ถลุง ?

ใช่ครับ ถลุงกันเลยทีเดียว…มันไม่มีคำไหนที่เหมาะกับการอธิบายถึงสิ่งที่ผมเจอมาจากทริปทดลองขับรถกระบะรุ่นใหม่ล่าสุด จากผู้ผลิตชาว Dearbon มลรัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา ได้ดีไปกว่านี้อีกแล้วจริงๆ

ตั้งแต่ทำงานในฐานะสื่อมวลชนสายรถยนต์มา 20 ปีพอดี ในปี 2018 นี้ มีโอกาสบินไปร่วมงานทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ในต่างประเทศมาก็มาก แต่มีไม่บ่อยครั้งหรอกครับ ที่จะมีกิจกรรม ซึ่งทางบริษัทรถยนต์ รวมทั้ง Instructor จะเปิดโอกาสให้พวกเรา ได้ทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ กันอย่างเต็มที่ บนสภาพเส้นทางโคตรสมบุกสมบัน อย่างไม่กั๊ก ไม่คิดหวงหรือเสียดายรถเลยทั้งสิ้น มากขนาดนี้…!

ต่อให้ตัวรถจะต้องทนต่อการทารุณกรรมบนสภาพพื้นผิวขรุขระ มีทั้งฝุ่น สารพัดกรวดหิน สายน้ำจากลำธาร หรือบรรดาสรรพสิ่งจากธรรมชาติที่ถอดตัวก่ายกองรวมกันตลอดเส้นทาง หนักหนาสาหัสแค่ไหน พวกเขารู้ดีว่า ตัวรถหนะ ยังไงๆมันก็รับมือ สื่อมวลชนจากทั้งเจ้าถิ่น ออสเตรเลีย ประเทศไทย พม่า เวียตนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ทั้งหมด 3 กลุ่ม 60 คน ได้สบายบรื๋อ

มันเป็นประสบการณ์ที่ คุ้มค่าพอสมควรเลยทีเดียว แม้ว่าตอนแรก ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผม เกือบจะถอดใจจากทริปนี้ไปแล้วก็ตาม…

แรกเริ่มเดิมที ทีมงานของ Ford ในประเทศไทย พยายามหาตั๋วเครื่องบิน จากกรุงเทพ ให้คณะสื่อมวลชนจากเมืองไทยทั้ง 16 คน รวมทั้งแขกรับเชิญพิเศษอย่าง DJ ภูมิ และ คุณหนึ่ง ผู้โชคดีจากกิจกรรมของ Ford Ranger RAPTOR ทาง Facebook (ซึ่งก็เป็นคุณผู้อ่านของเว็บเราด้วย !) บินสบายๆ ไปต่อเครื่องที่สิงคโปร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองดาร์วิน (Darwin) อันเป็นเมืองทางตอนเหนือของออสเตรเลีย (Australia) แต่ไม่สำเร็จ หาตั๋วไม่ได้ เนื่องจากแทบทุกไฟลต์ ของทุกสายการบินที่มีเส้นทางดังกล่าว ถูกจับจองไปจนหมดแล้ว

ทาง Ford เลยจำใจ ยอมอุดหนุน สายการบิน Qantas บินจาก กรุงเทพฯ ไปลงที่ซิดนีย์ (Sydney) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เรียกได้ว่าเกือบจะใต้สุดละ ใช้เวลาบิน 9 ชั่วโมงกว่าๆ ก่อนจะขึ้นเครื่องย้อนกลับขึ้นเหนือไปเมืองดาร์วิน อีก 4 ชั่วโมง…

ปรากฎว่า เมื่อถึงวันเดินทางจริง เครื่องยนต์ของเครื่องบิน Qantas ไฟลต์ที่เราจะบิน เกิดขัดข้อง บินต่อไม่ได้ ทาง Qantas เลยต้องส่งเครื่องบินสำรอง ตรงจาก Sydney มายังสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ไฟลต์ต้องเลื่อนจาก 18.30 น. เย็นวันที่ 24 กรกฎาคม มาเป็น ตี 2.25 น. เช้าวันที่ 25 กรกฎาคม นั่นแปลว่า เมื่อเราบินถึง Sydney ตั้งแต่บ่าย 3 โมงกว่าๆ เราต้องรออยู่นานถึง 6 ชั่วโมง จน DJ ภูมิ ตัดสินใจ สวมวิญญาณไกด์ พาเรานั่ง Taxi เข้าเมือง ไปนั่งจิบเครื่องดื่ม รับบรรยากาศยามเย็น ลมเย็นๆ อุณหภูมิ 18 องศา ริม Opera House ในตัวเมือง Sydney ถึง 2 ชั่วโมง ก่อนจะนั่ง Taxi กลับมายังสนามบิน Sydney Domestic Terminal กว่าจะขึ้นเครื่องไปเมือง Darwin อีกครั้งตอน 20.50 น. กว่าจะเช็คอิน เข้าโรงแรมที่พัก Hilton Darwin ได้ ก็ล่าช้าเข้าไปถึง ตี 1 ครึ่ง !!! ทั้งที่กำหนดการทดลองขับ Ford Ranger RAPTOR ของเรา ก็ดันเริ่มในเวลา 7.15 น. เช้าวันรุ่งขึ้นพอดี…

สายการบินจิงโจ้เวรตะไล !!

เอาเถอะ ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องดีเลย์ แบบนี้กันหรอกครับ และการเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่ ย่อมก่อให้เกิดความอุ่นใจแก่ผู้โดยสาร มากกว่าการพยายามซ่อมเครื่องลำเดิม แล้วบินขึ้นฟ้าอีกครั้งอย่างแน่นอน และ อย่างน้อย การเปลี่ยนไฟลต์ครั้งนี้ ก็ทำให้มีโอกาสที่เราได้ไปเยือน Opera House กัน เพราะจะหาโอกาสแบบนี้ง่ายๆ มันก็ยากอยู่

ในที่สุด พวกเราก็เดินทางมาถึงเมือง Darwin จนได้ คราวนี้ Ford Australia และ Ford Sales (Thailand) ก็เตรียมกิจกรรมไว้ให้เราได้สัมผัสกับ Ranger RAPTOR ใหม่ อย่างเต็มที่ ชนิดที่ผมเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่า จะสนุกสนานขนาดนี้ แทบจะเรียกได้ว่า ลืมความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลไปสนิท !

ทริปนี้ ผมโชคดีมาก ที่ทาง Ford จับคู่ให้นั่งขับกับ พี่สุรมิส เจริญงาม จากรายการ ขับซ่า 34 ทางช่องอมรินทร์ Amarin Channel เราเริ่มต้นออกเดินทางจาก โรงแรม Hilton Darwin City เวลา 8.30 น. ขับรถไปตามถนนในแถบชนบทของเขต Northern Territory ไปเรื่อยๆบรรยากาศ 2 ข้างทางนี่ ถ้าไม่บอกว่านี่คือ Australia ผมก็คงจะนึกว่า กำลังขับรถอยู่บนถนนสายสัตหีบ – แกลง บางช่วงก็ชวนให้นึกถึง ทางหลวงช่วงขอนแก่น โคราช บางช่วงนี้ เฮ้ยยย เส้น Southern Seaboard ทางภาคใต้ชัดๆ ! ความแตกต่างที่ชัดเจนมากสุดก็มีเพียงแค่ ป้ายทะเบียนรถ กับพื้นที่ไหล่ทางที่เยอะกว่ากันพอสมควร เท่านั้นเลยจริงๆ !

จนกระทั่งผ่านแม่น้ำ Adelaide River อันเป็นจุดแวะพักระหว่างทาง แม่น้ำแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดังของ Australia ในอดีตชื่อ ” ดีไม่ดี ข้าก็ชื่อดันดี ” (Crocodile Dundee) เราแวะพักเปลี่ยนคนขับที่สถานีบริการน้ำมัน BP ก่อนจะเดินทางต่อไปตามเส้นทางแคบๆ ประมาณ 1 เลนครึ่ง พอให้รถสวนกันต้องแอบหลบลงไหล่ทางนิดๆ แถมยังเต็มไปด้วยทางโค้งลัดเลาะคดเคี้ยวมากมาย จนนึกว่า นี่กำลังขับรถอยู่แถวๆ ภาคเหนือบ้านเราใช่ไหม ?

จนกระทั่งมาถึง Tipperary Station ซึ่งเป็นพื้นที่ สถานีปศุสัตว์แบบเปิดโล่งโจ้ง ขนาดใหญ่โตมโหฬารสุดลูกหูลูกตา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 209,800 Hectar (518,427 acres) ใหญ่ที่สุดแล้วในเขต Northern Territory ของ Australia ถ้านึกไม่ออกว่ามันใหญ่โตแค่ไหน ให้ลองนึกดูว่า คุณต้องขึ้น Helicopter จากหน้าทางเข้าหลัก ใช้เวลาถึง 45 นาที เพื่อบินไปจนถึงปลายสุดขอบพื้นที่ !

เริ่มเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ ?

Tipperary Station ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1914 โดย William James Byrne นักธุรกิจท้องถิ่น เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1941 กิจการก็ถูกโอนเป็นของภรรยาหม้าย และบุตรชายอีก 3 คน ในช่วงยุคทศวรรษ 1980 Tipperary Station เคยถูกขายให้กับนายทุนใหญ่ Warren Anderson เขาเคยทำ Zoo-stock ของสัตว์นานาชนิด เช่น ฮิปโปแคระ ยีราฟ แรด และม้าลาย จำนวนกว่า 1,800 – 2,200 ชีวิต และ ยังทำสนามบิน เพื่อให้เครื่องบิน Boeing 727 ของเขาบินขึ้น-ลงจอดในพื้นที่ได้อีกด้วย! ปัจจุบัน เขาขายออกไปแล้วในปี 2003 จากปัญหาด้านการเงิน ปัจจุบัน อดีต Chief Operating Officer ของบริษัท Australian Agricultural Company ชื่อ Mr.David Connolly เป็นผู้จัดการทั่วไปของที่นี่

การขับรถเข้ามาที่ Tipperay Station นั้น คุณต้องเจอกับทางฝุ่นอันแสนลื่น ขนาดว่าต้องใส่ เกียร์ 4H แถมยังต้องคอยหลบฝูงวัว บางส่วนจากจำนวนกว่า 30,000 ตัว !  ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ เลี้ยงไว้เพื่อการส่งออกแบบตัวเป็นๆ ไปยัง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียตนาม อันเป็นตลาดหลัก (แม้จะเยอะขนาดนี้ แต่ก็ยังมีไม่พอขาย!!!) รวมทั้งต้องคอยหลบฝูงแร้ง ที่มารุมทึ้งซากสัตว์ ซึ่งนอนตายเป็นระยะๆ บนถนน กระนั้น ในหลายๆช่วง ผมก็สามารถทำความเร็วบนทางฝุ่นที่เห็นนี้ ได้ถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง สบายๆ !

