เครื่องบิน AIRBUS A333-300 ของสายการบินไทย เที่บินที่ TG648 กางล้อหน้า
(และหลัง) สัมผัสพื้นรันเวย์ ท่าอากาศยานนานาชาติ Fukuoka เมื่อเวลา 8.00 น. 
ตามเวลาท้องถิ่น ของเช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 2014

ผมมาญี่ปุ่นคราวนี้ เป็นครั้งที่ 10 พอดี แต่ก็ไม่เคยมีครั้งไหน ที่จะได้มีโอกาสมาเยือน
ดินแดนทางตอนใต้ ทางเกาะ Kyushu เช่นนี้มาก่อน!

อย่าว่าแต่ผม และสมาชิกผู้ร่วมทริป ทั้ง 7 คน จากสื่อมวลชนทั้งรายเล็กรายใหญ่ จาก
สำนักต่างๆ กันเลยครับที่ยังไม่เคยมา ขนาด พี่ตาเล็ก PR ใหญ่ ของ Nissan Motor
Thailand หัวหน้าทริปของเราครั้งนี้ ก็ยังไม่เคยมาถึง Fukuoka มาก่อนเหมือนกัน!

เรื่องสนุกของทริปนี้ ก็คือ ทันทีที่เราเดินทางมาเจอกัน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พวกเรา
ก็เพิ่งจะได้รับตารางทริป รวมทั้งคำยืนยันว่า วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม อันเป็น
วันแรกที่เราเดินทางไปถึง ตารางเวลาจะว่าง…โล่ง ไม่มีอะไรเลย ปล่อยฟรี อิสระ!!

อ้าว…ทำไงละทีนี้? จะเที่ยวที่ไหน กินมื้อเที่ยงและมื้อค่ำที่ไหน? แล้วเราจะ
ไปเดินดูอะไร อย่างไร?…ทุกคน มืดแปดด้าน….

ด้วยความช่วยเหลือของ น้องขวัญ คุณผู้อ่านของ Headlightmag.com ซึ่งกำลัง
เรียนต่อ ในโค้งสุดท้าย ด้าน วิศวกรรมยานยนต์ ณ มหาวิทยาลัย Kyushu พอดี เรา
จึงได้สัมผัสกับบรรยากาศของเมืองหลวงแห่งแดนใต้ Fukuoka กันอย่างสนุกสนาน
และเข้าถึงร้านอาหารที่คนท้องถิ่นนิยมมารับประทานกัน ชนิดที่ไม่น่ามีโปรแกรมทัวร์
รายการไหน พาคุณมาได้ขนาดนี้อีก! ซึ่งต้องขอขอบคุณ น้องขวัญ ไว้ ณ โอกาสนี้

น้องขวัญมาถึงโรงแรม ตามเวลานัด 10.30 น. พอดีเป๊ะ เราเดินชมเมืองกันอย่าง
สนุกสนาน และขาลาก ขวัญเป็นคนเดินเก่งมาก แต่ขวัญอาจลืมไปว่า พี่ๆน้าๆ ทั้ง
7-8 คน ลูกทัวร์ของน้องขวัญ เราไม่ได้ฝึกซ้อมเดินบ้าระห่ำแบบนี้ ที่ กรุงเทพฯ
กันมาก่อน…คือ..น้องขวัญครับ มึงจะฝึกเดินไปลงแข่ง กรุงเทพมาราธอน เหรอฮะ?

ดังนั้น ทริปนี้จึงมีหลากหลายรูปแบบการเดินทาง ทั้งเดินข้ามฟากเมือง ขึ้น
Taxi ขึ้นรถประจำทางท้องถิ่น แถมยังขึ้นรถไฟใต้ดิน (ขบวนรถใช้งานมา
ตั้งแต่ปี 1982!!) รวมถึง รถไฟชินคังเซ็น! รวมทั้งเครื่องบิน ขาไป-ขากลับ
นี่ขาดแค่ เรือเฟอร์รี ข้ามฟาก ก็จะครบทุกรูปแบบการเดินทางในทริปแล้วละ

และนั่นก็เป็นเพียงวันแรก ในทริปนี้ ก่อนที่เราจะได้มีโอกาสสัมผัสกับรถยนต์รุ่นใหม่
ล่าสุด อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ ที่ทำให้เราต้องบินมาไกลถึง 5 ชั่วโมง เพื่อมา
ลองขับกันไกลถึงเกาะ Kyushu!

เช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 2014 เรา มีนัดกับทาง ทีมงานของ Nissan Asean &
Oceania จาก Nissan Global (สำนักงาน Hong Kong และ ญี่ปุ่น) เพื่อมาร่วม
รับฟังบรรยายสรุป ก่อนออกเดินทาง ร่วมกับคณะสื่อมวลชนจาก Hong Kong
และ Philipines

เส้นทางที่ Nissan จัดไว้ให้เราลองขับกัน เริ่มจากหน้าโรงแรม ARk Royal
Fukuoka Tenjin Hotel อันเป็นโรงแรมที่พักของเราตลอดทริป 3 วัน เราจะ
เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงแรม แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกที่ 2 ในซอย เลี้ยวขวา ก่อน
เลี้ยวซ้าย เพื่อขึ้นทางด่วน ที่ด่าน Tenjin Kita IC เลี้ยวขวาทันที มุ่งหน้าไป
บนทางด่วน Urban Expressway อันเป็นทางด่วนเชื่อมในตัวเมือง เข้ากับ
ทางด่วนสาย Kyushu ไปเบี่ยงซ้าย เข้าไปจ่ายเงินผ่านระบบ ETC ที่ด่าน
Dazaifu IC ก่อนจะตีโค้งขวา ไปตามป้ายบอกทางไป Oita เพื่อไปแวะที่
จุดพักรถแห่งแรก คือ Kiyama PA (Parking Area)

แม้ว่า ทางทีมงานชาวญี่ปุ่น จะกำชับอย่างซีเรียสว่า เราควรขับรถโดยใช้
ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริง กลุ่มที่นำเราไปไกล
ก่อนใครเพื่อนเลย คือ ชาวฮ่องกง และฟิลลิปินส์ เล่นเอา กลุ่มชาวไทยเรา
ต้องขับตาม ด้วยความเร็วสูงขึ้นให้ทันกับขบวนของพวกเขา จน รถ 2 คัน
ข้างหลัง อันเป็นของกลุ่มสื่อมวลชนจากไทย ถึงขั้นหลุดขบวน และแอบ
หลงทาง ดีแต่ว่า ระบบนำทาง รวมทั้งแผนที่ของญี่ปุ่น เข้าใจง่ายกว่าที่คิด
จึงพาทั้ง 2 คัน กลับเข้าสู่ขบวนได้ เมื่อถึงจุดแวะพักรถ Kiyama PA

ตั้งขบวนเสร็จสรรพ เราก็พร้อมออกเดินทางต่อ เลี้ยวโค้งซ้ายไปตามป้าน
บอกทางไป Oita ขับมาตามทางด่วน ซึ่งตัดต่อเนื่องตามแนวเขา มาถึง
จุดแวะพักที่ 2 Yamada SA (Service Area) แล้วจึงออกเดินทางต่อ
ตามทางด่วน ผ่านอุโมงค์ที่ตัดทะลุภูเขา ยาวๆ 2-3 แห่ง ก่อนเลี้ยวซ้าย
แล้วตีโค้งขวา ลอดใต้ทางด่วน ถึงด่าน Hita IC เข้าช่องจ่ายค่าผ่านทาง
แบบ ETC (Electronic Toll Control) ซึ่งก็คือระบบ Easy Pass
ในบ้านเรานั่นเอง แต่คลื่นการอ่านสัญญาณจากระบบบัตรเติมเงินของ
ETC ดีกว่าของบ้านเรามากๆ ทำให้สามารถใช้ความเร็วขณะผ่านเข้า
ช่องเก็บเงินได้ถึง 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ออกจากด่าน จะเจอสามแยก เลี้ยวขวาไปตามป้ายบอกทางไป Oita
กับ Aso (อาโซะ)  ขับลัดเลาะไปตามชุมชนเมืองเล็กๆ บนทางหลวง
หมายเลข 212 เข้าโค้งซ้ายและขวาตามแนวเขา นิดหน่อย มาถึงจุด
แวะพักที่ 3 Michi no Eki Oyama ก่อนจะเดินทางต่อไปตามเส้นทาง
โดยไม่ต้องเลี้ยวซ้าย – ขวา อะไรอีก มากเกินไปกว่า ลัดเลาะไปตาม
แนวทิวเขา ของเขื่อน Matsubara dam ผ่านทะเลสาบ Bairin
และทะเลสาบ Hachinosu เข้าเขตเมือง Hita จังหวัด Oita ขับไป
จนถึง Kamitsue Town (คามิซึเอะ) แล้วเราก็จะมาถึงจุดหมาย คือ
สนาม Auto Polis International Racing Course ซึ่งเดิม เป็น
สนามแข่ง ที่กำเนิดขึ้นมาได้เพราะนายทุนที่รักในกีฬา Motor Sport
แต่ด้วยเหตุที่ งบไม่พอจะสร้างสนาม F1 แถมยังค่อนข้างไกล จึงขาดทุน
และต้องขายกิจการให้กับกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม Kawasaki ไปแทน

เราพักรับประทานอาหารกลางวันแบบกล่อง Bento ตามสไตล์คนญี่ป่น
ซึ่งมองว่า มันเตรียมงานง่าย และสะดวก แถมอิ่ม ในสายตาของชาวญี่ปุ่น
(แต่ ในวันนั้น สิ่งที่อยู่ในกล่อง รสชาติไม่คุ้นปากของคนไทยเอาเสียเลย)

ช่วงบ่าย เราจะถึงเส้นทาง Hi-Light สำหรับการเดินทางในทริป
ครั้งนี้ นั่นคือ เส้นทางที่เรียกว่า Aso Skyline หรือ เส้นทางชมวิว
สาย Aso หนึ่งใน ถนนที่ถูกบันทึกไว้ว่า มีทิวทัศน์ที่สวยที่สุด
เหมาะแก่การขับรถชมวิวมากที่สุด 10 อันดับแรกของญี่ปุ่น!!

เราออกเดินทางจากสนาม Auto Polis เลี้ยวขวาลัดเลาะไปตาม
แนวทางหลวงหมายเลข 12 เลี้ยวซ้ายที่สามแยก ตามป้ายบอก
เส้นทาง ไปทาง Beppu แหล่ง แช่น้ำแร่ ออนเซน สำคัญของ
เกาะ Kyushu ซึ่งต้องขับผ่านเส้น Aso Skyline นี่เช่นกัน

ตลอด 18.2 กิโลเมตร ทั้งสองฟากฝั่ง มีแต่ทิวทัศน์อันสวยงาม
มีภูเขา ที่เขียวขจี สีสันตัดกับท้องฟ้า จนผมถึงขั้นต้อง เปิด
SunRoof และหน้าต่างฝั่งคนขับ เพื่อบันทึกภาพไป ขณะ
ขับรถไปด้วย

เป็นบรรยากาศที่สวยงามไม่แพ้ New Zealand เลยทีเดียว!

เราแวะจอดพักถ่ายรูปกันที่ จุดพักรถ Daikanbo Parking ก่อน
ขับย้อนเส้นทางกลับมายัง Auto Polis เพื่อบันทึกภาพของเจ้า
X-Trail ต่อ ขณะที่ผม แยกตัวไปลองขับ Serena Hybrid
ทำบทความมาให้คุณๆได้อ่านกัน

พอช่วงบ่าย เราปล่อยให้กลุ่มนักข่าวจาก อินโดนีเซีย ได้มีโอกาส
ทดลองขับ X-Trail กันบ้าง พวกเขานั่งรถทัวร์ จากโรงแรม Ark
ตัวเมือง Fukuoka ตามเรามาถึงสนาม ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า
ใบขับขี่สากลของ อินโดนีเซีย ใช้ขับรถในญี่ปุ่นไม่ได้!!

โอ้! ผมเพิ่งรู้ก็วันนี้เองนะเนี่ย!

ขากลับ เราต้องทิ้งรถทั้งหมด ทุกคัน ไว้ที่สนาม แล้วขึ้นรถบัส
ออกเดินทางผ่าน Aso Skyline อีกรอบ ก่อนจะลัดเลาะไปตาม
เมืองต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการไปขึ้นรถไฟ ชิงคังเซ็น ที่สถานี
Kumamoto Station อันเป็นสถานีที่สร้างขึ้นสำหรับให้บริการ
รถไฟชิงคังเซน โดยเฉพาะ! เราใช้เวลาเดินทาง 30 นาที ก็
กลับมาถึง สถานี Fukuoka เรียบร้อย เรียก Taxi กลับโรงแรม
ก่อนจะไปกินมื้อค่ำ แบบ Yakitori ณ ภัตตาคารที่ไกลจาก
โรงแรม แค่เดินไปราวๆ 3-4 Block ถนน

ไม่ใช่ร้านริมข้างถนน ที่อยู่ในภาพข้างบนนะครับ เพียงแต่ภาพที่ถ่ายมา
ให้ดูนั้น หาดูได้ยากในญี่ปุ่นแล้ว เพราะปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมีร้านราเม็ง
และยากิโทริ ตั้งร้านอยู่ริมถนนในญี่ปุ่นแบบนี้เท่าไหร่แล้ว

โปรแกรมวันรุ่งขึ้น คือการปล่อยว่างในช่วงครึ่งวันเช้า ก่อนพาไปดู
โรงงาน Nissan Kyushu ซึ่งเป็นฐานการผลิตของ X-Trail
และ Nissan Note ก่อนจะเสร็จสิ้นโปรแกรม น้องขวัญมารับกลุ่ม
พวกเรา ไปรับประทานมื้อเย็น ช้อปปิงในใจกลางเมือง Fukuoka 
ก่อนจะแพ็คของ บินกลับเมืองไทย ในเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นอันสิ้นสุดทริป

ทั้งหมดนั้น คือ เรื่องราวโดยย่อ..เพื่อที่จะบอกว่า การที่ผมหายตัวไปจาก
กรุงเทพฯ ช่วง 4 วัน เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2014 นั้น ไปทำอะไรมาบ้าง

และเมื่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ผมเชื่อได้เลยว่า หลายคน คงจะเริ่มสงสัย
ว่าเมื่อไหร่ J!MMY มันจะเล่าเรื่อง X-Trail ใหม่ กันซะทีฟะ! อ่านมา
ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนปาเข้าไปครึ่งเรื่องแล้ว มีแต่รูปพาไปเที่ยว พาไปกิน
ยังไม่เห็นได้ยินมันพูดถึงตัวรถสักแอะ…ไม่ได้อยากรู้โว้ย ว่าไปเที่ยว
ที่ไหนอย่างไรมา ข้าอยากรู้ว่า X-Trail ใหม่ มันดีพอจนสมควรบอก
ศรีภรรเมีย ที่บ้าน ให้รอก่อนดีไหม?

วัยรุ่นใกล้แย้ม(ฝาโลง) ผู้ใจร้อนและชอบเหวี่ยงทั้งหลายครับ…บรรทัด
และย่อหน้า ที่คุณรอคอย มาถึงแล้ว เลื่อนลงไปดูข้างล่างได้เลย!

X-Trail เป็นรถยนต์นั่งตรวจการขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Crossover SUV ที่ถูก
สร้างขึ้นบนพื้นตัวถังรถยนต์นั่งขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหน้า เพื่อประกบกับคู่แข่ง
ทั้ง Honda CR-V , Toyota RAV4 , Mazda CX-5 Chevrolet Captiva
ฯลฯ

X-Trail รุ่นแรก เปิดตัวครั้งแรกในโลก ที่ญี่ปุ่น เมื่อ เดือนสิงหาคม 2000 ในยุคที่
รถยนต์ประเภท SUV กำลังเฟื่องฟู ถือได้ว่าเป็นรถรุ่นหนึ่ง ซึ่ง มาถูกที่ ถูกเวลา
และช่วยสร้างรายได้ให้กับ Nissan ช่วงที่ยังอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูของ Carlos 
Ghosn เป็นอันมาก รถรุ่นแรกถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง FF-MS Platform ร่วมกับ
Nissan Primera P12 รุ่นสุดท้าย Sunny NEO และ Almera ในตลาดโลก
ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ในแทบทุกประเทศที่เปิดตัว (ยกเว้นเมืองไทย
ที่นำเข้ามาจาก อินโดนีเซีย ตามหลังการเปิดตัวในตลาดโลกไปหลายปี แถมยัง
ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนฝ่ายการตลาด Nissan บ้านเรา ถอดใจ)

รุ่นที่ 2 ถูกพัฒนาขึ้น บนพื้นตัวถัง C-Platform ร่วมกับ Crossover SUV ร่วมค่าย
ทั้ง Nissan Qashqai และ Nissan Rogue สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ เผยโฉม
ครั้งแรกในโลก ณ งาน Geneva Motor Show เมื่อเดือนมีนาคม 2007 ก่อนจะ
จะเริ่มออกสู่ตลาดญี่ปุ่น หลังจากนั้นไม่กี่เดือน และถือว่าประสบความสำเร็จ ในตลาด
ทั่วโลกไม่แพ้กัน เพราะจากตัวเลขยอดขายนับตั้งแต่เปิดตัว Nissan ผลิตและส่งมอบ
X-Trail รุ่นที่ 2 ให้ลูกค้าทั่วโลกไปแล้วถึงกว่า 140,000 คัน เฉพาะในญี่ปุ่นเพียง
แห่งเดียว ก็กวาดยอดขายไปได้ถึง 27,000 คัน และยังรั้งตำแหน่ง SUV ที่ขายดี
ที่สุดในญี่ปุ่น ถึง 2 ปีติดต่อกัน

แต่รุ่นที่ 2 นี่ ก็กลับมาโผล่ในเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อปี 2010 ตามนโยบายของผู้บริหาร
ชาวญี่ปุ่นที่อยากจะขยายตลาด X-Trail ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ ก็ตอบรับไม่ดี เช่นเดิม เพราะ
รูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยม แลดูเหมือนรถกระบะต่อบั้นท้ายมากเกินไป ทั้งที่จริงๆแล้ว
X-Trail ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับรถกระบะตระกูล Navara ทั้งสิ้น

จนถึงทุกวันนี้ X-Trail กลายเป็นรถยนต์รุ่นหลักรุ่นหนึ่งของ Nissan ไปแล้ว
มีการส่งไปทำตลาดถึงใน 167  ทั่วโลก และมียอดขายสะสมแล้วมากถึงกว่า
800,000 คัน ครองตำแหน่ง SUV ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นมาแล้วถึง 8 ปี เมื่อนับ
รวมตัวเลขจากรถรุ่นก่อนเข้าไปแล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป คู่แข่งในตลาดทั่วโลก เริ่มเยอะขึ้น Nissan เอง ก็ต้อง
ปรับปรุงและพัฒนา X-Trail ใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
ทั่วโลก มากยิ่งขึ้น ในการพัฒนารุ่นที่ 3 ของ X-Trail พวกเขาถึงขั้น จับ
เอา Compact Corssover SUV ที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 รุ่น ได้แก่ X-Trail รุ่นเดิม
สำหรับตลาดญี่ปุ่นและ ทั่วโลก Nissan Rogue สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ
และ Nissan Qashqai / Dualis  สำหรับตลาดยุโรป มายุบรวมกันพัฒนา
ออกมาเป็น 3 รูปแบบ คือ X-Trail กับ Rogue สำหรับตลาดญี่ปุ่น เอเซีย
และอเมริกาเหนือ กับ Qashqai ใหม่ ที่จะมีเส้นสายโฉบเฉี่ยวมากกว่า
เล็กน้อย เพื่อเอาใจลูกค้าชาวยุโรปโดยเฉพาะ

X-Trail รุ่นใหม่ เริ่มเผยโฉมครั้งแรกทั่วโลก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2013
ก่อนจะเริ่มเผยสเป็กเวอร์ชันญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก เมื่อ 24 ตุลาคม 2013
ก่อนจะประกาศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ว่าจะเริ่มส่งขึ้นโชว์รูมทั่วญี่ปุ่นใน
วันที่ 16 ธันวาคม 2013 จากนั้น จึงเปิดตัวในตลาดเมืองจีน เมื่อวันที่
25 กุมภาพันธ์ 2014

ส่วนเวอร์ชันไทย มีกำหนดจะเปิดตัวในช่วง เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2014

X-Trail ใหม่ รหัสรุ่น T32 ถูกสร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง CMF-Platform ใหม่ สำหรับ
รถยนต์นั่งขนาดกลาง ขับเคลื่อนล้อหน้า ที่พัฒนาขึ้นร่วมกันกับ Renault แห่ง
ฝรั่งเศส ภายใต้รหัสโครงการ P32R

มิติตัวถังของ X-Trail ใหม่ มีความยาว 4,640 มิลลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร
สูง 1,715 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,705 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเปล่า 1,500
กิโลกรัม (น้ำหนักของรุ่น 2.0 X Emergency Brake Package 4WD)

เมื่อเปรียบเทียบกับ X-Trail รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,785
มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,630 มิลลิเมตร จะพบว่า ตัวรถ
ยาวขึ้นแค่ 5 มิลลิเมตร แต่กว้างขึ้นกว่าเดิมถึง 35 มิลลิเมตร สูงขึ้น 30 มิลลิเมตร
แต่ระยะฐานล้อถูกขยายออกไปในแบบที่ควรเป็นอีก ถึง 75 มิลลิเมตร ช่วยเพิ่ม
ความสมดุลย์ให้กับตัวรถมากขึ้น

งานออกแบบภายนอก พลิกโฉมจาก กล่องติดล้อทรงน่าเบื่อๆ เปลี่ยนโฉมใหม่
ทั้งคัน จนกลายมาเป็น Premium Crossover SUV ระดับหรูกว่าคู่แข่งร่วมพิกัด
กันไปพอสมควร เส้นสายบางส่วน ชวนให้นึกถึงทั้ง BMW X3 รุ่นปัจจุบัน
และ Toyota Harrier รุ่นแรก และรุ่นที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดกันตามตรง
ก็คือ สิ่งเดียวที่ทำให้เรายังรู้ว่ามันเป็นรถยนต์ของ Nissan คือกระจังหน้าทรง
V-Shape นั่นเอง ที่เหลือ เส้นสายไปเอาชาวบ้านชาวช่องเขามาผสมๆ ยำๆ
เข้าด้วยกัน จนสวยลงตัว

การเข้า – ออกจาก ประตูคู่หน้า ทำได้อย่างสะดวกและง่ายดายมากว่าเดิม ด้วย
ช่องทางเข้า – ออก ที่แอบกว้างข้นกว่ารุ่นเดิมนดนึง

รุ่นท็อปของเวอร์ชันญี่ปุ่น จะตกแต่งภายในด้วย หนังชนิดพิเศษ ซึ่งมีพื้นผิวสัมผัส
ดีเยี่ยม เหนียว แถมยังกันน้ำ และหิมะ ได้อีกด้วย ตรงตามแนวทางในการพัฒนา
X-Trail ดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ ปี 2000

เบาะนั่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ให้รองรับสรีระได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม พนักพิง
ด้านหลัง โอบกระชับกำลังดี และให้สัมผัสที่นั่งสบายกว่า เบาะของ Teana ใหม่
อยู่เล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ ขอยืนยันตรงนี้เลยว่า พนักศีรษะของ X-Trail นุ่มสบาย
และรองรับได้ดีกว่า พนักศีรษะของ Teana ใหม่ด้วยซ้ำ! ต่อให้พนักศีรษะของ
Teana จะหุ้มด้วยผ้า ในรถยนต์เวอร์ชันญี่ปุ่น ก็ตาม!

เบาะรองนั่ง ถือว่ามีความยาวตามมาตรฐานเดียวกับ Nissan รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยเจอ
นั่นละครับ คือ สั้น แต่ไม่ได้สั้นกุดจนเกินไป อาจรองรับพื้นที่ต้นขาด้านหลังได้
ราวๆ เกินครึ่งหนึ่ง ขอบเบาะก็ถูกปาดให้โค้งลงไปจรดกับฐานเบาะแล้ว ส่วนพื้นที่
เหนือศีรษะ ก็ยังคงมีเยอะตามสไตล์รถยนต์ประเภท Crossover SUV อยู่ดี

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมมาก เพราะการขยายระยะ
ฐานล้อให้ยาวขึ้น ส่งผลให้เพิ่มความยาวห้องโดยสาร โดยเฉพาะพื้นที่วางขา หรือ
Leg Room ของผู้โดยสารแถวกลางได้มากขึ้น แน่นอนว่า คุณต้องทำบานประตูให้
ยาวขึ้น สอดคล้องรองรับกันไปด้วย ผมสามารถก้าวขึ้น – ลงจากรถได้อย่างสบายๆ
ไม่ต้องแทรกตัวเบียดเสียดเข้าไปนั่ง อย่างที่เจอมาในรุ่นก่อนอีกต่อไป

พื้นที่โดยสารแถว 2 ถือเป็นจุดเด่นที่สุด ของ X-Trail ใหม่กันเลยทีเดียว เพราะคราวนี้
ทีมออกแบบ ตั้งใจ เพิ่มระยะฐานล้อให้ยาวขึ้น จาก 2,630 เป็น 2,705 มิลลิเมตร ช่วย
เพิ่มพื้นที่วางขา Leg Room ให้ยาวขึ้น วางขาได้สบายขึ้นอย่างชัดเจนมากๆ เมื่อเทียบ
กับรุ่นปัจจุบัน ขณะเดียวกันพื้นที่เหนือศีรษะเอง ก็ยังคงโปร่ง และให้ความสบายได้
ตามรูปแบบของตัวรถเช่นเดิม

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการปรับปรุงเบาะนั่งแถวกลาง ให้นั่งสบายขึ้น พนักพิงหลัง
รองรับแผ่นหลังได้ดีมากๆ เบาะรองนั่งยาวที่สุดในกลุ่ม มีฟองน้ำที่นุ่มแน่นกำลังดี
ไม่เพียงเท่านั้น พนักวางแขน พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง แบบไม่มีฝาปิด ยังถูก
ออกแบบมาให้สามารถวางข้อศอกได้พอดิบพอดี แม้แต่ พื้นที่เหนือศีรษะ Headroom
ก็ยังมีเหลือเยอะตามสไตล์รถยนต์ประเภทนี้ แถมยังให้เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด
ครบทั้ง 3 ตำแหน่งอีกต่างหาก นอกจากนี้ยังติดตั้ง ไฟอ่านหนังสือสำหรับผู้โดยสาร
แถวกลาง และมือจับศาสดา ให้มาครบทุกตำแหน่ง ยกเว้นคนขับ

ยืนยันเลยว่า X-Trail ใหม่ จะกลายเป็น Compact Crossover SUV ที่มีเบาะนั่ง
แถวกลาง ดีที่สุดและนั่งสบายที่สุด ในบรรดาผองเพื่อนร่วมพิกัดเดียวกันทั้งหมด ที่มี
จำหน่ายในเมืองไทย มันลงตัวชนิดที่ว่า ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรอีกต่อไป!!

แต่ข้อด้อยมันก็มีอยู่บ้าง เพราะถึงแม้ว่า พนักพิงเบาะ สามารถแยกพับได้ทั้งซ้าย – ขวา
ในอัตราส่วน 40 : 20 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง ทว่า พนักพิงเบาะหลัง
กลับไม่อาจปรับเอนได้เลย ดังนั้น ถ้าใครคิดจะเอนหลังระหว่างเดินทางสักหน่อย ก็คง
ต้องทำใจ และย้ายสาระร่างตัวเอง มานั่งเบาะหน้าแทนไปพลางๆก่อนแล้วกัน

X-Trail เวอร์ชันไทย คาดว่าจะเป็นรุ่น 7 ที่นั่ง แต่ รถคันที่ผมทดลองขับ เป็นรุ่น 5 ที่นั่ง
จึงยังไม่มีโอกาสได้ทดลองนั่ง เบาะแถว 3 ว่า จะยังพอนั่งได้แบบกระเบียดกระเสียด
หรือนั่งสบายใช้ได้ตามอัตภาพ แบบ Chevrolet Captiva หรือไม่

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ในรถคันที่ผมลองขับ ใช้กลอนไฟฟ้า พร้อมระบบเปิด
ยกขึ้นและ ปิดลงเองอัตโนมัติ ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว เหมือนกับ Toyota Harrier
หรือ BMW X5 นั่นละครับ มาพร้อมระบบดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง กว้างขวางใช้ได้  จุดเด่นอยู่ที่ พื้นห้องเก็บของ ยังคงสืบทอด
แนวทางการออกแบบของ X-Trail รุ่นเดิม คือ สามารถรองรับ อุปกรณ์กีฬาหนักๆ เลอะๆ
หรือ ข้าวของที่เปียกแฉะ และถ้าจะถอดออกมาล้างน้ำ ทำความสะอาด ก็ทำได้ ง่ายดาย
พื้นห้องเก็บของเหล่านี้ ยังเป็นฝาปิดพื้นที่เก็บของในตัว หรือยกฝาออกทั้งดุ้นก็ย่อมได้
อเนกประสงค์รองรับทุกรูปแบบการใช้งานเช่นเคย

แผงหน้าปัด ออกแบบในแนวทางเดียวันกับ Nissan รุ่นอื่นๆ ในช่วง 1-2 ปีนี้
เช่น Sylphy , Pulsar และ Teana ประดับตกแต่งด้วยวัสดุโครเมี่ยม แผงสีเงิน
เมทัลลิค และพื้นผิวพลาสติคสีดำแบบ Piano Black แสดงให้เห็นว่า วิศวกร
และทีมออกแบบของ Nissan ใส่ใจในด้าน Perceived Quality หรือการรับรู้
ด้านคุณภาพผ่านการสัมผัสพื้นผิว และการมองเห็นด้วยตาเปล่า มากยิ่งขึ้น

พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ยกชุดมาจาก Teana หุ้มหนัง และประดับด้วยสีเงิน
เมทัลลิค มีสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และระบบโทรศัพท์ ทางฝั่งซ้าย ส่วน
ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control อยู่ฝั่งขวา

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 2 วงกลม ล้อมกรอบด้วยแถบโครเมียม ทั้ง 2 ฝั่ง หน้าจอ
ตรงกลาง เป็นแบบ TFT เหมือนทั้ง Teana และ NP300 Navara แสดง
ข้อมูลต่างๆของตัวรถ เช่น อัตราสิ้นเปืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย หรือแบบ Real Time
ระยะทางที่สามารถแล่นต่อไปได้ด้วยน้ำมันในถัง ฯลฯ เป็นภาพกราฟฟิค
สีสันสวยงาม

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบ อัตโนมัติ แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา มีช่องแอร์สำหรับ
ผู้โดยสารด้านหลังมาให้ ขณะเดียวกัน ชุดเครื่องเสียง ในรถยนต์ทุกคันที่เรา
ลองขับกันในทริปนี้ เป็น วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/MP3 1 แผ่น
มีช่องเสียบต่อ USB และ AUX ในกล่องเก็บของด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และ
ผู้โดยสาร มาพร้อมจอมอนิเตอร์ แบบ Touch Screen ขนาดใหญ่ 8 นิ้ว
มีระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System พร้อมระบบ
สื่อสารอัจฉริยะ CARWINGS มาให้จากโรงงาน หน้าจอกราฟฟิคสวยงาม
แบ่งการแสดงผลได้ชัดเจน และเข้าใจง่าย ใช้งานง่าย แม้เป็นภาษาญี่ปุ่น

ชุดไฟส่องส่าง และไฟอ่านแผนที่ตรงกลาง ยกมาจาก Teana ใหม่ ทั้งดุ้น
แผงบังแดดทั้งซ้าย ละขวา มีกระจกแต่งหน้ามาให้ พร้อมฝาพับเปิด – ปิด
แต่ไม่มีไฟส่องแต่งหน้ามาให้

รถคันที่ผมลองขับ มีหลังคากระจก Sunroof เลื่อนเปิด-ปิดได้ด้วยไฟฟ้า
ซึ่งพอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างว่า อาจเห็นออพชันนี้ในบ้านเรา

X-Trail เวอร์ชันญี่ปุ่น จะวางเครื่องยนต์ ที่ไม่ถึงกับเหมือนบ้านเราเสียทีเดียว
เป็นขุมพลัง ใหม่ในรหัส MR20DD บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 84.0 x 90.1 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.2 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยหัวฉีด ตรงสู่ห้องเผาไหม้ Nissan Di (Direct Injection) พร้อมระบบ
แปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย Twin VTC

กำลังสูงสุด 147 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แงบิดสูงสุด 21.1 กก.-ม.ที่
4,400 รอบ/นาที

ส่วน X-Trail เวอร์ชันไทย นั้น ณ วันที่ต้นฉบับนี้เผยแพร่ ยังไม่มีข้อมูลเล็ดรอดออกมา
ออกมา แต่คาดการณ์ว่า จะได้ใช้เครื่องยนต์ 2,000 และ 2,500 ซีซี บล็อกเดียวกับ
ขุมพลังที่วางอยู่ใน Teana L33 เวอร์ชันไทย รุ่นล่าสุด

ถ่ายทอดกำลังสู่เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน XTronic CVT ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์
Paddle Shift มาให้ แต่อย่างใด กระนั้น ที่คันเกียร์ จะมีปุ่ม Sport มาให้เพื่อช่วย
ทดรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น และเพิ่มการตอบสนองของคันเร่ง กับลิ้นปีกผีเสื้อ ให้ไว
ทันใจมากขึ้น อัตราทดเกียร์ D ขับเคลื่อน ระหว่าง 2.631 – 0.378 เกียร์ถอยหลัง
เกียร์ถอยหลัง 1.960 อัตราทดเฟืองท้าย 6.386

น่าเสียดาย ที่ผมไม่มีโอกาส จับเวลาหาอัตราเร่ง แบบคร่าวๆ มาให้เห็นภาพกัน
เนื่องจาก การขับรถตามต่อเนื่องกันไปเป็นขบวน Convoy นั้น แม้ว่าจะมีช่วง
เร่งทำความเร็ว เพื่อตามรถคันข้างน้าให้ทัน แต่ สภาพการจราจรบนทางด่วนนั้น
เป็นไปในลกษณะ ขับตามกันเรื่อยๆ เว้นระยะกันอย่างเหมาะสม ดังนั้น โอกาส
ที่จะจับเวลาลองอัตราเร่งมาให้ จึงแทบไม่มีเลย

กระนั้น บุคลิกการตอบสนองของเครื่องยนต์ และเกียร์ ทั้งในช่วงออกตัวจาก
จุดหยุดนิ่ง เร่งตามท้ายรถคันข้างหน้า ขณะขับขี่ในเมือง หรือช่วงเร่งแซงบน
ทางด่วน แทบไม่แตกต่างไปจาก Teana 2.0 ลิตร เวอร์ชันไทย เท่าใดนัก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า คุณมีนิสัยในการขับรถยนต์อย่างไร

ถ้าคุณเป็นแม่บ้าน เน้นการขับขี่สบายๆ เรื่อยๆ รับส่งบุตรหลาน ไป – กลับจาก
โรงเรียน แวะ Supermarket ก่อนกลับบ้าน ไปทำอาหาร อัตราเร่งของรุ่น
2.0 ลิตรนั้น ยืนยันเลยครับว่า เพียงพอ เหลือเฟือ  เร่งแซงในเมืองได้อย่าง
คล่องตัว เพราะในช่วง ดีดออกตัว จาก 0 – 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถพุ่งไป
ข้างหน้า ได้ดีกว่าที่คาดนิดหน่อย ไม่ได้ถึงกับอืดอาดยืดยาดอย่างที่คิด

แต่ถ้าคุณเป็นคนเท้าหนัก รักความแรง เป็นนักแข่งรถกลับชาติมาเกิด
เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร มันไม่คณาตีนคุณแน่ๆ เพราะบุคลิกมันเหมือนกับ
Teana 2.0 CVT ในบ้านเรา อยู่ไม่น้อย

คันเร่งไฟฟ้า มาในสไตล์เดียวกับ Nissan รุ่นอื่นๆ คือจงใจจะเซ็ตมาให้
Lag นิดนึง ราวๆ 0.4 – 0.6 วินาที แต่ถ้ากดปุ่ม Sport ที่คันเกียร์แล้ว
คันเร่งจะตอบสนองไวขึ้นทันตา เหยียบปุ๊บมาปั๊บ ทันที แถมยังจะเร่ง
รอบเครื่องยนต์ไปรอไว้ให้ เผื่อ คุณคิดเร่งแซง แรงบิดจะได้พร้อมส่ง
ออกมาจากเครื่องยนต์ว่องไวกว่าเดิม นิสัยแบบนี้ช่างถอดแบบมาจาก
Teana ใหม่ ชัดๆ

ย้ำกันอีกครั้งตรงนี้ว่า อัตราเร่งของเวอร์ชันไทยนั้น หากเป็นรุ่น 2.0 ลิตร
อาจจะมีบุคลิกคล้ายคลึงกัน แต่ในรุ่น 2.5 ลิตร คาดว่า อัตราเร่งน่าจะดีขึ้น
กว่านี้ ชัดเจน

การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ยืนยันว่า เวอร์ชันญี่ปุ่น ทำได้ดีกว่า CX-5
ทั้ง Made in Japan และ Made in Malaysia อย่างแน่นอน เสียง
รบกวนที่เล็ดรอดเข้ามา ถือว่า เงียบใช้ได้ ไม่ดังหนวกหูน่ารำคาญเลย 
แม้จะใช้ความเร็วขึ้นไปถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงก็จะดังเพิ่มขึ้นมา
แค่นิดหน่อยอยู่ดี…

หรือว่าส่วนหนึ่ง เป็นเพราะพื้นทางด่วนของญี่ปุ่น มันราบเรียบเนียน
ยิ่งกว่าผิวเด็กแรกเกิดอยู่แล้วเป็นตัวช่วย? เสียงยางก็เลยไม่ค่อยมีให้
ได้ยินขึ้นมาเท่าไหร่

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต ส่วนด้านหลัง
เป็นแบบมัลติลิงค์ ยอมรับเลยว่า มีการปรับเซ็ตมาในสไตล์ นุ่มนวล
เหมือนกับ X-Trail เวอร์ชันไทย รุ่นประกอบจากอินโดนีเซีย แต่
สิ่งที่สัมผัสได้ว่าต่างไปจากรถรุ่นเดิมชัดเจนคือ ความหนักแน่นที่
เพิ่มเข้ามามากขึ้น จากเดิมที่ให้ความนุ่มนวล แต่คราวนี้ ต้องถือว่า
เป็นช่วงล่าง สไตล์ “นุ่มและแน่น Firm” มั่นใจได้ในการเดินทาง
ไม่ว่าจะขับคลานๆ ในตัวเมือง ช่วงความเร็วต่ำกว่า 40 กิโลเมตร/
ชั่วโมง หรือช่วงความเร็วสูงถึง 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตัวรถก็ยัง
นิ่ง นั่งสบาย มั่นใจได้ มาในแนวทาง Premium SUV มากขึ้น
ยิ่งการออกแบบโครงสร้างตัวถังใหม่ เน้นให้ Body Control ยิ่ง
ดีขึ้นกว่าเดิม ก็ยิ่งเพิ่มความแน่นแต่นุ่มกำลังดี ให้กับช่วงล่าง
ของ X-Trail เข้าไปอีก

การปรับระยะฐานล้อให้ยาวขึ้น มีส่วนช่วยในเรื่อง Driving Dynamic
ของตัวรถ ให้ดีขึ้นอีกชัดเจน ขณะเดียวกัน การเอียงตัวขณะเลี้ยวเข้าโค้ง
ก็ลดน้อยลงจากรุ่นเดิมไป นั่งแล้ว ไม่หวาดเสียว เหมือนนั่งอยู่ใน CR-V
รุ่นที่ 4 และช่วงล่างด้านหลัง ก็ไม่ได้กระเด้งมาก เมื่อเทียบกับ CX-5
หรือ Captiva

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อนครบทั้ง 4 ล้อ เสริม
ตัวช่วยมาตรฐาน ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking
System) ระบบ กระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronic
Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน หรือ
Brake Assist

แต่รุ่นที่ผมลองขับนั้น ถือเป็นรุ่น ท็อป 2.0 X ที่ติดตั้ง ชุดอุปกรณ์ใหม่
Emergency Brake Package ซึ่งมีระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ
ถ้าคุณขับรถเข้าใก้ รถคันข้างหน้ามากเกินไป ระบบจะส่งสัญญาณเตือน
ผู้ขับขี่ และถ้ายังไม่ยอมเหยียบเบรก จนเข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไป
ระบบจะสั่งให้เบรกทำงานเองทันที

ผมไม่ได้ทดลองระบบนี้มาให้ เพราะนั่นคงจะทำให้หลายๆคน ที่ร่วมทริป
ไปกับเราในคราวนี้ หัวใจจะวายได้ แต่การตอบสนองของแป้นเบรก แทบ
เรียกได้ว่า ยังคงเซ็ตมาให้เหมือนกันกับทั้ง Sylphy, Pulsar, Teana
ใหม่ เวอร์ชันไทยอยู่ดี

กล่าวคือ ในระยะแรกที่เริ่มเหยียบแป้นเบรกลงไป มันจะให้สัมผัสคล้ายกับ
การที่คุณลองใช้ กีบเท้าหน้าของม้าตัวผู้ ค่อยๆเหยียบลงไปบนแป้นเบรก
แน่นอนว่า รถจะยังไม่เริ่มหน่วงความเร็วลงมาให้มากนัก จนกระทั่งแป้น
เบรกถูกเหยียบลึกลงไปราวๆ 30 – 40 % จึงจะเริ่มหน่วงความเร็วลงมา
เพิ่มขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นิสัยถาวรของรถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT ยังคงโผล่มาให้เห็น
ใน X-Trail ด้วยเช่นกัน นั่นคือ ทันทีที่ถอนคันเร่ง รถจะแอบพุ่งไปข้างหน้า
แบบ วืดดด นิดๆ ก่อนจะหายไป ในจังหวะที่คุณกำลังละเท้าขวาจากคันเร่ง
มาเหยียบเบรกอย่าตกใจ และนั่นคืออาการปกติ ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยชอบนัก
ที่จะต้องเจออาการแบบนี้

นอกนั้น ในภาพรวม ระบบห้ามล้อ ถือว่ายังทำงานไว้ใจได้ แต่อาจยังไม่ถึง
ขั้นน่าประทับใจเท่ากับแป้นเบรกของ CX-5 กระนั้น การตอบสนองถือว่า
ดีกว่า แป้นเบรกของ CR-V และ Captiva อยู่นิดหน่อย

********** สรุป (เบื้องต้น) **********
ขับสบาย นุ่มแน่น แต่มั่นใจ เบาะหลังเยี่ยมกว่าเพื่อนพ้องในพิกัดเดียวกัน

เกือบ 1 วันเต็มๆ ที่ได้ขลุกอยู่กับ X-Trail ใหม่ เวอร์ชันญี่ปุ่น บอกให้ผมรับรู้
ว่า คราวนี้ Nissan เอาจริงกับตลาด Compact Crossover SUV มาก
ยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยตั้งใจมา

การจับรวบ รถยนต์ประเภทเดียวกัน ที่เคยถูกสร้างมาเพื่อแยกกันทำตลาด
ในแต่ละทวีป ทั้ง X-Trail สำหรับญี่ปุ่นและเอเซีย Rogue สำหรับตลาด
อเมริกาเหนือ และ Qashqai สำหรับตลาดยุโรป  จึงเป็นหนทางที่ Nissan
เลือกใช้

มันอาจไม่ถูกใจลูกค้าแต่ละกลุ่มได้เป๊ะ เพราะ คนของ Nissan เอง ก็ยอมรับ
ว่า การสร้างรถยนต์ขึ้นมาเพียงรุ่นเดียว แต่ต้องเอาใจลูกค้าทั่วโลกให้ครอบคลุม
ทุกความต้องการ ทุกความแตกต่างของกลุ่มตลาด ที่เข้าไปจำหน่าย มันเป็นเรื่อง
ยากเย็นแสนเข็ญมากๆ

แต่ต้องนับว่า X-Trail ใหม่ ทำได้ดีมากๆ การปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ผม
ลืมภาพ X-Trail รุ่นเก่า ที่เน้นการเป็น “อุปกรณ์การลุยของนักกีฬาผู้ท้าทาย”
กลายมาเป็น “พาหนะของ โค้ชกีฬา Extream ผู้ได้เวลาแสวงหาความสบาย
จากชื่อเสียงเกียรติยศ และเงินทอง” กันเสียที  

ทุกความคาดหวัง ที่คุณอยากพบเห็นในรถยนต์อเนกประสงค์ 5 – 7 ที่นั่ง
คุณจะได้รับมันอย่างสมดังใจ เบาะนั่งแถวกลางที่กว้าง ใหญ่และนั่งสบาย
ที่สุดในกลุ่ม Compact Crossover SUV คือจุดขายสำคัญ ความสบายใน
การขับขี่ และบังคับควบคุม รวมทั้งความนุ่มแน่น ของช่วงล่าง น้ำหนัก
ของพวงมาลัยที่เบากำลังดี แบบ Teana ไม่เบาโหวงแบบ Sylphy และ
ไม่ใช่พวงมาลัย Robocop แบบ March กับ Almera แน่ๆ เป็นอีกสิ่ง
ที่น่าจะทำให้หลายๆคน ชื่นชอบ X-Trail มากกว่า CR-V ได้ไม่ยาก

ด้านพละกำลัง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อาจยังไม่ใช่ข้อสรุปใน
รีวิวนี้ เพราะรุ่นที่ผมลองขับ เป็นเวอร์ชันญี่ปุ่น เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี
Direct Injection ซึ่งจะแตกต่างไปจากเครื่องยนต์เวอร์ชันไทย เพราะ
เราจะได้ใช้ เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี และ 2,500 ซีซี พร้อมเกียร์ CVT
ที่ยกชุดมาจาก Teana ใหม่ L33 เวอร์ชันไทย แทบทั้งดุ้น จึงพอจะ
เดาได้ว่า X-Trail 2,500 ซีซี น่าลิ้มลองอัตราเร่งกว่านี้แน่ๆ เพราะรุ่น
2,000 ซีซี นั้น แม้จะเพียงพอต่อการใช้งานสบายๆ แต่บรรดาพ่อบ้าน
หรือคุณแม่บ้าน เท้าหนัก อาจยังตะหงิดติดขัดเคืองใจอยู่บ้างแหงๆ

ฉะนั้น ถ้าคุณยังอยากได้อัตราเร่ง และความสนุกในการขับขี่ หรืออาจ
รวมถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง Mazda CX-5 น่าจะยังตอบโจทย์
ของคุณได้ดีกว่า X-Trail ใหม่

แต่ถ้าอยากได้ ความสบาย นุ่มแน่น และมั่นใจในการขับขี่ แบบที่
Nissan รุ่นใหม่ๆ กำลังพยายามมอบให้คุณอยู่ X-Trail คือคำตอบ
ที่น่าสนใจอย่างมาก

มากเสียจนกระทั่งผมเริ่มหันกลับมามองว่า แล้วเราจะยังสนใจใน
Honda CR-V กับ Chevrolet Captiva กันอยู่ทำไม?

X-Trail รุ่นใหม่ ดีขึ้นมากๆ ในหลายด้าน ทั้งการออกแบบภายนอก
และภายใน การปรับปรุงแก้ไขให้เน้นความสบายในการขับขี่ และ
นั่งโดยสาร โดยเฉพาะ เบาะแถว 2  ซึ่งถือว่า ดีที่สุดในกลุ่ม แต่
ผมยังอยากได้พละกำลังที่มากกว่านี้ มาพร้อมกับอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง ที่ควรจะอยู่ในระดับ 14 กิโลเมตร/ลิตร เหมือน CX-5
ได้แล้วเสียที

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่อยากรีบด่วนสรุปอะไรไปมากกว่านี้ เพราะ
ยังมีเวลาอีกพักใหญ่ กว่าที่คุณผู้อ่าน จะได้ลองสัมผัสกับ X-Trail
เวอร์ชันไทย ซึ่งคาดว่า เราอาจต้องรอกันไปจนถึงงานแสดงรถยนต์
Motor Expo ปลายเดือนพฤศจิกายน จึงจะได้ฤกษ์เบิกตัวออกจาก
โรงงาน บางนา – ตราด กม.21 กันอย่างเป็นทางการเสียที

ถึงเวลานั้น เราค่อยมาลองอ่านกันในบทความ Full Review อีกที
ว่าตัวเลขอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลือง ของเวอร์ชันไทย จะยังคงทำให้
X-Trail ใหม่ น่าหลงไหล ต่อไปเช่นนี้ หรือเปล่า?

ช่วงปลายปี ค่อยกลับมาคุยกันอีกทีครับ!

——————————///—————————-

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motor Thailand จำกัด
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้

————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ภาพถ่าย โดยผู้เขียน , ช่างภาพจาก UK และ คุณนก ช่างภาพ

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
23 กรกฎาคม 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 23th,2014 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!