ปี 2012 นั้น น่าจะถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ วงการรถยนต์เมืองไทยเลยว่า เป็นปีที่มีการกระหน่ำ
เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในประเทศของเรา มากที่สุด เท่าที่เคยมีมา นับกันเล่นๆ เฉลี่ยราวๆ 1-2 สัปดาห์
ต่อ 1 รุ่นใหม่ เลยทีเดียว นี่นับรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเปลี่ยนตัวถังใหม่ รุ่นปรับโฉม Minorchange
รุ่นเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือเกียร์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวหรือทั้งสองอย่าง รวมทั้งการแนะนำ
รถยนต์รุ่นใหม่ ที่ไม่เคยเปิดตัว ขายที่ไหนมาก่อน จะในเมืองไทย หรือในโลกก็ตาม มากมายก่ายกอง
เป็นประวัติการณ์

ในจำนวนนี้ นอกเหนือจาก Honda ที่กลายมาเป็นบริษัทที่เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2012 มากที่สุดแล้ว
อีกค่ายหนึ่ง ที่ทำตัวเลขตามมาเป็นอันดับ 2 เห็นจะหนีไม่พ้น General Motors Thailand หรือ Chevrolet
ที่ทะยอย ส่งรถยนต์รุ่นนั้น รุ่นนี้ ออกขายกันไปเรื่อยๆ

และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ รถยนต์ On & Off Road SUV หรือแบบ Body On Frame ที่เห็นอยู่ในรีวิวนี้

สำหรับ GM และ Chevrolet แล้ว Trailblazer ใหม่ คือการ บุกตลาด รถยนต์ตรวจการ SUV ที่สร้างขึ้น
บนพื้นฐานโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกับรถกระบะ หรือที่รัฐบาลไทย ไปตั้งชื่อเรียกว่า PPV (Pick-Up Based
Passenger Vehicles) อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก เต็มตัว กันเสียที หลังจากเฝ้าซุ่มดู ศึกษาตลาด กลุ่มนี้
มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว และปล่อยให้คู่แข่งในตลาดกลุ่มนี้ นำโดย จ่าฝูง Toyota Fortuner กับ
Mitsubishi Pajero Sport ที่เบียดแซงหน้า ผลัดกันฟัดกันฝุ่นตลบ ขึ้นเป็นแชมป์ของกลุ่ม มาได้ตลอด
โดยมี Isuzu MU-7 และ Ford Everest ได้แต่ขับตามดู 2 ค่ายแรก อยู่ห่างๆ เห็นบั้นท้ายจางๆ

แต่ในวันเปิดตัว ก็ยังอุตส่าห์มีคำถามจากลูกค้า และผู้คนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวมาก่อนอีกมากมายว่า
ออกรถรุ่นนี้มาขาย มันไม่ชนกับ Chevrolet Captiva กันเองเหรอ? ไม่แย่งยอดขายกันเองเหรอ?

GM ตอบชัดเจนว่า เป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน กลุ่มซื้อ Captiva จะเป็นคนที่ใช้รถในเมืองเป็นหลัก
ออกต่างจังหวัดบ้าง และชอบรูปแบบของรถเก๋งมากกว่า ส่วนกลุ่มที่คาดหวังว่าจะให้มาอุดหนุน
Trailblazer นั้น คือลูกค้าที่ มองหา SUV ที่ลุยได้เพิ่มขึ้น สำหรับการออกต่างจังหวัดเป็นหลัก
และใช้งานในเมืองเป็นเรื่องรอง

แต่พอเอาเข้าจริง เวลามีใครจะตัดสินใจซื้อ SUV กลุ่มนี้สักคัน แทบจะ 90% ก็มักเหมารวมทั้ง
2 รุ่นนี้ เข้าไปอยู่ร่วมในการตัดสินใจด้วย เพราะเหตุผลหลักก็คือ มันนั่งได้ 7 คนเหมือนกันเลย
โดยลืมมองไปว่า จริงๆแล้ว การตอบสนองของระบบกันสะเทือน จาก SUV ที่สร้างบนพื้นฐาน
ของรถเก๋ง อย่าง Captiva ย่อมให้การตอบสนองบนพื้นผิวเรียบๆ ได้ดีกว่า SUV ที่สร้างขึ้นจาก
พื้นฐานรถกระบะ อย่าง Trailblazer อยู่แล้ว

และในทางกลับกัน Trailblazer ก็ย่อม ลุยบนพื้นที่ขรุขระ ได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกลัวช่วงล่าง
จะพังถลอกปอกเปิก ได้ดีกว่า Captiva อย่างแน่นอน เช่นเดียวกัน ดังนั้น GM จึงมั่นใจว่า
Trailblazer จะตอบโจทย์ลูกค้าที่เน้นการเดินทางไกล และอาจต้องเข้าไปยังพื้นที่ทุระกันดาน
ได้แน่ๆ

เมื่อคิดได้ดังนี้ GM ก็เลยนำ คุณ โชค บุลกุล เจ้าของ ฟาร์ม โชคชัย มาเป็น พรีเซ็นเตอร์ แล้วก็
ให้ เอเจนซีโฆษณาคู่บุญจนนาทีสุดท้าย อย่าง Leo Burnett พาดหัว สโลแกน โฆษณาเสียตรง
โดนใจเชียวว่า “ใจถึง ก็ ไปถึง” แถมยังใส่ คำพูด ให้คุณโชค บอกในภาพยนตร์โฆษณาและ
สป็อตวิทยุ ว่า “ชีวิตผม ไม่ต้องพึ่งโชค” (เป็นแคมเปญสุดท้ายของ GMTh ที่ ลีโอฯ เขาทำ)

ใครที่ดูหรือฟังผ่านๆ คงไม่คิดอะไร แต่สำหรับผม และคนในวงการรถยนต์ อีกหลายคน แปล
ข้อความออกได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวุ้นแปลภาษาของ โดราเอมอน

โชค = โชค ดวงชะตา ราศี = Fortune …… Fortuner ไง!!!

อู้วววววว แรงงงงสาดดดดดดด!

ครับ ไม่แปลกใจเลยว่า พอวันที่คุณ Apinui ลูกค้าใน Headlightmag.com ของเรา ไปรับรถรุ่นท็อป
LTZ1 แล้วพบว่า เครื่องเสียงพร้อมระบบนำทาง ไม่ได้ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ต้องรออะไหล่
ส่งมาให้โชว์รูม ติดตั้งเองกันอีกที !!!

จนโดนคุณ 6162002 แซวในกระทู้ ซะเลยว่า…

“จากโฆษณาที่บอกว่า “ตอนที่ผมขายธุรกิจฟาร์มโชคชัย และเริ่มธุรกิจท่องเที่ยวฟาร์มโชคชัย ใครๆ
ก็หาว่าผมบ้า…  แต่ผมเชื่อ…”

เชฟคงคิดว่า “ตอนที่ผมส่ง Trailblazer และเริ่มเตรียมการส่ง Navigator ไปติดทีหลังโดยไม่บอกลูกค้า
ล่วงหน้า  ใครๆก็หาว่าผมบ้า…. แต่ผมเชื่อ…. ว่ามันขายได้ (เพราะสัญญาไฟแนนซ์มันบังคับมุงนิ่)”

ฮากันแตกแตนราดส้วมไม่ลงกันเลยทีเดียว

อย่างว่าแหละครับ GM เขาไม่เคยขาย SUV ประเภทนี้มาก่อน ที่ผ่านมา ก็เคยชินแต่ Captiva
ก็เลยยังกลัวๆกล้าๆ พอเห็น ยอดจอง Trailblazer มา โอ้ ใช้ได้แหะ งั้น ไม่เป็นไร เครื่องเสียง
ยังไม่พร้อมส่งมาจากโรงงานไม่เป็นไร ส่งมอบรถให้ลูกค้าไปก่อนเลยแล้วกัน ลูกค้าใจถึง
กล้าจอง GM อย่างเรา ก็เลยใจถึง กล้าส่งมอบรถให้กันเลย เครื่องเสียง ตามมาทีหลังก็ได้

ใจถึงซะอย่าง!! เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ก็เพิ่งเคยเจอเรื่องฮาแบบนี้นั่นแหละ!

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ตัวรถนั้น จะยังไม่เคยผลิตขายที่ไหนมาก่อน แต่สำหรับชื่อรุ่นนั้น แท้จริงแล้ว ชื่อ
Trailblazer มันก็ไม่ใช่ชื่อรุ่นใหม่ถอดด้ามในเมืองไทยเป็นแห่งแรก เพราะมันเคยถูกใช้มาแล้วใน
ตลาดอเมริกาเหนือ ถิ่นกำเนิดของ GM/Chevrolet

โชคดีว่า ไม่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคสมัยที่ William Durant จับมือกับ Louise Chevrolet ก่อตั้งบริษัท
ผลิตรถยนต์ขายในปี 1907 นั่นหรอก เพราะ ชื่อ Trailblazer นั้น เพิ่งจะเริ่มกำเนิดขึ้นบนโลก เมื่อ
ปี 1998 นี่เอง!

ชื่อ Trailblazer นั้น ถูกนำมาใช้ครั้งแรก เมื่อปี 1998 ในฐานะ รุ่นย่อยใหม่ แบบ Upscale Trim หรือรุ่น
หรูขึ้นอีกระดับ ของ Chevrolet Blazer รถยนต์ SUV แบบ 2 และ 5 ประตู รุ่นปี 1999 ที่ถูกสร้างขึ้นบน
พื้นฐานของรถกระบะ Chevrolet S10 (แหม ลักษณะการนำชื่อมาใช้ ครั้งนี้ ช่างเหมือนกับ การกำเนิด
ของชื่อ Impala เมื่อกลางทศวรรษ 1950 เลยนะ GM ! มาแนวเดียวกันเปี๊ยบ!)

พอถึงปี 2001 GM ตัดสินใจ แยก Trailblazer ออกมาเป็น SUV รุ่นใหม่ ต่างหาก เป็นครั้งแรก กระนั้น
Blazer ยังคงถูกผลิตขายกัน เคียงคู่กับ Trailblazzer รุ่นแรก ต่อไปจนถึงปี 2005

Trailblazer รุ่นแรก ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังและแชสซีสำหรับรถกระบะที่ชื่อ GMT360 (ส่วนรุ่น EXT
ตัวถังยาวนั้น ใช้พื้นตัวถัง GMT370) ร่วมกันกับ ทั้ง Buick Rainier,GMC Envoy,Isuzu Ascender
Oldsmobile Bravada และ Saab 9-7X (ทุกรุ่นในเจเนอเรชันเดียวกันี้ ยกเลิกการผลิตไปหมดแล้ว)
ตัวถังมีความยาว 2 ขนาด คือรุ่นมาตรฐาน 4,872 มิลลิเมตร และรุ่น EXT ช่วงยาวพิเศษ 5,278 มิลลิเมตร
ทั้งคู่กว้าง 1,897 มิลลิเมตร สูง 1,892 และ 1,958 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,870 มิลลิเมตร (EXT ยาว
3,277 มิลลิเมตร)

ในช่วงแรก ปี 2002 – 2005 วางเครื่องยนต์ ตระกูล VORTEC รหัส LL8  เบนซิน 6 สูบเรียง DOHC
24 วาล์ว 4,195 ซีซี หัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ MPI Multi-Point พร้อมระบบแปรผันวาล์ว 270 แรงม้า (HP)
ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 37.9 กก.-ม. (372 นิวตันเมตร) ที่ 3,600 รอบ/นาที วางขายตลอด
อายุตลาด ขับเคลื่อนล้อหลังและ 4 ล้อ ด้วย เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้า ปีกนก พร้อม
เหล็กกันโคลง หลังแบบ คานแข็ง พร้อมเหล็กกันโคลง ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม ABS และถุงลมนิรภัย
ทุกรุ่น

ปี 2003 เพิ่มเครื่องยนต์ LM4 V8 OHV 5.3 ลิตร 300 แรงม้า (HP SAE) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิด
33.6 กก.-ม. (330 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที ปี 2005 เปลี่ยนขุมพลัง V8 OHV 5.3 ลิตร เป็น
รหัส LH6 เพิ่มระบบ Active Fuel Management

และท้ายสุด ตั้งแต่รุ่นปี 2006 – 2009 เพิ่มรุ่น SS เครื่องยนต์ LS2 V8 OHV 16 วาล์ว 5,957 ซีซี MPI
390 แรงม้า (HP SAE) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 54.6 กก.-ม. (536 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที
จาก รถสปอร์ตรุ่น Corvette มาวางให้เฉพาะในรุ่น SS Sport เท่านั้น

สื่อมวลชน อเมริกัน มองว่าข้อดีของ รถรุ่นนี้คือ ห้องโดยสารมีขนาดใหญ่สำหรับชาวอเมริกันพันธุ์ยักษ์
มีพื้นที่ห้องเก็บของกว้างขวาง และมีเรี่ยวแรงสำหรับการลากจูงที่ดีใช้ได้ แต่ข้อเสีย ก็คือ กินน้ำมัน และ
มีการบังคับควบคุมพวงมาลัย กับช่วงล่าง ที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

