25 มิถุนายน 2019
16.00 น.

สายการบิน THAI เที่ยวบินที่ TG 612 นำผมและคณะสื่อมวลชนชาวไทย 9 คน ผู้บริหาร และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Chevrolet อีก 3 คน มาลงจอดที่สนามบินในเมือง คุนหมิง ในเวลา 12.05 น. เพื่อเปลี่ยนเที่ยวบิน เป็น MU5548 ของสายการบิน China Eastern ในเวลา 19.00 น. เดินทางต่อไป ยังเมืองลิ่วโจว (Liuzhou) เพื่อเข้าพักยังโรงแรมหวันต้า เรียลม์ ลิ่วโจว (Wanda Realm Liuzhou) เวลา 21.30 น.เพื่อเตรียมพักผ่อน รอพบกับกิจกรรมต่างๆตลอดวันรุ่งขึ้น

ร้อยวันพันปี เวลาที่ General Motors (Thailand) และ Chevrolet Sales (Thailand) จะเชิญสื่อมวลชนไปต่างประเทศ จุดหมายของทริปเหล่านั้น มักจะมีแค่สำนักงานใหญ่ในเมือง Detroit รัฐ Michigan สหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็เป็นออสเตรเลีย ประเทศที่มีสนามทดสอบ อายุ 62 ปี อย่าง Lang Lang Proving Ground และสำนักออกแบบของบริษัทในเครืออย่าง Holden ตั้งอยู่ตรงนิคมอุตสาหกรรม ย่านท่าเรือเมือง Melbourne

ทว่า คราวนี้ Chevrolet เขาเชิญผมไปเมืองจีนครับ! เป็นการเดินทางไปเยือนแดนมังกร ครั้งที่ 4 ในชีวิต และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 2019 และเป็นครั้งแรกที่ GM พาคณะสื่อมวลชนไปเมืองจีน แถมยังเป็นทริปที่เกิดขึ้นจากการไปเมืองจีนครั้งก่อน ไม่ถึง 2 เดือน…และครั้งนี้ ก็เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางออกห่างจากนคร เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) แม้ในโปรแกรม จะมีเที่ยวบินกลับไปยังเมืองหลวงของจีนแห่งนั้นอีกก็ตาม

สงสัยใช่ไหมครับ ว่าทำไม? แบรนด์อเมริกันชั้นนำระดับโลก ต้องพาเรามายังเมืองจีนแผ่นดินใหญ่กันด้วย?

เหตุผลมันมีดังนี้ครับ

ตามปกติในอดีตที่ผ่านมา  รถยนต์แทบทกรุ่นของ GM และ Chevrolet ที่ถูกส่งเข้ามาประกอบขาย ณ “ศูนย์การผลิต” ในจังหวัดระยอง มักถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของบริษัทในเครือญาติ ข้ามซีกโลก

อย่าง Chevrolet Zafira ก็คือการซื้อพิมพ์เขียวของ Opel/Vauxhall Zafira มาจาก Adam Opel AG. แห่งเมือง Russelheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาผลิตขาย ป้อนตลาด Asia & Oceania รวมทั้งเคยส่งออกไปญี่ปุ่นในชื่อ Subaru Traviq อีกด้วย (แต่ก็เจ๊งบ๊ง)

ส่วน Chevrolet Aveo , Sedan กับ Wagon รุ่น Optra และ SUV รุ่น Captiva คันเดิม เป็นผลงานของ GM Daewoo ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น GM Korea และค่อยๆ ลดบทบาท เหลือเพียงแค่การทำข้อตกลงกับรัฐบาลเกาหลีใต้ว่า จะยังคงรักษาศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทำตลาดในแดนกิมจิเอาไว้ และตั้งสำนักงานขึ้นมาดูแลตลาดทั่วโลกในชื่อ GMIO (General Motors International Operation) แทน หรือจะเป็นรถกระบะ Colorado ที่เคยจับมือร่วมกันพัฒนากับพันธมิตรเก่าอย่าง Isuzu แห่งเมือง Fujisawa ประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว (และตอนนี้ ทั้งคู่ก็หย่าร้างกันไปในที่สุด ต่างแยกย้ายไปทำรถกระบะและ SUV/PPV ตามทางของตนเอง)

คราวนี้ ปี 2019 GM และ Chevrolet กำลังจะเปิดตัวรถยนต์ SUV คันใหม่ ในเมืองไทย หลังจากห่างหายไปนาน พวกเขาตัดสินใจ นำรถยนต์ Baojun 530 ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากบริษัทร่วมทุนของตนในเมืองจีน คือ SGMW (SAIC – GM – Wulling) ซึ่งประกอบจากโรงงานของพันธมิตรชาวมังกร ที่ Indonesia เข้ามาขายในเมืองไทย โดยสวมแบรนด์ดั้งเดิมที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ Chevrolet CAPTIVA ใหม่ นั่นเอง พวกเขาเพิ่งนำเวอร์ชันต้นแบบส่งขึ้นอวดโฉมมาแล้ว ในงาน ฺBangkok International Motor Show เมื่อ 28 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ก่อนจะเตรียม เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทย ประมาณเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

แน่นอนครับ พอหลายคนรู้เรื่องเข้า ก็เกิดคำถามตามมาว่า นี่เป็นรถจีนหรือเปล่า? ประกอบใน Indonesia ด้วย คุณภาพจะไหวเหรอ? ตั้งราคาขายเท่าไหร่ สมรรถนะดีไหม แล้วจะสู้ชาวบ้านชาวช่องเขาได้ไหม?

เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพ…ระดับโลก (อย่างที่ต้นสังกัดเขาบอกมา) GM และ Chevrolet ก็เลยตัดสินใจ พาผมและสื่อมวลชนไทย อีก 9 ชีวิต บินมาดูกิจการของ พันธมิตร อย่าง SGMW ให้ถึงฐานที่มั่นในเมือง Liuzhou กันเสียเลย และแน่นอนว่า หลังจากเดินชมกิจการของพวกเขา ตั้งแต่ โรงงานขนาดมหึมา แยกไลน์ผลิตระหว่างรถยนต์ทั่วไป กับรถยนต์ไฟฟ้า ออกจากกันชัดเจน, ศูนย์วิจัยและพัฒนา R&D Center , Design Center , Crash Test Lab , ห้องทดสอบเรื่องเสียง ที่มีขนาดใหญ่สุดใน Asia บอกได้เลยว่า มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจมากๆ ว่า วันนี้ ชาวจีน เขามาไกลถึงจุดนี้กันแล้วเหรอ?

SGMW ในจีนนั้น ไม่ธรรมดาครับ ถ้าคุณเคยรู้จักรถกระบะเล็ก ยี่ห้อ Wuling (วู่หลิง) มาแล้ว ใช่ครับ มันเป็นผลผลิตจากบริษัทแห่งนี้นั่นแหละ เพียงแต่ว่า วันนี้ พวกเขา “ไปไกลกว่านั้น มากกกกกกกกกโข” เรียกได้ว่า ถ้าคุณมีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของพวกเขาจริงๆสักครั้ง คุณจะลืมภาพรถกระป๊อ Wuling ในอดีตไปเลย…

วันนั้น กับ วันนี้ มันคนละเรื่องกันจริงๆ!!

SGMW เป็นใคร? เป็นมาอย่างไร? ใยถึงมาจับมือ GM ทำรถขายได้?

SGMW (SAIC – GM – Wulling Automobile Company Ltd.) เป็นบริษัทรถยนต์ ที่ถือกำเนิดขึ้นได้จากความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย เริ่มจาก ยักษ์ใหญ่ฝั่งอเมริกาเหนือ อย่าง General Motors ซึ่งไปตั้งสำนักงานในจีน ใช้ชื่อว่า GM China กับ 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน

พันธมิตรรายแรก นั่นคือ SAIC Motor Corporation Limited (SAIC : Shanghai Automotive Industries Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งนอกจากจะจับมือเป็นพันธมิตร ให้กับกลุ่ม Volkswagen กับ GM เพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ Volkswagen , Audi , Skoda รวมทั้ง Chevrolet , Buick และ Cadillac สำหรับตลาดเมืองจีนแล้ว SAIC ยังเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ที่ตนเองผลิตและออกขายภายใต้ชื่อที่ไปซื้อจากอังกฤษมา อย่าง MG รวมทั้ง แบรนด์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำตลาดรถยนต์ระดับกลางค่อนข้างหรูอย่าง Roewe และแบรนด์รถยนต์อเนกประสงค์ กับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อย่าง Maxus อีกด้วย

พันธมิตร อีกรายหนึ่ง คือ Liuzhou Wulling Motor Co.,Ltd. บริษัทผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 28 ตุลาคม 1958 ในชื่อ Liuzhou Power Machining Plant ในอดีต พวกเขาผลิตรถ Tractor โดยเน้นตลาดผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

(แหม…จุดเริ่มต้นนี่ คล้ายแบรนด์รถสปอร์ต Lamborghini ชัดๆ! เริ่มต้นจากการทำรถ Tractor เหมือนกันเลย)

ต่อมา พวกเขาก็เริ่มผลิตรถตู้ขนาดกระทัดรัด Microvan ในปี 1982 ต่อมา ในปี 1985 Liuzhou Automotive Industry Corporation ได้เซ็นสัญญากับ Mitsubishi Motors เพื่อนำพิมพ์เขียวรถตู้ Minicab มาผลิตขายเอง ในชื่อ Liuzhou Wuling LZ 110

Wuling เริ่มต้นการส่งออกยังตลาดโลก โดยส่งรถตู้ขนาดเล็ก LZ110P จำนวน 15 คัน เข้ามาขายในประเทศไทย เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1990 ก่อนจะเริ่มเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ คนไทยคงพอจะเคยได้ยินชื่อ รถกระบะเล็ก “วู่หลิง” ที่เคยมีตัวแทนจำหน่ายในบ้านเรา และมีลูกค้า นิยมไปซื้อใช้งานในกิจการ SME กันอยู่พักหนึ่ง

Lizhou Wuling Motors เริ่มต้นเป็นพันธมิตรกับทาง SAIC โดยจัดตั้ง บริษัท SAIC Wuling Motors Co.Ltd. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2001 จากนั้น อีก 1 ปีถัดมา พวกเขาจึงได้จับมือเซ็นสัญญา กับ GM China ก่อตั้งบริษัท SAIC-GM-Wuling Motors (SGMW) โดยมีอัตราถือหุ้น GM 44%, SAIC 50.1% และ Wuling (Guangxi Automotive Group) 5.9% เพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่าย รถยนต์แบรนด์ท้องถิ่นของตนเอง อย่าง Baojun (เน้นขายรถเก๋งขนาดเล็ก , Minivan กับ SUV) และ Wuling (เน้นขายรถตู้ขนาดเล็ก และระกระบะเล็ก ที่เคยเข้ามาขายในไทยอยู่พักหนึ่ง) โดย Wulling ตัดสินใจ ย้ายการผลิตรถกระบะและรถตู้ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ มาไว้ที่ SGMW ทั้งหมด

ปัจจุบัน SGMW มีฐานการผลิตอยู่ 4 แห่ง นั่นคือที่ สำนักงานใหญ่ที่เมือง ลิ่วโจว (Liuzhou) ชื่อว่า โรงงาน Hexi ซึ่งมีทั้งหมด 3 โรงงาน บนพื้นที่ 89.2 เฮคเตอร์ ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ East Plant กับ West Plant ซึ่งมีทั้งโรงงานขึ้นรูปตัวถัง โรงพ่นสี และโรงงานประกอบ อยู่ในพื้นเดียวกัน ทั้ง 2 แห่ง ออกแบบโรงงานตามมาตรฐานของ GM และโรงงานผลิตเครื่องยนต์ ซึ่งขึ้นรูปเสื้อสูบ ฝาสูบ ชิ้นส่วนต่างๆ แล้วนำมาประกอบกันเป็นเครื่องยนต์ สำหรับรถกระบะขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ กำลังการผลิตรถยนต์ต่อปี 806,000 คัน!!! ส่วนกำลังการผลิตเครื่องยนต์ต่อปี อยู่ที่ 720,000 เครื่อง!!!

ต่อมาเป็น โรงงาน Baojun Base ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ ทั้งเรื่องยนต์สันดาปปกติ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง Powertrain plant – GA Phase II – และศูนย์วิจัยและพัฒนา NEV Center รวมอยู่ด้วย กำลังการผลิตรถยนต์ต่อปี อยู่ที่ 646,000 คัน !!! ส่วนกำลังการผลิตเครื่องยนต์ต่อปี อยู่ที่ 720,000 เครื่อง เท่ากับ Hexi Plant

ส่วนฐานผลิตในเมือง ชิงเต่า (Qingdao) เปิดดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2008 จะรับผิดชอบงานปั้มขึ้นรูปตัวถัง โรงพ่นสี โรงประกอบชิ้นส่วนทั่วไป รวมทั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ต่อปี อยู่ที่ 538,000 คัน และกำลังการผลิตเครื่องยนต์ต่อปี อยู่ที่ 540,000 เครื่อง!

ล่าสุด คือฐานผลิตที่เมือง ฉงชิ่ง (Chongqing) ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2013 และเริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อปลายปี 2014 เพื่อผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก รถยนต์ครอบครัว รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมถึงเครื่องยนต์ สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก กำลังการผลิตรถยนต์ต่อปี อยู่ที่ 323,000 คัน และกำลังการผลิตเครื่องยนต์ต่อปี อยู่ที่ 360,000 เครื่อง

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานแห่งใหม่ ที่ Indonesia ซึ่งจะใช้เป็นฐานการประกอบชิ้นส่วนที่ส่งมาจากเมืองจีน แะผู้ผลิตชิ้นส่วนท้องถิ่นในภูมิภาค ASEAN เพื่อส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปยังภูมิภาค ASEAN และ Asia ใต้บางประเทศ กำลังการผลิตอยู่ที่ 81,000 คัน/ปี ถือเป็นโรงงานขนาดปานกลาง

ทุกโรงงานของ SGMW ในจีน และ Indonesia ต่างใช้ระบบการผลิต “General Motors Global Manufacturing System” เป็นมาตรฐานเดียวกันกับโรงงานของ GM ทั่วโลก รวมทั้งในเมืองไทย ซึ่งจะมีการควบคุมทั้งในเรื่องการจัดส่งชิ้นส่วน การควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วน และการประกอบเป็นคันรถยนต์ รวมไปถึงความเข้มงวดด้านความปลอดภัย และมาตรการด้านการจัดการของเสีย เพื่อลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2009 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว SGMW ทำยอดขายรวมได้สูงถึง 1,061,213 คัน กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากจีน รายแรกในประวัติศาสตร์ ที่ขายรถยนต์ได้ ทะลุ 1 ล้านคัน ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม และพวกเขาก็ทำยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ได้ในปี 2017 ด้วยตัวเลขสูงถึง 2,160,000 คัน ส่วนปี 2018 ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดรถยนต์ในจีน ชะลอความร้อนแรงลงมา ยอดขายจึงลดลงเล็กน้อย เหลือ 1,926,000 คัน แต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่มากมายมโหฬารอยู่ดี เพราะนี่เท่ากับว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ในเครือ GM รวมกันทั่วโลก มาจาก SGMW !!

ปัจจุบันนี้ SGMW ยังส่งออกรถยนต์ CBU (Completed Built Unit) และชิ้นส่วนสำเร็จรูป CKD (Completed Knock Down) ภายใต้แบรนด์ Wuling และ Chevrolet ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รวมกว่า 310,000 คัน คิดเป็น 1.5% ของยอดขายรวมทั้งหมด! ส่วนใหญ่ จะเป็นรถกระบะและรถตู้ขนาดกระทัดรัด แบรนด์ Wuling ขณะที่ รถตู้ Minivan แบรนด์ Baojun จะส่งออกสู่ Indonesia ภายใต้แบรนด์ Wuling ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังมีแผนเตรียมจะส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ CBU และชิ้นส่วนสำเร็จรูป CKD ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก อย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้อีกด้วย

จุดแกร่ง ของ SGMW ซึ่งถือเป็นความน่ากลัว สำหรับบรรดานักอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ก็คือ “ความรวดเร็วในการเปลี่ยนโฉมรถยนต์รุ่นใหม่” เนื่องจากตลาดเมืองจีนนั้น การแข่งขันดุเดือดมากในระดับ “โคตรรุนแรง” ถ้าคุณปล่อยให้รถยนต์ที่คุณผลิตขาย ทิ้งไว้เพียง ปีเดียว คู่แข่งก็พร้อมจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ มาแย่งชิงยอดขายของคุณไปได้ง่ายดาย เพราะลูกค้าชาวจีนส่วนใหญ่ ไม่ยอมซื้อรถยนต์รุ่นเก่า ที่เชย หรือล้าสมัย พวกเขาต้องการรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด ตลอดเวลา

ดังนั้น มันจึงเป็นงานยากของผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมาก ที่จะต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา เพื่อเปลี่ยนโฉม หรือปรับโฉมให้กับรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดกันอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องใช้งบลงทุนที่สูงมากๆ โชคดีที่ว่า ยอดขายรถยนต์ในจีน ของแต่ละแบรนด์ มันเยอะมากพอที่จะมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า หากคุณเดินทางมาเมืองจีน ต่างกันเพียงปีเดียว คุณอาจพบว่า รุ่นรถยนต์ที่ขายอยู่ในโชว์รูม จะเปลี่ยนโฉม ปรับน้าตากันไปหมดจนแทบจำไม่ได้แล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น Baojun 510 B-Segment Crossover SUV ซึ่งวางตำแหน่งการตลาด ต่ำกว่า Baojun 530 / Chevrolet Captiva (นึกถึง คู่แข่งอย่าง Nissan Juke หรือ Nissan Kicks เอาไว้ครับ) รถคันนี้ เพิ่งเปิดตัวและเริ่มการผลิต (SOP : Start On Production) ไปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2017 เพียงแค่ 1 ปี กับอีก 6 เดือน พวกเขาก็ปรับโฉม Minorchange ให้กับ SUV รุ่นนี้แล้ว โดยปรับเปลี่ยนบั้นท้าย กระจังหน้า และชิ้นส่วนต่างๆ แต่ที่บ้าระห่ำมากสุดคือ เพียงแค่ 1 ปี กับอีก 2 เดือนหลังจากนั้น หรืออีก 2 เดือน หลังจากบทความนี้ เริ่มเผยแพร่เป็นครั้งแรก SGMW จะเปลี่ยนโฉม “ขนานใหญ่” ให้กับ Baojun 510 ในวันที่ 28 กันยายน 2019 ที่จะถึงนี้ โดยจะเปลี่ยนชิ้นส่วนโครงสร้างตัวถัง และเปลือกภายนอก (เรียกกันว่า TopHat) ทั้งหมด!! ไม่เพียงเท่านั้น Platform หรือ งานวิศวกรรม เครื่องยนต์กลไก ภายในห้องโดยสาร ก็จะถูกเปลี่ยนยกยวง จนแทบจะเรียกว่า นี่มันคือ การเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ที่ “โคตรพ่อโคตรแม่เร็วที่สุด” เท่าที่วงการรถยนต์ทั่วโลกจะเคยเห็นกันมา คือ เพียงแค่ 2 ปี กับอีก 7 เดือน เท่านั้น!!!!!

เป็นไงครับ อุตสาหกรรมรถยนต์จากจีน …น่ากลัวจนขนลุกเลยไหมละครับ!?

ตลอดระยะเวลาในอดีตที่ผ่านมา SGMW ทำตลาดด้วยแบรนด์รถยนต์ Wuling ซึ่งก่อตั้งขึ้น มาตั้งแต่ปี 1985 จากการเริ่มผลิตรถตู้ขนาดเล็ก Liuzhou Wuling LZ 110 ก่อนจะขยายฐานออกมา ออกแบบและพัฒนารถตู้เป็นของตนเอง ปัจจุบัน Wuling เป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ MCV (Mini Commercial Vehicle) และตลาดรถตู้ Minivan ในจีน ครอส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 60% โดย แบรนด์ Wuling นั้น มีภาพลักษณ์ เป็นรถยนต์ราคาถูก เน้นความประหยัดและคุ้มค่า สำหรับคนสู้ชีวิต เพื่อการทำงาน และเพื่อครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศจีน มีขนาดใหญ่มาก แม้จะมีรถยนต์แบรนด์สากล จากยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ เข้าไปจับมือกับบริษัทท้องถิ่น ซึ่งถือหุ้นทั้งโดยรัฐบาลจีน และเอกชน บุกตลาดกันอย่างสนุกสนาน กระนั้น ยังมีช่องว่างทางการตลาดนั่นคือ กลุ่มลูกค้านอกเมืองใหญ่ ที่อาศัยอยู่ห่างจาก Shanghai , Beijing ออกไป ลูกค้ากลุ่มนี้ ในอดีต ไม่แคร์กับการซื้อรถยนต์จากผู้ผลิตท้องถิ่น ลูกอีช่าง Copy ที่ขยันไปซื้อรถยนต์แบรนด์ดังๆ มาลอกแบบ แล้วทำขายในราคาถูกๆ เพื่อให้ลูกค้าในท้องถิ่นอันห่างไกลเหล่านั้น ได้เอาไปอวดกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงว่า ฉันก็มีรถ (ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับรถ) ดีๆ ขับกับเขาแล้วนะ ดังนั้น ผู้ผลิตจากยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ต่างพากันตัดสินใจ เปิดตัว “Fighting Brand” หรือ เอาไว้ต่อสู้กับผู้ผลิตท้องถิ่นเหล่านั้น เช่น Nissan ก็มีแบรนด์อย่าง Venucia หรือ Mazda ก็มีแบรนด์อย่าง Haima เป็นต้น

19 กรกฎาคม 2010 SGMW ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์รถยนต์ กลุ่ม “Fighting Brand” ของตนเอง อย่าง “Baojun” ขึ้นมา ชื่อ “เบ่าจุน” นี้มาจากภาษาจีน แปลว่า “ม้าอันสูงค่า” (Treasure Horse) แยกตัวออกมาจากแบรนด์ Wulling และวางตำแหน่งการตลาดในอดีตไว้ “สูงกว่า Wuling แต่ต่ำกว่า Chevrolet” เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เน้นไปที่ รถเก๋งขนาดเล็ก รถตู้ Minivan 7 ที่นั่ง และ SUV ขนาดเล็ก ในราคา “แพงขึ้นกว่า Wulling แต่ยังคงคุ้มค่าและสมเหตุสมผล” เพื่อให้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับแบรนด์ท้องถิ่น ลกอีช่าง Copy อย่าง BYD, Chery , Geely, Changan , GAC , Haval , Honqqi , JAC , Trumpchi ฯลฯ

พวกเขาเริ่มทำตลาดด้วยรถเก๋ง Baojun 630 ในปี 2011 และทะยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้กลายเป็นแบรนด์ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมากๆ ล่าสุด ยอดขายในจีน ตอนนี้ อยู่ในอันดับ 2 จากบรรดา แบรนด์ท้องถิ่นที่มีขายเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเป็นรองเพียงแค่ แบรนด์ Geely เท่านั้น!

ปัจจุบัน Baojun กำลังอยู่ในช่วง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand transitioning) จากเดิมซึ่งเป็นแค่ Fighting Brand ธรรมดา ให้กลายมาเป็น “แบรนด์สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว” มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเน้นการเชื่อมต่อเข้ากับระบบสื่อสาร (Connectivity) และระบบขับขี่เองอัตโนมัติ (Autonomous Drive) โดยวางแผนจะใช้ประโยชน์ จากโครงค่ายสัญญาณ 5G รวมทั้งพันธมิตรด้านระบบสื่อสาร อย่าง Huawei ให้เป็นประโยน์มากที่สุด

ภายในปี 2019 นี้ หลังการเปิดตัว Baojun RS-5 Compact SUV สุดโฉบเฉี่ยว (ที่คุณเห็นในรูปข้างบน ตอนที่พวกเราเยี่ยมชมศูนย์ Design Center นั่นละครับ) SGMW เขาก็เตรียมจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในแบรนด์ Baojun ต่อเนื่องกันอีก 3 รุ่นรวด โดยในไตรมาส 3 จะมีทั้ง B-Segment SUV ที่จะเปลี่ยนโฉมใหม่แทน Baojun 510 คันเดิม อย่างที่เราบอกกันไปด้านบน และรถเก๋ง CD-Segment Sedan รุ่นใหม่ (พิกัดเดียวกับ Honda Civic รุ่นปัจจุบัน) รหัสโครงการ CN202M ซึ่งจากที่ได้เห็นคันจริงมา บอกเลยว่า ให้นึกถึง Honda Accord G10 รุ่นล่าสุด ในเวอร์ชันที่ “ลงตัว และสมส่วนกว่า” ส่วนช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ พวกเขามีแผนเปิดตัว SUV รุ่นใหญ่กว่า Baojun 530 หรือ Chevrolet Captiva คันที่เรานั่งเครื่องบินมาลองขับกันถึงเมืองจีนในคราวนี้ นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโชว์รูมผู้จำหน่าย ทั้งกว่า 500 แห่ง ทั่วเมืองจีน ให้มีภาพลักษณ์แบรนด์ (CI : Corporated Identity) รูปแบบใหม่ทั้งหมด โดยจะเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ เช่น จอ Video Wall Information ให้ลูกค้าได้เลือกสั่งซื้อรถ หรือเลือกออพชัน สี และบริการด้านไฟแนนซ์ ได้จากหน้าจอ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบ Application บนมือถือของ พนักงานในโชว์รูม แม้กระทั่งการติดตั้ง Traffic Heat Wave ซึ่งจะมีตัววัดรังสีความร้อน ตามจุดต่างๆของโชว์รูมและศูนย์บริการ เพื่อดูว่า ลูกค้า เวลาเดินเข้าโชว์รูมแล้ว จะเดินไปดูอะไร ทำอะไร เพื่อศึกษาและเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า จะได้ตอบสนองอย่างทันท่วงที หรือเก็บข้อมูลไว้ศึกษาวิจัยในอนาคต

ทีนี้ เห็นหรือยังครับว่า วันนี้ จีน ไม่ใช่จีนในแบบที่คุณๆ คุ้นเคยกันอีกต่อไป!!

นอกเหนือจากการเยี่ยมชมกิจการของ SGMW แล้ว GM/Chevrolet เขาก็พาเรามายังสนามทดสอบ ด้านหลังโรงงานขนาดใหญ่ เพื่อจะให้พวกเราได้ลองขับ Chevrolet Captiva ใหม่ กันแบบ Sneak Preview หรือ “ลิ้มชิมรสสัมผัส” กันเพียงเล็กน้อย พอหอมปากหอมคอ ก่อนที่ C-Segment Compact SUV 7 ที่นั่ง คันนี้ จะพร้อมเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ราวๆ เดือนกันยายน 2019 นี้

ที่มาที่ไปของ Captiva ใหม่?

Captiva ใหม่ที่คุณเห็นอยู่นี้ ถือกำเนิดขึ้น จากแนวคิดของทาง SGWM ที่ต้องการพัฒนา C-Segment SUV รุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อทำตลาดแทน Baojun 560 Minivan 7 ที่นั่ง รุ่นเก่า ซึ่งเิดตัวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2015 โดยคราวนี้ พวกเขาจะปรับรูปแบบตัวรถ มาเป็น SUV-Style แทน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในจีน และในประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ Asia ไปจนถึง South America โดยอาศัยทีมงานวิศวกรทั้งจากอังกฤษ และจีน โดย SGWM วางแผนให้มีการผลิต ทั้งโรงงานของตนในจีน India และที่ Indonesia

ตามแผนของ GM , SAIC และ SGMW ต่างฝ่าย ต่างจะเปิดตัว SUV คันนี้ ในชื่อที่ต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศที่ถูกส่งเข้าไปทำตลาด เริ่มจากการเผยโฉมครั้งแรก ณ งาน Auto Guangzhou เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 ในชื่อ Baojun 530 จากนั้น จึงส่งไปเผยโฉมในงาน Gaikindo Indonesia International Auto Show เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ด้วยชื่อ Wuling ALMAZ (ก่อนเปิดตัวเวอร์ชันขายจริง ผลิตที่ Indonesia เมื่อ 23 มกราคม 2019 และเริ่มทำตลาดจริง 27 กุมภาพันธ์ 2019)

ตามด้วยการเปิดตัว ใน Bogota Motor Show ที่ประเทศ Colombo ในชื่อ Chevrolet Captiva เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018 แต่ถ้าไปเปิดตัวใน India (เมื่อ 27 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา) รถคันนี้ จะถูกเปลี่ยนไปขายในชื่อ MG Hector และจะกลายเป็น SUV แบบแรกของ MG ในแดนภารตะ!! (แต่ รถคันนี้ จะไม่มีขายในโชว์รูม MG ของบ้านเราอย่างแน่นอน)

สำหรับเมืองไทยแล้ว Baojin 530 จะถูกนำเข้ามาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Chevrolet โดยเหตุผลของการใช้ชื่อ Captiva มาสวมให้กับ C-Segment SUV คันนี้ ไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะ GM เพิ่งจะประกาศยุติการผลิต Captiva รุ่นแรก ทั่วโลก เมื่อ 13 กันยายน 2018 มานี่เอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำตลาด การเลือกใช้ชื่อที่ติดหูลูกค้าอยู่แล้ว มาสวมให้กับ SUV รุ่นใหม่เลย โดยไม่จำเป็นต้องแคร์รากเหง้าที่มาของรถ นั่นก็เป็นปกติวิสัยของผู้ผลิตรถยนต์ชาวอเมริกันอยู่แล้ว

Captiva ใหม่นี้จะมีขนาดตัวถังยาว 4,ุ655 มิลลิเมตร กว้าง 1,836 มิลลิเมตร สูง 1,760 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/60 R17

เมื่อเทียบกับ Captiva รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,673 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,756 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,707 มิลลิเมตร จะพบว่า Captiva ใหม่จะมีขนาดสั้นลง 18 มิลลิเมตร แคบลง 14 มิลลิเมตร แต่สูงขึ้น 4 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 43 มิลลิเมตร หากมองเผินๆ อาจเรียกได้ว่า ขนาดตัวรถจะพอๆกัน หรือไล่เลี่ยกับ Captiva รุ่นเดิม แต่คราวนี้ ตัวรถจะถูกวางตำแหน่งทางการตลาด ให้มีราคาถูกลงกว่าเดิม

รูปลักษณ์ภายนอก ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องบินรบ เส้นสายภายนอกมาในสไตล์ เรียบ แต่เฉียบคม ชุดไฟหน้า ย้ายลงไปติดตั้งที่เปลือกกันชนด้านล่าง เหนือไฟ SpotLight ส่วนด้านบน จะเป็นแถบไฟ Daytime Running Light แบบ LED ตัดสลับกับไฟเลี้ยว LED แทน กระจังหน้าขนาดใหญ่ ออกแบบขึ้นใหม่ ในสไตล์ Modern Luxury ด้านข้างตัวรถ มีเส้นสายในแนวตรง ยาวต่อเนื่องจรดด้านหลังรถ กระจกหน้าต่างด้านหลัง มาในสไตล์ ซ่อนเสาหลัง แบบ D-Pillar-less เชื่อมต่อยาวไปถึง ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ที่สามารถเปิดยกขึ้นพร้อมกับชุดไฟท้าย ได้ทั้งบาน แบบเดียวกับ Audi Q5 และ Q7 ส่วนไฟถอยหลัง ย้ายไปไว้ที่มุมด้านล่างของเปลือกกันชนหลัง ส่วนแผงทับทิมสะท้อนแสง มีขนาดยาวต่อเนื่องในแนวขวาง เชื่อมต่อกับชุดไฟถอย เป็นแนวเดียวกัน

การเข้า – ออกจาก บานประตูคู่หน้า มาในสไตล์เดียวกับ SUV พิกัดเดียวกันรุ่นอื่นๆ นั่นคือ อาจจะต้องปรับเบาะนั่งลงต่ำให้สุดเสียก่อน ที่จะเข้าไปนั่ง มิเช่นนั้น ศีรษะของคุณ อาจโขกเข้ากับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar อย่างแรงแน่ๆ แผงประตูด้านข้าง บุด้วยวัสดุบุนุ่มมาให้ในบางจุด พนักวางแขน ใช้วัสดุบุนุ่ม หุ้มด้วยหนังสีขาวครีม มีตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีๆ ขณะที่มือจับประตูด้านใน จะเป็นสีเงินโครเมียมดูแวววาว

บานประตูถูกออกแบบให้ชายล่าง คลุมทับลงไปถึงด้านล่างของธรณีประตู ข้อดีก็คือ ช่วยลดโอกาสที่ ขากางเกง หรือชายกระโปรง จะเปื้อนฝุ่นดินโคลน ซึ่งถูกล้อยางรถ ตวัดขึ้นมาเปื้อนตัวถังด้านล่าง นี่คือสิ่งที่ผมมักบอกเสมอว่า ผู้ผลิตฝั่ง Asia จะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก ผิดกับผู้ผลิตฝั่งยุโรปทั้ง BMW และ Mercedes-Benz ที่มักยังคงไม่ใส่ใจกับปัญหานี้เหมือนเช่นเคย

เพดานหลังคา ของรถที่เราทดลองขับ เป็นสีเทาอ่อน มี SubRoof มาให้ รวมทั้งมีมือจับศาสดาสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ มาให้ 3 ตำแหน่ง และมีหลังคา Panoramic Glass Roof ขนาดมโหฬารบานตะไท มาให้ด้วย

ตำแหน่งนั่งขับ จะคล้ายคลึงกับ Mitsubishi Space Wagon (2004 – 2014) และ Suzuki Ertiga รุ่นล่าสุด (2018 – 2019) กล่าวคือ พวงมาลัยจะมีมุมเงย เยอะกว่ารถยนต์ปกติทั่วไปนิดหน่อย ปรับระดับได้แค่ สูง – ต่ำ จากคันโยกตรงกลาง ใต้คอพวงมาลัย เท่านั้น

เบาะนั่งของ Captiva Premier เวอร์ชัน South America ที่เราทดลองขับกันนี้ หุ้มด้วยหนังสังเคราะ์สีดำเกรดค่อนข้างดีประมาณหนึ่ง เบาะคนขับ ปรับระดับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับพนักพิงเอน – ตั้งชัน และปรับระดับ สูง – ต่ำ ด้วยสวิตช์ไฟฟ้าด้านข้างฐานรองเบาะ ตัวเบาะนั่งมีขนาดใหญ่ พนักพิงหลัง ให้สัมผัสที่ แน่น นุ่มคล้ายนวม ชวนให้นึกถึงสัมผัสจากเบาะรถยุโรประดับ Near Premium รองรับแผ่นหลังได้ดีพอประมาณ จนถึงช่วงหัวไหล่

ขณะเดียวกัน พนักศีรษะ หุ้มด้วยหนัง เสริมด้วยฟองน้ำข้างในซึ่งค่อนข้างแน่น และเกือบแข็ง ข่าวร้ายก็คือ มันดันกบาลมากๆ ดันเสียจนกระทั่งจำเป็นต้องยกพนักศีรษะขึ้นใช้งาน 1 สเต็ป เพื่อลดอาการปวดเมื่อยต้นคอ และไม่สามารถปรับระดับความดันได้เลย ส่วนเบาะรองนั่งคู่หน้า มีความยาวในระดับเดียวกับ Nissan X-Trail แต่ะสัมผัสได้ถึงความหนาและแน่นของฟองน้ำเสริมเบาะที่มากกว่า

มีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ Pre-Tensioner & Load Limiter พร้อมตัวปรับระดับสูงต่ำของสายเข็มขัด มาให้

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีกว่าด้านหน้าชัดเจน อันที่จริง ก็เป็นเรื่องธรรมดา กระจกหน้าต่างคู่หลัง สามารถเลื่อนลงมาได้ แต่ไม่สุดขอบราง แผงประตูด้านข้าง หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ เสริมฟองน้ำ บุนุ่มข้างในไว้เล็กน้อย วางแขนและข้อศอกได้ถูกตำแหน่งพอดีๆ

Captiva ใหม่ เวอร์ชันไทย จะมีให้เลือกทั้งรุ่น เบาะ 2 แถว 5 ที่นั่ง และ เบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง โดยเบาะแถวกลางของทุกรุ่น จะเหมือนกัน คือ มีพนักพิงหลังที่แน่น แต่แอบนุ่ม รองรับแผ่นหลังได้สบายพอใช้ มีพื้นที่ตรงกลาง เว้าลงไปนิดนึง ช่วยเสริมให้การดันช่วงหัวไหล่ของ พนักพิงลังครึ่งท่อนบน ทำได้กำลังดี

พนักศีรษะ มาในสไตล์เดียวกับเบาะคู่หน้า คือ ใช้ฟองน้ำเสริมมาให้ค่อนข้างแน่น แข็ง และดันกบาล! จะปรับยกขึ้นใช้งาน ก็ยังไม่สบายหัวอยู่ดี ส่วนเบาะรองนั่งนั้น มีความยาวเหมาะสม ใช้ฟองน้ำ ค่อนข้างนุ่มกว่า และพอจะให้ความสบายในการเดินทางไกลได้อยู่

พื้นที่เหนือศีรษะ (Headroom) เหือค่อนข้างเยอะ แต่พื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารแถวกลางนั้น ปกติแล้ว จะมีเหลือในระดับพอใช้ได้ แต่สำหรับรุ่น 7 ที่นั่งแล้ว มันขึ้นอยู่กับความกรุณาของผู้โดยสารและผู้ขับขี่คู่หน้า และความจำเป็นในการปรับเลื่อนเบาะ เพื่อผู้โดยสารแถวหลัง เป็นสำคัญ

สิ่งที่ต้องขอบอกกล่าวกันไว้ตรงนี้ก่อนก็คือ แม้ว่าเบาะหลัง แถว 2 ของ Captiva ทุกรุ่น จะสามารถแบ่งพับ และปรับเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง รวมทั้งปรับพนักพิงเอนนอนลงไปได้ แยกฝั่งซ้าย – ขวา ในอัตราส่วน 60 : 40 แต่ เบาะของ Captiva ใหม่ เวอร์ชันไทย จะแตกต่างจาก เวอร์ชัน South America ที่คุณเห็นอยู่นี้ ตรงที่ว่า เวอร์ชันไทย จะมีกลไกการพับเบาะที่ง่ายดายกว่ามาก เพราะจากที่ผมลองใช้ความพยายามพับเบาะหลังของเวอร์ชันอเมริกาใต้แล้ว ค้นพบว่า มันยากและวุ่นวายมากๆ

หากจะพับพนักพิงหลังลงให้แบนราบ คุณต้องดึงสายคล้อง ซึ่งเป็นสลักปลดล็อก ติดตั้งอยู่ที่ฐานรองเบาะ เพื่อยกเบาะรองนั่งโน้มไปข้างหน้าเสียก่อน จากนั้นค่อย ดึงเชือกสายคล้องอีกเส้น บริเวณฐานพนักพิงหลัง เพื่อปลดพนักพิงให้พับลงมา ถ้าไม่ยกเบาะรองนั่งขึ้นก่อน ก็จะพับลงมาได้ไม่สุด

เดี๋ยวเรามารอดูดีกว่า ว่า เบาะแถว 2 ของเวอร์ชันไทย จะพับง่าย ใช้งานง่าย กว่านี้ มากน้อยแค่ไหน?

ส่วนการก้าวเข้า – ออก จากเบาะแถว 3 นั้น ปวดหัวไม่แพ้กัน เพราะ ตำแหน่งของเบาะหลัง ที่สามารถเลื่อนปรับให้ผู้โดยสาร สามารถเข้า – ออกได้นั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งพวงมาลัย ถ้าคุณอาศัยอยู่ในประเทศที่ขับรถด้วยพวงมาลัยขวา 17 ประเทศ เบาะแถว 2 ฝั่งซ้าย เท่านั้น ที่จะสามารถปรับให้คุณเข้า -ออกจากเบาะแถว 3 ได้ ในทางกลับกัน ถ้าคุณใช้รถพวงมาลัยซ้าย เบาะฝั่งขวาเท่านั้น ที่จะยอมให้คุณทำเช่นเดียวกัน (-_-‘)

เบาะนั่งแถว 3 สามารถ แบ่งพับในอัตราส่วน 50 : 50 เพื่อพับลงมาจนแบนราบได้ พนักศีรษะ ยังคงเป็นรูปทรงตัว L คว่ำ ต้องยกขึ้นมาใช้งาน มิเช่นนั้น ขอบด้านล่าง จะทิ่มตำแผ่นหลัง และบริเวณต้นคอ ส่วนพนักพิงหลัง ไม่ต้องสืบครับ ปรับเอนกว่านี้ก็ไม่ได้ นั่งไม่สบายอย่างแน่นอน เบาะรองนั่งไม่ต้องพูดถึง ยังไงๆ คุณก็ต้องนั่งชันขาอยู่ดี กระนั้น ก็ยังมีเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดมาให้ ทั้ง 2 ตำแหน่ง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดยกขึ้นในแนวตั้ง ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ติดตั้งซ่อนอยู่ใต้แถบโครเมียม เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการ ฝาท้ายแบบไฟฟ้า สามารถเลือกติดตั้งเพิ่มเติมได้ในฐานะ Dealer Option โดยที่คุณอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 12,000 บาท และสิ่งที่คุณควรจะรู้ก็คือ ฝาท้ายไฟฟ้าของ Captiva นี้ จะทำงานเฉพาะตอนปิดลงมา เท่านั้น

อ้าว แล้วตอนเปิดฝาท้ายยกขึ้นละ?
พี่ปุ๋ย ผู้บริหารของ Chevrolet อันสุดแสนจะเฮฮา Extravaganza ที่ไปด้วยกัน ตอบสวนทันที

“ก็ใช้ผัวเปิดให้สิค้าาาาาา”

เดี๊ยววววววว หยั่งงี้ก็ได้หราาาา!!!! เพ่ปุ๋ยยยยยยยย???

แผงหน้าปัด ออกแบบมาให้ดูหรูร่วมสมัย และใช้วัสดุค่อนข้างดีผิดคาด นอกจากนี้ยังมีวัสดุบุนุ่มมาให้ ในหลายจุด ส่วนชุดมาตรวัดจะเป็นแบบ 2 วงกลม ตรงกลางมีจอ Multi Information Display แสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย และ Real Time ระยะทางที่รถแล่นต่อได้จากน้ำมันในถังที่เหลือ คำนวนเวลาต่างๆ รวมทั้งยังมีระบบตรวจเช็คแรงดันลมยาง TPMS (Tyre Pressure Monitoring System) มาให้ในบางตลาด

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนังสังเคราะห์ จับกระชับมือพอประมาณ มีคันโยกใต้คอพวงมาลัย สำหรับปรับระดับ ได้แค่ สูง – ต่ำ เท่านั้น ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic ได้ มีสวิตช์ Multi Function มาให้บนก้านพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง โดยฝั่งขวา ใช้ควบคุมชุดเครื่องเสียง ระบบโทรศัพท์ เชื่อมต่อกับ Bluetooth ส่วนฝั่งซ้าย ควบคุมระบบ ล็อกความเร็วคงที่ Cruise Control

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ มีหน้าจอ Digital มีทั้งแบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา และแยกฝั่งไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละตลาด ติดตั้งอยู่ด้านล่าง ตั้งข้อสังเกตว่า สวิตช์ปรับอุณหภูมิให้สัมผัสที่นุ่มนวล Soft Touch ดุจรถยนต์ Premium ราคาแพง ทำความเย็นได้ไวพอประมาณ

อย่างไรก็ตาม Captiva เวอร์ชันไทย จะถูก Ugrade ไปใช้แผงหน้าปัดอีกแบบหนึ่ง เหมือนกับ Wuling Almaz เวอร์ชัน Indonesia ซึ่งจะมีชองแอร์คู่กลาง เป็นแนวตั้ง ขนาบข้างจอ Monitor สี Touch Screen ขนาด 10.4 นิ้ว ขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม C-Segment SUV พร้อมระบบ Smart Infotainment ใช้ควบคุมทั้งเครื่องเสียง การแสดงข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเป็นหน้าจอให้เครื่องปรับอากาศอีกด้วย ที่สำคัญก็คือ มีมาให้ครบตั้งแต่รุ่นถูกสุด!

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม *********

Chevrolet Captiva เวอร์ชันที่ทำตลาดทั้งในจีน อเมริกาใต้ ASEAN และประเทศไทย จะวางขุมพลังเพียงแบบเดียว เหมือนกันทั้งหมด นั่นคือ เครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร (1,451 ซีซี) จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ MFI (Multi Fuel Injection) พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger จาก Honeywell

กำลังสูงสุดในเวอร์ชันตลาดโลก 147 แรงม้า (HP) หรือ 152 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แต่สำหรับเวอร์ชันไทย ด้วยเหตุผลด้านมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวด ในระดับ Euro 4 รวมทั้งคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงในบ้านเรา เดาว่าน่าจะทำให้ตัวเลขจะลดลงมา เหลือ 143 แรงม้า (HP) ที่ 5,500 รอบ/นาที โดยยังคงแรงบิดสูงสุดไว้เท่าเดิม คือ 230 นิวตัน-เมตร (20.38 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 3,800 รอบ/นาที ซึ่ง GM เคลมไว้ว่า มีแรงบิด ดีที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม C-Segment SUV ด้วยกัน เวอร์ชันไทย จะใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT จาก BOSCH เพียงแบบเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเตรียมงาน และความพร้อมของทางโรงงานที่เมืองจีน ทำให้ รถยนต์ทดลองขับสำหรับสื่อมวลชนชาวไทยในทริปนี้ จึงมีเฉพาะรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ซึ่งจะไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย! ถ้าอยากรู้ว่าทำไม เลื่อนลงไปอ่านในส่วน “การทดลองขับ”

 

พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ MacPherson Strut พร้อมช็อกอัพ และคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระ Trapezoidal Multi-Link พร้อมคอยล์สปริง

ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมตัวช่วยทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) , ระบบกระจายแรงเบรก ตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution), ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC (Electronic Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีตอนออกตัว Tractionn Control , ระบบช่วยขึ้นเนิน HSA (Hill Start Assist) , ระบบช่วยลงเนิน HDA (Hill Descent Assist) , ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ Roll Over Mitigation ,ถุงลมนิรภัย 6 ใบ ฯลฯ

***** การทดลองขับ *****

เนื่องจาก การทดลองขับในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการ “ชิมอาหาร” เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า Chevrolet Thailand มีเวลาเตรียมงานสำหรับ ทริปนี้  ค่อนข้างเร่งด่วนเอาเรื่อง คือภายในระยะเวลาประมาณไม่เกิน 2 เดือน กอปรกับ ทางโรงงานในจีน ไม่ได้ผลิต Captiva เวอร์ชันไทย จึงไม่มีรถยนต์เวอร์ชันไทยให้ทดลองขับเลย มีแต่ Captiva สเป็ก South America ให้สื่อมวลชนไทย จำนวน 3 คัน ได้ลองขับกัน และมีแค่รุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เท่านั้น ทาง SGMW ที่จีนก็บอกว่า ยินดีให้ลองขับ แต่ต้องไปขออนุญาตกับทาง GM South America ซึ่งสั่งซื้อ Captiva ล็อตนี้ไปแล้วดูก่อน

ทีมงานฝั่งไทยและจีน ก็เลยต้อง ประสานขอความอนุเคราะห์ไปยัง GM ใน South America ว่า ขอยืมรถ 3 คัน มาให้เราได้ลองกันก่อน อีกคันหนึ่ง เอาไว้จอดโชว์ ทาง South America ก็บอกว่า ยินดี แต่ต้องมีการควบคุมเลขไมล์ บน Odometer ไม่ให้เกินมาตรฐานของรถยนต์ใหม่ ที่ GM Global กำหนดไว้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทาง SGMW จัดให้เราทดลองขับ Captiva ใหม่ เวอร์ชัน South America บนสนามทดสอบของพวกเขา ซึ่งถูกจำกัดเส้นทางเอาไว้แค่ใน Ride Road กับ Handling Course ให้สามารถลองขับได้แค่เพียงคนละ 300 เมตร เท่านั้น!!  แถมยังมีการจำกัดความเร็วไว้ในแต่ละเส้นทาง สูงสุด ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมทั้งมี Instructor ชาวจีน นั่งประกบ คอยรักษากฎอย่างเคร่งครัดมากๆ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุใดๆ อันจะทำให้สถิติด้านความปลอดภัยของโรงงาน SGMW ต้องกระทบกระเทือนได้

ในเมื่อเวลาที่สื่อมวลชนแต่ละท่านจะได้ขับเจ้า Captiva นั้น เต็มที่สุด คนละไม่ถึง 3 นาที และไม่มีโอกาสให้ผมได้จับเวลาหาอัตราเร่งใดๆทั้งสิ้นเลย ดังนั้น ผมจึง จำเป็นต้องเขียนจากสัมผัสที่ผมได้รับมาจากตัวรถ ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ตัวรถพอจะสำแดงออกมาได้ ภายใต้เวลา และสภาพเส้นทางที่ถูกจำกัดไว้ เท่านั้น…

เฮ้อออออ!!

เริ่มกันที่พละกำลัง ถ้าคุณเห็นว่า Captiva วางเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร พ่วง Turbo แล้ว จะคิดว่ามันน่าจะแรงพอๆกับ Honda Civic Turbo RS ละก็… ลืมไปได้เลยครับ มันไม่ได้แรงขนาดนั้นหรอก แค่เพียงตอบสนอง คล้ายๆกับ Mitsubishi Xpander มากกว่า คือมี Turbo ก็เหมือนไม่มี

จริงอยู่ว่า มันไม่ได้อืดถึงขนาด Nissan Note หรือ MGZS แน่ๆ แต่ อัตราเร่งแบบนี้ มันเหมาะกับการพาครอบครัวขับไปเที่ยวต่างจังหวัดแบบอีเรื่อยเฉื่อยแฉะมากกว่า นี่ขนาดว่า เป็นเกียร์ธรรมดาแล้วนะ การไต่ความเร็วขึ้นไป จนถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นไปอย่างราบรื่น สบายๆ ไม่รีบไม่ร้อน เร็วกว่า ECO Car เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร แน่ๆ และใกล้เคียงกับ รถเก๋ง C-Segment เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ธรรมดาๆ แต่ไม่แรงมากมายขนาดจะไปไล่บี้กับ บรรดา คู่แข่งในพิกัดเดียวกันได้ง่ายๆนักๆ

เกียร์ธรรมดา (ซึ่งจะไม่มีขายในเมืองไทย) มีคันเกียร์ น้ำหนักเบา เข้าได้กระชับ Shift feeling เหมือน คันเกียร์ธรรมดา ของ Suzuki Swift และ Suzuki Ciaz (ในจีน เรียกว่ารุ่น Alivio) ส่วนแป้นคลัชต์ เบาม๊ากกกก จุดตัดต่อกำลัง อยู่ในระดับปานกลาง ค่อนข้างตื้น ถอนคลัตช์ขึ้นมาเพียงนิดเดียวก็เจอแล้ว

เดี๋ยวเราค่อยมารอดูกันว่า เวอร์ชันไทย เมื่อนำเครื่องยนต์ 1.5 Turbo มาพ่วงเกียร์ CVT อัตราเร่งจะเป็นอย่างไร?

พวงมาลัยไฟฟ้า ให้การตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำ เบาและมีช่วงระยะฟรีแบบพวงมาลัยไฟฟ้าในรถยนต์ทั่วๆไป ระดับราคาไม่เกิน 900,000 บาท แต่จะเริ่มหนืดขึ้นนิดนึง เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น ความต่อเนื่อง พอใช้ได้ ไม่ถึงขั้นทื่อเป็นพวงมาลัย Robot อย่างที่เรามักเจอใน ECO Car ทั่วๆไป แต่ก็ไม่ถึงขั้น ตอบสนองดีเลิศอย่างรถเก๋งคันละ ล้านกว่าบาท ถ้ามองในภาพรวม การตอบสนอง อาจจะสู้ Honda CR-V ไม่ถึงกับได้นัก แต่แน่นอนว่า น้ำหนักพวงมาลัย น่าจะหนืดกว่า Mazda CX-5 กับ Nissan X-Trail นิดเดียว และในภาพรวม มันดีกว่า Mitsubishi Xpander แน่ๆ ในประเด็นนี้

ช่วงล่าง ให้สัมผัสที่คล้ายกับ ช่วงล่างของ MG GS มันเป็น Feeling ของรถที่มีตัวถังหนักประมาณหนึ่ง แต่ตัวสูงนิดๆ ต้องมาเจอกับช่วงล่างที่เบาปานกลาง การขับขี่ผ่านพื้นผิวขรุขระ ในความเร็วต่ำๆ พอให้ความนุ่มสบายได้อยู่ แต่ถ้าเจอกับพื้นผิวต่างระดับ เช่น จากทางทรายที่กำลังก่อสร้าง ต้องปีนเบาๆขึ้นไปบนพื้นปูนซีเมนท์ ทันที จะพบว่า มีแรงสะเทือนตึงตังชัดเจนมากๆ เข้ามาให้ทุกคนในรถได้สัมผัส พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ การดูดซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ อาจไม่ถึงกับดีนัก แต่ก็จัดว่ายอมรับได้ ไม่น่าเกลียด

ส่วนการเข้าโค้ง ไปตามทางคดเคี้ยว ในช่วงความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถจะเอียงในระดับปานกลาง ค่อนข้างเยอะหน่อยๆ ตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้าขับผ่านทางโค้ง ซึ่งมีพื้นผิวขรุขระ เป็นลอนคลื่นถี่ๆ อาจสัมผัสได้ถึงความตึงตังของช่วงล่างขึ้นมานิดหน่อย ภาพรวม คล้ายกับการขับอยู่ใน Chevrolet Optra ที่มีตัวถังสูง และตำแหน่งเบาะสูง มากกว่าที่จะใกล้เคียงกับ Captiva รุ่นเดิม ซึ่งหนักไปทั้งคัน

การตอบสนองของระบบเบรกนั้น ดูเหมือนจะเซ็ตมาให้เอาใจลูกค้าสุภาพสตรี ซึ่งชอบแป้นเบรกที่ง่ายต่อการควบคุม ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่คุณจะพบว่า แป้นเบรกมีระยะเหยียบ ปานกลาง แต่มีน้ำหนัก”เบามากกก” เหยียบง่าย แต่ต้องเหยียบลงไปราวๆ 30% จึงจะพบว่าเบรกค่อยเริ่มทำงาน แต่เมื่อรถชะลอจนใกล้หยุด หากต้องการควบคุมน้ำหนักเท้าบนแป้นเบรก เพื่อหยุดรถให้นนุ่มนวล นั่นไม่ใช่เรื่องยากเลย ทำได้ง่ายดายแน่ๆ

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
C-Segment SUV วางราคาเริ่มต้นเท่าๆ Zafira ในอดีต

การไปเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนา R&D Center รวมทั้ง Design Center ของ SGMW ในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นความก้าวหน้าของทั้ง GM , SGMW และทีมวิศวกรกับนักออกแบบชาวจีน ในการสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ของพวกเขา ตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จออกมา พร้อมสู่การนำไปผลิตจริง  ทำให้ผมได้รักจักษ์แล้วว่า วันนี้ ชาวจีน ยุคใหม่ เริ่มเปลี่ยน Attitude ไปในทางที่ดีขึ้นมาก พวกเขาทุ่มเทไม่อั้นให้กับการนำเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัย เพื่อให้การพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ นับจากนี้ไป มีมาตรฐาน และงานออกแบบในระดับทัดเทียมนานาอารายะประเทศมากขึ้น ก้าวสู่ระดับ “World Class” มากขึ้นกว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามากๆ

ดังนั้น ผลผลิตล่าสุดของพวกเขา อย่าง Baojun 530 ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดย SGMW เพื่อนำไปผลิตที่โรงงานใน Indonesia และเตรียมส่งมาขายยังเมืองไทย ในชื่อ Chevrolet Captiva จึงมีงานออกแบบทั้งภายนอก ภายใน การเลือกใช้วัสดุตกแต่งห้องโดยสาร การเซ็ตช่วงล่าง และคุณภาพการขับขี่ ที่ “ใกล้เคียงกับบรรดาคู่แข่งในตลาดมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต” แต่มาในราคาที่ “ถูกกว่า คู่แข่งนิดหน่อย”

ความน่าเป็นห่วงก็คือ จริงอยู่ว่า การที่ Captiva ใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นโดย พันธมิตร SAIC-GM-Wuling ในจีน จะไม่ใช่เรื่องใญ่สำหรับผม เพราะการไปเยือนฐานทัพของพวกเขา ทำให้ผมมั่นใจขึ้นว่า พวกเขา ไม่ใช่ชาวจีนทำรถลวกๆออกมาขายเหมือนอย่างสมัยก่อนแน่ๆ

ทว่า การประกอบจากโรงงาน “ใหม่เอี่ยมอ่อง” ของพันธมิตร SAIC-GM ใน Indonesia น่าจะทำให้ GM/Chevrolet อาจต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อจะแก้ไขทุกความข้องใจของทั้งสื่อมวลชนและผู้บริโภค ที่มีต่อ B+C-Segment SUV 7 ที่นั่ง คันนี้ เพื่อที่จะยืนยันเรื่องการควบคุมคุณภาพของทั้งชิ้นส่วน และการประกอบ ว่าจะยังมั่นใจได้ในมาตรฐานระดับโลก และแตกต่างจากบรรดารถยนต์ Made in Indonesia คันอื่นๆที่เคยเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ คงหลีกเลี่ยงได้ยาก ถ้าหากลูกค้าจำนวนมาก จะนำราคา ประมาณ 9 แสนบาทปลายๆ – 1 ล้านบาท ต้นๆ ไปเปรียบเทียบกับบรรดาคู่แข่ง ในกลุ่ม B-Segment SUV ทั้งที่ตัวรถนั้น ทำตลาดคร่อมอยู่ในกลุ่ม B+C Segment SUV ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความเก่งกล้าวิทยายุทธของ Chevrolet Sales Thailand ว่าจะเอาชนะอุปสรรคข้อนี้ไปได้หรือไม่

สิ่งที่เราพอจะยืนยันได้ ถึงความแตกต่าง ของ Captiva เมืองไทย เมื่อเทียบกับ SUV รุ่นเดียวกันนี้ ในเวอร์ชันอื่นๆทั่วโลกก็คือ

1. เครื่องยนต์ จะเป็นแบบ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1.5 ลิตร เหมือนตลาดโลก แต่ตัวเลขแรงม้า อาจไม่เหมือน
2. แผงหน้าปัด มาพร้อมจอ Touch Screen 10.4 นิ้ว ใหญ่สุดในกลุ่ม และมาครบตั้งแต่รุ่นถูกสุด
3. เบาะแถวหลัง ใช้งานง่ายกว่า เวอร์ชัน South America
4. มาพร้อม Option บางรายการที่น่าจะแข่งขันในตลาดได้

เอาละ เวอร์ชันไทยของ Captiva จะแตกต่างจาก รถคันที่ผมลองขับข้างบนนี้ มากน้อยแค่ไหน? ขับทางไกลยาวๆ แล้วจะให้ประสบการณ์อย่างไร พละกำลังในการใช้งานจริง เพียงพอหรือไม่? อัตราสิ้นเปลืองจะทำได้เท่าไหร่? สมกับค่าตัว 9 แสนบาทปลายๆ – 1 ล้านกว่าบาท ต้นๆ หรือไม่

กันยายนนี้ ได้รู้กัน!

———————-///———————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

SGMW Ltd. ,Liuzhou , Republic of China
Mike Devereux, Executive Vice President, SGMW
Huang haohua, Baojun Brand Manager, SGMW
Robert Gao, Design Director, SGMW
Peng Lingchen, Director of Manufacturing Operations, SGMW
Zhang Fei, Director of Test Operations

GM China Science Lab.
Jeff Wang, Site Leader, GM China Science Lab
Helen Liu,
Lab Group Manager,Advanced Battery and Manufacturing Process

General Motors (Thailand) Co.,Ltd. & GM Southeast Asia (SEA)
Sean Poppitt , Director of Marketing and Communications

Chevrolet Sales (Thailand) Co.,Ltd.
Piyanuch Chaturaphat ,General Director of Sales
Pucharapan Holim , Communications Manager

สำหรับการจัดทริปในครั้งนี้ รวมทั้งการดูแลต้อนรับที่ประเสริฐเลิศเลออย่างยิ่ง!

————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์บางส่วน เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในพื้นที่ของ SGMW เป็นของ
QiLai Shen
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
2 กรกฎาคม 2019

Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Some picture shooted in SGMW Facility by :
QiLai Shen
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 2nd,2019

แสดงความคิดเห็น เชิญที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!