[สำหรับท่านที่ต้องการโหลดรูปภาพ ขอเชิญลิงค์ที่ท้ายบทความได้เลยครับ]


ความเป็นมาของกิจกรรม

“ความเชื่อ คือสิ่งที่อันตราย เพราะเมื่อความเชื่อแข็งแกร่งกว่าประสบการณ์ ความเชื่อจะกลายเป็นความจริง”

ไม่ต้องไปเปิดหาคำพูดนี้จากหนังสือเล่มไหนหรอกครับ มันคือสิ่งที่ผมพูดให้ท่านผู้อ่านลองคิด โดยอาศัยจากประสบการณ์ชีวิตหลังจากที่เปิดเว็บ Headlightmag กับคุณ J!MMY มานาน 9 ปีกว่าๆ การได้ลองรถมากรุ่น ทำให้ผมได้รู้จักการสัมผัสของจริงก่อนแล้วค่อยเชื่อตามที่ตัวเองได้รับรู้

คุณจะพบกับความเชื่อเหล่านี้ได้ในโลกรถยนต์โดยทั่วไป

  • เชื่อว่ารถเครื่องเล็ก = ไม่มีแรงออกตัว ไม่มีแรงขึ้นเนิน
  • เชื่อว่ารถเล็กๆจากญี่ปุ่น ไม่มีทางเกาะโค้งได้ดีเท่ารถใหญ่ๆจากเมืองฝรั่ง
  • เชื่อว่า รถที่แรงม้าน้อยลง จะต้องมีอัตราเร่งและการตอบสนองด้อยลงเสมอ

นี่คือตัวอย่างความเชื่อที่พบได้ง่ายๆ นั่นคือสาเหตุที่พวกเราจริงจังกับการทดลองรถยนต์ที่ได้มาในแต่ละคัน เก็บรายละเอียดยาวเฟื้อยเพื่อมาให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ มันคือการพยายามพิสูจน์ความเชื่อว่าจริงหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักดีว่า รีวิวของเราบางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความเชื่อเสียเอง..ซึ่งนั่นก็ไม่ดีเช่นกัน ทั้งผมและ J!MMY ไม่ได้มีความสุขนัก เวลามีใครบอกกับเราว่า “ผมซื้อรถโดยไม่ได้ลอง ผมซื้อเพราะอ่านรีวิวพวกพี่”

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแม้เราจะเขียนรีวิวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็ยังต้องหมั่นบอกให้คุณผู้อ่านได้ลองขับรถเองสักครั้งก่อนซื้อ เพื่อความแน่ใจ มันมีหลากเหตุผลครับ คำว่านั่งสบายของเรา อาจจะต่างกัน คำว่าช่วงล่างนุ่มของเรา อาจจะต่างกัน คำว่าเร็วของเราก็อาจจะต่างกัน

เราอยากให้พวกคุณได้มีโอกาสลองรถกันถ้วนหน้า แต่ถ้าจะให้ลองทั้งประเทศ คงทำได้ยาก แต่หากถ้าเราเริ่มกับคนบางกลุ่มก่อน มันก็พอมีวิธีที่เราจะทำได้! ในเมื่อ Suzuki เองก็อยู่ในช่วงที่กำลังตักน้ำจากคลอง Swift ที่กำลังอยู่ในขาขึ้น และเราเองก็เพิ่งจะออก Full Review ของ Suzuki Swift ไป ทำให้เกิดข้อกังขาบางประการ เช่น เรื่องพลังแรงม้าที่ลดลงแต่กลับเร่งได้ไวขึ้น หรือขนาดตัวที่เล็กลงแต่ห้องโดยสารกลับมีภาพรวมการนั่งสบายขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้บางคนคิดว่าเราอวยแบรนด์นี้หรือไม่ (โดยที่ไม่ได้อ่านในบทความเดียวกันว่าข้อเสียก็มี และเขียนอย่างชัดเจนทุกอย่างตามที่เราคิด)

การตอบปัญหาทั้งสองกรณี บวกกับการที่เราเองก็อยากจะมีกิจกรรมกับคุณผู้อ่านในแต่ละปีให้บ่อยขึ้น ทำให้พี่วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาดของทาง Suzuki ผุดไอเดียขึ้นมาว่า “ก็ให้คนอ่าน Headlightmag มาลองซะเลยสิ”

เมื่อบอส Suzuki เขาบอกมาอย่างนี้ และทางเราเองก็คิดว่ามีประสิทธิภาพและกำลังพลพอที่จะจัดกิจกรรมแบบนี้ได้ อย่างที่เราเคยได้จัดมาแล้วเมื่อครั้งงาน MG5 Driving Experience เมื่อเดือนธันวาคม 2016 เราจึงตกลงที่จะจัด โดยคัดเลือกจากสมาชิกเว็บบอร์ดและผู้อ่านที่ติดตามเราบน Facebook Page จำนวน 100 ท่าน จากจำนวนที่ส่งเข้ามาเกือบ 300 ท่าน

คุณวัลลภ ให้ความสำคัญกับแนวคิดการจัดกิจกรรมของ Headlightmag ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์อยู่ที่การเป็น Advertorial หลังพวงมาลัย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนอ่านได้ค้นพบข้อดีข้อเสียจากการลองขับลองนั่งด้วยตัวเอง อีกทั้งตัวคุณวัลลภเองก็ได้ให้เกียรติมาร่วมงาน และยืนฟังความคิดเห็นทั้งสองแง่มุมจากผู้อ่านที่เข้ามาร่วมทดลองขับเพื่อนำไปพิจารณาในการปรับปรุงรถครั้งต่อไป

เรามีทีมงาน Instructor ของคุณกรณ์พิทักษ์,พี่ใหญ่, คุณโจอี้ จาก Win Win Win มาช่วยในการเลือกสนาม วางคอร์สการวิ่ง ควบคุม/อบรมการขับให้กับผู้ร่วมงาน และยังพานั่งวนรอบสนามด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ จากฝีมือขับของ Instructor ซึ่งมีผลงานทั้งการเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ และการแข่งขันในสนามความเร็วทางเรียบ

เราเลือกสนาม Motorsport Park สุวรรณภูมิ ซึ่งแม้จะมีทางวิ่งค่อนข้างแคบและไม่มีระยะให้ทำให้ความเร็วสูงๆเหมือนสนามแข่งขนาดกลางและใหญ่ แต่ด้วยการคิดคอร์สของทีมคุณกรณ์และพี่ใหญ่ ทำให้สนามนี้มีความยากพอสมควร ใครคิดว่าขับกันแบบไม่เร็ว บอกได้เลยว่ามีทั้งกรวยกระเด็น กรวยแบนและหลุดออกนอกแทร็ค แต่แน่นอนว่าไม่มีการทดสอบถุงลมนิรภัย!

ลักษณะของการทดสอบ

สิ่งที่ครอบคลุมในการทดสอบครั้งนี้

  1. การใช้งานระบบช่วยออกตัวบนเนินชัน Hill Hold Control
  2. การทดสอบพละกำลังของรถในการไต่เนินชัน
  3. ความคล่องตัวในการตอบสนองของรถ
  4. การตอบสนองและน้ำหนักของพวงมาลัย
  5. การเข้าโค้งที่ความเร็วปานกลาง หักพวงมาลัยเยอะ
  6. ความสะดวกสบายในการนั่ง และภาพรวมของอุปกรณ์ต่างๆในห้องโดยสาร

สิ่งที่ไม่ได้ครอบคลุมในการทดสอบครั้งนี้

  1. การทดสอบด้วยความเร็วสูงกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  2. การทรงตัวที่ความเร็วสูง
  3. การกระโดดจัมพ์สะพานแบบมอเตอร์เวย์ด้วยความเร็วสูง
  4. การทดสอบแบบถนนขรุขระมากกว่าปกติ

เราให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้มีโอกาสขับรถตามกันไปรอบสนาม โดยที่มี Instructor มืออาชีพคอยอธิบายการเข้าโค้งกับความเร็วที่ควรใช้ในช่วงต่างๆก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นจึงขับกลับเข้ามาพิท เพื่อตั้งแถวเตรียมตัวเข้าสู่การทดสอบจริง ซึ่งผู้กำกับสนามจะปล่อยรถให้วิ่งเพียงครั้งละ 1 คัน เพื่อลดความกดดันกรณีคันหน้ากับคันหลังมีทักษะการขับขี่ต่างกัน และลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สถานีแรก เป็นการทดสอบ Hill Hold Control ซึ่งแม้ว่าดูจากในภาพเหมือนเนินจะไม่ชัน แต่ของจริง ดูชันกว่าในภาพมาก เพราะทีม Instructor เลือกที่จะทำเนินให้โหดน้องๆเนินจำลองที่เอาไว้ใช้ทดสอบรถปิคอัพ/PPV ขับเคลื่อนสี่ล้อ

Instructor จะสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถระหว่างทางขึ้นโดยที่ตัวรถชี้คาหน้าชี้ฟ้าอยู่อย่างนั้น แล้วให้ผู้ขับขี่ยกเท้าออกจากเบรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบป้องกันการไหลลงเนินจะช่วยล็อคไม่ให้รถเคลื่อนถอยหลังได้จริง จากนั้นก็จะให้กดคันเร่งแบบค่อยๆป้อนน้ำหนัก เพื่อที่ผู้ขับขี่จะได้สังเกตเห็นว่ารถมีแรงบิดมากพอที่จะไต่ขึ้นเนินแบบนี้ได้โดยไม่ต้องตะบี้ตะบันตอกคันเร่ง ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ถ้าไม่ใช่ว่าชันขั้นเทพจริงๆ Swift ใหม่สามารถเอาตัวรอดได้แม้มีเหตุจำเป็นต้องเบรกจนหยุดระหว่างทางขาขึ้น

หลังจากผ่านด่านเนิน Hill Hold Control มาได้ Instructor จะจัดให้ผู้ขับขี่ แล่นรถเข้าในเขตสนาม ซึ่งคุณวัลลภและทีม Instructor ตกลงกันว่าแต่ละคนจะได้ขับกันคนละ 3 รอบ ซึ่งจะกินเวลามาก และเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถรับคนได้เกิน 100 ท่าน แต่เราเชื่อว่ามันดีกว่าการรับมา 300 คน แต่ได้ขับกันคนละรอบ ซึ่งคนขับยังไม่ทันได้รู้จักรถดีก็ต้องเลิกเสียแล้ว พวกเราต้องการให้เวลากับการทำความคุ้นชิน จนกล้าซัดชนิดเสียงยางออก

ลักษณะของเส้นทางที่ผู้ขับขี่จะต้องเจอ ประกอบไปด้วย การทดสอบเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรง (คล้าย Moose Test) ซึ่งหากกล้าใช้ความเร็วสูงพอตามที่ Instructor แนะนำ จะต้องทำให้เป็นจังหวะ ขวา-ซ้าย-ขวาแล้วตบเบรกตามด้วยเข้าโค้งขวายาวในทันที ซึ่งเราออกแบบโค้งลักษณะนี้มาให้รถมีแรงเหวี่ยงสะสมต่อเนื่องหลายครั้ง และให้ซัดจนเห็นการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP) ซึ่ง Instructor จะพิจารณาจากฝีมือการขับของแต่ละคน ในกรณีของบางท่านที่ฝีมือคมกริบจริงก็จะอนุญาตให้ลองความต่างระหว่างการเปิด/ปิด ESP วิ่ง

