Sustainable Zoom-Zoom เป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการพัฒนายั่งยืนของ Mazda Motor Corporation ถือกำเนิดขึ้นในราวปี 2007 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจของ Mazda ให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่กับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้รถยนต์ Mazda นั้นมีทั้งความเพลิดเพลิน ความสนุกสนานในการขับขี่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีระบบความปลอดภัยระดับโลกอีกด้วย

ความชัดเจนของปรัชญการดำเนินธุรกิจ Sustainable Zoom-Zoom เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นเมื่อ Mazda ได้แนะนำเทคโนโลยี SKYACTIV อย่างเป็นทางการในปี 2008 หลังจากนั้นไม่นาน Mazda ก็ได้นำเทคโนโลยี SKYACTIV มาติดตั้งลงในรถยนต์รุ่นใหม่ทุกรุ่นตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป จึงทำให้ลูกค้าทั่วโลกต่างพึงพอใจกับสมรรถนะของรถยนต์ Mazda เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบที่น่าดึงดูดใจ, สมรรถนะการขับขี่เป็นเยี่ยม, ความปลอดภัยที่รู้สึกมั่นใจได้ และ ยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง, เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตามแบบแผนของการดำเนินธุรกิจ

ความสำเร็จที่เด่นชัดของเทคโนโลยี Mazda SKYACTIV ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า Mazda เริ่มเดินมาถูกทาง ทั้งจำนวนยอดขาย และ ผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าในอดีต เพียงแต่ก้าวต่อไปของพวกเขาจะชัดเจน หรือ มั่นคงหรือไม่ เมื่อสิ่งที่พวกเขากำลังคิด กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกพอดี

ในที่สุด Mazda Motor Corporation ก็ตัดสินใจเปิดเผยแผนธุรกิจใหม่ล่าสุดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์อย่างยั่งยืน ‘Sustainable Zoom-Zoom 2030’ เทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาใหม่ ๆ ภายในอีก 13 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2017

โดย Mazda จะเตรียมเปิดตัวเครื่องยนต์เบนซินใหม่ล่าสุด SKYACTIV -X ในปี 2019 ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีการจุดระเบิดด้วยการอัดอากาศ ครั้งแรกของโลกสำหรับเครื่องยนต์ที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการปูทางเริ่มแรกของแผนธุรกิจใหม่นี้อย่างเป็นทางการ

‘Sustainable Zoom-Zoom 2030’ คืออะไร?

‘Sustainable Zoom-Zoom 2030’ จะเป็นการยกระดับปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ‘Sustainable Zoom-Zooom’ ไปอีกระดับหนึ่งด้วยการยึดหลักคิด การสร้างสรรค์โลกที่สวยงาม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คน โดยมีการรวม 3 องค์ประกอบเข้าไว้ด้วยกัน ดังนี้

1. เพื่อโลก (Earth)

  • ขยายมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างครบวงจร “Well-to-Wheel” ทั้งที่มาจากขบวนการจัดหาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานของรถยนต์ และการปล่อยก๊าซ CO2 จากตัวรถยนต์ โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตของรถยนต์
  • Mazda ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยของทั้งองค์กร Corporate Average Well-to-Wheel CO2 Emission ลดลง 50 % ภายในปี 2030 เมื่อเทียบจากปี 2010 และตั้งเป้าหมายลดลงถึง 90 % ภายในปี 2050
  • Mazda จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยนโยบายการจัดลำดับความสำคัญของการปรับปรุงประสิทธิภาพและมาตรการด้านการปล่อยมลพิษที่สะอาดมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้งานได้บนโลกแห่งความเป็นจริง
  • Mazda ยังต้องพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด ปัจจุบันทั่วทั้งโลกรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคงใช้เครื่องยนต์นี้และมีจำนวนมาก และจะยังคงต่อเนื่องไปอีกหลายปีต่อจากนี้ไป สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และรวมถึงการก่อให้เกิดผลลัพธ์กับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำงานรวมกับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
  • Mazda จะเริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า EV ชนิดขยายระยะทางวิ่งสูงสุดได้, Mild Hybrid ในปี 2019 เป็นต้นไป และ จะเปิดตัวรถยนต์ Plug-in Hybrid รุ่นใหม่ในปี 2021 เป็นต้นไป ในภูมิภาคที่ใช้พลังงานสะอาดเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือจำกัดเฉพาะยานพาหนะบางอย่างเพื่อลดมลพิษทางอากาศ

2. เพื่อสังคม (Society)

  • Mazda จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้ถึงขั้นสุด ภายใต้ปรัชญาความปลอดภัยเชิงป้องกัน (Mazda Proactive Safety) ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อนำไปสู่การลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
  • เพิ่มความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น ตำแหน่งการนั่งของผู้ขับขี่ที่เหมาะสม รูปแบบของแป้นเหยียบเบรก และทัศนะวิสัยในการขับขี่ และนำมาใช้จนกลายเป็นมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทุกรุ่น
  • Mazda จะติดตั้งเทคโนโลยีความปลอดภัย i-ACTIVSENSE ซึ่งช่วยให้ผู้ขับขี่ตระหนักและประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ให้เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป
  • เริ่มต้นการทดสอบเทคโนโลยีการขับขี่แบบอัตโนมัติ ที่ทำงานสอดประสานร่วมกับแนวคิดการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการควบคุม ภายใต้แนวคิด Mazda Co-Pilot ในปี 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานในรถ Mazda ทุกรุ่นภายในปี 2025
  • การใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ช่วยให้เจ้าของรถสามารถรองรับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและยากที่จะสามารถเดินทางเข้าถึงได้

3. เพื่อลูกค้าทั่วโลก (People)

  • เดินหน้าพัฒนาการขับขี่แบบ Jinba-ittai อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อปลดล็อคศักยภาพของผู้คนและฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ
  • ยึดหลักปรัชญาการออกแบบยานยนต์เสมือนมีชีวิต ด้วยการก้าวพัฒนาไปอีกขั้นของการออกแบบอันสง่างามภายใต้ Kodo-Design เพื่อยกระดับการออกแบบยานยนต์ให้เสมือนเป็นงานศิลปะ ที่เสริมสร้างชีวิตและอารมณ์ของทุกคนที่กำลังเหลียวมอง

 



Mazda SKYACTIV-X

สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับวิสัยทัศน์ใหม่นี้ก็คือ Mazda ได้แนะนำเครื่องยนต์เบนซินเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด SKYACTIV-X เครื่องยนต์เบนซินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลก ที่สามารถจุดระเบิดได้โดยการอัดอากาศ โดยการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จะเกิดขึ้นจากการจุดระเบิดของอากาศและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผสมกัน ในขณะที่ลูกสูบเคลื่อนที่ในจังหวะของการอัด

วิธีการเผาไหม้นี้เป็นกรรมสิทธิ์ซึ่งเรียกว่า Spark Controlled Compression Ignition (SPCCI) หรือความหมายเต็มๆก็คือ Spark Ignition Controlled Compression Ignition ช่วยแก้ปัญหา 2 เรื่อง ที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้การจุดระเบิดในจังหวะการอัดอากาศ นั่นคือการเพิ่มพื้นที่เพื่อสามารถทำให้เกิดการจุดระเบิดในจังหวะการอัดของลูกสูบ และ การพัฒนาการจุดระเบิดที่สมบูรณ์แบบนี้ได้รวมเอาข้อดีของการจุดระเบิดด้วยการอัดอากาศ – การจุดระเบิดด้วยประกายการเผาไหม้เข้าไว้ด้วยกัน

คุณสมบัติเด่นของเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-X

  • การจุดระเบิด และ Supercharge จะทำงานร่วมกันเพื่อให้เครื่องยนต์ตอบสนองดีเยี่ยมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยแรงบิดที่เพิ่มขึ้นมากถึง 10 – 30 % โดยเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ SKYACTIV-G รุ่นปัจจุบัน และ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
  • การจุดระเบิดด้วยการบีบอัดสามารถช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แบบได้ในภาวะ Super Lean Burn จึงเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์มากขึ้น 20 – 30 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ SKYACTIV-G ในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 34 – 45 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซินของ Mazda ในปี 2008 ที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากัน
  • เครื่องยนต์ SKYACTIV-X มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่าหรือสูงกว่าเครื่องยนต์คลีนดีเซล SKYACTIV-D รุ่นล่าสุด
  • มีประสิทธิภาพสูงในช่วงการทำงานที่กว้างของรอบเครื่องยนต์และภาระของเครื่องยนต์ ทำให้สามารถมีอิสระในการออกแบบค่าอัตราทดเกียร์ที่ต้องการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และ สมรรถนะการขับขี่ที่ดี

 

Kiyoshi Fujiwara ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายจัดการและผู้ร่วมพัฒนาขุมพลังใหม่นี้ได้ยกตัวอย่าง ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ให้เห็นภาพชัดเจน ตัวอย่างคือ ถ้าเป็นเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ขนาด 2.0 ลิตร ที่ติดตั้งลงในตัวถังของ Mazda 3 ก็จะมีอัตราเร่งที่เหนือกว่าเครื่องยนต์ SKYACTIV-G 2.5 ลิตร ขณะเดียวกันก็ยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงกว่าเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตรด้วย

มีความเป็นไปได้สูงว่า All NEW Mazda 3 จะเป็นรถยนต์ Mazda คันแรกที่ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินเทคโนโลยี SKYACTIV-X ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 และ จะมีความเป็นไปได้สูงอีกเช่นกันว่า All NEW Mazda 3 น่าจะต้องเปิดตัวในตลาดไทยช่วงปี 2019-2020

เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2 ปีกว่าเท่านั้น ที่พวกเราทุกคนจะได้สัมผัสเทคโนโลยี SKYACTIV-X อันน่าตื่นตานี้แน่นอน

 

ที่มา : Mazda Motor Corporation