14 กรกฎาคม 2017

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ที่ดีทรอยต์, สหรัฐอเมริกา กำลังจะมีการเปิดตัว All NEW Honda Accord Generation ที่ 10 กันแล้ว เป็นครั้งแรกในโลก…

ในตอนแรกผมก็คิดๆอยู่ว่า อาจจะไม่ทำ Full Review : Accord Hybrid Minorchange แล้ว เพราะตัวเลขทดสอบอัตราเร่ง อัตราสิ้นเปลืองของเจ้าคันนี้ ก็ประกาศไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังมีบทความ First Impression ไปก่อนหน้านี้

แต่จากข่าวคราวที่ทราบมาว่า Accord Gen 10 ที่กำลังจะเปิดตัวนี้ อาจจะมาประเทศไทยช้ากว่าปกติเสียหน่อย ทั้งที่รุ่นที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น Civic หรือ CR-V ต่างก็เปิดตัวตามหลักตลาดโลกอย่างฉับไว ทิ้งระยะห่างไม่นานนัก  อย่าว่าแต่ NEW Accord เลย คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง All NEW Toyota Camry ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็จะมาช้าเหมือนกัน คงจะเป็นการ ” ดึงเชง ” รอดูท่าทีของอีกฝ่ายกันด้วย เพราะสถานการณ์ตอนนี้ ถ้าหากใครปล่อยของก่อน ก็อาจจะโดนสวนกลับได้โดยง่าย จึงไม่อยากให้ข้าศึกไหวตัวทัน

เพราะเหตุนี้เองทำให้ผมตัดสินใจเข็นรีวิวของเจ้า Accord Hybrid Minorchange ออกมาขัดตาทัพ เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับคุณผู้อ่าน น่าจะอีกหลายต่อหลายเดือน ก่อนที่ Accord Gen 10 จะเปิดตัวในประเทศไทย หากใครที่ต้องรีบใช้รถในช่วงนี้ หรือ ไม่อยากรอตัวใหม่นานขนาดนั้น ก็จะได้เป็นอีกข้อมูลที่ช่วยประกอบการตัดสินใจครับ

เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาพรรณาไปมากกว่านี้ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า ขอย้อนไปสักนิด ทบทวนความจำกันสักหน่อย ถึงช่วงเวลาก่อนที่ Honda Accord Hybrid Minorchange นี้ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย ว่ามีเสียงเรียกร้อง หรือ ตั้งคำถามอะไรกันบ้าง

  • Accord Hybrid Minorchange จะมาเมื่อไหร่ครับ ?
  • ทำไมรุ่น Hybrid ไม่เปิดตัวพร้อมกับรุ่นธรรมดา ?

2 คำถามยอดฮิตที่พรั่งพรูเข้ามาไม่ขาดสาย เมื่อ Honda ตัดสินใจเปิดตัว Accord รุ่น Minorchange เครื่องยนต์ 2.0 และ 2.4 ลิตร ไปเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 ท่ามกลางความสงสัยว่า ทำไมไม่เปิดตัวรุ่น Hybrid ไปพร้อมๆกันเลยล่ะ ? มันไม่น่าจะติดขัดอะไรนะ เพราะคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการปรับดีไซน์ภายนอก และ ภายในเล็กๆน้อยๆ แต่งหน้าทาปากตามปกติของอายุตลาด

แต่เรื่องแปลกก็คือ ในวันที่ผมไปงานเปิดตัว Accord Minorchange นั่นล่ะ ก็ได้เห็นโบร์ชัวร์ Accord ที่ทาง Honda แจกให้ ก็ปรากฏว่ามีรายละเอียดอุปกรณ์ของรุ่น Hybrid ครบทั้ง 2 รุ่นย่อย ทั้งที่ยังไม่เปิดตัว เพียงแต่ว่าตารางสเป็คในส่วนของข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของรุ่น Hybrid นั้น กลับไม่ใส่มาให้

เอ๊ะ มันยังไง…ผมจึงต้องไปค้นคว้าหาข่าวจากทางฝั่งอเมริกา แล้วก็ได้ทราบว่ารุ่น Hybrid จะมีการปรับปรุงเครื่องยนต์และรายละเอียดงานวิศวกรรมใหม่ด้วย ก็เลยเปิดตัวไม่พร้อมกันนั่นเอง

เวลาล่วงเลยผ่านไปกว่า 4 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึง มิถุนายน ยังไม่มีข่าวคราวว่า Accord Hybrid Minorchange กำหนดจะเปิดตัวในไทยเมื่อไหร่ อันที่จริงพักหลังมานี้ ข่าว หรือ ช่วงเวลาในการเปิดตัวรุ่นปรับโฉม Minorchange ของ Honda ค่อนข้างปิดเงียบพอสมควร นึกจะมาก็มาแบบสายฟ้าแล่บกันเลย เช่น Brio / Brio Minorchange อยู่ดีๆก็มาและ มาแบบเงียบเชียบเชียว รวมไปถึง Mobilio Minorchange ก็มาแบบไม่ให้ซุ่มให้เสียง และ Jazz Minorchange ล่าสุด ก็เปิดตัวแบบพิสดาร ผ่านช่องทางออนไลน์

เช่นเดียวกันกับ Accord Hybrid Minorchange ก็มีกำหนดการเปิดตัวส่งหมายเชิญจาก Honda มา ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2016 (รีวิวนี้ก็ออกพอดี ครบรอบ 1 ปี หลังจากรถเปิดตัว แหะ..แหะ…) หลังจากที่ปล่อย Teaser บนหน้าเว็บมานานมาก! ก็ถึงเวลางานเปิดตัว สิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือ ขนาดของพื้นที่จัดงาน รวมถึงการให้ความสำคัญของตัวรถ มันค่อนข้างที่จะต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ปกติพอสมควร พื้นที่จัดงานที่มีขนาดใหญ่กว่า การประชาสัมพันธ์ต่างๆที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เอ…ชักน่าสงสัยแล้วว่า ทำไม Honda ถึงให้ความสำคัญกับรถรุ่นนี้มากเป็นพิเศษ รวมถึงมันมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างกันแน่ หลายอย่างเปลี่ยนไป มากกว่าที่เห็น

จะมีอะไรบ้าง เพื่อให้หายสงสัย เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ

มิติตัวรถไม่ต่างจากเดิมมากนัก (แน่ล่ะ เพราะมันเป็นรุ่น Minorchange นี่ !) ยาว 4,930  มิลลิเมตร มากกว่ารุ่นเดิม 15 มิลลิเมตร จากกันชนหน้าที่ยื่นมากกว่าเดิมนิดๆ ส่วนความ กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,465 มิลลิเมตร และ ระยะฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร เท่าเดิมเป๊ะ ความสูงจากพื้นถึงตัวถัง (Ground Clearance) อยู่ที่ 141 มิลลิเมตร

ภายนอกเหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์ปกติ แต่จะมีรายละเอียดที่ต่างกันเล็กน้อยในบางจุด ชุดไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ Full LED (ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเลี้ยวเป็น LED ทั้งหมด) พร้อมระบบ Active Cornering Light (ACL) ที่เป็นไฟส่องสว่างด้านข้างอัตโนมัติขณะเลี้ยวรถ และ มีไฟ Daytime Running Light แบบ LED Tube มาให้รวมอยู่ในโคมเดียวกัน จะมีจุดแตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ปกติก็คือ กรอบของไฟ DRL จะเป็นสีฟ้าอ่อน เพื่อสร้างความแตกต่างให้รู้ว่า “ชั้นน่ะ รุ่น Hybrid นะ” แต่เวลาไฟติดก็เห็นเป็น แสงสีขาวเหมือนเดิม

ตรงนี้นี่แหละครับ.. ปัญหาประจำรุ่นสำหรับ Accord Minorchange เพราะเส้น LED Tube นี้ วันดีคืนดีจากแสงสีขาวๆก็กลายเป็นสีเหลืองๆ หรือไม่ก็ดับไปเลย อย่างคันของพี่สาวผม 2.4 EL Minorchange ผ่านไปไม่ถึงปีก็ดับไปข้างนึงแล้ว ! แต่ทั้งหมดนี้ก็สามารถเคลมได้นะครับ ถึงแม้ว่าหลายท่านอาจจะหงุดหงิดทำไมมันเสียง่ายขนาดนี้ ปัญหานี้ Mitsubishi Pajero Sport ก็เป็นเช่นกัน

สิ่งที่ผมประสบพบเจอกับชุดไฟหน้าใหม่ที่สวยงามแบบนี้ สิ่งที่อยากจะบอกเล่ากันก็คือ ถ้าหากปกติคุณขับรถบนถนนเส้นหลัก เส้นรองทั่วไปที่มีแสงไฟถนนก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร หรือมีปัญหาอะไร แต่เมื่อไหร่ที่คุณขับไปบนถนนที่ไม่มีแม้แต่แสงไฟ อย่างถนนบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ผมเอารถขึ้นไปถ่ายรูปมานี้ ขากลับลงมาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว รอบข้างมืดสนิท ก็พบว่าไฟหน้ามัลติรีเฟลกเตอร์ LED แบบนี้ อาจจะไม่ได้ให้ความชัดเจนในการมองเห็นเท่าไฟแบบฮาโลเจนธรรมดาสักเท่าไหร่นัก

อาจจะฟังดูสวนกระแส แต่ถ้าใครเคยขับรถไฟฮาโลเจนที่จายฉายแสงดีๆ แล้วมาเทียบกับไฟหน้าสมัยใหม่บางรุ่น ก็คงเห็นภาพครับโดยเฉพาะเวลาหมอกลงบางๆ

ถัดจากไฟหน้า มาที่กระจังหน้าแถบโครเมียมที่ลากยาวไปกินพื้นที่ของไฟหน้า ใครที่ใช้รุ่นเดิมแล้วอยากได้ไฟหน้า Full LED ขอบอกว่าเปลี่ยนเฉพาะไฟอย่างเดียวไม่ได้ ต้องยกทั้งกระจังหน้า และ กันชนหน้าใหม่ มาพร้อมกัน ตัวกระจังหน้าเป็นแบบแถบแนวนอน 3 ชั้น โดยที่ชั้นแรกจะเป็นชิ้นโครเมียมขนาดใหญ่พร้อมโลโก้ H ตรงกลาง ส่วน 2 ซี่ด้านล่างจะเป็นซี่ขนาดเล็กพร้อมชุบสีฟ้าเพื่อสร้างความแตกต่างว่าเป็นรุ่น Hybrid

ด้านล่างกันชนหน้าถูกออกแบบใหม่ พร้อมชุดไฟตัดหมอกแบบ LED ข้างละ 5 ช่อง ไฟสีเดียวกับไฟหน้า จะว่าไปดีไซน์กันชนหน้าลักษณะนี้ ก็ดูจะเป็นมรดกตกทอดมายัง Jazz Minorchange รุ่น RS อยู่เหมือนกัน

มาที่ด้านข้างของตัวรถ เส้นสายด้านข้างก็ยังเหมือนเดิมครับ จะมีก็แต่ล้ออัลลอย ลายใหม่ปัดเงาทำสีทูโทนขนาด 18 นิ้ว (รุ่น TECH) ผมชอบลายนี้เป็นพิเศษ ตอนเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเปิดตัว ก็ลุ้นว่าของไทยจะได้หรือไม่ สุดท้ายก็ได้มา รัดด้วยยางขนาด235/45 R18 เปลี่ยนจาก Michelin Pilot Sport 3 ในรุ่นเดิม เป็น Yokohama Advan DB ในรุ่นใหม่ พร้อมกับติดตั้งสเกิร์ตด้านข้างมาให้

ด้านหลังติดตั้งสปอยเลอร์ แบบตูดเป็ด (Duck Tail) มาให้, เสาอากาศแบบครีบฉลาม (Shark Fin) ก็เป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับรุ่น Hybrid นอกจากนี้ชุดไฟท้ายยังมีการปรับดีไซน์ใหม่ แนวทางการออกแบบก็เหมือนกับชุดไฟหน้า คือ แถบโครเมียมเหนือกรอบป้ายทะเบียนจะกินพื้นที่สร้างความต่อเนื่องมายังชุดไฟท้าย ใครจะเปลี่ยนก็ต้องยกชิ้นโครเมียมมาด้วย

ชุดไฟท้ายเป็นแบบ LED ทั้งไฟหรี่แบบเส้น 3 แถบ และ ไฟเบรกแบบหลอด LED (ขอบอกว่าเวอร์ชั่นอเมริกาไฟเบรกเป็นหลอดไส้นะครับ) มีการเปลี่ยนในส่วนของกรอบไฟเลี้ยว และ ไฟถอยหลังเป็นสีฟ้า เพื่อสร้างความแตกต่างสำหรับ รุ่น Hybrid ในส่วนของกันชนท้ายมีการเปลี่ยนรายละเอียดที่ชายล่างกันชนต่างจากรุ่นเดิมนิดหน่อย คือ มีแถบโครเมียมเสริมเข้ามาชิ้นใหญ่ขึ้น พร้อมแผงทับทิมสีแดงที่มุมล่างซ้าย – ขวา

สำหรับสีตัวถังภายนอกของ Accord Hybrid Minorchange มีให้เลือกด้วยกัน 4 สี โดยยกเลิก สีทองมุก Champagne Frost Pearl (YR-591P) ไปได้สักพักแล้วก่อนหน้านี้ เหลือแต่เพียงโทนสี Grey Scale เท่านั้น

  • สีขาวมุก Orchid White Pearl (NH-788P)
  • สีดำมุก Crystal Black Pearl (NH-731P)
  • สีเงิน Lunar Silver Metallic (NH-830M)
  • สีเทา Modern Steel Metallic (NH-797M)

Accord Hybrid Minorchange คันที่เห็นอยู่นี้ก็เป็นสีเทา Modern Steel นั่นเองครับ ในภาพรวมเหมือนจะเป็นปัญหาก็ใช่ ไม่เป็นก็ใช่ สำหรับรถ Honda ในไทยช่วงนี้ที่มีแต่โทนเข้มขรึม ขาวดำเทาเงินมาให้เลือกกัน บางครั้งก็มีน้ำเงินเข้มมาช่วยเสริมบ้าง แต่ก็นั่นแหละครับ มันเป็นโทนเข้มๆไปหมดเลย ยังดีที่ Mobilio Minorchange และ Jazz Minorchange 2 รุ่นล่าสุด ที่ยังมีสีส้มมุก Phoenix Orange Pearl มาให้กระชุ่มกระชวยทางสายตาอยู่บ้าง


เปิดประตูเข้ามาที่ภายในห้องโดยสารกันบ้าง คราวนี้ Honda เพิ่มระบบ Engine Remote Start มาให้เหมือนกับรุ่นน้องอย่าง Civic สามารถสตาร์ทรถจากรีโมทได้ มีระบบกุญแจ Smart Key System กับ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Button มาให้ตามมาตรฐานของรถระดับนี้ ตัวกุญแจนั้นด้านหลังจะเป็นสีฟ้า เพื่อให้รู้ว่าเป็นรุ่น Hybrid แตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ปกติ (สามารถดูรูปกุญแจได้ที่ >> รีวิวเดิม << )

สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือความเปลี่ยนแปลงของโทนสีภายในห้องโดยสาร เบาะสีใหม่น้ำตาลอมแดง สำหรับผมรู้สึกว่าค่อนข้างโอเคเลยครับ เพราะ จริงๆแล้วสีน้ำตาล เนี่ยเป็นสีโปรดของผมเลยล่ะ จะตินิดก็ตรงบริเวณแผงประตูน่าจะหุ้มหนังสีนี้มาให้ด้วย จะได้ดูเต็มๆครบๆ สีเบาะที่ได้จะขึ้นอยู่กับสีตัวถังภายนอก ตัวถังสีเข้มจะได้ภายในสีอ่อน ตัวถังสีอ่อนจะได้ภายในสีเข้ม (ใครคิดเนี่ย ! บางทีลูกค้าอยากได้รถสีดำ ภายในสีดำ ก็มีนะเออ)

  • สีเงิน Lunar Silver – สีขาว White Orchid Pearl จะได้ภายในห้องโดยสารโทนสีดำ
  • สีเทา Modern Steel – สีดำ Crystal Black Pearl จะได้ภายในห้องโดยสารสีเบจ
  • สีเทา Modern Steel – สีดำ Crystal Black Pearl จะได้ภายในห้องโดยสารสีน้ำตาล (เฉพาะรุ่น TECH)

ดังนั้นถ้าใครอยากจะได้เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาลแบบที่เห็นในรูปนี้ ต้องซื้อรุ่น Hybrid TECH และ สีภายนอกจะต้องเป็น สีดำ หรือ สีเทา เท่านั้น Combination อื่นนอกจากนี้ หมดสิทธิ์

บานประตู และ การเข้าออกจากตัวรถก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อเกินไป คุณผู้อ่านสามารถอ่าน และ ชมภาพในรีวิวรุ่นก่อน Minorchange ได้ที่นี่)

เบาะนั่งคนขับเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมหน่วยบันทึกความจำ Memory Seat ให้ 2 ตำแหน่ง และ ปุ่มปรับดันหลังแบบไฟฟ้า ส่วนเบาะผู้โดยสารตอนหน้าจะเป็นแบบปรับด้วยไฟฟ้า 4 ทิศทาง ร้อมปุ่มปรับเบาะด้านข้าง สำหรับเวลาผู้บริหารนั่งหลัง คนขับรถจะได้ปรับเบาะคนนั่งได้ง่าย หรือ อาจจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ช่วยปรับเบาะให้ลูกๆ (น่าเสียดายว่าน่าจะเป็นแบบ 8 ทิศทางเหมือนกันกับฝั่งคนขับ เพราะมีจำนวนลูกค้าไม่น้อยที่ต้องการฟังก์ชั่นนี้ หลายๆคนไปดูรถกันก่อนตัดสินใจซื้อ คุณสามี ไปกับคุณภรรยา ปรากฎว่าเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับสูง-ต่ำไม่ได้ คุณภรรยาก็พร้อมจะปฏิเสธรถรุ่นนี้ทันที ไม่ใช่ใครอื่นไกล ก็ญาติๆผมเนี่ยแหละครับ ที่เล่าให้ฟัง)

เรื่องของความสบายเบาะนั่งคู่หน้า ผมให้คะแนนพอๆกันหมด ทั้ง Camry Accord และ Teana เป็นเพราะความสบายมันขึ้นอยู่กับสรีระร่างของแต่ละคนด้วย ความต่างมันอยู่ที่เบาะหลังไม่ว่าใครไปนั่ง ก็น่าจะให้ความเห็นที่ตรงกันว่า เบาะหลังของ Camry ดูจะสบายที่สุด ทั้งตัวเบาะ และ พื้นที่ Headrooom – Legroom ยิ่งถ้าเป็นรุ่น Premium ด้วยแล้ว สามารถปรับเอนพนักพิงหลังได้ ก็ยิ่งสบายขึ้น ตามมาติดๆด้วย Accord ที่หนีกันไม่มาก ให้ความสบายในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ ส่วน Teana L33 ที่ดูจะเสียข้อดีตรงนี้ไปเมื่อเทียบกับสมัย J32 ที่เคยโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม แต่ในรุ่นปัจจุบัน Accord ทำได้ดีกว่า

ที่ปีกเบาะข้างๆ ของเบาะนั่งด้านหลังจะมีช่องระบายอากาศสำหรับชุดแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านท้ายรถด้วย และ ที่ประตูด้านหลังซ้าย – ขวา มีม่านบังแดดมาให้ทั้ง 2 ข้าง เป็นแบบเปิด – ปิดด้วยมือ เมื่อดึงขึ้นมาปิดเพื่อบังแดดแล้ว พบว่ายังขาดพื้นที่ของม่านช่วงกระจกบานเล็กอยู่นิดหน่อย ส่วนกระจกบังลมด้านหลัง จะมีม่านบังแดดมาให้เช่นเดียวกัน เป็นแบบเปิด – ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมปุ่มควบคุมการเปิดปิดมาให้บริเวณคอนโซลกลาง ใกล้ๆกับฐานคันเกียร์



นอกจากนี้ในรุ่น Hybrid TECH จะมาพร้อมกับหลังคา Sunroof เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้ามาให้ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงของแผงแดชบอร์ดอยู่ที่การเปลี่ยนลายไม้ใหม่ เป็นโทนสีที่เข้มขึ้น บางส่วนเดิมเช่น แผงสวิตซ์ควบคุมแอร์จากเดิมเป็นวัสดุสีเงิน ก็ถูกเปลี่ยนมาใช้สีดำเงา Piano Black ช่วงคอนโซลกลางส่วนล่าง-ฐานเกียร์จากลายไม้ก็เป็นวัสดุสีดำ Piano Black เช่นเดียวกัน

หน้าจอแสดงผลแบบสี 2 จอ ก็ถูกจัดการวางฟังก์ชั่นใหม่ ลดปุ่มควบคุมลงด้านล่างจากเดิมเป็นชุดปุ่มแยกสำหรับควบคุมระบบนำทาง Navigation System ก็ถูกเอามารวมไว้ที่หน้าจอล่าง ที่เป็นหน้าจอควบคุมเครื่องเสียงระบบสัมผัส Touchscreen ขนาด 7 นิ้ว ทำให้ปุ่มดังกล่าวหายไป ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น ตำแหน่งนั้นเองก็กลายเป็น ช่องเก็บของแบบมีฝาปิดแทน (ชุดปุ่มควบคุมกลมๆ ใต้แผงควบคุมระบบปรับอากาศ)

จอด้านบนเป็นจอแบบสี แสดงข้อมูลต่างๆ i-MID ขนาด 7.7 นิ้ว ทำหน้าที่เป็นจอแสดงผลของระบบเครื่องเสียง ข้อมูลทริปการขับขี่ โหมดวิทยุ เพลง นาฬิกา รวมถึงใช้แสดงภาพจากกล้องมองหลังที่ปรับได้ 3 ระดับ ภาพมุมแคบมุมกว้าง 130 – 180 องศา และ ภาพจากกล้องใต้กระจกมองข้างด้านซ้าย ของระบบ Honda LaneWatch

ถัดลงมาจากหน้าจอดังกล่าว ก็จะเป็นแผงควบคุมระบบปรับอากาศ พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล สามารถแยกปรับอุณหภูมิซ้าย – ขวา Dual Zone ได้ ที่ชุดคอนโซลกลางยังมีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลังมาให้ด้วย

ชุดมาตรวัดของรุ่น Hybrid จะแตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ปกติ ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ให้เหมาะสมกับการใช้งานของรถยนต์ Hybrid

วงกลมตรงกลาง ขนาดใหญ่ เป็นมาตรวัดความเร็วแบบเข็ม ส่วนจอตรงกลางเป็นจอแสดงข้อมูลต่างๆ  Intelligent Multi-Information Display (i-MID) แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบ Real Time และเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้อีกกี่กิโลเมตร เวลาเฉลี่ย Trip Meter A และ B มาตรวัด Odo meter (นับระยะทางสะสมตั้งแต่ออกจากโรงงาน) รวมทั้งแสดงการทำงานของระบบขับเคลื่อน Hybrid

หน้าจอฝั่งซ้าย เป็นมาตรวัดการใช้พลังงาน และการชาร์จไฟกลับเข้าระบบ (Power & Charge Meter) ถ้าเหยียบคันเร่งน้อย แถบไฟจะป้วนเปี้ยนแถวๆ สีเขียว ลงมาข้างล่างเยอะหน่อย เป็นการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี แต่ถ้าเหยียบคันเร่ง เยอะ แถบไฟสีฟ้าจะสว่างขึ้นไปข้างบนในโซน Power การทำงานของมาตรวัดนี้ จะสอดคล้องกับ แถบไฟแนวโค้ง ข้างมาตรวัดความเร็ว (ECO Coaching Ambient Meter) เหยียบคันเร่งน้อยๆ ไฟจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าเหยียบหนักๆ แถบไฟจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีฟ้า

นอกจากนี้ หน้าจอฝั่งซ้ายมือยังแสดงตำแหน่งเกียร์อัตโนมัติ และไฟสีเขียว รูปใบกัญชาจากสวิตช์ ECON On/Off เพื่อให้รู้ว่า กำลังเปิดระบบ ขับขี่ประหยัด ทำให้เครื่องปรับอากาศ จะลดการทำงานลง ขณะเดียวกัน คันเร่ง จะตอบสนองช้าลง เพื่อให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย

หน้าจอฝั่งขวา เป็นมาตรวัดปริมาณไฟในแบตเตอรี และ มาตรวัดน้ำมันในถัง Accord Hybrid ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ มีเพียงแค่สัญญาณเตือนเมื่อหม้อน้ำเริ่มร้อนจัด แค่นั้น

เบาะนั่งแถวหลัง ไม่สามารถแบ่งพับพนักพิงหลังลงมา เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของได้ เพราะด้านหลังของพนักพิงเบาะหลัง เป็นตำแหน่งติดตั้งของระบบแบตเตอรีระบบ Hybrid นั่นเอง ดังนั้น ในเมื่อ พับเบาะไม่ได้ ก็ต้องทำแผงปิดชุดแบตเตอรี่เอาไว้ เพื่อความสวยงาม ป้องกันสิ่งของมากระแทก และ ป้องกันความชื้นไปในตัวดังที่คุณผู้อ่านจะได้เห็นในภาพข้างบนนี้ว่าจะมีก้อนขนาดย่อมๆอยู่ติดกับชุดเบาะนั่งด้านหลัง ส่วนด้านในของที่เก็บสัมภาระด้านหลังนี้

การเปิด-ปิดฝาท้าย จะมีสวิตซ์แบบกลไลไฟฟ้ามาให้ บริเวณที่คิ้วโครเมียมเหนือกรอบป้ายทะเบียน เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้ตำแหน่งนี้ดี ผมเองก็เคยสงสัยเมื่อมองจากระยะไกลว่ามันคือเซนเซอร์อะไร ทำไมถึงติดอยู่ตรงนั้น แต่ก็ถึงบางอ้อเพราะแท้จริงแล้ว มันคือสติ๊กเกอร์สีดำแปะบอกตำแหน่งของเจ้าสวิตซ์นี้เอาไว้ จนป่านนี้หลายคันตั้งแต่ออกป้ายแดง สติ๊กเกอร์ชิ้นนี้ก็ยังคงอยู่ เมื่อเปิดฝาท้ายออกมาแล้ว เราจะเห็นเสา 2 ข้างของชุดฝาท้ายจะมีการหุ้มด้วยฝาครอบพลาสติกมาให้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และ สวยงาม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรุ่น Minorchange คือ มีการพัฒนาชุด IPU และ แบตเตอรี่ใหม่ ให้มีน้ำหนักเบาลง รวมถึงขนาดเล็กลงด้วย ทำให้แต่เดิม ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายมีขนาดความจุ 398 ลิตร ก็จะเพิ่มเป็น 424 ลิตร (เพิ่มขึ้น 26 ลิตร) รวมถึงพื้นที่วางของก็จะมากขึ้นด้วย จากเดิมท้ายรถ ถึงชุดแบตเตอรี่จะมีระยะ 743 มิลลิเมตร (74.3 เซนติเมตร) ก็จะเพิ่มอีก 87 มิลลิเมตร เป็น 830 มิลลิเมตร (83.0 เซนติเมตร) ถือว่าเพิ่มมาจนเกือบจะใกล้เคียงกับรุ่นเครื่องยนต์ปกติ ที่มีความจุ 450 ลิตร

Honda Accord Hybrid ไม่ได้ติดตั้งยางอะไหล่มาให้ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า แต่จะแถมชุดปะยางมาให้ทดแทน ดังนั้น หลุมวางยางอะไหล่จึงถูกแทนที่ด้วยช่องวางของ แบบ 2 หลุม ซึ่งอาจไม่ค่อยเหมาะกับสภาพการใช้งานของลูกค้าชาวไทยนัก อย่างที่รู้กันดีว่า ถนนบ้านเราหลุมบ่อเยอะ และ พร้อมจะฆาตกรรมเชือดเฉือนยางรถยนต์ของคุณทิ้งลงข้างทางได้ทุกเมื่อ

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

ระบบ Hybrid ของ Honda ในปัจจุบันถูกเรียกว่า “SPORT HYBRID” หรือ Full Hybrid อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน พัฒนาจากเจเนอเรชั่นเดิมที่ถูกเรียกว่า IMA (Integrated Motor Assist) โดยจะแบ่งออก เป็น 3 รูปแบบ เพื่อให้เหมาะกับความต้องการในการใช้งานรถประเภทต่างๆ

Sport Hybrid “i-DCD” (Intelligent Dual Clutch Drive) 

เครื่องยนต์ เบนซิน 1.5 ลิตร Atkinson Cycle ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว ห้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตร ที่ 5,000 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 29.5 แรงม้า (PS) ที่ 1,313 – 2,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 160 นิวตันเมตร ที่ 0 – 1,313 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch (DCT) 7 จังหวะ วางในรถยนต์ขนาดเล็กทั้ง Fit Hybrid /Jazz Hybrid และ City Hybrid / Grace Hybrid รวมถึง Freed Hybrid ด้วย

Sport Hybrid “i-MMD” (Intelligent Multi Mode Drive)

เครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ลิตร Atkinson Cycle ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ส่งกำลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ แบบ Electric Couple CVT (E-CVT) ติดตั้งเฉพาะใน Honda Accord Hybrid / Plug-in Hybrid

Sport Hybrid “SH-AWD” (Super Handling – All Wheel Drive)

เครื่องยนต์เบนซิน V6 3.5 ลิตร เทอร์โบคู่ ทำงานร่วมกับ มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว แบบ Integrated Motor ให้กำลังสูงสุด 581 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 65.87 กก-ม. (646 นิวตันเมตร) ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ พบได้ใน Honda Legend / Acura RLX รุ่นใหม่ล่าสุด และ Honda NSX

ใน Accord Hybrid จะเป็นในรูปแบบที่ 2 คือ Sport Hybrid “i-MMD” ตั้งแต่รุ่นเดิม แต่ในรุ่น Minorchange จะมีการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวเราไปดูกันว่า มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

Honda Accord Hybrid Minorchange ไม่ได้มีการปรับเฉพาะดีไซน์ภายนอก และ ภายในห้องโดยสารเท่านั้น แต่รายละเอียดทางด้านวิศวกรรม ก็มีการปรับปรุงไปไม่น้อยเช่นกัน เริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ และ ระบบไฮบริดกันก่อน ในรุ่นเดิมเป็น เครื่องยนต์ Atkinson Cycle ขนาด 2.0 ลิตร PGM-Fi DOHC i-VTEC กำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิด 165 นิวตันเมตร ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังสูงสุด 169 แรงม้า แรงบิด 307 นิวตันเมตร เมื่อเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า จะได้พละกำลังรวมสูงสุด 199 แรงม้า

รุ่น Hybrid Minorchange ปรับปรุงทั้งเครื่องยนต์ และ มอเตอร์ไฟฟ้าใหม่ ตัวเครื่องยนต์มีรหัสว่า “LFA1” ขนาด 2.0 ลิตร PGM-Fi DOHC i-VTEC บล็อก 4 สูบ 16 วาล์ว 1,993 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 96.7 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิง ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ Multi-Point PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC มีวงรอบการจุดระเบิด แบบ Atkinson Cycle

เครื่องยนต์ Atkinson นั้น อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ปกติ ในระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาป 4 จังหวะ แบบ Otto ดั้งเดิมที่เรารู้จักกันดีนั้น จะทำงานตามขั้นตอน 4 จังหวะ ต่อเนื่องกัน จำง่ายๆว่า “ดูด อัด ระเบิด คาย”

  • “ดูด” (ไอดีเข้าห้องเผาไหม้)
  • “อัด” (ปิดวาล์วไอดี ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นไปถึงด้านบนสุด หรือ”จุดศูนย์ตายบน” เพื่ออัดส่วนผสมอากาศและไอดี)
  • “ระเบิด” (หัวเทียนจะปล่อยประกายไฟออกมา จุดระเบิด แรงระเบิดจะผลักลูกสูบให้เคลื่อนตัวลงต่ำไปจนสุด “จุดศูนย์ตายล่าง”)
  • “คาย” (วาล์วไอเสียเปิด ลูกสูบดันไอเสียที่เผาไหม้แล้ว คายออกไปผ่านทางท่อร่วมไอเสีย)

ความแตกต่างของเครื่องยนต์ Atkinson Cycle ก็คือ ในช่วงจังหวะ “ดูด” ที่ลูกสูบจะเคลื่อนลงมาจนสุด หรีอที่เรียกว่าถึงจุดศูนย์ตายล่าง (Bottom Death Center) ปกติ วาล์วไอดี จะต้องค่อยๆ ปิด ในช่วงที่ลูกสูบกำลังเคลื่อนตัวขึ้น

แต่เครื่องยนต์แบบ Atkinson จะยึดเวลาปิดวาล์วไอดีออกไปอีกนิดหน่อย ดังนั้น เมื่อ ลูกสูบเลื่อนดันขึ้น วาล์วไอดีก็ยังเปิดค้างอยู่ ไอดีบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ก็จะไหลออกกลับไปทางท่อร่วมไอดีอีกครั้ง ทำให้ไอดีไปค้างอยู่ในท่อร่วมไอดี เพื่อรอรอบจุดระเบิดครั้งต่อไป รอให้วาล์วไอดีเปิดอีกครั้ง จึงจะไหลกลับเข้าไปยังห้องเผาไหม้อีกรอบ

เดิมให้กำลังสูงสุด 143 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 165 นิวตันเมตร ที่ 4,500 รอบ/นาที จูนเพิ่มแรงม้ามาอีก 2 ตัว เป็น 145 แรงม้า แรงบิดเพิ่มขึ้น 10 นิวตันเมตร เป็น 175 นิวตันเมตร ทำงานคู่กับ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่มีการปรับปรุงกำลังสูงสุดเพิ่มมา 15 แรงม้า เป็น 184 แรงม้า ที่ 5,000 – 6,000 รอบ/นาที แรงบิดเพิ่มขึ้น 8 นิวตันเมตร เป็น 315 นิวตันเมตร ที่ 0-2,000 รอบ/นาที ทำให้เมื่อทำงานร่วมกันจะได้พละกำลังรวม เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 16 แรงม้า เป็น 215 แรงม้า ปล่อย CO2 ลดลงจากเดิม 100g.เหลือ 99g./km. รองรับน้ำมันสูงสุด E20


ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous 2 ตัวประกบกัน มีการพัฒนาจากรุ่นเดิม ให้มีขนาดเล็กลง รวมถึงเบาขึ้น โดยการเปลี่ยนการจัดวางขดลวดจากเป็นแบบกลม Round Copper Wire เป็นแบบเหลี่ยม Square เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของขดลวด อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแม่เหล็กโรเตอร์ 2 ตัว เป็น 3 ตัว แต่มีขนาดเล็กลง และ เบาขึ้น จัดวางในลักษณะโค้ง ลดขนาดและน้ำหนักลงจากเดิม 23%

Power Control Unit (PCU) หรือ ส่วนสมองประมวลผลของระบบ Hybrid ปรับปรุงให้เชื่อมต่อเข้ากับระบบส่งกำลังโดยตรง มีตัวเชื่อมต่อ 3 เฟส ลดการใช้ชิ้นส่วนในการเชื่อมต่อ เช่น แกนยึด และ สายเคเบิลต่างๆ

Intelligent Power Unit (IPU) + Battery ติดตั้งอยู่บริเวณห้องเก็บสัมภาระด้านหลังติดกับเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหลัง แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุไฟฟ้า 1.3 kWh ขนาด 72 Cell / 5.0 Ah 259V จากเดิมเป็นแบบ 12 x 6 Modules ถูกเปลี่ยน เป็น 18 x 4 Modules มีการเพิ่มประสิทธิภาพ และ ลดขนาด-น้ำหนักของตัวแปลงกระแสไฟฟ้า DC-DC ทำให้ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีพื้นที่เก็บของมากขึ้นอีก 26 ลิตร จากเดิม 398 ลิตร เป็น 424 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA จากขนาด ของ IPU + Battery ที่ลดลง ทำให้พื้นที่วางของถึงท้ายรถจาก 743 มิลลิเมตร เป็น 830 มิลลิเมตร หรือเพิ่มขึ้น 87 มิลลิเมตร

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้น้ำหนักตัวรถรุ่น Hybrid TECH จากเดิม 1,663 กิโลกรัมลดลง 28 กิโลกรัม เหลืออยู่ที่ 1,635 กิโลกรัม

พละกำลังทั้งหมด ถูกส่งลงล้อคู่หน้า ด้วย เกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน E-CVT

…อันที่จริงจะเรียกว่าส่งผ่านเกียร์ก็ไม่ถูก เพราะแม้จะมีคันเกียร์ให้เห็นอยู่แบบนั้นแต่ความจริง มันน่าจะเรียกว่าไม่มีเกียร์เลยมากกว่า เพราะแม้จะเขียนในโบรชัวร์ว่า E-CVT แต่ในความจริงไม่มีเฟืองเกียร์เป็นจังหวะๆ และ ไม่มีสายพานแบบเกียร์ CVT ทั่วๆไปไม่มีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ไม่มีชุดคลัตช์สำหรับตัดต่อกำลังช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่งแต่จะมีชุดเฟือง และคลัตช์ตัดต่อแบบที่ฝังอยู่ในมอเตอร์ของระบบขับเคลื่อน ของบ้านเรายังเป็นคันเกียร์แบบปกติทั่วไป แต่ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะเป็นแบบปุ่มกดไฟฟ้า Shift by wire (เหมือนใน CR-V Gen 5 รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล พร้อมมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย หรือ Paddle Shift มาให้)

อัตราทดเกียร์ มาแปลกกว่ารถยนต์ทั่วไปอย่างที่บอกครับ มันต่างออกไปจากเกียร์ CVT ทั่วไป

  • อัตราทดเกียร์ที่ตัวมอเตอร์ไฟฟ้า 2.454 : 1
  • เครื่องยนต์ 0.805 : 1
  • อัตราทดเฟืองท้าย 3.421 : 1

ก่อนจะไปในส่วนของการทดลองขับ ผมขออธิบาย การทำงานของระบบ Hybrid กันก่อน ถูกแบ่งออกเป็น 4 โหมดด้วยกัน

– EV Drive Mode

ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ Lithium-ion ผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถกดปุ่ม EV Mode ที่ข้างคันเกียร์เพื่อมาใช้โหมดนี้ได้ วิ่งด้วยโหมดนี้ได้ความเร็วสูงสุดถึง 120 km/h แต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณแบตที่มีด้วย ไม่สามารถวิ่งจนแบตหมดเกลี้ยงได้ ระบบจะตัดการทำงานอัตโนมัติไปยังโหมดอื่น

– Hybrid Drive

เครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า ทำงานร่วมกัน เพื่ออัตราเร่งที่ดีขณะปล่อยคันเร่งเครื่องยนต์จะหยุดทำงาน เข้าสู่ EV Drive Mode และ ชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่

– Engine Drive Mode

เครื่องยนต์จะส่งกำลังทั้งหมดไปยังล้อคู่หน้าโดยตรง แต่จะตัดสลับการทำงานกับ EV Drive Mode เป็นระยะตามระดับของแบตเตอรี่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงคงที่


โดย 3 โหมดนี้ จะเป็นโหมดที่เราพบได้ในรุ่นก่อน Minorchange อยู่แล้ว แต่ในรุ่น Hybrid Minorchange นี้ จะมีโหมดใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 1 โหมด

– Sport Drive Mode

กระตุ้นให้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเครื่องยนต์มากขึ้น ด้วยความที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานตลอด ทำให้พลังงานในแบตเตอรี่ถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องยนต์ต้องเข้ามาช่วยชาร์จไฟด้วย ทำให้เมื่อกดคันเร่งลงไปช่วยให้ช่วงเวลาที่ต้องสลับการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าน้อยลง เพราะเครื่องยนต์จะทำงานอยู่ตลอด ทั้งนี้เลยทำให้ปริมาณแบตเตอรี่มีเยอะตลอดเวลา มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยทำงานโดยกดปุ่มที่อยู่ด้านล่างคันเกียร์ ไฟ SPORT สีเขียวก็จะติดขึ้นที่ชุดมาตรวัด

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะอธิบาย ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ ระบบขับเคลื่อนของ Accord Hybrid แม้ดูเหมือนจะมีอุปกรณ์ คล้ายกับรถยนต์ Hybrid ทั่วๆไป แต่ในการ
ทำงานจริง มันแตกต่างกัน

สรุปให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ Accord Hybrid ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยเครื่องยนต์ จะช่วยงานแค่ 2 อย่าง คือ

  1. หน้าที่หลัก : ช่วยปั่นไฟส่งไปเก็บในแบตเตอรี่ ปั่นมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเหยียบคันเร่ง หรือเบรก
  2. หน้าที่รอง : ช่วยเร่งความเร็ว ทั้งขณะออกตัว ขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ เท่านั้น ที่เหลือ ต้องทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟา หรือไม่เช่นนั้น ก็หยุดทำงานไปเลย

อีกทั้งขณะขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ยาวๆ เครื่องยนต์ จะตัดสลับมาเป็นมอเตอร์แบบ EV Mode เป็นระยะๆ โดย IPU จะคำนวนจากปริมาณไฟในแบตเตอรี่ ถ้าไฟเหลือเยอะ ก็สั่งตัดการทำงานเครื่องยนต์ทิ้งทันที แล้วเข้าสู่ EV Mode แต่ถ้าไฟในแบตเตอรีเหลือน้อยลง เครื่องยนต์ก็จะติดขึ้นมาทำงานใหม่ให้เองได้ในทันที แม้ว่ารถจะแล่นอยู่ก็ตาม โดยจะช่วยทั้ง ปั่นไฟส่งให้มอเตอร์ไปหมุนล้อขับเคลื่อน และปั่นไฟ ส่งให้ Generator ไปเก็บในแบตเตอรี่

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ สมรรถนะที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เราได้ทำการทดลองจับเวลาในตอนกลางคืน ตามมาตรฐานเดิมของเรา เพียงแต่ว่า คราวนี้ ผู้ทดลอง และจับเวลา เป็น ผม (MoO) และคุณ Joke V10ThLnD หนึ่งในสมาชิก The Coup Team ของเรา ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

จากตัวเลขข้างต้น แสดงให้เห็นว่า Accord Hybrid Minorchange พาตัวเองทุบสถิติใหม่ แซงบรรดาคู่แข่งในพิกัดเดียวกันทั้งหมดขึ้นมา ครอบครองบัลลังก์แชมป์ด้านอัตราเร่งในกลุ่ม D-Segment ประกอบในประเทศไทย ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยตัวเลขอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง o กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 8.03 วินาที ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม 0.41 วินาที เท่ากันทั้ง Normal Mode และ Sport Mode ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน คือ 5.77 วินาที ใน Normal Mode และ 5.66 วินาทีใน Sport Mode

อัตราเร่งในช่วงไม่เกิน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไหลมาเทมาชนิดได้ดังใจ ถ้าคุณสังเกตตัวเลขดีๆจะพบว่า Accord Hybrid สามารถเล่นงานตัวแสบจี๊ดอย่าง Civic 1.5 Turbo/RS ได้เลยด้วยซ้ำ! แต่ถ้าพ้น 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้นไป อัตราเร่งก็จะเริ่มไต่ช้าลง ราวกับหมดพลังเอาดื้อๆ โดยเฉพาะช่วงไต่ 160 ขึ้นไปนั้น เข็มความเร็วจะกวาดขึ้นช้ากว่าช่วง 100-140 อย่างชัดเจน

ส่วนความเร็วสูงสุด Top Speed อยู่ที่ 192 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่ารุ่นเดิม โดยมีการล็อคความเร็วเอาไว้ หรี่ลิ้นคันเร่งลง ขอฝากเอาไว้เช่นเคยเรายังคงมีจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนให้ใครก็ตาม ไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอง เพราะมันอันตรายต่อชีวิตตนเอง และเพื่อนร่วมทาง แถมยังผิดทางกฎหมายจราจรอีกด้วย เราทำตัวเลขออกมาให้ดู เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริง และเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษา ด้านวิศวกรรมยานยนต์ เท่านั้น ต้องเน้นย้ำกัน เหมือนเช่นเคยครับ

ทั้งนี้ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ถึงแม้ว่าอัตราเร่งจะทำเวลาได้ดี และ ไวขนาดนี้ แต่เมื่อเหยียบคันเร่งลงไป ลักษณะอาการของรถมันไม่ได้พุ่งกระชากไปข้างหน้าหลังติดเบาะเหมือนกับพวกเครื่องยนต์ดีเซลแรงบิดสูงๆ ดังนั้นบางคนที่อ่านไปแล้วจะคาดหวังว่ามันแรงกระชากมหาศาล ก็อาจจะผิดหวังไปบ้าง แต่….ความรู้สึกของท่านอาจจะโดนหลอกได้ ถ้าหากไม่เหลือบตามองไปที่เข็มความเร็ว

ข้อด้อยที่มีอยู่ในรุ่นเดิมคือ ถ้าคุณต้องการเร่งแซง กระทืบคันเร่งลงไปเลยทันที ถ้าบังเอิญอยู่ในจังหวะที่ระบบ Hybrid กำลังพยายามขับเคลื่อนรถในโหมดไฟฟ้าล้วนๆ EV Drive Mode อยู่ เครื่องยนต์ไม่ทำงาน เมื่อคุณเหยียบคันเร่งแล้ว ยังอาจต้องรอช่วงจังหวะหน่วง เพื่อให้สมองกลสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อช่วยมอเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างพละกำลัง และ อัตราเร่ง ซึ่งอาการนี้นี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เหมือนเดิมในรุ่น Minorchange

แต่ในรุ่น Minorchange นี้ ถ้าหากคุณกดปุ่ม Sport Mode ที่อยู่ใต้คันเกียร์เป็นโหมดการขับขี่ใหม่ Sport Drive Mode ที่เพิ่มมาให้ในรุ่นนี้อาการดังกล่าวก็จะหายไป จะเห็นได้จากตัวเลขที่เราทดสอบออกมาในช่วงอัตราเร่งแซง ใน Sport Mode เวลาจะดีกว่า Normal Mode เล็กน้อย เพราะไม่ต้องเสียเวลาในช่วงที่สมองกลสั่งให้เครื่องยนต์ทำงาน

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การทำงานคือ กระตุ้นให้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเครื่องยนต์มากขึ้นด้วยความที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานตลอด ทำให้พลังงานในแบตเตอรี่ถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องยนต์ต้องเข้ามาช่วยชาร์จไฟด้วย เมื่อกดคันเร่งลงไป ช่วยให้ช่วงเวลาแล็คที่ต้องรอให้สมองกลสั่งเครื่องยนต์ให้ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าลดน้อยลง เพราะ เครื่องยนต์จะทำงานอยู่เกือบจะตลอด ทั้งนี้เลยทำให้ปริมาณแบตเตอรี่มีเยอะตลอดเวลา มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย คุณจะมีความสุขกับการขับ Accord Hybrid Minorchange นี้มากขึ้นพอสมควรเลยล่ะ ส่วนตัวผมค่อนข้างประทับใจกับการใส่ Sport Mode นี้มาให้


– จะขับสนุกกว่านี้ ถ้าระบบส่งกำลังมี Manaul Mode + – หรือ Paddle Shift

แอบน่าเสียดายที่ Honda พัฒนาระบบ Sport Hybrid “i-MMD” นี้ คู่กับระบบส่งกำลัง E-CVT มาตั้งแต่ต้น ไม่มีเฟืองเกียร์ และ ไม่มีสายพาน แบบเกียร์ CVT ทั่วๆไป มาในรูปกลไกการทำงานของชุดเฟือง และคลัตซ์ ที่ฝังอยู่ในมอเตอร์ของระบบขับเคลื่อน ไม่ได้สัมพันธ์กับความเร็ว-รอบของเครื่องยนต์ ทำให้การล็อคอัตราทดต่างๆทำไม่ได้เหมือนเกียร์ปกติทั่วไป ในบางครั้งก็เลยอาจจะขาดความเร้าใจในอารมณ์การขับขี่ไปในบางจังหวะแต่ก็ยังดีที่มี Sport Mode ใส่เพิ่มเข้ามาให้ที่ผมค่อนข้างประทับใจ ก็พอช่วยทดแทนสิ่งที่ขาดไปในส่วนนี้ได้บ้าง

ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift) มาให้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าหลักการทำงานของมันเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยลองขับเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ส่วนตัวคาดว่าเป็นการเขียนโปรแกรมจำลองให้ตอบสนองเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ ช่วยในด้านอารมณ์ และ ความรู้สึก

– ช่วงล่าง ปรับให้นุ่มนวลซับแรงสะเทือนดีขึ้น แต่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง…

ที่ผ่านมา ผมได้ยินหลายคนที่ไปลองขับ หรือ แม้กระทั่งเป็นเจ้าของ Accord Gen9 อยู่บ่นเข้ามาว่า ช่วงล่างค่อนข้างสะเทือนไม่สมกับเป็นรถ D-Segment เท่าไหร่เลยดังนั้นในรุ่น Hybrid Minorchange นี้ Honda เลยจัดการปรับปรุงช็อคอัพใหม่ ให้มีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของความหนืด แรงเสียดทานและ ยางรองโช้คอัพใหม่

การนั่งโดยสารในช่วงความเร็วต่ำนุ่มนวลขึ้นอย่างสัมผัสได้ การซับแรงสะเทือนจากรอยต่อถนน หรือ หลุมบ่อทำได้ดีขึ้นจากรุ่นเดิม แต่เวลาใช้ความเร็วสูงเจอถนนที่เป็นลอนคลื่นไม่เรียบ หรือ ขรุขระ จะออกอาการโยนตัวไปตามผิวถนนเยอะขึ้น ตรงจุดนี้ รุ่นเดิมแอบทำได้ดีกว่าเล็กน้อยในการเก็บอาการต่างๆช่วงความเร็วสูงแต่ก็อย่างว่าครับ การปรับให้ช่วงล่างนุ่มนวลซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นนุ่มขึ้นก็ต้องแลกกัน

ช่วงล่างที่นุ่มขึ้น ซับแรงสะเทือนดีขึ้น แต่การเข้าโค้งต่างๆบนถนนเรียบยังคงมั่นใจได้เหมือนเดิม ไม่มีปัญหาอะไร แต่เน้นนะครับว่าถนนเรียบ แต่หากเป็นถนนลอนหรือ ขรุขระให้เพิ่มความระมัดระวังหน่อย เพราะค่อนข้างจะโยนตัวกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย เช่นเดียวกันกับการจัมพ์เนิน หรือ คอสะพานด้วยความเร็ว ก็จะออกอาการหน่อย ถ้าไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่มีปัญหาอะไรมาก ความเร็วต่ำนุ่มนวล ซับแรงสะเทือนดีกว่าเดิม ความเร็วสูงต้องใช้ความระมัดระวัง และ สมาธิในการควบคุมเพิ่ม ช่วงล่างที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ผมยกให้ Nissan Teana เหมือนเคยแต่ก็ไม่มีรุ่น Hybrid ให้เลือก ส่วน Camry Hybrid ภาพรวมผมให้ใกล้เคียง Accord Hybrid แต่ Camry จะเหนือกว่านิดๆ เมื่อลงรายละเอียดในเรื่องความนุ่มนวล และ การซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วสูงบนถนนขรุขระ

– พวงมาลัย เบรก มีอะไรเปลี่ยนไปรึเปล่า ?

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมระบบผ่อนแรงเพาเวอร์แบบไฟฟ้า EPS รุ่น Hybrid ล้อ 17 นิ้ว อัตราทดเฟืองพวงมาลัย อยู่ที่ 13.37 : 1 พวงมาลัยหมุนสุด 2.55 รอบ ส่วนรุ่น Hybrid TECH ล้อ 18 นิ้ว อัตราทดเฟือง จะเปลี่ยนเป็น 13.54 : 1 หมุนได้ 2.47 รอบ เหมือนเดิมไม่มีผิดเพี้ยน แต่รัศมีวงเลี้ยวมีการเพิ่มจากเดิมที่ 5.7 เมตร และ 5.9 เมตร มาเป็น 6.064 เมตร และ 6.271 เมตร อีกทั้งยังมีการปรับน้ำหนักพวงมาลัย ให้หนืดขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ทั้งในช่วงความเร็วต่ำ และ ความเร็วสูง

ในช่วงความเร็วสูง น้ำหนักพวงมาลัยช่วงถือตรงมีความนิ่ง และระยะฟรีกำลังดีถึงแม้ว่ารุ่นใหม่ Minorchange พวงมาลัยจะมีน้ำหนัก และ ความหนืดที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม แต่อยากให้เพิ่มกว่านี้อีก ในภาพรวมด้วยตัวรถขนาด และน้ำหนักรถ D-Segment แบบนี้ ผมยังแอบรู้สึกว่า มันเบาไปอยู่ดีในช่วงความเร็วสูง ประมาณ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป

ส่วนในช่วงความเร็วต่ำ ทุกอย่างกำลังพอเหมาะพอดีอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Camry Hybrid ในเรื่องของพวงมาลัย ผมรู้สึกว่ามันโอเคกว่า Accord Hybrid ในช่วงความเร็วสูงอยู่นิดหน่อย ส่วนความเร็วต่ำทำได้ดีพอๆกัน

ระบบห้ามล้อ หรือ ระบบเบรก เป็นอีกระบบหนึ่งที่แตกต่างไปจาก Accord รุ่นเครื่องยนต์ปกติ ลักษณะภายนอกจะติดตั้ง ดิสก์เบรก ครบทั้ง 4 ล้อ โดยคู่หน้ามีครีบระบายความร้อนมาให้ จานขนาด 11.5 นิ้ว ด้านหลังจะใช้จานขนาด 11.1 นิ้ว พร้อมระบบ ABS / EBD / BA เหมือนกัน แต่เนื่องจากรถคันนี้ ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ Hybrid ซึ่งต้องมีระบบ Re-generative Braking เพื่อช่วยดึงพลังงานจลน์จากการเบรก ไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า ส่งคืนไปเก็บที่แบตเตอรี่

ดังนั้น Accord Hybrid จึงไม่มีหม้อลมเบรก แต่เปลี่ยนมาใช้ระบบเบรก Electric Servo Brake System แทน มีการออกแบบแป้นเหยียบเบรกแบบไฟฟ้า เพิ่มชุด Feeling Simulator ที่จะช่วยปรับการทำงานของแป้นเบรก ให้สนองตอบต่อการเหยียบได้ใกล้เคียงกับแป้นเบรก ในรถยนต์ทั่วไป มากยิ่งขึ้น

ผลคือ น้ำหนักแป้นเบรกต่างๆ ถ้าไม่ได้จับสังเกตหรือบอกว่าเป็น Servo ไฟฟ้า ก็จะไม่ทราบเลยว่ามีความแตกต่าง เซ็ตน้ำหนัก ระยะต่างๆมาได้ดีมาก ไม่เหมือนอย่าง X-Trail Hybrid รายนั้นเบรกไม่โอเคอย่างแรง ควรดูการเซ็ตน้ำหนักของ Accord Hybrid เป็นตัวอย่าง

แต่ Accord Hybrid เองนั้น ก็จะมีข้อด้อยอยู่นิดนึงตรงช่วงหน่วงจากความเร็วสูง แป้นมีอาการสั่นเล็กๆ จากที่ศึกษาอาการเบรกแบบนี้จาก Honda หลายๆรุ่น คาดว่ามาจากผ้าเบรก วิธีแก้ก็ไม่ยากครับ ใครที่ขับรถเร็วๆอาจจะต้องหาผ้าเบรกคุณภาพสูงกว่านี้มาใส่แทน

– การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร ดีขึ้น เงียบขึ้น

หากเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม D-Segment ในรุ่นเดิมจะพบว่าการเก็บเสียงจากครึ่งคันล่างรถทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเสียงยางบดถนนจะค่อนข้างดังเป็นพิเศษ ในรุ่น Minorchange ก็มีการปรับปรุงเรื่องนี้เช่นกัน เพิ่มวัสดุซับเสียงโฟมยูรีเทนในจุดต่างๆ บริเวณซุ้มล้อ ทั้ง 4 ล้อ ก็มีการบุวัสดุซับเสียงเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้มีการเปลี่ยนจากยาง Michelin Pilot Sport 3 เป็น Yokohama Advan DB ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวจะเป็นยังไงคงต้องรอดูกันต่อไป เพราะ หลายคนที่ใช้ยางนี้ก็บอกว่าแรกๆมันก็เงียบอยู่ แต่นานๆเข้าก็เริ่มดัง แต่ภาพรวมของการทดสอบเท่าที่ได้เจอก็พบว่าการเก็บเสียงจากครึ่งคันล่างรถที่เคยเป็นปัญหาก็ทำได้ดีขึ้นครับ จะมีก็แต่เสียงของกระแสลมจะเริ่มดังขึ้นหน่อย เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่า 130 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว

– ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน ช่วยเหลือการขับขี่ มีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร

ระบบความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆก็มีมาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA ซึ่งจะรวมถึง ระบบป้องกันการลื่นไถล TRC ด้วย, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, กล้องมองภาพขณะถอยจอด

นอกจากนี้ ยังมีระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch) โดยตัวกล้องจะรวมอยู่ในชุดกระจกมองข้างด้านซ้าย ทำงานร่วมกับก้านไฟเลี้ยว เมื่อเราเปิดไฟเลี้ยวซ้าย ตัวกล้องจะทำงาน และ แสดงภาพบนหน้าจอ i-MID ขนาด 7 นิ้ว (จอบน) มีเส้นกะระยะให้ด้วย เพื่อช่วยให้มองเห็นรถที่อยู่ในจุดบอดของกระจกมองข้างด้านซ้ายได้ เมื่อปิดสัญญาณไฟเลี้ยวก็จะตัดการทำงานอัตโนมัติ แต่ถ้าอยากให้ภาพขึ้นก็สามารถกดเปิดกล้องได้โดยการกดปุ่มที่ปลายก้านไฟเลี้ยวครับ

ที่กล่าวมาคือ ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน หรือ Active Safety ที่จะช่วยก่อนเกิดเหตุ ส่วนเมื่อเกิดเหตุแล้วก็เป็นหน้าที่ของระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องหรือ Passive Safety ประกอบไปด้วย ถุงลมนิรภัยรวม 6 ตำแหน่ง มีคู่หน้า 2 ตำแหน่ง, ด้านข้าง 2 ตำแหน่ง และ ม่านถุงลมนิรภัย 2 ตำแหน่ง

รถระดับนี้จะมีระบบช่วยเหลือการขับขี่ หรือ ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน Active Safety มาแค่นี้ก็คงจะไม่พอ Honda เลยแนะนำ เทคโนโลยี Honda SENSING ที่จะทำงานร่วมกับเรดาร์ (อยู่บริเวณช่องดักลมกันชนหน้าด้านขวา) และ กล้องด้านหน้า (อยู่บริเวณกึ่งกลางกระจกบังลมหน้าส่วนบน) ในการตรวจจับสภาพแวดล้อมบนถนน แล้วแจ้งเตือน รวมถึงช่วยควบคุมรถ มีด้วยกัน 4 ระบบ ไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง แล้วมันทำงานอย่างไร

– Adaptive Cruise Control (ACC) 

ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน การทำงานก็เหมือนกับระบบ Cruise Control ทั่วไป แต่จะเพิ่มความสามารถในการรักษาระห่างจากรถคันหน้า ตรวจจับโดยกล้องและเรดาร์ เช่น ที่ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราตั้งความเร็วเอาไว้ หากรถคันข้างหน้าลดความเร็วลง ระบบก็จะลดความเร็วลงตาม ถ้าเป็น Cruise Control เราจะต้องเปลี่ยนเลนเพื่อหลบ หรือ เหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็ว แต่ ACC จะช่วยลดความเร็วอัตโนมัติ หากมีรถมาแทรกกลาง ระบบก็จะค่อยๆชะลอความเร็วลงเช่นกัน แล้ว detect รถคันที่มาใหม่แทน ตามระยะที่เราตั้งเอาไว้ มี 3 ระยะให้เลือก คือ ใกล้ กลาง ไกล หากรถคันหน้าเพิ่มความเร็ว ระบบก็จะเพิ่มความเร็วให้กลับไปสู่ความเร็วและ ระยะห่างที่เราได้ตั้งเอาไว้แต่แรก

*ACC จะทำงานได้ตั้งแต่ความเร็วที่ 30 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อระบบชะลอความเร็วลง ไฟเบรกก็จะติดด้วยครับ เพื่อให้รถคันหลังทราบ

ลองใช้ระบบ Adaptive Cruise Control (ACC) นี้บนถนนจริง แต่ก่อนผมรู้สึกในใจว่ามันก็คงไม่ได้เลิศเลออะไร คงไม่ต่างจาก Cruise Control ปกติมากนัก แต่ได้มาลองใช้วิ่งจริงจาก กรุงเทพฯ ไป เขาใหญ่ ก็ได้บรรลุว่า มันสะดวกสบายมากครับ ลองชมจากคลิปวีดีโอข้างล่างนี้ได้เลย ได้ลองใช้แล้วจะรักมันเลยครับ

วิธีใช้งาน ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน Adaptive Cruise Control (ACC) ใน Honda Accord Hybrid TECH Minorchange

โพสต์โดย Moo Teerapat A บน 17 มีนาคม 2017

 

– Collision Mitigation Braking System (CMBS)

ระบบเตือนการชนด้านหน้า และ ตรวจจับคนเดินถนน ด้วยกล้อง และ เรดาร์ ทำงานตั้งแต่ความเร็ว 15 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เมื่อมีรถด้านหน้า หรือคนเดินถนน ระบบจะตรวจจับเมื่ออยู่ในระยะที่ไม่ปลอดภัย จะมีข้อความขึ้นเตือนบนหน้าจอ MID ที่ชุดมาตรวัด, มีเสียงเตือน รวมถึงการสั่นเตือนที่พวงมาลัย

ถ้าหากคนขับยังไม่ตอบสนองระบบก็จะช่วยกระตุกเข็มขัดนิรภัย และ เพิ่มแรงเบรกให้ แต่ถ้ารถติดๆไหลๆในเมืองความเร็วไม่เกิน 15 km/h แล้วมัวแต่เล่นมือถือ ระบบจะไม่ทำงานนะครับ คนละแบบกับของ Mazda ที่ช่วยเบรกเฉพาะที่ความเร็วต่ำ

เมื่อระบบเริ่มทำงานก็จะมีสัญลักษณ์พื้นหลังสีเหลือง เป็นรูปรถจะมีเครื่องหมายตกใจขึ้นมาบนหน้าจอ Multi-Information Display (MID) บนชุดมาตรวัดครับ

2 ระบบที่ว่ามานี้ คือ ACC และ CMBS มีมาให้ในรุ่นย่อย TECH ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้าในรุ่น Minorchange นี้ มีการเพิ่มมาให้อีก 2 ระบบใหม่ นั่นก็คือ

– Lane Keeping Assist System (LKAS)

ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ ตรวจจับเส้นแบ่งเลน (ที่เป็นเส้นประ) โดยใช้กล้องด้านหน้า เริ่มทำงานที่ความเร็ว 72 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะช่วยเตือนด้วยสัญลักษณ์สีส้มบนหน้าจอ MID บนมาตรวัด รวมถึงหากตรวจจับว่ากำลังจะออกนอกเลน พวงมาลัยจะมีการหน่วงช่วยดึงรถให้อยู่ในช่องจราจรสามารถตรวจจับเส้นแบ่งเลนได้ทั้งทางตรง และ ทางโค้ง จับองศาโค้งได้ถึง 230 องศา หากมีการปล่อยมือจากพวงมาลัยระบบก็จะเตือนเช่นกัน

– Road Departure Mitigation with Lane Departure Warning (RDM with LDW)

ระบบแจ้งเตือน และ ช่วยเหลือเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ ใช้กล้องด้านหน้าตรวจจับเส้นแบ่งเลน (เส้นทึบ ขอบถนน) พูดง่ายๆก็คือระบบจะช่วยตรวจจับไม่ให้รถตกถนนนั่นเอง มีการช่วยหน่วงพวงมาลัยให้กลับเข้าสู่ช่องจราจร หากกรณีที่เบี่ยงออกนอกทางมากขึ้น ก็จะมีการช่วยเบรกชะลอความเร็วด้วย และ มีการแจ้งเตือนผ่านทางสัญลักษณ์สีส้มบนหน้าจอ MID และ เสียงเตือน รวมถึงการสั่นเตือนที่พวงมาลัย

2 ระบบหลังที่ว่ามานี้ หากเส้นถนนจางมาก จนไม่สามารถตรวจจับได้ หรือ ไม่มีเส้นแบ่งช่องจราจรบนถนน ระบบก็จะไม่ทำงานครับ

เมื่อระบบเริ่มทำงานก็จะมีสัญลักษณ์พื้นหลังสีเหลือง เป็นรูปมือจับพวงมาลัย ขึ้นมาบนหน้าจอ Multi-Information Display (MID) บนชุดมาตรวัดครับ

– การรับประกันตัวรถ โปรแกรมค่าบำรุงรักษา/เช็คระยะฟรี !

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าค่อนข้างเป็นห่วง และกังวลกันพอสมควร สำหรับภาพรวมของ รถยนต์ Hybrid ไม่ว่าจะรุ่นไหนค่ายไหนก็ตาม ตรงจุดนี้ Honda มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ผมขอแบ่งตรงนี้ออกเป็น 3 ส่วนให้เข้าใจกันง่ายๆครับ (รวมทั้งหมดนี้ Honda เรียกว่า Privillege Package สำหรับลูกค้า Accord Hybrid ซึ่งในตอนแรก Honda บอกว่าจะแถมให้เฉพาะลูกค้าที่จองรถภายใน 2 เดือนแรก แต่เวลาผ่านไป 1 ปี แคมเปญนี้ก็ยังคงมีอยู่ครับ)

  • การรับประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่ 10 ปี / ระบบ Hybrid ทั้งระบบ 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ครอบคลุมการรับประกันในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ควบคุม แบตเตอรี่ไฮบริด และ ระบบสายไฟไฮบริดต่างๆ
  • การรับประกันตัวรถส่วนอื่นๆ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ในรุ่น Hybrid จะมีการเพิ่ม Ultimate Care ให้อีก 2 ปี หรือ 40,000 กิโลเมตร รวมเป็นรับประกัน Warranty รวมเป็น 5 ปี หรือ 140,000 กิโลเมตร (*ในส่วนของ Ultimate Care ที่เพิ่มเข้ามาให้อีก 2 ปี / 40,000 km. จะรับประกันครอบคลุมชิ้นส่วนต่างๆน้อยลงกว่า Warranty 3 ปี 100,000 กิโลเมตร)

สองข้อแรกนี้ นอกเหนือจาก Ultimate Care เป็นสิ่งที่ลูกค้า Accord Hybrid ได้รับตั้งแต่รุ่นก่อน Minorchange แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ครั้งแรกสำหรับ Accord Hybrid Minorchange และครั้งแรก ของรถยนต์ Honda นั่นก็คือ

  • โปรแกรมการบำรุงรักษา ของ Honda ผมเรียกมันว่า HSI ก็แล้วกันครับย่อมาจาก Honda Service Inclusive (อันนี้ผมตั้งเอาเองนะ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ) ลองคิดดูครับว่า BSI : BMW Service Inclusive ของ BMW มันคืออะไร? มันก็คือฟรี ค่าแรง/ค่าอะไหล่/เช็คระยะ เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาเอารถเข้าศูนย์บริการเช็คระยะต่างๆ คุณจะไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นยางรถยนต์, ยางปัดน้ำฝน, แบตเตอรี่ปกติ (ที่ไม่ใช่แบตของระบบไฮบริด)

ทั้งหมดนี้ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ขึ้นมาพอสมควรกับระบบ Hybrid โดยเฉพาะ HSI หรือ โปรแกรมการบำรุงรักษา ของ Honda ฟรี ค่าแรง/ค่าอะไหล่/เช็คระยะ เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ตรงนี้ดีมากๆ รถ Flagship ที่เป็น Mass Market ของแต่ละค่ายควรดูเป็นตัวอย่างที่สมควรทำตาม ด้วยราคาระดับนี้ มันสมควรมีมาให้ได้แล้ว

ที่เหลือคงจะเป็นเรื่องของงานประกอบ อันที่จริง Accord Hybrid ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก แต่ช่วงหลังมานี้รถรุ่นอื่นๆ ของ Honda มักมีเสียง feedback ดังมาจากลูกค้าว่างานประกอบไม่ค่อยเนี๊ยบ มีปัญหาจุกจิกประปรายมันเลยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในวงกว้าง

ลูกค้าประจำที่เคยซื้อ หรือ เป็นเจ้าของรถ หลัก 10 ปีที่แล้ว จะรู้สึกได้ว่า แม้ Honda จะไม่ได้แน่นเป็นตู้เซฟแบบรถยุโรป แต่มันเป็นรถที่สตาร์ท แล้วขับ แล้วก็เช็คตามระยะ ใช้ทนมือทนเท้า เข้าใจง่าย ถ้ารถรุ่นใหม่มันดีขึ้นทุกอย่าง แต่ข้อดีเดิมๆที่มีมันหายไปลูกค้าเก่าก็อาจเสียความเชื่อถือไป กลับมาใส่ใจงานประกอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ รักษาความดีนั้นไว้เถอะครับ ระยะยาวมันมีผลต่อการตัดสินใจแน่นอน

ปล.แถมท้ายให้อีกนิดนึง ใครที่รอว่า Accord Hybrid Gen 9 จะมีรุ่น Plug-in ก็ขอให้พักความคิดนี้ไว้ได้เลย เพราะ Honda บอกเองว่าจะยังไม่มีการทำตลาดในไทยสำหรับ Plug-in Hybrid ใน Generation นี้ เพราะที่อเมริกาเอง Gen 9 ก็เคยมี แต่ด้วยต้นทุน และ ราคาจำหน่ายทำให้ราคาเข้าไปใกล้กับกลุ่ม Premium Compact อย่าง 3-Series / C-Class รุ่นเริ่มต้นมากเกินไป ทำให้ไม่เป็นที่นิยม และ สุดท้ายก็ยุติการผลิต เลิกทำตลาดไป เช่นเดียวกับที่ไทย คิดดูว่าตอนนี้ ราคาตัวท๊อปของรุ่น Hybrid TECH ก็ปาเข้าไป 1,849,000 บาทแล้ว ถ้ามีรุ่น Plug-in คงไปแตะ ราวๆ 2 ล้านบาท คงโดนลูกค้าด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่สำหรับ All NEW Accord Gen 10 ที่กำลังจะเปิดตัวนี้ จะมีรุ่น Plug-in Hybrid กลับมาหรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกัน เพราะกระแสรถยนต์ไฟฟ้าตอนนี้ ก็เริ่มมาแรงขึ้นทั่วโลก รวมถึงกระทรวงการคลังก็พึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท Hybrid และ รถยนต์ไฟฟ้า EV ไปเมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา อ่านรายละเอียด >> ได้ที่นี่ <<

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

อีกประเด็นที่สำคัญ และขาดไปเสียมิได้ในการทดลองรถยนต์ของ Headlightmag นั่นคือ การทดลองหาความประหยัดน้ำมัน ยิ่งในเมื่อ เรามีข้อมูลรถรุ่นเก่าไว้อยู่แล้ว ผมก็อยากจะรู้ว่า Accord Hybrid Minorchange จะทำตัวเลขความประหยัดเพิ่มขึ้นจากเดิมได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด?

เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

และ ในเมื่อ Accord เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่ ถึงแม้จะมีคนอยากรู้ถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ลูกค้าในกลุ่มนี้ ไม่ได้ซีเรียสกับตัวเลขกันมากขนาดนั้น เราจึงตัดสินใจเติมน้ำมันด้วยวิธีเติมเสร็จแล้วให้หัวจ่ายตัด ก็พอ ไม่ต้องเขย่ารถอย่างเช่นที่ต้องทำกับรถยนต์นั่งต่ำกว่า 2.0 ลิตร และ รถกระบะ ให้ปวดเข่า และ ก้นกบ

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ

ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน และคราวนี้ เพื่อรักษาความเร็วให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็ว Cruise Control เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดพอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

 

ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter A : 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่เติมกลับ : 4.43 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย : 20.92 กิโลเมตร/ลิตร

ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม 0.4 กิโลเมตร/ลิตร เป็นผลจากน้ำหนักตัวที่เบาลง และ การปรับปรุงระบบ Hybrid ทั้งเครื่องยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า และ แบตเตอรี่ ครองบัลลังก์รถยนต์ D-Segment ประกอบในประเทศที่ประหยัดที่สุดไปครอง

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ที่เคยได้ชื่อว่าทำตัวเลขได้ดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์นั่ง Sedan ขนาดกลางค่อนใหญ่ อย่าง Toyota Camry Hybrid 2.5 ลิตรแล้ว คงต้องยอมรับกันว่า Accord Hybrid สร้างสถิติตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองประหยัดน้ำมัน ได้เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม แซง Camry Hybrid ไปเรียบร้อยและ ยิ่งตอกย้ำด้วยการทำสถิติใหม่ ในรุ่น Minorchange ขึ้นไปอีก

ณ ตอนนี้ หากจะหาใครมาโค่นตัวเลขนี้ลง คงต้องรอ All NEW Camry ที่เปิดตัวไปแล้วที่ญี่ปุ่น กับขุมพลัง Dynamic Force ที่เคลมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน JC08 เอาไว้ ประหยัดกว่า Accord Hybrid Minorchange ประมาณ 3 กิโลเมตร/ลิตร แต่ในตอนนี้ต้องขอยกบัลลังก์ให้ Accord Hybrid Minorchange ไปก่อนในรุ่นปัจจุบันที่มีขายในไทย กับตัวเลข 20.92 กิโลเมตร/ลิตร ตามมาตรฐานการทดสอบของ Headlightmag.com

แต่ถ้าถามว่า น้ำมัน 1 ถัง สามารถแล่นได้ไกลแค่ไหน ตัวเลขจากทริปที่ผมได้มีโอกาสไปลองขับ แสดงให้เห็นว่า ถ้าขับแบบเรื่อยๆเน้นประหยัด สบายๆ ความเร็คงที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณสามารถใช้น้ำมันเบนซิน เต็มถัง แล่นได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ต่อการเติมน้ำมัน 1 ครั้ง แน่ๆ และ ต่อให้จะขับแบบเหยียบมิด พุ่งมุดซ้ายป่ายขวา บ้าระห่ำ ก็ยังจะทำตัวเลขได้แถวๆ เกิน 700 กิโลเมตร ขึ้นไปได้อย่างแน่นอน (รุ่น Hybrid ถังน้ำมันขนาด 60 ลิตร)

********** สรุป **********

ยังคงแรงที่สุด แต่ก็ประหยัดที่สุดใน D-Segment ณ ตอนนี้ แต่ค่าตัวก็แรงสุดเช่นกัน

เมื่อครั้งที่ Honda เปิดตัว Accord Hybrid ครั้งแรกแล้วเราได้นำมันมาทดสอบ รถคันนั้นได้สร้างมาตรฐานทางความคิดใหม่ให้กับทีมงานของเรา จากเดิมที่เราเคยมองขุมพลัง Hybrid ของ Honda ว่าแรงก็ไม่เต็มที่ ประหยัดน้ำมันก็ไม่ได้ดีเลิศเลอ กลายเป็นรถที่สามารถเอาดีได้ทั้งเรื่องอัตราเร่ง และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่การปรับตั้งช่วงล่างด้านหน้าและพวงมาลัย ทำให้มีอาการหน้าเบาและพวงมาลัยไวเกินสำหรับการขับที่ความเร็วสูง ก่อให้เกิดความเครียดในการบังคับควบคุมโดยไม่จำเป็น

Accord Hybrid Minorchange ถูกปรับปรุงเพิ่มเติมในหลายด้านให้กลายเป็นรถที่ขับแล้วรู้สึกผ่อนคลายขึ้น น้ำหนักของพวงมาลัยนั้น แม้ว่าจะยังถือว่าเบาและไวอยู่ แต่ก็ใช้สมาธิในการควบคุมน้อยกว่ารถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ เมื่อลองขับแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับรูปแบบของตัวรถ

ช่วงล่าง จากเดิมที่เคยมีบุคลิกเทียบได้กับแค่ “เหมือนขับ Civic FB ที่คันใหญ่ขึ้น” มาคราวนี้ได้รับการปรับแต่งให้มีความนุ่มนวลในการเดินทางมากกว่าเดิม ขับในเมือง เจอถนนสภาพไม่ค่อยดีก็รู้สึกว่ามีความกระด้างน้อยลง (ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนยางติดรถด้วย) เวลาเดินทางออกต่างจังหวัดก็รู้สึกว่าคนนั่งหลังจะสบายขึ้น กระโดดสะพานทางด่วนแล้วมีอาการดีดดิ้นน้อยลง บุคลิกโดยรวมทำมาเอาใจผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่น ผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้มากขึ้น

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการปรับปรุงขุมพลังขับเคลื่อน “LFA1” ให้มีกำลังมากขึ้นทั้งจากเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้า (ซึ่งอย่างหลังนี่เป็นพระเอกของการขับเคลื่อน ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นตัวสร้างพลังเป็นหลักอย่างรถไฮบริดรุ่นอื่นๆในประเทศไทย) ความแรงระดับ 215 แรงม้า อาจจะไม่ได้กระชากหลังติดเบาะ แต่มาในลักษณะไหลมาเทมาไม่หยุด จนมารู้ตัวอีกทีคุณอาจจะวิ่งประกบข้าง หรือเอาจมูกขึ้นหน้าน้องเล็กตัวแสบอย่าง Civic Turbo ไปแล้วก็ได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำใจว่ามันไม่ใช่รถสปอร์ต ไม่ใช่รถวัยรุ่น มันคือรถไฮบริดที่มีพลัง ดังนั้นเมื่อพ้นความเร็วประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้นไป มันก็ยังไหลไปแบบเอื่อยๆ แต่สำหรับคนส่วนมาก พลังของ Accord Hybrid นั้นเหลือพอให้คุณเดินทางไกล แซงขบวนรถขนอ้อยยาวๆบนถนน 2 เลนแล้วไม่ต้องมาลุ้นเหงื่อตก

นอกจากบทบู๊แล้ว Accord Hybrid TECH ยังมีภายในที่น่าจะถูกใจลูกค้ารถระดับ D-Segment มากที่สุดในกลุ่ม ยิ่งถ้าได้ภายในเป็นเบาะสีน้ำตาล บวกกับแผงแดชบอร์ดที่มีสีสันแพรวพราว มีจอต่างๆดูทันสมัย ผสานการออกแบบที่เป็นกลางระหว่างญี่ปุ่นกับยุโรปได้ค่อนข้างดี ไม่เชื่อลองเลื่อนขึ้นไปดูรูปแดชบอร์ดข้างบนๆก็ได้ครับว่า Accord ดูล้ำและเยอะกว่าคู่แข่งขนาดไหน

เบาะนั่งให้ความสบายได้สมกับประเภทของตัวรถ บางท่านอาจจะรู้สึกว่าเบาะนั่งหน้ามีพนักพิงศีรษะที่ดันหัวอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับน่ารำคาญ ส่วนเบาะหลังนั้นมีพื้นที่แกว่งขามาให้เยอะ มีพื้นที่เหนือศีรษะและความสบายในการโดยสารแบบภาพรวมดีกว่า Nissan Teana L33 แต่อาจจะแพ้ Camry อยู่เล็กน้อย

ที่ผ่านมาดูเหมือนผมออกจะเขียนชมเชย Accord Hybrid Minorchange อยู่ไม่ใช่น้อย แต่รถคันนี้ก็ยังมีจุดที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อได้อีก มันอาจจะสายเกินไปสำหรับการปรับสิ่งต่างๆใน Gen 9 นี้แล้ว แต่เราหวังว่า Gen 10 จะมาถึงโดยกำจัดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้บ้าง

อย่างแรกคือช่วงล่าง ถูกครับที่ผมชมว่ามันมีความนุ่มนวล ผู้ดี รับผู้ใหญ่ไปกินข้าวแล้วสบายใจที่จะให้พวกเขานั่งบนเบาะหลังมากขึ้น แต่เวลาวิ่งบนถนนที่ไม่เรียบด้วยความเร็วสูง เช่นบนทางด่วนช่วงแจ้งวัฒนะเข้าเมืองมางามวงศ์วาน หรือวิ่งบนถนนหลวงตามต่างจังหวัดที่จะปรากฏสภาพซ่อมแซมปุปะอยู่บ้าง ช่วงล่างของ Accord Hybrid ใหม่ยังเก็บอาการได้ไม่ดีเท่าที่ควร และสำหรับถนนบางแบบ ผมรู้สึกว่าต้องใช้ความสามารถในการประคองพวงมาลัยมากกว่ารถรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ด้วยซ้ำ

ประการที่สอง คือเรื่องการเก็บเสียง แม้ว่า Honda จะไม่ใช่ค่ายที่เก็บเสียงดีอันดับต้นๆของประวัติศาสตร์รถญี่ปุ่น และทางเราเองก็รับรู้ได้ถึงความพยายามในการป้องกันเสียงรบกวนจากตัวถังท่อนบนของรถ…ตรงนี้ถือว่าทำได้ดี แต่เสียงรบกวนที่เกิดจากซีกล่างของรถนั้นยังมีเข้ามามากเกินไปสำหรับรถผู้ใหญ่เกรดราคาระดับนี้ มันทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนพื้นรถจะกลวงๆกว่ารถของคู่แข่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ Accord เท่านั้น จะ Civic หรือแม้กระทั่ง CR-V Gen 5 ตัวใหม่ล่าสุดก็ยังเป็น จนบางทีก็สงสัยเหมือนกันว่าตกลงเขาจะปล่อยมันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆหรือเปล่า

แต่ถ้าคุณยอมรับข้อเสียเหล่านั้นได้ และคิดจะเลือก Honda Accord Hybrid โดยมีตัวเลือกเปรียบเทียบเป็น Camry Hybrid ผมจะลองสรุปให้บางท่านที่ไม่อยากเปิดไปอ่านหน้าอื่นๆ ดังนี้

Accord Hybrid มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย

  • Hybrid  1,659,000 บาท
  • Hybrid TECH  1,849,000 บาท

อุปกรณ์ต่างๆของ Accord Hybrid อ่านได้ที่นี่

ระหว่าง 2 รุ่นนี้ ราคาต่างกัน 190,000 บาท โดยสิ่งที่ต่างกันก็คือชุดแต่งสปอยเลอร์ ล้ออัลลอยขอบ 18 นิ้ว ซันรูฟ ระบบนำทาง และระบบความปลอดภัยขั้น Advance เช่น Radar Cruise Control ระบบเตือนกันเบี่ยงออกนอกเลน ระบบ Pre-crash

บุคลิกโดยรวมของ Accord จะทำมาดูเหมาะกับคนที่ซื้อรถเพื่อขับเองอย่างชัดเจน แผงแดชบอร์ดดูล้ำสมัยอุดมไปด้วยจอต่างๆ เครื่องแรง ขับสนุก พวงมาลัยเซ็ตมาไวกว่า Camry ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่น่าจะตอบสนองคนใช้รถประเภทขับเอง และชอบขับเร็วได้ดีกว่า Camry

ส่วน Camry Hybrid มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย เช่นกัน และ ราคาเท่ากันเป๊ะๆ คือ

  • HV Navigator  1,659,000 บาท
  • HV Premium  1,849,000 บาท

อุปกรณ์ต่างๆของ Camry Hybrid อ่านได้ที่นี่

ระหว่าง 2 รุ่นนี้ ราคาต่างกัน 190,000 บาท โดยสิ่งที่ต่างกันหลักๆก็คือ ไฟสูงแบบอัตโนมัติ (AHB) เบาะหลังปรับเอนได้ ระบบ Pre-crash ระบบ Radar Cruise Control และระบบเตือนกันรถเบี่ยงออกนอกเลน

บุคลิกโดยรวมของ Camry จะมีความเป็นผู้ใหญ่กว่า Accord หลงใหลในแสงสีน้อยลง แต่ใส่ใจกับความสบายมากขึ้น พวงมาลัยไม่ไวเท่า Accord ช่วงล่างใกล้เคียงกัน ได้เปรียบเสียเปรียบกันบางด้าน เช่น Camry วิ่งบนพื้นไม่เรียบได้ดีกว่า แต่ Accord บาลานซ์ตัวรถบนทางเรียบได้ดีกว่า เบาะหลัง Camry สบายกว่าเล็กน้อย การเก็บเสียงซีกท่อนล่างของตัวรถดีกว่า และ Camry มีถุงลมนิรภัย 9 ใบ ในขณะที่ Accord มี 6 ใบ

ยิ่งถ้านำรุ่นท้อปมาเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 เจ้านี้ จะรู้สึกแบ่งแยกได้ชัดเจนว่า Accord พยายามทำตัวเองเป็นรถมาดสปอร์ตแบบวัยรุ่น มีซันรูฟ มีล้อ 18 กับชุดแต่งมาให้ แต่จะมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ เช่นเบาะไฟฟ้าของฝั่งคนนั่งปรับสูงต่ำไม่ได้ ในขณะที่ Camry นั้นน่าจะเหมาะกับการเป็นรถประจำตำแหน่งผู้บริหารมากกว่า ล้อ 17 ยางแก้มหนา รูดหลุมสบาย แถมเบาะหลังยังเอนได้อีกด้วย

แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกอย่างไหน ทั้ง Accord Hybrid และ Camry Hybrid ต่างก็เป็นรถขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างยุคแห่งเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนๆ กับยุคของรถยนต์ไฟฟ้าที่ไร้ไอเสีย ด้วยการผนวกขุมพลัง 2 แบบเข้าด้วยกันเพื่อให้ประโยชน์ในด้านอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในรูปทรงกับการออกแบบที่แม้จะไม่ล้ำยุค แต่ก็ไม่ได้ทันสมัยมากจนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรารู้สึกหวั่นใจเวลานั่ง

อย่างไรก็ตาม คุณควรจะมีความเข้าใจ…อาจจะไม่ถึงกับต้องเข้าใจในเรื่องราวด้านวิศวกรรมมากมายก่ายกอง แต่แค่เข้าใจในกฎของโลกมนุษย์ว่ามันไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่มีข้อเสีย รถไฮบริดมีตัวเลขจากการทดสอบออกมาสวยงามน่าเชิดชู แต่ความซับซ้อนของระบบขับเคลื่อนนั้นจะยังไม่ออกลายให้เห็นจนกว่าเวลาจะผ่านไปนานพอ

ทั้ง 2 ค่าย ต่างก็พยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการรับประกันอายุการใช้งานแบตเตอรี่ มอเตอร์ และองค์ประกอบใหญ่ๆหลายจุดให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจ แต่ไม่มีใครหน้าไหน รวมถึงพวกเราที่ Headlightmag จะสามารถรับประกันให้คุณได้ว่าเมื่อหมดระยะรับประกันแล้วคุณยังใช้รถคันนั้นอยู่ จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการซ่อมบำรุงเท่าไหร่ จะหาอะไหล่ได้ครบทุกชิ้นหรือไม่ จะมีช่างเทคนิคที่เก่งพอจะสามารถหาอาการข้อบกพร่องเล็กๆจนเจอ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมที่ไม่จำเป็นลงได้หรือไม่

Headlightmag ไม่ใช่หมอดูครับ เราตอบคำถามแบบนั้นไม่ได้หรอก สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้คือการนำข้อมูลต่างๆในปัจจุบันมานำเสนอคุณแล้วช่วยเลือกรถที่มันมีแนวโน้มจะทำให้คุณพึงพอใจมากที่สุดต่างหาก

 

——————————-///———————————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดสอบในครั้งนี้

 


 

Teerapat Archawametheekul
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของ
ผู้เขียน และ ภาพ Presentation จาก Honda Automobile (Thailand)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
14 กรกฎาคม 2017

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
July 14th,2017

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!