Mazda ทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดกระทัดรัด C-segment ของพวกเขาด้วยรถอย่าง Familia ตั้งแต่ปี 1963 และได้วิวัฒนาการต่อมาอีก 8 เจนเนอเรชั่นโดยใช้ชื่อในการทำตลาด 323 และ Protege ในบางประเทศ หลังจาก 8 เจนเนอเรชั่นผ่านไป Mazda ก็ยุบชื่อเดิม แล้วใช้ชื่อรุ่นเป็นตัวเลขแทน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Mazda 3 (ในญี่ปุ่นเรียกว่า Axela) ซึ่งเปิดตัวเจนเนอเรชั่นแรกในญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2003 โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับ Ford จนกระทั่งวันที่ 26 มิถุนายน 2013 Mazda เผยโฉมเจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องยนต์แบบ SKYACTIV เป็นการปฏิวัติรูปแบบของรถจากนอกถึงใน

นับจากปี 2003 ถึงปัจจุบัน Mazda ขายรุ่น 3 ไปแล้วมากกว่า 6 ล้านคัน เป็นรถรุ่น Global ที่มียอดขายดีที่สุดของค่าย สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมให้กับ Mazda รถเจนเนอเรชั่นที่ 3 (SKYACTIV 1) เป็นแรงผลักดันสำคัญส่วนหนึ่งในเรื่องการออกแบบ KODO design และวิศวกรรมที่มุ่งเน้นความรู้สึกที่ดีเมื่อได้ขับ ตลอดจนการตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ขับ และลดอัตราการสิ้นเปลืองลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับ Mazda 3 สมัยที่อยู่ใต้ร่มของ Ford

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2018 Mazda ใช้เวทีงาน Los Angeles Auto Show ในการเผยโฉม Mazda 3 เจนเนอเรชั่นที่ 4 อย่างเป็นทางการ ทั้งรุ่น 4 ประตูซีดานและ 5 ประตู แฮทช์แบ็ค โดยไฮไลท์ทางเทคนิคของรถรุ่นใหม่นี้ ประกอบไปด้วย

  • ดีไซน์ KODO เวอร์ชั่น 2.0
  • การปรับปรุงดีไซน์ภายในรถและการเลือกวัสดุภายในกับการเก็บเสียงโดยพยายามเทียบมาตรฐานใกล้เคียงแบรนด์ยุโรปมากขึ้น
  • เครื่องยนต์ ที่มีทั้งการนำบล็อคเดิมมาปรับปรุงใหม่ทั้งเบนซินและดีเซล พร้อมขายในต้นปี 2019 และเครื่องยนต์ใหม่ SKYACTIV-X + M-Hybrid (Mild Hybrid System)
  • ครั้งแรกของ Mazda 3 ที่ใช้ช่วงล่างหลังแบบคานบิดแทนแบบอิสระ

ทั้งนี้ ในการวิจัยและพัฒนา Mazda 3 รุ่นใหม่ มีคำสั้นๆที่ใช้กำกับแนวคิดว่า “An object of universal desire” หรือแปลเป็นภาษาไทยแบบไม่อิง Google translator ว่า “รถที่ใครเห็นแล้วก็ต้องอยากได้” ซึ่งสิ้งนี้นำมาสู่การปรับปรุงและเพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใส่ลงไปในรถรุ่นใหม่นี้

ก่อนอื่นๆ เรามาดูรูปทรงภายนอก เทียบระหว่างรุ่น 4 ประตูกับ 5 ประตูในทุกมุม

ขนาดและมิติ

สำหรับรถรุ่นใหม่ ตัวซีดาน มีความยาว x กว้าง x สูง เท่ากับ 4,662 x 1,797 x 1,445 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นแฮทช์แบ็ค มีขนาดตัวถังเท่ากับ 4,459 x 1,797 x 1,440 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,725 มิลลิเมตร

ส่วนรุ่นเดิมนั้น ตัวซีดาน มีความยาว x กว้าง x สูง เท่ากับ 4,589 x 1,795 x 1,450 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นแฮทช์แบ็ค มีขนาดตัวถังเท่ากับ 4,470 x 1,795 x 1,450 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร

หรือโดยสรุปก็คือ Mazda 3 รุ่นใหม่ กว้างเกือบเท่าเดิม และเตี้ยลงเล็กน้อย รุ่น 4 ประตูตัวถังจะยาวกว่ารุ่นเดิม ในขณะที่รุ่น 5 ประตูกลับสั้นลงกว่ารุ่นก่อน

การออกแบบภายนอก

Mazda 3 โฉม 2019 นี้ มีความคล้ายกับรถ Kai Concept ที่โชว์ในงาน Tokyo Motor Show ปี 2018 สิ่งที่ยกแบบมาคือกระจังหน้าขนาดใหญ่และไฟหน้าที่เรียวเล็ก แต่แน่นอนว่ารถเวอร์ชั่นผลิตจริงจะดูจืดลงกว่าหน่อยเพราะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยจากการชนและความง่ายในการผลิตรวมถึงต้นทุน สัดส่วนของตัวรถ ถือได้ว่าเป็นรถเครื่องวางขวางที่มีกระโปรงหน้ายาว เพราะต้องการให้ดูสปอร์ต เส้นหลังคาแบบ Swept back ที่ดึงเส้นลงมาบรรจบกับส่วนท้ายอย่างลงตัว รุ่น 5 ประตูจะมีเสา C-pillar ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้รถดูมีความบึกบึนในส่วนท้ายแต่อาจต้องแลกกับทัศนะวิสัย

สำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 4 นี้ Mazda ออกแบบประตูหลังให้แตกต่างกันระหว่างรุ่น 4 และ 5 ประตู หลังจากที่ในเจนเนอเรชั่นที่แล้ว ข้อจำกัดด้านต้นทุนทำให้ต้องใช้ประตูหลังแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดด้านอิสระในการออกแบบ ทำให้มันสวยแบบสุดๆไม่ได้ ทีมออกแบบของ Mazda นำโดย Yasutake Tsuchida กล่าวว่า “งานออกแบบของ Mazda 3 นั้นเราอยากให้คนดูแล้วเห็นว่ามันเป็นรถที่เกิดจากอารมณ์แบบศิลป์ ในขั้นแรกเราดูจากผลงานสมัย MX-5 นั่นคือ KODO design ที่เดินตามแนวคิดหลักมากที่สุด ใน Mazda 3 ใหม่ เราต้องการให้มันแปลกตาขึ้นกว่าเดิม”

นอกจากการมี KODO version 2.0 เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบแล้ว ภายในทีมออกแบบ Mazda เอง ยังมีการแบ่งแนวคิดย่อยสำหรับรถรุ่น 4 และ 5 ประตูที่แตกต่างกัน

รถรุ่น 5 ประตู จะออกแบบตามธีม “Free Spirit” ซึ่งไม่ได้แปลว่าวิญญาณล่องลอย แต่หมายถึงความปราถณา พลังจากใจที่กระทำสิ่งต่างๆอย่างอิสระแบบตามใจตัวเองโดยไม่ยึดถือกับธรรมเนียมเก่า ในขณะที่รุ่น 4 ประตู จะเป็น “Dignity with strong individualistic streak” ซึ่งหากแปลเป็นบุคลิกภาพคน ก็น่าจะเป็นคนประเภทที่แคร์ภาพลักษณ์ของตัวเองในสังคม แต่งตัวดูภูมิฐาน แต่ในใจลึกๆเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ดังนั้นจะต้องมีความ Conservative มากพอที่จะไม่ทำให้คนเห็นแล้วยี้ แต่ก็ต้องใส่รสเปรี้ยวให้ดึงดูดสายตาคน และดำเนินรอยตามเอกลักษณ์ Mazda ยุคใหม่ด้วย

แต่ไม่ว่าคันไหนจะมาแนวไหน แนวคิดหลักที่ทั้ง 2 รูปแบบมีร่วมกันก็คือ

  • เก็บเส้นด้านข้างของตัวรถให้เนียน ไม่มีสันเหลี่ยมที่บ่าให้ดูแข็งกร้าวเหมือนรถค่ายอื่น แต่ใช้ความโค้งแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ขัดสายตา
  • รูปทรงของรถ มองจากระยะไกลต้องสวย แต่มองใกล้ๆแล้วต้องไม่ยุ่งเหยิง Mazda จึงให้ความสนใจกับการจัดสัดส่วนความยาว หน้า/กลาง/หลังของรถให้ลงตัว กดหน้ารถให้ลิ่มเรียวและยาว ในขณะที่รุ่น 4 ประตูก็กดด้านท้ายให้เตี้ยเพื่อทัศนะวิสัยที่ดีและลักษณะของรถที่ดูผอมเปรียวแต่มีพลังดุจสตรีเล่นโยคะ
  • Mazda ไม่ค่อยสนใจในการเล่นแร่แปรธาตุกับดีไซน์ของไฟหน้าประเภทที่ดูราวกับหลุดมาจากอวัยวะหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นเทรนด์มาแรงของรถสมัยนี้ ตรงกันข้าม ทีมออกแบบต้องการให้ไฟหน้าและท้ายดูเรียบง่าย และสวย 300 เมตรเช่นเดียวกับบอดี้รถ

ภายใน

ภายในของ Mazda 3 เจนเนอเรชั่นที่ 4 ถูกออกแบบมาใหม่หมด โดยคำนึงถึงการพยายามให้คนขับได้รับความรู้สึก “ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับรถ” ตามแนวคิด Jinba-Ittai ที่ใช้มาช้านานโดย Mazda ซึ่งโดยปกติ การออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ของรถยนต์ คำนึงถึงตำแหน่งท่านั่ง เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ Mazda นั้น Kota Beppu ซึ่งเป็น Product Manager ของ Mazda 3 ใหม่กล่าวว่า ทีมออกแบบภายในศึกษาลึกลงไปถึงร่างกายของมนุษย์ โดยยกตัวอย่างจากการที่เวลาเราเดินหรือวิ่ง ขา เอว และส่วนบนของร่างกายเราจะมีการขยับเขยื้อนเพื่อช่วยรักษาส่วนหัวให้นิ่งอยู่กับที่มากที่สุด เพราะแรงกระทำต่อหัวนี่ล่ะ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ การตอบสนอง

ดังนั้นหลังจากออกแบบภายในเสร็จและติดตั้งลงบนรถทดสอบ Mazda ก็จะเอาหนูทดลอง (ที่เป็นคน) ไปนั่ง แล้วศึกษาปฏิกิริยาที่ร่างกายคนขับมีเมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ เช่นเมื่อเหวี่ยงรถเข้าโค้ง เร่ง หรือเบรกกระทันหัน ความตั้งใจของการออกแบบ นอกจากการพยายามให้คนขับสามารถขยับมือและเท้าได้สะดวก บังคับรถได้คล่องที่สุดแล้ว ก็คือการพยายามทำให้ผู้ขับสามารถรักษาตำแหน่งศีรษะได้นิ่ง หรือขยับหัวน้อยที่สุด

สังเกตได้จากการออกแบบเสา A-pillar ซึ่งรถสมัยใหม่มักจะทำมาหนาเตอะ แต่ Mazda จะพยายามออกแบบให้มีขนาดเล็กเมื่อมองจากมุมของคนขับ ขยายวิสัยทัศน์ผ่านกระจกหน้าไปให้กว้าง ทำให้คนขับสามารถมองปราดเดียวเห็นได้ทุกอย่าง หรือเวลาเลี้ยวเข้าซอย เข้าโค้งเล็กๆ ก็ไม่ต้องโยกหัวไปมาพยายามจะมองทางให้เห็น ผลพลอยได้นอกจากความเมื่อยล้าที่น้อยลงคือโอกาสในการเห็นคนหรือหมาที่จะวิ่งตัดหน้าแล้วหยุดได้ทัน

รายละเอียดเล็กๆ ที่ช่วยเรื่องความสามารถในการมองเห็นทาง ถูกนำไปพิจารณา และแม้กระทั่งระบบหัวฉีดน้ำทำความสะอาดกระจกหน้า ก็ถูกย้ายจากฝากระโปรงไปติดที่ก้านใบปัดน้ำฝน เพราะวิศวกรต้องการให้เมื่อฉีดน้ำล้างไปปุ๊บ ใบปัดก็กวาดน้ำออกเกือบจะในทันที ไม่ทำให้หลงเหลือคราบน้ำขณะฉีดซึ่งส่งผลให้กระจกหน้าเบลอไปชั่วขณะ

เบาะนั่งได้รับการออกแบบใหม่ โดยมองว่ากระดูกสันหลังของมนุษย์นั้นมีลักษณะเป็นตัว S ดังนั้นพนักพิงหลังจึงถูกออกแบบให้ดันหลังส่วนล่างและบนอย่างเหมาะสม ส่วนลักษณะการออกแบบปีกข้างและส่วนต่างๆของเบาะนั้น ไม่ได้เน้นการรัดจนรู้สึกอึดอัด แต่แค่ล็อคส่วนล่างของร่างกายไว้ โดยอนุญาตให้มีการเคลื่อนที่ลำตัวแนวบน-ล่างและข้าง เพียงเพื่อให้ร่างกายสามารถขยับในลักษณะที่จะรักษาระดับของศรีษะเพื่อชดเชยแรงกระทำต่อร่างกายเท่านั้น

นอกจากนี้ Mazda 3 ใหม่ทุกคัน จะสามารถปรับองศาเบาะรองนั่งให้เทไปหน้าหรือหลังได้ เพราะ Mazda ต้องการให้รองรับมนุษย์ที่มีความสูงและความยาวขาที่ต่างกัน เช่นเดียวกับคอพวงมาลัยแบบปรับได้ 4 ทิศ ก็ถูกออกแบบให้ ปรับระยะเข้า/ออกเพิ่มจากรุ่นเดิมอีก 10 มิลลิเมตรกลายเป็นรวม 70 มิลลิเมตร ด้วยเหตุผลที่ต้องการรองรับความยาวแขนคนขับที่ต่างกัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้ตำแหน่งการขับขี่ที่ถนัดสำหรับแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงในจุดอื่นๆ ดังต่อไปนี้

  •  ระบบ MZD Connect พร้อมหน้าจอกลางขนาด 8.8 นิ้ว อัปเดตใหม่ สวิตช์ควบคุมปุ่มหมุนลักษณะที่คล้าย iDrive ที่มีแต่เดิม ถูกปรับขนาดและปุ่มใหม่ให้ใช้งานง่ายขึ้น
  • เครื่องเสียงในรุ่นมาตรฐาน เริ่มต้นที่ 8 ลำโพง ไม่มีน้อยกว่านี้ และยังสามารถสั่งชุดเครื่องเสียง BOSE 12 ลำโพง พร้อมซับวูฟเฟอร์ได้อีก
  • จอ Head-Up Display จากเดิมมีแผ่นใสกางอยู่ด้านบนแดชบอร์ด เปลี่ยนเป็นแบบฉายข้อมูลตรงไปที่กระจกหน้า เพื่อลดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นบนแดชบอร์ด
  • คอนโซลกลาง ออกแบบให้มีปุ่มเฉพาะเท่าที่จำเป็น ตามวิธีคิดแบบ Less is more ของฝ่ายออกแบบ
  • ตำแหน่งของคันเกียร์ ถูกเลื่อนไปข้างหลัง และติดตั้งให้สูงขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพื่อให้คนขับสามารถเอามือจากพวงมาลัยมากุมหัวเกียร์ได้ถนัด และใช้เวลาน้อยลง
  • ปุ่มควบคุมสำหรับ MZD Connect ก็เลื่อนไปข้างหน้ามากกว่ารุ่นเดิม ย้ายตำแหน่งที่วางแก้วไปด้านหน้าคันเกียร์ และยืดความยาวของพนักเท้าแขนออกมามากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นครั้งแรกของ Mazda 3 ก็คือภายในรถสีดำสลับแดงเบอร์กันดี ซึ่ง Mazda เลือกสีนี้มาใส่ให้ในรุ่น Hatchback 5 ประตูเท่านั้นเพราะมองว่ากลุ่มตลาดที่อายุน้อยกว่าอาจจะมีรสนิยมใหม่ เริ่มเบื่อสีครีมหรือสีดำที่ครองตลาดมาตลอด 2 ทศวรรษ

