บทนำ

ก่อนที่ผมจะให้ท่านได้สัมผัสกับเรื่องราวของ DeLorean นั้น ก็อยากจะขอพื้นที่ตรงนี้
ในการบอกเล่าความในใจสักนิดว่า การเขียนถึงรถสักคันที่เราทราบกันว่าทั้งประเทศไทย
มีอยู่น่าจะแค่ 3 คันนั้น อาจจะดูค่อนข้างไร้ประโยชน์สำหรับหลายท่าน แต่ทว่าสำหรับ
คนที่มีชีวิตวัยเด็กเติบโตมากับเสียงเปิดประตูปีกนกของรถรุ่นนี้ในภาพยนตร์เรื่อง
Back to the Future นั้น มันอาจกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ผมมีความรู้เรื่องรถยนต์
อยู่บ้าง ไม่ถึงกับเยอะ และทราบแค่ว่า DeLorean เป็นรถที่โด่งดังได้เพราะภาพยนตร์
เรื่องดังกล่าว มันมีเจ้าของบริษัทคือนาย John DeLorean รถของเขาประกอบในไอร์แลนด์เหนือ
และขายไม่ออก เพราะรถมีปัญหาและจุกจิกมาก เขาหาทางพยายามช่วยบริษัทตัวเอง
จนในที่สุดก็ไปหาทางออกกับโคเคน..

ใช่ไหม?..หรือว่าไม่ใช่?

ที่ผมพิมพ์ไปนั้น เป็นความคิดหลักๆที่ผมมีอยู่ในหัว ก่อนเริ่มคิดว่า “เอาล่ะเว้ย คราวนี้
จะลองเขียนถึงรถ DeLorean ดู” ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากวันนั้น ผมก็ใช้เวลายามว่างเกือบ
หนึ่งปีหมดไปกับการอ่านหนังสือและค้นข้อมูล แล้วก็เพิ่งจะได้มีโอกาสทำอย่างจริงจัง
เมื่อช่วงหลังปีใหม่นี้เอง …ผมบอกได้เลยว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
และเป็นภาษาอังกฤษเสียเยอะ ส่วนภาษาไทยนั้น ผู้จัดการเคยตีพิมพ์ในนิตยสารของ
พวกเขาเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แล้ว ดังนั้นผมจึงคิดว่าได้เวลาแล้วที่จะมีบทความถึง
รถรุ่นนี้ที่หลายคนคุ้น แต่น้อยคนสนใจ โดยเขียนครอบคลุมในเนื้อหาที่ลึกกว่าบทความ
สั้นๆที่เขียนในลักษณะ Blog จะสามารถให้ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 PART เพื่อไม่ให้ยาว
จนอ่านไม่จบ สำหรับคนที่สนใจเฉพาะตัวรถและรายละเอียดด้านเทคนิค ท่านสามารถ
ข้ามไปอ่าน Chapter 5 และ 6 ได้เลยเพื่อเป็นการเซฟเวลา (ผมเขียนโดยคิดเรื่องนี้เผื่อไว้
เอาใจตลาดคนอ่านให้ได้มากแบบที่สุดแหละครับ)

ส่วนท่านที่มีเวลาว่างสัก 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ท่านอาจอยากทำธุรกิจ Part-time ทางเน็ต
จากที่บ้านแล้วรวยกันชิบหายเลย..หรือไม่ก็อ่านไล่ตั้งแต่ Chapter 1 เป็นต้นไป แล้วท่านจะพบ
เรื่องที่มากกว่าการพูดถึง ซี.ซี. แรงม้า หรือช่วงล่าง..ท่านจะพบชีวิตของคนและวิบากกรรม
ของพวกเขาบางคนตลอดระยะเวลาที่ DeLorean Motor Company มีชีวิตอยู่ในช่วงสั้นๆ
สั้นกว่าช่วงเวลาในมหาวิทยาลัยของบางคนด้วยซ้ำไป

ผมกล่าวจบแล้ว..ขอเชิญท่านผู้อ่านพบกับเรื่องราวของรถที่ไม่มีขาย ไม่มีคนใช้ ใครเขียนถึงก็บ้า..

ไม่รู้เหรอ..ตูเนี่ยแหละ..บ้า

——————————————————————-

Chapter 1 – ผู้บริหารหนุ่มคิ้วหนาเชื้อสายยุโรป

วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1925
ทารกเพศชายผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นระดับหนึ่ง
พ่อของเขาเป็นชาวโรมาเนียอพยพมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา และทำงานเป็นกรรมการสหภาพ
แรงงานในบริษัท Ford Motor Company และเป็นช่างไม้ ส่วนแม่ชาวฮังการีของเขาทำงานที่
บริษัทในเครือ General Electrics การที่ครอบครัวนี้มีชีวิตอยู่ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ มีทั้งความ
กดดันทางสภาพอารมณ์กับความแร้นแค้นที่ทำให้พ่อเป็นคนขี้เมา มักดื่มเหล้าจัดเวลาอารมณ์เสีย
บ่อยครั้งที่ดื่มจัดหนักมากเสียจนทะเลาะขว้างปาข้าวของและทำร้ายร่างกายภรรยาของเขาเอง
แต่ละวันในวัยเด็กของเจ้าหนู John (ซึ่งเป็นคนละ John กับพ่อของลุง Nelson ฝรั่งคะนองเมือง)
จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าจดจำเท่าไหร่นัก หลังจากกลับจากโรงเรียน ก็ต้องคอยลุ้นว่าในค่ำคืนนี้
ผู้เป็นบิดาจะกลับมาถึงบ้านด้วยสภาพจิตใจแบบไหน

ในวันหนึ่ง เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้เป็นแม่ John ได้ไปเที่ยวเล่นที่บ้านของเพื่อน และได้เห็น
บ้านที่ใหญ่โตงดงามของผู้มีอันจะกิน ร่วมโต๊ะอาหารชั้นดีกับพ่อแม่ของเพื่อน มันเป็นครั้งแรก
ในชีวิตของเขาที่ได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิตมีอันจะกิน” และความประทับใจในครั้งนั้นจะเป็น
แรงขับเคลื่อนให้เด็กชาย John กลายเป็นคนกล้าลอง กล้าสู้ กล้าเสี่ยง และยอมทุกวิถีทาง
เพื่อถีบตัวเองสู่ฐานะที่สูงขึ้น  “สักวันหนึ่ง..ฉันจะได้ใช้ชีวิตดีๆอย่างนั้น..ต้องทำให้ได้!”

พูดง่ายๆก็คือ มันก่อให้เกิดทัศนคติประเภท “หนนี้ กูต้องชนะ!” ให้กับเด็กชาย John และสำหรับ
คนอย่างเขา คำว่า “หนนี้” นั้นหมายถึง “ทุกครั้ง”

เขาพัฒนาตัวจนกลายเป็นคนมีไหวพริบและเรียนรู้เร็ว John ตกหลุมรักการเรียนที่โรงเรียนเทคนิค
Cass ในวัยมัธยมปลาย ซึ่งเรื่องเลวร้ายต่างๆที่บ้านไม่สามารถเข้ามายุ่งวุ่นวายกับชีวิตในรั้ว
โรงเรียน ณ ที่แห่งนั้น John มีความสุขกับการเรียนรู้ระบบไฟฟ้าและจักรกลต่างๆ อีกทั้งในเวลาว่าง
เขายังเพลิดเพลินไปกับการเล่นเครื่องดนตรีจนมีความชำนาญ อาจารย์บางคนได้สังเกตเห็น
อัจฉริยภาพในตัวของเด็กคนนี้ว่ายังสามารถดันรางยกหัวฉีดต่อยอดได้อีกไกล จึงเรียกมาพบ
และเสนอให้เขาสมัครขอทุนการศึกษาที่สถาบัน Lawrence Institute of Technology ซึ่งแม้จะ
ไม่ใช่สถาบันใหญ่ แต่ก็มีชื่อเสียงซึ่งเป็นบ้านหลังที่สองให้กับนักออกแบบและวิศวกรชื่อดังมาแล้ว
หลายต่อหลายคน..ทว่าชีวิตของเด็กเชื้อสายยุโรปตะวันออกคนนี้เหมือนเกิดมาพร้อมอุปสรรค
ในช่วงที่จะเข้าเรียนนั้น พ่อกับแม่ก็หย่าร้างกันเพราะผู้เป็นแม่ทนความโมโหขึ้นๆลงๆของสามี
ไม่ไหว หอบลูกหอบข้าวของหนีไปอาศัยกับญาติ ทำนองว่า “ตายเอาดาบหน้าดีกว่าตายใต้ตีนผัว
ก็แล้วกันวะ..” เท่านั้นยังไม่พอ ในปี 1943 John ถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่
เป็นเวลานานถึง 3 ปี กว่าจะได้กลับมาที่เมือง Detroit อีกครั้ง และเรียนต่อที่ Lawrence จนจบ
ด้วยความช่วยเหลือของแม่ที่ทำงานหนักเพื่อให้เขามีชีวิตนักศึกษาที่ปกติสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลายปีต่อมา..ผู้คนใน Detroit  มากมายได้รู้จักและคุ้นเคยกับนายหน้าขายประกันคนหนึ่ง
เขาเป็นชายผมดำเรียบแปล้ ตัวสูงยังกะอนุสาวรีย์ สุ้มเสียงเปี่ยมไปด้วยความหนักแน่น
และมั่นใจเมื่อเขาเอ่ยปากทักทายด้วยคำว่า

“สวัสดีครับ. ผม John DeLorean”

แน่ล่ะ..การเป็นนายหน้าประกันมันก็ต้องมีทั้งคนที่คบ และคนที่หลบ เลี่ยงไม่อยากเจอ

ชื่อเต็มของเขาที่จริงแล้วคือ John Zachary DeLorean และการขายประกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขา
ถนัด แต่สาเหตุที่เขาอยากทำอาชีพนี้ก็เพราะว่าตัวเขานั้นมีความรู้ด้านวิศวกรรมอยู่เยอะแล้ว
แต่ยังขาดประสบการณ์ในการพูด การโน้มน้าวจิตใจคน และขายนำเสนอสินค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้
เป็นความถนัดจำเป็นที่ต้องฝึกด้วยตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง ลุงของเขาเริ่มรู้สึกว่าหลานชายมาด
องอาจคนนี้น่าจะเข้ากับอาชีพทางรถยนต์มากกว่า จึงได้แนะนำให้ไปสมัครงานกับ Chrysler
และให้ลงทะเบียนเรียนที่สถาบัน Chrysler Institute of Engineering ซึ่ง John ก็ตกลงยอมรับ
เพราะนอกจากจะได้เรียนในสาขาที่ชอบแล้ว ยังได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทรถยนต์อย่างจริงจัง
ในลักษณะเรียนไปทำงานไป หลังจากจบปริญญาโทที่นั่น John ก็ได้ย้ายไปทำงานกับทาง
Packard Motor Company แล้วก็ฉายแววรุ่งทันทีโดยการเอาเกียร์อัตโนมัติ Ultramatic
ของทางค่ายมาปรับปรุงจนกลายเป็นเกียร์แบบ Dual drive range ชื่อ Twin-Ultramatic

แต่ความไม่แน่นอนในยุคนั้น ทำให้ Packard ประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากความหัวดื้อ
ไม่ยอมปรับตัวตามโลก ในขณะที่ GM กับ Ford ต่างก็เปลี่ยนแนวการผลิตรถให้มีราคาถูก
Packard ยังยืนยันที่จะผลิตรถแบบมาตรฐานสูง ต้นทุนสูง และราคาสูงต่อไป มันจึงส่งผลให้
ทางบริษัทต้องไปร่วมทุนกับทาง Studebaker ในปี 1954 และ John ก็ย้ายไปทำงานที่รัฐ
Indiana กับพวกนั้น ..จนกระทั่งวันหนึ่ง Oliver K. Kelly รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย
วิศวกรรมของ GM ติดต่อมายัง John และทาบทามให้ไปทำงานด้วย

“คุณเลือกมาเลย John ในเครือ GM นี่เรามีรถหลายยี่ห้อ คุณอยากเอายี่ห้อไหน
ก็บอกผมมาเลย” Oliver ยื่นข้อเสนอที่ John ปฏิเสธไม่ลง..จะมีอะไรดีมากกว่า งานดี เงินดี
หล่อเลือกได้ แถมคนที่มาทาบทามยังเป็น idol แห่งวงการที่ตัวเขาเองนับถืออีกด้วย

ดังนั้นหล่อเลือกได้ก็เลยเลือกไปทำงานกับ Pontiac โดยรับเงินเดือน 16,000 ดอลลาร์ไม่รวม
โบนัสและสิทธิประโยชน์อีกมาก เจ้านายของเขาก็คือหัวหน้าวิศวกร Pete Estes และผู้จัดการใหญ่
Semon Knudsen ซึ่งในคนหลังนี้ด้วยความที่อายุเพิ่ง 40 ต้นๆ และใกล้เคียงกับอายุของ John
มากที่สุด จึงเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงคนแรกของบริษัทที่ John มักชอบมานั่งคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา
และเรื่องหนึ่งที่พวกเขามักจะคุยกับลูกพี่บ่อยที่สุดก็คือภาพลักษณ์ของแบรนด์ Pontiac..

เปล่าหรอกครับ..ไม่ใช่เพราะมันเป็นขวัญใจรถยก เกียร์รั่ว เครื่องพัง..แต่เป็นเพราะรูปแบบของรถ
มันจืดชืดจนได้สมญานามว่าเป็นรถของมนุษย์ป้าแห่งยุค 60s ทั้ง Semon และ John ก็ช่วยกันคิด
ว่าจะทำอย่างไรดีถึงจะกู้ภาพลักษณ์นี้ได้ พวกเขานำเอา Pontiac Tempest ธรรมดาๆมาปรับปรุง
หน้าตา ใส่เครื่องยนต์ V8 พลังสูงกว่าปกติเขาไป และปรับจูนช่วงล่างใหม่ จากนั้นก็ให้ชื่อมันว่า
Pontiac GTO ซึ่งเปิดตัวในปี 1964 และพลิกภาพลักษณ์จากแบรนด์มนุษย์ป้าฝรั่งกลายเป็น
บริษัททำรถแรง แถม GTO นั้นยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “The First Muscle Car” อีกด้วย
มันขายดีมากจนผลิตไม่พอ ดีแค่ไหน? ทีมขายของ Pontiac คาดการณ์เอาไว้ว่า “รถแรงๆแบบนี้
ปีแรกขายได้ 5,000 คันก็ดีถมแล้ว” ปรากฏว่า GTO ขายได้กว่า 32,000 คัน และที่ขายได้เท่านั้น
เพราะโรงงานผลิตเครื่องยนต์สมรรถนะสูงนี้ป้อนให้ไม่ทัน ยังมีลูกค้าอีกจำนวนมากที่ต้องรอคิวกัน
ข้ามปี ในท้ายสุด เมื่อนับรวม 5 ปีของการทำตลาด Pontiac ขาย GTO ได้มากกว่า 250,000 คัน

และน้อยคนนักที่จะรู้ว่า GTO นี้เป็น Project ประเภท “อีแอบ” เพราะแนวคิดในการเอาเครื่อง
V8 ที่มีแรงบิดมหาศาลมาใส่ในรถบ้านนั้นขัดกับนโยบายของบริษัท ทำให้มีโอกาสโดนผู้บริหาร
สวดแถมโยนเอกสารใส่คืนใส่หน้า เพราะรถโมเดลใหม่ๆที่จะเปิดตัว ต้องเข้าผ่านการรับรองจาก
กลุ่มผู้บริหารระดับสูงของ GM ทุกครั้ง แต่ John DeLorean ใช้สมองคิดนิดเดียวแล้วก็บอกว่า
เอ้า..นี่มันไม่ใช่โมเดลใหม่นี่ เป็นแค่แพ็คเกจเสริม ไม่ต้องผ่านบอร์ดบริหารหรอก…

แต่เอาเข้าจริงหากคณะผู้บริหารรับรู้ว่า John คิดอย่างนี้ ก็มีสิทธิ์โดนเล่นงานได้เหมือนกัน
John ใช้กลยุทธ์ทุบหม้อข้าวหม้อแกงตีเมืองจันทบุรีเดินหน้าไม่สนใครทั้งสิ้น และโชคเข้าข้าง GTO ดัง
เปรี้ยงปร้าง จบงานได้สวย ต่อให้ผู้บริหารจะมองว่าผิดกฎอย่างไรก็ตาม ก็ต้องก้มหน้ายก
แม่โป้งชี้ขึ้นให้ว่า “ไอ้หนุ่ม..เอ็งมันแน่จริง!” John เป็นผู้ชนะอีกครั้ง

นอกจากนี้ John ในวัยหนุ่มยังได้สร้างผลงานอีกมากที่ Pontiac ไม่ว่าจะเป็นก้านไฟเลี้ยว
ไปจนถึงเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง OHC ซึ่ง John ผู้ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าสายงานวิศวกรรม
ของ Pontiac แทน Pete Estes ก็เป็นคนนำทีมในการพัฒนาเครื่องประเภท OHC (เพลาราวลิ้น
เดี่ยวเหนือฝาสูบ) ซึ่งแต่เดิมมีปัญหาเรื่องความทนทาน ทีมของ John ปรับปรุงตัวกระเดื่อง
กระทุ้งก้านวาล์วใหม่จนเครื่องทำงานได้เรียบ เงียบเสียง เป็นที่ยอมรับของลูกค้าอเมริกันซึ่ง
แต่เดิมจะยึดติดกับเครื่องตะเกียบ (OHV-Overhead Valve)

ความสำเร็จของ John ทำให้เขาได้รับการเลื่อนขั้นชนิด EasyPass ยังเรียกพ่อ เพราะในปี 1965
ด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของแบรนด์ Pontiac มียศ
สูงเคียงบ่ากันกับผู้บริหารของแบรนด์ในเครืออื่นๆอย่าง Cadillac, Chevrolet และ Buick ที่ล้วนแล้ว
แต่มีอายุมากกว่าเขาทั้งนั้น

“ฟ้าจะผ่าต้นไม้ที่สูงที่สุดเสมอ”

เดี๋ยว..ใครวะ … นี่ไม่ได้อยู่ในบทของผมนี่หว่า..

“ไม่ต้องตกใจหรอก …ผมแค่กำลังสงสัยว่าตกลงคุณจะเขียนถึง DeLorean หรือเขียนถึงรถของเขา
กันแน่” เสียงนั้นพูดต่อ “ก็เห็นคุณชมตานั่นเสียเหลือเกิน ผมเลยต้องขอขัดไว้ก่อนว่า ฟ้ามันผ่า
ต้นไม้ต้นที่สูงที่สุดอยู่เสมอไงล่ะ”

ผมถามเสียงนั้นกลับ “ผมจะไม่ถามว่าคุณคือผีหรือพลังงานโลกวิญญาณหรือซาตานอะไรหรอกนะ
แต่คุณช่วยขยายความสิ่งที่คุณพูดสักหน่อยได้มั้ยล่ะ เอ้า ผมชื่อแพน ผมทำงานให้กับเว็บไฟหน้า
ยินดีที่ได้รู้จัก เดี๋ยวจะหาว่าไม่แนะนำตัว”

“ผมชื่อควินน์ ไม่ได้ทำงานให้ใครมานานแล้ว ไม่ใช่ผี ไม่ใช่ซาตานหรือซานต้าคลอส ผมคือความรู้
ที่อยู่รอบตัวคุณ รู้ไว้แค่นั้น..มาต่อเรื่องเขาตา John เถอะ อย่าว่างู้นงี้เลยนะ คุณคิดว่าคนที่ก้าวหน้า
เร็วเจริญเร็วมีชีวิตที่ดีไปตลอดหรือเปล่าล่ะ”

“ก็ไม่ เท่าที่ผมรู้..โลกนี้มีพวกขี้อิจฉาเยอะ”
เสียงลึกลับชื่อควินน์พูดต่อ “ก็นั่นแหละ พอ John ก้าวหน้าเร็ว คนอื่นๆก็เริ่มหมั่นไส้ เริ่มพูดๆให้
บอร์ดบริหารใหญ่กดๆไอ้หนุ่มคิ้วหนาคนนี้ให้ทำงานลำบากกว่าเดิม อย่างในยุค 60s ที่ Iacocca
ทำ Ford Mustang ออกมานั่น จริงๆแล้ว Pontiac ก็จะทำรถพิกัดเดียวกันออกมาสู้ครับ ออกแบบมา
ได้สวยเสียด้วย แล้วไง? พอเอาไปเสนอบอร์ดก็โดนเด้งไม่เป็นท่าเพราะหน้าตาเวลาวิ่งมานี่
เห็นแล้วนึกว่า Chevrolet Corvette เลยทีเดียว คุณรู้จัก Pontiac Firebird มั้ย?

“รู้จักสิ มันคือรถที่ Pontiac ทำมาขายแข่งกับ Mustang ไง”
“อ้า” เสียงควินน์อุทานราวกับมีเรื่องอีกมากเตรียมไว้อยู่ในหัว “แล้วคุณรู้จัก Pontiac Banshee มั้ย?”
“ไม่..ไม่เลย” ผมตอบ แล้วก็รีบเอามือเคาะคีย์บอร์ดค้นชื่อรถบ้านั่นบน Google ทันที

“ก็แหงสิครับ สิ่งที่ John DeLorean ตั้งใจจะเอาเจ้านี่แหละมาขายแข่งกับ Mustang แล้วสมัยนั้น
ใน GM ใครใหญ่สุด? Chevrolet ไงครับ Chevrolet กลัวว่าหน้าตาของ Banshee นี่จะทำให้
Corvette ขายไม่ออก เลยบังคับให้ทาง Pontiac ต้องใช้โครงสร้างของ Camaro นำมาสร้างเป็น
Firebird เปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้ได้เพียงนิดหน่อย..คุณแพนเข้าใจใช่มั้ย?”

