบจะทั้งหมด เพียงเท่านั้น ที่เหลือ ก็ไม่ได้ดูคล้ายไปมากมายนัก
วัสดุที่ใช้ตกแต่งห้องโดยสารนั้น จัดอยู่ในเกณฑ์ดี สมราคา ให้สัมผัสที่ดีในเกือบจะทุกพื้นผิว
ที่พรมนิ้วลงไปลูบไล้

แป้นคันเร่ง แป้นเบรก และแป้นเบรกจอด เป็นแบบอะลูมีเนียม สไตล์สปอร์ต
ในยามค่ำคืน มีไฟเรืองแสง Illumination Light ตามจุดต่างๆ รอบๆภายในรถ
สร้างบรรยากาศในการเดินทางที่ผ่อนคลาย ได้ดี ไฟเรืองแสงแบบนี้ กลายเป็น
มาตรฐานใหม่ ที่รถยนต์ระดับ Premium ในปัจจุบันทุกคัน ต้องมี ไปแล้ว ไม่รู้
แน่ชัดเหมือนกันว่า ใครเป็นคนคิดเทรนด์นี้ขึ้นมา?

พวงมาลัย 4 ก้าน มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 385 มิลลิเมตร ตกแต่งด้วย แม็กนีเซียม
มีสวิชต์ MultiFunction แบบวงกลม แบ่งส่วนเหมือนขนมเค้ก มาให้ ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย-ขวา
ถูกปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้น

ทำงานร่วมกับจอ Multi Information Display ตรงกลาง ระหว่าง มาตรวัดความเร็ว
และมาตรวัดรอบ คุณสามารถเลือกกดปุ่มบนพวงมาลัย เพื่อให้หน้าจอ แสดงข้อมูลต่างๆ
ของตัวรถได้ ทั้ง Trip Meter อุณหภูมิภายนอกรถ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time ไปจนถึง ระยะเวลาตั้งแต่ออกรถ
ระยะทางที่น้ำมันเชื้อเพลิงในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้ ความเร็วเฉลี่ย
การปรับตั้ง Setup ระบบต่างๆของรถ ก็ทำได้จากปุ่ม และหน้าจอตรงนี้ทั้งหมด

กรอบนอกของชุดมาตรวัด ตกแต่งด้วยลายโครเมียม สีเงิน สไตล์สปอร์ตติดแนวหรู
ดูสวยงามดี มีชาติตระกูล มีมาตรวัดน้ำมันในถัง พร้อมไฟเตือนที่ต้องสังเกตถึงจะเห็นว่ามี
และนาฬิกาแบบเข็มมาให้ แต่ดูเหมือนว่า จะไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิของน้ำในระบบหล่อเย็น
มีเพียงสัญญาณเตือน เหมือนรถสมัยใหม่ทั่วไป แต่มีไฟเตือนระบบต่างๆในรถมาให้ครบถ้วน

นอกจากนี้ สวิชต์ บนพวงมาลัย ยังสามารถสั่งการชุดเครื่องเสียง เล่น CD/MP3 ได้ 6 แผ่น
แสดงผลบนจอ Multi Information Display หรือให้แสดงผลบน จอมอนิเตอร์ ของระบบ
COMAND APS พร้อมช่องเสียบ AUX-In สำหรับต่อเชื่อมเครื่องเล่นเพลงต่างๆ ได้อีกด้วย

คุษภาพเสียงที่ออกมานั้น ถือว่าดีกว่า Mercedes-Benz หลายๆคันที่ผมเคยลองขับมา
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรูปแบบห้องโดยสารของ SUV อย่าง M-Class นั้น ว่ากันว่า
เซ็ตระบบเสียงออกมาได้ เหมาะสมที่สุด หากต้องการฟังเพลงในรถ รื่นรมย์ สบายๆ
และไม่ต้องเปลี่ยนชุดเครื่องเสียง ถ้าคุณไม่ใช่นักฟังหูเทพระดับทองอะไรมากมายนัก

ในรถคันที่เราทดลองขับ ติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation System พร้อม
แผนที่ฝังมาในระบบเสร็จสรรพ การป้อนข้อมูล ก็ชวนให้ผมนึกถึงสมัยที่ยังเล่นกับ
ระบบนำทางของ C-Classs W204 เลย คือ ถ้าป้อนผิดอักษรไปตัวเดียว ก็อย่าหวังว่า
จะหาเส้นทางเจอ และคุณต้องป้อนให้ถูกอักขระที่ตั้งไว้ในระบบด้วยนะ (-_-‘)

เครื่องปรับอากาศ เป็นระบบ THERMOTRONIC สามารถปรับอุณหภูมิแยกฝั่งได้
ทั้ง ฝั่งซ้าย-ขวา และด้านหน้า-หลัง เย็นฉ่ำๆๆ จนหนาวสั่นงั่นงกได้อย่างรวดเร็ว

ถัดลงมาจากสวิชต์เครื่องปรับอากาศ เป็นสวิชต์ไฟฉุกเฉิน สวิชต์ เปิด-ปิดระบบ
ควบคุมการทรงตัว ESP ระบบเซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอด ParkTronic ระบบ
ตั้งล็อกความเร็วขณะลงเขา ASR

ใบปัดน้ำฝน มีมาให้ทั้งหน้า-หลัง พร้อม Ran-Sensor วัดปริมาณน้ำฝน
ส่วนก้านที่เพิ่มขึ้นมาในฝั่งขวาของรูปนี้ คือระบบควบคุมความเร็วคงที่
Cruise Control ซึ่งถ้าคนที่เคยใช้ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ มาก่อน
คงพอจะคุ้นเคยบ้าง แต่กับคนที่ไม่ได้ขับเบนซ์ทุกวันอย่างผม ก็ต้อง
รื้อฟื้นความจำในการใช้งานกันใหม่ อยู่บ่อยๆ

ในเมื่อ ย้ายคันเกียร์ ขึ้นไปไว้บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นก้านเล็กๆ
และย้ายเบรกมือ ไปเป็นแบบ เบรกจอด ใช้เท้าซ้ายเหยียบแทน
ทำให้ ทีมออกแบบ นำช่องวางแก้ว หน้าตาเหมือน เตาปิ้งย่างเนื้อ
ในร้านอาหารญี่ปุ่น แถวๆ ถนนธนิยะ กับทองหล่อ มาวางไว้ 2 ตำแหน่งแทน
วางแก้วกาแฟ หรือขวดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากหน่อย พอได้
แต่ถ้าเป็นขวดน้ำ 7-8 บาท ก็ยังไม่ถึงกับดีนัก

เมื่อเปิดฝากล่องเก็บของ (ที่ออกแบบให้เป็น ที่วางแขนบุหนัง ไปในตัว
ตอนแรกก็นึกว่าจะใหญ่โต น่าจะเก็บของได้เยอะ ที่ไหนได้ แค่ใส่กล่อง CD ลงไป
ก็ยังทำไม่ได้เลย สรุปว่า เอาไว้ใส่ของจุกจิก เล็กๆน้อยๆ เช่นพวก เครื่องเล่นเพลง
MP3 หรือ โทรศัพท์ เคลื่อนที่ หนะดีกว่า

อันที่จริง ผมชอบการออกแบบแผงคอนโซล ตรงกลางของ ML ใหม่ เพราะออกแบบสวยดี
แต่ก็ยังทำใจไม่ได้เท่าไหร่ กับการคว้าอากาศไปเจอขวดน้ำ ยามที่คิดจะเข้าเกียร์.. (T_T)