อันที่จริง ถ้าดูจากยอดขายรวมตลอดอายุตลาด 9 ปี ที่ทำได้ถึง 1,546,769 คัน (ปี 2001 : 115,103 คัน /
ปี 2002 : 249,568 คัน / ปี 2003 : 261,334 คัน / ปี 2004 : 283,484 คัน / ปี 2005 : 244,150 คัน /
ปี 2006 : 174,797 คัน / ปี 2007 : 134,626 คัน / ปี 2008 : 74,878 คัน / ปี 2009 : 8,829 คัน)
ก็ต้องถือว่า Trailblazer เอง ก็เคยทำรายได้ให้ GM เป็นกอบเป็นกำ ช่วงยุค SUV เบ่งบานในเมืองลุงแซม

แม้จะขายดีแค่ไหน แต่วาระสิ้นสุดของทั้งคู่ ก็ต้องมาถึงอยู่ดี เมื่อ GM คิดจะพัฒนา SUV รุ่นนี้ต่อ
บนพื้นตัวถังและโครงแชสซี GMT361 ทว่า ต้องยกเลิกไปในที่สุด เพราะต้องลงทุนสูงมาก ทั้งที่
สภาพการเงิน ของ GM ตอนนั้น ก็เริ่มไม่ค่อยดีนัก ก่อนต้องเข้าสู่กระบวนการ Chapter 11

รุ่น EXT เป็นรุ่นแรกที่ถูกยุติการผลิต โดย EXT คันสุดท้าย ออกจากโรงงาน Oklahoma City Plant
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2006 และหลังจากนั้นอีก ราวๆ 2 ปี Trailblazer สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ
คันสุดท้าย ก็คลอดออกจากโรงงาน Moraine เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2008 หรือเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่
GM จะประกาศ ปิดโรงงาน Moraine ของตนเป็นการถาวร เท่ากับว่า GM ยังมี สต็อกของ Trailblazer
เหลือทำตลาดออกมา แค่รุ่นปี 2009 เท่านั้น

วันที่ 17 ตุลาคม 2011 คล้อยหลังการเปิดตัว Chevrolet Colorado ได้ไม่นาน ประเทศไทยกำลังเริ่ม
วุ่นวายกับมหาวิกฤติอุทกภัยที่ราบลุ่มภาคกลางกันอยู่ จู่ๆ GM ก็ส่งภาพ Sneak Preview ของ SUV
รุ่นใหม่ แถมยังนำชื่อ Trailblazer มาสวมใช้เรียกรถยนต์รุ่นนี้กันอีกด้วย!

มันเป็นชื่อที่ดี ฟังดูหนักแน่น เฉียบคม และดูทรงฤทธานุภาพ ไปพร้อมๆกัน ทั้งที่ความหมายแท้จริง
จากพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย แปลว่า “ผู้บุกเบิก”

การเผยโฉมเวอร์ชันต้นแบบ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ณ งาน Dubai International Motor Show วันที่
10 – 14 พฤศจิกายน 2012 โดยเป็นการนำ เวอร์ชันจำหน่ายจริง มาตกแต่งให้ดูล้ำยุคสมัยอีกสักนิด
รั้งรอให้ใครก็คตามที่คิดจะซื้อ SUV ชะลอการตัดสินใจออกไปสักหน่อย เพื่อรอพบโฉมเวอร์ชัน
จำหน่ายจริง

ลำดับถัดมา การเปิดตัวเวอร์ชันจำหน่ายจริง เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2012 ณ
IMPACT Hall เมืองทองธานี ก่อนจะนำไปจัดแสดงในงาน Bangkok International Motor Show
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2012 ที่ผ่านมา

แต่กว่าที่รถจะพร้อม ออกสู่ตลาดจริง ก็ต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ เนื่องจากความพร้อมในการจัดการ
ด้านชิ้นส่วนต่างๆ ยังล่าช้ากว่ากำหนด จนกระทั่ง ในที่สุด Trailblazer ก็คลอดจากสายการผลิตของ
ดรงงาน GM ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน 2012  และเริ่มทะยอยส่งมอบ
ให้ลูกค้ากันได้หลังจากนั้นเป็นต้นมา

ศูนย์การผลิตของ GM ที่ระยอง จะเป็น โรงงานหลัก สำหรับการประกอบ ชิ้นส่วน กว่า 70 % จาก
ในเมืองไทย และอีกกว่า 30 % จากทั่วโลก รวมทั้งเครื่องยนต์ จากโรงงาน GM Powertrain ที่ตั้งอยู่
ในรั้วรอบขอบชิดเดียวกัน ให้เป็น Trailblazer สำหรับพร้อมส่งออกสู่ตลาดทั้งในเมืองไทยและ
ทั่วดลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะวันออกกลาง ตลาดที่รถยนต์อเนกประสงค์ แบบ Body On Frame
เช่นนี้ จะขายดีมากกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก

Tailblazer มีความยาวตัวถังทั้งคัน 4,878 มิลลิเมตร กว้าง 1,902 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,831 1,834 และ
1,847 มิลลิเมตร ตามแต่ละรุ่นย่อย ระยะฐานล้อยาว 2,845 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้าและหลัง
(Front & Rear Track) เท่ากันที่ 1,570 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างพื้นใต้ท้องรถ กับพื้นถนน อยู่ที่
220 มิลลิเมตร

Mr. Brad Merkel, GM’s Global Vehicle Line Executive for Midsize Trucks ของ GM Global เล่าว่า
“เป้าหมายของเราในการพัฒนา Trailblazer คือ การสร้างรถอเนกประสงค์ที่มีสมรรถนะการขับขี่ดีเยี่ยม
เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด เพื่อรองรับการขับขี่และความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งสมรรถนะ
ในแบบรถยนต์นั่ง ความหรูหราระดับรถพรีเมียม และสมรรถนะในการลุยเส้นทางออฟโรด ตามแต่
ลูกค้าต้องการ ซึ่งทำให้ Trailblazer เป็น SUV ที่สมบูรณ์พร้อมที่สุด”

รูปลักษณ์ภายนอกของ Trailblazer เป็นผลงานของ ศูนย์การออกแบบ GM Design Center South America
ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Sao Caetano do Sul (อ่านว่า “เซา ไกตานู ดู ซูล”) ประเทศ Brazil โดยใช้ชิ้นส่วนตัวถัง
ครึ่งคันหน้า จนถึงเสาหลังคากลาง B – Pillar ร่วมกับ Chevrolet Colorado โดนเฉพาะ รุ่น Crew Cab แบบ
4 ประตู

Mr.Matt Noon , Director Design of GM Brazil กล่าวว่า “เราออกแบบ Trailblazer ให้สะท้อนความ
ทรงพลัง ของสมรรถนะการขับขี่ ทั้งบนทางออฟโรด และบนถนนในเมืองในชีวิตประจำวัน เห็นได้ชัดถึงเส้นสาย
มัดกล้ามความบึกบึนและความหรูหราในแบบรถ SUV ระดับพ Premium”

ภายนอกออกแบบขึ้นภายใต้แนวติด “ตัวถังอันปราดเปรียวบนฐานล้อกว้าง” (body in-wheels out) ซึ่งเอื้อ
ต่อการขับขึ้นหรือลงเนินลาดชันสูง ฝากระโปรงหน้าเน้นให้ดูบึกบึน มีสันคม กรอบไฟหน้าโปรเจคเตอร์ ติดตั้ง
ให้แนบชิดฝากระโปรง เพิ่มความดุดันและภูมิฐานให้แก่ด้านหน้าของรถไปพร้อมกัน กระจังหน้ายังคงเป็นแบบ
2 ชั้น Dual Port เอกลักษณ์ของ Chevrolet ในยุคสมัยนี้ ลวดลายข้ารงในเป็นแบบ 3 มิติ อีกทั้งยังมีการ
ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียม ที่กันชนหน้า เส้นสายด้านข้าง ฝาประตูท้าย และราวหลังคา (ในบางรุ่น)

Trailblazer เวอร์ชันไทย จะถูกแบ่งระดับการตกแต่งออกเป็น 2 แบบ คือ รุ่น  LT ตกแต่งมาแล้วปานกลาง
ซึ่งจะแตกต่างจากรุ่น LTZ ทั้งเสากรอบประตูบริเวณกลางลำตัวรถ เป็นสีเดียวกับตัวถัง ไม่ได้ติดสติ๊กเกอร์
สีดำ มาให้ ไม่มีกรอบโครเมียมรอบไฟตัดหมอก ชุดไฟหน้าเป็นแบบ Halogen  ฝาครอบกระจกมองข้าง
เป็นสีเดียวกับตัวรถ ไฟท้ายเป็นแบบมาตรฐาน ไม่มีเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลังมาให้

ส่วนรุ่น LTZ และ LTZ 1 ชุดไฟหน้าจะเป็นแบบ Projector ฝาครอบกระจกมองข้าง และมือจับประตู จะ
เป็นแบบโครเมียม ชุดไฟท้าย จะเป็นแบบหลอด LED ทุกรุ่นย่อยจะมีบันไดข้างมาให้ ส่วนราวหลังคา
Rack Roof และเซ็นเซอร์ถอยหลัง 4 จุด จะมีให้ตั้งแต่รุ่น 2.8 6AT 4×4 ทั้ง LT LTZ และ LTZ1

ล้ออัลลอยของทุกรุ่น เป็นแบบ 16 นิ้ว สวมเข้ากับยาง Bridgestone Dueler 245/70 R16 ส่วนรุ่น LTZ1
จะเป็นเพียงรุ่นเดียว ที่สวมล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60R18

Trailblazer มีสีตัวถัง ให้เลือก รวม 7 สี คือสีขาว Summit White สีดำ Black Sapphire สีแดง Sizzle Red
สีน้ำตาล Auburn Brown สีน้ำเงิน Blue Mountain สีเทา Royal Gray และสีเงิน Switchblade Silver

Trailblazer ทุกรุ่น จะใช้กุญแจรีโมทคอนโทรลในตัว พร้อมระบบสัญญาณ Immobilizer เหมือนกันหมด
ตั้งแต่รุ่นล่างสุด จนถึงรุ่นท็อป การเปิดประตูเข้าไปในรถ ทำได้ด้วยการกดปุ่มปลดล็อก 1 ครั้ง เพื่อปลดล็อก
เฉพาะบานประตูฝั่งคนขับ และต้องกดซ้ำอีกครั้ง ถ้าจะปลดล็อกบานประตูฝั่งที่เหลือ แต่ในการใช้งานจริง
บางครั้ง ผมอาจต้องกดกันถึงราวๆ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ประตูบานอื่นยอมปลดล็อก นอกจากนี้ ยังมีระบบล็อก
ประตูรถทุกาน เมื่อออกรถ และใช้ความเร็วถึงระดับ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ไม่แตกต่างไปจาก รถกระบะ Colorado เท่าใดนัก ในตำแหน่งคนขับ
คุณควรจะเหยียบบันไดข้างตัวถังก่อน ด้วยขาขวา แล้วก้าวขึ้นไปในห้องโดยสาร ด้วยขาซ้าย แล้วค่อย
หย่อนก้นลงบนเบาะนั่ง ถ้ากลัวโหนไม่ถึง มีมือจับบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ช่วยให้คุณยึดรั้ง
ก่อนดึงร่างขึ้นไปนั่งได้ง่ายขึ้น

แผงประตูด้านข้าง ไม่ต่างจาก Colorado เลย ในรุ่น 2.8 LTZ1 ตกแต่งด้วยหนังสังเคราะห์ สีเดียวกัน
กับหนังหุ้มเบาะ คือสี Athios Beige สว่างๆ และแอบสกปรกง่ายนิดๆ ส่วนรุ่น 2.5 LT จะเป็นสีเทาเข้ม
Sark Ash Grey กับสีเทาอ่อน บุผ้าสักกะหลาดด้านข้าง ตำแหน่งวางแขนบนแผงประตูข้างทำได้สบาย
พอดีๆ ตำแหน่ง สวิชต์กระจกหน้าต่างๆ คล้ายกับเคยพบมาแล้วใน Toyota Yaris

เบาะนั่งคู่หน้า ถอดยกชุดมาจาก Colorado ทั้งดุ้น มีปีกด้านข้างที่กว้างราวกับออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระ
ของลูกค้าตัวโตๆ ทั้งในสหรัฐฯ และอเมริกาใต้ การซัพพอร์ตบริเวณไหล่ มีแค่พื้นที่รองรับ แต่ไม่ได้โอบ
กระชับกับไหล่ใดๆทั้งสิ้น พนักศีรษะ ยกขึ้น-ลงได้ รองรับศีรษะในระดับปกติทั่วๆไป เบาะรองนั่ง สั้น
กำลังดีสำหรับคนที่มีช่วงต้นขาสั้นอย่างผม แต่สำหรับคนที่มีต้นขายาวๆ อาจมองได้ว่า เบาะรองนั่งสั้น
ไปหน่อย ทั้งที่ผมมองว่า มันอยูาในระดับกำลังดี รับได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นรุ่นเบาะผ้า คุณจะสัมผัสได้
ถึงความสบายในการโดยสาร มากกว่ารุ่นเบาะหนัง!

นี่เรื่องจริง นะเออ!

สำหรับสรีระร่างอย่างผม ซึ่งตัวค่อนข้างใหญ่ จะไม่มีปัญหากับเบาะแบบนี้ ทว่า ตาโจ๊ก V10ThLnD
น้องใน The Coup Team ของเรา ที่มาช่วยวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันเป็นประจำ ถึงกับต้องปรับ
พนักพิงให้ตั้งชัน 90 องศา เพื่อที่จะได้ไม่ปวดหลังกันเลยทีเดียว!

