เทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภคต่างพากันให้ความสนใจนั้น เริ่มที่จะก่อให้เกิดความสับสนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว เนื่องจากระดับของเทคโนโลยีดังกล่าวในแต่ละขั้น มีความใกล้ชิดกันเกินไป จนเป็นเหตุให้ฝ่ายวิจัยของ Toyota มีความเห็นว่า ความไม่ชัดเจนนี้อาจก่อให้เกิดปัญหา ทั้งในแง่ของการพัฒนา และความปลอดภัยของผู้ใช้งานเอง

Gill Pratt หัวหน้าของ Toyota Research Institute ระบุว่า ระดับของระบบขับขี่อัตโนมัติของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละที่ มีมาตรฐานไม่เท่ากัน แม้จะมีการอ้างอิงจากระดับระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่บัญญัติขึ้นในปี 2014 โดย SAE International ที่แบ่งระบบดังกล่าวออกเป็น 6 ระดับ จาก 0 – 5 ขั้น ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

  • ระดับ 0 : ระบบทำได้แค่เตือนผู้ขับขี่
  • ระดับ 1 : ระบบสามารถเร่ง และ ลดความเร็วเองได้
  • ระดับ 2 : ผู้ขับขี่สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้
  • ระดับ 3 : ผู้ขับขี่สามารถละสายตาจากท้องถนนได้
  • ระดับ 4 : ผู้ขับขี่ไม่ต้องตั้งสมาธิกับการขับขี่ได้
  • ระดับ 5 : ระบบควบคุมพวงมาลัยเองได้ทั้งหมด

Pratt ระบุว่า ความแตกต่างของระดับระบบขับขี่อัตโนมัติระหว่างผู้ผลิต อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือการที่ผู้บริโภคเข้าใจผิด จนอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ถึงชีวิต ดังที่เกิดกับ Tesla ที่ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติระดับที่ 2 แต่ดูเหมือนว่าผู้บริโภคบางราย เข้าใจผิดคิดว่าตนสามารถปล่อยให้ระบบทำงานได้เองทั้งหมด เนื่องจากคิดว่ารถยนต์ของตนมีเทคโนโลยีที่สูงกว่าความเป็นจริง

Pratt ยังกล่าวด้วยว่า การให้ความสำคัญกับระดับของระบบขับขี่อัตโนมัติ อาจจะไม่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก และน่าจะดีกว่า หากเรายกตัวอย่างสถานการณ์ที่ระบบสามารถรับมือได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพความสามารถของเทคโนโลยีมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่ผู้ผลิตตอกย้ำให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า สุดท้ายแล้ว พวกเขาต้องตั้งสมาธิอยู่กับการขับขี่ตลอดเวลาอยู่ดี

 

ที่มา: autocar