วิกฤติโรคระบาด ทางเดินหายใจ Covid-19 ที่เริ่มต้นขึ้นมา (อย่างเป็นทางการ) ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2019 จนถึงวันนี้ ผ่านไปแล้วถึง 5 เดือน นอกจากจะทำให้ผู้คนทั่วโลก เจ็บป่วยเกินกว่า 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แล้ว ทุกประเทศทั่วโลก จำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรค ตั้งแต่ การปิดสถานที่ต่างๆ ไปจนถึงขั้นปิดเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชะงักงันของอย่างหนักหน่วงของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์เอง แทบทุกรายต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีตั้งแต่ มาตรการให้พนักงานทำงานจากบ้าน เท่าที่จำเป็น (WFM : Work from Home ที่เรามักเผลออ่านกันว่า WTF กันนั่นแหละครับ) บางคนก็ยอมโดนลดเงินเดือนชั่วคราว อาจจะ 10 – 30 % ก็ว่ากันไป แต่ถ้าใครเป็นพนักงานในไลน์ผลิต อาจเสียงลุ้นกับการโดนเลิกจ้างแบบไม่ต่อสัญญา บางรายถึงขั้นต้องปลดคนงานประจำ หรือหนักถึงขั้น ปิดโรงงาน ในบางประเทศ กันเลยทีเดียว

กระนั้น สำหรับค่ายที่มีแผนจะต้องเปิดตัวรถยนต์ตามกำหนดการเดิมที่วางเอาไว้มาตั้งแต่หลายปีก่อน ก็ยังจำเป็นต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อหวังจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในภาพรวมว่า บริษัทเราจะยังคงยืนหยัดอยู่ ไม่ทิ้งเมืองไทย (เหมือนอย่างค่าย GM) รวมทั้งสร้างยอดขาย หรือผลประกอบการที่ดีที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ เพื่อไม่ให้ตัวเลขสรุปในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ ย่ำแย่จนเกินไป

Toyota เองก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เต็มๆ แม้ว่าพวกเขาจะเคยมีรถยนต์นั่ง ชื่อเดียวกับเจ้าไวรัสบ้านี่ (Toyota Corona) ทำตลาดตั้งแต่ช่วงปี 1955 – 2005 ก็ตาม แต่พวกเขาก็เลิกใช้ชื่อนี้ไปร่วมทศวรรษแล้ว และ Toyota เอง ก็มีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง บางรุ่น อย่าง Yaris Cross มีการวางแผนจะเปิดตัวในงาน Geneva Motor Show พองานยกเลิก ก็ต้องเปลี่ยแผน มาจัดเปิดตัวทาง On-Line แทน บางรุ่น ใช้วิธี ส่งข่าว Press Release ออกทาง Website สำหรับสื่อมวลชนของตน เพียงเท่านั้น (อย่าง Minivan Toyota Sienna ใหม่ สำรับตลาดอเมริกาเหนือ) หรือบางรุ่น อาจจะพอจัดให้สื่อมวลชน มาถ่ายรูป ไปทำข่าว ภายใต้มาตรการจำกัดระยะห่าง Physical Distancing กันไป

Toyota Hilux Revo Minotchange มีกำหนดเปิดตัว ในวันที่ 4 มิถุนายน 2020 ที่จะถึงนี้ และเป็นรถยนต์รุ่นสำคัญที่ Toyota คาดหวังอยู่ว่า ควรจะช่วยสร้างยอดขาย ภายใต้สภานการณ์ที่แสนจะกดดันแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะไปพบกับรถรุ่นปรับโฉมใหม่ ที่มีกระจังหน้า เหมือนกับ อ่างบัวเลี้ยงปลา ผมอยากจะพาคุณย้อนกลับไปดูรถรุ่นปัจจุบันสักเล็กน้อย เพื่อเตรียมพบกับรถรุ่นใหม่ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ตำนานของรถกระบะ ตระกูล Hilux นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก 2 เส้นทางที่ต่างกัน Toyota เองเริ่มทำผลิตรถกระบะมาตั้งแต่ Toyopet RK23 เปิดตัวเมื่อเดือน เมษายน 1956 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Toyopet Stout ในเดือนมิถุนายน 1959 อีก 1 ปี ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม 1960 รุ่นที่ 2 ของ Stout ก็ออกสู่ตลาด ระหว่างนั้น Toyota ก็เห็นว่าตลาดญี่ปุ่น ต้องการรถกระบะขนาดเล็กลงจากเดิม จึงเริ่มพัฒนา และเปิดตัว Toyopet Light Stout ในเดือนกันยายน 1963

บนเส้นทางคู่ขนานในขณะเดียวกัน Hino บริษัทผลิตรถบรรทุก ก็ออกรถกระบะ Hino Briska เมื่อเดือน เมษายน 1961 จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 1965 หลังควบรวมกิจการกับ Toyota พวกเขาก็เปิดตัว Hino Briska รุ่นเครื่องยนต์ 1,300 ซีซี. จนกระทั่ง Toyota กับ Hino ก็เริ่มคิดได้ว่า พวกเขาน่าจะจับรถกระบะขนาดเล็ก มาพัฒนาร่วมกัน และขายในชื่อเดียว โดย Hino Motors, Ltd. โรงงาน Hamura Plant จะเป็นเพียงผู้รับผิดชอบการออกแบบและพัฒนารถทั้งคัน ในทุกด้าน แต่จะไม่ทำตลาดเอง ปล่อยให้ Toyota ซึ่งมีฐานลูกค้ากว้างกว่า เป็นผู้จำหน่าย นั่นคือจุดเริ่มต้นของ รถกระบะตระกูล Hi-Lux ซึ่งย่อมาจาก Higly-Luxurious หรือ ความหรูหรา เหนือระดับกว่า Toyopet Stout ที่มีขนาดใหญ่กว่า นั่นเอง


(Photo : Toyota Zambia)

Toyota Hilux รุ่นแรก RN10 Series เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1968 วางเครื่องยนต์รหัส 2R เบนซิน 4 สูบ OHV 1,490 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 70 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.5 กก.-ม.ที่ 2,600 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ยกมาจาก Toyopet Corona RT40 และ รถตู้ ToyoAce โดย Hilux รุ่นแรกนี้ ถูกส่งเข้ามาขายในเมืองไทย ในรูปแบบรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคันก่อน ไม่เพียงเท่านั้น Toyota ยังส่งออก Hilux รุ่นแรก ไปเปิดตลาด รถกระบะขนาดเล็ก Compact Truck ในสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายน 1969 เพื่อแข่งกับรถกระบะ Datsun จาก Nissan Motor อีกด้วย

ส่วนรุ่นที่ 2 RN20 Series เปิดตัว เมื่อเดือนพฤภาคม 1972 วางเครื่องยนต์ 12R เบนซิน 4 สูบ OHV 1,587 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 83 แรงม้า (PS) ที่ 5,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ (คันเกียร์ที่คอพวงมาลัย) และเครื่องยนต์ 18R เบนซิน 4 สูบ OHC 1,968 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ (Column Shift คันเกียร์ที่คอพวงมาลัย หรือที่พื้นรถแบบ Floor Shift) และเกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ (คันเกียร์ที่พื้นรถ Floor Shift)

จากนั้น จึงมีการตั้งโรงงานในเมืองไทย ที่ สำโรง สมุทรปราการ (ยังคงดำเนินงานถึงทุกวันนี้) และเริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อเดือนกันยายน 1975 ถือว่า Hilux รุ่นที่ 2 คือ รุ่นแรกที่ถูกนำมาประกอบในบ้านเรา และเป็นรุ่นที่ โรงงาน Hino ในญี่ปุ่น ส่งออกสู่ตลาดอเมริกาเหนอ จนขายดิบขายดี ได้รับความนิยมถึงขั้นนำไปทำเป็นรถบ้าน อีกด้วย

รุ่นที่ 3 “Hilux California” เปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อ 1 กันยายน 1978 วางเครื่องยนต์ 12 R-J เบนซิน 4 สูบ OHV 1,587 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 80 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ เลือกได้ทั้งแบบ Floor Shift หรือ Column Shiftก่อนจะมีรุ่นเครื่องยนต์ Diesel ตามมา เมื่อ 3 ธันวาคม 1979 วางเครื่องยนต์ รหัส L Diesel OHC 4 สูบ 2,188 ซีซี 72 แรงม้า (PS) ที่ 4,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ เลือกได้ทั้งแบบ Floor Shift หรือ Column Shift รุ่นนี้ ได้รับความนิยมในบ้านเรา จนได้ฉายาว่ารุ่น “ม้ากระโดด” (รุ่นไฟกลม) และรุ่นไฟเหลี่ยม 5-Star มี ดาราดังในยุคนั้น อย่าง กรุง ศรีวิไล เป็น Presenter ภาพยนตร์โฆษณา ในเวลานั้น

รุ่นที่ 4 เปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อ 4 พฤษภาคม 1983 แต่ยังคงทำตลาดควบคู่ไปกับรถรุ่นที่ 3 ไปด้วยพร้อมกัน คราวนี้ เพิ่มตัวถัง Double Cab 4 ประตู ทั้งรุ่น 4×2 และ 4×4 วางเครื่องยนต์ 2Y-J เบนซิน 4 สูบ OHV 1,813 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.5 กก.-ม.ที่ 3,400 รอบ/นาที และรหัส 3Y-J เบนซิน 4 สูบ OHV 1998 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์เดี่ยวท่อคู่ดูดลงล่าง 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

ส่วนรุ่น Diesel นอกจากเครื่องยนต์ L ที่โยกมาจากรุ่นเดิมแล้ว ยังเพิ่มเครื่องยนต์ 2L Diesel 4 สูบ  OHC 2,446 ซีซี จ่ายเชื้อเพลิงด้วยปั้มหัวฉีด BOSCH VE 83 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม. ที่ 2,400 รอบ/นาที ซึ่งเครื่องยนต์ 2L เป็นขุมพลังหลัก ของ Hilux รุ่นที่ 4 เวอร์ชันไทย ที่เปิดตัวในปี 1985 ด้วยชื่อ Hilux Hercules ก่อนที่จะปรับโฉมกระตุ้นตลาดเล็กน้อย ด้วยชื่อ Hilux Hercules HERO ดึง บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ มาเป็น Presenter ในภาพยนตร์โฆษณา ต่อเนื่องจนถึงปี 1988 ซึ่งมีการปรับโฉม Minorchange ครั้งสุดท้าย มาพร้อมกับการเพิ่มตัวถัง Xtra Cab เป็นครั้งแรก

รุ่นที่ 5 เปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อเดือนกันยายน 1988 ถูกออกแบบให้เน้นความภูมิฐาน ร่วมสมัย และขับขี่สบายกว่าเดิม Volkswagen ให้ความสนใจ เซ็นสัญญาข้อตกลง เมื่อเดือนมิถุนายน 1987 นำ Hilux รุ่นนี้ ไปประกอบในโรงงานที่ Hanover เยอรมนี จำนวน 15,000 คัน สายการผลิตเริ่มต้นเมื่อ 10 มกราคม 1989 ทำตลาดในชื่อ Volkswagen Taro จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1996

เวอร์ชันไทย เปิดตัว เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1989 ในชื่อ Hilux Mighty-X วางเครื่องยนต์ 2L ที่ยกระดับให้แรงขึ้นเป็น 89 แรงม้า (PS) เปิดตัวด้วยหนังโฆษณา ม้าบินทำจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทย เริ่มทำตลาดด้วยตัวถังกระบะ Single Cab ก่อน จากนั่นรุ่น Xtra Cab จึงตามมาในอีกไม่นานหลังจากนั้น สำหรับตลาดเมืองไทย มีการปรับโฉม Minorchange เปลี่ยนกระจังหน้า และรายละเอียดนิดๆหน่อยๆ ทุกๆ 2 ปี และมีการเพิ่มเครื่องยนต์ เบนซิน ให้เลือกในช่วงปลายอายุตลาด

รุ่นที่ 6 เปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อ 3 กันยายน 1997 เป็นการนำ Mighty-X รุ่นเดิม มาเปลี่ยนเปลือกตัวถังและภายใน หลายจุด แต่ยังคงใช้ชิ้นส่วนร่วมกับรถรุ่นเดิมได้พอสมควร เวอร์ชันญี่ปุ่น เปิดตัวด้วยเครื่องยนต์ 1RZ-E เบนซิน 4 สูบ OHC 1,998 ซีซี หัวฉีด EFI 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 2,600 รอบ/นาที และเครื่องยนต์ 5L Diesel 4 สูบ OHC 2,985 ซีซี ปั้มหัวฉีดจาก BOSCH  91 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.5 กก.-ม.ที่ 2,400 รอบ/นาที ในญี่ปุ่น ทำตลาดทั้งตัวถัง Single Cab 4×2 ตัวเตี้ย , Xtra Cab 4×2 / 4×4 และ Double Cab 4×4

รุ่นนี้มาเปิดตัวในเมืองไทย กลางปี 1998 ในชื่อ Hilux Tiger ด้วยแคมเปญโฆษณา ที่ใช้สตันท์แมนระดับโลกอย่าง Remy Julian มาถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา ร่วมกับพระเอกหน้าใหม่ Peter Crop Direndal และใหม่ เจริญปุระ Hilux รุ่นนี้ เป็นรุ่นแรกที่เพิ่มเครื่องยนต์รหัส 5L ทำตลาดร่วมกับ 2L เดิมที่สงวนไว้กับรุ่นกระบะส่งของ จนกระทั่ง กลางปี 2001 Toyota จึงนำเครื่องยนต์ 1KZ Common-rail D4-D มาขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พร้อมกับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้กับ Hilux Tiger ลากทำตลาดมาจนถึงปี 2004

พอถึงรุ่นที่ 7 Toyota เริ่มมองว่า ตลาดเมืองไทย มียอดขายรถกระบะ Compact Truck มากที่สุดในโลก รองจากสหรัฐอเมริกา เหมาะจะเป็นฐานการผลิตรถกระบะแบบนี้ ให้กับทั่วโลก อีกทั้งพวกเขาหมายมั่นปั้นมือจะเอาชนะคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Isuzu ให้จงได้ ขณะเดียวกัน Toyota เอง ก็อยากจะจับเอาโครงการพัฒนารถยนต์อเนกประสงค์สำหรับ Indonesia อย่าง Kijang รุ่นต่อไป ให้ยกระดับเป็น Minivan บน Frame Chassis ของ Hilux เพื่อต่อยอดส่งออกสู่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้ง ยกระดับ SUV/PPV รุ่น Sport Rider ที่เปิดตัวในเมืองไทย เมื่อเดือนธันวาคม 1998 ให้ดีขึ้นยิ่งกว่ารุ่นเดิมในระดับก้าวกระโดด เพื่อส่งออกไปพร้อมกันด้วย

Toyota จึงย้ายฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน มายังประเทศไทย โดยสร้างโรงงานที่บ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2003 และเริ่มเดินเครื่องสายการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2004 ซึ่งผลผลิตในเวลานั้น ก็คือ Toyota Hilux Vigo ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multi-Purpose vehicle) ที่เริ่มต้นขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น มาเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2004 ก่อนที่ Fortuner และ Kijang Innova จะเปิดตัวตามมาในช่วงปลายปี 2004 เช่นเดียวกัน

การเปิดตัว Hilux Vigo ในปี 2004 – 2015 ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงของ Toyota จากผลของการออกแบบตัวรถให้ใหญ่โตขึ้น เครื่องยนต์แรงขึ้น แต่สามารถเปิดตัวได้ด้วยราคาที่ถูกกว่า Hilux Tiger รุ่นเดิม คันละ 10,000 – 50,000 บาท  รวมทั้งการกระตุ้นยอดขาย ด้วยแคมเปญการตลาดมากมายก่ายกอง ใช้ดารา นักร้อง ศิลปิน นักแสดง มาเป็น Presenter เปลืองมากจนจำไม่หวาดไหว ทำให้สามารถครองตำแหน่งแชมป์ด้านยอดขาย 9 ปีซ้อน มียอดขายสะสมภายในประเทศไทยกว่า 1,650,000 คัน ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ภายใต้โครงการ IMV (Hilux Vigo, Fortuner และ Innova) ไปจำหน่ายในต่างประเทศทั่วโลก (ยกเว้นอเมริกาเหนือ) สูงถึง 2,400,000 คัน

ช่วงปี 2012 เพื่อสานต่อความสำเร็จของ Hilux Vigo พวกเขาจึงเริ่มซุ่มพัฒนารถกระบะ Hilux รุ่นใหม่ เจเนอเรชันที่ 8 ภายใต้โครงการ IMV2 (Innovative International Multi-Purpose vehicle 2) จนกระทั่งสำเร็จ และพร้อมอวดโฉมต่อสายตาธารณะชนเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2015 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการ BITEC บางนา โดยเปลี่ยนชื่อสร้อยจาก Vigo มาเป็น Revo ซึ่งมาจากคำว่า “Revolution” หรือ “การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง” นั่นเอง

Mr. Hiroki Nakajima, Chief Engineer ของโครงการพัฒนารถกระบะ Hilux Revo กล่าวว่า “ทีมวิศวกร Toyota ได้สร้างสรรค์ Hilux Revo ด้วยแรงบันดาลใจจากการใช้งานจริงของลูกค้าในทุกสภาพถนนทั่วโลก โดยรุ่นนี้ จะเน้นไปที่การเพิ่มความแกร่ง (Tough) มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ตัวรถ ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม และพร้อมรองรับทุกงานหนัก โดยเฉพาะในเขต South Africa ,ประเทศไทย และ Australia โดยมีจุดเด่นหลักๆดังนี้

– เครื่องยนต์ใหม่บนโครงสร้างแชสซีส์ใหม่ ให้แรงบิดที่สูงขึ้น ลดระดับเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง มากขึ้น
– ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ แบบ 6 จังหวะใหม่ ที่ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานเต็มสมรรถนะขึ้น
– ระบบกันสะเทือนใหม่ที่นุ่มนวลยิ่งขึ้น ถูกออกแบบเป็นพิเศษให้เหมาะกับสภาพถนนของประเทศไทยโดยเฉพาะ ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่เฉกเช่นรถ SUV ระดับหรู
– ดีไซน์ใหม่ที่แข็งแกร่งและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์
– ระบบความปลอดภัยเหนือระดับกว่ารถรุ่นเดียวกัน

ไม่เพียงแต่จะเปิดตัวในเมืองไทยเท่านั้น Toyota ยังส่งออก Hilux Revo จากเมืองไทย กลับไปขายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 12 กันยายน 2017 นับเป็นการกลับมาทำตลาดของ Toyota Hilux ในญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก หลังจากที่หายไปจากตลาดบ้านตัวเองนานถึง 13 ปี

หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย แม้จะเริ่มส่งมอบได้ทันที อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับจากลูกค้าในช่วงแรกหลังเปิดนั้น ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนการเปิดตัว Hilux Vigo เมื่อกลางปี 2004 ยอดขายกลับไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่คาดหวังกันไว้ เนื่องจากรูปลักษณ์ด้านหน้า ไม่โดนใจลูกค้าเท่าที่ควร อีกทั้งในช่วงนั้น คู่แข่งรุ่นสำคัญ อย่าง Isuzu ก็ส่ง Isuzu D-Max Minorchange ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีเครื่องยนต์ Downsizing ขนาด 1.9 ลิตร ออกสู่ตลาด ในช่วงปลายปี 2015 เล่นเอาชาว Toyota ถึงกับเหงื่อตกผลักดันยอดขายกันเหนื่อยพอสมควร กระนั้น

Hilux Revo ทำยอดขายตลอดช่วงครึ่งหลัง ปี 2015 ไปได้ทั้งหมด 80,971 คัน เมื่อรวมกับยอดขายรุ่นเดิม อย่าง Hilux Vigo Champ ที่มีจำนวน 39,141 คัน ทำให้ยอดขายรวม ประจำปี 2015 ยังคงขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มรถกระบะขนาด 1 ตัน แซงหน้าคู่แข่งตลาดกาล อย่าง Isuzu D-Max ไปอย่างเฉียดฉิว ส่วนปี 2016 นั้น สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า Isuzu D-Max Minorchange ทำยอดขายได้ดีกว่า Toyota มาทั้ง 11 เดือน แต่จู่ๆ ยอดขายประจำเดือน ธันวาคม 2016 ก็พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ ส่งผลให้ยังคงรักษาอันดับ 1 เอาไว้ได้ ด้วยยอดขายจำนวน 120,444 คัน  ห่างจาก D-Max (120,001 คัน) แค่เพียง 439 คันเท่านั้น…….

ในช่วงต้นปี 2017 ด้วยกระแสความร้อนแรงของ Isuzu D-Max หลังจากที่ปรับหน้าตาให้ดูลงตัวมากขึ้น และเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ที่เน้นความประหยัด ทำให้ Toyota ต้องรีบออกแบบด้านหน้าของ Hilux Revo รุ่นปรับโฉม Minorchange ทั้งเวอร์ชันปกติ และเวอร์ชันตกแต่งพิเศษ อย่าง Hilux Revo Rocco ให้เสร็จทันกำหนดเปิดตัวครั้งแรก ก่อนงาน Motor Expo จะเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2017 แต่ทว่ายังมาช้าเกินไป เลยทำให้ยอดขายประจำปี 2017 โดนเบียด หล่นไปอยู่อันดับ 2 ด้วยจำนวน 109,988 คัน (D-Max 133,794 คัน)

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วงต้นปี 2018 ก็ค่อยๆ กลับมาตีตื้น หลังจากที่ Toyota พยายามเน้นทำตลาดรุ่นกระบะตัวเตี้ย ในชื่อ Hilux Revo Z Edition รวมทั้งติดตั้งระบบสื่อสาร T-Connect Telematics เพิ่มเข้ามาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่นบนๆ ของ Hilux Revo พร้อมกับเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Rocco 2.4 ลิตร เมื่อเดือนสิงหาคม บวกกับสารพัดแคมเปญการตลาด เพื่อให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ Hilux Revo ขึ้นนำ D-Max ได้อีกครั้ง และฉีกแซงห่างออกไปอีกจนท้ายที่สุด ก็สามารถกวาดยอดขายประจำปี 2018 ไปได้สูงถึง 150,928 คัน (D-Max 149,578 คัน)

Toyota Hilux Revo Rocco รุ่น Double Cab มีมิติตัวถังภายนอกยาว 5,345 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,085 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,535 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 217 มิลลิเมตร

ในขณะที่รุ่น Smart Cab ทีมิติตัวถังภายนอกยาว 5,345 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,810 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,085 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,535 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,550 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 216 มิลลิเมตร ทั้ง 2 ตัวถัง มีขนาดความจุถังน้ำมันเท่ากัน อยู่ที่ 80 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรุ่นสำคัญอย่าง Isuzu D-Max ที่มีมิติตัวถังยาว 5,265 มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,810 (รวมราวหลังคา) ความยาวฐานล้อ 3,125 มิลลิเมตร พบว่า Revo Rocco ยาวกว่า 65 มิลลิเมตร แคบกว่า 15 มิลลิเมตร สูงกว่า 5 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 40 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Ford Ranger ที่มีมิติตัวถังยาว 5,362 มิลลิเมตร กว้าง 1,860 มิลลิเมตร สูง 1,815 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,220 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco สั้นกว่า 17 มิลลิเมตร แคบกว่า 5 มิลลิเมตร สูงเท่ากัน ฐานล้อสั้นกว่า 135 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Mazda BT-50 Pro ที่มีมิติตัวถังยาว 5,365 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,821 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,220 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco สั้นกว่า 20 มิลลิเมตร กว้างกว่า 5 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 6 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 135 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Mitsubishi Triton ที่มีมิติตัวถังยาว 5,300 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,795 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,000 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco ยาวกว่า 45 มิลลิเมตร กว้างกว่า 40 มิลลิเมตร สูงกว่า 20 มิลลิเมตร ฐานล้อยาวกว่า 85 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Nissan Navara ที่มีมิติตัวถังยาว 5,255 มิลลิเมตร กว้าง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,785 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,150 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco ยาวกว่า 90 มิลลิเมตร กว้างกว่า 5 มิลลิเมตร สูงกว่า 30 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 65 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดกลุ่มนี้ อย่าง MG Extender ที่มีมิติตัวถังยาว 5,365 มิลลิเมตร กว้าง 1,900 มิลลิเมตร สูง 1,850 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,155 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco สั้นกว่า 20 มิลลิเมตร แคบกว่า 45 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 35 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 70 มิลลิเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Chevrolet Colorado (Trail Boss) ที่เหลืออยูในสต็อก อีกไม่เกิน 100 คัน ณ วันที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ ซึ่งมีความยาว 5,361 มิลลิเมตร กว้าง 1,872 มิลลิเมตร สูง 1,795 มิลลิเมตร ความยาวฐานล้อ 3,096 มิลลิเมตร จะพบว่า Revo Rocco สั้นกว่า 16 มิลลิเมตร แคบกว่า 17 มิลลิเมตร สูงกว่า 20 มิลลิเมตร ฐานล้อสั้นกว่า 11 มิลลิเมตร

งานออกแบบภายนอกตัวรถ ด้านหน้า มาพร้อมกระจังหน้าทรง 6 เหลี่ยม ที่ได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากรถกระบะค่ายเดียวกัน อย่าง Tundra และ Tacoma เพื่อเอาใจลูกค้าส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ชื่นชอบความแข็งแกร่ง บึกบึน เช่นเดียวกับ Hilux Revo Minorchange รุ่นปกติ แต่ชิ้นส่วนกรอบกระจังหน้า คิ้วเหนือฝากระโปรง และกรอบชุดไฟตัดหมอก จากเดิมที่เป็นวัสดุชุบโครเมียม ก็ถูกพ่นทับด้วยสีเทาดำ และสีดำ

ในขณะที่ชุดไฟหน้าแบบ Projector Lens LED ไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED (LED Daytime Running Light) รวมถึงชุดไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ยังคงเหมือนกับ Hilux Revo รุ่นปกติ

ด้านข้าง ถือเป็นจุดที่มองเห็นความพิเศษของ Hilux Revo Rocco ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด เพราะนอกจากจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งพิเศษ คิ้วเหนือซุ้มล้อสีดำด้าน สปอร์ตบาร์สีเทาสลับดำ และสติ๊กเกอร์รุ่น Rocco แล้ว ยังเปลี่ยนฝาครอบกระจกมองข้างแบบมีไฟเลี้ยวในตัวเป็นสีดำเงา เปลี่ยนมือจับเปิดประตูเป็นสีดำเงา รวมถึงเปลี่ยนล้ออัลลอยสีดำ ขนาด 18 นิ้ว ลายใหม่ พร้อมยางแบบ White Letters อีกด้วย

ด้านท้ายรถ ชุดไฟท้ายและไฟเบรกดวงที่ 3 ยังคงเหมือน Hilux Revo รุ่นปกติ แต่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่ง สปอร์ตบาร์สีดำ พร้อมพื้นปูกระบะแบบ Built-in มาให้จากโรงงาน ชุดมือจับเปิดฝาท้าย พร้อมระบบล็อก และกล้องมองหลังแบบ Built-in เปลี่ยนจากวัสดุชุบโครเมียมมาเป็นสีดำด้าน กันชนหลังตกแต่งด้วยการพ่นสีเทาดำ เสริมด้วยการ์ดกันชนหลังที่เป็นพลาสติดสีดำด้าน เพื่อเพิ่มความดุดันเข้าไป

ทุกรุ่นย่อย จะสวมล้ออัลลอยสีดำเงา ลาย Y-Spoke 5 ก้าน เฉพาะรุ่น Rocco ขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยาง ยาง Dunlop Grandtrek AT ตัวอักษรสีขาว ขนาด 265/60 R18 พร้อมทั้งติดตั้งยางอะไหล่แบบมาตรฐาน เช่นเดียวกับล้อทั้ง 4

รุ่นที่เรานำมาทำบทความรีวิวครั้งนี้ มีทั้ง Rocco 2.8 G เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ 4×4 (สีขาว) และ Rocco 2.4 G Prerunner เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ (สีแดง)

ระบบกลอนประตู เหมือนกับรุ่น 4 Door 2.8 G คือใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล Keyless Smart Entry ที่มีหน้าตาหรูหรามีระดับมากขึ้น สัญลักษณ์ Graphic ประจำรุ่น ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับกระจังหน้าแบบล่าสุดที่เปลี่ยนแปลงไป

วิธีใช้งาน เพียงแค่พกกุญแจไว้กับตัว แล้วเดินเข้าไปใกล้รถ แค่นั้นเอง กระนั้น ยังต้องกดปุ่มบนมือจับเพื่อสั่งปลดล็อกก่อน แล้วจึงเปิดประตูรถได้ แต่ถ้าต้องการจะล็อกประตู ก็เพียงแค่ใช้นิ้ว กดลงบนปุ่มที่มือจับ อีกครั้งหนึ่ง

ตัวรีโมทกุญแจมีสัญญาณร้อง Alarm ให้กดเตือนเวลาที่คุณเห็นผู้ไม่หวังดี เดินเฉียดกรายย่างเข้าใกล้รถของคุณมากไป นอกจากนี้ ROCCO ยังมี สญญาณกันขโมย และระบบกุญแจแบบ Immobilizer ติดตั้งมาให้จากโรงงาน เหมือนเช่นรุ่น 2.8 G การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีกดปุ่ม Push Start

ส่วน Rocco 2.4 ลิตร จะมาพร้อม กุญแจ Remote พร้อมสวิตช์ล็อก – ปลดล็อก และสวิตช์กดส่งเสียงเตือนผู้มาย่างกราย ดอกกุญแจ ซ่อนไว้ และกดปุ่มให้กางออกได้แบบมีดพกเดินป่า การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีเสียบกุญแจแล้วบิดสตาร์ตที่คอพวงมาลัยเหมือนรถยนต์ปกติทั่วไป

สำหรับผู้ที่มีร่างกายปกติ การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ทำได้สะดวกกว่าที่คาดคิด เหมือนกับ Fortuner เพราะทั้งคู่ถูกออกแบบให้มีช่องทางเข้า และชุดบานประตู ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ข้อดีก็คือ มีมือจับ ติดตั้งบรเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ซึ่งช่วยให้คุณโหนตัวหลังก้าวขึ้นไปยืนบนบันไดรถ ก่อนหย่อนก้นลงนั่งบนเบาะได้สะดวกขึ้น

แต่สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู่ที่มีปัญหาด้านกายภาพ การปีนขึ้นลงจาก Revo 4×4 หรือ 4×2 PreRunner ทุกคัน ต้องใช้เรี่ยวแรงและพละกำลังค่อนข้างมาก จนอาจส่งผลต่ออาการบาดเจ็บที่มีอยู่แล้วดั้งเดิมได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับรถกระบะหรือ SUV แบบยกสูงที่สร้างจากพื้นฐานรถกระบะ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ อยู่แล้ว

ชุดบันไดด้านข้าง ออกแบบขึ้นใหม่ให้มีความกว้างช่วงบันได เพิ่มขึ้น กระนั้น พื้นผิวบนบันได ยังคงเป็นพลาสติกกัดลายสากๆธรรมดา อาจก่อโอกาสให้คุณลื่นหกล้มได้ ในวันฝนตกหนัก หรือเหยียบโคลนเลนเพื่อก้าวขึ้นรถด้วยความจำเป็น ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

แผงประตูด้านข้าง ขึ้นรูปจาก พลาสติก HDPE (High-Density Polyethlyne) ประดับด้วย Trim พลาสติกตกแต่งสีดำเงา Piano Black มือจับเปิดประตูด้านใน เป็นพลาสติกชุบโครเมียม ให้ดูสมฐานะของการเป็นรุ่น Top of the Line อีกนิด มีพนักวางแขนติดตั้งอยู่ในระดับเหมาะสมดีแล้ว แถมยังหุ้มหนังในบริเวณดังกล่าว เพื่อความสบายในการวางท่อนแขนมากยิ่งขึ้น ด้านล่าง มีช่องใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ และช่องใส่เอกสารมาให้ครบทั้ง 2 ฝั่ง ใช้งานได้อเนกประสงค์ ดีกว่าคู่แข่งหลายคันในตลาด

ภายในห้องโดยสารของ Revo ROCCO ตกแต่งด้วยโทนสีดำทั้งหมด ตั้งแต่เพดานหลังคา ลงมาถึงแผงหน้าปัด เบาะนั่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งพรมปูพื้นรถ

เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดใช้ร่วมกันได้ทั้ง Hilux Revo ,Fortuner และ Innova Crysta นั่นแหละครับ รุ่น ROCCO จะเปลี่ยนจากหนังหุ้มเบาะสีน้ำตาลเข้ม มาเป็นสีดำ เรียบๆ พื้นๆ แทน

เบาะนั่งฝั่งคนขับของ ROCCO ทั้ง 2.8 และ 2.4 ลิตร จะเหมือนกับรุ่น 4 ประตู 2.8 V เดิม คือมีสวิตช์ไฟฟ้า ด้านข้างฐานเบาะ สำหรับปรับตำแหน่งเบาะเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับเอน รวมทั้งยกเบาะรองนั่งสูง – ต่ำ รวมแล้วได้ 6 ทิศทาง ส่วนเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสาร ปรับเลื่อนตำแหน่ง และปรับเอนด้วยกลไกคันโยกแบบปกติ

พนักพิงหลัง ยังคงออกแบบให้รองรับแผ่นหลังได้ตามมาตรฐาน Toyota คือ แม้จะมีปีกข้างเสริมช่วงสีข้างลำตัวผู้ขับขี่มาให้รู้สึกนุ่มแน่นกำลังดี โดยเฉพาะช่วงหัวไหล่ ที่ออกแบบให้รองรับได้ดีมากกว่ารุ่นเดิมอย่าง Vigo แถมยังดีกว่าคู่แข่งหลายๆรุ่นในตลาด ทว่า บริเวณแผ่นหลังโดยเฉพาะช่วงกลางพนักพิงหลัง ยังคงจมลงไป จนอาจทำให้ปวดหลังได้ หากคุณมีน้ำหนักตัวเยอะกว่าชาวบ้าน หรือต้องทนนั่งนานๆ หลายชั่วโมง ต่อให้เสริมฟองน้ำบริเวณบั้นเอวมาให้แล้ว ก็ยังแอบนั่งไม่สบายตัวอย่ดี ถ้าขับขี่ในระยะทางใกล้ๆ ยังยอมรับได้ แต่ถ้าหากต้องเดินทางไกล ควรหาหมอนใบเล็กๆมาดันบริเวณกลางหลังสักหน่อย จะดีกว่า

พนักศีรษะนุ่มและพิงได้สบายกว่าที่คิด ดันศีรษะเพียงนิดเดียว ในระดับยอมรับได้ ออกแบบมาให้มีองศาการเอียงเหมาะสมมาก แต่แปลกว่า น้ำหนักของพนักศีรษะ เหมือนจะหนักกว่าที่เคยเจอในรถยนต์ญี่ปุ่นทั่วๆไป

ส่วนเบาะรองนั่ง แม้จะยาวขึ้นกว่า Hilux Vigo เดิม แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับมาตรฐานของรถยนต์ Toyota ทั่วไป คือยาวไม่เกินช่วงขาพับ แต่ฟองน้ำที่เสริมมาให้ด้านใน นุ่มแน่นกำลังดี ไม่นิ่มจนเกินไป นั่งนานๆ ถือว่า สบายพอใช้ได้

พื้นที่เหนือศีรษะนั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะปรับเบาะนั่งไว้ให้สูงมากน้อยแค่ไหน กระนั้น หากปรับเบาะสูงสุด ระยะห่างจากศีรษะจนถึงเพดานของ Revo ยังไงๆก็น้อยกว่า Minivan 7 ที่นั่ง ญาติพี่น้องร่วมตระกูล อย่าง Innova Crysta แน่นอน

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด ปรับระดับสูง – ต่ำได้ พร้อมระบบผ่อนแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tension & Load Limiter ส่วนฝาปิดกล่องเก็บของตรงกลาง ซึ่งออกแบบมาให้เป็นพนักวางแขนในตัวนั้น สามารถวางแขนได้พอสบาย มากกว่ารถกระบะรุ่นอื่นๆอยู่พอสมควร

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทำได้สะดวกพอสมควร แม้ว่าช่องประตู จะยังมีช่วงกว้าง น้อยกว่าคู่แข่งนิดนึง แต่ถือว่ากว้างขึ้นกว่ารุ่นเดิมชัดเจนอยู่ บานประตูกางออกได้ในระดับ มาตรฐาน พอๆกันกับ Vigo 4 ประตูรุ่นเดิม การติดตั้งมือจับบริเวณเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง ช่วยให้การโหนยกร่างกายคุณ ขึ้นไปนั่งบนรถ หรือประคองค้ำยันร่าง ตอนลงจากรถ สะดวกง่ายดายขึ้นมากๆ! จุดนี้ขอชมเชย และหวังว่า Toyota จะไม่ถอดมือจับนี้ออกไป ตลอดอายุตลาดของ Revo ใหม่นี้ อีกหลายปีข้างหน้า

กระจกหน้าต่างด้านหลัง เลื่อนลงมาได้จนสุดขอบราง พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง ออกแบบสอดคล้องกับแผงประตูคู่หน้า ด้วยวัสดุแบบเดียวกัน พนักวางแขนด้านหลัง ก็สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดีตั้งแต่ข้อศอกเช่นเดียวกัน ด้านล่าง มีช่อใส่ขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่ มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง

พื้นที่โดยสารด้านหลัง ได้รับการปรับปรุงจาก Vigo มาพอสมควร ถึงแม้ว่า เบาะนั่งด้านหลัง จะมีมุมเอนอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการออกแบบ จากลักษณะของหัวเก๋งด้านหลังสุด ทำให้ไม่สามารถปรับมุมเอนของพนักพิงหลังได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้แล้ว ถ้านั่งเดินทางไกล ถือว่า พอจะสบายอยู่บ้าง ด้านบนของพนักพิง ซัพพอร์ตช่วงหัวไหล่ผู้โดยสารได้ดี แม้ว่าช่วงกลางจะบุ๋มลงไปสักหน่อย ส่วนช่วงเอว ถือว่า ยังรองรับได้ดีอยู่ประมาณหนึ่ง

เบาะรองนั่ง มีขนาดสั้น ตามธรรมชาติของรถกระบะ 4 ประตูทั่วไป แต่ตัวเบาะ ออกแบบให้มีหลุมสำหรับหย่อนก้นลงไปได้สบายๆ ฟองน้ำเป็นแบบนุ่มแน่นดุจรถยุโรปชั้นดี นั่งแล้ว ไม่ถึงขั้นต้องชันขามากนัก ถือว่า เบาะรองนั่งด้านหลัง ดีงามมากเป็นอันดับต้นๆของบรรดารถกระบะ 4 ประตูในตลาดบ้านเรา

ไม่เพียงเท่านั้น เบาะรองนั่ง ยังสามารถยกขึ้นมา โดยใช้ขอเกี่ยวดั้งไว้กับเสาพนักศีรษะ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางสิ่งของทรงสูง ในยามจำเป็น เช่นต้นไม้พร้อมกระถาง หรือข้าวของที่ต้องวางพาดในแนวทะแยงตั้ง ได้อีกด้วย เหมือนเบาะ Ultra Seat ของ Honda Jazz นั่นเอง แนวคิดนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการนำมาประยุกต์กับรถกระบะ 4 ประตู รุ่นใหม่ๆ อีกทั้งใต้เบาะ ยังมีช่องเก็บเครื่องมือประจำรถพร้อมฝาปิดพลาสติกบุทับด้วยพรมปูพื้นรถอีกชั้นหนึ่ง

พนักศีรษะ นิ่มกลางๆ แน่นนิดๆ ไม่ดันหัวเลย เพียงแต่ว่า มันมีขนาดใหญ่ เอาใจคนไซส์ยุโรป โผล่ขึ้นมาค่อนข้างสูง จึงอาจจะบดบังทศนวิสัยขณะถอยหลังเข้าจอดได้บ้าง ส่วนพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง สามารถวางแขนได้เกือบพอดี ตั้งแต่ข้อศอกลงไป ยังเตี้ยไปเพียงเศษเสี้ยวมิลลิเมตรนิดเดียวเอง พอยอมรับได้

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับคนตัวสูงไม่เกิน 180 เซ็นติเมตร ถือว่า สบายมากๆ แต่ถ้าสูงเกินกว่านี้ ต้องดูว่า ช่วงลำตัวยาวกว่าท่อนขาหรือไม่ เพราะถ้าเป็นกรณีดังกล่าว ก็จะนั่งสบาย หัวไม่ติด อาจต้องชันขาเพิ่มนิดนึง แต่ถ้าช่วงลำตัวยาวกว่าท่อนขา ก็อาจเหลือพื้นที่ว่างเหนือศีรษะลดลง

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ ตรงกลางพนักพิงหลัง พร้อมช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ใช้งานได้ดี วางแขนได้ดี อย่างที่เราคาดหวัง ส่วนเข็มขัดนิรภัยด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง ด้านบน มีขอเกี่ยวยึดสัมภาระ รวมทั้งมี จุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ครบทั้งฝั่งซ้ายและขวา แถมยังมีมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) ให้มาครบ 4 ตำแหน่งเลยทีเดียว!

แผงหน้าปัดด้านบนสุดของทุกรุ่นเป็นพลาสติกขึ้นรูปสีดำ มีการจัดวางตำแหน่งให้นาฬิกาแบบดิจิตอล และสวิตช์เปิด – ปิดไฟฉุกเฉิน Hazard Light อยู่ด้านบนสุด ขนาบข้างด้วยช่องแอร์ทั้ง 2 ฝั่ง ถัดลงมาเป็นวัสดุตกแต่ง Trim สีดำเงา คาดยาวจากช่องแอร์ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า จนถึงชุดมาตรวัด บริเวณกึ่งกลางแผงหน้าปัดด้านหน้าเป็นหน้าจอควบคุมเครื่องเสียง ด้วยระบบสัมผัส TouchScreen และด้านล่างสุดเป็นแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ Digital สีฟ้า สวิตช์ควบคุมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part-time สวิตช์เปิด – ปิดการทำงานของ ระบบล็อกเฟืองท้าย ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ระบบป้องกันการลื่นไถล และระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัติ รวมถึงช่องชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า Power Outlet 12 โวลต์ โดยสวิตช์ทั้งหมด จะเรืองแสงด้วยแสงสีฟ้า ดูสวยงามทันสมัย แตกต่างจากสมัย Vigo ที่ใช้ไฟสีเขียวซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า เป็นหลัก

ด้านบนเพดานและเสาหลังคาของทุกรุ่น จะเป็นพลาสติก และผ้าโทนสีดำ ติดตั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงรบกวนด้วยการดึงสลักแบบธรรมดามาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารและไฟอ่านแผนที่สามารถแยกเปิด – ปิด ทั้งฝั่งซ้ายและขวาได้อย่างอิสระ หรือจะตั้งค่าให้ทำงานตามการเปิด – ปิดประตูก็ได้เช่นกัน ด้านข้างของไฟอ่านแผนที่จะเป็นม่านบังแดดสีดำ พร้อมที่เก็บนามบัตรฝั่งผู้ขับขี่ และกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด ฝั่งผู้โดยสาร

จากขวา มาทางซ้าย

แผงควบคุมสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของ ROCCO โดดเด่นกว่าชาวบ้าน หรือแม้แต่พี่น้องร่วมตระกูล Revo ด้วยกันเองหลายรุ่นย่อย เพราะเป็นแบบ One-Touch Auto เลื่อนขึ้น – ลง ได้เพียงกดหรือยกสวิตช์จนสุดเพียงครั้งเดียว พร้อมระบบป้องกันการหนีบเมื่อมีสิ่งกีดขวาง Jam-Protection ให้มาครบทั้ง 4 บาน

กระจกมองข้าง ทุกรุ่น ปรับได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบหมุนและเลื่อนขึ้น – ลง ซ้าย – ขวา ไมใช่แบบแป้นสี่เหลี่ยม เหมือน Toyota รุ่นเก่าๆในสมัยก่อน อีกทั้ง สามารถพับกระจกมองข้างเก็บด้วยปุ่มไฟฟ้า

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวา เป็นช่องวางแก้วแบบมีฝาปิด กางออกมา มีตัวล็อก สไตล์เดียวกับทั้ง Fortuner และ Innova Crysta แต่งานออกแบบต่างกัน เป็นอะไหล่คนละชิ้น ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ถัดมาอีกนิด รุ่น ROCCO ให้สวิตช์ ติดเครื่องยนต์แบบกดปุ่ม Push Start ทำงานร่วมกับ รีโมทกุญแจ Smart Key

ถัดลงไป เป็นตำแหน่งติดตั้ง คันโยกดึงเปิดฝาถังน้ำมัน และคันโยกดึงเพื่อ เปิดฝากระโปรงหน้า ทางซ้ายมือ ใต้คอพวงมาลัย เป็นตำแหน่งของถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า เป็นอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ครบทุกรุ่น

พวงมาลัย ของทุกรุ่น เป็นแบบ 3 ก้าน ปรับได้ 4 ทิศทาง Tilt & Telescopic (ขึ้น – ลง และ เข้า – ออก) วงพวงมาลัยห้วยด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้ายสีขาว ก้านพวงมาลัยตกแต่งด้วยวัสดุสีดำเงา ประดับโลโก้สามห่วงชุบโครเมียมไว้ตรงกลาง บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นสวิตช์ควบคุมและเรียกดูข้อมูลบนหน้าจอแสดงผลการขับขี่แบบสี TFT ส่วนฝั่งขวา เป็นสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง ระบบสั่งการด้วยเสียง และการใช้งานโทรศัพท์

วงพวงมาลัย มีขนาดจับกระชับมือกำลังดี ก็จริงอยู่ แต่ ระยะห่างจากขอบด้านบนของแผงหน้าปัด ยังน้อยไปหน่อย ยังไงๆ ก็ต้องปรับพวงมาลัยยื่นตำแหน่งออกมา ให้ห่างขึ้นอีกนิดนึง เพื่อให้การปรับตำแหน่งนั่งขับ ถูกต้องตามหลัก สรีรศาสตร์

ก้านสวิตช์หลังพวงมาลัย ฝั่งขวา (ควอแดรนต์ที่ 4 ของวงพวงมาลัย) สำหรับควบคุมการทำงานของ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบธรรมดา Cruise Control ซึ่งติดตั้งมาให้เป็นพิเศษเฉพาะรุ่น Double Cab 2.8 ลิตร เท่านั้น

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัย ฝั่งขวา ยังคงเป็นตำแหน่งติดตั้งสวิตช์ควบคุมชุดไฟหน้า ไฟสูง ไฟกระพริบ และไฟเลี้ยว เพิ่มวงแหวนควบคุมไฟตัดหมอก เฉพาะรุ่น 2.8 V และ 2.8 G ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ยังคงควบคุมชุดใบปัดน้ำฝน พร้อม หัวฉีดน้ำล้างกระจก ทั้งด้านหน้าละด้านหลัง (เฉพาะรุ่น 2.8 V และ 2.8 G ใบปัดน้ำฝนด้านหน้า เป็นแบบตั้งเวลาหน่วงได้)

หัวเกียร์ หุ้มด้วยหนัง ประดับด้วยพลาสติกสีดำเงา ส่วนฐานคันเกียร์ ประดับด้วย Trim พลาสติกสีดำเงา Piano Black

ชุดมาตรวัด วาง Pattren ไว้เป็นแบบ 2 วงกลม เหมือนกับญาติพี่น้องตระกูล IMV ใหม่ เป๊ะ มาตรวัดรอบเครื่องยนต์อยู่ทางซ้าย มาตรวัดความเร็วอยู่ทางขวา ตรงกลางเป็นจอแสดงข้อมูลต่างๆของตัวรถเว้นระยะห่างของตัวเลข และใช้ขนาด Font ตัวเลขในตำแหน่งและระดับที่เหมาะสม

สำหรับ ROCCO เรือนไมล์ทั้ง 2 ฝั่ง ถูกปรับปรุงงาน Graphic ใหม่ ให้วางตัวเลขสีดำไว้บนแถบเรืองแสงสีขาว อ่านง่ายกว่าหน้าจอของ Innova Crysta ซึ่งรุ่นนั้นจะใช้ตัวเลข เรียงระนาบไปตามขอบวงกลม มีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่เย็นในหม่อน้ำ และมาตรวัดน้ำมันในถังมาให้ครบถ้วน

ตรงกลาง เป็นจอ Multi Information Dislay (MID) แบบสี TFT ขนาด 4.2 นิ้ว แสดงข้อมูลการขับขี่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งแบบเฉลี่ย แบบ Real Time คำนวนระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้รถแล่นต่อไปได้ มาตรวัดคะแนนการขับประหยัด ปรับแต่งตั้งค่าสถานะอุปกรณ์ต่างๆในตัวรถ รวมทั้งเป็นเข็มทิศ หน้าจอชุดเครื่องเสียง และการขึ้นข้อความเตือนต่างๆ โดยปรับให้แสดงผลเป็นอักษรภาษาไทยได้ มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ ระบบการทำงานของปุ่ม ECO / Power Mode มาตรวัดอุณหภูมิภายนอก การปรับตั้งค่าต่างๆ ใช้สวิตช์บนฝั่งขวาของก้านพวงมาลัย รวมทั้งการ Reset Trip Meter ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Toyota รุ่นใหม่ๆ ที่เริ่มมีมาให้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เริ่มทะยอยถ่ายทอดลงมาให้รถกระบะอย่าง Hilux กันแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกดปุ่มติดเครื่องยนต์ ภาพ Graphic Animation ยังถูกปรับปรุงใหม่ ให้สอดคล้องกับรูปลักษณฺ์ภายนอกของ ROCCO ที่เปลี่ยนไปอีกด้วย แตกต่างจาก Hilux Revo รุ่นปกติดั้งเดิมก่อนหน้านี้อีกด้วย!

ทุกรุ่นมีไฟเตือนลืมคาดเข็มขัดนิรภัยมาให้ สำหรับคนขับและผู้โดยสารคู่หน้า มีเสียงร้องเตือนค่อนข้างดังประมาณหนึ่ง

จากซ้าย ไป ขวา

ใต้ช่องแอร์ฝั่งซ้ายริมประตู ทั้งฝั่งซ้ายและขวา เป็นที่สิงสถิตของ ช่องวางแก้วแบบมีฝาปิด เลื่อนกางออกมา มีตัวล็อกตำแหน่งแก้ว เหมือนฝั่งคนขับ สามารถเลื่อนเข้า-ออกได้

กล่องเก็บของ Glove Compartment ให้มา 2 ชั้น โดยชั้นล่างสามารถ เก็บคู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารประจำรถได้ทั้งหมด แถมยังพอมีพื้นที่เหลือให้วางกล้องถ่ายรูปขนาดเล็กๆ หรือวิทยุสื่อสาร (ว.แดง) ได้สบายๆ ส่วนชั้นบน กดปุ่มเปิดฝายกขึ้นมา นอกจากจะใส่ของจุกจิกทั่วๆไปได้แล้ว ยังมีช่องเปิดรับไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ แปลงสภาพให้กลายเป็นช่อง Cool Box แช่เครื่องดื่มกระป๋อง ได้อีกด้วย เป็นฟังก์ชันเดียวกับใน Hilux Revo และ Fortuner

ชุดเครื่องเสียง เป็นหน้าจอสีแบบ Touch Screen เครื่องเล่น DVD วิทยุ FM/AM รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือไร้สาย Bluetooth มีช่องเชื่อมต่อ USB Port พร้อมระบบนำทาง Navigation System และติดตั้งลำโพงมาให้ 6 ตำแหน่ง มาให้เป็นมาตรฐานทุกรุ่นย่อย

แต่สำหรับ Hilux Revo Rocco รุ่น Double Cab 2.8 ลิตร (MY2018 หรือ ใหม่กว่า) จะถูกติดตั้งระบบ T-Connect TELEMATICS ซึ่งเป็นระบบเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับ Wi-fi Box ทำให้เกิดฟังก์ชันใหม่ให้กับผู้ขับขี่และใช้งานได้จริงผ่านอุปกรณ์ Smartphone, Apple Watch และหน้าจอวิทยุ โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้

– Find My Car ตรวจสอบตำแหน่งตัวรถผ่าน Application Find My Car หรือ Apple Watch
– Service Reminder ระบบแจ้งเตือนการบำรุงรักษารถยนต์ เมื่อถึงรอบตามระยะ
– Service Appointment บริการนัดหมายเข้าศูนย์บริการผ่านระบบออนไลน์
– My Message แจ้งข่าวสาร ข้อมูลส่วนลด พร้อมสิทธิพิเศษจากโครงการ Toyota Privilege
– Parking Alert ระบบแจ้งเตือนผ่าน Notification เมื่อรถถูกสตาร์ท หรือ เคลื่อนที่
– Stolen Vehicle Tracking ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ เมื่อถูกโจรกรรม
– My Toyota Wi-Fi กระจายสัญญาณ เชื่อมต่อความบันเทิงได้พร้อมกันสูงสุด 9 อุปกรณ์
– OPS (Operation Service) ช่วยค้นหาเส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมบริการจองร้านอาหาร
– SOS ประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
– Roadside Service บริการประสานงานไปยังผู้แทนจำหน่ายใกล้เคียง เพื่อขอรับความช่วยเหลือบนท้องถนน
– Health บริการประสานงานแจ้งเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์ โดยการส่งตำแหน่งที่คุณอยู่ไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

สิ่งที่คุณควรทราบไว้สักหน่อยก็คือ ทีมงานวิศวกรคนไทยที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา Toyota Daihatsu Engineering & Manufacturing (TDEM) ณ บางโฉลง บางนา-ตราด เขาเคยนำเสนอเมื่อครั้งที่ผม มีโอกาสเยี่ยมชมงาน Open House ของพวกเขา เมื่อราว ปี 2015 ว่า การปรับเซ็ตเครื่องเสียงของ Revo นั้น จากเดิมที่เคยใช้แผ่น CD เพลง จากต่างประเทศ คราวนี้ พวกเขาเลือกจะปรับเสียงโดยใช้ CD เพลงที่ผลิตในเมืองไทย ไม่เว้นแม้แต่เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ก็ผ่านหูทีมงานมาหมดแล้ว ดังนั้น ต่อให้แผ่นเพลงของคุณจะบันทึกเสียงมาแย่แค่ไหน ตัวเครื่องเสียงชุดนี้จะช่วยให้เสียงที่ออกมาทางลำโพง มันดีขึ้นได้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ดีขึ้นจริง

กระนั้น ผมว่าพวกเขาก็ยังต้องทำการบ้านเพิ่มเติมอีกหน่อยอยู่ดี คือคุณภาพเสียงในภาพรวม ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากหระจริงอยู่ เสียงใสหนะโอเค แต่เสียงเบส มันไม่มีมิติเท่าไหร่ เหมาะกับการฟังเพลง แนวลูกทุ่งหมอลำหนะใช่ แต่ถ้าเอาเพลงที่มีรายละเอียดเครื่องดนตรีเยอะๆ เช่นเพลงจากฝั่งญี่ปุ่นเข้าไป รายละเอียดเครื่องดนตรีหลายชิ้นก็หายไปเลยเหมือนกัน

เครื่องปรับอากาศของทุกรุ่นย่อย เป็นอัตโนมัติ พร้อมหน้าจอแสดงผลแบบ Digital สวิตช์หมุนด้านขวาสำหรับปรับอุณหภูมิ ความละเอียดในการปรับอุณหภูมิ อยู่ที่ 0.5 องศา ด้านซ้ายเป็นสวิตช์ปรับระดับความแรงพัดลม มีทั้งหมด 7 ระดับ ส่วนแผงสวิตช์ปุ่มกดตรงกลาง สำหรับ เปิด – ปิด ระบบไล่ฝ้าที่กระจกบังลมหน้าและหลัง ปรับการไหลเวียนอากาศ ปรับทิศทางลม ได้ 5 รูปแบบ และสวิตช์ปิดการทำงาน

ด้านข้างลำตัวคนขับ เป็นกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านบนเป็นฝาปิดแบบบุนุ่ม ในรุ่น Smart Cab จะห่อหุ้มด้วยผ้าสีดำ ในขณะที่รุ่น Double Cab จะห่อหุ้มด้วยหนังสีดำ ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลาง สำหรับคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า เมื่อเปิดฝาด้านบนขึ้นมา ก็จะพบกับกล่องเก็บ CD หรือสิ่งของที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก พร้อมช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสสลับ AC 220 โวลต์ 1 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ในรุ่น Double Cab 4 ประตู จะมีช่องเป่าลม หรือ Blower สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ตกแต่งด้วยสีดำเงา ติดตั้งมาให้เป็นพิเศษด้วย

ทัศนวิสัยด้านหน้า ยังคงทำได้ดีพอสมควร เนื่องจาก ต่อให้ปรับตำแหน่งเบาะไว้เตี้ยสุด หากคุณมีสรีระสูง 170 เซ็นติเมตรขึ้นไป ยังไงๆ คุณก็จะยังมองเห็นฝากระโปรงหน้าอยู่ดี ดังนั้น การกะระยะ ทั้งขณะถอยเข้าจอด หรือการเว้นระยะต่างๆ ก็ยังคงทำได้ดีพอสมควร

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar หากมองจากฝั่งซ้าย อาจดูเหมือนจะมีความหนาเหมาะสมดีแล้ว แต่พอมองมาทางฝั่งขวา ก็ยังสัมผัสว่า แอบหนาไปนิดนึง ดังนั้น คุณควรระมัดระวัง รถที่แล่นสวนทางออกมาจากโค้งขวาบนถนนแบบ 2 เลน สักหน่อยก็จะดี ส่วนกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง แม้จะมองเห็นภาพด้านข้างรถได้ชัดเจน แต่ขอบด้านนอก ของกรอบกระจกมองข้าง ยังแอบเบียดบังพื้นที่ของบานกระจกมองข้าง เข้ามาบริเวณริมด้านนอกเล็กน้อยอยู่ดี

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น การออกแบบขอบกระบะให้อยู่สูง พอจะช่วยลดทอนความยากลำบากในการกะระยะขณะถอยหลังลงไปได้บ้าง รุ่น Smart Cab ไม่ค่อยมีปัญหา แต่รุ่น Double Cab อาจต้องระวังการบดบังจากพนักศีรษะด้านหลังอยู่บ้างเหมือนกัน

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ **********

Hilux Revo สำหรับตลาดบ้านเรา จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ทั้งแบบ Diesel 2.4 ลิตร และ 2.8 ลิตร รวม 2 ขนาด 4 ระดับความแรง แต่สำหรับ Hilux Revo ROCCO นั้น ก็มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ และ 2 ระดับความแรงเท่านั้น

รุ่น 2.8 ลิตร วางเครื่องยนต์รหัส 1GD-FTV Diesel  4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 2,756 ซีซี. กระบอกสูบ x ช่วงชัก 92.0 x 103.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.6 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางร่วม Common-Rail พร้อมระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) พ่วงด้วย ระบบลดความร้อนของไอดีก่อนส่งเข้าห้องเผาไหม้ Intercooler

กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 420-450 นิวตันเมตร (42.79 กก.-ม.) ที่ 1,400 – 2,600 รอบ/นาที ปล่อยไอเสียผ่านมาตรฐานมลพิษ Euro 4 รองรับน้ำมัน Diesel ที่มีค่าซีเทน สูงกว่า 48 ขึ้นไป

ข้อมูลการบำรุงรักษาเบื้องต้น
– น้ำมันเครื่อง ใช้เกรด API ตั้งแต่ CF-4 หรือ ACEA B1 ค่าความหนืด ที่โรงงานแนะนำคือ SAE 5W-30
– ความจุน้ำมันเครื่อง ค่าอ้างอิง ถ้าไม่เปลี่ยนไส้กรองอยูที่ 7.0 ลิตร แต่ถ้าเปลี่ยน จะอยู่ที่ 7.5 ลิตร
– ระบบหล่อเย็น 9.1 ลิตร

ส่วนรุ่น 2.4 ลิตร วางเครื่องยนต์รหัส 2GD-FTV (High) ดีเซล 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว 2.4 ลิตร 2,393 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 92.0 x 90.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 15.6 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดตรงสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ผ่านรางร่วม Common-Rail พร้อมระบบอัดอากาศ Turbocharger แบบแปรผันครีบ (VN-Turbo) พ่วงด้วย ระบบลดความร้อนของไอดีก่อนส่งเข้าห้องเผาไหม้ Intercooler

กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตันเมตร (40.8 กก.-ม.) ที่ 1,600 – 2,000 รอบ/นาที

ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะพร้อม Sequential Shift Manual Mode + / – ของ AISIN ซึ่งมีอัตราทดเกียร์ ดังนี้

เกียร์ 1……………………….3.600
เกียร์ 2……………………….2.090
เกียร์ 3……………………….1.488
เกียร์ 4……………………….1.000
เกียร์ 5……………………….0.687
เกียร์ 6……………………….0.580
เกียร์ถอยหลัง…………….…3.732
อัตราทดเฟืองท้าย…………3.583

การบำรุงรักษา ให้ใช้เฉพาะน้ำมันเกียร์ ATF WS ส่วนเฟืองท้าย ให้ใช้น้ำมัน เกรด SAE 75W-85 GL-5 หรือเทียบเท่า ความจุในการเปลี่ยนถ่าย 3.0 ลิตร

ระบบขับเคลื่อนมีทั้งแบบ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง และขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Part-time ควบคุมด้วยสวิตช์ไฟฟ้า Shift-On-The-Fly พร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายไฟฟ้า Diff-lock

สมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงทำการทดลองด้วยวิธีจับเวลากันในช่วงกลางดึก เหมือนเช่นเคย อุณหภูมิอยู่ที่ 27 – 29 องศาเซลเซียส โดยยังคงยึดมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag.com คือ เปิดแอร์นั่ง 2 คน ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับรถกระบะรุ่นอื่นที่เราเคยทำการทดลองไว้ มีดังนี้



สิ่งที่ต้องแจ้งให้คุณผู้อ่านทราบก่อนก็คือ การทดลองของเรา เก็บตัวเลขมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Revo เปิดตัวใหม่ๆ รวมทั้งรุ่น Rocco นั้น เรานำมาทดลองกันในช่วงกลางปี 2018 ส่วนตัวเลขของรุ่นตัวเตี้ย 2.4 ลิตร ทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ เราได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณผู้อ่านของเรา คุณ Sirapluke Porntharukcharoen ซึ่งนำรถกระบะที่เพิ่งซื้อมาใช้ในกิจการของครอบครัว 2 คัน มาให้ผมจับเวลาทำตัวเลขกัน เป็นรถส่วนตัว ออกจากโชว์รูมปุ๊บ ส่งถึงมือผมทันที เมื่อไม่กี่วันก่อนที่บทความนี้จะเผยแพร่ และก่อนที่ Revo Minorchange รอบ 2 จะเปิดตัวราวๆ 5 วัน และการจับเวลาดังกล่าวนั้น เนื่องจากรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ผมมีเวลาไม่มากนักในวันทดลองขับ จึงจับตัวเลขมาได้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และตัวเลขในตารางยังถือว่าไม่สมบูรณ์ แต่ตัวเลขเกิดขึ้นบนมาตรฐานเดียวกันกับรถทุกคันของในเว็บเรา นั่นคือ เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักคนขับและผู้ร่วมทดลอง รวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม

หากดูจากตัวเลขที่ออกมา จะพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกันเฉพาะตระกูล Hilux ด้วยกันเองนั้น แน่นอนว่า เครื่องยนต์ตระกุล GD ทำผลงานออกมาได้ดีกว่าตระกูล KD ใน Vigo เดิม ชัดเจน ยิ่งถ้าเทียบกันระหว่าง รุ่นตัวเตี้ย เกียร์ธรรมดา เหมือนกัน แม้ว่า Revo เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร มีความจุกระบอกสูบรวมน้อยลง จาก Vigo รุ่น 2.5 ลิตร แต่ทำตัวเลขออกมาได้ไวกว่ากัน 0.8 วินาที ในเกมจับเวลา 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และไวกว่าถึง 2.12 วินาที ในเกมจับเวลา 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน หาก เครื่องยนต์ต่างกัน แต่ระบบส่งกำลังเหมือนกัน เมื่อเทียบกันระหว่างรุ่น 2.8 และ 2.4 ลิตร รุ่นเกียร์ธรรมดาด้วยกัน แล้ว ความต่างของความจุกระบอกสูบ 400 ซีซี นั้น ในเกม 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่น 2.8 ลิตร จะไวกว่า 2.4 ลิตร ที่ 1.83 วินาที  แต่พอเป็นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น หากวัดด้วยเกียร์ 4 เทียบกันให้แฟร์ๆ รุ่น 2.8 ลิตร จะไวกว่า 2.4 ลิตร แค่ 0.23 วินาที เท่านั้นเอง (แต่ถ้าเทียบกันที่เกียร์ 3 ตัวเลขของทั้งคู่ จะไวขึ้นอีก ประมาณ เกือบ 1 วินาที)

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกันระหว่าง เครื่องยนต์ต่างกัน แต่ระบบส่งกำลังเหมือนกัน ในกรณีของ Rocco 2.8 ลิตร และ 2.4 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ ทั้งคู่ อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่น 2.8 จะไวกว่า 2.4 ลิตร 1.09 วินาที และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรุ่น 2.8 ลิตร จะไวกว่ารุ่น 2.4 ลิตร 1.29 วินาที

หรือถ้าจะเปรียบเทียบกันระหว่าง เครื่องยนต์เหมือนกัน แต่ระบบส่งกำลังต่างกัน Revo 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6MT ยังทำตัวเลขได้ไวกว่า รุ่นเกียร์อัตโนมัติ Double Cab ในเกม 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึง 1.54 วินาที แต่ในเกม 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รุ่นเกียร์ธรรมดา จะไวกว่า เกียร์อัตโนมัติ แค่ 0.6 วินาที เท่านั้น

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาคู่แข่งในตลาด หากเป็นรุ่นกระบะ 2 ประตู Cab เกียร์ธรรมดา Hilux Revo 2.8 ลิตร 6MT ทำตัวเลขได้ไวที่สุดในกลุ่ม คือ 10.09 วินาที (เราไม่นับ Chevy Colorado 2.8 ลิตร ที่เลิกขายไป 6 ปีแล้ว) และอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเป็นเกียร์ 3 แน่นอนครับ แรงสุดในกลุ่มด้วยตัวเลข 6.93 วินาที แต่ถ้าลากด้วยเกียร์ 4 อย่างเดียว จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 1 วินาที

แต่พอเป็นรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ตัวถัง Double Cab เรากลับพบว่า อัตราเร่งของ Hilux Revo รุ่นเดิม นั้น ออกมาอยูในระดับ “กลางๆ” ของกลุ่ม คือ ไม่อืด ไม่ช้า แต่แค่แรงสู้ชาวบ้านเขายังไม่ได้ ทั้ง 2 หมวดการจับเวลา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อน ยังสูงอยู่ โดยเฉพาะล้อและยางขนาดใหญ่ ที่มีส่วนในการหน่วงพละกำลังลงมา รวมทั้งชุดเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งจำเป็นต้องออกแบบให้เน้นความทนทาน และรองรับแรงบิดมหาศาลได้เป็นหลัก

ย้ำกันเหมือนเช่นเคยว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะทำความเร็วสูงขนาดนี้ กับรถครอบครัวบ้านๆ แบบนี้ หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี

การไต่ความเร็ว ของทั้ง รุ่น 2.8 และ 2.4 ลิตร จะมี บุคลิก เหมือนๆกัน คือ หากเป็นรุ่นเกียร์ ธรรมดา นั้น เกียร์ 1 จะมีไวเพื่อออกตัว แต่จะไม่ได้หมดไวในทันทีแบบ Isuzu หรือ Mitsubishi รุ่นเก่าๆ ยังพอมีให้ลากต่อเนื่องได้อีกนิดหน่อย แต่พอเข้าเกียร์ 2 เท่านั้นแหละ รถจะกระโจนพรวดออกไป ดุจจิงโจ้ตัวเขื่อง พอย่างเข้าเกียร์ 3 ก็จะมีการถ่ายทอดกำลังอย่างต่อเนื่อง และเริ่มไปลอยตัวติดลมบนในเกียร์ 4

กระนั้น ถ้าคุณใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเกียร์ 5 หรือ 6 แล้วอยากกดคันเร่ง เพื่อเรงแซงรถคันข้างหน้า แบบ Smooth หน่อย คุณไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ลงมาช่วยเลยครับ แค่กดคันเร่งลงไป รถก็จะทะยานขึ้นไปเนียนๆ ให้คุณได้ไม่ยากเย็นเลย เพียงแต่ว่า ถ้าเป็นเกียร์ 6 อาจต้องเหยียบคันเร่งจนลึกในระดับจมมิด สักหน่อย จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติ นั้น บุคลิกเหมือนกันทั้ง 2.8 และ 2.4 ลิตร คือการออกตัว จะพุ่งออกไปอย่างสุภาพ แต่จะเริ่มมีอาการหันหันพลันแล่น ในช่วงเกียร์ 2 และ พอเข้าสู่เกียร์ 3 ก็จะเริ่มไต่ขึ้นไปช้าลงนิดหน่อย จนพอเข้าเกียร์ 4 นั่นละ ความเร็วที่ไต่ขึ้นไป ก็จะช้าลง และต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าจะแตะถึงระดับ Top Speed เพียงแต่ แน่นอนว่า รุ่น 2.4 ลิตร ก็จะให้เรี่ยวแรง น้อยกว่ารุ่น 2.8 ลิตร เป็นธรรมดา

ภาพรวม ถือได้ว่า อัตราเร่งอง Revo ในทุกรุ่นย่อย เน้นการออกตัวในช่วงตีนต้น และช่วงรอบกลางๆ เป็นหลัก จนไม่เผื่อเหลือไปถึงช่วงปลาย ซึ่งก็เป็นบุคลิกที่เดาได้จากกราฟแรงม้าแรงบิดของเครื่องยนต์ ตระกูล GD อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ถ้าเท่ียบกับเครื่องยนต์ KD บล็อกเดิม พละกำลังจะมาถึงในช่วง ตั้งแต่ 1,500 – 4,000 รอบ/นาที คือมากันเป็น Flat Torque ในขณะที่ รุ่น GD นั้น พละกำลังจะไต่ขึ้นไปให้คุณถึงจุด Peak แถวๆ 2,000 – 3,000 รอบ/นาที ก่อนจะเริ่มเหี่ยวปลายลงมา

ดังนั้น ถ้าคุณขับขี่แบบปุถุชนทั่วไป เน้นขับเรื่อยๆ ไม่รีบ อาจจะเร่งแซงพวกรถช้าขับแช่เลนขวาบ้าง การตอบสนองของขุมพลังตระกูล GD ก็จะทำให้คุณรู้สึกว่า เออเนาะ เรี่ยวแรงมันมาไวใช้ได้ แต่ถ้าคุณเป็นพวกบ้าพลัง ไล่แซงเละเทะ ขับจี้ตูดชาวบ้าน พุ่งทะยานอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม คุณอาจรู้สึกว่า เรี่ยวแรงมันยังไม่เพียงพอ ไม่สาแกใจคุณเท่าไหร่ โดยเฉพาะรุ่น 2.8 ลิตร ซึ่ง

นั่นจึงเป็นที่มา ว่า Toyota จะปรับปรุง สมรรถนะของขุมพลัง 2.8 ลิตร ให้แรงขึ้น จาก 177 เป็น 204 แรงม้า (PS) และแรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นจากเดิม เป็น 500 นิวตันเมตร แต่ต้องประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น จาก 13.9 เป็น 14.5 กิโลเมตร/ลิตร ใน Revo Minorchage Phase 2

การเก็บเสียง / Noise Vibration & Harshness

การเก็บเสียงดีขึ้นกว่า Vigo รุ่นเดิม ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงเครื่องยนต์ ที่ดังเข้ามาในห้องโดยสาร น้อยมาก การเก็บเสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ ก็ทำได้ดีขึ้น ถึงขนาดว่า ต่อให้คุณใช้ความเร็ว 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังนั่งพูดคุยกันในห้องโดยสารได้ โดยจะมีเสียงรบกวนที่ดังเข้ามาก็เพียงแค่เสียงยางติดรถเท่านั้น ที่ดังเอาเรื่อง

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด รุ่นยกสูงทั้ง 4×2 Prerunner และ 4×4 อยู่ที่ 6.4 เมตร ส่วนรุ่น 4×2 ตัวเตี้ยอยู่ที่ 5.9 เมตร

Revo มีพวงมาลัย ที่หนืด และมีน้ำหนักมากที่สุดในตลาดรถกระบะเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นผลจากความจงใจของทีมวิศวกรที่เซ็ตพวงมาลัย ของ Revo หนืดขึ้น และหนักขึ้นกว่า Vigo เดิม อย่างชัดเจน ในช่วงความเร็วต่ำ คุณอาจต้องออกแรงหมุนพวงมาลัย มากกว่ารถทั่วไป ซึ่งไม่ใช่แค่รุ่น Rocco หรือ Prerunner เท่านั้น แม้แต่กระบะตัวเตี้ย Z-Edition ก็ถูกเซ็ตมาแบบนี้ เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า เมื่อตัดเพลาขับสำหรับล้อคู่หน้าออกไป รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง 4×2 ทั้งตัวเต้ยและตัวสูง Prerunner จะสัมผัสได้ว่า พอมีระยะฟรีของพวงมาลัย เพิ่มขึ้นจากรุ่น 4×4 อีกนิดหน่อย

ขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วเดินทาง ปกติ จนถึงช่วงความเร็วสูง ตั้งแต่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง – Top Speed พวงมาลัยไม่ไว และไม่ช้าเกินไป On Center feeling ช่วงที่หน่วงตรงกลาง ขณะถือตรง กำลังดี และให้ความมั่นใจในการควบคุมรถย่านความเร็วสูง ทั้งการถือตรงๆ หรือการบังคับเลี้ยวเข้าโค้ง ไปมา ทำได้ดีขึ้นกว่า Vigo เยอะมาก เพียงแต่ว่า ถ้าจะต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวนั้น ขอแนะนำว่า อาจต้องชะลอความเร็วลงมาสักหน่อย แล้วค่อยเลี้ยว เพื่อให้พวงมาลัย สามารถเลี้ยวตามการสั่งงานของคุณได้ทัน

ถ้าถามความเห็นของผม บอกเลยว่า มันดีกว่า พวงมาลัยของ Vigo เดิม เยอะมาก แถมยังดีกว่าคู่แข่งในตลาดอีกหลายๆคัน เซ็ตมาค่อนข้างมีน้ำหนักและความหนืดดีแล้ว ไม่ต้องแก้ แต่ถ้าถามลูกค้าทั่วไป หลายๆคนอาจคิดว่า อยากให้พวงมาลัยเบากว่านี้สักหน่อยในช่วงความเร็วต่ำ เพราะการออกแรงหมุนพวงมาลัย Revo ขณะถอยเข้าจอดนั้น ผมว่า เป็นการออกกำลังกายที่ดีมากๆในอักรูปแบบหนึ่ง มันช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ต้นแขนได้ไม่ยากเลยละ!

แต่ถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว วินาทีนี้ พวงมาลัยของ Isuzu D-Max ใหม่ ก็ยังให้การตอบสนองที่ ไม่หนืดหรือหนักเท่า แตให้ความแม่นยำในการควบคุม และมีน้ำหนักเบากว่า Revo นิดหน่อย ในช่วงความเร็วต่ำ แต่ความต่อเนื่องในการหมุนพวงมาลัย ขณะขับขี่ (Linear) ดีกว่า Revo นิดนึง กระนั้น ทั้ง 2 รุ่นนี้ ต่างมีพวงมาลัยที่ดีเป็นอันดับต้นๆของตลาดกลุ่มรถกระบะในบ้านเราแล้ว

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกคู่ Double Wishbone พร้อมคอยล์สปริง และเหล็กกันโคลง ช็อกอัพด้านหน้าถูกปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจาก Hilux Vigo Champ เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุม การยืด – ยุบของคอยล์สปริง

ส่วนด้านหลังเป็นแบบตับแหนบแผ่นซ้อน 5 แผ่น ซึ่งมีการปรับความยาวของแหนบ เพิ่มขึ้น 100 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ Hilux Vigo Champ อีกทั้งยังมีการจัดวางช็อกอัพคู่หลังให้ตั้งในแนวตรงมากกว่าคู่แข่งอย่าง Ford Ranger

ไม่ว่าจะเป็นตัวถังใด ระบบขับเคลื่อนใดก็ตาม ทีมวิศวกรของ Toyota เซ็ตระบบกันสะเทือนของ Hilux Revo รุ่นปัจจุบัน ให้มีด้านหน้าที่ Firm ในแนว แน่น ออกจะนุ่ม แต่ไม่โยนมากนัก เรียกได้ว่า เซ็ตมาค่อนข้างจบพอสมควร เพราะในการขับขี่บนถนนปกติ หรือบถนนก้อนกรวดลูกรัง ช่วงล่างแบบนี้ ให้สัมผัสที่แน่นหนา แต่ยังคงมีความนุ่มหนึบกำลังดี แถมพกมาให้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม พอเป็นช่วงล่างด้านหลัง การใช้แผ่นแหนบ 5 แผ่นรวด ก็เป็นธรรมดาที่จะมีอาการสะเทือนชัดเจนมาก เด้งพอสมควร การเซ็ตตับแหนบแบบนี้ แน่นอนว่า เน้นช่วยรองรับงานบรรทุก สำหรับรุ่นตัวเตี้ย 2.4 ลิตร ได้ดี แต่มันไม่เหมาะกับบุคลิกของรุ่น Double Cab ไปจนถึง Rocco เอาเสียเลย กลายเป็นว่า ช่วงล่างด้านหลัง มันดีด และเด้งมาก จนกระทั่งสูญเสียความสบายบนถนนปกติ ไปพอสมควร ยิ่งพอไปเจอทางขรุขระ หรือทางกรวดด้วยแล้ว อาการสะเทือนจากด้านหลัง เกิดขึ้นมามากจนคิดว่าควรจะปรับแก้ช่วงล่างด้านหลังกันเสียทีเถอะ

ส่วนการเข้าโค้ง นั้น แน่นอนว่า หากเป็นโค้งต่อเนื่อง ตัวรถก็มีอาการ Understeer หน้าบานออก พอประมาณ ตามปกติวิสัยของรถกระบะ แต่ก็ไม่เยอะนัก เมื่อเทียบกับ Vigo รุ่นเดิม แต่ถ้าจะต้องหักหลบสิ่งกีดขวางโดยกระทันหันแล้วละก็ ถ้าใช้ความเร็วไม่สูงนัก คือ ไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่า ทำได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเกินกว่านั้นเมื่อไหร่ ต้องใช้ความระมัดระวังขั้นสูง ถ้าหักพวงมาลัยเยอะมากไป มีโอกาสที่ตัวรถรุ่นเดิมจะเสียหลักพลิกคว่ำได้อยู่

ภาพรวมแล้ว ช่วงล่างของ Revo เซ็ตมาดีกว่า Vigo อย่างชัดเจนก็จริง โดยเฉพาะช่วงล่างด้านหน้า ที่แน่นหนึบ ขึ้น แอบนุ่มหน่อยๆ และเซ็ตมค่อนข้างจบ ลงตัว ก็จริง แต่ช่วงล่างด้านหลัง ยังแข็งและดีดไปหน่อย สำหรับรุ่น Double Cab ยกสูง Prerunner หรือ 4×4 มันคงจะดีกว่านี้ ถ้าช่วงล่าง เฉพาะรุ่น Double Cab ทั้ง ยกสูง และ 4×4 จะถูกปรับแต่งให้ด้านหน้าและด้านหลัง ตอบสนอง ได้ใกล้เคียงกันมากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่ด้านหน้าเซ็ตมาจนจบ แต่ด้านหลัง แข็งสะเทือนน่ารำคาญขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม Toyota จะปรับปรุงช่วงล่างด้านหลังของรุ่นยกสูง Prerunner และ Rocco และ 4×4 ให้นุ่มนวลขึ้น ด้วสยการลดจำนวนแผ่นแหนบลง จาก 5 ชิ้น เหลือ 3 ชิ้น และมีการปรับแก้ในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆอีกเล็กน้อย ซึ่งเราคงต้องมาดูกันอีกทีว่า Toyota จะแก้ปัญหานี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ระบบห้ามล้อ / Brake

ทุกรุ่นยังคงติดตั้งระบบเบรกรูปแบบมาตรฐานสำหรับรถกระบะ คือ ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีครีบระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก เสริมด้วยระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรก ABS (Anti-Lock Brake System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)

นอกจากนี้ เฉพาะรุ่น 2.8 G ทั้ง Prerunner และ 4×4 ยังเพิ่มตัวช่วยพิเศษ ดังนี้

– ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
– ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control)
– ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย TSC (Trailer Sway Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control) เฉพาะรุ่น 2.8G Prerunner
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี A-TRC (Active-Traction Control) เฉพาะรุ่น 2.G 4×4
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-Start Assist Control)
– ระบบควบคุมความเร็วลงทางลาดชัน DAC (Downhill Assist Control) เฉพาะรุ่น 2.8G 4×4

แป้นเบรก ของ Hilux Revo ทุกรุ่น มีระยะเหยียบ ปานกลาง ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป เหยียบลงไปแค่ไหน รถจะชะลอความเร็วให้คุณตามน้ำหนักเท้าขวาที่กดลงไป ในช่วงความเร็วต่ำ คุณยังสามารถกะระยะน้ำหนักแป้นเบรก เพื่อชะลอรถให้หยุดลงอย่างนุ่มนวลได้ โดยไม่มีอาการหัวทิ่มหัวตำ เรียกว่า เบรกสั่งได้กันแบบนุ่มๆ กำลังดี

ส่วนการหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูงนั้น ต่อให้คุณเหยียบกระทืบเบรกกระทันหัน บนพื้นถนนแห้งๆ (ไม่ใช่พื้นราดยางมะตอย) ที่ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงหยุดนิ่ง ตัวรถก็หน่วงความเร็วอย่างรวดเร็ว และพุ่งไปข้างหน้าตรงๆ ไม่มีอาการแฉลบ อาการท้ายเป๋น้อยมากๆ (แต่อย่าเผลอไปทำบนพื้นลื่นเชียวละ เพราะรถอะไรก็ตาม ไถลได้ทั้งนั้น)

พูดกันตรงๆคือ นอกเหนือจากพวงมาลัยแล้ว ระบบเบรกของ Revo ก็ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของตลาดรถกระบะบ้านเราได้สำเร็จ ทีมวิศวกร แก้ปัญหาระบบเบรกจาก Hilux รุ่นเก่าๆ รวมทั้ง Vigo ได้จนจบหมดสิ้น เท่าที่ลักษณะของการเป็นรถกระบะ จะเป็นใจ และในต้นทุนที่ Toyota และลูกค้าเองก็จ่ายไหว แล้วละ

ส่วนระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ Passive Safety ที่มีมาให้ทุกรุ่น ได้แก่
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า (อุปกรณ์มาตรฐานของ Hilux ทุกรุ่น)
– ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ (อุปกรณ์มาตรฐานของ Hilux ทุกรุ่น)
– ถงุลมนิรภัยด้านข้าง (อุปกรณ์มาตรฐานของ Hilux เฉพาะ รุ่น 2.8 ลิตร และ Rocco)
– ม่านถุงลมนิรภัย (มีเฉพาะรุ่น 2.8G เท่านั้น)
– เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด พร้อมระบบ ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner & Load Limiter เฉพาะคู่หน้า

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งมาให้ใน โครงสร้างตัวถัง ที่ออกแบบขึ้นตามแนวทางการพัฒนา โครงสร้างแบบ GOA ซึ่งเน้นให้มีความแข็งแกร่งขึ้นด้วยการใช้เหล็กทนแรงดึงสูง (High Tensile Strength Steel) ในหลายๆตำแหน่งของตัวรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับ และกระจายแรงกระแทกจากการชน ให้ดียิ่งขึ้นกว่า Vigo

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********
****************** Fuel Consumption Test *****************

อีกประเด็นที่สำคัญ และขาดไปเสียมิได้ในการทดลองรถยนต์ของเรา นั่นคือ การทดลองหาความประหยัดน้ำมัน หลายคนคงอยากรู้ว่า เมื่อเทียบกับ Hilux Revo และญาติผู้พี่อย่าง Fortuner และ Innova รวมทั้งคู่แข่งรุ่นต่างๆในตลาด แล้ว จะประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดิมได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด?

เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานเดิม คือการนำรถทั้ง 2 คัน ไปเติมน้ำมัน Techron Power-D ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ในวันที่เราทดลองกันนั้น ยังสามารถขย่มและเขย่ารถเพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไปให้มากที่สุด จนถึงคอถัง ได้อยู่ เราใช้วิธีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า Hilux Revo เป็นรถกระบะประกอบในประเทศ ดังนั้น กลุ่มลูกค้าจึงซีเรียสกับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า รถยนต์กลุ่มอื่นๆ

สักขีพยาน และผู้ร่มทดลองคราวนี้ ยังคงเป็นน้อง Joke V10ThLnD สมาชิกของ The Coup Team เราเช่นเคย น้ำหนักตัว 65 กิโลกรัม

หลังจากเติมน้ำมันเข้าไปจนเต็มถังขนาด 80 ลิตร เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิปานกลาง 24.5 – 25 องศาเซลเซียส

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกแถวๆปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยังปลายสุดทางด่วนด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม อีกรอบ โดยรักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือใช้ความเร็วไม่เกิน 110กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

เราเปิดระบบล็อกความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control เพื่อรักษาความเร็วให้ได้สม่ำเสมอ บางช่วงที่ต้องขึ้นเนิน เกียร์จะตัดเปลี่ยนลงมาให้ 1 ตำแหน่ง เพื่อเร่งและรักษาความเร็วให้เท่ากับตัวเลขที่เราตั้งเอาไว้

เข้าสู่ช่วงปลายทาง เราลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมัน Techron Power D ให้เต็มถัง เอาแค่หัวจ่ายตัดพอเหมือนตอนเริ่มต้นทดลอง

มาดูตัวเลขกันดีกว่า เริ่มจากรุ่น Rocco 2.8 ลิตรกันก่อน

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.8 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.51 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 12.35 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนรุ่น Rocco 2.4 ลิตร นั้น

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 93.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.84 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.64 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขโดยรวมก็ไม่เลวนะ เป็นไปตามคาด หากเป็นรุ่น Rocco 2.8 ลิตร ตัวเลขจะ drop ลงมากว่ารุ่น 2.8 V เพียง 0.2 กิโลเมตร/ลิตร อันเนื่องมาจาก น้ำหนักของบรรดาอุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งเสริมเข้าไป และขนาดของล้อยางซึ่งใหญ่โตกว่ากันนิดนึง ส่วนรุ่น Rocco 2.4 ลิตร 6AT 4×2 ก็ทำตัวเลขออกมาได้ พอๆกับ Smart Cab 2.8 G 6MT คืออยู่ในช่วง 13 กลางๆ กิโลเมตร/ลิตร

อย่างไรก็ตาม พอเป็นรุ่นตัวเตี้ยด้วยกัน 2.4 J Smart Cab กลับทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า Vigo 2.5 Xtra cab ที่ 0.1 กิโลเมตร/ลิตร กระนั้น ก็ยังถือว่า ประหยัดที่สุด ในตระกูล Hilux Revo เท่าที่เราเคยนำมาทำการทดลองกัน ทั้ง 6 คัน (ยกเว้นรุ่น 2.4 J 6AT ที่เราไม่ได้ทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เนื่องจากในวันที่เราทดลองขับกัน มีเวลาค่อนข้างจำกัด)

สำหรับคำถามที่ว่า น้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้ไกลแค่ไหน? คำตอบจะขึ้นอยู่กับว่า เป็นรถรุ่นย่อยไหน ขนาดล้อเท่าไหร่ สูงแค่ไหน หากเป็นรถรุ่นยกสูง ทั้ง Prerunner หรือ 4×4 ทั้งแบบปกติ หรือ Rocco น้ำมัน 1 ถัง จะพาคุณแล่นไปได้ ตั้งแต่ 470 – 600 กิโลเมตร ในสภาพการขับขี่แบบคนทั่วไป ที่ไม่ได้กระทืบคันเร่งบ่อยนัก ขับแบบใช้ชีวิตตามปกติ

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นรุ่น ตัวเตี้ย ล้อแคบ สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ หากเป็นรถเปล่า ไม่มีการบรรทุกใดๆทั้งสิ้น และไม่มีการไปเปลี่ยนล้อยางใดๆทั้งสิ้น น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาคุณแล่นไปได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร ถ้าคุณไม่ได้ซิ่งมากนัก

********** สรุป **********
ดีขึ้นกว่า Vigo เดิมเยอะมาก แต่ยังดีขึ้นกว่านี้ได้อีก

ถ้าให้มองกันโดยภาพรวม Hilux Revo นั้น ถูกพัฒนา มาไกลเกินกว่า ญาติพี่น้องร่วมตระกูล ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น พละกำลังที่แรงขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น ทั้งที่ตัวรถก็ใหญ่โตบ้านบึ้มมากขึ้น การเซ็ตพวงมาลัย ระบบเบรก และการบังคับควบคุมต่างๆ ก็ทำได้ดีขึ้น รวมทั้ง ห้องโดยสารเอง ก็ให้บรรยากาศ และประสบการณ์ของรถเก๋งชั้นดี แก่ลูกค้ากลุ่มรถกระบะ ได้ดีขึ้น นี่คือภาพรวม ที่ดีงามของ Hilux Revo

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ควรปรับปรุงหลักๆ ของ Revo ก็คือ ช่วงล่าง เฉพาะรุ่น Doucle Cab ยกสูง ซึ่งยังมีอาการสะเทือนเกิดขึ้นจากช่วงล่างด้านหลัง เยอะมากเกินไป ทำให้โดยสารและขับขี่ไม่สบายเท่าที่ควร เราต้องไม่ลืมว่า กลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินซื้อรถกระบะ Double Cab ยกสูง นั้น คือกลุ่มที่มองหาความสบาย และไม่ได้เน้นการบรรทุกที่หนักหนาสาหัสมากนัก เขาซื้อรถมาใช้ในวันทำงาน และวันพักผ่อน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มลูกค้าที่เน้นงานขนส่งเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งต้องการช่วงล่างดานหลังที่แข็งและทนทรหดกว่าปกติ

สิ่งที่ผมอยากให้รอดูกันก็คือ การปรับโฉม Hilux Revo Minorchange Phase 2 ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับทั้งงานออกแบบ ที่เคยถูกลูกค้าเมินหน้าหนีมาแล้ว รวมทั้ง ชุดเครื่องเสียง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในเมืองไทย สำหรับการติดตั้ง จอเครื่องเสียง ขนาด 8 นิ้ว ที่รองรับ Apple Car Play มาให้ตั้งแต่รุ่นกระบะส่งของถูกสุด 2.4 Entry Single Cab รวมทั้งการปรับปรุงช่วงล่างด้านหลังของรุ่น Double Cab โดยลดจำนวนแผ่นแผนบลงมาจาก 5 เหลือ 3 ชิ้น รวมทั้งการปรับปรุงรายละเอียดซ่อนเร้น ที่มองไม่เห็นด้วยสายตาจากภายนอกอีกมากมาย

รอดูกัน 4 มิถุนายน 2020 นี้

—————-///————–

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

เตรียมข้อมูลโดย Yuthapichai Phantumas (QCXLOFT)

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
Toyota Motor Corporation
และ Toyota Motor Thailand

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
2 มิถุนายน 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 2th,2020

แสดงความคิดเห็นเชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!