ในสภาวะการแข่งขันในตลาดรถยนต์ที่มีความรุนแรงสูงมากจนทำให้บริษัทรถยนต์ต้องรับแรงกดดันทุกรอบด้าน การค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดหรือตอบโจทย์มากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

ล่าสุด Mazda เริ่มมีนโยบายลดการพึ่งพาการสร้างรถยนต์โปรโตไทป์ และหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีงานวิศวกรรมเสมือนจริงมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือเร่งในการแข่งขัน โดยมีข้อดีสำคัญคือ ลดต้นทุนการผลิต, พัฒนารถให้แข่งขันกับเวลาได้ และที่สำคัญมันยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายตามที่ต้องการได้

Mitsuo Hitomi ผู้จัดการทั่วไปแห่ง Mazda เปิดเผยว่า พวกเขาจะใช้วิธีการพัฒนารถยนต์ Mazda เจเนเรชั่นต่อไปผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลสัดส่วนสูงถึง 90% เพื่อทดแทนวิธีพัฒนาแบบดั้งเดิมที่ต้องสูญเสียเงินไปกับโปรโตไทป์ราคาแพง แตกต่างจากปัจจุบันที่ Mazda ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาประกอบการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่แค่ 75% และใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพียงแค่ 25% ในปี 2007

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Mazda จำเป็นต้องใช้วิธีการพัฒนารถยนต์ผ่านเทคโนโลยีงานวิศวกรรมเสมือน ก็เพราะ Mazda เป็นบริษัทรถยนต์ขนาดเล็ก เงินทุนวิจัยและพัฒนาของพวกเขาทั้งหมดจึงมีค่าแค่เพียง 1 ใน 10 ของเงินทุนวิจัยและพัฒนาของ Toyota เท่านั้น

การพัฒนาแบบจำลองดิจิตอล จะใช้หลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบและทดสอบชิ้นส่วนที่ซับซ้อนหรือระบบของตัวรถ แทนที่จะสร้างรถโปรโตไทป์คันจริงขึ้นมา มันก็ช่วยประหยัดทั้งเวลา, เงินทุนและพลังงาน

วิธีการสร้างแบบจำลองหรือพัฒนารถยนต์ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เพราะ ณ ขณะนี้ บริษัทรถยนตืจากเยอรมันก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ เพียงแต่ Mazda จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่จริงจังกับขั้นตอนการพัฒนาแบบใหม่นี้ก่อนใคร

ด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้ Mazda สามารถพัฒนาเทคโนโลยี SkyActiv รุ่นปัจจุบันได้ อาทิ เครื่องยนต์, ระบบส่งกำลังและ Platform

ใช่ว่าวิธีการนี้จะมีแต่ข้อดี อย่างน้อยพวกเขาต้องใช้เวลาถึง 3 วัน ในการให้คอมพิวเตอร์คำนวณจำลองการเคลื่อนไหวของลูกสูบอย่างแม่นยำ และวิศวกรยังไม่สามารถจำลองภาพรวมของยางได้ดีนัก

Mazda ไม่ได้พัฒนาวิธีการพัฒนารถยนต์เพื่อตนเองเท่านั้น Mazda เผื่อแผ่วิธีการนี้ไปยังคู่ค้า, ซัพพลายเออร์และมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาประสิทธิผล นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันโปรโมตวิธีพัฒนารถยนต์แบบใหม่อีกด้วย

ที่มา : Automotive News