สำหรับใครหลายคน 9 มิถุนายน 2009 อาจจะเป็นแค่วันวันหนึ่ง
ที่ผ่านเข้ามาในปฏิทิน แล้วพอ 5 ทุ่มเศษๆ มันจะผ่านพ้นไป

แต่สำหรับผมแล้ว มันหมายถึง การรอคอย ที่จะพบตัวเป็นๆ คันจริงๆ
ของ 1 ใน เอสยูวี ที่ผมอยากลองขับมากที่สุดในรอบ 2 ปี จะจบสิ้นลง
แม้ว่าการเห็นตัวจริงครั้งแรก จะอยู่ในบรรยากาศแปลกๆ ของลานจอดรถชั้น 5
ณ ตึกจอดรถแห่งใหม่ ของ เซ็นทรัลเวิล์ด อันเป็นสถานที่ในการเปิดตัว ก็ตาม

กระนั้น ทุกอย่างที่เห็น ก็เป็นไปตามที่ใจประจักษ์…

 

เพราะนับจากที่ได้เห็นเวอร์ชันต้นแบบ XC60 Concept คันจริง ตัวเป็นๆ ที่โรงแรม แชงกรีลา บางรัก
เมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 ผมก็ตกหลุมรัก เจ้าครอสโอเวอร์ เอสยูวี คันนีไปเลย และได้แเฝ้ารอว่า
เมื่อไหร่ วอลโว จะสั่งรถคันนี้เข้ามาขายซะที

เพราะที่ผ่านมาหนะ อย่างที่ทราบกันดี กว่าจะเตรียมตัว นำรถรุ่นใดเข้ามาทำตลาดได้
ตั้งแต่สมัย สวีเดน มอเตอร์ส จนถึง วอลโว คาร์ส ประเทศไทย ในปัจจุบัน
รถยนต์จากค่ายสวีเดนรายนี้ ยังคงรักษา ระยะห่าง ทิ้งช่วงจากต่างประเทศ
ได้คงเส้นคงวา 

คือต้องรอให้ชาวบ้านชาวช่องชาวยุโรปเขาเปิดตัวล่วงหน้าไปก่อนตั้งเป็นปีๆ
กว่าจะถึงเวลาที่พร้อมนำมาขึ้นสายการประกอบ ณ โรงงาน ริมถนนบางนา-ตราด

เพียงแต่คราวนี้ การรอคอย กลับไม่รู้สึกว่า นานอย่างที่คิด
ก็แน่ละ คราวนี้ วอลโว นำเข้า XC60 สำเร็จรูปทั้งคัน
จากโรงงาน Ghent ในเบลเยียม มาเองเลยนี่นา

 

แต่ถึงจะชอบ จะรู้สึกดีกับรถแต่ละรุ่นอย่างไร
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำบทความรีวิวรถรุ่นที่ตัวเองชอบ
ผมก็ต้องตัดอคติ รัก โลภ โกรธ หลงทั้งหมด ออกไป
เพื่อจะได้ ตัดสินรถคันนั้น อย่างตรงไปตรงมา เป็นกลาง อย่างแท้จริง

วอลโวในแต่ละรุ่นที่ผ่านมา มีหลายรุ่นที่ผมชื่นชอบ แต่แน่นอน
ไม่มีรถคันใดที่ดีที่สุดในโลก และไม่มีคันใดที่จะไม่มีข้อตำหนิเลย
มันต้องมีหลุดหลงมาบ้างละ อย่างน้อยๆ 1-2 ข้อ

และในทางกลับกัน ต่อให้เป็นรถยนต์รุ่นที่เลวร้ายมากๆ
เราก็ยังหาข้อดีของมันจนได้ เช่นว่ารถอย่าง Chevrolet AVEO
ที่แม้จะอืดอาดยืดยาดขนาดไหน การเข้าออกจากรถก็ยังทำได้ดี
พอกับช่วงล่าง ที่เซ็ตมาพอใช้ได้ หรือแม้แต่ Proton Gen 2
ที่ผมเคยเขียนถึงขั้นว่า “กลับไปทำรถมาใหม่เถอะ”
อย่างน้อยๆ Gen 2 ก็ยังมีบั้นท้ายที่สวยงาม แถมมีราคาที่เหมาะสม

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแล้วมีทั้ง หยิน และหยาง ทั้งสิ้น

 

กระนั้น เรายังสามารถ พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า
Headlightmag.com เป็นสื่อมวลชน รายแรกๆ (รู้สึกว่าจะเป็นรายที่ 5)
และ เป็นสื่อมวลชน บนอินเตอร์เน็ต รายแรก
ที่ได้มีโอกาสทดลองขับรถคันนี้ อย่างเต็มที่

ที่สำคัญ วอลโว ยังยินดีให้เรา วิพากษ์วิจารณ์ รถรุ่นใหม่คันนี้  
ในแบบที่เราเป็น ไม่ต้องกั๊ก ไม่ต้องเกรงใจกันมากมาย ว่ากันตรงไปตรงมา
โดยที่วอลโวเอง ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนจุดยืนของเราเลยแต่อย่างใด

จริงหรือไม่?
วอลโวจะใจกว้างขนาดนั้นเลยเหรอ?

เอ้า! ถ้าไม่เชื่อ ก็เริ่มต้นผจญคลื่นแห่งอักษร และรูปภาพประกอบ
ที่รอถาโถมเข้าใส่คุณ นับตั้งแต่บรรทัดข้างล่างนี้ไป กันเลย!!

 

เราเริ่มรู้ว่า วอลโว มีความคิดที่จะสร้าง รถยนต์อเนกประสงค์ ขึ้นมาอีกรุ่น เพื่อทำตลาดในระดับ
ต่ำกว่าพี่ใหญ่อย่าง XC90 เป็นครั้งแรก ก็เมื่อภาพถ่ายของรถต้นแบบ XC60 Concept คลอดออกมา
สู่อินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก เมื่อ 14 ธันวาคม 2006 พร้อมกับบอกว่า รถคันนี้ จะเป็นพระเอกบนแท่นหมุน
ของบูธวอลโว ในงาน ดีทรอยต์ ออโตโชว์ ต้นเดือนมกราคม 2007

แน่นอน ปฏิกิริยาของผู้คนทั่วโลก ที่ได้เห็น ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่มีแนวเส้นสายละม้ายคล้ายรถเก๋ง
สปอร์ตแฮตช์แบ็ก และคูเป้

จนกระทั่ง ทุกอย่างสุกงอมได้ที่ XC60 เวอร์ชันขายจริง ก็เผยโฉมครั้งแรกในโลก เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008
ก่อนที่จะ เผยโฉมเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อหน้าสื่อมวลชน และสาธารณชนครั้งแรก ในงาน
เจนีวา ออโตซาลอน เมื่อ 4 มีนาคม 2008

ทำไมต้องมี XC60? แล้ว เจ้า XC90 กับ XC70 ที่ขายอยู่ทุกวันนี้ ไม่พอหรืออย่างไร
ทำไมกล้าเปิดตัว ในช่วงที่ ตลาด SUV ในโลก และในไทย อยู่ในช่วงขาลงอย่างนี้ละ?

ก็เพราะ จากการคาดการณ์แนวโน้มของตลาดทั่วโลก พบว่า ในช่วงปี 2007-2009 จะมีความต้องการ
รถยนต์ประเภท ครอสโอเวอร์ เอสยูวี แบบนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิม 75% เป็นตัวเลขมากถึง 443,000 คัน
วอลโว จึงเห็นช่องว่างในการทำตลาดดังกล่าว จึงเริ่มโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้

วอลโว่ตั้งเป้าว่าจะสามารถขาย วอลโว่ XC60 ได้มากถึงปีละ 50,000 คันทั่วโลก  โดยแบ่งเป็นยอดขายในยุโรป
และอเมริกาตลาดละประมาณ 40% เท่าๆ กัน  ที่เหลืออีก 20% จะขายในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย  
ตลาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกที่คาดว่าจะมียอดขายสูงสุดภายในปี 2553 คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย และ จีน

และนอกเหนือจากยอดขายที่เป็นเป้าหมายหลักแล้ว XC60 จะต้องรับหน้าที่เป็น รถยนต์รุ่นแรก ซึ่งจะต้อง
สื่อสารให้ทั่วโลกได้รับรู้ ถึงการเปลี่ยนแปลง ในการออกแบบของวอลโว ที่จะก้าวสู่ยุคที่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ
หลังจากนี้ ต้องเปี่ยมด้วยพลัง ชีวิตชีวา และ เล่นกับห้วงความรู้สึกของผู้คน ด้วยความโค้งมนอย่างปราดเปรียว
และเฉียบคมมากยิ่งขึ้น ไปด้วยในตัว

ขนาดตัวถังของ XC60 มีความยาว 4,628 มิลลิเมตร
กว้าง 1,891 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง แต่ถ้ารวม
จะมีความกว้างถึง 2,120 มิลลิเมตร )

ถ้ากว้างขนาดนี้ ไม่ต้องเดาต่อไปไกล ก็รู้ได้ทันทีเลยว่า
สงสัยจะเอาเข้าโรงจอดรถเล็กๆของบ้านผม ไม่ได้แหงๆ
เพราะความกว้างระดับนี้ หากมองแค่ความกว้างนอกตัวถังอย่างเดียวแล้ว
XC60 กว้างกว่า Lexus RX350 เลยด้วยซ้ำ!  

เอ่อ ผมชักไม่แน่ใจว่า เรายังควรจะเรียกรถคันนี้ว่า Mid-Size Crossover SUV กันอีกไหม?
เพราะความกว้างระดับนี้ มันออกจะ บานเบ่งบวมเป่ง ไปไกลแล้วละ!

ส่วนความสูง เราจะวัดจากตรงไหนกันดีละ?
ถ้าวัดจากพื้นรถจนถึง หางฉลามบนหลังคา จะอยู่ที่ 1,713 มิลลิเมตร
แต่ถ้าวัดถึงแค่ รางหลังคา Roof Rail ก็จะเหลือ 1,672 มิลลิเมตร
แต่ถ้าเอาความสูงที่สุด เมื่อรวมการเปิดฝากระโปงท้ายบานกว้างๆนั่นด้วยแล้ว
ตัวเลขก็จะหยุดอยู่ที่ 2,131 มิลลิเมตร

ระยะฐานล้อยาว 2,774 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาวพอสมควร

ระยะห่างจากพื้นดินถึงพื้นรถ หรือ Ground Clearance อยู่ที่ 230 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากล้อหน้าถึงปลายกันชนหน้า Front Overhang 909 มิลลิเมตร มุมไต่ 22 องศา
ระยะห่างจากล้อหลัง ถึงปลายกันชนหลัง Rear Overhang 944 มิลลิเมตร มุมจาก 27 องศา

 

สิ่งแรกที่คงต้องพูดถึงรถคันนี้ก็คือเส้นสายตัวถังของมัน ซึ่งแตกต่างไปจากวอลโวรุ่นก่อนๆ อย่างเหนือชั้น
มันเข้ากับรสนิยมความชอบของผู้คนในยุคปัจจุบันได้อย่างดี รวมทั้งการบรรจบกันของเส้นตัวถัง ตามจุดต่างๆ
ที่ยังคงเข้าแนวทางการออกแบบ Scandinavian Design ที่ ท้าทายกาลเวลา ยังไม่ล้าสมัยง่ายๆ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้
และยังคง เอกลักษณ์การออกแบบของวอลโว โดยเฉพาะ แนวเส้นสันบ่าข้างที่โป่งหนา จากฝากระโปรงหน้า จรดไฟท้าย
ทว่า แนวเส้นรอบคัน จะดูเปี่ยมพลังมากขึ้น อีกทังยังกระแทกใจผู้คน ด้วยความพริ้วไหว แต่หนักแน่น และมั่นคงไปในตัว

สตีฟ แมทติน (Steve Mattin) รองประธานอาวุโสฝ่ายออกแบบของวอลโว เคยกล่าวไว้ เมื่อครั้งมาเยือนเมืองไทย
วันที่ 17 พฤษภาคม 2007 ว่า “ในระยะหลายปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จมากในการออกแบบโดยเน้นบุคลิก
แบบสแกนดิเนเวียน ซึ่งเป็นอมตะ สง่างาม ดูอบอุ่น และเปี่ยมด้วยประโยชน์ใช้สอย ตอนนี้ เราจะพัฒนา DNA
หรือหัวใจในการออกแบบของเรา ให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเพิ่มความโดดเด่นสะดุดตา ด้วยการใช้รูปทรง
และเส้นสายที่สื่ออารมณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าคุณรู้สึกประทับใจกับรูปลักษณ์ของรถยนต์วอลโว เมื่อมองจากระยะไกลถึง
50 เมตร ผมขอบอกว่า เส้นสายของรถยนต์รุ่นใหม่ จะสะกดทุกสายตาคุณได้ แม้ปรายตามองในระยะที่ไกลกว่านั้นอีกเท่าตัว!”

เอางั้นเลยเหรอ?