ช่องเก็บของบริเวณแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสาร แบ่งเป็น 2 ชั้น
แม้จะดูเหมือนมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยการแบ่งเอาไว้เป็น 2 ชั้น
เหมือนกับจะเผื่อ การติดตั้ง CD-Changer เอาไว้ด้วย ทำให้
พื้นที่บริเวณนี้ ทำได้อย่างมาก ก็แค่ วางเอกสารประจำรถ
ทั้งคู่มือผู้ใช้รถ (Mercedes-Benz ไม่เคยทำคู่มือเล่มบางจ๋องๆ มานานแล้ว
ทำออกมาแต่ละเล่ม ก็หนาเตอะ อ่านกันสะใจไปเลย ละเอียดยิบ)
ไปจนถึงสมุดทะเบียนและเอกสารประกันภัยต่างๆ ฝาปิดช่องเก็บของ
ก็เปิดเลื่อนลงมา ชนกับหัวเข่าได้เลย เปิดลงมาได้มากอย่างที่เห็น
มีไฟส่องสว่างข้างในแถมมาให้อีก 1 ดวง

เงยหน้าแหงนมองเพดานหลังคา วัสดุที่บุด้านบนนั้น นุ่มนวล
ให้สัมผัสว่าหรู ที่น่าหลงไกล แต่พร้อมจะเปรอะเปื้อนคราบใดๆ
จากมือของเราได้ง่ายเหลือเกิน

ม่านบังแดด แยกเป็น 2 ช้น เพื่อการบังแสงแดด ได้มากมุมกว่าเก่า
มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่างฝังไว้บนฝ้าเพดาน ณ จุดดังกล่าว
ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ใต้กระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติยามค่ำคืน
มีไฟส่องแผนที่ สีขาวนวล ส่วนฟส่องสว่างในห้องโดยสารนั้น มีทั้ง
บริเวณตอนกลางด้านหน้า ไปจนถึง ไฟอ่านหนังสือ ที่มือจับบนเพดาน
ทั้งฝั่งซ้าย และขวา

ที่สำคัญ ยังมี ซันรูฟ เปิดปิดได ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า แบบ One Touch
พร้อมระบบดีดกลับทันที เมื่อมีสิ่งกีดขวาง พร้อมม่านบังแสงในยามเที่ยง

กระจกหน้าต่างรอบคันทุกบาน เป็นแบบกรองแสง และฉาบเคลือบด้วย สีฟ้า

ทัศนวิสัยด้านหน้า ยังคงบุคลิกการมองเห็นสารพัดสิ่งวุ่นวายรอบตัว จากตำแหน่งนั่ง
ที่สูงกว่ารถอีกหลายๆคันบนท้องถนน ได้เป็นอย่างดี แต่ กระนั้น ก็ยังเตี้ยกว่า
Toyota Fortuner นิดนึง

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา นั้น หากขับรถไปตามปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าต้องขับเลี้ยวโค้งทางขวา ไปบนถนนที่สวนกัน รวม 2 เลนเท่านั้น
เสาหลังคา ก็พอจะมีการบดบังรถที่สวนมาอยู่นิดนึง แต่ยังพอรับได้

กระจกมองข้าง ดูเหมือนจะมีขนาดใหญ่
แต่ถ้าปรับตำแหน่งจริงๆแล้ว ก็ยังเห็นภาพได้ไม่หมด
ขอบด้านนอก มีการบดบังพื้นที่กระจกไปพอสมควร
เมื่อต้องปรับกระจกให้เห็นตัวถังรถเพียงเล็กน้อย
เพื่อเน้นมองเห็นรถคันที่ตามมาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

กระนั้น ก็ยังดีกว่า กระจกมองข้างฝั่งซ้ายก็แล้วกันครับ
มองจากตำแหน่งคนขับแล้ว กลับกลายเป็นว่า ตัวกระจกอาจจะใหญ่
แต่เมื่อต้องปรับกระจกมุมไหนๆ ก็ยากที่จะเห็นภาพรถคันที่ตามมา
ได้อย่างชัดเจน การออกแบบให้ปลายด้านนอก สามารถมองเห็นรถ
ในอีกเลนหนึ่งมากขึ้นได้นั้น แทบไม่ได้ช่วยให้มุมมองดีขึ้นกว่าเดิม
เท่าใดเลย

ส่วนเสาหลังคา A-Pillar ฝั่งซ้าย พอจะมีการบดบังทัศนวิสัยอยู่บ้าง
แต่น้อยกว่าที่คิดกัน เพราะตัวเสานั้น ยึงถือว่า หนากำลังเหมาะสม
เมื่อต้องคิดรวมในเรื่องที่ตัวโครงเสาหังคา ต้องรับแรงกระแทก
จากการชนด้วยแล้ว

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เสาหลังคา C-Pillar ที่เห็นฝั่งขวาของรูป
มีขนาดใหญ่โตมากกกกกก บัง ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ได้เกือบจะมิดทั้งคัน
แต่โชคดี ที่ ML ใหม่ มีการออกแบบเสาหลังคาด้านหลังสุด D-Pillar และ
กระจกหน้าต่างบานหลัง ทุกชิ้น ให้ดูโปร่ง ที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น ปัญหาจากการกะระยะถอยหลัง จึงมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งคันอื่นๆ
แต่ ถ้าจะต้องเปลี่ยนเลนไปทางซ้าย แล้วละก็ กรุณาดูให้ดีๆ และอาจต้องถึงขั้น
หันเหลียวไปมองด้วยตัวเองให้แน่ใจกันเลยด้วยซ้ำ

นี่ยังไม่นับว่า ถ้ามีผู้โดยสารด้านหลังนั่งมาด้วย หรือ ยกพนักพิงเบาะขึ้นด้วยนะครับ
ถ้าแบบนั้นละก็ บดบังกันเต็มมิดชัวร์ๆ

********** ราละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้า ของ ML 280 CDI นั่นคือ
เครื่องยนต์ บล็อก V6 DOHC 24 วาล์ว 2,987 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 92 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 17.7 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงข้ามห้องเผาไหม้ ในแบบ Direct Injection
ด้วยระบบ Commonrail อัดอากาศด้วย Turbo พร้อม Inrtercooler

เครื่องยนต์บล็อกนี้ ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ร่วมกันกับ รุ่น ML 320 CDI ที่ไม่ได้มีขาย
ในบ้านเรานั่นละ Mercedes-Benz เคลมว่า นี่คือ เครื่องยนต์ V6 ดีเซล แบบแรกในโลก
ที่ใช้เสื้อสูบ และฝาสูบแบบ All-Aluminium ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง ลูกสูบ
ปั้มระบบหล่อเย็น ฯลฯ และใช้โซ่ ในระบบขับวาล์ว รวมทั้งปั้มเชื้อเพลิงแรงดันสูง
ในการฉีดจ่ายเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ นอกจากนี้ ห้องเผาไหม้ ยังถูกออกแบบ
อย่างพิถีพิถัน เป็นพิเศษ เพื่อให้การจุดระเบิด เป็นไปอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ลดมลพิษ
ที่เกิดจากการเผาไหม้ลงให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

พละกำลังสูงสุด อยู่ที่ 190 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 440 นิวตันเมตร หรือ 44.83 กก.-ม. ที่รอบเครื่องยนต์
ตั้งแต่ 1,400 – 2,800 รอบ/นาที ต่อเนื่องกันแบบ Flat Torque
หมายความว่า แรงบิดสูงสุด จะเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับ 1,400 รอบ/นาที
และต่อเนื่องไปจนถึง 2,800 รอบ/นาที หลังจากนั้น กราฟ ก็จะตกลง

ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ แบบแรกในโลก สำหรับรถยนต์นั่ง
ที่เรียกว่า 7G-TRONIC เผยโฉมครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2003 เกียร์ลูกนี้
ผลิตขึ้นที่ โรงงาน Mercedes-Benz Stuttgart-Untertuerkheim ในเยอรมัน
และเริ่มติดตั้งให้กับ Mercedes-Benz S-Class, CL-Class,SL-Class และ
E-Class รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ V8 ก่อน ในช่วงแรก จากนั้นจึงเริ่มทะยอย
ติดตั้งลงสู่รถรุ่นอื่นๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จุดเด่นของเกียร์ลูกนี้ก็คือ มีชุดเฟือง Planetary Gear Set (หรือภาษาช่างจะเรียกว่า
“เฟืองบริวาร”  ที่มีรูปแบบเรียบง่าย 2 ชุดถูกออกแบบให้รวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำงาน
ร่วมกับ ชุดเกียร์ RAVIGNEAUX อันเป็นเฟือง Planetary 2 ชุดที่มีลักษณะแตกต่างกัน
โดยเฟือง Sun Gear (เฟืองพระอาทิตย์) จะทำงานอยู่ภายในเฟืองแหวน

