(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอ คลิป ทดลองขับ ของรถคันนี้ เลื่อนลงไป อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้ )

คุณผู้อ่าน ที่รัก

ก่อนที่คุณจะเริ่มเลื่อนลงไปอ่าน Full Review ในคราวนี้ ผมคงต้องขอใช้พื้นที่ต้นบทความ เล่าเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ สักหน่อย…และควรอ่านให้จบ ถึงท่อน ปล. เพราะนี่คือเรื่องราวของ คนที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา…เขา มีชื่อว่า…Q

Q เป็นคุณผู้อ่านของเว็บ Headlightmag เรา มาตั้งแต่เขายังเรียน ม.ปลาย ผมยังจำวันแรกที่เราเจอกันได้…เจอกันที่ไหนไม่เจอ ดันนัดเจอกันที่งานแสดงเครื่องใช้ไฟฟ้า งานหนึ่งซึ่งจัดขึ้น ณ. BiTEC เมื่อ…ตอนที่ Q ยังอยู่ ม.5 หรือ ม.6 (ไม่ใช่อื่นใดหรอก ตู้เย็น Mitsubishi อายุ 30 ปี ที่บ้าน เสียพอดี เลยจะต้องหาซื้อตู้ใบใหม่ ให้กับบ้านหลังเก่านั่นแหละ Q ว่างพอดี เลยมาเดินเป็นเพื่อน )

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต Q ไม่รู้จะสอบ Entrance เข้าที่ไหน ผมนึกถึงคุณผู้อ่านของเราคนหนึ่ง ซึ่งได้เข้าไปทำงานในบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งที่ผมรักมากจนมีเรื่องให้ด่าได้ทุกเช้าเย็น เพราะเรียนจบจาก สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology) ซึ่งมีภาควิชา อุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดสอนอยู่ ก็เลย ยุ Q ให้ลองสมัครเข้าไปเรียนดู…เผื่อจะได้ทำงานในสายรถยนต์ที่เจ้าตัวอยากทำ

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่ง Q เรียนอยู่ที่นั่น ทุกครั้งที่เจอกัน ผมจะเห็นพัฒนาการของ Q ค่อยๆ เปลี่ยนไป บางด้านก็โตขึ้น บางคราวก็ออกจะเน้นสายบันเทิง เมาจนหัวราน้ำบ้าง หกล้มให้กับจังหวะชีวิตในตอนนั้นบ้าง ตามประสาเด็กมหาลัย สิ่งที่ผมรู้ก็คือ Q อาจมีโลกส่วนตัวสูงบ้าง เวลาเดินในห้าง เขาจะฮัมเมโลดี้ เพลงต่างๆ ซึ่ง เราฟังรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง คาดว่า ครอบครัวคงจะสอน Q ว่า อย่าพูดกับคนแปลกหน้า Q เลยเป็นคนไม่ค่อยพูดจากับคนที่เขาไม่รู้จัก ไม่คุ้นเลย แต่ถ้าเขาเริ่มคุ้นเคย คุณจะเห็นความบ้าบอพิลึกพิลั่นในตัวเขาง่ายดายขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตาม เขาเป็นเด็กที่มี Attitude ดี ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ ให้กับทุกสิ่ง และลึกๆแล้ว เขาก็มุ่งหวังจะทำงานออกมาให้ดีที่สุด…ถ้ามันเป็นงานที่เขาชอบหรือรักหนะนะ ผมก็เลยลองให้เขา หัดเขียนข่าวและบทความสั้นๆ ลงเว็บไซต์ของเรา และพบว่า เขามีแนวโน้มจะทำงานด้านนี้ได้ดี มากเกินความคาดหมาย อาจต้องขัดเกลาอีกบ้าง แต่มีแววว่า อนาคตไปไกล

ในที่สุด หลังจากเข้าฝึกงานกับ โรงงานผลิตยาง Thai Bridgestone และปั่นโปรเกต์จบอย่างหนัก Q ก็สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี จาก Thai-Nichi ได้เสียที เจ้าตัวกำลังมองหางาน ผมแอบเสียดาย ถ้า Q จะสมัครเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทั่วๆไป เพราะสภาวะเศรษฐกิจ และสภาพของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วงปลายปี 2019 กำลังเจอ ความผันผวน ผมจึงบอกกับ Q ว่า “ไม่ต้องไปหางานที่ไหนหรอก มาทำงานด้วยกันนี่แหละ!”

นับว่าเป็นโชคดีของ Q ที่ตัดสินใจมาร่วมงานกับทีมเว็บของเรา เพราะเพียงเริ่มต้นเดือนแรก วิกฤติการณ์โรคระบาด COVID-19 ก็อุบัติขึ้น แทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยถ้วนหน้า หลายกิจการในไทย มีการปลดคนงาน หรือไม่ก็ลดเวลาการทำงาน แต่จ่ายเงินเดือน/ค่าแรง 80% หรือ 50% แทบทุกคนก็ต้องทำงานอยู่กับบ้าน เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงที่จะพบเจอกับเชื้อโรคเวรตะไลนี่ ถ้าขืน Q ไปสมัครเข้าทำงานในโรงงานเหล่านั้น เวลานี้คงจะเก๊กซิมกว่านี้เยอะ

และนี่ก็เป็นโชคดีของผมเช่นกัน ที่ได้พบเจอกับ น้องคนหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพ และ Attitude ดีพอสำหรับการนำมาบ่มเพาะให้งอกงาม เพื่อเป็นสื่อมวลชนสายยานยนต์ ในยุคต่อไป ผมตามหาคนคนนั้นมาตลอด 10 กว่าปี แต่ไม่คิดมาก่อนว่า จะมาเจอใน Q จนกระทั่งเขาเริ่มส่งงานชิ้นแรกให้ผมตรวจทาน นั่นแหละ ถึงได้เห็นแวว ว่า “ปั้นต่อได้” และเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ผมก็ลองให้เขารับผิดชอบกับงานที่ท้าทายขึ้น….Full Review เรื่องแรกในชีวิต

การทำ Full Review ของสื่ออื่นๆ จะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่สำหรับ Headlightmag แล้ว มันไม่เคยง่าย การที่เราจำเป็นต้องยืมรถมาจากบริษัผู้ผลิต มาใช้ชีวิตด้วยกัน นานกว่าคนอื่น นั่นเพราะเราต้องการที่จะค้นหา ศึกษา รถยนต์แต่ละรุ่นแต่ละคัน อย่างละเอียด เพื่อจะถ่ายทอดออกมาให้คุณเข้าใจในตัวตนของรถยนต์รุ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง ก่อนจะตัดสินใจซื้อ หรือปล่อยมันไว้บนโชว์รูมอย่างนั้น เพราะเรารู้ดีว่า สำหรับหลายๆคนแล้ว การเลือกซื้อรถ คือการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเลยทีเดียว และผมไม่อยากให้คุณต้องตัดสินใจพลาด

วันนี้ Q พร้อมแล้วที่จะเสริฟ บทความ Full Review เรื่องแรกในชีวิตของเขา ให้คุณได้อ่านกันแล้ว ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ไม่เป็นไรครับ เราถือว่า ได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงแล้ว มันเหมือนกับการแต่งเพลง หรือแต่งหนังสือสักเรื่อง เมื่อเรามั่นใจ ที่จะให้มันจบลง หลังจากนั้น เราจะปล่อยให้คุณผู้อ่าน เป็นคนตัดสิน ผลงานที่ออกมา

ขอฝาก Q ไว้กับคุณผู้อ่าน ในฐานะ น้องใหม่ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นไป มา ณ โอกาสนี้ ครับ

Best regards

J!MMY

ปล. ขอแจ้งให้ทราบว่า Full Review นี้ เราปล่อย พร้อม Headlightmag Clip สามารถเลื่อนลงไปได้ได้ ข้างล่างสุดของบทความนี้ ในที่สุด เราก็สามารถปล่อย Full Review และ Clip พร้อมกันได้ซะที ไชโย!

คุณเคยทำสิ่งผิดพลาดไป เพราะ “ความลุ่มหลง” ของตัวคุณเองไหมครับ ?

บนถนนสายชีวิตที่ทอดยาว ของเด็กหนุ่มที่กำลังศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์ ชั้นปีที่ 2 ของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ย่านพัฒนาการ นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์แล้ว อีกหนึ่งความลุ่มหลงของผม ก็คือ การได้ พบปะผู้คนใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก ได้ออกไปเผชิญกับโลกภายนอกที่ตัวเองไม่เคยเจอ ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป มันเป็นธรรมดาของเด็ก ม.ปลาย ที่เพิ่งจะเริ่มก้วเข้าสู่รั้วของสถาบันอุดมศึกษา ที่เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นโลกใบใหม่ ชวนให้ออกไปเปิดหูเปิดตายิ่งนัก

ผมใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ในช่วงนั้น เดินทางไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆให้ตัวเอง ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ตระเวณราตรี ท่องเที่ยวต่างจังหวัด ไปจนถึงการตระเวณดูรถตามงานแสดงต่างๆ มีโอกาส ก็พูดคุยกับผู้รู้ (ซึ่งก็มีทั้งรู้จริง และไม่จริง) เพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่จะเปิดประสบการณ์ วิธีคิด และทำให้ผมมองเห็นโอกาส ได้ดีกว่าการนั่งคำนวณเลข วิชาแคลคูลัส หรือ เทอร์โมไดนามิค ในห้องเรียนที่มีบรรยากาศอันชวนง่วง เพียงอย่างเดียว

ยอมรับเลยครับว่ามีความสุขมากกกกกกกก !! มากเกินกว่าที่จะอธิบายเป็นคำพูดใดๆ ออกมา มันเหมือนได้ออกจากกะลาที่ครอบหัวผมไว้มานานมาก ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา จนบางที ก็แอบละเลยหน้าที่และความรับผิดชอบหลักไปบ้าง

กระทั่ง บ่ายวันหนึ่ง ในขณะที่ผมกำลังอยู่ในวงสนทนา กับกลุ่มเพื่อนทั้งเก่าและใหม่ อย่างสนุกสนาน ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เสียงแจ้งเตือนโทรศัพท์ดังขึ้น เป็น E-Mail แจ้งผลการเรียนประจำปีการศึกษา จากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งออกมาไม่ค่อยจะดีนัก (จำได้ว่า F โผล่มาทีเดียว 3 ตัวรวด !!)

คำถามมากมายพรั่งพรูเข้ามาในหัว

“จะเอายังไงดี ต่อจากนี้?”
“ถ้าทางบ้านเห็น จะรู้สึกแย่ไหม?”
“แผนการเรียนที่วางเอาไว้ 4 ปี จะยังเป็นไปได้หรือเปล่า?”

จากคำแนะนำของอาจารย์หลายท่านในคณะฯ ผมพยายามปรับวิธีคิดของตัวเองใหม่ ค่อยๆแก้ปัญหา จนสุดท้าย ทุกอย่างก็ออกมาอย่างน่าพอใจ แม้จะไม่เลิศเลอเหมือนที่หวังเอาไว้ในตอนแรกก็ตาม

เรื่องราวที่เกิดขึ้น มันทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า การทำทุกอย่างตาม “ความลุ่มหลง” ของตัวเราเอง แม้ว่าบางครั้งมันก็อาจส่งผลดี ทำให้เรามีแรงผลักดันที่ทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย หรือนำพาเราไปพบกับโอกาสที่ดี

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ ความลุ่มหลงนั้น กลายเป็นเพียงการตัดสินใจลงมือทำอะไรก็ตาม โดยเอาแค่ความชอบของตัวเองเป็นที่ตั้ง และไม่มองถึงความเป็นจริงด้านอื่นๆ ปราศจากการพิจารณาด้วยเหตุผลให้ถ้วนถี่ จนละเลยสิ่งที่สำคัญอีกหลายอย่างไป มันก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในชีวิตใครหลายคน คงยากจะปฏิเสธ “ความลุ่มหลง” ได้ลง เพราะขนาดเหตุผลในการเลือกตัดสินใจซื้อรถสักคันสำหรับคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่ ต่างก็ให้น้ำหนักในเรื่อง ความสวยงาม น่าหลงใหล ดีต่อใจ มาเป็นอันดับต้นๆ กันแทบทั้งนั้น จนกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่าย หันมาให้ความสำคัญกับงานออกแบบ ทั้งภายนอก – ภายใน เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้ากันมากขึ้น ตามความเชื่อที่ว่า “รถสวย ยังไงก็ขายได้”

MG เป็นผู้ผลิตเชื้อชาติอังกฤษ สัญชาติจีน ก็เป็นอีกรายที่เรียนรู้รสนิยมดังกล่าวของคนไทย หลังจาก นำ MG GS เข้ามาประกอบขาย และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พวกเขาเริ่มรู้ว่า ควรจะออกแบบรถยนต์ของตน ให้สวยงาม จนถึงขั้นทำให้ผู้คนที่ได้พบเห็น “ลุ่มหลง” และเกิดความอยากได้อยากมี พวกเขาจึงสร้างสรรค์ MG HS ใหม่ ออกมาให้มีเส้นสายภายนอกและภายใน สมดังแนวคิดการออกแบบที่ต้องการให้เป็น “Hormones SUV” ที่สร้างความน่าลุ่มหลง

ผลลัพธ์ ก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันครับ หลังจากออกสู่ตลาด ทุกวันนี้ MG HS กลายมาเป็น C-SUV ที่มียอดขายสูงสุด ไต่ขึ้นอันดับ 1 ในกลุ่ม ได้อย่างรวดเร็ว ต่อให้ในปี 2019 แชมป์จะเป็นของ Honda CR-V แต่พอย่างเข้าสู่ปี 2020 แค่ 2 เดือนแรก MG HS ก็คว้าแชมป์ประจำเดือนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยยอดขาย 598 คัน ในเดือนมกราคม และ 629 คัน ในเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะเสียแชมป์ในเดือนมีนาคม ไปให้กับ Chevrolet Captiva แต่นั่นก็เป็นเพราะการประกาศลดราคาล้างสต็อก ขายถูกกว่าราคาต้นทุน จนตอนนี้หมดเกลี้ยงบริษัทไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกค่ายคงต้องทำใจ และยกแชมป์ให้กับ GM ได้ดีใจสักครั้ง ก่อนจะพวกเขาจะเลิกขายรถยนต์ ในตลาดเมืองไทยอย่างถาวร ช่วงสิ้นปีนี้

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนก็คงอยากรู้ว่า นอกเหนือจาก รูปลักษณ์ที่สวยงามที่สุด (ถ้าไม่นับเสียงค่อนขอดว่า เป็นการนำ SUV ทุกรุ่นจากทั่วโลกมายำรวมกัน) แล้ว MG HS จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง มันดีพอหรือไม่ที่จะชวนให้คุณจ่ายเงินเพื่อขับกลับบ้าน รายละเอียดต่างๆ ล้วนรอให้คุณเลื่อนลากนิ้วลงไปอ่านกันได้ ข้างล่างนี้

แต่ก่อนอื่น ผมก็คงต้อง พาคุณผู้อ่าน ย้อนกลับไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ MG GS กันสักหน่อย เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ MG ต้องเร่งพัฒนา HS ออกสู่ตลาดมาโดยเร็วไว

หลังจากที่ SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) บริษัทรัฐวิสาหกิจผลิตรถยนต์ จากประเทศจีน ได้เข้าซื้อกิจการ ของ MG Rover จาก Nanjing Automobile และควบรวมกิจการกันสำเร็จ ในช่วงปี 2006 นอกจากพวกเขาจะเริ่มต้นนำรถเก๋งที่ถูกพัฒนาในยุคเก่าก่อน มาผลิตขายต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ Roewe ซึ่งเป็น Luxury oriented brand ที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นมาใหม่ สำหรับตลาดแดนมังกรโดยเฉพาะ แล้ว พวกเขายังคิดที่จะสานต่อแบรนด์ MG ในฐานะ Performance oriented brand ด้วย ดังนั้น ไม่เพียงแค่ เปิดตัว MG6 กับ MG3 เท่านั้น การมีรถยนต์ SUV รุ่นใหม่สักคัน กลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต่อลมหายใน และสร้างยอดขายให้กับแบรนด์ได้ในระยะยาว

พวกเขาเปิดตัว MG GS เป็นครั้งแรกในโลก ที่งาน Shanghai Motor Show เมื่อ 20 เมษายน 2015 ก่อนบุกเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2016 ชูจุดเด่นในด้านการเป็นรถ C-SUV ที่มีขนาดตัวถังไล่เลี่ย สูสี กับ Mazda CX-5 และ Honda CR-V วางเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.0 ลิตร พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger มาพร้อมม้าฝูงใหญ่ 218 ตัว ผูกกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีให้เลือกทั้งขับเคลื่อน 2 ล้อและ 4 ล้อ อุปกรณ์ครบครัน ในราคาไม่เกิน 1,310,000 บาท รายละเอียดตัวรถ อยู่ใน Full Review โดยพี่ Pan Paitoonpong : Click Here

ด้วยความเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ไฟแรง ทำให้ GS ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ หรือตามบอร์ดรถยนต์ อยู่พอสมควร ในช่วงแรกหลังเปิดตัว แต่ด้านยอดขายกลับไม่ดีเหมือนที่คิด แถมเงียบเป็นเป่าสาก ตลอดปี 2016 ยอดขายรวมแพ้แม้กระทั่ง Chevrolet Captiva รุ่นเก่า ที่ลากขายกันมาหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบ ทั้งภายนอก – ภายใน ที่ยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้หันมามองได้ อีกทั้งยังไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจต่อศูนย์บริการในระยะยาว แถมตัวรถก็ยังมีจุดด้อยด้านอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และการตอบสนองของคันเร่งกับเกียร์ ที่ไม่สมัครสมานสามัคคีกันเลย

MG Sales Thailand จึงต้องยอมแก้เกมด้วยการนำรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ล้อ ราคา 890,000 – 990,000 เข้ามาเสริมทัพ เปิดตัวในงาน Motor Expo เดือนพฤศจิกายน 2016 รายละเอียดต่างๆ สามารถอ่านได้ใน Full Review By J!MMY : Click Here

ทว่า คล้อยหลังไปเพียง 2 สัปดาห์ SAIC ที่เมืองจีน ก็ดันเผยรูปภาพคันจริง ของ MG GS Minorchange ที่มีหน้าตาอ่อนช้อยมากขึ้น ตามหลังมาติดๆ เมื่อ 13 ธันวาคม 2016 เสียอย่างนั้น !! เล่นเอาทีม MG Sales Thailand ถึงเอามือก่ายหน้าผากกันเลยทีเดียว “หนอยยย พี่จีนนะพี่จีน มึงจะเปิดตัว GS Minorchange มึงไม่บอกกล่าวกูก่อนเลย แล้วอย่างนี้ กูจะขาย รุ่น 1.5 Turbo กันยังไงวะเนี่ย?”

ทำใจกันไปครับ สถานการณ์มาถึงขนาดนี้ ก็ต้องผลักดันยอดขาย MG GS กันต่อไป โชคดีว่า การตั้งราคาให้ดูคุ้มค่า ในสายตาผู้บริโภค มีส่วนช่วยให้ MG GS ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 จากตารางยอดขายรถยนต์กลุ่ม C-Segment SUVในเมืองไทย ได้สำเร็จ แม้จะยังห่างไกลจากเบอร์ 1 และ 2 อยู่หลายเท่าตัว กระนั้น MG เมืองไทย ก็ตัดสินใจไม่นำ GS Minorchange เข้ามาผลิตขายในบ้านเรา เพราะดูเหมือนพวกเขาจะยอมรับชะตากรรมของรถรุ่นนี้ ตลอดอายุตลาดที่เหลือ ว่าต่อให้หั่นราคาลงมา แต่ก็คงจะมียอดขายไปได้ไม่มากกว่านี้อีกแล้ว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ MG GS ไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเราเท่าที่ควร คือประเด็นเรื่อง งานออกแบบภายนอก และภายใน ผู้บริโภคเมืองไทย ยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อรถยนต์ ที่พวกเขามองว่า มัน “สวย” โดยยินยอมที่จะเสี่ยงกับแบรนด์ใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ในแง่บริการหลังการขาย

เมื่อรู้แล้วว่า รูปลักษณ์ของรถ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถของลูกค้า SAIC – MG จึงพยายามออกแบบรถยนต์ Compact SUV รุ่นใหม่ ที่จะมารับช่วงต่อจาก GS ให้มีเส้นสายสวยงาม และมีความลงตัวในสัดส่วน มากกว่ารุ่นเดิม

SAIC ตัดสินใจ สร้าง C-SUV คันใหม่ โดยนำโครงสร้างพื้นฐาน (Platform) เดิม ของ MG GS มาปรับปรุง และต่อยอด โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงด้านสมรรถนะการขับขี่ให้ดีขึ้นในทุกด้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใด SAIC ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานออกแบบ จนกลายเป็นประเด็นหลักในการพัฒนารถรุ่นนี้

ทีมนักออกแบบ จาก SAIC Advanced Design Studio ฝั่งยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุง London ประเทศอังกฤษ มอบหมายให้ Mr. Robert Lemmens อดีต Designer ของ Nissan Design Europe  เริ่มต้นออกแบบ SUV คันใหม่ ภายใต้การดูแลควบคุมของ Mr. Carl Gotham ผู้ซึ่งเคยรับผิดชอบงานออกแบบภายนอก MG 5, MG Zero Concept ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการฝ่ายออกแบบของ MG GS และหัวหน้าทีมออกแบบ MG CS Concept ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Advanced Design Director

C-SUV รุ่นเปลี่ยนโฉมของ GS คันนี้ เป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ของ MG ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวทางการออกแบบ (Design Language) ใหม่ของ MG ซึ่งเริ่มปรากฎให้เห็นเป็นครั้งแรกในรถยนต์ต้นแบบ MG E-Motion Concept Coupe 2 ประตู ซึ่งเผยโฉมมาตั้งแต่ งาน Shanghai Autoshow เมื่อ 19 เมษายน 2017

แนวคิดหลักของ Design Language ใหม่ อยู่ที่การลดทอนเส้นสายบนตัวถังที่ไม่จำเป็นออกไป เพิ่มความโค้งมนอย่างเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ด้านข้างมาพร้อมกับเส้น Character Line แบบรถยนต์คลาสสิคยุคเก่าของอังกฤษ ที่เป็นเส้นตรงขนานไปกับขอบกระจกหน้าต่าง แล้วยกลอยขึ้นเป็นเส้นโค้งเมื่อผ่านเหนือซุ้มล้อคู่หลัง นอกจากนั้น ยังใช้เส้น Character Line แบบ Light-shadow เพื่อให้เงาสะท้อนดูเบาบางลง

ก่อนการเปิดตัว HS ทาง MG ได้สร้างรถยนต์ต้นแบบ MG X-Motion Concept ออกมาเผยโฉมต่อสายตาสาธารณะชนในงาน Auto China เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2018 เพื่อบอกกล่าวว่า พวกเขากำลังเตรียมเปลี่ยนโฉมให้กับ C-SUV ของตนเองในอีกไม่นานเกินรอ

หลังการเผยโฉมของ รถต้นแบบ X-Motion ทาง SAIC ก็ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2018 ว่า เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ SUV รุ่นนี้ จะถูกเปลี่ยนไปใช้ชื่อรุ่นใหม่ว่า “MG HS”

ถ้าให้แปลตามเอกสารสื่อมวลชนภาคภาษาอังกฤษของ SAIC – MG แบบตรงตัวที่สุดเท่าที่ทำได้ (เพราะ PR ชาวต่างชาติ เขาเล่นเขียนในเชิงพรรณาโวหาร เต็มพิกัด จนชวนให้ปวดกบาลตอนแปลมากๆ) ตัวอักษร H จะ สื่อถึงบุคลิกของแบรนด์ MG ที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณของความเยาว์วัย (Always YOUNG Spirit) ซึ่งยืนยาวมากว่า 100 ปี ผสมผสานเข้ากับตัวรถ ในลักษณะของ “running Hormones” (ฮอร์โมนที่พุ่งพล่านไปทั่ว) สามารถ ท้าทายและก้าวข้ามความเป็นตัวเองได้ ด้วยพลังแห่งความกระชุ่มกระชวย (Hale) ที่ไร้ขีดจำกัด เหมือนแสงสว่างของวัยหนุ่มสาวในยุคที่รุ่งเรือง “Heyday” ชวนให้คุณลุ่มหลงไปกับเสน่ห์ของรถคันนี้

ส่วนตัว S หมายถึงการสัมผัสของมนุษย์ทั้ง 5 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่จะจุดประกายความรู้สึก ในทุกประสาทสัมผัส (Sense) ซึ่งสามารถต่อยอดเชื่อมไปกับคำว่า “Super” (ดีเยี่ยม) , กับคำว่า“Satiated”(พึงพอใจ),กับคำว่า “Smart” (ชาญฉลาด),และคำว่า “Social” (การเข้าสังคม)

นำไปสามารถตีความได้ว่า มันเป็นรถยนต์ Crossover SUV ขนาดกลาง ที่สะท้อนถึงพลังของความเยาว์วัย ความน่าหลงใหล มอบประสบการณ์การขับขี่จากประสาทสัมผัสหลายมิติ หากจะเรียกว่าเป็น Hormones SUV ก็ย่อมได้เช่นกัน

เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ MG HS ถูกนำไปโชว์ตัวครั้งแรกที่ Hormone Factory ในมณฑล Shanghai ประเทศจีน ท่ามกลางเหล่าบรรดาลูกค้าวัยรุ่นหนุ่มสาวทั้งหลาย เพื่อตอกย้ำแนวคิดหลักในการสร้างรถยนต์รุ่นนี้ขึ้นมา ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก ที่งานมหกรรมแสดงยานยนต์ Chengdu Auto Show ครั้งที่ 15 ในมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2019

สำหรับประเทศไทย MG HS ถูกนำมาขึ้นสายการประกอบ ร่วมกับรถยนต์นั่งและรถกระบะ เวอร์ชันพวงมาลัยขวาของ MG รุ่นอื่นๆ ณ โรงงานแห่งใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 จ.ชลบุรี ของบริษัท SAIC Motor – CP จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (MG Sales) ที่เพิ่งสร้างเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2016 ด้วยงบประมาณการลงทุน 10,000 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 100,000 คัน/ปี

MG Sales (Thailand) ได้เชิญสื่อมวลชนไปร่วมทดลองขับ HS เวอร์ชันไทย ในงาน Sneak Preview ที่จัดขึ้นในสนาม MG Driving Experience Centre ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2019 โดยรายละเอียดของตัวรถบางส่วน และราคาจำหน่าย ยังคงเก็บเป็นความลับ ก่อนเปิดเผยข้อมูลมั้งหมดในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2019 ณ GMM Live House สร้างความฮือฮาให้กับวงการรถยนต์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำราคาเปิดตัวในรุ่นเริ่มต้นได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถูกที่สุดในบรรดา SUV ระดับเดียวกัน จนทำให้คู่แข่งหลายเจ้ารู้สึกหวั่นใจไปตามๆ กัน

หลังการเปิดตัวในเมืองไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 จนถึงเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา MG HS ทำยอดขายสะสม ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ได้สูงถึง 3,776 คัน เฉลี่ยยอดขาย ประมาณ 629 คัน/เดือน แต่ถ้าจำแนกกันออกมาจริงๆแล้ว ตัวเลขยอดขายในแต่ละเดือน มีดังนี้

ตุลาคม 2019 ขายได้ 405 คัน
พฤศจิกายน 2019 ขายได้ 712 คัน
ธันวาคม 2019 ขายได้ 886 คัน
(รวม 3 เดือนแรก ทำได้ 2,003 คัน)
มกราคม 2020 ขายได้ 598 คัน
กุมภาพันธ์ 2020 ขายได้ 629 คัน
มีนาคม 2020 ขายได้ 546 คัน

MG HS มีขนาดตัวรถ ยาว 4,574 มิลลิเมตร กว้าง 1,876 มิลลิเมตร สูง 1,664 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,720 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,573 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,584 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) 145 มิลลิเมตร ความจุถังน้ำมัน 55 ลิตร น้ำหนักตัวรถที่ทาง MG ระบุไว้ในโบรชัวร์ อยู่ที่ 1,510 – 1,570 กิโลกรัม แล้วแต่รุ่นย่อย

เมื่อเปรียบเทียบกับ MG GS รุ่นเดิม ซึ่งมีความยาว 4,500 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,689 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,650 มิลลิเมตร พบว่า HS ใหม่ ยาวกว่า GS อยู่ 74 มิลลิเมตร กว้างกว่า GS 21 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า GS 25 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 70 มิลลิเมตร เรียกได้ว่า HS มีขนาดใหญ่โตขึ้นกว่า GS ในทุกมิติ

เมื่อเทียบกับคู่แข่งรุ่นสำคัญในตลาด อย่าง Honda CR-V ที่มีความยาว 4,571 มิลลิเมตร กว้าง 1,855 มิลลิเมตร สูง 1,667 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,662 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า HS ยาวกว่าเพียง 3 มิลลิเมตร กว้างกว่า 21 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า CR-V แค่ 3 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวกว่า CR-V 55 มิลลิเมตร

หรือถ้าต้องเทียบกับ Mazda CX-5 รุ่น 2 ซึ่งมีตัวถังยาว 4,550 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,680 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,700 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า HS ยาวกว่า CX-5 อยู่ 24 มิลลิเมตร กว้างกว่า 36 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 16 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 20 มิลลิเมตร

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Subaru Forester ที่มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,625 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร สูง 1,730 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,670 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า HS สั้นกว่า Forester อยู่ 51 มิลลิเมตร กว้างกว่า 61 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 66 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวกว่า 50 มิลลิเมตร

หรือเปรียบเทียบกับ Nissan X-Trail ที่มีมิติตัวถังภายนอกยาว 4,690 มิลลิเมตร กว้าง 1,830 มิลลิเมตร สูง 1,740 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,705 มิลลิเมตร ก็จะพบว่า HS สั้นกว่า X-Trail ถึง 116 มิลลิเมตร กระนั้น ก็ยังกว้างกว่า 46 มิลลิเมตร แถมยังเตี้ยกว่า X-Trail ถึง 76 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวกว่าแค่ 15 มิลลิเมตร

จากตัวเลข จะเห็นได้ว่า HS มีมิติตัวถังภายนอกใหญ่โตขึ้นกว่า GS เกือบทุกมิติ แม้จะมีความสูงของแนวหลังคาและระยะต่ำสุดจากพื้นถึงใต้ท้องรถ (Ground Clearance) น้อยที่สุด (สูงกว่ารถเก๋งขนาดเล็ก อย่าง Nissan Almera เพียงแค่ 10 มิลลิเมตร) ซึ่งเป็นผลมาจากแผ่นปิดใต้ห้องเครื่องที่โป่งนูนออกมาค่อนข้างเยอะ แต่ทว่ามีระยะฐานล้อยาว และมีความกว้างของตัวถังมากที่สุดในกลุ่ม Compact SUV ที่ทำตลาดอยู่ในบ้านเราในปัจจุบัน หากจะเรียกว่ามาในสไตล์ Low & Wide ก็คงไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงนัก

MG HS เวอร์ชันไทย มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ได้แก่ C, D และ X โดยเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อนเหมือนกันทุกประการ แตกต่างกันที่รูปลักษณ์ภายนอก บริเวณชุดโคมไฟหน้า ลายล้ออัลลอย ภายในห้องโดยสาร และอุปกรณ์มาตรฐานของแต่ละรุ่นย่อย

ชุดโคมไฟหน้ามีรูปทรงเหมือนกันทุกรุ่นย่อย แต่มีรายละเอียดภายในโคมแตกต่างกันเล็กน้อย โดยรุ่น C จะประกอบด้วยไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED Daytime Running Light ทรง 4 เหลี่ยม 9 ชิ้น เรียงตัวกันเป็นรูปตัว U ไฟหน้าสูง -ต่ำ แบบ Projector Lens หลอดฮาโลเจน และไฟเลี้ยวแบบหลอดไส้ธรรมดาอยู่ที่มุมด้านในสุด ส่วนรุ่น D และ X จะถูกอัพเกรดเป็นชุดไฟหน้าแบบ Full-LED เมื่อเปิดไฟเลี้ยว ไฟ DRL LED Tube ด้านบนก็จะปรับลดความสว่างลง ส่วนไฟ DRL รูปตัว U ก็จะสลับการทำงานมาทำหน้าที่เป็นไฟเลี้ยวแบบ Sequential แทน รวมถึงทำหน้าที่เป็นไฟฉุกเฉิน Hazard Light ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ทุกรุ่นย่อยจะติดตั้งสวิตช์ปรับระดับไฟหน้ามาให้ พร้อมระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และไฟส่องสว่างนำทางหลังดับเครื่องยนต์ (Follow Me Home) แต่ระบบไฟสูงอัตโนมัติ IHC (Intelligent High-beam Control) ติดตั้งมาให้เฉพาะ X เท่านั้น

ในรุ่น D และ X ที่เป็นไฟหน้าแบบ Full-LED Bi-Beam มี Cut-off หรือม่านบังแสง ที่คมชัด หมดปัญหาไฟหน้าฟุ้งกระจายไปแยงตาเพื่อนร่วมถนน หากไม่ปรับระดับสูงเกินไป ส่วนเรื่องความเข้มของแสง อยู่ในระดับปานกลาง หากติดฟิล์มกระจกบังลมหน้าเข้มเกินไป อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

การมีระบบเปิด – ปิดไฟสูงอัตโนมัติ ทำให้สะดวกเวลาเดินทางออกต่างจังหวัดในยามวิกาล แต่ทว่าเมื่อมีรถที่อยู่เลนตรงข้ามขับสวนมา หรือมีรถจากด้านหลังแซงขึ้นไป เซ็นเซอร์จะใช้เวลาในการตรวจจับและประมวลผลราวๆ 3 วินาที ซึ่งเกรงว่า ผู้ขับขี่อาจจะโดนด่าไปถึงบุพการีล่วงหน้าไปก่อนตั้งแต่ 2 วินาทีแรกไปแล้วได้บ้างในบางครั้งเหมือนกัน

ไฟตัดหมอกคู่หน้าที่อยู่ถัดลงมาด้านล่าง บริเวณเปลือกกันชนหน้านั้น ยังคงเป็นหลอดไส้ Halogen ให้แสงสีขาวเหลือง ติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่นย่อย ทำงานแยกกับไฟตัดหมอกหลัง

กระจังหน้าของทุกรุ่นย่อย เป็นแบบ Stella Magnetic Field ที่ MG ระบุว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากสนามแม่เหล็ก แต่ดันไปละม้ายคล้ายกับกระจังหน้า Diamond Grille ของ Mercedes-Benz ด้านในมีการประดับตกแต่งด้วยลายจุดเล็กๆ สีเงิน และเพิ่มลูกเล่นเข้าไป โดยการขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกระจายตัวออกรอบนอก ทำให้ดูมีมิติยิ่งขึ้น ด้านนอกล้อมกรอบด้วยแถบโครเมียม มีโลโก้ MG ขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลาง พร้อมกล้องมองภาพด้านหน้าซ่อนอยู่ใต้โลโก้ สำหรับรุ่น X

เปลือกกันชนหน้า มีดีไซน์ของกรอบไฟตัดหมอกเป็นแผงรังผึ้งเชื่อมติดกันทั้งฝั่งซ้ายและขวา คั่นด้วยตำแหน่งติดตั้งแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้า โคมไฟตัดหมอกตกแต่งด้วยแถบโครเมียม ส่วนช่องดักอากาศบริเวณชายล่างมีการพ่นสีเงินมาให้ โดยในรุ่น X ซึ่งมีระบบควบคุมความเร็วแปรผัน (Adaptive Radar Cruise Control) จะติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับรถคันข้างหน้ามาให้ด้วย

รูปลักษณ์ภายนอกกว่า 90% ถอดมาจากรถยนต์ต้นแบบ X-Motion Concept ที่เผยโฉมต่อสายตาสาธารณะชนในงาน Auto China ไปเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นการนำทิศทางการออกแบบของรถยนต์ต้นแบบ Coupe 2 ประตู E-Motion Concept มาต่อยอด จนกลายเป็นรถต้นแบบ SUV ที่มีดีไซน์หรูหรา พรีเมียม นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็น Design Language ที่เราจะพบเห็นได้ในรถยนต์ MG รุ่นใหม่ในอนาคตอีกด้วย

เส้นสายบนตัวถังด้านข้างรถถูกขัดเกลาออกไปเกือบหมด แต่ยังคงเหลือไว้ซึ่งความโค้งมนที่ทำให้ตัวรถมีมิติและไม่แข็งทื่ออยู่ กรอบกระจกหน้าต่างทั้งหมดตกแต่งด้วยแถบโครเมียม ชิ้นส่วนบานประตูบริเวณเสา B และ C pillar ใช้วัสดุสีดำเงา มือจับเปิดประตูด้านนอกเป็นสีเดียวกับตัวรถเสริมด้วยโครเมียม ติดตั้งกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวพร้อมไฟเลี้ยวแบบ LED ในตัวมาให้เป็นมาตรฐาน แต่ไฟส่องสว่าง Welcome Light มีให้พาะรุ่น D และ X เท่านั้น และในรุ่น X จะมีกล้องใต้กระจกมองข้างมาให้ ตำแหน่งฝาถังน้ำมันอยู่เหนือซุ้มล้อหลังฝั่งขวาของตัวรถ

ทุกรุ่นย่อย จะมีราวหลังคาแบบ Built-in สีเงิน มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ต่อเสริม เช่น กล่องเก็บสัมภาระบนหลังคา (Roof Box) หรือจักรยาน เป็นต้น

คิ้วเหนือซุ้มล้อทั้ง 4 รวมถึงชายล่างของบานขอบประตูคู่หน้าและคู่หลัง เป็นพลาสติกสีดำ คาดด้วยแถบโครเมียม ถูกออกแบบให้คลุมลงไปจนถึงใต้ท้องรถ แบบเดียวกับ Honda CR-V และ Mazda CX-5 ช่วยลดปัญหาคราบฝุ่นโคลน ติดขากางเกง หรือกระโปรง ขณะก้าวขึ้น – ลงจากรถ กลายเป็นธรรมเนียมการออกแบบของ SUV ในยุคใหม่ไปแล้ว ยกเว้น X ซีรีย์ของ BMW และตระกูล GL ของ Mercedes-Benz ที่ยังคงยืนหยัดกับขอบประตูแบบเดิมกันอยู่

ด้านหลังของทุกรุ่นย่อย มาพร้อมชุดไฟท้ายแบบ Full-LED ทั้งไฟหรี่ ไฟเลี้ยว และไฟเลี้ยว แต่ในรุ่น D และ X จะมีไฟเลี้ยวแบบ Sequential ติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้ กระจกบังลมหลังมีระบบไล่ฝ้า ก้านปัดน้ำฝนพร้อมระบบฉีดน้ำทำความสะอาด ด้านบนสุดเป็นสปอยเลอร์หลังสีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

ชายล่างของเปลือกกันชนหลังตกแต่งด้วยพลาสติกสีดำและสีเงิน ติดตั้งเซ็นเซอร์กะระยะด้านหลังมาให้ 4 จุด ไฟถอย ไฟตัดหมอกหลัง และแผงไฟทับทิมเรืองแสงสีแดงออกแบบมาเป็นชุดเดียวกัน ตำแหน่งติดตั้งอยู่เหนือปลายท่อไอเสียทรงกลมรีทั้ง 2 ฝั่งซ้าย – ขวา

ล้ออัลลอยของรุ่น C จะเป็นลาย V-Spoke 10 ก้าน ปัดเงา ขนาด 17 นิ้ว รัดด้วยยาง Maxxis Bravo HPM3 ขนาด 215/60 R17 ส่วนรุ่น D และ X จะเป็นล้อลาย 5 ก้านคู่ ปัดเงา ขนาด 18 นิ้ว รัดด้วยยาง Goodyear Efficient Grip ขนาด 235/50 R18

ดีไซน์โค้งมนที่อยู่บนเรือนร่างตัวรถ ยังปรากฏให้เห็นในกุญแจรีโมทแบบ Keyless Entry พร้อมกุญแจ Wave key ด้วยเช่นกัน เมื่อพกกุญแจเดินเข้าใกล้ตัวรถ แล้วเอื้อมมือไปกดปุ่มสีเงินด้านข้างจับเปิดประตู ระบบจะปลดล็อกประตูให้ทันที และหากต้องการสั่งล็อกประตู ก็สามารถกดปุ่มข้างมือจับเปิดประตูซ้ำอีกครั้ง หรือจะกดปุ่มล็อก – ปลดล็อกบนรีโมทก็ได้เช่นกัน นอกจากนั้น ในรุ่น X ยังสามารถสั่งล็อก – ปลดล็อกประตูด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านทางแอปพลิเคชัน i-SMART ได้อีกด้วย

การใช้งานกุญแจรีโมทแบบ Keyless Entry หากคุณต้องการให้ระบบกลอนประตู ทำงานพร้อมกันทั้งหมด หรือแค่ฝั่งคนขับบานเดียว ปลดล็อกอัตโนมัติเมื่อดับเครื่องยนต์ หรือเปิด – ปิดระบบล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อรถเคลื่อนที่ (Speed Sensing Door Lock) 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็สามารถปรับเซ็ตได้บนเมนู ตั้งค่ารถยนต์ ในหน้าจอกลางได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ถ้าคุณปลดล็อกรถในยามค่ำคืน หากมองลงไปบนพื้น คุณจะพบกับสัญลักษณ์ MG เรืองแสงส่องลงมาให้เห็นจากใต้กระจกมองข้าง เป็นแนวคิดที่เห็นได้ชัดเลยว่า ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากรถยนต์ระดับ Premium หลายแบรนด์ หลายรุ่น

การเข้า – ออกประตูคู่หน้า ต้องใช้ความระมัดระวังอยู่บ้าง แม้ธรณีประตูจะไม่สูงชันเหมือน Mazda CX-5 ซึ่งทำให้การก้าวขึ้น – ลง ค่อนข้างง่ายดาย ไม่ต้องยกขาหลบสูงนัก แต่การมีแนวเสาหลัง A-Pillar ที่หนาและลาดชัน ผนวกกับตำแหน่งเบาะรองนั่งที่สูงเอามากๆ (ไม่รู้ว่าจะสูงแข่งกับบรรดารถกระบะยกสูงหรืออย่างไรกัน) ทำให้บางจังหวะ หัวคุณอาจจะไปโขกกับเสาหลังคาเอาได้ มันอาจจะไม่เป็นปัญหาสำหรับคนตัวเล็ก แต่สำหรับคนที่มีรูปร่างปานกลาง จนถึงคนตัวสูงใหญ่ โอกาสที่ศีรษะจะถูกกระแทกได้บ่อยๆ เพียงเพราะการออกแบบเสาหลังคาอย่างนี้ คงไม่ใช่เรื่องดีแน่

การออกแบบให้ชายขอบประตูด้านล่าง คลุมปิดทับพื้นที่กรอบประตูด้านล่างทั้งหมด มีข้อดีก็คือ เวลาไปลุยโคลนมา แล้วคุณจะต้องเข้าไปนั่ง หรือลุกออกจากรถ ขากางเกง หรือชายกระโปรง ก็จะไม่ต้องเปื้อนเศษโคลนที่ติดอยู่บริเวณชายล่างของตัวรถเลย แต่ถ้าระยะห่างจากเบาะนั่งถึงธรณีประตูเยอะไป อย่าง HS ก็อาจจะทำให้คุณต้องก้าวขาออกนอกรถมากกว่าปกติสักหน่อย มีโอกาสเสี่ยงที่ขากางเกงหรือชายกระโปรงจะเปรอะเปื้อนฝุ่นได้บ้างเหมือนกัน

มุมหน้าต่างบานประตูคู่หน้าติดกับเสา A-Pillar ของรุ่น X จะมีลำโพง Tweeter ติดตั้งมาให้อีกฝั่งละ 1 ตำแหน่ง รวมถึงมีไฟเตือนของระบบ Blind Spot Monitoring มาให้ด้วย

แผงประตูคู่หน้าของรุ่น C และ D ตกแต่งด้วยโทนสีดำทั้งหมด บุฟองน้ำและหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์สีดำ พร้อมเย็บตะเข็บด้ายสีแดงบริเวณพนักวางแขนและแผงประตูส่วนที่ติดกับพนักวางแขนมาให้ แต่ในรุ่น X จะเปลี่ยนวัสดุหุ้มหนังเป็นสีแดง พร้อมเย็บตะเข็บด้ายบริเวณแผงประตูส่วนที่ติดกับพนักวางแขนเป็นลวดลายสวยงาม พนักวางแขน สามารถวางท่อนแขนได้สบายจริง ตั้งแต่ช่วงข้อศอก ยาวจนถึงข้อมือ ทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนมือจับเปิดประตูจากด้านใน และสวิตช์เลื่อนกระจกหน้าต่างของทุกรุ่น เป็นพลาสติกชุบอะลูมีเนียมสีเงิน

แผงประตูด้านล่างมีช่องวางของมาให้ สามารถใส่ขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรได้ 1 ขวด และข้าวของจุกจิกได้อีกนิดหน่อย พร้อมติดตั้งลำโพง Sub Bass มาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง

เบาะนั่งคู่หน้าของรุ่น C และ D เป็นเบาะแบบธรรมดา หุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ เย็บตะเข็บด้ายสีแดง รูปทรง และลายตะเข็บด้าย มีความคล้ายคลึงกับเบาะนั่งของ GS อยู่พอสมควร เบาะนั่งฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง พร้อมก้านปรับดันหลังอยู่ที่ฝั่งซ้ายของพนักพิงหลัง พนักพิงศีรษะสามารถปรับสูง – ต่ำและถอดได้

ในขณะที่รุ่น X เบาะนั่งคู่หน้าจะถูกอัพเกรดเป็นเบาะนั่งทรงสปอร์ต พนักพิงหลังและพนักพิงศีรษะรวมเป็นชิ้นส่วนเดียวกัน หุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์สีดำสลับแดง เสริมด้วยหนังกลับ Alcantara บริเวณปีกด้านข้างส่วนที่รองหลังหัวไหล่ เย็บตะเข็บด้ายสีแดง เบาะนั่งฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง แต่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า จะเพิ่มระบบปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า 4 ทิศทางมาให้ นอกจากนี้ ทุกรุ่นยังมีช่องเก็บนิตยสารด้านหลังพนักพิงหลังมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง

สำหรับเบาะนั่งของรุ่น X คันที่เรานำมาทดสอบนั้น เสริมฟองน้ำมาในแนวแน่น แอบนุ่ม พนักพิงหลัง ปาดเว้าเป็นแอ่งลงไปเล็กน้อย รองรับแผ่นหลังได้ดี แต่ตัวปรับดันหลัง หรือ Lumbar support อยู่ในจุดที่ต่ำเกินไป แทนที่จะดันบริเวณกลางหลัง กลับไปดันบริเวณเหนือก้นกบแทน ทำให้การปรับดันหลังโดยหวังความสบายขณะเดินทางไกลนั้นไม่บังเกิดผล มิหนำซ้ำ ยังเมื่อยกว่าเดิมอีกต่างหากแหนะ ส่วนปีกด้านข้างหนาและสูงกำลังดี ทำหน้าที่โอบกระชับร่างกายของผู้ขับขี่และผู้โดยสารขณะเข้าโค้งแรงๆ ได้ดีพอสมควร

พนักพิงศีรษะ ของรุ่น X ถูกออกแบบมาให้ยุดติดตายตัวกับโครงเบาะ แถมยังแข็งโป๊ก มีการบุฟองน้ำนุ่มเสริมมาให้แต่บางโคตรๆ จนแทบหาความนุ่มไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ดูเหมือนว่ามันถูกออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงต่อเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ เมื่อถูกชนจากด้านหลังเป็นหลัก ขาดความสนใจในความสบายของผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร ทำให้ยังคงดันกบาลเหมือน GS ไม่มีผิดเพี้ยน

เบาะรองนั่งมีความยาวประมาณหนึ่ง เหลืออีก 1 นิ้ว ก็จะถึงข้อพับพอดี ตำแหน่งการติดตั้งค่อนข้างสูง แม้จะกดสวิตช์เลื่อนเบาะลงมาต่ำสุดแล้วก็ตาม การปรับเบาะเพื่อให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของผู้ขับขี่แต่ละคนมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากไม่สามารถปรับองศาก้ม – เงยของเบาะรองนั่งส่วนปลายได้ แถมมีปีกเบาะด้านข้างเสริมขึ้นมานิดหน่อย พอจะให้สัมผัสคล้ายนั่งบนเบาะรถแข็งอยู่บ้าง

สิ่งที่อยากจะตำหนิ คือ เบาะรองนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าที่สูงเอามากๆ ให้ความรู้สึกราวกับว่ากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้หินอ่อนหน้าบ้านยังไงอย่างงั้นเลยทีเดียว แถมปรับระดับสูง – ต่ำ ก้ม – เงยไม่ได้อีกต่างหาก นั่งไปนานๆ เล่นเอาปวดข้อพับอยู่บ้างเหมือนกันนะ ถ้าให้เลือกระหว่างเบาะปรับด้วยสวิตช์ไฟฟ้าได้แค่ 4 ทิศทาง กับปรับแบบอัตโนมือ แต่ขึ้น – ลงได้ ผมขอเลือกอย่างหลังดีกว่า แม้จะดูไม่หวือหวาเมื่อมองด้วยตาเปล่า แต่การใช้งานจริงมันสะดวกสบายกว่ากันเยอะ

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าของรุ่นย่อยเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ตำแหน่ง พร้อมระบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load Limiter) สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลังนั้น ถือว่าทำได้ดีพอสมควร ถึงแม้บานประตูคู่หลังจะไม่สามารถเปิดออกได้กว้างเกือบ 90 องศา เหมือน CR-V แต่การมีธรณีประตูที่ไม่สูงมากนัก บวกกับซุ้มล้อคู่หลังที่ถอยร่นออกไป ทำให้มีความกว้างระหว่างช่องประตู ด้านล่าง มากพอที่จะเอื้ออำนวยให้ก้าวขาเข้า – ออก ได้อย่างสบายๆ โดยไม่ถึงขั้นที่ต้องเล่นท่ายากใดๆ เลย เป็นอีกจุดหนึ่งที่ออกแบบมาได้ดี

แผงประตูคู่หลังของแต่ละรุ่นย่อย ใช้โทนสีและวัสดุตกแต่ง รวมทั้งมี แถบไฟ LED Ambient Light เหมือนกับแผงประตูคู่หน้า พนักวางแขนบนแผงประตูคู่หลัง สามารถวางท่อนแขนได้ กำลังดี วางได้ถึงข้อศอก ด้านล่างของแผงประตู มีช่องวางขวดน้ำดื่มมาให้ ฝั่งละ 1 ตำแหน่งและติดตั้งลำโพงมาให้ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง กระจกด้านข้างสามารถเลื่อนลงจนกระทั่งสุดขอบหน้าต่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

เบาะนั่งด้านหลังของรุ่น C และ D จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์สีดำ แต่รุ่น X จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์สีแดงสลับดำเช่นเดียวกับเบาะนั่งคู่หน้า ทุกรุ่นย่อยสามารถแยกพับพนักพิงหลังได้ในอัตราส่วน 60 : 40 ปรับองศาการเอนได้ 5 ระดับ หรือประมาณ 5 องศา เมื่อกะระยะด้วยสายตา แต่ไม่สามารถเลื่อนเบาะรองนั่งขึ้นหน้า – ถอยหลังได้

เมื่อดึงพนักพิงหลังตำแหน่งเบาะตรงกลางลงมา จะเป็นพนักวางแขนหุ้มด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้ายสีแดง สามารถ วงแขนได้ในตำแหน่งสบายกำลังดี ตั้งแต่ข้อศอก มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง และช่องเก็บของแบบมีฝาปิด ด้านในบุด้วยผ้าสักหลาด อีก 1 ตำแหน่ง

ฟองน้ำของเบาะนั่งด้านหลังมาในสไตล์เดียวกันกับด้านหน้า คือ แน่น แต่นุ่ม แม้จะไม่บุฟองน้ำนิ่มเสริมมาให้บริเวณผิวหน้า เหมือนรถบางรุ่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกถึงความแข็งกระด้างแต่อย่างใด ความยาวเบาะรองนั่งค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ด้วยทรงของตัวเบาะนั่งที่มีการปาดเว้าเพื่อดอบกระชับร่างกายของผู้โดยสารได้ดี

บวกกับพนักพิงศีรษะแบบปรับระดับสูง – ต่ำได้ครบทุกตำแหน่ง และไม่ใช่รูปตัว L คว่ำ แม้จะบุฟองน้ำมาแบบแน่นๆ แต่ก็ให้สัมผัสที่แอบนุ่มกว่าพนักศีรษะของเบาะคู่หน้าเสียด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้ ทำให้ภาพรวมของเบาะนั่งด้านหลังจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่ม หากจะมีรุ่นที่นั่งสบายกว่านี้อย่างชัดเจน ก็เห็นจะมีแต่ Nissan X-Trail เบนซิน 2.5 ลิตร ที่ไม่ใช่รุ่น Hybrid 2.0 ลิตร เท่านั้น

พื้นที่ส่วนพื้นที่วางขานั้น ด้วยอานิสงค์ และผลจากการมีฐานล้อที่ยาวกว่าใครเพื่อน ถึง 2,720 มิลลิเมตร ทำให้มีพื้นที่เหลือถึง 2 กำปั้น ในแนวนอน เมื่อปรับเบาะนั่งด้านหน้าให้อยู่ในตำแหน่งปกติ

เข็มขัดนิรภัยเบาะหลังแบบ ELR 3 จุด มีมาให้ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง พร้อมจุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก ISOFIX ทั้ง 2 ฝั่ง ซ้ายและขวา

ด้านหลังกล่องเก็บของคอนโซลกลางเป็นช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง สามารถปรับทิศทางลม และเปิด – ปิดได้ แต่ไม่สามารถปรับความแรงลมได้ เมื่อมองถัดลงไปด้านล่าง ก็จะพบกับช่อง USB port สำหรับเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า 2 ตำแหน่ง

เหนือศีรษะมีมือจับศาสดาสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจมาให้ 3 ตำแหน่ง พร้อมกับไฟส่องสว่างแบบ LED (ยกเว้นตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ) มีการหน่วงความเร็วให้ขณะปล่อย ตามมาตรฐานของรถยนต์ทั่วๆ ไป

ฝากระโปรงท้ายของรุ่น C และ D เป็นแบบธรรมดา สามารถสั่งเปิดได้ด้วยการกดปุ่มบนรีโมท หรือปุ่มปลดล็อกที่ซ่อนอยู่เหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน เยื้องไปทางด้านขวาของโลโก้ MG เล็กน้อย ส่วนรุ่น X จะเป็นฝากระโปรงท้ายแบบไฟฟ้า นอกจากจะสั่งเปิดได้จากปุ่มภายในรถด้านข้างคันเกียร์ ปุ่มบนกุญแจรีโมท และปุ่มสวิตช์ด้านหลังแล้ว ยังมาพร้อมกับระบบ Hand-free Tailgate หรือระบบเตะเปิดอีกด้วย ซึ่งรถต้องอยู่ในตำแหน่งเกียร์ P เท่านั้น จึงจะเปิดได้

เมื่อเปิดฝากระโปรงท้ายขึ้น ก็จะพบกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังที่มีขนาดความจุ 463 ลิตร (ตามที่โบรชัวร์ HS เวอร์ชันจีนระบุเอาไว้) แต่เมื่อพับพนักพิงหลังเบาะนั่งแถวที่ 2 ลง จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,287 ลิตร เมื่อเทียบกับ GS ซึ่งมีความจุ 483 ลิตร และ 1,336 ลิตร เมื่อพับเบาะแถว 2 จะพบว่า HS มีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังเล็กลงเล็กน้อย และเมื่อเปรียบเทียบกับ Honda CR-V ซึ่งมีความจุ 552 ลิตร ก็จพบว่า HS มีพื้นน้อยกว่าอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ใครที่คาดหวังประโยชน์ใช้สอยด้านนี้ คงต้องทำใจสักหน่อย เนื่องจากระยะ Overhang ด้านหลัง นั้นค่อนข้างสั้น แถมเพดานหลังคายังถูกกดให้ต่ำลงกว่ารถรุ่นเดิมอีกต่างหาก ทำได้เท่านี้ก็ถือว่าดีแล้วครับ

นอกจากนี้ ยังติดตั้งม่านบังสัมภาระด้านหลังมาให้เป็นมาตรฐานสำหรับทุกรุ่นย่อย ส่วนฝั่งซ้ายมือก็มีไฟส่องสว่างแบบ LED มาให้ 1 ตำแหน่ง

เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาสำหรับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูงแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อบ้าน แม่บ้าน หรือลูกๆ หลานๆ จึงมีการติดตั้งฟังก์ชันปรับตั้งองศาการเปิดบานฝากระโปรงท้ายมาให้ ซึ่งสามารถปรับได้ตั้งแต่ 40% ไปจนถึง 100% ขององศาการเปิดทั้งหมด ส่วนวิธีการนั้นก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่เข้าไปตั้งค่าบนหน้าจอกลาง โดยไม่จำเป็นต้องกดปุ่มที่ฝาท้ายซ้ำไป ซ้ำมา เพื่อรีเซ็ต ให้ยุ่งยากเลย

เมื่อยกพื้นห้องเก็บสัมภาระขึ้นมา จะพบกับถาดพลาสติกสำหรับวางสิ่งของ มีช่องขนาดใหญ่ 2 ช่อง และช่องขนาดเล็ก 1 ช่อง สามารถจัดเก็บสิ่งของที่มีความเปียกชื้นหรือมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และเมื่อยกถาดวางของขึ้น ก็จะพบกับยางอะไหล่แบบชั่วคราว ขนาด T125/80 R17 พร้อมแม่แรงยกรถ ที่ติดตั้งมาให้สำหรับรุ่น D และ X ในขณะที่รุ่น C นั้น จะมีชุดซ่อมยางฉุกเฉินมาให้แทน

ภายในห้องโดยสารของ MG HS ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้ฉีกแนวออกไปจาก GS รุ่นเดิม ไม่ใช่แค่คนละเรื่อง แต่เป็น คนละโลก เพราะไม่ว่าจะเป็นแนวเส้นของชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบเข้าด้วยกัน ล้วนให้สัมผัสที่ “สปอร์ต หรู และดูแพง” ขึ้นมากกว่าทั้ง MG รุ่นอื่นๆ ไปจนถึงบรรดาคู่แข่งในระดับเดียวกันทั้งสิ้น

แผงหน้าปัดด้านบนสุดของทุกรุ่นเป็นวัสดุบุนุ่มสีดำ พร้อมแนวตะเข็บเทียม ถัดเข้ามาใกล้กับเบาะนั่งคู่หน้า รุ่น C และ D จะเป็นวัสดุบุนุ่มด้วยหนังสีดำ พร้อมเย็บตะเข็บด้ายสีแดง ในขณะที่รุ่น X จะใช้วัสดุบุนุ่มด้วยหนังสีแดง พร้อมเย็บตะเข็บด้ายสีแดง เช่นเดียวกับแผงด้านข้างประตู ในรุ่น D และ X จะติดตั้งแสงไฟในห้องโดยสาร Ambient Light มาให้ ซึ่งสามารถเลือกปรับโทนสีและรูปแบบการทำงานได้จากหน้าจอกลาง

ช่องแอร์ด้านหน้า ฝั่งซ้ายและขวาเป็นแบบวงกลม คล้ายใบพัด Jet Turbine ตกแต่งด้วยวงแหวนสีเงิน สามารถปรับทิศทางลม และเปิด – ปิด ด้วยสวิตช์หมุนตรงกลาง หลายชิ้นส่วน ประดับตกแต่งด้วยพลาสติก แบบ Chrome เพื่อเสริมภาพลักษณ์ความหรูหรา ดู Premium ขึ้นกว่า GS เดิม เป็นคนละเรื่อง

จากฝั่งซ้ายมาทางขวา แผงควบคุมบริเวณบานประตูฝั่งคนขับ ประกอบด้วยสวิตช์ควบคุมการเลื่อนขึ้น – ลง ของกระจกหน้าต่างแบบ One-touch ทั้งขาขึ้นและขาลง ทั้ง 4 บาน สวิตช์ล็อกกระจกหน้าต่าง สวิตช์ล็อก – ปลดล็อกประตู รวมทั้งสวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้าง

บริเวณใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาคนขับ เป็นตำแหน่งติดตั้งปุ่มสตาร์ทและดับเครื่องยนต์ สีเงิน พร้อมไฟแสดงสถานะ ถัดลงมาด้านล่างเป็นสวิตช์หมุนปรับระดับจานฉายไฟหน้า ซึ่งมีมาให้ 4 ระดับ (0 / 1 / 2 / 3) ด้านข้างเป็นช่องเก็บของขนาดเล็กแบบมีฝาปิด

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ท้ายตัด วงพวงมาลัยหุ้มด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้ายสีแดง ก้านพวงมาลัยตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน ปรับได้ 4 ทิศทาง ทั้งขึ้น – ลง และใกล้ – ไกล สวิตช์บนพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับเลื่อนปรับหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่บนชุดมาตรวัด โทรติดต่อ Call Center (ปุ่ม *) และเปิด – ปิดการใช้งานฟังก์ชันคำสั่งเสียง ส่วนฝั่งขวา สำหรับเล่นเพลงและปรับคลิ่นวิทยุ เพิ่ม – ลด และปิดเสียง เลือกรับสาย (กดหนึ่งครั้ง) หรือวางสายโทรศัพท์ (กดค้าง) และเปลี่ยนแหล่งต้นทางเพลงที่มีอยู่ (ปุ่ม SRC หรือ Source เลือกเปลี่ยนจาก วิทยุ เป็น USB หรือ Bluetooth)

ในรุ่น X จะติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift มาให้ ฝั่งขวา (+) สำหรับเปลี่ยนเกียร์ขึ้น ส่วนฝั่งซ้าย (-) สำหรับเปลี่ยนเกียร์ลง นอกจากนั้น ยังมีโหมดการขับขี่แบบ Super Sport มาให้ ซึ่งเป็นก้านสวิตช์ปุ่มกดสีแดงอยู่ใต้ก้านพวงมาลัยฝั่งขวา แบบเดียวกับสวิตช์ Drive Mode ของ Porsche หลายรุ่น

ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัยฝั่งขวา สำหรับควบคุมการทำงานของก้านปัดน้ำฝนกระจกบังลมหน้า และระบบฉีดน้ำล้างทำความสะอาด ในรุ่น C มาพร้อมฟังก์ชันตั้งหน่วงเวลา แต่รุ่น D และ X จะเป็นแบบอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณน้ำฝน (Rain Sensor)

ส่วนฝั่งซ้าย ด้านบน สำหรับควบคุมชุดไฟหน้า ทั้งไฟหรี่ ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเลี้ยว และไฟตัดหมอกหน้า – หลัง ระบบเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติทำงานควบคู่กับเซ็นเซอร์ตรวจวัดความเข้มแสงติดตั้งมาให้ทุกรุ่นย่อย แต่ระบบเปิด – ปิดไฟสูงอัตโนมัติ IHC (Intelligent High-beam Control) สวงนไว้สำหรับรุ่น X เท่านั้น ปลายสุดของก้านสวิตช์จะมีปุ่มสำหรับเปิด – ปิดระบบ Lane Keeping Assist มาให้

ส่วนด้านล่าง มีก้านสวิตช์สำหรับควบคุมการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ในรุ่น D และระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน (Adaptive Radar Cruise Control) ในรุ่น X ซึ่งสามารถปรับระยะห่างจากรถคันข้างหน้าได้ 3 ระดับ ความเร็วเป้าหมายสามารถเพิ่ม – ลด ได้ทีละ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สมมติเริ่มต้นทำงานที่ 82 กิโลเมตร/ชั่วโมง โยกก้านสวิตช์ขึ้น 1 ครั้ง ความเร็วจะเพิ่มเป็น 85, 90, 95,…) การใช้งาน ค่อนข้างยาก และต้องทำความเข้าใจกันใหม่ แตกต่างจากระบบ ล็อกความเร็ว ของรถยนต์ทั่วไป พูดตรงๆก็คือ ใช้งานไม่สะดวกเลย

แป้นคันเร่งและแป้นเบรก ของรุ่น C และ D จะเป็นแป้นแบบธรรมดา แต่รุ่น X จะตกแต่งด้วยวัสดุอะลูมิเนียม สไตล์ รถสปอร์ต ยุคร่วมสมัย

ชุดมาตรวัดของรุ่น C เป็นแบบ Analog วงกลม 2 วงเต็ม แสดงผลตัวเลขสีขาวและเข็มสีแดง วงกลมด้านขวาเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ ด้านซ้ายเป็นมาตรวัดความเร็ว ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-information Display) แบบดิจิตอล บอกตำแหน่งเกียร์ ODO/Trip Meter ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง นาฬิกา อุณหภูมิภายนอก และมีฟังก์ชันเตือนเมื่อพวงมาลัยไม่อยู่ในตำแหน่งตั้งตรง ส่วนแถบด้านล่างเป็นไฟแสดงสถานะของตัวรถ

ในขณะที่ชุดมาตรวัดของรุ่น D และ X จะถูก Upgrade ขึ้น เป็นมาตรวัด Analog แบบ ครึ่ง วงกลม 2 ฝั่ง ตัวเลขสีขาวและเข็มสีขาว ด้านขวาเป็นมาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบหมุนทวนเข็มนาฬิกา ส่วนด้านซ้ายเป็นมาตรวัดความเร็วหมุนตามเข็มนาฬิกาปกติ มาพร้อมหน้าจอแสดงผล ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 7 นิ้ว (Interactive Multi-function Display) เลือกปรับการแสดงผลได้จากแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา

หน้าจอดังกล่าว สามารถแสดงข้อมูลได้ทั้ง ตัวเลขความเร็วแบบ Digital ขนาดใหญ่ การทำงานของระบบช่วยเหลือการขับขี่ ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น สถานะประตู แรงดันและอุณหภูมิลมยาง แรงดันไฟฟ้าในแบตเตอรี่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไฟเตือนรัดเข็มขัดที่นั่งด้านหลัง ตำแหน่งเกียร์ ODO/Trip Meter อุณหภูมิภายนอก นาฬิกา Trip meter รวมถึงไฟแสดงสถานะของตัวรถ การปรับตั้งค่าต่างๆ ฯลฯ อีกมากมาย

กล่องเก็บของฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย Glove Compartment มีขนาดใหญ่พอให้ใส่ เอกสารประจำรถ รวมทั้งคู่มือผู้ใช้รถ ความจุภาพรวม ใกล้เคียงกับ MG GS รุ่นเดิม มันมีขนาดใหญ่พอให้ใส่กล้องถ่ายรูป Compact ขนาดเล็กได้ แต่ไม่ใหญ่พอให้ใส่ปืนพก เว้นเสียแต่ว่า ต้องหยิบเอาสมุดคู่มือออกมาทั้งหมดเสียก่อน

บริเวณกึ่งกลางแผงหน้าปัดเป็นหน้าจอ Monitor ระบบสัมผัส แบบลอยตัว (Floating Touchscreen) ขนาด 10 นิ้ว ถัดลงมาเป็นช่องแอร์คู่กลาง ล้อมกรอบด้วยวัสดุสีเงิน ออกแบบในแนวยาว เพื่อช่วยทำให้ตัวแผงหน้าปัด ดูกว้าง และเพิ่มความรู้สึกให้ผู้ขับขี่สัมผัสถึงความกว้างของห้องโดยสารได้ในทางอ้อม

ใต้ช่องแอร์คู่กลาง มีแผงสวิตช์ปุ่มลัด Shortcut Key ได้แก่ ปุ่มเพิ่มเสียง – ลดเสียง ของชุดเครื่องเสียง ปุ่ม HOME ปุ่มตั้งค่ารถยนต์ ปุ่มตั้งค่าระบบปรับอากาศ และปุ่มไล่ฝ้าหน้า – หลัง อยู่ด้านล่าง น่าแปลกใจว่า แทนที่จะออกแบบปุ่มให้สามารถกดลงไปได้เลย กลับต้อง กดลงไปบนปุ่มสีเงินแทน เสียอย่างนั้น

ปุ่ม HOME ตำแหน่งที่ 3 นับจากซ้ายมือ เมื่อกดค้าง 2 วินาที หน้าจอกลางจะกลับไปสู่หน้า Home Page แต่หากกดค้างไว้ 10 วินาที จะเป็นการรีสตาร์ทหน้าจอ ที่พร้อมจะค้างหรือรวนได้ทุกเมื่อ !!

หน้าจอสีระบบสัมผัสตรงกลาง มีขนาด 10 นิ้ว เท่ากันทุกรุ่นย่อย แต่อินเตอร์เฟสหลักและฟังก์ชันการใช้งานมีความแตกต่างกัน โดยรุ่น C จะมีอินเตอร์เฟสหลัก ที่มาพร้อมเมนูหลัก 3 เมนู ได้แก่ เครื่องเล่นเพลง การตั้งค่าตัวรถ และเครื่องปรับอากาศ

ในขณะที่รุ่น D และ X ที่มีระบบ i-SMART เพิ่มเข้ามา ประกอบด้วย 3 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่

SMART CHECK
– ระบบตรวจสอบสถานะรถยนต์ (Remote Vehicle Control) ตรวจสอบตำแหน่งของรถ พร้อมบอกเส้นทางไปยังรถ และสามารถสั่งล็อก – ปลดล็อกประตูรถได้
– ระบบสั่งการและค้นหารถ (Find My Car) สามารถค้นหารถได้ โดยกำหนดให้รถเปิดไฟหน้า – ไฟท้าย หรือใช้เสียงแตร
– ระบบเตือนความผิดปกติของรถยนต์ (Remote Vehicle Diagnosis) ระบบจะตรวจสอบความผิดปกติ และแจ้งสถานะการทำงานของรถยนต์ เช่น เครื่องยนต์ ลมยาง ถุงลมนิรภัย และสถานะประตู
– ระบบขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Fence) สามารถกำหนดขอบเขตการใช้รถได้ตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 10 กิโลเมตร โดยระบบจะแจ้งเตือนเมื่อรถเข้า – ออกขอบเขตที่ตั้งไว้
– ระบบช่วยค้นหาศูนย์บริการ นัดหมาย และบันทึกการดูแลรักษารถยนต์ตามระยะ (Passion Service & Maintenance Record)

SMART COMMAND
– ระบบสั่งการผ่านเสียงภาษาไทย (Thai Voice Command)
– โทรออก เพียงพูดชื่อ หรือเบอร์โทรศัพท์
– ค้นหาจุดสนใจ POI (Point of Interest)
– เปิด – ปิด วิทยุ หรือเปลี่ยนเพลง
– เปิด – ปิด หรือควบคุมระบบปรับอากาศ
– เปิด – ปิด กระจกหน้าต่างฝั่งคนขับ
– เปิด – ปิด หลังคาพาโนรามิคซันรูฟ
– ระบบควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศผ่านทางสมาร์ทโฟน (Remote AC ON/OFF)
– ระบบวางแผนการเดินทาง (Travel Plan) ค้นหาข้อมูล POI จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสามารถวางแผนการเดินทางจากสมาร์ทโฟนส่งเข้าหน้าจอกลางของรถได้
– ระบบโทรออก – รับสายจากหน้าจอสัมผัส (Smart Call) โทรฟรี 50 นาที ต่อเดือน
– ระบบเลขาส่วนตัว (MG Call Center) สอบถามข้อมูลและขอรับจุดสนใจ ด้วยปุ่มลัดบนพวงมาลัย

SMART CONNECT
– ระบบนำทาง Navigation System พร้อมรายงานการจราจรแบบ Real Time (Smart Navigation)
– ระบบช่วยค้นหาร้านอาหาร และที่พักบนระบบนำทาง (Food & Travel Guide)
– ระบบเล่นเพลงออนไลน์แบบสตรีมมิ่ง (Online Music)
– อัพเกรดระบบผ่านออนไลน์ (Online Upgrade System) สามารถอัพเกรดระบบได้เองผ่านออนไลน์
– ระบบเรียกดูข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ปัจจุบัน (News Update On Touchscreen)
– อัพเดทข้อมูลพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast)

หมายเหตุ : การติดตั้งแอปพลิเคชัน i-SMART บนโทรศัพท์มือถือ หากเป็นระบบปฏิบัติการ iOS จะต้องเป็นเวอร์ชัน 9.0 ขึ้นไป และถ้าหากเป็นระบบปฏิบัติการ Android จะต้องเป็นเวอร์ชัน 6.0 ขึ้นไป จึงจะสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้

————————-

บนหน้าจอของรุ่น D กับ X จะมีอินเตอร์เฟสหลักที่แตกต่างกันออกไป มีเมนูหลัก 4 เมนู ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ การแสดงตำแหน่งปัจจุบันและสภาพอากาศ ระบบนำทาง Navigation System ด้วยข้อมูลแผนที่จาก TOMTOM (ที่ไม่ Update แผนที่เท่าไหร่เลย) และเครื่องเสียง นอกจากนั้นยังมีแถบเมนูย่อยที่อยู่ฝั่งขวาเพิ่มเข้ามา ประกอบด้วย ศูนย์บริการส่วนบุคคล วิทยุ โทรศัพท์ คอลเซ็นเตอร์ คำสั่งปิดหน้าจอ การตั้งค่า และเมนูอื่นๆ ซึ่งเมื่อแตะเข้าไป ก็จะพบกับฟังก์ชัน โทรศัพท์รถ EasyConnect คู่มือผู้ใช้รถ กล่องจดหมาย Passion Service ผู้ช่วย โฟลเดอร์ และไลฟ์สไตล์

ฟังก์ชันเด็ดมากสุดเท่าที่ผมเคยเจอมาก็คือ นอกจากจะสามารถตรวจสอบข่าวสารประจำวัน ได้ผ่านทางหน้าจอ (บริการเชื่อมต่อกับเว็บ Sanook.com) แล้ว คุณยังสามารถ ตรวจดูดวงชะตาราศี ประจำวัน หรือรายเดือน ไปจนถึง ตรวจผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล (ตรวจหวย) ได้จากหน้าจอของ HS อีกด้วย!!! มันสุดยอดมากจริงๆ เกิดมา ผมยังไม่เคยเจอรถคันไหน ที่คุณสามารถนั่งตรวจหวยได้จากบนรถแบบนี้มาก่อน!!

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่น่าปวดหัวของหน้าจอชุดนี้ มีดังนี้

1. หน้าจอทำงานช้ามากกกกกกกกก มันไม่ควรถูกเรียกว่า TouchScreen แต่มันควรถูกเรียกว่า “จิก Screen” มากกว่า เพราะขนาดจิกเลือกเมนูเข้าไป มันยังไม่ยอมทำงานเลย

2. เมื่อคุณตั้งค่าใดๆเอาไว้ ระบบจะไม่จำในสิ่งที่คุณเซ็ตไว้ นั่นแปลว่า ทุกครั้งที่ติดเครื่องยนต์ คุณต้องมานั่งตั้งค่าโหมดการขับขี่ใหม่ กันตลอด

(รายละเอียด ความน่าปวดกบาลดังกล่าว เชิญชมได้ใน Full Review Clip ท้ายบทความ นาทีที่ 16.30 เป็นต้นไป)

ชุดเครื่องเสียงของของทุกรุ่น เป็นวิทยุ FM/AM มีฟังก์ชันเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB โดยชุดเครื่องเสียงของรุ่น D และ X จะมีฟังก์ชันเล่นเพลงออนไลน์เพิ่มเข้ามาให้ ในรุ่น C ติดตั้งลำโพงมาให้ 4 ตำแหน่ง แต่รุ่น D และ X ติดตั้ง Tweeter มาให้อีก 2 ตำแหน่ง รวมเป็น 6 ตำแหน่ง สามารถปรับตั้งค่าคุณภาพเสียง Equalizer และ Sound Stage ได้จากเมนูตั้งค่า

ด้านคุณภาพของเสียง สำหรับผมซึ่งไม่ได้เป็นนักฟังเพลงหูทอง ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสียงที่ออกมาจากลำโพง ทั้ง 6 ตัวนั้น ทั้ง บี้ แบ้น และขาดรายละเอียดหลายอย่าง แม้ว่าจะปรับ Equalizer หรือ Sound Stage ให้ออกมาดีที่สุดแล้วก็ตาม อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ เวลาเล่นเพลงจาก CD USB เชื่อมต่อ Bluetooth หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเหมือนกับว่าเรากำลังฟังเสียงจากเครื่องเล่นวิทยุที่สัญญาณไม่ค่อยดี เหมาะจเก็บไว้ฟังข่าวสารบ้านเมืองเท่านั้น

เครื่องปรับอากาศของรุ่น C เป็นแบบธรรมดา สามารถปรับตั้งอุณหภูมิ (แต่ระบุตัวเลขอุณหภูมิที่ต้องการไม่ได้) ระดับความแรงพัดลม รูปแบบการเป่าลม AC ON/OFF เปิด – ปิดระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร หรือปิดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ ส่วนรุ่น D และ X จะเป็นเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติ Dual Zone แยกปรับอุณหภูมิซ้าย – ขวาได้อย่างอิสระ และปรับการทำงานเป็นแบบ ECO ได้ ทุกรุ่นมาพร้อมกับไส้กรองอากาศแบบกรองฝุ่น PM2.5 ได้ ใช้วิธีสัมผัสที่เมนูบนหน้าจอกลาง หรือกดปุ่มลัดที่อยู่ด้านล่างช่องแอร์กลาง เพื่อเข้าไปปรับตั้งหรือควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศได้เหมือนกันทุกรุ่นย่อย

ข้อดีของการมีเครื่องปรับอากาศแบบสัมผัสบนหน้าจอเช่นนี้ คือมันดูสวยและทันสมัยดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่หน้าจอมันเกิดค้างขึ้นมา คุณก็จะไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย แม้กระทั่งกดปิดการทำงาน หรือรีเซ็ตค่าใหม่ หรืออาจจะต้องทนนั่งฟังเสียงพัดลมแอร์เบอร์ 5 ซึ่งดังหนวกหู เพราะปรับตั้งไว้หลังสตาร์ทเครื่องทันที แล้วระบบปรับอากาศเจ้ากรรมดันมาค้าง อย่างที่ตัวเองประสบพบเจอมา

นอกจากนี้ การเปิด – ปิดเครื่องปรับอากาศนั้น มีผลต่อการทำงานของระบบ Auto Start/Stop โดยปกติแล้วหลังจากที่ติดเครื่องยนต์ปุ๊บ ก็จะพบกับข้อความบนชุดมาตรวัด แจ้งว่าขณะนี้ระบบ Auto Start/Stop พร้อมทำงานแล้ว หลังจากนั้น ระบบจะปิดการทำงานโดยอัตโนมัติทันที เมื่อเปิดสวิตช์ AC – ON และไม่มีปุ่มเปิด – ปิดให้กดเองนะครับ ไม่ต้องเสียเวลาหา

ไม่เพียงเท่านั้น ความพิลึกพิลั่นของ การออกแบบหน้าจอ User Interface นั่นคือ ในรถทั่วไป ถ้าคุณเลือกปรับอุณหภูมิที่ปุ่มลบ แสดงว่าคุณต้องการความเย็นลดลง ปุ่มบวก แสดงว่าต้องการให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น แต่สำหรับ MG HS แล้ว Logic มันกลับด้านกัน ถ้าคุณต้องการลดความเย็นลง ต้องกดปุ่มบวก (แปลว่าเพิ่มความเย็น !!!??) และถ้าคุณต้องการให้ภายในรถอุ่นขึ้น ต้องกดปุ่มลบ (แปลว่า ลดความเย็น !!!??)

กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา ที่ถูกสงวนไว้สำหรับรุ่น X จะแสดงผลบนหน้าจอกลาง ขนาด 10 นิ้ว ด้วยเช่นกัน สามารถเลือกปรับได้ทั้งภาพมุมสูง มุมมองด้านหน้า – หลัง และซ้าย – ขวา มุมมองเฉพาะล้อคู่หน้า รวมถึงมุมมองแบบ 3 มิติ ซึ่งสามารถปรับองศาตัวรถที่ปรากฎบนหน้าจอได้ถึง 8 มุม นอกจากนี้ ยังมีปุ่มตั้งค่าฟังก์ชันการทำงานของกล้องอีกด้วย วิธีเรียกใช้งาน ทำได้โดยการกดปุ่มลัด 360 องศา บนแถบด้านขวาของหน้าจอกลาง หรือสวิตช์ด้านขวาบนฐานคันเกียร์

คอนโซลกลางที่เชื่อมต่อกับแผงหน้าปัดด้านหน้า ของรุ่น C และ D จะหุ้มด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้ายสีแดง แต่รุ่น X จะหุ้มด้วยด้วยสีแดง เย็บตะเข็บด้ายสีแดง เช่นเดิม หัวเกียร์ของทุกรุ่นเป็นวัสดุยูรีเทน ประทับตราสัญลักษณ์ MG ตกแต่งด้วยสีเงิน ก้านคันเกียร์หุ้มปิดด้วยหนังสีดำ เย็บตะเข็บด้านสีแดง

เมื่อเปิดฝาปิดที่อยู่เหนือฐานคันเกียร์ขึ้นไป ก็จะพบกับช่องจ่ายไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า (Power Outlet) ขนาด 12 โวลต์ 1 ช่อง USB port สำหรับเล่นเพลงใน Thumb Drive 1 ช่อง และสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับโทรศัพท์มือถืออีก 1 ช่อง

บริเวณฐานคันเกียร์ตกแต่งวัสดุสีเงินด้าน มีช่องเสียบปลดคันเกียร์เพื่อเลื่อนลงมาเป็นเกียร์ว่าง (Shift Lock) อยู่ด้านหน้า และไฟบอกตำแหน่งเกียร์อยู่ด้านขวา ปุ่มสวิตช์ที่ขนาบอยู่ด้านข้างและด้านหลังคันเกียร์ ในรุ่น C และ D ประกอบด้วยสวิตช์ไฟฉุกเฉิน (Hazard Light) ซึ่งอยูในตำแหน่งที่ใช้งานยากมากในยามฉุกเฉิน ตามด้วย สวิตช์เบรกมือไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชัน Auto Brake Hold และสวิตช์เปิดระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน แต่ในรุ่น X จะมีสวิตช์ปรับโหมดการขับขี่ สวิตช์เรียกดูภาพจากกล้องรอบทิศทาง รวมถึงสวิตช์เปิดฝากระโปรงท้ายแบบไฟฟ้า เพิ่มเข้ามาให้

ด้านข้างลำตัวผู้โดยสารด้านหน้า ฝั่งขวา มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง พร้อมช่องใส่สิ่งของขนาดเล็ก เช่น ปากกาอีก 1 ช่อง ฝาปิดสามารถเลื่อนออกมาเป็นถาดวางโทรศัพท์ หรือกระเป๋าสตางค์ได้

นอกจากนี้ยังมีกล่องเก็บของที่เชื่อมต่อจากคอนโซลกลาง ด้านในมีช่องสำหรับนำอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศเข้ามาทำความเย็นและรักษาอุณหภูมิภายในกล่องได้ พร้อมฝาปิดเมื่อไม่ต้องการใช้งาน ด้านบนเป็นฝาปิดแบบผ่อนแรง บุด้วยฟองน้ำ หุ้มด้วยหนัง ทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนตรงกลางสำหรับเบาะนั่งคู่หน้าด้วย

เมื่อมองขึ้นไปด้านบน ผ้าบุนุ่มบนเพดานหลังคาของรุ่น C และ D จะเป็นโทนสีเบจ ในขณะที่รุ่น X จะเป็นสีดำ เหนือสุดกึ่งกลางกระจกบังลมหน้าของรุ่น D และ X จะเป็นกล่องที่มีสารพัดเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณน้ำฝน (Rain Sensor สำหรับระบบควบคุมใบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ) หรือเซ็นเซอร์ของระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ติดตั้งมาในรุ่น X นอกจากนั้น ยังมีกระจกมองหลังแบบตัดแสงรบกวนอัตโนมัติมาให้ ส่วนรุ่น C จะเป็นกระจกมองหลังแบบตัดแสงด้วยการดึงสลักแบบธรรมดา

ม่านบังแดดคู่หน้าของรุ่น C และ D จะเป็นสีเบจ แต่รุ่น X จะเป็นสีดำ เช่นเดียวกับสีเพดานหลังคา ทุกรุ่นติดตั้งกระจกสำหรับแต่งหน้าแบบมีฝาเปิด – ปิด พร้อมไฟส่องสว่างแบบ LED และช่องเสียบนามบัตรมาให้ ครบทั้ง 2 ฝั่ง

ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารและไฟอ่านแผนที่เป็นแบบ LED สามารถแยกเปิด – ปิด ทั้งฝั่งซ้ายและขวาได้อย่างอิสระ หรือจะตั้งค่าให้ทำงานตามการเปิด – ปิดประตูก็ทำได้เช่นกัน ใกล้กับไฟอ่านแผนที่จะเป็นสัญญาณไฟแสดงสถานะเปิด – ปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า ในกรณีติดตั้งเบาะนั่งสำหรับเด็ก

ชุดแผงควบคุมของรุ่น C และ D จะมีหน้าตาเหมือนกันทุกประการ แต่รุ่น X จะมีดีไซน์แตกต่างออกไป เป็นสีดำ ตกแต่งด้วยแถบสีเงิน มีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกันกับรุ่น C และ D แต่มีความพิเศษกว่า เพราะมีสวิตช์ควบคุมการทำงานของหลังคาพาโนรามิคซันรูฟ ขนาด 1.19 ตารางเมตร ที่ยาวตั้งแต่เบาะนั่งคู่หน้าไปจนถึงด้านหลัง พร้อมม่านบังแดด ติดตั้งมาให้ด้วย

มือจับศาสดา สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ ติดตั้งมาให้ 3 ตำแหน่ง เหนือช่องทางเข้า – ออกประตูฝั่งผู้โดยสารล้วนๆ นอกจากนี้ ยังมีฟอ่านแผนที่สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ติดตั้งมาให้ บริเวณ มือจับศาสดา ทั้ง 2 ฝั่ง อีกด้วย

ด้านทัศนวิสัย ด้วยตำแหน่งของเบาะรองนั่งถูกออกแบบมา กึ่งบังคับ ให้ผู้ขับขี่นั่งอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์ในกลุ่ม Compact SUV คันอื่นๆ แม้จะปรับลงต่ำสุดแล้วก็ตาม ทำให้ทัศนวิสัยด้านหน้า โล่ง โปร่ง สามารถมองเห็นฝากระโปรงหน้าที่มีความโหนกนูนพองามได้อย่างชัดเจน เกือบจะเต็มบาน ซึ่งส่งผลดีในแง่การกะระยะขณะหักเลี้ยวในที่แคบ หรือถอยเข้าจอด

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา ซ้าย มีขนาดพอๆ กับ GS อาจจะดูหนากว่า CR-V แต่ไม่ได้บดบังการมองเห็นจากรถที่แล่นสวนมา เมื่อวิ่งอยู่บนถนน 2 เลนสวน มากนัก ทั้งทางตรงและทางโค้ง

กระจกมองข้างฝั่งขวา มีขนาดพอๆ กับ GS มุมมองภาพในแนวตั้ง (Vertical) ไม่กว้างสักเท่าไหร่ แต่ในแนวนอน (Horizontal) นั้น กว้าง ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระจก Wide Vision แต่อย่างใด การปรับให้บานกระจกมองเห็นตัวรถน้อยลง ไม่ส่งผลให้ขอบกระจกมองข้างด้านนอกสุดบดบังทัศนวิสัยมากนัก

ส่วนการบดบังทัศนวิสัย ของเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ขณะเลี้ยวกลับรถ หรือเลี้ยวเข้าตามซอก ออกตามซอย ก็ถือว่าค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกัน กระจกมองข้างฝั่งซ้าย นั้น บานกระจกไม่โดนกรอบพลาสติกด้านข้างบดบังการสะท้อนภาพจากด้านซ้ายสุดเลย

ทัศนวิสัยด้านหลัง เมื่อมองจากกระจกมองหลัง จะพบว่าข้อดีในแง่ความสบายของพนักศีรษะด้านหลังที่ไม่ใช่ทรงตัว L คว่ำ ทั้ง 3 ตำแหน่ง กลับกลายเป็นข้อเสีย ซึ่งบางคนอาจจะรับได้ หรือบางคนอาจจะยอมรับไม่ได้ ขึ้นมาทันที เพราะมันบดบันทัศนวิสัยด้านหลังอยู่ประมาณหนึ่ง

ส่วนเสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar บดบังทัศนวิสัยอยู่พอสมควร กระจกโอเปรามีขนาดกว้างขึ้นจาก GS เล็กน้อย ทำให้ดูโปร่งขึ้น แต่กระนั้น ก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังขณะเปลี่ยนเข้าช่องทางคู่ขนาน หรือการหลังเข้าจอดอยู่ดี

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********
******* Technical Information & Test Drive session *******

ปัจจุบัน MG HS ทำตลาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยใช้เครื่องยนต์ รุ่นเดียวกัน แต่ถูกปรับเซ็ตให้แตกต่างกันเล็กน้อย ทั้งตามความเหมาะสมของคุณภาพน้ำมันในแต่ละประเทศ ไปจนถึงข้อกำหนดด้านมลพิษ ของแต่ละตลาดที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้

Chinesse Domestic Market Version มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 แบบ ดังนี้

รุ่นย่อย 30T ทั้งแบบมาตรฐาน และ รุ่น Trophy วาง เครื่องยนต์รหัส 20L4E เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2.0 ลิตร 1,995 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 88.0 x 82.0 มิลลิเมตร ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 231 แรงม้า (PS) ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 370 นิวตันเมตร (37.7 กก.-ม.) ที่ 2,000 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 6 จังหวะ และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD

รุ่นย่อย 20T วางเครื่องยนต์รหัส SGE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,490 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 74.0 x 86.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 169 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 275 นิวตันเมตร (28 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ Dual Clutch 7 จังหวะ และเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

รุ่น Plug-in Hybrid (MG eHS) วางเครื่องยนต์รหัส SGE เบนซิน 4 สูบ สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,490 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 74.0 x 86.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-injection พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 169 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 275 นิวตันเมตร (28 กก.-ม.) ที่ 1,750 – 4,000 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า (PS) มีพละกำลังรวมทั้งระบบ 305 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 480 นิวตันเมตร (49 กก.-ม.) จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

(เวอร์ชัน eHS มีแผนเตรียมจะถูกสั่งเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ภายในปี 2020 นี้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแผนใดๆ)

UK Version : สำหรับตลาดอังกฤษ รวมทั้ง สหราชอาณาจักร จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว

เครื่องยนต์ รหัส SGE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 1,490 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 74.0 x 86.6 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-injection ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 162 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.5 กก.-ม.) ที่ 1,500 – 4,400 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ 7 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้า

Thai , Australia & Singapore Market Version : สำหรับตลาดเมืองไทย จะได้ใช้เครื่องยนต์เพียงแบบเดียว เหมือนกันกับทั้ง ออสเตรเลีย และสิงค์โปร์ ซึ่งก็เป็นเครื่องยนต์เดียวกับตลาดสหราชอาณาจักร แต่อาจมีการปรับจูนให้เหมาะสม จนมีตัวเลขที่แตกต่างกันเล็กน้อย เครื่องยนต์ลูกนี้ ก็ถูกยกมาจาก MG GS 1.5 Turbo รุ่นเดิมนั่นเอง

เครื่องยนต์รหัส SGE เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร (1,490 ซีซี) กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 74.0 x 86.6 มิลลิเมตร แต่มีการปรับกำลังอัดลดลงมาเหลือ 10.0 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ Direct-injection ด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิกส์ พ่วงระบบอัดอากาศ Turbocharger กำลังสูงสุด 162 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร (25.5 กก.-ม.) ที่ 1,700 – 4,400 รอบ/นาที

ขุมพลังเวอร์ชันไทย รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด ได้ถึงระดับ Gasohol E85 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 145 กรัม/กิโลเมตร ตามมาตรฐานการวัดของรัฐบาลไทย โดยสถาบันยานยนต์

HS เวอร์ชันไทย จะมีเฉพาะระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเท่านั้น รับการถ่ายทอดกำลังจาก เกียร์อัตโนมัติ แบบคลัตช์คู่ ในชื่อ Twin Clutch Sportronic Transmission (TST) 7 จังหวะ (ซึ่งก็คือเกียร์แบบ Dual Clutch นั่นแหละ) โดยมีแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift ติดตั้งเสริมมาให้ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………..4.231
เกียร์ 2……………..2.476
เกียร์ 3……………..1.389
เกียร์ 4……………..0.929
เกียร์ 5……………..0.755
เกียร์ 6……………..0.714
เกียร์ 7……………..0.566
เกียร์ถอยหลัง…….3.882

อัตราทดเฟืองท้าย
เกียร์ 1 / 2 / 6 / 7 4.563
เกียร์ 3 / 4 / 5 / R 5.214

ในรุ่น X มี สวิตช์ Driving Mode Program บนคอนโซลกลาง บน Menu หน้าจอ i-Smart และสวิตช์ Super Sport Mode บนพวงมาลัย ให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนการขับขี่ ได้ 4 รูปแบบ ซึ่งในแต่ละโหมด การทำงานของเครื่องปรับอากาศ ระบบบังคับเลี้ยว ระบบส่งกำลัง และไฟ Ambient Light จะแตกต่างกันไป ดังนี้

  • โหมดประหยัด (ECO) ระบบปรับอากาศจะเข้าโหมด ECO คันเร่งเฉื่อยลง พวงมาลัย “เบา” เน้นขับประหยัด
  • โหมดมาตรฐาน (Normal) ระบบปรับอากาศ คันเร่ง และพวงมาลัย จะทำงานตามปกติ ในโหมด “มาตรฐาน”
  • โหมดสปอร์ต (Sport) เกียร์ จะเข้าโหมด Sport เปลี่ยนตำแหน่งลงมา เลี้ยงรอบให้ผู้ขับพร้อมกดเร่งได้ไวขึ้น
  • โหมดซุปเปอร์สปอร์ต (Super Sport) พวงมาลัยจะหนืดขึ้นสูงสุด ไฟ Ambient Light จะเปลี่ยนเป็น Sport
  • อีกทั้งยังมีโหมดกำหนดเอง (Individual Mode) ไว้สำหรับให้ผู้ขับขี่เข้าไปปรับตั้งค่าส่วนต่างๆ ได้ตามใจชอบ จากเมนูตั้งค่ารถยนต์ แต่เมื่อไหร่ที่คุณดับเครื่องยนต์ไปแล้ว หากติดเครื่องยนต์ขึ้นใหม่ ค่าต่างๆที่เซ็ตไว้ ในรถคันที่เราทดลองขับ จะย้อนกลับไปเป็นค่า “มาตรฐาน” ต้องมานั่งกดเลือกใหม่ เสียเวลาอย่างมาก แถมบางครั้ง จอ i-Smart ที่เห็นอยู่นี้ ยังกดไม่ไปอีกด้วย จิ้มจนจอแทบแตก ก็ยังไม่ยอมให้เราเปลี่ยนเสียที น่ารำคาญสุดๆ

สมรรถนะจะเป็นอย่างไร ?

เราทำการทดลองในช่วงเวลากลางคืน บนถนนที่โล่งสนิท (ช่วงก่อนการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน) เช่นเคย โดยมีพี่ J!MMY และผม 2 คน น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม อุณหภูมิ ณ วันที่ทดสอบอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส เติมลงยาง 33 Psi ทั้ง 4 ล้อ ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม Compact SUV มีดังนี้

เมื่อดูจากตัวเลขแล้วคุณจะเห็นข้อเท็จจริงหลายประการ จริงอยู่ว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ MG HS นั้น และอาจจะด้อยกว่า Peugeot 3008 กับ 5008 เพียงเศษเสี้ยววินาที รวมทั้งยังด้อยกว่า ขุมพลัง ตระกูล Skyactiv ของ Mazda ชนิดไม่ต้องสืบ แต่ก็ต้องถือว่า ยังไวกว่า ทั้ง Honda CR-V (ทั้ง เบนซิน 2.4 ลิตร และ Diesel i-DTEC 1.6 ลิตร Turbo) เร็วกว่า Subaru ทั้ง XV และ Forester รวมทั้ง เร็วกว่า Chevrolet Captiva รุ่นเลิกขายรถในไทย

ทว่า สำหรับ อัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว HS ทำตัวเลขในหมวดนี้ ออกมาด้อยกว่าชาวบ้านเขาแทบทั้งสิ้น มีเพียงแค่ว่า เอาชนะ Captiva รุ่นลาก่อนเมืองไทย ไปแค่คันเดียวเท่านั้น

ยิ่งถ้าลองเปรียบเทียบกับ MG GS รุ่นเดิม ที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 พ่วง Turbocharger บล็อกเดียวกัน ระบบส่งกำลังลูกเดียวกัน ขับเคลื่อนล้อหน้าเหมือนกันเป๊ะ ที่เราเคยนำมาทดสอบ พบว่า HS ทำตัวเลขด้อยลงทุกด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่พอทำความเข้าใจได้ เนื่องจาก

1. เครื่องยนต์บล็อกเดิม แต่ถูกจูนมาให้รองรับน้ำมันสูงสุด E85 แรงม้าลดลง 5 ตัว ที่รอบเครื่องยนต์เท่ากัน
2. น้ำหนักตัวรถเพิ่มขึ้น 110 กิโลกรัม (จาก 1,460 กิโลกรัม เป็น 1,570 กิโลกรัม)
3. ล้อและยางมีขนาดใหญ่ขึ้น จาก 215/60 R17 เป็น 235/50 R18
4. พื้นที่หน้าตัดตัวรถใหญ่ขึ้น แรงเสียดทานอากาศมากขึ้น

อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร สูสีกับคู่แข่งที่มีแรงม้าพอๆ ใกล้เคียงกัน ขับเคลื่อนล้อหน้าเหมือนกัน ทั้งพิกัดเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ อย่าง Mazda CX-5 2.0 และพิกัดเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.6 ลิตร พ่วงเทอร์โบ อย่าง Peugeot 3008 และ 5008 ซึ่งถือว่าทำได้ดีสมตัว

แต่สิ่งที่หลายคนค่อนขอด คือ อัตราเร่ง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่อืดอาด แพ้แม้กระทั่งคู่แข่งหลายรุ่น ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทั้ง Nissan X-Trail 2.0 4WD, Subaru XV 2.0 AWD หรือ Forester 2.0 AWD ซึ่งความเห็นของผม สำหรับประเด็นนี้ มี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขมันดูช้าไปกว่าที่ควร นั่นคือ

1. การทำงานร่วมกันระหว่างคันเร่งกับเกียร์ในเวลาคิกดาวน์ค่อนข้างช้า ทันทีที่กดคันเร่งจมเท้าลงไป ต้องรอ 1.5 – 2 วินาที กว่าเข็มวัดรอบจะกวาดขึ้นไป พร้อมกับเสียงเครื่องที่คำรามเข้ามาในห้องโดยสาร

2. สมองกลเลือกเกียร์มาให้ใช้ในจังหวะคิกดาวน์ไม่เหมาะสม บางครั้งกดคันเร่งลงไป คาดหวังว่าเข็มวัดรอบรอบจะดีดขึ้นไปอยู่ในช่วง 5,000 – 5,600 รอบ/นาที ซึ่งเป็นย่านที่เครื่องยนต์มีกำลังสูงสุดมาให้ใช้ แต่กลับตวัดขึ้นไปอยู่ที่ 3,200 รอบ/นาที แล้วค่อยๆ ใช้แรงบิดค่อยๆ พารถทะยานขึ้นไป

เพื่อพิสูจน์ให้หายข้องใจ ผมจึงลองจับเวลาคนเดียว เวลากลางวัน บนถนนโล่งๆ เพื่อทดสอบอัตราเร่งแซงในรูปแบบที่แตกต่างกัน ปรากฏว่า ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกียร์ D7 รอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,600 รอบ/นาที จากนั้นคิกดาวน์ สมองกลเกียร์สั่งลดเกียร์ลงมาให้อยู่ที่ D5 รอบดีดขึ้นไป 3,200 รอบ/นาที แล้วค่อยๆ ไต่ความเร็วขึ้นไป จนถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเฉลี่ย 8.95 วินาที ซึ่งเท่ากันกับตอนที่ผมนั่งจับเวลากับพี่ J!MMY ในช่วงกลางคืน

ต่อให้ใช้เกียร์ S เพื่อหวังให้รอบเครื่องยนต์ไปรออยู่ที่ 2,000 รอบ/นาที ที่เกียร์ 6 แล้วลองซ้ำแบบเดิม ก็เร็วขึ้นไม่เกิน 0.3 วินาที

จากนั้นจึงลองใช้วิธีคาเกียร์ S3 เลี้ยงรอบไว้ที่ 4,500 รอบ/นาที แล้วกดคันเร่งจมมิด แล้วตัดขึ้นเกียร์ 4 ที่ 5,900 รอบ/นาที เวลาเฉลี่ยที่จับได้ 7.94 วินาที !! เทียบกับคู่แข่งก็ยังไม่น่าตื่นเต้นอยู่ดี แต่ !! มันเร็วขึ้นถึง 1 วินาทีเลยแหะ

ส่วนการไต่ความเร็วขึ้นไปนั้น เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากช่วง 170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปจนถึงความเร็วสูงสุด Top Speed ที่ 197 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,800 รอบ/นาที ใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ถึงขั้นต้องอธิษฐานเอาใจช่วย แต่ต้องอาศัยกระแสลมส่ง

อย่างไรก็ตาม เราทดสอบความเร็วสูงสุดในเวลาดึกมาก (ตั้งแต่ก่อนการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จะเกิดขึ้น) เพื่อให้มีรถน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่สนับสนุนให้ใครก็ตามไปทดลองหาความเร็วสูงสุดกันเอง เนื่องจากอันตรายต่อตัวคุณเอง และเพื่อนร่วมทาง อีกทั้งยังผิดกฎหมายจราจรอีกด้วย เราทำตัวเองออกมาให้ดูกัน เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์สำหรับผู้ที่สนใจเท่านั้น

อันที่จริง อัตราเร่งที่ออกมา ไม่น่าเกลียดเท่าไหร่นัก มีเรี่ยวแรงและการตอบสนอง เหมือนกับ MG GS 1.5 Turbo คันเดิม นั่นแหละ ยังคงมีพละกำลังมารออยู่ใต้เท้าขวา พร้อมรอให้เพิ่มน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่งได้ทุกเมื่อ ส่วนแรงดึง ก็มีมาให้ประมาณหนึ่ง อยู่ในระดับรถบ้าน เพียงแต่อย่าไปคาดหวังว่า พอเป็นเครื่อง Turbo แล้ว จะต้องแรง ระเบิดระเบ้อ ก็คงไม่ใช่

การใช้งานในชีวิตประจำวัน ในยามที่ต้องแทรกตัวเข้าไปในสภาวะการจรติดขัด สลับหยุดนิ่งบางจังหวะ ย่านในกลางเมือง ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 – 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง การทำงานของเกียร์ Dual-clutch ยังมีอาการกระตุก กระชาก คงเหลือให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน แม้จะน้อยลงกว่าสมัย GS แล้วก็ตาม แทบไม่ก่อให้เกิดความรื่นรมณ์ในการขับขี่ไปตามการจราจรในเมืองเท่าที่ควร

บางจังหวะที่อยากจะเร่งออกตัว ให้พ้นจากสถานะการณ์คับขัน ก็ยังมีปัญหาคันเร่งตอบสนอง หน่วงๆ อืดๆ เหมือนกับคุณต้องไปปลุก รปภ.หน้าหมู่บ้าน ที่กำลังหลับยาม เพื่อตื่นขึ้นมาเปิดประตูให้คุณ เหยียบคันเร่ง ลงไปแล้ว สมองกลเครื่องยนต์ กับเกียร์ ขอเวลาประชุมกัน บางกรณี ยาวตั้งแต่ 1 วินาที จนถึงเกือบ 1.5 วินาที ก่อนจะลงมติในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกัน ให้เครื่องยนต์ส่งกำลังลงสู่เกียร์ได้ ในบางที ระยะเวลาสั่งการ มันอาจล่าช้า จนทำให้เสียจังหวะไปหลายรอบมากๆ ปัญหานี้มันจะเกิดขึ้นได้ในขณะขับขี่ใช้งานทั่วไป ถ้าคุณเติมคันเร่งลงไปเบาๆ คันเร่งกับเกียร์จะตอบสนองใช้ได้อยู่ แต่ถ้ากดคันเร่งเต็มตีน เกียร์ก็จะออกอาการเอ๋อๆ งงๆ ตื่นขึ้นมาทำงานให้กับคุณอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

ไม่เพียงเท่านั้น ในบางจังหวะที่คุณคิดจะเร่งแซง เมื่อกดคันเร่งเต็มตีนเพื่อสั่ง Kick Down หวังให้เกียร์ เปลี่ยนตำแหน่งลงมาถึงเกียร์ 3 เพื่อเรียกรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นไป กลับกลายเป็นว่า เกียร์ก็สั่งเปลี่ยนลงมาแค่เกียร์ 4 หรือ 5 แทนเสียอย่างนั้นก็มี ซึ่งมันเป็นช่วงที่รอบเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง

ทว่า ในการขับเดินทางไกล ใช้ความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ในช่วงที่ต้องเร่งทำเวลา (ขับเร็ว แต่ไม่ถึงกับซัด) อาการชักเย่อ กระตุก กระชาก ที่เคยเกิดขึ้น ดันหายไปเป็นปลิดทิ้ง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือน่าหงุดหงิดใจอีกต่อไปเลย การกดคันเร่งเพียงครึ่งเดียวเพื่อหวังให้แรงบิดของเครื่องยนต์พาเราเคลื่อนตัวไปข้างหน้า พบว่าคันเร่งกับเกียร์ทำงานสอดประสานกันได้อย่างราบรื่น การเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปยังเกียร์สูง เป็นไปอย่างรวดเร็วตามลักษณะนิสัยของเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ที่ดีพึงเป็น ผมคาดหวังว่า ทีมวิศวกรของ MG น่าจะเขียนโปรแกรมสมองกลเกียร์ออกมาให้ทำงานได้ Smooth กว่านี้

นอกจากนี้ รถทดสอบคันที่เรานำมาลองนั้น ยังพบว่ามีเสียงชิ้นส่วนโลหะบางอย่างกระเสียดสีกัน เสียงดัง แคร่กๆ เวลาถอนคันเร่ง แบบเดียวกับที่เคยประสบพบเจอในเกียร์ Powershift (หาย) ของ Ford ยังไงอย่างงั้นเลย ซึ่งเป็นอาการเดียวกันกับผู้ใช้งานหลายๆ คนแอบบ่น ปนตัดพ้อ ใน User Club

การเก็บเสียงลมตามขอบบานประตูบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ทำได้ไม่แย่ ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ของกลุ่ม เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถจะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านพ้นความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป โดยเฉพาะบริเวณเสาหลังคา B-Pillar

การเก็บเสียงจากช่วงล่าง จำพวกเสียงยางบดถนน ทำได้เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อาจมีเสียงระบบกวนเล็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสารอยู่บ้าง หากขับผ่านพื้นผิวถนนบางรูปแบบ ทีมวิศวกรของ MG ปรับปรุงด้าน NVH (Noise Vibration & Harshness : เสียง การสั่นสะเทือน และอาการสะท้าน) รวมทั้งการเก็บเสียงในภาพรวม ได้ค่อนข้างดีขึ้น เมื่อเทียบกับ MG GS

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering wheel

พวงมาลัยเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด อยู่ที่ 5.95 เมตร (GS รุ่นเดิม อยู่ที่ 6.0 เมตร) สามารถปรับ น้ำหนักพวงมาลัย สามารถเลือกปรับได้จากเมนูตั้งค่าตัวรถ ได้ 3 ระดับ ดังนี้

– เบา (น้ำหนักจะเบาขึ้นมาก ในระดับเดียวกับรถญี่ปุ่น ระดับ ECO-Car แต่ความต่อเนื่องในการหมุนดีกว่า)
– มาตรฐาน (พวงมาลัยจะตึงมือขึ้นมาระดับหนึ่ง ประมาณ Mode High ของพวงมาลัย Volvo รุ่นใหม่ๆ)
– มั่นคง (เขาตั้งชื่อไว้ในเมนูบนหน้าจอ แบบนี้จริงๆ! น้ำหนักจะพอดี และตึงมือมากสุด หนักแน่นแบบที่นักขับส่วนใหญ่ชื่นชอบ)

พวงมาลัยไฟฟ้าถูกเซ็ตมาให้มีการตอบสนอง ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ  แต่ในความเห็นส่วนตัว สำหรับคนที่ชอบพวงมาลัยที่มีน้ำหนักตึงมือมากหน่อย ประมาณ Honda CR-V แนะนำให้ปรับไปที่โหมด “มั่นคง” แล้วทุกอย่างจะจบ เพราะพวงมาลัยจะมีความหนืดและหน่วงมือ ในระดับใกล้เคียง BMW รุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่นเลยด้วยซ้ำ

สำหรับใครที่ต้องการขับลัดเลาะไปตามสภาพการจราจรหนาแน่นปานกลาง ในย่านใจกลางเมือง ด้วยความคล่องตัว ไม่ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยเยอะ แต่เวลาขับที่ความเร็วสูงยังต้องการความมั่นใจอยู่ ให้ลองปรับโหมดเป็น “มาตรฐาน” ดู ซึ่งจะได้การตอบสนองที่เหมาะสมกับสภาพการขับขี่มากกว่า เพราะคุณจะรับรู้ได้เลยว่าพวงมาลัยมีการแปรผันน้ำหนักตามความเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ส่วนโหมด “เบา” มันจะเบาระดับเดียวกับ ECO Car ยุคใหม่ๆ เลยทีเดียว เหมาะกับคุณแม่บ้านที่ขับรถไม่เร็วนัก ใช้ความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ตามตรอกซอกซอย และไม่ต้องการออกแรงหมุนพวงมาลัยขณะถอยเข้าช่องจอดใน Supermarket มากนัก อย่างไรก็ตาม โหมดนี้ ไม่เหมาะกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูงเกินกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีระบบรักษารถให้อยู่ในเลน (Lane Keeping Assist) ซึ่งจะช่วงดึงพวงมาลัยกลับมาให้อยุ่ในช่องจราจร เมื่อตรวจพบว่าคุณกำลังเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ ทว่าการเปิดระบบนี้ให้ทำงาน คุณอาจพบปัญหา การตอบสนองของพวงมาลัยในช่วง 1 เซนติเมตรแรก ที่อยู่ดีๆ อยากจะเบาก็เบาหวิว หรือเกิดอยากจะหนัก พ่อก็หนักขึ้นมาเสียดื้อๆ อย่างนั้น จนผมต้องคอยนั่งปิดระบบแทบทุกครั้งที่สตาร์ทรถกันเลยทีเดียว

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ระบบกันสะเทือนอิสระทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบอิสระ Multi-link พร้อมเหล็กกันโคลง

ช่วงล่างของ HS นั้น ซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำได้ดีขึ้นกว่า MG GS อยู่พอสมควร แต่ระยะยุบตัวช่วงแรกๆ มันก็จะแข็งนิดนึง การขับขี่ผ่าน เนินสะดุด หลุมบ่อ หรือลูกระนาดตามตรอกซอกซอย ให้สัมผัสที่ลดความตึงตังลงมาจาก MG GS นิดหน่อย แต่ก็ยังจัดว่าแอบตึงตังประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกัน หากคุณใช้ความเร็วเดินทางไกล เวลาวิ่งทางตรงพื้นผิวเรียบๆ จะพบว่ามันมีความนุ่ม หนึบ อยู่กึ่งกลางระหว่าง Honda CR-V และ Mazda CX-5 แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเหมือน Nissan X-Trail (เพราะรายนั้น โดยรวมแล้วมันเป็นรถที่แข็ง แต่พยายามนุ่มในบางจังหวะ) ซึ่ง HS จะไม่ใช้แบบนั้น

ในย่านความเร็วสูง หากไม่มีกระแสลมปะทะด้านข้างแรงๆ แล้วละก็ MG HS สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงถึงระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยที่ตัวรถไม่มีอาการใดที่แสดงออกมาให้รู้สึกหวั่นใจเลย มันนิ่งถึงขั้นว่า คุณสามารถลองปล่อยมือจากพวงมาลัย ที่ความเร็ว Top Speed ได้นานถึง 10 วินาที เลยทีเดียว! แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอพื้นถนนที่มีลักษณะเป็นลอนคลื่นใหญ่ๆ ช่วงล่างด้านหน้าที่ถูกเซ็ตนุ่มกว่าด้านหลัง จะเกิดอาการยวบยาบให้เห็นทันที แถมยังยุบหรือดีดกลับไม่จบในจังหวะเดียวด้วย

ส่วนประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน จากที่ลองเล่นโค้งต่างๆ ที่เราเคยทดสอบกัน พบว่านอกจากตัวรถจะมีการเอียงตัวค่อนข้างมากแล้ว หน้ารถจะไถลออก หรือที่เรียกว่าอาการ Understeering เยอะกว่ารุ่นอื่นๆ ที่เราเคยนำมาลองกัน โดยที่ยาง Goodyear EfficientGrip นั้น ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสุดความสามารถแล้ว โดยส่วนตัวผมตั้งข้อสังเกตว่า อาการดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากวางเครื่องยนต์เยื้องไปทางด้านหน้าของเพลาขับหน้าค่อนข้างเยอะ จึงทำให้บาลานซ์น้ำหนักเทไปด้านข้างเสียเยอะ ทำให้หน้าดื้อโค้งเยอะขึ้น

ภาพรวมมันเหมือนกับรถที่ถูกเซ็ตมาไว้สำหรับวางระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาก่อน ทั้งช็อกอัพ สปริง และบาลานซ์น้ำหนัก แต่พอเป็นเวอร์ชันขับหน้า ก็แค่ถอดเพลาขับหลังออกไป โดยไม่ได้มีการปรับเซ็ตค่าต่างๆ ใหม่ ให้เหมาะสมกับการอัตราส่วนน้ำหนักหน้า – หลังที่เปลี่ยนแปลงไป

ระบบห้ามล้อ / Brake

ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 312 มิลลิเมตร ความหนา 25 มิลลิเมตร ส่วนด้านหลังเป็นดิสก์เบรกธรรมดา เส้นผ่านศูนย์กลาง 304 มิลลิเมตร ความหนา 12 มิลลิเมตร เสริมการทำงานด้วยระบบตัวช่วยต่างๆ ในกลุ่ม ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) ดังนี้

– ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-lock Braking System)
– ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)
– ระบบเสริมแรงเบรก EBA (Electronic Brake Assist)
– ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System)
– ระบบลดความเสี่ยงที่จะพลิกคว่ำ ARP (Anti Rolling Program)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System)
– ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างเฉียบพลัน MSR (Motor Control Slide Retainer)
– ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้งด้วยความเร็ว XDS (Electronic Differential System)
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System)
– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descent Control)
– ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งค้างไว้ AVH (Auto Vehicle Hold)
– ระบบสัญญาณไฟเตือนฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน ESS (Emergency Stop Signal)

แป้นเบรกถูกเซ็ตมาในลักษณะเดียวกับรถยุโรป เช่น Mercedes-Benz หลายๆ รุ่น คือ มีความหนืดพอสมควร ดีดคืนตำแหน่งเดิม อย่างช้าๆ หลังจากถอนเท้าออกจากแป้น ระยะเหยียบอยู่ในระดับปานกลาง คุณจะสัมผัสว่าจานเบรกเริ่มหนีบตัวและตัวรถเริ่มชะลอ ก็ต่อเมื่อกดแป้นเบรกลึกลงไปประมาณ 30% ไม่ได้เหยียบแล้วหน้าทิ่มเหมือน Honda CR-V แต่ก็ไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไป เหยียบเท่าไหร่ ได้เท่านั้น เหมือน Mazda CX-5 น้ำหนักแป้นค่อนไปทางหนัก มีอาการสู้เท้าเล็กๆ

การกดเบรกอย่างแผ่วเบา อาจจะทำให้คนที่ไม่คุ้นชิน สงสัยว่าทำไมรถคันนี้มันเบรกไม่อยู่ คำแนะนำก็คือ คุณควรจะต้องเผื่อระยะเบรกจากรถคันข้างหน้าเพิ่มขึ้นจากปกติ พอสมควร และอาจต้องเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปให้มากขึ้นกว่าปกติสักหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเพิ่มน้ำหนักเท้าแล้วกดลงไปตั้งแต่จังหวะแรก จะพบว่าการหน่วงความเร็วนั้นทำได้ดีเลยทีเดียวล่ะ

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร เมื่อคุณจำเป็นต้องหน่วงรถลงมาจากย่านความเร็วสูงๆ หากกระทืบเบรกลงไปเต็มแรง เหยียบลงไปประมาณ 80% ของระยะเหยียบทั้งหมด จากความเร็ว Top Speed ระบบเบรกจะหน่วงความเร็วรถ ลงมาอย่างฉับพลัน ตัวรถมีอาการหน้าทิ่มอย่างเป็นธรรมชาติ และสัมผัสได้ถึงความพยายามอันหนักหน่วง ที่จะทำให้ระยะเบรกสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กลับกลายเป็นว่า ถ้าต้องการชะลอรถจากความเร็วสูง ในภาวะกระทันหัน ระบบเบรกกลับให้ความมั่นใจได้ดีกว่า การเบรกขณะขับคลานๆ ด้วยความเร็วต่ำๆ เสียอย่างนั้น!

ด้านความปลอดภัย นอกเหนือจากระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ Active Safety ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว MG ก็ยังคงติดตั้งระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องไม่ให้เกิดอันตรายสำหรับผู้โดยสารขณะเกิดอุบัติ Passive Safety ดังนี้

– โครงสร้างตัวถังนิรภัย FSF (Full Space Frame)
– ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัย)
– เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ (Pretensioner & Load Limiter)
– เข็มขัดนิรภัยด้านหลังแบบ ELR 3 จุด 3 ตำแหน่ง

สำหรับรุ่น X ซึ่งเป็นรุ่น Top of The Line ยังมีการติดตั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่สารพัดรูปแบบ เพิ่มเข้ามาให้อีกหลายรายการ ประกอบด้วย

– ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน Adaptive Radar Cruise Control
– ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA (Traffic Jam Assist)
– ระบบไฟสูงอัตโนมัติ IHC (Intelligent High Beam Control)
– ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้า FCW (Forward Collision Warning)
– ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning)
– ระบบช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกเลน LDP (Lane Departure Prevention)
– ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keeping Assist)
– ระบบช่วยเตือนเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน LCA (Lane Change Assist)
– ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD (Blind Spot Detection)
– ระบบช่วยเตือนขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)
– ระบบช่วยเตือนการเปิดประตู DOW (Door Opening Warning)
– ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitoring System)

ส่วนโครงสร้างตัวถัง HS นั้น ถูกพัฒนาขึ้นที่ห้องแลป Intelligent Safety ที่ทาง SAIC ลงทุนพัฒนาไปด้วยเม็ดเงินจำนวน 230,000,000 หยวน (ราว 1,056,000,000 บาท) บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร โดยใช้เทคโนโลยีเสริมความแข็งแกร่งบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar ด้วยเหล็กรีดร้อนชนิดทนแรงอัดสูงพิเศษ (Ultra-high Tensile Strength) มีค่าความเค้นคราก มากกว่า 1,300 MPa เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 16% ในขณะที่ส่วนเสริมของเสา A-Pillar คานธรณีประตูที่เชื่อมต่อระหว่างด้านหน้าและหลัง คานรับแรงในแนวขวางบริเวณกึ่งกลางตัวรถ จะใช้วัสดุเหล็กรีดร้อนชนิดทนแรงอัดสูง (High Tensile Strength) ที่มีค่าความเค้นคราก ในระดับ 980 – 1,300 MPa ส่วนบริเวณคานรับแรงปะทะจากด้านหน้าแบบมีรอยบากดูดซับแรงกระแทก โครงสร้างที่เชื่อมระหว่างเสา A-Pillar และธรณีประตู รวมถึงส่วนเสริมของเสา B-Pillar จะใช้วัสดุเหล็กรีดร้อนชนิดทนแรงอัดสูง ที่มีค่าความเค้นคราก ในระดับ 590 – 980 MPa ส่วนโครงสร้างในจุดอื่นๆ ก็จะใช้วัสดุที่ทนแรงดึงลดหลั่นกันไปตามความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม ตามภาพด้านบน

นอกจากนี้ MG HS ยังผ่านมาตรฐานการทดสอบการชน ของรถยนต์ที่ออกจำหน่ายในยุโรป EURO NCAP ในระดับ 5 ดาว ในปี 2019 โดยได้คะแนน ด้านการปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่ (Adult Occupant Protection : AOP) 35.2 คะแนน (92%) ด้านการปกป้องผู้โดยสารเด็ก (Child Occupant Protection : COP) 40 คะแนน (81%) และด้านการปกป้องคนเดินเท้า (Vulnerable Road Users) 30.8 คะแนน (64%) และด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย (Safety Assist Technologies : SATs) 9.9 คะแนน (76%) โดยรุ่นที่ถูกนำไปทดสอบ คือ MG HS 1.5 Petrol RHD ซึ่งอาจมีรายละเอียดบางส่วนแตกต่างจากเวอร์ชันที่จำหน่ายในเมืองไทย

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ที่นี่ : https://www.euroncap.com/en/results/mg/hs/39677

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

พอเห็นตัวเลขอัตราเร่งที่ด้อยลง หลายคนคงอยากจะรู้ว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจะด้อยลงตามหรือไม่ ?

เราจึงนำ MG HS ไปเติมน้ำมัน เบนซิน 95 Techron ณ สถานีบริการน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ช่วงกลางคืน เหมือนปกติ เพื่อหาคำตอบให้ทุกคนได้ทราบโดยทั่วกัน

แน่นอนว่าเรายังคงใช้มาตรฐานการทดสอบดั้งเดิมที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ รับหน้าที่ขับทดสอบโดยพี่ J!MMY ใช้ความเร็วเดินทางเฉลี่ย 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ซึ่งอีกคนก็คือตัวผมเอง น้ำหนักรวมแล้ว ต้องไม่เกิน 170 กิโลกรัม

เนื่องจาก MG HS เป็นรถยนต์กลุ่ม Compact SUV ซึ่งเป็นกลุ่มที่ ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ซีเรียสกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากเท่ากับรถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 2,000 ซีซี หรือรถกระบะ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันให้เต็มถังแค่เพียงหัวจ่ายตัดก็เพียงพอแล้ว

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 55 ลิตร (ไม่รวมคอถัง) แล้ว เราจึงคาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดไฟหน้า เปิดแอร์ ด้วยพัดลมเบอร์ 1-2 อุณหภูมิ ช่วง 24 – 25 องศาเซลเซียส และเริ่มออกรถไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้าย ลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ทะลุปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 6 จากนั้นจึงเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ โดยใช้ระบบ Cruise Control ยาวต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเร็วให้อยู่ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนสุดปลายทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับย้อนขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯ กันอีกครั้ง

เมื่อลงทางด่วนที่ด่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราก็เลี้ยวซ้ายกลับเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ตำแหน่งหัวจ่ายเดิม เหมือนช่วงการเติมขาไป และเพื่อให้เหมือนกันกับการเติมครั้งแรก เราก็เติมน้ำมันกันแค่ระดับ หัวจ่ายตัด เช่นเดียวกับช่วงเริ่มต้นทดลอง

ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดบนมาตรวัด 92.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 7.33 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.56 กิโลเมตร/ลิตร

สรุปว่า ทั้งอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ MG HS 1.5 Turbo ด้อยลงกว่ารถรุ่นเดิม อย่าง MG GS 1.5 Turbo อยู่พอประมาณ ตัวเลขที่ออกมา มันเท่าๆกันกับ Ford Ranger เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร และ Lexus LC500 V8 5.0 ลิตร เลยทีเดียว! หรือถ้าเทียบกับคู่แข่ง มันกินพอกันกับ Nissan X-Trail เบนซิน 2.5 ลิตร นะ!!

ถ้ามองแบบอวยๆ หน่อย ผมอาจจะบอกว่า การที่วางเครื่องยนต์บล็อกเก่า ผูกกับเกียร์ลูกเกียร์ลูกเดิม แต่ขนาดล้อโตขึ้น ยางหน้ากว้างขึ้น พื้นที่หน้าตัดตัวรถกว้างขึ้น แถมน้ำหนักตัวยังเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกตั้ง 110 กิโลกรัม ทำให้ตัวเลขที่ออกมาแย่กว่ารุ่นเก่า มันก็ดูสมเหตุสมผล และพอที่จะยอมรับได้

แต่ถ้ามองกันอย่างตรงไปตรงมา ผมคงต้องบอกว่า ระยะเวลาที่ผ่านไป 3 – 4 ปี พวกคุณยังย่ำอยู่กับที่ ไม่คิดจะพัฒนาเครื่องยนต์กับเกียร์ ให้มันดีขึ้นหน่อยเหรอ!? อย่างน้อยๆ ปรับปรุงเรื่องของแรงเสียดทานในระบบให้น้อยลงกว่านี้ ก็ยังพอที่จะทำให้ตัวเลขสมรรถนะที่ออกมานั้น ดีขึ้นบ้าง

ยิ่งพอดูตัวเลขเปรียบเทียบกับคู่แข่งใน Segment เดียวกัน ที่วางเครื่องยนต์ เบนซิน ขนาดความจุ 2.0 – 2.5 ลิตร แบบไร้ระบบอัดอากาศ ก็จะพบว่าความประหยัดของ HS นั้น ยังทำได้ไม่ดีนัก หากจะมีรุ่นที่นำมาเปรียบเทียบแล้วทำให้ใจขึ้นมาบ้าง ก็คงจะเป็นพี่ใหญ่ หัวใจโต MG GS 2.0 Turbo AWD (11.58 กิโลเมตร/ลิตร) Hyundai Tucson 2.0 2WD/4WD (11.06 – 12.25 กิโลเมตร/ลิตร) และ Ford Escape 2.3 4WD (11.35 กิโลเมตร/ลิตร) ซึ่งคันหลังสุดนั้น เป็นรถที่ทางพี่ J!MMY ได้ทำการทดสอบ และบันทึกผลเอาไว้ ตั้งแต่ปี 2007 ก่อนเปิดเว็บ Headlightmag เสียอีกนะครับ คุณผู้อ่าน

ส่วนคำถามที่ว่า น้ำมัน 1 ถัง จะแล่นไปได้ไกลแค่ไหน? จากการใข้งานจริงของพี่ J!MMY พบว่า ถ้าขับใช้งานตามปกติ เร่งบ้าง เหยียบบ้าง น้ำมัน 1 ถัง จะทำระยะทางได้แค่ราวๆ 350 กิโลเมตร ยิ่งถ้าคุณเป็นพวกตีนโหด ขับจี้ มุด ปาด เร่งแซงตลอดเวลา มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจได้เติมน้ำมันกันแม้ว่า Trip Meter เพิ่งบอกระยะทางแค่ 236 กิโลเมตร!!! แต่ต่อให้คุณจะขับช้าอีเรื่อยเฉื่อยแฉะขนาดไหน น้ำมัน 1 ถัง ก็ยังจะพาคุณแล่นไปได้ประมาณ 400 กิโลเมตร แค่นั้น

ขณะเดียวกัน ผมลองใช้งานจริง ขับรถคันนี้ ไปอุบลราชธานี ใช้ความเร็วช่วง 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หลังการเติมน้ำมัน พอคำนวนอัตราสิ้นเปลือง ออกมาได้ 9.9 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่า ค่อนข้างกินเลยทีเดียว

********** สรุป **********
สวย หรู ดูแพง อุปกรณ์เกินราคา ผ่อนคลายได้ ซิ่งได้ แต่อย่าถึงขั้นบู๊แหลก !
ปรับตัวให้ชินกับเกียร์คลัทช์คู่ ทำใจให้ได้คำค่าน้ำมัน ฝึกรีเซ็ตจอ i-SMART
บ่อยๆ ให้ชำนาญ แล้วชีวิตจะมีความสุข

อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกเหนื่อยกันบ้างไหมครับ? ขนาดผมเพิ่งเริ่มเขียนบทความ Full Review เป็นครั้งแรก ยังรู้สึกเหนื่อยมากกกกกกก ขนาดนี้ เหตุผลไม่ใช่แค่ตัวรถ จะเต็มไปด้วยสารพัดอุปกรณ์ไฮเทคมากมายท่วมคันมากขนาดนี้ แต่ยังต้องพยายามแยกแยะความจำ ทุกสัมผัส และเล่าให้คุณผู้อ่าน ได้รับทราบ ตามความเป็นจริง ในสิ่งที่รถคันนี้ มันเป็น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เมื่อมานั่งพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน และตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง ตามมาตรฐานของ Headlightmag แล้ว แล้ว MG HS ก็เป็นรถยนต์อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีทั้งข้อดี ที่น่าชมเชย และข้อเสีย ที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับคู่แข่งรุ่นอื่นๆ

สำหรับผม ข้อดีอันเป็นจุดเด่นของรถคันนี้ ก็คือ

รูปลักษณ์ทั้งภายนอก – ภายใน ที่ดูสวย ลงตัว ชนิดที่ว่าไม่ต้องไปแก้ไขตรงไหนอีกเลย หากไม่จำเป็น (โดยเฉพาะรุ่น X) แม้ว่าหลายคนอาจจะค่อนขอดไปในทำนองว่า MG ไปลอกเลียน หรือหยิบยืม งานออกแบบของหลายๆ ค่าย มาแปะลงบนรถตัวเองเยอะเสียจนแยกไม่ออก ว่ามาจากรุ่นไหน ยี่ห้องไหนบ้าง ก็ตาม ส่วนตัวผมมองว่ามันลงตัวที่สุดแล้ว นับตั้งแต่ MG ถูก Re-brand กลับมาทำรถขายอีกครั้ง ในช่วงเวลา 6 -7 ปี ก่อนหน้านี้

เซ็ตพวงมาลัยและช่วงล่างมาได้ดีพอตัว ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานของรถ MG ทั้งช่วงล่างที่ทำมาเอาใจทั้งคนชอบขับรถเร็วแต่ไม่ได้เล่นโค้งอะไรมากนัก แต่ยังไม่ทิ้งลายคุณพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่รักสบาย ต้องผ่อนคลาย เมื่อขับในโหมดสันติสุข และพวงมาลัยในโหมดมาตรฐานที่เบาสบาย คล่องตัว ในความเร็วต่ำ และหนืด ตึงมือขึ้น ในความเร็วสูง แถมใจดี มีระบบแปรผันน้ำหนักมาให้ถึง 3 ระดับ ตอบสนองได้เป็นธรรมชาติขึ้นมาก

การเก็บเสียงช่วงล่าง เสียงยางบดกันพื้นยางมะตอย หรือพื้นคอนกรีต จัดว่าดีในอันดับต้นๆ ของกลุ่ม Compact SUV ทั้งหมด อาจจะพื้นผิวบางรูปแบบที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนเล็ดลอดเข้ามาได้บ้าง เช่น ช่วงสะพานยกระดับมอเตอร์เวย์สาย 9 ข้ามมอเตอร์เวย์สาย 7 แต่นั่นก็น้อยกว่าคู่แข่งอยู่ดี

งานประกอบดีขึ้น ทั้งภายนอก และภายใน ความหนาแน่น ระยะห่างช่องไฟต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แน่นอนว่าดีกว่า Honda และดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ ที่พวกเคยทำออกมาขาย

ลูกเล่นเยอะ คุ้มราคา ทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวก อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ให้มา เยอะพอๆ กับไซส์เท่ากันอย่าง Mazda CX-5 2.0 SP ที่มีราคา 1,560,000 บาท บางอย่างน้อยกว่า บางอย่างเยอะกว่า แต่เทียบรวมๆ แล้ว ประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้ เกือบครึ่งล้าน !

ข้อดีที่กล่าวไปทั้งหมดก็ดูสมเหตุสมผล กับการเป็นรถพัฒนาปรับปรุงด้านโครงสร้างตัวถัง และ packaging ด้วยรวมให้ดีขึ้น กว่า MG GS รุ่นเดิม ซึ่งก็ต้องยอมรับกันว่า ทีมออกแบบของ SAIC เดินทางลัดมาได้รวดเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า ในโลกนี้ ไม่มีรถยนต์รุ่นใดเลยที่มีแต่ข้อดี โดยไม่มีข้อด้อย สำหรับ SUV รุ่นใหม่จาก MG คันนี้ ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า ข้อควรปรับปรุง นั้น จริงๆแล้ว ถ้าจะแยกเป็นหัวข้อ ผมว่า น่าจะยาวกว่านี้อีกมาก ดังนั้น หากจับรวบมัดเข้าด้วยกัน ก็จะสั้น กระชับ ได้ใจความกว่า ดังต่อไปนี้

เครื่องยนต์กับเกียร์ยังทำงานประสานกันได้ไม่ดีเท่าที่ควร คันเร่งหน่วง เกียร์ยังคงขี้เกียจอยู่ อาการกระตุก กระชาก ในช่วงความเร็วต่ำ ที่เคยพบเจอใน GS ยังคงตามมาสร้างความน่าหงุดหงิดรำคาญใจอยู่ ทำให้การเรียกพละกำลังขณะเร่งแซง ชวนให้เกิดความหงุดหงิด ไม่ทันอกทันใจ หรือบางครั้ง ถึงขั้นเสียจังหวะไปเลยในบางกรณี ซึ่งก็มาจากการใช้เทคโนโลยีด้านระบบขับเคลื่อน ที่ตกทอดมาจากรุ่นเดิม ซึ่งก็ทำผลงานไว้ไม่ดีนัก เพื่อคุมต้นทุนรถทั้งคันไม่ให้แพงกระโดด จนสามารถทำราคาให้จับต้องได้ง่าย และฟัดเหวี่ยงกับคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้อย่างสูสี พอมาอยู่ในเปลือกตัวถังใหม่ที่ออกแบบมาให้ดูลอตาล่อใจ ก็เลยทำผลงานออกมาไม่ดีอย่างที่หลายคนคาดหวัง

ความประหยัดน้ำมัน สู้คู่แข่งไม่ได้แล้ว เห็นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระดับ 12.56 กิโลเมตร/ลิตร ดูเหมือนไม่แย่ แต่ ณ วันนี้ บรรดาคู่แข่งในกลุ่ม Compact SUV ที่พัฒนาขึ้นในยุคเดียวกัน กลับทำตัวเลขความประหยัดออกมาได้ดีกว่า MG HS ทั้งหมดแทบทุกรุ่น ต่อให้เทียบกับ Nissan X-Trail ซึ่งทำตัวเลข 12.7 กิโลเมตร/ลิตร แต่นั่นคือเครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร! ไม่ใช่ 1.5 Turbo แบบ MG แถมเมื่อขับขี่ใช้งานจริง นอกจากเข็มน้ำมันจดลงลงเร็วฮวบฮาบแล้ว ยังต้องเติมน้ำมันถี่ขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับ SUV รุ่นอื่นๆ ดังนั้น ผมว่า MG ต้องกลับไปทำการบ้าน เรื่องระบบขับเคลื่อน มาใหม่แล้วล่ะ

ระบบหน้าจอ i-SMART ทำงานห่วยแตก! แถม User Interface บางอย่าง เหมือนออกแบบมาโดยไม่มี Logic การมีหน้าจอ ซึ่งมีหลากหลายฟังก์ชันการใช้งานที่ค่อนข้างครบเครื่อง ตั้งแต่การตั้งค่าตัวรถ ไปยันการตรวจหวยออนไลน์ มากขนาดนี้ แน่นอนครับ มันทำให้ตัวรถดูคุ้มค่า คุ้มราคา เมื่อมองอยู่ในโบรชัวร์ หรือบนโชว์รูม แต่ทว่าอาการรวน และค้าง ที่บางครั้งก็รีเซ็ตค่ากลับมาได้เพียงแค่กด Home ค้างไว้ หรือบางคราว ก็ถึงขั้นต้องดับเครื่องนาน 2 – 3 นาที จึงจะหาย มันทำให้ความน่าใช้งานลดลงไปมาก คล้ายกับคนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม แต่พอได้คบหา กลับมีนิสัยไม่พึงประสงค์ อย่างที่ใจคิดเอาไว้ในตอนแรก เต็มไปหมด

นี่ยังไม่นับรวม การปรับเลือกอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศด้วย Logic ประหลาดๆ ไปจนถึง การใส่คู่มือผู้ใช้รถมาให้ แต่กลับเป็แค่ File PDF ค่อยๆเลื่อนกันไปทีละหน้า เสียเวลาชะมัด แทนที่จะทำ Link ที่หน้าสารบัญให้กดจิ้มเลือกไปได้เลย ฯลฯ อีกมากมาย สรุปว่า ควรอย่างยิ่งที่ฝ่าย iT จะเปลี่ยนชุดจอ ให้ตอบสนองได้ไวกว่านี้ คลิกได้ดีกว่านี้ และมี User Interface ที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่เอาโปรแกรมเอ๋อๆที่ไหนไม่รู้ ยัดใส่รถมาให้ลูกค้ากันแบบนี้

คุณภาพเครื่องเสียงอยู่ในขั้นควรปรับปรุง ในเมื่อคุณมีชุดเครื่องเสียงที่รองรับการเล่นเพลงได้จากหลายแหล่ง มีฟังก์ชันการปรับจูน Equalizer รวมถึง Sound Stage มาให้ครบแล้ว น่าจะอัพเกรดคุณภาพชุดลำโพงให้ดีกว่านี้สักหน่อยนะ

พนักศีรษะ ดันกบาลมาก จนนั่งไม่สบายเท่าที่ควร เพียงขึ้นมานั่งบนรถได้ราวไม่กี่นาที ก็เริ่มมีอาการปวดเมื่อยกระดูกต้นคอด้านล่างแล้ว ยิ่งพอขับขี่นานๆ อาการก็ยิ่งมากขึ้น ผมอยากเห็นทีมออกแบบ ใส่ใจในเรื่อง หลักสรีรศาสตร์ ที่ช่วยเพิ่มความสบายในการเดินทาง ลดอาการปวดเมื่อยให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร มากกว่าการเน้นปรับปรุงเบาะให้เพียงแค่สอบผ่านมาตรฐานทดสอบการชน เป็นหลัก

***** คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน *****

แม้จะมีลูกค้าชาวไทยจำนวนไม่น้อย ยังคงใช้ “ราคา” เพื่อเปรียบเทียบรถยนต์แต่ละคัน โดยไม่สนใจว่าจะอยู่ในกลุ่มไหน พิกัดใดก็ตาม ด้วยราคาที่ย่อมเยากว่า ทำให้ลูกค้าจำนวนมาก นำ MG HS ไปเปรียบเทียบกับรถยนต์ B-SUV หรือ Sub Compact SUV อย่าง Honda HR-V, Toyota C-HR และ Mazda CX-3 / CX-30 ที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยขนาดตัวรถ โครงสร้างตัวถังและงานวิศวกรรมพื้นฐาน MG HS ควรจะถูกเปรียบเทียบกับบรรดา Compact SUV (C-SUV) ด้วยกัน จึงจะสมน้ำสมเนื้อ

Honda CR-V
เน้นเอาใจพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่นิยมทางสายกลาง ช่วงล่างเน้นไปในแนวนุ่มสบาย แต่ยังมั่นใจเวลาวิ่งเร็วในทางตรง น้ำหนักพวงมาลัยดีงาม มีรุ่นย่อยให้เลือกหลากหลาย ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล – เบนซิน ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ – ขับเคลื่อน 4 ล้อ เบาะ 5 ที่นั่ง – 7 ที่นั่ง อุปกรณ์ติดรถไม่เยอะ แต่ไร้ปัญหาเรื้อรัง ช่างศูนย์ส่วนใหญ่ชำนาญ แต่คุณภาพการบริการบางที่ยังต้องปรับปรุง ถ้าอดใจรอได้ รุ่นปรับโฉม Minorchange ใกล้ถึงกำหนดเปิดตัวในไทยแล้ว

Mazda CX-5
Compact SUV เอาใจสายซิ่ง เบรกดีกะน้ำหนักง่าย พวงมาลัยคมแต่แอบบหวิว ช่วงล่างเฟิร์มกระชับ มาพร้อมความเผ็ดให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่ เผ็ดน้อย แต่เผ็ดนะ (เบนซิน 2.0), เผ็ดกลางๆ กำลังดี (ดีเซล 2.2) และเผ็ดมาก กินแสบปาก ขี้แสบตูด !! (เบนซิน 2.5 เทอร์โบ) แต่ต้องระวังน้ำดันในเครื่องดีเซล และปั๊มติ๊กลาโลกในเครื่องเบนซิน ซึ่งไม่แน่ใจว่าตอนนี้แก้ปัญหาได้แล้วหรือยัง อีกทั้งศูนย์บริการยังคงน่าเป็นห่วงเรื่องความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา ของช่างศูนย์ฯ

Nissan X-Trail
อ็อพชันครบ ช่วงล่างแน่นแอบนุ่ม เน้นความสบายในการขับขี่ เบาะนั่งแถว 2 (รุ่นธรรมดา ไม่ Hybrid) สบายที่สุดในกลุ่ม อัตราเร่ง 2.0 ลิตร พอได้ ถ้าชอบความแรงขยับขึ้นมาเล่นรุ่น 2.5 ลิตร และถอยให้ห่างรุ่น Hybrid ที่น่าเป็นห่วงเรื่องเกียร์ และการตอบสนองของแป้นเบรกที่คาดเดายากมาก นอกจากนี้ รุ่น Minorchange ปรับพวงมาลัยมาเบาเกินไป ส่วนศูนย์บริการอยู่ในระดับกลางๆ

Peugeot 3008
รถยุโรป ในราคารถเอเชีย ภายนอกสวย ภายในล้ำ เครื่องยนต์มีพละกำลังใกล้เคียง CX-5 2.0 ช่วงล่างนุ่ม คล่องแคล่ว เล่นโค้งสนุก ให้ความรู้สึกเหมือนขับรถเก๋งยกสูง การขับขี่ในภาพรวมขอใช้คำสรุปสั้นๆ ว่า “กลมกล่อม” ทั้งนี้ ต้องทำใจยอมรับเรื่องศูนย์บริการที่ยังไม่แพร่หลาย ณ ปัจจุบัน

Subaru Forester
พ่อบ้านนอนยัน ชูจุดเด่นเรื่องความโปร่ง โล่ง สบายของห้องโดยสาร ความปลอดภัยของโครงสร้างตัวถังที่ดีงาม และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ที่เกาะหนึบปานตุ๊กแก แต่คุณต้องทำใจกับพละกำลังจากเครื่องยนต์ ที่แม้จับเวลาออกมาแล้วไม่ได้แย่มากมายนัก แต่ด้วยความที่ผูกกับเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่เซ็ตมาอมกำลังในช่วงต้นอยู่พอสมควร ทำให้ขับแล้วรู้สึกอึดอัดเวลาเร่งแซงในหลายจังหวะ

ถ้าตัดสินใจเลือก MG HS ใหม่ รุ่นย่อยใดคุ้มค่าสุด ?

MG HS ใหม่ มีรุ่นย่อยให้เลือก ทั้งหมด 3 รุ่น ดังนี้
– MG HS 1.5 Turbo C 7DCT 2WD ราคา 919,000 บาท
– MG HS 1.5 Turbo D 7DCT 2WD ราคา 1,019,000 บาท
– MG HS 1.5 Turbo X 7DCT 2WD ราคา 1,119,000 บาท

รายละเอียดอุปกรณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นย่อย สามารถคลิ๊กเข้าไปอ่านในกระทู้เจาะสเป็ค ที่พี่ MoO Cnoe ได้รวบรวมไว้ให้ ที่นี่ CLICK HERE!

อาจเป็นเพราะยอดขายหลักของ GS รุ่นเดิม เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร Turbo 2WD มากกว่ารุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Turbo ทั้ง 2WD และ AWD ทำให้การเข้ามาทำตลาดแทนของ HS ในคราวนี้ MG Sales Thailand ตัดสินใจทำออกขายเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ เพียงแบบเดียวกันไปเลย โดยมีทางเลือกรุ่นย่อยให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่น ซึ่งแต่ละรุ่น มีความแตกต่างกันในด้านอุปกรณ์มาตรฐาน อุปกรณ์ตกแต่ง และระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ เท่านั้น

สำหรับคนที่มองหารถยนต์ประเภท SUV ขนาดกลาง ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน และไม่ต้องการลูกเล่นแพราวพราวมากนัก ดูเหมือน HS รุ่น C เริ่มต้น จะเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไป

ในขณะที่รุ่น D ถัดขึ้นมานั้น ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความหรูหรา สวยงาม รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกันกับรุ่นท็อป แทบทุกประการ อีกทั้งยังได้ระบบ i-SMART สั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย ระบบนำทางผ่านดาวเทียม Navigation System อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสาร ฯลฯ การเพิ่มเงินจำนวน 100,000 บาท อาจไม่ได้ดูคุ้มค่ามากมายขนาดนั้น แต่ก็ยังถือว่าสมเหตุสมผล

ส่วนรุ่น X ซึ่งเป็นรุ่นท็อป ในความเห็นส่วนตัวมองว่าเป็นรุ่นที่คุ้มที่สุด เมื่อเทียบกันระหว่างอุปกรณ์และราคาจำหน่าย เมื่อจ่ายเงินเพิ่มอีก 100,000 บาท จากรุ่น D สิ่งที่ได้เพิ่มเข้านั้น เอาแค่ระบบควบคุมความเร็วแปรผันอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control พร้อมฟังก์ชัน Stop & Go กับระบบช่วยเหลือการขับขี่นานับประการ ก็คุ้มแล้วครับ ยังไม่นับการตกแต่งภายในห้องโดยสารโทนสีแดง – ดำ พร้อมเบาะนั่งทรงสปอร์ตแซมหนังกลับ Alcantara หลังคากระจก Panoramic Sunroof และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้รถดูดีมีชาติตระกูลขึ้นอีกเป็นกอง

ถ้าถามความเห็นของผมว่า MG HS น่าซื้อหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด ผมคงต้องขอมองออกเป็น 2 มุม

มุมแรก คือเปรียบเทียบกับ บรรดา คู่แข่งในพิกัด C-Segment SUV ด้วยกัน โดยส่วนตัวผมอาจจะเลือก Mazda CX-5 ด้วยเหตุผลที่ว่า คุณภาพการขับขี่ มันถูกจริตผมมากที่สุด มันกลมกล่อมมากสุด แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง หากต้องเลือกซื้อรถยนต์กันตามงบประมาณ ไม่เกิน 1,200,000 บาท แล้วละก็ เงินในจำนวนนี้ คุณอาจจะได้เพียงแค่ Honda HR-V หรือ Toyota C-HR ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การหันมามอง MG HS ดูจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เพราะด้วยเงินที่พอๆกัน คุณจะได้ รถที่ใหญ่กว่า คุ้มค่าด้วยอุปกรณ์สารพัดที่ MG ให้คุณมากกว่า และมี “การขับขี่ในบางด้าน” ดีกว่านิดหน่อย

แน่นอนครับ ว่าหลายคนคงจะลุ่มหลงไปกับรูปลักษณ์ภายในและภายนอกที่ สวย หรู ดูแพง มาพร้อมอุปกรณ์ที่อัดแน่นเกินราคา แต่ด้วยปัญหาของตัวรถที่เราพบเจอในระหว่างทำรีวิวกันนั้น ก็แอบทำให้ผมนึกหวั่นใจอยู่เหมือนกัน ว่า มันน่าจะดีกว่าไหม ถ้า MG จะไปปรับปรุงเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ทั้งตัว Hardware และ Software ไปจนถึง ปรับปรุง หน้าจอ i-Smart ให้ ทำงานลื่นขึ้น ไม่เอ๋อ ไม่ติงต๊องแบบนี้  แก้ไขปัญหาเล็กน้อยๆ ต่างๆ ให้สมบูรณ์กว่านี้ รวมทั้ง ปรับปรุงงานบริการหลังการขายในฝั่งของดีลเลอร์ หรือโชว์รูมผู้จำหน่าย ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ผมเชื่อว่า MG จะกลายเป็นรถยนต์ที่ คนไทย จะไม่ลังเลที่จะจ่ายเงินซื้ออีกต่อไป ไม่เหมือนปัจจุบันที่เป็นอยู่

ผมรอดูวันนั้นอยู่ครับ

—————-///—————-

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท MG Sales (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

Yutthapichai Phantumas “QCXLOFT” // J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในต่างประเทศ ทั้งหมด เป็นของ SAIC Motor

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
8 พฤษภาคม 2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or
in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
May 8th,2020

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!