กรกฎาคม 2017

ขณะที่เรากำลังเตรียมแผน เพื่อพาสมาชิก The Coup Team ของเรา บินมาทำข่าว ทำรายการ ในงาน Tokyo Motor Show ปลายเดือนตุลาคม น้องหมู Moo Cnoe สมาชิกคนหนึ่งของเรา ก็เสนอขึ้นมาว่า “เราน่าจะเช่ารถมาลองขับในญี่ปุ่นกันดู เลือกรุ่นที่มีแนวโน้มว่าจะถูกส่งเข้าไปจำหน่ายในเมืองไทย”

อึ้ม! น่าสนใจนะ

อันที่จริงแล้ว หลายๆคนที่เคยพูดคุยกับผมในช่วงอดีตที่ผ่านมา ก็เคยเสนอมาแล้วว่า เราควรทำบทความรีวิวทดลองขับรถยนต์บนถนนในแดนอาทิตย์อุทัยกันบ้าง เพราะเท่าที่จำได้ ส่วนใหญ่ สื่อมวลชนที่เดินทางมายังญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่มีโอกาสได้ทดลองขับรถยนต์ เฉพาะบนสนามทดสอบ หรือเส้นทาง ที่บริษัทรถยนต์ เป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้ทั้งสิ้น แต่ยังแทบไม่ค่อยมีใคร ทำรีวิวกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน

จะว่าไปแล้ว ในอดีต หาใช่ไม่เคยมีใครทำ เพียงแต่ คนที่เคยทำอย่างนั้น เท่าที่ผมทราบ มีเพียงนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ในสมัยทศวรรษ 1980 – 1989 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ มีผู้สื่อข่าวประจำในเยอรมนี ไปเรียนต่อ/ไปทำงาน และเช่ารถมาทำบทความลองขับในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว ทว่า ทุกวันนี้ ก็แทบไม่ค่อยเห็นใครทำเช่นนี้อีก

ผมเองก็เดินทางมาญี่ปุ่น นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ปี 1999 ถึงจะเคยมีโอกาสลองขับ Nissan X-Trail บนถนนญี่ปุ่น มาแล้ว ในช่วงปี 2014 – 2015 แต่นั่นก็เป็นการจัดเตรียมงาน โดยทาง Nissan ไม่ได้ลองขับบนเส้นทางอิสระที่เราเลือกเองแต่ประการใด…ใจผมนั่น อยากลอง เช่ารถยนต์ขับในญี่ปุ่นเอง มานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสประจวบเหมาะสักที

เอาวะ ไหนๆ ก็ไหนๆ ในเมื่อเราจะทุ่มทุนสร้างกันอลังการ เพื่อทำบทความ Tokyo Motor Show ปีนี้แล้ว ดังนั้น เราควรจะเช่ารถมาลองขับเลยแล้วกัน!

ว่าแต่ว่า..จะเช่ารถยนต์รุ่นไหนดีละ?

เอาละ เริ่มต้น เราก็ต้องมาไล่เรียงกันว่า ภายในช่วงนี้จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2018 มีรถยนต์รุ่นไหนบ้าง ที่มีแผนเตรียมจะเปิดตัวในเมืองไทย? รถยนต์รุ่นนั้นจะต้องมีขายในญี่ปุ่น และมีให้เช่า โดยบริษัทรถเช่าในญี่ปุ่นด้วย

พอโจทย์ออกมาเป็นแบบนี้ ตัด Suzuki Swift ทิ้งไปก่อนได้เลย เพราะไม่มีบริษัทใด เปิดให้เช่ารถยนต์รุ่นนี้ ครั้นจะเช่า Nissan Note e-Power ก็ยังดูไกลห่างจากการเปิดตัวในบ้านเราไปหน่อย Mazda CX-5 รุ่นใหม่ ก็ยังไม่มีให้เช่า มีแต่รุ่นเก่า เครื่องยนต์ Diesel 2.2 ลิตร Turbo นอกนั้น รถหลายๆรุ่น เราก็เคยทำรีวิวกันไปหมดแล้ว บางรุ่นอยากลองขับมากๆ แต่ค่าเช่าแพงโหด จนไม่คุ้มค่าเช่าเลย

มองไปมองมา เดินเล่นในเว็บไซต์ของ Toyota Rent a Car ก็เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาดัง ปิ๊ง! Toyota มี C-HR ให้เช่าขับด้วย! ดูเหมือนว่า B-Segment Crossover รุ่นล่าสุดของ Toyota คันนี้ เข้าข่ายดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดพอดี! เพราะอีกไม่นานหลังจากนี้ Toyota Motor Thailand เตรียมจะเผยโฉม C-HR ให้คนไทยได้สัมผัสและเป็นเจ้าของกันเสียที หลังจากรอมาเกินกว่า 1 ปี

โอเค เสร็จกรู! หึหึหึ

ตอนแรก ตั้งใจว่า จะเช่า C-HR มาลองทั้ง 2 เครื่องยนต์ คือ รุ่น 1.8 Hybrid และ 1.2 Turbo แต่น่าเสียดายว่า Toyota Rent a Car มีรุ่น 1.8 Hybrid ให้เช่าเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น เราจึงได้แต่ทำใจ และยอมรับ C-HR 1.8 Hybrid รุ่นย่อย S มาลองขับใช้งานกันเป็นเวลา 1 วันเต็ม พร้อมกับเช่ารถตู้ Toyota Noah Hybrid อีก 1 คัน รวมเป็น 2 คัน เพื่อร่วมเดินทางกันไปยังทะเลสาบ Kawaguchiko

เชื่อว่าตอนนี้หลายๆคนคงอยากรู้แล้วว่า C-HR จะขับดีไหม สู้คู่แข่งหลักอย่าง Honda HR-V , Mazda CX-3 , Nissan Juke ได้หรือไม่ สมควรรอเป็นเจ้าของมากน้อยแค่ไหน เราพยายามจะใช้เวลาที่มีอยู่จำกัด บนสารพัดข้อจำกัดในการขับขี่บนทางด่วนที่ญี่ปุ่น มาเล่าให้คุณผู้อ่านได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องขอบอกกันก่อนว่า บทความนี้ อาจจะตอบคำถามได้เพียงบางส่วน เนื่องจาก C-HR คันที่เราลองขับ เป็นรถยนต์เวอร์ชันญี่ปุ่น สำหรับจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นของเขา จึงอาจมีความแตกต่างจากเวอร์ชันไทยอยู่บ้าง ทั้งการเซ็ตช่วงล่าง และระบบขับเคลื่อน ดังนั้น บทความนี้ จึงอาจใช้อ้างอิงได้ในช่วงเวลาก่อนที่ C-HR จะเปิดตัวสู่ตลาดเมืองไทย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2018 เท่านั้น

ถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว…ก็เลื่อนลงไปอ่านข้างล่างได้เลย!

Toyota C-HR เป็นรถยนต์ B-Segment Crossover SUV รุ่นใหม่ล่าสุด เผยโฉมครั้งแรกในฐานะรถยนต์ต้นแบบ ณ งาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน 2014 จากนั้น ก็ค่อยๆ มีเวอร์ชันใกล้เคียงความจริงตามออกมา ท้ายที่สุด เวอร์ชันจำหน่ายจริง ก็ถูกเปิดผ้าคลุมเป็นครั้งแรก ในงาน Geneva Motor Show เดือน มีนาคม 2016 แต่กว่าจะเริ่มทำตลาดจริง สายการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่น ก็เริ่มขึ้นเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2016 ตามด้วยการเปิดตัวออกสู่ตลาดบ้านตัวเอง เมื่อ 14 ธันวาคม 2016 ตามด้วยตลาดอเมริกาเหนือ Europe และ ASEAN ตามลำดับ โดยชื่อ C-HR นั้น มาจากคำว่า Compact High Rider หรือ รถยนต์ที่มีขนาดเล็ก แต่ยกพื้นให้สูงขึ้น

C-HR ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถังใหม่ล่าสุด TNGA-C (Toyota New Global Architecture – Compact) ซึ่งเน้นการปรับปรุงด้านการขับขี่ให้คล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพดีขึ้นในทุกๆด้าน งานนี้ Toyota ทุ่มทุนสร้าง ถึงขั้น นำรถต้นแบบไปทดสอบบนสนามแข่งรถ Nurburgring ในเยอรมนี มาแล้ว

Hiroyuki Koba ผู้จัดการทั่วไปที่รับผิดชอบโครงการพัฒนา C-HR เล่าว่า เป้าหมายสำคัญของ Toyota C-HR คือการจับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชอบ Toyota มาก่อนและหวังว่า C-HR จะสามารถเปลี่ยนความคิดของลูกค้าเหล่านั้นได้ เขายังกล่าวว่า “งานออกแบบที่สุดโต่ง ทำให้ผู้คนจำนวนมาก เมื่อได้เห็นรถคันนี้แล้ว ถ้าไม่รัก ก็รู้สึกเกลียดกันไปเลย”

ไม่ว่าคุณจะชอบรูปลักษณ์ของมันหรือไม่ เราก็ต้องยอมรับว่า เส้นสายภายนอกที่โฉบเฉี่ยวเฟี้ยวฟ้าวขนาดนี้ ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนภาพลักษณ์ และ ลบภาพรถยนต์น่าเบื่อของแบรนด์ Toyota ลงไปได้ เยอะเลยทีเดียว

กลุ่มเป้าหมายของ Toyota C-HR คือคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบและอยากได้รถยนต์ Crossover ที่มีบั้นท้ายแบบรถยนต์ Coupe 2 ประตูที่มีการออกแบบที่ฉีกแนวจากรถยนต์ทั่วไป แตกต่างจากกลุ่มลูกค้า Toyota ในยุโรปที่มีอายุเฉลี่ย 56-57 ปี ถือเป็นกลุ่มอายุเฉลี่ยลูกค้าสูงกว่าค่ามาตรฐานการสำรวจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเด็นที่น่าสนใจคือ Toyota คาดหวัง C-HR ให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยคิดจะซื้อรถยนต์ Toyota มาก่อน ในสัดส่วนเฉลี่ย 20% ของยอดขาย C-HR ในญี่ปุ่นทั้งหมด

Toyota Motor ตั้งเป้าขาย C-HR ทั่วโลกปีละ 170,000 คัน สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา จะส่งทำตลาดในปี 2017 จากฐานการผลิตโรงงาน Sakarya ประเทศตุรกี ที่มีกำลังผลิตปีละ 100,000 คัน ส่วนโรงงาน Iwate ในญี่ปุ่นจะมีกำลังผลิตสำหรับตลาดในประเทศและส่งออกรวมปีละ 70,000 คัน

ทว่า เพียงแค่เปิดตัวมาได้ไม่กี่เดือน C-HR ก็ทำสถิติ ยอดสั่งจองในยุโรป จนถึงเดือนเมษายน 2017 ล้นหลามถึง 80,000 คันเข้าไปแล้ว! แค่เพียงช่วงไตรมาส 1 ของปี 2017 Toyota C-HR ก็มียอดขายสูงถึง 31,888 คัน ถือว่าสูงมากถ้าเทียบกับยอดขายของคู่แข่งอย่าง Nissan Qashqai 75,114 คัน, Ford Kuga 40,033 คัน, Peugeot 3008 37,163 คัน, Renault Kadjar 29,474 คันและ Seat Ateca 21,707 คัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ในญี่ปุ่นเอง C-HR ก็เคยทำยอดขายอันดับ 1 ในตาราง 30 อันดับรถยนต์ขายดี ประจำเดือน เมษายน 2017 มาแล้ว!

C-HR มีความยาว 4,360 มิลลิเมตร กว้าง 1,795 มิลลิเมตร สูง 1,565 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,640 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Honda HR-V ซึ่งมีความยาว 4,294 มิลลิเมตร กว้าง 1,772 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตรแล้ว จะพบว่า C-HR ยาวกว่า 66 มิลลิเมตร กว้างกว่า 23 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 40 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ ยาวกว่า 30 มิลลิเมตร

พอเปรียบเทียบกับ Mazda CX-3 ซึ่งมีความยาว 4,275 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร สูง 1,550 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร จะพบว่า C-HR ยาวกว่าถึง 85 มิลลิเมตร กว้างกว่า 30 มิลลิเมตร สูงกว่า 15 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาวกว่า 70 มิลลิเมตร

และเมื่อเปรียบเทียบกับ Nissan Juke ซึ่งมีความยาว 4,135 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร สูง 1,580 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,520 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า C-HR ยาวกว่ามากถึง 225 มิลลิเมตร  กว้างกว่า 30 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า Juke 15 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า Juke ถึง 120 มิลลิเมตร

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าความกว้างของช่องประตู จะอยู่ในมาตรฐานของรถยนต์ทั่วๆไปตามปกติ ทว่า โครงสร้างเสากรอบด้านบน ค่อนข้างเตี้ย ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะก้มหัวขณะหย่อนก้นลงนั่งบนเบาะคนขับ ยังไงๆ หัวคุณก็เฉี่ยวขอบหลังคาด้านบนอยู่ดี

พื้นที่วางแขนบนแผงประตูด้านข้าง สามารถวางได้ในระดับพอดีๆ มีพนักวางแขนบุด้วยหนังหุ้มฟองน้ำ ช่องวางของด้านล่าง วางได้แค่ของจุกจิกนิดๆหน่อยๆ และขวดน่ำดื่มขนาด 7 บาท เท่านั้น

เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักพิงหลังที่นุ่มแบบนวม โอบกระชับรับสรีระกำลังดี ให้สัมผัสที่นุ่มแน่นกำลังดี คล้ายนวมบนโซฟาในบ้านของใครหลายๆคน ส่วนเบาะรองนั่ง ก็มีความยาวเท่ากับมาตรฐานของเบาะนั่งในรถยนต์ Toyota ทั่วไป คือสั้น! แต่ก็นุ่มแน่นสบายๆ

ทว่า สิ่งที่ควรปรับปรุง ก็ยังคงเป็นพนักศีรษะ ทึ่นอกจากจะแข็งระดับปาหัวหมาสลบตายได้เลยแล้ว มันยังดันกบาลบริเวณกลางหัว อีกต่างหาก อาจต้องปรับเบาะเอนลงนิดนึงเพื่อช่วยลดปัญหานี้ลงไป

เรื่องตลกก็คือ เบาะนั่งรถตู้ Toyota Noah ที่เราเช่ามาเป็นรถตู้สำหรับทีมงานของเว็บ ซึ่งร่วมเดินทางไปกับเราด้วย กลับนั่งสบายกว่าอย่างน่างุนงงเป็นที่สุด!!!

บานประตูคู่หลังก็เช่นเดียวกัน ช่องทางเข้า – ออก กว้างกว่า Nissan Juke และ Mazda CX-3 กว้างพอกันกับ Honda HR-V แต่พอถึงจังหวะต้องก้มหัวพร้อมกันหย่อนก้นลงนั่งบนเบาะหลัง ยังไงๆ หัวก็อาจเฉี่ยวขอบหลังคาได้อยู่ดี

พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง มีข้อเสียคือ เตี้ยไป แต่ข้อดีก็คือ มีการออกแบบช่องวางขวดน้ำดื่ม 7 บาท เอาไว้ในตำแหน่งที่ดีงาม สะดวกต่อการใช้งานมากทั่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในรถยนต์รุ่นใหม่ๆช่วง สิบกว่าปีมานี้เลย!

เบาะหลังเหมือนจะนั่งสบายกว่าที่คิด แม้ว่าเบาะรองนั่งจะสั้น แต่พนักพิงหลัง ยังพอหลงเหลือความนุ่มจากฟองน้ำด้านในมาให้อยู่บ้างเล็กน้อย กระนั้น พนักศีรษะ ก็ยังคงแข็งไม่แพ้ พนักศีรษะด้านหน้าเลย ดุจราวกับว่า ด้านหน้าหรือด้านหลัง กำลังแข็งขันกัน ใครแข็งกว่า ก็ชนะไป…!?

หากคุณขึ้นไปนั่งบนเบาะหลัง โดยหลับตาลง ใช้มือสัมผัส คุณจะพบว่า พื้นที่ภายในหองโดยสาร มันกว้างสบายใช้การได้เลยทีเดียว พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อย่างผม ยังเหลือมากถึง 4 นิ้วในแนวนอน! ขณะเดียวกัน พื้นที่ Leg Room ก็เหลือเพียงพอให้วางขาได้ ในระดับที่พอกันกับ Honda HR-V นั่นละครับ

แต่พอคุณลืมตาขึ้นมาดูสรรพสิ่ง เท่านั้นแหละ คุณจะรู้สึกว่า ทำไมภายในมันช่างอึดอัดคับแคบ มากขนาดนี้? คำอธิบายในประเด็นนี้ก็คือ เนื่องจากการอกแบบเส้นสายภายนอก ที่เน้นความโฉบเฉี่ยวเฟี้ยวฟ้าว ทำให้ต้องออกแบบเส้นบั้นเอว แนวขอบกระจกหน้าต่างด้านล่าง สูงไล่ขึ้นมาถึงมือเปิดประตูด้านนอก อย่างที่เห็นในรูป ดังนั้น ภายในจึงต้องถูกออกแบบให้แผงประตูมีพื้นที่เลยเถิดขึ้นมาถึงขอบด้านบนสุด แถมการตกแต่งด้วยสีดำ ยังเพิ่มความมืดมิดดำสนิทให้หองโดยสารยิ่งกว่าเก่า นั่นละครับ เหตุผลที่ทำให้คุณอาจเข้าใจไปว่า ภายในของ C-HR นั้น แคบ ทั้งที่จริงๆแล้ว หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ถ้าเทียบกับคู่แข่งละ? แน่นอนครับ พื้นที่โดยสารด้านหลังของ C-HR อยู่ในระดับดี เทียบเท่าใกล้เคียงกับ Honda HR-V แต่ดีกว่าทั้ง Mazda CX-3 และ Nissan Juke แน่นอน! เพราะ 2 รุ่นหลังนี้ เบาะหลัง มีไว้ขนเจ้าชิวาว่าปากเปราะดีแต่เห่าเท่านั้นเลย

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาด 377 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี เล็กกว่า HR-V (565 ลิตร) แต่ใหญ่กว่า ทั้ง CX-3 และ Juke ชัดเจนมากๆ! อย่างน้อยๆ คุณก็สามารถขนกระเป๋าเดินทางขนาดกลางได้ 2 ใบ หรือขนาดใหญ่สุด 1 ใบ และขนาดเล็ก อีก 1 ใบ โดยไม่ต้องพับเบาะหลัง รวมทั้งยังมีแผงบังสัมภาระด้านหลัง มาให้จากโรงงาน

รุ่น Hybrid S คันที่เราลองขับกันนี้ ไม่มีฝาท้ายเปิด – ปิด ด้วยสวิตช์ไฟฟ้ามาให้ มีเพียงแค่ใช้กลอนประตูแบบไฟฟ้า ปลดล็อกเพื่อเปิด ได้ด้วยสวิตช์บริเวณเหนือช่งใส่ป้ายทะเบียนหลัง เท่านั้น อย่างไรก็ตาม C-HR Hybrid S คันนี้ ถูกติดตั้ง กล้องมองภาพขณะถอยหลังเข้าจอดมาให้ โดยเส้นกะระยะบนหน้าจอ จะเคลื่อนและตีโค้งได้ตามการหมุนของพวงมาลัย

แผงหน้าปัดถูกออกแบบให้มีการเชื่อมโยงกับแผงประตู มีปริมาณปุ่มไม่เยอะนัก แต่ควบคุมและใช้งานง่ายดายกว่าที่คิด ตกแต่งด้วยโทนสีดำ พื้นที่แผงสีดำเหนือชุดมาตรวัด เป็นหนังบุนุ่ม (แต่ตะเข็บด้ายปลอมนะจ้ะ) นอกนั้น เป็นแผงแบบแข็ง ให้สัมผัส Premium กว่า Toyota รุ่นอื่นๆ ทั่วๆไป

แผงบังแดด ในรุ่น S มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดแบบบานเลื่อน แต่ไม่มีไฟแต่งหน้ามาให้ เค้าคงคิดว่า ไฟอ่านแผนที่ และไปส่องสว่างในเก๋ง น่าจะเพียงพอแล้ว ทั้งที่จริงๆ..มันไม่พอ

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ทรงสปอร์ต ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง แบบ Telescopic ได้ ประดับด้วย Trim Piano Black เช่นเดียวกับแผงควบคุมกลาง จับใช้งานกระชับมือกำลังดี หุ้มด้วยหนัง  มาพร้อมทั้งสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบ Bluetooth ฝั่งซ้าย รวมทั้งสวิตช์ควบคุมระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Redar Cruise Control และมีระบบ แจ้งเตือนเมื่อออกนอกเลน Lane Keeping Assist มาให้อีกด้วย

ชุดมาตรวัดในรุ่น S อาจจะดูธรรมดา ไม่มีมาตรวัดรอบ ไม่หวือหวา ไม่แตกต่างไปจาก Toyota รุ่นบ้านๆทั่วไปนัก แต่มีจอ TFT แสดงข้อมูลตรงกลาง Multi Information Display สำหรับแสดงข้อมูล อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real Time และแบบเฉลี่ย มาตรวัดความเร็ว Digital มาตรวัดแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อน Hybrid แบบ Real Time รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่ในการเซ็ตปรับตั้งค่าของตัวรถ ให้เข้ากับรสนิยมการขับขี่ของแต่ละคน รวมทั้งยังมีมาตรวัดการใช้พลังงาน แสดงให้ดูแบบ Real Time กันอีกด้วย

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ แยกฝั่งซ้าย – ขวา มี Heater ฝังมาให้ ตามมาตรฐานของรถยนต์ในเมืองหนาว ทำงานตามสั่งใช้ได้ ส่วนชุดเครื่องเสียงที่ติดมากับรถเช่าคันนี้ ต้องสั่งซื้อแยกที่ Dealer เป็นระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System พร้อมจอ Touch Screen และมีระบบเสียงนำทางเป็นภาษาอังกฤษมาให้ครบถ้วน ใช้งานง่ายมาก แค่ป้อนเบอร์โทรศัพท์เข้าไป ยังไงๆก็หาจุดหมายเจอ อย่าคาดหวังกับคุณภาพเสียง จากเครื่องเสียงในรถเช่า

เบรกมือ เป็นแบบสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Brake Hold แบบเดียวกับ Honda HR-V ส่วนกระจกหน้าต่าง สามารถกดเลื่อนเปิด – ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า เพียงครั้งเดียวแบบ One Touch ได้ครบทั้ง 4 บาน!

******** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ ********

แม้ว่าในญี่ปุ่น จะมี C-HR ที่วางเครื่องยนต์ รหัส 8NR-FTS DOHC 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว Direct Injection D4-T VVT-iw (intake) VVT-i (exhaust) ขนาด 1.2 ลิตร 1,197 ซีซี. พ่วงเทอร์โบ กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 71.5 x 74.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 116 แรงม้า ที่ 5,200 – 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 185 นิวตันเมตร ที่ 1,500 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ความจุถังน้ำมัน 50 ลิตร น้ำหนักตัวรถ 1,470 กิโลกรัม

ทว่า ขุมพลังในรถคันที่เราเช่ามาทดลองขับ เป็นเครื่องยนต์ที่ใกล้เคียงับเวอร์ชันจำหน่ายไทย มากที่สุด เป็นรหัส 2ZR-FXE DOHC 4 สูบแถวเรียง DOHC Atkinson cycle 16 วาล์ว VVT-i ขนาด 1.8 ลิตร 1,798 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 80.5 x 88.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 ให้กำลังสูงสุด 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร ที่ 3,600 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 72 แรงม้า แรงบิด 163 นิวตันเมตร แบตเตอรี่แบบ Nickel metal Hydride (Ni-MH) 28 Modules 6.5 Ah

รวมพละกำลังจากทั้งเครื่องยนต์ และ มอเตอร์ไฟฟ้าให้ กำลังสูงสุด 122 แรงม้า จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ แบบ E-CVT ความจุถังน้ำมัน 43 ลิตร น้ำหนักตัวรถ 1,440 กิโลกรัม

เราลองจับเวลา โดยใช้มาตรฐานของ Headlightmag กันแบบคร่าวๆ บนทางด่วนญี่ปุ่น โดยการจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น ทำได้เพียง 1-2 ครั้ง ช่วงที่แล่นออกจาก จุดพักรถ (SA : Service Area) เท่านั้น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราทดลองกันอยู่ประมาณ 3-4 ครั้ง แล้วเลือกเอาตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด มาใช้เพื่อการอ้างอิง ภายใต้สภาพ การขับขี่ แบบปกติ อุณหภูมิ 15 – 17 องศา เซลเซียส น้ำมันในถังเป็นเบนซินเพียวๆ Shell V Power แบบ Regular Octane 89 (ไม่ใช่ Hi-Octane) เปิดแอร์ นั่ง 2 คน (J!MMY และ เติ้ง กันตพงษ์ สมชนะ สมาชิก The Coup Team เหมือนการจับเวลาที่ประเทศไทย) ตัวเลขที่ได้ มีดังนี้

  • 0 – 100 km/h อยู่ที่ 12.16 วินาที
  • 80 – 120 km/h อยู่ที่ 8.93 วินาที

เราไม่ได้ทำความเร็วสูงสุด แต่มีอยู่จังหวะหนึ่ง ที่เกิดความสงสัย ว่า ทั้ที่มีการจำกัดความเร็วบนทางด่วนไว้เพียงแค่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ทำไม คนญี่ปุ่นถึงขับรถกันเร็วมากขึ้นกว่าช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา พอดีจังหวะที่เรารักษาความเร็วตามกฎหมายญี่ปุ่นกำหนด ก็มี Toyota Prius รุ่นล่าสุด สีแชมเปญ แซงฟิ้วววว ผ่านหน้าเราไป ราวกับจรวด ตามด้วย Toyota SAI Minorchange สีเงิน และ Toyota MR-2 สีแดง แต่งซิ่งพอประมาณ เลยตัดสินใจลองเบนเข้าเลนขวา แล้วกดคันเร่งตามดูอยู่ห่างๆ พบว่า ชาวญี่ปุ่น เขากดกันไปถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง!! (และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงด้วย!)

ไอ้หยาๆๆๆ รีบเบี่ยงกลับเข้าเลนกลาง เหยียบเบรก กลับมาวิ่ง 100 เดียว ตามเดิมดีกว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ คนญี่ปุ่นขับรถกันเร็วขึ้นเยอะขนาดนี้เนี่ย!? มาทำงานที่เมืองไทย นานไปหน่อยหรือยังไงนะ?

อัตราเร่ง และการตอบสนองของเครื่องยนต์ ในรุ่น 1.8 Hybrid นั้น แทบไม่แตกต่างไปจาก Toyota Prius รุ่นที่มาจำหน่ายในบ้านเราเลย คือไม่ต้องไปคาดหวังเรื่องความแรงมากมายนัก พละกำลังที่มี ก็พอกันกับ Toyota Vios ยุคที่ยังใช้เครื่องยนต์ 1NZ-FE 109 แรงม้า (PS) จับคู่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะนั่นแหละ ตัวเลขออกมา ไล่เลี่ยกันไม่มีผิด คือเสียงท่อดังนะ แต่รถก็ค่อยๆเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แรงดึงที่เกิดขึ้น มีพอให้คนซึ่งไม่คุ้นเคยกับการขับรถเร็วๆ ได้ตื่นเต้นเล็กๆ แต่สำหรับคนที่เจอรถแรงๆมาทั้งชีวิต หรือคนที่เคยขับ Prius กับ Vios มาก่อน อาจรู้สึกเฉยๆ เพราะว่า ไม่ค่อยต่างกันมากนัก

ดังนั้น ภาพรวมด้านอัตราเร่ง จึงเป็นไปตามความคาดหมายของผม คือ เพียงพอสำหรับการใช้งานของคนทั่วๆไป และอย่าคาดหวังความแรงเกินไปกว่า Toyota Prius รุ่นแรก

การเก็บเสียงในช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ทำได้ดีกว่าที่คิด ผู้โดยสารด้านหน้าไม่ค่อยได้ยินเสียงรบกวนใดๆมากมายเท่าไหร่ แต่ผู้โดยสารด้านหลัง อาจได้ยินเสียงยางจากพ้นถนนขึ้นมาบ้างนิดหน่อย

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า อัตราทดเฟืองพวงมาลัย 13.6 : 1 รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร เท่านั้น ถูกเซ็ตมาในสไตล์คล้ายคลึงกับ Mazda CX-3 เพียงแต่ มีความหนืดในช่วงความเร็วต่ำมากกว่าทั้ง HR-V และ CX-3 อยู่เล็กน้อย ในแบบที่นักขับรถน่าจะชื่นชอบ ส่วนช่วงความเร็วเดินทาง พวงมาลัยนิ่งดี On Center feeling ดี ระยะฟรี มีนิดๆ การตอบสนองดีในระดับที่ น่าพอใจกว่า พวงมาลัยของ Prius รุ่นที่ 4 (ซึ่งยังไม่มาเมืองไทย) การตอบสนอง ใกล้เคียงกับพวงมาลัยของ Toyota Mirai Hydrogen เพียงแต่ว่า น้ำหนักของ C-HR ทำได้ใกล้เคียงกับรถยนต์ฝั่งยุโรปมากกว่านิดนึง การหมุนพวงมาลัยเพื่อเขาจอด หรือเปลี่ยนเลน คล่องแคล่ว แต่แอบมีน้ำหนักในระดับมั่นใจดี ไม่เบาโหวงจนเกินไปเหมือนรถญี่ปุ่นยุคหม่ๆหลายๆคัน

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ MacPherson strut ด้านหลังแบบ Multilink พร้อม trailing arm ติตั้งคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลงครบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คือจุดขายที่หลายๆคนคาดหวังไว้ว่า น่าจะทำได้ดีเทียบเท่ากับ Volkswagen Golf แต่ในความจริงแล้ว ช่วงความเร็วต่ำ ให้การซับแรงสะเทือนที่อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างดี แบบ Mazda CX-3 เกือบจะตึงตังเท่า Honda HR-V ละ แต่นุ่มกว่า Nissan Juke แน่ๆ ส่วนการเดินทางไกล บนทางด่วน ช่วงล่างก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี ต่อให้ไต่ขึ้นไปถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังให้ความมั่นใจได้ดีอยู่ ไม่วอกแวก ไม่ชวนให้หวั่นใจใดๆเลย

แต่เมื่อลองเปลี่ยนเลนกระทันหัน ช่วงล่างสเป็กญี่ปุ่นก็จะแสดงบุคลิกประจำชาติ ออกมาให้เราได้เห็นกัน คือตัวรถจะโยนออกทางด้านข้างแรงชัดเจน ในระดับที่ทำเอาผม และพี่แพน ซึ่งสลับสับเปลี่ยนมาลองนั่งด้วยกัน ถึงขั้นเหวอเลยทีเดียว ดังนั้น เราอาจต้องรอดูกันว่า ทีมวิศวกรของ Toyota ในเมืองไทย จะเซ็ตช่วงล่าง C-HR เวอร์ชันไทย ให้ต่างจากเวอร์ชันญี่ปุ่น มากน้อยแค่ไหน

ส่วนระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 298.5 มิลลิเมตร จานเบรกคู่หลัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 281 มิลลิเมตร มาพร้อมเบรกมือไฟฟ้า กับระบบ Auto Hold ระบบควบคุมเสถียรภาพ S-VSC พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABD ระบบกระจายแรงดันน้ำมันเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist

การตอบสนอง ก็ไม่ต่างจาก Toyota Hybrid รุ่นอื่นๆทั่วไป คือแป้นเบรก เบา มีระยะเหยียบ (Pedal travel) ลึก และควบคุมการเบรกให้นุ่มนวล แม่นยำได้ แต่ถ้าต้องเบรกกันโหดๆหนักๆ คาดว่า อาจจะ Fade ได้อยู่ คาดระบบเบรกเวอร์ชันไทยจะถูกเซ็ตมาให้ดีกว่านี้ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อย ในตลาดญี่ปุ่น ยังติดตั้ง ระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense P เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ประกอบไปด้วย ระบบเตือนการชนด้านหน้าพร้อมตรวจจับคนเดินถนน Pre-Collision System (with Pedestrian Detection) และ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control

นอกจากนี้ยังมี ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจรพร้อมช่วยปรับแต่งพวงมาลัย Lane Departure Alert with steering control, ระบบไฟสูงอัตโนมัติ Automatic High Beam,และระบบแจ้งเตือนว่ามีรถยนต์คันอื่นวิ่งมาว่าระหว่างที่ถอยออกจากมุมอับ Rear Cross Traffic Alert พร้อมถุงลมนิรภัยมากถึง 7 ใบ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

การเช่ารถของเราในครั้งนี้ เราเลือกจะขับออกจากกรุง Tokyo ย่าน Shiodome ซึ่งอยู่ใกล้กับทั้ง Ginza และ Odaiba เราขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยังทะเลสาบ Kawagujiko เพื่อไปถ่ายทำรายการ ของทั้ง The Clip by Headlightmag และ เรนเดียร์ เกียร์ 5 ของเจ้าตอยด์ จากนั้น ตรงไปแวะ Gotemba Premium Outlet ก่อนจะขับกลับเข้ามาที่โรงแรม และส่งคืนรถให้ Toyota Rent a Car ในวันรุ่งขึ้น ตอน 10 โมงเช้า โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

ส่วนช่วงหลังจาก Kawagujiko จนถึงกลับกรุงโตเกียว บางช่วง ก็นั่งกัน 4 คน แต่มีอยู่ช่วงเดียว ครั้งเดียวเท่านั้น ที่เราลองไล่กวดรถยนต์ของคนญี่ปุ่นท้องถิ่น ที่แล่นแซงเราไปอย่างรวดเร็วมาก ด้วยความอยากรู้ว่าเขาขับเท่าไหร่ ปรากฎว่า เข็มความเร็วพุ่งไปแตะระดับ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง! เราจึงรีบชะลอความเร็วลงมา แล้วตบไฟเลี้ยว กลับเข้าเลนกลางตามเดิม เพราะกลัวว่าจะโดนตำรวจ พุ่งมาเล่นงาน มันจะไม่คุ้มกัน

ก่อนส่งคืนรถ น้องหมู Moo Cnoe ทีมงานของเรา นำรถไปเติมน้ำมันคืนให้ทาง Toyota Rent a Car ตามกฎของเขา ที่ผู้เช่า จะต้องเติมน้ำมันคืนให้ทางบริษัท ก่อนส่งคืนรถ ดังนั้น เราจึงมีตัวเลขจากการใช้งานจริงๆ บนถนนในญี่ปุ่น มาให้ได้อ่านกันพอเป็นกระสัย

ระยะทางแล่นทั้งหมด 299.2 กิโลเมตร
เติมน้ำมัน Shell V-Power แบบ Regular (Octane 89) กลับแบบไม่เขย่ารถ 14.00 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 21.36 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่า ให้ความประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก Prius เวอร์ชันไทย อยู่พอสมควร

********** สรุป (เบื้องต้น) **********

1 วันเต็ม สำหรับการลองขับ C-HR เวอร์ชันญี่ปุ่น พอจะบอกให้ผม พี่แพน และ The Coup Team ของเรา ได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า C-HR มันก็จะเป็นรถยนต์ที่ถูกเซ็ตมาอย่างที่เราคิดนั่นละครับ

Toyota ฝากความหวังไว้กับการเปิดตัว C-HR ทั่วโลก มากพอสมควร เพราะนี่คือรถยนต์ที่จะต้องทำหน้าที่ เป็นเหมือนฑูตสันทวไมตรี ในการดึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเหลียวแลแบรนด์สามห่วงมาก่อน ให้หันมามองกันอย่างจริงจังให้ได้

ใช่ครับ พวกเขาทำได้จริงๆ และตัวรถก็เป็นไปตามความคาดหมายจริงๆ มันจะเป็น B-Segment Crossover SUV ที่มีขนาดตัวถังก้ำกึ่งว่าควรจะเป็น C-Segment มากกว่า มีโครงสร้างตัวถังแน่นหนามาก แต่การใช้แพล็ตฟอร์ม TNGA-C ก็ช่วยให้การบังคับควบคุม คล่องตัวประมาณหนึ่ง อาจไม่ถึงกับคล่องแคล่วจนเทียบเท่า Prius รุ่นที่ 4 (ซึ่งยังไม่มาถึงเมืองไทย) แต่ก็ถือว่า เซ็ตมาเอาใจทั้งลูกค้าชาวยุโรป และชาวญี่ปุ่นที่อยากขับรถยนต์ซึ่งมีมาตรฐานการเซ็ตใกล้เคียงกับรถยุโรป ได้พึงพอใจมากขึ้น

แน่นอนว่า มันเอาชนะ Nissan Juke ได้หมดในทุกด้าน เอาชนะ Honda HR-V ได้ในเรื่องช่วงล่าง และการบังคับควบคุมที่ให้ความมั่นใจในย่านความเร็วสูงได้ดีกว่า และเอาชนะ Mazda CX-3 ในด้านพื้นที่ใช้สอยในห้องโดยสาร

กระนั้น C-HR ก็ยังด้อยกว่า Juke ในด้านพละกำลัง (หากเที่ยบกับเวอร์ชันญี่ปุ่น Juke มีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร DiG Turbo 190 แรงม้า (PS) ให้เลือกด้วย แต่ถ้าเทียบกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรของ Juke แล้ว ยังไงๆ C-HR ก็ชนะอยู่ดี) ด้อยกว่า HR-V ด้านการพับเบาะแถวหลัง ซึ่ง Honda ทำได้ดีกว่า และมีพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังเยอะกว่า อีกทั้ง ยังให้สมรรถนะการขับขี่ในภาพรวม ที่ทได้เพียงแค่ใกล้เคียงกับ Mazda CX-3 (แต่ยังเอาชนะขาดลอยไม่ได้)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก C-HR ที่เราทดลองขับกันคราวนี้ เป็นรถยนต์รุ่นที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า เวอร์ชันสหรับประเทศไทย อาจมีการปรับจูนที่แตกต่างไปจากนี้ เล็กน้อย เพราะฉะนั้น สำหรับลูกค้าชาวไทยแล้ว เราอาจจะต้องรอกันจนกว่า Toyota Motor Thailand จะเปิดตัว C-HR ในประเทศไทย ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ในงาน Motor Expo ก่อนจะเริ่มออกจำหน่ายจริงๆ ช่วงเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2018

เมื่อถึงเวลานั้น เราค่อยมาตัดสินกันอีกทีว่า C-HR เวอร์ชันไทย จะทำผลงานออกมาได้ สมการรอคอยของคนไทยหลายๆคนหรือไม่

แค่เพียงไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า คงไม่นานเกินรอไปนะครับ คุณผู้อ่านที่รัก

—————————-///—————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

  • ตอย พฤฒ์พัชร เทพกาญจนา
  • เติ้ล ณัฐพล ลิ่มมรกต
  • หมู ธีรพัฒน์ อาชวเมธีกุล

แห่ง The Coup Team สำหรับการติดต่อเช่ารถ

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และภาพถ่าย โดยผู้เขียน

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com

30 ตุลาคม 2017

Copyright (c) 2017 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 30th,2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE

———————–///————————

บทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม : พาไปชมรถคันจริง Toyota C-HR (Hybrid) เวอร์ชั่นญี่ปุ่น ก่อนมาโชว์ตัวในไทยปลายปี 2017 นี้ >> http://www.headlightmag.com/photo-toyota-c-hr-hybrid-jdm-spec/

พาไปชมรถคันจริง Toyota C-HR (Hybrid) เวอร์ชั่นญี่ปุ่น ก่อนมาโชว์ตัวในไทยปลายปี 2017 นี้


The Clip Special