ลักษณะของการวางตำแหน่งเฟืองเกียร์แบบนี้ เป็นผลงานการออกแบบโดยวิศวกร
ชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อ Paul Ravigneaux มาตั้งแต่ปี 1920 และถือเป็นพื้นฐานการออกแบบ
เกียร์เดินหน้า 7 จังหวะ ที่มีเกียร์ถอยหลัง 2 จังหวะ โดยวิศวกรของ Mercedes-Benz
ได้นำมาปรับปรุงโดยเปลี่ยนมุมองศาของร่องเฟืองเกียร์ ผลที่ได้คือ สามารถลดการ
สูญเสียการส่งกำลังที่ถ่ายทอด ผ่านระบบขับเคลื่อน อีกทั้งยังช่วยลดเสียงดัง
ในขณะทำงาน หรือช่วงเปลี่ยนเกียร์

สมองกลควบคุมการทำงานของเกียร์ ถูกออกแบบให้รวมอยู่กับแผ่น Shift plate
โดยข้างในจะประกอบไปด้วยท่อทางเดินของระบบไฮดรอลิก อันคดเคี้ยว รวมถึงท่อ
ที่บรรจุของเหลวที่อยู่ในระบบไฮดรอลิก ทำให้ลดจำนวนสายเคเบิลที่ใช้ในระบบ
และเพิ่มความทนทานในการใช้งาน

หน่วยสมองกลควบคุมการทำงานของเกียร์ ทั้งหมดถูกติดตั้ง ให้รวมอยู่กับ
อ่างน้ำมันเกียร์ ทำให้ระบบสามารถวัดระดับ, ใช้ตัวจับสัญญาณ, รับข้อมูลเกี่ยวกับ
ความเร็วในการหมุน ที่มีความแตกต่างกัน 3 ระดับภายในชุดเกียร์ และนำข้อมูล
ทั้งหมดที่ได้ มาใช้ใน การประมวลผล เพื่อสั้งการเปลี่ยนเกียร์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน โซลินอยด์ทั้ง 8 ตัว ซึ่งถูกรวมให้อยู่ในหน่วยควบคุมการทำงานด้วยเช่นกัน
ก็จะสามารถส่งข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งโซลินอยด์จะควบคุมแรงดันที่เกิดขึ้นในการทำงาน,
อุปกรณ์สั่งการทำงาน (Actuation element) ทั้ง 7 ตัว และคลัตช์ Lock-Up ของ 
Torque Converter จากการนำหน่วยประมวลผลและควบคุมการทำงานมารวมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงขนาดของชุดลูก Torque Converter ให้เล็กลงกว่าเดิม
ถึง 20 มิลลิเมตร ขณะเดียวกัน เสื้อเกียร์ยังถูกผลิตขึ้นจาก แม็กนีเซียม ซึ่งถือเป็น
ครั้งแรกที่นำโลหะชนิดนี้มาใช้ในการผลิตเสื้อเกียร์ ทำให้เกียร์ทั้งลูก มีน้ำหนัก
เพียง 81.5 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแล้ว) หรือ
เทียบได้กับ คนหุ่นอวบระยะสุดท้าย 1 คนพอดี นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความยาว
ของเกียร์ 7G-TRONIC 1 ลูก เมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะรุ่นก่อนๆ
ก็ยังยาวกว่ากัน 41 มิลลิเมตร

อัตราทดเกียร์ลูกนี้ มีดังนี้
เกียร์ 1                4.377
เกียร์ 2                2.859
เกียร์ 3                1.921
เกียร์ 4                1.368
เกียร์ 5                1.000
เกียร์ 6                0.820
เกียร์ 7                0.728
เกียร์ R1              3.416
เกียร์ R2              2.231
อัตราทดเฟืองท้าย   3.45

Mercedes-Benz บอกว่า ผลที่ได้จากการปรับปรุงดังกล่าว ก็คือ อัตราเร่ง
0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีขึ้น 0.3 วินาที ขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น เช่นเดียวกับ
อัตราเร่งแซงช่วง 60-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความ
ประหยัดน้ำมันไพด้อีก 0.6 ลิตร / 100 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับ รถรุ่นเดียวกัน
แต่ใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะลูกเดิมๆ แถมยังมีการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวลขึ้น
และต่อเนื่องขึ้น เพื่อการขับขี่ที่นุ่มสบาย และถ่ายทอดแรงบิดมหาศาลลงสู่
พื้นถนนได้ดีกว่าเดิม

การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ของ เกียร์อัตโนมัติ 7G-TRONIC ไม่แตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ
แต่อย่างใด ผู้ขับขี่ สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้จาก ก้านเปลี่ยนเกียร์ขนาดเล็ก หน้าตาคล้าย
จะเป็นก้านควบคุมอะไรสักอย่าง มากกว่าจะเป็นคันเกียร์ จากตำแหน่ง P เหยียบเบรก เพื่อ
กดก้านลง มาอยู่ที่ตำแหน่ง D เพื่อออกรถ และขับไปตามปกติ จอดติดไฟแดง แค่เหยียบเบรกไว้
ไม่ต้องเข้าเกียร์ว่าง แต่ถ้ามีเหตุต้องใช้เกียร์ว่าง ให้เหยียบเบรก แล้วดันก้านโยกขึ้นไปยังตำแหน่ง N
เมื่อจะถอยหลังเข้าจอด ให้เหยียบเบรก แล้วดันก้านโยก ขึ้นไป 1 คลิก เข้าตำแหน่ง R
เมื่อถอยจอดเรียบร้อยแล้ว กดปุ่ม P ที่ปลายก้านโยก เท่านี้ก็เรียบร้อย ตอนแรกผมก็ไม่คุ้นเคยนัก
พอใช้งานไป ก็เริ่มปรับตัวได้ มันก็คล้ายกับก้านโยกใน BMW ซีรีส์ 7 รุ่น E65-E66 ที่ตกรุ่นไปแล้ว
นั่นเอง

แต่ถ้าต้องการความสนุกในการขับรถทางไกล เพิ่มขึ้น ผู้ขับขี่ยังสามารถเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์
ได้เอง จากระบบ Shift-by-wire ผ่านทาง ปุ่ม Paddle Shift ที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังพวงมาลัย

ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อ ทั้ง 4 ด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4MATIC พร้อมระบบควบคุมการยึดเกาะถนน 4ETS
(4 Wheel Electronics Traction Control) ระบบตั้งและล็อกความเร็วต่ำในขณะขับลงจากทางลาดชัน DSR 
(Downhill Speed Regulation) และระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronics Stability Program)

ถ้าดูแล้ว งงๆว่า ระบบเหล่านี้มันทำงานอย่างไร อธิบายง่ายๆก็คือ ระบบ 4MATIC เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
แบบ Permanent All-Wheel Drive โดยปกติ จะกระจายแรงบิดจากเครื่องยนต์ สู่ล้อคู่หน้า 40% และล้อคู่หลัง 60%

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาช่วยก็คือ มีการติตั้งเซ็นเซอร์ที่ล้อทั้ง 4 เพื่อจะคอยตรวจดูว่า ล้อใดมีอาการหมุนฟรี หรือหมุนลื่น
ด้วยความเร็วที่มากกว่าล้ออื่นๆที่เหลือหรือไม่ ดังนั้น หากขับอยู่บนทางตรง เจอพื้นถนนลื่น ล้อข้างใดข้างหนึ่ง
หรือสองข้าง เกิดหมุนฟรี เซ็นเซอร์ส่งสัญญาณ ไปยังระบบ เพื่อสั่งระบบเบรก ในล้อนั้นๆ ทำงานช่วยลดความเร็ว
ในล้อที่หมุนฟรีนั้น เพื่อช่วยให้ล้อข้างนั้น กลับมาหมุนด้วยความเร็ว เท่าๆกับที่ล้ออื่นๆ เขาหมุนกัน ขณะที่
ระบบ 4MATIC อันเป็นระบบขับเคลื่อน ที่มี Differential Lock จะช่วยเพิ่มแรงบิดในล้อที่เหลือ ยังไม่หมุนฟรี
ให้หมุนมากขึ้นอีกนิด เพื่อช่วยกัน พารถออกจากพื้นลื่นๆ ได้

แต่ถ้าอยู่ในทางโค้ง และเจอพื้นลื่นๆ ระบบ ESP ก็จะทำงานในลักษณะเหมือนๆกัน และถ้าจำเป็น ระบบก็จะ
แจ้งเตือนผู้ขับ ด้วยสัญลักษณ์ สามเหลี่ยมสีเหลืองที่มีเครื่องหมายตกใจ อยู่ในนั้น บนหน้าปัด หมายความว่า
ระบบกำลังทำงานอยู่ และจะดับลงไปเอง เมื่อระบบแก้ไขอาการล้อหมุนฟรีนั้นๆเสร็จแล้ว

ส่วนระบบ DSR จะช่วยให้ผู้ขับขี่รักษาความเร็วขณะขับลงจากทางลาดชัน เมื่อใดที่ผู้ขับเหยียบคันเร่ง
พาให้รถเพิ่มความเร็วเกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบนี้ ก็จะยุติการทำงานไปเองโดยอัตโนมัติ

สมรรถนะเป็นอย่างไร?
เราทำการจับเวลา ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม คือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (คนขับ 95 กิโลกรัม
และกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา 48 กิโลกรัม) เปิดไฟหน้า ทดลองกัน
ในเวลากลางคืน และตัวเลขที่ได้ เมื่อเทียบกับ คู่แข่งในพิกัด Premium Mid-Size SUV
ด้วยกันแล้ว ออกมาดังนี้

ถ้าดูจากตัวเลข ที่เราจับเวลากันออกมาได้ ดูเหมือนว่า อัตราเร่ง ที่ ML 280 CDI ทำออกมา
ยังด้อยกว่า X5 อย่างชัดเจน ทั้งที่เครื่องยนต์ มีความจุกระบอกสูบเท่าๆกันเลย อย่างไรก็ตาม
ถ้าคุณคิดว่าอัตราเร่งขง Camry 2.4 ลิตร กับ Accord 2.4 ลิตร มันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
กรณีของ ML280 CDI กับ X5 ที่เห็นอยู่นี้ ระดับความแตกต่าง ในด้านตัวเลขอัตราเร่ง
มันก็คล้ายๆกันนั่นละครับ คือคุณจะไม่รู้สึกรู้สาเท่าไหร่หรอกว่ามันต่างกัน จนกว่าคุณ
จะหยิบนาฬิกาขึ้นมา แล้วลองกดจับเวลากันนั่นแหละ ถึงจะเริ่มเห็นความแตกต่างขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ในสภาพการขับขี่จริง แรงดึงที่คุณจะสัมผัสได้ มันก็ไม่ต่างจาก รถยนต์ที่ติดตั้ง
เครื่องยนต์ ดีเซล เทอร์โบ พร้อมระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิง คอมมอนเรล ทั่วๆไปนั่นหรอกครับ
แรงดึงตอนออกตัว พารถพุ่งทะยานออกไปใช้ได้ เพียงแต่ ถ้าจับสัมผัสดีๆ แรงดังที่ ML 280 CDI
มีให้คุณนั้น มันด้อยกว่า X5 xDrive 30d แค่นิดเดียว เท่านั้น

อีกทั้ง อัตราเร่งในการใช้งานจริง ต้องถือว่า ดีสมตัวมากๆ สำหรับเครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเท่านี้
แม้จะยังคงมีบุคลิกของเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ จาก Mercedes-Benz ในยุคก่อนๆให้เห็นอยู่บ้าง
ช่วงรอบปลายๆ แต่ก็น้อยลงเต็มที เพราะประสบการณ์ที่ค่อนข้างสนุกสนานเร้าใจ เข้ามาแทนที่
ในแทบทุกจังหวะที่คุณกดคันเร่งลงไป แป้น Paddle Shift ที่ติดตั้งมาให้หลังพวงมาลัย แทบไม่จำเป็น
ต้องใช้งานเลย เพราะแรงบิดจากเครื่องยนต์ ก็มากเพียงพอให้คุณ สามารถแซงฉีกหนี บรรดา
คนขับประเภทเกกมะเหรกเกเร บนท้องถนน ได้อย่างสบายๆ และเย็นใจเสียด้วย

ความเร็วสูงสุด Mercedes-Benz เคลมเอาไว้ว่า 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ เมื่อเราทดลองจริง ทำได้
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ตรงกลางระหว่างรุ่นที่ทำได้ต่ำสุด กับรุ่นที่ทำได้ดีที่สุด อาจเพราะส่วนหนึ่ง
มาจาก กระแสลมในวันที่เราทำการทดลองกัน ก็มีอยู่นิดๆ แม้ไม่ถึงกับเยอะนักก็เถอะ อย่างไรก็ตาม
ตัวเลขทั้งหมด ที่เราเก็บสะสมมาจากการทดลองทั้งหมด ในรอบหลายๆปี ชี้ให้เห็นว่า  Premium SUV
ทั้งหลายนั้น ถ้าเป็นรุ่น เครื่องยนต์บ้านๆ ธรรมดาทั่สๆไป แต่ยังไม่ใช่รุ่นท็อป เครื่องแรง แพงที่สุด แล้ว
ความเร็วสูงสุด จะป้วนเปี้ยนอยู่ที่ระดับ 190-210 กิโลเมตร/ชั่วโมง มักไม่ค่อยเกินจากนี้ไปเท่าใดนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้ชนะ ในเกมจับเวลา ก็ยังคงเป็น Lexus RX350 ใหม่ อยู่ดี

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ ปีกนกคู่ คอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ 4 Link พร้อมคอยล์สปริง
มาในแนวนุ่มนวล แต่หนึบใช้ได้ และให้ความรื่นรมย์ในการขับ มากยิ่งกว่า X5 แต่ก็ยังคงให้การทรงตัว
ในย่านความเร็วสูงที่ดี ตามสไตล์รถยุโรปทั่วไป ไม่มีอาการแกว่งให้หวาดเสียวกันเลย แม้ว่าในเวอร์ชันไทย
จะไม่มีระบบกันสะเทือนแบบ AIRMATIC มาให้เหมือนในต่างประเทศ แต่ผมว่า แค่นี้ก็ดีพอแล้ว
และระบบที่ว่า ก็ยังไม่จำเป็นสำหรับบ้านเราเท่าใดนัก หากมองในแง่ ความจำเป็นต่อการใช้งาน

อากัปกิริยาของรถ ขณะเข้าโค้ง ค่อนข้างจะเป็นกลาง พอสมควร และ มั่นใจได้หากจะต้องเข้าโค้งแรงๆ
แต่ในประเด็นนี้ X5 จะยังทำได้ดีกว่านิดนึง ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะเรื่องของน้ำหนักที่กดลงไปบนตัวรถ
ระยะฐานล้อ และความกว้างฐานล้อ ของ BMW X5 นั้น กว้างกว่า M-Class ใหม่ นิดหน่อย ดังนั้น
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผลจะออกมาแบบนี้ กระนั้น หากตัดเรื่องการเปรียบเทียบกับคู่แข่งออกไป
M-Class ใหม่ ก็ให้ความมั่นใจในขณะเข้าโค้ง ได้ไม่แพ้กับ X5 เท่าใดเลย

