คุณรู้จัก “รถยนต์บ้านๆ สมรรถนะแรงๆ ประกอบในประเทศไทย” สักคันไหม?

หากคุณมีอายุ ต่ำกว่า 25 ปีลงมา ไม่แปลกที่จะมีคำถามในหัวว่า มันคืออะไร?
ยิ่งถ้าให้นิยามความหมาย หรือเอ่ยชื่อรุ่นรถยนต์ลักษณะนี้ออกมา  เด็กสมัยนี้
คงจะตอบกันไม่ได้ หลายคนคงลืมไปแล้วว่า เมื่อ 10 ปีหมาดๆ Toyota เพิ่งจะ
ทำ Vios Turbo ออกสู่ตลาด ราคา 849,000 บาท ตั้งเป้ายอดขายไว้ 800 คัน
แต่ขายไปได้จริง ไม่เกิน 200 คัน นั่นดูเหมือนเป็นรถยนต์บ้านๆ เวอร์ชันแรงๆ
จากโรงงาน รุ่นสุดท้ายในสยามประเทศ

แต่ถ้าคุณมีอายุ ตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เชื่อว่าหลายคนคงจดจำได้ดี ว่าแต่ละชื่อที่ผม
จะเอ่ยนามข้างล่างนี้ ล้วนเป็นตัวแรง ตัวจี๊ด แห่งยุคสมัย 80’s – 90’s อันรุ่งโรจน์
ทั้งนั้น!

– Mitsubishi Lancer 1.6 Turbo (ตัวถังเดียวกับ Lancer CHAMP)
– BMW S5 (E34)  ผลงานการปรับจูนในเมืองไทยโดย อ.ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข
– Toyota Corolla Sporty (AE92)
– Volvo 760 Intercooler Turbo
– Honda Civic LX-S
– Mazda 323 ASTINA (140 แรงม้า PS)
– Toyota Corolla 1.6 GTi (4A-GE 130.5 แรงม้า PS)
– Mitsubishi Lancer 1.8 GTi (Import from Japan ,Limited Edition only)

แค่เอ่ยชื่อ…ภาพความทรงจำในชีวิตของคุณๆ ก็เริ่มย้อนกลับมาแล้วใช่ไหมครับ?

ย้อนกลับไปในสมัยวันหวาน เมื่อครั้งยังเยาว์ ยุคที่เราเพิ่งรู้จักโทรศัพท์มือถือ
กันหมาดๆ ยุคที่คนทั้งโลกสงสัยว่า Internet คืออะไร ยุคที่ Mark Zuckerburg
ยังเป็นแค่เด็กชายคนหนึ่ง ผมจำได้ดีว่า น้อยครั้งเหลือเกินที่เราจะได้สัมผัสกับ
เวอร์ชันสมรรถนะสูง ของรถยนต์รุ่นบ้านๆที่ถูกผลิตขายกันในเมืองไทย

เมื่อใดที่ผู้ผลิตรถยนต์สักราย พยายามเข็น เวอร์ชันแรงกว่าปกติ ของรถยนต์ที่ตน
จำหน่ายอยู่ ออกสู่ตลาดบ้านเรา เหล่านักเลงรถรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ต่างพากันซู๊ดปาก
ดีใจ คิดฝันไว้ว่าใคร่อยากเป็นเจ้าของ ขณะมองเห็นเพื่อนฝูงของตน ไขว่คว้า
ซื้อหามาครอบครอง แล้วเที่ยวไล่ประลองความเร็วกับชาวบ้าน ยุคนั้น ใครที่ขับ
รถยนต์เหล่านี้ ไปยังสถานบันเทิงชื่อดังอย่าง The Palace คุณจะกลายเป็นเป้า
สายตาของผู้คนไปในทันที

ผลผลิตเหล่านั้น เป็นประจักษ์พยาน สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญของคนที่
ทำงานอยู่ในบริษัทรถยนต์ ยุคนั้น ผู้ซึ่งพยายามให้ลูกค้าชาวไทย ได้ใช้ ของดีๆ
เฉกเช่นชาวต่างชาติ ในราคาเงินบาท ที่สมเหตุสมผล คนเหล่านี้ ต่อสู้กันมาเยอะ
เจ็บจากการโดนฝรั่งมังค่า หรือญี่ปุ่นเลือดบูชิโดแท้ๆ ตอกหน้าหงายกลับมาก็แยะ
กว่าจะได้ รถยนต์ สเป็กดีๆ เครื่องยนต์แรงๆ มาให้คนไทยได้อุดหนุนกัน

ไม่เพียงแค่ผู้ผลิตที่ผมเอ่ยนามไปตามรุ่นรถยนต์ข้างต้น หากแต่ยังมีอีกบริษัทหนึ่ง
ซึ่งก็อยู่ในข่ายที่มีวีรกรรมในอดีตควรค่าแก่การยกย่อง

บริษัทที่ทำรถยนต์ออกมาให้คุณได้อ่านกันอยู่ในรีวิวนี้ไง!

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_01

ในสมัยที่รถยนต์ Nissan ยังถูกผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท สยามกลการ จำกัด
เจ้าของสโลแกน “เพื่อนที่แสนดี” และ “You Come First” พวกเขาก็เคยพยายาม
สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าชาวไทยในตอนนั้น ด้วยการนำ Nissan Bluebird
รุ่นเครื่องยนต์ 1.8 Turbo เข้ามาประกอบขายในตัวถังรุ่น U11 เปิดตัวในบ้านเรา
เมื่อ ปี 1985 วางขายควบคู่กับรุ่น 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร คาร์บิวเรเตอร์ ปกติ แม้จะ
ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ Bluebird Turbo ก็ได้ชื่อว่า เป็นรถเก๋งค่ายญี่ปุ่น
รุ่นแรกในประเทศไทย ที่วางเครื่องยนต์ Turbo มาให้จากโรงงาน

แม้ว่าหลังจากนั้น ในปี 1988 Nissan จะส่งตัวแรง เอาใจวัยรุ่นอย่าง Sentra RZ-1
ออกมา โดยวางเครื่องยนต์ธรรมดาๆ CA16DE ไม่มี Turbo 123 แรงม้า (PS) จน
ขายดีขายดีไปพักใหญ่ รวมทั้ง Nissan Cefiro A31 Minorchange ที่มีเครื่องยนต์
RB20DE 150 แรงม้า (PS) พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ รายแรกในไทย ก็ยัง
พอจะมีลกค้าชาวไทย อุดหนุนกันไปอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม พอผ่านพ้นปี 1997 เป็นต้นมา จนกระทั่งสู่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ
มาเป็น Nissan Motor Thailand เราก็ไม่เคยได้เห็นตัวแรงในคราบรถบ้านเหล่านี้
กันอีกเลย หาใช่ว่าคนใน Nissan ไม่สนใจใยดีรถยนต์ประเภทนี้ ตรงกันข้าม
พวกเขาพยายามหาทางนำรถยนต์แบบนี้มาขายให้คนไทยอยู่ตลอด

เพียงแต่ว่า อย่างที่เราก็ทราบกันดี การนำรถยนต์เข้ามาผลิตขายสักรุ่น มันคือการ
ลงทุนมหาศาล มีขั้นตอนดำเนินงานที่วุ่นวาย คุณต้องคาดการณ์อนาคต จากผล
งานวิจัยตลาด ไหนจะเป็นคนญี่ปุ่น ที่เรายังต้องไปพะบู๊ รบราเพื่อให้ได้มาซึ่ง
สเป็ก และอุปกรณ์ต่างๆ ที่คนไทยต้องการ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจค่อนข้างสูง
ถ้าเจ๊งที โอกาสที่จะมีเจเนอเรชันต่อไปของรถยนต์รุ่นนั้นๆ มาผลิตขายอีก อาจ
ดับสูญไปเลยก็ได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น เมื่อครั้งที่ Nissan Pulsar Turbo เปิดตัวในบ้านเราเมื่อเดือนมีนาคม 2014
ผมถึงได้ ตื่นเต้นไม่เบา เพราะต่อให้รู้มาก่อนว่า พวกเขาเตรียมทำตลาดรถยนต์
รุ่นนี้ในประเทศไทย ในฐานะรุ่นย่อยพิเศษ จากตระกูล Pulsar ผลิตจำนวนจำกัด
แค่ 350 คัน เท่านั้น แต่ก็ไม่อยากจะเชื่ออยู่ดีว่า Nissan จะเอาจริงเอาจัง

ถึงแม้ Nissan จะอัดออพชันให้ครบครัน ทั้ง Sunroof VDC และถุงลมนิรภัยมากถึง
6 ใบ แต่ด้วยมุมมองของชาวญี่ปุ่น เห็นว่า สมรรถนะของเครื่องยนต์ MR16DDT
1.6 ลิตร 190 แรงม้า (PS) มันเทียบเท่ากับ ขุมพลังพิกัด 2.5 ลิตร นั่นจึงเป็นข้ออ้าง
ที่มีเหตุผลรองรับเพียงพอในการตั้งราคาโดดขึ้นไปถึง 1,070,000 บาท

แต่สำหรับลูกค้าชาวไทย ส่วนใหญ่ ล้วนมีราคาในใจเอาไว้หมดแล้วว่า รถเก๋งญี่ปุ่น
เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร จะแรงเท่าไหร่ก็ช่าง แต่มันไม่ควรแพงเกิน 1 ล้านบาท ไปเลย
อีกทั้งรูปทรงภายนอก ก็ไม่สวยเท่าไหร่ในสายตาของคนไทยจำนวนมาก

ผลจึงออกมาเป็นไปตามคาด มันขายไม่ออกครับ คุณผู้อ่าน! ตลอด 1 ปีเต็มในตลาด
จากเป้า 350 คัน Pulsar Turbo ทำตัวเลขยอดขายได้แค่ไม่ถึง 100 คัน!

