เคยมีใครบางคนใน The Coup Team ของเว็บเราเนี่ยแหละครับ พูดขึ้นมาว่า Brio กลายเป็นชื่อที่
มีความหมายในเชิง “ล้มเหลว”

เฮ้ย! มันเลวร้ายขนาดนั้นเลยเหรอ? ไม่หรอกม้างงงง?

แต่พอมานั่งคิดกันอีกที…ผมก็ไม่แปลกใจนักหรอก ที่ใครจะมองอย่างนั้น

ถ้าจะนับปฏิทิน จากวันที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ เป็นครั้งแรก ย้อนหลังกลับไปยังเดือนมีนาคม 2011
เท่ากับว่า เวลาได้ล่วงเลยจากจุดนั้นมาแล้ว 1 ปี กับอีก 11 เดือน และกำลังจะครบ 2 ปีพอดี

วันที่ Honda ประกาศเปิดตัว น้องเล็กคันสุดท้อง ที่พวกเขาซุ่มพัฒนา เพื่อเอาชนะข้อกำหนดของ
โครงการ ECO Car รวมทั้งข้อจำกัดและอุปสรรคภายในองค์กรมากมาย แต่ดูเหมือนว่า พวกเขา
กลับต้องเผชิญความท้าทายและคลื่นปัญหาลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก ยิ่งกว่าคาดคิด เพราะ
ไม่เคยอยู่ในแผนเตรียมการรับมือใดๆมาก่อน!

ทั้งคลื่น จาก สึนามิ ที่พัดถล่มญี่ปุ่น จนปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งเกาะ ก่อนวันเปิดตัวเพียง สัปดาห์เดียว
ทั้งคลื่น จาก มวลน้ำ ฝีมือมนุษย์ พัดเข้าถาโถมโจมตี โรงงาน Honda ในนิคมอุตสาหกรรม โรจนะ
ในอีกเพียง 7 เดือนถัดมา

แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่ากับ คลื่นความคิดเห็นจากมหาชนทั่วทุกสารทิศ ที่มอง Brio ในแง่ลบ มากกว่า
จะมองมันในแง่บวก อันเป็นผลมาจาก ตัวรถที่ดู Look Cheap เมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การออกแบบบั้นท้ายของรถที่ ไม่ลงตัว สั้นเกินไป และเหลือพื้นที่ระยะห่าง ระหว่างเบาะหลัง จนถึง
เปลือกกันชนท้าย ในความยาวที่พอกันกับบั้นท้าย ของ รถตุ๊กๆ !!!!

และที่ต้องขอตำหนิกันตรงๆ แรงๆ ก็คือ Brio เป็นรถยนต์ Hatchback ประกอบในประเทศไทย
ขายในเมืองไทย ประเทศที่ฝนตกได้ตลอดทั้งปี แต่ดันไม่มีใบปัดน้ำฝนหลังมาให้! จนมีคนล้อว่า
ควรแถมผ้าชามัวร์ให้สักผืน เวลาฝนตกจนล้อดีดฝุ่นโคลนขึ้นมาแปะจนกระจกหลังมัว จะได้
จอดรถข้างทาง แล้ว เอาผ้าชามัวร์ ชุบน้ำแล้วเช็ดออกเอาเอง!

เรื่องมันน่าเศร้ามากขนาดว่า ประธานของ Honda Automobile Thailand คนก่อน ซึ่งดำรง
ตำแหน่ง ในช่วงเวลานั้นพอดี เคยเปรยๆไว้เลยว่า….

“ถ้าเป็นไปได้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะเลือก ไม่เปิดตัว Brio ในตอนนั้น”

ดูเหมือนว่า ข้อดีที่เพิ่มขึ้นมาจาก การเป็นรถยนต์ท้ายตัดคันกระเปี๊ยก ที่ขับสนุกพอประมาณ และ
เอาไปตกแต่งต่อยอด ให้แรงขึ้น พร้อมเข้าสนามแข่งได้ จะมีเพียงข้อเดียว นั่นคือ “รับรถได้ทันที”

ก็แหงสิครับ คุณผู้อ่าน เล่นผลิตออกมาเยอะ แต่จอดค้างสต็อกกันบานเบอะ ขายไม่ออกเลยทีเดียว
ถึงขั้น ต้องงัดสารพัดวิธีผลักดันยอดขายกันตาลีตาเหลือก เอาง่ายๆ ตั้งแต่ Honda เริ่มมาผลิตรถยนต์
ขายในเมืองไทย คุณเคยเห็นพวกเขา จัดแคมเปญ ดอกเบี้ย 0% ให้กับรถใหม่ล่าสุดที่เปิดตัวได้ยัง
ไม่ทันครบปี บ้างไหมละ? ถ้าไม่เคย Brio Hatchback ก็น่าจะเป็นรถยนต์รุ่นแรกในประวัติศาสตร์
ที่ Honda เมืองไทยถึงขั้นต้องยอมทำแบบนี้

แค่ออกแบบบั้นท้ายไม่สวย ดูไม่มั่นใจในความปลอดภัยขณะใช้งาน จะพาลลุกลามไปทำให้
ชะตากรรมของ Brio Hatchback เป็นไปได้ถึงเพียงนี้เลยเชียวหรือ?

ครับ ใช่ มันเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นไปแล้ว และสิ่งที่ Honda ควรทำก็คือการ “กู้หน้า โดยแก้บั้นท้าย”

1 ปีกับอีก 9 เดือนผ่านไป Honda ส่งหมายเทียบเชิญ ชวนไปขับ Sedan ขนาดเล็ก เครื่องยนต์
1.2 ลิตรคันใหม่ ที่สนามแก่งกระจาน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2012 ไม่ต้องเดา ก็รู้ได้ทันทีว่า
“ปฏิบัติการณ์การ กู้หน้า โดยแก้บั้นท้าย” น่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว และพร้อมจะออกสู่สายตา
ชาวโลก เป็นครั้งแรกที่เมืองไทย

Honda ใช้เวลากับโครงการนี้ ไม่นานอย่างที่คิด เล่นเอาแทบทุกคน ทุกค่าย ในอุตสาหกรรม
ยานยนต์เมืองไทย ถึงกับอึ้งกิมกี่ไปตามๆกัน เพราะน้อยคนมากๆ จะทราบว่า Honda เร่ง
ส่ง Brio AMAZE ออกมาขายในเมืองไทย ให้ทัน งาน Motor Expo สิ้นปีนี้ให้จงได้

คิดดูแล้วกันว่า ขนาดผมเอง ยัง “ตกข่าว” และ “ไม่คิดมาก่อนว่า Honda จะทำได้!”

เพราะตามแผนเดิมแล้ว Brio AMAZE จะต้องเปิดตัวในเดือน มีนาคม 2013 การที่ Honda
พยายามเร่งการทำงานในส่วนของการเตรียมขออนุญาตผลิต และประกอบรถยนต์ รวมทั้ง
ขั้นตอนอื่นๆ สารพัดยิบย่อย ก่อนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นนี้ออกสู่ตลาด ถือเป็นความพยายาม
ที่ “ไม่ธรรมดา”

การเร่งทำงานมากขนาดนี้ จะส่งผลให้ตัวรถออกมา ด้อยกว่าที่ควรเป็นหรือไม่?

เท่าที่ผมใช้ชีวิตกับ Brio AMAZE มา 2 คัน 2 สัปดาห์เต็ม ผมพบว่า “ยังไม่เจอเรื่องอะไร หรือ
ข้อบกพร่องร้ายแรงใดๆ ให้กังวลแบบนั้นเลย”

อย่าลืมนะครับว่า เป้าหมายของ Brio AMAZE นั้น มันสำคัญกว่าแค่การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
ธรรมดาๆ ทั่วไป 1 รุ่น เพราะหน้าที่สำคัญของรถรุ่นนี้ คือ จะต้องมากอบกู้ชื่อและภาพลักษณ์
ของตระกูล Brio ให้ฟื้นกลับคืนมา อย่างน้อยๆ ก็ต้องแข่งขันในตลาดให้ได้

สำหรับ Honda  แล้ว Brio AMAZE ถือเป็นรถยนต์รุ่นที่ 10 ของพวกเขา ที่เปิดตัวในเมืองไทย
ตลอดปี 2012 อันเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการรถยนต์เมืองไทยว่า Honda เป็น
บริษัท ที่เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของตน มากที่สุดในระยะเวลาเพียงปีเดียว เป็นสถิติที่ไม่เคยมี
บริษัทรถยนต์รายใดก็ตาม ซึ่งมาทำธุรกิจอยู่ในเมืองไทย เคยทำได้มาก่อน

Brio AMAZE เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกัน ระหว่าง ทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น กับชาวไทย จากศูนย์
วิจัยและพัฒนารถยนต์ Honda R&D ประจำภูมิภาค Asia Pacific ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย

Atsushi Arisaka  LPL (Large Project Leader) หัวหน้าทีมวิศวกรพัฒนาโครงการ Brio AMAZE
จาก Honda R&D Asia Pacific Co.,ltd. เล่าว่า เขาตั้งใจสร้างรถยนต์คันนี้ขึ้นมา ด้วยแนวคิดต่อยอด
จาก Brio รุ่นเดิม โดยวางแนวทางไว้ให้เป็น Small Micro Limousine คือ เน้นความคล่องตัว ขับง่าย
กระทัดรัด แต่มีพื้นที่ด้านหลังนั่งสบาย โดยยึดหลักการออกแบบดั้งเดิมของ Honda นั่นคือ แนวทาง
ที่ว่า  “Man Maximum Machine Minimum” ที่เน้นให้ความสำคัญต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร มากกว่า
และต้องหาทาง ย่นย่องานวิศวกรรม ให้มีขนาดเล็กที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ Brio AMAZE
คล่องตัวแต่กว้างสบาย ขับสนุกแต่ประหยัดน้ำมัน และมีความปลอดภัยครบถ้วน

แน่นอนว่า ปัจจัยที่ทำให้ Honda ต้องเร่งเปิดตัว Brio AMAZE นั้น หลักๆแล้ว มี 2 ประเด็นด้วยกัน

ประการแรก พวกเขาหวังจะเร่งฟื้นตัวให้เร็วที่สุดจากเหตุกาณ์ มหาอุทกภัย ในเขตพื้นที่ราบลุ่ม
ภาคกลางของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2011 ในเวลานั้น โรงงาน Honda ในนิคม
อุตสาหกรรม โรจนะ เจอมวลน้ำอันเกิดจากฝีมือการปล่อยน้ำของ”มนุษย์” เข้าท่วมจนจมมิดไป
หลายเดือน และต้องทำลายรถยนต์ กว่าพันคันทิ้ง บูรณะโรงงานให้เสร็จใน 3 เดือน เท่ากับว่า
รวมเวลาแล้ว Honda ไม่ได้ผลิตรถยนต์ไปนานถึง 6 เดือน เสียหายประเมินค่ามิได้ ผลก็คือ
มาปี 2012 พวกเขาจำเป็นต้องเร่งทวงคืนยอดขายและการเสียโอกาสได้รายได้ ที่หายไป กลับ
คืนมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ประการที่ 2 ก็คือ ในเมื่อ ปี 2011 – 2012 รัฐบาลไทย เปิดตัวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชน
ได้มีสิทธิ์ซื้อรถยนต์คันแรก โดยให้ส่วนลดทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท จน
เกิดเหตุการ์ยอดขายรถยนต์ ล้นเกินความต้องการของทุกค่าย

Honda เองก็เช่นกัน จากเดิมที่วางแผนเปิดตัว Brio AMAZE ไว้ในเดือนมีนาคม 2013 กลับต้องมา
เร่งพัฒนา และดำนินการด้านต่างๆ เพื่อให้ Brio AMAZE สามารถเปิดตัวได้ทันกำหนดเวลาใน
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2012 ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ “ครั้งแรกในโลก” ของรถยนต์
รุ่นนี้ ซึ่งทำให้ลูกค้าได้ใช้สิทธิ์ส่วนลดภาษีในโครงการรถคันแรก ได้เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนโครงการ
“รถคันแรก” จะหมดเขตลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2012 ที่ผ่านมา

Brio AMAZE มีความยาว 3,990 มิลลิเมตร กว้าง 1,680 มิลลิเมตร สูง 1,485 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ
ยาว 2,405 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หน้า (Front Tread) 1,480 มิลลิเมตร ความกว้างช่วงล้อคู่หลัง
(Rear Tread) 1,465 มิลลิเมตร ความสูงใต้ท้องรถ (ระยะห่างจากพื้นถนนจนถึงพื้นใต้ท้องรถ) อยู่ที่
150 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว มีตั้งแต่ 925 , 935 , 960 และ 965 กิโลกรัม ตามแต่ละรุ่นย่อย และรุ่นเกียร์
ธรรมดา น้ำหนักจะเบากว่าเกียร์อัตโนมัติ เป็นปกติ

เมื่อเทียบกับ Brio Hatchback แล้ว จะพบว่า Brio AMAZE ยาวกว่า Brio 5 ประตู ถึง 380 มิลลิเมตร
และมีระยะฐานล้อ ยาวขึ้นอีกถึง 60 มิลลิเมตร แต่ยังคงความกว้าง และความสูงไว้เท่ากันกับ Brio 5 ประตู
อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานอย่างหนัก ของทีมวิศวกร ส่งผลให้ น้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น จากรุ่น Hatchback
น้อยมากๆ เพียง 26 กิโลกรัม เท่านั้น!!

หลายๆคนอาจมองว่า ทำไมรถมันสั้นกุดขนาดนี้ ทำไมไม่ทำบั้นท้ายให้ยื่นต่อออกมาอีกหน่อย
เหตุผลที่แท้จริงก็คือ Brio AMAZE นั้น ไม่เพียงแค่ต้องทำตลาดในเมืองไทย หากแต่ยังต้องถูก
ผลิตขายในประเทศอินเดีย อันเป็นตลาดหลักอีกแห่งหนึ่งของรถยนต์รุ่นนี้ และในอินเดียเอง
ก็มีนโยบายจากรัฐบาล คล้ายๆกับนโยบายรถคันแรกของไทยนั่นแหละ..ว่า ถ้ารถยนต์นั่งผลิต
ในประเทศอินเดีย รุ่นใด มีความยาวตัวถังไม่เกิน 4 เมตร รถยนต์รุ่นนั้นจะได้รับสิทธิพิเศษ
เสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่ารถยนต์ธรรมดาทั่วๆไป ทำให้ราคาขายปลีก ถูกลงไปอีก

ดังนั้น เพื่อให้ Brio AMAZE มีราคาถูก พอที่ลูกค้าจะซื้อหามาขับขี่ใช้งาน เสริมประสบการณ์
หรรษาให้ครอบครัวรถคันแรก กันได้ ทั้งในอินเดีย และเมืองไทย ก็ต้องมีตัวถังที่ยาวไม่เกิน
4 เมตร อย่างที่เห็นนี่แหละ!

งานออกแบบครึ่งคันหน้า ก็ยกชุดมาจาก Brio Hatchback ทั้งดุ้นเลยนั่นละ โดยเฉพาะชิ้นส่วน
ตัวถังที่เป็นเหล็กทั้งหมด กระจกบังลมหน้า บานประตูคู่หน้า ไปจนถึงเสาหลังคาคู่กลาง B-Pillar

แต่สิ่งที่แปลกตาออกไป จะมีแค่ ลวดลายของกระจังหน้าแบบใหม่ ที่ช่วยให้ตัวรถดูหรูขึ้นนิดๆ ต่างจาก
Brio Hatchback ซึ่งดูธรรมดาๆไปหน่อย รวมทั้งเปลือกกันชนหน้า ที่พ่นสีเดียวกับตัวถัง ทั้งหมด ผิดกับ
Brio Hatchback ซึ่งจะมีการพ่นสีดำ ไว้ในบริเวณลวดลาย Graphic รอบๆ ช่องดักรับอากาศด้านหน้า
เข้าสู่หม้อน้ำ

ประตูทั้ง 4 บาน ยังคงพ่นสีเดียวกับตัวรถ แทนที่จะใช้สติ๊กเกอร์สีดำ แปะเพิ่ม เพื่อให้ตัวรถดูหรูและ
มีราคามากขึ้น เหตุผล ไม่มีอะไรมาก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยต่อคัน อาจหมายถึงผลกำไรต่อ
รถแต่ละคันที่ขายไป ย่อมลดลงไปเป็นธรรมดา เมื่อรวมกันมากๆเข้า มันก็เป็นเม็ดเงินที่มากโขอยู่
นี่เป็นเรื่องปกติของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบางที ผู้บริโภค ก็ได้แต่ต้องทำใจ

จะว่าไปแล้ว ถ้าในรุ่นท็อป จะแปะสติ๊กเกอร์ สีดำ บนเสากรอบประตูทั้ง 4 บานมาให้ ก็น่าจะช่วยเพิ่ม
ความสวยงามให้กับตัวรถ และสร้างความแตกต่างทางสายตา ระหว่างรุ่นท็อป กับรุ่นมาตรฐาน ในมุม
ของผู้บริโภคได้อีกระดับหนึ่ง

อีกจุดเด่นในการออกแบบของรถคันนี้ อยู่ที่ แนวเส้นคาดด้านข้างลำตัวของรถ ซึ่งในเมื่อต้องใช้
บานประตูคู่หน้าเหมือนกับ Brio Hatchback ดังนั้น ถ้าบานประตูคู่หลัง จะไม่มีเส้นสายกราฟฟิก
อื่นใดอยุ่เลย จะทำให้ตัวรถดูโล่ง ไม่สวย และไม่สมสัดส่วน

ดังนั้น เส้นคาดข้างอันไม่มีที่มาที่ไป จึงถูกลากขึ้นมา จากตอนกลางของบานประตู ไปบรรจบกับ
มุมแหลมของชุดไฟท้าย ดูเผินๆ คล้ายมีตัว Z อยุ่ตรงกลางลำตัวรถ เพิ่มความโฉบเฉี่ยวขึ้นมาได้อีก
ถือเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดมาก

งานออกแบบด้านหลังของรถ มีข้อจำกัดในด้านความยาวของตัวรถทั้งคัน ที่จะต้องไม่เกิน 4 เมตร
ดังนั้น โจทย์ก็คือ ทำอย่างไร ให้ผู้โดยสารด้านหลัง ยังคงนั่งสบาย มีพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
เยอะ  ตัวรถต้องดูโปร่ง อยู่บนพื้นฐานของความกระทัดรัด

ผลที่ออกมา ก็เป็นอย่างที่เห็น แนวหลังคาจากกึ่งกลางตัวรถ ไม่ได้ลาดลงไปมากนัก เพราะต้องการ
ให้พื้นที่เหนือศีรษะของผู้โดยสารด้านหลัง มีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กระจกบังลมหลัง จึงต้อง
ตั้งชันกว่าที่ควรเป็นเล็กน้อย และนั่นส่งผลให้ บั้นท้ายของรถ ดูสั้นกุดจุ๊ดจู๋ มู่ทู่กว่าที่ควรเป็น

แต่กรอบกระจกหน้าต่าง ทุกบาน ก็ถูกออกแบบมาให้เน้นความปลอดโปร่ง โล่งสบาย เพื่อให้
ทัศนวิสัยรอบคันรถ ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แถบโครเมียมเหนือช่องใส่ป้ายทะเบียนหลัง
ติดตั้งมาให้เชื่อมกับชุดไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง เพิ่มความหรูให้กับตัวรถมากยิ่งขึ้น จนผมเองต้อง
ตั้งคำถามเลยว่า…

“ทำไมทีมออกแบบ Honda ถึงไม่ทำไฟท้ายแบบนี้ มาให้กับ City รุ่นปัจจุบันกันตั้งแต่แรก (วะ) ?”

ทุกรุ่นย่อย ให้ล้ออัลลอย 14 นิ้ว  มาให้ครบทั้ง 4 ล้อ สวมเข้ากับยาง Michelin ENERGY XM2
ขนาด 175/65 R14 ซึ่งเป็นยางสเป็กพิเศษ ที่ Honda คุยกับ Michelin จัดมาให้กับ Brio ทั้ง 2 ตัวถัง
แม้จะรู้ว่า นี่เป็นยางที่ออกแบบมาเน้นให้ประหยัดน้ำมัน แรงเสียดทานต่ำ แต่การเกาะถนนนั้น
ยังเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันในช่วงต่อไป ข้างล่างของบทความนี้

กลายเป็นว่า งานออกแบบของ AMAZE นั้น ลูกค้าคนไทย เฉยๆ มองว่ามันเป็นเรื่องแปลกที่บั้นท้ายของรถ
สั้นกุดขนาดนี้ ที่ไหนได้ พอทีมงานของ Honda India บินมาดูรถต้นแบบที่เมืองไทยปุ๊บ พวกเขากลับกรีดร้อง
ไชโยโห่ฮิ้วลั้น Studio ออกแบบเลย “อีนี่ นายจ๋า Design แบบนี้ รับรองขายดีที่ India แดนโรตีแน่นอน!!”

แล้วมันก็เป็นไปตามความคาดหมาย Brio Amaze อาจขายไม่ออกในเมืองไทย แต่มันไปขายดีระเบิดเถิดเทิง
ที่ แดนภารตะ เสียอย่างนั้น!!

การเข้าออกจากรถนั้น Brio AMAZE ทุกรุ่น ให้กุญแจ พร้อมสวิชต์รีโมทคอนโทรล และ
ระบบ Immobilizer ฝังมาให้ในตัว หน้าตานี่เหมือนกับ กุญแจของ Honda City กับ Jazz
รุ่นปัจจุบัน ไม่มีผิด มีครั้งนึง ผมรีบออกจากบ้าน แล้วคว้ากุญแจ City คันที่บ้านมาโดย
ไม่ทันมองว่า พวงกุญแจด้านหลังมันไม่ใช่ของ Brio นี่หว่า พอจะมากดปุ่มปลดล็อก
ถึงได้รู้ว่า เฮ้ย! หยิบกุญแจมาผิดรุ่นผิดคัน!

การติดเครื่องยนต์ ใช้วิธีบิดกุญแจที่คอพวงมาลัย เหมือนเคย ส่วนสัญญาณกันขโมยมาให้
เฉพาะในรุ่น V ทั้งเกียร์ธรรมดา และ เกียร์อัตโนมัติ ส่วนรุ่น S ไม่มีมาให้แน่นอน

ตั้งข้อสังเกตไว้ว่่า มือจับประตูทั้ง 4 บาน ยังคงค่อนข้างบอบบางกว่ารถทั่วไปนิดหน่อย แค่
จับและโยกเฉยๆ ก็สามารถให้ตัวได้แล้ว ทั้งที่ Jazz กับ City ก็ยังออกแบบมาได้แข็งแรงมาก
กว่านี้ชัดเจน สรุปว่า ก็ยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงในเรื่องนี้ เหมือนเดิม

เนื่องจาก ห้องโดยสารของ รถรุ่น V ที่นำมาทำรีวิวในครั้งนี้  ทั้งรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และเกียร์
ธรรมดา มีหน้าตา รูปแบบ เหมือนกันเปี๊ยบ ต่างกันแค่ คันเกียร์ ตามระบบส่งกำลังที่ต่างกัน
เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้คุณผู้อ่าน ศึกษาได้สะดวก และผู้เขียน ก็เขียนและจัดเตรียมบทความ
รีวิวนี้ ได้สะดวกและประหยัดเวลายิ่งขึ้น (พูดกันแบบไม่อ้อมค้อมเลยก็คือ “ขี้เกียจ” นั่นละ!)
ผมจึงขอนำเสนอ ภาพถ่ายเฉพาะห้องโดยสาร รุ่น V เกียร์อัตโนมัติ เพียงแบบเดียวนะครับ

การเข้าออกจากเบาะนั่งคู่หน้า ยังคงทำได้ค่อนข้างดี และไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เช่นเดียวกัน
กับ Brio Hatchback ก็แหงละ ครึ่งคันหน้า เหมือนกันแทบจะทุกชิ้นส่วน ถ้ารุ่น AMAZE
ก้าวขึ้นไปนั่งแล้ว ไม่สะดวกสบาย ผมว่า มันไม่ใช่รถหรอกที่มีปัญหา แต่ตัวผมเองนั่นละที่อาจ
มีปัญหา ว่ากินยาผิด นอนหลับไม่พอหรือเปล่า? เพราะไม่ว่า สรีระของคุณจะสูงใหญ่ เป็นฮิปโป
หรืออ้วนมักกักขนาดตาแพน Commander CHENG! แห่ง Headlightmag.com ของเรา
ก็ตาม คุณก็ยังคงสามารถเข้าออก จากรถผ่านประตูคู่หน้าของ Brio ได้ดีพอกันกับทั้ง Jazz
และ City รุ่นปัจจุบัน แน่นอนครับ

แต่สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ แผงประตูด้านข้าง ของ Brio AMAZE นั้น ตอนนี้ ถึงรูปร่าง
จะเหมือนกับรุ่น Hatchback มีช่องวางขวดน้ำ 7 บาท มาให้ 1 ตำแหน่ง ทั้ง 2 ฝั่ง และยัง
วางแขนได้ดีเหมือนเดิม ก็จริงอยู่

ทว่า คราวนี้ แผงประตูของ AMAZE นั้น มีการปิดแผงทึบ ทั้งแผ่น ไม่ต้องมานั่งทนเห็น
แผงเหล็กสีตัวถัง อย่างในรุ่น Hatchback ล็อตแรกๆ กันอีกต่อไป ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดี
อันควรจะมีมาตั้งแต่รถรุ่น 5 ประตู ล็อตแรกๆแล้ว

ขอแสดงความยินดีกับคุณผู้อ่านที่คิดจะซื้อ AMAZE ใหม่ และขอแสดงความเสียใจกับ
ผู้ที่ซื้อ Brio รุ่นHatchback ไปก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยเลย โดยพร้อมเพรียงกัน!

พื้นที่สำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้า ฝั่งซ้าย ยังคงมีขนาดเหมาะสม สะดวกสบาย
และลงตัว สมกับราคา ขนาดพื้นที่ ใหญ่พอๆกันกับ Honda Jazz และ City รุ่นปัจจุบัน

เบาะนั่ง โครงสร้างเบาะนั่ง ยังคงเหมือนกันกับ Brio Hatchback คือถูกออกแบบให้พนัก
ศีรษะ รวบเป็นชิ้นเดียวกันกับ พนักพิงหลัง จนดูคล้ายๆ กับเบาะคู่หน้าของ Honda CR-Z
รถสปอร์ตขนาดเล็ก ขุมพลัง Hybrid เสียด้วยซ้ำ! เบาะรองนั่งมีขนาดกำลังดี ยาวพอกัน
กับ Jazz และ City รุ่นปัจจุบัน (ปี 2012) แต่ถ้ายาวกว่านี้อีกนิดเดียว ก็จะดีขึ้นอีก เพราะ
มันสั้นไปนิดนึงสำหรับคนตัวสูงเกิน 175 เซ็นติเมตร หรือคนที่มีช่วงต้นขา ยาวเป็นก้าน
ทุเรียน ที่สำคัญ พนักพิงหลัง ไม่ทำให้ผมรู้สึกปวดหลังขณะขับขี่นานๆแต่อย่างใด อาจมี
อาการเมื่อยนิดหน่อย แต่ก็ไม่มากนัก ถือว่าเป็นเบาะนั่ง ของรถยนต์ราคาประหยัดที่ดีใช้ได้

มีการเปลี่ยนลายผ้าเบาะตรงกลางเสียใหม่ ให้สะอาด สว่างตา และเป็นโทนสีเดียวกันกับ
ช่วงปีกเบาะมากขึ้น ผมชอบลายผ้าหุ้มเบาะของ Amaze มาก เพราะบริเวณที่ต้องสัมผัสกับ
แผ่นหลังนั้น มีพื้นผิวที่ลื่นและเนียนมาก ไม่แข็งหรือสากอย่างที่พบเจอได้ในเบาะของ
รถคันอื่น ผ้าแบบนี้มีข้อดีคือผิวสัมผัสก็จริง แต่ผมก็แอบห่วงอยู่บ้าง ถ้าหากเจอของเหลว
หยดใส่ สภาพจะออกมาเป็นดวงๆ หรือเปล่า ข้อนี้ ไม่กล้าลองครับ รถยังใหม่อยู่

ตำแหน่งนั่งขับ ไม่แตกต่างจาก Brio Hatchback เลย แม้จะไม่มีก้านโยกปรับระดับสูง – ต่ำ
ของเบาะคนขับมาให้ ทำได้แค่ เลื่อนขึ้นหน้า – ถอยหลัง และปรับเอนนอน แต่ ผมแทบจะ
ไม่ได้ยินใคร หรือไม่มีใครบ่นถึงตำแหน่งคนขับของ Brio และ Brio AMAZE ให้ฟังกันเลย
มันลงตัวดีมากๆ ติดตั้งมาในความสูงที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่เตี้ย ไม่สูง จนเกินไป อีกทั้งพื้นที่
เหนือศีรษะ ก็ยังโปร่งโล่งสบายระดับกำลังดี ตำแหน่งวางขา ถือว่า อยูในระดับมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม จะดีกว่านี้ ถ้าตำแหน่งเบาะคนขับ ที่น่าจะมีคันโยกปรับระดับสูง – ต่ำ มาให้
กันเสียที เช่นเดียวกันกับ เข็มขัดนิรภัย แบบ ELR 3 จุด ทั้ง 2 ฝั่ง ควรจะปรับระดับ สูง – ต่ำ
ได้แล้ว เพราะ ทั้ง 2 รายการนี้ คืออุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถยนต์ยุคใหม่ หลังปี 2010 ก
กันหมดแล้ว

ความแตกต่างที่ชัดเจนมากที่สุด ระหว่าง Brio Hatchback กับ Brio AMAZE อยู่ที่จุดนี้ครับ
ตั้งแต่เสาหลังคากลาง B-Pillar เป็นต้นไป จนถึงบั้นท้ายของรถ พื้นที่โดยสารด้านหลัง ซึ่ง
เพิ่มขึ้นจากรุ่น Hatchback มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การเข้า -ออกจากบานประตูคู่หลัง ทำได้ดีกว่า Brio Hatchback แต่แน่นอนว่า บานประตู
คู่หลังของ Nissan Almera มีขนาดใหญ่กว่า ดังนั้น การเข้า-ออก จะทำได้สบายกว่าเจ้า
AMAZE อยู่นิดหน่อย

แต่สิ่งที่ AMAZE จะได้เปรียบก็คือ การทำแนวขอบเสากรอบประตู ให้โค้งมน และยาว
ต่อเนื่องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ โอกาสที่ศีรษะ ของคนทั่วไป จะโขกกับกรอบ
ประตูนั้น ลดลง (ยกเว้นศีรษะของผม ที่เผลอโขกโป๊กเข้าไปแล้วเบาๆ รอบนึง)

พื้นที่วางแขนบนแผงประตูด้านหลัง อยูในเกณฑ์ใช้งานได้ แอบเตี้ยไปนิดนึงถ้าคิดจะ
วางข้อศอกกระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง เลื่อนลงได้ไม่สุดขอบ

นอกจากนี้ แผงประตูหลังของ Brio AMAZE ยังออกแบบให้มีช่องใส่ขวดน้ำดื่ม 7 บาท
มาให้ ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง หรือจะใส่กระป๋องน้ำอัดลม ก็ลงล็อกได้พอดีเป๊ะ

ในเมื่อ เปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนตัวถังด้านท้ายทั้งหมดแล้ว เบาะนั่งด้านหลัง ก็ต้องเป็นอีก
ชิ้นส่วนสำคัญ ที่ถูกยกระดับให้ดีขึ้นจาก Brio Hatchback ด้วยเช่นเดียวกัน

เบาะนั่งด้านหลังของ Brio AMAZE มีความกว้าง 1,351 มิลลิเมตร สูง 596 มิลลิเมตร
พนักพิงหนา 102 มิลลิเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับเบาะหลังของ Brio Hatchback เดิม ซึ่ง
มีความกว้าง 1,100 มิลลิเมตร สูง 530 มิลลิเมตร และพนักพิงหนา 82 มิลลิเมตร จะพบว่า
เบาะหลังของ AMAZE กว้างกว่า 251 มิลลิเมตร สูงกว่า 66 มิลลิเมตร และหนาขึ้นอีกถึง
20 มิลลิเมตร

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเบาะหลังของ Honda City รุ่นปี 2008 – 2012 ที่กว้าง 1,201 มิลลิเมตร
สูง 644 มิลลิเมตร และหนา 76 มิลลิเมตร แล้ว จะพบว่า เบาะของ AMAZE ก็ยังใหญ่โต
กว่าเบาะของ City เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ความสบายจากการนั่งบนเบาะหลัง
ของ Brio AMAZE อยู่ในเกณฑ์พอๆกันกับ City เลยทีเดียว

เพราะเมื่อคนตัวสูง 171 เซ็นติเมตร อย่างผม หย่อนก้นลงไปนั่งแล้ว พบว่า พนักพิงหลัง
นั่งสบายกว่าที่คิด ส่วนเบาะรองนั่งนั้น ถ้าเป็นคนที่มีช่วงต้นขาสั้นอย่างผม จะนั่งได้เต็ม
หมดช่วงขาพอดี แต่เสียดายว่า ขอบด้านนอก ชิดกับประตูทั้ง 2 ฝั่ง แอบมีการปาดเบาะไว้
ให้เห็นอยู่ จึงทำให้ยังนั่งสบายแต่ไม่ถึงที่สุด ส่วนพนักศีรษะ มาในแบบคล้ายๆ หมอน
ข้างของคนแคระ แปะเอาไว้ อาจจะไม่ค่อยโดนใจกับคนตัวสูง เพราะจะรองรับเฉพาะ
ต้นคอพอดี แต่ถ้าเป็นคนตัวเล็ก น่าจะมีความสุขมากกว่า

ฟองน้ำในเบาะรองนั่ง และพนักพิงหลัง นุ่มและแน่นกำลังดี ลืมเบาะนั่งของ Brio
5 ประตูไปได้เลย ส่วนพนักวางแขนตรงกลางพนักพิงด้านหลังแบบพับเก็บได้ พร้อม
ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่ง แบบไม่มีฝาปิด เตี้ยไปนิดเดียว วางแขนได้ แต่วางข้อศอกยัง
ทำได้ไม่เต็มที่

จุดเด่น และถือเป็นจุดขาย ที่ Honda คาดหวังให้ลูกค้า AMAZE กับเจ้าเปี๊ยกรุ่นใหม่คันนี้
ของพวกเขา อยู่ที่ พื้นที่วางขา ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากกว่าที่คิด!!! อาจไม่ยาวเท่ากับ Almera
แต่ถือว่า ยาวจนชวนให้เข้าใจเลยว่า ไอ้คำว่า AMAZE ที่ Honda เลือกมาตั้งชื่อรถรุ่นนี้ ก็คง
เป็นเพราะพื้นที่โดยสารด้านหลัง ที่ใหญ่โตพอกันกับรถยนต์นั่ง B-Segment 1.6 ลิตร หรือ
C-Segment 1.6 – 1.8 ลิตร ทั้งที่ขนาดตัวรถ สั้นไม่เกิน 3,990 มิลลิเมตร แค่นั้นเลย

อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยที่เห็นได้ชัด ก็คือ พนักพิงเบาะหลัง ไม่สามารถแบ่งพับได้เลย ยึดติด
ไว้ตายตัว อีกทั้ง ตำแหน่งวางแขนของแผงประตูนั้น ถึงจะวางแขนได้ แต่ข้อศอกจะติด
อยู่กับบริเวณขอบด้านนอกของพนักพิงเบาะทั้ง 2 ฝั่ง ที่ถูกออกแบบให้มีปีกข้างเบาะใหญ่
และกินพื้นที่มาถึงแผงประตูด้านข้างกันเลยทีเดียว

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง มีทั้งแบบ ELR 3 จุด ติดตั้ง 2 ฝั่ง ซ้าย – ขวา และ
แบบคาดเอว ELR 2 จุด สำหรับผู้โดยสารตรงกลาง

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง เปิดออกได้ด้วย 2 วิธี คือ ดึงคันโยกเล็กๆ ตำแหน่งเดียวกับที่เปิด
ฝาถังน้ำมัน หรือไม่ช่นนั้น ก็ต้องไขกุญแจ ที่รูด้านหลัง บริเวณฝั่งขวาของช่องใส่ป้ายทะเบียน
แม้ใสนรุ่น Hatchback จะปล่อยขอบ้านล่างของช่องทางเข้าห้องเก็บของให้เปลือยเปล่า แต่
ใน Brio AMAZE มีพลาสติก กันกระแทก แปะมาให้จากโรงงาน

พื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังที่ยื่นออกมานั้น แบ่งเป็น พื้นที่หลัก ขนาด 400 ลิตร ตามมาตรฐาน
VDA เยอรมัน และ หลุมสำหรับใส่ยางอะไหล่ และข้าวของอีกนิดหน่อย 20 ลิตร รวมแล้วมี
ปริมาตร 420 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA ซึ่งถือว่า มีขนาดใหญ่โตกว่า สิ่งที่สายตาคุณจะได้เห็น
จากภายนอกตัวรถ Arisaka-San บอกว่า รถคันนี้ ใส่กระเป๋าเดินทางใบเขื่องได้ 2 ใบ หรือใส่
ถุงกอล์ฟ ได้ 2 ใบพอดี

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะถาดรีไซเคิล และเมื่อยกถาดที่ว่าขึ้น ก็จะพบยางอะไหล่ขนาด
T115/70 D14 พร้อมเครื่องมือประจำรถ จากโรงงานมาให้ในสภาพอย่างที่เห็นอยู่นี้ ทุกรุ่นย่อย
และทุกคัน

แผงหน้าปัด ถอดยกชุดจาก Brio Hatchback มาแปะใส่ไว้ให้เลยเสร็จสรรพ เพียงแต่มีการปรับ
เปลี่ยนโทนสีของ ฝาปิดช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสาร จากสีเบจ เหมอนแผงประตู มาเป็นสีดำ เพื่อ
ให้ดูเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกันทั้งแผงหน้าปัดมากขึ้น เป็นแผงหน้าปัดที่ออกแบบมาให้เน้น
การใช้งานที่สะดวกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่การวางตำแหน่งช่องแอร์ ที่ดูเหมือนว่า Honda
ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ทำให้ ภาพรวมออกมาแล้ว แผงหน้าปัด ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อย
ดึงดูดใจให้รู้สึกอยากเป็นเจ้าของรถทั้งคันมากเท่าใดนัก ถ้าเป็นแบบนี้ ยกแผงหน้าปัดของ
Honda Integra DC5 ที่ตกรุ่นไปแล้ว มาใส่ให้แทน ยกแผงเลย ยังจะดีซะกว่า

มองขึ้นไปด้านบน แผงบังแดด 2 ชิ้น มีกระจกแต่งหน้ามาให้เฉพาะฝั่งคนขับ ติดตั้งอยู่บน
เพดานหลังคา ที่ออกแบบให้มีหลุมเว้า รองรับแผงบังแดดทั้ง 2 ตำแหน่งไว้แล้ว  ส่วนกระจก
มองหลังนั้น หน้าตาบ้านๆ ธรรมดา เรียบๆ เหมือนกันกับ Brio 5 ประตู

ดูเผินๆ เหมือนว่า ทุกอย่างที่คุณเห็น บนตำแหน่งคนขับ ไม่แตกต่างไปจาก Brio Hatchback เลย
แต่ความจริงแล้ว ก็ยังมีบางอุปกรณ์ ที่ทำให้คนใช้ Honda City รุ่นปี 2008 อย่างผม อิจฉาขึ้นมาได้
เหมือนกัน

บนแผงประตูด้านข้าง สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ถึงจะมีมาให้ครบทั้ง 4 บาน แต่ ฝั่งคนขับ จะ
เป็นแบบ One-Touch เฉพาะช่วงกดกระจกหน้าต่างลงเพื่อจ่ายค่าทางด่วนเท่านั้น พอจะใช้นิ้วชี้
เกี่ยวสวิชต์ดึงกระจกขึ้นมา กลับต้องแช่ยาว กว่าที่บานหน้าต่างจะเลื่อนขึ้นมาปิดจนสุด ไหนๆ
ก็มาถึงขั้นนี้แล้ว การใส่ฟิวส์ ควบคุมให้เป็นแบบ One-Touch ทั้งขาขึ้นและขาลง มันก็คงไม่ทำ
ให้ผลกำไรของ Honda ลดลงต่อคันไปมากนักหรอก

กระนั้น ยอมรับเลยครับว่า สวิชต์ central Lock เพื่อสั่งปลดหรือล็อกประตูทั้ง 4 บาน เป้นอุปกรณ์
ที่ผมชวนสงสัยมากๆเลยว่า ทำไมไม่ติดตั้งมาให้ใน City รุ่นปี 2008 กันตั้งแต่แรก จะกั๊กเอาไว้
ให้ Brio AMAZE เนี่ยนะ? อะไรกันเนี่ย? ไม่เข้าใจ! ของที่ไม่จำเป็นต้องใส่มาให้ ก็ดันใส่มา
ของที่จำเป็นจะต้องใส่มา ก็ดันไม่มีมาให้จากโรงงาน รุ่นนี้ขาด รุ่นนั้นมีเยอะเกิน โอ๊ย ตูละเพลีย!

พวงมาลัย ยังคงเป็นแบบ ยูรีเทน 3 ก้าน ตกแต่งด้วยลาย Trim สีเงิน และดำ หน้าตาคล้ายพวงมาลัย
ของ Honda CR-Z จับกระขับมือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เหมาะสมดีแล้ว แถมปรับระดับสูง – ต่ำได้
มีถุงลมนิรภัยมาให้ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านซ้าย เหมือนกันทุกรุ่นย่อย ไม่มีข้อยกเว้น

นี่เป็นหนึ่งในนโยบายล่าสุด ที่ Honda Automobile Thailand ประกาศไว้ว่า นับจากปี 2012 เป็นต้นไป
รถยนต์ Honda ทุกคันที่ผลิตและขายในเมืองไทย จะต้องติดตั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ ครบทั้ง 2 ใบ
โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น

ขอปรบมือให้ในประเด็นนี้ จากใจจริง! ของแบบนี้ ควรติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในรถยนต์
ผลิตในเมืองไทย และทำตลาดในประเทศไทย ทุกรุ่นทุกยี่ห้อกันได้แล้วเสียที

ก้านสวิชต์ ที่คอพวงมาลัย ฝั่งซ้าย เป็นใบปัดน้ำฝน พร้อมที่ฉีดน้ำล้างกระจก ไม่มีอะไรวิลิศมาหรา
ส่วนฝั่งขวา เป็นก้านสวิชต์ ไฟเลี้ยว ไฟหน้า และไฟสูง คันโยก เปิดฝาถังน้ำมัน และฝากระโปรง
หลัง อยู่ที่พื้นรถ ฝั่งคนขับ ริมชิดติดชอบธรณีประตู สวิชต์ไฟฉุกเฉิน อยู่ใต้ช่องแอร์กลาง ฝั่งคนขับ

ชุดมาตรวัด ยังคงวางตำแหน่งสัญญาณไฟเตือนต่างๆ ไว้เหมือนกับ Brio Hatchback เปี๊ยบ แต่
ลวดลาย Graphic รวมทั้ง Font ตัวเลข ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูโฉบเฉี่ยว ร่วมสมัยมากขึ้น
ส่วนด้านหลัง เป็นพื้นสีดำ พูดกันตามจริงแล้ว ผมกลับชอบ Fotn ตัวเลขบนมาตรวัดของ Brio
Hatchback มากกว่า เพราะอ่านตัวเลขในตอนกลางคืนง่ายกว่านิดหน่อย

รุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT จะมีไฟบอกตำแหน่งคันเกียร์มาให้ เพิ่มจากรุ่นเกียร์ธรรมดา ที่จะปล่อย
ให้พื้นที่เดียวกันตรงนั้น ว่างเปล่า โล้นๆ อย่างที่เห็น และทุกรุ่น มีมาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
แบบ เฉลี่ยมาให้ แต่ไม่มีมาตรวัดแบบ Real – Time แต่อย่างใด ติดตั้งอยู่ในหน้าจอสี่เหลี่ยมตรงกลาง
ซึ่งเป็น มาตรวัดระยะทางที่รถแล่นมาทั้งหมด หรือ Odometer มาตรวัดระยะทางที่คนขับ ปรับตั้งค่า
เพื่อวัดระยะทางเองได้ Trip Meter พร้อมกับแถบไฟเป็นมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถังที่เหลืออยู่

ชุดเครื่องเสียง เป็นวิทยุ AM/FM ขนาด 2 DIN พร้อมลำโพง 45 วัตต์ 4 ชิ้น ไม่มีเครื่องเล่น CD ให้
แต่มีช่องเสียบเชื่อมต่อ USB และ AUX สำหรับเชื่อมต่อเครื่องเล่น MP3 มาให้ทดแทน ติดตั้งอยู่ใน
ตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องมีสวิชต์ควบคุมบนพวงมาลัยแบบ Multi-Function
แต่อย่างใด สายที่ว่า อยู่ที่บริเวณช่องวางแก้วน้ำด้านล่างสุด ใกล้คันเกียร์ เป็นเครื่องเสียงชุดเดียวกัน
กับ Brio Hatchback ดังนั้นคุณภาพเสียง จึงเหมือนๆกัน คือภาครับวิทยุ ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ต้องเปิด
กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ฝั่งคนขับ ดึงเสาอากาศขึ้นไปจนสุด

ส่วนภาคเล่นเพลง จัดอยู่ในเกณฑ์บ้านๆ ทั่วไป พอใช้ได้ เสียงใส และเก็บรายละเอียดเสียงใสได้
ดีกว่าที่คิด ส่วนเสียงเบส ไม่ต้องไปคาดหวังอะไรทั้งสิ้น มีแต่มาแบบจางๆ ยังไม่หนักแน่น เสียง
ตีกลอง ยังเป็นเสียงคล้ายกับใครไปเคาะประตูไม้สัก ถ้าเพิ่ม แอมปลิฟายเออร์ ลำโพงใหม่สักชุด
และสายลำโพงดีๆ น่าจะดียิ่งขึ้นกว่านี้ได้อีกเยอะ

สวิชต์เครื่องปรับอากาศ ออกแบบมาในสไตล์ ด่านเจดีย์สามองค์ เหมือนเดิม และก็ยังคงให้ความ
เย็นได้เร็วดีเหมือนอย่างเคยเปิดได้ไม่เท่าไหร่ ก็เริ่มหนาวได้เหมือนกัน แถมมีฝ้าขึ้นมาให้เห็น
บนกระจก เหมือน Brio รุ่น Hatchback นั่นละ และถ้าดูดีๆจะพบว่า มีสวิชต์ ไล่ฝ้าหลัง ด้วยไฟฟ้า
ทำไมใน Brio Hatchback ไม่ติดมาให้สักที ต้องรอรุ่น Minorchange กันก่อนหรืออย่างไร?

ถัดลงไป เป็นช่องวางของจุกจิก มีสายเสียบต่อกับ Flash Drive USB มาให้ เหมือนกับ Jazz City
และ Brio Hatchback มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง แน่นหนาพอใช้ได้

แต่ที่ยังคงต้องตำหนิกันอยู่ นั่นคือ การเก็บรายละเอียดชิ้นงานพลาสติก ฝาปิดช่องเก็บของฝั่งผู้โดยสาร
ด้านซ้าย Glove Compartment ที่ยังคงมีขอบฝา ไม่เรียบร้อย เผยอออกมาจากตำแหน่งที่จะต้องปิด
เรียบสนิท ยังแอบแปลกใจว่า ทำไมถึงยังไม่แก้ไขในรุ่นนี้สักที ทั้งที่ได้ชี้เป้าไปแล้ว ตั้งแต่ Brio รุ่น
Hatchback เมื่อปีก่อนๆ

ข้างลำตัวผู้ขับขี่ มีพลาสติกรีไซเคิล ครอบทับเพื่อความสวยงาม มีร่องติดตั้งเบรกมือ กับช่องวางแก้ว
สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง 1 ตำแหน่ง ยกมาจากทั้ง Honda Jazz กับ City รุ่นปัจจุบัน และแน่นอนว่า
นี่ก็เป็นอะไหล่อีกชิ้นหนึ่งที่ใช้ร่วมกับ Brio รุ่น Hatchback ได้

ทัศนวิสัยด้านหน้า ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็นรถคันข้างหน้า ไปจนถึง ระยะห่างต่างๆ เหมือนกับ
Brio Hatchback ทุกประการ คือมองเห็นได้ชัดเจนกำลังดี สำหรับคนที่ชอบขับรถซึ่งต้องการเห็น
ฝากระโปรงหน้า เพื่อกะระยะ อาจจะไม่จำเป็น แค่จำให้ได้ว่าระยะห่างด้านหน้าของรถตัวเอง
อยู่ที่ประมาณไหน แค่นี้ ก็เพียงพอแล้ว

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา แอบมีการบดบังรถที่แล่นสวนมาในโค้งขวาของถนนแบบ 2 เลน
นิดหน่อย กระจมองข้าง มีขนาดใหญ่กำลังดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป แม้ว่า มีขอบมุมฝั่งขวา อาจโดน
ขอบมุมพลาสติกสะท้อนเข้ามาบ้าง แต่ก็แค่นิดเดียว แทบไม่มีผลอะไรเลย

เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่มีการบดบังรถที่แล่นสวนมา ขณะกำลังเลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด
กระจกมองข้างฝั่งซ้าย ก็ยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดี เหมือนกับ Brio Hatchback ทุกประการ ถือว่า
ภาพรวม ของทัศนวิสัยด้านหน้ารถ มองเห็นชัดเจน สะดวกต่อการควบคุม และไม่มีผลต่อการขับขี่
ไม่ว่าสรีระของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม

แต่ ทัศนวิสัยด้านหลังของรถนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนตัวถังยกใหญ่ แล้วมันจะยังมองเห็น
ได้ดีหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่เลวครับ ทีมออกแบบคดถูกแล้ว ที่ติดตั้งกระจกบังลมด้านหลัง ในลักษณะตั้งชันราวๆ
45 องศา โดยประมาณ ทำให้มีมุมมองด้านหลัง เพิ่มขึ้น ส่วนกระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง
ก็มีส่วนช่วยให้มองเห็นรถคันที่แล่นตามมาได้ดีขึ้น อย่างไรก็คาม เสาหลังคา คู่หลัง C-Pillar ยังหนา
และมีขนาดใกล้เคียงกับทั้ง Honda Civic และ City ใหม่ ดังนั้น หากจะเปลี่ยนเข้าเลนคู่ขนาน อาจ
ต้องเพิมความระมัดระวังกันนิดนึงครับ

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังที่วางอยู่ใน Brio AMAZE หน้าตาก็เหมือนกันกับเครื่องยนต์ที่วางอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้าของ
Brio รุ่นธรรมดา นั่นแหละ เป็นขุมพลังรหัส L12B3 บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,198 ซีซี  
เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 71.6 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.2 : 1
พร้อมระบบแปรผันวาล์ว i-VTEC จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ PGM-FI ระบบลิ้นปีกผีเสื้อ
(และคันเร่ง) ไฟฟ้า DBW (Drive-By-Wire Electronics Throttle Control) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
4 สูบ ที่ถูกปรับปรุงให้ผ่านข้อกำหนด มาตรฐานของ ECO Car ในบ้านเรา ด้วยการนำขุมพลัง L15
จาก Jazz และ City มาหั่นลดความจุกระบอกสูบลง จาก 1,496 ซีซี เหลือ 1,198 ซีซี และ
ปรับปรุงรายละเอยดวิศวกรรมเล็กน้อย ซึ่งผมขอไม่กล่าวถึงตรงนี้มาก เพราได้เคยเขียนถึงไปจน
หมดแล้ว ในบทความรีวิว Brio Hatchback

ใช่ครับ เครื่องยนต์ลูกนี้ ยกมาจาก Brio โดยแทบไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรเลยทั้งสิ้น แม้กระทั่ง
ตัวเลขกำลังสูงสุดก็ยังเท่ากัน คือ 90 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.2 กก.-ม.
(110 นิวตันเมตร) ที่ 4,800 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ได้ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีในรุ่นย่อย S และ ซึ่งแม้ว่า
คุณจะติดเครื่องยนต์ได้ โดยไม่ต้องเหยียบเบรก หรือคลัชต์ แต่ เกียร์จะมีกลไกป้องกันการ
เข้าเกียร์ โดยไม่ได้เหยียบคลัชต์ หมายความว่า ถ้าไม่เหยียบแป้นคลัชต์ จะเข้าเกียร์ไม่ได้
มีอัตราทดเกียร์ดังต่อไปนี้

เกียร์ 1                    3.461
เกียร์ 2                    1.869
เกียร์ 3                    1.171
เกียร์ 4                    0.853
เกียร์ 5                    0.727
เกียร์ R                    3.307
อัตราทดเฟืองท้าย        4.294

หรือเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน CVT มีอัตราทดตั้งแต่ 2.419 จนถึง 0.421 เกียร์ถอยหลัง 2.537
ถึง 1.516 และมีอัตราทดเฟืองท้ายที่ 4.619 ยังคงมาพร้อมคันเกียร์และฐานคันเกียร์ จาก Honda Jazz
แบบยกมาเลยทั้งดุ้น มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ บนมาตรวัดความเร็ว เกียร์ CVT ลูกนี้จะมีระบบทอร์ค
คอนเวอร์เตอร์มาใช้ พร้อมด้วยระบบล็อกอัพคอนโทรลที่พัฒนาขึ้นใหม่ ช่วยถ่ายทอดกำลังได้เต็มที่

สมรรถนะจะแตกต่างจาก Brio Hatchback หรือไม่ เราทำการทดลองกันตามมาตรฐานดั้งเดิม คือ
จับเวลาในตอนกลางคืน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า นั่ง 2 คน น้ำหนักตัวรวมผู้ร่วมทดสอบทั้ง 2 คน
ไม่เกิน 160 กิโลกรัม และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัด ECO Car มีดังต่อไปนี้

จากตัวเลขอัตราเร่ง ในตาราง จะสังเกตได้ว่า Brio AMAZE ทั้ง 2 รุ่น ทำตัวเลขได้ ด้อยกว่า
Brio Hatchback ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตามปกติ รถยนต์ Hatchback ซึ่งมี
บั้นท้ายตัดสั้น จะมีน้ำหนักตัวเบากว่ารถยนต์ Sedan ท้ายยาวกว่ากัน กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน
บั้นท้ายของ Brio AMAZE รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ Brio AMAZE หนัก
เพิ่มขึ้นจากรุ่น Hatchback ราวๆ 26 กิโลกรัม ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมา จึงยังไม่ใช่ปัญหา
ใหญ่โตมากมายนัก

แต่ที่น่าสังเกตคือ อัตราเร่งแซง 80 – 120  กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ AMAZE ดันไวกว่ารุ่น
Hatchback เกียร์ CVT ประมาณ 0.5 วินาที เนี่ยสิ!

และเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จะพบว่า หากเทียบรุ่นเกียร์ธรรมดาด้วยกัน Brio AMAZE จะทำเวลา
0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร็วกว่าอยู่ในระดับ “เท่าเทียมกัน” กับ Almera เกียร์ธรรมดา แต่พอ
ถึงอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลับกลายเป็นว่า Almera ไวกว่า AMAZE ราวๆ
0.3 วินาที โดยประมาณ  แสดงว่าจริงๆแล้ว เครื่องยนต์ 3 สูบ ของ Nissan แม้มีแรงม้าน้อย
แต่ก็ให้ประสิทธิภาพพอกันกับเครื่องยนต์ 4 สูบ ของ Honกa ในพิกัดขนาดเท่ากันเลยแหะ

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้น วิศวกรของ Honda ยังคงล็อกเอาไว้ที่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามเคย
โดยจะมีค่าความเพี้ยน ที่แตกต่างกัน จนทำให้มาตรวัดของรถแต่ละคัน แสดงผลในช่วงตั้งแต่
141 – 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เรื่องนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่หลายคนอยากให้มีการปลดล็อกความเร็วสูงสุด จาก 140 กิโลเมตร/
ชั่วโมง เพราะพบว่า มันน้อยเกินไป และในบางครั้ง ที่ต้องเร่งแซงในช่วงความเร็วสูง บนถนน
สวนกันสองเลน มันจำเป็นต้องมีช่วงความเร็วปลายที่ “เผื่อยามฉุกเฉิน” มากกว่านี้อีก

โดยส่วนตัว ผมยืนยันว่า ควรจะขยับไปล็อกความเร็วที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ด้วยสภาพ
การใช่รถใช้ถนนเมืองไทย ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง สำหรับบรรดามือใหม่หัดขับทั้งหลาย
กอปรกับ การปรับแต่งระบบกันสะเทือนให้เน้นความนุ่มรวลแบบนี้ละก็ บางที การล็อคให้
ความเร็วสูงสุด พำได้แค่ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดูจะกลายเป็นเรื่องอันเหมาะสมไปในทันที!

ในการขับขี่จริง แม้ว่าบุคลิกภาพรวม จะเหมือนๆกันกับ Brio Hatchback ก็ตาม แต่ผมชักสงสัย
ขึ้นมาจริงๆว่า Honda แอบไปทำอะไรกับ Software ในกล่อง ECU หรือตั้งไฟจุดระเบิดหรือจูน
ส่วนผสมไอดี หรือเปล่า? เพราะอัตราเร่งแซงของรุ่น CVT ที่ออกมา ดูเหมือนจะเร็วขึ้นผิดไปจาก
Brio Hatchback CVT รุนแรก ที่ผมเคยจับเวลามา ในบางจังหวะ ผมแค่เหยียบคันเร่ง ครึ่งเดียว
ก็เรงแซงได้สบายๆ ยิ่งถ้าในจังหวะที่ต้องพาตัวให้พ้นจากสถานการณ์คับขัน ก็ยังพอไว้ใจได้อยู่บ้าง

แค่กดคันเร่งจมมิด รอบเครื่องยนต์ ก็จะลากขึ้นไปถึงระดับ 6,000 รอบ/นาที และรถก็จะพุ่งปรู๊ด
แซงรถสิบล้อ พาคุณผ่านพ้นช่วงวิกฤติได้อย่างสะดวกโยธิน แน่นอนละ อัตราเร่ง สู้รถที่ใหญ่กว่า
ยังไม่ได้ ต่อให้เหยียบจมมิด คุณก็ยังไล่ตามรถที่มีเครื่องยนต์แรงกว่านี้ได้ไม่ทัน แต่เพียงเท่านี้
สำหรับรถยนต์ ECO Car เกียร์อัตโนมัติ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดไว้นิดนึงด้วยซ้ำ

การเก็บเสียง ก่อน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เสียงที่คุณจะยังได้ยิน อาจมีแค่เสียงยางบดกับถนน
แต่หลัง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป เสียงกระแสลมที่ไหลผ่านตัวรถ แน่นอนว่า ย่อมดังขึ้น
เป็นธรรมดา ยิ่งผสานกับเสียงยางจากซุ้มล้อทั้ง 4 แล้ว ก็ต้องถือว่า ดังใช้ได้เลยเหมือนกัน
มันเงียบกว่ารถเก๋งรุ่นเล็กเมื่อ 20 ปีก่อนแน่ๆ แต่ก็ต้องถือว่าดังกว่ารถยนต์ขนาดเล็กคันอื่น
ในพิกัดไล่เลี่ยกัน กระนั้น ยังดังไม่เท่ากับห้องโดยสารของ Mirage

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าผ่อนแรง EPS (Electronics
Power Steering) หมุนจากซ้ายสดไปขวาสุด 3.42 รอบ รัศมีวงเลี้ยว 4.6 เมตร ถูกปรับตั้ง
อัตราทดเฟืองพวงมาลัยมาให้หนืดเพิ่มขึ้นจนสัมผัสได้ คราวนี้ถือว่า เซ็ตมาลงตัวขึ้น และ
เป็นไปตามที่ใจผมต้องการอยากให้เป็นพอดีเป๊ะ เหมาะอย่างมากในการขับขี่ในเมือง แม้
มีน้ำหนักเพิ่มจากเดิมนิดหน่อย แต่ยังหมุนเลี้ยวได้คล่องแคล่วว่องไว บังคับเลี้ยวได้แบบ
ตามใจสั่ง เช่นเดิม

ส่วนในช่วงความเร็วเดินทาง จนถึงความเร็วสูงสุด น้ำหนักพวงมาลัยคราวนี้ ถือว่า มั่นใจ
ได้ในระดับกำลังดี ปรับปรุงขึ้นจาก Brio 5 ประตู ชัดเจน แต่ระยะฟรี ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง
และน้ำหนักพวงมาลัยทั้งในช่วงความเร็วต่ำ หรือความเร็วสูง ก็เท่าๆ กัน ไม่แตกต่างกันเลย
ดังนั้น การปรับเซ็ตให้หนืดขึ้น มีน้ำหนักดีขึ้นอย่างที่เราเคยแสดงความเห็นกันไว้ ก็ช่วย
ลดความไม่สบายใจในการขับขี่บนไฮเวย์ ไปได้มาก

ถ้าคิดเสียว่า นี่คือพวงมาลัยสำหรับ รถยนต์ ECO Car ก็ต้องบอกว่าอัตราทดยังไม่ไวเท่ากับ
Suzuki Swift แต่การบังคับ ถือว่า ให้ความมั่นใจได้ใกล้เคียงกับ Swift เลยทีเดียว แน่นอนว่า
ดีกว่า พวงมาลัยของ Mirage และ March / Almera !

ระบบกันสะเทือน แม้จะถูกยกมาจาก Brio Hatchback ทั้งดุ้น ทั้งด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สัน
สตรัต และด้านหลัง แบบทอร์ชันบีม H-Shape ทุกชิ้นส่วนปีกนกและคานบิดต่างๆ หน้าตาจะ
เหมือนกันเปี๊ยบเลยก็ตาม แต่ความแตกต่างหลักๆ จะอยู่ที่การเซ็ตช่วงล่าง จากคำบอกเล่าของ
หัวหน้าวิศวกรพัฒนา AMAZE บอกผมว่า ช็อกอัพ กับสปริง จะสูงกว่าของ Brio นิดนึง ดังนั้น
Part Number ก็จะไม่เหมือนกัน

เมื่อครั้งที่ได้ไปลองขับในสนามแข่งรถ แก่งกระจาน ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2012 ผมพบว่า
การตอบสนองของระบบกันสะเทือนด้านหลัง ในช่วงที่ต้องเข้าโค้งหนักๆ จะมีอาการท้ายปัด
(Oversteer) นิดหน่อย เกิดขึ้นได้ตามปกติของรถยนต์ที่มีบั้นท้ายยื่นออกมา เพียงนิดหน่อย
ก็ตามที ตัวรถพยายามจะส่งสัญญาณไปยังคนขับว่า ใกล้จะหลุดโค้งแล้วนะจ้ะเธอ แต่ฉันก็
พยายามรักษาหน้าที่ ไม่ให้หลุดนะ ที่เหลือ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ยาง Michelin ENERGY XM2 จะ
รับหน้าที่ได้อีกนานแค่ไหนเท่านั้นเลย ภาพรวมถือว่า เข้าโค้งได้ดีสมตัว ทั้งที่มีข้อจำกัดอย่าง
เรื่องแก้มยางที่นิ่มไป ความสูงตัวรถ จุดศูนย์ถ่วง ฯลฯ ก็ตาม

แต่พอได้นำรถกลับมาใช้งานจริงที่บ้าน ผมค้นพบว่า ทีมวิศวกรของ Honda น่าจะปรับแต่ง
ช่วงล่าง ให้มากเกินกว่าที่ผมเข้าใจ เพราะว่า ในช่วงคลานไปตามสภาพการจราจรติดขัด
หรือขับใช้งานด้วยความเร็ว ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในตัวเมือง ลัดเลาะไปตามตรอก
ซอกซอยต่างๆ พบว่า การดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวขรุขระ หลุมบ่อแบบตื้นๆ ไม่ลึก
มากนัก หรือ พื้นผิวซีเมนต์ ที่ถูกซ่อมด้วยการเอา ยางมะตอยมาแปะเข้าไป ทำได้ดีมากๆ
จนเริ่มต้องถามตัวเองว่า ทำไม มันซับแรงสะเทือนได้ดีพอกันกับ City เลยวะ?

แต่ถึงแม้จะเข้าโค้งได้ดีพอประมาณ โค้งบนทางด่วน ขั้นที่ 1 และ 2 ผมยังสามารถพาเจ้า
เปี๊ยกคันนี้ เข้าโค้งที่ความเร็วสูงสุด คือ 85 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางโค้ง รูปเคียว จากด่าน
พระราม 9 เหนือมักกะสัน แต่เนื่องจาก แก้มยางติดรถ มันถูกออกแบบมาให้ดูจงใจเน้นความ
นุ่มสบายในการขับขี่ มากกว่าจะรองรับการเค้นสมรรถนะจากตัวรถมากไป ทำให้ผมต้องใช้
สมาธิในการบังคับพวงมาลัยเลี้ยวโค้ง มากกว่ารถยนต์ทั่วไปนิดหน่อย ถ้าใช้ความเร็วสูง
ช่วงช่างหนะ เอาอยู่ ไปต่อได้สบาย แต่ยางนั่นแหละที่แทบจะปลิ้นออกมาจากขอบ
กระทะล้อกันอยู่แล้ว บุคลิกเดิมๆ ซึ่งควรจะเข้าโค้งได้ดีพอตัว กลับกลายเป็นว่า ยาง
ติดรถทั้ง 4 เส้นนี่แหละ ที่ทำลายบุคลิกช่วงล่าง จนทำให้รถเกิดอากาศไถลไปด้านข้าง
มากกว่าที่จะเข้าโค้งกันไปดีๆ นิ่งๆ เนียนๆ

ความนุ่มของแก้มยาง แอบส่งผลมาให้ผมสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่า การทรงตัวในย่าน
ความเร็วสูง แอบมีความหวั่นใจอยู่ลึกๆ เนื่องจากตัวรถ ก็เบา ช่วงล่างก็เซ็ตแนวนุ่ม
ช็อกอัพ กับสปริง ก็มีค่า k ที่ต่างกันนิดนึง ทำให้ตัวรถ มีอาการโคลงเล็กๆ ไม่มากนัก
แต่อาการจะชัดเจนขึ้น ถ้าพื้นถนน ที่กำลังแล่นอยู่ เป็นลอนคลื่น Wave จะถี่จะห่าง
ขนาดไหน ก็ยังสัมผัสได้อยู่ดี

ช่วยไม่ได้ครับ ในเมื่อ โจทย์ของ Honda ต้องการความนุ่ม ขับขี่สบาย แถมยังเองต้อง
มีแรงเสียดทานต่ำ พื่อช่วยประหยัดน้ำมันในทางอ้อมอีกด้วย จึงต้องออกมาเป็นแบบนี้
ถ้าคุณผู้อ่ีาน ต้องการความมั่นใจที่ดีขึ้นแบบสุดขั้ว ขอแนะนำว่า เปลี่ยนล้อและยางทั้ง
4 เส้น ทิ้ง ใช้ยางหน้ากว้างขึ้นกว่านี้นิดหน่อย อย่ากว้างขึ้นมาก แก้มเตี้ยกว่านี้ ขนาด
ล้ออัลลอยสัก 15 – 16 นิ้ว การทรงตัวของรถ น่าจะดีขึ้นได้อีกเยอะ! เพราะตัวช่วงล่าง
ถูกเซ็ตมาไว้ให้ดีพอเหมาะแก่ราคาขายปลีกของตัวรถอยู่แล้ว

ระบบห้ามล้อเป็นแบบ หน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก ตามมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็ก
อย่างนี้ มีระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti Lock Braking System) มาให้ พร้อมระบบ
กระจายเรงแบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD (Electrinics Brake Force Distribution)
ใช้จานเบรกที่ทำขึ้นมาเพื่อตระกูล Brio ทั้ง 2 ตัวถัง โดยเฉพาะ คาลิปเปอร์รหัส 15 CL
กับผ้าเบรก เหมือนกับชิ้นที่ใส่อยู่ใน Honda Jazz รุ่นแรก (รหัสรุ่น GD) และ ยังเหมือน
กับ Honda Civic 1992 รหัสรุ่น EG เครื่องยนต์คาร์บิวเรเตอร์ (ถ้าเป็นเครื่องยนต์หัวฉีด
จะเป็นคนละแบบกัน) ดังนั้น หมดห่วงเรื่องหาผ้าเบรกนอกศูนย์บริการ ไปได้สบายๆ

การตอบสนองยังคงทำได้ดีพอสมควร เช่นเดียวกับ Brio Hatchback ไม่ว่าจะต้องชะลอ
ความเร็วในช่วงขับคลานๆในเมือง หรือจะต้อง เบรกหนักๆ ต่อเนื่อง จากความเร็วสูงๆ
ระบบเบรกก็ยังนุ่มนวล กำลังดี บังคับรถให้หยุดในแบบที่ต้องการได้ ไม่ยากเย็น การ
หน่วงความเร็วทำได้ในระดับปานกลางค่อนข้างดี และถ้าขับขี่ในเมือง คุณไม่ต้องใช้
ความพยายามในการเลียเบรก เพื่อชะลอรถให้หยุดสนิทแบบนุ่มๆ มากนัก ระยะของ
แป้นเบรก ก็เหมือนกันกับ Brio Hatchback เลยนั่นละครับ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ถึงจะใช้เครื่องยนต์เดียวกัน ระบบส่งกำลังเหมือนกัน จนคุณผู้อ่านหลายๆคน อาจมองว่า ไม่ต้องทำการ
ทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยก็ได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบมาตลอดการทำรีวิวรถยนต์
เตือนสติผมว่า ถ้าเครื่องยนต์กับเกียร์เหมือนกัน แต่วางในตัวถังที่ต่างกัน โอกาสที่ตัวเลขจะต่างกันมาก
ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่

ดังนั้น เพื่อให้กระจ่างชัดกันไปเลย ผมจึงทำการทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย กันด้วยวิธีการ
ดั้งเดิม คือการพา Brio AMAZE ทั้ง 2 รุ่น ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex
ริมถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ ในช่วงกลางคืน

ในเมื่อ รถรุ่นนี้ เป็นรถยนต์ ที่คุณผู้อ่านอยากรู้เรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และซีเรียสกับตัวเลขมาก
พอกันกับกลุ่มรถยนต์นั่งผลิตในปรเทศไทย เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี และค่าตัวต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท
หรือพิกัด B กับ C-Segment ทุกคัน และรถกระบะทุกรุ่นทุกแบบ ดังนั้น เราจึงเติมน้ำมันกันแบบเขย่ารถ
จนกว่าน้ำมันจะเอ่อขึ้นมาถึงปากคอถังแบบนี้

สักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD สมาชิก กลุ่ม The Coup Team ของเรา เหมือนเช่นรถยนต์
รุ่นใหม่ๆในรอบ 1 ปีมานี้

เมื่อเติมน้ำมันลงไปจนเต็มถังขนาด 35 ลิตร (รวมคอถัง อีกพอสมควร) แล้่ว เราก็เริ่มต้นการทดลองขับ
คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ แค่สวิชต์พัดลมเบอร์ 1 อุณหภูมิ ปรับแบบปกติ  คือไม่เย็น
ไปกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ในเมื่อรถคันนี้ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิ เราจึงเปิดแอร์ ในระดับความเย็น
แบบ ปานกลาง

เราออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน หน้าปากซอยอารีย์สัมพันธ์ แล้วไปเลี้ยวซ้าย
เข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี ถึงถนนพระราม 6 จากนั้น เลี้ยวขวาขึ้นไป
บนทางด่วนสายอุดรรัถยา ขับมุ่งหน้าตรงไปยัง ปลายสุดทางด่วน ด่านบางปะอิน แล้วเลี้ยวกลับมา
ขึ้นทางด่วน อีกรอบ รักษาความเร็ว ตามมาตรฐานเดิม คือแล่นไม่เกิน 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิด
เครื่องปรับอากาศ เปิดไฟหน้ารถ และนั่ง 2 คน

เมื่อลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เราเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถที่ใต้สถานี
รถไฟฟ้า BTS อารีย์ แล้ว เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Caltex อีกครั้ง เพื่อเติมน้ำมันเบนซิน 95
Techron ให้เต็มอีกครั้ง

พอหัวจ่ายตัด เราก็เริ่มเขย่ารถ เหมือนเช่นในช่วงเริ่มต้นทำการทดลอง เพื่ออัดกรอกน้ำมันลงไป
ให้ได้เยอะมากที่สุด ให้น้ำมันเข้าไปอยู่ในถัง แทนที่อากาศในถัง ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็น
ไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงในตัวแปรเรื่องปริมาณน้ำมันที่เติมเข้าไป ซึ่งอาจมีผลให้การทดลอง
ผิดเพี้ยนไปไกลกว่าที่รถควรจะทำตัวเลขออกมา

แต่ต่อให้เราระมัดระวังเรื่องนี้แล้ว ตัวเลขในการทดลองคราวนี้ ก็ยังมีเลขแปลกๆ ออกมาให้เห็น
กันอีกจนได้!

มาดูตัวเลขของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ CVT กันก่อน
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.7 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.72 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 16.09 กิโลเมตร/ลิตร

ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะนั้น
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด Trip Meter อยู่ที่ 92.6 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.20 ลิตร
คำนวนแล้ว ได้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉี่ย 17.80 กิโลเมตร/ลิตร

พอเทียบตัวเลขในตารางแล้ว คุณอาจจะสงสัยว่า เฮ้ย ทำไม Brio AMAZE
เกียร์ธรรมดา ถึงทำตัวเลขประหยัดน้ำมันพุ่งปรี๊ด ผ่าเหล่าผ่ากอพี่น้องร่วม
ตระกูล กันดื้อๆ ขนาดนี้?

บอกให้เลยก็ได้ครับว่า มันอยู่ที่ การเติมน้ำมันของเราล้วนๆ แล้วละ
ถ้าดูกันแค่ตัวเลข หารเฉลี่ยออกมา จะพบว่า ตัวเลขมันต่างกันไปมาก
แต่ถ้าดูปริมาณน้ำมันที่เติมกลับเข้ามา คุณจะเริ่มมองเห็นภาพว่า เมื่อ
ลองจับคู่เปรียบเทียบ ในตารางกันแล้ว การเติมน้ำมันกลับเข้ามา ถ้า
ต่างกันเพียง 0.5 ลิตร จะทำให้ผลลัพธ์มันต่างกันได้มากขนาดนี้ และ
ดูราวกับว่า Almera เกียร์ธรรมดา ประหยัดกว่า Brio AMAZE เกียร์
ธรรมดา แค่ 0.05 กิโลเมตร/ลิตร เท่านั้น!

แต่ถ้าลองหาค่าเฉลี่ย ของ รถทั้ง 2 ตัวถัง ของ ทั้ง Nissan และ Honda
(เรายังไม่ต้องไปนับ Suzuki กับ Mitsubishi เพราะเวอร์ชัน Sedan
ของพวกเขา จะคลอดในปี 2013 – 2014) จะพบว่า สำหรับ Nissan
เมื่อนำค่าเฉลี่ย ของ March และ Almera มารวมกัน แล้วหารด้วย 4
จะได้ตัวเลขระยะทาง 93.1 กิโลเมตร เติมน้ำมันกลับ 5.28 ลิตร และ
ค่าเฉลี่ยอัตราสิ้นเปลือง ทั้ง 4 คันรวมกัน อยู่ที่ 17.63 กิโลเมตร/ลิตร

แต่ถ้าเป็น Honda ทั้ง 4 คัน ระยะทางเฉลี่ยจะอยู่ที่ 92.7 กิโลเมตร
เติมน้ำมันกลับเฉลี่ย 5.57 ลิตร อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้ง 4 คัน จะ
อยู่ที่ 16.65 กิโลเมตร/ลิตร

ยังไงๆ งานนี้ คู่แข่งทั้งหลาย ก็ยังประหยัดน้ำมันกว่า Honda อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าน้ำมัน 1 ถังจะแล่นได้กี่กิโลเมตร คำตอบจาก
Brio AMAZE เกียร์ธรรมดา ก็คือ 1 ถัง แล่นได้ 450 กิโลเมตร แล้วยัง
เหลืออีก 2 ขีด ซึ่งน่าจะแล่นได้อีก ราวๆ 70 กิโลเมตร เท่ากับว่า น้ำมัน
เบนซิน 95 Techron 1 ถัง จะพา Brio AMAZE แล่นได้ราวๆ 520
กิโลเมตร ต่อให้คุณจะเหยียบ Top Speed ด้วยบ้าง ก็ตามที

********** สรุป **********
ซื้อหามาใช้งานได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจซะที!

เชื่อเหลือเกินว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายๆคน ตัดสินใจไม่เลือกซื้อ Brio Hatchback ในช่วงก่อนหน้านี้
เป็นผลมาจาก บั้นท้าย ที่สั้นกุด และดูไม่ปลอดภัย หากมีรถขนาดใหญ่กว่า เบรกแตกมาสอยบั้นท้าย

มาวันนี้ Honda แก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการออกแบบ บั้นท้ายให้กับ Brio ตัวถัง Sedan 4 ประตู ขึ้นมา
ให้ยาวขึ้นกว่าเดิมอีกพอสมควร และน่าจะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของตระกูล Brio ขึ้นมาได้อยู่บ้าง

ที่สำคัญ ทีมออกแบบของ Honda R&D จัดวางพื้นที่ภายในห้องโดยสาร รวมทั้งห้องเก็บของด้านหลัง
ให้มีขนาดใหญ่กว่าที่คาดคิด จนผมว่า ไม่แปลกใจแล้วละ ที่พวกเขาจะตั้งชื่อรถรุ่นนี้ว่า Brio AMAZE

เพราะมันแอบ AMAZE สมชื่อ ในหลายๆเรื่อง ตั้งแต่พื้นที่นั่งด้านหลัง พื้นที่วางขาด้านหลัง พื้นที่
เหนือศีรษะด้านหน้าและด้านหลัง การปรับปรุงพวงมาลัย ให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นนิด หนืดขึ้นกว่าเดิม
อีกหน่อยนึง แต่ช่วยให้การบังคับรถในย่านความเร็วสูง มั่นใจขึ้นกว่าเดิมนิดนึง แถมอัตราเร่ง ยัง
เร็วกว่าเดิมนิดหน่อยด้วยซ้ำ ในบางรุ่นย่อย

ขณะเดียวกัน คุณงามความดีเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วในรถรุ่นก่อน ก็ยังคงมีมาให้ในรถรุ่นใหม่นี้้ด้วย ทั้ง
การจัดวางตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ การบังคับขับขี่ที่คล่องแคล่ว สะดวกและสนุกในการลัดเลาะไป
ตามสภาพการจราจรของกรุงเทพมหานคร อันแสนสาหัส ได้อย่างง่ายดาย คล่องตัว และประหยัด
เวลาอยู่ไม่น้อย แถมยังหาที่จอดได้ง่าย ต่อให้จอดรถหน้าปากซอย บั้นท้ายก็จะไม่โผล่ยื่นออกไป
มากเกินควร อย่างที่รถยนต์ Sedan คันอื่นเขาเป็นกัน

การออกแบบให้บั้นท้ายสั้น เพื่อให้ตัวรถยาวไม่เกิน 4 เมตร จนสามารถขายในอินเดียได้ด้วยราคาที่
ถูกลงอย่างนี้ แม้จะทำให้เส้นสายทั้งคัน ดูเป็น Sedan บั้นท้ายสั้นกุด แต่ ในการใช้งานจริง มันไม่ได้
เลวร้ายอย่างที่กังวลเลย การโดยสารด้านหลัง ก็ทำได้ดี ไม่มีเสียงบ่นจากใครก็ตามที่ขึ้นมานั่งรถคันนี้
ร่วมกันกับผม

แต่ถ้าจะถามว่า ต้องปรับปรุงอะไรอีกบ้าง แน่นอนครับ Brio AMAZE ก็ยังมีรายละเอียดหลายๆจุดที่ยัง
ต้องรอการปรับปรุงเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น

– การปรับปรุงชิ้นงานพลาสติก ภายในห้องโดยสาร อยากจะให้เก็บรายละเอียด ดีกว่านี้ อย่างน้อย
ก็ต้องเทียบเท่ากันกับรถยนต์ Honda ที่มีค่าตัวแพงกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยชิ้นพลาสติกให้เผยอ ทั้งบริเวณ
ฝาครอบ ถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสาร (ในรถคันทดลองขับ เกียร์ธรรมดา) หรือ ฝากล่องเก็บของบนแผง
หน้าปัดฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย

– เบาะนั่งคนขับ และเข็มขัดนิรภัยทั้ง 2 ฝั่ง ควรปรับระดับสูง – ต่ำ ในรุ่น V ได้แล้วเสียที

– ยาง Michelin ENERGY XM2 ซึ่งเป็นยางติดรถ มีแก้มยางนุ่มเกินไป ทำให้หลายคนเข้าใจผิด
ว่าระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ของ Brio และ Brio AMAZE ตอบสนองได้แย่จน
ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงมาก จนลูกค้าต้องหายางใหม่ แก้มเตี้ย มาเปลี่ยน ออกแนวรถซิ่งกัน
ไปเลย

ทั้งที่ความจริงแล้ว ช่วงล่างของ Brio และ Brio AMAZE ถูกปรับปรุงมาแล้ว อย่างดี ตอบสนองดี
สมตัว และสมเหตุสมผลกับประเภทของรถแล้วด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้น ถ้าคิดจะขับ
แบบเดิมๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ยางติดรถนี่แหละ ที่ทำให้การตอบสนองในการเข้าโค้ง
ผิดเพี้ยนไปมาก

มันเป็นไปได้ไหมที่ Honda จะคุยกับ Michelin หรือไม่ก็ Bridgestone ในการ หาสเป็กยาง กลุ่ม
ประหยัดน้ำมัน แรงต้านทานการหมุนต่ำ (Low-Rolling Resistance) แต่มีแก้มยางที่นุ่มกำลังดี
แน่นกำลังเหมาะ เผื่อให้ลูกค้าที่จำเป็นต้องขับรถเร็วกว่าปกติ แต่ไม่มีงบมากพอจะเปลี่ยนยางใหม่
ในทันทีที่ออกรถจากโชว์รูม ยังพอจะใช้ความเร็วในขณะเข้าโค้ง ทำเวลาได้บ้าง ไม่ใช่พอเลี้ยวโค้ง
เมื่อไหร่ หัวใจแทบจะหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม เพราะแก้มยางมันแทบจะปลิ้นออกกันเสียแทบทุกครั้ง
อย่างที่เป็นอยู่ และลูกค้าเอง ก็ควรจะได้สัมผัสกับประสิทธิภาพของช่วงล่าง ที่เซ็ตมาลงตัวแล้ว
อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกันเสียที!

และข้อสุดท้าย เสากรอบประตู ในรุ่น V ช่วยทาสีดำ เพื่อเพิ่มความแตกต่างจากรุ่น S ด้วยเถิด! นี่คือ
ประเด็นที่ผมเคยฝากไปแล้วในบทความ Full Review ของ Brio Hatchback และผมก็ไม่นึกว่า วันนี้
Honda จะยังคงปล่อยเสากรอบประตูเป็นสีเดียวกับตัวถังรถอย่างนี้กันอีก

ต่อให้พ่นสีดำมาจริง และต้องเพิ่มเงินอีกราวๆ 2,000 – 3,000 บาท ผมเชื่อว่า แม้ตลาดรถยนต์ ECO-Car
จะเป็นกลุ่มที่ ผู้บริโภค อ่อนไหวง่ายกับราคาขายปลีก (Price Sensitive) แต่เมื่อมานั่งคำนวนดูการผ่อน
ชำระรายเดือนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว เรื่องแค่นี้ ลูกค้าไม่น่ามีปัญหาหรอก

แล้วคู่แข่งในกลุ่ม ECO Car Sedan ตอนนี้ มีอะไรบ้าง?

แน่นอนว่า Nissan ALMERA คือ ผู้ท้าชิงรายสำคัญที่สุด เพียงรายเดียวที่มีอยู่ในตลาดช่วงนี้ การเปิดตัว
ออกมาก่อน ทำให้ Almera ได้เปรียบในการกอบโกยเก็บกวาดลูกค้าไปได้เยอะมาก  ด้วยจุดเด่นของรถ
ซึ่งมีขนาดตัวถังใหญ่สุดในบรรดารถยนต์พิกัด B-Segment 1.2 – 1.6 ลิตร ทุกรุ่นทุกคัน มีพื้นที่วางขาที่
มากสุดในกลุ่ม เทียบเท่ารถยนต์นั่งขนาดใหญ่กว่า มีพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลังใหญ่กว่า เป็น 490 ลิตร
ไปจนถึง อุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร ที่ดูหรู และเกินราคา เกินความคาดหมายของผู้บริโภคไป แต่อย่า
คาดหวังว่าการขับขี่ในภาพรวมจะดีเท่า Brio Amaze เพราะ แม้จะประหยัดน้ำมันกว่า Amaze แต่ การ
ทรงตัวในย่านความเร็วสูง ก็ไม่ได้ให้ความมั่นใจเลย พวงมาลัยไฟฟ้า ตอบสนองไม่เป็นธรรมชาติเลย
แถมอัตราเร่ง ก็เป็นอย่างที่เห็นในตาราง

แต่ ในปี 2013 – 2014 ยังมี คู่แข่งอีก 2 คันที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และเตรียมจะคลอดออกมาเป็น
ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค นั่นคือ Mitsubishi Mirage Sedan ที่อาจจะมาในชื่อใหม่ แต่ยังคงใช้
พื้นฐานงานวิศวกรรม ทั้งเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และช่วงล่าง ร่วมกับ Mirage Hatchback ใน
ปัจจุบัน มีกำหนดเปิดตัวในบ้านเรา ช่วงปลายปีนี้

อีกคันหนึ่ง ก็คือ Suzuki Swift Sedan ซึ่งก็อาจต้องมาในชื่อใหม่อีกเช่นกัน รายละเอียดเบื้องต้นคือการ
นำพื้นตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง ของ Swfit มาต่อยอด ด้วยการพัฒนาเปลือกกระดองหรือ
Top Hat ที่ครอบลงบนโครงสร้างพื้นฐานกันเสียใหม่ ทีเด็ดจะอยู่ที่งานออกแบบ ซึ่งลงตัวกว่า Almera
และ มีพื้นที่ภายในห้องโดยสาร โอ่โถ่งกว้างสบาย ไม่แพ้ Almera และ Brio AMAZE กำหนดเปิดตัว
อยู่ในช่วงปี 2014 – 2015

ส่วน Toyota ยักษ์อันดับ 1 ในบ้านเรา ตัดสินใจว่า จะไม่ทำ ECO Car Sedan มาขาย ค่อนข้างแน่นอน

ที่เหลือ ก็มีแค่ว่า คุณจะรอบรรดารถยนต์รุ่นที่ยังไม่เปิดตัวกันไหวหรือเปล่า และจำเป็นต้องรีบใช้รถ
หรือไม่? รับได้กับสิ่งที่ AMAZE มีให้คุณหรือไม่ ถ้ารับได้ Brio AMAZE ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เลวร้าย
แต่อย่างใด ทั้งสิ้น

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณไม่ใช่คนขับรถเร็วนัก ต้องการ รถยนต์นั่งราคาประหยัด ที่พาคุณถึง
จุดหมาย จากจุด A ไปยังจุด B ได้อย่างสบายๆ ด้วยบรรยากาศที่หรูกว่า และกว้างใหญ่กว่า Brio
AMAZE แต่ไม่ได้เน้นเรื่องสมรรถนะการขับขี่ มากเกินกว่า ความประหยัดน้ำมัน ที่จะต้อง
มาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด เดินเข้าโชว์รูม Nissan แล้วสั่งจอง Almera ได้เลยครับ อาจต้องใช้เวลา
รอรับรถนนานราวๆ 3 เดือน กระนั้น Almera จะตอบโจทย์คุณได้มากกว่า

แต่ ถ้าคุณ มองว่า ความคล่องตัวในการขับขี่ลัดเลาะไปตามเส้นทางในเมือง เป็นเรื่องสำคัญ คุณ
ต้องการความคล่องแคล่ว ในการมุดไปตามช่องว่าง แทรกตัวไปตามคลื่นรถติดได้อย่างง่ายดาย
ทุกตารางนิ้ว มีค่า และการโดยสารด้านหลัง ก็เป็นเรื่องใหญ่พอกัน แถมคนที่จะนั่งด้านหลัง
มีความสูงระดับเกินกว่า 165 เซนติเมตรขึ้นไป ไม่ได้ขนสัมภาระบ่อยนัก แต่ก็มีเหตุให้ต้อง
ใช้พื้นที่ด้านหลังรถอยู่เรื่อยๆบ้างเหมือนกัน หรือซื้อรถแล้ว แค่เปลี่ยนยางล้อ ให้ลงตัว ก็พา
ไปซิ่งได้ทันที Brio AMAZE คือคำตอบที่เหมาะสมกับคุณกว่าชัดเจนครับ

ทีนี้ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่า จะเลือก Brio AMAZE แน่ๆ คำถามก็คือ รุ่นย่อยไหน ที่คุ้มค่าที่สุด?

จากบรรดารุ่นย่อยทั้ง 4 รุ่น ซึ่งถูกวางตำแหน่งการตลาด ในสไตล์เดียวกับ Brio Hatchback แต่มี
ค่าตัวที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ดังต่อไปนี้

S 5MT   454,000 บาท
S CVT   493,000 บาท
V 5MT   482,000 บาท
V CVT   521,000 บาท

เห็นได้ชัดว่า Honda ยังคงคาดหวัง ยอดขายจากรุ่น V :ซึ่งตกแต่งเต็มพิกัดมากกว่ารุ่น S อย่างชัดเจน
เหมือนเมื่อครั้งเปิดตัว Brio Hatchback กันใหม่ๆ เพราะเป็นรุ่นย่อยที่ทำกำไรต่อคันให้ได้มากสุด
ดังนั้น รุ่น S ก็จะเป็นรุ่นประหยัด ที่มีค่าตัวค่อนข้างแพงกว่าคู่แข่งในระดับราคาเดียวกัน

เพราะอุปกรณ์ที่จะถูกตัดออกไปในรุ่น S นั้น มีทั้ง มือจับประตู และฝาครอบกระจกมองข้าง จากเดิม
สีเดียวกับตัวรถ จะลดระดับมาเป็นสีดำด้านธรรมดาแทน ไม่มีกุญแจรีโมท ไม่มีสัญญาณกันขโมย
ถึงจะมี Cntral Lock แต่ไม่มีสวิชต์เปิด-ปิดจากฝั่งคนขับ ไม่มีกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้า ไม่มี
ราวมือจับ 3 ตำแหน่ง บนเพดานเหนือบานประตู แผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ และหัวเกียร์ จะใช้
สสีดำด้านแทนสีเมทัลลิค ไม่มีพนักเท้าแขนพร้อมช่องวางแก้ว ที่เบาะหลัง และที่สำคัญสุดคือ ไม่มี
ชุดวิทยุ ช่องเสียบ USB ช่องเสียบ AUX และไม่มีแม้แต่ลำโพงคู่หน้ามาให้เลย

การตัดอุปกรณ์สำคัญอย่าง วิทยุ 2 DIN ออกไป แต่ตั้งราคาขายไว้สูงถึง 493,000 บาท ในรุ่นเกียร์ CVT
ยิ่งน่าจะช่วยให้หลายๆคน ตัดสินใจง่ายขึ้น ที่จะเปลี่ยนไปซื้อรุ่น V CVT อันเป็นรุ่นที่คาดว่าจะขาย
ดีที่สุด ตามคาด แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์อัตโนมัติ ผมบอกเลยว่า เกียร์ธรรมดา รุ่น V ราคา 482,000
บาท คือรุ่นย่อยที่ลงตัวสุด เพราะได้ทั้ง อัตราเร่ง ความประหยัด อุปกรณ์ ก็ครบเท่ากับรุ่น V เกียร์ CVT
แต่จ่ายถูกกว่ากัน 39,000 บาท ซึ่งนั่นคือส่วนต่างที่หมดไปกับค่าเกียร์ CVT  1 ลูก

——————————-

เท่าที่ลองขับ ดูจากภาพรวมแล้ว Brio AMAZE น่าจะเอาใจกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเริ่มสร้างครอบครัวเล็กๆ
มีพ่อ แม่ หรืออาจจะมีลูกอีกสัก 1 คน ซึ่งก็เป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกันกับ Nissan Almera แต่กลุ่มที่ Honda
จะได้มาเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรองลงไป คือ พนักงานบริษัท หรือหน่วยงานราชการ ที่ยังโสด และ
ต้องการรถยนต์ขับขี่ใช้งานในเมืองเป็นหลัก ออกต่างจังหวัดบ้าง แต่ไม่บ่อย เชื่อแน่ว่า Brio AMAZE
จะช่วย กู้หน้าให้กับ Honda ในตลาด ECO Car ได้พอสมควร ขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้า จะยอมรับได้และ
มองข้าม บั้นท้ายที่สั้นกุด เพื่อมองลึกเข้าไปถึงภายในห้องโดยสารที่ใหญ่กว่ารุ่น Hatchback หรือไม่

มาถึงจุดนี้ กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับ Honda ก็คือ ในเมื่อ Brio AMAZE เล่นจัดออพชัน
และแก้ไขบั้นท้าย จนลูกค้ายอมรับได้ และพากันเทใจมาหามากกว่า ถึงขั้นนี้ แล้ว Honda จะทำอย่างไร
กับ Brio Hatchback กัน ดีละเนี่ย?

จริงอยู่ว่าปีนี้ Brio Hatchback จะมีรุ่นปรับโฉม Minorchange สัก 1 ครั้ง โดยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่ม
ใบปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้ (ซะที) ซึ่งนั่นอาจต้องเปลี่ยนกระจกบังลมหลัง เป็นชิ้นใหม่กันเลย
แต่ ถ้ามีการปรับปรุงเพียงแค่นั้น ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับ จำนวนลูกค้า ที่พร้อมใจ
พุ่งไปหา Brio AMAZE มากกว่ารุ่น Hatchback แน่ๆ

นั่นยังเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเรายังคงต้องติดตามดูกันต่อไป…

เพราะ นวนิยาย เรื่อง “มหากาพย์ Brio ” เขียนบท กำกับ และนำแสดงโดย Honda

ยังดูท่า ไม่จบลงง่ายๆ!

—————————————///———————————-

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Honda Automobile (Thailand ) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถยนต์ทดลองขับ

————————————————
บทความของรถยนต์ในกลุ่มตลาดเดียวกัน ที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รวมบทคตวามทดลองขับรถยนต์ในกลุ่ม ECO Car (Sub-B Segment / A-Segment 1,000 – 1,300 cc.)
————————————————

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน ภาพวาดกราฟฟิกทั้งหมด เป็นลิขสิทธิ์ของ Honda Motor Co.
ประเทศญี่ปุ่น ส่วน ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
7 กุมภาพันธ์ 2013

Copyright (c) 2013 Text and Pictures (All Illustration is own by Honda Motor Co.)
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com

Febuary 7th,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE