31 ธันวาคม 2015
22.00 น.

ตามปกติแล้วชีวิตของผม ในวันสิ้นปี ก็ควรจะเหมือนกับ 14 ปีที่ผ่านมา คือหลังจากพา
คุณพ่อคุณแม่ไปรับประทานอาหารมื้อค่ำนอกบ้านแล้ว ผมคงจะนั่งทำงานข้ามปีใหม่
ในบรรยากาศเหงาๆ ซึมๆ ตามเดิมๆ เช่นเคย

ทว่า…ในคืนส่งท้ายปีเก่า 2015 นั้น มันพิเศษกว่าทุกๆปีที่ล่วงมา

ผมและทีมเว็บ Headlightmag.com ของเราบางส่วน รับรู้ข่าวด่วน และเราต่างพากัน
ยกโขยงเดินทางไปยัง โรงพยาบาล กรุงเทพคริสเตียน…

เปล่าครับ ไม่มีใครป่วยหนัก หรือประสบอุบัติเหตุใดๆทั้งสิ้น หากแต่เป็นข่าวดี ที่
คุณพรพิมล สาวจอมแก่น ภรรยาของ เคี้ยง ผู้ที่ดูแลสีรถของผมให้เงางามมาตลอด
5 ปีให้หลัง จนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของทุกคนในทีมเว็บเรา ได้ให้กำเนิด ทารก
เพศชาย อันแสนจะน่ารักน่าชัง ชื่อ น้องพีท เพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนกับบุตรสาวแสนซน
ซึ่งมีนามว่า น้องพิม นั่นเอง

หลายๆคนในทีม เห่อหลานคนใหม่ของพวกเรากันไม่เบา ตื่นเต้นไม่แพ้เวลา
เจอรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ใกล้จะ หรือเพิ่งจะ เปิดตัว บนถนนเมืองไทย

การได้หายใจอยู่รอดบนโลกนี้มานานถึง 36 ปี ก็ทำให้ผมได้เห็นความเคลื่อนไหว
และความเปลี่ยนแปลงในทุกสรรพสิ่งอันรายล้อมรอบตัวเรา มันมีทั้งเกิด แก่ และ
ดับสูญไปตามกาลเวลาทั้งสิ้น

หาใช่เพียงแค่มนุษย์เราเท่านั้น….รถยนต์ก็เช่นกัน การเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่มัก
เกิดขึ้นกับทั้งแบรนด์ ทั้งรถยนต์แต่ละรุ่น ในรอบหลายๆปีที่ผ่านมา ทำให้ผมเริ่ม
มองรถยนต์ ดุจการเฝ้าดูชีวิต และการเติบโตของคนคนหนึ่งมากขึ้นทุกที

2014_09_Honda_Jazz_01

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2003

ผมยืนอยู่ในงานเปิดตัว Honda Jazz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย แสงไฟฉวัดเฉวียน
สาดว่อนไปทั่วห้องโถงขนาดใหญ่ ผนวกกับเสียงเพลงอีเล็กโทรนิกส์ อันแผดดัง และ
Font ตัวอักษร หนาๆ ใหญ่ๆ เสริมความรู้สึก ชวนให้ตื่นตาอลังการงานสร้าง

12 ปีแล้วสินะ ถ้านับจากวันนั้น วันที่ Honda เริ่มเอา Jazz เข้ามาประกอบและจำหน่าย
ในเมืองไทย ทิ้งช่วงห่างหลังการเปิดตัวครั้งแรกของโลกที่ญี่ปุ่น เมื่อ 21 มิถุนายน 2001
ถึงราวๆ 2 ปีครึ่ง

มันเป็นแผนสำรอง อันเกิดขึ้นจากการเปิดตัว Honda City (Sedan) รุ่นที่ 2 ในบ้านเรา เมื่อ
12 พฤศจิกายน 2002 หรือ 1 ปีก่อนหน้านั้น ทำยอดขายสู้คู่แข่งอย่าง Toyota Soluna Vios
ในตอนนั้นไม่ได้ อีกนัยหนึ่ง ก็คือ ผลจากการตั้งใจสร้าง รถเก๋ง Sedan ควบคู่ไปกับ Jazz
โดยเอาโครงสร้างครึ้งคันหน้าทั้งหมด ของ Jazz มาใช้เป็นพื้นฐาน แล้วออกแบบบั้นท้าย
เพื่อเน้นความอเนกประสงค์ ให้ได้เทียบเท่า Jazz ทั้งที่ยังต้องคงรูปแบบของบั้นท้ายแบบ
รถเก๋ง Sedan เอาไว้ ส่งผลให้ ตัวรถออกมา มีเส้นสายสวยงาม เมื่อแยกดูเป็นส่วนๆ แต่ดู
ไม่สมส่วน ไม่ลงตัว เมื่อมองภาพรวมพร้อมกันทั้งคัน

ซ้ำร้าย พวกเขาเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นรุ่นใหม่ ที่แม้จะมีเทคโนโลยี 2 หัวเทียน i-DSi แต่
ตอนนั้น ไม่รู้ว่า Honda ไปวิจัยตลาดอีท่าไหน วิศวกรญี่ปุ่นถึงได้ดื้อดึง ลดกำลังเครื่องยนต์
1,500 ซีซี ของตนเองลงจาก 120 แรงม้า (PS) เหลือแค่ 88 แรงม้า (PS)

ผลก็คือ City รุ่นนั้น เปิดตัวไม่เปรี้ยง ยอดขายเพียงแค่ช่วง 1-2 เดือนแรก ก็โดน Soluna Vios
แซงนำหน้าขึ้นไปอย่างง่ายดาย ไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย จนทำให้ Honda ต้อง
ยอมรับแผน นำ Jazz เข้ามาเสริมทัพ อย่างที่เห็น

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจนำ Jazz เข้ามาประกอบขายในบ้านเรา ทำให้ Honda กลายเป็น
ผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก B-Segment ตัวถัง Hatchback ในไทย
อีกครั้ง หลังจากที่ Suzuki Fronte , Daihatsu Charade , Nissan March , Toyota Starlet
Mitsubishi Lancer Champ 3 ประตู, Mitsubishi Colt (หรือ Mirage Gen 3 ในญี่ปุ่น) กับ
Opel Corsa ทะยอยเปิดตัว และล้มหายตายจากไปในช่วง 1980 – 2000 เรียงตามลำดับ

ถึงแม้ว่า ตลอดช่วงปี 2004 – 2008 ยอดขายของ Jazz เมื่อรวมกับ City ยังคงโดน Vios
แซงนำฉลุยไปเลย แต่ ถ้าแยกดูกันเป็นรายรุ่น ตัวเลขยอดขายของ Jazz ในเมืองไทย
ถือได้ว่า ขายดีไม่แพ้ในตลาดทั่วโลก ถึงขั้นที่ Toyota ต้องตัดสินใจ นำ Yaris รุ่นที่ 2
เข้ามาประกอบขายในไทย เมือเดือนมกราคม 2006 หวังประกบ Jazz แต่สุดท้ายแล้ว
ตัวเลขยอดขายของ Yaris รุ่นนั้น กลับไม่อาจสู้ Jazz ได้เลย (จน Toyota ต้องเปลี่ยน
แนวทางทำตลาด จับ Yaris ไปพัฒนาใหม่ วางเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี หันไปจับลูกค้า
ฃกลุ่ม B-Segment Hatchback ECO Car แทน ถึงได้ลืมตาอ้าปาก ทำยอดขาย แซง
ขึ้นหน้า Jazz ได้ในทุกวันนี้)

2014_09_Honda_Jazz_02

รุ่นที่ 2 ของ Fit / Jazz เปิดตัวในญี่ปุ่น กลางงาน Tokyo Motor Show เมื่อวันที่
18 ตุลาคม 2007 และถูกส่งมาเปิดตัวเวอร์ชันประกอบในประเทศไทย เมื่อวันที่
24 มีนาคม 2008  โดยมี พรีเซ็นเตอร์เป็นนักแสดงหนุ่มชื่อดังในยุคนั้น อย่าง
มาริโอ เมาเร่อ ซึ่งสร้างกระแสฮือฮาได้มากพอสมควร พอๆกับส่งผลให้ Jazz
รุ่นที่ 2 ขายดีมากยิ่งขึ้น ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง Yaris ไปอีกขั้น

รุ่น Minorchange เผยโฉมเมื่อ 25 สิงหาคม 2010 แล้วก็ไปโชว์ใน Paris Auto Salon
เดือนกันยายน  2010 ก่อนเปิดตัวในญี่ปุ่นเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2010 ไม่เพียงแค่
ปรับโฉมตามปกติ แต่ Honda ยังตัดสินใจ เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Jazz Hybrid ขุมพลัง
IMA ซึ่งตามมาเปิดตัวในเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 เป็นครั้งแรกใน
บ้านเรา ชูจุดขาย Hybrid ในราคาที่ทุกคนอื้อมถึง เพียง 768,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายอดขายของ Jazz รุ่นปกติ ถือว่า ดีมากในทั่วโลก แต่สำหรับ
Jazz Hybrid แล้ว ขายดีเฉพาะแค่ในญี่ปุ่น ส่วนตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองไทย
ให้การตอบรับดีเฉพาะช่วง 1-2 เดือนแรกหลังการเปิดดัวเท่านั้น ภาพรวมถือว่า
ยังขายไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ทำตลาดต่อเนื่องจนถึงปี 2014

ทุกวันนี้ Jazz (หรือในญี่ปุ่นใช้ชื่อว่า Fit) กลายเป็นรถยนต์นั่งเพียงรุ่นเดียวของ
Honda ที่สร้างสถิติยอดขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในชั่วระยะเวลาทำตลาด
เพียง 1 รุ่นตัวถัง ด้วยยอดขายสะสมเฉพาะ เจเนอเรชันแรก (2001 – 2007) รวม
มากถึงเกินกว่า 2 ล้านคัน และกลายเป็น 1 ใน 5 รถยนต์รุ่นสำคัญ ภายใต้แผน
ยุทธศาสตร์ของ Honda ในการบุกตลาดทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยด้วย

ปัจจุบัน Fit / Jazz คลอดออกมาจาก โรงงาน Honda 7 แห่ง ใน 7 ประเทศทั่วโลก
รวมทั้งเมืองไทย ถูกส่งถึงมือลูกค้าในกว่า 115 ประเทศ ด้วยตัวเลขยอดขายสะสม
ทั่วโลกมากเกินกว่า 5.2 ล้านคัน!! เฉพาะในเมืองไทยแห่งเดียว นับจนถึงปี 2014
ยอดขายสะสมของ Jazz ในบ้านเรา ปาเข้าไปมากถึง 205,000 คัน

ความสำเร็จด้านยอดขายของ Fit / Jazz ในทุกตลาดทั่วโลก มีส่วนกดดันให้กับทีม
วิจัยและพัฒนาของ Honda R&D ซึ่งต้องเข้ามารับหน้าที่ดูแลการสร้าง Jazz รุ่น 3
ในรหัสตัวถัง GK อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2014_09_Honda_Jazz_Design_1

Makoto Konishi : LPL (Large Project Leader) หรือ หัวหน้าทีมวิศวกรโครงการ
พัฒนา Fit / Jazz รุ่นที่ 3 ของ Honda R&D เล่าว่า แนวคิดในการพัฒนา Jazz ใหม่
มุ่งเน้นไปที่ ความพยายามในการปรับปรุงจุดเด่นของ Fit / Jazz รุ่นก่อนๆ ที่ลูกค้า
ทั่วโลกชื่นชอบ ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้ Fit / Jazz ใหม่ ยังคงเป็นรถยนต์นั่งขนาด
เล็ก ที่มีการออกแบบด้านพื้นที่ ใช้สอยในห้องโดยสารดีที่สุดในโลก (The World’s
Best Functional Compact Car)

ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบห้องโดยสาร ให้เพิ่มความอเนกประสงค์ มากยิ่งขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน กับความสบายในการขับขี่ เดินทาง
เข้าไปด้วย

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องปรับปรุงคุณภาพการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ ควบคู่ไปกับ
การปรับเส้นสายตัวถังภายนอกใหม่ ภายใต้แนวทาง Exciting H Design !!! เพื่อเพิ่ม
ความโฉบเฉี่ยว ดูเท่ ยิ่งขึ้น โดยกำหนดแนวคิดในการรังสรรค์รูปลักษณ์ภายนอกไว้
นั่นคือ Crossfade Monoform และยกระดับงานออกแบบภายในห้องโดยสารภายใต้
แนวทาง Futuristic Concept รวมทั้งอัพเกรดคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในห้องโดยสาร
ให้เพิ่มขึ้นด้วยในหลายๆจุด

ไม่เพียงเท่านั้น Jazz ใหม่ ยังจะต้องทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้ประหยัดน้ำมัน
มากที่สุดในกลุ่ม (ณ ช่วงเวลาที่เปิดตัว คือปี 2013 – 2015) ด้วยการนำเครื่องยนต์
และระบบส่งกำลังตระกูลใหม่ EarthDream Technology มาใช้ใน Jazz เป็นครั้งแรก
รวมทั้งการนำเทคโนโลยี การลดน้ำหนักชิ้นส่วนต่างๆ ในทุกจุด รวมทั้งการเปลี่ยน
มาใช้โครงสร้างพื้นตัวถัง (Platform ที่ออกแบบขึ้นใหม่ แต่ยังคงวางตำแหน่งของ
ถังน้ำมันเอาไว้ ตรงกลางตัวรถ ใต้เบาะคู่หน้าเช่นเดิม เพื่อให้สามารถออกแบบ
พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังได้อย่างอเนกประสงค์มากยิ่งขึ้น

2014_09_Honda_Jazz_03

เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นลง Honda ก็เดินหน้าลุยแคมเปญเปิดตัว Fit / Jazz รุ่นที่ 3
โดยเริ่มจากตลาดญี่ปุ่นก่อน ในช่วงกลางดือนสิงหาคม 2013 สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น
กลุ่มแรก ได้รับเชิญให้ไปทดลองขับ รถยนต์ Prototype กันที่สนาม  Twin Ring
Motegi แล้วเริ่มปล่อยภาพแรกออกสู่สายตาชาวโลกกันแทบจะในทันทีที่ลองขับ
กันเรียบร้อย

งานเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2013
ในประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดตัวพร้อมันทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1,300 กับ 1,500
ซีซี ปกติ และรุ่นเครื่องยนต์ Hybrid i-DCD

เพียงเดือนแรกที่ออกจำหน่าย Fit ก็ทำตัวเลขยอดขายในบ้านตัวเองได้สูงมากถึง
19,388 คัน ในเดือนกันยายน 2013 ก่อนพุ่งขึ้นเป็น 23,281 คัน ในเดือนตุลาคม
และ Peak สุดที่ 26,235 คัน ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะร่วงลงมาเล็กน้อยเหลือ
22,573 คัน ในเดือนธันวาคม เท่ากับว่า ตลอดช่วง 4 เดือนแรกที่ออกสู่ตลาดญี่ปุ่น
Fit ทำยอดขายแซงหน้า Toyota Aqua และ Prius 2 รุ่นขายดีของ Toyota ไปได้
อย่างเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้ยอดขายรวมของ Fit ในญี่ปุ่นตลอดปี 2013
ปิดตัวเลขได้ที่ 181,414 คัน ปี 2014 ตัวเลขยอดรวม สูงถึง 202,838 คัน และในปี
2015 ซึ่งยังไม่สรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการนั้น ตลอด 11 เดือน Fit ทำยอดขายไป
ได้ 111,781 คัน

ปัจจุบัน ยอดขายของ Fit ในญี่ปุ่น นับตั้งแต่เปิดตัวมา ทำตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ
ประมาณ 7,000 – 15,000 คัน บวก-ลบ บางเดือน Peak ขึ้นไปถึง 26,000 กว่าคัน

2014_09_Honda_Jazz_04

สำหรับตลาดเมืองไทย Honda นำ Jazz ใหม่ มาขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน
ของตนในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา และเปิดตัวในบ้านเรา
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014

ในวันนั้น มีประวัติศาสตร์ที่ควรจะบันทึกเก็บไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้อ่าน
กันสักหน่อย เพราะในช่วงเวลาที่ Jazz รุ่นนี้ กำลังเปิดตัวสู่ตลาดบ้านเรา
ขณะนั้น ประเทศไทย ยังคุกรุ่นไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง จากการ
เดินขบวนประท้วงครั้งมโหฬารมากที่สุดครั้งหนึ่ง เท่าที่เคยมีมาในบ้านเรา
สาเหตุเกิดจาก ความขัดแย้งของขั้วอำนาจทางการเมืองทั้ง2 ฝ่าย ที่ไม่อาจ
ลงรอยกันได้เลย

แทบจะในทันทีที่งานเปิดตัวรอบสื่อมวลชน ณ ศูนย์แสดงสินค้า BiTEC
บางนา สิ้นสุดลงยังไม่ทันที่ควันจะจางหาย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา
ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ก็ประกาศ “คืนความสุขให้ประชาชน”
ด้วยการเรียกขั้วการเมืองทุกฝ่ายมาเจรจากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ พี่เค้าก็
ตัดสินใจในเสี้ยววินาที พลิกประเทศด้วยการ ประกาศทำรัฐประหารกัน
อย่างที่ไม่มีใครในประเทศนี้ คาดคิดมาก่อนซะเลย

ผลกระทบก็บังเกิดในทันที เพราะเมื่อมีการประกาศรัฐประหาร ออกมา
ในคราใด จะต้องมีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามไม่ให้ออกจากบ้านใน
ยามวิกาล ตามมาด้วยในลำดับต่อมา Honda ซึ่งเตรียมจัดงานเชิญลูกค้า
กลุ่มแรกที่อยากจะมาดู Jazz ใหม่ พร้อมๆกับการแสดงคอนเสิร์ตของ
วง Tattoo Color ช่วงเย็นวันเดียวกันถึงขั้นกุมขมับ ว่าจะมีลูกค้าออกมา
ร่วมงานหรือไม่ ฝั่งลูกค้าก็เหงื่อตก ว่าจะไปร่วมงานดีไหม

แต่สุดท้าย งานก็ยังดำเนินต่อไป จนจบลงได้ด้วยดี แฮปปี้กันทุกฝ่ายเมื่อ
นาฬิกาตี 2 ทุ่มเป๊ง! เผื่อเวลาให้ ทั้งลูกค้า พนักงาน รวมทั้งคน Honda ได้
รีบกันกลับบ้านอย่างพร้อมเพรียงก่อนที่เวลาเคอร์ฟิว 4 ทุ่มตรงจะมาถึง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผม เคยเรียก Jazz รุ่นนี้ไว้ว่า “Jazz รุ่น ปฏิวัติ!”
ซึ่งเป็นคำที่ให้อารมณ์ และมีพลัง อีกทั้งยังตรงกับความหมายที่ตัวรถนั้น
พยายามจะเป็น มากกว่า การเรียกว่า “Jazz รุ่นรัฐประหาร”

ในช่วง 1 เดือนแรก หลังการเปิดตัว ยอดสั่งจอง Jazz ใหม่ อยู่ที่ 3,000 คัน
สีขาว เป็นสีที่มียอดสั่งจองเยอะสุด ตามมาด้วยสีเหลือง อันเป็นสีโปรโมต
นั่นทำให้ Honda ใจชื้นขึ้นมาก หลังจากนั่งกุมขมับกับสภาพเศรษฐกิจและ
ปัญหาการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อทุกค่ายรถยนต์ จนยอดขาย รวมทั้งตลาด
ร่วงหล่นลงมากว่า 30% ในตอนนั้น

อย่างไรก็ตาม ยอดขายของ Jazz นับตั้งแต่เปิดตัว มาจนถึงตอนนี้ เฉลี่ยแล้ว
อยู่ที่เดือนละ 1,000 คัน/เดือน อาจมีเพิ่มมากขึ้นนิด หรือลดลงไปหน่อย ก็
ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละเดือน

เกร็ดความรู้ เล็กน้อย เรื่องสีตัวถังก็คือ สีเหลือง อันเป็นสีโปรโมทที่เห็นอยู่นี้
หากเป็นเวอร์ชันญี่ปุ่น Honda จะสงวนไว้ให้เลือกเฉพาะ Fit Hybrid เท่านั้น
ซึ่ง ณ เวลาที่บทความนี้ ออกสู่สายตาคุณผู้อ่าน Honda ได้ตัดสินใจยกเลิก
แผนการนำ Fit Hybrid เข้ามาทำตลาดในบ้านเราภายใต้ชื่อ Jazz Hybrid
ไปแล้ว เพราะยอดขายของ Jazz Hybrid รุ่นปัจจุบัน มันช่างน้อยนิดเหลือเกิน

2014_09_Honda_Jazz_05

Jazz ใหม่ มีความยาวทั้งคัน  3,955 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,525
มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,530 มิลลิเมตร ช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front / Rear
Thread) ของรุ่น S V และ V+ อยู่ที่ 1,492 และ 1,481 มิลลิเมตร ส่วนรุ่น SV
กับ SV+ จะอยู่ที่ 1,476 และ 1,466 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (Ground
Clearance) 150 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวรถ อยู่ที่ 1,048 กิโลกรัมจากรุ่น S 5MT
จนถึง 1,088 กิโลกรัม ในรุ่น SV+ ความจุถังน้ำมัน 40 ลิตร

เมื่อเปรียบเทียบกับ Jazz รุ่นก่อน ซึ่งมีความยาว 3,900 มิลลิเมตร กว้าง 1,695
มิลลิเมตร สูง 1,525 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,500 มิลลิเมตร จะพบว่ารุ่นใหม่
ยาวขึ้น 55 มิลลิเมตร กว้างและสูงเท่าเดิมเป๊ะ และมีระยะฐานล้อยาวขึ้น 30
มิลลิเมตร เพราะทีมวิศวกรต้องการเพิ่มพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ออกไปอีก 80 มิลลิเมตร ตามเสียงเรียกร้องจากลูกค้าทั่วโลก

2014_09_Honda_Jazz_06

เส้นสายตัวถังภายนอก ถูกออกแบบขึ้น ในแนวทาง Design ใหม่ล่าสุดของ
Honda ที่เรียกว่า Exciting H Design!!!  ที่เพิ่งจะเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกใน
Jazz ใหม่ นี่เอง บนพื้นฐานแนวคิดแบบ Crossblade Monoform เน้นความ
ปราดเปรียว เปี่ยมด้วยพลัง

ชุดไฟหน้าออกแบบตามแนวทาง Solid Wing Face เพื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกับ
บรรดารถยนต์ Honda รุ่นใหม่ๆ นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา แต่มีการปรับปรุง
ให้เข้ากับบุคลิกของรถยนต์แต่ละรุ่นที่แตกต่างกันออกไป ในรุ่น SV+ คันนี้
มีไฟตัดหมอกหน้า เพิ่มมาให้ ที่เปลือกกันชนบริเวณมุมตัวถังฝั่งซ้าย – ขวา

ในเมื่อรูปร่างของตัวรถ ยังต้องเน้นพื้นที่ใช้สอย ดังนั้น เสาหลังคาคู่หน้าจึง
ยังคงยื่นล้ำขึ้นมาข้างหน้า เช่นเดียวกับ Fit / Jazz ทั้ง 2 รุ่นก่อนหน้านั้น แต่่
ในรถรุ่นใหม่ มีการขยับเสาหลังคาคู่หน้า ให้ถอยร่นไปอยู่ในตำแหน่งที่ดู
ลงตัวมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม ทำให้กระจกสามเหลี่ยมโอเปร่าคู่หน้า เล็กลง และ
ส่งผลกระทบถึงทัศนวิสัยในการขับขี่ด้วยเช่นกัน

แนวเส้น Character Line ด้านข้างตัวรถ คมชัดขึ้น ลากยาวจากซุ้มล้อหน้า
ขึ้นไปจรดชุดไฟท้าย ในรุ่น SV และ SV+ จะเพิ่มชุด Aero part รอบคัน
ทั้งสปอยเลอร์ด้านหน้า สเกิร์ตข้าง ชุดสปอยเลอร์ด้านหลัง พร้อมไฟเบรก
ดวงที่ 3

ภาพรวมแล้ว เส้นสายภายนอกของ Jazz ใหม่ ลบบุคลิกความเป็นหนูพุก
ของรุ่นเดิมออกไป แล้วเพิ่มความเป็นชาย ใส่ลงไปในตัวรถมากขึ้น แถม
ยังถูกออกแบบให้ลู่ลมกว่ารุ่นเดิมถึง 7% อีกด้วย

2014_09_Honda_Jazz_Interior_01

กุญแจรีโมท เฉพาะรุ่น V, V+, SV & SV+ จะเป็นระบบ Honda Smart Key
System Wave Key หน้าตาแบบใหม่ เหมือนกันกับ City และ Accord แต่
เปิดฝากระโปรงหลังมาให้อย่าง City มาพร้อมระบบ Immobilizer และ
สัญญาณกันขโมย มาให้ครบทุกรุ่น!

การใช้งาน เหมือนกันกับ City คือพกกุญแจไว้ เดินเข้าใกล้ตัวรถ แล้วกดปุ่ม
สีดำ บนมือจับประตู ระบบจะสั่งให้ล็อกประตูทุกบานให้ทันที แต่สิ่งที่ต่างกัน
ก็คือ กุญแจของ Jazz ใหม่จะไม่มีปุ่มเปิดฝาประตูห้องเก็บของมาให้

หากจะติดเครื่องยนต์ รุ่น V, V+, SV และ SV+ มีสวิตช์สีแดง ให้กดปุ่มเพื่อ
ติดหรือสั่งดับเครื่องยนต์ได้ทันทีที่มีไฟสีเขียวเรืองแสงขึ้นมา

2014_09_Honda_Jazz_Interior_02

การเข้า – ออกจากประตูคู่หน้า ทำได้ดีตามเคย แน่นอนว่า เข้า-ออก แล้ว
ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอปัญหาศีรษะชนกระแทกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar
อย่างที่ผมเจอเป็นประจำใน City ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นล่าสุด ยังครองแชมป์
การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หน้า ได้ดีที่สุดในกลุ่ม

แผงประตู ออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีผ้าลายสาก บุผนังด้านข้าง จากเดิมที่
ใช้ผ้ากึ่งกำมะหยี่สังเคราะห์ แล้วเจอปัญหาว่า เปรอะเปื้อนคราบเหงื่อ
ของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารได้ง่ายไปหน่อย

ตำแหน่งวางแขน ยังคงวางได้ในระดับพอดี ไม่ว่าคุณจะปรับเบาะนั่ง
ฝั่งคนขับลงต่ำสุด หรือนั่งบนเบาะผู้โดยสารด้านซ้าย มีช่องวางแก้ว
ขนาดใหญ่ พอจะวางขวดน้ำขนาด 7 บาท ได้พอดี แถมยังมีช่องว่าง
ให้วางข้าวของจุกจิกได้อีกนิดหน่อย

2014_09_Honda_Jazz_Interior_03

เบาะนั่งคู่หน้า ยกชุดมาจาก Honda City รุ่นล่าสุด แบบไม่ต้องเสียเวลาออกแบบ
ขึ้นใหม่ ตำแหน่งนั่ง เหมือนกันเปี๊ยบ ไม่ว่าจะเป็นความนุ่มของฟองน้ำ หรือการ
ออกแบบพื้นที่ส่วนพนักพิง ทั้งช่วงหัวไหล่ ช่วงกลางหลัง ช่วงสะโพก และการ
ดันหลัง

รูปทรงของเบาะคู่หน้า คล้ายกับเบาะของรุ่นเดิม มีเบาะรองนั่งที่ยาวและรองรับ
ต้นขาได้ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน พนักพิงศีรษะ นุ่มพอประมาณ
ไม่มากนัก พนักพิงหลัง รองรับแผ่นหลังได้ดีไม่แพ้รุ่นเดิม ยกเว้นช่วงไหล่ ซึ่ง
รองรับน้อยลงไปนิดนึง ส่วนเบาะรองนั่ง มีขนาดที่เหมาะสม ยาวพอดี เฉกเช่น
Jazz และ City รุ่นเดิม เฉพาะเบาะคนขับเท่านั้น ที่ปรับระดับสูง – ต่ำได้ ด้วย
คันโยกด้านข้างฐานรองเบาะ ตำแหน่งนั่งขับ แทบไม่ต่างจาก Jazz รุ่นเดิม

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ฟองน้ำโครงสร้างเบาะ แม้ดูรปทรงแล้วเหมือนว่าจะยังหนา
เท่าๆ เบาะของ City รุ่นเดิม แต่เมื่อกดลงไปดู ฟองน้ำ นิ่มลงกว่ารุ่นเดิม นิ่มจน
ใกล้เคียงกับฟองน้ำของเบาะนั่ง Honda Brio AMAZE แล้ว ในระยะยาว หาก
ใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง ฟองน้ำที่นิ่มไปแบบนี้ อาจจะเสียรูปได้ เมื่อเวลา
ผ่านนานไปเกิน 5-6 ปี

นอกจากนี้ ฟองน้ำโครงเบาะ ที่นุ่มกว่ารุ่นเดิม อาจให้สัมผัสที่สบาย เมื่อนั่ง
ขับขี่ใช้งานในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงแต่หลังจากนั้น สำหรับบางคนแล้ว อาจ
ก่อความเมื่อยตามมาได้บ้าง ข้อนี้ผมกลับมองว่า เบาะนั่งของ City รุ่นเดิม
ซึ่งใช้ฟองน้ำโครงเบาะ แน่นกว่านี้ กลับจะให้การรองรับ สำหรับการขับขี่
ทางไกลได้ดีกว่ารุ่นใหม่อยู่เหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่งแตกต่างกัน คือเนื้อผ้า เบาะนั่งของ Jazz ใหม่ จะมีเนื้อผ้าที่สาก
มากขึ้นจากทั้ง Jazz รุ่นเดิม และ City รุ่นใหม่ อยู่พอสมควร เหตุผลคือ Jazz
เป็นรถยนต์ที่ลูกค้า เน้นการใช้งานอย่างอเนกประสงค์  ผ้าแบบเดิมมีข้อดีคือ
พื้นผิวสัมผัสนุ่มสบาย แต่ เก็บเหงื่อ และคราบสกปรกไว้เอาเรื่อง มันอาจจะ
ขึ้นเป็นคราบได้ ดังนั้น ทีมออกแบบ เลยเลือกใช้ผ้าที่ค่อนข้างสาก และเก็บ
ฝุ่นผงได้น้อยกว่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมของคน

พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับ Jazz เพราะ หลังคามาในแนว
สูงโปร่ง อันเป็นเอกลักษณ์ของ Jazz อยู่แล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะตั้งคำถามกับ Honda เหลือเกิน นั่นคือ พนักวางแขนข้างคนขับ
ที่เคยมีมาให้ใน Jazz ตัวท็อปรุ่นเดิม มาคราวนี้ จะเอาออกไปทำไม??

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ชวนให้สงสัยคือ ในเมื่อ Jazz ใหม่ ยังคงมีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า
เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบลดแรงปะทะ – ดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner &
Load Limiter ซึ่งแตกต่างจาก City ตรงที่ว่า สามารถ “ปรับระดับสูง – ต่ำได้”

เหตุไฉน จึงไม่ติดตั้งระบบปรับระดับสูง – ต่ำ ของเข็มขัดนิรภัยไปให้ใน City??
ถอดออกทำไม?

2014_09_Honda_Jazz_Interior_04

การเข้า – ออก จากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีขึ้น เพราะความกว้างของช่องทาง
เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบานประตูคู่หลังยังคงเปิดกางออกได้ 80 องศา ลดปัญหาการ
เข้า – ออกของผู้ที่มีสรีระเจ้าเนื้อ ลงไปได้มากโข แทบไม่มีโอกาสให้ศีรษะไป
โขกกับพื้นที่ด้านบนโดยรอบเสากรอบประตูเลยด้วยซ้ำ

แผงประตูด้านข้าง มี Trim สีเงิน ประดับเป็นแถบบูมเมอแรง และที่มือจับเปิด
ประตูด้านใน เช่นเดียวกับด้านหน้า มีช่องติดตั้งลำโพง ใกล้กันกับช่องวางแก้ว
ที่สามารถวางขวดน้ำ ขนาด 7 บาท ได้พอดี แต่พนักวางแขนบนแผงประตูนั้น
แม้จะอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสมแล้ว จนวางท่อนแขนได้ระดับกำลังดี ทว่า
การออกแบบให้ผนังแผงประตู บริเวณใกล้กลอนประตูโค้งเข้าหาตัวผู้โดยสาร
อย่างต่อเนื่องแบบนี้ กลับทำให้ไม่สามารถวางข้อศอก ได้สบายนัก แม้ว่าจะมี
การบุพื้นที่ดังกล่าว ด้วยผ้า ที่มีลวดลายสากกว่ารุ่นเดิมก็ตาม

กระจกหน้าต่าง ของบานประตูคู่หลัง เลื่อนลงได้ไม่สุดขอบล่าง

2014_09_Honda_Jazz_Interior_05_EDIT

พื้นที่เหนือศีรษะของผู้โดยสารตอนหลัง ยังไงๆ ก็เหนือกว่า City ใหม่อยู่ดี
เป็นธรรมดา อันเนื่องมาจากรูปทรงของตัวรถ ที่มาในสไตล์ กล่องท้ายตัด
มีมือจับยึดเหนี่ยวจิตใจ (ศาสดา) มาให้ 3 ตำแหน่ง ตามมาตรฐานรถญี่ปุ่น
ทั่วไปที่ควรเป็น

พื้นที่วางขา เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการขยายระยะฐานล้อให้ยาวขึ้นอีก
ผมสามารถนั่งไขว่ห้างได้สบายๆ โดยที่รองเท้า ไม่ไปแตะต้องบริเวณเบาะ
คู่หน้าเลยแม้แต่น้อย ถือว่า ทำได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย

เบาะหลัง นั่งได้สบายขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว เพียงเล็กน้อย พนักพิงหลังมีฟองน้ำที่
แน่นจนกระเดียดไปในทางแข็งมากขึ้น ส่วนพนักศีรษะแบบตัว L คว่ำ ที่ถูก
ออกแบบเก็บซ่อนไว้ ต้องยกขึ้นใช้งาน มิเช่นนั้น จะทิ่มตำบริเวณต้นคอของ
ผู้โดยสาร แต่พอยกขึ้นมาใช้งานจนลงล็อกตามตำแหน่งที่มีมาให้ พนักศีรษะ
ก็ค่อนข้างแข็ง หนุนหัวแค่พอได้

ส่วนเบาะรองนั่ง แม้จะยังคงมีความยาวไม่มากนัก ถือว่าสั้น แต่ก็แอบยาวกว่า
รุ่นที่แล้ว นิดเดียว อีกทั้งยังมีฟองน้ำที่นุ่มกว่าบริเวณพนักพิงหลัง นั่งสบายก้น
เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมนิดนึง

อย่างไรก็ดี Jazz ใหม่ ยังคง ไม่มีพนักวางแขนตรงกลางมาให้ เนื่องจาก
ติดขัดในเรื่องการออกแบบโครงสร้างเบาะ เพื่อเน้นความอเนกประสงค์
เป็นหลักมากกว่า

เข็มขัดนิรภัยเป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ส่วนเข็มขัดสำหรับ
ผ้โดยสารที่นั่งตรงกลาง ถูกเก็บซ่อนขึ้นไปไว้บนเพดานหลังคา เหมือน
รถยนต์ SUV บางรุ่น

จุดเด่นที่ Jazz ใหม่ ยังคงมีมาให้ต่อเนื่องจากทั้ง 2 รุ่นก่อนหน้านี้ ชนิดที่ไม่มี
คู่แข่งหน้าไหน ให้คุณได้เทียบเท่าอีก นั่นคือ เบาะหลังแบ่งพับอเนกประสงค์
ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา 60 : 40 ที่เรียกว่า ULTRA SEAT ซึ่งยังคงมีมาให้เป็น
อุปกรณ์มาตรฐานของ Jazz ใหม่ ทุกคัน

ULTRA SEAT เป็นรูปแบบการพับเบาะที่อเนกประสงค์ที่สุด ในบรรดารถยนต์
กลุ่มพิกัด B-Segment Hatchback เพราะเมื่อ ดึงคันโยก พับพนักพิงลงมา
ชุดเบาะทั้งหมด จะเคลื่อนลงไปเก็บอยู่ที่พื้นรถ ขณะเดียวกัน พนักพิงหลัง จะ
แปรสภาพ แบนราบต่อเนื่องกับพื้นห้องเก็บของด้านหลังอีกด้วย

นอกจากนี้ ตัวเบาะรองนั่ง สามารถยกขึ้นมา แล้วใช้ขาตั้งเบาะ กดล็อคตำแหน่ง
เบาะ เพื่อการบรรทุก สิ่งของที่มีความสูงมากกว่าปกติ ก็ได้อีกเช่นกัน

การปรับรูปแบบเบาะหลัง ยังคงทำได้ใน 4 รูปแบบ นั่นคือ…

–  UTILITY MODE พับเบาะหลัง ฝั่งเดียว หรือ 2 ฝั่ง เพื่อเพิ่มความยาวของ
ห้องเก็บสัมภาระหลัง เหมาะกับการบรรทุกทีวีจอแบนหรือเมาเทนไบค์คันโปรด

LONG MODE ปรับพนักพิงเบาะหน้าโน้มราบจนต่อเนื่องกับเบาะแถวหลัง
เพิ่มเติมจากการพับเบาะหลัง เหมาะกับกระดานโต้คลื่นหรือสโนว์บอร์ด

TALL MODE คือการยกเบาะรองนั่ง พับขึ้น แล้วเอาขาตั้งพับล็อกค้างไว้
คล้ายเบาะในโรงภาพยนตร์ เหมาะสำหรับการบรรทุกต้นไม้ หรือโคมไฟ
แบบตั้งพื้น

REFRESH MODE เลื่อนเบาะคู่หน้าขึ้นมาข้างหน้าสุด แล้วปรับพนักพิง
เบาะหน้า ทั้ง 2 ฝั่ง ให้เอนหงายจนสุด จากนั้น ปรับพนักพิงเบาะแถวหลัง
ให้เอนลงเล็กน้อย เพื่อการพักผ่อนช่วงสั้นๆ

2014_09_Honda_Jazz_Interior_06_1

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ค้ำยันด้วยช็อกอัพไฮโดรลิก 2 ต้น
มีไล่ฝ้า และมีใบปัดน้ำฝน มาให้ ถึงจะมีแผงพลาสติกสีดำ ปิดมา
เรียบร้อย แต่ก็ยังแอบเสียดายว่า น่าจะปิดขึ้นไปให้ถึงระดับของ
มือจับดึงฝาท้าย ซึ่งติดตั้งอยู่ทางฝั่งขวานั่น จนครบถ้วนเรียบร้อย
ไปเสียเลย

ระบบกลอนเป็นแบบล็อกไฟฟ้า แต่ไม่ได้เชื่อมกับสวิตช์รีโมทกุญแจ
จึงยังต้องเอื้อมมือไปเปิดสวิตช์ไฟฟ้า ที่ใต้แถบโครเมียม เหนือช่อง
ใส่ป้ายทะเบียนหลัง ต่อไปตามเดิม

ช่องทางเข้า – ออกห้องเก็บของด้านหลัง มีทรวดทรงพอๆกับ Jazz รุ่น
ก่อนๆ ซึ่งยังคงรักษาจุดเด่นในการออกแบบให้ขอบด้านล่าง เตี้ยมากๆ
เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายข้าวของ หรือแม้แต่จักรยาน เข้า – ออก
จากท้ายรถ

2014_09_Honda_Jazz_Interior_06

ห้องเก็บสัมภาระ ตามปกติ มีขนาด 354 ลิตร ใส่กระเป๋าเดินทางขนาด
ใหญ่ ได้ 2 ใบ และ ขนาดกลางอีก 2 ใบ รวมเป็น 4 ใบ!

แต่เมื่อพับเบาะหลังลงทั้ง 2 ฝั่ง จะช่วยขยายพื้นที่ห้องเก็บของขึ้นไป
มากถึง 906 ลิตร เพียงพอสำหรับการแบกจักรยานเสือภูเขา 2 คันโดย
ไม่ต้องถอดล้อหน้าออกเลย ยิ่งถ้าหากลองพับเบาะนั่งด้านหน้าฝั่งซ้าย
เพิ่มอีก ก็จะได้พื้นที่วางของยาวมากถึง 2,480 มิลลิเมตร

ขณะเดียวกัน การยกเบาะรองนั่งแถว 2 ขึ้นได้ ทำให้พื้นที่วางสัมภาระ
ซึ่งต้องวางแบบตั้งฉากเท่านั้น เช่นกระถางต้นไม้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,280
มิลลิเมตร

พื้นห้องเก็บของ ยังมีขอเหล็กสำหรับเกี่ยวเชือกยึดตรึงสัมภาระไว้กับที่
เปิดยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะเจอถาดโฟม เก็บแม่แรง และเครื่องมือ
ประจำรถ หากยกถาดโฟมขึ้น ก็จะพบยางอะไหล่ ขนาดมาตรฐานมาให้

2014_09_Honda_Jazz_Interior_07

แผงหน้าปัด ออกแบบภายใต้แนวคิด Futuristic Cockpit โดยยังคงไว้ซึ่ง
แนวเส้นสายเดียวกันกับแผงหน้าปัดของรถยนต์ Honda รุ่นใหม่ๆ ในช่วง
2 ปีมานี้ แม้จะดูคล้ายคลึงกับ City ใหม่ แต่มีแค่ชิ้นส่วนด้านหลังซึ่งมอง
ไม่เห็นเท่านั้นที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพราะเปลือกนอก ถูกออกแบบ
ขึ้นมาใหม่ ให้แตกต่างกัน รหว่างทั้ง 2 รุ่น เหมือนเช่นเคย

ช่องแอร์ฝั่งซ้ายและขวา จะประดับด้วยแถบสีเงิน เช่นเดียวกับแผงหน้าปัด
ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย และกรอบช่องแอร์คู่กลาง เหนือแผงควบคุมกลาง แต่
จะไม่เล่นระดับเป็นแนวกรอบขนาดใหญ่ ล้อมรอบแผงควบคุมเครื่องเสียง
เหมือนอย่างใน City ส่วนช่องแอร์ฝั่งคนขับ แบ่งเป็น 2 ชั้น

หากเป็นรุ่นมาตรฐาน แผงหน้าปัดจะบุด้วยพลาสติกแบบเดียวกับแผงประตู
ด้านข้าง (ซึ่งก็ใช้วัสดุเดียวกับ City รุ่นที่แล้วนั่นแหละ)

แต่ในรุ่น SV กับ SV+ แผงหน้าปัดฝั่งซ้าย จะบุด้วยวัสดุสังเคราห์ มีลาย
ตะเข็บหลอก แต่ด้วยการบุวัสดุ Soft pad ซ่อนไว้ด้านหลัง ทำให้ พื้นผิว
และการสัมผัส คล้ายกับรถยนต์ระดับหรูมากขึ้น มามุขเดียวกับ City เป๊ะ

มองขึ้นไปด้านบนเพดาน ไฟส่องสว่างตรงกลางหลังคา และไฟอ่านแผนที่
แบบกดเปิดแยก 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา ยกชุดมาจาก City รุ่นเดิมเป๊ะ ตามมาให้
เห็นกันในรุ่นนี้ด้วย เช่นเดียวกับ กระจกมองหลัง ตัดแสงได้ด้วยมือคุณเอง
แผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้าแบบมีฝาปิด แต่ไม่มีไฟส่องสว่าง เพราะ
สามารถใช้ไฟอ่านแผนที่ช่วยได้ในเวลากลางคืน ซึ่ง Honda คงคิดว่า มัน
ยังคงเพียงพอ ทั้งที่จริงๆแล้ว ผมว่า ถ้าเพิ่มไฟแต่งหน้าได้อีกนิด ก็คงจะดี
แต่นั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรอบที่ล้อมรอบกระจกแต่งหน้าของ Jazz ไม่ได้
ออกแบบมาเผื่อไว้ให้ติดไฟส่องสว่าง แบบแผงบังแดดของ City

2014_09_Honda_Jazz_Interior_08

จากแผงประตูฝั่งขวา มายังฝั่งซ้าย

สวิชต์ปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า แม้จะยกชุดมาจาก City ทว่า
มีการย้ายจากตำแหน่งติดตั้ง จากใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาของ City มาอยู่ที่พนัก
วางแขนบนแผงประตู ร่วมกับ แผงสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าทั้ง 4 บาน
(มีระบบดีดกลับอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งกีดขวาง เฉพาะฝั่งคนขับ) อีกทั้งยังคง
ไม่มี สวิชต์ กดล็อกหรือปดล็อกประตูมาให้ ทั้งที่มีระบบ เซ็นทรัลล็อก
เวอร์ชันญี่ปุ่น จะมีสวิชต์ปรับระดับสูงต่ำของไฟหน้ามาให้…

ใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ ยังคงมีช่องวางแก้วน้ำ ตามเดิม เพียงแต่มีฝาพับเพื่อ
ขยายพื้นที่วางแก้วออกมาจากเดิมได้ ถัดลงไปเป็นปุ่ม ECON ใบกัญชา
สีเขียว กดเพื่อให้โปแกรมการขับขี่ แบบลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า เปิดหรี่และ
ช้าลงหลังเหยียบคันเร่ง รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ที่ลดการทำงานลงเพื่อ
เน้นความประหยัด ได้ทำงาน

ก้านสวิตช์ที่คอพวงมาลัย ยกชุดมาจาก City ฝั่งขวาเป็นก้านสวิตช์ไฟหน้า
ไฟเลี้ยว ไฟตัดหมอกหน้า และไฟสูง ส่วนฝั่งซ้าย ยังคงใช้ควบคุมใบปัด
น้ำฝน และหัวฉีดล้างกระจกหน้า

ปุ่มสวิตช์ ติดเครื่องยนต์ Push Start Ignition System (เฉพาะรุ่น V, V+,
SV และ SV+)ติดตั้งมาให้ บริเวณใต้ สวิตช์ไฟฉุกเฉิน Hazard Light

พวงมาลัย 3 ก้าน ยกชุดมาจาก City ใหม่ ทั้งยวง ปรับระดับ สูง – ต่ำ และ
ระยะใกล้ – ห่าง Telescopic มีสวิชต์ Multi-Function โดยฝั่งขวา จะติดตั้ง
สวิชต์ระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control  ส่วนฝั่งซ้าย จะมีสวิตซ์
ควบคุมเครื่องเสียง รวมทั้งปุ่มรับ-วางสายโทรศัทพ์บนพวงมาลัย (เฉพาะ
รุ่น V+,SV และ SV+) นอกจากนี้ยังมีชุดแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift
ด้านหลังวงพวงมาลัย  ด้วย( 2 รายการหลังนี้ มีเฉพาะรุ่น SV และ SV+)

2014_09_Honda_Jazz_Interior_09_EDIT

ชุดมาตรวัดเรืองแสงสีน้ำเงินพร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID แบบ
Digital (มีเฉพาะรุ่น V, V+,SV และ SV+) ยืนหยัดอยู่กับรูปแบบ 3 วงกลม
เช่นเดิม มีมาตรวัดความเร็ว วงใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง มาตรวัดรอบเครื่องยนต์
อยู่ทางซ้าย และมาตรวัดน้ำมัน อยู่ฝั่งขวาตามเดิม

แม้ว่าการจัดวางตำแหน่งชุดไฟเตือนต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งเข็มวัด และ Font
ตัวอักษร จะยกชุดมาจาก Honda City รุ่นล่าสุด ชนิดถ่ายเอกสารกันออกมาเลย
แต่ถ้าดูดีๆ จะมีรายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อย

ชุดมาตรวัดของ Jazz จะเพิมกรอบวงกลมทรงกระบอกมาให้ทั้ง 3 วงกลม เพื่อ
สร้างบุคลิกสไตล์สปอร์ตให้สอดคล้องกับตัวรถ ชุดไฟเตือนสีเหลือง มุมซ้ายบน
เหนือมาตรวัดรอบฯ มีการปรับตำแหน่งนิดหน่อย เมื่อเทียบกับมาตรวัดใน City
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเพิ่มแถบเรืองแสงสีฟ้า ซ้อนลงไปด้านหลังตัวเลขบอก
ความเร็ว กับรอบเครื่องยนต์  อีกทั้งจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID ยังเปลี่ยนเป็น
สีฟ้าตามไปด้วย

Font ตัวเลข อ่านได้สบายตาขึ้่น โดยเฉพาะในขณะใช้ความเร็วสูง แต่ขีดย่อย
บอกความเร็วนั้น ยังเล็กไปนิดนึง ต้องเพ่งกันสักหน่อย  มีไฟบอกตำแหน่ง
เกียร์อัตโนมัติ อยู่ที่ใต้มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และแน่นอนว่า ยังคงไม่ติดตั้ง
มาตรวัดอุณหภูมิระบบหล่อเย็น และหม้อน้ำตามเคย มีแค่สัญญาณไฟเตือน
สีน้ำเงิน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ในกรณีเครื่องยนต์ร้อนจัดแค่นั้น

2014_09_Honda_Jazz_Interior_10_EDIT

ชุดเครื่องเสียง เป็นแบบ Advance Touch Audio หน้าตาเหมือนกันกับ
Honda City , HR-V และ Odyssey เปี๊ยบ ประกอบด้วยจอ Monitor สี
ขนาด 7 นิ้ว Touch Screen ใช้ควบคุม วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น
CD / MP3 แบบ 1 แผ่นพร้อมลำโพง 6 ชิ้น มีช่องเสียบ USB  2 ตำแหน่ง
และช่องเชื่อมต่อระบบ HDMI อีก 1 ตำแหน่ง

ชุดเครื่องเสียง สามารถเชื่อมต่อได้กับโทรศัพท์ Smart Phone ทั้ง iPhone
หรือ Android ถ้าคุณลง Application ของ Honda ที่ชื่อ Honda Lynx ไว้
ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับรถของรคุณได้โดยตรง รวมทั้ง ระบบนำทางผ่าน
ดาวเทียม GPS Navigation System ที่จะแสดงขึ้นหน้าจอให้คุณ ได้ทันที

แถมยังรองรับระบบสั่งการ ด้วยเสียง SIRI รวมทั้งมีระบบ Bluetooth เชื่อม
ระบบสัญญาณโทรศัพท์ ไว้พูดคุยแบบไร้สาย ได้ยินกันทั้งคันรถ มีสวิชต์
ควบคุมบนพวงมาลัย แถมยังมีหน้าจอแสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
และข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถมาให้อีกต่างหาก

คุณภาพเสียง ถือว่าฟังได้ อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ไม่ได้เด่นไปกว่าชุดเครื่องเสียง
ของ Honda Accord เท่าใดนัก เสียงของโทรศัพท์ ขณะพูดคุย ชัดเจน แจ่มใส
การเชื่อมต่อ Bluetooth ทำได้ ไม่ยาก อาจต้องรอกันสักนิด หน้าจอใช้งานได้
ง่าย และสามารถแสดงผลได้ ทั้งภาษาอังกฤษ ไทย ญี่ปุ่น

จอมอนิเตอร์ ยังรับสัญญาณภาพ จากกล้องขนาดเล็ก ที่ใต้แถบโครเมียม
เหนือช่องใส่กรอบป้ายทะเบียน ซึ่งมีข้อด้อยคือ เวลาฝนตก คราบน้ำจะ
บดบังมากทำให้การมองเห็นภาพจากกล้อง ไม่ดีเฉพาะในช่วงฝนตก
อีกทั้ง เส้นทึบสีเหลือง อันเป็นช่องกะระยะ ยังไม่สามารถหมุนตาม
การเลี้ยวพวงมาลัยได้เลย กระนั้น ยังสามารถเลือกมุมมองจากกล้อง
ได้ 3 แบบ คือ มองแบบ Fish Eye เห็นภาพมุมกว้าง เห็นภาพตามจริง
และมองกดลงไปในมุมต่ำ

ชุดเครื่องเสียง จอ มอนิเตอร์ และอุปกรณ์ความบันเทิงต่างๆ เหล่านี้
จะมีมาให้ เฉพาะ รุ่นย่อย V+, SV และ SV+ เท่านั้น

ด้านข้างหน้าจอมอนิเตอร์ เป็นสัญญาณไฟฉุกเฉิน Hazard Light
อันที่จริง ตำแหน่งตดตั้งถือว่าเหมาะสม เพียงแต่ว่า ถ้าอยากให้มัน
เรืองแสง ต้องกดปุ่มติดเครื่องยนต์ ให้ไปอยู่ในตำแหน่ง Acc On
เสียก่อน ถ้าไฟในแบ็ตเตอรี หมดเกลี้ยง คาดว่า คงคลำหาปุ่มนี้
ในตอนกลางคืน ยากอยู่ เพราะมันมืดมาก กลืนไปกับแผงควบคุม
Piano Black นั่นแหละ

ใต้ชุดเครื่องเสียง เป็นเครื่องปรับอากาศ แบบอัตโนมัติ Digital ซึ่ง
มีเฉพาะรุ่น V+ , SV และ SV + เท่านั้น ยกชุดมาจาก City หากคุณ
เครื่องยนต์ หน้าจอจะมืดดำ แต่ถ้าติดเครื่องยนต์เมื่อใด จะมีแสงไฟ
ของระบบต่างๆ ปรากฎขึ้นมาเอง แอร์ทำงานได้ดี เย็นเร็ว แม้จะยัง
ไม่มีระบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้ก็ตาม

ข้อด้อยก็เหมือนกับใน City ใหม่ คือ นอกจากสวิตช์แอร์ จะย้ายจาก
ด้านข้างชุดเครื่องเสียง ลงมาไว้ใต้ชุดเครื่องเสียงแล้ว ถ้าต้องการ
ปรับอุณหภูมิขณะขับขี่ ก็ต้องละสายตาจากถนนลงมามองหน้าจอ
ไม่สามารถใช้มือคลำสวิตช์ได้อย่าง Jazz รุ่นก่อน

ถัดลงไป เป็นช่องวางของ พร้อมช่องวางแก้วน้ำขนาดกำลังดี ปรับ
พื้นที่ไว้ใส่ของจุกจิกได้ และเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของช่องปลั๊กต่างๆ
ทั้ง USB HDMI และ ปลั๊กไฟ 12 V

พื้นที่เหนือ ลิ้นชักใส่ของ บริเวณ ผู้โดยสารด้านซ้าย จะบุนุ่มด้วย
วัสดุสังเคราะห์ และใช้ลายฝีเย็บแบบสังเคราะห์ เหมือน Toyota
Vios แต่ ดูดีกว่ากันนิดนึง ส่วนลิ้นชักด้านล่าง มีความจุพอกันกับ
Jazz รุ่นเดิม เพียงพอให้ใส่ เอกสารประจำรถ ทั้งคู่มือผู้ใช้รถ สมุด
รับประกันคุณภาพ และกรมธรรม์ประกันภัย ก็แทบจะไม่หลือพื้นที่
อื่นใดกันอีกแล้ว

2014_09_Honda_Jazz_Interior_12

มองลงมายังด้านข้างลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า มีช่องวางของ
อเนกประสงค์ 2 ช่อง ติดกับเบรกมือ ขณะที่ กล่องเก็บของแบบมีฝาปิด
เป็นพื้นที่วางแขนในตัวนั้น มีขนาดใหญ่พอที่จะวางกล้องถายรูปแบบ
Digital ขนาดเล็ก ได้สบายๆ มีช่องเสียบ USB อีก 1 จุด พร้อมฝาปิด
เก็บซ่อนอยู่ แต่ ฝาปิดที่บุด้วยผ้าสากๆ ลายเดียวกับผ้าบุแผงประตูนั้น
แม้จะติดตั้งเพิ่มเข้ามา แต่กลับไม่สามารถวางแขนได้เลยแม้แต่น้อย
ถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างมากที่ Honda เลือกตัดจุดเด่นสำคัญ ซึ่ง
ลูกค้าชื่นชอบ ทิ้งออกไป

2014_09_Honda_Jazz_Visibility_01

ทัศนวิสัยด้านหน้า ถือว่าเป็นการนำเอา ข้อดีและข้อด้อยของ Jazz
ทั้งรุ่นแรก และรุ่น 2 มาปรับปรุงให้ลงตัวยิ่งขึ้น

แน่ละครับ การออกแบบเสาหลงคาคู่หน้า ให้ล้ำไปข้างหน้าแบบนี้
มันหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการบดบังของเสาหลังคาค่หน้า A-Pillar
ไปแทบไม่ได้เลย เพียงแต่ว่า ถ้าสังเกตดีๆ ปัญหาการบดบัง ลดลง
จากรถรุ่นก่อน ซึ่งอาจมีผลจากกรถอยเสาหลังคา ไปทางด้านหลัง
ของตัวรถเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

การมองเห็นถนนข้างหน้า ชัดเจนดี บางคนอาจไม่คุ้นชินกับการ
มีเสาค้ำหลังคา 2 ต้น มาขวางหูขวางตา แต่ขอยืนยันเลยว่า มัน
แอบดีขึ้นจากรถรุ่นก่อน นิดนึงนะ

2014_09_Honda_Jazz_Visibility_02

มองไปทางขวา เสาหลังคา A-Pillar ฝั่งขวา ยังคงมีการบดบังรถ
และจักรยานยนต์ ที่แล่นสวนทางกันบนทางโค้งขวา ของถนนแบบ
สวนกันสองเลน อยู่บ้าง แต่ต้องถือว่า ลดน้อยลงจาก Jazz รุ่นก่อนๆ
ทั้ง 2 รุ่น ไปนิดหน่อย ไม่มากนัก

กระจกมองข้าง มีขนาดใหญ่กำลังเหมาะสม แต่กรอบกระจกด้านนอก
ก็ถูก พลาสติกด้านใน เบียดบังพื้นที่กรอบฝั่งขวา ไปบ้างพอสมควร

2014_09_Honda_Jazz_Visibility_03

หันมาทางซ้าย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ถูกลดขนาดกระจก
โอเปราสามเหลี่ยมลงมา เพื่อความสมดุลย์ลงตัวในด้านรุปลักษณ์ของ
ตัวรถ ทำให้ยังแอบมีการบดบัง รถที่แล่นสวนทางมา ขณะเลี้ยวกลับรถ
ใต้ทางรถไฟฟ้า BTS ได้พอสมควรเลยละ!

กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ยังมีขนาดเหมาะสมกับตัวรถ และการมองเห็น
ของคนขับ แต่ถ้าปรับให้เห็นตัวถังรถด้านข้างน้อยๆ ขอบด้านในของ
เปลือกครอบกระจกมองข้าง จะยังคงเบียดบังพื้นที่ริมซ้ายของกระจก
เข้ามานิดๆอยู่ดี

2014_09_Honda_Jazz_Visibility_04

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลังนั้น Jazz รุ่นที่ 2 นั่นก็ถูกลดขนาดกระจกโอเปรา
ด้านหลังจนเล้กลงจาก Jazz รุ่นแรก มากพอแล้ว ในรุ่นล่าสุด ขนาดของ
กระจกโอเปรา ยิ่งถูกลดทอนลงไปจากเดิมอีก ยิ่งลดการมองเห็นลงไป
มากเอาเรื่อง ขอแนะนำว่า ควรใช้ความระมัดระวัง ขณะจะเปลี่ยนเลน
เบี่ยงไปทางซ้าย หรือเข้าช่องทางคู่ขนาน ให้มากขึ้นกว่ารถรุ่นก่อนๆ

ส่วนกระจกบังลมหลัง มีขนาดใหญ่โตขึ้น พอจะช่วยทดแทนให้มอง
เห็นรถยนต์หรือจักรยายนยนต์ที่แล่นตามมาได้ดีขึ้นนิดๆ ไม่เยอะนัก

2014_09_Honda_Jazz_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้ว่าในญี่ปุ่น Jazz (ในชื่อ Fit) จะมีเครื่องยนต์เบนซิน (ไม่นับ Hybrid)
ให้เลือก ทั้งแบบ 1,300 และ 1,500 ซีซี แต่ขุมพลังของ Jazz ใหม่ เวอร์ชัน
ไทย จะไม่เหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น อย่างชัดเจน

ในขณะที่ เวอร์ชันญี่ปุ่น จะวางเครื่องยนต์ L15B บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,496 ซีซี  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.5 : 1
11.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบแปนผันวาล์ว แบบ
i-VTEC และ ระบบลิ้นคันเร่ง แบบไฟฟ้า Drive-By-Wire แรงสะใจถึง
132 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 155 นิวตันเมตร
(15.8 กก.-ม.) ที่ 4,600 รอบ/นาที

ส่วนรุ่น 1,300 ซีซี จะวางเครื่องยนต์เดิม L13B บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,317 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 78.7 มิลลิเมตร กำลังอัด 13.5 : 1
จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC แรงเท่าเดิม
100 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 119 นิวตันเมตร (12.1
กก.-ม.) ที่ 5,000 รอบ/นาที

แต่สำหรับเวอร์ชันไทย Honda เลือกใช้วิธีที่ง่าย และสะดวกในการบริหาร
จัดการต้นทุน รวมทั้งการจัดการด้านอะไหล่ โดยยกขุมพลัง ของ City ใหม่
ให้มาช่วยประจำการใน Jazz กันอีกรุ่นหนึ่ง และในช่วงเปิดตัว 1 ปีแรก
จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียงแบบเดียว เหมือนรุ่นที่ 2 ก่อนหน้านี้

ขุมพลังของ Jazz ใหม่ เวอร์ชันไทย เป็น เครื่องยนต์รหัส L15Z1 บล็อก
4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,497 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.4
มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI พร้อม
ระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC และ ลิ้นคันเร่ง แบบไฟฟ้า Drive-By-Wire

อันที่จริง มันก็คือเครื่องยนต์บล็อกเดิมที่เคยวางอยู่แล้วใน City กับ Jazz
รุ่นที่ผ่านมานั่นเองครับ แต่ด้วยเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงทั้งกล่องสมองกล
และชิ้นส่วนภายใน ให้รองรับการเติมน้ำมัน Gasohol ระดับ E85 ได้ แถม
ยังต้องมีการปรับจูนอีกเล็กน้อยเพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro IV

ทั้งหมดนั่นจึงทำให้ กำลังสูงสุด จึงลดลงจาก 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,600
รอบ/นาที เหลือ 117 แรงม้า (PS) ที่รอบต่ำลงเหลือ 6,000 รอบ/นาที แต่
แรงบิดสูงสุด เพิ่มขึ้นจาก 145 นิวตันเมตร (14.77 กก.-ม.) ที่ 4,800
รอบ/นาที เป็น 146 นิวตันเมตร (14.87 กก.-ม.) ที่ 4,700 รอบ/นาที

2014_09_Honda_Jazz_Engine_02_Transmission

ถ่ายทอดกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีในรุ่น
S MT เพียงรุ่นเดียว ที่เหลือ จะเปลี่ยนจากเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ มาใช้
ใช้เกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผัน CVT แบบ มี Torque Converter พร้อม
ระบบ Shifting Control of Cornering Gravity และ G Design Shift

ในรุ่นย่อย SV และ SV+ จะมีแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ติดตั้งที่บริเวณ
ด้านหลังของพวงมาลัย เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกเปลี่ยนตำแหน่งล็อกของ
พูเลย์ในชุดเกียร์ได้ 7 ตำแหน่ง มีช่องเสียบกุญแจ Shift Lock มาให้ สำหรับ
การปลดเกียร์ว่าง หลังจากจอดรถในกรณี จำเป็นต้องจอดขวางชาวบ้านเขา
เหมือนเช่นรุ่นเดิม

อัตราทดเกียร์เหมือนกันกับ City ไม่ผิดเพี้ยน ดังนี้

อัตราทดเกียร์………………………2.562-0.408
อัตราทดเกียร์ถอยหลัง…………..2.706-1.382
อัตราทดเฟืองท้าย………………..4.992

ตัวเลขสมรรถนะจากการจับเวลาของ Headlightmag จะเป็นอย่างไรนั้น
เรายังคงทดลองกันด้วยมาตรฐานเดิม คือใช้เวลากลางคืน เพื่อให้เกิดความ
ปลอดภัยกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง และตัวเราเอง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน คือผู้ขับ
และผู้ร่วมทดลองอีกคนหนึ่ง คือน้อง Joke V10ThLnD หนึ่งในสมาชิกของ
The Coup Team แห่งเว็บเรา น้ำหนักรวมแล้ว ไม่เกิน 170 กิโลกรัม และ
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา มีดังนี้

2014_09_Honda_Jazz_Data_01 2014_09_Honda_Jazz_Data_02 2014_09_Honda_Jazz_Data_03 2014_09_Honda_Jazz_Data_04

ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นโหมด 0 – 100 หรือ
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่งของ Jazz ใหม่ ไม่แตกต่างจาก City ใหม่
ไปเลย ถ้าจะด้อยกว่ากัน ก็แค่เศษเสี้ยววินาที ซึ่งไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขกับ Jazz รุ่น GE เดิม การเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติ
อัตราทดแปรผัน CVT ย่อมช่วยให้การลากรอบเครื่องยนต์เกิดความต่อเนื่อง
มากยิ่งขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ตัวเลขอัตราเร่งของ Jazz GK รุ่นใหม่นั้น
ดีขึ้นกว่า GE รุ่นก่อน อย่างชัดเจน ถึง 1 วินาที ในโมหด 0 – 100 กิโลเมตร/
ชั่วโมง และดีขึ้นถึง 2 วินาที ในโหมด 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง

จากตัวเลขในตารางดังกล่าว ชัดเจนว่า Jazz ใหม่ ยังคงทำตัวเลขอัตราเร่ง
ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก พิกัด B-Segment ขนาด
เครื่องยนต์ ไม่เกิน 1,600 ซีซี เหมือนเช่นเคย อยู่ดี

2014_09_Honda_Jazz_Engine_03_Top_Speed

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น แม้จะเพิ่มขึ้นจาก Jazz GE รุ่นเดิม ถึง 10 กิโลเมตร/
ชั่วโมง แต่ กลับทำได้เพียงแค่ 185 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อให้เหยียบคันเร่งจน
จมมิดเต็มตีน แช่ยาวขนาดไหน ให้ตายยังไง ก็ยังไม่อาจเทียบเท่ากับ City
รุ่นใหม่ ซึ่งทำได้ถึง 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เหตุผลมีทั้งเรื่องหลักอากาศพลศาสตร์ รูปแบบบั้นท้ายของตัวรถที่ไม่เอื้อให้
อากาศหมุนวนน้อยลง ซึ่งเป็นธรรมชาติของรถยนต์ท้ายตัดอยู่แล้ว อีกทั้งการ
รอให้ถึงความเร็วสูงสุดนั้น แม้จะไวขึ้นกว่าเดิม แต่แค่นิดเดียว ยังใช้เวลารอ
นานอยู่พอสมควร กว่าที่เข็มความเร็วจะไต่ขึ้นไปถึงตัวเลขสูงสุด และบางที
อาจต้องใช้เนินส่งช่วยสักเล็กน้อย

ย้ำกันตรงนี้เหมือนเช่นเคยว่า เราทำการทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูกัน ด้วย
เหตุผลของการให้ความรู้ เพื่อการศึกษา ไม่ได้กดแช่กันยาว หรือมุดกันจน
เสี่ยงอันตรายต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะ
เราไม่อยากเห็นใครต้องเสี่ยงชีวิตมาทำตัวเลขแบบนี้กันเอาเอง ดังนั้น จง
อย่าทำตามอย่างเป็นอันขาด เพราะถ้าหากพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงชีวิต
คุณเอง และเพื่อนร่วมทาง เราจะไม่รับผิดชอบในความปลอดภัยของคุณ
แต่อย่างใดทั้งสิ้น! อีกทั้งเราไม่สนับสนุน ให้ใครมาทดลองทำความเร็ว
สูงสุด แบบนี้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร

2014_09_Honda_Jazz_Engine_04

ในการขับขี่ใช้งานตามชีวิตประจำวันจริงๆ การตอบสนองจากเครื่องยนต์และ
ระบบส่งกำลังของ Jazz ใหม่ เหมือนกันกับ City ไม่มีผิดเพี้ยน แม้กระทั้งการ
ตัดลดรอบเครื่องยนต์ ในช่วงจาก 6,000 กว่าๆ เหลือ 5,000 กว่าๆ ก่อนจะไล่
กลับขึ้นไปใหม่ ในขณะที่คุณเข้าเกียร์ S พร้อมกับเล่นแป้น Paddle Shift

แต่นั่นจะเป็นเฉพาะช่วงความเร็วไม่เกิน 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่านั้น เพราะ
ถ้าเกินกว่านั้น ความเร็วของรถ จะไต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ได้ช้ากว่า City แถมยัง
ต้องใช้เวลานานกว่า และความเร็วช่วงปลาย ก็หมดลงเร็วกว่า อย่างที่เห็นใน
ภาพข้างบนไปแล้ว

อากาศพลศาสตร์มีส่วนครับ รูปแบบตัวถังของรถยนต์ Sedan เอื้อประโยชน์
ในการจัดการกับกระแสลมหมุนเวียนด้านท้ายรถมากกว่า และมีส่วนช่วยใน
การออกแบบ

แล้วถ้าถามว่า อาการความเร็วค้างที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วเร่งไม่ขึ่นนั้น
เกิดขึ้นกับผมด้วยหรือเปล่า?

ผมก็เจอครับ แต่เป็นคนละรูปแบบ อยู่ในเกณฑ์ไม่ใหญ่หลวง ยังพอรับได้ คือ
เมื่อเราทดลองจับเวลา จับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเสร็จ และใช้น้ำมันเบนซิน
95 Techron ของ Caltex ถังแรกจนเกือบหมด ผมจึงลองเปลี่ยนไปเติม Shell
Fuel Save Gasohol 95 ก่อนจะขับกลับเข้าบ้าน ซึ่งระยะห่างจากปั้ม Shell
แห่งนั้น ถึงบ้านผม แค่ 3 กิโลเมตร จึงยังไม่เห็นผล

ทว่า บ่ายรุ่งขึ้น ผมจะต้องไปจัดรายการวิทยุ DR!VE By J!MMY ที่ FM 93.5
กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต พอออกจากบ้าน มุ่งเข้าสู่ถนนวงแหวน
กาญจนาภิเษก ในจังหวะที่ผมกดคันเร่งลงไปเต็มตีน เพื่อเรียกอัตราเร่งแซง
เท่านั้นแหละครับ ผมพบว่า  รอบเครื่องยนต์ จากเดิมที่ลากขึ้นไปได้ถึง 6,000
รอบ/นาที คราวนี้ กลับลากสูงได้แค่ 5,000 – 5,500 รอบ/นาที เท่านั้น และ
ตัวรถมีอาการตื้อเล็กน้อย เป็นเช่นนี้ไปพักใหญ่ จนกระทั่งมาโผล่ช่วงปลายทาง
มอเตอร์เวย์ ช่วงมัสยิด พระราม 9 การเร่งแซงจึงกลับมาเป็นปกติ คือเหยียบจน
จมมิด ลอบเครื่องยนต์ ก็ถูกลากกลับไปที่ 6,000 รอบ/นาที ได้ตามเดิม

หลังจากนั้น ก็ไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นอีกเลย…

เสียงกระแสลม ถือว่าเงียบขึ้นกว่ารุ่นเดิม นิดนึง แต่พอหลังพ้นจากความเร็ว
ระดับ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เสียงลมปะทะจากกระจกบังลมหน้า และ
ด้านข้าง จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วที่เพิ่มขึ้นไป

แต่ถ้าเทียบกันแล้ว เสียงจากกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังของ Mazda 3 ใหม่
ยังถือว่าดังกว่า Jazz ใหม่ เพียงนิดเดียวจริงๆ

2014_09_Honda_Jazz_Engine_06_Chassis

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS (Electronics
Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร ถูกปรับแต่งมาให้ตอบสนองได้ เบา
กำลังดี และสัมผัสได้ชัดเลยว่า มันถูกปรับแต่งให้ตอบสนองได้อย่างเป็นธรรมชาติ
และไว้ใจได้ในความเสถียร และแม่นยำ มากที่สุดเท่าที่พวงมาลัยไฟฟ้าจะทำได้

แน่นอนว่า พวงมาลัยของ Jazz ถูกปรับเซ็ตมาในแนวทางเดียวกับพวงมาลัยของ
City ใหม่ ซึ่งดูแล้ว ทั้งคู่ น่าจะอิงรปแบบมาจากบุคลิกพวงมาลัยไฟฟ้า MA-EPS
ของ Civic FB มาอย่างชัดเจน เพราะการตอบสนอง ความแม่นยำในการเลี้ยวไป
ตามทางโค้ง ความไว ระยะฟรีที่เซ็ตมา และแม้แต่น้ำหนักพวงมาลัย ในแต่ละช่วง
ของการขับขี่ มันคล้ายคลึงกับ City ใหม่ และ Civic FB อยู่มากๆ

ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักของมัน ก็เบาพอกันกับ City ใหม่ และ Civic FB นั่นละ
แรงขืนมือ ลดน้อยลงกว่ารุ่นเดิม แต่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้างนิดนึง การเลี้ยวในช่วง
ความเร็วต่ำ แทบไม่เหลือ อาการ Delay ของพวงมาลัยแล้วต้องการหมุนแค่ไหน
มันก็จะเลี้ยวไปแค่นั้น ตามนั้น ไม่ไวเกินไป และไม่หน่วงเกินไป น้ำหนักในช่วง
ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมมองว่า ถ้าคิดเสียว่านี่คือพวงมาลัยสำหรับ
รถยนต์ขนาดเล็กที่ถูกซื้อไปใช้งานในเขตเมืองเป็นหลักแล้วละก็ การตอบสนอง
ช่วงความเร็วต่ำ ลงตัวมากขึ้นกว่ารุ่นเดิม จนแทบไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรอีก ต้อง
ถือว่าลงตัวสุดใน Jazz ทั้ง 3 รุ่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงความเร็วเดินทาง หรือความเร็วสูง แม้ว่าพวงมาลัยจะนิ่ง ส่วน
On Center Feeling กำลังดี ไม่วอกแวก ไม่เบี่ยงไปมา สามารถควบคุมได้อย่าง
สบายๆ แต่น้ำหนักของพวงมาลัยที่เพิ่มขึ้นจากช่วงความเร็วต่ำ กลับน้อยมาก และ
ไม่แตกต่างกันชัดเจนเท่าที่ควร

อยากขอให้เพิ่มน้ำหนัก หรือความหนืด ในช่วงความเร็วหลังจาก 80 กิโลเมตร/
ชั่วโมง มากกว่านี้อีกนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการรักษาตำแหน่งของ
พวงมาลัยให้ตั้งตรงๆ มากกว่านี้ แค่นั้นก็พอแล้ว

ระบบกันสะเทือน ยังคงใช้รูปแบบดั้งเดิมจากรถรุ่นก่อน ด้านหน้าเป็นแบบ
แม็คเฟอร์สันสตรัตพร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ Torsion
Beam H-Shape

ในช่วงความเร็วต่ำ ช่วงล่างมีอาการตึงตัง สะเทือนไปตามหลุมบ่อ และพวก
รอยต่อผิวถนน เพิ่มขึ้นจาก City ใหม่ ชัดเจน ผมมองว่า City ได้เปรียบกว่า
ในการ ซับแรงสะเทือนจากขับขี่ไปบนพื้นผิวขรุชระ

แต่ถ้าออกนอกเมือง หรือขึ้นทางด่วน Jazz ใหม่ จะให้ความมั่นใจได้ใน
ระดับหนึ่ง ช่วงล่างที่เซ็ตมาแข็งขึ้นกว่า City นิดนึงนั้น เอาเข้าจริงแล้ว
มันกลับไม่ได้ส่งผลให้เกิดความมั่นใจที่เหนือชั้นกว่า City ใหม่เลย
แม้ว่าตัวรถจะยังนิ่ง แต่ในจังหวะ Rebound หลังเจอคอสะพาน ก็ชัดเจน
ว่าช่วงล่างนั้น ยังคงเซ็ตมาในแนวนุ่มกว่า Jazz รุ่นเดิมอยู่ดี

ในจังหวะการเข้าโค้งนั้น ตัวรถจะเอียงเพิ่มขึ้นจาก Jazz รุ่นเดิม จนสัมผัส
ได้ แม้จะยังให้ความมั่นใจในการเข้าโค้ง ช่วงความเร็วสูง ได้ดีในระดับเท่าๆ
กัน หรือใกล้เคียงกันกับ City ใหม่ ก็ตาม มันไม่ได้หนักแน่น แต่มันเบากว่า
และคล่องแคล่วขึ้นนิดหน่อย

ถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า ช่วงล่างของ Jazz ใหม่ นุ่มกว่ารุ่นเดิมเยอะ
เพราะของเดิม ถือว่าค่อนข้างแข็งกระด้าง แต่ยังให้ความรู้สึกแน่นกว่ารุ่นใหม่
อยู่พอสมควร ขณะใช้ความเร็วเดินทาง แถวๆ 100 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ City ใหม่ จะเห็นความแตกต่างว่า ช่วงล่าง Jazz ใหม่
แอบแข็งกว่า City ใหม่ ในช่วงความเร็วต่ำ มีอาการกระเทือนขณะขับผ่าน
หลุมบ่อ หรือรอยต่อถนน ตึงตังชัดเจนกว่า City ใหม่

ระบบห้ามล้อ จากเดิมที่เคยให้ ดิสก์เบรก มาครบ 4 ล้อ คราวนี้ ทีมวิศวกร
คงมองว่า รถยนต์ขนาดเล็ก อย่าง Jazz นั้น ก็เหมือนกันกับ City นั่นแหละ
คือไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเบรกแบบนี้ เพราะมอง ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะ
ขับรถกันไม่เร็ว พวกเขาก็เลย ยังคงใช้บริการ ดิสก์เบรกคู่หน้า ขนาด 14 นิ้ว
จากรถรุ่นเดิม และมีครีบระบายความร้อนมาให้ แต่ถอดจานเบรกคู่หลังทิ้ง
แล้ว หันกลับมาใช้ ดรัมเบรค “ทุกรุ่น ทั้งหมด!” เหมือนกันกับคู่แข่งอย่าง
Toyota Vios และ Yaris ใหม่ นั่นแหละ!!

เพื่อชดเชยกับการหายตัวไปของจานเบรกคู่หลัง Honda เลยเอาใจลูกค้า
ด้วยการติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force
Distributor) ไปจนถึง ระบบควบคุมการทรงตัว VSA (Vehicle Stability
Control) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HSA (Hill Start
Assist) และ สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ขณะเบรคกระทันหัน ESS
(Emergency Stop Signal) ให้มา “ครบทุกรุ่น!!!” เป็นการชดเชย

สัมผัสที่ได้จากการเบรก คราวนี้ไม่แตกต่างจาก City เท่าใดนัก ให้ความ
นุ่มนวล ในแบบของระบบเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม ที่คุ้นเคยกันดี แป้น
เบรก มีระยะเหยียบยาวกำลังเหมาะ สัมผัสจากแป้น นุ่มนวล แต่ยังตามสั่ง
ให้ความต่อเนื่องดีใช้ได้ ถ้าคุณต้องการให้รถชะลอลงเท่าไหร่ ก็เหยียบแป้น
เบรกลงไปเท่าที่ต้องการ แค่นั้น เซ็ตเบรกมาเอาใจวัยรุ่นมหาวิทยาลัยชัดๆ
แป้นเบรกค่อนข้างไวในระดับหนึ่ง แตะปุ๊บ สัมผัสได้ว่า เบรกเริ่มทำงานไว

การหน่วงความเร็ว ทำได้ทันใจในระดับที่รถยนต์ระดับราคานี้ ควรเป็น แต่
เบรกไม่แข็งครับ นุ่มเลยละ ต่อให้ต้องชะลอ หรือหน่วงความเร็วลงมาอย่าง
กระทันหัน ภาพรวมแล้ว ระบบเบรก ถือว่า มั่นใจได้ในระดับหนึ่ง เหมือน City
ควบคุมการเบรกได้ตามสั่ง มากขึ้นกว่าเดิม นิดหน่อย

2014_09_Honda_Jazz_Engine_09_Body_Structure

ด้านความปลอดภัย โครงสร้างตัวถังยังคงถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวทาง
G CON ที่ Honda ยืนหยัดใช้งานมานาน เพื่อให้โครงสร้างตัวถังสามารถ
รับและส่งกระจายแรงปะทะไปยังทั่วทั้งคันรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วย
ลดการเสียรูปของห้องโดยสารให้น้อยลง ขณะที่ผู้โดยสารต้องปลอดภัย

นอกจากนี้ เฉพาะรุ่นท็อป SV+ ยังติดตั้ง ถุงลมนิรภัยให้มากถึง 6 ตำแหน่ง
ทั้คู่หน้า ด้านข้าง i-Side SRS และ ม่านลมนิรภัย Side Curtain SRS ทั้ง
ฝั่งซ้าย – ขวา

2014_09_Honda_Jazz_Engine_10_Crash_Test

ด้วยการทดสอบการชนของ Honda ที่เข้มงวด ทั้งใน Crash Test Simulator
รวมทั้ง การทดสอบชน ในสภาพจริง ณ ศูนย์ทดสอบการชนที่ Honda R&D
ในเมือง Utsunomiya จังหวัด Tochigi ทำให้ Jazz ใหม่ ผ่านมาตรฐานการ
ทดสอบการชน จากหน่วยงานระดับโลก ทั้ง EuroNCAP , AseanNCAP
และ ANCAP (Australia) ได้ในระดับ 5 ดาว ทั้งหมด!

รายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปอ่านดูได้ที่
http://www.euroncap.com/en/results/honda/jazz/21484
http://www.ancap.com.au/safety-ratings/honda/jazz/db03f9
http://www.aseancap.org/honda-jazz/

2014_09_Honda_Jazz_Fuel_Consumption_01

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

หลายคนคงอยากรู้ว่า การปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ในคราวนี้ นอกจากจะทำให้
Jazz ใหม่ แรงขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังจะประหยัดน้ำมันกว่าเดิมได้มากน้อยแค่ไหน
และแตกต่างจาก City ใหม่ หรือไม่

เราจึงยังคงใช้วิธีการทดลองตามมาตรฐานดั้งเดิม คือการพารถไปเติมน้ำมัน เบนซิน
95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex บนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า
BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ถึงแม้ว่า City รุ่นใหม่ เราเขย่ารถตามมาตรฐานปกติ แต่เนื่องจาก Jazz ใหม่ ยังคง
ติดตั้งถังน้ำมันไว้ ใต้เบาะคู่หน้า ทำให้คอถังน้ำมันยาวกว่ารถยนต์ทั่วไป ยิ่งเติม
กรอกน้ำมันแบบเขย่ารถลงไปนานแคไหน มันก็ไม่เต็มง่ายๆ และอาจทำให้ผล
ตัวเลขออกมาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง (คือดีสูงเด่นเกินปกติ)

เราจึงเติมน้ำมันให้กับ Jazz แบบ ไม่เขย่ารถ เหมือนเช่นที่ผมเคยทำมาแล้ว กับ
Jazz ทั้ง 2 รุ่นก่อนหน้านี้

สักขีพยานและผู้ร่วมทดลองขับวันนี้ คือ น้อง Toyd จาก The Coup Channel
ซึ่งพอจะมีเวลาว่างมาช่วยงานกันสักหน่อย

2014_09_Honda_Jazz_Fuel_Consumption_02

เมื่อเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง เราก็ คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถ
ไปเลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามซอยอารีย์ ออกปากซอย
โรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ถนนพระราม 6 ไปเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน ขับไปเรื่อยๆ
จนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก อุดรรัถยา ที่ด่านบางปะอิน ก่อนจะเลี้ยวกลับย้อน
ขึ้นทางด่วนสายเดิม ขับกลับมาเข้ากรุงเทพฯกันอีกครั้ง ด้วยมาตรฐานเดิมคือ
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และ นั่ง 2 คน

คราวนี้ เพื่อรักษา ความเร็ว ให้นิ่งยิ่งขึ้น เราเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
Cruise Control ซึ่งยังคงมีนิสัยเดิมๆ แบบที่พบด้ใน ระบบ Cruise Control
ของรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ นั่นคือพยายามชดเชยความเร็วรถเขณะขึ้นทางชัน ด้วยการ
เร่งเครื่องยนต์เพิ่มให้โดยไม่จำเป็น

เมื่อถึง ทางลง จากทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน
เลี้ยวกลับที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
พหลโยธิน กันอีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถัง เอาแค่เพียงให้
หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนครั้งแรกที่เริ่มต้นทดลอง

2014_09_Honda_Jazz_Fuel_Consumption_03

ต่อไปนี้คือตัวเลขที่ Jazz ใหม่ ทำได้

ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.1 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับเฉลี่ย 5.83 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.96 กิโลเมตร/ลิตร

2014_09_Honda_Jazz_Data_05 2014_09_Honda_Jazz_Data_06 2014_09_Honda_Jazz_Data_07 2014_09_Honda_Jazz_Data_08

ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขแล้ว ถือว่า Jazz ใหม่ ยังคงรักษามาตรฐานด้านความประหยัด
น้ำมันเชื้อเพลิง ไว้ในระดับที่พอๆกันกับรุ่นก่อน หากจะมองว่าดีขึ้น ก็ดีกว่ากันแค่
เพียงเล็กน้อย ไม่ได้เยอะอย่างที่คิด ต้องยอมรับว่า Ford Fiesta ทำตัวเลขออกมาได้
ประหยัดกว่า แต่นั่นคือกรทดลองขับในระยะทางยาวๆ ไกลๆ หากจะถามหาตัวเลข
ของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในเมือง ส่วนใหญ่ เครื่องยนต์ตระกูล L ของ Honda
เมื่อวางใน City กับ Jazz ตัวเลขจะเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 12-13 กิโลเมตร/ลืตร และน้ำมัน
1 ถัง สามารถแล่นได้ไกลราวๆ 450 กิโลเมตร หรือเกินกว่านั้น มันขึ้นอยู่กับลักษณะ
การขับขี่ และพฤติกรมการเหยียบคันเร่งและเบรกของแต่ละบุคคลมากกว่า

2014_09_Honda_Jazz_07

********** สรุป **********
แก้จุดด้อยของสาวน้อยจนครบ แต่ลบความน่ารักให้หายไป

สำหรับผมแล้ว การเปิดตัว Honda Jazz ใหม่ ในแต่ละครั้ง มันเหมือนกับการที่เราได้
กลับไปมองทบทวนดูอดีคของชีวิตเพื่อนคนหนึ่ง ก่อนที่จะมองต่อไปว่า วันข้างหน้า
ชีวิตของเขา (หรือหล่อน) จะเป็นอย่างไร

ถ้าจะต้องเปรียบเทียบกับใครสักคนแล้ว Jazz GD รุ่นแรก เหมือนเด็กสาวแรกแย้ม อายุ
ราวๆ 18 ปี เพิ่งเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย มีชีวิตวัยเรียนที่สดใส ในฐานะนักทำกิจกรรม
ทำให้มีเพื่อนเยอะ

พอล่วงเข้าเจเนอเรชันที่ 2 รุ่น GE ก็เปรียบได้กับเด็กสาวคนเดิม ที่เริ่มจริงจังกับชีวิต
มากขึ้น เพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาดๆ เริ่มเข้าทำงานเป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นที่
มากมาย ไฟแรงเต็มเปี่ยม ยังคงสนุกสนานกับการทำงาน และใช้ชีวิตกับเพื่อนฝูง
รวมทั้งชีวิตส่วนตัว แต่บางที ก็จะมั่นใจตนเองมากไปนิด ยังมีความหยาบ และห่าม
อยู่หน่อยๆ ยังกระโดกกระเดกพอให้เห็นถึงนิสัยแบบเด็กๆดั้งเดิมในตัวหล่อน

แต่เมื่อเปลี่ยนโฉมมาเป็น เจเนอเรชันที่ 3 รหัสรุ่น GK คราวนี้ Jazz โตขึ้นอีกนิด
กลายเป็น สาวออฟฟิศวัย 30 ปี เคยเปลี่ยนงานมาบ้างแล้ว มีประสบการณ์เยอะขึ้น
เริ่มแต่งกายโฉบเฉี่ยวขึ้น แต่สำรวมขึ้น สุขุมขึ้น หนักแน่นทั้งการตัดสินใจ และ
การกระทำ มากยิ่งขึ้น…แต่เสน่ห์แห่งความเยาว์ในตัวเธอ เริ่มเจือจางและหายไป…

ใช่ครับ Jazz ใหม่ ก็คือ Honda City ในตัวถัง 5 ประตู ที่ถูกเซ็ตช่วงล่างมาให้แข็งขึ้น
อีกนิดหน่อย ในช่วงความเร็วต่ำ และเพิ่มออพชัน กับความอเนกประสงค์ในแบบที่
City และรถยนต์ขนาดเดียวกันรุ่นอื่นใดในโลก ไม่มีทางให้คุณได้เทียบเท่า นั่นเอง

2014_09_Honda_Jazz_08

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถามว่า อยากให้ Honda ปรับปรุง Jazz รุ่นต่อไปอย่างไร คงตอบได้
ไม่เต็มที่ เพราะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Jazz ทั่วโลกนั้น จะมีบุคลิกร่วมที่คล้ายคลึงกัน
อยู่ประการหนึ่งคือ ต้องการความอเนกประสงค์และความคุ้มค่าจากรถยนต์ขนาดเล็ก
รับได้หรือชื่นชอบรถยนต์ท้ายตัด มักเป็นคนโสด หรือใช้ชีวิตคู่ มากกว่าครอบครัวที่มี
บุตรหลาน

ใช่ครับ ความเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก แต่มีพื้นที่ภายใน สามารถปรับได้อย่างอเนกประสงค์
คือจุดเด่นของ Jazz มาตลอด เป็นจุดเด่นที่ทำให้ตัวรถมีแคแรคเตอร์ชัดเจน จนยากต่อการ
นำพา Jazz ไปสู่อีกมิติใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม  แต่นั่นก็ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบ
และจดจำบุคลิกความเป็น Jazz ได้ดี และ Jazz ใหม่ ก็ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ได้ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ

ผมก็เลยไม่รุ้ว่า จะต้องปรับปรุงจุดไหนเพิ่มเติมอีกดี?

แต่ถ้าจะให้ปรับปรุงจริงๆ ผมมองว่า ทีมออกแบบของ Honda ควรนำบุคลิกแบบ Unisex
ไม่จำกัดเพศ และความน่ารักในแบบที่ Jazz รุ่นแรกเคยมี ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ที่ขาดหายไป
กลับมาประยุกต์และปรับเส้นสาย ทั้งภายนอกและภายในของ Jazz รุ่นต่อไป อีกครั้ง นั่น
จะเป็นทางรอดหนึ่งในไม่กี่ทาง ที่จะทำให้ Jazz สามารถแข่งขันได้ต่อไป ในตลาดโลก

อีกประการหนึ่งคือช่วงล่าง อยากให้มีความ “หนักแน่น” ของช่วงล่าง เพิ่มขึ้นอีกนิดใน
ย่านความเร็วสูง ถ้าจะให้สปอร์ตขึ้น หนึบขึ้นกว่านี้ ก็คงต้องปรับช่วงล่างให้ หนึบแน่น
และมั่นใจยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับน้ำหนักของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ที่ควรจะหนืดขึ้น
มากกว่านี้อีกนิดนึง รวมทั้ง คุณภาพการประกอบของโรงงาน Honda ที่อยุธยา กับวัสดุซึ่งใน
ช่วงพักหลังนี้ เริ่มได้ยินปัญหาเกี่ยวข้องกับ สนิม จากลูกค้าบางรายบ้างแล้ว ทั้งที่ใน
ช่วงก่อนเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ๆจนถึงราวปี 2010 เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้เท่าใดเลย

ท้ายสุด เปลี่ยนยางขอบประตูกลับมาเป็นแบบดั้งเดิมเสียเถิด เสียงบ่นของลูกค้า
ที่เจอปัญหา น้ำฝนเข้ารถ เริ่มพอให้ได้ยินขึ้นมาบ้างแล้ว จริงอยู่ว่า ทีมวิศวกรนั้น
ต้องการจะแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนในห้องโดยสาร แต่ด้วยสารพัดข้อจำกัด จึง
ทำให้ ต้องออกแบบยางขอบประต แปะไว้กับเสาโครงตัวถังแทนที่จะเป็นบริเวณ
บานประตูทั้ง 4 มาในสไตล์เดียวกันกับ City ใหม่ ไม่มีผิด

นั่นก็คือสิ่งที่ผมนึกอยากให้ Honda นำไปพิจารณากับ Jazz ใหม่ ในตอนนี้โดยเฉพาะ
เรื่องคุณภาพที่จะส่งผลต่อความไว้ใจในการใช้งานของผู้บริโภค

2014_09_Honda_Jazz_09

ในระดับราคาเท่าๆกัน คู่แข่งของ Honda Jazz เป็นใครกันบ้าง?

คู่แข่งในตลาดตอนนี้ ถ้าจะเหลืออยู่ คงมีเพียงแค่ Mazda 2 Hatchback ใหม่ 1.5 ลิตร
Diesel Turbo Commonrail เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ รวมทั้ง Ford Fiesta EcoBoost
1.0 ลิตร (ซึ่งยังเหลืออยู่ในสต็อกไม่มากนักแล้ว)

ความแตกต่างนั้นชัดเจนครับ ถ้าคุณชอบรถยนต์ขับสนุก อันที่จริง ทั้ง 3 คันนี้ ให้คุณได้
ครบถ้วน เพียงแต่ว่า ช่วงล่างของ Mazda 2 จะแน่นแต่คล่องแคล่วกว่าใครเพื่อน ขณะที่
Fiesta จะแน่นและมั่นใจได้แค่ในช่วงทางตรง ที่ไม่ใช่ทางโค้งแบบพื้นผิวถนนเป็นช่วง
ลอนคลื่น แต่เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร แม้จะให้ความประหยัดและสมรรถนะดีใช้ได้ กระนั้น
คุณอาจต้องตัดใจจากความอเนกประสงค์ที่ Jazz มีมาให้ อย่างดี เพราะพื้นที่ภายในรถ
ของทั้ง Mazda 2 และ Fiesta Hatchback ยังแคบกว่า Jazz มาก!

ที่แน่ๆ บริการหลังการขายของทั้ง Mazda กับ Ford แม้จะดีขึ้นจากช่วงหลายปีก่อนบ้าง
แต่ถ้าวัดในภาพรวมแบบทุกด้าน ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับชื่อชั้น ของ Honda  ที่สั่งสมมาตั้งแต่
อดีตกาลยุค 1988 – 1993 แต่อย่าเข้าใจว่า Honda บริการไร้ที่ติ ปัญหาต่างๆก็มีให้ได้ยินเหมือนกัน

ถ้าคุณเป็นคนโสด อยากได้รถขับสนุก ไปทำงาน ประหยัดน้ำมัน แต่อัตราเร่งต้องเร้าใจ
ไม่ได้ขนข้าวของไปไหนเยอะแยะนัก Mazda 2 ก็พอครับ และเครื่องยนต์ Diesel 1.5
Turbo นั่นจะทำให้หลายคนไม่รู้สึกอึดอัดเวลาต้องเหยียบคันเร่ง แซงรถพ่วงข้างหน้า

แต่ถ้าอยากลองของแปลก รับได้กับเบาะนั่งที่ไม่สบายนัก เด่นที่การตอบสนองของ
ขุมพลัง EcoBoost เพียงอย่างเดียว และรับได้กับศูนย์บริการที่อาจก่อความปวดกบาล
ให้คุณได้มากกว่า Mazda นิดหน่อย ขอแนะนำว่า ไปตระเวนควานหารุ่นปรับโฉม
ของ Ford Fiesta ตามโชว์รูมต่างๆทั้วประเทศไทยได้เลย เพราะตอนนี้ เหลือสต็อค
อยู่อีกเพียงไม่กี่คัน ก่อนที่ Ford จะเลิกผลิต แล้วหันกลับมาขายรุ่นขุมพลัง เบนซิน
1.6 ลิตร ตามเดิม

แล้วถ้าตกลงปลงใจได้แล้วว่า จะพา Jazz กลับมาอยู่ด้วยกันที่บ้านแล้ว รุ่นย่อยไหน
จึงจะดูคุ้มค่า คุ้มราคามากที่สุด?

ราคา Honda Jazz ใหม่ในปัจจุบัน แม้จะมีการปรับมาใช้ภาษีสรรพสามิตใหม่แล้ว
แต่ค่าตัวก็ยังคงตั้งไว้เท่าเดิม ทุกรุ่น เช่นเดียวกับ City แต่ละรุ่นย่อยตั้งราคาขายดังนี้

S 5MT         555,000 บาท
S CVT         594,000 บาท
V CVT        654,000 บาท
V+ CVT      694,000 บาท
SV CVT      739,000 บาท
SV+ CVT    754,000 บาท
หมายเหตุ: *** สีมุกเพิ่ม 6,000 บาท

ความเห็นของผม มองว่า  รุ่นที่คุ้มค่าสุดและ อยู่ในเกณฑ์รับได้มากที่สุด คือรุ่น
V+ CVT และ SV CVT :ซึ่งมีค่าตัวห่างกัน อย่างชัดเจน 45,000 บาท แต่หากคุณ
มองว่า หากเพิ่มเงินผ่อนต่อเดือนอีกนิด อาจได้รุ่น SV ที่ให้อุปกรณ์ต่างๆมาคุ้มค่า
มากกว่ารุ่น V+  แต่ถ้าต้องการสนุกซุกซนกับเกียร์ธรรมดา คุณจะเหลือทางเลือก
เพียงแค่รุ่นเดียวคือ S 5MT ในราคาที่พอจะคุ้มค่าใช้ได้

2014_09_Honda_Jazz_10

ท้ายสุดนี้ เหมือนเช่นเคยครับ สิ่งที่อยากจะฝาก Honda ในตอนนี้คือ โปรดช่วยกัน
ดูแลลูกค้าให้ดี โดยเฉพาะ บริการหลังการขาย ซึ่งต้องยอมรับว่า เริ่มมีปัญหาสะสม
ต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว ยิ่งมีกระแสข่าวคราว ดราม่า เรื่องการสั่งซื้อ หรือเบิก
อะไหล่จากสำนักงานใหญ่ และคลังอะไหล่ ที่ดูจะยุ่งยาก วุ่นวาย และเน้นเอาใจ
ลูกค้าที่เข้าศูนย์บริการ เพียงอย่างเดียว ในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 ที่ผ่านมา
ยิ่งทำให้คนที่รู้เรื่องนี้ เริ่มตัดสินใจ มองผ่าน Honda เวลาที่จะซื้อรถคันใหม่ไป
บ้างแล้วเหมือนกัน

บอกเลยนะครับ ว่า ทุกวันนี้ การที่ลูกค้าอุดหนุน Honda เยอะขึ้นมาก นั่นไม่ใช่
เพราะว่า ลูกค้าไว้ใจในศูนย์บริการ เพียงแต่ว่า พวกเขามีทางเลือกในการซ่อม
ทั้งอู่ของ ดีลเลอร์ เอง หรืออู่ที่เปิดขึ้นโดยอดีตช่างตามศูนย์บริการ Honda นี่ละ

แน่นอนว่า ในมุมของผู้ผลิตรถยนต์ ก็อยากให้รายได้ เข้าไปอยู่ในมือของบริษัท
รวมทั้งดีลเลอร์ซึ่งเป็นพันธมิตรคู่ค้าเยอะๆ แต่อย่างไรก็ดี ฝีมือการวิเคราะห์และ
แก้ปัญหาของช่างในศูนย์บริการ Honda หลายๆแห่ง ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง
นี่ยังไม่นับรวมนโยบายเจ้าของดีลเลอร์บางแห่ง ที่เลือก”ยัดของแถมไม่จำเป็น”
มาให้ลูกค้า กว่าจะรู้ตัวอีกที ทุกอย่างก็มาปรากฎในบิลค่าซ่อม เรียบร้อยแล้ว!

หรืออีกเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้ มาตรฐานการซ่อมตัวถังและพ่นสีของช่างศูนย์บริการ
Honda หลายๆแห่ง ยังไม่ดีพอ เมื่อเปรียบเทียบกับอู่ซ่อมตัวถังที่มีความชำนาญ
เฉพาะทางมากกว่า

ปัญหาเหล่านี้ เริ่มหมักหมมมาสักหลายปีแล้ว และผมยังอยากเห็น Honda ลอง
เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มันอาจใช้เวลานานสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยไว้
ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้

ผมยังจำได้นะครับ ใน โชว์รูม Honda สมัยยังอยู่บนถนนประมวญ ที่นั่น เขาเน้น
บริการลูกค้าตามนโยบาย CS. No.1 (หรือ Customer Satisfaction ความพึงพอใจ
ของลูกค้านั่นเอง) จนทำให้ ชื่อของ Honda ติดปากผู้ใช้รถยนต์ชาวไทยมาตั้งแต่
ยุค 1990

ผมอยากเห็นภาพในอดีตเหล่านั้น กลับคืนมาในสายตาลูกค้า Honda ทุกวันนี้จริงๆ!

2014_09_Honda_Jazz_11

ขอขอบคุณ / Special Thanks
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

——————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของทั้งผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นของ Honda Motor Co. / Honda R&D Co.,ltd

ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
7 มกราคม 2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
January 7th,2016

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comment are Welcome! CLICK HERE!