Lee Iacocca นักบริหารแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ผู้โด่งดังจากการมีส่วนช่วยในการให้กำเนิด Ford Mustang และยังเป็นผู้ช่วยกอบกู้ Chrysler จากการล้มละลาย ได้จากไปอย่างสงบที่บ้านพักของเขาในเมือง Bel Air, Los Angeles เมื่อวานนี้

Lee Iacocca มีชื่อจริงเต็มว่า Lido Anthony Iacocca เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1924 โดยเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนที่เติบโตมาจากเมือง Allentown รัฐ Pennsylvania

เขาเริ่มต้นทำงานในสายยานยนต์ โดยเป็นวิศวกรในบริษัท Ford Motor Company ในเดือนสิงหาคมปี 1946 แต่แล้วในเวลาต่อมา เขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ธรรมชาติของตัวเองที่จะอยู่ในงานแบบวิศวกรรมจ๋า ดังนั้นจึงทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ฝ่ายขายและการตลาด โดยผลงานแรกที่โด่งดังของเขาคือแคมเปญ “56 for 56” ในปี 1956 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้นด้วยการดาวน์แค่ 20% และผ่อนเดือนละ 56 ดอลลาร์ และแคมเปญนี้เกิดในปี 1956 (ก็เลยเป็น 56 for 56)

ต่อมาในช่วงยุค 60s Lee Iacocca ซึ่งเป็นผู้บริหารนักขายและนักการตลาดตัวยงของ Ford ในสมัยนั้น มองเห็นตลาดกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเกิดในยุค Baby Boomer จึงนัด Hal Sperlich (บอสฝ่าย Product Planning) และวิศวกรกับผู้บริหารที่ไว้ใจได้ ไปแอบประชุมลับกันที่โรงแรม Fairlane Inn เป็นประจำ แล้วคิดหาวิธีสร้างรถรุ่นใหม่ออกมา เขาตัดสินใจที่จะไม่บอกเรื่องนี้กับบอส Henry Ford II เพราะรู้ว่าในช่วงนี้ท่านขี้เหนียวเป็นพิเศษและไม่อนุมัติเงินให้โครงการไหนง่ายๆแน่หลังจากขาดทุนมหาศาลไปกับรถปากหวออย่าง Edsel

ในที่สุดงานของทีม Lee และ Hal ก็ตกผลึกเป็น Ford Cougar ซึงมีสัญลักษณ์หน้ารถเป็นเสือ (แต่ดูแล้วเหมือนแมวตกใจมากกว่า) เป็นรถคูเป้สองประตูหลังคาแข็งและเปิดประทุน แล้วก็หาทางทำรถให้ราคาถูกด้วยการเอา Ford Falcon ซึ่งบ้านรถบ้านจานข้าวปลาทูของ Ford ที่ราคาถูกที่สุดในสมัยนั้นมาแกะเอาโครงสร้างไปใช้ แต่ทั้งนี้ก็มีการปรับระยะฐานล้อ ระยะแทร็คล้อ และเชื่อมตัวถังเพิ่มให้ทนต่อการขับซิ่งมากขึ้น

ในด้านการออกแบบตัวถัง ทีมของ Lee และ Hal แอบนัดทีมออกแบบจาก 7 สตูดิโอ สร้างรถโมเดลจำลองออกมาให้ดู Lee เดินพินิจอยู่ครู่ใหญ่ แล้วก็เอาป้ายผู้ชนะไปแปะข้างรถโมเดลของ Gale Haldeman ซึ่งไม่ใช่รถที่ดูล้ำยุคที่สุด หรือสวยที่สุด แต่ Lee บอกว่า “เชื่อผม ทรงนี้ ขายดังปังแน่นอน!”

จากนั้นเมื่อโครงการใกล้เสร็จ แน่นอนว่าก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำโครงการไปเสนอบอสใหญ่ Henry Ford ที่สอง เพราะสมัยนั้นการทำรถออกสู่ตลาดสักคันต้องใช้เงิน 75 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทีมลับของ Lee ไม่คิดจะทำบุญให้ฟรีๆ จึงต้องบากหน้าไปบอกบอส ผู้ซึ่งกระดกเขี่ยซิการ์ทิ้งสองสามทีแล้วบอกว่า “ข้าให้ 45 ล้าน” Henry Ford II บอก “เอาไปสร้างรถของพวกเอ็งซะ ข้าจะให้ไม่มากไม่น้อยกว่านี้ ไม่พอใจก็ไม่ต้องเอา”

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม Lee กับพรรคพวกก็ดันจนโครงการสำเร็จ ในช่วงท้ายสุดก่อนเปิดตัว Lee ได้ฟังความคิดเห็นจากฝ่ายการตลาดว่า “ชื่อ Mustang แล้วมีโลโก้เป็นรูปม้า น่าจะขายได้มากกว่า” Lee เห็นชอบด้วย ..หรืออย่างน้อยนี่คือเรื่องที่มาจากปากของ Lee เอง เพราะในตำนานของ Mustang ก็มีบางคนที่บอกว่า John Najjar จากแผนกดีไซน์คิดชื่อนี้ได้ตามเครื่องบินรบ P-51 Mustang ที่เขาชื่นชอบ แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ใดเป็นลายลักษณ์อักษร

จากนั้น เมื่อ Mustang เผยโฉมครั้งแรกที่งาน World’s Fair ปี 1964 ที่ New York ผู้คนที่ได้เห็นก็ถึงกับละลายด้วยรูปลักษณ์ของรถที่ปราดเปรียวผิดกับรถอเมริกันคันอื่น แถมพอได้ยินว่าราคาขายเริ่มต้นแค่ 2,368 ดอลลาร์ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับ Ford Falcon ..ก็แห่กันจองจนแค่จากงานโชว์ที่ World’s Fair ในวันแรก พวกเขากวาดใบจองได้ 22,000 คัน แล้วพอรูป และราคาเริ่มหลุดเข้าสู่หูประชาชน (สมัยนั้นไม่มี Facebook มีแต่ใบปลิวกับโชว์ของจริง) ชาวบ้านชาวช่องก็แห่กันไปแย่งจองรถที่ดีลเลอร์จนหวิดเหยียบกันตาย ที่ New York ถึงกับต้องเรียกตำรวจจากสน. มาช่วยกันจัดระเบียบประชาชน

เพียงแค่ 3 ปีแรกของการขาย Ford Mustang สร้างยอดขายได้ทะลุ 1,300,000 คัน จากตลาดอเมริกาเพียงแห่งเดียว

แต่ถ้าพูดถึงงานที่ “Fail” ภายใต้การดูแลของเขา ก็มีเช่นกัน มันคือ Ford Pinto ซึ่งรีบพัฒนามากจนลืมเรื่องการตรวจเช็คโครงสร้างความแข็งแรง ทำให้มีปัญหา ชนแล้วถังน้ำมันระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน รถคันแรกผลิตในปี 1971 ก็จริง แต่ Ford ใช้วิธีจ่ายค่าเสียหายชดเชยแทนที่จะเรียกรถกลับมาแก้ปัญหา ในภายหลังเมื่อพบว่ามันเป็นวิธีทางที่ไม่ถูกต้อง Ford จึงเรียก Pinto กลับมาแก้ไขในปี 1978

และในปี 1978 นั่นเอง Iacocca ซึ่งเป็นนักบริหารที่เติบโตเร็วและมีแนวโน้มจะมามีอำนาจยิ่งกว่าเจ้าของบริษัทอย่าง Henry Ford ที่สอง ก็เริ่มมีปัญหาหนักข้อมากขึ้น โดย Henry Ford อ้างว่า “Iacocca ชอบตัดสินใจโครงการต่างๆแทนโดยไม่ผ่านความคิดเห็นของเขา” และออกคำสั่งไล่ Iacocca ออกในเดือนกรกฎาคมปี 1978 นั่นเอง

ซึ่ง Iacocca บอกว่าจะจำเรื่องนี้ได้ไม่มีวันลืม

แต่ Chrysler เห็นโอกาสทองนี้ ด้วยการที่องค์กรเองก็ใกล้จะล่มอยู่รอมร่อ จึงรีบเชิญ Iacocca มาบริหารแทน ซึ่ง Iacocca ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขามีส่วนในการพัฒรถ Dodge Caravan/Chrysler Voyager ซึ่งเป็นจุดกำเนิดรถประเภท Minivan อันกลายเป็นที่นิยมในอเมริกาในเวลาต่อมา

ในปัจจุบัน ที่ไหนก็ตามที่มีการอบรมหรือเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการตลาดรถยนต์ เราจะได้ยินชื่อ Iacocca เสมอ ด้วยความสามารถในการคิดค้นรถแบบใหม่ๆ คิดวิธีการทำตลาดแบบที่ล้ำหน้าเกินกว่านักบริหารจากยุคเดียวกัน เขาเป็นตัวอย่างในกรณีศึกษาหลายกรณีที่กลายมาเป็นแม่แบบการพัฒนาและการขายรถยนต์ในปัจจุบัน