Colorado Minor change เวอร์ชั่นไทย จะได้หน้าตาเหมือนแบบอเมริกามั้ย ?

นี่เป็นคำถามสุดฮิต หลังจาก General Motors ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดตัว
Colorado US Version เป็นต้นมา จากเสียงเรียกร้องของลูกค้าเป็นจำนวนมาก
ทั้งจากไทย ออสเตรเลีย บราซิล

Chevrolet Colorado ในบ้านเรา เริ่มมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อมีรถ
พรางตัววิ่งทดสอบ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2015 โดยมีสติ๊กเกอร์ลายก้นหอย
ติดไว้ทั่วทั้งคัน และ มีผ้าสีดำคลุมส่วนด้านหน้ารถเอาไว้ หลายคนรอคอยการปรับ
หน้าครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อว่าจะเหมือนหรือต่างจากเวอร์ชั่น US สหรัฐอเมริกา
มากน้อยเพียงใด

001

หลังจากนั้นไม่นาน ช่วงต้นเดือน มีนาคม ก็ได้ปรากฎภาพหลุด น่าจะเป็นจากโรงงาน
สักแห่งหนึ่ง ไม่แน่ชัด ว่าอยู่ในประเทศใด เห็นดีไซน์ด้านหน้า ซึ่งไม่เหมือนกับหน้าตา
ของทางฝั่งเวอร์ชั่น US แต่เป็นการนำดีไซน์ของรุ่นปัจจุบัน ผสมผสานกับเวอร์ชั่น US
ปรับดีไซน์ให้มีความลงตัว เพราะเนื่องจากในเวอร์ชั่น US เอง ระยะฐานล้อ และ ชิ้นส่วน
บางอย่าง ต่างจากที่ขายอยู่ในประเทศไทย จึงไม่สามารถยกมาใช้กันได้เลย

จากนั้นประเทศไทย ก็เป็นประเทศแรกในโลกที่ได้เห็นรถต้นแบบ Colorado Xtreme
คันสีส้ม มาเปิดตัวโชว์อยู่ในงาน Bangkok International Motor Show 2016 ที่ผ่านมา
เป็นการแสดงถึงแนวทางงานออกแบบ และ ทิศทางของรุ่นปรับโฉม Minor change

มาไวดั่งสายฟ้าแล่บ กลิ่นควันงาน Motor Show 2016 ที่ปิดฉากลงไป ยังไม่ทันจางหาย
General Motors ก็ได้ทำการเผยโฉมเวอร์ชั่นจำหน่ายจริง ที่ บราซิล เป็นประเทศแรก
ในโลก ซึ่งจะทำตลาดในชื่อ S10 จากนั้นตามกันมาติดๆ ก็ถึงคราวของประเทศไทย
ที่จะเปิด Preview Colorado Minor change ในวันที่ 28 เมษายน 2016 ที่ไบเทค
บางนา พื้นที่ถูกเนรมิตให้เป็น Theater ขนาดใหญ่ จำลองประหนึ่ง Grand Canyon
แห่งรัฐ Colorado ยกมาไว้ในงานเปิดตัว

002

หลังจากงานเปิด Preview ผ่านพ้นไป ข้อมูลต่างๆได้ถูกเปิดเผยออกมา ซึ่งทาง
Chevrolet มั่นใจในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มาก ถึงขนาดใช้คำว่า All-new
เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า ว่าตัวรถนั้นเปลี่ยนจากเดิมไปมากจริงๆ กระนั้น ผมมองว่า
ตัวรถยังคงถูกพัฒนาขึ้น บน Platform เดิม บอดี้เดิม หากใช้คำว่า Minor change
หรือ New ดูจะเหมาะสมมากกว่า เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด หรือ สร้างความสับสน
ว่านี่มันเป็นรุ่นปรับโฉม ไม่ใช่การเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แบบ Model change

ผมนิยามมันว่าเป็นการ Minor change แต่จะเสริมคำขยาย เข้าไปอีกนิดว่า
Big-Minor change เนื่องจากมันมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่ใช่แค่ เพียงการ
แต่งหน้า ทาปาก เท่านั้น แต่มีการปรับไปถึงงานวิศวกรรมด้วยเช่นกัน

เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น Chevrolet ประเทศไทย
จึงเชิญสื่อมวลชนได้ทดสอบเจ้า Colorado Big-Minor change ก่อนการ
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยรถทั้งหมดจะเป็น รถ Pre-Production หรือ รถ
ทดลองประกอบก่อนขายจริง แต่จะเป็นล็อตสุดท้าย Final PP ใกล้เคียงกับ
เวอร์ชั่นขายจริงมากที่สุด

เส้นทางที่ใช้ เดินทางจาก ถ.สาทร มุ่งหน้าสู่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยใช้ทาง
ยกระดับ ลง ถ.พระราม 2 ต่อเนื่องยัง ถ.เพชรเกษม เมื่อถึง จ.ราชบุรี ก็ใช้ถนน
สายรอง มุ่งไปยัง อ่างเก็บน้ำ บ้านโป่งแห้ง ขากลับก็ใช้เส้นทางเดียวกันนี้
เพื่อกลับเข้าสู่กรุงเทพฯ รวมระยะทางไป-กลับ กว่า 490 กิโลเมตร

แต่ก่อนจะพูดกันถึงเรื่องของ สมรรถนะ และการขับขี่ เรามาดูตัวรถคันจริง
ก่อนดีกว่า ว่า Colorado Minor change ที่ Chevrolet ได้ทำการปรับปรุง
เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ มีอะไรต่างออกไปจากเดิมบ้าง ไล่เรียงจากภายนอก
สู่ ภายในห้องโดยสาร

มิติตัวถังของ Colorado Minor change ยาว 5,408 มิลลิเมตร กว้าง 1,874
มิลลิเมตร สูง 1,858 มิลลิเมตร (รวมราวหลังคา) ระยะฐานล้อ 3,096 มิลลิเมตร
เมื่อเทียบกับรุ่นเดิมพบว่า ยาวขึ้น 48 มิลลิเมตร แคบลง (จากซุ้มโป่งล้อ)
8 มิลลิเมตร และสูงขึ้น 63 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อเท่ากัน (รุ่นเดิม มิติ
ตัวถัง : 5,360 x 1,882 x 1,795 มิลลิเมตร)

