วันธรรมดาวันหนึ่ง ราวเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
นาฬิกาบอกเวลา 20.00 น.
สถานที่ : เซ็นทรัล บางนา

ผมอยู่ในสภาพ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น ลากรองเท้าแตะ

ไปทานมื้อเย็น เดินซื้อรถโมเดล และขนมปัง สารรูปนี่ อย่างกระเซอะกระเซิง…

ขณะกำลังจะเดินกลับบ้าน สายตาก็ไปเห็น
สารพัดรถยนต์นำเข้า ที่ทาง TSL Auto Corporation
นำมาจัดแสดง เปิดบูธ รับสั่งจอง กันอยู่

และหนึ่งในนั้น….รถคันที่ผมอยากจะลองขับ จอดอยู่ตรงนั้น
เจ้ากล่องลูกบาศก์ ติดล้อ รุ่นใหม่ ที่ถูกลบเหลี่ยมมุมจากเดิมไปจนเกลี้ยง

มันมีนามว่า Nissan Cube!!

 

ลองเข้าไปนั่งเล่น เปิดประตู ผุดลุกผุดนั่งอยู่สักพัก เซลส์ ก็เดินเข้ามาถามไถ่
พอบอกราคามาให้ ก็อึ้งกิมกี่ไปพอสมควร

จังหวะจะหันหลังกลับออกจากบูธ
มีเสียงทักทายของหนุ่มน้อยคนหนึ่ง รั้งไว้…

“พี่จิมมี่ ใช่ไหมครับ?”

เฮ่ย…ใครวะ มาจำตูได้ในเวลานี้
หันไปดู หน้าน้องคนนี้

เขาแนะนำตัวว่า ชื่อ นิว
และทำงานอยู่ที่ TSL

อ้าววววววววววววววววว

แล้วเราก็ได้พูดคุยกันในเรื่องรถยนต์ และความบ้ารถของคนสองคน

เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น
ดวงชะตาคนเรานี่เล่นตลกใช้การได้เลยนะเนี่ย

อย่างที่เคยบอกไว้เมื่อนานมาแล้วว่า
ผมเป็นคนที่ ดวงประหลาด แค่คิดอะไรเอาไว้
ไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดี เดี๋ยวสักพัก มันก็จะเกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตา

นี่ก็เช่นกัน เคยคิดไว้เล่นๆ ว่าอยากขับคิวบ์
จู่ๆ ก็มีน้องนิว โผล่พรวดเข้ามาในชีวิต
เล่นเอาอึ้ง กับเหตุการณ์แนว โชคชะตา และฟ้าลิขิต ไปนิดหน่อย (อีกแ้ล้ว)

นั่นละ จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของผม กับทาง TSL….

ง่ายๆ กันแบบนี้เลย!!

 

ผมเคยประกาศเอาไว้ เมื่อนานมาแล้วว่า ผมไม่อยากจะดีลกับ ผู้นำเข้ารายย่อย รายใหญ่ที่สุดในตลาด
ซึ่งก็คือ S.E.C. ด้วยเหตุผลที่ ผมเองก็พอรู้จากคนข้างในมาพอสมควรว่า มีอะไรไม่ชอบมาพากลค่อนข้างเยอะ
และทำให้ถึงกับมองผู้ค้ารายย่อยในทางที่ไม่ดีเท่าใดนัก

แต่การมารู้จักกับ TSL ในครั้งนี้ ออกตัวกันเลยว่า “เกร็ง”

สาเหตุก็เพราะว่า ที่ผ่านมา การทำบทความรีวิวรถแต่ละครั้งนั้น
ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ แต่ละราย เป็นเจ้าของแบรนด์ กันโดยตรง
ดังนั้น คอมเมนท์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะถูกส่งตรงเข้าไปยังบริษัทผู้ผลิตกันเลย

แต่กับผู้นำเข้ารายย่อยนั้น เป็นเพียง ผู้ค้ารถ ที่ทำการตลาด ด้วยวิธีการ
เล็ง รถยนต์ ซึ่งคาดว่า สามารถจะนำมาปั้นให้เกิดได้ในตลาดเมืองไทย
แล้วสั่งนำเข้ามา วางเป็นรถตัว เด่นในโชว์รูม มีลูกค้าสนใจก็ขายออกไป
ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องขายรถยนต์ประเภทที่ลูกค้าให้ความนิยม
ซึ่งมักเป็นรถตู้ มินิแวนคันโตๆ จากญี่ปุ่น

ดังนั้น ผู้นำเข้ารายย่อย จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดสเป็ก
หรือร่วมด้วยช่วยพัฒนา ใดๆ ของรถที่จะขายในบ้านเรา มากนัก
มากที่สุดเท่าที่จะทำได้คือ การเลือกสั่งรุ่นย่อย และ อุปกรณ์ติดตั้งประจำรถ
ตามที่ลูกค้าสั่งจองเอาไว้ จากนั้น ก็จะแพ็คลงเรือมาจากประเทศผู้ผลิต
ซึ่งก็คือญี่ปุ่นเสียส่วนใหญ่

และด้วยเหตุนี้ละครับ ที่ทำให้ผม ออกอาการเกร็ง

 
ใจหนึ่ง ผมเชื่อว่า ไม่ต้องเป็น TSL หรือผู้นำเข้ารายย่อย รายอื่นใดหรอก
แม้แต่ผู้ผลิตรถยนต์เอง ก็อยากให้สื่อมวลชน เขียนถึงรถที่ตนนำมาขาย ให้ดีๆ
รถจะได้ขายออก ตนจะได้ไม่เจ็บตัวกับการลงทุน

แต่ขณะเดียวกัน สื่อมวลชน ก็มีหน้าที่ ในการรายงาน รายละเอียดของรถคันนั้น
อย่างตรงไปตรงมา ว่ากันตามตรง และยิ่ง เป็น Headlightmag.com ของเราด้วยแล้ว
บางครั้ง อาจถึงขั้นต้องสับต้องด่ากันเลยทีเดียว เคยถึงขนาดเขียนว่า ไล่ให้กลับไปทำรถมาใหม่ ก็มีมาแล้ว

ดังนั้น ในกรณีนี้ ผมจึงอยากจะเรียนทำความเข้าใจ ให้ตรงกันเอาไว้เสียก่อนตรงนี้เลยว่า

1. ขอให้เข้าใจว่า รถยนต์นำเข้านั้น ที่ราคาต้องแพงกว่ารถยนต์ประกอบในประเทศ
เป็นเพราะ ภาษีนำเข้า และรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือ ผู้นำเข้ารายย่อย
ต้องขอบวกเพิ่มเข้าไปในการดำเนินการ เพื่อให้บริษัท สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
เพื่อที่จะดูแลบริการหลังการขายให้คุณๆได้ต่อไป

2. ขอให้เข้าใจว่า การเขียนถึงรายละเอียดต่างๆของตัวรถนั้น เราจะมุ่งไปยัง บริษัทรถยนต์ผู้ผลิตต้นทาง
และ มิได้มุ่งเป้า มาที่ผู้นำเข้ารายย่อย เนื่องจาก อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ผู้นำเข้ารายย่อย ทุกราย รวมทั้ง TSL
ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนารถยนต์แต่ละรุ่นขึ้นมา เป็นเพียงผู้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่บริษัทแม่
ไม่คิดจะเอาเข้ามาขาย มาทำตลาดเอง ก็เท่านั้น

3. ในกรณีนี้ คุณๆคงจะรู้อยู่แล้วว่า  รถบางรุ่น จะถูกทำตลาด
เป็นพิเศษ เฉพาะ ผู้นำเข้ารายย่อยๆ แต่ละรายไป  เช่น  ถ้าคุณคิดจะซื้อ
Honda Insight ใหม่ๆ ในตอนนี้ ก็ต้องไปหา BRG และ เช่นเดียวกัน
ถ้าคุณต้องการรถแปลกๆ อย่าง Nissan Cube คันนี้ หรือ Toyota bB
ก็ควรจะติดต่อกับ TSL ถึงจะถูกช่องทาง

4. ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ต้นสังกัด หรือ ผู้นำเข้ารายย่อย
เรายังคงใช้มาตรการเดียวกันทั้งหมด
คือ ถ้า ทำสิ่งดีๆมา เราจะชมเชย
ถ้าทำสิ่งที่ไม่เข้าท่า เราก็ขอสงวนสิทธิ์ที่จะเตือนกัน
ในฐานะ “เพื่อนร่วมวงการเดียวกัน”

นั่นคือเจตนารมณ์ที่เรายึดถือมา และเราไม่ต้องการให้ใครมาเปลี่ยนมัน แม้แต่ตัวเราเองก็เถอะ!

ถ้าอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ และคุณผู้อ่าน เข้าใจแล้ว

ต่อจากนี้ คือ เรื่องของผม กับ คิวบ์น้อย สีน้ำเงิน และ 3 วัน 2 คืน อัน…หลั่นล้า….!

 

 

เชื่อไหมว่า ตั้งแต่นำรถคันนี้ ขับออกจากโชว์รูม TSL ที่แจ้งวัฒนะ

มีผู้คนมากมาย พากันชี้ชวนคนรอบข้าง ให้มองกล่องติดล้อสีน้ำเงินคันนี้ ตลอดสองข้างทางที่ผมขับผ่านไป

มันเป็นรถที่สร้างรอยยิ้ม ให้กับผู้พบเห็นได้จริง
ตั้งแต่คุณลุง คุณป้า อาเจ็ก อาม่า พี่ป้าน้าอา ลูกเล็กเด็กแดง
ไม่ว่าจะนั่งบนรถเมล์ รถคันข้างๆ คันที่แล่นสวนมา หรือคันที่ขับตามหลัง
ไม่เว้นแม้กระทั่งตรวจจราจร ที่โบกรถอยู่! หน้าซอยอารีย์
เจ้าตัวหันมามอง ยิ้มให้เรา และมองจนเหลียวหลัง จนลืมโบกรถที่กำลังติดแหงกอยู่เลย

และ ทุกคนที่ได้สัมผัสรถคันนี้ ต่างพากันชื่นชอบมันเป็นการใหญ่ เกินกว่าที่เคยเจอในรถปกติทั่วไป

แต่ใครจะเชื่อว่า ในตอนแรกเริ่มเดิมที คิวบ์ ไม่ได้มีหน้าตาฉีกโลก ไปมากขนาดนี้…

 

 

คิวบ์ รุ่นแรก ถูกเปิดตัวสู่ตลาดญี่ปุ่น เมื่อ ปี 1998
ในตอนนั้น นิสสัน วางแนวคิดให้เป็นรถยนต์ ซับ-คอมแพกต์ แฮตช์แบ็ก
ที่มีความเนกประสงค์ ในการใช้พื้นที่ห้องโดยสาร ปรับรูปแบบได้ดังใจต้องการ
ทั้งที่ตัวรถก็เล็กกระเปี๊ยก…กว่าทุกวันนี้มาก
ถ้านึกไม่ออกว่า แนวคิดนี้เป็นอย่าง เดินไปหน้าบ้าน แล้วมองหา Honda Jazz สักคัน
ที่แล่นผ่านหน้าคุณไป นั่นละ แนวคิดคล้ายกัน! แต่มาในรูปทรงที่จืดชืดบรมเห่ยเฟย
โดยตอนนั้น คิวบ์ สร้างขึ้นบนพื้นตัวถัง แพล็ตฟอร์ม ร่วมกับ March K11 (1992-2002)
และวางเครื่องยนต์ประหยัดๆ CG13DE บล็อก 4 สูบ 

รุ่นแรกของคิวบ์ หนะ หน้าตามันดูได้ซะที่ไหนกันเล่า
แข็งทื่อ จืดชืด ไร้ชีวิตชีวา และดูเป็น หนึ่งในรถรุ่นที่ออกแบบภายนอกได้จืดชืดมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง
เท่าที่นิสสันทำออกมาขาย ตั้งแต่เปิดบริษัทมาเลย (ซึ่งรถพวกนี้ มีไม่กี่รุ่นนักหรอก)

 

คงเพราะโดนด่าไว้เยอะ ในปี 2002 นิสสัน เลยพลิกตำราการออกแบบรถยนต์ครั้งมโหฬาร
ส่งคิวบ์ เจเนอเรชันที่ 2 ออกสู่ตลาด และ แน่นอน ผู้คนที่ได้เห็น ต่างพากัน อึ้ง ทึ่ง ตะลึงตึงตึงไปเลย
ว่านี่มันรถจากนิสสันแน่เหรอ?

เพราะ Shiro Nakamura และทีมงานของเขา รังสรรค์มันออกมาได้ ช็อคโลกเอามากๆ
จนทำให้มันกลายเป็น 1 ใน 10 รถขายดีของญี่ปุ่น ต่อเนื่องกันหลายเดือน และหลายปี

ปัญหาต่อมาก็คือ มันอืด! จากที่ใช้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 98 แรงม้า (PS) เชื่อมด้วยเกียร์ CVT
เรื่องนี้ แม้ไม่ใช่หมอกฤษณ์ แต่ผมจะขอ คอนเฟิร์มให้เลยว่า “คิวบ์รุ่นเก่า ล็อตแรก อืดจริงๆ”
เพราะผมเคยลองขับมาแล้ว บนนถนนเมืองไทยนี่ละ และเป็นรถของทางโชว์รูม revo
ที่เลิกกิจการไปแล้ว

นิสสัน เลยแก้ไขด้วยการ พัฒนาเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 109 แรงม้า (PS) วางแหมะ เข้าไป
ในช่วงเดียวกันกับที่มีการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เมื่อปี 2004
พร้อมกับเพิ่มรุ่น 3 แถวที่นั่ง ในชื่อ Cube Cubic และเพียงเท่านั้น
ลูกค้าชาวญี่ปุ่นก็เลิกบ่น เรื่องความอืดของมันไปเลยในทันที
และรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์นั้น มีหลุดมาถึงเมืองไทยอยู่บ้างเหมือนกัน

(ดังนั้น ใครคิดจะหาคิวบ์มาเล่น ในตลาดรถมือสอง
ขอให้แน่ใจว่า เป็นรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์แล้ว
ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คันนักหรอก จะได้ไม่ต้องเจอความอืดอาดเป็นเรื่องเกลือ
ของเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร บล็อกนั้น )

กระนั้น คิวบ์ กลายเป็นหนึ่งในรถยนต์นั่งที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดรุ่นหนึ่งของนิสสัน
ด้วยยอดขายรวม แล้ว เกือบจะถึง 1 ล้านคัน ทั้งที่ทำตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียว
 

 

และแล้ว หลังจาก ทำตลาดในญี่ปุ่นตามลำพังมาตลอดตั้งแต่ปี 2002 – 2008

วันนี้ ชาวโลก จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ กล่องติดล้อรุ่นนี้กันเสียที

เพราะ นิสสัน พร้อมแล้ว ที่จะส่ง คิวบ์ ใหม่ บุกตลาดทั่วโลก…ตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้เมื่อ 2 ปีก่อน

รุ่นล่าสุด รหัสรุ่น Z12 เปิดตัวออกสู่ตลาด เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 ที่ผ่านมานี้เอง
โดยเปิดตัวพร้อมกันใน 3 ประเทศ เริ่มจากในญี่ปุ่น ที่ย่าน รปปงงิ ฮิลล์ ในกรุงโตเกียว
ก่อนหน้านั้น มีรายงานว่า ยอดสั่งจองของคิวบ์ ใหม่ ในญี่ปุ่น ช่วงก่อนเปิดตัว 1 เดือน
มีจำนวน Back Order มากถึง 8,652 คัน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีใช่เล่น

จากนั้น ในวันเดียวกันเป๊ะ มันก็ถูกส่งไปบุกตลาดโลกตามติดต่อเนื่องทันที
โดยในยุโรปนั้น เผยโฉมครั้งแรกที่ ศูนย์ออกแบบ Nissan Design Europe กลางกรุงลอนดอน
ก่อนจะเริ่มทำตลาดในช่วงราวๆ กลางปี 2009

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา เปิดตัวครั้งแรก ที่งาน Los Angeles International Motor Show
จากนั้น ทิ้งช่วงไปเกือบ 6 เดือน จึงค่อยขึ้นโชว์รูมกันเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009 ที่ผ่านมาหมาดๆ
โดยที่รุ่นพื้นฐาน 1.8 S ราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 13,990 เหรียญ
หรือถ้าคิดแบบไม่รวมภาษีนำเข้าบ้านเรา ราคาจะต่ำเพียงแค่…489,650 บาท

จ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!!

ขณะที่บ้านเรา ในเมื่อ นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ดูจะมีดำริแล้วว่า คงไม่สั่งเข้ามาประกอบขายเองแน่ๆ
ผู้นำเข้ารายย่อยอย่าง TSL ก็เลยวางตัวเองเป็น เสือ ปืน ไว สั่งเข้ามาขายกันอย่างฉับไว
ตัดหน้าผู้ค้ารายย่อยทุกราย จนตอนนี้ เป็นที่รู้กันแล้วว่า ถ้าจะสั่งซื้อ คิวบ์
คุณต้องเดินเข้าโชว์รูม TSL เท่านั้น

และ นับจนถึงวันที่คุณๆกำลังอ่านบทความนี้อยู่ TSL ปล่อย คิวบ์ให้ลูกค้าไปแล้วราวๆ
เกือบ 20 คัน เลยทีเดียว แถมตอนนี้ ยังมี Back Order รออยู่อีกหลายราย

อะไรที่ทำให้ คิวบ์ใหม่ ได้รับความสนใจจากคนไทย?

ก็รูปทรงของมันยังไงละ!

 

 

ตัวถังที่มีขนาดความยาว 3,890 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร
สูง 1,650 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,530 มิลลิเมตร ของคิวบ์
เต็มไปด้วยความไม่ธรรมดา เรียกได้ว่า ฉีกตำราการออกแบบรถยนต์กันไปไกลเลยทีเดียว

ไซมอน โธมัส รองประธานอาวุโส ฝ่ายขายและการตลาดของ นิสสัน ยุโรป เล่าถึงงานออกแบบที่หลุดกรอบนี้ว่า
“มันเป็นการผสมผสานกัน ระหว่างรูปทรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความกว้างขวาง แะความเป็นตัวของตัวเอง
ลูกค้าของ คิวบ์ ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการเด่นดัง หรือตกเป็นเป้าสายตา หากแต่เป็นผู้ที่ เปิดใจกว้าง รับสิ่งใหม่ๆ
และรู้ดีว่า ตนเองต้องการอะไร”

เอ่อ พี่ไซมอนครับ เรื่องกลุ่มลูกค้าหนะ ผมไม่เถียงพี่หรอก ผมก็เห็นด้วยอยู่หรอกนะ แต่ ที่บอกว่า
ลูกค้าของคิวบ์ ไม่ใช่พวกชอบเด่นกัง ผมว่า จะจริงหรือไม่ ก็คงหลีกเลี่ยงความเด่นไม่ได้หรอก
แบบเดียวกับที่ ดารา นักร้อง เมืองไทย ต่อให้เป็นคนดีแค่ไหน ก็ไม่พ้นการถูกทิ่มแทงทางอักษร
ด้วยฝีมือ ซ้อนรก ฉันนั้น

เพราะอย่างที่บอกไปในตอนต้นของบทความ ผมขับรถคันนี้ของพี่ไปไหน
มีแต่คนพากันชี้ชวนให้มอง มากมาย ทุกคนพากันยิ้มให้กับรูปลักษณ์ของมัน โดยเฉพาะ
ทั้งหมดนี้ ใครจะเชื่อว่า มันเกิดขึ้นจากการนำภาพวาด การ์ตูน ของทั้ง นักออกแบบ  วิศวกร
และฝ่าย Product Planing มาเป็นพื้นฐานแนวคิดในการออกแบบเบื้องต้น
ซึ่งต่างจากการสร้างรถรุ่นต่างๆที่แล้วๆมา

ด้านหน้าของรถ ที่ถูกออกแบบให้สดใหม่ แปลกไปจากรุ่นเดิม และเป็นมิตรมากขึ้น
ด้วยหน้าตา เหมือน สุนัขพันธ์บูลด็อก ใส่แว่นกันแดด…! ชุดกระจังหน้า และโคมไฟหน้า
ออกแบบให้ดูกลมกลืนและต่อเนื่องกัน ขอบล่างของชุดไฟหน้า จะยื่นลงมา
มากกว่ากระจังหน้า ดูคล้ายแว่นตากันแดด

 

บริเวณเสาหลังคา A-Pillar  จากเดิมที่เคยเป็สีดำ ถูกปรับให้เป็นสีเดียวกับตัวถัง
แนวเส้นขอบกระจกหน้าต่างทุกบาน ถูกปรับลดความเหลี่ยมมุม และสร้างขึ้นจากแนวโค้งมน
ในสไตล์รถการ์ตูน แถมความทะมัดทะแมงขึ้นเล็กน้อย ด้วยโป่งข้างเหนือซุ้มล้อทั้ง 4

ส่วน บานประตูด้านหลัง และแนวเส้นกระจกหน้าต่างด้านหลัง นิสสัน ยังคงพยายาม
รักษาเอกลักษณ์เดิมอันโดดเด้ง ของตน ไว้ แต่สร้างความแตกต่างออกไปจากเดิมนิดหน่อย

ถ้าเป็นรุ่นพวงมาลัยขวา เช่นคันที่เรานำมาทดลองขับกันนี้
จะมีกระจกหน้าต่างแบบโอเปรา ที่เสาหลังคาด้านหลังฝั่งซ้าย
ส่วฝั่งขวา จะมีบานประตูที่ออกแบบขึ้นสอดคล้องกับ บานประตูคู่หน้า อีกบานหนึ่ง
มาทดแทน…

แต่ถ้าเป็นรุ่นพวงมาลัยซ้าย ทุกอย่างจะกลับตรงกันข้าม
จะมีกระจกหน้าต่างแบบโอเปรา ที่เสาหลังคาด้านหลังฝั่งขวา
ส่วฝั่งซ้าย จะมีบานประตูที่ออกแบบขึ้นสอดคล้องกับ บานประตูคู่หน้า อีกบานหนึ่ง
มาทดแทน

