ตั้งแต่ Nissan Motor ประกาศแล้วว่า Mitsubishi Motors คือบริษัทรถยนต์รายใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม Renault-Nissan Alliance โดยฝ่าย Nissan Motor ได้ถือหุ้นส่วนธุรกิจรถยนต์ Mitsubishi ในอัตราส่วน 34% มูลค่าหุ้น 237,000 ล้านเยน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2016 นับตั้งแต่นั้นมากลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมยานยนต์ Renault-Nissan Alliance ก็มีการปรับโครงสร้างธุรกิจตลอดมาเกือบครบรอบ 1 ปีนับจากวันที่ประกาศ

ล่าสุด Renault-Nissan Alliance ก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกลุ่มพันธมิตรทางยานยนต์เป็น Renault Nissan Mitsubishi พร้อมกับเปลี่ยน Logo ใหม่ และกล้าประกาศความชัดเจนใหม่ที่จะรุกตลาดและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์

Alliance 2022 คือแผนยุทธศาสตร์ล่าสุดที่ Renault Nissan Mitsubishi ประกาศเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2017 โดยตั้งเป้าผลของการทำงานร่วมกันจนมีมูลค่าของการรวมพลังทรัพยากรบริษัทถึงปีละ 10,000 ล้านยูโร (395,000 ล้านบาท) หรือเติบโตอีก 1 เท่าตัวภายในสิ้นสุดของแผนงานประจำปี 2022

เคล็ดลับสำคัญที่ให้ก่อมูลค่าสูงสุดก็คือ Renault Nissan Mitsubishi จะเร่งการพัฒนารถยนต์บน Common Platform, ระบบส่งกำลัง ร่วมกัน และรวมไปถึงการแชร์เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า EV และเทคโนโลยีรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติเจเนเรชั่นใหม่

การรวมพลังกันก็ก่อให้เกิดการขยายตัวของบริษัทมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทางกลุ่มบริษัทจึงกล้าประกาศเป้าหมายใหม่เลยว่า Renault Nissan Mitsubishi จะสามารถขายรถยนต์ใหม่มากถึง 14 ล้านคันภายในปี 2022 สามารถสร้างรายได้มากถึง 240,000 ล้านดอลลาร์ (7,941,000 ล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดแผนงาน

เป้าหมายยอดขาย, รายได้และการรวมพลังกันเพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

ในปีนี้ Renault Nissan Mitsubishi จะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายสูงที่สุด เมื่อประเมินจากยอดขายในช่วงครึ่งปีแรก 2017 ก็พบว่ากลุ่มบริษัทสามารถทำยอดขายไปได้ถึง 5.27 ล้านคันเติบโต 7% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี 2016 และก็สามารถขายรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้แล้วมากกว่า 500,000 คัน ในระยะเวลาเดียวกันนี้

เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มบริษัทรถยนต์รายนี้คือการทำยอดขายสูงถึง 14 ล้านคันและมีผลรายได้รวมกัน 240,000 ล้านดอลลาร์ (7,941,000 ล้านบาท) เมื่อสิ้นสุดแผนงาน เติบโต 30% ของรายได้ประจำปี 2016 ที่ทำได้ 180,000 ล้านดอลลาร์ (5,955,000 ล้านบาท)

การขยายความร่วมมือในการผลิตรถยนต์ที่มี Platform และระบบส่งกำลังร่วมกัน

  • Renault Nissan Mitsubishi จะต้องผลิตรถยนต์จำนวน 9 ล้านคันที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐาน 4 Common Platform ร่วมกันภายในปี 2022 จากในปี 2016 ที่มียอดผลิตเพียงแค่ 2 ล้านคันจาก 2 Platform
  • ภายในสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ กลุ่มบริษัทจะต้องแชร์เครื่องยนต์เหลือ 22 เครื่อง จากจำนวนรวม 31 เครื่อง แตกต่างจากในจากปี 2016 ที่มีการแชร์เครื่องยนต์ร่วมกันแค่เพียง 14 เครื่องจากจำนวนรวม 38 เครื่อง
  • กลยุทธ์การแชร์ Common Platform จะยึดหลักบนพื้นฐานโครงสร้างงานสถาปัตยกรรม CMF Platform ที่มีการขยายแผนงานการแชร์ไปสู่ EV Platform ที่ติดตั้งเทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ และจะนำ B-Segment Common Platform ไปสู่การสร้างรถยนต์ขนาดกลาง (Mid-Size)

การสร้างเทคโนโลยีร่วมกัน

กลุ่มบริษัทจะต้องร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีบนโครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซ้ำซ้อน มีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมขึ้นและช่วยให้แบรนด์รถยนต์ในกลุ่มบริษัทพันธมิตรนี้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีดังต่อไปนี้

1.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV

กลุ่มบริษัทยังคงยึดมั่นที่จะรักษาความเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้า EV ของโลกในกลุ่มตลาดกระแสหลัก, ตลาดมวลชนและมีราคาที่ซื้อหากันได้ทั่วโลกเช่นเคย แต่ภายในปี 2022 กลุ่มบริษัทจะขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุก Segment ในตลาดญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, จีนและยุโรป

  • Common EV Platform สามารถยืดหยุ่นรองรับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าได้หลากหลาย Segment ภายในปี 2020 ทำนายได้ว่า 70% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายจะต้องถูกสร้างขึ้นบน EV Platform นี้
  • มอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ตระกูลใหม่จะเริ่มเปิดตัวในปี 2020
  • จะต้องมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า EV 12 รุ่นภายในปี 2022
  • รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จะต้องมีระยะทางวิ่งสูงสุดมากกว่า 600 กิโลเมตรตามมาตรฐาน NEDC
  • ต้นทุนของแบตเตอรี่จะลดลงถึง 30% ภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2016
  • แบตเตอรี่รุ่นใหม่จะรองรับการชาร์จประจุไฟฟ้าแค่เพียง 15 นาที ก็สามารถเดินทางได้ไกลถึง 230 กิโลเมตรภายในปี 2022
  • มีการปรับปรุงแพ๊คเกจแบตเตอรี่ให้เป็นแบบแผ่นเรียบ ช่วยเพิ่มเนื้อที่ห้องโดยสารและรองรับการออกแบบที่ยืดหยุ่นอิสระขึ้น
  • จะมีการนำเทคโนโลยี PHEV จาก Mitsubishi มาติดตั้งลงในรถยนต์ C/D – Segment ภายในปี 2022

2.การนำเสนอ รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติและรถยนต์ Robo

กลุ่มบริษัทจะเตรียมเปิดตัวรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติหลากหลาย Level ทั้งหมด 40 รุ่นภายในปี 2022 โดยมีโปรแกรมการทดสอบที่มีวิถีแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของแต่ละโลก และมีกรอบระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ ดังนี้

  • ในปี 2018 ระบบจะต้องขับขี่อัตโนมัติบนทางด่วน โดยต้องมีมนุษย์คอยตรวจสอบแวดล้อมขณะขับขี่
  • ในปี 2020 ระบบจะต้องขับขี่อัตโนมัติในตัวเมืองได้ โดยต้องมีมนุษย์คอยตรวจสอบแวดล้อมขณะขับขี่
  • ในปี 2020 ระบบจะต้องขับขี่อัตโนมัติในตัวเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้มนุษย์คอยระมัดระวังมากนัก
  • ในปี 2022 ระบบจะต้องขับขี่อัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์คอยตรวจจับการทำงานของระบบ

ธุรกิจรถยนต์ Robo ก็จะเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่มาแรงในเวลานี้ เพราะกระแสของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับธุรกิจ Ride-Hailing รถยนต์สาธารณะที่เรียกผ่านแอพพลิเคชั่น (โมเดลธุรกิจแบบเดียวกับ Uber อันโด่งดัง) เพราะนี่คือธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้มหาศาลในอนาคต

Renault Nissan Mitsubishi ได้ร่วมมือกับ DeNA ประเทศญี่ปุ่นและ Transdev ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมกันเปิดให้บริการรถยนต์ Robo Taxi ผ่านบริการแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน

3.การเปิดใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อและบริการเคลื่อนย้าย

ทีมด้านการเชื่อมต่อยานพาหนะและบริการด้านยานยนต์กำลังพัฒนาบริการและพันธมิตรใหม่ โดยใช้วิธีการเชื่อมต่อใหม่ที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรง เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป โดยเปิดให้บริการดังต่อไปนี้

  • ระบบการเชื่อมต่อในรถยนต์ร่วมกันและระบบ Infotainment ในรถยนต์ร่วมกัน
  • เปิดตัวการเชื่อมต่อ Cloud Platform ที่สามารถจัดการได้ทุกข้อมูล
  • ข้อมูลจาก Cloud Platform จะเป็นหน่วยข้อมูลสำคัญให้แก่ระบบขับขี่อัตโนมัติสำหรับบริการรถยนต์ Robo, บริการจัดส่งรถยนต์ด้วยตนเองและบริการรับ-ส่ง

ระบบ Cloud Computing จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทสมาชิกในกลุ่มพันธมิตร อาทิ การจัดการโลจิสติกที่ดีขึ้น และสามารถลดค่าบำรุงรักษาลงได้

ที่มา : Renault, Nissan, Mitsubishi