สิ่งที่อยากจะตั้งข้อสังเกตก็คือ พวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง และระบบ
Servo แปรันน้ำหนัก กับความหนืด ตามความเร็วของรถ ชุดเฟืองพวงมาลัย ติดตั้งอยู่ข้างหน้า
จุดกึ่งกลางของล้อไปนิดนึง เป็นแบบอัตราทดเฟืองแปรผัน (Variable Gear Ratio) วงพวงมาลัย
มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 385 มิลลิเมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่ พอเหมาะ เมื่อเทีบยบกับตัวรถทั้งคัน
บางส่วนทำจาก แม็กนีเซียม หล่อขึ้นรูป ส่วนแกนพวงมาลัย ถูกออกแบบใหม่ให้ยุบตัวลงได้
100 มิลลิเมตร ในกรณีเกิดการชนที่ด้านหน้าของตัวรถ

ในช่วงที่ความเร็วของรถ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมี วาล์ว Electronic ช่วยควบคุม
การทำงาน เพื่อลดความหนืดของพวงมาลัยลงมา ให้เหมาะสม และในกรณีกำลังถอยรถเข้าจอด ความหนืด
ก็จะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากทั้งหมด

M-Class ใหม่ ให้การบังคับเลี้ยวในภาพรวม แทบทุกด้าน ที่ น่าประทับใจกว่า เจ้า SLK พอสมควรเลยทีเดียว
ทั้งในแง่ของระยะฟรี ที่มีมาพอเหมาะ ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ต้องการแค่ไหน ก็เลี้ยวไปแค่นั้น
ไม่มากไม่น้อยจนต้องเพิ่มหรือลด วงเลี้ยวขณะขับขี่ ซึ่งในประเด็นนี้ผมมองว่า M-Class ใหม่
ทำชุดแร็คพวงมาลัยออกมาได้แม่นยำในการบังคับเลี้ยว ดีกว่า X5 นิดนึง
 
ระบบห้ามล้อ ของ ML280 CDI นั้น จะเป็น ดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้ามีช่องระบายความร้อน
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ของจานเบรกหน้า อยู่ที่ 330 มิลลิเมตร หนา 32 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง
ของลูกสูบใน คาลิเปอร์ทั้ง 2 นั้น อยู่ที่ 44 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 330 มิลลิเมตร
หนา 14 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของ คาลิเปอร์ ในตานเบรกหลังอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร เสริมด้วระบบ
ป้องกันล้อล็อก ABS ระบบเพิ่มแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD รวมทั้งระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะ
ฉุกเฉิน BAS (Brake Assist) ทั้งหมดนี้ ทำงานร่วมกับโปรแกรม ESP

ระบบเบรก ตอบสนองได้ดี สมกับที่ควรจะเป็น หน่วงความเร็วได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว  กดเท่าไหร่จับเท่านั้น
ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า บุคลิกของแป้นเบรก ใน M-Class นั้ คล้ายกับ Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ อยู่บ้าง
เหมือนกัน คือต้องเหยียบลงไปนิดนึง ระบบเบรก ก็จะเริ่มทำงาน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักเท้าที่เราเหยียบลงไป
บนแป้นเบรก เหยียบมาก ทำงานมาก เหยียบน้อยทำงานน้อย แต่สภาพของระบบเบรกในรถคันที่เราทดลองขับ
อยู่ในเกณฑ์ดี และสมบูรณ์มากๆ หน่วงความเร็วจากระดับที่ต่างๆกันได้ดี แม้ว่าจะต้องชะลอรถจากความเร็ว
สูงๆ ก็ยังทำได้ดี

เสียงที่เล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสาร ในช่วงความเร็วต่ำ น้อยมากๆ แต่จะเริ่มมีเสียงลมปะทะมากขึ้น
เมื่อความเร็วพ้นจาก 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เป็นธรรมดาของรถที่มีตัวถังต้านลมในลักษณะนี้

 

ด้านความปลอดภัยนั้น Mercedes-Benz ยังคงตั้งธงเอาไว้ ว่า ML-Class จะต้องทำผลงานออกมาได้
ไม่แพ้พี่น้องร่วมตระกูลคันอื่นๆ ดังนั้น ทุกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงถูกประโคมใส่เข้ามา อย่างสมเหตุสมผล
เพราะผลการวิจัยของ Mercedes-Benz เอง พบว่า 2 ใน 3 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนนั้น มักจะมี
ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเกิดเรื่องเสมอ ดังนั้น หาก ระบบต่างๆในรถ สามารถทำงานเตรียมพร้อมร่วมกัน
ก่อนเกิดเหตุได้ ก็จะช่วยให้เหตุร้าย ผ่อนหนักกลายเป็นเบาลงได้ นั่นคือที่มาของ ระบบป้องกันผู้โดยสาร
รอบคันร่วมกันทุกอุปกรณ์ ก่อนเกิดอุบัติเหตุ PRE-SAFE โดยในกรณีที่รถเริ่มจะหลุดการควบคุม หรือผู้ขับ
เกิดเบรกระทันหันขึ้นมา เซ็นเซอร์ รอบคัน รวมทั้ง เซ็นเซอร์ตรวจจับการพลิกคว่ำของรถ ก็จะส่งสัญญาณ
ไปยังระบบต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่ม PRE SAFE ให้เริ่มทำงาน “ในเสี้ยววินาที”

ขั้นแรกเข็มขัดนิรภัยทุกตำแหน่ง จะดึงรั้ง ตรึงผู้ขับ และผู้โดยสารไว้กับเบาะก่อนเลย จากนั้น หน้าต่างไฟฟ้า
และซันรูฟ หากเปิดอยู่ ระบบก็จะเลื่อนกระจกปิดรอบคันเองโดยอัตโนมัติ ทันที หากเกิดการปะทะ ถุงลมนิรภัย
แบบ Adaptive ทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า รวมทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า และหลัง
จะพองตัวออกมาตามความรุนแรงของการชน (ถ้าชนด้านหน้า ความเร็วไม่เกิน 30-35 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือชนด้านหน้า
ถุงลมคู่หน้าจะไม่พองตัวนะครับ และถุงลมด้านข้าง ก็จะไม่พองตัวเช่นกัน ถ้าชนด้านหน้าอย่างเดียว แต่จะพองตัว
ถ้าชนจากด้านข้าง)

และไม่ว่าจะเกิดเหตุหรือไม่ หาก รถหยุดนิ่งเรียบร้อยแล้ว เข็มขัดจะผ่อนการตรึงรั้ง ซึ่งจะช่วยลด
แรงกระทกที่เกิดขึ้นกับหน้าอกได้ประมาณ 30% และส่วนต้นคอ ประมาณ 40%

นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของโครงสร้างทั้งหมดที่เห็นอยู่นี้ (หรือ มประมาณ 62% หากดูจากน้ำหนักโครงสร้างตัวถัง
ทั้งหมด ทำจาก เหล็กกล้า High Strenght Steel มีการออกแบบ คาน Cross Member บริเวณห้องเครื่องยนต์ และ
เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ให้ช่วยกระจายแรงกระแทกไปยังทุกส่วนของตัวรถได้อย่างดี

ทั้งหมดนั้น ทำให้ M-Class ใหม่ ผ่านการทดสอบ US-NCAP (United States New Car Assessment Program)
ของ NHTSA หรือ National Highway Traffic Safety Administration อันเป็นองค์กรของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา
ที่ดูแลในด้านความปลอดภัยในการจราจรทางบกทั่วประเทศ ในระดับ 5 ดาว อันเป็นระดับสูงสุด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2005
ทั้งการทดสอบพุ่งเช้าชนโครงสร้างแบบยุบตัวได้ แบบไม่เต็มพื้นที่ด้านหน้า (Offset-Crash) ความเร็ว 56 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รวมทั้ง การทดสอบการชนด้านข้าง SINCAP (Side Impact New Car Assessment Program) ที่จะต้องปล่อยเฟรมแชสซี
พร้อมโครงสร้างสี่เหลี่ยมผืนผ้ากล่องใหญ่ ยุบตัวได้ น้ำหนักรวม 1,368 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนด้านข้างของตัวรถ ที่ความเร็ว
62 กิโลเมตร/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังผ่านมาตรฐานการทดสอบการชนของ Euro NCAP ในยุโรป ที่ระดับ 5 ดาวด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เรื่องความปลอดภัย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเลย ตราบใดที่คุณขับรถ โดยคาดเข็มขัดนิรภัยไปด้วย

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ทันที ที่ผมกับเจ้ากล้วย ประคับประคอง พี่หมี ลงมาจากอาคาร รัจนากร อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
Mercedes-Benz Thailand เราก็มุ่งหน้าไปยังสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ถนนพหลโยธิน ปากซอยอารีย์
ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อปฏิบัติ ภาระกิจแรกสุด เหมือนที่ต้องทำทุกครั้ง กับรถทุกคันที่นำมาทดลองกัน

การทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เริ่มขึ้นโดยเราจะยังคงใช้มาตรฐานเดิมกับรถยนต์ประเภทนี้
คือ เติมน้ำมันดีเซล V-Power นั่นละครับ และ เรายังคงเติมแค่ หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ เพราะรถประเภทนี้
ลูกค้าที่ซื้อไปส่วนใหญ่ แม้จะสนใจว่า มันกินน้ำมันมากน้อยแค่ไหน แต่มักจะไม่ค่อยต้องการตัวเลข
แบบตรงเป๊ะ เหมือนอย่างที่รถยนต์ในกลุ่มตลาดอื่นๆ เขาโดนคาดหวังจากสาธารณชนกันมา

เมื่อพร้อมแล้ว เราก็ Set 0 บน Trip Meter เปิดแอร์ ออกเดินทางลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยอารีย์
โผล่แถวๆ โรงเรียนเรวดี มุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วน พระราม 6  ซึ่งในช่วงแรกๆ พ้นด่านเก็บเงินงามวงศ์วาน
มาแล้ว การจราจรมีรถมาก เคลื่อนตัวได้ช้า อย่างที่เห็น

แต่เมื่อพ้นช่วง ทางลงแจ้งวัฒนะ มาแล้ว รถก็คล่องตัวขึ้น 

ผมมองว่าปัญหาสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นในบ้านเราเวลานี้ ส่วนใหญ่
ไม่ได้มาจากสาเหตุอะไรมากมายไปกว่า การที่มีคนขับรถแบบ เงอะงะ เฟอะฟะ
ขับช้าเป็นเต่าคลาน ออกมาในช่วงเวลา ตอนเช้า และหลังเลิกงานมากเกินไปนั่นเอง
เรื่องที่น่ากลัวกว่านั้นคือ คนเหล่านี้ ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าตัวเองเป็นคนขับรถ ประเภทที่ว่า
การตัดสินใจที่เชื่องช้า และกลัวนั่นกลัวนี่ของคนกลุ่มนี้ มากจนเกินไป
มันมักจะทำให้ ผู้ร่วมใช้เส้นทางที่ขับตามหลังพวกเขามา เกิดความเครียด
อาจจะตัดสินใจผิดพลาด และอาจนำไปสู่ การเฉี่ยวชน กระทบกระทั่งกัน
อันนำมาซึ่งการติดขัดสะสมอย่างยาว เพิ่มเท่าทวีคูณ

เคยจอดแวะพักคุยกับตำรวจทางด่วน ในช่วงหัวค่ำวันศุกร์วันหนึ่ง ตรงด่านเก็บเงิน
งามวงศ์วาน เมื่อครั้งที่เรานำ Mazda MX-5 NC Minorchange มาทดลองหาอัตรา
สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั่นละครับ เลยได้รู้ความจริงว่า เย็นวันนั้น แค่เพียงรถสามสี่คัน
ไม่ยอมหลบหลีกให้แก่กัน บนแยกศาลาแดง มันจะก่อความวินาศสันตะโร ตามมา
ลามทุ่งไปถึง บนทางด่วนขั้นที่ 2 และ ทางด่วนพระราม 9 ได้มากขนาดนั้น!!!

ก็ได้แต่ขอแอบฝากกันนิดนึง ละครับว่า ตัดสินใจให้เร็ว ฉับไว มั่นใจและมีน้ำใจกันสักนิด
เพื่อช่วยลดปัญหา รถติด ในบ้านเมืองเรา ให้บรรเทาเบาลางลงไปกว่านี้สักทีเถอะ

เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาคลานเป็นเต่ากินผักบุ้ง มาแล้ว เราก็เริ่มทำความเร็วกันที่
ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่งกันสองคน (ผมกับเจ้ากล้วย 2 คน) ตามเคย

และเมื่อถึงช่วง ใกล้ทางลงพระราม 6 ปริมาณรถก็เริ่มหนาแน่นอีกครั้ง อันเนื่องมาจาก
การเก็บเงินที่ล่าช้า และยืดยาด ของพนักงานที่ด่านเก็บเงินพระราม 9 ของการทางพิเศษ
แห่งประเทศไทย กอปรกับ ปริมาณรถที่เข้าด่านเยอะขึ้น ก็ทำให้พนักงานเก็บเงินที่ทำงาน
กันมือเป็นระวิงอยู่แล้ว กลายสภาพจนมือเป็นลิง ไปเลย

เราฝ่าฟันสภาพการจราจร ผ่านทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังถนนพหลโยธิน
เลี้ยวซ้าย มุ่งหน้ามายังสถานีบริการเชลล์ แห่งเดิม เข้าไปจอดเติมน้ำมันยังช่องจอดเดิม
และหัวจ่ายเดิม แน่นอน น้ำมันก็ยังคงต้องเป็น V-Power Diesel เหมือนเดิม

มาดูตัวเลขกันดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 93.6 กิโลเมตร
(เท่ากับระยะทาง ของรถยนต์หลายๆคัน ที่เราทดลองกันมาเลยแหะ)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ พยายามถ่ายยังไงๆ ก็ได้เพียงเท่านี้ละครับ
แสงแดด มันแยงเข้ามาพอดี หลบยังไง ก็ยากที่จะหลบ แต่ตัวเลขหนะ
เติมกลับอยู่ที่ 6.67 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.03 กิโลเมตร/ลิตร  
ถือว่า ทำได้ดีเยี่ยม ไม่เลวร้ายเลยครับ เมื่อคิดคำนึงเข้าไปว่า
ML 280 CDI มน้ำหนักมากถึง 2,185 กิโลกรัม (รถเปล่า)
รวมน้ำหนักของผม 95 กิโลกรัม กับเจ้ากล้วย 48 กิโลกรัม
และน้ำมันเต็มถัง ของเหลวต่างๆเข้าไป คงจะราวๆ 300
แต่ไม่เกิน 400 กิโลกรัม รวมๆแล้ว น่าจะตกอยู่ที่ราวๆ 2,500 กิโลกรัม
โดยประมาณการณ์คร่าวๆ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบ กับคู่แข่งในกลุ่มพิกัดเดียวกันที่เราเคยทำรีวิวแล้ว 
จะพบว่า ยังไงๆ ผู้ชนะ ในเรื่องนี้ ก็คือ Volvo XC90 D5 รองลงมา จึงจะเป็น
BMW X5 xDrive 30d ส่วน ML 280 CDI อยู่ในอันดับกลางๆ ของตาราง

กระนั้น ถ้าจะถามว่า น้ำมัน 1 ถัง (ตัวเลขที่โรงงานบอกเอาไว้ มากถึง 95 ลิตร!!)
แล่นไปได้ระยะทางเท่าใด คำตอบ อยู่ที่นี่แล้วครับ 4 วัน 3 คืน ผมแล่นไปด้วยระยะทาง
415.3 กิโลเมตร อย่างที่เห็นใน Trip Meter และน้ำมันก็ถูกใช้ไปเพียงเท่าที่เห็น
คือเข็มน้ำมันหนะ ลดลงไปครึ่งถัง…ภาพนี้ ถ่ายเมื่อตอนจอดรถ บนอาคารรัจนากร
วันส่งมอบคืนรถ นั่นละครับ

แต่…ถ้าลองมาคิดกันดูอีกที และคิดกันดีๆ
โดยปกติแล้ว รถยนต์ทั่วไป ถังน้ำมันจะมีตั้งแต่ 45-65 ลิตร ในกรณีนี้
น้ำมัน ครึ่งถัง น่าจะราวๆ 42.5 ลิตร (ขนาดพอกับถังน้ำมันของ
Nissan March 2010 ใหม่ นั่นละครับ) ระยะทางที่แล่นไป 415 กิโลเมตร
กับ น้ำมัน 42.5 ลิตร มานั่งมองอีกที ผมถือว่า ก็ไม่ได้แตกต่างจากรถเก๋ง
ขนาดเล็กทั่วไปที่ขายในบ้านเรา

(แต่แน่นอน ได้พละกำลังมากกว่ากันอื้อซ่า)

อย่างไรก็ตาม ในรถรุ่น ML300 CDI BlueEFFICIENCY เวอร์ชันไทย นั้น
แม้จะใช้เครื่องยนต์ บล็อกเดียวกันกับ ML280 CDI คันนี้ เป๊ะ แต่ด้วยเทคโนโลยี
BlueEFFICIENCY คาดว่า ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง น่าจะลดลงได้มากกว่านี้
อีกนิดนึง หรือพูดง่ายๆ คือ น่าจะประหยัดกว่านี้ ได้อีกนิดนึง

สำหรับ Mercedes-Benz นั้น กลุ่มเทคโนโลยี BlueEFFICIENCY คือการรวมเอา
สารพัดแนวทางการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ หรือปรับปรุงรถยนต์รุ่นเดิมที่ขายอยู่
ให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ รอบคัน
ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ลดแรงต้านต่างๆลง เพื่อช่วยลดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน
อากาศ หรือ Drag Efficiency ตามหลัก อากาศพลศาสตร์ Aerodynamic ลง แต่
ยังต้องคงความแข็งแรงไว้ เพิ่มระบบ ECO Start/Stop ไว้ดับเครื่องยนต์ตอนติดไฟแดง
และสั่งเครื่องยนต์ให้เริ่มทำงานใหม่ ทันทีที่เหยียบคันเร่งเพิ่อออกรถ ไปจนถึง
การใช้ยางแรงเสียดทานต่ำ (Low Rolling Resistance) การปรับปรุงปั้มไฮโดรลิก
ในชุดพวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรง ให้ทำงานเท่าที่จำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดที่พยายามทำกัน
หากปรับปรุงกันจนครบตาม Package BlueEFFICIENCY ก็จะช่วยให้รถรุ่นนั้น
เพิ่มความประหยัดน้ำมันได้อีกพอสมควร ขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยลดการปล่อย
ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 สู่โลก ได้ถึง 23 %

นอกจากนี้แล้ว ทีมวิศวกรของ Mercedes-Benz ยังผนวกเอา เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน
ที่ถูก ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
เข้ามาไว้รวมกันภายใต้ แบรนด์ กลุ่มเทคโนโลยี BlueEFFICIENCY นี้

ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ระบบฟอกไอเสีย ที่ใช้ยูเรีย สำหรับเครื่องยนต์ Clean Diesel
ที่เรียกว่า BlueTEC (ซึ่งทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ผ่านมาตรฐานมลพิษของยุโรป
ในระดับ EU6 ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2014 ไปเรียบร้อยแล้ว!)

เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน HYBRID ที่มีอยู่ใน S400 HYBRID และ ML 450 HYBRID
ไปจนถึงการรวมเครื่องยนต์ดีเซล พ่วงกับระบบไฮบริด อย่าง BlueTEC HYBRID
เทคโนโลยีระบบก๊าซธรรมชาติ ในรถยนต์ตระกูล NGT และปลายทางของฝันอย่าง
เทคโนโลยี Fuel Cell ที่เรียกว่า F Cell

นับจนถึงสิ้นปี 2009 ที่ผ่านมา Mercedes-Benz ได้ปรับปรุง ประสิทธิภาพของรถหลายๆรุ่น
จนสามารถปะตรา BlueEFFICIENCY ได้ มากถึง 58 รุ่น และนับจากนี้ จะเพิ่มจำนวน
มากขึ้นเรื่อยๆ

ยังก่อนครับ รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี BlueEFFICIENCY ระลอกแรก เพิ่งเริ่มต้น
เข้าสู่เมืองไทย ก็เมื่อช่วงงาน Bangkok Motor Show 2010 นี้เอง ซึ่งต้องค่อยๆ
ดูกันต่อไป ว่า หลังจากนี้ Mercedes-Benz Thailand จะสั่งรถยนต์รุ่นใดในกลุ่มนี้
ที่น่าสนใจ เข้ามาขายกัน

********** สรุป **********
ถึงเครื่องจะด้อยกว่าคู่แข่ง นิดนึง แต่หลายๆด้าน ก็ได้ใจผมไปเยอะ

ตั้งแต่เห็น M-Class ครั้งแรก ในช่วงปี 1997-1998 ยังจำได้เลยว่า ตอนนั้น ผมแอบเฝ้าถามตัวเองในทุกครั้ง
ที่เห็นรถรุ่นนี้ปรากฎตัวบนถนนเมืองไทยว่า “เมื่อไหร่เขาจะเปลี่ยนโฉมกันเสียทีนะ อยากเห็นอะไรๆ
มันดีขึ้นกว่ารุ่นแรกเหลือเกิน”

แต่แล้ว เมื่อเห็นรูปโฉมของรุ่นปัจจุบัน ที่คลอดออกมาครั้งแรก เมื่อ ปี 2005 ผมก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า
ถ้ามีโอกาส ก็อยากจะทดลองขับกันสักครั้ง แน่ละ ทีมออกแบบ ของ Mercedes-Benz สามารถ
ทำรถ SUV ออกมา ให้คนที่ไม่ได้ชื่นชอบ SUV เอาเสียเลย อย่างผม ให้หันกลับมาเหลียวมอง
และเกิดความรู้สึกอยากลองขับขึ้นมาได้ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเท่าไหร่แล้วละ

แล้ว ทุกอย่าง ก็เป็นไปตามที่คิดจริงๆ M-Class ใหม่ ถูกปรับปรุงและแก้ไขจุดบกพร่องดั้งเดิมออกไปมาก
รถรุ่นใหม่ น่าใช้กว่ารุ่นเดิมชัดเจน แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่ผมเห็นจากสายตาคู่เดิมๆ ที่ช่วยให้ผมมองเห็น
สิ่งต่างๆมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

เพราะเมื่อขึ้นไปนั่ง แล้งขับออกถนนใหญ่ แม้ในตอนแรก ออกจะสร้างความกังวลใจเล็กๆให้ผมอยู่บ้าง
แต่ในวันที่จะต้องส่งคืนรถ ผมบอกตรงๆว่า นี่คือ Mercedes-Benz คันแรก ที่รู้สึกว่า ยังไม่อยากคืนรถ

ก็ใครจะไปนึกละว่า การขับรถคันนี้ ไปตามทางด่วน หรือ ถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร นั้น
กลับกลายเป็นว่าความรื่นรมณ์ ที่ผมได้รับจาก M-Class มันดันเยอะเกินกว่าคู่แข่งร่วมชาติอย่าง X5 จะให้มา

เคล็ดลับที่ Mercedes-Benz สามารถมัดใจผมเอาไว้ได้อยู่หมัด ก็คือ บรรยากาศอันอบอุ่น ของห้องโดยสาร
จากการเลือกใช้วัสดุอย่างดี สมราคา สมเหตุสมผล นี่ละ คือ กุญแจสำคัญ ที่จะทำให้ผม ปันใจออกมาจาก X5
นอกเหนือจากการตอบสนองของ พวงมาลัยที่หนืด และมีน้ำหนักกำลังดี ชนิดที่อยากจะเห็นพวงมาลัยที่มี
น้ำหนักและความหนืด ประมาณนี้ ใน E-Class ใหม่ W212 กันเสียเลยจริงๆ

ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า เครื่องยนต์ของ X5 นั้น เร่งดีกว่า และประหยัดน้ำมันกว่า ML 280 CDI นิดนึง
แต่ความแตกต่างที่ว่า มันก็ไม่ได้มากมายนัก อย่างที่บอกไปครับว่า ถ้าคุณยังพอจะจำได้ ว่าอัตราเร่ง
และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ Camry 2.4 ลิตร กับ Accord ใหม่ 2.4 ลิตร เป็นอย่างไร ความต่าง
ระหว่าง X5 xDrive30d กับ ML 280 CDI มันก็พอๆ กันนั่นละครับ คือประหยัดทั้งคู่ แต่ต่างกันนิดหน่อย

ถ้าถามว่ามีอะไรต้องปรับรุง? ผมยังนึกออกได้ในเรื่องของ ขอบด้านล่างของประตู ที่ควรจะออกแบบ
ให้ สะดวกต่อการขึ้นลงของทุกๆคนมากกว่านี้ วงพวงมาลัยขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะลดลงมาได้อีกนิดนึง
อย่าลดลงเยอะ การที่คันเกียร์ หายไป ก็ทำให้รู้สึกเหมือนขาดหายอะไรบางอย่างไป แม้ว่าจะมีการ
ติดตั้งแป้น Paddle Shift มาให้ทดแทนกัน ก็ตาม

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ พละกำลังของเครื่องยนต์ และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ซึ่งยังเป็นรองคู่แข่ง ชัดเจน แม้จะต่างกันไม่ถึงกับเยอะนัก และลูกค้า ที่ซื้อรถในกลุ่มนี้ ดูเหมือน
จะไม่ค่อยสนใจความแตกต่างมากนัก ถ้ามันห่างกันเพียงแค่นี้แล้ว การตัดสินใจที่เหลือ จะไปจบกับ
งานออกแบบโดยล้วนๆ บวกกับ ความสัมพันธ์ กับผู้จำหน่าย ที่มีต่อลูกค้ารายนั้นๆ กันมากกว่า

ดังนั้น ถ้าใครสักคน จะถามผมว่า Premium SUV ในระดับราคา 4-8 ล้านบาท ควรจะซื้อคันไหน?
ก็ต้องตอบกันตรงๆว่า ความแตกต่าง ของรถในกลุ่มนี้ มันไม่ได้มากมายเลย หากต้องการขับใช้งาน
ในเมือง คือ ทุกคัน มันก็กินน้ำมันพอสมควรเหมือนกันนั่นละครับ ถ้าไม่ใช่รุ่นเครื่องยนต์ ดีเซล
พ่วงเทอร์โบ และระบบคอมมอนเรลแล้วละก็ ความน่าสนใจที่จะจ่ายเงิน เพื่อเอามาใช้ชีวิตด้วยกัน
มันก็มีน้อยมาก

ถ้าคุณอยากได้อัตราเร่ง ที่แรงกว่าชาวบ้าน วัสดุที่ดีเด่นสมราคา แต่ัอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็ทำได้
แค่พอรับมือไหว ศูนย์บริการและอะไหล่ ไม่ใช่เรื่องน่าห่วงเลย เพราะน่าจะหาง่ายและไม่ถึงกับ
แพงเท่า ก็เดินเข้าโชว์รูม Lexus แล้วมองหา RX350 เอาไว้ ไม่ต้องไปสนใจ RX450h นั่นหรอกครับ

ถ้าคุณอยากได้ประสบการณ์ ในการขับขี่ ที่แน่นหนึบ มั่นใจ เกาะดีทุกโค้ง วิ่งเร็วๆ ไม่มีโคลง ไม่ย้วย
แต่ ทำใจได้ กับบรรยากาศในห้องโดยสาร ที่แทบไม่ต่างอะไรกับ BMW ซีรีส์ 5 E60 คือ แข็งๆ
ไม่มีชีวิตชีวา ไม่น่านั่งเท่าไหร่ และออพชันก็ไม่ได้ถึงกับเยอะนัก แค่มีมาให้กำลังดี อีกทั้ง
ยังมี BSI เอาไว้สำหรับทุ่นค่าใช้จ่ายตอนเข้าศูนย์ฯ ในช่วง 5 ปีแรก ไปดู BMW x5 xDrive 30d ซะ

ถ้าคุณคิดว่า โรงรถที่บ้านใหญ่พอ และห้องโดยสารคือสิ่งสำคัญ อยากได้บรรยากาศแบบหรู
สไตล์อังกฤษ และทำใจได้ กับค่าซ่อมที่ดูจะแพงกว่าชาวบ้านเขาพอสมควร ยิ่งระบบไฟฟ้า
ก็ดูจะเยอะแยะกว่าเพื่อนอีกด้วย ขับไปไหน ไม่ถึงกับเด่น คนไม่ถึงกับมองมากนัก
เครื่องยนต์ ก็ กลาๆง ไม่ถึงกับแรงเด่นเด้ง ก็มอง Land Rover เอาไว้ และแนะนำว่า
Discovery เครื่อง ดีเซล เทอร์โบ นั่นละ เพราะ Range Rover Sport นั้น อย่าได้นั่งเบาะหลังเชียว
มันจะแข็งไปไหนกันนั่นหนะ

ถ้าคุณต้องการความมันส์ สะใจ แบบ ดิบๆ ผสมกับ เพ็ดดีกรี รถสปอร์ตชื่อดัง แต่ขับได้เรื่องหรือไม่
หนะ อีกเรื่องหนึ่ง และเกิดมา มีปั้มน้ำมันเป็นของบ้านตัวเอง ต้องการมาด Bad Boy มากกว่า ภาพ
คนรักครอบครัว ก็เดินเข้าโชว์รูม Porsche ได้เลยครับ Cayenne Full Line up รอคุณอยู่

แต่…ถ้าคุณคิดว่า คุณอยากได้ความสบายจากการเดินทางจริงๆ ในทุกตำแหน่งเบาะที่คุณหย่อนก้นลงไป
ต้องการ SUV ซึ่งคนทั้งบ้านจะไม่มีเสียงบ่น หรือก่นด่าตัวรถ ในระหว่างเดินทางไปด้วยกัน ถ้าคุณต้องการ
ความนุ่มและแน่นหนึบ กำลังดี แบบไม่ต้อง Hardcore เกินไป อัตราเร่ง ปานกลาง แต่อยู่ลำดับต้นๆหัวแถว
ส่วนอัตราสิ้นเปลือง ก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของรถประเภทนี้ เครื่องดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล และ คุณ
มองหาความคุ้มค่า จากรถประเภทนี้ ไปพร้อมกันด้วยแล้วละก็…

เดินขึ้นโชว์รูมผู้จำหน่าย Mercedes-Benz อย่างเป็นทางการ ไปได้เลยครับ

เพราะตัวเลือกที่น่าจะเหมาะกับคุณ อยู่ตรงนี้แล้ว!

ขอขอบคุณ
บริษัท Mercedes-Benz Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

————————————————————————-

บทความที่เกี่ยวข้อง ที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รวม บทความรีวิว รถยนต์กลุ่ม Luxury SUV

————————————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิืธิ์ของ Daimler AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
26 พฤษภาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures Except some studio shot from Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
May 26th,2010

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่