“เฮ้ย! คุณจิมมี่? พาดหัวกันแบบนี้เลยเหรอ?”
“ครับ”
“อะไรกัน C-Class เนี่ยนะ? จะดีได้ขนาดนี้เชียวเหรอ”
“ไม่เชื่อ ก็ไม่เป็นไร แต่ผมลองมาแล้ว มันก็ออกมาแบบเนี้ย!”
“แล้ว จู่ๆ ทำไมถึงได้เอามาลองขับอีกละเนี่ย เคยทำรีวิว ไปแล้ว
รอบนึง ไม่ใช่เหรอ C-Class เนี่ย?”

“อ้าว! เคยทำรีวิวแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำรีวิว อีก ไม่ได้สักหน่อย จริงไหม?”

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น ในช่วง บ่าย 4 โมงเย็น วันพฤหัสบดี ที่ 8 กรกฎาคม 2010

ขณะที่ผมกำลังนั่งอยู่ในรถ ท่ามกลางกระแสจราจร ที่ต่างพากันคลานต้วมเตี้ยมเป็นเต่าติดตีบตัน
ในซอยเอกมัย โทรศัพท์มือถือ ดังขึ้น เสียงที่รอคุยอยู่ปลายสาย เป็นคุณพี่ใจดีที่คุ้นเคย

“ฮัลโหลลลล สวัสดีครับพี่ป้อมมมมมมมม”
“สวัสดีจ้ะคุณน้อง เป็นไงบ้าง สบายดีไหมช่วงนี้ พี่ก็กำลังสงสัยอยู่ว่า
ทำไม จิมมี่ หายไปเลย ไม่เห็นจะโทรมายืมรถเลยแหะ”

เสี้ยววินาทีนั้น ไม่ต้องคิดนาน สมองฝั่งลั่นล้า สั่งการให้ปากของผม
เอื้อนเอ่ยออกมาแทบจะในทันที

“พี่คร้าบบ ผมยังรู้สึกผิดต่อพี่ป้อมอยู่เลยคร้าบบบคราวก่อน ก็มีเหตุให้ดอง รีวิว ML280 CDI
ตั้งครึ่งปี จนรถรุ่นใหม่ ML300 CDI เปิดตัวไปแล้ว อยากบอก พี่ป้อม มากๆเลยว่า ผมละดีใจ๊ดีใจ
ที่ทาง Mercedes-Benz Thailand ยังคงใช้เครื่องบล็อกเดิม แต่เอาไปปรับปรุงให้ประหยัดขึ้น
ด้วยกลุ่มเทคโนโลยี Blue Efficiency ดังนั้น ตัวเลขการจับเวลาต่างๆ ก็เลยสามารถใช้ยืนยันอ้างอิง
ได้เหมือนเดิม ไม่งั้น คงโดนคุณผู้อ่าน เหน็บกันแสบๆคันๆ หน้าม้านเป็นจานกระเบื้องร้าว แหงๆ”

“คืออย่างนี้ ตอนนี้ พี่มี C250CDI Blue Efficiency ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัว เมื่อ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
พี่เพิ่งได้รับรถมาสดๆร้อนๆ เลย จิมมี่ สนใจไหม?”

“เอาคร้าบบบบบบ” (ทันที ไม่คิดมาก ไม่ปฏิเสธ จิมมี่นี่มันว่านอนสอนง่ายดีจัง ใครให้อะไรมา ก็งาบ เอ้ย รับหมด!)

คุยกันไปกันมา สรุปได้ความว่า แทนที่เราจะได้ลองขับ Mercedes-Benz C-Class รุ่นใหม่ Blue-Efficiency
แค่ รุ่น C250 CDI กลับกลายเป็นว่า ได้รุ่น C250 CGI  มาทำรีวิว พร้อมกันด้วยเลย เหตุผลก็เพราะว่า

“ในเมื่อคราวก่อน ผมพลาดโอกาสจะลองขับ C-Class W204 Diesel รุ่นแรกไปแล้วรอบนึง ดังนั้น คราวนี้
ผมจะไม่อมพลาดอีกเป็นอันขาด เพราะผมอยากรู้ว่า เครื่องยนต์ Diesel Turbo Common rail เวอร์ชันใหม่
Blue Efficiency ของ Mercedes-Benz จะหาญกล้าท้าชน คู่รักคู่แค้นจาก ต่างแคว้น ร่วมแดนเยอรมัน อย่าง
BMW 320d ตัวถัง E90 ที่ the coup team ของเราชื่นชอบกันนักหนา ได้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร

อีกทั้ง รุ่น C250 CGI นั้น ผมก็ยังไม่เคยได้ลองขับ และเห็นว่ามีการปรับปรุงเครื่องยนต์กันใหม่
ผมก็ชักอยากจะรู้ว่า สมรรถนะจะออกมาดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน?

หมายความว่า Full Review ในครั้งนี้ จะทำหน้าที่เป็นเพียงการ สรุปถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
ที่เกิดขึ้นกับ C-Class ใหม่ Blue Efficiency เท่านั้น ส่วนรายละเอียดพื้นฐานต่างๆ ขอให้อ่าน บทความ
Full Review : ทดลองขับ Mercedes-Benz C-Class W204 ที่เรานำเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว ควบคู่กันไปด้วย
จะได้รับทราบข้อมูล เพิ่มเติม อันเกี่ยวเนื่องกับรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งจะไม่ปรากฎใน Full Review
ครั้งนี้

เพราะ Full Review ครั้งนี้ ถือเป็นการ อัพเดทให้คุณๆ ได้ทราบว่า C-Class ใหม่ Blue Efficiency ทั้งรุ่น
C250 CGI คันสีเทา และ C250 CDI คันสีดำ ทั้ง 2 รุ่นที่เห็นอยู่นี้ น่าประทับใจพอให้คุณจ่ายเงินถึง
3 ล้านบาทเศษ เพื่อแลกกับการได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน หรือไม่?

เราคงไม่ต้องฉายหนังซ้ำ สาธยายถึงประวัติความเป็นมา ของตระกูล C-Class กันอีกให้เสียเวลา เพราะก่อนหน้านี้
เมื่อครั้งที่ ทำ Full Review ของ Mercedes-Benz C-Class W204 C200 Kmpressor & C230 2.5 Avantgade ผมก็เพิ่งจะ
เขียนถึงไปแล้วแบบคร่าวๆ พอสังเขป

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง เพื่ออุ่นเครื่อง กันก่อน ก็คือ หลังจากที่ C-Class รุ่นปัจจุบันซึ่งเป็น เจเนอเรชันที่ 4
(หากนับจาก 190E W201 ในเดือนธันวาคม 1982 ด้วยแล้ว) เผยโฉมครั้งแรกในโลกมาตั้งแต่ 18 มกราคม 2007 และ
เริ่มทำตลาดจริงในยุโรป เมื่อ 31 มีนาคม 2007 ก่อนจะตามมา เปิดตัวในบ้านเรา เมื่อ 3 ตุลาคม 2007 นั้น จนถึงตอนนี้
ยอดผลิตของ C-Class รุ่นปัจจบุัน ทุกตัวถัง จากโรงงาน Bremen อันเป็นฐานผลิตหลัก ของรถรุ่นนี้ พุ่งทะลุเกินระดับ
1 ล้านคัน ไปเรียบร้อยแล้ว!! แบ่งเป็นตัวถัง Saloon ประมาณ 840,000 คัน และ ตัวถัง Estate (Station Wagon) 5 ประตู
อีก ราวๆ 160,000 คัน

Daimler AG เพิ่งประกาศเรื่องนี้ออกมา เมื่อ 2 สิงหาคม 2010 ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ เลยนี่เอง! และนั่นเท่ากับว่า ยอดผลิต
สะสมของ ตระกูล 190E และ C-Class ออกแล่นรับใช้ลูกค้าทั่วโลก ทั้งที่ยังแล่นได้อยู่ หรือที่เป็นซากไปแล้ว จะด้วยเหตุ
ไม่คาดฝันอันใดก็ตามแต่ รวมกันแล้ว มากเกินกว่า 6.6 ล้านคัน!!!!!!!

โดย C-Class รุ่นปัจจุบัน กว่า 25 เปอร์เซนต์ ที่ผลิตออกมา ถูกส่งออกไปยังตลาดใหญ่ที่สุดของ C-Class คือ สหรัฐอเมริกา
เพียงแค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2010 นี้ ก็มียอดสั่งซื้อแล้วมากถึง 29,600 คันโดยประมาณ เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซนต์ จากช่วงเดียวกัน
ของปีที่แล้ว ส่วนตลาดสำคัญรองลงมาคือ เยอรมัน (ประมาณ 14,300 คัน) และในจีน (ประมาณ 12,100 คัน) และตัวเลข
ยอดขายของ C-Class ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั่วโลก อยู่ที่ ประมาณ 120,300 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถึง
6 เปอร์เซนต์ ขณะเดียวกัน ตัวถัง Estate เอง ก็มียอดขายดีขึ้น 6 เปอร์เซนต์ ในเยอรมัน อันเป็นตลาดใหญ่สุดของตัวถังนี้
เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซนต์ ในยุโรปตะวันออก และเพิ่มขึ้นถึง 47 เปอร์เซนต์ ในญี่ปุ่น อันเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของ C-Class

อันที่จริงแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูกันอีกที C-Class W204 นั้น ใช้เวลา ในการทำยอดขายสะสม 300,000 คัน เพียง 1 ปี
หลังจากออกสู่ตลาดเท่านั้น มีการประกาศในเรื่องนี้ออกมาเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 หลังจากนั้น อีกไม่นานนัก
Daimler AG ก็ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2008 ว่า C-Class ตระกูล 204 ถูกผลิตออกสู่ตลาดรวมแล้ว
มากถึง 500,000 คัน

ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด เป็นรุ่น C220 CDI ลูกค้า มากถึง 3 ใน 10 คน ตัดสินใจเลือกรุ่นนี้
(ซึ่ง รถรุ่นนี้ ทำตลาดในบ้านเรา ช่วงสั้นๆ และมีปริมาณรถในตลาดไม่มากนัก)  ขณะเดียวกัน ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน
C200 Kompressor เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยยอดสั่งซื้อราวๆ 20 เปอร์เซนต์ จากยอดขายทั้งหมด

ส่วนในเมืองไทย อย่างที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก เมื่อ 3 ตุลาคม 2007 C-Class W204 มีทางเลือกรุ่นย่อยด้วยกัน
3 แบบ ทั้ง C200 Kompressor Elegance , C200 Kompressor Avantgarde และ C230 V6 2.5 Avantgarde ต่อมา ในงาน
Bangkok International Motor Show มีนาคม 2008 ก็เพิ่มรุ่นย่อย C200 Kompressor Classic ขึ้นมา เพื่อให้เป็นทางเลือก
ในราคาถูกสุด จากนั้น ในปี 2009 จึงมีการเพิ่มรุ่น C220 CDI เครื่องยนต์ ดีเซล เข้ามาในทางเลือกรุ่นย่อย

แต่ในปี 2010 Mercedes-Benz Thailand ตั้งเป้า จะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้ เทคโนโลยี Blue Efficiency ในเมืองไทย
ให้ได้หลายรุ่นเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้น มีรุ่นย่อยใหม่ๆของ ตระกูล C-Class รวมอยู่ด้วย เราจึงได้เห็นการ
เปิดตัว C250 CGI Blue Efficiency Avantgarde เมื่องาน Bangkok International Motor Show มีนาคม 2010
ส่วน C250 CDI Blue Efficiency Avantgarde เปิดตัวออกมาพร้อมกับรุ่น C200 CGI Blue Efficiency (มีทั้ง
รุ่นมาตรฐาน รุ่น Elegance และ Avantgarde) เมื่อ 5 กรกฎาคม 2010 ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ

ถึงแม้ว่า  C250 CDI Blue Efficiency นั้น ออกสู่ตลาดครั้งแรก ที่เยอรมัน มาตั้งแต่ วันที่ 10 กันยายน 2008
โดยใช้เครื่องยนต์ ดีเซล 4 สูบ 2.2 ลิตร รหัส OM651 กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 4 มิถุนายน 2009 Mecedes-Benz ก็ประกาศว่าได้อัพเกรด เครื่องยนจ์ OM651 บล็อกนี้ ให้มี
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้น จากเดิม ที่ทำตัวเลขได้ 5.2 ลิตร / 100 กิโลเมตร เหลือ 5.1 ลิตร / 100 กิโลเมตร
นอกจากนี้ Mercedes-Benz ยังประกาศ ปล่อยรุ่น C250 CGI Blue Efficiency ออกสู่ตลาดยุโรปด้วย พร้อมกัน
ในคราวเดียว  เท่ากับว่า กว่าที่เครื่องยนต์ 2 รุ่นนี้จะมาถึงเมืองไทย ใช้เวลานานราวๆ เกือบ 1 ปี เห็นจะได้

คำถามที่หลายคนคงสงสัย มีอยู่ว่า อะไรคือ Blue Efficiency? ทำไมชื่อยาวจัง? มันแปลว่าอะไร

BlueEFFICIENCY คือชื่อที่ Mercedes-Benz ตั้งขึ้นมา เพื่อเอาไว้เรียก กลุ่มเทคโนโลยีที่รวมเอา สารพัดแนวทาง
การสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ หรือปรับปรุงรถยนต์รุ่นเดิมที่ขายอยู่ให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีขึ้น หรือใช้พลังงาน
ทางเลือกใหม่ๆ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ รอบคันให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ลดแรงต้านต่างๆลง
เพื่อช่วยลด ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ หรือ Drag Efficiency ตามหลัก อากาศพลศาสตร์ Aerodynamic ลง
 แต่ยังต้องคงความแข็งแรงไว้ หรือการเพิ่มระบบ ECO Start/Stop (Idle Stop นั่นแหละครับ) ไว้ดับเครื่องยนต์ตอน
ติดไฟแดง และสั่งเครื่องยนต์ให้เริ่มทำงานใหม่ ทันทีที่เหยียบคันเร่งเพิ่อออกรถ ไปจนถึงการใช้ยางแรงเสียดทานต่ำ
(Low Rolling Resistance) การปรับปรุงปั้มไฮโดรลิก ในชุดพวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรง รวมทั้งคอมเพรสเซอร์ของ
เครื่องปรับอากาศ ให้ทำงานเท่าที่จำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดที่พยายามทำกันหากปรับปรุงกันจนครบตาม Package
BlueEFFICIENCY ก็จะช่วยให้รถรุ่นนั้น เพิ่มความประหยัดน้ำมันได้อีกพอสมควร ขณะเดียวกัน ก็ยังช่วย
ลดการปล่อยก๊าซ CO2 หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ได้ถึง 23 %

นอกจากนี้แล้ว ทีมวิศวกรของ Mercedes-Benz ยังผนวกเอา เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนที่ถูก ปรับปรุงให้มี
ประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพเข้ามาไว้รวมกันภายใต้ แบรนด์
กลุ่มเทคโนโลยี BlueEFFICIENCY นี้

ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ระบบฟอกไอเสีย ที่ใช้ยูเรีย สำหรับเครื่องยนต์ Clean Diesel ที่เรียกว่า BlueTEC
(ซึ่งทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ผ่านมาตรฐานมลพิษของยุโรปในระดับ EU6 ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2014
ไปเรียบร้อยแล้ว!)

ไปจนถึงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน HYBRID ที่มีอยู่ใน S400 HYBRID และ ML 450 HYBRID ต่อยอดไปไกล
ถึงขั้นนำ เครื่องยนต์ดีเซล พ่วงกับระบบไฮบริด อย่าง BlueTEC HYBRID เทคโนโลยีระบบก๊าซธรรมชาติ ในรถยนต์
ตระกูล NGT และปลายทางของฝันอย่างเทคโนโลยี Fuel Cell ที่เรียกว่า F Cell

เท่ากับว่า Mercedes-Benz คันใด มีตรา Blue Efficiency แปะอยู่ข้างตัวรถ นั่นหมายถึงว่ารถรุ่นนี้ ถูกออกแบบ
หรือมีการปรับปรุง รวมทั้งใส่เทคโนโลยี ต่างๆมากมาย ที่ช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพิ่มความประหยัดน้ำมัน
แถมยังลดมลภาวะสู่โลก ลงได้ ต่ำกว่ารถรุ่นปกติทั่วไป นั่นเอง

นับจนถึงสิ้นปี 2009 ที่ผ่านมา Mercedes-Benz ได้ปรับปรุง ประสิทธิภาพของรถหลายๆรุ่นจนสามารถปะตรา
BlueEFFICIENCY ได้ มากถึง 58 รุ่น และนับจากนี้ จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี
BlueEFFICIENCY ระลอกแรก เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่เมืองไทย ก็เมื่อช่วงงาน Bangkok Motor Show มีนาคม 2010 นี้เอง
ทั้ง E-Class ใหม่ W212 เกือบทุกรุ่น จะพะแบรนด์ Blue Efficiency กันหมดแล้ว พร้อมทั้ง ML300 CDI Blue
Efficiency และแน่นอน รวมถึง C-Class W204 รุ่นที่คุณๆเห็นอยู่นี้อีกด้วย

มิติตัวถังยังคงความยาวเอาไว้ที่ 4,581 มิลลิเมตร กว้าง 1,770 มิลลิเมตร (ไม่รวมกระจกมองข้าง
ถ้ารวม ก็จะกว้างเป็น 2,020 มิลลิเมตร) สูง 1,447 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาว  2,760 มิลลิเมตร
(ถ้านึกไม่ออก ก็ให้เข้าใจว่า ยาวกว่า ระยะฐานล้อของ Toyota Wish 10 มิลลิเมตร)

ถ้ามองจากภายนอกเนี่ย คุณผู้อ่าน อาจจะยังมองไม่ออกหรอกครับว่า จะมีอะไรแตกต่างไปจาก W204 รุ่นแรก
ล็อตแรกๆ ที่คลอดออกมาก่อนหน้านี้ ต้องดูกันให้ดีๆ ถึงจะเห็นว่า ด้านหน้าของ รุ่น C250 CGI Blue Efficiency
คันสีเทา จะแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ เพราะใช้ไฟหน้าแบบ Bi-Xenon พร้อมระบบปรับระดับโคมไฟหน้ารถอัตโนมัติ
และมีไฟตัดหมอกหน้า พร้อม Daytime Running Light แบบ LED พร้อมระบบไฟส่องสว่างขณะเข้าโค้ง เมื่อ
เลี้ยวพวงมาลัย (Cornering Light) ติดตั้งมาพร้อมกับเปลือกกันชนหน้าแบบสปอร์ต และไฟท้ายแบบ LED

ส่วนรุ่น C250 CDI Blue Efficiency นั้น จะได้เปลือกกันชนหน้า พร้อมไฟตัดหมอก แบบเดียวกันกับ
C-Class W204 รุ่น Avantgarde คันอื่นๆ โดยชุดไฟหน้าเป็นแบบ Projector Beam Halogen

C-Class ทั้ง 2 คัน ตกแต่ง ในแบบ Avantgarde นั่นหมายความว่า จะติดตั้ง กระจังหน้า แบบ 3 แถบ
สีเงิน เคลือบด้วยอะลูมีเนียม สัญลักษณ์ ตราดาวสามแฉก ใหญ่โต เบ้อเร่อ ทุกรุ่น มีไฟเลี้ยวที่กระจก
มองข้างมาให้ เป็นรูปตัว C มีกระจกกรองแสง สีเขียว รอบคัน

ส่วนบั้นท้าย ภาพรวมดูไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ ไฟท้าย ของ C250 CDI เป็นแบบธรรมดา
ไม่ได้เป็นแบบ LED เหมือนอย่าง ใน C250 CGI มีคิ้วโครเมียมคาดบริเวณด้านล่างของกันชนหลัง
และด้านล่างของประตูทั้ง 4 บาน ล้ออัลลอยของทุกรุ่น มีขนาด ื17 นิ้ว ลาย 5 ก้านคู่ สวมด้วยยาง
ขนาด 225/45 R17 ทั้ง 4 ล้อ

การเปิดประตูเข้าสู่ห้องโดยสารนั้น หลังจากที่เคยระบุไว้ใน Full Review C-Class ครั้งก่อนว่า มีแต่กุญแจ
รีโมทคอนโทรล พร้อมระบบกันขโมย Immobilizer แต่ไม่มีระบบ Keyless GO ซึ่งเพียงแค่ พกรีโมทไว้กับตัว
เอานิ้วแตะกับมือจัประตู ให้ถูกตำแหน่งของมัน ระบบก็จะสั่งล็อก – ปลดล็อก ให้เดินเข้า – ออก จากรถ แลัว
กดปุ่มติดเครื่องยนต์ได้เลย มาให้ เหมือนอย่าง BMW 320d เขาเลย

คราวนี้ Mercedes-Benz ก็เลยใส่ระบบ Keyless GO อย่างที่ผมต้องการ มาให้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่า
มีมาให้เฉพาะ C250 CGI Blue Efficiency เท่านั้น ไม่มีในรุ่น ดีเซล CDI แต่อย่างใด…ว๊า!

เมื่อเปิดประตูแล้ว ผมก็พบบรรยากาศอันแสนจะคุ้นเคย ดูผิวเผินหนะ มันก็ไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้
เท่าใดนักหรอก แต่ ต้องดูให้ดีๆ งานนี้ ผมก็เลยชวนคุณผู้อ่าน มาเล่น Photo hunt จับผิดภาพ กันอีกครั้ง
เหมือนเช่นที่เคยทำ กับรถยนต์รุ่นใดก็ตาม ที่ต้อง จับมารวมในรีวิวเดียวกัน มากกว่า 2 คันขึ้นไป

แผงประตูด้านข้าง วางแขนได้ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่อาจจะยังไม่ถึงกับสบายนัก เพราะใต้ท้องแขน
จะต้องสัมผัสกับแนวตะเข็บที่มีฝีเย็บค่อนข้างสาก อย่างที่เป็นมาเหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ มีช่องใส่ของ
พอจะใส่ แผ่นที่ หรือ สมุดจดงานขนาดยาว ได้นิดหน่อย มีไฟส่องสว่าง เมื่อเปิดประตู ในตามค่ำคืน
มาให้อีกด้วย การก้าวเข้า – ออก C-Class ใหม่ ก็เหมือนกับรถยนต์ที่ใช้เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า ทั่วไป
ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ คือ ต้องดูให้ดีๆ ว่า คนที่เข้ามานั่งก่อนเรา เขาปรับเบาะเอาไว้ใกล้แผงหน้าปัด เกินไป
หรือไม่ เพราะหากไม่ดูตาม้าตาเรือ นั่งพรวดเข้าไป ศีรษะอาจจะโขกกับเสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ได้

เบาะนั่งหน้าตาเดิมๆ ปรับด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บนแผงประตู มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะ 3 ตำแหน่ง
โดยฝั่งคนขับ จะเชื่อมการทำงานกับ พวงมาลัยปรับระดับสูง – ต่ำ ด้วยก้านสวิชต์ไฟฟ้า และกระจก
มองข้าง ปรับ หรือพับเก็บ – กางออก ได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า เช่นกัน ส่วนเข็มขัดนิรภัย ของเบาะคู่หน้า
สามารถปรับระดับ สูง -ต่ำได้ ขณะที่คู่แข่ง ดูเหมือนว่าจะทำไม่ได้

เบาะนั่ง ยังคงให้สัมผัสที่ ไม่ถึงกับนุ่มสบายนัก แต่นั่งแล้วไม่ปวดหลังแน่ๆ ร่างของผู้โดยสารไม่จมลงไป
ส่วนเบาะรองนั่ง บางกว่ารถทั่วๆไป และถ้ายาวกว่านี้ได้อีกนิดก็จะดี แต่ถามว่าตำแหน่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้
เพียงพอไหม ก็ตอบได้เลยว่า ก็ถือว่า พอใช้ได้นะ ไม่เลวร้ายแต่อย่างใด

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ณ ตำแหน่ง แผงพลาสติกด้านข้างเบาะรองนั่ง จะเพิ่มสวิชต์กลมๆ สีดำ
มาให้ นั่นละครับ ความแตกต่าง ประการที่ 2 อันพบเห็นได้ด้วยตา คือมี สวิชต์ปรับตัวดันหลังมาให้
จะปรับตะแหน่งดันหลัง ให้ดันเข้า – หรือถอยหลัง ปรับตำแหน่งสูง – ต่ำของตัวดันหลัง ก็ได้ด้วย
มีมาให้ครบทั้ง 2 รุ่น จากเดิม ที่ให้มาแค่ ก้านปรับตำแหน่งธรรมดา ด้านข้างพนักพิง

เมื่อเปิดประตู คู่หลังออกมา จะพบว่า ในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency มี สวิชต์ปรับอุณหภูมิของ
เครื่องปรับอากาศ ได้เอง สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ซึ่งรวมอยู่ในเครื่องปรับอากาศ แบบแยกฝั่ง
การทำงาน ซ้าย – ขวา ควบคุมอุณหภูมิ อัตโนมัติ THERMOTRONIC

แต่ในรุ่น C250 CDI Blue Efficiency มีมาให้แค่ช่องแอร์ สำหรับผู้โดยสารด้านหลังเท่านั้น

ทางเข้าประตูคู่หลัง ก็ยังคงพอจะเข้า – ออกได้ ทางเข้าเบาะคู่หลังนั้น มีขนาดพอกันกับรถยนต์
ญี่ปุ่น ขนาด Compact (C-Segment) 1,600-2,000 ซีซี ช่วงการก้าวขาเข้า-ออกจากรถนั้น จัดอยู่ใน
เกณฑ์ปกติ สำหรับคนที่มีสรีระทั่วไป ไม่ถึงกับดีมาก หรือ ยากต่อการเข้าออกนัก แต่สำหรับผม
ก็จะเริ่มอึดอัดนิดนึง ทว่า ถ้าไซส์อย่างท่านผู้เกิน Commander CHENG (ชายร่างใหญ่ 140 กิโลกรัม)
ต้องใช้ความพยายามมาก เกินมนุษย์มนา ทั่วไป เขาพอสมควรเลยทีเดียว

เบาะนั่งด้านหลังของ C-Class นั้น เมื่อมาสัมผัสกันอีกทีในคราวนี้ คงต้องขอเขียนถึงเพิ่มเติมจากบทความเดิม
ในครั้งก่อนว่า หากต้องเดินทางไปบนเบาะหลัง ควรทำใจไว้สักนิดนึงว่า นั่งไม่ถึงกับสบายนัก ทั้งที่พื้นที่วางขา
ถือว่า เยอะกว่า BMW 3-Series และ Lexus IS250 อยู่นิดหน่อยด้วยซ้ำ อันเนื่องมาจาก การออกแบบเบาะนั่ง
ที่ค่อนข้างแข็งไปนิด ไม่ได้ รองรับช่วงไหล่เท่าใดนัก และเบาะรองนั่งเอง ก็ยังนั่งไม่ถึงกับสบายเท่าที่ควร

นี่ยังไม่นับกับ แผงประตูด้านข้าง ของประตูคู่หลัง ซึ่งน่าแปลกว่า ทำไม ประตูคู่หน้า ถึงมี ตำแหน่งวางแขน
ได้อย่างสบายพอดีๆ แต่พอเป็นแผงประตูคู่หลัง การณ์กลับตรงข้ามกัน คือวางแขนแทบไม่ได้เลย มีปัญหานี้
เหมือนกับ Toyota Corolla Altis ใหม่ เช่นเดียวกัน ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด

กระนั้น พื้นที่ว่าง เหนือศีรษะ ก็ยังคงมีเพียงพอสำหรับผู้โดยสารตัวสูง และยังมีที่วางแขน ซ่อนไว้ที่พนักพิง
เบาะหลังตรงกลาง ดึงลงมา วางแขนได้ และเปิดฝาขึ้น เพื่อวางของ รวมทั้งดึงเอา ช่องวางแก้ว แบบพับเก็บ
มีฝาปิด 2 ตำแหน่ง ขึ้นมาใช้งานได้

ในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency นอกจากจะมี ระบบเครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิได้ เอง สำหรับ
ผู้โดยสารด้านหลัง ซึ่งรวมอยู่ในเครื่องปรับอากาศ แบบแยกฝั่งการทำงาน ซ้าย – ขวา ควบคุมอุณหภูมิ
อัตโนมัติ THERMOTRONIC แล้ว ยังมี ม่านบังแดด ที่ กระจกหน้าต่างของบานประตูคู่หลัง ขณะที่รุ่น
C250 CDI Blue Efficiency จะไม่มีมาให้ อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ มีม่านบังแดด ที่กระจกบังลมด้านหลัง
ปรับขึ้นลงได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า บนแผงหน้าปัด อยู่ติดกับ สวิชต์ เปิด – ปิด ระบบสัญญานแจ้งเตือน
ระยะห่างจากวัตถุกีดขวาง ขณะถอยหลังเข้าจอด หรือ Parktronic ที่มีมาให้ทุกรุ่น เช่นกัน นั่นเอง

เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารด้านหน้า และด้านหลัง ทั้ง 5 ตำแหน่ง ในทุกรุ่น เป็นแบบ ELR 3 จุด
พร้อมระบบ Pre-tensioner & Load Limiter ลดแรงะทะ พร้อมพนักศีรษะมาให้ครบทุกตำแหน่ง
คาดเข็มขัดปุ๊บ เข็มขัดจะปรับตัวรั้งตรึง เข้ากับตัวผู้โดยสารก่อน เพื่อจะวัดขนาดร่างกาย ว่าควรจะ
รั้งตรึงเพื่อการปกป้องแค่ไหน ก่อนจะคลายตัวเอง อยู่ในระดับปกติ

เบาะนั่ง ในบางรุ่น ที่เมืองนอก อาจแบ่งพับ ในอัตราส่วน 60 : 40 ได้ ด้วยการ เปิดฝากระโปรงหลังขึ้น 
คลำหา สวิชต์คันโยกเล็กๆ บริเวณขอบด้านบนของช่องเก็บของ แต่ในรถทั้ง 2 คัน เบาะหลังพับไม่ได้นะครับ

อย่างไรก็ตาม การเปิดฝากระโปรงหลังของ C-Class คุณควรใช้ความระมัดระวังมากๆ เช่นเดียวกับ 
E-Class W211 และ W212 คันใดก็ตาม ที่ไม่มีระบบฝากระโปรงท้ายแบบสวิชต์ไฟฟ้า

เพราะว่า ทันทีที่คุณ ดันมือจับปลดล็อก บริเวณ กึ่งกลาง ระหว่างไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง
ฝากระโปรงน้ำหนักเบา จะดีดผึง ขึ้นไปด้านบน อย่างรุนแรง!!!!! เพราะไม่มีช็อกอัพไฮโดรลิก
คอยค่ำยันเอาไว้ให้นุ่มนวล เหมือนอย่างที่รถรุ่นก่อนๆ เขาเคยมีกัน

และถึงแม้ว่า พอฝาเปิดขึ้นไปจนสุดแล้ว มันจะหยุดด้วยตัวของมันเอง อย่างนุ่มนวล ครั้งเดียวอยู่หมัด
แต่ ก็สร้างความหวาดเสียวได้เอาเรื่อง เพราะ ถ้ามันเสยถูกคางของใครขึ้นมาละก็ งานนี้ ถึงขั้นคางแตก
ได้เลย…ต้องระมัดระวังมากๆนะครับ คุณผู้อ่าน

ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายนั้น มีขนาด 475 ลิตร ตามมาตรฐาน VDA ของเยอรมัน มีแผงฟิวส์
และไฟส่องสว่างภายในห้องเก็บของ ซ่อนอยู่ที่ผนังด้านขวา และมีป้ายฉุกเฉิน แปะอยู่ด้านบน
เมื่อ ยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมา จะพบยางอะไหล่แบบเต็ม พร้อมชุดเครื่องมือ และแม่แรงมาให้
อีกทั้งยังมีเครื่องมือปฐมพยาบาล อยู่ที่ผนังฝั่งซ้ายมือ

คงไม่ต้องนำรูปของรุ่น C250 CGI มาให้ชมนะครับ เพราะข้างใน เหมือนกันกับ C250 CDI
คันสีดำนี้ เป๊ะ ทุกประการ

ชุดแผงหน้าปัด ดูเผินๆ ก็ยังไม่มีอะไรแตกต่างไปจาก C-Class W204 รุ่นแรกๆ ก่อนหน้านี้
แต่อย่างใด ทั้งคู่ ตกแต่งภายในด้วย ลายอะลูมีเนียม ตัดกับสีดำ และเทา

ทั้งคู่ มีแผงสวิชต์ไฟในห้องโดยสาร ที่ส่องสว่างกระจ่างได้โล่ห์ เป็นอันมาก ในยามค่ำคืน
แผงบังแดด ทั้ง ฝั่ง ซ้าย และ ขวา มีกระจกแต่งหน้า แบบมีฝาพลาสติกพับเก็บได้ มาพร้อม
ไฟแต่งหน้า ทั้ง 2 ฝั่ง กล่องเก็บของด้านข้าง ลำตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า ยังคงเปิด
กางออก แบบบานประตู ปุ่มกดอยู่ที่ด้านข้างกล่องทั้งฝั่งผู้โดยสาร และฝั่งคนขับ ขนาดลึก
พอประมาณ มีช่องวางแก้วน้ำมาให้ 2 ตำแหน่ง

ทุกรุ่น ให้กระจกหน้าต่างไฟฟ้า แบบ One Touch ครบทั้ง 4 บาน กระจกมองข้าง ปรับและ
พับเก็บได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ใช้งานไม่ยาก และอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการมองหา ตัว
กระจกมองข้างเอง เป็นแบบ กรองแสงไฟหน้าจากรถคันที่ตามหลังมาโดยอัตโนมัติ

และทั้งคู่ ยังติดตั้งระบบควบคุมความเร็งคงที่ Cruise Control พร้อมระบบจำกัดความเร็ว
SPEEDTRONIC มาให้เล่นกันอีกด้วย การใช้งาน ก็เหมือนกับ ใน Mercedes-Benz
รุ่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ถ้าจะใช้ Cruise Control ให้ยกก้านสวิชต์ ของระบบ (เหนือก้าน
ไฟเลี้ยวและใบปัดน้ำฝน ฝั่งซ้ายมือของคอพวงมาลัย) ยกขึ้น หรือ กดลง เพื่อ เปิดระบบ
ให้ทำงาน็อกความเร็ว ถ้าจะยกเลิก ก็แค่ แตะเบรก เพียงเท่านั้น ส่วนระบบ จำกัดความเร็วนั้น
ให้กดก้านสวิชต์เดียวกัน ลงไป จนไฟสีเหลืองอำพันสว่างขึ้นมา ยกขึ้น คือ เพิ่มระดับความเร็ว
ที่จำกัดเอาไว้ และถ้ากดลง คือ ลดระดับความเร็วที่ต้องการจำกัดเอาไว้ ถ้าเหยียบคันเร่งจมมิด
ในระหว่างอยู่ในโหมด SPEEDTRONIC นี้ เหยียบไปไปเถอะครับ กดคันเร่งจมมิดจนติดเหล็กรถ
ความเร็วก็จะไม่เพิ่มไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ระบบนี้ ถือว่า เป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ สามารถ
กำหนดความเร็วที่ตนเองไม่ต้องการขับเกินไป ได้เอง เหมาะมาก กับคนที่ชอบขับรถเร็ว
จนเจอใบสั่ง ทางไปรษณีย์ อยู่เรื่อยๆ อย่างผม เป็นยิ่งนัก!

ส่วนพวงมาลัยแบบ 4 ก้าน ของทั้งคู่ ยังคงมีขนาดใหญ่เบ้อเร่อ เหมือนเดิม ไม่รู้จะใหญ่ไปไหน
เชื่อได้ว่า ถ้าเปลี่ยนมาเป็นพวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า น่าจะช่วยให้
สัมผัสของผู้ขับขี่ ในการบังคับรถ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้แน่ๆ ใครจะไปเชื่อละ แค่
เปลี่ยนพวงมาลัย การบังคับรถอาจน่าประทับใจขึ้นไปกว่านี้อีก

แต่ที่แน่ๆ พวงมาลัยของ ทั้ง 2 รุ่น มีสวิชต์ Multi Function 12 ปุ่ม ควบคุมการทำงาน ของ
อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งต้องลองอ่านต่อไปจากนี้ จึงจะรู้ว่า มีมาให้เอาไว้ใช้ประโยชน์อันใดได้บ้าง

อาจดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ แต่ลองดูให้ดีๆ จะพบเห็นลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ 

ความแตกต่างประการที่ 3 ซึ่งพอจะมองเห็นได้ด้วยตา อยู่ตรงนี้ครับ ลองดู ชุดมาตรวัดในรุ่น
C250 CGI Blue Efficiency ถ้าเทียบกับ C-Class W204 รุ่นก่อนๆ จะพบว่า มีการติดตั้ง
กรอบ 3 ช่อง ครอบลงไปบนพื้นที่รอบๆ ชุดมาตรวัด ทั้ง 3 ช่อง ดูสวยงาม ลงตัวยิ่งขึ้น
แถมไฟเลี้ยว และ ไฟเตือนระบบ ESP ทำงาน (เครื่องหมายตกใจ) ในยามค่ำคืน ดูเหมือนว่า
จะฝังลงในกรอบสีเงินอะลูมีเนียม ได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม มาตรวัดทุกประเภท สัญญาณ
ไฟเตือนทุกอย่าง ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม เรียงจัดไว้ตามหมวดหมู่ เพื่อให้ดูได้ง่าย ขณะ
กำลังขับรถอยู่ 

มาตรวัดรอบ ยังคงต้องใช้วิธี เพ่งกะเอา เหมือนเช่น รถรุ่นก่อนๆ เป็นแบบนี้เหมือนกันทั้ง
ในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency ที่มีตัวเลขมาตรวัดรอบ เริ่มขีด Red Line ที่ระดับ 6,250
รอบ/นาที…

เลยเถิดไปถึงรุ่น C250 CDI Blue Efficiency ก็เป็นไปกับเขาด้วย มาตรวัดรอบ เริ่มต้นขีดแดง
Red Line ที่ระดับ  4,200 รอบ/นาที และสุดตัวเลขที่ 6,000 รอบ/นาที เท่านั้น เพราะ เครื่องยนต์
ดีเซล ทำรอบเครื่องยนต์ได้ไม่สูงเท่ากับเครื่องยนต์เบนซิน (แต่ให้พละกำลังมหาศาลมากกว่า
ในรอบเครื่องยนต์ เท่ากัน)

จอ Multi Information ตรงกลาง ยังคงทำหน้าที่เหมือนใน Mercedes-Benz รุ่นหลังๆ แทบทุกรุ่น
คือเป็นทั้ง Trip Meter แสดงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เฉลี่ย หรือ Real-Time เวลาที่ใช้ไปใน
การขับขี่ ระยะทางที่น้ำมันซึ่งยังเหลืออยู่ในถัง จะพอให้รถแล่นต่อไปได้ ความเร็วของรถ
ในแบบ Digital เป็นหน้าปัดของชุดเครื่องเสียง ก็ได้ หรือในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency
ยังจะทำหน้าที่เป็นเข็มทิศ และบอกตำแหน่งพิกัด ที่รถกำลังแล่นอยู่ ว่าอยู่บนถนนอะไร
หรือในหมู่บ้านอะไร และแน่นอน เอาไว้สำหรับเป็นหน้าจอ เพื่อการปรับตั้งค่า ของอุปกรณ์
ไฟฟ้าต่างๆภายในรถ แถมยังใช้เป็นหน้าจอของ โทรศัพท์ เมื่อเชื่อมเข้ากับระบบ Bluetooth
อีกด้วย

การควบคุม ก็ใช้ สวิชต์ วงกลม ฝั่งซ้ายมือบนพวงมาลัยนั่นละครับ ขึ้นหน้า ถอยหลัง ซ้าย ขวา
และปุ่ม OK ตรงกลาง นั่นละครับ

ในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency ซึ่งตอนนี้ ถือได้ว่าเป็นรุ่น Top of the Line ของ C-Class
รุ่นปี 2010 ไปแล้วนั้น จะมีเครื่องปรับอากาศ แบบแยกฝั่งซ้าย – ขวา และด้านหลัง พร้อม
สวิชต์ควบคุมสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง THERMOTRONIC 3 โซน แยกกันไปเลย จะได้
ไม่ต้องมาบ่นหนาว ให้ได้ยินอีก เย็นเร็วทันใจใช้ได้เลยทีเดียว

ส่วนเครื่องเสียงนั้น ให้มาเป็นชุด COMMAND APS ประกอบด้วย วิทยุ AM/ FM/ MW/ SW
เครื่องเล่น CD/ DVD/ MP3 แบบ 6 แผ่น ในตัว พร้อมระบบนำทางผ่านดาวเทียม โดยใช้ข้อมูล
แผนที่ จากใน ฮษร์ดดิกส์ HDD Navigation System มีระบบบันทึกเพลงจาก CD เข้าไปยัง
ฮาร์ดดิสก์ ผ่านระบบ Gracenote แสดงผลทุกสิ่งอย่าง ผ่าน จอมอนิเตอร์ สี ขนาดใหญ่
มีระบบ สั่งการทำงานด้วยเสียง LINGUATRONIC สำหรับทั้งชุดเครื่องเสียง และระบบ
เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth ที่สำคัญ ยังมีระบบเสียง Surround แบบ Logic 7
ของ Harman Kardon มาให้เป็นพิเศษ

แต่คราวนี้ ชุดเครื่องเสียงของ C250 CGI Blue Efficiency จะเพิ่ม ช่อง Media Interface มาให้
ในลิ้นชักเก็บของ ฝั่งขวา ซึ่งต้องซื้อ สายสัญญาณต่อเชื่อม USB หรือ จะอะไรก็ตามแต่ ไว้
สำหรับเสียบเข้ากับ เครื่องเล่นเพลง iPod หรือ MP3 ไปจนถึงสามารถเสียบเข้ากับเครื่อง
BlackBerry ได้ อย่างที่เห็นอยู่นี้ เรียกได้ว่า ขับรถไป ฟังเพลงจาก BB ไป และ Chat
ผ่านโปรแกรม BB Messanger ตอนรถติดไปด้วย เอาให้ครบ กันไปข้างนึงเลยทีเดียว!

ภาพรวมแล้ว ถือได้ว่า ชุดเครื่องเสียงของ C250 CGI ให้คุณภาพเสียง ดีเยี่ยมที่สุดคันหนึ่ง
ในบรรดา Mercedes-Benz ทุกคันที่เคยลองขับมา

แต่ เมื่อมีเรื่องให้ชื่นชม ก็ต้องมีเรื่องให้ตำหนิกันบ้างแหละ ระบบนำทางนั้น ใช้งานยาก
อีกทั้ง ภาษาอังกฤษ ที่ระบบรู้จัก ยังแตกต่างไปจากระบบภาษาอังกฤษที่คนไทยทั่วไป เรียกกัน
คือ ในระบบนำทางอื่นๆ เราอาจจะเรียก ถนน ว่า Road ตัวย่อว่า Rd. แต่ระบบนำทาง ของ
Mercedes-Benz เล่นเขียนทับศัพท์ไปเลยว่า THANON (-_-‘)  แค่จะหาสี่แยกวังหิน
ไม่ต้องไปหานะครับ ไม่เจอในระบบ พยายามหายังไงก็ไม่เจอ ไม่รู้ว่าพวกเราโง่กันเอง
หรือเปล่าเนี่ย? แต่ ยืนยันว่า ถึงขั้น จอดรถ ใช้เวลา ประมาณ 10 นาที เพื่อจะหาตำแหน่ง
ของสี่แยกวังหิน จนพึ่งมาค้นพบว่า ดูจากในแผนที่ แล้วลาก Cursor ผ่านทาง วงแหวน
Controller ที่ข้างคันเกียร์ ไปจิ้มกำหนดจุดเอาเอง จะง่ายกว่าเยอะเลย?

แต่ในรุ่น C250 CDI Blue Efficiency เครื่องปรับอากาศ จะเป็นแบบ แยกฝั่งซ้าย – ขวา แบบ
THERMATIC ธรรมดา 2 ฝั่ง และมีช่องแอร์ สำหรับู้โดยสารตอนหลังมาให้ด้วย แต่ใต้ช่องแอร์
จะไม่มี ช่องเขี่ยบุหรี่ พร้อม ช่องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้า 12V ซ่อนพับเก็บได้ เหมือนใน รุ่น
C250 CGI Blue Efficiency แต่อย่างใด

นอกจากนี้ Mercedes-Benz Thailand ก็ยังคงติดตั้งชุดเครื่องเสียงแบบ Audio 20 เจ้าเก่า
มาให้ ตามเคย ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM และ เครื่องเล่น CD 6 แผ่น ในตัว เล่น MP3 ได้
มีระบบเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ Bluetooth มาให้ แต่ไม่มีช่อง Media Interface
และไม่มีเครื่องเล่น DVD มาให้ มีเพียงจอ แสดงการทำงานของวิทยุ แบบพับเก็บได้
ขนาด 4.5 นิ้ว มาให้ดู ไฮโซ แบบพอเพียง คุณภาพเสียง ก็ถือว่า พอฟังได้ และควบคุม
การใช้งานได้จากสวิชต์ วงกลม ฝั่งซ้ายของพวงมาลัย

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเชิงปกป้องนั้น ทุกรุ่นจะติดตั้ง ระบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ
PRE-SAFE System ถุงลมนิรภัยด้านข้าง 2 ใบ พร้อมเซ็นเซอร์ วัดแรงปะทะ และการ
คาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งสวิชต์ตัดการทำงานของถุงลมนิรภัยผู้โดยสารด้านหน้า ฝั่งซ้าย
เผื่อว่า ไม่มีใครโดยสาร หรือว่ากำลังใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กอยู่ มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง
ให้ผู้โดยสารครบทั้ง 4 ตำแหน่ง และม่านลมนิรภัย ทั้งฝั่งซ้าย – ขวา ยาวจากหน้า จรด หลัง
มีพนักศีรษะ NECK-PRO ไฟเบรกกระพริบฉุกเฉิน ระบบเตือนระดับผ้าเบรก เตือน
ความดันลมยาง และมีเซ็นเซอร์ PARKTRONIC ช่วยกะระยะเข้าจอด พร้อม จอ LED
เหนือแผงหน้าปัด และ บนเพดาน ตรงกลาง ด้านหลัง เป็นไฟสีส้ม กับ แดง บอกระยะ
ห่างจากวัตถุ ขณะเข้าจอด เหมือน Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ ที่ติดตั้งระบบนี้

ส่วน รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น ตำแหน่งของลิ้นชักพร้อมฝาปิด ฝั่งผู้โดยสารด้านซ้าย
รวมทั้ง ภาพถ่าย ทัศนวิสัย รอบคันคงไม่ต้องนำมากล่าวถึงซ้ำอีก เพราะมันไม่ได้แตกต่าง
ไปจาก C-Class W204 รุ่นแรก แต่อย่างใด

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

เครื่องยนต์ ที่ถูกติดตั้งลงใน C250 CGI Blue Efficiency นั้น อันที่จริง มันก็เป็นบล็อกเดียวกับใน C200 CGI
Blue Efficiency นั่นละครับ คือเป็นรหัส M271 แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,796 ซีซี แต่มาพร้อม
เทคโนโลยี ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ Direct Injection และคราวนี้ ก็ถอด Supercharge
ออก แล้วติดตั้ง Turbo เข้าไปทำหน้าที่แทน

รุ่น C200 CGI มีกำลังสูงสุดอยู่ที่ 184 แรงม้า (PS) หรือ 135 กิโลวัตต์ ที่ 5,250 รอบฝนาที แรงบิดสูงสุด
270 นิวตันเมตร (27.51 กก.-ม.) ที่ 1,800 – 4,600 รอบต่อนาที แต่เมื่อเป็นรุ่น C250 CGI จะถูกเพิ่ม
พละกำลังขึ้นเป็น 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด ก็จะเพิ่มขึ้น
ตามไปด้วย เป็น 310 นิวตันเมตร (31.58 กก.-ม.) ที่ รอบระหว่าง 2,000 – 4,300 รอบ/นาที

ส่วนขุมพลังที่นอนสงบอยู่ใต้ฝากระโปรงของ C250 CDI Blue Efficiency เป็นเครื่องยนต์ ใหม่
ล่าสุด และถือเป็น เครื่องยนต์ ไฮไลต์ ของรีวิว ในครั้งนี้ เพราะมันคือ สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คุณ
ได้อ่านรีวิว C-Class ใหม่ จากผม กันอีกครั้ง

เครื่องยนต์ ของ C250 CDI Blue Effciency เป็นเครื่องยนต์ใหม่ รหัส OM651 เป็นแบบ
Diesel 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว 2,143 ซีซี อัตราส่วนกำลังอัด  16.3 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิง
ด้วยระบบ Common Rail พ่วง Turbocharger และ Intercooler มาให้เสร็จสรรพ

ความไม่ธรรมดาของเครื่องยนต์ OM651 นั้น อยู่ที่ เทคโนโลยี ที่ประโคมกันอัดแน่นเข้าไป ดังต่อไปนี้

– เสื้อสูบ ผลิตจากเหล็กหล่อ ฝาสูบ ทำจากอะลูมีเนียม
– เฟืองขับเพลาลูกเบี้ยว camshaft drive วางด้านหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ บังคับเกี่ยวกับความปลอดภัย
   หากเกิดอุบัติเหตุกับคนเดินถนน (<—— ต้องคิดกันถึงขนาดนี้เลยเชียวหรือ?)
– ใช้ระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Common Rail  4th Generation เพิ่มแรงดันในระบบขึ้นจากเดิม 400 บาร์
   จนสูงสุดได้ถึงระดับ 2,000 บาร์ พร้อมหัวฉีดไฟฟ้าแบบ piezo ใหม่ที่มี เข็มควบคุมการฉีดโดยตรง
   เพื่อการกำหนดเวลาในการฉีดเชื้อเพลิง ได้ยืดหยุ่นยิ่งกว่า ให้เครื่องเดินเรียบขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น
   และปล่อยมลพิษน้อยลงในเวลาเดียวกัน
– แรงดันเริ่มต้นการจุดระเบิดสูงสุดที่ 200 บาร์ ช่วยยกระดับกำลังอัดต่อความจุกระบอกสูบ ได้อย่างดี

– มีช่องระบายน้ำแบบสองตอนในฝาสูบช่วยลดความร้อนสูงสุดในบริเวณของผนังห้องเผาไหม้
  ช่องระบายน้ำนี้เอง ที่ช่วยให้สามารถเพิ่มแรงดันจุดระเบิดถึง 200 บาร์ และอัตรากำลังต่อความจุ
   กระบอกสูบอยู่ในระดับสูงได้
– กระบอกลูกสูบทำจากเหล็กหล่อ สำหรับเครื่องยนต์ OM651 รุ่นนี้มีการปรับแต่งและขัดให้ละเอียด
  กว่าลูกสูบในเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นก่อนๆ รุ่นก่อน เพื่อช่วยลดการเสียดทานในห้องเผาไหม้
– มีการใช้ Balancer Shaft ของ Lanchester สองตัว ติดตั้งอยู่ใต้เสื้อสูบ ของเครื่องยนต์ ติดตั้งใน
  ลูกปืนแบบทรงกระบอก roller bearings แบบความฝืดต่ำแทนที่จะใช้แบริ่งแบบแบนธรรมดา
  ที่มีความฝืดมากกว่า เพื่อเป็นการชดเชยแรงเฉื่อยที่พบในเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบทั่วไป 

– ระบบอัดอากาศ เป็นแบบ Turbocharge ทำงานแบบสองจังหวะ (Dual Stage)
– มี Intercooler ช่วยลดอุณหภูมิของไอดี ก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้
– หัวฉีดสเปรย์น้ำมันหล่อลื่น และปั๊มน้ำ ทำงานตามความจำเป็น เพื่อช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
–  ปั๊มน้ำมันเครื่อง ออกแบบมาพิเศษ ให้มีการควบคุมการไหลเวียนของน้ำมันเครื่องอย่างเหมาะสม
– Fly Wheel หรือ ล้อช่วยแรง เป็นแบบสองชั้น two-mass fly wheel ออกแบบพิเศษ เพื่อให้เกิด
  แรงบิดสูงที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ ลดการสั่นสะเทือนของเพลาข้อเหวี่ยง crankshaft และทำให้เครื่องยนต์
  เดินเรียบยิ่งขึ้น

เครื่องยนต์ OM651 ใหม่ล่าสุดเครื่องนี้ ให้พละกำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ หรือ 204 แรงม้า (PS)
ที่ 4,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด มากถึง 500 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ 1,600 – 1,800 รอบต่อนาที

ถ้าสังเกตกราฟแรงม้า และแรงบิดดูจะเห็นได้ว่า พละกำลังจากเครื่องยนต์นั้น เมื่อเริ่มออกตัว จะ
พุ่งปรู๊ด ในช่วง 1,200 – 2,000 รอบ/นาที หลังจากนั้น แรงม้าสูงสุด จะไปหมดเอาที่ช่วง 4,200 รอบ/นาที
อันเป็นรอบเครื่องยนต์ ที่เข้าสู่ Red Line พอดีๆ

ส่วนแรงบิดสูงสุดนั้น เริ่มต้นจากระดับ 1,200 รอบ/นาทีเช่นเดียวกัน แต่ เมื่อถึง ระดับ 1,600 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ ก็ปล่อยแรงบิดสูงสุดพุ่งปรี๊ด ออกมาจนหมดแล้ว ในช่วง 2,000 – 2,500 รอบ/นาที ยังพอจะ
มีเรี่ยวแรงดึงอยู่บ้าง แต่หลังจาก 2,500 รอบ/นาทีแล้ว แรงบิดก็จะหายเหี่ยวไปหมดเลย ซึ่งทั้งหมดนี้
ทำให้ผมไม่แปลกใจแล้วว่า เหตุใด เครื่องยนต์ เบนซิน ของ C250 CGI Blue Efficiency ถึงได้ยังมี
เรี่ยวแรง ฉุดลาก ในช่วงความเร็วตั้งแต่ 120 – 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง
กว่า C250 CDI Blue Effciency

ทางโรงงาน เคลมว่า C250 CDI Blue Effciency นั้น อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้
ภายในเวลา 7 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันโดยเฉลี่ย
ถึง 17 กิโลเมตร/ลิตร ปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซค์จากท่อไอเสียที่ 153-167 กรัม/กิโลเมตร
ฟังดูตัวเลขน่าสนใจมากมายเลย นะเนี่ย!

ทั้ง 2 รุ่น จะถูกส่งกำลังขับเคลื่อน ไปยังล้อคู่หลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์
แบบ One Touch หรือ โหมด + / – ซึ่งแปลกกว่ารถยี่ห้ออื่นๆ เพราะต้องผลักไปทั้ง ซ้าย – ขวา แทนที่จะ
ผลักขึ้น – ลง เหมือนกับรถยี่ห้ออื่นที่คนทั่วไปเขาคุ้นชินกันมากกว่า (เท่ากับว่า ในเวลานี้ เกียร์อัตโนมัติ
7 จังหวะ แบบ 7G-TRONICS ที่เคยติดตั้งกับรุ่น C230 2.5 เดิม ถูกปลดประจำการ ออกจากตระกูล C-Class
W204 ในเมืองไทยเรียบร้อยแล้วอย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด)

ในรุ่น C250 CGI Blue Efficiency อัตราทดเกียร์ ลูกนี้ จะยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
เกียร์ 1……………..3.95
เกียร์ 2……………..2.42
เกียร์ 3……………..1.49
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…3.15
เกียร์ถอยหลัง R2…1.93
เฟืองท้าย…………..3.07

แต่ในรุ่น C250 CDI Blue Effciency อัตราทดเกียร์จำเป็นต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับแรงบิด
ของเครื่องยนต์ ดีเซล เทอร์โบ อีกสักหน่อย ออกมาเป็นอย่างที่เห็นอยู่นี้
เกียร์ 1……………..3.60
เกียร์ 2……………..2.19
เกียร์ 3……………..1.41
เกียร์ 4……………..1.00
เกียร์ 5……………..0.83
เกียร์ถอยหลัง R1…3.17
เกียร์ถอยหลัง R2…1.93
เฟืองท้าย…………..2.47

และทั้งคู่ ยังมีโปรแกรมการขับขี่ Comfort และ Sport มาให้ เลือกเอาได้จากปุ่ม C S ตรงฐานเกียร์
หน้าที่ก็จะคล้ายคลึงกับ โปรแกรมการขับขี่ในเกียร์อัตโนมัติทั่วไป ซึ่งจะปรับตั้งเอาไว้ ให้มีการ
ลากรอบเปลี่ยนเกียร์ได้นานขึ้นอีกเล็กน้อยใน Mode SPORT

เรายังคงทดลองจับเวลาหาอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุด กันด้วยวิธีการดั้งเดิม คือ ใช้เส้นทางประจำ
ในยามค่ำคืน ช่วงเวลาเดียวกัน น้องกล้วย BnN แห่ง The Coup Team ของเรา น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม
(ขึ้นมาแล้ว 2 กิโลกรัม) มาช่วยผมจับเวลาเช่นเดิม (คนขับ น้ำหนัก 95 กิโลกรัม) สรุปรวมแล้ว นั่ง 2 คน
เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ C-Class W204 รุ่นแรกที่เราเคยทดลองขับ
กับ คู่แข่งในตลาดกลุ่ม Premium Compact Sedan ด้วยกัน ปรากฎออกมา ดังนี้

เห็นตัวเลข แล้วเป็นยังไงครับ อึ้งกันไหม? ใครไม่อึ้ง ผมนี่แหละ อึ้งกิมกี่ไปพอสมควรเลยแหะ
ก็ใครมันจะไปเชื่อละครับว่า “เครื่องยนต์ เบนซิน 1.8 ลิตร บล็อกสหกรณ์ ที่คุ้นเคยคุ้นหน้ากันมาช้านาน
แค่นำมา ปรับปรุงใหม่ แล้ว ใส่ Turbo เข้าไป ก็เรียกสมรรถนะออกมาได้ เท่ากันกับ เครื่องยนต์ Diesel
2.2 ลิตร Turbo บล็อกใหม่ ได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ!”

และด้วยตัวเลขที่ออกมา ของ C-Class Blue Efficiency ทั้ง 2 รุ่น นอกเหนือจากจะทำผลงานได้ดีกว่า
C-Class W204 รุ่นแรกสุด ดังที่เห็นในตารางนี้แล้ว ต้องถือว่า ยังทำตัวเลขได้ดีกว่า คู่แข่งด้วย แม้จะเห็นว่า
ตัวเลขของ C250 CGI จะด้อยกว่า Lexus IS250 กับ BMW 325i Coupe ประมาณ 0.2 วินาที ก็ตาม

แต่ทั้งนี้ คุณต้องไม่ลืมว่า เครื่องยนต์ของ C250 CGI Blue Efficiency มีความจุแค่ 1.8 ลิตร เท่านั้น!!!
ซึ่งนั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ เล็กแค่นี้ แต่ให้สมรรถนะออกมา เทียบเท่ากับ เครื่องยนต์ พิกัด 2.5 ลิตร
นี่ถือเป็นเรื่องประเสริฐมากๆแล้ว ! เป็นอีกตัวอย่างนึงให้เราเห็นว่า จริงๆแล้ว ถ้าพื้นฐานเครื่องยนต์
สร้างไว้ดีตั้งแต่แรก การปรับปรุงพัฒนาต่อยอด ก็จะทำได้มากมาย และเค้นเอาพละกำลัง ที่แอบซ่อนอยู่
ออกมาให้เกินตัวไปได้อีกมากโข

เมื่อได้ทดลองขับจริงๆแล้ว จากจุดหยุดนิ่ง C250 CGI จะออกตัวด้วยแรงบิดที่มากมาย อย่างชัดเจน
ทว่า นุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก ขึ้นนิ่มๆ แต่พุ่งอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงช่วงหลัง 5,000 รอบ/นาทีขึ้นไป
จึงจะเริ่มจะไหลขึ้นไปช้าลง แต่กระนั้น ก็ยังคงมีอัตราเร่งที่พร้อมให้เรียกใช้ได้อย่างทันท่วงที การเร่งแซง
เป็นไปอย่างสนุกสนาน ใช้การได้ ยิ่งถ้าเครื่องยนต์ ทำงานอยู่ในช่วงตั้งแต่ 2,500 รอบ/นาทีขึ้นไป Turbo
ก็จะบูสต์ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี แม้ว่าช่วงก่อนหน้านั้น ก็จะไม่ได้แตกต่างจากรถที่ติด Turbo ทั่วไป
ในยุคหลังๆ มากนัก คือ พละกำลังในรอบต่ำๆ มีเพียงพอสำหรับการขับขี่ในเมือง แต่ใช้การได้ เสียดาย
อยู่เพียงแค่เรื่องเดียวว่า การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้า นั้น ช้าไป แม้จะไม่ถึง แต่ก็เกือบๆจะใช้เวลา
ราวๆ 1 วินาที โดยประมาณ กันเลยทีเดียว ซึ่งจะว่าไปแล้ว คันเร่ง ที่มีลักษณะดื้อเท้า ต้านแรงเหยียบ
แบบนี้ ก็มักพบได้ในรถเยอรมัน ทั้ง Mercedes-Benz และ BMW กันอยู่แล้ว เป็นปกติ

ส่วนในรุ่น CDI นั้น สัมผัสได้เลยว่า ลำพังตัวเครื่องยนต์อย่างเดียว ทำผลงานได้น่าพึงพอใจกว่า
BMW 320d รุ่นเดิม เรียบร้อยแล้ว!! ทั้งในด้านอัตราเร่ง พละกำลัง แรงดึงที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการ
พาคุณทะยานไปยังย่านความเร็วสูงสุด

อัตราเร่งที่ เกิดขึ้น จะพาให้รถพุ่งออกไปข้างหน้า อย่างฉับไว และสังเกตได้ชัดเจนเลยว่า แรงออกตัว
จะดึงแผ่นหลังของคนขับ ติดพนักพิงเบาะนั่ง ได้กระชากใจกว่ารุ่น C250 CGI เนื่องจากแรงบิดที่มี
เยอะกว่าอย่างชัดเจน ถึง 510 นิวตันเมตร แม้จะใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ แต่ การเร่งแซง ก็ทำได้ดีเยี่ยม
ไม่มีปัญหาเลย ต้องการอัตราเร่งเมื่อใด แค่เหยียบคันเร่งลงไปสักนิดหน่อย ราวๆ เกือบครึ่งหนึ่งของ
ระยะคันเร่ง เพียงเท่านั้น รถก็จะพาคุณพุ่งพรวดไปข้างหน้า อย่างฉับไว

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า เครื่องยนต์ ดีเซล ของ C250 CDI Blue Efficiency มีความจุ 2.2 ลิตร
มากกว่าเครื่องยนต์ ของ BMW 320d (2.0 ลิตร) อยู่นิดหน่อยนะครับ ดังนั้น ถ้าทำตัวเลขออกมา
ได้ระดับนี้ ถือว่า สมรรถนะของเครื่องยนต์ Diesel บล็อกนี้ ก็ ดีเกินคาดกว่าที่ผมคิดไปเยอะเลย
แล้วละ!

แต่ถ้าได้เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ไปเลย ตัวเลขน่าจะยิ่งออกมาดีมากกว่าที่เห็นอยู่นี้ขึ้นไปอีก
เพราะแม้ว่าแรงบิดจะมหาศาลถึง 510 นิวตันเมตร แต่แรงดึงที่เกิดขึ้นขณะออกตัว ก็ยังไม่มาก
เท่ากับ BMW 320d ส่วนหนึ่่งเป็นเพราะ การใช้เกียร์อัตโนมัติ ที่ให้มาแค่ 5 จังหวะ ทำให้ต้อง
ปรับแต่งอัตราทดเกียร์เอาไว้ให้ยาวกว่า 320d แต่กระนั้น อัตราเร่งที่ดีขนาดนี้ ดึงได้มากขนาดนี้
ทั้งที่อัตราทดเกียร์มีช่วงห่างค่อนข้างยาว ก็เรียกได้ว่า ได้ใจผมไปเต็มๆ แล้วละครับ

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณต้องการจะเร่งแซง ขณะที่ใช้ความเร็วระดับ 120 – 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป
เครื่องยนต์เบนซิน Turbo ของ C250 CGI จะยังคงให้พละกำลังไหมาเทมา อย่างต่อเนื่อง มากกว่า
เครื่องยนต์ OM651 ของ C250 CDI อยู่พอสมควร จนกระทั่งถึงความเร็วระดับ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความเร็วจึงจะค่อยๆเริ่มไหลขึ้นอย่างช้าลง

นอกเหนือจากเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลังแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งหลายคนคงอยากรู้
ว่าจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นั่นคือระบบกันสะเทือน และระบบบังคับเลี้ยว
คราวนี้ Mercedes-Benz เริ่มติดตั้งเทคโนโลยีที่เรียกว่า AGILITY CONTROL ซึ่งจะ
ผสมผสาน การทำงาน ของระบบบังคับเลี้ยว และระบบกันสะเทือน ให้เป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกัน

พวงมาลัยเป็นแบบ แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่
C250 CGI และ C250 CDI ทั้ง 2 คันที่เรานำมาทดลองขับ จะมีระบบปรับน้ำหนักได้เอง
ตามความเร็วรถ มาให้ ซึ่งในช่วงความเร็วต่ำ การหมุนพวงมาลัยก็เบาสบายดี เหมือนรถญี่ปุ่น
การหักเลี้ยว คล่องแคล่ว ไวใช้ได้ แต่ยังไม่ถึงกับเฉียบคม เมื่อเทียบกับ BMW 3-Series ทว่า
ในช่วงความเร็วสูงๆ น้ำหนักพวงมาลัย ก็ไม่ได้หนืดขึ้นมากมายนัก คือ หนืดขึ้น แต่ไม่มาก
เท่าที่ควร กระนั้น แม้จะใช้ความเร็วระดับสูงมากๆแถวๆ เกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง พวงมาลัย
ก็ยังนิ่ง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวถนน

ระบบกันสะเทือน หน้าแบบ แม็คเฟอร์สัน สตรัต 3 Link ส่วนด้านหลัง เป็นแบบ มัลติลิงค์
ใช้คอยล์สปริงทั้งด้านหน้าและหลัง เซ็ตมาไม่แตกต่างไปจาก C-Class W204 คันอื่นๆ ที่ผม
เคยลองขับไปก่อนหน้านี้ มากนัก อย่างไรก็ตาม ช็อกอัพที่ Mercedes-Benz เลือกใช้นั้น
มีกลไกในแกนกลาง ซึ่งจะทำงานขึ้นอยู่กับแรงดันของเหลวในกระบอกช็อกอัพ ถ้าขับเรื่อยๆ
บุคลิกการขับขี่ ก็จะมาในแนวนุ่ม สบาย แต่ติดแข็งนิดเดียว ในช่วงที่คลานไปตามลูกระนาด
หรือหลุมบ่อขรุขระ เหมาะกับ ผู้ใหญ่ ที่ชอบรถแนว นุ่มนิดนึง แต่คาดหวังให้ช่วงล่าง แข็งกว่า
C-Class W203 รุ่นเดิม มากกว่า วัยรุ่นที่ชอบซิ่ง แต่เมื่อต้องใช้ความเร็วสูงๆ ก็จะเข้าโค้งได้ดี
มั่นใจได้แม้ว่า จะเป็นโค้งยาวๆ ณ ความเร็วระดับ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ตาม เพียงแต่ว่า
ถ้าเจอคอสะพาน ก็คงต้องชะลอความเร็วลงกันนิดนึง ไม่ใช่ว่าใส่กันมาเต็มท่ เจอคอสะพาน
ไม่ถอนคันเร่งเลย ช็อกอัพก็อาจกลับบ้านเก่าได้เร็วกว่าอายุการใช้งานจริงของมัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเดินทางที่ระดับเกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จะสังเกตได้ชัดเจน
ว่า C-Class ซึ่งตั้งใจเซ็ตรถมาในแนวนุ่มสบายกว่า และติดดิบนิดเดียว นั้น ด้านหน้าของรถ
จะเบากว่า BMW 3-Series ที่ช่วงความเร็วเดียวกัน ความมั่นใจในการขับขี่ ที่ช่วงความเร็ว
80 – 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งคู่อาจมีให้ ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเกินกว่า 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ขึ้นไปแล้ว 3-Series จะทำได้ดีกว่า อย่างชัดเจน ซึ่งข้อนี้ เป็นความจริงอันยากจะหลีกเลี่ยง

นอกนั้น ความเห็นอื่นใด ที่ผมเคยมีไว้ ในบทความ Full Review Mercedes-Benz C-Class
ก่อนหน้านี้ ผมยังคงคิดเห็นเหมือนเช่นเดิม โดยสรุปก็คือ C-Class W204 ขับแล้วเฉียบคม
มากขึ้นกว่ารุ่นเดิม ติดแข็งนิดเดียว ท่เหลือ ยังคงความนุ่มในแบบที่ ลูกค้า Mercedes-Benz
ส่วนใหญ่ น่าะชื่นชอบ

แต่…ระบบห้ามล้อ เป็น ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก
EBD และระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BAS (Brake Assist) ของ C-Class ใหม่ กลับทำ
ผลงานได้น่าประทับใจกว่า 3-Series เล็กน้อย เพราะนอกจากแป้นเบรกจะนุ่มนวลแล้ว ต่อให้
คุณจำเป็นต้องชะลอความเร็วสูงๆ ยอ่างรวดเร็ว เบรกต่อเนื่องกันหลายๆครั้ง เบรกก็ยังไม่ Fade
แต่ในรถที่ยังสดใหม่ซิงๆ กลิ่นผ้าเบรก อาจมีลอยมาเข้าจมูกได้บ้าง ถ้าลองจอดรถ เปิดหน้าต่างดู
เป็นเรื่องปกติ เบรก ของ C-Class Blue Efficiency ทั้ง 2 คัน ทำงานได้ดีมาก ใกล้เคียงกันกับใน
Volkswagen GOLF GTi ณ ช่วงความเร็วสูงเลยทีเดียว แต่ Golf จะเหนือกว่ากันแค่นิดนึง ที่แน่ๆ
ณ วันนี้ ผมตอบได้ว่า ผมมั่นใจกับระบบเบรกของ C-Class Blue Effciency ใหม่ มากๆ

ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้กับอุปกรณ์ตัวช่วย ระบบกันสะเทือน และระบบขับเคลื่อน ที่มีมาให้
ทั้ง โปรแกรมควบคุมเสถียรภาพ และการทรงตัวอัตโนมัติ ESP (Electronic Stability Program)
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR (Accererated Skid Control) และระบบ ADAPTIVE BRAKE

การเก็บเสียงของทั้งคู่นั้น ทำได้ดีมาก รื่นรมณ์ สบายๆ แต่เสียงลมจากภายนอกจะเริ่มดังขึ้น
ที่ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป และจะว่าไปแล้ว ขณะขับขี่บนถนนวิภาวดีรังสิต
ช่วงที่ขึ้นสะพานลอยสุทธิสาร ผมได้ยินเสียง รถคันที่แล่นสวนทางไป ในเลนฝั่งตรงข้าม
แหวกกระแสลม ดังเข้ามาถึงภายในรถ ผ่านประตู เข้ามานิดนึง เป็นเสียงที่ผมไม่คาดว่าจะ
ได้ยิน ใน C250 CGI Blue Effciency

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

อธิบายกันก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความงงงวย เพราะถึงแม้เราจะใช้วิธีดั้งเดิมในการ ทดลอง
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ตามมาตรฐาน ขับ 110 กิโลเมตร เปิดแอร์ นั่ง 2 คน เหมือนเดิม
แต่ น้ำมันที่ใช้เติมใน C-Class ทั้ง 2 คันนี้ มีความแตกต่างกัน ตรงที่ น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง
ใช้ในการทดลอง ทั้ง คู่

รุ่น C250 CGI Blue Efficiency ซึ่งใช้เครื่องยนต์ เบนซิน 1.8 ลิตร Turbo ทำให้เราเลือกจะ
รักษามาตรฐานดั้งเดิมเอาไว้ ด้วยการเติมน้ำมันเบนซิน 95 กันต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ
สถานีบริการน้ำมัน Shell ถนนพหลโยธิน ใต้สถานีรถไฟฟ้า อารีย์  เลิกขาย V-Power
เบนซิน 95 ธรรมดา โดยใส่ เอธานอลเข้าไป เป็น แก็สโซฮอลล์ V-Power ไปอย่างงุนงง
จึงทำให้เราต้องเปลี่ยนมาใช้บริการ ปั้มน้ำมัน Caltex ถนนพหลโยธิน ฝั่งเยื้องกับ ดีลเลอร์
เบนซ์ ราชครู แทน

เราเติมน้ำมันจนหัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ Set 0 บน Tri Meter ด้วยการ กดปุ่ม OK บนพวงมาลัย
ฝั่งซ้าย เพื่อเข้าถึง Menu Trip จากนั้น กด OK ยืนยัน เลื่อน Mode หน้าจอ ขึ้น หรือ ลง
จนเจอ Trip Meter แล้วจึงตั้งค่า Set 0 ใหม่ ตามต้องการ ดูวุ่นวายดีแท้ไม่น้อยเลยทีเดียวเชียว

จากนั้น ผม (น้ำหนักตัว 95 กิโลกรัม) กับ น้องกล้วย BnN (น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม) เรา
ติดเครื่องยนต์ ออกรถไปเลี้ยวกลับ มุ่งหน้าเข้าซอยอารีย์ ลัดเลาะมาจนถึง ถนนพระราม 6
ขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยัง ปลายสุดทางด่วนอุดรรัถยา หรือสายเชียงราก เปิด ระบบควบคุม
ความเร็งคงที่ Cruise Control ล็อกความเร็วเอาไว้ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดพัดลมแอร์
เบอร์ 2 นั่ง 2 คน ตามเดิม

เมื่อถึงปลายสุดทางด่วน ก็เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วน ย้อนเส้นทางเดิม มุ่งหน้ากลับมาลงทางด่วน
ที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายลัดเลาะมาตามถนนพหลโยธิน เลี้ยวกลับที่หน้าโชว์รูม
เบนซ์ ราชครู แล้วก็ตรงดิ่งเข้าสู่สถานีบริการน้ำมัน Caltex ไปเติมน้ำมันเบนซิน 95 ที่หัวจ่ายเดิม
และวิธีการเดิม คือเอาแค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว

และต่อจากนี้ คือตัวเลขที่เราคำนวนออกมาได้
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัดทั้งหมด 93.2 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเบนซิน 95 Techron ที่เติมกลับเข้าไปทั้งหมด 7.09 ลิตร

ดังนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ C250 CGI Blue Efficiency จึงอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 13.14 กิโลเมตร/ลิตร

ถ้าเปรียบเทียบกับ Mercedes-Benz คันอื่นๆ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ M271 คล้ายๆกันนี้ ต้องถือว่า
C250 CGI Blue Efficiency ปรหยัดน้ำมันขึ้นกว่า C200 Kompressor อยู่นิดหน่อย อย่างชัดเจน
แต่ ก็ยังถือว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้อีกสักนิด เพราะตัวเลขที่ออกมา ถือว่า อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ของ
รถยนต์ในกลุ่มนี้ ที่ระดับ 11 – 17 กิโลเมตร/ลิตร

แต่ ถ้าคุณคิดว่าพึงพอใจกับตัวเลขของ รุ่นเครื่องยนต์ เบนซิน Turbo แล้ว ต้องขอเบรกหยุด ด้วย
ท่าปางห้ามญาติ กันเลยทีเดียว เพราะตัวเลขจากรุ่น C250 CDI Blue Efficiency นั่นอาจทำให้คุณ
ถึงขั้นอ้าปากค้าง จนแมลงวัน บินเข้าไปสร้างบ้านเมืองในปากคุณได้ไม่ยากเลย!

ในรุ่น C250 CDI Blue Efficiency เราใช้น้ำมัน Shell Diesel V-Power ซึ่งก็ทำให้เราต้องหวนกลับไป
ใช้บริการจากปั้มน้ำมัน Shell ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ กันอีกครั้งหนึ่ง

เราเติมน้ำมัน Diesel V-Power ลงไปในถังน้ำมันของ C250 CDI Blue Efficiency จนเต็มแน่น
เอาแค่หัวจ่ายตัด ไม่เขย่ารถแต่อย่างใด ผู้ร่วมทดลอง ก็ยังเป็นผม กับ เจ้ากล้วย เหมือนเดิม
ไม่เปลี่ยนแปลง เสร็จแล้ว Set 0 บน Trip Meter ออกรถ มุ่งหน้าเลี้ยวกลับ มาลัดเลาะเข้าซอยต่างๆ
จนถึงถนนพระราม 6 แล้ว ก็ขับขึ้นทางด่วนอุดรรัถยา  มุ่งหน้าไปยังปลายสุดทางด่วนสายเชียงราก
เส้นทางเดียวกันเป๊ะ และใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดระบบ Cruise Control เปิดพัดลมแอร์
เบอร์ 2

จากนั้น เมื่อถึงปลายสุดทางด่วน เราก็เลี้ยวกลับมาขึ้นทางด่วนอีกครั้ง ลงทางด่วนที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
แล้วก็มุ่งหน้ากลับมาเติมน้ำมัน V-Power Diesel ที่ปั้ม Shell แห่งเดิม และหัวจ่ายเดิม อีกด้วย
เติมเพียงแค่หัวจ่ายตัด เหมือนเช่นช่วงแรกที่เริ่มทดลอง

และต่อจากนี้ คือตัวเลขที่เราคำนวนออกมาได้
ระยะทางที่แล่นไปบนมาตรวัดทั้งหมด 93.3 กิโลเมตร

ปริมาณน้ำมันเคิมกลับ แค่ 5.53 ลิตร

ดังนั้น อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ C250 CDI Blue Efficiency จึงอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 16.87 กิโลเมตร/ลิตร

โอ้ พระเจ้าช่วยกล้วยทอด !! นอกจาก รถคันนี้ จะกลายเป็น Mercedes-Benz ที่ประหยัดน้ำมันที่สุด
ตั้งแต่เราทำรีวิวกันมา แล้ว ยังต้องถือว่า โค่นแชมป์ดั้งเดิมอย่าง BMW 320d (16.4 กิโลเมตร/ลิตร)
ลงไปได้อย่างฉิวเฉียด น่าลุ้นระทึกอะไรจะขนาดนี้!!

ที่สำคัญ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดังกล่าว ยังถือว่า ประหยัดกว่า Toyota Camry HYBRID
(16.7 กิโลเมตร/ลิตร) อยู่นิดนึงด้วยซ้ำ!! เอาแล้วไงครับ ประหยัดอย่างเอกอุ ขนาดนี้
ในที่สุด Mercedes-Benz ก็ทำสำเร็จ เอ้า! พวกเรา ปรบมือให้หน่อย เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆ!!

(มันท่าจะเป็นเอามากนะไอ้จิมมี่เนี่ย)

ส่วนรุ่น C250 CGI ก็ต้องถือว่า ทำได้ดีขึ้น ประหยัดขึ้นกว่า เครื่องยนต์ M271 เวอร์ชันก่อนๆ
เสียอีก อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่าจะเห็นตัวเลขในระดับ 14 กิโลเมตร/ลิตร จากเครื่องยนต์
บล็อกนี้ แต่ขอให้ยังคงพละกำลังเอาไว้ ในระดับเดียวกันนี้ ไม่รู้ว่า จะเป็นไปได้มากน้อย
แค่ไหนหนอ?

บอกกล่าวกันสั้นๆ เล็กน้อยว่า ระยะทาง 364 กิโลเมตร C250 CGI ใช้น้ำมันไป เกินครึ่งหนึ่ง
ต่ำลงมา ขีดเล็กๆ 1 ขีด ดังนั้น น้ำมัน 1 ถัง มีแนวโน้มว่า จะพาให้ C250 CGI แล่นได้
ไกลถึง 500 – 550 กิโลเมตร ขอย้ำว่า 364 กิโลเมตรที่ว่านั้น ผมใช้ความเร็วหลากหลาย
ทำ Top Speed ไป 2 ครั้ง สำหรับถ่ายทำคลิปวีดีโอ แล้วก็ใช้ความเร็วแถวๆ 120 – 160
กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางด่วน กับวงแหวน มอเตอร์เวย์ เป็นหลัก ด้วยซ้ำ ดังนั้น
ถ้าขับใช้งาน เนียนๆ ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำมัน 1 ถัง น่าจะพาให้
C250 CGI แล่นได้ไกลเกือบถึง 600 กิโลเมตร ก็เป็นไปได้อยู่นะ!

ขณะที่รุ่น C250 CDI วันที่เราคืนรถไปนั้น น้ำมันเหลืออยู่ครึ่งถัง พอดี มาตรวัดบอกว่า แล่นไป
ทั้งหมด 354 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า น้ำมัน 1 ถัง จะพา C250 CDI Blue Efficiency แล่นได้
ไกลถึง 700 กิโลเมตร ได้อย่างสบายๆ เผลอๆ อาจได้ถึง 800 กิโลเมตร ด้วยซ้ำ!!!

********** สรุป **********
C250 CGI : เครื่อง 1.8 ลิตร ติด Turbo แรงขึ้น ประหยัดขึ้น แต่ขอราคาขายปลีก ที่ถูกกว่านี้อีกสัก 2 แสนบาท ได้ไหม?
C250 CDI : ขอเกียร์ 7 จังหวะ ออพชันเยอะกว่านี้อีกนิด ในราคาที่เป็นมิตรกว่านี้อีกหน่อย แล้ว 320d จะค้อนขวับ!!

การกลับมาขับ C-Class อีกครั้ง ในรอบ 1-2 ปีนั้น ทำให้ผมได้มองเห็นคุณงามความดีที่ผมเคยมองข้ามไป
ของรถยนต์ ระดับ Premium Compact จากค่ายรถยนต์ตราดาว อยู่หลายข้อ

ประการแรก C-Class ยังคงรักษา คุณค่าของความเป็น Mercedes-Benz ยังไง๊ยังไง ก็ยังคงเจิดจรัส ไม่มีเปลี่ยน
ความเป็นรถยนต์ ระดับหรู ที่มีโครงสร้างตัวถัง มาพร้อมความปลอดภัย อย่างแน่นหนา ทว่า ให้การขับขี่ ที่เบาๆ
สบายๆ ในบรรยากาศ ผ่อนคลาย กว่า BMW อยู่สักหน่อย คือสิ่งที่ C-Class เป็นมาตลอด และไม่ต้องไปเปลี่ยนมัน

แต่ ขณะเดียวกัน C-Class ใหม่ W204 ก็ถูกปรับปรุงให้มีความคล่องตัวขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น มุดได้สนุกขึ้นนิดนึง
ในส่วนผสมที่พอเหมาะพอดี ของเทคโนโลยี AGILITY CONTROL จากทั้งพวงมาลัย และระบบกันสะเทือน
แถมด้วยระบบเบรก ที่หน่วงความเร็วได้สะใจเป็นเลิศ ไม่ว่า คุณจะคลานไปบนถนนชิดลม ตามก้นรถคันข้างหน้า
ซึ่งมีคุณป้า Lion King นั่งขับ หัวเชิด ไม่สนโลก หรือ จะหน่วงความเร็วจากระดับ Top Speed 243 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ให้เหลือเพียง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ให้ทันท่วงที C-Class ก็ยังคงตอบสนองได้ดี ในภาพรวม อย่างที่เศรษฐี คนใช้รถ
ทั่วๆไป ต้องการ

ยิ่งพอเป็น C250 CGI Blue Efficiency แล้ว การนำเครื่องยนต์ M271 ดั้งเดิม ไปปรับปรุงมาใหม่ จนแรงขึ้น
และประหยัดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น เท่ากับแสดงให้เห็นว่า พื้นฐานของเครื่องยนต์ บล็อกนี้ ถือว่า ดีพอตัว
เลยเชียวละ เพราะสามารถปรับปรุง และพัฒนาต่อยอดไปได้ไกล อีกระยะใหญ่ เลยทีเดียว แถมเรี่ยวแรง
ที่ให้มา แรงสะใจถึงขั้นที่ เครื่องยนต์พิกัด 2.5 ลิตร ของทั้ง Lexus IS250 และ BMW 325i ยังหนาวๆร้อนๆ
กันไปเลย เพราะแรงจนทาบรัศมี 2 คันที่ว่า ได้อย่างสะใจคนดูรอบสนามอย่างยิ่ง แถมยังประหยัดน้ำมัน
ขึ้นมากกว่าเดิมอีก ราวๆ 1 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งก็ถือว่า ทำได้ดีพอสมควร แม้เราจะคาดหวังให้ตัวเลข
มันออกมาดีกว่านี้ ไปถึงระดับ 14 กิโลเมตร/ลิตร ก็ตามที

ส่วน C250 CDI Blue Efficiency นั้น การได้เครื่องยนต์ OM651 มาช่วย ถือว่า หากเปรียบเป็นนักมวย ก็ต้องถือว่า
มีโปรโมทเตอร์ที่ดี โด๊ป มาดี เรี่ยวแรงกำลังวังชา ที่เยอะแยะมากมายก่ายกอง ขนาดนี้ ทำเอา คู่แข่งจากแคว้นบาวาเรีย
อย่าง BMW 320d ถึงขั้นต้องเหลียวมองกันเลยทีเดียว

พูดกันแบบไม่อ้อมค้อม ณ วันนี้ ผมถือว่า เครื่องยนต์ ของ C250 CDI Blue Efficiency ทำผลงานออกมาได้ดีกว่า
BMW 320d ไปแล้วเล็กน้อยด้วยซ้ำ

ฟังดูเหมือนกับว่า C-Class ใหม่ จะถูกปรับปรุงมา จนหาเจอแต่ข้อดี กันเลย ก็คงจะไม่ใช่ เพราะถ้าขึ้นชื่อว่า
Full Review By J!MMY แห่ง Headlightmag.com แล้ว ก็คงต้องหาข้อที่ควรปรับปรุง ออกมาให้เห็นได้
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ข้อแรกเลย คือ เรื่องวัสดุในห้องโดยสาร ซึ่งในเมื่อ ลูกค้ายอมจ่ายเงินในระดับนี้ พวกเขาย่อมอยากได้
พื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ที่เนียนละมุน ทนทาน ไม่หยาบกร้าน เหมือนหนังสัตว์ที่ใช้ทำกระเป๋าแบรนด์เนม
ระดับกลางๆ อย่างที่เป็นอยู่ แต่ถ้าจะให้แก้งานออกแบบกันใหม่เลย สงสัยต้องรอรุ่นต่อไปแล้วกระมัง

พวงมาลัย 4 ก้าน ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ไป ถ้าจะลดลงมาอีกสักนิด และเป็นแค่แบบ 3 ก้านก็พอ
เชื่อว่าจะช่วยให้ สัมผัสจากการบังคับเลี้ยวของหลายๆคน จะดีขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ โดยแทบไม่ต้องไปยุ่ง
วุ่นวายกับระบบแร็คแอนด์พีเนียน กับเพาเวอร์ไฟฟ้า นั่นเลย แต่ถ้าจะปรับปรุงให้ด้วย ก็ดีเหมือนกันครับ
ขอเพิ่มความหนืดในความเร็วสูงมากกว่าอีกหน่อย  ก็พอแล้ว

ประการสุดท้าย คือ ราคา กับ อุปกรณ์ที่ให้มา มันเป็นความสัมพันธ์ที่ชวนอึดอัดสักหน่อย

ค่าตัว ของ C250 CGI Blue Efficiency นั้น ปาเข้าไปถึง 3,349,000 บาท แม้ว่าจะถูกกว่า
C230 V6 2.5 ลิตร ที่แรงก็ด้อยกว่า แถมยังกินน้ำมันกว่ากันนิดหน่อย ไปหลายแสนบาทก็ตาม
แต่ ผมคิดว่า ถ้าต้องการยอดขายที่เพิ่มขึ้น ราคาขายปลีก ก็ควรจะถูกกว่านี้อีกสัก 2 แสนบาท
อย่างน้อย ก็ทำให้ BMW 320d น่าจะโดนฉกยอดขายมาได้หลายร้อยคัน ในแต่ละปี อยู่ไม่น้อย

และเช่นเดียวกัน C250 CDI Blue Efficiency ราคาตั้ง อยู่ที่ 3.049,000 บาท แพงกว่า BMW 320d SE
แต่ ออพชันที่ได้นั้น จริงอยู่ว่า ในด้านอุปกรณ์ความปลอดภัย Mercedes-Benz ดูจะให้ข้าวของใน
ประเด็นนี้ เยอะใช้ได้ดีอยู่แล้ว แต่ อุปกรณ์อำนวยความบันเทิงเริงใจของผู้ใช้รถเนี่ยสิ รู้อยู่ว่า ออพชัน
เหล่านี้มันแพงอยู่ แต่จะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะเห็น C250 CDI Blue Efficiency รุ่น Full Option ใน
ราคาไม่เกิน 3,100,000 บาท ซึ่งในราคานี้ แม้จะเสียดายว่า ต้องตัดเกียร์อัตโนมัติ 7G-TRONIC
ลูกเบ้อเร่อนั่นออกไป แต่ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้น เพราะในแง่วิศวกรรมแล้ว ดูไม่น่าจะคุ้มค่า
หาก Mercedes-Benz จะทำตามที่ผมอยากเห็น ในประเด็นหลังสุดนี้ เพราะเกียร์ลูกนี้ น้ำหนัก
ก็มิใช่เล่น การเอามาใส่ในเครื่องยนต์ 4 สูบ แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์ V6 นั้น อาจดูไม่เข้าท่า
อย่างที่ผมคิดไว้แต่แรกก็เป็นได้

ซึ่งราคาที่นั่งเทียน ฝันกลางวัน เขียนไว้ข้างบนนี้ ก็มองเผื่อถึงกำไรของ Mercedes-Benz Thaland
กับ ดีลเลอร์ไว้ให้แล้ว เพราะรู้อยู่ว่า ยาก ที่จะกดราคาขายปลีก ในช่วงเปิดตัว ให้ต่ำลงไปกว่านี้ได้
ถ้าไม่ใช่ฤดูกาลระบายสต็อก ช่วงปลายอายุตลาด ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น สำหรับ C-Class ก็ต้องมีอีก
3 ปีครึ่ง เป็นอย่างต่ำ (รุ่นต่อไป เปิดตัวในตลาดโลก ปี 2013 ตามที่ Daimler AG ประกาศออกมาแล้ว)

ทีนี้ ถ้าใครยังเลือกไม่ถูกว่า ควรจะเลือกตัวไหนดีกว่ากัน ระหว่าง Mercedes-Benz C-Class ใหม่ กับ BMW 3-Series
วิธีง่ายๆ ที่จะค้นหาคำตอบให้ตัวคุณเอง ก็คือ คุณชอบบุคลิกของรถยนต์ ยี่ห้อไหนมากกว่ากัน ระหว่าง รถที่ขับสนุก
ออพชันครบ แรงเอาเรื่อง ประหยัดน้ำมันโดนใจ แต่คุณควรเป็นคนกระฉับกระเฉง อยู่ไม่สุข ในการใช้ชีวิตแต่ละวัน
เพราะรถที่ขับสนุกนั้น จะทำให้คุณ ต้องมีสมาธิในการบังคับรถ มากพอสมควร และนั่นอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า
เพิ่มเติมได้อีก นิดนึง

หรือ รถที่ขับสบายๆ ให้ความผ่อนคลายได้พอสมควร ในช่วงหัวค่ำวันทำงาน แต่ก็อยากจะเร่งแซง พวกบรรดาสารถีเต่าทุย
ขับช้าวิ่งขวา ที่มีมากมายบนทางด่วนได้ทันทีที่ใจต้องการบ้าง โดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าน้ำมัน เพราะ นอกจากจะแรงสะใจ
แล้ว ยังประหยัดได้ขั้นเทพขึ้นไปอีก แต่ ต้องทำใจกับความสนุกในการขับขี่ ที่อาจจะลดทอนลงไปบ้าง เข้าโค้งได้มั่นใจ
แต่ถ้าโค้งสั้นๆ แล้วละก็ ต้องผ่อนใจลงมาบ้างนิดหน่อย แลกกับการที่บุพการี จะลดทอนเสี่ยงบ่น ตลอดการเดินทางไปเที่ยว
ต่างจังหวัดไกลๆ กับคุณ

ถ้าคุณเป็นคนประเภทแรก มองหา BMW 320d SE ตัวล่าสุด เอาไว้ก่อนได้เลย
แต่ถ้าคุณเป็นคนประเภทหลัง Mercedes-Benz C-Class จะยังคงเป็นคำตอบที่ดีกว่าสำหรับคุณอยู่ดี

ส่วนใครที่คิดไม่ออก ว่า ควรจะเลือกรุ่นไหนกันดี แน่นอนว่า ถ้างบไม่มากนัก C200 CGI Blue Efficiency คือคำตอบ
ที่ลงตัวที่สุด แต่เนื่องจากว่า กลุ่มลูกค้าที่จะซื้อ C250 CGI Blue Efficiency และ C250 CDI Blue Efficiency คือกลุ่ม
เดียวกัน แต่มีรสนิยมต่างกันเล็กน้อย

ดังนั้น ปัจจัยที่คุณจะต้องถามตัวเอง เมื่อสงสัยว่า ตกลงจะซื้อรุ่นเบนซิน หรือ ดีเซล จึงจะดีกว่ากัน นั่นก็คือ
ในการซื้อรถคันนี้ คุณคำนึงถึงสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่าง อุปกรณ์ติดรถ ที่ต้องชวนให้รู้สึกได้ว่า คุ้มต่อเงินที่จ่าย
กับ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ประเสริฐ พอกันกับ Toyota Camry HYBRID ??

ชั่งน้ำหนักกันให้ดีๆนะครับ ถ้าคุณเลือก CGI คุณจะต้องจ่ายเงิน เพิ่มเติมอีก 3 แสนบาท เพื่อแลกกับความสบาย
จากอุปกรณ์ติดรถต่างๆนาๆ ที่สรรหามาประโคมอัดเข้าไปในรถ C250 CGI Blue Efficiency ขณะเดียวกัน ตัวเลข
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็อยู่ในระดับ 13.14 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งประหยัดกว่า C-Class ที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน
คันอื่นๆ อยู่นิดหน่อย

กับ เอาเงิน 3 แสนบาท ไปจ่ายเป็นค่าน้ำมันในอนาคต แล้วยอมแลกกับอุปกรณ์มาตรฐานที่น้อยกว่ากันสักหน่อย
โดยเฉพาะ ชุด COMMAND ที่ไม่มีมาให้ และต้องทนฟังเสียงเครื่องยนต์ ดีเซล ทำงาน ซึ่งแม้จะเงียบ แต่ก็ยัง
ไม่ค่อยถูกจริต ไฮโซ หลายๆคน อยู่ดี กระนั้น ถ้าไปเที่ยวต่างจังหวัดเมื่อใด เติมน้ำมันทีไร ก็สบายใจทุกเมื่อ
เพราะจ่ายเงินพอกัน แต่ได้น้ำมันเยอะกว่า พอให้วิ่งได้อีก หลายสิบกิโลเมตร สบายๆ

ไม่ต้องห่วงครับ ทั้งคู่ ได้อุปกรณ์ความปลอดภัย เหมือนกัน เป๊ะ เลย แถมยัง ให้อัตราเร่ง ที่แรงเท่าๆกัน อีกต่างหาก!
ผมคงจะไม่ตัดสินใจอะไรให้นะครับ เพราะทั้งหมดนี้…

ขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของคุณผู้อ่านแล้วละ
——————————————///——————————————

ขอขอบคุณ
บริษัท Mercedes-Benz Thailand จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

————————————————————————-

บทความที่เกี่ยวข้อง ที่ควรอ่านเพิ่มเติม

Full Review : ทดลองขับ Mercedes-Benz C-Class W204 C200 Kompressor & C230 2.5 (MY 2009)
Full Review : ทดลองขับ BMW 320d SE (MY 2009 – 2010)
รวม บทความรีวิว รถยนต์กลุ่ม Premium Compact

————————————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย รถยนต์ในประเทศไทย เป็นผลงานของผู้เขียน
ยกเว้น ภาพถ่ายจากต่างประเทศ เป็นลิขสิืธิ์ของ Daimler AG เยอรมัน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
24 สิงหาคม 2010

Copyright (c) 2010 Text and Pictures Except some studio shot from Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
August 24th,2010

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญได้ คลิกที่นี่