บางคนอาจจะเคยเห็นหน้าค่าตา จากเกมแข่งรถต่างๆ บางคนอาจจะเคยเห็นบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย แต่เชื่อเถอะว่า คนไทยน้อยนักที่จะรู้จักว่า นี่คือรถยนต์คูเป้ ซึ่งกลายเป็นว่าภาคภูมิใจของชาวออสซี่ ในฐานะของรถสปอร์ตคูเป้ คันแรก ที่เป็นฝีมือการพัฒนาในประเทศที่มีสมญานามเล่นๆว่า ดาวน์อันเดอร์

ดังนั้น ลองมาทำความรู้จักกับ โฮลเด้น โมนาโร ผลผลิตจากโฮลเด้น บริษัทรถยนต์สัญชาติออสเตรเลีย ใต้ร่มเงาของเจเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM กันสักหน่อย

 

ปี 1967 ประมาณ 9 เดือนก่อนออกสู่ตลาด รถสปอร์ตคูเป้รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของโฮลเด้นและชาวออสเตรเลียคันนี้ ยังคงถูกพัฒนาต่อไปทั้งที่ยังไม่มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการ
จุดที่น่าสังเกตคือ รูปทรงตัวถังของคูเป้คันนี้ ได้รับอิทธิพลมาจาก รถสปอร์ตรุ่นดังในยุคนั้น ทั้งเชฟโรเล็ต คามาโร หรือ โอล์ดสโมบิลล์ โทรานาโด ทางทีมงานของโฮลเด้นเอง
ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนจำนวนหนึ่งเรื่องชื่อรุ่นของรถคันนี้ แต่ทุกชื่อรุ่นที่เสนอกันมาก็ยังไม่ดึงดูดใจเพียงพอ

แต่เมื่อ NOEL BEDFORD หนึ่งในสมาชิกของทีมออกแบบโฮลเด้น ขับรถยนต์ส่วนตัวไปพักผ่อนสุดสัปดาห์ที่เมือง COOMA ในรัฐ นิวเซาธ์เวลส์ เขาได้พบป้ายที่ทำการ
เขต ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรแบบตะวันตกไว้ข้างหน้าว่า MONARO COUNTY COUNCIL ทำให้เขานึกถึงแคมเปญโฆษณาของบุหรี่มาร์โบโร ชุด Marlboro Country
กับรถสปอร์ตรุ่นคามาโร ทันใดนั้นเขาเกิดประกายความคิดขึ้นว่า มันจำง่ายดี และเข้าท่ามากที่จะใช้เป็นชื่อรุ่นของโฮลเด้นสปอร์ตคันใหม่ ก็เลยจำกลับมาใช้ที่สตูดิโอ

เมื่อเขากลับมาที่สตูดิโอ และเล่าเรื่องนี้ให้กับเพื่อร่วมงานและเจ้านายฟัง ชื่อโมนาโร ถูกตรวจสอบถึงความหมายที่แท้จริง และถูกค้นหาว่ามีคู่แข่งจดทะเบียนเป็นเจ้าของ
ลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ เมื่อไม่มีปัญหาใดๆ ในที่สุด ผู้บริหารของโฮลเด้นจึงอนุมัติให้ใช้ชื่อนี้ทันทีที่การแวะมาหารือกับเบดฟอร์ดถึงโต๊ะทำงานของเขาในเวลาต่อมา ยุติลง

เอกสารสื่อมวลชนของ HK โมนาโรรุ่นดั้งเดิมในปี 1968 ระบุถึงคำแปลของชื่อโมนาโรว่า พื้นที่ราบสูง สปอร์ตคูเป้รุ่นใหม่นี้ ใช้ชื่อโมนาโรร่วมกับทิวเขาโมนาโร ซึ่งอยู่ใน
บริเวณของเทือกเขาหิมะในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ และยังเป็นชื่อเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของ เซาธ์ แคนเบอร์รา ACT อีกด้วย โดยเมื่อตอนเปิดตัว โฮลเด้นถึงกับประกาศว่า “นี่คือ
ย่างก้าวอันยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่โฮลเด้นเริ่มผลิตรถยนต์คันแรกในปี 1948 เพราะนี่คือยานยนต์สปอร์ตแบบแรกที่ออกแบบและพัฒนาด้านวิศวกรรมขึ้นในออสเตรเลีย”

ก่อนอ่านต่อ ทำความเข้าใจการเรียกรุ่นของรถยนต์ออสเตรเลียกันสักเล็กน้อย

โดยปกติ ในสมัยก่อน รถยนต์อเมริกัน และรถยนต์ออสเตรเลีย มักใช้วิธีการเรียกรุ่นย่อย ด้วยการนำตัวเลขความจุกระบอกสูบ 3 หลัก ในหน่วยลูกบาศก์นิ้ว (cu.in) เป็นหลัก
หากจะแปลงให้เป็นลูกบาศก์เซ็นติเมตร หรือ ซีซี ที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันดี ต้องใช้สูตร 1 ลูกบาศก์นิ้ว (cu.in) = 16.3872 ซีซี คำนวนแบบบัญญัติไตรยางค์ เช่นเชฟโรเล็ต
คามาโร 350 นั่นหมายความว่า รถยนต์คันนั้น วางเครื่องยนต์ขนาด 350 ลูกบาศก์นิ้ว หรือ 5,735 ซีซี ดังนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า ตัวเลข 350 จะแปลว่ามี 350 แรงม้าเด็ดขาด