 

ถ้าสำหรับผมแล้ว ระยะไกลขนาดนั้น ผมก็บอกได้อยู่ดีว่าเป็นรถอะไร แต่ กับคนที่ไม่รู้เรื่องรถเท่าไหร่เลยละ?

ลุง คนหนึ่ง ซึ่งเข็นรถลากผ่านมา ระหว่างที่ ผมกับ ตา Louise ทายาทเจ้าของร้านเป็ดย่างแมนดาริน ผู้ที่มาช่วยผม
ทดลองรถกันอยู่บ่อยๆ กำลังอยู่ในระหว่าง จัดวางตำแหน่งมุมรถ เพื่อถ่ายภาพนิ่งกัน เอ่ยปากถามว่า

“นี่รถอะไรหรือ?”

“วอลโวไงครับ”

“ลุงก็ว่าน่าจะใช่นะ แต่ลุงก็แปลกใจ ว่าตัวถังมันไม่เห็นจะเหลี่ยมๆเลย”

“อ๋อ รถคันนี้มันเพิ่งออกขายมาได้ 3-4 สัปดาห์หนะครับ”

“ถึงว่า นะซิ ว่าลุงก็ขับรถไปไหนมาไหนทุกวัน ทำไมถึงไม่เคยเห็น”

ตัวอย่างนี้ จะถือว่า ทีมออกแบบของวอลโว ประสบความสำเร็จดีหรือเปล่า?
ก็คงต้องอยู่ที่ความคิดของคุณผู้อ่านนั่นละครับ

แต่ถ้าจะถามว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของรถคันนี้เป็นใครแล้ว
หากยึดถือเอาตาม เอกสารข่าวแจก Press Released ภาคภาษาอังกฤษ
ที่วอลโว ปล่อยออกมา เมื่อ 14 ธันวาคม 2006 ในนั้น เขาจะเขียนเอาไว้
แปลเป็นไทยว่า “นักขับที่ใส่ใจเทคโนโลยี”

“ถ้าจะให้เปรียบเทียบเล่นๆ คงต้องบอกว่า กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้
คือคนที่คิดว่ามีไมโครชิพ เสริฟพร้อมกับอาหารเช้าก็จะดีไม่น้อย
หรือคนที่เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าแล้ว สินค้าอีเล็กโทรนิคส์
ก็มีอยู่เกลื่อนกลาด อีกทั้งยังมีขีดความสามารถมากขึ้น แต่มีขนาดที่เล็กลง บางคนคิดว่า
XC60 นี่แหละ คือรถที่คนซึ่งขับ C30 ในปัจจุบันอยู่ จะซื้อเป็นรถคันต่อไป
เพราะให้อารมณ์สปอร์ต และมีสมรรถนะที่เหนือกว่าอีกด้วย”

ผมชักสงสัย ว่าฝรั่งคนไหน เขียน เอกสารข่าวแจก Press Released ชิ้นนี้

ข้อแรก ถึงคนเขียน คุณแน่ใจนะว่า จะมีมนุษย์บ้าที่ไหนที่อยากจะกินแผงวงจรไฟฟ้า
แกล้มกาแฟ Espresso ตอนเช้า? ถ้าหมอนั่นไม่เสียสติจริงๆ

ข้อสอง คุณแน่ใจนะ ว่าให้สัมภาษณ์ คนเขียนข่าว Press Released ชิ้นนั้นไว้อย่างนี้จริงๆ?

เพราะผมไม่เห็นด้วยเลยกับทั้งหมดที่ ปรากฎอยู่ในเอกสารชิ้นนั้น อยากจะบอกว่า XC60
มันสวยมาก ฉีกแนวไปจากวอลโวรุ่นเดิมๆ แบบที่เราเคยเห็นกันมา สวยซะจนกระทั่งว่า
ไม่ต้องใช้พรรณาโวหารแบบแข็งทื่อ และไม่เข้ากันกับเส้นสายของมัน มาอธิบายให้เราเข้าใจแบบนั้นเลย

 

ชุดไฟหน้า แบ่งเป็น 2 ชิ้นหลัก โดยไฟหรี่แยกชิ้นออกมา โคมไฟหลักเป็นแบบ Active Bi-Xenon
ปรับมุมองศาจานฉาย ขึ้น-ลง และซ้ายขวา โดยอัตโนมัติ พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก ซึงมีความแรง
ใช้การได้เลยทีเดียว มีไฟตัดหมอกหน้ามาให้  ส่วน แผงสีเงิน ที่ป้ายทะเบียนแปะเอาไว้อยู่นั้น
เป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ

ชุดไฟท้ายออกแบบเป็นรูป บูมเมอแรง ผสมตัว C และตัว L มีไฟเบรกดวงที่ 3
เหนือฝาประตูหลังเป็นแบบ LED และมีชุดใบปัดน้ำฝันหลังมาให้ สอดรับกับ
เส้นสายบั้นท้าย ที่มาในสไตล์ รถยนต์คูเป้แฮตช์แบ็กนิดๆ

ตัวรถทั้งคัน ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.35

 

การเปิดประตูใช้ระบบ Keyless Entry แค่พกรีโมทกุญแจ เดินเข้าไปใกล้รถ ดึงมือจับเปิดประตู
เพียงเท่านี้ระบบล็อก ก็จะปลดออกเอง และเมื่อจะปิดประตู สั่งล็อก ก็กดปุ่มสีดำ ที่ประตูทุกบาน
และในยามค่ำคืน จะเห็น ไฟส่องใต้กระจกมองข้าง ส่องใสว่างให้เห็นพื้นที่รอบตัวรถ บริเวณที่คุณยืนอยู่
หน้าตารีโมทกุญแจ คีย์การ์ด PCC และ ความพิเศษของมัน เป็นอย่างไร อ่านต่อไปเรื่อยๆครับ เดี๋ยวก็เจอ

 

บานประตูคู่หน้า มีขนาดใหญ่โต การเข้าออกนั้น สามารถหย่อนบั้นท้าย ลงไปวางแหมะ บนเบาะนั่ง
ก่อนจะสะบัดขาทั้งสองข้าง เข้าไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับคนตัวผอมๆ และต่อให้เป็นผู้สูงอายุ
การเข้าออก ก็ยังคงทำได้ง่ายดาย พอกันกับการที่คุณจะเข้าไปนั่งในห้องโดยสารของ Honda CR-V รุ่นปัจจุบัน

 

เบาะนั่งคู่หน้า ออกแบบมาในสไตล์วอลโว เน้นความสบายในการโดยสาร ปรับตำแหน่งด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
ทั้ง 2 ฝั่ง แต่ ฝั่งคนขับ มีระบบหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ มาให้ 3 ตำแหน่ง ซึ่งสามารถเข้าไปเลือก
ยังโหมด Set up Configuration ของตัวรถได้ว่า จะให้จำตำแหน่งกระจกมองข้าง พร้อมกันไปด้วยเลยหรือไม่

พนักพิงเบาะหลัง มีมือบิด หมุนดันหลัง ซึ่งต้องออกแรงหมุนมาก พอกับการบิดผ้าห่มผืนใหญ่ๆ
ที่เพิ่งซักเสร็จหมาดๆ แต่ยังดันหลังได้ไม่ค่อยมากนัก อย่างไรก็ตาม ผมนั่งสบาย เมื่อดันหลังออกมาจนสุด

เบาะนั่งของ XC60 นั้น วอลโวเรียกมันว่า X-Theme หรือ Cross Theme : Cross whatever you like it
ตา Louise แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ที่มาช่วยผมทดลองรถอยู่บ่อยๆ ให้ความเห็นว่า

“น่าจะได้รับแรงบันดาลใจ จาก เสื้อกล้าม มากกว่า”

อืม คิดได้เนาะ

แต่ก็จริงของ Louise เพราะดูจากลวดลาย และการเลือกโทนสี
ที่ตั้งใจให้มันตัดกันแบบนี้ ก็ดูใกล้เคียงกับเสื้อกล้าม กันจริงๆ

 

ทางเข้าห้องโดยสาร ด้านหลัง กว้างกว่า FreeLander นิดหน่อย แต่การเข้าออกนั้น ใกลเคียงกัน
ถ้าคุณมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โต ก็ยังมีความลำบากมาให้พบเจอกันเล็กน้อย
ทว่า ถ้าคุณมีร่างกาย เล็กๆ บางๆ หรือเป็นเด็ก การเข้าออก จะสบายขึ้นเยอะ

เห็นจอมอนิเตอร์ แยกฝั่งทั้งซ้าย-ขวา นั่นแล้วใช่ไหมครับ ยังก่อน เรายังไม่พูดถึงในตอนนี้

 

เบาะหลังนั้น พนักพิงหลัง ไม่ได้แข็งมากมายอย่างที่คู่แข่งคันอื่นๆเป็นกัน
กระนั้น เบาะรองนั่ง สั้นไปเล็กน้อย แต่ยังนั่งพอได้ความสบายอยู่  
ที่วางแขนบนแผงประตูทั้ง 4 บาน ถือว่ายังทำหน้าที่ได้ดี เหมือนวอลโวรุ่นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า มีคนรอบข้างผม อย่างน้อย 3-4 คน รวมทั้งน้องๆใน The Coup Team
พูดกับผมว่า รู้สึกอึดอัด เมื่อขึ้นไปนั่งในห้องโดยสาร ของ XC60 ใหม่ ดูอึดอัดกว่า
วอลโวรุ่นใหม่ๆคันอื่นๆ นิดหน่อย แม้ว่า พื้นที่เหนือศีรษะทั้งตอนหน้าและหลังจะโปร่ง โล่งสบายก็ตาม

ส่วนหนึ่ง ผมมองว่า อาจจะเป็นเพราะ แผงประตูด้านข้าง ที่หนาพอกับมาตรฐานของวอลโว
รุ่นอื่นๆ แต่ ถูกไล่ระดับจากประตูคู่หน้าจนถึงด้านหลัง ซึ่งทำให้กระจกหน้าต่างเล็กลงไปนิดนึง
อีกทั้ง การใช้โทนสี เป็นสีดำ ยิ่งทำให้หลายๆคน รู้สึกได้เช่นนั้น

 

ช่วงกลาง ของเบาะหลัง สามารถดึงลงมา เป็นที่วางแขน
มีฝาปิดช่องเก็บของ และที่วางแก้ว แบบ พับเก็บได้ 2 ช่อง หน้าตาคุ้นๆ
ส่วนท่อนบน สามารถยกดึงขึ้น เพื่อเป็นพนักศีรษะในตัว

 

ทีมออกแบบห้องโดยสารของวอลโว ยังคงชาญฉลาด ในการเก็บซ่อนอุปกรณ์เล็กๆน้อยๆ
ไว้ตามซอกหลืบ และเหลี่ยมมุมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก

อันที่จริง วอลโว ทำเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก แบบนี้ มาให้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
โดยเฉพาะรถสเตชันแวกอน รุ่น V70 และ XC70 รุ่นก่อน ซึ่งผมเองก็เคยยกเล่นมาแล้ว

XC60 ก็มีเบาะที่ว่านี่เช่นกัน ดูเหมือนว่ามันถูกออกแบบมา เพื่อรองรับ เด็กโต
อายุราวๆ 3-6 ขวบ ขึ้นไปแล้วมากกว่า การใช้งาน ก็แค่ปลดล็อกปุ่มที่เบาะรองนั่ง แล้วยกตัวขึ้น
ล็อกให้อยู่ในตำแหน่งของมัน ส่วนการปลดออกก็ทำตามขั้นตอน ที่มีระบุเอาไว้ให้เห็นกันชัดๆตรงเบาะนั่นละ

 

หน้าตาเบาะหลังเป็นเช่นที่เห็นนี้ มีหรือว่า จะแบ่งพับไม่ได้
ว่าแล้ว เรามาดูวิธีการพับเบาะลงกันดีกว่า

ถ้าจะพับเบาะหลังลง คุณต้องดึงปลดสลักล็อกพนักศีรษะก่อน อย่างที่เห็น
แล้วจึงดึงสลักล็อกชุดเบาะ ฝั่งขวา ที่อยู่ติดกัน ก่อนจะโน้มพนักพิงหลัง ลง เช่นรูปข้างล่าง

 

 
เบาะนั่งด้านหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเปิดทะลุไปยังพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง
ด้านหลังของพนักพิง รวมทั้งเบาะรองนั่ง ถูกออกแบบให้สามารถพับ และมีพื้นที่ราบต่อเนื่องไปจรดฝากระโปรงหลัง
แต่สำหรับฝั่งขวานั้น หากจะปลดล็อกพนักพิงลงมา ก็สามารถพับได้ในอัราส่วน 60 : 40 เหมือนรถยนต์ทั่วไปเช่นเดียวกัน

 

บานประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ใช้ระบบไฟฟ้าในการเปิด และปิด
หากต้องการเปิด มีสวิชต์ซ่อนอยู่บริเวณไฟส่องป้ายทะเบียน

และถ้าต้องการจะปิด เพียงแค่กดสวิชต์ฝั่งขวา ใกล้ๆชุดกลอนไฟฟ้า
บานประตูห้องเก็บของจะปิดลงมาเองโดยอัตโนมัติ

