หลายท่านอาจจะแปลกใจเมื่อเห็นชื่อผู้เขียนบทความนี้ เพราะปกติ ผมมักทำงานอยู่เบื้องหลังมานาน
(จริงจริงก็ไม่หลังมากล่ะเนอะ..เจอกันได้ในเวบบอร์ดเป็นประจำในชื่อ “Nuay” หรือ “เนย”) แต่วันนี้
ได้มีโอกาสออกมาทำงานหน้าบ้านบ้างครับ ต้องเรียกว่าดวงล้วนล้วน

เพราะปกติแล้วการไปทดสอบไม่ว่าจะรถหรือจะอุปกรณ์ต่างต่าง มักจะเป็นพี่ J!MMY, ท่านผู้การจับเชง,
หรือไม่ก็เป็นกล้วย BnN กับตอยด์ Toyd แต่คราวนี้ออกจะต่างจากครั้งอื่นอื่นสักหน่อย เพราะเป็นการไป
ขับรถแข่งในสนามแข่งระดับโลกและยังต้องเดินทางไปถึงประเทศนอก หวยก็เลยมาตกที่ผม (เย้!)

วันนี้ผมเดินทางมากับ Michelin ประเทศไทย พร้อมพี่พี่น้องน้องตัวแทนจาก Car Club หลายแห่งรวมแล้ว
16 ชีวิตครับ มีกันตั้งแต่ Vios-club, AltisClub, NewCityThailand, CivicFDThailand, AccordClubThailand,
ThaiMazda3, ThaiMazda2, SuzukiSwiftClub, LancerEXclub.net พร้อมสื่อมวลชนอีกสองรายสุดท้าย คือ
Headlightmag.com และ Motortrivia เพื่อเข้าร่วมโครงการ Michelin Pilot Experience 2011 หรือเรียกสั้นสั้น
ว่า MPE 2011 นะครับ

จุดประสงค์ในการเดินทางมาครั้งนี้น่ะเหรอครับ นี่เลย

เราพากันมาถึงสนามแข่ง Sepang International Racing Circuit ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสนามแข่งรถ F1
แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะสัมผัสประสิทธิภาพของยาง Michelin ที่ใช้ในการแข่งขัน
Motorsport ระดับนานาชาติหลายรายการครับ ทาง Michelin จัดกิจกรรมให้เราเต็มเหยียดกันทั้งวัน ทั้งทดลอง
ขับรถแข่งหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Michelin Formula Car, Renault Clio Cup, Go-kart, และทดลองนั่งใน
รถแข่งที่ขับโดยนักแข่งอาชีพ อย่าง Porsche 911 GT3 Cup อีกด้วย


(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

แต่ก่อนอื่น เนื่องจากเราไปใช้เวลาอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์กันถึง 3 วัน ผมเลยขอถือโอกาสนี้พาคุณผู้อ่านทุกท่าน
ไปเที่ยวเมืองกัวลาลัมเปอร์กับผมด้วยกันเลยดีกว่า งานนี้ทาง Michelin ดูแลคณะเรากันอย่างดีมากมาก ทั้งพาเที่ยว
พากิน พาถ่ายรูป และยังจัดสถานที่ัพักให้เป็นอย่างดีครับ ขอชื่นชมทีมงาน Michelin ประเทศไทยมา ณ โอกาสนี้
หากใครเคยไปแล้วหรืออยากจะอ่านแต่เรื่องรถอย่างเดียว ก็ข้ามลงไปส่วนล่างได้เลยนะครับ (ใครข้ามจริง..มีเคือง
บอกไว้ก่อน กรุณาแสดงตัวในเวบบอร์ดด้วยจะได้หมายศีรษะถูกครับ ฮี่ ฮี่)

9 สิงหาคม 2554

เราเดินทางมาถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์เวลาประมาณ 12.10น. ด้วยเที่ยวบิน TG415 อย่างราบรื่น โชคดีหน่อยที่การบินไทย
เลือกใช้เครื่อง Boeing 777-200 ติดตั้งเบาะ Recaro ทั้งลำ บินในเส้นทางนี้ แทนที่จะเป็นเจ้าคุณป้าใกล้ปลดประจำการ
อย่าง Airbus A300-600 หรือที่คุ้นหูักันในชื่อ AB6 เหตุก็เพราะ Boeing 777 เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่กว่า มีระบบความ
ปลอดภัยมากกว่า และที่สำคัญแอร์เย็น และเบาะกว้างสบายกว่า AB6 ที่ชราภาพมากแล้วนั่นเอง

ออกจากสนามบินกัวลาลัมเปอร์ปุ๊บ ทาง Michelin ก็พาเรามุ่งหน้าไปเที่ยวกันก่อนเลย เพราะนี่จะเป็นเพียงช่วง
เวลาเดียวตลอดทั้งทริป ที่เราจะได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านเมืองเขาบ้าง ก่อนที่จะใช้เวลาอยู่ในสนามเซปังตลอด
วันที่ 10 ส.ค. และเดินทางกลับในช่วงสายของวันที่ 11 ส.ค. ครับ

เราใช้เส้นทางไฮเวย์ที่เชื่อมสนามบินเข้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งระหว่างทางจะผ่านเมืองราชการแห่งใหม่ของมาเลเซีย
ชื่อ Putrajaya ที่เพิ่งสร้างได้ไม่นานครับ ถนนไฮเวย์เส้นนี้ นอกจากจะเป็นเส้นทางหลักให้กับผู้สัญจรจะเข้าไปในกรุง
กัวลาลัมเปอร์ได้อย่างสะดวกแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายเอเซีย ที่เชื่อมต่อจากถนนเพชรเกษมผ่านทางจังหวัด
หาดใหญ่ เข้าสู่ประเทศมาเลเซีย และถ้าวิ่งบนถนนเส้นนี้ต่อไปอีก 900 กม. ก็จะถึงชายแดนประเทศสิงคโปร์แล้วครับ
ฟังแล้วน่าลองขับรถเล่นไปสิงคโปร์ดูมากเลย แถมถนนยังดีมากตลอดเส้นทาง และขับชิดซ้ายเหมือนบ้านเราไปจน
กระทั่งถึงสิงคโปร์ด้วย ใครสนใจลองจัดทริปดูได้ครับ เสร็จแล้วเอามาเล่าให้ฟังกันด้วยนะ

ตลอดทางบนไฮเวย์ ผมก็พบเห็นสิ่งที่เราคาดเดาไว้ก่อนว่าจะต้องได้เจอเพียบแบบพะเรอเกวียนแน่นอน
นั่นก็คือ…..(เดาออกกันไหมครับ?)

รถ PROTON นั่นเองครับ วิ่งกันเกลื่อนเลย ทั้ง Saga, Wira, Waja (เยอะมาก), Gen2, และ Inspiria….แปลก ที่ไม่ค่อย
เห็น Proton Neo มากนัก ทั้งที่ผมมองว่า เป็นรุ่นที่ออกแบบได้สวยจบลงตัวมากที่สุดในบรรดาพี่น้องตระกูลเดียวกัน
ทั้งหมด (ไม่นับ Inspiria ที่เอา Lancer EX มา Rebadge แล้วลดราคาถูกลงไป 20,000 ริงกิด หรือประมาณ 200,000 บาท
กันดื้อดื้อนะ)

ตาลุงจอร์จ ไกด์นำทางของเราก็ได้เริ่มบรรยายเมื่อรถทัวร์ได้ย่างเข้าสู่พื้นที่เมือง Putrajaya ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสนามบิน
และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระยะทางจากสนามบินประมาณ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงครับ

ประเทศมาเลเซียนั้น ประกอบด้วยคนสองเชื้อชาติหลักคือ จีน และ แขก  ดังนั้น เราจะพบเรื่องฮวงจุ้ยที่ใช้ประกอบการก่อร่าง
สร้างเมืองต่างต่างได้แทบจะทุกจุดครับ โดยเฉพาะเมืองราชการใหม่อย่าง Putrajaya ด้วยแล้ว ทุกอย่างล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

Putrajaya เป็นคำสมาส มาจาก Putra (ซึ่งไม่ได้มาจาก พุทธะ หรือ Buddha อย่างที่เราเราอาจจะคิดไปเองในตอนแรกนะครับ)
เป็นการตั้งตามชื่อของนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ คือ “Tunku Abdul Rahman Putra Al-Haj ibni Almarhum Sultan
Abdul Hamid Halim Shah” โดยความหมายแล้ว Putra แปลว่า Prince หรือเจ้าชายครับ ส่วนคำว่า Jaya นั้นแปลว่า Success
หรือความสำเร็จ ซึ่งความหมายโดยรวมแล้วก็เป็นการตั้งชื่อให้เป็นเมืองราชการที่ประสบความสำเร็จอย่างรุ่งเรืองนั่นเอง
เมือง Putrajaya มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 9,000 เฮคเตอร์ (90,000,000 ตร.ม.) เดิมเป็นป่าต้นปาล์มและต้นยางครับ

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเมืองราชการแห่งใหม่ ก็เป็นการตามกระแสของประเทศพัฒนาแล้วในที่ต่างต่างของโลกนั่นเอง
ทั้งเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความง่ายต่อการบริหารจัดการของผังเมือง มาเลเซียเองก็อาศัยความได้เปรียบทาง
ด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 หรือ Tomyum Kung Crisis รีบพัฒนาบ้านเมืองให้รุดหน้าไปกว่า
ประเทศรอบข้างที่กำลังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และหดตัว โดยมาเลเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่
ไม่ได้ทำการกู้เงินจาก IMF เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแม้แต่ริงกิดเดียว ผลพวงจาก Mega Project ในช่วงดังกล่าว นอกจาก
Putrajaya แล้วก็ยังมี Petronas Twin Tower ซึ่งยังคงเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในเอเซียจนทุกวันนี้ และสนามบินแห่งใหม่
ที่ใช้เป็นจุดหลักในการเดินทางทางอากาศจนปัจจุบันเป็นต้นครับ

เมือง Putrajaya ปัจจุบันใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงราชการ 22 กระทรวง จากทั้งหมด 23 กระทรวง ขาดเพียงกระทรวงกลาโหม
หรือ Ministry of Defense ซึ่งยังคงต้องตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยและการเฝ้าระวังภัย
คุกคามต่อชาติ ตึกต่างต่างใน Putrajaya ได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย แต่อย่างที่บอกไว้ตอนต้นครับ ทุกการออกแบบ
ล้วนแฝงไว้ด้วยความหมายทางด้านฮวงจุ้ย ตัวอย่างเช่น

ตึก AGC ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ออกแบบคล้ายกับหอยเป๋าฮื้อ (ลุงจอร์จบอกมานะครับ ผมมองยังไงก็ว่ามันเป็นหอยแมลงภู่
มากกว่า) เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากตึกแห่งนี้ใช้ในการประชุมงานใหญ่ใหญ่ และงานรับปริญญาบัตรของสถานศึกษา
ชั้นนำต่างต่างในประเทศ

ตึก Convention Center อีกแห่งที่ใช้รองรับแขกบ้านเมืองเป็นหลัก มีเสาธงด้านหน้าถึง 220 เสา เพื่อรองรับการมาเยือนของ
แขกบ้านแขกเมืองได้พร้อมกันถึง 220 ประเทศต่อวัน ได้รับการออกแบบเป็นเลข 8 ตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านหน้าหันลงทะเล
และด้านหลังเป็นสันเขา เนื่องจากเลข 8 ถือเป็นเลขมงคลของคนจีน และถ้าใครเคยทราบตำราฮวงจุ้ยมาบ้าง ก็จะทราบดีว่า
การสร้างอาคารที่ดีนั้น ต้องด้านหน้าเป็นน้ำ และด้านหลังหนุนด้วยภูเขาแบบนี้ล่ะครับ

รูปวิวเมื่อมองลงมาจาก Convention Center

เสร็จจาก Putrajaya กับอากาศอันร้อนระอุไม่แพ้เมืองไทยแล้ว เราก็เดินทางเข้าสู่ที่พักเพื่อ Check-in และเก็บข้าวของเข้าที่
ให้เรียบร้อย โดย Michelin พาเรามาพักกันที่ The Crown Plaza Hotel โรงแรมหรูระดับห้าดาวใจกลางเมืองกัวลาลัมเปอร์
บรรยากาศของห้องพักนั้น บอกตรงตรงว่า “ชอบมาก” แถมให้พัก 1 คนต่อ 1 ห้องเสียด้วย สบายแฮกันเลยทีเดียว เสียอยู่
อย่างเดียวที่โปรแกรมเราค่อนข้างแน่นทุกวัน ทำให้แทบจะไม่ได้ใช้เวลาอยู่ในห้องแสนสวยเลย (ยกเว้นตอนหลับนะ)

ยังมีของที่ Michelin เตรียมไว้ Surprise เราอีก…ภายในห้องพักนั้น..ทุกอย่างเป็น Michelin ครับ ตั้งแต่ช็อคโกแลตรูปต่างๆ
ที่จัดไว้ต้อนรับในห้อง ก็ประทับด้วย Logo Michelin, บนเตียงนอน ยังมีจดหมายชี้แจงถึงกำหนดการในวันรุ่งขึ้น และ
สมุดคู่มือการเข้าร่วมโปรแกรม Michelin Pilot Experience 2011 ให้ได้ศึกษากันก่อน เรียกว่าทั้งมีประโยชน์และสร้างความ
ประทับใจไปได้ในตัว ใครอยากรู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะเจอกับอะไรบ้างก็ศึกษากันก่อนได้เลย

เนื่องจากช่วงเวลาที่เราไปประเทศมาเลเซีย อยู่ในช่วงเดือนรอมฏอนพอดี ชาวมุสลิมก็จะถือศีลอดในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น
และจะเริ่มรับประทานได้หลังจากพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น ไกด์ของเราเลยบอกว่าต้องรีบออกจากที่พักเพื่่อไปเที่ยวเมือง
และทานข้าวเย็น มิฉะนั้นหากรอจนหลังเวลาเลิกงาน 5 โมงเย็นแล้ว ชาวมุสลิมจะรีบกลับบ้านหรือเดินทางไปรับประทาน
อาหารกัน รถจะติดสาหัสกันทั้งเมือง ทำให้เราต้องรีบมุ่งหน้าออกจากโรงแรม เดินทางสู่สัญลักษณ์ของกรุงกัวลาลัมเปอร์
ซึ่งก็คือ อาคารแฝดปิโตรนาส หรือ Petronas Twin Tower นั่นเองครับ ซึ่งยังคงเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในเอเชียจนทุกวันนี้
(เน้นว่าตึกแฝด..เพราะถ้าตึกเดี่ยวเดี่ยวมีตึกที่สูงกว่านี้แล้ว) เราไม่ได้ขึ้นไปทำการถ่ายรูปที่ชั้นบน หรือแม้แต่ทางเชื่อมครับ
เพราะเวลามีจำกัด เป็นช่วงเย็นแล้วแสงก็น้อย แล้วยังต้องเสียค่าเข้าชมอีกค่อนข้างแพง เลยตัดสินใจถ่ายรูปงัดจากพื้นกัน
ขึ้นไปเนี่ยแหละ พี่พี่จาก Carclub ทั้งหลายก็พกกล้องกันมาแบบสื่อมวลชนอาย จนคนท้องที่เขาคงนึกว่าพวกเรามาจาก
PhotoClub มากกว่าจะสนใจเรื่องรถนะเนี่ย