003

ภายนอก ด้านหน้ารถจะเป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด กล่าวคือ
ตั้งแต่บริเวณเสา A เป็นต้นมาจนถึงหน้ารถ จะถูกเปลี่ยนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น
ไฟหน้าที่เปลี่ยนทรงให้มีความมนมากขึ้น โดยเป็นโคมแบบ มัลติรีเฟลกเตอร์
ฮาโลเจน พร้อม ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน แบบ LED Tube มาพร้อมกับ
ระบบเปิด-ปิด ไฟหน้าอัตโนมัติ เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่ใช่โคมแบบ
โปรเจคเตอร์ HID / LED ตามสมัยนิยม

กระจังหน้าแบบ 2 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู อันเป็นเอกลักษณ์ของค่ายโบว์ไท
เสริมแนวขอบด้วยโครเมี่ยม กันชนหน้าทรงใหม่รับกับชุดกระจังหน้า ด้านล่าง
เป็นที่อยู่ของช่องไฟตัดหมอกคู่หน้า พร้อมการ์ดกันชนสีดำในรุ่น High Country
นอกจากนี้ ที่กันชนด้านหน้ามีเซนเซอร์ช่วยกะระยะทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน

ฝากระโปรงหน้ายกขอบขึ้นมา มีการเล่นมิติส่วนนูน-เว้า ของพื้นที่ด้านบนใหม่
แก้มข้างปรับความเหลี่ยมของโป่งล้อใหม่ให้รับกับดีไซน์ด้านหน้ารถ ส่วนที่ถัด
จากเสา A เป็นต้นไปจะยังคงเหมือนเดิม

004

ล้ออัลลอย ลายใหม่ แบบ 6 ก้านคู่ปัดเงา ทำไฮไลต์สีดำเงาที่ด้านใน ขนาด
18 นิ้ว รัดด้วยยาง Bridgestone Dueler 684 II ขนาด 265/60 R18
เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม

ครึ่งคันหลังดีไซน์เหมือนเดิมทุกประการ ประกอบด้วยราวหลังคา พร้อมคาน
แนวนอนสำหรับขนของ สปอร์ตบาร์สีเดียวกับตัวรถติดตั้งมาพร้อมกับ ไลน์เนอร์
กระบะท้ายในตัว ไฟท้ายเป็นแบบ LED 12 หลอด ฝากระบะท้ายยังให้เส้นสาย
เหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนชุดมือเปิด โดยซ่อนกล้องมองภาพขณะถอยจอด
เอาไว้ในชุดเดียวกัน ที่สังเกตเห็นได้ คือ ช่องไขกุญแจสำหรับล็อคฝาท้ายนั้น
หายไปเป็นที่เรียบร้อย

กันชนท้ายเป็นพลาสติกสีดำเสริมด้วยโครเมียม โดยเว้นพื้นที่สำหรับปีนไว้
ตรงกลาง ส่วนล่าง ซึ่งทำให้ไม่ต้องปีนสูงนักเหมือนหลายๆค่าย ติดตั้ง
เซนเซอร์กะระยะช่วยจอดด้านหลัง ทั้งหมด 4 ตำแหน่ง

005

การเข้าออกตัวรถ ทำได้โดยปลดล็อคที่กุญแจรีโมท แบบพับเก็บได้ Knife
Key ยังไม่มีระบบ Smart Keyless Entry รวมถึง ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์มาให้
(ซึ่งควรจะมีมาให้ได้แล้ว ในรุ่นท๊อป) สิ่งที่มาทดแทนคือ ระบบสตาร์ทรถยนต์
ด้วยกุญแจรีโมท หรือ Engine Remote Start สามารถกดสตาร์ทเครื่องยนต์
และ เปิดแอร์ได้จากรีโมท

การใช้งานก็เพียง กดล็อคก่อน 1 ครั้ง จากนั้น Start โดยกดค้างที่ปุ่มลูกศร
วกกลับ เท่านี้เครื่องยนต์ และ แอร์ก็ทำงาน โดยสามารถสั่งการได้จากระยะ
ไกล 30 – 100 เมตร แล้วแต่สภาพบริบทแถวนั้น ว่ามีการบังสัญญาณเกิดขึ้น
หรือไม่ เมื่อกดสตาร์ทแล้ว ระบบจะติดเครื่องยนต์ให้เป็นเวลา 10 นาที และ
สามารถยืดเวลาเพิ่มไปได้อีก 10 นาที รวมเป็น 20 นาที ก่อนที่เครื่องยนต์
จะดับลงอัตโนมัติ

การขึ้นรถหลังจากใช้รีโมทสตาร์ท ต้องกดปลดล็อคก่อน 1 ครั้ง และ นำ
กุญแจไปเสียบที่ช่อง และ บิดสตาร์ทเหมือนปกติ จึงจะสามารถเคลื่อนรถได้
(ระบบ Engine Remote Start จะมีในรุ่น LTZ เกียร์อัตโนมัติ และ High Country)

011

มาถึงภายในห้องโดยสารกันบ้าง แต่ต้องขอท้าวความกันก่อนสักเล็กน้อย
ว่า General Motors นั้นจับมือกับ Isuzu ร่วมกันทำรถกระบะขนาด Mid-Size
Truck ตระกูลนี้มา ตั้งแต่ ปี 1971 แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภค ต้องการสิ่งที่แตกต่าง
กันมากกว่าที่รถทั้ง 2 รุ่น เป็นอยู่ คือ ต้องมีความแตกต่างให้เห็นมากกว่าแค่
การเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถัง หรือ งานออกแบบด้านหน้า และ นี่ก็ดูเหมือนจะเป็น
ครั้งแรก ของกระบะ Chevrolet ในไทย ที่จะมีแผงแดชบอร์ดดีไซน์ต่างจาก
D-max ได้แล้วเสียที หลังจากผ่านมา 14 ปี !