อันที่จริง มีระบบดีดกลับ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง ป้องกันการบาดเจ็บของคน หรือความเสียหายของสิ่งของ
แต่เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อทดลองเอาไหล่ของผมเอง ไปค่ำเอาไว้ ดูสิว่า ประตูจะดีดกลับขึ้นไปหรือไม่

ปรากฎว่า เมื่อเจอไหล่ของผม ประตูก็ชะงัก และดีดกลับขึ้นไปก็จริง
แต่แรงที่กดลงมา มันมากกว่าที่ควรจะเป็น เล่นเอาไหล่ผมเจ็บไปเล็กน้อยเลยทีเดียว

ซึ่งในจุดนี้ บานประตูห้องเก็บสัมภาระของ Lexus RX350 ใหม่ ทำได้ดีกว่า
เพระารายนั้นหนะ เพียงแค่ เจออะไรที่มากีดขวางนิดเดียว ก็ดีดกลับขึ้นไปอย่างไม่มีอิดเอื้อน

 

 การจะระบุถึงขนาดความจุของห้องเก็บสัมภาระด้านหลังนี้มันไม่ง่ายเลย
เพราะเมื่อค้นเข้าไปดูตัวเลขอ้างอิงของ เว็บไซต์สื่อมวลชนวอลโว จะพบตัวเลขที่น่าปวดหัวเต็มไปหมด

เอาเป็นว่า ถ้าอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO แล้ว ตัวเลขต่ำสุด ที่พบเจอคือ 490 ลิตร และตัวเลขที่เยอะที่สุด
คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อพับเบาะลงทั้งหมดแล้ว คือ 1,450 ลิตร

อันที่จริง จะมีม่านปิดบังสัมภาระ เลื่อนเก็บได้ แต่ในคันนี้ ถูกถอดออก ไม่ได้ติดมาให้

 

  แผ่นรองพื้นห้องเก็บของสามารถยกขึ้นตั้งชัน 90 องศาได้

 

 

 พอยกพื้นห้องเก็บของด้านหลัง จะพบถาดรีไซเคิล และกล่องเก็บป้ายสามเหลี่ยมฉุกเฉิน
เหมาะไว้สำหรับเก็บ ของสด หรืออาหารแห้ง กลิ่นแรง ทั้งหลายไว้ชั่วคราว
แต่ควรหาวัสดุหุ้มห่ออีกสักชั้น กันเปียกชื้น เพราะมันเป็นวัสดุรีไซเคิล

 

 เมื่อเปิดยกขึ้นดู ก็จะพบยางอะไหล่ขนาดเล็ก พร้อมเครื่องมือถอดเปลี่ยนยาง และการเก็บซ่อนงานประกอบด้านล่างก็เป็นอย่างที่เห็น

 

การออกแบบแผงหน้าปัดนั้น แปลกตาไปจากวอลโวรุ่นปกติทั่วไปอยู่ไม่น้อย
แต่ ถ้าย้อยกลับไปดูเวอร์ชันต้นแบบ XC60 Concept แล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า
มันมีเค้าโครงมาจากรถต้นแบบคันนี้เอง

แผงคอนโซลกลาง ถูกออกแบบให้บาง และมีพื้นที่วางของด้านหลัง เล็กน้อย
ซึ่งคราวนี้ เล็กจนวางกล้องได้อย่างมากแค่ กล้อง ดิจิตอล ป็อกแป๊ก 1 ตัว
งานดีไซน์แบบนี้ วอลโวเคยระบุว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องเสียงยี่ก้อ
B&O (BANG & OLUFSEN) อันเป็นแบรนด์ของสวีเดนด้วยเช่นกัน
แนวทางการออกแบบในลักษณะนี้ กำลังจะกลายเป็นรูปแบบสำหรับรถยนต์ทุกรุ่น
ของวอลโว ทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป

ตำแหน่งนั่งขับ ออกแบบมาให้นั่งสบายตามสไตล์วอลโว แต่ ที่วางแขน ซึ่งเป็นฝาปิด
กล่องคอนโซล ในรุ่นนี้ ถือว่าเตี้ยไปหน่อยนึง สำหรับรถยนต์ประเภทนี้ แถมยังมีหน้าตาคุ้นๆอีก
ราวกับว่าเคยพบเห็นในรถรุ่นใดของวอลโวมาก่อนเมื่อไม่นานนี้
ด้านบนตกแต่งด้วยสีดำ ลดการสะท้อนของแสงแดด ที่จะเข้าตาในเวลากลางวัน
และลดโอกาสจะเลอะเทอะเปรอเปื้อนคราบสกปรกได้

 

เมื่อเปิดประตูเข้าไป จะพบกับ การจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ในสไตล์รถยุโรป รุ่นใหม่ๆ
ที่ใช้งานง่ายขึ้น ที่เปิดฝาถังน้ำมัน ย้ายไปอยู่ติดกับชุดเปิดไฟหน้า เหมือนวอลโวรุ่นอื่นๆ
กระจกมองข้าง พับเก็บได้ด้วยไฟฟ้า มีสัญลักษณ์บอกชัดเจนแล้วว่า จะต้องกดปุ่ม L R พร้อมกัน
จึงจะพับได้ มีสวิชต์ จำตำแหน่ง เบาะนั่ง และกระจกมองข้าง 3 ตำแหน่ง
พวงมาลัยแบบ Multi Function ฝั่งขวา ไว้คุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์
ฝั่งซ้าย เอาไว้ควบคุมการทำงานระบบเพิ่มหรือลดระยะห่างของรถ ขณะแล่น
รวมทั้งระบบ Adaptive Cruise Control (จะพูดถึงในลำดับถัดไป)

 

และนี่คือหน้าตาของรีโมทกุญแจ คีย์การ์ด PCC (Personal Car Communicator)
ซึ่งถูกนำมาใช้ในเมืองไทยครั้งแรก กับ วอลโว S80 ใหม่ และถูกนำมาใช้กับ XC60 ด้วย

จริงอยู่ว่า คุณยังพกรีโมทไว้อยู่ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง
เดินมาที่รถ ระบบก็จะสั่งปลดล็อกให้คุณเอง เมื่อคุณดึงมือเปิดประตู
และสามารถติดเครื่องยนต์ได้ ด้วยปุ่มที่เห็นอยู่นี้ ซึ่งคุณจะเสียบคีย์การ์ด
ลงในช่องที่เห็นหรือไม่ ก็ติดเครื่องยนต์ได้ทั้งสิ้น ถ้าพกรีโมทเอาไว้

และเมื่อเดินออกห่างจากรถไป เมื่อกดปุ่มสีดำ บนประตูทั้ง 4 บาน ระบบก็จะสั่งล็อกให้

มันอาจจะเหมือนกับระบบ Keyless Entry ของรถยนต์รุ่นอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ PCC แตกต่างออกไป นั่นคือ

– ถ้าคุณกำลังนั่งเมาท์แตกอยู่กับผองเพื่อนร่วมสมาคมบนโต๊ะอาหาร
แล้วนึกขึ้นมาได้ ไม่แน่ใจว่าลืมล็อกรถหรือเปล่า ให้กดปุ่ม i บนรีโมท
ถ้า ไฟเขียว ขึ้น แสดงว่า รถล็อกอยู่ เมาท์ต่อไปเหอะ
ถ้าไฟเหลือง ขึ้น แสดงว่า รถยังไม่ล็อก รีบปลีกตัวจากผองเพื่อนไปล็อกรถก่อนซะ
แต่ถ้าไฟแดงขึ้นเมื่อไหร่ รีบเรียกผองเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงนั้น ไปเตรียมตัว ดักตบกบาล
ผู้บุกรุกที่มาป้วนเปี้ยนกับรถคุณได้เลย

นอกจากนี้ ถ้า มี สิ่งมีชีวิต จะลูกเล็กเด็กแดง หรือน้องหมา ที่หลับอยู่ เกิดตื่นขึ้นมา
แล้วพบว่าคุณไม่อยู่ในรถ และล็อกรถไปแล้ว ระบบ จะตรวจจับสัญญาณ
การเคลื่อนไหวภายในรถ และจังหวะการเต้นของหัวใจ ก่อนจะส่งสัญญาณไฟสีแดง
กระพริบ ให้คุณรู้ตัว แถมตัวรถก็จะส่งเสียงร้องลั่น ให้ผู้คนรับรู้อีกด้วย ว่าคุณมี สิ่งมีชีวิตอยู่ในรถ

ไม่ว่าจะเป็น แมว หมา หรือ สามี…..ที่เพิ่งตื่น ก็ตาม

 ในระหว่างติดเครื่อง ไฟบนชุดมาตรวัดจะเช็คระบบภายในทั้งหมด อย่างที่เห็น…

 

 ก่อนจะดับลง เข้าสู่โหมดการทำงานตามปกติ ในภาพนี้
หน้าจอวงกลม ทั้ง 2 ฝั่ง จะมีจอ Multi Information System แสดงการทำงานของระบบต่างๆ ไปด้วยในตัว

 

 

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบดิจิตอล แยกฝั่ง ซ้าย-ขวา มาพร้อมกับระบบ Clean Zone Interior Package (CZIP)
เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถเดินทางได้ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง โดยมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
การปรับอากาศ (Electronic Climate Control) และระบบคุณภาพอากาศภายในห้องโดยสาร (Interior Air Quality System)
ดังนั้น กลิ่นของห้องโดยสาร XC60 จะเหมือนใน S80 ใหม่ คือปลอดโปร่ง ไม่เหม็นรถใหม่

ชุดเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาให้ เป็นแบบ High Performance Sound แบบ 4×40 วัตต์พร้อมลำโพง 8 ตัว
มาพร้อมวิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD / MP3 6 แผ่น ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ กับเครื่องเสียงรถยนต์
ด้วยสัญญาณ Bluetooth (ที่ยังคงใช้งานง่าย ไม่วุ่นวาย เหมือนรถยุโรปยี่ห้ออื่น) มีจอแสดงผลอยู่ด้านบน
ลดการละสายตาจากถนนได้อย่างดี แต่น่าเสียดายว่า ช่องว่างเปล่า สีดำ ถัดลงมานั่น ในต่างประเทศ เอาไว้ติดตั้ง
จอมอนิเตอร์ ระบบนำทาง Navigation System ซึ่งไม่มีระบบนี้ กับรถที่ขายในไทย เลยต้องปล่อยร้างเอาไว้อย่างนั้น
แทนที่จะเอา จอมอนิเตอร์ขนาดเล็กด้านบน ไปแปะไว้ตรงนั้น แทน ก็ไม่ทำ

คุณภาพเสียงที่ออกมา ยังคงดีเลิศ เหมือนกับวอลโว รุ่นอื่นๆ ขอยืนยันว่า ถ้าคุณไม่ใช่นักฟังหูทอง ขั้นเทพ หรือไม่ได้ทำงาน
ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัส ในการแยกความละเอียดของคลื่นเสียงมาก จนเกินเหตุ (อันนั้น ก็คือ พวกที่ทำงานในสตูดิโอบันทึกเสียง
ผู้ผลิต จำหน่ายเครื่องเสียง ฯลฯ) ขอยืนยันว่า คุณไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกถึง 150,000 บาท เพื่อยกระดับเครื่องเสียง
ให้เป็นแบบ Premium Sound 5 x 130 W. พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 6 แผ่น และลำโพง Dynaudio 12 ตัว นั่นหรอก
แม้เสียงจะดีขึ้นจริง ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ต่างจากรุ่น High Performance มากมายเลยแต่อย่างใด

 

 แต่สำหรับผู้โดยสารตอนหลังแล้ว ในรถคันทดลองขับนี้ วอลโว ติดตั้ง เครื่องเล่น DVD แบบ Built-in
พร้อม จอมอนิเตอร์ ในตัว ฝังอยู่ที่ด้านหลังของพนักศรีษะเบาะคู่หน้า ทั้ 2 ฝั่ง แยกจากกันต่างหาก
ถ้าผู้โดยสารฝั่งซ้าย อยากดู DVD การแสดงคอนเสิร์ต ก็ไม่ต้องไปตบตี รบรา กับผู้โดยสารฝั่งขวา ที่อยากดู ซีรีส์ เกาหลี

 

เพราะมีหูฟัง แบบไร้สาย แยกต่างหาก มาให้ 2 ชุด ต่างคนต่างดูในสิ่งที่ตนต้องการ กันเสียให้พอ

 

และ มีรีโมทคอนโทรล ควบคุมการทำงานมาให้ 1 ชุด สามารถใช้รีโมทตัวเดียว สั่งการทำงานได้ทั้งเครื่องซ้ายและเครื่องขวา

 

นอกจากนี้ ยังมี AUX Port สำหรับเชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3 และมี USB Port เฉพาะในรุ่น High Performance Sound
และ Premium Sound เพื่อใช้เชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3, iPOD และ USB  (iPOD Port เป็นอุปกรณ์เสริม)

ซึ่ง ช่องเชื่อมต่อดังกล่าว ซ่อนเอาไว้ในกล่องคอนโซลกลาง สำหรับวางกล่อง CD ที่มีฝาปิด เป็นที่พักแขนในตัว
ใกล้กันนั้น เป็นที่วางแก้ว 2 ตำแหน่ง เคลือบด้วย วัสดุซึ่งดูแล้ว โอกาสจะลอก หรือเป็นรอย ค่อนข้างง่าย
ควรใช้ความระมัดระวังกันนิดนึง

 

 และถ้าอยากจะให้หลังคาโปร่งแสงละก็ สั่งติดตั้งหลังคากระจก
พร้อมซันรูฟและม่านบังแดดขนาดใหญ่ในตัว Panoramic Galss Roof
ได้ในราคา 150,000 บาท…..(เจี๊ยกกกกก!)

