“เยอะ” เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หมายถึง “มาก” มีจำนวนมาก ปริมาณมาก ระยะหลังๆมานี้ คำว่า “เยอะ” ถูกคนรุ่นใหม่ๆ
นำมาใช้ ในความหมายใหม่ เพื่อบอกถึงความหมายในเชิง “เต็มไปด้วยเรื่องราว” แม้แต่ความหมายที่ว่า “เรื่องมาก”

เช่น…เพื่อนคนไหนก็ตาม แต่งตัวมาเต็มพิกัด ทั้งๆที่แค่นัดพบปะเพื่อนร่วมก๊วนกินข้าวเย็นกัน ก็อาจโดนแซวกัน
ซึ่งๆหน้าได้ว่า “แต่งตัว เยอะนะเนี่ย” หรือไปจนถึง การอธิบาย นินทาลับหลัง เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือใคร
ก็ตามที่คุณต้องประสบกับความ เรื่องมาก เรื่องเยอะ วุ่นวาย เจ้าระเบียบ หรือ มีเล่ห์กลในการวางแผนทำสิ่งใดๆ
ให้ได้ดังใจตนต้องการ เช่น “ฉันว่านะ เจ้านายเธอหนะ เยอะ ใช้ได้เลยนะเนี่ย”  หรือ “สมรศรี จะ เยอะไปไหน?”

แต่คำว่า “เยอะ” ในคราวนี้ ผมจะนำมาใช้เพื่ออธิบายบุคลิกของรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีทั้งความเหมือน และแตกต่าง
ไปจากรถยนต์ทั่วๆไป มีบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร และแอบซ่อนลูกเล่นแพรวพราวเอาไว้ ให้ใครก็ตามที่ได้สัมผัส ต่าง
รู้สึกประหลาดใจ จนถึงขั้นติดใจ ไม่ว่าจะคิดซื้อหามาเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม

วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2011 นาฬิกาบอกเวลา 11.45 น.

ผมอยู่บนถนนชิดลม คนขับ Taxi พยายามทำเวลาให้ผมไปถึง อาคาร All Season ถนนวิทยุ ได้ทันก่อนเที่ยงตรง
อันเป็นเวลาที่เหล่ามนุษย์เงินเดือน บนตึกนั้นเกือบทั้งหมด จะพร้อมใจกันแห่แหนลงมากินข้าวเที่ยง จนสภาพ
การจราจร จะยิ่งจลาจล มากกว่าที่เป็นอยู่ คุณสรณะ สิริสิงห แห่ง Lexus Group ของ Toyota Motor Thailand
กำลังรอผมอยู่ที่นั่น…ดูเหมือนว่า พี่เขาน่าจะหิวข้าวเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

ย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงเดือน มีนาคม 2011 หลังจากที่เราทำรีวิวของ Lexus CT200h ในแบบ First Impression
ชนิดนั่งอดตาหลับ ขับตานอน เขียนให้เสร็จในคืนวันที่ทดลองขับให้เสร็จตรงนั้นเลย เพื่อให้คุณๆได้อ่านกัน
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อมันถูกนำเสนอออกไป ผมก็ไม่คิดว่า จะได้กลับมาขับรถรุ่นนี้อีก เพราะหลังทริปทดลองขับ
สำหรับสื่อมวลชนผ่านพ้นไป เจ้า CT200h ทั้ง 7 – 8 คัน ถูกกระจายไปตามโชว์รูมผู้จำหน่ายต่างๆ ทั้งใน กรุงเทพฯ
หรือ ต่างจังหวัดบ้าง ไม่เช่นนั้น ก็ถูกส่งเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเนืองแน่น ชนิดที่คิวรถแทบไม่ว่างกัน
เลยทีเดียว ถ้าเป็นลูกสาว สำนวนไทย เขาเรียกว่า “ลูกสาวบ้านนี้ หัวกระไดไม่แห้ง”

ผมเลิกคาดหวังไปแล้วว่าจะได้มีโอกาสขับรถรุ่นนี้อีก จนกระทั่งบ่ายวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา พี่สรณะ ส่ง E-Mail
มาหาผม ด้วยคำถามที่ว่า สนใจจะทำรีวิว CT200h ในแบบ Full Review หรือเปล่า?

นั่นเลยเป็นเหตุที่ทำให้ พี่สรณะ ยังไม่อาจลงไปช่วงชิงจังหวะกินข้าวเที่ยง กับบรรดาผู้คนทั้งตึก All Season ได้
เพราะต้องมารอส่งมอบกุญแจ และปล่อยรถคันสีเหลือง Flare Yellow Mica Metallic ให้ผมนี่เอง!

เมื่อพี่สรณะส่งมอบกุญแจรถให้ผม และร่ำลากันเสร็จ ผมเปิดประตูเข้าไปนั่งในรถคันสีเหลือง ด้วยความรู้สึกถึง
การกลับมาทำความคุ้นเคย กันอีกครั้ง ความทรงจำที่ห่างหาย ค่อยๆคืนกลับมาหลังเวลาผ่านไปได้ ชั่วโมงเศษๆ
กับรถรุ่นนี้ ผมจำเป็นต้องใช้ความคุ้นเคย เพื่อช่วยให้ดึงเอาคุณสมบัติด้านต่างๆของรถ ออกมาเล่าให้คุณผู้อ่าน
ได้เห็นภาพกัน มันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

ใน รีวิวฉบับ First Impression ผมสรุปรายละเอียดและข้อมูลของรถคันนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดในระดับหนึ่ง
จนบางคนถามว่า เขียนเยอะขนาดนั้น แล้วจะเหลืออะไรให้เขียนต่อ ในรีวิวฉบับ Full Review กันละเนี่ย?

จริงๆแล้ว ผมยังเก็บรายละเอียด อีกหลายเรื่องของ CT200h เอามาใส่ใน Full Review ฉบับนี้อีกมากมาย
ตั้งแต่เรื่องราวการพัฒนา ไปจนถึงการทำงานของระบบ Hybrid ความแตกต่างของขุมพลัง CT200h กับ
Prius ที่สำคัญ ข้อมูลอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ยังเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า หลายๆคน คงอยากรู้
ไม่ต่างไปจากผมเท่าใดนัก

ดังนั้น รอช้าอยู่ใย เลื่อนเมาส์ลงไปอ่านกันเลยดีกว่า!

Chief Engineer ของโครงการพัฒนา รถยนต์ Premim Compact Hatchback คันนี้ คือ Osamu Sadakata ผู้ซึ่งมีประวัติไม่ธรรมดา
เขาเข้าร่วมงานกับ Toyota ในปี 1983 หลังจากสำเร็จการศึกษาด้าน Masters of vibration engineering เขาทำงานวิจัยและพัฒนา
ด้านเสียงและการสั่นสะเทือนในช่วง 10 ปีแรก ก่อนจะย้ายไปทำงาน ในศูนย์ Higashi-Fuji technical center จากนั้น เขาใช้เวลาถึง
3 ปี ในโครงการพัฒนาพื้นตัวถังสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ในปี 2002 เขาถูกเลือกให้เป็น Chief Engineer โครงการพัฒนา Lexus RX400h รถยนต์ Hybrid SUV รุ่นแรกในประวัติศาสตร์
ของแบรนด์ Lexus จากนั้น ในปี 2005 เขาถูกมอบหมายให้เป็น Chief Engineer ด้าน Hybrid Technology สำหรับรถยนต์รุ่น
หรูสุด Lexus LS600h (L) ดังนั้น CT200h ถือเป็นรถยนต์รุ่นที่ 3 ซึ่งเขาได้รับเลือกให้เป็น Chief Engineer ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะ
เห็นว่า Sadakata-san ทำแต่รถยนต์ Hybrid ในตระกูล Lexus มาโดยตลอด ดังนั้น ประสบการณ์ในรถยนต์รุ่นใหญ่ๆเหล่านั้น
จึงถูกถ่ายทอดลงใน CT200h หลายๆประการด้วยกัน ซึ่งต้องหาโอกาสลองขับเทียบกัน ทั้ง 3 รุ่น จึงจะพอจับสังเกตได้ว่า
ความพยายามในเรื่อง การลดแรงสั่นสะเทือนในระบบขับเคลื่อน คือสิ่งที่ ดูเหมือนว่า รถทั้ง 3 รุ่นนี้ ทำได้ดีไม่แพ้กัน และนั่น
ดูจะเป็นงานที่ Sadakata-san ถนัดที่สุด

Sadakata-San เล่าถึงเหตุผลที่ Toyota ตัดสินใจให้เขา สร้าง CT200h ขึ้นมา ว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ

ประการแรก ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในกลุ่ม Premium Compact Hatchback ที่มีคู่แข่งอย่าง Audi A3
ไปจนถึง Audi A-1  ,BMW 1-Series ฯลฯ นั้น แม้เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นช่วง ปลายทศวรรษ 1990 จู่ๆ ก็เกิดมียอดขาย
พุ่งสูงขึ้นจนน่าติดตามต่ออย่างใกล้ชิด Toyota เองก็อยากจะเข้าไปร่วมแย่งชิงลูกค้ากลุ่มนี้จากผู้ผลิตชาวยุโรปด้วย
เพราะถ้าสามารถชักจูงลูกค้าให้เริ่มต้นการซื้อรถยนต์ระดับ Premium แบรนด์ใดได้เป็นคันแรก โอกาสที่รถคันต่อไป
ของพวกเขา จะยังคงเป็นแบรนด์เดิม ย่อมมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะรถยนต์ในกลุ่มนี้ เปรียบเสมือนเป็นรถ
รุ่นพื้นฐาน ที่เรียกว่าเป็น Gateway Model ที่จะพาลูกค้า เปิดเข้าไปสู่ประสบการณ์ในหลายๆด้าน จากรถยนต์ที่
พวกเขาเป็นเจ้าของ และแบรนด์ที่พวกเขาเลือก

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถึงแม้ Lexus ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกามานานแล้ว แต่การขยายตัวไปสู่ตลาดยุโรป
ยังทำได้ไม่เต็มที่ นับตั้งแต่ LS400 รุ่นแรก เขาไปเปิดตลาดยุโรป เมื่อปี 1991 ที่ประเทศอังกฤษ ตามด้วยการส่ง SUV
Toyota Harrier รุ่นแรก ไปเปิดตลาดในชื่อ Lexus RX ไปจนถึงการทำ Premium Compact Sedan อย่าง Lexus IS 250
เพื่อแข่งกับ Audi A4, BMW 3-Series , Mercedes-Benz C-Class แต่ก็ยังได้ลูกค้าใหม่มาแค่ส่วนหนึ่ง

อุปสรรคสำคัญ ในการบุกตลาดยุโรป นอกเหนือจากความเชื่อมั่นในรถยนต์ยุโรปด้วยกันเอง มากกว่ารถยนต์ญี่ปุ่นแล้ว
อีกประเด็นที่น่าคิดไม่แพ้กันคือ กำแพงภาษีสำหรับรถยนต์ ขนาดเครื่องยนต์เกิน 2,000 ซีซี ของบางประเทศในยุโรป
สูงมากๆ ส่งผลให้ราคาขายปลีกของรถยนต์กลุ่มนี้ แพงมากๆ จนทำให้ลูกค้าทั้งหลายเข้าถึงรถยนต์ Premium คุณภาพดี
ได้ลำบากมาก

เมื่อนำ 2 สาเหตุนี้ มาคิดรวมกัน ก็จะได้คำตอบว่า ถ้าอยากบุกตลาดรถยนต์ Premium ให้คนยุโรปยอมรับในแบรนด์
Lexus Toyota ก็ต้องทำรถยนต์ออกมาอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นรุ่นเริ่มต้น Entry Level ที่เอาไว้ต้อนรับลูกค้าชาวยุโรป ซึ่ง
ชื่นชอบรถยนต์ Hatchback ขนาดเล็ก แต่ต้องมีคุณสมบัติด้านการขับขี่ ไม่แพ้คู่แข่งในยุโรปทั้งหมดที่เอ่ยชื่อมา

และเพื่อเป็นการสร้างจุดขายใหม่ ให้แตกต่างจากคู่แข่งทั้งหมดที่มีมา พวกเขาเลยเลือกจะให้รถยนต์รุ่นใหม่คันนี้
วางเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แต่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ Hybrid มาช่วยทั้งการสร้างอัตราเร่ง และสร้างจุดขายให้มีที่ยืน
ในตลาด นั่นน่าจะช่วยขยายการเติบโตของแบรนด์ Lexus ในยุโรปได้ดีขึ้น

Sadakata-san เลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ HYBRID 1.8 ลิตร ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นให้ใช้กับ Prius รุ่นปัจจุบัน มาใช้เป็น
ขุมพลังของ CT200h อีกรุ่นหนึ่ง เพราะนอกจากมีพิกัดเครื่องยนต์ ไม่เกินข้อกำหนด้านภาษีของบางประเทศแล้ว
ยังให้สมรรถนะที่เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งยังจะได้ชื่อว่า เป็นผู้นำในการสร้างรถยนต์ขุมพลัง HYBIRD ใน
สายตาลูกค้าชาวยุโรป เพียงแต่ว่า ต้องปรับเพิ่มการตอบสนองให้รวดเร็วทันใจ ทันเท้ากว่าใน Prius อีกนิดหน่อย
ลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลง ไปพร้อมๆกับ ลดมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากไอเสีย ลงไปกว่าเดิมให้
มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หลังผ่านขั้นตอนการออกแบบ จนได้บทสรุปว่า จะใช้รูปแบบอันเป็นผลงานของ ศูนย์ออกแบบ CALTY ของ Toyota
ในมลรัฐ California เป็นพื้นฐานในการนำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับการผลิตจริง เพื่อเป็นการ “เกริ่น” สู่การเปิดตัว
รถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด Sadakata-San จึงขอให้ทาง CALTY ทำรถยนต์ต้นแบบขึ้นมา 1 คัน ใช้ชื่อว่า Lexus LF-Ch
ออกจัดแสดงครั้งแรกในโลก ณ งาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2009 ตามติดด้วยงาน Tokyo Motor Show
ตุลาคม 2009 เพื่อบ่งบอกทิศทางของเส้นสายที่ รถรุ่นใหม่ จะปรากฎให้เห็น แน่นอนว่า LF-Ch เตี้ย และกว้าง กว่า
เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ CT พอสมควร (รถคันนี้เคยถูกส่งมาโชว์ในไทย ที่งาน Bangkok International Motor Show
เมื่อเดือนมีนาคม 2010)

ขั้นตอนที่ยากสุดสำหรับนักออกแบบรถยนต์ คือการปรับเส้นสายของรถต้นแบบ ให้สอดคล้องกับการผลิตจริง
Takeshi Tanabe ผู้ซึ่งเป็น Chief Designer ของ CT200h เล่าถึงขั้นตอนดังกล่าวว่า ขั้นตอนที่ยากสุดในการนำ
LF-Ch มาเป็น CT200h เวอร์ชันผลิตจริง คือ การรักษาเส้นสายของตัวรถให้ยังคงดูมี Dynamic พร้อมกับความ
สปอร์ต มีความล้ำสมัยแฝงอยู่ แต่ที่สำคัญ คือจะต้องดูเป็นรถยนต์ระดับ Premium และมีภาพลักษณ์ที่ต่างไป
จากรถยนต์ Hybrid รุ่นอื่นๆที่เคยมีมา ทั้งหมดนี้ จะต้องสอดคล้องกับแนวทางการออกแบบ L-Finesse  ของ
Lexus ด้วยเหตุที่ การสร้างรถต้นแบบ เกิดขึ้นเป็นคู่ขนานไปกับการสร้างรถคันขายจริง ทำให้ต้องมีการปรับ
แนวเส้นสายกันอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้แบบออกมาเป็นที่พอใจแก่ทีมงาน

เพียง 6 เดือน หลังการเผยโฉม เวอร์ชันต้นแบบ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2010 Toyoa ก็ประกาศว่าจะเปิดผ้าคลุมเวอร์ชัน
จำหน่ายจริง ในชื่อ CT200h ในงาน Geneva Motor Show เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว วันที่ 2 มีนาคม 2010 เราก็ได้เห็น
รูปโฉมคันจริงของ รถยนต์ Premium Compact Hatchback คันแรกในโลก ที่ใช้ขุมพลัง Hybrid ล้วนๆ บนเวทีในงาน
ดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในโลก และในยุโรป อันเป็นตลาดหลักของรถรุ่นนี้

CT200h ทุกคัน จะถูกผลิตขึ้นโดยโรงงาน Kokura ของบริษัท Toyota Motor Kyushu (TMK) ที่เริ่มเปิดดำเนินการมา
ตั้งแต่ปี 2008 ในฐานะ โรงงานรถยนต์แห่งแรกที่ผลิตแต่รถยนต์ Hybrid ล้วนๆ โดยไม่มีรถยนต์รุ่นอื่นมาปะปนอยู่เลย

ตลาดญี่ปุ่น CT200h เปิดตัวออกสุ่ตลาดบ้านตัวเองอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 มกราคม 2011 และถือเป็นประเทศแรก
ที่เริ่มทำตลาดจริง โดยมีรถส่งมอบให้ลูกค้าทันที กระนั้น ก็ยังมียอดสั่งเข้ามามาก จนถึง 13 กุมภาพันธ์ 2011 Lexus
ญี่ปุ่น ประกาศความสำเร็จ ด้วยยอดจองสะสมมากถึง 7,500 คัน เพียงระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น!

เวอร์ชันอเมริกาเหนือ อันเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักของรถยนต์รุ่นนี้ เปิดตัว ครั้งแรก ในงาน New York Auto Show เมื่อ
วันที่ 22 มีนาคม 2010 (จัดแสดงจริง 31 มีนาคม) และ เริ่มทำตลาดอเมริกาเหนือในเดือนมีนาคม 2011 อย่างไรก็ตาม
แม้ว่า เวอร์ชันอเมริกาเหนือ จะเปิดตัวกันไปก่อนหน้า

ส่วนในเมืองไทย กว่าที่ Toyota Motor Thailand จะเครียมการสั่งนำเข้ารถรุ่นนี้มาทำตลาดได้ ก็ต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น
นานถึง 1 ปีเต็ม หลังการเปิดผ้าคลุมที่เจนีวา จึงจะมีการจัดงานเปิดตัวในเมืองไทยครั้งแรก 1 ปีให้หลัง คือ เมื่อวันที่
22 กุมภาพันธ์ 2011 ที่โรงแรม เรเนซองส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในโลกแล้ว ไทย ถือเป็นประเทศที่ 2
ในโลก ที่ได้ทำตลาดรถรุ่นนี้ โดยมีรถส่งมอบให้ลูกค้า แทบจะในทันที แม้เพียงจำนวนไม่มากนักก็ตาม

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิ ที่ญี่ปุ่น วันที่ 11 มีนาคม 2011 ส่งผลกระทบกับแผนการเปิดตัว และ
ส่งออกรถยนต์รุ่นนี้อย่างจัง กว่าที่ Toyota จะพร้อมกลับมาเริ่มผลิต CT200h อีกครั้ง ก็ต้องรอถึงวันที่ 24 มีนาคม 2011 จึง
ทำให้ในช่วงแรก จึงยังไม่มีรถส่งมอบในทุกประเทศ รวมถึงเมืองไทย แต่ตอนนี้ สถานการณ์ทุกอย่าง กลับเข้าสู่ภาวะ
เกือบปกติ ได้แล้ว ดังนั้น ตอนนี้ จึงเริ่มมีรถส่งมอบให้ลูกค้าบ้านเราได้แล้ว ตามแผนที่วางไว้

CT200h มีขนาดตัวถังยาว 4,320 มิลลิเมตร กว้าง 1,765 มิลลิเมตร สูง 1,440 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,600 มิลลิเมตร
น้ำหนักตัวรถเปล่าอยู่ที่ 1,410 – 1,465 กิโลกรัม แต่น้ำหนักสุทธิ รวมการบรรทุกทั้งหมดแล้ว จะอยู่ที่ 1,845 กิโลกรัม

เมื่อลองนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับ Toyota Prius ที่มีความยาว 4,460 มิลลิเมตร กว้าง 1,745 มิลลิเมตร สูง 1,490
มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ ยาว 2,700 มิลลิเมตร จะพบว่า CT 200h สั้นกว่า Prius 140 มิลลิเมตร แต่ CT200h
ก็กว้างกว่า Prius 20 มิลลิเมตร เตี้ยกว่า 50 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อสั้นกว่า 100 มิลลิเมตร แต่มีน้ำหนักตัว
เปล่า หนักกว่า Prius ถึง 60 – 85 กิโลกรัม และถ้ารวมน้ำหนักบรรทุกแล้ว CT 200h จะหนักกว่า Prius (1,625
กิโลกรัม) ถึง 220 กิโลกรัม

เส้นสายภายนอกดูแปลกตาไปจากรถยนต์ท้ายตัด Hatchback ทั่วไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงกลิ่นอาย ความเป็น Toyota
และ Lexus เอาไว้ในรายละเอียดอย่างครบถ้วน ชนิดที่ว่า พอเอาไปจอดคู่กันกับ Toyota Corolla ALTIS และ Lexus
IS250 ก็ดูรู้ได้ทันทีเลยว่า เป็นรถยนต์จากบริษัทเดียวกัน!

กระจังหน้า เป็นแบบ Spindle-shaped ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจาก รูปแบบของกระแสลมที่ปะทะขณะ
รถกำลังแล่นอยู่ มีไฟหน้าแบบ LED พร้อมทั้งระบบปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ ระบบไฟ LED ส่องสว่างตอนกลางวัน
Daytime-Running Light และมีที่ฉีดน้ำล้างไฟหน้าอัตโนมัติ รวมทั้งมีสัญลักษณ์ Hybrid ที่ใต้บานประตูคู่หลัง 2 ฝั่ง

จุดเด่นของงานออกแบบใน CT200h อยู่ที่ แนวเสาหลังคาด้านหลัง บริเวณ C-Pillar ที่เรียกว่า Slingshot เสา C ทีคั่นกลาง
มีขนาดใหญ่ และหนา ส่วนแนวกระจกหน้าต่างด้านหลัง เชื่อมต่อกับกระจกฝาประโปรงหลัง ชุดไฟท้ายชวนให้นึกถึง
Lexus RX350 , RX270 และ RX450h ใหม่ล่าสุด มาในแนวทางเดียวกันเลย ไฟเบรกดวงที่ 3 ติดตั้งอยู่บนสปอยเลอร์
ด้านหลัง เหนือกระจกบังลมหลัง

การออกแบบพื้นผิวตัวรถ ให้เล่นกับกระแสลม ที่ไหลไปทางด้านหลังของรถ รวมถึงการนำวัสดุมาปิดใต้ท้องรถหลายๆชิ้น
เพื่อช่วยลดการต้านอากาศ ทำให้ CT200h ลู่ลมด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd 0.29

การเปิดประตูรถคันนี้ ใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล แบบ Smart Keyless Entry ชุดเดียวกับที่พบได้ใน IS GS และ LS
หน้าตารีโมทคอนโทรล ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากทั้ง 3 รุ่น ดังกล่าวมานั้นเลย แถมคุณลักษณะของมัน ก็ยังเหมือนกัน
อีกด้วย กล่าวคือ ถ้าแค่เพียงเดินเฉียดกรายเข้าใกล้รถ ไฟในห้องโดยสารจะสว่างขึ้นมาเอง และไฟส่องพื้นถนน ใต้
กระจกมองข้าง จะติดสว่างขึ้นมา ในยามที่หาของจุกจิกกันไม่เจอ ถ้าคุณดึงมือจับประตูเพื่อเปิดเข้าไปนั่งในรถ
และคุณตั้งสวิชต์กระจกมองข้างไว้ที่ Auto มันจะกางออกเองโดยอัตโนมัติ และพับเก็บเองโดยอัตโนมัติ เมื่อคุณ
ลงจากรถ แล้วสั่งล็อกรถ

เมื่อเปิดประตู ไม่ว่าจะฝั่งซ้าย หรือขวา คุณจะพบบรรยากาศห้องโดยสารและกลิ่นของเบาะภายในแบบ Lexus เหมือน
พี่ใหญ่รุ่นอื่นๆ ที่เราเคยสัมผัสมา กระนั้น น้ำหนักของบานประตู รวมทั้งเสียงตอนปิดประตู อาจจะฟังดูใส กังวาน และ
กลวงๆ คล้ายกับ Toyota รุ่นปกติทั่วไปคันอื่นๆ ซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่น หรือถ้าใกล้เคียงหน่อย ก็จะมีเสียงปิดประตูคล้ายกับ
พี่ใหญ่อย่าง Toyota Camry ถ้าสังเกตดีๆ บริเวณขอบล่างของบานประตู จะมียางของประตูด้านล่าง ติดตั้งมาให้ด้วย
ส่วนหนึ่ง ก็เพื่อช่วยลดเสียงรบกวนจากพื้นถนนสู่ห้องโดยสาร และเพื่อเสียงปิดประตูที่ไม่สะเทือนหู

ด้วยนิสัยที่ชอบปรับเบาะนั่งคนขับให้ต่ำลงจนอยู่ในตำแหน่งเตี้ยสุด ผมจึงใช้ประโยชน์จากพื้นที่วางแขนบนแผงประตู
ฝั่งคนขับ ได้อย่างเต็มที่ เพราะถ้านั่งในตำแหน่งผู้โดยสารฝั่งซ้าย จะพบว่า ตำแหน่งเบาะถูกติดตั้งมาตายตัว ทำให้อาจจะ
ใช้ประโยชน์จากแผงประตูซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งเตี้ยไปนิดเดียว ไม่เต็มที่ แผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง มีช่องวางของ รวมทั้งช่องใส่
ขวดน้ำมาให้ สะดวกต่อการใช้งาน

CT200h เวอร์ชันไทย จะมีโทนสีตกแต่งห้องโดยสาร ให้เลือกทั้งหมด 3 สี คือสีงาช้าง Ivory สีขาว Water White และสีดำ Black
โดยทั้ง 3 สีนั้น จะขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกสีตัวถังอะไร จากทั้งหมด 10 สี เบาะนั่งทั้งด้านหน้า และหลัง ของทุกรุ่นย่อย บุด้วยหนัง
เนื้อเนียน Smooth Perforated Leather

เมื่อคุณก้าวเข้าไปนั่งในครั้งแรก อาจรู้สึกว่าอึดอัด จากการบีบรัดในแทบทุกสัดส่วนของห้องโดยสาร แต่เมื่อใช้ชีวิตไปด้วยกัน
สักพัก คุณจะพบว่าจริงๆแล้ว มันมาในแนวกระชับ แถมด้วยความผ่อนคลายในสไตล์ Premium sport นิดๆ มากกว่าจะอึดอัด
อย่างที่คิดไว้ในตอนแรก

เบาะนั่งคู่หน้า โอบกระชับลำตัวกำลังดี พนักพิงหลัง รองรับแผ่นหลังได้ดี และช่วยให้คุณไม่เกิดความเมื่อยล้า หรือปวดหลัง
ในขณะขับรถนานๆ แต่อย่างใด เบาะรองนั่งก็ยาวจนเกือบถึงหัวเข่า สำหรับคนสูง 170 เซ็นติเมตรอย่างผมแล้ว ไม่มีปัญหา
เท่าใดนัก

พนักศีรษะ สำหรับเบาะคู่หน้า มาในลักษณะเหมือนกับใน Volvo S80 ใหม่ คือเป็นหนังนุ่มๆ ซ่อนฟองน้ำ และมีแกนกลาง
ที่ค่อนข้างแข็ง จนชวนสงสัยว่า เขาใช้ ไม้แผ่นแบบหนา มาทำเป็นแกนกลางหรือเปล่า? แต่พอใช้งานแล้ว กลับสบายศีรษะ
และ นุ่มนวลใช้ได้ เช่นเดียวกันกับพื้นที่วางขา และพื้นที่เหนือศีรษะ ซึ่งแม้ว่ารถจะดูเหมือนเล็ก แต่พื้นที่ความสบายสำหรับ
ผู้โดยสารแถวหน้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

เบาะคนขับ ปรับระดับสูง – ต่ำ เอนนอน เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลังได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ขณะที่เบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
ยังต้องเป็นแบบ อัตโนมือ คือช้มือคุณนั่นละ ดึงคันโยกเลื่อนเบาะ และปรับเอน กันเอาเอง ปรับระดับ สูง – ต่ำไม่ได้

แม้ว่าพื้นที่ห้องโดยสาร ครึ่งคันหน้า ในบริเวณผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย จะออกแบบมาได้ลงตัว กำลังดี
เหมาะกับการเดินทางด้วยกัน 2 คน แต่เนื่องจาก CT200h มีข้อจำกัดด้านการออกแบบ จัดวางพื้นที่ด้านหลัง เพราะ
ต้องเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้กับการติดตั้งแบ็ตเตอรีระบบขับเคลื่อนแบบ Nickel Metal Hydride ไว้บนพื้นตัวถัง อีกทั้งการ
กำหนดระยะฐานล้อ ให้ยาว 2,600 มิลลิเมนตร ในระดับเดียวกับ Toyota Corolla Altis รุ่นก่อนๆ ทำให้มีข้อจำกัด
ในการออกแบบ และจัดวางพื้นที่ห้องโดยสารด้านหลัง รวมทั้งพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง ไปอย่างช่วยไม่ได้

ประตูคู่หลัง เข้า – ออก ได้ยากลำบาก พอกันกับ Mazda 3 รุ่น 5 ประตู รุ่นแรกที่เพิ่งตกรุ่นไปหมาดๆ การก้าวขาขึ้น
หรือเหวี่ยงขาออกมาเพื่อเตียมลงจากรถ ยังไงๆ รองเท้าก็จะต้องถูกเหวี่ยงไปติดด้านล่างของแผงประตูอยู่ดี ยิ่งถ้า
ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากยุโรปด้วยกันแล้ว ไม่ต้องไปเทียบกับ Volkswagen Golf หรอก รายนั้น เป็นเทพใน
บรรดารถยนต์ Hatchback ทั้งหมดไปแล้ว เอาแค่เทียบกับ BMW 120i 5 ประตู ที่ผมเคยนำมาทำรีวิวนั้นก็พอ ถึง
แม้ช่องประตู จะมีขนาดไล่เลี่ยกัน แต่การเอาศีรษะ เข้าไป หรือ ออกมาจากตัวรถ ยังไงๆ 120i ก็ทำได้ดีกว่าชัดเจน
ถือว่า การเข้าออกจากเบาะหลังของ CT200h ยังทำได้ไม่ดีนัก ส่วนแผงประตู คู่หลัง ออกแบบมาให้วางแขนพอได้
ถ้าคุณมีสรีระไม่ได้สูงใหญ่อะไรนัก แต่สำหรับ สรีระคนทั่วไป มันอยู่ในตำแหน่งเตี้ยไปหน่อย เหมือนถูกสร้าง
ให้รองรับกับตำแหน่งเบาะที่เตี้ยกว่านี้มากกว่า

แล้วก็เป็นไปตามที่ผมเขียนเอาไว้ ในรีวิว First Impression พื้นที่โดยสารหลังของ CT200h นั้นค่อนข้างอึดอัด
และคับแคบ ยิ่งกว่ารถยนต์คู่แข่งในพิกัดเดียวกัน อันที่จริงแล้ว ผมว่า มันแทบไม่ต่างอะไรกับพื้นที่เบาหลังของ
Mazda 3 ตัวถัง 5 ประตู รุ่นแรก หรือ Toyota Yaris รุ่นปัจจุบัน เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่วางขา ที่มีน้อยมาก
อันเนื่องมาจาก จำเป็นต้องเผื่อพื้นที่ให้กับแบ็ตเตอรี ซึ่งนั่นทำให้ต้องขยับชุดเบาะหลังเข้ามาใกล้กับเบาะหน้า
มากขึ้น

พนักพิงหลังของชุดเบาะ จะออกแบบมาได้ดี นั่งสบายตามสมควร ส่วนพนักศีรษะนั้น ถ้าไม่ยกขึ้นใช้งาน ก็ยัง
คงดันศีรษะอยู่นิดหน่อย เบาะรองนั่ง ยังถือว่าสั้นอยู่ แต่พอรองรับการใช้งานได้ในการเดินทางระยะไม่ไกลนัก
แต่เสียดายว่า ในรถคันที่เรานำมาทดลองขับ ไม่มีที่วางแขนแบบพับเก็บได้มาให้

ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะนั้น มีน้อย จากเหตุผลของการออกแบบให้แนวหลังคา โค้ง และลาดลงไล่ไปทางด้านหลัง
ของตัวรถ พอลงไปนั่งจริงๆแล้ว ศีรษะผมจะเฉี่ยวๆ กับเพดานหลังคาอยู่เหมือนกัน

ด้านความปลอดภัย มีการติดตั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ ทั้ง 2 ฝั่งของเบาะหลัง ส่วน
เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง เป็นแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง

เบาะนั่งด้านหลัง สามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระ ด้านหลัง แต่ด้วยเหตุที่ แบ็ตเตอรี
Nickel Metal Hydride NiMh ติดตั้งอยู่ด้านหลัง ของเบาะหลัง วางเอาไว้บนระบบกันสะเทือนหลัง ทำให้พื้นห้องเก็บสัมภาระ
จึงต้องสูงเกินกว่าที่เคยพบมาในรถยนต์ประเภทคล้ายคลึงกันทั่วๆไป คันอื่นๆ

ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เปิด-ปิดได้ ด้วยกลอนไฟฟ้า มีช็อกอัพไฮโดรลิก ค้ำไว้ 2 ต้น ทั้งฝั่งซ้าย และขวา ทางเข้า
ดูเหมือนจะเล็ก และคับแคบ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้เล็กมากอย่างที่คิด แน่ละว่า คุณสามารถยกโทรทัศน์ LCD LED ใส่เข้าไปได้
(โดยอาจต้องพับเบาะหลังลงสัก 1 ตำแหน่ง) แต่ถ้าคิดจะแบกจักรยานเมาเทนไบค์ไปด้วย ก็คงน่าจะทำได้แค่ คันเดียว ในแนวตั้ง
และอาจจะถึง 2 คัน ถ้าวางซ้อนกัน (ซึ่งจักรยานก็อาจเสียหายได้ระหว่างการเดินทาง)

ห้องเก็บของมีขนาดใหญ่พอประมาณ สามารถใส่ถุงกอล์ฟขนาด 9.5 นิ้ว 1 ถุงได้สบายๆ (หรือจะซ้อนกัน 2 ถุง ก็ได้อีก!)
เห็นพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังแล้ว ผู้โดยสารด้านหลัง คงบ่นน้อยใจแน่ๆ ว่าทำไม จัดสรรพื้นที่ให้ฉันนั่งแค่นิดหน่อย
แต่ทำพื้นที่ใส่ของให้เยอะกว่าชัดเจน จะว่าไปแล้ว หาดพินิจให้ดี จะพบว่า มันสามารถใส่ของได้เยอะกว่า BMW 120i หรือ
Audi A3 ใหม่ (นับรวมถึง S3 MTM ที่เราลองขับกันไปเมื่อปลายปีที่แล้ว)เสียด้วยซ้ำ แถมยังมี แผงม่านบังสัมภาระด้านหลัง
มาให้จากโรงงานอีกด้วย

เมื่อเปิดยกพื้นห้องเก็บของด้านหลังออก คุณจะพบ กล่อง โฟม Recycle สำหรับใส่ของจุกจิก ซ่อนข้าวของต่างๆ แม้แต่
จะใส่ อาหารสดเพื่อป้องกันกลิ่นเน่าเหม็นจะรบกวนบรรยากาศภายในรถ ก็ย่อมได้ ขออย่างเดียว อย่าลืมเอาลงจากรถ
เมื่อกลับถึงบ้านด้วยก็พอ มิเช่นนั้น…คงไม่ต้องจินตนาการต่อนะครับว่า กลิ่นจะออกมาเป็นอย่างไร..หึหึหึ

และเมื่อยกถาดโฟมออก (อย่างง่ายดาย เพราะเบามากๆ ถือมือเดียวได้เลย) จะพบยางอะไหล่ พร้อมชุดเครื่องมือประจำรถ
ติดตั้งอยู่ในอ่างของมันพร้อมตัวล็อกยึดยางอะไหล่ จะเห็นว่า เหนือขึ้นไปนิดเดียว มีแบ็ตเตอรี Nickel Metal Hydride
อันทำหน้าที่สำหรับระบบขับเคลื่อน วางอยู่ใกล้ๆกัน และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ พื้นห้องเก็บของ ใน CT200h ไม่สามารถ
ออกแบบให้ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นรถได้มากกว่าที่เป็นอยู่

เบาะนั่งเฉพาะฝั่งคนขับ จะมีระบบสวิชต์ปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง แถมมีระบบสวิชต์ไฟฟ้า ดันหลัง มาให้อีกด้วย
ตำแหน่งการวางแขนบนฝาปิดกล่องคอนโซลกลาง ทำได้ดี วางแขนได้ สบายๆ อีกทั้งยังมีระบบหน่วยความจำ ตั้งตำแหน่ง
เบาะและกระจกมองข้าง รวม 3 ตำแหน่ง มาให้ที่แผงประตูั่งคนขับอีกด้วย น่าเสียดายว่า สวิชต์ Memory จำตำแหน่งนั่งขับ
ติดตั้งมาในจุดที่แม้จะมองเห็นและใช้งานได้ง่าย แต่มันไม่กลมกลืนเข้าพวกกับสวิชต์ต่างๆที่มีอยู่ในละแวกเดียวกันนั้นเลย

สิ่งที่ทีมออกแบบของ Toyota / Lexus มองเห็นในระยะหลังๆมานี้ เกี่ยวกับการออกแบบภายในห้องโดยสารก็คือ
ทำอย่างไร ที่จะให้การจัดวางอุปกรณ์ และแสดงผลข้อมูล เป็นประโยชน์ต่อผู้ขับขี่ และสะดวกต่อการเรียกใช้งาน
มากที่สุด จึงได้แบ่งโซน แสดงข้อมูล เอาไว้ครึ่งบน กับโซนควบคุม ไว้ให้ใกล้ตัวผู้ขับมากที่สุด

แผงหน้าปัด มีหน้าตาละม้ายคล้ายให้ชวนนึกถึงการ แผงหน้าปัดของ BMW 1-Series กันอยู่ไม่น้อย แต่ทีม Lexus
ออกแบบมาได้เอาใจคนชอบขับรถมากกว่า และทำออกมาได้ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์มากกว่า ผมมองว่า นี่คือ
ตัวอย่างในการออกแบบแผงหน้าปัดที่ มีการจัดวางอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ ลงตัว สะดวกต่อการใช้งาน ดูเหมือนมีปุ่ม
ให้เล่นเยอะ ทั้งที่พอดูกันอีกที ก็มีเท่าที่จำเป็นต้องมี ที่สำคัญ การแสดงผลข้อมูล ชัดเจน และลดการละสายตาของ
ผู้ขับขี่จากถนนเบื้องหน้าได้ดี ชุดมาตรวัดเป็นแบบ Optitron เหมือน Lexus ทุกรุ่นในคอนนี้

มองกันขึ้นไปที่หลังคา วัสดุบุเพดานเป็นแบบอ่อนนุ่ม แผงบังแดดทั้ง 2 ฝั่ง มีกระจกแต่งหน้า พร้อมฝาเลื่อน
เปิด – ปิด และไฟแต่งหน้า มาให้ ไฟในห้องโดยสาร มี 2 ตำแหน่ง คือ กลางเพดาน และไฟอ่านแผนที่ 2 ฝั่ง
มีกล่องใส่แว่นกันแดด และกระจกมองหลังแบบตัดแสงได้อัตโนมัติ อีกทั้งยังมี ไฟ Ambient Light สีน้ำเงิน
อยู่กึ่งกลางระหว่าง ไฟอ่านแผนที่ 2 ฝั่ง ส่องลงมายัง ช่องวางแก้ว ในยามค่ำคืน จะได้บรรยากาศละมุน Cozy
ไปอีกแบบหนึ่ง ส่วนเบรกมือ เป็นแบบแป้นเหยียบ ฝั่งซ้ายแป้นเบรก เหมือนรถยนต์ยุคใหม่ทั่วไป

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน หุ้มหนังสังเคราะห์ จับกระชับมือ หนังมีพื้นผิวละเมียดละไม แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่มีเหงื่อออก
ที่มือบ่อยๆ เพราะหนังหุ้มพวงมาลัย อาจเสื่อมสภาพได้เร็วในไม่กี่ปีที่ใช้งาน มาพร้อมสวิชต์ควบคุมชุดเครื่องเสียง กับระบบ
โทรศัพท์ เชื่อมสัญญาณกับ Bluetooth และมีก้านสวิชต์ระบบควบคุมความเร็วคงที่อัตโนมัติ Cruise Control ติดตั้งให้ครบทุกรุ่น

มองไปทางด้านขวามือของผู้ขับขี่ ไล่ตั้งแต่แผงประตูเข้ามา สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า เป็นแบบ All Auto One Touch ครบ
ทั้ง  4 บาน กดลงเพื่อนเลื่อนกระจกลง และเกี่ยวดึงขึ้นจนสุด เพื่อดึงหน้าต่างขึ้น เพียงครั้งเดียว มีสวิชต์ปรับกระจกมองข้าง
แบบไฟฟ้า แยกจากสวิชต์พับกระจกมองข้าง ซึ่งเลือกพับได้ทั้งแบบ กดปุ่มสั่งให้พับเอง หรือ ปรับไปยังโหมด Auto ให้ตัว
กระจกมองข้างพับอัตโนมัติ เมื่อสั่งล็อกประตูรถ ใกล้ๆกัน มีสวิชต์ปรับความสว่างของแผงหน้าปัด และจอมอนิเตอร์ EMV
แบบพับเก็บได้ และ ปรับระดับ Tilt ได้ 4 ตำแหน่ง สั่งการผ่านอุปกรณ์หน้าตาคล้าย Mouse คอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Remote
Touch ติดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายมือของผู้ขับขี่

การใช้งาน Remote Touch นั้น ไม่ยากเลย ก็คล้ายกับการใช้ Mouse นั่นละครับ ถ้าต้องการเลือกใช้งานอุปกรณ์หรือคำสั่งใด
เอานิ้วชี้และกลาง 2 นิ้ว เลื่อนไปบนแป้นลอยตัว สี่เหลี่ยมด้านบน ด้วยการออกแบบอันชาญฉลาด ทำให้ แป้นดังกล่าว สามารถ
ล็อกตำแหน่งเมนูปุ่มบนหน้าจอได้โดยอัตโนมัติ โดยที่คุณไม่ต้องเลื่อนขยับลูกศรให้ตรงตำแหน่งด้วยตัวเอง ไม่ว่าหน้าจอจะ
เปลี่ยนเมนูไปแล้วเป็นแบบใดก็ตาม ถ้าต้องการยืนยันเมนู หรือสั่งการทำงาน ให้เอานิ้วโป้ง กดปุ่ม Enter ด้านข้างชุด Mouse
หรือสั่งให้เปลี่ยน Display บนหน้าจอได้ ด้วยการกดปุ่ม DISP ขนาดเล็ก ที่ติดตั้งอยู่ถัดไป

 

คันเกียร์ แบบเดิมๆที่คุ้นตา หายไป แทนที่ด้วย สวิชต์สำหรับกระดิกนิ้ว มาในแนวเดียวกัน กับ Toyota Prius (แต่หน้าตาดูไฮโซ
กว่ากันเล็กน้อย เหมือนหัวไม้กอล์ฟย่อส่วน) แถมตำแหน่งเกียร์ ยังเหมือนกันกับ Prius และ Camry HYBRID ถัดลงมา แถวๆ
กลางแผงคอนโซล จะมี สวิชต์ กลมๆ ขนาดใหญ่ นั่นคือ สวิชต์หมุนเลือกโหมดการขับขี่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 4 Mode คือ
Normal Mode กดปุ่มลงไป ECO mode เน้นขับประหยัด หมุนไปทางซ้าย Sport Mode เน้นการตอบสนองที่ไวขึ้นของคันเร่ง
และพวงมาลัยนิดหน่อย ให้หมุนไปทางขวา และถ้าต้องการขับขี่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียว ตอนคลานเข้าหมู่บ้าน ให้กดปุ่ม
EV Mode ที่อยู่ติดกัน

ถ้าคุณเลือกหมุนไปทางฝั่งซ้าย Normal Mode หรือ EV Mode ชุดมาตรวัด จะแสดงผลตามปกติ ด้านบนจะเรืองแสงเป็นสีฟ้า
เข็มมาตรวัดฝั่งซ้ายจะทำหน้าที่ แจ้งสภาพการทำงานของระบบ Hybrid ในการขับขี่ปกติ เข็มมาตรวัดควรจะอยู่ในแถบ ECO
เพื่อความประหยัดน้ำมัน ถ้าเร่งแซงเต็มที่ เข็มจะถูกกวาดยกขึ้นไปอยู่ในแถบ Power และถ้าเหยียบเบรก หรือชะลอความเร็ว
เข็มควรจะหล่นลงมาอยู่ในแถบ Charge หรือให้ระบบฯ ชาร์จไฟกลับเข้าไปเก็บในแบ็ตเตอรี Nickel Metal Hydride นั่นเอง

แต่ถ้าคุณ หมุนมาทางขวาที่โหมด Sport แถบสีฟ้าด้านบนชุดมาตรวัดจะเปลี่ยนมาเป็นสีแดง พร้อมกับมาตรวัดฝั่งซ้าย จะเปลี่ยน
กลายมาเป็นมาตรวัดรอบในทันที! เป็นลูกเล่นที่เข้าท่า จนอยากจะถามว่า เขาคิดได้ยังไง? ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไม
รถยนต์ Hybrid ของ Toyota ถึงไม่ทำมาตรวัดรอบเครื่องยนต์มาเสียที ทั้งที่จริงๆแล้ว มันไม่มีอะไรยากเย็นเลย วันนี้ พวกเขา
ได้พิสูจน์แล้วครับว่า ถ้าจะทำจริงๆหนะ ก็ทำได้! ดังนั้น ไหนๆ ก็ไหน ช่วยใส่มาตรวัดอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้เสียทีสิครับ!

ถ้าสงสัยว่า โหมด การขับขี่ทั้ง 4 แบบนั้น มีประโยชน์อย่างไร ผมจะอธิบายเอาไว้ในส่วนของ “รายละเอยดทางวิศวกรรม
และการทดลองขับ ใน Session ข้างล่าง ครับ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรวัด Multi Information Display ที่มุมขวาล่างของชุดมาตรวัด ทำหน้าที่เป็นทั้ง มาตรวัดแจ้งสถานะการ
ทำงานของระบบขับเคลื่อน Hybrid แบบ Real-time อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทั้งแบบ Reat-Time และแบบเฉลี่ยตลอดทริป
ระยะทางที่น้ำมันในถังเหลือพอให้แล่นต่อไปได้ (Cruising Range) ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ตั้งแต่กดปุ่ม Power กับ
ความเร็วเฉลี่ย สัญญาณแจ้งเตือนตำแหน่งผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และเป็นหน้าจอ เมนู สำหรับเข้าไปปรับตั้งค่า
การทำงานของระบบต่างๆ เช่น ไฟหน้า ฯลฯ

ตำแหน่งสวิชต์ไฟฉุกเฉิน มองเห็นง่าย และรีบเอื้อมมือกดปุ่มใช้งานได้ง่ายมาก เป็นตำแหน่งปกติ ที่รถทั่วไป เขาควร
จะติดตั้งกันไว้ตรงกลางระหว่างช่องแอร์คู่กลาง ถัดลงมา เป็นสวิชต์เครื่องปรับอากาศ โดยทุกรุ่นย่อย เป็นแบบ อัตโนมัติ
แยกฝั่ง ซ้าย – ขวา เย็นเร็วทันใจ ตามประสาแอร์จาก DENSO เหมือน Toyota และ Lexus ทุกรุ่น

ชุดเครื่องเสียงแบบ Lexus Premium Sound 6 ลำโพง ยกเว้นรุ่นท็อป Premium NAVI คันนี้ ที่จะมีมาให้มากถึง 10 ลำโพง
วิทยุแบบ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD แบบมี CD-Changer 6 แผ่นในตัว มีช่องเสียบ USB มาให้ ต้องกดเปิดฝาด้านข้าง
Touch Pad ฝั่งซ้ายมือขึ้น จึงจะเห็น คุณภาพเสียงเท่าที่ฟังกัน ถือว่ายังคงเสียงดีสมกับเป็น Lexus เหมือนเคย เพียงแต่
ถ้าสามารถ อัพเกรดได้อีกนิด ก็จะยิ่งดีขึ้นไปกว่านี้อีก

การจัดวางสวิชต์นั้น ทำได้ดีมากๆ กล่าวคือ ดูเหมือนมีปุ่มเยอะ ทั้งที่จริงๆแล้ว มีไม่มากนัก ปุ่มมีขนาดใหญ่ พราวและ
เรืองแสงสีเขียวนวลตาดีในยามค่ำคืน สะดวกต่อการคลำหาใช้งาน เพื่อลดการละสายตาจากถนน และการจัดวางแยกส่วน
การใช้งานตามความจำเป็น ทำได้ดี เป็นระเบียบมาก

ในรถคันที่เรานำมาทดลองขับนั้น เป็นรุ่น NAVI หมายความว่า มีการติดตั้ง ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS ที่เรียกกันว่า
Lexus Navigation System มาให้จากโรงงานในญี่ปุ่น (แต่ต้องใช้ข้อมูลแผนที่จากแผ่น DVD ซอฟต์แวร์จากเมืองไทย)
ทำงานโดยแสดงแผนที่และ บอกเส้นทางด้วยระบบเสียง อีกทั้งยังสามารถค้นหาเส้นทาง แถมยัง ซูมตำแหน่งของสถานที่
ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แสดงผลได้ทั้งแบบ 2 มิติ (มองแผนที่จากด้านบน) หรือแบบ 3 มิติ (มองแผนที่ในแนว Bird Eye View)
อย่างในภาพนี้

ถึงแม้ข้อมูลแผนที่จะเป็นเวอร์ชันใหม่แล้ว คือปี 2010 – 2011 แต่ ร้านอาหารบางร้านในละแวกบ้านข้าพเจ้า ก็ตกสำรวจไป
แถมบางร้าน ปิดกิจการไปแล้ว ก็ยังมีข้อมูลหลงเหลืออยู่ไว้ในระบบอีกเหมือนกัน ดังนั้น อย่าเชื่อระบบไปเสียทั้งหมด
เดี๋ยวจะเป็นเหตุอย่างผู้การแพน Commander CHENG! ของเรา กับระบบนำทางในรถของเขา (ไม่ใช่ CT คันนี้) ที่ต้อง
เหยียบมิดทะลุเหล็กรถ ไปอีก 75 กิโลเมตร จากจุดหมายปั้มน้ำมันเดิม ไปยังปั้มน้ำมันอีกแห่งข้างหน้า เพื่อจะกระโจน
เข้าห้องน้ำให้ทันเวลาข้าศึกบุก เพียงเพราะว่า ระบบไม่ได้อัพเดทข้อมูลว่า ปั้มแห่งแรกนั้น ปิดไปแล้ว!

ที่สำคัญ Lexus CT200h ถือเป็นรถยนต์รุ่นแรก และยี่ห้อแรกในประเทศไทย ทื่สามารถแสดงสภาพการจราจรในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑล กับทางศนย์ช้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ได้สดๆ แบบ Real-Time นั่นหมายความว่า ถ้าต้องการ
จะเดินทางออกจากบ้าน คุณสามารถเช็คสภาพเส้นทางในวินาทีนั้น ได้สดๆ ทันที จากระบบนำทางในตัวรถกันเลย!

มันเก๋กู๊ดก็ตรงนี้แหละ!

การเลือกฟังก์ชัน ไม่ยากเลยครับ จากหน้าเมนูหลักของระบบนำทาง เลื่อน Touch pad ให้ลูกศรชี้ไปที่ Traffic Info แล้วก็เลือก
ชื่อถนนที่เราต้องการ ในถนนเดียวกันนั้น เมื่อเข้าเมนูย่อย อาจจะเลือกตำแหน่งของถนน เช่น จากแยกมไหสวรรค์ ถึงตากสิน
หรือจาก แยกตากสิน ถึงวงเวียนใหญ่ นั่นละครับ จะมี Sub Menu ย่อย ก็เลือกดูข้อมูลกันไป แสดงผลเป็นภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างเช่น ในหน้าจอนี้ ถนนบางนา-ตราด รถคล่องตัว คุณสามารถเรียกดูแผนที่เส้นทางได้สดๆ ถ้ารถหนาแน่น ถนนจะขึ้น
รูปสีเหลือง และถ้ารถติดมาก เส้นถนนจะขึ้นสีชมพูเข้มๆ ช่วยลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในการเดินทางได้อีกวิธีหนึ่ง

แผงคอนโซลที่กั้นกลางระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร มีช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง ที่ออกแบบให้สามารถวางขวดน้ำดื่มพร้อมกัน
2 ขวด และใส่กระป๋องน้ำอัดลม แทรกกลางได้ 1 กระป๋อง ส่วนที่วางแขน เมื่อเปิดฝายกขึ้นมา จะพบกล่องคอนโซลขนาด
ใหญ่โต จุกล่อง CD ได้เยอะมาก แถมยังมีถาดใส่เหรียญบุด้วยกำมะหยี่ ถอกดออกได้ ติดมาให้อีกด้วย

กล่องเก็บของบริเวณแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านบน มีช่องสำหรับใส่เอกสาร และคู่มือประจำรถ
ส่วนด้านล่าง เอาไว้ใส่ข้าวของจกจิกทั่วไป ขนาดใหญ่พอประมาณ ไม่ใหญ่มาก และดูเหมือนว่า จะมีการแถม
สีตัวอย่างกระป๋อง Touch up paint มาให้อีกต่างหาก! หาได้ยากแล้วในรถยนต์ยุคปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี
บริษัทไหนเขาแถมให้ลูกค้ากันอย่างสมัยก่อนอีกแล้ว

ทัศนวิสัยจากตำแหน่งคนขับ มองไปทางด้านหน้ารถ เมื่อปรับตำแหน่งเบาะนั่งคนขับจนต่ำสุดแล้ว
แม้ว่าพื้นที่การมองเห็นจะถูกบีบจากความสูงจากขอบด้านบน และด้านล่าง ของกระจกบังลมหน้า
ในสไตล์เดียวกับรถยนต์จำพวก Premium Compact จากยุโรปคันอื่นๆ ทั่วๆไป แต่ก็ยังมองเห็นรถ
คันข้างหน้าอยู่ สบายๆ สิ่งที่น่าชมเชยก็คือ ตำแหน่งของจอมอนิเตอร์ แบบพับเก็บได้ วางไว้อยู่ใน
ตำแหน่งที่ถูกต้อง เพราะอยู่สูงกว่าชุดมาตรวัดเล็กน้อย และลดการละสายตาของผู้ขับขี่จากพื้นถนน
น้อยลงได้

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillat ฝั่งขวา มีขนาดปานกลาง ดูหนา แม้จะไม่ได้บดบังการมองเห็นด้านข้าง
มากนัก แต่ในการเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกันสองเลน ก็พอจะพบการบดบังรถคันที่แล่นสวนมา
อยู่บ้างเล็กน้อย ส่วนกระจกมองข้างมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ
รถยนต์ในระดับนี้ทั่วไป แต่การออกแบบให้มุมทั้ง 4 โค้งมน ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงจิตวิทยาที่ทำให้
เข้าใจไปเองว่า กระจกมองข้าง ดูเล็ก ทั้งที่จริงๆแล้ว ก็มองเห็นรถคันที่แล่นมาจากทางด้านหลังฝั่ง
ขวา ได้ครบถ้วน

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ดูหนาพอสมควรเลยทีเดียว อาจมีช่วงจังหวะ ที่บดบัง บางส่วนของ
รถที่แล่นสวนเลนมา ขณะเลี้ยวกลับรถ ในบางลักษณะถนน อยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักหนาเท่า Camry รุ่น
ปัจจุบัน  ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็แอบมีมุมหักเหแบบรถยุโรป ที่ปลายด้านนอกของตัวกระจก
มองข้างมาให้ นอกจากนี้ กระจกมองข้าง ยังเป็นแบบลดแสงสะท้อนอัตโนมัติ แบบเดียวกับรถยุโรป
แบรนด์คู่แข่ง มาให้อีกด้วย

ส่วนทัศนวิสัยด้านหลัง ถือเป็นข้อเสียของ CT200h เพราะเมื่อคุณ นั่งในตำแหน่งคนขับ แล้วหันหลัง
กลับมามอง คุณจะพบว่า พื้นที่กระจกหูช้าง โอเปร่า บนหน้าต่างประตู ถูกบดบังด้วยก้อนพลาสติกแบบ
สามเหลี่ยม มาแปะเอาไว้ ด้วยเหตุผล ให้มันสอดรับกับแนวเส้นตัวถังด้านนอก ซึ่งแทนที่จะเพิ่มความ
โปร่งสบายกว่านี้ให้ผู้ขับขี่ แต่กลับไม่มีประโยชน์ที่จะใส่เข้ามาให้มันเปลืองต้นทุนไปดื้อๆเอาเสียเลย
ซ้ำร้าย กระจกหน้าต่างบานสุดท้าย บริเวณเสาหลังคา C และ D-Pillar ที่เชื่อมต่อกับบานประตูห้องเก็บ
สัมภาระ ก็โดนบดบังโดยพนักศีรษะเบาะหลัง ไปง่ายๆ ดื้อๆ

ดังนั้น การถอยหลังเข้าจอด อยากจะขอแนะนำว่า ให้พึ่งพา กระจกมองข้าง กระจกมองหลัง และกล้อง
CCD ขนาดเล็ก ที่ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง สำหรับช่วยกะระยะขณะถอยหลังเข้าจอด แสดงภาพ
ผ่านจอมอนิเตอร์ EMV เอาไว้เป็นดีที่สุด อย่าได้พึ่งพา กระจกหน้าต่างด้านหลังเลย

********** รายละเอียดด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

สิ่งที่ทำให้ CT200h แตกต่างไปจากรถยนต์รุ่นอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ก็คือ การวางรูปแบบพื้นฐานให้เป็นรถยนต์นั่ง
Premium Compact Hatchback แบบแรกในโลก ที่ติดตั้งขุมพลังระบบ HYBRID เพราะถ้าไม่เลือกเดินมาในแนวทางนี้
Lexus ก็คงจะทำรถยนต์ขนาดเล็กคันแรกของแบรนด์ ออกมาไม่ต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ มากนัก และวิธีการที่จะช่วย
ไม่ให้ต้นทุนในการผลิตสูงเกินไป พวกเขา จึงมองหาทรัพยากรใกล้ตัว จนพบว่า อันที่จริง ขุมพลังของ Prius ใหม่
ก็น่าสนใจไม่น้อย ถ้าจะนำมาวางในรถรุ่นใหม่ของพวกเขา โดยอาจต้องมีการปรับปรุงต่อยอดกันอีกเพียงนิดหน่อย

ขุมพลังพื้นฐาน เป็นเครื่องยนต์ รหัส 2ZR-FXE เบนซิน บล็อก 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว 1,798 ซีซี จุดระเบิดแบบ
Atkinson Cycle กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.5 x 88.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 13.0 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด
อีเลคทรอนิค (EFI) และระบบปรับองศาวาล์วแปรผัน VVT-i (Variable Valve Timing-intelligent) เฉพาะหัวแคมชาฟต์
ฝั่งไอดี พละกำลังสูงสุด 98 แรงม้า (PS) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร หรือ 14.46 กก.-ม.ที่รอบตั้งแต่
2,800 ถึง 4,400 รอบ/นาที

อ่านสเป็กแล้ว ถ้าคุณช่างสังเกตสักหน่อย จะพบว่า มันก็คือเครื่องยนต์เดียวกันกับใน Prius ใหม่ นั่นละครับ! รู้อย่างนี้
คุณอาจจะคิดว่า อ้าว! แล้วมันจะแตกต่างจาก Prius ตรงไหนละเนี่ย ประเด็นนี้ วิศวกร ระบุว่า ขุมพลัง 2ZR-FXE ใน
เวอร์ชันของ CT200h จะถูกปรับจูนกล่องสมองกล ECU ให้แรงบิดสูงสุด มาถึงในรอบที่ต่อเนื่อง ในลักษณะ Flat Torque
(ลักษณะเหมือน การมีให้ใช้อย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างคงที่แบบเดียวกับแรงบิดที่พบได้ในเครื่องยนต์ของ Hilux Vigo
และ Fortuner นั่นละครับ) การตอบสนองจะทำได้กระฉับกระเฉงกว่า Prius นิดนึง

เครื่องยนต์ 2AZ-FXE เชื่อมต่อกับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า HYBRID E-CVT อันประกอบไปด้วย มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ
แบบแม่เหล็กถาวรหรือ Premanant Magnet Type รุ่น 3JM ขนาด 650V กำลังสูงสุด 60 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 207 นิวตันเมตร
ซึ่งจะแยกออกเป็น 2 หน้าที่ คือ MG1 ทำหน้าที่เป็นทั้งมอเตอร์ระบบขับเคลื่อน รับกำลังไฟฟ้าจากแบ็ตเตอรี ไปหมุนล้อคู่หน้า
ส่วน MG2 จะทำหน้าที่เสมือนเครื่องกำเนิดพลังงาน ส่งไฟฟ้ากลับไปยังแบ็ตเตอรี ในขณะที่คุณชะลอความเร็ว หรือเหยียบ
เบรกให้รถไหลจนหยุด

เชื่อมต่อกับมอเตอร์ไฟฟ้า กระแสสลับ แบบแม่เหล็กถาวรหรือ Premanant Magnet Type รุ่น 3JM ขนาด 650V กำลังสูงสุด
60 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 207 นิวตันเมตร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งมอเตอร์ระบบขับเคลื่อน รับกำลังไฟฟ้าจากแบ็ตเตอรี ไป
หมุนล้อคู่หน้า และจะทำหน้าที่เสมือนเครื่องกำเนิดพลังงาน ส่งไฟฟ้ากลับไปยังแบ็ตเตอรี ในขณะที่คุณชะลอความเร็ว หรือ
เหยียบเบรกให้รถไหลจนหยุด พร้อมกันนี้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ จึงต้องมีการติดตั้งระบบ Power Spilt Device หรือ
Power Control Unit ในการควบคุมมอเตอร์ระบบขับเคลื่อน เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ไปด้วยในตัว

ส่วนอัตราทดเฟืองท้าย อยู่ที่ 3.267 : 1

โดยมีแบ็ตเตอรี Nickel Metal Hydride (Ni-Mh) ต่อเชื่อมแบบอนุกรม ขนาด 168 เซลส์ (201.6 Volt) ความจุ 6.5 แอมแปร์
ต่อชั่วโมง (3 ชั่วโมง) ควบคุมด้วย ซอฟต์แวร์อัจฉริยะ ช่วยทหน้าที่จัดการส่งจ่าย หรือรับกลับพลังงานไฟฟ้า ให้เหมาะสม
ขณะขับขี่ ผลิตจากโรงงาน Prime Earth EV อันเป็นโรงงานผลิตแบ็ตเตอรี สำหรับรถยนต์ Hybrid ที่ Toyota กับ ยักษ์ใหญ่
เครื่องไฟฟ้าของญี่ปุ่น อย่าง Matsushita Electrics (Panasonic นั่นเอง) ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา แบ็ตเตอรีของ CT200h จะถูก
ผลิตขึ้น ณ โรงงานในจังหวัด Shizuoka ทางตอนใต้ของกรุง Tokyo ใกล้เมือง Nagoya (คนละแห่งกับโรงงาน Miyagi ที่
อยู่ใกล้ความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อ 11 มีนาคม 2011)

นอกจากนี้ ยังมีแบ็ตเตอรีเสริม ขนาด 12 Volt DC อีก 1 ลูก ติดตั้งไว้ ด้านหลังรถ แบบเดียวกันกับทั้ง Camry Hybrid
และ Prius เพื่อช่วยในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้กับอุปกรณ์อำรนวยความสะดวกสบายไฟฟ้าต่างๆในรถ เมื่อรวมการทำงาน
เข้าด้วยกันแล้ว CT200h จะมีพละกำลังรวม คำนวนทั้งระบบ อยู่ที่ 134 แรงม้า (HP) หรือ 136 แรงม้า (PS)

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Exhaust Heat Recovery System ติดตั้งคั่นกลางระหว่าง เครื่องยนต์ และชุดฟอกไอเสีย (อันที่จริงควร
เรียกว่า เผา เลยมากกว่า) Catalytic Converter หน้าที่ของมันก็คือ นำความร้อนจากไอเสียของเครื่องยนต์ มาช่วยในการอุ่น
ให้ระบบฟอกไอเสีย ร้อนเร็วขึ้น ยิ่งร้อนเร็วขุึ้น การเผาก๊าซพิษจากเครื่องยนต์ ในช่วงเครื่องยังเย็นอยู่ ก็ทำได้เร็วขึ้น ปล่อย
มลพิษออกมาน้อยลง อีกทั้งยังช่วยส่งข้อมูลสั่งให้ ECU ตัดการทำงานของเครื่องยนต์ ได้เร็วขึ้น และบ่อยขึ้นหากอากาศเย็น
ช่วยให้ประหยัดน้ำมัน และลดมลพิษได้อีกทางหนึ่ง

การเข้าเกียร์ ทำได้โดยใช้นิ้วกระดิก คันเกียร์ ซึ่งมีหน้าตาเล็กลงกว่าคันเกียร์ของรถยนต์ทั่วไปมากๆ หลายคนคิดว่าใช้ยาก
แต่จริงๆแล้ว มันง่ายกว่าที่คิด หลักการทำงาน อธิายได้ไม่ยากครับ คล้ายกับทั้งรถยนต์เกียร์อัตโนมัติทั่วไป และเหมือนๆกับ
ทั้ง Prius กับ Camry HYBRID นั่นละ เพียงแต่ว่า หน้าตาของคันเกียร์ กับสวิชต์ที่ต่างกัน อาจทำให้คุณงงเล็กน้อย ไม่ต้อง
ตกใจครับ เหมือนๆกันนั่นแหละ

ทันทีที่กดปุ่ม Poswer เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนพร้อมทำงาน รอจนกว่าจะมีไฟ READY สีเขียว สว่างขึ้นมา ซึ่งก็ใช้เวลาไม่กี่
วินาที ถ้าพร้อมแล้ว คุณสามารถ เหยียบเบรก แล้วใช้นิ้วกระดิกคันเกียร์ ออกรถได้เลยทันที ถ้าจะออกรถ ให้ใช้นิ้วโยกคันเกียร์
มาทางขวา แล้วกดลง จะเข้าสู่ตำแหน่งขับเคลื่อนปกติ หรือ D หรือถ้ากดคันเกียร์ ลงในตำแหน่ง B ก็จะขับเคลื่อนในลักษณะ
คล้ายกับใช้งานในเกียร์ต่ำของรถยนต์ทั่วไป ถ้าจะถอยหลัง ให้โยกนิ้วกระดิกมาทางขวา แล้วกระดิกนิ้วขึ้น ก็จะเป็นตำแหน่ง
เกียร์ R สำหรับการถอยหลัง ถ้าปล่อยไว้ตรงกลาง จะอยู่ในตำแหน่ง N คือ เกียร์ว่าง

ถ้าต้องการจอดรถเข้าที่ เมื่อถอยหลัง เดินหน้าเข้าจอดเรียบร้อยแล้ว กดปุ่ม P ที่ใต้คันเกียร์เสมอ นั่นหมายความว่า คุณควรจะ
หาช่องจอดให้เรียบร้อย ไม่ใช่ไปจอดขวางแปะหน้ารถชาวบ้านเขา เพราะ CT200h มีระบบล็อกนิรภัย ซึ่งทำให้เข็นรถขณะ
ปลดเกียร์ว่าง หรือดับเครื่องยนต์ไม่ได้ อันเป็นลักษณะเช่นเดียวันกับ Prius นั่นเอง!

ในการออกรถ ถ้าคุณเหยียบคันเร่งช้าๆ เบาๆ รถจะออกตัวอย่างนุ่มนวลด้วยการทำงานของ Motor ไฟฟ้า ในโหมดนี้ ถ้ามี
ไฟในแบ็ตเตอรีมากพอ คุยังสามารถกดปุ่ม EV Mode ให้ระบบขับเคลื่อนรถของคุณด้วยพลังงานไฟฟ้า ปั่นมายัง Motor
เพียงอย่างเดียวก็ทำได้

แต่ถ้าไฟในระบบไม่พอ ระบบ EV Mode จะไม่ทำงาน มันจะขึ้นสัญญาณเตือน “ตื๊ดๆ” และขึ้นข้อความเตือนบนหน้าจอ
ฝั่งขวามือบนหน้าปัด อย่างที่เห็นในภาพนี้ จากนั้น รถก็จะขับเคลื่อนด้วย เครื่องยนต์เบนซินตามปกติ

ในการขับขี่บนทางด่วน หรือทางไกล ถ้าขับด้วยความเร็วคงที่ต่อเนื่องกัน หรือเปิดระบบรักษาความเร็วคงที่ Cruise Control
ระบบ Hybrid Synergy Drive จะปล่อยให้ เครื่องยนต์ ทำงานเพียงอย่างเดียว ตามลำพัง โดยมอเตอรืไฟฟ้า อยู่ในสถานะ
เตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา

แต่ถ้าผู้ขับขี่ต้องการอัตราเร่ง หรือต้องการเร่งแซงทันด่วน ให้เหยียบคันเร่งมากขึ้น จะครึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่านั้นก็ได้ ระบบ
จะรับรู้ และสั่งให้ มอเตอร์ ทำงานช่วยเสริมกน้าที่กับเครื่องยนต์ พารถให้เร่งพุ่งแซงขึ้นหน้าไป อย่างรวดเร็ว และนุ่มนวล

และเมื่อใดที่คุณถอนเท้าจากคันเร่ง หรือ เริ่มเหยียบเบรก มอเตอร์ไฟฟ้า จะทำงานย้อนกลับ เป็น Generator ปั่นไฟ หรือ
ดึงพลังงานจลย์ที่ใช้ในการเบรก เปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ส่งไปเก็บไว้ในแบ็ตเตอรี เพื่อใช้กับระบบขับเคลื่อนต่อไป

การมีมอเตอร์ไฟฟ้า จะเข้ามาช่วยให้อัตราเร่งของ CT200h เร็วขึ้นแค่ไหน ผมได้ทำการจับเวลาหาอัตราเร่ง กันตามมาตรฐาน
เดิม คือใช้เวลาช่วงกลางคืน นั่ง 2 คน เปิดเครื่องปรับอากาศ เพียงแต่คราวนี้ เราทำการทดลองทั้ง โหมด Normal และ Sport
เพื่อที่จะได้พบว่า ตัวเลขจาก ทั้ง 2 โหมด อยู่ในระดับเท่ากัน แทบไม่มีความแคกค่างอะไรให้เห็นเกิดขึ้นเลย ดังนั้น เราจึง
ต้องทดลองจับเวลา หาย่านตัวเลขในเกณฑ์เฉลี่ย ที่ตัวรถทำได้บ่อยครั้งที่สุด มา รายการละ 4 ครั้ง จากทั้งหมดที่ทำการทดลอง
มากถึง 45 ครั้ง!!! (เยอะที่สุดเท่าที่เคยทำมา) และผลลัพธ์ที่ได้ เราเลือกมาแล้ว อยู่ตรงนี้…

หากดูจากตัวเลขแล้วจะพบว่า อัตราเร่งของ CT200h นั้น แทบจะเท่ากันกับ BMW 120i Hatchback 5 ประตู
ที่เราเคยทำรีวิวกันมาเลยทีเดียว (อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 10.95 วินาที แต่ CT200h ทำได้เร็วกว่า
0.02 วินาที คือ 10.95 วินาที) แต่ถ้าเป็นอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้วละก็ 120i ทำได้ 8.6 วินาที
ช้ากว่า CT200h ซึ่งทำได้ 8.45 วินาที) ถึง 0.2 วินาที เพียงแต่ความเร็วสูงสุดของ CT200h ถูกจำกัดเอาไว้ เพื่อ
ไม่ให้ แบ็ตเตอรี เสื่อมเร็วกว่าวัยอันควร

นั่นคือรถรุ่นเดียวที่ผมมองว่า มีตัวเลขในระดับไล่เลี่ยกัน เพราะ Volvo C30 2.0i ก็ทำตัวเลขออกมาด้อยกว่ากัน
พอสมควร ส่วน Volkswagen Golf GTi และ Scirocco 2.0 TSI DSG ก็แรงกว่า CT200h ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึง
และไม่ต้องนำมาเปรียบเทียบกันให้ช้ำใจเล่น อยากได้เอาไปแข่งกันเลย ยังไง VW ก็ทำตัวเลขดีกว่าชัดเจน

แต่เมื่อเทียบกับ Prius ใหม่แล้ว จะพบว่า อัตราเร่งนั้น อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก อัตราเร่งจาก 0 -100
และช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ CT200h ไม่ได้เร็วไปกว่า Prius เลย ไม่ว่าจะอยู่ใน Normal
Mode หรือ Sport Mode ก็ตาม

ได้ข้อสรุปว่า สำหรับ CT200h แล้ว การใช้ Sport Mode ไม่ได้ช่วยให้รถแรงขึ้น เพียงแต่ว่า คันเร่งจะไวต่อ
การตอบสนองมากขึ้นและพวงมาลัยก็จะหนืดขึ้นกว่าเดิมอีกเพียงนิดเดียว ว่ากันตามรอบเครื่องยนต์เป็นหลัก

ตัวเลขที่ออกมา ก็น่าจะพอสะท้อนให้คุณเห็นระดับหนึ่งได้ว่า ตัวเลขสมรรถนะในภาพรวม ก็น่าจะอยู่ในระดับ
ไล่เลี่ยกันกับ Honda Civic FD

พละกำลังทั้งหมดหนะ มันเพียงพอ กับนิสัยการขับรถของคนทั่วไป แรงเกินความคาด หวังของคนส่วนใหญ่
ไปนิดเดียว สำหรับส่วนตัวผมแล้ว ถือว่า แรงในแบบที่ผม พึงพอใจ เพราะเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร พ่วงด้วยระบบ
Hybrid มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะฉุดลากตัวรถ ซึ่งมีน้ำหนักรวมประมาณ 1.8 ตัน พุ่งไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งใน
ระดับนี้ ก็ถือว่า ทำได้ดีตามความคาดหมายแล้ว

แต่ถ้าถามว่า มันแตกต่างจาก Prius มากน้อยแค่ไหน ผมก็คงจะบอกตามตรงว่า ในโหมด Normal กับ ECO Mode
แรงดึงขณะออกตัว หรือเร่งแซง แทบไม่ต่างจาก Prius กันเท่าใดเลย ถ้า คุณขับอยู่ในโหมด EV เพื่อจะให้มอเตอร์
ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อคู่น้าเพียงอย่างเดียว ระหว่างเข้า – ออกจากซอยหมู่บ้าน คุณจะทำความเร็วสูงสุดได้เพียงแค่
48 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือกดปุ่ม ECO Mode ที่เน้นความประหยัดเป็นหลัก สำหรับการขับแบบเรื่อยเปื่อย ต่อให้เป็น
Normal Mode อันเป็นการขับขี่แบบ ธรรมดา ผมก็ยังจะขอยืนยันในสิ่งเดียว กับที่เคยบอกเอาไว้ในรีวิวฉบับ First
Impression ว่า “มันไม่ต่างกันเลย”

อัตราเร่งที่จะคุณจะเรียกใช้ได้ในแต่ละโหมด มันจะเหมือนกับ Prius ทุกประการ เพราะในเมื่อ มอเตอร์ไฟฟ้า
ก็เหมือนกัน แบ็ตเตอรี ก็เหมือนกัน ดังนั้น ถ้ามันจะทำอัตราเร่งได้ดีขึ้นกว่า ก็คงต้องอยู่ที่การเขียนโปรแกรม
ให้ับระบบควบคุมพลังงานในรถ และ โปรแกรมกล่อง ECU

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิศวกร ก็เลย เลือกที่จะทำโปรแกรม Sport Mode ขึ้นมาให้ใช้งานกัน โดยมุ่งเน้นไปที่ การปรับ
ความไวในการตอบสนองของคันเร่ง และการปรับเพิ่มความหนืดของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าจากปกติ อีก
นิดหน่อย ไม่เยอะนัก ปรับการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC (Vehicle Stability Contrl) กับระบบ
ป้องันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Conrol) เสริมเข้ามาด้วย

ผู้ขับขี่ ก็เพียงแค่หมุนสวิชต์เลือก โหมดการขับมาทางขวา มาตรวัดจะเปลี่ยนจากสีฟ้า เป็นแดง เข็มมาตรวัด
ECO Mode กลายเป็น มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ คันเร่ง ก็จะไวขึ้นกว่าโหมดอื่นๆอีกนิด ช่วยให้เรียกอัตราเร่ง
มาใช้งานในช่วง ออกตัวจากสี่แยก หรือการเร่งแซงในภาวะคับขัน ทำได้คล่องแคล่ว ว่องไว และทันใจกว่า
Prius จนสังเกตได้ชัดเจน อีกทั้งยังผสานการทำงานของพวงมาลัยให้ตอบสนองหนักขึ้นในช่วงความเร็วสูง
ทั้งหมดนี้ ช่วยทำให้ คุณสามารถขับ CT200h ออกต่างจังหวัด ได้อย่างสนุกขึ้น

แต่ถ้าถามว่า มันแรงพอไหม สำหรับคนเท้าหนัก ผมบอกเลยว่า คุณอาจต้องการพละกำลังที่เพิ่มขึ้น มากกว่านี้
เพราะ CT200h ยังไม่อาจตอบโจทย์ พวกตีนผี บ้าพลังเท่าใดเลย ในบางช่วงจังหวะที่เร่งแซง หรือลองมุดดู
เล่นๆ เพื่อดูศักยภาพของตัวรถในภาวะคับขัน ผมว่า หากได้อัตราเร่งที่แรงกว่านี้ ได้แรงบิดในระบบมากกว่านี้
เชื่อแน่ว่า ผมและคนอีกจำนวไม่น้อย จะมีความสุข และยินดีเก็บ CT200h ไว้เป็นตัวเลือกในใจอย่างแน่นอน

วิธีการง่ายที่สุดที่ผมพอมองเห็นความเป็นไปได้ คือ การนำเอาเครื่องยนต์ 2AZ-FXE กับมอเตอร์ฟฟ้า และ
แบ็ตเตอรี ชุดเดียวกันกับ Toyota Camry HYBRID ที่ประหยัดกำลังดี แต่ได้ความแรงแถมพกมาอย่างไม่น่าเชื่อ
มาวางลงไป เรียกชื่อรุ่นว่า CT240h แค่นี้ ผมว่า ก็เพียงพอแล้ว

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electronics Power Steering) รัศมีวงเลี้ยว 5.2 เมตร
เป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบมาก เพราะมันถูกปรับเซ็ตมาให้มีทั้งน้ำหนัก กับความหนืด ที่ต้องใช้ในการหมุนพวงมาลัย
และความแม่นยำ ฉับไว ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาในบรรดาพวงมาลัยไฟฟ้าของ Toyota ระยะฟรีค่อนข้างน้อย
ตอบสนองต่อการสั่งการดีเยี่ยม ในแบบที่ผมอยากจะได้จาก Toyota / Lexus มานานแล้ว พวงมาลัยของ CT200h
ในช่วงความเร็วต่ำ แรงที่ผมต้องใช้ในการหมุนพวงมาลัย อยู่ในระดับน้อยกว่า BMW ซีรีส์ 1 และ Audi A3 & S3
อยู่นิดเดียว เนียนจนต้องกางแค็ตตาล็อกอ่านกันอีกทีให้มั่นใจว่า มันเป็นพวงมาลัยไฟฟ้าจริงๆ

ในช่วงความเร็วสูง พวงมาลัยยังนิ่งมาก การควบคุมบังคับ ไม่เหนื่อย ไม่ยากเย็นเลย ความหนืดเพิ่มขึ้นในระดับ
ที่เหมาะสมกำลังดี ขอย้ำเลยว่า ในรถรุ่นต่อไป พวงมาลัย ดีแล้ว กรุณา ไม่ต้องไปแก้ไข ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน
ทั้งสิ้น! ถ้าปรับปรุงให้มันเบากว่านี้ละก็ มีเคือง และจะด่าให้หนักเลยละ!

เพราะพวงมาลัยของ CT200h แสดงให้เราเห็นว่า ถ้า ทีมวิศวกรของ Toyota คิดจะปรับตั้งค่าต่างๆของพวงมาลัย
เพาเวอร์ไฟฟ้า EPS ให้เหมาะสม และเอาใจนักขับอย่างแท้จริง พวกเขาก็จะทำออกมาได้อย่างดี ลงตัว สมบูรณ์
ไม่แพ้พวงมาลัยของ Volkswagen Golf GTi กันเลยทีเดียว!!

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมก็ยังคงจะขอฝากถึง ทีมวิศวกรที่ทำ Corolla รุ่นต่อไปสักหน่อยเถอะ ฝากทั้งที่รู้อยู่ว่า เป็นคนละ
ทีม แถมยังอยู่คนละหน่วยงาน กับกลุ่มวิศวกรที่พัฒนา CT200h ว่า “ผมอยากได้พวงมาลัย “แบบนี้” หรือ “น้ำหนัก
เบากว่านี้นิดหน่อย (เพราะต้องเอาใจตลาดส่วนใหญ่) ทว่าตอบสนองเหมือนกันเปี๊ยบกับ CT200h อย่างนี้ ในรถรุ่น
Sport Version ของ Corolla และ Corolla Altis รุ่นต่อไปซึ่งจะมีกำหนดคลอดออกสู่ตลาดราวๆปี 2012 – 2013 ถ้าทำได้
นี่จะเป็นอีกสิ่งที่น่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจ จนทำให้ลูกค้าวัยรุ่น หรือ พวก Young At Heart ทั้งหลาย หันกลับมา
มอง Corolla ใหม่ ได้อีกครั้งแน่ๆ ขอแค่คุณกล้าใส่พวงมาลัยแบบนี้ให้ Corolla Altis Sport Version ก็พอ

การเก็บเสียง ยังคงทำได้ดี ตามมาตรฐานของ Lexus เสียงกระแสลม จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความเร็วผ่านพ้นระดับ
100 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป แต่ระดับการเพิ่มของเสียงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ดังขึ้นมากนักเหมือนรถญี่ปุ่นคันอื่นๆ
ต่อให้อยู่ในความเร็วสูงสุด เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ ก็จะไม่เล็ดรอดเข้ามายังห้องโดยสาร มากเท่า Toyota
รุ่นอื่นๆ อยู่ดี

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต ปีกนกแบบ L-Arm ส่วนด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone
แบบมี Trailing Arm แยกสปริงกับช็อกอัพออกจากกัน ติดตั้งช็อกอัพแก็ส ทั้งหน้า-หลัง เป็นอีกจุดเด่นสำคัญ ที่ทำให้
CT200h แตกต่างไปจาก Lexus รุ่นอื่นๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้ง เหล็กค้ำช็อกอัพ มาให้ทั้งหน้า-หลัง ซึ่งต่าง
จากเหล็กค้ำช็อกอัพทั่วไป ตรงที่มีระบบยืดตัวและหดตัวในแนวนอน ซึ่งพัฒนาร่วมกับ YAMAHA (ครับ อ่านไม่ผิดแน่
เจ้าของเดียวกันกับจักรยานยนต์รุ่น Fino และเปียโนไฟฟ้า Clavinova นั่นแหละ!) เพื่อช่วยลดการบิดตัวของจุดยึดเบ้า
ช็อกอัพ และรักษาการทรงตัวของรถในขณะเข้าโค้ง ซึ่งเมื่อร่วมงานกับพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาได้ดีมากๆ แล้ว ทำให้
การขับขี่ทางไกล สนุกขึ้น และมั่นใจขึ้นอย่างชัดเจน

ในช่วงความเร็วต่ำ ต้องบอกกันตามตรงว่า ด้วยเหตุที่ช่วงยุบตัวของช็อกอัพ น่าจะเซ็ตมาค่อนข้างน้อย ทำให้จังหวะ
การลงหลุมที่มีขอบปากหลุมธรรมดา แหลมคม ค่อนข้างจะส่งแรงสะเทือนข้ามายังตัวรถอยู่มาก ต่อให้มียางแก้มหนา
มาช่วยดูดซึบแรงสะเทือนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ถึงจะไม่แข็งโหดร้ายเท่า MINI Cooper S (ซึ่งรายนั้น เกวียนเรียกพี่) ก็ตาม
แต่ก็ยังถือว่าแข็งกระด้างไปหน่อยอยู่ดี การขึ้นลงลูกระนาด และหลุมบ่อต่างๆ อาจจะรูดได้ แต่ต้องระวังกระเทือน
เข้ามาอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะช่วงล่าง เซ็ตมาในแนวหนึบ และติดแข็งๆ หน่อย มีความตึงตังให้เจออยู่

ทว่า ในการขับขี่ทางไกล ด้วยความเร็วสูง อยากจะบอกว่า มันประเสริฐมาก! พอจะพบความนุ่มนวลและความพยายาม
เก็บอาการจากรอบยต่อถนนได้ดีมาก ราวกับว่าเป็นช่วงล่างที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนชอบขับรถทางไกลๆ มากกว่า
จะเดินทางแค่ในเมือง เป็นช่วงล่างที่ดูเหมือนว่าจะออกแบบมาให้ทนต่อสภาพถนนก้อนกรวดโบราณของยุโรป
มากกว่า ถนนที่มีหลุมบ่อไม่เลือกที่ อย่างในบ้านเรา ต้องออกปากชมเชยเลยว่า ในช่วงความเร็วสูงๆนั้น น้ำหนัก
ที่กดด้านหน้า สัมผัสได้เลยว่า น่าจะมากกว่า Mercedes-Benz C-Class W204 รุ่นก่อน Minorchange ด้วยซ้ำ!
และใกล้เคียง BMW 320d กับ Audi A3 เลยทีเดียว!

ผมเริ่มเข้าใจว่า ทำไม Sadakata-san ถึงบอกว่า สำหรับบ้านเรา เอาล้อ 16 นิ้ว และยางแก้มหนาหน่อยไปใช้หนะดีแล้ว
ต่อให้ทางไทย พยายามขอล้อ 17 นิ้วมาติดตั้งให้ในรถรุ่นมาตรฐาน เจ้าตัวก็ไม่ยอม เพราะยังมองว่าสภาพถนนเมืองไทย
ถือว่ายังไม่เหมาะกับล้อใหญ่ๆกับยางแก้มบาง ในมุมหนึ่ง ผมก็ว่าเขามองถูกเป็นบางส่วน เพราะสภาพถนนบ้านเรา
หลายแห่ง ยังเป็นไปตามที่เขาคิดไว้ นี่ขนาดล้อ 16 นิ้ว ยังสัมผัสได้ถึงความแข็ง ในความเร็วต่ำขนาดนี้ แล้วถ้าล้อ 17 นิ้ว
ผมว่า คงได้แข่งกันแข็ง กับ Cooper S แหงๆ

ดังนั้น สำหรับคนที่ชอบรถแนวนุ่มๆ คุณอาจจำเป็นต้องขอทดลองขับดูก่อนว่า ความแข็งขนาดนี้ คุณรับได้ไหม? แม้จะ
ไม่ถึงกับแข็งมากเท่า BMW 330i ตัว ก่อน Minorchange ทว่า ก็ต้องถือกันตามตรงว่าช่วงล่างแข็งอยู่เหมือนกันนะ

ระบบห้ามล้อเป็นแบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ จานเบรกคู่หน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 255 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกคู่หลังมี
เส้นผ่าศูนย์กลาง 279 มิลลิเมตร เชื่อมต่อทั้งระบบ Re-Generative Brake เพื่อนำพลังงานจากการเบรกไปสร้างเป็น
พลังงานไฟฟ้า ส่งกลับไปเก็บสะสมในแบ็ตเตอรี พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution) และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Brake
Assist พร้อมระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง VSC (Vehicle Stability Control) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรี
TRC (Traction Control) ซึ่งมีมาให้ครบทุกรุ่นย่อย

การทำงานของมัน น่าประทับใจ เพราะไม่ว่าคุณจะเหยียบเบรก ด้วยน้ำหนักเท้าแค่ไหน ในช่วงความเร็วใดก็ตาม สิ่งที่
CT200h จะตอบสนองคุณกลับมา คือ ความมั่นใจในการชะลอรถ เพราะแป้นเบรกจะตอบสนองดีกว่า Prius นิดหน่อย
ระยะของแป้นเบรกที่เซ็ตมาให้คุณเหยียบ ยาวกว่าแป้นเบรกของ Prius นิดหน่อย ถ้าต้องการควบคุมแรงเบรกโดยละเอียด
CT200h ทำได้ง่ายกว่า เหยียบแค่ไหน มันจะทำงานมากกว่าที่คุณตั้งใจไว้นิดนึง ดังนั้น คุณอาจต้องลดแรงเหยียบเบรกให้
น้อยกว่ารถคันเดิมที่คุณขับมาก่อนหน้านั้น นิดนึง

ขณะเดียวกัน การหน่วงความเร็ว ในช่วงกำลังขับคลานๆ ในเมือง แค่แตะแป้นเบรกแบบเลียๆนิดหน่อย ความเร็วของรถ
ก็จะชะลอลงไปราวๆ เกือบๆครึ่งหนึ่ง ของการเหยียบแป้นเบรกในรถยนต์ทั่วไป โดยประมาณ ส่วนการชะลอรถจากช่วง
ความเร็วสูง ทำได้ดีน่าประทับใจมาก หน่วงความเร็วลงมาได้ไว และสัมผัสได้ถึงอาการหน่วงชัดเจนมาก เหมือนเช่นที่พบ
ได้ใน Toyota Hybrid รุ่นอื่น เป็น Lexus อีกรุ่นหนึ่ง ที่ผมจะไม่ปริปากบ่นเรื่องการทำงานของระบบเบรกเลย มันประเสริฐ
ใช้ได้ ดีกว่าที่คาดคิดไว้

ด้านโครงสร้างตัวถัง ถูกออกแบบให้มีความแข็งแกร่ง ลดการบิดตัว และต้องมีน้ำหนักเบาควบคู่กันไปด้วย การใช้เหล็กที่มี
คุณสมบัติ รับแรงดึงสูง (High ensile Steel) ในหลายๆจุด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทีมวิศวกรบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

โดยคานนิรภัยเสริมในประตูทั้ง 4 บาน ใช้เหล็กเหนียวน้ำหนักเบา รับแรงดึงได้ 213,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ขณะที่ บริเวณธรณี
ด้านล่างของช่องทางเข้า – ออกจากรถ คู่หน้า ใช้เหล็กขึ้นรูป รับแรงดึงได้ 142,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ขณะเดียวกัน ฐานเสาหลังคา
คู่กลาง B-Pillar ต่อเนื่องไปถึงธรณีกรอบประตูคู่หลัง ใช้เหล็กแบบ รับแรงดึงได้ 64,000 ปอนด์ / ตารางนิ้ว และเสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar ใช้เหล็กทนแรงดึงสูงถึง 86,000 ปอนด์ / ตารางนิ้ว

ฝากระโปรงหน้า ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง คานกันชนหน้า และแผงส่วนล่างของกรอบประตูหลัง ทำจากอะลูมีเนียม เพื่อ
ช่วยลดน้ำหนักให้เบาลง ขณะเดียวกัน ในบริเวณ คาน Cross Member แนวยาว อันเป็นจุดวางเครื่องยนต์ ใช้เหล็กที่ทนแรงดึง
สูงถึง 86,000 ปอนด์ / ตารางนิ้ว ขณะที่เหล็กสำหรับบริเวณ คานแนวขวางตามจุดต่างๆของพื้นรถ ใช้เหล็กทนแรงดึงสูงระดับ
64,000 ปอนด์ / ตารางนิ้ว

ขณะเดียวกัน ยังลดระดับการเชื่อมตัวถัง (Spot Welding) บริเวณ มุมล่างของเสาค้ำตัวถังทุกต้น ไม่ว่าจะเป็น A-Pillar , B-Pillar
และ C-Pillar แต่ไปเพิ่มจุดเชื่อม (Spot Welding) บริเวณรอยต่อระหว่างซุ้มล้อคู่หลัง กับพื้นตัวถัง จุดยึดระบบกันสะเทือนหลัง
เพื่อให้บริเวณพื้นด้านหลังรถ แข็งแกร่งขึ้น ทนต่อการบิดตัวที่มีผลสืบเนื่องมาจากการเข้าโค้ง แรงสะเทือนต่างๆ รวมทั้งปัจจัย
อันมาจากน้ำหนักจากแบ็ตเตอรีที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กัน โดยมีการออกแบบ จุดติดตั้งแบ็ตเตอรี ให้เพิ่มความแข็งแรงขึ้นจาก
รถยนต์ Hybrid รุ่นก่อนๆ อีกด้วย

แถมยังมีการออกแบบคาน Cross Member ติดยึดไว้ที่ด้านใต้ระบบกันสะเทือนหน้า และหลัง เพื่อช่วยตรึงรั้งพื้นตัวถังไว้ให้อยู่
ในรูปเดิม มากที่สุด ลดการบิดตัว ลงให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้โครงสร้างตัวถัง คงรูปเดิมไว้ได้ในขณะเข้าโค้งหรือแล่นไปบน
พื้นผิวขรุขระ รวมทั้งการติดตั้ง พลาสติก Under Cover ปิดบริเวณจุดต่างๆ ใต้ท้องรถ ทั้งใต้เครื่องยนต์ กาบข้าง 2 ฝั่ง ใต้พื้นที่
นั่งของผู้โดยสาร คู่หน้า แผ่นปิดใกล้ถังน้ำมัน และปลายซุ้มล้อคู่หลัง

ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัย ในห้องโดยสารนั้น CT200h มีถุงลมนิรภัยมาให้มากถึง 8 ใบ ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า
ถุงลมด้านข้างที่เบาะคู่น้าทั้งซ้าย ขวา ม่านลมนิรภัย ทั้ง 2 ฝั่ง และที่พิเศษเหนือกว่ารถยนต์ทั่วไป คือมีถุงลม
นิรภัยสำหรับหัวเข่า Knee Airbag มาให้ทั้ง 2 ฝั่ง มีเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบลดแรงปะทะ และดึงกลับอัตโนมัติ
Pretension & Load limiter ส่วนเข็มขัดนิรภัยเบาะหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด ทั้ง 3 ตำแหน่ง และมีพนักพิงศีรษะ
WIL (Whiplash Injury Lessening) ป้องกันการบาดเจ็บจากระดูกต้นคอ จากการชนด้านหลัง

ด้วยโครงสร้างความปลอดภัยทั้งหมด ทำให้ CT200h ผ่านมาตรฐานทดสอบการชนระดับ 5 ดาว จาก EURONCAP
รวมทั้งหน่วยงานด้านความปลอดภัยของรฐบาลสรัฐอเมริกา NHTSA และ รางวัล ระดับ Top Safety Pick Award
จาก The Insurance Institute for Highway Safety (IIHS) ในสหรัฐฯ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกอ่านได้ ที่นี่
www.euroncap.com/results/lexus/ct200h/2011/431.aspx

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

นอกจากเรื่องของตัวเลขอัตราเร่งแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่หลายๆคน ให้ความสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ความประหยัดน้ำมัน
และวิธีที่เราจะรู้ได้ว่า CT200h จะประหยัดน้ำมันได้มากหรือน้แยแค่ไหน นั่นคือ การทดลอง ในรูปแบบมาตรฐานดั้งเดิม
ของเรา ตลอด 7 – 8 ปีที่ผ่านมา

แต่ด้วยตารางนัดหมายในชีวิตผม ในวันที่เรารับรถมา ค่อนข้างวุ่นนิดนึง จึงตัดสินใจเลื่อนการทดลอง มาเป็นช่วงหลัง
3 ทุ่ทครึ่ง หรือ 21.00 น. แทน เพื่อที่จะให้การจราจร ลดความจลาจลลงไปกว่าที่เกิดขึ้นแทบทุกเย็นย่ำค่ำมืด โดยที่
สักขีพยานของเราในวันนี้ คือ น้อง Joke หรือ V10ThLnD หนึ่งใน The Coup Team ของเรา น้ำหนักตัว 59 กิโลกรัม
รวมกับผู้เขียน 95 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวม 2 คน เท่ากับ 155 กิโลกรัม แถมด้วยเป้สัมภาระอีก
นิดหน่อย รวมแล้สว น่าจะมีน้ำหนักบรรทุกคนกับสิ่งของ ราวๆ ไม่เกิน 160 กิโลกรัม

เรานำ CT200h ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron แบบมาตรฐาน ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆ ปากซอย
อารีย์ ถนนพหลโยธิน กันจนเต็มถัง เหมือนเคย และคราวนี้ เนื่องจากว่า แม้จะเป็นรถยนต์ Hybrid และมีผู้คนสนใจใน
เรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกันอยู่ไม่น้อย แต่ในเมื่อ CT200h ยังเป็นรถยนต์ที่มีระดับราคา เกินกว่า 1 ล้านบาท อีกทั้ง
กลุ่มลูกค้าที่อยากรู้ตัวเลขนั้น ก็มิได้ถึงกับให้น้ำหนัก หรือใส่ใจในประเด็นนี้ ระหว่างการตัดสินใจซื้อรถรุ่นนี้มากนัก
เราจึงตัดสินใจที่จะทำการทดลองโดย “ไม่เขย่ารถ” แต่จะเติมน้ำมัน แค่ระดับ หัวจ่ายตัด ก็พอแล้ว

พอเติมน้ำมันเรียบร้อย เราก็ ขึ้นรถคาดเข็มขัดนิรภัย เซ็ต 0 บน Trip Meter A เพื่อตั้งวัดระยะทาง กดปุ่ม Power เพื่อสั่ง
ให้เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า เตรียมพร้อมทำงาน จนสัญญาณไฟคำว่า READY สีเขียว สว่างขึ้นบนมาตรวัด เราก็
เริ่มออกรถ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน เข้าวอยอารีย์ ทะลุไปออกตรง โรงเรียนเรวดี แล้ว ขึ้นทางด่วนที่ด่านพระราม 6
มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก (อุดรรัถยา) แล้วเลี้ยวกลับมาย้อนขึ้นทางด่วนเส้นเดิม มุ่งหน้ากลับเข้าไป
ยัง กรุงเทพมหานคร ด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน ไม่เปิด Cruise Control

ความเร็วบนมาตรวัด เมื่อเทียบกันแล้ว ที่ระดับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง GPS จะวัดได้ที่ 106 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพี้ยนระดับปกติ

ในโหมด Normal คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า รอบเครื่องยนต์ ทำงานอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ จนกระทั่งต้องหมุนสวิชต์ บน
แผงควบคุมกลาง ไปยังดหมด Sport นั่นละครับ คุณจึงจะเห็นว่า รอบเครื่องยนต์ โผล่ขึ้นมาแทนที่ อย่างที่เห็นอยู่นี้

ภาพนี้ ถ่ายตอนผ่อนเท้าจากคันเร่งนิดนึงพอดีนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่า มอเตอร์จะยอมทำงานจนถึง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชียวละ!

เมื่อมาถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย เข้าถนนพหลโยธิน กันอีกครั้ง แล้วเลี้ยวกลับรถที่ สถานีรถไฟฟ้า
BTS อารีย์ แล้วพุ่งเข้าไปยังสถานีบริการน้ำมัน Caltex แห่งเดิม เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ให้เต็มถังอีกครั้ง
เอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนเช่นการเติมครั้งแรก

ทีนี้ เรามาดูกันดีกว่า ว่าตัวเลขที่ CT200h ทำออกมาได้นั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter 93.2 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.11 ลิตร ….เฮ้ย พอๆกับ Nissan March เลยนะนั่น!



อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 18.23 กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่า CT200h ให้ความประหยัดในระดับที่ดีมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป และทำได้ดีเมื่อเทียบกับรถยนต์ Hybrid
คันอื่นๆ ซึ่งเาเคยทดลองกันไปก่อนหน้านี้ ตัวเลขอาจจะด้อยกว่า Prius ใหม่เล็กน้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
เพราะด้วยการปรับเซ็ตรถให้เน้นการขับขี่ที่สนุกกว่า ใส่ข้าวของลูกเล่นมาให้เยอะกว่า วัสดุดีกว่า ถ้าน้ำหนักของ
ชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นในรถ มันจะทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้อยลงไปบ้างนิดหน่อย ผมว่า ก็ยังพอยอมรับได้อยู่ดี

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ถึงแม้ถังน้ำมันจะมีความจุ 45 ลิตรโดยประมาณ เท่ากับ Prius ทว่า เมื่อนำมาขับขี่ใช้งานจริง
น้ำมัน 1 ถัง อาจจะพา CT200h แล่นไปได้ ไม่ไกลเท่ากับที่ Prius ทำได้ เพราะภาพถ่ายในวันคืนรถ บอกผมชัดเจน
ว่า การที่ยังเหลือน้ำมันอีก 3 ขีด ทั้งที่แล่นไปทั้งหมด 447 กิโลเมตร นั่นเท่ากับว่า น้ำมัน 1 ถัง อาจพารถแล่นไปได้
ราวๆ 550 – 600 กิโลเมตร แต่ในความจริง Prius ใหม่ จะพาคุณแล่นไปได้ไกลกว่านั้น คือประมาณ 700 กิโลเมตร
(ขับแบบปกติ ไม่ใช่ขับเพื่อเน้นประหยัด)

********** สรุป **********
ขอแค่ยกขุมพลัง Camry Hybrid มาวางในตัวถังที่ปรับเส้นสายอีกรอบ จัดการพื้นที่ด้านหลังรถ ให้ดีกว่านี้ พอแล้ว!

วันเวลาที่เราจะต้องบอกลาเจ้าเหลืองอ๋อย ก็มาถึง บ่ายวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2011 พายุฝนเทกระหน่ำลงมาราวกับว่า
พระอินทร์ และพระอิศวร คงนัดกันเล่นเจ็ทสกี ผมถึงกับต้องนำ CT200h คันนี้ ลงไปจอดยังชั้นใต้ดิน B1 ของอาคาร
All Season ถนนวิทยุ แทนที่จะได้จอดริมกำแพงรั้วอย่างที่นัดกันไว้ในตอนแรก

บนชั้น 43 ของ อาคาร Main Building ของ All Season ระหว่างที่พายุฝนกำลังโหมอย่างหนัก พี่สรณะ ออกมารับกุญแจ
รีโมทคืน แล้วเราก็นั่งคุยกันเรื่องความคิดเห็นที่เกิดขึ้น หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับมัน นานถึง 6 วัน 5 คืน อย่างออกอรรถรส
เมามันเป็นอันมาก คุยกันราวๆ ครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว

ยอมรับเลยว่า จากครั้งแรก ที่เห็นหน้าตาแล้ว ผมไม่ชอบรถคันนี้เท่าใดนัก แต่พอเมื่อลองขับกันยาวๆ ใช้ชีวิตด้วยกัน
ผมก็พบว่า CT200h ก็ไม่ใช่รถที่เลวร้ายเลย มันมีบุคลิกบางอย่าง ผสมผสานกัน ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า การใช้ชีวิตกับรถคันนี้
เป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดอาการ พารานอยด์ เหมือนอย่างที่เคยเจอมาในรถยนต์แนวแปลกๆแบบนี้ บางคัน ขณะเดียวกัน
ในทางตรงข้าม แน่นอนว่า CT200h ก็ไม่ใช่รถที่ดีสมบูรณ์แบบ จนไม่อาจหาข้อติใดๆ ได้ ด้วยเช่นกัน

ถ้าจะถามว่า รถคันนี้ มีจุดดีตรงไหน ผมก็ตอบได้ทันทีว่า ตรงที่ความ “เยอะ” ของหล่อนนั่นละ!

CT200h เป็นรถที่ “เยอะ” ในหลายๆเรื่อง ตั้งแต่ให้ข้าวของมา “เยอะ” เมื่อเทียบกับค่าตัวที่จ่ายออกไป มีลูกเล่น “เยอะ”
ในห้องโดยสาร ปริมาณกระจกหน้าต่างรอบคันก็ “เยอะ” กว่า Lexus รุ่นอื่นๆ ที่เป็นรถยนต์นั่งด้วยกัน ไม่ใช่ SUV
(ส่วนใหญ่ มีไม่เกิน 8 บาน นี่ล่อเข้าไป 10 บาน เท่ากับ RX รุ่นที่แล้วเลยละ) ช่วงล่างเซ็ตมามั่นใจในช่วงความเร็วสูงๆ
มากกว่า Toyota รุ่นอื่นๆ  “เยอะ” เช่นเดียวกับพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เซ็ตมาได้ดีกว่า ที่เคยพบเจอใน Toyota หรือแม้แต่
Lexus รุ่นอื่นๆ “เยอะ” อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ประหยัดกว่ารถทั่วๆไป “เยอะ” (แต่อาจไม่เท่า Prius หรือ CR-Z)

นี่คือรถ Toyota / Lexus รุ่นหนึ่ง ที่ออกแบบแผงหน้าปัดมาได้ดี โดนใจผมมากๆ การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ทำได้ดีเยี่ยม
(เมื่อเทียบกับรถในค่ายเดียวกันรุ่นอื่นๆ) ชวนให้เกิดความตื่นเต้นเวลาขึ้นมานั่งขับครั้งแรกๆ (แม้แรงดึงกระชากของมัน
จะยังไม่ถึงขั้นจะทำให้ผมสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมาย และทำหน้าที่ออกมาในระดับ ใช้ได้ เพียงพอ เท่านั้นก็ตาม)
มันเป็นรถที่เหมาะกับสาวโสด วัยทำงาน มีเพื่อนอีก 2-3 คน ว่างๆ ก็เก็บเสื้อผ้า ไปเที่ยวทะเล หัวหิน ชะอำ หรือปราณบุรี
พอๆกับการขับใช้งานในเมือง ไปตามสภาพการจราจรอันแสนจลาจลของกรุงเทพมหานคร

CT200h จะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดี มันเป็นรถยนต์ที่ ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย เห็นแล้ว “ร้องกรี๊ดๆๆๆ ฉันอยากได้ๆๆ”
อย่างน้อยในวันที่ผมนำรถคันนี้มาใช้ชีวิตด้วย ก็มีน้องผู้หญิงคนหนึ่ง มายืนดูรถ แล้วร้องกรี๊ดๆๆๆ แบบนี้ให้ผมดูมาแล้ว!

แล้วสิ่งที่ผมอยากจะเห็นจาก ทีมวิศวกร Lexus ในการปรับปรุง CT200h ให้ดีขึ้นกว่านี้ละ? มีอะไรบ้าง?

ข้อแรก พละกำลังของเครื่องยนต์ ผมมองว่า มันเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่
แห่งใดในโลก ถ้าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร พร้อมระบบขับเคลื่อน Hybrid มันเพียงพอจะพาให้ Prius แล่นไปได้โดยไม่มีลูกค้า
เท้าเบารายใดปริปากบ่น มันย่อมพา CT200h แล่นไปได้อย่างสบายใจไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอก

เพียงแต่ว่า สำหรับคนที่อยากได้เครื่องยนต์ที่แรงกว่านี้ และต้องประหยัดน้ำมันไม่แพ้กัน ทางเลือกที่น่าสนใจก็คือ การนำ
เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร พร้อมระบบ Hybrid จาก Toyota Camry Hybrid ซึ่งนอกจากจะประหยัดพอใช้ได้แล้ว ยังมีกิตติศัพท์
ด้านความแรงแถมพ่วงมาให้อย่างมิได้ตั้งใจอีกด้วย ความแรงในระดับนั้น ถ้าสามารถนำมาวางลงไปในห้องเครื่องยนต์
ของ CT200h ได้แล้ว เชื่อได้เลยว่า หลายๆคนจะยินดีจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของมากกว่านี้อย่างแน่นอน

แล้วทำไมพวกเขาไม่ยอมทำออกมาเลยแต่แรกละ? อันที่จริง ผมเชื่อว่า Sadakata-san เองก็น่าจะรู้ดีว่า ข้อจำกัดของการ
สร้างรถยนต์คันนี้คือ ในเมื่อ Toyota ต้องการเปิดตลาด แบรนด์ Lexus ในยุโรป ให้มากขึ้น การสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก
สักรุ่นเพื่อทำตลาดที่นั่น ในบางประเทศ ถ้าขืนใส่เครื่องยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบใหญ่เกิน 2.0 ลิตรขึ้นไป ภาษีต่างๆ
ที่ผู้บริโภคต้องเสีย จะสูงมาก จนกระทั่ง อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายได้ในทางอ้อม มิเช่นนั้น ก็ต้องทำรุ่นสมรรถนะสูง
อย่างเช่น Lexus CT F Hybrid เพื่อเจาะตลาดคนที่อยากได้ Premium Hot Compact Hatchback กันไปเลย

ประเด็นต่อมา คือพื้นที่ในห้องโดยสาร โดยเฉพาะด้านหลัง การติดตั้งแบ็ตเตอรี Ni-Mh เข้ามา ส่งผลกระทบถึงการจัด
พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขนาดของมันก็ใหญ่ระดับน้องๆขอนไม้ซุงเลยทีเดียว โจทย์
ที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถลดขนาดของแบ็ตเตอรีลงได้มากกว่านี้ แต่ยังต้องคงประสิทธิภาพด้าน
การจ่าย และเก็บประจุไฟฟ้า ไว้ให้ดีเท่าๆเดิม หรือต้องดีกว่าเดิม

ถ้าเป็น Honda เขาจะใช้วิธีการฝังแบ็ตเตอรีและอุปกรณ์ต่อพ่วง ไว้ที่ด้านหลังของเบาะนั่ง แต่ สำหรับรถยนต์ Hatchback
ผมก็เข้าใจดีว่า จุดขายสำคัญคือ ต้องอเนกประสงค์พอ ต้องพับเบาะได้ ดังนั้น รูปทรงของแบ็ตเตอรีแบบดังกล่าว จึงไม่อาจ
ตอบความต้องการลูกค้าได้ในแง่การใช้งานจริง เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาและพัฒนากันต่อไปในระยะยาว

เรื่องช่วงล่างที่แข็งไปหน่อยในช่วงความเร็วต่ำ ข้อนี้พอเข้าใจได้ว่าถนนในยุโรป ที่ยังเป็นก้อนกรวดโบราณ อายุนับแล้ว
หลายร้อยปี ยังมีให้พบเห็นและใช้งานกันอยู่ดาษดื่น เป็นพื้นถนนที่ทำลายช่วงล่างได้ดีนักแล ขืนทำช่วงล่างแนวนุ่มๆ
ไปเป็นหลัก สงสัยไม่แคล้วคงได้พังเร็วก่อนเวลาอันควร แต่ในเมื่อ คุณคิดจะทำรถรุ่นนี้ ส่งขายในตลาดทั่วโลก ถ้าจำเป็น
การปรับเซ็ตช่วงล่างในช่วงความเร็วต่ำ ให้ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่านี้อีก แน่น และมั่นใจกว่านี้ แต่เพิ่มความนุ่มนวลใน
ระหว่างรูดไปบนพื้นผิวถนน ก็ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรงนัก

ท้ายสุด คงจะเป็นเส้นสายด้านหลัง บริเวณเสาหลังคาหลัง C-Pillar ที่เกี่ยวพันกับทัศนวิสัย ถ้าสามารถปรับและเกลาให้
ออกมาใกล้เคียงกับเวอร์ชันต้นแบบอย่าง LF-Ch มากกว่านี้ ผมว่าคงได้ใจลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

ในตลาดตอนนี้ คู่แข่งของ CT200h มีใครบ้าง?

ในตลาดกลุ่ม Primuim Compact Hatchback ของเมืองไทย ระดับราคา 2 – 3 ล้านบาทนั้น BMW 1 Series กับ Audi A1
ดูจะเป็น คู่แข่งหลักเหมือนในตลาดโลก อย่าเพิ่งมาถามผมว่า A1 เป็นอย่างไร เพราะในเมื่อยังไม่เคยลองขับ มันก็คง
ไม่แฟร์ที่ผมจะพูดถึงรถรุ่นนี้ ขณะที่ ซีรีส์ 1 นั้น ผ่านมือมาแล้ว 2 รุ่น ทั้ง 120i Hatchbazk 5 ประตู และ 120d Coupe
ที่แรงกว่า แต่ราคาขายหน้าโชว์รูมก็ทะลุเพดานเดือดไปมากโข จนขายไม่ค่อยได้ และเลิกทำตลาดไปในที่สุด เพราะ
พื้นที่ห้องโดยสารคับแคบไม่แพ้ CT200h เลย ต่างกันตรงที่ ขับสนุก และแทบไม่ต้องไปแก้ไขเรื่องช่วงล่างอื่นใด หาก
ไม่จำเป็นจริงๆ

แต่ก็ใช่ว่า คู่แข่งในบ้านเราจะไม่เหลือแล้ว เพราะความจริง ม้านอกสายตา ทั้ง Volvo C30 และ Volkswagen Golf GTi
ก็ยังคงไม่อาจตัดทิ้งปล่อยวางลงไปไปได้ง่ายนัก เพราะ Golf GTi นั้น ตอบทุกความต้องการของทุกคนได้ดีที่สุดในกลุ่ม
ขณะที่ C30 ยังต้องการเครื่องยนต์ซึ่งต้องแรงกว่านี้ แต่ต้องกินน้ำมันพอกับเดิม นอกนั้น มันหนักแน่น และขับดีมากๆ
จนเริ่มคิดว่า ถ้าซื้อมาใช้ แล้วไปวางเครื่องใหม่ หรือจูนอัพให้ดีๆ ผมว่า ไม่เลวเลยทีเดียว แต่ถ้าใครอยากแรง ก็คงต้อง
หันไปมอง Volkswagen Scirocco ซึ่งโฉบเฉี่ยวกว่า ขับสนุกกว่า แต่ ก็ยังคงมีบริการหลังการขายที่น่าเป็นห่วงอยู่

แล้วถ้าคิดได้ว่า จะตกลงปลงใจกับ CT200h ละ? ควรเลือกรุ่นย่อยไหน?

รุ่น Luxury อันเป็นรุ่นพื้นฐาน เริ่มต้นที่ราคาถูกสุด 2,190,000 บาท สิ่งที่จะถูกตัดออกไป มีเพียง กระจกมองข้างพร้อม
ไฟเลี้ยว แบบพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า (ทำงานร่วมกับเกียร์ถอยหลัง) ไฟส่องสว่าง ตรงที่วางเท้า และระบบไล่ฝ้าด้วย
ความร้อน เบาะคู่หน้าเป็นแบบปรับด้วยมือ ไม่มีสวิชต์ไฟฟ้า และไม่มีระบบจำตำแหน่งเบาะคนขับ Memory 3 ตำแหน่ง
ไม่มีกุญแจรีโมทแบบในรีวิวนี้ ไม่มีระบบนำทางไม่มีจอมอนิเตอร์ EMV ไม่มีกล้องถอยหลัง กับระบบ Bluetooth
รุ่นนี้จะเหมาะกับลูกค้าซึ่งมองว่า อุปกรณ์ข้างบนนี้ ไม่มีความจำเป็นใดๆกับชีวิตเลย มันพอเพียงสำหรับการแข่งขัน
ในตลาดที่ยังมี BMW X1 ซึ่งมีพื้นที่ในห้องโดยสาร “ไล่เลี่ยกัน” ในราคา 2,149,000 บาท กับ Mercedes-Benz C200
Classic รุ่นพื้นฐาน ที่ยังมีออพชัน น้อยกว่า CT200h ด้วยซ้ำ แต่ขายในราคาพอกัน

ถ้าเป็นรุ่น Sport ราคา 2,390,000 บาท สิ่งที่จพะเพิ่มเข้ามาคือชุดตกแต่งรอบคัน พร้อมล้ออัลลอย ลาย Sport เพิ่ม
พวงมาลัย และหัวเกียร์แบบหุ้มหนัง กับชุดกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ที่ถูกตัดออกไป…แค่นั้น…เมื่อมองถึง
ข้าวของที่จะได้เพิ่มขึ้น กับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม ผมเห็นว่า ไม่ค่อยจะคุ้มค่ากันเท่าไหร่

ส่วนรุ่นที่เห็นในรีวิวนี้ คือรุ่น Luxury ซึ่งมาพร้อมอุปกรณ์ข้างบนนี้ที่หายไป กลับมาประจำการครบถ้วน 2,590,000 บาท
เป็นรุ่นที่ผมคิดว่า เหมาะกับคนโสดที่คิดจะเริ่มต้นหา Lexus มาใช้ สักคัน และอยากได้อุปกรณ์ครบๆ ไม่ต้องไปทำอะไร
เพิ่มเติมอีก ส่วน Moon Roof  ถ้าอยากได้ ต้องเพิ่มเงินอีก 100,000 บาท เป็น 2,690,000 บาท ผมมองว่า ไม่จำเป็นเลย

และท้ายสุดนี้…ถ้าจะให้เปรียบบุคลิกของ CT200h เป็นมนุษย์สักคนนึงละ? ควรเป็นคนแบบไหน?

ผมมองว่า CT200h เป็นเสมือนผู้หญิง วัย 25 – 30 ปี แนวหวานซ่อนเปรี้ยว ไว้แบบไม่ถึงโฉ่งฉ่างมากนัก แต่ดูออกอยู่
ว่าวิธีคิด ไม่เหมือนคนธรรมดา ฐานะทางบ้านและการเงินอยู่ในระดับดีเลิศ ถูกเชิญไปร่วมงานสังคมบ้าง ประปราย
จบการศึกษา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 1 ใน 3 แห่ง แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่อังกฤษ หรือยุโรป  2 ปี
บินกลับมาทำงานในองค์กรข้ามชาติขนาดเขื่องๆ รูปร่าง สูงโปร่ง มั่นใจในตัวเอง รักครอบครัว รักเพื่อนเฉพาะก๊วน
ที่สนิทมาตั้งแต่สมัยเรียน มัธยมมาด้วยกัน ซึ่งก็จะมีแค่ไม่กี่คนเท่านั้น ปกติแล้ว เป็นคนติดนิสัยผู้ชาย จากคุณพ่อมาบ้าง
คือไม่แคร์ใครหน้าไหนที่มาเล่นการเมืองในสำนักงานกับเธอ แอบซุบซิบนินทาเจ้านายฝรั่งบ้าง นิดหน่อย พอขำขำ แต่
ที่แน่ๆ เธอชอบ Shopping เป็นชีวิตจิตใจ ซื้อของแต่ละชิ้น ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่ แพงสาแก่ใจเป็นอันมาก เพราะคุณเธอถือ
คติที่ว่า “ต่อให้แพงแค่ไหน ถ้าฉันชอบ ฉันมองว่าดี ฉันซื้อเลย รอทำไม เดี๋ยวคนอื่นคว้าไปละจะอดซะเปล่าๆ” ส่วนเรื่อง
สิ่งแวดล้อมหนะเหรอ “ฉันก็สนใจบ้างนะ แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในชีวิต สนแค่ว่า ถ้าซื้อรถที่ประหยัดน้ำมันไว้หน่อยก็ดี
เพราะที่บ้าน ไม่นิยมให้ติดก๊าซอะไรทั้งสิ้น”

ถ้าคุณเป็นผู้หญิง ที่คิดจะซื้อรถคันนี้ไว้ใช้เอง ด้วยตรรกะวิธีคิดในแบบผู้หญิงยุคใหม่ ผมเชื่อว่า CT200h จะเป็นรถยนต์
ที่เหมาะกับคุณมากๆ มันจะตอบโจทย์การใช้งานได้ดีเลยทีเดียว และถ้าเป็นพ่อบ้าน ที่คิดจะซื้อรถเอาไว้ให้ภรรยา สุดรัก
ขับไปทำงาน มันก็ยังจะเป็นรถยนต์ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นคนหัวคิดทันสมัย และไม่ยึดติดกรอบจำกัด ของ
เธอ ได้ดีมากๆ ต่อให้ถึงขั้นว่า ถ้าคุณเป็นเกย์ควีน มีความเป็นผู้หญิงในตัวสูง ผมก็ยังคงคิดว่า รถคันนี้เหมาะกับคุณอีก
เช่นกัน

แต่ถ้าคุณเป็นผู้ชายแท้ๆ แมนๆ ไปจนถึง เกย์คิง หรือคนที่รักสมรรถนะความแรงเป็นชีวิตจิตใจ ผมคงต้องเตือนกันตรงนี้ว่า
CT200h อาจไม่เหมาะกับคุณเพราะถึงแม้จะมีช่วงล่างที่ดี พวงมาลัยสไตล์รถยนต์ Premium Sport GT ชั้นดี แต่พละกำลังจาก
เครื่องยนต์ Hybrid  มันจะไม่ทันอกทันใจพวกรักความแรงเข้ากระแสเลือดอย่างคุณแน่ๆ และเมื่อขับแล้ว คุณอาจไม่ชอบมัน
ก็ได้

ขอแนะนำให้ไปลองขับก่อน คิดดีๆ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ เพราะรถคันนี้ คนที่คิดจะซื้อ ต้องมีความชื่นชอบในรูปลักษณ์
และมักตัดสินใจซื้อของด้วยอารมณ์ มากกว่ารถยนต์ปกติทั่วๆไป หรือแม้แต่ Toyota / Lexus รุ่นอื่นๆ อยู่เหมือนกัน!

เพราะเพียงแค่ลองขับสักครั้ง ก็จะรู้แล้วว่า คุณควรใช้ชีวิตกับ สาว Hiso Working woman ชอบคิดต่าง คนนี้หรือไม่

—————————————///——————————————–

ขอขอบคุณ / Spacial Thanks :
คุณสรณะ สิริสิงห
และทีม Lexus Group Department
บริษัท Toyota Motor (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้นภาพ Illustration ทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ
Toyota Motor Corporation ประเทศญี่ปุ่น
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
2 กันยายน 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Except all Illustration ,Copyright (c) Toyota Motor Corporation
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
September 2nd,2011

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome! click here!