เราก็จบวันนี้กันเพียงเท่านี้ครับ หลังจากนัดรวมพลที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งแต่ 6.45น. เดินทางสู่ประเทศมาเลเซียและ
เที่ยวต่อกันจนกระทั่ง 21.00น. รถทัวร์ก็ส่งเราเข้าที่พักพร้อมการนัดแนะและคำเตือน 3 ข้อ

1. พรุ่งนี้รถออกเดินทางไปสนามเซปังเวลา 7.10น. ตรง ใครเลทไม่รอนะจ๊ะ
2. จะมี Morning Call ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้อัตโนมัติเวลา 5.45น.!! ใช่ครับ ตีห้าสี่สิบห้า
    ถ้าคิดเป็นเวลาไทยก็ ตีสี่สี่สิบห้า…โอ้พระเจ้า เช้ามากๆ!
3. งดแอลกอฮอล์ทุกชนิดนะจ๊ะ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้เข้าร่วมสนุกกับ Night Life in KL
    มากไปหน่อย วันรุ่งขึ้นก็..”จำหน่าย”..ครับ ลุกไม่ไหว ขับไม่ได้ นอนซม Hang Over
   ในโรงแรมซะงั้น

—————————————————–

วันที่ 10 สิงหาคม 2554

05.45น. เสียงโทรศัพท์ในห้องพักดังขึ้น พอรับสายก็มีเสียงจากปลายสายอีกฝั่งเป็นเสียงเครื่องตอบรับอัตโนมัติบอกว่า
“(มึม)..ตื่นได้แล้ว” ผมรีบวางสายแล้วก็รีบวิ่งเข้าห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัว เพราะจะรวมพลในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า
กำลังแปรงฟันอยู่ดีดี โทรศัพท์ดังอีกแล้ว คราวนี้เป็นคนเป็นเป็นโทรมาเลยบอกว่า โทรมาเช็คว่าตื่นรึยังคะ เรียกได้ว่า
Michelin กลัวเรา (หรือผมคนเดียว?) ไม่ตื่นจริงจริงนะเนี่ย

อาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อย ก็รีบคว้ารองเท้าแข่ง OMP สีน้ำเงินสดคู่ใจมาใส่ สะพายเป้แล้วรีบออกจากห้องลงไปรับประทาน
อาหารเช้าด้านล่าง เพื่อที่จะพบว่าหลายท่านได้ลงมาก่อนหน้านี้ไปพอสมควรแล้ว แหม..ตื่นเช้ากันจังเลยครับลูกทัวร์ทริปนี้
สงสัยจะเป็นไปตามวัยครับ ผมยังวัยรุ่นอยู่เลยต้องนอนมากเป็นธรรมดา (^_^)

แล้วรถก็เคลื่อนตัวออกจากโรงแรมตามกำหนดการ 07.10น. เป๊ะ เรียกว่าทาง Michelin คุมเวลาได้ดี และคณะทัวร์แต่ละท่าน
ก็รักษาเวลาดีเยี่ยมครับ ขอปรบมือให้อีกรอบ เพราะนานมาแล้วที่จะเจอคณะที่รักษาเวลาได้ดีกันขนาดนี้ อยากให้ทุกคน
เอาเป็นเยี่ยงอย่างครับ

หรือว่า..ที่ตรงต่อเวลากันเพราะน้อง Cinthia คนนี้รออยู่บนรถก็ไม่ทราบ คริคริ

เราใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ย้อนกลับมาบนถนนไฮเวย์เส้นเดิมมุ่งหน้าสู่สนาม Sepang International Circuit
ซึ่งอยู่ติดกับสนามบินนั่นแหละ พอเดินทางมาถึงทาง Michelin ก็ส่งเจ้าอ้วน บีเบนดัม (Bibendum) ออกมารอต้อนรับอย่าง
กระฉับกระเฉงเป็นพิเศษ เต้นกระด๊องกระแด๊งไปเรื่อย เรียกเสียงปรบมือและความประทับใจไปได้เต็มเต็ม


(ภาพจากคุณต๋อม NewCityClub)

เริ่มงานด้วยการเชิญเข้าห้องบรรยาย Mr.Regis Jeandenand – Michelin Asia Pacific Motorsport Manager (คนนี้อยู่กับ
Michelin มา 40 ปีแล้วครับ เคยเป็น Rally Co-Driver ในการแข่งขันต่างต่างมากถึง 150 ครั้ง!!) กล่าวเปิดงานแล้วตามด้วย
การอธิบายโปรแกรมคร่าวคร่าวว่า  ในวันนี้แต่ละคนจะได้เจออะไรกันบ้าง พร้อมกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้
ว่า ใครที่เตรียมตัวมาซัดรถแข่งแบบไม่ลืมหูลืมตา และลืมเรื่องความปลอดภัยไปพร้อมกันด้วยนั้น ก็ต้องผิดหวังกันไป

เพราะจุดประสงค์ของวันนี้ ไม่ใช่การทำ Time Attack แต่เป็นการได้ประสบการณ์กับรถแข่งและยาง Michelin ในรูปแบบ
ต่างต่าง เพราะฉะนั้น เรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่มาเป็นอันดับหนึ่ง หากใครฝ่าฝืน
ก็ต้องถูกตัดแต้มกันไปตามระเบียบ

ในคณะคนไทยทั้งหมด 16 คน ทาง Michelin แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ แดง ฟ้า เหลือง ซึ่งจะประกอบไปด้วยผู้ร่วม
เดินทาง 4 คน และเจ้าหน้าที่ Michelin 1 คน รวมทั้งหมดเป็น 5 คนต่อกลุ่ม เพื่อเข้าแข่งขันปะทะฝีมือกับชาวอินเดียที่มา
สมทบอีกประมาณ 8 ท่านครับ แต่ละกลุ่มก็จะได้หมุนเวียนกันทำกิจกรรมทั้งหมด 6 ฐาน ที่ทาง Michelin ได้เตรียมไว้ให้
สลับสับเปลี่ยนกันไป

ผมได้อยู่ในทีมสีฟ้า (แหม..เข้ากับสัญลักษณ์ Michelin เนอะ) ร่วมกับคุณโอ ธิษัณย์ อมรวิทยารักษ์ Product Marketing
Manager CLT (ตำแหน่งพี่จะยาวไปไหนคร้าบ -_-‘) , พี่เม เมธา จาก SiamSubaru, พี่โอ๋ จาก ThaiMazda3, น้องอาร์ม
จาก ThaiMazda2, และผมเองจาก Headlightmag.com (และ MazdaClub.NET อย่างไม่เป็นทางการ) เหมือนว่าทาง
Michelin จะจับคอคนรักมาสด้ามาไว้ด้วยกันแฮะ ไม่รู้ตั้งใจรึเปล่าอันนี้ต้องถามทีมงานกันเอาเองครับ

ก่อนเริ่มกิจกรรมก็จะต้องมีการตรวจสภาพร่างกายกันก่อน ทั้งวัดความดันโลหิตและดูสภาพทั่วไป พร้อมเซ็นใบยินยอม
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือที่ผมชอบเรียกว่า ใบยอมตาย นั่นแหละ ในภาพ..น้องอาร์ม แห่ง ThaiMazda2 ของทีมเรากำลัง
ขึ้นเขียงวัดความดันโลหิตว่าจะพุ่งสูงเหมือนฮอร์โมนรึเปล่า (ล้อเล่นนะคร้าบ)

เสร็จแล้วทาง Michelin ได้เตรียมตู้ Locker ไว้ให้เก็บของในห้องด้านในครับ ที่พิเศษมากคือแปะชื่อแต่ละคนไว้เลย
ซะอีกแน่ะ ได้บรรยากาศประหนึ่งว่าเราเป็นนักขับประจำทีม Michelin มากมาก เปิดตู้มาข้างในจะเจอกับของแบบนี้
และผมก็เพิ่งจะได้ทราบว่าทาง Michelin เตรียมข้าวของทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว รวมถึงรองเท้าขับรถแข่งด้วย สรุปว่า
OMP ที่ผมอุตส่าห์หิ้วไปจากกรุงเทพมหานครเป็นหมัน ต้องจอดอยู่ในตู้ตลอดวันกันไป