 ไฟในห้องโดยสารนั้น มีทั้งด้านหน้า + ไฟส่องแผนที่ และไฟส่องสว่างสำหรับด้านหลัง

และมีไฟสำหรับแต่งหน้า ซ่อนที่กระจกในแผงบังแดด ทั้ง 2 ฝั่ง

ทัศนวิสัยด้านหน้า โปร่ง ดี เห็นฝากระโปรงหน้า แม้ว่าจะปรับตำแหน่งเบาะลงต่ำสุดก็ตาม

 

เสาหลังคาคู่หน้า ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาในการขับขี่ทั่วไป แต่คุณจะพบการบดบังทันทีที่คุณ เข้าโค้งขวา
บนถนนสวนกันสองเลน อาจมองไม่เห็นรถคันที่แล่นสวนมา กะระยะลำบากอยู่นิดนึง
เป็นเพียงกรณีเดียวที่พบเจอ จากเสาหลังคาคู่หน้าของ XC60

กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่โต และมองเห็นรถคันข้างหลังได้ชัดเจน

 ส่วนด้านข้างนั้น กระจกมองข้างขนาดใหญ่ ช่วยให้เห็นรถจักรยานยนต์ ได้ดี และยิ่งมีระบบ BLIS มาช่วย ทุกอย่างยิ่งปลอดภัยขึ้น

 BLIS คืออะไำร? อ่านต่อไปเรื่อยๆข้างล่างครับ

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น แม้จะดูโปร่งตากว่าที่คิด คุณก็ควรจะใช้ความระมัดระวังสักหน่อย ดูจากรถ
คันที่โดนเสาหลังคาคู่หลังนั้นบังอยู่ ทั้ง 2 คันนั่นก็ได้ เป็นคำตอบจากผม โดยที่ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมเลย
แต่ยังไงๆ ก็ยังพอมองเห็นได้ดีกว่า LEXUS RX350 และ Nissan MURANO แล้วกัน

 

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในตลาดโลก วอลโว มีเครื่องยนต์ให้ลูกค้าที่คิดจะซื้อ XC60 ใหม่
ได้เลือก เพียง 4 ขนาด ซึ่งถือว่าน้อยกว่า รถยนต์วอลโวโดยปกติทั่วไปอยู่บ้าง
แต่ ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการเปิดตัวในช่วงเริ่มต้นแบบนี้

ไม่ว่าจะเป็น 2 ขุมพลังเบนซิน ในรุ่น T6
ทั้งแบบ B6304T2 บล็อก 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว
2,953 ซีซี เพิ่มระบบอัดอากาศ เทอร์โบชาร์เจอร์
285 แรงม้า (HP) ที่ 5,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ( 40.76 กก.-ม.)
ที่ตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ 1,500 – 4,800 รอบ/นาที)

หรือรหัส B6324S บล็อก 6 สูบเรียง DOHC 24 วาล์ว
3,192 ซีซี ไม่มีระบบอัดอากาศ ใดๆ สำหรับรุ่น 3.2
238 แรงม้า (HP) ที่ 6,200 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ( 32.6 กก.-ม.) ที่ 3,200 รอบ/นาที

รวมทั้งทางเลือกในรุ่นดีเซล 2.4 D ด้วยเครื่องยนต์รุ่น D5244T5
บล็อก 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี พอดีเป๊ะ!
กระบอกสูบ x ช่วงชัก  = 81.0 x 93.15 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด  16.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ด้วยระบบ Common Rail
ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ พ่วงด้วยระบบอัดอากาศ
เทอรโบชาร์เจอร์
163 แรงม้า (HP) ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 340 นิวตันเมตร (34.64 กก.-ม.)
ที่รอบเครื่องยนต์ ตั้งแต่ 1,750 – 2,750 รอบนาที

แต่สำหรับประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา
ขุมพลังที่เหมาะสมที่สุด คือ บล็อกสุดท้าย ที่เห็นอยู่นี้

มันมีรหัสรุ่นว่า D5244T4  ดีเซล
อันที่จริงแล้ว มันก็มีหน้าตา เป็นเครื่องยนต์
บล็อก 5 สูบ DOHC 20 วาล์ว 2,400 ซีซี พอดีเป๊ะ!
กระบอกสูบ x ช่วงชัก  = 81.0 x 93.15 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด  16.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ด้วยระบบ Common Rail
ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์ พ่วงด้วยระบบอัดอากาศ
เทอรโบชาร์เจอร์ แบบเดียวกับ รุ่น 2.4D นั่นละ

เรียงลำดับการจุดระเบิดในแต่ละกระบอกสูบ 1 – 2 – 4 – 5 – 3
รอบเดินเบา 700 รอบ/นาที (ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ)

พละกำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร ที่รอบตั้งแต่ 2,000 – 2,750 รอบ/นาที

ขนาดแบ็ตเตอรี 700 แอมป์
อัลเตอเนเตอร์ ขนาด 150 แอมป์

น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใช้ ควรเป็นน้ำมัน ดีเซล
ที่มีค่า Cetane Number ขั้นต่ำ อยู่ที่ 48

ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ รุ่น AW TF-80SC จาก AISIN ซึ่งมาพร้อมโหมดบวกลบ “Gear Tronic”
ที่มีขนาดกระทัดรัด ถูกออกแบบมาให้รับแรงบิดสูง จากเครื่องยนต์ทรงพลังแบบ T6 หรือเครื่องยนต์ดีเซล D5
ได้อย่างสบายๆ

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1………………..4.15
เกียร์ 2………………..2.37
เกียร์ 3………………..1.56
เกียร์ 4………………..1.16
เกียร์ 5………………..0.86
เกียร์ 6………………..0.69
เกียร์ถอยหลัง…………3.39
อัตราทดเฟืองท้าย…….3.75

ถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อหรือ AWD จาก ฮาลเด็กซ์ ในชื่อ  Instant Traction
ข้อดีของมันก็คือช่วยให้ออกตัวได้เร็วขึ้น รวมถึงเกาะถนนได้ ดีกว่าเมื่อขับขี่บนพื้นเปียกลื่นหรือดินร่วน
ระบบนี้มีชุดคลัตช์ที่ควบคุมด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ช่วยส่งพลังจากเครื่องยนต์ลงสู่ล้อหน้าและหลัง
ได้อย่างสมดุลรวดเร็ว โดยขึ้นอยู่กับว่าล้อคู่หน้าหรือหลัง กำลังต้องการหรือไม่ต้องการแรงบิดเพิ่มเติม
วอลโว เคลมว่า ระบบนี้ลดอาการท้ายปัดหรืออาการดื้อโค้ง รวมทั้งยังช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถ
บังคับควบคุมรถได้ดีกว่า ขับสบายกว่า

พวกมันต้องทำหน้าที่ฉุดลาก ตัวรถที่มีน้ำหนักตัวเปล่าๆ 1,848 กิโลกรัม
และเมื่อรวมของเหลว และน้ำหนักบรรทุกแบบเต็มพิกัด เข้าไปแล้ว
ตัวรถจะหนักมากถึง  2,505 กิโลกรัม

ชักจะไม่ใช่เรื่องง่ายซะแล้ว

ตัวเลขสมรรถนะที่โรงงานเคลมเอาไว้
ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งดูจะตรงกับสเป็กที่ทำตลาดในบ้านเรามากที่สุด
อัตราเร่ง จาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 8.9 วินาที
ความเร็วสูงสุด อยู่ที่ 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

ถ้าใครที่ชื่นชอบวอลโว หรือเคยติดตามอ่านรีวิว Volvo S80
รุ่นล่าสุดมาก่อน คงจะเริ่มเอะใจ ว่า ทำไมตัวเลขบางอย่าง มันช่างเหมือนๆ
หรือคล้ายๆกันเช่นนี้

อย่าแปลกใจอีกต่อไป ผมเฉลย ให้เลยแล้วกันว่า XC60
ก็ใช้เครื่องยนต์ และชุดเกียร์ ร่วมกับ S80 ใหม่ รุ่น D5 นั่นแหละ!
เพราะปกติหนะ ขุมพลังในรถยนต์วอลโว บ้านเรา
มันก็มีอยู่เพียงไม่กี่แบบเท่าไหร่หรอก!

เอาละ ข้อมูลจากกระดาษ เขาว่ามาอย่างนั้น
แต่ตัวเลขจริงบนถนนเมืองไทย จะเป็นอย่างไร
เรายังคงทดลองหาตัวเลขอัตราเร่งกัน ตามเคย
ในยามดึก โดย ผม ในฐานะคนขับ หนัก 95 กิโลกรัม
และนายกล้วย BnN หนึ่งในสมาชิก The Coup Team
ของเรา น้ำหนักตัว 48 กิโลกรัม  เป็น 2 ผู้ร่วมทดลองเช่นเคย
เรายังคงเปิดแอร์ นั่งกัน 2 คน เปิดไฟหน้า เป็นปกติ
และผลลัพธ์ที่ได้ มีดังต่อไปนี้

ผมมองว่า วอลโว คิดถูกแล้ว ที่เลือกทำตลาด XC60 ในบ้านเรา เฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ ดีเซล D5
เพราะเมื่อมานั่งกางแค็ตตาล็อก เวอร์ชันต่างประเทศดูกันแล้ว จะพบว่า ตัวเลขแรงม้า แรงบิดนั้น
นอกจากขุมพลังในรุ่น D5 จะเหมาะกับพิกัดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยแล้ว

ตัวเลขเท่านี้ เพียงพอแล้วหรือ?
ผมว่า พอแล้วนะ เหมาะสมเลยละ

พละกำลังที่เกิดขึ้นนั้น มีแรงดึงกระชากให้สัมผัสได้ว่ามีอยู่ ดึงในแบบที่ ขุมพลังดีเซล คอมมอนเรล ยุคใหม่ๆ
ซึ่งคุณเคยพบมาแล้ว ใน S80 D5 มีให้คุณ แรงดึงหนะ พอกันเลย (แน่ละ ก็เครื่องยนต์บล็อกเดียวกันเป๊ะเลยนี่!)
แต่ถ้าจะถามถึงอัตราเร่งแซงแล้ว บอกเลยว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขออกมา ช้ากว่าที่ควรเป็นไปประมาณ 1.5 วินาที
ก็คงเป็นเพราะ การตอบสนอง ของคันเร่งไฟฟ้า ที่ส่งไปยังสมองกลเกียร์ อันเป็นปัญหาที่เรามักจะพบในวอลโว
รุ่นใหม่ๆ ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า กันหมดแล้ว ถ้าสามารถปรับจูนให้ทำงานได้ไวขึ้นอีกนิดนึง
น่าจะช่วยให้การขับขี่ ทั้งสนุก และเร่งแซงอย่างปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว มากขึ้นไปอีก

ในจังหวะการเร่งแซงนั้น ถ้าคุณทิ้งเกียร์ เอาไว้อยู่ในตำแหน่ง D แน่นอนว่า การรอให้รถพุ่งขึ้นไป
มันช้าไป 1 วินาทีเศษๆ พอกันกับลิ้นเร่งไฟฟ้าของวอลโวรุ่นอื่นๆ แม้จะเร็วกว่า แต่ก็ช้าใกล้เคียง S80 ใหม่

ถ้าอยากเร่งแซงแบบฉับไว ก็คงต้องใช้เกียร์ ในโหมด บวก-ลบให้เป็นประโยชน์ หากคุณผลักลงไปยังเกียร์ 3
ต่อให้ผู้โดยสารในรถ มากถึง 6 คน มีน้ำหนัก ตัวรวมกันพอกับคน 7 คน อัตราเร่ง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ของ XC60 ก็ยังจะทำได้เร็วกว่ากันอย่างชัดเจน อยู่ที่ 7.5 วินาที โดยประมาณ

เมื่อเทียบตัวเลขกับคู่แข่งแล้ว งานนี้ ชัดเจนว่า XC60 ให้ตัวเลขที่ดีกว่า Freelander ในทุกด้านก็จริงอยู่
แต่ยังไงๆ ก็ยังคงเป็นรองเครื่องยนต์ ของ BMW X3 xDrive 2.0 d นั่นแน่ๆ เพราะการลดน้ำหนักตัวลงไป
และประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีเซล BMW นั้น คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดเพียงอย่างเดียวของรถรุ่นนั้น 

การเก็บเสียงในขณะใช้ความเร็วสูงนั้น กลับไม่มีปัญหาเสียงลมหวีดร้องเข้ามา เพราะกระจกบังลมปิดไม่สนิท
อย่างที่ S80 ใหม่ ประกอบในบ้านเรา เป็น เสียงลมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงเสียงของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถัง

และรถก็นิ่ง มากพอที่จะทำให้ผมคว้ากล้องข้างตัว มาถ่ายภาพนี้ได้ และต่อให้กดคันเร่ง จมมิดติดพื้นรถแบบนี้
ไปอีกนานแค่ไหน ความเร็วสูงสุด ก็จะไม่ขึ้นไปมากเกินกว่านี้แล้วละครับ เพราะรถยนต์ที่มีความสูงกว่ารถยนต์
ทั่วไปเช่นนี้

ยิ่งถ้าไม่ล็อกความเร็วสูงสุดผมว่า โอกาสจะเกิดเหตุไม่คาดคิด เป็นไปได้สูงมาก ผู้ผลิตรถชาวยุโรปทุกค่ายรู้เรื่องนี้ดี
และนั่นคือเหตุผลที่ คุณมักจะไม่ค่อยพบ เอสยูวี หรือครอสโอเวอร์ คันใดที่ผมขับ ทำความเร็วเกินไปกว่า
220 กิโลเมตร/ชั่วโมงกันเท่าใดนัก และ XC60 นี่ก็เช่นเดียวกัน

 

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ แพทเทิร์น จะคล้ายกับว่า
ยกมาจาก S80 ใหม่ โดยมีการปรับแต่งความแข็งของช็อกอัพ และสปริง ให้ตอบสนองดีกว่า S80 รุ่นมาตฐานอย่างชัดเจน
ทั้งในแง่ความนุ่มนวล การเข้าโค้ง การเทออกทางด้านข้าง

แต่ในรถคันทดลองขับนี้ จะติดตั้งระบบ Four-C (Continuously Controlled Chassis Concept) แบบเดียวกับ S80 ใหม่
ที่ผู้ขับขี่สามารถเลือกโหมดความแข็งอ่อนของระบบกันสะเทือน ได้ 3 ระดับ ใช้เซ็นเซอร์หลายตัวเพื่อติดตาม
การทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ แดมเปอร์จะถูกปรับให้เหมาะกับการขับขี่ได้ในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที  

ระบบจะคอยสังเกตสภาพตัวรถ ถนน และสไตล์การขับขี่ ผ่านทางเซ็นเซอร์ในหลายๆตำแหน่งของตัวรถ
ด้วยความถี่ถึง 500 ครั้ง / วินาที เพื่อปรับระดับความแข็งหนืดของช้อกอัพให้เหมาะสม
และเคล็ดลับ ก็อยู่ที่ ช็อกอัพแบบ Semi-Active ที่ วอลโวร่วมกันพัฒนากับ Monroe-Ohlins นั่นเอง

มีทั้งโหมด ระหว่าง Comfort ซึ่งยังคงความนุ่มย้วยยย นิ่มมมมนวลลลลล เป็น Mashmellow สำหรับเดินทางในเมือง
จาก S80 ใหม่ 3.2 ลิตร มาแทบจะทุกอากัปกิริยา ขณะที่ โหมด Sport จะเพิ่มความแข็งขึ้นมาอีกนิด แต่ยังไม่แข็งตึงตังมากนัก
เหมาะสำหรับคนที่อยากสนุกกับการขับขี่ทางไกล ส่วนโหมด Advanced เน้นการยึดเกาะถนน และความแข็งขึ้นเป็นหลัก
ซึ่ง ถ้าแล่นผ่านถนนที่มีพื้นผิวไม่เรียบแล้ว จะออกอาการตึงตัง คล้ายคลึงกับ Honda Accord V6 3.5 ลิตร รุ่นปัจจุบัน
แต่แน่นหนากว่า เยอะ ถ้าอยากรู้ความแตกต่าง ให้ลองขับ โดยใช้ โหมด Comfort ก่อน แล้วข้ามไปเป็น
โหมด Advanced ในอีกชั่วอึดใจต่อมา คุณจะพบได้ว่า มันแตกต่างกันชัดเจน

ฟังดูดีมากๆเลย การที่รถ มีโหมดระบบกันสะเทือนให้เลือก ได้ถึง 3 รูปแบบตามความต้องการ

ข้อเสีย อย่างเดียวของระบบนี้ ในสายตาผมคือ ถ้าคุณอยากได้ ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 120,000 บาท….!!

แล้วถ้าไม่อยากได้ละ ความนุ่มนวลของระบบกันสะเทือน มันอยู่ในระดับไหน?
ทางวอลโว ตอบว่า “เท่าที่มีเจ้าหน้าที่ ไปอบรมเรื่องรถรุ่นนี้ ที่สวีเดน เขาบอกว่า
มันจะอยู่ตรงกลาง ระหว่าง โหมด Comfort กับ โหมด Sport

เอาละสิ…งงละสิ ว่าแล้วมันจะรู้สึกอย่างไรละ?

คำแนะนำง่ายๆจากผมคือ เดินไปที่ห้างสรรพสินค้า ใกล้บ้านคุณ
เดินขึ้นไปแผนกเครื่องนอน คุยกับพนักงานขาย PC ว่า ขอลองนั่ง หรือนอน
ลงบน ที่นอน ซีลี โพสเจอร์พิดิก รุ่นแพงๆ กับที่นอนสปริง ราคาถูกๆ หลังละ 6,000 กว่าบาท
แต่มีความสูงพอประมาณ

ในการเข้าโค้ง ขณะใช้ความเร็วสูงนั้น XC60 ยังคงแสดงบุคลิกของการเป็นรถในสไตล์ติดนุ่ม
มาให้เห็นเล็กน้อย แม้คุณจะอยู่ในโหมด Advanced ก็ตาม ยังพอจะมีอาการกระเดิดจากรอยต่อถนน
อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม แรงที่มากระทำด้านข้างตัวรถ ยังคงชัดเจน และสัมผัสได้ถึงการถ่ายน้ำหนัก
ไปทางล้อหน้าฝั่งที่ต้องรับภาระหนัก ซึ่ง Freelander จะเข้าโค้งได้นิ่งกว่ากันเล็กน้อย
ความแตกต่างข้อนี้ ต้องลองขับดูเองครับ

 

พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิคธรรมดา
อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 16 : 1 หมุนจากซ้ายสุดถึงขวาสุด หรือจากขวาสุด มาซ้ายสุด
ใช้ทั้งหมด 2.9 รอบ

มีจุดเด่นที่แตกต่างจากรถทั่วไป ก็คือ พวงมาลัยนั้น สามารถเลือกปรับความหนืดได้
ตามความเร็วของรถ 3 จังหวะ เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ระบบบังคับเลี้ยวจะปรับ
การทำงานตามทำให้บังคับได้ง่ายโดยเฉพาะเวลาจอดรถ แต่เมื่อความเร็วของรถเพิ่มขึ้น
ระบบช่วยผ่อนแรงจะลดการทำงานลงเพื่อให้ผู้ขับได้รู้สึกถึงพลังการขับขี่บนถนนจริงๆ 
การทำงานของระบบช่วยผ่อนแรงนี้สามารถปรับได้โดยเลือกที่เมนูจากระบบข้อมูล
ภายในรถได้ถึง 3 ระดับ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ขับขี่

การตอบสนองนั้น อยูในระดับปานกลาง ระหว่าง รุ่นพวงมาลัยไฟฟ้า ของ S80 3.2 ลิตร
และรุ่น 2.5 ลิตร ซึ่งพวงมาลัยมีน้ำหนักพอสมควร ไม่เบา ไม่หนักจนเกินไป
ในช่วงความเร็วต่ำ ความหนืดของพวงมาลัยที่จะพบได้ในการหมุน อยู่ในเกณฑ์กำลังดี
แบบที่คุณสุภาพสตรีจะชอบ ขณะที่ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยจะนิ่งมากๆ
ความหนืดก็เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หนักหนาอะไรมากมายนัก

ภาพรวมในการตอบสนอง ผมประทับใจกว่า S80 รุ่นพวงมาลัยไฟฟ้าแน่ๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้าปรับเพิ่มความหนืดของพวงมาลัยในช่วงความเร็วเดินทางไปไว้ที่ระดับสูงสุด ก็จะดี
แต่ถ้าไม่คิดจะเปลี่ยน ภาพรวมของมัน ก็ยังไม่เลวร้าย เหมือนอย่างที่สื่อมวลชนสายรถยนต์
ในต่างประเทศเคยพูดถึงมันเอาไว้ ในทางที่ไม่ค่อยดีนัก

บางที การเลือกรับสื่อจากต่างประเทศ ก็ต้องใช้วิจารณญาณไม่แพ้สื่อมวลชนเมืองไทยนั่นละครับ
มีทั้งมั่ว ทั้งของจริง ทั้งเป็นสื่อที่ดี หรือบางทีก็รับเงินแอบแฝง ครบทุกรูปแบบ เผลอๆจะหนักกว่าบ้านเราด้วยซ้ำ

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เสริมการทำงานด้วย ระบบป้องกันล้อล็อก ABS
(Anti-Lock Breaking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Distribution)
และระบบเสริมแรงเบรกในภาวะฉุกเฉินด้วยอีเล็กโทรนิคส์ EBA (Electronic Brake Assistance)

เส้นผ่าศูนย์กลาง จานเบรกหน้า 328 มิลลิเมตร หนา 30 มิลลิเมตร
ส่วนจานเบรกหลัง น้อยกว่ากันนิดหน่อย อยู่ที่ 308 มิลลิเมตร หนา 22 มิลลิเมตร  

การตอบสนองของแป้นเบรกนั้น นุ่มนวลเท้าเป็นอย่างดี การหน่วงความเร็วเกิดขึ้นเยอะชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นช่วงคลานในเมือง หรือจะเป็นช่วงที่ต้องลดความเร็วลงต่ำอย่างฉับพลัน (ยังไม่ถึงขั้นกระทันหัน)
ระยะเหยียบ ตั้งแต่เริ่มต้น จนสัมผัสได้ว่าเริ่มมีการจับตัวของผ้าเบรก ไม่นานอย่างที่คิด ต้องการให้รถ
ชะลอลงแค่ไหน ก็เหยียบไปเท่านั้น

ทางโรงงานเคลมว่าระยะเบรก จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง จุดหยุดนิ่ง ใช้ระยะทาง 39 เมตร

แต่ด้วยเวลาอันจำกัด เราจึงไม่ได้ลองอย่างที่ตั้งใจไว้  จึงได้แต่ลองระบบความปลอดภัย
อันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถทุกคัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลก และครั้งแรก
ของเมืองไทย สำหรับการติดตั้งระบบ ช่วยเบรก ขณะรถติด…

มันมีชื่อว่า City Safety

 

ทำไมต้องมีระบบนี้?

ลองนึกภาพดูได้ว่า ถ้าคุณกำลังขับรถ เคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรติดขัดถนนสาทร
มุ่งหน้าจะไปขึ้นทางด่วนพระราม 4 ตอนเย็นๆ ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
คือ พอจะเคลื่อนตามกันไปได้แบบไหลๆ ตามน้ำ นั่นละ

จู่ๆ มี เด็กแว๊นส่งเอกสาร ที่ไหนก็ไม่รู้ ขี่จักรยานยนต์ ตัดหน้า แท็กซี่ ซึ่งกำลังค่อยๆ
คลานกระดึ๊บๆ อยู่ข้างหน้า รถคุณ ลุงคนขับแท็กซี่ตกใจสุดขีดคลั่ง เท้าขวาเหยียบเบรกจมมิด
แท็กซี่เขียวเหลือง สภาพควรปลดระวางไปได้แล้ว ประมาณชาติเศษ หัวทิ่มหัวตำไปข้างหน้า
ในเสี้ยววินาทีนั้น คุณคิดว่า จะเบรกทันไหม? ถ้าตอนนั้น คุณกำลังใส่แผ่น CD เข้าไปในเครื่องเสียงติดรถ?

คุณอาจจะบอกว่า ทัน แต่ จะแน่ใจได้อย่างไรละ ว่าทันจริงๆ หรือทันทุกครั้ง และทันในครั้งต่อๆไป?
หรือ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรละว่า คันข้างหลังคุณเขาเบรกทัน ก่อนที่ รถคันข้างหลัง จะแสดงความพิศวาส
ประทับรอยจูบที่แก้มก้นเปลือกกันชนรถของคุณ?