จะไปขายออกได้ยังไงกันเล่า ในเมื่อแทบไม่มีใครเห็นภาพยนตร์โฆษณา หรืองาน
Print-Ad ต่างๆ เลย คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ ว่ามี Pulsar Turbo ออกมาขายแล้วนะ ส่วน
ลูกค้าที่รู้ข่าวมาจากเว็บไซต์ของเรา พอเดินเข้าโชว์รูม Nissan บางแห่ง เพื่อสอบถาม
รายละเอียดของตัวรถ เซลส์ของ Nissan บางคน ถึงขั้น ถามสวนกลับอย่างงงงวยว่า

“Pulsar Turbo มีด้วยหรือคะ?”

ฮาบ้านแตก กำแพงแยก เพดานถล่ม เลยละ!

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ผมจะรู้อยู่ว่า Nissan เอง ก็เตรียมแผนก๊อก 2 อย่าง Sylphy Turbo
ออกมาจำหน่ายควบคู่กันไปด้วย กระนั้น ในเมื่อยอดขาย Pulsar Turbo มันต่ำเตี้ย
เรี่ยพื้นขนาดนี้ สารภาพตามตรงเลยว่า ผมเลิกหวังว่า Nissan จะยอมนำ Sylphy
มาวางเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร Turbo ออกขายเป็นระลอกใหม่ ไปเรียบร้อยแล้ว และ
ถ้าผมเป็นผู้บริหารชาวญี่ปุ่นทั่วๆไป ผมคงไม่อนุมัติให้ Sylphy Turbo แจ้งเกิดใน
ประเทศไทยอย่างแน่นอน….

แต่ดูเหมือนว่า คราวนี้ ผมคิดผิด…อย่างรุนแรงเสียด้วย!

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_02

งานคัดเลือกตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขัน รายการ Nissan GT Academy
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2015 กลายเป็นงานที่ Nissan Motor Thailand ประกาศออกสุ่
สาธารณชนว่าพวกเขายังไม่ถอดใจ กับตลาด C-Segment (Hi-Performance) ในไทย

Nissan Sylphy Turbo ทั้งสีขาวและดำ รวม 2 คัน จอดรอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และ
สื่อมวลชนชาวไทย ได้ทดลองขับกันอย่างสนุกสนาน น้องหมู Moo Cnoe ของเรา
ก็เคยได้ลองขับมา และทำบทความ First Impression ให้อ่านกัน รายแรกในไทย

หลังงานดังกล่าวจบสิ้นไป ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเพิ่มเติมออกมาให้รับรู้กัน
อีกเลย สงสัยว่า Nissan คงจะถอดใจ หลังเห็น Feedback เก็บไปส่งออกขายถึงยัง
ประเทศ ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ ตามเดิม ดีกว่า

ใครมันจะไปนึกละครับว่า Nissan จะยังเดินหน้า ต่อไป จนกระทั่งพร้อมปล่อยออกสู่
ตลาด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2015 ที่ผ่านมา ด้วยค่าตัวที่ถูกกดลงต่ำลงกว่าเดิม เหลือ
แค่ 999,000 บาท เท่านั้น!!

ถือเป็นการเปิดตัวรุ่นย่อยใหม่ ควบคู่ไปกับการปรับโฉม Minorchange ให้กับ Sylphy
Sedan ทั้งรุ่น 1.6 และ 1.8 ลิตร ควบคู่ไปพร้อมกันเลย เสร็จสรรพ

ความพินาศจากยอดขาย Pulsar Turbo หาได้มีผลต่อการตัดสินใจของ Nissan ไม่!

เหตุผลจูงใจที่ทำให้ Nissan บ้านเรา ยังคงเดินหน้า ผลักดัน Sylphy Turbo มาขาย
คนไทยกันได้สเร็จ นั่นเป็นเพราะ ตลอดเวลาที่ Sylphy อยู่ในตลาด ยอดขายถือว่า
ไม่ค่อยดีนัก แม้จะรั้งอันดับ 4 ของตลาดรถยนต์นั่งกลุ่ม C-Segment มาตลอด แต่
ตัวเลข 100 – 300 คัน/เดือน ย่อมไม่ส่งผลดีในระยะยาวแน่ๆ

ช่วยไมได้จริงๆครับ แนวโน้มความต้องการของลูกค้าชาวไทย ที่มีเงินพอจะซื้อ
รถยนต์นั่งในกลุ่มนี้ ต่างพากันปันใจ ไปหา B-Segment Crossover SUV อย่าง
Honda HR-V , Nissan Juke กันเกือบหมด บางส่วน ขยับงบขึ้นไปเล่นรถเก๋ง
D-Segment อย่าง Toyota Camry , Honda Accord และ Nissan Teana  ทำให้
ยอดขายรถยนต์กกลุ่ม C-Segment เริ่มชะลอตัว และลดลงเรื่อยๆ

ดังนั้น เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างความสดใหม่ให้กับ Sylphy เพื่อประคอง
ให้อยู่รอดปลอดภัยไปจนครบอายุตลาด ในอีก 3 ปีข้างหน้า Nissan จึงตัดสินใจ
ลองเสี่ยงดูอีกสักครั้ง นำ Sylphy มาวางเครื่องยนต์ 1.6 DIG-Turbo ผลิตออกมา
ให้ลูกค้าบ้านเราได้จับจองเป็นเจ้าของกันในที่สุด

ทว่า คราวนี้ ดูเหมือนว่า Nissan เอาจริงกว่าสมัย Pulsar Turbo เพราะคราวนี้
คุณผู้อ่าน คงได้เห็นภาพยนตร์โฆษณา ทางทาง TV Internet หรือ Billboard
LED กลางแจ้ง ขนาดใหญ่ ไปหลายแห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร

เป็นการประกาศว่า คราวนี้ แม้จะแค่เสริมทัพกระตุ้นตลาด แต่พวกเขาก็พร้อมรบ!

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_03

Nissan Sylphy 1.6 DIG-Turbo มีขนาดตัวถัง เท่ากับ รุ่นเครื่องยนต์ปกติทุกประการ
ทั้งความยาว 4,615 มิลลิเมตร กว้าง 1,760 มิลลิเมตร สูง 1,495 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
2,700 มิลลิเมตร เพียงแต่มีการตกแต่งภายนอกที่แตกต่างออกไปจาก Sylphy ทั่วๆไป
ดังต่อไปนี้

1. กระจังหน้า แถบซี่แนวนอนจากเดิมสีเทาอ่อน เปลี่ยนมาเป็น สีเทา Gun Metalic
2. เปลือกกันชนหน้าออกแบบใหม่ โดยเฉพาะตำแหน่งไฟตัดหมอก และช่องดักลม
แบบรังผึ้ง ดู Sport ขึ้นนิดๆ
3.โคมไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ Bi-Xenon พร้อมระบบเปิด – ปิด และ ปรับระดับ
สูง – ต่ำ อัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto)
4. เพิ่มสปอยเลอร์ด้านหน้า สเกิร์ตข้าง และสปอยเลอร์บนฝากระโปรงหลัง มาให้
5. กระจกมองข้าพร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว หุ้มเปลือกด้วยลาย Carbon Fibre
6. เพิ่มแถบคิ้ว ที่ชายล่างของประตูทั้ง 4 บาน หุ้มด้วยลาย Carbon Fibre เช่นกัน
7. เพิ่มเซ็นเซอร์กะระยะ 3 จุด พร้อมกล้องมองภาพขณะถอยหลังเข้าจอด
8. เพิ่มปลายท่อไอเสีย สแตนเลส
9. เพิ่มขนาดล้ออัลลอย จากเดิม 16 นิ้ว เปลี่ยนมาเป็นแบบ 17 นิ้ว รมดำ เหมือนกับ
Pulsar Turbo
10. เปลี่ยนยางติดรถจากเดิมเป็นยางใช้งานทั่วไป Bridgestone Ecopia EP150 ขนาด
195/60 R16 มาเป็น Continental Premium Contact II ขนาด 205/50 R17
11. เปลี่ยนเปลือกกันชนหลังใหม่ ให้มีสเกิร์ตล่างในตัว
12. เพิ่มโลโก้เล็กๆ DIG TURBO พอให้รู้ว่า แตกต่างจากรุ่นปกตินะ

