พาดหัวมาแบบนี้ งงละสิ !

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม ที่เข้าใจว่า รถยนต์ซึ่งใช้เครื่องยนต์ โตๆ จะแรงกว่า เครื่องยนต์เล็กๆ

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม ที่เข้าใจว่า รถยนต์รุ่นใหม่ มักต้องมีแรงม้า เยอะกว่ารุ่นเก่า

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม ที่เข้าใจว่า รถยนต์ ECO Car ที่เน้นประหยัดน้ำมัน ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงหรอก

คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม ที่เข้าใจว่า แรงม้า คือทุกสิ่ง และทุกอย่างที่ทำให้รถยนต์มันเร็วได้

ยอมรับมาเถอะ อย่าว่าแต่คุณเลย ผมเองสมัยเด็กๆ ก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยคิดแบบนั้น!

ในอดีต คนไทยจำนวนไม่น้อย ยังคงเข้าใจว่า แรงม้าเยอะๆ ย่อมดีกว่า แรงม้าน้อยๆ ช่วยไม่ได้ครับ สมัยก่อน ผู้ผลิตรถยนต์เองนั่นแหละ ที่แข่งกันหยิบเอาประเด็นเรื่องแรงม้า มาแข่งกันประโคมโฆษณา จนหลายคนเข้าใจผิดไปไกล โดยเฉพาะในยุคที่รถกระบะแข่งขันกันดุเดือด ช่วงปี 1986 – 1990 หลายค่ายโหมกระพรือโฆษณากันหนักหน่วงมาก เพื่อบลัฟกันเอง บางทีก็ไม่สนเลยว่า แท้จริงแล้ว มันต้องมีเรื่องของน้ำหนักมาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งถ้าคำนวณออกมาเป็นแรงม้าต่อน้ำหนัก ได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ยิ่งจะทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าได้เร็วกว่าเพื่อนเขา

แต่นับจากนี้ เจ้าเปี๊ยกคันสีแดงนี่ น่าจะทำให้หลายๆคน เริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ในประเด็นดังกล่าวเสียที…รวมทั้งตัวผมเองด้วย!

หลังจากที่เราปล่อยตัวเลขผลการจับเวลาหาอัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ เจ้าเปี๊ยกคันสีแดงที่คุณเห็นอยู่นี้ ไปตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2018 เป็นพรีวิว ตัวเลขผลทดสอบ รายแรกในไทย

กระแสตอบรับ ใน Fanpage ของ Headlightmag.com ทาง Facebook ก็มีทั้ง อึ้ง ทึ่ง งง ว่าเป็นไปได้อย่างไร บ้างก็สรรเสริญ แต่บ้างก็ถึงขั้นก่นด่าว่า Suzuki เห็นคนไทยโง่ เลยต้องลดแรงม้าลงมา (ซึ่งหมอนั่นเขาก็เข้าใจผิดไปเอง)

แต่ในช่วงสุดสัปดาห์นั้น หลายๆคน ก็พุ่งเข้าไปขอทดลองขับ ณ โชว์รูมและศูนย์บริการของ Suzuki 110 แห่งทั่วประเทศ แล้วก็ได้พบความจริงแบบเดียวกับสิ่งที่เราได้เจอ

ความจริง ที่ค้านกับความเชื่อในอดีตของคนไทยจำนวนมาก…

ตอนแรก ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่า Swift ใหม่ มันจะมีแรงม้าแค่ 83 ตัว รู้แค่ว่า เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เป็นแบบ หัวฉีดคู่ Dual Jet ยังเผลอเข้าใจว่า ลดลงจาก 91 เหลือ 89 แรงม้า ด้วยซ้ำ ตอนรับกุญแจมาขับ เฮ้ย! มันพุ่งกว่ารุ่นเดิมนี่หว่า จับเวลา ก็ไวกว่ารุ่นเดิม ตั้ง 1.5 วินาที

ที่ไหนได้ พอมากางตารางสเป็ก ในแค็ตตาล็อก ผมนี่แทบช็อกเลย เฮ่ย! การจูนเครื่องยนต์ให้มลพิษต่ำพอจะพา Swift ใหม่ เข้าโครงการ ECO Car Phase 2 ของภาครัฐ ได้นี่ ถึงขั้นทำให้ ม้าที่กำลังล่องเรือมาจากญี่ปุ่น ตกทะเล จมน้ำตายไปตั้ง 8 ตัวเลยเชียวเหรอ!?

ที่บ้าไปกว่านั้นก็คือ ม้าหาย แรงบิดหายไป 10 นิวตันเมตร (แค่ 1.019 กก.-ม.) แต่รถกลับเร็วขึ้น ไวขึ้น ! ทั้งที่เกียร์อัตราทดเกียร์ก็เหมือนเดิม (ประหยัดน้ำมันขึ้นอีกต่างหาก)

นี่แค่ประเด็นเดียวนะ ยังไม่นับเรื่องการขยายพื้นที่ใช้สอยในรถให้ยาวขึ้นและกว้างขึ้นเล็กน้อย แต่เพิ่มความสบายให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารทั้ง 4 คนได้มากกว่ารุ่นเดิม ทั้งที่ตัวรถรุ่นใหม่ สั้นลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ!

Suzuki ทำได้ยังไงกัน?

อยากรู้? ลากนิ้ว เลื่อนลงมาอ่านต่อเลยสิครับ รออะไรละ!

สำหรับ Suzuki แล้ว Swift ถือเป็นรถยนต์รุ่นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่การบุกตลาดโลก ในรูปแบบ One Global Model แม้ว่าชื่อ Swift จะถูกใช้เป็นครั้งแรก กับรถยนต์นั่ง Sub-Compact Hatchback อย่าง Suzuki CULTUS เวอร์ชันส่งออกไปยังยุโรป และอเมริกาเหนือ มาตั้งแต่ปี 1984 แต่ไม่ถึงกับประสบความสำเร็จมากนัก เพราะตัวรถ เน้นขายกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ใช้งานสักคัน มองหาแค่ความคุ้มค่าคุ้มราคา บางทีอาจมีรุ่นหวือหวา อย่าง Swift GTi โผล่ในตลาดยุโรป และญี่ปุ่น บ้าง แต่ก็ไม่ได้เปรี้ยวปรี๊ดมากเท่ากับคู่แข่ง

จนกระทั่ง ช่วงต้นทศวรรษ 2000 Suzuki เริ่มมองตัวเองใหม่แล้วว่า ถ้าต้องการจะเติบโตและอยู่รอดในตลาดโลกได้ยาวๆ พวกเขาจำเป็นต้องพลิกกลยุทธ์การสร้างรถยนต์เสียใหม่ หนึ่งในแผนนั้นคือการตัดสินใจ พัฒนา B-Segment Sub-Compact Hatchback ออกมาเพื่อมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าในยุโรปเป็นหลัก

Swift “ยุคใหม่” ถูกเปิดผ้าคลุมเป็นครั้งแรก ในงาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน 2004 และเริ่มออกสู่ตลาดญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2004 แต่กว่าจะมาเปิดตัวในบ้านเรา ก็ต้องรอจนถึง งาน Motor Expo เมื่อ 1 ธันวาคม 2006 ทว่าในตอนนั้น เนื่องจากยังต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นล้วนๆ ทำให้ต้องคิดภาษีนำเข้า เต็มอัตรา ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าภาษีพิเศษ 0% AFTA เหมือนใครเขา ราคาจึงแพงไปถึงคันละ 1,500,000 บาท ต้องรอจนถึงงาน Motor Expo ธันวาคม 2009 Suzuki จึงสั่ง Swift 1.5 ลิตร จาก อินโดนีเซีย มาขาย ในราคาที่ถูกลงกว่ากันครึ่งนึง

รุ่นแรกของ Swift จากการผลิตของทั้ง 7 โรงงาน ถูกส่งไปเปิดตัวออกสู่ตลาดมากกว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเอาชนะใจผู้คนทั้งลูกค้า และบรรดาสื่อมวลชนสายรถยนต์ จนคว้ารางวัลจำพวก Car of the Year ทั้งหลายมากมายถึง 63 รางวัล ใน 19 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัล RJC Car of the Year ใน ญี่ปุ่น

พอมาถึงรุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อ 10 มิถุนายน 2010 ถึงจะขายดิบขายดีในแทบทุกประเทศ แต่เข้าเมืองไทย ล่าช้าไปหน่อย เนื่องจากคราวนี้ Suzuki ตัดสินใจ เอา Swift มาเข้าร่วมโครงการ ECO Car Phase 1 เลยต้องลงทุน 9,500 ล้านบาท สร้างโรงงานที่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง แล้วก็เปลี่ยนเครื่องยนต์ จาก 1.5 ลิตร มาเป็น 1.2 ลิตร 91 แรงม้า (PS) เปิดตัวในบ้านเราครั้งแรก เมื่อ 20 มีนาคม 2012 และสร้างปรากฎการณ์ยอดสั่งจองถึง 27,000 คัน จนอดีตประธานคนเก่าอย่าง Mr.Sugiyama ต้องบินไปญี่ปุ่น เจรจาขอเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเร่งด่วน มาแล้ว

จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขยอดขายสะสมของ Swift ทัวโลก มีมากถึงเกือบ 6 ล้านคัน กวาดรางวัลมานับไม่หวาดไหว เฉพาะแค่ในเมืองไทย ยอดขายสะสมก็สูงถึง 94,000 คัน!! ล่าสุด ในปี 2017 ที่ผ่านมา จากยอดขายของ Suzuki รวม เฉพาะ ECO Car ทั้ง 3 รุ่น 21,300 คัน Swift รุ่นเดิม ทำตัวเลขยอดขายไปได้มากถึง 8,080 คัน แม้ว่าจะลดลง แต่ก็เป็นไปตามวงจรชีวิตของรถยนต์ ในช่วงปลายอายุตลาดตามปกติ

กระนั้น ตัวเลขที่เห็น มันก็เยอะพอที่จะทำให้ Suzuki ตัดสินใจ รวมประเทศไทย เข้าเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ Swift รุ่นที่ 3 นอกเหนือจาก ญี่ปุ่น ยุโรป และ อินเดีย

Masao Kobori : Chief Engineer หรือหัวหน้าวิศวกรโครงการพัฒนา Swift ใหม่ (และรวมทั้ง Swift Sport ใหม่ด้วย) กล่าวว่า
“นับจากการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน Swift ได้รับความนิยมอย่างดี จากลูกค้ากว่า 5 ล้านคนทั่วโลก ทีมงานของเรามีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนา Swift ใหม่ในด้านต่างๆ ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก การบังคับควบคุม สมรรถนะการขับขี่ ตลอดจนความคุ้มค่า ในราคาที่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของ แนวทางในการพัฒนา รถยนต์รุ่นใหม่ “SWIFT INNOVATION – FUN & SPORTY” เรามุ่งมั่นที่จะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากนวัตกรรมโครงสร้างพื้นตัวถัง (Platform) แบบใหม่ เราพยายามจะสร้างรถยนต์ซึ่งให้ความรู้สึก “ว้าว” ในทันทีที่ผู้คนทั่วไปได้พบเห็นเพียงครั้งแรก ทันทีที่พวกเขาได้ลองเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร และทันทีที่พวกเขาได้ลองเหยียบคันเร่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เราอยากสร้างรถยนต์ที่ดู “ล้ำ” ทั้งด้านรูปลักษณ์ การใช้งาน และสมรรถภาพที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ขับขี่ ให้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึก แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”

จากผลวิจัยตลาด ในเมืองไทย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Swift ใหม่ คือผู้ที่ซื้อรถยนต์เพื่อใช้งานเป็นคันแรก มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป อายุตั้งแต่ 21-39 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานและเริ่มต้นสร้างครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอายุ 21-29 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับ งานออกแบบ ทั้งภายนอกและภายในตัวรถ เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของตนเอง คนกลุ่มนี้ ชอบรถยนต์ที่ขับสนุก ควบคุมง่าย
อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นลูกค้าทุกเพศ วัยทำงาน กลุ่มอาชีพอิสระ หรือพนักงานประจำ อายุ 30-39 ปี ซึ่งชอบรถยนต์ ที่มี งานออกแบบ บ่งบอกถึงบุคลิกและตัวตน มาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา ดังนั้น งานออกแบบ จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะชี้วัดอนาคตของ Swift ใหม่

นักออกแบบของ Suzuki เล่าถึงขั้นตอนการพัฒนา Swift ใหม่ว่า พวกเขาเริ่มต้นจากการให้ทีมออกแบบ ร่างภาพสเก็ตช์ ถึงแนวทางที่เป็นไปได้ของ Swift รุ่นต่อไป จากภาพวาดทั้งหมด 50 แบบ ทีมงานได้คัดเลือกออกมาเพียง 5 แบบ เพื่อจะนำไปพัฒนาต่อ จากนั้น ทีมออกแบบที่ Suzuki Design Studio ใน Turin ประเทศ Italy ขัดเกลางานออกแบบจนเหลือ 5 แบบ ทั้ง A B C D และ E ซึ่งในขั้นนี้ นักปั้นหุ่นจำลอง (Modeler) จะถ่ายทอดภาพวาดออกมาเป็นหุ่นดินเหนียวขนาด 1/3 เพื่อให้ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องได้เห็นมิติและสัดส่วนชัดเจนขึ้น

หุ่นดินเหนียวแบบ B C และ D เป็น 3 งานออกแบบ ที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาให้ผ่านเข้ารอบต่อไป ซึ่งเป็นการขยายสัดส่วน รถทั้ง 3 คัน ให้มีขนาด 1/1 หรือ ขนาดเท่าของจริง เพื่อ ต่อยอดนำจุดเด่นของแต่ละงานออกแบบไปปรับปรุงต่อเป็น หุ่นดินเหนียวแบบ J M และ R ซึ่งท้ายสุด แม้ว่า แบบ R จะถูกเลือก จากบุคลิกที่ดูมี Dynamic และ Sporty (ตามมุมมองของทีมญี่ปุ่น) แต่งานออกแบบด้านหน้า กับบั้นท้าย ถูกเลือกจากแบบ J ก่อนจะนำมาผสมรวมกัน แล้วก็เพิ่มแนวเส้น Floating C-Pillar ที่เคยถูกยกออกไปในช่วงทำหุ่นดินเหนียวเท่าของจริงครั้งแรก กลับคืนมาใหม่อีกครั้ง เพื่อช่วยทำให้ งานออกแบบตัวถังของ Swift เต็มไปด้วยความสดใหม่ ภายใต้ Proportion ในแบบของ Swift รุ่นดั้งเดิม ที่ทุกคนยังชื่นชอบและจดจำได้ดี

ส่วนการออกแบบภายในนั้น เริ่มจากโจทย์ที่ว่า จะหางานออกแบบให้สอดรับกับบุคลิกของ Swift รุ่นต่อไป ได้อย่างไร ทีมออกแบบภายในห้องโดยสาร นั่งร่างภาพวาดสเก็ตช์จำนวนมาก ออกมาโดยเน้นให้ความสำคัญกับ “บุคลิกความ Sport” “พื้นผิวสัมผัสของวัสดุ” “ความรู้สึกล้ำ” และ “ความสะดวกสบายในการใช้งาน” ก่อนจะถูกเลือกให้เหลือเพียง 4 แบบ คือ A C G และ H เพื่อทำภาพวาดขนาดใหญ่ แบบที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นรูปเป็นแผงหน้าปัดจำลองจากดินเหนียว ขนาด 1/1 เท่าของจริง คือแบบ G

หลังจากขึ้นรูปหุ่นจำลองแผงหน้าปัดขนาดเท่าของจริงครั้งแรก เป็นแบบ ฺBasic ทีมงานก็ได้เพิ่มรายละเอียดการตกแต่งเข้าไป และปรับปรุงงานออกแบบ ครึ่งท่อนบนของแผงหน้าปัด เป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะปรับแผงควบคุมกลางให้เป็นแบบ Floating ลอยตัวขึ้นมาจากชุดแผงหน้าปัด เล็กน้อย จนสำเร็จอย่างที่เห็น

เมื่องานออกแบบเสร็จสิ้นลง Suzuki ก็ส่งรถยนต์ต้นแบบของ Swift ใหม่ (Prototype) ออกไปขับขี่ทั้งในสนามทดสอบที่โรงงาน Sagara ในญี่ปุ่น รวมทั้งสภาพถนนจริง ทั้งในอังกฤษ เยอรมนี สเปน โดยเน้นการปรับเซ็ตช่วงล่าง และพวงมาลัย ให้เอาใจลูกค้าที่ชอบขับรถทั้งบนทางด่วน Autobahn รวมทั้ง ทางโค้งรูปแบบต่างๆ

Swift รุ่นที่ 3 ถูกเปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 27 ธันวาคม 2016 ที่ผ่านมา ก่อนวันขึ้นปีใหม่ 2017 กันแบบฉิวเฉียด ซึ่งเป็นเซอร์ไพรส์อย่างมาก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า รถใหม่จะมาเปิดตัวในช่วงไม่กี่วัน ก่อนจะหยุดปีใหม่แบบนี้ จากนั้น ก็คว้ารางวัล RJC Car of the Year ในประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2017 กลายเป็นรถยนต์เพียงรุ่นเดียว ที่เปิดตัวออกมา 3 รุ่น ก็ได้รางวัลดังกล่าว ทั้ง 3 รุ่นเลย!

หลังจากนั้นไม่นานนัก เดือนกุมภาพันธ์ 2017 เริ่มมีรถยนต์ทดสอบ พรางตัว ออกแล่นทดสอบในประเทศไทย อย่างรวดเร็ว มีคุณผู้อ่านของเราเริ่มทะยอยส่งภาพถ่าย Spyshot กันเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งช่วงครึ่งหลังของปี 2017 รถทดสอบของ Swift ก็เริ่มออกมาวิ่งถี่ขึ้น ทั้งในเมือง และ นอกเมือง โดยเฉพาะย่านบางนา-ตราด และอ่อนนุช อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Suzuki Motor Thailand

ขณะเดียวกัน Suzuki ก็ส่ง Swift ใหม่ ข้ามน้ำข้ามทะเล บินไปเปิดตัวเวอร์ชันส่งออกสู่ตลาดโลกอย่างเป็นทางการ ในงาน Geneva Auto Salon เมื่อ 8 มีนาคม 2017 ก่อนจะเริ่มทะยอยส่งไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ จากนั้น 11 กันยายน 2017 เวอร์ชันแรงสุด Swift Sport พร้อมขุมพลัง 1.4 ลิตร Turbo ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน Frankfurt Motor Show ที่เยอรมนี ก่อนจะส่งไปเปิดตลาดบ้านตัวเองในงาน Tokyo Motor Show เมื่อ 25 ตุลาคม 2017

สำหรับประเทศไทย หากนับจากวันเปิดตัวในญี่ปุ่น เราต้องรอการมาถึงของ Swift ใหม่ นานถึง 1 ปี 1 เดือน กับอีก 12 วัน กว่าที่ Suzuki Motor Thailand จะจัดงานเปิดตัว Swift ใหม่ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ GMM Live House ชั้น 8 Central World ราชประสงค์ โดยใช้บริการ ชารีล ชัปปุยส์ (Charyl Chappuis) นักฟุตบอลทีมชาติไทย และ ดาราสาว วี ไวโอเล็ต วอร์เทีย (Violet Wautier) เป็น พรีเซ็นเตอร์คู่กัน

ไม่เพียงเท่านั้น ในวันเดียวกัน Maruti Suzuki ที่ India อันเป็นอีกตลาดสำคัญของ Swift เพราะมียอดขายสะสมจนถึงปี 2017 รวมมากถึง 3,350,000 คัน! ยังจัดงานเปิดตัว Swift ใหม่ เวอร์ชัน Made in India พร้อมกับเมืองไทย โดยจะวางเครื่องยนต์ เบนซิน 1.2 ลิตร และ Diesel 1.3 ลิตร Turbo พร้อมเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ Auto Gear Shift AGS ผลิตขึ้นที่โรงงาน Suzuki Motor Gujarat Private Limited

เท่ากับว่า ณ วันนี้ Swift ใหม่ ถูกผลิตขึ้นที่โรงงาน 3 แห่ง ทั่วโลก คือ โรงงาน Sagara ที่ญี่ปุ่น , India และ โรงงาน Suzuki Motor Thailand ที่จังหวัดระยอง เพื่อป้อนตลาดลูกค้าของทั้ง 3 ประเทศ และเป็นฐานการส่งออก Swift ใหม่ไปยังตลาดทั่วโลก

Swift ใหม่ มีตัวถังยาว 3,840 มิลลิเมตร กว้าง 1,735 มิลลิเมตร สูง 1,495 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front / Rear Thread) ของรุ่น GA และ GL อยู่ที่ 1,530 มิลลิเมตร เท่ากัน ส่วนรุ่น GLX และ GLX-Navi จะอยู่ที่ 1,520 / 1,525 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 120 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 875 – 910 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย แต่ถังน้ำมันเล็กลงจาก 42 ลิตร เหลือ 37 ลิตร

เมื่อเทียบกับ Swift รุ่นเดิมที่มีขนาดตัวถังยาว 3,850 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,430 มิลลิเมตร จะพบว่า Swift ใหม่ สั้นลงกว่าเดิม 10 มิลลิเมตร และ เตี้ยลง 10 มิลลิเมตร แต่กว้างขึ้น 40 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อก็เพิ่มขึ้น 20 มิลลิเมตร แถมความกว้างช่วงล้อคู่หน้า/หลัง ยังเพิ่มขึ้นอีก 40 มิลลิเมตร ตามความกว้างตัวถังที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

รูปลักษณ์ภายนอก ทีมออกแบบ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของ Swift ยุคใหม่ อันได้แก่ “European Style’s Japanesse Sub-Compact Hatchback ลำตัวสั้น ท้ายสั้น หลังคาสูงกำลังดี กระจกหน้าตั้งชั้นพอประมาณ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ต้องเป็นสีดำเงา เส้นขอบกระจกบังลมหน้า ด้านบน ต้องลาดเทต่อเนื่องไปยังเสาหลังคาคู่หลังสุด C-Pillar และขอบหน้าต่างด้านล่าง ของบานประตูคู่หลัง ต้องเดินเส้น “J-Line” ไว้ได้อย่างครบถ้วน ชนิดที่ว่า ต่อให้คุณเอาสติกเกอร์พรางตัว Wrap เจ้าหมอนี่ไว้รอบคัน ขับไปไหนมาไหน คนที่ไม่สนใจเรื่องรถ อาจจะรู้สึกแปลกตา หรืองุนงง ว่าไอ้เจ้าของรถมันบ้าแปะสติกเกอร์รอบคันไว้ทำไม แต่คนที่พอรู้เรื่องรถยนต์บ้าง มองปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่า จะเป็นรถคันอื่นไปไม่ได้แน่ๆ นอกจาก Swift พรางตัวมา ชัวร์ป้าด!

Suzuki ได้สร้างเอกลักษณ์ของ Swift ให้ผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทย จดจำลักษณะสำคัญของตัวรถ ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม คราวนี้ ทีมออกแบบ ได้สร้างเส้นสายของตัวรถ ให้มีจุดที่น่าจดจำเพิ่มเติมอีก 8 จุด ดังนี้

1. ชุดไฟหน้า ออกแบบใหม่ รุ่น GA กับ GL เป็นแบบ Multi-Reflectorใช้หลอด Halogen แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi จะเปลี่ยนมาใช้โคมไฟ LED Projector พร้อมสวิตช์ ปรับระดับสูง-ต่ำของลำแสงได้ถึง 5 ระดับ นอกจากนี้ ไฟหรี่ ในรุ่น GA จะเป็นแบ Multi-Reflector ส่วนรุ่น GL , GLX , GLX-Navi นั้น จะเป็นหลอด LED ส่วนไฟ Daytime Running Light จะมีให้ตั้งแต่รุ่น GL เป็นแบบ LED บริเวณเปลือกกันชนหน้ารถ ส่วนรุ่น GLX กับ GLX-Navi จะฝังมาให้ในชุดโคมไฟหน้าไปเลย

2.กระจังหน้า รวมช่องติดป้ายทะเบียนหน้า และช่องรับอากาศเข้าไว้ด้วยกัน ตามสไตล์ของรถยุโรปยุคปัจจุบัน มี 2 แบบ หากเป็นรุ่น GA กับ GL จะเป็นแบบซี่นอน เรียบๆ แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi จะเปลี่ยนเป็นกระจังหน้าลายรังผึ้ง พร้อมแถบสีแดง เหนือช่องติดป้ายทะเบียนหน้า ซึ่งจุดนี้แหละคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ดูคล้ายกับ Mazda 2 บ้าง ในบางมุม

3. ไฟตัดหมอกคู่หน้า มีเฉพาะ GLX และ GLX-Navi ถูกติดตั้งลงในเบ้าพลาสติกสีดำ ที่ถูกออกแบบให้เชื่อมฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเข้าด้วยกัน ในลักษณะ เป็นฐานรองช่องกระจังหน้า แบบ 3 มิติ

4. แนวเส้นโป่งข้างเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 ที่ช่วยเพิ่มความพลิ้วไหว ให้กับรูปลักษณ์ภายนอกในภาพรวม สอดรับกับเส้นสายแข็งๆ ของกระจกหน้าต่างรอบคัน

5. เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และขอบประตูตรงกลาง ยังคงตกแต่งด้วยสติกเกอร์สีดำ เหมือนรุ่นเดิม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ Swift ไปแล้ว ทั้งที่จริงๆแล้ว งานออกแบบจุดนี้ ได้แรงบันดาลใจจาก 2 รถสปอร์ตรุ่นดังจากยุค 1970 ตอนปลาย ทั้ง Lancia Stratos และ Mazda Savanna RX-7 รุ่นแรก (1978) แต่เมื่อมาอยู่ใน Swift ก็ช่วยทำให้ตัวรถดูคล้ายกับหมวกกันน็อกติดล้อ เสริมความดุดันขึ้นได้ไม่น้อยเลย

6. Floating C-Pillar Design : เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ถูกออกแบบใหม่ ให้ดูร่วมยุคสมัย โดยการใช้สีดำ แบ่งเสาหลังคาออกเป็นท่อนบนกับท่อนล่าง เพื่อช่วยให้ แผ่นหลังคา ดูลอยตัวขึ้นมาจากโครงสร้างตัวรถในภาพรวม

7. ไหนๆก็ใช้สีดำ แบ่งเสา C-Pillar ออกจากกันเป็นท่อนบนและท่อนล่างแล้ว ทีมออกแบบ ก็เลยย้ายมือจับเปิดประตูคู่หลัง ไปไว้ในแนวตั้ง ด้านบนเสียเลย

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่รู้เรื่องรถ อย่างคุณแม่ของผม มีเหตุให้ต้องมาเจอ Swfit ใหม่ครั้งแรก ในเช้าวันที่ผมต้องไปส่งขึ้นรถไฟฟ้า BTS ก็อาจจะเหวอๆหน่อย เพราะเมื่อปิดประตูบ้านแล้ว กำลังจะเดินขึ้นรถ นางจะเอื้อมดึงมือจับเปิดประตู แล้วพบว่า มันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับรถทั่วไป คุณแม่ผมตกใจ แล้วก็ถามหามือเปิดประตู ท่ามกลางเสียงหัวเราะของพ่อ และผม…

8. ชุดไฟท้าย ของทุกรุ่นย่อย เป็นแบบ LED ดีไซน์ชวนให้นึกถึงไฟท้ายของ Mercedes-Benz A-Class รุ่นที่เพิ่งตกรุ่นไปหมาดๆ มาพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ใบปัดน้ำฝนหลังพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก ส่วนไล่ฝ้า จะมีเฉพาะ GLX กับ GLX-Navi เท่านั้น ขอบหลังคาด้านบนสุดของฝาท้าย ออกแบบให้ดูคล้ายกับเป็นลิ้นสปอยเลอร์ (ตูดเป็ด) ไปในตัว

รายละเอียดการตกแต่งอื่นๆ มีทั้ง มือจับประตู สีเดียวกับตัวรถทุกรุ่น (ยกเว้น GA ที่เป็นสีดำด้าน) กระจกมองข้างของทุกรุ่น พ่นสีเดียวกับตัวรถ แต่ปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ในรุ่น GL , GLX กับ GLX-Navi แต่ถ้าต้องการพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า รวมทั้งเพิ่มไฟเลี้ยวในตัว ก็ต้องเป็นรุ่น GLX กับ GLX-Navi เท่านั้น

ระบบกลอนประตู ทุกรุ่นย่อย มาพร้อมระบบถอดรหัสกันขโมย Immobilizer โดยรุ่น GA เป็นกุญแจธรรมดา หน้าตาบ้านๆ ส่วนรุ่น GL จะยกระดับขึ้นมาเป็น กุญแจแบบมี สวิตช์ Central Lock ฝังในตัว สั่งปลดหรือล็อก ได้จากหัวกุญแจ ทั้ง 2 รุ่น ยังต้องใช้วิธีติดเครื่องยนต์ด้วยการเสียบกุญแจเข้าไปในรูสวิตช์ที่คอพวงมาลัย ฝั่งขวา แล้วบิดสตาร์ท อยู่เลย

แต่รุ่น GLX และ GLX-Navi จะเปลี่ยนไปใช้ปุ่มติดเครื่องยนต์ Push Start พร้อมกุญแจแบบ Remote Control แบบ Keyless Entry ซึ่งมีหน้าตา เล็กลงกว่ารุ่นเดิมชัดเจนมาก จนผมเคยพยายามค้นหา ตอนมันหายไปในตะกร้ากองเสื้อผ้าเตรียมรอซักที่บ้าน ยังแทบจะหาไม่เจอ!

หลักการทำงานก็เหมือนกับรถรุ่นเดิม ถ้ากดปุ่มปลดล็อคที่กุญแจ 1 ครั้ง ประตูจะถูกปลดล็อคเฉพาะบานคนขับ และหากกดซ้ำอีกครั้งติดๆกัน คือการสั่งประตูอีก 3 บานที่หลือจะถูกปลดล็อคตามมา หากไม่ต้องการควานหากุญแจในกระเป๋า ก็แค่เดินเข้าไปใกล้รถในระยะ 80 ซ.ม. แล้วกดปุ่มสีดำบนมือจับเพื่อปลดล็อคก็ได้ กด 1 ครั้ง แต่จะปลดล็อคเฉพาะบานที่กด (เฉพาะคู่หน้า) ถ้ากดปุ่มสีดำ 2 ครั้งจะปลดล็อคประตูบานที่เหลืออยู่

รีโมท มีระยะรัศมีทำงานไกล 5 เมตร ถ้าหลังปลดล็อกด้วยวิธีการใดก็ตาม ภายใน 30 วินาที แล้ว คุณยังไม่เปิดประตูรถ ระบบจะสั่งล็อกเองอัตโนมัติอีกครั้งทันที นอกจากนี้ รุ่น GL , GLX , GLX-Navi ยังมีสัญญาณกันโขมย มาให้จากโรงงานอีกด้วย

การเข้า – ออกจาก บานประตูคู่หน้า ทำได้ดีเหมือนรุ่นเดิม เพียงแต่ดูเหมือนว่า บานประตูจะเปิดกางออกได้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อย เป็น 80 องศา การออกแบบจัดวางตำแหน่งเบาะนั่งให้สูงในระดับเหมาะสม โดยลดความสูงลงจากเดิม 20 มิลลิเมตร (วัดจากตำแหน่ง Hip-point หรือ บั้นเอว จนถึงพื้นถนน) ช่วยให้การลุกเข้า – ออกจากรถ ทำได้สบายขึ้นทำให้การหย่อนก้นลงไปนั่งบนเบาะ ทำได้สบายๆ ไม่ยากเย็น และแทบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆทั้งสิ้น

ภายในห้องโดยสารยังคงตกแต่งด้วยโทนสีดำ เช่นเดียวกับรุ่นเดิม ชิ้นส่วนที่ทำจากพลาสติก อย่างแผงประตู และชุดแผงหน้าปัด (Dashboard) ยังคงขึ้นรูปด้วยพลาสติก HDPE เหมือนกับ Swift รุ่นแรกและรุ่นที่แล้ว ด้านข้างพนักวางแขน บุด้วยผ้าลายสาก แบบรถยุโรปทั่วไป แต่เสริมฟองน้ำแผ่นบางด้านใน ทั้งบริเวณผนังด้านข้าง และบริเวณพนักวางข้อศอก ถือว่าดีขึ้นจากรุ่นเดิมในจุดนี้ การวางแขน ยังทำได้สบายตั้งแต่ข้อศอกจรดปลายนิ้วมือ มีช่องใส่เอกสาร และขวดน้ำขนาด 7 บาท มาให้ตามมาตรฐาน มือจับเปิดประตูรถจากด้านในเป็นแบบ พลาสติก แต่รุ่น GLX และ GLX-Navi จะชุบโครเมียมมาให้ ทั้ง 4 ตำแหน่ง

เบาะนั่งคู่หน้า ถูกออกแบบขึ้นใหม่ บนพื้นฐานจากเบาะนั่งของ Swift รุ่นเดิม ฟองน้ำยังคงมาในสไตล์ “นุ่มออกนิ่ม” เหมือน Suzuki หลายๆรุ่น ทั้ง Swift รุ่นเดิม Ciaz และ Ertiga ทุกรุ่นมี คันโยกปรับเอนพนักพิงหลัง และคันโยกเลื่อนเบาะขึ้นหน้า – ถอยหลัง (ระยะเลื่อนจากหน้าสุด – หลังสุด มากถึง 240 มิลลิเมตร)

หากเป็นรุ่น GA เบาะนั่งคู่หน้าจะเป็นแบบมีพนักพิงและพนักศีรษะ รวมอยู่ในชุดเดียวกัน (ให้คุณลองนึกถึงเบาะนั่งของ Celerio ดูครับ แบบนั้นแหละ) ไม่มีก้านโยกปรับระดับสูง – ต่ำ ใดๆทั้งสิ้น

ส่วนรุ่นที่เหลือทั้ง GL,GLX,GLX-Navi พนักศีรษะจะเป็นแบบ แยกถอดยกขึ้นปรับระดับสูง – ต่ำได้ และเฉพาะเบาะคนขับ จะมีก้านโยกปรับระดับสูง – ต่ำ เพิ่มมาให้ ตัวพนักศีรษะถูกออกแบบให้ยื่นเข้าไปใกล้กับหัวของผู้ขับขี่มากขึ้น แต่กลับแทบจะไม่ดันศีรษะเลย แถมฟองน้ำก็ยังรักษามาตรฐานของ Suzuki เอาไว้อย่างดี คือ นิ่มมาก สบายหัวทุกครั้งที่พิง

พนักพิงหลัง ออกแบบใหม่ราวกับได้แรงบันดาลใจจาก เบาะรถแข่งบางรุ่นของ RECARO เสียด้วยซ้ำ นอกจากจะรองรับแผ่นหลังทั้งหมด โดยเฉพาะช่วงหัวไหล่ได้ดีขึ้นแล้ว ยังมีปีกข้างที่เสริมเข้ามาซัพพอร์ตช่วงบั้นเอว พอสมควร แต่เวลาเข้าโค้ง ปีกเบาะก็ไม่ได้ช่วยรั้งตัวคนขับไว้บนเบาะเท่าไหร่ เพราะตัวโฟม Recycle ที่ฉีดขึ้นรูปเป็นโครงเบาะนั้น ค่อนข้างนิ่ม

เบาะรองนั่ง ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีความยาวเหมาะสมแล้ว ไม่ยาวไม่สั้นเกินไป แต่การออกแบบเสริมปีกข้างให้สูงขึ้นมานิดๆ ในสไตล์เบาะรถแข่ง ถึงจะช่วยให้ดูสปอร์ตขึ้น แต่การใช้โฟมที่นุ่ม ทำให้ปีกข้างยืดหยุ่นดีเวลาลุกเข้า – ออกจากเบาะ ทว่า แอบน่าเป็นห่วงในการใช้งานยาวๆ เกรงว่า โครงเบาะอาจจะคืนรูปได้ไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายๆปี

เข็มขัดนิรภัย สำหรับเบาะคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ทั้ง 2 ฝั่ง มาพร้อมระบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ (Pre-tensioners & Force Limiter) ถ้าไม่คาดเข็มขัด จะมีสัญญาณไฟกระพริบบนมาตรวัด พร้อมเสียงร้องเตือนดังเอาเรื่อง

ช่องทางเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง แอบยาวขึ้นกว่าเดิมแค่ “กระจึ๋งเดียว” ยังคงมีขนาดเล็ก และสั้น ทำให้การเข้า – ออก จากประตูคู่หลัง แทบไม่แตกต่างจากรุ่นเดิม ตอนเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง ศีรษะของผม ยังคงเฉียดกับขอบทางเข้าด้านบนอยู่ ถ้าไม่ก้มหัวช่วยอีกนิด หัวของผมคงจะโขกกับขอบหลังคาด้านบนไปแล้วเหมือนรุ่นเดิมอยู่ดี

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบสอดคล้องกับแผงประตูคู่หน้า พนักวางแขนถูกปรับปรุงใหม่ ให้สามารถวางท่อนแขนได้ถูกตำแหน่งพอดี เสียที แต่ขนาดของมัน เล็กไปหน่อย ส่วนหน้าต่าง สามารถเลื่อนลงมาสุดขอบล่างของแผงประตู ได้จนเกือบหมดบาน ยังมีขอบกระจกด้านบนโผล่มานิดนึง

กระนั้น สิ่งที่แย่ลงก็คือ แผงด้านข้าง ไม่ได้ตกแต่งด้วยผ้าบุฟองน้ำ มาให้เหมือนแผงประตูคู่หน้า กลับกลายเป็นเพียงแผงพลาสติกขึ้นรูปธรรมดา ราวกับว่า ไม่ให้ความสำคัญกับผู้โดยสารด้านหลังมากเพียงพอ ขณะที่ ช่องวางขวดน้ำ ลดจำนวนลงเหลือเพียงช่องเดียว มีขนาดเล็กลง พอให้วางได้แค่กระป๋องน้ำอัดลมขนาดเล็ก หรือน้ำดื่มขวดละ 7 บาท เพียงขวดเดียว เท่านั้น

อีกเรื่องที่ต้องตำหนิ ก็คือ มือจับบนเพดาน Assist Grip หรือที่เราชอบเรียกว่า “ศาสดา” (ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจขณะคนขับกำลังซิ่ง) มีมาให้เหนือช่องประตู 3 ตำแหน่ง ในรุ่น GLX และ GLX-Navi แต่พอเป็นรุ่น GA กับ GL มือจับคู่หลังถูกถอดออก เหลือไว้แค่ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าซ้ายจุดเดียวเท่านั้น (ทั้งที่มันควรจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ในรุ่น GL ทั้ง 3 ตำแหน่ง)

ผลจากการขยายระยะฐานล้อเพิ่มขึ้นอีก 20 มิลลิเมตร และลดความสูงตำแหน่งเบาะรองนั่ง ลงจากเดิมอีก 45 มิลลิเมตร (วัดจาก Hip-point หรือบั้นเอว จนถึงพื้นถนน) ทำให้ พื้นที่โดยสารด้านหลังของ Swift ใหม่ โอ่โถงมากขึ้นกว่า ทุกรุ่นที่ผ่านมา

เบาะนั่งแถวหลัง ถือว่านั่งได้สบายกว่าที่คิด พนักพิงหลัง ถูกเพิ่มความกว้างขึ้นจากเดิม 1,205 มิลลิเมตร เป็น 1,227 มิลลิเมตร Suzuki ยืนยันว่า กว้างที่สุดในบรรดา ECO Car ตัวถัง Hatchback ทุกรุ่น อีกทั้งยังปรับมุมเอนให้เพิ่มขึ้นจาก 22 องศา ในรุ่นเดิม เพิ่มเป็น 26 องศา ช่วยเพิ่มความสบายเวลาพิงหลังมากขึ้นจากรุ่นเดิมอย่างชัดเจน

กระนั้น รูปทรงของพนักพิงหลัง ยังคงคล้ายรุ่นเดิม คือ แบนราบ ไม่มีลูกเล่น เว้านูน เพื่อซัพพอร์ตร่าง ขณะเดินทาง ไม่ให้ เอียงกะเท่เร่ ขณะเข้าโค้งแต่อย่างใด กระนั้น ฟองน้ำที่หุ้มโครงเบาะ กับเบาะรองนั่ง ก็หนาและนุ่มหนึบ ใช้การได้

เบาะรองนั่งเหมือนจะสั้น แต่ถ้านั่งให้เต็มก้นแล้วจะพบว่า มันก็ไม่ได้สั้นจนน่าเกลียด มีการออกแบบให้ขอบเบาะ เว้าเข้ามา เพื่อให้ก้าวขาเข้าและออกจากรถสะดวกขึ้น แต่โฟมข้างในค่อนข้างนิ่ม และบาง มีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้บนเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง

พนักศีรษะ รูปตัว L คว่ำ ที่ผมเคยตำหนิ ถูกปรับปรุงให้มีขนาดเล็กลงนิดหน่อย และบางลงกว่าเดิมนิดนึง กระนั้น มันยังก่อความรำคาญให้ผมอยู่ดี ในกรณีที่ไม่ได้ยกขึ้นมาใช้งาน คราวนี้ ตัวพนักศีรษะจะดันช่วงกลางแผ่นหลังของผมไปเลย พอยกขึ้นใช้งานแล้ว มันก็ยังคงมีความแน่น ติดนุ่มแบบปลายนวม รองรับหัวของผม ได้สบายในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขอบล่างสุด ก็ยังจะอยู่ในตำแหน่งพอดีกับต้นคอของผม หมายความว่า ถ้าผมนั่งบนเบาะหลัง แล้วมีใครสักคนเบรกแรงๆ หัวผม อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ต้นคอน่าจะถูกเหวี่ยงไปปะทะกับขอบล่างของพนักศีรษะนี่ จนอาจบาดเจ็บได้แน่ๆ

พื้นที่เหนือศีรษะ เป็นอีกประเด็นที่มีการปรับปรุงในรถรุ่นใหม่ จากเดิม คนตัวสูง 171 เซ็นติเมตรอย่างผม นั่งแล้วเส้นผมเฉี่ยวกับเพดานหลังคา ส่วนคนตัวสูงอย่างตาแพน ถึงขั้นต้องนั่งเอียงหัวเอียงคอบนเบาะหลัง แต่ Swift ใหม่ ถูกแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว พื้นที่เหนือศีรษะ นั้น สามารถวัดได้จาก จุด Hip-Point หรือตำแหน่งต่ำสุดของเบาะรองนั่ง ขึ้นไปชนเพดาน ได้ 933 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากรถรุ่นเดิม (907 มิลลิเมตร) ถึง 26 มิลลิเมตร คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผม เมื่อขึ้นไปนั่งแล้วเอาก้นชิดเบาะหลังพอดี จะมีพื้นที่เหนือศีรษะเหลืออยู่ 4 นิ้วมือคน เสียบเข้าไปในแนวนอนระหว่างศีรษะกับเพดานหลังคา ถือว่าดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม

พื้นที่วางขา (Leg room) ถูกเพิ่มขึ้นจากรถรุ่นเดิมอย่างชัดเจนมากๆ ต่อให้ผม ลองปรับตำแหน่งเบาะคนขับ ให้เหมาะสมกับตัวเองแล้ว ลองย้ายก้นมานั่งด้านหลังดู พบว่า ยังมีพื้นที่วางขาเหลือให้ผมนั่งไขว่ห้าง (โดยไม่ใส่รองเท้า) ได้สบายๆ เลยละ!

เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะคู่หลัง ยังคงมีทั้งแบบ ELR 3 จุด ทั้งฝั่งซ้าย กับ ขวา และ แบบคาดเอว 2 จุด ที่ตำแหน่งนั่งตรงกลาง และมีมือจับยึดเหนี่ยว (หรือ “ศาสดา” สำหรับให้ผู้โดยสารใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะที่คนขับกำลังซิ่งอยู่) มาให้ด้วย ทั้งฝั่งซ้าย และขวา

นอกจากนี้ เบาะแถวหลัง ยังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ ด้านหลัง คราวนี้ ทีมออกแบบ ปรับปรุงกลไกการปลดล็อกพนักพิงเบาะหลัง โดยเปลี่ยนจากห่วงเชือกสีดำ ราคาถูกๆ มาเป็นมือจับแบบกดปลดล็อก ติดตั้งบนบ่าพนักพิงทั้ง 2 ฝั่ง แบบเดียวกับรถยุโรปรุ่นใหม่ๆหลายๆรุ่นเสียที!! ใช้งานสะดวก ง่ายดาย และดูแข็งแรงทนทาน ไม่ดูด้อยราคา เหมือนอย่างรุ่นก่อนอีกต่อไป!

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ใช้ช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น ค้ำยัน มีแผงบังสัมภาระด้านหลัง พร้อมขอเกี่ยวเชือก เพื่อดึงฝาบังสัมภาระ ยกขึ้นพร้อมกับฝาท้าย มาให้แล้ว รุ่น GLX และ GLX-Navi เปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า พร้อมสวิตช์ล็อกฝาท้ายมาให้ในตัว รวมทั้งยังมีมือจับสำหรับปิดฝาท้าย มาให้ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความยาว เฉพาะพื้น จรดขอบล่างของเบาะหลัง 675 มิลลิเมตร แต่ถ้าพับเบาะแล้ว ความยาวจากพื้นส่วนบั้นท้ายรถ จะยาวถึงด้านบนขอพนักพิงเบาะหลัง อยู่ที่ 1,450 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นห้องเก็บของถึงเพดานหลังคา 870 มิลลิเมตร ผนังห้องเก็บของ จากฝั่งซ้าย จรดฝั่งขวา 985 มิลลิเมตร เพิ่มขนาดขึ้น 54 ลิตร จากเดิม 211 เป็น 265 ลิตร เมื่อยังไม่พับเบาะหลัง หรือเพิ่มขึ้น 20% ส่วนหนึ่ง ก็ยังคงมาจากการไม่แถมยางอะไหล่มาให้ มีเพียงชุดปะยางพร้อมปั้มลมอัตโนมัติ และแม่แรงเหมือน Swift และ Ciaz รุ่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อบั้นท้ายรถถูกออกแบบมาให้สั้นกุด เป็นเอกลักษณ์เหมือนกับ Swift รุ่นก่อนๆ ดังนั้น อย่าคาดหวังเรื่องพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง เพราะยังไงๆ ประเด็นนี้ แม้ว่า ห้องเก็บของด้านหลังของ Swift ใหม่ จะเอาชนะ Mazda 2 ได้สำเร็จ แต่คู่แข่งทั้ง Toyota Yaris หรือ Nissan Note ก็ยังมีการจัดวางพื้นที่ได้ดีกว่า แบกของได้เยอะกว่า อยู่ดี เนื่องจากบั้นท้ายแอบยาวกว่านิดหน่อย

ไฟส่องสว่างในห้องเก็บของด้านหลัง ติดตั้งมาให้ในรุ่น GL , GLX และ GLX-Navi ซึ่งก็มีขนาดเล็ก ดังนั้น แสงก็สว่างในระดับเดียวกับ “เทียนเล็กๆ 1 เล่ม บนเค้กวันเกิด”

แผงหน้าปัด ถูกออกแบบขึ้นใหม่ แบบ 2 ชั้น ดูสปอร์ตขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม จุดเด่นอยู่ที่ ช่องแอร์คู่กลาง เปลี่ยนมาเป็นแบบวงกลม เหมือน ช่องแอร์ รถเมล์ ปอ. ของ ขสมก. และบรรดารถสปอร์ตทั่วๆไป มีคิ้วแต่งแผงคอนโซลหน้า แผงประตูหน้า และฐานรองเกียร์ เป็นแถบพลาสติกสีขาว กัดลาย เพื่อเพิ่มความแปลกตา (ถ้าไม่ชอบ ก็มี Option เป็นสีแดงให้เลือกสั่งซื้อเป็นอุปกรณ์ Accessory) การออกแบบแผงควบคุมกลาง ให้เอนเข้าหาผู้ขับขี่ มากขึ้น เพื่อช่วยให้การควบคุมเครื่องเสียง และเครื่องปรับอากาศ ขณะขับขี่ ทำได้ง่ายดายขึ้น อีกนิด แต่ยังไงๆ ก็ยังแอบต้องละสายตาจากถนนอยู่ดี

มองไปด้านบน เพดานหลังคา ใช้วัสดุ Recycle สีเทาสว่าง มีแผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง ครบทุกรุ่น แต่ มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาปิดพับ แบบมีช่องเสียบนามบัตรและเอกสารเล็กๆในตัว มาให้ในรุ่น GL , GLX และ GLX-Navi ส่วนกระจกมองหลัง เป็นแบบสีเทา มีก้านยกตัดแสงจากไฟหน้ารถคันข้างหลังมาให้ตามปกติ

สิ่งที่ต้องขอตำหนิกันตรงๆก็คือ Suzuki “งก”ไฟในเก๋ง เหลือเกิน จะงกทำไมนักหนา? ให้มาแค่ ไฟอ่านแผนที่ตรงกลาง เหนือกระจกมองหลัง เพียงตำแหน่งเดียว แยกฝั่งเปิดซ้าย-ขวา ก็ไม่ได้ด้วยนะ ส่วนไฟตรงกลางเพดานหลังคา กลับหายตัวไปอย่างไร้วี่แววและข่าวคราวใดๆ ทั้งสิ้น ตอนกลางคืนนี่ จะหาเศษเหรียญที่ตกบนพื้นที่วางขาด้านหลัง ถึงขั้นหาเกือบไม่เจอ มืดได้อีก

จากขวา ไปซ้าย

สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เฉพาะรุ่น GA จะมีมาให้เพียงแค่ คู่หน้า เท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นทั้ง GL, GLX และ GLX Navi มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน กระนั้น เรื่องที่น่าด่ามากๆ คือ หน้าต่างฝั่งคนขับ ของทั้ง 4 รุ่นย่อย (รวม GA) สามารถกดเลื่อนลงได้แบบ Auto Down เพียงอย่างเดียว ถ้าจะรับบัตรเข้าจอดในห้างสรรพสินค้า คุณจำเป็นต้องเอานิ้วเกี่ยวสวิตช์หน้าต่างไฟฟ้าขึ้นเอง ไม่ต่างจากรุ่นเดิม!

หลายๆค่าย เคยใช้วิธีตัดออพชัน ลดต้นทุน แบบนี้ มาแล้วในอดีต เพราะฟิวส์ระบบป้องกันโดนหน้าต่างหนีบ Jam Protection ถึงมันจะมีราคาไม่กี่บาท ในสายตาผู้บริโภค แต่มุมมองของบริษัทรถยนต์ กลับคิดว่า มันสามารถตัดออกไปได้ ซึ่งจริงๆแล้ว รถยนต์สมัยปี 2018 อย่างนี้ ไม่สมควรเอาอุปกรณ์นี้ ออกไปหรือเปล่า?

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาของชุดมาตรวัด มีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start ถัดลงไปเป็น สวิตช์ เปิด-ปิดระบบ ESP/TCS สวิตช์เปิด-ปิด ระบบติดและดับเครื่องยนต์อัตโนมัติขณะจอดติดไฟแดง Auto Start Stop และสวิตช์ควบคุมระดับความสูง – ต่ำของชุดไฟหน้า ใต้สุดเป็นคันโยกเปิดฝากระโปรงหน้า ส่วนก้านโยกเปิดฝาถังน้ำมัน ติดตั้งอยู่ที่ฐานเบาะคนขับ แบบรถญี่ปุ่นยุคโบราณ (ทั้งที่ Ciaz เป็นแบบกดปุ่มแล้ว)

พวงมาลัยออกแบบใหม่ เป็นทรง D-Cut หรือตัดขอบด้านล่างให้ตรงไปเลย เพื่อลดปัญหาขอบพวงมาลัยติดพุงคนอ้วน อีกทั้งยังเป็นสไตล์ของพวงมาลัยที่พบได้ในรถสปอร์ตและรถแข่ง ส่วนเมืองไทย หาพวงมาลัยทรงนี้ได้ใน Audi หลายๆรุ่น Nissan Note และ GT-R 2017 !!

วงพวงมาลัย ของรุ่น GA กับ GL ทำจากยูรีเทน แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi หุ้มด้วยหนังคุณภาพดี Grip มีขนาดใหญ่กำลังดี จับถนัดมือ และ สามารถ ปรับระดับสูง – ต่ำได้ รวมระยะ สูงสุด-ต่ำสุด 40 มิลลิเมตร ครบทั้ง 4 รุ่นย่อย แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi จะเพิ่มการปรับระยะใกล้-ห่างจากลำตัวผู้ขับขี่ (Telescopic) ได้ ในระยะใกล้สุด และห่างสุดรวม 36 มิลลิเมตร แถมยังมีปุ่มควบคุมการใช้โทรศัพท์ มาให้ที่ด้านข้างแป้นแตรฝั่งซ้ายเป็นพิเศษ

รุ่น GL , GLX กับ GLX-Navi จะมี แผงสวิตช์ควบคุมเครื่องเสียง ที่ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi จะเพิ่มสวิตช์ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ติดตั้ง บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา (แอบเสียดายว่า ไม่มีระบบ Adaptive Cruise Control มาให้เหมือนในเวอร์ชันญี่ปุ่น) การใช้งาน เลื่อนลงไปอ่านได้ในย่อหน้า “การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย”

ก้านสวิตช์ฝั่งขวาบนคอพวงมาลัย ใช้ควบคุม ชุดไฟหน้า ทั้งไฟหรี่ ไฟปกติ ไฟสูง ไฟเลี้ยว ไฟสูงกระพริบ ไฟตัดหมอกคู่หน้า (ในรุ่น GLX , GLX-Navi) ตามปกติ

ก้านสวิตช์ฝั่งซ้ายบนคอพวงมาลัย ยังคงใช้ควบคุมใบปัดน้ำฝน แบบหน่วงเวลา 2 จังหวะ พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก ทุกรุ่นย่อย แต่ระบบปรับตั้งเวลา Intermittent จะมีในทุกรุ่นย่อย ยกเว้น GA นอกจากนี้ สวิตช์แบบหมุน บริเวณหัวก้าน ใช้คุมใบปัดน้ำฝนพร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจกหลัง หน่วงเวลา 1 จังหวะ ซึ่งมีมาให้ทุกรุ่น แต่รุ่น GA จะไม่มีระบบปรับตั้งเวลาได้

ชุดมาตรวัดถูกออกแบบให้เป็น 2 วงกลม คั่นกลางด้วยไฟสัญญาณเตือนต่างๆ และหน้าจอแสดงข้อมูล วาง Layout ตัวเลขให้อ่านง่าย แม้ในยามค่ำคืน เรืองแสงด้วยสีขาว พื้นดำ กรอบหลักสีเงิน พร้อมแถบวงแหวนสีแดง ช่วยเพิ่มบุคลิกให้ดูเป็น Premium Sport Compact Car มากขึ้น

ในรุ่น GLX กับ GLX-Navi มีมาตรวัดอุณหภูมิหม้อน้ำ อยู่บนมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ฝั่งซ้าย และมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง แยกมาอยูู่บนมาตรวัดความเร็วฝั่งขวา ขณะที่ รุ่นปกติ ทั้ง GA และ GL ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิหม้อน้ำ และ มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนไปอยู่ด้านล่างของจอ MID ส่วนชุดมาตรวัด สามารถปรับความสว่างของหน้าจอมาตรวัด และ จอชุดเครื่องเสียงพร้อมกันได้ จากก้านสวิตช์แบบกระดิกหมุน ที่มุมขวาล่างของมาตรวัดความเร็ว

ส่วนตรงกลาง เป็นจอแสดงข้อมูล Multi Information Diaplay (MID) ทุกรุ่น จะแสดงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบปัจจุบัน (Real-Time) และแบบเฉลี่ย รวมทั้งแสดงระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือพอให้แล่นได้ (Driving Range) แสดงตำแหน่งเกียร์ นาฬิกา มาตรวัดระยะทางทั้งแบบ Odometer และ Trip Meter A กับ B (กดเพื่อตั้งค่า ที่ก้านสวิตช์มุมซ้ายล่างของมาตรวัดรอบ) ส่วนรุ่น GLX และ GLX-Navi จะเพิ่มจอแสดงความเร็วเฉลี่ย และมาตรวัดอุณหภูมิภายนอกรถเพิ่มมาให้

จากซ้าย ไปขวา

กล่องเก็บของ Glove compartment ฝั่งซ้าย มีขนาดเท่ากับรถรุ่นเดิม ไม่เล็กไม่ใหญ่นัก พอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกันคุณภาพ และเอกสารประกันภัย ซึ่งทั้ง 3 รายการ ก็กินพื้นที่ไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือ ก็พอจะใส่เอกสารและข้าวของจกจิกได้อีกนิดหน่อย

รุ่น GLX Navi จะถูกติดตั้ง เครื่องเสียงพร้อมหน้าจอ Touch Screen ขนาด 7 นิ้วจาก BOSCH ยกชุดมาจาก Ciaz RS ประกอบไปด้วย วิทยุ AM-FM / CD / MP3 / WMA พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System และรองรับระบบ Apple Car Play มาให้จากโรงงาน ส่วนแถบด้านข้างจอ เป็นแบบสัมผัส ใช้นิ้วแตะเบาๆ ที่แถบฝั่งซ้าย ก็สามารถลากเพื่อเพิ่ม หรือลดระดับความดังเสียง Volume ได้แล้ว ล้อมกรอบรอบข้างด้วยแผง Trim พลาสติกสีดำเงา Piano Black ตามสมัยนิยม

ฝั่งขวาของหน้าจอนั้น มีให้เลือกกด 3 ปุ่ม บนสุด คือรูปบ้าน หรือ Home กดเมื่อคิดไม่ออก บอกไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน กลับไปตั้งหลักใหม่ที่หน้าจอหลัก Main Menu แบ่งเปน 4 ช่อง Interface ใช้งานง่ายดาย เลือกได้ทันทีว่าจะเข้าไปใช้งานในโหมด เครื่องเสียง มุมซ้ายบน ระบบนำทาง มุมซ้ายล่าง หรือจะไปโทรศัพท์ ก็เลือกได้ ทางมุมบนขวา ถ้าเลือกการเชื่อมต่อ Smart Phone ไปดูมุมซ้ายล่าง ถ้าใครรู้สึกว่านั่นง่ายไป ก็กดปุ่มตรงกลางหน้าจอ เพื่อให้ขึ้นเมนูต่างๆมาให้อย่างรวดเร็ว เป็นรูปวงกลมแบบ ถาดออร์เดิร์ฟเย็น ตามโตีะจีนในงานแต่งงาน! กดเลือกง่ายไปอีกแบบ

คุณภาพเสียง ถือว่า ค่อนข้างดีในระดับต้นๆของกลุ่ม ECO Car เช่นเดียวกับวิทยุของรุ่น GL แต่เพื่อให้ได้เสียงที่กระจ่างใส ดุจผิวนางแบบโฆษณาครีมหน้าเด้งตาม Social Media ขอแนะนำว่า ปรับเสียงใส (Trebal ) ที่เบอร์ 8 หรือ 9 ไปเลย ส่วนเสียงเบส หรืเสียงทุ้ม สำหรับกลอง นั้น ปรับไว้ที่ ไม่ควรเกินเบอร์ 6 และควรเซ็ต Equalizer เป็นโหมด Rock เอาไว้ จะได้ค่ากลางสำหรับฟังเพลงได้ไพเราะเกือบทุกประเภทดนตรี โดยไม่ต้องไปปรับอะไรอีกในขณะขับขี่ (เพราะการล้วงเข้าเมนูปรับระดับเสียง ก็ยากเหมือนกัน)

เครื่องปรับอากาศ ในรุ่น GA กับ GL เป็นสวิตช์มือหมุนขั้นพื้นฐานธรรมดาทั่วไป น้ำหนักสวิตช์อยู่ในเกณฑ์แน่นหนาดี แต่รุ่น GLX กับ GLX-Navi จะมาพร้อมเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ (แอร์ Auto) ถึงจะแยกฝั่งซ้าย-ขวาไม่ได้ (และมันก็ไม่จำเป็นสำหรับรถยนต์ระดับนี้ด้วย) แต่ให้ความเย็นสบาย ถ้าคุณปรับอุณหภูมิลงมาแถวๆ ต่ำกว่า 23.5 องศาเซลเซียส ลงไป ที่สำคัญก็คือ มี Heater ฝังมาให้จากโรงงานด้วย! สำหรับใช้งานในช่วงที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีอากาศหนาวจัด สวิตช์ฝั่งซ้าย หมุนเปิดพัดลม หน้าจอตรงกลาง แสดงตัวเลขอุณหภูมิและระดับแรงลม รวมทั้ง ฟังก์ชันต่างๆ ที่ใช้งานอยู่ สวิตช์ฝั่งขวา ไว้ปรับอุณหภูมิ (เร่งหรือลดน้ำยาแอร์)

ถัดลงไป จะเป็นพื้นที่วางโทรศัพท์มือถือ มีช่องเสียบ USB / AUX กับปลั๊กไฟ 12V มาให้ พร้อมช่องวางแก้ว ที่สามารถวางได้แค่ขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท 2 ขวด ยกมาจาก Swift รุ่นเดิม และ Ciaz รุ่นปัจจุบัน พูดก็พูดเถอะ ควรทำไฟส่องสว่างในยามค่ำคืนมาให้ด้วย เวลาคลำหาของช่วงกลางดึกเนี่ย มองวัตถุอะไรก็แทบไม่เห็นเลย

พื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า ต่อเนื่องมาจากฐานคันเกียร์ (หุ้มหนัง) ผมจำได้ว่า เคยคอมเมนท์ให้ มีกล่องเก็บของอเนกประสงค์ พร้อมฝาปิดที่สามารถทำตัวเป็น พนักวางแขนได้ มาให้เสียที

จนกระทั่งวันนี้ รุ่นใหม่ออกมาแล้ว พื้นที่ที่คุณเห็นอยู่นี้ มันก็ยังมีสภาพไม่ค่อยแตกต่างกับรถรุ่นเดิมเลย!! คุณจะยังคงเห็น แผงพลาสติก รอบเบรกมือ แบบคันยก มีช่องวางแก้วมาให้ 1 ตำแหน่ง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง แนะนำว่า วางเครื่องดื่มกระป๋องได้ดี แต่ไม่เหมาะจะวางขวดน้ำทรงสูง แถมช่องวางแก้วแบบฝาพับ ก็ดันตัดออกไปอีก

ทัศนวิสัยด้านหนัา ถึงจะคล้ายรุ่นเดิม แต่ปลอดปร่งกว่าเล้กน้อย เสาหลังคาคู่หน้าที่ตั้งชัน ให้ความรู้สึก คล้ายกับนั่งอยู่บนตำแหน่งคนขับของ MINI รุ่นใหม่ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน ถ้านั่งบนเบาะคนขับในตำแหน่งเตี้ยสุด จะมองไม่เห็นฝากระโปรงหน้า

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีความหนาพอๆกับรถรุ่นเดิม แอบบดบังรถที่แล่นสวนทางมา บนทางโค้งขวา ของ ถนน 2 เลนสวนกันอยู่บ้าง แต่น้อยลงกว่าเดิมนิดนึง

กระจกมองข้างฝั่งขวา ดีไซน์ใหม่ ให้เหมือนชาวบ้านชาวช่องมากขึ้น พื้นที่ด้านข้าง ริมนอกฝั่งขวา ที่เคยถูกกรอบพลาสติกของตัว
กระจกมองข้างเอง กินพื้นที่เข้ามาในรถรุ่นเดิม ปัญหานี้ แม้จะปรับกระจกมองข้างเหมือนเดิม แต่การเบียดบังพื้นที่ด้านข้าง กลับลดน้อยลงในรถรุ่นใหม่

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย กลับบดบังพื้นที่การมองเห็นรถที่แล่นสวนมา ขณะเตรียมเลี้ยวกลับรถ ไม่มากนัก กระจกมองข้างฝั่งซ้ายเอง มีพื้นที่กระจกมองเห็นได้มากขึ้นกว่ารุ่นเดิม โดยเฉพาะมุมฝั่งขวาล่าง ที่เคยมีปัญหาถูกบดบังจากการออกแบบตัวกรอบกระจกเอง ขอแนะนำว่า ใช้สายตาคุณเอง เหลือบมองรถคันข้างๆ ไปด้วยสักนิด จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้น

เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ถูกออกแบบโดยตัดแนวกระจกหน้าต่างที่โค้งมน ทิ้งไป ทำให้พื้นที่กระจกหน้าต่างเพิ่มขึ้น การมองเห็นยานพาหนะที่แล่นมาจากทางด้านข้างฝั่งซ้าย ก็ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย อย่างไรก็ตาม เสาหลังคาและมือจับเปิดประตู คือส่วนสำคัญที่บดบังไม่ให้คนขับ เห็นมอเตอร์ไซค์ ที่พุ่งลัดเลาะมาจากทางด้านหลังฝั่งซ้าย

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นแทบทุกรายกำลังทุ่มลงทุนพัฒนา โครงสร้างพื้นตัวถังรถยนต์ (Platform) ของตน กันอย่างหนัก ทั้งเพื่อผลในด้านความประหยัดน้ำมัน (อันส่งผลต่อเนื่องด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) รวมทั้งยกระดับการขับขี่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ คล่องขึ้น เบาขึ้น ควบคุมได้ดังใจขึ้น และ Suzuki เอง ก็เป็นอีกบริษัทที่เริ่มพัฒนา Platform ใหม่ กับเขาด้วย

จุดขายหลักของ Swift ใหม่ อยู่ที่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะพื้นตัวถัง หรือ Platform ใหม่ ในชื่อ HEARTECT ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน Suzuki Baleno B-Segmant Hatchback ไซส์ใหญ่ สำหรับตลาดประเทศกำลังพัฒนา ในปี 2015 – 2016

แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนา Platform ใหม่นี้คือ

  1. ออกแบบโครงกระดูกเฟรมใหม่ ให้มีรูปทรงโค้ง เพื่อให้แข็งแรงทนทานต่อการยุบตัว
  2. ยกระดับจุดที่แข็งแกร่งสุดเป็นจุดเชื่อมต่อของโครงสร้างต่างๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และลดการบิดตัว
  3. ลดน้ำหนักลง โดยมองภาพรวมของทั้ง Platform มากกว่าจะแยกเป็นแต่ละชิ้นส่วน

จุดเด่นของ Platform Heartect นี้ อยู่ที่การลดน้ำหนักพื้นตัวถังในจุดต่างๆ ให้เบาลงจาก 117 กิโลกรัมในรุ่นเดิม เหลือเพียง 87 กิโลกรัม เท่านั้น การลดน้ำหนัก ยังช่วยให้สมรรถนะในการบังคับควบคุม ทำได้คล่องแคล่วขึ้น เบาขึ้น แต่มั่นใจขึ้น ตามไปด้วย

ด้านขุมพลัง แม้ว่า Swift ใหม่ จะยืนหยัดอยู่กับเครื่องยนต์ พิกัด 1.2 – 1.4 ลิตร ตามเดิม ทว่า ในแต่ละประเทศที่ทำตลาด ก็มีขุมพลังแตกต่างกัน หลายแบบ หลายเวอร์ชัน ดังนี้

Japanesse Domestic Version / Export Global Version มีให้เลือก 2 เครื่องยนต์ กับ 4 ทางเลือกหลัก 11 รูปแบบ ดังนี้

  • 1.2 Dual Jet วางเครื่องยนต์ K12C เบนซิน 4 สูบ DOHC 1,242 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 73.0 x 74.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบ EPI แบบหัวฉีดคู่ Dual Jet 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 118 นิวตัน-เมตร (12.0 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที รุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ จะมีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้า แต่รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT จะมีทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time 4WD
  • 1.2 Dual Jet + SHVS (HYBRID) เครื่องยนต์ K12C ลูกเดียวกัน 91 แรงม้า (PS) แต่ พ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า WA05A ขนาด 3.1 แรงม้า (PS) ที่ 1,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 50 นิวตัน-เมตร (5.1 กก.-ม.) ที่ 100 รอบ/นาที และแบ็ตเตอรี Lithium-ion มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ Full Time 4WD ในญี่ปุ่น มีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT อย่างเดียว แต่เวอร์ชันส่งออก มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น
  • 1.0 Booster Jet วางเครื่องยนต์ รหัส K10C DITC เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 996 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 79.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EPI พ่วง Turbocharger 102 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร (15.3 กก.-ม.) ที่ 1,700 – 4,500 รอบ/นาที (Flat Torque) ขับเคลื่อนล้อหน้า เวอร์ชันตลาดโลก มีทั้ง เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 6 จังหวะ แต่เวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีแค่เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เท่านั้น
  • 1.0 Booster Jet + SHVS (HYBRID) สำหรับตลาดส่งออกเท่านั้น นำขุมพลัง K10 DITC มาพ่วงมอเตอร์ไฟฟ้า WA05A และแบ็ตเตอรี Lithium-ion มีเฉพาะรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า พ่วงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เท่านั้น

India Version มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ ดังนี้

  • 1.2 Gasoline VVT วางเครื่องยนต์ K12M เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,197 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 73.0 x 71.5 มิลลิเมตร หัวฉีด EPI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 82 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 113 นิวตัน-เมตร (11.51 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบ/นาที มีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้า แต่เลือกได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ AMT 5 จังหวะ
  • 1.3 Diesel Turbo วางเครื่องยนต์ Diesel 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,248 ซีซี หัวฉีด DDiS 75 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 190 นิวตัน-เมตร (19.36 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ AMT 5 จังหวะ

Thai version

สำหรับเวอร์ชันไทย คราวนี้ Suzuki ตัดสินใจ ยกขุมพลังเดิม รหัส K12B เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,242 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 73.0 x 74.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 11.0 : 1 พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 118 นิวตันเมตร ที่ 4,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และ เกียร์อัตโนมัติ CVT ออกจากตัวถังของ Swift ไป (แม้จะยังใช้อยู่ใน Ciaz ก็ตาม)

เพื่อแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ ลูกใหม่ รหัส K12M เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,197 ซีซี. กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 73.0 x 71.5 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1

สิ่งที่ทำให้เครื่องยนต์ K12M แตกต่างจาก K12B รุ่นเดิม ก็คือ ความพยายามในการลดมลพิษ จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ผ่านมาตรฐานไอเสียต่ำกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร เพื่อให้ตัวรถสามารถเข้ากฎเกณฑ์ขอรับส่งเสริมการลงทุน ในโครงการ ECO Car Phase 2 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดช่วงชักลงมา จาก 74.2 มิลลิเมตร เหลือ 71.5 มิลลิเมตร ซึ่งเท่ากับว่า ความจุกระบอกสูบจะถูกลดลงไปโดยปริยาย

รวมทั้งการนำเทคโนโลยี การฉีดจ่ายเชื้อเพลิง ด้วยระบบหัวฉีดคู่ Dual Jet มาใช้ เพื่อให้ละอองน้ำมันเชื้อเพลิง ฉีดเข้าห้องเผาไหม้ ได้ละเอียดยิ่งขึ้น แถมยังติดตั้งระบบควบคุมการหมุนเวียนไอเสีย (บางส่วน) กลับมาเผาไหม้ อีกครั้ง EGR (Exuast Gas Recirculation ที่ชาวรถกระบะแต่งซิ่งบ้านเรา ชอบไปอุดกันดีนัก) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2

ทั้งหมดนี้ คือสาเหตุที่ทำให้ กำลังสูงสุด ลดลงจากเครื่องยนต์จากเดิม 91 แรงม้า เหลือแค่ 83แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ลดลงจากเดิม 118 นิวตัน-เมตร (12.02 กก.-ม.) เหลือเพียง 108 นิวตัน-เมตร (11.00 กก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที รองรับน้ำมันสูงสุด ได้ถึงระดับ Gasohol E20 และปล่อยก๊าซ CO2 แค่เพียง 100 กรัม/กิโลเมตร ผ่านเกณฑ์ ECO Car Phase 2 ได้พอดี

Swift ใหม่ ยังคงขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT 7 พร้อม Sub-Planetary Gear จาก Jatco รุ่นเดิม ลูกเดิม เช่นเดียวกับ Swift รุ่นก่อน รวมทั้งยังเป็นเกียร์สหกรณ์ ลูกเดียวกันกับ Nissan March / Almera / Note และ Mitsubishi Mirage / Attrage เป๊ะเลย!

ดังนั้น แทบไม่ต้องสืบ ก็ยืนยันให้ได้เลยแน่นอนว่า อัตราทดเกียร์ ของ Swift ก็จะเท่ากันกับรุ่นเดิม และคู่แข่งทุกคันข้างต้นทั้งหมดด้วย คือ 4.006 – 0.550 : 1 เพียงแต่มีอัตราทด ต่างกันนิดเดียว ที่เกียร์ถอยหลัง 3.771 : 1 ต่างจาก March (3.770 : 1) และอัตราทดเฟืองท้าย 3.757 : 1 (March 3.753 : 1)

แจ้งไว้ให้เป็นข้อมูลการซ่อมบำรุงว่า น้ำมันเกียร์ CVT นั้น Suzuki กำหนดให้ใช้ Suzuki CVT Fluid GREEN-1 หรือ Shell GREEN-IV

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองจับเวลาตามมาตรฐานดั้งเดิมของเรา คือทำในเวลากลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน น้ำหนักรวม ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับรถรุ่นเดิม และคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มีดังนี้

เป็นไงละครับคุณผู้อ่าน เครื่องยนต์ลูกใหม่ แรงม้า หายไป 8 ตัว แรงบิดสูงสุด ก็ลดลงไป 10 นิวตันเมตร (แค่ 1.019 กก.-ม.) แต่ตัวเลขที่ออกมา กลับสร้างความตื่นตะลึงพรึงเพริศ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง! ก็มันแรงกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจนหนะสิ!

อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในรุ่น CVT หล่นลงมาจาก 14.7 วินาที เหลือเพียง 12.9 วินาที ทั้งที่อุณหภูมิขณะจับเวลานั้น อยู่ในช่วง 27 – 29 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติที่เราใช้จับเวลากันแทบทุกคัน ด้วยซ้ำ ขณะที่ช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเกียร์ D ก็ยังทำได้ที่ 10.4 วินาที พอลองกดปุ่ม Ds ที่ด้านข้างคันเกียร์ รอบเครื่องยนต์ยิ่งไปเริ่มต้น ณ ตำแหน่งสูงขึ้น ตัวเลขยิ่งลดลงเหลือ 9.93 วินาที และพอเป็นเกียร์ L รอบเครื่องยนต์ตีขึ้นไปเริ่มต้นสูงยิ่งกว่าเดิมอีก ตัวเลขก็ยิ่งหล่นลงต่ำ เหลือแค่ 9.53 วินาที!! เท่าๆกับ รถเก๋ง B-Segment เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาตลอด 10 กว่าปี เลยด้วยซ้ำ!!!

ไหนๆก็ไหนๆ ช่วงที่จับเวลา มีบางคืน ที่อากาศเย็นลงต่ำกว่าปกติ เราจึงแอบเอาไปจับเวลาเล่นๆดู ก็พบว่า ถ้าอุณหภูมิภายนอกรถอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ตัวเลขที่จับเวลา ภายใต้คอนดิชั่น เดียวกัน จะไวขึ้นเป็น 12.55 วินาที และยิ่งถ้าอากาศเย็นลงเหลือ 23 องศาเซลเซียส จะยิ่งทำตัวเลขไวขึ้นอีก เป็น 12.22 วินาที!

ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งทั้งหมด ชัดเจนละครับว่า ณ วันนี้ Swift ใหม่ ก้าวขึ้นครองแชมป์ B-Segment (ECO Car) ตัวถัง Hatchback ที่มีอัตราเร่ง “ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT” จัดจ้านมากสุดในกลุ่มไปโดยปริยาย

หตุผล ที่ทำให้ตัวเลขออกมาดีผิดหูผิดตาขนาดนี้

  1. ช่วงชักสั้นลง ความจุกระบอกสูบ ลดลงก็จริง แต่พละกำลังมาอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น เหยียบคันเร่งในช่วงไหน ก็มา
  2. คันเร่งไฟฟ้า เซ็ตมาให้ตอบสนองได้ฉับไวขึ้น
  3. น้ำหนักตัวรถ ที่ลดลง จาก 945 – 975 กิโลกรัม เหลือ 875 – 910 กิโลกรัม !! มีส่วนทำให้แรงม้าต่อน้ำหนัก เพิ่มขึ้น และทำให้รถออกตัวและไต่ความเร็วขึ้นไป (จนถึงไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ได้ไวขึ้นมาก

แรงม้า ต่อน้ำหนัก มีผลด้วยเหรอ?

มีสิครับ…มาดูตัวเลขกันหน่อยเนาะ

การคำนวนง่ายๆ ก็คือ เอาน้ำหนักตัวรถของ Swift มา 910 กิโลกรัม หารกับ แรงม้าที่ระบุไว้อย่างเป็นทางการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็มีดังนี้…

  • Swift แรงม้า 1 ตัว แบกน้ำหนัก 10.96 กิโลกรัม
  • Mazda2 แรงม้า 1 ตัว แบกน้ำหนัก 11.33 กิโลกรัม
  • Nissan Note แรงม้า 1 ตัว แบกน้ำหนัก 12.55 กิโลกรัม
  • Toyota Yaris แรงม้า 1 ตัว แบกน้ำหนัก 13.43 กิโลกรัม

จริงอยู่ละว่า มันมีปัจจัยอื่นๆอีก ที่เกี่ยวข้อง เช่นอัตราทดเกียร์ ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ อุณหภูมิ (ประเด็นหลังนี่โคตรจะมีผลกับบรรดา ECO Car ทั้งหลายจริงๆ) ฯลฯ แต่ในเบื้องต้น ก็พอจะเข้าใจบ้างแล้วใช่ไหมครับว่า ภาระที่ ม้าของ Swift แบกไว้ มันเบากว่าเพื่อนพ้องเขาทั้งนั้นเลย นี่แหละครับ คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Swift ใหม่ ทำตัวเลขออกมาได้ดีขนาดนี้

ส่วนการไต่ขึ้นไปถึงความเร็วสูงสุดนั้น จากจุดหยุดนิ่ง ไปจนถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สัมผัสได้อย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยว่า กระฉับกระเฉงกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน! เข็มค่อยๆกวาดขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด มาตรวัดรอบ ตีลากขึ้นไปที่ 6,000 รอบ/นาที ทันที ไม่ต้องมาชะงักงัน ยักแย่ยักหยั่น ในช่วง 5,000 รอบ/นาที เหมือนรถยนต์รุ่นอื่นๆ

แต่พอหลัง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เข็มความเร็วก็ยังคงไต่ขึ้นไปเหมือนกัน แต่เป็นลักษณะ “ขึ้นอืด” กว่าปลายเข็มจะชี้ไปแตะที่ร่อง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันเป็นความเร็วสูงสดได้ ต้องแช่กันยาวๆ ราวกับแช่ปลาแซลมอน มาจากทะเลนอร์ดิค ส่งมาถึงเมืองไทย กระนั้น ถ้าลองไล่ล่ารถคันข้างหน้า แบบขับตามกันต่อเนื่อง กึ่งๆจี้ตูด (แต่ไม่จี้ติด) ในลักษณะ Drafting แบบรถแข่ง NASCAR เข็มความเร็วจะไต่ขึ้นไปได้ถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่นั่นไม่ใช่ความเร็วจริงที่รถทำได้ เราจึงยึดตัวเลขไว้ที่ 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 6,000 รอบ/นาที เป็นความเร็วสูงสุด (บนมาตรวัด) อย่างเป็นทางการ

ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

ในการขับขี่จริง ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หากคุณเอา Swift ใหม่ไปเปรียบเทียบกับรถยนต์ทั่วไป แน่นอนครับ อัตราเร่งมันไม่ได้แรงมากมายนักหรอก เท่าที่พอจะทาบรัศมีได้ ก็คงจะมีแค่รถเก๋ง B-Segment ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เท่านั้น

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ บรรดา B-Segment ECO Car 1.2-1.3 ลิตร ด้วยกันแล้วละก็ Swift ใหม่ ถือว่าแรงเอาเรื่อง ทำผมเหวอ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ขึ้นลองขับ รับรถออกมาจากโชว์รูม มีจังหวะที่จำเป็นต้องกดคันเร่งเต็มตีน เพื่อจะหนีให้พ้นรถประจำทาง ที่พุ่งลงมาจากด้านหลัง และนั่นละครับ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผม ถึงกับอ้าปากค้าง โดยที่ตอนนั้น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเลขแรงม้าของรถคันนี้ มันมีเพียงแค่ 83 ตัวเท่านั้น! ยังเข้าใจว่า กำลังเครื่องยนต์คงลดลงจาก 91 เหลือแค่ 89 แรงม้า เสียด้วยซ้ำ!

ECO Car บ้าอะไรวะ พุ่งชิบหาย พุ่งพอๆกับรถเครื่อง 1.5 ลิตร ด้วยซ้ำ พุ่งจนต้องปรายตาขึ้นไปยังกระจกมองหลัง จะเห็นสายตาของรถคันที่ขับตามมา ดูท่าทางงงๆว่า ทำไมผมพุ่งไปได้เร็วขนาดนั้น?

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน นานขึ้น ก็ยิ่งรู้ได้ว่า เครื่องยนต์ลูกใหม่นี้ มีนิสัย กระฉับกระเฉง ตั้งแต่ช่วงรอบต่ำๆ และจะยิ่งแสดงศักยภาพได้ดีขึ้นมากในช่วง 2,500 จนถึงราวๆ 4,500 รอบ/นาที พร้อมให้คุณเหยียบได้ทุกเมื่อ ในแทบจะทุกช่วงความเร็ว ที่ไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เมื่อใดที่คุณรู้สึกรำคาญ พวก SUV/PPV กับกระบะบ้าพลัง หรือ Taxi สนามบิน สันดานถ่อยๆ “บางคัน” ที่ผมเจอมากับตัวเอง พุ่งเข้ามาจี้ตูดคุณ ทั้งที่ผมก็ขยับไปเลนอื่นไม่ได้ จะเร่งขึ้นไปข้างหน้า ก็เร่งไม่ได้ เมื่อมีจังหวะให้เบี่ยงออกเลนขวาได้ ผมแค่กดคันเร่งเต็มตีน Swift ใหม่ ก็พุ่งปรู๊ดดด เป็นลูกธนู ทิ้งให้ รถมารยาททรามที่ผมเจอมา เหล่านั้น กลายเป็นเพียงแค่แสงหิ่งห้อยในกระจกมองหลัง

(คือจริงๆแล้ว ถ้าเขาจะกดไล่บี้ ไล่แซงผม เขาก็ทำได้แหละ แต่น่าจะกำลัง งงอยู่ว่า ECO Car ห่าอะไรวะ ทำไมมึงพุ่งได้ขนาดนี้ แถมยังพุ่งเข้าโค้งได้ดุเดือดจนไม่กล้าขับตามมาอีกเลยด้วยซ้ำ ก็มีเหมือนกัน)

หรือแค่รู้สึกว่า รำคาญ มอเตอร์ไซค์มนุษย์ลุง ที่วิ่งอยู่เลนขวากลางซอย บีบแตรเบาๆ เตือนไป ก็ทำเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ถ้ามีจังหวะแซงซ้ายในช่วงสั้นๆ ก็แค่เดินคันเร่งเพิ่มขึ้นเบาๆ จากเดิมอีกสัก 10 – 20 % เท่านี้ คุณก็ไม่ต้องไปเสียอารมณ์กับ ลุงป่วยๆ คนนั้นแล้ว เพราะ Swift ใหม่ ก็จะพาคุณพุ่งขึ้นหน้าลุงเขาไปแบบไม่สนใจใยดีอะไรทั้งสิ้น จนกว่าคุณจะถอนเท้าขวาจากคันเร่งนั่นแหละ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้ Swift ใหม่ เร่งแซงได้ทันใจขึ้นกว่า ทั้ง 2 รุ่นก่อนหน้านี้ คือ คันเร่งไฟฟ้า ที่ถูกเซ็ตมาใหม่ ให้ไวขึ้น กดสั่งเมื่อไหร่ ทำงานแทบจะตามสั่งทันที ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ใครที่เคยมีปะสบการณ์ไม่ดี เกียวกับเกียร์ CVT จาก Jatco ลูกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการหอน หรืออาการเย่อ จนรอบเครื่องยนต์ หล่นลงไปอยู่แถวๆ 500 รอบ/นาที ขณะถอนคันเร่ง เพื่อเตรียมชะลอรถให้หยุดนิ่ง และอาการ สายพานลื่น ขณะเร่งความเร็วอย่างฉับพลัน ในบางจังหวะ ผมขอยืนยันว่า อาการดังกล่าวเหล่านี้ มันยังคงมีอยู่ใน Swift ใหม่ครบถ้วน! เพียงแต่ว่า หลังการแก้ไข มาเป็นระยะๆ ต่อเนื่องจาก รถรุ่นเดิม อาการทั้งหมดข้างต้น ก็ลดน้อยลงจากรุ่นเดิมประมาณหนึ่งแล้ว แต่อาจยังไม่หายขาด

มันหอนขนาดที่ว่า ผมขับรถกลับเข้าบ้านยามวิกาล บรรดากลุ่มน้องหมาจรจัด กับกลุ่มสี่ขาสายอินดี้ มีปลอกคอแต่ไม่ชอบนอนในรั้วบ้านตัวเอง เจอ Swift ใหม่ ขับเข้ามาในซอย พวกเล่นวิ่งมาไล่เห่ารถที่ผมขับอยู่กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดูพวกมันจะเดือดดาลชนิดที่ทำเอาผมถึงกับสงสัยเลยว่า ชาติที่แล้ว ผมไปวางยาเบื่อพวกมันยกฝูงมาก่อนหรือไร ถึงต้องตามไล่อาฆาต เห่าดังขรมไปทั้งซอย กันขนาดนี้ ที BMW ป้ายแดง เขาขับตามผมมา ไม่เห็นพวกมึงไปไล่เห่าเขาอย่างที่ทำกับรถกรูบ้างเลยนะ ไอ้พวกแปดหลอด!

คาดว่าเสียงหอนของเกียร์ มันคงหอนในย่านความถี่ คลื่นเดียวกับ ที่บรรดามะหมาเขาใช้สื่อสารกันมั้ง…!? (ฮา)

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 4,8 เมตร ถูกปรับปรุงให้ดียิ่งกว่ารุ่นเดิมขึ้นไปอีก ทั้งน้ำหนักและความหนืดที่เพิ่มขึ้น ในระดับเหมาะสม เอาใจวัยรุ่นชายที่ชอบขับรถเป็นพิเศษ แต่สำหรับผู้หญิงบางคน อาจมีเสียงบ่นว่าแอบหนักไปนิดนึง ส่วนตัวผมมองว่า น้ำหนักและความหนืด ให้รักษาไว้แบบนี้ กำลังดีแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรแล้วนะ

ในช่วงความเร็วต่ำ สัมผัสได้ถึงความมั่นใจในการเลี้ยวหลบหลีกสิ่งกีดขวางมากยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่าอัตราทดเฟืองพวงมาลัย จะลดความไวลงมาจากรุ่นที่แล้วนิดนึง กระนั้น การบังคับเลี้ยวก็ยังเป็นธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอีกนิดนึง

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยมีระยะฟรีที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป On Center feeling ดีหายห่วง ช่วยให้การบังคับควบคุมเป็นไปได้อย่างมั่นคงและวางใจได้ ถึงแม้ว่าพวงมาลัยจะนิ่งพอจนผมสามารถปล่อยมือที่ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงสั้นๆ 3-4 วินาทีได้ แต่ด้วยการจงใจเซ็ตให้รถกินซ้าย เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงต้องรีบประคองพวงมาลัยนำรถกลับคืนมาตั้งตรงตามเดิม

ภาพรวมด้านระบบบังคับเลี้ยว ผมอยากถามตรงๆเลยว่า ขอสลับชุดแร็คพวงมาลัยของ Swift ใหม่ มาให้ Ciaz คันที่บ้านผมจะได้ไหมเนี่ย?

ระบบกันสะเทือน ยังคงใช้รูปแบบที่พบได้ในรถยนต์ขนาดเล็กทั่วๆไป รวมทั้ง Swift รุ่นก่อนๆ ด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม พร้อมคอยล์สปริง ที่ถูกปรับเซ็ตใหม่ ให้เหมาะกับสภาพถนนในบ้านเรา และความต้องการของลูกค้าชาวไทยมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะขับขี่ผ่านหลุมบ่อ ฝาท่อ เนินสะดุด ลูกระนาด ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ในช่วงความเร็วต่ำ ไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง สัมผัสได้ชัดเจนเลยว่า ช่วงล่างของ Swift ใหม่ ไม่เพียงแค่เก็บซับแรงสะเทือนไว้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างผิดหูผิดตา แต่ยังมาพร้อมความนุ่มหนึบกำลังดี บนพื้นผิวขรุขระ ชนิดที่ผมเองก็คาดไม่ถึงด้วยซ้ำ (มีข้อแม้ว่า ไม่ควรเซ็ตลมยาง เกิน 32 ปอนด์/ตารางนิ้ว ตามมาตรฐานการทดลองของเรา เพราะถ้าเกินนั้น คุณจะสัมผัสถึงความตึงตังขึ้นมากทันที)

แต่ถ้าใช้ความเร็วเกินกว่า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป ขับผ่านเส้นทางขรุขระ หรือเจอลูกระนาดสูงๆ จะพบความตึงตังนิดๆ โผล่มาให้เห็นทันที ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของรถที่เซ็ตช่วงล่างในแนวสปอร์ตหน่อยๆ เพราะวงจรการทำงานของระบบกันสะเทือน ถูกเร่งให้เกิดขึ้น และจบลงอย่างรวดเร็ว ในบางเนินสะดุด อาจเจออาการ Bump จนช็อกอัพถูกยันขึ้นสุดไปถึงตัวถังได้แบบรถรุ่นเดิม เพียงแต่ว่า อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ น้อยลงกว่ารุ่นเดิม

ขณะเดียวกัน ในการทรงตัวย่านความเร็วสูง หากไม่มีกระแสลมมาปะทะ ตัวรถก็นิ่ง ในระดับ “วางใจได้” เพียงแต่ว่า ด้วยน้ำหนักที่เบา จึงอาจทำให้ตัวรถยังไม่ถึงขั้นนิ่งสนิท ในระดับ “มั่นใจได้” อย่าง Nissan Note หรือ Toyota Yaris ใหม่ แต่ถ้าคิดว่า น้ำหนักตัวรถเบามากขนาดนี้ ยังพุ่งตรงไปข้างหน้า ได้นิ่งดีอย่างนี้ ก็ถือว่า เกินความคาดหมายไปเยอะเลยละ

ส่วนการเข้าโค้งนั้น หากใช้ความเร็วปกติทั่วไป ก็ยังรักษาความเป็นกลางของตัวรถได้ตามปกติ แต่เมื่อใดที่คุณใส่เข้าโค้งแรงๆ จะพบอาการท้ายออก (Understeer) เพิ่มขึ้นจากรถรุ่นเดิม ชัดเจน ซึ่งจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อ ใช้ความเร็วในโค้ง สูงเกินปกติ ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่คือการเซ็ตทั้ง Platform และ ช่วงล่าง ขอรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ในแบบที่ผมชื่นชอบ คือ เมื่อเข้าโค้งหนักๆแล้ว ตัวรถจะเริ่มท้ายออกนิดๆ เพื่อเตือนผู้ขับขี่ว่า “เยอะไปแล้วนะเธอ” ในฐานะคนขับ เราก็แค่ บังคับพวงมาลัยถือเข้าโค้งไปเนียนๆ ก็พอ ไม่ต้องไปเติมคันเร่งเพิ่มอีก

ความเร็วที่ Swift ทำได้ในโค้งบนทางด่วนเฉลิมมหานคร ตอนกลางดึกทั้ง 5 ตำแหน่ง ที่ผมมักใช้เป็นมาตรฐานในการทดลอง ผลออกมา ก็ไม่ต่างจากคู่แข่งอย่าง Toyota Yaris ทั้งแบบ Hatchback และ ATIV Sedan เลยในแง่ตัวเลข ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆก็คือ หากได้ยางติดรถที่เกาะถนนกว่า Bridgestone ECOPIA 150 ขนาด 185/55 R16 ที่ติดมาให้จากโรงงานแล้วละก็ Swift จะทำตัวเลขในโค้งได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ และให้ความมั่นใจในการขับขี่ได้เพิ่มขึ้นกว่านี้อีก

เริ่มจากโค้งขวารูปเคียว เหนือทางด่วนย่านมักกะสัน อันเป็นโค้งที่สูงและแคบสุดในระบบทางด่วนของกรุงเทพฯ ต่อเนื่องไปยังโค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin เพื่อเชื่อมเข้าระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ผมพา Swift ใหม่ เข้าทั้ง 2 โค้ง ต่อเนื่องกันได้ โดยความเร็วบนมาตรวัดอยู่ที่ 100 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่าๆกัน เพียงแต่ว่า เสียงของยางติดรถ จะดังขึ้นมาเพียงนิดเดียว ไม่มากเท่ากับ Yaris แต่ตัวรถจะเอียงกะเทเร่มากกว่า

ส่วนโค้งขวา ซ้ายยาว ต่อเนื่องด้วยโค้งขวา มาเป็นรูปตัว S ที่เชื่อมจากทางด่วนชั้นที่ 1 ช่วง สุขุมวิท 50 ขึ้นไปยังทางยกระบบูรพาวิถี Swift ใหม่ พุ่งเข้าโค้งไปได้ ด้วยความเร็วบนมาตรวัด 100 , 110 และ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้จะเข้าโค้งหนักขนาดนี้ แต่ระบบ ESP ก็ยังมองว่า ตัวรถพอไปได้ ยังไม่ต้องเข้ามาก้าวก่ายจัดการตัดกำลังล้อหน้าและช่วยเบรกล้อหลังเพิ่มแต่อย่างใดทั้งสิ้น

สรุปว่า ช่วงล่างของ Swift ใหม่ เซ็ตมาให้ตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำได้นุ่มนวลขึ้นกว่ารุ่นเดิม แต่ยังคงรักษาจุดเด่นในด้านการทรงตัว การยึดเกาะถนน และมีบุคลิกการขับขี่แบบ Sport Hatchback คันเล็ก อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ Swift ที่หลายคนชื่นชอบ รวมไว้ด้วยกันอย่างเสร็จสรรพ! และยังคงยืนอยู่แถวหน้าของ ECO Car Hatchback ที่มีช่วงล่างดีสุด 3 อันดับแรก ได้ตามเคย

ระบบห้ามล้อ ของทุกรุ่นนั้น หากเป็นด้านหน้า จะใช้ ดิสก์เบรกแบบมีรูระบายความร้อน เหมือนกันทุกรุ่น แต่สำหรับล้อคู่หลัง จะมี 2 แบบ หากเป็นรุ่นพื้นฐาน GA กับ GL จะยังคงใช้ ดรัมเบรก แบบ ฝักนำและฝักตาม (Leading & Trailing) แต่ถ้าเป็นรุ่น GLX กับ GLX-Navi จะอัพเกรดมาเป็น ดิสก์เบรก แทน

ทีเด็ดของ Swift ใหม่ ก็คือ ไม่ว่าคุณจะควักกระเป๋าซื้อรุ่นไหน คุณก็จะได้ ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว ESP (Electronic Stability Program) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว Traction Control ระบบป้องกันล้อล็อก ขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force Distribution) และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Hold Control เหมือนกันหมด ทุกรุ่น ทุกคัน !!!

แป้นเบรกมีระยะเหยียบ สั้น แต่เซ็ตมาได้นุ่มและแน่นกำลังดีมากๆ แถมยัง Linear ดีงาม อยากให้ชะลอแค่ไหน จงเพิ่มน้ำหนกเท้าเหยียบเบรกลงไปตามต้องการ รถก็จะหน่วงความเร็วลงมา กำลังดี และแม้ว่าจะเป็นรถใหม่เอี่ยมถอดด้าม ตลอดการทดลองของเรา ต่อให้ต้องเบรกหนักๆจากช่วงความเร็วสูงๆ ระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงมาเหลือ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังไม่พบอาการ Fade แต่อย่างใดทั้งสิ้น ถือเป็นระบบเบรกที่เซ็ตมาดีมากจนน่าประทับใจสุดในบรรดา ECO Car ทุกรุ่นที่ประกอบขายกันในบ้านเราตอนนี้

ด้านความปลอดภัย Suzuki ยังคงออกแบบโครงสร้างตัวถังนิรภัยแบบ TECT โดยนำสารพัดเหล็กหลากรูปแบบมาใช้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวถัง ขณะเดียวกัน ยังต้องลดน้ำหนักลงไปด้วย

ไฮไลต์สำคัญคือการนำเหล็กรีดร้อน Ultra High-Tensile Steel ที่ทนแรงดึงสูงพิเศษได้ถึง 980 เมกกะปาสคาล (Mpa) มาใช้ในบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ธรณีช่องประตูทั้ง 4 ช่อง และคานแนวขวาง ใต้เบาะคู่หน้า รวมทั้งหมด 14% จากตัวถังทั้งหมด รวมทั้งเหล็กรีดร้อน High Tensile Steel ที่ทนแรงดึงสูง 780 เมกกะปาสคาล มาใช้ อีก 4% บริเวณผนังโครงเสา คู่หน้า A-Pillar และคานแนวขวางตามยาว บริเวณพื้นล่าง กลางห้องโดยสาร ทั้งหมดนี้ ช่วยลดน้ำหนักเฉพาะโครงสร้างตัวถังไปได้มากถึง 35% คิดเป็นน้ำหนักที่ลดลงไปได้มากถึง 42 กิโลกรัม และบานประตูพร้อมคานนิรภัยเสริมด้านในทั้ง 4 บานลดลงไปอีก 5% หรือ 6 กิโลกรัม

ไม่เพียงเท่านั้น Suzuki ยังพยายามจัดการกับปัญหาด้าน NVH (Noise Vibration Harshness : เสียงรบกวน การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน) ทั้งด้วยการเสริมพรมพื้นรถ ผ้าหลังคาแบบอัดขึ้นรูป Recycle แผ่นซับเสียงตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะใต้ฝากระโปรงหน้า แผงกั้นห้องเครื่องยนต์กับแผงหน้าปัด ฯลฯ เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม อีกทั้งยังมีแผ่น Undercover ปิดใต้ท้องเครื่องยนต์ เพื่อช่วยให้อากาศไหลผ่านได้ดีขึ้น ลดเสียงรบกวนต่างๆที่จะตามมาจากห้องเครื่องยนต์ได้อีกทางหนึ่ง

การเก็บเสียง ตั้งแต่จอดนิ่ง ในรอบเครื่องยนต์เดินเบา ไปจนถึงขับขี่ไปตามตรอกซอกซอย จนถึงช่วงความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า เงียบขึ้นกว่ารถรุ่นเดิมชัดเจน แต่หลังจากนั้นไปแล้ว ยังพอมีเสียงกระแสลมไหลผ่านตัวรถให้ได้ยินแทรกเข้ามาบ้าง บริเวณ แนวขอบด้านบนของหน้าต่างบานประตูคู่หน้า โดยเฉพาะ ฝั่งคนขับ รวมทั้ง เสียงดังจากพื้นใต้ท้องรถ โดยเฉพาะจากด้านหลังรถ ที่ยังถือว่าดังอยู่พอสมควร

Swift ใหม่ ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในทุกรุ่น แต่สำหรับรุ่น GLX และ GLX-Navi จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวมทั้งสิ้น แจกมาให้ 6 ใบ! และติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบ ลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter รวมทั้งมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้บนเบาะหลังทั้ง 2 ฝั่ง

Swift ใหม่ ผ่านมาตรฐานทดสอบการชนของ Euro NCAP ที่คะแนน 3 ดาว โดยทำคะแนนการปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า 83% ผู้โดยสารทารก บนเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก 75% ปกป้องคนเดินถนน 69% และ การทำงานของระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัย ได้ 25% รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ Euro NCAP

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ในเมื่อวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ลูกใหม่ คือความพยายามลดค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากไอเสีย และเพิ่มความประหยัดน้ำมันมากขึ้น อีกทั้งมีการลดขนาดถังน้ำมันลง จาก 42 เหลือ 37 ลิตร ดังนั้น เราจึงต้องพิสูจน์กันว่า เทคโนโลยี Dual Jet และ Heartech Platform จะช่วยให้ Swift ใหม่ ทำตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ตามมาตรฐานของ Headlightmag ได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการนำรถไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับการทดลองเดียวกันนี้ ในรถยนต์นั่งผลิตในปรเทศไทย เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท หรือพิกัด B กับ C-Segment ทุกคัน และรถกระบะทุกรุ่นทุกแบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คุณผู้อ่าน มักซีเรียสเรื่องการกินน้ำมัน มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันกันแบบเขย่ารถ จนกว่าน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังตามเดิม

สักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม The Coup Team ของเรา

เมื่อเติมน้ำมัน เต็มความจุถัง 37 ลิตรแล้ว เราก็เซ็ต 0 บน Trip Meter (Swift ใหม่ให้มาครบทั้ง Trip A และ Trip B) เพื่อวัดระยะทาง คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แล้ว ออกรถ จากปั้ม มุ่งหน้าไปเลี้ยวกลับ บน ถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปยังซอยข้างโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระราม 6 เลี้ยวขวา ขึ้นทางด่วนสายเชียงราก ไปลงปลายสุดทาง ที่ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วนสายเดิม มุ่งหน้าย้อนกลับมาทางเดิม

เรายังคงยึดมาตรฐานเดิมที่เราใช้ในการทดลองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างเคร่งครัด คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และ นั่ง 2 คน เหมือนเช่นทุกครั้ง

คราวนี้ ในเมื่อ Swift ใหม่ ติดตั้ง ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control มาให้ เราก็เปิดใช้งานเสียเลย ง่ายดายมากครับ กดปุ่ม ระบบเปิดให้ทำงาน เหยียบคันเร่งไปถึงความเร็วที่ตั้งใจ แล้วกดสวิตช์ขึ้น-ลง ไปที่ตำแหน่ง ลง (SET) 1 ครั้ง เพื่อ ตั้งความเร็วไว้ ทีนี้ก็ถอนเท้าจากคันเร่งได้แล้ว ถ้าต้องการยกเลิกระบบ ก็แค่กดปุ่ม Cancel หรือ เหยียบเบรก และถ้าเลิกใช้งาน อย่าลืมกดปุ่มปิดระบบด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ มือเผลอไปโดนสวิตช์ RES (หรือ Resume) ซึ่งรถจะเร่ง ดึงขึ้นกลับไปอยู่บนความเร็วสุดท้ายที่คุณตั้งค่าไว้)

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกครั้งด้วยวิธีการเขย่ารถ เพื่ออัดกรอกน้ำมันได้ เอ่อล้นคอถังขึ้นมา จนเติมไม่ลงอีกต่อไป

ตัวเลขที่ได้ มีดังนี้

  • ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.3 กิโลเมตร
  • ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 4.91 ลิตร
  • อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 19.00 กิโลเมตร/ลิตร

ชัดเจนนะครับ ประหยัดขึ้นจากรุ่นเดิม (CVT เหมือนกัน) ราวๆ 1.8 กิโลเมตร/ลิตร ! ภายใต้สภาพการทดสอบเหมือนกัน

ตัวเลขจากการวิ่งนอกเมือง ดูประหยัด แล้วการใช้งานในเมืองละ? จะเป็นอย่างไร แล้วน้ำมัน 1 ถัง จะแล่นได้ไกลแค่ไหน?

ถ้าคุณขับใช้งานในเมืองเป็นหลัก เจอรถติดเป็นอาจิณ เร่งๆเบรกๆบ่อยๆ น้ำมัน 1 ถัง อาจพาคุณไปได้ไกลแค่ 350 กิโลเมตร เป็นอย่างมาก หรือถ้าขับแบบมุดๆอัดๆซัดๆ บนทางด่วน หรือเป็นคนชอบขับรถเร็วอาจทำได้แถวๆ 320 กิโลเมตร

แต่ถ้าคุณเป็นคนขับแบบเอื่อยๆ อีเรื่อยเฉื่อยแฉะ เหมือนน้ำในลำธารตอนหน้าแล้ง 514 กิโลเมตร ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่แปรผันไปตามสภาพการจราจร ช้าเร็วบ้างสลับกันไป อย่างที่เราทดลองขับไปถึง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี แล้วขับกลับ น้ำมัน ในถังยังเหลืออีก 1 ใน 4 ทั้งที่เลขไมล์ ขึ้นไปอยู่แถวๆ 478 กิโลเมตร แล้ว และเมื่อใช้งานจนไฟเตือนน้ำมันหมด สว่างขึ้นมา เลขไมล์ก็ไปจบอยู่ 514 กิโลเมตร!

********** สรุป **********

ถึงคุณผู้อ่าน : อย่าให้ตัวเลขแรงม้า และรถทั้งคัน มันหลอกคุณ !

ถึง Suzuki : อย่า..งก อุปกรณ์เล็กๆน้อยๆในรถเลยเถิด !

การได้เห็นพัฒนาการของ Swift ถึง 3 รุ่น ตลอดระยะเวลา 9 ปีในการทำเว็บ Headlightmag สำหรับผมแล้ว มันก็เหมือนกำลังเฝ้าดูการเจริญเติบโตของเด็กน้อยลูกครึ่งคนหนึ่ง ที่ค่อยๆโตขึ้น ท่ามกลางครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก พอมีพอกิน มีความอินดี้ เป็นตัวของตัวเอง แม้ในบางเวลา จะงอแงมากไปหน่อย ในหลายๆเรื่อง จนผู้คนรอบข้างต้องหมั่นเตือนสติคนเป็นพ่อเป็นแม่ ให้คอยตามแก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ บางครั้ง แม่ชาวไทยก็เหนื่อยใจ เพราะพ่อชาวญี่ปุ่นนั้น บางทีก็ Conservative จนน่าถีบ บางสิ่งที่ควรจะดัดนิสัยกันตั้งแต่ยังไม่โต ก็ไม่ทำเสียที

วันนี้ เด็กน้อยคนนั้น ค่อยๆเติบใหญ่ กลายเป็น หนุ่มวัย มัธยมปลาย ที่มีนิสัย ตามวัย ซนตามประสา เล่นฟุตบอล แต่เล่นดนตรีด้วย อารมณ์ศิลปิน ผสมความอินดี้ในตัว ก็ยิ่งเด่นชัดในตัวตนมากยิ่งขึ้น บางที ก็ต้องยอมตัดผมทรงหัวเกรียน เพื่อเรียน รด. ไปกับเพื่อนๆบ้าง ด้วยความจำใจ อย่างไรก็ตาม หนุ่มน้อยคนนี้ ทำอะไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่เล่นซนประเดี๋ยวประด๋าว แล้วทิ้งกลางคัน เขามุ่งมั่นจะเติบโตขึ้นเป็นผู้นำในทุกสังคมที่เขาใช้ชีวิตร่วมอยู่ด้วย

ทั้งหมดที่เขียนมาเนี่ย…Swift ใหม่ชัดๆ!

ไม่ใช่แค่เพียงยังคงรักษา บุคลิกงานออกแบบดั้งเดิมที่ผู้คนทั่วโลกหลงรักไว้ได้ หากแต่ Swift ใหม่ ยังคงยกระดับคุณภาพการขับขี่ และการบังคับควบคุม บนพื้นฐานของ “รถญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นเพื่อตีตลาดยุโรป” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร?

ลองสังเกตดูสิครับ รถญี่ปุ่นรุ่นไหนก็ตาม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีลูกค้าเป้าหมายหลัก เป็นตลาดยุโรป แล้วละก็ การเซ็ตช่วงล่าง กับพวงมาลัย จะดีเลิศประเสริฐศรี เพื่อหวังตีหัวคู่แข่งชาวยุโรป ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตที่ทำรถยนต์ออกมาให้มีการขับขี่ “หนึบ แน่น คล่อง ไว ปลอดภัย มั่นใจ ประหยัดน้ำมัน” ครบสูตร

ตัวอย่าง : Suzuki Swift/ Swift Sport , Nissan Primera , Nissan Juke ,Nissan Qashqai , Honda Civic Type-R ,ฯลฯ

พอเปลี่ยน Target มาเป็นรถยนต์ที่สร้างขึ้นสำหรับตลาด ASEAN ปุ๊บ โอ้โห! อย่างกับเห็นค่าประชากรในย่านนี้มีราคาถูกๆ นึกจะทำรถยนต์ออกมา กะโหล่งป๊ง สังกะสีติดล้อ กันอย่างไรก็ได้ เรื่องนี้ ยืนยันเลยครับ เป็นกันหมดทุกยี่ห้อนั่นแหละ ไม่ต้องมาปฏิเสธหรอก!

ตัวอย่าง? เพียบเลยครับ บรรดา Minivan 7 ที่นั่ง สำหรับตลาดกำลังพัฒนา Made in อิเหนา ทุกรุ่นไงละ!

โชคดีที่ Swift อยู่ในกลุ่มแรก และยังคงมีชาวยุโรป เป็นลูกค้าสำคัญ ทำให้ Suzuki ตั้งใจทำรถคันนี้ออกมา ให้ขับสนุกเหมือนเดิม แต่เบาขึ้น คล่องขึ้น น้ำหนักพวงมาลัยหนืดดีขึ้น ช่วงล่างนุ่มสบายในความเร็วต่ำไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมงดีขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น ที่สำคัญ แม้ว่าตัวเลขแรงม้าในแค็ตตาล็อก จะหายไป 8 ตัว แต่อัตราเร่ง กลับดีขึ้น จนแซงขึ้นมาอยู่หัวแถวกลุ่ม ECO Car Hatchback ที่ใช้เกียร์ CVT ได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ก็ประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 1.8 กิโลเมตร/ลิตร ในการทดลองมาตรฐานของ Headlightmag.com

การใช้ชีวิตอยู่กับ Swift ใหม่หลายๆวัน มันเป็นประสบการณ์ที่ดีเลยละ หลายๆคนที่มีโอกาส ได้ขึ้นมานั่งร่วมทางไปกับผม หรือถึงขั้นได้ลองขับ ต่างประทับใจใน ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของ Swift ใหม่ กันอย่างมาก ตัวรถดีงามขึ้นจนน่าชมเชย

แต่…แน่นอนครับ ตามประสาเว็บไซต์ปากจัด พวกเราก็ยังหาข้อที่ควรปรับปรุงของ Swift ใหม่ ได้อีกพอสมควรเลยละ!

จุดที่ยังต้องปรับปรุงของ Swift ใหม่? มีด้วยกัน 4 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. อยากได้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร BOOSTERJET

พูดตรงๆ ตอนแรก ผมอยากเห็น Suzuki เป็นผู้ผลิตรถยนต์กลุ่ม ECO Car รายแรก ที่กล้านำเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร Turbo มาวางลงใน Swift ใหม่ (เราไม่นับ Ford Fiesta EcoBoost ที่เจ๊งบ๊งไปก่อนหน้าแล้วอย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุจากราคาขายปลีกดุร้ายมากไป) แต่กลับพบ เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร หัวฉีดคู่ มาขายแทน

แม้ว่าประสิทธิภาพมันต้องถูกลดทอนตอนกำลังลง และยังดีที่ได้โครงสร้างตัวถังกับ Heartect Platform น้ำหนักเบา มาช่วยให้อัตราเร่งดีขึ้นกว่าเดิม และประหยัดกว่าเดิม แต่ ในอนาคต คู่แข่งอย่าง Nissan และ Honda เขาก็มีแผนเตรียมนำขุมพลัง Downsizing 1.0 ลิตร Turbo มาเปิดตัว ทำตลาดในเมืองไทยกันแล้ว

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ การปรับปรุงให้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร ฺBOOSTERJET ผ่านมาตรฐานไอเสีย ให้ได้ตามเกณฑ์ ECO Car Phase 2 แล้วนำมาเปิดตัวในรุ่นปรับโฉม Minorchange ของ Swift ภายในปี 2020 คือสิ่งที่ Suzuki ควรรีบทำ เป็นลำดับถัดไป

2. รุ่นเกียร์ธรรมดา ควรตามออกมาโดยเร็ว

ใครที่ยังอยากได้เกียร์ธรรมดาอยู่ รออีกหน่อย เดี๋ยวตามมา…

จากประสบการณ์ที่ใช้ Ciaz เกียร์ธรรมดา มา พบว่า คลัตช์เบา สบาย ขับขี่ในเมือง ไม่ปวดขาซ้าย อัตราเร่งก็ยิ่งดีไปกว่า เกียร์ CVT อาจเจอปัญหาเกียร์หอนบ้าง แต่ก็ต้องปลง ว่าคงจะไปแก้ไขอะไรกับผู้ผลิตเกียร์จาก อินโดนีเซีย ไม่ได้ สรุปคือ ผมยัง Happy กับรถเก๋งเกียร์ธรรมดาของ Suzuki อยู่

แม้ว่าแนวโน้มยอดขายรถยนต์นั่ง เกียร์ธรรมดา จะลดลงมาจนแทบไม่เหลือแล้ว แต่ความจริง ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ รถยนต์ประเภทนี้อยู่ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเซ็ต Option มา 2 แบบ ทั้งรุ่นพื้นฐาน และ รุ่นกลางค่อนสูง ที่ให้ข้าวของมาไม่น้อยหน้ารุ่นท็อป นั่นละถึงจะดึงดูดใจลูกค้าให้หันกลับมาซื้อรถยนต์นั่งเกียร์ธรรมดาได้

3. แก้ปัญหาเรื่องเกียร์ CVT จาก Jatco กันต่อไป

ใครที่คาดหวังว่า Swift ใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ ก็ควรจะเป็นเกียร์ลูกใหม่ด้วย คงต้องทำใจกันไว้ล่วงหน้าครับ เพราะ Suzuki ยืนยันจะผูกปิ่นโตกับ Jatco ในการใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT7 ลูกเดิม จากรุ่นเดิม ในรถรุ่นใหม่ กันต่อไป…(-_-‘) ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงคุณภาพชิ้นส่วนภายในเกียร์ จากฝั่ง Suzuki ส่งให้ทาง Jatco แล้ว แต่ในรถยนต์ทดลองขับ ดูเหมือนว่า เสียงหอนที่หลายคนกังวล มันยังคงกลับมาหลอกหลอนให้ได้พบ ตั้งแต่ระยะไม่เกิน 300 กิโลเมตรแรกกันเลยทีเดียว!

อย่างไรก็ตาม อาการ “โซ่ Slip” ขณะเร่งความเร็วกระทันหัน ช่วงที่รถกำลังแล่นอยู่ แอบพอมีอยู่บ้าง แต่โผล่มานานๆๆๆๆ ที ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย

ถ้าต้องการยืดอายุการใช้งานเกียร์ CVT ให้ยาวนาน คงต้องค่อยๆปล่อยเบรก และออกตัวอย่างนุ่มนวล อย่ากระโชกโฮกฮาก และหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียรฺ์ เป็นทุก 40,000 กิโลเมตร มิเช่นนั้นต้องทำใจกับอาการหอน ที่จะตามมาเซย์ Hello กับคุณแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว

4. อย่า “งก” บรรดาสิ่งละอันพันละน้อย…ในห้องโดยสาร

สิ่งที่ต้องขอตำหนิกันตรงๆก็คือ Suzuki จะ “งก” อุปกรณ์เล็กๆ ที่จะช่วยเติมเต็มความสะดวกให้กับเจ้าของรถกันไปถึงไหน?

เริ่มจาก ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร ให้มาแค่ ไฟอ่านแผนที่ตรงกลาง เหนือกระจกมองหลัง เพียงตำแหน่งเดียว แยกฝั่งเปิดซ้าย-ขวา ก็ไม่ได้ด้วยนะ ไฟตรงกลางเพดานหลังคาก็หายไป นี่ยังไม่นับไฟในลิ้นชักเก็บของ กับไฟส่องสว่างตรงช่องวางของใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศด้วยนะ ยังดีที่ อุตส่าห์ ให้ไฟส่องสว่างดวงเล็กๆในห้องเก็บของด้านหลัง ความสว่างเท่ากับหิ่งห้อยหนึ่งตัวตอนใกล้ม้วยมรณา

กระจกหน้าต่างฝั่งคนขับ ก็ให้ระบบ One Touch มาแค่ขาลง ช่วงเลื่อนขึ้น ต้องเอานิ้วเกี่ยวสวิตช์ค้างไว้เอง และถ้าเพิ่มพนักวางแขนข้างคนขับมาให้ก็น่าจะดีกว่านี้ แถมแผงประตูคู่หลัง ก็ไม่มีผ้าบุมาให้เลยแม้แต่น้อย ข้อหลังนี่พอเข้าใจได้ว่า ผู้โดยสารนั่งเบาะหลังคงไม่บ่อย

ยิ่งพอเป็นรุ่น GL บรรดาอุปกรณ์ต่างๆที่เคยมีในรถรุ่นก่อน กลับถูกถอดออกเสียจนเกือบจะเตียนโล่งกันเลย Samrt Entry ที่เคยมีให้ ก็ตัดออก Bluetooth ที่ควรมีมาให้ตั้งแต่รุ่น GL ก็ตัดทิ้ง เห็นแล้วเก๊กซิม! เพราะประเด็นเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องมองต่างมุมที่ชัดเจนมาก ระหว่างลูกค้า ที่อยากได้ของจำเป็น ในราคาที่เหมาะสม กับผู้ผลิตที่ต้องการคุมราคาขายปลีกให้ไม่แพงเกินไป

เฮ้อ กลุ้ม!

*** คู่แข่งในตลาด กลุ่มเดียวกัน มีใครบ้าง? ***

ปี 2018 นี้ รถยนต์กลุ่ม B-Segment ECO Car Hatchback ที่ยังขายกันอยู่ในบ้านเรา ก็มีมากถึง 6 รุ่น นั่นคือ Honda Brio , Mazda 2 Hatchback 1.3 ลิตร , Mitsubishi Mirage ,Nissan March , Nissan NOTE และ Suzuki Swift

Honda BRIO

สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ติดล้อ ผู้น่าสงสาร ต่อให้ พวงมาลัย กับขุมพลัง และ Packaging ของตัวรถ จะเหมาะกับการใช้งานของคนโสด แต่ดูเหมือนว่า Honda ไม่อยากใส่ใจใยดีกับรถคันนี้เสียแล้ว เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพียงเพราะงานออกแบบภายนอกของรถทั้งคันที่ดู Look Cheap ไม่โดนใจลูกค้า จนขายไม่ออกตลอดอายุตลาด ขนาดจับเปลี่ยนโฉม Minorchange กันไปแล้ว สถานการณ์ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย นี่คือตัวอย่างของการโดนจำกัดงบในการพัฒนา รวมทั้งยังศึกษาลูกค้าชาวไทยมาไม่ดีพอ เพราะมัวแต่ไปเอาใจลูกค้าชาวอินเดียจนขายดีที่นั่น ถึขั้นเปิดตัวรุ่นใหม่ Amaze Sedan ที่อินเดีย เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมา เห็นรูปทรงแล้ว ได้แต่ภาวนาว่า รุ่นใหม่ อย่าได้เข้าเมืองไทยเลยเถอะ!

Mazda 2 Hatchback 1.3 ลิตร

จุดเด่นมี 3 ประการหลัก นั่นคือ ความประหยัดน้ำมันที่บ้าระห่ำมากสุดในกลุ่ม ถึง 24.65 กิโลเมตร/ลิตร จากการทดสอบของเรา แถมยังเซ็ตพวงมาลัย กับช่วงล่างมา เอาใจคนชอบขับรถชัดเจน จนเป็นคู่ชกที่เหมาะเหม็งกับ Swift มากที่สุด และมีเส้นสายโฉบเฉี่ยวโดนใจวัยรุ่น แต่ด้วยเหตุที่ Mazda 2 ถูกเซ็ตมาเพื่อรองรับเครื่องยนต์ Diesel 1.5 ลิตร ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า เป็นหลัก พอยกออกแล้ววางเครื่องยนต์เบนซินที่เบากว่า ลงไป จึงกลายเป็นว่า ช่วงล่างให้สัมผัสเบากว่ารุ่น Diesel แถมอัตราเร่ง ก็ยังด้อยกว่า Swift อีกทั้ง ห้องโดยสารยังมีขนาดเล็กและคับแคบกว่าเพื่อน (แต่ยังไม่เท่า Brio) ด้านศูนย์บริการ ภาพรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์กลางๆ

Mitsubishi MIRAGE

การติดตั้งระบบตัวช่วยด้านความปลอดภัยมาให้ โดยเฉพาะ ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ Pre-Collision Brake System มาให้ในรุ่น Minorchange ยังพอจะช่วยประคับประคองให้ Mirage มียอดขายระดับพอไปวัดไปวาได้บ้าง กระนั้น ตำแหน่งแชมป์อัตราเร่ง ก็ถูก Swift ซิวไปครองเรียบร้อยแล้ว หนำซ้ำ ช่วงล่าง พวงมาลัย ไม่ได้ให้ความมั่นใจในการขับขี่เท่าที่ควร ปัญหาจากเกียร์ CVT ก็จะคล้ายกับ Swift นั่นละครับ (ใช้เกียร์ลูกเดียวกันนี่) ศูนย์บริการที่ดี ยังพอมี แต่ส่วนใหญ่ กระจายตัวอยู่ตามต่างจังหวัด เป็นหลักมากกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งหาดีแทบไม่ค่อยได้แล้ว

Nissan March

ตัวเลือกราคาประหยัด สำหรับกลุ่มลูกค้าที่งบน้อย แต่คิดจะยกระดับคุณภาพชีวิต จากมอเตอร์ไซค์ มาเป็นรถเก๋งคันแรกในครัวเรือน นั่นละคือเหตุผลที่ทำให้รุ่นเกียร์ธรรมดา ขายดีสุดในตอนนี้ ขณะที่รุ่น CVT ขายน้อยมาก จุดขายอยู่ที่ความโปร่งของห้องโดยสาร และการทำราคา กระนั้น เรื่องการขับขี่ เป็นหนังคนละม้วนกับ Swift ไปเลย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ก็เซ็ตมาไม่เป็นธรรมชาติ ช่วงล่างก็เบาๆลอยๆ ดีกว่า Mirage นิดเดียว กระนั้น อัตราเร่งก็ยังดีกว่า Note น้องใหม่รุ่นล่าสุด

Nissan NOTE

ต่อให้มีจุดขายสำคัญอยู่ที่ ห้องโดยสารยาวสุดในกลุ่ม นั่งสบายพอใช้ได้ แถมพวงมาลัยกับช่วงล่าง ก็เซ็ตมาได้เฟิร์มจนดีงามเป็นอันดับต้นๆ ในตลาด ทว่า การเลือกวางเครื่องยนต์ HR12DE 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว 1.2 ลิตร ลูกเดิมจาก March / Almera เพื่อหวังตั้งราคาขายให้พอมีกำไร กลับกลายเป็นหนามยอกอกทิ่มแทง ลูกค้าเมิน ขายไม่ดีอย่างที่ตั้งใจ ทางเดียวหลังจากนี้ คือคงต้องรอ Note E-Power Hybrid ที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ในปี 2018 แต่ข่าวร้ายก็คือ อาจจะไม่มาแล้ว เพราะเจอภาษีสรรพสามิต หมวด Hybrid เข้าไป ทำให้ต้องตั้งราคาขายปลีกแพงจนอาจขายไม่ออก ด้านศูนย์บริการ แม้จะมีเรื่องให้ด่าเยอะ แต่ยังมีข้อดีว่า ทำเรื่องเคลมเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย ไม่วุ่นวายนัก

Toyota Yaris Hatchback

ปรับโฉม Minorchange ครั้งใหญ่ ในรอบ 4 ปี แต่งาน วิศวกรรมหลักๆ ยังคงเหมือนเดิม จุดแข็งของ Yaris อยู่ที่ ขนาดห้องโดยสาร ใหญ่โต เมื่อเทียบกับรถคันอื่น (แต่ยังแพ้ Note) ช่วงล่างที่ปรับปรุงให้นุ่มดีขึ้น (แม้จะยังติดแข็งหน่อยๆอยู่ก็ตาม) และความเป็น Toyota ที่คนส่วนมากในประเทศไทย ยังคงไว้วางใจอยู่ ว่าศูนย์บริการเยอะ ยังไงๆ ขายต่อ ก็ได้ราคามือสอง ดีกว่าแบรนด์อื่น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมยังคงครองแชมป์ยอดขายในกลุ่ม ECO Car Hatchback กันต่อไป

***** ซื้อรุ่นย่อยไหน คุ้มกว่ากัน? *****

อย่างไรก็ตาม ถ้าตกลงปลงใจแล้วว่า ขอเลือก Swift มาเป็นรถคู่กาย กันจริงๆแล้วละก็ คงต้องทำการบ้านกันสักหน่อย เพราะ Suzuki เขาจัด Option กับราคา มาให้ทั้งหมด 4 รุ่นย่อย โดยมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ CVT กันก่อน ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา จะตามมาในภายหลัง ดังนี้

  • 1.2 GA CVT 499,000 บาท
  • 1.2 GL CVT 536,000 บาท
  • 1.2 GLX CVT 609,000 บาท
  • 1.2 GLX CVT Navi 629,000 บาท

รายละเอียดอุปกรณ์มาตรฐานของแต่ละรุ่นย่อย น้อง Moo Cnoe ของทีมเว็บเรา สรุปไว้ให้เรียบร้อยแล้ว สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่

รุ่น GA เป็นรุ่นพื้นฐาน เป็นรุ่นที่ เหมาะกับการทำตลาดกลุ่ม รถเช่า หรือ รถบริษัท Fleet Car ทว่า ก็ต้องไปสู้รบกับ Yaris รุ่น 1.2 J ECO ซึ่งมีค่าตัวถูกกว่า Swift 10,000 บาท

รุ่นที่น่าผิดหวังคือ GL เพราะเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม จะพบว่า อุปกรณ์หลายอย่าง ถูกตัดออกไปเพียบ ไม่เว้นแม้กระทั่ง Bluetooth ซึ่งควรจะมีมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถนต์ระดับนี้ได้แล้ว จึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากได้ Swift แต่งบมีจำกัด นั่นแปลว่า อุปกรณ์ที่คุณจะได้รับ ก็จำกัดไปตามราคารถ อย่างไม่ควรเป็นด้วย

GLX คือรุ่นที่ให้อุปกรณ์มาเยอะ เทียบเท่ากับ GLX-Navi และ เป็นรุ่นที่คุ้มราคามากสุด อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจ่ายไหว การเพิ่มเงินอีก 20,000 บาท เพื่อชุด เครื่องเสียงพร้อมหน้าจอมอนิเตอร์ TouchScreen 7 นิ้ว พร้อมระบบนำทาง Navigation System ที่จบครบองค์ประชุมในเครื่องเดียว ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยในบรรดา 4 รุ่นย่อยของ Swift ใหม่ ถ้าคุณไม่อยากไปติดเครื่องเสียงเองข้างนอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีจอมาให้ ก็ยังไม่มีกล้องมองภาพขณะถอยจอดอยู่ดี

เชื่อแน่ว่า Suzuki เอง ก็ฝากความหวังไว้กับ Swift ใหม่ มากพอสมควร เพราะแผนการตลาดในช่วงเปิดตัวเท่าที่เริ่มทะยอยปล่อยออกมาให้เราๆท่านๆได้เห็นกันนั้น ค่อนข้างจัดเต็ม มากกว่า รถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ Suzuki ในยุคของ Suzuki Motor Thailand เคยทำมา

สิ่งที่ผมยังเป็นห่วงอยู่ ก็คือ เสียงจากลูกค้าที่เคยใช้ Swift รุ่นเดิม ทุกคน ยืนยันว่า รถหนะขับใช้งานดี แต่เวลามีปัญหา ทั้ง Defect อาการประจำตัว หรือปัญหาแปลกๆ เฉพาะคัน แล้ว ศูนย์บริการหลายแห่ง ยังไม่อาจพึ่งพาได้ดีเท่าที่ควร

ในบรรดาคนรอบข้างของผมแล้ว ผู้ที่จะเล่าประสบการณ์ ในการเป็นเจ้าของ Swift รุ่นปัจจุบันได้ดีสุด ก็หนีไม่พ้น ผู้ก่อตั้งร่วมของ Headlightmag.com เรานี่แหละ ใช่แล้วครับ พี่แพน Pan Paitoonpong นี่ละ! พี่หมอแหวน พี่สาวของเขา ซื้อ Swift สีน้ำเงินมาใช้งานนานหลายปีแล้ว และอยากจะแชร์ประสบการณ์ ส่วนตัวที่เจอมา ให้ได้อ่านกัน แบบไม่ตัดต่อใดๆทั้งสิ้น ข้างล่างนี้
///////////////////////////////////////

By : Pan Paitoonpong

Swift ที่พี่สาวผมใช้อยู่นั้น ซื้อมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2012 และยังใช้อยู่ในปัจจุบันโดยมีผมเป็นคนคอยดูแลตรวจเช็ครวมถึงนำไปเข้าศูนย์บริการให้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น เมื่อมีบางเรื่องที่คนรีวิวไม่อาจทราบได้ ต้องให้คนใช้จริงเป็นเวลาหลายปี หลายหมื่นกิโลเมตรมาช่วยพิสูจน์ ผมก็ขอช่วยเติมเต็มในจุดนั้น ที่ผ่านมากับรถของพี่สาวผม เราพบข้อเสียของรถรุ่นนี้เช่นกัน

ประการแรกคือความคงทนของวัสดุส่วนประกอบของช่วงล่าง เช่นแผ่นโลหะรองคาลิเปอร์เบรก ซึ่งตอนรถใหม่ๆไม่มีปัญหา แต่พอใช้ไปสัก 20,000 กิโลเมตร ก็จะดังเหมือนช่วงล่างหลวม บางคนอาจนึกว่าลูกหมากพังเพราะมันเร้าประสาทสัมผัสหูมาก แก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแผ่นรองคาลิเปอร์ใหม่ ซึ่งก็จะดังอีกภายในเวลาครึ่งปี ในท้ายสุด ผมเพิ่งทราบจากศูนย์บริการ (สาขาที่ผมไว้ใจ) ว่าต้องเอาจารบีหล่อลื่นทาทุก 10,000 กิโลเมตรแล้วมันจะไม่ดัง..ในเรื่องนี้ศูนย์บริการอื่นๆที่ใช้มาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ไม่เคยมีใครบอกผมว่าต้องทำแบบนั้น

เรื่องที่สองคืออายุการใช้งานของเกียร์ รถของพี่สาวผมขณะนี้ใช้เกียร์ลูกที่ 2 แล้ว ลูกแรกมีอาการชำรุดตั้งแต่ 45,000 กิโลเมตร เพราะเร่งแซงแล้วมีอาการเขย่าสะท้านเหมือนรถสะอึกตั้งแต่ 5,000 รอบเป็นต้นไป บางท่านอาจจะบอกว่าผมตีนหนักไงเกียร์เลยพัง ความจริงก็คือ 95% ของคนที่ใช้รถคันนี้คือพี่สาวผมซึ่งเป็นคนขับรถช้ามาก ผมแค่เอาไปซัดล้างเขม่าเดือนละครั้งเท่านั้น สิ่งที่ผมได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนที่เป็นช่าง คือ Swift รุ่นเก่านั้นไม่มีกรองเกียร์ และคุณไม่สามารถเบิกกรองเกียร์จากศูนย์ Suzuki ได้ เพราะไม่มีขาย จึงมีการแปลงกันเองในหมู่ช่างโดยเอากรองเกียร์ของ Nissan March ที่ใช้เกียร์ Jatco CVT เหมือนกันมาใส่

[เรื่องนี้ ผมขออัปเดตเพิ่มเติม ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผมได้สอบถามฝ่ายเทคนิคทาง Suzuki ซึ่งได้แจ้งว่า

1. เกียร์ Swift มีกรองกระดาษแบบ March

2. ที่ไม่มี Part number ให้เบิกจากศูนย์ Suzuki เพราะทาง Supplier บอกว่ากรองตัวนี้สามารถใช้ได้แบบ “Lifetime” จึงไม่ได้สต็อคชิ้นอะไหล่นี้ไว้ให้เบิก ทำให้ลูกค้า/อู่ไปซื้อของ Nissan มาใส่กันเอง

ผมจึงขอแก้ไขแบบอัปเดตเพิ่มลักษณะนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ลูกค้าไม่เข้าใจผิดจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต และผมขออภัยที่ให้ข้อมูลผิดไปก่อนหน้านี้]

แล้วพอจะเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ ศูนย์บริการบางแห่งก็ปฏิเสธในเบื้องต้นโดยแจ้งว่าน้ำมันเกียร์ของ Suzuki ไม่มีการเปลี่ยน มีแต่เช็คสภาพเท่านั้น แล้วแบบนี้ตะกอนในเกียร์ไม่ดำมืดไปหมดเหรอที่ 40,000 กิโลเมตร? อยากรู้ไปลองดูเพจของอู่นอกที่ซ่อม Suzuki ได้ครับ ถ่ายออกมา ดำทุกคันถ้าเล่นใช้แบบ Lifetime จริง ผมอาจจะหัวโบราณ แต่ยังมีความเชื่ออยู่ว่าไม่มีของเหลวอะไรที่ Lifetime ใช้ได้ยาวขนาดนั้นในที่ซึ่งร้อน ชื้นมาก และรถติดอย่างประเทศไทย ตัวกรองเกียร์เองก็ไม่น่าจะใช้ได้ตลอดอายุรถ และราคาอะไหล่เบิกของ Nissan ก็แค่ 250-260 บาท..ถ้าเป็นรถผม ผมเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเกียร์แบบไม่ต้องมานั่งเสียดายเงิน

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมยังรู้สึกมีความลำบากในการหาศูนย์บริการที่รู้สึกไว้ใจ ในช่วงแรกของอายุรถ ผมใช้บริการที่เพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งก็พอใจในระดับหนึ่ง แต่หลังจากศูนย์บริการแห่งนั้นปิดตัวลง ผมไปใช้บริการที่อื่นๆมาและพบว่าบุคลากรของบางแห่งขาดความรู้ลึกในตัวผลิตภัณฑ์ และมีการให้ข้อมูลลูกค้าผิด เช่นบางแห่ง แจ้งว่าเมื่อทำการ Update Firmware แก้รอบเดินเบาสั่นแล้ว จะเติมได้เฉพาะน้ำมัน 91 กับ 95 ซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียวที่โดนแจ้งแบบนี้ ใครจะบ้าซื้ออีโคคาร์มาเติมน้ำมันแพงๆใช้งาน? เจ้าหน้าที่รับรถของบางแห่ง เถียงผมว่า Suzuki ไม่เคยบอกว่าใช้น้ำมัน E20 ได้ จนผมต้องเดินไปถ่ายรูปสติกเกอร์ E20 ที่ฝาถังมาแล้วถามกลับว่า “ผมจะให้โอกาสคุณอีกครั้ง ตกลงมันใช้ได้หรือเปล่า?” เจ้าหน้าที่จึงหน้าเจื่อนและยอมรับ (หมายเหตุ Firmware ดังกล่าวแก้ไขโปรแกรมเดิมเฉพาะจุดที่รอบเดินเบาเพื่อลดอาการสะท้านเวลาใส่เกียร์ D แล้วเหยียบเบรก..แล้วมันเกี่ยวกับการใช้ E20 ไม่ได้ตรงไหน!!??)

จากประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ผมต้องออกมาเล่าให้ฟัง เพราะหน้าที่ของการเป็นคนทำงานของ Headlightmag ผมไม่ได้มีหน้าที่มาเชียร์ หรือมาด่าอย่างเอาเป็นเอาตาย หน้าที่ของผมคือ ลอง – รู้ – เรียน- เล่าให้คนอ่านฟัง แล้วคนอ่านไปคิดเอาเองว่ามันดีหรือไม่ดีในสายตาเขา การที่คนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบรถสักคัน ไม่ใช่เรื่องของผม แต่พวกเขาทุกคนจะได้ความจริงในหัวของพวกเราไปทุกครั้งที่พวกเขาต้องการทราบเรื่องต่างๆของตัวรถ

///////////////////////////////////////

 

นี่คืออีกเสียงหนึ่ง จากผู้บริโภค คนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นลูกค้า Suzuki จากบรรดาคนรอบข้างทั้งหมด รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งอยากจะฝากไปถึง ทุกๆคน ใน Suzuki Motor Thaland รวมทั้ Suzuki Motor Corporation

เราอยากเห็น Suzuki เติบโตได้มากกว่านี้ เป็นแบรนด์ที่ เข้าไปอยู่ในใจคนไทยมากกว่านี้ มีลูกค้ารักในระยะยาว ยิ่งกว่านี้ ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีกับทุกๆคน ที่เกี่ยวข้อง

ผมเชื่อว่า สำนักงานใหญ่ ก็วางมาตรฐานต่างๆเอาไว้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้วละ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ดีลเลอร์ กว่า 110 แห่ง ทั่วประเทศ นี่แหละ ที่จะมีมาตรฐานในการดูแลลูกค้ามากน้อยแตกต่างกัน

เท่าที่รับรู้มา บางดีลเลอร์ก็ดีมากๆ ลูกค้ารัก เสียงชมมากกว่าด่า แต่ดีลเลอร์ภาคใต้ กับ กทม. บางราย (ขอไม่ระบุนามละกัน) โอ้โห ฟังมาแต่ละเรื่องแล้ว อยากจะเดินไปไล่ช่างในศูนย์บริการ ให้ลาออกไปขายเต้าทึง แทน น่าจะดีซะกว่า!

อยากจะขอถือโอกาสนี้ เตือนสติ ดีลเลอร์ทุกรายนะครับ ว่าอย่ามัวแต่ห่วงทำยอดขายรถยนต์ใหม่กันเพียงอย่างเดียวนะครับ อย่ามัวคิดถึงแต่กำไร ต้นทุน ความอยู่รอด ของคุณ เป็นหลัก จนลืมไปว่า การบริการหลังการขาย ที่ดี จะทำให้ลูกค้า รัก และเข้ามาใช้บริการกับคุณ ตลอดไป…

รู้ไหมว่า ดีลเลอร์ ที่ พี่แพน เขาประทับใจหนะ ไม่ต้องบริการเลิศเลอหรอก ขอแค่ว่า คุยกับลูกค้ารู้เรื่อง และชำนาญในการซ่อมบำรุง หรือวิเคราะห์ปัญหา และหาทางช่วยเหลือลูกค้าด้วยความเต็มใจ เพียงเท่านี้แหละ ต่อให้ รถของลูกค้าจะเจอ Defect บ้าบอคอแตกขนาดไหน ถ้าคุณดูแลลูกค้าดี พวกเขาก็ยินดีปล่อยให้คุณแก้ปัญหากันไปด้วยความสบายใจ

อนาคตแบรนด์ Suzuki มันไม่ได้อยู่ในมือของ สำนักงานใหญ่ อ่อนนุช หรือ ที่ Hamamatsu เท่านั้น แต่มันอยู่ในมือของคุณนะครับเพราะ คุณ คือ ด่านแรกที่จะทำให้ลูกค้า ประทับใจในแบรนด์ Suzuki หรือไม่ก็เดินผละจากไปเลย
ยังคงชม และเตือน ด้วยรักและห่วงใย เหมือนเช่นทุกรีวิวที่ผ่านมา!

———————–///———————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
โชว์รูม Suzuki KLANG AUTO BKK
ซูซูกิ คลังออโต บีเคเค สาขา แยกไฟฉาย

เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

 Pan Paitoonpong / Moo Cnoe
สำหรับการเตรียมข้อมูลประกอบบทความทั้งหมด


J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค และภาพงานออกแบบ เป็นของ Suzuki Motor Corporation)

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
13 กุมภาพันธ์ 2017

Copyright (c) 2018 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
Febuary 13th,2018
แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE