ใครบางคน เคยกล่าวเอาไว้ว่า ดวงดาว นั้น ยากยิ่งเกินเอื้อมถึงกันง่ายๆ
แต่ถ้าเมื่อใด ยามใด ผู้ใด ได้ไขว่คว้ามาครอบครอง  
เขาจะรู้รสชาติของความยากลำบาก และความสำเร็จ
ว่ามันมีครบถ้วนทุกรส ทั้ง หอมหวาน อมขมขื่น สดชื่นเบิกบานใจ ขนาดไหน

ผมเชื่อเช่นนั้นแล้วละครับ

 

 

เพราะนับตั้งแต่ครั้งแรก ที่ ได้มีโอกาส ขึ้นลองขับ และสัมผัส ซี-คลาส ใหม่
ในงาน Mercedes-Benz Active Safety Experience
ที่ กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อ 12 มีนาคม 2008
นับจากนั้น ผมกับ รถรุ่นนี้ ก็ดูจะยังไม่มีโอกาสมาโคจรพบกันได้โดยง่าย

มิใยที่จะมีเสียงเรียกร้อง จากคุณผู้อ่าน จำนวนไม่น้อยเลย
จะดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ รีวิว ซี-คลาส จะคลอดซะที
รอนาน จนเหงือกบาน เหนียงยาน แล้ว ว่าเมื่อไหร่จะเอาขึ้นเว็บซะที?

อยากบอกใจจะขาดว่า อย่าว่าแต่คุณผู้อ่านจะเป็นฝ่ายรอคอยเลย
ผมเองก็อดทนรอด้วยใจตุ้มๆต่อมๆ ไม่แพ้คุณผู้อ่านนั่นละครับ
คือรอว่า เมื่อไหร่ คิวรถทดลองขับ จะว่างเสียที

แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว ถึง 1 ปี!!
ผมก็ยังเฝ้ารอ….อย่างอดทน….

พลางเฝ้าบอกกับ ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไปว่า

“ไม่เป็นไรค่ะ ศรีทนได้…..”

(ซีนนี้ กล้องเริ่มซูม จนหน้าของผมเต็มจอมอนิเตอร์
พูดไปพลาง ชูกระป๋องสี TOA 4 Season ขึ้นมาทาบหน้า สู้กล้องทีวี
น้ำตาผมที่เริ่มไหล เพราะไฟ Follow ส่องสว่างเข้าหน้า ก็เริ่มอาบแก้มเจิ่งนอง
ไม่รู้ว่ามันจะส่องทิ่มตาตู หาสวรรค์วิมาน ไปถึงไหน
เสียงร่ำไห้เริ่มดังกระซิกๆ ชีวิตเริ่มรันทด ราวกับโดนกลั่นแกล้ง ประมาณพจมาน ชินวัตร..เอ้ย สว่างวงศ์

เสียงหัวเราะร่วน…ดังขึ้นจากกลุ่มคนดู รู้แล้วว่า น้ำตาไม่ได้ช่วยอะไร
ผู้เขียน จึงปาดน้ำตา… วางกระป๋องสีที่หนักเป็นบ้า
เพราะ TOA ไม่ยอมจ่ายค่าโฆษณา…แล้วพูดต่อ….)

ในบรรดาผู้คนที่เฝ้ารอ รีวิว  ซี-คลาส ในครั้งนี้
หนึ่งในนั้น มีชื่อว่า พี่เบนซ์

เปล่า ไม่ใช่ พี่เบนซ์ อันหมายถึง
บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ สำนักงานใหญ่ที่ตึกรัจนากร

พี่เบนซ์ เป็นใคร?
อืม นั่นสิ เขาเป็นใครหว่า?
คนรอบตัวผม ทั้งที่ใกล้ และไกลห่างออกไปแล้ว
มีชื่อเล่นว่าเบนซ์ ก็ 3-4 คน
แถมยังมีชื่อ

แต่ กับพี่เบนซ์ คนนี้ ใครที่เคยดูรายการโทรทัศน์ ยอดนิยม
อย่าง TV Champion หรือ ปังคุง ขำกลิ้ง ลิงกับหมา คงน่าจะจำเสียงของชายคนนี้ได้
เพราะ พี่เบนซ์ คนนี้ คือคนที่พากษ์ 2 รายการทีวี ที่ว่า จนโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองนั่นละ!

ผมเพิ่งมาทราบในภายหลัง ไม่นานนักว่า พี่เขาเป็นผู้หนึ่ง
ที่ติดตามอ่านงานของผม และเว็บของเรากันอยู่

ที่ทราบ ก็เพราะว่า มีเย็นวันหนึ่ง พี่เบนซ์ เจอพวกเราที่
ร้านกาแฟ Macchiato ในซอยอารีย์ นั่นละ เดินเข้ามาแนะนำตัวจนผมก็ตกใจเล็กๆเหมือนกัน

หลังจากห่างหายไปพักใหญ่ เที่ยงวันหนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
พี่เบนซ์ โทรถามผมก่อนว่า  เอาละ ตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อ ซี-คลาส ใหม่แน่นอน
เลยจะถามผมว่า ควรจะซื้อรถรุ่นนี้ดีไหม และรุ่นไหนดี

ในวันนั้น บังเอิญเป็นที่สุด ว่า C200 Elegance อยู่ในมือผม
กำลังจะขับไปคืนที่ตึกรจนากรอยู่พอดี หลังจากเสร็จทริปถ่ายภาพนิ่ง
เลยได้บอกพี่เขาไป ว่า จากที่ผมลองมา ตัวรถเป็นอย่างไรบ้าง

และ นั่นดูจะเป็นเหตุให้ เจ้าตัวตัดสินใจ
เดินเข้าโชว์รูม ถอย C200 Kompressor ออกมาก่อนแล้ว
โดยไม่รอ รีวิว นี้ขึ้นเว็บ

เลยกลายเป็นว่า พี่เบนซ์ ได้รถยี่ห้อที่มีชื่อเดียวกับตน
มาขับใช้งานเสร็จสมอารมณ์หมาย…ซะที

และไม่รีรอให้ราคารถ เวอร์ชันใหม่ ที่เติม น้ำมันแก็สโซฮอลล์ E20 ได้
คลอดออกมาในเวลาหลังจากนั้น เพียง 2 เดือน (เรื่องนี้ อย่าว่าแต่พี่เบนซ์จะไม่รู้เลย
ผมเองก็ยังไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่า จะมีการประกาศแบบนี้ออกมาด้วย เล่นเอาลูกค้าหลายคน
ที่ออกรถในช่วงก่อนหน้านี้ เกิดอารมณ์เซ็งเป็ด ไปหลายรายอยู่)  

อยากรู้ไหม ว่าผมบอกอะไรกับพี่เบนซ์ไป?

ถ้าอยากรู้

คำตอบทั้งหมด อยู่ข้างล่างนี้….
ไม่ยาวไม่สั้น หั่นมาแล้วจนคิดว่า น่าจะ พอดีคำ…

และ ผมได้แต่หวังว่า
การรอคอยในครั้งนี้ คงจะไม่สูญเปล่าในสายตาของทุกคน

 

ซี-คลาส นั้น เป็นรถยนต์ในกลุ่มที่เรียกว่า Premium Compact Class
ซึ่งในกลุ่มนี้ ก็จะมีคู่แข่งหลัก อันได้แก่ BMW ซีรีส์ 1 และ ซีรีส์ 3
รวมทั้ง Audi A3 และ A4 ไปจนถึง Saab 9-3 กับ Volvo C30 S40  V50
(แต่พอมาเมืองไทย ด้วยระดับราคาแล้ว วอลโวคงต้องเอา S60 มาเทียบไปพลางๆ)

รุ่นแรกอย่างแท้จริงของซี-คลาส นั้น เราต้องนับย้อนขึ้นไปไกลถึง 190E
ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 1982 และโดยทางการแล้ว
ถือว่าเป็นรถยนต์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ตระกูลที่ 5 ต่อจาก E-Class SL-Class
S-Class และ G-Class

อันที่จริง แผนการพัฒนา 190E นั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1971
ในยุคที่ โลกกำลังกังวลเรื่องมลพิษจากรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งความวิตกต่อปริมาณน้ำมันดิบในอนาคต
และด้วยวิกฤติการณ์น้ำมันทั่วโลก อันเกิดมาจากการโค่นล้มพระเจ้าซาห์ แห่งอิหร่าน
ในปี 1973 ทำให้ โครงการนี้ ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นแผนอย่างจริงจัง ในปี 1974
ภายใต้รหัสพัฒนา W201

แต่ในตอนนั้น คณะผู้บริหารของ เดมเลอร์-เบนซ์ เสียงแตก แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรก แน่นอน เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง กลัวว่า
การสร้างรถเล็ก จะทำให้คุณค่าของแบรนด์ เสื่อมถอยลง เหมือนกับ
เมื่อครั้งที่ รถยนต์ Packard Clipper ออกสู่ตลาด ในยุคทศวรรษ 1930
มันทำให้ รถยนต์หรู ยี่ห้อ Packard ขายไม่ออก และเสื่อมความนิยม
จนเจ๊งบ๊ง หายสาบสูญไปจากกระแสประชายนต์นิยม
ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆขณะนั้น ไปในที่สุด

แต่แล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจลงมติ ในปี 1977 ว่า จะต้องสร้างรถรุ่นนี้ออกมา
โดยใช้งบลงทุนมากถึง 660 ล้านปอนด์สเตอร์ริง เอาเฉพาะแค่รถต้นแบบแต่ละคัน
มูลค่า ก็ปาเข้าไปประมาณ คันละ 2 ล้านดอยช์มาร์ค (ประมาณ 1 ล้าน ยูโร)

สาเหตุที่มันแพงหนะหรือ? ก็ดูเอาแล้วกันว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์
ตั้งเป้าจะสร้างรถคันเล็กนี้ ให้มีคุณภาพดีที่สุดตามมาตรฐานอันสูงมากของตน
ดังนั้น พวกเขาจึงทุ่มเทกับมันมากๆ แค่สร้าง ชุดเพลาขับหลัง
เพียงอย่างเดียว ก็ยังทำออกมาเพื่อเลือกมากถึง 8 แบบ 70 รูปแบบการติดตั้ง
และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ได้รับการผลิตนำออกไปทดสอบ ก่อนการผลิตจริง

แต่ เอาเถอะ มันคุ้มค่า กับผลัพธ์ที่ได้ เพราะหลังจากนั้น 190E ถูกทำคลอดออกจาก
ทั้งโรงงาน ในซิงเดลฟิงเกน เยอรมัน และโรงงาน เบรเมน ในอังกฤษ ตลอดอายุตลาด
จนถึงปี 1993 รวมแล้วมากถึง…1,879,629 คัน

สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ W201 ในเมืองไทยก็คือ ณ วันที่รถรุ่นนี้ใกล้หมดอายุตลาด
เมื่อรัฐบาล อานันท์ ปัณยารชุน ทลายกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ จากต่างประเทศไปหมาดๆ
จู่ๆ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการในสมัยนั้น ก็สั่งนำเข้า 190E
รุ่น 1.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติ  เข้ามา เปิดราคาถูกอย่างน่าตกใจ

แต่ที่ตกตะลึงอึ้งกิมกี่ไปเลย ก็คือผู้บริหาร เดมเลอร์-เบนซ์ อาเก้ สมัยนั้น ที่ต้องถึงกับ
บินตรงจากเยอรมัน มาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่เมืองไทย เพราะหลังเปิดแคมเปญนี้ไป 3 วัน
ยอดสั่งจอง ก็ปาเข้าไปถึง 5 พัน คัน!!!! เท่ากับว่า สต็อกที่เหลือตามประเทศต่างๆนี่
มาเททิ้งที่ไทยกันได้เลยนะนั่น

