หลังจากที่ได้ ทดลองออกแบบ ชุดตกแต่งรถยนต์ภายนอกให้กับเจ้าไทรทัน โดยวิธีการแก้โหงวเฮ้งไปเมื่อครั้งที่แล้ว
สำหรับครั้งนี้ก็จะเป็นภาคต่อสำหรับการออกแบบตกแต่งภายใน เพื่อเพิ่มสง่าราศีให้กับรถ จากกระบะธรรมดาให้ดูเหมือน
รถ เอสยูวี หรูได้

 

          การออกแบบ และตกแต่งภายในรถยนต์นั้นจะมีความแตกต่างกับการออกแบบชุดแต่งภายนอกอยู่พอสมควร
เพราะการตกแต่งภายในลูกค้าจะได้เห็นและสัมผัสกับสิ่งที่ถูกตกแต่งอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเราจึงต้องทำด้วยความละเอียด
ประณีต มากกว่าการตกแต่งภายนอกรถหลายเท่าตัว

         หลักการออกแบบที่ดี และถูกต้องจะต้องมีที่มาที่ไปโดยเริ่มจากแนวคิดหลักที่ชัดเจนก่อน เพื่อการออกแบบที่เป็น
เอกลักษณ์ไม่ให้ออกมามั่ว หรือเลอะเทอะ จุดด้อยของภายในของรถรุ่นนี้ คือความหรูหรา วัสดุที่ใช้เป็นพลาสติกที่ดูแล้ว
ไม่มีราคา โทนสีดำเทาธรรมดา ขาดชีวิตชีวา และไม่โดดเด่น แต่ก็มีจุดที่ทำให้ผู้ใช้สงสัยอยู่จุดเดียวก็คือ ทำไมหน้าปัด
หรือเรือนไมล์ จึงเป็นสีฟ้าอยู่แห่งเดียว? ซึ่งตอนแรกผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมหน้าปัดของ ไทรทัน จะต้องเป็น
สีฟ้าทุกคัน ไม่ว่าภายนอกรถจะเป็นสีอะไรก็ตาม

 

          ผมจึงต้องไปค้นหาประวัติที่มาของสีฟ้านี้ จนได้ทราบมาว่า ไทรทัน ก็คือ ชื่อของเทพเจ้าแห่งมหาสมุทร เมื่อเป็นเช่นนี้
ก็สามารถหาแนวคิดหลัก ซึ่งผมจะขอตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า “THE BLUE POWER” หรือ “พลังแห่งสีฟ้า” นั่นเอง สีฟ้าเป็นสี
ที่อยู่ในโทนเย็นเช่นเดียวกับน้ำที่เป็นธาตุเย็น เมื่อคนเราได้เห็น หรือได้สัมผัสก็จะรู้สึกเย็นสบาย ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์
ก็น่าจะเหมาะสมสำหรับรถยนต์ที่ใช้ในเมืองร้อน เพราะจะทำให้ผู้ใช้รถรู้สึกเย็นกว่าการตกแต่งด้วยสีโทนร้อน อย่างเห็นได้ชัด    

          เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเริ่มปรับโทนสีภายในรถที่ดูธรรมดาให้มีสีสันและดูมีราคาด้วยโทนสีฟ้าตามแนวคิดหลักเข้ากับ
หน้าปัดของรถนั่นเอง จุดแรกที่เราจะเริ่ม ก็คือ การถอดชิ้นส่วนที่เป็นสีดำในจุดหลักๆ ของรถมาทำการพ่นสีฟ้าตามที่เราวางแผนไว้
ซึ่งชิ้นส่วนที่ว่าก็คือบริเวณพวงมาลัย/ ช่องแอร์/ บนคอนโซลกลาง/ บริเวณเท้าแขนที่เป็นปุ่มเปิด/ปิดกระจกไฟฟ้าของประตูทั้ง 4 บาน
การกำหนดว่าจะพ่นสีฟ้าที่บริเวณใดนั้นจะต้องเป็นจุดสำคัญจริงๆ เท่านั้น เพราะการพ่นสีมากชิ้นเกินไปอาจทำให้ภายในดูเหมือน
ตกกระป๋องสีฟ้าได้ ซึ่งจะดูไม่ดี และอาจดูตลกไปเลย

 

 

 

           จุดต่อไปก็คือ พวงมาลัยที่เดิมนั้นเป็นพลาสติกสีดำธรรมดา เมื่อจับแล้วรู้สึก แข็งกระด้างไม่มีความนุ่มนวล วิธีแก้ก็คือ
การหุ้มหนัง ซึ่งหนังที่นำมาใช้นั้นก็ต้องสั่งลายพิเศษ เป็นรูและมีสีฟ้าอยู่ในรูนั้นด้วย ซึ่งจะเย็บสลับกับหนังสีดำปกติ และสอยด้วย
ด้ายสีฟ้าอีกที ซึ่งเมื่อหุ้มเสร็จเราก็จะได้สัมผัสที่แตกต่างจากพวงมาลัยเดิมอย่างเห็นได้ชัดทั้งจากการมองเห็น และการสัมผัส

           เบาะนั่งแบบดั้งเดิมของรถรุ่นนี้จะเป็นเบาะผ้าที่ถูกออกแบบลวดลายและรูปทรงมาได้อย่างสวยงามดูสปอร์ทมากที่สุด
สำหรับรถกระบะในบ้านเราก็ว่าได้ แต่ด้วยวัสดุที่เป็นผ้าไม่ค่อยทนทานและบริเวณที่เป็นสีเทาอ่อนก็จะสกปรกได้ง่ายมาก
โดยเฉพาะการใช้งานในบ้านเรา ยิ่งถ้ามีเด็กเล็กๆ ด้วยแล้ว บอกได้เลยว่าเละทุกคัน

 

           เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ขอเปลี่ยนเป็นเบาะหนังแท้ที่ใช้รูปทรง และการตัดเย็บลายเดิมที่สวยอยู่แล้วเป็นหลัก หนังที่ใช้ก็เป็น
ลายจุดฟ้าเหมือนกับพวงมาลัยสลับกับหนังสีดำลายเรียบปกติ เดินตะเข็บคู่ด้วยสีฟ้า และเพิ่มกุ๊นขอบสีฟ้าสไตล์อังกฤษเข้าไป
จะเพิ่มสีสัน และความหรูหราให้กับชุดเบาะอย่างเห็นได้ชัด

           สำหรับเท้าแขนที่ประตูทั้ง 4 บานก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นพลาสติกสีดำดูไม่มีราคาและแข็งกระด้างเมื่อสัมผัส เรานำเอา
หนังลายจุดฟ้ามาหุ้มและเดินตะเข็บคู่ด้วยด้ายสีฟ้า ซึ่งจะได้ทั้งความนุ่มนวล และความสวยงามไปพร้อมๆกัน

 

           จุดต่อไปคือ การเปลี่ยนกล่องใส่ของตรงกลางคอนโซลด้านบนของรถให้เป็นจอทีวี ด้วยการถอดฝากล่อง และช่องภายในออก
แล้วฝังจอขนาด 7 นิ้วเข้าไปแล้วก็ทำกรอบปิดขอบจอให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จจะต้องดูเหมือนทำออกมาจากโรงงานให้ได้
โดยที่ทำการดัดแปลงให้น้อยที่สุด ส่วนเครื่องเล่น DVD นั้น เปลี่ยนใส่ในตำแหน่งเดิมของรถที่ติดมาจากโรงงานก็จะทำให้รถดูดี
แบบไม่ต้องดัดแปลง

           มาถึงจุดสุดท้ายก็คือ เรื่องการออกแบบแสงภายในรถ ซึ่งในยุคนี้บริษัทรถยนต์ต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง LIGHTING
มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะการออกแบบแสงที่ดีก็สามารถสร้างบรรยากาศและสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ภายในรถกลายเป็นรถที่
พิเศษขึ้นมาจากรถธรรมดาได้ ทำโดยการใช้ไฟ LED ดวงเล็กซ่อนไว้เหนือที่วางเท้าแล้วให้ไฟนั้นส่องลงที่เท้า แสงที่นุ่มนวลสีฟ้า
ตามแนวคิดหลักจะทำให้บรรยากาศในตอนกลางคืนขณะที่เปิดไฟหน้า แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด (ไฟจะถูกเชื่อมต่อกับสวิทช์ไฟหน้า
ซึ่งไฟจะติดเฉพาะขับตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะกลางวันถึงเปิดก็มองไม่เห็น)

            และทั้งหมดนี้ก็คือการออกแบบตกแต่งรถยนต์โดยใช้การวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาในจุดอ่อนของรถยนต์ โดยใช้หลักของธรรมชาติ
หรือโหงวเฮ้ง เพื่อเพิ่มสง่าราศีนั่นหมายถึงการเพิ่มมูลค่า ทั้งทางด้านราคาและความรู้สึกของเจ้าของรถ

ให้มีความสุขในการใช้รถอย่างเต็มที่นั่นเอง

————————————-///——————————————

ทัศไนย ไรวา
บทความทั้งหมด สงวนลิขสิทธิ์ โดยผู้เขียน

เผยแพร่ครั้งแรก ในนิตยสาร ฟอร์มูลา ฉบับ 373 กุมภาพันธ์ 2007
ปรับปรุง เพื่อเผยแพร่อีกครั้งใน www.headlightmag.com
21 พฤษภาคม 2009 

ภาพประกอบ จากบทความรีวิว Mitsubishi Triton PLUS

www.headlightmag.com/main/index.php?option=com_content&view=article&id=349:-mitsubishi-triton-plus-25-4at-4dr-2-&catid=78:pickup-truck&Itemid=97