ส่วนรหัสเรียกรุ่น ด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ 2 หลักนั้น ไม่มีกฎตายตัวใดๆ ขึ้นอยู่กับการกำหนดของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งจะมีเพียง 2 รายเท่านั้น คือ GMH (เจเนอรัล มอเตอร์ส
โฮลเด้น) บริษัทรถยนต์แห่งแรกที่ก่อตั้งในออสเตรเลีย แม้จะเป็นการขยายรากฐานมาจาก จีเอ็ม ทางฝั่งอเมริกา เมื่อประมาณเกือบ 100 ปีก่อน และ ฟอร์ด มอเตอร์
ออสเตรเลีย ที่ตามหลังเข้ามาในระยะห่างกันไม่นานนัก โดยปกติ รถยนต์ออสเตรเลียจะมีการปรับโฉมมไมเนอร์เชนจ์ทุก 2 ปี

———————————————————-

 

 


HK MONARO
OUT TO DRIVE YOU WILD
22 กรกฎาคม 1968 – พฤษภาคม 1969
ยอดผลิตรวม 8,945 คัน

HK โมนาโร ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานเดียวกับ โอล์ดสโมบิลล์ โทโรนาโด ปี 1966 รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรกของโลก เป็นผลงานของศูนย์ HOLDEN TECHNICAL
CENTRE ที่เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 1964 รูปทรงของโมนาโรได้รับอิทธิพลจากรถยนต์อเมริกันในยุคเดียวกันมาเต็มๆ ด้วยขนาดตัวถังที่แบน แต่กว้าง ตัวถังเป็นแบบ
ไร้เสาหลังคากลาง (PILLARLESS) ที่มีเส้นโค้งของรูปทรงหลังคาไล่เรื่อยลงไปจนถึงบั้นท้ายยกมาจากโทโรนาโดทั้งดุ้น

มิติตัวถังมีขนาดเท่ากับรุ่นซีดาน ยาว 4,527.6 มิลลิเมตร กว้าง 1,759.1 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,337.7-1,345.1 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,719.5 มิลลิเมตร
รุ่นแรกของโมนาโรมีขุมพลังให้เลือกมากถึง 6 แบบ ทั้งรุ่น 161ci (กำลังอัดต่ำ 8.2:1) 6 สูบเรียง OHV 2,640 ซีซี คาร์บูเรเตอร์ BENDIX STROMBERG 108 แรงม้า
(BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.07 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ถ้าเป็นรุ่น 161 ci กำลังอัดสูง (9.2:1) กำลังสูงสุดจะเพิ่มเป็น 114 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.59 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที ตามด้วยรุ่น 186 มี 2 ความแรงบนพื้นฐานขุมพลัง 6 สูบเรียง OHV 3,050 ซีซี 126 แรงม้า (BHP) ที่ 4,200
รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.89 กก.-ม.ที่ 1,600 รอบ/นาที แต่ถ้าเป็นรุ่น 186S กำลังจะเพิ่มเป็น 145 แรงม้า (BHP) ที่ 4,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 25.31 กก.-ม.ที่
2,200 รอบ/นาที ต่อที่รุ่น 307 กับเครื่อง วี8 OHV 5,035 ซีซี คาร์บูเรเตอร์ ROCHESTER 210 แรงม้า (BHP) ที่ 4,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 41.26 กก.-ม.ที่ 2,400
รอบ/นาที และแรงสุดกับรุ่น 327 เครื่อง วี8 5,363 ซีซี 250 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 44.7 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที โดย เชฟโรเล็ต ส่งกำลังด้วย
เกียร์ธรรมดา 3 และ 4 จังหวะ หรืออัตโนมัติ POWERGLIDE 2 จังหวะ ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกอิสระ หลัง TELESCOPE DAMPER พร้อมเหล็กกันโคลง ห้ามล้อ
ด้วยดรัมเบรค 4 ล้อ ส่วนรุ่น GTS และ GTS 327 มีดิสค์เบรคคู่หน้าให้เลือกด้วย

 

 

ทันทีที่ออกสุ่ตลาด HK โมนาโร ก็คว้ารางวัล 1968 CAR OF THE YEAR จากนิตยสาร “Wheels” นอกจากนี้ในสนามประลองความเร็ว โมนาโร GT 327 ภายใต้การขับ
ของ TONY ROBERTS และ BOB WATSON คว้าชัยชนะจากการแข่งขัน 1968 SANDOWN 3 HOURS ENDURO จากนั้น โมนาโร 327 สีเหลืองของ BRUCE
McPHEE และ BARRY MULLHOLLAND ครองความเป็นเจ้าสนามด้วยตำแหน่งที่ 1 ในการแข่งขัน HEARDIE FERODO 500 ที่ BATHURST ในออสเตรเลีย

———————————————————-

 

 

HT MONARO

พฤษภาคม 1969 – กรกฎาคม 1970
ยอดผลิตรวม 6,147 คัน

การอัพเกรดครั้งแรก มีขึ้นหลังเปิดตัวไปไม่ถึง 1 ปี สดกว่าด้วย กระจังหน้าพลาสติกแบบใหม่ ชุดไฟท้ายใหม่ใหญ่กว่าเดิม ผลงานของ PHIL ZMOOD เพิ่มสติ๊กเกอร์คาดข้าง
(STRIP) บริเวณตัวถังและฝากระโปรง เพิ่มสีตัวถังใหม่ ส้มเซริง และบรอนซ์เดย์โทนา เบาะบั๊กเก็ตซีทถูกปรับปรุงให้กระชับกว่าเดิม ลดแผ่นแหนบระบบกันสะเทือนหลัง
จาก 5 แผ่นเหลือ 4 แผ่น

ขุมพลังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยรุ่น 186 ci 3,050 ซีซี เพิ่มกำลังขึ้นจาก 126 เป็น 130 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดเท่าเดิม ที่รอบเครื่องยนต์
สูงขึ้นเป็น 2,000 รอบ/นาที ส่วนรุ่น 307 ci ถูกแทนที่ด้วยรุ่น 308 ci ขุมพลังจากเชฟโรเล็ต วี8 OHV 5,051.2 ซีซี 240 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
43.32 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที รวมทั้งตัวแรงสุด 327 ถูกแทนด้วยรุ่น 350 ci วี8 OHV 5,740 ซีซี ถ้าพ่วงเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะรุ่น M21 ซึ่งทำออกมาจำนวนจำกัด
กำลังสูงสุดจะอยู่ที่ 300 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 52.27 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที แต่ถ้าพ่วงกับเกียร์อัตโนมัติ POWERGLIDE 3 จังหวะ ตัวเลข
จะลดลงเหลือ 275 แรงม้า (BHP) ที่รอบเท่าเดิม ส่วนแรงบิดสูงสุด 50.13 กก.-ม.ที่รอบเครื่องเท่าเดิม

———————————————————-

 

 

 

HG MONARO
GREAT STYLE,MODEST PRICE
กรกฎาคม 1970 – กรกฎาคม 1971
ยอดผลิตรวม 6,147 คัน

ในตอนแรก PETER NANKERVIS หนึ่งในทีมออกแบบของโฮลเด้น (ปัจจุบันนี้เป็น CHIEF DESIGNER ของโฮลเด้น) ได้เตรียมการเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังบางส่วน
ไว้ แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่ เพียงพอแค่การปรับปรุงรายละเอียดปลีกย่อยเล้กน้อยแค่นั้น และขณะเดียวกัน ก็เหลือเวลาอีกไม่มากนักที่รุ่น HQ จะต้องเปิดตัว ดังนั้น
การเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังให้กับโมนาโรจึงดูไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ปีเตอร์จึงต้องล้มเลิกความตั้งใจของเขาไป และหันมาใช้วิธีเปลี่ยนชุดไฟท้ายใหม่ให้ดูเรียบร้อยกว่าเดิม
การปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้ายของตัวถังนี้ จุดสำคัญอยู่ที่การปรับปรุงระบบกันสะเทือนหลัง ลดแผ่นแหนบจาก 4 แผ่นในรุ่น HT เหลือเพียง 3 แผ่น เพื่อลดความสูง
และเพิ่มการเกาะถนน

ทางเลือกเครื่องยนต์ยังคงเหมือนเดิม แต่เพิ่มรุ่น 253 ci วี8 4,149.2 ซีซี 185 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 36.04 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที 
ไม่มีเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ TRIMATIC เหมือนพี่น้องร่วมตระกูลรุ่นอื่นๆ แต่ชดเชยด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และอัตโนมัติ 2 จังหวะ POWERGLIDE มาตรฐานแทน
ส่วนภายนอก ตัดเอาสติ๊กเกอร์ด้านข้างแบบหนาออกไป แล้วแทนที่ด้วยแบบแนวเส้นโค้ง ไล่จากด้านหน้า ไปจนถึงเสาหลังคา C-PILLAR ส่วนกระจังหน้าพลาสติก ก็ถูก
ปรับปรุงให้เข้มขึ้น

ในปีนี้ โมนาโรยังคงเก็บชัยชนะจากรายการออสเตรเลียน ทัวริงคาร์ ด้วยฝีมือของ NORM BEECHEY ก่อนที่โมนาโรจะถูก XU-1 โทรานา น้องใหม่ในตระกูลโฮลเด้น
เข้าแทนที่ในสนามแข่ง ในเวลาต่อมา

———————————————————-

 

 

HQ MONARO GTS
กรกฎาคม 1971 – ตุลาคม 1974
ยอดผลิตรวม 13,782 คัน / SS ซีดาน 1,200 คัน

