By J!MMY & AE110

MITSUBISHI MOTORS CORPORATION (MMC) ประเมิณว่า สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ทั่วโลก ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ โรคปอดอักเสบจากเชื้อ Coronavirus หรือ Covid-19 อาจทำให้บริษัท ขาดทุนจากการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2020 ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2021 สูงถึง 140 พันล้านเยน หรือราวๆ 1.33 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะเป็นการขาดทุนสะสมสูงที่สุดในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2002

นั่นจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจ ประกาศ แผนธุรกิจระยะกลาง 3 ปี three-year mid-term business plan ปี 2020 – 2022 ที่ Mitsubishi Motors เพิ่งประกาศออกมา เมื่อวานนี้ (27 กรกฎาคม 2020) โดยใช้ชื่ออันชวนให้แอบขนลุก ว่า แผน”Small but Beautiful” หรือ “เล็กน้อยแต่สวยงาม” โดย Chief Executive Officer ของบริษัท อย่าง Takeo Kato กล่าวว่า “เพื่อปูทางไปสู่การฟื้นฟู เป้าหมายสำคัญของผู้บริหารทุกคนในตอนนี้ คือการทำให้พนักงานของเราได้รับรู้และตระหนักถึงวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้น”

สาระสำคัญของแผนดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การบริหารงาน ให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ ที่พันธมิตร Renault Nissan Mitsubishi Motors Alliance ประกาศไปเมื่อ วันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยลดต้นทุนประเภท fixed cost ด้วยการบริหารจัดการด้านการผลิต และหันมาให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่ม ASEAN ที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนเนื้อหาหลักจะมีใจความอย่างไรนั้น เราจะขอแบ่งออกเป็นสองส่วนระหว่าง การทำธุรกิจ และ ผลิตภัณฑ์


แผนการทำธุรกิจ

จากชื่อ Small but Beautiful เราก็พอจะเดาได้ว่าการทำธุรกิจ Mitsubishi น่าจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งบริษัทระบุว่าต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 20% ภายในเวลาสองปีข้างหน้า เป็นเหตุให้บริษัทต้องพุ่งเป้าไปยังตลาดที่ทำกำไรได้มากกว่า ซึ่งก็คือเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนตลาดที่มีผลกำไรต่ำ บริษัทจำเป็นต้องลดขนาดลง เป็นเหตุให้ค่าย three-diamond ประกาศยุติการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในยุโรปไปก่อน

ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้ประกาศจะถอนตัวจากยุโรป แต่จะยังคงทำตลาดต่อไปด้วยรถยนต์รุ่นเดิมที่มีอยู่ ซึ่งนี่ทำให้เกิดการวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ Mitsubishi ทำไม่ต่างอะไรจากการถอนตัวอย่างช้าๆ เพราะถ้าไม่มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อตลาดยุโรป ในวันที่กฎหมายควบคุมรถยนต์มีความเข้มงวดขึ้นกว่านี้ รถยนต์รุ่นที่ลากขายก็ต้องถอนตัวอยู่ดี

สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดในยุโรปนั้น Mitsubishi มีอยู่ราว 1.0% แต่มีที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคืออเมริกาเหนือที่มีอยู่ 0.9% ต่างจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บริษัทกวาดไปได้ 6.4% และ ยังมีการตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 11% ส่งผลให้แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องเน้นเอาใจชาวเอเชียด้วย และเน้นใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับตลาด ASEAN  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่งออกไปยังโอเชียเนีย, เอเชียใต้, อเมริกาใต้, ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา ซึ่งทุกแห่งที่กล่าวมา จะถือเป็นเสาหลักที่ 2 รองจาก ASEAN

มีการลงรายละเอียดการดำเนินงานในหลายตลาดด้วย โดยจีนจะเน้นร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่, ญี่ปุ่นปรับการผลิตและเครือข่ายจำหน่ายใหม่, อเมริกาเหนือลดต้นทุนคงที่ (fixed cost) และ ยุโรปยุติการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตามที่กล่าวไป ส่วนเรื่องเทคโนโลยีจะนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในกลุ่มพันธมิตร มาใช้ให้มากขึ้น เช่น นำรถแวนจาก Renault มาแปะตราขายในออสเตรเลีย และ นำระบบ EV – ขับขี่อัตโนมัติ Nissan มาใช้


แผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

Mitsubishi มีแผนเปิดตัวเครื่องยนต์ดีเซล generation ใหม่ รวมถึงเน้นย้ำในเรื่องของระบบ PHEV และ EV เช่นเคย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ บริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ตามลำดับเวลา ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2020 เปิดตัว Eclipse Cross PHEV และ Outlander รุ่นใหม่ (รวมทั้ง Outlander PHEV ใหม่ในไทย)
  • ปีงบประมาณ 2021 เปิดตัว EV ตัวถัง Crossover รุ่นใหม่ All NEW สำหรับตลาดจีน โดยพัฒนาร่วมกับ GAC
  • ปีงบประมาณ 2022 เปิดตัว Outlander PHEV รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดเทคโนโลยี PHEV อีกขั้น และ K-Car ขุมพลังไฟฟ้า EV โดยพัฒนาร่วมกับ Nissan (ประกาศเริ่มลงทุน 8 พันล้านเยน ในโรงงาน Mizushima Plant ที่เมือง Kurashiki city จังหวัด Okayama) ทั้งยังจะมี Triton รุ่นใหม่ด้วย
  • ปีงบประมาณ 2023 เป็นต้นไป เปิดตัว Xpander Hybrid, Xpander รุ่นใหม่ และ Pajero Sport รุ่นใหม่ รวมทั้ง SUV และ Crossover นิรนามอย่างละรุ่น ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ All NEW ทั้งคู่

นอกจากนั้น ยังจะมีการยุติการผลิต Mitsubishi Pajero SUV ขนาดใหญ่รุ่นสร้างเกียรติประวัติโด่งดังมาตั้งแต่ครั้งลงแข่งขันในรายการ Paris-Dakar Rally ภายในปี 2021 หลังจากเพิ่งยกเลิกการจำหน่ายในญี่ปุ่นไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าโรงงาน ของบริษัท Pajero Manufacturing ที่เมือง Sakahogi ในจังหวัด Gifu ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบัน ยังคงผลิต Pajero เพื่อการส่งออกไปทั่วโลกเพียงอย่างเดียว ก็จะต้องปิดตัวลงไปในปี 2023

เดิมที โรงงานแห่งนี้ มีชื่อว่า Toyo Koki ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1943 เพื่อผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ให้กับกองทัพญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โรงงานนี้ได้แปรสภาพมาเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ ภายใต้สัญญาว่าจ้างของ Mitsubishi Motors ซึ่งได้เข้าซื้อหุ้นในโรงงานแห่งนี้ในปี 1995 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท Pajero Manufacturing จำกัด ก่อนจะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของโรงงานมาเป็นของตนเมื่อปี 2003 โดยในปีงบประมาณ 2019 ที่ผ่านมา โรงงานแห่งนี้ ผลิตรถยนต์ออกมาถึง 63,000 คัน คิดเป็น 10% ของยอดผลิตรถยนต์ Mitsubishi ในโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมด

การปิดโรงงานในจังหวัด Gifu ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่การปิดโรงงาน Ooe ในจังหวัด Aichi เมื่อปี 2001 ทำให้ Mitsubishi Motors จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตรถยนต์ SUV รุ่น Outlander และรถตู้ Delica D:5 รุ่น Big Minorchange ที่เพิ่งเปิดตัวในญี่ปุ่น เมื่อปี 2019 ไปยังโรงงาน Okazaki ซึ่งเป็นโรงงานหลักของตน ในจังหวัด Aichi แทน โดยพนักงานประมาณ 900 คน อาจจะถูกเลิกจ้าง

สำหรับแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ถูกแถลงออกมานั่น Mitsubishi Motors เตรียม จะเปิดตัวรถยนต์ SUV รุ่น Outlander PHEV รุ่นเปลี่ยนโฉม Full Modelchange ซึ่งจะผลิตและเปิดตัวในประเทศไทยเป็นแห่งแรก ในช่วงปลายปี 2021

 

ที่มา: carscoops, autocar