“Enjoy driving นะคะ”

ประโยค สุดท้าย ที่ผมได้ยินจากพี่ลักษณ์ พีอาร์สาวสวยหมวย และ”มีของ” แห่งแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์
ทำเอาผมสะอึก….

ในเสี้ยววินาทีที่คำสุดท้ายหลุดออกจากปากพี่ลักษณ์
เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เราไหว้ ทักทาย แล้วเดินจากมา
เพื่อลงมารอรับ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ซเปอร์ชาร์จ สีเงิน
คันที่ผมรอคอยจะลองขับมาแสนนาน
เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา…

ระหว่างเดิน เพื่อลงมารอรับรถที่หน้าตึกบัญชาการใหญ่ของ วอลโว คาร์ส ประเทศไทย (แลนด์โรเวอร์ และวอลโว
ใช้อาคารสำนักงานร่วมกัน นั่นคือ โชว์รูมวอลโว คลองตันนั่นเอง)

(ถ่ายในขณะกำลังขับรถไปทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทันที
เพื่อไม่ให้ งบประมาณ เกินเลยไปจากที่ตั้งไว้ จะสังเกตว่า
ตัวรถอยู่สูงจากรถเก๋งมากขนาดนี้ เพราะนี่ผมถ่ายในระดับสายตาพอดี)

 

 

สิ่งที่ผมเริ่มหวาดกลัวมีอยู่เยอะแยะมากมาย

“รถคันละตั้ง 9.6 ล้านบาท..เฮ้ย นี่มัน 10 ล้านบาท ทอน 4 แสนเลยนะเฟ้ย แพงที่สุดตั้งแต่เอามาจอดหน้าบ้านเลย
นะไอ้จิม

ราคามันเท่าๆกับ เฟอร์รารี F355 ป้ายแดง จาก วิวฯ
เมื่อช่วง 10 ปีที่แล้ว เลยอ่ะ!

เครื่องก็แร๊งแรง ตั้ง 390 แรงม้า
แล้วค่าน้ำมันของตูจะบานตะไท ไปถึงไหนกันหว่าเนี่ย?”

ขับขึ้นทางด่วน มานัดเจอตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดารินเจ้าเก่า ซอยทองหล่อ..ที่มหิดล พระราม 6
แค่นี้ เสียค่าน้ำมันไป 141 บาท

จากคลองตัน ถึง พระราม 6 รวมค่าทางด่วนอีก 2 ต่อ
40+25 บาท = 65 บาท
ก็หมดไปแล้ว 206 บาท !!

ลางร้ายเริ่มปรากฎ……

อะไรกัน ไม่จริ๊ง ไม่จริง รถที่ฉันขับอยู่นี้
มันคือ เอสยูวี รุ่นหนึ่งที่ฉันชอบที่สุดเลยนะเฟ้ย!

รถที่เรารัก ทำเราเสียตังค์ได้ขนาดนี้

ท่าทางจะเปลืองพอๆกับที่เสี่ยอู๊ด แกหมดไปกับการเลี้ยงดูน้องฟิล์มเลยนะเนี่ย!!!

ทำไมอีรุ่น ดีเซล ที่ยืมมาขับก่อนหน้านี้ 2 เดือน
มันม่ายเห็นกินจุขนาดนี้เรย รุ่นดีเซลนั้นออกจะประหยัดอ่ะ

 

 

แม้ว่า เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต

คือ รถที่ มีตัวเลขแรงม้า แรงบิดสูงสุด ที่ผมเคยขับ ตลอดช่วงเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา (แรงสะใจถึง 390 แรงม้า แรงบิดสูงสุด สูงถึง 56.04 กก.-ม.)
นี่คือ รถที่ แพงที่สุด เป็นอันดีับ 2 ที่ผมเคยเอามาจอดที่บ้าน ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หากไม่นับ Lexus LS460 L

(รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ราคารวมภาษี ล่อเข้าไปถึง 9.6 ล้านบาท โอ้แม่เจ้า!~)

นี่คือ รถที่ กินน้ำมันได้ดุเดือดที่สุดคันหนึ่ง ที่ผมเคยขับ ตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
นี่คือ รถที่ ผมต้องขับไปลุ้นไป ว่า จะต้องเสียตังค์ส่วนตัวเติมน้ำมันเป็นจำนวนเท่าไหร่
( 2 วันที่ใช้งาน เติมน้ำมันหมดไปแล้ว 141 + 326 + 400 บาท ผ่านไปครบ 5 วัน 4 คืน รวมแล้ว 867 + ค่าน้ำมันตอนเทสต์อัตราเร่ง ในคืนสุดท้ายอีก 500 บาท
ที่โดนซัดโฮกเดียวหายวับไปกับตา= 1,367 บาท)

เงินตั้ง 1,400 บาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายตอนทำรุ่น ดีเซล ซึ่งถูกกว่านี้นิดหน่อย แต่เบ็ดเสร็จแล้ว
2,000 กว่าบาท ครับ…..

นี่คือต้นทุนค่าใช้จ่าย ของการทำกระทู้นี้ (เบื้องต้น) ครับ
ยังไม่นับค่าไฟ ค่าตัวผม ค่าเสียเวลา

เบ็ดเสร็จแล้ว เอาแค่ว่า ตัดค่าตัวผมออกไป เพราะถือว่าทำให้ฟรีๆ
ยังไงก็แตะ 1 หมื่นบาทแน่ๆ!
คุ้มไหมฟะเนี่ย? ทำให้อ่านกันฟรีๆ ยังมีโดนด่า โดนหาเรื่องดึงไปเข้าร่วมสังฆกรรมกันอีก 

ทว่า
เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ก็ยังเป็นเอสยูวีคันหนึ่งที่ผมชื่นชอบ และอยู่ในตำแหน่ง 1 ใน 5 เอสยูวี ในดวงใจ เหมือนเดิม อยู่ดี!

 

 

 

แต่ถึงจะชอบแค่ไหน รักแค่ไหน

ผมก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่เวลาขับรุ่นซูเปอร์ชาร์จ
ด้วยเหตุที่ว่า ราคาของมัน แพงเพราะภาษีด้วยตัวเลขตั้ง 9.6 ล้านบาท
ดังนั้น การขับในเมือง ผมจึงไม่ค่อยรีบร้อนมากนัก ปล่อยไหลไปเรื่อยๆ
ถ้ารำคาญรถคันข้างหน้ามากๆ ก็พอมุดออกบ้างเป็นครั้งคราว
ขืนมุดบ่อยๆแบบที่ทำกับรถเล็ก นั่นก็คงจะทำให้เข็มน้ำมันลงเร็วขึ้น
เพราะแค่กดคันเร่ง พละกำลังที่ต้องการ ก็พร้อมประเคนส่งถึงผมทันที

แล้วไหนจะค่าน้ำมันอีก เข็มน้ำมันลดลงเร็วเอาเรื่องเลยทีเดียว…

ซึ่งต่างกับรุ่น TD V6 SE ที่ขับไปไหนต่อไหน สบ๊ายสบายใจ
เพราะเร่งแซงได้ฉิวฉิว แต่จิบน้ำมันน้อยกว่ากันเป็นทุ่ง!

 

 

ข้อมูลพื้นฐานที่คุณจำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับเจ้าเอสยูวีเอาใจนักขับคันนี้ก็คือ

แลนด์โรเวอร์ รุ่น เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต
เป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ลำดับที่ 5 ในตระกูลแลนด์โรเวอร์
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว

สร้างขึ้นภายใต้พื้นตัวถัง โครงสร้างงานวิศวกรรม
เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ฯลฯ จาก
แลนด์โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี-ทรี ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2004
นั่นเอง

 

 

 

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ
ดิสโก้-ทรี ออกแบบมาเอาใจคนที่ต้องการเอสยูวีขนาดกลางค่อนข้างใหญ่
สำหรับครอบครัว และต้องลุยบุกป่าฝ่าดงได้ดีกว่า
รถรุ่นอื่นๆในอดีต มี 7 ที่นั่ง

แต่ในทางกลับกัน เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต
เป็นเอสยูวี แบบ Sport Tourer มีแค่ 5 ที่นั่ง
ที่สร้างขึ้น เพื่อเน้นรูปแบบการขับขี่ในเมือง บนฟรีเวย์ ไฮเวย์
เป็นหลัก แต่ยังมีระบบ โปรแกรมขับเคลื่อนสี่ล้ออัตโนมัติ
Terrain Response เช่นเดียวกันกับ ดิสโก้-ทรี
ติดตั้งเผื่อมาให้ในกรณีที่เจ้าของ อยากเปลี่ยนยางเอาไปลุยป่า (ซึ่งก็ไม่น่ามีมากนัก)

และสำคัญ สองสิ่งเท่านั้นที่มีความเกี่ยวข้องกับเรนจ์โรเวอร์ รุ่นหลัก
นั่นคือ ชื่อ และเค้าโครงรูปลักษณ์ภายนอกนั่นเอง

แลนด์โรเวอร์ บอกว่า รถรุ่นนี้คือ รถที่ให้สมรรถนะและการควบคุม
ดีที่สุดเท่าที่แลนด์โรเวอร์ เคยผลิตออกขาย (เหรอ ผมว่า? ฟรีแลนเดอร์ใหม่ ขับดีกว่านิดนึงนะ)
และวางตำแหน่งการตลาดไว้ คั่น แทรกตรงกลาง ระหว่าง
ดิสโก้-ทรี กับ เรนจ์ โรเวอร์ รุ่นดั้งเดิม

 

 

ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจหรอกว่า ทำไมเขาจะต้องทำรถรุ่นนี้เพิ่มขึ้นมาอีกรุ่น
ทั้งที่ตำแหน่งทางการตลาดก็ช่างใกล้เคียงกันไปทั้งสามรุ่น
แต่พอดูรูปแบบของตัวรถ และการจัดวางตำแหน่งทางการตลาดซะใหม่
รวมทั้งเรื่องราวอีกจิปาถะ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ต้องการเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า
ได้เลอืกกันหัวหมุนเล่นๆ
และหาทางพัฒนารถเอสยูวี ให้เอาใจเศรษฐียุคใหม่มากยิ่งขึ้น ครบทุกความต้องการมากขึ้น

เท่านั่นเอง

 

 

ตัวถัง ยาว 4,788 มิลลิเมตร กว้าง 1,983 มิลลิเมตร (2,170 มิลลิเมตร เมื่อกางกระจกมองข้าง)
ความสูงโหมดปกติ 1,812 มิลลิเมตร แต่ถ้าเป็นโหมด ACCESS กดปุ่มเพื่อลดระดับตัวรถให้เตี้ยที่สุด

สำหรับการเข้าจอด 1,762 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,745 มิลลิเมตร สั้นกว่า แอคคอร์ดรุ่นที่แล้่ว 5 มิลลิเมตร โดยประมาณ

 

 

การตกแต่งภายนอก ดูเด่น แต่ยังไม่โดดเด้งออกมา ดุดัน แต่ยังคงมีมาดขรึมอยู่ในตัว

การปรับงานออกแบบ และภาพลักษณ์ของแลนด์โรเวอร์ใหม่ ทำให้ หลายๆคน วางสถานภาพของแบรนด์นี้ข้นใหม่

กลายเป็น ซูเปอร์ คาร์ ของ รถ เอสยูวี ทั้งที่จริง ก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น

 

 

 มาดูรุ่น ดีเซล ที่สงบเสงี่ยม เจี๋ยมเจี้ยม น่ารักน่าชังกันดีกว่า

 

 

 

 หากคนทั่วไป ขับรถไปตามท้องถนน แล้วเจอเวอร์ชันดีเซล เข้า ทุกคนก็คงจะมองผ่านเลยไป และคิดว่า ก็แค่ เรนจ์ โรเวอร์ รุ่นเก่า คันโตๆ 1 คัน ที่เจ้าของ

เกิดอยากเปลี่ยนไฟหน้าใหม่จากไต้หวัน…..ธ่อ ถัง เชื่อไหมว่า มีคนอีกหลายคน มองมันอย่างนั้น

 

ก็ไม่ผิด ที่พวกเขาจะมองแบบนั้น เพราะ การตกแต่งภายนอก ดูเรียบง่าย จนชวนสงสัยว่า  มันจะสปอร์ตตรงไหน ต่างอะไรกับเรนจ์ โรเวอร์ V8 4.4 กับเขาบ้างเนี่ย

ขอให้นึกถึงบั้นท้ายของมัน ที่ลาดเอียงกว่าธรรมดาเอาไว้ แล้วจะเข้าใจได้เอง

 

 

พอเป็นรุ่น ดีเซล ความดุดัน ที่มีอยู่ในรุ่น ซูเปอร์ชาร์จ กลับหายไปจนหมดเกลี้ยง

และทำให้ตัวรถ ดูมีหน้าตาคล้ายคลังกับ Range Rover รุ่นก่อนๆ มากกว่าที่จะเป็นรถรุ่นใหม่ อย่างแท้จริง

 

 

ไฟหน้า จะมีระบบปรับลำแสงตามองศาการเลี้ยวของพวงมาลัยอัตโนมัติ
และไฟด้านข้างที่เห็นนั่นจะสว่างจ้าขึ้นมาเมื่อหมุนพวงมาลัย แม้ว่ารถจะหยุดหรือจะแล่น
ช่วยให้ผมเห็นอะไรต่อมิอะไรที่มันทั้งเลื้อยทั้งวิ่งเล่นตัดหน้าผมแถวบ้านในตอนกลางคืนได้ดีทีเดียว

 

 

 

หากคุณขับตามท้าย รุ่นดีเซลมา ดูเหมือนมีเพียงสิ่งเดียวที่ยืนยันได้ว่า ตาของคุณไม่ฝาด คือ ชุดไฟท้าย ดีไซน์ กราฟฟิคสวยเท่ ร่วมสมัย ชุดนี้นั่นเอง

 

 

กุญแจเป็นแบบ Remote Control ตามสมัยนิยม เมื่อสั่งปลดล็อก ใต้กระจกมองข้าง จะมีไฟดวงเล็กๆ ส่องที่พื้น ในยามค่ำคืน ให้เรามองเห็นสรรพสิ่งรอบๆัตัว

และพอขับรถถึงบ้าน จอดรถ ก็เปิดประตูลงมา ไฟส่องสว่างด้านใต้กระจกมองข้างนี้
จะสว่างทันทีที่คุณเปิดล็อก หรือเดินลงจากรถในยามค่ำคืนแล้วยังไม่กดปุ่มสั่งล็อกประตู

 

 

 

เมื่อเปิืดประตูที่หนักอึ้ง เข้าไป ก็จะพบกับ บรรยากาศของห้องโดยสาร ที่ แตกต่าง

จะอย่างไรก็ตาม

ผมชอบผ้ายางปูพื้นของรุ่นซูเปอร์ชาร์จ มากๆ
เป็นผ้ายางที่ ออกแบบได้ดี และใช้งานจริงได้ดีเช่นเดียวกัน
อีกทั้งไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนการทำงานระบบปรับอากาศแต่อย่างใด

 

 

ชุดควบคุมเบาะไฟฟ้า คู่หน้าทั้งหมด
ก็ยกชุดมาจาก ดิสโก้ทรี

ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้านั้น พนักพิงศีรษะ ดันมาข้างหน้ามากไปนิด

พอที่ทำให้ผม เกิดอาการปวดต้นคอไปบ้างนิดหน่อย

ที่วางแขน เป็นแบบหมุนปรับระดับสูงต่ๆ ได้ละเอียด ก็ยกมาจาก ดิสโก้ ทรี อีกนั่นละ 

จะต่างกันก็คือ ลวดลาย รวมทั้งตำแหน่งการเย็บเบาะ
แถมพนักพิงหลังก็ยังต่างกันกับดิสโก้-ทรี

รุ่น ซูเปอร์ชาร์จ จะตกแต่งด้วยโทนสีดำ

 

 

ส่วนรุ่นดีเซล เบาะจะมาในโทนเบจ ดูหรูเหมือนห้องโดยสาร ของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว นิดๆ

 

 

เบาะแถวหลัง เป็นข้อเสียสำคัญของรถรุ่นนี้ครับ

ก็ด้วยเนื่องจากตัวรถออกแบบมาให้เอาใจคนขับเป็นหลัก

จนเหมือนจะละเลยความสำคัญของ ลูกเจ้าของรถ
ที่จะต้องมานั่งด้านหลังไป

 

 

พื้นที่เข้าออกห้องโดยสารแถวหลังนั้น ไม่กว้างนัก ขึ้นลง ยังไม่ถึงกับสะดวก ถ้าเทียบกับ เอสยูวีระดับเดียวกันคันอื่นๆ  แต่เอาละ มันก็พอกันกับ X5 ใหม่นั่นแหละ

 

 

 

เบาะหลังของเรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ตนั้น
ต่อให้ใช้วัสดุหุ่มเบาะที่ดี
ผมก็ยังไม่คิดว่าจะนั่งสบายตรงไหน

ถ้านอนราบไปเลย อาจจะสบายกว่าด้วยซ้ำ
สำหรับคนที่ชอบที่นอนแบบแข็งๆ

ความรู้สึกมันไม่ต่างกับการที่คุณหาแผ่นฟองน้ำ
มานั่งทับบนม้านั่งในสวนสาธารณะ

 

 

เอาอย่างนี้ ถ้าคุณๆยังจินตนาการไม่ออกว่า
มันแข็งขนาดไหน นั่งไม่สบายอย่างไร

ให้ลองไปนั่งเบาะหลังของ โตโยต้า ยาริส ดู!!

มันก็แข็งและนั่งไม่สบายตัวเอาเสียเลย
ในแบบที่ใกล้เคียงกันเลยนั่นแหละ@!!

 

 

ที่พักแขน พับเก็บได้ และใช้พนักศซีรษะรูปตัว L คว่ำ แบบเดียวกับวอลโว XC90 และ โตโยต้า วิช อยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้ดี

 

 

กลไกการพับเบาะหลัง จะแตกต่างจากดิสโก้-ทรี เพราะมันถูกสร้างมาด้วยวัตถุประสงค์ต่างกัน

 

 

ดิสโก้-ทรี ต้องการให้เข้าออกสะดวก
ส่วน เรนจ์ สปอร์ต เอาแค่พับในอัตราส่วน 60:40
แล้ว มีพื้นราบต่อเนื่องกับ
ห้องเก็บของด้านหลังขนาดมโหฬาร ก็เพียงพอแล้ว

 

 

ฝากระโปรงหลัง แบ่งเปิดได้ 2 แบบ

คือเปิดแต่เฉพาะกระจก
สำหรับใส่ถุงกับข้าว ข้าวสาร อาหารแห้ง

 

 

หรือเปิดออกทั้งบาน

ไม่มีระบบไฟฟ้าช่วยเปิดปิด นะครับ

 

แต่ยังดี ที่มีช็อกอัพ ไฮโดรลิก ช่วยค้ำยันเอาไว้

 

 

ฃระบบกุญแจ รีโมทคอนโทรล ไฟส่องสว่างด้านใต้กระจกมองข้างนี้
จะสว่างทันทีที่คุณเปิดล็อก หรือเดินลงจากรถในยามค่ำคืนแล้วยังไม่กดป่มสั่งล็อกประตู

 

 

ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่า รูปแบบการวางตำแหน่งอุปกรณ์ บนแผงหน้าปัด มันก็เหมือนๆกับดิสโก้-ทรี นั่นละครับ

เพียงแต่ว่า ออกแบบขึ้นใหม่ ให้เหลี่ยมสัน คมเข้ม สปอร์ตดุดันยิ่งขึ้น แถมยังลาดเอียง และวางตำแหน่งสวิชต์ ต่างๆให้ใกล้มือคนขับมากยิ่งขึ้นไปอีกต่างหาก

 

 

ชุดมาตรวัดและไฟเรืองแสงยังคงใช้โทนสีเขียว เพื่อเน้นความสบายตาเป็นหลัก

 

 

ข้างบนนี้เป็นรุ่นดีเซล

ส่วนรูปนี้ จะเป็นรุ่นซูเปอร์ชาร์จ

แผงควบคุมหลักของทั้ง 2 รุ่นนี้
จะเหมือนกัน คือมีชุดควบคุมเครื่องเสียง
ชุดควบคุมเครื่องปรับอากาศ แยกฝั่งซ้าย-ขวาได้

มีปุ่มควบคุมระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมระบบแฮนด์ส-ฟรี

แถวบนตรงกลาง ก็เหมือนกับดิสโก้ ทรี นั่นละครับ
ปุ่มซ้ายสุด ระบบควบคุมเสถียรภาพ DSC
ปุ่ม เปิด-ปิด เซ็นเซอร์ กะระยะขณะถอยเข้าจอด
ปุ่ม ไฟฉุกเฉิน Hazzard
2 ปุ่มที่เหลือ ไว้ล็อกและปลดล็อกประตูทั้ง 4 บาน

 

 

แต่ถ้าเป็นรุ่นซูเปอร์ชาร์จ
นอกจากจะติดตั้งระบบเสียงอันดีเลิศ harman kardon
พร้อมระบบ Logic 7 ที่ผมมองว่าเป็นรองแค่ Mark Levinson มาให้แล้ว…

 

 

ยังมีจอภาพสี ไว้แสดงทั้งผลการทำงานของระบบกันสะเทือน ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ระบบนำร่องผ่านดาวเทียม
แต่ต้องเสียบแผ่นแผนที่ เข้าไปให้เครื่องเขาอ่านด้วย

 

 

ซึ่งเมื่อกดปุ่ม ค้นๆเข้าไปดู
ก็จะยังเห็นหน้าจอต่างๆ และรูปแบบการควบคุม
เหมือนกับกับที่พบได้ใน ดิสโก้-ทรี ทุกประการ

คุณสามารถเปิดย้อนกลับไปดูได้ว่ามันทำงานอย่างไร

ในรีวิว ทดลองขับ Land Rover Discovery III 

 

 

และเช่นเดียวกัน
ในรุ่นซูเปอร์ชาร์จ
มีระบบสั่งการด้วยเสียง Voice Recognition มาให้

ต้องท้าวความกันนิดนึงก่อนว่า
จะมีชุดคำสั่งตายตัวมาให้คุณจำ หากต้องการใช้งาน
ผ่านระบบสั่งด้วยเสียง

เห็นแป้นรูปคนพูดที่ซ่อนตัวด้านหลังพวงมาลัยนั่นไหมครับ
ดึงเข้าหาตัว 1 ครั้ง หน้าจอ Info Display บนหน้าปัดจะบอกว่า
ตอบรับการทำงานแล้ว พอขึ้นคำว่า Listening พร้อมเสียง “ปิ๊บ”
หมายความว่ายัยแหม่มกะปิ she พร้อมฟังคุณอยู่ พูดได้แล้ว

กรุณาพูดให้ระบบได้ยินชัดเจน ไม่จำเป็นต้องออกสำเนียง
ผู้ดีอังกฤษเหมือนสัญชาติบริษัท คุณก็สั่งการได้

เพราะถ้าคุณใส่ลูกกระแดะดัดจริตมากไป
คุณอาจจะหน้าแตกเสียเอง เพราะระบบจะผ่าไปทำงาน
คนละเรื่อง

เช่น เวลาสั่งให้ ซีดีเปลี่ยนแทร็กหรือเปลี่ยนแผ่น
คุณควรสั่งแยกทีละครั้ง ดังนี้

“CD 2”

ระบบจะตอบคุณกลับว่า

“Playing CD Number 2”

จากนั้น อยากฟังแทร็ก 8 ก็ทำแบบเดิม บอกระบบไปว่า

“CD Track 8”

ระบบจะตอบกลับว่า “CD Play Track 8”

แต่มีเหมือนกัน ที่ผมสั่งไปว่า เล่นแทร็ก 8 (เอจ)
มันผ่าไปฟังเป็น อีเลฟเวน แล้วเล่นแทร็ก 11
ให้ผมเฉยเลย

แต่ถ้าคุณสั่งการไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้จะสั่งว่ายังไงดี
ยัยแหม่มกะปิที่โต้ตอบกับคุณ มันจะด่าคุณอย่างสุภาพๆ
แต่แสบทรวง ประมาณว่า “กรุณาศึกษาวิธีการใช้งานของระบบ
และชุดคำสั่ง ได้ในคู่มือที่ติดรถมาให้”

————
ข้างบนนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้น สมัยผมยังเล่นกับระบบ
Vocie Recognition ของเจ้าดิสโก้-ทรี

มาบัดนี้ กับเรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต

ผมก็ยังคงอยากจะเอา cock ของผม ตบยัยแหม่มกะปิ
ที่มันส่งเสียงโต้ตอบกับผมนี่เสียจริงเชียว!

เพราะอะไร?
เพราะมาถึงรุ่นใหม่ ผมก็หวังว่า มันจะฉลาด และหูดีกว่าเดิมที่ผมเจอมาแล้วในดิสโก้-ทรีบ้างไม่มากก็น้อย

พอมาเจอเข้าจริง
สิ่งที่ผมหวังไว้ มันไม่ได้เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
แต่ตรงกันข้าม ………มันไม่ได้ดีข้นไปกว่าเดิมเล้ย

จริงอยู่ เวลาเราสั่งเล่นซีดี
เราก็ต้องพูด ภาษาอังกฤษ ด้วยสำเนียงแบบครูเคท
มันก็เล่นให้เราดี

แต่บางครั้ง พอสั่ง Radio 98.5 FM

แหม่ม มันคงฟังภาษาอังกฤษผมไม่รู้เรื่อง
she ก็จับเปลี่ยนคลื่นให้เป็น 88.5

พอสั่งซ้ำอีกรอบนึง เจ๊ก็ผ่าเปลี่ยนไปที่คลื่น 100.5
เฮ้ย กรูไม่ได้จาฟัง อสมท! กรูจาฟัง บรีซ เอฟเอ็มมม
ยัยแหม่มบ้า!

พอเล่นอีก 2 หน ก็ทนไมใหว
เอื้อมมือไปกดปุ่ม เลข 2 บนกลุ่มสวิชต์ตัวเลขคอนโซลกลาง
อันเป็นปุ่มที่ผมล็อกคลื่น 98.5 เอาไว้ เสียเอง

โด่เอ้ย ทำอย่างนี้แต่แรกก็ได้ฟังไปนานแล้ว

หลังจากนั้น ผมก็ปล่อยให้ยัยแหม่มกะปิ เงียบปากไป
จนกระทั่งคืนวันสุดท้าย ตอนนำไปทดสอบอัตราเร่ง
และขากลับ ผมต้องขับไปส่งเจ้าหนึ่ง หนุ่ม Hutch สาขาบางกะปิ เพื่อนผมที่มาจับเวลาให้ ถึงรามอินทรา

หนึ่งก็พูดจา เจรจาต้าอ่วยกับระบบได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน

หรือว่า ยัยแหม่มบ้าเจ้าของเสียง มันจะชอบในสำเนียง
อันนุ่ม แต่เล็ก ของเจ้าหนึ่งกันละเนี่ย?

อ๋อ มิน่าละ เหตุนี้มันถึงได้แกล้งเรา ทำงานให้เราผิดๆถูกๆ

ดีละ พอเจ้าหนึ่งลงจากรถ ผมก็ลองเล่นอีกรอบนึง
ด้วยคำสั่งเดิม

ปรากฎว่า ยัยแหม่มกะปิ ก็ยังคงตอบโต้กับผม
ด้วยความกวนทีนเหมือนเดิมไม่มีผิด

เลยปิดทิ้ง ก่อนจะปิด ก็เลยด่ายัยแหม่มไปที
เป็นภาษาอย่างนี้..

“!@#$%^&*(()+_+ ฮ่วย!”

She ก็ยังคงตอบมาอย่าง บรมเดียงสาเป็นภาษาอังกฤษว่า
“”กรุณาศึกษาวิธีการใช้งานของระบบและชุดคำสั่ง ได้ในคู่มือที่ติดรถมาให้”

ชิส์!

 

 

ว่าแล้ว ก็กดปุ่ม เปลี่ยนแผ่นซีดีเอง และกดปุ่มเร่งระดับเสียง บนพวงมาลัยดีกว่า เลิกทำชีวิตให้ยุ่งยากซะที

 

 

รายละเอียดอุปกณ์ด้านความปลอดภัย
เช่น ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านลมนิรภัย รวม 6ใบ

ไปจนึงเบรกมือแบบไฟฟ้า ซึ่งออกแบบใหม่ ให้สวยกว่า ดิสโก้-ทรี
เข้าใจว่า ทำขึ้นเพื่อช่วยในการติดเครื่องยนต์ บนทางชัน
แต่ในบางกรณี ถ้าอยู่ในเมือง ผมว่าเบรกมือแบบนี้
ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอันตราย
ถ้าได้ระบบที่ฉลาดกว่านี้ มาควบคุม อาจมีสวิชต์เลือกรูปแบบการทำงานของเบรกมือ
ว่าใช้งานในป่าเขา หรือใช้งานในเมือง ทำแยก สองแบบ ผมว่าน่าจะช่วย
ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ดีขึ้น
ฯลฯ

อยู่ในโบรชัวร์ ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมานั่งดูเอาเองได้
จาก http://www.Landrover.co.th

 

 

รายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และการทดลองขับ

ด้วยเหตุที่เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ถูกพัฒนาขึ้น บนพื้นฐานวิศวกรรม จากดิสคัฟเวอรี-ทรี  ใหม่
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเครื่องยนต์ ทั้ง 3 ขนาด รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆในดิสโก้-ทรี
ซุกซ่อนอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้าน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงของเรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต ด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

เครื่องยนต์ที่ติดตั้งใน เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต เวอร์ชันไทย ก็เหมือนกับเวอร์ชันอื่นๆทั่วโลกนั่นละครับ
มี 3 แบบ หลัก

– เบนซิน V8 Quadcam (DOHC) 32 วาล์ว 4,394 ซีซี พร้อมระบบแปรผันวาล์ว
และลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ทำงานร่วมกับคันเร่งไฟฟ้า
กระบอกสูบ  x ช่วงชัก = 88 x 90.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.75 : 1
295 แรงม้า (BHP) ที่ 5,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 43.3 ก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที

 

 

– ดีเซล V6 DOHC 24 วาล์ว 2,720 ซีซี เสื้อสูบ เหล็กกราไฟต์ ฝาสูบอะลูมีเนียม
ลิ้นปีกผีเสื้อไฟฟ้า ทำงานร่วมกับคันเร่งไฟฟ้า
กระบอกสูบ  x ช่วงชัก = 81 x 88 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 18 : 1
190 แรงม้า (BHP) ที่ 4,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุดมหาศาลถึง 44.8 ก.-ม.ที่ 1,900 รอบ/นาที

 

 

– และ เบนซิน V8 Quadcam 32 วาล์ว 4,197 ซีซี
ซูเปอร์ชาร์จ ออลอะลูมีเนียม
กระบอกสูบ  x ช่วงชัก = 86 x 90.3 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 9 : 1
390 แรงม้า (BHP) ที่ 5,750 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 56.04 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที

 

 

ทั้ง 3 แบบ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ รุ่น 6HP26 ของ ZF
มีโหมด Command Shift +/- ให้เลือกปลี่ยนเกียร์เองได้
พร้อมโหมด Sport ที่จะยืดระยะห่างในการเปลี่ยนเกียร์แต่ละรอบเล็กน้อย
รวมทั้งระบบ Intelligent Shift ที่จะปรับการทำงานของเกียร์ตามลักษณะการขับของผู้ขับขี่แต่ละคน

อีกทั้งยังเซ็ตอัตราทดเกียร์มาเท่ากันอีกด้วย
อัตรากดเกียร์สูง
เกียร์ 1 = 4.171
เกียร์ 2 = 2.34
เกียร์ 3 = 1.521
เกียร์ 4 = 1.143
เกียร์ 5 = 0.867
เกียร์ 6 = 0.691
เกียร์ถอยหลัง 3.403

อัตราทดเกียร์ต่ำ
เกียร์ 1 = 12.221
เกียร์ 2 =   6.856
เกียร์ 3 =   4.457
เกียร์ 4 =   3.349
เกียร์ 5 =   2.540
เกียร์ 6 =   2.025
เกียร์ถอยหลัง 9.971

ถ่ายทอดกำลังลงสู่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ Terrain Response ที่มีโปรแกรมการขับขี่อัตโนมัติสำเร็จรูป
เลือกได้ถึง 5 แบบ หมุนเลือกเอาตามปุ่มหมุนที่เห็นในรูป

– General สำหรับทางเรียบทั่วไป
– Grass/Gravel/Snow สำหรับพื้นผิวลื่น
– Mud / Ruts สำหรับพื้นผิวร่องลึกหรือโคลน
– Sand สำหรับพื้นทรายที่ลื่นไถลง่าย
– Rock / Crawl สำหรับการขับผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ (โหมดนี้ ระบบจะสั่งให้เราปรับช่วงล่างให้สูงขึ้น)

ส่วนสวิชต์ ข้างๆ ทั้งสองฝั่งที่เห็นอยู่นี้ ฝั่งขวา เป็นสวิตช์เลือกระบบ 4Low สำหรับการใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หรือ 4Hi  สำหรับการขับขี่ปกติ

ปุ่มสีเหลือง คือปุ่มเปิดปิดการทำงานของระบบไต่ลงจากทางชันอัตโนมัติ HDC
Hill Descent Control แค่กด แล้วก็ปล่อยเบรกไว้ รถก็จะเคลื่อนตัวของมันไปเอง
ตามการควบคุมพวงมาลัย และแป้นเบรก ของคนขับ โดยจะเลือกใช้เกียร์ และอัตราทดให้เหมาะสม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ฝั่งซ้าย คือสวิชต์ยกระดับระบบกันสะเทือนแบบถุงลม Air Suspension ให้สูงต่ำได้ตามใจต้องการ 3 ระดับ
ล่างสุด ไว้สำหรับจอดรถ แล่น เคลือนย้ายรถไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ระดับปกติ สำหรับการขับขี่ทั่วไป
และระดับยกสูง สำหรับบางโปรแกรมการขับขี่
ที่จำเป็นต่อการขับขี่ไปตามพื้นที่ทุระกันดาน

 

 

เราทดลองหาอัตราเร่งกันโดยมีผมและเพื่อนผู้โดยสารอีก 1 คน นั่นก็คือ
นายหนึ่ง เพื่อนซี้ ผู้ชอบ Evaluate รถ คนเดิม ตามเคย นั่นเอง
คนที่ผมเคยนำมาตั้งกระทู้เรื่องดีลเลอร์ฟอร์ดจนผมโดนด่าจากหมาบ้าฟรีๆไปหลายตัวนั่นละครับ

รวมเป็น 2 คน น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม เปิดแอร์ไปด้วย
อุณหภูมิขณะทดสอบ 31 องศาเซลเซียส

ลมยางรุ่นดีเซล 34 ปอนด์/ตารางนิ้ว เท่ากันทั้ง 4 ล้อ
ลมยางรุ่นซูเปอร์ชาร์จ 35 ปอนด์/ตารางนิ้ว เท่ากันทั้ง 4 ล้อ

เพื่อให้เห็นภาพ จะขอเปรียบเทียบตัวเลขสมรรถนะร่วมกันกับ
แลนด์โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี ทรี ที่เพิ่งทดลองกันไปช่วงปลายปีที่แล้วนะครับ

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.  เข้าเกียร์ D อย่างเดียว มีดังนี้ครับ
(SC = Supercharge)

                    Range Sport                              Disco-III
ครั้งที่       TD-V6-SE         V8 SC            TD-V6-HSE          V8 4.4
1               13.41             8.50                 14.1                10.7            วินาที
2.              13.90             8.80                 14.2                10.8            วินาที
3.              13.90             8.55                 14.1                10.6            วินาที
4.              13.81             8.52                 14.1                10.6            วินาที

เฉลี่ย         13.75            8.59               14.12               10.67          วินาที

*หมายเหตุ รุ่น Supercharge หากใส่เกียร์ D ในโหมด Sports อัตราเร่ง จะอยู่ที่ 8.23 – 8.24 – 8.52 และ 8.83 เฉลี่ย 8.45 ซึ่งถือว่า แตกต่างอย่างไม่มีนัยยะสำคัญ

เหตุที่ช้ากว่าตัวเลขของทางโรงงาน เพาะสภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นละออง การดูแลรักษารถ คุณภาพน้ำมันที่ใช้ ฯลฯ อีกมากมาย

————————-

ความเร็วสูงสุดที่เกียร์ 6 ซึ่งเป็นเกียร์สูงสุด

80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รุ่นดีเซล ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,350 รอบ/นาที
รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ใช้รอบเคริ่องยนต์  1,450 รอบ/นาที

100 กิโลเมตร/ชั่วโมง  
รุ่นดีเซล ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,750 รอบ/นาที
รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ใช้รอบเคริ่องยนต์  1,750 รอบ/นาที

110 กิโลเมตร / ชั่วโมง
รุ่นดีเซล ใช้รอบเครื่องยนต์ 1,900 รอบ/นาที
รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ใช้รอบเคริ่องยนต์  1,900 รอบ/นาที

อัตราเร่ง 80-120 กม./ชม. ซึ่งเป็นช่วงที่ผมใช้วัดประสิทธิภาพการเร่งแซง
เริ่มกดคันเร่งจนสุด เมื่อเข็มความเร็วชี้ที่ระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

                    Range Sport                              Disco-III
ครั้งที่       TD-V6-SE        V8 SC            TD-V6-HSE        V8 4.4
1               11.47             6.92                 10.3                 8.7            วินาที
2.              10.71             6.95                 10.8                 8.6            วินาที
3.              10.93             6.83                 10.8                 8.4            วินาที
4.              11.38             6.80                 10.3                 8.8            วินาที

เฉลี่ย         11.12            6.87                10.55               8.62          วินาที

—————————–

ความเร็วสูงสุดในแต่ละเกียร์ อ่านตัวเลขจากมาตรวัด
รุ่น TD V6 รอบเครื่องยนต์ตัดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ที่ระดับ 4,100 รอบ/นาที แต่ในบางครั้ง ช่วงเกียร์ 2 ตัดที่ 3,800 รอบ/นาที
รุ่น ซูเปอร์ชาร์จ รอบเครื่องยนต์ตัดเพื่อเปลี่ยนเกียร์ ที่ระดับ 5,800 รอบ/นาที

                    Range Sport                               Disco-III
ครั้งที่      TD-V6-SE         V8 SC           TD-V6-HSE         V8 4.4
เกียร์ 1          40                 50                    35                  50           กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 2          65                 90                    65                100           กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 3        105                150                  105                150           กิโลเมตร./ชั่วโมง
เกียร์ 4        140                190                  140                195           กิโลเมตร./ชั่วโมง

ความเร็วสูงสุดอยู่ที่เกียร์ 5 ทุกรุ่น

Disco-III
TD V6 – HSE   185 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 3,800 รอบ/นาที
V8 4.4           198 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,450 รอบ/นาที

Range Rover Sport
TD V6 SE        185 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,100 รอบ/นาที
V8 ซูเปอร์ชาร์จ  215 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ 4,750 รอบ/นาที

 

 

 

อัตราเร่งนั้น ออกตัวพุ่งทะยาน ปรูดปร๊าด เร้าใจเป็นที่สุด
เมื่อเทียบกับบรรดาเพื่อนพ้อง เอสยูวีทุกคันที่ผ่านมือผมมา

แรงจนผมไม่กล้าให้ใครหลายๆคนลองขับ
ขอขับให้นั่งเองแล้วกัน เพราะรถค่อนข้างมีน้ำหนักมาก
ถึง 2.4-2.5 ตัน เร่งขึ้นไปที เบรกแต่ละที
ถ้าเผลอกดคันเร่งจมมิดในทันทีที่ออกตัว
แบบที่เคยทำในรถญี่ปุ่น-ยุโรปคันอื่นๆมาก่อนละก็
อาจจะเหวอกันได้โดยง่าย

ต่อให้เป็นรุ่นดีเซล ก็ถือว่า ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด

แต่ถ้าเทียบกับรถเก๋งแล้ว
เหนือฟ้า ย่อมมีฟ้าเสมอ

การออกตัวนั้นพุ่งทะยานใช้ได้ดี
ขณะที่รอบเครื่องยนต์กลางๆ ก็ยังพร้อมด้วยพละกำลัง
ให้ลากขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง
แต่ทว่า เราต้องไม่ลืมนิสัยของซูเปอร์ชาร์จกันไว้บ้าง
นั่นคือ ทำนบจะแตกในทันทีที่คุณกดคันเร่งออกตัวจมมิด
แต่ถ้าความเร็วขึ้นไปอยู่ช่วงกลางๆแล้ว
จะพุ่งขึ้นด้วยความสุภาพแบบผู้ดี
มิใช่วัยรุ่นเลือดร้อนอย่างที่คิด

ถึงแม้จะใช้ระบบกันสะเทือนแบบอิสระ ปีกนกคู่
พรน้อมแอร์สปริง (Air Suspension ช่วงล่างแบบถุงลมอากาศ) ร่วมกันกับดิสโก้-ทรีก็ตาม

ทว่า เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต นั้น
กลับให้การควบคุมบังคับที่นิ่งกว่าเล็กน้อย

ครับ แค่เล็กน้อย…

เพราะเอาเข้าจริง รุ่นดีเซลนั้น ช่วงล่างนุ่มนวลมาก
นุ่มเสียจนผมเริ่มสงสัยว่า ตกลงแล้ว มันไม่ควรจะใช้ชื่อว่า
เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต แต่มันควรจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ เรนจ์โรเวอร์ คอมฟอร์ต (Comfort)
อันแปลว่า สบาย เสียเลยจะดีกว่าไหม?

ขับนุ่มสบายได้ถ้วยกันเลยทีเดียว!

ซึ่งแตกต่างจากเจ้าซูเปอร์ชาร์จ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะเจ้ายักษ์ 390 แรงม้าคันนี้
มันจะนิ่งอย่างเร้าใจ ก็ต่อเมื่ออยู่ในโค้ง ด้วยความเร็วแถวๆ
80 กิโลเมตร/ชั่วโมง บริเวณโค้งตัว S ทางลงจากทางด่วน
พระราม 6 อันเป็นความเร็วที่ผมว่า มากจนแตะระดับลีมิทของรถทั่วๆไปส่วนใหญ่ที่ผมนำมาทดลองแล้ว
จะมีก็แต่ ซาบ 9-3 แอโร นั่นละ ที่พุ่งลงทางด่วน
ตรงโค้งนั้น ที่ระดับ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อย่างสง่างาม
ไม่อิดออด (แต่นั่น ก็เป็นรถเก๋ง)

นอกนั้น? ยงโย่ยงโหย่ง ซ้ายที ขวาที มีให้มึนเล่นตลอดเวลา 5 วัน 4 คืน ที่เอามาขับ

ส่วนหนึ่ง ต้องก้มลงไปมองที่ยาง
เพราะรุ่น ดีเซลนั้น
แม้จะเป็นล้ออัลลอย 18 นิ้ว
แต่ยาง คอนติเนนตัล ที่ติดมากับรถ ก็มีแก้มยาง ซีรีส์ สูงกำลังดี
ไม่ว่าจะเข้าโค้ง ไม่ว่าตัวรถจะอยู่ในอากัปกิริยาไหน
รถจะนิ่งมาก

 

แต่ในรุ่นซูเปอร์ชาร์จ ดิบกว่า ด้วยยางแก้มเตี้ย ซีรีส์ต่ำ
ก็จากคอนติเน็นตัล อีกนั่นแหละ

พร้อมล้ออัลลอย ขนาดใหญ่สะใจ แบบไม่กลัวคุณแม่ด่า
ถึง 20 นิ้ว

ความรู้สึกที่คิดกันไปว่า ยงโย่ยงโหย่งแบบนั้น
นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เพื่อนพ้องของตาก๊อฟ BIZZARE ที่เคยลองรถรุ่นนี้แล้ว
ออกแนวไม่ชอบ แล้วหนีไปซื้อ คาเยนน์ เฉยเลย

ทั้งที่ความจริงแล้ว อยากจะบอกว่า ตัวรถนั้น ดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นผิวถนน ตรงสู่โครงสร้างตัวถังและพวงมาลัยกันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และต้องถือว่าเป็นรถที่ขับดีคันหนึ่ง

แต่ทีนี้ ด้วยความที่ ช่วงล่าง เซ็ตออกมาในแนวสปอร์ต
เมื่อเจอกับตัวรถที่มีความสูงขนาดนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดวามรู้สึก
“คล้ายจะโยน แต่ยังไงก็ไม่โยน เพราะเกาะติดหนึบกับพื้นถนน” ขึ้น

การตอบสนองของพวงมาลัยนั้น ระยะฟรี มีนิดๆ ไม่เยอะ
น้ำหนักพวงมาลัย ก็แทบไม่ค่อยต่างจาก ดิสโก้-ทรีเท่าไหร่
คือ หนืด หนัก แต่นิ่ง มั่นใจได้ดี

 

 

ระบบเบรก คือสิ่งที่ผมสงสัยนิดหน่อย แต่ยังไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

คือแป้นเบรกในรุ่นดีเซลนั้น เเหยียบเข้าไปด้วยอาการหนักแน่น แต่นุ่มนวลชวนฝัน

ราวกับคุณกำลังย่างเหยียบขึ้นไปยืนบนที่นอน Slumberland ที่มีสปริงประมาณ 2,600 ชิ้นขึ้นไป

แต่ ไฉน ในรุ่นซูเปอร์ชาร์จ
ทั้งที่ดิสก์เบรกคู่หน้าก็เป็นฝีมือของปรมาจารย์อันดับหนึ่งในด้านระบบเบรกอย่าง Brembo
แต่แป้นเบรก กลับให้ความรู้สึกไม่แตกต่างอะไรจากรถเก๋งญี่ปุ่นรุ่น so called หรูๆหน่อย สักเท่าใดนัก

ผมว่า นั่นอาจเพราะผ้าเบรกเค้าคงใกล้หมดแล้ว
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า กว่ารถคันนี้จะมาถึงมือผม
ก็ปเข้าไป 14,000 กว่ากิโลเมตรแล้วที่แล่นไป
แล้วรถคันนี้ เป็นรถทดลองขับ คันเดียวที่แลนด์โรเวอร์ ประเทศไทย
มีไว้ให้ทั้งกับสื่อมวลชน และลูกค้าผู้สนใจได้ยืมลองขับ
อีกทั้งยังส่งไปตระเวณตามต่างจังหวัดมาด้วยเช่นเดียวกัน!
เอาง่ายๆคือ ผ่านมาหลายมือหลายเท้า

แม้แต่ ตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ ขาประจำของผม
ก็ยังเคยทดลองขับรถคันนี้ เมื่อครั้งมอเตอร์เอ็กซ์โปมาแล้ว

หรืออาจจะเป็นความจงใจในการเซ็ตแบบนี้?

แต่ผมว่า น่าจะเป็นประเด็นแรกมากกว่าประเด็นหลัง

 

 

การทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

เช่นเคยครับ
เส้นทาง จากทางด่วนพระราม 6
มุ่งหน้าไปยังปลายทางด่วนที่เชียงราก แล้ววกรถกลับมา
ถนนพระราม 6

รุ่นดีเซล อุดหนุนปั้มบางจากเจ้าเก่า
รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ไปอุดหนุน ปั้มเอสโซ แทน
เพาะปั้มบางจาก ไม่มี น้ำมัน 95 ขายอีกต่อไป

น้ำมันที่ใช้ก็ยังคงเป็น 95 และดีเซล ครับ สำหรับการทดลองของผม

ผมจะยังไม่ใช้แก้สโซฮอลล์ ในการทดสอบ จนกว่าจะมี
ทางรัฐบาลจะบีบบังคับประชาชนให้เติมแต่แก้สโซฮอลล์
ด้วยการเลิกขายน้ำมัน 95 เป็นการถาวร
เพราะในต่างจังหวัดบางแห่งนั้น คนยังไม่กล้าเติมแก้สโซฮอลล์
กันเท่าใดนัก จากที่เคยลองถามๆมาบ้างในบางปั้ม

จะหาว่าไม่ช่วยชาติ ก็ช่างคนว่าเขาเถิด
เพราะในความเป็นจริง
แก้สโซฮอลล์ในรถบางคัน เติมเข้าไปแล้ว
ยังแล่นได้ในระยะทางที่น้อยกว่า 95 เสียด้วยซ้ำ
แม้จะไม่มาก
แต่ก็ต้องถือว่าแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ

เรายังคงลองขับ ด้วยวิธี เปิดแอร์ ทิ้งคันเร่งไว้ที่ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นั่งกัน 2 คน ผมกับตาหลุยส์ แห่งร้านเป็ดย่างแมนดาริน ทองหล่อ

เปิด Cruise Control แล้วนั่งถือพวงมาลัยไปเรื่อยๆ
เพื่อให้รถแล่นได้ด้วยความเร็วสม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผลที่ได้ออกมาดังนี้…

                                 TD V6 SE    Supercharge
ระยะทางบนมาตรวัด           87.8              88.7      กม.
ปริมาณน้ำมันเติมกลับ         6.93            11.35      ลิตร
เฉลี่ย                            12.66             7.81    กิโลเมตร/ลิตร

ถือว่า เป็น 1 ในรถที่ กินน้ำมันมากที่สุดเท่าที่เคยทดลองอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมา ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะเป็นอันดับ 1 หรือ 2 นี่ละ

 

 

แต่เมื่อมานั่งมองว่า เครื่องก็ตั้ง 4,200 ซีซี แถมยังเป็นบล็อก V8
ซูเปอร์ชาร์จ
ได้ตัวเลข ใกล้ๆ 8 กิโลเมตร/ลิตร สำหรับการเดินทางไกล
ไปกับรถที่มีถังน้ำมันใหญ่เบ้อเร่อถึง 88 ลิตร
ถือว่า สมเหตุสมผล

รุ่นดีเซล นี่สิ น่าแปลกใจจัง
ทำไม กินน้อยกว่าดิสโก้-ทรี ทั้งที่เครื่องก็ตัวเดียวกัน??
แต่คำอธิบายที่ง่ายกว่าที่คิดคือ อย่าลืมว่า ดิสโก้ มันหนักกว่า
และมีข้าวของติดตั้งมาเยอะกว่า น้ำหนักตัวเลยเยอะกว่า
กินมากกว่ากันนิดหน่อย

ตัวเลข 12.66 กิโลเมตร/ลิตร ในรุ่นดีเซลนี่ผมเรียกได้ว่าประเสิรฐมากเลยนะ
สำหรับรถระดับนี้! ใครจะไปเชื่อว่ายักษ์คันเขื่องรุ่นนี้
จะประหยัดได้ขนาดนี้

เพราะอะไร?
ก็เพราะว่า มันประหยัดกว่า คอมแพกต์มินิแวน 3 คู่ฟัด
ทั้ง เชฟโรเลต ซาฟิรา (12.51 กม./ลิตร)
โตโยต้า วิช (12.2 กม./ลิตร)
และฮอนด้า สตรีม (12.0 กม./ลิตร)
แบบเฉือนกันไปอย่างหน้าตาเฉยหนะสิ!