นี่มันคือ การแต่งรถแนว Sleeper ชัดๆ! ตัวรถภายนอก ดูบ้านๆ จืดๆ ธรรมดาๆ อาจ
ตกแต่งด้วย Aero Part เพิ่มเติมนิดหน่อย ทว่า กลับซ่อนความแรงสะใจไว้อยู่ใต้
ฝากระโปรงหน้า

นี่แหละ สิ่งที่ผมอยากเห็นจาก Nissan ดีใจที่พวกเขา ไม่เอา สติกเกอร์ TURBO
มาแปะด้านข้างตัวรถ เหมือน Pulsar Turbo ให้พวกเราได้แซวกันฮาๆ อีก

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Interior_01

กุญแจรีโมทคอนโทรล เป็นแบบ Smart Keyless Entry ยกชุดจาก Sylphy รุ่น V
แตกต่างจาก Pulsar คือมีสวิตช์เปิดฝากระโปรงหลัง เพิ่มเข้ามาให้ติดเครื่องยนต์
ด้วยสวิตช์ Push Start ใต้ชุดมาตรวัดฝั่งซ้าย ตามเดิม

ภายในห้องโดยสาร ตกแต่งด้วยโทนสีดำล้วน ประดับด้วยแผง Trim ลาย Carbon
สีเงิน แซมด้วยแถบโครเมียม ตามจุดต่างๆ ทั้งมือจับประตู และขอบด้านข้างของ
แผงควบคุมกลาง แบบเดียวกันกับ Pulsar Turbo และ Sylphy SV Sport Version
ที่ทำออกมาขายกันเมื่อปี 2013 – 2014

เมื่อเทียบกันแล้ว ความแตกต่างของห้องโดยสารระหว่าง Sylphy Turbo รุ่นท็อป
และ Sylphy 1.8 G ปี 2012 – 2014 มีเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับตำแหน่งด้วยคันโยก ไม่มีสวิตช์ไฟฟ้าใดๆมาให้เลย พนักพิง
เบาะหลัง โอบกระชับสรีระเอาไว้ได้ดี จนถึงบริเวณช่วงหัวไหล่ แต่ถ้าเพิ่มตัวปรับ
ดันหลังมาให้อีกนิด จะยิ่งดีขึ้นกว่านี้

พนักศีรษะ ยังคงดันกบาล เหมือนเดิม แต่อาจเป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมา ผมเจอ
กับพนักศีรษะของรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ดันหัวผมมากกว่านี้เยอะ (เช่น Nissan NP300
Navara และ Mercedes-Benz CLA) จึงทำให้ปัญหาพนักศีรษะของ Sylphy นั้น
กลายเป็นเรื่องเล็กลงไปเลย

กระนั้น ได้ยินมาว่า ทีมวิศวกรของ Nissan ในบ้านเรา กำลังแก้ปัญหานี้กัน คาดว่า
เราอาจได้เห็นพนักศีรษะชุดปรับปรุงใหม่ ที่ดันหัวน้อยกว่าเดิม ช่วงปี 2016

แต่ระหว่างนี้ ถ้าใครทนไม่ไหว อาจเลือกใช้วิธี เบิกพนักศีรษะของ TIIDA มาใส่
ทดแทนไปก่อน ในราคาไม่แพงมากนัก หากเป็นรุ่นที่ใช้ภายในสีดำ คงไม่น่าห่วง
เพราะ Interior ของ TIIDA Hatchback เป็นเบาะหนังสีดำเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็น
ภายใน สีเบจ อาจต้องสั่งพนักศีรษะของ TIIDA Latio (ซึ่งเป็นเบาะผ้า) มาหุ้ม
ด้วยหนังอีกรอบหนึ่ง

เบาะรองนั่งด้านหลัง ถูกเสริมฟองน้ำด้านในให้หนาขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย กระนั้น
เมื่อนั่งลงไป คุณจะยังคงสัมผัสได้ว่า ขอบเบาะนั่งฝั่งใกล้บานประตู ยังคงหย่อนไป
นิดหน่อย ควรเสริมให้หนาและแข็งขึ้นมากกว่านี้อีก

นอกนั้น รายละเอียด ของเบาะหน้า – หลัง ตำแหน่งวางแขน พวงมาลัย แผงหน้าปัด
อุปกรณ์ไฟฟ้าขั้นพื้นฐานต่างๆ สามารถเปิดอ่านได้ ในบทความ Full Review Nissan
Sylphy 1.6 L & 1.8 L รุ่นปี 2012 – 2015

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งเสริมเข้ามา เติมเต็มให้ Sylphy Turbo ยิ่งดูคุ้มราคา
จนแน่นคันรถ มีดังต่อไปนี้

1. ชุดเครื่องเสียงที่ยกมาจาก Sylphy รุ่น 1.8V และ SV เป็น วิทยุ AM/FM  พร้อมกับ
เครื่องเล่น CD / MP3 1 แผ่น เพิ่มช่องเสียบเชื่อม AUX กับ USB  มาให้ ในกล่อง
เก็บของข้างลำตัวคนขับ มาพร้อมหน้าจอมอนิเตอร์ สี Touch Screen LCD ขนาด
5.8 นิ้ว พ่วงด้วยระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System ใส่ข้อมูลของ
แผนที่ ใส่ไว้ใน SD Card โดยผู้ผลิตชั้นนำอย่าง Bosch และ NAVTEQ ซึ่งรองรับ
ระบบ Nissan Connect เชื่อมต่อ Internet และดู Facebook ได้จากหน้าจอของรถ

2. ชุดหลังคา Sunroof เลื่อนเข้า – ออกได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้ามาให้ การทำงานก็เพียงแค่
กดสวิชต์ ใกล้ไฟอ่านแผนที่ฝั่งซ้ายเพียงชิ้นเดียว ควบคุมได้ครบทั้ง เลื่อนเปิด-ปิด
ยกกระดก ระบายอากาศ กระจกด้านบน เป็นอุปกรณ์เฉพาะในรุ่น Turbo เท่านั้น

3. ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control จากเดิมที่สงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะ
Pulsar 1.8V มาวันนี้ Nissan ก็ใส่มาให้ Sylphy Turbo แล้วเช่นเดียวกัน นอกจาก
ความสะดวกที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ชุดสวิตซ์ที่ติดตั้งมาให้บนพวงมาลัยฝั่งขวา ก็ทำให้
อะไรๆบนพวงมาลัย มันดูสมบูรณ์มากขึ้นจากเดิมที่เป็นแค่แผงปิดสีเงินโล้นๆ

4. ชุดเหยียบแป้นคันเร่ง และแป้นเบรก แบบแสตนเลส พิเศษเฉพาะ Sylphy Turbo
เพราะแม้แต่ Pulsar Turbo ก็ไม่มีมาให้!

5. คันเกียร์อัตโนมัติ XTronic CVT เปลี่ยนจากแบบ มาตรฐาน พร้อมปุ่ม Sport บน
คันเกียร์ มาเป็นแบบมี Mode บวก – ลบ ให้ผู้ขับขี่ สามารถผลักเข้าโหมด บวก/ลบ
และเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ (อีกนัยหนึ่ง…ตำแหน่งล็อกอัตราทดของพูเลย์) ได้เอง

6. ชุดมาตรวัด ความเร็ว เปลี่ยนจากแบบเดิม ซึ่งระบุความเร็วสุดเข็มวัดไว้ ที่ระดับ
240 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มเป็น 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง

7. ระบบควบคุมการทรงตัว VDC ( Vehicle Dynamic Control ) และระบบป้องกัน
การลื่นไถล TCS ที่มีสวิตซ์เปิด – ปิด ระบบมาให้อยู่บริเวณใต้ชุดสวิตซ์ปรับและ
พับกระจกมองข้างไฟฟ้า

8. ถุงลมนิรภัยจากเดิมในรุ่นปกติ มีแค่ คู่หน้า พอเป็นรุ่น Turbo ก็ใส่เพิ่มมาอีก 4 จุด
ได้แก่ ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 จุด และม่านถุงลมนิรภัยทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งหมด 6 จุด
เหมือน Pulsar Turbo

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Engine_01

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังของ Sylphy Turbo ยกชุดมาจาก Pulsar Turbo ทั้งเวอร์ชันไทย และ
เวอร์ชัน ออสเตรเลีย ทั้งยวง ยังคงเป็นเครื่องยนต์ MR16DDT บล็อก 4 สูบ
DOHC 16 วาล์ว 1,618 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 79.7 x 81.1 มิลลิเมตร
กำลังอัด 9.5 : 1

