นับตั้งแต่การถือกำเนิดของยานพาหนะที่เรียกว่า “รถยนต์” เมื่อราวๆ
เกือบ 130 ปีก่อน ต้องยอมรับว่า ยุคแรกๆ การเดินทางด้วยยานพาหนะ
ชนิดใหม่นี้ ถูกจำกัดไว้แต่ในกลุ่มผู้มีอันจะกิน เพราะสมัยนั้น รถยนต์
ยังมีราคาแพงมาก ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่สามารถเป็นเจ้าของได้ อยู่เพียง
กระหยิบมือ ไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน

ในยุคนั้น รถยนต์ ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงสถานภาพทางสังคมไปด้วย
และหนึ่งในกลุ่มของชนกลุ่มแรกที่ได้ครอบครองรถยนต์ คือ กษัตริย์
เจ้าผู้ครองนครแว่นแคว้น รวมทั้ง ชนชั้นสูง ซึ่งเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ
การเดินทาง จาก รถม้า มาเป็นรถยนต์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น กำลังอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง
ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ความพยายามในการสร้างสรรค์
ทางนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รถยนต์
เริ่มจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของชาวอาทิตย์อุทัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ใน
สำนักพระราชวัง ญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องการรถยนต์พระที่นั่ง สำหรับการใช้งาน
ส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ ฮิโรฮิโต

ในอดีต ราชวงศ์ญี่ปุ่น เริ่มนำรถยนต์มาใช้งานในราชสำนัก ตั้งแต่ปี 1912
มีรถยนต์ทั้ง Rolls Royce , Mercedes-Benz , Daimler, Cadillac
ถูกสั่งซื้อมาใช้งานหลายคัน แต่มีอยู่ 2 คัน ซึ่งโดดเด่นกว่ารถยนต์คันอื่นๆ
คือ Mercedes-Benz 770 ที่ถูกสั่งผลิตเป็นพิเศษ ในช่วงยุค 1930 และ
Rolls-Royce Phantom V ที่เข้าประจำการ เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1960

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นเริ่มแข็งแกร่งขึ้นแล้ว
ครั้นจะให้ไปอุดหนุนรถยนต์จากยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาเหมือนอย่างเคย
ก็จะดูเป็นการไม่เหมาะสม เพราะไม่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายใน
ประเทศตนเอง

ดังนั้น สำนักพระราชวังญี่ปุ่น จึงมีดำริ ให้มีการจัดสร้างรถยนต์พระที่นั่ง
ที่พัฒนาขึ้นในดินแดนอาทิตย์อุทัยเอง คันแรก ช่วงกลางทศวรรษที่ 1960

Prince Motor Company บริษัทรถยนต์ที่เคยสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับ
สำนักพระราชวัง มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยถวายรถยนต์ Prince Gloria ให้แด่
เจ้าชายอากิฮิโต (สมเด็จพระจักรพรรดิ์อากิฮิโต ในปัจจุบัน) เป็นของขวัญ
เนื่องในวโรกาสครบรอบพิธีเษกสมรส 1 ปี พระที่นั่ง ถูกเลือกให้เป็น
ผู้สร้างรถยนต์พระที่นั่งคันใหม่นี้

และนี่คือที่มาของ Nissan Prince Royal รถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์
คันแรก ในประวัติศาสต์ของญี่ปุ่น ที่เป็นผลงานการออกแบบและผลิตขึ้น
โดยบริษัทรถยนต์ในประเทศ เกือบทั้งคัน

Nissan Prince Royal ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Prince Motor Company
มาสมัยที่ยังไม่ถูกควบรวมกิจการเข้ากับ Nissan เพื่อถวายเป็นรถยนต์พระที่นั่ง
แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต ในขณะนั้น

โครงการพัฒนา เริ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1964 โดยทีมวิศวกรของ Prince
Motor Company นำโดย Tadashi Masuda เริ่มรับฟังความคิดเห็น และ
ความต้องการจาก สำนักพระราชวังของญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้ออกประกาศ สั่งซื้อ
รถยนต์พระที่นั่งคันใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 1965 ก่อนที่ทาง Prince จะออก
ประกาศว่า เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตรถยนต์คันนี้ เมื่อเดือนกันยายน 1965
หรือในอีก 2 เดือนต่อมา

ในที่สุด Prince Motor ก็นำรถยนต์คันนี้ออกอวดโฉม สู่สายตาสาธารณชน
ครั้งแรก ในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ถึง
8 พฤศจิกายน 1966 และใช้เวลาผลิตอีก 3 เดือน Prince Royal คันแรก
จึงถูกส่งมอบให้สำนักพระราชวังญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1967

Nissan Prince Royal มีรหัสรุ่นในระบบของ Prince คือ S390-P1 หรือ
A70 ในระบบของ Nissan ถูกสร้างขึ้นโดยใช้พื้นฐานงานด้านวิศวกรรม และ
ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ ร่วมกับ Prince Gloria รหัสรุ่น PA30

จุดเด่นอยู่ที่ประตูรถทั้ง 4 บาน เปิดออกในแบบตู้กับข้าว คล้ายกับรถยนต์
Lincoln Continental ของสหรัฐอเมริกาในยุคเดียวกัน แต่มีความสูงและ
ความกว้างของตัวรถทั้งคันที่มากกว่า จนดูคล้ายรถยนต์ Rolls-Royce จาก
สหราชอาณาจักร

Prince Royal มีตัวถังยาวถึง 6,155 มิลลิเมตร กว้าง 2,100 มิลลิเมตร สูง
1,770 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 3,880 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า
(Front Tread) 1,650 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง (Rear Tread)
1,700 มิลลิเมตร แบกน้ำหนักตัวมากถึง 3,200 กิโลกรัม และติดตั้งถังน้ำมัน
ขนาดใหญ่ถึง 100 ลิตร สวมด้วยล้อกระทะเหล็กพร้อมฝาครอบโลหะ ขนาด
15 นิ้ว พร้อมยาง Bridgestone ขนาด 8.90 – 15 สั่งทำพิเศษ

ในช่วงแรก ข้อมูลพละกำลังของ Prince Royal ไม่ได้รับการเปิดเผย
เพราะ Prince Motor อยากจะทำตามแบบอย่างของ Rolls Royce ที่
มักไม่ยอมแจ้งตัวเลขสมรรถนะของรถยนต์ ซึ่งผลิตออกมาเป็นพิเศษ แต่
เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเลขต่างๆก็เริ่มปรากฎขึ้นจากหลายแหล่งข้อมูล

รถคันนี้ ติดตั้ง เครื่องยนต์ รหัส W64 บล็อก V8 กระบอกสูบทำมุม 90
องศา ใช้ระบบขับวาล์ว แบบ OHV (Over-Head Valve) 6,373 ซีซี
เสื้อสูบและฝาสูบทำจากเหล็กหล่อ (Cast iron) กระบอกสูบ x ช่วงชัก
102 x 92 มิลลิเมตร จ่ายเชื้อเพลิงด้วย คาร์บิวเรเตอร์ ระบายความร้อน
ด้วยน้ำ กำลังสูงสุด 260 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
52 กก.-ม. ที่ 2,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลังด้วย เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ รุ่น THM400
(Super Turbine 400) จาก General Motors ด้วยเหตุผลในเรื่องความ
ทนทาน และในเวลานั้น ผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น ยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิต
เกียร์อัตโนมัติ ได้ดีพอที่จะรองรับแรงบิดจากเครื่องยนต์ V8 แบบนี้ คันเกียร์
ติดตั้งบนคอพวงมาลัย ในแบบ “เกียร์มือ”

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบลูกปืนหมุนวน Recirculating Ball Type
พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก ระบบกันสะเทือนหน้า ปีกนกคู่ Double
Wishbone พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็นแหนบ ช็อกอัพแบบไฮโดรลิก
ทั้งด้านหน้าและหลัง ระบบห้ามล้อ เป็นแบบ ดรัมเบรก 4 ล้อ ควบคุมด้วยระบบ
ไฮโดรลิก 2 วงจร พร้อม ติดตั้งลงบน Frame Chassis แบบ Box Section
Ladder type X-members

Nissan Prince Royal จัดเป็นรถยนต์ที่หาดูได้ยาก เพราะมีการผลิตออกมา
เพียงแค่ 7 – 8 คัน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยอดผลิตทั้งหมดของ Prince
Royal ก็ยังน่ากังขาอยู่ว่า มีการผลิตออกมา 7 หรือ 8 คันกันแน่?

หากจะกล่าวโดยสรุปคือ สำนักพระราชวังญี่ปุ่น ครอบครองไว้ประมาณ 4-6 คัน
(รวมทั้ง ตัวถังพิเศษ Station Wagon หลังคาทรงสูง สำหรับช้ในงานพระราช
พิธีปลงพระศพ) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ซื้อเก็บไว้ราวๆ
1-2 คัน (บางกระแสระบุว่า 1 ใน 2 คันนี้ถูกดัดแปลงตกแต่งให้เป็นรถรุ่นพิเศษ
Spacial Version) ส่วนอีก 1 คัน เก็บรักษาไว้ที่ ฝ่าย Product Planning
ของ Nissan ที่เมือง Atsugi หากคันใดเกิดต้องการซ่อมบำรุง Nissan ก็มี
อะไหล่สำรองไว้อย่างครบถ้วน

ปัจจุบัน แม้ว่า Prince Royal จะถูกปลดระวาง จากหน้าที่เดิมไปแล้วตั้งแต่
วันที่ 7 กรกฎาคม 2006 โดยมี Toyota Century Royal เข้ามารับช่วงต่อ แต่
ทางสำนักพระราชวังญี่ปุ่น ก็ยังคง นำ Prince Royal มาใช้งาน ในฐานะ
ราชพาหนะ สำหรับ รับรองราชอาคันตุกะ อันเป็นแขกส่วนพระองค์ หรือ
เป็นทางการ เมื่อมีราชวงศ์แห่งแว่นแคว้นอาณาจักรใดๆ เสด็จประพาส
หรือเยี่ยมเยือน ประเทศญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน

—————————–///—————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
20 เมษายน 2009 Update ข้อมูล 13 เมษายน 2014

Copyright (c) 2014 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
April 20th,2009 , Update : April 13th,2014