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เราก็ออกรถ เพื่อเข้าไปยังพื้นที่จัดกิจกรรม ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีกพอสมควร และ ทดสอบการขับขี่แบบ Off-Road กันอย่างเมามันส์ ก่อนจะเดินทางกลับมายังโรงแรม Hilton Darwin เป็นอันจบสิ้นกิจกรรมทดลองขับ

มาดูกันครับว่า Ranger RAPTOR ใหม่ จะมีความแตกต่าง และ คุณงามความดีเพิ่มขึ้นจาก Ranger Wildtrak รุ่นปกติ มากพอให้คุณต้องเพิ่มเงิน อีกถึง 434,000 บาท เพื่อแลกกับสุดยอดรถกระบะคันละ 1,699,000 บาท ที่ Ford เคลมว่า มีสมรรถนะสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการผลิตขายในประเทศไทย หรือไม่ ?

ทำไม Ford ถึงทำ Ranger RAPTOR ออกมาขาย ?

คำตอบก็คือ ลองไปดูตัวเลขยอดขายของ Ford Ranger ในประเทศไทย ดูสิครับ ตั้งแต่รถรุ่นปัจจุบัน เปิดตัวสู่ตลาดโลก และ เมืองไทย ในปี 2011 ในฐานะรถกระบะรุ่นแรกของ Ford ที่สร้างขึ้นภายใต้นโยบาย ” One Ford หนึ่งรุ่นเดียวกัน เพื่อเป็นหนึ่ง ทั่วโลก ” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าชาวไทย ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นมาก จากเหตุผลด้านรูปลักษณ์ ที่สวยงาม ลงตัว ดูแข็งแกร่งทะมัดทะแมง แต่ดู Premium Hi-so ไปพร้อมๆกัน ทำให้ Ranger ใหม่ มียอดขายสะสมจนถึงปี 2017 มากถึง 134,000 คัน ! เฉพาะในไทย มีตัวเลขยอดขายเติบโตขึ้นถึง 36% และมีส่วนแบ่งการตลาดจากกลุ่มรถกระบะ 13.2 % ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นตลาดที่ Ranger รุ่น T6 นี้ ขายดีมากที่สุดในโลก ไม่เพียงเท่านั้น Ranger ยังกลายเป็น รถยนต์ 4 ล้อ ที่ขายดีมากสุดใน New Zealand เป็นรถกระบะที่ขายดีสุดใน Vietnam , Taiwan และ กำลังจะตามไปเปิดตัวกันต่อทั้งในเมืองจีน และ สหรัฐอเมริกา ตามคำเรียกร้องของลูกค้าที่นั่น !

เมื่อเจาะลึกลงไป จะพบว่า ลูกค้าจำนวนมาก มักอุดหนุนตัวถัง 4 ประตู มากกว่าตัวถังโอเพ่นแค็ป หรือ ตอนเดียว ซึ่งถือเป็นกรณีที่แตกต่างจากลูกค้ารถกระบะของค่ายอื่น ดังนั้น Ford จึงมองเห็นว่า กลุ่มลูกค้าในเมืองไทย และ ออสเตรเลีย น่าจะต้องการรถกระบะที่มีสมรรถนะสูงๆ คนกลุ่มนี้ ไม่ได้ซื้อรถกระบะเป็นรถคันแรก พวกเขามีรถสปอร์ตชั้นดี หรือ รถยนต์ราคาแพงๆคันอื่นอยู่ในบ้านมาก่อนแล้ว แต่อยากได้ รถกระบะที่เน้นสมรรถนะ หรือสะท้อนภาพลักษณ์บุคลิกความเป็นคนลุยๆแรงๆของตนเอง หรือไม่ก็มีงานอดิเรก เป็นคนชอบลุย อยากได้รถกระบะที่ตกแต่งแนว Off-Road สำเร็จรูปจากโรงงานมาเลย

เมื่อ Ford เห็นโอกาสทางการตลาด ว่านี่คือช่องทางอันดีที่จะ ต่อยอดความสำเร็จของ Ranger ด้วยวิธีการสร้าง รถกระบะที่เป็น ” Benchmark ” ด้านสมรรถนะ ให้เหนือกว่าคู่แข่งทุกคันที่เคยมีมาในตลาดกลุ่ม Mid-size Truck พวกเขาจึงมอบหมายให้ Ford Performance สำนักพัฒนารถยนต์รุ่นพิเศษสมรรถนะสูง ที่เคยฝากผลงานมาแล้วกับทั้ง Fiesta ST , Focus RS รวมทั้งรถแข่งอย่าง Ford GT40 เพื่อเริ่มต้นการพัฒนา Ranger RAPTOR กันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011 หลังจากการเปิดตัว Ranger T6 ในบ้านเราได้ไม่นานนัก

Ford เริ่มเปิดเผยข้อมูลการพัฒนา Ranger RAPTOR ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2017 ผ่านทาง Video Clip จากนั้น ทิ้งช่วงไปนานหลายเดือน เพื่อนำรถไปทดสอบความทรหด กันไกลถึง มลรัฐ California ด้วยระยะทางขับถึง 1,000 ไมล์ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว Ford จึงส่ง Ranger RAPTOR ไปเปิดผ้าคลุมครั้งแรกในโลก เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ประเทศไทยของเรานั่นเอง แต่ยังไม่เปิดเผยราคา เพราะต้องรอให้รถ ผ่านกระบวนการกับทางหน่วยงานราชการไทย รวมทั้งการทำ ECo Sticker ซึ่งต้องการระยะเวลาอีกประมาณหนึ่ง (นั่นคืออีกสาเหตุที่ทำให้ Ford ประกาศราคาล่าช้ากว่าที่หลายคนคาดไว้)

จากนั้น Ford ได้นำรถคันจริง ขึ้นแท่นหมุน อวดโฉมในงาน Bangkok International Motor Show ปลายเดือนมีนาคม 2018 ก่อนจะเปิดสายการผลิตแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 กรกฎาคม 2018 ตามด้วยการจัดงานเปิดตัวสู่ตลาดเมืองไทย กิจกรรมเชื้อเชิญให้ลูกค้า มาทดลองขับกันที่ ห้างสรรพสินค้า ShowDC ย่านพระราม 9 เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ  นั่นเท่ากับว่า Ford จะเริ่มส่งมอบ Ranger RAPTOR ให้กับลูกค้าในประเทศไทย ได้แล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เป็นต้นไป ด้วยโควต้าตั้งแต่เดือน สิงหาคม จนถึง สิ้นปีนี้ เฉพาะประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ก็มีถึง 2,700 คัน เข้าไปแล้ว

Ranger RAPTOR มีขนาดตัวถังยาว 5,398 มิลลิเมตร กว้าง 2,038 มิลลิเมตร สูง 1,873 มิลลิเมตร (ถ้ารวมกระจกมองข้าง จะอยู่ที่ 2,180 มิลลิเมตร) ระยะฐานล้อ 3,220 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง เท่ากันที่ 1,710 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 283 มิลลิเมตร มุมไต่ 32.5 องศา มุมคร่อม 24 องศา (รวมชุดลากจูง) น้ำหนักรถ 2,324 กิโลกรัม (หนักกว่า Ranger Wildtrak 4×4 ถึง 168 กิโลกรัม)

ถ้าหากเปรียบเทียบกับ Ranger Wildtrak รุ่นปกติ ที่มีความยาว 5,362 มิลลิเมตร กว้าง 1,860 มิลลิเมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 3,220 มิลลิเมตร จะพบว่า Ranger RAPTOR ยาวขึ้นกว่ารุ่นปกติ 36 มิลลิเมตร แต่กว้างขึ้นถึง 178 มิลลิเมตร ซึ่งมาจาก ความกว้างช่วงล้อหน้า และ หลัง เพิ่มขึ้นอีก 150 มิลลิเมตร

ไม่เพียงเท่านี้ RAPTOR ยังมีความสูงเพิ่มขึ้นอีก 58 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า ระยะห่างจากพ้นถนนจนถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) ย่อมต้องสูงขึ้นอีก 53 มิลลิเมตร ตามไปด้วย

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นการนำ Ranger Double Cab 4 ประตู มาตกแต่งให้ดูคล้ายคลึงกับ Ford F-150 RAPTOR ซึ่งเป็น รถกระบะแบบ Hi-Performance Full size Truck ซึ่งมีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ความแตกต่างจาก Ranger รุ่นปกติ มีทั้ง กระจังหน้าใหม่ แบบพิเศษ Block FORD Letter Grill ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ F-150 RAPTOR มาเต็มๆ ชุดไฟหน้า LED แบบเดียวกับ Ranger Wildtrak แต่แอบรมดำนิดๆไว้ข้างใน ชุดเปลือกกันชนหน้า แบบยึดติดกับเฟรมรถ มาพร้อม แผงกันชนหน้า สี Super Alloy ประดับด้วยไฟตัดหมอกแบบ LED กับช่องรีดอากาศ ซึ่งช่วยเพิ่มการจัดการกับกระแสอากาศ และเศษฝุ่น ที่ไหลเข้ามาจากทางด้านหน้าของรถให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มแผ่นกันกระแทกด้านล่าง High-Strength Steel หนา 2.3 มิลลิเมตร กับชุดกันกระแทก ป้องกันเครื่องยนต์ และ Transfer Case ใต้ท้องรถ มาให้เป็นพิเศษ

ชิ้นส่วนตัวถังด้านข้าง แตกต่างจาก Ranger รุ่นปกติ โดยเฉพาะชิ้นส่วนตัวถังบริเวณเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ถูกออกแบบใหม่ ตีโป่งออกมามากขึ้น ให้คลุมซุ้มล้อขนาดใหญ่โต เฉพาะแผ่นตัวถัง บริเวณซุ้มล้อคู่หน้า ทั้ง 2 ฝั่ง ผลิตจากวัสดุ Composite : Sheet Molding Compound เพื่อให้ทนต่อการบุบ และ รอยขีดข่วน อีกทั้งยังเพิ่มขนาดให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อรองรับระยะช่วงยุบช็อคอัพที่มากขึ้น

