บ่ายวันหนึ่ง ขณะกำลังขับรถอยู่บนถนน บริเวณหน้าเทเวศน์ โทรศัพท์มือถือก็ส่งเสียงของ คุณป๊อป แคลอรีส์ บลา บลา
เป็นเพลงโฆษณา Nissan TIIDA Latio อย่างที่ตั้งเอาไว้ เสียงผู้ชายคนหนึ่ง นุ่มๆ สมวัย (ที่ยังไม่แก่) ของเขา ลอยเข้าหูมา

“พี่จิมมี่ครับ…เมื่อไหร่พี่จะมาเอา Cruze ไปทำรีวิวครับ?”

ความคิดแว๊บเข้ามาในทันใด…ตายละวา……ตอบไปแบบไม่ต้องคิดต่อให้เสียเวลาอีกเลย

“แหะๆๆๆ โทษทีจ้ะ พี่ลืม!”

คาดว่า ตาบอย PR ของ GM Thailand ได้ยินประโยคนี้จบ คงอยากยืนมือมาเบิ้ดกะโหลกผมเป็นแน่! แต่ทำไม่ได้ เพราะ
เราอยู่ในหัวโขนที่ต่างกัน ยังไม่สนิทกันดี อาจมี PR บางคนที่ผมสนิทพอถึงขั้นทำอะไรห่ามๆ แบบนั้น แต่กับบอยแล้ว
ผมยังต้องรักษาภาพลักษณ์ “หมีน้อยปากหมา” ในสายตาของเขาเอาไว้ก่อน แหะๆๆ

แต่อยากจะบอกกับคุณบอย เหลือเกินว่า ไม่ใช่บอย เท่านั้นที่พี่จะลืมนะครับ แต่ขนาด อีตาโบ็ต PR จาก Toyota ตัวละคร
ประกอบฉาก ผู้ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆในรีวิวแต่ละเรื่องของข้าพเจ้า ยังโทรมาหา ก่อนหน้าคุณบอย ไม่กี่นาทีเลย ด้วยประโยคที่
ขอถอดเทปจากเจ้าตัวออกมาเลยว่า

“จิมมี่ ตกลง มึงจะเอาตังค์ค่าโฆษณาลงเว็บของบริษัทกรูไหม? เมื่อไหร่มึงจะมารับเช็คกรูเสียที นี่น้องทีมกู เขาบอกเลยว่า
ตั้งแต่ทำงานมา มีพี่จิมมี่นี่แหละที่ Chil ที่สุด ไม่เห็นจะโทรมาเร่งเลยว่า เช็คออกวันไหน เงินจะได้หรือยัง ดูไม่เห็นรีบร้อน
เหมือนชาวบ้านเขาเลย”

ผมก็ตอบไปแบบเดียวกันเลยนั่นแหละครับว่า “แหะๆๆ โทษทีหวะ โบ็ต กรูลืม!” 😛

คือช่วงที่ผ่านมา งานยุ่งเป็นยุงตีกันเลยทีเดียว หลังจากที่ รีวิวแบบ First Impression ของ Cruze ถูกทำคลอดออกไป อย่างเร่งรีบ
ระดับเข็มนาฬิกาหมุนมาเกือบจะเฉียดคอหอย ไปเมื่อ 9 ธันวาคม 2010 นั้น แม้จะได้ปล่อยรีวิว ออกไปเป็นรายแรกในเมืองไทย
กระนั้น ก็ยังติดค้างอยู่ในความรู้สึกว่า เสพรถไม่อิ่ม เท่าไหร่

1 เดือนต่อมา ทางคุณจอย ศศินันทร์ ออลแมนด์ PR ใหญ่ แห่ง GM Thailand ดูเหมือนจะรู้ใจว่า ผมอยากขับ Cruze มากกว่านี้
เลยชวนผมไปร่วมทริปลองขับ Cruze ที่เชียงใหม่กันอีกครั้งหนึ่ง ในระยะทางที่ยาวกว่าเดิม และมีทางโค้งคดเคี้ยวให้สัมผัส
ประสิทธิภาพของรถเพิ่มมากขึ้น คราวนี้ เริ่มถึงขั้น เกือบจะ FIN !

แต่แทนที่ผมจะรีบติดต่อขอยืม Cruze มาทำรีวิวในทันที ผมกลับปล่อยให้นาฬิกาเดินต๊อกๆ ไปอีกสักเดือนกว่าๆ ด้วยความ
“ขี้ลืมระดับโลก” ของตัวเองเนี่ยแหละ จนกระทั่งคุณบอย คงทนไม่ไหว ถึงขั้นต้องโทรมาถามเองเลยทีเดียว ถึงได้ตกลง
ล็อกเวลากัน และล็อกคันรถที่ต้องการเอาไว้ในที่สุด

ตามความตั้งใจในตอนแรก ผมอยากได้ Cruze ครบทุกเครื่องยนต์ในตระกูล เพื่อมาทดลองขับให้ชัดเจนไปเลยว่า สมรรถนะ
จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แต่พอถึงเวลากันจริงๆ ทาง GM Thailand ไม่ได้ตัดแบ่งโควต้า Cruze รุ่น 1.6 ลิตร มาให้กลุ่ม
สื่อมวลชนได้ลองขับกันเลย มีแต่เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร และ 2.0 Diesel Turbo เท่านั้น เลยได้แต่ทำใจกันไป ว่า Full Review
ของ Cruze อาจไม่สมบูรณ์นัก เพราะเราขาดรถรุ่น 1.6 ลิตรไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งก็พอจะเดาสาเหตุได้ว่า GM ไม่ค่อยอยาก
เน้นขายรุ่น 1.6 ลิตรนัก เพราะน่าจะรู้อยู่ว่า มันอืดพอกับ Optra 1.6 เนื่องจากใช้เครื่องเดียวกัน ไม่คุ้มถ้าปล่อยรถแล้วโดนด่า

กระนั้น ทางคุณบอย ก็จัดรถมาให้ลองขับ ตามที่ผมต้องการ 1 คัน และตามที่ทาง GM ต้องการอีก 1 คัน กล่าวคือ ผมอยากได้
รุ่น 2.0 LTZ สีแดง ซึ่งแน่นอนว่า มีมาให้ ขณะเดียวกัน คุณบอย ก็อยากให้รีวิวของ Cruze ในคราวนี้ ดูมีความแตกต่าง เลย
จัดรถรุ่น 1.8 LT คันสีฟ้า ล้ออัลลอย 16 นิ้วมาให้

ผลก็คือ เมื่อรวมภาพถ่ายทั้ง 2 ชุดเข้าด้วยกัน ภาพที่ออกมา ดูสวยงาม และลงตัวกว่าที่ตั้งใจไว้ ไม่น้อยเลยทีเดียว ต้องขอขอบคุณ
คุณบอย เอาไว้ ณ โอกาสนี้ (รวมถึงการปล่อยรถคันสีแดงให้ผมยืมกลับมาถ่ายรูปซ่อม อีก 1 วัน)

และคราวนี้แหละ เราก็จะได้รู้ความจริงกันเสียทีว่า รถยนต์ C-Segment Compact Sedan สำหรับตลาดทั่วโลก ผลผลิตใหม่ล่าสุด
จาก GM จะให้สัมผัสการขับขี่เป็นอย่างไร ดีพอให้ซื้อหามาใช้งานหรือไม่ มีอะไรที่ต้องปรับปรุงกันบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ
Cruze จะเป็น Global C-Segment Sedan ที่เจ๋งพอจะฟัดเหวี่ยงกับคู่แข่งมากมายจากทั่วทุกมุมโลก สมดังที่ตั้งความคาดหวัง และ
ตั้งใจทำรถ ของ GM ทั่วโลกหรือไม่

อันที่จริง General Motors หรือ GM เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นหมายเลข 1
ของโลก (ก่อนเข้าสู่ภาวะฟื้นฟูกิจการ Chapter 11 ในช่วงกลางปี 2009 จนถึงปัจจุบัน) ก็เหมือนกับผู้ผลิต
รถยนต์ค่ายอื่นๆทุกราย คือ อยากสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก C-Segment สักรุ่นหนึ่ง เพื่อเข้าถึงใจลูกค้าทั่วโลก
ได้เหมือนกันทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ Ford Model-T และ Volkswagen Beetle รุ่นแรก เคยทำสำเร็จมาแล้ว
เพราะนั่นหมายถึงผลกำไรมหาศาล โดยไม่ต้องสร้่างรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ให้แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคให้
เปลืองงบประมาณ

ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 General Motors หรือ GM มีรถยนต์ขนาดเล็ก
ในกลุ่ม C-Segment หรือ Compact Vehicles กันอยู่หลายรุ่น สำหรับทำตลาดแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค

สำหรับตลาดโลก ที่ผ่านมา Adam Opel AG หรือ Opel ในเครือ GM Europe มักจะเป็นแม่งาน ในการพัฒนา
รถยนต์ C-Segment สำหรับทำตลาดนอกเขตอเมริกาเหนือแทบจะทั้งหมด โดยรถยนต์รุ่นที่ใช้เป็นหัวหอกใน
ภาระกิจดังกล่าวก็คือ Opel Kadett หรือ Opel Astra

เหตุผล ไม่มีอะไรมากครับ ก็เพราะว่ามันเป็นรถยนต์ GM ตระกูลเดียว ที่ขายดีในทุกประเทศที่เข้าไปเปิดตัว
แม้ว่า Kadett รุ่นแรกจะเปิดตัวในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก คือช่วงปี 1937 – 1940 แต่การกลับมา
อีกครั้งของ Kadett ในรุ่นที่เรียกว่า Kadett A (ตุลาคม 1962 – กรกฎาคม 1965) ก็ทำยอดขายได้ 649,512 คัน พอ
มาเป็นรุ่น B (กรกฎาคม 1965 – 1973) ก็ทำยอดขายทั่วโลกได้มากถึง 2,691,300 คัน แถมยังมีการส่งออกไปขาย
ในสหรัฐอเมริกา ผ่านตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ Buick ด้วย

ยิ่งพอ GM จับมือกันกับ Opel และ Isuzu Motors จากญี่ปุ่น ในปี 1970 เพื่อร่วมกันทำ World Compact Car
ภายใต้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการ T-Car จนคลอดออกมาเป็น Opel Gemini / Isuzu Gemini / Holden
Gemini / Chevrolet Chevette / Vauxhall Chevette / Daewoo Maepsy / Saehan Maepsy ก็โด่งดังเป็นพลุแตก
ขายดีระเบิดเทิดเถิง หลายล้านคัน GM กินบุญเก่าต่อมาจนถึง ปี 1984 Opel Kadett รุ่นสุดท้าย ก็คลอดออกมา
และได้รับความนิยม ถึงขั้นได้เป็น รถยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป ประจำปี 1985 เลยทีเดียว ส่งให้ Daewoo
เกาหลีใต้ ผลิตขายในบ้านตัวเองชื่อ Daewoo Le Mans และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในชื่อ Pontiac Le Mans
แถมในบ้านเราก็เคยมีเข้ามาประกอบในไทย ขายอยู่หลายปี ที่โด่งดังคือรุ่น GSi 3 ประตู

ความสำเร็จดังกล่าวต่อยอดมาจนถึง ทศวรรษที่ 1990 เมื่อ Opel Astra รุ่นแรก เปิดตัวในปี 1992 และขายดีเทน้ำเทท่า
ถล่มทะลายทั่วโลก แต่พอมาถึงปี 1997 Opel / Vauxhall Astra รุ่นต่อมา เปิดตัวในงาน Frankfurt Motor Show ปีนั้น
กระแสตอบรับเริ่มลดลงไป พร้อมกับการแข่งขันที่เริ่มรุนแรงขึ้น จากคู่แข่งที่ยกระดับตัวเองให้เหนือชั้นกว่าเดิม
มากยิ่งขึ้น ทั้ง Volkswagen Golf , Ford Focus ฯลฯ ทำให้สถานการณ์ลำบากขึ้นเรื่อยๆ สภาพเศรษฐกิจ และความ
ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้ Opel เริ่มจะไม่เหลือที่ยืนในตลาดรถยนต์นอกยุโรปเหมือนก่อนอีกแล้ว
ความได้เปรียบที่เคยมี ก็ลดน้อยไปหมด GM เริ่มกุมขมับ

จนกระทั่ง ปี 2002 GM เข้าไปซื้อกิจการของพันธมิตรเก่าแก่จากเกาหลีใต้ อย่าง Daewoo Motors พวกเขาเริ่มเห็น
ช่องทางในการยกระดับให้ มวยรองจากแดนโสมรายนี้ กลายมาเป็น GM Daewoo ฐานการพัฒนารถยนต์แห่งอนาคต
ยุคต่อไป ที่จะช่วยให้สามารถประหยัดต้นทุนลงไปได้เยอะกว่า ในตอนนั้น พวกเขา สวมแบรนด์ใหม่ให้กับรถยนต์
C-Segment รุ่นล่าสุดซึ่งเพิ่งจะออกสู่ตลาดตอนนั้น ก็คือ Daewoo Lacetti (ทำตลาดแทน Daewoo Nubira) และส่งออก
ขายทั่วโลกทั้งในชื่อ Suzuki Forenza (ตลาดอเมริกาเหนือ) และ Chevrolet Optra นั่นเอง! แต่ด้วยตัวรถที่ ไม่ได้มีความ
โดดเด่นเหนือคู่แข่งมากนัก โดยเฉพาะในด้านสมรรถนะ จึงสามารถจับกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้ แค่เพียงกลุ่มที่ต้องการรถยนต์ไว้
ใช้งานพื้นฐาน เท่านั้นเอง ขนาดผมเคยทำรีวิวไว้ ยังเรียกมันว่า เป็น “อาหารเจ” คือมีคุณค่าสารอาหาร แต่รสชาติจืดชืด

ขณะเดียวกัน ในตลาดอเมริกาเหนือ General Motors North America Operation หรือ GMNAO ก็มีรถยนต์ Compact
ไว้ทำตลาดอยู่แล้ว มาตั้งแต่ Chevrolet Corvair เครื่องยนต์วางด้านท้าย เมื่อปี 1960 (และแน่นอน แทบจะเจ๊งเพราะ
นาย Ralph Nedar ออกมาพูดว่า มันไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร จนตอนนั้น ถึงขั้นเกิดกระแสป่วนเละเทะในอเมริกาเลยทีเดียว)
ข้ามมาถึงปี 1982 GM ส่ง Chevrolet Cavalier รถยนต์ขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นเป็นฝาแฝดร่วมกับ Holden Camira (ใน
บ้านเรา) ถือว่าเป็นรถยนต์ C-Segment ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษา และวัยรุ่นค่อนข้างมาก ทำรายได้ให้ GM
พอสมควร ต่อเนื่องมา 3 เจเนอเรชัน จนถึงยุคของ Chevrolet Cobalt ในปี 2005 ที่ขายไม่ดีเท่าที่ควร กลายเป็น
เรื่องราวตรงข้ามกับ Cavalier ไปเลยโดยสิ้นเชิง

จาก 2 บทเรียนดังกล่าว GM เริ่มคิดได้แล้วว่า ตัวเองควรจะลดความยุ่งยากวุ่นวายเหล่านี้ลง ด้วยการสร้างรถยนต์
Global C-Segment Cars ขึ้นมาสักรุ่น เพื่อทำตลาดเหมือนกันในแทบทุกประเทศทั่วโลก น่าจะดีกว่า แต่ครั้นจะให้
Opel เป็นแม่งาน ต้นทุนก็จะสูงเกินไป จนตั้งราคาขายแข่งกับชาวบ้านเขาไมได้ เพราะกำไรต่อคันจะน้อยกว่ากัน
ชัดเจน

พวกเขาก็เลยหันไปส่งยิ้มอย่างมีเลศนัยกับ GM Daewoo ให้ช่วยรับเป็นแม่งานพัฒนา รถยนต์รุ่นใหม่นี้ เพื่อให้
เข้ารับช่วงทำตลาดต่อจากทั้ง Chevrolet Optra ในตลาดโลก และ Chevrolet Cobalt ในตลาดอเมริกาเหนือ

งานนี้ ก็หวานหมูเกาหลี อร่อยเหาะกันเลยทีเดียว เพราะคุณต้องไม่ลืมว่า การที่ GM เข้าซื้อกิจการ Daewoo Motor นั้น
ก็เพื่อจะใช้เป็นฐานการพัฒนารถยนต์แห่งใหม่ ที่มีต้นทุน ถูกกว่า Opel พอกลายเป็น GM Daewoo Auto Technology
หรือ GMDAT เขาก็ต้องหารายได้มาหมุนเวียน เพื่อให้กิจการในภาพรวมอยู่รอดต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้น
การได้มีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา และผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สำหรับทำตลาดทั่วโลก ผ่านแบรนด์ Chevrolet จึงถือเป็น
ช่องทางสร้างรายได้ที่ดีมากๆ และ รถยนต์ Compact C-Segment ก็คือหนึ่งในรถยนต์รุ่นหลักที่ถูกวางให้เป็นกลยุทธ์
สำคัญ เพื่อการกลับมาพลิกฟื้น และเจริญเติบโตของ GM ทั่วโลก กันเสียท่ี

ด้วยเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ GM ใช้เวลาไปทั้งหมด 27 เดือน (หรือ 2 ปีกับ 3 เดือน) ในการพัฒนา
รถยนต์นั่ง C-Segment รุ่นใหม่นี้ ภายใต้รหัสโครงการ ที่เรียกกัน 2 แบบ หากเป็นรหัสสำหรับเรียกใช้ใน GMNAO
อเมริกาเหนือ จะใช้ชื่อ GMX071 แต่ถ้าเป็น รหัสที่ทีมวิศวกรเกาหลีใต้ ตั้งให้คือรหัส J300 ไม่ว่าจะเรียกใช้รหัสใด  
รถรุ่นนี้ ก็จะถูกพัฒนาขึ้น บนโครงสร้างพื้นตัวถังหรือ Platform ที่เรียกว่า Global Compact Vehicle Architecture
(GCV) หรือที่รู้จักกันภายในองค์กร ว่า GM Delta-II
อันเป็นพื้นตัวถังสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ขนาดเล็ก
จนถึงขนาดกลาง ซึ่งสร้างขึ้นโดย Adam Opel AG แห่งเยอรมัน ผู้ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิศวกรรมแทบทั้งหมด
โดยเฉพาะช่วงล่าง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบบังคับเลี้ยว รวมทั้งระบบห้ามล้อ ของรถยนต์รุ่นนี้

ส่วนงานออกแบบนั้น GM Daewoo แห่งเกาหลีใต้ ยังคงรับหน้าที่เป็นแม่งานในด้านนี้ต่อไป เหมือนเช่นที่เคย
ร่วมงานกันในโครงการ J200 หรือ Chevrolet Optra นั่นเอง โดยมี Mr. Kim Tae won ตำแหน่ง Chief Designer
ของ GM Daewoo Auto Technology รับหน้าที่ดูแลงานออกแบบของ เจ้า J300 รุ่นนี้ Mr.Kim นั้น เป็นบุคคลที่
ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนักออกแบบรถยนต์ดาวรุ่งสัญชาติเกาหลีใต้ จบการศึกษาระดับปริญาตรี สาขาการออกแบบ
ยานพาหนะที่มหาวิทยาลัย Brigham Young ในสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท สาขาการออกแบบยานยนต์ ที่
สถาบันศิลปะ Royal College of Art ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีประสบการณ์ในการออกแบบรถยนต์
มานานกว่า 20 ปี!

ทีมออกแบบของ GM DAT ในกรุง Seoul เกาหลีใต้ ต้องทำงานร่วมกับ ศูนย์ออกแบบของ GM ทั้ง 11 แห่ง ใน
11 ประเทศ ทั่วโลก ภายใต้แนวทางการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และระดมความคิดอย่างเป็นระบบ (Team
Center Community) และมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เสมือนจริง Virtual Reality มาช่วยในการทำงาน ให้
ราบรื่น และประหยัดเวลาลงไปได้มาก

เพื่อให้มั่นใจว่า รถยนต์ Compact คันใหม่นี้ จะทนทานต่อ ทุกสภาวะการใช้งาน ในทุกสภาพอากาศ
ที่แตกต่างกันไป GM จึงสร้างรถยนต์ต้นแบบ หรือ Prototype จำนวนมากถึง 221 คัน เพื่อส่งไปแล่น
เก็บข้อมูล และทดสอบในสภาพการใช้งานจริง ตามสถานที่ต่างๆทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้งใน
Australia, Canada, China, South Korea, พื้นที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอย่าง Sweden สภาพ
ฝนตกตลอดศก ใน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสถานที่หฤโหดสุดๆ อย่างใน Venezuela
การขับทดสอบบนเส้นทางบริเวณ เทือกเขาแอลป์ ไม่เว้นแม้แต่การขับทดสอบในสนามแข่งรถระดับ
ตำนานของโลกอย่าง Nurburgring ที่เยอรมนี อันเป็น “นครเมกกะแห่งการทดสอบรถยนต์” และใน
เมืองไทย รวมระยะเส้นทางทั้งหมด กว่า 4 ล้านไมล์ หรือ มากกว่า 6.5 ล้านกิโลเมตร ทั่วโลก ก่อนจะ
นำข้อมูลที่ได้ ไปปรับสเป็กหลักของตัวรถที่ใช้ร่วมกันในทุกประเทศ ที่จะต้องทำตลาด ให้เหนือกว่า
มาตรฐานมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ข้อกำหนดสำหรับตลาดบางแห่ง เช่น กลุ่มประเทศ
เมืองหนาว ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์บางอย่าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีในประเทศเมืองร้อน ก็จะต้องถูกติดตั้ง
เข้าไปร่วมด้วย เพื่อทดสอบความทนทานไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายการตลาด ก็เตรียมวางแผนการขาย และการประชาสัมพันธ์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
เมื่อถึงเวลาตั้งชื่อรุ่น พวกเขา เลือกที่จะใช้ชื่อว่า Cruze ชื่อซึ่งคนทั่วโลกในวันนี้น่าจะรู้จักกันมากขึ้น ยกเว้น
คนญี่ปุ่น พวกเขาจะนึกถึง Chevrolet Cruze คนละคันกับในบ้านเรา!

ใช่ครับ! ผมกำลังจะบอกว่า มี Cruze อีกรุ่นหนึ่งที่คนไทยค่อนประเทศ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน!!

แล้วมันมีหน้าตาเป็นอย่างไรละ? ดูจากรูปข้างล่างนี้ได้เลย!

เดิมที ชื่อ Chevrolet Cruze เคยถูกใช้กับรถยนต์ Sub-Compact Crossover 5 ประตู ขนาดเล็ก ที่ถูกสร้างขึ้น
ภายใต้รหัสโครงการ YGM1 หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วตัว Y มาจากไหน อธิบายง่ายที่สุดก็คือ Y มักจะถูก
นำมาใช้เป็นตัวอักษรนำหน้า รหัสโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ๆ โดย Suzuki Motor Corporation ผู้ผลิต
รถยนต์ขนาดเล็กรายใหญ่ของโลก จากเมือง Hamamatsu ประเทศญี่ปุ่น

ใช่ครับ! Cruze รุ่นแรก เป็นผลงานความร่วมมือกันระหว่าง GM และ Suzuki เพื่อสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก
เทรนด์ใหม่ ขึ้นมา แต่น่าเสียดายว่า มันดันเปิดตัวก่อนเวลาไป 10 ปี

เวอร์ชันต้นแบบในชื่อ YGM1 คันสีแดงแปร๊ด 2 ภาพแรกข้างบนนี้ ออกแบบในสไตล์ Sub-Compact SUV โดย
เผยโฉมครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show เมื่อเดือน ตุลาคม 1999 หลังจากนั้น ราวๆ 2 ปี เวอร์ชันผลิตขายจริง
ก็ถูกนำมาขึ้นไลน์ประกอบที่โรงงานของ Suzuki ในญี่ปุ่น ออกสู่ตลาดแดนปลาดิบเมื่อเดือน ตุลาคม 2001 แต่เริ่ม
ส่งมอบได้เมื่อเดือนธันวาคม 2001 ถึงแม้ว่าใช้ชื่อ Chevrolet Cruze ก็จริงอยู่ แต่ทำตลาดผ่านโชว์รูม Suzuki ที่ญี่ปุ่น
บางแห่ง ซึ่งถูกมอบหมายให้ขายรถยนต์ของ GM ไปพร้อมกันด้วยในตอนนั้น เมื่อรถคันนี้ ถูกส่งไปประกอบขาย
ในยุโรป ราวปี 2002 มันก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Suzuki IGNIS และเมื่อส่งไปเปิดตัวไกลถึงออสเตรเลีนย รถคันนี้ เลย
ใช้ชื่อว่า Holden Cruze ขายกันตั้งแต่ปี 2002 – 2006 ก่อนที่ จะยุติการผลิตไปในปี 2008

แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับ Cruze ที่จำหน่ายในบ้านเราบ้างหรือเปล่า?
คำตอบก็คือ “ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ยกเว้นชื่อรุ่น ครับ”

ที่เขียนมายืดยาวนี่ เพื่อที่จะบอกว่า อย่าไปคิดอะไรมากกับนิสัยการตั้งชื่อรถของ GM เลยครับ พวกเขาเป็นผู้นำ
หมายเลข 1 ในด้านการสร้างความสับสนเรื่องการตั้งชื่อรุ่นรถยนต์ ให้เหมาะกับแต่ละท้องถิ่น หรือไม่ก็เพื่อสร้าง
ความแตกต่าง ให้กับรถยนต์หน้าตาเหมือนกัน จากพันธมิตรคู่ค้า ในอดีตก็มีมาให้พิศวงงงงวยเล่นๆ กันหลายรุ่น
เช่น Isuzu Gemini / Opel Kadett C / Buick Opel / Holden Gemini ฯลฯ หรือตามด้วย Opel Kadett/
Vauxhall Astra / Chevrolet Astra ไม่เว้นแม้แต่รถกระบะมังกรทอง Isuzu TFR ก็ยังถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า
Opel Campo / Vauxhall Campo / Chevrolet LUV / Honda Tourmaster และนี่แค่ตัวอย่างนะครับ!

เมื่อทุกอย่างสุกงอมได้ที่ GM ก็เริ่มเผยภาพวาดคอมพิวเตอร์กราฟฟิก 2 ภาพแรก ให้กับสื่อมวลชน ในงาน
แถลงข่าว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2008 จากนั้น 21 สิงหาคม 2008 ภาพถ่ายของรถคันจริง สีแดงสด อันเป็น
สีโปรโมท ทั่วโลกถูกเผยแพร่ผ่านทาง Inrernet เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2008 พร้อมกับคำประกาศ
ในการส่ง Cruze ไปอวดโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรกในโลก ณ งาน Paris Auto Salon เดือนกันยายน ปีเดยวกัน

ในตลาดอเมริกาเหนือ Cruze US Version และ Canadian version จะถูกผลิตขึ้น ณ โรงงาน Lordstown
มลรัฐ Ohio สหรัฐอเมริกา ซึ่ง GM ใช้เงินลงทุนไปกว่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงโรงงาน
แห่งนี้ ให้พร้อมสำหรับการผลิต Cruze เพื่อตลาดในดินแดนบ้านเกิด ออกสู่ตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010

แต่ประเทศแรกที่นำ Cruze ออกจำหน่ายได้ก่อนใคร นั่นคือ เกาหลีใต้ อันเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มแม่งานหลัก
ของการพัฒนารถรุ่นนี้ โดย GM Daewoo เปิดตัว Cruze เวอร์ชันกิมจิ ภายใต้ชื่อ Daewoo Lacetti Premier เมื่อ
วันที่ 29 ตุลาคม 2009 โดยช่วงแรกที่เปิดตัว มีทางเลือกเครื่องยนต์แบบ 1.6 และ 1.8 ลิตร เหมือนบ้านเราทุกประการ
ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร Diesel Turbo ตามออกมา เมื่อ 30 มกราคม 2010

แต่หลังทำตลาดไปได้ 2 ปี GM ตัดสินใจ ถอดชื่อ Daewoo ออก แล้วเปลี่ยนแบรนด์ในการทำตลาดเกาหลีใต้ใหม่
เป็น Chevrolet เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2011 ทำให้ ชื่อรุ่น Lacetti รวมทั้งรูปโฉมแบบเดิมของมัน ถูกแทนด้วย
ชื่อรุ่น และรูปโฉมในแบบ Cruze เหมือนเช่นตลาดอื่นๆทั่วโลก สิ้นสุดตำนานของแบรนด์ Daewoo ไปเสียที

สำหรับเวอร์ชันเกาหลีใต้ และตลาดส่งออกหลายๆประเทศ (รวมทั้ง ออสเตรเลีย ในช่วงแรก) Cruze จะถูกผลิตขึ้น
จากโรงงานของ GM Korea ที่ชื่อ Bupyeong-gu ในเมือง Incheon ใกล้กรุง Seoul ของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังมี
โรงงานอื่นๆ ที่ผลิต Cruze นอกเหนือจาก ทั้ง 2 โรงงานดังกล่าวอีก ได้แก่ เมือง St.Petersburg ในรัสเซีย ที่เมือง
เชิ่นหยาง ประเทศจีน และใน ฮาลอล ประเทศอินเดีย

ส่วนในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ Cruze จะถูกเปลี่ยนไปแปะตรายี่ห้อ Holden อันเป็นแบรนด์เก่าแก่
ที่ชาวดาวน์อันเดอร์ จะรู้จักดีว่านี่คือรถยนต์ในเครือของ GM ใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Holden Cruze และ
มีรหัสเรียกประจำรุ่นตามธรรมเนียมของรถยนต์ออสเตรเลีย ว่า JG (คือทั้ง Holden และ Ford จะตั้งรหัส
แบบนี้กับรถของตนเองสำหรับตลาดกลุ่มนี้ ทุกรุ่นอยู่แล้ว) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2009
ในงาน Melbourne International Motor Show (2 วันหลังจาก Headlightmag.com เปิดตัวสู่สายตาชาวโลก)
และเริ่มทำตลาดจริงในเดือนมิถุนายน 2009 ในช่วงแรกที่เปิดตัว มีให้เลือกเพียง 6 รุ่นย่อย ได้แก่ 1.8 CD ,
2.0 Diesel Turbo CD และ 1.8 CDX ทุกรุ่นมีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือเกียร์ อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ใช้ขุมพลัง และระบบส่งกำลัง 1.8 และ 2.0 ลิตร Diesel เหมือนเวอร์ชันไทย (รูปกลาง)

ด้วยความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 6,144 คัน เพียง 3 เดือนที่เปิดตัว และความต้องการ
ของลูกค้า Holden จึงเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ เป็นกลุ่ม Top of the Line แนวหรู CDX Diesel ทั้งเกียร์ธรรมดา
และอัตโนมัติ เอาใจชาวออสซี่ เมื่อ 9 ตุลาคม 2009 และนั่นก็ยิ่งทำให้ยอดขายของ Cruze ในออสเตรเลีย
พุ่งขึ้นไปอีก และกลายเป็น 1 ใน 10 รถยนต์ขายดีที่สุด ของออสเตรเลีย ต่อเนื่องกัน

จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2010 GM Holden ประกาศความสำเร็จในการทำยอดขาย Cruze ในออสเตรเลีย
ได้มากถึง 25,000 คัน เฉพาะเดือนมิถุนายน 2010 เพียงเดือนเดียว ยอดขายก็ปาเข้าไปมากถึง 4,697 คัน
และด้วยยอดขายที่มากขนาดนี้ ทำให้ GM Holden มั่นใจว่า ควรนำ Cruze มาประกอบในโรงงานของตน
ที่ออสเตรเลีย ให้เป็นเรื่องเป็นราว

28 กุมภาพันธ์ 2011 ที่ผ่านมา Holden ประกาศการแนะนำ Cruze II อันเป็น เวอร์ชันประกอบในออสเตรเลีย
จากสายการผลิต ณ โรงงาน Holden Vehicle Operations ในเมือง Elizabeth ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย โดย
ปรับโฉม Minorchange เล็กน้อย ทั้งไฟหน้า กระจังหน้า กับเปลือกกันชนหน้า และลายไฟท้ายใหม่ ให้ดูดีขึ้น
มาพร้อมขุมพลังใหม่ 1.4 ลิตร intelligent Turbo induction (1.4 iTi) 140 แรงม้า (PS) และมีทางเลือกรุ่นย่อย
ใหม่ คือ SRi และ SRi-V (รูปล่าง)

ทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้พูดรวมถึงตัวถัง Hatchback 5 ประตู ในชื่อ Chevrolet Cruze 5 ในเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่งจะ
เปิดตัวออกจำหน่ายจริง ในตลาดโลก เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ ก็คงจะเพียงพอให้คุณได้เห็นแล้วว่า GM ตั้งความหวังไว้กับ Cruze ในการช่วยเป็นกำลังสำคัญ
ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ Chevrolet ในตลาดโลก ซึ่งนั่นจะช่วยพลิกฟื้นสถานภาพของ GM
ให้กลับมาผงาดได้อย่างที่เคยเป็น เร็วขึ้น

ในเมืองไทย หนทางการนำ Cruze มาประกอบขายในบ้านเรานั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าไหร่นัก
แม้ทุกคนจะรู้ว่า ยังไงๆ Cruze จะต้องเข้ามาทำตลาดแทน Optra J200 อย่างแน่นอน และฝ่าย Product
Planning กับชาวโรงงานระยอง ก็พยายามทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง ตาม Timeline เดิมที่กำหนดไว้

แต่ด้วยเหตุที่ สหรัฐอเมริกา เริ่มเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ Hamburger Crisis และส่งผลกระทบให้ GM ต้อง
ประคับประคอวงบริษัทไปอย่างยากลำบาก สำนักงานใหญ่ที่ Detroit สหรัฐอเมริกา จึงประกาศขอเข้าแผน
ฟื้นฟูกิจการ Chapter 11 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2009 ทำให้การดำเนินงานต่างๆของ GM ทั่วโลก รวมทั้งใน
ประเทศไทย ตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และทำให้โครงการ J300 กับอีกหลายโปรเจกต์ ต้องชะลอ หรือเลื่อน
ไปจากกำหนดการเดิมอีกพักใหญ่ๆ

แม้แต่ เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ ที่ทำงานร่วมกับคนไทย ยังหวั่นใจเลยว่า ตนเองจะได้อยู่ทำงานจนกระทั่งรถ
เปิดตัวสำเร็จหรือไม่ ที่หนักหนาไปกว่านั้น GM ถึงกับต้องปล่อยให้ GM Thailand วิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุน
ภายในประเทศ มาสานต่อโครงการรถยนต์รุ่นใหม่ๆ กันเอาเอง ดีแต่ว่า ท้ายที่สุด GM Thailand ก็สามารถ
ยื่นเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินในประเทศได้สำเร็จ

นั่นจึงทำให้เราได้เห็น รถต้นแบบ โครงการ J300 ออกมาวิ่งเล่นอยู่ตามถนนสาธารณะ ทั้งบางนา -ตราด
และ ระยอง กันอยู่พักใหญ่ อีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2010 พร้อมกับการอัดฉีดเม้ดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้การ
ดำเนินงาน กลับคืนมาเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ในที่สุด ช่วงเวลาที่ชาว GM Thailand ฝ่าฟันมา ก็มาถึงจุดที่ทุกคนรอคอย งานแถลงข่าวเปิดตัว Cruze ใน
เมืองไทย ถูกจัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2010 ที่ โรงแรม CENTARA @ Central World ก่อนจะเริ่ม
ออกแสดงสู่สาธารณะชนครั้งแรก ในงาน มหกรรมยานยนต์ Motor Expo 2010 วันที่ 1-12 ธันวาคม 2010

สำหรับเมืองไทยแล้ว GM Thailand มอบหมายหน้าที่ให้ Cruze เข้ามารับหน้าเสื่อทำตลาดในกลุ่ม C-Segment
Compact Sedan แทนที่ Chevrolet Optra อาหารเจติดล้อ ถูกหลักอนามัย แต่รสชาต โคตรจะจืดชืด ซึ่งพวกเรา
หลายคน ก็เบื่อหน้ากันเต็มทนแล้ว เพราะ Optra เปิดตัวในเมืองไทยกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2003 นับถึง
วันเปิดตัว Cruze ในบ้านเรา ก็ปาเข้าไป 7 ปีกว่า เกือบ 8 ปีแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ GM Thailand จะ
ตั้งความหวังกับ Cruze ไว้ค่อนข้างเยอะ ยิ่งการมีดีกรี การยอมรับจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ที่เปิดตัว
ไปก่อนหน้านี้ ทำให้ GM Thailand ก็ยิ่ง มั่นใจมากขึ้น ว่ารถคันนี้ ต้องมีดีพอตัว

ในช่วงแรกที่เปิดตัวออกสู่สายตาสาธารณชนนั้น กระแสอาจจะยังค่อนข้างเงียบสักนิดนึง หลายคนยังไม่รู้
ด้วยซ้ำว่า Chevrolet เปิดตัวรถใหม่แล้วเหรอ? เห็นแค่ป้ายโฆษณาริมทางด่วน 1 จุดใหญ่ๆ ริมทางด่วนขั้นที่ 1
บริเวณทางแยกตัว Y ขวาไปดินแดง ซเายป พระราม 9 กับภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์
Bangkok Post 1 คู่ใหญ่ๆ มีแต่รูปรถ กับสเป็กที่หน้าหลังสุดอีกกระจึ๋งนึง ก็เล่นเอาหลายๆคน อกสั่นขวัญแขวน
อยู่เหมือนกันว่า Cruze จะไปรอดในบ้านเราหรือไม่ ชะตากรรมจะซ้ำรอย Mitsubishi Lancer EX หรือไม่?

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยอดขายเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณรถบนถนน มีให้เห็นมากขึ้น เริ่มมีลูกค้าบางราย
ซื้อหาไปขับใช้งาน บ้างก็เอาไฟท้าย LED ชุดแต่ง เลียนแบบ Mercedes-Benz E-Class ใหม่ มาแปะใส่
หลังรถตัวเองบ้าง ช่วยสร้างสีสันบนถนนกรุงเทพฯ ให้แปลกตาไป หลอกผู้คนที่ขับรถและมองเห็นระยะ
ไกลๆ ว่าเป็น E-Class ใหม่ กันสนุกสนาน นานวันเข้า ปริมาณรถก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่
ผู้บริโภคยินดีจะจ่ายเงิน เพื่อเป็นเจ้าของรุ่น 1.8 LS กับ 1.8 LT กันค่อนข้างหนาตากว่ารุ่นย่อยอื่นๆ

Cruze Sedan 4 ประตู มีขนาดตัวถังยาว 4,600 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,790 มิลลิเมตร สูง 1,475 มิลลิเมตร และมี
ระยะฐานล้อ 2,685 มิลลิเมตรแล้ว หากเปรียบเทียบตัวเลขทั้งหมดกับ Optra รุ่นเดิมแล้ว ต้องบอกเลยว่า ตัวถัง
ของ Cruze มีขนาดใหญ่โตขึ้นกว่ากันชัดเจนมาก แทบจะเรียกได้ว่า ใกล้เคียงกับรถยนต์ขนาดใหญ่ในระดับ
D-Segment (Japan-Europe)

และยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัด C-Segment ด้วยกันทั้งหมดละ? Cruze จะยาวที่สุด แถมยังกว้างที่สุด
ในบรรดา รถยนต์กลุ่ม Compact หรือ C-Segment ด้วยกัน (หากเห็นตัวเลข Ford Focus กว้างกว่า อย่าแปลกใจ
นะครับ 1,839 มิลลิเมตร ของเขา รวมความกว้างกระจกมองข้างแล้ว แต่ตัวเลขที่เราพูดถึงนี่ ไม่รวมกระจก
มองข้างทั้งสิ้น)  อีกทั้งมีระยะฐานล้อเป็นรองเพียงแค่ Honda Civic FD รุ่นปัจจุบัน (2,700 มิลลิเมตร) เท่านั้น

เส้นสายภายนอกนั้น ชวนให้นึกถึง การผสมผสานงานออกแบบของรถยนต์หลากรุ่น หลายค่าย รวมเข้ากันไว้
จนเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นแนวเส้นขอบประตูที่ชวนให้นึกถึง Mazda 3 รุ่นก่อน ชุดไฟหน้า ที่พาให้ได้กลิ่น
ของ Honda Accord รุ่นปัจจุบัน ลอยมาปะทะจมูก ขอบประตูบริเวณเสาหลังคา C-Pillar พาให้นึกถึง รถยนต์
Sedan สัญชาติเกาหลีใต้ด้วยกันอย่าง Hyundai Sonata รุ่นที่แล้ว ขณะที่ชุดไฟท้ายแท้ๆจากโรงงาน พาให้นึกถึง
Honda Civic FD ที่กำลังจะตกรุ่นในบ้านเราอยู่รอมร่อ

อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของ Chevrolet บนงานออกแบบตัวถังของ Cruze ที่พบได้อยู่คือ กระจังหน้าแบบ 2 ชั้น
พร้อมสัญลักษณ์ โบวไทสีทอง ที่ สืบทอดตำนานมาจาก ลายโบว์ไท บน Wallpaper แปะฝาผนัง ที่ William Durant
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท GM และ Chevrolet ไปพบเจอระหว่างเดินทางไปทำธุระที่ฝรั่งเศส เลยไปแซะ Wallpaper
ของเขาออกมา เก็บไว้ เพื่อมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของรถที่ตัวเองทำขาย ตลอด 100 ปีต่อมา และอันที่จริง บั้นท้าย
ที่ต้องทำชุดไฟท้ายแบบ 2 ดวงแยก อย่างที่เห็น ก็เพื่อจะสืบทอดแนวทางการออกแบบ ที่ต่อเนื่องมาจากรถสปอร์ต
ในค่ายทั้ง 2 รุ่นดัง อย่าง Chevrolet Camaro และ Chevrolet Corvette เพราะทั้งคู่ ก็มีชุดไฟท้ายแบบ 2 ดวงแยก
ในแต่ละฝั่งเช่นเดียวกัน นั่นเอง

Cruze เวอร์ชันไทย แบ่งระดับการตกแต่ง ออกเป็น 3 ระดับ คือ LS , LT และ LTZ รุ่นที่เรานำมาทำรีวิวกัน เป็นรุ่น
2.0 LTZ คันสีแดง และ 1.8 LT คันสีฟ้า รายละเอียดการตกแต่งภายนอกที่แตกต่างกันนั้น มีไม่มากอย่างที่คิดไว้  
โดยภาพรวมแล้ว อยู่ที่ ยางล้อ ในรุ่น 1.8 LTZ เบนซิน และ 2.0 LTZ Turbo Diesel จะสวม ล้ออัลลอย 17 นิ้ว x 7 J
ลาย 5 ก้านใหญ่ พร้อมยาง KUMHO รุ่น SOLUS KH17 ขนาด 225/50 R17 ส่วนในรุ่น 1.8 LS และ LT รวมถึงรุ่น
1.6 LS ใช้ล้ออัลลอย 16 นิ้ว x 6.5 J ลาย 5 ก้าน สวมยาง Maxxis Victra 510 ขนาด 205/60 R16 92H

เพียงแต่อาจต้องแจ้งให้ทราบกันเล็กน้อยว่า Cruze ตัวถังสีแดง อย่างที่คุณเห็นอยู่นี้ จะมีอยู่เพียงแค่ 2 รุ่นย่อย
เท่านั้น นั่นคือ 1.6 Base LS และ 2.0 LTZ Diesel Turbo นี้เท่านั้น

ถึงแม้ว่า รายละเอียดอุปกรณ์ที่เพิ่มเติมเข้ามาในแต่ละรุ่นย่อย ผมจะเขียนเอาไว้ให้คุณได้อ่านกันแล้ว ในส่วน
“สรุป” ตอนท้ายของบทความนี้ แต่ในเมื่อความแตกต่างส่วนใหญ่ จะอยุ่ที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกติดตั้งใน
ห้องโดยสารเป็นหลัก งั้นเรามาดูกันดีกว่า ว่า รุ่น 1.8 LT อันเป็นรุ่นที่ดูเหมือนว่า จะคุ้มที่สุดในกลุ่ม มีสิ่งใด
ที่ต่างไปจากรุ่น 2.0 LTZ คันสีแดง กันบ้าง?

การเข้าออกจากรถของทั้งรุ่น 2.0 LTZ 1.8 LTZ และ 1.8 LT จะใช้กุญแจรีโมทคอนโทรล พร้อมสวิชต์
สั่งล้อก และปลดล็อก จุดเด่นที่เหนือกว่า รถยนต์ compact C-Segment ทุกคันในตลาดก็คือ ต่อให้รถยัง
ล็อกอยู่ ถ้าคุณพกรีโมทแกุญแจ เดินเข้าใกล้รถ แค่เพียงดึงมือจับ แค่นี้ประตูก็ปลดล็อกให้คุณเข้าไปนั่ง
บนเบาะคนขับได้แล้ว ในลักษณะของ Smart Entry ถ้าจะปิดประตู แล้วสั่งล็อก แค่เอานิ้มไปจิ้มบนช่อง
สี่เหลี่ยมไม่มีปุ่มกด บนมือจับประตูนั่นละครับ เท่านั้น รถก็ล็อกให้เองโดยอัตโนมัติ นี่ถือว่าเป็นออพชัน
ที่มีวิธีการทำงานคล้ายกันกับระบบ Smart Entry ของ BMW เขาเลยนะนั่น แถมยังปลดล็อกฝาประตู
ห้องเก็บของด้านหลัง และมีปุ่มกดดีด ลูกกุญแจขึ้นใช้งานได้ด้วยในยามจำเป็น

ข้อเสีย ก็มีอยู่บ้าง คือมันชอบทำให้เราตกใจอยู่เรื่อยๆ หากกดปุ่มสั่งล็อก รถก็มักจะร้องเสียงแตร เตือน
1 ครั้ง บางที ถ้าต้องเข้าบ้านยามค่ำคืน ก็ต้องคอยเตือนตัวเองไว้ว่า เอานิ้ว แตะที่มือตจับประตูก็พอแล้ว

จะว่าไปแล้ว Cruze ทั้ง 2 คัน มันก็แอบทำตัวน่ารัก ในบางเวลา เช่น ถ้าคุณลืมกุญแจรีโมทเอาไว้ในรถ
ทันทีที่เปิดปรตู ก้าวออกจากรถ ถ้าปิดประตูเมื่อไหร่ มันก็จะส่งเสียงแตรร้องเตือน 2 ครั้งติดกัน เสียงที่
เหมือนกับแตรของรถสองแถว ย่านบางรัก ให้ตกใจเล่นได้รู้ว่า ยังมีกุญแจอยู่ในรถนะ หรือถ้ากดปุ่ม
ล็อกประตูเมื่อไหร่ แตรก็จะส่งเสียงตอบรับ ให้พอสะดุ้งเล่นๆ หรือถ้าเปิดไฟเลี้ยว ค้างไว้นานๆ มาตรวัด
ก็จะส่งเสียงตืน “ปิ๊ง ป่องๆ”ให้ได้งงกันว่า มันเป็นเสียงของอะไร (วะ)

คือคนทำรถ บางที เขาก็หวังดี อุตส่าห์ ใส่ลูกเล่นพวกนี้ มาเพื่อช่วยเหลือผู้ขับขี่ประเภทเฟอะฟะ เงอะงะ
แต่ผมกลัวว่า นั่นจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้นกว่าเก่าหรือเปล่าหว่า? ดังนั้น ถ้าจะให้ดี ใครที่ซื้อรถคันนี้
มาแล้ว กรุณาอ่านคู่มือผู้ใช้รถให้ละเอียด เสียก่อนนะครับ

เมื่อเปิดประตูเข้าไป จะพบว่า บรรยากาศ ของห้องโดยสาร ฉีกแนวไปจาก Optra รุ่นเดิมกันคนละเรื่องเลย
ทีมออกแบบดูจะใส่ใจกับความสวยงามของเส้นสายภายในรถ ที่จะต้องสอดคล้องกับแนวเส้นสายตัวรถ
ภายนอกไปพร้อมๆกัน นานๆที จะหารถยนต์ ที่ออกแบบภายนอก และภายใน ไปในทิศทางเดียวกัน และ
Cruze ก็เป็นรถยนต์หนึ่งในประเภทที่ผมพูดถึง

เพราะไม่ว่าจะตกแต่งด้วยหนัง หรือตกแต่งด้วยผ้า เห็นได้ชัดว่า ตั้งใจออกแบบมาให้ดูดีกว่ารถยนต์ในพิกัด
เดียวกัน อาจถือได้ว่า เป็นรถยนต์พิกัด C-Segment Sedan ประกอบในประเทศ 1 ใน 2 รุ่น ที่มีห้องโดยสาร
สวยดีที่สุด ในยุคนี้ ก็ว่าได้

การเข้าออก จากตัวรถ ไม่ใช่ปัญหาเลย ทำได้สะดวกโยธิน และน่าจะถูกใจคนที่มีรูปร่างใหญ่โต เพราะ
ช่องประตู มีขนาดใหญ่ในระดับเอาใจฝรั่งชาวอเมริกัน ดังนั้น ใครที่เข้า – ออกจาก Cruze แล้วมีปัญหา
ผมว่า เขาควรจะไปลดความอ้วนโดยด่วน เพราะระดับ ตาแพน Commander CHENG ของเรา ยังลุก
เข้า – ออก ได้ไม่มีปัญหา ทั้งที่เจ้าตัว ก็มีร่างกายใหญ่โต หนักถึง 140 กิโลกรัม

แผงประตูด้านข้าง พร้อช่องใส่ของด้านข้าง อาจมีพื้นที่วางแขน ในระดับต่ำเตี้ยไปนิดเดียวจริงๆ สำหรับ
เบาะผู้โดยสารฝั่งซ้าย แต่สำหรับผู้ขับขี่แล้ว ถ้าจะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ ต้อง ปรับตำแหน่งเบาะรองนั่งให้
ลงต่ำสุดสถานเดียว ซึ่งนั่น จะทำให้คุณไปพบปัญหาแรกของรถรุ่นนี้

เบาะนั่งคู่หน้า มีพนักศีรษะค่อนข้างหน้า และใหญ่โต หนุนหัว พอใช้ได้ พนักพิงหลัง ก็ไม่ก่อความเมื่อยล้า
ถ้าต้องขับขี่ใลช้งานเป็นเวลานานๆ แต่จุดที่ควรปรับปรุง อยู่ที่เบาะรองนั่ง

เพราะถ้าคุณปรับตำแหน่งเบาะคนขับลงมาให้เตี้ยสุด ติดรางเลื่อนเบาะ คุณจะพบว่า มันถูกออกแบบมาให้
ทำมุมเงย มากไปสักหน่อย เงยจนต้องถามเลยว่า จะเงยแบบนี้กันไปอีกนานแค่ไหน ซ้ำร้ายพวกเขาไม่ได้
ติดตั้ง คันหมุนปรับตำแหน่งเบาะรองนั่งให้ยกเงย หรือกดลงราบ แยกมาให้เสียด้วยเนี่ยสิ!

พอจะเข้าใจอยู่นะว่า อยากจะทำมุมให้มันเงยขึ้นมา เพื่อรองรับต้นขามากขึ้น และช่วยลดการพุ่งตัวไปข้างหน้า
หากเกิดอุบัติเหตุ (Anti-submarine) แต่ ยืนยันว่า มันเงยมากไปนิดนึง ในระดับที่ ไม่ก่อความสบายเท่าใดเลย
ถ้าคุณปรับเบาะนั่งลงในตำแหน่งต่ำสุด

ทางเดียวที่คุณจะสามารถแก้ปัญหาการเงยของเบาะรองนั่งมากไป ก็คือ เมื่อปรับเบาะรองนั่งให้ลงต่ำสุดแล้ว
ให้ปรับยกตัวขึ้นมาอีก 1 หรือ 2 สเต็ป นั่นละครับ จะเป็นตำแหน่งเบาะรองนั่งที่พอดีๆ ไม่เงยมากเกินไป
เพราะถ้าจะไปรอให้ GM เขาเพิ่มคันหมุนปรับเบาะมาให้ก็รอไปเถอะ คงอีกนาน

เบาะนั่งในรุ่น LTZ จะถูกหุ้มด้วยหนัง ที่มีสีสันเด็ดดวงกว่าเพื่อนพ้องร่วมพิกัด คือ ในรถคันสีแดง ก็จะมี
พื้นที่ตรงกลางเบาะทั้งหน้า – หลัง เป็นสีแดงอ่อนๆ

ส่วนในรุ่น LT เบาะหน้าและหลัง จะถูกหุ้มด้วย ผ้าสีดำตัดกับน้ำเงิน ซึ่งทำให้ห้องโดยสารดูสวยไปอีกแบบ
เพียงแต่ว่า ผ้าที่ใช้กับ Cruze นั้น แม้จะดูเหมือนไม่น่าจะเก็บฝุ่นเท่าไหร่ แต่ถ้าเจ้าของรถ เป็นพวกซ๊กม๊ก
ไม่คิดจะทำความสะอาด ดูดฝุ่นรถกันเสียบ้างเลย ยังไง๊ยังไง ฝุ่นละออง มันก็พร้อมจะพาพวกพ้อง มาจัดปาร์ตี้
กันบนเบาะนั่ง ให้คุณได้คันคะเยอ ตอนหย่อนก้น พิงหลังกันได้แน่ๆ

พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่มีปัญหาสำหรับคนตัวสูงระดับ 180 เซ็นติเมตร โปร่ง โล่งสบาย แต่เพื่อความชัวร์ ก็ต้อง
ปรับเบาะให้กดลงต่ำสุด ซึ่งก็จะเจอปัญหาในบย่อหน้าข้างบน อยู่ดี

บานประตูคู่หลัง ออกแบบมาให้มีขนาดเหมาะสม ช่องทางเข้าห้องโดยสารด้านหลัง มีขนาดไล่เลี่ยกันกับรถยนต์
ในระดับเดียวกันส่วนใหญ่ การเข้าออกจากด้านหลังรถ ยังทำได้ในระดับปานกลาง คือดีกว่า Mazda 3 ใหม่ นิดนึง
ไล่เลี่ยกันกับ Mitsubishi Lancer EX ถ้าคุณเป็นคนที่มีสรีระไม่สูงนัก ไม่มีปัญหาเลยครับ แต่คนตัวสูง ยังไงๆก็
ต้องก้มหัวลงมานิดนึง ๆไม่เช่นนั้น ศีรษะอาจจะโขกแบบเฉี่ยวๆ กับขอบหลังคาด้านบนได้

แผงประตูด้านข้าง ออกแบบตำแหน่งวางแขนมาได้สบายพอดีๆ มีช่องติดตั้งลำโพงด้านข้าง พร้อมกับช่องใส่ของ
จุกจิกเล็กๆน้อยๆ พอให้วางกระป๋องน้ำอัดลมได้ แต่ถ้าจะใส่ขวดน้ำดื่ม 7 บาทเข้าไป ลำบากแน่ๆ

ช่องใส่หนังสือด้านหลังเบาะคู่หน้า มีมาให้ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา

อันที่จริง การมีระยะฐานล้อยาวเป็นอันดับ 2 ของตลาดนั้น ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ของ Cruze และ GM เองก็
ได้พยายามนำข้อได้เปรียบตรงนี้ มาปรับให้เข้ากับการวางตำแหน่งเบาะนั่ง ภายในห้องโดยสาร ให้สามารถ
รองรับการเดินทาง ได้สบายมากที่สุดเท่าที่ Packaging ตัวรถจะเอื้ออำนวยให้แล้ว

เบาะนั่งด้านหลัง ถือว่า นั่งสบาย ฟองน้ำในชุดเบาะนั่ง ก็ยังแน่น พอกันกับเบาะหน้า พนักพิงนั่งสบายในระดับ
ปานกลาง เบาะรองนั่ง จัดอยู่ในเกณฑ์ ดี นั่งในระยะสั้นไม่มีปัญหา พื้นที่เหนือศีรษะ มีเหลือแน่ๆ สำหรับคน
ตัวสูง จะเหลือมากเหลือน้อยขึ้นอยู่กับความสูงของสรีระร่างตัวคุณเอง

พนักวางแขนแบบพับเก็บได้ ที่ผมเคยบอกเอาไว้ว่า มันวางแขนได้ดีนั้น แท้จริงแล้ว ถือว่า ถุกต้องเพียงครึ่งเดียว
เพราะ แม้ว่า ความสูงจากเบาะรองนั่ง จนถึงตำแหน่งของแขน จะอยู่ในระดับที่ถูกต้อง และเหมาะสม แต่ข้อด้อย
ก็คือ มันมีขนาดสั้นไปหน่อย ถ้าวางแก้ว หรือกระป๋องน้ำอัดลม เมื่อใด คุณแทบไม่ต้องคิดจะวางแขนกันเลยทีเดียว
เพราะมันจะไม่เหลือพื้นที่ให้วางแขนอีกเลย แถมพวกเขายังไม่คิดทำฝาปิดช่องวางแก้วน้ำ ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม
กว่านี้ แต่อย่างใด เป็นเช่นนี้ เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นย่อยไหนก็ตาม

พื้นที่วางขา ถือว่า ยังทำได้ค่อนข้างดี หากผมปรับเบาะนั่งคนขับในระดับปกติที่ผมขับ พื้นที่วางขาก็ยังค่อนข้าง
เยอะอยู่ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ขึ้นอยู่กับว่า คนขับจะเลื่อนปรับเบาะหน้า ตามใจเจ้าตัวเขามากน้อยแค่ไหน

พนักพิงเบาะหลังของรุ่น 2.0 LTZ และ 1.8 LTZ สามารถแบ่งพับลงมาได้ในอัตราส่วน 60 : 40
เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ ห้องเก็บของด้านหลัง ได้ง่ายดายขึ้น และสะดวกต่อการจัดวางสิ่งของหรือ
สัมภาระ ซึ่งมีความยาวมากกว่าปกติ โดยที่ยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 3 หรือ 4 คน (ควรจะ
เป็น ผู้ใหญ่ 3 คน เด็ก 1 คน) ไม่เพียงแค่ ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวเท่านั้น ในรุ่น 1.8 LT ก็สามารถแบ่งพับ
พนักพิงเบาะหลัง อัตราส่วน 60 : 40 อย่างที่เห็นอยู่นี้ ได้เหมือนกัน

ฝากระโปรงหลังเปิดกางออกแบบรถเก๋ง Sedan ปกติทั่วไป ไม่มีช็อกอัพค่ำยันใดๆให้่เห็นเลย
ช่องทางเข้ามีขนาดใหญ่ขึ้นกว่า Optra อยู่นิดนึง ถ้าคิดจะใส่โทรทัศน์ LCD เข้าไปละก็ หาก
ขนาดของมันไม่เกิน 32 นิ้ว เชื่อว่า ห้องเก็บของ ใน Cruze หลังจากพับเบาะลงฝั่งหนึ่งแล้ว
น่าจะรองรับได้พอดีๆ  

ใครที่กลัวว่าบุตรหลานจอมซน จะแอบเข้าไปซ่อนในฝากระโปรงหลัง แล้วหาทางออกไม่เจอ
ขอแนะนำให้สอนบุตรหลานเอาไว้ว่า  Cruze มีมือจับดึงฝากระโปรงหลังให้เปิดออกได้จาก
ด้านในห้องเก็บของ เป็นสีสะท้อนแสง ติดอยู่ ให้ดึงแถบนี้ออกมา แล้วฝาท้ายจะเปิดออก เพื่อ
เอาตัวรอดออกมาจากรถได้

พื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถ มีความจุ 400 ลิตร โดยมีฉนวนใยแก้ว บุผนังโดยรอบเอาไว้ เพื่อกรอง
และลดเสียงรบกวนที่จะส่งผ่านเข้ามาภายในห้องโดยสาร อันที่จริง ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่า
ถ้าตัวใหญ่ขนาดผม จะลงไปนอนข้างหลังแล้ว มันจะแน่นมากน้อยแค่ไหน แต่เห็นช่องทาง
เข้า – ออก แล้วเกรงใจ กลัวทำกันชนหลังเขาหลุดจากคลิปยึด ก็เลยได้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆ

เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่ เป็นล้อเหล็กสีดำ แต่ขนาดยางเหมือนกับล้อทั้ง 4
ที่ใส่อยุ่ในรถแต่ละรุ่น มีซองเก็บเครื่องมือพื้นฐานประจำรถ มีแม่แรงมาให้ อาจดูเหมือนว่า พ่นสี
เก็บงานด้านในมาไม่เรียบร้อย แต่ไม่ต้องตกใจนะครับ รถยนต์ทั่วไปสมัยนี้ พ่นสีภายในมาให้
ในลักษณะนี้ กันทั้งนั้น เพราะสามารถประหยัดสี เอาเก็บไปพ่นรถคันอื่นต่อได้ อีกทั้ง ภายใน
บริเวณซอกหลืบต่างๆ ก็มีสีกันสนิม เคลือบทับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสนิม
ถ้าคุณดูแลรถดีๆ

Dave Lyon ผู้รับผิดชอบงานออกแบบภายในของ Cruze กล่าวว่า เขาตั้งใจจะให้ผู้ที่สัมผัส Cruze เป็น
ครั้งแรก เปิดประตูรถออกมาแล้ว ถึงกับร้อง “Woww ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในรถยนต์
ระดับเดียวกันนี้เลย”

Dave และทีม ทำสำเร็จครับ แผงหน้าปัดแบบ Dual Cockpit นี่ละ คืออีกไฮไลต์การออกแบบที่สำคัญ
ของรถรุ่นนี้ แรงบันดาลใจนั้น มาจาก แผงหน้าปัดของรถสปอร์ตรุ่นใหญ่ Chevrolet Corvette ซึ่ง
แบ่งการออกแบบแยกเป็น 2 ฝั่ง และมีคอนโซลกลาง ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งรุ่นพวงมาลัยซ้าย
และขวา ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตชิ้นส่วนลงไปได้เยอะ อีกทั้งยังสามารถออกแบบให้ดูสวยงาม
ลงตัวอย่างสมดุล ได้ง่ายกว่ากันเยอะ! โดยเฉพาะ ความกล้ากับการนำเอาวัสดุหนัง หรือผ้า มาประดับ
บนชุดแผงหน้าปัดอย่างจงใจ และกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของรถรุ่นนี้ในระยะยาวไปเลยทีเดียว

แผงบังแดดของทั้ง 2 รุ่น มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่างมาให้ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา ตำแหน่ง
ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร มี 2 จุด คือ ไฟอ่านแผ่นที่ ใกล้กับกระจกมองหลังแบบตัดแสงได้ และ
กลางเพดานหลังคารถ วัสดุที่ใช้ในการบุเพดานรถ ถือว่า ทำได้ดี การประกอบ เก็บขอบมุมต่างๆ ทำได้
ค่อนข้างเรียบร้อยดีในภาพรวม เพราะ GM ระบุว่า Cruze นั้น มีการยกระดับคุณภาพการประกอบ
เป็นแบบ Tight Gap Tolerances หรือเผื่อช่องไฟตามรอยต่อจุดต่างๆ ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในรุ่น Diesel 2.0 LTZ และ 1.8 LTZ เบนซิน จะตกแต่งภายใน ด้วยหนังสีดำ Jet-Black ตัดกับส้มเข้ม
หรือสีอิฐ Brick ขณะที่รุ่น 1.8 LT จะเป็นรุ่นเดียวที่ตกแต่งด้วยผ้าสีดำ Jet-Black และสีน้ำเงิน Sonic Blue
ส่วนรุ่นรองลงไป ทั้ง 1.8 LS และ 1.6 LS ระบบส่งกำลังอะไรก็ตาม ใช้ผ้า สีดำ Jet-Black ตัดกับผ้าสีดำ
Sonic Black ส่วนรุ่นล่างสุด 1.6 Base เกียร์ธรรมดา ใช้ผ้าสีดำ Jet-Black ตัดกับสีเทา Medium Titanium

จากแผงประตูเข้ามา สวิชต์กระจกมองข้างปรับ และพับเก็บด้วยไฟฟ้า มีมาให้แทบจะครบทุกรุ่นตั้งแต่
รุ่นถูกสุด 1.6 LS 6AT ยกเว้นรุ่น 1.6 LS Base เกียร์ธรรมดา ที่จะไม่มีมาให้ กระจกหน้าต่างเปิด – ปิด
ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ครบทุกรุ่น พร้อมสวิชต์ One-Touch กดครั้งเดียว ทั้งขาขึ้น และขาลง สำหรับหน้าต่าง
ฝั่งผู้ขับขี่เท่านั้น สวิชต์เปิด – ปิดไฟหน้า แม้จะออกแบบดูดี แต่ติดตั้งในตำแหน่งที่เตี้ย และมีขนาดของ
สวิชต์เล็กไปหน่อย ใครก็ตามซึ่งเคยขับรถญี่ปุ่นอยู่ คงต้องคลำหากันพักใหญ่ เอาเถอะ มันคือสวิชต์
ชุดเดียวกับที่จะพบได้ใน Chevrolet Colorado ใหม่ และ Captiva Minorchange ด้วยนี่นา

Cruze มีระบบเซ็นเซอร์วัดแสง ให้กับระบบไฟหน้าเปิด – ปิดอัตโนมัติตามแสงสว่างภายนอก รวมทั้ง
ใบปัดน้ำฝน ทำงานอัตโนมัติเมื่อเซ็นเซอร์วัดการหักเหของแสงที่กระจกบังลมหน้า ตรวจจับพบหยด
น้ำฝนบนกระจกบังลมหน้า เมื่อฝนตก อีกทั้งยังมีระบบ Follow Me Home ไฟหน้าจะติดค้างไว้ เพื่อ
ส่องสว่างนำทางไว้ราวๆ 20 – 30 วินาที เมื่อดับเครื่องยนต์

มือจับประตูด้านข้าง ออกแบบมาให้ใส่ของจุกจิกได้เล็กน้อย หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ
แต่ถ้าจะให้ปลอดภัย ไปใส่ไว้ในช่องบนคอนโซลกลาง  ใต้สวิชต์เครื่องปรับอากาศดีกว่า มีถาดกันลื่น
เป็นแผ่นยางขนาดเล็กๆแถมมาให้ด้วย

พวงมาลัย 3 ก้าน ในรุ่น 2.0 LTZ จะถูกตกแต่งด้วยวัสดุสีเงิน ตามสมัยนิยม ช่วยทำให้พวงมาลัยดูดี
มีชาติตระกูล ขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับพวงมาลัยของรุ่น 1.8 LT ที่ไม่ว่าจับไปตรงไหน ก็เจอแต่
สีดำด้านๆ ทั้งรุ่น 2.0 LTZ และ รุ่น 1.8 LT ที่เรานำมาทำรีวิวกัน มีระบบควบคุมความเร็วคงที่ หรือ
Cruise Control ติดตั้งมาให้จากโรงงาน โดยสวิชต์ควบคุม อยู่บนฝั่งซ้ายของพวงมาลัย ทว่า มันอาจจะ
ให้สัมผัสที่ “ป๊อกๆแป๊กๆ” ไปหน่อย ถ้าทำให้สวิชต์มีสัมผัสที่ดีขณะ กดใช้งานกว่านี้ ก็คงจะดีไม่น้อย
ส่วนสวิชต์ฝั่งขวาบนพวงมาลัย ใช้ควบคุมชุดเครื่องเสียง มีมาให้ ตั้งแต่รุ่นล่างๆ 1.6 LS 6AT เช่นกัน

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 3 วงกลมซ้อนกัน ใช้โทนสีฟ้า Crisp Ice Blue Illumination วงกลมใหญ่ตรงกลาง
เป็นตำแหน่งที่อยู่ของหน้าจอแสดงข้อมูล Driver Information Center Display มีทั้งมาตรวัดระยะทาง
ที่รถแล่นมา Odo Meter และมาตรวัดบอกระยะทางให้ผู้ขับขี่ตั้ง Seto 0 เองได้ หรือ Trip Meter บอก
ระยะทางที่รถแล่นได้อีกจากน้ำมันในถังที่เหลืออยู่ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ความเร็วเฉลี่ย อัตราการ
ใช้เชื้อเพลิงขณะขับขี่ Real Time  เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในรุ่น LS LT และ LTZ (เฉพาะรุ่นล่างสุด
1.6 Base 5MT จะบอกได้เฉพาะ odo Meter และ Trip Meter เท่านั้น

ในรุ่น 2.0 LTZ Dirsel Turbo จะมีตัวเลขบนมาตรวัดรอบ แค่ถึง เลข 6 นั่นหมายถึงมีแค่ 6,000 รอบ/นาที
อย่าลืมนะครับว่า เครื่องยนต์ Diesel ไม่ได้มีรอบเครื่องยนต์จัดจ้านกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ในทางทฤษฏี
สำหรับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน มาตรวัดรอบ จะมีตัวเลขไปถึงเลข 8 หรือ 8,000 รอบ/นาที แต่เอาเข้าจริง
เข็มวัดรอบ ก้ไม่เคยได้กวาดไปถึงระดับนั้นในการขับขี่จริง

เรื่องที่น่าชมเชยก็คือ การติดตั้ง มาตรวัดบอกอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นมาให้ด้วย แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์
ไฟส่องสว่างเพียงอย่างเดียวเหมือนรถใหม่หลายๆรุ่นเขาเป็นกัน

แต่ข้อเสียที่ผมเห็นได้ชัดก็คือ ชุดมาตรวัดของ Cruze นั้น ออกแบบในสไตล์เดียวกับรถอเมริกันยุคใหม่
หลายรุ่น คือ จัดเรียงตัวเลขในแนวขนานไปกับกรอบของชุดมาตรวัด ซึ่งกลับกลายเป็นว่า อาจจะมีผลต่อ
การอ่านข้อมูลขณะขับขี่ ยิ่งใช้ฟอนท์ตัวเลขแบบนี้ ยิ่งทำให้อ่านยากในตอนกลางคืน ต้องละสายตาลงมา
มองที่มาตรวัดบ่อย และมากครั้งกว่าปกติ ผมมองว่า การออกแบบมาตรวัดที่ดี นั้น ควรจะทำให้ ผู้ขับขี่ใช้
เวลาน้อยที่สุดในการอ่านตัวเลข เพื่อรับทราบว่า ความเร็วที่ใช้อยู่ที่ระดับไหน และรอบเครื่องยนต์ อยู่ที่
ระดับเท่าไหร่ ก่อนจะกลับไปมองที่สภาพการจราจรข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ผมมองว่า มีผลต่อความ
ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนโดยตรง ถ้าเป็นไปได้ รถรุ่นปรับโฉม Minorchange หลังจากนี้ ผมควรจะ
ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้แล้วนะครับ

แผงควบคุมกลาง หรือคอนโซลกลาง มาในแนวตัว Y นอกจากจะดูทันสมัยแล้ว ยังวางตำแหน่ง
อุปกรณ์ต่างๆไว้อย่างเหมาะสม มีกล่องเก็บของขนาดเล็กพร้อมฝาปิดด้านบนสุด ซึ่งควรจะมีการ
เก็บของชิ้นงานพลาสติกดีกว่านี้อีกนิดนึง จะลดความเสี่ยงต่อการบาดมือผู้ใช้ลงได้อีกสักหน่อย

หน้าจอ แสดงข้อมูลรวม ทั้งเครื่องปรับอากาศ และชุดเครื่องเสียง ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
คือ พอกันกับชุดมาตรวัด พอให้ผู้ขับขี่ เหลือชำเลืองหางตา มองเห็นข้อมูลในขณะขับรถได้ง่าย
อีกทั้งการจัดแบ่งประเภทของข้อมูลบนหน้าจอ ก็ทำได้ดี ไม่สับสน ไม่เละเทอะ จุดนี้ขอชมเชย

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบมาตรฐาน ไม่มีแบบแยกฝั่ง ซ้าย – ขวา มาให้แต่อย่างใด กระนั้น การ
ทำงานของมัน ตั้งแต่ติดเครื่องยนต์ ในช่วงกลางวัน แดดจัดๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 5 นาที ถือว่า
ทำความเย็นเร็วใช้ได้ ข้อติติง มีเพียงแค่ว่า สวิชต์เครื่องปรับอากาศ อยู่ในตำแหน่งต่ำไปสักหน่อย
เพื่อเน้นให้แผงควบคุมกลางดูสวยงาม อีกทั้ง ผู้คนส่วนใหญ่ จะปรับใช้งานเครื่องปรับอากาศกัน
น้อยกว่า การสั่งการเครื่องเสียงอยู่แล้ว ทีมออกแบบ ก็เลยจับย้ายพวกมันไปไว้เสียล่างสุดเลย
ดีที่ว่า มีหน้าจอแสดงข้อมูลช่วยให้เรามองเห็นการปรับอุณหภูมิ และทิศทางลมได้ดีนะ ไม่งั้น
จุดนี้อาจโดนผมด่าไปแล้ว ก็เป็นได้

ชุดเครื่องเสียงในแทบทุกรุ่น เป็น วิทยุ AM/FM แม้จะเล่น แผ่น CD / MP3 WMA กันได้ครบ
แถมยังมี ช่องเสียบ AUX และ USB รองรับเครื่องเล่น MP3 หรือ บรรดาข้าวของที่ขึ้นต้นด้วย
ตัว i ทั้ง iPod iPhone iPad (หรือจะรวม iMac ด้วยก็ได้ ถ้าคิดว่าจะยกมาติตั้งในรถไหวละก็)
แต่ การที่เครื่องเล่น CD สามารถเล่นได้เพียงแค่ครั้งละ 1 แผ่น เท่านั้น ในทุกรุ่น ในขณะที่
คู่แข่ง รุ่นท็อปของชาวบ้านชาวช่อง เขาเล่นได้ถึง 6 แผ่น กันมาตั้งหลายปีแสงแล้ว ผมว่าก็ดู
จะไม่เข้าทีเท่าไหร่นะครับ

แต่ถ้าถามเรื่องคุณภาพเสียง ถ้าคุณฟังโดยไม่ปรับ Equalizer ทั้งสิ้น ยืนยันตามรีวิวเดิมเลยครับ
ว่า เสียงไม่ดี แต่ถ้าคุณปรับตามสูตร เสียง ใส หรือ Trebal ตั้งเอาไว้ที่ 10 หรือต่ำกว่านั้นนิดนึง
เสียงกลางหรือ Middle ตั้งค่าเอาไว้ที่ -3 และ เสียงเบส ตั้งเอาไว้แถวๆ เบอร์ 5 เพียงเท่านี้ คุณ
จะพบว่า เครื่องเสียงของ Cruze ที่ให้มา มีคุณภาพเสียงที่ ดีใช้ได้ถือเป็นอันดับต้นๆในกลุ่ม
C-Segment เลยทีเดียว สรุปว่า มันฟังได้ดี แต่คุณต้องปรับเสียงของมันให้เป็น ที่สำคัญ ต้อง
เบลือกแผ่นให้เหมาะสมด้วย ชุดเครื่องเสียงของ Cruze เหมาะกับดนตรีแนวอีเล็กโทรนิคส์
หรือใช้เสียงสังเคราะห์เยอะๆ แต่ไม่เหมาะเลยกับแผ่นเพลงที่มีการบันทึกเสียงแบบอะคูสติก
หรืออะนาล็อกแล้วแปลงมาเป็นดิจิตอล เพราะมันจะอู้อี้ ชวนให้หงุดหงิดเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

ตั้งข้อสังเกตเรื่องวัสดุบนคอนโซลกลางเล็กน้อย หากเป็นรุ่น 2.0 LTZ และ 1.8 LTZ ผมว่า
คงไม่มีปัญหากับปุ่มกด และแผงพลาสติกสีดำเงารอบข้างเท่าไหร่ นอกจากว่าพยายามใช้งาน
ทะนุถนอม อย่าให้เป็นรอยขีดข่วนมากนักก็พอ ความทนทาน ไม่ใช่ปัญหาอะไรนัก

แต่ ในรุ่น 1.8 LT ลงไปเนี่ยสิครับ บริเวณโดยรอบ แผงสวิชต์ชุดเครื่องเสียงนั้นเป็นพลาสติก
ที่ฉาบเคลือบฟิล์มสีดำเอาไว้ ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่ผมเคยเจอมาแล้วใน Saab 9-3 รุ่นสุดท้าย
ที่มาขายในบ้านเรา ปัญหาของมันก็คือ ถ้าโดนความร้อนบ่อยๆโอกาสที่มันจะหลุดร่อน และ
ลอกออกเอง จนดูน่าเกลียดในอนาคตนั้น มีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่สำคัญ มันไม่ได้ทนต่อรอย
ขีดข่วนมากอย่างที่หลายคนคิด ดังนั้น การใช้งาน ขอให้เพิ่มความระมัดระวังนิดนึงด้วยนะครับ

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องบอกกันเลยก็คือ ตำแหน่งของสวิชต์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light อยู่ใต้สวิชต์
เครื่องปรับอากาศ ซึ่งผมมองว่า เป็นตำแหน่งที่ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นจนเกินไป ในกรณีที่ผมต้องการจะ
เบรกกระทันหัน แล้วต้องกดปุ่มไฟฉุกเฉิน เพื่อแจ้งรถคันหลังให้รู้ว่า เกิดเหตุข้างหน้ารถผม จน
ต้องเบรกกระทันหัน ผมเอื้อมมือไปคว้า แล้วหาไม่เจอ ในเสี้ยววินาทีนั้น มันน่าหงุดหงิดมาก
โปรดย้ายมันกลับขึ้นมาไว้ ใต้จอมอนิเตอร์ตรงกลางในรุ่น Minorchange ด้วย จะขอบคุณมากๆ

มองมาทางด้านข้างลำตัว จะพบช่องวางแก้ว พร้อมกับตัวล็อกตำแหน่งแก้ว ที่สามารถเลื่อนขยับไปมา ตามขนาด
ของแก้ว หรือขวดน้ำได้ ตรงนี้ ถือว่า เป็นไอเดียที่ดี และสมควรถูกนำมาใช้โดยผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ เมื่อต้องคิด
ทำรถยนต์ในขนาดพิกัดเดียวกัน หรือเล็กกว่านี้

ส่วนกล่องเก็บของพร้อมฝาปิดที่ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่วางแขนนั้น ไม่ว่ารุ่นไหน ก็จะหุ้มด้วยหนังสังเคราะห์
ถือว่าโชคดีที่มันถูกออกแบบมาให้สามารถ เลื่อนเข้า – ออก เพื่อใช้วางแขนได้ จึงทำให้ การวางแขนบนฝาปิดกล่อง
คอนโซลนี้ พอจะช่วยให้คุณวางแขนได้อย่างสบายขึ้น ขณะจอดรถรถเคลื่อนตัวไปตามสภาพการจราจรอยู่บ้าง แต่
กว่าที่ผมจะรู้ว่า มันสามารถเลื่อนออกมา ใช้งานได้ รถคันนี้ ก็อยู่กับผม ล่วงเข้าไปวันที่ 3 แล้วละ!

เมื่อเปิดฝาออกมา จะพบว่า ทั้งรุ่น 2.0 LTZ , 1.8 LTZ และ 1.8 LT มีช่องเสียบ AUX และ USB สำหรับต่อเชื่อม
เครื่องเล่นเพลง หรือ Thumb Drive บรรจุเพลง มีฝาปิดช่องทั้ง 2 มาให้ และใช้งานได้ไม่ยากเย็นเลย แต่ว่า กล่อง
ใส่ของนั้น สามารถจุกล่อง CD ได้เต็มที่สุด แค่ 6 กล่อง ไม่เกินนี้

ตำแหน่งเบรกมือ แม้จะเป็นแบบดึงขึ้น ยกลง ซึ่งสะดวกในการใช้งาน และเอาใจคนชอบเล่นแผลงๆ กับรถ
แต่ เสียดายว่า ไหนๆ จะเปลี่ยนฝั่งพวงมาลัยทั้งที แค่บย้ายฝั่งเบรกมือ มาทางขวา ติดลำตัวผู้ขับขี่มากกว่านี้
สักหน่อย แม้จะต้องทำชิ้นส่วนพลาสติก ช่องวางแก้ว เพิ่มขึ้นเป็นแบบสลับข้าง อีกชุดหนึ่ง ก็ตาม ก็น่าจะ
ถูกอกถูกใจลูกค้ามากกว่านี้

ส่วนช่องเก็บของพร้อมฝาปิด บนแผงหน้าปัด แม้จะมีฝาขนาดใหญ่โต ทำให้เราเผลอคิดไปว่า น่าจะมีขนาด
ใหญ่ และน่าจะเก็บของได้เยอะ พอเปิดกางลงมาปุ๊บ ผ่างเลยครับ! แค่พอใส่คู่มือประจำรถ กับเอกสารประกันภัย
ก็เต็มพื้นที่ ซึ่งถูกจำกัดเอาไว้ในกรอบอย่างที่เห็นแล้ว…เฮ้อ..คุณหลอกดาว!

ทัศนวิสัย จากตำแหน่งเบาะนั่งผู้ขับขี่ เมื่อปรับเบาะลงไปอยู่ในระดับต่ำสุด หากมองไปด้านหน้า เห็นเส้นทาง
และสภาพถนนข้างหน้าชัดเจนดี ไม่มีอะไรผิดปกติไปจากรถยนต์ทั่วไป การกะระยะ ทำได้ไม่ยากนัก ขอชมว่า
การวางตำแหน่งชุดมาตรวัด กับจอแสดงข้อมูลกลาง อยู่ในระดับเดียวกัน ช่วยลดการละสายตาในขณะขับขี่
ลงไปอย่างด้านล่าง โดยไม่จำเป็น ได้อย่างดี

เสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar ฝั่งขวา  บดบังทัศนวิสัย ขณะเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกันสองเลนอย่างชัดเจน
กระจกมองข้างฝั่งขวา มีกรอบพลาสติกด้านใน เข้ามาบดบัง มุมล่างขวาของตัวกระจกนิดหน่อย  ในบางครั้ง
อาจทำให้มองไม่เห็น จักรยานยนต์ ที่แล่นมาจากเลนถัดไป เป็นปัญหาเดียวกับ Mazda 2 และ Mazda 3 ใหม่

เสาหลังคาด้านหน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับรถที่แล่นออกมาจากซอยเท่าใดนัก ส่วนกระจก
มองข้างฝั่งซ้าย ถ้าปรับให้ถูกต้องตามหลัก และเห็นตัวถังเพียงนิดเดียว กรอบพลาสติกด้านใน ก็จะบังมุมล่างซ้าย
ของตัวกระจก กินพื้นที่เข้ามานิดหน่อย ดังนั้น โปรดใช้ความระมัดระวัง เวลาจะเปลี่ยนเลน

แต่ถ้าคิดจะเลี้ยวกลับ ขอความกรุณาระมัดระวังมากๆ เพราะเสาหลังคาคู่หน้า จะบดบัง รถที่แล่นสวนมามากพอสมควร
อาจต้อง หาตำแหน่งจอดระหว่างกลับรถ ที่ไม่ยื่นด้านหน้าออกไปในเลนถนนมากนัก เพราะนี่ขนาด ไม่ยื่นด้านหน้า
รถออกไป ยังบดบังได้อย่างนี้ ดังนั้น การเลี้ยวกลับรถ ควรใช้ความระมัดระวังมากๆ ครับ

อย่างไรก็ตาม ทัศนวิสัยภาพรวมของรถทั้งคัน ต้องถือว่า โปร่งตาในระดับใช้ได้ดี โดยเฉพาะด้านหลัง ซึ่งมีพื้นที่กระจก
มองเห็นจากตำแหน่งนั่งขับเยอะอยู่ ดังนั้น การถอยหลังเข้าจอด จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาเท่าใดนัก เสาหลังคาคู่หลัง
C-Pillar ฝั่งซ้ายของรถ มีควยามหนาในระดับกำลังดี ไม่มากเกินไปจนบดบังจักรยานยนต์ที่แล่นตามมาจากอีกเลนหนึ่ง
และไม่น้อยเกินไปจนทำให้เกิดความเสียวไส้ในเรื่องความปลอดภัยจากการชนด้านหลังแต่อย่างใด

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

แม้ว่าในบ้านเรา GM Thailand จะทำตลาด Cruze มากถึง 3 ขุมพลังให้เลือก ซึ่งนั่นก็รวมถึงเครื่องยนต์
รุ่นพื้นฐาน E-TEC II บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 79 x 81.5 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 9.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด MPI (Multi Point Injection) ควบคุมด้วยอีเล็กโทรนิคส์
พร้อมระบบแปรผันท่อทางเดินไอเสีย VGIS กำลังสูงสุด 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด
150 นิวตันเมตร หรือ 15.28 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (รุ่น 1.6 Base
5MT) และอัตโนมัติ 6 จังหวะ DSC (รุ่น 1.6 LS 6AT) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่เคยประจำการมาแล้ว อยู่ใน
Chevrolet Optra รุ่นก่อนหน้านี้ และมีการปรับปรุงไส้ใน จากรุ่นเดิมเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่ค่อย
เปลี่ยนอะไรไปมากนัก

แต่ Cruze ที่ทาง GM Thailand ส่งให้เราได้นำมาทำรีวิวกันนั้น มีเพียง 2 รุ่น และเป็นรุ่นที่ถือได้ว่าเป็น
ไฮไลต์ นั่นคือรุ่นท็อป 2.0 LTZ วางเครื่องยนต์ Diesel บล็อก 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี ความจุ
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 83 x 92 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 17.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด ระบบราง
Common Rail VCDi ควบคุมด้วยสมองกลอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบอัดอากาศ Turbo ครีบแปรผัน VGT
150 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร (32.7 กก.-ม.) ที่ 2,000 รอบ/นาที

สาเหตุที่ฝ่าย Product Planning ของ GM Thailand ในขณะนั้น ตัดสินใจเลือกให้รุ่นท็อปของ Cruze
เป็นเครื่องยนต์ ดีเซล แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเบนซิน มี 3 ประการด้วยกัน และเป็นเหตุผล
ที่ใครก็เดาได้ไม่ยาก

1. ถ้าคุณต้องการสร้างจุดเด่นให้กับรุ่นท็อป 2.0 ลิตร เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด คุณจึงต้องมีทางเลือก
ที่แปลกไปนจากชาวบ้านเขาสักหน่อย หากสู้ด้วยเครื่องยนต์ เบนซิน 2.0 ธรรมดาๆ ก็อย่าหวังเลยว่า
จะสู้กับ Honda Civic FD หรือ Toyota Corolla ALTIS และ Mazda 3 ใหม่ 2.0 ลิตรได้ คู่แข่งที่จะฟัด
กันสมน้ำสมเนื้อ ก็คงจะมีแต่ Ford Focus TDCi จากคู่แข่งร่วมชาติ และ Mitsubishi Lancer EX เท่านั้น

2. ก่อนหน้านี้ GM ก็มี Chevrolet Captiva ขุมพลัง Diesel 2.0 ลิตร Turbo ขายอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว
ถ้าอยากจะให้คุ้มต่อการลงทุนมากกว่า ก็แค่จับมาใส่ใน Cruze เพิ่มอีกสักรุ่นหนึ่ง ก็สิ้นเรื่อง

3. ขณะเดียวกัน ตลาดรถเก๋ง เครื่องยนต์ Diesel กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศ
ในกลุ่มเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน การนำขุมพลัง Diesel 2.0 ลิตร จาก Captiva มาวางใน Cruze จัง
เป็น แนวคิดที่ดีมากๆ เพราะการเลือกใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ น่าจะส่งผลให้ GM สามารถทำต้นทุนลงได้ต่ำ
พอให้ขายได้ ในราคาที่พอจะได้กำไรอยู่บ้าง อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี

และ เครื่องยนต์เบนซิน ECOTEC บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี ความกว้างกระบอกสูบ x ช่วงชัก
80.5 x 88.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด MPI (Multi Point Injection) ควบคุม
ด้วยสมองกลอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์วที่หัวแคมชาฟต์ ทั้ฝั่งไอดีและไอเสีย Dual CVC (Dual –
(Contimuous Variable Cam Phasing)
เรียกง่ายๆก็คือ มีระบบ Dual VVT-i คล้าย Toyota Corolla ALTIS
Minorchange นั่นละครับ) ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเปิด-ปิดของลิ้นไอดีและไอเสียแบบแปรผันให้สัมพันธ์
กับรอบเครื่องยนต์ โดยทำงานร่วมกับระบบปรับความยาวท่อร่วมไอดีสองระยะ VIM (Variable Intake Manifold)

จุดเด่นของเครื่องยนต์บล็อกนี้ มีหลายประการ ตั้งแต่เสื้อสูบ ออกแบบให้มีผนังบางลง แต่ใช้โลหะที่
แข็งแรงขึ้น ด้วยโครงสร้างแบบทรงกลวง ปัดลายกระบอกสูบด้วยแสงเลเซอร์ มีระบบไหลวนของ
น้ำมันเครื่องภายในเสื้อสูบ และมีช่องระบายแรงดันของอ่างน้ำมันเครื่อง PCV (Positive Crankcase
Ventilation) ซึ่งผ่านการทดสอบ การแข็งตัวของไอน้ำมันเครื่อง ภายใต้สภาพอากาศที่เย็นจัด ทั้งใน
ห้องสร้างสภาวะจำลอง และในสภาพอากาศจริง โดยระบบจะปรับสภาพน้ำมันเครื่องให้ไหลเป็น
สูญญากาศตลอดทุกช่วงการทำงานของเครื่องยนต์ ผ่านการทดสอบบนเครื่อง Dynamo meter และ
ที่ตัวรถทดสอบจริงว่าสามารถแยกน้ำมันออกจาก ไอน้ำมัน ได้อย่างมีประสิทิภาพในทุกช่วงแรงดัน
ทำให้ไม่เกิดการจับตัวของไอน้ำมันจนเป็นน้ำแข็งในสภาพอากาศเย็นจัด

มี Oil Cooler ติดตั้งที่ด้านข้างเสื้อสูบ ฝั่งท่อไอเสีย ติดตั้งตัวกรองน้ำมันเครื่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ใช้ตัวถ่ายเทความร้อน ระบบน้ำมัน – น้ำ และหัวฉีดน้ำมันเครื่อง ใต้ลูกสูบ และใช้วาล์วน้ำควบคุมด้วย
ไฟฟ้า

ท่อร่วมไอเสีย เป็นแบบ เข้า 4 ออก 1 ผลิตจากสแตนเลสปั้มขึ้นรูป พร้อมตัวกรองไอเสีย เชื่อมเป็นชุด
เดียวกัน แบบ CCC (Closed – Coupled Catalytic Converter ช่วยลดการอั้นของไอเสียในระบบ และ
ช่วยอุ่น Catalytic Converter ให้ทำงานได้เร็วขึ้นหลังติดเครื่องยนต์ ลดมลพิษในช่วงติดเครื่องยนต์
ได้ดีขึ้น และช่วยให้ชิ้นส่วนในระบบไอเสียมีอายุการใช้งานยาวยนานขึ้น

สายพานไทม์มิง ของเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร เปลี่ยนทุกๆ 150,000 กิโลเมตร (รุ่นเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร
เปลี่ยนทุก 90,000 กิโลเมตร)

พละกำลังสูงสุด 141 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 177 นิวตันเมตร หรือ 18.1 กก.-ม.
ที่ 3,800 รอบ/นาที
มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (รุ่น 1.8 :S 5MT)  และอัตโนมัติ 6 จังหวะ DSC
 (รุ่น 1.8 LS , LT & LTZ)

ทั้ง 3 ขุมพลัง จะถ่ายทอดแรงบิด ไปยังระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยทางเลือกของระบบส่งกำลังที่มีให้
ได้ใช้งานกันทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (ไม่มีในรีวิวนี้) และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ จาก AISIN ซึ่ง
ถือเป็นครั้งแรก ของรถยนต์พิกัด C-Segment ประกอบในประเทศ ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ เกินกว่า 5 จังหวะ
(โดยไม่ใช่การล็อกอัตราทดแบบในชุดเกียร์ CVT) มาให้จากโรงงานโดยจะมีเกียร์ธรรมดา ให้เลือก เพียง
2 รุ่นคือ 1.6 Base LS 5MT และ 1.8 LS 5MT

อัตราทดเกียร์ ของระบบส่งกำลังทั้ง 4 รูปแบบ มีดังนี้
                            2.0 L Diesel Turbo…………1.8 L 6AT……………….1.6 LS 6AT…………….1.6 Base 5MT
เกียร์ 1……………………..4.584……………………..4.449……………………..4.449……………………..3.818
เกียร์ 2……………………..2.964……………………..2.908……………………..2.908……………………..2.158
เกียร์ 3……………………..1.912……………………..1.893……………………..1.893……………………..1.481
เกียร์ 4……………………..1.446……………………..1.446……………………..1.446……………………..1.121
เกียร์ 5……………………..1.000……………………..1.000……………………..1.000……………………..0.886
เกียร์ 6……………………..0.746……………………..0.742……………………..0.742………………………——
เกียร์ถอยหลัง………………2.940……………………..4.148……………………..2.871……………………..3.333
อัตราทดเฟืองท้าย…………2.290……………………..4.148……………………..4.110…………….3.944 (1.8 5MT 3.722)

เราทำการทดลองจับเวลาหาอัตราเร่งกันในช่วงกลางคืน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางคนอื่นๆ
และเพื่อลดโอกาส การเกิดอุบัติเหตุลงได้อีกด้วย โดยรักษามาตรฐานเดิม คือ นั่ง 2 คน น้ำหนักรวม
ราวๆ 160 – 170 กิโลกรัม ไม่เกินนี้ เปิดแอร์ และเปิดไฟหน้า – ไฟท้าย ผลลัพธ์ที่ออกมา เมื่อเทียบกับ
คู่แข่งในพิกัด C-Segment ด้วยกันในตลาดแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างนี้ครับ

ก่อนอื่นขอชี้แจงไว้นิดนึงนะครับ เรื่องรอบเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดกัน  เนื่องจากในรถรุ่น 2.0 Diesel
LTZ นั้น รอบเครื่องยนต์สูงสุดในช่วงความเร็ว 100 กับ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เกียร์ 6 จะต่ำเอามากๆ แทบจะ
อยู่ใกล้รอบเดินเบาแล้วด้วยซ้ำ คือ 1,000 – 1,200 รอบ/นาที อีกทั้งสมองกลของเกียร์ จะไม่มีทางยอมเปลี่ยน
ให้คุณได้ใช้เกียร์ 6 กับความเร็วระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นอันขาด นั่นหมายความว่า สิ่งที่คุณจะได้เห็นใน
ตารางเปรียบเทียบของเราคราวนี้ ผมเขียนผิดนะครับ รอบเครื่องยนต์ ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมจำเป็นต้อง
ลงไว้เป็น เกียร์ 5 แทน ส่วน 100 และ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะใช้ตัวเลขจากเกียร์ 6 ตามที่มันควรจะเป็นครับ
ผมพยายามแทบตาย หลายต่อหลายครั้ง ก็ยังทำไม่ได้เลยสักที

เรื่องตลกก็คือ หลังจากเปรียบเทียบตัวเลขแล้ว ผมมาค้นพบความจริงที่ว่า อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงของ
รุ่น Diesel 2.0 LTZ มันดันพอๆกันกับ Mazda 3 ใหม่ 2.0 ตัวถัง Sedan โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน! (เจ้า 3 ใหม่
Sedan ช้ากว่าแค่ 0.02 วินาที) ส่วนอัตราเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น ดุเหมือนว่าจะชนะ Focus 2.0 เบนซิน
แถมยังทำตัวเลขได้ พอๆ กันกับ Corolla Altis 2.0 G ก่อน Minorchange (เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ) นอกนั้น ก็ด้อย
กว่าเขาอยู่ดี

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตรนั้น กลับทำอัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดีกว่า Lancer EX 1.8 ลิตรด้วยกัน
แค่ราวๆ 0.2 วินาที อย่างไรก็ตาม ยังเอาชนะ Focus 1.8 ลิตร ซึ่งยังคงครองตำแหน่งรถยนต์ 1.8 ลิตรเกียร์อัตโนมัติ
ที่มีอัตราเร่งห่วยที่สุดในกลุ่มไปได้ราวๆ 1 วินาที ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถ้าไม่คิดเสียว่า นอกนั้นแล้ว
Cruze ก็ยังเหมือนกับทั้ง 2 คันข้างต้น คือด้อยกว่าชาวบ้านในพิกัดเดียวกันเขาทั้งหมด เช่นเดียวกันกับอัตราเร่ง
80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง Cruze 1.8 LT จะชนะแค่ Focus 1.8 เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่เหลือ ด้อยกว่ากันชนิดที่
ไม่ต้องสืบค้นอะไรอีกต่อไป

ตัวเลขอัตราเร่งที่เห็นอยู่นี้ คงทำให้หลายๆคนสงสัยว่า

1. เฮ้ย นี่ขนาดว่า ยกเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรเดิม ของ Optra ทิ้งไป แล้ววางเครื่องยนต์ใหม่แล้วเนี่ยนะ มันไม่
    ดีขึ้นเลยเหรอ?
2. เครื่องยนต์ Diesel 2.0 ลิตร Turbo ทำไม สู้ Focus TDCi ไม่ได้?

ดูข้อแรกกันก่อน คำตอบก็คือ เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร เบนซินนั้น ดีขึ้นครับ ชัดเจนเลยว่า รถมีเรี่ยวแรงเยอะกว่า
Optra 1.8 ลิตรเดิมจนสังเกตได้ คือถ้ามองกันแค่เฉพาะตัวเครื่องยนต์ ผมว่าลำพังตัวมันเอง หากไม่มีภาระ
และแรงเสียดทาน หรือการสูญเสียกำลังในระบบขับเคลื่อนมากนัก หรือเปลี่ยนไปใช้เกียร์ธรรมดา เชื่อว่า
เครื่องยนต์ ECOTEC บล็อกใหม่นี้ น่าจะทำตัวเลข ได้ดีกว่านี้แน่ๆ

ส่วนข้อ 2 นั้น อันที่จริง ตัวเลขแรงม้า ก็เยอะกว่าเขา ตัวเลขแรงบิด ก็ไม่ขี้เหร่นะ แต่จากที่ผมเคยจำความได้
ว่าเมื่อครั้งที่ลองขับ Captiva 2.0 Diesel ผมก็ไม่เห็นว่า รถมันจะพุ่งโผนโจนทะยานในแบบที่ รถเก๋งเครื่องดีเซล
คันอื่น ดังนั้น กรณีของรุ่น ดีเซลนั้น น่าจะมาจากสมรรถนะของตัวเครื่องยนต์มันเองนั่นด้วยส่วนหนึ่ง

เพียงแต่ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ทั้ง 2 ขุมพลัง ยังทำผลงานออกมาได้ไม่ดีพอ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งร่วมพิกัด
ตัวเลขที่ออกมา ผมมองว่า ต้นเหตุของปัญหาหนะ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวของเครื่องยนต์เองเพียงลำพัง หากแต่คราวนี้
มันน่าจะมาจาก สมองกลของเกียร์ และคันเร่งไฟฟ้า

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรเบนซิน หรือ 2.0 ลิตร Diesel ทั้ง 2 ขุมพลังต่างมีนิสัยที่เหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ
เมื่อขับใช้งานจริง ทั้ง 2 เครื่องหนะ ต่างมีพละกำลัง มีแรงบิดดีพอใช้ได้ ตามรูปแบบและลักษณะของตัวมันเอง แต่
การจะเรียกใช้งานแต่ละทีนั้น แสนจะน่าเหนื่อยหน่ายจิต เพราะเหยียบคันเร่งลงไปแล้ว ต้องรอให้คันเร่งไฟฟ้า
ส่งสัญญาณไปหา ECU ให้กล่องสมองกลมันคิดให้ได้ก่อน ว่ามันควรจะทำยังไงกับชีวิตมันต่อไปดี พอคิดได้ ก็
ค่อยส่งสัญญาณให้เกียร์เปลี่ยนตำแหน่งลง 1 – 2 เกียร์ ตามแต่ ECU จะคำนวนได้ กว่าจะผ่านขั้นตอนเหล่านี้
เวลาก็ผ่านไปแล้ว เกือบ 1 วินาที

และนั่นคือ เหตุผลที่ทำให้อัตราเร่งของทั้ง 2 รุ่น พาคุณทะยานขึ้นไปอย่าง “สุภาพพพพพ สุภาพ” อยากจะใส่
ไม้ไต่คู้ ให้เหลือเกิน แต่ก็กลัวจะผิดรูปการเขียนภาษาไทยที่ถูกต้องไป…

รุ่น Diesel 2.0 LTZ ถึงแม้จะทผลงานออกมาในระดับพอใช้ได้ แต่ก็คงต้องทำใจ เพราะขุมพลังของมัน นิสัย
เดียวกันกับ เครื่องยนต์ของ Captiva 2.0 Diesel ก่อนหน้านี้ไม่มีผิด คุรอาจจะคิดว่ามันแรง แต่ลองเอานาฬิกา
มาจับเวลาดู ก็จะพบคำตอบอย่างที่เห็นบนตารางข้างบนนั่นละครับ

ขณะที่เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ถ้าต้องการเรียกพละกำลังออกมาใช้ คุณจะต้องดูว่า ความเร็วที่ใช้อยู่หนะ ถ้ามันต่ำแค่
60 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอเหยียบคันเร่งจมมิด คันเร่งกับเกียร์ จะนั่งงงเอ๋อๆ อยู่อีก 1 วินาที ก่อนจะลากรอบเครื่อง
ให้กวาดขึ้นไปถึง 4,000 รอบ/นาที แล้วก็ขชะงักช่วงนั้นอีกแป๊บนึง ก่อนจะกวาดขึ้นต่ออีกระลอก จนสุดที่ระดับ
6,400 รอบ/นาที สมองกลเกียร์ เหมือนกับถูกสั่งมาว่า ให้เปลี่ยนลงต่ำได้ถึงเฉพาะเกียร์ 3 ซึ่งก็ดันเป็นช่วงที่มัน
ต้องเค้นกำลังออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เค้นกันจนดูเหมือนว่ารถมันจะเหนื่อยแฮกๆ เหงื่อแตกพลั่กๆ
เลยทีเดียว

กว่าที่แรงบิดจะเริ่มโผล่หัวมาช่วยคุณดึงรถแซงขึ้นหน้าชาวบ้านชาวช่องเขา คุณต้องรอจนกว่าเข็มวัดรอบจะกวาด
ขึ้นไปพ้นระดับ 2,000 รอบ./นาทีเสียก่อน ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วง 2,000 – 2,500 รอบ/นาที คุณก็ยังต้องรอให้แรงบิด
ไปเรียกเพื่อนๆมัน มาช่วยกันหมุนล้อให้คุณอีกพักหนึ่ง กว่าจะไต่ขึ้นไปถึงช่วงแรงบิดสูงสุดได้ ก็ลุ้นอยู่บ้าง แม้จะ
ไม่ถึงขนาดลุ้นระทึกก็เถอะ  เมื่อเป็นเช่นนี้ นั่นหมายความว่า ตั้งแต่รอบเดินเบา ไปจนถึง 2,000 รอบ/นาที คุณคง
ไม่ต้องไปเรียกหาพละกำลังจากเครื่องยนต์บล็อกนี้ หาสวรรค์วิมาน กันเลย ทั้งแรงม้า แรงบิด จะยังคงอู้งานกัน
จนกว่าจะถึง 2,000 รอบ/นาที นั่นแหละ!

ไม่รู้ว่าทีมวิศวกรของ GMDAT เกาหลีใต้ และที่ Michigan จะรู้หรือไม่ว่า เมื่อไหร่ที่คนขับ ต้องกระทืบคันเร่ง
หรือเพิ่มน้ำหนักเท้าลงบนคันเร่งลงไปมากกว่าเดิม อย่างปัจจุบันทันด่วน นั่นหมายความว่า สถานการณ์ของ
ผู้ขับขี่ในขณะนั้น อาจกำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย หรือ Crisis situation เช่นจะต้องเร่งแซงผ่านหน้ารถสิบล้อ
ให้ได้ทันท่วงที ก่อนที่ รถเทรลเลอร์ ซึ่งกำลังแล่นสวนมา จะพุ่งเข้าประสานงากับผู้ขับขี่ หรือว่ากำลังตกอยู่ใน
สภาวะเข้าได้เข้าเข็ม คาบลูกคาบดอกอยู่บนทางโค้งลัดเลาะในไหล่เขา ซึ่งต้องการพละกำลัง เพื่อเร่งออกจาก
โค้งให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน เจ้าสมองกลเกียร์ นี่ก็ ขี้เกี๊ยจขี้เกียจสันหลังยาวกับเขาด้วยอีกคน ส่งผลให้ในหลายๆครั้งที่ผมต้องการ
อัตราเร่งอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่กลับเรียกใช้แรงม้า และแรงบิดได้ ไม่ทันใจทันเท้า ทันเวลา และทันสถานการณ์
เอาเสียเลย เหมือนกับคุณพยายาม เอาแซ่เฆี่ยนม้าแสนเท่ แต่มีนิสัยแอบขี้เกียจให้ลุกขึ้นวิ่งห้อตะบึงเลยนั่นละครับ

ต่อให้คุณเรียกใช้ Manual Mode หรือโหมดบวก – ลบ ของเกียร์อัตโนมัติ ก็อย่าหวังว่า มันจะไวขึ้น เพราะมันก็ยังคง
จะง่วงหงาวหาวนอนสักหนึ่งหน ก่อนจะเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้ตามที่คุณต้องการ ซึ่งก็ปาเข้าไป 1 วินาที กันเลย
หมายความว่า ถ้าคิดจะแซงรถสิบล้อคันข้างหน้า คุณควรจะคิดเผื่อล่วงหน้าเอาไว้สัก 15 – 20 วินาที 

ถึงแม้ว่า GM จะระบุว่า Cruze เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ใช้ระบบการเดินสายไฟแบบ GM LAN (Electrical Architecture)
เป็นกล่องควบคุมกลาง สำหรับประสานการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในรถ ทำงานลักษณะเดียวกับระบบเครือข่าย
คอมพิวเตอร์ ซึ่งตอบสนองด้วยความเร็วกว่าถึง 50 เท่า (500kbps เทียบกับ 10kbps) เพิ่มความแม่นยำในการควบคุมของ
ระบบไฟฟ้ารถยนต์ เช่น ABS ESP ระบบส่องสว่าง ระบบปัดน้ำฝน และระบบเครื่องยนต์ต่างๆ แต่นั่นก็มิได้หมายความ
ว่า การตอบสนองในการเปลี่ยนเกียร์ จะรวดเร็วเหมือนกับระบบอีเล็กโทรนิคส์อื่นๆในรถด้วย ดังนั้น ไปปรับปรุงให้
เกียร์มันทำงานได้เร็วกว่านี้กันดีกว่า

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าควรปรับปรุงเหมือนกันคือ เสียงรบกวนในห้องโดยสาร

วิศวกร GM พยายามจะลดปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ศัพท์ 3 คำ ที่เรียกโดยย่อว่า NVH ซึ่งย่อมาจาก Noise (เสียง)
Vibration (การสั่นสะเทือน) Harshness (การสะท้าน) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางรองแท่นเครื่องแบบไฮดรอลิก ซึ่งสามารถ
ลดเสียงรบกวนที่เกิดจากการสั่นสะเทือนเมื่อสตาร์ทรถ เร่งเครื่องฉับพลัน หรือเบรกกระทันหัน รวมถึงการใช้วัสดุบุ
ซับเสียงปิดรอยต่อตัวถังรอบคันพร้อมยางขอบประตู 3 ชั้น ออกแบบให้โครงสร้างที่เชื่อมเข้ากับตัวถังมีช่องว่างน้อยที่สุด
แถมยังใช้ฉนวนซับเสียงรอบคันเพื่อปิดช่องที่เสียงลมอาจลอดผ่าน และใช้ผ้าหลังคาที่ประกอบด้วย 5 ชั้นย่อย โดย 3 ชั้น
เป็นโพลีเอทิลีน และอีก 2 ชั้นเป็นโพลียูรีเทน เพื่อหวังจะให้ความเงียบที่สุดภายในห้องสาร

พูดกันตรงๆก็คือ ในรุ่น เบนซิน 1.8 LT หากจอดนิ่งๆ หรือขับขี่ด้วยความเร็วช้าๆ เสียงรบกวนที่เกิดขึ้น น้อยดี ถ้าเพิ่ม
ความเร็วมากขึ้น เป็นระดับเดินทาง เสียงลม หรือเสียงเครื่องยนต์ ที่ดังเข้ามาในห้องโดยสารนั้น ยังถือว่า ไม่มากนัก
และอยู่ในระดับที่รถยนต์ทั่วไปเขาพึงจะเป็นกัน ข้อนี้ ถือว่า ยอมรับได้

แต่ในรุ่น Diesel 2.0 LTZ ทุกอย่างกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม ถ้าคุณเคยลองขับรถยนต์ Diesel Commonrail Turbo
ยุคใหม่ๆ แล้วประทับใจ ในเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบกว่าสมัยก่อนเยอะแล้ว คุณอย่าหวังว่าจะเจอข้อดีเรื่องนี้ใน
2.0 LTZ เด็ดขาด! เพราะเสียงเครื่องยนต์ตั้งแต่รอบเดินเบา จอดสงบนิ่ง เครื่องยนต์ สั่นยกระพรือ และส่งเสียงดัง
ถึงขนาดที่ว่า ตาหลุยส์ เจ้าของร้านเป็ดย่างแมนดาริน ซอยทองหล่อ ผู้ที่มาช่วยผมลองรถเป็นประจำ ถึงกับพูดว่า
“เสียงเครื่องที่ลอดเข้ามาในห้องโดยสาร ดังพอๆกัน หรือดังกว่า Toyota Hilux Vigo ตัวท็อป 4×4 VSC ที่เราใช้งาน
อยู่ด้วยซ้ำ!”

ครับ เสียงเครื่องที่ดังเข้ามานั้น ต่อให้ทำใจมาแล้วว่า ยังไงๆ เสียงเครื่องยนต์ Diesel หนะ มันไม่เงียบหรอก พอ
ลองนั่งจริงๆ คุณก็จะพบว่า เสียงมันก็ดังเกินไปกว่าที่รถยนต์ Diesel สมัยใหม่ เขาควรจะเป็นกันอยู่ดี และยิ่งถ้า
ขับใช้งานด้วยความเร็วที่สูงขึ้น โอ้โห! ครางดังเอาเรื่องตามรอบเครื่องยนต์กันเลยทีเดียว

ทางแก้? รอดูเครื่องยนต์ใหม่กันดีกว่า!

พวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ไฮโดรลิกช่วยผ่อนแรง ผมละดีใจ๊ดีใจ ที่ Cruze ยังคงเป็น
รถยนต์ C-Segment ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่รุ่นในตลาด ที่ยังคงใช้ระบบ ไฮโดรลิก แทนที่จะใช้ระบบไฟฟ้า EPS
มาช่วยผ่อนแรงการหมุนของผู้ขับขี่

เพราะด้วยการปรับเซ็ตต่างๆ ทำให้พวงมาลัยของ Cruze มีความหนืดกำลังดี พอประมาณ ในช่วงความเร็วต่ำ
ไม่เบาไป ไม่หนืดไป หมุนได้ลื่น และคล่องแคล่วกว่า และช่วยผ่อนแรงขณะหาที่จอดได้ ดีกว่าพวงมาลัยของ
Optra ซึ่งไม่รุ้ว่าจะหนืดหนักในความเร็วต่ำแบบนั้นไปทำไมกัน การบังคับรถ ทำได้อย่างคล่องตัว ฉับไว แต่
แม่นยำใช้ได้ดีกว่าที่คิด ยิ่งถ้าคุณได้มีโอกาส พา Cruze ไปเล่นกับโค้ง ที่ต่อเนื่องกัน บนเส้นทางคดเคี้ยวทาง
ภาคเหนือของไทย คุณจะชื่นชอบในการตอบสนองของพวงมาลัย Cruze ที่ผมมองเลยว่า ทำได้ดีกว่า Mazda 3
ใหม่ 2.0 ลิตร ด้วยซ้ำ!

ส่วนในช่วงความเร็วเดินทาง ระยะฟรี พอจะมีให้พบเห็นอยู่ แต่พวงมาลัยก็นิ่งใช้ได้ ปล่อยมือได้ ไม่กังวล
อะไรมากนัก ผมว่าพวงมาลัยของ Cruze ดีที่สุด ในบรรดา Chevrolet ทุกรุ่นที่เคยมีการผลิตขายในเมืองไทย

ระบบกันสะเทือนคือจุดเด่นมากๆ ของ Cruze เพราะทีมวิศวกรของ GM บอกว่า พวกเขาตั้งใจจะปรับแต่งรถให้
ออกมาเพื่อเน้นความสนุกสนานในการขับขี่อย่างแท้จริง ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการพัฒนา และการผลิต
หวยก็เลยออกมาว่า ระบบกันสะเทือนหน้า จะเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัต อันเป็นรูปแบบพื้นๆ ที่เราพบได้
ในรถยนต์นั่ง ขับเคลื่อนล้อหน้า ส่วนใหญ่กว่า 80 – 90 % ในโลกนี้ ส่วนด้านหลัง กลับเป็นแบบคานบิด หรือ
Torsion beam เหมือนเช่นใน Toyota Corolla Altis ไปจนถึง Audi A3 รุ่นก่อนๆ เพียงแต่ว่า ชุดคานนั้น มี
ขนาดในแนวขวาง 110 มิลลิเมตร ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง Magnatic Arc และใช้ช็อกอัพแก็ส ทั้ง 4 ต้น

ส่วนระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP (Electronic Stability Program) รวมทั้งระบบป้องกัน การออกตัวล้อหมุนฟรี
TCS Traction Control System จะมีให้ตั้งแต่รุ่น 1.8 ทุกรุ่น และ 2.0 LTZ

ในช่วงความเร็วต่ำ ขณะขับขี่ แบบคลานๆ ไปตามตรอกซอก ซอย ต่างๆ ช่วงล่างของ Cruze แม้จะสัมผัสได้
ถึงสภาพพื้นผิวถนน ที่คุณกำลังแล่นทับไปอยู่ มีอาการสะเทือนเข้ามาบ้าง คือ ยังซับแรงสะเทือนได้ไม่ถึงกับดี
เท่า Lancer EX ที่กลายเป็นเทพในประเด็นนี้ แต่ไม่ถือว่า กระเด้งกระดอนแต่อย่างใด ในภาพรวมแล้ว ถือว่า
ช่วงล่าง Cruze เซ็ตมาในอารมณ์ที่ต่างจาก EX แต่ต่างกันไม่ถึงกับมากมายนัก พอให้จับสัมผัสได้ชัดเจนถ้า
ได้ลองขับเปรียบเทียบกันบนถนนเส้นเดียวกัน ในระยะทางยาวๆ

ในการขับขี่ที่ความเร็วสูงนั้น Cruze จะค่อนข้างนิ่ง เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปในระดับเดียวกัน การคุมอาการ
บั้นท้าย ขณะจัมพ์คอสะพานข้ามคลอง เล็กๆ ที่ไม่สูงมากนัก บนไฮเวย์ ทำได้ดี นิ่งใช้ได้ และให้ความมั่นใจ
ในย่านความเร็วสูงได้ดี

แต่สิ่งที่อยากให้สังเกตกันก็คือ ถึงผมจะสัมผัสได้ว่ามีอาการในแบบของช่วงล่างคานแข็ง ทั่วไป คือ ล้อซ้ายเจออะไร
ล้อขวาก็จะมีการขยับตัว ตามๆกัน แต่ สิ่งที่ทำให้ Cruze แตกต่างไป ก็คือ ช่วงล่างด้านหลังมีการให้ตัวในแบบที่ผมว่า
ช่วยเพิ่มความสนุกในขณะเข้าโค้งจนสัมผัสได้ เพราะในช่วงก่อนที่ผมจะนำ Cruze ทั้ง 2 คนนี้มาทำรีวิว ผมมีโอกาส
ขับรถรุ่นนี้ บนทางโค้งทั้งขึ้นและลงพระตำหนักดอยตุงมาแล้ว พูดก็พูดเถอะ ในบางจังหวะของรถ ขณะเข้าโค้ง
มันยังคงพอจะชวนให้ผมนึกถึง บุคลิกในแบบที่ Saab 9-3 รุ่นสุดท้ายในบ้านเรามันเป็น กล่าวคือ ขณะเข้าโค้ง
ตัวรถจะมีอาการหน้าจิก แต่ไม่ได้จิกลึกๆแบบที่ Lancer Cedia เป็น คือ จิกแบบรถขับล้อหน้า จิกแบบพอให้รู้ว่า
ยังมีอาการหน้าดื้อนิดๆ ขึ้นอยู่กับยางที่ติดรถ แต่เมื่อใดที่รถใกล้จะถึงลีมิทแล้ว ระบบกันสะเทือนด้านหลังจะส่ง
สัญญาณเตือนมาให้คนขับรับรู้นิดๆ ว่าท้ายรถกำลังจะออกแล้วนะ อีกนิดเดียวแล้วนะ และถ้าคุณยังดื้อแพ่ง ปล่อย
ให้รถเข้าโค้งเร็วกว่าที่ควรอย่างตั้งใจต่อไป ท้ายก็จะกวาดออก แต่ก็ยังพอให้คุณได้แก้อาการตั้งลำรถกลับมาอยู่ใน
เลนถนนได้ ถ้าสติคุณไวพอ

ข้อดีที่ Cruze มีคือ การสื่อสารระหว่างระบบกันสะเทือนกับคนขับนั้น..Solid feeling มากๆ และช่วยเพิ่มความสนุก
ให้กับการขับี่ ได้ดีกว่าที่คาดคิด ส่วนหนึ่ง ก็คงต้องเป็นเพราะ ความจงใจ ออกแบบให้ ตัวรถมีน้ำหนักมาก และ
ปล่อยให้ระบบกันสะเทือนมีน้ำหนักเบา จนกลายเป็นบุคลิกแบบ หยิน หยาง จนทำให้เกิดความสมดุลอย่างเป็น
ะรรมชาติ ขึ้นในตัวของมันเอง

ถ้าใครที่ชอบขับรถ แนวขับสนุก ชอบเล่นกับโค้ง เช่นผม จะชอบช่วงล่างแบบนี้มากๆ แต่กับคนที่ขับรถไม่ชำนาญ
หรือชอบวิ่งทางตรงๆ ยาวๆ ไกลๆ มากกว่าจะชอบเล่นโค้ง คุณอาจจะชอบช่วงล่างของ Lancer EX หรือ Mazda 3
ใหม่ มากกว่า ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก ที่แน่ๆ มันเป็นช่วงล่างคานบิด Torsion Beam ในแบบที่ Corolla Altis
ไม่มีวันจะให้คุณได้ดีเท่า Cruze

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรก ทั้ง 4 ล้อ ติดตั้งตัวช่วยมาครบทีม ทั้งระบบป้องกันล้อล็อก ABS (Anti-Lock Braking System)
ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake-Force Distribution) และระบบเสริมแรงดันน้ำมันเบรกในภาวะฉุกเฉิน
Brake Assist

แป้นเบรกอาจต้อง เหยียบลงไปถึงครึ่งหนึ่ง ระบบเบรกจึงจะทำงานได้เต็มที่ การหน่วงความเร็ว ทำได้ในระดับปกติ
ของรถยนต์ทั่วไป ในพิกัดเดียวกัน อยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่ไม่ใช่ดีมากที่สุด ตอบสนองต่อการเบรกกระทันหันได้
ทันท่วงที

ในรีวิวปกติของรถยนต์รุ่นอื่นๆ ผมก็คงจะบอกคุณผู้อ่านเพียงแค่ว่า บุคลิกการทำงานของระบบเบรกหนะ เป็นอย่างไร
แต่ในครั้งนี้ จะแตกต่างออกไป เพราะ ผมมีโอกาสเจอประสบการณ์ตรงๆ เฉียดตายกับเจ้า Cruze 2.0 LTZ Diesel มาพอดี
จนกลายเป็น การทดสอบในสภาพการใช้งานจริง ซึ่งไม่ค่อยมีใครอยากให้เกิดขึ้นนัก…โชคดีที่ว่า ผลลัพธ์ ออกมาโล่งใจ
ถ้าจะให้ย้อนกลับไปเก็บภาพสถานที่เกิดเหตุอีกครั้ง ก็คงไม่ไหว ขอใช้วิธี วาดรูปลายเส้นขึ้นมาให้เห็นภาพ กันเลยดีกว่า

คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2011 เวลา 23.50 น.
สถานที่เกิดเหตุ : ทางด่วนบางนา ขาออก ช่วงด่านทางลงบางนา สะพานโค้งซ้าย

สถานการณ์ :
จากรูปการณ์ที่เห็น ในช่วงเวลาประมาณ 10 วินาที และเท่าที่พอจะเก็บภาพมาจำในสมองได้ น่าจะมีใครสักคน เบรกชะลอ
แล้วรถคันข้างหลังตามมา เบรกไม่ทัน ซัดบั้นท้ายกัน 4 คัน จอดเรียงกันอยู่ช่วงทางลง เลนซ้ายสุด มีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์
ขนาดใหญ่ เป็นคันปิดท้าย

Toyota Hilux Tiger Xtra Cab น่าจะมาด้วยความเร็วไม่มากนัก ขระที่ Toyota Hilux Vigo สีดำ ยกสูง ตามท้ายมาในเลนกลาง
Tiger น่าจะเห็นเหตุการณ์ และเห็นบั้นท้ายของรถคอนเทนเนอร์ช้าเกินไป คิดว่าเจ้าตัวน่าจะตัดสินใจช้าไป เลยเบี่ยงออกขวา
โดยไม่ทันดูว่า Vigo มาข้างๆ ท้ายกระบะ Tiger ฝั่งขวาก็เลยไปเบียดกับหน้าซ้ายของ Vigo

ปัญหาก็คือ พวกเขาเบียดเสร็จ ลงมาดูรถตัวเองกัน เปิดไฟฉุกเฉิน และอยู่เลนกลาง กับขวา กันเลยทีเดียว!!

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผม :

Cruze 2.0 LTZ ดีเซล สีแดง แล่นมาด้วยความเร็วตามปกติ คือ ราวๆ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ใช้ความเร็วขนาดนั้น
ในช่วงฝนตก เพราะบริเวณนั้น มีทางยกระดับบูรพาวิถี เป็นเหมือนหลังคาอยู่ด้านบนอีกทีหนึ่ง พื้นผิวถนนจึง
ค่อนข้างแห้งพอให้ใช้ความเร็วได้

นิสัยผม เวลาขับรถ มักจะแซง และพยายามทิ้งห่างจากรถคันข้างหลัง กับรถคันข้างหน้า ให้ไกลๆ กันมากๆ
เข้าไว้ก่อน ซึ่งโชคดี ที่วันนี้ ผมก็ทำแบบนั้น

ระหว่างกำลังขึ้นสะพานเข้าโค้งซ้าย คร่อมสี่แยกบางนา เพื่อลงจากระบบทางด่วนเฉลิมมหานคร บางนา
รถคันข้างหน้าผม Camry รุ่นปัจจุบัน สีขาว เปิดไฟตัดหมอกหลัง แล่นด้วยความเร็วพอกับผม อยุ่ในเลนกลาง
ผมอยู่เลนขวาสุด กำลังจะแซงผ่านหน้า Camry ซึ่งด้านหน้าของ Camry มีรถแล่นช้าอยู่คันนึง ไม่แน่ใจว่าจะเป็น
Nissan NV ต่อแค็บ หรือเปล่า เพราะทุกอย่างเร็วมาก

ที่แน่ๆ ผมตัดสินใจอยู่เลนขวาต่อไป ในช่วงขึ้นสะพานโค้งซ้าย Camry ตัดสินใจเบี่ยงออกเลนซ้าย และทันใดนั้นเอง….

ผมก็เห็น บั้นท้าย Vigo กับ Tiger อยู่เลนกลางและขวาสุด ผมตกใจ และเหยียบเบรกลงไปเกินครึ่ง ระบบ ABS ทำงาน
และชะลอรถจน เกือบหยุดนิ่ง แต่ในกรณีแบบนี้ ผมมักจะไม่พยายามให้รถหยุดสนิทนิ่ง เพราะเราไม่รุ้ว่า คันข้างหลัง
จะมาทิ่มบั้นท้ายเมื่อไหร่ มือก็เอื้อมไปเปิดสวิชต์ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ไว้แจ้งเตือนรถคันข้างหลังให้ระวังด้วย

พอรถชะลอลงเหลือ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผมถึงได้ถอนเบรก และได้เห็นบั้นท้ายของ รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ในเลนซ้าย
พอมองเห็นว่า มีช่องว่างให้ผม หักเลี้ยวเบี่ยงซ้าย ผมก็เลาะไปตามนั้น เปิดกระจก ตะโกน บอก คู่กรณีทั้ง 2 คน ที่ดูเหมือน
จะยังห่วงรถตัวเองอยู่ ว่า “เฮ้ยย คุณ รีบหลบเข้าข้างทางก่อน อันตรายมาก!”

ผมทำได้แค่นั้น ตอนแรก กะว่า จะแวะจอดถ่ายรูปมาลงในเว็บกัน แต่…ผมกลัวว่า ถ้าผมจอดแล้วมีใครสักคน ตกใจ คุมสติ
ไม่อยู่ ซัดบั้นท้าย รถคอนเทนเนอร์ หรือ Vigo เข้าไป จนมากระเด็นโดนเจ้า Cruze นั้น ผมว่า ผมก็คงไม่อาจจะไปอธิบาย
กับ GM Thailand เขาแน่ๆ

Cruze มีส่วนช่วยให้ผมรอดจากการเอาใบหน้าของมัน ไป “ซั่ม” กับบั้นท้ายของ Vigo ได้หวุดหวิด การหน่วงความเร็ว แม้
ในยามคับขัน ผมก็ต้องถือว่า งานนี้ เรื่องระบบเบรก ผมให้ cruze สอบผ่านชัวร์ๆ ละเรื่องนึง แต่ต้องยอมรับด้วยว่า การเบรก
บนทางชัน ช่วงขาขึ้น มีส่วนช่วยหน่วงความเร็วให้รถหยุดลงได้เร็วกว่า การเบรกในทางราบ เพราะถ้าหากโค้งนี้ เป็นทางราบ
ผมอาจจะชนเข้ากับบั้นท้ายของ Vigo ไปแล้วก็เป็นได้ เนื่องจาก มุมโค้งที่บดบังรถทั้ง 2 คัน บนยอดปลายเนิน กว่าที่ผมจะเห็น
Cruze ก็แล่นขึ้นทางลาดชันมาได้นิดหน่อยแล้ว

สรุปว่า ผมไม่เกิดอุบัติเหตุ ซ้ำซ้อนใดๆ กับคู่กรณีเหล่านั้น
และ เจ้า Cruze เอง ก็มีส่วนช่วยพอสมควร สำคัญที่สุด คือ สติของเรา ต้องตั้งมั่นตลอดเวลาที่ขับรถคัรบ

สิ่งที่ผมได้เป็นบทเรียนในคราวนี้คือ

1. โชคดีแค่ไหนแล้ว ที่ รถซึ่งผมขับ ไม่ได้ไปร่วมสังฆกรรม กับกองรถ 6 คันนั้น
2. ฝนตก ถนนลื่น กรุณา ขับรถในโหมด ผู้เฒ่าใจดี อย่าเปลี่ยนเลนบ่อย ไปเรื่อยๆ
ความเร็วที่ยังพอจะควบคุมรถได้อยู่คือ อะไรก็ตามที่ไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่ก็ดูตามความเหมาะสม ของสภาพการจราจร ที่เกิดขึ้นจริง คุณอาจจำเป็น
ต้องขับเร็วกว่านั้นนิดนึงก็ได้

3. เส้นทางประจำ ต่อให้คุณคุ้นเคย คุณก็ต้องระวัง ยิ่งคุ้นมาก ยิ่งต้องระวังเผื่อเอาไว้
เยอะกว่าปกติ เสมอ

4. ฝากเตือนนิดนึงครับ
ช่วงนี้ ทางด่วน โค้งขวา หรือ โค้งซ้าย เริ่มมีแอ่งน้ำบ้างแล้ว จากการไม่ค่อยทำความสะอาด
ท่อระบายน้ำบนไหล่ทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เท่าใดนัก ดังนั้น ในการเข้าโค้ง
ช่วงฝนตก ขอแนะนำว่า อยู่เลนกางเอาไว้ จะปลอดภัยกว่ากันเยอะ แต่ถ้าลืมนึกไป
แล้วเจอแอ่งน้ำข้างหน้า อย่าตกใจ ถือพวงมาลัย ตรงๆ นิ่งๆ ถอนเท้าออกจากคันเร่ง
แต่อย่าเพิ่งเหยียบเบรกเต็มๆ ทุกอย่าง อทาจจะยิ่งแย่กว่าเดิม ปล่อยคันเร่ง ปล่อยเบรก
ถอนเท้าออกมา เน้นคุมรถอย่างเดียว รถก็จะนิ่งๆ ตรงๆ รอดมาได้ ปลอดภัย
อย่าเหยียบเบรก หรือเดินคันเร่งเพิ่มในภาวะที่กำลังอยู่ในแอ่งน้ำครับ

ด้านความปลอดภัย โครงสร้างตัวถัง เป็นแบบ BFI (Body-Frame Integral) ทำจากเหล็กกล้า โดยมีการใช้เหล็กแบบ
High-Strength Steel (HSS) มากถึงร้อยละ 65 ของโครงสร้างเนื้อเหล็กทั้งหมด ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่งที่สุด
ในบรรดารถยนต์พิกัด C-Segment ด้วยกัน ณ ตอนนี้ โดยได้รับการออกแบบให้มีพื้นที่ยุบตัวพร้อมคานกันกระแทก
ด้านข้าง พื้นตัวถังมีโครงสร้างแบบราง ต่อเนื่องจากด้านหน้า จรดด้านหลัง รวมทั้งยังมี โครงสร้างเหล็กแบบพิเศษ
A cross-structure beam ติดตั้งด้านหลังแผงหน้าปัด เพื่อช่วยรักษาโครงสร้างเอาไว้ ให้ดีที่สุด เมื่อต้องชนจากด้านข้าง

อุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัย มีทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า และด้านข้างร่วม 4 ใบ ในรุ่น 1.8 LTZ และ 2.0 LTZ
Diesel Turbo ส่วนในรุ่น 1.8 LT จะมีถุงลมนิรภัยคู่หน้ามาให้ แต่ในรุ่น 1.6 S และ 1.8 LS จะมีถุงลมนิรภัยเฉพาะ
ฝั่งคนขับใบเดียวเท่านั้น (อ่านรายละเอียดได้ในช่วงสรุป) เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 5 ที่นั่ง จะมีเฉพาะในรุ่น
1.8 LTZ และ 2.0 LTZ Diesel Turbo รุ่นอื่นๆ ที่เหลือ จะ มี 4 ที่นั่ง ส่วนตรงกลางของเบาะหลัง จะเป็น ELR 2 จุด
คาดเอว ทุกคันมีสัญญาณไฟเตือนและเสียงร้องเตือนให้คาดเข็มขัดมาให้ บนชุดมาตรวัด และมีจุดยึดเบาะนิรภัย
สำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX มาให้ครบทั้งฝั่งซ้าย และขวา ของเบาะหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น โครงสร้างตัวถังของ Cruze ยังผ่านการทดสอบการชนหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ปกป้องผู้ขับขี่
และผู้โดยสาร ได้เหนือกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ในระดับ รวมทั้งการทดสอบ
พลิกคว่ำในศูนย์ทดสอบ Rollover Test Facility ซึ่ง GM เป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียว ที่มีศูนย์ทดสอบการ
พลิกคว่ำของรถยนต์ในเขตอเมริกาเหนือ…!

ด้วยการออกแบบโครงสร้างตัวถังดังกล่าว ทำให้ Cruze สามารถผ่านมาตรฐานทดสอบการชนจากองค์กรระดับโลก
ได้อย่างสบายๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรด้านความปลอดภัยบนทางหลวงของสหรัฐอเมริกา หรือ NHTSA (National
Highway Trafiic Safety Authorization)
ให้มาตรฐานความปลอดภัยของ Cruze หลังการทดสอบการชนในระดับ
สูงถึง 5 ดาวเต็ม (ประกาศเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011)

นอกจากนี้ ยังมีผลการทดสอบจากหน่วยงานประเมินความปลอดภัยรถยนต์รุ่นใหม่ของสหภาพยุโรป หรือที่เรา
รู้จักกันดีในชื่อ Euro NCAP ได้ทดสอบ และให้คะแนน Cruize รุ่นปี 2009 เอาไว้ในระดับสูงสุด  5 ดาวเช่นเดียวกัน
โดย Cruze ทำคะแนนในการปกป้องผู้โดยสาร สรีระผู้ใหญ่ทำได้ดีถึง ร้อยละ 96 ผู้โดยสารเด็ก บนเบาะนิรภัย ทำได้
ระดับ ร้อยละ 84 การปกป้องคนเดินถนนทำได้ในระดับ ร้อยละ 34 และอุปกรณ์เสริมด้านความปลอดภัยเสริม อยู่ใน
ระดับ ร้อยละ 71 รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปอ่านได้ที่
www.euroncap.com/results/chevrolet/cruze.aspx?class=9abf175b-92c7-4c9f-b111-b37f9369f2f7

ขณะเดียวกัน ในออสเตรเลีย Cruze ก็ทำคะแนนในการทดสอบการชน ตามมาตรฐานของ ANCAP หรือ
Australia New Car Assesment Program
ได้ 35.04 คะแนน จากทั้งหมด 37 คะแนน และได้รับการจัดให้
อยู่ในกลุ่มรถยนต์ปลอดภัยระดับ 5 ดาว อีกเช่นกัน (ประกาศเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009)

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เรายังคงใช้มาตรฐานเดิมในการค้นหาความประหยัดของ Cruze เหมือนกับรถยนต์ทุกคัน โดยเราจะเลือกใช้น้ำมันที่ผมเห็นว่า
ดีที่สุด ณ เวลาที่ทำการทดลอง และใช้น้ำมันชนิดเดียวกัน เพื่อให้ผลการทดลองสามารถใช้ในการเก็บเป็นข้อมูลสถิติในอนาคต

ในรุ่น 2.0 LTZ Diesel เราเลือกที่จะนำรถมาเติมน้ำมัน V-Power Diesel B5 ที่ สถานีบริการน้ำมัน Shell ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS
ปากซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน ให้เต็มถัง สักขีพยานในการทำอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงวันนั้น เป็นตาหลุยส์ เจ้าของร้านเป็ดย่าง
แมนดาริน ทองหล่อ ที่มาร่วมทดลองรถกับผมตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จนตอนนี้กลายเป็นเพื่อน และเป็นหนึ่งใน The Coup Team
ของเว็บเราไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า Cruze เป็นรถยนต์ในพิกัดเครื่องยนต์ขนาดต่ำกว่า 2,000 ซีซี และถือเป็นรถยนต์ในกลุ่ม C-Segment
Compact Sedan ซึ่งมีผู้คนสนใจมาก และลูกค้าที่จะซื้อ มักคาดหวังกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆ
ดังนั้น ในการทดลองจับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ของ รถรุ่นนี้ ทั้ง 2 คัน เราก็ต้องมาออกกำลังกายกัน เพื่อละลายไขมัน
หน้าท้องของผม ตามแนวทางของ สสส. ด้วยการ “เขย่ารถ” เพื่อไล่อากาศในถัง ดันขึ้นมาให้หมด แทนที่ด้วยน้ำมันล้วนๆ
ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนน้ำมันล้นเอ่อขึ้นมาที่ช่องรับน้ำมันอย่างที่เห็นอยุ่นี้

เมื่อเติมน้ำมันเต็มถังเสร็จแล้ว เซ็ต 0 บน Trip Meter เพื่อวัดระยะทางบนมาตรวัด คาดเข็มขัดนิรภัยกันทั้ง 2 คน ติดเครื่องยนต์
เปิดแอร์ และออกรถ มุ่งหน้าลัดเลาะมาขึ้นทางด่วน ที่ด่าน พระราม 6 มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายอุดรรัถยา ที่อยุธยา
แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน เส้นเดิม ย้อนกลับเส้นทางเดิมอีกครั้ง ขับยาวๆ ด้วยมาตรฐานเดิม คือ ใช้ความเร็วเดินทางเพียง
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน

ถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน มุ่งหน้ากลับมายังสถานีบริการน้ำมัน Shell แห่งเดิม เพื่อ
เติมน้ำมัน V-Power Diesel B5 ที่ปั้มตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการผิดเพี้ยนที่มาจากการทำงานของหัวจ่าย
น้ำมันในแต่ละหัว

และแน่นอน เมื่อขาไป เราเขย่ารถ ขากลับ เราก็ต้องทำเช่นเดียวกัน ในการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น ถ้าคุณเติมน้ำมัน
ด้วยวิธีการใด ในครั้งแรกก่อนเริ่มออกแล่น ขากลับคุณควรเติมน้ำมันด้วยวิธีการเดียวกัน เพื่อลดความผิดเพี้ยนของผลตัวเลขที่
ออกมา ซึ่งยังไงก็คงมีความเพี้ยนกันอยู่บ้างละ เพียงแต่ว่า เราพยายามทำการทดลองให้ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงให้ได้มาก
ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว

มาดูตัวเลขของรุ่นย 2.0 LTZ Diesel กันครับ ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด 91.6 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 5.99 ลิตร…ก็คือ 6 ลิตร นั่นแหละ!

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 15.29 กิโลเมตร/ลิตร นับว่าไม่เลว ทำได้ดีเลย สำหรับการขับขี่ทางไกล

แต่ถ้าจะต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันแล้ว แม้จะเอาชนะ Toyota corolla ALTIS 2.0 CVT มาได้ และถือว่าทำตัวเลข
ได้ในระดับเทียบเท่ากับ Honda Civic FD 1.8 ลิตร 5AT เมื่อเดินทางไกล แต่ก็ยังถือว่าด้อยกว่า Ford Focus TDCi 2.0 Diesel Turbo
ชัดเจน (ตามตัวเลขในตารางเปรียบเทียบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงข้างล่าง) แม้จะได้เกียร์ 6 จังหวะ มาช่วยทดให้รอบเครื่องยนต์
ต่ำลง แต่นั่นก็ช่วยได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น

แล้วอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 1.8 LT ละ จะเป็นอย่างไร?

เราก็มาหาคำตอบกันด้วยวิธีการเหมือนเดิม แต่พอเป็นเครื่องยนต์เบนซิน ในเมื่อ Shell ไม่มี น้ำมันเบนซิน V-Power แบบมาตรฐาน
ไม่มี Gasohol ให้เติมอีกต่อไปแล้ว ผมก็ต้องหันมาใช้บริการสถานีบริการน้ำมัน Caltex ฝั่งตรงข้ามกัน เป็นการทดแทน

เราเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 เข้าไปจนเต็มถัง และเขย่ารถด้วยวิธีการเดียวกัน เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าสู่ถังทดแทนอากาศในถัง
ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เติมกันจนเอ่อล้นขึ้นมาถึงหัวรับน้ำมันอย่างที่เห็นอยู่นี้ เช่นเดียวกัน

เติมน้ำมันเสร็จแล้ว ทำเหมือนกัน เซ็ต 0 บน Trip meter เพื่อวัดระยะทางบนมาตรวัด คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์
ออกรถ จากปั้ม เลี้ยวกลับไปเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะไปขึ้นทางด่วน ที่ด้านพระราม 6 ตามเดิม มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสาย
อุดรรัถยา ที่อยุธยา ตามเคย แล้วเลี้ยวกลับมาย้อนขึ้นทางด่วน ขับย้อนเส้นทางเก่า ตามมาตรฐานเดิมคือ วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน

พอลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ขับตรงมาเลี้ยวกลับ หน้าโชว์รูมเบนซ์ ราชครู เพื่อกลับเข้า
ปั้ม Caltex กันอีกรอบ และเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่ปั้มเดิม ตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม

ว่าที่นักบินเพิ่งเรียนจบ อย่างตาถังน้อย ของเรา ก็มาเป็นสักขีพยานให้ และต้องมาช่วยขย่มรถกันอีกต่างหากแหนะ

เติมไป ก็เขย่ารถกันไป ใช้เวลากันอยุ่นานพอสมควาร ราวๆ 15-20 นาที จนน้ำมันเอ่อล้นขึ้นมาถึงหัวรับน้ำมันแบบนี้ ได้เวลาที่
เราจะมานั่งคำนวนหาตัวอลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของรุ่น 1.8 LT กันแล้วละครับ

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 93.4 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.53 ลิตร…เอ่อ มันมากกว่ารุ่น Diesel ราวๆ 0.5 ลิตร เลยนะเนี่ย

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 14.30 กิโลเมตร/ลิตร

ตัวเลขออกมา นอกจากจะประหยัดกว่า Chevrolet Optra 1.8 LT 4AT เดิม (13.5 กิโลเมตร/ลิตร) ประหยัดกว่า Mitsubishi Lancer EX
ทั้ง 1.8 และ 2.0 ลิตร แถมยังทำได้ดีพอกันกับรถยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง Suzuki Swift 1.5 4AT และ Toyota Yaris 1.5 4AT (ทั้งคู่
อยู่ที่ 14.2 กิโลเมตร/ลิตร) เลยแหะ ฟังดูเหมือนกับว่าดี แต่ในขณะที่ชาวบ้านชาวช่อง เขาเริ่มทำตัวเลขความประหยัดได้มากกว่านี้แล้ว
ผมว่า GM ต้องทำการบ้านกับเครื่องยนต์สันดาปของตัวเองมากกว่านี้อีกสักหน่อยแล้วละ

********** สรุป **********
ขอเครื่องและเกียร์ ที่ไวกว่านี้อีกนิด และเบาะรองนั่งที่ปรับมุมเงยได้ แค่นี้ก็ประเสริฐแล้ว!

หลังจากใช้ชีวิตกับ Cruze ด้วยกันมา รวมทั้งสิ้น นานถึง 14 วัน กับรถ 2 คัน ซึ่งก็ถือว่านานกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่เคยนำมา
ทำรีวิวกัน หลายรุ่นอยู่ ทำให้ผมเริ่มแน่ใจในสิ่งที่ผมเคยคิดเอาไว้เกี่ยวกับ รถยนต์นั่งระดับ C-Segment ของ GM ที่ถือว่า
เป็นความหวังครั้งใหญ่ อันจะทำให้ GM กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้อีกครั้ง ในระหว่างใช้ชีวิตด้วยกัน ซึ่ง
มีบางเรื่องที่ผมยังคงคิดเห็นไว้เหมือนเดิม แต่มีบางประเด็นที่อยากเห็นการปรับปรุงเพิ่มเติม

ในรีวิวฉบับ Exclusive First Impression รายแรกในเมืองไทย ของ Cruze ที่เขียนไว้ตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2010 ผมได้ให้
คำจำกัดความ รถรุ่นนี้เอาไว้ว่า “หากเปรียบเป็นคน Cruze ถือเป็นชายหนุ่มในเมือง บุคลิกกลางๆ และแอบสุดโต่งใน
บางเรื่อง เข้ากับผู้คนได้ง่าย และมีของดีอยู่ในตัวเอง และถ้าจะเปรียบเทียบเป็นอาหาร ก็จะขอเทียบเป็น สเต็กเนื้อ
U.S New York เลยแล้วกัน เหตุผลก็เพราะว่า กลิ่นกิมจิ าก GM Daewoo มันเจือจางหายไปจาก Cruze จนเกือบหมด
มีบุคลิกที่เป็นสากลมากขึ้น ขับสนุกขึ้น สมราคามากขึ้น”

มาถึงวันนี้ ผมคิดว่า ความคิดของผม เปลี่ยนไปจากวันนั้น นิดหน่อย และผมมองเห็น Cruze ในมุมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ถ้าจะให้เปรียบ Cruze เป็นคน วันนี้ ผมคงจะต้องขอเปลี่ยนความคิด ไปจากเดิมสักหน่อย

ลองนึกภาพ ชายหนุ่มลูกครึ่งอเมริกัน เกาหลีใต้ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีบิดา เป็นคนอเมริกัน มารดา ยังคงทำงาน
อยู่ที่กรุงโซล เขายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย แถวๆ แคลิฟอร์เนีย ปีสุดท้าย ที่มีความคิดความอ่านดี มีรสนิยมที่ดี และมี
ความสามารถมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะ เป็นชอบเล่นกีฬา ชอบความสนุกท้าทาย แต่ในแง่ของการเป็นนักกีฬาทีม
มหาวิทยาลัยแถวๆ แคลิฟอร์เนีย แล้ว เขามีศักยภาพพอจะเป็น นักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติสหรัฐฯ ได้

เพียงแต่ เสียอยู่เรื่องเดียว เขามีปัญหาในเรื่องของการวิ่งข้ามเครื่องกีดขวาง ที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ต่อให้พยายาม
ฝึกซ้อมหรือแก้ปัญหายังไง เขาก็ทำได้ดีขึ้นแค่ในระดับหนึ่ง อันเนื่องมาจากปัญหาน้ำหนักตัวของเขาเอง ที่มากไป
นิดนึง

นั่นละครับ Cruze เป็นรถแบบนั้น!

ข้อดีของ Cruze ที่ทำให้ผมรู้สึกได้ ก็คือ ความพยายามของ GM ที่ตั้งใจทำรถยนต์ C-Segment ที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่
พวกเขาเคยทำมา ออกสุ่ตลาด ด้วยบุคลิกของรถขับสนุกกำลังดี ไม่ห่ามจนเกินควบคุม แต่ไม่น่าเบื่อหน่าย เหมือน
อย่างที่เคยเป็นมา การตอบสนองของช่วงล่าง และพวงมาลัย คือสิ่งที่วิเศษใช้ได้เลย Cruze เป็นรถที่จะแสดงศักยภาพ
และคุณค่าที่แท้จริงของมันออกมา ยามเมื่อคุณเริ่มพามันเข้าโค้ง ด้วยความเร็วที่เหมาะสม คือ เร็วกว่าปกตินิดๆ แต่
ไม่เร็วมากจนเกินไป คุณจะพบความสนุกในการพา Cruze เหวี่ยงเล่นลัดเลาะไปตามโค้งต่างๆ ถ้าคุณขับมันจน
คล่องมือ Cruze จะเป็นรถที่พาคุณหลบหลีกอันตรายได้ค่อนข้างดี..(แต่แค่หลบหลีกนะ ไม่ใช่หนีให้พ้นจากเหตุ
ในช่วงเวลานั้นได้ทันที)

ขอร้องเลยว่า สำหรับระบบกันสะเทือน และพวงมาลัย ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรอีกแล้ว ถ้าไม่มี Defect อะไร ได้โปรด
กรุณาอย่าไปแตะต้องมันอีก! บุคลิกของรถที่มีโครงสร้างและชิ้นส่วน หนัก วางทับลงไปบนช่วงล่างที่มีน้ำหนักเบา
ตอบสนองออกมาได้อย่างน่าพึงพอใจ อย่างที่ควรจะเป็น อย่างนี้แหละ บุคลิกที่ Cruze ควรจะเป็น มันลงตัวดีแล้ว

ยิ่งมาผนวกกับเรื่องงานออกแบบ ที่ดุร่วมสมัย และมีรสนิยมที่ดี มีเอกลักษณ์ให้จดจำเล็กน้อย ไม่น่าเบื่อจนเกินไป
เพียงเท่านี้ Cruze ก็ถือเป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นใหม่ของ Chevrolet ที่ดีที่สุด รุ่นหนึ่ง เท่าที่เคยมีการนำมาประกอบ
ขายในเมืองไทยได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ทำให้ผมยังไม่สามารถมองเห็น Cruze เป็นอื่นไปได้มากกว่านี้ ก็เพราะมันยังเหลือสิ่งที่ควรจะ
ปรับปรุงเพิ่มเติม อีกราวๆ 3 ประเด็นหลักๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงสำหรับคนของ GM แน่ๆ

ข้อแรกเลย “พละกำลังและการตอบสนองจากเครื่องยนต์” ผมอยากเห็นการตอบสนองที่ว่องไวของเกียร์
อัตโนมัติ 6 จังหวะ ลูกนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผมเซ็งเป็ดไปราวๆ 1 วินาที เศษๆ กว่าจะรู้ตัวว่าควรจะเปลี่ยนเกียร์
ลงต่ำให้ผม 1 จังหวะ ให้ผมเร่งแซงรถบรรทุกคันข้างหน้าได้ฉับไวกว่าที่เป็นอยู่ การทำงานของคันเร่ง
ไม่ได้ถึงกับช้า แต่ไอ้ที่ช้าหนะ คือ เกียร์ และการสั่งการของสมองกลเป็นหลักเลย เพราะอันที่จริง ตัวเลข
จากเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร มันน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกนิดหน่อย ไม่รู้ว่าถ้าจะจูนสมองกลเกียร์ ให้ทำงานได้
เร็วขึ้นกว่านี้อีกนิด มันพอจะมีทางเป็นไปได้หรือไม่?

ขณะเดียวกัน เครื่องยนต์ ดีเซล 2.0 ลิตร Turbo CommonRail บล็อกนี้ ซึ่งยังมีพละกำลังไม่มากพอ แถมยัง
มีเสียงดังกระหึ่ม ไม่ว่าจะจอดสงบนิ่ง หรือขณะขับขี่ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยขุมพลังใหม่ ซี่งจะถูกนำมาวาง
ใน Captiva ใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น คงต้องรอดูกันต่อไปอีกพักหนึ่งว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ที่จะ
เกิดขึ้น พอจะช่วยให้ Cruze 2.0 LTZ กลับมาสร้างความสนใจจนถึงขั้นทำให้ผมและตาแพน Commander
CHENG! ร้องกรี๊ดๆๆๆ กรูอยากได้ๆๆๆ กันหรือไม่?

ประเด็นต่อมาคือ เบาะนั่งขับ ถ้าเป็นไปได้ อยากจะขอให้ช่วยเพิ่มมือหมุนปรับมุมองศาการเงยของ
เบาะคนขับ และเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านซ้ายมาให้ด้วย จะช่วยแก้ปัญหานั่งไม่สบาย ขณะเดินทางไกล
ไปได้เยอะ ผมจะได้เลิกบ่นเรื่องเบาะนั่งเงยขึ้นมามากเกินไปเสียที

นอกนั้น ก็จะอยู่ที่ประเด็นเล็กๆน้อยๆ เช่นพวกตำแหน่งสวิชต์ชุดไฟหน้าที่เล็กไปหน่อย ตำแหน่งสวิชต์
ไฟฉุกเฉิน ที่ควรย้ายมาอยู่ใกล้มือ และใช้งานได้ทันท่วงทีกว่านี้ ฯลฯ ซึ่งได้คอมเมนท์ไปในรีวิวด้านบน
เรียบร้อยแล้ว

ดูเหมือนว่า Cruze จะมีจุดที่ควรปรับปรุงอยู่หลักๆ เมื่อมองในภาพรวม เพียงแค่ 3 ประเด็นนี้เท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงอยากจะรุ้ว่า หากต้องเปรียบเทียบ Cruze กับคู่แข่งแล้ว คันไหน เด่น คันไหน ด้อยกว่ากัน ตรงไหน?
และอย่างไร เราก็คงต้องยกขึ้นมากล่าวถึง โดยเรียงลำดับตามยอดขายของแต่ละรุ่น ในแต่ละเดือน ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Honda Civic ถึงตอนนี้ ผมก็คงต้องบอกกับคุณว่า “รอรุ่นใหม่เถอะ” ปลายปีนี้ ช่วง Motor Expo ก็น่าจะเปิดตัวได้ทันตาม
กำหนดการเดิมที่วางไว้ แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกับ Civic FD รุ่นปัจจุบัน เราก็คงเห็นแนวโน้มแล้วละว่า น่าจะไม่หนีไปจาก
รถรุ่นเดิมมากนัก

Toyota Corolla ALTIS หลังการปรับโฉม Minorchange มา ตอนนี้ Altis ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงข้อดีที่ชัดเจน ของมัน
นั่นคือ เครื่องยนต์ ที่ให้ทั้งความแรง และความประหยัดตีคู่มาด้วยกันได้ในระดับกำลังดี แถมยังมีชื่อชั้นของ Toyota
การันตีเรื่อง ความแพร่หลายของศูนย์บริการ ช่างซ่อม และอะไหล่ เพียงแต่มีสิ่งที่ยังด้อยอยู่บ้างก็คือ พวงมาลัยที่แม้
จะปรับปรุงแล้ว แต่ก็น่าจะหนืดกว่านี้อีกนิด ส่วนช่วงล่าง ถึงจะขับดีในการขับขี่ทั่วไป แต่ถ้าต้องเลี้ยวเข้าโค้งหนักๆ
เมื่อใด ก็ยังสู้คู่แข่งคันอื่นๆ ไม่ได้ แถมเกียร์ CVT นั้น ถ้าไม่ดูแลรักษาดีๆ ขับกระชากกระชั้น เกียร์มันจะทนไม่ไหว
กลับบ้านเก่าไปก่อนแล้วจะยุ่ง

Mazda 3 ใหม่ 2.0 ลิตร จุดขายของความเป็นรถที่ช่วงล่างดียังคงอยู่ แถมยังซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ภาพรวมในห้องโดยสาร เอาใจคนขับมากขึ้น ด้วยการออกแบบที่สวย เอาใจคนขับ และดูลงตัวมากๆ แต่ต้องทำใจ
กับอัตราเร่ง และความประหยัดน้ำมัน ที่ทำได้เท่าๆกับรุ่นก่อนนั่นแหละ แถมเสียงในห้องโดยสาร จากยางรถก็ดัง
ขึ้นมากวนอยู่บ้างเหมือนกัน (แต่ยังไม่เท่า Lancer EX)

Nissan TIIDA เครื่องยนต์ที่แรงและประหยัดในรุ่น 1.6 ลิตร และขนาดห้องโดยสารที่ยาวมาก นั่งเหยียดแข้งเหยียดขา
ได้สบายๆ คือจุดเด่นที่เหลืออยู่ของ TIIDA ผู้ซึ่งมีกำหนดตกรุ่น หมดอายุตลาด สำหรับรุ่น Latio Sedan ในช่วงสิ้นปีนี้
ตามด้วยรุ่น Hatchback ซึ่งจะยังลากขายกันจนถึงปลายปีหน้าอีกสักพัก

Mitsubishi Lancer EX ฉลามน้อยผู้น่าสงสาร การมีช่วงล่างดีกว่าใครในพิกัด รวมทั้ง เครื่องยนต์ ก็แรงไม่แพ้ใคร
ขับทางไกลสบายมากๆ กลับไม่ได้ช่วยให้มันขายดีอย่างที่คิดแต่อย่างใด คงเป็นเพราะความประหยัดที่ด้อยกว่า
ใครเพื่อน (มาตรฐานทดลอง แบบเดียวกันทั้งหมด) ขนาดปรับอุปกรณ์ เพิ่มพรีเซ็นเตอร์ และล่าสุด เพิ่มสีใหม่
คือสีน้ำตาล ยอดขายก็ยังอยู่ในระดับพอกันกับเดิม อาจเพราะความเป็นห่วงเรื่องบริการทั้งก่อนการขาย และ
หลังการขาย รวมทั้งการประกอบในบางจุด  แต่ที่สำคัญก็คือ รูปทรงที่เอาใจผู้ชายมากกว่าผู้หญิงชัดเจน นี่ละ
คือคำตอบสำคัญที่ทำให้รถขายไม่ค่อยดีเมือ่เทียบกับชาวบ้านเขา

Ford Focus เป็นรถที่ได้เครื่องยนต์ดี TDCi มาช่วย ทำให้หลายๆคนเริ่มกลับมาเมียงมองมันบ้าง ทั้งที่ช่วงล่าง
ไม่ขี้เหร่เลย การขับขี่ ก็ใช้ได้ ไม่เลวแน่ๆ แต่ถ้าลองถอดเครื่อง TDCi ออกไป ความน่าซื้อของรถรุ่นนี้ก็จะหายไป
พร้อมกันด้วย เพาะเบาะนั่ง คนขับยังดันแก้มก้นมากไปนิด และภายในห้องโดยสารที่คับแคบ อึดอัดไปหน่อย
รุ่นปัจจุบัน ใกล้ตกรุ่นแล้ว รอรุ่นใหม่ กลางปี 2012 ดีกว่า

แล้วถ้าตัดสินใจได้ว่า จะเลือกฝากชีวิตเอาไว้กับ Cruze คุณควรจะเลือกรุ่นไหนดี?

ฝ่าย Product planning ของ GM ใจดีใช้ได้ กับการปล่อยรุ่นย่อยของ Cruze ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือก มากถึง 7 รุ่นย่อย
ถือว่าเยอะมากเสียจนกระทั่งอาจทำให้หลายครอบครัว ตาลาย คิดไม่ออกว่า ควรจะเลือกรุ่นไหน หลังจากนั่งกางแค็ตตาล็อก
อ่านไปมา เปรียบเทียบสเป็กไปมา สิ่งที่ผมสรุปที่ได้ ออกมาดังนี้

1.6 LS Base 5MT ราคา 735,000 บาท รุ่นถูกสุด พื้นฐาน เท่าที่ดูแล้ว ก็มีอุปกรณ์มาให้ ในระดับเพียงพอเท่าที่จำเป็น ทั้ง
ระบบเบรค ป้องกันล้อล็อค ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรคอัตโนมัติ EBD ที่มีมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น
กุญแจรีโมทพับได้พร้อมระบบป้องกันการโจรกรรม Immobilizer พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำ วิทยุ- CD 1 แผ่น พร้อม
ระบบ Music Navigator พร้อม ช่องต่ออุปกรณ์เสริม (Auxiliary Port & USB มีให้ครบทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นถูกสุด) มีหน้าจอ
แสดงข้อมูล Graphic Information Display กระจกมองข้างปรับไฟฟ้า แต่พับมือ กระจกหน้าอัดซ้อนนิรภัย กระทะล้อ
เหล็กพร้อมฝาครอบล้อ ขนาด 16 นิ้ว ดูแล้ว สเป็กเกินกว่าจะเอาไปทำ รถ Taxi Meter อยู่เหมือนกัน

1.6 LS 4AT ราคา 814,000 บาท ถือเป็นรุ่นถูกที่สุดสำหรับใครที่อยากได้เกียร์อัตโนมัติ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ค่อนข้างคุ้ม
พวงมาลัยปรับระดับสูง-ต่ำ ก็เพิ่มให้สามารถปรับระยะ ใกล้-ไกล ได้ เพิ่มถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ 1 ใบ เปลี่ยนล้อมาเป็น
ล้ออัลลอย 16 นิ้วกระจกมองข้างปรับและพับเก็บด้วยไฟฟ้า พร้อมฮีตเตอร์ไล่ฝ้า  และเพิ่มสวิชต์ควบคุมเครื่องเสียง
บนพวงมาลัย ถ้าคิดว่า ยอมรับได้กับสมรรถนะ ที่อาจจะอืดกว่ารุ่นอื่นๆ และต้องการเพียงแค่รถรุ่นใหม่ ที่ใหญ่และให้
ของเล่นมามากกว่า Optra 1.6 ลิตร คันเดิม ผมว่ารถรุ่นนี้ก็เพียงพอ แต่ก็ยังไม่ใช่ทางเลือกระดับ Best Choice นัก

1.8 LS 5MT ราคา 845,000 บาท ต่างกันที่เครื่องยนต์กับเกียร์ ที่ยกระดับให้แรงขึ้น ส่วนออพชันต่างๆ เหมือนกับรุ่น
1.6 LS 4AT ทั้งหมด รวมทั้งถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ 1 ใบ แต่เพิ่ม ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP พร้อมระบบ
ป้องกันล้อหมุนฟรี หรือ Traction Control ดังนั้น สำหรับใครที่อยากได้รุ่น 1.8 ลิตร และต้องเป็นเกียร์ธรรมดา คุณมี
ทางเลือกนี้ เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น

1.8 LS 4AT ราคา 875,000 บาท ออพชันที่ให้มา เหมือนกับรุ่น 1.8 LS 5 MT นั่นละ แต่เปลี่ยนแค่เกียร์ธรรมดา เป็น
อัตโนมัติ 6 จังหวะ แค่นั้นเลย

1.8 LT 4AT ราคา 936,000 บาท เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ที่คุ้มมากที่สุดในกลุ่ม แต่ราคาก็แอบสูงไปหน่อย ถ้าคิดว่า
อยากได้อุปกรณ์เพิ่มจากรุ่น 1.8 LS ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย ที่เพิ่มฝั่งผู้โดยสารมาให้อีก 1 ใบ รวมเป็น 2 ใบ ระบบ
ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ (Autio Rain Sensor) ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ พร้อมระบบ Keyless Entry ระบบควบคุมความเร็ว
อัตโนมัติ Cruise Control ไฟหน้าเปิด-ปิด อัตโนมัติ (Auto Headlamps) พร้อมไฟนำทางเข้าบ้าน ค้างไว้ ตามแต่จะ
ตั้งเวลา เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ และพิเศษกับเซ็นเซอร์ถอยหลังจากโรงงาน พูดกันตามตรงก็คือ ถ้าเพิ่มเงินได้
หรือเมื่อคำนวนเงินผ่อนต่อเดือนแล้ว คิดว่าไหวอยู่ละก็ ยกระดับตัวเอง ขึ้นมาเล่นรุ่น 1.8 LT จะคุ้มกว่าในระยะยาว

1.8 LTZ ราคา 998,000 บาท ผมยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่คุณจะต้อง อัพเกรดขึ้นมาเล่นรุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์
1.8 ลิตร เท่าใดเลย เพราะสิ่งที่คุณจะได้รับเพิ่มมา มันมีแค่ ล้ออัลลอย 17 นิ้ว เบาะหนัง แผงหน้าปัด ก็บุด้วยหนัง จาก
เดิมที่เป็นผ้า และดูเหมือนว่า มีแค่นั้น

ส่วน 2.0 LTZ ราคา 1,165,000.00 บาท นั้น ถึงจะให้อุปกรณ์มาครบถ้วน ในทุกสิ่งที่คุณต้องการ แต่ ถ้าทนรำคาญกับ
เสียงเครื่องยนต์ ที่ดังกระหึ่มไม่ได้แล้วละก็ขอแนะนำว่า รอดู ปลายปีนี้ ในงาน Motor Expo หรือไม่ก็ ไม่เกินช่วง
ต้นปีหน้า เครื่องยนต์ Diesel รุ่นใหม่ จาก Captiva Minorchange จะถูกนำมาติดตั้งให้ใน Cruze 2.0 LTZ

ท้ายสุด…

ผมยังจำได้ว่า ในวันที่ผมส่งกุญแจของ cruze คืนให้กับ ตาบอย บนลานจอดรถ ตึกรสา ผมบอกกับตาบอยไปว่า

“อันที่จริง แบรนด์ Chevy ณ วันนี้ ตัวรถหนะ ถือว่าโอเคในระดับหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ เหลือแค่สิ่งที่ต้องแก้
ซึ่งมีอยู่เพียงแค่ งานบริการหลังการขาย ทำอย่างไรที่จะทำให้ลูกค้าเขารัก และประทับใจ จนทำให้กลับมา
เป็นลูกค้าที่มี Brand Royalty ในใจได้อีก แม้ว่าปัญหาที่มี ในวันนี้ เสียงบ่นจากลูกค้า อาจจะน้อยลงไปบ้าง
หรือเบาลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกฝ่ายจะนิ่งนอนใจได้ การปรับเปลี่ยน Attitude ในการมอง
ลูกค้า ว่าเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่รู้ในปัญหาของรถ หน้าที่ของเราคือต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา
อย่างจริงใจ อย่างเต็มใจ และไม่รู้สึกว่า เขานำปัยหามาให้เรา เพราะถ้าไม่มีลูกค้า คนทำรถ ก็จะอยู่ไม่ได้
สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ ให้เอาใจเขา มาใส่ใจเรา  การเริ่มต้นนั้น ไม่ยากเลย เริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนนี่ละ
แล้วค่อยๆกระจายไปยังทุกๆคนในทีม ในแผนก จนทั่วทั้งองค์กร ถ้าในเมื่อรักองค์กรกันแล้ว ก็ควรจะรัก
ให้ถูกทาง รักองค์กรในแบบที่ทำให้ลูกค้ารักแบรนด์ เหมือนับที่เรารักด้วย เพียงแค่นี้ Chevy ก็จะไม่เหลือ
ปัญหาอะไรน่าหนักใจอีกแล้ว”

พนักงานของ GM คนหนึ่งที่ยืนฟังอยู่ด้วยกัน ก็บอกกับตาบอยว่า “จดไว้นะ”

ผมอยากจะบอกว่า..ไม่ต้องจดหรอกครับ
เรื่องแบบนี้ มันควรจะอยู่ในจิตสำนึกกันตั้งแต่พื้นฐานของการเป็นพนักงาน GM

ตั้งแต่วันแรก ที่คุณต้องเดินทางไปอบรมกันถึงศูนย์การผลิตที่ระยอง แล้วละ!

———————————///————————————

ขอขอบคุณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท General Motors (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

บทความที่ควรอ่านเพิ่มเติม

รีวิวรถยนต์ในกลุ่ม Compact (C-Segment 1,600 – 2,000 ซีซี) คลิกที่นี่

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
26 กันยายน 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole
without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
September 26th,2011

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are welcome!…Click here!