HQ นับเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของโฮลเด้น เพราะไม่ง่ายนักที่ทีมออกแบบทั้งจากสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จะผนึกกำลังกัน
สร้างรถยนต์ที่ตรงตามรสนิยมของชาวออสเตรเลีย ด้วยการผสานสไตล์อเมริกันและยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ดี โฮลเด้นมองเห็นลู่ทางในการขยายตลาด เพราะยังมีลูกค้าอีกมากที่อยากได้ HQ รุ่นซีดานที่มีความแรงระดับเดียวกับโมนาโร คูเป้ ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม 1972
โฮลเด้นจึงเริ่มทดลองตลาดด้วยการนำรุ่นพื้นฐานของ HQ เบลมอนท์ ซีดาน มาปรับปรุงให้เป็นรุ่นพิเศษ LIMITED EDITION ในชื่อ SS วางขุมพลัง วี8 4,140.2 ซีซี
185 แรงม้า (BHP) จากรุ่น 253 ci พ่วงด้วยเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ตกแต่งด้วยกระจังหน้าของรุ่น GTS สติ๊กเกอร์แถบสีดำบนฝากระโปรงหน้าทั้ง 2 ฝั่ง ห้องโดยสารตกแต่ง
ด้วย 3 โทนสี ทั้ง INFRA RED,ULTRA VIOLET และ LETTUCE ALONE GREEN เบาะนั่งสไตล์รถแข่งแบบ บั๊กเก็ต ซีท พวงมาลัย 3 ก้านทรงสปอร์ต เมื่อประสบ
ความสำเร็จอย่างดี โมนาโร GTS ซีดาน จึงออกสู่ตลาดครั้งแรกในเดือนมีนาคม 1973 ด้วยรายละเอียดทางเทคนิคที่เหมือนกับรุ่นคูเป้ทุกประการ ใหม่ด้วยเบาะคู่หน้า
แบบ CONTOUR

มิติตัวถังทุกรุ่นยาว 4,761 มิลลิเมตร กว้าง 1,879 มิลลิเมตร สูง 1,348 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,719 มิลลิเมตร เลือกเคื่องยนต์กันได้ 5 แบบทั้งบล็อกเดิม 253 ci 308
ci จนถึง 350 ci พ่วงได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 3 หรือ 4 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ TRIMATIC รวมทั้งแบบ 3 จังหวะ HYDRAMATIC 400 และ 2 บล็อกใหม่อย่าง
173 ci 6 สูบเรียง OHV 2,837.2 ซีซี 118 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 23.11 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที รุ่น 202 ci 6 สูบเรียง OHV 3,312.8 ซีซี
135 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 26.68 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที พ่วงกับเกียร์ธรรมดา 3 จังหวะเป็นหลัก ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่ หลังคานบิด
ระบบพวงมาลัยลูกปืนหมุนวน ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม

———————————————————-

 

 

HJ MONARO
ตุลาคม 1974 – กรกฎาคม 1976
ยอดผลิตรวม 4,754 คัน

ถึงเวลาที่ต้องอัพเกรดโมนาโรอีกครั้ง เพื่อรับมือกับคู่แข่งจากยุโรปที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ตลาด รวมทั้งฟอร์ด ออสเตรเลียที่ขยายทางเลือกให้ลูกค้าในตระกูลฟัลคอนของตน
เพิ่มความสปอร์ตด้วยอุปกรณ์นานับประการ เช่น ชุดสปอยเลอร์รอบคันทั้งหน้า-หลังเป็นครั้งแรก กันชนหน้า-หลังขนาดใหญ่ ส่วนหน้าออกแบบในสไตล์เดียวกับรถยนต์
เชฟโรเล็ต และปอนเตียก GTO ในยุคนั้น กระจังหน้าสีดำสนิท ติดตรา GTS สีแดงไว้ตรงกลาง ส่วนชุดไฟหน้า แยกออกจากกระจังหน้าโดยสิ้นเชิง ในรุ่นคูเป้จะติดตั้ง
4 ดวง ส่วนรุ่นซีดาน จะได้แค่ 2 ดวง แผงหน้าปัดกึ่งสปอร์ต เบาะนั่งกระชับตัวกว่าเดิม และอีกสารพัดการตกแต่งที่เน้นสร้างภาพให้ดูดุดันขึ้น แต่ถึงกระนั้น การปรับโฉม
รุ่น HQ มาเป้นรุ่น HJ ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะรุ่น HQ นั้นออกแบบไว้ดีมาก จนยากจะปรับโฉมให้สวยกว่า

ด้านรายละเอียดทางวิศวกรรม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกเหนือจากการเพิ่มเครื่องยนต์ วี8 OHV 5,047 ซีซี คาร์บูเรเตอร์จาก ROCHESTER รุ่น QUADRAJET
4MV 243 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 44.22 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เข้าร่วมเสริมทัพด้วยเท่านั้น

———————————————————-

 

 

 

HX MONARO
กรกฎาคม 1976 – ตุลาคม 1977
ไม่ระบุยอดผลิตรวม /รุ่น LE ยอดผลิต 580 คัน

การ ปรับปรุงครั้งนี้มีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1976 เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานไอเสียใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ออสเตรเลีย ขณะที่ทางเลือกถูกลดเหลือลงเพียงแค่รุ่น GTS
ซีดาน ส่วนรุ่นคูเป้ ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ภายใต้ชื่อรุ่นย่อย LE (LIMITED EDITION) ออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม 1976 และถูกจำกัดการผลิตจากโรงงานโฮลเด้นที่
เชี่ยว ชาญในการผลิตรถยนต์รุ่นพิเศษๆ ในเมือง PAGEWOOD ที่ซิดนีย์ ไว้เพียงแค่ 580 คันเท่านั้น แม้ว่าในแค็ตตาล็อคจะระบุไว้ที่ 600 คันก็ตาม อย่างไรก็ดี คูเป้ LE
กลับไม่ได้ติดป้ายชื่อรุ่น (เนมเพลต) โมนาโร อย่างที่เคยเป็น ส่วนสาเหตุที่รุ่นคูเป้ต้องถูกลดบทบาทลง CHUCK CHAPMAN กรรมการผู้จัดการของโฮลเด้นในขณะนั้น
แถลงไว้ในเอกสารสื่อมวลชนของ คูเป้ LE ว่า “โฮลเด้น โทรานา แฮตช์แบ็ค ซึ่งเป็นคอมแพคท์สปอร์ตรุ่นเล็กกว่าโมนาโรนั้น สะท้อนภาพความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน
(1976) ได้อย่างชัดเจน…ในทิศทางเดียวกับที่โมนาโรเคยได้รับเมื่อปี 1968″ นั่นหมายความว่าโมนาโรในตอนนั้น เริ่มมีขนาดใหญ่โตเกินความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยัง
แพงกว่าน้องเล็กอย่างโทรานา

ราย ละเอียดของความพิเศษเริ่มกันที่ชุดไฟหน้าทรงกลม 4 ดวง เหมือนรุ่นปรับโฉมคันอื่นๆ ในตระกูล HX ล้ออัลลอย 14×7 นิ้ว ลายรังผึ้งสีทอง สีเดียวกับสติ๊กเกอร์ลายเส้น
คาดข้างตัวถัง สปอยเลอร์สีเดียวกับตัวถังทั้งหน้า-หลัง ห้องโดยสารตกแต่งเหมือนกับรุ่น GTS ซีดานด้วยผ้าและหนัง แผงหน้าปัดตกแต่งด้วยวอลนัท ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าตาม
สมัยนิยม ทั้งกระจกไฟฟ้า เสาอากาศไฟฟ้า และเครื่องเสียงแบบ QUADRAPHONIC 8 แทร็ค

ทั้ง 2 ตัวถังมีขนาดเท่ากัน ด้วยความยาว 4,834 มิลลิเมตร กว้าง 1,877 มิลลิเมตร สูง 1,364 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,719.5 มิลลิเมตร ขณะที่ขุมพลังถูกลดเหลือเพียง 2
ทางเลือก ทั้งแบบ วี8 OHV 4,146 ซีซี คาร์บูเรเตอร์ของ STROMBERG เทอร์โบ 163.2 แรงม้า (BHP) ที่ 4,550 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 33.11 กก.-ม.ที่ 2,600
รอบ/นาที และ วี8 OHV 5,047 ซีซี คาร์บูเรเตอร์จาก ROCHESTER รุ่น QUADRAJET ถูกลดสมรรถนะลงเหลือ 219 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
40.76 กก.-ม.ที่ 3,100 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 3 และ 4 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 3 จังหวะ ทั้งรุ่น TRIMATIC และรุ่นHYDRAMATIC 400 พร้อมเฟืองท้าย
SALLSBURY LIMITED SLIP LSD รองรับด้วยระบบกันสะเทือนหน้า-อิสระคอยล์สปริง หลัง-คานบิด 4 จุดยึด

———————————————————-

 

 

HZ MONARO
ตุลาคม 1977 -1979
ไม่ระบุยอดผลิต


ในที่สุด รุ่นส่งท้ายของโมนาโร ยุคแรก ถูกลดทางเลือกจนเหลือ แค่รุ่น GTS ซีดาน เพียงรุ่นเดียว และไม่มีการติดป้ายเนมเพลต โมนาโร ให้เช่นเดียวกับรุ่นคูเป้ LE แม้ว่าในโบรชัวร์
จะระบุชื่อไว้ก็ตาม ผู้บริหารของโฮลเด้นเองก็ไม่เต็มใจนักที่จะให้โมนาโรถูกปลดจากสายการผลิต แต่เมื่อคำนึงถึงภาระความเสี่ยงต่อระบบการเงินของบริษัทแล้ว แน่นอนว่า
พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเยอะ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นรุ่นสุดท้าย แต่ HZ โมนาโร ก็ยังได้รับการยอมรับจากนักนิยมความแรงว่าเป็นรถยนต์ที่ขับสนุกที่สุดอีกคันหนึ่งในยุคนั้น

ภายนอก เด่นด้วยชุดไฟหน้า 4 ดวง กระจังหน้าสี่เหลี่ยม 2 ชิ้น พร้อมตรา GTS กันชนคาดคิ้วดำพร้อมสปอยเลอร์ทั้งหน้า-หลังสีเดียวกับตัวถัง ล้ออัลลอยลายรังผึ้ง เช่นเดียวกับ
รุ่นคูเป้ LE ปี 1976 ที่ยกมาจาก ปอนเตี๊ยก GTO ส่วนออพชันทั้งกระจกไฟฟ้า เบาะผ้าลายพิเศษ ยกชุดมาจาก HX โมนาโรทั้งสิ้น

มิติตัวถังยังคงเท่าเดิมด้วยความยาว 4,834 มิลลิเมตร กว้าง 1,877 มิลลิเมตร สูง 1,364 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,719.5 มิลลิเมตร ขณะที่ขุมพลังถูกปรับปรุงอีกครั้งเพื่อ
สั่งลา ทั้งแบบ 8 สูบ OHV 4,146 ซีซี 176.8 แรงม้า (BHP) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 33.11 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที และ 8 สูบ OHV 5,047 ซีซี 252.96
แรงม้า (BHP) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 44.22 กก.-ม.ที่ 3,400 รอบ/นาที ทั้งคู่จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ของ STROMBERG พ่วงกับเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
และเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ รุ่น HYDRAMATIC 400 เพียงรุ่นเดียว ส่วนรุ่น TRIMATIC ถูกตัดออกไป ติดตั้งเฟืองท้าย LIMITED SLIP และพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ
ลูกปืนหมุนวน จุดเด่นสำคัญอยู่ที่ระบบกันสะเทือนใหม่ RADIAL TUNED SUSPENSION (RTS) ด้านหน้าแบบ SHORT-LONG ARM สวนด้านหลังแบบ 4 จุดยึด
พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง และห้ามล้อด้วยดิสค์เบรค 4 ล้อ เป็นครั้งแรก

 

แม้ว่า VB คอมมอร์ดอร์จะเปิดตัวออกมาในปี 1978 แต่ตระกูล HZ ยังคงทำตลาดต่อเนื่องถึงปี 1979 จากนั้น ชื่อของโมนาโรจึงหายไปจากสายพันธุ์ของโฮลเด้น พร้อมกับ
การหมดอายุขัยของ HZ ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งฟลูไซส์รุ่นสุดท้ายที่โฮลเด้นผลิตออกขาย ก่อนจะเว้นว่างมาถึงการเปิดตัวตระกูลฟลูไซส์อีกครั้งในปี 1988 และเปลี่ยนโฉมเป็นตระกูล
VT เมื่อปี 1997 ซึ่งเป็นรุ่นพื้นฐานของโมนาโร ในปี 2001

———————————————————–


เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ลืมบันทึก

ความจริงแล้ว ในช่วงปี 1976-1977 โฮลเด้นมีแผนการพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ของตระกูลรถยนต์ขนาดใหญ่รุ่น HQ-HZ คิงส์วูด พรีเมียร์ แซนด์แมน ฯลฯ ซึ่งเป็น
พี่น้องร่วมตระกูลกับโมนาโร โดยใช้รหัสโครงการ WA และใช้ชื่อรุ่น คอมมอดอร์ ซึ่งมีกำหนดออกสู่ตลาดในปี 1978 ซึ่งจะเป็นรถยนต์ที่มีขนาดห้องโดยสารใหญ่ที่สุดเท่าที่
โฮลเด้นเคยผลิตมา แม้ว่าจะมีตัวถังเล็กกว่า HQ-HZ ก็ตาม โดยมีตัวถังให้เลือกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเช่นแบบ แฮตช์แบ็ก 5 ประตู ซีดาน แวกอน และ Ute (รถกระบะที่
ดัดแปลงจากรถเก๋ง) แต่ด้วยต้นทุนที่สูงมากถึง 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ GM ถึงกับสั่งระงับโครงการ WA ออกไป เพราะ GM คิดว่า รถยนต์ของโฮลเด้นน่าจะมีขนาด
ตัวถังเล็กลง หลังจากเจอวิกฤติการณ์น้ำมันในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เลยเสนอให้โฮลเด้น พัฒนาคอมมอร์ดอร์รุ่นใหม่โดยใช้ตัวถังจาก โอเปิล เรคคอร์ด ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า
HQ-HZ คิงส์วูด พรีเมียร์ และโมนาโรรุ่นเดิม แต่ใช้เครื่องยนต์ของโฮลเด้นเอง ดังนั้นโครงการทั้งหมดต้องถูกรื้อทิ้งและต้องยอมให้ HZ ทำตลาดต่อไปอีก 2 ปี เพื่อจะนำ
โอเปิล เรคคอร์ดมาปรับปรุงให้เข้ากับสภาพถนนของออสเตรเลีย โดยใช้รหัสโครงการ VB คอมมอร์ดอร์ และทำให้ตัวเลขการลงทุนต้องเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

———————————————————–

 

 

การกลับมาอีกครั้ง ก่อนจะเลือนหายไปกับกาลเวลา

หลังการเปิดตัวครั้งแรกในปี 1968 และจากไปในปี 1979 โฮลเด้นได้ ปลุกตำนานสำคัญของรถยนต์
GT แดนจิงโจ้ช่วงยุค 1960-1970 รุ่นโมนาโร ให้กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง ด้วยโฉมใหม่ล่าสุดครั้งแรกในรอบ 21 ปี เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี ที่งานซิดนีย์ มอเตอร์โชว์
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2001 โดยถ่ายทอดสดผ่าน WEB CAMERA บนเว็บไซต์ www.holden.com.au ให้ได้รับชมพร้อมกันทั่วโลก

