อยากรู้ไหมครับว่า ทำไมฝนตกใหม่ๆ แล้วทำไมถนนถึงลื่น? เปิดทวิตเตอร์มามีภาพอุบัติเหตุเต็มไทม์ไลน์ไปหมด เรามีวิธีป้องกันการลื่นไถลบนถนนด้วยตัวเองมาเสนอ ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับต้นเหตุของการลื่นไถลในกรณีฝนตกกัน

01

ทำไมถนนถึงลื่น สิ่งสำคัญที่อยู่ตรงกลางระหว่างตัวรถกับถนนก็คือยางรถยนต์ ยางรถยนต์โดนกดทับด้วยน้ำหนักอยู่ติดกับพื้นถนน ก็เกิดแรงเสียดทานขับเคลื่อนไปได้ปรกติ แต่ถ้ามีอะไรมาแทรกตรงกลางระหว่างยางกับพื้นแล้วทำให้แรงเสียดทานนั้นหายไป มันก็จะลื่น

ถนนในกรุงเทพส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตราดทับด้วยแอสฟัลต์ที่ผสมด้วยหินบดเรียกกันว่า “แอสฟัลต์คอนกรีต”

แอสฟัลต์ คือวัสดุชนิดหนึ่งมีลักษณะหนืดเหนียว สกัดมาจาก “ปิโตรเลียม” หรือน้ำมันดิบ “แอสฟัลต์คอนกรีต” ที่ใช้ราดถนนคือนำเอาแอสฟัลต์มาผสมกับหินบด สร้างช่องอากาศให้น้ำระบายออกได้ไม่ขังบนพื้นผิว

02

แล้วทำไมเวลาฝนตกมันถึงลื่นใช่ไหมครับ? อย่างที่กล่าวมาข้างต้นครับ แอสฟัลต์ ถูดสกัดออกมาจากน้ำมันดิบ ฉะนั้นมันก็จะมีความเป็นน้ำมันอยู่นิดๆ น้ำกับน้ำมันมันแยกชั้นกัน เมื่อฝนตก น้ำฝนถ้าระบายออกไม่ทัน มันจะขังเป็นชั้นบางๆอยู่บนผิวถนน ผสมกับฝุ่นบนพื้น คราบไคลของน้ำมันเครื่องรถยนต์ หรือน้ำทิ้งที่รวมไปถึงเศษอาหารปนไปด้วยน้ำมันพืช และ น้ำมันจากไขมันสัตว์ที่แม่ค้าสาดลงมา ยิ่งไปกันใหญ่

ข้อดีของแอสฟัลต์ เมื่อเจอกับอากาศร้อนแบบบ้านเราแล้ว หน้าพื้นผิวมันจะมีความเหนียวอยู่นิดๆ ตอนเราขับรถ หน้ายางของล้อรถเจอความร้อนเหมือนกัน ก็จะเหนียวขึ้น เกิดแรงเสียดทานมากขึ้น มันจะเกาะถนนได้ดีขึ้นครับ ข้อเสียของมันก็มี เมื่อมีสถานะเป็นของเหลวนิดๆ มันเลยไหล และ ย้วยได้ ถ้าเจอน้ำหนักกดทับเยอะๆ เห็นได้จากถนนที่วิ่งข้ามจังหวัด หรือถนนที่มีรถบรรทุกวิ่งผ่านเยอะๆ จะเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก

ถนนคอนกรีตธรรมดาก็เช่นกัน สาเหตุเดียวกับที่อธิบายไปข้างต้น นั่นคือฝุ่น และ คราบไคลน้ำมันเครื่อง จารบี น้ำยาหม้อน้ำ หรือแม้กระทั่งแวกซ์ที่ละลายออกมาจากผิวตัวรถจากรถยนต์สะสมเอาไว้หลายๆเดือนหลายๆวันหลายๆพันคันที่ใช้ถนนเส้นนั้น ไม่ใช่แค่ถนนแอสฟัลต์อย่างเดียว

03

ต่อกันที่เรื่องยางรถยนต์ ยางรถยนต์เป็นสิ่งเดียวของรถยนต์ที่สัมผัสกับพื้นผิวถนน ยางรถยนต์จึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ในขณะฝนตก “ดอกยาง” เป็นพระเอกในการกรุยทางให้น้ำลื่นๆไม่มาแทรกตรงกลางระหว่างยางและพื้นถนน ถ้าดอกยางเราหมด หรือประสิทธิภาพของการรีดน้ำของดอกยางไม่ดีพอ น้ำก็จะเข้ามาแทรกระหว่างหน้าสัมผัสของยางกับพื้นถนน เป็นเหตุให้ลื่นรถเป๋ รถปัด เบรกไม่อยู่

ความทนของเนื้อยาง และดอกยาง แตกต่างกันไปตามยี่ห้อ และรุ่นของยางนั้นๆ แต่โดยทั่วไปเพื่อความปลอดภัยควรเปลี่ยนทุกๆ 4 ปีหรือ 50,000 กิโลเมตร เป็นมาตรฐานที่พอไหวแม้กับยางรุ่นที่แย่ที่สุด บางคนอาจบอกว่าใช้เป็นแสนโลก็ไม่เห็นเป็นไร ดอกก็ยังมี ต้องเตือนว่าดอกยางใครหนา มันก็อยู่ได้นาน แต่เนื้อยางล่ะ เกาะหรือเปล่า

วิธีการเช็คสภาพของยางรถยนต์ด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ เพียงสตาร์ตเครื่อง หมุนพวงมาลัยห้หน้ายางหันออกมา แล้วมองหาสะพานยาง ยางที่อยู่ในสภาพใหม่ ตัวดอกจะมีความสูงประมาณ 1/3 ของเหรียญบาท สะพานยางจะอยู่ลึกลงไปในดอก แต่ถ้ายางสึกจนสะพานยางโผล่ขึ้นมาเสมอกับผิวหน้ายางเมื่อไหร่ ก็ควรเปลี่ยน

วิธีการเช็คสภาพของยางรถยนต์เบื้องต้นด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ

1. สตาร์ทเครื่อง หมุนพวงมาลัย

04

2. ให้หน้ายางหันออกมา

05

3. มองหาสะพานยาง

08

4. ลองวัดดูหน่อย (ง่ายๆก็เอาเหรียญบาทนี่แหละ ลองทาบดู)

06

5. ยางที่อยู่ในสภาพใหม่ ตัวดอกจะมีความสูงประมาณ 1/3 ของเหรียญบาท

07

6. สะพานยางจะอยู่ลึกลงไปในดอก แต่ถ้ายางสึกจนสะพานยางโผล่ขึ้นมาเสมอกับผิวหน้ายางเมื่อไหร่ ก็ควรเปลี่ยน

09

7. เช็คความนิ่มของเนื้อยางได้ด้วยการใช้เล็บจิกลงไป

เช็คความนิ่มของเนื้อยางได้ด้วยการใช้เล็บจิกลงไป ว่าแข็งเป็นขุย หรือยังมีความนิ่มอยู่บ้างหรือไม่ ถ้ามีรอยร้าว รอยแตก บิ่น หรือบวม ก็ควรเปลี่ยนเช่นกัน

11

8. ถ้ามีรอยร้าว รอยแตก บิ่น หรือบวม ก็ควรเปลี่ยนเช่นกัน

10

 

นี่เป็นการตรวจเช็คสภาพยางเบื้องต้น ให้ตัวเราเองนั้นปลอดภัยก่อน ดูแลในสิ่งที่เราทำได้ด้วยตนเองไปก่อน อุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะ เสียทั้งเวลา เสียทั้งทรัพย์สินหรือเสียชีวิต ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุดครับ

ขอให้ทุกท่านขับรถปลอดภัย มีน้ำใจบนถนน สนุกสนานไปกับรถยนต์คันโปรดของท่านในหน้าร้อนที่ฝนตกนี้ครับ

 


 

พันธิตร หมอกพริ้ง
Panthit Morkpring

สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ เป็นผลงานของ ผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของ ผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.facebook.com/panthit.morkpring
31/3/2016

Copyright (c) 2016 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission
is prohibited. First publish in www.facebook.com/panthit.morkpring
31/3/2016