นี่ละ คือที่มา ของการคิดค้นระบบนี้ นั่นเอง

ถ้าจะให้อธิบายกันแบบ เข้าใจง่ายๆ ไม่ต้องวุ่นวาย นั้น หลักการทำงานของมันก็คือ
ระบบ City Safety ประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์ ติดตั้งอยู่บนกระจกบังลมหน้า
(รูปขวา ข้างบนนี้) มีระยะในการทำงาน 6-8 เมตร มันจะตรวจเช็คว่า มีวัตถุ ที่เป็นรูปทรง
ประมาณรถยนต์ มีสี ที่สะท้อนแสง อยู่ข้างหน้าหรือไม่ และถ้ามีอยู่ มันห่างจากตัวรถไกลแค่ไหน

ถ้าระหว่างที่เคลื่อนคลานไปตามสภาพการจราจร ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หากคุณกำลังก้มเก็บซีดีอยู่ และรถคันข้างหน้า เบรกกระทันหัน ระบบจะแจ้งเตือน
และเหยียบเบรกให้คุณลงไปเอง โดยแป้นเบรกจะยุบตัวลงไปด้วยนิดหน่อย
ระบบะทำงาน ทั้งในเวลาที่ตรวจพบว่า มีรถอยู่ข้างหน้า ทั้งกำลังแล่นอยู่ หรือหยุดสนิทนิ่ง
การเปิด ปิด ระบบ ทำได้ โดยดูที่ ก้านไฟเลี้ยว หมุนเลือกโปรแกรมแสดงผลบนชุดมาตรวัดฝั่งขวา
แล้วกดปุ่มเลือก เข้าไป ว่าจะให้ เปิด หรือปิดระบบ (แต่คำแนะนำจากผมคือ เปิดไว้ตลอดนั่นละ ดีแล้ว)
 

เพื่อให้เห็นภาพการทำงานจริง ทางวอลโว ก็เลยจัดให้ผม
ได้ทดลองระบบนี้ก่อนรับรถ XC60 ไปทดลองขับกัน
ที่ด้านหลังของสำนักงานใหญ่ ย่านคลองตัน นั่นละ

ผมว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่าจะปล่อยให้เรานำรถไปลองเองตามยถากรรม แน่นอน ^0^

 

เราลองด้วยการ ออกรถ พุ่งเข้าหา เจ้ารถบอลลูน สีส้ม (อนุมานว่า เป็นรถ Volkswagen Polo Lookalike แล้วกัน)
โดยเปิดระบบ City Safety ทิ้งไว้ ให้ทำงาน เรานำมาทดลองกัน 2 ครั้ง ครั้งแรก คือเพื่อให้รู้จักระบบ
และครั้งที่ 2 เรามี แขกรับเชิญ คือ น้อง ถัง เพื่อนเก่าแก่ผู้ร่วมทดลองรถกันมาหลายปี มาเป็นผู้ร่วมประสบการณ์

 

ไม่ว่าจะพุ่งเข้าหารถคันข้างหน้าที่ความเร็วระดับใด ในช่วงระหว่าง 0-30 กิโลเมตร ระบบจะตัดการทำงานทันที
และไม่ว่า จะใช้ความเร็วเท่าใด หากไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง และคุณกำลังแล่นอยู่บนพื้นปูน หรือพื้นที่ไม่ลื่นนัก
ยังไงๆ ระยะหยุด ก็จะห่างจากบั้นท้ายรถคันข้างหน้า ในระดับเท่าที่คุณเห็นในรูปข้างล่างนี้ อยู่ดี
 

 

แต่ ถ้าความเร็วเกินจาก 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง นี้ละ?

รถก็จะพุ่งชนบั้นท้ายคันข้างหน้านั่นละ แต่ ระบบจะช่วยเบรกให้เองก่อน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง

ข้อจำกัดของระบบนี้ละ? ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ มี และ หลายข้อ เลยทีเดียว ที่คุณควรจะทำความเข้าใจเอาไว้

– ระบบนี้ จะทำงานเอง ในกรณีที่คุณไม่เหยียบเบรกเลย! แต่ถ้าระหว่างนั้น คุณเกิดเผลอเหยียบเบรก
ระบบจะยุติการทำงานทันที นั่นหมายความว่า ในเสี้ยววินาที คุณต้องรีบตัดสินใจว่า
จะปล่อยให้ระบบมันทำหน้าที่ของไป หรือ จะเหยียบแป้นเบรกเอง?

– ด้วยเหตุที่ระบบนี้ถูกคิดค้นมา โดยมองพฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เนื่องจาก ทันทีที่รถหยุดเองแล้ว คนเรามักจะเอาเท้าไปเหยียบเบรกซ้ำอีกที เพื่อให้รถอยูนิ่งๆ
ดังนั้น ภายใน 2 วินาที ถ้าคุณยังไม่เอาเท้าไปเหยียบเบรก รถก็จะเริ่มไหลไปข้างหน้าอีกครั้ง!
เพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่รถคันข้างหลัง และตามมาไม่ทัน จะพุ่งเข้าชนท้ายคุณ ดังนั้น
ถ้ารถคันข้างหน้ายังไม่เขยื้อน เท้าขวาคุณ ก็ควรจะเหยียบเบรกทันที หลังจากระบบทำงานไปแล้ว

– ถ้ารถคันข้างหน้าคุณ เป็น จักรยานยนต์ ระบบจะไม่ทำงาน (ก็ในประเทศที่คิดค้น
ระบบนี้หนะ จักรยานยนต์ เขาจะเข้ามาวิ่งอยู่ข้างหน้ารถ เหมือนบ้านเราซะที่ไหนกันละ?)
– ถ้าสิ่งที่อยู่ข้างหน้ารถคุณ เป็นวัตถุ หรือ มนุษย์ ระบบไม่ทำงานเหมือนกัน
– ถ้ามีรถตัดหน้า หรือ จักรยานยนต์ตัดหน้า ระบบจะไม่ทำงานเช่นกัน

ถ้าอยากเห็น เวอร์ชันภาพเคลื่อนไหว ขอเชิญได้ที่ กระทู้แสดงความเห็นในเว็บบอร์ด คลิกที่นี่

นอกเหนือจากระบบ City Safety อันเป็นจุดขายหลักของรถรุ่นนี้แล้ว
วอลโว ยังติดตั้งสารพัดอุปกรณ์อีเล็กโทรนิคส์ ที่ช่วยในด้านความปลอดภัยมาเยอะมาก

– เริ่มจากระบบที่ทำงานต่อเนื่องกันจาก City Safety นั่นเลย คือระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ
แปรผันตามระยะห่างของรถคันข้างหน้า ที่เราตั้งเอาไว้ Adaptive Cruise Control พร้อมกับ Collision Warning
หรือระบบ เตือนผู้ขับขี่ว่าเข้าใกล้ รถคันข้างหน้ามากเกินไป  XC60 ถือเป็นวอลโวรุ่นที่ 2 ในไทย ซึ่งติดตั้งระบบ
ควบคุมความเร็วคงที่ในลักษณะนี้ ต่อจาก S80  ซึ่งเราสามารถปรับตั้งระยะห่าง ที่จะให้เรดาห์ มันเตือนได้
จากสวิชต์ควบคุมระบบบนแผงคอนโซลกลาง และพวงมาลัยควบคู่กัน

การทำงานก็อธิบายได้ง่ายมาก คือ มีตัวส่งเรดาห์ บริเวณกระจังหน้ารถ ไปสะท้อนกับวัตถุแข็งๆ
หรือรถคันข้างหน้า ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่เรดาห์จับสัญญาณได้ว่า รถของคุณ เข้าใกล้กับรถคันข้างหน้า
มากเกินไป เรดาห์จะส่งสัญญาณไปยังเซ็นเซอร์ ประมวลผลของระบบ เพื่อสั่งให้ระบบเตือนผู้ขับขี่
ก่อนการชน (Coliision Warning) ทำงาน โดย แถบไฟ LED ที่ติดตั้งอยู่เหนือชุดมาตรวัด
จะเริ่มแดงขึ้นมา ใน XC60 ถ้าเป็นโหมด Colision Warning อย่างเดียว จะแดงเตือน เป็นแถบเพียงเท่านี้ ยังไม่กระพริบ

แต่ถ้าเข้าใกล้มากเกินไป ก็จะขึ้นแถบไฟกระพริบ สีแดง พร้อมกับเสียง ปิ๊บๆ ถี่ๆ ดังลั่นรถ
ชุดเครื่องเสียงจะถูกหรี่ลงอัตโนมัติทันที จนกว่าสัญญาณเตือนจะหายไป

และพร้อมกันนั้น ระบบช่วยชะลอรถ (Break Support) จะสั่งให้ระบบเบรก ทำงานทันที
เพื่อชะลอความเร็วล่วงหน้า ทันที เมื่อรถอยู่ในระยะกระชั้นชิด แต่ แน่นอนว่า รถจะยังไม่หยุดให้
ผู้ขับขี่ต้องเหยียบเบรกเพิ่มเข้าไปด้วย ให้รถหยุด ด้วยตัวเองอยู่ดี

แต่ถ้าเปิดระบบ Adaptive Cruise Control ให้ทำงานแล้ว คุณปล่อยให้รถมันเร่งมันผ่อนเอาเองตามรถคันหน้าได้เลย

นอกจากนี้ ถ้าระบบตรวจพบว่ารถเสียการทรงตัว ขณะเปิดระบบ Adaptive Cruise Control ระบบจะถูกยกเลิกเองทันที

 

– ระบบกล้องและสัญญานเตือนมุมอับของสายตา Blind Spot Information System (BLIS) ที่ผมชื่นชอบมากๆ
มาตั้งแต่ ที่เคยเล่นใน S80 และ C30 ทันที ที่มีรถแล่นมาจากด้านข้าง เข้าใกล้รถของคุณ กล้องที่จับความเคลื่อนไหวได้
จะส่งสัญญาณให้ระบบ ขึ้นไฟเตือน ผู้ขับขี่ ว่า มีรถมา อย่าเพิ่งเปลี่ยนเลน หรือเลี้ยวรถใดๆทั้งสิ้น ทำงานหมด
ไม่ว่าจะเจอแค่รถจักรยานยนต์ หรือจะเป็นรถเมล์สาย 8 อันลือลั่นสนั่นทุ่งถึงความเป็นที่สุดในการบริการ

อย่างไรก็ตาม ระบบ BLIS มีข้อจำกัดในตัวของมันเช่นกัน และวอลโวเองก็แจ้งเตือนมาในคู่มือผู้ใช้รถ
(ซึ่งผมก็เคยเจอเข้ากับตัวเองด้วยใน C30 และ S80) ว่า ในบางครั้ง ระบบ BLIS อาจจะแจ้งเตือนขึ้นมา
ในเวลาไม่เหมาะสม เช่นขณะขับอยู่ แล่นขนาบข้างกำแพงกั้นเสียงบนทางด่วนไฟอาจจะติดขึ้นมาเตือนเองก็ได้
(เพราะมันตรวจเจอวัตถุนี่นา หรือไม่จริง?) รวมทั้งตอนฝนตก กล้องจับสัญญาณไม่ดี เพราะมีคราบสกปรกที่กล้อง
ระบบอาจจะขึ้นไฟเตือนพักใหญ่ๆ กระพริบๆ (ถ้าอยากจะให้มันหายไป มี 2 ทางเลือก คือกดปุ่มปิดระบบที่
คอนโซลกลาง หรือไม่ ถ้ายังอยากให้ทำงาน ต้องจอดเข้าข้างทาง ดับเครื่อง และติดเครื่องยนต์ใหม่
เพื่อ Reset ระบบ!!…. ( -_-‘ )….. )

– ระบบแจ้งเตือนคนขับ ว่าขับให้ตรงทาง อย่าคร่อมเลน และเปลี่ยนเลน ข่วยเปิดไฟเลี้ยวด้วย
(Lane Departure Warning with Driving Alert) ทุกครั้งที่คุณเผลอคร่อมเลน ระบบจะร้องเตือนครั้งเดียว

แถบสีที่ต่างกัน แสดงช่วงความเร็วที่ระบบนั้นๆจะทำงาน

– ระบบ Trailer Stability Control (TSA) เอาเข้าจริง ระบบนี้ ไม่ค่อยจำเป็นกับเมืองไทยเท่าไหร่ เพราะคนไทย
ไม่ค่อยนิยม ลากเรือ ไปพร้อมกับรถอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมีไว้ให้เป็นอุปกรณ์สั่งติดตั้งพิเศษ มันจะคอยเพิ่มแรงเบรก
และลดการส่งแรงบิดไปยังแต่ละล้อ ให้สมดุลกัน ในกรณีที่รถลากด้านหลัง แกว่งไกวไปมา

– ระบบ Hill Descent Control (HDC) ที่ช่วยให้การขับขี่ด้วยเกียร์ต่ำเมื่อขึ้นหรือลงทางลาดชันเป็นไปได้
อย่างปลอดภัย ระบบดังกล่าวทำงานโดยอาศัยเบรกและแรงบิดจากเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมความเร็วของรถ
และความเร็วในการเคลื่อนที่ไปตามทางลาดชันได้อย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ  ผู้ขับขี่จึงสามารถให้ความ
สนใจกับการบังคับเลี้ยวให้ปลอดภัยได้อย่างเต็มที่  ระบบ HDC จะทำงานเมื่อกดปุ่มบนแผงหน้าปัด
และเมื่อไรก็ตามที่ผู้ขับเหยียบเบรกหรือคันเร่ง และเมื่อเกียร์เปลี่ยนแล้ว ระบบ HDC ก็จะหยุดการทำงานเอง
โดยอัตโนมัติ  การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและนุ่มนวล

– ไฟเบรกฉุกเฉิน อัตโนมัติ ติดสว่างขึ้นในกรณีเบรกกระทันหัน ถึงขั้นรถต้องหยุดลง

– และนอกจากนี้ ถ้าคุณขับเป๋ไปเป๋มา รถจะเริ่มเดาว่าคุณง่วง
ระบบจะขึ้นสัญญาณเตือน เป็นรูปถ้วยกาแฟ ให้แวะจอดเข้าพักข้างทางก่อน

– ระบบควบคุมการโคลงของตัวรถ หรือ Roll Stability Control (RSC) จะทำงานเมื่อรถตรวจจับอาการเหวี่ยง
ออกด้านข้างอย่างรุนแรง จนอาจทำให้พลิกคว่ำได้ โดยช่วยให้รถทรงตัวได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการ
พลิกคว่ำเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

แต่ถ้าเกิดการพลิกคว่ำจริงๆ  เซ็นเซอร์ตรวจจับการพลิกคว่ำของระบบปกป้องเมื่อพลิกคว่ำหรือ
Roll-Over Protection System (ROPS) จะอ่านค่าของอัตราการพลิกของรถตลอดเวลา ถ้าค่าดังกล่าว
สูงถึงขีดอันตรายระบบก็จะทำงาน เช่น สั่งการให้ม่านนิรภัยด้านข้างทำงาน  ระบบ ROPS เป็นระบบที่ซับซ้อน
ประกอบด้วยหลายๆ ส่วน อาทิ โครงสร้างความปลอดภัยของตัวถัง ถุงลมนิรภัย พร้อมม่านลมนิรภัย รอบคัน
เข็มขัดนิรภัย แบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ ฯลฯ

แต่ถ้าอุบัติเหตุ มันเร็วและยากเกินหลีกเลี่ยง จนคิดว่า ยังไงๆ ก็ต้องชนคันข้างหน้าแล้วละก็

โครงสร้างด้านหน้าของรถ ประกอบด้วยบริเวณที่ยุบตัวได้เมื่อเกิดการชนซึ่งผลิตจากเหล็กหลายชนิด
แต่ละชนิดจะมีหน้าที่ในการรับและกระจายแรงชนในระดับที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัย
และปกป้องให้แก่ผู้ที่อยู่ในรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

โครงสร้างรถด้านหน้ายังมี คานขวางใต้กันชนหน้า (cross member) ที่ปรับระดับความสูงให้
อยู่ในระดับเดียวกับรถยนต์นั่งขนาดปกติ ในกรณีที่เกิดการชนด้านหน้า ส่วนนี้จะสัมผัสกับรถ
ที่อยู่ด้านหน้าตรงจุดที่ทำจากเหล็กที่ยุบตัวได้ เพื่อลดความรุนแรงของการชน ตามที่ถูกออกแบบมา
ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้โดยสารที่อยู่ในรถนั้นได้ด้วย

โครงสร้างด้านข้างของรถก็ใช้เหล็กที่มีคุณภาพหลากหลายเช่นกัน รวมทั้งมีท่ออีกจำนวนหนึ่ง
ซึ่งถูกออกแบบมาให้ตัวถัง “ขยับ” ไปด้านข้าง  ระบบปกป้องการชนด้านข้าง Side Impact
Protection System (SIPS) ของวอลโว่ จะช่วยดูดซับแรงกระแทกเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจาก
แรงกระแทกที่พุ่งเข้ามาจากทางด้านข้าง

เห็นเทคโนโลยีเยอะแยะแบบนี้ ผมได้แ่ต่นั่งนึกในใจ ว่าถ้าระบบพวกนี้เสีย ตอนซ่อม ราคาจะแพงหูฉี่ขนาดไหนกันละเนี่ย?

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ไม่อยากจะเชื่อตัวเองว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผมต้องทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
กับ รถคันนี้ อีกเป็นครั้งที่ 2 และ ที่สำคัญ ผลลัพธ์ที่ได้ มันมีเรื่องน่าแปลก  
และชวนให้ตั้งข้อสังเกต นิดหน่อย

ตามปกติแล้ว  ทันทีที่รถทดลองขับ ถูกส่งมาอยู่ในมือผม
ปั้มน้ำมันเชลล์ ที่พหลโยธิน ปากซอยอารีย์ ใต้สถานี BTS
ก็กลายเป็นจุดหมายแรกในทันใด

ทำไมเราต้องทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันก่อนเพื่อนเลยละ?

เหตุผลง่ายนิดเดียวครับ
1. เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการทดลองรถ ไม่ให้บานปลาย
ไปกว่า งบที่ตั้งเอาไว้ 1,000 บาท / คัน ขาดเกินได้ นิดหน่อย
2. การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คือการทำความรู้จักและคุ้นเคยกับรถ ที่ดีที่สุดในเวลา 1 ชั่วโมง

ก็เพราะมาตรฐานที่เรายึดถือมาตลอด ทั้งการขับด้วยความเร็วคงที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
(น้ำหนักบรรทุกราวๆ 150 กิโลกรัม โดยประมาณ ขึ้นลงไม่แน่นอนนัก แต่บวกลบ ไม่เกิน 10 – 20 กิโลกรัม)
ไปบนทางด่วน ที่มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร นอกจากจะใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง แล้ว
ความยาวของเส้นทางนั้น เพียงพอให้สำรวจบุคลิก และอากัปกิริยาของตัวรถไปด้วย ในตัว

ครั้งนี้ เราก็ทำเช่นเดิม เหมือนที่เคยปฏิบัติตลอดมา
น้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ก็ยังรับอาสา เป็นผู้ร่วมทดลอง
นั่งเป็นหุ่นถ่วงน้ำหนักรถเข้าไป

 

 

เราเติมน้ำมันดีเซล วี-เพาเวอร์กัน เต็มถัง หัวจ่ายตัดก็พอ
แล้วมุ่งหน้าออกจากปั้ม ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ แล้วไปขึ้นทางด่วนที่ ด่านพระราม 6
เดินทางไปยังปลายสุดระบบทางด่วน สายเชียงราก แล้วเลี้ยวกลับ ที่ปลายทางด่วน
เพื่อย้อนกลับมาขึ้นทางด่วนฝั่งตรงข้าม มุ่งหน้ากลับเข้า กรุงเทพฯ กลับมาลงทางด่วน
ที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยฯ ลัดเลาะ ฝ่าฟัน บรรดาคุณนายขับหวานเย็น กับ วินมอเตอร์ไซค์พลีชีพ
แล้วไหนจะ พี่รถเมล์ ที่ชอบเจ้าชู้ทางการจราจร (ชอบขับคร่อมเลน) เพื่อกลับมาเติมน้ำมัน
ที่ปั้มเดิม “และหัวจ่ายเดิม เป๊ะ!” 

 

เมื่อถึงจุดหมาย มาดูระยะทาง มาตรวัด Trip Meter กัน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 92.5 กิโลเมตร

 

ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับ…7.76 ลิตร
เอ่อ…ทำไมงวดนี้เติมกลับเยอะจัง

 

พอดูผลลัพธ์ที่ออกมา เฮ่ย  ทำไมตัวเลขมันตกต่ำขนาดนี้!
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 11.92 กิโลเมตร/ลิตรเองละ??
มันพอกันกับ แลนด์โรเวอร์ ฟรีแลนเดอร์ แถมยังกินน้ำมันกว่า
เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต รุ่นดีเซล อีกด้วยแหนะ!
คราวก่อน ต่อให้เป็น S80 D5  ซึ่งใช้เครื่องยนต์ เดียวกัน
ก็ยังทำตัวเลขออกมาดีกว่านี้เลยนี่แหะ?

ระหว่างกำลังงุนงงสงสัยเป็นไก่ตาแตก ช่วงเย็นย่ำค่ำนั้น
พี่ต่าย ฝ่ายพีอาร์ ของวอลโว ก็โทรเข้ามาพอดี
ด้วยอารมณ์จะถามว่า “รถเป็นไงมั่งคะ” เลยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไป

พี่ต่ายตอบกลับมาว่า “เป็นไปได้ไหมว่าอยู่ที่น้ำมันที่เติมเข้าไป?”
แล้วก็เล่าที่มาที่ไปให้ฟัง จับใจความได้ว่า

ตามปกติแล้ว เวลาวอลโวจะส่งมอบรถให้กับสื่อมวลชนยืม
หรือแม้แต่รถในบริษัท จะใช้งานกันเอง นั้น ปั้มน้ำมันเชลล์ บนถนนพระราม 9
(ซึ่งมันก็มีอยู่ปั้มเดียวนั่นแหละ ไม่ต้องไปนึกนานหรอกครับ ถัดจากสี่แยกรามคำแหง
ไปแค่เพียงข้ามสะพานข้ามคลองเล็กๆนั่นละ มักจะเป็นที่พึ่งพาของหมู่เฮาชาวคลองตันกันประจำ

ทีนี้ วันที่จะส่งมอบรถให้ผมหนะ การจราจรติดขัดเยอะมาก กลัวจะส่งมอบรถไม่ทัน
คุณต่ายก็เลย เอาวะ เติมบางจากให้แล้วกัน….

นั่นเลยเป็นผลให้ น้ำมันดีเซล บางจาก B5 ตกมาอยู่เต็มถังของ XC60 คันนี้เลยนั่นเอง!

อ้าวววว ถ้าเป็นเช่นนั้น น้ำมันที่อยู่ในถัง มันคนละชนิดกัน ต่อให้ผม เอารถไปวิ่งเล่นมาก่อนหน้านี้
ประมาณ 50 กิโลเมตร ปริมาณน้ำมันที่ลดลง ก็แทบจะไม่มากนัก ดังนั้น โอกาสที่น้ำมันวี-เพาเวอร์ ดีเซล ระลอกใหม่
ซึ่งเราเติมเข้าไปก่อนจะเริ่มต้นทำการทดลอง มันก็แทบจะลงไปผสมกลมกลืนในถังน้ำมัน จนเรียบวุธ
เท่ากับว่า น้ำมันที่เราทดลองกันนั้น ก็คือ บางจาก B5 นั่นเอง!

ธ่ออออ ถังเอ้ยยยยยย

ดังนั้น คำถามก็เกิดขึ้นว่า แล้วถ้าเราจะทำอัราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงใหม่ แล้วเติมแต่ วี-เพาเวอร์ ดีเซล ในสัดส่วน ที่ต้อง
มากกว่า น้ำมันเดิม ซึ่งมีอยู่ในถังละ? จะเป็นอย่างไร?

ในวันสุดท้าย ที่รถคันนี้จะอยู่กับผม ตาถัง จึงรับหน้าที่ เป็น ผู้ช่วย แทน
น้ำหนักตัวของผม ยังอยู่ที่ 95 กิโลกรัม
แต่น้ำหนักตัวของถัง ณ ปัจจุบัน ปาเข้าไป 77 กิโลกรัม

เอ่อ…ได้ข่าวว่าเริ่มอ้วนเข้าใกล้ผมมากขึ้นทุกที
ยิ่งพอใส่เสื้อลายสก็อตอย่างที่เห็นในภาพนี้…

ช่างดูเป็น…”พ่อกำนัน ถังน้อย” จริงๆ!
นี่จะว่าไป ขาดแค่ผ้าขาวม้านะ รับรอง ครบสูตร!

จากนั้น เราก็ทำทุกอย่างเหมือนเดิม ใช้เส้นทางเดิม วิธีการเดิม
เพียงแต่ต่างกันที่ เราทดลองกันในตอน เที่ยงวัน
แทนที่จะเป็นช่วง บ่าย 3 โมง อย่างคราวก่อน
อุณหภูมิภายนอกรถ 31 องศาเซลเซียส

 

เมื่อกลับมาจอดที่ปั้มเชลล์ แห่งเดิม ตัวเลขระยะทาง ไหงขึ้นไปเป็น 92.8 กิโลเมตร หว่า?
ต่างกัน 0.3 กิโลเมตร ในรถคันเดียวเนี่ยนะ? ทั้งที่วิ่งบนเส้นทางเดียวกัน
ไม่มีออกนอกลู่นอกทางเลยเนี่ยนะ? เอ่อ แปลกดีเนาะ
 

แต่ ปริมาณน้ำมันที่เติมกลับไปจนหัวจ่ายตัด เนี่ยสิ..!
6.27 ลิตร เอง
มันลดน้อยลงกว่าเดิมเยอะเลย

 

ดังนั้น ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยในงวดนี้
จึงดีขึ้นพุ่งพรวดพราด เป็น 14.80 กิโลเมตร/ลิตร!

อันที่จริง อยากจะทำการทดลองอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 แล้วนำเอาค่าเฉลี่ย
มาหารกัน แต่เนื่องจากว่า เวลาไม่เพียงพอ และรถคันนี้ การเติมน้ำมัน
ทดแทนเข้าไปยังน้ำมันเดิมที่ผมหาทางใช้งาน จนกระทั่งลงต่ำเหลือระดับ 1 ใน 3
ก็ปาเข้าไป 1,400 บาท โดยประมาณ นั่นก็เป็นตัวเลขที่เยอะอยู่
อีกทั้งรถรุ่นนี้ ก็ไม่ใช่รถรุ่นที่ คนซึ่งคิดจะซื้อ จะให้ความสำคัญ
กับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากมายนัก ผิดกับ รถยนต์ประเภทอื่นๆ
เลยเป็นอันต้องพับเก็บความคิดไว้ ในฐานที่เข้าใจ ด้วยเหตุทั้งหลายทั้งปวงนี้

ว่าแต่ว่า คราวนี้ ผมควรจะรายงานตัวเลข จากการทดลองครั้งไหนดีละ?

ถ้าเป็นแบบนี้ คงต้องใส่ลงไปทั้ง 2 ตารางเลยแล้วกันว่า
เฉพาะ XC60 รุ่นนี้ ถ้าคุณเติม บางจาก B5
คุณจะได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 11.92 กิโลเมตร/ลิตร
แต่ถ้า คุณเติม วี-เพาเวอร์ ดีเซล
คุณอาจจะทำตัวเลขระหยัดขึ้นได้ เป็น 14.80 กิโลเมตร/ลิตร

ที่แน่ๆ จากที่เห็น และได้ลองขับมา ประเมินคร่าวๆได้ว่า น้ำมัน 1 ถังนั้น ถ้าขับแบบเรื่อยๆ เนียนๆ 
แซงบ้าง กดเต็มเท้าบ้าง ครั้งสองครั้ง คิดว่า ระยะทางที่คุณน่าจะขับไปได้ น่าจะอยู่ที่ราวๆ 600 กิโลเมตรโดยประมาณ

และแน่นอนว่า ในเกมอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย BMW ก็ยังคงทำตัวเลขได้ดีที่สุด
เกินหน้าเกินตาคู่แข่งไป และดูเหมือนว่า นั่นคือสิ่งเดียว ซึ่งทำให้ X3 ยังคงดูมีคุณค่าขึ้นมาบ้าง

ในขณะที่ Freelander ก็ยังคงหงอยเหงา เศร้ายาวกันอีก ทั้งตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ที่กินมากว่าเพื่อนฝูงเยอะ มากกว่าที่คิดไว้

 ********** สรุป **********

*****ตอนเนี้ย เหลือเพียงแค่ ค่าตัวแล้วละ!*****

ทันทีที่อ้าปาก จะพูดถึงความรู้สึกกับ XC60 หลังจากส่งคืนคีย์การ์ดให้กับพี่ต่าย
อันเป็นธรรมเนียมปกติ ที่ผมมักได้ยินจนคุ้นเคย ว่าพีอาร์ จะต้องถามความรู้สึก
เพื่อจะได้รู้ล่วงหน้าว่า แนวโน้มของบทความ จะออกมาเป็นอย่างไร

แต่คราวนี้ ท่านพี่ ก็เบรกเอี๊ยด ตัวโก่งยิ่งกว่าระบบ City Safety ซะอีก ว่า

“หยุด! คุณจิมมี่ไม่ต้องเล่า เอาไว้ ต่ายรออ่านในรีวิวดีกว่า ตื่นเต้นกว่า”

พี่ครับ ชีวิตประจำวันพี่ขาดความตื่นเต้นไปมากขนาดนั้นแล้วเหรอครับ
แล้วจะมาฝากความหวัง ไว้กับ เด็กกะเลวกะราด วาจาเชื้อเชิญบาทา อย่างผมเนี่ยนะ?

คิดผิดคิดใหม่ได้นะครับพี่?  

ก็เวลาสำหรับการทำความรู้จักกัน เพียง 3 วัน 2 คืน ที่มีมาให้งวดเนี้ย มันน้อยยยย ไปนิด
สำหรับรถที่เต็มไปด้วยของเล่นไฮเทค เยอะแยะไปหมด ซึ่งไม่รู้ว่าจะเยอะกันไปถึงไหน

ก็คงมีเสียงลอยมาตามลมสวนออกมาว่า “เยอะได้อีก เท่าที่คุณจะมีปัญญาจ่ายค่าตัวของมันนั่นละ!”

 

ถ้าจะให้เปรียบ XC60 กันในเวลา ตี 1 ครึ่งแบบนี้ ผมคงนึกได้ถึง สเต็กสักจาน ที่รสชาติถูกปากผมชะมัด
แถมยังได้ สารอาหารครบ 5 หมู่ นั่นหมายถึงว่า ทั้ง สวย แรง ประหยัด ขับสบายแถมสนุก และ ปลอดภัย

เรียกได้ว่า วอลโว สวมบทพ่อครัว ปรุงเนื้อสเต็กมาอย่างดี อัดแน่นด้วยผัก มันฝรั่งอบ และเครื่องเคียง
เต็มจาน จนบางอย่าง ก็เกินจำเป็นไปนิดหน่อย แต่ ได้รสชาติ ถึงอกถึงใจผมเป็นอย่างมาก

หน้าตาก็สวยสะบัด เคยคิดเล่นๆว่า ถ้าจะต้องมี ครอสโอเวอร์ เอสยูวีสักคัน หน้าตาควรจะเป็นแบบนี้
โดยไม่คิด่า วอลโว จะเป็นคน สร้างมันออกมาขายจริงๆ!

ภายในห้องโดยสาร บางคน บอกว่าอึดอัดไปหน่อย แต่สำหรับผม ถือว่า กำลังดี ยังสบายได้
ในมาตรฐานแบบวอลโว พวงมาลัยก็ปรับได้ 3 ระดับ ช่วงล่างก็ปรับได้ 3 ระดับอีก เบรกก็นุ่มเท้าดีเป็นบ้า

จะมีบ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องการเข้าโค้งขณะใช้ความเร็วสูง บนไฮเวย์ นั้น XC60 ยังเป็นรอง Freelander
อยู่บ้างนิดหน่อย ต่อให้ปรับระบบ Four C เป็นโหมด Advanced ไปแล้วก็เถอะ ถึงกระนั้น
ในภาพรวมแล้ว XC60 ได้กลายเป็นรถยนต์วอลโว รุ่นใหม่ ที่แม้จะยังมีกลิ่นอายสไตล์นุ่มๆ
แบบวอลโว รุ่นก่อนๆ แต่คราวนี้ มาในคราบที่ฉีกไปจากเดิม

ทว่า…สำหรับผมแล้ว XC60 มีข้อเสียเพียงข้อเดียวจริงๆ…
เป็นข้อเสียที่ ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอก…

นั่นคือ ค่าตัวของมัน ยังไงละครับ!

ตั้ง 3.999 ล้านบาท แหนะ!

 

แถม ที่สำคัญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณเห็นในรถคันสีเขียวมะนาวคันนี้ มันไม่ได้มาครบ
ในราคา 3.999 ล้านบาท เพราะ รถคันทดลองขับนี้ ติดตั้งอุปกรณ์ มาเกือบเต็มพิกัด

ต้องบอกก่อนว่า คราวนี้ วอลโว ทำตลาด XC60 โดยมีระบบ City Safety ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ทว่า ถ้าอยากได้อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม ก็ต้องสั่งติดตั้งเพิ่มเติม โดยมีกลุ่มอุปกรณ์เสริมให้เลือกได้อีก 3 แพ็กเก็จ
มุขนี้ได้ข่าวว่า มาแนวเดียวกับ เจ้าแฮตช์แบ็ก 3 ประตูรุ่น C30 เลย

Package ที่ 1  – ระบบป้องกันการชน (Collision Avoidance Package)
ประกอบด้วย Blind Spot Information System (BLIS) กล้องและสัญญานเตือนมุมอับของสายตา
Adaptive Cruise Control (ACC) ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติแบบปรับเปลี่ยนได้
Collision Warning with Auto Brake (CWAB) ระบบเตือนเพื่อป้องกันการชนและช่วยในการหยุดรถอัตโนมัติ
Distance Alert (DA) ระบบแจ้งเตือนเมื่อผู้ขับขี่ขับเข้าใกล้รถคันข้างหน้ามากไป  
Lane Departure Warning System (LDW) ระบบเตือนผู้ขับขี่เมื่อขับรถออกนอกเส้นแบ่งช่องทางจราจร
Driver Alert Control (DAC) ระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่เมื่อแสดงอาการเหนื่อยล้าหรือขาดสมาธิ

มูลค่า 350,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

Package ที่ 2  – ระบบกันสะเทือน     Four-C  ระบบช่วงล่างแบบปรับเปลี่ยนได้  
สามารถเลือกรูปแบบการขับขี่ได้ (Comfort, Sport, หรือ Advance) มูลค่า 120,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

Package ที่ 3  – เครื่องเสียง Premium Sound 5 x 130 W. พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 6 แผ่น
และลำโพง Dynaudio 12 ตัว พร้อมชุดปรับเครื่องเสียงพร้อมช่องเสียบหูฟังสองช่อง
สำหรับที่นั่งด้านหลัง มูลค่า 150,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

รถคันสีเขียวมะนาวที่เห็นอยู่นี้ ติดตั้งชุดอุปกรณ์ Package 1 และ 2 รวมกัน มูลค่า ปาเข้าไป 470,000 บาท
(ไม่ได้ติดตั้งชุดเครื่องเสียง Premium Sound มาให้แต่อย่างใด แต่คุณภาพเสียงก็ดีพอที่จะทำให้คุณ
ไม่ต้องไปจ่ายเพิ่มอีก 150,000 บาท แน่ๆ )

แถมยังมี หลังคากระจกพร้อมซันรูฟในตัว Panoramic Glass Roof  ราคา 150,000 บาท
ทั้งหมดข้างบนที่ร่ายมานี้ คุณต้องสั่งซื้อเพิ่มเติม ไปพร้อมๆกับตอนที่คุณสั่งจองรถยนต์
เพราะทุกชิ้นที่กล่าวมา จะต้องติดตั้งจากโรงงานของวอลโว ในเมือง Ghent ที่เบลเยียม เท่านั้น

(แน่ละ ใครมันจะมาติดตั้งซันรูฟแบบนี้กันง่ายๆในเมืองไทย เหมือนบรรดาอู่โป้วพ่นสี เลือกหลังคา
ที่ตัดมาจากซากรถมือสอง มาดัดแปลง ใส่ในรถของลูกค้า กัน หืม??)

แล้วไหนจะยังมี อุปกรณ์เสริม ที่ติดตั้งในประเทศ ทั้ง แผงกันชนหน้า สีเงินๆ นั่น
แผงกันรอยด้านล่าง (Side Scuff Plate & Adhersive ไปจนถึง ปลายท่อไอเสีย แผงครอบกันชนหลัง
และชุดเครื่องเล่น DVD แบบ ฝังตัวด้านหลังของพนักศีรษะ เบาะคู่หน้า แยกฝั่ง ซ้าย-ขวา พร้อมชุดหูฟัง
Bluetooth และ รีโมทคอนโทรล นั่นอีกละ

สิริรวมแล้ว ถ้าจะใส่ออพชันจนครบ คาดว่าน่าจะมีราคาแตะแถวๆ  4 ล้านบาท ปลายๆ 5 ล้านบาทต้นๆกันเลยทีเดียว!

แพงชนิดเศรษฐีคิดหนักเลยนะนั่น!!

 

มาถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมได้แต่รำพึงในใจ
ว่าถ้ามีวันใด ในอนาคตกาลข้างหน้า
ได้ทดลองขับรถรุ่นนี้อีก ผมว่า ผมคงจะรีบกระโจนเข้าใส่ทันที

เพราะงานนี้ ไม่เพียงแต่ผมจะเปิดใจต้อนรับ XC60 ในฐานะ 1 ใน 10 รถยนต์ที่ชอบที่สุดตั้งแต่ลองขับมา
แต่คราวนี้ เกิดอยากเป็นเจ้าของขึ้นมาจริงๆเลยเนี่ยสิ! แค่ไม่อยากคืน เหมือนรีวิวอื่นๆ หนะ ธรรมดาไป!

เรียกได้ว่าถ้าต้องให้เลือกเก็บไว้ในโรงรถสักคันหนึ่ง ระหว่าง
เอสยูวี ที่ผมไม่อยากจะคืน คันเก่า อย่าง Nissan MURANO
และ XC60 แล้วละก็

วินาทีนี้ ผมเดินไปขึ้นขับ XC60 แน่ๆ 

ถ้าผมรวยพอจะจ่ายเงิน ถึง 3.999 ล้านบาท โดยไม่สะทกสะท้านว่ามันแพงไปหน่อย

และนั่นแหละ ข้อเสียเพียงอย่างเดียวของรถคันนี้ ในสายตาของผม!

——————————–///————————————

 

ขอขอบคุณ
คุณ ฉันทนา วัฒนารมย์
และ คุณ ณัฎฐา จิตราคม
บริษัท วอลโว คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ โดยผู้เขียน ทั้งภาพและบทความที่ถ่ายทำเอง
เผยแพร่ครั้งแรก ใน www.headlightmag.com
17 กรกฎาคม 2009

 

แสดงความคิดเห็น? เชิญได้ ที่นี่ คลิก