เครื่องยนต์ลูกนี้ ถือกำเนิดขึ้นจากการนำเครื่องยนต์ MR18DE มาลดความจุ
กระบอกสูบให้เล็กลง แต่มีการปรับปรุงผนังลูกสูบ และเนื้อที่ระหว่างลูกสูบ
แต่ละลูกให้หนาขึ้น แข็งแรงขึ้น เพื่อรองรับการทำงานของ Turbocharger

จุดขายของเครื่องยนต์ลูกนี้ มีทั้งการติดตั้ง ระบบแปรผันวาล์ว ทั้งฝั่งไอดีและ
ไอเสีย CVTC (Continuous Variable Valve Timing Timing Control) ระบบ
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง Direct Injection Gasoline (DIG) ใช้ปั๊มเชื้อเพลิงแรงดันสูง
ฉีดน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง แบ่งเป็นสองจังหวะ โดยจังหวะดูดอากาศ
จะฉีดนำครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นจะฉีดซ้ำอีกครั้งในช่วงที่ลูกสูบขึ้นถึงจุดบนสุด

ที่สำคัญสุด คือการติดตั้งระบบอัดอากาศ แบบ TurboCharger ขนาดเล็ก ของ
Mitsubishi รุ่น TF-035HL-13T ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่รถซิ่งวัยรุ่นที่วาง
Turbo ให้กับ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ในรถยนต์ของตนเอง จนกลายเป็นของ
หายากถึงทุกวันนี้

Turbo ลูกนี้จะสร้างแรงบูสท์ประมาณ 0.9 Bar และมีการระบายความร้อนของ
อากาศที่ถูกอัดเข้ามาด้วย Intercooler แบบหลอดสี่เหลี่ยมขนาดหน้าตัดไม่ใหญ่
แต่ดูแล้วค่อนข้างหนา

กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร
(24.4 กก.-ม.) ที่ 2,400 – 5,200 รอบ/นาที แรงบิดจะหลั่งไหลออกมาต่อเนื่อง
ในแบบ Flat Torque ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับ 187 กรัม/กิโลเมตร
เหมือน Pulsar Turbo เป๊ะ!

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Engine_02

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน Xtronic CVT แบบมี
Mode บวก – ลบ ล็อกอัตราทดและตำแหน่งพูเลย์ได้ 7 จังหวะ อัตราทดเกียร์
D อยู่ที่ 2.3490 – 0.394 เกียร์ถอยหลัง 3.750 : 1 ทดเฟืองท้ายไว้ที่ 5.798 : 1

เกียร์ลูกนี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยพันธมิตรเจ้าเก่าอย่าง Jatco ย้ำกันอีกทีว่า นี่เป็น
เกียร์คนละลูกกันกับเกียร์ CVT ซึ่งประจำการอยู่ใน Sylphy และ Pulsar รุ่น
รุ่นมาตรฐาน อย่าเข้าใจผิดว่า เป็นลูกเดียวกับพี่น้องร่วมตระกูลเด็ดขาด!

คันเกียร์ ไม่จำเป็นต้องมีปุ่ม Sport มาให้ เพราะมีคันเกียร์แบบ บวก – ลบ
อยู่แล้ว เสียดายที่ไม่มีการติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle
Shift เลย

ตัวเลขสมรรถนะจะเป็นอย่างไรนั้น เราทำการทดลองจับเวลาในยามค่ำคืน
เหมือนเช่นเคย โดยใช้มาตรฐานเดิม คือ ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร รวม 2 คน
น้ำหนักรวมไม่เกิน 170 กิโลกรัม เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และผลลัพธ์ที่ได้
มีดังนี้

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Data_1 sylphy_turbo_03

ตัวเลขที่ออกมา เป็นไปตามความคาดหมายครับ Sylphy Turbo กลายเป็นรถยนต์
อีกรุ่นหนึ่งที่สามารถเอาชนะคำพูดของพวกชอบก่อดราม่า ตาม Webboard รถยนต์
ทั่วๆไป ในโลก Internet และ Social Media ในประเด็นที่ว่า “CVT ไม่แรงหรอก”
ลงได้อย่างราบคาบ ตามติด น้องสาว Pulsar Turbo ไปอย่างกระชั้นชิด

Sylphy 1.6 DIG Turbo ยังคงทำผลงานออกมาดีในระดับเดียวกับ Pulsar Turbo
ไม่มีผิด นั่นหมายความว่า หากคุณต้องการรถเก๋ง C-Segment ประกอบในประเทศ
ที่มีอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง และช่วงเร่งแซง ฉับไว ทันอกทันใจที่สุดแล้ว ขุมพลัง
MR16DDT ใน Pulsar และ Sylphy พ่วง Turbo คือคำตอบเดียวในตอนนี้เท่านั้น!

แหงสิครับ ตัวเลข 0 – 100 และ 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แซงปรู๊ดขึ้นมานำหน้า
ชาวบ้านชาวช่องเขาทั้งตลาดกันขนาดนี้ คงต้องยกมงกุฎรางวัล”บ้าพลังดีเด่น”ให้
2 ศรีพี่น้อง คู่นี้ไปเลย แบบไม่ต้องเกี่ยง ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องคิดมาก อะไรทั้งนั้น

ผลลัพธ์ข้างบน ยืนยันคำพูดผมที่ว่า อย่าได้ดูถูกความสามารถจากลักษณะพิเศษ
เฉพาะตัวของเกียร์ CVT เป็นอันขาด!

เพราะการใช้เกียร์ CVT มีข้อดีคือ ช่วยให้คุณลากรอบเครื่องยนต์ ไปถึงจุดสูงสุดได้
อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เรียกทั้งแรงม้า และแรงบิดสูงสุด ออกมาได้ฉับไวในช่วงวินาที
แรก ที่คุณกระทืบคันเร่งลงไปเต็มตีน ไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ ไล่รอบเครื่องยนต์
ขึ้นมาใหม่ในทุกๆจังหวะเกียร์ เหมือนพวกเกียร์อัตโนมัติทั่วๆไป

เพียงแต่คุณต้องทำใจว่า เกียร์ CVT ยังมีข้อจำกัดอยู่ นั่นคือ ไม่ควรออกรถแบบ
หุนหันพลันแล่นบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระชากกับโซ่ในชุดเกียร์มากเกินไป จน
สายพานฉีกกระจุย ดังนั้น บุคลิกช่วงออกตัวของ Sylphy Turbo จึงเหมือนกับ
Pulsar Turbo ไม่มีผิด นั่นคือ ในช่วงวินาทีแรกหลังเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มค่อยๆ
ออกตัวอย่างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฉกฉากตามสั่งดังใจนัก แต่หลังจากนั้น ความ
มันส์หฤหรรษ์ ก็ตามมาให้คุณได้ฉีกยิ้มบนใบหน้า จนแทบเลยเถิดไปถึงติ่งหู!

รวมทั้งบุคลิกของเกียร์ CVT ที่มักพารอบเครื่องยนต์ขึ้นไปแช่ไว้ในรอบสูงสุด
ก่อนจะค่อยๆลดรอบเครื่องยนต์ลงมา หลังจากที่เข็มความเร็ว ไต่ขึ้นตามมาใน
ภายหลัง มันอาจก่อความหงุดหงิดใจ ให้กับใครก็ตามที่ไม่คุ้นชินกับมัน อีกทั้ง
เสียงเครื่องยนต์ ก็ไม่ได้เร้าใจมากมายอย่างที่หลายคนคาดหวัง

เอาเถอะน่า แลกกับความแรงที่ได้มา ก็น่าจะสาแก่ใจพระเดชพระคุณท่านเนาะ!
เพราะคุณสามารถเรียกพละกำลังจากเครื่องยนต์ได้ ในทุกครั้งที่ต้องการ ไม่ว่าจะ
เป็นช่วงไหน เมื่อไหร่ รถจะพร้อมพาคุณพุ่งไปข้างหน้าอย่างสนุกสนานต่อเนื่อง

ยิ่งถ้าเป็นการไต่จากความเร็ว จาก 0 – 200 กิโลเมตร บอกเลยว่า เร็วมาก!! พอกัน
กับ Pulsar Turbo นั่นละครับ เพียงแต่ว่า เมื่อพ้นช่วง 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้ว
เข็มความเร็วจะเริ่มไต่ขึ้นไปช้าๆ และเมื่อพ้น 210 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เข็ม
วัดความเร็วจะเริ่มเนือย จนแตะระดับ 218 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วก็นิ่งอยู่ตรงนั้น

เหตุผลน่าจะมาจาก การเขียนโปรแกรมกล่อง ECU ให้สมองกล สั่งหรี่ลิ้นคันเร่ง
(ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า) ให้ลดปริมาณอากาศไหลเข้าห้องเผาไหม้ นั่นเอง

ขอย้ำเหมือนเช่นเคยว่า เราไม่สนับสนุนให้คุณผู้อ่านไปทดลองหาความเร็วสูงสุด
ด้วยตัวคุณเองแต่อย่างใดทั้งสิ้น การทดลองความเร็วสูงสุดให้ดูนั้น เกิดขึ้นในระยะ
เวลาอันสั้น ไม่ได้กดแช่ยาวๆ และเน้นคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง รวมทั้ง
ผู้ร่วมใช้เส้นทางอย่างเข้มงวด โปรดอย่าไปทำการทดลองด้วยคนเองโดยเด็ดขาด
เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายถึงชีวิตทั้งต่อตัวคุณเอง และ
ผู้บริสุทธิ์อื่นๆอีกด้วย! หากเกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้นเราจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี!
เพราะถือว่า เราได้เตือนและห้ามปรามกันแล้ว

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Engine_03_Top_Speed

ในการขับขี่จริง การตอบสนองของเครื่องยนต์ และเกียร์ แทบไม่แตกต่างไปจาก
Pulsar Turbo ที่เราเคยทำรีวิวกันไปเลยแม้แต่น้อย พละกำลัง ไหลมาเทมา ราวกับ
น้ำประปาตอนเขื่อนแตก

ช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง จนถึง 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังคงต้องมีการหน่วง จาก
การเขียนโปรแกรมสมองกลเกียร์ มาเพื่อให้รถออกตัวอย่างนุ่มนวล ช่วยยืดอายุ
การทำงานของเกียร์ ให้นานขึ้น ดังนั้นในจังหวะเคลื่อนตัว รถจึงทะยานออกไป
ข้างหน้า อย่าง ค่อยเป็นค่อยไป หลายคนจึงรู้สึกว่า รถมันไม่ค่อยแรง ทั้งที่จริงๆ
แล้ว จังหวะออกตัวเนือยๆนี้ จะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น

เพราะหลังจากรอบเครื่องยนต์ เข้าสู่ช่วง 2,400 รอบ/นาที ขึ้นไป แรงบิดสูงสุด
ในแบบ Flat Torque ก็พร้อมจะรับช่วงสร้างความหรรษาต่อเนื่องทันที บูสต์ของ
Turbo ที่รออยู่แล้วในช่วงนี้ ก็เริ่มแสดงพิษสง พาให้ตัวรถ พุ่งปรู๊ดไปข้างหน้า
อย่างรวดเร็ว แอบหลอนเล็กๆ ชนิดที่คุณอาจต้องร้องบอกกับคนขับว่า…

“เฮ่ยๆๆๆๆๆ ใจเย็นๆๆๆ”

การตอบสนองของคันเร่ง ถือว่า มีจังหวะรอการทำงานของเกียร์ CVT นิดเดียว
พอรับได้ และจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่คุณเหยียบคันเร่งจมมิดลงไปแบบฉับพลัน
ในทันทีเท่านั้น

ส่วนในจังหวะอื่นๆ ถ้าคุณแค่เติมน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่งเข้าไปนิดๆ  รถก็จะ
พาคุณไต่ความเร็วขึ้นไปแบบ เรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกที เข็มความเร็วก็ปาเข้าไป
130 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วละ แค่เหยียบคันเร่งลงไปเต็มตีน เท่านั้นก็พอ
โหมดบวกลบ ที่คันเกียร์ คุณแทบจะไม่ได้ใช้งานมันเท่าไหร่หรอกครับ ถ้าหาก
ไม่ได้ขับรถลัดเลาะไปตามทางโค้งบนแนวเขาทางภาคเหนือ

แต่ถ้าเหยียบแค่ครึ่งคันเร่ง หากใช้ความเร็วไม่สูงนัก เกียร์ CVT ก็จะช่วยทดรอบ
เครื่องยนต์ขึ้นไปให้นิดหน่อย ให้สมดุลย์ตามน้ำหนักเท้าขวาที่คุณสั่งคันเร่งลงไป
พละกำลังของเครื่องยนต์ อาจส่งมาถึงคุณ น้อยลง แม้จะเหลือพอให้ดึงรถขึ้นไป
ข้างหน้า แต่ก็ไม่ถึงกับหวือหวาจนน่าตกใจ  คือยังพอสัมผัสได้ว่า Turbo ค่อยๆ
ติดบูสต์เพิ่มให้ แต่ไม่มากนัก

Sylphy 1.6 DIG Turbo ยังคงสืบทอดบุคลิก “Sleeper” จาก Pulsar Turbo ไว้
ได้อย่างดี มันเป็นบุคลิกที่เรามักเรียก รถเก๋งบ้านๆ ภายนอก แต่งแบบเรียบๆ หรือ
ไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่มเติมมากนัก ดูเป็นแค่รถบ้านๆ ธรรมดาๆ แต่อย่าไปกวนตีน
ท้าแข่ง ขับจี้ตูดพวกเขาเชียวละ! ถ้าหากคนขับ Sleeper พวกนี้ ของขึ้นแล้วละก็
พวกเขาจะกระทืบคันเร่ง ชนิดลืมตาย มุดหายหัว หนีคุณจนตามไม่ทัน ทิ้งคุณไว้
เป็นเพียงแค่แสงหิ่งห้อยในกระจกมองหลัง ได้ทันที! เมื่อถึงตอนนั้น คุณคงทำได้
เพียงแค่อ้าปากค้าง รอให้แมลงวันบิน เข้าไปวางไข่ในช่องปาก!

ยืนยันว่า การตอบสนอง และพละกำลังที่ Sylphy Turbo มีมาให้ ไม่แตกต่างไปจาก
Pulsar Turbo เลย….เสียงเครื่องยนต์ ก็เช่นกัน มันไม่ไพเราะ ไม่ก่ออารมณ์หักเหิม
ใดๆขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย

ส่วนการเก็บเสียง ภายในห้องโดยสาร ไม่แตกต่างไปจาก Syphy รุ่นปกติมากนัก
คือ เงียบกว่าคู่แข่งหลายๆคันในพิกัด C-Segment Compact Class ด้วยกัน ที่แน่ๆ
เงียบกว่า Mazda 3 ใหม่ อยู่นิดนึง แแม้จะใช้ความเร็วสูงถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ก็ตาม แต่เฉพาะในรถคันที่เราทดลองขับ เสียงการทำงานของช่วงล่าง ยังแอบดัง
ขึ้นมาให้ได้ยินอยู่บ้าง ในขณะขับแล่นผ่านเนินสะดุด ลูกระนาด บางลักษณะ

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Engine_04_Jimmy_Drive

ระบบบังคับเลี้ยวยังคงเป็น พวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์
ผ่อนแรงแบบกลไกโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering)
รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร ใช้กล่องควบคุมการทำงาน ตัวเดียวกันกับใน Pulsar
และ Sylphy รุ่นปกติ ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับ อัตราทดเฟืองพวงมาลัยที่
เหมือนกัน การเซ็ตให้พวงมาลัย หนืดในระดับเท่ากัน ตามปกติแล้ว มันต้อง
ไม่แตกต่างไปจาก Sylphy และ Pulsar ที่ใช้ล้อ 16 นิ้ว

ทว่า พอสวมล้ออัลลอย 17 นิ้วเข้าไป พวงมาลัยก็จะหนืดขึ้นกว่ารุ่นล้อ 16 นิ้ว
จนตอบสนองได้ เหมือนกับพวงมาลัยของ Pulsar 1.8 V และ Pulsar Turbo
ราวกับจับขึ้นวางทาบเพื่อถ่ายเอกสาร บนเครื่อง Xerox เลยทีเดียว!

ถ้าเปรียบเทียบการตอบสนองของพวงมาลัย Nissan รุ่นใหม่ๆ จะพบว่า
พวงมาลัยของ Sylphy 1.6 ลิตร และ Pulsar 1.6 ลิตร เซ็ตมาเหมือนกันเป๊ะ

ข้อดีก็คือ พวงมาลัยของ Sylphy Turbo ยังคงน้นการตอบสนองที่เบาหวิว
หมุนได้คล่องแคล่ว กระชับ แต่แม่นยำ ในช่วงความเร็วต่ำ หรือขับขี่แบบ
คลานๆ ในเมือง ช่วยให้คุณเลี้ยวกลับรถบนพื้นที่แคบๆ บนลานจอดรถใน
อาคารต่างๆ ได้ดีเยี่ยม คล้องแคล่วจนรู้สึก Delightful เพียงแต่ว่า น้ำหนัก
ของล้อ 17 นิ้ว ที่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มความหนืด /หน่วงขณะหมุนพวงมาลัย
อีกนิดนึง ทั้ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราทดเฟืองใดๆทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงความเร็วสูง แม้จะให้การตอบสนองที่ดีใช้ได้ นิ่งสนิท
พอประมาณ On-Center feeling กำลังดี ไม่ต้องเลี้ยงหรือแต่งพวงมาลัยไปมา
ซ้ายๆ ขวาๆ ให้น่ารำคาญ ทว่า น้ำหนักของพวงมาลัยในช่วงความเร็วเกินกว่า
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป หากเป็นไปได้ ขอเพิ่มอีกนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความ
มั่นใจในการขับขี่ย่านความเร็วสูง มากกว่านี้ เพรามันเบาไปหน่อย

ถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันด้วยแล้ว พวงมาลัยของ Mazda 3
จะมีน้ำหนักทั้งความเร็วต่ำ และสูง เหมาะสมมากสุด รองลงมาคือพวงมาลัย
ของ Chevrolet Cruze ส่วน Fotd Focus ยังหลงเหลือสัมผัสแบบ “ไฟฟ้าๆ”
มาให้รับรู้ในช่วงความเร็วต่ำได้นิดนึง ขณะที่พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิก
ของ Mitsubishi Lancer EX ทำได้ดีมาก แต่หนืดไปนิดเมื่อเทียบกับคู่แข่งใน
ยุคสมัยใหม่นี้ แต่ถ้าเทียบกับ Toyota Corolla Altis ESport แล้ว ผมว่า Sylphy
ก็ยังตอบสนองได้ดีในระดับใกล้เคียงกัน คือเบามาก แม่นยำในความเร็วต่ำ
แต่ขอเพิ่มน้ำหนักอีกนิดในย่านความเร็วสูง และปรับอัตราทดเฟืองอีกนิด

ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ด้านหลัง แบบทอร์ชันบีม
ตัวปีกนกและคานต่างๆ ยกชุดมาจาก Sylphy เลยทั้งยวง ก็จริงอยู่ แต่มีการปรับ
เปลี่ยนสปริงกับช็อกอัพ ให้มีค่าความหนืด (ค่า K) เพิ่มขึ้น เล็กน้อย

พูดให้ง่ายๆก็คือ ยกเอาชุดช็อกอัพกับสปริงของ Pulsar Turbo Australian Spec
และเวอร์ชันไทย มาใส่ให้ทั้งดุ้นเลยนั่นละ

เมื่อรวมร่างกับล้อ 17 นิ้ว แล้ว ช่วงล่างของ Sylphy Turbo จะแข็งขึ้นจาก Sylphy
รุ่นมาตรฐานแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มาในสไตล์เดียวกับ Pulsar Turbo ไม่มีผิด
ในช่วงความเร็วต่ำ การดูดซับแรงสะเทือน จากพื้นผิวขรุขระ ขณะขับขี่ผ่านหลุม
บ่อ ฝาท่อ ลูกระนาดในซอยอารีย์ อาการสะเทือน จะเพิ่มขึ้นจาก Sylphy ปกตินิดๆ
และเหมือนกับ Pulsar Turbo

ในช่วงความเร็วสูง ช่วงล่างของรุ่น Turbo จะให้ความมั่นใจในการเดินทางได้ดี
เพิ่มจาก Pulsar 1.8V ปกติ ไม่มากนัก กล่าวคือมั่นใจพอกันกับรุ่นเดิม ผมสามารถ
ปล่อยมือจากพวงมาลัยได้สบายๆ ทั้งที่ใช้ความเร็วระดับ 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ต่อให้มีกระแสลมด้านข้าง ถ้าไม่รุนแรงนัก ยังไงๆ Pulsar Turbo กับล้อ 17 นิ้ว
จากโรงงาน ยังคงรับมือได้สบายมากๆ

ในช่วงเข้าโค้ง สังเกตได้ว่า แม้อาการของตัวถังด้านหน้ารถจะเหมือนๆกับ Pulsar
Turbo คือ เบา และไวพอประมาณ ง่ายต่อการควบคุมอาการหน้าบานออก (ซึ่งเกิด
มาจาก ยางติดรถ)  เพื่อให้ตัวรถจิกเข้าโค้งเพิ่ม แต่ ตัวถังบริเวณด้านหลังรถที่เพิ่ม
ออกมา ช่วยให้ Balance ของตัวรถระหว่างอยู่ในโค้ง ดีขึ้นกว่า Pulsar Turbo นิดๆ

ยาง Continental ContiPremium Contact2e ขนาด 205/50R17 คราวนี้ เริ่มส่งเสียง
เอี๊ยดอ๊าด ให้ได้ยินชัดเจนมาก ในช่วงที่ต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงขึ้น แม้ว่านจะ
ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมให้จิกเข้าโค้ง แม้จะยังพอรับมือได้อยู่ และยังช่วยให้รถ
เลี้ยวขวับได้ทันทีตามต้องการ เมื่อขับด้วยความเร็วไม่สูงนักก็ตาม แต่ถ้าคุณต้อง
เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงขึ้น จะพบอาการหน้าดื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนขึ้นกว่ารุ่นเดิม
นิดหน่อย โดยรวม รถก็ยังจิกอยู่ในโค้งได้ดีอยู่เหมือนเดิม เว้นเสียแต่ว่า คุณจะ
เพิ่มความเร็วจนมากเกินไป หรือสภาพยางย่ำแย่เกินเหตุ

กระนั้นบนทางโค้งขวา รูปเคียว ของทางด่วนขั้นที่ 2 เหนือมักกะสัน ช่วงที่
เชื่อมต่อจากพระราม 9 ไปยังโค้งซ้าย โรงแรมเมอเคียว Sylphy 1.6 Turbo
พาผมเข้าโค้งนี้ได้ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเรียกได้ว่า ใกล้ Limit
ของตัวรถมากที่สุด เท่าที่จะยังปลอดภัยอยู่ เหมือนเช่น Pulsar Turbo เป๊ะ

แต่ถ้าเป็นทางโค้ง ตัว S ยาวๆ ที่เชื่อมจากทางด่วนขั้นที่ 1 ขึ้นบูรพาวิถี ผมพา
Pulsar Turbo เข้าโค้งขวาแรกได้ที่ความเร็วบนมาตรวัด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จากนั้น ช่วงโค้งยาวๆ ผมเพิ่มความเร็วขึ้นไปได้ถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แม้
ช่วงในโค้ง เจอพื้นผิวลอนคลื่น พอถึงโค้งขวาสุดท้าย ขึ้นสู่ทางยกระดับ ผม
ซัดเข้าไปที่ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ เพียงแค่ต้องทนฟังเสียงยางร้อง
กรีดแหลมชวนรำคาญนิดหน่อยเท่านั้น!

ถ้าต้องเทียบกับคู่แข่ง Ford Focus , Chevrolet Cruze กับ Mitsubishi Lancer
EX จะให้ความมั่นใจในโค้งได้ดีกว่า เพราะตัวรถภาพรวม หนักกว่านิดหน่อย
ส่วน Mazda 3 จะคล่องแคล่วและเซ็ตรถออกมาให้พร้อมมีอาการบั้นท้ายออก
ได้นิดๆ กำลังงาม แต่ Sylphy Turbo ก็ถือว่า ทำได้ดี หากคิดคำนึงว่า พื้นฐาน
ของตัวรถ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นความสบายในการเดินทางเป็นหลัก มากกว่าจะ
เอามาขับขี่แนว Sport เยี่ยงนี้ ส่วนคู่แข่งอีกคันที่ทำผลงานได้ดีพอกันเลยคือ
Toyota Corolla Altis ESport และที่เรียกว่า ทำได้ในระดับรองลงไป อีกคัน
ก็คือ Honda Civic FB รุ่นปัจจุบัน

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน เสริมด้วย
ตัวช่วยมาตรฐาน ระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electronics Brake Force
Distribution) และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake Assist มาให้
เป็นอุปกรณ์ประจำรถ จานเบรกถูกปรับเปลี่ยนขนาดให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ใหญ่ขึ้น จาก 270 เป็น 290 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ
เบรกให้ดีขึ้น

อีกทั้งยังเพิ่มระบบ ควบคุมเสถียรภาพ VDC (Vehicle Dynamic Control)
แถมมาให้อีกด้วย หลักการทำงานคล้ายกับระบบ VSC ใน Toyota นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับ Sylphy และ Pulsar รุ่นมาตรฐาน ถ้าคุณเหยียบแป้นเบรกลงไป
จนสุด คุณจะสัมผัสได้ว่า มีสวิชต์ที่จะสั่งการให้ระบบ ABS EBD และ Brake
Assist เริ่มทำงานทันทีที่ผู้ขับขี่ เหยียบเบรกกระทันหันหรือเหยียบแป้นเบรก
จนสุดระยะเหยียบ ดัง “ตึ๊ก” ที่เท้าขวาของคุณ จะทำให้รถรู้ว่า คุณอาจกำลัง
ต้องการแรงเบรกอย่างปัจจุบันทันด่วน และตอบสนองทันทีในช่วงเสี้ยววินาที

ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักแป้นเบรกที่อยู่ในเกณฑ์ดี เบรกได้ตามสั่ง ถ้าคุณ
อยากให้ชะลอได้แค่ไหน ก็สั่งได้ตามนั้น ควบคุมน้ำหนักเท้า เพื่อบังคับให้
รถจอดสนิทอย่างนุ่มนวลก็ทำได้ ส่วนในช่วงความเร็วสูง ยังคงช่วยหน่วง
ตัวรถลงมาได้ทันใจ แทบจะในทันทีที่เริ่มเหยียบเบรกหนักๆ  นับว่ายังคง
รักษามาตรฐานของระบบเบรกที่ดีเอาไว้ได้ ในระดับเหมาะสมกับความแรง
ของตัวรถ

ส่วนอาการพุ่งไปข้างหน้าเพิ่มขึ้นนิดนึง ในทันทีที่ถอนคันเร่ง ซึ่งเป็นนิสัย
ปกติของรถยนต์ เกียร์ CVT ผมกลับพบว่า อาการนี้ลดน้อยลงไปอย่างชัดเจน
เมื่อเทียบกับ Pulsar Turbo

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Fuel_Consumption_1

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย **********

การนำขุมพลัง 1.6 DIG Turbo มาวางลงในตัวถัง Sedan 4 ประตู อย่าง Sylphy
ตามหลักการแล้ว น่าจะช่วยให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ขณะแล่นทางไกลยาวๆ
ดีขึ้นด้วย นิดหน่อย

แต่จะดีขึ้นแค่ไหนกันละ?

เราจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันด้วยวิธีการดั้งเดิม คือพา
Sylphy Turbo ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริม
ถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

เนื่องนจาก Sylphy Turbo เป็นรถยนต์นั่งในพิกัด C-Segment ราคายังอยู่ในช่วง
ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันด้วยวิธีการเขย่าขย่มรถ เพื่ออัดกรอก
น้ำมันลงไป ให้เข้าไปแทนที่อากาศในถัง มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เติมและ
ขย่มกันจนกว่าน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถัง จนขย่ม ไม่ลง ไม่อาจไหลลงไป
ตามท่อทางเดินได้อีก จนเต็มความจุถังน้ำมันขนาด 52 ลิตร (ไม่รวมคอถัง) แบบนี้

สักขีพยานของเรา เป็นน้องเติ้ง Kantapong Somchana หนึ่งในสมาชิกใหม่ของทีม
The Coup Team เรานั่นเอง

เมื่อเติมน้ำมันลงไปจนเต็มถังเรียบร้อยแล้่ว เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ คาดเข็มขัด
นิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แค่สวิชต์พัดลมเบอร์ 1 อุณหภูมิ ปรับแบบปกติ  คือ
ไม่เย็นไปกว่า 25 องศาเซลเซียส ตามหน้าจอเครื่องปรับอากาศ

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์
ไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ ทะลุไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6
จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไปบนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง ปลายสุด
ทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน อีกรอบ

รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดเครื่อง
ปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Fuel_Consumption_2

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เราเลี้ยว
กลับรถที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex
อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มอีกครั้ง ด้วยวิธีการเดิม เหมือนกับ
ตอนเติมน้ำมันครั้งแรกก่อนเริ่มการทดลอง

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Fuel_Consumption_3

ผลลัพธ์ที่ได้มีดังนี้

ระยะทางบนมาตรวัด Trip Meter A อยู่ที่ 93.2 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 Techron เพียวๆ เติมกลับ แบบเขย่ารถ 6.06 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย จากการขับด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ นั่ง 2 คน อยู่ที่ 15.37 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขออกมาสวยกว่า Pulsar Turbo อยู่ราวๆ 0.46 กิโลเมตร/ลิตร แต่นั้นมัน
เป็นเพียงการทดลอง ขับขี่ในระยะเดินทางไกล และใช้ความเร็วรถ กับรอบ
ของเครื่องยนต์ไม่สูงนัก

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_Data_3

แล้วถ้าต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน ในเมืองใหญ่ ละ?

โอ้โห เข็มน้ำมันลดลงเร็วชิบหายเลยครับ!

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะนิสัยปกติของ Sylphy และ Pulsar อยู่แล้ว การออกแบบ
ถังน้ำมันของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น มีส่วนทำให้เข็มน้ำมันดูเหมือนว่าจะลดลงเร็ว
กว่าปกติ ทั้งที่จรงๆแล้ว Sylphy นี่ได้ชื่อว่า เป็นรถเก๋ง C-Segment ที่ประหยัด
น้ำมันมากสุดเท่าที่ Nissan เคยทำขายในบ้านเราแล้วนะ

ทว่า พอมาเจอกับขุมพลัง MR16DDT ที่ให้ความแรง เท่าเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร
ดังนั้น การกินน้ำมันในเมือง จึงแทบไม่ได้ต่างจากรถยนต์ 2.5 ลิตร เสียเลย!
เผลอๆ ถ้าจับมาเทียบกันแล้ว Teana 2.5 ลิตร ใหม่ L33 น่าจะประหยัดกว่า
เสียด้วยซ้ำ!!

เหตุผลหนะเหรอครับ การเซ็ตเครื่องยนต์ กับเกียร์ ยังไงละ! แค่เหยียบคันเร่ง
แบบ แตะๆ ลงไปนิดเดียว รอบเครื่องยนต์ ก็พุ่งโดดไปอยู่แถวๆ 3,000 รอบ
ซึ่งเป็นช่วงที่แรงบิดสูงสุดมาถึงได้สักพักหนึ่งแล้ว แค่ออกตัวจากไฟแดง แตะ
คันเร่งนิดๆ เพื่อออกรถ เข็มก็กวาดขึ้นไปแถวๆ 2,500 รอบ แล้วเถอะ!

ดังนั้น ถ้าคุณจะขับรถคันนี้ให้ประหยัด กรุณา ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้รอบเครื่อง
มันตีเกินขึ้นไปกว่า 2,250 รอบ/นาที นั่นคือจุดพีคสุดของความประหยัด ก่อนที่
แรงบิดสูงสุดจาก การ บูสต์ช่วยของ Turbo จะเข้ามาสูบสวาปามน้ำมันในถัง

Pulsar Turbo ผมเคยเจอว่า เติมน้ำมันเต็มถังปุ๊บ เข็มจะลดฮวบ เหลือ 3/4 ของ
ถัง เมื่อขับไปได้ 100 กิโลเมตร แต่ Sylphy Turbo มันโหดกว่านั้นครับ เข็มจะ
หล่นลงมาอยู่ในระดับ 3/4 ของถังเช่นกัน เมื่อแล่นไปได้เพียง 80 กิโลเมตร
ขอย้ำว่า นี่แค่ขับแบบ เนิบๆ สุภาพ ยังไม่ได้กระทืบคันเร่งไล่แซงใครเลยนะ!

ทว่า เมื่อเข็มน้ำมันหล่นลงมาครึ่งถัง Pulsar Turbo ทำระยะทางได้แค่ 150
กิโลเมตร แต่ Sylphy Turbo นั้น ผมทำได้ที่ 190 กิโลเมตร ซึ่งอันนี้แสดงว่า
ขึ้นอยู่กับ เข็มน้ำมันของรถ “แต่ละคัน” จากทั้ง 2 รุ่น แล้วละ

น้ำมัน 1 ถัง ถ้าขับแบบปกติทั่วไป ในเมือง เชื่อว่า จะทำระยะทางได้แค่เพียง
350 กิโลเมตร ก็ดีถมถืดแล้ว แต่ถ้าขับทางไกล ไม่เร่งไม่เหยียบมากนัก มั่นใจ
ได้เลยครับว่า น้ำมัน 1 ถัง แล่นได้แน่ๆ 420 กิโลเมตร

ถือว่าน้อยไปนะ กินน้ำมันมากไปนะ สำหรับรถยนต์สมัยนี้

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_04

********** สรุป **********
แรงสุดในกลุ่ม แต่ยังกินน้ำมันในเมืองโหดร้าย พนักศีรษะดันกบาล
พวงมาลัยและช่วงล่าง Comfort ไปนิด เมื่อเทียบกับสมรรถนะของรถ

ในอดีตที่ผ่านมา เรามักจะบ่นกันอยู่ได้ตาม Internet และ โลก Social Media ว่า

“ทำไมบริษัทต่างๆ ไม่คิดจะนำรถยนต์สมรรถนะสูงๆ มาขายคนไทยกันบ้างเลย
สเป็กดีๆ ออพชันดีๆ เก็บไว้ขายแต่ใน ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ยุโรป ซะหมด พอ
มาถึงเมืองไทย ก็หั่น Option จนเตียนโล่ง เครื่องยนต์ ก็มีแต่พวกแรงแบบบ้านๆ
แค่แรงพอให้ขับไปซื้อกับข้าวหน้าปากซอยได้ แต่เร่งแซงพวกบ้าพลังไม่ได้เลย
เห็นคนไทยเป็นควาย ที่ต้องทนให้บริษัทรถยนต์เขาสนตะพายกันหรืออย่างไร?”

คืออย่างนี้ครับ มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ในการสั่งรถยนต์สักรุ่น เข้ามาประกอบขาย
ในบ้านเรา มันมีข้อจำกัดเยอะแยะมากมายก่ายกอง หลักๆ ที่มักเป็นปัญหาคือ
คนญี่ปุ่น หรือฝรั่งมังค่า ที่มักไม่ค่อยปล่อยของแรงๆ ของดีๆ มาให้คนไทยครบๆ
เพราะมีคำถามว่า ใส่ไปแล้ว จะคุ้มหรือเปล่า ใส่มาแล้ว มันยิ่งทำให้ราคาแพงขึ้น
(ซึ่งข้อนี้ จริงอย่างถึงที่สุด Option ทั้งหลายที่คุณๆ อยากได้กันหนะ บางค่าย มี
ปัญหาเรืองต้นทุน จริงๆ มันไม่สอดคล้องกับสูตรการคำนวนราคาขายปลีก ของ
รถยนต์รุ่นนั้นๆ) หรือหนักกว่านั้น ถึงขั้นถามมาว่า ใส่ Option ตัวนี้มาให้แล้ว
จะทำให้ยอดขาย เพิ่มขึ้นอีกกี่คัน กี่เปอร์เซนต์!

โอ้ยยยย อีพวกชาวต่างชาติ นี่บางทีก็น่าด่าเหมือนกัน จะงก จะกั๊ก กันไปถึงไหน
สิ่งที่คนไทย อยากได้คือ ของดี ของแรง และคุ้มราคา คุณจะขายแพงกว่าชาวบ้าน
นิดหน่อยก็ได้ แต่ Option และข้าวของพื้นฐานที่ลูกค้าต้องการ คุณต้องให้มาครบ

อีกปัญหาหนึ่ง อันหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาษีเกี่ยวกับรถยนต์บ้านเรา มันเยอะแยะ
หยุมหยิม ยุบยับ เกินไป ถ้าเป็นรถยนต์สมรรถนะสูง ยิ่งแรงเท่าไหร่ ยิ่งปล่อย
มลพิษสูงขึ้น ยิ่งทำให้ภาษีที่ต้องจ่าย เพิ่มมากขึ้น นี่ยังไม่นับว่า ต้องจ่ายภาษี
มหาดไทย (เก็บทำไมวะเนี่ย) ภาษีอื่นๆ บ้าบอคอแตกอีกหลายชั้น กว่าจะขึ้น
โชว์รูมได้ ราคาก็แพงไปกว่าความจริง หลายแสนจนถึงนับล้านบาท!

ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม ที่มีผู้ผลิตสักค่าย ใจป้ำ จัดรถยนต์มาสักรุ่น อัดออพชันให้
เต็มพิกัด ใส่ความแรงมาให้สะใจ และเหมาะสมกับตัวรถ และขายในราคาที่
ไม่แพงจนเกินไป ผมมักสนับสนุนรถยนต์รุ่นนั้น จาก “ทุกค่าย” มากขึ้นกว่า
ปกติ เป็นพิเศษ เพราะรู้ดีว่า ของแบบนี้ มันจะมีมาให้คนไทยได้ซื้อหามาใช้
ครอบครองกันได้ ไม่ง่าย และไม่บ่อยครั้งนัก

คราวนี้ ก็เช่นกัน Nissan ถึงขั้น ใจป้ำ! ไม่เข็ดจาก Pulsar Turbo ยอมนำแผน
การทำ Sylphy Turbo ขึ้นมาปัดฝุ่น สานต่ออีกรอบ คราวนี้ ยอมอัด Option มา
ให้เต็มพิกัด ครบชนิดที่ว่า มีในสิ่งที่ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่ ต้องการจากรถเก๋ง
C-Segment สักคัน แถมยังมีพละกำลังแรงสุดกู่ จาก เครื่องยนต์ ที่มีรหัสห้อย
ต่อท้าย เหมือน “ยาฉีดยุง” ซึ่งก็ดันมีพิษสง ร้ายพอๆกับ ยาฉีดยุง จริงๆ ด้วย
นั่นแหละ!

ที่สำคัญ มาในราคาแค่เพียง 990,000 บาท (ก่อนจะต้องขึ้นราคา ตามโครงสร้าง
ภาษีสรรพสามิตใหม่  1 มกราคม 2016 ซึ่งน่าจะทำให้ค่าตัวกลับไปอยู่ในแดน
1,070,000 บาท เท่าๆ Pulsar Turbo) ถือเป็นการคืนกำไรส่งท้ายปีที่สวยงาม
ของ Nissan อย่างมาก

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_05

กระนั้น แน่นอนครับ  Sylphy 1.6 DIG Turbo มันก็ยังไม่ใช่รถยนต์ที่ดีเด่ จน
ไร้ซึ่งจุดด้อยเลย มันยังมีอีกหลายจุด ให้ปรับปรุงต่อได้ โดยเฉพาะปัญหาใหญ่
มากที่สุดของ เครื่องยนต์ MR16DDT คือ การกินน้ำมันเชื้อเพลิง ในเมือง ซึ่งสูง
มากเสียจนกระทั่ง อาจทำให้หลายคน ชะงักที่จะยอมเป็นเจ้าของ แม้ว่าตัวเลข
ความประหยัดน้ำมันจากการแล่นทางไกล จะช่วยให้บรรเทาอาการประหวั่น
พรั่นพรึงลงไปได้บ้างก็ตาม

นอกจากนี้ Sylphy Turbo ยังต้องการช่วงล่าง ที่หนึบกว่านี้อีกหน่อย พวงมาลัย
ที่หนืดกว่านี้ ในย่านความเร็วหลัง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปแล้ว อีกนิด และยัง
ต้องการความทนทานของชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆในห้องเครื่องยนต์ เช่นพวก
สวิตช์พัดลมหม้อน้ำ (ได้ยินว่าแก้ไขกันแล้ว)  มากกว่านี้อีกพอสมควร รวมทั้ง
พนักศีรษะของเบาะคู่หน้า ที่ยังคงแอบดันกบาลนิดๆ ให้ต้นคอตึงๆ ได้อยู่ดี

แม้ว่าข้อด้อยจะมีอย่างที่เห็นในย่อหน้าข้างบน แต่ถ้าคุณคิดว่า สามารถยอมรับ
กับข้อด้อยทั้ง 3 ประการหลักๆ ของรถยนต์รุ่นนี้ได้แล้ว การเป็นเจ้าของ Sylphy
1.6 DIG Turbo ก็ถือได้ว่า เป็นความคุ้มค่าในระดับที่มากกว่า Nissan รุ่นอื่นๆ ใน
ช่วง 2-3 ปีมานี้ เพราะคุณจะไม่ได้เพียงแค่ได้รถยนต์ขับขี่ใช้งานสักคัน แต่คุณ
จะได้ “ครอบครอง ตำนานรุ่นหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ยานยนต์ของเมืองไทย” !!

เพราะว่า หลังจาก Sylphy 1.6 DIG Turbo แล้ว ผมยืนยันให้ตรงนี้ได้เลยครับว่า
Nissan จะไม่มีรถยนต์ที่ให้สมรรถนะแรงแบบนี้ พร้อม Option ครบขนาดนี้ ใน
ราคาถูกขนาดนี้ มาผลิตขายที่บ้านเรา ในรูปแบบ Complete Car ไปอีกอย่างน้อยๆ
3-4 ปีแน่ๆ!

ฉะนั้น ถ้าไม่ซื้อตอนนี้ จะให้ซื้อตอนไหน? จะรอสอยตอนเป็นรถมือสอง คุณก็
ต้องทำใจกับสภาพที่เจ้าของเก่า เขาซัดมาซะโทรมฝังใน เพราะคุณก็คงรู้นี่ครับ
ว่าคนที่กล้าซื้อรถยนต์สมรรถนะสูง ส่วนใหญ่ ตีนขวา หนักกว่าคนธรรมดาเยอะ!

นั่นละครับ คือเหตุผลที่ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า It’s Now…or Never!

เพราะถ้าไม่ใช่คราวนี้…ก็จะไม่มี..อีกแล้ว!

—————————————///————————————–

2015_11_04_Nissan_Sylphy_Turbo_06

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Nissan Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ และลิขสิทธิ์ภาพถ่ายในไทย เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
ๅ7 พฤศจิกายน 2015

Copyright (c) 2015 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
November 17,2015

 

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE