ทำไมมาทำบทความเอาป่านนี้?
รีวิวของรถรุ่นนี้คลอดช้าไปหรือเปล่า?

ก็คงจะถือได้ว่าช้าไปครับ ช้ากว่าที่คิดไว้มากกกกกกกกก

ช้าก่อน! รีวิวนี้ ไม่ได้อยู่ในคิวของ บรรดารีวิวที่ถูกดองอยู่ และกำลังทะยอยคลอดออกมา
สู่สายตาคุณผู้อ่าน มาก่อนเลยนะ!

สงสัยกันละสิ ว่าทำไม ผมถึงยังดันทุรังเข็นบทความรีวิว รถยนต์รุ่นนี้ ออกมาให้อ่านกัน
ในวันที่ผู้คนทั้งโลก ได้เห็นรูปโฉมใหม่ของ S-Class W222 กันไปหมดแล้ว?

เหตุผลก็คือ….

ตั้งแต่เกิดมา ชีวิตผม มีโอกาสลองขับ S-Class เพียงแค่ 2 ครั้งในชีวิตเท่านั้น และสั้นๆ มากๆ

ครั้งแรก รุ่น W126 รถยนต์ของ น้องที่เคยรู้จักกันคนหนึ่ง ซึ่งหายไปจากชีวิตผมเรียบร้อยแล้ว
ช่วยเขาถอยหลังเข้าจอด บนลานจอดรถของ Central ลาดพร้าว เมื่อ…ผมว่า มี 10 ปี ได้แล้วมั้ง

ครั้งสุดท้าย W221 นี่ละ แต่เป็นรุ่น S300 ประกอบในประเทศ และเป็นการลองขับสั้นมากๆ
ในงาน Mercedes-Benz Driving Experience บนพื้นที่ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารราบ
ที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อราวๆ ต้นปี 2008  แค่เหยียบคันเร่ง พุ่งไป และหักหลบ กรวย เบรก
กระทันหัน แค่นั้น จบ!

เพียงแค่นั้น ผมจะได้รู้จักอะไรจากตัวรถมันบ้างละเนี่ยยยยย?

เวลาผ่านไป จนผมลาออกจากรายการวิทยุแห่งเดิม มาเปิด Website ของตัวเอง ในรอบ 4 ปี
ที่ผ่านมา ก็เคยมีคุณผู้อ่านถามไว้เมื่อนานมาแล้วว่า ผมจะทำบทความ Full Review ของ เจ้า
ยักษ์สุดหรูรุ่นนี้บ้างหรือเปล่า ตอนนั้น ผมได้แต่บ่ายเบี่ยง

เพราะยังไม่แน่ใจว่า จะมีโอกาสได้ยืมหรือไม่ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ
ที่น่าสนใจกว่าในสายตาคุณผู้อ่าน ถูกเลือกขึ้นมา เพื่อติดต่อยืมรถมาทดลองขับ ทำบทความ แล้ว
นำเสนอกันไปก่อน หลายต่อหลายรุ่น

ความคิดอยากจะยืม S-Class มาทดลองขับ อยู่ในหัวผมมาตลอด แต่ยังไม่สบโอกาสเสียที

จนกระทั่ง ช่วงปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จู่ๆ ผมก็ได้รับทราบว่า
จะได้มีโอกาส ลองขับ S-Class รุ่นใหม่ล่าสุด W222 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013
ที่ผ่านมาสดๆร้อนๆ กันเลย

(ขอยังไม่บอกว่าเป็นที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร แต่เดี๋ยวคุณผู้อ่าน ก็จะเห็นเอง)

ดังนั้น ในเมื่อ ผมยังไม่เคยลองขับ S-Class รุ่นปัจจุบันอย่างจริงจัง ทาง Mercedes-Benz
Thailand ก็เลย Lock คิวรถยนต์ Demo ไว้ให้ผมยืมมาลองขับ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เพื่อ
จะได้จดจำสัมผัส ประสบการณ์และความรู้สึกที่รับสัมผัสจากตัวรถสู่ปลายประสาทส่วนต่างๆ
ของร่างกาย

และรุ่นที่ได้ลองขับนั้น เป็นรุ่นที่จะทำให้ผม เบาใจในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทดลองขับได้
อย่างดียิ่ง เพราะมันเป็นรุ่น S350 CDI อันเป็นรุ่นที่ใช้ขุมพลัง Diesel Turbo Common-Rail
ซึ่งวางใจได้ในเรื่องความประหยัด และอัตราเร่งในช่วงออกตัวที่จะพาคุณพุ่งปรู๊ดออกไป
อย่างรวดเร็ว  

แม้จะเป็นรุ่น Executive อันเป็นรุ่นตกแต่งปานกลาง ยังไม่ถึงกับ Full Option เหมือนรุ่น
Final Edition อันเป็นรุ่นสั่งลา ที่คลอดออกมาก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แต่ระดับความหรูก็
ใกล้เคียงกันอยู่

ไหนๆ ก็ไหนๆ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา Headlightmag.com ของเรา ก็พาคุณไปสัมผัสกับรถยนต์
หลากรุ่นในแบบ รายแรกในเมืองไทย (First report in Thailand) แถมบางครั้งยังมีบทความ
ในแบบ รีวิวแรกในโลก (World First report) มาให้ได้อ่านกันตลอด

ฉะนั้น คราวนี้ ก็ขอนำคุณผู้อ่านมาพบกับ Final report in the World หรือ บทความรีวิวสุดท้าย
ของรถยนต์รุ่นที่ยังขายอยู่ในช่วงบั้นปลายอายุตลาด ก่อนที่จะถึงเวลาปลดระวางไปสู่การเป็น
หนึ่งในตำนานความหรูตระกูล S-Class จากค่ายรถยนต์ตราดาว ที่ยืนหยัดยาวนานในฐานะ
ผู้นำอันดับ 1 ของกลุ่มตลาดรถยนต์ระดับหรู ทั่วโลก กันเสียที

Merccedes-Benz เคยให้คำจำกัดความเรื่องชื่อรุ่นของ S-Class ซึ่งเขียนเป็นภาษาเยอรมันได้ว่า
“S-Klasse” ย่อมาจาก “Sonderklasse” หรือ “special class” อันเป็นนิยามที่ให้ความรู้สึกไปใน
เชิงที่ว่า “a class of its own”

ถึงแม้ ประวัติความเป็นมาของตระกูลรถยนต์รุ่นหรูหราที่สุดของค่ายรถยนต์ตราดาว ซึ่งแยกตัว
ออกมาจากตระกูล E-Class จะยืนยาวมากว่า 50 ปีแล้ว แต่อันที่จริง Mercedes-Benz เริ่มเรียก
ใช้ชื่อ S-Class กับรถยนต์รุ่นนี้ ตั้งแต่ปี 1972 หรือเมื่อ 41 ปีที่ผ่านมา

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว Mercedes-Benz S-Class กลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับคำว่า
“รถยนต์ระดับหรู” ในใจของผู้คนทั่วโลก ด้วยยอดขายกว่า 2.7 ล้านคัน จนถึงปี 2005 อันเป็นปี
ที่ส่วนแบ่งการตลาดของ S-Class มีมากถึง 30% เป็นอันดับ 1 ในบรรดายอดขายรถยนต์หรูระดับ
Luxury Full Size ทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อใดที่มีการเปิดตัว S-Class ทุกรุ่น นักนิยมรถยนต์ทั่วโลก จะคาดหวังได้ถึง
นวัตกรรมใหม่ ได้เสมอ เพราะ Mercedes-Benz มักจะสร้างความตื่นตาตื่นใจ ด้วยการติดตั้ง
ระบบ เทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เป็นครั้งแรก ณ ช่วงเวลาที่แต่ละรุ่น เปิดตัว
ถือได้ว่าเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยียานยนต์ ทั้งในด้านความสะดวกสบาย และความปลอดภัย  
อย่างแท้จริงมาตลอด

รุ่นแรก W116 เริ่มต้นการพัฒนาเมื่อปี 1966 รูปลักษณ์ภายนอก ได้รับการอนุมัติในปี 1969 และ
เปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1972 ถือเป็น Mercedes-Benz รุ่นแรก ที่ริเริ่มนำ
สารพัดเทคโนโลยีการออกแบบด้านความปลอดภัย มาติดตั้งอย่างเต็มรูปแบบ มีให้เลือกทั้งรุ่น
280S (รุ่นเดียวเท่านั้นที่ใช้เครืองยนต์ คาร์บิวเรเตอร์) 280 SE / SEL , 350 SE / SEL / 450 SE/
SEL รวมทั้งรุ่น 300SD สำหรับตลาดส่งออกเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา เท่านั้น

Highlight สำคัญ ของรุ่นนี้ อยู่ที่ รุ่น 450 SEL 6.9 เปิดตัวเมื่อปี 1975 มาพร้อมขุมพลัง V8 SOHC
16 วาล์ว 6,834 ซีซี (6.9 ลิตร) กระบอกสูบ x ช่วงชัก 107 x 95 มิลลิเมตร หัวฉีด BOSCH K-Jetronic
ถือว่าเป็นเครื่องยนต์ ความจุกระบอกสูบ ใหญ่ที่สุด ในรถยนต์นั่งของ Mercedes-Benz ช่วงหลัง
สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังสูงสุด 286 แรงม้า (PS) ที่ 4,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 549 นิวตันเมตร
(55.94 กก.-ม.) ที่ 3,000 รอบ/นาที (สเป็กตลาดอเมริกัน จะถูกลดความแรงลงเหลือ 250 แรงม้า (HP)
แงบิดสูงสุด เหลือ 488 นิวตันเมตร / 49.7 กก.-ม. ณ รอบเครื่องยนต์เท่ากันทั้งคู่ ด้วยเหตุผลจากการ
เข้มงวดของกฎหมายควบคุมมลพิษในตอนนั้น)

450 SEL 6.9 ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบลูกตุ้ม Hydropneumatic แบบเดียวกับที่คนไทยรู้จักกันดี
จากรถยนต์ Citroen ในสมัยก่อน อีกทั้งยังเป็น”รถยนต์รุ่นแรกในโลก”ที่เริ่มมีระบบป้องกันล้อล็อก
ขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti-Lock Braking System) มาให้เลือกติดตั้งเป็นอุปกรณ์พิเศษ เมื่อปี
1978 450 SEL 6.9 ผลิตออกมาเพียง 7,380 คัน จากยอดผลิตของรุ่น W116 ทั้งหมดจนสิ้นอายุตลาด
รวม 473,035 คัน

รุ่นที่ 2 W126 เริ่มต้นโครงการพัฒนาเมื่อเดือนตุลาคม 1973 ล่วงเข้าสู่เดือนธันวาคม 1975 จึงเริ่มมี
แบบจำลองออกมาให้ผู้บริหารตัดสินใจ แต่งานออกแบบได้รับการอนุมัติเมื่อปี 1976 ส่วนรุ่น Coupe
เริ่มต้นออกแบบทันทีที่รุ่น Saloon ได้รับอนุมัติ และเสร็จสิ้นลงในปี 1977 มีการจดสิทธิบัตร และ
ลิขสิทธิ์งาน ออกแบบ เมื่อ วันที่ 3 มีนาคม 1977 ในเยอรมันี ตามด้วย ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่
6 กันยายน 1977 เวอร์ชันจำหน่ายจริง เปิดตัวในงาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 1979
ก่อนที่รุ่นตัวถัง Coupe (SEC) จะตามมาในเดือนกันยายน 1981

รูปลักษณ์ภายนอก เป็นผลงานของ Bruno Sacco นักออกแบบผู้มีชื่อเสียงของ Mercedes-Benz
ในตอนนั้น เน้นความลู่ลมมากขึ้นด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ลดลงจาก Cd.0.41
ในรุ่น W116 เหลือ Cd 0.36 เพื่อช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงทางอ้อม

ช่วงแรกที่เปิดตัว มีให้เลือกทั้งรุ่น 280 S,280 SE / SEL , 300 SD Diesel ,380 SE / SEL,500 SE / SEL
จากนั้น พอถึง ปี 1985 มีการปรับโฉม Facelifted และปรับทัพขุมพลังกันใหม่ โดยตัดรุ่นย่อยขนาด
ต่ำกว่า 5.0 ลิตรเดิมๆ ทิ้งไป แทนที่ด้วยรุ่น 260 SE ,300 SE / SEL, 300 SDL Diesel ,350 SD/SDL
Diesel 420 SE / 420 SEL และรุ่นแรงสุด 560 SE / SEL

รุ่นที่แพงสุดของ S-Class W126 ตัวถัง Saloon คือรุ่น 560 SEL คลอดในปี 1985 วางขุมพลัง M117.968
บล็อก V8 SOHC 16 วาล์ว 5,547 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 96.5 x 94.8 มิลลิเมตร มีทั้ง 9.0 หรือ 10.0 : 1
เวอร์ชันแรงสุด อยู่ที่ 299 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 456 นิวตันเมตร (46.4 กก.-ม.) ที่
3,750 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีระบบกันสะเทือน Hydropneumatic
แบบ Self-leveling รวมทั้งระบบล็อกความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control

W126 ถือเป็นรถยนต์แบบแรก ที่ถูกติดตั้ง ถุงลมนิรภัย แบบ SRS (supplemental restraint systems)
เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เข็มขัดแบบ Pretensioners และ ระบบควบคุมเสถียรภาพ Traแktion control

S-Class W126 เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดอายุตลาด ในปี 1991 ยกเว้นใน South Africa ที่ยังคงมีการผลิต
ต่อไปจนถึงปี 1994 ด้วยยอดผลิตรวมทั้งสิ้น 892,123 คัน แบ่งเป็นรุ่น Saloon 818,066 คัน (รุ่น Diesel
รวมอยู่ในนี้ เป็นตัวเลข มากถึง 97,546 คัน) ส่วนรุ่น Coupe มียอดผลิตรวม 74,060 คัน W126 กลายเป็น
S-Class ที่ประสบความสำเร็จด้านยอดผลิตและยอดขายมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของ Mercedes-Benz
ตลอดกาล ตราบจนถึงทุกวันนี้

รุ่นที่ 3 W140 เริ่มต้นการพัฒนาเมื่อปี 1981 ทีมออกแบบ ทำงานในช่วงปี 1982 – 1986 ภายใต้การ
นำของ Olivier Boulay รูปลักษณ์ทั้งคัน ได้รับการอนุมัติในปี 1987 และมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1988 แต่ในอีก 6 เดือนให้หลัง Bruno Sacco นักออกแบบชื่อดังประจำค่าย
เข้ามารับช่วงเป็นหัวหน้าทีมออกแบบ และพวกเขาสั่งให้มีการออกแบบกระจังหน้าขึ้นใหม่ทั้งหมด
แถมยังต้องทำกระจังหน้าแบพิเศษ สำหรับรุ่น Top Model อีกด้วย เมื่อรวมเข้ากับความล่าช้าในการ
พัฒนาเครื่องยนต์ V12 รวมทั้งปรับปรุงระบบเบรกให้ดีขึ้น ทำให้การเปิดตัว ล่าช้ากว่าเดิมถึง 18 เดือน
แถมยังทำให้ต้นทุนการพัฒนา บานปลายจนว่ากันว่า แตะระดับ 1 พันล้านยูโร และกลายเป็นรถยนต์
Mercedes-Benz รุ่นสุดท้าย ซึ่งรู้กันดีว่า Over engineer หรือ ใส่ใจในงานวิศวกรรมมากเกินไปจน
ทำให้ต้นทุนสูงโดยไม่จำเป็น Chief Engineer ที่ชื่อ Wolfgang Peter จึงต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพื่อ
รับผิดชอบกับเรื่องนี้ ขณะที่กำหนดเริ่มผลิตจำต้องเลื่อนจากเดือนตุลาคม 1989 กลายเป็นว่า รถยนต์
Prototype ล็อตแรก เริ่มผลิตเพื่อทดสอบช่วงต้นเดือนมิถุนายน 1990 – มกราคม 1991

ภาพถ่ายชุดแรก เผยแพร่ถึงมือสื่อมวลชน เมื่อเดือนธันวาคม 1990 แต่เปิดตัวสู่สาธารณชนอย่างเป็น
ทางการครั้งแรกในงาน Geneva Motor Show เดือนมีนาคม 1991 การผลิตขายจริง เริ่มขึ้นในเดือน
เมษายน 1991 ช่วงแรก มีให้เลือกทั้งรุ่น ตัวถังสั้น SE และ ตัวถังยาว SEL ได้แก่ 300 SE / SEL กับ
300 SD ขุมพลัง Diesel Turbo 400 SE/SEL 500 SEL และรุ่นหรูสุด 600 SEL วางขุมพลัง M120
บล็อก V12 สูบ DOHC 48 วาล์ว 5,987 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 80.2 x 89 มิลลิเมตร กำลังอัด 10:1
408 แรงม้า (HP) ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 580 นิวตันเมตร (59.1 กก.-ม.) ที่ 3,800 รอบ/นาที
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ จาก ZF  S-Class ทุกรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง มาพร้อมระบบป้องกันล้อหมุน
ฟรีทิ้ง ขณะออกตัวบนทางลื่น ASR และช่วงล่างแบบ ADS (Adaptive Damping System) ที่ช่วย
เพิ่มความหนืดของช็อกอัพ ขณะใช้ความเร็วสูง เมื่อขับหวาดเสียว หรือเมื่อเสียการทรงตัว มี
ถุงลมนิรภัยคู่หน้าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น

แม้ว่าขนาดตัวถังจะใหญ่โต ชนิดที่เรียกว่า พลิกโฉมจาก W126 โดยสิ้นเชิง จนชาวยุโรป วิจารณ์
ว่ามันมโหฬารเกินไป แต่ชาวอเมริกัน และเศรษฐีชาวเอเซีย กลับมองว่า มันลงตัวดีแล้ว และเป็น
เครื่องบ่งบอกสถานภาพของผู้ครอบครองได้ดียิ่งขึ้น อย่างที่ W126 ยังไม่อาจทำได้เทียบเท่า และ
ขนาดตัวถังอันมหึมานี่เอง ที่ทำให้คนไทยตั้งชื่อเล่นให้รถรุ่นนี้ว่า “ปลาวาฬ” (เพราะมันใหญ่โต
ดุจปลาวาฬ นั่นเอง)

เดือนมิถุนายน 1993 Mercedes-Benz ประกาศ การเรียกชื่อรุ่นรถยนต์ของตนเองใหม่ทั้งระบบ
เริ่มต้นจาก C-Class W202 นั่นทำให้ S-Class จะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกรุ่นใหม่ทั้งหมด กลายเป็น
S320 S420 S500 และ S600 หลังจากนั้น การปรับโฉม Minorchange / Facelifted มีขึ้นเมื่อ
เดือนมีนาคม 1994 ในงาน Geneva Motor Show และออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน 1994 ส่วน
สีตัวถัง Two Tone (กาบพลาสติกด้านข้างประตู คนละเฉดกับสีตัวถังด้านบน) ถูกยกเลิกในรุ่นปี 1995

แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องดีๆเยอะ แต่เรื่องเศร้าๆ ก็มีอยู่บ้าง 31 สิงหาคม 1997 เจ้าหญิง Diana และ
Dodi Al Fayed โดยสารใน S-Class ที่ขับโดย Henri Paul ด้วยความเร็วสูงเกินไป จนเกิดอุบัติเหตุ
ในอุโมงค์ Pont de l’Alma กรุง Paris ประเทศฝรั่งเศส และจากไปอย่างไม่มีวันกลับ มีการวิเคราะห์
กันว่า หากเจ้าหญิง Diana คาดเข็มขัดนิรภัย จะมีโอกาสรอดมากกว่านี้

S-Class W140 ยุติบทบาทลงในปี 1998 แต่ยังทำตลาดต่อในบางประเทศ จนถึงปี 2000 ด้วยยอด
ผลิตสะสมรวมทั้งหมด 432,732 คัน (ตัวถัง Sedan ทั้งช่วงสั้นและยาว รวม 406,717 คัน ส่วนตัวถัง
Coupe 2 ประตู หรือ S-Class Coupe มียอดผลิต 26,022 คัน)

รุ่นที่ 4 W220 เริ่มต้นโครงการพัฒนาเมื่อปี 1992 งานออกแบบ โดย Steve Mattin (ต่อมาย้ายไป
อยู่ Volvo แล้วก็ลาออกหลังจากนั้นอีก) ถูกคัดเลือกในปี 1994 และถูกปรับปรุงจนได้รับการอนุมัติ
สู่การผลิตจริงในช่วงครึ่งแรกของปี 1995 หลังผ่านขั้นตอนการทดสอบและเตรียมการผลิตยาวนาน
W220 ก็ถูกเผยโฉมส่สายตาขาวโลก เมื่อเดือนมิถุนายน 1998 แต่เริ่มขึ้นสายการผลิตจริงได้ เมื่อ
วันที่ 13 สิงหาคม 1998

S-Class รุ่นที่ 4 ยังคงมี 2 ระดับความยาวมาตรฐานจากโรงงาน (ไม่นับรวมรถกันกระสุน และรุ่น
Limousine แต่งพิเศษ อย่าง Pullman) โดยรุ่นฐานล้อยาว จะมีตัวอักษร L กำกับไว้ท้ายชื่อรุ่น 
เช่น S320 L CDI เป็นต้น

W220 มีขนาดตัวถังเล็กลงกว่า W140 ชัดเจน ไม่ว่าจะเอาตลับเมตรมาวัด หรือคาดคะเนด้วยสายตา
แต่พื้นที่ภายในห้องโดยสารกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทว่า อีกประเด็นที่เพิ่มจำนวนขึ้นเยอะไม่แพ้
พื้นที่โดยสาร คือ บรรดานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ช่วงล่างแบบ AIRMATIC พัดลมระบายอากาศ ฝัง
ในเบาะนั่ง Active Ventilated Seats ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS Navigation System พร้อม
ระบบควบคุมความบันเทิงในรถแบบ COMMAND ระบบควบคุมความเร็ว และระยะห่างจากรถ
คันข้างหน้า Distronic Cruise Control หรือแม้แต่ระบบตัดการทำงานของกระบอกสูบที่ไม่จำเป็น
Active Cylinder Control ฯลฯ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในรถที่มากขึ้น นั่นหมายถึงชิ้นส่วนด้านไฟฟ้า
จะเยอะขึ้นกว่ารุ่นเดิม ซึ่งเพิ่มจาก มอเตอร์ 60 ชิ้น และ หัวเชื่อม Connectors 4,000 จุด ในรุ่น
W140 มาเป็น มอเตอร์ 124 ชิ้น และลดจำนวนหัวเชื่อม Connectors เหลือ 3,000 จุด

รุ่นท็อปสุดในกลุ่มที่เน้นความหรู คงต้องเป็น S600 L ในรุ่นปี 1998 – 2002 จะใช้เครื่องยนต์
M137 บล็อก V12 สูบ ทำมุม 60 องศา SOHC 36 วาล์ว (3 วาล์ว/สูบ) 5.8 ลิตร 367 แรงม้า (PS)
แรงบิดสูงสุด 530 นิวตันเมตร (54.0 กก.-ม.) เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ 5G-TRONICS

แต่ในรุ่นปี 2002 – 2005 จะเปลี่ยนมาใช้ขุมพลัง M275 บล็อก V12 สูบ SOHC 36 วาล์ว 5,513
ซีซี Twin-Turbocharger 500 แรงม้า (PS) แรงบิด สูงสุด 800 นิวตันเมตร (81.52 กก.-ม.) เกียร์
อัตโนมัติ 7 จังหวะ ลูกใหม่ 7G-TRONICS ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในช่วงนั้น

แต่ถ้า ท็อปสุดในกลุ่มที่เน้นความแรง ต้องเป็น S65 AMG วางขุมพลัง M275 AMG ซึ่งออกแบบ
ปรับปรุง และผลิตด้วยมือของทีมวิศวกร AMG  เป็นบล็อก V12 สูบ SOHC 36 วาล์ว 5,980 ซีซี
แรงมหากาฬถึง 612 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 – 5,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 1,000 นิวตันเมตร ที่
2,000 – 4,000 รอบ/นาที และต้องมีการล็อกแรงบิดสูงสุดของเครื่องยนต์ไว้เพียงเท่านี้ เพราะมัน
มากมหาศาลเกินไป ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ AMG SPEEDSHIFT

W220 ทำตลาดจนถึงปี 2005 ด้วยยอดผลิตออกจากโรงงาน Sindelfingen มากถึง 485,000 คัน
เป็นตัวเลขที่ไม่เลวเลยทีเดียว สำหรับรถยนต์ระดับ Luxury ที่นับวันมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต้นทุน
การพัฒนาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านต่างๆที่สูงขึ้น ปัจจัยด้านค่าเงิน ฯลฯ จนส่งผลให้ตัวรถมีราคาแพงขึ้น

แต่สำหรับ Mercedes-Benz แล้ว ทันทีที่รถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด พวกเขามีเวลาเก็บเกี่ยว
ความสุขจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำในช่วงหลายปีที่ตรากตรำ ได้ไม่นานนัก คำวิจารณ์ต่างๆ
รวมทั้งข้อคิดเห็นจำนวนมาก จะถูกกลั่นกรองออกมา เพื่อเตรียมไว้สำหรับการพัฒนา รถยนต์
รุ่นต่อไป ในอีก 1 ปีถัดมา!!

ทีมออกแบบของ Mercedes-Benz เริ่มงานพัฒนา S-Class W221 ในปี 1999 โดยงานออกแบบ
เริ่มต้นในปี 2000 ณ ศูนย์ออกแบบ Advanced Design Center ของ Damiler AG ในกรุง Tokyo
เมื่อถึงปี 2001 โดยมีการนำเทคโนโลยีด้านการออกแบบมาประยุกต์ใช้มากมาย เช่นการนำเสนอ
งานออกแบบ ยิงขึ้นจอ ขนาดใหญ่เสมือนจริง การเลือกสรรวัสดุ และโทนสีทั้งภายนอกและ
ภายในรถอย่างพิถีพิถัน ฯลฯ

งานออกแบบขั้นสุดท้าย โดย Gorden Wagener ที่ ศูนย์การออกแบบ Advanced Design  
Center ใน Sindelfingen ก็เสร็จสิ้นลง การปรับปรุงรายละเอียดจนนิ่งสนิทและได้บทสรุป โดย
ไม่ต้องปรับแก้อะไรอีก เกิดขึ้นในปี 2002 จากนั้น มีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร ด้านงานออกแบบ
ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2003

อย่างไรก็ตาม งานออกแบบของ S-Class หลุดเล็ดรอดออกมาให้ชาวโลกได้เห็นก่อนเป็นครั้งแรก
ในขณะทำการสำรวจวิจัยตลาดกับกลุ่มลูกค้า consumer design clinic เมื่อเดือนธันวาคม 2002 หรือ
2 ปีครึ่ง ก่อนที่รถจะออกสู่ตลาด

ช่วงเวลา 2 ปีครึ่ง หลังจากที่งานออกแบบได้รับการอนุมัติ จนถึงขั้น ถอดแบบพิมพ์เขียว
ออกมาเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประกอบรวมกันเป็นรถยนต์คันต้นแบบนั้น ทีมวิศวกรของ
Mercedes-Benz ทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้ง การให้
ความใส่ใจกับคุณภาพการขับขี่ การเก็บเสียง การลดแรงสั่นสะเทือน จำพวก NVH หรือ
Noise Vibration & Harshness ทั้งนี้ยังรวมถึงความพยายามในการปรับปรุงให้ตัวรถ ลู่ลม
จนได้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ ต่ำเพียง Cd 0.27 ซึ่งถือว่า ต่ำมากเมื่อเทียบกับ
รถยนต์ในยุคปี 2005 พวกเขาทดสอบทุกระบบ ทุกการใช้งาน ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนมั่นใจว่า
S-Class W221 จะต้องเป็นรถยนต์หรูที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นให้ได้

ในที่สุด S-Class ใหม่ รหัสรุ่น W221 อันเป็น Generation ที่ 5 ของตระกูลรถยนต์หรูค่าย
ตราดาว ที่สวมชื่อ S-Class ก็ได้ฤกษ์ ถึงเวลาเผยโฉมสู่สาธารณชน อย่างเป็นทางการ เมื่อ
เดือนมิถุนายน 2005 และเปิดตัวครั้งแรก ในงาน Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2005

ตลอดช่วง 2 ปีแรกที่เปิดตัว S-Class ใหม่ W221 กวาดสารพัดรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน แถมยัง
กอบกู้ชื่อเสียงด้าน คุณภาพ ที่เคยตกต่ำลงไปจากรุ่น W220 ให้กลับคืนมาได้อย่างสง่างาม และ
นั่นก็ทำให้รถรุ่นใหม่ ได้รับความนิยมมาก ในหมู่เศรษฐีทั่วโลก 13 มิถุนายน 2006 หรือเพียง
8 เดือนหลังออกสู่ตลาด ยอดขายของ S-Class ทั่วโลก ก็พุ่งมาแตะระดับ 50,000 คันได้สำเร็จ!

16 เมษายน 2006 รุ่นกันกระสุน S600 Guard Special Protection Model ถูกแนะนำสู่ตลาด
เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง ซึ่งต้องมีการอารักขาคุ้มกันมาก
เป็นพิเศษ

นอกจากนี้ W221 ยังถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกของ Mercedes-Benz ที่มีการนำเทคโนโลยี
ขุมพลัง Diesel Turbo มาพ่วงเข้ากับระบบขับเคลื่อน HYBRID เปิดตัวครั้งแรกในงาน
Frankfurt Motor Show เดือนกันยายน 2007 โดยใช้ชื่อรุ่น S300 BLUETEC HYBRID

ส่วนรุ่นปรับโฉม Minorchange หรือ Facelift นั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2006 อันเป็นช่วงเวลาที่
W221 เปิดตัวไปแล้ว 1 ปี งานออกแบบ ได้รับการอนุมัติในปี 2007 และการประกาศเปิดตัว
สู่สาธารณชน มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2009 ในเมือง Stuttgart โดยมุ่งเน้นการปรับปรุง
ให้ S-Class ใหม่ ประหยัดน้ำมันมากขึ้นด้วยสารพัดเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น
โดยเฉพาะ รุ่นสำคัญที่เปิดตัวเข้ามา ได้แก่ S400 BLUETEC HYBRID ที่ทำอัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิงดีขึ้นเป็น 7.9 ลิตร/100 กิโลเมตร และปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดอ็อกไซด์ 186 กรัม/
1 กิโลเมตร แถมด้วยสารพัดอุปกรณ์ อำนวยความสะดวกมากมาย ที่เพิ่มเติมเข้ามา อาทิ
ชุดไฟหน้าแบบ Adaptive Highbeam Assist ระบบเตือนเมื่อผู้ขับขี่เบี่ยงเลนโดยไม่ตั้งใจ
Lane Keeping Assist ระบบควบคุมความเร็วคงที่ และชะลอรถอัตโนมัติ จาก Redar ที่
ติดตั้งบริเวณกระจังหน้า Speed Limit Assist ระบบกล้องอินฟาเรดแสดงวัตถุหรือบุคคล
ที่เคลื่อนไหวในระยะห่างจากด้านหน้ารถ ยามค่ำคืน Night View Assist และระบบเตือน
ผู้ขับขี่ให้พักข้างทาง หากขับรถมานานเกินไป แถมยังมีระบบรักษาการทรงตัวขณะขับขี่
ตัดผ่านกระแสลมแรง Automatic crosswind stabilisation มาให้อีกด้วย!

และเพียงหลังจากนั้น เดือนเดียว วันที่ 11 พฤษภาคม 2009 Daimler AG. ก็ประกาศความ
สำเร็จของยอดขาย S-Class W221 ทั่วโลก ว่ามียอดรวมแล้วกว่า 270,000 คัน ซึ่งถือว่า
ทำตัวเลขได้ดีกว่ารุ่น W220 อยู่ไม่น้อย

S-Class W221 ที่ยังทำตลาดในบ้านเรา ช่วงปลายอายุตลาด ในตอนนี้ มีเหลือแต่รุ่น
ฐานล้อยาว Long Wheelbase ซึ่งมีขนาดยาวเพิ่มขึ้นจากรุ่นมาตรฐานเล็กน้อย

มิติตัวถังยาว 5,226 มิลลิเมตร กว้าง 1,871 มิลลิเมตร (ถ้ารวมกระจกมองข้างเข้าไป
จะกว้างเป็น 2,120 มิลลิเมตร) สูง 1,479 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาวสะใจถึง 3,165
มิลลิเมตร น้ำหนักรถเปล่าอยู่ที่ 2,000 กิโลกรัม หรือ 2 ตัสน น้ำหนักที่บรรทุกได้
รวมของเหลวในระบบด้วยแล้ว 580 กิโลกรัม ดังนั้น น้ำหนักรวมของรถทั้งคัน
เมื่อรวมผู้โดยสาร สัมภาระ และของเหลวในระบบจึงอยู่ที่ 2,580 กิโลกรัม

เส้นสายตัวถัง แตกต่างไปจาก W220 รุ่นก่อนหน้านี้ อย่างสิ้นเชิง มาในรูปแบบ
เหลี่ยมสันมากขึ้น เพิ่มโป่งซุ้มล้อขนาดใหญ่โต ทั้ง 4 ล้อ เพื่อเอาใจกลุ่มลูกค้า
ชาวอเมริกัน ขณะที่บั้นท้าย รับอิทธิพลมาจาก รถยนต์ระดับ Ultra-Luxury อย่าง
MAYBACH (ซึ่งเพิ่งยุติการผลิตไปเมื่อปี 2012) มาเต็มๆ ส่วนความแตกต่างที่
ชัดเจนจากรุ่นก่อนปรับโฉม มีทั้งไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง แบบ LED และชุด
ไฟท้ายแบบ LED ซึ่งจะไม่มีแถบสีเดียวกับตัวถังคาดกลางชุดไฟท้ายอีกต่อไป
รวมทั้งชุดกระจังหน้า เปลือกกันชนหน้า และชุดไฟหน้าที่ถูกปรับปรุงใหม่
เล็กน้อย

ในรุ่น Exclusive ที่เห็นอยู่นี้ จะไม่มีไฟหน้าแบบ ส่องสว่างเอง ILS (Intelligent Light
System) ระบบไฟหน้าแบบ ติดสว่างขณะเลี้ยวพวงมาลัยไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง Cornering
Light รวมทั้งไม่มีระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Adaptive High beam Assist) ไม่มีชุด
ไฟหน้าขนาดเล็ก ส่องสว่างขณะขับขี่ตอนกลางวัน Daytime Running-Light LED
และไม่มี ระบบปรับโคมไฟหน้าตามการเลี้ยวของพวงมาลัย อัตโนมัติ ALS-Active
Light System) ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์ที่จะมีใน รถรุ่น Final Edition ทุกรุ่น ทุกคัน

ระบบล็อกประตู เป็น กุญแจรีโมทคอนโทรลก็จริง แต่ในรุ่น Exclusive กลับไม่มีระบบ
KEYLESS-GO มาให้ มีแค่ ระบบกันขโมย Immobilizer ถ้าอยากได้ระบบดังกล่าว คง
ต้องซื้อรุ่น Final Edition ไปเลย ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า รถราคา 6.39 ล้านบาท แล้ว ไหนๆ
ก็น่าจะให้อุปกรณ์นี้มาสักหน่อยก็ยังดี

รีโมทกุญแจ ยังคงมีหน้าตาเหมือนกับกุญแจของ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ ตลอดช่วง
5 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะติดเครื่องยนต์ ก็เสียบกุญแจไขเข้าไปหมุนที่ ช่องเสียบ  บริเวณใกล้
คอพวงมาลัยฝั่งขวาได้เลย มีปุ่มสั่งล็อก และปลดล็อก รวมทั้งปุ่มเปิดฝาประตูด้านหลัง

การเข้า – ออกจากประตู คู่หน้า ทำได้สบาย สำหรับรถยนต์ระดับนี้ ช่องทางเข้า – ออก
ดูจากสายตา มีขนาดไล่เลี่ยกันกับ 7-Series F01/F02 แต่ การใช้งานจริง เข้า – ออกได้
ไม่อึดอัดเท่า ถือว่าทำออกมาเอาใจผู้คนทุกขนาดสรีระ

ภายในห้องโดยสาร บุด้วยหนัง ประดับด้วยลายไม้ และแถบโครเมียม ในบางจุด
แผงประตูด้านข้าง มีบริเวณพนักวางแขน ที่วางแขนได้สบาย ในระดับพอดีแล้ว แถม
ยังสามารถเปิดฝายกขึ้นมาเป็น ช่องเก็บของขนาดยาว แต่เล็ก ได้ พอให้ใส่ปากกา
หรือข้าวของจุกจิกเล็กๆน้อยๆ ซึ่งในการใช้งานจริง ก็ทำได้ไม่ถึงกับสะดวกมากนัก

ส่วนช่องใส่ของด้านล่าง ก็พอจะให้ใส่สมุดพก คู่มือ เอกสารนิดๆหน่อยๆ แต่ไม่ได้
ใหญ่พอให้ใส่ขวดน้ำได้พอดี เว้นเสียแต่ว่า คุณต้องหาทางยัดขวดน้ำ 7 บาท ลงไปนอน
ด้วยตัวคุณเอง ซึ่งตอนงัดเอาขึ้นมา ก็ต้องออกแรงพอสมควร

มีไฟส่องสว่างสีแดง เพื่อให้คนที่ขับรถตามมาตอนกลาคืน ได้เห็นว่า มีประตูเปิดอยู่
ถือเป็นแนวคิดเรื่องความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่หลายๆค่าย ไม่ค่อยใส่ใจกัน แถมยัง
ตัดออก เพราะมองเรื่องต้นทุน ไม่ข้าใจเลยจริงๆ ดีแล้วที่ Mercedes-Benz ติดตั้งให้

เบาะนั่งคู่หน้า ให้ Function การทำงานมาเหมือนกัน คือ ปรับได้ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า
บนแผงประตูทั้ง 2 ฝั่ง มีหน่วยความจำตำแหน่งเบาะให้ 3 หน่วย เหมือนกัน ถ้า
ปรับเบาะจนเข้าที่ตามต้องการ ให้กดปุ่ม M ข้างไว้ พร้อมกับกดเบอร์หน่วยความจำ
ที่ต้องการ 1 2 หรือ 3 พร้อมกัน จนมีเสียง “ติ๊ด” แสดงว่า ระบบได้จำตำแหน่งเบาะ
ให้คุณแล้ว

พนักพิงหลัง กับพนักศีรษะ นุ่มสบายใช้ได้ ถ้าต้องการปรับระบบดันหลัง Lumbar
Support ต้องเข้าไปใน Menu ของระบบ COMMAND (ไว้อธิบาย ในย่อหน้าล่างๆ)
คือ ต้องเข้าไปใน Mode Vehicle จนเจอรูปรถ และคำว่า Lumbar Support ก่อนจะ
เลือกฝั่ง ซ้าย หรือ ขวา แล้วค่อยปรับระดับ จาก 1 ถึง 10 ซึ่งขั้นตอนนี้ ดูยุ่งยากและ
วุ่นวายเวิ่นเว้อเกินไป แถมการดันหลัง ก็ไปดันบริเวณสะโพก ซึ่งสำหรับบางคน
อยากได้ตำแหน่งดันเพิมขึ้นบริเวณกลางหลังมากกว่า แต่ถ้าต้องการถึงขนาดนั้น
ก็คงต้องยกระดับไปเล่นรุ่นที่แพงกว่านี้

เบาะรองนั่ง สามารถปรับยืดหรือหดเข้าไปได้ ดังนั้น ใครที่บ่นว่า เบาะรองนั่งสั้น
แสดงว่า ยังไม่ได้ปรับขนาดให้มันยาวออกมาจนสุด เพราะนั่นคือขนาดที่พอดี
สำหรับคนตัวใหญ่ ตัวเบาะเอง ก็นุ่มสบายกำลังดี มีฮีตเตอร์อุ่นเบาะ และพัดลม
เป่าเบาะ อย่างละ 3 ระดับความแรงให้เลือก ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสารด้านซ้าย

พื้นที่เหนือศีรษะ ไม่ต้องเป็นห่วง รถยนต์ระดับนี้ ทำมาเผื่อไว้สำหรับคนตัวใหญ่
ดังนั้น จึงมีพื้นที่ด้านบน เหลือมากพอให้มนุษย์ร่างยีราฟทั้งหลาย ได้หายใจ
ถ้ายังบ่นว่า พื้นที่ศีรษะน้อยไป หรือขนาดห้องโดยสารเล็กไป กรุณาติดต่อทาง
Daimler AG ให้เขาปรับปรุง S-Class เวอร์ชันพิเศษ ให้คุณ แบบเดียวกับอดีต
ผู้นำเยอรมัน อย่าง เฮลมุท โคห์ล กันเอาเองเถอะ!

ภาพรวมของเบาะหน้า ถือว่า นั่งสบาย กว่า เบาะคนขับของ BMW 7-Series จาก
เหตุผลในเรื่อง วัสดุหนังที่หุ้มเบาะ ลื่น เนียนกว่า แต่ความสบาย ถือว่า ยังด้อยกว่า
Lexus LS460 L อยู่นิดนึง

การลุก เข้า – ออกจากเบาะหลังนั้น ทำได้อย่างสบาย ส่วนหนึ่งเพราะรถคันนี้เป็นรุ่น
Long Wheelbase ฐานล้อยาว ปัญหา ความคับแคบของช่องทางเข้า จึงหมดไป สังเกตุ
ว่าบานประตูทั้ง 4 บานนั้น สามารถเปิดกางออกเท่าไหร่ก็ได้ บานพับจะล็อกตำแหน่ง
ล่าสุดที่คุณเปิดค้างเอาไว้ให้ โดยไม่ต้องกลัวว่า ประตูจะดีดไปโดนรถคันอื่นหรือเปล่า

แผงประตูด้านล่าง ยังมีช่องใส่ของขนาดเล็ก ใส่ได้แค่ เอกสารพกพา หรืออาจจะเป็น
ปืนพกเล็กๆ สักกระบอกที่ซ่อนอยู่ คงต้องเป็นปืนที่เล็กจริงๆ เพราะขนาดขวดน้ำ 7 บาท
ยังแทบจะยัดลงไปได้ยากเลย เขาไม่ได้ออกแบบมาเผื่อประเด็นนี้เอาไว้

พนักวางแขนนั้น ถึงแม้จะวางได้ในตำแหน่งสบายพอดีเป๊ะ แต่ก็ไม่เหมือนแผงประตู
คู่หน้า ตรงที่ ไม่ได้ทำช่องเก็บของพร้อมฝาปิดซ่อนไว้ แต่มีช่องเขี่ยบุหรี่ พร้อมฝาปิด
ซึ่งสามารถยกออกไปเททิ้งได้ มาให้แทน

S350 CDI Exclusive มีม่านไฟฟ้า มาให้ ทั้ง กระจกบังลมหลัง และบานหน้าต่างบน
ประตคู่หลังทั้งฝั่งซ้าย และขวา การใช้งาน ทำอย่างไร อ่านย่อหน้าข้างล่าง

เบาะนั่งด้านหลังนั้น เอาใจลูกค้าระดับเศรษฐี หรือแขกบุคคลสำคัญที่ใช้บริการรถคันนี้กัน
ในระดับพอประมาณ ยังไม่ถึงขั้น อลังการดาวล้านดวง อย่างรุ่น Final Edition แต่ก็ถือว่า
พอรองรับการใช้งานพื้นฐาน ในฐานะรถยนต์หรูได้แล้ว

ในตำแหน่งปกติ ทันทีที่เข้าไปนั่ง คุณจะสัมผัสได้ว่า เบาะค่อนข้างจม และลึกพอประมาณ
ในระดับที่บังคับให้คุณต้องนั่งหลังเกือบจะตรง  ขณะที่ตำแหน่งของเบาะรองนั่งนั้น จะ
พอดีกับข้อพับของผม (สูง 171 เซ็นติเมตร) ในภาพรวม เบาะนั่งนุ่มสบายกว่าเบาะหลังของ
730 Ld F02 รุ่นก่อนปรับโฉม ชัดเจน แถมหนังที่หุ้มเบาะ ยังให้สัมผัสที่เนียน ละมุนกว่า
แต่ยังไม่ถึงขั้นของ Lexus LS460L พื้นที่เหนือศีรษะ ยังเหลืออยู่ นิดนึง ไม่มากนัก ราวๆ
1 ฝ่ามือแนวนอน

พนักศีรษะ พับเก็บได้ ด้วยสวิชต์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ฝั่ง ยกเว้นตรงกลาง ที่พับได้ด้วยมือ มีมาให้
3 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยแบบ ELR 3 จุด ครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ตรงกลางของ
เบาะหลัง สามารถนั่งได้ แต่อาจลำบากนิดหน่อย เพราะตัวล็อกเข็มขัดนิรภัย จะทิ่มตำสีข้าง
อยู่บ้าง สำหรับคนตัวใหญ่

พนักวางแขน มีช่องวางแก้วน้ำ เลื่อนเก็บได้แบบลิ้นชัก และช่องถาดเก็บของ บุกำมะหยี่
สีดำ พร้อมฝาปิด อันเป็นพนักวางแขน ออกแบบมาให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหมาะสม
วางแขนได้สบายดี

เมื่อคุณปรับสวิชต์ บริเวณแผงประตูด้านข้างเพื่อเอนเบาะ จะพบว่า จริงๆแล้ว เบาะรองนั่ง
จะเลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเท่าบเป็นการบังคับให้พนักพิงหลัง ปรับเอนตามไปด้วยตัวของมัน
กันเองอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยเข้าใจว่า จะให้ก้านสวิชต์ สำหรับปรับตำแหน่งพนักพิงหลังมาให้
เหมือนอย่างรุ่นหรูกว่านี้มาทำไม ในเมื่อ พนักพิงเบาหลัง ไม่สามารถแบกปรับเอนต่างหาก
ได้เองเลย

ตำแหน่งเบาะนั่งขณะเอนหลัง นั่งกึ่งนอนได้สบายพอดีๆ พนักศีรษะปรับเอนได้ด้วยสวิชต์
ไฟฟ้า แต่ถ้ากดเลื่อนให้สูงขึ้น หรือต่ำลง ทำไม่ได้ นอกจากจะปรับแค่มุมเอนโน้มมาข้างหน้า
หรือเอนถอยหลังไปเท่านั้น

เบาะหลัง ทั้ง 2 ฝั่ง มาพร้อมกับระบบจำตำแหน่งเบาะ 3 ระดับ เช่นเดียวกับเบาะคู่หน้า รวมทั้ง
ยังมี ฮีตเตอร์อุ่นเบาะ 3 ระดับความร้อน และพัดลมเพิ่มความเย็นให้กับเบาะ 3 ระดับ มาให้
เช่นเดียวกัน สวิชต์ควบคุมทั้งหมด จะรวมอยู่ที่แผงประตูด้านข้าง ทั้ง 2 ฝั่ง เหมือนกับบาน
ประตูคู่หน้า

แต่ที่พิเศษกว่า ก็คือ สวิชต์ ควบคุมกระจกหน้าต่างบนบานประตูคู่หลังนั้น ไม่ว่าคุณจะนั่งฝั่ง
ซ้าย หรือขวา ก็สามารถ สั่งเลื่อนกระจกหน้าต่าง และชุดม่านไฟฟ้า ทั้งที่บานประตูคู่หลัง
และกระจกบังลมหลัง ขึ้นลงได้ อิสระ ทั้ง 2 ฝั่ง ตามใจชอบ โดยสวิชต์ หน้าต่างไฟฟ้า และ
สวิชต์ เปิด-ปิด ม่านไฟฟ้า ถูกรวมเข้าไว้เป็นชุดสวิชต์ เดียวกัน นั่นแปลว่า ถ้าคุณจะเปิด
หน้าต่าง ขณะที่ใช้งานม่านไฟฟ้าอยู่ คุณต้องกดสวิชต์ ให้ม่าน เลื่อนลงไปเก็บก่อน แล้ว
จึงกดสวิชต์ดเดิมอีกครั้ง เพื่อเลื่อนกระจกหน้าต่างลงมาจนสุดขอบประตู

ไม่เพียงเท่านั้น เฉพาะฝั่งผู้โดยสารหลัง ด้านซ้าย จะมีสวิชต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นมา สำหรับ
เปลี่ยนให้แผงสวิชต์ ประตูฝั่งซ้าย สามารถควบคุม เลื่อนเบาะผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย
ขึ้นหน้า – ถอยหลัง หรือปรับเอนได้ ตามใจชอบ เพื่อเพิ่มพื้นที่วางขา สำหรับผู้โดยสาร
บนเบาะหลังซ้าย ได้ยืดแข้งยืดขาสบายอารมณ์ ยิ่งกว่าตำแหน่งปกติ

(เฉพาะรุ่น S300 Final Edition และ S500 Final Edition เท่านั้น ที่จะมีเบาะนวด
ปรับด้วยไฟฟ้า สำหรับผู้โดยสารด้านหลังทั้ง 2 ฝั่ง แบบ MultiContour มาให้)

มองขึ้นไปบนเพดาน มีกระจกแต่งหน้า พร้อมไฟส่องสว่าง ปิดด้วยพลาสติก ประดับด้วย
ผ้าชนิดเดียวกันกับเพดานหลังคา ส่วนบริเวณมือจับสำหรับโหนยึดเหนี่ยวรั้ง ยังมีไฟ
อ่านหนังสือ มาให้ใช้งานกันครบทั้ง 2 ฝั่งอีกด้วย

ความสบายในการนั่งบนเบาะหลังนั้น ยืนยันว่า ดีกว่า 730Ld รุ่นล่าสุด F02 LCI หรือ
รุ่นปรับโฉม Minorchage แล้ว ด้วยพื้นผิวของหนังหุ้มเบาะที่เนียนและสบายผิวเมื่อ
สัมผัสมากกว่า รวมทั้งตำแหน่งของเบาะนั่ง แม้ลูกเล่นปรับเบาะไม่เยอะเท่ากับ 730Ld แต่
S350 CDI ก็นั่งได้สบายกว่าอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกับ Lexus LS460 L
แม้จะมีพื้นที่เหนือศีรษะ และความโปร่งสบายของห้องโดยสารด้านหลังมากกว่า
LS กระนั้น ภาพรวมแล้ว ยังต้องยอกให้เบาะนั่งของ LS ชนะเลิศไป ทั้งด้วยวัสดุ
ที่หุ้มเบาะ ซึ่งดีกว่ากันมาก แถมยังให้ความสบายด้วยเบาะนวดด้านหลัง ซึ่งทั้ง
S350 CDI และ 730 Ld ไม่มีมาให้

การเปิดฝาประตูห้องเก็บของด้านหลัง ทำได้จากการกดรีโมทกุญแจปลดล็อก หรือ
กดสวิชต์ที่มือจับ เหนือป้ายทะเบียนหลัง เมื่อยกขึ้นมา จะพบการเก็บงานเรียบร้อย
แม้แต่เสาค้ำฝาประตูหลัง ยังหุ้มพลาสติกมาให้ มีวัสดุ Recycle ซับเสียง แปะที่ใต้
ฝาประตูหลัง รวมทั้ง มีไฟทับทิม 2 ดวง ส่องสว่างยามค่ำคืน และมีแผงทับทิมแบบ
สามเหลี่ยมฉุกเฉิน มาให้ตามมาตรฐานของ Mercedes-Benz ช่องทางเข้ามีขนาด
ใหญ่โต แต่รุ่น S350 CDI Exclusive คันนี้ จะไม่มีระบบปิดฝาท้ายอัตโนมัติ อย่างที่
รุ่นอื่นๆจะมีมาให้

มองไปที่เปลือกกันชนล่าง จะเห็นปากท่อไอเสีย 2 ฝั่ง ออกแบบเป็นแบบสี่เหลี่ยม
ผืนผ้า เก็บงานได้ค่อนข้างดี ส่วนห่วงคล้องดึงตัวรถ จะซ่อนอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ
ที่มีฝาปิดครอบไว้นั่นละครับ

พื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังมีขนาดใหญ่ขึ้นจาก W220 รุ่นก่อนหน้านี้เล็กน้อย ด้วย
ความกว้าง 91 เซ็นติเมตร สูง 45 เซ็นติเมตร เท่าเดิม แต่เพิ่มความลึกหรือยาวไปอยู่ที่
100 เซ็นติเมตร (W220 อยู่ที่เพียง 89 เซ็นติเมตร) ปริมาตรความจุ 506 ลิตร ตาม
มาตรฐาน VDA เยอรมัน ใส่ศพฝรั่งตัวโตๆ ได้ 2 ศพ แน่ๆ แต่ศพคนเอเซีย น่าจะได้ 3 ศพ

ผนังฝั่งซ้ายและขวา มีตาข่ายกั้น ไว้สำหรับวางข้าวของ เพื่อไม่ให้กลิ้งไปกลิ้งมาโดย
ไม่จำเป็น เมื่อยกพื้นห้องเก็บของขึ้นมาเกี่ยวล็อกไว้กับยางขอบประตูห้องเก็บของ
ด้านหลัง จะพบยางอะไหล่ ขนาดพอประมาณ ติดตั้ง มาพร้อมเครื่องมือประจำรถ
และแม่แรง

แผงหน้าปัด ออกแบบมาให้ดูหรูหรา ร่วมสมัย แต่แบ่งแยกภาคแสดงข้อมูลไว้ครึ่งท่อนบน
ชัดเจน ส่วนด้านล่าง ดูเรียบง่าย สวิชต์ควบคุมในหลายๆอุปกรณ์ ถูกย้ายมาไว้ข้างลำตัวผู้ขับขี่
แผงหน้าปัดครึ่งท่อนบน บุด้วยหนัง ARTICO ส่วนครึ่งท่อนล่าง เป็นวัสดุแบบเดียวกับที่จะพบ
ใน Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ รุ่น S300 Exclusive และ S350 CDI Exclusive ตกแต่ง
แผงหน้าปัดด้วยแถบอะลูมีเนียมขึ้นเงา ประดับด้วยลายไม้ Dark Brown Eucalyptus (High
Gross) ส่วนโทนสีในห้องโดยสารของรถคันที่เราทดลองขับ จะเป็นสีเทา Alpaca Grey สลับ
กับ Basault Grey โดยใช้หนังแบบ 828 Passion Leather หุ้มเบาะ และแผงประตูข้าง

มองไปด้านบน แผงบังแดด มีกระจกแต่งหน้าพร้อมฝาปิดพับ และไฟส่องแต่งหน้ามาให้
ทั้ง 2 ฝั่ง มีช่องเก็บแว่นกันแดด บุด้วยผ้าสักกะหลาดสีดำด้านใน การควบคุมไฟส่องสว่าง
ภายในห้องโดยสาร ค่อนข้างน่ามึนหัว ไฟส่องแผนที่ 2 ตำแหน่ง อยู่ใต้กระจกมองหลัง
ไฟส่องสว่างหลัก มี 2 จุด คือด้านหน้า ใกล้กับแผงสวิชต์ควบคุม เหนืกระจกมองหลัง
และตรงกลาง เหนือศีรษะผู้โดยสาร การเปิด-ปิด ต้องอาศัยความจำตำแหน่งสวิชต์กัน
พอสมควร

จากขวา ไปซ้าย

Mercedes-Benz ยังคงรักษาเอกลักษณ์ ของตนในการจัดวางสวิชต์ปรับตำแหน่งเบาะนั่ง
ไว้ที่แผงประตูด้านข้าง ใน S-Class อย่างที่ได้บอกไปแล้ว เบาะนั่งทั้ง 4 ตำแหน่ง สามารถ
ปรับระดับได้ทั้งหมด จึงต้องมีแผงควบคุมไว้ที่บานประตูทั้ง 4 บาน

สวิชต์ล็อก และปลดล็อกบานประตู แยกออกมาเป็น 2 สวิชต์ ให้ดูหรูหรา และต่างทำหน้าที่
ของมันแยกต่างหากกันไปเลย มือจับประตู ก็ยังออกแบบในสไตล์เดียวกับ Mercedes-Benz
รุ่นอื่นๆ

สวิชต์กระจกหน้าต่างไฟฟ้าเป็นแบบ Auto One Touch กดหรือยกขึ้น ครั้งเดียว หน้าต่าง
จะเลื่อนขึ้น หรือ ลง ได้ในครั้งเดียว ครบทั้ง 4 บาน แถมสวิชต์กระจกหน้าต่างคู่หลัง นั้น
หากยกหรือกดขึ้นซ้ำอีกครั้ง จะเป็นการเลื่อนยกขึ้น – ยกออก ระบบม่านไฟฟ้า ที่ประตู
คู่หลัง

ใต้ช่องแอร์ฝั่งผู้ขับขี่ เป็นสวิชต์ เปิด-ปิดไฟหน้า แบบมือบิด อีกงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์
สวิชต์ชุดเดียว ควบคุมได้ทั้งไฟหรี่ ไฟต่ำ และไฟสูง รวมทั้งไฟตัดหมอกหน้าและหลัง (ใช้วิธี
ดึงสวิชต์มือบิดออกมา 1-2 จังหวะ เพื่อเปิดบช้งาน และดันมือบิดกลับเข้าไป เมื่อปิดการใช้งาน)

ถัดลงไปเป็น สวิชต์ ของระบบเบรกมือไฟฟ้า กดเข้าไป เพื่อสั่งให้เบรกมือทำงานอัตโนมัติ
และใช้นิ้วเกี่ยวสวิชต์ดึงเข้าหาตัวเบาๆ เมื่อต้องการจะปลดระบบออก นอกจากนี้ยังมีโหมด
HOLD ไว้ใช้งานในกรณีที่คุณจอดติดไฟแดง แต่ไม่อยากเหยียบคาไว้ที่แป้นเบรกนานๆ
หลังจากคุณชะลอรถจนจอดสนิทนิ่งแล้ว ให้เหยียบแป้นเบรกลงไปลึกจมสุด 1 ครั้ง ระบบ
จะเข้าสู่โหมด HOLD ไว้ให้ จากนั้น ก็สามารถถอนเท้าออกจากแป้นเบรกได้ทันที ถ้าหาก
ต้องการนำรถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า หลังได้สัญญาณไฟเขียวที่สี่แยก มี 2 วิธีที่จะสั่งเลิก
การทำงาน คือ เหยียบเบรกลงไปจนสุดอีกครั้งแล้วถอนออก หรือไม่ก็เหยียบคันเร่งเพื่อ
ออกรถไปได้เลย

พวงมาลัย 4 ก้าน วงใหญ่ กว่า Mercedes-Benz คันอื่นๆ ที่ผมเคยเจอมา หากเป็นรุ่น S300
และ S350 CDI ทุกรุ่น จะหุ้มด้วยหนัง มีเฉพาะรุ่น S500 Final Edition เท่านั้น ที่จะหุ้มด้วย
หนัง สลับลายไม้ พร้อมสวิชต์ Multi-Function ฝั่งขวาควบคุมการทำงานของทั้งระบบเสียง
ทั้งการปรับเสียงดัง-เบา หรือสั่งการโทรศัพท์ ผ่านระบบ Bluetooth ส่วนฝั่งซ้าย ไว้ควบคุม
จอแสดงข้อมูลบนชุดมาตรวัด ทั้งการเปลี่ยนTrip Meter การเปลี่ยนเพลง เปลี่ยนช่องวิทยุ
หรือเข้าโปรแกรมเลือกตั้งค่าต่างๆของตัวรถ Vehicle Setting ส่วนระบบสั่งการด้วยเสียง
ของรถคันนี้ แม้จะมีสวิชต์มาให้ แต่ใช้การไม่ได้

ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย เป็นที่อยู่อาศัยของคันเกียร์ แบบ JoyStick กระดกขึ้นลง เป็นหลัก
ถ้าคุ้นเคยแล้ว จะใช้งานง่าย แต่ถ้าขึ้นมาขับใหม่ๆ ต้องปรับตัว ด้วยความงุนงงกันทั้งนั้น
ถ้าจะเข้าเกียร์ D ให้กระดิกก้านสวิชต์ลงมาจนสุด แล้วปล่อย หากจะเข้าเกียร์ N กระดก
ก้านสวิชต์ขึ้น ครั้งเดียวสั้นๆ พอ ไม่ต้องยกขึ้นจนสุด แต่ถ้าจะเข้าเกียร์ R ต้องรอให้รถ
จอดสนิทก่อน แล้วยกก้านสวิชต์ ขึ้นจนสุด และหากจะเข้าเกียร์ P เพื่อจอดรถ กดปุ่มที่
หัวก้านสวิชต์เข้าไปเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอแนะนำว่า เมื่อจะเปลี่ยนเกียร์ เพื่อความแน่ใจ
ว่าเข้าเกียร์ถูกตำแหน่ง ควรมองดูสัญญาณบอกตำแหน่งเกียร์บนมาตรวัดความเร็วทุกครั้ง

ฝั่งขวาของคอพวงมาลัย เป็นที่อยู่อาศัยของคันเกียร์ แบบ JoyStick กระดกขึ้นลง เป็นหลัก
ถ้าคนเคยแล้ว จะใช้งานง่าย แต่ถ้าขึ้นมาขับใหม่ๆ ต้องปรับตัว ด้วยความงุนงงกันทั้งนั้น

ฝั่งซ้ายของก้านพวงมาลัย จากด้านบนลงล่าง เป็นก้านสวิชต์ควบคุมระบบรักษาความเร็วคงที่
Cruise Control และระบบ จำกัดความเร็ว SPEEDTRONIC  การใช้งาน ก็เหมือนกันกับบรรดา
Mercedes-Benz รุ่นอื่นๆ คือ  ถ้าจะเปิดระบบใช้งาน ก็กระดิกก้านสวิชต์เข้าหาตัว เพื่อล็อก
ความเร็ว ที่ต้องการ หรือดันก้านสวิชต์ เพื่อต้องการยกเลิกระบบ ยกก้านสวิชต์ขึ้นเพื่อเพิ่ม
ความเร็ว กดก้านสวิชต์ลงเพื่อลดความเร็ว แต่ถ้าต้องการเปิดใช้ SPEEDTRONIC ก็กดลงไป
ที่หัวก้านสวิชต์ จนไฟสีเหลืองอำพันติดสว่างขึ้นมา ขั้นตอนที่เหลือ เหมือนกันกับการใช้
ก้านสวิชต์ ในระบบ Cruise Control ที่เขียนไปข้างบนนี้  ถ้าจะยกเลิกระบบจำกัดความเร็ว
ให้กดลงไปที่หัวก้านสวิชต์อีกครั้ จนไฟเหลืองอำพันดับลง

ถัดลงมา คือก้านสวิชต์หลัก ควบคุม ไฟเลี้ยว ไฟสูง และกระพริบไฟสูง เหมือนรถทั่วไป
หัวสวิชต์ บิดหมุน เพื่อเปิดการทำงาน ของระบบใบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ พร้อม Rain Sensor
วัดปริมาณน้ำฝนแบบ 2 ระดับ ซึ่งเมื่อใช้งานจริงตอนฝนตก ก็ทำงานฉลาดแสนรู้ดี

ก้านล่างสุด ไว้ปรับระดับพวงมาลัย ให้สูง – ต่ำ และระยะใกล้ – ห่าง จากตัวผู้ขับขี่ด้วยไฟฟ้า

ชุดมาตรวัด มีเข็มความเร็วขนาดใหญ่ อยู่ตรงกลาง ส่วนมาตรวัดรอบ อยู่ฝั่งขวา จอภาพ
ฝั่งซ้าย มีทั้งมาตรวัดปริมาณน้ำมันในถัง และมาตรวัดอุณหภูมิน้ำในระบบหล่อเย็น ตรงกลาง
เป็นจอ Multi-Information Display ส่วนแถบ Menu ที่ต้องใช้สวิชต์ฝั่งซ้ายบน
พวงมาลัยบังคับควบคุม ถูกเลื่อนลงมาด้านล่างสุด และยังคงเลือกเปลี่ยนข้อมูลได้ ทั้ง
มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ความเร็วเฉลี่ย ระยะทางที่น้ำมันในถังยังเหลือ
พอให้แล่นต่อไปได้ ตั้งแต่ออกรถ หรือตั้งแต่ กดปุ่ม Reset เพื่อตั้งค่า เซ็ต 0 บน Trip
Meter ที่มีมาให้แค่ Trip A อย่างเดียว ไม่มีแถม Trip B ทั้งสิ้น มีมาตรวัดอุณหภูมิ
ภายนอกรถ  และจอแสดงข้อมูล แจ้งเตือนของระบบต่างๆ

มีทั้งระบบ ช่วยเตือนความดันลมยาง ระบบเตือนเพื่อนำรถเข้าศูนย์บริการ ASSYST PLUS
ระบบเตือนอาการเหนื่อยล้าจากการขับขี่ ATTENTION ASSIST หรือที่ชาว Mercedes-Benz
เรียกว่า “ระบบ Starbuck” คือ เมื่อขับรถมาได้นานสักพักใหญ่ หากไม่ได้หยุดพักต่อเนื่องกัน
เป็นเวลานานๆแล้ว ระบบจะส่งสัญญาณเตือน เป็นรูป แก้วกาแฟ เพื่อเตือนว่า ถึงเวลาพักรถ
และพักคนขับกันได้แล้วนะ ในระยะหลัง ระบบนี้ เริ่มพบได้ใน Mercedes-Benz หลายๆรุ่น
มาตรวัดความเร็วแบบตัวเลข Digital แถมยังเป็นหน้าจอ แสดงการทำงานของชุดเครื่องเสียง
ได้ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน กับภาษาอะไรก็ตามที่ต้องใช้ตัวอักษร A-Z และญี่ปุ่น (ได้ทั้งตัว
ทับศัพท์อังกฤษ คาตาคานะ ฮิรางานะ และตัวอักษรจีน คันจิ) ส่วนภาษาไทย จีน เกาหลี ระบบ
อ่านไม่ได้ ครับ

จากฝั่งซ้ายเข้ามาตรงแผงควบคุมกลาง พื้นที่วางแขน สามารถยกขึ้นเพื่อเป็นช่องเก็บของได้
เหมือนเช่นแผงประตูฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนช่องเก็บของพร้อมฝาปิด Glove Compartment นั้น มี
ขนาดใหญ่พอให้ใส่เอกสารประจำรถ รวมทั้งข้าวของเล็กๆน้อยๆ

ช่องแอร์คู่กลาง เป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวยาว ดูสวยงาม และคั่นกลางด้วยนาฬิกา อะนาล็อก
ถัดลงมาเป็นสวิชต์ควบคุมเครืองปรับอากาศ แบบ แยกฝั่ง ซ้าย -ขวา หน้า -หลัง ในช่วงแรกนั้น
การเรียงสวิชต์ไว้ติดกันเป็นพรืดแบบนี้ ทำให้ใช้งานยากลำบาก เอาเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การ
แสดงผลการทำงานของเครื่องปรับอากาศ บนจอมอนิเตอร์ ก็ช่วยลดความปวดหัวไปได้มาก

ด้านความบันเทิง ในรุ่นอื่นๆ จะมีระบบ COMAND APS พร้อมวิทยุ AM/FM เครื่องเล่น DVD
6 แผ่น ระบบเสียง Pro-Logic 7 จาก Harman Kardon พร้อมจอโทรทัศน์ สำหรับผู้โดยสารคู่หลัง
พร้อม ชุดควบคุม หูฟัง และรีโมทคอนโทรลไร้สาย รวมทั้งระบบนำทาง GPS Navigation System

แต่ใน S350 CDI Exclusive จะมีเพียงแค่ สวิชต์ Comand Controller มาให้ หมุนควบคุมการทำงาน
ของชุดเครื่องเสียง ประกอบด้วย วิทยุ AM/FM พร้อมเครื่องเล่น CD/DVD ซ่อนอยู่ในฝาปิดใต้
สวิชต์เครื่องปรับอากาศ อยู่เหนือ ช่องวางของแบบมีฝาปิด เลื่อนได้

มองลงมายังด้านข้างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร จะพบแผงสวิชต์ต่างๆมากมาย แถวบนจากซ้ายไปขวา
เป็นสวิชต์ เลือกจะเล่นแผ่น DISC หรือเปิดวิทยุ สวิชต์ Back ย้อนกลับไปยัง Menu บนหน้าจอ
ก่อนหน้าปัจจุบัน ไฟฉุกเฉิน ระบบปรับเบาะดันหลังต่างๆ แสดงการทำงานบนหน้าจอมอนเตอร์
และสวิชต์ เลือกปรับระบบนำทาง หรือโทรศัพท์ (ในรุ่น S350 CDI Exclusive ไม่มีระบบนำทาง
มาให้ ดังนั้น จึงใช้งานได้แต่ฟังก์ชัน โทรศัพท์ เท่านั้น)

ฝั่งขวา เป็นสวิชต์ เปิด-ปิดวิทยุ และสวิชต์แบบหมุน Toggle ปรับระดับเสียง และสวิชต์เลือก
เมนูระบบเครื่องปรับอากาศ ส่วนฝั่งซ้าย จะเป็นสวิชต์ เลือกเมนูของเกียร์อัตโนมัติ สวิชต์พับ
พนักศีรษะด้านหลัง ในกรณีไม่มีผู้โดยสารนั่งอยู่ และสวิชต์ม่านไฟฟ้าที่กระจกบังลมหลัง
เมื่อเปิดฝาที่อุ้งมือออก จะเป็นสวิชต์สำหรับระบบโทรศัพท์ในรถ

หน้าจอมอนิเตอร์ ที่ติดตั้งมาให้ จะแสดงผลทั้งชุดเครืองเสียง (ได้ทั้งรายชื่อเพลงภาษาอังกฤษ
ฝรั่งเศส เยอรมัน และภาษาอื่นๆ ที่ใช้ตัวอักษรเดียวกับภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาญี่ปุ่น แต่
ไม่อาจแสดงภาษาไทยได้)

และที่เด็ดสุดคือ คุณสามารถปรับเปลี่ยนมุมหน้าจอ ให้ตั้งตรง หรือเอียงไปทางซ้าย – ขวา
เพื่อเอาใจผู้โดยสาร หรือผู้ขับขี่ ก็ได้ทั้งสิ้น ด้วยการกดปุ่มเลือกตำแหน่ง บนสวิชต์ข้างหน้าจอ

นอกจากนี้ยังมี Ambient Lightning เป็นไฟ LES เรืองแสงล้อมรอบห้องโดยสาร ทั้งแผงหน้าปัด
แผงประตูุทั้ง 4 บาน เพื่อสร้างบรรยากาศขณะเดินทาง เลือกระดับความสว่างได้ 5 ระดับ และ
เปลี่ยนได้ 3 สี คือ สีฟ้า Polar สีส้ม Solar และสีขาว Neutral อีกด้วย เลือกปรับเปลี่ยนได้จาก
บนหน้าจอมอนิเตอร์ ผ่านทาง COMAND Controller

ข้างลำตัวผู้ขับขี่ และผู้โดยสารด้านหน้าฝั่งซ้าย เป็นกล่องเก็บของ พร้อมฝาปิดซึ่งทำหน้าที่
เป็นพนักวางแขนในตัว หุ้มหนังแบบเดียวกับเบาะนั่ง ความเก๋ไก๋ของมันก็คือ ฝาเปิดที่ว่า
สามารถ เปิดได้ทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา เหมือนประตูของ ตู้เย็นญี่ปุ่นขนาดใหญ่บางรุ่น
กล่องด้านใน บุกำมะหยี่สีดำเอาไว้ ป้องกันเสียงกรุ๊งกริ๊งๆ จากข้าวของจุกจิกที่วางไว้
ขณะเดินทาง

แต่ข้อด้อยก็คือ ความจุของมัน มีไม่มากพอ และความสูงของมัน ทำให้สมควรจะเรียกว่า
เป็นถาดใส่ของ มากกว่าเป็นกล่องใส่ของ

ด้านหลังของกล่องคอนโซลกลาง เป็นเครื่องปรับอากาศ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง แยกฝั่ง
ปรับได้อิสระทั้งซ้ายและขวา มีช่องเสียบปลั๊กไฟ ขนาด 12V และช่องจุดบุหรี่มาให้ พร้อม
ฝาพับเก็บเข้าไปได้ และที่พื้นรถ จะมีช่องแอร์เป่าเท้า สำหรับผู้โดยสารด้านหลังมาให้ทั้ง
2 ฝั่ง

การทำงาน ถือว่า เย็นดี เย็นใช้ได้ ถ้าเร่งเปิดให้แรงตั้งแต่แรก แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไม ตอนที่
ติดเครื่องยนต์ครั้งแรก ทุกครั้ง ระบบแอร์ด้านหลัง จะต้องทำงานขึ้นมาพร้อมกันในทันที
คาดว่าคงหวังให้ผู้โดยสารทุกตำแหน่งเย็นเร็วพร้อมๆกัน แต่ในความจริง น่าจะมีสวิชต์
แยกปิดการทำงานมาให้จากด้านหน้าได้เลย โดยที่ผมไม่ต้องเอื้อมมือไปคลำหาสวิชต์
ปิดแอร์ด้านหลังเอาเอง

และสำหรับ S-Class W221 ล็อตสุดท้าย ทุกรุ่นทุกคัน จะติดตั้ง Sunroof เปิด – ปิดได้ด้วย สวิชต์
ไฟฟ้า พร้อมม่านบังแดด แบบแข็ง บุด้ายผ้าสักกะหลาด พร้อมช่องรับแสงเล็กๆ มาให้จากโรงงาน
ไม่ว่าจะเป็นรุ่นถูกสุด ไปจนึงรุ่นแพงสุดก็ตาม

สำหรับใครที่เพิ่งเคยขึ้นมาขับรถยนต์ขนาดใหญ่อย่าง S-Class เป็นครั้งแรก อาจไม่คุ้นชิน
กับทัศนวิสัยรอบคันมากนัก ดังนั้น ใช้ ตราดาว บนฝากระโปรงหน้ารถ ช่วยในการกะระยะ
จากด้านหน้า ได้พอสมควร มุมฝั่งซ้ายหน้ารถ อาจทำให้หลายคนกังวล แต่ถ้าใครที่เคยขับ
รถอย่าง Nissan Teana J32 มาก่อน ก็สามารถกะระยะด้วยวิธีการส่วนตัวของคุณในแบบ
เดียวกันได้เลย มันคล้ายกันครับ

จากมุมนี้จะเห็นว่า ตำแหน่งของจอมอนิเตอร์ด้านข้าง อยู่ในระนาบเดียวกับชุดมาตรวัด
ซึ่งจะช่วยลดการละสายตาของผู้ขับขี่จากถนนได้ดีพอสมควร (ถ้าอุปกรณ์ควบคุมหน้าจอ
ไม่ได้ใช้งานยากเย็นวุ่นวาย)

มองไปทางขวา เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งขวา มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และแอบมีการบดบัง
การเลี้ยวเข้าโค้งขวา บนถนนสวนกันเลนเดียวอยู่บ้างในบางจังหวะ ควรใช้ความระมัดระวัง
นอกจากนี้ กระจกมองข้าง ถ้าปรับให้เห็นพื้นที่ตัวรถนิดเดียว ก็จะพบว่า ขอบด้านในของ
กรอบกระจกมองข้าง จะกินพื้นที่เข้ามาบดบังขอบล่างขวา ของกระจกมองข้าง เยอะอยู่

แต่ถ้ามองไปทางซ้าย เสาหลังคาคู่หน้า A-Pillar ฝั่งซ้าย กลับจะไม่ค่อยบดบัง รถที่แล่นสวนมา
ขณะเลี้ยวกลับ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิด ส่วนกระจกมองข้าง ฝั่งซ้าย แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ยังพอ
มองเห็นรถที่แล่นตามมาได้อยู่ และต่ให้ปรับกระจกให้เห็นด้านข้างลำตัวรถเราเองน้อยที่สุด
ด้านในของกรอบกระจกมองข้างก็ไม่ได้บดบังพื้นที่ขอบล่างซ้ายเข้ามามากมายแต่อย่างใด

ส่วนด้านหลังนั้น เสาหลังคา C-Pillar ฝั่งซ้าย ถือว่าบดบังในระดับปกติ กำลังดี เพราะถ้ามี
ศีรษะของผู้โดยสารด้านหลังฝั่งซ้ายนั่งเข้าไป ก็จะบังเสาหลังคา ไปด้วยราวๆ 80% นั่นละ
พอจะมองเห็นมอเตอร์ไซค์ ที่แล่นสวนมา ขณะถอยเข้าจอดได้อยู่ ถ้าระมัดระวังเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เรื่องน่าตำหนิคือ ในรุ่น Exclusive คันที่เราทดลองขับกันอยู่นี้ กลับไม่มี ระบบ
เซ็นเซอร์ช่วยถอยเข้าจอด PARKTRONIC และไม่มีระบบแนะนำวิธีถอยเข้าจอด Parking
Guidance รวมทั้งไม่มี กล้องแสดงภาพด้านหลัง ขณะถอยเข้าจอด Rear view Camera มาให้
ทั้งที่ในแค็ตตาล็อกระบุว่า เวอร์ชันไทยของ S-Class ทั้ง 5 รุ่นย่อยในตอนนี้ มีระบบทั้งหมด
ที่กล่าวมา ติดตั้งให้ทุกคัน!

เอ๊ะ ยังไงละเนี่ย?

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

ณ ช่วงตั้งแต่เดือน มีนาคม 2013 จนถึงสิ้นปี S-Class W221 ที่ยังพอมีขายอยู่ในเมืองไทย
จาก Mercedes-Benz Thailand จะมีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 5 รุ่นย่อย ด้วยทางเลือกขุมพลัง
ที่ต่างกัน 3 ขนาด แบ่งเป็น เบนซิน 2 แบบ และ Diesel Turbo Common-rail 1 แบบ ดังนี้

S300 Executive และ S300 Final Edition
วางเครื่องยนต์ รหัส M272 รุ่น E30 เบนซิน V6  90 องศา Aluminum-Block DOHC 24 วาล์ว
2,997 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 x 82 มิลลิเมตร กำลังอัด 11.1:1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อม
ระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์ ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย 219 แรงม้า (HP) หรือ 161 กิโลวัตต์ ที่
6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 300 นิวตันเมตร (30.57 กก.-ม.) ที่ 2,500 – 5,000 รอบ/นาที เชื่อม
ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-TRONICS เป็นขุมพลังที่ประจำการมาตั้งแต่ รุ่นปี 2007 – 2013

S500 Final Edition
วางเครื่องยนต์ รหัส M273 รุ่น E47 เบนซิน V8 DOHC 32 วาล์ว 4,663 ซีซี กระบอกสูบ x ช่วงชัก
92.9 x 86 มิลลิเมตร กำลังอัด 10.5:1 หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ พร้อมระบบแปรผันวาล์ว ที่หัวแคมชาฟต์
ทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย 435 แรงม้า (HP) หรือ 320 กิโลวัตต์ ที่ 5,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดมากถึง
700 นิวตันเมตร (71.33 กก.-ม.) ที่ 1,800 – 3,500 รอบ/นาที เชื่อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ
7G-TRONICS เป็นขุมพลังที่ประจำการมาตั้งแต่ รุ่นปี 2007 – 2013

แต่ในรุ่นที่เรานำมาทดลองขับ เป็นรุ่น S350 CDI ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรุ่น Executive หรือ Final Edition
วางเครื่องยนต์ Diesel รุ่น OM642 บล็อก V6 Aluminium ทำมุม 72 องศา DOHC 24 วาล์ว 2,987 ซีซี
กำลังอัด 17.71 : 1 ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วย หัวฉีดอีเล็กโทรนิคส์ ผ่านระบบ Common-Rail ทำงานที่ระดับ
สูงสุดได้ถึง 1,600 บาร์ หรือ 23,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (psi) แถมยังมีระบบอัดอากาศ Turbocharger
แบบ ครีบแปรผัน Variable Nozzle ถือเป็นเครื่องยนต์ที่วางอยู่ใน S-Class W221 มาตั้งแต่รุ่นปรับโฉม
Minorchange เมื่อปี 2009 ต่อเนื่องถึงปี 2013 อันเป็นปีสุดท้ายในการทำตลาด

ตัวเลขกำลังสูงสุด ในเวอร์ชันตลาดโลก อยู่ที่ 235 แรงม้า (PS) / 173 กิโลวัตต์ / 232 แรงม้า (HP) ที่
3,600 รอบ/นาที แต่สำหรับเวอร์ชันไทยนั้น เพื่อไม่ให้เสียภาษีในพิกัดที่สูงขึ่น จนทำให้ตัวรถมีราคาแพง
เกินควร ทีมวิศวกรของ Daimler AG จึงตัดสินใจตอนกำลังสูงสุด ของเวอร์ชันไทย ลงเหลือ 211 แรงม้า
(HP) ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด เท่ากันทุกเวอร์ชัน อยู่ที่ 540 นิวตันเมตร (55.02 กก.-ม. ที่
รอบตั้งแต่ 1,600 – 2,400 รอบ/นาที

ส่งกำลังสู่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ แบบ 7G-TRONICS ซึ่งใช้งานใน
Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ หลายๆรุ่นในบ้านเรากันแล้ว อัตราทดเกียร์ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง
ไปจาก ที่คุณเคยพบในรถรุ่นอื่น ของค่ายรถยนต์ตราดาวเลย เขาเรียงอัตราทดไว้ตามเดิม ดังนี้

เกียร์ 1……………..4.38
เกียร์ 2……………..2.86
เกียร์ 3……………..1.92
เกียร์ 4……………..1.37
เกียร์ 5……………..1.00
เกียร์ 6……………..0.82
เกียร์ 7……………..0.73
ถอยหลัง R1……….3.42
ถอยหลัง R2……….2.23
เฟืองท้าย…………..2.65 (S300 เบนซิน อยู่ที่ 3.07)

ในเมื่อเป็นเกียร์ลูกเดียวกัน ก็คงต้องขอยกข้อมูลมาบอกกล่าวกันไว้อีกครั้งว่า เกียร์ลูกนี้
จะต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเกียร์ชนิดใหม่ FE-ATF ซึ่งมีการลดความหนืด และมีการใส่
สารเพิ่มประสิทธิภาพเข้าไป ทำให้การใช้งาน ยาวนานขึ้น และมีอายุการเปลี่ยนถ่าย
น้ำมันเกียร์อัตโนมัติลูกใหม่นี้ ที่ระดับทุกๆ 125,000 กิโลเมตร

คันเกียร์ เป็นแบบก้านสวิชต์ ติดตั้งที่คอพวงมาลัยฝั่งขวามือโยกขึ้น – ลง ทีละจังหวะ
พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift ฝั่งขวา เป็นแป้น บวก เปลี่ยนเกียร์
ขึ้น ฝั่งซ้าย เป็นแป้น ลบไว้เปลี่ยนเกียร์ลง

ระบบเบรกมือ เป็นแบบ ไฟฟ้า

ตัวเลขจากโรงงานระบุว่า ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราสิ้นเปลือง
เชื้อเพลิง 7.7 ลิตร / 100 กิโลเมตร ถือเป็น S-Class ที่ประหยัดน้ำมันมากที่สุดเท่าที่เคย
มีมาก่อนหน้านี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 202 – 204 กรัม / ระยะทาง 1 กิโลเมตร

แต่ในการทดลองของเรา ภายใต้มาตรฐานเดิม คือ ทำในเวลากลางคืน เปิดแอร์ นั่ง 2 คน
เปิดไฟหน้า ผลลัพธ์ที่ออกมา มีดังนี้

0-100 กิโลเมตร / ชั่วโมง   

ครั้งที่ 1             8.88    วินาที
ครั้งที่ 2             8.95    วินาที
ครั้งที่ 3             8.66    วินาที
ครั้งที่ 4             8.93    วินาที

เฉลี่ย                8.85    วินาที

80-120 กิโลเมตร / ชั่วโมง  

ครั้งที่ 1             6.86    วินาที
ครั้งที่ 2             6.71    วินาที
ครั้งที่ 3             6.71    วินาที
ครั้งที่ 4             6.78    วินาที

เฉลี่ย                6.76    วินาที

ความเร็วที่เกียร์ 7 อันเป็นเกียร์สูงสุด (กิโลเมตร/ชั่วโมง @ รอบ/นาที)    

  80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       1,250 รอบ/นาที
100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       1,550 รอบ/นาที
110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่       1,700 รอบ/นาที

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ (กิโลเมตร/ชั่วโมง @ รอบ/นาที)

เกียร์ 1                50 @ 4,100
เกียร์ 2                60 @ 3,900
เกียร์ 3              103 @ 4,000
เกียร์ 4              146 @ 4,100
เกียร์ 5              193 @ 4,000
เกียร์ 6              234 @ 3,900
เกียร์ 7              244 @ 3,600

ความเร็วสูงสุดบนมาตรวัด : 244 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,600 รอบ/นาที ที่เกียร์ 7

ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขกับรถยนต์ประเภทเดียวกันที่ผมเคยทำการทดลองมา มีทั้ง Lexus
LS460L และ BMW 730Ld รุ่นก่อนปรับโฉม Minorchange ก็คงต้องบอกกันว่า ยังไงๆ
S350 CDI ยังมีอัตราเร่ง ไม่อาจสู้ได้กับ Lexus ซึ่งมีเครื่องยนต์ที่ให้พละกำลังมหาศาล
มากกว่า แต่ก็กินน้ำมันมากกว่ากันชัดเจนเป็นธรรมดา (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
6.86 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 4.80 วินาที ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตร/
ชั่วโมง ที่ 5,600 รอบ/นาที ณ เกียร์ 6

และต่อให้เทียบกับ BMW 730Ld รหัสรุ่น F02 ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
เพราะใช้เครื่องยนต์ Diesel Turbo เหมือนกัน S350 CDI ก็ยังทำตัวเลขออกมาด้อยกว่า
BMW อยู่ดี…จะมาชนะ BMW ก็แค่ ช่วง ความเร็วสงสุด ที่เร็วกว่ากันแค่ 4 กิโลเมตร/
ชั่วโมง (0 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน 8.5 วินาที 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใน
6.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,400 รอบ/นาที)

ในการใช้งานจริง แรงบิดมหาศาล กลับถูกจงใจจำกัดไว้ด้วยการทำงานของเกียร์ เพื่อให้
รถออกตัวอย่างนุ่มนวลแต่ทะยานไปข้างหน้าอย่างทรงพลัง แต่ลดทอนอาการกระชากหรือ
กระโชกโฮกฮาก ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แน่นอนครับ รถผู้บริหาร ถ้าออกตัวกัน
แบบพุ่งพรวดเป็นธนูติดหัวรบนิวเคลียร์ คาดว่า พอตั้งหลักได้ ผู้บริหารที่นั่งหลัง คงจะ
ยื่นมือไปตบกบาลพลขับ ผัวะ ผัวะ ผัวะ กันแน่ๆ โทษฐาน ขับรถกระชากกระชั้นเกินไป

แต่ในช่วงหลังจาก 3,000 รอบ/นาที แรงบิดที่มีอย่างต่อเนื่องนั้น ก็จะเริ่มค่อยๆเหี่ยวลง
ความเร็วจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มีแรงดึงมากพอให้รู้ว่า
S350 CDI ก็มีเรี่ยวแรงพละกำลังเอาเรื่องอยู่นะ

ในโหมด E คันเร่งตอบสนองได้ไม่ทันใจเลย ล่าช้าไปถึง 1 วินาทีเศษๆ ต้องเข้าโหมด S
จึงจะเริ่มกระชับกระเฉงทันใจขึ้นมานิดนึง แต่ก็ยังมีช่วง Lack ของคันเร่งช้าไปเกือบ
1 วินาทีอยู่ดี ต่อให้เข้าใจว่านี่คือรถผู้บริหาร แต่ถ้าวันใด ที่ต้องกดโหมด S หรือ เข้า
โหมด M เพื่เปลี่ยนเกียร์เองที่แป้น Paddle Shift การตอบสนอง ก็ควรจะไวกว่านี้เยอะๆ
บางทีเจ้าของรถ ก็อาจใจร้อน ทนไม่ไหว ไล่พลขับไปนั่งข้างๆ แล้วตัวเองก็ขึ้นไปนั่ง
ขับเสียเองก็มี

เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ต้องยอมรับว่า 730 Ld เหมาะจะเป็นรถเพื่อการขับขี่มากกว่า
S350 CDI กันจริงๆ เพราะอัตราเร่งที่มีมาให้นั้น มาถึงในรอบต่ำกว่า แม้จะมาในลักษณะ
เดียวกัน คือ พอให้มีแรงดึงหลังติดเบาะให้หรรษาได้บ้าง และก็ต้องคงบุคลิกรถผู้ใหญ่เอาไว้
แต่เมื่อต้องเล่นบทบู๊กันจริงๆ 730 Ld จะตอบสนองได้กระฉับกระเฉงกว่า S350 CDI อย่าง
ชัดเจน

ส่วนการเก็บเสียงในห้องโดยสารนั้น Mercedes-Benz ยังคงยกระดับมาตรฐานของ S-Class
ในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ผมพอจะยกให้เห็นได้ดีที่สุดก็คือ ทั้งหมดที่คุณเห็นในภาพ
ข้างบนนี้ เป็นวัสดุซับเสียง ที่ใช้กับ S-Class ใหม่!!

พอจะนึกภาพออกใช่ไหมครับว่า มันน่าจะช่วยเก็บเสียงได้ดีขนาดไหน

ยืนยันครับว่า เก็บเสียงดีมาก แต่ผมมองว่า มากไปหน่อย!

คือมันเงียบกว่ารถคันอื่นที่ผมเคยเจอ เงียบเสียจนกระทั่ง เกิดคลื่นความถี่เสียงเข้ามาทำให้
ในวันแรกที่ผมรับรถมาขับ ผมฟังเพลงจากเครื่องเสียงแทบไม่ได้เลย เพราะมีอาการปวดหู
นิดๆ จนกระทั่งเริ่มมาปรับความคุ้นเคยในวันถัดๆมา จึงเริ่มพอจะยอมรับได้บ้าง แน่นอน
ว่าในช่วงความเร็วสูง การเก็บเสียง จะทำได้ดีมาก จนกระทั่งความเร็วเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ
160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงจะเริ่มมีเสียงลมไหลผ่านตัวรถ ดังขึ้นต่อเนื่องไปตามความเร็ว
ของรถที่เพิ่มขึ้น ตามปกติ

ระบบบังคับเลี้ยว เป็น พวงมาลัย แบบ Rack & Pinion พร้อม Power ผ่อนแรงแบบ Hydraulic
รัศมีวงเลี้ยว 1 รอบวงกลมเต็มๆ อยู่ที่ 12.2 เมตร ยังไม่มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องเท่าใดนัก
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผมชอบ อย่างไรก็ตาม อัตราทดเฟืองพวงมาลัย น่าจะค่อนข้างยาวพอสมควร
จนชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของ Mercedes-Benz รุ่นเก่าๆ ได้เลย

ในช่วงความเร็วต่ำ พวงมาลัยจะเบา และหมุนง่ายดาย มีแรงต้านมาขืนมือระดับต่ำมากๆ
แต่พอใช้ความเร็วสูง พวงมาลัยจะพอมีระยะฟรีอยู่บ้างนิดหน่อย ทว่า On Center feeling
ทำได้ดี (ถ้าไม่เอาประเด็นที่ว่า รถคันทดลองขับมีอาการกินซ้าย มาคิดรวบเข้าไปด้วย)
อีกทั้งยังจะมีแรงต้าน ขืนมือ ชัดเจนมาก หนักขึ้นมาก

แต่พวงมาลัยยังตอบสนองแบบ ไฟฟ้า ยังสัมผัสได้ว่า ให้ความต่อเนื่องในแบบพวงมาลัย
ที่บังคับด้วยไฟฟ้า ยังไม่ถึงกับเป็นธรรมชาติมากนัก ขาดอีกนิดนึง

ในภาพรวม มันก็ยังเป็นพวงมาลัยในแบบ Mercedes-Benz รุ่นใหญ่ ที่หลายคนคุ้นเคย
คือ เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่โต อัตราทดเฟืองยาวหน่อย ต้องหมุนมากขึ้นนิดนึง เพื่อให้ล้อ
เลี้ยวไปตามที่คุณต้องการ ถึงจะเบาสบาย หมุนคล่องในความเร็วต่ำ แต่หนักและแข็งขึ้น
อย่างชัดเจนในช่วงความเร็วสูง

กระนั้น ถ้าต้องให้เปรียบเทียบกันแล้ว พวงมาลัยของ S 350 CDI อาจจะตอบสนองได้
มั่นใจกว่า LS460 L รุ่นยังไม่ปรับโฉม Minorchange แต่ด้อยกว่าพวงมาลัยของ 7-Series
F02 อย่างชัดเจน เพราะพวงมาลัยของ BMW จะเอาใจคนขับมากกว่า ด้วยความกระชับ
ฉับไว น้ำหนักในความเร็วต่ำ อาจไม่ถึงกับเบาเท่ากันนัก หนืดกว่ากันแค่เพียงนิดเดียว
แต่ระยะฟรีน้อย และบังคับเลี้ยวได้ “ตามสั่ง”ได้ดีกว่าพวงมาลัยของ S-Class

ระบบกันสะเทือน เป็นแบบ 4-Link ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Multi-Link ช็อกอัพแก็สแบบ
Single-tube และสปริงแบบ Air spring ทั้งด้านหน้าและหลัง Mercedes-Benz เรียกสปริง
ชุดนี้ว่าระบบช่วงล่างแบบ AIRMATIC พร้อมสวิชต์ ปรับความแข็งอ่อนมาให้ 2 ระดับ คือ
Comfort กับ Sport อยู่ข้างๆ จอ COMAND อย่างที่เห็นในภาพ ควบคุมการทำงานด้วย
ระบบอีเล็กโทรนิคส์ ไม่ว่าน้ำหนักบรรทุกหรือผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตาม ระยะ
ห่างระหว่างล้อกับซุ้มล้อ จะถุกรักษาระดับไว้ให้คงที่เสมอ

นอกจากนี้ ระบบ AIRMATIC ยังสามารถปรับความสูง-ต่ำ ของตัวรถได้อีกด้วย เมื่อรถแล่น
ด้วยความเร็ว เกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบจะลดความสูงของลดลงมา 15 มิลลิเมตร
ให้มีระยะห่างจากพื้นตัวถัง จนถึงพื้นถนน (Ground Clearance) ลดลง เพื่อผลทางด้าน
อากาศพลสาสตร์ และช่วยลดจุดศูนย์ถ่วงลงมา เพื่อช่วยให้การทรงตัวในย่านความเร็วสูง
ดีขึ้น แต่ถ้าเริ่มลดความเร็วลงมาต่กว่า 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบจะเพิ่มความสูงของตัวรถ
กลับมาอยู่ในระดับเดิมให้เองทันทีโดยอัตโนมัติ

บอกตามตรงว่า 2 ระดับความแข็งอ่อนที่มีมาให้ มันก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ มันนุ่ม
แน่น และนิ่มติดโยนหน่อยๆ พอๆกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่า โหมด Sport จะแข็งขึ้นนิดนึง พอจะ
ช่วยลดอาการ Rebound จากคอสะพานไปได้ชัดเจนในบางจังหวะ

ถ้าโหมด comfort เจอคอสะพาน แล้วเด้งขึ้นลง สัก 1-2 รอบจึงจะหยุด โหมด Sport จะเด้ง
ขึ้น-ลงเพียงรอบเดียว หรือไม่ก็ ซับแรงสะเทือนจนคุณแทบไม่รู้สึกอะไรเลย จากคอสะพาน
จุดเดียวกัน! (มีเหตุให้ต้องขึ้นลงสะพานแห่งเดียวกัน ติดๆกัน เลยแยกความแตกต่างได้อยู่)

แต่ในการขับขี่ทั่วไป โหมด Comfort จะดูดซับแรงสะเทือนให้คุณอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้จะยังเหลือการกระดิกขึ้นๆลงๆ ของช่วงล่าง เป็นช่วงความถี่ต่ำมากๆ อยู่บ้างนิดๆ แต่
ต้องถือว่าทำได้ดีมากแล้ว สำหรับเทคโนโลยีในปี 2008 – 2009 การซับแรงสะเทือนทำได้ดี
ถึงขั้นดีมากๆ จนต้องถามว่า นี่เรานั่งอยู่บนเรือยอร์ชขนาดกลางกันอยู่ใช่ไหม? คือมันจะ
เข้าข่ายไปในแนว “นุ่มและย้วย”

ส่วนในช่วงความเร็วเดินทาง ถึงความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็น โหมด Comfort หรือ Sport คุณจะ
สัมผัสความนุ่มนวล และนิ่งสนิทกำลังสบาย แต่เพื่อความมั่นใจของคนขับขี่ ขอแนะนำว่า
กดปุ่มเลือกโหมด Sport เอาไว้ดีกว่า เผื่อเจอคอสะพานหรือหลุมบ่อไม่พึงประสงค์ ช่วงล่ง
จะได้จัดการดูดซับแรงสะเทือนเอาไว้ให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้

กระนั้น ในช่วงการเข้าโค้ง ผมพบความแตกต่างกันอย่างชัดเจน บนทางโค้งต่อเนื่องยาวๆ
ถ้าต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ช่วงล่างของ S-Class จะอยู่ตรงกลางระหว่าง ช่วงล่างของ
7-Series และ LS460L (ก่อน Minorchange) คือ คงความนุ่มสบาย แต่ถ้าถึงความเร็วที่สูงมาก
การเข้าโค้งของ S-Class W221 ยังไม่ถึงกับนิ่งพออย่างที่ 730Ld เขาทำได้ แต่ไว้ใจได้ดีกว่า
LS460L ก่อน Minorchange แน่ๆ

ระบบห้ามล้อ เป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ คู่หน้าเป็นแบบมีรูระบายความร้อน ทำงานร่วมกับระบบ
ป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกระทันหัน ABS (Anti Lock Braking System) ระบบเพิ่มแรงเบรก
ในภาวุฉุกเฉิน BAS (Brake Assist) โปรแกรมควบคุมเสถียรภาพอัตโนมัติ ESP (Electronic
Stability Program) รวมทั้งระบบลดอาการล้อหมุนฟรีขณะออกตัว ASR (Accerelation Skid
Control) พร้อมระบบ ADAPTIVE BRAKE ซึ่งมีระบบเบรกมือ HOLD (อย่างที่ได้กล่าวไป
ในภาพรวมของพื้นที่ผู้ขับขี่ด้านบนของบทความนี้) และระบบ Hill Start Assist เพื่อช่วย
ส่งแรงดันน้ำมันเบรก ค้างไว้ใสนระบบอีกราวๆ 2-3 วินาที เพื่อให้ผู้ขับขี่ออกรถบนทาง
ลาดชันได้ง่ายขึ้น

แป้นเบรก จะตอบสนอง 2 ลักษณะ ถ้าใช้ความเร็วต่ำ เบรกจะนุ่มเท้า ชะลอรถจนจอดสนิทนิ่ง
เนียนๆ ได้ง่ายมาก แต่ถ้าใช้ความเร็วสูง แป้นเบรกจะแข็งขึ้นมาก และระยะเหยียบ ที่จะทำให้
เบรกเริ่มทำงาน สั้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว การหน่วงความเร็ว ทำได้ดี
ในระดับที่ไว้ใจได้มากๆ แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงๆ การจะต้องชะลอรถในภาวะกระทันหัน ควรจะ
เผื่อระยะเบรกเอาไว้สักหน่อย แม้ระบบเบรกจะทำงานได้ดีแค่ไหน แต่น้ำหนักตัวรถที่มากโข
อาจทำให้ต้องใช้ระยะเบรกยาวกว่าปกติสักหน่อย

ด้านความปลอดภัย S-Class W221 ทุกคัน ติดตั้งระบบ PRE-SAFE อันเป็นระบบความปลอดภัย
องค์รวม นับตั้งแต่ เริ่มจับอาการได้ จนถึงหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับ Mercedes-Benz รุ่นใหม่ๆ
ทุกรุ่น ทุกคัน นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา และ S-Class W221 ก็ถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ถูกติดตั้ง
ระบบนี้จากโรงงาน

หลักการทำงานก็คือ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน ทันทีที่เซ็นเซอร์ของระบบช่วยเบรก BAS เริ่ม
รับรู้ว่า มีการเหยียบเบรกกระทันหัน หรือเมื่อระบบควบคุมเสถียรภาพ ลดการลื่นไถลทั้งในโค้ง
ขณะออกตัว หรือเมื่ออยู่บนพื้นลื่น ESP ตรวจจับได้ว่ารถเริ่มสูญเสียการทรงตัว การทำงานของ
ระบบปกป้องก่อนเกิดเหตุต่างๆ จะเริ่มขึ้นทันที ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที

ขั้นแรกเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า แบบ Pretensioner & Load Limiter
ผ่อนแรง และรั้งกลับอัตโนมัติ จะปรับตัวกระชับเข้ากับร่างกาย ผู้ขับขี่ ขณะเดียวกัน พนักพิง
เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้า จะถูกปรับให้ตั้งตรงขึ้น Sunroof และกระจกหน้าต่างทุกบานจะ
เลื่อนปิดเองทันทีโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกัน การหลุดกระเด็นของผู้ขับขี่และผู้
โดยสารออกไปนอกตัวรถ และพนักศีรษะของเบาะคู่หน้า NECK-PRO จะเตรียมพร้อม
รองรับศีรษะของผู้ขับขี่กับผู้โดยสารตอนหน้า ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันภายใน
เสี้ยววินาที

หากรถหยุดนิ่งสนิท ไฟฉุกเฉิน Hazzard Light ในชุดไฟเลี้ยวทั้ง 2 ฝั่ง จะติดขั้นเองโดย
อัตโนมัติ เพื่อเตือนให้รถคันข้างหลังที่ขับตามมา รู้ว่า “ระวังนะ อย่าเพิ่งมาเสยบั้นท้ายฉัน
เชียวละ!”

แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุ โครงสร้างตัวถังนิรภัย Crumple Zone ถุงลมนิรภัย คู่หน้า (หรือด้านข้าง
หากเป็นการชนด้านข้าง) ม่านลมนิรภัยด้านข้าง รวมทั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับเบาะหลัง
จะพองตัวออกมาอย่างฉับพลันด้วยความเร็วในระดับ 1/1000 วินาที ส่วน พนักพิงศีรษะแบบ
NECK-PRO head restraints จะยกตัวขึ้นรองรับศีรษะ ขณะที่แกนพวงมาลัยสามารถยุบตัวได้
มากถึง 100 มิลลิเมตร เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ รวมถึงอุปกรณ์นิรภัยต่าง ๆ จะทำงาน
ร่วมกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคน

หลังเกิดอุบัติเหตุ หากมันร้ายแรงมาก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุดควบคุมจะตัดการจ่ายเชื้อเพลิง
โดยอัตโนมัติ พร้อม ๆ กับสั่งการให้เครื่องยนต์หยุดทำงานในทันที ขณะเดียวกันประตูทุกบาน
จะถูกปลดล็อกโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ

กระจกหน้าต่างจะถูกปรับเลื่อนลงเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ ฝุ่นควันจากถุงลมนิรภัยระบายออกได้
รวดเร็ว ช่วยให้อากาศภายในห้องโดยสารถ่ายเทได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ บนกระจกรถยนต์
ยังมีเครื่องหมายบอกตำแหน่งของการตัดตัวถังเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัยให้
สามารถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ได้อย่างทันท่วงที

ด้านโครงสร้างตัวถัง ทีมวิศวกรที่ Sindelfingen เลือกใช้เหล็กแบบ Ultra High Tensile Stell
มาเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยจะปั้มชิ้นส่วนขึ้นรูปตั้งแต่ยังร้อนอยู่ เหล็กชนิดนี้มีข้อดีคือ
มีน้ำหนักเบา แต่สามารถทนแรงอัดกระแทกได้มากถึง 1,500 เมกกะปาสคาล!! หรือ 3 เท่า
ของเหล็กที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ทั่วๆไป คานด้านข้าง และ เสาหลังคากลาง B-Pillar ก็ใช้
เหล็ก UHTS นี้ด้วยเช่นเดียวกัน

เดิมที S-Class W220 ใช้เหล็ก UHTS นี้เพียงแค่ 6% แต่ใน W221 นั้น พวกเขาเพิ่มสัดส่วน
การใช้เหล็กชนิดนี้ ขึ้นไปมากถึง 43% จากโครงสร้างทั้งหมด!! แต่ก็วางตำแหน่งที่จะต้องใช้
ตามแนวคิด “The right material in the right place.” หรือ ชิ้นส่วนที่ถูกต้อง ในตำแหน่งที่ใช่

ไม่เพียงเท่านั้น Mercedes-Benz ยังนำ Aluminium น้ำหนักเบา มาใช้ในการขึ้นรูปชิ้นส่วน
ตัวถัง ทั้งในส่วนของ ฝากระโปรงหน้า กาบข้างซุ้มล้อคู่หน้าทั้ง 2 ฝั่ง บานประตู ฝากระโปรง
หลัง  Front & Rear module carrier ผนังห้องโดยสารด้านหลัง ที่กั้นระหว่าง เบาะหลังและ
ห้องเก็บสัมภาระ ซึ่งมีส่วนช่วยลดน้ำหนักตัวลงไปได้มาก ตัวอย่างเช่น ฝากระโปรงหน้า
Aluminium ช่วยลดน้ำหนักลงจากฝากระโปรงเหล็กแบบเดิมถึง 8 กิโลกรัม

เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่ทีมวิศวกรคิดคำนวนมา จะใช้งานได้ดี ดังนั้น Mercedes-Benz ได้จำลอง
การชน ด้วยวิธีป้อนข้อมูลลงไปในระบบคอมพิวเตอร์ จนออกมาเป็นแบบจำลองทดสอบการชน
crash simulation วิธีนี้ วิศวกรจะพบจุดบกพร่อง เพื่อสามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำข้อมูล
ไปสร้างรถต้นแบบเพื่อทดสอบการชนจริงๆ วธีนี้ นอกจากช่วยลดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา
ลงไปได้เยอะแล้ว ยังช่วยให้การปรับแก้ไข รายละเอียดต่างๆ ทำได้อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Mercedes-Benz จะทดสอบการชน ให้กับ S-Class จนมั่นใจแล้ว
แต่ ดูเหมือนว่า ไม่มีผลการทดสอบ ออกมาจากทาง EuroNCAP หรือหน่วยงานทดสอบ
การชนอื่นๆเลย อาจเป็นเพราะรถยนต์ระดับนี้ มีราคาแพงเกินไป สำหรับการนำมาทดสอบ

กระนั้น เมื่อตัวรถหมดสภาพ หรือเสียหายจากการชน โครงสร้างที่ทำหน้าที่ปกป้องผู้โดยสาร
จากอุบัติเหตุ ยังสามารถนำไปผ่านกระบวนการ Recycle ได้มาก เป็นผลมาจากการเลือกใช้
วัตถุดิบ Recycle ได้คุณภาพสูง  โดยเฉพาะพลาสติก รูปแบบต่างๆ รวมกันแล้วมีน้ำหนัก
มากถึง 21 กิโลกรัม คิดเป็นพลาสติกจำนวน 45 ชิ้น นอกจากนี้ ยังเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ
ที่สามารถนำไปผ่านกระบวนการ Recycle ได้ อาทิ cotton, wool, natural latex, เยื่อไม้ flax
และมะพร้าว รวมทั้งสิ้น 27 ชิ้นส่วน คิดเป็นน้ำหนัก 43 กิโลกรัม ฯลฯ

และนั่นจึงทำให้ S-Class W221 เป็นรถยนต์คันแรกในโลกที่ ผ่านการรับรองมาตรฐานด้าน
สิ่งแวดล้อม Environmental protection certification , International ISO standard 
14062 จากทาง TUV Manage-ment Service GmbH ของเยอรมันี

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

เห็นขนาดตัวถังใหญ่โตขนาดนี้ แต่ในเมื่อ Mercedes-Benz กล้าเคลมว่า นี่คือ S-Class
ที่ประหยัดน้ำมันที่สุด เท่าที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้ ผมก็คงต้องพามาทำการทดลอง
หาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย ตามมาตรฐานของ Headlightmag.com กันสักหน่อย

ตามปกติแล้ว ผมมักนำรถมาที่ สถานีบริการน้ำมัน Clatex พงษ์สวัสดิ์บริการ ถนนพหลโยธิน
เยื้องสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเติมน้ำมัน Diesel Techron ให้เต็มถัง

แต่เนื่องจากวันที่เราทำการทดลอง เจ้าโต้ เด็กปั้มจอมกะล่อนเจ้าเก่า ก็บอกกับผมว่า น้ำมัน
Diesel หมดปั้ม! สร้างความเซ็งจิตอย่างมาก นี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
หลังจากที่เพิ่งจะเกิดเรื่องนี้ไปหมาดๆ เมื่อครั้งที่เราทำบทความรีวิว SLK ใหม่ กัน

ผมนึกขึ้นได้ว่า เมื่อครั้งที่เราทำการทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของ BMW 730 Ld
เราใช้น้ำมันของ Shell ในการทดลอง เพื่อไม่ให้ระยะทางมันผิดไปจากกันมากนก และ
ถือว่า ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทเดียวกันในการทดลอง ภายใต้มาตรฐานดั้งเดิมของเรา

คิดได้ดังนั้น ผมก็พารถออกจากปั้ม Caltex เลี้ยวกลับ ไปเติมน้ำมันที่ สถานีบริการ Shell
ฝั่งเยื้องกัน ติดกับโชว์รูม เบนซ์ราชครู ทันที เติมน้ำมัน Diesel V Power ลงไปให้เต็ม
ถังน้ำมัน ความจุขนาด 90 ลิตร…

ครับ อ่านไม่ผิดแน่ๆ 90 ลิตร!!! เติมแค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว ไม่ต้องเขย่ารถเหมือนอย่าง
พวกรถยนต์กลุ่ม ECO-Car , B-Segment C-Segment และรถกระบะกันหรอกครับ เพราะ
กลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนตระดับนี้ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง มีผลต่อการตัดสินใจ น้อยกว่า
ปัจจัยอื่นๆ เช่นความสบายในห้องโดยสารอยู่แล้ว

เมื่อเติมน้ำมันกันเสร็จแล้ว ผมก็เซ็ต 0 บน Trip Meter ด้วยการ กดปุ่มบนแป้นพวงมาลัย
ฝั่งซ้าย เลื่อนไปที่ Trip กดขึ้น หรือลง จนกว่าจะเจอ Trip Meter แล้วค่อยกดปุ่ม OK เพื่อ
เลืก ยืนยันว่า จะ Reset

นอกจากจะมีมาให้แค่ Trip เดียว เหมือน Mercedes-Benz เป็นทุกรุ่นแล้ว ยังต้องใช้เวลา
ในการคลำหาเข้าไปกดเซ็ตใน Menu ย่อย วุ่นวายไปหน่อยหรือเปล่า?

คาดเข็มขัดนิรภัย ติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส พัดลมเบอร์ต่ำสุด
แล้วออกรถ ไปเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอารีย์ แล้วลัดเลาะไปออกปากซอยโรงเรียนเรวดี เลี้ยวซ้ายไป
ตามถนนพระราม 6 ก่อนจะเลี้ยวขวาขึ้นทางด่วน มุ่งหน้าไปยังปลายทาง ด่านบางปะอิน ก่อน
จะเลี้ยวกลับขับย้อนมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิม กลับเข้ากรุงเทพฯ ด้วยมาตรฐานเดียวกับรถยนต์
ทุกคันที่เราทำรีวิว นั่นคือ “วิ่ง 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่ง 2 คน”

ผู้ร่วมทดลอง และสักขีพยาน ยังคงเป็นน้องโจ๊ก V10ThLnD จาก The Coup Team ตามเคย

ถึงทางลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ขับตรงมาเรื่อยๆ ก่อนจะมา
เลี้ยวซ้ายเข้าสถานีบริการน้ำมัน Shell เพื่อเติมน้ำมัน Diesel V Power อีกครั้ง ด้วยวิธีการ
เดียวกันคือเติมแค่ หัวจ่ายตัดก็พอ

มาดูตัวเลขกันดีกว่า

ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมด บนมาตรวัด Trip Meter  91.5 กิโลเมตร
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.82 ลิตร
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 13.41 กิโลเมตร/ลิตร

ถ้าเทียบกับตัวเลขของ BMW 730 Ld  ที่เคยทำไว้ได้ในระดับ 13.7 กิโลเมตร/ลิตร แล้ว
ต้องถือว่า ต่างกันแค่ 0.3 กิโลเมตร/ลิตร

แล้วน้ำมัน 1 ถัง ขนาด 90 ลิตร จะพาให้ S350 CDI แล่นไปได้ไกลแค่ไหน?

5 วัน 4 คืน ที่ผมนำรถคันนี้มาใช้ชีวิตด้วยกัน ทั้งทำอัตราเร่ง ทำความเร็วสูงสุด ไปจนถึง
ติดแหงก ในสภาพคลานๆ ไปตามการจราจรอันเป็นอัมพาตของ กรุงเทพมหานคร
ระยะทางที่แล่นไปทั้งหมดคือ 477.3 กิโลเมตร และยังเหลือน้ำมันในถังให้แล่นได้อีก
410 กิโลเมตร

ถ้ามองเผินๆ เออ เฮ้ย ประหยัดน้ำมันดีนี่หว่า! แต่ถ้าลองตัดลดความจุของถัง เหลือ 60 ลิตร
อืมม…ก็ยังถือว่าใช้ได้อยู่นะ ประหยัดพอกันกับ รถเก๋ง C แล D-Segment จากญี่ปุ่นและยุโรป
กันเลยเถอะ แม้จะเป็นเครื่องยนต์ Diesel ก็ตาม เพียงแต่ว่า ตอนเติมน้ำมันกลับเข้าไปเต็มถัง
อาจต้องทำใจกับบิลค่าน้ำมันกันสักหน่อย แลกกับการที่ น้ำมัน 1 ถัง จะอยู่ได้นาน เกินกว่า
1 สัปดาห์แน่ๆ ถ้าคุณใช้รถคันนี้ไม่เยอะเกินกว่า 5 วัน/สัปดาห์

ไปถึงเชียงใหม่ได้แน่ๆ แต่จะย้อนกลับมาถึง กรุงเทพฯ ได้ ก็ต้องขับด้วยความเร็วแถวๆ
80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปเรื่อยๆ ตลอดทาง นั่นอาจจะไป-กลับได้ 1 รอบแน่ๆ

********** สรุป **********
ถ้า W221 อยู่ตรงกลางในตลาด แล้วรุ่นต่อไปละ จะเป็นอย่างไร?

หลังจากที่เคยลองขับมาแล้วทั้ง Lexus LS460 L รวมทั้งคู่แข่งตรงพิกัดอย่าง BMW 730 Ld F02
ผมแอบสงสัยมาตลอดว่า S-Class W221 นั้น จะมีบุคลิกอย่างไร อยู่ตรงไหนในตลาด ณ วันเวลา
ที่ใกล้จะตกรุ่นในปรเทศไทยเต็มที

ผมว่าผมได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากคำถามที่ค้างคาใจผมมานานแล้วละ

ถ้าคุณต้องการรถที่นั่งสบาย เดินทางด้วยความสงบ Peaceful พร้อมพละกำลังแรงสะใจ ในแบบ
ยักษ์ผู้รู้จัจังหวะในยามจะเกรี้ยวกราด และเพียงแต่ต้องรับให้ได้กับการจ่ายค่าตัวที่แพงเอาเรื่อง
เพราะต้องนำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นทั้งคัน รวมทั้งพื้นที่เหนือศีรษะที่อาจจะน้อยไปสักหน่อย
สำหรับผู้บริหารตัวสูง และพวงมาลัยที่เบาจนรับรู้ได้ทันทีเลยว่านี่ละคือ Toyota คันใหญ่ๆ
มองไปที่ Lexus LS460 L (ก่อน Minorchange)

ถ้าคุณต้องการรถที่พอจะโดยสารได้ในเมือง แต่บางที ก็อยากสนุกลุกขึ้นมาสลับตำแหน่งกับ
พลขับประจำตัวกันบ้าง และต้องการรถที่ขับแล้ว ตอบสนองได้ในแทบทุกอย่างที่ต้องการ
ทั้งความคล่องแคล่วของพวงมาลัย อัตราเร่งที่มาถึงทันใจในรอบต่ำ แต่ต้องทำใจกับเบาะ
โดยสารด้านหลัง ที่นั่งไม่สบายอยู่ดี แม้จะปรับโฉมไปแล้ว ก็ตาม แต่ได้อัตราสิ้นเปลือง
ที่ประหยัดกว่าใครเพื่อน ในกลุ่มเดียวกันนี้ที่เราเคยทำรีวิวกันมา (13.7 กิโลเมตร/ลิตร)
คงต้องมองไปที่ BMW 730 Ld F02

แล้ว S350 CDI ละ จะยืนอยู่ตรงไหนในตลาด?

คำตอบก็คือ อยู่ตรงกลางไงครับ!

ข้อดีของ S-Class ก็คือ ถ้าคุณต้องการจะหารถผู้บริหารไว้ใช้งานในบริษัท หรือนั่งเองส่วนตัว
อยากได้รถยุโรป ไม่อยากได้ BMW หรือไม่ชอบเบาะหลังของ BMW นี่ก็ดูจะเป็นคำตอบเดียว
ที่เหลืออยู่ เบาะหลังของ S350 CDI แม้จะมีลูกเล่น น้อยกว่า 730 Ld F02 แต่เมื่อต้องนั่งนานๆ
ความสบายมันผิดกันชัดเจน! นอกจากพื้นผิวของหนัง PASSION ที่ Mercedes-Benz เลือกใช้
จะนั่งสบายกว่าแล้ว การออกแบบโครงสร้างเบาะเอง ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความสบายอีกด้วย

แต่ถ้าจะลุกขึ้นมาขับเอง แม้ทั้ง 3 คัน จะนิ่งสนิทพอกัน ในย่านความเร็วสูงแถวๆ 180 – 200
กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ S350 CDI ก็ยังมีพวงมาลัยที่ตอบสนองได้ดีกว่า LS460 L ชัดเจน (แม้จะ
ไม่คมและตามสั่งเท่ากับ 730 Ld ก็ตามเถอะ) ยิ่งพอเข้าโค้งยาวๆ ที่ 200 กิโลเมตรชั่วโมง
เห็นได้ชัดถึงความมั่นคงของตัวรถในโค้ง ของ S-Class ที่ดีกว่า LS460 L และไม่น้อยหน้า
ใกล้เคียงกับรถที่ออกมาสดใหม่กว่าอย่าง 730 Ld เลยละ

ยังไงๆ Mercedes-Benz ก็มีบุคลิกในแบบของมันเองซ่อนอยู่ให้เราค้นพบอยู่ดี

เพียงแต่ว่า คำถามใหม่ของผมที่เริ่มผุดขึ้นมาในหัวก็คือ แล้ว S-Class ใหม่ W222 จะดีขึ้น
กว่า W221 คันนี้มากน้อยแค่ไหน มันจะอุดมไปด้วยเทคโนโลยีมากมายจนเราปวดหัว
มากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า? มันจะยังเป็น Mercedes-Benz คันเขื่องที่หรูสุด และยังไว้ใจได้
มากที่สดอยู่หรือเปล่า?

และที่สำคัญ S-Class ใหม่ จะก้าวกลับขึ้นมาเป็นผู้นำของกลุ่ม ในฐานะ รถหรูที่ให้การ
ตอบสนอง ทั้งการโดยสาร และการขับขี่ ดีที่สุด ชิงตำแหน่งจาก 7-Series F01/F02
กลับคืนมาได้หรือไม่?

อีกไม่นาน ทั้งผม และคุณผู้อ่าน จะได้รู้คำตอบในเบื้องต้น ไปพร้อมๆกัน!

————————————///————————————

ขอขอบคุณ / Special Thanks to :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท Mercedes-Benz (Thailand) จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ
————————————————————-

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ โดยผู้เขียน
ลิขวิทธิ์ภาพถ่ายต่างประเทศ และภาพ Illustration ทั้งหมด
ในบทความนี้ เป็นของ Daimler AG.
ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ในเมืองไทย ทั้งหมด เป็นผลงานของผู้เขียน
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.Headlightmag.com
21 มิถุนายน 2013

J!MMY
Copyright (c) 2013
Text and Pictures
All Illustration is Copyright of Daimler AG.
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in www.Headlightmag.com
June 21st,2013

แสดงความคิดเห็น เชิญได้ คลิกที่นี่ / Comments are Welcome! CLICK HERE!