ตัวเลขยอดขาย ที่สะท้อนการเจริญเติบโต ในช่วงปีก่อนหน้านั้น
มากพอจะทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ มั่นใจ และ เดินเครื่อง การพัฒนารุ่นเปลี่ยนโฉมใหม่
ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 1993 และมาพร้อมกับชื่อใหม่ “C-Class” เป็นครั้งแรก  

นอกจากจะเปลี่ยนวิธีเรียกรุ่นใหม่แล้ว ซี-คลาสรุ่นแรก ยังรวมความเป็น “ครั้งแรก”
ในหลายๆด้าน ทั้งการแบ่งระดับการตกแต่งมากถึง 4 รูปแบบ (Classic , ESPRIT
ELEGANCE , Sport) ตามรสนิยมลูกค้า เป็นครั้งแรก การมีตัวถัง สเตชันแวกอน
(T-Model) ครั้งแรกสำหรับรถยนต์ตระกูลนี้ เมื่อปี 1996 การวางเครื่องยนต์
ดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล เป็นครั้งแรกของตระกูลดาวสามแฉก (1997)

การเปิดดัว ซี-คลาสครั้งแรกในไทยนั้น เกิดขึ้นตามติดตลาดโลกเลยทีเดียว
จำได้ว่าตอนนั้น กลุ่ม Noble บริษัท อสังหาริมทรัพย์
ทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร แล้ว จัดแคมเปญ ที่ฮือฮามาก
คือ แจก ซี-คลาส W202 5 คันแรกในเมืองไทย
และนับจากนั้น ซี-คลาส ก็กลายเป็นน้องใหม่ที่เศรษฐีเมืองไทยรู้จัก
และให้การต้อนรับอย่างดี

รวมยอดผลิตทั้งหมดของรุ่น ซาลูน 1,626,090 คัน
เมื่อรวมกับรุ่น สเตชันแวกอน T-Model 243,871 คัน
รวมทั้งสิ้น 1,869,961 คัน อาจจะลดลงจากรุ่นเดิมไปบ้าง
แค่เกือบ 1 หมื่นคัน คงช่วยไม่ได้ เพราะความสำเร็จของ ซี-คลาส
ทำให้สมรภูมิ ตลาดกลุ่ม พรีเมียม คอมแพกต์ เกิดดุเดือดขึ่นมา คู่แข่ง
เริ่มเดินหน้าเต็มพิกัด หมายจะแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันให้ได้

และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในยุคหลังการแต่งงานควบรวมกิจการกับไครส์เลอร์
เป็น เดมเลอร์ไครส์เลอร์ เมื่อปี 1998 ก็หาทางปกป้องบรรลังก์ของตน
ด้วย การทุ่มงบประมาณกว่า 2.7 พันล้านดอยช์มาร์ค (1.38 พันล้านยูโร)
เปลี่ยนโฉมตระกูล ซี-คลาสใหม่ ในเดือนมีนาคม 2000
ฝรั่งเขาเรียกรุ่นนี้ว่า “4 Eyes” แต่คนไทยชอบเรียกมันว่า รุ่น “ตาถั่ว”

ก็ดูไฟหน้าสิครับ ถั่วลิสงตราเจดีย์คู่ ลอยเด่นเห็นตระหง่านมาแต่ไกลเลย

คราวนี้บุกตลาดทั้งรุ่นซาลูน รุ่น Sport Coupe บั้นท้ายงาม (CL 203) ที่คลอดออกมาเป็นครั้งแรกของสายพันธุ์
ในงานปารีส ออโตซาลอน ฤดูใบไม้ร่วง ปี 2000 (ต่อมา รุ่นนี้ เปลี่ยนชื่อใหม่กลายเป็นรุ่น CLC-Class เมื่อ ปีที่แล้ว)
ปิดท้ายด้วย สเตชันแวกอน T-Model (S 203) ในงานดีทรอยต์ออโตโชว์ เดือนมกราคม 2001 (เริ่มทำตลาดจริง เดือนมีนาคม)

ถ้าจะถามว่า รถรุ่นนี้ มีช่วงชีวิตตลอดอายุตลาดเป็นอย่างไร?
คงไม่ต้องพูดอะไรมาก นอกจากยกประวัติศาสตร์สำคัญมาบอกกับคุณๆ เพียงประโยคเดียวแล้วกันว่า

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศเมื่อ 20 กันยายน 2006 ว่า นี่คือรถยนต์ที่ขายได้ขายดี มากที่สุดในประวัติศาสตร์
ของบริษัท ด้วยยอดจำหน่ายผ่านหลัก 2 ล้านคัน ไปเรียบร้อย…!!! ยอดจำหน่ายหลัก 30% อยู่ในเยอรมันเอง
ขณะที่ 20% ของยอดผลิตจากโรงงานเบรเมน และซิงเดลฟิงเกน จะถูกป้อนตลาดอเมริกาเหนือ ที่เหลือ ก็ส่งออกไปทั่วโลก

ความสำเร็จจากยอดขายทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมกับชัยชนะ และความสำเร็จ
จากทั้งสนามแข่ง หลากประเภท โดยเฉพาะ รายการ DTM การทำสถิติความเร็วต่างๆ
ที่แม้จะไม่มาก แต่ก็เยอะแยะ และยาวพอให้ผมขี้เกียจเขียนเล่าต่อกันตรงนี้กันเลยทีเดียว

(จิมมี่ นี่ นิสัยไม่ดีเนาะ ดองก็ดองรีวิว แถมเรื่องที่ควรเขียน ก็ดันไม่เขียนซะอีก วู้ว แย่ๆๆ)

 

มันมีเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่งของบริษัทรถยนต์ นั่นคือ คุณมีเวลาในการเฉลิมฉลองความสำเร็จ
ของรถยนต์รุ่นที่ตนเองผลิต สั้นมากๆ  แค่ ไม่กี่วัน หลังเลิกงาน เทียบกับ ความพยายามในการพัฒนา
ตลอด 4-5 ปี  แล้วไหนจะต้องออกแรง งัดทุกวิทยายุทธ ผลักดันยอดขาย จนครบอายุตลาด
แต่…นี่คือสัจธรรมของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ซี-คลาสเอง ก็หนีไม่พ้น

14 ธันวาคม 2006 W203 คันสุดท้าย (C230 ซีดาน สีเงิน อิริเดียม) คลอดออกจากสายการผลิต ณ โรงงาน ซิงเดลฟิงเกน
คือสัญญาณที่บอกให้เรารู้ถึง 2 สิ่งที่รออยู่ข้างหน้า

1. 203 ซีรีส์ เดินทางมาถึงวันสุดท้าย ในการทำหน้าที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
และนับจากนี้ไป มันจะกลายเป็นอดีต อันน่าจดจำและกล่าวถึง ทั้งในด้านบวก และลบ
เช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นดังๆ อีกหลายรุ่น ซึ่งถึงแก่กาลหมดอายุขัยในตลาด

2. มันคือสัญญาณที่บอกให้เรารู้ว่า การเริ่มต้นศักราชใหม่ ของ ซี-คลาส W204
ได้มาถึงแล้ว…(และ เวรกรรมอันหนักหน่วง ของฝ่ายการตลาด ส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์ ทั่วโลก
ก็เวียนมาถึงครบบรรจบอีการะหนึ่ง เพื่อเริ่มต้นเข็นยอดขายขึ้นภูเขา กันอีกครั้ง)

 

 

 
รุ่นล่าสุดของ ซี-คลาส รหัสรุ่น W204 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในตลาดโลก เมื่อ 18 มกราคม 2007
และทิ้งช่วงไปไม่นานนัก ก่อนการ เปิดตัวในเมืองไทย เดือนตุลาคม 2007 ที่ผ่านมา
ที่ โรงแรม เซ็นทารา ในอาณาจักร เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกลาดประสงค์
ใช้สโลแกนเปิดตัว C For Yourself

ซี-คลาสใหม่ ถือเป็นรถยนต์ที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทุ่มงบประมาณ
เพื่อการทดสอบ มากถึง 24 ล้าน กิโลเมตร จากรถยนต์ต้นแบบ Prototype
และ Pre-Production รวมกัน มากถึง 280 คัน!! ผ่านทุกสภาพถนน
ใน 3 ทวีป หลัก ทั้งในสนามทดสอบ และบนถนนสาธารณะในเยอรมัน
ฟินแลนด์ ดูไบ และนามีเบีย เป็นเวลา 18 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นส่วน
ตั้งแต่ ตัวกรองอนุภาคไอเสียสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Particular Filter)
ไปจนถึงเบาะนั่ง และระบบปรับอากาศ ที่จะต้องทำงานภายใต้สภาพอากาศ
ทั้งหนาวสุดขั่ว และร้อนสุดขีดคลั่ง แถมในช่วงสุดท้าย ก่อนเปิดตัว ยังผลิตรถยนต์
Pre-Production อีก 450 คัน ส่งให้กับพนักงานของตน ที่คัดเลือกกันไว้ ใช้งานในชีวิตประจำวัน
เพื่อตรวจสอบชั้นสุดท้าย ให้แน่ใจในคุณภาพการประกอบ และความทนทานของชิ้นส่วนทั้งคัน
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโปรแกรมการทดสอบคุณภาพ ก่อนการทำตลาดจริง ที่โหดร้ายที่สุด
และหนักหน่วงที่สุด ครั้งหนึ่ง เท่าที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ และผู้ผลิตรถยนต์รายใดในโลก จะเคยทำ

 

W204 มีความแตกต่างจากรุ่นที่แล้วๆมาอยู่หลายประเด็น
เรื่องแรก ที่เห็นได้จากภายนอกคือ ระดับการตกแต่ง ที่มีให้เลือก 3 รูปแบบ คือ
แบบพื้นฐาน CLASSIC รุ่นหรู ELEGANCE และแนวสปอร์ตนิดๆอย่าง Avantgarde

รุ่นที่เปิดตัวทำตลาดในเมืองไทยนั้น มี 2 แบบเครื่องยนต์
แต่รวมทั้งหมดแล้ว 4 รุ่นย่อย รวด (ช่วงแรก มี 3 รุ่นย่อย)
นั่นคือ C200 KOMPRESSOR

มีให้เลือกทั้งรูปแบบการตกแต่งแบบ CLASSIC และ ELEGANCE
อันจะมีกระจังหน้า แบบมาตรฐาน อนุรักษ์นิยม พร้อมกับ ตราเบนซ์ พับได้
บนฝากระโปรงหน้า ที่ผู้คนคุ้นเคยกันมานาน

 
 
 

ในรุ่น CLASSIC ใส่ล้ออัลอยลายมาตรฐาน 7 ก้าน ขนาด 7J x 16” สวมเข้ากับยาง 205/55 R 16 ( 16,393 บาท)
ส่วนรุ่น ELEGANCE ที่เห็นในรูป ใส่ล้ออัลอยลายมาตรฐาน 12 ก้าน ขนาด 7.5 J x 17″, สวมเข้ากับยาง 225/45 R 17 (18,945 บาท)

 

 

หรือ แบบ AVANTGARDE ที่เน้นภาพลักษณ์ความเป็นสปอร์ต มากยิ่งขึ้น
ด้วยชุดกระจังหน้า พร้อมโลโก้ ตราดาว 3 แฉก แปะหราอยู่ด้านหน้า
อันชวนให้นึกถึง S-Class คูเป้ รุ่น 560SEC ตัวถัง W126 ปี 1985 เสียดื้อๆ

เปลือกกันชนหน้า ดีไซน์ ให้ดูสปอร์ตนิดๆ ภูมิฐาน และร่วมสมัยกำลังเหมาะ

ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ลายพิเศษ 5 ก้านคู่ 7.5 J x 17″ มาพร้อมกับยางขนาด 225/45 R 17 (19,769 บาท)

 

และ C230 เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร มาพร้อมเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ
มีเฉพาะการตกแต่งในแบบ Avantgarde เท่านั้น สังเกตได้จาก ท่อไอเสียคู่หลัง ที่จะต่างจากรุ่นอื่นๆ

ในรุ่น C230 2.5 ลิตร จะมีไฟหน้า พร้อมระบบส่องสว่างอัจฉริยะ (ILS – Intelligent Light System)
โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์จะทำหน้าที่ปรับระดับความสว่างของไฟหน้าให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่
และสอดคล้องกับรูปแบบต่าง ๆ ของถนนโดยอัตโนมัติ ทำงานควบคู่กับระบบปรับโคมไฟหน้ารถ
ตามการเลี้ยวของพวงมาลัย (ALS – Active Light System) และระบบไฟตัดหมอกติดสว่างขณะเลี้ยว
(Cornering Light) อีกด้วย ถ้าเลี้ยวรถไปฝั่งไหน ไฟตัดหมอกฝั่งนั้นจะติดขึ้น และจะดับลงเมื่อคืนพวงมาลัย

ทุกรุ่นมีขนาดตัวถังเท่ากัน
ความยาวตลอดคัน 4,581 มิลลิเมตร ยาวขึ้นจากเดิม 55 มิลลิเมตร
กว้าง 1,770 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง)
สูง 1,447 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,760 มิลลิเมตร 

 

 

เส้นสายของตัวรถ ยึดแนวทางการออกแบบ ล่าสุดที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มใช้มาในปี 2005
เน้นความเฉียบคม จนหลายคนที่คุ้นเคยกับแนวเส้นสายของเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นก่อนๆ
ถึงกับนิ่งอึ้ง

หากเป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะชอบ งานออกแบบของซี-คลาสใหม่
แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ อันเป็นกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมของรถรุ่นนี้ จะรู้สึกแปลกๆกับ W204 สักหน่อย
เป็นเรื่องยากลำบากที่จะต้องออกแบบรถสักรุ่น ให้เอาใจกลุ่มลูกค้าหลักทั้ง 2 ซึ่งมีแนวคิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม W204 ถือเป็นรถซีดานรุ่นแรกในตระกูลดาวสามแฉก ที่มีกระจังหน้า แบบโลโก้ดวงดาว ดวงโตๆ
จากรถสปอร์ต ตระกูลต่างๆของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ มาติดตั้งเป็นอุปกรณ์ “มาตรฐานจากโรงงาน”

เช่นเดียวกับ แนวขอบประตูสีดำ ที่มากันครบ ซึ่งในรถรุ่นก่อนๆนั้น เคยมีเพียงเส้นที่คาดดำบริเวณ ประตู เสา B-Pillar เท่านั้น

 
นอกจากนี้ มีความพยายามลดน้ำหนักด้วยการนำอะลูมีเนียม มาใช้กับชิ้นส่วนตัวถังบางจุดเช่น บริเวณเหนือซุ้มล้อคู่หน้า ฯลฯ
ส่วนเสาหลังคากลาง B-Pillar ใช้เหล็กซ้อน ทั้งแบบ High Tensile และ Ultra High Tensile กันมากถึง 3 ชั้น 
 

การเปิดประตูเข้าออกรถนั้น แม้จะใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล Immobilizer แล้ว
แต่ C200 Kompressor ก็ไม่มีระบบ Smart Entry ประเภทที่ว่า
เอามาแปะที่มือจับประตูปุ๊บ ก็ปลดล็อกทันที เฉกเช่นที่ 320d เขามีมาให้

 

(C200 Kompressor ELEGANCE)

บานประตูเปิดได้กว้างเท่าที่เห็น เสียงปิดประตู
ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือ คนที่คุ้นเคยกับเมอร์เซเดส-เบนซ์
มาหลายรุ่นแล้ว คงจะบอกว่า ถ้าฟังแล้ว แน่นกว่านี้ได้อีกนิดก็จะดี

 

 
 (C200 Kompressor Avantgarde)

การเข้าออกจากตัวรถ ไม่ได้ยากลำบากอะไร
สำหรับผมแล้ว คิดว่าไม่ได้ต่างจากรุ่นเดิมมากนัก

มีไฟสีแดง ที่ด้านล่าง เตือนให้ผู้ขับขี่ที่ขับตามมา เห็นเด่นชัดว่า ประตูรถเปิดอยู่นะ

 

(C230 2.5 Avantgarde)

แผงประตูด้านข้าง วางแขนกำลังดี แต่ด้วยพื้นผิวสัมผัสที่แข็งขึ้น
จึงชวนให้นึกถึง แผงประตูด้านข้างของ E-Class W124 อยู่บ้าง
การวางขา สำหรับผู้โดยสารนั้น ตั้งชันขึ้นมา จนชวนให้นึกถึงพื้นที่วางขาของ ฮอนด้า แจ้ส และโตโยต้า ยาริส

 

 (C200 Kompressor ELEGANCE)

เบาะนั่ง ไม่ถึงกับนุ่มสบายนัก แต่นั่งแล้วไม่ปวดหลัง ไม่จมลงไป
เบาะรองนั่ง บางกว่ารถทั่วๆไป และถ้ายาวกว่านี้ได้อีกนิดก็จะดี
แต่ถามว่าตำแหน่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เพียงพอไหม ก็ตอบได้เลยว่า พอรับได้

 

 (C200 Kompressor Avantgarde)

พื้นที่เหนือศีรษะ สำหรับผู้โดยสารคู่หน้า โปร่งโล่งสบายตามสมควร
ไม่รู้สึกอึดอัดเท่าที่รถรุ่นก่อนเคยเป็น

กล่องคอนโซลกลาง เป็นแบบแยกเปิด 2 ฝั่ง ปุ่มกดเปิด อยู่ด้านข้างลำตัว ใช้งานยากไปหน่อย

ช่องวางแ้ก้ว 2 ตำแหน่ง มีฝาเื่ลื่อนเปิด-ปิดได้

เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบหน่วยความจำ
ตำแหน่งเบาะและกระจกมองข้างที่ตั้งไว้ ได้ 3 ตำแหน่ง

ส่วนที่ปรับดันหลัง นั้น เป็นก้านโยกเล็กๆธรรมดา ออกแรงกับมันนิดนึง และมีทั้งสองฝั่ง ซ้าย-ขวา

 

(C230 2.5 Avantgarde)

แต่ถ้าเป็นรุ่น C230 2.5 จะเสริมระบบปรับระดับสูง-ต่ำ เข้าออก ของพวงมาลัยด้วยไฟฟ้า
ทำงานเชื่อมกับหน่วยความจำเข้าไปด้วย

พนักศีรษะ เลื่อนขึ้น-ลงได้ และปรับให้เงยเพื่อรองรับศีรษะด้านหลังได้

ผมชอบ ที่เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ของเบาะคู่หน้านั้น
ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถปรับระดับสูงต่ำได้เอง ไม่ล็อกตำแหน่งตายตัว
ให้ผู้ขับต้องปรับตัวเข้าหาตัวเข็มขัดอย่างที่ วอลโว และ BMW เป็นอยู่

(C200 Kompressor ELEGANCE)

ทางเข้าเบาะคู่หลังนั้น มีขนาดพอกันกับรถยนต์คอมแพกต์ 1,600-2,000 ซีซี จากญี่ปุ่น
ช่วงการก้าวขาเข้า-ออกจากรถนั้น จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับคนที่มีสรีระทั่วไป
แต่สำหรับผม ก็จะเริ่มอึดอัดนิดนึง ทว่า ถ้าไซส์อย่างท่านผู้เกิน Commander CHENG
เห็นที จะไม่ไหว

 

 
 (C200 Kompressor Avantgarde)

แผงประตูคู่หลังนั้น นอกจากจะมีที่วางแขนตามปกติแล้ว ยังมีช่องใส่ ของด้านข้างมาให้
ตั้งข้อสังเกตว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ แทบทุกรุ่นที่ผมเจอมา เสากรอบประตู จะหนา มากกว่ารถญี่ปุ่นทั่วๆไป
แน่นอนว่า มีผลในด้านการลดเสียงรบกวน ขณะเดินทางได้พอสมควร

 

(C230 2.5 Avantgarde)

เบาะนั่งด้านหลัง นั้น ค่อนข้างแข็ง และไม่ได้นั่งสบายนัก เบาะรองนั่งค่อนข้างสั้น
พอกันกับฮอนด้า แอคคอร์ด เจเนอเรชันที่ 7 ที่ตกรุ่นไปเมื่อปี 2007 นั่นละ
ส่วนปีกข้างของพนักพิงเบาะหลัง จะถูกบีบเข้ามาโดยซุ้มล้อ เช่นเดียวกันกับ ซีรีส์ 3
ดังนั้น อย่าคาดหวังความสบายในการโดยสารที่เบาะหลังมากนัก เว้นเสียแต่ คุณจะให้เพื่อน
ติดรถร่วมเดินทาง ในระยะสั้นๆ ถ้านั่งไปอยุธยา ก็พอทนได้ แต่ถ้านั่งไป อ่างทอง คาดว่า เมื่อยแน่ๆ 

สำหรับผู้โดยสารตอนกลาง มีพนักศีรษะแบบเต็ม มาให้อีกต่างหาก ในทุกรุ่น

(C200 Kompressor ELEGANCE)

พื้นที่เหนือศีรษะด้านหลัง ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด ศีรษะของหลายๆคนเฉี่ยวหลังคาด้านบนไปนิด
แต่กับบางคนที่เตี้ยหน่อย ก็ยังมีพื้นที่โปร่งสบายกว่า ซีรีส์ 3 นิดนึง ย้ำว่าแค่นิดนึงเท่านั้น

พื้นที่วางขาด้านหลัง ใหญ่และดีขึ้นกว่า W203 เล็กน้อย
วางขาได้สบายขึ้น เข่าไม่ติดด้านหลัง ของพนักพิงเบาะคู่หน้า

ที่พักแขน ตรงกลางพับเก็บได้ เมื่อดึงออกมา จะมีทั้งช่องใส่ของแบบมีฝาปิดขนาดยาว
ส่วนที่วางแก้ว มีมาให้ 2 ตำแหน่ง และพับเก็บได้ในรูปแบบที่ออกจกะแปลกตาไปสักหน่อย

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ 3 จุด ทุกตำแหน่ง พร้อมระบบ ดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ
มาให้ เช่นเดียวกับเบาะคู่หน้า

 

 (C200 Kompressor Avantgarde)

เหตุที่นำรูปห้องโดยสาร มาลงให้ครบกันขนาดนี้ มี 2 เหตุผล

1. ให้คุณๆได้เห็นความแตกต่างกันไปข้างนึงเลย ว่าแต่ละรุ่น มีรายละเอียดแตกต่างกันตรงไหน
2. ให้คุณๆ ได้เล่นเกม Photo Hunt จับผิดภาพ….อีกแล้ว (^-^’)

 

(C230 2.5 Avantgarde)

สารภาพตามตรงว่า ทุกครั้งที่เปิดฝากระโปรงท้ายของ ซี-คลาสรุ่นนี้ทีไร
ชวนให้หวาดเสียวไปถึงขั้วหัวใจทุกที!

มาแบบเดียวกับ ฝากระโปรงหลังของ E-Class รุ่นปัจจุบันในไทย แต่ตกรุ่นแล้วในยุโรปเป๊ะ

แน่ละ ทันทีที่ดันมือจับปลดล็อก บริเวณ กึ่งกลาง ระหว่างไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง
ฝากระโปรงน้ำหนักเบา จะดีดผึง อย่างรุนแรง!!!

และถึงแม้ว่า พอฝาเปิดขึ้นไปจนสุดแล้ว มันจะหยุดด้วยตัวของมันเอง อย่างนุ่มนวล ครั้งเดียวอยู่หมัด
แต่ ก็สร้างความหวาดเสียวได้เอาเรื่อง ยังคิดกันอยู่เล่นๆเลยว่า ถ้ามันเสยคางใครขึ้นมาละก็
สงสัยงานนี้ ถึงขั้นคางแตกได้เลยนะเนี่ย… 

 

 

ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น มีขนาด 475 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA ของเยอรมัน
มีแผงฟิวส์ ซ่อนอยู่ที่ผนังด้านขวา และมีป้ายฉุกเฉิน แปะอยู่ด้านบน

เพื่อพิสูจน์ว่า มันมีความจุมากแค่ไหน ยังไม่ทันที่ผมจะคิดอะไรจบดีนัก
ตากล้วย BnN ก็กระโดด ลงไปนอน ทำท่า ลิงย่าง คาบ Oreo จนเรียบร้อยเลย…..

 

 

 

 

เอาแล้วไง ถ้ากล้วยลงไปนอนได้ ตัวขนาดผม ก็น่าจะลงไปนอนได้…แต่…เอ่อ…
มันก็ อึดอัดสักหน่อยนะ เอาน่า พอไหวๆๆ ถือว่า ยังมีขนาดความจุที่ใช้การได้…
โปรดสังเกตใบหน้าอันอีหลักอีเหลื่อของผม เอาเองแล้วกันครับ

 

แต่ระหว่างลงไปนอน จู่ๆ โดยไม่ทันคาดคิด ท่านผู้เกิน ก็พุ่งเข้ามา หมายจะแกล้งผม หัวทิ่มเข้ามาในห้องเ็ก็บของด้านหลัง

อยากจะบอกว่า นอกจาก บั้นท้าย ซี-คลาส จะรับไมได้แล้ว
ผมเองก็ยังรับไม่ได้เหมือนกัน ตอนเจ้าตัวพุ่งเข้ามา ขอบอกว่า โคตรน่ากลัวเลย!

ท้ายที่สุด พยายามเอาศีรษะ (ที่เพิ่งตัดผมมาหมาดๆ) พยายามจะมุดเข้ามาในห้องเก็บของด้านหลัง
แต่ในที่สุด ท่านผู้การ ของเรา ก็ยอมศิโรราบ ถอยห่างออกไปจากชีวิตผมแต่โดยดี

เปล่าหรอก ไม่ใช่ความพยายามไม่สำเร็จ
หากแต่ เจ้าตัว ทนกลิ่นรองเท้าผ้าใบ ของผมไม่ไหวนั้นเอง…
ถึงขั้นถอยหลังผงะกลับไปอย่างรวดเร็ว

แพนเอ้ย Nike คู่เนี้ย 2 ปีครึ่ง แล้วนะ และ ตั้งแต่ซื้อมา
มีแต่ตากแดดอย่างเดียว ไม่เคยซักเลยสักครั้ง….

สมน้ำหน้า!

คิกๆๆๆๆๆๆ

 

ไม่รู้ว่าผมจะคิดมากไปเองหรือเปล่า แต่เรื่องที่น่าตำหนิที่สุดของ ซี-คลาสใหม่
มันก็คือ งานออกแบบแผงหน้าปัด กับพวงมาลัย ที่ทิ่มตาผมอยู่ทุกขณะตอนขับขี่นี่แหละ

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นบริษัทชั้นนำในระดับต้นๆ เวลาที่เราจะนึกถึง
บริษัทรถยนต์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบยานพาหนะให้เราได้ขับขี่กัน

แต่ทำไมในระยะหลังมานี้ งานออกแบบของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถึงได้ ดูคมๆ ทื่อๆ
มากขึ้นกว่าแต่ก่อน จริงอยู่ ว่า งานออกแบบของเยอรมันนั้น ปกติแล้ว จะมีเส้นสายแข็งๆ
เน้นการอวดของ โชว์เทคโนโลยี กันมากกว่า

แต่กับแผงหน้าปัดของ ซี-คลาสคราวนี้ เหมือนแกะออกมาจากท่อนซุง คือแข็งทื่อไปเสียทุกส่วนสัดจริงๆ

แผงหน้าปัดของรุ่น C200 Kompressor ELEGANCE จะตกแต่งด้วลายไม้ เป็นหลัก

 

ส่วนแผงหน้าปัดของ C200 Kompressor Avantgarde ก็จะเปลี่ยนลายไม้ มาเป็น แผงอะลูมีเนียม ในทุกจุด

 (ที่เห็นนี้ เป็นรถนำเข้า ส่วนรถรุ่นประกอบในประเทศ ไม่มีจอ มอนิเตอร์ กับระบบนำทาง นะครับ) 

 

 ส่วนรุ่น C230 2.5 Avantgarde นั้น แทบไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดเลย

 

 

 

 เบรกมือ เป็นแบบแป้นเหยียบที่เท้าซ้าย และมีคันโยกปลดเบรก ใช้สวิชต์มือบิดเปิด-ปิดไฟหน้า
ซึ่งหากดึงเข้าหาตัว ตามจังหวะ จะเป็นการเปิดไฟตัดหมอกทั้งหน้า-หลังไปในตัว 
และในรุ่น ELEGANCE คันที่ทดลองขับ มีสวิชต์ปรับระดับสูงต่ำของไฟหน้าด้วย ติดอยู่ฝั่งซ้ายของสวิชต์มือบิดเปิด-ปิดไฟหน้า

ส่วนกระจกมองข้างปรับ และพับเก็บได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า มีครบครัน เพราะรถระดับนี้ขืนไม่มีมาให้ ก็คงโดนลูกค้าด่าแหงๆ

 

ช่องเก็บของ ล้นชักหน้ารถ แบ่งเป็น 2 ชั้น ดูเหมือนจะลึก แ่ต่เอาเข้าจริงก็มีขนาดเท่าที่เห็น ฝาปิด เปิดลงมาได้เยอะมาก จนชนหัวเข่า

 

ชุดมาตรวัด เป็นแบบ 3 ช่องวงกลม มีมาตรวัดมาให้เท่าที่จำเป็น
อันที่จริง การแบ่งช่องแบบนี้ ดีอยู่แล้ว เพียงแต่มีเรื่องต้องถามไถ่กันหน่อยนึง
คือ ผมไม่เข้าใจว่า แถบขีดๆ ที่รอบๆ มาตรวัดรอบนั้น
ตกลงแล้ว เราควรจะอ้างอิงตัวเลขได้ไหม
เพราะพยายามนับให้ตายยังไง ก็แบ่งช่องออกมาได้ไม่ลงตัวเลย
คือ มีทั้งหมด 7 ขีด จาก ระดับ 1,000 – 2,000 รอบ/นาที
และต้องใช้วิธีการกะประมาณคร่าวๆ แทน
ซึ่งทำให้ชีวิตดูไม่ปวดเศียรเวียนเกล้า อย่างที่เคยเป็น
ส่วนแถบขีดแบ่งบนมาตรวัดความเร็วนั้น อ่านได้ไม่ลำบากตาเท่าไหร่

ใครรู้ ช่วยไขความกระจ่างให้ผมฟังทีเถอะครับ นึกว่า ทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ช่วยไอ้อ้วนตาดำๆคนนี้ทีเถิด

 

 

สวิชต์บนพวงมาลัยนั้น ออกแบบมา เป็นแป้นวงกลม ทั้ง 2 ฝั่ง

ฝั่งซ้ายนั้น เอาไว้ควบคุมการทำงานของ จอแสดงข้อมูล Multi Information Display
ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลางของมาตรวัดความเร็ว ซึ่งแสดงผลได้หลายรายการ
ตั้งแต่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระยะทางที่เหลือพอให้น้ำมันในถัง พารถแล่นไปได้
เข็มทิศ ระบบแจ้งเตือนความดันลมยางต่ำ รวมทั้งเป็นหน้าจอ
สำหรับการเซ็ตระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในรถ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้
แสดงอุณหภูมิภายนอกรถ ไปจนถึง แจ้งเตือนระยะทางที่เหลือ
ก่อนถึงกำหนดนำรถเข้ารับบริการ ASSYST PLUS ฯลฯ

ส่วน ชุดสวิชต์ ฝั่งขวานั้น ควบคุมระดับเสียง ของทั้งชุดเครื่องเสียงและโทรศัพท์
ซึ่งสามารถแสดงผลได้บนจอ Multi Information System นี้อีกเช่นเดียวกัน!
จะเปลี่ยนแทร็ก ซีดี หรือคลื่นวิทยุ ก็ดูจากชุดมาตรวัดนั่นละ
ลดการละสายตาจากสภาพการจราจรข้างหน้าได้อย่างดี
และยังมีปุ่มระบบสั่งการทำงานเครื่องเสียงและโทรศัพท์ด้วยเสียงของเรา

ชื่อของมันคือ LINGUATRONIC อ่านว่า ลิงกัวโทรนิค 

แสดงว่า ลิง ยังกลัวระบบนี้เลยแหะ

(ตอนแรกตั้งใจว่า จะนำภาพทั้งหมดให้ชมกัน
แต่นึกไปนึกมา ถึงแม้คุณกำลังอ่านรีวิวจากผม แต่ คุณก็ไม่ได้กำลังอ่านคู่มือการใช้รถอยู่แต่อย่างใด
ดังนั้น เชื่อแน่ว่า ไม่มีใครอยากทนรอโหลดทั้ง 14 รูปที่ผมถ่ายเก็บมาจนครบหรอก เลยตัดสินใจไม่เอาลงดีกว่า)

 

ชุดเครื่องเสียงนั้น ในรุ่น ELEGANCE จะเป็นวิทยุ พร้อมเครื่องเล่น CD 6 แผ่น
มีระบบเสียง Surround Logic 7 จาก Harman Kardon มาให้ พิเศษกว่ารุ่น Avantgarde เสียอีก
ซึ่ง แน่นอน คุณภาพเสียง ดีกว่าชุดเครื่องเสียง BMW Bussiness ใน ซีรีส์ 3 อย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ถ้าถามว่า ดีกว่า แบบ Professional ใน 320d ไหม คำตอบก็คือ อยู่ที่หูของคุณแล้วละครับ

หน้าจอมอนิเตอร์ของ C200 Kompressor ทุกรุ่นที่ประกอบในประเทศไทย จะเป็นหน้าจอแบบเล็กอย่างที่เห็น

 

แต่ในรุ่น C230 2.5 Avantgarde
จะให้จอมอนิเตอร์แบบเต็ม Command APS
มาพร้อมระบบนำทาง ฝังข้อมูลลงในตัวเครื่องโดยตรง

แถมยังสามารถเล่นแผ่น DVD ได้อีกด้วย

ตอนจอดรถอยู่หน้าบ้าน ผมก็นอนดู เดี่ยว 7 ของคุณโน้ต อุดม แต้พาณิชย์ สบายใจเฉิบ 

เมนูบาร์ จะเลื่อนหายขึ้นไปด้านบน และล่างเอง เมื่อเวลาผ่านไปแป๊บนึง

การควบคุมเครื่องเล่น ทั้งหมด ทำได้บนแผงควบคุมชุดเครื่องเสียงนั่นเอง 

ด้านล่างของจอมอนิเตอร์นี้ มีปุ่มกด  สำหรับปรับมุมองศาให้จอเงย หรือคว่ำตามต้องการ หรือพับเก็บปิดทิ้งไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ระบบ COMMAND ของ ซี-คลาส นั้น
แตกต่างจาก i-Drive ของ BMW ด้วยคำจำกัดความที่สั้นมากๆว่า

i-Drive นั้น ถ้าคิดไม่ออก บอกไม่ถูก กดปุ่ม MENU ทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่
ที่หน้าจอแรกได้เสมอ

แต่ COMMAND หนะ หาเข้าไปสิ สิ่งที่ต้องการหนะ ไม่เจอง่ายๆหรอก แบร่ๆๆๆๆๆๆ

กว่าจะหาเจอ ว่า POI ( Point Of Interest) อยู่ตรงไหน ก็คลำหากันพักนึง
กว่าจะหาเจอระบบโทรศัพท์ ก็คลำกันอีกพักนึง

กี่พักกันแล้วเนี่ย?

ทำไม ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรป ทั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ บีเอ็มดับเบิลยู ไม่ทำระบบพวกนี้
ให้อยู่บนพื้นฐานของ จอมอนิเตอร์แบบ Touch Screen ซึ่ง ใช้งานง่ายกว่า สะดวกกว่า
และไม่ต้องเสียเวลาชีวิต มานั่งตาบอดคลำจอระบบกันอยู่อย่างนี้ ให้มันสิ้นเรื่อง ?

POI (Point Of Interest) ของระบบนำร่อง ใน ซี-คลาสนั้นขอยอมรับว่า มีข้อมูลค่อนข้างใช้ได้เลยทีเดียว
แน่ละ ขนาด POI รูปสถานพยาบาลนั้น ระหว่างที่ขับผ่านย่าน ตลาด อตก.
เราก็งงเต๊กกันเลยว่า แถวนี้มันมีสถานพยาบาลด้วยเหรอ

พอมองไปข้างทางอีกที ก็ขำกันจนกรามค้างไปเลย

แน่ละ เพราะ สัญลักษณ์สถานพยาบาล กากบาทแดง นั้น
แท้จริงแล้วมันคือ คลีนิครักษาสิว ฝ้า กระ และจุดด่างดำ นั่นเอง!!

แต่ถ้าพูดถึงการใช้งานจริง ระบบ COMMAND ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง มากกว่าระบบ i-Drive

เพราะอย่างน้อย สำหรับระบบ i-Drive ถ้าคิดไม่ออก บอกไม่ถูก ว่าจะหาอะไรดี
ยังมีปุ่ม MENU กดให้กลับไปที่หน้าจอแรกเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ยังได้อยู่
แต่ในระบบ Command ถ้าหลงอยู่ในวังวน ก็จงหลงกันอย่างนั้นต่อไป
คลำหาทางกันออกมาเอง เพราะบางครั้ง การกดปุ่ม <–‘ บนพวงมาลัย
ก็มิได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นทุกครั้งไปแต่อย่างใด

ต้องเลื่อนสวิชต์หมุน เลื่อนขึ้น เพื่อให้แถบเมนูด้านบนโผล่ขึ้นมา
ก่อนจะกดเลือก ให้แถบเมนูกลางจอต่างๆ ทำงาน หมุนๆ แล้วกดเลือกอีกที
ก็จะเจอแถบเมนูด้านล่างซ้อนเข้าไปอีก

โอย! มันช่างปวดหัววุ่นวายอะไรเช่นนี้เนี่ยยยยย ชีวิต???

 

 

เครื่องปรับอากาศของทุกรุ่น เป็นแบบ THERMOTRONIC 3 Zone
แบ่งการปรับอุณหภูมิได้ตามใจผู้โดยสารทั้งฝั่งซ้าย ขวา และ ด้านหลัง แยกกันชัดเจน
หน้าจอเป็นแบบดิจิตอล หมุนควบคุมด้วยวงแหวน ใช้งานง่ายขึ้น แม้จะติดตั้งต่ำไปสักหน่อย

 

อุปกรณ์อื่นๆ ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงานนั้น นอกเหนือจากสวิชต์เปิด-ปิด การทำงานของระบบ
ควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) แล้ว ติดๆกันนั้น ยังมีปุ่มเปิด-ปิด สัญญาณ
แจ้งเตือนระยะห่างขณะเข้าจอด รูปตัว P มาให้

นอกจากจะขึ้นเสียงร้องเตือนอันโหยหวนแล้ว
ระบบของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังเป็นเหมือนกับที่ผมเคยเจอใน E200 NGT มาแล้ว
นั่นคือ มีแถบไฟ ที่ทั้งด้านบนสุด ของชุดแผงหน้าปัด…

 

และที่เพดาน ด้านบน เหนือกระจกบังลมหลัง ช่วยให้การกะระยะห่าง จากวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ
ตอนถอยหลังเข้าจอดทำได้ง่ายขึ้นอีกนิดนึง สำหรับความไวของเซ็นเซอร์นั้น จัดอยู่ในระดับไม่ไหวมาก
และไม่เลวร้ายมาก คือ ปานกลาง ค่อนข้างจะดี แต่ยังต้องมีช็อต เล็ง และวัดใจกันบ้างเล็กน้อยตอนถอยจอด

 

 ทัศนวิสัยด้านหน้า เด่นชัดดี มองเห็นฝากระโปรงหน้าชัดเจน แม้จะรู้สึกว่า ดวงดาวบนฝากระโปรงหน้า จะหายไปบ้างก็ตาม

(โปรดสังเกต M3 คันฝั่งขวานั่น…)

 

 

ยอมรับเลยว่า คราวนี้ กระจกมองข้าง นอกจากจะตัดแสงได้เองในยามค่ำคืนแล้ว ยังมีขนาดใหญ่โตสะใจอีกด้วย 

เสาหลังคาคู่หน้านั้น ชวนให้นึกถึง BMW ซีรีส์ 3 รุ่นปัจจุบัน E90 ขึ้นมาตะหงิด…

 

 

 บรรยากาศภายในรถ โปร่งตาขึ้นกว่ารถรุ่นเดิม เล็กน้อย ความพยายามบีบโคนเสาหลังคาให้ลดความหนาลง มีผลบ้าง แต่แค่ในเชิงจิตวิทยา

 

ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ไม่รู้ผมจะคิดไปเองหรือเปล่า แต่เสาหลังคาคู่หลัง C-Pillar เหมือนจะเล็กลงนิดหน่อย

และนั่นทำให้การถอยรถ หรือระแวดระวัง มอเตอร์ไซค์จากด้านข้าง ดีขึ้น

ในภาพรวมแล้ว ทัศนวิสัย โปร่งตาขึ้นจากรถรุ่นเดิม เพราะมีพื้นที่กระจกรอบคัน มากกว่า ซีรีส์ 3 ใหม่ นิดนึง 

——————————————————————

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้จะรู้กันดีว่า ในต่างประเทศนั้น เวลาเมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดตัวรถรุ่นใหม่ทีไร
จะมีสารพัดทางเลือกเครื่องยนต์ จนลูกค้าตาลาย ชี้นิ้วจิ้มแค็ตตาล็อกกันไม่ถูกเลยทีเดียว
แต่สำหรับเวอร์ชันไทยนั้น ในช่วงแรกๆที่เปิดตัวมานี้ ซี-คลาสใหม่ มีให้เลือก 2 ขุมพลัง และ 2 ระบบส่งกำลัง

โดยในรุ่น C200 KOMPRESSOR นั้น
จะวางเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง DOHC 16 วาล์ว วางตามยาว
1,796 ซีซี
อัตราส่วนกำลังอัด 8.5 : 1
พร้อมระบบอัดอากาศแบบ Supercharge
(หรือที่ภาษาเยอรมัน เรียกมันว่า Kompressor นั่นเอง)

 

184 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร หรือ 25.47 กก.-ม.
ที่ รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,800 – 5,000 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วย
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมระบบ เปลี่ยนเกียร์ บวก-ลบ แบบ
One Touch ซึ่ง มีรูปแบบการเปลี่ยนเกียร์ เหมือนกับ รุ่น E200 NGT
และ Ssangyong Starvic ที่ผมเคยทดลองขับไปก่อนหน้านี้ เมื่อ  1-2 ปีก่อน

อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………..3.95
เกียร์ 2……………..2.42
เกียร์ 3……………..1.49
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…3.15
เกียร์ถอยหลัง R2…1.93
เฟืองท้าย…………..3.07

ส่วนในรุ่น C230 2.5 Avantgarde
วางเครื่องยนต์ V6 DOHC 24 วาล์ว 2,496 ซีซี
อัตราส่วนกำลังอัด 11.4 : 1
204 แรงม้า (PS) ที่ 6,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 245 นิวตันเมตร
หรือ 24.96 กก.-ม.
ที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2,900 – 5,00 รอบ/นาที

 

 

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONIC
พร้อมโหมดบวก-ลบ One Touch
อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1……………..4.38
เกียร์ 2……………..2.86
เกียร์ 3……………..1.92
เกียร์ 4……………..1.37
เกียร์ 5……………..1.00
เกียร์ 6……………..0.82
เกียร์ 7……………..0.73
เกียร์ถอยหลัง R1…3.42
เกียร์ถอยหลัง R2…2.23
เฟืองท้าย…………..3.27

เอาเข้าจริงแล้ว การที่อัตราทดเกียร์ ซอยถี่กันขนาดนี้
ดูเหมือนว่าน่าจะช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้น แต่ ในเมื่อ เกียร์ 4 ทดเอาไว้ที่ 1.37
ส่วนอัตราทด 1.00 ถ้วน นั้น ไปอยู่ที่เกียร์ 5 ดังนั้น ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว
ก็ไม่ได้ถึงกับช่วยอะไรมากมายนัก การมี Overdrive มาให้ 2 เกียร์นั้น ก็น่าจะเพื่อ
ช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ลงไปได้อีกนิดหน่อยเท่านั้น

 

ตัวเลขสมรรถนะและความเร็วสูงสุดจากโรงงาน นั้น
ในรุ่น C200 Kompressor  เคลมตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงเอาไว้ที่  8.8 วินาที
ความเร็วสูงสุด อยู่ที่ 230 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วน C230 2.5 ลิตร นั้น ทางโรงงานระบุว่า ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะอยู่ที่ 8.6 วินาที
ความเร็วสูงสุด 233 กิโลเมตร/ชั่วโมง

แต่ เรายังคงจับเวลาหาอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ กันด้วยวิธีการดั้งเดิม
คือ มีผม คนขับ หนัก 95 กิโลกรัม นายกล้วย BnN หนึ่งใน The Coup Team ของเรา หนัก 48 กิโลกรัม
เป็น 2 คนที่จะอยู่ในรถ เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และจับเวลากันในยามค่ำคืน

ผลที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มีดังนี้

 

 
 

เห็นตัวเลขสมรรถนะแล้ว รู้สึกแปลกประหลาดใจกันบ้างไหมครับ?
ก่อนอื่นต้องบอกกันก่อนว่า รถทดลองขับทั้ง 2 คัน ณ วันที่ส่งถึงมือผม
สภาพรถ ปาเข้าไป เกินกว่า 20,000 กิโลเมตรแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น มันอาจจะไม่ได้
สดใหม่แบบรถใหม่ ป้ายแดงแท้ๆ ซิงๆ ที่คุณได้รับ ตัวเลขจึงออกมาแปลกๆอย่างที่เห็น

ถ้าหากจะยึดตามตัวเลขนี้กันเลย มันก็น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าทำไมอัตราเร่งของ C230 รุ่น 2.5 ลิตร
จึงไม่สามารถ ทำได้ดีกว่า รุ่น C200 Kompressor ได้เลย ทั้งที่แรงดึงขณะออกตัวเต็มที เหยียบคันเร่งจมมิดติดพื้นรถ
ของ C230 2.5 ลิตร มีมากกว่า และดึงได้เร็วกว่า รุ่น C200 Kompressor นิดนึง

แต่พอดูตัวเลขจากโรงงานเทียบกันไปด้วย ก็เริ่มไม่แปลกใจ และมองไม่เห็นความจำเป็น
ที่คุณจะต้องจ่ายเงินถึง 3.49 ล้านบาท เพื่อแลกมากับ รถรุ่นที่มีสมรรถนะเท่าๆกันกับ
รถที่มีค่าตัวเพียง 2.839 ล้านบาท

สิ่งที่ถือเป็นข้อสังเกตได้ก็คือ อัตราเร่งแซง 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่น่าเร้าใจ จากเครื่องยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้
ต่างก็ทำได้เร็วกว่า คู่แข่งเกือบทุกคันในตลาด จะยกเว้นเสียก็แต่เพียง รถที่มีเครื่องยนต์ใหญ่กว่า
ความจุกระบอกสูบมากกว่า หรือเป็นรุ่น ดีเซล เทอร์โบ คอมมอนเรล เท่านั้น

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลข 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ออกตัวที่ช้าไปราวๆ 1 วินาทีนั้น
น่าจะมาจากการตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า ซึ่งเมื่อกดเต็มเท้าปุ๊บ จะยังไม่ตอบสนองในทันที
ต้องรอราวๆ เกือบ 1 วินาที รถถึงจะพุ่งออกจากจุดหยุดนิ่ง

การตอบสนองของลิ้นเร่งไฟฟ้า ไมได้เชื่องช้าขนาด โตโยต้า แคมรี หรือ วอลโว S80 ใหม่ 2.5 ลิตรตัวแรกๆ
แต่ชวนให้นึกถึงบุคลิกของคันเร่งไฟฟ้า ใน ซีรีส์ 3 ได้ไม่น้อย

ผมเชื่อว่า ถ้ารถมีการบำรุงรักษาที่ดี หรืออยู่ในสภาพใหม่กว่านี้สักหน่อย
ตัวเลขที่ออกมา น่จะทำได้ดีกว่านี้อีกเล็กน้อย ควรจะป้วนเปี้ยนแถวๆ 9 วินาทีต้นๆ
กับสภาพน้ำมัน และอากาศของบ้านเรา 

 

 

ระบบกันสะเทือน หน้าแบบ แม็คเฟอร์สัน สตรัต 3 Link
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์ ใช้คอยล์สปริงทั้งด้านหน้าและหลัง

ให้บุคลิกการเก็บแรงสะเทือนที่กระด้างขึ้นกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย แต่ชัดเจน
ในขณะขับผ่านหลุม หรือลูกระนาดต่างๆ การ ReBound กลับของช็อกอัพนั้น
จะไม่เยอะเท่ากับ W203 คันที่ผมเคยเจอ ยิ่งเมื่อเหวี่ยงเข้าโค้งแรงๆแล้ว
ถ้าวัดกันเฉพาะระบบกันสะเทือนแล้ว W204 ให้ความมั่นใจในการเข้าโค้งมากกว่ารุ่นก่อน

ถ้าถามว่า มันแข็งขึ้นอย่างไร
ผมคงอธิบายให้คุณๆได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ก็คงได้แต่เพียงว่า

คุณยังจำ โตโยต้า โคโรลล่า AE-101 ได้ใช่ไหมครับ รุ่นปี 1992-1996 นั่นหนะ
ช่วงล่าง ณ วันเปิดตัวใหม่ๆ ถือว่านุ่มกำลังดีเลยใช่ไหมละ?

แล้วพอ โตโยต้า เปิดตัว โคโรลล่า AE-111 รุ่น ตัวถังเหลี่ยม ตูดเป็ด
เดือนกุมภาพันธ์ 1996 หนะ ช่วงล่างมันแข็งขึ้นอย่างไร

สัมผัสจากช่วงล่างที่แข็งขึ้นจากรุ่นเดิม สู่รุ่นใหม่ ของซี-คลาส ก็มีพัฒนาการที่คล้ายกัน

แต่แน่นอนว่า ช่วงล่าง ซี-คลาส ดีกว่าโคโรลล่า เป็นหนังคนละเรื่อง อยู่แล้วแน่นอน
เพียงแต่ จำเป็นต้องเขียนให้คุณๆเห็นภาพว่า ระดับความนุ่มที่เปลี่ยนไปจนแข็งขึ้นนิดๆนั้น
มันแข็งขึ้นประมาณไหน

พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง ยังคงให้สัมผัสในสไตล์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
แม้ว่าจะเซ็ตมาค่อนข้างไว และมีระยะฟรีน้อย แต่วงพวงมาลัยมีขนาดใหญ่เกินไปนิดนึง
ทำให้การบังคับเลี้ยว ยังทำได้ไม่คล่องแคล่วนัก อีกทั้ง ในขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง
ใน C230 2.5 ลิตร ผมเจออาการ ว่า เมื่อหักพวงมาลัยตามเท่าที่เราประเมินไว้จากหน้าโค้ง
รถจะยังเลี้ยวไม่เพียงพอ พอเลี้ยวเติมเข้าไปอีกนิด ทีนี้ รถจะเลี้ยวออกมากกว่าที่ควรจะเป็นไปนิดนึง
ต้องคืนกลับมาในตำแหน่งเดิม และประคองๆไปเรื่อยๆ จนผ่านโค้ง  แม้ว่าอาการนี้จะเกิดขึ้น
เฉพาะคัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้งุนงงอยู่บ้าง
 
เอาเข้าจริงแล้ว ผมว่า  ถ้าผมอยากได้พวงมาลัยที่ ไวแบบเดียวกันนี้
แต่ให้การบังคับเลี้ยวที่แม่นยำ และไม่ชวนให้ผู้ขับเกิดอาการเหวอในบางครั้งนั้น
ผมมี รถอยู่ 2 รุ่นที่ไม่ใช่ BMW ซีรีส์ 3 แต่ เซ็ตการตอบสนองของพวงมาลัยได้ไว
และน่าประทับใจกว่า ซี-คลาสใหม่

รถ 2 รุ่นนั้นก็คือ

– Mazda MX-5
– Subaru LEGACY B4 ซีดาน

 

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของระบบช่วงล่างนั้น จากประสบการณ์เมื่อ 1 ปีก่อน ที่ได้มีโอกาส ทดลองขับ C 200 Kompressor
รุ่นตัวถัง W203 หรือรุ่นตาถั่ว ในสนาม ราบ.11 ไปตามทิศทาง ที่กรวยพลาสติก หรือหลัก Pylon
บังคับไว้ เมื่อเทียบกับ รถรุ่นใหม่แล้ว พบว่า C200 Kompressor ใหม่ ให้การบังคับควบคุม
ที่เฉียบคมกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน ลดการเหวี่ยงตัวออกทางด้านข้างลง จิกเข้าโค้งได้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมเห็นๆ
ทำให้ผมมั่นใจว่า พัฒนาการ ที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของ ซี-คลาส ใหม่
ไม่ได้อยู่ที่เส้นสายตัวถัง หรือแนวทางการออกแบบใดๆ หากแต่อยู่ที่การปรับปรุงสมรรถนะการขับขี่
ให้มีบุคลิกติดสปอร์ตมากขึ้นกว่าเดิม และเอาใจนักขับรุ่นใหม่ๆ มากขึ้นจนสัมผัสได้

ด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ติดตั้งระบบ PRO-SAFE ลงใน ซีคลาสใหม่ทุกคันที่ทำตลาดในบ้านเรา
โดยหลักๆ แล้ว นอกเหนือจาก ดิสก์เบรก 4 ล้อ โดยคู่หน้าเป็นแบบมีรูระบายความร้อน
พร้อมระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP อันประกอบด้วย ป้องกันล้อล็อก ABS
ระบบเช่วยเบรกฉุกเฉิน BAS (Break Assist) รวมทั้งระบบเพิ่มแรงเบรก ADPATIVE BREAK

อย่างไรก็ตาม แป้นเบรกนั้น ในบางขณะ อาจจะอยู่ลึก กว่าปกติ
และต้องเหยียบลงไปถึงครึ่งแป้น แต่ในบางขณะ เหยียบเบาๆ ระบบเบรกก็ทำงานแล้ว
ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร สภาพระบบเบรกของคุณ และความไวของระบบ

ทันทีที่เซ็นเซอร์ของระบบช่วยเบรก BAS รับรู้ถึงการเหยียบเบรกอย่างฉุกเฉิน
หรือเมื่อเซ็นเซอร์ของระบบควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP ตรวจพบว่า
รถเริ่มสูญเสียการทรงตัว ควบคุมไม่อยู่แล้ว ระบบ PRO-SAFE จะเริ่มทำงานภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที
เริ่มจากเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า จะถูกรั้งขึ้นให้กระชับกับร่างกาย ผู้ขับและผู้โดยสาร
เช่นเดียวกับพนักพิงของเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าจะถูกปรับให้ตั้งตรงขึ้น กระจกหน้าต่างจะถูกเลื่อนปิด
โดยอัตโนมัติ เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ก่อนที่รถจะพุ่งเช้าชนกับสิ่งกีดขวางข้างหน้า

และในขณะพุ่งเช้าชน โครงสร้างตัวถังนิรภัย ถุงลมนิรภัย คู่หน้า และด้านข้าง รวมถึงม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง
เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ และลดแรงปะทะอัตโนมัติ พนักพิงศีรษะแบบ NECK-PRO head restraints
จะประสานงานร่วมกันอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง

เมื่อรถสงบนิ่ง ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุดควบคุมจะตัดการจ่ายเชื้อเพลิงโดยอัตโนมัติ
พร้อม ๆ กับสั่งการให้เครื่องยนต์หยุดทำงานในทันที ขณะเดียวกัน ประตูทุกบานจะถูกปลดล็อก
โดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกระจกหน้าต่างจะถูกปรับเลื่อนลงเพียงเล็กน้อย
เพื่อให้อากาศภายในห้องโดยสาร ซึ่งจะตลบอบอวนไปด้วยกลิ่นเหม็นของ ถุงลมนิรภัย ถ่ายเทออกไปได้อย่างสะดวก

ข้างบนที่เขียนมานี้ ไม่ต้องมาถามนะครับว่าผมรูสึกอย่างไร เพราะผมไม่ได้ลอง และไม่อยากจะลองใช้ระบบ PRO-SAFE แน่ๆ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

ถึงแม้ในรีวิวนี้ คุณจะพบว่า เรามีรถยนต์ ทั้งหมด 3 คัน
แต่ในเมื่อ C200 Kompressor มีอยู่ 2 คัน ใช้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังชุดเดียวกัน
แตกต่างกันแค่อุปกรณ์ตกแต่ง ดังนั้น ในตอนแรก เราจึงมองว่า ไม่จำเป็นต้องทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ของรุ่น Elegance ให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เวลา และงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่อย่างใด
เอาแค่ C200 Kompressor Avantgarde และ C230 2.5 Avantgarde รวม 2 คัน ก็เพียงพอแล้ว
แต่ ไปๆมาๆ ก็มีเหตุให้ผมต้องตัดสินใจ ทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จนครบทั้ง 3 คัน จนได้
อยากรู้ว่าทำไม? ลองอ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะรู้เอง

เรายังคงทดลองโดยใช้มาตรฐานเดิม
คือ การขับไปเติมน้ำมัน เบนซิน ที่ปั้มเชลล์ พหลโยธิน
ปากซอยอารีย์ เติมจนเต็มถังน้ำมัน ซึ่งมีความจุ 66 ลิตร ทั้ง 2 รุ่น 2 คัน

ไม่ต้องเขย่าถัง เขย่ารถ แต่เอาแค่หัวจ่ายตัดก็เพียงพอ
ในวันที่เราทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ C200 Kompressor Avantgarde นั้น
เชลล์ ยังไมไ่ด้ทำตลาดน้ำมันเบนซิน วีเพาเวอร์ แต่อย่างใด เราจึงใช้น้ำมันเบนซิน 95 เหมือนในอดีต และไม่ใช้แก็สโซฮอลล์ 95
 

 

แล้วขับลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย รวมแล้วราวๆ 1-2 กิโลเมตร
ขึ้นทางด่วน ที่ด่านพระราม 6 แล้วยิงยาว ไปจนสุดปลายทางด่วนสายเชียงราก
เลี้ยวกลับที่ปลายด่าน แล้วย้อนมาขึ้นทางด่วนใหม่อีกรอบหนึ่ง

มุ่งหน้ากลับมาเติมน้ำมันยังปั้มเดิม และ ต้องหัวจ่ายเดิมเหมือนกันเท่านั้น  

นั่งกัน 2 คน เปิดแอร์ และใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิด ระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ที่มีลักษณะแตกต่างจากรถทั่วๆไป
คือ มันโผล่ออกมาเป็นก้าน เลย ไม่ใช่แค่สวิชต์เล็กๆ ให้กระดิกนิ้วเล่น

 

เรามาดูตัวเลขที่ได้กันดีกว่า เริ่มจากรุ่น C200 Kompressor

 ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.1 กิโลเมตร

 

 

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ปาเข้าไปถึง 10.94 กิโลเมตร/ลิตร
โห กินจุเอาเรื่องเลยนะเนี่ย!

ผมสงสัยแล้วว่า ทำไมตัวเลขมันถึงออกมาดูโหดร้ายเอาเรื่องขนาดนี้

 

เลยตัดสินใจว่า ถ้าเช่นนั้น เพื่อให้หายข้องใจ

เราคงต้องทำการทดลองซ้ำ อีกครั้ง เมื่อ รถรุ่น ELEGANCE อยู่ในมือ

ตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ เลยต้องมารับหน้าที่เป็นสักขีพยาน
และผู้ช่วยผม อีก รอบ ในรถรุ่นนี้

และน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ยังคงใช้ เบนซิน 95 สูตรเดิม ก่อนที่ วี-เพาเวอร์เบนซิน จะคลอดออกสู่ตลาด

 

 

คราวนี้ ขับเหมือนกัน คือ วิ่งที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิด Cruise Control เปิดแอร์  และนั่งกัน 2 คน

 ขับนิ่งๆไป ก็ลุ้นไป ว่าตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
 
 
 
แล้วก็ถึงจุดหมายปลายทาง สถานีบริการของเชลล์ ซอยอารีย์ เราเติมน้ำมันกลับ ด้วยหัวจ่ายเดิม
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.6 กิโลเมตร
 
 
 
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ คราวนี้ น้อยกว่าเดิม  7.57 ลิตร เท่านั้น
 
 
แน่นอน อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็เลยดูดีขึ้นมาทันตาเห็น 12.36 กิโลเมตร/ลิตร
ถ้าเช่นนี้แล้ว เราควรจะทำอย่างไรดี คำตอบก็คือ ผมนำเสนอ ตัวเลขของ ทั้ง 2 คันให้พิจารณาดูครับ
แต่ถ้าจะถามว่า ผมเอาคันไหนเป็นเกณฑ์ ผมคงเลือกคันสีดำ ELEGANCE ด้วยเหตุผลที่ว่า
สภาพของรถ สดใหม่กว่า คันสีเงิน Avantgarde อยู่หลายพันกิโลเมตร
 

แล้วอัตราสิ้นเปลืองของ C230 เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ละ? เราก็ทำการทดลอง ตามแผนเดิมต่อไป เพียงแต่คราวนี้ ในวันที่ทำการทดลอง

น้ำมันเบนซินที่ใช้ในคราวนี้ เป็น วี-เพาเวอร์  เบนซิน เพราะน้ำมันเบนซิน 95 แบบเดิม ถูกยกเลิกไปแล้ว และถือว่าทดแทนกันได้

 

 

เราใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้รอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,200รอบ/นาที
เปิดระบบควบคุมความเร็วคงที่ Cruise Control ซึ่งมีมาให้ครบทุกรุ่น
แต่ในรุ่น C230 2.5 ลิตร มีระบบจำกัดความเร็วตามระยะห่างจากรถคันข้างหน้า
SPEEDTRONIC มาให้โดยเฉพาะ

 

เมื่อสิ้นสุดทริปขับยาวๆแ้ล้ว มาดูตัวเลขกัน

 ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัด 93.0 กิโลเมตร

 

 

 แต่ปริมาณน้ำมันเติมกลับเนี่ยสิ 7.78 ลิตร น้อยกว่ากันอย่างชัดเจน

 

 

พอตัวเลขออกมา ก็เป็นอย่างที่ในรูปนี้มันฟ้อง…
กลับกลายเป็นว่า C230 2.5 ลิตร ประหยัดกว่า C200 Kompressor Avantgarde เหรอเนี่ย?

 
 

จากหลายๆรีวิวที่ผ่านๆมา เราก็มักจะพบว่า รถยนต์ ตัวถังเดียวกัน
ที่ใช้เครื่องยนต์ซึ่งมีความจุกระบอกสูบมากกว่า (เอาง่ายๆคือ เครื่องใหญ่กว่า)
มักจะมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ยามเดินทางไกล ที่ประหยัดกว่า รุ่นเครื่องยนต์เล็กกว่า
อยู่หลายครั้ง

แต่ในกรณีของ ซี-คลาส W204 จะเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า เครื่องยนต์ที่เล็กกว่า
จะให้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเื้ชื้อเพลิง ที่ดีกว่า เครื่องยนต์ซึ่งโตกว่า เพียงแต่ความแตกต่างคราวนี้ ไม่ได้มากอย่างที่คิด

เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร  ลากน้ำหนักตัวรถเปล่า 1,505 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักบรรทุก 485 กิโลกรัม แล้ว อยู่ที่ 1,990 กิโลกรัม)
กับ เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ลากน้ำหนักตัวรถเปล่า 1,560 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักบรรทุก 485 กิโลกรัม แล้วอยู่ที่ 2,045 กิโลกรัม)
น้ำหนักต่างกันแค่ราวๆ 60 กิโลกรัม หรือ ให้ผู้ชายไซส์ประมาณ เด็กมหาวิทยาลัย มานั่ง อีก 1 คน
เอาเข้าจริงแล้ว มันมีผลแตกต่างกันจริง แต่ ไม่ได้มากมายนัก

ดังนั้น อย่าเพิ่งแปลกใจกับตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของ C200 Kompressor ELEGANCE
ที่ดีขึ้นกว่า C200 Kompressor Avantgarde ชัดเจนเช่นกัน นั่นคือ 12.36 กิโลเมตร/ลิตร
กับ 10.94 กิโลเมตร/ลิตร ขณะที่ C230 2.5 ทำได้ 11.95 กิโลเมตร/ลิตร เอาเข้าจริงคือ ไม่หนีกันมากอย่างที่คิด

ความแตกต่างทั้งหมด มันเกิดขึ้น เพียงเพราะการเติมน้ำมันที่ต่างกันเพียง 1 ลิตรเท่านั้น

แต่จะบอกว่า การทดลอง มีความผิดเพี้ยน นั้น ก็คงต้องยอมรับกันว่า การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองที่ทำมาตลอดนี้
ยังไงก็ต้องมีเพี้ยนกันบ้างละ ไม่มากก็น้อย เพียงแต่ เราได้พยายามกำหนดตัวแปรต่างๆ ให้มันเหมือนกัน
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ที่เหลือ ขึ้นอยู่กับสมรรถนะ และสภาพของรถแต่ละคันที่ตกมาถึงมือเราด้วย

ถ้าจะให้อ้างอิงตัวเลข ของ C200 Kompressor ณ วันนี้ ผมยังยืนยันว่าจะใช้ตัวเลขของรุ่น ELEGANCE
แต่ ในการนำเสนอ เพื่อให้ไม่มีการบิดเบือน เราก็จะลงตัวเลขผลการทดลองเอาไว้ ให้ครบ อย่างที่เห็นอยู่นี้

 

———————————————————————————–

********** สรุป **********
เฉียบคมขึ้นเมื่อได้ขับ เหมือนเส้นสายที่คมขึ้นเมื่อแรกเห็น

ซี-คลาส ใหม่ ให้การควบคุมที่เฉียบคมและฉับไวขึ้น จนทำให้ลืมบุกคลิกของซี-คลาส รุ่นเดิมๆ
โดยเฉพาะรุ่น ตาถั่ว W203 ไปได้เลย มันคล่องแคล่ว ขึ้น กระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวามากขึ้น

แต่กระนั้น หากมองแค่ การทำรถให้ถึงคุณสมบัติที่เจ้าตลาดเขามี เพียงประเด็นเดียว
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ยังทำได้ดีที่สุด เพียงแค่ ทาบรัศมี ของ BMW ซีรีส์ 3

 

เพราะเมื่อต้องเปรียบเทียบกันทั้ง 2 รุ่น
ซี-คลาส ใหม่  ยังไม่อาจให้ความสนุกในการขับขี่
แบบถึงกึ๋น มากเท่ากับที่ ซีรีส์ 3 มีให้ ถึงแม้ว่า ในคราวนี้
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำการบ้านมาดีมากๆ และได้พยายามเซ็ตรถ
ให้มีบุคลิกไปในทิศทาง สปอร์ตซีดานขับล้อหลัง มากขึ้นกว่าที่จะเป็นเพียงแค่
คอมแพกต์ซีดานขับล้อหลัง สไตล์นุ่มๆ เหมอืนที่เคยเป้นมาตั้งแต่ W202 และ W203

กระนั้น เท่าที่สังเกตการณ์ดูอยู่ห่างๆ ผมเชื่อว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอง ก็ไม่แคร์ในเรื่องนี้หรอก
พวกเขาไม่ต้องการทำ ซีคลาสใหม่ ออกมาให้ กลายเป็น ซีรีส์ 3 copycat ชัวร์ๆ
เพราะถ้าจะทำรถให้มีบุคลิกเอาใจวัยรุ่น ขาซิ่ง ขนาดนั้น ผมรู้อยู่เต็มอกว่า พวกเขาทำได้แน่ๆ

แต่จะทำเช่นนั้นไปทำไมละ?

 

 

รถยนต์ระดับพรีเมียม ก็เหมือนกับเสื้อผ้า เครื่องแ่ต่งกาย จากห้องเสื้อแบรนด์เนมชั้นนำ
ที่จะต้องรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้
เพราะลูกค้าที่อุดหนุนกัน เขาชอบในความเป็นตัวจริง ของแท้ และดั้งเดิม ในแบบที่มันเป็น

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เองก็เช่นเดียวกัน  พวกวิศวกรเขาก็รู้ดีว่าตนเองเป็นเช่นนั้น
เลยทำ ซี-คลาสใหม่ ออกมาอย่างที่เห็น ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำตัวรถตามอย่าง บีเอ็มดับเบิลยู
เพราะ แนวทาง ของทั้งสองค่ายนั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ดังนั้น ถ้าคุณอยากได้ความสนุกในการขับขี่ รับรู้รสสัมผัสจากทุกก้อนกรวดบนผิวถนน
เดินเข้าโชว์รูม บีเอ็มดับเบิลยู ไปซะเถอะ คุณจะมีความสุขกับ ซีรีส์ 3  (และควรจะเป็น 320d เท่านั้น
เพราะมันทั้งแรงสะใจ ทั้งช่วงต้น กลาง และปลาย แถมยังช่วยประหยัดค่าน้ำมัน ในสภาวะที่
พวกนักเก็งกำไร เริ่มฉุดรั้งราคาน้ำมันให้ขึ้นสู่ระดับเพดาน 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อีกครั้งหนึ่ง)

แต่ ถ้าคุณอยากได้ความสบายจากช่วงล่าง ในขณะขับขี่ผ่านก้อนกรวดต่างๆในเมืองมากกว่ากันอีกนิด
แถมด้วยความเสี่ยงในราคาขายต่อ ที่จะลดลงน้อยกว่า บีเอ็มดับเบิลยูแหงๆ หรือว่า ชีวิตนี้ คุณทำงานมาพอแล้ว
และอยากให้รางวัลตัวเองกับชีวิต สักครั้งหนึ่ง ด้วย “รถยนต์ตราดาว” (เรียกซะอย่างกับ “เนยตราดาว”
ในยุค 30 ปีก่อน สมัย บ้านเริ่มเฟื่อง เมืองเริ่มฟู)
 
เดินเข้าโชว์รูม เมอเร์เซเดส-เบนซ์ ไปเลย

แต่ต้องเข้าใจว่า W204 ใหม่นี้ จะมีช่วงล่างที่ไม่นุ่มถึงขนาด W202 และ W203
และ มันอุดมไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า มากมายนานับประการกว่าที่คุณเคยเจอ
ใน ซี-คลาสรุ่นก่อนๆด้วยนะ อีกทั้ง ภายในห้องโดยสาร ก็ควรจะปรับปรุงบรรยากาศ
ให้มันมีพื้นผิววัสดุน่าสัมผัสกว่านี้สักหน่อย ไม่ใช่ Look Cheap อย่างที่เป็นอยู่
แถมยังมีพวงมาลัย 4 ก้าน ที่ชวนให้นึกถึง พวงมาลัย ของรถกระบะ
Mitsubishi L200 Strada กันมากขนาดนี้ และทำใจได้กับอัตราสิ้นเปลืองที่ด้อยกว่าเห็นๆอย่างนี้

ถ้ารับได้ ก็ เซ็นใบจองไปเลย เพราะ ภาพรวมแล้ว รถรุ่นใหม่ ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนชัดเจน

แล้ว เล็กซัส IS250 ละ? เ้ราลืมเขาไปได้อย่างไรกัน?

เรียนตามตรงว่า สำหรับผมแล้ว การจ่ายเงิน 2.9 ล้าน บาท โดยประมาณ
เพื่อแลกกับรถรุ่นพื้นฐาน แม้จะประกอบจากญี่ปุ่น ก็ตาม
เมื่อเทียบกับออพชันในรุ่น ที่ติดป้ายราคา 3.4 ล้านบาทแล้ว
ผมชักไม่แน่ใจนัก

แน่นอนว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประหยัดกว่าแน่ๆ
แถมอัตราเร่งก็เห็นได้ชัดว่า ชนะขาด แถมการออกแบบตกแต่งห้องโดยสาร
น่าใช้กว่ากันเยอะ

ทว่า ถ้าคุณจะจ่ายเงิน 3.4 ล้านบาท โดยไม่ได้ระบบ COMMAND APS พร้อมระบบนำทาง
แม้จะมีซันรูฟมาให้ แต่ พวงมาลัยที่เบาไปหน่อย ชวนให้ระลึกถึงพวงมาลัยของโตโยต้าบางรุ่น
แถมในรุ่น ล่างสุด ออพชันที่ให้มา ก็ ดูจะธรรมดาไปสักนิด

สำหรับ IS250 แล้ว ถ้าจะจ่ายเงินทั้งที ซื้รุ่นท็อปได้ก็ดีกว่า
แต่ถ้าเงินไม่ถึง ซื้อรุ่นล่าง ก็ย่อมได้ แต่ควรจะเปลี่ยนล้ออัลลอยให้เท่กว่า
ล้ออัลลอย 16 นิ้วเดิมๆ จากโรงงาน

IS250 เหมาะกับคนที่ ต้องการความนุ่มนวล มากกว่า ซี-คลาส
การบังคับเลี้ยว และอัตราเร่งจากเครื่องยนต์ คือสิ่งที่ทำให้ผม
เหล่มอง IS มากกว่า

แต่กับใครที่ฝันอยากได้ดวงดาวมาครอบครองเป็นคันแรกในชีวิต
เวลานี้ ก็จำเป็นและจำใจต้องเริ่มต้นกับ ซี-คลาส ไปก่อน

ทีนี้ ถ้าจะต้องเลือก ซี-คลาส จะเลือกรุ่นไหนดี?

ตอนนี้ ซี-คลาสใหม่ มีให้เลือกถึง 4 รุ่นย่อย จากเดิม ที่มีอยู่แค่ 3
และในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รีวิวนี้ ออกสู่สายตาคุณๆ
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ก็ได้ฤกษ์ ประกาศ ถึงความพร้อม
ว่ารถยนต์ของตน สามารถเติมน้ำมันเบนซินแก็สโซฮอล์ E20 ได้แล้ว
และรถรุ่นใหม่ๆ 5 รุ่นนั้น ก็ถูกปรับลดราคาลงมา ถูกลงกว่าเดิม
อีกทั้ง 3 ใน 5 รุ่นที่ประกาศออกมานั้น เป็น ซี-คลาส ใหม่นี่ละ

(แม้ว่า อาจมีเสียงจากลูกค้าที่เพิ่งซื้อรถไปก่อนหน้านี้ บ่นเล็ก แต่ดังเอาการว่า
โห ทำไมไม่บอกกันก่อนเลยฟะ ต่างกันแค่เดือนเดียว
ฉันถอย ซี-คลาสในราคาที่แพงกว่ากันเลยอะ T_T <—ร้องไห้ )

โดยมีรุ่นพื้นฐาน C 200 KOMPRESSOR Basic เพิ่มเข้ามาให้กลายเป็น
เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดตอนนี้ เริ่มต้นที่ 2,469,000 บาท
แต่อุปกรณ์ ก็หั่นหายไปพอสมควร

สำหรับผม มองแล้วว่า C200 Kompressor Elegance  (ราคาใหม่ 2,649,000 บาท) มีช่วงล่างที่นุ่มกำลังดี พอเหมาะแล้ว
กับสภาพถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งมาหลายจุดที่ ผมรอให้ เจ้าหน้าที่องค์การ NASA มาสำรวจและออกใบ Certificate ว่า
นี่คือพื้นถนนสำหรับรถแล่นไม่ใช่พื้นผิวดาวอังคาร ที่กำลังทำการสำรวจกันอยู่ แถมยังเข้าโค้งได้กำลังดี
ถ้าคุณไม่ใช่นักสาด….(เข้าโค้ง) มากเกินเหตุ กระนั้น อุปกรณ์ติดรถที่มีมาให้ ยังถือว่า น้อยไปนิด
 

 

แต่ ไหนๆก็ไหนๆ แล้ว ถ้าอยากได้อารมณ์วัยรุ่นขึ้นมาอีกนิด C200 Kompressor Avantgarde ซึ่งมีราคาใหม่ ลดลงเหลือ
2,839,000 บาท น่าจะตอบโจทย์คุณได้ ครบถ้วน และลงตัวที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องปีนป่ายจ่ายเพิ่ม ขึ้นไปเล่นถึง
C230 2.5 ลิตร Avantgarde ซึ่งตอนนี้มีราคาตั้งไว้ที่ 3.49 ล้านบาท
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากตัวเลขที่เราทำได้ออกมานี้ จากรถที่มีสภาพ ผ่านสมรภูมิมามากมาย
จนมีระยะทางอยู่ที่ระดับ 24,000 กว่ากิโลเมตร เมื่อส่งมาถึงมือผม เรียนตามตรงเลยว่า

ผมผิดหวังกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ที่วางในรถคันทดสอบนี้นิดหน่อย
คงเพราะคาดหวังไปว่า น่าจะได้ตัวเลขระดับ 9 วินาทีต้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ตัวเลขจาก
การทดลองจับเวลาในสภาพอากาศเมืองไทย ยังไงๆ ก็จะต้องด้อยกว่า ตัวเลขที่ทางโรงงานทำเอาไว้อยู่แล้ว
จากที่คาดการณ์ไว้ มันก็ไม่ควรจะเกิน 9.5 วินาที แต่เมื่อจับเวลาจริง เรากลับได้ตัวเลขระดับ 9.9 วินาที  
เทียบเท่ากับ เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร พร้อมซูเปอร์ชาร์จ ใน C200 Kompressor เลย

แล้วยังเหลือเหตุผลใด ให้เราต้องซื้อ C230 2.5 ลิตร คันข้างบนนี้ กันอีกหละ?
พูดกันตรงๆเลยก็คือ สำหรับผมแล้ว ไม่มี…
ความประหยัดน้ำมัน…งั้นเหรอ โอเค มานั่งคิดไปคิดมาแล้ว
ตัวเลขต่างกันระดับ 0.5 กิโลเมตร/ลิตรนั้น ดูเหมือนจะมีผลอยู่บ้างในแง่การใช้งานจริง
แต่ก็น้อยมากๆ แถมในชั่วขณะการตัดสินใจของคุณ ผมเชื่อว่า เมื่อได้ลองเทียบค่าตัวที่ต้องจ่ายออกไป
ก็คงพอจะนึกออกได้ว่า เอาส่วนต่างราวๆ 6 แสนบาท มาเตรียมจ่ายเป็นค่าน้ำมัน 
ให้กับ C200 Kompressor นั้นนั่นก็ดูจะเข้าท่ากว่า

ดังนั้น ถ้าอยากจะซื้อ ซี-คลาส ใหม่จริงๆ อยากจะเลือกการตกแต่งแบบไหนก็ได้ ระหว่าง ELEGANCE
หรือ แนวติดสปอร์ตนิดๆอย่าง Avantgarde แต่ ยังไงๆ ก็ควรจะเลือกรุ่น C200 Kompressor เท่านั้น…

และคำแนะนำของผม ก็จะยังคงเป็นไปตามนี้
จนกว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ จะพร้อมปล่อย C-Class CDI ออกสู่ตลาดเมืองไทย
ซึ่งกำหนดการนั้น ยืนยันแล้วว่า ภายในปี 2009 นี้แน่นอน และหาใช่เพียงแค่ผมอยากจะขอให้คุณรอ
แต่ผมเองก็ยังจะรอ ทดลองขับ ด้วยเลยเช่นเดียวกัน! เพราะกิตติศัพท์ ด้านความแรงและความประหยัดจากขุมพลัง ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ
ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ นั้น รู้กันดีไปทั่วแล้วว่า ทั้งแรง และประหยัด จนไม่ควรจะตัดรุ่น CDI ออกจากการเป็นตัวเลือกในใจคุณ

เอ… หรือว่า จะเก็บตังค์ รอ CDI ดีกว่า?

น่าคิด! 

———————————///————————————-

 

ขอขอบคุณ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 

 

J!MMY

สวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com

8 มิถุนายน 2009 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่ คลิก