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในงานซิดนีย์มอเตอร์โชว์ เมื่อปี 1998 โฮลเด้นสร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ให้กับวงการรถยนต์ออสเตรเลีย ด้วยการเข็นเวอร์ชันต้นแบบของโมนาโร
มาเปิดผ้าคลุมอวดโฉมบนแท่นหมุนของบูธโฮลเด้น เหตุผลก็คือเพื่อสำรวจปฏิกิริยาจากลูกค้าว่าสมควรจะผลิตออกสู่ตลาดจริงหรือไม่ แต่ด้วยการตอบรับในเชิงบวกจากชาว
ออสเตรเลียเป็นประวัติการณ์ ในที่สุด ผู้บริหารจึงตัดสินใจเปิดไฟเขียว อนุมติให้โครงการนี้ดำเนินการต่อได้ แต่ต้องปกปิดอย่างลับสุดยอด ทั้งในด้านการออกแบบและพัฒนา
ด้านวิศวกรรม จนในที่สุด เพียง 22 เดือนให้หลัง เมื่อโฮลเด้นประกาศต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการว่าจะนำคูเป้คันต้นแบบ ขึ้นสายการผลิตจริงภายใต้ชื่อ โมนาโร ลูกค้า
มากกว่า 500 รายถึงกับพร้อมใจกันลงชื่อ “สั่งซื้อ” (ไม่ใช่แค่สั่งจอง) โมนาโรใหม่ที่ตัวแทนจำหน่ายโฮลเด้นทั่วออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทันที ทั้งที่ยังไม่เห็นตัวจริง   

สำหรับโฮลเด้นแล้ว นี่คือการกลับมาครั้งสำคัญที่สุดของโมนาโร หลังหายไปจากตลาดรถยนต์ออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 1979 เพราะโมนาโร ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์สปอร์ตคูเป้คัน
แรกที่ชาวออสซี่พัฒนาขึ้นเอง และสร้างเกียรติประวัติด้านมอเตอร์สปอร์ตในแดนจิงโจ้ไว้มากมาย นอกจากนี้โมนาโรใหม่ยังเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโฮลเด้นที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วย
ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาแบบ “เสมือนจริง” ด้วยคอมพิวเตอร์ SIMULTANEOUS MATH BASED PROCESS (SMBP) ทำให้โฮลเด้นลงทุนในโครงการ
โมนาโรใหม่นี้ไปเพียงแค่ 60 ล้านเหรียญออสเตรเลีย แบ่งเป็น 40 ล้านเหรียญสำหรับการจัดเตรียมสายการผลิตในโรงงานและเครื่องมือ อีก 20 ล้านเหรียญที่เหลือแบ่งให้
กับงานด้านออกแบบและวิศวกรรม ระบบคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนในการพัฒนาไปได้มาก

โมนาโรใหม่คันแรกในรอบ 21 ปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้พื้นฐานวิศวกรรมและแพล็ตฟอร์มร่วมกับตระกูลคอมมอร์ดอร์ใหม่ ทั้งซีดาน แวกอน และรถกระบะดัดแปลงจากรถเก๋ง
Ute อย่างไรก็ดี รูปลักษณ์ภายนอกมีการดัดแปลงจากเวอร์ชันต้นแบบแค่เพียงเล็กน้อย ชุดไฟหน้า ไฟท้าย ฝากระโปรงท้าย กันชนพร้อมกระจังหน้าในตัว ยกชุดมาทั้งหมด
กระจกหน้าลดความลาดเอียงลง 2 องศา แต่หลังจากเสาหลังคาคู่หน้า A-PILLAR จนถึงบั้นท้าย โมนาโรใช้ชิ้นส่วนตัวถังที่พัฒนาขึ้นใหม่ถึง 84 ชิ้น แบ่งเป็นด้านข้าง 29 ชิ้น
พื้นตัวถัง 23 ชิ้น และส่วนประตูรวมทั้งบั้นท้ายอีก 32 ชิ้น การย้ายเสาหลังคากลาง B-PILLAR เลื่อนถอยหลังออกไป เพื่อให้การเข้าออกจากเบาะหลังง่ายขึ้นนั้น ส่งผลให้
ประตูทั้ง 2 บาน ยาวขึ้นกว่าประตูคู่หน้าของรุ่นคอมมอร์ดอร์ซีดานถึง 150 มิลลิเมตร กระจกหน้าถูกเพิ่มความชันขึ้น 2 องศา แถมยังลดความยาวจากล้อหลังจนถึงกันชนหลัง
(โอเวอร์แฮงค์) ลงอีก 100 มิลลิเมตร แต่เพิ่มความแข็งแกร่งของตัวถังให้ทนต่อการโก่งงอขึ้นอีก 23% และทนต่อการบิดตัวเพิ่มขึ้นจาก VX คอมมอร์ดอร์ ซีดานอีก 5%
ตกแต่งด้วยชุดไฟหน้า ควอทซ์ ฮาโลเจน โปรเจกเตอร์ พ่นสีดำที่ชุดเลนส์ให้ดูเท่ขึ้น กระจังหน้าลายใหม่ ออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตัวถังซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับรุ่นซีดานในตระกูล VX ด้วยความยาว 4,789 มิลลิเมตร กว้าง 1,841 มิลิลเมตร สูง 1,397 มิลลิเมตร (ลดลงจากรุ่นซีดาน 40
มิลลิเมตร) ระยะฐานล้อ 2,788 มิลลิเมตร มีค่าสัมประสิทธิ์ต้านทานอากาศต่ำเพียง Cd:0.31
 
ส่วนห้องโดยสารใช้แผงหน้าปัดร่วมกับทุกรุ่นในตระกูล VX ดุเดือดด้วยแผงหน้าปัดสีแดงเพลิง พร้อมแอร์ไฟฟ้า และชุดเครื่องเสียงพรีเมียม แต่ถ้าใครอยากได้ระบบนำร่อง
ผ่านดาวเทียม ต้องสั่งพิเศษจากตัวแทนจำหน่ายเอง เบาะนั่งคู่หน้าปรับระดับได้ 8 ทิศทางและเลื่อนมาข้างหน้าเพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารด้านหลังเข้า-ออกจากรถด้วยไฟฟ้า

ในรุ่น CV8 จะมีระบบกุญแจ PRIORITY KEY SYSTEM จดจำตำแหน่งของเบาะ อุณหภูมิห้องโดยสาร การปรับแต่งระดับเสียงและสถานีวิทยุที่ฟังบ่อยของชุดเครื่องเสียง
ระบบแจ้งเตือนความเร็ว แม้แต่ความสูงของเสาอากาศ ที่คนขับเคยปรับเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันการโจรกรรมด้วยกุญแจอิโมบิไลเซอร์ ระบบแจ้งเตือนการบุกรุก
ไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และระบบบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมนำร่องเมื่อถูกโจรกรรม

ขุมพลังมีให้เลือก 2 ขนาด โดยรุ่น CV6 จะเป็นแบบ วี6 OHV ECOTEC ซูเปอร์ชารจ์ 3,791 ซีซี 232 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 38.21 กก.-ม.ที่
3,000 รอบ/นาที ส่วนรุ่น CV8 จะมาในแบบ GEN-III วี8 OHV 5,665 ซีซี ที่ถูกปรับปรุงท่อทางเดินไอดีใหม่เพื่อเพิ่มการตอบสนองต่อคันเร่ง รวมทั้งเสียงเครื่องยนต์
ให้ดุดันขึ้น และย้ายเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิไอดี ไปอยู่ทีลิ้นปีกผีเสื้อ ให้กำลังสูงสุด 306 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 46.8 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบ/นาที
ทั้งคู่จะถูกพ่วงเข้ากับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ยกเว้นรุ่น CV8 ที่จะมีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะพ่วงมาให้เลือกด้วย โดยรุ่น CV6 ให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงบนทางหลวงเฉลี่ย
7.6 ลิตร/100 กิโลเมตร และเฉลี่ยในเมือง 12.5 ลิตร/100 กิโลเมตร ส่วนรุ่น CV8 สิ้นเปลืองบนทางหลวงเฉลี่ย 7.4 – 8 ลิตร/100 กิโลเมตร และเฉลี่ยในเมือง 13 ลิตร/
100 กิโลเมตร

มั่นใจด้วยระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังแบบ คอนโทรล-ลิงก์ IRS เซมิ-เทรลลิงอาร์ม แต่ลูกค้าสามารถเลือกแพ็กเก็จ FE2 ถ้า
ต้องการความสปอร์ตกว่าเดิม ประกอบด้วยชุดสปริงที่มีค่า K แข็งขึ้น เพิ่มความหนาของเหล็กกันโคลงหน้า ลดความสูงตัวถัง ส่วนด้านหลัง เปลี่ยนไปใช้โช้กอัพแรงดันแก้ส
บังคับเลี้ยวด้วยพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน อัตราทดเฟืองแปรผัน เพิ่มเสถียรภาพด้วย แทร็กชันคอนโทรล ที่จะลดการส่งแรงบิดจากเครื่องยนต์เมื่อเข้าสู่พื้นถนนที่ลื่น และทันที
ที่ล้อข้างใดข้างหนึ่งเกิดหมุนฟรี ระบบเบรกจะทำงานที่ล้อข้างที่หมุนฟรีนั้น ขณะที่แรงบิดจะถูกส่งไปยังล้อที่ยังไม่ลื่นไถลแทน ติดตั้งดิสก์เบรก 4 ล้อพร้อม เอบีเอส 4 แชนแนล
สวมทับด้วยล้ออัลลอยขนาด 17 x 8 นิ้ว 235/45 R17 93V พร้อมยางขนาด ในรุ่น CV6 และขนาด 18 x 8 นิ้ว กับยางขนาด 235/40 R18 จากบริดจ์สโตน ในรุ่น CV8

ด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้างรวม 4 ใบ ทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ ระบบออนบอร์ด-คอมพิวเตอร์จะตัด
การทำงานของเครื่องยนต์ ปั้มเชื้อเพลิง และสั่งเปิดไฟในรถพร้อมปลดล็อกประตูทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ โมนาโร และโฮลเด้นรุ่นอื่นๆ พิเศษกว่ารถยนต์ในภูมิภาคอื่นๆ เพราะ
ผ่านการทดสอบการชนในรูปแบบการปะทะกับหุ่นจำลองสัตว์พื้นเมืองอย่างจิงโจ้ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเขตโอเซียเนีย

อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกอย่างยิ่งของ GM และ โฮลเด้น เพราะในขณะนั้น วิกฤติการณ์น้ำมันเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นทั่วโลก และเทรนด์ของลูกค้าต่างพากัน
หันมาใช้รถยนต์ที่เล็กกว่าทั้งสิ้น ทำให้คู่แข่งอย่างฟอร์ด ออสเตรเลีย ถึงกับตั้งตัวไม่ติดไปพักใหญ่

 

อต่สุดท้าย

ทุกอย่างก็กลายเป็นความทรงจำ โฮลเด้น ประกาศยุติสายการผลิต โมโนาโรไปแล้ว

เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา

 

———————————————-///————————————————-