ส่วนเรื่องการเก็บเสียงนั้น Mazda 3 เป็นรุ่นแรกที่ใช้การประกอบแบบ Two-wall ซึ่งก็คือการออกแบบโดยจงใจ ให้มีพื้นที่ว่างระหว่างพรมที่บุพื้นรถ กับตัวถังส่วนล่าง จากนั้นออกแบบลักษณะพื้นผิววัสดุทั้งสองจุดให้สะท้อนเสียงกลับไปมาระหว่างกัน ไม่เข้ามาในห้องโดยสาร Mazda บอกว่าที่จริงการใช้วัสดุซับเสียงหนาๆ ก็ช่วยลดเสียงได้ แต่จะไปเพิ่มน้ำหนักและต้นทุนของรถ แต่เทคนิค Two-wallไม่เพิ่มน้ำหนัก และสามารถคิดแบบเพื่อการผลิตโดยไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนได้ นอกจากนี้ส่วนต่างๆที่ต้องเจาะพรมเป็นรู เพื่อเดินท่อทางหรือสายไฟต่างๆ ถูกคิดมาให้มีการเจาะน้อยที่สุดเพื่อลดจุดที่เสียงสามารถเข้าได้

แต่ส่วนใดก็ตามที่ต้องใช้วัสดุซับเสียง Mazda ก็ไม่ลังเลที่จะใช้ เช่นส่วนเพดาน และลักษณะของพรมปูพื้นชั้นสอง ซึ่งจะมีบทบาทในการลดเสียงรบกวนประเภทความถี่สูง

 

เครื่องยนต์

ตามข้อมูลของ Mazda ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน ในแต่ละประเทศ อาจได้ใช้เครื่องยนต์ไม่เหมือนกัน แต่มองในภาพรวม ขุมพลังที่มีให้เลือกในช่วงเปิดตัวขายจริง ต้นปี 2019 จะประกอบไปด้วยเครื่องเบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 1.5 ลิตร, 2.0 ลิตร และ 2.5 ลิตร ต่อมาคือเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ขนาด 1.8 ลิตร ในอเมริกา จะไม่มีรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ในขณะที่ทางอังกฤษ ก็จะไม่มีเครื่อง 2.5 ลิตรขาย

ส่วนเครื่องยนต์แบบ SKYACTIV-X นั้น จะมีแน่นอน และจะตามมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 เฉพาะบางประเทศ

เนื่องจาก Mazda ยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขพละกำลังอย่างเป็นทางการ ทราบแค่เพียงว่าเครื่องยนต์แต่ละรุ่น จะเป็นการนำเอาเครื่องยนต์ที่ใช้อยู่แล้วในรถรุ่นอื่นมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น กินน้ำมันน้อยลง และปล่อย CO2 น้อยลง เราจึงลองค้นสเป็คเครื่องยนต์เหล่านี้จากรถรุ่นอื่นมาดูกันก่อน

1.5  SKYACTIV-G (ติดตั้งใน Mazda 3 รุ่น 2013-2018 กับ MX-5 อยู่)

เครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร 1,496 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 74.5 x 85.8 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 114 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

2.0 SKYACTIV-G (ติดตั้งอยู่ใน Mazda 3 2.0 ลิตรรุ่น 2013-2018)

เครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร 1,997 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

2.5 SKYACTIV-G (ติดตั้งอยู่ใน Mazda 6 และ CX-5)

เครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ ขนาด 2.5 ลิตร 2,488 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 89.0 x 100.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 252 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที

1.8 SKYACTIV-D (ติดตั้งอยู่ใน CX-3 Diesel สเป็คญี่ปุ่น)

เครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv-D ขนาด 1.8 ลิตร 1,756 ซีซี. 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 79.0 x 89.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 14.8 : 1 กำลังสูงสุด 116 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร ที่ 1,600 – 2,600 รอบ/นาที

เมื่อนำมาติดตั้งใน Mazda 3 เจนเนอเรชั่นใหม่ ลักษณะทางกายภาพของเครื่องยนต์เหล่านี้น่าจะคล้ายกัน 90% หรือมากกว่า แต่ยังไม่มีการยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการจาก Mazda

SKYACTIV-X 2.0

ไม้เด็ดสุดของบรรดาเครื่องยนต์ใน Mazda 3 ใหม่ คือเครื่องยนต์แบบ SKYACTIV-X  ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การจุดระเบิดแบบไบ กล่าวคือ เติมน้ำมันเบนซิน แต่ในบางจังหวะจะใช้ลูกสูบอัดเชื้อเพลิงจนระเบิดในห้องเผาไหม้ตามหลักการเหมือนเครื่องยนต์ดีเซล แต่บางจังหวะก็ใช้หัวเทียนในการจุดประกายไฟให้เกิดการเผาไหม้แบบเครื่องเบนซินปกติ และยังสามารถใช้หัวเทียนในการกำหนดว่าเมื่อไหร่จะเกิดการเผาไหม้ แต่ทำงานในจังหวะที่ต่างจากเครื่องเบนซินปกติเขาทำกัน

Mazda เรียกเครื่องยนต์แบบนี้ว่า SPCCI (Spark-Controlled Compression Ignition) โดยมีหลักการอธิบายง่ายๆดังนี้

  • ที่รอบต่ำ และ โหลดต่ำ เครื่องยนต์ก็เผาไหม้แบบดีเซลไป หัวเทียนไม่ต้องทำงาน ใช้น้ำมันน้อยลงกว่า SKYACTIV-G รุ่นเดิม 50% เครื่องก็ยังเดินเบานิ่งและทำงานได้ราบเรียบ
  • เมื่อรอบเครื่องและ/หรือ ภาระโหลดสูงขึ้น หัวเทียนก็เริ่มทำงานเพื่อสร้างแรงดันจำลอง (Air Piston) ในห้องเผาไหม้ เพื่อควบคุมการจุดระเบิดให้เป็นไปอย่างถูกจังหวะ
  • ที่รอบเครื่อง และ โหลดปานกลาง ปั๊มอากาศ (Air Supply) เริ่มยิงอากาศเข้าห้องเผาไหม้ ซึ่งมีส่วนช่วยทั้งในเรื่องพละกำลัง และ การควบคุมแรงดันห้องเผาไหม้สำหรับการจุดระเบิด
  • ตอกคันเร่ง 100% และลากรอบชนขีดแดง (Red line) – เครื่องยนต์กลายร่างเป็นเบนซิน หัวเทียนรับหน้าที่จุดระเบิดเต็มตัว ปั๊มอากาศทำงานเพื่อเพิ่มพลังให้กับเครื่องยนต์

ผลที่ได้จากเครื่องยนต์นี้ ว่ากันว่าด้วยความจุ 2.0 ลิตร มันสามารถสร้างแรงม้าได้ 187-190 แรงม้า แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 230 นิวตันเมตร ซึ่งผลจากการเก็บค่าการทดสอบ เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ให้พละกำลังเกือบเท่าเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร SKYACTIV-G แต่มีอัตราสิ้นเปลืองและ CO2 ต่ำเกือบเท่าเครื่องยนต์ SKYACTIV-D 1.5 ลิตร

เครื่องยนต์ SKYACTIV-X จะมาพร้อมระบบ M-Hybrid ซึ่งเป็นระบบไฮบริดขั้นอ่อนสุด (Mild Hybrid) ไม่ได้มีแบตเตอรี่เสริมเอาไว้เพื่อการขับเคลื่อนในแบบ EV Mode แต่ใช้สำรองกำลังไฟฟ้า เพื่อให้สามารถดับเครื่องยนต์ขณะปล่อยไหลโดยที่ระบบไฟฟ้าและพวงมาลัยยังทำงานได้ปกติ เป็นระบบคล้ายกับของ Audi ที่ทำมาเพื่อให้เครื่องยนต์สามารถดับได้บ่อยขึ้น ลดการสิ้นเปลืองและมลภาวะลง แต่ไม่มากเท่ากับพวกไฮบริดเต็มขั้น

ส่วนใครก็ตามที่ถามหารุ่นเทอร์โบ 2.5 ลิตร Mazda บอกในตอนแถลงข่าวว่า ยังไม่มีแผนจะทำ Mazda 3 MPS ออกมา ณ ขณะนี้

เทคโนโลยีอื่นๆใน Mazda 3 ใหม่

ประการแรกคือช่วงล่าง แม้ว่าด้านหน้าจะเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลงที่คล้ายของเดิม แต่แปลกมาที่ช่วงล่างหลังกลับเป็นแบบคานบิดทอร์ชั่นบีมเหมือน Mazda 2 ทั้งที่ในหน้าประวัติศาสตร์ของ Mazda นั้น ใช้ช่วงล่างหลังแบบอิสระในรถระดับนี้มาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30 ปี (Mazda 3 เจนเนอเรชั่นที่ 3 ใช้ช่วงล่างหลังมัลติลิงค์)

ถือว่าเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะสมัยก่อนที่คู่แข่งใช้ช่วงล่างหลังทอร์ชั่นบีม Mazda มีจุดเด่นที่ให้ช่วงล่างหลังแบบอิสระ ในวันนี้ แม้แต่คู่แข่งจอมลดต้นทุนอย่าง Toyota ยังใช้ช่วงล่างหลังอิสระดับเบิลวิชโบนในโครงสร้าง TNGA แต่ Mazda กลับเดินสวนทางกัน

Mazda ไม่ได้อธิบายเสริมหรือแก้ต่างใดๆบนเนื้อหาที่บอกกล่าวแก่สื่อมวลชน บอกแต่เพียงว่า องศาล้อ และระยะยุบยืดของช่วงล่างในแต่ละล้อนั้น ถูกคำนวณมาอย่างดี และเซ็ตมาในลักษณะที่เวลาวิ่งปกติ ช่วงยุบแรกๆจะนุ่มแต่ยิ่งยุบลงไปมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งแข็งขืนสู้ หรือแข็งแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เวลาขับแบบผาดโผนจะต้องคล่องตัว มั่นใจได้ว่าไม่ทิ้ง DNA รถขับดีของค่าย

สื่อมวลชนเมืองนอก และคนอ่านชาวไทย แสดงความเป็นห่วงในลักษณะเดียวกันว่าการใช้ช่วงล่างหลังแบบนี้จะส่งผลต่อคุณภาพการขับขี่มากแค่ไหน ในขณะที่หลายท่านมองว่าถ้า Mazda 2 กับ CX-3 ที่ใช้ช่วงล่างหลังแบบนี้ ขับแล้วไม่มีใครด่า Mazda 3 ใหม่ก็ไม่น่าจะแย่ไปกว่านั้น

นอกจากรูปแบบของช่วงล่างที่มีการเปลี่ยนแปลง Mazda ยังใช้ลูกหมากทรงรีแบบใหม่ที่ออกแบบมาให้ทนทานขึ้น และมีพื้นที่สำหรับการช่วยซับแรงกระแทกประเภทกรวดทรายก้อนเล็ก ทำให้เวลาขับบนถนนแบบคนสติดีๆแล้ว Mazda 3 ใหม่นั่งสบายขึ้นกว่ารุ่นเก่าแม้ว่าตัวท้อปจะใช้ล้อ 18 นิ้วกับยาง 215/45 เหมือนรุ่นเดิมก็ตาม

 

โครงสร้างตัวถัง SKYACTIV-Vehicle Architecture แบบใหม่ที่มีพื้นฐานร่วมกับของเดิมอยู่บ้าง แต่เพิ่มความแข็งแรง ในรุ่นเดิมจะมีการใช้เหล็กกล้า High-tensile 980MPa เป็นส่วนประกอบโครงคิดเป็นอัตราส่วน 3% แต่ในรุ่นใหม่เพิ่มเป็น 30% นอกจากนี้ยังมีการออกแบบคานตามแนวขวางและตัวถังด้านหลังส่วนข้างใหม่เพื่อให้ตัวถังบริเวณนั้นมีความแข็งแรงขึ้น

Mazda เชื่อว่า ตัวถังที่มีความเหนียว บิดตัวน้อยเวลาสะเทือนหรือเข้าโค้ง มีส่วนช่วยในการเซ็ตการตอบสนองรถ เพื่อเมื่อตัวรถไม่บิด ก็สามารถปรับจูนการตอบสนองที่ช่วงล่างได้แม่นยำเที่ยงตรงขึ้น และได้เรื่องความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นเวลาชนด้วยเช่นกัน

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อครั้งแรกใน Mazda 3

Mazda เรียกว่า i-Activ 4WD ซึ่งนำเอาระบบขับเคลื่อน 4 ล้อจาก CX-5 มาประยุกต์ให้เข้ากับรถเก๋ง Mazda เคลมว่าสามารถลดอัตราการสูญพลังไปกับระบบขับเคลื่อนลง 60% เมื่อเทียบกับระบบเก่า และทำงานร่วมกับระบบ G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) ซึ่งคอยควบคุมลักษณะการตอบสนองของรถเวลาเลี้ยวโค้งโดยใช้เบรกที่สามารถแยกจับแต่ละข้างได้อย่างอิสระรวมถึงสามารถลดกำลังเครื่อง (ไม่เกิน 30 นิวตัน) เพื่อให้รถเข้าออกโค้งได้คล่องตัวขึ้น ระบบ i-Activ 4WD ก็จะเข้ามามีบทบาทตรงที่สามารถปันแรงบิดจากล้อหน้าไปล้อหลัง ช่วยให้รถเกาะโค้งดีขึ้นโดยสามารถกดคันเร่งได้ลึกกว่ารถขับหน้าและไม่เสียการยึดเกาะ

ระบบความปลอดภัย i-ACTIVESENSE

  • ระบบตรวจสภาพคนขับ Driver Monitoring System ใช้กล้องอินฟราเรด และ LED ในการเช็คสถานะของคนขับ เช่น การเปิดตา/ปิดตา บวกกับระยะเวลา คนตาตี่ไม่ต้องกลัวว่ารถจะโง่ เพราะระบบจะเทียบขนาดตาเป็นช่วงระยะเวลายาวจนแยกตาอาหมวยตาจันทร์เสี้ยวกับตาแบบแบ๊วเวอร์ๆออก จากนั้นก็จะดูความถี่ในการกระพริบตา ความเอียงของหน้าหรือหัว ถ้าพบว่าเข้าลักษณะอ่อนล้า ก็จะส่งเสียงเตือนและสั่งให้ระบบ Smart Brake Support (SBS) ชะลอความเร็วรถลงในกรณีหลับใน
  • ระบบ Front Cross Traffic Alert (FCTA) ใช้เรดาร์ด้านหน้ารถในการตรวจรถที่วิ่งมาจากมุมอับ เช่นเวลาขับออกจากมุมตึก (แต่ถ้าคนขับเป็นพวกเหยียบอย่างเดียว ไม่ชะลอระวังอะไรเลย คิดว่าก็คงไม่รอด)
  • นอกจาก Adaptive Cruise Control ที่ปรับความเร็วตามรถคันหน้าได้แล้ว Mazda 3 ใหม่ยังมีระบบ Cruising & Traffic Support (CTS) ซึ่งช่วยควบคุมการเร่ง เบรก และพวงมาลัย ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อรบรากับสภาพรถติดขยับช้าบนทางด่วนโดยเฉพาะ ทำให้คนขับผ่อนคลายได้มากขึ้น ระบบ Cruise Control ใหม่นี้ยังสามารถหยุดรถนิ่ง และออกตัวตามรถคันหน้าได้ ถ้าหยุดรถไม่นานเกินเวลาที่กำหนด (Stop & Go Traffic)

และทั้งหมดนี้ก็คือ รายละเอียด และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะอยู่ใน Mazda 3 เจนเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งพร้อมลงขายจริงที่เมืองนอก ในช่วงต้นปี 2019 สำหรับรถที่ใช้เครื่องเบนซิน และดีเซล ส่วนรถเครื่อง SKYACTIV-X จะพร้อมจำหน่ายภายในปี 2019 ช่วงปลายปี

สำหรับประเทศไทยนั้น อาจมีลุ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 แต่ยังไม่มีรายละเอียดให้ทราบในเรื่องของเครื่องยนต์ หรือสเป็คอุปกรณ์ คาดว่าน่าจะมีเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเพียงพิกัดเดียวเหมือนเดิมไปก่อนเนื่องจากการนำเครื่อง SKYACTIV-X มาใช้อาจต้องอาศัยระยะเวลาในการทดสอบบนถนนไทย น้ำมันไทย อากาศไทย เป็นระยะเวลานาน เพราะไม่เช่นนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาในการระยะยาว ตามแนวที่ SKYACTIV-D เจออยู่หลายกรณีในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ

 


Source

Motor1

Car Magazine UK

Mazda USA Press Release

 

อ่านเพิ่มเติม

เจาะเทคโนโลยีเครื่องยนต์ Mazda SKYACTIV-X (SPCCI) ที่โลกจะได้สัมผัสในปี 2019