Toyota และ Mazda ได้เซ็นสัญญาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันเป็นครั้งแรก ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2015 โดยที่ในตอนนั้น ทั้งสองบริษัทตั้งเป้าที่จะนำทรัพยากรที่ทั้งคู่มีอยู่มาใช้ร่วมกัน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ และ เทคโนโลยีเพื่อนำมาผลิตรถยนต์ที่ดีกว่า

ล่าสุดในวันที่ 4 สิงหาคม 2017 ทั้งคู่ได้เซ็นสัญญาใหม่อีกหนึ่งฉบับ เพื่อเติบโตไปด้วยกันในระยะยาว และ แบ่งจุดประสงค์ต่างๆ ออกเป็น 5 หัวข้อด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ร่วมลงทุนเปิดโรงงานใหม่สำหรับผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ

Toyota และ Mazda จะร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้นใหม่ในประเทศสหรัฐฯ โดยคิดเป็นทุนมูลค่าประมาณ 1,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ราว 53,200 ล้านบาท) คาดว่ามีกำลังการผลิตสูงสุด 300,000 คันต่อปี และจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 4,000 อัตรา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2021 หากได้รับการอนุมัติจากทางการตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้

ที่โรงงานแห่งใหม่นี้ Mazda จะใช้ในการผลิตรถยนต์ Crossover รุ่นใหม่สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ส่วน Toyota ระบุว่าจะใช้โรงงานแห่งนี้ในการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ มารองรับความต้องการรถยนต์ในตลาดอเมริกาเหนือที่เพิ่มมากขึ้น

  1. ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า EV ร่วมกัน

เนื่องจากกฎหมายควบคุมมลพิษในแต่ละประเทศ ล้วนมีความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโต Toyota และ Mazda จึงตัดสินใจที่จะร่วมพัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับกฎหมาย และ ความต้องการของแต่ละตลาดได้อย่างรวดเร็ว

  1. และ 4. ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระบบเชื่อมต่อ และ ระบบความปลอดภัยในรถยนต์ร่วมกัน

Toyota และ Mazda ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีระบบเชื่อมต่อ Infotainment ภายในรถยนต์เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงระบบเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์ด้วยกัน และระหว่างรถยนต์กับระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีความต้องการทางการตลาดบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญคือระบบเชื่อมต่อต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนอีกด้วย

  1. ขยายตลาดของรถยนต์ที่ 2 บริษัทนี้ แลกกันจำหน่ายอยู่แล้ว

ปัจจุบัน Mazda ส่งรถยนต์ขนาดเล็กไปให้ Toyota แปะตรายี่ห้อของตนเองออกขายในอเมริกาเหนือ ส่วน Toyota เองแลกเปลี่ยนด้วยการส่งรถแวนขนาดเล็กไปให้ Mazda ทำอย่างเดียวกันเพื่อออกขายในญี่ปุ่น ล่าสุดพวกเขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ ในการขยายตลาดของการแลกรถยนต์กันจำหน่าย

นอกจากวัตถุประสงค์ที่กล่าวไปข้างต้นและ Toyota และ Mazda ยังแลกเปลี่ยนกันถือหุ้นของแต่ละฝ่ายผ่านบุคคลที่สาม โดยที่หุ้นที่แต่ละฝ่ายถืออยู่มีมูลค่าเท่ากันที่ 50 ล้านเยน (ราว 15 ล้านบาท) หากคิดเป็นสัดส่วน Toyota จะถือหุ้นของ Mazda ร้อยละ 5.05% ส่วน Mazda จะถือหุ้นของ Toyota ร้อยละ 0.25%

Akio Toyota ประธานของ Toyota กล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดของการเป็นพันธมิตรกับ Mazda คือการได้หุ้นส่วนเป็นคนรักรถซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารถยนต์ที่ดีกว่า และบริษัทจะไม่ปล่อยให้รถยนต์เป็นเพียงสิ่งของ ส่วน Masamichi Kogai ประธานของ Mazda กล่าวว่าการเป็นพันธมิตรกับ Toyota จะช่วยจุดประกายจิตวิญญาณของการแข่งขันในทั้งสองบริษัท นำไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและผลิตรถยนต์ที่ดีกว่า

เราคงต้องติดตามว่าสองพันธมิตร Toyota และ Mazda จะพัฒนาร่วมกันจนได้นวัตกรรมยานยนต์อะไรมาให้ผู้บริโภค ทั้งนี้คนที่ดีใจต่อการเซ็นสัญญาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่สองบริษัทนี้เท่านั้น แต่ยังมีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ Donald J. Trump ที่แสดงความดีใจผ่าน tweeter ส่วนตัวว่า

“Toyota และ Mazda จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐฯ มูลค่า 1,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 53,200 ล้านบาท) ซึ่งจะสร้างงาน 4,000 ตำแหน่งให้ชาวอเมริกัน นี่ช่างเป็นการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ เสียจริง”

ดังนั้นคงไม่ต้องคิดนานแล้วว่า โครงการสร้างโรงงานของ Toyota และ Mazda จะได้รับการอนุมัติตามกรอบเวลาหรือไม่ เพราะถ้าประธานาธิบดีเห็นด้วยเสียขนาดนี้ มีหรือใครจะกล้าขวาง!?

 

ที่มา: toyotanews