Dyson แบรนด์เครื่องดูดฝุ่นและไดร์เป่าผมชื่อดังจากอังกฤษที่มีอายุกว่า 30 ปี (แต่คนไทยเพิ่งได้ยินชื่อ Dyson ในพักหลัง ๆ จากสื่อโฆษณาที่เพิ่งทุ่มงบลงไป) กำลังสร้างความแปลกใจให้แก่ผู้คนในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ด้วยการกรุยทางเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวภายในปี 2020 ซึ่งก็สวนกระแสบริษัทไอทีทั้งหลายที่ยังไม่กล้าสร้างรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นคันจริงกันเลย

(ภาพตกแต่งโดย Johny Dyson ผู้ซึ่งระบุข้อมูลใน Facebook ว่า เขาเคยเป็น Design Engineer ของบริษัท Dyson มาก่อน)

ข่าวชิ้นนี้ไม่ใช่ข่าวโกหกหรือหลอกลวงแต่อย่างใดเมื่อ Sir James Dyson ได้ส่งอีเมล์ถึงพนักงาน Dyson ทุกคนทั่วโลกว่า ทางบริษัทได้ตระเตรียมเพื่อเข้าสู่การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2020 ในเนื้อหาอีเมล์ยังมีการปูข้อมูลวิสัยทัศน์ของบริษัทอย่างสังเขปว่า Dyson เคยเป็นผู้บุกเบิกสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘Cyclone Filter’ ช่วยดักอนุภาคไอเสียจากการปล่อยควันเสียของเครื่องยนต์ดีเซลได้สำเร็จในปี 1993 ก่อนผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เสียอีก

(Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งบริษัท Dyson ได้ส่งสาส์นสำคัญผ่านอีเมล์ถึงพนักงานทุกคนทั่วโลก)

เนื่องจาก Sir James Dyson เคยอ่านเอกสารสถาบันด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาในปี 1989 ที่มีการระบุว่า มลพิษจากควันไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวันอันควรของมนุษย์ เป็นสรุปผลการทดลองภายในห้องแล็บ โดยนำหนูถีบจักรสีขาวและหนูสีเทาเป็นตัวแปรในการทดสอบ

ดังนั้น Sir James Dyson จึงสั่งให้ทีมงานพัฒนา Cyclone Filter เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับดักอนุภาคจากการปล่อยควันเสียของเครื่องยนต์ดีเซลตั้งแต่ปี 1990 จนพัฒนาสำเร็จในปี 1993 พร้อมทั้งยังมีการโปรโมตในรายการทีวีที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ดูจะมาผิดจังหวะไปเสียหน่อย เพราะผู้คนในยุคนั้นยังไม่รู้สึกว่า Cyclone Filter เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ จึงไม่มีใครสนใจของชิ้นนี้เลย อีกทั้งยังโดนผู้คนในอุตสาหกรรมยานยนต์บอกให้ Dyson กำจัด Cyclone Filter นี้ไปซะ เพราะว่ามันมีปัญหาเยอะ

(James Dyson สาธิตสิ่งประดิษฐ์ Cyclone Filter สำหรับดักอนุภาคจากควันไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลในปี 1993)

แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกลับกดดันให้เร่งเดินหน้าการพัฒนาเครื่องยนต์ไอเสียสะอาด ‘Clean Diesel’ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต้องจำยอมรับกฎข้อบังคับนี้โดยปริยาย

Dyson ยังคงมุ่งมั่นที่จะหาวิธีการลดมลภาวะทางอากาศอย่างต่อเนื่อง จนสังเกตได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ต่างเพิกเฉยหรือไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้น Dyson จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อมั่นอย่างสุดใจว่า มันจะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้จริง

ผลลัพธ์จากการคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้าดิจิตอลและระบบกักเก็บพลังงานนวัตกรรมใหม่ก็ทำให้ Dyson สามารถนำเทคโนโลยีนี้มาบรรจุลงในไดร์เป่าผมไร้สายรุ่น Supersonic ซึ่งเป็นที่ถูกใจของบรรดาสาว ๆ และ Beauty Blogger เป็นอย่างมาก ซึ่ง Dyson ชูว่ามันเป็นไดร์เป่าผมที่มีการควบคุมระบบ HVAC การวางระบบความร้อน เย็นและการระบายอากาศ (ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า)

(Dyson Supersonic ไดร์เป่าผมนวัตกรรมใหม่ที่มีเทคโนโลยีบางสิ่งบางอย่างต่อยอดไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า EV)

ใน 4 วรรคตอนสุดท้ายของจดหมายนี้ Dyson ประกาศแล้วว่าทางบริษัทพร้อมที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการภายในปี 2020 ด้วยเทคโนโลยีของ Dyson ที่คิดค้นมาอย่างยาวนาน

Dyson ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมยานยนต์มากถึง 400 ชีวิต เพื่อช่วยกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า Dyson ขึ้นภายใต้งบการลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านปอนด์ (90,000 ล้านบาท)

รายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ยังไม่มีการระบุได้ ในขณะนี้ แต่ Dyson ระบุว่า บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีและรถยนต์ไฟฟ้าคืบหน้าหน้าไปมากแล้ว

คาดการณ์กันว่า 1 ในไฮไลต์เทคโนโลยีสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกของ Dyson ก็คือแบตเตอรี่ชนิดใหม่ All-Solid-State ที่มีคุณสมบัติกักเก็บพลังงานได้ดีกว่าแบตเตอรี่ Li-ion ถึง 3 เท่าตัว เนื่องจาก Dyson ได้ซื้อ Sakti3 บริษัท Start-Up ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาแบตเตอรี่ที่แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน สหรัฐอเมริกา นั่นเอง

ที่มา : Motor1