งานมา งานเยอะ ถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็น Freelance
หรือเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานองค์กร คุณจะต้องเค้นตัวกับเองเรื่องงาน
มากมาย ทั้งสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบัน งานช้าง งานด่วน งานแทรก งานภาคบังคับ
จนบางครั้งคุณรู้สึกอยากวางทุกสิ่งลง แล้ว “ESCAPE” ออกจากมุมของการงาน
ไปสู่สถานที่ที่งานตามไปไม่ถึง..ซึ่งอาจจะยากหน่อย แต่การได้จิบกาแฟดูไอหมอก
ที่เขาใหญ่หรือวังน้ำเขียว หรือการนั่งเอาเท้าจุ่มทรายริมหาด จกส้มตำปูม้ากิน
กับเครื่องดื่มเย็นๆบนเก้าอี้เอนนอนกับเพื่อนที่รู้ใจของคุณมันก็เปรียบเสมือน
ที่ชาร์จพลังให้คุณพักผ่อนกายใจก่อนกลับไปสู้งานต่ออีกครั้ง

ในโลกนี้ ต่างคนต่างก็มีการ ESCAPE ในสไตล์ของตัวเองตามบุญและกรรม
คนที่มีแฟนก็อาจจะท่องเที่ยวไปกันสองคนในรถเปิดประทุนเก๋ๆสักคัน อันนี้
เขาเรียกมีบุญ..ส่วนถ้าคุณอยู่คลับเดียวกับผม..คือพวกคลับ “มีกรรม” ก็คงเป็น
พวกที่อยู่ตัวคนเดียว ชดเชยความเหงาด้วยการนึกสิ่งที่อยากกินแล้วก็ขับรถ
ไปคนเดียว เปิดเพลงที่ชอบ นั่งกินคนเดียว กินไปส่อง Facebook ไป หาเรื่อง
ชิลล์ใส่ตัวเท่าที่โลกอันไร้คู่ครองจะปราณีให้เราได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมี
คนอีก 2 กลุ่มที่มีรูปแบบชีวิตแตกต่างจาก 2 ประเภทแรก คือพวกที่เวลาไปไหน
ต้องไปกันเป็นหมู่คณะ ทำนองว่าเพื่อนเยอะ เยอะจนบางครั้งการนั่งรถแบบ
5 ที่นั่งทั่วไปนั้นแออัดและเนื้อที่สัมภาระอาจจะน้อย หรืออย่างบางบ้านที่มีทั้ง
คุณพ่อ คุณแม่ คุณยาย ลูกอีก 2 สัมภาระมากมาย มีรถเข็นเด็ก ตะกร้าผ้าอ้อม
แถมบางบ้านยังต้องมีพี่เลี้ยงเด็กติดสอยห้อยตามมาด้วย

ลูกค้าแบบ 2 ประเภทหลังนี่เองที่มีความจำเป็นต้องใช้งานรถแบบ 7 ที่นั่ง

T2016_03_Ertiga_Open

ดังนั้น การที่ผมพาตัวเองมาอยู่กับทีมงานของ Suzuki และคณะสื่อมวลชน
ที่สนามบินดอนเมืองเพื่อร่วมเดินทางไปลองขับ Ertiga ไมเนอร์เชนจ์กันถึง
จังหวัดพิษณุโลกก็เป็นโอกาสที่จะได้ลองรถ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง ช่วยกันคิด
ช่วยกันแบ่งปันเพื่อให้หลายๆท่านที่ชอบการ “ESCAPE” แบบหมู่คณะโดยพูดถึง
สิ่งที่เราได้สัมผัสเพื่อช่วยให้การรวบรวมข้อมูลเลือกซื้อรถของคุณผู้อ่านง่ายขึ้น
ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ช่วยให้คนอื่นมีความสุข ความคิดแบบนี้ทำให้
ผมยังมีความฮึกเหิมหลงเหลืออยู่ในใจทั้งที่สังขารร่างกายมันถอยเอาๆ

รถ Mini MPV อย่าง Ertiga หรือ Mobilio ตลอดจนรถ 7 ที่นั่งขนาดเล็กรุ่นอื่น
อย่าง Avanza นั้น แม้ว่าจะไม่ใช่รถขายดีเมก้าฮิตของประเทศ แต่จุดประสงค์
การใช้งานของมันนั้นมีความสำคัญกับชนชั้นทำงานหาเช้ากินค่ำอยู่เหมือนกัน
ในบางครั้ง เวลาเหนื่อยกับงาน เราก็อยากหาโอกาสที่จะ “ESCAPE” ไปสู่
สถานที่ท่องเที่ยวหรือชายทะเลกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง และต้องขน
สัมภาระหรือผู้โดยสารไปค่อนข้างเยอะ การที่จะไปซื้อรถตู้ระดับหรูมาไว้
เป็นรถคันที่ 2 ของบ้านนั้น ฐานะของเราก็ไม่เอื้ออำนวยให้จ่ายเงินเป็นล้าน
คนฐานะระดับเรา ถ้าซื้อรถอย่าง Alphard/Vellfire ก็คงซื้อได้แค่อะไหล่
หน้าตัดถ้ายตัด ซึ่งถึงทำให้วิ่งได้จริงแม่ยายก็คงไม่อยากนั่งนักหรอก

สิ่งที่เราต้องการ คือรถสักคันที่มีความคล่องตัวแบบรถเก๋งขนาดเล็ก แต่สามารถ
บรรทุกผู้โดยสารได้ ขับคนเดียวก็คล่อง ในบางวันสามารถแปลงร่างเป็นรถ
สำหรับขนสินค้าสำหรับธุรกิจส่วนตัวได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าเฟอร์นิเจอร์
ของตกแต่งบ้านขนาดเล็ก ธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า ค้าไม้ดอกไม้ประดับ หรือ
หน่วยบริการคาร์แคร์เคลื่อนที่

โชคดีที่รูปแบบชีวิตของพวกเราหลายคน เกือบจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้รถ
ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งนิยมรถขนาดเล็กแต่นั่งได้ 7 คน
ดังนั้นเมื่อมีตลาดกลุ่มนี้ใน AEC รองรับ และสามารถสร้างข้อตกลงทางธุรกิจ
การขายรถข้ามประเทศได้ เราจึงมีตัวเลือกรถ 7 ที่นั่งใหม่ๆเปิดตัวในภูมิภาคนี้
มากกว่าแต่ก่อน

ชื่อ Ertiga นั้น ในตอนแรกผมฟังแล้วชวนนึกถึงคำว่า Erotica แต่แท้จริงแล้ว
ว่ากันว่าความหมายของมันนั้น Simple มากครับ รถต้นแบบของ Ertiga ก็คือ
R-III (หรือ R-3) และคำว่า “สาม” ในภาษาอินโดนีเซียก็คือ “Tiga” ส่วนตัว R นั้น
ย่อมาจาก Row หรือแถวที่นั่ง R-Tiga ก็หมายถึงคำว่า “3 แถว” และ Suzuki
ก็ใส่ตัว E เพิ่มนำเข้าไปกลายเป็น Ertiga อันนี้ยังไม่คอนเฟิร์มนะครับแต่อ่าน
เจอมาว่าเรื่องเล่าชาวอิเหนาเขามาประมาณนี้

สำหรับรายละเอียดการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้ สามารถอ่านได้จากบทความ
ทดลองขับรถเวอร์ชั่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ซึ่ง J!MMY ได้ทำเอาไว้แล้ว ที่นี่ครับ

T2016_ErtigaGL01
ทาง Headlightmag ได้มีโอกาสขับ Ertiga รุ่นแรกและเขียนลงเป็นบทความ
ในเดือนมีนาคมปี 2013 หลังจากนั้นผ่านมา 3 ปีพอดี ก็มีเวอร์ชั่นไมเนอร์เชนจ์
ออกมาในที่สุด โดย Ertiga โฉมใหม่ปี 2016 คราวนี้ มาทั้ง 2 แบบ ได้แก่
Ertiga GL ซึ่งเป็นรุ่นล่าง ตั้งราคาเอาไว้ 655,000 บาท มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ
4 จังหวะและเลิกขายรถรุ่นเกียร์ธรรมดาไป

T2016_03_Ertiga_Diagonal01

ต่อมาคือ Ertiga Dreza ราคา 715,000 บาท เป็นรุ่นบน Dreza (ซึ่งฝ่ายการตลาดเล่า
ให้ฟังว่า มันมาจากคำว่า “Dress Up”) จะมีการตกแต่างด้านหน้าต่างจากรุ่น GL
เห็นได้ชัดจากด้านหน้า ซึ่งพยายามเอาใจลูกค้า AEC ด้วยโครเมียม กระจังหน้า
ที่คล้ายรถ MPV ระดับ VIP แนวทางออกจะดูโฉ่งฉ่างอลังการ ไม่ใช่ธีมหล่อเรียบ
แบบที่เคยเป็นมาในรุ่นก่อน สารภาพว่าส่วนตัวรู้สึกชอบด้านหน้าที่เรียบร้อย
กำลังดีของรุ่น GL มากกว่าหน้าตาที่ดูยุ่งเหยิงเหมือนสาวนักท่องเที่ยวที่
แต่งหน้าขั้นเทพราวกับเตรียมไปเป็นเพื่อนเจ้าสาวอย่างเจ้า Dreza..แต่ถ้าเลือกรถสีดำ
หรือสีม่วงเข้มมาแทน มันก็จะให้อารมณ์คล้ายรถยุโรปอย่าง Peugeot หรือ Citroen
บางรุ่นอยู่เหมือนกัน อันนี้ก็คงแล้วแต่เจ้าของเงินเป็นผู้ตัดสินครับ

T2016_03_ErtigaatHotel

ขนาดตัวถังของแต่ละรุ่นมีสเป็คดังนี้
รุ่น GL ยาว x กว้าง x สูง : 4,265 x 1,695 x 1,685 มิลลิเมตร
รุ่น Dreza ยาว x กว้าง x สูง : 4,325 x 1,695 x 1,685 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะความสูงใต้ท้องรถ 185 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรุ่น Dreza 1,195 กิโลกรัม

อาจจะฟังดูเหมือนหนักพอสมควร แต่ทางวิศวกร Suzuki ได้มีการปรับเปลี่ยน
ตัวรถจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ และทำการลดน้ำหนักลงจากเดิมถึง 70 กิโลกรัม!
(แม่เจ้า พี่ไปลดจากตรงไหนกันบ้างครับ 70 กิโลนี่ไม่ใช่น้อยๆนะ)

เมื่อเทียบกับ Honda Mobilio รุ่น RS ยาว 4,398 กว้าง 1,683 และสูง 1,603 มิลลิเมตร
(RS ยาวกว่ารุ่น S และ V เล็กน้อยแต่กว้างและสูงเท่ากัน) ระยะฐานล้อ 2,652
มิลลิเมตร ระยะความสูงใต้ท้องรถ 189 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่า Ertiga นั้นสั้นกว่า
กว้างกว่า แต่สูงกว่าและมีฐานล้อที่ยาวกว่ากันมาก น่าแปลกดีทั้งๆที่ Mobilio
เองก็มีพื้นฐานมาจากแพลทฟอร์มของ Brio คล้ายกันกับที่ Ertiga เองนั้นก็มีพื้นฐาน
มาจาก Suzuki Swift ส่วนเรื่องน้ำหนักตัว Mobilio RS เบากว่าเล็กน้อยคือ
1,154 กิโลกรัม

T2016_03_CabinEntrance

การเข้า/ออกจากรถ ยังใช้กุญแจรีโมทแบบเดิมอยู่ ส่วนภายในนั้น
การตกแต่งภายใน ใช้โทนสีเบจ เพื่อเน้นบรรยากาศโปร่ง โล่งสบายตา
ผ้าหุ้มเบาะ ใช้เนื้อผ้าแบบเดียวกับ Swift โดยรุ่น GL จะเป็นสีเบจ แต่รุ่น
Dreza จะใช้สีน้ำตาลเข้มเข้ามาแซมบนเบาะ เรื่องความสบายนั้นไม่ต่าง
จากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ คนไซส์โตชนิดคุมะมงเห็นแล้วเกรียนไม่ออก
อย่างผมสามารถพุ่งเข้าและลุกออกจากตำแหน่งคนขับได้สบาย
ส่วนตัวเบาะหน้านั้น แม้ความสบายของการรองรับช่วงขาและแผ่นหลัง
จะไม่ต่างกันมาก จุดที่ Suzuki ได้เปรียบคือส่วนพนักพิงศีรษะ ซึ่งปรับสูงต่ำได้
ในขณะที่ของ Mobilio จะเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกับตัวพนักพิงหลัง ถ้าใครจะซื้อจริงๆ
ผมแนะนำให้ลองนั่งดูก่อนเพราะบางท่านก็มีสรีระที่เข้ากับเบาะของ Mobilio ได้
ในขณะที่บางท่านอาจจะชอบพนักพิงส่วนหัวให้ปรับได้มากกว่า นอกจากนี้เบาะ
คนขับของ Ertiga เฉพาะรุ่น Dreza สามารถปรับระดับความสูงได้ ทำให้ปรับตำแหน่ง
จนได้ท่านั่งที่ถนัดมากกว่า และเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า
ของ Suzuki ก็สามารถปรับความสูง/ต่ำได้

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง บอกเลยว่า ทำได้สบายมากกก ตามคาดหมาย
บานประตูกว้าง ใหญ่ และยาวพอให้ก้าวเข้า – ออกจากเบาะหลังได้ สะดวกสบาย
ช่องทางเข้า – ออก ก็ใหญ่โต พอกันกับ Avanza (ประเด็นเรื่องความกว้างของช่อง
ทางเข้า – ออก บานประตูคู่หลังนี้ Ertiga ยังคงเป็นที่ 1 ในกลุ่ม ตามด้วย Mobilio
และ Avanza นี่ละ)

T2016_03_rearme

สำหรับคนที่สนใจเรื่องเนื้อที่ด้านหลัง ผมถ่ายรูปมาให้ดูว่าไซส์คุมะมง
เห็นแล้ววิ่งหนีอย่างผมยังมีที่เหนือศรีษะเหลือเฟือมากครับ แต่เนื้อที่วางขา
นั้นไม่ได้เด่นไปกว่าคู่แข่งมากนักแม้ว่าตัวเบาะแถวที่สองจะสามารถเลื่อนไป/มา
เป็นระยะ 240 มิลลิเมตรได้ก็ตาม เบาะแถว 2 นั้นจะมีที่เท้าแขนตรงกลางให้
ซึ่งคู่แข่งอย่าง Mobilio จะไม่มี ตัวพนักพิงหลังสามารถเอนได้เช่นเดียวกับ
รุ่นเดิม

เบาะแถวสามนั้น ผมยังไม่ได้ลองนั่งครับ ปีนเข้าไปก็กลัวว่าขาออกอาจจะต้อง
ใช้เครื่องตัดถ่างโลหะมางัดเอาตัวผมออก มันไม่ใช่ที่สำหรับคนขนาดตัวเท่าผม
แต่คุณโค้กจากเว็บ Autospin และน้องผู้ชายอีกท่านหนึ่งซึ่งตัวสูงน้อยกว่าผม
เพียงนิดเดียว (และหุ่นเพรียวแบบคนปกติ) ได้ลองเข้าไปนั่งบนเบาะแถวที่ 3
โดยมีผมนั่งอยู่ข้างหน้าเขาบนเบาะแถวที่ 2 ปรากฏว่ายังมีที่เหลือพอให้จัดแข้ง
จัดขาได้บ้าง ไม่ถือว่าแย่ โดยเฉพาะในยามปกติ เบาะแถว 3 มักเป็นที่ของ
เด็ก หรือพี่เลี้ยงเด็ก หรือไม่ก็สัมภาระอยู่แล้ว

T2016_03_thridrow2

สิ่งที่เพิ่มมาจากรถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์คือเบาะแถว 2 ที่สามารถแยกพับ
แบบ 50:50 ได้ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดพื้นที่ภายในสำหรับการ
บรรทุกของชิ้นยาวโดยยังสามารถเหลือพื้นที่ไว้สำหรับผู้โดยสารตลอดแนว
อีกฝั่งหนึ่งได้อย่างสบาย..พวกที่ชอบซื้อสินค้า Ikea มาประกอบเองคงชอบ

แต่ทั้งนี้ ในขณะที่เบาะแถวที่ 3 ของ Honda Mobilio สามารถเอนได้
ของ Suzuki Ertiga จะเอนไม่ได้นะครับ ได้แต่พับมาข้างหน้าเท่านั้น

สิ่งที่ยังขาดอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบไล่ฝ้าบนกระจกหลัง แม้ว่า Suzuki จะมี
ใบปัดน้ำฝันหลังมาให้ แต่ทาง Honda จะให้ทั้งใบปัดและระบบไล่ฝ้านะครับ

T2016_03_DrezaDash

แผงแดชบอร์ดชุดหลักยังคงเป็นแบบเดียวกับของรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์
แต่มีการเปลี่ยนแปลงโทนสีที่ใช้ ถุงลมนิรภัยคู่หน้ามีมาให้ทั้งรุ่น 1.4 GL
และรุ่น Dreza

T2016_comparedash

จากรูปข้างบน จะเห็นความต่างระหว่าง Dreza ซึ่งเป็นตัวหรู และ GL
ซึ่งเป็นรุ่นธรรมดา เบาะนั่งจะมีสีสันต่างกัน Dreza มีการตกแต่งด้วยลายไม้
สีเข้ม ที่เปิดประตูเป็นโครเมียม มีพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชั่น มีลำโพงทวีตเตอร์
คู่หน้าเพิ่มเข้ามา เครื่องเสียงแม้ในโบรชัวร์จะฟังดูคล้ายแต่หน้าตาของ
Front Unit บริเวณหน้าปัดก็ต่างกัน

ส่วนที่ต่างจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ อยู่ที่โทนสีของหนังหุ้มคันเกียร์
หัวเกียร์ และพวงมาลัยซึ่งต่างจากเดิม กระจกไฟฟ้าได้รับการปรับปรุงเพิ่ม
จากเดิมเป็น One-Touch เฉพาะขาลงแล้วขาขึ้นปล่อยให้ผู้ขับต้อง You-Touch
เอาเอง คราวนี้มาเป็น One-Touch ครบทั้งขาขึ้นและขาลง (Mobilio ที่เรา
ทดสอบนานมาแล้วนั้นมี One-Touch เฉพาะขาลง) นอกจากนี้ในรุ่น Dreza จะได้
กระจกมองข้างแบบพับไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาด้วย แต่ในภาพรวม ชุดควบคุมระบบ
ปรับอากาศ แผงควบคุมกระจกไฟฟ้า และการใช้งานสวิตช์ต่างๆไม่ได้ต่าง
ไปจากรถรุ่นเดิม ซึ่งทำไว้ค่อนข้างโอเคอยู่แล้ว

T2016_Instrumentspanel

ชุดมาตรวัดบนแผงหน้าปัด ก็ยังคง ยกมาจากรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ จัดวางตัวเลขในแบบ เรียง
ไปตามแนวโค้งวงกลม ซึ่งถ้าคุณชินกับการเรียงฟอนท์ตัวเลขขนานไปกับขอบวงกลม
ซึ่งรถสมัยใหม่หลายรุ่นนิยม ก็คงไม่มีปัญหา การสังเกตเข็มวัดและการอ่านค่าทำได้
ไม่ยากมากนัก ถ้าคนชอบมาตรวัดแบบ Simple คล้ายรถยุโรปยุค 90s จะชอบมาตรวัด
สีแบบนี้ของ Suzuki แต่ถ้าเป็นคนประเภทนิยมแสงสีที่ดูทันสมัย มาตรวัดของ Mobilio
จะดูสวยถูกใจวัยเทคโนมากกว่า อย่างไรก็ตามขนาดมาตรวัดรอบที่ค่อนข้างเล็กและ
การไม่มีเข็มวัดอุณหภูมิก็อาจไม่ถูกใจนักขนของขาซิ่งอยู่บ้าง (DEFI ช่วยท่านได้)

ความแตกต่างระหว่างชุดมาตรวัดของรุ่น GL และ Dreza อยู่ที่ตัวเลขวัดอุณหภูมิ
ภายนอก ซึ่งรุ่น GL จะไม่มีมาให้

T2016_rearvents

เมืองไทยเป็นเมือง “โคตรร้อน” แน่นอนว่าคุณจะได้ช่องแอร์ด้านหลัง
มาเป็นแผงอย่างนี้ทั้งในรุ่น GL และ Dreza ซึ่งเมื่อลองใช้มันท่ามกลาง
แดดอันดุเดือดของพิษณุโลก-อุตรดิตถ์ในรถที่ไม่มีฟิล์มกรองแสง ช่องลม
ตรงนี้แทบจะกลายเป็นผู้ช่วยชีวิตไม่ให้ร้อนจนละลายเป็นช็อคโกแลต
ไปเสียก่อน การที่มีช่องลมปรับได้หลายช่อง ทำให้ไม่ต้องมาแย่งกันว่า
ใครอยากได้แอร์มากน้อยเท่าไหร่

 

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังของ Ertiga เวอร์ชันไทย รุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์นั้น เป็นเครื่องยนต์ เบนซิน
รหัส K14B บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,373 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.0 x 82.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point
Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ ฝั่งไอดี VVT (Variable Valve
Timing) ตัวเลขจากโรงงาน ระบุว่า กำลังสูงสุด 95 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด  13.24 กก.-ม. (130 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที

T2016_03_Ertiga_EngineBay01

ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น แม้จะยังใช้เครื่อง K14B เหมือนเดิม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยน
รายละเอียดบางจุดเพื่อให้มลภาวะน้อยลง (จาก 157 เหลือ 154 กรัม/กิโลเมตร…)
โดยหลักยังเป็นบล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,373 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก
73.0 x 82.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัดเพิ่มเป็น 11.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด Multi-Point
Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ ฝั่งไอดี VVT (Variable Valve
Timing) กำลังสูงสุดลดลงเหลือ 92 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุดเท่าเดิมที่  13.24 กก.-ม. (130 นิวตันเมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที

เกียร์ธรรมดา..ถูกตัดออกไปแล้ว คุณมีทางเลือกแค่เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ พร้อม Lock-up
Torque Converter

เกียร์ 1               2.875
เกียร์ 2               1.568
เกียร์ 3               1.000
เกียร์ 4               0.697
เกียร์ถอยหลัง        2.300

อัตราทดเกียร์นั้นเท่าเดิม แต่เฟืองท้ายเปลี่ยนจากเบอร์ 4.375 เป็น  4.545 แทน ซึ่งจะ
ทำให้ความเร็วสูงสุดของแต่ละเกียร์น้อยลงกว่าเดิม แต่ออกตัวได้เร็วขึ้น หรือเวลาบรรทุก
น้ำหนักมากๆรถก็จะสามารถเร่งสู้ความถ่วงได้ดีขึ้น..แต่วิ่งทางไกลจะกินน้ำมันขึ้นหรือไม่
คำถามนี้ต้องรอดู Full Review by J!MMY ถ้าเรามีโอกาสได้ทำนะครับ

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นพวงมาลัยแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบผ่อนแรงแบบไฟฟ้า
ส่วนระบบกันสะเทือน ด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นแบบ
ทอร์ชั่นบีม (ซึ่งทาง Suzuki ยังตอบไม่ได้ว่ามีการปรับเซ็ตช่วงล่างเพิ่มเติมอย่างไร
สำหรับน้ำหนักตัวถังที่เบาลง 70 กิโลกรัม)

ระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิกส์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นแบบ
ดรัมเบรก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของรถระดับนี้อยู่แล้ว แต่เฉพาะรุ่น Dreza เท่านั้น
ที่จะมีระบบเบรก ABS มาให้..อันที่จริงแม้ว่ารุ่น GL จะราคาถูกกว่าพอสมควร
แต่ก็น่าจะติดตั้งเบรก ABS มาให้ได้แล้ว เพราะคู่แข่งอย่าง Honda เขาให้ทั้ง
เบรก ABS และระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวใน Mobilio ทุกรุ่นนะครับ
ยุคนี้รถราคา 500,000 บาทเขาก็มี ABS เป็นขั้นต่ำกันแล้ว ดังนั้นรถที่ราคา
655,000 บาทก็ควรให้มาเถอะครับ

ยางติดรถ เป็นยางเรเดียลขนาด 185/65 ขอบ 15 นิ้ว รุ่น GL จะใช้ยาง
GT Radial Champiro ECO เหมือนรถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ แต่รุ่น Dreza
จะใช้ยาง Bridgestone Ecopia EP150 และยังได้ล้ออัลลอยลายเฉพาะรุ่น

T2016_03_Ertiga_Dreza_Rear

ในการขับทริปนี้ เราจะวิ่งเส้นทาง พิษณุโลก ไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
แล้ววิ่งจากสุโขทัยไปไร่องุ่นคานาอันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ระยะทางไปและกลับ
รวมกันน่าจะเกิน 200 กิโลเมตรไปไกล

รถแต่ละคันจะมีสื่อมวลชน 4 ท่านนั่งไป โดยมีจุดแวะพักเพื่อสลับคนขับ
แต่เส้นทางที่ใช้นั้นก็จะมีระยะที่สั้นและยาว ทั้งที่วิ่งผ่านตัวเมือง และวิ่งผ่าน
ถนนชนบท (ที่เป็นปูนบ้างและยางมะตอยบ้าง) รวมถึงผ่านทางหลวงข้ามจังหวัด
ที่ทำความเร็วสูงๆได้ ผมเปิดโอกาสให้สมาชิกในรถเลือกกันตามใจชอบว่าจะขับ
เป็นคนที่เท่าไหร่ ผมได้ขับเป็นไม้ที่ 3 จากสุโขทัยไปอุตรดิตถ์ ระยะทาง 100
กิโลเมตรพอดี และน้าจ๊อกจะรับไม้ต่อจากผมในการขับที่เป็นระยะทางยาวที่สุด

ในช่วงแรกของการเดินทาง ผมทำตัวเป็นผู้โดยสารขนาดใหญ่อยู่บนเบาะหลัง
ด้านซ้าย ช่วงล่างด้านหลังให้การซับแรงกระแทกที่ดีพอประมาณเมื่อมีน้ำหนักผม
และผู้โดยสารอีกท่านอยู่บนเบาะแถวที่ 3 ข้างหลังผม ช่วงล่างหลังของ Ertiga
จะมีอาการดีดหรือสะเทือนให้รู้สึกเหมือนผ่านถนนที่เป็นหลุมบ่อคล้ายถนนที่โดน
น้ำกัดเซาะจนพัง ซึ่งถ้าไปนั่ง Mobilio ก็อาจจะรู้สึกนุ่มนวลกว่าแต่ก็ยากที่จะจับ
ความรู้สึกถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ

ส่วนในช่วงไม้ที่ 3 ซึ่งผมเป็นผู้ขับนั้น รถ Ciaz RS สีแดงที่เป็นรถวิ่งนำเขาก็พาเรา
ไปวิ่งบนถนนหลากหลายรูปแบบทั้งถนนสายหลักและสายรอง ในช่วงที่ถนน
ค่อนข้างขรุขระนั้น ผมพยายามสังเกตอาการสะเทือนของช่วงล่างเทียบกับ
Mobilio และพบว่าหากเป็นกรณีที่ถนนไม่เรียบอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นหลุมบ่อ
ขนาดไม่ใหญ่ เป็นประเภทที่คุณเห็นแล้วไม่รู้สึกว่าต้องเบรกชะลอนั้น Mobilio
จะเก็บอาการสะเทือนไว้ได้มากกว่า ระยะยุบช่วงแรกๆของกระบอกโช้คอัพนั้น
Mobilio จะเซ็ตมาให้ยุบตัวรับการสั่นสะเทือนเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ได้ดีกว่า

T2016_03_Ertiga_GL

ส่วนช่วงล่างของ Ertiga นั้น แม้จะมีความตึงตังให้สัมผัสได้มากกว่า
บนทางขรุขระ แต่หากเป็นถนนที่เป็นหลุมขนาดใหญ่ ลูกระนาด หรือคอสะพาน
ที่ตัดเป็นมุมคมๆนั้น กลายเป็นว่าทั้ง Honda และ Suzuki จะมีความสะเทือน
ใกล้เคียงกัน ถ้ากระโจนคอสะพานแรงๆโดยไม่บันยะบันยัง ผู้โดยสารบนเบาะหลัง
ก็ตัวลอยได้นิดๆเหมือนกัน..แต่ผมไม่ลอย พอดีผมมันคนมี Downforce ร่างกายเยอะ
ถ้ามีสิ่งใดที่ Ertiga เอาคืน Mobilio ได้ ก็คงเป็นการหักเลี้ยวและการควบคุม
อาการยวบเวลาหักพวงมาลัยในช่วงที่ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แม้จะมีอาการหวิวเวลาโยกบ้างตามประสารถสูง (บอดี้ของ Ertiga สูงกว่า Mobilio
อยู่ 83 มิลลิเมตร) แต่ยังพอให้ความมั่นใจในการหลบหลีกรถที่เบรกกระทันหัน
ข้างหน้าผมที่ความเร็ว 100-110 ได้อย่างมั่นใจ ในการขับแบบนี้ถ้า Mobilio ได้
9 คะแนน Ertiga ก็คงได้ราว 9.5-9.6 คะแนน..ดีกว่า แต่ไม่ถึงต่างกันแบบคนละโลก
เพราะอย่าลืมว่าวิศวกร Honda เองก็ตั้งใจเซ็ตช่วงล่างของ Mobilio มาได้ดี
เกินคาดเมื่อวัดจากมาตรฐานการเซ็ตช่วงล่างของ Honda ในอดีตที่ผ่านมา

พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Ertiga ยังมีน้ำหนักเบาคล้ายรุ่นเดิม แต่ในคันที่ผมขับ
รู้สึกได้ว่าความไวของพวงมาลัยที่ความเร็วระดับเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น
ไม่ไวมากจนรู้สึกแอบประสาทอย่างที่เจอในรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ ทาง Suzuki
อาจจะใช้แร็คชุดเดิมแต่เซ็ตศูนย์ล้อหรือองค์ประกอบอื่นใหม่ทำให้อาการว่อกแว่ก
น้อยลง จากเดิมไวกว่า Swift..ตอนนี้ไวพอๆกับ Swift หรือน้อยกว่า ถือว่าเหมาะ
กับการใช้งานของรถอย่างตรงประเภทงานมากขึ้น

สำหรับอัตราเร่งนั้น เนื่องจากในการทดสอบของเราไม่ค่อยมีจังหวะเอื้ออำนวย
ในการจับอัตราเร่งตามแบบ J!MMY’s Style อีกทั้งอากาศร้อนจัดมากและน้ำหนัก
บรรทุกกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน

ดังนั้นสิ่งเดียวที่ผมได้จับเวลาไว้คืออัตราเร่งในช่วง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
และมีโอกาสได้ทำแค่ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งก็อยู่ในช่วง 11.6-12 วินาที ซึ่งหาก
เทียบกับ Mobilio ที่นั่งโดยสาร 4 คนเท่ากัน และวิ่งตอนกลางวันเหมือนกัน
ทาง Honda จะได้ตัวเลขไม่เกิน 10 วินาทีหรือถ้าเกินก็เป็นหลักทศนิยม

แม้ว่าผมจะไม่ได้จับเวลา 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงมา แต่รู้สึกว่าการลดน้ำหนัก
ตัวรถและเพิ่มเฟืองท้ายให้จัดขึ้นก็มีผลดีเรื่องความคล่องตัว ผมขับ Ertiga Dreza
พร้อมผู้โดยสารอีก 3 ท่านในตอนกลางวัน แต่รู้สึกได้ว่าอัตราเร่งไม่ได้เป็นรอง
Ertiga รุ่นเดิมที่นั่งทั้งคัน 3 คนในตอนกลางคืนมากเท่าไหร่ หากคุณไม่ใช่พวก
บ้าตัวเลขอย่างผม คุณอาจจะรู้สึกว่าอัตราเร่งช่วงออกตัวมันก็เพียงพอ ถ้าคุณขับ
รถ EcoCar 1.2 ลิตร นั่งคนเดียวแล้วคุณรับอัตราเร่งของมันได้ คุณก็ไม่ควรมีปัญหา
กับเรี่ยวแรงของ Ertiga 1.4 ที่นั่ง 4 คน

แน่นอนว่าพลังของรถ พอสำหรับการใช้งานในเมือง คันเร่งไม่ค่อยมีอาการหน่วง
กดคือไป และใช้คันเร่งเพียงครึ่งเดียวก็เร่งต่อเนื่องทำความเร็วได้ดี การใช้ความเร็ว
60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วกดคันเร่งแซง ก็ยังพอมีพลังให้แซงรถบรรทุกได้
โดยไม่ต้องเปิด Soundtrack การแข่งเรือยาวชิงแชมป์ประเทศไทยช่วยเสริมแรงใจ
แต่ในช่วงความเร็วเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปนั้น ความลื่นไหลของอัตราเร่ง
จะยิ่งห่างชั้นกับ Mobilio ที่เครื่องโตกว่า แรงม้าสูงกว่า แถมยังเป็น CVT ต่างกันชนิด
ไม่ต้องเอานาฬิกามาจับก็รู้ เรื่องนี้เราคงต้องทำใจเพราะ Suzuki ก็ต้องทำรถมาเอาใจ
เงื่อนไขต่างๆของตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นเมืองท่านแม่ของ Ertiga เขา Suzuki
ประเทศไทยคงไม่สามารถสั่งให้ทางนั้นประกอบเครื่องยนต์ตามใจประเทศไทยได้
ไปเสียทุกอย่าง

ในหลายจังหวะที่ต้องแซงจากช่วงความเร็ว 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมงไป ผมต้อง
ใช้เทคนิคมนุษย์หินคือปิดแอร์แล้วกด O/D Off ดีดรอบขึ้นไปรอไว้ก่อนเลย แล้วพอ
ได้จังหวะแซงค่อยกดคันเร่งเต็มเพื่อแซง..แต่ใน Mobilio ผมแค่กดคันเร่งไปเฉยๆพอ..

T2016_03_RearDiagonal

+++สรุปแบบ First Impression++
ช่วงล่างยังเจ๋ง พวงมาลัยดีขึ้น อุปกรณ์ดีขึ้น แต่ยังไม่พอฆ่า Mobilio++

หากเป็นในสมัยก่อนซึ่งตลาดรถ 7 ที่นั่งมีแต่ Ertiga กับ Avanza และ Freed นั้น
Ertiga เป็นตัวเลือกที่มีความโดดเด่นที่สุดในเรื่องความมั่นใจของช่วงล่าง
บวกกับการขับขี่แบบวิ่งทางไกลและระบบเบรกที่ดีในราคาที่ถูกกว่า Freed มาก
แต่ในวันนี้ การมาของ Mobilio ถือว่าเป็นการ “เอาคืน” ของ Honda ซึ่งใส่
เครื่องยนต์ที่มีพลังสูง อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ครบครัน ช่วงล่างกับพวงมาลัยที่
ทำได้ดีมากเมื่อเทียบกับ Freed ทำให้มันสามารถครองแชมป์ยอดขายเอาไว้ได้

Suzuki ก็พยายามรักษายอดขายของตัวเองให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการปรับปรุง
รถของตัวเอง อย่างในรุ่นไมเนอร์เชนจ์นี้ เราจะสรุปความเปลี่ยนแปลงหลักๆได้ว่า

1. เปลี่ยนหน้าตา รุ่น GL หล่อเรียบ รุ่น Dreza..เยอะจนดูรกและวุ่นวายไปนิด
2. เปลี่ยนสีและการตกแต่งภายใน รุ่น Dreza พยายามใช้ลายไม้และโครเมียม
เข้ามาทำให้บรรยากาศในห้องโดยสารดูมีราคาขึ้น
3. เพิ่มกระจกไฟฟ้า One-Touch ขาขึ้นหลังจากที่ลูกค้าบางกลุ่มเสนอแนะไป
4. เพิ่มกระจกมองข้างพับไฟฟ้าในรุ่น Dreza
5. เปลี่ยนเบาะแถวที่ 3 ให้เป็นแบบที่สามารถพับ 50:50 ได้
6. ลดน้ำหนักตัวรถ ปรับจูนเครื่องเน้นการตอบสนองในเมือง อาการรอบต่ำหาย
แล้วรอบสูงไหลดีเริ่มเปลี่ยนเป็นความแรงชนิดเสมอต้นเสมอปลายมากขึ้นนิดๆ
เครื่องยนต์ปล่อยมลพิษน้อยลง
7. ระบบพวงมาลัย ปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานในเมือง และลดความไว
เกินเหตุแบบในรถรุ่นเดิมลง

ดังนั้น มันจึงถือว่าเป็นพัฒนาการ (แม้ว่าพัฒนาการทางหน้าตาของ Dreza
อาจจะไม่ได้เข้าตากรรมการทุกคนเสมอไป) แต่ถ้าให้เทียบกับ Mobilio ที่
เป็นจ้าวยุทธจักรรถขนคนขนของขวัญใจคนรักรถ 7 ที่นั่งสไตล์ AEC อยู่
มันเป็นอย่างไรบ้างล่ะ?

T2016_03_Diagfront_Final

 ****เทียบราคา และออพชั่น****

Suzuki วางราคารุ่น 1.4 GL 4 A/T เอาไว้ 655,000 บาท ในขณะที่รุ่น 1.4 Dreza
4 A/T นั้นมีราคาอยู่ที่ 715,000 บาท หากนำไปเทียบกับคู่แข่งที่พิกัดตรงสุดอย่าง
Honda Mobilio จะพบว่ารุ่น S CVT มีราคา 659,000 บาท รุ่น V CVT ตั้งราคาไว้
699,000 บาท และรุ่นท้อป RS CVT ราคา 755,000 บาท

รุ่น Dreza นั้นจะมีสีแปลกให้เลือกคือสีม่วงมุก Pearl Twilight Violet ซึ่งต้องเพิ่ม
เงินอีก 5,000 บาท (สีขาวมุกก็ต้องเพิ่มเช่นเดียวกัน ส่วนสีดำไม่ต้องเพิ่มเงิน
และ Dreza ก็มีให้เลือกแค่ 3 สีนี้)

ถ้าคุณเป็นสมาชิกลัทธิ “ไฟหน้าขั้นสูง” คงต้องเล่น Mobilio RS ที่มีไฟหน้า
แบบโปรเจคเตอร์ นั่นแหละครับ ส่วนคนที่ชอบไฟตัดหมอก RS ก็มีมาให้
ส่วน Ertiga มีทั้งรุ่น GL และ Dreza

ต่อมา..คุณชอบภายในสีอะไรครับ? เพราะภายใน Suzuki จะมีแต่โทนสีเบจ
ตัว Dreza เบาะสีเข้มจริงแต่ที่เหลือทั้งห้องโดยสารก็เป็นโทนเบจอยู่ดี ในขณะที่
Mobilio ในปัจจุบันจะมีแต่ภายในสีดำเอาใจวัยรุ่นและคนที่ชอบภายในเลอะ
แล้วเห็นยากๆ

กระจกมองข้าง Mobilio RS และ Ertiga Dreza ปรับและพับด้วยไฟฟ้า ส่วนรุ่นอื่น
ปรับไฟฟ้า พับด้วยมือ แผงบังแดดของ Ertiga ทุกรุ่นจะมีกระจกแต่งหน้าเฉพาะ
ฝั่งคนนั่ง ส่วน Mobilio V และ RS มีมาให้ครบทั้ง 2 ด้าน

จำนวนที่วางแก้วน้ำ (เผื่อใครอยากรู้) Mobilio มี 11 ตำแหน่ง ส่วน Ertiga มี
8 ตำแหน่ง

เครื่องเสียงแบบทัชสกรีน? มีแต่ Mobilio RS เท่านั้นที่มีมาให้ เป็นจอ 6.1 นิ้ว
ซึ่งรองรับการต่อ Smartphone, HDMI และฟังก์ชั่น Bluetooth
ส่วน Mobilio รุ่นอื่นและ Ertiga เป็นแบบ 2 DIN ธรรมดา แต่เครื่องเสียงของ
Mobilio กับ Ertiga ทุกรุ่นมีช่องเสียบ USB ทั้งนั้น ส่วนปุ่มควบคุมเครื่องเสียง
บนพวงมาลัย ก็จะมีแต่ Mobilio RS กับ Ertiga Dreza ที่มีมาให้ Mobilio รุ่น S
มี 2 ลำโพง รถคันอื่นในกลุ่มเกือบทั้งหมดมี 4 ลำโพง และมี Ertiga Dreza ที่แอบให้
ทวีตเตอร์เพิ่มมาอีกคู่

แอร์หลังนั้น ทั้ง Ertiga และ Mobilio มีให้มาทุกรุ่นยกเว้น Mobilio S ตัวถูกสุด
เบาะนั่งคนขับ …ไม่มีใครปรับสูง/ต่ำได้ นอกจาก Ertiga Dreza เท่านั้นส่วน
เบาะแถวที่สอง ทุกรุ่นเอนได้หมด และ Mobilio V, RS, Ertiga ทั้ง 2 รุ่นสามารถ
เลื่อนหน้า/ถอยหลังได้ เบาะแถว 3 แยกพับ 50:50 Mobilio ปรับเอนได้ ส่วน Ertiga
จะเอนไม่ได้

มาถึงเรื่องออพชั่นความปลอดภัยกันบ้าง จุดนี้คือจุดที่ Honda ชนะขาด เพราะแม้
จำนวนและรูปแบบเข็มขัดนิรภัยสำหรับแต่ละที่นั่งจะเหมือนกันและเข็มขัดนิรภัย
คู่หน้าของ Ertiga สามารถปรับระดับได้ แต่ Honda ก็เอาคืนด้วยการให้เบรก ABS/EBD
ระบบควบคุมการทรงตัว และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชันมาครบทุกรุ่นของเขา
ส่วน Ertiga รุ่น GL นั้นไม่มีเบรก ABS และรุ่น Dreza ก็มี ABS/EBD มาให้ และแค่นั้น..

เรื่องอัตราเร่ง แน่นอนครับว่า Mobilio มาแสบแบบกินขาดทั้งเครื่องและเกียร์
ส่วนอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องรอพิสูจน์ในแบบ Full Review ก่อน

สำหรับท่านที่ต้องการรถสำหรับการ ESCAPE แบบหมู่คณะ และต้องรีบซื้อรถ
คันใหม่โดยไม่สามารถรอดูบททดสอบแบบเต็มจากเราได้ ก็ขอให้ผมได้ให้ข้อมูล
ตามที่เขียนไปในบทความนี้ช่วยให้ท่านสร้างจุดพิจารณาในการตัดสินใจ
และประหยัดเวลาในการค้นหาข้อมูลของท่านแล้วกันนะครับ

จากนั้น ขอให้เลือกด้วยวิจารณญาณของท่านเอง และได้รถที่สมใจอยาก
มารองรับการใช้ชีวิตของท่าน แค่นั้นผมก็ดีใจแล้วครับ

ส่วนถ้าใครถามผมว่าถ้าเป็นผม ผมจะเลือกคันไหน??

ผมขอตอบแบบกวนส้นละกันครับ

ที่่นั่งข้างคนขับผมยังว๊างว่าง…ผมจะเอา 7 ที่นั่งไปทำไมถ้าทำให้คนนั่งแค่ 2 ที่
ผมยังทำไม่ได้เลย!

T2016_03_Ertiga_End

 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
Suzuki Motor (Thailand) Co.,ltd
สำหรับการเชิญทางเราร่วมทดสอบในทริปครั้งนี้

Pan Paitoonpong
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน / ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในเมืองไทย ทั้งหมด
เป็นผลงานของ Suzuki Motor (Thailand) และผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
20 มีนาคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
March 20th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE

รายละเอียดเปรียบเทียบอุปกรณ์ Ertiga 2016 โดย Moo Cnoe คลิกที่นี่