“เข้าใจ แต่เท่าที่ผมอ่านๆมาจากเว็บ ยังไงๆ Pontiac ก็ขายดี ต่อให้แบรนด์อื่นๆในสังกัด GM
ขายไม่ออก Pontiac ก็ยังสร้างยอดขายไปได้เรื่อยๆไม่ใช่หรือ” ผมตั้งคำถามกลับ

อันที่จริง..ผมน่าจะพูดกับควินน์ที่เดียวให้จบว่านอกจาก John จะไม่แพ้ต่ออิทธิพลภายใน
กับการเมืองบริษัทแล้ว ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาทำให้ Ed Cole ประธานของ GM ตัดสินใจแต่งตั้ง
ให้ John เป็นผู้บริหารสูงสุดของแบรนด์ Chevrolet ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนักกับการ
พัฒนารถรุ่นใหม่ๆที่ล่าช้าและปัญหาคุณภาพการผลิต รวมถึงกรณี Chevrolet Corvair ที่กลายเป็น
เนื้อร้ายเกาะทำลายชื่อเสียงของทางค่ายอยู่ในสมัยนั้น ในปี 1970 John ได้เข้ามาจัดการวางแผน
และกำหนดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆใหม่ ภายใน 1 ปีเท่านั้นยอดขายของ Chevrolet
ก็พุ่งขึ้น และยังได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆที่ปรับปรุงให้มีคุณภาพ มีความทันสมัย มีสมรรถนะที่
ลูกค้าพึงพอใจ

ควินน์เงียบเสียงไปชั่วครู่หนึ่ง ก่อนกลับมาอีก “ผมรู้ว่าคุณคิดอะไร..ใช่ Pontiac ก็ขายดี จนทำให้
เขาได้เลื่อนขั้นไปที่ Chevrolet แต่นั่นคืองานสุดท้ายของเขาใน GM”

ก็ถูก..เพราะแม้ชีวิตในฐานะผู้บริหารระดับสูง GM จะมีความมั่งคั่งเพียงใด มันก็ไม่ได้ทำให้
John DeLorean พอใจนัก ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง John เคยกล่าวไว้ว่า เขาอยากจะเปลี่ยนแนว
เขาอยากจะสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม มันทำให้ผมฉงนใจว่าอะไรทำให้ชีวิตผู้บริหารที่ดูแฮปปี้ดี๊ด๊า
มีเพื่อนในแวดวงคนดังมากมายทั้งวงการภาพยนตร์ วงการบันเทิง สังคมชั้นสูง จู่ๆก็เปลี่ยนแนวทาง
ชีวิตของตนเอง เขามีทุกอย่างที่ผู้คนใฝ่ฝันจะมีตั้งแต่อายุยังน้อย เดินทางไปไหนมาไหนด้วย
เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวของบริษัท แต่งตัวโก้หรู  เข้าฟิตเนส เล่นกล้าม ทำศัลยกรรมคาง
เคยมีเมียเป็นนางแบบอายุ 19 (คนที่สองแล้ว ตอนลาออกนี่อยู่กับคนที่สาม เป็นนางแบบอีกด้วย)
เขามีออร่าที่จรัสแสงแตกต่างจากผู้บริหารบริษัทรถยนต์คนอื่นๆ

“มันคือความน่าเบื่อ คุณน่าจะรู้อยู่แล้วว่าการทำงานองค์กร แม้จะมีกิน แต่ก็มีมุมที่น่าเบื่อของมัน
คุณมีความคิดดีๆนับร้อยแปด แต่จะต้องมีคนออกมาดูถูกผลงานของคุณ มีคนอีกจำนวนหนึ่ง
ที่ตั้งคำถามกับคุณมากมาย ทำให้ชีวิตคุณลำบากโดยไม่ได้ส่งผลดีกับบริษัท ไม่ได้ส่งผลดีกับ
ชีวิตของคุณเลย แต่ไอ้คนพวกนั้นได้เงินเดือนดีกว่าคุณอีกนะ” เสียงควินน์พูดออกมาเหมือน
คนที่ชอบบ่นกับการทำงานในอาชีพเก่าก่อน “ผมคิดว่า John DeLorean มีเรื่องแบบนั้นอยู่ในหัว
เขาต้องการทำทุกอย่างให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง เขาต้องการอิสระที่จะโชว์
ให้โลกเห็นว่าพลังสมองของเขาสามารถไปได้ไกลขนาดไหน”

และสิ่งนั้น ทำให้ลูกผู้ชายชื่อ DeLorean ตัดสินใจลาออกจาก GM ในปี 1973 ในขณะที่มีอายุได้
48 ปี ทิ้งทุกอย่างไว้ทั้งที่เขากำลังขึ้นทำเนียบผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่มีมันสมองชั้นเลิศ ผมจำได้
จากสารคดีที่มีการสัมภาษณ์ John  ในปี 1996 เขาเคยพูดเอาไว้ว่า

“จู่ๆมันก็มีความคิดวิ่งเข้าหัวผมตอนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ เราบอกสื่อบอกประชาชนว่านี่คือรถใหม่
มันดี มันเจ๋ง สารพัดจะกล่าว แต่ในใจผมรู้ว่าที่จริงมันก็คือรถรุ่นเดิมๆนั่นแหละ แค่กระจังหน้า
กับกันชนมันอาจจะเปลี่ยนไปบ้างก็เท่านั้น ณ เวลานั้นเอง ผมก็คิดได้ว่า นี่เราคงทำแบบนี้
ไปตลอดไม่ได้หรอกนะ ผมอยากสร้างรถใหม่รถนิสัยดีที่รักเจ้าของ ไม่จุกจิก ไม่มีวันเป็นสนิม
นั่นล่ะคือจุดที่ทำให้มีรถที่เป็นบอดี้สแตนเลสออกมา”

Chapter 2 : ก่อร่างสร้างฝันกับเพื่อนร่วมทาง

John เริ่มร่างแผนการของเขาอย่างเงียบๆตลอดปี 1974 ความเป็นวิศวกรในหัวของเขาทำให้
สิ่งแรกที่คิดได้คือคุณลักษณะของรถ การออกแบบ และเรื่องทางด้านเทคนิค John มั่นใจว่าการใช้
ตัวถังสแตนเลสภายนอกนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว เพราะสแตนเลสไม่เป็นสนิม และอีกประการ
หนึ่ง..เขาคิดจะให้ผิวนอกรถนั้นสวยได้โดยไม่ต้องมีการพ่นสี เพราะในขั้นตอนการผลิตรถยุค 70s
นั้น การพ่นสีกินต้นทุนเกือบครึ่งหนึ่งของขั้นตอนทั้งหมด (ฉลาดซ่อนเขี้ยวชัดๆ) ส่วนเรื่อง
สไตล์ตัวถังนั้น สิ่งหนึ่งที่ John ใฝ่ฝันอยากทำมาตลอดก็คือการสร้างรถที่มีประตูปีกนก เหมือนกัน
กับที่พบใน Mercedes-Benz 300SL ตัวถัง W198 และรถ Bricklin SV-1

เขาเรียกรถในอุดมคติของเขาออกสื่อบ่อยๆว่าเป็น “Ethical Car” ซึ่งความหมายลึกๆของมันนั้น
มีมากกว่าการเป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยถูกหลักจริยธรรม นอกเหนือจากการเป็นรถที่ใช้ได้นาน
ไม่เป็นสนิมตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว  มันยังต้องเป็นรถที่ปลอดภัย ผ่านการทดสอบชนได้
ด้วยมาตรฐานที่สูง สามารถปกป้องผู้โดยสารภายในได้ดี แล้วยังต้องมีสมรรถนะที่เป็นเลิศ
อัตราเร่งดี แต่ก็ต้องประหยัดเชื้อเพลิง มีมลภาวะต่ำ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
และที่สำคัญคือพอออกมาโมเดลนึง ก็จะขายนานๆ ไม่เปลี่ยนโฉมบ่อยๆจนเจ้าของรถช้ำใจ

“ไม่บอกไปเลยล่ะว่า John DeLorean อยากสร้าง Volvo ซาลูนในร่างของรถสปอร์ต? คนอ่าน
ของคุณน่าจะเห็นภาพชัดเจนกว่า” เสียงของควินน์สอดแทรกขึ้นมา.. แต่ช่างแม่งมันเถอะครับ

รถในฝันของ DeLorean นั้น ในช่วงที่ความฝันยังอยู่ในระยะฟักไข่นี้ เขาเรียกมันว่า Z Tavio
ซึ่งตัว Z นั้น ย่อมาจาก “Zachary” ซึ่งเป็นชื่อกลางของเขา และเป็นชื่อจริงของลูกชาย ส่วน Tavio
นั้นคือชื่อจริงของพ่อเขา และเป็นชื่อกลางของลูกชาย ดังนั้นมันจึงให้อารมณ์คล้ายกับการที่
Enzo Ferrari ตั้งชื่อซูเปอร์คาร์เครื่องวางกลางลำของเขาว่า Dino ตามชื่อลูกชายนั่นเอง
Z Tavio ของ John ค่อยๆถูกร่างเป็นสเก็ตช์ขึ้นมา เขาคิดว่ามันควรจะเป็นรถขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง
เครื่องยนต์วางกลางลำ โดยตั้งใจจะให้ใช้เครื่องยนต์แบบโรตารี ของ Citroen/NSU แล้วนำมา
ปรับจูนให้ได้แรงม้าระดับ 200 ตัว แต่หลังจากที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในช่วงต้นยุค 70s เครื่องยนต์
โรตารีที่บริโภคน้ำมันราวนักการเมืองฮุบที่ดินชาวบ้านนั้นก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป ทาง
Citroen/NSU (กลุ่ม Comotor) เลิกผลิตเครื่องบล็อกนี้ John จึงเล็งที่จะใช้เครื่อง V6 “Cologne”
ของทาง Ford แทน

นอกจากนี้ John ยังได้ว่าจ้างให้ปรมาจารย์ Giorgetto Giugiaro แห่งสำนักออกแบบ ItalDesign
มาทำการวาดเส้นสายให้กับรถสปอร์ตประตูปีกนกของเขาด้วย ซึ่งในเวลานั้น Giugiaro ได้ออกแบบ
รถทรง Wedge-shape คมๆอย่าง Lotus Esprit รูปทรงแบบนี้คงเตะตา John ไม่น้อยดังที่จะเห็นได้
ว่าดีไซน์ของ DeLorean แม้จะไม่เหมือนกับ Esprit แต่ก็มีลักษณะหักเหลี่ยมหักมุมคมคล้ายๆกัน

“รู้อะไรมั้ย?” ควินน์แทรกเข้ามา “บางคนเขาบอกว่าไอ้ดีไซน์ที่อาจารย์จิว (เจียโร่) ทำมานั่นน่ะ
ที่จริงแล้วมันคือดีไซน์ที่เขาเอาไปเสนอทาง Porsche แต่ทางชตุทการ์ทไม่ชอบ เลยเอา
มาขายต่อให้ John”
“โว้ว! งั้นเหรอ ผมดูยังไงมันก็ไม่เหมือน Porsche สักรุ่นนะ หน้าตามันเหมือน Maserati
เก่าๆ กับแลนเซีย บวกกับหน้าจากกระบะมิตซูเฉินหลงมากกว่า ฮ่าๆ” ผมตอบตัดบทไป

John ทำทุกอย่างไปพร้อมๆกัน ตั้งแต่สร้างข้อกำหนดทางเทคนิคให้กับเจ้า Z Tavio และหาเพื่อน
ร่วมทุน จับเพื่อนร่วมทาง ความที่ชอบทำตัวเป็นเซเล็บอยู่ในวงไฮโซตั้งแต่สมัยอยู่ GM ทำให้เขา
มีเพื่อนฝูงเป็นคนดังกลายคนรวมถึง Johnny Carson พิธีกรรายการ “The Tonight Show”
Sammy Davis Jr. (ดารา-นักร้องเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน) James T. Aubrey (ประธานบริษัท
Metro-Goldwyn-Mayer หรือบริษัทเมโทรสิงห์โตเห่านั่นล่ะ) Herb Siegel (ประธานบริษัทผลิต
เรือสปีดโบต Chris Craft) หรือแม้กระทั่งนักแข่ง Formula 1 อย่าง Jackie Stewart
ซึ่งแต่ละคนก็มีฐานะไม่ใช่เล่นๆ ดังนั้น John จึงใช้ทักษะที่ได้มาจาก สมัยเป็นนายหน้าขายประกัน
ในการหว่านล้อมเพื่อนๆในวงไฮโซให้ช่วยร่วมกันลงทุน จนได้เงินก้อนใหญ่..แต่ในเมื่อ John ประเมิน
เอาไว้ว่าโครงการ Z Tavio ต้องใช้เงินราว 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินลงทุนจากบรรดาไฮโซ
รวมกับของตัวเขาเองแล้ว ยังได้แค่ 12 ล้านดอลลาร์ หนทางในการสะสมทุนจึงยังไม่บรรลุผล
แต่มันก็เพียงพอที่จะให้เขาสามารถก่อตั้งบริษัท DeLorean Motor Company (DMC) ได้
ในที่สุด โดยจดทะเบียนในวันที่ 24 ตุลาคม 1975 โดย John เคลมออกสื่อว่าเงินลงทุนจำนวนนั้น
มีเงินของเขาอยู่ 4 ล้านดอลลาร์ (โดยที่อดีตลูกน้องเผานายลับหลังบอกว่าที่จริงตา John
ควักไม่ถึงแสนด้วยซ้ำ แต่โม้ออกสื่อไปอย่างนั้นเอง)

ส่วนเรื่องคนที่จะมาร่วมงานนั้น John หมายนายช่าง  Willaim T. Collins (Bill Collins)
เอาไว้ตั้งแต่สมัยสะสมแรงฝันเตรียมลาออกจาก GM แล้ว Bill Collins เป็นหัวหน้าวิศวกรของ
Pontiac ที่มีความสามารถทั้งในด้านการออกแบบในเชิงการจัดพื้นที่ภายในของรถและทาง
วิศวกรรม John DeLorean จึงไม่ลังเลเลยที่จะทาบทามนายคนนี้มาเป็นมือขวาของบริษัทคนแรกๆ
นอกเหนือจาก Bill Collins แล้ว ก็ยังมี C.R. Brown (Dick Brown) นักบริหารไฟแรงอีกคนหนึ่ง
ซึ่งปั้นแบรนด์ Mazda ในอเมริกาให้ดังจนขายดีแซง Toyota ได้ โดย Dick Brown ได้รับตำแหน่ง
เป็นรองประธานบริษัท

ควินน์เสริมเข้ามาว่า “ช่วงนั้น John ยุ่งใช้ได้เลยนะ นับจากวันที่ตั้งบริษัทได้นั้น เขาทำทุกอย่าง
ตั้งแต่หาทุนเข้าเพิ่มเติม เสาะหาแหล่งผลิตรถ ดูแลการสร้างรถต้นแบบด้วย ในช่วงเดียวกับที่
เขาจ้างตา Dick Brown นั่นก็มีการทำรถคันต้นแบบออกมาโชว์ที่ Detroit ด้วย”

“แต่รถต้นแบบคันนั้นกว่าจะเสร็จก็เดือนตุลาไม่ใช่เหรอควินน์เอ้ย Brown ถูกจ้างช่วงกลางปีนี่”
ผมแย้งควินน์กลับไป ..ผมอาจจะไม่รู้เรื่อง DeLorean มากเท่าควินน์แต่อย่างน้อยก็มั่นใจว่า
รถต้นแบบคันแรกมันเสร็จในช่วงปลายปีนี่หว่า

“อะฮ่า!” ควินน์ทำเสียงแบบคนมีภูมิ “พวกคนเล่นรถแต่ไม่เคยสร้างรถอย่างคุณชอบมองข้าม
หลายสิ่งหลายอย่างนะ คุณคิดว่าไอ้บ้าที่ไหนบ้างที่มีเงินไม่กี่สิบล้านดอลลาร์จะลงทุนทำรถทั้งคัน
โดยไม่ศึกษาอะไรก่อน ถึง John จะไม่ใช่นักบริหารที่เก่ง แต่เขาไม่ตกม้าตายเรื่องแบบนี้หรอก
ช่วงกลางปี 1976 เขาสั่งทำรถ Mock-up ที่โชว์รูปลักษณ์ภายนอก แต่ไม่มีภายใน และวิ่งไม่ได้
แล้วก็เอาไปโชว์ที่ Detroit จากนั้นก็ให้ลูกน้องติดต่อพวกคนบ้ารถมา 350 คน แล้วก็เอารถต้นแบบ
ไปจอดเทียบกับ Datsun 280Z และ Chevrolet Corvette แล้วสำรวจความเห็นของคนเหล่านั้น”

“แล้วเป็นไง” ผมถาม
“ก็ผ่านฉลุย ปรับแก้รายละเอียดเล็กน้อยแค่บางส่วนเท่านั้น แล้ว John ก็สั่ง Bill Collins ให้เดินหน้า
เต็มสูบ ยิ่งวันเวลาผ่านไปแรงกดดันก็ยิ่งเยอะ เพราะพวกเพื่อนๆที่ลงขันลงทุนกันไปหลายล้าน
ยังไม่เห็นรถเป็นๆ ออกมาวิ่งสักที ต้องรอมาจนช่วงเดือนตุลาคมปี 76 อย่างที่คุณว่านั่นแหละ
รถต้นแบบ ที่วิ่งได้จริงคันแรกถึงเสร็จ แต่เขายังไม่ปล่อยให้คนนอกองค์กรหรือสื่อมวลชนขับนะ”

รถต้นแบบคันแรกของ DeLorean ถูกตั้งชื่อว่า DSV ซึ่งย่อมาจาก DeLorean Safety Vehicle
ที่เรียกแบบนี้เพราะ John ตั้งใจชูความปลอดภัยในโครงสร้างตัวถังแบบใหม่เป็นจุดขายเด่น
หน้าตาของมันคล้ายกับ DeLorean เวอร์ชั่นผลิตจริง แต่ก็แค่คล้าย..คุณจะสังเกตได้เลยว่าหน้ารถลีบกว่า
กระจกมองข้างยังเป็นแบบที่ดูโบราณ และจุดสำคัญคือกระจกที่บานประตูยังเป็นบานเลื่อนที่ดูแล้ว
ไม่ค่อยทันสมัยสมกับตัวรถสักเท่าไหร่เลย

“ควินน์ ไอ้เจ้านี่มันใช้เครื่อง PRV V6 แล้วใช่มั้ย เห็นว่าเครื่องของ Comotor กับ Ford ก็ตกกระป๋อง
ไปแล้วนี่” ผมถาม..เพราะเห็นว่ามันรู้เรื่องที่ผมไม่รู้เยอะเหลือเกิน

“ไม่ใช่” ควินน์ตอบ “โถพ่อคุณ รถคันนี้เขาเรียกว่าเป็นเวอร์ชั่นโคตรพ่อ Pre ก่อน Pre ก่อน Pre
Production เสียอีก ข้อสรุปเรื่องเครื่องน่ะยังไม่จบหรอก เพราะพวกนักลงทุนอยากเห็นรถแล้ว
หาอะไรมายัดได้ก็ยัดมันลงไปก่อน”

“เออแล้วตกลงมันได้เครื่องอะไรล่ะเว้ยครับ?”
“เครื่อง Citroen CX…4 สูบ บ้านๆเลย ไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย มีแค่เสียงท่อดุกว่าเท่านั้นแหละ
แล้วยังหาวิธีลงแบบตามยาวอย่างที่ทีมวิศวกรต้องการไม่ได้ เพราะหาเกียร์มาชนไม่ได้ ก็เลย
ต้องวางขวางลงไปดื้อๆอย่างนั้นก่อน แชสซีส์ก็เอามาจาก Fiat X1/9 ส่วนช่วงล่างก็จกอะไร
ก็ตามที่หาได้จากพวก Ford Pinto กับ Mustang II ยัดๆเข้าไปก่อน”

คำตอบของควินน์ทำเอาผมอึ้ง..”เห้ยมันต้องรีบลนลานอะไรกันขนาดนั้นเลยเหรอ ทำไมไม่รอให้
เสร็จแล้วค่อยเสนอผู้ลงทุนทีเดียวแบบครบๆล่ะ” ผมถาม

ควินน์ตอบแค่ว่า “นี่ล่ะเขาเรียกว่าอ้อนแขก..คุณมองรถในแง่มุมของคนเล่นรถ ไม่ลองมองในแง่
ของคนที่ทำธุรกิจบ้างล่ะ? ผู้ลงทุนแต่ละคนไม่ใช่ขี้ๆ เอาเงินเขามาเป็นปีๆแล้วยังไม่มีรถที่วิ่งได้จริง
ให้เห็นสักคัน ถ้าเป็นคุณ คุณจะเคลือบแคลงใจมั้ยว่าเอ๊ะไอ้คิ้วหนานี่มันเอาเงินกูไปทำอะไรวะ
ถูกมั้ย? ก็ต้องรีบเข็นผลงานออกมาให้ดูว่าเฮ้ย อั๊วะไม่ได้นั่งจิบเก๊กฮวยอยู่เฉยๆนะเว้ย นี่ไงผลงาน
ที่พวกคุณรอคอย”

“แค่รถต้นแบบคันเดียวมันสำคัญในเชิงธุรกิจมากขนาดนั้นเลยเหรอ” ผมยังอดสงสัยไม่ได้
เพราะในยุคดิจิตอลนมถูผิวนิ้วถูจออย่างทุกวันนี้ผมยังไม่เคยเห็นรถต้นแบบจากบริษัทไหนดูจะ
สลักสำคัญมากขนาดนี้มาก่อนเลย

เสียงควินน์ถอนหายใจ ก่อนจะอธิบาย “ก็รถต้นแบบในยุคของพวกคุณน่ะมันมีค่าเอาไว้แค่โชว์ว่า
โอ้ว วันนี้ผีตัวไหนเข้าสิงสู่นักออกแบบ โอ้ว เราจะใช้เส้นสายแบบนี้ในการทำรถในอนาคตซึ่ง
คุณอาจจะได้ใช้ แต่สำหรับ DeLorean มันคนละเรื่องกัน คุณอย่าไปมองเขาแบบเดียวกับที่มอง
พวกบริษัทยักษ์ใหญ่เงินหนาๆดิครับ DMC น่ะเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้ง มีผู้บริหารมือดี มีผลงานในอดีต
พิสูจน์ แต่ความน่าไว้เนื้อเชื่อใจยังต่ำเพราะทุกคนรู้ว่าไม่ได้มีเงินเป็นพันล้านอย่าง GM หรือ Ford
ให้ตายเถอะในช่วงนั้น ร้อยล้านก็ยังมีไม่ถึง..อาจจะมีแค่สิบยี่สิบล้านดอลลาร์ คุณคิดว่ามันเป็น
การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ คุณลองคิดดู ถ้าเป็นคุณ วางเงินล้านใน GM กับวางเงินล้าน
ในบริษัทหน้าใหม่แบบนี้ เป็นใคร ใครก็ต้องอยากติดตามดูอยู่ตลอด John DeLorean มีจิตวิทยา
ในการอ้อนพวกไฮโซ เขาคิดถูกแล้วล่ะที่ทำแบบนี้”

ก็อาจจะใช่ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ John ยังขาดอีกอย่างหนึ่ง..ใครจะมาดูแลการทำรถ
เวอร์ชั่นผลิตขายจริง? ในปี 1976 รถคันที่พวกเขามียังเป็นแค่รถต้นแบบ มันยังห่างไกลกับตัวรถ
ที่จะทำออกมาให้คนทั่วไปซื้อมาก John ก็เลยต้องใช้เวลานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท หอบเอา
ภาพสเก็ตช์และข้อมูลทางเทคนิคไปเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้า สิ่งที่เราทราบ
ก็คือ เขาเคยไปทาบทามผู้ผลิตรถเยอรมันอย่าง BMW และ Porsche มาแล้ว โดยเจ้าแรกนั้น
หลังจากที่พิจารณารายละเอียดทั้งหมด ก็ยื่นข้อเสนอขอเงิน 50 ล้านปอนด์ กับเวลาในการพัฒนารถ
4 ปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทันใจ John เขาจึงติดต่อไปที่ Porsche อีกแห่งหนึ่ง ทางชตุทการ์ทดูแล้วก็บอกว่า
พวกเขาขอค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงิน 40 ล้านปอนด์ แต่ขอเวลาวิจัยพัฒนา 7 ปี

ทั้งสองบริษัท ต่างก็ขอทุนในการพัฒนาสูงกว่าที่ John จะสามารถให้ได้ทั้งนั้น

“หุ หุ”
“ขำอะไรเหรอควินน์”
“เปล๊า” (ขึ้นเสียงสูงอย่างน่าหมั่นไส้) “ผมแค่คิดว่าถ้าตอนนั้น DeLorean เลือกไปกับ BMW หรือ
Porsche มันอาจไม่เจ๊งอย่างทุกวันนี้นะ แต่ผมไม่อยากด่วนสรุปว่า John เป็นพวกรีบตักตวง
หรือขี้เหนียวเงินหรอก พอเงินน้อยและมีคนกดดัน ผู้คนแม่งก็เลือกๆกันอย่างสติแตกได้ทั้งนั้น”

“แต่ผมไม่เรียกการเลือก Lotus ว่าเป็นทางเลือกสติแตกหรอกนะ” ผมย้อน

John ได้พบกับ Colin Chapman ประมุขแห่ง Lotus จากฐานทัพอากาศ Hethel เมือง Norfolk
ครั้งแรกในปี 1977 ด้วยความที่ทั้งสองคนคลั่งไคล้เรื่องทางวิศวะมากพอกันจึงคุยกันรู้เรื่อง
John ให้ความเคารพกับ Colin ในระดับหนึ่ง เพราะรู้ว่าชายอังกฤษมีหนวดผู้นี้มีมันสมองที่
ไม่ธรรมดา คุณลองคิดถึงคนที่ก่อตั้งบริษัทรถยนต์และทีมมอเตอร์สปอร์ตของตัวเองตั้งแต่
อายุ 24 ปี ขับรถแข่งเป็น หลงใหลในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ Lotus นี่น้อยคนจะทราบ
ว่าพวกเขาเป็นเจ้าแรกที่คิดค้นแชสซีส์โมโนค็อกมาใช้ในวงการ F1 ตั้งแต่ปี 1962 และยังไม่นับ
ความสำเร็จมากมายจากการแข่ง F1 นักแข่งที่มีชื่อเสียงหลายคนรวมถึง Sir Stirling Moss
และ Mario Andretti หรือ Emerson Fittipaldi ล้วนเคยขับให้กับ “TEAM LOTUS” มาแล้วทั้งนั้น
ความยิ่งใหญ่ของ Lotus ในยุคก่อนนั้นหากจะให้เทียบกับความเกรียงไกรของทีม McLaren
ทุกวันนี้ก็คงไม่ผิด เมื่อนึกถึง Formula One คนจะนึกถึงภาพรถแข่งสีดำทองธีมบริษัทยาสูบ
John Player Special ของ Lotus

John คุยกับ Colin เป็นการส่วนตัวโดย “แย้ม” แผนการ รูปแบบของรถ รวมถึงงบประมาณ
(อันแสนจะจำกัด) ให้น้าหนวดฟัง เมื่อน้าหนวด Norfolk ได้ยินก็คิดอยู่ชั่วครู่ ก่อนที่จะบอก
ว่าถ้าจะให้เขารับโปรเจคท์นี้ไปดูแลในงบประมาณดังกล่าว ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ขอให้
John DeLorean ช่วยคิดวิธีการจ่ายค่าตอบแทนในแบบที่ไม่ต้องถูกหักภาษีมากๆก็พอ

ควินน์คงแอบดูผมพิมพ์ในจออยู่สักพักแล้วค่อยพูดขึ้นมาว่า “ที่ผมบอกว่าทางเลือกสติแตก
นั่นก็อาจจะพูดเวอร์ไปนิดนะ แต่ผมไม่ได้บอกว่า Lotus เป็นบริษัทที่ไม่เจ๋ง แต่ของเจ๋งๆในโลกนี้
หลายอย่างพอเลือกใช้ไม่ถูกกับเวลามันก็อาจเป็นโทษได้เหมือนกัน..เวลาปวดหัวคุณกินไทลีนอล
แต่เวลาแมวคุณปวดหัวคุณให้แมวคุณกินไทลีนอลมั้ยล่ะ..ตายห่าา! ใช่มั้ย?   ผมอาจจะคิดของผม
คนเดียวก็ได้แต่เขียนต่อไปอีกหลายๆ Chapter แล้วศึกษาเรื่อง DeLorean ต่อไป คุณจะเห็น
จุดอ่อนของ Lotus ในไม่ช้า”

เรื่องนั้น..ผมทราบดีอยู่แล้วครับแค่ยังไม่พูด ..รวมทั้งเรื่อง “ค่าตอบแทนแบบที่ไม่ต้องถูกหักภาษี
มากๆ” นั่นด้วย แต่เดี๋ยวคุณจะได้รู้ใน Chapter ต่อๆไปเองแหละครับ

ปี 1977 นับว่าเป็นปีที่ดีเหลือเกินสำหรับชายอนาคตรุ่งอย่าง John ในเดือนพฤศจิกายน
ภรรยาคนสวยราวนางฟ้าอย่าง Cristina Ferrare ได้ให้กำเนิดลูกสาวสู่อ้อมออกของเขา
ฟังดูอบอุ่นดี แต่นั่นก็เป็นลูกที่เกิดจากภรรยาคนที่ 3 ของเขาซึ่งอายุต่างกันราวพ่อกับลูกได้
มันอาจจะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์อดีต ปัจจุบัน และในเวลาที่จะตามมาของ DeLorean
ซึ่งก็คือดูดีเหมือนเทพบุตร แต่มีอะไรอีกหลายอย่างซ่อนไว้ในใบหน้าที่ยิ้มแย้มออกสื่อเหล่านั้น

..แค่ว่าหลายคนยังไม่ทราบ เท่านั้นเอง

Chapter 3 – บนแผ่นดินที่ลุกเป็นไฟ

ผมมักอ่านหนังสือรถประเภทที่กล่าวถึงประวัติของรถแต่ละรุ่นพอสังเขป เป็นน้ำมันหล่อลื่น
ชั้นเยี่ยมในระหว่างกินข้าวหรือเข้าห้องน้ำอยู่แล้ว และแน่นอน ผมทราบดีว่า DeLorean
เป็นรถหลากสัญชาติ อ่านหนังสือแต่ละเล่มพูดถึงแหล่งกำเนิดหรือชาติเกิดของรถยี่ห้อนี้
ต่างกัน บางคนเชื่อว่ามันเป็นอเมริกัน เพราะ John Z. DeLorean ถือสัญชาตินี้ และการออกแบบ
เบื้องต้น การบริหารงานด้านการขายและตลาดเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดก็คืออเมริกา แต่หนังสือ
บางเล่มก็จะเขียนว่า UK (สหราชอาณาจักร) แล้วค่อยวงเล็บต่อท้ายว่า Northern Ireland

ยิ่งไปกว่านั้น ผมทราบเช่นกันว่า DeLorean นั้นประกอบรถจากโรงงานใน Northern Ireland
แต่ไม่เคยทราบว่าอะไรดลใจให้เขาเลือกมาประกอบที่นี่ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ
ค่าแรงที่ถูกกว่าที่อเมริกา เหมือนกับบริษัทรถสมัยนี้ที่เสาะหาตลาดที่แรงงานราคาถูกและฝีมือดี
มาใช้ในการประกอบรถ แต่ใช่หรือเปล่า…สงสัยผมต้องถามไอ้ควินน์ดีกว่า

“ควินน์โว้ย”
“ครับ ไม่ได้ไปไหนครับ เอ็งเปิดจอคอมพิมพ์งานทีไรข้าก็มาอยู่แถวๆนี้ตลอดแหละครับ”
“ขอถามง่ายๆเลยนะ…ทำไม John มาเปิดโรงงานที่ประเทศไอร์แลนด์วะครับ?”
จากนั้นผมก็ให้ควินน์อธิบายคำตอบให้ฟัง

“ก่อนจะตอบคำถามเลยนะ ..Northern Ireland หรือไอร์แลนด์เหนือนั่นน่ะ มันเป็นส่วนหนึ่งของ
อังกฤษ ..ไม่งั้นมันคงไม่เขียนว่า UK วงเล็บ Northern Ireland อย่างที่คุณเขียนไปหรอกถูกมั้ย
ส่วนประเทศไอร์แลนด์หรือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์น่ะ มันอยู่บนเกาะเดียวกัน แต่เป็นคนละประเทศ
มีชายแดนติดกันและตั้งอยู่ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Northern Ireland อีกที หายงงนะ?!?

ทีนี้..ทำไมถึงมาเปิด มันไม่ใช่แค่แรงงานถูกอย่างเดียวหรอก คุณชอบไปมองจากมุมของบริษัท
ที่มีตัวตนยิ่งใหญ่อยู่แล้ว ผมพูดแล้วพูดอีกและจะพูดต่อไปว่า DeLorean เป็นบริษัทที่เริ่มต้น
จากศูนย์ คุณต้องมองให้ไกลกว่าเรื่องการประหยัดต้นทุนดิ..ก่อนจะประหยัดต้นทุนได้ คุณก็ต้อง
มีทุน นั่นล่ะ “ทุน” คือคำสำคัญ”

“อ่าฮะ..แปลว่าที่ไอร์แลนด์เหนือนี่..มีทุน? แปลว่า John หาเงินได้จากดินแดนแห่งนี้เหรอ” ผมถาม
“ได้…และได้โคตรรรรรรเยอะ!” ควินน์ตอบ
“แล้ว..มันยังไงวะ ผมงงกับ John มากนะ บ้านตัวเองอยู่อเมริกา ตลาดหลักอยู่อเมริกา แต่ดัน
ทะลึ่งมาประกอบรถในประเทศข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพราะได้ทุน?? รัฐบาลอังกฤษเนี่ย
จ่าย-เงิน-เพื่อ-ให้-เขา-มา-ประกอบรถ-ที่นี่???”

“โถ่คุณเอ๊ย
นั่นรัฐบาลนะโว้ยไม่ใช่นางงามจักรวาล เขาไม่ได้ให้เปล่าๆ แต่ให้ภายใต้ข้อแม้ครับ ทุกที่น่ะ
มีข้อแม้ มีเงื่อนไข นี่ตกลงคุณจบบริหารธุรกิจมาจริงๆหรือเปล่าวะหรือแค่ไปนั่งอ่านการ์ตูน
ใต้ตึกเรียนเอาฮา? การลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาวในแง่ของคุณประโยชน์จากผู้ลงทุน
ต่างชาติไง ประเทศต่างๆเขามองเห็นโอกาสว่า ถ้า DeLorean มาตั้งบริษัทในประเทศเขามันก็
สร้างโอกาส มีโรงงาน..ก็คือมีงาน…มีงาน..ก็ต้องมีคนทำงาน มันจะเกิดอัตราจ้างแรงงานจำนวน
มากภายในท้องถิ่นที่โรงงานนั้นไปตั้ง และไม่ใช่แค่คนแถวๆนั้นได้งานทำนะ สิ่งต่างๆมันมา
เป็นเงาตามตัวเมื่อที่ใดที่หนึ่งมีคนมารวมอยู่เยอะๆ ลองยกตัวอย่างง่ายๆนะ สังเกตมั้ยว่า
ตรงไหนเคยเป็นที่รกร้าง แล้วจู่ๆมีมหาวิทยาลัยหรือตึกสำนักงานมาสร้างเยอะๆ เดี๋ยวสักพัก
ก็จะมีร้านอาหาร ผับ ร้านนวด ร้านเน็ต รวมถึงคอนโด หอพัก หอสตรี หอปราถณาดีตามมา”

“สรุปคือรัฐบาลเห็นว่าการมีโรงงานอยู่ในประเทศของพวกเขานั้น มีข้อดีจนคุ้มที่จะจ่ายเงิน
ก้อนงามๆเพื่อช่วยให้บริษัทรถตั้งฐานการผลิตได้สำเร็จ?” ผมถาม

“ใช่” ควินน์ตอบก่อนสาธยายต่อ “และไม่ได้มีแค่อังกฤษ..อันที่จริง John มีตัวเลือกในหัว
อย่างน้อย 7 ที่ แต่เนื่องจากผมไม่ใช่เมีย John ผมเลยรู้แค่ว่า 4 ในนั้นคือที่อังกฤษ, โปรตุเกส, สเปน
เปอร์โตริโก้ ..รู้สึกว่า John ดูลู่ทางที่เมือง Detroit เอาไว้ด้วย หรือแม้กระทั่งในเอเชียตะวันออก
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เยอรมันนี เป็นต้น วิธีการของเขานั้นน่าศึกษาไว้นะ ปกติถ้าคุณเป็น
บริษัทรถที่เพิ่งจดทะเบียนได้ 1-2 ปี แล้วกำเงินมาสิบกว่าล้านดอลลาร์ บอกว่าอยากเปิดโรงงาน
ในสักประเทศก็คงต้องบากหน้าไปพรีเซนต์แบรนด์ตัวเองแล้วลุ้น แต่ John สามารถใช้วิชามาร
ในการต่อรอง และแม่ไม้การเจรจา ทำให้อีกฝ่ายเกิดความกดดันจนต้องยอม เขาทำแบบนี้
มาตลอดอยู่แล้ว

อย่างตอนที่ไปคุยกับพวกอังกฤษ แล้ว John ยื่นข้อเสนอของบลงทุน 100 ล้านปอนด์ ..แน่นอนว่า
พวกอังกฤษก็อึ้งถ้วยชาแทบตกเลอะพรมก่อนจะบอกว่า ขอคิดดูก่อนนะ แต่ John ไม่ใช่คนใจเย็น
เขาก็แค่ลุกขึ้นแล้วบอกว่า -เป็นเกียรติที่ได้มาเจรจาแต่ไม่เป็นไรหรอกครับ เครื่องบินส่วนตัว
ของผมรออยู่ คนของผมและพวกเปอร์โตริโก้รออยู่ เรากำลังจะเซ็นต์สัญญากันอยู่แล้ว ผมแค่
บินมาที่นี่เพื่อดูว่าเรามีโอกาสร่วมมือกันไหม ถ้าไม่ ผมว่าเราก็จบกันแค่นี้- แน่นอนว่ามันกดดัน
ต่อให้ใหญ่จากไหนมาก็เสร็จไม้นี้กันทั้งนั้น

แต่ John ไม่ได้ทำโดยไม่วางแผนไว้ก่อนหรอก เขาบินมาคุยกับพวก NIDA ตั้งแต่ต้นปี 1978 แล้ว”

ผมเริ่มสงสัย “นิด้า..สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เหรอ?”
“ไม่ใช่โว้ย! ย่อมาจาก Northern Ireland Development Agency ต่างหาก แล้วก็ยังคุยกับรัฐบาล
อังกฤษและส.ส. จากแถบไอร์แลนด์เหนือด้วย John คุยกับพวกนี้เสร็จก็ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่
ต่างคนต่างรู้เชิง แต่พูดถึงเรื่องฝีปากวาจากการเกลี้ยกล่อมให้คนทำตามต้องการ John กินขาด
อยู่แล้ว พอเดือนพฤษภาคมปี 78 นาย Gerry Fitt ผู้แทนจาก Belfast ตะวันตกก็เสนอญัติอภิปราย
ในสภาเรื่องการให้ DeLorean มาตั้งโรงงานที่แถบตะวันตกของกรุง Belfast โดยชี้ให้เห็นถึง
ปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงลิ่ว ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งและภัยก่อการร้าย บึ้มรายวัน
ลักพาตัวอะไรทำนองนี้ ในยุคนั้น Belfast เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสงครามภายใน
ระหว่างคนสองกลุ่ม” ควินน์เล่า จนผมเริ่มนึกถึงชื่อและเหตุการณ์ข่าวจากในอดีตได้ลางๆ

ถ้าผมจำไม่ผิด เราคนวัย 30 กลางขึ้นไปจะคุ้นกับชื่อขบวนการก่อการร้าย IRA ที่มักจะ
ปรากฏชื่อหรือได้ยินในข่าวต่างประเทศหลายต่อหลายครั้งที่มีการวางระเบิดอาคารหรือรถยนต์
ในเมือง Belfast

“คนสองกลุ่ม” ควินน์เล่าต่อ “ก็คือกลุ่มที่เป็นคริสต์นิกายคาทอลิก สนับสนุนการเอาไอร์แลนด์
เหนือ ไปรวมกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีขบวนการ IRA สายมาร์กซิสต์หนุนหลัง อีกกลุ่มหนึ่ง
คือคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ที่ต้องการภักดีอยู่กับอังกฤษต่อไป มีขบวนการ UDA หนุนหลัง
โอ้คุณเอ้ย ถ้าคุณชอบความเสี่ยง ไม่มีที่ไหนน่าอยู่กว่า Belfast ช่วง 70-90s อีกแล้วล่ะ ขัดแย้ง
กันทั้งการเมือง ประเทศ และศาสนา แล้วแตกแยกกันแบบมีฝ่ายชัดเจน จริงอยู่ว่าไม่ใช่ทุกคน
ที่จะเกลียดขี้หน้ากันแต่โอกาสตายมันสูงนะ 20 ปีระเบิดตู้มต้ามกัน คนตายไปกว่า 1,600 คน
บาดเจ็บนับไม่ถ้วน ที่เมืองนี้โหดจนกระทั่งบางครั้งมีการออกกฎห้ามจอดรถข้างทางโดยไม่มีใคร
เฝ้าที่รถ เพราะกลัวคาร์บอมบ์กันไง รั้วลวดหนาม ทหารถือปืนเฝ้าป้อม และการตรวจค้นอาวุธ
ทั้งตอนเข้าและออกซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารหรือโรงแรม คุณน่าจะนึกภาพออกว่าชีวิตมันน่ากลัว
น่าหดหู่”

ผมเริ่มสงสัยต่อ “แล้วทำไมนักการเมือง Belfast ถึงอยากให้ DeLorean มาทำงานที่นรกบนดิน
แบบนี้ล่ะควินน์”

“Gerry Fitt เองก็มีพรรคพวกที่คอยสอดส่องพฤติกรรมประชากรในเขตของเขา และพบว่า IRA
มักจะออกรับสมัครแนวร่วมใหม่ๆเป็นพักๆ และเขตที่ IRA ดูป๊อปปูลาร์สุดๆก็มักเป็นเขตของ
ชาวคอทอลิกที่หางานไม่ได้ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ เขาจึงคิดว่าหากสามารถเปิดโรงงานที่
จ้างคนทำงานเยอะๆได้ ก็จะได้ทั้งความสุขของประชากร ตัดช่องทางเพิ่มกำลังพลของ IRA
ดึงเงินให้หมุนสะพัดในเขต Belfast ได้วิน-วินหลายอย่าง รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแล
พวกคนว่างงานที่วันๆกินสวัสดิการรัฐ จับมันไปทำงานซะ รัฐก็ประหยัดเงินตรงนี้ลงในขณะ
ที่ประชาชนในพื้นที่ก็มีความสุขขึ้นด้วย แล้วก็..ถ้าหากมันเวิร์คสุดๆ ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้น
ของนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำในภูมิภาคนี้ในระยะยาว.. ทีนี้เข้าใจหรือยัง..ที่ผมบอกว่าอย่ามอง
แค่เรื่องว่าแรงงานถูกหรือเรื่องต้นทุน ถ้ามองช็อตยาวได้แค่นั้นก็นอนให้ควายเหยียบซะเถอะ”

ผมพอเข้าใจแล้วว่าเมื่อเราพูดถึงธุรกิจและการเมือง มันสามารถครอบคลุมได้หลายอย่าง
แต่ก่อนนี้พอรู้แค่เรื่อง DeLorean แบบงูๆปลาๆก็ยังสงสัยว่าทำไมต้องมาประกอบที่ Belfast
ณ เวลานี้ผมเข้าใจแล้วถ้ามองจากมุมของ John เขาก็แค่ต้องการประเทศไหนสักประเทศ
ที่พร้อมจะให้เงินเขาในการสร้างโรงงานและทำฝันของเขาให้กลายเป็นความจริง อันที่จริง
นับว่าเขาเก่งมากที่สามารถพูดโน้มน้าวให้คน บริษัท และรัฐบาลอังกฤษต่างเอาเงินจำนวนมาก
มาวางเพื่อให้ John DeLorean เอาไปใช้ทำฝันของตัวเองโดยที่ตัว John นั้นแทบไม่ได้เอาเงิน
ของตัวเองมาลงเลยเมื่อเทียบกับจำนวนที่คนอื่นมอบให้

“โชคดีของ John DeLorean ที่แผนของเขามันได้ผล” ควินน์เล่าต่อ “เพราะในขณะที่เขายก
เปอร์โตริโก้มาขู่อังกฤษ ในความเป็นจริงรัฐบาลเปอร์โตฯพิจารณางบลงทุนตามที่ John ขอแล้ว
พวกเขากำลังคิดหนักว่าจะเอาเงินที่มาจากผู้เสียภาษีร้อยล้านดอลลาร์มาผลิตรถสปอร์ตดี
หรือปฏิเสธโอกาสนี้ดี ทางฝั่งอังกฤษก็ตัดหน้ารีบเรียก John เข้าพบก่อนในเดือนมิถุนายน
เมื่อได้จังหวะปล่อยหมัด John ก็ไม่ลังเลที่จะสร้างความเชื่อมั่นโดยกล่าวกับตัวแทนของ
รัฐบาลอังกฤษว่า

“ผมจะสร้างโรงงาน สร้างรถคันแรกให้พวกคุณดู และจ้างคนงานให้ได้ 2,000 คน ภายใน 18 เดือน”

เมื่อเจอประโยคนี้เข้าไป รัฐบาลอังกฤษ จึงนำเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ความคุ้มค่า
ในการลงทุน ผลออกมาก็คือโอกาสรอด 1/10″

“หนึ่งในสิบ?!” ผมรู้สึกตกใจ “บ้าหรือเปล่า สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าคุณได้น้อยกว่า
6 จาก 10 คือสอบตก แล้วนี่อะไร 1 ใน 10”

“การสอบสมัยมหาวิทยาลัยของคุณมันไม่ได้เกี่ยวกับเงิน และไม่ได้เกี่ยวกับความกดดัน
ทางการเมืองไงล่ะ” ควินน์ตอบ “ในท้ายสุดทีมวิเคราะห์ของรัฐบาลอังกฤษใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์
ในการตอกบทสรุปว่าการให้เงินแก่ DeLorean นั้น มีความเสี่ยงสูง แต่…มีแต่นะสังเกตมั้ย? แต่
ถ้าบริษัทนั้นบริหารงานโดยบุคคลที่มีความชำนาญ มันก็ยังมีโอกาสทำเงินได้ และพวกคนที่
เข้าข้าง DeLorean สมัยนั้นพอเห็นชื่อ DeLorean ซึ่งก็คือเทพบุตรพลิกโลกจาก GM และเห็นชื่อ
C.R. Brown คนที่ทำให้ Mazda เกิดดังเปรี้ยงปร้างในอเมริกาได้อย่างเหลือเชื่อ พวกเขาก็วางใจ

ซึ่งผมจะให้คุณแพนดูไว้นี่ล่ะ..พวกเขาเชื่อในเครดิตของตัวบุคคลจนลืมคิดอะไรหลายอย่าง
พวกเขาปล่อยให้ผลงานในอดีตเป็นฐานสำคัญในการสร้างการตัดสินใจจนมองข้ามความเสี่ยง
ที่มีภัยมหันต์ พวกที่ทำธุรกิจด้วยคำว่า กูรัก กูมีใจ ใจกูใหญ่ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับความน่าจะเป็น
และความเสี่ยง จะมีจุดจบไม่ค่อยดีนักหรอก”

จะอย่างไรก็ตาม หลังจากวันนัดคุยกันกับ John คล้อยหลังเพียง 25 วัน รัฐบาลอังกฤษก็
อนุมัติงบประมาณดังกล่าวในที่สุด John กระหยิ่มยิ้มย่องในใจ เพราะในที่สุดฝันของเขาก็
จะกลายเป็นความจริงเสียที เงินก้อนใหญ่ที่เสาะหามาสามปีนับตั้งแต่ตั้งบริษัทได้ถูกเทลงมา
จนเต็มไหปลาร้าตรา DeLorean ในที่สุด รัฐบาลอังกฤษก็อยู่ในอารมณ์เหมือนเด็กที่ตัดสินใจ
ทุบกระปุกหมูทิ้งเพื่อเอาเงินไปซื้อ GAME BOY มา พวกเขารู้สึกดีกับมัน

แต่ความรู้สึกดีนั้น ก็ถูกรุมล้อมเอาไว้ด้วยความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงอย่างบอกไม่ถูก
วันนี้ทุกอย่างอาจจะดี แต่ไม่แน่ใจเลยว่าสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไปนั้นจะมีผลอย่างไรต่ออนาคตหรือไม่

ส่วนทางเปอร์โตริโก้นั้น ก็พยายามจะคว้าโอกาสเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่พวกเขาใช้เวลาคิด
นานกว่าอังกฤษจึงตอบสนองช้าไม่ทันใจ John เพราะในเวลาที่คณะตัวแทนจากเปอร์โตริโก้ตั้งใจ
จะบินมาเจรจาจับมือกันนั้น John ก็บินไปรับเงินจากอังกฤษแล้ว และพวกเขาก็รู้เรื่องนี้หลังจาก
ข้อตกลงได้รับการลงนามผ่านไปแล้ว 3 วัน

Chapter 4 – มองยอดเขา ไม่ง่ายเท่าปีนเขา

รัฐบาลอังกฤษอนุมัติเงินลงทุนก้อนแรกมาแล้ว 53 ล้านปอนด์..พร้อมกับเงื่อนไขว่าสำหรับ
DMC-12 90,000 คันแรกนั้น ต้องจ่ายเงินคืนกลับให้รัฐบาลคันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับ
รถแต่ละคันที่ขายได้ ส่วนคันที่ 90,001 เป็นต้นไปก็ยังต้องจ่ายอยู่ แต่ลดลงประมาณ 3-4 เท่า

มีหลายเสียงทั้ง จากทั้งประชาชนผู้เสียภาษีชาวอังกฤษ และฝ่ายค้านว่ามันเป็นการลงทุนที่
มีความเสี่ยง ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า และเป็นการเอาภาษีประชาชนมาถลุงอย่างไม่เข้าท่าที่สุด
เพราะด้วยเงินทุนดังกล่าวนั้นมูลค่าสูงมากเท่ากับการบอกให้คนอังกฤษทุกคนยื่นเงินให้
กับบริษัทของ DeLorean คนละ 1 ปอนด์..หรืออาจจะมากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ

John เพียงแต่ตอบเรื่องนี้ออกสื่อว่า “ผมเอาโรงงานมาตั้ง ผมทำให้ผู้คนมีงาน รถของเราขายได้ดี
จนผลิตส่งไม่ทัน แล้วแต่ละคันก็ยังจ่ายเงินคืนกลับให้รัฐบาลอีกด้วย แม้กระทั่งตอนที่ผมจ่าย
เงินลงทุนคืนรัฐบาลหมด หาก DeLorean ยังขายได้ ผมก็ยังจะจ่ายค่าธรรมเนียมต่อคันต่อไป
เห็นไหมครับว่ามันเป็นผลดีในระยะยาว ยังไม่นับเรื่องการสร้างานอีก ผมทำได้ขนาดนี้แล้วคุณคิด
ว่า British Leyland จะทำให้คุณได้เหมือนกันหรือเปล่าล่ะครับ”

เป็นการตอกกลับที่จุกอกสิ้นดีสำหรับชาวอังกฤษ

รถในฝันของ DeLorean เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และในจุดหนึ่งของช่วงนี้ ชื่อรุ่นรถจากเดิม
ซึ่งเคยตั้งเอาไว้ว่า Z Tavio ก็ถูกเปลี่ยนเป็น DMC-12 ซึ่งแม้จะหาข้อมูลไม่ได้ว่าเปลี่ยนเพราะอะไร
และเปลี่ยนเมื่อวันที่ เดือน ปีอะไร แต่ก็ทราบจากหลายแหล่งพูดตรงกันว่าตัวเลข 12 นั้น
มีความหมายแค่เพียงว่า “Twelve Thousand Dollars หรือ 12,000 ดอลลาร์” ใช่..ถูกเผงครับ
มันคือราคาที่ John Z. DeLorean ตั้งใจจะขายรถของเขาให้กับมวลมหาประชาชนคนอเมริกัน

แต่ก่อนจะขายได้ ต้องสร้างโรงงาน ต้องสร้างไลน์ประกอบ และพัฒนารถให้เสร็จก่อน
และความซวยอยู่ตรงที่ “ผมจะทำให้ได้ภายใน 18 เดือน” ที่ John ไปสัญญากับรัฐบาลอังกฤษ
เอาไว้ โดยที่ในเวลานั้นบริษัท DeLorean Motor Company มีรถต้นแบบกับผู้บริหารและ
พนักงานจำนวนไม่มากนัก คุณลองคิดดูเถิดครับว่าในสมัยนั้น แผ่นดิสก์จุไม่ถึง 1 MB
สื่อสารกันด้วยจดหมาย โทรศัพท์ และ TELEX คอมพิวเตอร์ยังไม่พัฒนา ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้
บริษัทรถใหญ่ๆอย่าง BMW, Mercedes-Benz หรือค่ายอื่นๆจะพัฒนารถขึ้นมาสักรุ่นยังต้องการ
เวลานานกว่า 4 ปีเลย นับประสาอะไรกับ DeLorean ที่จะใช้เวลาแค่ 1 ปีครึ่ง?!?

ผมขี้เกียจโดนควินน์ด่าหลายรอบ จึงเริ่มอ่านเรื่องเกี่ยวกับ “การก่อตั้งและขั้นตอนการสร้างรถ”
จากหนังสือของ Nick Sutton มากขึ้นจากเดิมที่รู้เรื่องแค่เกี่ยวกับตัวรถอย่างเดียว ความเข้าใจที่
มีต่อการสร้างรถสักคันจึงเพิ่มขึ้น และในกรณีของ DeLorean ทุกอย่างจะต้องเริ่มพร้อมๆกัน

เรื่องแรกคือการสร้างโรงงานก่อน โดยสถานที่ซึ่งพวกเขาได้เลือกอยู่ในเมือง Dunmurry
ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรุง Belfast อันปกคลุมด้วยท้องฟ้าสีเทาหม่นเกือบตลอดทั้งปี
อากาศเย็นชื้นและฝนตกบ่อย สถานที่ตั้งของโรงงานนั้นก็เคยมีโรงงานเก่าของบริษัทเบลเยียม
ชื่อ Ferenka

“ในหนังสือนั่นเขาบอกหรือเปล่าว่าบริษัท Ferenka ปิดตัวลงเพราะ MD ของพวกนั้นโดน
IRA ลักพาตัวไป แต่ดีว่าไม่ตายนะ รอดกลับมาได้ก็หอบข้าวของหนีแล้ว?
ยังดีกว่าเรื่องที่เกิดกับโรงงานเยอรมัน Grundig ที่ผู้อำนวยการโรงงานโดนตีหัวแล้วลักตัว
ไปจากบ้านด้วย” ควินน์สอดเข้ามา

“บอก และผมกำลังจะเขียนอยู่แล้วจนคุณพูดเนี่ยล่ะ”
“อ่อ โอเค คุณควรจะบอกคนอ่านของคุณด้วยว่า สมัยนั้น IRA รู้แผนการเรื่องการเอาธุรกิจ
มาฟื้นฟูท้องถิ่น กับเรื่องอัตราการว่างงาน ดังนั้นเป้าหมายที่พวก IRA มักจ้องเล่นงาน
ก็คือพวกนักธุรกิจ เจ้าของกิจการเนี่ยล่ะ บางคนโดนหนักสุดก็สตาร์ทรถแล้วก็บึ้ม..
ไม่ได้มีโอกาสเห็นหน้าลูกเมียอีกเลย”

นอกจากเรื่องชวนหวั่นจิตอย่างที่ควินน์บอกไปนั่นแล้ว โรงงานยังมีทำเลสุดแสนจะน่ารัก
เพราะว่าตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ชุมชนที่มีความเชื่อทางศาสนาและการเมืองต่างกัน
สองชุมชนนี้อยู่ห่างกันแค่ราวครึ่งไมล์ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ตรงกลางทาง ชุมชนแรกคือพวก
Twinbrook ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวคอทอลิกที่เข้าข้างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ส่วนอีกฝั่งก็คือ
ชุมชน Seymour Hill ซึ่งเป็น Loyalist โปรเตสแตนท์ทั้งนั้น แต่วินาทีนี้ John ถอยหลังไม่ได้แล้ว
ยังไงหนนี้ก็ต้องผ่านศึกให้ได้ พิธีตอกหมุดเริ่มการก่อสร้างโรงงานเริ่มต้นขึ้นในวันที่
2 ตุลาคม 1978 ท่ามกลางทีมผู้บริหารจาก DoLorean อเมริกา แขกผู้มีเกียรติ นักการเมือง
และ..กลุ่มผู้ประท้วง..เพราะพอดีในวันนั้นมีการประท้วงย่อมๆเกิดขึ้นรอบโรงงาน แต่การมาถึง
ของ John DeLorean ทำให้หลายคนแอบวางป้ายประท้วงมาดูโฉมหน้าของนักลงทุนรายใหม่
แต่ในตอนท้าย ภรรยาวัย 28 Cristina Ferrare ในชุดสีครีมกลายเป็นดาวดวงเด่นที่จับสายตา
ของทุกคนในขณะที่เธอย่ำเท้าที่สวมบูทราคาแพงลงไปบนดินโคลนบริเวณโรงงานอย่างไม่กลัว
เสียของ เมื่อนักข่าวถามว่า “ไม่กลัวรองเท้าเลอะหรือ” เธอก็หัวเราะ โปรยยิ้ม แล้วย่ำเท้าต่อไป
สร้างความรู้สึกในแง่บวกให้กับหลายคนที่ได้พบ

เมื่อโรงงานเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ทีนี้ก็เรื่องกำลังคน John DeLorean นั้นนับว่าได้โอกาสแบบส้มหล่น
เพราะในช่วงนั้น Chrysler กำลังอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติ เจ๊งไม่เป็นท่า มีการปลดผู้บริหารหลายต่อ
หลายคน อีกทั้งยังต้องถอนตัวออกจากการทำตลาดยุโรปตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ
John ก็ทำตัวเป็นเครื่องดูดฝุ่นไปดูดเอาคนเหล่านี้มาเป็นพรรคพวก โดยที่ไม่ต้องเสียเวลา
หาจากไหนนาน

Eugene Cafiero ได้ตำแหน่งเป็นประธานบริษัท DeLorean Motor Company เขาคนนี้เดิมที
ก็เป็นประธาน Chrysler มาก่อน เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นเดียวกับ
John DeLorean ในช่วงปี 1979 เขาถูกแทนที่โดย Lee Iacocca และถูกลดขั้นลงมาเป็น
รองประธานแทน เมื่อบวกสิ่งนี้เข้ากับคำเชื้อเชิญของ John ด้วยเงินตอบแทนต่อปี 375,000
ดอลลาร์ กับเงินชดเชยค่าโบนัสที่ชวดจาก Chrysler อีก 164,000 ดอลลาร์ เขาก็ตัดสินใจมา
ทำงานกับ DeLorean

Myron Stylianides คนนี้ก็เป็นผู้บริหารเก่าจาก Chrysler ยุโรป ซึ่งมารับงานบริหารทรัพยากร
บุคคล งานสำคัญของเขาก็คือคิดโครงสร้างองค์กร และเสาะหาว่าจ้างพนักงานในหลายตำแหน่ง
ตั้งแต่ตำแหน่งระดับท้อปสุด ไปจนถึงระดับหัวหน้าหน่วย (Supervisor) ซึ่งวิธีการร่างผังองค์กร
ของเขาก็คือ ยืมผังองค์กรของ Chrysler มาใช้ทั้งดุ้นแล้วหาคนมาเสียบตำแหน่งต่างๆ และแน่นอน
ว่าหลายคนที่ดูดมาเป็นพวกนั้นก็มาจาก Chrysler ส่งผลให้ในเวลาต่อมา เกิดเป็นกลุ่มคน
ที่เรียกว่า Chrysler Mafia ภายในองค์กร ซึ่งมักจะทำตัวเป็นสายลับสองหน้า แอบโทรไปตอด
ขอข้อมูลหรือวิธีการแก้ปัญหาต่างๆจากบรรดาเพื่อนที่ยังทำงานใน Chrysler อยู่เนืองๆ

Charles K. Bennington (Chuck Bennington) ถูกจ้างมาเป็น MD ของ DeLorean Motor Cars
Limited (DMCL) Chuck เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของประธาน Chrysler ยุโรป เคยมีส่วนในการ
ก่อตั้งและวางแบบแผนโรงงานประกอบรถยนต์มาแล้วหลายแห่ง เขาเป็นแรงสำคัญในการ
ขับเคลื่อนและตรวจสอบความก้าวหน้าของส่วนต่างๆของโรงงาน อีกทั้งเมื่อโรงงานสร้างเสร็จก็ยัง
คอยวิ่งไปๆมาๆระหว่างโรงงานและ Lotus ที่ Hethel เพื่อประสานงานเรื่องการวิจัยพัฒนาตัวรถ
อีกด้วย เขาอายุแค่ 40 กลางๆ แต่การที่ไว้เคราทำให้เขาดูเป็นมนุษย์ลุงกว่าใคร

Barrie Wills เป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อ คนนี้เป็นเจ้านายประเภทพูดไม่น้อย และต่อยโคตรหนัก
เป็นผู้บริหารระดับสูงที่อายุน้อยที่สุดในบรรดามาเฟียทั้งหมด (อายุแค่ 37 ปี ในวันที่เข้าทำงาน)
มีบุคลิกที่ไม่ยี่หระต่อการต่อรองของใครและมีสภาพอารมณ์ที่เหมือนลาวาปะทุ แต่ความแรง
ของเขาก็มีประโยชน์กับองค์กรในหลายโอกาสเพราะเป็นคนที่ทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จ

Dixon Hollinshead ..คนนี้มาจากอเมริกาตามคำเชิญของ Dick Brown เพื่อมาช่วย Chuck
Bennington ดูแลการสร้างอาคารต่างๆ เขาคือผลิตผลจากความซวยอย่างหนึ่งที่ในวันที่
มาถึงไอร์แลนด์เหนือนั้น Dixon ถูกเชิญมาเพื่อดูแลการปรับแต่งอาคารเก่าของ Ferenka
จากโกดังให้เป็นสำนักงาน แต่พอวันที่เข้าประชุมกับทาง NIDA พ่อเทพบุตร John DeLorean
กลับบอกทางนั้นว่าเอา Hollinshead มาดูแลการสร้าง “ทุกอาคาร” ในโรงงาน แม้จะตกใจ
แต่คนร่างยักษ์ใจใหญ่กว่าภูเขาอย่างเขาไม่มีคำว่าถอยอยู่แล้ว Dixon ยังมีวิธีการแก้ปัญหา
แบบพิสดารแต่ได้ผล ยกตัวอย่างเช่นต้นปี 1979 เมื่อพื้นที่บริเวณโรงงานถูกปรับผิวหมดแล้ว
เหลือแต่ตรงกลาง..ซึ่งมีต้น Faery Tree อันเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวไอริช (เทียบกับบ้านเรา
ก็คงประมาณต้นกล้วยตานีหิ้วหวีไปหิ้วหวีมา) ไม่มีใครกล้าแหยมเพราะเชื่อว่าใครก็ตามที่โค่น
ต้นไม้นี้ลงจะต้องประสบภัยต่างๆนานา Dixon แก้ปัญหาโดยป่าวประกาศว่าเขาฝังเงิน 200
ปอนด์เอาไว้ใต้ต้นไม้นั้น ใครโค่นต้นไม้นั้นได้ก็เอาไปเลย..พอรุ่งขึ้นต้นไม้หายเรียบ

ณ จุดนี้ผมเริ่มสงสัยในสิ่งที่สงสัยมานานอย่างหนึ่ง ในเมื่อมี DeLorean Motor Company แล้ว
ทำไมจู่ๆจึงต้องมี DeLorean Motor Cars Limited (DMCL) โผล่มาอีก

ต้องใช้บริการควินน์สักหน่อย..

“DeLorean Motor Company คือตัวบริษัทใหญ่ที่ John ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1975 ไง ส่วน DMCL
นั่นคือตัวโรงงานผลิตที่อยู่ใน Dunmurry จดทะเบียนในอังกฤษเพื่อสิทธิประโยชน์ทางด้าน
ภาษีกับการติดต่อทำมาค้าขายในท้องถิ่น แยกส่วนกันให้ชัดเจน นี่ยังไม่นับ DeLorean Research
Partnership ที่ตั้งแยกไว้อีกอันสำหรับพวกผู้ลงทุนที่อเมริกาอีกนะ” ควินน์ตอบ

นอกเหนือจากเรื่องผู้บริหารแล้ว เรื่องตัวรถก็มีความก้าวหน้าเพิ่มเติม John DeLorean
ลงนามในสัญญากับ Colin Chapman จาก Lotus ในการว่าจ้างให้ดูแลขั้นตอนด้านวิศวกรรม
ของ DeLorean โดยร่วมมือกับทีมวิศวกรเดิมในการพัฒนาตัวรถ ทาง Lotus มีเวลาน้อยพอๆ
กับที่ John มีคือ 18 เดือน และงานทั้งหมดต้องเสร็จ การเซ็นต์สัญญาบรรลุผลในเดือน
พฤศจิกายนปี 1978 โดยบริษัท DMCL ที่ไอร์แลนด์เหนือจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าวิจัยและพัฒนา
ให้กับ Lotus ผ่านตัวกลางเป็นบริษัทการเงินจากปานามา ซึ่งมีสาขาอยู่ในกรุง Geneva ชื่อ
บริษัท GPD

ช่างน่าสงสัยมากว่าทำไมบริษัทในไอร์แลนด์เหนือ ต้องจ่ายเงินที่มาจากรัฐบาลอังกฤษให้กับ
บริษัทรถยนต์อังกฤษโดยผ่านบริษัทปานามาที่ Geneva..แต่ปริศนาทั้งหมดอาจเกี่ยวข้องกับเรื่อง
ที่ Colin Chapman เคยให้ John ไปคิดวิธีจ่ายเงินแบบที่ไม่ต้องโดนหักภาษีมากๆเอาไว้
แน่นอนว่าพอทำแบบนี้ ก็มีพรรคฝ่ายค้านอังกฤษรู้ และพยายามเล่นประเด็นนี้ แต่ผล
ปรากฏออกมาว่า “รัฐบาลมีหน้าที่อนุมัติงบและสอดส่องการใช้จ่าย ส่วนวิธีการที่ใช้ในการ
จ่ายเงินนั้น..ริวจะไม่ขอยุ่ง”

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1979 ทาง Lotus ก็เริ่มลงมือทำงานอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับทีมงาน
DMCL และเริ่มพบอุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะรถคันต้นแบบของ Bill Collins ที่ทำมานั้น
เป็นรถที่ทำมาโชว์จริงๆ ไม่สามารถแสดงขีดความสามารถอย่างที่รถสปอร์ตควรจะเป็นออกมาได้
อีกทั้งยังมีปัญหากับเรื่องโครงสร้างและความปลอดภัยที่น่ากังขา มันเป็นไปตามที่ Colin Chapman
เคยพูดเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า “รถแบบนี้เอามาผลิตจริงไม่ได้หรอก John คุณต้องให้พวกเราทำมัน
ใหม่ทั้งหมด” ซึ่งนับจากปลายปี 1978 ที่น้าหนวดลั่นวาจาไว้ รูปแบบของรถก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป
จากเดิมมากจนเรียกได้ว่ามีแต่ความคล้ายในภายนอก อย่างอื่นแทบไม่เหมือนกันเลย

ทาง Lotus เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดย Mike Kimberley เป็นเบอร์สองภายใต้ Colin Chapman
ที่ช่วยดูแลโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนด ส่วน Colin Spooner ก็เป็นคนที่รับหน้าที่หัวหน้าทีม
พัฒนา DeLorean พวกเขาจะทำงานกันที่โกดัง 6 ในฐานทัพอากาศ Hethel ซึ่งปิดเป็นความลับ
ชนิดที่พนักงาน DeLorean เองรวมถึงทีมงานของ Bill Collins ผู้เป็นพ่อของรถต้นแบบคันแรกยัง
ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้า

Bill Collins รู้สึกไม่พอใจ กับบทบาททางวิศวกรรมที่ถูกเทไปให้ Lotus มากขึ้น และจำนวน
ทีมงานชาวอเมริกันของเขาก็เริ่มถูกดึงตัว หรือถอยห่างออกจากการพัฒนา DMC-12 มากขึ้น
ทีมบริหาร DMCL ไปบอกพวก Lotus เอาไว้ว่า “ถ้าเป็นเรื่องวิศวกรรม ให้ถามและรับคำสั่งจาก
John DeLorean เท่านั้น ส่วนทีมวิศวกร US นั้นแค่ขอให้ทาง Lotus ต้อนรับขับสู้ให้ดีหน่อยก็พอ ”

เมื่อถูกลดความสำคัญลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่เป็นคนแรกที่บากบั่นปั้นรถคันต้นแบบคันแรกให้
John แท้ๆ Bill Collins จึงกลายเป็นสมาชิกสำคัญคนแรกของบริษัท DeLorean ที่ยื่นซองขาว
ลาออกไปอยู่กับ Amercian Motors Corporation แทน

1 คนจากไป หน้าใหม่ก็เข้ามาเหมือนกัน Mike Loasby ซึ่งเป็นอดีต MD จาก Aston Martin
Engineering ซึ่งเป็นคนพัฒนาโปรเจคท์ Lagonda เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่าย
วิศวกรรมประจำบริษัทตั้งแต่ต้นปี 1979

เดือนพฤศจิกายน  โรงงานเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น อาคารบางส่วนเปิดใช้ได้แล้วโดยเฉพาะ
บริเวณสำนักงาน ขอให้คุณนึกภาพตามว่าโรงงาน DMCL นั้นเป็นอาคารใหญ่ที่ตั้งอยู่บนที่ราบ
ขนาบด้วยชุมชนคู่อริ เมื่อคุณนั่งรถมาถึงบริเวณหน้าโรงงาน จะมีป้อมยามขนาดใหญ่พร้อมกับ
ไม้กั้น รถทุกคันจะต้องผ่านการตรวจสอบในห้องโดยสารและเปิดท้ายรถ (เพราะคาร์บอมบ์
เป็นเรื่องปกติของ Belfast) เมื่อขับเข้ามาแล้วก็จะพบส่วนหน้าสำนักงาน ซึ่งเป็นอาคารขนาด
ไม่โตนัก (เป็นโกดังเก่าของ Ferenka ที่ปรับปรุงภายในใหม่) เมื่อรถเลี้ยวเข้ามาจอดหน้าสำนักงาน
ก็เดินลงไปเข้าประตู ที่ประตูนั้นมองเข้าไปก็จะมีบันไดขนาดใหญ่ที่แขวนภาพรถต้นแบบ
เอาไว้..อันที่จริงไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนในสำนักงาน..ห้องประชุม ทางเดิน โรงอาหาร
ห้องน้ำ เหนือโถปัสสาวะ ก็จะมีแต่รูปรถคันนี้เต็มไปหมด ส่วนใครที่ไม่สนเรื่องรถ ก็อาจจะแวะคุย
กับสาวน้อยที่นั่งเฝ้าอยู่ที่โต๊ะ Reception ใต้บันไดใหญ่นั่น

“โฮะ โฮะ..ไม่แปลกหรอก” ควินน์บอก “ธรรมดาซะทีไหนเล่าครับ DMCL ไปจ้างนางงาม
Beauty Queen แห่ง Belfast มาเป็นพนักงานต้อนรับเลยนะ หนุ่มๆในสำนักงานน่ะ
เวลาพักเหนื่อยก็เดินไปเอากาแฟที่ห้องอาหาร แล้วเดินย้อนมาหลีนางงามใต้บันได
จะนับว่าเป็นชมรมหมามองเครื่องบินขนาดย่อมๆก็ว่าได้”

พนักงานแต่ละคนนั้นในช่วงแรกมักจะมีสิทธิ์เลือกห้องแต่ละห้องได้ถ้ายังเหลือว่างอยู่
บางคนซวยหน่อยก็ได้ห้องเล็กที่เป็นหลืบใต้บันได (คนละบันไดกับที่สาวงามนั่งอยู่)
ส่วนคนที่โชคดีก็มักจะได้ห้องที่ใหญ่โต มีไฟฟ้าทั่วถึง ชั้นล่างของอาคารสำนักงาน
มีห้องพักดื่มกาแฟให้ไปคลายเครียดกันได้เรื่อยๆ ไม่มีห้องสูบบุหรี่เพราะในยุค 70-80s
นั้นไม่มีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวด บางทีนั่งๆประชุมกันอยู่ ใครนึกจะดูดก็จุดดูดกันเลยตรงนั้น
อย่างไรก็ตามกฎข้อบังคับที่ทุกคนถูกย้ำเตือนอยู่เสมอก็คือ

“คุณกำลังอยู่ในเมือง Belfast ดังนั้น..จงจำไว้ว่าอย่าเที่ยวไปยืนใกล้ๆหน้าต่าง”..โดยเฉพาะ
เมื่อ IRA รับรู้ถึงการมาของ DeLorean Motor Cars Limited และแผนการต่างๆแล้ว

ในช่วงเวลานี้ ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายบริหารจัดการชิ้นส่วนประกอบรถก็เริ่มทำงานกันมาเกือบปี
และเป็นงานที่วุ่นวายในระดับที่น่าสงสารอย่างหนึ่งเพราะต้องเลือกผู้ผลิตให้กับชิ้นส่วนของรถ
ทั้งคันไม่ว่าจะเป็นมาตรวัด คอนโซล เบาะ หนังที่หุ้มภายใน ไฟหน้า ไฟเลี้ยว เครื่องยนต์ หลอดไฟ
กระจก กระจกมองข้างและอื่นๆอีกมากมาย Nick Sutton อดีตพนักงานฝ่ายจัดซื้อ
DMCL เล่าให้ฟังไว้ในหนังสือ THE DE LOREAN STORY-THE CAR, THE PEOPLE,
THE SCANDAL ว่า

“พวกเขาให้ภาพรถต้นแบบมาคันนึง กับรูปของเครื่องและเกียร์ Renault และโครงสร้างตัวถัง
แบบ VARI ปกติผมเคยทำประเมินราคาชิ้นส่วนมาเยอะแล้ว แต่อย่างน้อยก็มีอะไรให้ผมมาก
กว่าแค่รูปภาพไม่กี่ใบ เมื่อผมถามผู้บริหารว่าขอดูรถตัวจริงเลยได้มั้ย ก็ได้รับการปฏิเสธ
โดยบอกแค่ว่า รถต้นแบบยังไม่สามารถเผยโฉมได้ในขณะนี้ แล้วนอกจากนั้นในวันต่อมาพวกเขา
ก็เอารถโมเดลพลาสติก 1:30 ของ Lotus Esprit ให้ผม แล้วบอกให้ผมประกอบมันขึ้นมา
แล้วก็ทำการประเมินค่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นไปในขณะที่ประกอบโมเดลนั่น”

ใครจะไปนึกว่าในยุคนั้นวิธีการประเมินต้นทุนจะมีรูปแบบที่ง่ายจนคาดไม่ถึงอย่างนี้

แต่คำว่าง่ายคงไม่เหมาะสมนัก เพราะเมื่อได้ราคาประเมินของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาก็ต้อง
ไปเดินสายคุยกับบรรดาซัพพลายเออร์ว่าให้จะให้ราคาดีที่สุด หรือที่ใดมีความเหมาะสมที่สุด
และในบางครั้งก็ไปเจอตอ หรือกับดักที่เจ้านายใหญ่อย่าง John DeLorean วางเอาไว้โดยที่
พนักงานในฝ่ายก็ไม่ได้ทราบเรื่องล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์ แม้จะมีตัวเลือกต่างๆ
มากพอสมควรในสายตาของแผนกวิศวกรรมและทางฝ่ายอื่นๆ John กลับแอบไปทำดีลกับทาง
Renault เพื่อให้ผลิตเครื่องและเกียร์ส่งให้ DeLorean โดยข้อตกลงนี้ถูกลงนามไปตั้งแต่
ต้นปี 1978 ก่อนที่จะได้เงินอนุมัติจากรัฐบาลอังกฤษด้วยซ้ำ เหตุผลก็คือเครื่อง PRV V6
ที่ผลิตโดยโรงงาน Douvrin และเกิดจากการร่วมมือของ Peugeot, Renault, Volvo นั้น
มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่อง Ford Cologne V6 และทางนั้นก็คิดค่าเครื่องรวมเกียร์มาแค่
1,200 ปอนด์ต่อชุด แถมยังมีดีตรงเครดิตได้ 120 วัน รับของเสร็จค่อยจ่าย 4 เดือนให้หลังก็ได้

วัตถุดิบสแตนเลสที่จะเอามาใช้ทำเปลือกนอกของรถก็เป็นหนึ่งในนั้น ฝ่ายจัดซื้อแทบ
อกอีแป้นแตกเมื่อรู้ว่า John แอบไปคุยกับผู้ผลิตสแตนเลสที่บราซิลไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ
แต่โชคดีที่ผู้บริหารทั้งหลายสามารถยกจุดอ่อนมาอภิปรายได้ว่าราคาสแตนเลสอาจจะถูก
แต่ค่าขนส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมานั้นจะทำให้มันไม่คุ้มค่า Barrie Wills สามารถจูงใจ
บรรดา Chrysler Mafia ให้เห็นด้วยในเรื่องนี้ (เด็กมหาลัยที่คิดเลขเป็นและอ่านข้อมูลเป็น
ก็คงจะเห็นด้วยเช่นกัน) John จึงต้องยอมให้หาซัพพลายเออร์รายอื่นที่มีโรงงานอยู่ใกล้กว่า

นอกจากเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอะไหล่ที่ต้องเจรจากันหลายต่อหลายรอบแล้ว
ปัญหาที่เกิดจากการเร่งรีบพัฒนารถให้ทัน 18 เดือนก็คือ บางครั้งเจรจาจบแล้ว ลงนามสัญญา
เป็นที่เรียบร้อย แต่ฝ่ายพัฒนารถกลับบอกว่าชิ้นส่วนบางชิ้นมีการเปลี่ยนแปลง และส่งผลถึง
การเปลี่ยนชิ้นส่วนอื่นๆให้รับกันไปด้วย ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อต้องไปยกเลิก หรือเจรจาให้
ซัพพลายเออร์เปลี่ยนลักษณะของชิ้นส่วนนั้นๆให้เข้ากับความต้องการของทีมวิศวกรรม

เมื่อมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนแต่ละครั้ง นอกจากจะกระทบฝ่ายจัดซื้อแล้ว ฝ่ายประกอบรถยนต์
ก็ต้องร่วมมือกับฝ่ายบริหารจัดการชิ้นส่วนเพื่อจัดทำเอกสารใหม่ทั้งหมด ร่วมถึงคู่มือวิธีการ
ประกอบชิ้นส่วนต่างๆที่เตรียมไว้ให้พวกพนักงานในไลน์ประกอบ เอกสารแจ้งยอดทางการเงิน
และอื่นๆอีกมากมาย ก็ต้องถูกเปลี่ยนตามไป หลายต่อหลายครั้งที่มดงานในองค์กรทำมา
อย่างเหน็ดเหนื่อยก็กลายเป็นกระดาษเช็ดก้นในวันต่อมาเพราะมีการเปลี่ยนชิ้นส่วน และ
เท่าที่ทราบมานั้น พวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแค่สิบครั้ง แต่อาจจะแทบทุกสัปดาห์เลยก็ว่าได้

นอกจากจะทำงานหนักแทบไม่มีวันหยุดพักแล้ว ยังมีเรื่องให้ปวดหัวอีก เพราะในช่วงปลายปี
1979 นั้น หนังสือชื่อ “One a Clear Day You Can See General Motors” ได้ออกวางจำหน่าย
มันคืองานเขียนของ J.Patrick Wright ซึ่งสัมภาษณ์ John DeLorean แล้วเอามาเขียนต่อ
หนังสือดังกล่าวนั้นวิจารณ์การทำงาน การเมืองและทัศนคติในแง่ลบจากที่ John เคยได้สัมผัส
สมัยทำงานอยู่ GM โดยเฉพาะประโยคที่ John พูดว่า

“ผมรู้สึก..ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ (ที่ GM) นั้น มันอาจเป็นแค่การโกหกคำโต หลอกลวงผู้บริโภค
ชาวอเมริกันโดยสัญญาว่าจะทำรถใหม่มาให้พวกเขาใช้ แต่กลับเอารถเดิมมาเปลี่ยนแปลง
แค่สิ่งที่เคลือบย้อมอยู่ภายนอก”

ถ้าคุณกำลังเดาอย่างที่ผมคิด..ถูกครับ..ซัพพลายเออร์ระดับหัวแถวหลายรายที่ทาง DeLorean
กำลังจะทำธุรกิจด้วยนั้น..เป็นบริษัทลูกหม้อของ GM ฝ่ายจัดซื้อและพวกที่ดูแลเครือข่าย
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอยู่หลายคนเอามือก่ายหน้าผากอย่างไม่เป็นท่า บางคนถึงกับสรรเสริญ John
ด้วยวาจาว่า “หุบปากแล้วอยู่เฉยๆบ้างไม่ได้หรือไงวะ”

หลายคนที่มองบริษัทรถยนต์จากภายนอกอย่างผิวเผินจะนึกว่าการจัดหาแต่ละสิ่งอย่างมาให้
บริษัทนั้นไม่มีอะไรมากกว่าการดูของ เทียบของ คุยราคา แล้วเซ็นสัญญา..พวกคุณควรรู้ไว้ว่า
ทุกอย่างที่ทำงานในองค์กรนั้น “เชื่อม” ถึงกัน และการกระทำของอีกคนก็สามารถไปเป็นภาระงาน
ให้กับคนอีกหลายสิบได้อย่างไม่รู้ตัว การมองคนทำงานอย่างหนึ่ง ก็เหมือนกับการยืนมองยอดเขา
มันดูง่ายที่จะไปอยู่ตรงนั้น..แต่การลงมือปีนเขาเองนั่น มันก็อีกเรื่อง คนที่ตระหนักถึงความลำบาก
จุดนี้ได้ ต้องเป็นคนที่เคยไปปีนมาแล้วเท่านั้น และทีมมดงานของ DeLorean ที่ไอร์แลนด์ก็กำลัง
สละวันหยุดและชั่วโมงพักผ่อนที่ตัวเองมีเพื่อปีนเขาลูกนี้อยู่

และในจุดที่หลายคนคิดว่ากำลังปีนเขาได้ครึ่งลูกแล้ว..อันที่จริงพวกเขายังอยู่ที่ตีนเขาเท่านั้นเอง

Chapter 5 – กว่าจะกางปีกบิน

ในปี 1978 เมื่อ Colin Chapman และทีมวิศวกรพบข้อบกพร่องในรถต้นแบบเวอร์ชั่นของ
Bill Collins หลายประการ รวมถึงมีข้อเสนอแนะทางด้านโครงสร้าง ซึ่งนั่นหมายถึงการ
รื้อทำใหม่ตั้งแต่ศูนย์ ซึ่งก็ทำให้ John คิดหนักพอสมควรเพราะก่อนหน้านี้ เขาได้จ่ายเงิน
เพื่อซื้อสิทธิบัตรโครงสร้างแบบ ERM มาเพื่อเตรียมใช้กับ DeLorean อยู่แล้ว

แล้ว ERM คืออะไร?
“ก็คือโครงสร้างไง” ควินน์ตอบ
“กูรู้..แต่ช่วยอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆได้มั้ยเล่า”

“เอางี้นะ.. ERM ย่อมาจาก Elastic Reservoir Moulding ..เขาเอาโฟมยูรีเธนไปฉีดสอดไว้ตรงกลาง
ระหว่างไฟเบอร์กลาสสองแผ่นน่ะนะ ที่นี้ก็เอาไปปั๊มขึ้นรูป มันก็จะได้เป็นโครงสร้างรถส่วนล่าง
หรือ Underbody นะ…จากนั้นก็เอาซับเฟรมโลหะไปติดด้านหน้าและด้านหลัง จะได้ใช้เป็นจุดยึด
ช่วงล่าง เป็นแท่นเครื่องและแท่นเกียร์ไปด้วย แค่นั้นแหละ”
“แล้วข้อดีคืออะไร”
“เบาดิ มันเป็นไฟเบอร์กลาสกับยูรีเธนนี่”
“แล้วข้อเสียล่ะ?”
“ข้อเสียคือมันใช้ไม่ได้ ก็เลยไม่ได้ใช้..ตอนที่เริ่มนัดพบกันใหม่ๆระหว่าง John กับน้า Colin Chapman
ก็มีบริษัทหนึ่งมาเสนอตัวช่วยทางด้านวิศวกรรม บริษัทนั้นก็คือ Grumman Aerospace จาก
อเมริกา”
ผมคุ้นๆชื่อ “ใช่ไอ้บริษัทที่สร้างเครื่องบินรบ F-14Tomcat ป่ะ?”
“ใช่แล้ว ..คนจาก Grumman มีวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุคกว่าที่อื่นๆในตอนนั้นนะ
นอกจากมาเสนอขายของแล้ว พวกเขายังช่วยวิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้โครงสร้าง ERM
พอวิเคราะห์เสร็จแล้วก็เอาผลมาให้ John กับน้า Colin ดู ..อ่ะ นี่ไง ERM ของมึง ดูสิ ลอง Simulate
การชนง่ายๆที่ความเร็ว 26 ไมล์/ช.ม.นั้น ซับเฟรมหลังจะพุ่งเข้ามาหาผู้โดยสารข้างเลย
แถมความเหนียวของโครงสร้างยังไม่ได้มาตรฐาน น้า Colin บอกว่าถ้าให้ใช้โครงสร้างแบบนี้
ทำรถ รับรองว่าวิ่งไม่ได้ เลี้ยวไม่ไป ดูไม่จืด”

แล้วทางแก้ของ Lotus คืออะไร?
“ก็เอาชิ้นส่วนที่ผลิตโดยขั้นตอน ERM ไว้ใช้กับเฉพาะกันชนส่วนหน้า แผ่นปิดตัวถังด้านหลัง
แผงหลังบริเวณทะเบียนอะไรทำนองนั้น แล้วก็ใช้ VARI Process ทำโครงสร้างรถแทน”
“อธิบายเพิ่มเติมหน่อย”

“VARI..ย่อมาจาก Vacuum Assisted Resin Injection เป็นกรรมวิธีการผลิตตัวถังโดยใช้
แม่พิมพ์หลักมาตั้งไว้ ทาแวกซ์กันไฟเบอร์ติดแม่พิมพ์ จากนั้นเอาไฟเบอร์กลาสในรูปวัตถุดิบ
ที่เป็นแผ่นๆอ่อนๆดูคล้ายผ้ามาคลี่วางลงไปให้ครบทั้งแม่พิมพ์ จากนั้นก็อัดกดและฉีดเรซิ่น
เข้าไปและใช้ความร้อนกับแรงดันเป็นตัวทำให้โครงสร้างนั้นแข็งเข้ารูป วิธีนี้ถ้าฟังแล้วคุ้นๆ
มันก็คือวิธีผลิตตัวถังไฟเบอร์กลาสของ Lotus Esprit นั่นล่ะ..อันที่จริง Lotus เชี่ยวชาญ
ขั้นตอนการผลิตไฟเบอร์กลาสแบบนี้มานานแล้ว เพราะพวกเขาก็มีกิจการสร้างเรือขนาดเล็ก
เหมือนกัน การใช้ไฟเบอร์วางเป็นแผ่นๆแล้วซ้อนชั้นเรซิ่นทีละจุดด้วยแรงงานคนนั้นกินเวลา
ดังนั้นพวกเขาจึงใช้วิธีปั๊ม ฉีด อัดแบบนี้แทนในการสร้างเรือ.. Chris-Craft บริษัททำเรือของ
Herb Siegel ก็ซื้อลิขสิทธิ์ไปใช้สร้างเรือในอเมริกา”

“รู้สึกว่า Lotus Esprit นี่คนออกแบบคนแรกก็ Giugiaro เหมือนกัน”
“ใช่ แกรับหลายเจ้า และไม่ใช่ทุกงานหรอกที่ออกมาสวย”

“แต่ไฟเบอร์กลาสอย่างเดียวจะแข็งแรงพอสำหรับพวกจุดยึดช่วงล่างกับเกียร์เหรอ” ผมถาม
“ก็ไม่” ควินน์ตอบ “ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ Backbone chassis หรือโครงสร้างกระดูกหลักที่
เป็นเหล็กกล้า เวลามองมันจากข้างบนก็เหมือนตัว Y 2 ตัวชนกัน ที่ Y ด้านหน้าจะมีถังน้ำมัน
วางไว้ตรงกลางกับจุดยึดช่วงล่าง ส่วน Y ด้านหลังก็เป็นแท่นเครื่อง แท่นเกียร์แล้วก็จุดยึด
ช่วงล่างหลัง”

“แต่ Esprit นั้นมีเปลือกนอกเป็นไฟเบอร์กลาสนะ ในขณะที่ DeLorean เป็นรถสแตนเลส?”
“ความต่างมันก็มีอยู่ DeLorean เอา VARI process มาใช้ทำส่วน Underbody สองชั้นล่าง
และหนึ่งชั้นบน ..คิดแบบง่ายๆนะ เอา Backbone มาเป็นตัวตั้ง แล้ววางแผ่น Underbody
ชั้น 1 ลงไป เดินระบบสายไฟและท่อน้ำมัน จากนั้นวางชั้น 2 ที่เป็นส่วนพื้นห้องโดยสาร
แล้วค่อยทำส่วนบนของโครงรถด้วยส่วนที่ 3 อีกที ทั้งหมดนี้เสร็จก็เอาชิ้นงานสแตนเลส
ติดตั้งลงไปบนตัวรถ นั่นล่ะคือวิธีการผลิตตัวถัง DeLorean แบบสั้นๆเข้าใจง่ายสุด”

ผมจำได้ว่า John อยากให้ใช้ผิวรถสแตนเลสเพราะไม่ต้องการให้เป็นสนิม แต่ในเมื่อโครงแกน
ของตัวรถทำมาจากเหล็ก มันจะไม่ขึ้นสนิมหรือ?

“ไม่ขึ้น เพราะตัว Backbone เหล็กทั้งชิ้นนั่นซีลอีพ็อกซี่เคลือบไว้ด้วยวิธีการแบบ Fusion แล้ว
ปัญหาอย่างอื่นน่ากลัวกว่าสนิมนะ” ควินน์พยายามจะสานเรื่องต่อไปอีกหัวข้อ
“ปัญหาอะไร”
“Lotus เก่งกาจเรื่องการสร้างรถด้วยวิธีที่กล่าวไปนี้จริง แต่..พวกเขาไม่เชี่ยวชาญการสร้างรถ
แบบทีละมากๆไง อย่างที่สร้าง Esprit ในช่วงกลางยุค 70s นั่นกำลังการผลิตตกอยู่แค่
วันละ 6 คัน แล้วคิดว่าจะทำยังไงให้ผลิตได้วันละ 80 คันตามที่ DeLorean วาดฝันไว้ล่ะ?”

โอเค..ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การดูแลของทีม Lotus จึงเกิดขึ้นจริงๆ
และนอกจากเรื่องกรรมวิธีการสร้างตัวถังที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็มีส่วนอื่นที่ต้องเปลี่ยนตามด้วย
เช่นกัน นั่นก็คือตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ จากรถคันต้นแบบซึ่งเป็นเครื่องยนต์วางกลางลำ
พอ John ต้องการใช้เครื่อง PRV จาก Peugeot/Renault/Volvo ซึ่งจัดซื้อคู่กับชุดเกียร์จาก
Renault ก็ทำให้ต้องย้ายตำแหน่งเครื่องมาวางไว้ด้านท้าย เพราะข้อจำกัดที่ว่า “เกียร์ต้อง
อยู่หน้าเครื่อง”  เพราะเครื่อง PRV ของ Renault เป็นเครื่องวางตามยาวขับหน้า พอเอามาวาง
หันกลับแล้วให้ใช้เกียร์เดิมได้โดยไม่รุกพื้นที่ห้องโดยสารมากนักก็ต้องย้ายตัวเครื่องไปวาง
ไว้ด้านท้าย

การใช้เครื่องวางหลัง ทำให้เนื้อที่หลังเบาะนั่งก็เพิ่มขึ้น สามารถวางของได้บ้างและมีที่ให้เอนได้บ้าง
ซึ่งจากการทำเซอร์เวย์สมัยอยู่ Detroit ก็ทำให้รู้ว่าลูกค้าอยากได้พื้นที่ภายในแบบนี้อยู่เช่นกัน
ปัญหาอย่างเดียวคือ Lotus ต้องปรับแก้ลักษณะช่วงล่างให้โครงสร้างสำหรับรถเครื่องวางกลางอย่าง
Esprit สามารถรองรับรถเครื่องวางหลังอย่าง DeLorean ได้ วิธีแก้อย่างหนึ่งที่เห็นชัดสุด
คือการใช้ล้อหลังที่มีขนาดโตและกว้างกว่าล้อหน้ามากเพื่อกันท้ายปัดนั่นเอง

ส่วนเครื่อง PRV เองนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นเครื่องที่มีบุคลิกสปอร์ตจ๋าอย่างที่ DeLorean ต้องการ
มันมีแรงม้าไม่ถึง 200 แรงม้าแน่ๆ และอันที่จริง น้อยคนนักจะรู้ว่าเครื่อง PRV V6 นั้นแท้จริง
แล้วในตอนแรก Peugeot กับ Renault สร้างมันให้ออกมาเป็นเครื่อง V8 แต่เนื่องจากปี
1973 มีวิกฤติการณ์น้ำมัน ทำให้ต้องตัดสินใจลดความจุโดยตัดลูกสูบออก 2 ลูก นอกจากนั้น
มันยังไม่ใช่เครื่องที่ปลอดปัญหาทำตัวน่ารักขนาดนั้น ในยุคแรกๆที่ออกมา ท่อทางเดินน้ำมันเครื่อง
มีขนาดเล็กมาก เมื่อใช้ไปนานๆแล้วมีสิ่งสกปรกอุดตันทำให้น้ำมันเครื่องไม่สามารถหล่อลื่น
ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บางครั้งก็ถึงขนาดทำให้เกิดความร้อนสูงและเครื่องสึกหรอหรือพัง
นี่คือปัญหาที่มักพบใน PRV 2.7 ลิตรล็อตแรกๆตั้งแต่ปี 1974 แต่โชคดีที่ DeLorean ได้เวอร์ชั่น
2.85 ลิตรที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อนี้แล้ว

ส่วนซัพพลายเออร์รายอื่นๆนั้น เท่าที่ทราบ ทาง DeLorean ก็มีการเผยรายชื่อบนเอกสาร
ที่แจกจ่ายให้บรรดาดีลเลอร์อ่าน ซึ่งสามารถเล่าความได้ดังนี้

1. ชุดคุมเครื่องปรับอากาศ โดย Harrison Radiator
2. หน้าปัดและมาตรวัด โดย AC Spark Plug
3.  แบตเตอรี่ โดย Delco Remy
4. คอพวงมาลัย โดย AC Delco
5. องค์ประกอบอื่นๆของระบบปรับอากาศ โดย Delco Air

1-5 นี้ เป็นบริษัทในเครือของ GM USA

6. แชสซีส์ โดย GKN Sankey Limited
7. ล้ออัลลอย จาก GKN Kent Alloys
8. GKN Forging ทำชิ้นส่วนโลหะของช่วงล่าง

6-8 นี้ทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือ GKN (Guest, Keen & Nettlefolds) จากอังกฤษ

9. ยาง เป็นของ Goodyear ซึ่งผลิตส่งมาจากโรงงานในอังกฤษกับเยอรมันตะวันตก
10. ระบบจ่ายน้ำมัน ระบบคุมจุดระเบิด ชุดปัดน้ำฝน จาก Bosch (เยอรมัน)
11. กระจก มาจาก Saint Gobain Industries ในฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมันตะวันตก
12. เกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ จาก Renault ขนส่งจากโรงงานในเมือง Caen ในนอร์มังดี
13. เซ็นทรัลล็อคและกระจกไฟฟ้า โดย Wilmot Breeden Limited
14. สแตนเลสที่ใช้บุตัวถังภายนอก จาก August Lapple GmbH ซึ่งมีโรงงานอยู่ในไอร์แลนด์
ตั้งอยู่ห่างจาก DMCL ไป 150 ไมล์ โดยบริษัทแม่อยู่ที่เยอรมันตะวันตก (แต่ตัวแผ่นสแตนเลส
ที่เป็นวัตถุดิบแผ่นเรียบๆนั้นจะมาจาก British Steel Corporation ในอังกฤษ)
15. เบรก และองค์ประกอบอื่นๆของช่วงล่าง มากจาก Lucas Girling Limited ในอังกฤษ

16. หม้อน้ำ คอนเดนเซอร์แอร์ และออยล์คูลเลอร์ ของ Chausson ฝรั่งเศส
17. หนังที่บุในห้องโดยสาร มาจาก Bridge of Weir Leather CO.LTD. อังกฤษ
18. วัสดุนุ่มและ Polyol ที่ใช้ขึ้นรูปโฟม โดย Imperial Chemical Industries อังกฤษ
19. ซีลยางขอบประตู โดย Schlegel Limited อังกฤษ
20. กระจกมองข้าง ของ Harman International Industries GmbH เยอรมัน
21. วิทยุ-เทปและลำโพง 4 ตัว ของ Craig Corporation อเมริกา
22. ระบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดย Texas Instruments อเมริกา

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของซัพพลายเออร์บ้างเจ้าที่ช่วยทำชิ้นส่วนมาก่อให้เกิดเป็นรถ DeLorean
คุณคงจะพอเข้าใจแล้วว่างานของฝ่ายจัดซื้อ กับฝ่ายที่ดูแลเรื่องอะไหล่นั้นจะน่าปวดหัว
ขนาดไหน ถ้าแต่ละชิ้นส่วนจะต้องถูกทำข้อตกลง สั่งซื้อ และยกเลิกตามความต้องการ
ที่เปลี่ยนแปลงไปของ John DeLorean และทีมวิศวกรที่กำลังพัฒนาตัวรถไปพร้อมๆกัน
และนี่คือแค่ 22 เจ้า จากซัพพลายเออร์ทั้งหมดที่ DeLorean ดีลด้วย 300 ราย!

เวลาจะนึกถึงความยาก ช่วยนึกด้วยนะครับว่ายุคนั้นไม่มี Tele conference, Facebook, LINE,
หรือ e-Mail มีแต่กระดาษ ปากกา โทรศัพท์และ TELEX

“แล้วเห็นมั้ยว่าหลายเจ้าก็มาจากอเมริกา..พวกบริษัทลูกหม้อ GM ทั้งหลายนั่นคนที่สร้าง
คอนเน็คชั่นให้ตอนแรกก็คือ Bill Collins นั่นล่ะ แล้วก็ยังมีบริษัทอื่นๆที่อยู่ในอังกฤษเป็นจำนวนมาก
นี่ล่ะคือเหตุผลทางการลงทุนที่ผมเคยบอกไว้ เวลาใครมาลงทุนในประเทศ ซัพพลายเออร์ท้องถิ่น
สามารถคว้าเอาจังหวะนี้ในการเพิ่มยอดผลิตและกำไรได้อย่างง่ายดาย..แต่สำหรับ DeLorean
ซัพพลายเออร์ที่น่าสงสารเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่าอะไรกำลังรอพวกเขาอยู่” ควินน์เสริมให้

“แต่หลายเจ้าผมก็คุ้นชื่ออยู่นะ อย่างเบรก Lucas Girling นี่รู้จักเลย แสดงว่าเลือกของดีใช้ได้”
“ถ้าพูดให้ดี มันก็ดูดี” ควินน์พูด “แต่ถ้าผมบอกว่าเบรกดิสก์ที่ใช้มันยกมาจาก Ford Cortina
มันจะยังดูวิเศษวิโสอยู่มั้ย..เห็นเขาว่ากันอย่างนั้นนะ แต่อันที่จริง DMC-12 เป็นดิสก์สี่ล้อ
ก็คงต้องมีการปรับแต่งอะไรให้กันบ้างเป็นกรณีพิเศษแหละ”

อีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือประตูปีกนก อย่างที่ได้เอ่ยไว้แล้วว่า Grumman Aerospace
ซึ่งเป็นผู้สร้างเครื่องบินรบ F14 ยังส่งคนมา “ขายของ” กับ John และทาง Lotus นั้น ในช่วงแรก
ทาง Grumman เสนอที่จะออกแบบโครงสร้างส่วนหลังคาให้พร้อมทั้งชุดกลไกประตูปีกนก
แต่ในท้ายสุด มรดกจากพลังปัญญาของคนทำเครื่องบินเหลือแค่กลไกที่โคนประตู ซึ่งในรถ
ประตูปีกนกนั้น กลไกที่จะมาค้ำยันประตูนั้นเป็นเรื่องสำคัญ อย่างของ 300SL Gullwing นั้น
เบนซ์เลือกที่จะทำประตูให้มีขนาดเล็กและเบาลง ส่วน Bricklin SV-1 นั้นใช้กลไกไฟฟ้าในการ
ยกประตูขึ้น ทำให้เวลาเปิดนั้นช้ามาก ส่วน DeLorean นั้นทาง Grumman คิดค้นทอร์ชั่นบาร์
ลักษณะที่คล้ายๆทอร์ชั่นบาร์ของรถยุโรปบางรุ่น แล้วสอดเข้าไปในโคนประตูปีกนก ซึ่งในยาม
เปิดประตู ทอร์ชั่นบาร์จะบิดคืนตัว ส่งแรงช่วยพยุงให้ประตูสามารถเปิดขึ้นได้ แต่เมื่อใช้ไปนานๆ
ก็จะล้า ทำให้เปิดประตูไม่ขึ้น วิธีการป้องกันก็คือเอาทอร์ชั่นบาร์นี้ไปผ่านขั้นตอน Cryogenic
ทำให้สามารถคงคุณสมบัติไว้ได้นานกว่าปกติ แต่ทั้งนี้ พอมอบเทคโนโลยีให้แล้ว DeLorean
ก็ไปว่าจ้างบริษัทท้องถิ่นในอังกฤษอย่าง SPS Industries ผลิตให้

“มันจำเป็นที่จะต้องใช้ทอร์ชั่นบาร์นั้นช่วย เพราะประตูของ DMC-12 ไม่ใช่เล็กๆนะครับ มันเปิด
ลงมาถึงขอบประตูรถด้านล่างและประตูก็ยาว ประตูแต่ละข้างหนังประมาณ 36 ก.ก.
ซึ่งก็พอๆกับกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ที่ภายในใส่แต่กางเกงยีนส์ คุณนึกภาพออกมั้ย
ว่าถ้าใช้แค่โช้คค้ำฝากระโปรงตัวเล็กๆธรรมดา เอาไม่อยู่หรอก DeLorean เลยใช้ทอร์ชั่นบาร์
บวกกับโช้คช่วยค้ำขนาดเล็กอีกตัวนึง” ควินน์ช่วยเสริมให้หายสงสัย

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 1979 พวกคนที่ DeLorean เริ่มรู้สึกว่าหน้าตาของตัวรถ
เริ่มจะไม่ทันสมัยแล้ว John คิดว่าเอกลักษณ์ของตัวรถในภาพรวมนั้นแม้จะยังมีทรวดทรง
ที่ล้ำสมัย แต่รายละเอียดส่วนเล็กๆหลายส่วนอาจกลายเป็นของที่ดูโบราณเมื่อมันลงขายจริง
ดังนั้นเขาจึงสั่งให้ทาง Ital Design ของ Giugiaro นำรูปแบบเดิมของรถไปปรับปรุงใหม่ในลักษณะ
Facelift เพื่อให้สวยงามทันสมัยขึ้น และไม่เพียงแต่ต้องปรับปรุงโฉมภายนอกรถเท่านั้น
ภายในของรถและแดชบอร์ดก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่เช่นกัน คำว่า Facelift อาจฟังดูแล้วเหมือน
งานง่อยน้อยนิด แต่เอาเข้าจริง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงกับทำให้ชาว Lotus เอามือตบหน้าผาก

“มันขนาดนั้นเชียวหรือ?” ผมถามตาควินน์
“เอ้า แน่สิครับ เหลือเวลาอีกปีเดียวก็ต้องทำรถคันจริงมาโชว์รัฐบาลแล้ว และ Lotus ก็เริ่ม
งานวิจัยวิศวกรรมทุกอย่างมาแล้ว 9-10 เดือน จู่ๆพี่ John แกอยากจะเปลี่ยนใหม่ทั้งในและนอก
เท่ากับว่างานออกแบบก็ต้องถอยหลังไปเริ่มใหม่ในหลายจุด

อย่างแผ่นสแตนเลสที่เป็นผิวนอกรถ ก็ต้องมีแท่นปั๊มใช่มั้ยล่ะ August Lapple ต้องทำ
เครื่องปั๊มแผ่นสแตนเลสใหม่ตามดีไซน์ใหม่ แล้วพวกเขาก็มีไอ้แท่นปั๊มนี่ 33 ชุดสำหรับ
เปลือกนอกแต่ละส่วน งานดีไซน์หน้าปัด ก็ต้องเอาแบบไปคุยกับซัพพลายเออร์เกือบ
เหมือนกับตั้งต้นกันใหม่ คุณคิดเอาง่ายๆนะ แค่ขอให้ AC Spark Plug ซัพพลายเออร์ทำ
หน้าปัดที่อเมริกาให้เปลี่ยนหน้าตามาตรวัดความเร็ว วัดรอบ และไฟสัญญาณเตือนใหม่นั่น
เครื่องจักรและอุปกรณ์บางส่วนก็ต้องล้มของเก่าทิ้งแล้วสร้างใหม่ เอาแค่ค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้
ก็ 500,000 ดอลลาร์แล้ว”

“โอเค แต่นอกจากเรื่องตัวถังภายนอกและภายในของรถ อย่างอื่นก็ไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว
ใช่ไหมควินน์?”

“ใครว่าล่ะ มีสิ เรื่องใหญ่ด้วย เป็นเรื่องที่พลาดแบบโง่ๆเลยด้วย” ควินน์ตอบ
“เล่ามา”

“ในตอนแรก สมัย Bill Collins ยังอยู่ มีการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองและบันทึกเอาไว้
ด้วยรถทดสอบที่ชื่อ Doris 1A แล้วก็ทำตัวเลขไว้ได้ 27 ไมล์ต่อแกลลอน US  ซึ่งแน่นอนว่า
John DeLorean เห็นตัวเลขแล้วก็พอใจ เพราะเขาพยายามสร้างไอ้รถ “Ethical Car”
นี้ให้มันประหยัดเชื้อเพลิงอยู่แล้ว แต่ในประมาณช่วงกลางปี 1980 ทีมของ Lotus ทดสอบ
รถ Doris..พวกเขาเรียกรถทดสอบพลีชีพคันแรกๆว่า Doris ตามด้วยหมายเลขน่ะนะ..Lotus
ลองวัดค่ากับรถหลายคัน และอย่างใน Doris หมายเลข 7 นั่น พบว่าอัตราการสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงไม่ใช่ 27 ไมล์ต่อแกลลอนแล้ว แต่เป็น 16!!”

“อกอีแป้นแตกดิ!” ผมฟังแล้วงงมากว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร “หายไป 11 ไมล์ต่อแกลลอน สงสัย
คงเพราะเปลี่ยนเครื่องจาก 4 สูบมาเป็น V6 หรือเปล่า?”
“ไม่ใช่ .. Doris 1A เป็นเครื่อง PRV แล้ว”
“ถ้างั้นก็คงเพราะรถน้ำหนักเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมันเลยกินจุขึ้น?”
“Doris 1A กับ Doris 7 น้ำหนักตัวและแอโร่ไดนามิกส์แทบไม่ต่างกัน”
“เอ้า..ยอมว่ะ กูยอม เฉลยมาเถอะครับ”

“เพราะวิธีการวัดความสิ้นเปลืองมันไม่ได้เติมเต็มถังแล้ววิ่งแบบจิมมี่ไงครับ เขาใช้เครื่องมือ
อ่านค่า CO2 ทิ่มเข้าไปในท่อไอเสีย วัดค่าที่ได้ แล้วคำนวณแปลงกลับเป็นอัตราการสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง แล้วปรากฏมาเจอตอนหลังว่าเอ๊..ทำไม Doris หมายเลขหลังๆนี่มันกินจุจัง มีอะไร
ผิดปกติหรือเปล่า ทุกอย่างก็ดูปกติ วิศวกรเลยฉงนใจ ย้อนกลับไปเอา Doris 1A มาดู แล้วก็พบว่า
บางช่วงของท่อไอเสียนั้นมีการรั่ว แล้วไม่ได้รั่วเยอะจนเกิดเสียงให้สังเกตได้ แต่ก็มากพอที่จะ
ทำให้อากาศภายนอกถูกดูดเข้าไปปนกับกระแสไอเสีย ค่า CO2 ที่วัดได้จึงไม่ตรงตามความจริง
เพราะมีอากาศไหลเข้าไปปนด้วย ค่าที่อ่านออกมาก็บางกว่าความเป็นจริง ทีนี้ปัญหาอีกอย่าง
ก็คือในช่วงนั้นรัฐบาลสหรัฐเขามีการตั้ง Gas Guzzler Tax หรือภาษีแบบคิดค่าปรับ
สำหรับรถที่กินน้ำมันจุ สำหรับรถประเภท DeLorean เกณฑ์ที่จะผ่านไม่ต้องโดนค่าปรับ
คือต้องทำให้ได้ 22.6 ไมล์ต่อแกลลอน”

“แล้วทางแก้ล่ะทำยังไง เดือนกรกฎาคมก็จะถึงกำหนดสัญญาเผยโฉมรถคันแรก
ให้รัฐบาลอังกฤษแล้วไม่ใช่หรือ? จะทำทันหรือ?” ผมถาม
“ก็ไม่ทันน่ะสิ กำหนดการถูกเลื่อนไปเป็นเดือนกันยายนแทน เพราะการแก้ปัญหาจุดนี้
ต้องใช้เวลา ตอนนั้นพวก DeLorean มีทางเลือก 3 อย่างคือ

1) ไม่ต้องยุ่งอะไรกับเครื่อง จ่ายค่าปรับไป รัฐบาลสหรัฐกำหนดไว้ว่าให้เอาเกณฑ์กำหนด
เป็นตัวตั้ง ลบด้วยค่าอัตราการสิ้นเปลืองของรถ ได้ตัวเลขเท่าไหร่ก็หาร 0.1 จากนั้นก็คูณด้วย
5 ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นค่าปรับต่อ 1 คันที่บริษัทต้องจ่าย ของ DeLorean DMC-12 ถ้ายอมจ่าย
ก็ต้องเสียเงินราว 330 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน

2) ปรับแต่งเครื่องยนต์ หรือปรับอัตราทดเกียร์ให้มันประหยัดขึ้น
3) นำรถไปเข้าทดสอบ Durability Test ซึ่งถ้าสมมติว่า โอเค รถกินจุ แต่ถ้าวิ่งไปนานๆแล้ว
ยังสามารถกินน้ำมันได้เท่าเดิม ก็จะได้รับการผ่อนผัน แต่การทดสอบนี้ รถต้องวิ่งให้ได้ระยะ
ครบ 50,000 ไมล์ ด้วยความเร็วเฉลี่ย 30 ไมล์/ช.ม. แล้วต้องวัดค่ามลภาวะกับอัตราสิ้นเปลือง
ทุกๆ 4,000 ไมล์ด้วย”

“ทำไมไม่จ่ายค่าปรับไปให้สิ้นเรื่องล่ะ แค่ 330 ดอลลาร์ต่อคัน บวกเพิ่มเข้าไปในราคาขาย
ก็ไม่เห็นจะเป็นไรนี่?” ผมถาม
“คันเดียวไม่มีปัญหา แต่ถ้าคุณกะขายรถปีละหมื่นคันในระยะยาว มันก็ 3 ล้านกว่าดอลลาร์
ในแต่ละปี DeLorean ไม่ยอมเสียเงินก้อนนี้ไปหรอกถ้าเขาปรับแต่งเครื่องหรือแก้ปัญหา
ก่อนได้ด้วยเงินไม่ถึงล้าน เรื่องอะไรจะต้องยอมเสียค่าปรับปีละสามล้านไปเรื่อยๆ”

“ถ้างั้นก็ทำ Durability Test สิ”
“50,000 ไมล์ วิ่งเฉลี่ย 30 ไมล์/ช.ม. ควายกดเครื่องคิดเลขเป็นยังตอบได้ว่าไม่ทันกำหนด
การเปิดตัว แล้วอย่าลืมว่าของจริงไม่ได้วิ่งวันละ 24 ชั่วโมงทุกวัน ได้ 12 ชั่วโมงก็จะบ้าตายแล้ว

ดังนั้นทางรอดทางเดียวคือต้องเล่นกันที่ตัวเครื่อง แต่เพื่อกันเหนียว ก็ต้องส่งรถไปทดสอบ
Durability Test ด้วย แยกทีมกันไปทำเลย ไม่งั้นไม่ทันกำหนด”

“แล้วพวกที่อยู่ที่ Lotus ทำอะไรกับเครื่องบ้าง?”
“ก็ลองดูหนทางหลายอย่าง เปลี่ยนองศาแค็มจากของ Renault เป็นของ Peugeot
เปลี่ยนอัตราทดเกียร์ ปรับตั้งรอบเดินเบาให้ต่ำลง เปลี่ยนท่อร่วมไอเสีย แต่ในท้ายสุด
ส่วนที่เราทราบจริงๆว่าเปลี่ยนคือจานจ่ายของ Bosch ซึ่งจ่ายไฟได้ดีกว่าเดิม ปรับเพิ่ม
องศาจุดระเบิดได้อีกหน่อยแต่ก็ทำให้ไม่ต้องกดคันเร่งลึกเท่าเดิมเพื่อคงความเร็ว

และนอกจากนั้น เพื่อให้ผ่านมาตรฐานมลภาวะของอเมริกา ยังต้องมีการเพิ่มออกซิเจนเซนเซอร์
กับชุดเครื่องกรองไอเสียอีกด้วย ปัญหาก็คือไอ้ระบบ Lambda Sond นี่มันไม่ได้มากับ
เครื่อง PRV ของ Renault แต่มีอยู่ในเครื่อง PRV ของ Volvo 264 ถ้าคุณดูในสารคดีของ
Penebaker/Hegedus จำได้ไหมในฉากที่ผู้บริหารนั่งประชุมกันแล้ว John นั่งด่า Renault
เรื่องที่ว่าทำไมเขาต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อชิ้นส่วนเหล่านี้ เขากำลังกล่าวหา Renault ว่าเล่นกัน
แบบมักง่าย แต่ทุกคนในที่ประชุมนั้นรู้ว่าไม่ใช่ใครล่ะ..ก็มึงนั่นแหละ ตอนเซ็นสัญญาก็ไม่ได้
มีการระบุครอบคลุมถึงเรื่อง Lambda Sond นี่สักนิด Renault โดนด่าออกสื่อฟรี แล้วท้ายสุด
DeLorean ก็ต้องจ่ายเงิน 150,000 ปอนด์ให้ Volvo เพื่อขอลิขสิทธิ์ Lambda Sond มาใช้
ไม่รวมค่าอะไหล่รายชิ้นอีกต่างหาก”

“แล้วมันคุ้มมั้ยเทียบกับการจ่ายค่าปรับ 330 ดอลลาร์เสียแต่แรก”
“คุ้มไม่คุ้มไม่รู้ แต่ถ้าไม่ติดเครื่องกรองไอเสียก็ไม่ผ่านมาตรฐานอเมริกาอยู่ดี มันเลี่ยงไม่ได้”
“แล้วตกลงผ่านการตรวจมั้ย”
“ตอนแรกส่งรถ Doris หมายเลข 20 กับ 21 ไปที่อเมริกา แล้วก็สอบตกทั้งคู่ แต่ไม่ต้องห่วง
เขาตรวจสอบแล้วพบว่าระบบจ่ายน้ำมันมีปัญหา อาจจะเป็นเพราะขั้นตอนการขนส่ง
ทางอากาศ ทางไอร์แลนด์เหนือก็เลยส่ง Doris หมายเลข 19 ที่ปรับแต่งมาสมบูรณ์แล้ว
ตามไปอีกคัน พวกเขาทดสอบมัน แล้วก็ผ่านมาตรฐานไม่ต้องจ่ายค่าปรับ และการทดสอบ
Durability Test ก็ไม่ต้องทำแล้ว เพียงแค่ทดสอบแบบระยะสั้น 4,000 ไมล์ก็รับใบผ่านได้เลย”

– – – – – – –

เท่าที่รู้ ปัญหาของ DeLorean ในส่วนของรถ ยังไม่จบ ปัญหาในส่วนของโรงงานยิ่งห่างไกล
คำว่าสำเร็จ เพราะชิ้นส่วนแม่ปั๊มต่างๆยังไม่พร้อม และมันจะยังไม่พร้อมจนกว่าจะถึงสิ้นปี
ส่วนการปั๊มชิ้นงานสแตนเลสที่ August Lapple นั้น ทุกคนทราบดีว่าไม่มีทางเตรียมชิ้นส่วน
ให้พร้อมได้หมดจนกว่าจะเดือนมกราคม

และที่เลวร้ายที่สุดก็คือเงินก้อนแรกที่ได้รับมาจากรัฐบาลอังกฤษนั้นจะหมดลงก่อนสิ้นปี 1980
มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ Joe Daly หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินคาดเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว
แต่ดูเหมือนหลายคนจะเชื่อเหลือเกินว่า Joe จะทำนายผิด..นี่น่าจะเป็นอย่างเดียวที่บริษัทนี้
ได้คาดหมายเอาไว้..แล้วปรากฏว่าทำได้ตามนั้นจริงๆ ในเดือนกรกฎาคม 1980 เมื่อถึงเวลา
ที่จะต้องเผยโฉมรถคันแรกที่ออกจากโรงงานให้ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษและ NIDA ดู
John กลับมาบอกพวกเขาว่า “เราต้องเลื่อนกำหนดการออกไปเป็นเดือนกันยายน และ..
ตอนนี้เราก็ต้องการเงินเพิ่ม”

รัฐบาลอังกฤษไม่พอใจอย่างมากกับเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการจ้างงานที่ John สัญญาไว้ว่าจะ
จ้างให้ได้ 2,000 คน ณ เวลานั้นมีการจ้างงานเกิดขึ้นเพียง 400 คน (286 คนเป็นระดับหัวหน้า
หรือผู้บริหารขึ้นไป) และเป็นพนักงานจ้างที่รอการอนุมัติผลอีก 300 คน แต่ในที่สุดรัฐบาลก็
ยอมจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 14 ล้านปอนด์และจะไม่มีการให้งบใดๆเพิ่มอีกจนกว่าจะเห็นรถคันจริง
และ DeLorean ทำตามสัญญา

เดือนกันยายน รัฐบาลอังกฤษมอบเงินในรูปแบบสินเชื่อธุรกิจให้ DeLorean และในเดือนนั้นเอง
John ก็ขอเลื่อนกำหนดการเผยโฉมรถคันจริงเป็นปลายปี และจากนั้นก็ยังเลื่อนไปอีกจน
รัฐบาลอังกฤษทุบโต๊ะเปรี้ยง “เราจะให้โอกาสคุณครั้งสุดท้าย เดือนมกราคม มันต้องเสร็จ!”

แน่นอนว่าทุกคน รวมทั้ง Nick Sutton รู้อยู่แก่ใจตั้งแต่ช่วงกลางปีว่าแนวโน้มที่รถจะเสร็จ
ทันสิ้นปีนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่การที่เงินก้อนแรกหมดลงอย่างเร็วน่าใจหาย และความที่
กำหนดการทุกอย่างทุกเลื่อนออกไปหลายต่อหลายครั้ง งานนี้จึงต้องมีคนถูกสังเวย

Chuck Bennington (MD ของบริษัท DMCL ไอร์แลนด์เหนือ) คือคนคนนั้น..อาจนับเป็น
ปีชงของคนมีเคราก็ว่าได้

ช่วงปลายปี 1980 Chuck ขับรถ Lotus Esprit ของเขาแหกโค้งจนคว่ำ เขาถูกนำส่งโรงพยาบาล
และพบว่าซี่โครงร้าวและปอดได้รับการกระทบกระเทือน แต่ใน 7 โมงเช้าวันต่อมา Chuck
ก็ยังแบกสังขารอันอ่อนระโหยโรยแรงมานั่งเครื่องบินไปประชุมกับ Lotus ที่ Hethel ตามปกติ
โดยไม่ฟังเสียงค้านจากเพื่อนร่วมงาน Chuck รู้ดีว่าโครงการ DeLorean จะไม่สามารถช้า
ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว เขา ในฐานะ MD คือคนสำคัญที่รับผิดชอบทุกอย่างในขณะนี้ แต่แล้วใน
เดือนพฤศจิกายน เขาก็ถูกเรียกตัวไปสำนักงานใหญ่ที่อเมริกา

19 พฤศจิกายน 1980 Chuck ลงนามในหนังสือลาออกจากการเป็น MD ของบริษัท
แม้หนังสือ Newsletter และแผ่นพับที่ส่งให้คนในฝั่งอเมริกาและไอร์แลนด์ได้อ่านจะบอกว่า
Chuck ลาออกเอง แต่ในภายหลังก็ทราบกันดีว่าเป็นคำสั่งจากเบื้องบน ต้องมีคนสังเวยตำแหน่ง
ให้กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และคนคนนั้นจะเป็น John DeLorean ไม่ได้

Chuck ถูกย้ายไปเป็น Project Manager ดูแลการโครงการ DMC-24 รถประตูปีกนกแบบ
4 ที่นั่งร่วมกับ Mike Loasby และยังประสานงานกับ Lotus ในการเตรียมพัฒนา
เครื่อง Twin Turbo สำหรับ DeLorean DMC-12 ต่อไป

ทีมงานที่ยังอยู่ ณ โรงงานใน Dunmurry ก็ไม่ได้มีชีวิตที่มีความสุขนัก อย่างทีมจัดซื้อของ Nick
Sutton ซึ่งต้องติดต่อขอพาร์ทตัวอย่างจากซัพพลายเออร์มาให้คนงานฝึกการลองประกอบอะไหล่
แน่นอนว่าพอขอมาแล้ว ทันทีที่ถึงโรงงานและเอาไปใช้ในคลาสแรก ชิ้นส่วนนั้นก็ถูกยกเลิก
ไปใช้ชิ้นใหม่ เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีกหลายรอบตามเคย นอกจากนั้นเขายังซวยซ้ำซ้อน ตกบันได
ที่บ้านจนขาหักต้องใส่เฝือกอันโต แต่ก็ลางานไม่ได้เพราะ Eugene Cafiero สั่งให้เขาบินไปคุย
กับซัพพลายเออร์และทำงานตามปกติ แม้กระทั่งใกล้วันสิ้นปีในสำนักงาน ขณะที่ทีมของเขา
กำลังรีวิวสถานะของชิ้นส่วนเกือบพันชิ้น Eugene Cafiero ยังอุตส่าห์เดินมาให้พร พร้อมกับ
Donald Lander ผู้ที่มาเป็น MD คนใหม่แทน Chuck

“เราต้องมีรถไปโชว์ที่ Los Angeles ในเดือนมกราคม และอีก 4 คันต้องถูกส่งตามไปทาง
เครื่องบินภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม” Eugene พูด “ถ้าคุณทำงานเสร็จไม่ทัน
ผมจะไล่พวกคุณออกซะ เพราะพวกคุณไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำงานตรงนี้ได้”
นั่นคือพรของ Eugene ที่ทำให้ Nick รู้สึกว่าหากเขาตายไป เขาจะขอให้พระเจ้าลงทัณฑ์
ชายผู้นี้อย่างสาสมสำหรับการที่ทำให้เขาหมดกำลังใจการทำงานอย่างเลวร้ายที่สุด

ส่วนพนักงานในไลน์ทดลองสร้างและประกอบรถ ก็พบวิบากกรรมเดียวกัน ในแผนกปั๊มตัวถัง
มีการทดลองใช้เครื่องปั๊มและฉีดเรซิ่น โดยที่ DeLorean จ้างมือดีที่มีความเชี่ยวชาญมา
ทดสอบฉีดเรซิ่นในครั้งแรก ความซวยมันอยู่ตรงที่ในระหว่างการฉีดเรซิ่น 1 ชั่วโมงครึ่งนั้น
คนเก่งของเราเกิดปวดท้องขี้ขึ้นมาดื้อๆ ครั้นจะหาห้องน้ำเข้าก็หาไม่ได้เพราะในโรงงาน
ยังไม่ได้สร้างห้องน้ำ เขาจึงเดินไปปลดทุกข์นอกโรงงานท่ามกลางความมืดแล้วก็พลัด
ตกลงไปในหลุมที่เป็นฝาท่อเปิดไว้ ขาของเขาหักและส่งเสียงร้องอย่างเจ็บปวด สิ่งที่ผู้บริหาร
ทำก็คือสั่งพนักงานให้ช่วยฉุดชายคนนั้นขึ้นมา จับเขานั่งรถเข็น และให้ทำหน้าที่ฉีดเรซิ่นต่อ
จนเสร็จ แล้วค่อยพาไปโรงพยาบาล

ภาพลักษณ์และรอยยิ้ม กับแววตาแห่งความสำเร็จที่ John DeLorean มักส่งประกาย
เปล่งปลั่งทุกครั้งที่เขาออกสื่อและโปรยความหวังให้กับมหาชนที่รอคอยรถของเขาอยู่นั้น
มันช่างต่างกับความกดดันที่กำลังบั่นทอนจิตใจของคนในโรงงานที่ไอร์แลนด์เหนืออย่างช้าๆ

“และอย่างที่บอก” ควินน์พูดขึ้นมา “นี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ของจริงยังไม่มา”

Chapter 6 – The DeLorean

สิ้นปี 1980

โรงงาน DMCL ก่อสร้างตัวอาคารเสร็จและทำพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการ
งานวิจัยและพัฒนารถของ Lotus ได้ข้อสรุป พร้อมสำหรับเวอร์ชั่นที่จะผลิตจริง

หลายต่อหลายเรื่องที่ชวนกังวลก็มีแนวโน้มคลี่คลาย ขวัญและกำลังใจคนทำงานก็เริ่ม
ทยอยกลับมาพร้อมกับการเข้าทำหน้าที่ของพวกเขาที่โรงงานนั้นในเดือนมกราคม 1981

ถ้ามีเรื่องไหนสักเรื่องที่ชาว DeLorean ไม่ต้องเป็นกังวล ก็คงมีแค่เรื่องการหาดีลเลอร์
ในขณะที่ฝั่งไอร์แลนด์เหนือทำงานภายใต้ความกดดันอย่างแสนสาหัสมาตลอด
ฝั่งอเมริกาก็ไม่ได้สบายนัก แต่ยังดีที่การจัดอีเวนท์เชื้อเชิญบรรดาผู้ค้ารถจากทั่วประเทศ
มางานสังสรรค์และนำเสนอผลิตภัณฑ์ในช่วงต้นปี 1980 นั้นถือว่าประสบความสำเร็จ
กลยุทธ์การปล่อยภาพออกสื่อก่อนหน้ารถเปิดตัวเป็นเวลานานนั้นได้ผล ภาพของตัวรถ
สแตนเลสกับประตูปีกนกที่เปิดราวนางนวลโผบินนั้น ทำให้ผู้ค้าหลายคนรู้สึกว่ามันจะต้องกลาย
เป็นรถที่ขายดีแน่ๆ โชว์รูมของพวกเขาจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาขอคลำขอลองนั่งรถ ในบางที่
แค่บอกว่ากำลังจะรับเป็นผู้แทนจำหน่าย DeLorean ก็มีลูกค้าเข้าไปวางเงินมัดจำแล้ว
ขอเพียงแค่ให้ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกในเมืองที่มี DeLorean ขับก็พอ

Dick Brown ติดต่อนายใหญ่ของเขาอยู่เสมอ เขาดูเหมือนจะเป็นคนเดียวในช่วงนี้ที่มีข่าวดี
มอบให้ John อยู่เสมอ ส่วน John นั้นก็บินไปบินมาระหว่างประเทศต่างๆ ขนเงินไปลงทุน
กับกิจการอื่นๆที่ลูกน้องได้ยินแล้วเหวอ เช่นกิจการทำน้ำหอม กิจการทำรถบรรทุกของโรมาเนีย
แม้กระทั้งรถไถหิมะ ซึ่งมีการปั๊มยี่ห้อ DeLorean ออกขายจริงๆด้วย ดูเหมือนว่าเขาหว่านเงิน
ลงทุนไปทุกที่ที่มีโอกาสเพื่อขยายฐานแบรนด์ตัวเองอย่างรวดเร็วทั้งๆที่เวลานั้นเงินทุกเม็ด
ควรทุ่มให้กับการปั้น DMC-12 ให้เสร็จตามกำหนดมากกว่า เท่านั้นยังไม่พอ โครงการ DeLorean
รุ่นอื่นๆที่จะมาเสริมตลาด DMC-12 ก็ถูกสั่งไฟเขียวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น DMC-24 รถ 4 ที่นั่ง
ประตูปีกนก, DMC-44 รถกะป๊อเอนกประสงค์ หรือ DMC-80 ซึ่งจะเป็น “ก้าวใหม่ของรถบัส”

ดูเหมือนเป็นเจ้านายที่ยุ่งอยู่เสมอ แต่น้อยคนนักจะทราบว่าตลอดการเป็นนายใหญ่ของ
DeLorean นั้น John ไม่เคยค้างคืนที่ Dunmurry เลยแม้แต่คืนเดียว เพราะกลัวจะถูกอุ้ม
ซึ่งดูจากสิ่งที่เกิดในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์เหนือก่อนหน้านั้น มันก็สมเหตุสมผลอยู่

และเขาก็มาที่โรงงาน DMCL ในวันที่ 21 มกราคม 1981

มันคือวันที่ DMC-12 คันแรกจะออกจากสายการผลิต John ในฐานะผู้ก่อตั้งได้ให้เกียรติ
มาขับรถออกจากไลน์การผลิตต่อหน้าสื่อมวลชนและตัวแทนจากรัฐบาล ..ในที่สุด
ความพยายามและหยาดเหงื่อของชาว DeLorean ทั้งหลายทั้งมวลตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา
รถคันจริงซึ่งมีหน้าตาและรูปลักษณ์พร้อมขายก็ออกจากสายการผลิตท่ามกลางความ
ปลื้มปิติของผู้คนที่ได้มีส่วนร่วมในรถคันนี้

“เอ่อ..ขอขัดจังหวะหน่อย”
“อะไรเหรอควินน์”
“คุณไม่อ่านหนังสืออย่างตั้งใจนี่ ถ้าตั้งใจหน่อยคุณจะไม่พลาดบรรทัดที่บอกว่าไอ้รถคันที่
John เอามาถ่ายรูปออกสื่อน่ะ ที่จริงไม่ใช่รถคันแรกที่ออกจากโรงงาน! เช้าวันนั้นน่ะพวก
ทีมประกอบทำรถคันแรกเสร็จแล้ว แต่ซวยตรงที่พอเอาไปวิ่งทดสอบที่สนามทดสอบ
ในโรงงาน เกิดหลุดโค้งล้อกระแทกงอเป็นขาอุรังอุตัง ช่วงล่างพังชิบหายวายป่วงหมด”

อ้าว..แล้วรถคันที่ John ถ่ายภาพออกสื่อนั่นล่ะ?
“ก็เป็นรถคันที่สอง ซึ่งพอทีมประกอบเห็นคันที่หนึ่งชนคาตา ก็รู้ตัวกันทั้งทีมว่าถ้าไม่อยากตาย
ยังไงก็ต้องมีรถให้นายใหญ่ขับออกจากโรงงาน พวกเขาเลยไสไอ้รถหมายเลข VIN 500 นั่นเก็บ
แล้วรีบประกอบรถหมายเลข 501 ออกมาให้ทันบ่ายวันนั้นแทน” ควินน์ตอบ

“แล้วเลข VIN ทำไมเป็น 500?”
“รถคันที่สร้างก่อนหน้านี้คือ Black car…Black car คือรถที่มีแต่โครงเรซิ่นบนล่างประกบกัน
แต่ไม่มีสแตนเลสปิดผิวนอก ถือว่าเป็นรถที่สร้างไม่เสร็จ เอาไว้ใช้ให้พนักงานฝึกเจาะรูไม่ก็
นอนคาแท่นอยู่เฉยๆ พวกเขาสร้าง Black car ไป 500 คัน แล้วก็หยิบเอาไอ้คันที่ 500 นั่นแหละ
มาประกอบให้เสร็จสมบูรณ์เป็นรถทั้งคัน ดังนั้นเลข VIN ของ DMC-12 จึงเริ่มต้นที่ 500”

โอเค ดังนั้นเมื่อรถผลิตได้อย่างนี้ แปลว่าเราสามารถเผยสเป็คตัวรถอย่างเป็นทางการได้แล้ว
ผมกางโบรชัวร์อย่างเป็นทางการของ DeLorean ปี 1981 ออกแล้วนั่งอ่าน
“สงสัยอยู่อย่างนึง ทำไมบางทีเขียน DeLorean และบนปกโบรชัวร์กับในงานโชว์รถบางที่
กลับเขียนว่า DE LOREAN ตกลงอย่างไหนถูก”
“ถูกทั้งสองอย่าง ไม่งั้นคิดว่ามันจะไปอยู่บนโบรชัวร์ได้หรือ John บอกว่าวิธีสะกดนามสกุล
ของเขาที่ถูกต้องคือ Dใหญ่ e เล็ก Lใหญ่ ที่เหลือตัวเล็กหมด และเขียนติดกันหมด แต่ในบางครั้ง
หากมีความจำเป็นต้องใช้ตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด John บอกว่าให้เว้นวรรคระหว่าง E กับ L”

และอย่างที่ทราบกันว่า DMC-12 คือชื่อรุ่น แต่ในโบรชัวร์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ เอกสารประชาสัมพันธ์
และในโฆษณาโทรทัศน์จะเรียกว่า “The DeLorean” หรือ De Lorean สั้นๆเพราะสมัยนั้น
มีอยู่รุ่นเดียว มันคือรถที่มีพื้นฐานโครงสร้างส่วนกระดูกหลักและรับเทคโนโลยีบอดี้
ไฟเบอร์มาจาก Lotus Esprit แต่ในขณะที่ Esprit เป็นรถที่เดินทางตามปรัชญาของ Colin
Chapman (เบา ขับสนุก คล่อง) DMC-12 จะเป็นรถที่มีนิสัยอเมริกันซึ่งต้องเน้นสไตล์
กับความหรูหราชนิดห้ามลืม

DeLorean DMC-12 เปิดตัวด้วยราคาแนะนำ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ตีมูลค่าเป็นสมัยนี้
จะตกเป็นประมาณ 65,000 ดอลลาร์) มีให้เลือกเพียง 2 รุ่นคือรุ่นเกียร์ธรรมดา และเกียร์
อัตโนมัติ ซึ่งรุ่นหลังนั้นราคาจะเพิ่มเป็น 25,650 ดอลลาร์

DeLorean DMC-12 มีความยาวตลอดทั้งคัน 4,267 ม.ม. กว้าง 1,857 ม.ม. (รวมกระจก
มองข้างด้วยจะเป็น 1,988 ม.ม.) สูง 1,140 ม.ม. ระยะฐานล้อ 2,408 ม.ม. ความกว้างช่วงล้อหน้า
(Front track) อยู่ที่ 1,590 ม.ม. ด้านหลังอยู่ที่ 1,588 ม.ม. น้ำหนักตัวรถสุทธิอยู่ที่
1,232 ก.ก. น้ำหนักรถรวมยางอะไหล่และของเหลวต่างๆ อยู่ที่ 1,290 ก.ก.
อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักอยู่ที่ด้านหน้า 35% และด้านหลัง 65% และถ้ามีคนนั่ง
กับคนขับ หนักคนละ 75 ก.ก. อยู่ในรถ การกระจายน้ำหนักจะเปลี่ยนเป็น 38:62

ถ้าเทียบกับรถสมัยนี้ มันก็มีความยาวตัวถังพอๆกับ Tiida Hatchback และสั้นกว่า Honda
City ส่วนความกว้างนั้นจะมากกว่ารถ D-Segment ขนาดใหญ่อยู่ราว 60-80 ม.ม.

ตัวถังภายนอกของ DMC-12 จะมีเพียงสีเดียว คือสแตนเลสไม่พ่นสี ไม่มีออพชั่นสั่งพ่นสี
ให้เลือกจากโรงงาน DMCL แต่ประการใด ไม่มีการพ่นเคลือบ Clear Coat เพราะลำพัง
แค่การปัดเงานิดหน่อย สแตนเลสชั้นดีเกรด SS304 ก็ส่องประกายจับแสงอาทิตย์สวยงามแล้ว

“คุณเรียกมันว่าสแตนเลสชั้นดี..มันก็ดีจริงแต่รู้มั้ยว่าเขาเอาไว้ใช้ทำอะไร” ควินน์สอดขึ้นมา
“ไม่รู้”
“ถังใส่นม..ใช่ ถังสแตนเลสใส่นมที่รีดจากแม่วัวนั่นแหละ แล้วถ้าอยากเห็นแบบใกล้ตัว
ก็บอกคนอ่านของคุณเดินไปหาดูในครัว น่าจะมีสแตนเลส 304 อยู่หลายชิ้นเลยล่ะ”
“ต่อเรื่องรถต่อนะ”
“โอเค”

ภายในหุ้มด้วยหนัง เบาะนั่งออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นแบบกึ่งสปอร์ต รถ DMC-12
ล็อตแรกๆนั้นจะมีแต่ภายในสีดำ ซึ่งจากเปิดตัวและเดินสายการผลิตไปสักพักก็จะมี
สีเทาเป็นสีที่สองตามมา และยังมีแผนสำหรับภายในสีแดงเบอร์กันดี และสีเบจอีกด้วย

การออกแบบแดชบอร์ดและคอนโซล เน้นการใช้งานที่ง่ายเป็นหลัก สวิตช์มีขนาดใหญ่
และไม่ต้องเปิดคู่มือเพื่อศึกษาวิธีใช้งานให้ยุ่งยากมากนัก พวงมาลัยทรงสปอร์ต 3 ก้าน
ไม่มีปุ่มแตร ถ้าใครบีบแตร DeLorean โดยการเอาอุ้งมือตอกไปบนกลางพวงมาลัย
ระวังจะได้ออกรายการหน้าแหก แตรของ DeLorean จะอยู่ที่ก้านไฟเลี้ยวด้านซ้าย ใช้วิธีกดหรือตบ
ที่ก้านไฟเลี้ยวตรงปลายก้านก็จะเป็นปุ่มส่งเสียงแตร ตัวพวงมาลัยสามารถปรับระดับ
ขึ้นลงได้ และยังสามารถปรับเข้า-ออกได้อีกด้วย

ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆที่มีมาให้ก็ได้แก่ กระจกไฟฟ้า สวิตช์อยู่ที่คอนโซลกลาง
หลังแท่นเกียร์ (บานก็เล็กยังอุตส่าห์เป็นไฟฟ้า) เซ็นทรัลล็อคแบบไฮดรอลิกกึ่งไฟฟ้า
เครื่องปรับอากาศ ปรับตำแหน่งการเป่าได้ 7 แบบ กระจกมองข้างปรับไฟฟ้าทั้งสองข้าง
ชุดวิทยุ AM/FM พร้อมช่องใส่ Cassette และปุ่มตัดเสียงรบกวน Dolby พร้อมระบบความจำ
สถานีที่ตั้งไว้ล่วงหน้า มีช่องเก็บของพิเศษมาให้ด้านหลังที่นั่งทั้งคู่พร้อมฝาปิดเพื่อ
ความเรียบร้อย

มาตรวัดของ DeLorean DMC-12 เป็นแบบ 2 วงกลมกลาง ขนาบข้างด้วยสารพัดไฟเตือน
เข็มความเร็วด้านซ้ายสเป็คโรงงานจะบอกความเร็วสูงสุดแค่ 85 ไมล์/ช.ม. (137 ก.ม./ช.ม.)
ซึ่งเป็นไปตามกฎของรัฐบาลสหรัฐฯ (มีเข็มไมล์แบบ 140 และ 160 ไมล์/ช.ม. ตามมาทีหลัง)
มาตรวัดรอบเริ่มขีดแดงที่ 6,500 รอบต่อนาที ทางด้านซ้ายมีมาตรวัด Volt และอุณหภูมิเครื่อง
ส่วนทางขวาเป็นมาตรวัดแรงดันน้ำมันเครื่องและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ส่วนไฟเตือน
ต่างๆนั้นมีไฟเตือนคาดเข็มขัด ไฟเตือนปิดประตูไม่สนิท ไฟเตือน Lambda (ออกซิเจนเซ็นเซอร์)
ไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่องต่ำ ไฟเตือนอัลเทอเนเตอร์ไม่ชาร์จ ไฟเตือนน้ำมันเหลือน้อยและ
ไฟเตือนเบรกมือ

ที่น่าสนใจคือรถส่วนมาก เวลาเปิดไฟใหญ่จะไม่มีสัญญาณไฟใดๆบอก แต่เวลาตบไฟสูง
จะมีไฟสีน้ำเงินบนหน้าปัด แต่สำหรับ DeLorean หากเปิดไฟใหญ่ จะมีไฟสีเขียวบนหน้าปัด
ขึ้นคาให้รู้ว่าเปิดไฟใหญ่ไว้อยู่ (ซึ่งต่างจากการเปิดไฟหรี่เฉยๆ) เราได้มาเห็นวิธีการใช้ไฟเตือน
แบบนี้ก็ในยุคหลังที่หน้าปัดรถเป็นแบบเรืองแสงกันหมดแล้ว และที่ต้องมีไว้ก็เพื่อเตือนไม่ให้
คนขับลืมเปิดไฟหน้า (เพราะหน้าปัดเรืองแสงจะสว่างตลอดเวลา ไม่เหมือนหน้าปัดหลอดไฟ
ของรถยุคเก่า)

พื้นที่ในห้องโดยสารนั้น แม้ว่าจะยังมีความคับแคบสไตล์รถสปอร์ต 2 ที่นั่ง แต่ความที่เป็นรถ
เครื่องวางหลังทำให้เนื้อที่ในห้องโดยสารเยอะกว่า Ferrari 308GTB แต่ยังไม่ถึงขนาด
Porsche 911 หลังคาค่อนข้างเตี้ย แต่ก็มีการออกแบบเผื่อไว้ให้สำหรับคนตัวสูง 193 ซ.ม.
สามารถนั่งขับได้..ซึ่งก็คงต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วเพราะนั่นคือความสูงของ John DeLorean

ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ความที่มีแผงบังแดดเป็นซี่ๆ ประกอบกับขนาดของภาพเมื่อมองผ่าน
กระจกมองหลังไปจะทำให้ดูอึดอัดบ้าง แต่ทัศนวิสัยด้านหน้านั้นถือว่าค่อนข้างโปร่งตา
เมื่อเทียบกับรถสปอร์ตทั่วไป เพียงแต่จะไม่ได้ความรู้สึก กระจกชิดตา หน้าอกชนพวงมาลัย
มองออกไปเห็นถนนอยู่ระหว่างสองลูกกะตากบแบบ Porsche 911 ซึ่งเป็นวิวแบบที่หลายคน
ชินตาและถือว่าเป็นรถสปอร์ตที่ทัศนวิสัยด้านหน้าดีที่สุดคันนึง

“เดี๋ยว…บางคนก็ไม่คิดอย่างนั้นนะ” ควินน์มีความเห็นอีกอย่าง “เสา A หนา กระจกหน้าลาด
คุณก็รู้ว่ารถแบบนี้เลี้ยวโค้งทีเสาบังมอเตอร์ไซค์ได้ทั้งคัน..มันจะดีไปได้ไงวะ”

….

ส่วนรายละเอียดทางวิศวกรรมนั้น เครื่องยนต์ของ DeLorean ก็อย่างที่ทราบกันว่า
มันก็คือเครื่อง PRV ของ Renault ที่ใส่จานจ่าย Bosch เข้าไปใหม่ เป็นเครื่องแบบ V6 90 องศา
SOHC 12 วาล์ว เสื้อสูบทำจากอะลูมิเนียม ไลนเนอร์ในกระบอกสูบทำจากเหล็กหล่อ ส่วน
ฝาสูบทำจากอะลูมิเนียม จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยชุดหัวฉีด Bosch K-Jetronic
ความจุ 2.85 ลิตร ขนาดปากกระบอกสูบ 91 ม.ม. ช่วงชัก 73 ม.ม.

ในสเป็คอเมริกา จำเป็นต้องมีการติดตั้ง Lambda Sond และเครื่องกรองไอเสีย ทำให้แรงม้า
อยู่ที่ 130 แรงม้าที่ 5,500 รอบต่อนาที ส่วนสเป็คที่ตั้งใจเอาไว้ขายประเทศอื่นซึ่งกฎหมาย
ไม่เข้มงวดเท่า แรงม้าของเครื่องบล็อกนี้จะโดดกลับไปอยู่ที่ 150 แรงม้า ตัวเลขอัตราเร่งที่
DeLorean คาดการณ์ไว้ 0-60 ไมล์/ช.ม. อยู่ที่ 8.5 วินาที และทำความเร็วสุงสุดได้ 135 ไมล์/ช.ม.
(220 ก.ม./ช.ม. – และเป็นตัวเลขของรถเกียร์ธรรมดา)

ตัวเครื่องยนต์นั้นจะระบายความร้อนด้วยหม้อน้ำที่ติดตั้งไว้ด้านหน้าของรถ มีพัดลมไฟฟ้า
ระบายความร้อน 2 ตัวติดตั้งหลังหม้อน้ำ

ระบบส่งกำลังมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่
1. เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ใช้คลัตช์แห่งแบบแผ่นเดียว เกียร์ 1 ชิฟท์ซ้าย-ขึ้น เกียร์ถอยหลัง
ใช้วิธีจับหัวเกียร์แล้วออกแรงยกขึ้นนิดหน่อย ก่อนผลักไปซ้ายสุด แล้วค่อยขึ้น กลไกจะคล้าย
เกียร์ Volvo 244/264 แต่แทนจะใจใช้วงแหวนที่คอคันเกียร์ ก็เปลี่ยนเป็นยกหัวเกียร์แทน
2. เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ แบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ตำแหน่งเกียร์ P-R-N-D-2-1

ช่วงล่างของ DeLorean DMC-12 เป็นแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่
คอยล์สปริง โช้คอัพและเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ 6 จุด ระบบบังคับเลี้ยว
เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนียน “ไม่มีระบบผ่อนแรงใดๆ” อัตราทดพวงมาลัยอยู่ที่ 14.9:1
การหมุนพวงมาลัยซ้ายสุดไปขวาสุดนับได้ 2.65 รอบ

ระบบเบรกเป็นดิสก์ 4 ล้อ จานหน้าขนาด 254 ม.ม. จานหลังขนาด 267 ม.ม. เบรกมือเป็นแบบ
ดึงจับผ้าเบรกหลัง แม่ปั๊มเบรกเป็นแบบ 2 วงจรแยกหน้าและหลัง (ไม่ใช่แบบ 2 วงจรไขว้)

ยางที่สี่เส้นของ DeLorean ที่ติดออกจากโรงงานจะเป็นยางของ Goodyear NCT Grand Prix
ยางหน้าขนาด 195/60 ห่อหุ้มล้ออัลลอยขนาด 14 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว ส่วนด้านหลังจะใช้ยาง
235/60 จับคู่กับล้ออัลลอยขนาด 15 นิ้ว กว้าง 8 นิ้ว สาเหตุที่ยางหลังมีขนาดใหญ่โตกว่ามาก
เพราะทาง Lotus เห็นว่า DMC-12 มีน้ำหนักตกท้ายเยอะกว่า Lotus Esprit และอาจทำให้
เสถียรภาพขณะเหวี่ยงโค้งต่ำกว่า จึงต้องใช้ยางหลังขนาดใหญ่ช่วยกันไม่ให้ท้ายออก

และนั่น คือสเป็คทั้งหมดของ DeLorean DMC-12 ที่เปิดตัวขายอย่างเป็นทางการในเดือน
มกราคมปี 1981 แต่ภารกิจต่างๆของชาว DeLorean ยังต้องมีต่ออีก เพราะว่า..
“รถยังไม่พร้อมสำหรับการขายจริง…มันแค่พร้อมสำหรับการวิ่งโชว์ แล้วก็เอาไว้ให้พวกสื่อ
ที่ถูกเชิญมาทดลองขับที่โรงงาน DMCL ได้มีเรื่องกลับไปเขียนลงหนังสือแค่นั้น” ควินน์เสริมอีกรอบ

“แปลว่ายังมีดีเลย์อีกงั้นหรือ” ผมถาม
“ก็ไม่มาก เพราะในเดือนมกราคมทุกชิ้นส่วนและเครื่องมือทุกอย่างที่ต้องใช้ในโรงงานก็มาครบ
หมดแล้ว พวกคนงานก็เริ่มได้รับการฝึกฝนวิธีการประกอบรถในส่วนงานของตัวเองมากขึ้น
พวกเขาสามารถประกอบรถได้วันละ 10 คันในช่วงแรกเริ่ม แล้วหลังจากนั้นก็เพิ่มเป็น 20, 30
และ 35 คัน ก็นับว่าสตาร์ทได้ไม่เลว”

“แล้วทางด้านดีลเลอร์ที่อเมริกาล่ะ”
“สบายมาก ไม่มีปัญหา อย่างที่เราเคยบอกผู้อ่านเอาไว้นั่นแหละว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่
ไม่น่าห่วงเลยสำหรับ DeLorean ในเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้แทน
จำหน่ายออกมา 328 แห่งแล้ว นี่ถือว่าไม่เลวเลยถ้านับว่า DeLorean ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเริ่มต้น
ด้วยการสร้างเครือข่ายดีลเลอร์ 150 แห่ง แล้วทยอยขยายไปจนครบ 400 แห่ง”

ตั้งแต่ช่วงต้นปี Donald Lander ได้กำหนดรอยสักแห่งชะตาเอาไว้บนหัวทีมบริหารทุกคน
ที่ไอร์แลนด์เหนือว่าจะต้องมีรถโชว์ส่งไปที่อเมริกาให้ได้ภายในเดือนมกราคม..เป็นอันว่า
ไม่มีใครโดนเชือดตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนั้นทาง DMCL ยังสามารถส่งรถคันจริง ไปขึ้นแท่นโชว์
ที่งาน Geneva Motorshow ได้อย่างสง่างาม John อยู่ที่นั่น พูดคุยและบรรยายสรรพคุณ
ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเขาเองอย่างมั่นอกมั่นใจโดยมีภรรยาสาวงาม Cristina คอยให้กำลังใจอยู่
ไม่ไกล “ยิ้มค่ะ จอห์น! อย่าลืมยิ้ม” แขกผู้มีเกียรติ และนักลงทุนที่ได้ร่วมลงขันไปกับโครงการ
DeLorean ก็ได้มีโอกาสยลโฉมรถคันผลิตจริงที่ได้รับการขัดเกลาจนดูทันสมัยขึ้น แม้ว่าสื่อ
มวลชนบางรายจะบอกว่ามันคล้าย Lotus Esprit ก็ตาม Jackie Stuart นักแข่ง F1 ในตำนาน
ก็ได้สละเวลามาปรากฏตัวและพูดคุยกับ John และคนอื่นๆในบูธ สีสันของ DeLorean ในเวลานี้
แม้จะเป็นสีเทาๆสแตนเลสโมโนโทนคล้ายกับสีผมของ John แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสแตนเลสที่
มีคนให้ความสนใจมากที่สุดในวันนี้ ตัวรถได้รับกระแสตอบรับที่ไม่ธรรมดาที่อเมริกา Jim Rose
ดีลเลอร์ผู้ขายรถในขณะนั้นบอกว่าลูกค้าจองคิวกันยาวทั้งๆที่ยังไม่เห็นรถ บางคนยอมวาง
เงินมัดจำ 1,000 ดอลลาร์ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าราคาจริงจะบานไปอีกเท่าไหร่ ยิ่งกำหนดการเปิดตัว
ถูกเลื่อนมาจนถึงปี 1981 ต้นปี ดีลเลอร์บางรายทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการรับเงินมัดจำ
พวกเขาโทรศัพท์บอก John เลยด้วยซ้ำว่า “นี่คุณ ไม่ต้องรีบประกอบรถส่งมาก็ได้นะ ทางนี้
ยังนั่งนับเงินมัดจำกำลังสบายสุดๆเลย”

แต่จะไม่รีบส่งรถไปอเมริกา ก็จะไม่สามารถขายรถได้ และเงิน 14 ล้านปอนด์ก้อนสุดท้ายที่
รัฐบาลอังกฤษให้มาก็กำลังหมดลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

วันที่ 20 เมษายน 1981 รถ DMC-12 จำนวน 350 คันถูกลำเลียงไปยังท่าเรือ Belfast
เพื่อทยอยขึ้นเรือและมุ่งหน้าไปยังอเมริกา ไปสู่มือของลูกค้าที่กำลังนั่งขีดปฏิทินรอรถตัวเอง
อย่างใจจดใจจ่อ

เสียงแห่งความยินดี การเฉลิมฉลอง และการเปิดแชมเปญ เป็นตัวแทนแห่งความสุขในระยะสั้นๆ
ที่อย่างน้อยในวันนี้ ชาว DeLorean ก็สามารถส่งรถกลับไปขายที่บ้านเกิดได้ในที่สุดหลังจาก
ทำงานอย่างหนักจนสุขภาพทรุดโทรมไปตามๆกัน

เพียงแต่ว่าในจำนวนพนักงานที่ยินดีกันอยู่นั้น อย่างน้อยก็มีบางคนที่รู้ชะตาตัวเองเช่นกัน
ว่าเสียงเปิดแชมเปญที่น่าอภิรมย์ใจเมื่อได้ยินนั้น..แท้จริงแล้วอาจเป็นเสียงของแม็กม่าใต้ภูเขาไฟ
ที่กำลังเริ่มปะทุกลิ่นไอกำมะถันแห่งปัญหาและเรื่องราวที่พวกเขาจะจดจำไปตลอดชีวิต

“ก็อย่างที่ผมบอก..”
“มันยังไม่จบ…นี่เพิ่งแค่เริ่ม”

ผมกล่าวปิดท้ายแทนควินน์ และกดปิดคอมพิวเตอร์ของตัวเองลง ก่อนจะนั่งคิดว่านี่จะต้องใช้
เวลาอีกกี่วัน เราถึงจะปั่น Chapter 7 ถึง 11 ส่งให้ผู้อ่านของเราได้

[To be Continue]


 

DeLorean DMC-12 : ปีกแห่งความฝัน รอยยิ้ม และน้ำตา (Part II)


บรรณานุกรม
THE DELOREAN-THE CAR, THE PEOPLE, THE SCANDAL by Nick Sutton
DeLorean DMC-12 Official Brochure (1981)

www.deloreanmuseum.org
www.lotusespritworld.com
www.lotuselancentral.com
ateupwithmotor.com
www.kirschgessner.net
www.entermyworld.com
Knut Grimsrud’s DeLorean Mailing List Site

GSN: Anything to win (John Z. DeLorean)
Greatest Blunder (DeLorean Motor Company)
The Car The Star Documentary (DeLorean)
DeLorean Documentary by Pennebaker/Hegedus
BBC Documentary – CAR CRASH: The DeLorean Story

สงวนลิขสิทธิ์ ตัวบทความ โดยผู้เขียน (Pan Paitoonpong)
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย เป็นของเว็บไซต์ตามที่แจ้งให้เครดิตภาพไว้
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
24 กุมภาพันธ์ 2015

Copyright (c) 2015 Text and some pictures without source identified.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
Some images belongs to other websites as described at given credit on
each image.

First published in www.Headlightmag.com
February 24th, 2015