ขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก…”น้อง นอย”…

นอย แปลว่าอะไร ผมไม่รู้ แต่ เจ้าตัวยืนยันว่า ไม่ได้มาจากคำว่า “พารานอยด์” แน่นอน

นอย เป็นคุณผู้อ่านรุ่นน้อง ของเว็บเรา อีกคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาอ่านเว็บไซต์ของเรา ตั้งแต่เพิ่งเปิดใหม่ๆ แต่กว่าที่วงโคจรแห่งโชคชะตาชีวิต จะลิขิตให้ผมกับนอยมาเจอกัน มันก็ปาเข้าไปในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี 2017 – 2018 ที่ผ่านมา นี่เอง

จำได้แต่ว่า ช่วงที่คุณพ่อผมเพิ่งถึงแก่กรรมไป เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2018 หลังจากนั้น มรสุมชีวิตก็ถาโถมเข้าหาผม ราวกับเบื้องบนเขารอรุมกระทืบผมมานานแล้ว ในตอนนั้น นอย จะค่อนข้างเป็นห่วงผมมาก และเป็นน้องคนหนึ่ง ที่ช่วยให้ผม ผ่านพ้นช่วงเวลาเจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตแต่ไม่อาจร้องไห้ได้เลย มาได้ด้วยดี

นอยเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับรถยุโรป เสียเป็นส่วนใหญ่ และมักมีคำถาม ที่ไม่ต่างจากผู้คนทั่วไป ถึงเรื่องการทำตลาดของบริษัทรถยนต์ นอยมักจะถามว่า “ทำไมบริษัทนี้ เขาไม่ทำอย่างนั้น ทำไมบริษัทนั้น เขาไม่ทำอย่างนี้ ทำไมเขาไม่เอารถรุ่นนั้นเขามาขาย ทำไมระบบ Sensor Sonar Super alpha ด้วยอำนาจแห่งจันทรา บ้าบอคอแตกทั้งหลาย ถึงไม่ยอมเอาเข้ามาขายให้คนไทยกันเสียที” ฯลฯ เป็นต้น…

“นอย….วันหนึ่ง เมื่อเธอได้ทำงานในบริษัทรถยนต์ นอยจะเข้าใจ…”

นอยจึงไปหาคำตอบด้วยการสมัครไปฝึกงาน อยู่ที่ Mercedes-Benz (Thailand) อยู่ไม่กี่เดือน นอยก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้น จนวันหนึ่ง เมื่อเรียนจบ นอยก็มาปรึกษาว่า เขาควรจะเลือกเดินทางต่อไปอย่างไรดี ระหว่าง บริษัทรถยนต์ค่ายยักษ์ใหญ่ แห่งหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าสมัครไปแล้ว เขาจะเรียกสัมภาษณ์เมื่อไหร่ กับบริษัทเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “Yontrakit Kia Motor”

ถ้าเป็นคุณ เดาว่า คงจะแนะนำให้รอดูบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีความมั่นคงมากกว่า และน่าจะฝากอนาคตในหน้าที่การงานได้ดีกว่า มีโอกาสเปิดกว้างในสายงานมากกว่า เดินทางก็สะดวกกว่า พูดง่ายๆคือ มองภาพรวม บริษัทยักษ์ใหญ่ ย่อมดูมีภาษีดีกว่า บริษัททั่วไป ถูกไหมครับ?

แต่ผมมองต่างออกไป…

ขึ้นชื่อว่า “ยนตรกิจ” (Yontrakit) เด็กๆสมัยนี้ โดยเฉพาะ รุ่นของ “นอย” อาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่สำหรับใครก็ตามที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จะรู้จักเป็นอย่างดี ยนตรกิจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1950 โดย 2 พี่น้อง อรรถพร – อรรถพงษ์ ลีนุตพงษ์ เพื่อเป็นตัวแทนนำเข้า (ต่อมาก็ตั้งโรงงานนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบรถในไทย ย่านบางชัน) และจำหน่ายรถยนต์ยุโรป ทั้ง BMW จากเยอรมนี รวมทั้ง Citroen และ Peugeot จากฝรั่งเศส ตามด้วย Volkswagen และ Audi จากเยอรมนี ช่วงปี 1991

ช่วงที่รุ่งเรืองมากสุดคือยุค 1980 – 1990 ธุรกิจอู้ฟู่มากๆ เคยถึงขั้นทำให้ BMW 316 (E30) มียอดขายเบียด Toyota Corolla จนขึ้นแท่นรถยนต์นั่งขายดีที่สุดในเมืองไทย มาแล้ว ในหลายๆเดือนของช่วงปี 1985 – 1986 รวมทั้งทะยอยเจรจาเปิดธุรกิจแบรนด์รถยนต์ใหม่อื่นๆ ด้วยหลายราย เช่น Rolls Royce จากอังกฤษ และ Kia จากเกาหลีใต้

แต่ด้วยปัญหาด้านบริการหลังการขาย ที่สะสมกันมานาน หลายเรื่องหลายประเด็น ทำให้ลูกค้ามากมาย พากันจดจำ เลิกใช้ บางรายถึงขั้นสาบส่ง และสวดชยันโต กันตาม Webboard Pantip และตามที่ต่างๆ การถูกด่าอย่างรุนแรง จากลูกค้าที่แค้นฝังหุ่น ทำให้บางคนในตระกูล ถึงกับเคยเปรยกับผมว่า “เคยคิดอยากเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอื่นให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย”

แต่…เมื่อเวลาผ่านไป ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 1997 เป็นต้นมา จนถึงปี 2017 บริษัทแม่ของแต่ละราย ทะยอย ยกเลิกสิทธิ์การทำตลาด เพื่อมาเปิดบริษัทขายรถในเมืองไทยเอง แต่ในระหว่างนั้น เมื่อคุณอรรถพร ลีนุตพงษ์ หัวเรือใหญ่ จากไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2001 (อ่านรายละเอียดจากข่าวเก่า ในเว็บไซต์ Manager Click here) ความขัดแย้งในตระกูล นำมาถึงการแบ่งกองมรดกและกิจการ ออกจากกัน ในช่วงหลังจากนั้น ต่างฝ่าย ต่างแยกย้ายไปทำธุรกิจของตน

ปัจจุบันแบรนด์ และสิทธิ์ในการทำตลาดรถยนต์ Kia ในเมืองไทย ถูกโยกย้ายมาอยู่ในการดูแลของ คุณ สรวิศย์ ลีนุตพงษ์ ซึ่งมอบหมายให้ คุณ “ลูกแพร์” ธันยนันท์ ลีนุตพงษ์ ศิริมงคลเกษม ลูกสาว เป็นแม่ทัพของบริษัท อันที่จริง บุคลิกของ คนบ้านนี้ ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว ทำงานกันไป นานๆที ถึงจะออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนกันเสียที เราจึงไม่ค่อยรู้ความเคลื่อนไหวใดๆมากนัก

จนกระทั่งผมได้มีโอกาส ร่วมรับประทานอาหารค่ำ และพูดคุยเป็นการส่วนตัว เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ได้รับรู้ถึง ความตั้งใจของบ้านนี้ ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าให้ดี พยายามกลับมาหาทางทำตลาด Kia อย่างจริงจัง โดยยังยืนหยัดกับการใช้ชื่อ “ยนตรกิจ” อยู่ ไม่หนีไปไหน ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง ชื่อของ ยนตรกิจ จะกลับมาดีขึ้น ถ้าพวกเขา พยายามอย่างนี้กันต่อไป

ก็เลยบอกกับ นอย ไปว่า “ถ้าเริ่มต้นอาชีพสายรถยนต์ กับบริษัทใหญ่ แน่นอนว่า ได้เครดิตดีกว่า เงินเดือนดีกว่า สวัสดิการดีกว่า มั่นคงกว่า เพื่อนฝูงรู้ข่าว ก็คงจะยอมรับในตัวนอยมากขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่า โอกาสในการเติบโต อาจจะยากกว่า การเมืองในองค์กรทุกที่มีหมด มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ยิ่งองค์กรใหญ่แค่ไหน ปัญหาก็ยิ่งมากตามลำดับขั้นการตัดสินใจตามสายงาน…

…แต่ถ้ามาเริ่มกับบริษัทเล็กๆอย่าง Yontrakit Kia แม้ว่าจะเหนื่อยกับการเดินทาง และต้องพิสูจน์ศักยภาพให้ทุกคนเห็น รวมทั้งต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก แต่ลำดับขั้นการตัดสินใจก็ไม่เยอะ จำนวนคนที่ทำงานอยู่ ก็ไม่เยอะ โอกาสที่จะเริ่มต้นเรียนรู้โดยไม่กดดันมากเท่าบริษัทใหญ่ มีมากกว่า พี่เชื่อว่า ด้วยแคแรคเตอร์อย่างนอย และจากที่พี่เจอคุณพ่อกับคุณแพรและคุณปลา มาแล้ว…พี่เชื่อว่า นอยน่าจะเรียนรู้และทำงานกับทีมนี้ ได้ดี…

ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่คงบอกข้อดีและข้อด้อยทั้งหมดเท่าที่พี่พอจะรู้ ได้เท่านี้ ที่เหลือนอยต้องเลือกด้วยตัวเองนะ พี่ขอไม่เลือกให้ เพราะมันคือชีวิตของนอย ดังนั้น ควรเป็นการตัดสินใจของนอยเอง...

คุณคงเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่า ท้ายที่สุด นอย เลือกเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ที่ไหน….

1 เดือนต่อมา หลังเริ่มงานกับ Kia นอยก็โทรหาผม อยากนั่งกินมื้อเย็นด้วย พอดีวันนั้น มีนัดกับน้องๆคุณผู้อ่าน และนายช่างซ่อมคอมประจำตัวผม พอดี ก็เลยนัดทั้งหมด มาเจอกัน ที่ร้าน Gyu-Kaku สาขา Mega Bangna (ขอแนะนำ Buffet 699 บาท ++ ที่มีเนื้อ Karubi อร่อยเลิศเลอ ม๊ากกกก ) เย็นวันนั้น นอยมีคำถามถึงผมชุดใหญ่ ประมาณว่า…

“พี่จิมมี่ ถ้าสมมติว่า พี่จะซื้อรถ พี่จะเลือกอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง Sunroof หรือ Cruise Control?”
“สมมติว่า ออพชันนึงเราสั่งเข้ามาได้ แต่มันต้องพ่วงกับออพชันอีกตัวหนึ่ง แล้วราคาแพงขึ้น พี่จิมมี่จะยอมจ่ายไหม?”
หรือ “ถ้าอยากจะได้ออพชันตัวนึง แต่ต้องเอา ออพชันอีกตัวหนึ่ง ออกไป แล้วราคาขายมันยังเท่าเดิม หรืออาจแพงขึ้นนิดหน่อยด้วยซ้ำ เป็นพี่ พี่จะยอมรับได้ไหม?”

ฮั่นแน่! มึงเริ่มเข้าใจแล้วในสิ่งที่กูพยายามจะบอกมึงแล้วใช่ไหมครับ?

ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขอต้อนรับสู่ วงการที่มีทั้งเรื่องสนุกสนาน และสารพัดเรื่องปวดกบาล ที่เราเรียกว่า “วงการอุตสาหกรรมยานยนต์” อย่างเป็นทางการนะนอย!

อันทีจริง Kia Soul EV ผ่านขั้นตอนการกำหนดสเป็ก ราคา การสั่งซื้อ และนำเข้ามาตรวจสภาพและทดสอบด้านมลพิษเพื่อเตรียมออกจำหน่าย ก่อนที่ นอย จะเริ่มงานแล้ว และเท่าที่ผมทราบมา ทีมผู้เกี่ยวข้อง ก็ใช้ความพยามเต็มที่เหมือนกัน ที่จะเซ็ต Option ให้สมดุลย์กับราคาขาย ซึ่งแพงขนาดนี้

แต่เนื่องจาก Soul EV เป็น รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน CBU (Completed Built Unit) มันก็มีสารพัดข้อจำกัดต่างๆนาๆมากมาย ในการสั่งนำเข้ารถยนต์สักรุ่นมาทำตลาดในเมืองไทย ทั้งจาก ประเด็นเรื่องภาษีนำเข้า เรื่องข้อจำกัดในทางเลือกอุปกรณ์ที่บริษัทแม่เกาหลีใต้ กำหนดมาตายตัว เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการด้านการผลิตของโรงงานที่เกาหลีใต้เอง หรือจะด้วยสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่น้อง นอยเองก็บอกว่า กว่าที่เจ้าตัวจะเริ่มเข้าใจในสารพัดข้อจำกัดดังกล่าว ต้องใช้เวลานานเกือบถึง 1 เดือนแรกของการทำงานเลยทีเดียว

ดังนั้น วันนี้เรามาดูว่า ตัวรถที่ออกมา เมื่อเทียบกับราคาที่แพงกว่าคู่แข่งในพิกัดเดียวกัน มันคุ้มค่าพอไหมที่คุณควรจะจ่ายเงินอุดหนุน ผลผลิตล่าสุดจาก ยักษ์อันดับ 2 ของวงการรถยนต์ฝั่งเกาหลีใต้ ซึ่งมีค่าตัวแพงสุดในกลุ่มรถยนต์พลังไฟฟ้า ด้วยกัน ในเวลานี้ (ปี 2019)

แต่…ก่อนอื่น…สำหรับใครที่ไม่เคยรู้จัก Kia Soul มาก่อน ผมอยากชวนคุณผู้อ่าน ย้อนกลับไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาสักเล็กน้อย ย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของ Kia Soul ทั้งในตลาดโลก และในเมืองไทย กันสักหน่อย เพียงเพื่อให้คุณได้รู้ว่า รถรุ่นนี้ เคยถูกสั่งนำเข้ามาขายในบ้านเรา ครบทุก Generation มาแล้ว…และแรกเริ่มเดิมที มันถูกสร้างขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “หมูป่าตัวผู้ สะพายเป้ Backpack!!!”

นับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี 2009 Kia Soul มียอดขายสะสมทั่วโลก จนถึงปี 2018 อยู่ที่ 1,672,993 คัน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ สำหรับรถยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมา เอาใจลูกค้าทั่วไปที่มีรสนิยมหลากหลายไม่เหมือนใคร เน้นพื้นที่ใช้สอย และความสะดวกสบายในการเดินทาง เข้ากับวัฒนธรรมทางดนตรี ที่หล่อหลอมให้ Kia Soul กลายเป็นรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากสุดรุ่นหนึ่งเท่าที่ Kia เคยผลิตออกจำหน่ายมา

จุดเริ่มต้นของ Kia Soul เกิดขึ้นในช่วงปี 2004 โดยคนที่คิดเริ่มต้นโครงการ Kia Soul นั้น ไม่ใช่ Peter Schreyer อดีตนักออกแบบจาก Volkswagen และ Audi ผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาคุมงานออกแบบของ Kia จนโด่งดังไปทั่วโลก (ซึ่งเข้ามาร่วมงานภายหลังโครงการ Soul เริ่มเดินหน้าไปก่อนแล้ว) แต่กลับเป็นหัวหน้าทีมออกแบบของ Kia North America Design Center ใน California ซึ่งมีชื่อว่า Tom Kearns

เส้นสายภายนอก เป็นผลงานของ Mike Torpey ซึ่งเข้าร่วมงานกับทีมออกแบบของ Kia ใน Studio ออกแบบที่เมือง Irvine มลรัฐ California เมื่อช่วงต้นปี 2005 จากนั้น เขาถูกส่งไปเกาหลีใต้ เพื่อร่วมระดมความคิด ค้นหาแนวทางการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ระหว่างนั้น เขาได้ชมสารคดีทางโทรทัศน์ เกี่ยวกับ หมูป่าตัวผู้ (Boar) ซึ่งมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของเกาหลีในอดีตอย่างมาก Torpey จึงเลือกจะสื่อสารความแข็งแกร่ง และประสิทธิภาพรวมทั้งความอเนกประสงค์ ด้วยการวาดภาพร่างของ หมูป่าตัวผู้ สะพายเป้ Backpack แล้วนำแรงบันดาลใจดังกล่าว มารังสรรค์ลงบนเส้นสายตัวถังของ Soul เพื่อเน้นเอาใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นโดยเฉพาะ

Tom, Mike และทีมงาน พยายามสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ภายใต้ธีมการออกแบบ “Utility & Music” โดยใช้แนวเส้นหลังคาคู่หน้า A-Pillar คาดด้วยแถบสีดำ จาก รถต้นแบบ Kia Mesa (Detroit Auto Show 2005) ส่วนภายในห้องโดยสาร ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก งานออกแบบของชุดเครื่องเสียงชั้นดี

Kia Soul เวอร์ชัน Concept Car ถูกสร้างเสร็จ แล้วนำไปเปิดผ้าคลุมครั้งแรกในโลก ณ งาน NAIAS (North America International Motor Show) หรือ Detroit Auto Show เมื่อ 9 มกราคม 2006 ปฏิกิริยาของลูกค้า มากกว่า ร้อยละ 70 ของผู้เข้าร่วมการประเมิน พบว่า Soul ดึงดูดใจต่อผู้พบเห็น และมีความคาดหวังในการซื้อสูงถึงร้อยะ 30 จากร้อยละ 51

จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Kia Soul รุ่นแรก ก็ถูกพัฒนาเสร็จ และถูกเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในกรุง Seoul เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2008 ตามด้วยการเปิดตัวระดับ World Premier สำหรับตลาดโลก และยุโรป ที่งาน Paris Auto Salon เมื่อ 2 ตุลาคม 2008 ก่อนส่งไปเปิดตัวที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 พฤษจิกายน 2008

กว่าที่ Kia Soul รุ่นแรก จะถูกสั่งเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในงาน Bangkok International Motor Show วันที่ 24 มีนาคม 2010 ด้วยมิติตัวถังยาว 4,105 มิลลิเมตร กว้าง 1,785 มิลลิเมตร สูง 1,610 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ ตระกูล GAMMA เบนซิน บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,591 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 77 x 85.4 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Multi-Point Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT (Continuous Variable Valve Timing) กำลังสูงสุด 124 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 15.9 กก.-ม. (156 นิวตันเมตร) ที่ 4,300 รอบ/นาที ขับเคื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน ตามปกติ พร้อมระบบเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
MDPS (Motor Driven Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแควสุด 5.25 เมตร ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ MacPherson Strut พร้อม Coil Spring ชนิดเยื้องศูนย์ Co-Axial และเหล็กกันโคลง คอยล์สปริง ส่วนด้านหลัง เป็นแบบอิสระ Torsion Beam CTBA และ Trailing Arm ช็อกอัพทั้ง 4 ต้น เป็นแบบใช้ ก๊าซ ของ SACHS เยอรมัน ระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้า และหลัง ถูกติดตั้งเข้ากับ Sub-Frame ระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม พร้อม ABS + EBD

รายละเอียดตัวรถและบทความ Full Review ทดลองขับ Kia Soul รุ่นแรก อ่านย้อนหลังกันได้ Click Here!

เมื่อรุ่นแรก ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในตลาดโลก แถมสร้างกระแสความสนใจให้ชาวโลก หันมามอง Kia ได่สำเร็จ Kia จึงเดินหน้า พัฒนา Kia Soul รุ่นที่ 2 เพื่อนำมาเปิดตัวในงาน New York Auto Show เมื่อ 27 มีนาคม 2013 แต่กว่าที่ Yontrakit Kia Motor นำ Soul รุ่นที่ 2 เข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย ก็ต้องรอกันจนกระทั่งถึง วันที่ 3 มีนาคม 2015 จึงได้ฤกษ์เปิดตัวพร้อมกันกับ Kia Grand Carnival เพื่อเตรียมส่งเข้างาน Bangkok International Motor Show 2015 โดยสั่งนำเข้ามาเพียงรุ่นเดียว ราคา 1,397,000 บาท แม้ว่าจะไม่แพงเลยถ้าเทียบกับรถยนต์ในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า นั่นคือราคา เมื่อปี 2015 ดังนั้น ไม่ต้องถามถึงยอดขายนะครับ ทำได้ไม่เยอะนักหรอก อย่างที่คุณผู้อ่านคิดไว้เลยนั่นแหละ

ตัวถังมีความยาว 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,600 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ Nu เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,999 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 81.0 x 97.0 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.3 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ Multi-Point Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT กำลังสูงสุด 154 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.5 กก.-ม. ที่ 4,700 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sport Mode +/-

พวงมาลัย Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรง ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ MacPherson Strut พร้อม Coil Spring ,ช็อกอัพแก้ส และเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Torsion Beam พร้อม Coil Spring ,ช็อกอัพแก้ส และเหล็กกันโคลง ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้า มีรูระบายความร้อน พร้อมระบบ ABD + EBD ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ฯลฯ

ส่วนเวอร์ชันไฟฟ้าล้วน ภายใต้ชื่อ Kia Soul EV นั้น เผยโฉมครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2014 ในรอบสื่อมวลชนของงาน Chicago Auto Show ถือเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนๆ BEV แบบผลิตออกจำหน่ายจริง รุ่นแรก ในประวัติศาสตร์ของ Kia Motor

ตัวรถมีความยาว 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,593 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet AC Synchronous แรงดันไฟฟ้า 375V กำลังสูงสุด 110 แรงม้า (PS) ที่ 2,730 – 8,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 285 นิวตันเมตร (29.04 กก.-ม.) ที่ 0 – 2,730 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับ แบตเตอรี่ Lithium-ion Polymer ขนาด 30 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) กำลังไฟฟ้า 90 กิโลวัตต์ แรงดันไฟฟ้า 375V ความจุกระแสไฟฟ้า 80 Ah เสียบปลั๊กชาร์จไฟ ระยะทางวิ่งสูงสุดที่ทำได้ 250 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนเวอร์ชันไทยหนะเหรอ? ตั้งแต่ Yontrakit Kia Motor สั่งนำเข้า Soul EV มาอวดโฉม ในงาน BIG Motor Sales เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2017 ชิงตัดหน้า Nissan LEAF จนกลายเป็น ผู้นำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขุมพลังไฟฟ้า EV ล้วนๆ มาขายอย่างเป็นทางการ รายแรกในประเทศไทย ตามด้วยการประกาศราคาขาย พร้อมจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในงาน Motor Expo เมื่อ 26 ธันวาคม 2017 (รายละเอียดของตัวรถ Click Here) จนถึงวันนี้ พวกเขา ขาย Soul EV รุ่นเดิม ไปได้….2 คัน เท่านั้น!!! (หนึ่งในนั้น รู้สึกว่าจะอยู่แถวๆ ซอยบ้านผมนี่แหละ เคยเห็นกันอยู่)

ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่ง มาจากราคาค่าตัว 2,297,000 บาท เมื่อเทียบกับ Option ที่ได้ และระยะทางแล่นต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งน้อยเกินไป ทำให้ดูเหมือนว่าตัวรถจะมีราคาค่อนข้างแพงไปหน่อยในสายตาผู้บริโภค ยิ่งเมื่อเจอราคาขายของ Nissan LEAF ที่เปิดตัวออกมาในช่วง 1,990,000 บาท หลายคนเลยมองว่า Soul EV รุ่นเดิม หมดความน่าสนใจไปโดยปริยาย ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับยอดขายทั้งหมด ของ Soul เท่าที่ มีลูกค้าอุดหนุนในเมืองไทยมาแล้ว ตัวเลขก็จะห่างไกลจากยอดขายรวมทั้งโลก กว่า 1.6 ล้านคัน อยู่ไกลโข ชนิดทาบไม่ติด…

แต่ใช่ว่า คนของ Kia เขาจะยอมแพ้ ปี 2018 ทั้งปีที่ผ่านไป มิได้สูญเปล่า พวกเขาทำงานเตรียมการกันอยู่ เพราะพวกเขารู้ดีว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ Soul กำลังจะมาถึง

Generation ที่ 2 ของ Kia Soul EV ถูกเปิดตัว พร้อมกับ Kia Soul Generation ที่ 3 ในงาน Los Angeles Auto Show เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา

จากนั้น  7 เมษายน 2019 เปิดตัว ในยุโรป ภายใต้ชื่อ “e-Soul” ซึ่งแน่นอนว่า บ้านเราคงไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ เนื่องจากในภาษาไทยนั้น ตัว e จะพ้องเสียงกับคำว่า “อี” ซึ่งเป็นคำที่คนไทย ใช้เรียกจิกด่าผู้หญิง หรือกะเทยและเก้งกวาง อันเป็นภาษาที่ ไม่สุภาพ (นี่ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ MG ถึงต้องเปลี่ยนชื่อจาก eZS มาเป็น ZS EV เมื่อมาขายบ้านเรา)

สำหรับประเทศไทย Yontrakit Kia Motor มองว่า ขืนเอา Soul เครื่องยนต์สันดาปตามปกติเข้ามาจำหน่าย อาจเจอภาษีที่สูง ทำให้ต้นทุนแพงมาก และไม่อาจตั้งราคาขายสู้ใครเขาได้ อีกทั้งช่วงนี้ ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า เริ่มได้รับคามสนใจมากขึ้น ดังนั้น การเลือก Soul EV เข้ามาจำหน่ายไปเลย น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ในระยะยาว

Kia สั่งนำเข้า Soul EV มาเผยโฉมครั้งแรก ไม่ใช่ในงานแสดงรถยนต์ตามปกติ แต่พวกเขา จับ Soul มา Wrap รอบคัน ส่งไปจอดอวดโฉมอยู่หน้างาน Concert ของนักร้อง Girl Group ชื่อดังที่มีคนไทยเป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วย อย่าง BLACKPINK เจ้าของเพลง Kill this Love ที่มาจัดแสดงในบ้านเรา เมื่อ 13 – 14 กรกฎาคม 2019 ที่ผ่านมา เหตุที่ไปจอดโชว์ได้ ก็เพราะว่า บริษัทแม่ของ Kia ในเกาหลีใต้ ซื้อสปอนเซอร์ สนับสนุน วงนี้ ในการจัด World Tour Concert รอบโลก นั่นเอง ดังนั้น ตัวแทนในไทย ก็เลยร่วมทำกิจกรรมการตลาดกับทางวงได้

กระนั้น การเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ยังคงเกิดขึ้นในงานแสดงรถยนต์อยู่ดี พวกเขาเลือกงาน BIG Motor Sale เป็นสถานที่เปิดตัว เปิดราคาจำหน่าย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา…ในงานดังกล่าว รถคันสีเขียวนี้ ถูกจับจองเป็นเจ้าของเรียบร้อยแล้ว โดย Dealer ของ Kia ในเมืองไทย รายหนึ่ง (ซึ่งก็เป็นคุณผู้อ่านของเว็บ Headlightmag เราด้วยนี่แหละ!) และทันทีที่งานดังกล่าว เสร็จสิ้นลง รถคันนี้ ก็ถูกส่งมาให้ผมทำรีวิว กันถึงหน้าบ้านเลยทีเดียว !! ดังนั้น เราจึงเป็นสื่อ รายแรกที่ได้ทำบทความรีวิวรถคันนี้…(เหมือนเช่นเคย)

Soul EV ใหม่ ใช้รหัสรุ่น SK3 มีตัวถังยาว 4,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,605 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า / หลัง (Front & Rear Thread) อยู่ที่ 1,575 และ 1,584 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ Ground Clearance อยู่ที่ 155 มิลลิเมตร

ถ้าเปรียบเทียบกับ Soul EV รุ่นเดิม (2th.Generation) ซึ่งมีขนาดตัวถังยาว 4,140 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,593 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า Soul EV รุ่นล่าสุด ยาวขึ้น 55 มิลลิเมตร กว้างเท่าเดิม สูงขึ้น 12 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ ยาวขึ้น 30 มิลลิเมตร

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ Kia Soul รุ่นแรก (1st Generation) ซึ่งมีความยาว 4,105 มิลลิเมตร กว้าง 1,785 มิลลิเมตร สูง 1,610 มิลลิเมตรระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า Soul EV ใหม่ ยาวขึ้นถึง 90 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 15 มิลลิเมตร เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร แต่มีระยะฐานล้อยาวขึ้น 50 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัด EV เช่นเดียวกัน “โดยไม่สนใจเรื่องราคาขายปลีก” อย่าง Hyundai Kona Electric ญาติพี่น้องร่วม Platform และ Powertrain ซึ่งมีความยาว 4,180 มิลลิเมตร กว้าง 1,800 มิลลิเมตร สูง 1,555 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร จะพบว่า Soul EV มีความยาวมากกว่าแค่ 15 มิลลิเมตร และสูงกว่า 50 มิลลิเมตร ส่วนความกว้าง และระยะฐานล้อนั้น เท่ากันเป๊ะ!!!

หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับ Nissan LEAF 2nd Generation ที่มีความยาว 4,490 มิลลิเมตร กว้าง 1,788 มิลลิเมตร สูง 1,540 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ (Ground clearance) 150 มิลลิเมตร จะพบว่า Soul EV สั้นกว่า LEAF ถึง 295 มิลลิเมตร แต่กว้างกว่าแค่ 12 มิลลิเมตร สูงกว่า 65 มิลลิเมตร และ มระยะฐานล้อสั้นกว่า LEAF 100 มิลลิเมตร ส่วน Ground Clearance ก็สูงกว่า LEAF แค่ 5 มิลลิเมตร

และปิดท้ายกับ MG ZS ทั้งรุ่นธรรมดา และรุ่น ZS EV ซึ่งมีความยาว 4,314 มิลลิเมตร กว้าง 1,809 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,585 มิลลิเมตร หาจอดเทียบกันแล้ว จะพบว่า Soul EV ใหม่ สั้นกว่า ZS ถึง 119 มิลลิเมตร แคบกว่าแค่ 9 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 15 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ ยาวกว่า 15 มิลลิเมตร

รูปลักษณ์ภายนอก หากดูเผินๆ คุณอาจมองว่า มันก็คือ Kia Soul Minorchange นั่นแหละ เพราะทีมออกแบบของ Kia พยายามรักษาเส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์ของ Soul เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็น เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เคลือบด้วย Plastic สีดำ ช่วยเพิ่มแนวเส้นต่อเนื่องให้กับกระจกบังลมหน้า ลากยาวและค่อยๆ ลาดเอียง เทลงไปยังเสาหลังคาคู่หลังสุด รวมทั้ง ตัวรถ ซึ่งมีความสูงพอตัว และความพยายามในการรักษา Proportion ด้านข้าง ให้อยู่ในระดับเดียวกับ Soul รุ่นก่อนๆ คือมีพื้นที่กระจกหน้าต่างถึง 1 ใน 3 ของตัวรถ หากมองเฉพาะด้านข้าง

ทว่า ในความเป็นจริง หากคุณพิเคราะห์ดูดีๆ นี่คือการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งคัน แบบ Full Modelchange เพราะชิ้นส่วนตัวถังภายนอก ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่มีชิ้นใดเหมือนรุ่นเดิมเลย และแทบจะใช้ร่วมกันกับรุ่นเดิมไม่ได้

กระจังหน้าแบบ Tiger Nose เอกลักษณ์ของแบรนด์ Kia นับตั้งแต่ปี 2008 โดย Peter Schreyer อดีตนักออกแบบ
จาก Volkswagen และ Audi ผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาคุมงานออกแบบของ Kia ช่วงปี 2008 – 2018 ถูกเปลี่ยนตำแหน่งให้กลายเป็นช่องรับอากาศด้านหน้ารถ โดยมีชิ้นงาน Plastic ขนาดใหญ่ สีเดียวกับตัวถังรถ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่ยึดป้ายทะเบียนหน้า ติดตั้งเสริมเข้าไป ขนาบข้างด้วยไฟเลี้ยว LED และไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED ติดตั้งสูงขึ้น ให้ดูเหลื่อมกันเล็กน้อย เพิ่มความแปลกตา ดูกลมกลืน เนียนๆ แต่ยังรับรู้ได้ว่า นี่คือรถยนต์จาก Kia แน่ๆ

ด้านบนของเปลือกกันชนหน้า ฝั่งซ้ายของตัวรถ (มองจากตำแหน่งคนขับ) หรือฝั่งขวา (เมื่อมองจากหน้ารถตรงๆ) คือ ช่องเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ออกแบบมาให้เป็นฝาปิด สีเดียวกับตัวถัง พร้อมระบบล็อกไฟฟ้า ที่เชื่อมต่อกับระบบกลอนประตูรถไปด้วย เพื่อความปลอดภัย ขณะชาร์จไฟ

ชุดไฟหน้าแบบ Dual LED Projector มาพร้อมกับ แถบไฟ Daytime Running Light แบบ LED ฝังไว้ในโคมรูปทรงแบนและเพรียว เล็กลงกว่า Soul EV รุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ฝากระโปรงหน้า รวมถึงแผงประตูด้านนอกทั้ง 4 บาน ก็ยังถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้มีเส้นสายที่มีมิติ มากขึ้น โดยเฉพาะ บานประตูคู่หลัง ที่มีแนวขอบหน้าต่าง โค้งตวัดขึ้น ต่อเนื่องไปถึงกระจก Opera คู่หลังสุด ซึ่งถูกออกแบบให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มทัศนวิสัยจากตำแหน่งคนขับดีขึ้น

เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar ออกแบบใหม่ ให้เป็นลักษณะ “Pillar-less Design” ตามสมัยนิยม ด้วยการเพิ่มชิ้นพลาสติกสีดำ ด้าน ปั้มสัญลักษณ์ประจำรุ่น “Soul” คาดกลางระหว่าง หลังคา และแผงตัวถัง เหนือซุ้มล้อคู่หลัง  เพื่อเชื่อมต่อกระจก Opera ให้ยาวต่อเนื่องไปจรด ชุดไฟท้าย LED ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้เป็นตัว U เหมือนก้าม หรือด้ามคบอาหาร ครอบกระจกบังลมด้านหลัง ซึ่งมีไล่ฝ้าไฟฟ้า พร้อมใบปัดน้ำฝนด้านหลัง แลหัวฉีดน้ำล้างกระจกในตัว

มือจับเปิดประตู เป็นแบบโครเมียม อาจดูแปลกไปจากบุคลิกความเป็นรถยนต์สำหรับวัยรุ่นสักหน่อย ส่วนกระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถัง ยังมีไฟเลี้ยว LED พร้อมระบบไล่ฝ้าในตัว มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับราวหลังคา Roof rack สีเงิน รองรับการบรรทุกสัมภาระ หรือติดตั้ง Rack สำหรับขนจักรยาน ไว้บนหลังคารถ

ล้ออัลลอย มีขนาด 7.0 J x 17 นิ้ว สวมเข้ากับยาง Nexen N’FERA SU1 (อ่านว่า เอ็นเฟอร์ร่า) ขนาด 215/55R17 ซึ่งผมคุ้นเคยดีอย่างมาก เพราะมันคือยางยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ซึ่งติดตั้งอยู่ใน Hyundai Kona Electric ซึ่งเคยให้ประสบการณ์สุดหรรษา ด้วยเหตุที่เป็นยางแบบแรงเสียดทานต่ำ Low Rolling Resistance มันจึงแทบไม่ค่อยจะยึดเกาะถนนเท่าไหร่เลย ออกตัวล้อฟรีทิ้งๆขว้างๆ และ Slip ได้ในระดับที่ Traction Control ยังต้องทำงานจนถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยางรุ่นนี้ก็เคยทำมาแล้ว! แถมยัง “ขี้แย” อีกต่างหาก ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดได้ไร้สาระเอาเรื่อง ในหลายๆกรณี โดยเฉพาะบนพื้นลื่นๆ

สำหรับ สีตัวถัง แม้ในเมืองนอก จะมีทางเลือกที่หลากหลาย แม้กระทั่งเล่นตัดสลับกับหลังคารถ สีดำ หรือขาว แบบ Two-tone ได้ แต่สำหรับเวอร์ชันไทยแล้ว Kia Soul EV จะมีให้เลือกทั้งหมดแค่ 5 สี ดังนี้

  • แดง Inferno Red (AJR)
  • สีน้ำเงิน Neptune Blue (B3A)
  • ขาว Snow White (SWP)
  • ดำ Cherry Black (9H)
  • เขียว Space Cadet Green (CEJ) ซึ่งเป็นสีของรถคันที่เรานำมาทดลองขับ และมีโทนสีที่ใกล้เคียงกับ สีเขียวของ Nissan March K14 รุ่นปัจจุบัน

ระบบกลอนประตู เป็น กุญแจ Remote Control แบบ Keyless Entry ธรรมดา พร้อมระบบ กันขโมยแบบ Immobilizer หากต้องการล็อก หรือปลดล็อกประตูรถ ก็ยังคงต้องใช้วิธีเดิมๆ คือ คุณต้องพกกุญแจแล้วเดินเข้าใกล้ตัวรถ กดปุ่มสีดำ บนมือจับประตู คู่หน้า หรือกดปุ่มจากตัวกุญแจรีโมท พูดกันตรงๆคือ ถึงเวลาหรือยังที่รถยนต์ระดับนี้ ควรจะ Upgrade เป็นแบบ Smart Keyless Entry แบบเดินมาที่รถ แล้วดึงมือจับเปิดประตูได้เลย เสียที

นอกจากนี้ ยังมีปุ่มสำหรับกดเพื่อสั่งเปิดฝาท้าย ซึ่งต้องกดค้างไว้ 2-3 วินาที ฝาท้ายจึงจะปลดล็อกให้ และคุณต้องเดินไปยกฝาท้ายเปิดขึ้นด้วยตนเอง เพราะฝาท้ายจะไม่เด้งยกตัวขึ้นมาให้ และเมื่อคุณปลดล็อกรถ สามารถปรับตั้งกระจกมองข้างปรับและพับเก็บด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ให้กางออกเองได้ แต่ถ้าคุณลุกออกจากรถ แล้วกดล็อกประตู กระจกมองข้างก็สามารถตั้งให้พับเก็บเองได้เช่นกัน

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หน้า ยังคงสะดวกง่ายดาย ไม่แตกต่างจาก Soul ทั้งรุ่นแรก และรุ่นที่ 2 บานประตู
เปิดได้กว้าง และ ช่องทางเข้า – ออก ก็ใหญ่โตอลังการ ชนิดที่ รถยนต์หลายๆรุ่น ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น Crossover SUV ก็ยังไม่มีช่องประตูใหญ่โตได้มากขนาดนี้ เมื่อผนวกกับการติดตั้งเบาะนั่งไว้ในระดับสูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วๆไป จนสูงในระดับใกล้เคียงกับ Minivan หรือ SUV หลายๆรุ่น ทำให้ การเข้าไปนั่งทำได้ง่ายดาย แค่เพียงหย่อนก้นลงไปบนเบาะ แล้วสะบัดขาเข้าไปวางบนพรมปูพื้น เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม กาบข้าง สีเงิน ที่ติดตั้งบริเวณชายล่าง แอบก่อปัญหาในระหว่างการเข้า – ลุกออกจากรถ ควรใช้ความระมัดระวัง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ ขากางเกง หรือชายกระโปรงของคุณ อาจเปื้อนเศษฝุ่น ดินโคลน ซึ่งติดอยู่ด้านข้างตัวรถ ในขณะก้าวเท้าออกจากรถ อยู่บ้าง

แผงประตูด้านข้าง ประดับตกแต่งพื้นที่รอบมือเปิดประตู ด้วยพลาสติกหลากสีสัน และซ่อนไฟเรืองแสง illumination เอาไว้ ทั้ง ในแผงพลาสติกสีแดง ที่เห็นในภาพ รวมทั้ง แถบลวดลาย Graphic บริเวณท่อนล่างถัดจาก มือจับประตูพร้อมพนักวางแขน ซึ่งหุ้มด้วยหนัง ออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้สามารถวางท่อนแขนและข้อศอกได้พอดีมากๆ แถมยังมีช่องใส่ข้าวของจุกจิก เล็กๆน้อยๆ เปิดเป็นพื้นที่ต่อเนื่องไปยังช่องวางขวดน้ำขนาดใหญ่ได้ 1 ขวด อีกด้วย

ภายในห้องโดยสารในตลาดต่างประเทศ มีโทนสีสว่างมาให้เลือก แต่สำหรับเวอร์ชันไทย ก็ยังคงหนีไม่พ้น สีที่ผู้จำหน่าย คาดว่าจะขายได้ง่ายสุด นั่นคือ สีดำ ยังดีที่เพดานหลังคา บุด้วยผ้าสีเทา ซึ่งพอจะช่วยเพิ่มความปลอดโปร่งโล่งสายตาได้บ้าง

เบาะนั่ง ทั้งคู่หน้า และด้านหลัง หุ้มเบาะนั่งด้วยหนังสีดำ เย็บเชื่อมติดด้วยตะเข็บด้ายสีแดง ด้านข้างของเบาะ มีสัญลักษณ์ ประจำรุ่น Soul ปักไว้ด้วย โดยชุดเบาะนั่งทั้งหมด ถูกวางตำแหน่งไว้ค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป พอสมควร อยู่กึ่งกลางระหว่าง เบาะคนขับของ Nissan March กับ Toyota Alphard หรือ Kia Grand Carnival ซึ่งแน่นอนว่า ช่วยให้มองเห็นทัศนวิสัยด้านหน้าได้ดี แต่ต้องแลกกับความมั่นใจขณะเข้าโค้งที่จะต้องลดทอนลงไปเป็นธรรมดา

เบาะนั่งคู่หน้า ปรับตำแหน่งเลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง ปรับพนักพิงเอน – ตั้งชัน และปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ด้วยสวิตช์ไฟฟ้า รวม 6 ทิศทาง แต่สำหรับเบาะคนขับ จะเพิ่มสวิตช์ปรับตำแหน่งตัวดันหลัง เข้า – ออก เพิ่มขึ้นมาให้ รวมเป็น 8 ทิศทาง แถมยังมาพร้อม Heater อุ่นเบาะ ทั้ง 2 ฝั่ง  มีสวิตช์วบคุม อยู่ข้างสวิตช์คันเกียร์ ซึ่งโรงงานเกาหลีใต้บอกว่า จำเป็นต้องติดตั้งมาให้ หากประเทศของคุณ สั่งเบาะหนังเข้ามาขาย…(เฮ้อ…ประเทศกรูร้อนตับแตกขาดนี้ จะให้ Heater มาอุ่นเบาะ ให้ไข่สุกกันหรือยังไง? หืม ชาวเกาหลี?? บ้านเราไม่ต้องใช้เลย แค่เอารถไปจอดตากแดด ครึ่งชั่วโมง เบาะก็ร้อนฉ่า ยิ่งกว่า เตาหมูกระทะแล้วว้อย!)

พนักพิงหลังของเบาะคู่หน้า มีฟองน้ำสไตล์นุ่ม แต่หนา รองรับแผ่นหลังได้ดี แถยังมีปีกข้าง สูงในระดับปานกลาง แบบที่เราคาดหวังจะเห็นจากรถบ้านทั่วๆไป ถูกออกแบบให้มีความโค้งมนหน่อยๆ กำลังดี ช่วยโอบอุ้มและล็อกตำแหน่งสรีระตั้งแต่ช่วงรักแร้ ยาวลงไปจนถึงก้น เอาไว้ได้อย่างดี เพียงแต่ว่า การรองรับช่วงหัวไหล่ อาจจะน้อยไปสักหน่อย

พนักศีรษะมีขนาดใหญ่โต ไม่แพ้  Hyundai Kona Electric และ Ioniq  นิดนึงด้วยซ้ำ และแน่นอนครับ ตามคาด ดันกบาลอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ด้วยฟองน้ำที่นุ่มและหนากำลังดี ยุบตัวลงไปได้มากพอสมควร แถมยังพิเศษกว่า Ioniq ด้วยการเสริมซัพพอร์ตช่วงต้นคอ ที่ดีกว่า Ioniq อย่างชัดเจน จึงพอทำให้สัมผัสได้ว่า พนักศีรษะหนา ดันกบาล หน่อยๆ แต่ไม่แข็ง และยังพอให้ความสบายในการเดินทางได้อยู่

เบาะรองนั่ง มีฟองน้ำที่หนาประมาณหนึ่ง ในสไตล์ นุ่ม แต่แอบแน่น ไม่ได้แข็งแบบ Kona Electric และ Ioniq มีความยาวในระดับมาตรฐาน ขาดเพียงนิดเดียวก็จะยาวถึงข้อพับขาแล้ว มีมุมเงยกำลังดี รองรับช่วงต้นขาได้ในระดับพอเหมาะพอควร

เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า เป็นแบบ ELR 3 จุด พร้อมระบบ ดึงกับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ Pretensioner & Load Limiter พร้อมตัวปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ทั้ง 2 ฝั่ง

การเข้า – ออกจากบานประตูคู่หลัง ยังคงทำได้ดีเหมือนรุ่นเดิม แม้ว่า เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar จะถูกปรับปรุงบริเวณครึ่งท่อนบน ให้เอียงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับกับเส้นสายที่ต่อเนื่องไปยังกระจก Opera คู่หลัง ก็ตาม และแน่นอนว่า ยังคงมีปัญหากาบข้างขนาดใหญ่ ที่อาจทำให้ขากางเกงหรือชายกระโปรง เปื้อนฝุ่นโคลนจากชายล่าง ยังคงมีให้เห็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า ระยะห่างจากขอบเบาะหลัง จนถึงขอบชายล่าง แอบน้อยกว่า นิดหน่อย จึงทำให้ปัญหาดูไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่องทางเข้า – ออก คู่หน้า ซึ่งมีระยะห่างจากขอบเบาะหน้า ถึงขอบชายล่าง มากกว่านิดนึง

กระจกหน้าต่าง สามารถเลื่อนลงมาได้จนสุดขอบแผงประตูด้านข้าง ซึ่งถูกออกแบบไปในทิศทางเดียวกับแผงประตูคู่หน้า คือมี การประดับตกแต่งพื้นที่รอบมือเปิดประตู ด้วยพลาสติกหลากสีสัน รวมทั้งแถบ Graphic ใต้พนักวางแขน

ตัวพนักวางแขน บนแผงประตูด้านข้าง สามารถวางท่อนแขนได้ แต่ด้วยเหตุที่พนักวางแขนถูกออกแบบมาเป็นแนวลาด ดังนั้น ตำแหน่งข้อศอก จึงไม่อาจวางลงไปบนตัวพนักวางแขน ที่แผงประตูคู่หลังได้พอดีนัก ส่วนด้านล่างของพนักวางแขน มีช่องวางขวดน้ำดื่มขนาด 7 บาท มาให้ 1 ช่อง

เบาะนั่งแถวหลัง ไม่สามารถปรับเอนได้ก็จริง แต่ก็ถูกติดตั้งมาในมุมองศา ที่เหมาะมากสำหรับการเอนลงไปผ่อนคลายขณะเดินทาง ตัวพนักพิง มีฟองน้ำที่แน่น แต่ติดนุ่มนิดหน่อย ไม่เยอะนัก ถูกออกแบบให้เว้าเข้าไปข้างใน นิดหน่อย เพื่อช่วยให้รู้สึกว่า พนักพิงเบาะหลัง ไม่รู้สึกว่าเหมือนเป็นแค่ม้านั่งธรรมดาทั่วๆไป

พนักศีรษะ ยกขึ้นปรับระดับสูง – ต่ำ ได้ ทั้ง 3 ชิ้น ตัวพนักศีรษะใช้ฟองน้ำค่อนข้างแน่น แอบนุ่มนิดๆ ถ้ายกขึ้นใช้งานจะสบายศีรษะพอดี แต่ถ้ากดลงไปในตำแหน่งปกติ ก็จะรองรับช่วงท้ายทอยค่อนข้างมาก พอสมควร

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ตรงกลาง พร้อมช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง สามารถวางท่อนแขนได้สบายพอดี แต่เมื่อกางออกใช้งานจนสุดแล้ว หัวของพนักวางแขน อาจจะเชิดขึ้นเล็กน้อย ไม่สามารถปรับให้ราบเป็นแนวระนาบกับพื้นดินได้

เบาะรองนั่ง มีความยาวพอเหมาะพอดีจนเกือบถึงขาพับ ใช้ฟองน้ำที่แน่นปานกลาง กระเดียดออกไปทางนุ่มมากกว่า ให้ความสบายในการนั่งโดยสารพอสมควร อย่างไรก็ตาม มุมเงยของเบาะรองนั่ง ยังน้อยไปนิดนึง สำหรับคนที่มีสรีระระดับมาตรฐาน หรือเตี้ยกว่าปกติ ไม่มีปัญหา ยังไงๆ คุณนั่งวางขาสอดเท้าเข้าไปใต้เบาะคู่หน้า สบายๆ แต่สำหรับคนตัวสูง หรือมีช่วงขายาว ก็อาจต้องนั่งชันขากันสักเล็กน้อย ถึงจะไม่มากนักก็เถอะ

พื้นที่ Headroom นั้นเหลือบานทะโร่โท่ ตามประสารถยนต์ทรงกล่อง สไตล์ Tall Boy ด้วยสรีระร่าง ที่สูง 170 เซ็นติเมตร ผมลองสอดมือตัวเองขึ้นไปไว้บนศีรษะ แล้วพบว่า เหลือพื้นที่มากถึง 1 ฝ่ามือ กับอีก 1 นิ้วชี้ ในแนวนอน! ขณะเดียวกัน พื้นที่วางขา Legroom นั้น ถ้าคนขับจะกรุณาปรับเบาะให้เลื่อนไปข้างหน้า ตามตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ผู้โดยสารด้านหลัง ก็จะสามารถนั่งไขว่ห้างได้สบายๆเลยทีเดียว นั่นแปลว่า พื้นที่ Legroom ค่อนข้างเยอะขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายระยะฐานล้อออกไปให้ยาวขึ้นกว่ารุ่นเดิม 30 มิลลิเมตร

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง รวมทั้งยังมีจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX มาให้ ครบ ใต้พนักพิงหลังของเบาะทั้งฝั่งซ้ายและขวา

พนักพิงเบาะหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ให้ใหญ่โตขึ้นได้ โดยใช้ ปุ่มปลดล็อก บริเวณบ่าของพนักพิงหลังทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิดยกขึ้น ค้ำยันด้วยช็อกอัพ 2 ต้น ปลดล็อกและเปิดได้ด้วยสวิตช์กลอนไฟฟ้า เหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง รวมทั้งสวิตช์ปลดล็อกที่รีโมทกุญแจ ฝาท้ายด้านใน มีแผงพลาสติกสีดำ ตกแต่งต่อเนื่องจากภายในห้องโดยสาร รวมทั้งยังมีแผงบังสัมภาระที่สามารถพับและยกถอดออกเก็บได้

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังรถ มีความจุ 315 ลิตร ตามมาตรฐานของ VDA เยอรมนี แต่เมื่อพับเบาะหลังลงทั้งหมด ทุกตำแหน่งแล้ว ความจุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,339 ลิตร (VDA) ใหญ่พอให้ใส่จักรยานเข้าไปได้อย่างน้อยๆ 2 คันแน่ๆ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา คุณจะไม่พบยางอะไหล่อีกต่อไป เพราะ โรงงาน Kia ที่เกาหลีใต้ จะแถมชุดปะยาง รวมทั้งสายชาร์จแบบฉุกเฉิน สำหรับเสียบปลั๊กไฟบ้าน มาให้ 1 ชุด ติดตั้งกับชุดโฟม Recycle สีดำ

ผนังด้านข้าง มีช่องรับอากาศจากภายในรถ เข้าไประบายความร้อนให้กับแบ็ตเตอรี ส่วนฝั่งซ้าย ติดตั้งไฟส่องสว่าง ขนาดเล็ก สำหรับยามค่ำคืน พร้อมปลั๊กไฟ 12 V 180 Watt มาให้ 1 ตำแหน่ง รวมทั้งตัวยึดสายเข็มขัดนิรภัย มาให้แกว่งฟาดไปฟาดมากับแผงพลาสติกด้านหลัง ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง

แผงหน้าปัดออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ในเวอร์ชัน ต่างประเทศ แผงหน้าปัดจะมีโทนสีสว่าง ให้เลือกด้วย โดยครึ่งท่อนบนจะเป็นสีดำ ส่วนครึ่งท่อนล่าง จะเป็นสีเบจสว่างๆ แต่สำหรับ เวอร์ชันไทย จะตกแต่งภายในด้วยสีดำทั้งหมด นั่นหมายความว่า แผงหน้าปัดก็จะเป็นสีดำด้วยเช่นกัน

จุดเด่นในงานออกแบบแผงหน้าปัด อยู่ตรงที่ การย้ายช่องแอร์คู่กลาง จากเดิมที่เคยแยกส่วนขึ้นไปไว้ด้านบนเหนือแผงควบคุมกลาง ในรุ่นเดิม กลับลงมาควบรวมกันอยู่ในแผงควบคุมกลาง ประดับด้วย Trim พลาสติก สีดำเงา Piano Black ล้อมกรอบช่องแอร์ทั้งซ้าย กลาง และขวาสุด นอกจากนี้ยังมีการย้ายตำแหน่งลำโพง Tweeter จากเสาหลังคาคู่หน้า มาไว้ด้านข้างช่องแอร์ทั้งฝั่งคนขับ และฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย สอดรับกับงานออกแบบแผงประตูคู่หน้าท่อนบน บริเวณมือจับประตู

จากขวา ไป ซ้าย แผงสวิตช์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน เฉพาะคู่หน้า มาเป็นแบบ Auto One touch พร้อมสวิตช์วงกลมสำหรับปรับและพับกระจกมองข้างด้วยไฟฟ้า ซ้าย – ขวา รวมทั้งสวิตช์ Central Lock ติดตั้งรวมชุดอยู่ในแผงเดียวกัน หน้าตาของสวิตช์ จะไม่เหมือนกับของ Hyundai เลย!

ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ เป็นแผงสวิตช์ เปิด – ปิด ระบบต่างๆ ทั้งระบบ ควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TRC (Traction Control) , ถัดมาเป็น สวิตช์ปลดล็อกปลั๊กชาร์จไฟ , สวิตช์ เปิด-ปิด จอแสดงข้อมูลมาตรวัด ยิงขึ้นกระจกหน้ารถ HUD (Head-up Display) รวมทั้ง สวิตช์ปรับความสว่างของชุดหน้าจอมาตรวัด ปรับได้ละเอียดยิบ ระดับ มีตัวเลข แสดงผลบนหน้าจอ MID ได้ ถัดลงไป เป็นฝาปิดแผง Fuse ระบบไฟฟ้าของรถ และคันโยกดึงเปิดฝากระโปรงหน้า แป้นเบรก และแป้นคันเร่ง เป็นแบบ Aluminium พร้อมแถบกันลื่น

ก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัย วางตำแหน่ง ให้เหมาะสมกับการทำตลาดใน 17 ประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวา ก้านสวิตช์ฝั่งซ้าย ควบคุมใบปัดน้ำฝนคู่หน้าแบบ Auto ทำงานผ่าน Rain Sensor และ หัวฉีดน้ำล้างกระจกหน้า สามารถปรับจังหวะในการปัดให้ถี่หรือห่าง (Intermittant) ได้ ส่วนก้านสวิตช์บนคอพวงมาลัยฝั่งขวา รวมทั้งใบปัดน้ำฝนด้านหลัง  จะควบคุม ควบคุม ชุดไฟหน้า ไฟต่ำ ไฟสูง ไฟเลี้ยว ไฟสูงแบบกระพริบ และระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ (ไฟหน้า Auto) ส่วนสวิตช์ติดเครื่อง (Power) ย้ายไปไว้ที่ตำแหน่งขวามือด้านบน ของ

พวงมาลัย เป็นแบบ 3 ก้าน ประดับก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย และขวา ด้วย Trim พลาสติก สีดำ Piano Black ส่วนก้านพวงมาลัยด้านล่าง เป็นสีอะลูมีเนียม วงพวงมาลัยหุ้มหนัง จับกระชับถนัดมือกำลังดี ไม่บางหรืออ้วนเกินไป ปรับระดับสูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง (Telescopic) ได้ด้วยก้านคันโยก บริเวณฝั่งซ้ายของคอพวงมาลัย แผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งซ้าย ควบคุมชุดเครื่องเสียงและระบบโทรศัพท์ ส่วนแผงสวิตช์บนก้านพวงมาลัยฝั่งขวา เป็นระบบรักษาความเร็วคงที่ Cruise Control รวมทั้งยังมีสวิตช์ควบคุมหน้าจอ MID บนมาตรวัด

ทันทีที่คุณกดปุ่ม Power เพื่อติดเครื่อง หรือดับเครื่อง จะมีเสียง Jingle ดังออกมา ชวนให้นึกถึง เครื่องซักผ้า Samsung เลยทีเดียว!

ชุดมาตรวัด เป็น จอภาพสี แบบ TFT-LCD Cluster ทรง Capsule แตกต่างจากของ Hyundai แต่แยกการแสดงผลเป็น 2 วงกลม ฝั่งซ้าย เป็นมาตรวัดระยะทางเท่าที่ไฟในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน เหลือพอให้แล่นต่อได้ โดยมีแถบแสดงปริมาณไฟในแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อน ล้อมกรอบอยู่ข้างๆ ส่วนฝั่งขวา เป็นมาตรวัดความเร็วแบบ Digital พร้อมแถบแสดงการชาร์จไฟกลับเข้าระบบ และการดึงกระแสไฟไปหมุนล้อขับเคลื่อน

ส่วนพื้นที่ตรงกลาง เป็นจอแสดงข้อมูล Multi-Information Graphic Display ทั้งการแจ้งเตือนตำแหน่งเกียร์ ตำแหน่งสวิตช์ไฟหน้า ไฟเตือนปิดประตูรถ หรือฝาชาร์จหน้ารถ ไม่สนิท อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยแบบ รวม (Accumulated Info) อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยแบบ ใช้งานจริง Drive Info (พร้อม Trip Meter ในตัว ทั้งคู่) รวมทั้งแจ้งลักษณะการขับขี่ ว่าสุภาพแค่ไหน ก้าวร้าวกี่เปอร์เซนต์ และ การแสดงหน้าจอ การทำงานของตัวรถ ขณะกำลังแล่น ว่ากระแสไฟ ไหลออกจากแบ็ตเตอรี หรือชาร์จกลับเข้าแบ็ตเตอรี อย่างไร แค่ไหน และระบบเตือนความดันลมยางทั้ง 4 ล้อ TPMS (Tyre Pressure Monitoring System) ถ้าจะตั้งค่ามาตรวัดต่างๆ ให้กดปุ่ม OK บนก้านพวงมาลัย ฝั่งขวา เพื่อ Reset ตัวเลขบนหน้าจอ ให้เป็น 0 เพื่อเริ่มต้นใหม่ท้้งหมด

การแสดงผลของหน้าจอวงกลมตรงกลาง ขึ้นอยู่กับ Mode การขับขี่ (Driving Mode) ที่ผู้ขับขี่เลือก 4 รูปแบบ ดังนี้

  • Eco+ และ Eco+ มีไฟแสดงสถานะ Eco สีฟ้าอ่อนติดขึ้นมา ด้านบนฝั่งซ้ายของหน้าจอตรงกลาง
  • Normal หน้าจอโหมดปกติ ถูกเปลี่ยนแถบสีขาว เป็นสีเทา ไฟ Eco ดับลง มาตรวัดความเร็วเปลี่ยนกลับไปเป็นแบบ Analog มีเข็มความเร็วเติมเข้ามา แต่ จะแสดงระยะทางที่ไฟฟ้าในแบ็ตเตอรี เหลือพอให้แล่นได้อีกกี่กิโลเมตร แทน
  • Sport มาตรวัด วงกลมฝั่งซ้าย จะเพิ่ม มาตรวัดปริมาณแรงบิดที่คุณเหยียบคันเร่งเรียกใช้งานจริง ขณะเดียวกัน แถบวัดสัดส่วนการใช้พลังกับการชาร์จไฟกลับเข้าระบบ ข้างมาตรวัดวงกลมฝั่งขวา จะเปลี่ยนเป็นแถบสีแดง/ส้ม แทน พร้อมสัญลักษณ์ Sport สีแดง เพิ่มขึ้นมา

นอกจากนี้ ยังมีจอแสดงข้อมูลการขับขี่ HUD (Head Up Display) แบบ Combiner Type ติดตั้งอยู่เหนือชุดมาตรวัด แสดงตัวเลขความเร็ว และการทำงานของระบบต่างๆ เช่น Cruise Control ถ้าต้องการใช้งาน ก็กดสวิตช์ ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณ ใต้ช่องแอร์ด้านขวาฝั่งคนขับ แผงพลาสติกใส ก็จะค่อยๆยกตัวขึ้นมา เพื่อสะท้อนข้อมูลจากจอขนาดเล็ก ด้านล่าง ยิงขึ้นมาแสดงผลบนแผงใสนั่นเอง แต่ถ้ารู้สึกรำคาญตา ก็กดปิดกลับลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณปิดสวิตช์ Power Off แล้ว แผงพลาสติกใส ก็จะค้างอยู่ในตำแหน่งเดิมอย่างนั้น ไม่ปิดกลับลงไปให้ จนกว่าจะกด Power On แล้วปิดสวิตช์ระบบ HUD เอง (แตกต่างจาก Mazda 2 กับ Mazda 3 รุ่นที่แล้ว ซึ่งบังคับให้ยกขึ้นมาใช้งานสถานเดียว จะปิดลงไป ก็ปิดไม่ได้)

ถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนสีการแสดงตัวเลขของจอ HUD (สีขาว สีเขียว และสีส้มอำพัน) ความสว่าง ขนาดของตัวเลขความเร็ว ตำแหน่งการเอียง หรือตำแหน่งสูงต่ำ ของตัวเลขความเร็ว สามารถเข้าไปปรับได้จาก Menu Head Up Display บนหน้าจอ MID กลาง ชุดมาตรวัด เหมือน Kona Electric

จากซ้าย มาทางขวา…กล่องเก็บของ Glove Compartment มีขนาดเท่าๆกันกับรถยนต์ญี่ปุ่นขนาดมาตรฐานทั่วๆไป เพียงพอให้ใส่คู่มือผู้ใช้รถ และเอกสารทะเบียนกับประกันภัยเป็นหลัก

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบอัตโนมัติ มีหน้าจอ Digital พื้นดำ ตัวเลขสีแดงมาให้ ในต่างประเทศ มีระบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา มาให้ แต่เวอร์ชันไทย แยกฝั่งไม่ได้ มีสวิตช์ควบคุมุณหภูมิ อยู่ฝั่งซ้าย และสวิตช์ควบคุมความแรงของพัดลมอยู่ฝั่งขวา ความพิเศษก็คือมีสวิตช์ Driver’s Only สั่งให้แอร์ เป่ามาให้เฉพาะคนขับเพียงอย่างเดียว ตัดการจ่ายกระแสลมไปยังช่องแอร์อื่นๆ ได้ เพื่อช่วยประหยัดพลังไฟฟ้า

ใต้สวิตช์เครื่องปรับอากาศ มีสวิตช์ไฟฉุกเฉิน ซึ่งผมว่าอยู่ในตำแหน่งที่เตี้ยไปหน่อย หากต้องกดใช้งานจริงยามคับขัน ถัดลงไป เป็นถาดหลุมพร้อมยางกันลื่น Wireless Charger สำหรับวางโทรศัพท์มือถือ ชาร์จไฟแบบไร้สาย แต่ถ้ามือถือของคุณไม่รองรับระบบนี้ ตรงนั้นก็ยังมีปลั๊กไฟ 12V 100W และช่อง USB ไว้ให้เสียบสายชาร์จด้วย

คันเกียร์ เป็นสวิตช์มือหมุน แบบวงกลม ตรงกลางคือปุ่ม P หรือ เกียร์ Park สำหรับจอดรถ นั่นเอง ตรงกลางเป็นเกียร์ว่าง (N Neutral) หมุนไปทางขวา เป็นเกียร์ขับเคลื่อน (D Drive) หมุนไปทางขวา เป็นเกียร์ถอยหลัง (R Reverse)

ด้านข้างสวิตช์เปลี่ยนเกียร์ มีทั้ง สวิตช์เปิด – ปิด Heater อุ่นเบาะคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง ถัดลงมา ฝั่งซ้าย เป็นสวิตช์ Heater อุ่นพวงมาลัย! และ สวิตช์เปิด – ปิด ระบบเซ็นเซอร์ เตือนกะระยะขณะถอยรถ ส่วนฝั่งขวา เป็นสวิตช์เลือก โปรแกรมการขับขี่ Drive Mode (อ่านรายละเอียดได้ข้างล่าง)

นอกจากนี้ ยังมี สวิตช์ระบบเบรกมือไฟฟ้า ทำงานร่วมกับ ระบบ Auto Brake Hold ในกรณีปกติ คุณสามารถยกเบรกมือได้ ด้วยการเหยียบเบรกจนสุด แล้วกระดิกนิ้วขึ้น ที่สวิตช์เบรกมือ 1 ครั้ง ถ้าจะปลดเบรกมือออก ก็เหยียบเบรก แล้วกดสวิตช์เบรกมือ 1 ครั้ง ส่วนระบบ Auto Brake Hold นั้น ช่วยให้คุณไม่ต้องเหยียเบรกแช่ยาวขณะจอดติดไฟแดง และเมื่อเจอสัญญาณไฟเขียว คุณสามารถแตะคันเร่ง ให้รถแล่นออกไปได้เลยทันที วิธีการใช้งาน ทำเหมือนกัน กับเบรกมือ แต่ย้ายไปกดปุ่มของระบบนี้ ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้สวิตช์ Drive Mode

ด้านความบันเทิง Kia ติดตั้ง ชุดเครื่องเสียง ซึ่งประกอบด้วย หน้าจอ Monitor สี แบบ TouchScreen ขนาด 7 นิ้ว ควบคุมวิทยุ AM/FM พร้อมระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth ระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Recognition ระบบเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมช่องเชื่อมต่อ USB 2 ตำแหน่ง ลำโพง 6 ชิ้น คุณภาพเสียง ถือว่า พอฟังได้ ไม่ถึงกับดีมากนัก แห้ง เสียงใส โอเค เสียงเบสไม่ได้แย่นัก

นอกจากนี้ หน้าจอยังสามารถใช้ควบคุม และตั้งค่าระบบต่างๆในรถได้ ทั้ง ระบบควบคุมการชาร์จไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รับสัญญาณภาพจากกล้องมองหลัง แบบมีเส้นกะระยะ เลี้ยวตามการหมุนของพวงมาลัย พร้อมเซ็นเซอร์กะระยะขณะถอยเข้าจอด ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ทำงานร่วมกับ ระบบเตือน ยานพาหนะ หรือบุคคล ตัดผ่าน ขณะถอยหล้ง RCTA (Rear Cross Traffic Alert)

ด้านใต้ชุดเครื่องเสียง และสวิตชเครื่องรับอากาศ เป็นถาดสำหรับชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบ Wireless Charger  ซึ่งรองรับระบบ Qi Charge พร้อมปลั๊ก USB และ ปลั๊กไฟขนาด 12V ซึ่งควรตรวจสอบรุ่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของคุณ ว่าใช้งานร่วมกับแท่นชาร์จนี้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ Soul EV ยังคงมีอุปกรณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์รุ่นนี้ ต่อเนื่องมาจากรุ่นแรก ติดตั้งมาให้ด้วย นั่นคือ ระบบ Sound Mood Lighting เชื่อมต่อไฟภายในแผงประตูด้านข้าง และพื้นที่วางขาใต้แผงหน้าปัดทั้ง 2 ฝั่ง ให้มีลักษณะคล้ายๆ ไฟใน Discotheque ตามจังหวะดนตรี

ระบบนี้ สามารถเลือก Mode Color Theme ได้ 6 แบบ หรือจะเลือกให้ระบบแค่เปลี่ยนสีเป็นไฟเรืองแสงอย่างเดียว ไม่ต้องกระพริบๆ ได้ 8 แบบ แต่ในการใช้งานจริง แสงจะสว่างมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่ง ต้องขึั้นอยู่กับว่า เปิดเพลงแบบไหน แนวไหน และเร่ง Volume ดังแค่ไหนด้วย

นั่นแปลว่า ถ้าอยากเห็นไฟในห้องโดยสาร อยู่ในสภาพเหมือนเธค หรือผับ ก็คงต้องเปิดเพลงกันดังในระดับพอๆกับ รถกระบะ หรือรถเก๋ง ของวัยรุ่น ที่ทำเครื่องเสียงมา แล้วชอบเปิดหน้าต่างทุกบาน แล้วเปิดเพลงดังลั่นกลางสี่แยกไฟแดงกันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นไม่ใชเรื่องดีแน่ เพราะเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญให้คนอื่น ซึ่งต้องมาทนฟังเพลงที่คุณชอบ (แต่พวกเขา อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ เราก็ไม่รู้) โดยไม่จำเป็น

ถัดจากสวิตช์เกียร์ ลงมา จะเป็นช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง แบบไม่มีฝาปิด และไม่มีตัวล็อกใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งช่องวางของแนวยาว สำหรับวางปากกา หรือข้าวของจุกจิกต่างๆซึ่งก็เป็นตำแหน่งติดตั้ง สวิตช์ เบรกมือไฟฟ้า ทำงานร่วมกับระบบ Auto Hold ตามสมัยนิยม การทำงานก็เหมือนกับระบบเดียวกัน ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆทั่วๆไป คือ เหยียบเบรกก่อนดึงสวิตช์ขึ้น 1 ครั้ง เพื่อให้เบรกมือทำงาน ถ้าจะปลดเบรกมือ ก็เหยียบเบรก แล้วกดสวิตช์ลงไป 1 ครั้ง

ส่วนสวิตช์ Auto Hold เมื่อกดลงไปแล้ว หากคุณขับรถไปจอดติดไฟแดง ให้เหยียบเบรกจมมิดจนสุด ระบบจะขึ้นเบรกมือให้เอง คุณสามารถถอนเท้าขวาจากแป้นเบรกได้เลย และเมื่อการจราจรเคลื่อนตัว ก็แค่ เหยียบคันเร่งให้รถเดินหน้าเคลื่อนตามกันไป แค่นั้น ถ้าต้องการเปิด หรือปลดระบบออก ก็กดลงไปที่สวิตช์ ซึ่งอยู่ทางขวาของสวิตช์เปลี่ยนเกียร์ ด้านล้างสวิตช์ Drive Mode

กล่องคอนโซลกลาง มีขนาดใหญ่ปานกลาง พอให้ใส่กล้องถ่ายรูปขนาดพกพา และแผ่น CD ได้ ประมาณ 6-7 กล่อง หรือวางข้าวของต่างๆข้างในได้ ฝาปิดหุ้มด้วยหนัง ออกแบบให้เป็นพนักวางแขนในตัว สามารถวางท่อนแขนพอได้อยู่ ถ้าคุณมีสรีระไม่สูงมากนัก คุณจะวางแขนได้สบาย จนถึงขอศอก

เพดานหลังคาในรถคันที่เราทดลองขับกันนั้น เป็นสีเทา ติดตั้งมือจับศาสดา (ยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาคนขับอยากซิ่ง) เหนือช่องประตูฝั่งผู้โดยสารล้วนๆ รวม 3 ตำแหน่ง รวมทั้ง หลังคา Sun Roof เปิด – ปิดด้วยสวิตช์ไฟฟ้า แบบ Auto One Touch กดสวิตช์ครั้งเดียว เลื่อนเปิด – ปิด จนหมดบาน พร้อมแผงกันแสงในเวลากลางวัน เลื่อน เปิด-ปิดได้ด้วยมือคุณเอง ส่วนไฟส่องสว่างด้านบน เป็นหลอดขนาดเล็กสีขาว ขยับถอยหลังไปเล็กน้อย แต่ให้ความสว่างในตอนกลางคืน ดีมาก

แผงบังแดดคู่หน้า ใช้วัสดุค่อนข้างแข็ง มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาเลื่อนปิด และไฟแต่งหน้าซึ่งมีสวิตช์เปิด-ปิด ฝังไว้บนเพดานหลังคา ครบเหมือนกันทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนไฟส่องสว่างในห้องโดยสารนั้น มีทั้งไฟอ่านแผนที่คู่หน้า สีขาว แยกสวิตช์เปิด-ปิด ออกมาต่างหาก ติดตั้งร่วมกับช่องใส่แว่นกันแดด ส่วนไฟกลางเก๋ง จะเป็นหลอด LED สีขาว แยกฝั่งเอกเทศ

ทัศนวิสัยด้านหน้า ยังคงรักษาจุดเด่นของ Soul รุ่นก่อนๆ ไว้ได้ นั่นคือ ให้ความโปร่งโล่ง จากกระจกบังลมหน้าทีค่อนข้างตั้งชัน แต่ยังมองเห็นฝากระโปรงหน้า ชัดเจน ช่วยในการกะระยะขณะเข้าจอดได้ดีงามอยู่

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เอาเข้าจริง ความหนาก็อยู่ในระดับเหมาะสม ยอมรับได้ และไม่บดบังรถที่แล่นสวนมาตามทางโค้งขวา แบบ 2 เลนสวนกัน มากนัก ส่วนกระจกมองข้าง แม้จะลดความสูงลงมานิดหน่อย แต่ภาพรวม ยังคงมีขนาดใหญ่โต กำลังดี และมองเห็นรถที่แล่นมาจากทางด้านหลังฝั่งขวามือชัดเจน โดยที่กรอบด้านใน บังพื้นที่ฝั่งขวาของบานกระจกมองข้าง เข้ามา นิดเดียว

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย อยู ่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อรวมเข้ากับกระจกมองข้าง ที่มีขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป แต่มองเห็นภาพของยานพาหนะที่แล่นมาขนาบข้างได้ชัดเจน และเมื่อปรับกระจกให้เห็นตัวถังด้านข้างน้อยที่สุดเท่าทีจะเป็นไปได้ ก็ไม่มีปัญหากรอบด้านในกินพื้นที่บดบังตัวกระจกฝั่งซ้ายเข้ามาเลย ยิ่งทำให้ Soul EV กลายเป็นหนึ่งในรถที่มีทัศนวิสัยด้านหน้าดีที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น ทัศนวิสัยด้านหลัง ยังถูกปรับปรุงตำแหน่งของกระจกหน้าต่าง Opera คู่หลังให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดจุดอับสายตา จนทำให้ การมองเห็นจักรยานยนต์ ที่แล่นตามมาประกบด้านข้าง ชัดเจนขึ้น ยิ่งเมื่อได้พื้นที่กระจกบังลมด้านหลังขนาดใหญ่มาช่วยด้วยแล้ว ทำให้ทัศนวิสัยด้านหลัง โปร่งตาขึ้นชัดเจน

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ของ Kia Soul EV ใหม่ คือการ ยกระดับขุมพลัง ให้มีสมรรถนะสูงขึ้นมาก รวมทั้งแบ็ตเตอรีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มระยะทางแล่นต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ให้ไกลกว่าเดิม โดยขุมพลังดังกล่าว ยกชุดมาจาก ญาติพี่น้องร่วมสำนัก นั่นคือ Hyundai Kona Electric ซึ่งเราเคยนำมาทดลองขับ ทำบทความ Full Review ให้อ่านกันไปก่อนหน้านี้แล้ว

Soul EV ใหม่ ขับเคลื่อนด้วย มอเตอร์ไฟฟ้า แบบ Permanent Magnet Synchronous ให้กำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 204 แรงม้า (PS) !! แรงบิดสูงสุด 395 นิวตัน-เมตร (40.25 กก.-ม.)

– Battery เป็นแบบ แรงดันไฟฟ้าสูง High Voltage Lithium-Ion Polymer (LiPo) ระบายความร้อนด้วยน้ำหล่อเย็น และเครื่องปรับอากาศ เหมือนกัน… แต่…

  • ความจุ เพิ่มขึ้นเป็น 64 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง)
  • กำลังไฟ เพิ่มขึ้นเป็น 170 kw (กิโลวัตต์)
  • ความหนาแน่นพลังงาน เพิ่มเป็น 141.3 วัตต์-ชั่วโมง / กิโลกรัม
  • แรงดันไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเป็น 356 V (โวลต์)
  • ระยะทางวิ่งสูงสุด จึงเพิ่มขึ้นเป็น 452 กิโลเมตร (WLTP Mode)

ระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติ แบบ Single Speed Reduction Gear เหมือนกัน โดยมีการปรับเซ็ต อัตราทดเกียร์ เพิ่มจาก 7.981 : 1 ใน Kona Electric เป็น 8.206 : 1 ส่วนการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ P R N D ก็ใช้วิธีหมุน Switch By Wire ถ้าต้องการออกรถ ให้เหยียบเบรกจนสุด แล้วหมุนสวิตช์ไปที่ D ถ้าจะเข้าเกียร์ถอยหลัง ก็หมุนสวิตช์ไปที่เกียร์ R แต่ถ้า

มีแป้น Paddle Shift ที่ติดตั้งมาให้ด้านหลังพวงมาลัย ซึ่ง แท้จริงแล้ว ทำหน้าที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป เพราะนี่คือ ระบบ Re-Generative Braking System ซึ่งนำพลังงานจากการเบรก ช่วยปั่นกระแสไฟ ย้อนกลับมาเก็บไว้ในแบ็ตเตอรีของตัวรถ เพื่อเพิ่มระยะทางให้แล่นได้ยาวขึ้น โดยให้ผู้ขับขี่ เลือกให้ตัวรถนำพลังงานชาร์จกลับเข้าไปเก็บไว้ มากหรือน้อย ได้ 4 ระดับ (0 = ไม่หน่วงใดๆเลย ปล่อยรถให้ไหลไปยาวๆ จนถึง 3 ซึ่งหน่วงความเร็วไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็ตาม ให้หล่นลงมาจนเหลือ 12 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงเลิกหน่วง) แป้นฝั่งขวาเป็น – เพื่อลดระดับการหน่วง ฝั่งซ้าย เป็น + เพิ่มระดับการหน่วง

อาการของตัวรถ จะเหมือนกับคุณกำลังใช้ Engine Brake ในรถยนต์ธรรมดาทั่วไป คือ ใน Level 0 รถจะไม่มีอาการหน่วงใดๆเลย ปล่อยคันเร่งเมื่อไหร่ เท่ากับปล่อยให้รถไหลไปข้างหน้าเรื่อยๆ ชิลๆ เท่านั้น โดยแทบไม่ค่อยมีกระแสไฟที่ไหลเก็บกลับเข้าไปในแบ็ตเตอรี Level 1 จะเริ่มหน่วงนิดหน่อย พอๆกับคุณกำลังขับรถเก๋งญี่ปุ่น เกียร์ธรรมดา รุ่นเก่าๆ ส่วน Level 2 จะหน่วงเพิ่มขึ้นชัดเจน จนถึง Level 3 ที่ตัวรถจะเบรกหน่วงลงมาอย่างหนักทันทีที่คุณถอนเท้าขวาจากคันเร่ง เพื่อปั่นไฟไปเก็บในแบ็ตเตอรีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในจังหวะนั้น ทันทีที่รถเริ่มหน่วง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ไฟเบรกหลังจะติดขึ้นมา เพื่อบอกให้รถคันข้างหลังรู้ว่า คุณกำลังชะลอความเร็วอยู่ แม้ว่าคุณจะไม่ได้เหยียบเบรกเองเลยก็ตาม โดยจะมีไฟของระบบ สีฟ้า ตรงกลางด้านล่างสุดฝั่งขวาของมาตรวัดความเร็ว เพื่อบอกระดับการหน่วงของตัวรถให้ผู้ขับขี่รับรู้

ส่วนโปรแกรมการขับขี่นั้น มีปุ่ม Drive Mode ติดตั้งคั่นกลางระหว่าง

  • Eco มาตรวัดความเร็ว เป็นแบบ Digital แต่มีแถบวงกลมเหนือตัวเลขเป็นสีเขียว และมีไฟแสดงสถานะ Eco สีเขียว แสดงการทำงานว่า แรงเบรกเป็นอย่างไร และการชาร์จไฟกลับของระบบ ReGenerative Brake ทำงานไปอย่างไร โดยระบบนี้จะปรับเป็นการหน่วงความเร็วรถ ลงไปในระดับ Level 3 เพื่อเพิ่มการชาร์จไฟกลับเข้าไปให้มากขึ้น เมื่อเบรกหรือชะลอรถลงไปเท่าไหร่ มาตรวัดจะแสดงระยะทางที่ได้เพิ่มขึ้นจากการชาร์จไฟกลับเข้าระบบ ว่าแล่นได้เพิ่มอีกกี่กิโลเมตร หรือกี่เมตร
  • Eco + เหมือน Eco Mode แต่ คันเร่ง จะตอบสนองต่อเท้าขวา ช้ากว่าปกตินิดเดียว และ เครื่องปรับอากาศ จะปรับอุณหภูมิล็อกไว้แค่ 25 องศาเซลเซียส เท่านั้น
  • Normal หน้าจอถูกเปลี่ยนแถบสีขาว เป็นสีเทา ไฟ Eco ดับลง มาตรวัดความเร็วเปลี่ยนกลับไปเป็นแบบ Analog มีเข็มความเร็วเติมเข้ามา แต่ จะแสดงระยะทางที่ไฟฟ้าในแบ็ตเตอรี เหลือพอให้แล่นได้อีกกี่กิโลเมตร แทน ส่วนอัตราเร่ง เฉพาะช่วงออกตัว จะไวขึ้นนิดนึง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณไฟในแบ็ตเตอรี ถ้าไฟเต็ม ก็พุ่งทันที ถ้าไฟเหลือน้อย ก็ Drop ลงนิดหน่อย
  • Sport มาตรวัด จะถูกเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นมาตรวัดการเหยียบคันเร่ง แบบ Analog เป็นแถบสีส้ม หน่วยเป็น เปอร์เซนต์ ส่วนมาตรวัดความเร็ว กลายเป็นตัวเลข Digital พร้อมแถบสีแดงเล็กๆ บางๆ การตอบสนองของคันเร่งจะไวขึ้นนิดนึง ให้พอจับสังเกตได้

เรายังคงทดลองหาอัตราเร่ง ด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ ใช้เวลากลางคืน เปิดแอร์ นั่ง 2 คน น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 170 กิโลกรัม (ผม ผู้ขับขี่ 105 กิโลกรัม กับ เติ้ง Kantapong Somchana จาก The Coup Team ของเรา น้ำหนัก 48 กิโลกรัม) โดยใช้โหมด Comfort อันเป็นไปตามมาตรฐานการจับเวลาตามปกติของเรา ซึ่งเมื่อเทียบกับ Sport Mode แล้ว ตัวเลขไม่ต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้ มีดังนี้

ดูจากตัวเลขแล้ว ไม่ต้องแปลกใจครับ อัตราเร่ง ต่างจาก Hyundai Kona Electric แค่เพียง 0.2 วินาที โดยประมาณ เท่านั้น แม้กระทั่ง ตัวเลข Top Speed ก็เช่นเดียวกัน แน่ละ ก็เพราะ Soul EV ใช้ขุมพลัง และแบ็ตเตอรี ลูกเดียวกันกับ Kona Electric เลยนี่หว่า มันก็ต้องได้ตัวเลขอยู่ในระดับพอๆกันแบบนี้หนะ ถูกต้องแล้ว เท่ากับว่า แท็คทีมกับ Kona Electric ครองแชมป์ รถยนต์พลังไฟฟ้า ระดับราคา ต่ำกว่า 4 ล้านบาท ที่ทำอัตราเร่งได้ดีที่สุด เพราะถ้าอยากได้เร็วกว่านี้ ขอเรียนเชิญไปพูดคุยกับ Jaguar i-Pace แล้วกัน

เพียงแต่ว่า ตัวเลขที่ Drop ลงกว่ากันเล็กน้อยนั้น คาดว่าเป็นผลมาจาก ตัวรถซึ่งมีความสูงเพิ่มขึ้น กระจกบังลมหน้า ตั้งชันเพิ่มขึ้น และมีด้านหน้าของรถ ที่ต้านลมกว่า Kona Electric กันเห็นๆ ชนิดที่ว่า แค่ยืนมอง โดยไม่ต้องนำรถเข้าไปวัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศในอุโมงค์ลม ก็พอเดาได้แล้วว่า Soul EV น่าจะต้านลมมากกว่าแหงๆ และการต้านลมที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้ตัวเลขอัตราเร่งแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างที่เห็นอยู่นี้ นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น Soul EV ยังคงมีจุดเด่นที่เหมือนกันกับ Kona Electric ในเรื่อง ความต่อเนื่องของอัตราเร่ง จากจุดหยุดนิ่ง เมื่อลองกดคันเร่งเต็มตีน ตัวรถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม สัมผัสได้ถึงพละกำลังจากแรงบิด ที่ยังคงส่งตรงสู่ล้อคู่หน้า อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มอเตอร์ไฟฟ้า ทำงานถวายชีวิตมากๆ ทำให้การไต่ความเร็วขึ้นไปจาก จุดหยุดนิ่ง จนถึง Top Speed บนมาตรวัด 176 กิโลเมตร/ชั่วโมง เกิดขึันอย่างรวดเร็วมากๆ โดยไม่มีอาการเหี่ยวปลาย ซึ่งมักพบได้ในรถยนต์พลังไฟฟ้าคันอื่นๆ เลย  จุดหยุดนิ่ง ใช้เวลา ไม่น่าถึง 2 นาที คุณก็ไต่ขึ้นไปถึง Top Speed ของรถคันนี้เรียบร้อยแล้ว!!!

(ย้ำกันอีกสักทีว่า เราไม่สนับสนุนให้ทำการทดลองความเร็วสูงสุดด้วยตัวคุณเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจก่ออันตรายต่อชีวิต ของคุณผู้อ่าน และเพื่อนร่วมทางอีกด้วย เราทำการทดลองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริง สำหรับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษา ในด้านวิศวกรรม ของผู้คนทั่วไปเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา เราไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ในทุกกรณี)

เมื่อเห็นตัวเลขแล้ว ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับ ในการขับขี่จริง การตอบสนองของมอเตอร์ ใน Soul EV ก็เหมือนกันกับ Kona Electric ราวกับถ่ายสำเนา Xerox เรียงกันออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร Hyundai – Kia R&D Namyang Center ไม่มีผิด อัตราเร่งที่เกิดขึ้น ยังคงให้ประสบการณ์แบบ “Strong Acceleration” กดปุ๊บเป็นมา เหยียบแค่ไหน พุ่งแค่นั้น มอเตอร์ กับคันเร่ง อยู่ใน Mode “พร้อมรบ” อยู่ตลอดเวลา มันให้ความรู้สึกอิ่มอร่อยทันใจ พอๆกับ ไวไว รสหมูสับซองแดง Original ที่แค่ ฉีกซอง ก็สามารถเอาเข้าปาก เคี้ยวกร้วมๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องชงน้ำร้อนให้เสียเวลา แทบจะเรียกว่า เป็น Instant Acceleration เลยละ

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยแรงบิดมากถึง 395 นิวตันเมตร นั่นแปลว่า ถ้าคุณกดคันเร่ง เกินกว่า 50% ขึ้นไปในตอนออกตัว โอกาสที่คุณจะเจออาการแรงบิดหมุนส่งไปที่ล้อคู่หน้ามากไป จนล้อหน้าส่ายไปมา ต้องพยายามขืนพวงมาลัยให้รถพุ่งไปตรงๆ หรือ Torque Steer นั้น เกิดขึ้นได้ง่ายดายโคตรๆ อาการนี้ สาเหตุนอกจากแรงบิดจากมอเตอร์แล้ว ส่วนหนึ่ง ยังมาจากยาง Nexen N’Fera SU1 ที่ติดมากับรถนั่นแหละครับ ขยันหมุนฟรีทิ้งๆขว้างๆ เป็นว่าเล่น

ต่อให้คุณ เดินคันเร่งเพิ่มเติม ขณะขับขี่ที่ความเร็ว 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อขึ้นไปอยู่แถวๆ 150 – 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะเวลาที่เข็มความเร็วไต่ขึ้นไป ก็พอๆกันกับช่วงความเร็วต่ำ ดังนั้น ความต่อเนื่องของอัตราเร่ง ในทุกย่านความเร็ว เรียกใช้งานได้ตามต้องการ จึงเป็นอีกจุดเด่นสำคัญของ มอเตอร์ไฟฟ้าลูกนี้

ดังนั้น หากมีใครพุ่งเข้ามาด้านท้าย เพื่อจี้ตูด ตามประสา พวกไม่เคยเห็นรถแปลกๆ อยากลองของ ผมแค่กดคันเร่งลงไปครึ่งเดียว Soul EV ก็จะพาผมพุ่งปรู๊ดดดดดดดดดด ทิ้งให้รถคันที่พยายามจะจี้ตูดผมก่อนหน้านั้น ถึงขั้นเหวอ กว่าจะรู้สึกตัวว่าต้องกดไล่ตาม เจ้า Soul EV ก็ทิ้งหายไปเป็นทุ่งแล้ว แต่ แน่นอนว่าถ้าคนขับรถคันที่ตามมา เกิดบ้าระห่ำกว่าผม ก็คงจะแซงผมได้ที่ความเร็ว หลัง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป เช่นเดียวกับ Kona Electric นั่นแหละ

ด้านการเก็บเสียง หากใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ นั่นน้อยมากๆ บรรยากาศในห้องโดยสาร จึงเงียบสงบ ตามธรรมชาติของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปอยู่แล้ว หากจะมีเสียงรบกวน ก็คงจะมาจาก ยางติดรถ Nexen เป็นหลัก แต่พอใช้ความเร็วเกินกว่า 100 – 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง คุณจะเริ่มได้ยินเสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวถังรถครึ่งท่อนบน ชัดเจนขึ้นเล็กน้อย ต้นกำเนิดเสียง มาจากลักษณะการออกแบบกระจกบังลมหน้า และ กระจกมองข้าง แต่นั่นยังถือว่าค่อนข้างเงียบกว่ารถยนต์ปกติทั่วไปพอสมควร ต้องรอให้ความเร็วผ่านพ้น 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปนั่นแหละ เสียงลมจึงจะดังเพิ่มขึ้น ตามปกติ แต่ก็ไม่ดังมากจนน่ารำคาญแต่อย่างใด

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัย Rack & Pinion พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า MDPS (Motor Driven Power Steering) หมุนจากซ้ายสุดไปขวาสุด ลดลงจาก 2.8 รอบ ใน Soul EV รุ่นเดิม เหลือ 2.4 รอบ รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.3 เมตร เท่ารุ่นเดิม ถูกปรับปรุงให้มีการตอบสนองที่ไวขึ้น เฉียบคมและแม่นยำขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นคมเท่ารถสปอร์ต เพียงแต่ว่า ลดอาการ”เนือยๆ”ลงไปพอสมควร

ช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยมีน้ำหนักเบา หมุนไปมาแล้ว แทบไม่รู้สึกว่า เป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ถ้าไม่จับสังเกตกันจริงๆ แต่มีน้ำหนัก หนืดกว่า พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของ Kona Electric นิดนึง โดยยังคงรักษาความต่อเนื่องในการหมุนไปมา ไว้ในระดับดีมาก ได้เหมือนกัน เหมาะกับคุณสุภาพสตรี ที่จะหมุนพวงมาลัยเข้าจอด หรือขับขี่เลี้ยวลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ได้คล่องแคล่วดี

เมื่อเข้าสู่ช่วงความเร็วสูงๆ น้ำหนักของพวงมาลัยก็จะเพิ่มขึ้นนิดนึง ความรู้สึกขณะถือพวงมาลัยตรงๆ (On Center feeling) ทำได้ดี เหมือน Kona Electric ไปจนถึง Toyota C-HR ผมสามารถควบคุมรถในช่วงความเร็วเกิน 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายพอสมควรเลยด้วยซ้ำ แถมยังให้ความแม่นยำขณะเลี้ยวโค้งด้วยความแม่นยำในระดับ ค่อนข้างดี

สรุปว่า พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ตอบสนองได้ ใกล้เคียงกับ Kona Electric แต่หนืดกว่านิดนึง ในช่วงความเร็วต่ำ และให้ความมั่นใจในการบังคับเลี้ยว เข้าโค้ง ช่วงความเร็วสูง ใกล้เคียง C-HR

ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบ MacPherson Strut ด้านหลังแบบ Multi-Link ถูกปรับปรุงให้มีชิ้นส่วนที่ทำจาก Aluminium เพิ่มขึ้น ทั้ง ปีกนก และ หัวต่อแกนล้อคู่หน้า และคู่หลัง แม้ว่าช่วงล่างจะมีบุคลิก “นุ่มกำลังดี แต่แอบ Firm กระชับๆ ”ในสไตล์เดียวกับ Kona Electric ก็จริง แต่ก็ถูกเซ็ตมาให้มีความแตกต่างกัน

ถ้า Kona Electric มีช่วงล่างด้านหน้าที่นุ่ม แอบแน่น Firm แต่มีช่วงล่างด้านหลังที่ตั้งใจเซ็ตมาในแนวนุ่ม เพื่อให้สมดุลกับด้านหน้าแล้ว Soul EV ก็จะมีช่วงล่างด้านหลังที่เฟิร์มขึ้น แข็งขึ้นกว่ากันจนสัมผัสได้ จนกลายเป็นว่า ด้านหลังแข็งกว่าด้านหน้า

ช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับคลานในเมือง สัมผัสได้เลยว่า ขณะที่ช่วงล่างด้านหน้า พยายามดูดซับแรงสะเทือนจากรอยต่อ หลุมบ่อ และลูกระนาดตามตรอกซอกซอยต่างๆ ไว้ได้ดีมาก เทียบเท่ากับ Kona Electric แต่ช่วงล่างด้านหลัง จะแข็งขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นตึงตังจนสะเทือนเลื่อนลั่นแต่ประการใด

ขณะเดียวกัน ในย่านความเร็วสูง ช่วงทางตรง หากไม่เจอกระแสลมปะทะด้านข้าง Soul EV ก็ยังคงพุ่งไปข้างหน้า ตรงๆ นิ่งๆ สบายๆ ความมั่นใจอยู่ในระดับปานกลาง แต่ถ้ามีลมปะทะด้านข้างแรงๆ อาจจะรับมือยากสักหน่อย เพราะด้านข้างของรถ ค่อนข้างตั้งฉากพอสมควร แรงกดด้านหน้า สัมผัสได้ว่า พอมี แต่ไม่ได้มากมายนัก

สิ่งที่ต้องทำใจก็คือ การที่ตัวรถมีตำแหน่งเบาะนั่งสูง เมื่อหมุนพวงมาลัยเพื่อบังคับรถเข้าโค้ง คุณอาจรู้สึกว่า ตัวรถเอียงกะเท่เร่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ความมั่นใจขณะเข้าโค้งลดน้อยลง อันเป็นเรื่องปกติ ของตัวรถที่ถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ ยิ่งมาเจอกับพวงมาลัยแบบนี้ และยาง Nexen N’Fera SU1 จากโรงงานชุดนี้ด้วยแล้ว คุณก็คงไม่อยากซ่าส์ในโค้งกับ Soul EV มากนักแน่ๆ

บนโค้งขวารูปเคียว ย่านมักกะสัน Soul EV กลับทำความเร็วบนมาตรวัดได้เพียง 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อเนื่องไปยัง โค้งซ้าย ฝั่งตรงข้ามโรงแรม Eastin ก็ยังรักษาความเร็วไว้ได้ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอกันกับ Kona Electric

ส่วนทางโค้งรูปตัว S จากทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสุขุมวิท 62 ขึ้นไปยังทางด่วนยกระดับบูรพาวิถี ผมสามารถพา Soul EV เข้าโค้งขวาแรกด้วยความเร็ว แค่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) เท่านั้น ตัวรถเอียงออกทางซ้ายค่อนข้างมาก จนแอบหวั่นใจ ส่วนโค้งซ้ายยาวๆ ที่มีลอนคลื่นบนพื้นผิวโค้งนั้น ผมไต่ขึ้นไปได้ถึงแค่ 105 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด) ซึ่งนั่นก็ถึง Limit ที่ยางรับมือไม่ไหวอีกต่อไป ปิดท้ายด้วยโค้งขวายกระดับ Kona Electric เข้าโค้งดังกล่าวได้ที่ 115 กิโลเมตร/ชั่วโมง (บนมาตรวัด)

ในทุกโค้งที่ผมพารถพุ่งเข้าไปอย่างเต็มที่ สัมผัสได้ชัดเจนว่า ตัวรถไม่อาจฝืนแรงกระทำมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว เพราะยาง Nexen N’fera SU1 ที่แสนใจเสาะ และแทบจะเอาแก้มยางไถลไปกับพื้นผิวถนนแล้ว ทำให้หน้ารถ ดื้อ ไม่ค่อยยอมเข้าโค้งหนักๆ

ถ้าอยากให้เข้าได้เต็มที่ขึ้น อาจต้องใช้วิธี เปิดระบบหน่วง Re-Generative Brake ให้ช่วยทำงาน เพื่อให้เกิดการหน่วงรถขณะที่คุณกำลังกรอคันเร่งเลี้ยงความเร็วเอาไว้ หน้ารถจะถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้า ตามการเหยียบหรือถอนคันเร่งมากหรือน้อยของคุณ ซึ่งช่วยให้คุณเข้าโค้งได้เร็วกว่าชาวบ้านชาวช่องเขานิดหน่อย

ยังดีที่ว่า อาการของบั้นท้าย จะใกล้เคียงกับ Kona Electric ตรงที่ว่า ค่อนข้างมีความเป็นกลาง (Neutral) แต่ถ้าถึงขั้นท้ายปัด โอกาสจะแก้อาการให้รถกลับมาตั้งลำตรงๆ น่าจะยากกว่า Kona Electric พอสมควร เนื่องจากตัวรถค่อนข้างสูง จุดศูนย์ถ่วงก็สูงขึ้นตามมาด้วย น้ำหนักที่ท้ายรถก็ดูจะเยอะกว่าอย่างชัดเจน ดังนั้น ขอแนะนำว่า อย่าคิดจะเอา Soul EV ไปซิ่งตามทางโค้ง เพราะนั่นไม่ใช่ที่ทางของมันเลย

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 เฉพาะคู่หน้า มีครีบระบายความร้อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 305 มิลลิเมตร หนา 25 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลัง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 มิลลิเมตร หนา 10 มิลลิเมตร โดยเปลี่ยนจากหม้อลมเบรก มาใช้ระบบ IEB (Integrated Electronic Booster) รวมทั้งออกแบบ Caliper แบบใหม่ พร้อมระบบ Re-Generative Breaking System น้ำมันเบรกที่ใช้ ตามคู่มือระบุว่า ต้องเป็นมาตรฐาน FMVSS118 DOT-3 หรือ DOT-4 ปริมาณ 0.7 – 0.8 ลิตร ตัวเลขจากโรงงาน ระบุว่า ระยะเบรกจาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดนิ่ง ยาวถึง 41.8 เมตร (สั้นลงจาก Kona Electric ซึ่งอยู่ที่ 42.3 เมตร)

แป้นเบรกเซ็ตมาเอาใจ คนที่ต้องขับขี่ใช้งานรถยนต์ในเมืองเป็นประจำ ด้วยระยะเหยียบของแป้นเบรกที่ค่อนข้างตื้น พอๆกับ Mazda 2 รุ่นปัจจุบัน ให้ความต่อเนื่อง (Linear) ได้ตามสั่ง ต้องการเบรกเบาๆ ก็แค่แตะแป้นเบรกลงไปเบาๆ หรือถ้าต้องการเบรกอย่างฉับพลัน ก็เหยียบพรวดลงไปได้เลย เติมน้ำหนักเท้าขวาลงบนแป้นเบรกมากแค่ไหน คุณก็ได้การตอบสนองจากระบบห้ามล้อ ตามสั่ง แม้แต่ช่วงที่จำเป็นต้องหน่วงความเร็วลงมา อยางฉับพลัน จากระดับ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังถือว่า ทำหน้าที่ได้ดีประมาณหนึ่ง สมดังที่วิศวกรเขาอยากจะเซ็ตการตอบสนองของแป้นเบรกให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแป้นเบรก จะมีความหนืดในระดับหนึ่ง แต่ น้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์เบา ถ้าคุณเป็นสุภาพสตรีที่ขับรถไม่เชียวชาญนัก คุณจะชอบแป้นเบรกแบบนี้ แต่ถ้าคุณเป็นนักขับที่เจนสนาม อาจจะอยากให้มีน้ำหนักแป้นเบรกเพิ่มกว่านี้ และระยะเหยียบที่ลึกกว่านี้อีกนิด แต่สำหรับผม เมื่อเทียบกับโจย์ของการทำรถคันนี้ออกมา ผมมองว่า แป้นเบรกที่เซ็ตมาแบบนี้ ดีแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า ถ้าสามารถย่นระยะหยุดให้สั้นลงกว่านี้ได้อีก โดยที่ตัวรถไม่ต้องเกิดอาการหัวทิ่มหัวตำมากนัก ก็ยิ่งน่าชมเชยกว่านี้อีก

ด้านความปลอดภัย น่าเสียดายว่า บรรดาระบบตัวช่วยต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในเวอร์ชันต่างประเทศนั้น ตกน้ำตกทะเลไปเกือบจะเกลี้ยง กว่าจะมาขึ้นท่าเรือที่แหลมฉบัง  ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB (Autonomous Emergency Braking) with FCA (Forward Collision Warning – Avoidance Assist) ระบบเตือนผู้ขับขี่แก้ง่วง DAW (Driver Attention Warning) ระบบไฟสูงอัตโนมัติ ปรับลดแสงเมื่อมีรถแล่นสวนมา HBA (High Beam Assist) ระบบเตือนผู้ขับขี่ขณะที่รถกำลังเบี่ยงออกนอกเลนถนน LKAS (Lane Keeping Assist) ระบบ เร่งและเบรกตามการจราจรจากรถคันข้างหน้าด้วยเรดาห์ LFA (Lane Follow Assist) และระบบควบคุมความเร็วคงที่ Smart Cruise Control with Stop & Go ทั้งหมดนี้ ถูกตัดออกไป และไม่มีติดตั้งมาให้กับรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย เลย!

ยังดี ที่ยังพอมี ระบบเตือนยานพาหนะที่แล่นมาทางด้านข้าง ขณะกำลังจะเปลี่ยนเลน Blind Spot Detector ซึ่งมีแผงรับและสะท้อนสัญญาณ ติดตั้งซ่อนอยู่ที่มุมเปลือกกันชนหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง แจ้งเตือนรถที่ตามมา โดยยิงสัญญาณเตือนขึ้นไปเตือนเป็นไฟกระพริบ บนกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมเสียงร้องเตือนที่ดังพอให้ตกใจ รวมทั้ง ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถตัดผ่านขณะถอยหลัง RCTA (Rear Cross Traffic Alert) ทำงานร่วมกับสัญญาณกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด  ถุงลมนิรภัย คู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวม 6 ใบ (พร้อมสวิตช์ปิดการทำงานถุงลมฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า) , เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 5 ตำแหน่ง เฉพาะคู่หน้า เป็นแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner & Load Limiter พร้อมตัวปรับระดับสูง – ต่ำ พร้อมไฟเตือนให้คาดเข็มขัด ทั้งคนขับ (บนมาตรวัด) และฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า รวมทั้งจุดติดตั้งเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX ที่เบาะหลังทั้งฝั่งซ้าย และขวา

ทั้งหมดนี้ ติดตั้งลงใน โครงสร้างตัวถังนิรภัย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เหล็กแบบมาตรฐาน 29.9% เหล็ก High-Tensile Steel 39.1% เหล็ก Ultra High Tensile Steel 18.5% ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้เหล็กรีดร้อน Hot Stampling 12.5% จากโครงสร้างตัวรถทั้งหมด โดยเฉพาะโครงสร้างบริเวณ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar เสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar เสาโครงหลังคาด้านข้าง และชิ้นส่วนเหล็กที่ชื่อมต่อกันเป็นพื้นตัวถังในหลายๆจุด ข้อดีของเหล็กรีดร้อนชนิดนี้ คือ มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กปกติ 10% แต่ เหนียวและแข็งแรงขึ้น กว่า Soul EV รุ่นเดิมถึง 35% อีกทั้งยังทนต่อการบิดตัวเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมถึง 24.7 %

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมวิศวกรของ Kia ยังเสริมความแข็งแรง ให้กับโครงสร้างพื้นตัวถัง แบบ Grid Type รวมทั้งการเสริม โครงสร้างช่องสี่เหลี่ยม ทำจาก Aluminium ในบริเวณ จุดยึดกับ แบ็ตเตอรี เพื่อช่วยการลดแรงกระแทกทั้งขณะขับขี่ และขณะเกิดการชน อีกด้วย

********** การชาร์จไฟ และ การวัดอัตราใช้ไฟโดยประมาณ **********

การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น แตกต่างจากการหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ มีแบ็ตเตอรี ขนาดแตกต่างกัน ทำให้มีระยะทางวิ่งสูงสุด ไม่เท่ากัน และมักแล่นได้ไม่ไกลเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ประเด็นนี้ ไม่เพียงเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นข้อจำกัดในการทดสอบของเราอีกด้วย

จากเดิมเวลาทดสอบรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เราก็แค่หาปั้มน้ำมันตั้งต้น เติมน้ำมันให้เต็มถัง (หรือจะเขย่าอัดกรอกด้วยในบางกรณี) จากนั้น ก็ขับไปตามเส้นทางที่กำหนด แล้วกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม หัวจ่ายเดิม เพื่อดูว่า แล่นไปกี่กิโลเมตร เติมน้ำมันกลับเข้าไปใหม่กี่ลิตร เอา มาหารกัน ก็ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อย่างง่ายๆแล้ว

ทว่า พอมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หากใช้เส้นทางปกติที่เราทดลองกัน แค่ขับไป-กลับ ทางด่วนเชียงราก นั่นก็ 93 กิโลเมตร เข้าไปแล้ว ไหนจะขับไป – กลับ จากบ้านย่านบางนา มายังจุดเริ่มต้น ก็เสียปริมาณไฟฟ้าลงไปอีกเท่าไหร่ แล้วถ้าจะให้ตั้งต้น ก็ไม่รู้ว่าจะหาจุดเริ่มต้นใหม่ตรงไหน เพราะถ้าเริ่มปั้มน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน เหมือนเช่นปกติ ที่เราเคยทำมาละก็ เลิกคิดได้เลยครับ เพราะปั้มแห่งนั้น ระบบไฟ ไม่มีสายดิน ไม่ได้รองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเลย แล้วถ้าไฟมันหมดระหว่างที่ผมกำลังขับรถกลับบ้านละ? รอเรียก “ยานแม่” (รถยก Slide-on) สถานเดียว!!!

ผมจึงตัดสินใจ แก้ปัญหาด้วยการ ติดตั้ง แท่นชาร์จ แบบ Wall Box หรือ Wall Charge ที่บ้านตัวเองมันซะเลย ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป โดยได้รับความช่วยเหลือ จาก น้องตูน Sakhamon Leelajindakrairerk ทีมงาน จาก EVOLT Technology ที่มาติดตั้ง แท่นชาร์จ Wall Box ขนาด 7.0 kWh พร้อม Meter วัดปริมาณกระแสไฟ (หน่วยเป็น kWh) ขอ ABB มาให้เสร็จสรรพ

ขอแนะนำเลยว่า ใครที่ซื้อหรือคิดจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควรมีติดบ้านไว้ เพื่อช่วยให้การชาร์จไฟ ทำได้เร็วขึ้น ลดเวลาชาร์จให้น้อยลง ประหยัดเวลา ที่สำคัญคือ กินไฟแค่ราวๆ เครื่องปรับอากาศ 1 ตำแหน่งในบ้าน หากใครสนใจ ราคามีตั้งแต่ระดับ 50,000 บาท ขึ้นไป สามารถติดต่อสอบถามกันเอาเองได้ ที่ Facebook.com Fan Page ของ “EVolt Thailand” ตามอัธยาศัย

ไม่เข้าใจว่า ทำไมให้ปลั๊กชาร์จมาเป็นแบบ CCS Combo Type 1 เพราะประเทศไทย สรุปกันแล้วว่าเราจะใช้ Type 2

การชาร์จไฟ (Charging)

Kia Soul EV มีรายละเอียดการชาร์จไฟ ที่คุณควรรู้ไว้ก่อนจะเริ่มใช้งาน ไม่แตกต่างจาก Hyundai Kona Electric รุ่น SEL เท่าใดนัก รายละเอียดมี ดังนี้

  • ชนิดเต้ารับ – เต้าเสียบ  CCS Combo / Type 1 (7-Pin)
  • Kia แถมสายชาร์จ มาให้กับรถด้วย แบบ 8A 230V 50Hz. Single Phase ทั้ง Input และ Output หัวปลั๊กเสียบไฟบ้าน
  • ชาร์จแบบที่ 1 : กระแสสลับ – เต้าเสียบบ้าน max 2.6 kW ใช้เวลา 31 ชั่วโมง
  • ชาร์จแบบที่ 2 : กระแสสลับ – Wallbox max 7.2 kW ใช้เวลา 9 ชั่วโมง 35 นาที
  • ชาร์จแบบที่ 3 : กระแสตรง – Quick Charge max 100 kW ใช้เวลา 54 นาที (ได้ไฟในแบ็ตเตอรี 80%)
  • ก่อนซื้อรถมาใช้งาน ตรวจสอบ หรือปรับเปลี่ยนให้แน่ใจว่า ไฟบ้านคุณเป็นแบบ 15 Amp. แล้วเท่านั้น บ้านจัดสรรรุ่นใหม่ หลังปี 2016 ขึ้นมา ส่วนใหญ่ Developer หรือ บริษัทผู้พัฒนาโครงการ มักทำระบบไว้รองรับการชาร์จไฟ เรียบร้อยแล้ว โปรดตรวจสอบจากพิมพ์เขียวแบบบ้าน ที่ทางโครงการเขาต้องมอบให้คุณ
  • การชาร์จไฟทุกครั้ง ต้องจอดรถให้สนิท และกด Power Off เสียก่อน
  • จากนั้น กดปุ่มเปิดฝาหัวชาร์จ ก่อนจะดึงปลั๊ก มาเสียบกับไฟบ้าน หรือแท่นชาร์จให้เรียบร้อยก่อน
  • เมื่อเสียบสายชาร์จแล้ว หัวชาร์จที่ตัวรถ จะล็อกปลั๊กชาร์จทันทีโดยอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้ใครที่ไหนมาปลดปลั๊ก ทำมิดีแต่ร้ายกับรถของคุณได้ จนกว่าไฟในแบ็ตเตอรีจะเต็ม ระบบจะปลดล็อกหัวปลั๊กให้เอง
  • การปลดสายชาร์จ มีทั้งการถอดปลั๊กจากไฟบ้าน/แท่นชาร์จ ถ้าไฟเต็มแบ็ตเตอรี รถจะสั่งปลดล็อกหัวชาร์จ ให้คุณดึงปลั๊กชาร์จออกมาได้ หรือ ถ้าอยากจะรีบไป โดยไม่สนใจว่าไฟในแบ็ตเตอรี จะเต็มหรือไม่ ให้เดินไปเปิดประตูรถ แล้วกดปุ่มปลดล็อกจากสวิตช์ภายในรถ ติดตั้งอยู่ ใต้ช่องแอร์ฝั่งขวาด้านคนขับ
  • ห้าม เสียบปลั๊กชาร์จ เข้ากับ ปลั๊กแยก/ปลั๊กสามตา / ปลั๊กต่อเชื่อมอื่นใด เป็นอันขาด ถ้าไม่อยากเกิดไฟช็อตจนไฟไหม้บ้านและรถทั้งคัน
  • ถ้าอยากรู้ว่า ชาร์จไปถึงไหนแล้ว ดูได้จากไฟสัญญาณสีฟ้า ด้านบนแผงหน้าปัด เมื่อไฟเต็มแล้ว ทิ้งไว้สักพัก ก็จะดับลงไปเอง แต่ถ้าต้องการความชัวร์ ควรใช้วิธี ปลดล็อก แล้วเปิดประตูรถ ระบบจะแจ้งข้อมูลการชาร์จไฟให้ดู บนหน้าจอ MID ตรงกลางของ ชุดมาตรวัด เท่านั้น
  • Soul EV มีระบบ Schdule Charging ให้คุณสามารถตั้งเวลาการชาร์จไฟ รวมทั้งปริมาณไฟที่ต้องการชาร์จ หรือรูปแบบกระแสไฟที่ต้องการชาร์จ ตั้งค่าทั้งหมดได้จากหน้าจอ Monitor ชุดเครื่องเสียงได้เลย คุณอาจสงสัยว่า มีระบบนี้มาให้ทำไม นั่นเพราะในหลายๆ ประเทศ การคิดค่าไฟ ช่วงกลางวันและกลางคืนแตกต่างกัน ตามปริมาณการใช้งานของผู้คนทั้งเมือง กลางวันอาจจะชาร์จแพงหน่อย กลางคืนอาจชาร์จถูกหน่อย ดังนั้น บางคน อาจต้องการชาร์จไฟตามเวลาที่ต้องการ เพื่อควบคุมค่าไฟให้เหมาะสม นั่นเอง

ผมตัดสินใจ ใช้เส้นทางการทดสอบ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ และเริ่มใช้ครั้งแรกในบทความรีวิวรถยนต์ไฟฟ้า Hyundai Ioniq และ Kona Electric ที่เผยแพร่ออกไปหมดแล้ว โดยเปลี่ยน เส้นทางการวิ่ง จากเดิม ที่เราเคยใช้ “ทางด่วน พระราม 6 – บางปะอิน” มาเป็นเส้น “ทางด่วนบูรพาวิถี” ย่านบางนา แทน

  • เรายังใช้มาตรฐานการทดลองขับ ดั้งเดิม คือ ทดลองตอนกลางคืน เปิดแอร์ อุณหภูมิ 24 – 25 องศาเซลเซียส พัดลมแอร์ เบอร์ 1 กับ 2 ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมนั่ง 2 คน (ผม ผู้ขับขี่ 105 กิโลกรัม กับ คุณผู้อ่านของเรา น้อง Mark Pongsawang น้ำหนัก 60 กิโลกรัม)
  • เราจะเปลี่ยนจุดเริ่มต้น มาเป็นบ้านผม ในซอยราชวินิตบางแก้ว หลัง Mega Bangna นี่แหละ เราจะเสียบปลั๊กชาร์จไฟกันจากในบ้านจนเต็มตามที่ตัวรถมันแจ้งไว้
  • จากนั้น เริ่มต้นจากหน้าบ้านผม ขับออกไปถึงริมถนนบางนา – ตราด ก็ปาเข้าไป 3 กิโลเมตร แล้ว เราไป U-Turn ขึ้นสะพานกลับรถ ที่หน้าสำนักงานใหญ่ สุกี้ MK แล้วขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี หน้า Central Bangna ขับไปยาวๆ ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนถึงปลายทางด่วนบูรพาวิถี ขึ้นสะพานกลับรถ แล้วย้อนขึ้นทางด่วนเส้นเดิมกันอีกครั้ง แต่คราวนี้ เราจะลงทางด่วนที่กิ่งแก้ว แล้ววิ่งทางข้างล่าง เลาะเข้าคู่ขนาน เลี้ยวเข้า Mega Bangna เพื่อทะลุด้านหลังห้างฯ กลับเข้าซอยราชวินิตบางแก้ว อีกครั้ง แล้วมุ่งหน้ากลับเข้าบ้าน
  • เมื่อนำรถเข้าจอดเรียบร้อยแล้ว เราก็เสียบหัวชาร์จที่แถมมากับตัวรถเข้ากับปลั๊กไฟบ้านตัวเองอีกรอบ ปล่อยให้กระแสไฟไหลเข้าไปจนเต็ม 1 คืน พอเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ตื่นนอน ลงมาจดตัวเลขที่ มิเตอร์วัดไฟ

ตัวเลขที่เราจดบันทึกได้ และคำนวนออกมาได้ มีดังนี้

ระยะทางที่แล่นไป ตาม Trip Meter บนมาตรวัด อยู่ที่ 113.9 กิโลเมตร

ตัวรถแจ้งว่า แบตเตอรี่ลดจาก 100 เหลือ 73% (ลดลงเท่ากับ Kona Electric เป๊ะ)

เมื่อเสียบชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ด้วย Wall Box ระบบแจ้งว่าต้องใช้เวลาในการชาร์จ 3 ชั่วโมง 10 นาที

มาตรวัดไฟก่อนชาร์จ 161.82 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
มาตรวัดไฟหลังชาร์จ 182.96 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
เท่ากับ ชาร์จไฟไป 21.14 kWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

เมื่อคำนวนแล้ว เท่ากับว่า ไฟฟ้า 1 kWh เฉลี่ยแล้ว รถแล่นได้ 5.387 Km. (กิโลเมตร)
หรือ ระยะทาง 1 Km. (กิโลเมตร) ใช้ไฟ 0.1856 kWh. (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

มาดูเรื่องค่าใช้จ่ายกันบ้าง เราคำนวน จาก ค่าไฟของ การไฟฟ้านครหลวง (MEA Metro Electricity Authority of Thailand) ซึ่งคิดในอัตราการใช้ไฟ สูงสุด หน่วย (1 Unit) ละ 4.4217 บาท (THB : Thai Baht)

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายก็คือ 4.4217 บาท (THB) แล่นได้ 5.387 Km. (กิโลเมตร) ได้ค่าเฉลี่ย 0.8208 บาท (THB) / 1 Km. (กิโลเมตร)

สรุปว่า กินไฟกว่า Kona Electric ในระดับที่ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญเท่าใดนักเลย

********** สรุป **********
จากหนุ่มโอปป้าสุดหล่อแต่เมาแฮงค์ 3 คืน ปรับตัวเองมารักษ์โลก แต่แรงขึ้น
ถ้าราคาถูกกว่านี้ Option เยอะกว่านี้อีกนิด คนจะมองและจองมากกว่านี้

ผมยังจำครั้งแรกที่ได้ลองขับ Kia Soul รุ่นแรก เมื่อหลายปีก่อนได้อยู่เลย มันเป็น Kia คันแรก ที่เรานำมาทำรีวิว ผมยังจำได้เลยว่า ในตอนนั้น แม้พวกเขา จะพยายาม สร้างเอกลักษณ์ของตนเอง ให้แตกต่าง และโดนใจชาวโลก มากแค่ไหน ทว่า งานวิศวกรรมของพวกเขา ก็ยังไม่อาจเทียบชั้นกับรถญี่ปุ่น ร่วมยุคร่วมสมัยด้วยกันได้เลย มันยังคงเป็น หนุ่มโอปป้า สุดเท่ห์ เจ้าสำอางค์ แต่เรี่ยวแรงเลือนลาง ราวกับเที่ยวกลางคืนจนถึงสว่างคาตาแล้วยังไม่ได้นอนมา 3 คืน

เวลาที่เปลี่ยนผัน 2 Generation ที่เปลี่ยนไป ทันทีที่ผมเห็นตัวรถคันจริงของ Soul EV ใหม่ สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ความพยายาม ในการรักษาเอกลักษณ์ ของ Soul รุ่นเดิม ให้ยังคงก้าวผ่านกาลเวลามาได้ โดยยังไม่ตกยุคสมัย ไม่สูญเสียตัวตน และรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในใจของผู้บริโภคทั่วโลก ได้อย่างต่อเนื่อง

ก็รถมันน่ารักในสายตาของลูกค้าผู้หญิงนี่ครับ ดึงดูดสายตาดีนักแล ขับไปไหน คนก็มอง แถมมาถามไถ่ว่านี่คือรถอะไรกันเรื่อยๆ ถือว่า ทีมออกแบบของ Kia ยังคงทำผลงาน Top Form ได้ดีเหมือนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าในต่างประเทศ Soul จะยังมีเครื่องยนต์สันดาป ให้เลือกตามปกติ แต่ในเมื่อบริษัทแม่ที่เกาหลีใต้ เลือกจะกำหนดให้เมืองไทย ทำตลาดได้แค่ Soul EV ก็กลายเป็นว่า เข้าทางทีม Yontrakit Kia เขาพอดี ยิ่งพอเปลี่ยนมอเตอร์ไฟฟ้า และ Upgrade Battery ลูกใหม่ ให้ใหญ่ขึ้น เป็นชุดเดียวกับ ญาติผู้น้อง Hyundai Kona Electric ทำให้ อัตราเร่ง สมรรถนะ และระยะทางแล่น ดีขึ้นจากรุ่นเดิมราวกับเป็นหนังคนละม้วน จนแซงขึ้นไปอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ที่จำหน่ายในเมืองไทย ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ได้อย่างสบายๆ

ยิ่งเมื่อเจอกับพื้นที่ห้องโดยสารที่โอ่โถงกว่า อเนกประสงค์กว่า ตามประสารถยนต์กลุ่ม Compact ซึ่งออกแบบมาเอาใจลูกค้าวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานด้วยแล้ว ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ ที่จะมีผู้คนจำนวนไม่น้อย แอบมาแวะเวียนเดินดูรอบรถคันนี้ ระหว่างที่ผม เอาไปจอด เพื่อกินข้าวเย็นกับคุณแม่ พวกเขาสนใจนะ แต่แน่นอนว่า Soul EV ก็ยังมีข้อที่ควรปรับปรุง เหมือนรถยนต์ทั่วๆไป ทุกรุ่น นั่นแหละ

จุดที่ควรปรับปรุง

  1. เปลี่ยนหัวปลั๊กเสียบชาร์จ ให้เป็นแบบ Type-II ได้แล้ว ไม่เข้าใจจริงๆว่า คนเกาหลีใต้ที่ สำนักงานใหญ่ของ Kia เขาคิดอะไรอยู่ เขารู้ไหมว่า ประเทศไทย ได้กำหนดให้ใช้ปลั๊กสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นแบบ Type-II แล้ว (โว้ย) มึงจะใส่ปลั๊ก Type 1 มาให้คนไทยทำห่าอะไรครับเพ่? อุปกรณ์แบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาต่อรองกับยอดผลิต หรือยอดสั่งนำเข้าของผู้จำหน่ายในแต่ละประเทศนะเว้ย มันคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ข้อกำหนด Regulation ของแต่ละประเทศ ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตรถยนต์ ที่จะจัดอุปกรณ์ ให้มันถูกต้องกับมาตรฐานของประเทศนั้นๆที่ตนส่งรถยนต์เข้าไปขายนะ!
    .
  2. ความมั่นใจในการเข้าโค้ง ลดลง เมื่อเทียบกับญาติผู้น้อง อย่าง Kona Electric ในเมื่อ Soul เป็นรถยนต์ที่ถูกกำหนดบุคลิกพื้นฐาน มาให้เป็น รถยนต์นั่งทรงกล่องติดล้อ หลังคาสูง แถมตำแหน่งเบาะ ก็สูง ต่อให้จะทำความเร็วในโค้ง ได้พอๆกันกับ Kona Electric แต่คุณก็ต้องทำใจว่า ตัวถังมันจะเอียงเทออกข้าง มากกว่า Kona ซึ่งเตี้ยกว่ากันนิดหน่อย ความมั่นใจในการควบคุมรถระหว่างเข้าโค้ง จะลดลงมาบ้างเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำใจ
    .
  3. ตั้งราคาขายกันแพงขนาดนี้ แต่อุปกรณ์หลายอย่าง กลับจำเป็นต้องถูกตัดออกไป ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB (Autonomous Emergency Braking) with FCA (Forward Collision Warning – Avoidance Assist) ระบบเตือนผู้ขับขี่ง่วง DAW (Driver Attention Warning) ระบบไฟสูงอัตโนมัติ ปรับลดแสงเมื่อมีรถแล่นสวนมา HBA (High Beam Assist) ระบบเตือนผู้ขับขี่ขณะที่รถกำลังเบี่ยงออกนอกเลนถนน LKAS (Lane Keeping Assist) ระบบ เร่งและเบรกตามการจราจรจากรถคันข้างหน้าด้วยเรดาห์ LFA (Lane Follow Assist) และระบบควบคุมความเร็วคงที่ Smart Cruise Control with Stop & Go ทั้งหมดนี้ ถูกตัดออกไป และไม่มีติดตั้งมาให้กับรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย เลย! ถ้าจะขายราคานี้ ได้โปรดเถอะ ขอ Option เหล่านี้ มาใส่ในรถให้เกิดความคุ้มค่าในสายตาลูกค้ากว่านี้ด้วยเถิด!
    .
  4. ในเมื่อ แรงบิดมันสูงมหาศาล เมื่อเทียบกับขนาดตัวรถ ถึงเพียงนี้ ก็อยากฝากทางเกาหลีใต้ ช่วยเปลี่ยนยางติดรถจาก Nexen N’Fera SU1 ตัวที่ประจำการอยู่ ให้เป็นรุ่นที่สูงกว่านี้ และมีแรงเสียดทาน (Rolling Resistance) เพิ่มมากกว่านี้อีกนิดนึง จะดีกว่า เพื่อที่ผู้ขับขี่ ซึ่งยังไม่ชินรถ จะได้ไม่ตกใจ ตอนเผลอกดคันเร่งลงไปมากเกินไป ในช่วงแรกๆที่เพิ่งรับรถจากโชว์รูม

*** คู่แข่งในตลาด ***

กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ผู้เล่นยังมีน้อยราย และระดับราคา ก็ไล่เลี่ยกันไป พูดกันตามตรงคือ ถ้ามีเงินระดับ 2.5 ล้านบาท และมองหารถยนต์ไฟฟ้า สักคันหนึ่ง ตัวเลือกในตอนนี้ ยังไม่เยอะนัก มีแค่ 5 รุ่น แต่หลังจากปี 2019 นี้เป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวในตลาดกลุ่มนี้น่าจะเริ่มคึกคักขึ้น

Hyundai Ioniq Electric

ญาติผู้พี่ ที่เคยพาแบรนด์ Hyundai บุกเบิกตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในประเทศไทยมาก่อน ยังพอมีจุดขายอยู่ที่ราคา ซึ่งถูกกว่า รุ่นล่างสุดของ Kona Electric อยู่ราวๆ ไม่เกิน 100,000 บาท สิ่งที่คุณจะได้รับกลับไปก็คือ ขนาดห้องโดยสารซึ่งกว้างใหญ่ขึ้นกว่า Kona Electric นิดหน่อย และแค่นั้น น่าเสียดายว่า ถ้าได้แบ็ตเตอรี ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่านี้ เพื่อช่วยให้แล่นได้ไกลขึ้นกว่านี้ และช่วงล่างที่นิ่มไปหน่อย แถมด้านหน้ารถยังเบาไป ค่อนข้างน่ากลัวเวลาใช้ความเร็วเดินทาง Ioniq Electric ก็จะน่าสนใจมากกว่านี้

Hyundai Kona Electric

ญาติร่วมตระกูล ที่ใช้มอเตอร์ และแบ็ตเตอรี ลูกเดียวกันกับ Soul EV แน่นอนว่า อัตราเร่ง ที่โคตรสะใจ และการใช้ไฟ ที่ใกล้เคียงกัน แถมมีราคาค่าตัวถูกกว่า ในรูปลักษณ์ที่ ร่วมสมัย เอาใจวัยรุ่นมากกว่า ตัวรถเตี้ยกว่า เข้าโค้งได้กีกว่า ก็ทำให้ Kona Electric กลายเป็นคู่เปรียบเทียบไปอย่างช่วยไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ Soul EV จะเหนือกว่า Kona Electric ก็คือ พื้นที่ในห้องโดยสาร และอรรถประโยชน์จากพื้นที่ห้องสัมภาระด้านหลัง ซึ่ง ตัวถังที่เตี้ยกว่า อย่าง Kona ไม่มีทางให้คุณได้ เพียงแต่ว่า คุณอาจต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มอีก แสนกว่าบาท เพิ่มจาก Kona เพื่อพื้นที่ห้องโดยสารที่ว่านั่น

MG ZS EV

การตั้งราคาถูกที่สุด ในระดับช็อกกันไปทั้งบาง ของ MG ทำให้ ZS EV สร้างกระแสและเรียกเสียงฮือฮาจากผู้บริโภคชาวไทยไปได้มาก สมรรถนะที่ตัวรถให้มา แม้จะแพงกว่า ZS เบนซิน หลายแสนบาท แต่อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แรงขึ้นจาก 17.1 มาเป็น 8.7 วินาที ก็ถือว่า น่าสนใจ ถ้ามองว่านี่คือการเริ่มต้นเอาจริงเอาจังกับตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า ก็ถือว่า เป็นการเริ่มต้นที่ “ถูกที่ ถูกเวลา” เลยทีเดียว เพียงแต่ว่า ยังมีความน่าเป็นห่วง ทั้งประเด็นด้าน ความเชื่อใจในด้านบริการหลังการขาย ซึ่งยังเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะขนาดรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปปกติ ก็ยังมีปัญหา และดูแลลูกค้าได้ไม่ดีเอาเสียเลย และอีกประเด็นที่น่ากังวลนั่นคือ การติดตั้งแบ็ตเตอรี ไว้ใต้ท้องรถ เมื่อมาเจอกับสภาพถนนของประเทศไทย ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย จากการกระแทกลูกระนาด ขนาดดักควายให้หกล้มได้

Nissan LEAF

รถยนต์ไฟฟ้า ที่ขายดีสุดในโลกตอนนี้ นำเข้าทั้งคันมาถึงเมืองไทยแล้ว ด้วยค่าตัวถึง 1,990,000 บาท แพงจับใจ จนหลายคนถึงกับเมินหน้าหนี ช้าก่อนอย่าเพิ่งไม่ใยดี จุดเด่นของ LEAF อยู่ที่ พละกำลังซึ่ง อาจจะไม่ได้แรงกว่า Kia Soul EV และ Hyundai Kona Electric แต่ก็เอาชนะ MG ZS EV กับ Hyundai Ioniq Electric ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ Leaf ยังให้ความคล่องตัวในการขับขี่ ที่แทบไม่แตกต่างจาก รถเก๋ง C-Segment Hatchback ยุคใหม่ ทั่วไป แถมยังมีระบบ E-Pedal ซึ่งถ้าคุณเปิดใช้งาน มันจะช่วยหน่วงรถให้หยุดสนิทได้ โดยไม่ต้องเหยียบเบรก เหมาะกับการขับขี่ในเมืองไปตามการจราจรติดขัดมากๆ รวมทั้งระบบเบรกอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง  กระนั้น ถ้าต้องนำรถยนต์เข้ารับบริการหลังการขาย ก็อาจต้องศึกษานิดหนึ่ง เพราะ Dealer ของ Nissan ที่ขอยื่นรับสิทธิ์จำหน่าย LEAF ยังมีไม่มากนัก  ต้องเลือกเข้าศูนย์บริการที่ มีช่างซึ่งผ่านการอบรมมาเท่านั้น แถมหัวปลั๊ก ก็ยังเป็น Type 1 เหมือน Soul EV ทังที่ประเทศไทย เขากำหนดกันแล้วว่า ให้ใช้ปลั๊กหัว Type II !! จนถึงตอนนี้ ผมยังหาเหตุผลจะซื้อ LEAF ไม่ได้จริงๆ

แล้วถ้าเกิดติดใจในความสวยไม่เหมือนใครของ Kia Soul EV จนตัดสินใจว่าจะซื้อละ?

ก็แค่เซ็นชื่อในใบจอง แบบไม่ต้องคิดมากครับ เพราะ Kia Soul EV เป็นรถยนต์ไฟฟ้า นำเข้าสำเร็จรูป (CBU : Complete Built Unit) จากโรงงานในเกาหลีใต้ ทั้งคัน และมีรุ่นย่อยเพียงรุ่นเดียว ขายราคาเดียวเท่านั้น คือ 2,387,000 บาท แพงขึ้นกว่า Soul EV รุ่นเดิม (2,297,000 บาท) ถึง 90,000 บาท แลกกับมอเตอร์ที่แรง และระยะทางแล่นที่ไกลขึ้น แถม Option มากขึ้น พอสมควร

รับประกันคุณภาพตัวรถ Warranty 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งจะถึงก่อน) “ซึ่งรวมถึงแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนไปแล้วด้วย” และมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน Roadside Assistance 24 ชั่วโมง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่า หลายคนคงจะยังรู้สึกคาใจอยู่บ้างแหละ ถูกไหม? คนที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ในเวลานี้ ส่วนใหญ่ เรื่องเงินหนะ ไม่ใช่ปัญหาหรอก ต่อให้ Soul EV จะมีราคาแพงที่สุดในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า พิกัด Compact Size ไม่เกิน 3 ล้านบาท ถ้าพวกเขาอยากได้ ก็จ่ายเงินจองกันได้ทุกเมื่อ…เพียงแต่ว่า ปัญหาที่ค้างคาความรู้สึกกันอยู่ มันก็คือ “ภาพลักษณ์เดิมๆ ของ ยนตรกิจ ในใจผู้บริโภค” ต่างหาก…

คนทั่วไป ที่ไม่รู้จักเรื่องรถยนต์มากพอ อาจมองเห็นแค่ว่า “จะดีเหรอ Kia ยี่ห้ออะไรหนะ? รถเกาหลีเหรอ? อ๋อๆๆ นึกออกละ เห็นที่เขาเอา หมอโอ๊ค กับ โอปอล มาเล่นโฆษณารถตู้ใช่ป่าว แล้วจะสู้รถญี่ปุ่นได้เหรอ? ” แตถ้าเป็นคนร่นพ่อรุ่นแม่เรา พอเห็นชื่อ ยนตรกิจ ก็แทบจะกระทืบเบรกยกมือขวา ทำท่าปางห้ามญาติกันเลยทีเดียว

ผมว่า ย่อหน้าข้างล่างนี้ น่าจะช่วยตอบคำถามในใจของคุณได้…บ้าง

หลังจากวันที่ผมส่งคืน เจ้ามะนาวไฟฟ้า ให้กับนอย ไปได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ เราก็ยังพูดคุยถามเช็คข้อมูลตัวรถกันอยู่เรื่อยๆ ในระหว่างทำบทความนี้…แต่จู่ๆ ผมก็เกิดสงสัยขึ้นมา….

“เออ พี่มีคำถามว่า 3 เดือนผ่านไป หลังจากที่ นอย เข้าไปทำงานกับ Yontrakit Kia Motor เธอมองพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง?

” นอยก็มองว่า เขากำลัง ปรับองค์กร ให้ทันสมัยขึ้น หาผู้ร่วมลงทุน เปิดศูนย์บริการในต่างจังหวัดให้มันครอบคลุมมากขึ้น ปรับระบบ After Sales Service ให้ลูกค้าใช้แบบ On-Line ได้ (กำลังดำเนินการอยู่) ทำการตลาดมากขึ้น ให้คนรู้จัก Kia และสร้างความมั่นใจให้กับคนซื้อ Kia ไม่ใช่แค่ให้รู้จักเพราะเกาะกระแส BlackPink เพราะยังไง เรื่องราคา ตัวรถมันต้องบนำเข้าจากเกาหลีใต้หนะนะ นอกเหนือจาก Grand Carnival แล้ว จะให้เราไปเป็น Price Leading เหมือนคู่แข่ง (ขอสงวนนาม) คงเป็นไปไม่ได้ เราก็ไปปรับปรุงคุณภาพด้านอื่นทีคิดว่าเราทำได้แทนดีกว่า”

“แล้วตัวรถละ? ในฐานะที่เธอเป็นคนอ่านเว็บพี่ ที่ไม่รู้จักรถ Kia ลึกๆขนาดนี้ มาก่อน เธอมองรถของพวกเขาอย่างไรบ้าง?”

“เมื่อก่อน ถามว่ารู้จัก Kia มาก่อนไหม รู้จัก และชอบนะ แต่ก็กลัวความเป็นยนตรกิจด้วยส่วนหนึ่ง ไม่คิดว่าวันหนึ่ง ตัวเองจะได้เข้ามาเป็น หนึ่งในครอบครัวยนตรกิจ ที่คนเขาเคยด่ากันมากโขเข้าสักวัน ตอนนี้ถามว่า มีเงินจะซื้อ Grand Carnival ไหม ก็คงซื้อนะ เพราะเราเห็นว่า มันมีทุกอย่างครบจริงๆ อะไหล่ก็สั่งได้ตลอด เร็วตลอด ตัวรถก็ทำมาดีจริงๆ ถ้าไม่สัมผัสข้างในจริงๆแบบนี้ เราคงคิดแบบเดิมเหมือนคนอื่น” 

ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้พูดเอง ไม่ได้ไปบังคับให้น้องเขาพูด ไม่มี Script ใดๆทั้งสิ้น นอยเขาพิมพ์ตอบผมมาอย่างนี้ ด้วยตัวเอง และไม่ได้คาดหมายมาก่อน แน่นอนว่า เมื่อเขาได้เข้าไปเห็นบรรยากาศจริงๆ เขาก็จะเข้าใจในสิ่งที่แตกต่างจากภาพซึ่งคนภายนอก มองเห็นกันอยู่

เราไม่มีทางที่จะเข้าใจ “อะไรก็ตาม” ได้ ถ้าเรา ไม่ได้เข้าไป “ขลุก ลงมือทำ หรือร่วมอยู่” กับ “สิ่งๆนั้น สภาพการณ์แบบนั้น สภาพสังคมแบบนั้น” ด้วยตัวของเราเอง

นอย ได้เลือกเข้าไปทำงานอยู่ที่นั่น และได้สัมผัสกับตัวเองแล้วว่า “วันนี้ ยนตรกิจ มันไม่เหมือนช่วงเวลาก่อนหน้านี้” และเจ้าตัวทิ้งท้ายไว้ว่า…

“นอยลองย้อนไปอ่านบทความ Grand Carnival ของพี่มา นอยอยากจะบอกว่า สิ่งใดก็ตาม ที่พี่เคยเขียนให้พวกเขานำไปปรับปรุงแก้ไขนั้น…เอาเป็นว่า เขารับรู้ รับฟัง และพยาม ทำตามที่พี่จิมบอกทุกอย่างเลยนะ And we’re working on it everything you mentioned”

น้ำตาจะไหล ขอบคุณที่รับฟังผม….ปรับปรุงกันต่อไป Keep momentum แบบนี้กันต่อไปนะ…

ทุกสิ่ง…จะดีขึ้น…ในอีกไม่นาน…แล้วเรามารอดูกัน!

—————–///——————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์  
บริษัท Yontrakit Kia Motor จำกัด
เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดี

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
(ภาพกราฟฟิค เป็นของ Kia Motors Corporation)
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
 20 กันยายน 2019

Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole 
without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
September 20th,2019

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome , CLICK HERE