หากคุณอยู่ในฐานะผู้ลูกค้าหรือผู้ติดตามวงการรถยนต์บ้างคงจะไม่คิดว่ายักษ์หลับเบอร์ 3
อย่าง Nissan จะมีศักยภาพที่จะพัฒนารถยนต์ทัดเทียมกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่
ที่นำหน้าไปหลายขุมเป็นเวลาเกือบ 10 ปี เปรียบเสมือนพวกมือปืนกระสุนด้าน
ที่ไร้การต่อต้านกับการแข่งขัน หากจะพูดให้ชัดเจนที่สุดคือเป็นแบรนด์ที่ขาดพลังในสายตาลูกค้าทั่วไป
ซึ่งส่วนใหญ่มองเหตุผลด้านการตลาดที่อ่อนแอมากกว่า แต่ความจริงกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่

แต่อนาคตอีกไม่นานนัก Nissan เตรียมเปิดตัวรถยนต์ซีดานระดับ B-Segment ครั้งแรกในโลก
ที่เมืองไทยที่พวกเขาซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วซึ่งเป็นรถ 1 ใน 3 โปรเจคท์ A-Platform
ที่หมายมั่นปั้นมือกวาดยอดจำหน่ายทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคัน

ก่อนที่เราจะเจาะลึกถึง Nissan SubCompact รุ่นใหม่รหัส L02B ผมขออนุญาตย้อนกลับ
ในอดีตถึงจุดกำเนิด B-Segment ในเมืองไทยก่อนนะครับ

 

จุดเริ่มต้นการลงทุน B-Segment ในไทย

พวกเราทราบกันดีว่า Nissan ประเทศไทยไม่มีรถเล็กซับคอมแพคท์หรือ B-segment
ทำตลาดในไทยเป็นเวลา 10 ปีแล้วขณะที่คู่แข่ง Toyota และ Honda ตระเตรียมรถเล็ก
ระดับนี้มานานมากกว่า 10 ปีแล้วก็เพราะว่าบริษัทแม่เหล่านั้นคาดการณ์อนาคตรถเล็กว่าจะเติบโต
แทนที่รถระดับ C-segment สมัยยุค 90 ภายใน 10 ปีอย่างแน่นอน

และเหตุผลประการสำคัญที่ Toyota และ Honda กล้าตัดสินใจพัฒนารถช่วงต้นยุค 90
และกล้าตัดสินใจลงทุนอย่างหนักช่วงกลางยุค 90 ก็เพราะพวกเขาเล็งเห็นช่องว่างรถเล็ก
ระดับต่ำกว่า Corolla และ Civic ทีมีราคาระดับ 3-4 แสนบาทในไทยและอาเซียน
นั้นเติบโตได้อีกมากอีกทั้งสิทธิพิเศษการลงทุน จนไปถึงต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนแรงงาน
ในประเทศไทยมีเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศยิ่งนัก
(ขณะนั้นตลาดรถยนต์ประเทศจีนและอินเดีย ยังไม่เติบโตเท่าปัจจุบันนี้)

ผลจากการที่ Toyota ส่ง Soluna และ Honda ส่ง City ทำให้สองบริษัทนี้
เป็นผู้นำวงการยานยนต์ไทยที่น่าจับตามองยิ่งนัก ยิ่งมีกระแสรุนแรงมากเท่าไร
ก็ยิ่งทำให้มียอดขายเป็นกอบเป็นกำโดยไม่มีลางสังหรณ์เลยว่าฟองสบู่ประเทศไทย
อันเกิดจากภาพลวงเศรษฐกิจทั้งระบบจะแตกลงภายในปี 1998 จะทำลายเศรษฐกิจ
และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการยานยนต์ในประเทศไทยที่จะต้องหาลู่ทางส่งออก
เพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้มิให้กระทบเศรษฐกิจไปมากกว่านี้
และนี่คือบริบทใหม่แห่ง Detroit Of Asia อย่างที่ตั้งใจไว้เสียที

หลังจากรักษาบาดแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจพอทุเลาภายในเวลา 3 ปีแล้ว Toyota และ Honda
ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตาที่ไม่ค่อยดีเอาเสียเลย แต่ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้แล้วว่าตลาดรถ B-Segment
ในประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก จากการสังเกตยอดขายในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั่นเอง

ในปี 2002 ประวัติศาสตร์ต้องจารึกอีกครั้งเมื่อ Toyota เปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเอง
จากรถราคาประหยัดที่วิ่งปุเลง ๆ กลายเป็นรถยนต์ที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
สวยลงตัว คุณภาพดี ที่ต้องแลกกับค่าตัวที่แพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับ Soluna ปี 1997
ส่วน Honda City ที่แม้จะไม่ลงตัวในด้านดีไซน์แต่คุณภาพต่าง ๆ ก็ถูกอัพเกรด
ความหรูหราขึ้นมาก และไล่ราคาระดับเดียวกับ Soluna แต่น่าแปลกใจเสียงวิจารณ์ด้านราคา
กลับไม่ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักเท่ากับรายละเอียดทางเทคนิคและดีไซน์ของทั้งคู่มากกว่า

แม้เสียงวิจารณ์จะหนาหูแต่ยอดขายก็พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะรถทั้งคู่ถูกยกระดับจากรถราคาประหยัดต้นทุนต่ำ
กลายเป็นรถที่ดูไม่แตกต่างจาก C-segment มากนักมีเพียงขนาดที่เล็กกว่าที่สำคัญราคาก็ยังถูกที่สุด
ในตลาดรถยนต์นั่งอยู่ดี ไม่น่าแปลกใจนักหากรถระดับนี้จะเป็นรถกระแสหลักไปแล้ว

แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ GM ขาใหญ่จากแดนอเมริกันยังอดใจไม่ไหวกับตลาด B-Segment ต้อง
ส่ง Chevrolet Aveo ทำตลาดภายในปี 2006 แต่ด้วยคุณงามความดีของรถที่ยังไม่เพียงพอสำหรับตลาดเมืองไทยที่มีคู่แข่งขันที่แข็งแกร่งมาก มันจึงขายได้ดีเฉพาะ 2 เดือนแรกเท่านั้นเพราะคนไทยไม่อาจจะยอมรับ
Aveo เป็นตัวเลือกหลักเหมือนสมัย Zafira และ Optra ได้เลย

Nissan เคยรุกตลาดรถราคาประหยัด

ย้อนกลับไปสมัย Sunny FF รหัสตัวถัง B11 ขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรกของตระกูลเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นปี 1981 ส่วนประเทศไทยตามหลังญี่ปุ่น 1 ปีคือเปิดตัวภายในปี 1982 ภายในใต้การบริหารยุคสมัยคุณถาวร พรประภาที่ถือสิทธิ์แบรนด์ Nissan ในไทยแต่เพียงผู้เดียวในนามบริษัท สยามกลการ จำกัด

ช่วงนั้นภาพลักษณ์ของ Sunny B11 ยังถือว่าเป็นรถ C-Segment ราคาประหยัดคุ้มค่าที่จะซื้อหาได้ ภาพพจน์ดี ทนทาน ซ่อมง่าย ประหยัดน้ำมัน คนรุ่นใหม่หลายคนอ่านแล้วอาจจะประหลาดใจ เราต้องอย่าลืมว่าสมัยนั้นขนาดและราคาของมันยังต่ำระดับกว่ารถ B-Segment ปัจจุบันมากครับ แม้กระทั่งคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Toyota Corolla ที่เปิดประสบการณ์ใหม่จากรถระบบขับเคลื่อนล้อหลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าในรหัส AE80 ก็ยังถือว่าเป็นเกรดรถราคาประหยัดเช่นกัน นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รถเล็กระดับต่ำกว่าตระกูล Corolla Sunny และ Lancer ถึงไม่เกิดในตลาดไทยเสียทีในยุคนั้น เพราะลูกค้าคนไทยยุคนั้นไม่ต้องการรถที่เล็กกว่านี้โดยไม่จำเป็นหากไม่สามารถกดราคาได้ต่ำจริง

แต่แล้วจุดเปลี่ยนของตระกูล Sunny ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสยามกลการจะต้องนำ Sunny Modelchange รหัสตัวถัง B12 มาเปิดตัวในประเทศไทยภายในปี 1986 ซึ่งรถคันนี้ได้พลิกโฉมภาพลักษณ์จากรถราคาประหยัดธรรมดา ๆ กลายเป็นรถที่นำสมัยโฉบเฉี่ยวขึ้น อัพเกรดเทคโนโลยีรวมถึงราคาขายขึ้นไปอีกระดับ

เมื่อรถพลิกแนวการออกแบบแรงขนาดนี้หากจะใช้ชื่อ Sunny เช่นเดิมก็ทำให้เกิดภาพลบในใจลูกค้าแน่นอนเพราะภาพลักษณ์ Sunny ยังยึดติดกับความเป็นรถธรรมดา ๆ ราคาประหยัดไปแล้ว จนทำให้ทีมการตลาดสมัยนั้นต้องสรรหาชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับ Sunny B12 ที่เข้าหูคนไทยมากที่สุด และชื่อนั้นก็คือ Sentra ที่ใช้สำหรับตลาดอเมริกันและบางประเทศนั่นเอง

ทำให้ Sunny B11 ต้องรับหน้าที่สานต่อตลาดรถราคาประหยัดโดยไม่รู้วันหมดอายุที่แท้จริง และมันจะต้องถูกขายควบคู่กับ Sentra B12 ที่มีภาพลักษณ์ใหม่ของรถ C-Segment ไปพร้อม ๆ กัน การกระทำเช่นนี้ของการตลาดสมัยนั้นก็ยิ่งตอกย้ำชื่อของ Sunny ว่าเป็นรถเล็กราคาประหยัดและต้องยอมให้ตระกูล Sentra มีบทบาทถึง 2 เจเนเรชั่นจนกระทั่งสยามกลการจำเป็นต้องยุติบทบาท Sunny B11 ภายในปี 1995 เพื่อหลีกทางให้ Sunny B14 (รุ่นที่มี เจ มณฑล จิรา ดาวรุ่งในวงการบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์) ทำตลาดทดแทน Sentra B13 ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี

ใช่ว่าเหตุการณ์นั้นจะต้องยุติบทบาทรถราคาประหยัดลงไปเสียสิ้น แต่ยังมีโครงการใหม่ที่คาบเกี่ยวกับการวางแผนยุติบทบาท Sunny B11 พอดิบพอดี นั่นก็คือโครงการ National Vehicle ความคาดหวังใหม่ที่จะให้ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์แห่งชาติและขยายอาณาเขตไปยังอาเซียนด้วยการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันภายใต้การนำทีมของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช แต่ตอนหลังมีเหตุขัดข้องระหว่างการพัฒนาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น New Value แทนหนำซ้ำยังต้องใช้พื้นฐานของ Nissan Sunny California หรือ Nissan ADVAN มาพัฒนาแทนที่จะออกแบบขึ้นมาใหม่

รถยนต์รุ่นแรกของโครงการ New Value หรือที่รู้จักกันในนาม NV นั่นก็คือ NV-A ตัวถังแวกอนวางเครื่องยนต์ GA16DE จาก Sentra B13 ด้วยราคาเริ่มต้นประมาณ 460,000 บาท สร้างความประหลาดใจให้กับวงการรถยนต์สมัยนั้นว่าทำไมสยามกลการถึงเลือกตัวถังแวกอนที่ยังไงก็ไม่ได้รับความนิยมอยู่ดีมาเปิดตลาดก่อนนั่นก็เพราะทีมงานของสยามกลการสมัยก่อนสำรวจวิจัยการตลาด(ที่พวกเราไม่ทราบว่าสำรวจกันท่าไหน)ว่าคนไทยต้องการรถแวกอน ผลที่ได้รับคือไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

ไม่รอช้ารถในโครงการ NV อีกตัวถังหนึ่งเร่งเปิดตัวไม่นานนักก็คือ NV-B ตัวถังรถกระบะใช้โครงสร้างครึ่งคันหน้าของ NV-A มาดัดแปลงคิดภาษีสรรพสามิตของรถกระบะทำให้เคาะราคาเริ่มต้นได้ต่ำกว่า 3 แสนบาท แม้จะได้รับความนิยมระดับหนึ่งแต่มันไม่อาจตอบสนองความต้องการของคนไทยที่ต้องการรถยนต์ราคาประหยัด 4 ที่นั่งได้อย่างแท้จริง เพราะมันเป็นรถกระบะ 1 ตอนนั่งได้แค่  2 คนแม้จะมีรุ่น QueenCab ตามมาภายหลังแต่มันก็ไม่ตอบสนองความต้องการได้อยู่ดี

ก็ใช่ว่า Nissan จะนิ่งดูดายกับตลาดรถยนต์นั่งราคาประหยัดจึงมีดำริจะทำ NV-C ในอีกไม่นานหลังจาก Toyota และ Honda เตรียมเปิดเกมส์กับรถตลาดซีดานราคาประหยัด สมัยนั้นคาดการณ์กันว่าจะนำพื้นฐานจาก NV-A มาพัฒนาเป็นตัวถังซีดานหรือแฮทช์แบคเพื่อท้าชนกับคู่แข่ง

แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกกับเศรษฐกิจเมืองไทยทำให้วงการอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรากระทบกระเทือนอย่างหนักจนกระทบต่อแผนการของทุกบริษัทซึ่งไม่พ้นบริษัท สยามกลการ จำกัดที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ  นอกเหนือจะปรับโครงสร้างบริษัทในเครือแล้ว ยังกระทบต่อแผนการพัฒนา NV-C อย่างช่วยไม่ได้ และนั่นเท่ากับปิดประตูตายโครงการถยนต์นั่งราคาประหยัดตั้งแต่บัดนั้น

 

การกลับมาของรถราคาไม่แพงจับตลาด B-Segment ในนาม A-Platform

เหตุผลที่ Nissan ประเทศไทยเสียเปรียบคู่แข่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในตลาดรถเล็กก็เพราะ Nissan Motor ญี่ปุ่นอันเป็นบริษัทแม่ต้องการจะยึดอำนาจแบรนด์ Nissan ในประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จจึงไม่ต้องการสนับสนุนให้สยามกลการเติบโตจนยากจะซื้อหุ้นคืนได้ ดังนั้นบริษัทแม่จึงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและถ่ายทอดรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ลงสู่ตลาดเพื่อบีบให้สยามกลการจำใจขายหุ้นให้

ประกอบกับตลาดรถเล็กระดับ B-Segment ระดับโลก Nissan ก็ถือว่ายังเสียเปรียบคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่าง Toyota และ Honda และยังต้องเสียเปรียบคู่แข่งต่างสัญชาติอย่าง Hyundai อีกด้วย เพราะไม่มีรถเซกเมนต์นี้ทำตลาดอยู่เลย แม้ Nissan มีรุ่น March แฮทช์แบคทรงน่ารักวางจำหน่ายแต่ก็ถูกจำกัดเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและยุโรปเท่านั้น ทำให้ Nissan เสียโอกาสกวาดเก็บยอดขายทั่วโลกไปมากพอสมควร

ดังนั้น Nissan ยุคใหม่ภายใต้การนำของคาร์ลอส กอส์น ที่กุมบังเหียน Renault-Nissan Alliance มานานถึง 10 ปีต้องคิดใหม่ทำใหม่เพื่ออนาคตที่ดีของแบรนด์ ด้วยการตัดสินใจพัฒนารถขนาดเล็กระดับโลกเพื่ออุดช่องว่างที่ขาดหายไป ทั้งยังสร้างมาตรฐานใหม่ของตลาดรถยนต์นั่งให้อยู่ลำดับต้น ๆ ของตลาดต่อไป

โครงการ A-Platform จึงถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 คาดหวังใช้ฐานการผลิตจากประเทศต้นทุนต่ำ 5 ประเทศชั้นนำผลิตและส่งออกไป 150 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศไทย อินเดีย จีน และอีก 2 ประเทศที่ยังไม่อาจเปิดเผยได้ในตอนนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้เรียกว่า Leading Competitive Country หรือ LCC ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนธุรกิจ GT2010 ล้วนแต่มีข้อดีแทบทุกด้าน

เหตุผลสำคัญที่ไม่ใช้ฐานการผลิตญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอมริกาก็เพราะต้นทุนการผลิตประเทศเหล่านี้สูงมาก อาทิ ความผันผวนของค่าเงินบาท,ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น,ค่าแรงงานที่แพงตามคุณภาพชีวิต จึงไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตและเคาะราคาขายอย่างสมเหตุสมผลได้มากนัก

ความคาดหวังของโครงการ A-Platform คือยอดขายทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคันต่อปี!!! เมื่อคาดหวังสูงเช่นนี้รถที่จะออกมาจำหน่ายนี้ก็น่าจะต้องถูกใจคนส่วนใหญ่ให้ได้

 

Nissan L02B ซีดานซับคอมแพคท์  1 ในโครงการ A-Platform มุ่งต่อกรกับ Honda City โดยเฉพาะ

หากผู้อ่านติดตามคอลัมน์ Spyshot มาโดยตลอดอาจจะพอทราบว่า Nissan March เจเนเรชั่นที่ 4 รหัสพัฒนา X02A หรือ B02A เป็น 1 ในโครงการอภิมหาโปรเจคท์รถเล็กของ Nissan A-Platform เตรียมเปิดตัววางจำหน่ายในไทยครั้งแรกในโลกในเดือนมีนาคม 2010 นี้

หากมีตัวถังแฮทช์แบคทำตลาดแล้วไฉนเลยจะขนาดตัวถังแบบซีดานไปได้อย่างไร ดังนั้น Nissan L02B ก็ต้องเป็น 1 ในโครงการ A-Platform อย่างที่ผมเคยรายงานใน Spyshot Nissan March นั่นเอง
Nissan ซีดานซับคอมแพคท์รหัสพัฒนา L02B ถูกพัฒนาบนพื้นฐานงานวิศวกรรมร่วมกับ Nissan March X02A เริ่มต้นพัฒนารถในปี  2006 และอนุมัติการออกแบบอย่างเป็นทางการภายในสำนักออกแบบที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ภายในปี 2007

ก่อนที่จะเริ่มต้นงานออกแบบทีมงานวิจัยและสำรวจของ Nissan จำเป็นต้องลงไปสำรวจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรถซีดานซับคอมแพคท์คันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินเดียและจีนมีความต้องการคล้ายคลึงกัน

ผลสำรวจตลาดในประเทศอินเดียพบว่าพวกเขาต้องการรถซับคอมแพคท์ซีดานที่มีบุคลิคช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการงานของเขามาก,เป็นรถยนต์ที่มีส่วนช่วยผลักดันให้งานของพวกเขาประสบความสำเร็จ และพวกเขาก็มองเห็นงานเป็นส่วนสำคัญในชีวิต

ฟังแล้วดูจะแปลกประหลาดพอสมควรนั่นก็เพราะตลาดรถซับคอมแพคท์ซีดานที่คนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นรถราคาถูก แต่คนอินเดียส่วนใหญ่มองเหล่านี้ว่าเป็นรถพรีเมี่ยมระดับเล็กไปเลยครับ ต้องอย่าลืมว่าฐานะคนอินเดียส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ต้องรอให้ประเทศขยายการส่งเสริมการลงทุนไปเรื่อย ๆ เสียจนคุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นครับ

ลูกค้าชาวอินเดียต้องการถที่มีฟังก์ชันหลัก 3 ประการได้แก่ คุ้มค่าเงิน,ขับขี่สบาย และ ประหยัดน้ำมัน ส่วนความต้องการด้านอารมณ์นั้นพวกเขาต้องการรถที่ดูมีภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จ ,ความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ ,ให้ความรู้สึกถึงมีพลัง

ผลสำรวจตลาดในประเทศจีนพบว่าพวกเขาต้องการรถที่มีบุคลิคแสดงสถานภาพที่พวกเขาเคยทำงานประสบความสำเร็จมาแล้ว,ดำรงไว้ซึ่ง Lifestyle ที่เป็นตัวของตนเอง และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า

ลูกค้าชาวจีนต้องการรถที่มีฟังก์หลัก 3 ประการเฉกเช่นเดียวกับลูกค้าชาวอินเดีย ได้แก่ คุ้มค่าเงิน,ขับขี่สบาย และ ประหยัดน้ำมัน ส่วนความต้องการด้านอารมณ์สำหรับลูกค้าชาวจีนนั้นได้แก่ สร้างความน่าเชื่อถือในสังคม,ดีไซน์ที่ดูแล้วไม่เหมือนรถเล็กราคาประหยัดทั่วไป(ดีไซน์ดูมีราคามากกว่าคู่แข่ง) และต้องสวยดูดีทันสมัย

แม้จะไม่มีผลสำรวจความต้องการตลาดของกลุ่มลูกค้าในไทยและอาเซียน แต่เชื่อว่าคงคล้ายคลึงกันบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อผลสำรวจของกลุ่มลูกค้า 2 ประเทศออกมาเช่นนี้ทำให้แนวคิดการพัฒนาต่าง ๆ ของ Nissan L02B ดูจะใกล้เคียงกับ Honda City โดยบังเอิญอย่างทีสุด แม้ห้วงเวลาการสำรวจพัฒนาจะต่างเวลากันก็ต่ามแต่ก็ทำให้เรารับรู้ได้ว่ารถซีดานซับคอมแพคท์ในอนาคตคงไม่อาจรักษาภาพลักษณ์รถราคาประหยัดได้อีกต่อไปแน่นอน

แนวคิดผลิตภัณฑ์ Nissan L02B มีหัวใจหลัก คือ เป็นรถซีดานราคาไม่แพงที่ปราดเปรียว มีพลังอำนาจ กล้าหาญชาญชัย ส่วนแนวคิดการออกแบบตัวถังภายนอกคือ ดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยว กระฉับกระเฉงดูมีอำนาจ ด้วยโคมไฟหน้าทรงเรียวที่ดูมีอำนาจเสมือนเสือพุ่งเป้าหาเหยื่อ รูปทรงตัวถังปราดเปรียว ที่สำคัญต้องดูเป็นรถที่ดูมีราคาไม่กระป๋องกระแป๋ง

ชัดเจนแล้วว่างานออกแบบตัวถังของ Nissan L02B พุ่งเป้าไปหา Honda City โดยบังเอิญอย่างแน่นอน เพราะช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวข้อมูลและการพัฒนานั้นห่างกันไม่น่าจะเกิน 2 ปี ซึ่งยากที่จะมีใครไปลอกเลียนได้ทัน

เพื่อเป็นการยืนยันว่า Nissan L02B มีแนวคิดการออกแบบดังกล่าวจริงและมีตัวตนในโลกยานยนต์จริง ดังนั้น Headlightmag.com จึงขอนำเสนอภาพรูปปั้นดินเหนียวหรือ Clay Model ในฐานะสื่อมวลชนครั้งแรกของโลก และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยก่อนใคร

ภาพเหล่านี้เป็นภาพหลุดมาจากสตูดิโอของ Nissan ที่ยังไม่แน่ชัดว่าหลุดมาจากสตูดิโอในญี่ปุ่นหรือในไต้หวัน แต่ที่แน่ ๆ ภาพที่ทุกคนเห็นอยู่นี้เป็นภาพหุ่นจำลองที่ใกล้เคียงกับรถคันจริงราว 60-70 % และภาพที่เห็นนี้ ยังไม่ใช่รถคันจริงที่จะทำตลาดแต่อย่างใด ยังต้องผ่านการขัดเกลาอีกมาก ส่วนรถคันจริงคงทำได้แค่โปรดรอภาพสเกตช์คันจริงที่ Nissan ประเทศไทยจะเตรียมแถลงความคืบหน้าโครงการอีโคคาร์ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ครับ

และนี่ก็เป็นที่ยืนยันได้ว่า Nissan ทุ่มเทกับโปรเจคท์ A-Platform ไม่น้อย แม้ Nissan L02B จะใช้โครงสร้างร่วมกับ Nissan March ก็ตามแต่ก็สามารถออกแบบรถซีดานซับคอมแพคท์ที่ดูโฉบเฉี่ยวดึงดูดใจลำดับต้น ๆ ของตลาดมากกว่าที่เราคิดไว้มาก ๆ

เริ่มต้นจากกระจังหน้าโครเมี่ยมบานเกล็ด 3 ชั้นที่มีการไฮไลต์ตรงกลางกระจังหน้าให้เด่นชัดเป็นรูปตัว V พร้อมไฟหน้าทรงเรียวยาวที่ดูละม้ายไฟหน้า Mitsubishi Lancer EX  เมื่อมองภาพรวมดูมีบุคลิคคล้ายเสือลายที่กำลังจ้องเขม็งไปยังปลายทางข้างหน้าดูองอาจและมีพลังเกินกว่าที่รถระดับ B-segment พึงจะมีได้ นั่นเป็นเพราะผลวิจัยการตลาดที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการนั่นเอง

เส้นสายต่าง ๆ ของรถคันต้นแบบนี้เน้นความเฉียบคม ความสปอร์ตโฉบเฉี่ยว ความแข็งแกร่ง ความโอ่อ่าที่ทำให้ตัวถังดูใหญ่กว่าคู่แข่งบ้าง และมีความภูมิฐานมีราคาค่างวดมากกว่ารถระดับเดียวกัน

ดีไซน์ท้ายชวนให้นึกถึง Honda City รุ่นปี 2002 มาก สร้างความแตกต่างที่ลูกเล่นออกแบบไฟท้ายตามยุคสมัยด้วยรูปทรงบิดพลิ้วบ้างและหลอดไฟภายในเลียนแบบ LED ชนิดเส้นที่พวกเราเคยเห็นในรถระดับหรูราคาแพงมาก่อน

มิติตัวถังจะมีระดับพอ ๆ กับ Honda City คือมีความยาว 4,390-4,450 มม. ความกว้างไม่เกิน 1,700 มม. และความสูงอยู่ระหว่าง 1,470-1,490 มม. ความยาวฐานล้อน่าจะอยู่ระหว่าง 2,500 – 2,600 มม.

วางเครื่องยนต์ตั้งแต่บล๊อก 3 สูบ 1.2 ลิตรที่นำมาจาก Nissan March โฉมใหม่ไล่จนไปถึงบล๊อก HR15DE 4 สูบ 1,500 ซีซี ที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงสมรรถนะและความประหยัดด้วยเทคโนโลยีล่าสุด

 

กำหนดการเปิดตัว

ทันทีที่วางจำหน่าย Nissan March X02A ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2010 เป็นต้นไป และผู้อ่านลองนับไปอีก 6 เดือนก็จะเป็นวันเปิดเผยโฉมของ Nissan L02B ครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทยก่อนประเทศอินเดียและประเทศจีนด้วยซ้ำ นั่นก็คือราวเดือนตุลาคม 2010 เท่ากับว่า Nissan ประเทศไทยฉีกกฏการเปิดตัวรถยนต์ในประวัติศาสตร์ตลอดร่วม 56 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว เพราะในอดีตมักจะเปิดตัวรถใหม่ตามหลังญี่ปุ่นตลอด ถึงแม้จะเคยเปิดตัว Sunny Neo ตามตลาดโลกแค่ 6 เดือนก็ตาม

ชื่อรุ่นอันเป็นเครื่องหมายทางการค้าของ Nissan L02B ผู้เขียนยังไม่อาจทราบได้ว่าพวกเขาจะใช้ชื่อรุ่นอะไรกันแน่ หากทราบจะมารายงานกันอีกทีครับ

Nissan L02B ที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทยจะมีเครื่องยนต์ 3 สูบ 1.2 ลิตรที่ติดตั้งใน March มาติดตั้งลงใน L02B เพื่อทำตลาดพิกัดอีโคคาร์ที่เสียภาษีสรรพสามิต 17% และจะวางเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรสำหรับต่อกรตลาด 1.5 ลิตรอันดุเดือดเสียภาษีสรรพสามิตเครื่องยนต์ E20 25%

นี่คือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในฐานะที่เป็น Late Comer หรือผู้ตามรายสุดท้ายที่ลงมาเล่นตลาดซีดานซับคอมแพคท์ในประเทศไทยหากต้องการจับจองพื้นที่ในตลาดก็ควรจะลงเล่นในเซกเมนต์ที่ยังว่าง การบรรจุตัวเองเข้าโครงการอีโคคาร์ และรุ่นเครืองยนต์ 1.5 ลิตรก็อาจสร้างความแตกต่างด้วยเทคโนโลยีที่ไม่มีในตลาดเช่น เทคโนโลยีหัวฉีดคู่ผนวกกับรูปทรงที่ดึงดูดใจลูกค้าส่วนใหญ่ หากยิ่งวางกลยุทธ์ราคาที่คุ้มค่ามาก ๆ  ก็น่าจะมีโอกาสปั้นยอดขาย L02B ในสภาวะที่ตลาดรถเล็กกำลังขยายตัวพอดี

ประกอบกับ Nissan เองมีฐานลูกค้าที่ใช้ตระกูล Sentra และ Sunny อาทิ Sunny B14 และ Sunny Neo N16 ในประเทศไทยไม่น้อยเลยที่ต้องการรถซีดานขนาดเล็กที่ถูกโฉลกกับตนเองมากที่สุด (Nissan Tiida Latio ไม่อาจตอบสนองตรงนี้เต็มที่นัก ด้วยเหตุผลด้านดีไซน์) เมื่อเห็นดีไซน์และคุณสมบัติของ Nissan L02B คาดว่าน่าจะกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งอาจจะหันเหมองรถรุ่นนี้แทนรถคันเก่าที่พวกเขากำลังใช้กันอยู่

และยิ่งมารวมกับลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มี Brand Loyalty มากนักที่อาจเคยเห็นว่า Nissan มีทำรถได้ไม่ทันสมัยเท่าคู่แข่งหรือลูกค้าที่ต้องการรถครอบครัวขนาดเล็กแต่ดีไซน์ดูโฉบเฉี่ยวมีราคา โอกาสที่ Nissan จะไต่ยอดขายซีดานซับคอมแพคท์แตะระดับมากกว่า 1,500 ต่อเดือนหรืออยู่อันดับ 3 ต่อจาก Honda City ที่ทำยอดขายเฉลี่ย 2,800 ต่อเดือนย่อมมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก

แต่ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับ Nissan สามารถส่งรถยนต์รุ่นใหม่ไล่ตามคู่แข่งผู้นำตลาดครบทุกเซกเมนต์(เสียที) ไล่ตั้งแต่อีโคคาร์,B C และ D Segment ครบทุกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการและน่าจะทำให้แบรนด์ Nissan ยืนหยัดมีภาพพจน์เป็น 1 ในกลุ่มผู้นำตลาดอย่างไม่น่าเกลียดนัก

Nissan L02B จะมาแทนที่ Tiida Latio จริงหรือไม่?

แม้มิติตัวถังของ L02B จะเท่ากับหรืออาจจะใหญ่กว่า Latio ก็ตามแต่ตำแหน่งทางการตลาด เราต้องยอมรับกันว่า Latio มีระดับที่เหนือกว่า L02B อยู่ดี อย่างน้อย ๆ ในเรื่องของขนาดห้องโดยสารที่ Latio ได้เปรียบเรื่องเฮดรูมที่มากกว่า (Latio มีความสูงถึง 1,530 มม.ทำให้ขาดความลงตัวและความสมดุลของรถมาก ส่งผลให้รถดูเชยล้าสมัย)และมีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรที่ใหญ่กว่า L02B อยู่ดี และต้องอย่าลืมว่า Tiida Latio เปิดตัวในตลาดโลกปี 2004 ดังนั้น L02B จะใหญ่เทียบเคียง  Latio ก็คงไม่น่าแปลกใจนัก

ส่วนอนาคตของ Tiida Latio จะเป็นอย่างไรนั้น ผมยากที่จะคาดเดาได้แต่ที่แน่ ๆ Tiida ตัวต่อไปรหัส X12D ยังคงจะต้องดำเนินต่อไปและคาดว่าจะต้องขยายขนาดตัวถังแตะระดับเท่ากับคู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่มีความกว้าง 1,750-1,800 มม.

ผมพออธิบายได้ว่านับแต่บัดนี้ไป Nissan ปรับปรุงโครงสร้างการพัฒนารถคอมแพคท์ทั้งหมดเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาเสียทีแล้วครับ เพราะพวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงด้วยการ Slot หาช่องว่างทางการตลาดรถยนต์นั่งได้เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว ยังไงเสียทะเลสีเลือดหรือ Red Ocean ใน Positioning ตัวถังยังต้องมีต่อไป แต่ตลาดทะเลสีครามหรือ Blue Ocean กลับเป็นเรื่องของเทคโนโลยีเสียมากว่า ที่อย่างไรเสียปลายทางก็หนีไม่พ้นการแข่งขันอันดุเดือดกันอยู่ดี

ดังนั้นหาก Nissan L02B เปิดตัวเมื่อไรแล้วล่ะก็ นั่นเท่ากับปิดประตูตาย Tiida Latio ให้หมดลมหายใจจากตลาดเมืองไทยเข้าไปทุกวันแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงในองค์กร นิสสัน มอเตอร์ประเทศไทยเพื่อรองรับ A-Platform

มร.โทรุ ฮาเซกาว่า หัวเรือใหญ่ของบริษัทนิสสัน มอเตอร์ประเทศไทยจัดการด้านการบริหารองค์กรแทบทั้งหมดเพื่อการเติบโตในอนาคตของ Nissan ภายใน 3 ปีข้างหน้าไล่ตั้งแต่จัดตั้งหน่วยงานพัฒนาบริการโชว์รูมเป็นครั้งแรกเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว (น่าแปลกใจว่าทำไมถึงเพิ่งตั้งแผนกนี้ในปีนี้ ทั้ง ๆ ที่ Nissan Motor ญี่ปุ่นตั้งรกรากในไทยราว 6 ปีแล้ว),การชักชวนผู้บริหารด้านการตลาดคนไทยจากค่ายผู้นำตลาดมาลงบริหารดูแลกิจกรรมการตลาดและการขายแทนคนญี่ปุ่นอย่างน่าประหลาดใจ (ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารคนญี่ปุ่นน่าจะต้องเอาใจชาวญี่ปุ่นด้วยกัน)

และเชื่อว่าสิ่งที่ ฮาเซกาว่าทำทั้งหมดก็เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการ A-Platform ในประเทศไทยและอาเซียนและสร้างความมั่นคงให้กับแบรนด์ Nissan ในอนาคต

 

และแผนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือ Nissan จะนำเข้า X-trail โฉมใหม่จากประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านสิทธิ์ FTA รหว่างไทยและอาเซียน 0 เปอร์เซ็นต์ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สำหรับสเปค X-trail โฉมใหม่ในไทยจะเป็นอย่างไรให้คุณลองเข้าเว็บไซต์ Nissan Indonesia นั่นล่ะสเปคแบบนั้นที่จะนำเข้ามาไทยครับ


สงวนลิขสิทธิ์ [2009] ทั้งบทความและภาพเฉพาะที่มีลายน้ำตราสัญลักษณ์ Headlightmag.com
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
Headlightmag.com

Copyright (c) [2009] Text and Pictures only with watermark of Headlightmag Logo
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
Headlightmag.com

 แสดงความคิดต่อบทความ Spyshot คลิ๊กที่นี่