เรื่องตลกก็คือ พื้นผิวของผ้ากำมะหยี่ ที่ GM เลือกใช้นั้น แอบมีส่วนช่วยรองรับสรีระของผู้ขับขี่ กับ
ผู้โดยสาร ร่วมกับฟองน้ำโครงสร้างเบาะ ดังนั้น พอเปลี่ยนมาเป็นหนัง ที่ใช้

ประเด็นเบาะหนัง นั่งไม่สบายเท่าเบาะผ้า! นี้ ไม่ใช่แค่ Colorado / Trailblazer เพียงรุ่นเดียวหรอกครับ
ที่เป็น เพราะ Mazda BT-50 PRO และ Ford Ranger ใหม่ ก็มีปัญหาเดียวกันเลยนั่นแหละ!

ตำแหน่งนั่งขับ ไม่ต่างจาก Colorado กันเลย ดังนั้น พื้นที่เหนือศีรษะ จึงมีเหลือเฟือในระดับเท่าๆกัน
เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ 3 จุด พร้อมระบบดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ Pretensioner &
Load Limiter ปรับระดับสูง – ต่ำได้ ครบทั้ง 5 รุ่นย่อย ตั้งแต่รุ่นถูกสุด 2.5 LT เลยทีเดียว

การขึ้น – ลง จากเบาะแถวหลัง ทำได้พอกันกับ SUV/PPV คันอื่น คือ มีช่องทางให้ก้าวขึ้นรถไม่มาก
อย่างที่คิด ดังนั้น อาจต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นสักหน่อย ช่วงก้าวขึ้นรถ ยังไม่เท่าไหร่ แต่ช่วง
ลงจากรถเนี่ยสิ ยิ่งถ้าใส่รองเท้าที่ค่อนข้างลื่นแล้ว ยิ่งต้องระวังมากกว่าปกติ มิเช่นนั้น อาจจะลื่นพรวด
ลงไปนั่งกองอยู่ตรงพื้นรถ ก็เป็นได้

แผงประตูด้านข้าง มีช่องใส่ขวดน้ำ มาให้ อันที่จริง ใส่ขวดขนาด 7 บาท ได้ 1 ขวด แต่ถ้าจะยัดเข้าไป
อย่างจริงจัง ขวดน้ำ 5 บาท ก็ใส่เข้าไปได้ อีก 1 ขวดเล็ก มีบุผ้า หรือหนังมาให้ ขึ้นอยู่กับการตกแต่ง
ภายในของแต่ละรุ่นย่อย พื้นที่วางแขนที่ออกแบบมาในตำแหน่งพอใช้งานได้ ถ้านั่งให้ก้นชิดกับเบาะ
แถวหลังสักหน่อย อาจพบว่า ตำแหน่งวางศอกเตี้ยไปนิดเดียวจริงๆ แต่ถ้านั่งไหลๆ มาสักหน่อย จะ
วางแขนได้พอดีเป๊ะ ส่วนกระจกหน้าต่าง เปิดเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตู นานๆที จะพบเห็น
ในรถประเภทเดียวกันนี้ได้สักที

เบาะนั่งแถวกลางนั้น ใครคิดว่า เบาะรองนังคู่หน้าสั้นแล้ว มาดูเบาะรองนั่งแถวกลางกันเสียก่อน สั้นกว่า
ค่อนข้างเยอะ แต่ทำอย่างไรได้ ในเมื่อ พื้นที่วางขา และเหวี่ยงขาลงจากรถ คือสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึง
เป็นอันดับต้นๆ ของรถประเภทนี้

พนักพิงหลัง ปรับเอนได้ 1 จังหวะ พอมีความนุ่มของฟองน้ำหลงเหลือให้สัมผัสอยู่บ้างน้อยนิด ถ้าเทียบ
กับความแข็งที่มีอยู่ในระดับเกือบจะเกินเลยไปหน่อย พนักศีรษะเป็นรูปตัว L คว่ำ ที่ผมสุดแสนจะเกลียด
ก็ยังคงมาปรากฎร่างให้เห็นใน Trailblazer นี้ด้วย ต่อให้ยกขึ้นใช้งาน ขอบด้านล่างของมัน ยังคงทิ่มตำ
ต้นคอของผมอยู่ดี  ไหนๆ ออกแบบมาทั้งที ทำไมไม่ทำออกมาเพิ่มให้ยกขึ้นได้อีกสัก 1 จังหวะ กันเลยละ?
จะได้ไม่ต้องมาทิ่มตำต้นคอของผมอย่างนี้?

ส่วนพนักศีรษะตรงกลาง ที่ยกขึ้นได้นั้น ก็เหมาะจะให้เด็กอายุ 14 -16 ปีขึ้นไป ที่มีรูปร่างผอมเตี้ย เป็น
ไม้เสียบผี นั่งตรงกลาง เท่านั้น

การวางแขน บนที่พักแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง ถือว่า อยู่ในระดับเดียวกับ
แผงประตู คือ พอจะพึ่งพาได้ เพราะวางแขนได้ในตำแหน่งที่เหมือนกันเลย พื้นที่เหนือศีรษะ มีขนาด
โปร่งกำลังดี สำหรับคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตร จะเหลือพื้นที่มากถึง 1 ฝ่ามือ ในแนวนอน

ส่วนการเข้า – ออกจากเบาะแถวหลังสุดนั้น ใช้วิธี ดึงปลดล็อกบริเวณ บ่าของพนักพิงเบาะแถวกลางทั้ง
ฝั่งซ้าย หรือขวา ตามแต่จะเลือกว่าขึ้นรถฝั่งไหน พอพับพนักพิงได้ปุ๊บ ชุดเบาะก็จะปลดล็อก และดีด
ยกตัวขึ้นมาอย่างที่เห็น เพื่อให้ปีนเข้า – ออก จากเบาะแถว 3 ง่ายขึ้น กระนั้น อาจต้องระมัดระวังสัก
นิดหน่อย เพราะ พื้นรถไม่ได้เรียบ เหยียบพลาด มีสิทธิ์ร่วงลงไปกองกับพื้นถนนได้ง่ายๆ

เบาะนั่งแถว 3 มาแปลก ออกแบบให้ติดยึดกับแผ่นกระดานสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับการพับเก็บลงมาได้
การเข้า – ออก ทำได้ตามสภาพ พื้นที่วางขา เหลือใกล้เคียงกับ Toyota Avanza  และยังไงๆ ก็ต้อง
นั่งชันขาอยู่ดี ส่วนพนักศีรษะ ยกขึ้นได้จังหวะเดียว แถมยังเป็นแบบตัว L คว่ำ อีกเหมือนกันกับเบาะ
แถวกลาง นั่งแค่พอได้ ไม่ถึงกับสบายนัก ส่วนผนังด้านข้าง มีพื้นที่วางแขน ที่ถือว่าทำได้ดี และมี
ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่งมาให้ บริเวณผนังฝั่งซ้าย ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ มีน้อยมาก ดีที่ผมสูงแค่
171 เซ็นติเมตร ทำให้ยังพอมีช่องว่าง ระหว่าง ศีรษะของผม กับเพดานหลังคาอันนุ่มมือ ราวๆ แค่
1 นิ้วชี้เท่านั้น เป็นเบาะที่เหมาะสำหรับคุณหนูๆ อายุยังเยาว์ โดยสารพร้อมกับพี่เลี้ยงเท่านั้น

เบาะแถวหลังสามารถพับเก็บให้ราบ เป็นพื้นห้องเก็บของในตัวได้ เพียงแค่ อ้อมไปด้านหลังรถ
เปิดฝาประตูห้องเก็บของขึ้นมา แล้วเอื้อมไปดึงเชือกที่ห้อยไว้ด้านหลัง เพื่อปลดล็อก แล้วดันพนักพิง
ลงไปเป็นพื้นราบ ถ้าต้องการยกเบาะแถว 3 ขึ้นมาใช้งาน อาจลำบากหน่อย เพราะต้อง เอื้อมตัวเข้าไป
ดึงสลักเชือก แล้วลากยกพนักพิงขึ้นมาตั้งเป็นเบาะอีกครั้ง เป็นเช่นเดียวกันนี้ ทั้ง 2 ฝั่ง

บานประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดแบบยกขึ้น มีช็อกอัพไฮโดรลิก ค่ำยัน 2 ฝั่ง และมีช่องสำหรับ
เอามือเสียบเพื่อดึงฝาประตูให้ปิดลงมา ช่องทางเข้าห้องเก็บสัมภาระ ถือว่ามีขนาดใหญ่ใช้ได้ แต่
ขอบล่างสุด อาจอยู่สูงไปหน่อย เป็นธรรมดาของรถประเภทนี้

เปลือกกันชนหลัง ของรุ่น 2.8 LTZ และ LTZ1 เท่านั้น ที่จะติดตั้ง เซ็นเซอร์ กะระยะขณะถอยหลัง
มาให้ 4 ตำแหน่ง ซึ่งทำงานได้ ยังไม่ถึงกับไวนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีมาให้ อุปกรณ์นี้ถือว่าเป็นของ
จำเป็น สำหรับรถยนต์ SUV หรือรถยนต์ท้ายตัดในสมัยนี้ไปแล้ว

และถ้าสังเกตดีๆ จพบว่า ขณะเปิดไฟหน้า ไฟท้ายติดส่องสว่างด้วยนั้น แผงทับทิมฝั่งขวา ที่กันชนหลัง
ที่อยู่ติดกันกับไฟถอยหลัง จะติดสว่างขึ้นมาด้วย เป็นไฟตัดหมอกหลัง นั่นเอง ส่วนฝั่งซ้ายจะเป็นแค่
แผงทับทิมธรรมดา เหมือนกันตั้งแต่รุ่น 2.5 LT ไปจนถึง 2.8 LTZ1

ที่สำคัญ มีไฟส่องสว่างดวงเล็กๆ ติดอยู่ที่แผงประตูห้องเก็บของ มาให้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยในการหาสิ่งของยามค่ำคืน

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังนั้น หากยังไม่พับเบาะ วัดจนถึงความสูงของพนักพิงเบาะแถว 3
จะอยู่ที่ 205 ลิตร ถ้าพับเบาะแถว 3 ลงแล้ว วัดแค่ความสูงของเบาะแถว 2 จะได้ 554 ลิตร แต่ถ้า
วัดจนถึงเพดานรถ จะได้ 878 ลิตร แต่ถ้าพับเบาะแถว 2 และ 3 แบนราบ วัดจนถึงหลังคา จะเพิ่ม
ขึ้นไปอีกเป็น 1,830 ลิตร ทว่า ถ้ายกเบาะแถว 2 หงายขึ้น ความจุจะลดลงเหลือ 1,780 ลิตร

เฉพาะรุ่น LTZ และ LTZ1 จะมีแผงม่านบังสัมภาระมาให้จากโรงงาน! สามารถยกขึ้นมาใช้กับ
ด้านหลังของเบาะแถว 2 หรือจะเก็บซ่อนไว้กับพื้นรถอย่างในภาพนี้ ก็ทำได้ ลงล็อกพอดี

แน่นอนว่า ช่องทางเข้า – ออก อาจจะสูงไปหน่อย เป็นธรรมดาของ SUV ประเภทนี้ ทำให้การ
ยกจักรยานเข้า-ออก อาจต้องออกแรงกันเยอะหน่อย และถ้าอยากนั่งสบายขึ้น อาจต้องถอดล้อ
ด้านหน้าออก วางแยกไว้

ชุดแผงหน้าปัด ยกมาจาก Colorado ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก และไม่ต้องเสียเวลา พัฒนาขึ้นมาใหม่
ให้มันแตกต่าง จนสิ้นเปลืองงบประมาณกันเล่นๆ ออกแบบในแนวทาง Dual Cockpit ข้อดีคือ ทำให้
ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร มองเห็นเส้นทางข้างหน้า โปร่งสบายขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ชิ้นส่วนอะไหล่
ปลีกย่อย ร่วมกันได้ครบทุกชิ้นอย่างที่คิดนะครับ เพราะบางชิ้น ก็ต้องออกแบบขึ้นใหม่และใช้เฉพาะ
ใน Trailblazer เท่านั้น

ตัวอย่างก็ง่ายๆ ครับมองขึ้นไปบนเพดาน จะพบว่า แผงบังแดด ไม่เหมือนกับ Colorado เพราะไม่ว่า
จะซื้อรถรุ่นถูกสุด หรือแพงสุด คุณก็จะได้แผงบังแดด ที่มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่างในตัว
และฝาปิดมาให้ครบถ้วนทั้ง 2 ฝั่ง ขอปรบมือให้ตรงนี้ ที่อุตส่าห์ติดตั้งมาให้

ส่วนไฟอ่านแผนที่ เป็นสวิชต์ ในตัว กดเปิดได้เลย เหมือนรถยนต์ Honda หลายๆรุ่น อีกทั้งยังมี
ช่องใส่แว่นตากันแดดพับเก็บได้ มีพื้นข้างในบุผ้าสักกะหลาดมาให้ คนละชุดกับ Colorado และ
กระจกมองหลัง ยึดติดกับกระจก และมีก้านปรับตัดแสงได้ด้วยระบบอัตโนมือ ยกมาจากกระบะ
Colorado เลยนั่นละ