แผงแดชบอร์ดถูกถอดงานดีไซน์ยกมาจากเวอร์ชั่นอเมริกา โดยมีการลดทอน
เส้นสายบางส่วน และ เติมรายละเอียดเข้าไปเพิ่มเติม จากรุ่นเดิมที่มีความ
ลาดเอียง ในรุ่นใหม่นี้ มาในแนวตั้งชัน มีการเสริมความละเมียดละมัย โดย
การบุนุ่มด้วยวัสดุหนัง และ เดินตะเข็บด้ายจริงสีน้ำตาล เข้าไปด้วยในส่วน
แดชบอร์ดช่วงกลาง ส่วนด้านบนจะยังใช้เป็นพลาสติกขึ้นรูป โทนสีเทา
พร้อมช่องหลุมวางของตรงกลาง

ช่องแอร์ของฝั่งผู้โดยสาร และ ฝั่งคนขับ จะเป็นแนวตั้งทั้งหมด ตรงกลาง
จะเสริมขอบด้วยวัสดุสีเงินลวดลายคล้ายกับ แสตนเลสขนแมว (Hairline
Stainless) ที่นิยมใช้ ตกแต่งตามชุดเฟอร์นิเจอร์ หรือ ชุดครัวราคาสูง

มองขึ้นไปด้านบนจะพบกับกระจกมองหลัง แบบตัดแสงอัตโนมัติ ตรงกลาง
จะเป็นไฟส่องสว่างสำหรับอ่านแผนที่ พร้อมกล่องเก็บแว่นที่บุสักหลาด
ด้านในมาให้ ถัดมาเป็นแผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้าในฝั่งคนนั่ง
แต่ไม่มีไฟส่องสว่างมาให้

006

เบาะนั่งคู่หน้าหุ้มด้วยหนัง สีน้ำตาล ตัดด้วยสีเทาเข้ม เบาะคนขับปรับระดับ
ด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทาง ยังขาดการปรับเบาะรองนั่งให้กระดกรับกับต้นขาอยู่อีก
2 ทิศทาง ส่วนเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับด้วยมือ 6 ทิศทาง (อันนี้
สามารถปรับได้มากกว่ารถหลายๆรุ่นเนื่องจากส่วนมากจะปรับได้ 4 ทิศทาง)

ตัวเบาะทั้งคู่หน้า และ ด้านหลัง ยังคงเหมือนกันกับรุ่นเดิมก่อนหน้านี้ เบาะ
ตอนหลังจะมีพนักพิงศีรษะให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง และ มีที่วางแขนตรงกลาง
สามารถพับเก็บได้ เบาะหลังสามารถพับพนักพิงหลังลงมาได้ หากมีสัมภาระ
หรือ สิ่งของที่จะขนเพิ่ม รวมถึงเบาะรองนั่ง สามารถพับยกขึ้นไปเกี่ยวได้
แยกอิสระ 60 : 40

แผงประตูด้านข้างก็ถูกปรับใหม่ ให้รับกับแดชบอร์ดใหม่เช่นเดียวกัน มี
แถบตกแต่ง สีดำเงา Piano Black พร้อมป้าย High Country บริเวณ
ที่แผงข้าง และ ที่วางแขนจะมีการบุชิ้นฟองน้ำบางๆุ หุ้มด้วยหนังมาให้
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเป็นจุดที่ใครหลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตคือ ช่องเก็บของ
ส่วนด้านล่างจะมีการบุผ้าสักหลาดด้านใน เพิ่มเข้ามาให้ด้วยที่ประตูคู่หน้า

 

007

คอนโซลกลางส่วนล่างจะยังคงเหมือนกับรุ่นเดิม ช่องเก็บของ และ ฐานเกียร์
จะใช้วัสดุ ตกแต่ง สีดำเงา Piano คันเกียร์ตกแต่งด้วยวัสดุโครเมียม เหนือ
ขึ้นไปจะเป็นที่อยู่ของปุ่มเปิด-ปิด ระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ ทั้งระบบ
ช่วยควบคุมการทรงตัว, ระบบช่วยลงทางลาดชัน, เซนเซอร์กะระยะช่วย
จอดหน้า-หลัง, ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร ตรงกลางจะเป็นสวิตซ์
ไฟฉุกเฉินที่ผมแอบรู้สึกว่า ตำแหน่งมันอยู่ต่ำไปสักหน่อย ถัดลงมาจะเป็น
ช่องเก็บของ-วางของ ขนาดเล็ก ประกบด้วยช่องชาร์จไฟ 12V ซ้าย-ขวา

พวงมาลัยยังคงใช้ทรงเดิม แบบ 3 ก้าน หุ้มด้วยหนังผิวสัมผัสที่ดีขึ้นกว่า
รุ่นเดิมเล็กน้อย ชุดสวิตซ์ควบคุมด้านซ้าย จะใช้สำหรับชุดเครื่องเสียง
ส่วนด้านขวาจะเป็นชุดสวิตซ์ สำหรับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
Cruise Control และ ปุ่มปรับระดับของระบบ ป้องกันการชนด้านหน้า
ตกแต่งเดินขอบด้วยวัสดุสีดำเงา Piano Black

ชุดก้านไฟเลี้ยวจะอยู่บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา มีปุ่มสำหรับควบคุมการ
ทำงานของหน้าจอ MID อยู่ ส่วนสวิตซ์เปิด-ปิดไฟหน้า รวมถึง ปรับ
ระดับไฟหน้า จะอยู่ด้านขวาของแผงแดชบอร์ด ใต้ช่องแอร์เหมือนรุ่นเดิม
ด้านขวาของคอพวงมาลัยจะเป็น ก้านควบคุมระบบปัดน้ำฝน ซึ่งจะมี
เซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน สำหรับระบบอัตโนมัติ

meter_edit

ชุดมาตรวัดถูกออกแบบใหม่ ให้ดูง่ายสบายตาขึ้นกว่ารุ่นเดิมมาก เป็นแบบ
2 วง ด้านซ้าย จะเป็นวัดรอบเครื่องยนต์ ส่วนด้านขวาจะเป็นวัดความเร็ว
โดยจะให้แสงสีฟ้า สลับขาวส่วนเข็มจะเป็นสีแดง ด้านบนจะถูกล้อมกรอบ
โครเมียม เป็นมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง และ อุณหภูมิเครื่องยนต์
เข็มอาจจะดูเล็ก-สั้น ไปเสียหน่อย

ตรงกลางเป็นที่อยู่ของหน้าจอ แสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-
Information Display) สามารถแสดงข้อมูลได้เยอะมากครับ ผมเรียง
ให้ดูเป็นข้อๆเลย จะดูง่ายกว่า

– ระยะทางรวม, Trip A, Trip B
– ความเร็วเดินทางเฉลี่ย
– อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ทั้งแบบกราฟ และ ตัวเลข
– อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น
– อุณหภูมิน้ำมันเกียร์
– อุณหภูมิภายนอกรถ
– แรงดันลมยาง ทั้ง 4 ล้อ
– ความเร็วขณะเดินทาง (แบบตัวเลข)
– น้ำหนักที่กดไปยังล้อ และ ยาง
– แรงดันแบตเตอรี่
– ตำแหน่งเกียร์ (อยู่มุมขวาล่าง ซึ่งตัวเล็กมาก)
– ไฟเตือนคาดเข็มขัดนิรภัย (มีมาครบ 5 ตำแหน่ง ทั้งเบาะหน้า-หลัง)

008009

ชุดหน้าจอระบบเครื่องเสียงตรงกลาง MyLink แบบระบบสัมผัส Touch Screen
ขนาด 8 นิ้ว ในรุ่น LTZ และ High Country ส่วนรุ่น LT จะมีขนาด 7 นิ้ว รองรับ
ระบบ Apple CarPlay / Andriod Auto (ใช้งานได้เมื่อ Google Play ปล่อย App)
มีระบบสั่งงานด้วยเสียง SIRI Eyes free, ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth, ช่อง
เชื่อมต่อ AUX/USB ในรุ่น High Country จะเพิ่มระบบนำทาง Navigation
System มาให้ด้วย

กล้องมองภาพขณะถอยจอดจะถูกแสดงภาพขึ้นที่หน้าจอเครื่องเสียงนี้ด้วย
มีเส้น บอกระยะ หมุนตามการเลี้ยวของพวงมาลัย ความละเอียดของภาพ
ที่ออกมาอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้ชัดความละเอียดสูง แต่ก็ไม่ได้แย่

ถัดจากชุดควบคุมเครื่องเสียง จะเป็น สวิตซ์สำหรับระบบปรับอากาศแบบ
อัตโนมัติ แต่ไม่แยกฝั่ง หน้าจอแสดงผลจะอยู่ที่ปุ่มหมุนวงกลมซ้าย-ขวา
ด้านซ้ายจะเป็น ปุ่มเปิด-ปิดแอร์ และ ปรับแรงลม หน้าจอบอกเลยว่า
ค่อนข้างเล็กครับ ขีดระดับ ความแรงพัดลมมองเกือบไม่เห็น ด้านขวา
จะเป็นสวิตซ์หมุนปรับอุณหภูมิ ฝั่งนี้ไม่มีปัญหาครับ ขนาดกำลังดี

012

*** เครื่องยนต์ และ ระบบส่งกำลัง ***

เครื่องยนต์ยังคงเป็น Duramax รหัส XLDE25 Commonrail Direct
Injection เหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนเทอร์โบใหม่ เป็นเทอร์โบพร้อม
ครีบแปรผัน VGT และ อินเตอร์คูลเลอร์ 4 สูบแถวเรียง เพลาลูกเบี้ยว
คู่เหนือฝาสูบ 16 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาด 2.5 ลิตร ความจุ
2,499 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 94.0 มม. อัตราส่วนกำลังอัด
16.5 : 1 พละกำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
440 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที เทอร์โบบูสต์สูงสุด 1.6 บาร์ (หรือ
23.20 ปอนด์) ควบคุมโดยกล่อง ECU ที่พัฒนาขึ้นใหม่โดย GM

เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร เทอร์โบไม่มีครีบแปรผัน 163 แรงม้า
380 นิวตันเมตร จะพบว่าเครื่องยนต์ปรับปรุงใหม่นี้ จะมีพละกำลังเพิ่ม
มากขึ้น 17 แรงม้า แรงบิดเพิ่มขึ้น 60 นิวตันเมตร

หากเทียบกับเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เดิม รหัส XLDE28 Duramax
Generation 2 มีพละกำลัง 200 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร ส่วน
Generation 1 จะมีพละกำลัง 180 แรงม้า แรงบิด 440 นิวตันเมตร
ตัวเลขคุ้นๆกันไหมครับ ? นั่นแหละครับ พละกำลัง ของเครื่องยนต์
2.5 VGT ใหม่นี้ มีตัวเลขบนสเป็คแรงเท่ากับ 2.8 ลิตร Duramax 1 เดิม
ซึ่งก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะ Chevrolet จะยกเลิกการขาย Colorado
เครื่อง 2.8 ลิตร ในไทย เร็วๆนี้แล้ว

012_1

คำถามคือ แล้ว Chevrolet Colorado จะมีเครื่องยนต์ใดจำหน่ายบ้าง ?

Colorado Minor change ในประเทศไทย จะมีด้วยกัน 1 เครื่องยนต์
แต่แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบพละกำลัง คือ

1. High Power : จะเป็นเครื่องยนต์ปรับปรุงใหม่ ตัวที่ผมได้ทดลองขับนี่ล่ะ
คือ XLDE25 2.5 ลิตร เทอร์โบแปรผัน VGT 180 แรงม้า 440 นิวตันเมตร
จะมีอยู่ในรุ่น C-Cab (Double Cab 4 ประตู) และ อาจจะมีในรุ่น X-Cab
ตัวท๊อป LTZ จับคู่กับทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ และ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ

2. Low Power : เครื่องยนต์เดิม XLDE25 ขนาด 2.5 ลิตรเทอร์โบ Intercooler
163 แรงม้า แรงบิด 380 นิวตันเมตร สำหรับตัวถังแบบ Single Cab และ X-Cab
( 2 ประตูมี Cab) จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ

013

ด้านระบบส่งกำลัง มีการปรับปรุงทั้งในเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ปรับแต่ง
อัตราทดเกียร์ใหม่ ส่วนเกียร์อัตโนมัติยังคงเป็น 6 จังหวะ ลูกเดิม แต่
มีการปรับในส่วนของ Torque Converter ใหม่ CPA ( Centrifugal
Pendulum Absorber ) ที่ช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการ
หมุนเพลากลางได้ดีขึ้น

อัตราทดเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีดังต่อไปนี้

เกียร์ 1 ………………………..4.065
เกียร์ 2 ………………………..2.371
เกียร์ 3 ………………………..1.551
เกียร์ 4 ………………………..1.157
เกียร์ 5 ………………………..0.853
เกียร์ 6 ………………………..0.674
เกียร์ถอยหลัง ………………..3.200
อัตราทดเฟืองท้าย ……………3.420

อัตราทดเฟืองท้ายที่ใช้กับ เครื่องยนต์ 2.5 VGT ใหม่นี้ จะเท่ากันกับ
เครื่อง 2.8 ลิตรเดิม

สำหรับตัวเลขอัตราเร่งทั้ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 80-120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ลองจับเวลาดูคร่าวๆ อย่างไม่เป็นทางการ เปิดแอร์ เวลากลางวัน
อุณหภูมิภายนอก 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าปกติที่เราทดสอบกัน
นั่ง 2 คน (กับคุณโอ๊ต จากเว็บ Sanook Auto) จากบริบททั้งหมด จึงยัง
ไม่ใส่ลงไปตารางผลทดสอบนะครับ เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ต่างกัน
เอามาให้ดูเป็นแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น

คันที่ผมขับจะเป็นรุ่น C-Cab 2.5VGT High Country 4×2 6A/T

อัตราเร่ง 0-100 km/h จับเวลาครั้งเดียว ทำได้ 11.06 วินาที
อัตราเร่ง 80-120 km/h จับเวลา 3 ครั้ง ทำได้เฉลี่ย 8.71 วินาที
ครั้งที่ 1  8.79 วินาที
ครั้งที่ 2  8.65 วินาที
ครั้งที่ 3  8.70 วินาที

table

เมื่อเปรียบเทียบ ตัวเลขอัตราเร่งจากในตารางแล้วจะพบว่า ใกล้เคียงกับ
เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร Duramax 1 มีแนวโน้มว่าอาจจะทำตัวเลขได้ดีกว่า
เล็กน้อย หากจับเวลา แบบมาตรฐานปกติ ไม่ว่าจะทั้ง 0-100 กิโลเมตร/
ชั่วโมง หรือ 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่แน่นอนว่า ยังไม่ถึงขนาด
2.8 ลิตร Duramax 2 ที่สร้างตำนานตัวเลข ความแรงที่สุดในบรรดา
กระบะเดิมๆจากโรงงานที่จำหน่ายในประเทศไทย อันนั้น ต้องขอยก
ความแซ่บ ให้ไปเลยอย่างไม่มีข้อกังขา ถือว่าความแรงอยู่ระหว่าง
2.8 Duramax 1 (180PS) และ 2.8 Duramax 2 (200PS)

เครื่องยนต์ตัวนี้เทอร์โบบูสต์มาที่รอบค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 1,500
รอบ/นาที บูสต์มาอ่อนๆ พละกำลังก็เริ่มมาแล้ว หลังจากนั้นเกิน 2,000
รอบขึ้นไป แรงดึงก็จะมาแบบต่อเนื่อง บุคลิกจะมาแนวสุภาพ ทะยาน
ขึ้นไปแบบต่อเนื่อง มองเข็มความเร็วอีกที ก็จะแตะ 160 กิโลเมตร/
ชั่วโมงแล้ว แต่พละกำลังมันจะไม่ได้มา ในลักษณะกระโชกโฮกฮาก
มากนัก

เทียบกับ Ranger 2.2 / Hilux Revo 2.4-2.8 แล้ว รายนั้นจะเซ็ตมา
ในลักษณะ กำลังช่วงต้นพุ่งไปไวกว่า เน้นความกระฉับกระเฉงในเมือง
สำหรับ Colorado 2.5 VGT ออกจะเนือยกว่าหน่อย แต่พอช่วงความเร็ว
กลางถึงปลาย จะทำได้ต่อเนื่องกว่า แต่ก็ยังถือว่าเป็นรองกว่า Ranger 3.2
อยู่ ในขณะที่ D-max 3.0 (5AT) รายนั้นช่วงออกตัวจะเนือยๆหน่อย แต่
พอช่วงกลาง-ปลาย จะค่อยๆไหลได้อย่างรวดเร็ว จะว่าไปก็บุคลิกก็ถือว่า
คล้ายๆกันอยู่ เพียงแต่ Colorado 2.5 VGT จะไหลลื่นกว่าเล็กน้อย
ในช่วงความเร็วกลาง

เทียบกับ Navara ที่มีความจุเครื่องยนต์เท่ากัน แถมยังวางรูปแบบกำลัง
เครื่องยนต์ไว้เหมือนกันอีก จะพบว่า อัตราเร่งช่วงต้น-กลาง Colorado
จะทำได้เนียน และ ไวกว่า ในขณะที่ Navara จะไปจัดในช่วงความเร็ว
กลาง-ปลาย

การขับขี่ในเมืองที่ความเร็วต่ำไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะได้เกียร์
มาช่วย ค้างอยู่ในตำแหน่งเกียร์ 4 หรือ 5 รอบจะรออยู่ที่ประมาณ 1,500
รอบ/นาที ซึ่งเป็นช่วงที่แรงบิดมีให้ใช้อย่างเพียงพอ ไม่ต้องรอรอบให้
รู้สึกหงุดหงิดเหมือนอย่าง Triton ผมได้ลองเปลี่ยนไปโหมด Manual
เพื่อลองตบเกียร์ ให้อยู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ระบบไม่ยอมเปลี่ยนให้
คงเกียร์เดิม และค้างรอบ เอาไว้ที่แถวๆ 1,500 รอบ/นาที เหมือนเช่นเดิม
สอบถามจากคุณวันชนะ อูนากูล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์
ได้ความว่า เป็นความตั้งใจ เซ็ตมาเพื่อให้กำลังมีมาให้ ใช้งานได้อย่าง
ต่อเนื่อง ลดอาการรอรอบที่จะเกิดขึ้น

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นอยู่ที่ 184 กิโลเมตร/ชั่วโมง ล็อคเอาไว้เท่ากันกับ
เครื่องยนต์ 2.8 ลิตรเดิม เหมือนเช่นเคย ซึ่งก็ดีแล้ว เพราะ รถประเภทนี้
อย่าใช้ความเร็วสูงกันมากนักเลยครับ

ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ถึงแม้จะเสียความมันส์แบบหลังติดเบาะไป แต่มี
แนวโน้ม ว่าจะทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองนอกเมืองได้ดีกว่าเดิม เพราะทั้ง
ทริปที่เราขับกัน ระยะทางรวมเกือบ 500 กิโลเมตร ความเร็วที่ใช้ ก็มีตั้งแต่
รถติดช่วงถนนพระราม 2 จนถึงความเร็วค่อนข้างสูง มีทางขึ้นเขาบ้าง
เร่งแซง ช่วงถนน 2 เลนสวนกัน และ บุกไปเส้นทางออฟโรดกันด้วย
จบทริป หน้าจอ MID แสดงตัวเลข 11.3 กิโลเมตร/ลิตร น้ำมันในถัง
ความจุ 76 ลิตร ยังเหลืออยู่ 1/3 ถัง

เรามาดูรอบเครื่องยนต์ ณ เกียร์สูงสุดของแต่ละช่วงความเร็วกันดีกว่า
ความเร็ว @ รอบเครื่องยนต์ (ณ เกียร์สูงสุด เกียร์ 6)

80 km/h @ 1,200 รอบ/นาที
100 km/h @ 1,550 รอบ/นาที
110 km/h @ 1,700 รอบ/นาที

นอกจากนี้ เครื่องยนต์ยังมีการปรับส่วนของ ยางแท่นเครื่อง ยางแท่น
เกียร์ใหม่ รวมถึงติดตั้งวัสดุซับเสียงที่หัวฉีด ทำให้เสียงเครื่องยนต์นั้น
เงียบลงเล็กน้อย แรงสั่นสะเทือนน้อยลง แต่ก็ยังพอรู้สึกสั่นสะเทือน
เข้ามาถึงภายในห้องโดยสารอยู่บ้างในช่วงรอบเดินเบา

คันเร่งตอบสนองแบบกลางๆ ไม่ไวเหมือน Hilux Revo / Ranger แต่
ก็ไม่ได้ช้า อย่าง D-max ในช่วงความเร็วต่ำ ขับขี่ในช่วงรถติด หรือในเมือง
คันเร่งถือว่า ตอบสนองกำลังดี ทั้งนี้เป็นเพราะเกียร์เข้ามาช่วยด้วยส่วนหนึ่ง
ในช่วงความเร็วปานกลางอาจจะต้องกดคันเร่งลงไปลึกกว่าเดิมสักเล็กน้อย
เพื่อเรียกกำลังมาใช้งาน

014

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น มีการเพิ่มขนาดของ
เหล็กกันโคลงใหญ่ขึ้น ปรับค่า K สปริงใหม่ เซ็ตช็อคอัพใหม่ ด้านหลัง
เป็นแหนบแผ่นซ้อน มีการจัดเรียงใหม่ จาก 5 แผ่น เหลือ 4 แผ่น โดย
เพิ่มความหนา-ความยาวของแผ่นล่างสุด  ยางรองตัวถังมีการปรับปรุง
ใหม่ด้วยเช่นกัน

ช่วงล่างใหม่เปลี่ยนบุคลิกของตัวรถ ให้มีความนุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างชัดเจน และ ยังคงความหนักแน่นเอาไว้ ในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง
ซับแรงสะเทือนได้ดีมาก วิ่งในช่วงถนนพระราม 2 ผมได้ลองรูดฝาท่อ
ในเลนซ้ายสุดตลอดแนว พบว่ามันนุ่มนวล แต่ก็ยังคงได้ความรู้สึกหนักแน่น
ไปด้วยพร้อมๆกัน

ในความเร็วเดินทางปกติทั่วไป การนั่งโดยสารนั้นให้ความสบาย นุ่มนวล
ดีกว่า Ranger ค่อนข้างมาก ซึ่ง Ranger นั้นช่วงล่างจะค่อนข้างแข็ง และ
สะเทือน แต่กลับกันในช่วงความเร็วสูง Ranger จะยังคงให้ความมั่นใจ
ได้ดีกว่า ทั้งการเข้าโค้ง และ จัมพ์เนินหรือคอสะพานต่างๆในความเร็วสูง
Colorado จะมีอาการยวบบ้างในบ้างจังหวะ แต่จะไม่นุ่มย้วยเหมือน
อย่าง D-max

ในขณะที่ Hilux Revo / Navara จะออกอาการสะเทือน และ ดีดดิ้นที่
ช่วงล่างด้านหลัง กระนั้นทั้งคู่ในช่วงความเร็วสูง ยังคงจะให้ความมั่นใจ
ได้ดีพอๆกันส่วน Triton ที่เป็นเจ้าแห่งความนุ่มนวลของช่วงล่าง ก็ยังคง
อยู่ในอันดับต้นๆ แต่ Colorado จะมีความหนักแน่นที่ดีกว่ากันเล็กน้อย

ระบบบังคับเลี้ยว เดิมเป็น พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อม
เพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฮโดรลิค ได้ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น เพาเวอร์
ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) เป็นรายที่ 2
หลังจาก Ranger ใช้แบบนี้เป็นรายแรก

สอบถามเบื้องต้นจากทีมวิศวกรของ Chevrolet แล้วว่า ตัวชุดมอเตอร์
ไฟฟ้าจะติดตั้งอยู่บนชุดแกนแร็ค แต่จะเป็นระบบปิด มีการซีลรอบตัว
ป้องกันน้ำและฝุ่น ดังนั้นก็คงสบายใจไปได้เปราะหนึ่ง แต่เรื่องความ
ทนทานยังคงต้องดูกันต่อไปว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ Chevrolet เคลมว่า
มีการวิ่งทดสอบไปแล้วเป็นระยะทางมากกว่า 360,000 กิโลเมตร

น้ำหนักพวงมาลัยในช่วงความเร็วต่ำ เบาสบายกว่ารุ่นเดิม กำลังดี ระยะ
ฟรีน้อยลงกว่าเดิม ไม่เบา ความหนืดกำลังดี และ ไม่ไวเกินไปในความ
เร็วต่ำแบบพวงมาลัยไฟฟ้าของ Ranger หรือ Triton / Navara และ
ไม่หนักแบบ D-max เมื่อเพิ่มความเร็ว พวงมาลัยจะเริ่มหนืดขึ้นตาม
ความเร็วที่เพิ่ม แต่ยังแอบรู้สึกว่า ความหนืดในช่วงความเร็วสูงน้อยไปนิด
รวมถึงถ้ามีระยะฟรีน้อยกว่านี้ก็จะดีมาก เพราะในการเข้าโค้งบางจังหวะ
ยังรู้สึกว่าพวงมาลัย ของ Colorado แม่นยำน้อยกว่า หากเทียบกับ
พวงมาลัยไฟฟ้าของ Ranger

015

ระบบห้ามล้อ หรือ เบรก ยังคงเป็นแบบมาตรฐานของรถกระบะทั่วไป คือ
ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีช่องระบายความร้อน ขนาด 300 มิลลิเมตร
ส่วนคู่หลัง ยังคงเป็น ดรัมเบรก ขนาด 295 มิลลิเมตร ติดตั้ง ระบบป้องกัน
ล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD
(Electronics Brake Force Distribution) และ ระบบเสริมแรงเบรกรองรับ
การเบรกกะทันหัน PBA (Panic Brake Assist)

ภาพรวมของระบบเบรกใน Colorado นั้นมาในแนวค่อนข้างลึก ไม่ตื้นจนเบรก
หัวทิ่ม ระยะชะลอความเร็วทั้งในช่วงการขับขี่แบบคลานๆ บนสภาพการจราจร
ติดขัด ยังทำได้อย่างนุ่มนวล แต่ในความเร็วสูงอาจต้องเพิ่มน้ำหนักกดลงไป
มากกว่าปกติหน่อย จึงจะหน่วงความเร็วได้ตามต้องการ

นอกจากนี้ระบบความปลอดภัย ช่วยเหลือการขับขี่ Active Safety ก็ใส่มาให้
อย่างเต็มพิกัดไม่ว่าจะเป็น

– ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESC (Electronic Stability Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS (Traction Control System)
– ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน HSA (Hill Start Assist)
– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control)
– ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ (Anti Rolling Protection)
– ระบบควบคุมเสถียรภาพขณะลากจูง (Trailer Sway Control)

อีก 2 ระบบที่ลืมไปไม่ได้ ทำงานร่วมกับกล้องเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณ
ด้านหลังของ ชุดกระจกมองหลัง ก็คือ

– ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจร Lane Departure Warning
– ระบบเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning
จะทำงานเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยกล้อง
และ ชุดเซนเซอร์ด้านหน้าจะตรวจจับรถด้านหน้า มีไฟสัญลักษณ์บนชุด
มาตรวัดฝั่งซ้ายเป็นรูปรถสีเขียว และ เมื่อใกล้ขึ้น จนระบบคิดว่าใกล้รถ
คันข้างหน้าใกล้เกินไป จนอาจจะเกิดการชน ก็จะขึ้นไฟ แบบ Head-up
Display สีแดง ที่กระจกบังลมหน้า ที่จอ MID ก็จะ มีข้อภาพ+ภาพกราฟฟิค
แสดงอยู่ จากที่ผมเปิดระบบไว้ถือว่าทำงานได้ค่อนข้างดี และค่อนข้าง active
พอสมควร ซึ่งเราสามารถตั้งระยะการตรวจจับ ได้ 3 ระดับ หรือ ปิดระบบได้
จากปุ่มที่อยู่บนชุดสวิตซ์บนพวงมาลัยฝั่งขวา

ส่วนทางด้าน Passive Safety ให้ถุงลมนิรภัย 3 ตำแหน่ง เป็นมาตรฐาน
คือ คู่หน้า 2 ตำแหน่ง และ หัวเข่า 1 ตำแหน่ง ถ้าจะให้ดีในรุ่น High Country
อย่างน้อยเพิ่มด้านข้างมาให้อีก 2 ตำแหน่ง หรือจะให้ดีขึ้นไปอีก ก็จัด
ม่านถุงลมนิรภัย มาให้ด้วยเลย

การเก็บเสียงจากภายนอก เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ Feedback กลับมาเยอะ
ว่าทำได้ไม่ดีเลยในรุ่นเดิม เสียงลมจากขอบประตู หน้าต่างดังเกินไป
ดังนั้นทางทีมวิศวกรของ Chevrolet จึงได้ปรับปรุงแก้ไขในจุดนี้ เรียกว่า
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุ่มเทไม่น้อย รายการที่ทำการปรับปรุงแก้ไข มีหลาย
อย่าง เริ่มตั้งแต่ กระจกบังลมหน้า และ กระจกหน้าต่างประตูคู่หน้า มีการ
เพิ่มความหนา, ยางขอบประตูทั้ง 4 บาน ยางขอบกระจกบังลมหน้า
ปรับปรุงใหม่, รอยต่อระหว่างกระจกบังลมหน้ากับตัวถัง และ ประตู
มีการปรับตั้งองศา เพื่อลดช่องว่างระหว่างตัวถัง มีการเพิ่มซีลยางกระจก
มองข้าง เพื่อลดช่องว่างลมเข้า Chevrolet เคลมว่า สามารถลดเสียง
รบกวนในห้องโดยสารได้ 8%

แล้วทั้งหมดที่ว่ามานี้ เงียบขึ้นจริงมั้ย ? ตอบได้เลยว่าจริงครับ ! เงียบขึ้นจริง !
ปกติแล้วในรุ่นเดิมที่ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงลม
จากขอบประตู-หน้าต่างก็เริ่มกระหึ่มแล้วครับ ในรุ่น Minor change นี้
กว่าจะเริ่มดังก็พ้นเข็ม ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว ทำให้
บรรยากาศในการเดินทางดีขึ้นจม เทียบกับคู่แข่งในกลุ่มก็จะเกาะกลุ่ม
อยู่ในลำดับต้นๆพอๆกันกับ Ranger / Hilux Revo จะมีก็แต่เสียง
เครื่องยนต์ที่ดังเข้ามาบ้าง เสียงเครื่อง 2.5 VGT ออกแนวโทนเสียงทุ้มต่ำ
ไม่แผดดัง เหมือนครั้งที่เป็นเวอร์ชั่น Duramax 1 ถือว่ารับได้ เลยไม่รู้สึก
รำคาญมากนัก ภาพรวมการเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ทำได้ดีกว่าเดิม
อย่างน่าประทับใจ

016

***** สรุปเบื้องต้น  *****
ปรับใหม่ครั้งใหญ่ ฉีกหนีจากฝาแฝด และ สร้างตัวตนชัดเจนยิ่งขึ้น

เกือบจะทุกด้าน ที่มีจุดบกพร่อง หรือยังไม่สมบูรณ์นักในรุ่นเดิม ได้ถูก
แก้ไข และ ปรับปรุงครั้งใหญ่ ทั้งด้านการขับขี่ และ การนั่งโดยสาร ไม่ว่า
จะเป็นการปรับดีไซน์ภายนอก และ ภายในห้องโดยสารให้เป็นแนวทาง
ของตนเอง โดยฉีกหนี จากฝาแฝดร่วมแพลตฟอร์ม สู่การสร้างตัวตน
ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ฟังเสียงตอบรับ Feedback จากลูกค้า รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน Part
ชิ้นส่วน ก็ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น การปรับโฉม Minor change ของ
Colorado นั้น เป็นการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงแต่งหน้า
ทาปาก นิดหน่อย แม้บางส่วน จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็เห็นความ
พยายามอย่างสูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นไปอีกระดับ

ช่วงล่างใหม่ โดยส่วนตัวเป็นอีกสิ่ง ที่ผมต้องเอ่ยปากขอชม ว่าทำได้ดี
น่าจะ ตอบรับกับการใช้งานของกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ ได้เป็นอย่างดี
เน้นนุ่มสบาย แต่ยังคงไว้ซึ่งความหนักแน่น ไม่ดีดดิ้น แต่ในความเร็วสูง
ยังอาจต้องเพิ่มสมาธิในการควบคุมมากขึ้น เครื่องยนต์แม้จะไม่กระโชก
โฮกฮาก บ้าพลังเหมือนเครื่อง 2.8 ลิตร Duramax 2 ก็ตาม แต่ในการ
ใช้งานทั่วไปถือว่าเพียงพอเหลือเฟือ

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเกือบดีแล้ว ขาดไปเพียงของเล่นอย่าง ระบบ
Smart Keyless Entry กับ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button
ที่น่าจะให้มาได้แล้ว เฉพาะรุ่นท๊อปอย่าง High Country ก็ยังดี แต่กระนั้น
ก็ถูกทดแทนมาด้วย ระบบ Engine Remote Start ที่เป็นกระบะรายแรก
ในไทยที่ใส่ระบบนี้มาให้ ที่สำคัญภายในห้องโดยสารที่ปรับมาใหม่นี้
ทำให้ตัวรถดูดี น่าใช้ขึ้นกว่าเดิมเยอะ

ด้านระบบช่วยเหลือการขับขี่ ก็ถูกจัดสรรมาให้อย่างเต็มพิกัด ให้มาอย่าง
ครบถ้วน จะมีก็แต่อยากให้เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัย อย่างถุงลมด้านข้าง
หรือม่านนิรภัยมาเพิ่มในตัวท๊อป

ยังมีอีกหลายๆส่วนที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่เราอาจจะลงรายละเอียดไป
ไม่หมด ไว้รอเอามาทดสอบเต็มๆ แบบ Full Review แล้วจะมาเล่าให้ฟัง
อีกครั้งหนึ่งครับ

และก็เป็นอีกครั้ง ที่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ นั่นก็คือ บริการหลังการขาย และ
ความเชื่อมั่นเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้สินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีดี
อยู่ในตัวแล้ว ให้ลูกค้าได้มีโอกาสได้สัมผัสกันได้ ถึงแม้ตัวรถจะดีแค่ไหน
แต่หากลูกค้ายังกล้าๆกลัวๆ มีความคิดว่าจะเสี่ยงดีไหม ก็คงจะเติบโต
ได้ไม่ไกล อย่างที่ควรจะเป็น

รีบทำการแก้ไขปัญหาหลังบ้านเถอะครับ ไม่ว่าจะทั้งศูนย์บริการ ดีลเลอร์
และ ความสามารถในการแก้ปัญหาของช่างในศูนย์ฯ สถานการณ์ทุกอย่าง
จะค่อยๆดีขึ้นเอง ไม่ต้องตัดแข้ง ตัดขา ยุบส่วนรถยนต์นั่ง Passenger Cars
ขายแต่กระบะ และ รถอเนกประสงค์อย่างเดียว ตัวรถ Colorado / Traiblazer
เอง แทบจะไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับตัวรถ ผ่านตามาให้เห็น แต่ในเมื่อมัน
เป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องมาแบบลูกโซ่จากทางฟากฝั่งของรถเก๋ง ก็ช่วยไม่ได้
ที่ลูกค้าจะขาดความเชื่อมั่น เพราะมันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ทั้งแบรนด์

ตัวรถก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของกลุ่มแล้ว สบายหายห่วง เหลือเพียงแต่
งานบริการหลังการขาย ที่ควรจะต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน แบบก้าวกระโดดบ้าง
ลูกค้าน่ะพร้อมที่จะเปิดใจ หันมาใช้ของดีๆอยู่แล้ว ผมเชื่อว่า นี่คืองานที่ท้าทาย
และได้แต่หวังว่า ทุกคนใน GM Thailand จะร่วมมือกัน ทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้
เพราะเห็นถึงความตั้งใจ ในการทำผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างดีที่สุดให้กับลูกค้า
แต่ในทางกลับกัน ก็ต้องตั้งใจพัฒนาในด้านอื่นควบคู่กันไปด้วยพร้อมๆกัน

เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำ
(ผมต้องพูดปิดท้ายเชฟโรเล็ต เหมือนกันกับ ฟอร์ดเลยให้ตายสิ !)

017

สุดท้าย สิ่งที่ทุกคนกำลังรอคือ ” ราคา ” เอาล่ะครับ ตอนนี้แม้ทาง Chevrolet
จะยังไม่ประกาศราคาออกมาอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ผมกระซิบบอก
ให้ก่อนเบื้องต้นว่า ราคาน่ะ เพิ่มจากเดิมแค่นิดเดียว ! ส่วนตัวรถจะมีขาย
ทั้งหมด 3 ตัวถังเหมือนเช่นเคย

– S-Cab (Single Cab) ตอนเดียว
– X-Cab (Extended Cab) 2 ประตู แค็ปเปิดได้
– C-Cab (Crew Cab) 4 ประตู

แบ่งออกเป็น 4 เกรด รุ่นย่อย คือ LS / LT / LTZ / High Country ทั้งหมด
จะมีให้เลือก ด้วยกันรวม 17 รุ่นย่อย ใน 3 ตัวถัง มีทั้งขับเคลื่อน 2 ล้อ และ
ขับเคลื่อน 4 ล้อ, เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ – เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
แตกต่างกัน ตามแต่ละรุ่นย่อย

กำหนดการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้นราวๆ สัปดาห์ที่ 3
ของเดือนกรกฎาคมนี้

ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด รอติดตามชมได้ที่ Headlightmag เราจะนำเสนอ
ให้ชมกันอย่างละเอียด เหมือนเช่นเคย

018

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ฝ่ายวิศกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
บริษัท Chevrolet Sales (Thailand) จำกัด
บริษัท Weber Shandwi
ck (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อการเดินทางในครั้งนี้

 


 

Teerapat Achawametheekul (Moo Cnoe)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน และ
ช่างภาพจาก Chevrolet ทีมคุณ Bank Kanchanavilai
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
1 กรกฎาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures 
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 1st,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ ที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE !