(Video Clip version of this Full Review is now available at the end of this article)
(วีดีโอ คลิป ทดลองขับ ของรถคันนี้ เลื่อนลงไป อยู่ด้านล่างสุดของบทความนี้ )

—————————-

ครั้งแรกที่ผมเห็น Yaris ตัวถังปัจจุบัน นั่นต้องย้อนกลับไปยังปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ผมเริ่มเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ตั้งอยู่ริมถนนถนนพัฒนาการ ไม่ได้อยู่แถวดินแดงเหมือนที่หลายๆ คน โดยเฉพาะพี่แท็กซี่ มักจะเข้าใจผิดกัน

ชีวิตของผมในรั้วมหาวิทยาลัยช่วงแรกนั้นถือว่ามีความสุขดีทีเดียว การได้ทำกิจกรรมของทางคณะ หรือกิจกรรมที่สถาบันจัดขึ้น ทำให้ผมและเพื่อนๆ สนิทกันเร็วมาก ผมยังจำได้ดีว่ารถยนต์ที่ก๊วนเพื่อนของผมใช้สำหรับเดินทางไปหาของอร่อยๆ กินกัน ในช่วงค่ำหลังเลิกเรียน ระแวกพัฒนาการที่ผู้คนชอบเอารถมาจอดเรียงกันบนถนนในชั่วโมงเร่งด่วน ท้ังเช้าและเย็น นั่นก็คือ Yaris รุ่น 1.2G สีฟ้า ของพีรณัฐ” เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองไปทำงานสายการบินเป็นที่เรียบร้อย

ใครจะไปคิดล่ะครับว่า การบรรทุกเด็กผู้ชาย ตัวสูง 170 – 180 เซ็นติเมตร เกือบ 10 คน น้ำหนักรวมกันน่าจะเกิน 500 กิโลกรัม ใน Yaris คันนั้น เพื่อเดินทางออกมาจากหอพักที่อยู่ภายในซอยเล็กๆ มายังประตูรั้วมหาลัย ผ่านลูกระนาดระหว่างทางขนาดมโหฬาร จำนวน 7 ลูก จะสร้างความหฤหรรษ์ให้พวกผมรวมถึง “นัส” ได้ไม่น้อยเลย (แต่ “นัส” คงแอบด่าพวกผมใจ ว่า “พวกเมิงจะข่มขืนรถกูไปไหม???”)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ Mazda 2 และ Honda Civic รุ่นปัจจุบัน ยังไม่ออกสู่ตลาด เมื่อพูดถึงรถยนต์ขวัญใจวัยรุ่นมหาลัยทั่วๆ ไป ก็คงต้องยกตำแหน่งให้ Yaris เขาล่ะ!

.

.

เวลาผ่านไป  7 ปี หลังจากที่หนังโฆษณาของ Yaris และ Yaris ATIV รุ่นปรับโฉม Minorchange ครั้ง (ที่คาดว่า) ล่าสุด บนมือถือของผมเล่นจบลง ผมก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า

ปี 2020 แล้ว พวกเขายังไม่คิดจะเปลี่ยนโฉมใหม่ให้สองพี่น้องคู่นี้กันอีกเหรอ ?

ตั้งแต่ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2013 ท่ามกลางสมรภูมิในตลาดรถ ECO Car เมืองไทยอันร้อนระอุ จนถึงทุกวันนี้ ยอดขายก็ยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางรถยนต์นั่ง B-Segment/Eco Car ชนิดที่ว่า ต่อให้คู่แข่งจะงัดเอาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่สดใหม่กว่า มาวางในรถยนต์รุ่นใหม่กว่า ออกมาประชันขันแข่ง แต่ Yaris และ Yaris ATIV ก็ยังคงอายุยืน ฆ่าไม่ตายง่ายๆ

เหตุผลสำคัญที่ลูกค้าชาวไทยยังคงอุดหนุนสองศรีพี่น้องรุ่นนี้กันอยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งมาจากความแพร่หลายของโชว์รูมและศูนย์บริการ รวมทั้งปริมาณของช่างที่ชำนาญงาน ยังมีอยู่เต็มประเทศของเรา นี่คือสิ่งที่ทำให้ Toyota ยังมีมูลค่า Brand Value ในใจของผู้บริโภคชาวไทยสูงมากพอ ให้พวกเขายอมอุดหนุนรถยนต์ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว มาจนถึงทุกวันนี้

มูลค่า Brand Value ในใจผู้บริโภคที่ Toyota มีอยู่ในใจผู้บริโภคชาวไทย มันสูงมากเสียจนยากจะหาผู้ผลิตรายใด ทำได้เช่นนี้ อาจจะมีเพียงแค่ Isuzu, Mercedes-Benz และ Honda เท่านั้น ที่สามารถยกระดับ Brand Value ของตน ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Toyota ได้

กระนั้น ด้วยอายุอานามที่มากถึง 7 ปี หากยังคงทะนงตัว ลากทำตลาดกันต่อไป โดยไม่ปรับปรุงตัวรถให้มีจุดขายอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้ง Yaris และ Yaris ATIV ก็คงจะมียอดขายค่อยๆ ชะลอตัวลง จนโดนชาวบ้านชาวช่องเขาแซงไปหมด

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ Toyota ตัดสินใจ ส่งรุ่นปรับโฉม Minorchange รอบล่าสุดของ Yaris และ Yaris ATIV ลงสู่ตลาด เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

อันนี้ที่จริง สาระสำคัญของการปรับโฉมในครั้งนี้ อยู่ที่การปรับหน้าตา และเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างเข้าไปเท่านั้น แต่ทว่านับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ที่มีการปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ให้กับ Yaris และ Yaris ATIV เราไม่มีเวลานำมาทดลองขับอย่างจริงจังเสียที กอปรกับช่วงนี้ Toyota เพิ่งจะมีรถพร้อมส่งมอบให้นำมาทดลองขับ เราจึงตัดสินใจตบปากรับคำอย่างไม่ต้องคิดมากเลย

หลายคนคงอยากรู้ว่า 7 ปีผ่านไป Yaris รุ่นปัจจุบัน เติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง แตกต่างจากรุ่นเดิมมากน้อยแค่ไหน ยังคงมีจุดเด่นมากพอให้เก็บมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจซื้อรถยนต์กลุ่ม B-Segment/Eco Car หรือไม่ ผมใช้เวลา 7 วัน ในการใช้ชีวิตอยู่กับทั้ง Yaris และ Yaris ATIV ใหม่ รุ่น Sport Premium ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุด จนได้คำตอบที่ผมเชื่อว่าจะทำให้คุณผู้อ่านกระจ่าง

คำตอบทั้งหมด… อยู่ข้างล่างนี้ครับ

Toyota Yaris ถูกนำเข้ามาประกอบและจำหน่ายในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2006 โดยในตอนนั้น Toyota Motor (Thailand) เลือกนำ Vitz/Yaris รุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ วันที่  1 กุมภาพันธ์ 2005  ​มาวางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 109 แรงม้า (PS) จาก Toyota Soluna Vios มาเปิดตลาดในบ้านเรา เพื่อรับมือกับ Honda Fit/Jazz รุ่นแรก (เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003) ในช่วงแรก ยอดขายไม่ดีเอาเสียเลย เพราะราคาขายหน้าโชว์รูมแพงไปในสายตาผู้บริโภค กว่ายอดขายจะกระเตื้อง ก็ต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ

ต่อมา Toyota ได้เรียนรู้ว่า Yaris เวอร์ชันตลาดโลก มีตัวถังเล็กไป สำหรับกลุ่มลูกค้าชาวไทย และชาวจีน พวกเขาต้องการรถที่ใหญ่ขึ้น มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารใหญ่โตขึ้น ให้สมกับเงินที่พวกเขาต้องจ่าย Toyota จึงซุ่มเงียบแตกหน่อ Yaris ออกมาเป็นเวอร์ชันใหม่ ขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สำหรับตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประเทศจีน (Emerge Market & China)

ระหว่างนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลไทย กำลังจัดแพ็กเกจ โครงการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Car Toyota จึงตัดสินใจเข้าร่วมขบวน โดยยื่นเรื่องรับสิทธิ์ส่งเสริมการลงทุนเป็นรายสุดท้าย นั่นจึงทำให้ Toyota เปลี่ยนแนวทางการทำตลาด Yaris ในบ้านเรา ด้วยการนำ Yaris เวอร์ชัน Emerge Market & China มาวางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ตีตั๋วเด็กลงทำตลาดในกลุ่ม Eco Car  เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรก ณ ห้างสรรพสินค้า Central World ย่านราชประสงค์ เมื่อ 22 ตุลาคม 2013 และทำยอดขายไปได้ดีประมาณหนึ่ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีลูกค้าบางส่วนปันใจจาก Toyota Soluna Vios รุ่นที่ 3 มาอุดหนุน Yaris 5 ประตู แทน

อย่างไรก็ตาม ตัวถัง Sedan 4 ประตู ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากกว่า Toyota จึงตัดสินใจนำ Vios รุ่นที่ 3 มาเปลี่ยนเปลือกตัวถังภายนอก วางเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ลงสู่ตลาด และเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย ในชื่อ Yaris ATIV เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2017 ณ Bangkok Convention Center โรงแรม Centara Grand Central World ตามด้วยรุ่นปรับโฉม Minorchange ของตัวถัง Hatchback ที่ใช้โครงสร้างตัวถังเดิม เปลี่ยนมาใช้ดีไซน์ครึ่งคันหน้าร่วมกันกับรุ่น Sedan เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2017 ณ โรงแรม Park Hyatt ถนนวิทยุ

จากนั้น 18 ตุลาคม 2018 ความเคลื่อนไหวก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพวกเขาได้เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ G+ ตกแต่งภายนอกด้วยสีดำเงาตามจุดต่างๆ เปลี่ยนล้อเป็นสีทูโทน ปัดเงา และภายในห้องโดยสาร ด้วยวัสดุ Piano Black และเปลี่ยนมาใช้เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังสีดำ เดินตะเข็บด้ายแดง พร้อมอัพเกรดชุดเครื่องเสียงเป็นหน้าจอสัมผัส ขนาด 7 นิ้ว และติดตั้งกล้องมองหลังเพิ่มเข้ามาให้ พร้อมยกเลิกรุ่นย่อย S ใน Yaris ATIV แทนที่ด้วยรุ่น S+ ที่เพิ่มเติมเบาะหนังจากโรงงานมาให้ ภายในตกแต่งด้วยวัสดุ Piano Black และเปลี่ยนมาใช้ล้อสีทูโทนปัดเงา เช่นเดียวกับ Yaris G+

นอกจากนี้ 7 พฤศจิกายน 2019 มีการอัพเดทอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงหลักๆ อยู่ที่เครื่องยนต์ที่ปรับปรุงจากเดิมเล็กน้อย จาก 3NR-FE เป็นรหัส 3NR-FKE พละกำลังเพิ่มขึ้นจาก 86 แรงม้า (PS) เป็น 92 แรงม้า (PS) แรงบิดเพิ่มขึ้นมาอีก 1 นิวตันเมตร เป็น 109 นิวตันเมตร เสริมด้วยระบบ Auto Start/Stop เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร เข้าโครงการ ECO Car Phase 2 พร้อมปรับเพิ่มอุปกรณ์จำพวก กล้องบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้า – ด้านหลัง เปลี่ยนดีไซน์ของหน้าจอชุดเครื่องเสียงใหม่ พร้อมปรับรุ่นย่อย จากเดิมที่เป็น J ECO / J / E / G / S+ เป็นรุ่น Entry / MID และ High เป็นรถยนต์รุ่นอื่นๆ ของ Toyota ปรับราคาเพิ่ม 10,000 – 20,000 ในแต่ละรุ่นย่อย

เวลาผ่านไป 7 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว Yaris Hatchback ในปี 2013 ตามด้วยรุ่น 4 ประตู Yaris ATIV ในปี 2017 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2020 สถิติยอดขายของ Toyota Motor ประเทศไทย ที่มาจากผลผลิต ทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็ปาเข้าไปแล้วราวๆ 320,000 กว่าคัน

ในเมื่อการมาถึงของ Yaris รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Model Change นั้น ต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2022 ดังนั้น Toyota จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลับคมดาบให้แก่ขุนศึกวัยเก๋า เพื่อรับมือกับคู่แข่งหน้าใหม่ ทั้งในปัจจุบัน และต่อจากนี้อีกราวๆ 1 ปีครึ่ง ในตลาด ECO Car และ B-Segment ด้วยการ Minorchange ปรับหน้าตา เพิ่มอุปกรณ์ที่ยังขาด เพื่อเพิ่มจุดเด่น ลบจุดด้อย อันเป็นวิธีการดั้งเดิมที่คุ้นเคยกันดีในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์

จนกระทั่งคลอดออกมาเป็น Yaris รุ่นปรับโฉม Minorchange รอบที่ 2 ปี 2020 เปิดตัวผ่านทางออนไลน์ พร้อมเผยราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2020 พร้อมสโลแกนใหม่ “This Is What I Am” ก่อนนำไปจัดแสดงภายในบูธ Toyota ที่งาน Big Motor Sale ณ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2020 หรือในอีก 2 วันถัดมานั่นเอง

ใจความสำคัญของการปรับโฉมในครั้งนี้ มีทั้งการปรับลุคส์ เปลี่ยนหน้าตา เพิ่มอุปกรณ์บางอย่างเข้าไป รวมทั้ง การเปลี่ยนชื่อรุ่นย่อยใหม่ โดยรุ่นกลาง เปลี่ยนจาก MID เป็น Sport และรุ่นท็อป เปลี่ยนจาก HIGH เป็น Sport Premium (ตกลงจะ Sport หรือ Premium !? ควรเลือกเอาสักอย่าง) เสริมด้วยรุ่นตกแต่งพิเศษหลังคาสีดำ สำหรับตัวถัง Hatchback เท่านั้น

 

มิติตัวรถ / Dimension

ขนาดตัวถังภายนอกของ Yaris (Hatchback) เท่ากันกับรุ่น Minorchange ปี 2017 เกือบทุกมิติ ทั้งความกว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร (ยังไม่รวมความสูงของเสาอากาศแบบครีบฉลาม 25 มิลลิเมตร ในรุ่น Sport Premium) ความยาวฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร ทว่าดีไซน์ของชุดกระจังหน้าและเปลือกกันชนหน้าใหม่ รวมทั้งสเกิร์ตหลัง ส่งผลให้ความยาวตลอดทั้งคันในรุ่น Sport และ Sport Premium เพิ่มขึ้นจาก 4,145 มิลลิเมตร เป็น 4,160 มิลลิเมตร ส่วนรุ่น Entry ซึ่งไม่มีสเกิร์ตหลังนั้น กลับสั้นลงเหลือ 4,140 มิลลิเมตร

ในขณะที่ Yaris ATIV (Sedan) ก็มีขนาดตัวถังภายนอกเท่ากันกับรุ่น Minorchange ปี 2017 เกือบทุกมิติเช่นเดียวกัน ทั้งความกว้าง 1,730 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร (ความสูงของครีบฉลามอยู่ในระนาบเดียวกับแนวหลังคาพอดี) ความยาวฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร แต่เมื่อวัดจากปลายสุดของกันชนหน้า – หลัง จะพบว่าความยาวเพิ่มขึ้นจาก 4,425 มิลลิเมตร เป็น 4,440 มิลลิเมตร ในรุ่น Sport และ Sport Premium และสั้นลงเหลือ 4,420 มิลลิเมตร ในรุ่น Entry

เมื่อมองจากภายนอก จะพบกับงานดีไซน์ โดยเฉพาะด้านหน้าและการตกแต่งรอบคัน ที่มีความแตกต่างจาก Yaris และ Yaris ATIV รุ่นปรับโฉม Minorchange 2017 ดังนี้

1.กระจังหน้าดีไซน์ใหม่ เป็นทรงคว่ำปากสไตล์เดียวกับพี่น้องร่วมค่าย รายละเอียดภายในกระจังหน้าของ Yaris จะเป็นแบบช่อง 6 เหลี่ยม เรียงซ้อนกันเป็นแผงรังผึ้ง ในขณะที่ Yaris ATIV จะเป็นเส้นแนวนอนที่ดูเรียบหรูกว่า

2.  ชุดไฟหน้าที่ปรับรายละเอียดภายในให้ดูสวยและทันสมัยขึ้น ด้วยโคม Multi-Reflector LED พร้อมระบบควบคุมการเปิด – ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และระบบ Follow-Me-Home (หน่วงเวลาปิด 30 วินาที หลังดับเครื่องยนต์) สำหรับรุ่น Sport และ Sport Premium

3. ไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน Daytime Running Light แบบ LED Light Guiding ถูกย้ายเข้าไปรวมเป็นชุดเดียวกันกับโคมไฟหน้า สำหรับรุ่น Sport และ Sport Premium

4. เปลือกกันชนหน้าดีไซน์ใหม่ พร้อมไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ที่ติดตั้งมาให้ในรุ่น Sport Premium

5. มือจับเปิดประตูสีเดียวกับตัวรถ (รุ่นเดิมเป็นมือจับแบบโครเมียม)

6. สเกิร์ตด้านข้าง และสเกิร์ตด้านหลัง สีดำเงา ที่ติดตั้งเพิ่มมาให้ ในรุ่น Sport และ Sport Premium

7. สปอยเลอร์หลังสีดำเงาเหนือฝากระโปรงหลัง อุปกรณ์ตกแต่งพิเศษ เฉพาะ Yaris ATIV รุ่น Sport และ Sport Premium เท่านั้น

8. เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar และแผ่นหลังคา หุ้มด้วยสติกเกอร์สีดำเงา Attitude Black Mica อุปกรณ์ตกแต่งพิเศษ เฉพาะ Yaris รุ่น Sport Premium with Black Roof ราคาบวกเพิ่มจากรุ่น Sport Premium ปกติ 5,000 บาท

9. ล้ออัลลอย ขนาด 15 นิ้ว ลายใหม่ พร้อมสีทูโทน ปัดเงา ในรุ่น Sport และ Sport Premium

กุญแจรีโมทของ Yaris รุ่น Sport Premium ยังคงเป็นแบบ Smart Keyless Entry พร้อมดอกกุญแจฝังอยู่ด้านใน หน้าตาเหมือนรุ่นเดิม เมื่อพกกุญแจรีโมทไว้กับตัว แล้วเดินเข้าใกล้ตัวรถ ก็สามารถสั่งปลดล็อก – ปลดล็อกได้ทันที ด้วยการกดปุ่มสีดำด้านข้างมือจับเปิดประตู ซึ่งมีมาให้เฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้น หากต้องการล็อก – ปลดล็อก บานประตูฝั่งคนนั่งด้านหน้า ยังต้องอาศัยการกดปุ่มบนกุญแจรีโมทอยู่ดี ในขณะที่ Yaris  ATIV รุ่น Sport Premium ก็จะใช้กุญแจรีโมทแบบเดียวกัน แต่มีสวิตช์สำหรับกดค้างเพื่อสั่งเปิดฝากระโปรงหลังเพิ่มเข้ามาให้

ส่วนกุญแจของรุ่น Entry และ Sport ยังคงเป็นกุญแจรีโมท แบบฝังสวิตช์ล็อก – ปลดล็อก ไว้ในดอกกุญแจแบบเดิมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer และระบบเตือนการโจรกรรม TDS (Theft Deterrent System) ถูกติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่น Sport และ Sport Premium เท่านั้น

การเข้า – ออกจากเบาะคู่หน้านั้น คุณยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง เหมือนรุ่นเดิม เนื่องจากเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ค่อนข้างลาดเอียง ดังนั้น สำหรับคนตัวสูง หรือศีรษะใหญ่โตกว่าคนปกติทั่วไป ควรปรับตำแหน่งเบาะคนขับให้ต่ำที่สุดก่อน เพื่อช่วยลดโอกาสจากศีรษะไปโขกกับเสาหลังคารถคู่หน้า ส่วนเบาะฝั่งซ้าย ต้องทำใจ เพราะไม่สามารถปรับระดับสูง – ต่ำได้

ส่วนแผงประตู ของทั้ง 2 รุ่น ยังมีหน้าตาเหมือนเดิม ตกแต่งด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์ เฉพาะบริเวณพนักวางแขน ซึ่งยังคงวางแขนในระดับพอใช้ได้ ตามเดิม รวมทั้ง ประดับแผงพลาสติกสีดำเงา บริเวณรอบ สวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เหมือนเดิม

เบาะนั่งทั้งคู่หน้าและด้านหลัง ยังคงหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ สีดำ เหมือนรุ่นปรับอุปกรณ์ MY2018 แต่เปลี่ยนโทนสีของตะเข็บด้าย โดย Yaris จะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีฟ้า ส่วน Yaris ATIV จะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีเทา

ภาพรวม การนั่งโดยสาร ก็เหมือนกับ Vios และ Yaris รวมทั้ง Yaris ATIV เดิม นั่นแหละครับ กล่าวคือ พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ทั้ง 2 แบบ ไม่ดันกบาลเท่าใดเลยทั้งคู่ ส่วนตัวพนักพิงหลัง ออกแบบให้เว้าลึกเข้าไป โอบกระชับลำตัวผู้โดยสาร แถมยังรองรับช่วงหัวไหล่ และสะโพกดีเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน เบาะรองนั่ง ยังคงมีขนาดปกติ ตามมาตรฐานของ Toyota คือ “สั้น” พวกเขายังไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไขในประเด็นนี้เลย แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 7 ปี ต่อให้ผมอยากให้เพิ่มความยาวมากกว่านี้ อีกราวๆ 10 มิลลิเมตร น่าจะช่วยให้การรองรับต้นขา ขณะขับขี่ทางไกล สบายขึ้นกว่านี้อีกนิดนึง แต่คาดว่าคงต้องรอพบกับความเปลี่ยนแปลงกันในรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ในอีก 2 ปีข้างหน้า แน่ๆ

เพียงแต่ ตั้งข้อสังเกตว่า ตามปกติ การเปลี่ยนวัสดุหุ้มเบาะจากผ้า ซึ่งนั่งสบายและให้ผิวสัมผัสกับเสื้อผ้าของผู้ขับขี่กับผู้โดยสารได้ดี มาเป็นหนังสังเคราะห์ ซึ่งจะลื่นกว่า อมความรอนมากกว่า และมักจะนั่งไม่สบาย แต่สำหรับ Yaris และ Yaris ATIV ใหม่ นั้น ด้วยการออกแบบรูปทรงพนักพิงหลังมาอย่างนี้ตั้งแต่แรก ทำให้ พอเปลี่ยนมาใช้หนังสังเคราะห์ หุ้มเบาะ ก็กลับให้ความสบายในระดับใกล้เคียงกับเบาะผ้าแบบเดิม อย่างน่าแปลกใจนิดหน่อย

พื้นที่เหนือศีรษะ ก็เหมือนกับรถรุ่นเดิม นั่นละครับ มีเหลือมากพอให้คนตัวสูงราวๆ 185 – 190 เซ็นติเมตร พอจะนั่งได้โดยที่หัวไม่ชนเพดาน ด้านหน้า

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ของ Yaris และ Yaris ATIV ยังคงจำเป็นต้องก้มหัวลงพอสมควร ในระหว่างก้าวเข้าไปนั่งบนเบาะหลัง เหมือนเดิม ไม่อย่างนั้น โอกาสที่ศีรษะจะโขกโป๊กเข้ากับเสากรอบหลังคาด้านบน ก็ยังมีมากอยู่เช่นเคย

กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ของบานประตูคู่หลัง ของทั้ง 2 ตัวถัง ยังคงเลื่อนลงได้จนสุดขอบราง ส่วน แผงประตูด้านข้างยังคงเป็นชิ้นส่นที่สามารถ ยกถอดสับสลับใส่ระหว่างตัวถัง Hatchback กับ Sedan กันได้เลย มีช่องใส่ขวดน้ำขนาด 7 บาทมาให้ รวมทั้งยังมีการบุนุ่มหุ้มหนังสังเคราะห์มาให้บริเวณพนักวางแขน ซึ่งก็พอจะวางท่อนแขนได้อยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นวางข้อศอกได้สบายนัก อยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยไปนิดเดียว

เบาะนั่งด้านหลัง ยกชุดมาจากรุ่นเดิม เพียงแต่ว่า Yaris จะสามารถแบ่งพับพนักพิงหลังได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ด้านหลัง ส่วนรุ่น Yaris ATIV ไม่สามารถแยกพับพนักพิงเบาะหลังได้เลย

พนักศีรษะ ทั้ง 2 ฝั่ง ออกแบบให้ใช้งานได้จริง ฟองน้ำ แนวนุ่ม ไม่ถึงขั้นนิ่ม รองรับศีรษะได้สบาย ประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พนักศีรษะตรงกลางรูปตัว L คว่ำ ยังคงเป็นอุปสรรค สำหรับผู้โดยสารตรงกลางเหมือนเดิมอยู่ดี เพราะคุณควรยกขึ้นใช้งาน จึงจะไม่ทิ่มตำต้นคอ แต่ถ้าเป็นไปได้ หากไม่ใช้งาน จะถอดออกแล้วเก็บไว้ในบ้าน น่าจะดีกว่า

พนักพิงหลัง ยังคง แบนเรียบ นั่งลงไปแล้ว ไม่ถึงกับจมนัก รองรับแผ่นหลังรวมทั้งช่วงหัวไหล่ พอสบายใช้ได้ ฟองน้ำแน่นกำลังดี ไม่แข็งและไม่นิ่มจนเกินไป แต่ยังคงไม่มีพนักวางแขนแบบพับเก็บได้ และไม่มีช่องวางแก้วสำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้เลย

เบาะรองนั่ง นุ่มแน่น แต่ยังสั้นไปหน่อย พอเข้าใจได้ว่า ไม่อาจออกแบบให้ยาวกว่านี้ได้มากนัก มิเช่นนั้น จะกระทบต่อพื้นที่วางขา บริเวณมุมเบาะมีการปาดขอบฟองน้ำนิดๆ เพื่อให้พอจะเหลือพื้นที่เหวี่ยงขา ขณะลุกเข้า – ออก จากประตูคู่หลัง

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับรุ่น Hatchback แม้จะยังเหลือพื้นที่ให้สอดนิ้วในแนวนอน แทรกระหว่างศีรษะกับเพดาน ได้ 3 นิ้วมือคนพอดี แต่ ระยะของศีรษะ จะใกล้กับผนังเพดานช่วงขอบ บริเวณที่ ม่านลมนิรภัยต้องกางลงมา เวลาเกิดการชนด้านข้าง พอดีไปหน่อย

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Yaris ATIV นั้น พื้นที่เหนือศีรษะ จะน้อยกว่า Yaris คนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร อาจเจอปัญหาหัวติดเพดาน ได้ เหมือนกับ Vios รุ่นปัจจุบัน Generation 3

ส่วนพื้นที่วางขานั้น ใหญ่สะใจ เหมือนรุ่นเดิม คุณยังนั่งไขว่ห้างได้อย่างสบาย ทั้งที่ได้ปรับเบาะคนขับให้อยู่ ในระดับที่ขับใช้งานตามปกติด้วยซ้ำ!

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด มีมาให้ครบ 3 ตำแหน่ง โดยเข็มขัดสำหรับผู้โดยสารตรงกลาง ยังคงติดตั้งไว้กับเสาหลังคาด้านหลังสุด C-Pillar ฝั่งซ้ายของตัวรถ แล้วลากสาย โยงเชื่อมจุดยึดมาที่กึ่งกลางเพดานหลังคา ก่อนจะลากเชื่อมลงมาให้ได้ใช้งานกันเหมือนเดิม

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ยังคงใช้ระบบกลอนไฟฟ้า โดยรุ่น Sport Premium จะเชื่อมต่อสัญญาณกับ รีโมทกุญแจ Keyless Entry ยกมาจาก Yaris รุ่นเดิม แต่บางกรณี ถ้ายังติดเครื่องยนต์อยู่ ก็อาจ ไม่ยอมปลดล็อกให้บ้างเหมือนกัน จำเป็นต้องดับเครื่องยนต์ก่อน แล้วค่อยเดินมาเปิดฝาประตูหลังกันอีกรอบ

ฝาประตูค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิค 2 ต้น มีแผงบังสัมภาระ ที่สามารถปล่อยวางอยู่กับที่ หรือยกขึ้นพร้อมกับฝาประตูหลังได้ เพียงแค่เกี่ยวห่วงที่สายเชือกเล็กๆทั้ง 2 ฝั่ง เข้ากับขอเกี่ยวยึด บริเวณติดกับ ขอบกระจกบังลมหลัง ด้านใน มีมือจับเพื่อดึงประตูลงมาปิด ยกมาจากรุ่นเดิม ด้านหลังของบานฝาท้าย ยังคงไม่มีการบุพลาสติกใดๆมาให้ มีเพียงแค่บุวัสดุซบัเสียงมาให้ที่ผนังด้านในตามเดิม นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนจุดยึดช็อกอัพแบบใหม่ ทั้งเพื่อช่วยลดการสั่นสะเทือนของฝาท้าย และยังช่วยลดต้นทุนลงไปได้ในตัว

ช่องทางเข้า-ออกของสัมภาระด้านหลัง มีขนาดกวางขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม เพิ่มความสะดวกในการขนย้ายข้าวของที่มีความกว้างกว่าปกติ เข้าไปยังด้านหลังของรถ ง่ายดายขึ้น

ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความยาว 734 มิลลิเมตร มีปริมาตรความจุ 326 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA เยอรมนี สามารถบรรจุกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง (ย้ำว่าขนาดกลาง) แบบ Hard Case ได้ 3 ใบ พร้อมกระเป๋าเดินทางแบบสะพายไหล่ อีก 1-2 ใบ ยังคงครองแชมป์ความจุห้องเก็บของด้านหลัง เยอะสุดในบรรดา ECO Car ตัวถัง Hatchback ทุกคันในบ้านเราตอนนี้อยู่ดี

ผนังด้านข้าง ฝั่งซ้าย มีไฟส่องสว่างในห้องเก็บของ เปิด – ปิดได้ด้วยสวิชต์ ที่ฝังมาในตัว เหมือนรุ่นเดิม แต่เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา ยางอะไหล่ ถูกถอดยกออกไป แล้วแทนที่ด้วย ชุดซ่อมยางฉุกเฉิน พร้อมปั้มลม กับเครื่องมือ และแม่แรงประจำรถจากโรงงานเป็นการทดแทน เหมือน Yaris ATIV

ส่วนรุ่น ATIV Sport Premium การปลดล็อก ฝากระโปรงท้าย ให้เดินเข้าใกล้ตัวรถ แล้วกดปุ่มปลดล็อกฝาท้าย บนรีโมทกุญแจ Keyless Entry แช่ไว้ราวๆ 3 วินาที ฝากระโปรงหลังจะถูกปลดล็อก เพื่อให้คุณยกเปิดใช้งานได้ ฟังก์ชันนี้ อันที่จริงก็มีมาให้อยู่แล้วใน Vios 2016 กับ 2017 และ ATIV รุ่นปี 2017 – 2019 หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็ยังใช้สวิตช์ไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง และ คันโยก แถวๆใต้เบาะคนขับ ได้ตามเดิม

ฝากระโปรงท้าย ยังคงบุวัสดุซับเสียง มาให้เต็มพื้นที่ด้านหลังของฝาท้าย ส่วน ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ยังคงมีขนาดเท่าๆกันกับ ATIV เดิม รวมทั้งช่องทางขนย้ายสัมภาระ ก็ยังมีขนาดเท่าเดิม

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของด้านหลัง ก็จะไม่พบยางอะไหล่มาให้ ด้วยเหตุผลเรื่อง การลดน้ำหนัก ลดต้นทุน แต่ยังดีที่มีชุดซ่อมยางฉุกเฉิน พร้อมปั้มลมไฟฟ้า เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟในรถแทน มีน้ำยาอุดรอยรั่วมาให้ในตัว สามารถใช้งานได้เฉพาะกรณีที่เจอตะปูตำเท่านั้น ถ้าบาดแผลโหดขนาดเป็นรอยฉีก เพราะไปเบียดขอบทางเท้ามา บอกได้เลยว่า ชุดซ่อมยางนี้ เอาไม่อยู่ครับ!

ภายในห้องโดยสาร ของ Yaris จะเป็นโทนสีดำล้วน แต่ Yaris ATIV จะเพิ่มความรู้สึกโปร่งสบายของครึ่งคันบน ด้วยการใช้วัสดุหุ้มเสาหลังคาและเพดานหลังคา สีเทาสว่าง

แผงหน้าปัด ยังคงเหมือนเดิม ประดับตกแต่งด้วย แผงพลาสติก Trim สีดำ Piano Black ทั้งบริเวณแผงควบคุมเครื่องเสียงด้านบนตรงกลาง แผงประดับฐานคันเกียร์ และแผงสวิตช์กระจกหน้าต่างบนบานประตูทั้ง 4 เพื่อเพิ่มความหรูหรากึ่งสปอร์ต มีไฟสัญญาณเตือนให้ผู้โดยสารด้านหลัง คาดเข็มขัดนิรภัย ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง แถมมาให้ ตามเคย

มองขึ้นไปบนเพดาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเดิม พลาสติกครอบเสาหลังคาคู่หน้า, ไฟอ่านแผนที่แยกฝั่งซ้าย – ขวา กดเปิด – ปิดการใช้งานได้เพียงจังหวะเดียว , และแผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาพับปิด แต่ไม่มีไฟส่องสว่างสำหรับแต่งหน้ามาให้

จากฝั่งขวา มาทางซ้าย แผง สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แบบมี สวิชต์ Auto One-Touch กดเลื่อนลง หรือดึงเลื่อนขึ้น จนสุดเพียงจังหวะเดียว พร้อมระบบดีดกลับเมื่อมีสิ่งกีดขวาง (เฉพาะฝั่งคนขับ) มีสวิตช์ ล็อกกระจกหน้าต่างฝั่งผู้โดยสารทั้ง 3 บาน และ Central Lock บนแผงประตูฝั่งคนขับ สวิตช์กระจกมองข้างปรับ และพับด้วยระบบไฟฟ้า

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ด้านขวา มีสวิตช์ติดเครื่องยนต์ Push Start มาให้ (เฉพาะรุ่น S และ G) ถัดลงไป เป็นสวิตช์เปิด – ปิด ระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VSC และ Traction Control รวมทั้งสวิตช์ เปิด – ปิด เซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอดที่ด้านหลังรถ

พวงมาลัย ยังคงเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนังสังเคราะห์แบบธรรมดา ปรับระดับได้แค่สูง – ต่ำได้ แต่ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) จากตัวผู้ขับขี่ได้ ก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ติดตั้งแผงสวิตช์ควบคุมชุดเครื่องเสียง และโทรศัพท์ ส่วนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา ติดตั้งสวิตช์ควบคุมหน้าจอ MID ซึ่งทั้งมดนี้ รวมทั้ง ชุดมาตรวัด ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม ยกชุดมาจากรถรุ่นปีก่อนหน้า 2017 – 2019 ทั้งยวง

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา ยังคงเป็นชุดควบคุม เปิด-ปิดไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟสูง และไฟตัดหมอก ส่วนก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม ระบบใบปัดน้ำฝนพร้อมที่ฉีดน้ำด้านหน้า และใบปัดน้ำฝนด้านหลัง มีระบบหน่วงเวลา มาให้สามารถตั้งเวลาใบปัดคู่หน้า ให้หน่วง หรือปัดเร็ว – ช้าได้ตามต้องการ

ชุดหน้าจอมาตรวัดของทั้ง 2 รุ่น ในภาพรวมยังคงเหมือนเดิม แต่มีการเพิ่มฟังก์ชันแสดงผลของระบบ Lane Departure Assist และระบบ Pre-Collision Warning System บนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi-Imformation Display) สำหรับรุ่น Sport Premium รวมถึงปรับเปลี่ยนภาพกราฟฟิคด้านหน้าของรถรุ่นใหม่ ที่แสดงขึ้นมาบนชุดมาตรวัดทุกครั้งหลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์ เฉพาะรุ่น Sport Premium เช่นกัน

กล่องเก็บของ บนแผงหน้าปัด ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า Glove Compartment มีขนาดเท่าเดิม ดูจากฝาภายนอก เหมือนจะใหญ่ แต่เอาเข้าจริง แค่ใส่ คู่มือผู้ใช้รถ สมุดรับประกัน และเอกสารประกันภัย ก็ล่อเข้าไปครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

ส่วนชุดเครื่องเสียง ยกมาจาก Yaris Cross เวอร์ชันไทย รุ่นปี 2019 เป็น วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 / WMA / DVD และจอมอนิเตอร์สี Touch Screen ขนาด 7 นิ้ว มีช่องเชื่อมต่อ USB / HDMI เพิ่มการรองรับระบบ Apple Carplay และ Android Auto ภาพรวมแล้ว ให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นกว่า Yaris Hatchback และ ATIV รุ่นปี 2017 หน่อยนึง

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวัสดุตกแต่งบนแผงคอนโซลกลาง ที่ลากยาวลงมาถึงปีกข้างฐานคันเกียร์ เป็นสีเงินเข้ม เพื่อสร้างความแตกต่างให้รถรุ่นใหม่อีกด้วย

อุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามาให้ ในรถรุ่นปี 2020 – 2021 นั้น ดูเหมือนจะมีเพียงรายการเดียว นั่นคือ ช่องเสียบชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบ USB Port สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 2 ช่อง ติดตั้งไว้ด้านหลัง กล่องเก็บของพร้อมฝาปิด เชื่อมต่อจากแผงคอนโซลกลาง

ใช่ครับ มีแค่นี้จริงๆ !

ส่วนตัวกล่องเก็บของนั้น ยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ใส่กล่อง CD ได้ราวๆ 5-6 กล่อง พร้อมฝาปิด หุ้มหนัง ที่ออกแบบมาให้เป็นพนักวางแขนในตัว แต่เอาเข้าจริงแล้ว คุณสามารถวางได้แค่ข้อศอก มากกว่าจะวางแขนได้จริงจังนัก ถัดลงไปเป็น แผงคอนโซลกลาง ออกแบบให้มีช่องสำหรับเสียบวางโทรศัพท์มือถือ หรือเสียบวางกล่อง CD ได้ 2 กล่อง มีปลั๊กไฟ 12V มาให้ 1 ตำแหน่ง ติดตั้งไว้ด้านข้างเบรกมือ

รายละเอียดอื่นๆ นอกนั้น รวมถึงทัศนวิสัย ก็เหมือนกันรุ่นเดิม สามารถเปิดอ่านได้จากบทความ Full Review ทดลองขับ Toyota Yaris ATIV และ Toyota Yaris Minorchange 2017 โดยพี่ J!MMY ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

Toyota Yaris ATIV

http://www.headlightmag.com/full-review-2017-toyota-yaris-ativ/

Toyota Yaris Minorchange 2017

http://www.headlightmag.com/full-review-2017-toyota-yaris-hatchback-minorchange/ 

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรมและการทดลองขับ ********** 

ขุมพลังของ Yaris และ Yaris ATIV Minorchange ใหม่ เป็นเครื่องยนต์บล็อกเดียวกันกับ Yaris และ Yaris ATIV Minorchange รุ่นปี 2019 ที่ทางวิศวกร Toyota ได้ทำการปรับจูนใหม่ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ให้อยู่ในระดับ ไม่เกิน 100 กรัม/กิโลเมตร ตามหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เฟสที่ 2 หรือ ECO Car Phase 2 ที่ Toyota ต้องการเข้าร่วมเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

นั่นคือ เครื่องยนต์รหัส 3NR-FKE เบนซิน 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว ขนาด 1.2 ลิตร 1,197 ซีซี กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 72.5 x 72.5 มิลลิเมตร (Square Engine) กำลังอัด 13.5 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ EFI (Electronics Fuel Injection) พร้อมระบบแปรผันวาล์วโดยการหมุนแท่งเพลาแคมชาฟท์ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย Dual VVT-iE (Dual Variable Valve Timing-intelligent Electric)

เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร บล็อกนี้ มีพื้นฐานมาจากเครื่องยนต์รหัส 3NR-FE เดิม ในรุ่นก่อนหน้า MY2019 แต่ทว่ามีรายละเอียดทางวิศวกรรมปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ดังนี้

– กำลังอัดเพิ่มขึ้นจาก 11.5 : 1 เป็น 13.5 : 1
– ปรับปรุงระบบแปรผันวาล์ว จาก Dual VVT-i ที่อาศัยแรงดันน้ำมันในการปรับแท่งเพลาแคมชาฟท์ เป็นแบบควบคุมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า Dual VVT-iE

กำลังสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 86 แรงม้า (PS) ในเครื่องยนต์ 3NR-FE เดิม เป็น 92 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นอีกนิด จาก 108 นิวตันเมตร เมตร (11.0 ก.ก.-ม.) เป็น 109 นิวตันเมตร (11.11 ก.ก.-ม.) ที่ 4,400 รอบ/นาที

ทั้ง Yaris และ Yaris ATIV Minorchange ใหม่ มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 คาบเส้นที่ 100 กรัม/กิโลเมตร พอดีเป๊ะ! (รุ่นเดิม 116 กรัม/กิโลเมตร) นอกจากนี้ ยังรองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึงระดับ Gasohol E20

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i พร้อมสวิตช์ปลดเกียร์ว่าง Shift-Lock ขณะจอด แบบเดียวกับรุ่นเดิม แต่มีการปรับอัตราทดเกียร์และอัตราทดเฟืองท้ายใหม่ ดังนี้

อัตราทดเกียร์เดินหน้า…………………. 2.562 – 0.392 (รุ่นก่อน MY2019 2.386 – 0.426)
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง………………… 3.115 – 1.945 (รุ่นก่อน MY2019 2.505 – 1.736)
อัตราทดเฟืองท้าย……………………… 5.649 (รุ่นก่อน MY2019 5.833)

สมรรถนะจากเครื่องยนต์ 2NR เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่จะเป็นอย่างไร เรายังคงทำการทดลองจับเวลาหาอัตราเร่งตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag โดยมีผู้ทดสอบเป็นพี่ J!MMY และตัวผมเอง (QCXLOFT) น้ำหนักตัวรวมกัน ไม่เกิน 170 กิโลกรัม ทดลองในช่วงกลางดึก ซึ่งมีปริมาณรถที่แล่นบนถนนน้อยมาก เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้า ตามปกติ อุณหภูมิภายนอกในขณะนั้น อยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเทียบกับ Yaris และ Yaris ATIV รุ่นก่อน MY2019 ที่วางเครื่องยนต์ 3NR-FE และคู่แข่งในกลุ่ม ECO Car รวมทั้งกลุ่ม B-Segment ที่เราเคยทำตัวเลขผลทดสอบกันไว้ มีดังนี้

ขอแจ้งตัวเลขความเร็วบนมาตรวัด เทียบกับ GPS ให้ทราบกันก่อน

ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง >> GPS ขึ้น 95.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความเร็วบนมาตรวัด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง >> GPS ขึ้น 105.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เท่ากันทั้ง Yaris และ Yaris ATIV ค่าความคาดเคลื่อนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของรถยนต์ทั่วไป แต่น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ ของ Toyota ซึ่งจะเพี้ยนประมาณ 7 – 8%

ทันทีที่เท้าขวากระแทกลงไปบนแป้นคันเร่ง มีอาการหน่วงนิดหน่อย ก่อนที่จะค่อยๆ ไต่ความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ มาเรียงๆ ตามสไตล์เกียร์ CVT แต่พอเกินช่วง 4,500 รอบ/นาที ขึ้นไป อัตราเร่งก็ไหลขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการไล่รอบคล้ายๆ เกียร์อัตโนมัติแบบปกติ ซึ่งไม่มีในรถรุ่นเดิม จนกระทั่งเข็มความเร็วขึ้นไปเตะ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยเวลาเฉลี่ย 14.24 วินาที ในรุ่น Hatchback ไล่เลี่ยกับรุ่น Sedan ซึ่งจับเวลาได้ 14.32 วินาที

นอกจากเสียงลากรอบที่ช่วยให้เร้าใจขึ้นนิดหน่อย แรงดึงที่รู้สึกได้ทันทีที่กระแทกคันเร่งลงไป แทบไม่ต่างจากรุ่นเดิมเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้นาฬิกาจับเวลาออกมา พบว่ารุ่น Hatchback นั้น ทำตัวเลขออกมาดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม เพียงแค่ 0.32 วินาที เท่านั้น แต่พอเป็นรุ่น Sedan กลับทำตัวเลขดีขึ้น 0.85 วินาที

ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Hatchback ทำได้ 10.91 วินาที เร็วขึ้น 0.35 วินาที ในขณะที่รุ่น Sedan ATIV ทำได้ 10.73 วินาที เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ก็พบกับความน่าประหลาดใจเล็กน้อย เนื่องจากว่าตัวเลขกลับช้าลง 0.16 วินาที

จริงอยู่ว่า การปรับจูนเครื่องยนต์เล็กน้อย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 นั้น ทำให้ตัวเลขอัตราเร่งดีขึ้น แต่ก็ยังคงไม่สามารถทำให้ Yaris และ Yaris ATIV กระโดดขึ้นไปฟัดกับ Ecocar หน้าใหม่ อย่าง Honda City และ Nissan Almera ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1.0 Turbo ได้อยู่ดี

ส่วนการไต่ความเร็วจากจุดหยุดนิ่งไปจนถึงความเร็วสูงสุด ของทั้ง 2 รุ่น ก็ยังคงไต่ขึ้นไปเรื่อยๆมาเรียงๆ อย่างต่อเนื่อง จนถึงความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะเริ่มรู้สึกถึงอัตราเร่งที่แผ่วลงอย่างชัดเจน กระนั้นก็สามารถไหลต่อไปจนถึงความเร็วสูงสุด Top Speed ที่ 172 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่ากันทั้งรุ่น Hatchback และ ATIV ก่อนที่สมองกลของเครื่องยนต์จะสั่งหรี่ลิ้นปีกผีเสื้อลง ทำให้เข็มความเร็วจนหล่นลงมาเหลือ 170 – 171 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่รอบเครื่องยนต์ 6,000 รอบ/นาที น้อยกว่ารุ่นเดิม ที่ไปล็อกเอาไว้แถวๆ 180 – 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แม้ตัวเลขที่ออกมานั้นจะถูกจัดอยู่ในอันดับกลางๆ ค่อนไปทางอืด ทว่าการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน กดคันเร่งครึ่งๆ กลางๆ คุณอาจจะรู้สึกว่าแตะคันเร่งนิดเดียวรถมันก็พุ่งดี… แต่ผมมองว่านั่นเป็นเพราะการเซ็ตคันเร่งมาให้ตอบสนองไว ทันทีที่เท้ากดลงไปบนแป้นคันเร่ง รอบเครื่องยนต์ก็จะดีดขึ้นไป 2,500 – 3,000 ประหนึ่งพร้อมหาเรื่องตลอดเวลา แต่หลังจากนั้นก็หล่นลงมา แล้วค่อยๆ ไหลขึ้นไปอย่างช้าๆ ตามน้ำหนักเท้า ถ้าต้องการขับแบบนุ่มนวลไม่กระโชกโฮกฮากอาจจะรู้สึกรำคาญเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องพรมน้ำหนักเท้าลงอย่างแผ่วเบามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การเก็บเสียงจากรบกวนจากภายนอก ถ้าเป็นเสียงจากพื้นถนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์รับได้ เสียงยางบดกับพื้นถนนเงียบลงกว่า Vios Minorchange ชัดเจน แต่ยังไม่เงียบเท่า Mazda 2 หรือ Suzuki Ciaz กระจกบังลมหน้าแบบ Acoustic Glass เก็บเสียงได้ค่อนข้างดี ทว่าเสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ ยังมีเล็ดลอดเข้ามาตามขอบประตูรบกวนโสตประสาทหูอยู่ประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป

ระบบบังคับเลี้ยว / Steering wheel

พวงมาลัยยังคงเป็นแบบ Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronic Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.1 เมตร

ในช่วงความเร็วต่ำ หรือในขณะถอยเข้าช่องจอด เหมือนเดิม คือ มีน้ำหนักพวงมาลัยค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ที่ใช้เพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง ส่วนความเร็วเดินทาง 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่า น้ำหนักพวงมาลัยกำลังเหมาะสม ไม่เบาจนเกินไป

อัตราทดพวงมาลัยที่เซ็ตมาใหม่ ใน ​Yaris และ Yaris ATIV ตั้งแต่ปี 2017 นั้นถือว่าดีขึ้น วิ่งทางตรงไม่ต้องคอยคัดพวงมาลัยซ้ายที ขวาที อาการหมุนพวงมาลัยซ้าย-ขวา เล็กน้อยแบบรวดเร็ว แล้วมีจังหวะรอนิดนึงก่อนที่หน้ารถจะเบนตามไป เหมือนที่ผมเจอใน Vios Minorchange ก็ไม่เจอแล้ว ทว่าอาการดีดกลับแบบไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการตอบสนองแบบเนือยๆ เฉื่อยๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผมไม่ปรารถนาจะพบเจอ และอยากให้แก้ไขเป็นอันดับต้นๆ ในรถรุ่นนี้อยู่ดี

ภาพรวมของพวงมาลัย ในมุมมองของผม ซึ่งเป็นคนที่ชื่นชอบพวงมาลัย คม กระชับ น้ำหนักหน่วงกลางดี ดีดกลับอย่างเป็นธรรมชาติ ยังไม่ประทับใจ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผมยังชอบพวงมาลัยของ Honda City หรือ Mazda 2 มากกว่า  แต่ถ้าเป็นคนที่ขับรถทางไกลเรื่อยๆ สบายๆ อาจจะไม่มีปัญหากับมัน

ระบบกันสะเทือน / Suspension

ช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut ด้านหลังเป็นคานบิดกึ่งอิสระ Torsion Beam ไม่ได้มีการปรับเซ็ตเพิ่มเติมจาก Yaris Minorchange รุ่นเดิม หรือ Yaris ATIV รุ่นเดิม แต่อย่างใด

การซับแรงสะเทือนในช่วงความเร็วต่ำ โดยเฉพาะเมื่อต้องวิ่งถนนเส้นที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งโหดร้ายเกินกว่าจะพรรณนา ทำได้ค่อนข้างดี ถึงจะตึงตังน้อยกว่า Mazda 2 และ Almera Turbo แต่ยังไม่เนียนนุ่มเท่า City Turbo ส่วนความมั่นใจในช่วงความเร็วสูง หากเป็นการวิ่งตรงๆ แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ถ้าเจอโค้งที่มีพื้นผิวเป็นลอนคลื่นก็ชวนให้รู้สึกหวาบหวิวได้บ้างเหมือนกัน

ในกรณีที่จำเป็นต้องหักหลบอะไรซักอย่างบนถนน ผมลองเปลี่ยนเลนกระทันที่ความเร็วระดับ 90 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง พบว่ารุ่น Yaris ตัวถัง Hatchback มีอาการยวบด้านท้ายน้อยกว่า คาดว่าน่าจะมาจากช่วงล่างด้านหลังที่เซ็ตมาแข็งกว่านิดหน่อย บวกกับท้ายที่สั้นกว่า แต่ท้ายรถกลับกวาดออกมากกว่า ถึงขั้น VSC ต้องเข้ามาช่วยจัดการ ผมสันนิษฐานว่ามาจากแรงยึดเกาะของยาง ซึ่งยางของ Yaris Hatchback คันที่เรานำลองนั้น เป็นยาง Dunlop Enasave EC300+ ในขณะที่ยางติดรถ Yaris ATIV เป็น Bridgestone Ecopia EP150

อย่างไรก็ตาม ทั้ง Yaris และ Yaris ATIV ก็ถือว่ามีช่วงล่างสไตล์เดียวกัน คือ บาลานซ์ระหว่างความนุ่มสบาย กับความมั่นใจเวลาวิ่งด้วยความเร็วสูง ดีงามมาก เอาเป็นว่าผมสามารถวิ่งบนถนนรามอินทรา ตลอดระยะเวลา 6-7 วัน ได้อย่างไม่สะเทือนตับ ไต ไส้ พุง เท่าไหร่นัก อีกทั้งยังวิ่งตรงๆ ที่ความเร็ว Top Speed ของรถคันนี้ได้อย่างไม่กังวลเลย เว้นเสียแต่ว่าจะมีกระแสลมแรงมาปะทะด้านข้าง

ระบบห้ามล้อ / Brake

ยังคงเหมือนเดิม คู่หน้าเป็นดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน คู่หลังเป็นดรัมเบรก เสริมการทำงานด้วยระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) และระบบตัดการทำงานของคันเร่ง เมื่อเบรกและคันเร่งถูกเหยียบพร้อมกัน BOS (Brake Override System) ในกรณีที่คันเร่งค้าง มาให้ด้วย

นอกจากนี้ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control) พร้อมระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัวบนพื้นลื่น TRC (Traction Control System) รวมถึงระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control) ก็ยังคงติดตั้งมาให้อย่างครบครันเหมือนเดิม

ระยะเหยียบแป้นเบรกอยู่ในระดับปานกลาง สั้นกว่า City Turbo นิดหน่อย แต่ยังไม่กระชับเท่า Mazda 2 น้ำหนักต้านเท้ากำลังดี ไม่หนืดเกินไป และไม่นุ่มเกินไป ระยะฟรีหลังจากเหยียบลงไปช่วงแรกมีพอให้สัมผัสได้บ้าง แต่พอพ้นจากช่วงนั้นไป ยังถือว่า Linear ดีอยู่ การควบคุมแป้นเบรกขณะขับคลานในเมืองทำได้อย่างนุ่มนวล ไม่มีอาการหน้าทิ่มแต่อย่างใด

ส่วนประสิทธิภาพการทนต่อความร้อนที่เกิดจากแรงเสียดทานของผ้าเบรก ผมลองไต่ความเร็วขึ้นไปจนถึงย่าน 120 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้น กด Full Brake ลดความเร็วลงมาจนถึงหยุดนิ่ง ทำซ้ำอย่างนี้ 3 รอบ (บนถนนที่ปราศจากรถยนต์คันอื่นสัญจรไปมา) ในรอบสุดท้ายจึงจะเริ่มออกอาการเฟดของผ้าเบรกได้อย่างชัดเจน จุดตรงถือว่าทำได้ดีกว่าคู่แข่ง อย่าง City Turbo ชัดเจน

ระบบป้องกันล้อล็อก ABS ตรวจจับอาการลื่นไถลของยางในขณะเบรกอย่างรุนแรงได้ค่อนข้างไว และเข้ามาทำงานได้อย่างทันท่วงที การกระจายแรงเบรกในแต่ละล้อก็ทำได้ค่อนข้างดี ในช่วงที่กด Full Brake ลงมานั้น ตัวรถนิ่ง ไม่มีอาการเป๋ซ้ายขวาให้เห็นเลย ภาพรวมถือว่าเป็นเบรกไว้ใจได้ดี เมื่อเทียบกับประเภทของรถ

อุปกรณ์ความปลอดภัย / Safety features

เดิมทีระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้ใน Yaris และ Yaris ATIV รุ่นเดิม ก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางครบอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ Active Safety ซึ่งประกอบไปด้วย

– ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน ABS (Anti-lock Braking System)
– ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-Force Distribution)
– ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
– ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control)
– ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control System)
– ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill Assist Control)
– ระบบตัดการทำงานของคันเร่ง เมื่อเบรกและคันเร่งถูกเหยียบพร้อมกัน BOS (Brake Override System)

รวมถึงระบบความปลอดภัยเชิงปกป้องเมื่อเกิดเหตุ Passive Safety อันได้แก่

– โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA
– คานนิรภัยด้านข้างประตู
– ถุงลมนิรภัยคู่หน้า (Dual SRS)
– ถุงลมนิรภัยด้านข้างเบาะนั่งคู่หน้า (Side Airbags)
– ม่านถุงลมนิรภัย (Side Curtain Airbags)
– ถุงลมนิรภัยหัวเข่าคนขับ (Knee Airbag)
– เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ทุกตำแหน่ง พร้อมระบบดึงรั้งกลับและผ่อนแรงอัตโนมัติ สำหรับเบาะนั่งคู่หน้า (Pretensioner & Load Limiter)

เพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่งรายอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจุดขายใหม่ ให้กับตัวรถที่ออกสู่ตลาดมาแล้วราวๆ 7 ปี คราวนี้ Toyota เลยตัดสินใจ ติดตั้งแพกเกจอุปกรณ์ความปลอดภัย Toyota Safety SENSE มาให้กับ Yaris และ Yaris ATIV Minorchange ใหม่ เฉพาะรุ่นท็อป Sport Premium ได้แก่

1.ระบบความปลอดภัยก่อนการชน PCS (Pre-Collision System)

ระบบจะเปิดการทำงานโดยอัตโนมัติทุกครั้งหลังสตาร์ทเครื่องยนต์ โดยอาศัยการตรวจจับรถคันข้างหน้าจากเรดาร์ที่ซ้อนอยู่ภายในโลโก้ Toyota บนกระจังหน้า และคำนวณโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการชน ประกอบด้วยฟังก์ชั่นย่อย ดังต่อนี้

การเตือนก่อนการชน เสียงเตือนจะดังขึ้น พร้อมแสดงข้อความเตือนที่หน้าจอชุดมาตรวัด เมื่อพบว่ารถของคุณมีความเร็วมากกว่ารถคันข้างหน้า 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่า โดยจะเริ่มทำงานตั้งแต่ความเร็ว 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปจนถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ในกรณีของ Yaris Minorchange จะถึงความเร็ว Top Speed ก่อนที่ระบบจะเริ่มหยุดทำงาน)

– หากการเตือนก่อนการชนทำงาน แต่รถยังพุ่งเข้าไปหารถคันข้างหน้ามากขึ้น ด้วยความเร็วที่มากกว่า 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่า การเบรกก่อนการชน ก็จะทำงานทันที

– อย่างไรก็ตาม การเสริมแรงเบรกก่อนการชน (การสั่งให้ระบบเสริมแรงเบรก หรือ Brake Assist ทำงานล่วงหน้า) จะทำงาน เมื่อพบว่ารถของเรามีความเร็วมากกว่ารถคันข้างหน้า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือมากกว่า ในช่วงความเร็ว 30 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเบรก ทั้งการเหยียบแป้นเบรกเองโดยผู้ขับขี่ และการสั่งเบรกโดยระบบฯ

2. ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน LDA (Lane Departure Alert)

เป็นระบบที่อาศัยการทำงานของกล้องที่กระจกบังลมหน้าเพื่อตรวจจับเส้นแบ่งช่องจราจร เมื่อพบว่ารถของคุณกำลังเบี่ยงออกนอกเลนไปประมาณ 1 ส่วน 4 ของตัวรถ โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะมีเสียงเตือน ปี๊บ ปี๊บ ปี๊บ !! ดังขึ้นมา เพื่อเป็นการบอกว่า “เห้ !! หมุนพวงมาลัยกลับมาได้แล้วพวก” แต่! ฟังก์ชั่น Steering Assist ที่ทำตัวราวกับเป็นมือทิพย์ คอยบังคับรถกลับมาอยู่ในเลน พร้อมชะลอความเร็วให้ แบบที่มีมาให้ให้ Safety Sense ของ Toyota รุ่นอื่นๆ ไม่มีนะครับ !

ถือว่าค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะผมมองว่าฟังก์ชั่นดังกล่าวนั้น มันสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน จนกระทั่ง ค่อยๆ เป๋ออกไปชนเพื่อนร่วมทาง หรือพุ่งไปชนขอบทางกระเด็นตกลงมาจากทางด่วนยกระดับ เหมือนที่เคยเป็นข่าวให้เห็นกันก่อนหน้านี้

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง **********
************* Fuel Consumption Test *************

นอกเหนือจากผลทดสอบอัตราเร่งที่ออกมาดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมเพียงเล็กน้อยแล้ว ผมเชื่อว่าสิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหารถยนต์ Ecocar หรือ B-Segment ส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และอยากจะรู้ นั่นก็คือ… ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

แน่นอนครับ เรายังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิมของ Headlightmag คือการพารถทั้ง 2 คัน ไปเติมน้ำมันเบนซิน เทครอน 95 ที่ปั๊ม Caltex บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน เราเติมน้ำมันแค่ให้หัวจ่ายตัดพอ ผู้ทดลองเป็นพี่ J!MMY และตัวผมเอง (QCXLOFT) ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันไม่เกิน 170 กิโลกรัม ตามมาตรฐานการทดสอบของเว็บเรา

เมื่อเติมน้ำมันจนเต็มถังขนาด 42 ลิตร เสร็จเรียบร้อย เราก็คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา เปิดไฟหน้า เซ็ต Trip Meter เป็น 0 จากนั้นจึงออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ถนนพระราม 6 เพื่อเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน

เราขับกันไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้ Foot Control แทน Cruise Control ซึ่งไม่มีมาให้ จนถึงปลายสุดของทางด่วนอุดรรัถยาที่ด่านบางปะอิน ก่อนเลี้ยวกลับขึ้นทางด่วนสายเดิมกลับเข้ากรุงเทพฯ กันอีกครั้ง

เมื่อถึงทางลงจากทางด่วนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าปั๊ม Caltex แห่งเดิมอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน เทครอน 95 ให้เต็มถัง แค่เพียงให้หัวจ่ายตัดเหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

ผลการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกมาดังนี้

เริ่มจากคันแรก รุ่น Hatchback สีขาว Platinum White Pearl หลังคาดำ

ระยะทางที่วิ่งไป บนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 91.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน เบนซิน เทครอน 95 เติมกลับ 5.20 ลิตร
คำนวณออกมาได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.61 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเทียบกับ Yaris รุ่นปรับโฉม Minorchange ปี 2017 จะพบว่ารุ่นใหม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลงกว่ารุ่นเดิมราวๆ 0.20 ลิตร สำหรับการวิ่งบนเส้นทางเดียวกัน ความเร็วเท่ากัน และระยะทางใกล้เคียงกัน และเมื่อนำตัวเลขระยะทางที่วิ่งไป ตาม Trip Meter A ของทั้ง 2 รุ่น ซึ่งต่างกันเล็กน้อย มาหารด้วยปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เติมกลับ ก็จะพบว่ารุ่นใหม่มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 0.73 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่ก็แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น

ส่วนรุ่น ATIV Sedan คันสีฟ้า Grayish Blue Metallic

ระยะทางที่วิ่งไป บนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 91.3 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมัน เบนซิน เทครอน 95 เติมกลับ 5.20 ลิตร
คำนวณอกมาได้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 17.55 กิโลเมตร/ลิตร

เมื่อเทียบกับ Yaris รุ่นปรับโฉม Minorchange ปี 2017 ตัวถัง Sedan ด้วยกัน ซึ่งมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเติมกลับอยู่ที่ 5.40 ลิตร นั่นเท่ากับว่า ATIV ใหม่ ใช้น้ำมันน้อยลง 0.20 ลิตร เช่นเดียวกับรุ่น Hatchback ในการทดลองที่มีตัวแปรเหมือนกัน และหากนำตัวเลขระยะทางตาม Trip Meter A ที่วิ่งไป ระหว่างรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาเทียบกัน ก็จะพบว่ารุ่นใหม่นั้น ประหยัดขึ้น 0.63 กิโลเมตร/ลิตร พอๆ กับรุ่น Hatchback

ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของทั้ง Yaris และ Yaris ATIV ก็เป็นไปตามที่ผมคาด คือประหยัดขึ้นจริง แต่ไม่ขั้นฉีกไปจากรุ่นเดิม อยู่ในวิสัยของเครื่องยนต์บล็อกเดิมที่นำมาปรับจูนเล็กน้อย และอัตราทดเกียร์ อัตราทดเฟืองท้ายใหม่ ที่ส่งผลให้การวิ่งด้วยความเร็วเดินทาง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำลง จาก 2,400 เหลือ 2,150 รอบ/นาที

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้งานทั่วไป อาจจะมีทั้งวิ่งในเมืองฝ่าการจราจรติดขัด เคลื่อนตัวช้าประหนึ่งเต่าคลาน สลับหยุดนิ่ง และวิ่งออกชานเมือง ซึ่งพอจะทำความเร็วเพิ่มขึ้นมา หรือเร่งแซงบ้างบางจังหวะ น้ำมัน 1 ถัง ความจุ 42 ลิตร ใน Yaris และ Yaris ATIV ใหม่ จะสามารถพาให้คุณวิ่งไปเป็นระยะทางราวๆ 460 – 490 กิโลเมตร หากเทียบกับ Honda City 1.0 Turbo ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน รายนั้นจะวิ่งได้เป็นระยะทางมากกว่าเล็กน้อย ที่ 490 – 530 กิโลเมตร กรณีนี้ผมสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการที่ Yaris ต้องกดคันเร่งเยอะกว่า ใช้รอบเครื่องสูงกว่า เพื่อพาให้ตัวรถเคลื่อนไปข้างหน้าไวพอๆ กัน

********** สรุป **********

เพิ่มระบบความปลอดภัย และ Option ให้ตัวรถดูน่าสนใจขึ้น
แต่เครื่องยนต์ที่แรงขึ้นนิด ประหยัดขึ้นหน่อย ยังไม่โดดเด่นพอ

ระยะหลังมานี้ รถยนต์ญี่ปุ่นหลายๆ รุ่น เริ่มมีอายุการทำตลาดยาวนานขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนตลอดอายุการทำตลาดของรถรุ่นนั้น (Product Life Cycle) ถ้ายอดขายดี ผู้ผลิตก็จะถึงจุดคุ้มทุนเร็วและได้ผลกำไรมากพอที่จะเร่งการเปลี่ยนโฉมรถยนต์รุ่นใหม่ให้เร็วขึ้นได้

แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอันเป็นผลสิบเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ทำให้โครงการพัฒนารถยนต์หลายๆ รุ่น จำเป็นต้องถูกเลื่อนออกไป ทำให้บริษัทลูกค้าของแต่ละแบรนด์ ในแต่ละประเทศ ต้องหาทางดื้นรนประคับประคองยอดขายของรถยนต์รุ่นปัจจุบันที่ยังทำตลาดอยู่ ด้วยสารพัดวิธีการ และการปรับโฉมแบบ Minorchange หรือการปรับอุปกรณ์ทุกปี เป็นทางออกที่ทุกค่ายทำกัน แน่นอนว่า Yaris และ Yaris ATIV เอง ก็จำเป็นต้องถูกปรับโฉม Minorchange กันอีกรอบ เพื่อกระตุ้นตลาด และรักษายอดขายของทั้ง 2 ตัวถัง ให้อยู่ในระดับ 3,000 คัน/เดือน ต่อไปอีกอย่างน้อยๆ  1 ปีครึ่ง นับจากนี้

การปรับโฉม Minorchange ครั้ง (หวังว่าจะ) สุดท้าย ในคราวนี้ มุ่งเน้นไปที่การแต่งหน้าทาปาก ดึงเอาเส้นสาย และรูปทรงของกระจังหน้า รวมถึงกันชนหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ของ Toyota ในยุคปัจจุบัน มาใช้กับรถเก๋งรุ่นเล็กอย่าง Yaris และ Yaris ATIV ได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว จุดนี้น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายอายุตลาดได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนไม่น้อยมักจะเลือกซื้อรถยนต์ของตนโดยพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Active Safety) อาทิ ระบบช่วยเตือนการชนด้านหน้า (Pre-Collision System) ระบบเตือนเมื่อเบี่ยงออกนอกเลน (Lane Departure Alert) ถือเป็นสร้างจุดขายใหม่ๆ ให้ตัวรถ และส่งผลดีต่อผู้บริโภค แม้ว่าแต่เดิมระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของ Yaris และ Yaris ATIV จำพวก ABS / EBD / VSC และถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง จะติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่นย่อยตั้งแต่ปี 2017 แล้วก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น Toyota ยังยืนยันด้วยว่า ได้แก้ปัญหา ที่ลูกค้าบางราย พบอาการ เร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ เรียบร้อยแล้ว ด้วยการปรับปรุง สมองกลเครื่องยนต์ (ECM : Engine Control Unit) ของรถรุ่นล่าสุดนี้ ให้ดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นในรถรุ่นใหม่อีก แต่ถ้าใครเจอปัญหา ก็จับส่งเข้าศูนย์บริการ Toyota ไปได้เลย

ทว่า การปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์เดิมให้แรงขึ้นอีกนิด (อันที่จริงอยากจะใช้คำว่า อืด น้อยลงมากกว่าเสียด้วยซ้ำ) ประหยัดน้ำมันมากขึ้นอีกหน่อย ยังไม่มากพอที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับ Yaris และ Yaris ATIV มากพอ เมื่อเทียบกับคู่แข่งหน้าใหม่ อย่าง Nissan Almera 1.0 Turbo และ Honda City 1.0 Turbo ที่มาพร้อมเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์แบบ Downsizing พ่วงระบบอัดอากาศ ซึ่งเมื่อดูจากตารางผลทดสอบของเว็บเรา จะเห็นได้ชัดว่ามันแรงกว่า Ecocar ยุคแรกๆ แบบคนละเรื่อง (หากไม่นับ Mazda 2 1.5 Skyactiv-D ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซล) พูดกันตามตรงคือจุดประสงค์หลักของการปรับรายละเอียดทางวิศวกรรมในครั้งนี้ อาจเพียงเพราะต้องการให้การปล่อยมลพิษผ่านตามข้อบังคับโครงการ Ecocar Phase 2 เป็นหลัก

จริงอยู่ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อรถยนต์ประเภทนี้ ไม่ได้คาดหวังความแรง หรือความหวือหวาด้านอัตราเร่งซักเท่าไหร่นัก แต่อย่าลืมว่าราคาขายปลีกที่เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 10,000 – 30,000 บาท ของ Yaris และ Yaris ATIV ใหม่ มันกระโดดขึ้นไปสูงกว่า Almera Turbo และเข้าไปใกล้ City Turbo มากขึ้น (เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรุ่นท็อปด้วยกัน) ดังนั้น มันก็เลยเกิดคำถามขึ้นว่า…

มันจะดีกว่าหรือไม่ หากได้ความประหยัดตามแบบฉบับ EcoCar ควบคู่ไปกับความแรงในระดับ C-Segment เครื่อง 1.6 – 1.8 ลิตร แต่จ่ายเงินไม่ต่างจากเดิมมาก มีทั้งถูกกว่าและแพงกว่าแล้วแต่จะเลือกสรร ?

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การที่ Toyota ยังไม่ทำตัวเป็นปลาเร็ว และยังคงยืนหยัดกับเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ มันยังตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มั่นใจกับความทนทานในระยะยาวของเครื่องยนต์เทอร์โบ และไม่อยากแบกรับความเสี่ยง ทั้งเรื่องการบริการหลังการขาย การซ่อมบำรุง คุณภาพตัวรถ และความทนทานในระยะยาว โดยไม่จำเป็น ซึ่ง Yaris ที่ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปี 2013 ตามด้วย Yaris ATIV ในปี 2017 มันก็ได้พิสูจน์คุณงามความดีของตัวมันเองแล้วในเรื่องนี้

********** คู่แข่งในตลาด ********** 

แน่นอนครับว่า Yaris และ Yaris ATIV เป็นรถที่มีพัฒนาการบางด้านที่ดีขึ้นจริง แต่ก็ยังมีคุณสมบัติบางอย่างที่ยังเป็นข้อกังขาอยู่ ดังนั้น หากมองตัวเลือกอื่นๆ ในตลาดตอนนี้มีอะไรบ้างๆ ลองมาไล่เรียงกันทีละรุ่น

Honda City แม้จะถูกค่อนขอดในเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงไฮเทคทั้งหลายที่ให้มาน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับราคา แต่จุดเด่นด้านขุมพลัง 1.0 ลิตร Turbo ที่ครองแชมป์ด้านความแรงในกลุ่ม ECO Car / B-Segment ในยุคนี้ และการตอบสนองของพวงมาลัยที่ดีงามเป็นอันดับต้นๆ ของตลาด เป็นหมัดเด็ดที่ทำให้ลูกจำนวนไม่น้อย ที่มั่นใจในแบรนด์ Honda และไม่หวั่นกับปัญหาสนิม หรือคุณภาพการประกอบ ยังคงเทใจไปหา และตัดสินใจเซ็นใบจอง ได้อย่างไม่ยากเย็น

Nissan Almera หลังจากผันตัวเองจากป้าเฉื่อย มาเป็นหนุ่มวัยรุ่นทรงเสน่ห์ มาพร้อมเครื่อง 1.0 เทอร์โบ กับพละกำลังที่เป็นรองแค่ City ใหม่ หน้าตาสปอร์ตขึ้น แรงขึ้น ประหยัดขึ้น ให้อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยมาค่อนข้างครบ ในราคาที่สมเหตุสมผล แต่โดนบ่นว่าแคบลงนิดหน่อย ทำให้ยอดขายไปได้เรื่อยๆ ไม่หวือหวา

Mazda 2 ตำแหน่งขวัญใจวัยรุ่นมหาลัยที่ยังมีดีพอตัวอยู่ เป็นรถที่ทำคะแนนได้ดีในด้านการขับขี่ มีความคล่องแคล่ว กระชับ ในแง่ของการตอบสนองของระบบบังคับเลี้ยว ช่วงล่าง และเบรก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี ทว่าพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กระชับตามไปด้วยนั้น รวมทั้งปัญหาด้านบริการหลังการขาย ทำให้บางคนต้องคิดหนัก อยากอุดหนุน แต่ก็กลัวเจอแจ็คพอต

Mitsubishi Mirage / Attrage สองศรีพี่น้องคันเล็กกระทัดรัด การขับขี่ในภาพรวมในรุ่น Minorchange กระจังหน้า Dynamic Shield แม้จะถูกปรับพวงมาลัยให้ตอบสนองดีขึ้น ช่วงล่างเฟิร์มขึ้น แต่ก็ยังเป็นรองคู่แข่งหลายรุ่นอยู่ดี อย่างไรก็ตาม การมีอุปกรณ์ความปลอดภัยจำพวก ระบบเตือนการชนหน้าด้าน ระบบป้องกันไม่ให้รถพุ่งเข้าชนกระจก 7-Eleven ฯลฯ มาให้ในราคาที่เหมาะสม ถึงแม้จะไม่ช่วยสร้างความโดดเด้งให้ตัวรถเด่นขึ้นมาเหมือนวันแรกที่เริ่มติดตั้งมาให้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นข้อดีข้อหนึ่งอยู่

Nissan Note ยังคงประคองยอดขายไปได้แบบเงียบๆ ด้วยภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางมาก ช่วงล่างดี พวงมาลัยเด่น ระบบความปลอดภัยก็ให้มาครบครัน แต่ดันมาตกม้าตายเอาตรงพละกำลังจากเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร N/A ที่อืดอาดยืดยาดเอามากๆ คงต้องรอรุ่นเปลี่ยนโฉม ​Full Modelchange ที่ยกงานดีไซน์ด้านหน้ามาจาก Nissan Ariya ซึ่งจะมาถึงในช่วงปลายปี 2021

Suzuki Swift เป็นรถมีบุคลิกการขับขี่ ปราดเปรียว คล่องแคล่ว คล้าย Mazda 2 แต่ได้ช่วงล่างที่นุ่มกว่านิด และพวงมาลัยขับที่ทางไกลผ่อนคลายกว่าหน่อย อุปกรณ์ต่างๆ ที่ให้มามีความเหมาะสมเมื่อเทียบกับราคา แต่ยังขาดระบบความปลอดภัย Active Safety ที่ดูล้ำสมัยแบบที่คู่แข่งแทบจะทุกรุ่นมีมาให้ ยกเว้น City และพี่น้องร่วมค่ายอย่าง Ciaz

Suzuki Ciaz ยังคงเป็น ECO Car Sedan ที่มีจุดเด่นด้านการโดยสารโอ่โถง นั่งสบายทั้งเบาะหน้าและเบาะหลัง ช่วงล่างเซ็ตมานุ่มกำลังดี ไม่ย้วยจนเกินไป แต่พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าอันสุดท้ายจะไร้ชีวิตชีวา และตอบสนองได้อย่างไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ลดทอนความน่าขับลงไปประมาณหนึ่ง ถึงกระนั้น ทั้ง Swift และ Ciaz ทีจุดแข็งในเรื่องค่าบำรุงรักษาต่ำ ตลอดอายุการใช้งาน

**********ถ้าตัดสินใจเลือก Yaris รุ่นไหนจึงจะคุ้มค่าที่สุด**********

Yaris Minorchange มีรุ่นย่อย และราคาขายปลีก ทั้งหมด 4 รุ่น ดังนี้

– 1.2 Entry ราคา 549,000 บาท (+ 10,000 จากรุ่น Entry เดิม)
– 1.2 Sport ราคา 609,000 บาท (+ 20,000 จากรุ่น MID เดิม)
Yaris ATIV Minorchange มีรุ่นย่อย และราคาขายปลีก ทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ดังนี้ (+ 30,000 จากรุ่น HIGH เดิม)
– 1.2 Sport Premium with Black Roof ราคา 684,000 บาท (+ 5,000 จากรุ่น Sport Premium)

Yaris ATIV Minorchange มีรุ่นย่อย และราคาขายปลีก ทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ดังนี้

– 1.2 Entry ราคา 539,000 บาท (+ 10,000 จากรุ่น Entry เดิม)
– 1.2 Sport ราคา 599,000 บาท (+ 20,000 จากรุ่น MID เดิม)
– 1.2 Sport Premium ราคา 674,000 บาท (+ 25,000 จากรุ่น HIGH เดิม) 

ทั้ง Yaris และ Yaris ATIV มีอุปกรณ์ในแต่ละรุ่นย่อยเหมือนกันทุกรายการ ยกเว้นอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก ซึ่งต่างกันตามรูปแบบตัวถังเท่านั้น ดังนั้น ผมจึงขอเปรียบเทียบแต่ละรุ่นย่อยเป็นภาพรวมของทั้ง 2 ตัวถัง เพื่อให้กระชับและเข้าใจง่ายขึ้น

สำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัด แต่อยากได้รถยนต์สักคันมาไว้สำหรับใช้งาน โดยมีเงื่อนไขว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน อาทิ ABS, EBD, VSC, TRC, HAC และ ถุงลมนิรภัยรอบคัน ต้องติดตั้งมาให้อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นการ์ดป้องกันชีวิตของคุณและคนที่คุณรัก ซึ่งประเมิณค่าได้ยาก รุ่นเริ่มต้น Entry ที่ตั้งราคาเอาไว้ 539,000-549,000 บาท ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องการอุปกรณ์ตกแต่งภายนอก ที่อาจไม่มีผลต่อการใช้งาน แต่ช่วยเสริมให้ตัวรถดูดีขึ้น เช่น ชุดไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวในตัว สเกิร์ตด้านข้าง และด้านหลัง ล้ออัลลอย หรือสำหรับคนที่ต้องการลูกเล่นด้าน IT อาทิ ชุดเครื่องเสียงพร้อมหน้าจอ ขนาด 6.7 นิ้ว สามารถรองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto พ่วงด้วยกล้องมองภาพด้านหลังขณะถอย การขยับจากรุ่น Entry โดยจ่ายเพิ่มเงินเพิ่มขึ้นอีก 60,000 บาท เป็นรุ่น Sport ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป และคุ้มค่าที่สุดในความเห็นของผม

ส่วนการขยับขึ้นไปยังรุ่น Sport Premium นั้น จริงอยู่ว่าได้อุปกรณ์ความปลอดภัยเชิงป้องกัน ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เพิ่มขึ้นจากรุ่น Sport แต่ด้วยราคาที่แพงกว่า 70,000 บาท จนพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 674,000-679,000 บาท ถือว่าค่อนข้างสูงเกินไป หากมองว่าข้าวของบางรายการยังขาดอยู่ เช่น ฟังก์ชันหน่วงพวงมาลัยกลับ (Steering Assist) สำหรับระบบ Lane Departure Assist ระบบ Keyless Entry ที่ประตูฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า หรือระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control

ต่อให้คุณจะคิดเห็นอย่างไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดบริการหลังการขายก็ยังคงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนไว้ใจ และสบายใจที่จะเลือกแบรนด์เจ้าตลาดอย่าง Toyota อยู่ดี แม้ว่าลูกค้าบางรายจะเจอปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพตัวรถอยู่บ้าง ทว่า การจัดปัญหาให้กับลูกค้าโดยไม่อิดออด และการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 473 แห่ง ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างประทับใจ และความสบายใจ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้กับลูกค้าที่เลือกรถ Toyota ไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต หรือประกอบธุรกิจของเขา และนี่คือจุดแกร่งที่สุด ซึ่งยากเกินกว่าใครจะปฏิเสธได้ลง

ต้องยอมรับว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นโยบายการทำตลาดรถยนต์นั่งกลุ่ม Sub-Compact B-Segment ค่อนข้างสร้างความสับสนงุนงงมาโดยตลอด ผมเชื่อว่าวันเวลาที่เรารู้สึกเช่นนั้น กำลังใกล้จะสิ้นสุดลง เพราะ Toyota มีแผนจะเปิดตัวรุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ให้กับสองศรีพี่น้องคู่นี้ ในปี 2022 ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะรอดูก็คือ ผลจากการรับฟัง feedback จากลูกค้า ทั้งรายเก่าที่ใช้รถยนต์ Toyota อยู่แล้ว รวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่คิดจะอุดหนุน แต่ยังตั้งข้อกังขากับสมรรถนะการขับขี่บางด้าน อาทิ เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง และอ็อพชันที่ให้มายังไม่ครบเสียทีเดียวนั้น จะออกมาเป็นเช่นไร จะช่วยให้ชาวญี่ปุ่นใน Toyota จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง ของรถยนต์รุ่นต่อไป ให้ออกมาโดนใจผู้บริโภค อย่างที่มันควรจะเป็นเสียที ได้หรือไม่

แล้วเรามารอดูกันครับ…

—————————————–//—————————————-

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม

ทดลองขับ Toyota YARIS 1.2 L CVT MY 2013 – 2014 คลิกอ่านได้ที่นี่​
ทดลองขับ Toyota Yaris ATIV (1.2 L CVT) คลิกอ่านได้ที่นี่ 
ทดลองขับ Toyota Yaris Hatchback Minorchange 2017 (1.2 L CVT) คลิกอ่านได้ที่นี่ 

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :

ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

QCXLOFT (Yutthapichai Phantumas)

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายรถยนต์ในประเทศ ทั้งหมด เป็นผลงานของ J!MMY
ลิขสิทธิ์ภาพถายรถยนต์ในต่างประเทศ และภาพกราฟฟิค เป็นของ
Toyota Motor Corporation
 
และ Toyota Motor Thailand
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
26 ตุลาคม
2020

Copyright (c) 2020 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
October 26th,2020

เชิญแสดงความคิดเห็นได้ตามอัธยาศัย คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE


Headlightmag Clip : รีวิว ทดลองขับ Toyota Yaris & Yaris ATIV Minorchange 2020 (1.2 Sport Premium  CVT)