ช่วง 2 ปีมานี้ แบรนด์รถยนต์ระดับพระรอง หรือตัวประกอบในตลาดรถยนต์บ้านเรา เริ่มมีสีสันใหม่ๆ ให้เห็น
กันมากขึ้น พวกเขาเริ่มทำการตลาดกันมากขึ้น เริ่มขยายมาทางโลก On Line มากขึ้น และนั่นก็ทำให้พวกเขา
กับผม ได้มีโอกาส พบกัน ตามแต่จังหวะแห่งโชคชะตาและฟ้าลิขิต ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่พวกเขาติดต่อมาเอง
หรือมีผู้แนะนำให้ผมได้ทำความรู้จักกัน

และ Kia ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์กลุ่มนี้….

ผมรู้จักกับ “พี่เต็น” PR ผู้อารี ของยนตรกิจ Kia Motor ตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็จำไม่ได้แน่ชัด น่าจะผ่านมาจากการส่ง
ข่าวสารมาทาง E-Mail สมัยที่ผมยังทำอยู่ที่เว็บเก่า เจอกันตามงาน Motor Show เราเริ่มมีโอกาสคุยกันบ้างนิดๆ
หน่อยๆ หลังจากนั้น เราก็ไม่ใช่คนหน้าแปลก…เอ้ย!….แปลกหน้ากันอีกต่อไป

ในงาน Motor Show ครั้งล่าสุด ผมมีโอกาส พบพี่เต็น กับ คุณอารยะ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อีกท่าน ใน ยนตรกิจ Kia Motor
เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี และน่ารักมาก มีความรู้ต่างๆมากมาย แบ่งปันกันได้ไม่รู้จบ จากประสบการณ์ในวงการรถยนต์
บ้านเรา น่าจะเกิน 30 ปี เสียด้วยซ้ำ เราคุยกันดี และผมก็เริ่มมองว่า เมื่อไหร่หนอ เราจะได้มีโอกาส ทำรีวิว รถยนต์
แบรนด์อันดับ 2 จากเกาหลีใต้ กันเสียที

วันนี้ ในที่สุด Kia คันแรกในชีวิต ที่เราจะทำรีวิวให้คุณอ่าน มันก็มาอยู่ในมือของผมเรียบร้อย…..

ครับ อยู่ในมือจริงๆ แต่หมายถึง รถคันข้างหลังนะ ส่วนเจ้าคันกระเปี๊ยกนี่ ผมซื้อมาจาก สำนักงานใหญ่ของ
Hyundai – Kia Automotive group ที่กรุง Seoul เกาหลีใต้ เมื่อ กรกฎาคมที่ผ่านมา ราคา ไม่แพงเลย แค่เพียง
10,000 วอน หรือ 300 บาท โดยประมาณเท่านั้นเอง!!

ผมรอเวลามานานแล้ว ที่จะได้สัมผัส รถยนต์ Kia ยุคใหม่ ซึ่ง พลิกโฉมหน้าไปจาก Kia รุ่นเก่าๆ ก่อนปี 2008
กันอย่างสิ้นเชิง Kia ในแบบที่ผมเห็นแล้ว กรี๊ดดดดดด สลบ! ไม่คิดมาก่อนว่า พวกเาจะกล้าทำรถยนต์ออกมา
ได้ฉีกแนวมากมายขนาดนี้ แถมสวยเฉียบ น่าใช้แทบทุกรุ่นอีกต่างหาก…วันนี้ ความคิดของผม ก็เป็นจริงขึ้นมา

เพราะหลังงาน Bangkok International Motor Show วันที่ 24 มีนาคม 2010 อันเป็นงานแรกที่ Kia Soul ออกสู่
ตลาดเมืองไทย มาจนถึงวันนี้ ล่วงเลยเกินกว่า 1 ปี สารภาพเลยว่า ผมเห็น Kia Soul บนถนนเมืองไทย เพียงแค่
2-3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งก็ชวนให้สงสัยว่า ตกลงแล้ว ไม่มีใครอุดหนุนมาใช้งานเลยสักคนเชียวหรือ? ผมว่า นั่นก็คงไม่ใช่

รถก็สวยนะ แต่ทำไมคนไม่ค่อยซื้อมาขับกันเท่าไหร่? เป็นที่แบรนด์ ยังไม่แข็ง? ชื่อชั้นของยนตรกิจที่คนยังกลัว
หรือ อะไรกันแน่….

เรามาหาคำตอบกันดีกว่า….

แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับแบรนด์ Kia โดยย่อๆ กันเสียก่อน !

Kia Motors Corporation (KMC) ก่อตั้งขึ้นในปี 1944 และถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ซึ่งเก่าแก่ที่สุด
ถือกำเนิดจากการเป็นผู้ผลิตจักรยานในท้องถิ่นชานกรุง Seoul สู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของเกาหลีใต้
ชื่อของ KIA นั้น มาจาก การนำตัวอักษรคำว่า Ki ในภาษาจีน ซึ่งแปลว่า “กำเนิด หรือ ก้าวออกพ้นจาก” และ
ตัวอักษร A ซึ่งหมายถึง ทวีป Asia ดังนั้น ชื่อ KIA จึงหมายถึง “การถือกำเนิดจากเอเซีย” อีกนัยหนึ่ง อาจ
แปลได้ในเชิงว่า “จาก เอเซีย ก้าวสู่เวทีระดับโลก” นั่นเอง


ปัจจุบัน พนักงงานกว่า 42,000 คน ในสำนักงานใหญ่ ที่ตึกแฝด (ใช้ตึกร่วมกับ Hyundai Motor) แถบริมขอบ
กรุง Seoul และโรงงานทั้ง 13 แห่ง ใน 8 ประเทศ ร่วมกันผลิตรถยนต์ Kia มากถึง 1.5 ล้านคัน/ปี ส่งออกไป
ทำตลาดผ่านเครือข่ายผู้จำหน่าย และบริการหลังการขาย ในกว่า 172 ประเทศทั่วโลก มีสโลแกนใช้ในงาน
โฆษณาล่าสุดที่ว่า “The Power to Surprise” นอกจากนี้ Kia เป็นผู้ผลิตยานยนต์ เพื่อการทหาร รายใหญ่ของ
เกาหลีใต้ มาตั้งแต่ปี 1976 อีกด้วย

ส่วนคำถามที่ว่า แล้วความสัมพันธ์กับ Hyundai ละ เห็นว่าตกไปเป็นของ Hyundai แล้วนี่นา? ข้อเท็จจริงมีดังนี้

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทั่ว Asia ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 1997 Kia Motor ประสบปัญหาการเงินอย่างมาก จน
จวนเจียนจะล้มละลาย หลังพยายามแก้ปัญหามาทุกวิถีทาง ในปี 1999 จากสภาพปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้
Hyundai Motor เข้ามายื่นมือช่วยเหลือด้วยวิธี ซื้อหุ้น เพื่อเข้าควบรวมกิจการกัน และเปลี่ยนชื่อใหม่ กลายเป็น
กลุ่มบริษัท Hyundai-Kia Automotive Group มาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งลดทอนสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือเพียงแค่
ร้อยละ 34 แล้ว และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ลดระดับเหลือเพียง การใช้ทรัพยากรด้านการออกแบบ วิจัย และ
พัฒนาร่วมกัน ณ ศูนย์ วิจัยเทคโนโลยี Hyundai-Kia Automotive ที่ Namyang รวมทั้งใช้พื้นที่ของตึกแฝด หรือ
อาคารสำนักงานใหญ่ในกรุง Seoul ร่วมกัน แต่ในด้านการผลิต การทำตลาด การขาย การบริการหลังการขาย จะ
ถูกแยกออกจากกัน ปราศจากความเกี่ยวเนื่องกันโดยแทบจะสิ้นเชิง

ส่วนในเมืองไทย Kia เคยถูกนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970  ในยุคนั้น ผู้จำหน่าย
Kia Brisa และ รถกระบะ Kia ซึ่งก็คือ Mazda Familia Sedan และ Pickup นั่นเอง อย่างไรก็ตาม พวกเขา
ก็หายไปตามกาลเวลา จนยากจะหาข้อมูลที่แน่ชัดมาเขียนประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง

ในปี 1995 กลุ่มพรีเมียร์ ไปเจรจาตกลงกับทาง Kia Motor เป็นผู้นำเข้ารถยนต์แบรนด์นี้ จากเกาหลีใต้ มาเปิดตลาด
ในเมืองไทย เป็นครั้งที่ 2 และ ถือว่าเป็นการบถุกตลาดอย่างจริงจัง เพราะในปีแรกที่พวกเขาเริ่มทำตลาดกันเต็มปี
(1996) Kia ทำยอดขายไปได้ มากถึง 2,640 คัน แบ่งเป็น Kia Sportage 2,429 คัน และรถเก๋งขนาดเล็ก Kia Sephia
211 คัน กลับกลายเป็นว่า ผิดจากความคาดหมาย เพราะตอนแรก พวกเขาคาดหวังกับ Sephia มาก การณ์กลับกลาย
เป้นว่า Sportage ขายได้เยอะกว่า เนื่องจาก ยังไม่มี รถยนต์ SUV ขนาดเล็กในบ้านเราในตอนนั้น Kia เข้ามา
เปิดตลาดนี้เอาไว้พอดี จึงได้รับความนิยมมาก

กลุ่มพรีเมียร์ เลยปรับตัว เน้นการทำตลาด Sportage เป็นหลัก พร้อมเตรียมแผนส่งรถใหม่เข้ามาทำตลาด แต่ด้วย
ยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 1997 นั้น ต่ำเตี้ยเรี่ยพื้น Sportage ขายได้แค่ 634 คัน โดยเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา ราวๆ
373 คัน เกียร์อัตโนมัติเพียง 261 คัน (เพราะรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ที่ตามมาเสริมทัพภายหลังนั้น มีค่าตัวสูงมาก เมื่อ
เทียบกับคู่แข่งที่เข้าสู่ตลาดในช่วงนั้นพอดี อย่าง Honda CR-V รุ่นแรก ลูกค้าก็หนีไปซื้อ CR-V กันเยอะ ทำให้
Kia สูญเสียตำแหน่งผู้นำคตลาดไป 

ยิ่งสถานการณ์บริษัทแม่ สุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ สารพัดแผนการนำเข้ารถใหม่ มาขาย หรือ
แผนประกอบรถในเมืองไทย ต้องพับเก็บเข้าลิ้นชักกันไว้สถานเดียว และเมื่อทุกอย่างสายเกินแก่ กลุ่มพรีเมียร์
ก็ได้แต่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ถอยฉากออกมาด้วยความเสียดายยิ่ง

วันที่ 26 สิงหาคม 1999 หลังจากที่กลุ่มยนตรกิจ ซุ่มเงียบ เจรจากับ Kia Motor corporation  เกาหลีใต้ มาตั้งแต่
ครึ่งปี 1999 ก็ประสบความสำเร็จ ในการเจรจาขอเป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายรถยนต์ Kia ในเมืองไทย โดยมีการ
จัดตั้ง บริษัท ยนตรกิจเกียมอเตอร์ จำกัด เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว เท่ากับว่า สิทธิ์ในการทำตลาดรถยนต์ Kia ได้ย้ายมา
อยู่ในมือของกลุ่มยนตรกิจเรียบร้อย ถือเป็นการกลับมาครั้งที่ 3 ของ Kia Motor ในเมืองไทย และเพื่อเป็นการ
ประกาศอย่างเป็นทางการ พวกเขาได้นำรถยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น Enterprise (Mazda Sentia รุ่นสุดท้ายมาแปลง
รายละเอียดสำหรับตลาดเกาหลีใต้โดยเฉพาะ) , J7 Military, Carens และรถยนต์สำหรับทำตลาดจริง 3 รุ่น ได้แก่
Grand Sportage, Sportage และรุ่น Carnvial ในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 16 เดือนธันวาคม 1999

แล้ว Kia SOUL ถือกำเนิดมาได้อย่างไร?

อย่างที่คุณผู้อ่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่า 10 กว่าปี ก่อนหน้านี้ ภาพลักษณ์รถยนต์เกาหลีใต้ ในสายตาผู้บริโภค
ทั่วโลกมันเป็นอย่างไร ก็แค่รถดีสมราคาที่ประหยัดกว่ารถญี่ปุ่นนิดหน่อย พอขับใช้งานไปไหนมาไหนได้
แต่ถ้าจะหาความสวย ความเท่ ให้สาแก่ใจต่อการจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของ บอกได้เลยครับ ยาก!! ฝันไปเหอะ!!

ผู้บริหารของ Kia เองก็มองเรื่องนี้มาตลอด ด้วยความรู้สึกว่า กรูอยากจะเปลี่ยนความคิดคนทั้งโลกในเรื่องนี้
เสียเหลือเกิน เพราะสิ่งที่จะทำให้ Kia กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในมุมมองใหม่ซึ่งแตกต่างไปจากภาพลักษณ์
ดั้งเดิมของตนเอง ได้นั้น พวกเขาจำเป็นต้องมีรถยนต์สักรุ่นหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นมากพอจะ
เรียกความสนใจจากสายตาของผู้คนที่เดินผ่านไปมาบนท้องถนน ถึงขั้นต้องหันเหลียวหลังกลับมามองอีก
สักครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่า รถที่พวกเขาเพิ่งเห็นไปนั้น เป็นรถยนต์เกาหลีใต้ยี่ห้อ Kia

ขณะเดียวกัน รถคันนี้ต้องไม่ใช่แค่ปฏิมากรรมติดล้อราคาแพง หากแต่ มันต้องตอบโจทย์ความต้องการของ
ลูกค้ากลุ่ม GEN Y (อายุ 29 – 35 ปี ในตอนนี้) ซึ่งมองหารถยนต์ที่สามารถจะใช้งานในชีวิตประจำวัน และ
ตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย ได้อย่างอเนกประสงค์ แถมยังสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตน
ของเจ้าของรถได้ ด้วยเส้นสายที่เอื้อต่อการนำไปตกแต่งภายนอกต่ออย่างไร้ข้อจำกัด ทั้งหมดนี้ ต้องรวม
อุปกรณ์ครบครัน แถมฟังก์ชันเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้องมาในราคาที่ถูกพอให้ใครต่อใครก็ได้จับจองเป็น
เจ้าของกัน

คนที่คิดการณ์จะพลิกแบรนด์ Kia ด้วยงานออกแบบที่เด็ดหัวใจผู้คน ยังไม่ใช่ Peter Schreyer อดีตนักออกแบบ
จาก Volkswagen และ Audi ผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้มาคุมงานออกแบบของ Kia ในช่วง 3-4 ปีมานี้ แม้ว่า ความโดดเด่น
ของเขา ต้องถือว่าอยู่ในระดับน้องๆ Chris Bangle อดีต Chief Designer ของ BMW (ที่ตอนนี้ เข้าไปร่วมงานกับ
Samsung แล้ว) เลยทีเดียว ก็ตาม หากแต่ จริงๆแล้ว คนที่คิดเริ่มต้นโครงการ Kia Soul นั้น กลับเป็นหัวหน้าทีม
ออกแบบของ Kia North America Design Center ใน California เขามีชื่อว่า Tom Kearns ชายคนนี้แหละ ที่ใช้
ความถนัดด้านการออกแบบ อันเป็นพรสวรรค์ของเขา นำพาให้ Kia ก้าวพ้นจากความเป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์
ธรรมดาๆ สู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก สมชื่อบริษัทซะที!

ทีมออกแบบของ Tom เป็นตัวตั้งตัวตีในการเริ่มโครงการพัฒนา Soul โดยพวกเขา เริ่มสร้างโครงการกันก่อน
จนกระทั่ง Peter Schreyer เข้ามาร่วมงานกับ Kia ก็ได้มาร่วมงานกับทีมออกแบบที่เกาหลีใต้ เพื่อสร้างสรรค์
รถยนต์ ที่เต็มไปด้วยความต้องการและความคาดหวังรุ่นนี้ ภายใต้ธีมการออกแบบ “Utility & Music” โดยใช้
แนวเส้นหลังคาคู่หน้า A-Pillar คาดด้วยแถบสีดำ จาก รถต้นแบบ Kia Mesa (Detroit Auto Show 2005) 
ส่วนภายในห้องโดยสาร ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก งานออกแบบของชุดเครื่องเสียงชั้นดี 

15 ธันวาคม 2005 Kia ปล่อยภาพ Sketch ของ รถต้นแบบ Kia Soul (KND-3) ออกมาเป็นครั้งแรก ก่อนจะส่ง
ลงเรือ ไปเปิดผ้าคลุมครั้งแรกในโลก ณ งาน NAIAS (North America International Motor Show) หรือที่รู้จัก
กันในชื่อ Detroit Auto Show งานแสดงรถยนต์รายการแรกประจำแต่ละปี เมื่อ 9 มกราคม 2006

เวอร์ชันต้นแบบของ Soul มีความยาว 4,040 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,850 มิลลิเมตร สูง 1,620 มิลลิเมตร ระยะ
ฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร สวมล้ออัลลอย 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 245/45R20 วางเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC
16 วาล์ว 2,000 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมด บวกลบ ขับเคลื่อนล้อหน้า และมีระบบควบคุม
ความเร็วคงที่และเว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้า Adaptive Cruise Control บานประตูเป็นแบบตู้กับข้าว
ปราศจาก เสาหลังคากลาง B-Pillar

จากการทำสำรวจวิจัวยพบว่า มากกว่า ร้อยละ 70 ของผู้เข้าร่วมการประเมิน พบว่า Soul ดึงดูดใจต่อผู้พบเห็น
ความคาดหวังในการซื้อสูงถึงร้อยะ 30 จากร้อยละ 51

หลังจากทำการวิจัยความต้องการของลูกค้าจนได้ข้อมูลมากพอแล้ว วันที่ 4 เมษายน 2007 Kia ก็ประกาศว่า
จะนำ Soul เข้าสู่สายการผลิตจริง ในฐานะรถยนต์รูปแบบ CUV (Cross Over Utility Vehicle) ขนาดเล็ก
นั่นหมายความว่า จากเวอร์ชันต้นแบบ ทีมงานของ Kia จะต้องเริ่มพิจารณาถึงการปรับปรุง Soul ให้เหมาะ
กับการผลิตจำหน่ายจริง ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุน และข้อจำกัดต่างๆมากมาย รวมถึงปัญหาต่างๆที่ลูกค้า
อาจต้องเจอเมื่อใช้งานจริง

ตัวอย่างเช่น งานออกแบบบั้นท้าย มีลักษณะคล้ายกับเป้ Backpack เพื่อให้ถูกใจลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น แนวคิดนี้
ปรากฎขึ้นครั้งแรก บนงาน Sketch ในช่วงเริ่มต้นการออกแบบ ของ KND-3 อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงขั้นตอน
แปลงรถต้นแบบให้พร้อมผลิตขายจริง แนวคิดนี้ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกัน เนื่องจาก มันมีผลต่อการออกแบบ
ฝาประตูห้องโดยสารด้านหลัง และอาจก่อปัญหาด้านเสียงรบกวนจากกระแสลมที่หมุนวนด้านท้ายรถ ดังนั้น
รูปแบบเป้ Backpack จึงถูกยกออกไปด้วยเหตุผลด้านคุณภาพ และความเหมาะสมในการทำตลาด อย่างไรก็ดี
ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ก็ถูกปรับปรุงให้มีบุคลิก คล้ายกับเป้ Backpack เป็นการทดแทน เพื่อให้รถดู
ทะมัดทะแมง มีบุคลิกสปอร์ตมากขึ้น หรือแม้แต่ ประตูห้องเก็บของด้านท้ายแบบ Multi-Folding แยกชิ้น
กระจกบังลมเปิดขึ้นข้างบน

ส่วนบานประตูครึ่งท่อนล่าง เปิด – ปิด แบบรถกระบะ เหมือนใน Honda Civic EG 3 ประตู ก็ต้องถูกแทนที่ด้วย
บานฝากระโปรงหลังยกขึ้นสูงแบบมาตรฐานแทน เนื่องจากถ้าต้องผลิตแบบแยกชิ้นกัน บานประตู Multi-Fold
จะแพงกว่า แบบมาตรฐานพอสมควร

ไม่เว้นแม้แต่ การเคลือบสีดำ บริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar บริเวณ รอยต่อของบานประตูคู่หน้า กับประตู
คู่หลัง ที่ซ่อนเสาหลังคากลาง B-Pillar เอาไว้ ซึ่ง จะทำให้ต้นทุนการผลิตของตัวรถสูงขึ้น แต่ทีมออกแบบยัง
ยืนกรานว่า จำเป็นต้องทำ เพื่อให้รถดูสวยงามลงตัว และสะท้อนบุคลิกทั้งหมด ตามที่ทีมออกแบบตั้งใจให้
ผู้คนได้พบเห็น เกิดความชื่นชอบ ในที่สุด ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ยินยอมตามทีมออกแบบในที่สุด

หรือจะเป็นเรื่องที่เลยเถิดไปไกลอย่างเช่น ประเด็นที่ว่า Kia ยังเคยคิดที่จะทำ Kia Soul ในรูปแบบตัวถัง 2 ประตู
พร้อมกระบะหลัง 4 ที่นั่ง พร้อมหลังคาเปิดโล่งได้ เพื่อการพักผ่อน แบบที่เห็นแล้ว ชวนให้คุณนึกถึง รถสำหรับ
พักผ่อนริมชายหาด อย่าง Jeep Wrangler , Suzuki Jimny / Samurai และ Isuzu MU / Amigo  โดยทำออกมาเป็น
รถต้นแบบในชื่อว่า Kia SOUL’ster จัดแสดงในงาน Detriot Auto Show เมื่อ 11 มกราคม 2009 (หลังการเปิดตัว
เวอร์ชันจำหน่ายจริงของ Soul ไปแล้ว พักใหญ่ๆ) อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายว่า รถคันนี้จะไม่ถูกนำมาผลิตขายจริง
ในท้ายที่สุด

เหตุผลก็คือ ถึงแม้ Soul จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ตลาดกลุ่มนี้ ยังถือเป็นเพียงตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ
Niche Market ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กทั้งหมด ในเชิงธุรกิจ
การจะเพิ่มทางเลือกตัวถังใหม่ จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน Orth Hendrick ตำแหน่ง
Director ของฝ่าย Product planning ของ Kia Motor กล่าวว่า ถ้าคิดจะทำ SOUL’ster ออกขายจริงๆ ก็ต้องพัฒนา
ขึ้นมาเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ แยกต่างหากไปเลย อีก 1 รุ่น เนื่องจากโครงสร้างของรถ แตกต่างไปจาก Soul 5 ประตู
แทบทั้งคัน ใช้ชิ้นส่วนทดแทนกันได้น้อยมากๆ

อีกเรื่องที่สำคัญ นั่นคือ การเฟ้นหาสีตัวถังที่โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย Kia ใช้ทั้งวิธี พุดคุยกับกลุ่มลูกค้าขณะ
วิจัยตลาด (Focus Group) และการสร้างชุดแบบสอบถาม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Kia ได้
แสดงความคิดเห็น โดยใช้พื้นฐานจากรถต้นแบบ SOUL เพียงระยะเวลา 1 เดือน มีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถาม
รวมกว่า 23,000 คน พวกเขาต่างมีอายุ เพศ และรสนิยมอันหลากหลาย แต่เมื่อนำมาสรุปภาพรวมแล้ว ข้อมูล
ที่ค้นพบก็คือ สีส้ม เป็นสีที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ขณะที่สีน่าเบื่อๆ จำพวก ขาว ดำ เงิน เทา กำลังจะเสื่อม
ความนิยมไป สะท้อนให้เห็นว่า สีที่ผู้บริโภคต้องการจะพบเห็นใน Kia Soul คันจำหน่ายจริง จะต้องเป็น
สีที่สร้างแรงดึงดูดใจในระดับสูง และควรเป็นสีที่มีพื้นฐานจากเฉดสีแนวสดๆ

นอกจากนี้ ชื่อของสีเหล่านี้ ที่จะถูกใช้ในการโปรโมท บนแค็ตตาล็อก หรือการพูดแบบปากต่อปากจากบรรดา
พนักงานขาย ก็ต้องถูกนำมาขบคิดพิจารณา เพื่อหาชื่อเรียกที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าประเภท young-at-heart ซึ่ง
เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักสำหรับ Kia Soul แรงบันดาลใจที่ได้มาจากเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคโปรดปราน ทำให้
เราได้เห็นสีตัวถังแปลกๆแบบที่ไม่ค่อยได้พบเจอในรถยนต์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว Green tea latte สีครีม
vanilla shake และสีส้ม cocktail orange

เพียง 4 ปีหลังจากผ่านขั้นตอนการวิจัยและพัฒนารวมทั้งการทดสอบต่างๆ Kia ก็เปิดตัว SOUL อย่างยิ่งใหญ่ใน
กรุง Seoul เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2008 ตามด้วยการเปิดตัวระดับ World Premier สำหรับตลาดโลก และยุโรป
ที่งาน Paris Auto Salon เมื่อ 2 ตุลาคม 2008 ก่อนส่งไปเปิดตัวที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 พฤษจิกายน 2008

สำหรับเมืองไทย ยนตรกิจ Kia Motor พยายามเจรจา เพื่อเตรียมเปิดตลาด นำเข้ารถรุ่นนี้มาขายในบ้านเรา
เป็นเวลานานพอสมควร กว่าที่ Kia จะพร้อมสั่งรถพวงมาลัยขวา เข้ามาเปิดตัวในบ้านเราอย่างเป็นทางการ
ณ งาน Bangkok International Motor Show วันที่ 24 มีนาคม 2010

Kia Soul มีตัวถังที่ยาว 4,105 มิลลิเมตร กว้างถึง 1,785 มิลลิเมตร (โอ้! กว้างกว่าที่คิดนะเนี่ย และจะว่าไปแล้ว
เจ้าเนี่ย ก็กว้างกว่า รถยนต์นั่ง Sedan พิกัด Compact Class C-Segment หลายๆรุ่นเลยทีเดียว) สูงถึง 1,610
มิลลิเมตร (ถ้ารวมแร็คหลังคาเข้าไปด้วย ก็จะถือว่ามีความสูงที่ 1,661 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,550 มิลลิเมตร
ถือว่ายาวเท่ากันกับ ระยะฐานล้อ ของทั้ง Honda City ใหม่ และ Toyota vios รุ่นปัจจุบัน)

ส่วนน้ำหนักตัวรถนั้น ถ้าเป็นเพียงรถเปล่าๆ รวมคนขับ (ประมาณ 70 กิโลกรัม ตามมาตรฐานการวัดของยุโรป)
จะมีน้ำหนักตัวรถเปล่าอยู่ที่ ระหว่าง 1,190 – 1,274 กิโลกรัม แต่ถ้ารวมน้ำหนักของเหลว ผู้โดยสารครบ 5 ที่นั่ง
และบรรทุกสัมภาระเต็มพิกัดแล้ว น้ำหนักตัวจะอยู่ในระดับ 1,700 กิโลกรัม…ซึ่งก็แอบหนักกว่าที่คิดไว้นิดหน่อย

จุดเด่นของเส้นสายตัวถังใน SOUL นั้น มีด้วยกัน 4 จุด ตั้งแต่ แนวเส้นหลังคา ที่เริ่มต้นจาก เสาหลังคาคู่หน้า
A-Pillar เคลือบด้วยสีดำ ช่วยเพิ่มแนวเส้นต่อเนื่องให้กับกระจกบังลมหน้า ลากยาวและค่อยๆ ลาดเอียง เทลง
ไปยังเสาหลังคาคู่หลังสุด C-Pillar ที่ดูหนา ใหญ่ ในลักษณะ Wrap Around คล้ายกับ Lancia Stratos รุ่นเก่า
หรือ Mazda Savanna RX-7 รุ่นแรก รหัส SA22C ปี 1978

กระจังหน้าเป็นงานออกแบบที่เรียกว่า Tiger Nose ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของ รถยนต์ Kia หลังปี 2008
เป็นต้นมา ไฟหน้าเป็นแบบ พื้นดำ Black Bezel Headlamp และมีไฟเลี้ยว แยกชิ้นลงมาอยู่ใต้ไฟหน้าทั้ง
2 ฝั่ง เปลือกกันชนหน้า นอกจากจะเป็นสีเดียวกับตัวรถแล้ว ยังเพิ่มงานดีไซน์กันชนพลาสติกสีดำ คล้าย
โครงเหล็กแบบ Off-Road ในสมัยก่อน

ด้านข้างมีไฟเลี้ยว เหนือซุ้มล้อคู่หน้า ออกแบบให้อยู่ในพื้นที่ช่องตาข่ายหลอกๆสีดำ ขึ้นรูปจากพลาสติก
เน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีคิ้วกันกระแทกสีดำ แปะมาให้ที่ประตูทั้ง 4 บาน ซึ่งถือเป็น
สิ่งที่ผมยังถือว่า จำเป็นที่บริษัทรถยนต์ในบ้านเรา น่าจะแปะมาให้กับลูกค้าเหมือนอย่างสมัยก่อนตามเดิม
เหตุผลก็เพราะว่า เรามักต้องเจอ พวกมักง่าย จอดรถชิดเบียดกับเราราวกับว่าอยากจะให้รถของเขา แต๊ะอั๋ง
ถูกเนื้อต้องตัวกับรถของเรา ซึ่งจะทำให้รถของเราเกิดลักยิ้มกันขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นประจำ แล้วที่
เลวร้ายคือ คนมักง่าย ไร้สามัญสำนึกต่อคนอื่นนี้ ดันพบได้เยอะ ตามห้างสรรพสินค้า แหล่งช้อปปิง หรือ
สถานที่สาธารณะโดยทั่วไปอยู่มาก คิ้วกันกระแทกพวกนี้ จะดีมาก ถ้าทำจากสีดำ และไม่ทำให้เกิดรอย
บนตัวถังใดๆ

บั้นท้าย อย่างที่ได้บอกไปว่า ออกแบบในสไตล์คล้ายกับ เป้ Backpack มีไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ ติดมาให้
ด้านบนสุด ของกระจกบังลมหลัง มือจับเปิดห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง เป็นสวิชต์ไฟฟ้า แบบ One Touch
ใช้ระบบกลอนไฟฟ้า ช่วยล็อก ไฟท้ายก็ยังมีพื้นรอบกรอบเป็นสีดำ รายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆน้อยที่เห็น
ช่วยทำให้เส้นสายของตัวรถ ยิ่งดูคมชัด เด่นสะดุดตายิ่งขึ้น

ที่สำคัญ SOUL เป็นรถยนต์แบบแรกในกลุ่มตลาดเดียวกันนี้ ที่ติดตั้งล้ออัลลอย 18 นิ้ว สวมเข้ากับยางขนาด
225/45 R18 มาให้จากโรงงาน ทุกคัน! ซึ่งถือเป็นความต้องการของทีมออกแบบอยู่แล้ว เพื่อเสริมให้ SOUL
มีบุคลิกเฉพาะตัวอันโดดเด่น แตกต่างจากรถยนต์ทุกคันบนท้องถนน

การเข้า – ออก จากห้องโดยสาร ทำได้โดยใช้กุญแจ พร้อมรีโมทคอนโทรล Keyless Entry ซึ่งแยกกุญแจกับ
รีโมทสั่งล็อก – ปลดล็อก ออกจากกัน นั่นหมายความว่า การติดเครื่องยนต์ จะยังต้องใช้วิธีเสียบกุญแจเข้ากับ
ช่องรับที่คอพวงมาลัย เหมือนรถยนต์ทั่วไป ในรุ่นใหม่ของ Soul มีการเปลี่ยนมือจับประตู จากแบบงัดขึ้น
กะโหลกกะลา เหมือนรถญี่ปุ่น อายุ 15 ปีก่อน กลายมาเป็นแบบมือจับ Grip Type ร่วมยุคสมัยกันเสียที

เมื่อเปิดประตูคู่หน้าเข้าไป คุณจะไม่พบปัญหาในการเข้าออกจากเบาะคู่หน้าของรถคันนี้แน่ๆ เพราะบานประตู
เปิดได้กว้าง และ ช่องทางเข้า – ออก ก็ใหญ่โตอลังการ พอกับ Nissan Cube เจเนอเรชัน 2 และ 3 เลย
แผงประตูด้านข้าง ตกแต่งด้วยหนัง และมีพื้นที่วางแขน ซึ่งวางได้พอดีมากๆ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการ
วางแขนของหลายๆคนแน่ๆ แถมยังมีช่องใส่สมุด หนังสือ และวางขวดน้ำขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

ตำแหน่งเบาะคู่หน้า ค่อนข้างสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปชัดเจน แทบจะอยู่ในระดับเดียวกับ MPV แต่เมื่อเปิดประตูรถ
ก็แค่หย่อนก้นลงไปนั่ง สะบัดขาขึ้นไปวางบนพื้นรถ ก็ลงตัวพอดี

เบาะนั่งคู่หน้า ให้สัมผัสที่คุ้นเคยกับแผ่นหลังของผมมากมาย เหมือนเพิ่งจะพบกันมาแล้วใน Hyundai Tucson
พนักพิงหลังมีโฟมที่ค่อนข้างนุ่ม พอนั่งลงไป แผ่นหลังก็จะจมบุ๋มลงไปนิดๆ ขณะที่เบาะรองนั่ง ผมถือว่าสอบผ่าน
เพราะมีพื้นที่รองรับยาวถึงขาพับของผมพอดี  แต่สำหรับคนที่ขายาวกว่าผม อาจต้องลองนั่งก่อน เพราะน่าจะสั้น
ไปนิดนึง เรื่องเบาะรองนั่ง ผมว่าไม่ใช่ปัญหาครับ นุ่มกำลังดี

เบาะนั่งฝั่งคนขับ จะมีก้านปรับระดับสูง – ต่ำ (Seat Height Adjuster) มาให้ด้วย ซึ่งอันที่จริง ผมว่า ปรับตำแหน่ง
เบาะให้อยู่ในระดับต่ำสุดอย่างที่ผมทำอยู่นี้ ตำแหน่งนั่งขับ ก็สูงมากพออยู่แล้ว สิ่งที่ขอชมก็คือ มีที่วางแขนแบบ
ยกขึ้นเก็บได้ เหมือน Honda Jazz นี่คือสิ่งที่เหมาะมากกับการช่วยลดความเมื่อยขณะที่คุณกำลังคลานไปตาม
สภาพการจราจร ในกรุงเทพมหานคร อันแสนจลาจล

แต่สิ่งที่ต้องติกันสักหน่อยก็คือ พนักพิงศีรษะ ค่อนข้างดันหัวคนขับพอสมควร แม้ที่ว่า ยังไม่ดันถึงขั้น “ดันทุรัง”
อย่างพนักศีรษะของ Tucson แต่ก็ก่อความอึดอัดให้ได้พอสมควร ในรถคันที่เราลองขับกัน ไม่สามารถปรับมุม
องศาของพนักพิงศีรษะได้ ทำได้มากสุด แค่ยกให้มันสูงขึ้นกว่าเดิม แค่นั้น

วัสดุหุ้มเบาะโดยปกติ จะให้มาเป็นผ้าจากเมืองนอก ติดมากับรถ แต่ในรถคันที่เราทดลองขับนั้น เป็นหนัง ซึ่ง
นำมาหุ้มในประเทศไทย เป็นหนังที่มีพื้นผิวแปลกๆ คือ แค่เอานิ้วรูดดู มันจะย่น จนสัมผัสได้ว่า พื้นผิวหนังที่
กั้นระหว่าง นิ้วของคุณ กับโฟมที่ขึ้นรูปเป็นเบาะรถนั้น บางเอาเรื่อง ผมถือว่า ควรเปลี่ยนหนังที่หุ้มให้ดีกว่านี้
อีกสักหน่อยจะดีกว่า

พื้นที่เหนือศีรษะ หายห่วง หลังคาสูงโปร่งขนาดนี้ ถ้าหัวคุณยังติดเพดาน ผมว่า ต้องพิจารณาตัวเองแล้วละว่า
คอคุณยาวผิดปกติเป็นยีราฟกลับชาติมาเกิดหรือเปล่า?

ประตูคู่หลัง เปิดกางออกได้ในระดับที่เหมาะสม กับตัวรถแล้ว คือกว้างกำลังดี ทางเข้าสำหรับผู้โดยสารแถวหลัง
มีรูปทรงใกล้เคียงสี่เหลี่ยม ดังนั้น การขึ้น – ลง เข้า – ออก จากเบาะหลัง จึงทำได้ดีในแบบที่รถประเภทนี้ควรเป็น
แผงประตูมีพื้นที่วางแขน ซึ่งวางได้สบายมาก และถูกหลักสรีรศาสตร์ ต้องขอชมเชยจริงๆ ว่าระยะหลังๆมานี้
ทีมออกแบบของ Kia ทำห้องโดยสารของรถออกมาได้ น่านั่ง น่าใช้ และนั่งได้สบาย แทบทุกรุ่น นับตั้งแต่ SUV
อย่าง Sorento รุ่นแรกเป็นต้นมา และมีช่องใส่ของมาให้เหมือนแผงประตูคู่หน้า แต่ใส่แก้วหรือขวดน้ำไม่ได้

เบาะหลัง มีจุดให้ติเล็กน้อย คือ ไม่มีพนักวางแขนแบบพับได้ตรงกลางฝังมา ให้แต่อย่างใด ออกจะน่าเสียดาย
แต่ก็พอทำใจได้อยู่ เพราะรถคันนี้ แม้จะเหมาะพาเพื่อนฝูงไปเที่ยว แต่เบาะหลัง ก็จะไม่ใช่พื้นที่ ซึ่งมีคนมานั่ง
บ่อยนัก มันอาจจะเป็นโจทย์ที่เกิดจากผลวิจัยตลาดถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค? หรือว่าตัดออพชัน? อันนี้ผมว่า
เกินคาดเดาครับ

เบาะรองนั่ง สั้นก็จริง ทว่า นุ่มกำลังดี และนั่งสบาย เช่นเดียวกับพนักพิงหลังที่มีความนุ่มกว่ารถในระดับเดียวกัน
ทั่วไปหลายๆคัน เป็นจุดที่น่าชมเชย แต่บางคนจะติว่า อยากให้สามารถปรับเอนได้เพิ่มอีกสัก 1 – 2 ระดับ ซึ่ง
ถ้าจะทำนั้น อาจจะยาก เพราะขนาด ที่พักแขนตรงกลาง ยังไม่ใส่มาให้เลย นับประสาอะไรกับเบาะหลังแบบ
ปรับเอนได้?

พนักศีรษะเป็นแบบตัว L คว่ำ ตามสไตล์เดียวกับ รถอเนกประสงค์ สารพัดที่นั่งทั่วไป ถ้านั่งโดยไม่ยกพนักศีรษะ
ขึ้นใช้งาน ขอบด้านล่างของมัน จะทิ่มขัดต้นคอให้หงุดหงิดใจเล่น จนท้ายสุด เราก็ต้องยกมันขึ้นใช้่งานอยู่ดี
เพื่อจะพบว่า การยกขึ้นใช้งานนี่แหละ ทำให้คุณจะนั่งได้สบายมากยิ่งขึ้น อย่างที่ควรเป็น

พื้นที่เหนือศีรษะสำหรับเบาะคู่หลังนั้น โปร่งโล่งสบายเหมือนกับเบาะคู่หน้านั่นละครับ ระยะห่างจากศีรษะ
ของคนตัวสูง 170 เซ็นติเมตร คือ 1 ฝ่ามือครึ่ง ซึ่งนั่นก็ถือว่าเยอะมากๆเลยทีเดียว

พนักพิงเบาะหลังสามารถแบ่งพับได้ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของด้านหลัง แต่ควรจะกด
พนักศีรษะลงให้หมด ก่อนจะพับเบาะ สลักล็อก อยู่ที่บริเวณบ่าของพนักพิงทั้งฝั่งซ้าย และขวา ใช้วิธี
ดึงสลักขึ้นมา เพื่อปลดล็อกพนักพิงเบาะ ก่อนพับลงมา

ฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ใช้กลอนไฟฟ้า ถ้าจะเปิดใช้งาน ต้องเปิดจากสวิชต์ ใต้สัญลักษณ์ Kia บริเวณ
ด้านหลังรถ เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเปิดจากภายในรถได้ มีช็อกอัพค่ำยันมาให้ 2 ต้น มีไล่ฝ้า และใบปัดน้ำฝน
ที่กระจกบังลมหลังมาให้ ตามประสารถยนต์ท้ายตัดในยุคปัจจุบันที่ควรจะมีเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีขนาดใหญ่ถึง 671 ลิตร และยิ่งถ้าพับเบาะหลังลงราบทั้งหมดแล้ว พื้นที่จะเพิ่ม
มากขึ้นเป็น 1,511 มิลลิเมตร ซึ่งก็ถือว่า มันเป็นรถยนต์ตรวจการ Station Wagon ดีๆนี่เอง จุได้มากมาย ชนิดที่
ผมเองคงไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งทำวิปัสนา กรรมฐานให้ดูกันที่ท้ายรถ เหมือนเช่นเคยแต่อย่างใด

ถ้าอยากเก็บของ พวก อาหารสด ก็สามารถ เปิดยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาอย่างที่เห็น จะพบช่องใส่ของทำจาก
โฟม Recycle และถ้ายกออกอีกชั้น จะเป็นที่อยู่อาศัยของยางอะไหล่ และเครื่องมือประจำรถ

แผงหน้าปัดของ Soul คือจุดเด่นอีกประการหนึ่งในการออกแบบรถคันนี้ ถือเป็นงานออกแบบที่สอดรับกับ
เส้นสายภายนอกของรถ และตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างดี อันที่จริงแล้ว ในตลาด
ต่างประเทศ คุณสามารถเลือกสั่งสีภายในห้องโดยสาร เป็นสีอื่นได้ แต่สำหรับรถที่นำมาทำรีวิวคันนี้ ตกแต่ง
ด้วยสีแดง วัสดุที่ใช้ เป็นพลาสติกแบบเดียวกับรถญี่ปุ่น และรถเกาหลีใต้ร่วมยุคสมัยคันอื่นๆ เสียดายว่า
เวอร์ชันไทย ไม่มี Sunroof มาให้ เหมือนอย่างเวอร์ชันที่ขายในต่างประเทศ

ไฟในห้องโดยสาร มี 2 จุด ค่อนข้างสว่างสะใจดี ทั้งบริเวณกลางเพดาน และ บริเวณเหนือกระจกมองหลัง
เป็นไฟอ่านแผนที่ กดเปิด – ปิด ได้ง่าย คล้ายกับใน Honda City / Jazz ไม่ต้องทำสวิชต์แยกออกมาให้วุ่นวาย

เรื่องที่ผมไม่เข้าใจก็มีอยู่ว่า ในเมื่อ รถคันนี้ สร้างขึ้น เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น แน่นอนว่า เขาอยากจะมี
กระจกแต่งหน้า ณ แผงบังแดด ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ มันก้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่รถยนต์แทบจะ
ทุกรุ่น ต้องมีมาให้อย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ฝั่งคนขับ ก็ยังดี แต่ Kia Soul กลับไม่มีมาให้เลย ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ
เหมือนกันว่า ทำไม?

เมื่อขึ้นมานั่งในตำแหน่งคนขับ สิ่งที่คุณจะเห็นอยุ่ตรงหน้า ก็คงเป็น พวงมาลัยแบบ 4 ก้าน หน้าตาเหมือน
ตาแพน Commander CHENG ของเรา กำลังก้มลง พร้อมกับกางแขนออกกำลังกาย …..!!!  (ฮา) ข้อเสียคือ
ถึงแม้จะปรับระดับ สูง – ต่ำได้ แต่ ก็ไม่สามารถปรับระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ได้ ดังนั้น การขึ้นมานั่ง
บนตำแหน่งคนขับของรถคันนี้ นอกจากจะชวนให้ผมระลึกถึง ตำแหน่งนั่งขับของ Hyundai Tucson ที่
เพิ่งผ่านมือผมไปเมื่อปีที่แล้วนั้น ยังทำให้ผมนึกต่อ เลยเถิดไปถึง ตำแหน่งนั่งขับของ Chevrolet / Opel
Zafira และ Mitsubishi Space Wagon รวมทั้ง Toyota Wish เหตุผลก้เพราะ มุมองศาการเงยของพวงมาลัย
ในรถ Minivan เหล่านี้ มันช่างคล้ายกับตำแหน่งมุมเงยของพวงมาลัย Kia Soul อยู่ใช่เล่นเลยทีเดียว!

บนคอพวงมาลัย ก้านสวิชต์ระบบปัดน้ำฝน อยู่ฝั่งซ้าย และก้านสวิชต์ไฟเลี้ยว ไฟใหญ่ ไฟตัดหมอกหน้า
อยู่ฝั่งขวามือ เหมือนรถญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ส่วนปุ่มกด Trip Meter แยกออกมาให้มีขนาดใหญ่โต ไว้ที่มุมล่าง
ฝั่งซ้าย ใต้ชุดมาตรวัดลงมา ราวกับจะรู้เลยว่า ผู้ที่ขับรถคันนี้ น่าจะเป็นพวกที่ใช้ Trip Meter ในการวัด
คำนวนอัตราสิ้นเปลือง หรือไม่ก็ใช้ควบคู่กับแผนที่ หรือระบบนำทาง ในการคำนวนหาระยะทางของ
จุดหมายที่ต้องการ มากกว่าปกติ

ตำแหน่งคันเกียร์ วางไว้ เหมาะสม กัวเกียร์จับกระชับมือกำลังดี ไม่ต้องเอื้อมมือ เพราะทุกอย่าง อยุ่ใกล้
ในแทบจะทุกการควบคุม เช่นเดียวกับ การออกแบบแผงสวิชต์ควบคุม บนคอนโซลกลางนั้น ทำได้ดี เพราะ
นอกจากจะติดตั้งทุกอุปกรณ์ อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้มือทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า จะเอื้อมมือมากดปุ่ม
ใช้งานแล้ว ยังออกแบบให้มีลวดลายที่ดูดี ดุราวกับว่ามีปุ่มให้กดเล่นเยอะ ทั้งที่จริงๆแล้ว ก็มีแค่ปุ่มธรรมดา
พื้นฐาน เหมือนรถทั่วไปซึ่งนอกจากจะดูหวือหวาแล้ว ยังสร้างความรู้สึกที่ดี ให้กับผู้ที่คิดจะซื้อ รถรุ่นนี้ด้วย
ว่า อย่างน้อย ฉันซื้อSoul มา รถของฉัน ก็ดูมีปุ่มให้กดเล่นแพรวพราวดีไม่ยอก

สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้า มีมาให้ครบทั้ง 4 บาน เป็นแบบกดครั้งเดียว One Touch เฉพาะฝั่งคนขับบานเดียว
ทว่า มันเป็นกลไก One Touch เฉพาะ ขาลงเท่านั้นเนี่ยสิ? ถ้าจะเลื่อนกระจกหน้าต่างฝั่งคนขับขึ้นมาหลังจาก
จ่ายค่าทางด่วนไปแล้ว คุณต้องยกสวิชต์ค้างด้วยมือ….ไชโย! toyota Prius และ Mitsubishi Lancer EX 
(รุ่นก่อนปรับโฉม) มีเพื่อนแล้ว!! นี่ยังดีนะว่า กระจกมองข้าง ใช้สวิชต์ไฟฟ้าทั้งปรับและพับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
ได้ทั้ง 2 ฟังก์ช้ัน ไม่งั้น คงโดนผมแซวล้อเลียนไปกว่านี้แน่ๆ

ชุดมาตรวัดเป็นแบบ 3 วงกลม แม้ว่าจะเรียงตัวเลขในลักษณะที่ผมมักจะด่าเสมอ คือ เรียงไว้แบบขนานไปกับ
เส้นกรอบวงล้อมมาตรวัด แต่ใน Kia Soul ผมกลับมองว่า อ่านง่าย ไม่ยากเท่าคันอื่น เหตุผลก็คือ การเพิ่มขีด
บอกความเร็ว คั่นกลางตัวเลขในแต่ละตำแหน่ง ให้ยาวมากพอ ดังนั้น แม้จะใช้ Font ตัวเลขที่ อ่านยากมาก
พอมีขีดคั่นดังกล่าว ก็ช่วย ให้ชุดมาตรวัดความเร็ว และมาตรวัดรอบ สามารถอ่านค่าตัวเลขได้ง่ายขึ้น สัญญาณ
ไฟเตือนต่างๆ รวมไว้ในตำแหน่งชุดมาตรวัดรอบ ฝั่งว้าย ส่วนฝั่งขวา จะเป็นสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับระบบ
ความปลอดภัย เช่นประตู ปิดไม่สนิท พวงมาลัย EPS หรือ ไฟของระบบกุญแจรีโมทคอนโทรล

หน้าจอ ใต้มาตรวัดความเร็ว เป็นทั้ง มาตรวัดระยะทาง Odo Meter มาตรวัด Trip Meter สำหรับ ให้คนขับกด
เพื่อจับระยะทางตามต้องการ บอกทั้งความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่แล่นมาทั้งหมด ปริมาณน้ำมันในถังที่เหลือ
พอให้รถแล่นต่อไปได้อีกกี่กิโลเมตร อัตราสิ้นปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย

เครื่องปรับอากาศ เป็นแบบมาตรฐาน สวิชต์วงกลม 3 ตำแหน่ง เสียดายว่า สวิชต์ พัดลม อยู่ในตำแหน่งซ้ายสุด
ซึ่งเหมาะกับประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยซ้ายมากกว่า แต่ก็ยังถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนัก แอร์เย็นเร็วดี แม้ใน
อากาศที่ร้อนจัด หลังจอดรถตากแดดก็ตาม

ชุดเครื่องเสียง ดูเผินๆ ก็เหมือนว่าจัดมาเต็มพิกัด ผมแอบดีใจในตอนแรก ว่า งานนี้ Kia ถึงขั้นติดตั้ง วิทยุ AM / FM
พร้อมเครื่องเล่น CD / MP3 และมีลำโพงมาให้ถึง 8 ชิ้น! แถมด้วยช่องเสียบเครื่องเล่นเพลง ใต้แผงควบคุมกลาง
ไม่ว่าจะเป็นช่อง AUX ช่อง USB หรือแม้แต่ช่องเสียบ iPod โรงงาน Kia ก็ใส่มาให้เต็มที่ นัยว่า เอาใจคนรักดนตรี
ลำโพงติดตั้งบนแผงหน้าปัด มากถึง 3 ชิ้น นัยว่า คู่ซ้าย – ขวา เหมือนเป็นทวีตเตอร์ ส่วนที่แผงประตูทั้ง 4 บาน ก็
ทำหน้าที่ขับเสียงในภาพรวมออกมา

แต่พอฟังเข้าจริง คุณภาพเสียงที่ได้นั้น ผมออกจะผิดหวัง เพราะยังไม่ถึงกับดีนัก จัดอยู่ในเกณฑ์ธรรมดาๆ พอฟังได้
ภาพรวมแล้ว เสียงบี้แบนกว่าปกติทั่วไป เสียงกลางค่อนข้างแหวไปหน่อย ต้องปรับให้ลดลงมาถึงระดับ ติดลบ 08 หรือ
09 ถึงจะพอฟังได้ใกล้เคียงกับเสียงที่ถูกบันทึกไว้

ที่งุนงงกว่านั้นก็คือ ลำโพงบริเวณแผงห้องเก็บของด้านหลังฝั่งขวา ซึ่งโดยปกติแล้ว มักจะถูกติดตั้งให้เป็นลำโพง
ที่เน้นเสียงเบสหนักๆ พอมาอยู่ใน Kia Soul กลับกลายเป็นว่า แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย คือไม่ต้องติดตั้งมาให้
ก็ได้นะ ถ้าจะอยู่หลบมุมแล้ว ไม่ได้มีบทบาทอะไร ปล่อยเสียงออกมากินแรงเพื่อนฝูงเขาแบบนี้ ก็อย่าอยู่ให้รกรถ
เลยดีกว่า ลำโพงตัวนี้ ควรพิจารณาตัวเอง เดินออกจากรถไปได้ซะก็ดี! (ถ้ามันมีมือและมีขานะ)

เครื่องเสียงติดรถของ Soul คันนี้ เหมาะกับดนตรีประเภท เครื่องสาย กีตาร์เบาๆ หรือ ดนตรีสังเคราะห์ Electronics
ไม่เช่นนั้น ก็ต้องเป็นเพลงที่มีเสียงเบสหนักๆ ตึบๆ กีตาร์โซโลกระจุยกระจาย แบบที่วัยรุ่นเริ่มหัดฟังเพลง เขานิยม
ชมชอบกันไปเลย อย่างไรก็ตาม ถ้าได้เครื่องเสียงชุด Premium สักชุด ผมว่า Soul จะสามารถตอบโจทย์ในการเป็น
ยานยนต์ เพื่อคนรักเสียงดนตรี อย่างที่พยายามจะโฆษณากันในต่างประเทศ ได้ลงตัวกว่านี้ อีกเยอะ

หรือ..อีกแนวทางนึง Kia น่าจะขาย Soul ให้ร้านเครื่องเสียง เขาเอาไปทำเป็นรถโชว์เครื่องเสียง ตามงานมอเตอร์โชว์
ได้ด้วยก็ดีครับ เป็นรถที่เหมาะมาก สำหรับงานประเภทนี้เลยละ!

ถึงแม้เสียงจะไม่ค่อยดีนัก แต่ ทีเด็ด จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดขายของ Kia Soul ที่แปลก และแหวกแนว
ล้ำหน้ากว่าชาวบ้านชาวช่องเขาก็คือ กรอบลำโพง แผงประตูคู่หน้า สามารถเรืองแสง และเปลี่ยนสีได้!

มองไปทางด้านขวามือของพวงมาลัย ก้มลงไปมองแถวๆ สวิชต์บิดกุญแจติดเครื่องยนต์ จะเห็นสวิชต์หน้าตาอย่าง
ในรูปข้างบนนี้ การใช้งาน ก็แค่ หมุนสวิชต์ จากตำแหน่ง Off หรือ ปิด ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ถ้าหมุนเลื่อนไปที่
ตำแหน่ง Music หากเพลงที่คุณเปิดอยู่ ขับเสียงเบส หรือเสียงกลอง ดังออกมาเมื่อไหร่ ไฟเรืองแสงที่ลำโพง ก็จะ
กระพริบตามไปด้วย! หากไม่ชอบในสีแดง อันเป็นสีหลัก ก็สามารถเลือกเปลี่ยนสีได้ โดยกดปุ่ม Colour ลงไป
เปลี่ยนสีได้ทั้ง แดง ส้ม เหลือง เขียว ฟ้า น้ำเงิน ม่วง ต่อเนื่องกันไป แต่ถ้าหมุนเลื่อนไปยังตำแหน่ง Mood ขวาสุด
แสงไฟจากลำโพงก็จะสว่างจ้า และเปลี่ยนสีไปเอง ไล่ตามเฉดสีข้างบนนี้ ทุกประการ!

ฟังดูเป็นของเล่นไร้สาระ ในสายตาหลายๆคน แต่เปล่าเลยครับ! ผมกลับมองว่า นี่แหละ เป็นเรื่องที่ Make Sense
มากๆ ถ้าคุณต้องการขายรถให้กับ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก เป็น วัยรุ่น นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา และยุโรป อย่าลืม
ว่าคนที่นั่น เขามักจะนำรถไปแต่งเครื่องเสียง และมักจะติดลำโพง แบบที่สามารถเล่นแสงเปลี่ยนสี ได้มากๆ ทีม
ออกแบบของ Kia ก็เลยมองว่า ไหนๆ ก็ทำหน้ากากลำโพงเปลี่ยนสีได้แบบนี้ ติดตั้งมาให้จากโรงงานกันไปเลย
น่าจะโดนใจวัยรุ่นมะกันได้เยอะ

พอใช้งานจริง บรรยากาศตอนกลางคืน ขณะรถติด ดูไฟลำโพงเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ก็เพลินตาดีเหมือนกัน เสียดาย
ถ้าได้ลำโพงคุณภาพเสียงดีกว่านี้ บรรยากาศจะบรรเจิดกว่านี้อีกมากโข!

มองมาด้านข้างลำตัว จะเห็น ช่องวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่ง และถาดวางของอเนกประสงค์ ทรงเตี้ย วางกล่อง CD ได้
มากอยู่ มีขนาดใหญ่กว่า ที่พบได้ใน Honda Jazz พอสมควรเหมือนกัน ใช้งานได้อเนกประสงค์ดี ติดตั้งร่วมกับ
เบรกมือแบบมาตรฐาน คือแบบดึงยกขึ้น

ส่วนกล่องเก็บของ Glove compartment บริเวณแผงหน้าปัดฝั่งซ้ายนั้น นอกจากจะทำแบ่งเป็น 2 ชั้นแล้ว ขอบอกว่า
การย้ายตำแหน่งตู้แอร์ ไปไว้ตรงกลางคอนโซลเหมือนรถยนต์ทั่วไป ทำให้ Kia Soul มีกล่องใส่ของที่ ใหญ่ และ
ลึกมากที่สุด เท่าที่ผมเคยเจอมาในบรรดารถยนต์ทุกคันที่นำมาทำรีวิวทั้งหมด!!! ใหญ่และลึกสะใจมาก จนสงสัยว่า
กะจะให้ใส่ปืน M16 กันเลยหรือยังไง?

ทัศนวิสัยด้านหน้า ของ Soul นั้น ค่อนข้างหายห่วง เพราะมันโล่ง โปร่ง มองเห็นทุกอย่างได้ถนัด ไม่เว้นแม้แต่
คนที่ชอบขับรถแล้วต้องมองเห็นฝากระโปรงหน้า เพราะคุณจะได้มองเห็นฝากระโปรงหน้ากันถนัดถนี่ อย่างไร
ก็ตาม การกะระยะขณะเข้าจอดรถ โดยเอาหัวรถเข้าไปในช่องจอด อาจต้องใช้ความระมัดระวังนิดหน่อย ถ้าเป็น
คนที่กะระยะวัตถุต่างๆรอบตัวง่ายอยู่แล้ว รถคันนี้จะไม่ก่อปัญหาอะไรกับคุณเลย

ทัศนวิสัยบริเวณเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวาไม่ก่อปัญหาการบดบังสายตา จากรถที่แล่นสวนมาแต่อย่างใด
กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่โต กำลังดี และมองเห็นรถที่แล่นมาจากทางด้านหลังฝั่งขวามือชัดเจน

เช่นเดียวกับ เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย ไม่ได้บดบังทัศนวิสัยด้านข้าง ขณะเลี้ยวกลับรถแต่อย่างใด แถม
กระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย ก็ยังทำหน้าที่ ให้คุณได้มองเห็นรถที่แล่นตามมา ทางด้านหลังฝั่งซ้าย ได้ในระดับที่ยัง
ไม่เป็นปัญหา

แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนวิสัยด้านหลังนั้น ด้วยความที่เสาหลังคาคู่หลัง หรือ C-Pillar มีขนาดใหญ่โต และต่อให้
มีกระจกโอเปร่ายื่นต่อเนื่องจากบานประตูคู่หลังออกไปนิดหน่อย กลับกลายเป็นว่า กระจกโอเปร่า ไม่ได้มีส่วน
ช่วยเหลืออะไรกับผู้ขับขี่เลย แต่ก็ยังดีที่กระจกบังลมด้านหลังมีขนาดใหญ่โต พอให้มองเห็นวัตถุจากด้านหลัง
ของตัวรถอย่างชัดเจน ดังนั้น การเปลี่ยนเลนเข้าสู่ช่องทางคู่ขนาน ควรจะใช้ความระมัดระวัง เพิ่มขึ้นนิดหน่อย

แต่ถ้าเป็นช่วงถอยหลังเข้าจอด Kia Soul มีตัวช่วยพิเศษมาให้คุณ นั่นคือ กระจกมองหลัง แบบตัดแสงอัตโนมัติ
พร้อมหน้าจอฝั่งซ้าย แสดงภาพจากกล้องขนาดเล็ก ติดตั้งไว้ที่ฝาประตูห้องเก็บสัมภาระ เพื่อช่วยในการถอยหลัง
ลดโอกาสเสี่ยงในการถอยรถทับเด็ก ไปจนถึงถอยรถชนรั้วบ้านตัวเอง

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ขุมพลังที่วางอยู่ใน Kia Soul เวอร์ชันไทย นั้น เป็นเครื่องยนต์ตระกูล GAMMA บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
1,591 ซีซี ปริมาตรกระบอกสูบ x ช่วงชัก 77 x 85.4 มิลลิเมนตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด
Multi-Point Injection (MPI) พร้อมระบบแปรผันวาล์ว CVVT (Continupus Variable Valve Timing) และมีระบบ
ฟอกไอเสีย Catalytic Converter มาให้ 3 ทาง พร้อมระบบ Integrated Closed-Coupled

เครื่องยนต์บล็อกนี้ ใช้เสื้อสูบและฝาสูบแบบอะลูมีเนียม ส่วนเพลาข้อเหวี่ยงเป็นแบบเยื้อง offset ลดแรงตบข้าง
ที่ผนังลูกสูบ ในช่วงจังหวะการจุดระเบิด ลดแรงเสียดทาน ใช่โซ่ไทม์มิง ไม่มีจานจ่าย แบ็ตเตอรีขนาด 36AH
อ่างน้ำมันเครื่องทำจากเหล็ก ขนาด 3.7 ลิตร เครื่องยนต์อยู่ในตำแหน่งลึกลงไป เหมือน CR-V และ Nissan Cube

พละกำลังสูงสุดที่ทางโรงงานในเกาหลีใต้ระบุไว้คือ 124 แรงม้า (PS) หรือ 91.2 กิโลวัตต์ ที่ 6,300 รอบ/นาที ส่วน
แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 15.9 กก.-ม. (156 นิวตันเมตร) ที่ 4,300 รอบ/นาที

น้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ยนตรกิจ Kia Motor เคลมว่า สามารถใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ออกเทน 91 ได้

ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ รุ่น A4CF1 ควบคุมด้วยสมองกลคอมพิวเตอร์ อัตราทดเกียร์ มีดังนี้

เกียร์ 1                2.919
เกียร์ 2                1.551
เกียร์ 3                1.000
เกียร์ 4                0.713
เกียร์ R                3.546
อัตราทดเฟืองท้าย   4.619

ตัวเลขสมมรถนะที่ทางโรงงานเคลมไว้ ก็คือ อัตราเร่งจาก 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่ที่ 12 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่
162 กิโลเมตร/ชั่วโมง คำถามก็คือ ตัวเลขนี้ ดูไม่น่าจะดีเท่าไหร่นัก แล้วในรถคันจริง มันจะสามารถเค้นพละกำลังจาก
เครื่องยนต์ ออกมาได้มากกว่านี้หรือไม่ ?

เราจึงทำการจับเวลา โดยใช้มาตรฐานดั้งเดิม เช่นเดียวกับรถยนต์ทุกคันที่ผ่านรีวิวนี้ โดยใช้เวลากลางคืน นั่ง 2 คน เปิดแอร์
ผู้ร่วมทดลองของเราคราวนี้ ยังคงเป็น เจ้ากล้วย BnN แห่ง The Coup Channel ของเรานั่นเอง และตัวเลขข้างล่างนี้ เมื่อ
ต้องเทียบกับคู่แข่งแท้ๆ อย่าง Nissan Cube แล้ว คุณจะได้เห็นคำตอบที่ชัดเจนสุดครับ

เห็นตัวเลขแล้ว อยากจะเป็นลม อัตราเร่ง 0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปาเข้าไป 15.20 วินาที ดูเหมือนว่าจะมีรถยนต์เพียง
รุ่นเดียว ที่ทำตัวเลขด้อยกว่า คือ Nissan March CVT (15.63 วินาที) ส่วนตัวเลขช่วงเร่งแซง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
กลับกลายเป็นว่า March CVT เอาชนะไปได้ ด้วยตัวเลข 12.44 วินาที ขณะที่ Kia Soul ทำได้เฉลี่ย 12.78 วินาที นี่ขนาด
Suzuki SX-4 ที่ว่าอืดแล้ว ยังทำตัวเลขดีกว่า Soul เลย (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง : 14.47 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/
ชั่วโมง : 11.87 วินาที) และนั่นทำให้เราคงไม่ต้องพูดถึง Skoda Yeti ในฐานะ มนุษย์หิมะเครื่องเล็กกระชากจิตคันนั้น ที่คง
คว้าถ้วยรางวัลตัวเลขสวยที่สุดในกลุ่ม Urban Crossover ไปครองอย่างหน้าชื่นตาบาน เป็นอันว่า ในเกมจับเวลา หาอัตราเร่ง
ของเรา Kia Soul แพ้รถยนต์ พิกัดเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี ทุกรุ่น อย่างหลุดลุ่ยราบคาบ ไม่เป็นท่าเอาเสียเลย ขนาด Mazda 3
รุ่น 1,600 ซีซี ที่สุดแสนจะอืดอาดยืดยาด ก็ยังไม่น่าง่วงเหงาหาวนอนขาดนี้

เราจะอธิบายเรื่องนี้กันอย่างไรดีละ? ผมว่ามี 3 เหตุผลที่ พอจะบอกได้ว่า ทำไมตัวเลขถึงออกมาห่วยกว่าชาวบ้านเขาขนาดนี้

1. ดูรูปลักษณ์ของรถสิครับ กระจกบังลมหน้าตั้งชันแบบนั้น ตัวรถก็มาในแนวสูงตั้ง 1,661 มิลลิเมตร แทบไม่ต้องค้นหา
ตัวเลขค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน หรือค่า Cd เพราะ Kia ก็ไม่ได้แจ้งเอาไว้ แต่ดูจากตัวรถแล้ว คุณก็คงพอจะเห็นอยู่ละ
ว่ายังไงๆ Kia Soul ก็ต้านลมแน่ๆ และรถที่ต้านลม นอกจากจะมีผลต่ออัตราเร่ง แล้ว ยังส่งผลต่อความประหยัดน้ำมันด้วย

2. เท่านั้นยังไม่พอ น้ำหนักรถรวมของเหลว มากถึง 1,700 กิโลกรัม !! นี่ว่ากันตามสเป็กเลยนะ น้ำหนักมากขนาดนี้
ทำให้ผมนึกถึง Mitsubishi Airtrek/Outlander รุ่นแรก ที่มีน้ำหนักไล่เลี่ยกัน แต่รายนั้น ขนาดใช้เครื่องยนต์ใหญ่
2,400 ซีซี ยังต้องเหยียบกันจนคันเร่งจมมิดติดพื้นรถ มันก็ยังแทบจะไม่ค่อยวิ่งเลย นี่เล่นใช้เครื่องยนต์ 1,600 ซีซี
เบนซิน หวังให้แค่พอวิ่งได้ในเมือง ขำขำ แค่นั้น ถ้าทำตัวเลขออกมาได้ดีกว่านี้ ผมว่า ก็ต้องมีปาฏิหารย์ แล้วละครับ

นึกถึงเด็กอายุ 15 ปี คนเดียวกัน แต่ลากกล่องใส่ของที่มีน้ำหนักแตกต่างกัน สิครับ นั่นละ อธิบายได้ง่ายสุดละ!
ของเบากว่า ก็ลากได้ง่ายกว่า ไวกว่า แต่ยิ่่งวัตถุ สูง หรือหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เด็กต้องออกแรงมากขึ้นตามไปด้วย

3. รถคันที่เราลองขับนั้น สวมล้อ 18 นิ้ว ซึ่งมีแรงเสียดทานค่อนข้างมาก เส้นรอบวงก็ใหญ่ น้ำหนักล้อเองก็เยอะ
ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ตัวเลขสมรรถนะภาพรวม ออกมาอย่างที่เห็นกันอยู่นี้

แต่ถ้าถามว่า อัตราเร่ง เพียงพอหรือไม่ สำหรับการขับขี่ใช้งานจริง ในกรุงเทพมหานคร? คำตอบก็คือ พอใช้งานได้
ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ชอบเรียกใช้อัตราเร่ง บ่อยๆ เป็นนิจศีล การออกตัวจากสี่แยกไฟแดง ก็ทำได้แบบเดียวกับรถยนต์
ทั่วๆไป เพียงแต่ว่า ถ้าต้องการออกตัวแบบลูกธนู ขอแนะนำว่า ทำใจ และให้เหยียบคันเร่งจมมิดตั้งแต่ออกตัว เพราะ
ยังไงๆ ก็ยากที่ล้อคู่หน้า อันเป็นล้อขับเคลื่อน จะหมุนฟรี ส่วนการเร่งแซงนั้น อาจต้องใช้โหมด บวก ลบ ของเกียร 
ช่วยบ้างในหลายๆครั้ง เพราะ การตอบสนองของเกียร์ ค่อนข้าง ทื่อๆ ไม่ฉลาดนัก ถ้าเทียบกับรถยนต์สมัยนี้รุ่นอื่นๆ

สิ่งที่ต้องขอชมคือ คันเร่งไฟฟ้า ตอบสนองไวมาก ไม่หน่วง ไม่ช้าเลย ทำงานได้ฉับไวมากๆ แถมยังให้สัมผัสจากเท้า
ที่ใกล้เคียงกับคันเร่งแบบสาย ดั้งเดิม จนอยากให้ Toyota แกะเอาไปดูว่า ควรปรับตั้งการทำงานของคันเร่ง ผ่านเครื่อง
คอมพิวเตอร์กันอย่างไร ให้ทำงานได้ไว และไม่ส่งผลต่อเกียร์ อย่างที่กลัวๆกัน

ภาพรวมในการตอบสนองของเครื่องยนต์ และเกียร์ ใน Soul เวอร์ชันไทย ล็อตแรกนี้ คงต้องบอกว่า ถ้าคุณเคยขับรถ
อย่าง Toyota Corolla AE-101 , Mitsubishi Lancer E-Car หรือรถญี่ปุ่นในยุคปี 1992 – 1995 ก็คงพอจะนึกภาพออก
ว่า จะมีบุคลิกในการถ่ายทอดกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าอย่างไร เพียงแต่ว่า เกียร์จะตอบสนองเร็วกว่านั้น นิดเดียว เหมือน
ช่วงตอนที่รถทั้ง 2 รุ่นข้างบนนี้ ออกจากโชว์รูมใหม่ๆ

การเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น ถ้าเป็นความเร็วต่ำกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และผิวถนนเป็นยางมะตอย ราดยางดี
เรียบสนิท เสียงรบกวนในห้องโดยสารจะค่อนข้างน้อย ฟังเพลงพอได้ แต่ถ้าเกินกว่านี้ หรือพื้นผิวถนนต่างไปจากนี้
เสียงยางก็จะเริ่มดังเข้ามามากขึ้น และมันจะดังใกล้เคียงกับ Mitsubishi Lancer EX รุ่นปรับโฉมแล้ว (ซึ่งก็เงียบกว่า
รุ่นแรกของมัน นิดหน่อย ไม่มากนัก) ยิ่งถ้าในช่วงความเร็วสูงๆ นี่ ไม่ต้องพุดถึง หลักๆ ที่จะได้ยินคือ เสียงยาง
ส่วนเสีบยงลมที่ปะทะและไหลผ่านตัวถังนั้น ยังไงๆก็คงต้องมี ตามปกติของรถที่มีหลังคาทรงสูงอย่างนี้ เพียงแต่
การเก็บเสียงตามแนวยางขอบประตูนั้น ทำได้ดีกว่าที่คิด คือแหล่งต้นเสียง ไม่ได้มาจากยางขอบประตูกันเลย

ระบบบังคับเลี้ยว เป็นพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พีเนียน ตามปกติ พร้อมระบบเพาเวอร์ผ่อนแรง แบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า
MDPS (Motor Driven Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแควสุด 5.25 เมตร มีระยะฟรีพวงมาลัยที่เหมาะสม และน้ำหนัก
ที่กำลังดี ไม่เบาหรือไม่หนืดจนเกินไป ในช่วงความเร็วต่ำ น้ำหนักเบากำลังพอเหมาะ สำหรับการถอยรถเข้าจอด
แต่พอใช้ความเร็วสูง พวงมาลัย ก็จะเริ่มหนืดขึ้น หนักขึ้นอย่างชัดเจน นับเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ที่เห็นความแตกต่าง
ในการทำงาน ได้ชัดเจนกว่า พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าของรถญี่ปุ่นบางๆรุ่นเสียอีก

เพียงแต่ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในบางครั้ง ขณะขับขี่อยู่บนทางด่วน หรือสภาพเส้นทางที่เป็นพื้นผิวราบเรียบ และเป็นคลื่น
พอจะพบอาการว่า บางครั้ง ถือพวงมาลัยตรงๆนิ่งๆ แต่ล้อรถจะเคลื่อน หรือแอบเบี่ยงไปตามสภาพแนวคลื่นถนนนิดนึง
เหมือนกับว่า พวงมาลัยกับล้อ ขาดการติดต่อกันไปสักเสี้ยววินาทีหนึ่ง ก่อนจะกลับมาบังคับควบคุมได้ตามปกติ ผมเจอ
อาการนี้ ราวๆ 2 ครั้ง เป็นอาการที่ผมมองว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่คิดว่า อาจจเป็นกับรถคันที่เราทดลองเพียงคันเดียว
เพราะในสภาพถนนปกติ ผมก็ไม่พบเจอปัญหานี้แต่อย่างใด เป็นอาการเดียวกับที่ผมเคยเจอมาแล้วใน พวงมาลัย
ไฟฟ้าของ Toyota Vios และ Yaris ในบ้านเรา นั่นเอง

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง คอยล์สปริง ชนิดเยื้องศูนย์ (Co-Axial)
ส่วนด้านหลัง เป็นแบบอิสระ ทอร์ชันบีม CTBA และ เทรลลิงอาร์ม ช็อกอัพทั้ง 4 ต้น เป็นแบบใช้ ก๊าซ ของ SACHS
เยอรมัน ระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้า และหลัง ถูกติดตั้งเข้ากับ Sub-Frame ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับกับรถรุ่นนี้
โดยเฉพาะ คือสิ่งที่ถือว่า ทำได้ดีเกินความคาดหมาย

เพราะ Kia Soul นั้น แม้ว่าจะมีความสะเทือนจากพื้นผิวถนนขึ้นมาให้สัมผัสค่อนข้างชัดเจน เมื่อใช้ความเร็วต่ำ
ขณะขับไปตามถนนในกรุงเทพมหานคร ค่อนข้างตึงตังอยู่พอสมควร ยิ่งเจอลูกระนยาด หรือหลุมฝาท่อ อาการ
ยิ่งส่งขึ้นมาถึงผู้ขับขี่อย่างชัดเจน จนสัมผัสได้ว่า สะเทือน เป็นอาการตึงตังในแบบที่คุณมักพบได้กับรถยนต์ที่
ใส่ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางแก้มเตี้ยทั้งหลาย ซึ่งจะดีขึ้นได้ ก้เพียงแค่หาล้อ 16 หรือ 17 นิ้ว พร้อมยาง
แก้มหนากว่านี้นิดนึง มาสวมแทน ก็จะช่วยลดความกระด้างลงไปได้บ้างนิดหน่อย

แต่ยามใดที่คุณต้องการความมั่นใจขณะเข้าโค้ง Kia Soul จะเป็นรถยนต์ Urban Crossover หลังคาสูง เพียงคันเดียว
ที่พร้อมจะเบนหัว เลี้ยวไปตามทางที่คุณกำหนด โดยไม่คิดจะมีอาการใดๆให้ปรากฎ ถ้าคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ
ยางหน้ากว้างด้วยแล้วละก็ ขอบอกว่า คุณอาจจะถูก แต่ในทางลื่นๆ Kia Soul ก็พาผมเข้าโค้งที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อ
การลื่นไถล ได้ด้วยความเร็ว 80 กิดลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ โดยที่ไม่รู้สึกหวาดเสียวอย่างที่กังวลในตอนแรก

เท่ากับว่า นอกจาก Hyundai แล้ว ตอนนี้ ขอให้จับตาดู Kia เอาไว้ ในฐานะ รถยนต์เกาหลีใต้ ที่เริ่มทำช่วงล่าง
ออกมาได้เอาใจคนชอบสาดโค้งดีจนต้องจับตามอง มันอาจเป็นผลจากการที่ ทั้ง 2 แบรนด์ มีศูนย์บัญชาการ
ด้าน R&D ที่ Namyang ร่วมกัน หรืออาจเป็นผลจากการ ขยันหมั่นเพียร ซื้อหารถยนต์ของคู่แข่ง ทุกสัญชาติ
จากทั่วทุกมุมโลก มาลองทดสอบขับขี่ รื้อทิ้งทั้งคัน ศึกษาจนมั่น แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ ก่อนจะนำไป
จอดทิ้งไว้ ที่ลานด้านหลังศูนย์ R&D Namyang นั่นแหละ หรืออีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะซัพพลายเออร์ชั้นเซียน
อย่าง SACHS กับช็อกอัพ OEM ของพวกเขา

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม Kia Soul ให้ผลลัพธ์ในการตอบสนองขณะเข้าโค้งที่ดีกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด
นี่คือการตอบสนองในแบบที่ SX-4 อาจจะให้คุณได้ใกล้เคียง แต่ Nissan Cube ยังให้คุณได้ไม่เต็มที่ขนาดนี้
(แต่ก็แน่นอนว่า ไม่ต้องไปพูดถึง Skoda Yeti รายนั้น ยังไงก็ต้องปล่อยเขาขึ้นหิ้งไปจริงๆ)

ระบบห้ามล้อเป็นแบบ ดิสก์เบรก ที่ล้อคู่หน้า เส้นผ่าศูนย์กลางจานเบรก 280 มิลลิเมตร หนา 26 มิลลิเมตร ส่วน
ด้านหลัง กลับยังคงเป็น ดรับเบรกอยู่ เส้นผ่าศูนย์กลางของดุมเบรกอยู่ที่ 203 มิลลิเมตร พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก
ขณะเหยียบเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุก EBD
(Electronics Brake Force Distribution) พร้อมหม้อลมเบรกช่วยผ่อนแรง ขนาด 10 นิ้ว ระยะเบรกที่ทาง Kia ระบุมา
ก็คือ จากความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถึงจุดหยุดนิ่ง ใช้ระยะทาง 11.3 เมตร แต่ถ้าจากความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
จนถึงจุดหยุดนิ่ง ระยะทางจะอยู่ที่ 43 เมตร ซึ่งก็ถือว่า ระยะเบรกสั้นพอกับ Toyota Fortuner รุ่น Minorchange 2008
แถมยังสั้นกว่า Mitsubishi Pajero Sport และ Mercedes-Benz S-Class W140 รุ่นปลาวาฬ

จริงอยู่ว่า ระบบเบรก ให้ความมั่นใจ ตามแบบฉบับรถยนต์ทั่วไปเขาเป็นกัน เพียงแต่ว่า การตอบสนองของแป้นเบรก
ยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ต้องเหยียบแป้นเบรกลงไปกว่าครึ่งหนึ่งของระยะแป้นเบรกทั้งหมด จึงจะเริ่มสัมผัสได้ว่า ชุด
ผ้าเบรกเริ่มจับกับจานเบรก นั่นหมายความว่า ใครที่พึ่งจะขับรถญี่ปุ่นอยู่ ถ้าสลับมาขับ Kia Soul ในทันที อาจจะต้อง
ลองเหยียบเบรก ให้คุ้นเคยกับระยะแป้นเบรก ของมันเสียก่อน

และถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทางเกาหลีใต้ ลองปรับแต่งแป้นเบรก ให้มีความ Linea มากกว่านี้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่
อยากได้แป้นเบรกซึ่งมีบุคลิก เหยียบแล้ว สัมผัสได้ว่า ผ้าเบรก เริ่มทำงานจับตัวกับจานเบรกแทบจะในทันที และเมื่อ
ค่อยๆ เพิ่มแรงจับตัวกับจานเบรกมากขึ้น เมื่อยิ่งเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปบนแป้นเบรก

โครงสร้างตัวถัง เป็นแบบ Energy absorbing structure ซึ่งถูกออกแบบให้ช่วยลดความเสียหายจากการชน
ไม่ว่าจะด้านหน้า หรือด้านข้าง ขณะเดียวกัน โครงสร้างบริเวณเสาหลังคา และโครงหลังคาด้านบนยังถูกเสริม
ความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ไม่เพียงเท่านั้น คานเหล็กนิรภัยเสริมในประตูทั้ง 4 บาน ยังถูกคำนวนตำแหน่งติดตั้ง
ให้เหมาะสมสำหรับการปกป้อง จากการชนด้านข้าง และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
บริเวณท่อนแขน แถมยังมีการใช้เหล็กแบบ Ultra High Tensile ในหลายๆจุดของโครงสร้างตัวถังอีกด้วย ส่วน
โครงสร้างอีก ร้อยละ 70 ที่เหลือ ใช้เหล็กแบบ High Tensile Steel ซึ่งกลายเป็นเหล็กเกรดมาตรฐานสำหรับ
รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในช่วง 1-2 ปีมานี้ไปแล้ว

ถึงจะเป็นรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ แต่ Kia Soul ก็ทำผลงานได้ดีเยี่ยม ในการทดสอบการชนของ สถาบัน
ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้านความ “เฮี๊ยบ” ในการตั้งมาตรฐานและการให้คะแนน โดยเฉพาะ
หน่วยงาน EuroNCAP (European New Car Assesment Program) ซึ่งให้คะแนนผลการทดสอบการชน
ของ Kia Soul เอาไว้สูงถึงระดับ 5 ดาว อันเป็นมาตรฐานสูงสุด และถือเป็นรถยนต์ Kia รุ่นที่ 2 ซึ่งได้รับ
เกรด 5 ดาว ต่อจาก Kia C’eed Hatchback เมื่อปี 2007 การให้คะแนนดังกล่าว มีขึ้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009
โดยได้คะแนนการปกป้องผู้โดยสารและผู้ขับขี่ ร้อยละ 87 การปกป้องเด็กบนเบาะนิรภัย ร้อยละ 86 การ
ปกป้องคนเดินถนน รน้อยละ 39 และ อุปกรณ์เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยที่ติดรถมาให้ ร้อยละ 86
รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.euroncap.com/results/kia/soul/360.aspx

อีกรายการที่ Kia Soul ไปสร้างชื่อเอาไว้ นั่นคือ การทดสอบของหน่วยงานด้านความปลอดภัยในการ
ใช้รถใช้ถนนของสหรัญอเมริกา NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) ซึ่งเป็น
หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง พวกเขาประกาศเมื่อ 29 กรกฎาคม 2010 ว่า Soul เป็นหนึ่งใน
รถยนต์รุ่นใหม่ ที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบที่ “โหดขึ้นกว่าเดิม” ของทาง NHTSA ในระดับ 5 ดาว
สำหรับการปกป้องผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร 4 ดาวสำหรับการปกป้องขณะพลิกคว่ำ ส่วนการชนด้านข้าง
พื้นที่คึ่งคันหน้า ได้ 5 ดาว แต่ด้านหลัง ได้ 4 ดาว รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์
autos.msn.com/research/vip/safety.aspx?year=2010&make=Kia&model=Soul

ทั้งหมดนี้ก็หมายความว่า สำหรับ Kia Soul แล้ว ด้านความปลอดภัย ถือว่า โล่งใจไปได้เปลาะหนึ่งแน่ๆ

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

และแล้วก็มาถึงการทดลองที่ ชวนให้ง่วงนอนเป็นที่สุด นั่นคือ การเติมน้ำมัน หาอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย จาก
การเดินทางไกล จะไม่ให้ง่วงได้ยังไงละครับ เรายึดมาตรฐานเดิมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว กับการใช้ความเร็วแค่ระดับ
110 กิโลเมตร/ชั่วดมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน การใช้ความเร็วคงที่เป็นเวลานานๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการสะกดจิตตัวเอง
ให้แทบจะฟุบหลับคาพวงมาลัยเลยนั่นแหละ

แต่ในเมื่อ มันเป็นหน้าที่ อีกทั้งเรามีโอกาสดีกว่าคุณผ้อ่านหลายๆคน ในการนำรถกลับมาทดลองกันที่บ้าน 4 วัน 3 คืน
ดังนั้น ผมควรจะจบการบ่นเอาไว้เพียงแค่นี้ เพราะสักขีพยานของเราในครั้งนี้ เป็น เจ้ากล้วย The Coup Channel
ผู้ซึ่งมีวาจา แหลมคมยิ่งกว่ากรรไกรโรงพยาบาล และฮาได้แสบตับยิ่งกว่าคณะตลกทั่วฟ้าเมืองไทยมากองรวมกัน
เสียอีกแหนะ น้ำหนักตัวของกล้วย ก็ยังคงอยู่ที่ 48 กิโลกรัม ส่วนผู้ขับขี่ 95 กิโลกรัม รวมเป็นผู้ขับขี่ และสักขีพยาน
(อันหมายถึงเป็นผู้ช่วยของผมไปในตัว 2 คน เช่นเคย

เราเติมน้ำมันเบนซิน Techron 95 ที่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ริมถนนพหลโยธิน เยื้องกับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์
ให้เต็มถังน้ำมันประจำรถซึ่งมีความจุ 48 ลิตร และงานนี้ เติมแค่หัวจ่ายตัดพอ เพราะแม้ว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์
ระดับพิกัด 1,600 ซีซี แต่ด้วยค่าตัวที่เลยเถิดไปไกลระดับ 1.3 ล้านบาท ทำให้ลูกค้าที่คิดจะซื้อนั้น กลายเป็นกลุ่มที่ให้
ความสำคัญกับเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นเรื่องรองๆลงไป ขอแค่ไม่กินน้ำมันมากกว่ารถคันเก่า ก็พอรับได้แล้ว

เติมน้ำมันเสร็จแล้ว คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ออกรถช้าๆ เลี้ยวกลับบนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้า
เข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะมาออกทาง ซอยข้างโรงเรียนเรวดี ขึ้นทางด่วน ที่ด้านพระราม 6 แล้วมุ่งหน้าไปยาวๆ บน
ทางด่วนสายอุดรรัถยา หรือเส้นเชียงราก ไปจนถึงสุดปลายทางด่วน ที่อยุธยา เลี้ยวกลับ ย้อนมาขึ้นทางด่วน
เส้นเดิม ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้ากลับเข้ากรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้ ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ และนั่ง 2 คน
ตามมาตรฐานเก่าแก่และดั้งเดิมระดับ Original

พอถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราเลี้ยวซ้าย ขับมาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับรถ แล้วก็ขับเข้าปั้ม Caltex
กลับไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 Techron มาตรฐาน (ไม่ใช่แก็สโซฮอลล์แต่อย่างใด) ทีตู้เดิม และหัวจ่ายเดิม
เติมแค่หัวจ่ายตัดก็พอ เหมือนเช่นการเติมน้ำมันในครั้งแรก ตอนเริ่มต้นทำการทดลอง ไม่เขย่ารถ

ทีนี้เรามาดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่คำนวนกันออกมาได้ดีกว่า
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด 89.5 กิโลเมตร (ตัวเลขแสดงผลน้อยกว่ารถทุกคันที่เจอมา)

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 8.17 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 10.95 กิโลเมตร/ลิตร สรุปว่า กินน้ำมันในระดับเดียวกับ SUV ทั่วๆไปที่เราเคยทำรีวิวกันมานั่นละ!

เห็นตัวเลขแล้ว ผมก็เซ็งขึ้นมาในทันใด นี่ละครับ อีกหนึ่งผลข้างเคียง ที่เกิดขึ้น ถ้าคุณใส่ล้อขนาดใหญ่ เส้นรอบวง
ใหญ่กว่าปกติ แถมยังมีน้ำหนักมากกว่าเดิมในรถที่มีเครื่องยนต์ ไม่ใหญ่ไม่โต ระยะทางที่ออกมาบนมาตรวัด ก็จะ
น้อยลงกว่ารถยนต์ทั่วไป แม้นิดหน่อย แต่ก็ชัดเจน เครื่องยนต์ ก็ต้องออกแรงในการทำงาน เพื่อพยุงรถในความเร็ว
คงที่ มากขึ้นกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป แถมด้วยการเซ็ตอัตราทดเกียร์ ในแบบที่เป็นอยู่ ก็ยิ่งส่งผลให้ตัวเลขออกมา
ด้อยกว่าที่รถยนต์พิกัดเดียวกันนี้รุ่นอื่นๆ เขาเป็นกัน

********** สรุป **********
ขอเครื่อง 2.0 ลิตร ชุดเครื่องเสียงที่ดีกว่านี้ และพนักศีรษะที่ไม่ดันหัวมากนัก ในราคา 1.5 ล้านบาท ผมว่าลงตัวแล้ว!

หลังจากใช้ชีวิตด้วยกันมาในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4 วัน 3 คืน ผมก็ค้นพบบุคลิก และตัวตนที่แท้จริงของ Kia Soul แล้วละ!

ลองนึกถึงภาพของหนุ่มวัยรุ่นเกาหลีนักเรียนนอก สักคนดูสิครับ วันหนึ่งๆ หมอนี่จะเอาแต่หมกตัวอยู่ในอพาร์ทเมนท์
นอนขี้เซา ปลุกเท่าไหร่ อย่าหวังจะตื่นง่ายๆ (ยกเว้นเอาน้ำใส่กาละมังมาสาด รับรองติ่นแน่ๆ) กินแต่อาหารแช่แข็งอุ่น
ไมโครเวฟ อ่านหนังสือเรียน (บ้าง) มีปฏิสัมพันธ์แค่กับเพื่อนฝูงตัวเอง กลุ่มเดียว เท่านั้น พอตกดึก หนุ่มเกาหลีคนนี้จะ
พลิกบุคลิก กลายเป็นคนละคนกับที่เห็นในตอนกลางวัน เขาจะแปลงร่างเป็น DJ หนุ่ม ในผับ หรือไนท์คลับ ซึ่งเปิด
แผ่นเพลงแนว Black Music ตั้งแต่ Hip Hop Rap ฯลฯ มากกว่าจะเป็นดนตรีเต้นรำประเภทอื่นๆ แต่หมอนี่ ก็ยังมีฝีมือ
จัดแค่อยู่ในระดับ กำลังจะเทิร์นโปร ยังไม่ถึงขั้นฉมังร้ายกาจ แค่มีมาดเทพ แค่นั้น

นี่ละครับ บุคลิกของ Kia Soul 1.6 ลิตร ในแบบที่ผมเจอมา!

อันที่จริง Kia Soul เป็นรถที่มีความโดดเด่นในด้านการออกแบบ ในภาพรวมทั้งคัน ไม่เว้นแม้แต่ความพยายามจะ
สร้างความสบายในห้องโดยสาร ด้วยการออกแบบ ตำแหน่งของแผงหน้าปัด การวางแขน ตำแหน่งวางขา ฯลฯ อีกมาก
(แต่แอบมาพลาด ตรงพนักศีรษะเบาะคู่หน้า ที่ดันหัวมากไปหน่อย) แถมยังเปี่ยมด้วยความอเนกประสงค์ จากพื้นที่
ห้องเก็บของด้านหลัง ที่สามารถบรรจุจักรยานเมาเทนไบค์ ได้สบายๆ 2 คัน โดยแทบจะไม่ต้องถอดล้อด้วยซ้ำ แถม
มีช่วงล่างที่ ให้ความมั่นใจมากในการเลี้ยวโค้ง ถือเป็นรถหลังคาสูง จุดศูนย์ถ่วงสูง หนึ่งในไม่กี่คัน ที่ผมกล้าสาด
เข้าโค้งบนทางด้วนช่วงจุดตัดดินแดง – พระราม 9 – บางนา ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้สบายๆ โดยไม่ต้อง
ถอนคันเร่ง หรือหวั่นใจต่ออาการวูบวาบของรถ เหมือนรถหลังคาสูงคันอื่นๆ

ถ้าพูดให้ถูกต้องก็คือ Kia Soul เป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์เอาใจวัยรุ่น หรือกลุ่ม Young at heart ได้ค่อนข้าง
ดี และลงตัวกว่าที่ผมคาดไว้ ในสไตล์ที่ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบใคร (แม้จะมีกลิ่นอายของรถบางรุ่นมาเจือปน
จนชวนให้แอบคิดเล็กน้อยบ้างก็เถอะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย) เป็นรถที่ มีอนาคต และสามารถต่อยอดให้ Kia ประสบ
ความสำเร็จไปได้อีกไกล….

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย Kia Soul กลับจะต้องประสบปัญหา ที่มาจากนโยบายด้านภาษีนำเข้ารถยนต์ของภาครัฐ
ที่ดูจะแพงไป จนทำให้การสั่งสเป็กของรถที่จะทำตลาดในไทย จึงยังใส่ของดีๆมาให้ ไม่เต็มที่นัก ผลที่ออกมาก็คือ
ตัวรถมีความ ขาดๆ เกินๆ ในบางจุด ซึ่งก็ยังถือว่า น่าจะพอแก้ไขกันได้ ถ้าคิดจะเดินหน้าทำตลาดอย่างจริงจัง

ข้อแรกเลยก็คือ ยกเครื่องยนต์ เบนซิน 2,000 ซีซี จากตลาดต่างประเทศ มาวางให้เลยจะดีกว่า เพราะรถที่ออกแบบมา
สูงโย่งอย่างนี้ ต้านลมแบบนี้ แถมน้ำหนักตัว รวมน้ำหนักบรรทุก ก็ปาเข้าไป 1,700 กิโลกรัมแบบนี้ ขนาดเครื่องยนต์พิกัด
2,000 ซีซี ยังลากกันจนเหนื่อยเลย หากเป็นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี พ่วงกับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทื่อๆ อย่างที่เป็น
อยู่ในตอนนี้ สมรรถนะทั้งด้านอัตราเร่ง และความประหบยัดน้ำมันที่ออกมา ดูไม่จืดเลยจริงๆครับ

รวมถึงการปรับแต่งแป้นเบรก ให้มีความ Linea มากกว่านี้ เหยียบแล้ว สัมผัสได้ว่า ผ้าเบรก เริ่มทำงานจับตัวกับจานเบรก
แทบจะในทันที และเมื่อค่อยๆเพิ่มน้ำหนักเท้าลงไปบนแป้นเบรก ผ้าเบรก ก็ควรจะจับกับจานเบรก ในระดับที่ต่อเนื่อง
ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ป่อยให้่ต้องเหยียบไปถึงครึ่งหนึ่ง จึงจะเริ่มสัมผัสได้ว่าทำงาน อย่างที่เป็นอยู่

ประการต่อมา ในเมื่อต้องการจะเป็นรถยนต์ เพื่อคนรักเสียงดนตรี ก็ควรจะหาชุดเครื่องเสียงชั้นดี มาติดตั้งให้ด้วย
จะดีมากๆ เพราะในเมื่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เขาชอบฟังดนตรี ดังนั้น รถอะไรก็ตาม ที่สามารถตอบโจทย์ได้ โดยที่
พวกเขาไม่ต้องเสียเงินไปเปลี่ยนเครื่องเสียงใหม่ ผมว่าน่าจะได้ใจลูกค้ากลุ่มนี้ไปเต็มๆเลยมากกว่า

ส่วนภายในห้องโดยสาร ขอพนักพิงศีรษะที่ไม่ดันหัวมากนัก หรือไม่ก็เป็นแบบ ปรับระดับมุมองศาได้ (เพราะในรถคันที่เรา
นำมาทำรีวิวนี้ พนักศีรษะ ปรับตำแหน่งไม่ได้นะครับ ทำได้แค่ ยกขึ้น – ลง แค่นั้น และถ้ามีพนักท้าวแขนด้านหลังได้ก็ดี

ข้อสุดท้าย ตอนนี้ Kia Soul เวอร์ชันไทย กลายเป็น ตัวอย่างอันดี สำหรับคุณหนูๆ และคุณผู้อ่าน ที่คิดอยาก
จะแต่งรถได้ดูเอาไว้เป็นกรณีศึกษาว่า นี่ละครับ การใส่ล้อใหญ่ๆ เพื่อหวังความสวยเป็นหลัก คุณจะต้องรับได้
กับผลที่ตามมา ทั้งอัตราเร่งและความประหยัดน้ำมันที่ด้อยลง ถ้ารถคันนี้ ใส่ล้ออัลลอย แค่ 16 หรือ 17 นิ้ว
ให้เหมาะสมกับทั้งกำลังเครื่องยนต์ ความสูงของตัวรถ และการเซ็ตช่วงล่าง

เพียงแค่แก้ไขตามนี้ Kia Soul เวอร์ชันไทย ก็จะมีตัวเลขที่ดีขึ้น ทั้งอัตราเร่ง และความประหยัดน้ำมัน แถมยังได้
ความนุ่มนวลในการขับขี่บนถนนใน กรุงเทพฯ คืนกลับมาเป็นผลพลอยได้อีกด้วย และนั่นจะยิ่งช่วยขยายฐาน
ลูกค้าจากเดิมที่กระจุกอยู่แค่วัยรุ่นแนวศิลปินไปยังกลุ่มผู้ใหญ่ Young at heart ได้ง่ายขึ้นกว่านี้อีกด้วย!

เอาละ เมื่อพิจารณากันถึงข้อดีและข้อด้อยของตัวรถกันแล้ว ก็ต้องมาดูกันต่ออีกสักนิดว่า คู่แข่งในพิกัดเดียวกันนี้
มีใครบ้างละเนี่ย? พอมานั่งเปิดดูเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็ได้พบว่า Kia วางเป้าหมายให้ Soul ไปท้าตีท้าต่อย กับ
รถอีก 3 รุ่นที่เราเคยทำรีวิวผ่านไปแล้ว โชคดี๊โชคดีจริงๆ

Skoda YETI
: เจ้ามนุษย์หิมะ หวนกลับมาอยู่ในห้วงความคิดอีกครั้ง หลังสร้างความประทับใจให้ข้าพเจ้าอย่างมิรู้ลืม
พูดกันแบบ ตรงไปตรงมาเลยก็คือ Yeti ยังไง ก็เหนือกว่า Soul ในทุกด้าน ยกเว้นเรื่องของงานออกแบบ ที่ขึ้นอยู่กับ
รสนิยมความชอบส่วนบุคคล

Suzuki SX4 : ค่าตัวถูกกว่าชาวบ้านเยอะสุด เพราะราคาแค่ 8 แสนกว่าบาท แต่ช่วงล่าง กระด้างกดว่า Soul พวงมาลัย
ยังทำได้แค่ในระดับปานกลาง หรือถ้าพูดกันง่ายๆ คือ ว่ากันตามราคา Soul แพงกว่า ก็จะขับดีกว่า SX-4 นิดหน่อย
แต่อัตราเร่งและความประหยัดของ SX-4 ทำได้ดีกว่า Soul ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ รถมันต้านลมน้อยกว่า แต่สงสัย
อยู่เหมือนกันว่า พักหลังมานี้ ทำไมผมเห็น SX-4 บนถนนเยอะจัง หรือมันเป็นสัญญาณบอกเหตุอะไรสักอย่าง
หรือเปล่า?

Nissan Cube : จริงๆ ก็ไม่ถึงกับเป็นคู่แข่งโดยตรงนัก แต่ในเมื่อ มีรูปทรงคล้ายกัน บุคลิกมาในแนวทางคล้ายกัน
ก็คงต้องถูกจับมารวมดเป็นคู่แข่งไปด้วย แม้ราคาจะโดดไปกว่าใครเพื่อนก็ตาม การขับขี่ เรื่อยๆ สบายๆ อัตราเร่ง
เป็นที่ 2 ในกลุ่มคู่แข่งที่ร่ายมาข้างบนนี้ เป็นรองแค่ Yeti ที่เหลือ ก็เป็นเรื่องของการขับขี่อันรื่นรมรณ์ในแบบที่
เรานิยามกันไว้ว่า The Art of going slow. ซึ่งจะให้ความรื่นรมรณ์กับคุณมากกว่ารถคันใดในกลุ่มนี้ แน่นอนว่า
อัตราเร่ง และความประหยัด ก็ไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด

ท้ายที่สุด คำถามก็คงหนีไม่พ้นว่า คุณควรจ่ายเงินค่าตัว 1,328,000 บาท แลกกับการเป็นเจ้าของ Kia Soul หรือไม่?

ข้อแรก ถ้าใครคิดเป็นห่วง เรื่องบริการหลังการขาย ผมก็บอกเลยว่า ตอนนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะปีนี้ จะมีการ
ขยายโชว์รูมและศูนย์บริการ บรถนนพระราม 2 และในต่างจังหวัด ที่โคราช และอุดรธานี เมื่อรวมกับผู้จำหน่าย
รายอื่นๆแล้ว ก็มีโชว์รูมถึง 14 แห่ง และศูนย์บริการ 15 แห่ง ราย รายละเอียดต่างๆ เข้าไปดู ได้ที่ www.kia.co.th

ข้อต่อมา เรื่องของตัวรถนั้น ผมก็คงจะบอกคุณได้เลยว่า ถ้าคุณชอบงานออกแบบของมัน รับได้กับทุกสิ่งที่หนุ่มเท่
จากแดนกิมจิคนนี้เขาเป็น ค่าตัวระดับนี้ แลกกับการเป็นเจ้าของพาหนะที่มีแต่ผู้คนหันมองเหลียวหลังเต็มถนน
มันเด่นสะดุดตาพอกับ Nissan Cube เลยนั่นละ ก็ดูเป็นเรื่องเท่ดีไม่ใช่ยอก การตัดสินใจซื้อรถคันนี้ ผมว่าคงอยู่ที่
อารมณ์ และความรู้สึกของลูกค้าล้วนๆ ว่าคุณชอบมันจริงหรือไม่

และคนที่จะเห็นรถคันนี้แล้วกรี๊ดลั่นโชว์รูม อยากเป็นเจ้าของสักคัน ก็จะหนีไม่พ้น กลุ่มคนที่มองศิลปะเป็น
เรื่องสวยงาม มักเป็นกลุ่มศิลปิน นักดนตรี หรือดารา นักแสดง Celebrities ทั้งหลาย Soul เป็นรถที่เสริมบุคลิก
เท่ๆ กวนๆ ให้กับผู้เป็นเจ้าของได้อย่างเต็มที่

เพราะถ้าวัดกันด้วยเหตุผลแล้ว Kia Soul มีความน่าสนใจอยู่เพียงแค่ การออกแบบภายนอก และภายใน รวมทั้ง
พวงมาลัย กับช่วงล่าง ที่ถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับข้อจำกัดในบุคลิกของรถยนต์หลังคาสูง นั่นละ ข้อดีทั้งหมด
ของ Kia Soul เวอร์ชันไทยละ….ดังนั้น ถ้าคิดจะซื้อรถคันนี้จริงๆ หากนำ เหตุผลต่างๆมาตัดสินใจร่วมด้วย
แบบเดียวกับการซื้อรถคันอื่นๆ คุณอาจจะเบือนหน้าหนีและตีจากไปก็ได้

ที่เหลือหลังจากนี้ อยู่ที่ อารมณ์ กับรสนิยมของคุณจะตัดสินใจแล้วกันนะครับ!

————————————///—————————————

ขอขอบคุณ
คุณอารยะ ชั้นกาญจน์
และ คุณวาสนา สุนทรโกมล (พี่เต็น)
บริษัท Yontrakit Corporation จำกัด และ
บริษัท Yontrakit KIA Motor จำกัด

119 หมู่ 4 ถนนร่มเกล้า แขวงคลองสามประเวศ
เขตลาดกระบัง กทม.10520
โทร.02-9151991 โทรสาร 02-5439394
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

www.kia.co.th และ www.facebook.com/yontrakit.kia
—————————————————————–

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของ Kia Motor Corporation
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
5 สิงหาคม 2011

Copyright (c) 2011 Text and Pictures Except some studio shot from Kia Motor Corp.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

First publish in www.Headlightmag.com
August 5th,2011

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments Are Welcome, Click here.