จากนั้น ก็จะเป็นการเข้าโค้งวนแบบ U-Turn ขนาดใหญ่ ตามด้วยการเข้า Skid Pan เป็นครึ่งวงกลม ก่อนหักรถกลับเข้าสู่ด่านสลาลอม หักรถวนกลับเป็น Skid Pan ขนาดเล็ก แล้วต่อด้วย U-Turn วงแคบ จากนั้นจะให้กดคันเร่งเต็มเพื่อดูอัตราเร่งช่วงตีนต้น ทิ้งโค้งกว้าง 2 โค้งก่อนกลับมาถึงด่านเปลี่ยนเลนอย่างรุนแรงอีกครั้ง

เพื่อให้คุณผู้ชมเห็นภาพลักษณะของสนามว่าต้องเจอโค้งอย่างไรบ้าง ผมขอให้น้องวิน กิตติสุวรรณ นักขับตีนโหดผู้เป็นเพื่อนและรุ่นน้องของผม (ซึ่งสามารถเอา Revo Prerunner เดิมทั้งคันวิ่งทำเวลาชนะ Tiida เซ็ตโบยาง R888 ของผมที่แก่งกระจานได้) มาช่วยขับติดกล้อง GoPro ให้ ฝีมือน้องวินนี่ขนาด Instructor เจอหน้าปุ๊บก็บอกเลยว่าจะทำอะไรก็ทำ

น้องวินเลยพาคนนั่งไปอีก รวมแล้วในรถทั้งหมดเป็น 4 คน เอา Swift ที่ผ่านการซัดมาแล้วทั้งวันจนยาง Ecopia EP150 ลากลับปรโลกไปแล้ว แถมยังปิด ESP อีกต่างหาก ผลจะเป็นอย่างไร มาลองดูคลิปได้ ผมอัพโหลดสดแบบไม่มีการตัดต่อ เพราะเราต้องการให้เห็นของจริง ไม่ต้องตัดต่อให้ออกมาดูแล้วมีแต่ข้อดี

นอกจากการเปิดโอกาสให้ทดลองขับแล้ว ทางทีมงานของเราเข้าใจดีว่า ในบรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น จะมีแค่เพียงไม่กี่คนที่มั่นใจในฝีมือตัวเองมากพอที่จะพารถไปถึงขีดจำกัด เราจึงมีการจับสลากชื่อผู้โชคดีกลุ่มหนึ่งขึ้นมา แล้วพานั่งรอบสนามโดยทีม Instructor ของ Win Win Win เพื่อให้ได้รู้กันว่า “รถบ้าน CVT พันสอง เดิมๆจากโรงงาน” น่ะ..จริงๆแล้วมันทำอะไรได้บ้าง

นอกจากนี้ คนที่พลาดหวังจากการขับพาทัวร์ของ Instructor ก็จะยังมีลุ้นอีก 1 สิทธิ์ กับทริปรอบสนาม ขับโดย…ไม่ใช่ใครอื่นไกล คุณ J!MMY ของแรานั่นแหละครับ

***FEEDBACK จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม***

เช่นเดียวกับที่ผมเคยทำสมัยงาน MG5 Driving Experience นั่นก็คือการขอความร่วมมือ (บางครั้งก็ขู่นิดๆ) ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยออกความเห็น ทั้งในแง่ดี และส่วนที่ Swift ยังไม่น่าพอใจในสายตาของพวกเขา โดยที่ไม่ต้องไปอ้างอิงอะไรจากรีวิวของ Headlightmag

ถ้าให้ออกมาพูดชมอย่างเดียว ผมเชื่อว่าไม่มีประโยชน์… Product ใดๆก็ตามที่ออกมาแล้วมีข้อตำหนิ แต่ไม่มีใครยอมพูด Feedback ที่จะกลับไปยังบริษัทก็คือ “เราทำมาดีแล้ว” ซึ่งถ้าคิดและพูดวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ต่อไป มันก็ไม่มีใครเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

ต่อไปนี้ ผมจะนำเสนอสิ่งที่เป็นความคิดและคำพูดของบรรดาผู้เข้าร่วมงาน Swift Standout โดยนำเสนอเป็นความเห็นกระแสหลัก แล้วค่อยตามด้วย Comment จากผู้ที่ได้ลองขับ/ลองนั่งรถ ถ้าคุณพบว่าความเห็นบางข้อย้อนแย้งกัน ก็อย่าได้แปลกใจเพราะมันอาจจะมาจากคนละคนกันก็ได้

สิ่งที่รู้สึกดีกับตัวรถ

  1. อัตราเร่งช่วงออกตัวดีกว่าที่คิด เกียร์ทำงานดีขึ้น
  2. การตอบสนองของพวงมาลัยดี น้ำหนักและความไว
  3. ตัวรถเกาะถนนดีกว่าที่คิดเมื่อเทียบกับยาง
  4. ภายในรถ นั่งสบาย ขับถนัดกว่ารุ่นเดิม
  5. ช่วงล่างไม่ได้แข็งกระด้างอย่างที่คาดไว้
  6. การออกแบบภายในดูดีขึ้น

สิ่งที่รู้สึกว่ายังปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

  1. ลายล้ออัลลอยไม่สวย ดูเหมือนฝาครอบราคาถูกๆ
  2. บรรยากาศภายใน เรื่องของวัสดุยังสู้ Mazda 2 ไม่ได้
  3. ราคาขนาดนี้ ถ้าไม่มีกล้องหลังอย่างน้อยก็น่าจะมีเซ็นเซอร์ถอยจอดมาให้
  4. ความมั่นใจของช่วงล่าง ยังไม่เท่าคู่แข่งบางเจ้า
  5. เกียร์ CVT ยังมีอาการเย่อเบาๆในความเร็วต่ำบางช่วง
  6. หน้าตาของรถมีเสน่ห์น้อยลง
  7. ยางที่ใช้น่าจะเกรดดีกว่านี้จะช่วยให้รถเกาะโค้งดีขึ้น

ตัวอย่าง Comment อย่างทางผู้อ่าน

(ปรับเล็กน้อยเพื่อลดความยาวและลบคำหยาบไม่เป็นทางการออก-ขออนุญาต)

“คันเร่งเซ็ตมาค่อนข้างทันใจ อาการหน่วงที่สัมผัสได้ถือว่าน้อยมาก กระทืบแรงๆมันไป ขนาดผมฟัง Instructor บอกให้ค่อยๆหยอดขณะออกตัวบนทางชัน เผลอกดคันเร่งนิดเดียวรถยังพรวดขึ้นเนินจนท้องแอบกระแทกกับมุมเนิน ส่วนยางติดรถ EP150 นั้น ถ้าผมซื้อรถไปจริงๆ ผมจะทนใช้มันไปสัก 30,000 กิโลเมตร โช้คอัพเซ็ตมาแนวนิ่ม ฟีลลิ่งรถดูเบาเหมาะกับการเดินทางในเมือง ส่วน Mazda 2 (ที่ผมใช้อยู่) จะหนักแน่นแต่ตึงตังกว่า วันนนี้ยังไม่มีโอกาสลองบนถนนผิวขรุขระ ส่วนพวงมาลัยถือว่าโอเคมากแล้ว แต่ถ้าเป็นผม ขอเพิ่มความหนืดอีกนิดดียยวแล้วพอเลย”


“ข้อที่อาจนำไปปรับปรุงต่อ ..กล้องมองหลังขณะถอย ไหนๆรุ่นท้อปก็มีจอกลางมาขนาดนั้น ก็น่าจะให้มา ระบบเตือนมุมอับต่างๆก็เช่นกัน แล้วก็ถ้าได้ล้อแม็กลายที่ดูเข้ากับความชิคของรถสักหน่อยคงจะสมบูรณ์กว่านี้”


“พวงมาลัยตอนหมุน ฟีลเป็นธรรมชาติขึ้น ช่วงล่างหนืดขึ้น เทโค้งแล้วรู้สึกเกาะถนนกว่าเดิม เป็นรถที่ขับแล้วอยากจะเลี้ยวไปเรื่อยๆ อัตราเร่งตอนเหยียบลึกๆ ไหลลื่นกว่ารุ่นเเดิม ออกตัวอาจจะอืดๆหน่อยแต่ลอยลำแล้วโอเค ตอนเหยียบแบบแตะๆเหมือนขับทั่วไปก็ใกล้เคียงเดิม พุ่งกว่าเดิมนิดหน่อยเพราะเกียร์ส่งกำลังดีกว่าเดิม งานออกแบบภายนอกดูเฉยๆแต่เห็นตัวจริงนานๆกลับดูลงตัวมีเอกลักษณ์ แต่ไม่ชอบการออกแบบภายในที่ดูสะเปะสะปะ จอก็จอ แอร์ก็แอร์ รู้สึกชอบภายในรุ่นที่แล้วมากกว่า”


“สนุกมาก ลงจากรถมา ใจเต้นตูมตาม คือมันลุ้น..ว่ารถอีโคคาร์นี่ จะรองมือรองเท้าเราเอาอยู่ในทุกโค้งไหม เฮ้ย มันไหวแฮะ ขนาดยางก็ยางติดรถง่อยๆธรรมดา แต่ช่วงล่างเซ็ตมาดี ”


“พูดในฐานะที่ใช้ Mazda 2 ดีเซล รู้สึกประหลาดใจว่าตอนแรกรถเข้าไปแล้วน่าจะเล็กมาก แต่เบาะนั่งคู่หน้าจริงๆกว้างกว่า Mazda 2 แต่อาจเป็นเพราะไม่ได้มีปีกเบาะที่โอบตัวคนนั่งมากเท่า Mazda คนตัวเล็กนั่ง Mazda เลยสบาย วัสดุภายในจริงๆ Swift ไม่แย่นะ จริงๆถ้าโลกนี้ไม่มี Mazda 2 มันคงดีที่สุดไปแล้ว ลวดลายบางส่วนของพลาสติกนั่นแหละที่ทำให้ยังดูสู้ Mazda ไม่ได้ พวงมาลัยยังมีความเป็น Robot ในบางจังหวะ แต่อัตราทดดีงามมากคล้ายพวงมาลัยไฮดรอลิกสมัยก่อนมากขึ้น ผู้ชายขับสนุกได้ ผู้หญิงขับง่าย”


“เรื่องอัตราเร่ง ถ้าบอกว่าเป็นรถ 1.2 ลิตรคุณจะรู้สึกเกินความคาดหมาย แต่ถ้าสมมติว่านี่เป็นรถ 1.5 ลิตร คุณจะบอกว่าเออโอเคออกตัวหน่วงนิดๆเหมือน Subaru XV แต่ลอยลำไปแล้วก็ได้อยู่ซิ่งได้ แต่อย่าหวังไปรบกับรถเครื่องใหญ่กว่า เกียร์ CVT ยังมีนิสัยน่าเบื่อในตอนแรกแต่เมื่อรอบเครื่องอยู่ในช่วงหวานแล้วก็ใช้ได้ ช่วงล่างนุ่มกว่า Mazda 2 ตัวรถเอียงเวลาเข้าโค้งหนักๆใกล้เคียงไม่หนีกัน ขอตั้งขอสังเกตว่ารุ่นท้อปบางคนอยากได้เบาะหนัง แต่พอมีถุงลมที่เบาะ ลูกค้าไปทำเองก็ไม่ได้ Suzuki น่าจะทำรุ่นที่มีเบาะหนังจากโรงงานมาให้เลือก หรือไม่ก็ทำรุ่นที่ตัดถุงลมเหลือ 2 ใบแล้วขายถูกลง ลูกค้าเอาไปหุ้มหนังเบาะเองได้”


“อัตราเร่งถือว่าดีมากสำหรับรถเครื่องพันสอง ผมขับ Mazda 3 1.6 ยังรู้สึกเลยว่าดีไม่ดี Swift จะพุ่งกว่า แต่พวงมาลัยที่ว่าคมที่ว่าเป็นธรรมชาติ ช่วงล่างที่ว่าดี ผมขับแล้วยังรู้สึกว่า MG3 (ที่เป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก) ขับแล้วให้ฟีลเป็นธรรมชาติกว่า น้ำหนักโดนใจกว่า ช่วงล่างก็ดีกว่า”


“ผมไม่เคยขับอีโคคาร์มาก่อนเลย และส่วนตัวเชื่อว่ารถพวกนี้แรงไม่น่าจะพอ แต่พอได้ขับจริง เห้ย มันก็พอนะ กดแล้วมันไปดีกว่าที่เราคิด ก็ดี ถือว่าได้รับรู้ว่ามันไปได้นะ มันมีแรงพอนะ”

บทสรุปของกิจกรรม Headlightmag presents SWIFT Standout

ถ้าหากบริษัทรถสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้โดนใจผู้บริโภคเมื่อไหร่ พวกเขาก็จะสามารถขายรถได้โดยไม่ต้องใช้คำโฆษณามากมายก่ายกอง ไม่ต้องพูดหลายสิ่งให้ฟังดูดีเกินจริง และนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจผู้บริโภคแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ลองสัมผัสรถของพวกเขา

และการได้ลองแบบจัดเต็มจนถึงจุดที่สามารถเห็นประสิทธิภาพรถในยามวิกฤติได้ ยิ่งช่วยให้ผู้คนรับรู้มากขึ้นว่าราคาของรถที่พวกเขาต้องจ่าย มันไปอยู่ตรงไหนบ้าง เป็นการรับรู้ที่มีประสิทธิผลมากกว่าแค่อ่านจากรีวิวของเราแล้วเชื่อตาม Headlightmag โดยที่ไม่ได้ลองรถก่อนซื้อจริงตามกระแส

ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าได้มีส่วนร่วมนั้น น้อยคนมากที่ได้สัมผัสรถคันจริงแล้วจะรู้สึกแย่ลง พวกเขาส่วนมาก ค้นพบข้อดีมากขึ้น แต่ก็เป็นธรรมดาเหมือนกับการคบใครสักคนเป็นแฟน เราพบข้อดีมากขึ้น และพบข้อเสียมากขึ้นตามไปด้วย แต่นั่นก็จะเป็นจุดที่ช่วยให้ผู้ซื้อรถมีโอกาสได้ฉุกคิด ว่าความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างรถคันนั้นกับพวกเขาควรเกิดขึ้นหรือไม่

เราก็จะยังเชื่อต่อไปว่า “มันต้องให้ลองกันเองแบบนี้ล่ะ!” ดีกว่าการยัดข้อความต่างๆผ่านตัวหนังสือเข้าสมองคนอื่นเป็นไหนๆ

เราอาจไม่เจ๋งพอที่จะมอบประสบการณ์แบบนี้ให้กับทุกคนที่อยากลอง แต่ Headlightmag ก็ยินดีที่จะทำเมื่อมีโอกาสตามความเหมาะสม ตามกำลังคนที่เรามี ตามเวลาที่เรามี

เพราะเราเชื่อว่าประสบการณ์ดีๆ บางครั้ง คุณก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อ!

—-////—-

***LINK ดาวน์โหลดรูปภาพกิจกรรม***

** รูปทั้งหมด สงวนสิทธิ์โดยคุณแบงก์ กาญจนวิลัย / Suzuki Motor ประเทศไทย / Headlightmag อนุญาตให้โหลดไว้ดูเล่นได้ แต่ไม่ยินยอมให้มีการนำไปใช้ในเชิงการค้าขาย พาณิชย์ ธุรกิจอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สงวนสิทธิ์ทั้งสามฝ่าย **