เครื่องบินโดยสารของการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 960 พาผมเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน Arlanda เมื่อช่วงเช้าตรู่ ของวันที่ 5 กันยายน 2018

สำหรับผม นี่เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต สำหรับการเดินทางมายัง กรุง Stockholm เมืองหลวงของ Sweden เมืองซึ่งเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่สะท้อนถึงรากเหง้าของชาวไวกิ้ง ผู้เป็นเจ้าอาณาเขตในแถบ Scandinavia แห่งนี้ เมืองที่ผมแอบชื่นชอบในบรรยากาศอันเย็นสบาย มีผู้คนที่มีอัธยาศัย ไมตรีจิต ดีจนน่าประหลาดใจ แม้อาจจะมีคนผิวขาวที่ยังเหยียดชนชาติ Asia หลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อยก็ตาม (เจอมาด้วยตัวเองเลยทีเดียวในงวดนี้)

แต่…แม้จะเคยเดินทางกับ Toyota มาหลายหน ตั้งแต่ปี 1999 แล้ว ทว่า ทริปนี้ ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้มีโอกาสมาร่วมเดินทางไปกับ Lexus แบรนด์รถยนต์หรูของพวกเขา เพื่อร่วมกิจกรรมทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ในต่างประเทศ…ดูเหมือนว่า ทาง Lexus ก็อยากจะเริ่มต้นนำพาผมเปิดประสบการณ์กับแบรนด์ของพวกเขา ด้วยรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับตลาดในกลุ่ม Premium Small Crossover เป็นครั้งแรกด้วยเช่นเดียวกัน!

การเข้าพักที่ Nobis Hotel กลางกรุง Stockholm ถือเป็นการกลับมาเยือนย่านเก่าที่คุ้นเคยสำหรับผมอีกครั้ง เพราะเป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับย่าน Shopping Street แถมยังใกล้กับพระราชวัง Royal Palace ซึ่งยังคงใช้เป็นสถานที่จัดประชุมและออกสมาคมของ กษัตริย์ Carl XVI Gustav และพระบรมวงศานุวงศ์ , พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง VASA Museum , พิพิธภัณฑ์ ABBA Museum ซึ่งรวมประวัติศาสตร์ของวงดนตรีชื่อดังจากสวีเดน ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 – 1980 ไว้ทุกซอกมุม รวมทั้งบริเวณเมืองเก่า บนเกาะกลางน้ำ ทุกสถานที่ทั้งหมดที่กล่าวมา ใกล้กันมากเพียงแค่เดินไปก็ถึงแล้ว

เช้าวันที่ 6 กันยายน 2018 เรานัดกันช่วง 8.15 น. เดินจากโรงแรม ผ่านสวนสาธารณะ ไปลงเรือ ณ ท่าเรือที่อยู่ไม่ไกลกันนัก เพื่อเดินทางตามลำน้ำ ไปยัง Delight Studio ซึ่งเป็น สถานที่สำหรับถ่ายภาพนิ่ง ภาพยนตร์ รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมเปิดตัวสินค้าของบริษัทห้างร้านต่างๆมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Twentieth Century Fox, Google, Instragram, Spotify, IKEA, Nike; Adidas, ELLE, L’Oreal, Sony Music & Sony Pictures, เสื้อผ้า Zara ฯลฯ อีกมากมาย

คราวนี้ Lexus เนรมิตพื้นที่ของ Delight Studio บริเวณ The Grand Pier ให้เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางไปรอบๆพื้นที่ของกรุง Stockholm ด้วยยานพาหนะรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้การกำกับดูแล และแรงบันดาลใจ ของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตที่น่าสนใจในระดับไม่ธรรมดา และถือได้ว่าหายากยิ่งในบรรดาผู้คนจากแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

ยานพาหนะสำหรับคนเมืองยุคใหม่ ที่ชื่อ…Lexus UX…ผลผลิตใหม่ล่าสุดจากทีมงานซึ่งนำโดย หัวหน้าวิศวกรหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ Toyota / Lexus ที่ชื่อ Chika Kako…

Chika Kako เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1967 ที่ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจาก Nara Women’s University และเริ่มทำงานกับ Toyota Motor Corporation ทันทีที่เรียนจบ เมื่อเดือนเมษายน 1989 ในตำแหน่งวิศวกร เธอค่อนข้างโชคดี ที่เป็นผู้หญิงเพียง 1 ใน 5 คน จากบรรดาพนักงานใหม่ 500 คน ในปีที่เริ่มเข้าทำงาน ซึ่งก็เป็นปีแรก ที่ Toyota เปิดโอกาสให้ผู้หญิง เข้าทำงานในบริษัท ก่อนที่จะเริ่มเจิบโตในหน้าที่การงาน ถึงขั้น ถูกส่งไปเป็น วิศวกร ด้านการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนาวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสารรถยนต์ (Vehicle interior’s Material Engineer) ที่ Toyota ใน Belgium เมื่อปี 1991 หลังเข้าทำงานได้เพียง 2 ปี และกลายเป็น วิศวกรหญิงคนแรกของ Toyota ที่ได้ทำงานในต่างประเทศ

เธอเล่าว่า แม้จะคุ้นเคยกับความกดดัน จากระบบการทำงานดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น ซึ่งมักให้ผู้ชายเป็นใหญ่  และไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สตรีเพศมากนัก แต่กรณีของ Kako-san นั้น เธอค่อนข้างโชคดี ที่มีทักษะการสื่อสารอย่างดี จึงได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากบรรดาหัวหน้าแผนกต่างๆ ซึ่งต้องทำงานเกี่ยวข้องกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ Akio Toyoda ประธานใหญ่ของ Toyota เจอนักข่าวชาวอเมริกัน พูดใส่หน้าในงานเปิดตัว Lexus GS รุ่นที่ 4 ในงาน New York Auto Show ปี 2011 ว่า “Design ของรถ มันดูน่าเบื่อ” แน่นอนว่า เขาเกิดความฮึกเหิม อยากจะเปลี่ยนแปลงงานออกแบบของ Toyota และ Lexus ไปสู่ยุคใหม่

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Kako-san นำเสนอ Presentation ต่อที่ประชุมใหญ่ เกี่ยวกับปัญหาด้านการออกแบบของ Lexus ว่า ในมุมมองของเธอตอนนั้น งานออกแบบห้องโดยสารของ Lexus รุ่นก่อนๆ เป็นการ จับเอางานออกแบบต่างๆ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวร่วม และไม่ได้รวมการใช้งานเข้าไว้ด้วยกันเลย มายำรวมกันเป็นจับฉ่าย!

เจ้านายของเธอ ก็เลยลองทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิม นั่นคือมอบหมายให้ Kako-san ดูแลโครงการพัฒนา Lexus CT200h รุ่นปรับโฉม Minorchange .ในปี 2013 ซึ่งเธอทำอะไรกับมันได้ไม่มากนัก เพราะตัวรถนั้น ออกสู่ตลาดจริงมาแล้ว 2-3 ปี (จนถึงตอนนี้ เธอยืนยันว่า Lexus CT จะยังคงทำตลาดทั่วโลก ต่อไปอีกสักระยะ ยังไม่ยุติการผลิต)

แต่แล้ว สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญของเธอ ก็มาถึง ในเดือนมกราคม 2015 Kako-san ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Engineer, ZL ของ Lexus International ดูแลรับผิดชอบ โครงการพัฒนา รถยนต์นั่ง Premium Small Crossover Hatchback SUV รุ่นใหม่ Kako-san จึงกลายเป็น “ผู้หญิง คนแรก และเพียงคนเดียว” ในตอนนี้ ที่ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าวิศวกรพัฒนารถยนต์ในกลุ่มบริษัท Toyota / Lexus ซึ่งรวมทั้ง Daihatsu / Hino ทั้งหมด! และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนา Lexus UX

ล่าสุด 30 ปีผ่านไป ในเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมา Kako-san (ซึ่งก็ยังครองตัวเป็นโสด) ได้รับการโปรโมทให้เป็น Executive Vice President หรือรองประธานใหญ่ ของ Lexus International ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารภายในองค์กรใหญ่ยักษ์ระดับโลกของ Toyota เธอกลายเป็นแบบอย่าง (role model) ให้กับบรรดาวิศวกรผู้หญิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ได้วาดฝันไว้ว่า สักวันหนึ่ง จะต้องเป็นอย่าง Kako-san ผู้บริหารระดับ หมายเลข 2 ของบริษัท ให้ได้…

Kako-san เล่าถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนา Lexus UX ว่า “เมื่อครั้งที่ยังทำงานในยุโรป ฉันอยากซื้อรถใหม่สักคัน แต่เมื่อไปเดินสำรวจตามโชว์รูมต่างๆ ฉันก็ไม่พบเจอรถยนต์ที่ “โดนใจจริงจัง” เลย (จึงจำใจต้องเลือก Audi TT มาขับใช้งานอยู่พักใหญ่) ถ้าจะต้องสร้างรถยนต์รุ่นใหม่สักคัน เพื่อแข่งขันในตลาดให้ได้ รถยนต์รุ่นนั้น จะต้องมีคุณค่าทางความรู้สึก (Emotional) มากยิ่งขึ้น รูปลักษณ์ภายนอกและภายในจะต้องน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่เพียงเท่านั้น ฉันยังมองลึกลงไปถึงประสบการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการซื้อรถยนต์คันใหม่ ถึงขั้นว่า ลูกค้าของเราจะแต่งตัวแบบไหนระหว่างขับรถคันนี้  พวกเขาจะมีความสุขกับรถยนต์คันใหม่ได้มากแค่ไหน ที่สำคัญ รถยนต์คันใหม่จะต้องสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ซื้อและครอบครองมันให้ดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ฉันอยากจะเปลี่ยนความรู้สึกใหม่ๆในชีวิตให้กับผู้ที่ซื้อรถคันนี้”

ทีมงานของ Kako-san เริ่มต้นศึกษาวิจัยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ของรถยนต์รุ่นใหม่คันนี้ ประมาณช่วงปี 2013 – 2014 และเมื่อได้แนวทางการพัฒนาเป็นผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว งานออกแบบก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ในเดือนมกราคม 2015 พวกเขาใช้เวลา 3 ปี ในการเข็น Lexus UX ออกมาให้สำเร็จเป็นเวอร์ชันต้นแบบ ในงาน Paris Auto Salon ปี 2016 ก่อนที่เวอร์ชันจำหน่ายจริง จะพร้อมเปิดผ้าคลุมสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงาน Geneva Motor Show เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2018 ที่ผ่านมา

ที่สำคัญ Lexus UX ผ่านการทดลองขับ โดยประธานใหญ่ Akio Toyoda ด้วยตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว เหมือนเช่น Toyota และ Lexus ทุกคันในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา

Lexus UX เป็นรถยนต์ น้องเล็กสุดท้อง รุ่นใหม่ล่าสุด ที่จะมาเสียบช่องว่าง เสริมทัพให้ตระกูล SUV ของ แบรนด์ Lexus แข็งแกร่งขึ้นในตลาดโลก โดยวางตำแหน่งให้เป็น Crossover SUV รุ่นเริ่มต้น ต่ำกว่า Lexus NX เพื่อหวังเจาะตลาดกลุ่ม Premium Small Crossover SUV ซึ่งมีคู่แข่งอย่าง Audi Q3 , BMW X1 กับ X2 , Mercedes-Benz GLA , Infiniti Q30 ฯลฯ โดยชื่อ UX นั้น มาจากเป้าหมายในการพัฒนาตัวรถให้เป็น Urban + X-over (crossover)

กลุ่มเป้าหมายสำคัญของ Lexus UX คือ ลูกค้าชาวยุโรป ตามด้วย อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเมืองไทย โดยเป็นลูกค้าวัย 30 ปีขึ้นไป สถานภาพ โสด หรือเพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว (ในจำนวนนี้ Lexus คาดว่า ลูกค้าผู้หญิง จะมีมากถึง 50%!!) รายได้ต่อ 1 คน เฉลี่ย 110,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จากเป้าหมายยอดขายทั้งหมด พวกเขาคาดหวังลูกค้าจากแบรนด์อื่นถึง 55% ขณะที่ลูกค้าซึ่งใช้ Lexus อยู่แล้ว แต่อยากเปลี่ยนรถใหม่ หรือซื้อเพิ่ม ควรจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 35% ส่วนลูกค้าที่ Upgrade รถคันเดิมจากแบรนด์ Toyota หรือ ยี่ห้ออื่น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 15% Lexus ตั้งเป้าหมายว่า การมาถึงของ UX น่าจะช่วยให้ตัวเลขยอดขายรวมทั้งแบรนด์ Lexus เฉพาะใน Asia จากปี 2018 เพิ่มขึ้นอีก 60% ในปี 2019

Kako-san เล่าว่า “เราตั้งใจออกแบบ UX ให้โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประเภทที่เรียกว่า “นักสำรวจเมืองสมัยใหม่” (Modern Urban Explorer) อายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ต้องการความสดใหม่ ร่วมสมัย มี Dynamic ไปพร้อมกับการขับขี่อันหรูหรา พวกเขาคาดหวังถึงค้นหาสิ่งแปลกใหม่อันน่าตื่นเต้น แต่ยังต้องสอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของพวกเขาไปด้วย คนกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะซื้อรถยนต์ Lexus เป็นคันแรกในชีวิต หากแต่ UX จะเป็นรถยนต์ Premium คันแรกของพวกเขาอีกด้วย”

UX เป็นรถยนต์ Lexus รุ่นแรกที่จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง TNGA-C (Toyota New Global Architecture – Compact) ซึ่งเป็น Platform ที่ถูกนำไปใช้กับ Toyota C-HR รวมทั้ง Toyota All New Corolla Altis ใหม่ ที่จะเปิดตัวในประเทศไทย ช่วงปี 2019 จุดเด่นของ Platform นี้คือ มีน้ำหนักเบา แต่โครงสร้างแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่นที่ดีมาก อีกทั้งมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยให้เกิดความแม่นยำในการควบคุมบังคับรถโดยเฉพาะตอนเลี้ยวลัดเลาะเข้าโค้งรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม Platform TNGA-C ที่ใช้กับ Lexus UX มีความแตกต่างจาก Toyota C-HR ในหลายๆจุด อาทิ

– การที่ UX ใช้เครื่องยนต์ที่แรงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างตัวถัง และพื้นตัวถังเพิ่มขึ้น
– การนำเทคโนโลยีการเชื่อมชิ้นส่วนตัวถังและพื้นตัวถัง Laser Screw Welding ซึ่งถูกสงวนไว้ให้กับ Lexus เท่านั้น มาใช้กับ UX
– การใช้กาวช่วยเชื่อมตัวถังในปริมาณต่อคันรถ ยาวกว่า C-HR
– ชิ้นส่วนพื้นตัวถังด้านหลัง ถัดจากอุโมงค์ซุ้มล้อไป ดัดแปลงจากพื้นตัวถัง TNGA-K สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าขนาดกลาง อย่าง Toyota Camry ใหม่ (ที่จะเปิดตัวในเมืองไทย ปลายปี 2018 นี้)
– ชิ้นส่วนตัวถังหลายจุด โดยเฉพาะบานประตู ฝากระโปรงหน้า แก้มตัวถังเหนือซุ้มล้อ และโครงสร้างของฝาท้าย ทำจาก Aluminium ขณะที่ โครงสร้างเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และเสาคู่กลาง B-Pillar กับโครงสร้างพื้นตัวถังและห้องเครื่องยนต์ ส่วนที่ต้องรับและกระจายแรงปะทะจากการชน ทำจากเหล็ก High-Tensile Steel
– แผงฝาท้าย ทำจากวัสดุ TSOP Resin Composite
– การปรับปรุงอีกหลายจุดที่ทำให้ UX มีจุดศูนย์ถ่วง (CG : Center of Gravity) ต่ำกว่า C-HR ถึง 10 มิลลิเมตร

Lexus UX มีตัวถัง ยาว 4,495 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,520 – 1,540 มิลลิเมตร ตามแต่ะรุ่นย่อย ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) ทั้ง 2 รุ่น เท่ากันที่ 1,560 และ 1,550 มิลลิเมตร ตามขนาดหน้ายาง น้ำหนักรถเปล่าในรุ่น UX200 FWD อยู่ที่ 1,460 – 1,540 ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกจะอยู่ที่ 1,940 กิโลกรัม ถังน้ำมันความจุ 47 ลิตร ส่วน UX250h น้ำหนักรถเปล่าอยู่ที่ 1,540 – 1,620 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมน้ำหนักบรรทุก จะปาเข้าไป 2,110 กิโลกรัม ถังน้ำมันความจุ 43 ลิตร ระยะห่างจากพื้นถนนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground Clearance) อยู่ที่ 160 มิลลิเมตร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวคิดในการออกแบบเส้นสายภายนอกนั้นคือ การเอาใจลูกค้าชาวยุโรป ที่ไม่ได้ถึงขั้นอยากได้ SUV คันเล็ก หากแต่อยากได้ Premium Hatchback ยกสูง สไตล์ Crossover ไว้ใช้งานคนเดียว หรือมีผู้โดยสารนั่งไปด้วยบ้าง ลูกค้ากลุ่มนี้ อยากได้ความ Premium และเน้นคุณภาพการขับขี่เป็นสำคัญ

เส้นสายภายนอก ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ (Drag Coefficient) Cd 0.33 มีจุดเด่นด้านการออกแบบให้จดจำ 4 ประการ ดังนี้

  • ชุดไฟหน้า มี 2 แบบ ทั้ง Bi-LED ดวงเดียว และ Premium Triple Beam LED 3 ดวง ในโคมเดียว
  • กระจังหน้า Spindle Grill เอกลักษณ์ของ Lexus ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบเหมือนเช่นรุ่นอื่นก็จริง แต่มีลวดลายที่ดูมีมิติชัดตื้นลึกหนาบางมากขึ้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ตาม
  • ชุดไฟท้าย เป็นแผงยาวต่อเนื่อง ออกแบบให้ด้านบน เป็นครีบรีดอากาศ ที่ไหลผ่านเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ไปด้วยในตัว
  • เส้นตัวถังด้านข้างลำตัว ถูกจับดัดเป็นกลีบโค้ง ด้วยเหตุผลด้าน AeroDynamic เหนือซุ้มล้อทั้ง 4 มีพลาสติกกันกระแทกสีดำ ประดับไว้ เพิ่มบุคลิกทะมัดทะแมง

ล้ออัลลอย มี 2 ขนาด รุ่นตกแต่งแบบมาตรฐาน ทุกขุมพลัง สวมล้ออัลลอย 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/60R17 ส่วนรุ่น Luxury และรุ่น F Sport จะได้ล้ออัลลอย 18 นิ้ว พร้อมยาง ขนาด 225/50RF18

การเข้า – ออกจากบานประตคู่หน้า ทำได้ดีกว่าที่คิด เนื่องจาก ช่องทางเข้า – ออก มีขนาดใหญ่กว่า ทั้ง BMW X2 และ Mercedes-Benz GLA อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ต้องก้มหัวมากนัก และลดความเสี่ยงที่หัวของคุณจะโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ลงไปได้นิดหน่อย (เมื่อปรับเบาะคนขับลงไปต่ำสุด) แต่ต้องทำใจว่า ประเด็นนี้ UX อาจจะด้อยกว่า Volvo XC40 ซึ่ง ลุก-เข้าออกจากเบาะคู่หน้า ได้สบายกว่า เนื่องจาก UX ถูกสร้างขึ้นตามแนวทาง Premium Compact Crossover Hatchback ยกสูง ซึ่งแตกต่างจาก Volvo XC40 ที่เกิดมาเป็น Crossover ที่กระเดียดไปในแนวทาง SUV ซึ่งมักจะมีหลังคาสูงกว่า อย่างช่วยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นที่ UX เหนือกว่า คู่แข่งฝั่งยุโรป นั่นคือ การออกแบบบานประตูด้านนอก ให้มีชายล่าง คลุมทับเสากรอบประตูและเสาหลังคา B-Pillar ลงไปถึงด้านล่าง แบบเดียวกับ Mazda CX-5 ดังนั้น เมื่อก้าวเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากรถ ขากางเกง / กระโปรง จะไม่เปื้อนฝุ่นโคลน ที่เกาะอยู่บริเวณชายล่างของรถเลยแม้แต่น้อย!

นี่คือการออกแบบอันชาญฉลาด ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคู่แข่งชาวยุโรป เขาถึงไม่คิดหรือใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ในการใช้งานอย่างนี้บ้าง?

พนักวางแขนบนแผงประตูด้านข้าง เป็นสิ่งที่ Kako-san อยากจะยกระดับปรับปรุงต่อเนื่องจาก CT200h เดิม ดังนั้น มันจึงมีความยาวเพิ่มขึ้น รวมเป็น 250 มิลลิเมตร และถูกปรับตำแหน่งให้สูงขึ้น ดังนั้น คุณจึงวางข้อศอกและท่อนแขนได้สบายๆ หากปรับเบาะคนขับลงไปในตำแหน่งเตี้ยสุด ส่วนด้านล่างของแผงประตูคู่หน้า มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท และมีแผงใส่เอกสาร หรือข้าวของจุกจิกมาให้ ตามมาตรฐาน

ภายในห้องโดยสาร ของเวอร์ชันตลาดโลก สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ผ้าสักกะหลาด กำมะหยี่ หรือ Alcantara ตัดสลับกับหนัง หรือจะใช้หนังแท้ล้วนๆเลยก็ได้ทั้งสิ้น ส่วนโทนสีเบาะเลือกได้ 6 แบบ มีทั้งสีดำ สี Cobalt (น้ำเงินท่อนบน ขาวครีมท่อนล่าง) สีขาว White Ash สีเบจ Rich Creme และสีส้ม Ochre ส่วนรุ่น F Sport จะเพิ่ม เบาะสีแดง มาให้เป็นพิเศษ ส่วนเพดานหลังคา จะบุด้วยผ้าสีดำ หรือ White Ash ขึ้นอยู่กับการเลือกโทนสีเบาะเป็นหลัก มีมือจับศาสดาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้เหนือช่องประตู ครบ 4 ตำแหน่ง

เบาะนั่งคู่หน้า ประดับด้วยลาย หัวลูกศร ArrowHead บริเวณท่อนบนของด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ปรับด้วยคันโยกมือ 6 ทิศทาง หรือปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมตำแหน่งสวิตช์ปรับดันตัวหลัง ขึ้น – ลง และ ระยะดันมาก – น้อย ได้รวม 8 ทิศทาง ตามใจลูกค้าจะเลือก แต่เฉพาะฝั่งคนขับ จะมีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะและตำแหน่งพวงมาลัยปรับขึ้นลง ใกล้ห่างด้วยไฟฟ้า 3 หน่วย พร้อมระบบ เลื่อนเบาะถอยหลัง และยกพวงมาลัยสูงขึ้น เมื่อเปิดประตู เพื่อให้ก้าวเข้ามานั่งบนเบาะคนขับได้สะดวกขึ้น

พนักศีรษะ มีแกนด้านในค่อนข้างแข็ง หุ้มด้วยฟองน้ำบางๆ พอให้มีความนุ่มอยู่ แถมยังมีมุมองศา เหมือนพนักศีรษะของ C-HR ซึ่งก็แน่นอนว่า ดันกบาล พอๆกันทั้งคู่ แต่พอจะปรับตำแหน่งหาความสบายได้อยู่บ้าง

พนักพิงหลังของเบาะรุ่นมาตรฐาน มีฟองน้ำและสปริงที่นุ่ม ออกแบบมารองรับแผ่นหลังได้ดีมาก ปีกข้างมีขนาดกำลังดี โอบรับช่วงบั้นเอวสบายดีมาก ส่วนรุ่น F Sport จะแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ปีกข้างเบาะจะใหญ่ขึ้น รวมทั้งเสริมช่วงบ่าให้โตขึ้น เพื่อซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ได้สบายขึ้น ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง มีความยาวกำลังดี แถมยังค่อนข้างนุ่มตามสไตล์ Lexus เหมือนกันทุกรุ่น

อย่างไรก็ตาม การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง อาจต้องใช้ความระมัดระวังสักหน่อย เพราะแนวขอบประตู ถูกออกแบบให้ลาดลง ในจุดซึ่งศีรษะของมนุษย์ จะต้องลอดผ่านเป็นหลักพอดี  คุณจึงควรก้มหัวลงให้เยอะสักหน่อย เพื่อไม่ให้หัวโขกเข้ากับเสากรอบประตุด้านบน

เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว กลับกลายเป็นว่า ฺBMW X2 และ Mercedes-Benz GLA จะมีปัญหาในการลุกเข้า – ออกจากประตูคู่หน้า และไม่ค่อยมีปัญหานักกับประตูคู่หลัง แต่ Lexus UX นั้น กลับกันก็คือ การลุกเข้า – ออกจากประตูคู่หน้าน่ะ สบาย แต่มีปัญหาในการเข้า – ออกจากประตูคู่หลัง แทนเสียอย่างนั้น!

แผงประตูด้านข้าง ประดับด้วยหนังสังเคราะห์ มีพื้นผิวนุ่ม เหมือนด้านหน้า ทว่า พนักวางแขน มีตำแหน่งเตี้ยไปหน่อย ทำให้วางได้แต่ข้อมือ ไม่อาจวางข้อศอกและทอนแขนสบายนัก ส่วนหนึ่ง อาจเพราะออกแบบเผื่อให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี นั่งด้านหลังด้วย จึงต้องออกแบบให้เด็ก ซึ่งโตเกินกว่าจะใช้เบาะนิรภัยสำหรับทารก สามารถวางแขนได้สบายด้วย

พนักศีรษะด้านหลัง มีแกนด้านในแข็ง หุ้มด้วยฟองน้ำบางๆเหมือนด้านหน้า แต่แข็งกว่าและดันต้นคอมากกว่า ต้องยกขึ้นใช้งานจึงจะพอให้ความสบายกับศีรษะได้ดีระดับหนึ่ง

พนักพิงหลัง แม้ว่าจะปรับเอนไม่ได้ แต่ก็ติดตั้งมาในตำแหน่งมุมองศาที่เหมาะสม ฟองน้ำเสริมมาให้ ค่อนข้างแน่นแอบนุ่ม พิงหลังได้สบายกว่าที่คิด พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ มาพร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง มีตำแหน่งเตี้ยไปนิดนึง

ส่วนเบาะรองนั่งด้านหลัง นุ่มเหมือนเบาะหน้า มีมุมเงยกำลังดี นั่งลงไปเป็นแอ่งเล็กๆ มีความยาวเหมาะสม ไม่ยาว แต่ก็ไม่สั่นเกินไป นอกจากนี้ เบาะหลังยังสามารถแบ่งพับได้ในัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง

สำหรับพื้นที่วางขา และพื้นที่เหนือศีรษะนั้น สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผม ไม่มีปัญหาเลย ต่อให้คนตัวสูงกว่านี้ อย่าง คุณอ๋อง ฝ่าย Product Planning ของ Lexus เมืองไทย ที่บินไปร่วมคณะกับเรา ซึ่งสาธิตลองนั่งให้ดูกันเลย ก็พบว่า พื้นที่วางขายังคงมีเหลืออยู่ประมาณ 1 ฝ่ามือ ในแนวนอน ขณะที่พื้นที่เหนือศีรษะ ก็ยังพอมีเหลืออีกราวๆ 3-4 นิ้วมือคนในแนวนอน

ฝากระโปรงท้าย เปิด – ปิดได้อัตโนมัติด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมระบบล็อกทันทีที่ปิดลงมา มีแผงบังสัมภาระ พร้อมเชือกเกี่ยวยึดไว้กับตะขอบริเวณฝาท้าย

ห้องเก็บสัมภาระมีความจุ 615 ลิตร (SAE Standard) ขนาดใหญ่กว่า C-HR (377 ลิตร) อย่างชัดเจน ใหญ่เพียงพอให้ใส่กระเป๋าเดินทางไซส์กลางได้ 4 ใบ (แต่ต้องยกแผงบังสัมภาระออก) หรือกระเป๋าเดินทางไซส์ใหญ่ 1 ใบ และไซส์กลาง 2 ใบ กับกระเป๋าสะพายใส่ไม้เทนนิส อีก 1 ใบ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บสัมภาระขึ้นมา หากเป็นรุ่น ล้อ 17 นิ้ว อาจมียางอะไหล่มาให้ในบางตลาด แต่สำหรับรุ่นที่สวมล้อ 18 นิ้ว จะไม่มียางอะไหล่ แต่มีชุดปะยางฉุกเฉินมาให้แทน

แผงหน้าปัด ออกแบบให้มีแผงควบคุมกลาง เอียงเข้าหาตัวคนขับ ในบางรุ่น สามารถเลือกตกแต่งด้านบนด้วย WASHI Texture Dashboard หรือ Trim ประดับที่มีลวดลายซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ผ้า Washi อันเป็นผ้าโบราณของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ช่องแอร์ ยังสามารถปรับทิศทางลมได้ด้วย ระบบมือหมุน (เหมือนสวิตช์หมุนเพิ่มเสียงวิทยุสมัยก่อน) พร้อมไฟ Illumination แบบ Wireless! ซ่อนไว้ข้างใน

พวงมาลัยทุกรุ่น เป็นแบบ 3 ก้าน หุ่มหนังอย่างดี กระชับมือ และมีขนาดเหมาะสม สามารถปรับระดับสูง – ต่ำ และ ระยะใกล้ – ห่าง ได้ ทั้งด้วยคันโยกใต้คอพวงมาลัย หรือสวิตช์ไฟฟ้า ด้านข้างคอพวงมาลัย ตามแต่จะเลือกติดตั้งมาจากโรงงาน แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ไว้ควบคุมชุดเครื่องเสียงและโทรศัพท์มือถือ ผ่าน Bluetooth ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ไว้ควบคุมระบบ All-Speed Dynamic Redar Cruise Control และหน้าจอ Multi Information บนชุดมาตรวัด

ชุดมาตรวัด ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก มาตรวัดของ รถสปอร์ต Lexus LF-A V10 เป็นแบบวงกลม ตั้งไว้นิ้งๆ เปลี่ยนการแสดงผลตามโปรแกรมการขับขี่ และสามารถยิงข้อมูลขึ้นแสดงผลบนกระจกหน้ารถและปรับระดับสูง-ต่ำได้ HUD (Head-Up Display) ได้ครบถ้วน โดย ก้านหมุนด้านบน เหนือชุดมาตรวัด ฝั่งขวา มีไว้สำหรับปรับโปรแกรมการขับขี่ เลือกได้เหมือน Lexus รุ่นอื่นๆ ดังนี้

  • ECO  สำหรับการขับขี่แบบประหยัดเชื้อเพลิง เครื่องปรับอากาศ เปิดไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส ลิ้นคันเร่งจะตอบสนองช้า
  • Normal สำหรับการขับขี่แบบปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทั้ง 2 โหมดนี้ รุ่น UX250h จะใช้มาตรวัด Hybrid ไม่มีมาตรวัดรอบ
  • Sport มาตรวัดจะเปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มมาตรวัดรอบเรื่องยนต์ขึ้นมา การตอบสนองของคันเร่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิม นิดเดียว
  • Sport S + พวงมาลัยจะปรับให้ตึงมือเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และเกียร์จะลากรอบได้มากขึ้นกว่าเดิม แถมจะมีการเปลี่ยนหน้าจอมาตรวัดรอบ ให้มีแถบสีขาว ซ้อนตัวเลขสีดำ ดูเป็นรถสปอร์ตมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเสียงเครื่องยนต์ให้ดุดันขึ้นด้วยระบบ Sonic Interaction Design (SID)

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งหน้าจอมอนิเตอร์สี ซึ่งมีทั้งขนาด 7 นิ้ว และ 10.3 นิ้ว (Wide Screen) แสดงผลทั้ง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System กล้องมองภาพขณะถอยหลัง จอแสดงข้อมูลต่างๆ ของตัวรถ และชุดเครื่องเสียงซึ่งมีให้เลือก 3 รูปแบบ จาก 2 ผู้ผลิต

รุ่นตกแต่งพื้นฐาน จะเริ่มต้นด้วยชุดเครื่องเสียง Panasonic Bamboo (ลำโพงมีส่วนผสมจากไผ่) 6 ลำโพง ส่วนรุ่น Luxury จะถูก Upgrade เป็นแบบ 8 ลำโพง พร้อม Sub-woofer นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเสียง Mark Levinson 13 ลำโพง พร้อม Amplifier 8 Channel Class D ระบบ Quantum Logic Surround ระบบ Unity Dual concentric driver  และ ClariFi Digital Signal expansion มาให้ด้วย ซึ่งเมื่อลองฟังคุณภาพเสียงแล้ว ผมว่า แม้จะดีกว่า เครื่องเสียง Mark Levinson ใน Lexus GS รุ่นที่ 4 แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเทียบเท่ากับ Mark Levinson ใน Lexus LS460 ที่ผมโปรดปรานสุดๆ

ระบบ Infotainment และหน้าจอกลางทั้งหมด ควบคุมด้วย Remote Touch Pad เวอร์ชันใหม่ ที่ไวต่อการสัมผัสของนิ้วมือมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ลื่นไถลไวเกินเหตุเหมือน Lexus รุ่นก่อนๆ นอกจากนี้ ยังมีการย้ายตำแหน่งสวิตช์ ควบคุมเครื่องเสียง มาไว้ ในตำแหน่งเหนือพื้นที่พักแขนบริเวณคอนโซลกลาง (ตำแหน่งเดียวกับ สวิตช์ COMAND ของ Mercedes-Benz , iDrive ของ BMW) อีกด้วย เอาเข้าจริง ผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับตำแหน่งใหม่นี้สักเท่าไหร่ จึงไม่ได้ลองใช้งานมากนัก

 

********** รายละเอียดงานวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ช่วงแรกที่เปิดตัว Lexus UX จะมีขุมพลังให้เลือกเพียง 2 แบบ นั่นคือรุ่นเบนซิน UX200 และรุ่นเบนซิน Hybrid UX250h โดยไม่มีเครื่องยนต์ Diesel ให้เลือกเลย แม้ว่าจะทำตลาดในยุโรปก็ตาม เนื่องจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในยุโรป เข้มงวดกับมลพิษจากเครื่องยนต์ Diesel มากขึ้น แม้ลูกค้าชาวยุโรปจะยังมีความต้องการสูงอยู่ก็ตาม

กระนั้น เครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน UX จะเป็นขุมพลังรุ่นใหม่ล่าสุดทั้งหมด และนำออกใช้ใน Lexus เป็นครั้งแรก อีกทั้งเป็นขุมพลังที่แตกต่างจาก Toyota C-HR โดยสิ้นเชิง

รุ่น UX200 จะวางเครื่องยนต์ใหม่ รหัส M20A-FKS เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 97.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.0 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EFI แบบตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection D-4S พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ แบบ Dual VVT-i โดยฝั่งวาล์วไอดี จะเป็นแบบควบคุมหัวแคมชาฟต์ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ VVT-iE ส่วนฝั่งไอเสีย จะเป็นแบบ VVT-i ธรรมดา กำลังสูงสุด 171 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 205 นิวตัน-เมตร (20.9กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า (เท่านั้น ไม่มี 4WD) ด้วยเกียร์อัตโนมัติ แบบใหม่ล่าสุด Direct Shift CVT ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้เกียร์ 1 มีอัตราทดเกียร์ ล็อกตายตัว ใช้ชุดคลัตช์ และ Torque Converter ให้สัมผัสเหมือนการออกตัวด้วยเกียร์ 1 ในรถยนต์ปกติทั่วไป และเมื่อได้ความเร็วคงที่แล้ว เกียร์จะตัดเปลี่ยนเข้าสู่เกียร์ขับเคลื่อน ซึ่งจะแปรผันอัตราทดกันไปตามตำแหน่งพูเลย์

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

อัตราทด เกียร์ 1……….3.377
Pulley Ratio………….2.236 – 0.447
เกียร์ถอยหลัง………….3.136
อัตราทดเฟืองท้าย……4.014

ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 9.2 วินาที อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.6วินาที ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายให้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 5.6 และ 5.8 ลิตร/100 กิโลเมตร และตั้งเป้าให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ไว้ราวๆ 132 และ 138 กรัม/กิโลเมตร ตามแต่ละประเทศที่ส่งไปจำหน่าย

ส่วน UX250h จะติดตั้งเครื่องยนต์ เบนซิน HYBRID Generation ที่ 4 (นั่นแปลว่า ใหม่หมดยกชุด!) รหัส M20A-KXS ประกอบด้วย เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว  1,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 97.6 มิลลิเมตร เหมือน UH200 แต่เพิ่มกำลังอัด ขึ้นเป็น 14.0 : 1 เปลี่ยนการจุดระเบิดจากแบบ Otto Cycle ตามปกติ มาเป็น แบบ Atkinson Cycle (เมื่อไอดีเข้าห้องเผาไหม้ วาล์วไอเสียจะยังมีจังหวะเปิดคาอยู่ตอนลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้น ทำให้ไอดีส่วนหนึ่งถูกเตะกลับออกมา ซึ่งทำให้แรงต้านในการเคลื่อนที่ขึ้นของลูกสูบนั้นลดลง) นอกนั้น ขุมพลังลูกนี้ ยังคงฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ EFI แบบตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection D-4S พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ แบบ Dual VVT-i โดยฝั่งวาล์วไอดี จะเป็นแบบควบคุมหัวแคมชาฟต์ด้วยอีเล็กโทรนิคส์ VVT-iE ส่วนฝั่งไอเสีย จะเป็นแบบ VVT-i ธรรมดา เหมือนรุ่น M20A-FKS ใน UX200 แต่กำลังสูงสุด (เฉพาะเครื่องยนต์) ลดลงเหลือ 146 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดลดลงเหลือ 180 นิวตัน-เมตร (18.4 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

เชื่อมการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet หรือ MG (Motor & Genarator ทั้ง MG1 และ MG2) กำลังสูงสุด 80 กิโลวัตต์ หรือ 109 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 202 นิวตัน-เมตร (20.6 กก.-ม.) ด้วย Planetary Power-Split device จากเดิม MG1 กับ MG2 จะติดตั้งในแนวเดียวกัน คราวนี้ถูกปรับปรุงให้อยู่ในตำแหน่ง เยื้องกัน ข้อดีก็คือ ลดขนาดความยาวของชุดเกียร์ส่งกำลังในระบบลง และช่วยลดแรงเสียดทานในระบบลงไปพร้อมๆกัน โดยมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถขับขี่ได้จนถึงความเร็ว 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนทางลาดชันไหลลง) ก่อนจะตัดการทำงาน เพื่อปลอยให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนรถในช่วงความเร็วเดินทางต่อไป

ส่วนแบ็ตเตอรี ยังคงเป็นแบบ Ni-Mh (Nickel Metal Hydride) ขนาด 180 Cell แรงดันไฟฟ้า 216 V (1.2 V ต่อ 1 Cell) ให้กำลัง 26 กิโลวัตต์ (32 แรงม้า HP) แต่ถูกปรับปรุงใหม่ ให้มีขนาดเบากว่าเดิม รวมทั้งยัง ถูกปรับปรุงให้มีพัดลมระบายความร้อนขนาดกระทัดรัดกวาเดิม ติดตั้งอยู่ใต้เบาะหลัง เพื่อช่วยให้ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ

Toyota และ Lexus ยืนกรานจะยังใช้แบ็ตเตอรี ประเภทนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลอ้างถึงความทนทาน และประสบการณ์กับแบ็ตเตอรี Ni-Mh ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1997 อีกทั้งยังคุมต้นทุนการผลิตได้ดีกว่า (พูดให้ตรงๆก็คือ มีเหตุผลด้านต้นทุนนั่นแหละ)

เมื่อรวมการทำงานของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน จะได้กำลังสูงสุดของทั้งระบบเพิ่มกลับขึ้นมาแรงกว่า UX200 เป็น 130 กิโลวัตต์ หรือ 178 แรงม้า (PS) ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT (Electronic Continuously Variable Transmission) ซึ่งมี Motor Reduction Ratio อยู่ที่ 3.062 : 1 และ อัตราทดเกียร์ 3.605 : 1

UX250h มีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ e-Four ALL WHEEL DRIVE ซึ่งจะเพิ่มมอเตอร์ขับเคลื่อนล้อคู่หลัง เข้ามาอีก 1 ลูก ติดตั้งไว้ตรงกลางระหว่างล้อคู่หลัง (MGR : Motor Generator – Rear) มีขนาดเล็กลงกว่า มอเตอร์ MGR ของ Lexus NX กับ RX ถึง 25% ทำงานร่วมกับระบบควบคุมเสถียรภาพ บนทางโค้งและถนนเปียกลื่น Vehicle Stability Control (VSC) เพื่อช่วยหมุนล้อหลัง เมื่อเจอพื้นผิวลื่น หรือต้องการอัตราเร่งอย่างปัจจุบันทันด่วน ดึงรถกลับเข้ามาอยู่ในโค้งได้ดีขึ้น ทำงานได้จนถึงความเร็วระดับ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ตัวเลขสมรรถนะจากโรงงาน อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.5 วินาที อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 6.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายให้ ทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 4.1 และ 4.3 ลิตร/100 กิโลเมตร และตั้งเป้าให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ไว้ราวๆ 96 102 และ 103 กรัม/กิโลเมตร ตามแต่ละประเทศที่ส่งไปจำหน่าย

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบ Rack and Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยระบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) หมุนจากซ้ายสุด ไปขวาสุด หรือ ขวาสุดไปซ้ายสุด ได้ 2.76 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 5.2 และ 5.6 เมตร (แล้วแต่รุ่น)

ระบบกันสะเทือนหน้า เป็นแบบ McPherson Strut ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Trailing Wishbone ที่พัฒนาขึ้นใหม่ และนำมาใช้กับ UX เป็นเอกเทศ ไม่เหมือนกับ Toyota C-HR ส่วนรุ่น F Sport จะเพิ่ม เหล็กกันโคลงหน้า และเหล็กค้ำช็อกอัพคู่หน้ามาให้ พร้อมทั้งเพิ่ม “performance damper” ที่ล้อคู่หลัง เพื่อการขับขี่ที่ “เนียน”ยิ่งขึ้น

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ โดยจานเบรกคู่หน้า เป็นแบบมีรูระบายอากาศ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร หนา 28 มิลลิเมตร จานเบรกคู่หลัง เป็นแบบ Solid ปกติ เส้นผ่าศูนย์กลาง 281 มิลลิเมตร หนา 15 มิลลิเมตร เหมือนกันทั้งหมดทุกรุ่นย่อย มาพร้อมเบรกมือไฟฟ้า กับระบบ Auto Hold พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TRC (Traction Control)

ด้านระบบความปลอดภัย เชิงป้องกัน (Active Safety) Lexus UX มาพร้อมกับ Package ระบบ Lexus Safety System+ ที่รวมสารพัดระบบตัวช่วยผู้ขับขี่ต่างๆนาๆ หลายรายการ เอาไว้ด้วยกัน ดังนี้…

– ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ แปรผันได้ทุกความเร็วตามเรดาห์วัดระยะห่างจากรถคันข้างหน้า All-Speed Dynamic Radar Cruise Control
– ระบบเตือนก่อนเกิดการชน พร้อมเบรกอัตโนมัติ และระบบตรวจจับผู้สัญจรบนทางเท้า Pre-Collision System (PCS) with Pedestrian Detection สามารถตรวจจับจักรยานได้ในเวลากลางวัน และคนเดินถนนในเวลากลางคืน
– ระบบรักษารถให้อยู่ในเลนถนน Lane Keep Assist พร้อมระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกจากเลน และสั่งมอเตอร์ไฟฟ้าของพวงมาลัย ให้ดึงรถกลับเข้าเลนถนน Lane Departure Alert with Steering Assist (Lane Tracing Assist)
– ระบบแจ้งเตือนป้ายบอกทาง Road Sign Assist (RSA) แสดงผลทั้งบนมาตรวัด และกระจกหน้ารถ HUD
– ชุดไฟหน้าพร้อมไฟสูงแบบ Adaptive High-beam System (AHS) และ Intelligent High-Beam headlamps/Automatic High Beam (AHB)
– ระบบช่วยเหลือขณะเข้าจอด Parking Support Alert พร้อมระบบเตือนเมื่อมีพาหนะหรือคนสัญจรตัดท้ายรถ rear cross traffic systems

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ระบบ Passive Safety จะเข้ามารับช่วงต่อทันที ประกอบด้วย ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง ม่านลมนิรภัยบนราวหลังคา และถุงลมหัวเข่า สำหรับทั้งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า รวมมากถึง 8 ใบ! เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด 5 ตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load limiter และสามารถปรับระดับสูง – ต่ำ ได้

เส้นทางการขับขี่ของเราในทริปนี้ เราเลือกให้ทางเจ้าหน้าที่ชาว สวิดิช เขาปรับเซ็ตระบบนำทาง ให้พาเราไปยังเส้นทางที่ไกลสุด ใช้เวลานานสุดก็จริง แต่ สภาพถนนส่วนใหญ่ ก็มีรถแล่นสัญจรพอสมควร อีกทั้งมีการจำกัดความเร็วบนถนนสายหลักและสายรองอย่างเคร่งครัด (เขตโรงเรียน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีกล้องจับความเร็ว พร้อมป้ายเตือนก่อนถึงตัวกล้อง ตั้งเป็นเสากระโดงให้เราเห็นเสร็จสรรพ ดังนั้น จึงหาจังหวะในการจับอัตราเร่งยากมากๆ เท่าที่ผมกับคุณอ๋อง พอจะช่วยกันจับเวลา หาอัตราเร่งได้นั้น เราก็ทำได้แค่รุ่น UX250h ทั้ง ขับเลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ e-Four เท่านั้น ส่วน UX200 เรามีเวลาลองขับสั้นๆ แค่ 15 นาที แถมยังไปเจอสภาพการจราจรติดขัดอีกต่างหาก จึงไม่สามารถจับเวลามาได้ จึงมีแค่เพียงสัมผัสจากการตอบสนองมาบอกเล่าให้ทราบกันเท่านั้น

การจับเวลา เกิดขึ้นบนสภาพถนนจริง ช่วง 11 โมง ถึง บ่าย 3 โมง อุณหภูมิ 16 – 20 องศาเซลเซียส ไม่ทราบชนิดน้ำมันเบนซินที่ใช้ ไม่ทราบลมยางที่แน่ชัด พื้นถนน แห้ง จับเวลาแค่รายการละ 1 ครั้ง เท่านั้น ตัวเลขออกมา มีดังนี้

UX 250 h FWD
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 9.69 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร /ชั่วโมง ทำได้ 6.56 วินาที

UX 250 h e-Four
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 9.48 วินาที
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ 6.92 วินาที

ในการขับขี่จริง อัตราเร่งที่ UX250h ทำได้ สมตัว ตามความคาดหมาย ตัวรถมีเรี่ยวแรงในระดับที่ รถยนต์นั่งซึ่งใช้เครื่องยนต์ เบนซิน พิกัด 2.0 ลิตร ทั่วไป ในยุคปี 2018 พึงเป็น มีแรงดึงในระดับเหมาะสม ไม่แรงมาก ไม่กระชาก นุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป แต่สัมผัสได้ถึงความต่อเนื่อง ในการถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้า

แต่ถ้าเป็นรุ่น e-Four ตัวเลขในช่วงออกตัวจะดีกว่ารุ่นขับล้อหน้าเล็กน้อย เพราะมีมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับล้อคู่หลัง ช่วยถีบส่งด้วยอีกแรง แต่เมื่อถึงช่วงเร่งแซง ตัวเลขกลับดร็อปลงจากรุ่นขับล้อหน้า ประมาณ 0.3 วินาที คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองดี ไม่ค่อยพบอาการ Lag เท่าไหร่ อัตราเร่ง ถือว่า ใช้ได้ ไม่น่าเกลียด

ส่วน UX200 นั้น เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่า แตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติ CVT ทั่วไปนิดหน่อย ตรงที่ว่า เกียร์ลูกนี้ ตั้งใจออกมาให้มีการตัดเปลี่ยนเกียร์ เมื่อลากรอบเครื่องยนต์ยนต์ช่วงออกตัวไปจนสุดเกียร์ 1 ดังนั้น เมื่อออกตัว รถจะตอบสนองเหมือนกำลังเร่งด้วยเกียร์ 1 ในรถเกียร์ธรรมดา ถ้ามองผ่านๆ อาจเข้าใจว่าจะหนืดกว่า UX250h อยู่นิดหน่อย เป็นเกียร์ CVT นิสัยแปลกๆ ซึ่งอาจต้องปรับความคุ้นเคยกันสักนิด ที่แน่ๆ เมื่อเทียบการตอบสนองกับ UX250h ที่ใช้เกียร์ ECVT แล้ว สัมผัสได้ว่า ช้ากว่ากันนิดหน่อยจนรู้สึกได้โดยเฉพาะช่วงเริ่มไต่ความเร็ว ช่วงออกตัว จนถึง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้สัมผัส (เฉพาะอัตราเร่ง) ที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ Mazda 3 รุ่นปัจจุบัน เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ทำได้ดีมาก ในภาพรวม คือไม่ได้เงียบสงัดจนหูดับ หากแต่เงียบสงบและผ่อนคลายกำลังดี เพียงแต่ว่า รถยนต์ฝูงที่เราทดลองขับกันนั้น เป็นรถยนต์ Pre-Production ซึ่งถูกผลิตมาก่อน เพื่อกิจกรรมทดลองขับในครั้งนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงอาจมีเสียงกระแสลมไหลผ่านบริเวณขอบหน้าต่างด้านบนนิดๆ

เรื่องที่น่าแปลกคือ ตามปกติแล้ว รถยนต์ที่ติดตั้งกระจกมองข้างไว้บนแผ่นประตูโดยตรง มักมีเสียงกระแสลมไหลผ่านช่องว่างระหว่าง กระจกมองข้าง กับหน้าต่างหูช้าง Opera บนบานประตูคู่หน้า เยอะ แต่ Lexus UX กลับไม่มีปัญหาในประเด็นนี้เลย ต่อให้พยายามเงี่ยหูฟัง เสียงที่ได้ยินกลับน้อยมากๆ จนต้องขอชมเชย

การตอบสนองของพวงมาลัย ใกล้เคียงและอัพเกรดจาก Toyota C-HR นิดนึง คือ ยังคงมีบุคลิก “เหมือนจะเบาในช่วงความเร็วต่ำ แต่ความจริงแล้ว ตึงมือกำลังดี” ตามเดิม แต่แรงขืนที่มือขณะจอดนิ่ง และความหนืดในการเลี้ยวช่วงความเร็วต่ำ เพิ่มขึ้นจาก C-HR นิดหน่อย ชัดเจน คาดว่าเป็นผลมาจากน้ำหนักของล้ออัลลอย 18 นิ้วมากกว่า พวงมาลัยแบบนี้ ไม่ใช่แค่สุภาพสตรีจะรู้สึกมั่นใจขึ้น แต่นักขับรถอย่างผม ก็ชื่นชอบด้วย ว่าเหมาะสมกับรูปแบบของรถดีแล้ว

ส่วนการขับขีทางไกล On-Center feeling ยังคงดีงาม ไม่ได้รู้สึกมากนักว่าเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า อัตราทดเฟืองพวงมาลัย เซ็ตมากลางๆ ไม่ไว ไม่ยานคางเกินไป ภาพรวม ถือว่า พวงมาลัยให้การตอบสนองดีมากในระดับที่ น่าพอใจ จนต้องขอร้อง Kako-san ไปแล้วว่า สำหรับ UX แล้ว โปรดอย่าปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปจากนี้!

ช่วงล่าง ถูกเซ็ตมาในสไตล์ “แน่น สปอร์ต แต่กลับนุ่มนวลกำลังดี ” และดูดซับแรงสะเทือนบนพื้นผิวขรุขระ ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และความเร็วเดินทาง ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ดีกว่า BMW X2 (ซึ่งเซ็ตช่วงล่างมาแข็งกว่า UX ชัดเจน) การเข้าโค้งหักศอก ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง UX ให้ความนิ่ง แน่น และมั่นใจได้ในระดับเท่าเทียมกันกับ X2 เพียงแต่ว่า ตัวถังของ X2 ที่ดูเหมือนว่าเชื่อมมาแน่นกว่า อาจทำให้เกิดความสะเทือนได้ง่ายกว่า UX ทั้งที่ รถยนต์ประเภทนี้ การเชื่อมตัวถังให้แน่นกำลังพอดี ไม่แน่นมากไป จะช่วยเพิ่มความสบายในการขับขี่มากกว่า และดูเหมือนว่า UX จะตีโจทย์มาถูกทาง!

ระบบห้ามล้อ รุ่น UX250h Hybrid จะมีแป้นเบรกที่มีระยะเหยียบ ตื้นกว่ารุ่น UX200 แต่ต้านเท้ามากกว่า ตอบสนองได้ Linear ขึ้น ไม่รู้สึกตื้อ เหมือนบรรดา รถยนต์ Hybrid ของ Toyota และ Lexus รุ่นก่อนๆ เบรกได้นุ่มนวลและให้ความมั่นใจใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า แป้นเบรกของ UX200 มีระยะเหยียบลึกกว่านิดหน่อย น้ำหนักแป้นตอนเหยียบเบากว่า ต้านเท้าน้อยกว่า และตอบสนองได้ Linear กว่า แต่ถ้าจะเบรกให้หยุดรถอย่างนุ่มนวล ก็ทำได้เหมือนกัน

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
Lexus NX’s Driving Quality on the C-HR’s Size & Platform
เปิดตัวในเมืองไทย ปลายปี 2018 นี้

ต้องยอมรับว่า ระยะเวลาเพียงสั้นๆ และเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย แถมยังมีทางโค้งไม่มากนัก อีกทั้งเต็มไปด้วยการจำกัดความเร็ว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้รู้จักกับ น้องเล็กสุดท้องรุ่นใหม่ล่าสุด ในตระกูล Premium Crossover SUV ของ แบรนด์ Lexus ได้ครบถ้วนทั่วทุกมุมอย่างที่ควรจะเป็น

กระนั้น ผมก็พอที่จะสัมผัสได้คร่าวๆแล้วว่า Lexus UX เป็นผลลัพธ์จากความพยายามในการถ่ายทอด บุคลิกและคุณภาพการขับขี่ แนวสปอร์ตนิดๆ ที่ นิ่ง มั่นใจ ติดนุ่มสบายที่ปลายนวม จาก Lexus NX ผู้พี่ ลงบนพื้นตัวถัง TNGA-C แล้วขึ้นรูปตัวถังให้มีขนาดไล่เลี่ยกันกับ Toyota C-HR ซึ่งมีจดเด่นเรื่องการบังคับควบคุมที่ คล่องแคล่ว แม่นยำ มั่นใจได้ดีมากๆ

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกก็คือ Lexus UX กำลังนำเสนอ บุคลิกการขับขี่ แบบ Lexus ที่เน้นความ “สปอร์ตแต่ไม่ดิบ ขับแล้วกระชับมั่นใจ นุ่มสบายกำลังดี แบบ Japanese Premium” ไปต่อกรกับบรรดาคู่แข่งชาวยุโรป อย่าง BMW X2 (ซึ่งดูจะเป็นมวยถูกคู่กว่า X1) Mercedes-Benz GLA ในขณะที่ Audi Q3 และ Volvo XC40 นั้น จะมาในแนว Crossover SUV มากกว่า

ข่าวดีสำหรับลูกค้าชาวไทยก็คือ Lexus UX ใหม่ จะถูกส่งออกจากโรงงาน Toyota Motor Kyushu จังหวัด Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเปิดตัวในระเทศไทย ภายในช่วงปลายปี 2018 นี้

กระนั้น การเปิดตัวของ Volvo XC40 ด้วยค่าตัวเริ่มต้นแค่ 2,090,000 บาท ก็อาจทำให้ ทีม Lexus ในบ้านเรา คงต้องคิดหนักพอสมควร ว่าจะทำอย่างไร ให้ราคาขายปลีกของ UX  แข่งขันกับคู่แข่งแดนไวกิ้ง ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ ได้สมน้ำสมเนื้อสักหน่อย เพราะด้วยค่าตัวที่ยั่วยวนใจขนาดนี้ ในมุมของผู้บริโภคเอง ก็คงมีหลายคนถึงกับหวั่นไหว ว่าจะลองเทใจไปหา Volvo ดีหรือไม่

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าจำเป็นจะต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน เพราะช่วงนี้ คุณหรือผู้อนุมัติงบให้คุณ กำลังอารมณ์ดี UX มีคุณสมบัติที่เหนือกว่า GLA ในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะความสบายในห้องโดยสาร และบริการหลังการขาย หรือถ้าให้เปรียบเทียบกับ X2 แม้จะมีเส้นสายลงตัวกว่า แต่การขับขี่ ก็จะมาในสไตล์แข็งกว่า UX แต่ถ้าจะต้องเทียบกับ XC40 แล้ว Volvo  อาจมีขนาดห้องโดยสารใหญ่กว่า มีช่องเก็บของเยอะแยะกว่า ดูเหมือนว่าจะมีพละกำลังมากกว่า แต่บริการหลังการขายของ Volvo ก็ยังน่าเป็นห่วงกว่า Lexus ซึ่งคุณสามารถขับเข้าศูนย์บริการ Toyota ทัวประเทศได้ (ถ้าเคสไม่หนัก ก็จะพอซ่อมได้อยู่บ้าง แต่ถ้าเคสหนัก ก็มีบริการส่งเข้าศูนย์ฯใหญ่ให้)

แต่ถ้าหากคุณไม่รีบร้อน รอให้ถึงช่วงงาน Motor Expo ปลายปี 2018 ค่อยไปสัมผัสตัวจริงของทั้ง 2 คัน ก่อนเซ็นใบจองก็ได้ หรือถ้าจะรอให้ผานไปถึงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2019 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ ทั้ง UX และ XC40 มีจอดให้ชมตามโชว์รูมต่างๆในบ้านเรา ก็ยิ่งดี

หรือจะรออ่านบทความ Full Review ใน Headlightmag ของเราอีกครั้งก็ได้ ในปีหน้า…

ทางเลือก เป็นของคุณครับ!

—————-///—————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to: 

Lexus Division และฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้ “อย่างดียิ่ง”

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
ผู้เขียน และ Toyota Motor Corporation

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
12 กันยายน 2018

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 12th,2018

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE