ประเด็นการนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีและรถยนต์จดประกอบกำลังเป็นที่ถกเถียงและอยู่ในความสนใจของสังคมเป็นวงกว้าง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย            
และกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์หรูอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง จึงได้จัดการแถลงข่าวขึ้นเพื่อนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่ง
ให้สังคมได้รับทราบ

ประเด็นสำคัญประเด็นแรกคือ ขบวนการนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีได้สร้างความเสียหาย คิดเป็นตัวเงินรวมแล้วกว่าปีละ 4.44 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขความเสียหายที่คำนวณไว้
ตั้งแต่ปี 2554 และอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าในปัจจุบัน

alt

ช่องทางการนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษี ไม่ได้มีแต่เพียงขบวนการรถจดประกอบ ที่สวมรอยว่าเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้ประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราภาษีเพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีอีก 2 ช่องทางที่สำคัญคือ การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปโดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และการสวมสิทธิ์เพื่อนำเข้ารถยนต์มือสองจากต่างประเทศ ซึ่งผลจากขบวนการเลี่ยงภาษีดังกล่าว
ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกว่าปีละ 8.6 พันล้านบาท

ในฝั่งของผู้บริโภค การซื้อรถยนต์หรูเลี่ยงภาษีนำมาซึ่งความเสี่ยงหลายประการด้วยกัน โดยในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อรถยนต์หรูมาโดยที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นรถยนต์ที่เลี่ยงภาษี จะมีความเสี่ยง
ที่รถยนต์จะถูกยึดและต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 4 เท่าของราคารถ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ถึงกว่าปีละ 3.2 หมื่นล้านบาท หรือถ้าหากเป็นการซื้อรถยนต์เลี่ยงภาษีมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ก็ยังคงต้องถูกยึดรถยนต์ที่ผิดกฎหมายไป และเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้จัดจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่ผู้จัดจำหน่ายเหล่านั้น
มักจะปิดบริษัทหนีไปก่อนแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคยังต้องแบกรับความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยและสร้างภาระในการบำรุงรักษา เนื่องจากรถยนต์เหล่านี้จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าศูนย์บริการ หรือในกรณีที่บริษัทแม่           
มีการเรียกรถยนต์กลับคืนเนื่องจากเกิดปัญหา รถยนต์เลี่ยงภาษีเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับการเรียกคืนเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นในกระบวนการจดประกอบรถยนต์เองก็อาจจะทำในอู่          
ที่ไม่ได้มาตรฐาน และอาจก่อให้เกิดอันตรายในการขับขี่ได้

นอกจากนี้ เมื่อนับรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากการถูกฉวยเอาประโยชน์จากการลงทุนด้านการตลาด (Free Riding) เป็นมูลค่ากว่าปีละ 3.1 พันล้านบาท

ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ประกอบการ จึงอยากจะเสนอแนะมาตรการที่จำเป็นในการรับมือปัญหารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีต่อภาครัฐดังนี้
(1) ควรมีการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง โดยให้กรมศุลกากรตรวจสอบราคาจำหน่ายจากประเทศต้นทาง ประกอบกับราคาที่บริษัทรถยนต์ที่เป็นผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่าย    
อย่างเป็นทางการของตราสินค้านั้นๆ ได้แจ้งเสียภาษีไว้ก่อนหน้า เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงและป้องกัน การสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งควรมีการตรวจสอบว่าผู้นำเข้า
สำแดง Option ของรถยนต์ครบหรือไม่
(2) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควรตรวจสอบมาตรฐานรถยนต์ที่นำเข้าอย่างเคร่งครัดและอย่างเสมอภาค เป็นไปตามมาตรฐานบังคับที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้  
ควรตรวจสอบการนำรถยนต์หรูไปติดถังก๊าซเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบของสมอ.
(3) กรมการขนส่งทางบกควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์ก่อนที่จะรับจดทะเบียน
(4) กระทรวงพาณิชย์ควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์มือสองเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์
(5) อาจมีการออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ผู้นำเข้ารถยนต์ต้องมีใบอนุญาต และต้องให้การรับประกันการซ่อมบำรุง เช่นเดียวกับที่เคยทำได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ
(6) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการซื้อรถหรูเลี่ยงภาษีมากขึ้น