บันไดข้างทำจากอะลูมิเนียม ดีไซน์พิเศษไม่เหมือนกับ Ranger Wildtrak เพราะออกแบบมารองรับการระบายทราย-โคลน และ ป้องกันหินกระแทกตัวถังด้านข้างรถ อีกทั้งตัวบันไดข้าง ยังถูกเคลือบ 2 ชั้น พ่นสี Powder-Coated และ พ่น Grit-Paint อีกชั้น เป็นบันไดข้างที่ผมมองว่า ออกแบบให้ใช้งานได้จริง และดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรถกระบะประกอบในประเทศไทย

ชุดไฟท้าย หน้าตาเหมือนกับ Ranger รุ่นปกติ แต่ต่างกันตรงที่ เพิ่ม “รมดำ” บริเวณโครเมียมด้านใน มีไฟเบรกดวงที่ 3 มาให้บนหลังคา เหนือกระจกบังลมหลัง ส่วนกระบะท้าย เสริมโป่งข้างมาให้ แต่ทำจากเหล็กรีดร้อนปกติ

กันชนท้าย เสริมชุดตะขอเกี่ยว 2 ชุด คู่หน้า และคู่หลัง รองรับการลากจูงได้ถึง 4.5 ตัน เหนือขึ้นไป เป็นกันชนหลัง พร้อมบันไดในตัว ติดตั้งเซนเซอร์กะระยะสำหรับถอยหลังเข้าจอด จนเรียบเสมอกับพื้นผิวของกันชนหลังเลยทีเดียว

ล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยาง BF Goodrich All-terrain T/A KO2 ขนาด 285/70 R17 เส้นผ่านศูนย์กลางยาง 838 มิลลิเมตร หน้ายางกว้าง 285 มิลลิเมตร ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาร่วมกับ Ranger RAPTOR ใหม่ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ (สำหรับราคาขายปลีกนั้น ทางเจ้าหน้าที่ ของ Michelin ที่เจ้าของแบรนด์ BF เขาบอกว่า เตรียมจะออกวางจำหน่าย ในราคาประมาณเส้นละไม่เกิน 11,000 บาท)

สีตัวถังภายนอกมีให้เลือก 5 สี ได้แก่

  • สีเทา Conquer Grey ตัดด้วยสีเทา Dyno Grey (สีพิเศษเฉพาะ Ranger RAPTOR)
  • สีน้ำเงิน Lightning Blue (สีโปรโมทเพื่อการโฆษณา)
  • สีแดง Race Red
  • สีดำ Shadow Black
  • สีขาว Frozen White

ไม่เพียงแค่ภายนอกที่จะแตกต่างจาก Ranger Wildtrak หากแต่ภายในห้องโดยสาร ถูกปรับปรุงให้ดูสปอร์ตขึ้นกว่าพี่น้องร่วมตระกูล ตามไปด้วย

ระบบกุญแจเป็นรีโมทคอนโทรล Smart Keyless Entry ออกแบบใหม่ มาพร้อมระบบ Immobilizer และ สัญญาณกันขโมย แบบ Volumetric ติดเครื่องยนต์ด้วยปุ่ม Push Start Button

การเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้า ไม่แตกต่างจาก Ranger รุ่นเดิม เพียงแต่ว่า บันไดข้างแบบใหม่ ยื่นออกมาในระดับกำลังดี แถมยังไม่ลื่น ทำให้สะดวกในการก้าวขึ้น – ลง จากตัวรถมากขึ้น แผงประตูด้านข้าง เป็นพลาสติกสีดำ จะมีวัสดุหนังบุนุ่มให้เฉพาะบริเณพนักวางแขน ซึ่งสามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดี เท่านั้น ด้านล่าง มีช่องวางขวดน้ำ 7 บาท และช่องใส่เอกสาร ขนาดพอประมาณ นอกจากนี้ ด้านล่างของกรอบประตู มีแผ่น Sclup Plate Aliminium สีเงิน พร้อมสัญลักษณ์ Ford Performance มาให้เป็นพิเศษ

เบาะนั่งแบบสปอร์ต Bolster Seat ออกแบบพิเศษ หุ้มด้วยผ้าสักกะหลาดสังเคราะห์ Alcantara ตามแบบรถแข่ง และ รถสปอร์ตสมรรถนะสูงๆ เบาะนั่งฝั่งคนขับ ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า 8 ทิศทาง (ไม่มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะมาให้) ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย ปรับด้วยคันโยก 6 ทิศทาง ทั้งสองฝั่ง มีก้านโยกปรับตัวดันหลังมาให้

พนักพิงหลัง ให้สัมผัส พอกันกับ Ranger รุ่นปกติ คือ แบนราบ และตำแหน่งตัวดันหลัง ติดตั้งมาให้อยู่ต่ำไปนิด แต่ได้ปีกข้างที่ยื่นออกมา โอบกระชับรับสัดส่วนของผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้ดี ส่วนเบาะรองนั่งนั้น แน่นและนุ่มสบายเลยทีเดียว เสียดายแค่ว่า พนักศีรษะยังตั้งมาให้มีมุมองศา โน้มมาทางด้านหน้าเล็กๆ แอบดันหัวนิดๆ ในระดับที่ยังพอรับได้ และผู้ที่มีอาการปวดหลัง อาจต้องปรับเบาะเอนช่วยอีกนิดนึง จึงจะนั่งได้

การขึ้น – ลง จากเบาะนั่งด้านหลัง ได้อานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนบันได ช่วยให้การก้าวขึ้น – ลง ง่ายขึ้นเหมือนกับด้านหน้า แต่ช่องประตู ก็ยังมีขนาดเท่าเดิม คือยังเล็กกว่าคู่แข่งอย่าง Mitsubishi Triton อยู่ดี แผงประตูด้านข้าง มีพนักวางแขน ซึ่งวางท่อนแขนพอได้พอดี และมีช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่กระจกหน้าต่างไฟฟ้าคู่หลัง ไม่สามารถเลื่อนลงไปจนสุดขอบรางได้

เบาะหลัง ยังคงให้สัมผัสที่เหมือนกับกับ Ranger รุ่นปัจจุบัน ไม่มีผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นองศาของพนักพิงเบาะหลัง ค่อนข้างแข็ง และตั้งชันไปหน่อย ควรจะนุ่มขึ้นอีกนิด และ ควรเอนเอียงลงไปได้อีกสักนิด เพื่อเพิ่มความสบายในการเดินทางของผู้โดยสารด้านหลังมากขึ้น ยังดีที่มี พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วมาให้ 2 ตำแหน่ง

พนักศีรษะด้านหลัง ทรง L คว่ำ ต้องยกขึ้นใช้งาน เพื่อไม่ให้ขอบด้านล่างของตัวพนัก ทิ่มตำต้นคอผู้โดยสาร ตัวพนักก็แน่นนุ่มกำลังดี พื้นที่เหนือศีรษะ ยังไงก็เหลือเฟือ ถ้าตัวคุณไม่สูงเกินไป ส่วนเบาะรองนั่ง แน่น แต่ไม่ค่อยนุ่ม มีขนาดค่อนข้างสั้น แต่มุมเงย ทำออกมาได้ดี เลยช่วยลดการนั่งชันขาลงไปได้นิดหน่อย ส่วนพื้นที่วางขา ขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารด้านหน้าว่าจะปรับเบาะถอยหลังลงมาเยอะหรือไม่

ถุงลมนิรภัย SRS Airbag ติดตั้งมาให้ 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า – ด้านข้างเบาะคู่หน้า 2 ฝั่ง – ม่านถุงลมนิรภัย 2 ฝั่ง ) เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter อีกทั้งยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้ที่ด้านล่างพนักพิงหลังทั้งฝั่งซ้ายและขวา

พื้นที่ด้านในของกระบะหลัง ยังคงมีขนาดเท่ากันกับ Ranger 4 ประตู รุ่นมาตรฐาน ยาว 1,743 มิลลิเมตร กว้าง 1,560 มิลลิเมตร (ความกว้างจากซุ้มล้อซ้าย ไป ขวา 1,139 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นกระบะ 561 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถนนถึงขอบกระบะ 964 มิลลิเมตร เพียงแต่ว่า มีการติดตั้งแผงปูกระบะหลังมาให้เต็มพื้นที่ เสริมช่องปลั๊กไฟ 12 V 1 ตำแหน่ง และ มีหูเกี่ยวเชือกสำหรับยึดตรึงรั้งสัมภาระมาให้ 4 ตำแหน่ง มีตัวล็อคฝากระบะท้าย Tailgate Lock กลไกผ่อนแรงฝาท้ายกระบะ ขณะเปิดและยกปิด Easy Lift Tailgate มาให้เหมือน Ranger Wildtrak Minorchange ตัวล่าสุด

ภายในตกแต่งด้วยโทนสีดำเป็นหลัก ส่วนแผงหน้าปัด (Dashboard) ยังคงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม แต่มีรายละเอียดการตกแต่งเพิ่มเติมให้แตกต่างออกไป แผงด้านบน บุนุ่มด้วยหนังสังเคราะห์ เสริมฟองน้ำแผ่นบางไว้ด้านล่าง เดินตะเข็บเย็บเข้าติดกันด้วยตะเข็บด้ายสีน้ำเงิน ช่องแอร์ เปลี่ยนมาเป็นสีเทา ล้อมกรอบด้วยโครเมียม แผงประดับ Trim เหนือกล่องเก็บของ Glove Compartment เป็นสีเทาเมทัลลิค

พวงมาลัยเป็นแบบ 4 ก้าน หุ้มหนัง พร้อม แถบบอกตำแหน่งองศาพวงมาลัย On-Center Marker สีแดง แบบรถแข่ง สลักสัญลักษณ์ RAPTOR ที่ก้านพวงมาลัยด้านล่าง ส่วนด้านหลัง ติตตั้ง แป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shifter แบบ Magnesium แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ควบคุมชุดเครื่องเสียง และ หน้าจอ MID ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ใช้ควบคุมระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control รวมทั้ง สั่งเพิมหรือลดความเร็ว ขณะเปิดระบบช่วยลงเนิน Hill Descent Control อีกด้วย

ชุดมาตรวัดเรืองแสง Optitron พร้อมหน้าจอ MID แบบสี ขนาด 4 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ พื้นหลังลาย Graphic ไฟบอกตำแหน่งเกียร์  มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น มาตรวัดปริมาณน้ำมันในถังขนาด 80 ลิตร แยก 2 วงแทรกด้วยหน้าจอตรงกลาง ต่างจาก Dual Screen ใน Ranger Limited / Wildtrak อ่านค่าได้ง่ายขึ้น ก็แน่ล่ะครับ เข็มวัดรอบเครื่องยนต์เป็นแบบอนาล็อกไม่ใช่แบบดิจิตอลเล็กๆที่อ่านค่อนข้างยากแบบนั้น

นอกนั้น Ranger RAPTOR ก็ยังคงติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆมาให้ในระดับเดียวกับรุ่น Wildtrak อาทิ ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา Dual Zone กระจกมองหลัง แบบปรับลดแสงอัตโนมัติ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ขึ้น-ลงอัตโนมัติ พร้อมระบบป้องกันการหนีบ Protection Jam เฉพาะ ฝั่งคนขับ และ ช่องชาร์จไฟปลั๊กไฟบ้าน 230V เป็นต้น

ด้านระบบความบันเทิง Ranger RAPTOR ถูกติดตั้ง หน้าจอ Monitor สี Touch Screen (Multi-Touch) ขนาด 8 นิ้ว สำหรับควบคุม ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 แบบ 1 แผ่น มีระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 3 รองรับ Application จากโทรศัพท์มือถือ ทั้ง Apple Car Play และ Andriod Auto ทำงานร่วมกับ ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth มีช่องเชื่อมต่อ USB 2 ตำแหน่ง มาพร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง

ไม่เพียงเท่านั้น Ranger RAPTOR ยังมี ระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอก Active Noise Cancellation System (แบบเดียวกับ Ranger Wildtrak และ Everest) มีกล้องมองภาพขณะถอยจอด ทำงานร่วมกับ เซ็นเซอร์กะระยะช่วยจอดด้านหลัง และ ระบบช่วยโทรศัพท์ฉุกเฉิน Emergency Assist มาให้อีกด้วย

ด้านขุมพลัง ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะ Ford เลิกใช้เครื่องยนต์ Diesel 3.2 ลิตร 200 แรงม้า (PS) ของตน แล้วนำเครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด EcoBlue 2.0 TDCi Bi-Turbo ที่ถูกพัฒนาในลักษณะ Downsizing (ลดความจุกระบอกสูบ เพื่อประหยัดน้ำมัน แต่ใช้ Turbo ช่วย เพื่อให้ความแรงยังอยู่ในระดับเท่าเดิม มาวางให้กับ Ranger Minorchange ทั้งรุ่น Limited, Wildtrak และ RAPTOR

ขุมพลัง EcoBlue 2.0 TDCi เป็นเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,996 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84 x 90 มิลลิเมตร กำลังอัด 16.1 : 1 พ่วง Turbocharger 2 ลูก ทั้งลูกเล็กแรงดันสูง High-Pressure (HP Turbo) เชื่อมต่อกับ ลูกใหญ่ แรงดันต่ำ Low-Pressure (LP Turbo) ควบคุมลำดับการทำงานของ Turbo ทั้ง 2 ลูก ด้วยวาล์ว Bypass โดยขึ้นอยู่กับความเร็วรอบเครื่องยนต์

ช่วงรอบเครื่องยนต์ต่ำๆ Turbo ทั้ง 2 ลูก จะทำงานตามลำดับเพื่อช่วยเพิ่มแรงบิดและการสนองตอบต่อคันเร่งจากผู้ขับขี่ แต่เมื่อถึงช่วงรอบเครื่องยนต์สูง อากาศจะไม่ไหลผ่าน Turbo ลูกเล็กแรงดันสูง  ทำให้ Turbo แรงดันต่ำ ลูกใหญ่กว่า ช่วยเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นตามต้องการ

Ford ยืนยันในความทนทานของ Turbo โดยเปิดเผยว่า พวกเขาได้ทดสอบทาง Thermo cycle ด้วยการเร่งเครื่องยนต์ จน Turbo ทั้ง 2 ลูกร้อนจัด กลายเป็นสีแดงฉาน แช่ทิ้งไว้ยาวนานถึง 200 ชั่วโมง ติดต่อกัน และ เครื่องยนต์ใหม่นี้ ก็ผ่านการทดสอบมาได้ เนื่องจาก ลูกปืน Turbo ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการระบายความร้อนด้วยน้ำ ของ Turbo แรงดันต่ำ ช่วยให้เครื่องยนต์สามารถทนต่ออุณหภูมิระดับสูงมากๆได้

ไม่เพียงเท่านั้น จุดเด่นของเครื่องยนต์ EcoBlue ใหม่ ยังอยู่ที่ การปรับปรุงฝาครอบเครื่องยนต์ ให้มีโฟมดูดซับเสียง เพื่อลดเสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน (NVH : Noise Vibration Hashness) การออกแบบสายพานไทม์มิ่งแบบจุ่มในน้ำมันเครื่อง Belt-in-oil Primary Drive ฝาครอบ Compressor ระบายความร้อนด้วยน้ำ ลูกสูบอะลูมิเนียม มีการหล่อซ้ำที่ขอบแอ่งหัวลูกสูบ Bowl Edge Re-Melt ฯลฯ

กำลังสูงสุด 213 แรงม้า (PS) ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร (50.96 กก.-ม.) ที่ 1,750 รอบ/นาที ตามปกติแล้ว เครื่องยนต์ EcoBlue 2.0 TDCi Bi-Turbo เมื่อวางอยู่ใน Ranger Wildtrak 4×4 จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ที่ 200 กรัม/กิโลเมตร แต่เมื่อมาวางใน Ranger RAPTOR จะปล่อยไอเสีย ออกมา อยู่ที่ 220 กรัม/กิโลเมตร

 

เครื่องยนต์ใหม่ จะถูกจับคู่กับ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ลูกใหม่ รุ่น ” 10R80 “ ผลิตจากวัสดุทั้ง เหล็กกล้า, Aluminium Alloy และ Composite พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่ด้านหลังพวงมาลัย Paddle Shift ทำจาก Magnesium (แบบเดียวกับ Mitsubishi Lancer EX เมื่อปี 2009) ซึ่งผู้ขับขี่ สามารถใช้งานได้ทันทีที่ต้องการ แม้ว่าเกียร์จะอยู่ในตำแหน่ง D และ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่ง M เสมอไป (ทำแบบรถญี่ปุ่นกับเขาซะทีนะ)

จุดเด่นของเกียร์ลูกนี้ อยู่ที่ การออกแบบชุดคลัตช์แบบ คลัตซ์แบบ Rollover One-way Clutch (OWC) เพื่อช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ลงอย่างรวดเร็ว ตอบสนองการขับขี่ได้เต็มที่ อีกทั้งยังมีปั๊มน้ำมันเกียร์ชนิดใบพัดแปรผันแบบเยื้องศูนย์ Off-Axis Variable-Displacement Vane Pump เพื่อลดการสูญเสียแรงบิด และเพิ่มความประหยัดน้ำมัน แถมยังช่วยลดเสียงรบกวนจากเรือนเกียร์ ในช่วงความเร็วสูง และระบบกรองน้ำมันเกียร์ Sump Filtration and ULV

ทีมวิศวกรของ Ford ระบุว่า เกียร์ 10 จังหวะ ใน Ranger RAPTOR นี้ เป็นเกียร์รุ่นเดียวกันกับพี่ชายร่วมตระกูลอย่าง ” F-150 RAPTOR ” รถกระบะขนาดใหญ่ Performance Full-Size Pickup Truck ที่มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

  • เกียร์ 1………………….4.696
  • เกียร์ 2………………….2.985
  • เกียร์ 3………………….2.146
  • เกียร์ 4………………….1.769
  • เกียร์ 5………………….1.520
  • เกียร์ 6………………….1.275
  • เกียร์ 7………………….1.000
  • เกียร์ 8………………….0.854
  • เกียร์ 9………………….0.689
  • เกียร์ 10………………..0.636
  • เกียร์ถอยหลัง…………4.866
  • อัตราทดเฟืองท้าย…..3.740

เฟรมแชสซีส์ผลิตจากวัสดุ HSLA (High-Strength Low-Alloy) เกรดต่างๆ โดยบริเวณด้านหน้า ถูกเพิ่มความแข็งแรงของจุดยึดหูช็อคอัพที่ขยายความสูงขึ้น ส่วนด้านข้างบริเวณ Side Rails ก็ถูกเสริมเสริมความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น นี่ยังไม่นับโครงเหล็กบริเวณช่วงล้อคู่หลัง ที่จะต้องออกแบบและปรับปรุงใหม่ เสริมความแข็งแรงให้มากยิ่งกว่าเดิม

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ของ Ranger RAPTOR ยังคงเป็นแบบ Part-time 4WD เหมือนเดิม พร้อมเฟืองท้ายแบบ Electronic Locking Rear Differential แต่มีความแตกต่างเพิ่มขึ้นมา นั่นคือ มีระบบ Terrain Management System (TMS) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ เลือกโปรแกรมระบบขับเคลื่อน ได้ตามต้องการ โดยจะมีให้เลือก 6 รูปแบบ ดังนี้

  • Normal : โหมดปกติ ขับขี่ทั่วไปในเมือง ทางด่วน (ได้ทั้ง 2 ล้อหลัง หรือ 4 ล้อ)
  • Sport : สปอร์ต ค้างรอบเครื่องยนต์ไว้สูง เปลี่ยนเกียร์ไวขึ้น (ได้ทั้ง 2 ล้อหลัง หรือ 4 ล้อ)
  • Grass / Gravel / Snow : สำหรับ หญ้า กรวด/หิน หิมะ ช่วยออกตัวด้วยเกียร์ 2 ลดการลื่นไถลของล้อรถ และเปลี่ยนเกียร์นุ่มขึ้น (4 ล้อ เท่านั้น)
  • Mud / Sand : ใช้เกียร์ต่ำ ปรับการตอบสนองของระบบ Traction Control (4 ล้อ เท่านั้น)
  • Rock : คลานบนเส้นทางหินแหลมๆ ตามเนินเขา ใช้ความเร็วต่ำ (4 ล้อเท่านั้น)
  • Baja : บาฮา ปรับการตอบสนองเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับแบบ Off-Road ความเร็วสูง ตัดการทำงานระบบ Traction Control ปรับการตอบสนองของระบบส่งกำลัง (เกียร์) และ ค้างรอบเครื่องยนต์ไว้สูง (ได้ทั้ง 2 หรือ 4 ล้อ)

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน ผ่อนแรงด้วยเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPAS (Electronic Power Assist Steering Wheel)

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ ปีกนกคู่ Double Wishbone ผลิตจากอะลูมีเนียมน้ำหนักเบา (Forged – Cast Aluminium) เพื่อช่วยลด Unsprung Weight เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น เพิ่มระยะการให้ตัวของล้อ เพื่อช่วย ดูดซับแรงสะเทือนขณะขับขี่ได้ดีขึ้น ส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลัง เปลี่ยนจากแหนบ มาเป็นแบบวัตต์ลิงค์ (Watt-Link Coil Over Shock-absorber) เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างแท่นยึดยางอะไหล่

Highlight สำคัญ อยู่ที่ความร่วมมือระหว่าง Ford กับ FOX ผู้ผลิตช็อกอัพ 4×4 สำหรับลูกค้า กลุ่ม After Market ชื่อดัง ที่ร่วมกันพัฒนา ช็อคอัพ Fox Racing Shox 2.5 ขึ้นมาเป็นพิเศษให้กับ RAPTOR

ช็อคอัพ รุ่นนี้ ใช้ลูกสูบขนาด 46.6 มิลลิเมตร ทั้งคู่หน้า – คู่หลัง มาพร้อมระบบ Internal Bypass Technology และกระบอกสำรองน้ำมันแบบแยก ออกแบบเพื่อช่วยซับแรงกระแทกให้ดีขึ้น รวมทั้งให้การขับขี่บนทาง Off-Road ที่นุ่มนวลขึ้น รวมทั้งมีระบบ Position Sensitive Damping (PSD) ช่วยเพิ่มแรงต้านเมื่อมีการกระแทกเต็มช่วงยุบกระบอกสูบ

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน ครบทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง x ความหนาของจาน 332 x 32 มิลลิเมตร คาลิเปอร์เบรกคู่หน้า เป็นแบบลูกสูบคู่ เส้นผ่านศูนย์กลาง เพิ่มขึ้น 9.5 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีขนาด 332 x 24 มิลลิเมตร คาลิปเปอร์เบรกหลัง เส้นผ่าศูนย์กลางลูกสูบ 54 มิลลิเมตร มีระบบ Brake Actuation Master Cylinder

มาพร้อมกับตัวช่วยด้านความปลอดภัย ทั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program) ระบบป้องกันการลื่นไถล ล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA (Hill Launch Assist) ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Decsent Assist)

นอกจากนี้ ยังมีระบบควบคุมการทรงตัวขณะลากจูง TSC (Trailer Sway Mitigation) ระบบควบคุมการบรรทุก Load Adaptive Control และ ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ Roll-Over ติดตั้งมาให้เสร็จสรรพ

ตัวเลขจากการจับเวลา โดยมี ผม และพี่สุรมิส เจริญงาม (รายการ ขับซ่า 34 ช่องอัมรินทร์ TV) รวม 2 คน และสัมภาระ (กระเป๋าเป้ 2 ใบ) น้ำหนักรวม ราวๆ ไม่เกิน 180 กิโลกรัม บนถนนยางมะตอย อุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส ไม่ทราบชนิดน้ำมัน Diesel ที่เติมเข้าไป (แต่แตกต่างจากเมืองไทยแน่ๆ) จับเวลาได้เพียงหัวข้อละ 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากสภาพการขับขี่แบบ คาราวาน มีจังหวะให้เราทำตัวเลขได้น้อยมากๆ ให้ผลลัพธ์ดังนี้

  • อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 11.76 วินาที
  • อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 8.66 วินาที
  • ความเร็ว 100 กิโลเมตร รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,500 รอบ/นาที ที่เกียร์สูงสุด (10)
  • อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จากจุดเริ่มต้นหน้าโรงแรม จนถึง Tipperary Station ใช้ความเร็ว 80 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง แปรผันตามการจราจร เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ระยะทาง 112 กิโลเมตร ตัวเลขจากมาตรวัดอยู่ที่ 9 ลิตร/100 กิโลเมตร เฉลี่ย ประมาณ 11.11 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขที่ RAPTOR ทำได้ ก็ถือว่าเร็วกว่า Ranger 2.2 ลิตร ทั้งเกียร์ธรรมดา (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 12.27 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 9.56 วินาที) และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ (12.57 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง 9.91 วินาที)

แถมเมื่อเปรียบเทียบกับ Ranger 3.2 ลิตร Wildtrak เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ แล้ว ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ RAPTOR ยังไวกว่าราวๆ 0.12 วินาที (Wildtrak ทำได้ 8.79 วินาที) แม้ว่า ตัวเลข 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะออกมาด้อยกว่า Wildtrak 3.2 ลิตร (11.19 วินาที) ราวๆ 0.57 วินาที ดังนั้น ตัวเลขที่ RAPTOR ทำได้ ถือว่าไม่น่าเกลียดเลย เกาะกลุ่มไปกับพี่ๆน้องๆ ร่วมตระกูล Ranger T6 กันไปนั่นแหละ

ถึงแม้ว่า ตัวเลขแรงม้า จากเครื่องยนต์ Diesel EcoBlue 2.0 ลิตร TDCi จะสูงถึง 213 แรงม้า (PS) และะแรงบิดสูงมหาศาลถึง 500 นิวตันเมตร แต่เมื่อต้องมาฉุดลากโครงสร้างตัวถังกับเฟรมแชสซีส์ แถมต้องเจอกับยางหน้ากว้างมโหฬาร ที่ทำให้น้ำหนักรถเปล่ารวมกันปาเข้าไป 2,332 กิโลกรัม จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตัวเลขอัตราเร่งที่ออกมา รวมทั้งสัมผัสจากการตอบสนองในการขับขี่จริง จึงไม่ได้รู้สึกว่าแรงมากมายอย่างที่หลายคนคาดหวัง (แต่ถ้ายางมีขนาดหน้ากว้าง แคบกว่านี้ ตัวเลขอาจจะดีขึ้นกว่านี้ได้)

การออกตัว ไม่ต้องรอรอบเครื่องยนต์นานนัก แรงดึงที่เกิดขึ้น สัมผัสได้เลยว่า เครื่องยนต์มีเรี่ยวแรงดีมากๆ และทำหน้าที่ของมันในการพาตัวรถคันใหญ่โต พุ่งทะยานขึ้นไปต่อเนื่องแบบผู้ดีๆ นั้น ได้ดีสุดกำลังของมันแล้ว เพียงแต่ว่า เข็มความเร็วและเข็มวัดรอบ ไม่ได้กวาดขึ้นไปแบบปรู๊ดปร๊าด ไม่ได้ดึงจนหลังติดเบาะเหมือนอย่างที่หลายคนคาดหวัง ส่วนการเร่งแซง ค่อนข้างดี ไม่มีอะไรให้น่าห่วง

ภาพรวมแล้ว ถือว่า ขุมพลัง Diesel EcoBlue 2.0 TDCi บล็อกนี้ รองรับการใช้งานทั่วไปได้ดีเพียงพอ ไม่น่าเกลียดเลย แต่ถ้าแรงหลังติดเบาะกว่านี้ได้อีกสักนิด เพื่อชดเชยกับน้ำหนักตัวและขนาดของยาง ก็น่าจะกระตุ้นต่อม เร้าอารมณ์คนขับได้สมกับบุคลิกของตัวรถ มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ได้คราวนี้ เป็นเพียงผลคร่าวๆ คงต้องรอดูการทดสอบจับเวลา ตามมาตรฐานการทดลองของเรา ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้กันอีกที

เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ มีอัตราทด ช่วงตั้งแต่เกียร์ 3 จนถึงเกียร์ 10 ค่อนข้างชิดกันมาก ราวกับปริมาณผู้โดยสาร รถไฟฟ้า BTS ในช่วงค่ำวันฝนตกรถติดเลยทีเดียว การเซ็ตสมองกลเกียร์มาให้มี Algorhythm ที่เหมาะสม และชาญฉลาด ทำให้เกียร์ทำงานได้อย่างราบรื่น การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างนุ่มนวลดี

การตบแป้น Paddle Shift เพื่อจะเปลี่ยนลดเกียร์ลงมานั่น ตัวแป้นและหน้าจอบอกตำแหน่งเกียร์บนชุดมาตรวัด ทำงานได้ไวใช้ได้ แต่กว่าที่เกียร์จะเปลี่ยนลงมาให้จริงๆ อาจต้องใช้เวลา บวกลบ ราวๆเกือบๆ 1 วินาที เพื่อลดอาการกระตุกกระชากขณะเปลี่ยนเกียร์ กระนั้น ถ้าเปลี่ยนเกียร์ลงมาแค่ 1 จังหวะ เช่น จาก 10 ลงมา 9 อาจไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ เพราะอัตราทดเกียร์ ชิดกันเหลือเกิน ถ้าตบแป้นเปลี่ยนเกียร์ลงมารวดเดียว 2-3 จังหวะ จะเห็นความแตกต่างชัดเจน และถ้าเปลี่ยนไปใช้ Sport Mode เกียร์จะลดตำแหน่งลงมา และรอบเครื่องยนต์จะถูกลากขึ้นไปคาไว้ในช่วงรอบที่สูงขึ้นเล็กน้อย รอให้คุณกดคันเร่งเรียกกำลังออกมาเร่งแซง จะยิ่งเพิ่มความสนุกในการขับขี่ได้อีกพอสมควร

จุดขายสำคัญของ Ranger RAPTOR อยู่ที่ระบบ Terrain Management System (TMS) ซึ่งมีโปรแกรมพิเศษคือ Baja Mode (อ่านว่า “บา-ฮา โหมด”) โดยชื่อของโปรแกรมนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจาก การแข่งขันแรลลี กลางทะเลทราย  Baja ที่ประเทศ Mexico อันโด่งดังในหมู่คนชอบรถแนวลุยนั่นเอง

โปรแกรม Baja Mode ใช้งานได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แบบ 2H (2-High ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ใช้ความเร็วต่ำ กลาง สูง ขับตามปกติ)  หรือ 4 ล้อ แบบ 4H (4-High ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยความเร็วสูง)

การทำงานก็คือ Baja Mode มีดังนี้

  1. เปลี่ยนลดตำแหน่งเกียร์ลงมา เพื่อลากและเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น ค้างรอบเครื่องให้นานขึ้น เหมือน Sport Mode
  2. ตัดการทำงานของ Traction Control  แต่ยังเหลือระบบ ESP ทำงานไว้อยู่บ้าง ยอมให้ล้อทั้ง 4 (ตามแต่ละระบบขับเคลื่อนที่คุณเลือกอยู่ในตอนนั้น) หมุนฟรีทิ้งได้ เพื่อให้คุณสนุกกับการ Drift บนทางฝุ่น อย่างเต็มที่

ช่วงที่ได้ลอง Baja Mode นั้น Instructor ไกด์บอกทางให้เรา ดุจประหนึ่งว่าสอนเราขับรถแข่งแรลลีไปด้วยกลายๆ ทำให้ได้เห็นบุคลิกหนึ่งของตัวรถที่ปรากฎขึ้นมา นั่นคือ แม้จะดูว่าน่าจะมีพิษสงเยอะ แต่ความจริงแล้ว สำหรับคนที่เคยมีทักษะการบังคับควบคุมรถ บนทางลื่นๆมาก่อนแล้วนั้น ถือว่าง่ายดายสบายบรื๋อเกินคาด และรับรู้ได้ว่า ตัวรถมันจะมีอาการท้ายกวาดออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กวาดแบบพรวดพราดจนแก้อาการไม่ทัน และมันพร้อมจะรับฟังคำสั่งของคุณอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมแก้อาการให้นิดๆ เพื่อช่วยดึงคุณกลับมาสู่การควบคุมตามเดิม แต่ถ้าคุณไม่เคยลองขับแบบ Drift บนทางลื่นๆมาก่อน อาจต้องฝึกฝนและทำความเข้าใจอากัปกิริยาของตัวรถอยู่สักหน่อย เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะขับได้สนุกขึ้นมาก

อีกคุณสมบัติเด่นของ Ranger RAPTOR นั่นคือ การปีนป่ายทางลาดชันต่างๆ ในการทดลองของเรา Instructor บอกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์ 4L (4-Low สำหรับการขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยความเร็วต่ำ) เลย เพียงแค่เข้าเกียร์ 4H (4-High ขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้วยความเร็วสูง) แล้วกดปุ่มเปิดโปรแกรม Hill Decsent Control ที่แผงสวิตช์ บริเวณฐานคันเกียร์ แล้วก็ไม่ต้องไปแตะเบรกใดๆทั้งสิ้น ใช้วิธีคุมความเร็วรถ จากสวิตช์ +/- เพิ่ม-ลดความเร็ว ของระบบ Cruise Control บนพวงมาลัยไปนั่นแหละครับ!  มันทำงานเชื่อมกันได้ ช่วยให้การปีนป่ายต่างๆ สะดวกและง่ายดายขึ้นมาก ไม่ต้องมานั่งลุ้นเกร็งน้ำหนักเท้าคุมคันเร่งมากหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว

ด้านระบบบังคับเลี้ยว จริงอยู่ว่า การเซ็ตน้ำหนัก อัตราทด และความหนืดของพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮโดรลิค ใน Ranger T6 รุ่นปี 2012 – 2015 ทำให้ผมประทับใจมากที่สุด ในบรรดารถกระบะทุกรุ่นที่จำหน่ายอยู่ในบ้านเรา ณ ขณะนั้น แต่เมื่อ Ford เปลี่ยนมาใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS ในปี 2016 ผมกับพบว่า พวงมาลัยเบากำลังดีในย่านความเร็วต่ำ สะดวกต่อการถอยเข้าจอดรถ แต่กลับกลายเป็นว่า พอถึงย่านความเร็วสูง พวงมาลัยกลับเบาไป แถมยังไวต่อการควบคุมไปหน่อย ทำให้ Toyota Hilux Revo ก้าวขึ้นมาเป็นรถกระบะที่มีพวงมาลัยตอบสนองดีที่สุดในตลาดช่วงเวลานั้นไปแทน และนั่นคือเรื่องในอดีต…

มาถึงปี 2018 นี้ Ford พยายามจะทวงแชมป์ในประเด็นดังกล่าวคืนมาจาก Toyota ให้ได้ และพวกเขาก็ทำได้ดีพอสมควร พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPAS ใน RAPTOR นั้น แม้จะยังคงมีน้ำหนักเบาในความเร็วต่ำระดับคลาน แต่สัมผัสได้ว่า หนืดขึ้นนิดๆ เมื่อเทียบกับ Ranger Wildtrak ปี 2016 อีกทั้งยังให้ความสบายในการขับขี่ช่วงความเร็วเกินทาง ระดับ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ได้ดีขึ้น แถมยังนิ่งขึ้นในช่วงความเร็ว 120 – 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ผมมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ยาง BF Goodrich All Terrain ซึ่งมีหน้ายางกว้างถึง 285 มิลลิเมตร ที่ติดมากับตัวรถ ยางชุดนี้ออกแบบให้มีแรงเสียดทาน และแรงต้านการหมุนของล้อ (Rolling Resistance) อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ยังใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบแก้มยาง ด้วยเทคโนโลยี CoreGuard(TM) ในลักษณะ Advanced Deflection Design ช่วยการคาดการณ์เส้นทางของวัตถุที่มากระทบกับหน้ายาง ช่วยเปลี่ยนทิศทางของวัตถุออกจากแก้มยาง ลดโอกาสการฉีกของแก้มยางลงไปด้วย มีบั้งจิกด้านข้างของแก้มยาง ช่วยสลัดโคลนที่อยู่ระหว่างร่องดอกยางออก จึงยึดเกาะและเคลื่อนตัวผ่านโคลน เลน ทราย หิมะ ได้ดีขึ้น

ด้านการทำงานของระบบกันสะเทือนนั้น ในช่วงการขับขี่ความเร็วต่ำในเมือง การเปลี่ยนช่วงล่างด้านหลังจากแหนบ มาเป็นแบบ คอยล์สปริง ก็พอจะช่วยให้ตัวรถนิ่งสงบ คลานไปตามสี่แยกไฟแดงต่างๆ ได้สบายขึ้นกว่ารถกระบะแบบเดิมๆที่คนไทยคุ้นเคยกันเล็กน้อยเท่านั้น พูดให้ง่ายก็คือ มันก็ใกล้เคียงกับ SUV/PPV ที่สร้างบนเฟรมแชสซีส์รถกระบะ นั่นแหละครับ

ด้านการตอบสนองของระบบกันสะเทือนนั้น คงต้องแยกออกมาเป็น 3 ประเด็น ยอมรับว่า ทันทีที่เราเริ่มออกเดินทางไปตามทางหลวง Stuart Highway ด้วยความเร็ว ไม่เกิน 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะสัมผัสได้ว่า ช่วงล่างของ RAPTOR นิ่งใช้ได้ อาการสะเทือนลดลงเมื่อเทียบกับ รถกระบะที่ใช้ช่วงล่างแบบแหนบ การตอบสนอง เหมือน SUV/PPV ที่เซ็ตช่วงล่างมาให้ช็อกอัพยุบตัวมากกว่ารุ่นปกติ ขึ้นอยู่กับสภาพถนนที่แล่นผ่านไป Jump คอสะพาน ครั้งเดียวหยุด

ทว่า เมื่อเข็มความเร็วไต่ขึ้นไปเกิน 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง และพื้นถนนเริ่มมีลอนคลื่นแบบห่างๆ เล็กๆ ไม่ใหญ่นัก ผมและพี่สุรมิส พบว่า ตัวรถมีอาการยุบตัวซ้าย – ขวา วูบวาบ ไปตามสภาพถนนชัดเจนมาก ทั้งที่จริงๆแล้ว อาการนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นเลย คนที่มีปัญหา เมารถง่าย ขอแนะนำว่า เตรียมถุงอ้วก ไว้หน่อยก็ดีครับ  เพราะท้องไส้คุณอาจปั่นป่วนได้เหมือนกันในบางกรณี

อาจบอกได้ว่า ช่วงล่างของ Ford Everest ให้ความสบายในการเดินทางไกลมากกว่า และตอบสนองกับพื้นถนนในลักษณะลอนคลื่นแบบเดียวกันนี้ได้ดีกว่า แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกันแบบนี้ ก็อาจไม่เป็นธรรมนัก เพราะแนวคิดในการเซ็ตรถมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง Everest ต้องถูกเซ็ตมาให้เอาใจสมาชิกครอบครัว จึงต้องเซ็ตให้ขับสบาย Riding Comfort เป็นหลัก ขณะที่ Ranger RAPTOR เน้นออกแบบมาให้เอาใจคนชอบขับรถลุยๆ รูดๆ บนพื้นขรุขระเป็นหลัก

ต่อให้มีเรื่องต้องบ่นกันบนถนนราดยางมะตอบ แต่พอเราขับเข้าทางฝุ่นและลูกรัง มุ่งหน้าไปยัง Tipperrary Station เท่านั้นแหละครับ ผมกับพี่สุรมิส ถึงกับหันมาร้องกรี๊ดกันลั่นรถ ประกาศขอถอนคำพูดที่ว่าช่วงล่างช่วง On-Road ไม่ดี ทิ้งไปกันทันที!

โอ้โห! เจ้าประคุณรุนช่องเจ้าข้าเอ้ยยยย รถกระบะห่าอะไรวะ ขับทางผุ่นได้สนุกเมามันส์ชิบหายวายป่วงขนาดนี้!

ช็อกอัพของ FOX ทำหน้าที่ของมันบนทางฝุ่นและลูกรังที่อุดมไปด้วยก้อนกรวด ได้อย่างดีงาม คุณสามารถขับ “รูด” ไปด้วยความเร็วสูงถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างที่เห็นในภาพประกอบข้างบนได้เลย เพียงแค่พอจะมีอาการสะเทือนจากการทำงานของช่วงล่างบ้างแค่นิดๆหน่อยๆ เท่านั้น ซึ่งก็น้อยกว่ารถกระบะปกติทั่วไปมากๆ คิดดูว่า ตัวรถพุ่งทะยานไปข้างหน้า อย่างนิ่งมาก ทั้งที่ ปกติบนทางฝุ่นนั้น ผมจะใช้ความเร็วไม่สูงนัก แต่กับ RAPTOR ผมมั่นใจมากๆถึงขั้นค่อยๆลงเพิ่มความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆขนาดนี้

ยิ่งจังหวะที่ต้อง Jump เนิน ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ทั้งรถทั้งคน ลอยขึ้นไปสูงพอสมควร พอล้อแตะถึงพื้นปุ๊บ ช็อกอัพก็รีบทำหน้าที่สอดประสานร่วมกับช่วงล่างอย่างดีเยี่ยม ผลก็คือ เมื่อ Bump ลงมาปุ๊บ จังหวะเดียวก็อยู่หมัดเลย ไม่มีจังหวะ Rebound ซ้ำ แบบรถกระบะทั่วๆไป แม้แต่ฝรั่ง Instructor เองหลายๆคน ที่เคยผ่านประสบการณ์กับรถกระบะอย่าง Volkswagen Amarok มา ก็ยืนยันว่า ช่วงล่างของ RAPTOR ทำออกมาได้จบกว่า Amarok มาก!

คุณงามความดีอีกประการหนึ่งที่ผมพบเจอก็คือ ระหว่างที่ หนึ่งในสมาชิกทีม Instructor ซึ่งเป็นนักแข่งรายการ Porsche Carrera Cub กำลังขับเจ้า RAPTOR พาผมสำรวจดูเส้นทางที่เราจะต้องขับกัน ยาวถึง 6 กิโลเมตร ผมนั่งบนเบาะหลัง ถือกล้องถ่ายรูป บันทึก Video Clip เพื่อดูเส้นทางไปด้วยนั้น

ตลอดเส้นทาง 1 รอบ ที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ลำธาร ก้อนกรวดหิน ดินแน่นๆ ทรายร่วนๆ แน่นอนว่า มันทำให้ตัวรถต้องจะเด้งขึ้นเด้งลง กระโดดไป-มา บั้นท้ายดิ้นออกซ้าย-ขวา ได้ตลอดเวลา ไปจนถึง เนิน Jump 3 แห่งรวด นั้น กลับกลายเป็นว่า นักขับคนนี้ พาเราตะลุยผ่านเส้นทางอันสมบุกสมบัน ระดับโหดร้ายไม่แพ้การแข่งขันรถยนต์ แรลลีโกล WRC ด้วยความเร็วสูงถึง 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมยังเปิด Baja Mode เพื่อขับ Drift บนพื้นทรายฝุ่นละเอียดอีกด้วย! เขาสาธิตให้ผมดู ก่อนที่จะเปลี่ยนให้ผมมานั่ง และขับตามที่เขาไกด์ ซึ่งเขาก็ Push ให้ผม นำพารถไปสู่ Limit ไปหลายครั้งอยู่

ถ้าเป็นรถกระบะทั่วไป ตับ ม้าม ไต หัวใจ และเซี่ยงจี๊ ของผมคงกระเด็นกระดอนออกมานอกร่างแล้ว แต่ Ranger RAPTOR นั้นถึงจะทำให้ตัวผมลอยขึ้นจากเบาะ แต่ในจังหวะที่ร่างของผม หล่นกลับลงมานั่งบนเบาะอีกครั้ง ผมกลับไม่ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยล้าสะสม จากการนั่งโดยสาร บนเบาะหลังของ RAPTOR มากนัก

ยิ่งพอถึงช่วงที่ต้องขับเอง การบังคับควบคุมตัวรถ ไม่ยากอย่างที่คิด ตัวรถพร้อมที่จะฟังคำสั่ง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ขับขี่ มากกว่า Ranger รุ่นปกติชัดเจน ต่อให้จะลื่นไถลบนทางฝุ่น แค่ดึงพวงมาลัยกลับมาในทิศทางตรงกันข้ามกับล้อ ในบางจังหวะก็เติมคันเร่งเสริมเข้าไปนิดหน่อย รถก็กลับมา “เข้าไลน์” คืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว ให้ความสนุกสนานในการขับขี่ตะลุยทางวิบากอย่างมาก!

ไม่เพียงเท่านั้น ผมพบด้วยว่า การออกแบบโครงสร้างตัวถัง และการปรับปรุงเฟรมแชสซีส์ คราวนี้ ทีมวิศวกรที่นำโดยคุณ Damien Ross พยายามมุ่งเน้นให้ตัวรถในภาพรวม แข็งแกร่งขึ้น มีการบิดตัวที่เหมาะสม ช่วยลดการสะเทือนของชิ้นส่วนพลาสติกบุภายในห้องโดยสาร ที่จะเบียดเสียดกัน ลดเสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้านที่เกิดขึ้นขณะตัวรถ แล่นผ่านเส้นทางขรุขระ ได้ดีมากชนิดที่ผมไม่เคยเจอในรถกระบะรุ่นใดในบ้านเรามาก่อน! สัมผัสได้เลยว่า ตัวรถทั้งคันยังคงแน่นหนาอยู่ แม้ว่าจะถูกกระแทกกระทั้นหนักหน่วงมาตลอดหลายวันแล้วก็ตาม

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องขอชมเชยคือ การตอบสนองบนทางโค้ง ที่ทำได้ดีจนเหลือเชื่อ เพราะกว่า 98% ของทางโค้งที่ผมขับบนเส้นทางนี้ ผมแตะเบรกไปเพียงแค่ 3 ครั้ง เท่านั้น ที่เหลือหนะเหรอครับ วิ่งมา 1oo กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วก็ซัดเข้าโค้งไปทั้งแบบนั้นเลย!!! และ RAPTOR ก็เกาะโค้งได้ดีมาก ต่อให้พื้นผิวในโค้ง จะมีหลุมบ่อ หรือพื้นผิวไม่เรียบ พอให้เกิดอาการดิ้นสะเดิดออกข้างไปบ้าง ตามธรรมชาติของรถกระบะ พื้นใต้ท้องสูง ที่ใช้ยางแก้มใหญ่ แต่ทั้งยาง และช่วงล่าง ต่างช่วยกันทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งจนสัมผัสได้ชัดเจน เพราะบางโค้งที่เราซัดกันเข้าไปดื้อๆนั้น ถ้าเป็น Ranger รุ่นปกติ หรือรถกระบะยี่ห้ออื่น แล้วเข้าโค้งด้วยความเร็วเท่ากันนี้ ผมคงแหกโค้งลงไปกองเป็นก้อนอยู่ข้างทางแล้วแน่ๆ!

Ranger RAPTOR กลายเป็นรถกระบะ Mid-Size Truck ที่เซ็ตช่วงล่างมาเน้นเพื่อการลุย Off-Road ในทุกช่วงความเร็ว ได้ดีที่สุดเท่าที่เราทุกคนเคยเจอมา!

เพียงแต่ว่า สิ่งที่ Ford กับ FOX ต้องทำการบ้านร่วมกันต่อไปคือ ทำอย่างไรที่จะปรับปรุงให้ อาการวูบวาบ โยนซ้าย-ขวา ในแนวขึ้น-ลง จากช่วงล่างในขณะใช้ความเร็วสูงเกิน 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนถนนแบบ On-Road (ราดยางมะตอย) ที่มีผิวถนนเป็นลอนคลื่นเตี้ยๆมากๆ และค่อนข้างห่างกันในระดับหนึ่งนั้น หายไป โดยที่ ประสิทธิภาพการลุยพื้นผิวขรุขระ ก้อนกรวด ลูกรัง อันเป็นจุดขายและจุดเด่นสำคัญของ RAPTOR ต้องไม่ถูกบัั่นทอนลงไปเลยแม้แต่นิดเดียว!

ส่วนการตอบสนองของระบบเบรกนั้น สารภาพเลยว่า ผมแทบไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก เนื่องจากในการขับขี่ทริปนี้ ผมแทบไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับแป้นเบรก มากเกินไปกว่าการชะลอหน่วงรถลงมาเพื่อเข้าจอด เท่านั้น ที่เหลือ ใส่กันเต็มๆ ซัดกันทุกโค้ง ที่แน่ๆก็คือ ถ้าคุณขับขี่ด้วยความเร็วปกติ การหน่วงรถมา จากย่านความเร็วสูง ทำได้ในระดับปกติ ไม่มีอะไรน่ากลัว เพียงแต่ว่า ด้วยน้ำหนักตัวรถ ที่ค่อนข้างเยอะ ถ้าจะต้องชะลอ บนเส้นทางขรุขระ ควรเผื่อระยะเบรกไว้แต่ไกลสักหน่อย และค่อยๆเบรกให้นุ่มนวล เท่าที่จำเป็น ก็พอ

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
สุดยอดรถกระบะที่แกร่งเกินคาดหมาย สำหรับผู้ชอบความท้าทายไม่เหมือนใคร
ชอบลุยถิ่นทุระกันดาร ไกลปืนเที่ยง! ขอเพียงกล้าเสี่ยงกับศูนย์บริการ แค่นั้น!

การเดินทางอย่างทรหด เพื่อมาลองรถกระบะรุ่นใหม่ ที่ลุยได้เต็มแรง แถมยังแพงที่สุดในกลุ่ม และทรหดไม่แพ้คนขับ กันถึงเมือง Darwin Australia ครั้งนี้ นอกจากจะให้ประสบการณ์ ในการขับขี่บนเส้นทาง ที่แทบจะเรียกได้ว่า เหมือนจำลองจำแลงสนามแข่งรถแรลลีโลก มาเป๊ะแทบจะทุกหลุมบ่อกับก้อนกรวด สร้างความสะใจเกินคุ้มค่าแล้ว ผมยังรับรู้ได้ว่า Ford ตั้งใจทำรถคันนี้มากเกินกว่าที่เราคิดกันไว้มาก

การที่ทีมวิศวกรของ Ford Performance หมายมั่นปั้นมือจะสร้าง Ranger RAPTOR ให้เป็นรถกระบะพิกัด Mid-Size Truck จากโรงงาน ที่มีสมรรถนะดีที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา มันเข้าใกล้ความจริงมากแล้ว ผมไม่คิดเลยว่า Ford จะยอมทุ่มทุน ยกระดับสมรรถนะของ Ranger T6 ใหม่ในแทบทุกด้านมากขนาดนี้ จนกลายเป็นรถที่ขับสนุกบนทุกสภาพถนนได้ถึงเพียงนี้

สิ่งที่ผมมองว่า พวกเขายังยกระดับเจ้า RAPTOR ขึ้นไปให้ดีกว่านี้ได้อีก ก็คงจะเป็น ความแรงของเครื่องยนต์ การลดน้ำหนักบางชิ้นส่วนลงเท่าที่ทำได้ และอาการช่วงล่างโยกเยกซ้ายขวาไปตามคลื่นถนนขนาดเล็กและไม่ถี่นัก ในช่วงความเร็วเกิน 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังเป็นเรื่องที่ Ford คงต้องนำไปปรับปรุงกันต่อจากนี้อีก ใน RAPTOR รุ่นต่อไป

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่กำลังสนใจ Ranger RAPTOR หรือแม้แต่ลูกค้าบางคน ที่เซ็นใบจองกับโชว์รูมผู้จำหน่ายรายใดรายหนึ่ง จากทั้งหมด 145 แห่ง ทั่วประเทศไปแล้ว คงอยากรู้ว่า สุดยอดรถกระบะที่มีสมรรถนะการลุย Off-Road สูงเกินกว่าคู่แข่งทุกคันในตลาดตอนนี้ รถกระบะที่มีค่าตัวสูงที่สุดตลาด สูงพอกับศักยภาพการตะลุยของมัน ที่พร้อมให้คุณ “ถลุง” ได้โดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะพังพินาศเป็นชิ้นๆ ในเวลาอันสั้น อย่างเจ้า RAPTOR รุ่นนี้ สมควรจะจ่ายเพิ่มจากรุ่น Wildtrak (1,265,000 บาท) ขึ้นมาอีก 434,000 บาท ซึ่งมีทั้งค่า ต้นทุนข้าวของที่ใส่มาให้เพิ่มเติม รวมทั้งค่าพัฒนาวิจัย กำไรต่อคันที่พวกเขาต้องได้รับ และภาษีสรรพสามิต รวมอยู่ในนั้นด้วยแล้วทั้งหมด หรือไม่? (อย่าลืมว่า รถกระบะที่ใช้ช่วงล่างด้านหลังเป็นคอยล์สปริง จะถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตหน้าโรงงาน ในอัตราแพงกว่ารถกระบะช่วงล่างแหนบ และแพงเทียบเท่ารถเก๋ง)

คำตอบก็คือ…

1.ถ้าคุณคิดแค่ว่าจะซื้อรถกระบะตัวท็อป มาขับฉุยฉายในเมือง อวดสาวไปตามเรื่องตามราว บอกเลยครับว่า อย่าซื้อเลย เสียดายตังค์เปล่าๆ อีกอย่างหนึ่ง ผู้หญิงประเภทที่เอาเปลือกทางวัตถุนิยม มาฉาบเคลือบตัวไว้หนะ มันไม่ใช่คนประเภทที่คุณควรจะดึงเข้ามาเกี่ยวพันในชีวิตด้วยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเอามาเป็นกิ๊ก หรือเอามาเป็นภรรยา เชื่อเถอะ พวกเขาแยกไม่ออกหรอกว่า คุณขับ Ranger ตัวแพงสุด พวกหล่อนก็ยังจะคิดว่า มันก็แค่รถกระบะแต่งซิ่งแนว Off-Road 1 คัน แค่นั้นเลย

พูดกันตรงๆก็คือ คนที่จะแยกความแตกต่างออกได้ ส่วนใหญ่ ก็มีแต่ผู้ชายด้วยกัน ที่บ้ารถพอกันกับคุณ นั่นแหละครับ เว้นแต่ถ้าคุณคิดจะจีบผู้ชายด้วยกัน และเขาเป็นสายโหดสายลุย การซื้อ RAPTOR ไปขับ ก็ดูจะดึงดูดชาวเก้งกวาง LGBT กลุ่มน้อยเหล่านี้ได้อยู่แน่ๆ

2. ขณะเดียวกัน ถ้าคุณคิดว่า อยากประหยัดเงิน ด้วยการซื้อ Wildtrak มาแต่งเป็น RAPTOR ขอบอกเลยว่า “เหนื่อยและงบบานปลายแหงๆ” เพราะงานนี้ Ford ไม่ได้แค่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตา แต่ยังปรับปรุงไปถึงเฟรมแชสซีส์ใต้ท้องรถ และนี่แค่อย่างเดียวนะ ยังไม่นับอีกหลายรายการที่จะตามมา ยิ่งเจ้าช็อกอัพ FOX ทั้ง 4 ต้นนั่น ก็ปาเข้าไปน่าจะหลักแสนบาท แสนสาหัส มากโขอยู่ ดังนั้น ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา ขยับขึ้นไปซื้อ RAPTOR เถอะครับ ไม่เช่นนั้น หากงบคือเรื่องใหญ่ ก็คงต้องยอมถอยกลับมายังรุ่น Wildtrak ตามเดิม แล้วเลือกเครื่อง 2.0 Bi-Turbo ไปเลย

3. ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนชอบลุย มี Lifestyle ชอบใช้ชีวิตไปบนเส้นทางขรุขระทุระกันดาน ลุยป่าเขาลำเนาไพร ประเภท “วันหนึ่ง ฉันเดินเข้าป่า ไปตามล่าหาความยุติธรรม ให้เสือดำที่จากไป” RAPTOR นี่แหละคือรถกระบะที่คุณรอคอย บอกได้เลยว่า สมรรถนะ บนทาง Off-Road จะทำให้คุณปลาบปลื้มปิติโสมนัสเป็นยิ่งนัก มันพร้อมจะบุกตะลุยไปกับคุณ ส่วนการตอบสนองบนถนนดำปกติ (On-Road) อาจต้องทำใจกับอาการ โยนขึ้นลงซ้ายขวาวูบวาบหน่อยๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังความเร็วระดับ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับลอนคลื่นของถนน

4. ลูกค้าอีกกลุ่มที่เหมาะกับ RAPTOR มากๆ คือ ใครก็ตามที่มีปัญหาหนักอกหนักใจมาประมาณชาติเศษ เรื่องถนนทางเข้าหน้าบ้านคุณ เป็นถนนฝุ่นแดง ลูกรัง เต็มไปด้วยก้อนกรวด หิน ดิน ทราย ขนาดว่าแจ้ง นายก อบต.ให้ ช่วยของบประมาณ มาช่วยราดยางมะตอยให้หน่อย ผ่านไปแล้ว 25 ปี เปลี่ยนหน้านายก อบต.ไปหลายคน ถนนหน้าบ้านคุณก็ยังเป็นฝุ่นแดงเถือก หรือเต็มไปด้วยหลุมบ่อใหญ่โต ชนิดที่ ควายเดินสะดุดตกลงไป มีขาหัก มอเตอร์ไซค์ตกลงไป ถึงขั้นตีลังการาวดอล์ฟ 35 ตลบ เหมือนเดิม จนคุณหมดความอดทนหันหน้าไปพึ่งใครก็ไม่ได้ นอกจากพึ่งตัวเอง แล้วละก็ ไม่ต้องกังวลใจครับ เพราะ RAPTOR คือรถที่เหมาะอย่างยิ่งในการสร้างความ “บันเทิงเริงอุรา สุดหรรษา อาโลฮ่าอาปาเช่” ให้คุณเอามา ขับรูดผ่านหน้า สำนักงาน อบต. หรือสำนักงาน รพช.กับทางหลวงชนบท ทิ้งฝุ่นก้อนมโหฬารไว้ให้พวกเขาดมเล่น ระหว่างรองบประมาณมาปรับปรุงถนนหน้าบ้านคุณ ไปพลางๆก่อนเลยนั่นแหละ!

ขอเพียงอย่างเดียว ขออวยพรให้คุณเจอโชว์รูมและศูนย์บริการ Ford ที่บริการคุณดีๆ จากใจจริง ตั้งแต่คุณเดินเข้าไปดูรถคันจริงเป็นครั้งแรก จนถึงวันที่คุณออกรถมาใช้ ผ่านไปหลายปี เวลารถเสีย ก็ช่วยวิเคราะห์ปัญหาถูกต้องตรงเผง ไม่ Tricky เล่นแง่ใดๆกับคุณ ก็เป็นพอ ซึ่งการจะหาผู้จำหน่ายที่มีคุณสมบัติข้อนี้ได้ คุณอาจต้องใช้เวลายาวนานพอกับการกู้ซากเรือ Titanic การอ่านนวนิยายชุด “เพชรพระอุมา” ให้จบครบทุกเล่ม หรือไม่ก็ต้องอ่าน สามก๊ก ให้จบครบ 3 รอบ เพื่อจะได้มีวิทยายุทธไปต่อกรกับความเจ้าเล่ห์ของช่างในศูนย์บริการ “บางแห่ง บางราย (แต่ก็มีหลายเจ้าอยู่)” เหล่านั้น

เพราะหลังจากที่ ศูนย์บริการ Ford โดย ยนตรกิจ ย่านรามคำแหง ปิดตัวไป ก็ดูเหมือนว่า จะเหลือโชว์รูมที่พึ่งพาไว้ใจได้ เพียงแค่ ที่นครอินทร์ ถนนราชพฤกษ์ รวมทั้ง Ford นครปฐม และสุรินทร์ เท่านั้น ที่ได้ยินมาจากทั้งลูกค้าทั่วไป และคนของ Ford ด้วยกันเองว่า พอจะให้บริการได้ดีเยี่ยมผิดจากศูนย์ฯ Ford ทั่วๆไปอยู่ หรือถ้าคุณผู้อ่านท่านใด พบเจอศูนย์บริการ Ford ที่ดูแลดีๆ ช่างซ่อมเก่งๆ โปรดแจ้งเข้ามาให้เรารับทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันแนะนำปากต่อปกบอกต่อกันไป จะได้เป็นที่พึ่งพิงให้กับลูกค้าของ Ford ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเราได้บ้าง

อย่างน้อย คุณ Trevor Worthinton ผู้บริหารของ Ford ก็ยืนยันกับผมเองแล้วว่า ” วันนี้ Ford รู้ปัญหาทั้งหมดแล้ว เราเข้าใจดี และกำลังพยายามแก้ไขปรับปรุงบริการหลังการขายกันอยู่ แต่อาจต้องใช้เวลากันบ้าง “ ดังนั้นผมก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ ของ Ford Sales (Thailand) ที่จะยกระดับคุณภาพบริการหลังการขายของตนให้ดีเท่าเทียมกันทั้งประเทศ ได้อย่างไร

ส่วนหน้าที่ของผมหลังจากนี้ ? ก็คงจะรอให้ทาง Ford พร้อมส่ง Ranger RAPTOR มาให้เราทำตัวเลขอัตราเร่ง และ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในลำดับต่อไป

จะเป็นเมื่อไหร่ ? โปรดรอติดตามชม !

————————————-///————————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์
บริษัท Ford Sales (Thailand) จำกัด
และ บริษัท Hill and Knowlton Strategies จำกัด

เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

-Teerapat (Moo) Archawametheekun
สำหรับการเตรียมข้อมูลตัวรถ

-พี่สุรมิส เจริญงาม
รายการขับซ่า 34 ช่อง AMARIN TV
สำหรับการบันทึก Clip Video ให้เป็นกรณีพิเศษ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่าย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายตัวรถขณะกำลังแล่น บนทางฝุ่น เป็นของ Ford Motor Company

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
31 กรกฎาคม 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 31st,2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !


บทความเพิ่มเติม : First Impression : รีวิว ทดลองขับ Ford RANGER Minorchange 2.0 Bi-Turbo : แรงขึ้น ประหยัดขึ้น นุ่มขึ้น ! >> http://www.headlightmag.com/first-impression-review-ford-ranger-bi-turbo-wildtrak-thailand/

First Impression : รีวิว ทดลองขับ Ford RANGER Minorchange 2.0 Bi-Turbo : แรงขึ้น ประหยัดขึ้น นุ่มขึ้น !