อ่านแล้ว งงไหมครับ? หวังว่าไม่นะ

Yosuke Iwasa ตำแหน่ง Segment Chief Product Specialist ของ Cube อธิบายว่า
คิวบ์ใหม่ ถูกออกแบบขึ้น เพื่อ ผู้ที่มีจินตนาการในการใช้ชีวิต ไร้ขีดจำกัด
ผู้ซึ่ง แสวงหารถยนต์ที่มีพละกำลังมากขึ้น และ มีงานออกแบบที่โดดเด่น แตกต่าง
อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการลดเสียงรบกวนที่น้อยลง
และการใส่ใจในคุณภาพยิ่งกว่าเดิม ในคิวบ์ ไม่เพียงแต่จะโดนใจวัยรุ่นเท่านั้น
หากแต่ยังรวมถึงผู้คนทั่วไป อีกด้วย ขณะที่ คิวบ์ใหม่ ยังคงรักษาแนวคิดดั้งเดิม
ของคิวบ์รุ่นก่อนเอาไว้ รถรุ่นใหม่นี้ ยังให้ความสบายที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย”

Seiji Watanabe ตำแหน่ง Associate Product Chief Designer บอกเล่าว่า
“คิวบ์ใหม่ คือรถยนต์ที่ผ่านการขัดเกลา ให้มีคุณภาพระดับโลกมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี
สิ่งปรุงแต่งใดๆ มาเติมเต็ม แนวคิดในการพัฒนา มุ่งเน้นไปที่การ
“กลั่นกรอง”  มากกว่าการ “รังสรรค์ขึ้นมาให้ใหม่หมดจด”

เฉกเช่น ก้อนหินอันแหลมคม ถูกกระเทาะพื้นผิวอันเหลี่ยมสันออกไปจนดูเป็นเงา
เมื่อจมลงสู่ก้นแม่น้ำ นี่คือ สิ่งที่เราอยากเห็นในงานออกแบบของคิวบ์ใหม่
เราออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก โดยใช้แนวเส้นหลักให้น้อยลง
และขยายรายละเอียดบริเวณกระจกหน้าต่างให้ใหญ่โตขึ้น
ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น และดูอบอุ่น กลมกลืนกับมนุษย์มากขึ้น
ทำให้รถออกมา ดูบริสุทธิ์ขึ้น และ เป็นมิตรมากขึ้น
เพราะรถคันนี้ เป็นรถสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตกอยู่ใต้อิทธิพลทางความคิดของใคร
ผู้ที่มีแนวทางชีวิตของตนเอง และ ดื่มด่ำกับความรื่นรมณ์ต่างๆ รวมกับเพื่อนฝูงของเขา
ในบรรยากาศที่เป็นใจ”

ถ้าคุณอยากเรียนรู้เรื่องราวงานออกแบบของคิวบ์ใหม่มากกว่านี้ คลิ๊กไฟล์นี้ของ Nissan ไปอ่านได้เลย (Click)

 

รถคันที่คุณเห็นอยุ่นี้ ต้องบอกกันก่อนว่า ถูกประโคมประดับประดา
ไปด้วยอุปกรณ์เสริมพิเศษ มากมาย ซึ่งในรถรุ่นที่ทำตลาดจริง จะมีเพียง
ล้ออัลลอย เท่านั้น ที่ยังเหมือนเดิม

อุปกรณ์ที่เสริมเข้ามา อย่างที่เห็นนี้ และไม่ได้แถมไปกับรถที่ขายจริงแต่อย่างใด ได้แก่

– สปอยเลอร์หน้า 50,800 เยน ( 17,780 บาท โดยประมาณ)
– สเกิร์ตข้าง 63,400 เยน ( 22,190 บาท โดยประมาณ…ทำไมมันแพงกว่าสปอยเลอร์หน้างั้นหว่า?)
– สปอยเลอร์ด้านหลัง ติดตั้งที่เปลือกกันชนหลัง  56,300 เยน ( 19,705 บาท โดยประมาณ)
(ถ้าสั่ง ทั้ง 3 ชิ้น เป็นแพ็คเก็จ ราคาจะอยู่ที่  170,500 เยน หรือ  59,675 บาท โดยประมาณ)

– กระจังหน้า แบบ Custom Grill  29,300 เยน ( 10,255 บาท โดยประมาณ)
– แถบคิ้ว เหนือชุดไฟหน้า และกระจังหน้า 35,300 เยน ( 12,355 บาท โดยประมาณ)
– ฝาครอบกระจกมองข้างแบบ มีไฟเลี้ยว 39,300 เยน  ( 13,755 บาท โดยประมาณ)
– ไฟตัดหมอกหน้า แบบ วงแหวน LED สีน้ำเงิน เปิดไฟหน้าเมื่อไหร่
ไฟวงแหวนสีน้ำเงินจะติดขึ้นทันที แต่ ไฟตัดหมอกหลักจะปิดไว้เช่นเดิม จนกว่าจะเปิดใช้งาน
ราคา 42,000 เยน ( 14,700 บาท โดยประมาณ)

– คิ้วกันสาด เหนือประตูทั้ง 4 บาน รวม 39,000 เยน ( 13,650 บาท โดยประมาณ)
– สปอยเลอร์หลัง ด้านบน  49,600 เยน ( 17,360 บาท โดยประมาณ)
– ปลอกท่อไอเสีย 7,500 เยน ( 2,625 บาท โดยประมาณ)

หมายเหตุ : ราคาทั้งหมดนี้ เป็นการคิดคำนวนคร่าวๆ โดยยกราคาอ้างอิงมาจาก แค็ตตาล็อก Cube Optional Parts
ซึ่งแนบมากับ แค็ตตาล็อก นิสสัน คิวบ์ เวอร์ชันญี่ปุ่น  และแปลงเป็นเงินไทย กันด้วยอัตราแลกเปลี่ยน
100 เยน = 35 บาท โดยประมาณ ซึ่งราคาจริง อาจแตกต่างไปจากนี้ ขอให้ตรวจสอบกับ TSL อีกครั้ง

 

 

 

การเข้าออกจาก คิวบ์ คันนี้ ใช้รีโมท กุญแจ แบบ Smart Entry เหมือนกับรถรุ่นอื่นๆของนิสสันในระยะหลังๆ
คือ ต้องพกกุญแจรีโมท ทรงเมล็ดข้าว เดินเข้าไปใกล้รถ แล้วกดปุ่มที่ประตู เพื่อล็อก หรือปลดล็อก ประตูรถทุกบาน
รีโมทกุญแจนั้น ใครใช้ ทีด้า หรือเทียนาใหม่อยู่ ไม่ต้องตกใจครับ หน้าตาของรีโมท สหกรณ์นี้ เหมือนกันแทบทุกรุ่น

บานประตูคู่หน้า ถูกออกแบบให้ มีลักษณะคล้าย กรอบรูป โดยมีผู้ขับขี่ และผู้โดยสารตอนหน้า
นั่งอยู่ ด้านในรถ สะท้อนทั้งภาพที่ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ มองเห็นจากกระจกหน้าต่าง
ไปจนถึง สะท้อนภาพ ผู้ขับขี่ จากทุกคนที่พบเห็น (<—ดูเขาคิดสิ คิดได้ไงกันเนี่ย!)

ผู้คนรอบตัวผม ต่างพูดเป็นสิ่งเดียวกัน ในทันที ที่ก้าวเข้ามานั่ง ในห้องโดยสาร ของคิวบ์
ว่ามันใหญ่โต โอ่โถง และสบาย กว่าที่คิด แทบทุกคน มองเห็นรถจากภายนอก คิดว่น่าจะเล็ก
แต่พอเข้าไปนั่งแล้ว ต่างพากันประหลาดใจ ว่าการเนรมิตรถยนต์ที่มีความกว้างเพียงแค่ 1,695 มิลลิเมตร
ให้ใหญ่โตมากขนาดนี้ นิสสัน ทำได้อย่างไร?

แนวทางการออกแบบห้องโดยสารนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจาก อ่างน้ำ Jacuzzi
เพื่อเน้นให้เกิดบรรยากาศความโปร่ง โล่ง สบายตัว มากที่สุด
ประตูคู่หน้าบานใหญ่ เปิดออกไปได้กว้าง เอาการ เรียกได้ว่า ใหญ่ที่สุด และเข้าออกได้สบายที่สุดเท่าที่เจอมา

 

 

 

เบาะนั่งคู่หน้า ยังคงแนวทางจากรุ่นที่ 2 ที่เพิ่งตกรุ่นไป คือเน้นความสบาย ดุจนั่งอยู่บนโซฟาที่ห้องรับแขกในบ้านของเราเอง
การติดตั้งคันเกียร์ ในตำแหน่ง คอพวงมาลัย เป็นแบบ เกียร์มือ นั้น ดูจะเหมาะกับพฤติกรรมการใช้รถยนต์
ประเภทนี้ของคนญี่ปุ่น คือ เป็นรถสำหรับเอาไว้ขับสบายเรื่อยๆในกรุงโตเกียว หรือเอาไว้เที่ยวในต่างจังหวัด
เช่นที่ นาระ ฮาโกเน หรือ ขับไปดูใบไม้สีแดง ที่นิกโก้

ตำแหน่งเบาะนั่ง ค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป ถ้านึกไม่ออกว่าสูงขนาดไหน
เอาเป็นว่า ความสูงของเบาะคู่หน้า อยู่กึ่งกลางระหว่าง นิสสัน ทีด้า กับ รถ กระบะ 4WD บ้านเรานั่นละ
นี่ย้ำด้วยว่า ปรับระดับ ด้วยก้านโยกข้างเบาะคนขับ ให้ลงต่ำจนสุดแล้วนะ
ปรับระดับสูงต่ำได้ 60 มิลลิเมตร  และแยกฝั่งเลื่อนขึ้นหน้า-ถอยหลังได้ 12 มิลลิเมตร

 

 

แถมการที่เบาะนั่งเป็นแบบ Bench Seat เหมือนรถอเมริกันสมัยก่อน
ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง คุณ ในฐานะคนขับ แะ ผู้โดยสาร ในฐานะ คู่เดท
ยิ่งลดความห่างลงไปได้เยอะมาก เพราะไม่มีคอนโซลกลาง พร้อมคันเบรกมือมาคั่นกลาง
ลดความห่าง กระชับความสัมพันธ์ให้ยิ่งแนบชิดติดสนิทแน่นปั๊ก ราวกับใครเอากาวช้างมาทาทิ้งไว้

ซึ่งก็เหลือเพียงแต่ว่า คุณจะมีฝีมือแค่ไหนที่จะช่วยลดความกังวล
และเพิ่มความอบอุ่นให้กับ คนที่คุณควงคู่มาออกเดท ซึ่งนั่งไปด้วยกัน
ได้มากน้อยแค่ไหนแล้วละ…

 

และเอาเข้าจริง ถ้ามันจำเป็น คุณก็สามารถขนเพื่อนขึ้นรถคันนี้ ไปด้วยกันได้ถึง 6 คน…ด้านหลัง 3 ด้านหน้าอีก 3 คน

 

 

 

ส่วนทางเข้าออกประตูคู่หลัง นั้น ผมว่าแปลกนิดหน่อย
คือ แม้จะสูงกว่าใคร แต่ ทางเข้ามันสั้นกว่าที่ผมคิดเอาไว้

พื้นที่เหนือศีรษะ เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณไม่ต้องกังวลเลย ในคิวบ์ เพราะมันสูงโปร่ง ตัวโย่งขนาดนี้
เหลือพื้นที่ไว้ให้ยีราฟหายใจไปจามไปแรงๆ เพราะติดหวัด H1N1 แบบ A Type ยังได้เลย!

 

 

เบาะหลังนั่งสบายหายห่วง จะมีที่ต้องติติงกันบ้าง มีเพียงแค่ เบาะรองนั่ง สั้นไปสักหน่อย
แต่พอเข้าใจเหตุผลได้ว่า ต้องออกแบบให้หลบมุม และเผื่อไว้สำหรับการพับเบาะด้วย
เพราะถ้ายาวเกินไป การพับเบาะก็จะทำได้ไม่เต็มที่ แต่นอกนั้น มันสบายมากมายเหลือเกิน

เข็มขัดนิรภัย เป็นแบบ ELR 3 จุด ทุกที่นั่ง ไม่เว้นแม้แต่เบาะหลัง
มีพนักศีรษะให้ทุกตำแหน่งนั่ง เช่นเดียวกัน

มีเรื่องแปลกอยู่นิดหน่อย ที่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตส่วนตัว นั่นคือ
หากคุณกางแค็ตตาล็อก รถยนต์ในญี่ปุ่น ทั่วๆไป ในระยะหลังๆมานี้
ยิ่งเป็นรถประเภทที่มีพื้นที่ด้านหลัง ผู้ผลิตมักจะพยายาม ประกาศศักดา
ว่า รถของข้า สามารถพับเบาะได้ ร้อยแปดพันเก้าร้อยล้านรูปแบบ

แต่กับ คิวบ์ เรื่องแปลกที่ว่า ก็คือ แม้ พนักพิงเบาะหลังจะแบ่งพับได้
ในอัตราส่วน 60 : 40 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของด้านหลัง
ทว่า เท่าที่ผมกางแค็ตตาล็อก เวอร์ชันญี่ปุ่นของคิวบ์ ก็แล้ว
เปิดดูในเว็บของ นิสสัน อเมริกาเหนือก็แล้ว
ไม่มีเลยสักแหล่ง ที่ผมจะเจอภาพจำลองการพับเบาะหลัง
ของคิวบ์ ให้ดูเลยแม้แต่น้อย

มันอาจเป็นได้ 2 สาเหตุหลักๆ
1. คุณสมบัติการพับเบาะได้ มันยกลายเป็นมาตรฐานของรถยนต์ขนาดเล็ก
ในญี่ปุ่นไปเสียแล้ว ดังนั้น คนสั่งทำแค็ตตาล็อก จึงมองไม่เห็นความจำเป็น
ที่จะต้อง ลงภาพพวกนี้ๆไว้เป็นจุดขาย

2. มันต้องมีอะไรสักอย่าง ที่ไม่สามารถสู้คู่แข่งได้
ซึ่งผมว่า ผมก็พอจะพบอยู่นะ

เบาะหลังของคิวบ์นั้น เวลาพับแล้ว มันไม่สามารถจะยกชุดเบาะหงายไปข้างหน้า
เพื่อให้พื้นห้องเก็บของแบนราบเป็นระนาบเดียวกัน จะบรรทุกสัมภาระได้เต็มที่
อย่างที่รถในระดับเดียวกันนี้ทั่วไปควรจะเป็นนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว ในญี่ปุ่น คิวบ์มีโทนสีการตกแต่งห้องโดยสารให้เลือกถึง 3 สไตล์
คือโทนเทาดำอย่างที่เห็นนี้ หรือจะเป็น สีเบจ สว่างโจ้งโล่งแจ้ง แบบเดียวกับ นิสสัน เทียนา
หรือว่า จะเป็น เบาะสีน้ำตาล ดูหรูหรา ราวกับดึงออกมาจากแค็ตตาล็อก สินค้าแบรนด์เนมจากยุโรป

 

 

 

และนอกจากที่เบาะจะพับได้ด้วยแล้ว มันยังสามารถปรับเลื่อนขึ้นหน้า หรือถอยหลังได้อีกด้วย  

 

 

เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังให้กว้างใหญ่มากขึ้นนั่นเอง
การเปิดฝากระโปรงหลัง ในลักษณะ ประตู ตู้เย็น หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่
ต้องยอมรับเลยว่า มันกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของคิวบ์ไปแล้ว

 

 

เพราะมันเหมาะให้ คู่รัก เอาไว้ใช้นั่งชมพระอาทิตย์ตกดิน กันได้อย่างสะดวกอุราสบายอารมณ์
(ข้อแม้มีนิดเดียว คือคุณควรจะล้างรถมาเรียบร้อยแล้ว หรือ หาผ้าอะไรสักอย่าง มาปูรอง ไม่ให้ขา หรือกางเกงเลอะ)

 

 

แต่เมื่อ เปิดดูสิ่งที่อยู่ใต้พื้นห้องเก็บของด้านหลัง จะพบเพียงแค่ ยางอะไหล่ที่ล็อกยึด
ไว้กับร่องของล้อมัน กับเครื่องมือช่างอีกนิดหน่อยเท่านั้น ไม่มีตะขอเกี่ยว หรือ
ที่ดึงแผ่นพื้นห้องเก็บของขึ้นมาแต่อย่างใด

 

 

 แผงหน้าปัดเรียบง่าย และ ออกแบบในลักษณะโค้ง เป็นรูปคลื่น
การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆนั้น ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
ไม่รู้สึกถึงการบดบัง จากแผงหน้าปัดมากเท่าที่บางคนเจอในรถรุ่นก่อน
บรรยากาศด้านหน้า โปร่งตาขึ้นมาก

พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ไม่อ้วนไม่เล็กจนเกินไป กำลังดี
มือจับเปิดประตูด้านใน ทำไมมันดูดีกว่า เทียนาใหม่ ได้ถึงเพียงนี้?
สวิชต์ กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ทั้ง 4 บาน แต่แบบ ดีดกลับอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งกีดขวาง
มีเฉพาะ บานคนขับ เท่านั้น

 

 

ชุดมาตรวัดแบบ Fine-Vision เน้นการอ่านค่าต่างๆ ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม
มีมาตรวัดอุณหภูมิเครื่องยนต์ มาให้ หลังจากหายไปใน นิสสันบางรุ่น
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

 

การออกแบบให้ เบาะนั่งเป็นแบบ Bench Seat หรือม้านั่ง ทำให้ ชุดเบรกมือ
ต้องย้ายลงไปอยู่ที่แป้นเหยียบด้านล่าง แบบเดียวกับรถสมัยใหม่หลายๆรุ่น
(รถรุ่นแรกในไทย ที่ใช้แป้นเบรกจอดแบบนี้ ถ้าจำไม่ผิด คือ นิสสัน เซฟิโร A31 ปี 1990)
นอกเหนือจากนี้ ยังต้องย้ายตำแหน่งคันเกียร์ ขึ้นไปอยู่แถวๆคอพวงมาลัย
เหมือนรถยนต์สมัยอดีต ที่เรียกเกียร์แบบนี้ว่า  “เกียร์มือ”

ช่องแอร์ เป็นแบบแนวตั้ง รับลมจาก การทำงานของ เครื่องปรับอากาศ
เป็นแบบ สวิชต์ ดิจิตอล ไม่มีระบบแยกฝั่งซ้าย-ขวามาให้ สวิชต์ควบคุม
มาเป็นรูปวงกลมกันเลยคราวนี้ มีจอดิจิตอล แสดงตัวเลข และค่าต่างๆ อยู่ตรงกลาง
ที่พิเศษก็คือ มีระบบ Plasma Cluster ในกรณีปกติ หากบรรยากาศภายในรถสะอาดดีแล้ว
สัญลักษณ์จะอยู่ในโหมด CLEAN หรือถ้าต้องการปิดระบบ ให้กดปุ่ม CLEAN
แต่ถ้าต้องการให้บรรยากาศในรถสะอาด ให้กดปุ่มเดียวกัน
ระบบจะปล่อย ion ประจุลบ ออกมาจัดการกับกลิ่นไม่พึงประสงค์

จ้องเขียนเน้นย้ำไว้เลยว่า คิวบ์ เป็นหนึ่งในรถยนต์หลายๆรุ่น ที่แอร์เย็นเร็ว
และเย็นมากๆ เย็นสะใจพวกขี้ร้อนอย่างผม และมวลมิตร เอาเรื่อง 

 

 

 

มันคือ ระบบนำทางผ่านดาวเทียม GPS โดยใช้ข้อมูลจาก Flash Drive SD-RAM
ขนาด 4GB โดย การ์ดนี้ จะใส่ข้อมูลทั้งแผนที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด จนถึง เพลง MP3 หรือ WMA ต่างๆ
โดยสามารถเล่น CD ได้ 1 แผ่น แถมมีระบบ อัดเสียงเข้าไปฝังในหน่วยความจำของตัวเครื่อง
(เหมือน ระบบ Gracenote ใน Accord 2.4 NAVI ตัวใหม่นั่นละครับ )

 

นอกจากนี้ มันยังเป็น วิทยุ AM/FM ที่เล่น DVD Video ได้ (ต้องเปิดใช้ในโหมด VTR)
รองรับ โทรทัศน์ Digital ระบบ One-Sec และเชื่อมต่อกับชุดเครื่องเล่น iPod ได้
แถมยังเชื่อมกับชุดจ่ายค่าผ่านทางด่วนอัตโนมัติ ETC  ควบคุมการทำงานโดย
หน้าจอเป็นแบบ Touch Screen ถ้าอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เอาง่ายๆเลยก็คือ
ดูที่ปุ่มสีชมพูส้ม ฝั่งซ้าย เป็น ปุ่มควบคุมชุดเครื่องเสียง แต่ถ้าฝั่งขวา จะเป็นระบบนำทาง
ใช้งานไม่ยากอย่างที่คิด

 

และเพื่อให้ เห็นชัดเลยว่า ระบบนำร่อง ที่มีใช้ในญี่ปุ่นนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ในเมืองไทยจริงๆ
เราก็จะแสดงให้ดู นี่คือ ถนนแถวๆประชาชื่น แต่ดูสิ เมื่อดูบนหน้าจอ…เราเหมือนออกทะเลกันเลย

เมื่อรู้เช่นนี้ ในเวอร์ชันที่จะนำเข้ามาหลังจากนี้ ทาง TSL จึงจะติดตั้ง
จอ และชุดเครื่องเสียง ที่เหมาะกับการใช้งาน ในเมืองไทย มาให้ลูกค้าแทน

 

 

อย่างไรก็ตาม ระบบนำทางชุดนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับ ระบบ Back view Camera หรือกล้องขนาดเล็ก ติดอยู่หลังรถ
แสดงภาพด้านหลังรถ ขณะเข้าเกียร์ถอยหลัง ช่วยให้การกะระยะขณะถอยรถเข้าจอดง่ายดายขึ้น

ราคาของ ชุดเครื่องเสียงชิ้นนี้ ในญี่ปุ่น ขายกันที่ 198,000 เยน ( 69,300 บาท โดยประมาณ)
ถ้ารวม Backview Camera เข้าไปด้วย ก็เพิ่มอีก   35,000 เยน ( 12,250 บาท โดยประมาณ)
อ้างอิงจาก ราคา ที่แปะอยู่ใน แค็ตตาล็อก อุปกรณ์ตกแต่งของ คิวบ์ ที่นิสสันแถมแนบ
มาให้กับแค็ตตาล็อก ของ คิวบ์ เวอร์ชันญี่ปุ่น 

 

ไม่เพียงแต่ ภายนอกรถเท่านั้น ที่มีอุปกรณ์พิเศษ เสริมเข้ามา
ภายในห้องโดยสารเอง ก็ยังมีชิ้นส่วนพิเศษ ที่แตกต่างจากรถรุ่นที่ขายอยู่ทั่วไป
มาให้เห็นเช่นกัน

– Scuff Plate พร้อมโลโก้ cube เรืองแสง สำหรับคู่หน้า 27,300 เยน
( 9,555 บาท โดยประมาณ โห ญี่ปุ่นตั้งราคามาได้แพงโคตรๆ)

ไฟสีน้ำเงิน Illumination ภายในห้องโดยสาร
–  ณ ที่วางแก้วฝั่งคนขับ 10,700 เยน ( 3,745 บาท โดยประมาณ)
–  ณ แผ่นพลาสติกวางของ บนแผงหน้าปัดฝั่งซ้าย 26,600 เยน ( 9,310 บาท)
–  Magical Illumination ติดตั้งที่พื้นรถ ซ่อนใต้แผงหน้าปัด ไฟเรืองแสง จะเปลี่ยนสีเอง หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ได้มากถึง 9 สี
เวลาเข้าเกียร์ D ขับไปเรื่อยๆ ไฟจะเปลี่ยนเองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าจอดรถ หยุดรถเมื่อใด ไฟก็จะหยุดเปลี่ยนสี
ราคา 32,600 เยน ( 11,410 บาท โดยประมาณ)

หมายเหตุ : ราคาทั้งหมดนี้ เป็นการคิดคำนวนคร่าวๆ โดยยกราคาอ้างอิงมาจาก แค็ตตาล็อก Cube Optional Parts
ซึ่งแนบมากับ แค็ตตาล็อก นิสสัน คิวบ์ เวอร์ชันญี่ปุ่น  และแปลงเป็นเงินไทย กันด้วยอัตราแลกเปลี่ยน
100 เยน = 35 บาท โดยประมาณ ซึ่งราคาจริง อาจแตกต่างไปจากนี้ ขอให้ตรวจสอบกับ TSL อีกครั้ง

 

 

มาดูอุปกรณ์อื่นๆที่น่าสนใจกันต่อ

ไฟในห้องโดยสาร มี 2 จุด คือ ไฟกลางเก๋ง (ฝั่งขวา ในรูป) ซึ่งก็ยังคงใช้อะไหล่
ตัวเดียวกับที่จะพบได้ใน Sunny B14 รุ่นปี 1995!!

และไฟอ่านแผนที่ซึ่งมีด้วยกัน 3 สวิชต์ แบ่ง ฝั่งซ้าย กลาง และขวา

แผงบังแดด นอกจากจะมีขนาดใหญ่เอาการแล้ว ยังสามารถ เลื่อน แผ่นแถบพลาสติกเล็กๆ 
ลงมาบังแดดต่อได้อีกเล็กน้อย จนกลายเป็นแผงบังแดด ที่มีขนาดใหญ่ ไม่แพ้กับ
แผงบังแดด ของคนขับรถทัวร์!  อีกทั้งยังไม่มีไฟแต่งหน้า เพราะใช้ไฟอ่านแผนที่นั่นละช่วยลง
ตำแหน่งของ แผงบังแดด ค่อนข้างอยู่ไกลมากๆๆๆๆ

จุดเด่นสำคัญอีกประการของคิวบ์รุ่นนี้ อยู่ที่หลังคากระจก แบบ Sky Light Roof  
มาในมุขเดียวกับ Lexus RX350 รุ่นล่าสุด เวอร์ชันบ้านเรา
คือ เปิดรับลมไม่ได้…แต่นิสสัน ก็ยังไม่ใจไม้ไส้ระกำพอจะออกแบบ
ม่านบังแดด มาให้ มีเฉพาะรุ่นท็อป 1.5 G เท่านั้น

เพียงแต่  มันมีอยู่ 2 แบบ….

 

 

คือ 1 แบบ ม่าน ลายคล้ายกับกระดาษที่แปะ ตามประตูบานเลื่อน
หรือฉากกั้นบังตา ในบ้านสไตล์ดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ที่เรียกว่า SHOJI-Shade

ตอนกลางวัน ก็ดูดี และลดแสงแดดที่ร้อนแรง อันจะเข้ามาแผดเผาเป็นชั้นที่ 2
ต่อจากกระจกหลังคา ซึ่งลดการทิ่มแทงผิวหนังของแสง ไว้ระดับหนึ่งแล้ว

ซึ่งในตอนกลางคืนนั้น ก็ ถือว่าให้บรรยากาศที่แปลกตาไปอีกอารมณ์หนึ่งเลยทีเดียว…….V

 

 

 

หรือถ้าไม่อยากรับแสงแดดเลย ก็สามารถดึงม่านบังแดด แบบที่ 2 อันเป็นแบบปิดทึบ จากด้านหน้า ปิดบังทัศนียภาพจากด้านบนได้

 

 

ที่วางแก้วน้ำ นอกเหนือจากบนแผงหน้าปัด สำหรับคนขับ
มีช่องแอร์ เป่าให้เครื่องดื่มเย็นตลอดเวลาแล้ว
ยังมี ลิ้นชักด้านใต้ตรงกลางเบาะคู่หน้า มีที่วางแก้ว 2 ช่อง
ที่สามารถ ยกขึ้น และ แปลงให้เป็นช่องเก็บ “ของลับ” เช่น อาวุธปืนพก เล็กๆ น่าจะได้อยู่

 

ช่องวางแก้ว ทุกตำแหน่งในรถรุ่นนี้ ถูกออกแบบโดยมีแรงบันดาลใจจาก Water drop
หรือ รูปวงคลื่นเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากหยดน้ำ กระทบลงบนผิวน้ำ
แต่ ในตำแหน่งวางแก้วบนเบาะ  มีการปั้มขึ้นรูปสัญลักษณ์เล็กๆ
ที่ดูแล้วเหมือนจะบอกว่า “ห้ามวางแก้วนะ”
แน่ละ วางลงไป ก็มีสิทธิ์หกรดเบาะหนะสิ ตรงกลางหนะ
เขาเอาไว้ใส่กระเป๋าสตางค์ หรือของกระจุกกระจิกเป็นหลักมากกว่า

 

 

 

ส่วนที่พักแขนตรงกลางนั้น ถ้าต้องการกั้นสัมพันธภาพระหว่างคุณ
และเพื่อนที่เดินทางมาด้วย ให้ห่างกันสักนิด ก็แค่พับมันลงมา
เมื่อเปิดฝาออกมา จะเป็นช่องเก็บของแบบมีฝาปิด เอาไว้ใส่กล่องทิชชูขนาดเล็ก
เหมาะกับ คนที่ท้องไส้ไม่สมประกอบ อย่างท่านผู้การพุงเกิน Commander CHENG ของเรานี่ละ
จะได้ พกกระดาษทิชชู ติดเอาไว้ เผื่อ  ในวันที่จำเป็นต้องทำความเร็วสูง พุ่งเข้าปั้มน้ำมันทั้งรถและทั้งคนขับ

 

ลิ้นชักเก็บของ ที่แผงหน้าปัด….มาอีกรุ่นนึงละ จะลึกกันไปถึงหนายยยยย
ฝาเปิดใหญ่โต แต่ช่องใส่ของ มีความกว้างของปากปล่อง ประมาณ ครึ่งหนึ่ง โดยคร่าวๆ
ตู้แอร์ จะซ่อนอยู่ตรงกลางแผงหน้าปัด เช่นเดียวกับรถรุ่นใหม่ๆในระยะหลังๆมานี้

 

 

 

ด้านทัศนวิสัยนั้น จากผลการวิจัย พบว่า สิ่งที่ วัยรุ่น และผู้ที่ยังขับรถไม่เก่ง หวาดกลัว และระแวงมากที่สุด
คือ การจอดรถ โดยเฉพาะ การถอยหลังเข้าจอด หรือ การจอดแบบริมถนนเรียงๆกันไป ดังนั้น คิวบ์จึงถูกออกแบบ
ให้โปร่งตารอบคัน ตั้งแต่กระจกบังลมหน้ารถ กันเลย

เสาหลังคาคู่หน้า ยื่นล้ำไปไกลกว่ารถทั่วไปก็จริงอยู่

แต่หากสังเกตดีๆจะพบว่า เสาหลังคาคู่หน้า ถูกออกแบบให้ดูเหมือนว่า ท่อนบน มันจะบานออก นิดนึง
และนั่นละ ช่วยสร้างผลทางจิตวิทยาให้เกิดขึ้นว่า รถมันกว้างกว่าที่คิด ทั้งที่จริงมันก็กว้างแค่ 1,695 มิลลิเมตร เท่าเดิม

ถึงแม้เสาหลังคาจะถูกดันออกไปด้านหน้าแบบนี้
แต่ การบดบังสายตาเวลาเลี้ยวกลับ แทบไม่มีเลย
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ  แต่กระจกมองข้าง แม้จะมีขนาดพอกันกับ
นิสสันรุ่นทั่วๆไป ทว่า ในเมื่อตัวรถมันใหญ่ซะขนาดนี้
จะให้กระจกมองข้างที่ใหญ่กว่านี้ มาสักหน่อยไม่ได้หรือไงกันหนอ?

 

ส่วนเสาหลังคาด้านหลังนั้น แม้จะมีเสาเยอะ แต่ก็ยังโปร่ง และการออกแบบ ให้กระจกหน้าต่างด้านหลัง
ของทั้ง 2 ฝั่ง มีรูปทรงไม่เหมอืนกัน โดยเน้นให้ฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับพวงมาลัย เป็นกระจกแบบเต็ม
เช่นถ้ารุ่นพวงมาลัยขวา กระจกหน้าต่างด้านหลังฝั่งซ้ายจะเป็นแบบเต็ม
แต่ถ้ารุ่นพวงมาลัยซ้าย กระจกหน้าต่างฝั่งขวาจะเป็นแบบเต็ม
เช่นนี้ จึงช่วยให้ การถอยหัง หรือกะระยะจากด้านหลัง ทำได้อย่างสบายๆ

 อยากจะบอก พี่แท็กซี่ คันนั้น ที่กำลังมองอยู่จังเลยว่า…

“มองไรเพ่? ไม่เคยเห็น คิวบ์ หรือไง?”

เอิ๊กส์! 

 

 

********** รายละเอียดทางวิศวกรรม และการทดลองขับ **********

อย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย

มุมถ่ายห้องเครื่องยนต์ของ คิวบ์ ในคราวนี้ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังเปิดฝาเครื่องซักผ้าแบบ 2 ถังยังไงก็ไม่รู้

เครื่องยนต์ ของ คิวบ์ ยังคงยกมาจาก รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์
ของรถรุ่นก่อน เป็นรหัส HR15DE
บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก : 78.0 x 78.4 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด อยู่ที่ 10.5 : 1
ฉีดจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด EGI ควบคุมด้วยระบบอีเล็กโทรนิกส์ ECCS
และใช้ลิ้นเร่ง หรือลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า
109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 15.1 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที

วงเล็บเอาไว้ให้นิดนึงว่า ในตลาดอเมริกาเหนือ
จะวางเครื่องยนต์ MR18DE บล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว
122 แรงม้า (PS) เหมือนกับที่พบได้ใน TIIDA 1.8 ลิตร บ้านเรา นั่นเลย!

 

รุ่นที่ TSL นำเข้ามาขายในบ้านเรา
มีเฉพาะ ระบบส่งกำลังเพียงแบบเดียว
เป็นเกียร์อัตโนมัติ อัตราทดแปรผัน XTronic CVT
ติดตั้งคันเกียร์ที่คอพวงมาลัย

อัตราทดเกียร์สูงสุด      2.561 : 1

อัตราทดเกียร์ต่ำสุด      0.427 : 1

อัตราทดเกียร์ถอยหลัง  2.619 : 1

และอัตราทดเฟืองท้าย  5.473 : 1

มีปุ่ม S ( Sport ) บนคันเกียร์ หมายถึงว่าจะช่วยให้ลากเกียร์ได้นานขึ้นอีกนิด
ลดการเปลี่ยนระดับอัตราทดลงสู่ระดับต่ำ ให้ช้าลงกว่าเดิมนิดนึง เท่านั้นเอง
(เอาเข้าจริง แทบไม่มีผลช่วยอะไรเท่าใดนัก กับอัตราเร่งแซง)

การทำงานของเกียร์ ทำได้อย่างนุ่มนวล ราบรื่น
อาจจะมีกระตุกบ้าง เล็กน้อย เฉพาะตอนเปลี่ยนคันเกียร์ จาก P มา R มา N มา D

ตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลังมานี้ นิสสันเลือกใช้เกียร์ CVT กับรถของตน
เยอะมากกกกกกกกก ก.ไก่หมดโลก

เรามาดูตัวเลขผลการจับเวลาหาอัตราเร่ง ภายใต้การทดลองโดยยึดมาตรฐานเดิม
คือ นั่ง 2 คน เปิดแอร์ เปิดไฟหน้า และใช้เวลากลางคืน ผู้ร่วมทดลอง ก็ยังคงเป็นน้องกล้วย
BnN 1 ในสมาชิกทีม The Coup ของเรานั่นเอง น้ำหนักตัว อยู่ที่ 47 กิโลกรัม
รวมคนขับ 95 กิโลกรัม กันดีกว่า

อุณหภูมิ ขณะทดลองจับเวลา จากมาตรวัด อยู่ที่ 29 องศา เซลเซียส
สภาพลม นิ่งสงบ พอมีลมเอื่อยๆบ้างเล็กน้อย

ตัวเลขที่ออกมา มีดังนี้ครับ

 

 

ตัวเลขของคิวบ์ใหม่ นั้น ดูแล้วเหมือนกับว่าด้อยกว่า เมื่อเทียบกับ รถยนต์ในพิกัดเดียวกัน
ตามหลักสากลโลก นั่นคือ กลุ่ม B-Segment Sub Compact Vehicle อาจดูด้อยกว่ากันไปนิดหน่อย

ผมรู้สึกอิจฉา คนอเมริกันนิดๆ เพราะ คิวบ์ ที่ถูกส่งไปทำตลาดที่นั่น
วางเครื่องยนต์ MR18DE ขนาด 1.8 ลิตร ซึ่งถือว่า มหญ่กว่า ในญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน
และเครื่องยนต์รุ่นนี้ ก็มีประจำการใน ทีด้า 1.8 ลิตร บ้านเรา ซึ่งจากความทรงจำที่เคยขับมา
ผมก็มั่นใจในอัตราเร่งของ MR18DE มากกว่า ว่าน่าจะฉุดลาก คิวบ์ ให้พุ่งปรู๊ด ได้มากกว่านี้อีก

อย่างไรก็ตาม ในการขับใช้งานจริง อัตราเร่ง ที่คิวบ์ เวอร์ชันญี่ปุ่น 1.5 ลิตร มีอยู่ ถือว่าเพียงพอ
และเหมาะสมกับตัวรถมากแล้ว เพราะถ้าใครที่เคยขับ ฮอนด้า แจ้ส รุ่นแรก น่าจะคุ้นเคยกับ
บุคลิกของเครื่องยนต์ และเกียร์ CVT ในคิวบ์ใหม่ ได้ไม่ยากเย็นเลย

ทันทีที่กดคันเร่งจมมิด รถก็เคลื่อนตัวออกไป แบบ พอให้รู้สึกได้ว่ามีแรงดึงนิดๆ ตามบุคลิกของเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี ยุคใหม่
แต่อาจจะต้องใช้เวลา สักหน่อย ในการไต่ความเร็วขึ้นไป ยังระดับที่ต้องการ กระนั้น เมื่อเทียบกับสภาพการจราจร
ใน กรุงเทพฯ แล้ว เอาเข้าจริง อัตราเร่งของคิวบ์ ก็ยังถือว่า พอรับได้ สำหรับการเร่งแซง ทั้งการฉีกตัวเองออกจาก
กลุ่มรถหวานเย็นที่ขับเอื่อยๆ แบบไม่สนใจโลก หรือจะฉีกแซง รถกระบะที่ขับช้าวิ่งเลนขวา บนทางด่วน
อย่างที่ผมทำมาแล้ว แซงไปแบบที่ ยังไงๆ รถกระบะ คันนั้น ก็คงไล่ไม่ทัน

(1. คนขับ ดูงกๆเงิ่นๆ มากๆ ป้ายทะเบียนบอกว่ามาจากอุดรธานี
2. เป็น มาสด้า ไฟต์เตอร์ ตอนเดียว สีขาว ซึ่งยังไงๆ เครื่องก็ไม่แรงพอหรอกที่จะไล่ตามคิวบ์ หรอก เอิ๊กๆๆ)

แต่ มันมีเหตุผลที่อธิบายได้ ว่าทำไมตัวเลข ออกมาดูด้อยกว่าเพื่อนฝูงนิดหน่อยแบบนี้

งานนี้ หากจะโทษกันจริง ก็คงต้องมองไปที่ 2 สาเหตุหลักๆ

1. น้ำหนักตัวรถ
เพราะแค่น้ำหนักตัวเปล่าอย่างเดียว ของรุ่น 1.5 G ที่นำมาลองกันนี้
ยังปาเข้าไป 1,485 กิโลกรัม ยังไม่นับสารพัดอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งเข้าไป
ที่คาดว่า บวกเพิมได้เลยอีก 100  200 กิโลกรัม โดยประมาณ และขอย้ำว่า
นี่แค่น้ำหนักเปล่า ไม่รวมน้ำหนักบรรทุกและของเหลวต่างๆนะ! 

2. การต้านลม ยังไงละ!

สำหรับรถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องบินแล้ว Aerodynamic มีผลมากกว่าที่เราจะคาดคิดกัน
เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ ก็คงจะไม่พากันทำรถให้มันลู่ลม ลดแรงต้านอากาศให้น้อยลง

เพราะอย่างที่คุณๆก็คงทราบกันดีแล้ว ว่า หากออกแบบให้รถลู่ลมได้มากเท่าไหร่ ตัวรถ ก็จะต้านลมน้อยลง
เครื่องยนต์ ก็ไม่ต้องออกแรงฉุดลากผลักดันตัวรถไปข้างหน้า มากเท่ากับรถที่มีรูปทรงต้านลมกว่า
ดังนั้น ก็จะช่วยทำให้รถ แล่นได้ดีขึ้น อีกทั้งยังประหยัดน้ำมันกว่า

อ้าว แล้วทำไม นิสสัน ถึงทำคิวบ์ ออกมาให้มีกระจกบังลมหน้าตั้งชันขนาดนี้?

คำตอบก็คือ แนวทางการออกแบบของคิวบ์ ถูกกำหนดให้รถนั้น เน้นการใช้งานในเมือง เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว
ก็แล่นด้วยความเร็วไม่สูงนัก ไม่ได้ต้องการความลู่ลมมากมาย หากแต่ ผู้ที่ซื้อคิวบ์ไปใช้ เน้นการเดินทางที่ปลอดโปร่ง
โล่งสบาย ด้วยหลังคาสูงๆ เป็นหลัก หากทำรถที่ลู่ลมมากๆ หลังคาก็ต้องเตี้ย ผู้โดยสารก็จะเดินทางไม่สบาย เหตุนี้
นิสสันเลยต้องออกแบบให้ คิวบ์ มีลักษณะตัวรถเป็นกล่องติดล้อ อย่างที่เป็นอยู่ และแน่นอน ด้วยโจทย์ที่ว่า
ต้องทำหลังคารถให้สูง ดังนั้น การออกแบบให้เสาหลังคาคู่หน้าลาดเอียงกว่านี้ ตัวรถ ก็อาจจะไม่มีบุคลิกเป็น
ของตนเองมากพอ โอกาสจะดึงดูดใจลูกค้า ทำให้ยอดขายพุ่งสูงขึ้นนั้น ก็คงไม่เกิด

และนั่น จึงส่งผลให้ต้องออกแบบเสาหลังคาคู่หน้าให้ตั้งชัน จนต้านลมมากขนาดนี้
แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบ ทำให้เกิดเสียงกระแสลมที่ไหลผ่าน ขณะที่ตัวรถกำลังแหวกอากาศผ่านไป
บริเวณครึ่งคันบน เยอะกว่า รถยนต์ในระดับเดียวกันบางรุ่น

แต่ระดับเสียงที่เกิดขึ้น ก็ยังอยู่ในเขตที่ยอมรับได้ คือไม่ได้ดังจนน่ารำคาญ แต่ ครึ่งคันล่าง เงียบกว่าอย่างชัดเจน
การเก็บเสียงในห้องโดยสารทำได้ดี ความดังนั้น มันอยู่ประมาณราวๆ รถญี่ปุ่น ขนาดเล็ก ที่ออกแบบมาเมื่อสัก
4-5 ปีก่อน เอาน่า ไม่เลวร้ายเท่า Nissan 350Z ก็แล้วกัน รายนั้น วิ่งแค่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เสียงลมนี่
ขอโทษเถอะ Winding Orchrestra (“วง ลมมโหรี”) เลยนะนั่น

แต่สำหรับการขับขี่ ในตัวเมืองแล้ว ห้องโดยสาร มันเงียบมาก เงียบสนิท เงียบกว่าทีด้า
(เพราะไม่มีเสียง แมลงสาบข่มขืนกัน จากการเสียดสีของชิ้นส่วนวัสดุภายใน ให้รำคาญใจ)

ดังนั้น ต้องถือว่า การเก็บเสียงนั้น ทำได้ดีมากๆเลย ในย่านความเร็วต่ำ และทำได้ดีที่สุดแล้วละในย่านความเร็วสูง
ทั้งหมดนี้ เราพูดกันโดยยกเอาข้อจำกัดด้านการออกแบบรูปทรงของรถเข้ามาร่วมพิจารณาไปด้วย

ระบบกันสะเทือนหน้า แบบ แม็คเฟอร์สันสตรัต
ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม คานบิด

แม้จะรู้ว่า ถูกเซ็ตมาเอาใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น เพราะเน้นความนุ่มนวลในการขับขี่
แต่ พอเอาเข้าจริง การเซ็ตมาให้นุ่มๆ กำลังดี แบบนี้ละ
ที่กลายเป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีคนนึกถึง ในคิวบ์ใหม่

ที่แม้แต่ น้องแพน หรือตา Commander CHENG! ของเรา
ยังร้องซะดังลั่นรถเลยว่า อยากได้ช่วงล่างแบบนี้ ไปใส่ไว้ใน ทีด้า 1.6 ของเขา!! 

ในขณะขับใช้งานในเมือง ลูกระนาดในรูปแบบต่างๆ
ไม่ใช่อุปสรรคของคิวบ์เลย มันสามารถพาคุณ รูดผ่านลูกระนาด
แบบต่างๆ ในซอยอารีย์ไปได้อย่างนุ่มนวล (ถ้ามันไม่สูง หรือชันนัก
และใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

เป็นการเซ็ตระบบกันสะเทือนที่ประเสริฐมาก สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก
ที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อทำความเร็วสูงๆ อยากให้ผู้ผลิตหลายราย เอาคิวบ์ เป็นเยี่ยงอย่าง

อย่างไรก็ตาม  คงต้องย้ำกันอีกตรงนี้ว่า ช่วงล่างนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาไว้
เพื่อการขับซิ่ง แบบรถสปอร์ต หากคิดจะเอา คิวบ์ ไปมุดแบบเร็วๆหนะพอได้
แต่ต้องระวังเอาไว้หน่อยแล้วกันว่า น้ำหนักของรถ มันถ่ายเทลงมาที่ด้านหน้า
ค่อนข้างจะเยอะอยู่ สังเกตได้จากการเข้าโค้ง หน้ารถจะพยายามดึงให้ตัวรถ
พุ่งไปข้างหน้าเล็กน้อย มากกว่าจะดึงให้รถเลี้ยวไปตามใจคนขับที่กำลังพามันเข้าโค้ง
แถมยังพอมีอาการบั้นท้ายออกให้ได้สัมผัสกันนิดๆ  นั่นก็เป็นอีกผลกระทบหนึ่ง
ที่มาพร้อมน้ำหนักตัว

แต่อย่างว่าครับ ย้ำกันอีกที ว่า คิวบ์ เป็นรถที่สร้างมาตามโจทย์ ที่อยากให้รถ เอาใจคนทุกเพศทุกวัยย
และมีความเป็นมิตรกับผู้ใช้ ไม่วุ่นวาย ไม่เรื่องมาก มีอะไรหลายอย่างที่น่าพิศมัยกว่า สำหรับ
สุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ ที่อยากได้รถเล็กๆน่ารัก ไว้ใช้งานในเมือง หรือขับไปเที่ยวกับเพื่อนตามต่างจังหวัด
แบบกินลมไปเรื่อยๆ สบายๆ ไม่ได้สร้างรถเอาไว้ วิ่งกรุ๊กๆ ในสนามแข่ง

ดังนั้น การเซ็ตช่วงล่างแบบนี้ ถือได้ว่า ตอบโจทย์การสร้างรถคันนี้ โดยสมบูรณ์แล้ว ณ เวลานี้
แต่จะให้ดีกว่านี้ หากเปลี่ยนมาใช้ช็อคอัพที่แข็งกว่านี้อีกนิด ก็น่าจะช่วยให้การตอบสนอง
ในโค้ง ดีขึ้นอีกหน่อยนึง แต่คงจะไม่ได้ดีมากไปกว่าเดิมเท่าใดนัก

พวงมาลัย เป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ ไฟฟ้า
EPS (Electronics Power Steering) ช่วยผ่อนแรง การตอบสนองของพวงมาลัย
คล้ายคลึงกับ ทีด้า อย่างมาก ทั้งน้ำหนักในย่านความเร็วต่ำ ที่เบาสบายกำลังดี
แต่ ความเร็วสูง ยังอาจต้องการความหนืดที่เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกนิด
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงความนิ่งแล้ว หากผมจะบอกว่า ที่ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผมยังปล่อยมือทั้งสองข้างออกจาก พวงมาลัย ให้มันทำหน้าที่ของมันไป และเจ้าคิวบ์
ก็ยังคงวิ่งตรงแหน่วไปเหมือนไม่รู้เลยว่า คนขับปล่อยมือจากการควบคุมแล้ว

คุณว่า พวงมาลัยมันนิ่งใช้ได้ไหมละ?

ส่วนรัศมีวงเลี้ยว นิสสัน เคลมว่า แคบที่สุดในกลุ่ม คือ 4.6 เมตร
เอ่อ ฟังดู เหมือนจะแคบนะ แต่เวลาเลี้ยวกลับรถ
ผมก็ยังใช้พื้นที่ประมาณ 1 เลนเกือบ 2 เลนอยู่ดี

ระบเบรก เป็นแบบ หน้าดิสก์ หลังดรัม
พร้อมระบบป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรก EBD
และ ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน Break Assist
แป้นเบรกนั้น ถึงจะตอบสนองคล้ายรถนต์นิสสันรุ่นอื่นๆ คือต้องเหยียบแป้นเบรกลงไป
เกือบจะปานกลาง ถึงจะเริ่มสัมผัสได้ว่าระบบเบรกเริ่มทำงาน แต่ แน่นอน ในการหน่วงความเร็ว
ถือว่าทำได้ดี ตามวัตถุประสงค์ของคนสร้างรถประเภทนี้ ซึ่งเป็นรถที่ไม่ต้องการระบบเบรกที่หน่วงความเร็ว
จาก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนหยุดนิ่ง ได้ฉับไว แถมระยะทางสั้น หากแต่ ต้องการระบบที่ ไว้ใจได้
ทำงานได้ดีตามสั่ง ABS ทำงานไม่ต้องเร็วจนเกินเหตุนัก เพราะไม่ได้ไปซิ่งแข่งกับใคร

 

********** การทดลองหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย **********

มาตรฐานการทดลองเดิม ยังคงถูกนำมาใช้ ต่อเนื่องกันไป
ไม่เว้นแม้กระทั่งรถนำเข้ารุ่นเล็ก แต่คันใหญ่ อย่างคิวบ์

ในตอนแรก เราคิดกันพอสมควรว่า ควรจะเขย่ารถไปด้วยไหม
จะได้ตรงตามมาตรฐาน รถยนต์ ที่มีความจุกระบอกสูบต่ำกว่า 2,000 ซีซี
หรือ รถกระบะ ซึ่งเป็นรถในกลุ่มที่ผู้บริโภคคาดหวังอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ

แต่ ประโยคสุดท้ายนั่นละ คือเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจไม่เขย่ารถ
และใช้วิธี เติมน้ำมัน เอาแค่หัวจ่ายตัด ก็เพียงพอ…
ก็เพราะว่า แม้ ในตลาดโลก รถจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม B-Segment Sub-Compact Vehicle
แต่ในเมืองไทย รถคันนี้ กลายเป็น Premium Sub-Compact Vehicle เพราะค่าตัวที่รวมภาษีของมัน
ทำให้ คนที่ซื้อรถในระดับนี้ อยากรู้อัตราสิ้นเปลือง ไว้เพียงแค่คร่าวๆ ไม่ได้ถึงกับใส่ใจนัก
ดังนั้น ผมกับ น้องเติ้ล ผู้ร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นผู้ช่วยในการทดลองคราวนี้
จึงตัดสินใจ อย่างที่ได้บอกไปข้างบน

เรายังคงเติมน้ำมันเบนซิน วี เพาเวอร์ ที่สถานีบริการเชลล์ ปากซอยอารีย์
เอาแค่เติมถังน้มันที่ติดตั้งมากับรถ ซึ่งมีความจุ 45 ลิตร ให้หัวจ่ายตัดพอ

 

 
แล้วก็พาเจ้าบลูด็อกเชิญยิ้ม คันนี้ ลัดเลาะไปตามรอกซอกซอย ขึ้นทางด่วนพระราม 6
ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เปิดแอร์ นั่งกัน 2 คน ตามเคย
ขับไปจนถึงปลายทางด่วน สายเชียงราก ที่อยุธยา แล้วเลี้ยวกลับมาขึ้นด่านฝั่งตรงข้าม
มุ่งหน้ามาลงทางด่วนที่ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ขับกลับมาเติมน้ำมันที่ปั้มเดิม และ หัวจ่ายเดิม

 

และต่อไปนี้คือผลที่ตัวรถทำได้…
ระยะทางบนมาตรวัด 93.6 กิโลเมตร

 

ปริมาณน้ำมันเติมกลับ 6.24 ลิตร

 

(ทำไมรูปนี้ เจ้าเติ้ล มันดำน่าสยองได้ขนาดนี้? สงสัย เพราะเราปรับ White Balance ผิดเพี้ยนแหงๆ)

แทบไม่น่าเชื่อ เราได้ตัวเลข 15.0 กิโลเมตร/ลิตร พอดีเป๊ะ!!

ถามว่าประหยัดไหม แน่นอน ประหยัดกว่า วีออส และ ยาริส นิดนึง
เมื่อเทียบเฉพาะตัวเลขที่ผมเคยทำมาได้ ในรถที่ใช้เครื่องยนต์พิกัด 1,500 ซีซี เช่นเดียวกันนี้

แต่ ตัวเลขก็จะเป็นอย่างที่เห็น… มีทั้งดีและด้อยแตกต่างกันไป
ที่นำตัวเลขของรถเหล่านี้ มาเปรียบเทียบกัน
ก็เพราะว่า ในญี่ปุ่น หรือสากลโลก คู่แข่ง ในพิกัดเดียวกันกับคิวบ์
คือรถยนต์เหล่านี้… และถ้ารูปทรงของรถมันต้านลมขนาดนี้
แต่ยังคงให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงระดับ 15 กิโลเมตร/ลิตรได้
ก็ถือว่า ประหยัดน้ำมันโอเคเลยเชียวละครับ

น้ำมัน 1 ถัง แล่นในเมือง จะได้ระยะทางประมาณ 300 ปลายๆ เกือบ 400 กิโลเมตร
และนั่นมันก็เท่ากันกับ ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นล่าสุด ในโรงรถบ้านผมนั่นแหละ…

 

 

********** สรุป **********
ห้องนั่งเล่นเคลือนที่ สำหรับผู้ซึ่ง ไม่เหมือนใคร มาแต่เกิด

3 วัน 2 คืน ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับ เจ้าบลูด็อก ตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม ติดล้อ คันนี้
มันคุ้มค่าจริงๆ เป็นช่วงเวลาที่ดี ที่น่าจดจำ

ไม่ใช่เพราะว่าขับไปไหน ใครๆก็มอง เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผมใส่ใจ
แต่เพราะ ทั้งความสบายในการขับขี่ และหน้าตาของรถที่ พร้อมจะเปิดโอกาส
ให้ผมรู้จักกับ ผู้คนทั่วไป ที่เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับพวกเขาอย่างไร
ได้ง่ายขึ้นเยอะเลย

เพราะพวกเขาจะเข้ามาคุยกับผม ด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับรถคันนี้

เช่นว่า นี่รถอะไร? ราคาเท่าไหร่? ขับสบายไหม นุ่มหรือเปล่า? กินน้ำมันเท่าไหร่? ซื้อได้ที่ไหน?

 

 

คำตอบที่ผมเตรียมเอาไว้ให้พวกเขา และคุณผู้อ่าน ก็คือ
คิวบ์ ใหม่ มีจุดเด่นอยู่ที่ ความรื่นรมณ์ อย่างแท้จริง สำหรับการเดินทาง ทั้งในเมือง
และท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด แบบเรื่อยเปื่อย ชิล ชิล มันไม่ต้องการพละกำลังแรงมากนัก
แต่ก็มีแรงบิดเอาแค่พอเร่งแซงได้ แบบไม่ต้องคิดก่อนล่วงหน้า 2 วัน อย่างที่ เชฟโรเลต เอวิโอ มันเป็น
ประหยัดน้ำมันตามสมควร ได้ 15 กิโลเมตร/ลิตร นี่ละ กำลังดี ถ้าแล่นในเมือง น่าจะราวๆ 12-13 กิโลเมตร/ลิตร
แถมยังมีห้องโดยสารที่กว้างขวาง และ โอ่อ่า อย่างแท้จริง

ผมเบื่อคำว่า โอ่อ่า มันเป็นคำเก่าๆที่ใช้ในการโฆษณารถมานานแล้ว และน่าเบื่อเหลือจะกล้ำกลืนฝืนฟัง
แต่ กับคิวบ์ ผมยินดีจะดึงคำคำนี้ มาใส่ไว้ในบทความนี้อย่างเต็มใจ เพราะมันเป็นเช่นนั้น

ถ้ามองตามวัตถุประสงค์ของการสร้างรถคันนี้ขึ้นมา
ต้งถือว่า ทีมวิศวกรของนิสสัน ตอบทุกโจทย์ ได้ครบถ้วนกระบวนความ 

อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้าของรถคันนี้ คุณเองต้องมั่นใจแล้ว ว่านอกจากฐานะทางบ้านหรือส่วนตัว
จะมีเงินมากพอจะดูแลเจ้าบูลด็อกตัวนี้ได้แล้ว คุณยังต้องเป็นคนที่มีความคิดแตกต่างจากผู้อื่น
ไม่ใช่แค่อยากเด่นอยากดัง ตามสมัยนิยม แล้วก็เลิกไป หากแต่ คุณควรจะมีความฝังใฝ่
สนใจสิ่งรอบตัว ด้วยแนวทางที่แตกต่างจากคนอื่น มาตั้งแต่เกิด แถมแนวทางที่คุณมองอยู่นั้น
ควรเป็นแนวคิดในเชิงบวก มากกว่าลบ ให้มากๆเข้าไว้ด้วย

นี่ไม่ใช่รถของคนขี้ขลาดหวาดกลัว เพราะขนาดคนสร้าง
เขายังกล้าจะออกจากกรอบการสร้างรถในแบบเดิมๆเลย

เพราะการจ่ายเงิน ระดับ 1 ล้านบาทกลางๆ แลกกับรถยนต์ที่มีสมรรถนะ
เพียงพอกับการเดินทาง เทียบเท่า รถยนต์ประกอบในประเทศระดับราคา
5-7 แสนบาท นั้น มันหาเหตุผลแทบไม่ได้เลย

ดังนั้น การซื้อรถคันนี้ จึงเป็นการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์ รสนิมส่วนตัว และความชอบเกือบจะล้วนๆ

 

 

และยิ่งเมื่อย้อนระลึกถึงวันที่ผมเคยลองขับ คิวบ์รุ่นเดิมมาด้วยแล้ว
ยอมรับว่า จากครั้งแรกที่ได้เห็นรูป เมื่อวันเปิดตัว แล้วยังรู้สึกแปลกๆ
แต่มาวันนี้ ทัศนคติของผม กับเจ้ากล่องติดล้อคันนี้ เปลี่ยนไปนิดหน่อย

คือจากที่ดีอยู่แล้ว ยิ่งกลับงามงอกเงยทวีคุณ

จนกล้าพูดได้เต็มปากว่า

ผมเจออีกแล้วครับ รถอีกคันหนึ่ง ที่ผมไม่อยากคืน

พอบอกไปเช่นนี้ น้องนิว ที่ TSL ก็ถามย้อนผมกลับมาว่า
 “อีกแล้วหรือพี่”

นิว เอ้ย พี่จะบอกให้นะ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่ทำรีวิวรถยนต์ ลงอินเตอร์เน็ตเนี่ย
จากรถยนต์เป็นร้อยๆคัน ที่ผ่านมา ผมพบเจอรถที่เข้าตาโดนใจ ราวๆ 10 คัน ได้กระมัง
ที่ยืมมาลองขับแล้ว ไม่อยากคืน จริงๆ อยากเก็บเอาไว้ที่บ้าน นอนเล่นเลย

และ คิวบ์ ก็กลายเป็น สมาชิกใหม่ ในลิสต์ดังกล่าว จนได้…

 

 

กระนั้น มีเพียง 3 สิ่ง ที่ยังติดคาในใจผมอยู่

1. ขอเพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ MR18DE จากใน ทีด้า 1.8 ลิตร และในเวอร์ชันอเมริกันของคิวบ์
มาวางลงในตลาดต่างประเทศ นอกญี่ปุ่นด้วยจะได้ไหม? เชื่อว่า อัตราเร่งปรู๊ดปร๊าดที่เพิ่มขึ้นอีกนิด
จะยิ่งทำให้คิวบ์ มีเสน่ห์โดนใจกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังต้องคงทางเลือกขุมพลัง 1.5 ลิตร CVT
ไว้เช่นเดิม สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ยังรักและชื่นชอบในอัตราเร่งแบบพอเพียง แต่เน้นความประหยัดมากกกกกก โข

 

 

 2. ค่าตัวของมันในต่างประเทศหนะ เหมาะสมดีแล้ว ไม่ถูกไม่แพงเกินไป ใครๆ ก็ซื้อได้

แต่พอถูกส่งมาเมืองไทย ระดับราคาของมันจัดว่าค่อนข้างสูง อันเนื่องจากภาษีนำเข้า โทษใครไม่ได้เลย

ดังนั้น คิวบ์ จึงถูกกำหนดให้ เป็นคู่แข่ง อย่างชัดเจน กับ Toyota bB / Daihatsu COO /
Daihatsu Materia / Subaru DEX หรือเจ้ากล่องติดล้อรักเสียงเพลง 3 ยี่ห้อ 4 ชื่อ รุ่นนั้น

แม้ว่า ค่าตัวของคิวบ์ ตอนนี้ ถูกหั่นลง จากราคาตั้ง ที่ราวๆ 1.8 ล้านบาท
ลดเหลือ 1.69 ล้านบาท….! แล้วก็ตาม กระนั้น ยังถือว่า สูงไปหน่อย

จริงอยู่ ตอนนี้ ราคาของมัน ทำให้คิวบ์ เริ่มน่าคบหาขึ้นมาอีกนิดนึง

แต่จะขายดีกว่านี้แน่นอน ถ้าสามารถทำราคารุ่นพื้นฐาน ได้ที่ 1 ล้านบาท ต้นๆ

แถมพกด้วยอุปกรณ์มาตรฐานแบบบ้านๆ
ไม่ต้องถึงกับหรูนัก พร้อมเปิดทางเลือกให้ลูกค้าเอาไปแต่งต่อเอง 

 

 

3. ในเมื่อรถมันดีขนาดนี้ ทำไมนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ไม่คิดจะสั่งรถรุ่นนี้มาขายเองกันบ้าง?

พี่ตุ๊ก พีอาร์ ของนิสสัน ตอบกับผมเป็นการส่วนตัวว่า คงไม่น่าเป็นไปได้
เพราะการจะสั่งรถรุ่นหนึ่ง อย่างที่ทราบกันดีว่า มันเต็มไปด้วยเรื่องราว
วุ่นวายมากมายหลายร้อยแปดพันประการ แน่นอน ก็เป็นคำตอบมาตรฐานทั่วไปอย่างที่ทราบกันดี

ผมก็เลยบอกต่อไปว่า “เนี่ย ผมว่า รถรุ่นนี้ น่าเสียดายถ้าไม่สั่งมาทำตลาดในเมืองไทย อะไหล่ต่างๆ
ดูๆไปแล้ว ก็น่าจะแชร์ร่วมกับ X02A ตัวเล็กจิ๋ว ที่จะเปิดดัวในปีหน้าได้เยอะอย่างอยู่”

พี่ตุ๊ก เลย ถาม โอเปอเรเตอร์ หน้าออฟฟิศ ซะดังลั่นโถงรับแขกหน้าสำนักงานของบริษัทฯ เขาเลยว่า

“คุณน้องขา คุณฮาเซกาว่า อยู่หรือเปล่า?”

ผมงี้ร้องจ๊ากเลย… โหย พี่ตุ๊ก เล่นแรงนะเนี่ย ถามเล่นๆ
ดันจะเรียกท่านประธานฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เอ้ย ฮาเซกาวา มาคุยด้วยจริงเลยวุ้ยยย

แต่…ยังไม่ทันขาดคำ จู่ๆ รองประธานฯ “โอคุดะ ซัง” ผู้มีใบหน้าละม้าย
คล้ายกับตันซึบาสะ ตอนแก่ ก็โผล่ออกมา

คราวนี้ไม่ใช่ผมคนเดียว พี่ตุ๊ก ก็เป็นฝ่ายฮาแตกกับเราด้วยบ้าง
 “เนี่ย พี่กำลังจะถามต่อเลยว่า ถ้าคุณฮาเซคาวา ไม่อยู่
แล้ว คุณโอคุดะซังอยู่หรือเปล่า ไม่ทันจะเอ่ยปากเลย
เจ้าตัวก็โผล่พรวดมาพอดี!!”

เป็นอันจบ ตลกบริโภค แต่เพียงเท่านี้!

ดังนั้น ในเวลานี้ ถ้าคุณจะซื้อ คิวบ์ มาใช้งาน

คุณก็ต้องเดินเข้า โชว์รูม TSL เท่านั้น 

————————————————///——————————————–

 

ขอขอบคุณ
คุณณัฐชาต สิริสิทธิโชติ (นิว)
ฝ่ายต่างประเทศ
และ คุณ อุ๊
บริษัท TSL Auto Corporation จำกัด
เอื้อเฟื้อรถทดลองขับ

 

 

J!MMY
สงวนลิขสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรกใน www.headlightmag.com
ตั้งแต่ วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2009 เป็นต้นไป

 

—————————///—————————-

เชิญแสดงความคิดเห็นได้ โดยคลิก ที่กระทู้ใน Link นี่