เน้นย้ำกันเหมือนในรีวิว Colorado ว่า ขอบกระจกด้านบน ของ Trailblazer ออกแบบมาให้ บัง
แสงแดด ที่จะโดนมือขณะจับพวงมาลัย ดังนั้น คงต้องแลกกับพื้นที่การมองเห็นกระจกบังลมหน้า
ที่ต้องถูกบีบลงมานิดนึง ไม่ได้โปร่งแบบรถกระบะสมัยก่อนนะครับและจะเป็นแบบนี้เหมือนกัน
ทั้ง Colorado , Trailblazer , Isuzu New D-Max  หรือแม้แต่ Isuzu Next MU-7
รุ่นถัดจากนี้ไปก็ตาม

ภายในและครึ่งท่อนล่างของแผงหน้าปัดในรุ่น LTZ และ LTZ1 จะเป็นสีเบจ เพื่อให้ดูหรูหราขึ้น
ส่วนรุ่น LT จะเป็นสีเทา มาตรฐาน เหมือนเช่น Colorado

จากบานประตูฝั่งขวา มองเข้ามาทางซ้าย ไล่กันไปในแต่ละตำแหน่ง ถ้าจะบอกว่า เหมือนกันกับ
Colorado ไม่มีผิด ก็คงจะประหยัดเวลาในการเขียนบทความนี้ไปได้เยอะ แต่มันก็ไม่ได้เหมือน
กันไปหมดในทุกรายละเอียด ยังมีบางอย่างที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย

กระจกมองข้างของรถทั้ง LTZ,  LTZ1 และ LT ปรับตำแหน่งได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ติดตั้งบริเวณ
ขอบประตูใกล้เสาหลังคาหน้า A-Pillar ฝั่งขวา แต่จะมีเฉพาะรุ่น LTZ กับ LTZ1 เท่านั้น ที่จะมี
สวิชต์กางออกและพับเก็บกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้าได้ ส่วนรุ่น LT ยังต้องพับมือด้วยตัวเอง

กระจกหน้าต่างทั้ง 4 บาน เปิด-ปิดได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มาพร้อมกับสวิชต์ฝั่งคนขับ แบบ Auto
เลื่อนลง – ขึ้น ได้ด้วยการกดหรือยกสวิชต์ เพียงครั้งเดียว เหมือน Colorado และ Sonic

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวามือของคนขับ และฝั่งซ้ายมือของผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางแก้วน้ำ ดึงเลื่อน
เก็บได้ ซ่อนรูปอยู่ ใช้งานสะดวกมาก ถัดลงไปจะเป็นสวิชต์ เปิดปิด ทั้งไฟหน้า และไฟตัดหมอก
(ในรถบางรุ่นย่อย) ยกชุดมาจาก Cruze และ Sonic นั่นละ ก้านดึงเปิดฝาถังน้ำมัน อยูในตำแหน่ง
เตี้ยลงไป แต่ติดตั้งไว้ใกล้กัน แต่คันโยกดึงฝากระโปรงหน้า จะอยู่ลึกสักหน่อย ต้องคลำหากัน
ลำบากอยู่บ้างในยามฉุกเฉิน

เมื่อเสียบกุญแจ เตรียมบิดหมุนไปทางขวา เพื่อติดเครื่องยนต์ จะมีเสียงสัญญาณตรวจเช็ค
การทำงานของระบบต่าง ดัง “ตึ๊ง..ตึ๊ง…ตึ๊ง…ตึ๊ง…ตึ๊งงงงงงงงงง” เหมือน Colorado เลย ฟังแล้ว
จักกะจี้หู เหมือนเกมรถแข่ง F1 ในเครื่อง Nintendo อยู่ดี

ก้านไฟเลี้ยวถูกติดตั้งไว้ฝั่งขวามือ เป็นไปตามความถนัดของลูกค้าชาวไทย ถ้าเผลอเปิดทิ้งไว้
นานๆ รถก็จะร้องเตือน และขึ้นสัญญาณข้อความเตือนบนหน้าจอ MID ของมาตรวัดว่า Signal
Turn Open! เพื่อให้เราปิดมันทั้งเสีย แถมมันจะเตือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะกดก้าน
สวิชต์ไฟเลี้ยวปิด

แม้ใน Colorado รุ่น 2.5 ลิตร จะไม่มีสวิชต์ปรับระดับสูง – ต่ำของไฟหน้ามาให้ เนื่องจาก
ไฟหน้าของรุ่น 2.5 ลิตร เป็นแบบ Halogen ธรรมดาๆ ไม่ได้ติดตั้งโคมไฟหน้าแบบ
Projector  มาให้เหมือนอย่างรุ่น 2.8 ลิตร

แต่สำหรับ Trailblazer แล้ว ไม่ว่าจะซื้อรุ่นย่อยไหน ต่อให้ซื้อรุ่น 2.5 LT คุณก็จะได้รับไฟหน้า
ปรับระดับสูงต่ำได้ แม้ว่าจะเป็นแบบ Halogen ก็ตาม! ถ้าลืมปิดไฟหน้า หรือไฟหรี่ จะมีเสียง
สัญญาณเตือน ดัง “ตึ๊ง ตึ๊ง ตึ๊ง ตึ๊ง ๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ เหมือน Colorado นั่นแหละ

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน พร้อมถุงลมนิรภัยฝังมาให้ในตัว ต่อให้เป็นรุ่น 2.5 LT ก็จะมีสวิชต์
ควบคุมเครื่องเสียงฝั่งซ้ายมาให้ ปรับระดับสูง-ต่ำ ได้ (แต่ปรับระยะใกล้ – ห่าง ไม่ได้) แถมยัง
เป็นพวงมาลัยหุ้มหนังมาให้ด้วยทุกรุ่น แถมยังยุบตัวได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่หากเป็นรุ่น LTZ
และ LTZ1 จะมีสวิชต์ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control เพิ่มมาให้

ชุดมาตรวัดที่ติดตั้งมาให้ในรุ่น 2.8 ลิตร ทั้งหมด ใช้ ฟอนท์ตัวเลข แบบขนานไปตามขอบโค้ง
แถมฟอนท์ตัวเลข ยังมีขนาดเล็ก เรียงติดกันเป็นพรืด ในการขับขี่ด้วยความเร็วปานกลาง หรือ
ความเร็วสูง หรือการขับขี่ทางไกลตอนกลางคืน การละสายตาลงมาดูความเร็วบนมาตรวัด เพื่อ
อ่านตัวเลขหรือความเร็วที่เดินทางอยู่ ลำบากมาก เพราะมันกลมกลืนกันเป็นภาพซ้อนทับกัน

ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร LT จะใช้มาตรวัดที่มี ฟอนท์ตัวเลข ปรับมาเป็นแนวตั้ง อ่านข้อมูลในตอน
กลางคืน ง่ายขึ้นชัดเจน

หน้าจอตรงกลาง เป็นแบบ Multi information Display ที่ Chevy เรียกว่า DIC (Data
Information Center) แสดงข้อมูล ความเร็วเป็นตัวเลข Digital อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่างๆ
ทั้งแบบเฉลี่ย แบบสดๆ Real Time ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อ ความเร็วเฉลี่ย
และแสดงค่าของระบบไฟฟ้าในตัวรถและข้อมูลอื่นๆ จิปาถะได้อีกด้วย แสดงผลเป็นภาษา
อังกฤษเท่านั้น

แผงหน้าปัดของ trailblazer นั้น ยกมาจาก Colorado ดังนั้น ช่องเก็บของพร้อมฝาปิดต่างๆ จึงมีมาให้
เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นชักพร้อมฝาปิดฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย มีมาให้ 2 ตำแหน่ง คือด้านบน
สำหรับใส่ข้าวของจุกจิก หรือซองใส่แว่นกันแดด

ส่วนด้านล่าง เอาไว้ใส่แค่คู่มือผุ้ใช้รถกับสมุดรับประกันตามระยะทาง เอกสารกรมธรรม์ประกันภัย และ
สมุดคู่มือทะเบียน แค่นี้ ก็กินพื้นที่ไป 70% แล้ว ส่วนใต้ช่องแอร์ทั่งฝั่งซ้าย และ ขวา เป็นช่องวางแก้ว ที่มี
ช่องล็อกตำแหน่งแก้ว เลื่อนเปิด-ปิดการใช้งานได้ กลายเป็นช่องวางของชั่วคราวอเนกประสงค์

รวมทั้ง “ช่องใส่พระเครื่อง พร้อมฝาปิด” ที่ผมชื่นชอบ ก็มีมาให้ใน Trailblazer ด้วยเช่นเดียวกัน

ชุดเครื่องเสียงในรุ่น 2.5 LT และทุกรุ่นย่อยนั้น ยกมาจาก Colorado รุ่นมาตรฐาน เป็นวิทยุ AM/FM พร้อม
เครื่องเล่น CD / MP3 / WMA 1 แผ่น มีช่องเสียบต่อ AUX และ USB (หัวเล็ก ซึ่งเสียบกับ Flash Drive
ไม่ได้) ด้วยเหตุที่ มาเป็นแบบ Built-in ดังนั้น การถอดเปลี่ยน อาจไม่ง่ายนัก แต่ช่างไทยก็ทำได้แน่ๆ กระนั้น
ถ้าไม่อยากเปลี่ยนใหม่ คุณภาพเสียงก็ไม่ขี้เหร่ครับ ฟังได้เพลินๆ เสียงโอเค ทั้งย่านเสียงทุ้มหรือใส
แต่มันคงไม่ได้ดีเด่นไปเท่า เครื่องเสียง ALPINE ใน Pajero Sport แน่ๆ

แต่ในรุ่น 2.8 LTZ1 นั้น จะมาพร้อมวิทยุ แบบ Smart Media พร้อมหน้าจอ Touch Screen
มีทั้ง วิทยุ AM/FM เครื่องเล่น CD / MP3 /WMA 1 แผ่น พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation
System ผ่านดาวเทียม GPS ใช้ ซอฟต์แวร์ Speed Navi แม้ภาพกราฟฟิกจะสวยดี แต่ทำงานอย่าง งงๆ
ตอบสนองช้า ไม่ทันใจเท่าใดนัก ส่วนคุณภาพเสียง จากเครื่องเสียง อยู่ในเกณฑ์ แค่พอใช้ได้ แต่ไม่
ถึงกับน่าจดจำมากมายนัก

สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น 2.5 LT จนถึง 2.8 LT 4×4 จะเป็นสวิชต์ วงกลม วางเรียงกันเป็นด่าน
เจดีย์ 3 องค์ เหมือน Colorado แต่ เย็นเร็วพอประมาณ แต่ในรุ่น 2.8 LTZ กับ LTZ1 จะเป็นแบบ
อัตโนมัติ พร้อมหน้าจอ Digital และสวิชต์ หน้าตาเหมือน โดนัท Krispy Cream เรืองแสง ไม่มีผิด

ทุกรุ่นย่อย จะมีเครื่องปรับอากาศ แยกส่วน สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ติดตั้ง สวิชต์ไว้บนเพดาน
แต่สามารถสั่งเปิด-ปิดระบบได้ จากแผงควบคุมกลาง ด้านล่างของแผงหน้าปัด ช่องแอร์ ฝังไว้กับ
เพดาน เป็นแบบวงกลม ชวนให้นึกถึง รถเมล์ ปรับอากาศ ของ ขสมก. ยิ่งนัก

กล่องคอนโซลกลาง ยกชุดมาจาก Colorado ทั้งดุ้น แบบไม่ต้องคิดมาก มีขนาดใหญ่โต ใส่กล่อง CD
ได้มากมาย และถึงขั้นใส่กล้องถ่ายรูปได้เลย มีฝาปิดด้านบน ตั้งใจจะออกแบบให้เป็นพื้นที่วางแขน
แต่พอใช้งานจริง ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เหมาะแค่ไว้วางข้อศอกชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนที่วางแก้ว ข้างเบรกมือ มีมาให้ 2 ตำแหน่ง เหมาะแก่การวางขวดน้ำ 7 บาท ก็จริง แต่ไม่มีที่ล็อก
ยึดตำแหน่งไว้ โอกาสที่ขวดน้ำจะเด้งไปมา มีสูง ดังนั้น เหมาะแก่การวางกระป๋องน้ำอัดลม หรือ
ขวดชาเขียวแทนจะดีกว่า

ในเมื่อทัศนวิสัย ด้านหน้า ด้านข้าง ทั้งซ้าย และขวา เหมือนกันกับ Colorado ทุกประการ ก็เท่ากับว่า
การกะระยะ ต่างๆนั้น อาจต้องอาศัยความคุ้นเคยกับตัวรถสักพักหนึ่ง ถ้าคุ้นกันแล้ว จะพากันมุด
ลัดเลาะไปตามท้องถนนใน กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป คงไม่ต้องพูดถึงกันซ้ำซาก

แต่สำหรับทัศนวิสัยด้านหลังนั้น เนื่องจากมีตัวถังที่ยื่นต่อออกไป จึงแตกต่างจาก Colorado ชัดเจน
และต้องขอพุดถึงสักหน่อยว่า แม้จะพยายามออกแบบให้มีพท้นที่กระจกเยอะที่สุด เท่าที่จะทำได้
แต่ ยังมี พื้นที่บริเวณเสาหลังคากลางแถวประตูคู่หลัง C-Pillar ที่หนาพอจะบดบังมอเตอร์ไซค์
ได้มิดทั้งคัน ในบางมุม ดังนั้น การเปลี่ยนเลน หรือถอยหลังเข้าจอด ก็อาจต้องใช้ความระมัด
ระวัง เหมือนเช่นเดียวกับการขับขี่รถยนต์ SUV ทุกรุ่นทุกคัน


********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ในเมื่อ Trailblazer ใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานงานวิศวกรรมร่วมกันกับ Chevrolet Colorado ดังนั้น
การแชร์ชิ้นส่วนร่วมกันให้ได้มากที่สุด จะเป็นผลดี ต่อการผลิต และการวางแผน เตรียมการด้านต่างๆ
มากที่สุด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคุณจะเปิดฝากระโปรงหน้า (อันโคตรจะหนักอึ้งไปถึงไหน)
ของ Trailblazer แล้วพบว่า ขุมพลังที่นอนสงบนิ่งอยู่ในห้องเครื่องยนต์นั้น หน้าตาก็เหมือนกันกับ
ขุมพลังของ Colorado ราวกับทำสำเนา โรเนียว ว่าเป็นพิมพ์เขียวชิ้นเดียวกันแน่ๆ

รุ่น 2.8 ลิตร จะใช้เครื่องยนต์รหัส XLD28 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,776 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
94 x 100 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยชุดรางหัวฉีด Common Rail ของ Bosch
ติดตั้งระบบอัดอากาศ Turbo จะเป็นแบบ “มีครีบแปรผัน” และมี Intercooler เพื่อช่วยลดความร้อนของไอดี
ก่อนส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้

กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แต่แรงบิดสูงสุด มี 2 ระดับ หากเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
แรงบิดสูงสุดจะสูงถึง 440 นิวตันเมตร (44.9 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ถ้าคิดว่านั้นคือที่สุดแล้ว บอกได้เลยว่า
ยังครับ ดูแรงบิดของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะเสียก่อน เพราะมันมากมหาศาลถึง 470 นิวตันเมตร (47.9 กก.-ม.)
ที่ 2,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งรุ่น ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ

ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร จะใช้เครื่องยนต์รหัส XLD25 บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,449 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92 x 94 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 16.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบรางหัวฉีด Common Rail จาก Bosch
อัดอากาศด้วย Turbo แบบไม่มีครีบแปรผัน พ่วง Intercooler กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,800 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร (35.7 กก.-ม.) ที่  2,000 รอบ/นาที มีเฉพาะ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น และ
ไม่มีเกียร์อัตโนมัติ ให้เลือกเลย มีในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง 2.5 LT 4×2 เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ในช่วงแรกที่เปิดตัว

ในช่วงแรก รุ่น 2.5 ลิตร จะมีระบบส่งกำลังให้เลือกเพียงแบบเดียว คือเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เป็นเกียร์
ลูกเดียวกันกับ Colorado ไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งมีหัวเกียร์ แบบสีเงินด้าน (และในคันทดลองขับนั้น แอบใส่
คันเกียร์มาเบี้ยวนิดๆด้วย นี่พยายามถ่ายรูปหลบให้แล้วนะ)

อัตราทดเกียร์ ก็เหมือนกับ Colorado แทบจะเป๊ะเลย มีดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.079
เกียร์ 2 ………………………..2.289
เกียร์ 3 ………………………..1.472
เกียร์ 4 ………………………..1.000
เกียร์ 5 ………………………..0.725
เกียร์ถอยหลัง ………………….3.795

สิ่งที่แตกต่างไปจาก Colorado ก็คือ อัตราทดเฟืองท้าย ในขณะที่ Colorado รุ่น 2.5 ลิตร ทุกระบบ
ขับเคลื่อนจะเซ็ตเอาไว้ที่ 4.100 : 1 ส่วนรุ่น 2.8 ลิตร ทุกระบบขับเคลื่อน อยู่ที่ 3.727 : 1 แต่อัตราทด
เฟืองท้ายของ Trailblazer 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 4×2 LT จะอยู่ที่ 3.730 : 1

ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ไม่ว่าจะใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ ก็จะมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ
6 จังหวะ มาให้เลือก เพียงแบบเดียวเช่นกัน อัตราทดเกียร์ ก็ เท่ากันกับ Colorado 2.8 ลิตร เป๊ะ ดังนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง ………………….3.200
อัตราทดเฟืองท้าย ……………..3.420

ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งจะมีเฉพาะรุ่น 2.8 ลิตร LT , LTZ และ LTZ1 ทุกคัน เป็นแบบ Part-Time
หรือขับเคลื่อน 4 ล้อ ไม่ตลอดเวลา แล้วแต่คุณต้องการ จะใช้สวิชต์วงกลม หมุนเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน
ด้วยไฟฟ้า ยกชุดมาจาก Colorado โดยไม่ต้องใช้คันเกียร์ Transfer มาให้เกะกะลูกตาแต่อย่างใด (ทั้งที่
คู่แข่งอย่าง Toyota Fortuner และ Mitsubishi Pajero Sport ยังคงต้องมีคันเกียร์ Transfer มาให้)

การใช้งานสวิชต์ เพื่อเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนนั้น ไม่ว่าจะเป็นจาก โหมดไหน ไปโหมดไหน คุณต้องตั้ง
ล้อให้ตรงเสียก่อน ไม่ว่าจะหยุดรถนิ่งๆ หรือขับขี่อยู่ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าล้อตรง
ก็เลือกเปลี่ยนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2H สำหรับการขับขี่ปกติทั่วไป 4Hi สำหรับการขับขี่ความเร็วสูง
บนพื้นถนนลื่น ที่ต้องใช้ความแม่นยำในการยึดเกาะสูง และ 4Lo สำหรับการเอาตัวรอดจากสภาพพื้น
ถนนที่ทุระกันดาร

เรายังคงทดลองจับเวลา หาตัวเลขอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกัน ในตอนกลางคืน โดยมี
คุณกล้วย BnN แห่ง The Coup Channel มาช่วยจับเวลาให้ผมอยู่เช่นเคย ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิม คือ
เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เมื่อเปรียบเทียบ กับตัวเลขของบรรดา รถยนต์ตรวจการ Mid Size
SUV / PPV ที่เราเก็บข้อมูลไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ มีดังนี้

เห็นตัวเลขแล้วเป็นไงกันบ้างครับ? เปลี่ยนความคิดบางอย่างของคุณได้แล้วหรือยังหว่า?

จริงอยู่ว่าอัตราเร่งของรุ่น 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา มันไม่มีอะไรตื่นเต้นนักหรอก เพราะยังมีตัวเลข
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ยังไม่อาจข้ามพ้น เลข 13 วินาทีได้อยู่ กระนั้น ตัวเลขในช่วงเร่งแซง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน เพราะมีระดับ 9.70 วินาที ถ้าเทียบในกลุ่ม
เครื่องยนต์ Diesel Turbo 2.5 ลิตรด้วยกันแล้ว trailblazer 2.5 ลิตร จะเป็นรองแค่ Pajero Sport
2.5 VGT แค่เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

แต่สิ่งที่ผมอยากให้คุณดู อยู่ที่ ตัวเลขจากรุ่น 2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ครับ เพราะจู่ๆ พี่ท่านก็ออกตัว
แรงมาจากระยอง แซงหน้าพรรคพวกร่วมกลุ่ม Diesel Turbo ทั้งอัตราเร่งในหมวด 0 – 100 กับหมวด
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนกลายเป็น SUV / PPV ขุมพลัง Diesel Turbo ที่แรงสุดในตลาด
ไปเรียบร้อยแล้ว ตัวเลขจะเป็นรองก็แค่ Pajero Sport V6 3.0 ลิตร ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ เบนซิน
เท่านั้นเลย!

อย่างไรก็ตาม บอกกล่าวกันไว้นิดนึงครับว่า รอบเครื่องยนต์ ของ รุ่น 2.8 ลิตรนั้น ความเร็ว
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เกียร์สูงสุด คือเกียร์ 6 ในรถคันทดลอง ผมไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์
ลงต่ำกว่านี้ได้ เพราะสมองกลเกียร์รถคันนี้ไม่อนุญาต แต่ให้ค้างไว้ที่เกียร์ 5 รอบเครื่องยนต์
เลยดูแปลกๆอย่างที่เห็น ถ้าใครสามารถทำได้ ขอรบกวนช่วยแจ้งตัวเลขกลับมาอีกครั้งก็ดีครับ
ผมจะได้ช่วยแก้ไขข้อมูลในตาราง ให้ตรงกันกับสิ่งที่ตัวรถของคุณทำได้

ความเร็วสูงสุดบนมาตรวัด ตัวเลขที่ออกมา ถือว่า Trailblazer จะอยู่ในระดับ กลางๆ โดยรุ่น
2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ถูกล็อกเอาไว้ ในระดับเดียวกับ Colorado ไม่มีผิด คือ 184 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ที่ 2,900 รอบ/นาที (เกียร์ 6 และ Lock ความเร็ว Speed Limit) ขณะที่รุ่น 2.5 ลิตร
เกียร์ธรรมดา ก็จะทำได้แค่ 179 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เพียงเท่านี้ ก็ถือว่า มากเกินพอแล้วครับ สำหรับรถยนต์ที่มีสรีระร่างใหญ่ยักษ์ คันโต มวลเยอะ
อย่าขับเร็วกันไปกว่านี้เลย เพราะ หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา การควบคุมรถประเภทนี้ ให้กลับมา
สงบนิ่ง เป็นเรื่องที่ยากมากๆ และต้องใช้ทักษะมากๆๆๆๆๆ ดังนั้นความเร็วสูงสุด ผมทำมาให้
ดูกันแล้ว ก็อย่าได้ไปริลองเองกันนะครับ เราไม่แนะนำให้คุณไปทำแบบนี้กันเอาเอง ให้เสี่ยง
อันตรายกับตัวคุณและผู้ร่วมสัญจรคนอื่นๆ ทำออกมาเพื่อเป็นเรื่องเชิงวิชาการ ดูเอาไว้เพื่อให้
เป็นความรู้ว่า Trailblazer ยังไงๆ ก็จะเร่งได้ เพียงแค่นี้เท่านั้น ไปได้แค่นี้

อัตราเร่งในภาพรวมนั้น มันให้แรงดึงที่ไม่แตกต่างไปจาก Colorado 2.8 ลิตร เป็นไปตามคาด
แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจากรถกระบะชัดเจน ทำให้ตัวเลขที่ออกมาก็อยู่ในระดับด้อยกว่า
Colorado นิดนึง เป็นธรรมดา การตอบสนองของคันเร่งในรุ่น 2.8 ลิตร ยังคงมีอาการ Lack
ช้าหน่อยๆ เหมือนเช่นเคยพบได้ใน Chevrolet เก๋ง หรือกระบะรุ่นอื่นๆ ซึ่งก็ยังต้องรอให้
GM หาคนเซ็ตสมองกลเกียร์ กับคันเร่ง กันใหม่ ให้ทันใจ ทันเท้ากว่านี้ เหยียบปุ๊บมาปั๊บ
น่าจะดีกว่าการที่เหยียบปุ๊บ ต้องรอให้สมองกลคิดเสียก่อนว่า กรูจะเอายังไงกับชีวิตดีหว่า
แล้วค่อยเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้ (-_-‘)

ส่วนรุ่น 2.5 L 5MT 2WD นั้น ให้การตอบสนอง ที่ไม่ได้แตกต่างไปจาก Colorado 2.5 ลิตร
เกียร์ธรรมดา เท่าใดเลย การหาจังหวะเกียร์ ให้ลงตัวกับความเร็วที่คุณใช้ ยังเป็นเรื่องที่แอบน่า
เวียนหัวถึงขั้นปวดกบาลอยู่ ในขณะขับขี่ในเมือง ผมอยากจะเข้าเกียร์ 4 มากๆ แต่ความเร็ว
ที่ใช้ หากไม่สูงพอ เข้าเกียร์ 4 ไป ก็จะทำให้รอบเครื่องยนต์ หล่นไปอยู่ต่ำกว่าที่ควรเป็น
กำลังฉุดลากที่มีอยูก็หายหมด จนต้องกลับไปเข้าเกียร์ 3 อีกครั้ง ปล่อยให้รอบเครื่องสูงขึ้น
นิดนึง นี่ตกลงแล้ว ผมกำลังฝึกหัดขับรถเกียร์ธรรมดากันใหม่ อยู่ใช่ไหมเนี่ย? อัตราเร่งที่
มีมาให้ ถือว่าต้องรอ จนกว่าจะผ่านพ้น 2,000 รอบ/นาที ขึ้นไป จึงจะมีเรี่ยวแรงมาให้เริ่ม
ใช้กันได้บ้าง จนเริ่มเหี่ยวที่รอบแถวๆ 4,000 รอบ/นาที (อ่านตามมาตรวัดรอบ)

เป็นรถเกียร์ธรรมดาคันหนึ่ง ที่ผมต้องสับเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆที่สุด ตลอดการขับขี่ในเมืองเลยละ!