แต่รุ่นซูเปอร์ชาร์จ ควรจะทำได้ประหยัดกว่านี้อีกสักหน่อยจะดีกว่านี้

 

 

********** สรุป **********
เอสยูวี อุ้ยอ้าย ขับสนุก แรง! แต่ไม่ทิ้งความสบาย
ถ้าคิดประหยัด เอารุ่น TD V6 ก็พอแล้ว!


ผมไม่แน่ใจว่าจะมีบริษัทรถค่ายไหน
จะใจกล้าให้ผมยืมรถคันละแพงกว่าบ้าน
ถึงระดับ 10 ล้าน มีทอน 4 แสนบาท
มาให้ผมยืมแบบแลนด์โรเวอร์นี้ กันอีกหรือไม่

แต่ประสบการณ์ในการขับ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ซูเปอร์ชาร์จ
เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอันไม่ควรลืม

เปล่าหรอก มิใช่ค่าตัวของมันที่มีค่าจนควรจดจำ

หากแต่ในชีวิตจริง
นอกเหนือจากปอร์เช คาเยนน์ แล้ว คุณคิดว่าจะมีใครในโลกนี้
ที่บ้าบิ่นพอ จะสร้าง เอสยูวี ที่ให้พละกำลังในการขับขี่บนถนนเรียบ
ได้ไม่น้อยหน้ารถซูเปอร์คาร์จากแดนสปาเก็ตตี
กันอีกบ้างเล่า?

ยังหรอก มันยังไม่ถึงกับเอ็น เอสยูวีที่ขับดีที่สุด
ชนิดทิ้งคู่แข่งระดับเดียวกันไว้ข้างหลัง

ทว่า เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ก็เป็นรถที่ให้อรรถรสอันน่า
ตื่นเต้นในการขับขี่ ไปพร้อมๆกับให้ความสบาย ในวันที่คุณต้องติดแหงกอยู่ในสภาพการจราจรช่วง 6 โมงเย็นวันศุกร์
ในเมือง

อย่างไรก็ตาม ความสนุกนั้น ถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะแค่
คนขับและผู้โดยสารที่นั่งไปด้วยกันในตอนหน้าเท่านั้น
เพาะเบาะหลัง ค่อนข้างแข็ง นั่งไม่สบายตัว
แข็งไม่ได้แตกต่างไปจากเบาะหลังของ
โตโยต้า ยาริส เท่าใดเลย

 

 

ค่อนข้างน่าแปลกใจว่า แลนด์โรเวอร์ มักจะได้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีประสิทธิภาพดี
และให้อัตราเร่ง รวมทั้งอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
ที่สมเหตุสมผล และประหยัดกว่าที่คาดคิดไว้มาติดตั้งไว้ในรถรุ่นที่ขายในเมืองไทย

ในทางตรงกันข้าม
เครื่องยนต์เบนซินของแลนด์โรเวอร์นั้น
ต้องเป็นบล็อกใหญ่อย่างนี้สิ จึงจะแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มอานุภาพ

(วงเล็บด้วยว่า ต้องยอมแลกกันกับค่าน้ำมันที่ อาจทำให้ลูกค้าที่ถอยรุ่นดีเซล แอบพากันหัวเราะคิก คิก สมน้ำหน้า ในภายหลัง)

 

 

ระบกันสะเทือน ยังต้องพัฒนากันต่อไป
เพราะการจะเซ็ตรถใหญ่ ให้ใกล้เคียงกับรถเก๋งนั้น
ไม่ใช่งานที่ง่ายสำหรับวิศวกรแดนผู้ดีเท่าใดนัก
ได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าดีมากจนน่ายินดีแล้ว
หากเทียบกับรถรุ่นอื่นๆในอดีตที่ผ่านมาของค่ายนี้

สำหรับเมืองไทย
ศูนย์บริการ และราคาอะไหล่ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ
ที่จะทำให้ลูกค้า ยังกล้าจะซื้อมาขับใช้ต่อไปหรือไม่
เพราะจากที่ร่ำลือกันมาหนาหูนั้น
มันไม่ใช่เรื่องที่จะลบล้างไปได้โดยพลัน

 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ก็ทำเอาผมหนักใจ

ผมไม่ใช่เศรษฐีเงินถุงเงินถัง ที่สามารถจ่ายเงิน
ให้กับค่าน้ำมัน สัปดาห์ละ 3 พันบาท
ให้กับเอสยูวี ที่กินจุขนาดที่ผมเองยังอดใจไม่ไหว
กับความเที่ยงตรงของเข็มวัดน้ำมัน
ที่ดิ่งฮวบเอาๆ เสียจนต้อง สารภาพความรู้สึกจริงๆให้กับพี่ลักษณ์
พีอาร์ของแลนด์โรเวอร์ ได้ฟังในวันที่ต้องจากลา
เจ้าเรนจ์ สปอร์ต ซูเปอร์ชาร์จ อย่างไม่สู้เต็มใจนัก

แล้วก็ได้แต่หัวเราะแหะๆ
หลังพูดเสร็จว่า

“คือ รถันนี้ดีหมดเลยครับ ผมชอบหมดละ
ยกเว้นเรื่องเดียว…”

“เรื่องไรค่ะคุณพี่?”

“เอ่อ..คือ รถคันนี้ มัน”

เสียงกระซิบ สุดๆ เบาสุดๆ ถ่อมตัวสุดๆ

“…แดกจังมรึง….”

 

 

พี่ลักษณ์เลย ขำขำ บอกผมต่อไปว่า

“แหงละค่า คุณพี่ขา ก็ รถมันเครื่องตั้ง ‘วีแปรดดด ซูเปอร์ช้าดดดด” ซะขนาดนั้นนี่ค่ะ มันก็กินเป็นธรรมดาแหละค่าาาาาาาา”

 

 

 

 

แม้ว่า พอได้ขับแล้ว ความชื่นชอบของผม อาจจะลดลงไปบ้าง นิดนึง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องหมางเมินกันไปเลย แต่อย่างใด

เพราะ นี่คือ รถในตระกูล แลนด์ โรเวอร์ จากโรงงานเพียวๆ ที่แล่นทางเรียบได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

 

เอาน่า
ยังไงๆ ผมก็ยังชอบเรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต รุ่นซูเปอร์ชาร์จอยู่ดีนั่นละ

แต่ถ้าจะให้ซื้อกันจริงๆ?

ผมจะซื้อรุ่น TD V6 และปล่อยให้ รุ่นซูเปอร์ชาร์จ
เป็นความทรงจำอันน่าประทับใจในวัย 26 ปีของผม

เพียงเท่านั้น….

 

 

ขอขอบคุณ

คุณนิศารัตน์ ฉายมงคลชัย
หรือพี่ลักษณ์ ผู้น่ารัก แห่งแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด
สำหรับความเอื้อเฟื้อในครั้งนี้ครับ

 

 (Update : ปัจจุบันนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจาก 4 ปีผ่านไปก็คือ

– แลนด์ โรเวอร์ อังกฤษ ถอนตัวจากการทำตลาดในไทยเองไปแล้ว

– แน่นอนว่า คุณนิศารัตน์ ก็ ลาออกไปอยู่ บริษัทเครื่องกีฬา Adidas แล้วด้วย

– ล่าสุด บริษัท กัวว่า มอเตอร์ เข้ามาเป็น ผู้จำหน่าย Distributor ของ ของ Land Rover ในไทย

แต่ยังคงใช้ชื่อว่า Land Rover Thailand และยังคงทำตลาดอยู่ในตอนนี้ เชิญเข้าไปชมในเว็บไซต์ www.land-rover.co.th )

 

 

J!MMY

สงวนลิขสิทธิ์

เผยแพร่ครั้งแรก : 10 พฤษภาคม 2006 ใน Pantip.com ห้องรัชดา 

ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 21 กุมภาพันธ์ 2009 สำหรับ www.headlightmag.com