แต่งตัวเสร็จแล้วก็ถ่ายภาพประจำทีมกันซะหน่อย ผมเป็นคนไหนในภาพก็เดากันเองนะครับ หุหุ

สถานี Go-Kart
ทีมผมได้แข่ง Go-Kart แบบ Time Attack เป็นด่านแรกครับ (คือโกคาร์มมันคงแข่งอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจับเวลาน่ะนะ
เดี๋ยวจะหาว่าขัดต่อวัตถุประสงค์อีก) เป็นการแข่งขันระดับนานาชาตินะครับ เราปะทะฝีมือและฝีเท้ากับทีมที่เดินทางมา
สมทบจากอินเดีย โดยแต่ละคนจะได้ขับ 3 รอบเพื่อหาเวลาดีที่สุด ปรากฎผลเวลาออกมา ดีที่สุดคือ พี่เมธา จาก SiamSubaru
ของเรานี่เองครับ รอบเร็วที่สุดทำเวลา 49.xx วินาที, ที่สองได้แก่ ชาวอินเดีย ทำเวลา 52.xx วินาที, และที่สามคือ ผมเองครับ
(ปรบมือ…) ทำเวลา 54.xx วินาที พี่เมธาจึงได้รับคัดเลือกให้ไปแข่งขันต่อในระดับ All-star นำที่หนึ่งของแต่ละทีมมาแข่ง
Semi-Final และ Finale ต่อไปครับ 

(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

ปรากฎโฉมหน้าที่หนึ่งในแต่ละทีม ไทยนำอินเดีย 3:1 ผู้เข้ารอบได้แก่ พี่อั๋น สิรคุปต์ เมทะนี เซเลบประจำงาน Michelin
ของพวกเรา, พี่เมธา SiamSubaru, และคุณณัฐ จาก SuzukiSwiftClub ครับ แต่น่าเสียดายที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ พอพี่อั๋นปะทะ
ฝีมือกับชาวอินเดียในรอบ Semi-Final เสร็จ (ผลคือนำโด่ง ไม่ต้องลุ้น…ยืดตั้งแต่ออกตัว เร็วขนาดขากางเกงลอยเต่อ คิดเอ
าก็แล้วกัน) ลมพายุก็พัดมาจากไหนไม่ทราบ กวาดเอาไพลอนเล็กเล็กทั้งวิ่งและล้มกันระเนระนาด สรุปว่า Track ของเรา
ได้หายไปต่อหน้าต่อตา เลยจำเป็นต้องยุติการแข่งขันเท่านี้ล่ะครับ


ในภาพ พี่อั๋นกำลังหวด Go-Kart เบอร์ 22 เข้าโค้งปลายทางตรง ก่อนเข้าสู่รอบสุดท้่าย ยืดระยะคู่แข่งชาวอินเดียออกไปอีก

โฉมหน้าผู้ชนะในแต่ละทีมครับ เนื่องจากฟ้าฝนไม่เป็นใจ เลยยกชัยชนะให้หมดเลยก็แล้วกัน (จากซ้ายไปขวา เป็น พี่อั๋น
สิรคุปต์ เมทะนี, พี่เมธา SiamSubaru, Shiraz ชาวอินเดีย, และคุณณัฐ แห่ง SuzukiSwiftClub…ปรบมือออ)


(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

สถานี Formula Michelin
ได้ขับของเบาแล้ว ก็มาลองของแรงกันบ้าง กับการได้ขับรถแข่งที่นั่งกลางล้อเปิดแบบรถสูตร อันนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี
และน่าตื่นเต้นมากมากครับ เพราะชีวิตนี้โอกาสที่จะได้ขับรถสูตรก็ริบหรี่เต็มที ต้องขอบคุณ Michelin ที่ใจป้ำให้โอกาส
พวกเรามาขับกันจริงจริง



Specification
รถ Formula Michelin ติดตั้งเครื่องยนต์ที่มีกำลัง 196 แรงม้า มีน้ำหนักเพียง 480 กก. ซึ่งทำให้อัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักนั้น
น่ากลัวมากที่ 2.45 กก. ต่อ แรงม้า เท่านั้น อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 3.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 260 กม./ชม. ใช้ระบบเกียร์
Sequential แบบ 6 จังหวะอัตราทด คือใช้คลัทช์เพื่อเข้าเกียร์ 1 เท่านั้น หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดเกียร์ ก็ใช้วิธีการโยก
แท่งหรรษา (Joystick) ที่ติดตั้งอยู่ด้านขวาของ Cockpit เพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนเกียร์ขึ้นให้ดึงเข้าหาตัว และการเปลี่ยน
เกียร์ลงให้ดันออกจากตัว สวมยาง Michelin Racing Slick รัดล้อขนาด 13” เอาไว้

ก่อนจะขับก็ต้องเรียนรู้รถกันก่อนครับ เพราะถึงแม้จะไม่ใช่รถ Formula 1 แต่ด้วยโครงสร้างของรถที่ทำมาเพื่อการแข่งขัน
เต็มที่ การตอบสนอง, การยึดเกาะ, การสร้างแรง G ย่อมหนักหนากว่ารถบ้านทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังนั้น ก่อนจะลงไปขับกัน
จริงจริงในสนามเซปัง ด้วยความเร็วปลายทางตรงที่ตำแหน่งเกียร์ 6 รอบ 5,200 รอบ/นาที เดาเอาว่าความเร็วน่าจะมีระดับกว่า
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น (ไม่มีมาตรวัดความเร็ว) ต้องฝึกฝนให้ชินเสียก่อน

ทาง Michelin เลยเตรียมรถสูตรหนึ่งคัน พันธนาการไว้บนแท่นลักษณะคล้าย Dyno Meter ครับ แล้วก็ให้แต่ละท่านทดลอง
สไลด์ตัวเข้าไปนั่ง ติดเครื่อง เข้าเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นจาก 1 ถึง 6 และเบรกชะลอพร้อมเปลี่ยนเกียร์ลงจาก 6 มา 1 แล้วก็
ดับเครื่อง อันที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแต่ต้องรู้จักรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสม และรู้จักควบคุมน้ำหนักคันเร่ง
และเบรก ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเปลี่ยนเกียร์โดยใช้รอบสูงเกินไป ทำความเสียหายต่อเครื่องยนต์ และยังเสี่ยงต่อการเกิด
อุบัติเหตุด้วย เพราะล้อหลังอาจจะถูกปั่นฟรีจากแรงบิดมหาศาลในรอบสูง ทำให้เสียการควบคุมและหมุนได้

ในภาพ Mr.Aaron Lim นักแข่งชาวมาเลเซียที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย ทั้งโกคาร์ท, Formula BMW, A1 GrandPrix
เป็นผู้อธิบายวิธีการขับเจ้า Formula Michelin คันนี้ให้แก่พวกเราก่อนจะให้เริ่มทดลองของจริงกันทีละคน

เมื่อลองกันครบทุกคนแล้ว คราวนี้ก็มานั่งฟังอธิบายสรุปเรื่องไลน์ในสนาม และการใช้เกียร์ในแต่ละโค้งครับ บรรยายโดย
Mr.Rodolfo Avila นักแข่งชาวโปรตุเกส แต่ใช้ชีวิตอยู่ในมาเก๊า เคยผ่านประสบการณ์แข่งรถสูตร 3 หรือ Formula 3 ในยุโรป,
Formula Renault Asia, และอยู่ระหว่างการแข่งขัน Porsche Carrera Cup ที่เราจะได้นั่งกันในช่วงบ่ายด้วย

โดยเส้นทางที่เราจะได้ขับคือ ครึ่งสนามเซปังฝั่งใต้ มีโค้งทั้งหมด 8 โค้ง ทั้งความเร็วต่ำ กลาง และสูงปะปนกันไป

ฟีลลิ่งในการขับขี่
ผมถูกเรียกให้ไปแต่งตัว สวมหมวกกันน็อค และถุงมือแข่ง จากนั้นเดินไปที่รถ Michelin Formula ที่จอดอยู่ในร่ม สไลด์ตัว
ลงไปนั่งในรถ Formula Michelin แล้วก็มีเจ้าหน้าที่สนามมาจัดการปรับเบาะและคาดเข็มขัดนิรภัยแบบ 4 จุดให้

เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำต่างต่างอีกครั้ง พร้อมแจ้งว่ารถ Pace Car ประจำตัวผมจะเป็น Lotus Elise สีส้มคันนี้ล่ะครับ มีกฎ
ที่ต้องจำเพียงสองข้อ คือ

1.ห้ามแซง Pace Car เป็นอันขาด (พี่คร้าบ..แค่ผมไล่ตามก็ไม่ทันแล้วคร้าบ)
2.เมื่อ Pace Car ให้สัญญาณไฟฉุกเฉิน แสดงว่าให้ชะลอความเร็ว

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็เหยียบคลัทช์จม ติดเครื่อง แล้วให้รถ ATV ดันท้ายเพื่อให้เราออกตัวง่ายขึ้น
(ถ้าเป็นนักแข่งจริง ก็ขับออกไปเองได้เลย)

จากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เรียนมาครับ เราถูกจำกัดความเร็วที่ 60 กม./ชม. ในพิท
ดังนั้นผมจึงคาเกียร์ 1 ไว้ก่อน

พอพ้นเขต Pit Lane แล้วก็มุ่งหน้าเข้าสู่โค้งแรก T2 ซึ่งเป็นปลายทางตรง รถ Pick up ความเร็วได้อย่างรวดเร็ว
แป๊บเดียว ตัวเลขบนหน้าปัดบอก 5,200 RPM ต้องรีบชิฟท์ขึ้นเป็นเกียร์ 2 ก่อน Turn-in เข้าโค้งต่อเนื่องกันไป
หลังจากออกจาก T2 แล้วจะเป็นโค้งความเร็วสูงวนขวา T3 ซึ่งเราจะเดินคันเร่งได้เต็มที่ยาวกันไป ก็ไล่กันไป
จากเกียร์ 2 – 3 – 4 – 5 – 6 ตรงจุดนี้แหละ ที่เราจะได้สัมผัสกับแรง G ที่สร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นแรง
ยึดเกาะมหาศาลของรถคันนี้ จนทำให้ตัวเราถูกเบียดไปติดกับผนังด้านซ้ายของรถเหมือนมีพี่ J!MMY เอามือ
มายันเราไว้  

และอันที่จริงโค้ง T3 มีจุดหลอกนิดหน่อย โดยกลางโค้งจะมีการหักองศาเพิ่ม ดังนั้น ถ้าใครกำลังมันตีน ดัน
เติมคันเร่งมามากและมายาว อาจหลุดได้นะครับ ส่วนถ้าใครเป็นคนเมารถง่าย อาจมีการเวียนศีรษะและเตรียม
อ้วกในพื้นที่ส่วนตัวภายในหมวกกันน็อคกันได้ (-_-‘)

จากนั้นก็เบรกอย่างรุนแรงพร้อมดาวน์ชิฟท์ลงเกียร์ 3 เพื่อ Turn-in เข้าสู่โค้ง T4 เดินคันเร่งต่อชิฟท์ขึ้นเป็นเกียร์
4 – 5 แล้วกรอคันเร่งตอนหักซ้ายเข้า T5 ซึ่งเป็นโค้งรัศมีแคบลงหน่อย จากนั้นชิฟท์ลง 1 จังหวะ เพื่อหักศอกเข้า
T6 และ T7 แล้วเบรกจนเหลือเกียร์ 2 เพื่อเข้าโค้งยูเทิร์นที่ T8 ตรงจุดนี้ถ้าใครมาไลน์ถูกต้อง พอผ่าน Apex ปั๊บ
รถจะตั้งตรง กดออกไปได้เต็มเต็ม สับขึ้น 3 ตั้งแต่ยังไม่พ้น Ending point ของโค้งเลยครับ แล้วก็ยิงเข้าทางตรง
โดยมีเสียงเครื่องยนต์ 196 แรงม้าแผดสนั่นอยู่ห่างจากหูไม่ถึงฟุต ไปจนสุดเกียร์ 6 ที่ 5,450 RPM ซึ่งต้องบอก
ตามตรงว่ารอบขึ้นไวมาก ทำให้การชิฟท์เกียร์ขึ้นบางครั้งมีรอบเกิน 5,200 ไปบ้าง คิดว่าถ้าได้ขับมากรอบกว่านี้
คุ้นชินกับรถมากกว่านี้ ก็คงจะสับเกียร์ได้แม่นยำกว่านี้มากครับ

ส่วนเร็วขนาดไหนน่ะเหรอ? เรียนตามตรงไม่ทราบจริงจริง แต่คิดว่าถ้าขับเข้าใกล้ Top speed กันจริงๆ มีเกิน
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แน่นอน เพราะหมวกกันน็อคที่ใส่อยู่ มันดึงหัวผมขึ้นจนแทบจะบินออกจากหัวอยู่แล้ว
ตัวรถเองมีการตอบสนองที่ “Extremely Linear” ครับ คือไปไวเท่าความคิด ทั้งอัตราทดของพวงมาลัยที่่ขยับ
นิดเดียว รถก็หันหัวเปลี่ยนทิศทางทันที แต่ยังหนักแน่นและมั่นคง หรือเบรกที่กดแล้วก็หยุดม้าพยศทั้ง 196 ตัว
พารถชะลอลงจาก Top Speed สู่ความเร็วระดับ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในไม่กี่สิบเมตร ถือเป็นประสบการณ์ที่
สุดยอดมากมากครับ

สถานี Renault Clio Sport Cup

ลงจากรถสูตรแล้ว ก็พักทานอาหารกลางวันก่อนมาต่อด้วยรถที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับรถเก๋งที่พวกเราคุ้นเคยกัน
ขึ้นมาหน่อย นั่นก็คือ Renault Clip Sport Cup ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาแบบรถเก๋งนั่นเอง ต่างไปเพียงคันนี้ทำมา
สำหรับใช้ในรายการ One Make Race จึงมีอุปกรณ์ตามข้อกำหนดของ FIA ครบทั้งคัน ตั้งแต่ โครงเหล็กนิรภัย
(Rollbar) ที่ทำจากเหล็กเฉพาะ ไม่ใช่เอาท่อแป๊บไอเสียมาตีดามแบบร้านลูกทุ่งในบ้านเรา แบบนั้นพอรถชนโครม
 ท่อฉีกมาทิ่มหัวคนขับตายแทนที่จะปลอดภัย, ถังดับเพลิงพร้อมระบบฉีดอัตโนมัติ, ถังน้ำมันเชื้อเพลิงนิรภัย หรือ
ที่เราเรียกกันว่าถัง A นั่นแหละ, เบาะนั่งแบบ Full Bucket Seat, เข็มขัดนิรภัยแบบ 4 จุด, และอื่นอื่นอีกมากมายครับ

ก่อนขับก็ต้องมาเรียนวิธีการขับกันก่อน เพราะรถคันนี้แตกต่างจาก Formula Michelin ที่เรา ทดลองขับกันไปเมื่อเช้า
คราวนี้ Mr.Rodolfo Avilia ยังคงเป็นผู้บรรยายเช่นเคย

Specification
ผมได้ยินทีมงานบอกว่าเป็นเครื่อง 1.6 ลิตร NA แต่พอมากางสเปคดูตัวเลขแรงม้าชักไม่แน่ใจ เพราะมีถึง 220 แรงม้า
เลยทีเดียว แต่ NA (Natural Aspiration) แน่นอนครับ เพราะไม่มีอาการดึงของเทอร์โบเลยตั้งแต่รอบต่ำไปจน Redline
น้ำหนักตัว 1 ตันพอดิบพอดี ทำให้ม้านั้นแบกน้ำหนักอยู่ที่ 4.5 กก. ต่อตัว ไม่มากไม่น้อยครับ แต่ด้วย Configuration
แบบรถแข่งเต็มลำ ทั้งโครงเหล็ก ทั้งแผงหน้าปัดคาร์บอนไฟเบอร์ เสียงเครื่องยนต์และท่อที่แผดสนั่น ทำให้อารมณ์
ในการขับมัน “มา” แบบไม่รู้ตัว รถคันนี้ยังใช้เกียร์แบบ Semi-Sequential คือเป็นคันเกียร์แบบ Sequential ครับ แต่
ต้องเหยียบคลัทช์ทุกครั้งในการเปลี่ยนเกียร์ ไม่เหมือน Formula Michelin ที่ใช้ในการออกตัวครั้งเดียว

เนื่องจากฤกษ์งามยามดี ฟ้าฝนเทกระหน่ำทั้งสนามเซปังในช่วงพักทานอาหารกลางวัน จนกระทั่งเราจะได้ขับ Clio Cup
กันอยู่แล้ว ก็ยังตกพรำพรำ เหมือนจงใจจะให้ลื่นกันเล่นงั้นแหละ ทีมงานเลยจัดการเปลี่ยนยางเจ้า Clio Cup ให้เป็น
Michelin Pilot Super Sport ซึ่งเป็นยางถนนตัวรองจาก Sport Cup ซึ่งเป็นยางมีดอกที่ใช้ในการแข่งขันได้เสียก่อน
จะให้เราได้ขับกัน เพราะถ้าขืนยังใช้เป็น Racing Slick กันในสภาพแบบนั้น คงมีแปะกำแพง หรือเล็มหญ้ากันบ้างแหละ

ฟีลลิ่งในการขับขี่
เรายังคงใช้สนามเซปังครึ่งฝั่งใต้เช่นเดิมครับ ดังนั้นรูปแบบสนามผมคงจะขอไม่อธิบายซ้ำ เพียงแต่คราวนี้ต้องเพิ่ม
ความปลอดภัยและความระมัดระวังมากหน่อย เนื่องจากฝนตกลงมาหนัก และรถ Clio Cup นั้นมีคาแรกเตอร์ต่างจาก
Formula Michelin ทั้งเรื่องน้ำหนักแป้นเบรกที่นุ่มละมุนกว่าและไวกว่า รวมทั้งโครงสร้างตัวรถที่ถึงแม้จะเป็น OMR
เต็มตัว แต่มันก็ยังเป็นรถเก๋งไม่ใช่รถสูตรน่ะ ดังนั้น โค้งสุดปลายทางตรงจนต้องเข้าด้วยเกียร์ 2 เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว
ท่านอาจจะไป “กอง” กับกองยาง พื้นหญ้า และกำแพงได้

ผมโชคดีอีกแล้วครับ ได้ออกไปในล็อตแรกเป็นคันที่สามในสภาพฝนตก แหม..ให้ตายเถอะ ลำพังสนามเปียกก็ขับยาก
อยู่แล้ว ได้ออกไปล็อตแรกแบบนี้ เรียกว่าเป็นวิ่งกวาดน้ำน่าจะตรงตัวกว่า แต่ไม่เป็นไรครับ ถือว่าได้ทดสอบยาง Michelin
Super Sport ไปในตัวนะ ออกจากพิทเข้าโค้ง T2 สุดทางตรงก็หักเลี้ยวเข้าไป แปลก! รถไม่มีอาการหน้าดื้อหรือท้ายปัดเลย
แสดงให้เห็นว่ายาง Super Sport สามารถรีดน้ำได้ค่อนข้างดี และไม่ต้องรอให้ร้อนมากก็ยึดเกาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่พอเข้า T3 ไป สิ่งที่ผมคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก็เกิดขึ้นจนได้ รถ Pace Car เปิดไฟฉุกเฉินบอกให้ชะลอความเร็วและ
ใช้ความระมัดระวัง  (ไม่ใช่ไฟเพื่อจะตรงผ่านสี่แยก หรือไว้เปิดกรณีฝนตกหนัก แบบที่ใครหลายคนนิยมใช้และน่าถูก
นำมาอบรมเสียให้เข็ดหลาบ)

Clio Cup คันหนึ่งจอดอยู่กลางโค้ง หันหัวกลับมาทางรถผม หมุนไปแล้วครับ แต่โชคดีว่ายังเป็นโค้งความเร็วต่ำ และ
Track ที่เซปังนั้นกว้างมาก มีพื้นที่ Run-off Area ได้เยอะ เลยไม่เกิดความเสียหายใดใด ต้องเรียนว่าไม่ใช่ว่ายางไม่ดี
นะครับ เพียงแต่ในสภาพที่มีน้ำเกาะบนผิวแทรคมากขนาดนี้ และความไม่คุ้นชินกับการบังคับรถแข่งในสนามแข่ง
แบบนี้ โอกาสพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากครับ เพราะเจ้า Clio Cup ก็เป็นรถที่ตอบสนองได้ Linear รวดเร็วคันหนึ่ง
เลยทีเดียว

ตอนที่ผมขับในรอบที่สี่ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย และไม่มีรถช้าหรือรถหมุนขวางหน้าแล้ว เรียกว่ากดกันได้เต็มเหยียดระดับ
200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนสุดทางตรง ช่วงชะลอเข้าโค้ง T2 นั้น เบรกก็ยังทำงานได้ดีไม่มีอาการท้ายรถส่ายหรือดีดดิ้น
ให้หวาดเสียว ทั้งทั้งที่เป็นรถ Hatchback ท้ายเบาพร้อมดีดดิ้นเวลาเบรกได้ตลอดเวลา แต่ในจังหวะ Turn-in นั้นมี
Understeer เล็กน้อยตามภาษารถขับหน้าเครื่องวางหน้า ก็แก้ไขโดยการกรอคันเร่งและแต่งพวงมาลัยเพียงเล็กน้อย
 
ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นทางลงเขาไม่ชันมาก หากใครตกใจรีบเติมพวงมาลัย แบบกระโชกโฮกฮาก ด้วย Grip ของรถที่
มีมากในด้านหน้า แทนที่รถจะ Understeer ก็จะเปลี่ยนอาการเป็น Oversteer แทนท้ายบานออกไปแทน แล้วการ
จะดึงกลับมาก็ยากแล้ว แถมโค้งต่อไปเป็น T3 ที่หักไปซ้ายแบบแทบจะยูเทิร์นอีก ถ้าพลาดแล้วโอกาสจะดึงรถกลับ
เข้าโค้งต่อไปก็แทบไม่มี

สำหรับตัวเครื่องยนต์และการตอบสนองของ Clio Cup นั้น ต้องบอกว่าประทับใจมากครับ รถ Pick-up ความเร็วได้
ค่อนข้างดี ถึงแม้จะให้ความรู้สึกว่าใช้เวลาสักหน่อย กว่าจะพาไปถึง Redline ในแต่ละเกียร์ แต่ก็เป็นเพราะเมื่อเช้า
เราไปขับ Formula Michelin มาต่างหาก ขับเสร็จแล้วลงมาต้องถามตัวเองว่า  “(กรู) ทำโปรทีเจ 2.0 ไปหมดเงินตั้ง
มากมาย ทำไมวิ่งสู้เจ้านี่ 1.6 ยังไม่ได้เลย” ยิ่งท่วงทีการเข้าโค้งยิ่งแล้วใหญ่ คงเพราะมันเป็นรถสนามที่ “ดาม” มา
ทั้งคัน แถมอุปกรณ์ต่างต่างก็เซ็ทติ้งมาแบบไม่ต้องสนใจกฎระเบียบบนท้องถนน ท่อไอเสียแผดสนั่น อุปกรณ์ในรถ
มีเท่าที่จำเป็น ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นล่ะครับว่า รถไม่แรงแต่แรงใจก็ “มา” อีกเยอะ ขับแล้วมันมั่นใจ เหมือนรถมัน
กำลังทำในสิ่งที่มันเกิดมา แถมตัวรถเองก็ยังเรียนรู้นิสัยกันง่าย และสื่อสารกลับมาบอกเราได้ชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะ
“หลุด” แล้วนะ หรือเมื่อไหร่ยัง “ไป” ได้อีก

ดูดูไปแล้วรถคันนี้จะมีชีวิตชีวามากเมื่อเราลากรอบไปใกล้ขีดแดงและไปแบบเต็มเต็ม แต่เมื่อไหร่ที่เรากรอคันเร่ง
หรือเลี้ยง อาการรถมันจะดูทื่อทื่อ เมื่อไหร่ที่เราขยับคันเร่งรถจะแสดงอาการ “อยากไป” คือกระโดดพรวดพราด
จะไปข้างหน้าอย่างเดียว อาการทั้งหมดที่ดูตะกุกตะกักนี้จะหายไป เมื่อเรา “จัดเต็ม” ครับ เสียงทุ้มที่แผดจาก
ท่อไอเสียก็ยังเรียกร้องให้เรากดเพิ่มตลอดเวลา เพียงแต่เรื่องพวกนี้เราต้องละเอียดอ่อนพอด้วย เพราะรถแข่งก็
เหมือนเสือป่าล่ะครับ คิดไวทำไว คล่องแคล่วรวดเร็ว ดุดันและกระโชกโฮกฮาก ถ้าเราเผลอขาดสมาธิไปแป๊บเดียว
ก็อาจจะแว้งกัดเราเอาได้ง่ายง่าย

สถานี Porsche 911 GT3 Cup Race Simulation

พูดคำว่า Race Simulation หลายคนคงนึกว่าเป็นการนั่งในตู้ที่โยกไปมาด้วยแรงไฮดรอลิก หรือไม่ก็นั่งเล่นตู้เกมส์
แน่แน่ แต่ไม่ใช่ครับ หลังจากลงจาก Clio Cup แล้ว ฝนเทกระหน่ำลงมาอีกระลอกนึง ทาง Michelin ก็ได้นำ 911
GT3 Cup ในตัวถัง 996 จำนวน 2 คัน ออกมาเพื่อให้เราได้นั่งไปกับนักแข่งแบบประสบการณ์เหมือนการแข่งขันจริง
แล้วการนั่งปอร์เช่แบบ Full Race เต็มสูตรแบบนี้ ในสนามเซปัง F1 แบบนี้ ด้วยสภาวะฝนตกหนักน้ำเต็มหน้าแทรค
แบบนี้ เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นเสียยิ่งกว่าสภาพอากาศปกติอีกครับ เพราะถ้าใครติดตามเรื่อง Porsche มานานก็คงพอจะ
ทราบดีว่า การที่ ดร.เฟอร์ดินาน ปอร์เช่ ออกแบบรถแบบนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมเพื่อสร้างแทรคชันมากที่สุด
นั่นก็คือ ให้น้ำหนักกดของรถอยู่บนล้อคู่ที่ขับเคลื่อน กำเนิดเป็นรถเครื่องวางหลัง ขับหลัง ที่ขึ้นชื่อว่ามันชอบจะเอาหลัง
ไปไว้หน้า เวลาสาดโค้งกันแรงแรง จนเป็นเอกลักษณ์ประจำรถยี่ห้อนี้ที่ต้องใช้ฝีมือในการจับมันเข้าโค้งเป็นพิเศษ

Specification
เครื่องยนต์หกสูบนอนยัน Boxer ที่ทำการโมดิฟายมาเพื่อการแข่งขันเต็มที่ ผลิตพละกำลังออกมาได้ 380 แรงม้า บน
น้ำหนักตัว 1.3 ตัน หารออกมาเป็นน้ำหนัก 3.4 กก. ต่อม้า 1 ตัว ถือว่าเบาสบายเลยทีเดียว ส่งอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งถึง
100 กิโลเมตรม/ชั่วโมง ในเวลา 4.6 วินาที และ Top Speed ที่ 280 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปกติแล้วจะใส่ยาง Racing Slick
ขอบ 18 นิ้ว แต่ในวันที่ผมได้ทดลองนั่ง เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างหนักเลยเปลี่ยนเป็น Racing Wet ขอบ 18 นิ้วเท่ากัน

เรื่องฟีลลิ่งผมไม่มีอะไรจะพูดมากครับ อยากให้ลองติดตามชมจากคลิปที่ผมพยายามถ่ายมาให้ดูตอนนั่งไปกับนักแข่ง
ต้องขออภัยในคุณภาพและมุมกล้องด้วยครับ เพราะแค่จะนั่งให้ไม่เอามือเอาเท้าไปก่ายหน้าพี่นักแข่งก็ยากแล้ว พอต้อง
ถือกล้องไปด้วยอีกมือก็เลยสั่นไหวอย่างที่เห็น

(ไฟล์คลิปวีดิโอ)

ต้องบอกว่าประทับใจมากทั้งตัวรถเองและตัวนักแข่ง ขนาดผมเป็นคนนั่งไปด้วย มองยังแทบจะไม่เห็นทาง แต่ด้วยความ
เป็นมืออาชีพฝึกซ้อมมานับครั้งไม่ถ้วน ทำให้จดจำไลน์สนามได้ทั้งหมด สังเกตุตอนเริ่มต้นของคลิปที่เร่งส่งออกมาจาก
 Pit Lane นั้น ไปแบบเต็มเต็มไม่มียก ทั้งทั้งที่มองไม่เห็นอะไรเลย แต่ก็ยังหาจุดเบรก, Turn-in, Apex และเร่งออกจาก
โค้งได้อย่างแม่นยำ

ถึงแม้ว่าหลังจากที่คุยกับหลายหลายคนแล้ว ให้ความเห็นตรงกันว่า นักแข่ง “เบามือ” ในโค้งพอสมควร เพื่อป้องกันการ
เสียหลักแล้วหมุนขวาง เป็นอันตรายต่อคนนั่งได้ แถมการวิ่งครั้งนี้ ปล่อย 2 คันอิสระ ถ้าไปขวางแล้วเกิดสตาร์ทไม่ติดด้วย
ภาวะฝนตกหนักขนาดนี้ เดี๋ยวอีกคันมา “ตำ” ซ้ำแล้วจะยุ่งกันไปใหญ่ แต่ที่แน่ๆ ทางตรง เขาก็พาเราไต่ระดับขึ้นไปถึง
190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้เห็นกันนะครับ

ตัวรถนั้น ให้อัตราเร่งทีรุนแรงแบบหลังติดเบาะ ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ Turbo นะ ผิดถูกอย่างไรขออภัยครับ แถมยังยึดเกาะ
ดีเยี่ยม ต้องให้ความดีความชอบแก่การเซ็ทติ้งช่วงล่างของรถ และยางด้วย ที่ในภาวะแบบนี้ยังยึดเกาะได้ค่อนข้างดีมาก
ตอนแรกคิดว่าจะต้อง Drift ผ่านสายฝนกันตลอดงาน แต่กลับเป็นการเข้าแบบใช้ Grip เต็มเต็ม ถึงแม้บางช่วงจะมีอาการ
Oversteer บางบางให้ต้องแต่งพวงมาลัยแก้กันบ้างก็ตามครับ

ห้อง Race Control
นับว่าเป็นโอกาสพิเศษมากมาก (อีกแล้ว) ที่ทาง Michelin ติดต่อและได้รับการอนุญาตให้เข้าชมห้อง Race Control ซึ่งเป็น
ห้องที่คอยสอดส่องสภาพทั้งสนามด้วยกล้องจำนวนมากของสนามเซปัง โดยผู้บรรยายได้แจ้งว่าในเวลาแข่ง F1 นั้น ทุก
ทีมแข่งก็จะยกอุปกรณ์พวกวิทยุสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เข้ามาตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการกันในห้องนี้แหละครับ


(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

จากห้องนี้ เราสามารถเห็นสนามได้ในทุกจุด โดยแต่ละกล้องแต่ละจอก็จะระบุไว้ด้วยว่าติดตั้งอยู่ที่โค้งไหน (T2, T3, T4, เป็นต้น)

การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สนามที่ยืนประจำการอยู่รายรอบสนามก็จะใช้วิทยุสื่อสารในลักษณะนี้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวย
ความสะดวกในการแข่งขัน และแจ้งเหตุกลับมาที่ Control Room ด้วยครับ

สถานี Pit Test
และแล้วเราก็มาถึงสถานีสุดท้ายของวันครับ หลังจากที่เหนื่อยวิ่งขึ้นรถแข่งคันโน้น ลงจากคันนี้ ทาง Michelin ก็จัด
โจทย์หินไว้ให้พวกเราอีกอันนึง นั่นก็คือ การเปลี่ยนยางให้รถแข่ง Formula นั่นเอง!!!

โดยในทีมเราสี่คนจะถูกแบ่งออกเป็นสองเซ็ท เซ็ทละ 2 คน ผลัดกันทำ 2 ล้อที่ฟากขวาของรถ แข่งกับชาวอินเดีย
ที่จะทำฟากซ้าย ก่อนเริ่มแข่งจับเวลา ก็มีการให้ทดลองซักซ้อมกันก่อน ผมกับพี่เม SiamSubaru ได้จับคู่กันก็ยืน
คุยกันขำขำสบายสบาย เพราะคิดว่าถอดล้อสองวง มีน็อตล้อแค่วงละตัว มันจะอะไรมากมาย ที่ไหนได้พอหันหลัง
ไปทางเพื่อนชาวอิเหนาถึงกับตะลึง เพราะพี่ท่านจริงจังกันมากกก เรียกพิธีกรประจำสถานีไปถามเชิงลึกกันล่อไป
5 นาที ก็ไม่รู้เหมือนกันเนอะ ว่าการถอดน็อตล้อหนึ่งตัวมันซับซ้อนตรงไหน(ฟะ) แถมก่อนเริ่มแข่งยังมีประชุม
วางแผนกันหน้าตาคร่ำเครียด แต่ไม่เป็นไรครับ เรามาแข่งแบบสนุกสนาน ผมกับพี่เมก็ชิลกันต่อไป

พอเริ่มแข่งจริง กรรมการเป่านกหวีดปรี๊ด ผมกับพี่เมวิ่งรุดเข้าไปที่ล้อชุดหน้า ด้วยความกังวลนิดนิดว่าเราตัวเล็ก
กว่าชาวอินเดียเยอะจะเสียเปรียบ พี่เม คว้าปืนลมมาถอดน็อตล้อออกอย่างรวดเร็ว ผมยกยางเส้นเก่าออก คว้า
ยางเส้นใหม่สวมเข้าที่ดุมล้อ พี่เมซึ่งถือปืนลมพร้อมน็อตล้อรอไว้เรียบร้อยแล้ว จัดการประกบน็อตล้อเข้าที่ดุม
แล้วกดเครื่องให้หมุนปั่นกวดน็อตล้อ เสร็จอย่างรวดเร็ว แล้วก็วิ่งพรวดไปทำที่้ล้อหลังต่อ ก่อนจะวิ่งมาแตะมือ
พี่โอ๋ ThaiMazda3 และน้องอาร์ม ThaiMazda2 ให้วิ่งเข้าไปจัดการต่อ หันไปเหลือบมองทีมคู่แข่งนานาชาติ
ของเรา ยังง่วนกับการถอดล้อหน้าชุดแรกอยู่…เออ! มันคงซับซ้อนจริง

หมดเวลาทีมไทยชนะไปใสใส ชิลชิล เป็นที่ยินดีปรีดา (แก่ตัวกระผมเอง) ยิ่งนัก

ประกาศผลและมอบรางวัล
งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกราครับ และแล้วก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของวัน นั่นก็คือการบรรยายสรุปและ
ประกาศมอบรางวัลแก่ผู้ำทำคะแนนสูงสุด 3 อันดับ งานนี้เรากวาดอันดับ 1 และ 3 โดยมีพี่อินเดียแทรกกลาง
มาคว้าอันดับ 2 ไปได้ ขอแสดงความยินดีกับคุณณัฐ แห่ง SuzukiSwiftClub และพี่ชัยโย แห่ง AccordClub
Thailand มา ณ ที่นี้ด้วยครับ


(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

เสร็จสิ้นแล้วก็ถ่ายรูปรวมหมู่เป็นพิธี


(ภาพจากน้องอาร์ม ThaiMazda2)

จบแล้วครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ อ่านกันตาแฉะเลยรึเปล่า

สำหรับ Michelin Pilot Experience หรือ MPE นั้น เพิ่งจะถูกจัดให้เป็นครั้งแรกสำหรับลูกค้าและสื่อมวลชน
จากประเทศไทย ซึ่งทำให้เราได้รู้จักกับคุณภาพของยาง Michelin ที่สามารถใช้แข่งขันจนคว้าชัยชนะมานาน
หลายสมัยในวงการมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก ทั้งจักรยาน จักรยานยนต์ การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ แรลลี่ และ
การแข่งขันรถยนต์สูตร ตัวผมเองถึงแม้ว่าจะใกล้ชิดกับมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยมาบ้างแล้ว ก็ยังได้รับ
ความรู้และประสบการณ์ใหม่ใหม่มากมาย ที่อยากจะเรียกว่าหาไม่ได้ในวาระโอกาสทั่วไป

ในโอกาสนี้ ในฐานะตัวแทน Headlightmag.com ผมอยากจะขอขอบคุณ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด และบริษัท
MEC Interaction จำกัด, และทีมงานรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทจัดงานดีดีแบบนี้ให้กับกลุ่มลูกค้าและ
สื่อมวลชน และขอชื่นชมรายละเอียดต่างต่างในโปรแกรมที่เรียบร้อยราบรื่นเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าทีมงาน
คิดเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ได้ครอบคลุมทุกจุดจริงจริงครับ

Special Thanks to:
คุณมนฑรัตน์ ลิมปิยากร (คุณฝ้าย)
PC Business Analyst Manager – บริษัท สยามมิชลิน จำกัด
คุณธิษัณย์ อมรวิทยารักษ์ (คุณโอ)
Product Marketing Manager CLT – บริษัท สยามมิชลิน จำกัด
คุณเกศริน รัชวรพงษ์ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด (หากเขียนชื่อผิดขออภัยด้วยครับ)
สำหรับการจัดงานและเชิญ Headlightmag.com เข้าร่วมในครั้งนี้

คุณต๋อม NewCity
น้องอาร์ม ThaiMazda2
สำหรับรูปสวยสวยประกอบบทความนี้หลายๆรูป

——————————————————————–

Thanapol Ratanaboon (Nuay เนย)
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายที่มีการระบุไว้ถึงตัวตนผู้เป็นเจ้าของ และทางผู้จัดงาน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
16 สิงหาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures  
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
August 16th,2011

 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่