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น GM พยายามทำการบ้านในเรื่องนี้มาพอสมควร ในช่วงความเร็ว
100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงรบกวนที่เล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสารนั้น จะเกิดขึ้นแค่เพียง
เสียงลมที่ไหลผ่าน บริเวณยางขอบประตูด้านบน เบาๆ เท่านั้น ที่เหลือ ภาพรวมถือว่าดังกว่า
รถเก๋งทั่วไป แต่ก็ยังเงียบกว่า Fortuner กับ Pajero Sport นิดนึง ขณะเดินทาง ผมและ
The Coup Team ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเสียงพูดของตัวเอง ยังฟังเสียงตัวเองได้ปกติ แต่เมื่อ
พ้นระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปแล้ว เสียงจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นปกติของรถประเภทนี้
ที่ค่อนข้างจะต้านลมด้วยรูปแบบของตัวรถเองอยู่แล้ว

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง แต่ดูจะไม่ค่อย
ผ่อนแรงมากเท่าไหร่นัก เพราะเป็นพวงมาลัยที่มีระยะฟรี On Center feeling กำลังเหมาะสม
แต่มีความหนืดหนักมากเอาเรื่อง สำหรับผู้ชายทั่วไป ซึ่งก็หนืดใกล้เคียงกันกับ พวงมาลัยของ
Pajero Sport และ Colorado 2.8 ลิตร 6AT 4×4 LTZ 4 ประตู  นั่นละ คุณผู้ชายหลายคน
อาจชอบพวงมาลัยแบบนี้ แต่เชื่อว่า คุณสุภาพสตรีทั้งหลาย อาจถึงขั้น กล้ามขึ้นได้ ถ้าขับรถรุ่นนี้
3-4 เดือน และใช้เส้นทางขับขี่ในเมืองเป็นหลัก ย่างคลานไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ต้องเริ่ม
ออกแรงหมุนพวงมาลัยกันจนแขนยานไปทั้ง 2 ข้างเลย มันไม่ได้หมุนคล่องมือ มากขนาด
Colorado และยังมีความต่างในเรื่องน้ำหนักอยู่นิดนึง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ความดันลมยาง ถ้าต่างกัน
ก็มีผลด้วยนิดหน่อยเหมือนกัน

แต่ในการขับขี่ช่วงความเร็วสูงนั้น กลับให้ความนิ่งสนิท หนักแน่น และมั่นใจได้ บังคับรถเข้าโค้ง
ได้ตามต้องการ แม่นยำในระดับที่ต้องถือว่าดีใช้ได้เลย สำหรับรถยนต์ประเภท SUV/PPV แบบนี้
ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก ถ้าจะถามว่า นิ่งไหม ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าขนาดปล่อยมือจากพวงมาลัยที่
ความเร็วสูงถึง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถก็ยังนิ่ง และแถมยังปล่อยไว้แบบนั้นได้เกินกว่า 5 วินาที
โดยที่รถก็ยังตั้งตรงแหน่ว ตั้งตรงจิต พาณิชยการ พุ่งไปข้างหน้า ตรงๆ อย่างแนวแน่ต่อไป ไม่มี
วอกแวก หรือชวนให้หวาดเสียว หากไม่มีกระแสลมปะทะ ที่ด้านข้างมาชวนข้องเกี่ยวเลย ถ้าผม
กล้าปล่อยมือที่ความเร็วระดับนั้นได้ แถมรถยังไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้น คุณคิดว่า มันดีไหมละ?

กระนั้น ในบางจังหวะ หากเจอพื้นผิวถนน ไม่เรียบ มีลักษณะเป็นคลื่น หรือแอ่ง รวมทั้ง รอยต่อ
ของผิวถนนคอนกรีต หรือแม้แต่ แนวผิวถนนที่ยกตัวขึ้น ริมเสาคานทางด่วนบูรพาวิถี บนถนน
บางนา-ตราด อาจมีบางครั้ง ที่พวงมาลัย อาจไม่ส่งสัมผัสจากพื้นผิวถนนมาถึงคุณโดยตรง ขาด
การสื่อสารกับคนขับไปบ้างในบางจังหวะ นานๆทีจะเกิดสักครั้งนึง แต่ถ้าเกิดแล้ว ไม่ต้องตกใจ
ถือพวงมาลัยไว้นิ่งๆ ตรงๆ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่จะดีกว่านี้ ถ้ามันจะไม่เกิดขึ้นเลย!!!

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ อิสระปีกนกสองชั้น คอยล์สปริง และช็อกอัพแก็ส เหมือนกับ Colorado
แต่ด้านหลังนั่น จะแตกต่างไป เพราะจะเปลี่ยนมาใช้ระบบกันสะเทือนแบบ 5 จุดยึด (5 LINK) พร้อม
คอยล์สปริง

บอกได้เลยว่า นี่คือ ช่วงล่างที่ ปรับเซ็ตมาอยู่ตรงกลาง ระหว่าง SUV บนพื้นฐานรถกระบะ ทุกคันในตลาด
เมืองไทย ณ ตอนนี้ การซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับไปตามตรอก ซอกซอย ต่างๆ ทำได้
นุ่มนวล แต่หนักแน่น ซับแรงสะเทือนได้ดีมากกว่า Fortuner แม้ว่ายังไงๆ ก็คงจะต้องหลงเหลืออาการ
สั่นสะเทือนจากบาง รูปแบบพื้นผิวถนน ที่ส่งขึ้นมาที่เบาะรองนั่งคนขับโดยตรง ตามสไตล์รถยนต์แบบ
SUV / PPV อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับใครที่ต้องนั่งด้านหลัง อาจจุกได้ ขณะรถแล่นผ่าน
คอสะพาน เพราะช็อกอัพด้านหลังจะแข็งกว่าด้านหน้าอยู่นิดนึง

แต่เมื่อขับทางไกล ใช้ความเร็วสูง หากไม่มีลมปะทะด้านข้าง Trailblazer นิ่งมากๆ ผมยังสามารถพา
รถคันนี้ แล่นไปบนทางยกระดับ บูรพาวิถี ในวันที่มีกระแสลมเรื่อยๆ ด้วยความเร็วป้วนเปี้ยนแถวๆ
120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้โดยที่ตัวรถยังไม่มีอาการวูบไปมา แต่อย่างใด! (แต่ถ้าลมแรงกว่านี้ ก็คง
จะต้องมีออกอาการกันบ้างละครับ เป็นธรรมดา)

ในช่วงเข้าโค้งหนักๆบนทางด่วน มีหลายโค้งที่ผมทำได้ที่ความเร็ว 80 – 85  กิโลเมตร/ชั่วโมง กระนั้น
ใครที่ขับ รถรุ่นนี้อยู่ ก็ไม่ควรเข้าโค้งต่างๆ บนทางด่วนด้วยความเร็วเกินกว่านี้ เพราะนี่ก็แทบจะแตะ
ถึง Limit ที่ทั้งระบบกันสะเทือน และยาง จะรองรับได้ไหวแล้ว

และต่อให้ขับบนเส้นทางขรุขระ หลุมบ่อ ถนนที่ยังสร้างไม่เสร็จ ช่วงล่างของ Trailblazer ก็ยัง
นุ่มและแน่น ซับแรงสะเทือนไว้ได้อย่างดี เท่าที่ศักยภาพของรถประเภทนี้ ควรจะทำได้ และถ้า
เทียบกันกับ Pajero Sport แล้ว ช่วงล่างด้านหลัง ยังแอบมีความสะเทือนอยู่ แต่สะเทือนในจังหวะ
ครั้งเดียว แล้วจบ กระนั้น ช่วงล่างด้านหลังของ Pajero Sport ยังจะนุ่มกว่ากันนิดหน่อย คนนั่ง
เบาะแถว 2 น่าจะไม่บ่นหรือทรมาณมากนัก

ระบบห้ามล้อ ถือเป็นความแปลกใหม่ ครั้งแรกของตลาด SUV บนพื้นฐานรถกระบะ ในเมืองไทย
เพราะคราวนี้ GM ตัดสินใจทำตามเสียงเรียกร้องของลูกค้า ที่อยากได้ดิสก์เบรก 4 ล้อ ในรถยนต์
ประเภทนี้ เลยจับติดตั้ง ดิสก์เบรกแบบมีรระบายความร้อน มาให้ครบทั้ง 4 ล้อ! โดยจานเบรกคู่หน้า
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 318 มิลลิเมตร มาพร้อม
ตัวช่วยมาตราน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก
ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน
HBA & PBA (Hydraulic Brake Assist & Panic Brake Assist)   ทั้ง 4 ระบบนี้ จะติดตั้งมาให้ครบ
ทุกรุ่นย่อย

นอกจากนี้ ในรุ่น 2.8 4×4 ทั้ง LTZ และ LTZ1 จะมีระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic
Stability Program) ซึ่งจะรวมระบบควบคุมการหมุนฟรีของล้อขณะออกตัว TCS (Traction Control
System) ระบบช่วยเบรกขณะเข้าโค้ง CBC (Cornering Brake Control) มาให้ด้วย อีกทั้งยังเสริม
ระบบป้องกันรถไหลเมื่อออกตัวบนทางลาดชัน HSA (Hill Start Assist) และระบบควบคุมความเร็ว
ของรถขณะขับลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control) แถมให้เต็มพิกัด

แต่ ใครก็ตามที่กำลัง ดีอกดีใจ กับการนำระบบดิสก์เบรก 4 ล้อ มาใช้ใน Trailblazer ผมคงต้องบอกว่า
อย่าเพิ่งไชโย กันไปครับ ผมกำลังคิดว่า อาจต้องอัพเกรดระบบเบรกกันสักหน่อยก็ดี เรื่องน่าแปลก
ก็คือ ในรถ รุ่น LTZ1 ผมกลับพบการตอบสนองที่ไม่ดีเอาเสียเลย แต่ในรุ่น LT ผมกลับพบว่า
ระบบเบรก ทำหน้าที่ของมันได้สมดังที่มันควรจะเป็น?

คันสีเงิน 2.8 LTZ1 นั้น แม้ในการขับขี่ ไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ หรือบนนถนนในเมือง การ
หยุดรถจะทำได้อย่างนุ่มนวล หน้าไม่ได้ทิ่มมาก แต่ควรเผื่อระยะเบรกจากรถคันข้างหน้าไว้กว่าปกติ
ที่ควรเป็นสักหน่อยจะดีกว่า เพราะถ้าคุณต้องการหยุดรถอย่างรวดเร็ว อาจต้องเหยียบแป้นเบรกลงไป
ลึกสักหน่อย ราวๆ 60% ของระยะแป้นเบรก ถึงจะเริ่มรับรู้ว่า คาลิเปอร์เริ่มทำงาน และผ้าเบรกเริ่ม
จับตัวกับจานเบรกอย่างละมุนละไม รถจะหน่วงความเร็วลงไม่มากนัก  พอให้จับได้ว่า รถเริ่มช้าลง
แต่ไม่ได้หน่วงความเร็วมากมายเลย หลายคนอาจไม่ชอบอาการแบบนี้

ยิ่งถ้าเป็นการขับขี่บนทางด่วน ทางหลวง หรือเส้นทางที่ต้องใช้ความเร็ว ตั้งแต่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไปการหน่วงความเร็วลงมา จากทางลงทางด่วน จากแค่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้ระยะเบรกจะ
ยังอยู่ในเกณฑ์ ยอมรับได้ แต่การตอบสนองของแป้นเบรก ก็ยังต้องเหยียบมากถึง 60% อยู่ดี จึงจะ
เริ่มสัมผัสได้ว่า ระบบเบรกทำงานเพิ่มมากขึ้น

และในช่วงที่หน่วงจากความเร็ว Top Speed 184 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมตั้งใจจะเหยียบเบรกแค่เพียง
1 ใน 3 ปรากฎว่า รถยังไม่เริ่มหน่วงความเร็วลงมาเลย จนผมต้องเพิ่มน้ำหนักลงบนแป้นเบรกไปจน
ถึงครึ่งหนึ่ง และต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็น 60% ของระยะเหยียบแป้นเบรกทั้งหมด เพื่อหน่วงให้รถชะลอ
จนหยุดนิ่งสนิท

จากจุดที่เริ่มเหยียบเบรก ถึงจุดหยุดนิ่งนั้น ระยะทางเท่าไหร่ ผมไม่มีเครื่องมือวัด แม้จะอยู่ในเกณฑ์
รับได้ และจะยิ่งดีกว่านี้ หากระยะเบรกสั้นลงกว่านี้อีกนิดนึง แต่การหน่วงความเร็วมันควรจะเพิ่ม
มากขึ้นกว่านี้ รถควรจะหน่วงให้คนขับจับสัมผัสถึงความมั่นใจได้มากกว่านี้

พอเข้าใจว่า พยายามจะเซ็ตให้เบรก นุ่ม แต่ถ้านุ่มเสียจนไม่ได้สัมผัสถึงอาการหน่วงความเร็วลงมา
มากพอมันอาจทำให้หลายๆคนที่ไม่คุ้นชิน กับการเซ็ตเบรกแบบนี้ ถึงขั้นบ่นกันดังๆ ออกมาได้แหงๆ

แต่เรื่องน่าแปลกก็คือ ในรุ่น 2.5 ลิตร คันที่ผมลอง ใช้ระบบเบรก เหมือนกันเปี๊ยบ แต่กลับให้การ
ตอบสนอง ที่ดีขึ้นแตกต่างกันชัดเจน!! อาการต่างๆที่พบเจอในรถ 2.8 LTZ1 คันสีเงิน กลับหายไป
จนหมดสิ้น เหลือไว้แค่ แป้นเบรกที่อาจต้องเหยียบลึกนิดนึง แต่ก็ไม่ได้มากเท่ากับ LTZ1 คันสีเงิน

แสดงว่า รถคันสีเงิน อาจมีปัญหาการเซ็ตระบบเบรกเฉพาะคัน ในขณะที่คันสีน้ำตาล LT กลับไม่เจอ
ดังนั้น ผมถือว่า ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ให้ลองตรวจเช็คกับรถคันที่คุณๆเจอ ก็แล้วกันนะครับ

โครงสร้างเฟรมแชสซีส์ ของ Trailblazer ได้รับการคำนวณโครงสร้างมาเป็นอย่างดีให้ทนแรงบิดตัว
ได้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมด้วยคานขวางเสริมแรงถึง 8 จุด “8 Cross members” เน้นการออกแบบ เพื่อให้
แข็งแร่ง และลดการบิดตัวของเฟรม และโครงสร้างตัวถัง มีคานกันชนหน้าเสริมมาให้ ช่วยลดความ
เสียหายจากการชนในความเร็วต่ำ พร้อมคานนิรภัย เสริมในประตูทุกบาน เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทก
จากการชนปะทะด้านข้างให้มากขึ้น ก่อนส่งกระจายไปยังโครงสร้าง เสาหลังคากลาง B-Pillar และ
กระจายไปทั่วทั้งคัน

อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีพัฒนาพื้นผิวตัวรถอย่างพิถีพิถัน ตลอดจนการประกอบที่เน้นให้ช่องว่าง
ของชิ้นส่วนตัวถังแคบลงกว่าเดิม เพื่อเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร แต่สิ่งที่
อยากจะขอเตือน เหมือนกับ Colorado ก็คือ ฝากระโปรงหน้า มีน้ำหนักมากเหลือเกิน การเปิด-ปิด
อาจต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษนะครับ ขอเตือนว่า ไม่ควรให้เด็กชั้นต่ำกว่ามัธยม 3 เปิด
หรือปิดฝากระโปรงหน้าเองเด็ดขาด! อาจเกิดอันตรายจากการพลาดพลั้งได้!

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย / Fuel Consumption **********

ในเมื่อ เราเคยทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของทั้ง Fortuner Everest และ Pajero Sport กันไป
เกือบหมดแล้ว และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ Trailblazer ก็เป็นอีกประเด็นที่คุณผู้อ่านหลายคน
อยากรู้

เราก็เลยยังคงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วยมาตรฐานเดิม คือ นำรถไปเติมน้ำมัน Diesel
Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามปากซอยอารีย์สัมพันธ์ ใกล้กับสถานี
รถไฟฟ้า BTS อารีย์ เหมือนเช่นเคย

ถึงแม้จะเป็นรถที่หลายๆคนอยากรู้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสมากมาย เท่ากับรถยนต์
กลุ่ม 1.2 – 2.0 ลิตร ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท รวมทั้งรถกระบะ อีกทั้ง เรายังเคยทำตัวเลขของ
Colorado ซึ่งใช้ขุมพลังเดียวกัน ในแบบ ขย่ม โขยก และเขย่ารถกันมาแล้ว ครั้งนี้เราจึงตัดสินใจที่จะ
ไม่เขย่ารถ เติมน้ำมันแค่หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว

คราวนี้ เรามีสักขีพยานพิเศษ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ท่าน นั่นก็คือ คุณผู้อ่าน สมาชิกของ Headlightmag.com
อย่างคุณ BestHuaFoo นั่นเอง ได้จังหวะ แวะเวียนมาที่สถานีบริการน้ำมันของ Caltex ในจังหวะพอดี
เลยได้มาเห็นการทดลองของเราพอดี และเป็นอีกพยาน ที่ช่วยยืนยันว่าตัวเลขที่ออกมาในรุ่น 2.8 ลิตร
ทำได้จริงหนะ เท่าไหร่?

พอเติมน้ำมันเสร็จ เราก็ขึ้นรถ คาเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ Set 0 บน Trip Meter หมวด 1
และ Set ระบบวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในรถให้เป็นค่าเริ่มต้นใหม่ ทั้งหมด แล้วเปิดแอร์ ออกรถ
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออก ปากซอย โรงเรียนเรวดี สู่
ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วน ขับมุ่งหน้าไปยังปลายทาง ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ขับ
ขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิมอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิม แล่น 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

การเซ็ต Trip Meter ของ ทั้ง Trailblazer และ Colorado ให้กดปุ่มบนก้านสวิชต์ไฟเลี้ยวฝั่งขวามือของ
คอพวงมาลัย บนปุ่มจะมี Menu ให้เลือกไปที่ หน้าจอ Vehicle Information แล้วหมุนวงแหวน ซึ่งอยู่
ถัดมาเล็กน้อย เลื่อนไปจนกว่าจะเจอ Trip Meter แล้วค่อยเลื่อนไปกดปุ่มวงกลม ที่หัวก้านสวิชต์ เพื่อ
ตั้งค่า ตามต้องการ วุ่นวายไปหน่อย แต่ พอจะใช้งานได้ไม่ถึงกับยากนัก

ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ ในรุ่น 2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ 1,800 รอบ/นาที
ส่วนรุ่น 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา อยู่ที่ 2,100 รอบ/นาที ที่เกียร์ 5 ถือว่า รอบเครื่องยนต์ต่ำในระดับที่
เหมาะสมใช้ได้ทั้งคู่

พอลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถหน้าโชว์รูม
เบนซ์ราชครู ก่อนจะเลี้ยวซ้ายกลับเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เติมน้ำมัน Diesel Techron กัน
จนเต็มถัง หัวจ่ายตัด เหมือนเคย ณ ตู้เดิม หัวจ่ายเดิม เป๊ะ! (แม้แต่เด็กปั้ม ยังเป็นคนเดิม)

เรามาดูตัวเลขที่รุ่น 2.8 ลิตร 6AT 4×4 LTZ1 ทำได้กันก่อน
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.4 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.45 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.17 กิโลเมตร/ลิตร

ถ้าเปรียบเทียบว่า Colorado 2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ LTZ 4×4 ทำตัวเลขจากการทดลองมาตรฐานเดียวกัน
ได้ 11.90 กิโลเมตร/ลิตร  ก็ต้องถือว่า น้ำหนักที่เพิ่มเข้ามานั้น มีผลทำให้ตัวเลขด้อยลงในระดับที่ ยังยอมรับได้

ส่วนตัวเลขที่รุ่น 2.5 ลิตร 5MT 4×2 LT ทำได้นั้น….
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 94.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.68 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.26 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขกับ Colorado 2.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ 4×2 ลิตร Z71 LT ซึ่งถือเป็นรุ่นย่อย
ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน และระบบส่งกำลังเหมือนกันที่สุดแล้ว (วัดด้วยมาตรฐานเดียวกันได้ 13.26 กิโลเมตร/
ลิตร) จะพบว่า ตัวเลขต่างกัน 1 กิโลเมตร/ลิตร พอดีเป๊ะ!!! และถือว่า เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเกลียด แต่ถ้าจะ
ปรับปรุงให้ประหยัดขึ้นมากกว่านี้ได้อีก ก็คงจะดี แม้จะยังถือว่า ประหยัดกว่า Pajero Sport แน่นอน

********** สรุป **********
เพิ่มรุ่น 2.8 LTZ 2WD และปรับเซ็ตระบบเบรกให้หน่วงดีกว่านี้อีกหน่อย น่าจะเพียงพอแล้ว

Trailblazer เป็นความพยายามครั้งใหญ่ของ GM ที่จะก้าวเข้าสู่กลุ่มตลาดที่ตนไม่เคยลุยมาก่อนในเมืองไทย
เป็นผลสำเร็จจากการทุ่มเทแรงกายและใจ พัฒนารถรุ่นใหม่ บนพื้นฐานของโครงสร้างวิศวกรรมร่วมกันกับ
รถกระบะ Chevrolet Colorado

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ SUV / PPV ที่ขับแล้ว สัมผัสได้เลยว่า มีดีไม่แพ้เจ้าตลาด ทั้ง Fortuner กับ Pajero Sport
บางด้านกลับดีกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ ความนิ่ง และความมั่นใจจากช่วงล่าง ที่ถือว่า ทำได้ดีเกินคาดมากๆ
ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงความเร็ว 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถนิ่งอย่างน่าประหลาด อัตราเร่ง ถือว่าเร็วที่สุด
ในกลุ่ม SUV / PPV ขุมพลัง Diesel Turbo Common-Rail แต่ เรื่องความประหยัด ยังถือว่าอยู่ในระดับ
กลางๆ ไม่ดีกว่า แต่ก็ไม่ด้อยกว่าเพื่อนฝูงมากนัก

ทัศนวิสัย ดี การเดินทางไกล ให้การขับขี่ที่สบายพอสมควร อาการเหนื่อยสะสม มีไม่มากนัก ถือว่าเป็น
ทางเลือกที่ควรจะถูกนำมาเก็บไว้พิจารณา ถ้าคิดจะซื้อ SUV สักคัน

แต่สิ่งที่ GM ควรจะปรับปรุงให้ รถคันนี้ดีขึ้นได้ยิ่งกว่านี้ ก็มีทั้งเรื่องของ การแก้ไขในระดับที่สามารถปรับตั้ง
กันได้ง่ายๆ คือ การตอบสนองของระบบเบรก ผมอยากเห็น แป้นเบรก หนักแน่น และหน่วงความเร็ว ลงมา
ได้รวดเร็ว และมั่นใจได้เพิ่มขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่อีกสักหน่อยนึง เพราะสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ การตอบสนอง
ที่หน่วงได้ทันใจ แต่ทำงานต้องมีความไวในระดับเหมาะสม ไม่ไว หรือช้าเกินไป คือสิ่งจำเป็นอย่างมากใน
การขับขี่ทางไกล

การเซ็ตพวงมาลัย ที่ควรจะมีช่วงความเร็วต่ำ เบากว่านี้นิดนึง  และถ้าปรับเซ็ตให้มีความแม่นยำ ไม่ก่อให้เกิด
อาการ Lost Contact ระหว่างพื้นถนนกับผู้ขับขี่ ในบางช่วงจังหวะที่เจอพื้นผิวไม่เรียบ ก็จะยิ่งดีกว่านี้อีก

ส่วนการโดยสารบนเบาะนั่งแถวกลางนั้น ยังไม่สบายเท่าที่ควร พนักศีรษะ ควรปรับเลื่อนขึ้นได้อีก 1 จังหวะ
เป็นอย่างน้อย ขณะที่เบาะแถว 3 นั้น พื้้นที่โดยสาร ก็ยังนั่งไม่สบายเพียงพอ ไม่ต้องไปมองใครอื่นไกลหรอก
ยิ่งเมื่อเทียบกับ น้องร่วมตระกูล Chevrolet Captiva แล้ว รายนี้ต้องยกให้เขาเลยว่า ทำได้ดีกว่า Trailblazer อีก!

ที่สำคัญก็คือ การควบคุมคุณภาพทั้งขณะอยู่ในสายการประกอบ หรือแม้แต่คุณภาพของชิ้นส่วนจากบรรดา
ผู้ผลิตชิ้นส่วน (Supplier) ทั้งหลาย จะต้องเข้มงวด กับคุณภาพแม้แต่เรืองเล็กๆน้อยๆ อย่าให้เป็นเหมือน
กรณี ชุดเครื่องเสียงพร้อมระบบนำทาง Navigation System ผลิตไม่ทัน หรือ กรณี ไฟท้ายมีน้ำเข้า ไปขังอยู่
เป็นตู้ปลา อย่างที่มีมาแล้วในช่วงแรกๆ ที่เริ่มปล่อยรถออกสู่มือของลูกค้า

แค่นี้ ก็เพียงพอแล้ว

Your Choice? จะเลือก SUV / PPV รุ่นไหนดี?

สำหรับใครที่ยังคิดไม่ออก ว่า จะเอาเงินเก็บในตุ่มในโอ่งหรือในธนาคาร ไปให้โชว์รูมรถยี่ห้อใดจึงจะคุ้ม
จึงจะถูกใจ ไม่ต้องโดน เมียด่า พ่อตาบ่น ลูกไม่สน แม่ยายเมิน ผมมีคำแนะนำดังนี้

1. งบหนะไม่เท่าไหร่หรอก ถ้าคิดจะซื้อรถยนต์ประเภทนี้ คุณต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่า จะสามารถ
จ่ายเงินได้ 1.5 – 1.6 ล้านบาท สบายๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญ อยู่ที่ว่า ควรเลือกรถให้เหมาะกับการใช้งาน

ถ้า คิดจะขับในเมืองเป็นหลัก ออกต่างจังหวัดแบบไปท่่องเที่ยว พักผ่อน วันหยุด ไต่ทางชันบ้าง แต่ไม่คิด
จะไปลุยทุ่ง ลุยป่าลุยสวนสมบุกสมบันนัก SUV ที่สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังรถเก๋ง หรือ Urban SUV จำพวก
Chevrolet Captiva (7 ที่นั่ง), Honda CR-V , Mazda CX-5 , Nissan X-Trail (3 คันนี้ 5 ที่นั่งล้วน)
ต่างก็เหมาะสมกว่าด้วยประการทั้งปวงเพราะ ประหยัดน้ำมันกว่ากัน นิดหน่อย แต่ขับสบาย เหมือนรถเก๋ง
ลุกเข้า-ออกง่าย ใช้งานในแบบรถเก๋งแวนยกสูง

แต่ถ้าคิดจะขับในต่างจังหวัดเป็นหลัก หรือ ว่า ลุยในต่างจังหวัดเป็นหลัด แน่นอนว่า On & Off Road
SUV / PPV ทั้ง Chevrolet Trailblazer , Ford Everest,Isuzu MU-7 , Mitsubishi Pajero Sport และ
Toyota Fortuner จะตอบโจทย์ของคุณได้มากกว่า ด้วยช่วงล่าง และพื้นฐานโครงสร้างที่ทนต่อสภาพ
เส้นทางสมบุกสมบันได้ดีกว่าในระยะยาว มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เลือกใช้งานได้ในยามต้องการ

2. ถ้าคิดแล้วว่า จะเลือก SUV / PPV มีตัวเลือกใดในตลาดบ้าง? นอกเหนือจาก Trailblazer?

ไล่กันตามตัวอักษรภาษาอังกฤษเลยนะครับ

Isuzu MU-7 ยังคงมีรุ่นพิเศษ Choize ออกมาเอาใจลูกค้า ที่มองหาความคุ้มค่าเป็นหลักกันอยู่ ทั้งที่
ออกขายมาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว ความสดใหม่ ขาดหายไปนานแล้ว ถ้าจะซื้อ แสดงว่า คุณต้องชอบใน
ช่วงล่างที่นุ่มๆ ออกจะนิ่มๆย้วยๆ และพละกำลังจากเครื่องยนต์ Diesel 3.0 ลิตร VGS Turbo จริงๆ
ศูนย์บริการ หายห่วง นี่คือค่ายที่ดูแลลูกค้าหลังการขายดีที่สุด อันดับต้นๆของไทย แต่นอกนั้นแล้ว
ผมมองหาความน่าซื้อของ MU-7 ในช่วงเวลานี้ ไม่เจอเลยจริงๆ!

Ford Everest เรายังมีรถรุ่นนี้ขายกันอยู่ด้วยอีกหรือ? นี่ลืมไปแล้วนะว่ายังมีขายอยู่ และจะยังลากขาย
กันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปี 2015 เพราะว่า Ford เพิ่งจะมีเงินมาพัฒนา Everest รุ่นต่อไป บนพื้นฐาน
ของ Ranger T6 รุ่นล่าสุด กว่าจะเปลี่ยนโฉมใหม่ ก็ต้องรอกันอีก 3 ปี แต่รุ่นปัจจุบัน มีดีที่ความคล่องตัว
มุดแทรกไปตามสภาพการจราจรต่างๆ ได้ง่ายดายกว่าที่คิด แต่ทำใจไว้อีกนิด เพราะรถมันเก่ามาตั้งแต่
ปี 2003 แล้ว อีกทั้ง ศูนย์บริการของ Ford ตอนนี้ ก็ยังถือว่า ไม่น่าไว้วางใจขั้นหนัก บางครั้ง เจอศูนย์ฯ
ที่ดี แต่ดีลงานกับสำนักงานใหญ่แล้วปวดตับ ก็มี!

Mitsubishi Pajero Sport คลอดมาตั้งแต่ปี 2008 และกลายเป็นผู้ท้าชิง แซงหน้า Toyota Fortuner ซึ่งเป็น
เจ้าตลาดไปได้ในพักหลังมานี้ ต้องถือว่า ของเขาดีไม่ธรรมดา ช่วงล่าง ตอบสนองดี มั่นใจ ยิ่งพอมี
เครื่องยนต์ใหม่ 2.5 VG-Turbo กับ เบนซิน V6 3.0 ลิตร เผื่อลูกค้าเอาไปติด LPG ยิ่งสนุกกันใหญ่
ออพชันมีให้ครบครัน คุ้มค่า ถ้าเลือกรุ่นย่อยดีๆ แต่ต้องทำใจกับศูนย์บริการ ของค่ายนี้ไว้ด้วย แม้จะ
บอกว่า พยายามปรับปรุงกันอยู่ แต่กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ แถมยังต้องดูเรื่อง
การเคลมชิ้นส่วนอะไหล่ จากข้อมูลของชาวคลับผ้ใช้รถรุ่นนี้กันไว้บ้าง น่าจะดี

Toyota Fortuner ตัวเลือกยอดฮิต สำหรับใครที่คิดจะหาความคุ้มค่าเป็นหลัก โดยไม่สนใจอย่างอื่น
สิ่งที่จะได้รับเป็นของแถมกลับมา คือ เครื่องที่แรง คันเร่งที่ “ติดเท้า” สั่งเป็นมา และจะช่วยให้คุณ
เปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถ จากขับเรื่อยๆ ธรรมดา กลายเป็นพวกบ้าระห่ำชอบไล่จี้ชาวบ้านไปดื้อๆ!

แต่ถ้าคุณ มั่นใจแล้วละว่า จะเลือก Chevrolet ควรจะเลือกอะไรระหว่าง Trailblazer หรือ Captiva?

อย่างที่บอกไปครับ ดูความต้องการ เป็นหลัก แม้ทั้งคู่จะนั่งได้ 7 คน เหมือนกัน แต่ความสบายของ
เบาะแถว 3 มันต่างกัน และ Cpativa กลับนั่งสบายกว่า เบาะแถว 3 ของ Trailblazer อีกทั้งการขับขี่
ในเมือง เอาความคล่องตัว มาวัดกัน Captiva ก็ยังชนะไปแบบง่ายๆ

แต่ถ้าต้องการรถขับทางไกล ออกเที่ยว หรือใช้งานต่างจังหวัดบ่อยๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้กับความ
อุบาทว์ของพื้นผิวถนนทางหลวงเมืองไทย ทั้งเส้นใหญ่ และเส้นลัดเลาะชนบท รวมทั้ง ต้องการ
รถที่เอาไว้ขับเข้าทางขรุขระ เนิน ป่า ลูกรัง ได้โดยที่ช่วงล่างของรถมันจะทนถึก ไม่พังเร็วไปกว่า
เวลาอันสมควร Trailblazer ก็จะเปล่งรัมี จนโดดเด่นกว่า Captiva ในทันที

คราวนี้ ถ้าคุณคิดได้ว่า จะเลือก Trailblazer รุ่นย่อยไหน จึงจะคุ้มค่าที่สุด

ราคาขายของ Trailblazer ในปัจจุบันมีดังนี้
Chevrolet Trailblazer 2.5 L 5MT 2WD LT          1,059,000
Chevrolet Trailblazer 2.8 L 5MT 2WD LT          1,249,000
Chevrolet Trailblazer 2.8 L 5MT 4WD LT          1,299,000
Chevrolet Trailblazer 2.8 L 6AT 4WD LTZ        1,389,000
Chevrolet Trailblazer 2.8 L 6AT 4WD LTZ1      1,489,000

พอเอาแค็ตตาล็อกมานั่งกางดูแล้ว จะมี 5 รุ่นย่อย ที่มีออพชันมาให้ แตกต่างกันไม่มากอย่างที่คิด

ต้องถามกันเลยว่า คุณแคร์ไหม กับการไม่มีระบบนำทาง Navigation System (ซึ่งอันทีจริง ไปหา
เครื่องนำทาง พกพา Portable มาแปะเองในรถ ง่ายกว่า คุณแคร์ไหม กับการที่รถของคุณจะใส่แค่
ล้ออัลลอย 16 นิ้ว แม้จะไม่สวยเท่าล้อ 18 นิ้ว แต่ค่าเปลี่ยนยาง ก็จะไม่ทำให้กระเป๋าคุณฉีกกระจุย
จนเกินไปนักในระยะยาว หรือคิดอยู่แล้วว่า ไม่สนล้อโรงงาน เดี๋ยวจับเปลี่ยนล้ออัลลอยเองอยู่ดี
เพราะนั่นคือ ข้าวของเพียง 2 รายการ ที่ทำให้รุ่น 2.8 6AT 4WD LTZ1 แพงกว่า LTZ ธรรมดา
100,000 บาท

ถ้าคิดว่า ทั้ง 2 อย่างข้างต้น ไม่สำคัญกับคนอย่างคุณ รุ่น LTZ ธรรมดา เพียงพอ และจบลงตัว
ต่อการใช้งานดีแล้ว อุปกรณ์ที่ให้มา ก็เหมือนๆ กัน ดังนั้น เราจึงมองว่า นี่คือรุ่นที่คุ้มค่าต่อ
การเป็นเจ้าของมากที่สุด ในตระกูล Trailblazer เวอร์ชันไทย ทุกรุ่น

ส่วนรุ่น 2.5L 5MT 2WD ผมมองว่า มีอุปกรณ์พื้นฐานมาให้ครบพอเหมาะกับการเป็นรถยนต์
Fleet ประจำบริษัทที่จำเป็นต้องมีรถยนต์ ให้ลูกน้องไว้เบิกขับเดินทางไปบนเส้นทางลูกรังบ่อยๆ
แต่ก็ควรจะไม่โหดมากมายจนถึงขั้นต้องพึ่งพาระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จากรุ่น 2.8 4WD LT

ท้ายสุด สิ่งที่อยากจะฝาก GM Thailand / Chevrolet กันเอาไว้ ก็คงมีอยู่ 2 เรื่อง

1.การปรับปรุงบริการหลังการขาย ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะลดเสียงบ่นของลูกค้าลง อย่าให้ช่างประจำ
ศูนย์บริการ ตอบแต่ว่า “อ๋อ มันเป็นอาการปกติ ของรถรุ่นนี้ครับ” คำตอบแบบนี้ ไม่มีลูกค้าคนไหน
อยากได้ยินกันนักหรอก ไม่ว่ารถยนต์ยี่ห้อใดก็ตาม  พยายาม แก้ปัญหาของลูกค้าให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อมองในภาพรวม โดยเฉพาะ ลูกค้าสัมพันธ์ ที่ผ่านมา แผนกนี้ ชื่อเสียงติดลบไปมาก การนำ
ผู้บริหารใหม่เข้ามาช่วยนั่น จะทำให้ทุกสิ่งดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ยังต้องรอดูกันต่อไป อีกสักพัก

2. ผมเห็นด้วยกับ ความคิดของ ตาเอก Backseat Driver ของ The Coup Team แห่ง
เว็บไซต์เรานี่แหละ ว่า ตอนนี้ กระแสของตลาด กำลังมองหา SUV ขับเคลื่่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ
อัดออพชัน ครบๆ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้คือ Trailblazer ไม่มีทางเลือกดังกล่าวให้เลือกเลย ตอนนี้
Toyota ก็ปล่อย Fortuner รุ่นย่อย ขับเคลื่อน 2 ล้อ อัดออพชันครบออกมาแล้ว

จะดีกว่าไหม ถ้ามีรุ่นย่อยออกมาอีกสักรุ่น นั่นคือ 2.8 L 6AT 2WD LTZ ไม่จำเป็นต้องใส่ระบบ
นำทาง กับล้ออัลลอย 18 นิ้ว วงโตๆ นั่นหรอก มีออพชันมาให้สมเหตุสมผล ราคาขายลดลงไปอีก
สัก 50,000 บาท เหลือ 1,339,000 – 1,349,000 บาท ก็จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นมาทันที
เพราะลูกค้าที่ไม่ได้ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเลย ยังมีอีกเยอะในประเทศนี้

มาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่รีบ แต่ ควรจะมาถึงไม่เกิน ระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้ เพรายังเป็นช่วงเวลา
ที่ ตัวรถมีความสดใหม่ และยังอยูี่ในความสนใจของตลาด ถ้าช้ากว่านี้ รอไปถึงปี 2014 – 2015
เห็นทีจะช้าเกินแกง เพราะชาวบ้านเขาจะทำคลอดรถรุ่นใหม่ กันรอมร่อแล้ว ทั้ง Fortuner
MU-7 และ Pajero Sport มีกำหนดจะเปลี่ยนตัวถังใหม่ในปีนั้น

เท่ากับว่า ตอนนี้ ยังเหลือเวลาให้ Trailblazer ลั่นล้า เก็บกวาดยอดขาย ไปได้สบายๆ อีกราวๆ
ไม่เกิน 2 ปี จึงจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงตามวงจรอายุการทำตลาดรถยนต์แต่ละรุ่นพอดีๆ

รีบหน่อยเน่อ เวลาไม่คอยใคร ไหนๆ ก็ใจถึง กันมาขนาดนี้แล้ว

ก็ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย ผลักดันเข็นควบกันให้ตลอดรอดฝั่งด้วย!

——————————-///——————————-

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks

Mr. Laurent Berthet
Director of Communication , Southeast Asia
คุณพันธมาศ กรีกุล
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณ Vijo Varghese
ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ : สื่อสารผลิตภัณฑ์
และทีม ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

—————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพวาด Illustration เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท General Motors Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
26 ตุลาคม 2012

Copyright (c) 2012 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 26th, 2012

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! Click Here!