ผลกระทบแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในญี่ปุ่นอย่างรุนแรงจนกระทบไปสู่ระดับโลกอย่างง่ายดาย ยิ่งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ค่ายรถยนต์ทุกค่ายใช้ระบบ Just In Time ไม่มีระบบเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้เลยจึงทำให้สะดุดการผลิตรถยนต์ลงชั่วขณะ เพราะซัพพลายเออร์งดการผลิตชิ้นส่วนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง และที่สำคัญซัพพลายเออร์เหล่านั้นเป็นต้นห่วงโซ่การผลิตนั่นเอง

 

 

ใครที่คิดว่าการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงจะมีผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวคงคิดผิด อย่าลืมว่าแบรนด์รถญี่ปุ่นชั้นนำทุกค่ายตั้งรากฐานธุรกิจในระดับโลกแทบจะทุกแห่ง อีกทั้งยังมีนโยบายการใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์จากซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นบางส่วนตามธรรมเนียมธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่ต้องอุ้มชูบริษัทญี่ปุ่นไว้บ้าง แม้ว่าต้นทุนการผลิตอาจจะสูงกว่าแหล่งผลิตอื่นก็ตาม

สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์ไว้แล้วว่าผลกระทบจากการหยุดผลิตชิ้นส่วนของซัพพลายเออร์ในญี่ปุ่นลุกลามจนถึงขั้นหยุดผลิตรถยนต์หลายแห่งทั่วโลกทำให้ ค่ายรถญี่ปุ่นทุกค่ายรวมกันจะต้องสูญยอดผลิตระหว่างวันที่ 11-24 มีนาคม 2011 มากถึง 6 แสนคัน

เฉพาะภูมิภาคอเมริกาเหนือก็ต้องสูญยอดผลิตถึง 320,000 คันซึ่งองค์กร IHS หรือ Automotive Industry Solutions ยืนยันว่าโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งพร้อมประกอบรถยนต์ใกล้เสร็จสมบูรณ์คันจริงแล้ว เหลือเพียงแค่อะไหล่บางส่วนที่จะต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น หากซัพพลายเออร์พร้อมเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะมีการผลิตอีกครั้งหนึ่ง

หากจำแนกตามแบรนด์รถญี่ปุ่นที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา Toyota สูญยอดผลิต 140,000 คัน, Honda สูญยอดผลิต 46,600 คันและรถจักรยานยนต์ 5,000 คัน, Mitsubishi Motor สูญยอดผลิตต่ำกว่า 15,000 คัน

ผลจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาดนี้ทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นต้องลบขนบวิถีการทำธุรกิจรถยนต์เสียใหม่จากเดิมที่จะต้อง “เน้น” การผลิตรถยนต์ครบวงจรแต่ในญี่ปุ่น อันที่จริงก็ไม่ได้ผิดปกติอะไรนักเพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ยังเป็นอุตสาหกรรมหลักในญี่ปุ่น แต่ในเมื่อมีปัจจัยลบเข้ามามากจนยากจะหยุดยั้ง ได้แก่ ยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ตกต่ำลง, ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากจนไม่อาจรักษาผลกำไรได้ เป็นต้น ก็ไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมค่ายรถต้องคิดพลิกแพลงกันขนานใหญ่

Nissan ค่อนข้างชัดเจนกับนโยบายย้านฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นและการผลิตชิ้นส่วนบางแหล่งออกนอกประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดยังคิดจะย้ายฐานการผลิตเครื่องยนต์ VQ 6 สูบชื่อดังของตนเองไปยังถิ่นฐานสหรัฐอเมริกาแทนที่ญี่ปุ่นชั่วคราว อันเนื่องจากกระแสไฟฟ้าในโรงงานอิวากิไม่เพียงพอต่อการผลิตเครื่องยนต์นั่นเอง

แต่จะพลิกผันแนวทางทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการประมวลผลของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลังจากเหตุการณ์สงบลงสัก 2-3 ปีแล้วครับ